แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไปตามหัวข้อที่ท่านกำหนดไว้ คือ หัวข้อว่า ธรรมะกับนักศึกษา แต่ขอแสดงความยินดีเสียก่อน ว่าเราได้มานั่งกันในสภาพอย่างนี้อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือมานั่งบนที่นั่ง ที่นอน ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่นิพพานของพระพุทธเจ้า คือ แผ่นดิน เพื่อจะได้ทราบด้วยความรู้สึกอันแท้จริง ไม่ใช่ด้วยอ่านหนังสือว่า พระพุทธเจ้าท่านมีการดำรงชีวิตอยู่อย่างไร ที่ตรงกับข้อที่ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน ขอให้หลับตามองเห็นภาพจากการที่ได้ศึกษามาแล้ว ว่าพระพุทธเจ้าท่านดำรงชีวิตอยู่ในแบบของคนขอทานคนหนึ่ง เกี่ยวกับอาหาร พระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้า ไม่มีร่ม ไม่มีอะไรเหมือนอย่างที่พระเดี๋ยวนี้เขามีกัน ไม่มีแม้แต่ไม้เท้า นั้นจะไม่ต้องมีอะไร ๆ อีกหลายอย่างซึ่งเรามีกันในสมัยนี้อย่างสะดวกดาย อาตมาได้รับคีมตัดเล็บอย่างดีอย่างใหญ่อย่างสวย และใช้ได้ดีมาอันหนึ่ง ก็นั่งนึกถึงแต่พระพุทธเจ้าว่า ท่านไม่เคยมีไอ้คีมตัดเล็บอย่างนี้ ท่านก็จะต้องลำบากบ้างเมื่อจะต้องตัดเล็บ นี่เทียบโดยทำนองนี้ จนกระทั่งว่าท่านเดิน ทรงดำเนินด้วยฝ่าพระบาทเปล่า ๆ ไม่มีรองเท้า ในเมื่อเรามันนั่งรถยนต์ นั่งรถไฟ นั่งเรือบิน เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานอยู่หยก ๆ แล้ว เป็นคนชราแล้วก็ยังเดินเท้าเปล่า แล้วในที่สุดก็นิพพานในตอนเย็น ตอนหัวค่ำของวันนั้นที่ท่านยังต้องเดินเป็นโยชน์อยู่ และท่านก็นิพพานโดยไม่ได้พบหมอ ท่านเจ็บป่วยโดยไม่ได้พบหมอ แล้วท่านก็นิพพานโดยไม่ได้พบหมอ ซึ่งเรานี่พร่ำหาหมอกันเสียเรื่อย ปวดหัวสักนิดก็จะไปหาหมอ ปวดท้องสักนิดก็ไปหาหมอ พระพุทธเจ้าท่านเจ็บป่วยโดยไม่ต้องพบหมอ และในที่สุดก็นิพพานลงกลางดินในอุทยานแห่งหนึ่งโดยไม่ได้พบหมอ
เดี๋ยวนี้เราก็มานั่งกลางดินอย่างนี้คงจะทำให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้า พอหยั่งทราบสภาพความเป็นอยู่ความรู้สึกจิตใจของท่าน ข้อนี้เป็นการดี เพราะเรารับนับถือพระศาสนาของท่านที่เป็นอย่างนั้น แล้วบางทีก็จะได้รับการสอบไล่ด้วย เดี๋ยวนี้ใครกำลังหงุดหงิดไม่พอใจบ้างที่มันต้องนั่งอย่างนี้ และนั่นคือการสอบไล่ ก็มีธรรมะกันรึยัง มีธรรมะมากน้อยเท่าไร ดังนั้นขอให้ใช้ประโยชน์อันนี้ทุกคราวไปไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหน และพยายามทำอะไรอย่างนี้กันบ้างกลางดิน อย่าอยู่แต่บนตึกมหาวิทยาลัยไปเสียทุกเวลา เพราะมันไม่อาจจะมีจิตใจชนิดที่เข้าถึงธรรมชาติได้โดยง่าย มันลืมตัว ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ลืมตัว นั่นแหละเป็นข้าศึกอย่างยิ่ง การที่มานั่งมาทำอะไร มากินมาอยู่อย่างที่เหมือนกับพระพุทธเจ้านี่ทำให้ไม่ลืมตัว แล้วที่นี่เราก็อยู่กันอย่างที่เรียกว่า กินข้าวจานแมว เหมือนกับคนขอทานสมัยพระพุทธเจ้ารวมทั้งพระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ฉันอาหารในภาชนะหนึ่งซึ่งใส่ ๆ ลงไปแล้วก็ฉัน ไม่ได้หมายความว่าต้องคลุก แต่ท่านก็ใส่ในที่เดียวแล้วก็ฉัน แล้วก็กินข้าวจานแมวอย่างคนขอทาน ควรจะลองดูบ้าง ถ้าหงุดหงิดก็แปลว่าสอบไล่ตก แล้วอาบน้ำในคูในลำห้วย ไม่ใช่อาบน้ำในห้องน้ำราคาหมื่นราคาแสน อาบน้ำในคูในลำห้วย ไปลองดูก็ได้ นอนในเล้าหมู หมายความว่ากุฏิแคบ ๆ เท่ากับเล้าหมู นอนในเล้าหมู แล้วก็ฟังยุงร้องเพลง พระพุทธเจ้าเองท่านก็ไม่มีมุ้งหรอก ก็ต้องใช้จีวรนี่เป็นเครื่องกันยุง ยุงก็มาร้องเพลงให้ฟังได้ที่ข้างหู ดังนั้นเราจัดระเบียบการอยู่ที่นี่ ที่สวนโมกข์นี้ว่า กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนในเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง เป็นการปฏิบัติไปด้วย เป็นการสอบไล่ไปด้วยในตัวเสร็จ ถ้ามันหงุดหงิดก็สอบไล่ตก คือไม่ใช่เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราสอบไล่การเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า นี่ข้อแรกเรามาขอแสดงความยินดีในการที่ท่านทั้งหลายได้มาที่นี่ แล้วก็ได้ฝึกบทเรียนอย่างนี้
ทีนี้ก็จะได้พูดถึงธรรมะกับการศึกษาตามหัวข้อนั้นต่อไป คำว่า การศึกษา นี่ไม่ใช่สำหรับเด็กนักเรียนในสถานที่ศึกษาอย่างเดียว สมัยโน้นเขาก็มีสถานที่ศึกษา แต่ว่าคำว่าศึกษาในที่นี้ ในพระพุทธศาสนานี้ ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนในห้องเรียน แต่เป็นการศึกษาของคนทั้งหมดทั้งสิ้นทุกคน เพื่อเขาจะมีความรู้สำหรับจะมีชีวิตอยู่อย่างที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นเขาจึงศึกษากันทุกคน เพระว่าศึกษา หรือสิกขา หรือศึกษาก็ตาม ตามแบบของพระพุทธเจ้านี่ สำหรับทุกคนที่เกิดขึ้นมาในโลก เขาจะต้องศึกษาเมื่อเขาเลื่อนชั้นขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด สูงสุดที่มนุษย์เขาจะไปถึงกันได้ นั่นแหละคือการศึกษา เราพยายามรู้และปฏิบัติ เลื่อนสภาพความเป็นมนุษย์ของเราสูงขึ้นไป ๆ จนถึงจุดสูงสุดที่มนุษย์จะไปถึงกันได้ เรียกว่า ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ วิธีนั้นเรียกว่า การศึกษา
ธรรมะกับนักศึกษาในที่นี้ก็คือ เราจะพูดกันถึงธรรมะที่จะให้เกิดการศึกษาดังที่กล่าวนี้ ก็ขอเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า ธรรมะ ๔ ความหมายนั้นช่วยได้อีกตามเคย ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติธรรมะ คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะ คือ ผลที่ได้รับจากหน้าที่นั้น พอเอามาดูทั้ง ๔ อย่างพร้อม ๆ กัน ท่านทั้งหลายบางท่านอาจจะมองเห็นเค้าเงื่อนลู่ทางแล้วว่า การศึกษานั้นมันอยู่ที่ธรรมะในความหมายไหน ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ก็ได้แก่ ร่างกาย ชีวิต จิตใจของเรา คือชีวิตนั่นเองเป็นธรรมะ คือ ธรรมชาติ ทีนี้ชีวิต จิตใจ ร่างกายนี้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ อยู่ใต้อำนาจกฎของธรรมชาติ ซึ่งดื้อไม่ได้ ฝืนไม่ได้ เราก็ต้องรู้กฎของธรรมชาติว่ามีอยู่อย่างไร แล้วก็ประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามกฎด้วยธรรมะในความหมายที่สาม คือหน้าที่ เรารู้กฎของธรรมชาติ แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ การศึกษาอยู่ที่รู้กฎของธรรมชาติ แล้วปฏิบัติให้ตรง ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และเราก็ได้รับผลของการศึกษา คือ ธรรมะในฐานะที่เป็นผลของการปฏิบัติหน้าที่ อาตมายังคงยืนยันอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงพยายามอย่างยิ่งที่จะให้เข้าใจธรรมะทั้ง ๔ ความหมายไว้เป็นเดิมพันตลอดเวลาทุกหนทุกแห่งสำหรับศึกษาธรรมะ
สำหรับคำว่า ศึกษา หรือ สิกขา นี่ถ้าดูกันตามตัวหนังสือแท้ ๆ คือโดยพยัญชนะหรือโดยตัวหนังสือ คำว่า สิกขา มันหมายความว่า เห็นครบถ้วน ศึกษา แปลว่า ดูหรือเห็น ดูและเห็นอย่างครบถ้วน(นาทีที่ 13:15 ไอ้ ส (สะ) อิกฺข เป็น สิกข ) นี่เห็น ดูแล้วเห็นอย่างครบถ้วน หรือจะดูให้เห็นอย่างครบถ้วนก็ได้ นี่คือความหมายของคำว่า สิกขา หรือ ศึกษา ทีนี้ดูอะไรที่ไหนให้เห็นอย่างครบถ้วน เป็นเรื่องที่สองพันกว่าปีมาแล้ว ท่านมีหลักของท่านอย่างนั้น เราลองฟังของท่านดู
สิกขา แจกออกไปเป็นเรื่องทาง กาย หรือทุกอย่างที่เนื่องกับกายนี้อย่างหนึ่ง และเป็นเรื่องทาง จิตหรือทุกอย่างที่มันเนื่องอยู่กับจิตนี้อย่างหนึ่ง และที่มันเป็นเรื่องของ สติปัญญา ความรู้สึก ความคิดเห็น ทุกเรื่องที่มันเนื่องกันอยู่กับ สติปัญญา ทิฐิ ความคิดความเห็นนี่อย่างหนึ่ง เป็นสามชั้น สามขั้นตอน หรือสามลำดับ กาย ร่างกาย ทุกอย่างที่เกี่ยวกับร่างกาย จะต้องถูกต้อง จะต้องสมบูรณ์ เรื่อง จิต ทุกอย่างที่เกี่ยวกันอยู่กับจิต จะต้องถูกต้อง และสมบูรณ์ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ ทิฐิ ท่านมักจะรวมเรียกว่า ทิฐิ ซึ่งแปลว่า ความเห็น ไม่ใช่ทิฐิมานะ จองหองพองขนไม่ใช่ คำว่า ทิฐิ ในภาษาบาลีนี่เขาหมายถึง ความเห็นด้วยสติปัญญา นี่เรียกว่า ทิฐิ ทุกอย่างที่เป็นทิฐิและเกี่ยวกับทิฐิ ต้องถูกต้องและสมบูรณ์ ถูกต้องและสมบูรณ์ใน ๓ สิ่งนี้แล้วเรียกว่า สิกขา ทั้ง ๓
ทีนี้เราควรจะใคร่ครวญดูว่า เรามีความถูกต้องใน ๓ สถานอย่างนี้แล้วหรือยัง นี่เราดูให้ทั่วถึง เข้าใจทั่วถึงแล้วปฏิบัติด้วย จึงจะเรียกว่า สิกขา ในอันดับแรกเกี่ยวกับ กาย มีความถูกต้อง อันดับสอง จิต มีความถูกต้อง อันดับสาม ทิฐิ ความคิดความเห็นถูกต้อง นี่กล้าท้าทายตลอดทั้งโลกเลยว่า ไอ้คนหน้าไหนนะที่มันจะมาคัดค้านไอ้หลักเกณฑ์อันนี้ แล้วคน ๆ ไหนที่มันไม่ต้องการไอ้ความถูกต้อง ๓ ประการนี้ ไอ้พวกฝรั่งที่เราไปตามก้นเขาตลอดเวลานั้นขอให้ช่วยมาค้านไอ้หลักการศึกษา ๓ อย่างนี้ที ในเมื่อเราไม่รู้จักของเรา ไม่ตามก้นพระพุทธเจ้า ไปตามก้นฝรั่งในเรื่องการศึกษา แล้วมันก็เลิกพูดกันได้ ไม่มีอะไรจะพูด ความถูกต้องทางกาย ความถูกต้องทางจิต ความถูกต้องทางความคิดเห็น ฝรั่งคนไหน อาจารย์ฝรั่งคนไหน บรมอาจารย์ฝรั่งคนไหนมันจะค้านในหลักการ ๓ อย่างนี้ แล้วไปดูเสียเถอะว่า ไอ้หลักการศึกษาที่พวกฝรั่งเขาวางไว้นั้นมันเล็งถึงความถูกต้อง ๓ ประการนี้หรือเปล่า เดี๋ยวนี้เขาจัดการศึกษาเพื่อรับใช้เศรษฐกิจนะ เพื่อไปเป็นทาสของเศรษฐกิจนะ นักศึกษาทั้งหลาย เพื่อไปรับใช้การเมือง เพื่อเป็นทาสของนักการเมือง ไอ้การศึกษาในโลกปัจจุบันนี้ แล้วมันเป็นอิสระอย่างไร แล้วมันจะจัดโลกหรือบุคคลให้มีความถูกต้องอย่างไร เมื่อบุคคลไม่ถูกต้องแล้ว ไอ้โลกทั้งโลกมันจะถูกต้องได้อย่างไร นี่ขอให้นึกถึงไอ้สิกขาของพระพุทธเจ้าดู แล้วเราก็ปฏิญญาตัวว่า เป็นพุทธบริษัทนับถือพระพุทธศาสนาด้วย ระวังให้ดีอย่าทำให้มันขัดขวางกัน
ไอ้คำที่เราควรจะมองเห็นความหมายของมันมีอยู่อีกชุดหนึ่งคือว่า กาย วาจา ใจ และ ทิฐิ กาย วาจา นี่ชุดหนึ่ง ใจ ชุดหนึ่ง และ ทิฐิ ความคิดความเห็นซึ่งเป็นสมบัติของใจ ไม่ใช่ตัวใจ กาย วาจา นี่เอามาพ่วงเข้าไว้เป็นชุดเดียวกัน เพราะมันเกี่ยวกับ กาย วาจา พวกแรกคือ กาย วาจา ปัญหาที่ กาย วาจา จะต้องแก้ด้วยชุดแรก และเรื่อง จิต เรื่อง ใจ นี่ชุดที่สอง ชุดที่สาม ทิฐิ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจ นี่ซึ่งไม่ใช่ตัวใจ แต่เป็นหน้าที่การงานหรือสมบัติของใจ แยกออกให้เป็น ๓ ส่วนอย่างนี้เสียก่อน แล้วก็จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า สิกขา ซึ่งจะทำได้แต่สำหรับมนุษย์เท่านั้น มนุษย์คือคนมีใจสูง คนมีจิตใจต่ำทรามนั้นไม่อาจจะเข้าใจได้ หรือไม่ประสงค์จะเข้าใจหรือปฏิบัติเลย เดี๋ยวนี้สิ่งแวดล้อมมันทำให้คนในโลกมีจิตทราม หลงใหลบูชาวัตถุเนื้อหนัง มีจิตทราม ดังนั้นเขาก็ไม่ต้องการสิกขาทั้ง ๓ นี้ จะต้องปรับตัวเองให้อยู่ในระดับถูกต้อง เป็นกลางอย่างมนุษย์เสียก่อน แล้วคงจะชอบใจพอใจสิกขาทั้ง ๓ นี้ ดังนั้นเราจะพิจารณากับไปทีละอย่างโดยรายละเอียด ที่หนึ่งก็เรื่องเรียกว่า สีลสิกขา สีลสิขา สิกขาในชั้นศีล ที่สอง จิตตสิกขา สิกขาในชั้นจิต สาม ปัญญาสิกขา สิกขาในชั้นปัญญา
สิกขาชั้นแรกสุด ที่ว่า สีลสิกขา นี้ก็อย่างที่พูดมาแล้วว่า เป็นความถูกต้องของกายและทุกอย่างที่เนื่องอยู่กับกาย กาย คือ ร่างกายที่มีชีวิต เรียกว่ากาย แล้วที่เนื่องอยู่กับกาย ก็ดูเถอะ เรื่องบ้านเรือน เรื่องอาหารการกิน เรื่องเครื่องนุ่งห่ม เครื่องที่อยู่อาศัย ยาแก้โรค นี้มันก็เนื่องอยู่กับกายนะ ต้องถูกต้องด้วยนะ นี้วาจา นี่ก็เป็นเรื่องฝ่ายกาย เนื่องอยู่กับกาย คือ การกระทำภายนอก ก็เรียกว่าศีลด้วย เพราะฉะนั้นศีลนี่มันก็เป็นเรื่องชั้นแรก ชั้นต้น หรือภายนอก ทีนี้สังคม เกี่ยวกับสังคม กับผู้อื่นนี่ก็เนื่องอยู่ที่นี่ ในชั้นกายนี่ ชั้นศีลนี่ คำว่า ศีล จะให้ถูกต้องที่กาย และเนื่องกันอยู่กับกาย เช่น วาจา เป็นต้น อุปกรณ์ ชีวิต การเป็นอยู่ ปัจจัย ๔ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้โรค ตลอดถึงเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่แวดล้อมเราอยู่ นี่ก็เรียกว่า เนื่องด้วยกาย เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกาย จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แล้วก็เรียกว่า ศีล มีศีล เนื้อตัวของเรา เราจัดเราทำให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี นี่ก็ยังเป็นศีล และเราอย่าประพฤติผิดทางกาย ไปฆ่า ไปขโมย ไปล่วงกาเมอะไรนี่ อย่าประพฤติผิดทางกาย อย่าประพฤติผิดเกี่ยวกับเราทางกายจนเป็นทุกข์ อย่าประพฤติผิดกับผู้อื่นทางกายจนผู้อื่นพลอยเป็นทุกข์ ดังนั้นที่การที่จัดสุขภาพอนามัย บ้านช่องอะไรที่ทุกสิ่งให้ถูกต้อง นี้มันก็เป็นศีลไปหมด พระพุทธเจ้าท่านก็วางขอบเขตไว้กว้างอย่างนี้ ถูกต้องกับเรื่องทางกาย หรือทุกอย่างที่เกี่ยวกับกาย
ถ้าเอาหลัก อริยมรรค มีองค์ ๘ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว นั้นเป็นพวกศีล สัมมากัมมันโต การกระทำทางกายถูกต้อง สัมมาวาจา การกระทำทางวาจาถูกต้อง สัมมาอาชีโว การดำรงชีวิตถูกต้อง นี่ ๓ ถูกต้องนี้เป็นศีล ขอให้ไปชำระสะสางศีลของตน โดยหลักปฏิบัติแล้วจะต้องเป็นคนมี หิริโอตตัปปะ ก่อน คือ ทางของศีลอยู่ที่ หิริโอตตัปปะ อย่าเป็นคนหน้าด้าน ไม่รู้จักละอาย ไม่รู้จักกลัวสิ่งที่ควรละอายและควรกลัว ไปปรับปรุงข้อนี้ก่อนว่า เราจะต้องละอายสิ่งที่ควรละอาย เราจะต้องกลัวสิ่งที่ควรกลัว ชนิดที่เป็นพื้นฐานของศีล ความชั่วถ้ามีเราละอายและก็เรากลัวว่ามันจะกัดเราตาย เราทั้งละอายและทั้งกลัวต่อความชั่ว ถ้าใครไม่มีอันนี้แล้วไม่มีทางที่จะปฏิบัติศีล ฉะนั้นศีลจึงเป็นสมบัติของคนที่มีความละอายและความกลัว ไม่เป็นสมบัติของคนหน้าด้าน เก้อยาก ภาษาบาลีเขาใช้คำว่า (นาทีที่ 24:12) แปลว่า มันเก้อยาก คือมันไม่รู้จักละอายนั่นเอง มันละอายยาก เขาเรียกว่า คนหน้าด้าน ศีล ไม่ใช่สมบัติของคนหน้าด้าน หรือเก้อยาก หรือไม่ละอาย หรือไม่กลัว นี่ไปดูเถอะ มันมีการไม่มีศีลที่ไหน มันก็เต็มไปด้วยความหน้าด้าน ไม่ละอาย ไม่กลัว ต่อระเบียบวินัยหรือธรรมะ ทีนี้เราก็สำรวม เพราะเราละอายและกลัวเราก็สำรวมตามสิกขาบทนั้น ๆ ที่มีอยู่อย่างไรซึ่งท่านจัดไว้ดีแล้วว่า ฆราวาสจะต้องมีสิกขาบทอย่างไร บรรพชิตจะต้องมีสิกขาบทอย่างไร ก็ทำให้มันถูกต้อง นี่เรียกว่ามีสิกขาบท แล้วพระสมาทานอยู่ในปาติโมกข์ ปาติโมกข์สำหรับพระก็ได้ ปาติโมกข์สำหรับฆราวาสก็ได้ แต่เขาไม่ค่อยเรียกกัน หมายถึงระบบสิกขาบทที่ต้องปฏิบัตินั่นแหละ เรียกว่า ปาติโมกข์ เราก็มีปาติโมกข์อย่างฆราวาสสำหรับผู้หญิง สำหรับผู้ชาย สำหรับเด็ก สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับอะไรเป็นลำดับ ๆ ไป ล้วนแต่มีปาติโมกข์เฉพาะ ก็ทำให้ถูกต้อง แล้วจะต้องสมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจร นี่ อาจาระโคจะระสัมปันนา ไอ้ข้อใหญ่ ๆ ข้อสำคัญก็ปฏิบัติไม่ให้ผิด และข้อละเอียดเล็ก ๆ ๆ ๆ ลงไปก็ปฏิบัติไม่ให้ผิด คืออย่าให้มีมรรยาทเลว มีสิกขาบทที่รักษาไว้ถูกต้องแล้วยังจะต้องอย่ามีมรรยาทเลว ให้มีมรรยาทถูกต้อง ละมุนละไม แช่มช้อย น่ารัก น่าเลื่อมใส อย่างนี้เขาเรียกมรรยาท สมบูรณ์ด้วยมรรยาท คือมีมรรยาทดี สมบูรณ์ด้วยโคจร คือ อย่าไปเที่ยวในที่ที่ไม่ควรจะไป ในที่ที่ไม่ควรจะไป นั้นหมายถึง ที่ที่เป็นอันตราย เข้าไปแล้วเป็นอันตราย ฉิบหายทางกาย ฉิบหายทางจิต ฉิบหายทางสติปัญญา อย่างนั้นเรียกว่า อโคจร ที่ที่ไม่ควรเข้าไป เช่น สถานกามารมณ์ อาบอบนวด ที่เลิกงานเร็ว ๆ แล้วไป อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า อโคจร ยืมมาแต่คำธรรมชาติ เที่ยวไปแห่งโค โคจร เที่ยวไปแห่งโค คือว่า โค นี่มันต้องไปกินหญ้าในที่ที่ควรจะเที่ยวไปกิน ถ้ามันเป็นโคโง่ มันเที่ยวไปในที่ที่โคไม่ควรจะเที่ยวไป มันก็ถูกเสือกัดตาย มันก็ตกเหวตาย อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นเรียกว่า อโคจร ไม่ควรเที่ยวไปสำหรับโค คำนี้ก็ยืมมาใช้สำหรับกับคน คำเดิมนั่นแหละ โคจร ก็ควรเที่ยวไป อโคจร ก็ไม่ควรเที่ยวไป ดังนั้นไปรู้เอาเองเถอะ อะไรเป็นโคจร อะไรเป็น อโคจร สถานที่เช่นไรเข้าไปแล้วฉิบหายหมดทั้งทางกาย วาจา ทางใจ สถานที่นั่นมันมีบุคคลทำให้เกิดความชั่ว มีสิ่งของทำให้เกิดความชั่ว มีการกระทำที่ให้เกิดความชั่ว อะไร ๆ ก็ล้วนแล้วแต่ให้เกิดความชั่วหมดในสถานที่นั้นดังนั้นอย่าเข้าไป
เมื่อสมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจรนี่ก็เรียกว่า มีศีล อะณุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะทัสสาวี ให้เป็นผู้เห็นว่า เป็นโทษที่น่ากลัว แม้ในเรื่องเล็กน้อย ตัวคนมีศีลเขาจะไม่มีคำพูดว่า นี่เล็กน้อยไม่ต้อง ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องยี่หระ นี่ไม่ ไม่ถูก แม้แต่เรื่องเล็กน้อย อะณุมัตเตสุ เล็กน้อยเหลือประมาณ มันก็เห็นว่ามันเป็นโทษอันร้ายกาจ ทำนองเราเห็นว่า เชื้อโรคแม้แต่นิดน้อย นิดเดียวเล็กน้อยมันก็เป็นโทษอันร้ายกาจ ไอ้ความชั่วก็เหมือนกัน แม้นิดเดียวก็เป็นโทษอันร้ายกาจ อย่างมีคำพูดว่า อุจจาระแม้นิดเดียวก็เหม็น บางทีเล็กน้อยนิดเดียวมากจนมองไม่เห็นว่ามันอยู่ที่ตรงไหน แต่ถ้ามันมีอยู่แม้นิดเดียวอย่างนั้นมันก็เหม็น นี่เปรียบด้วยความชั่ว ดังนั้นเราจะไม่เป็นคนประมาทอวดดีว่า อันนี้เล็กน้อย เรื่องนี้เล็กน้อย เรื่องนี้เล็กน้อย จะฉิบหายไม่ทันรู้ เพราะว่าเรื่องใหญ่มันก็มาจากเรื่องเล็กน้อยรวมกัน ถ้าเรามีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมันก็มีเรื่องใหญ่ที่จะทำลายให้ฉิบหายได้ เหมือนกับว่าเงินบาทหนึ่ง มันก็ต้องมาจากสตางค์ ๆ หนึ่งรวมกันเข้า ถ้าใครเห็นว่า ไอ้สตางค์เดียวเป็นเรื่องเล็กน้อย คน ๆ นี้จะไม่เคยตั้งตัวได้ จะไม่เคยรวย จะไม่เคยมีเงินมาก เพราะเขาเห็นว่า หนึ่งสตางค์เป็นเรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว ถ้าเขาเห็นว่า แม้หนึ่งสตางค์ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย คนเหล่านี้ไม่ทันไรก็จะรวย จะมีทรัพย์สมบัติ เรื่องศีลก็เหมือนกัน อย่าไปเข้าใจว่า โทษนี้เล็กน้อย ๆ ไม่ต้องถือ ไม่ต้องอะไร เขาก็จะเต็มไปด้วยความชั่ว ซึ่งเขาเรียกว่า คนทุศีล ไม่มีศีลเลย หรือมีศีลด่าง มีศีลพร้อย มีศีลเว้า ๆ แหว่ง ๆ นี่ก็เรียกว่า คนทุศีล เหมือนกัน อันดับหนึ่ง ฉะนั้นอย่าได้มีศีลด่าง ๆ พร้อย ๆ เว้า ๆ แหว่ง ๆ ทะลุปรุ อย่างนี้ไม่ถูก นี่เรื่องศีลท่านสำรวจดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า มันเป็นความถูกต้องที่สุดในเรื่องอันเกี่ยวกับกายหรือทุกอย่างที่มันเกี่ยวข้องอยู่กับกาย ไปจัดไปทำเสียให้ถูกต้องให้หมด ที่ลานบ้าน ที่ในครัว ที่บนเรือน ในห้องนอนอะไรก็ตาม คงมีความถูกต้อง ไม่ส่งเสริมเรื่องกิเลส และการประพฤติกระทำแก่ตนเองก็ถูกต้อง การประพฤติกระทำแก่ผู้อื่นก็ถูกต้อง แก่สถานที่ในโลกนี้ มันก็ถูกต้อง อย่าไปในสถานที่ที่มันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ชีวิต นี่เราเรียกว่า ศีล ไม่ต้องแจกเป็นข้อ ๆ หรอก ไปหาเอาเองเถอะ ไอ้เรื่องอย่างนั้นมันเป็นเฉพาะชั้น เฉพาะชนิดของคน ถือศีล ๕ ถือศีล ๘ ถือศีล ๑๐ ถือศีล ๒๒๗ ถือศีล ๓๑๑ แล้วแต่ว่าเขาเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นฆราวาส เป็นภิกษุ สามเณร เป็นภิกษุณีซึ่งมีศีลตั้ง ๓๑๑ แต่ทุกข้อมันมารวมจุดอยู่ที่นี่ กี่ร้อยข้อก็ตามมารวมจุดอยู่ที่ว่า มันถูกต้องที่กาย รวมทั้งวาจาด้วย และทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่กับกาย พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบท แม้แต่เรื่องของไอ้เสื่อสาดอาสนะ เรื่องบาตรที่จะใช้ บริขารต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ ถ้าทำผิดมันก็ ผิด ผิดศีล พระพุทธเจ้าบัญญัติศีลว่ามันขาดศีล ส่วนมรรยาท ศีลส่วนมรรยาท แก่คนที่ถ่ายอุจจาระแล้วเบ่งแรง ฟังดู ดูความละเอียดลออของศีลในพุทธศาสนา ผู้ถ่ายอุจจาระแล้วเบ่งแรงเกินธรรมดานั้นก็ขาดศีลสำหรับภิกษุ และใช้ได้ไหมสำหรับฆราวาส ใครถ่ายอุจจาระแล้วเบ่งแรง นี่ไม่เท่าไรมันก็เป็นริดสีดวงทวารแน่นอนแหละ เพราะการเบ่งแรงนี่มันทำอันตรายแก่ไอ้ปลายสุดของลำไส้ ของทวารที่ถ่ายอุจจาระ ดังนั้นเราจึงมีวินัยว่าเป็นอาบัติแก่ภิกษุที่ถ่ายอุจจาระแล้วเบ่งแรงเกินควร ต้องมีการจัดประพฤติกระทำให้ดีที่สุด ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนะ ถ้าคุณเห็นว่า ไอ้เรื่องถ่ายอุจจาระแล้วเบ่งแรงเป็นเรื่องเล็กน้อย นี่จะต้องได้รับโทษตามสมควรแก่การทำผิดเป็นแน่ ทั้งหมดนี้คือความหมายของคำว่า ศีล แล้วมีประโยชน์คืออยู่เป็นสุขทั้งแก่ตัวเองและสังคม สวยงามน่าดู เป็นบุคคลที่มีความงามด้วยศีล น่ารักไปตามแบบของความมีศีล ไม่ใช่น่ารักเพราะแต่งตัวสวย ๆ เอาปูนเอาแป้งเอาของสกปรกมาไล้หน้าไล้ตัวแล้วจะสวย อย่างนั้นไม่เกี่ยวกับศีล แล้วศีลยังจะห้ามเสียด้วยว่า อย่าเอาแป้งเอาปูนมาไล้หน้าหลอกคนว่าสวย ผู้ถือศีลจึงไม่ลูบทาบำรุงตกแต่งด้วยของหอมของสวยของชนิดนั้น เขาจะสวยกันด้วยศีล ถ้าจะดีก็ดีกันด้วยศีล มีกลิ่นหอมของศีลกระพือไปได้แม้ทวนลม กลิ่นหอมของดอกไม้เช่น ดอกมะลิ เป็นต้น หอมได้แต่ตามลม แต่กลิ่นของศีลนั้นจะไปได้แม้ทวนลม จะทำให้เป็นที่รักใคร่เคารพสักการะนับถือของทุกคน แม้แต่พระราชามหากษัตริย์ก็ยอมเคารพผู้มีศีล ลูกชาวบ้านไปบวชเป็นนักบวชมีศีล แล้วก็พระราชามหากษัตริย์ก็ยอมเคารพ เทวดาก็เคารพ พรหมก็เคารพคนที่มีศีล นี่คือความถูกต้องส่วนศีลทางกาย ทางวาจา
นี่ต่อไปมันก็เป็นเรื่องทางจิต สิกขาที่ ๒ เป็นเรื่องทางจิต มีความถูกต้องทางจิต ทุกอย่างเกี่ยวกับจิตต้องถูกต้อง คนเรามีจิตเป็นส่วนสำคัญ กายมันก็สำคัญ ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่จิตจะต้องสำคัญกว่าแหละ เพราะว่าจิตมันควบคุมกาย เรื่องของจิตจะต้องเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องของกาย แต่แล้วมันก็ต้องไปด้วยกัน จะมีแต่กายหรือมีแต่จิตมันไม่ได้ และมันยังมีความจำเป็นที่มันต้องเนื่องกัน มันต้องถูกต้องด้วยกัน มันจึงจะเนื่องกันอยู่ได้ ถ้ามันไม่ถูกต้องแล้วมันจะเนื่องกันอยู่ไม่ได้นะ ร่างกายกับจิตนะ จิตที่ดีจะอยู่ในร่างกายที่เลวก็ไม่ได้ กายที่เลวจะเป็นที่ตั้งของจิตที่ดี มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องอบรมกายให้ดี สำหรับจิตที่ดีจะได้ตั้งได้อาศัย เรื่องนี้อาจารย์โบราณอธิบายธรรมะเขาก็จะเล่าเป็นนิทาน นิทานสั้น ๆ แบบ ๒ นาทีเท่านั้นไว้ ไอ้การเล่านิทานอุปมาข้อธรรมะนี้ นิยมมากที่สุดในศาสนานี้ เพราะว่ามันไม่มีหนังสือ ไม่ได้มีหนังสือใช้ อะไรที่จะช่วยความจำได้เขาก็เอามาใช้ ที่จะช่วยความจำได้ดีที่สุดก็นิทานสั้น ๆ ๒ นาทีนี่แหละ ดังนั้นในพระคัมภีร์อรรถกถามันจึงเต็มไปด้วยนิทาน เราเล่ากันด้วยปากได้แม้ไม่มีหนังสือ มันก็จำได้ ถ้าไม่เล่าเป็นนิทานมันจำยาก มันก็ลืมเสีย ฉะนั้นการเล่านิทานอุปมาของธรรมะจึงมีมาก ก็เล่าว่า คนหนึ่งร่างกายสมบูรณ์ดีทุกอย่าง สุขภาพดี แต่แล้วตามันบอด มันก็งัวเงียอยู่ที่นั่นเพราะตามันบอด อีกคนหนึ่งมันเป็นร่างกายแคระ ไม่สมบูรณ์ กระทั่งเดินก็ไม่ได้ แต่ตาของมันดี มีตาดีตามปรกติ วันหนึ่งมันมาพบกันเข้าโดยบังเอิญ ไต่ถามกันไป ไต่ถามกันมา แกตาบอดเดินไม่ได้ เดินไม่เห็น เดินไม่ถูก ฉันตาดี เห็นได้ นั้นเรามารวมกัน มันก็ให้คนแคระเล็ก ๆ ขี่คอไอ้คนตาบอดรูปร่างใหญ่โต แล้วมันเลยไปได้ มันไปด้วยกันได้ มันกลายเป็นคนเดินได้ ไปได้ เห็นได้ อะไรได้ คนแคระตาดีที่มันนั่งอยู่บนบ่ามันก็บัญชาเรื่อยไป ไอ้คนตาบอดร่างกายแข็งแรงนี้มันก็ทำไป มันก็สำเร็จประโยชน์เหมือนกับคนตาดี นี่คนแคระตาดีเหมือนกับจิต ไอ้คนแข็งแรงตาบอดเหมือนกับกาย เมื่อกายกับจิตได้อาศัยกันอย่างนี้แล้ว มันก็ทำอะไรได้ในชีวิตนี้ ดังนั้นถ้าเราไม่ได้ทำให้มันเกี่ยวข้องกัน ไม่รวมกัน มันก็ทำอะไรไม่ได้ กายกับจิตนี้ ถ้าไม่ได้เนื่องกันแล้วมันก็ทำอะไรไม่ได้ ชีวิตก็ล้มละลาย ตาย เรียกว่าตายมากกว่า ดังนั้นให้คนตาบอดคือ กาย คนตาดีคือ จิต มารวมกันเป็นชีวิตนี้แล้วมันก็ทำอะไรได้ เมื่อร่างกายมันดีสามารถจะเป็นที่อาศัยของจิตซึ่งดีแล้ว มันก็เป็นชีวิตที่ดี เมื่ออบรมกายดีแล้ว ก็ต้องอบรมจิตให้ดีด้วย จึงมีวิธีอบรมจิตอีกระบบหนึ่งต่างหาก เรียกว่า จิตตสิกขา มี สีลสิกขา แล้วก็ต้องมี จิตตสิกขา เป็นสิกขาชนิดที่จะต้องรู้ทั่วถึงว่า จิตนี้เป็นอย่างไร จิตนี้ควรจะได้รับการอบรมอย่างไร เมื่ออบรมแล้วจิตนี้จะมีประโยชน์อย่างไร จะทำอะไรได้ และมีประโยชน์อย่างไร หมายความว่าเราต้องการจิตที่มีสมรรถภาพ มีสมรรถนะสูงสุดของจิต คือมันคิดดีทำดี ตัดสินอะไรถูกต้อง มีกำลังมาก เป็นจิตที่มีกำลังมาก ดังนั้น จิตตสิกขา หรือ สมาธิสิกขา นี้ก็คืออบรมจิตให้ดี ให้มีสมรรถนะให้มีกำลังมาก ดูกันง่าย ๆ ก็แล้วกัน เมื่อจิตเราโปร่ง ที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าจิตโปร่ง จิตสบาย โปร่งอกโปร่งใจนั้นคือจิตมันดี พอจิตมันอึดอัดขัดแค้นงัวเงีย นั้นมันเป็นจิตที่เลว อะไรเข้ามาทำจิตให้เลว เราต้องเอาออกไป ให้จิตมันเป็นอิสระ ให้สดชื่นแจ่มใส ว่องไว เหมาะสมที่จะทำงาน อะไรที่มาทำจิตให้มันเลวลงเขาเรียกว่า นิวรณ์ ไปหาอ่านเอาเองจากหนังสือหนังหาตำรับตำรามันมีทั่วไปหมดแล้ว คงจะมีในแบบเรียนที่เรียนในโรงเรียนด้วยว่าด้วย
นิวรณ์ ๕ ประการ คือตามธรรมชาติจิตนี้ผ่องใสแจ่มใสเต็มที่ของจิตตามธรรมชาติ แล้ว นิวรณ์ มาทำให้จิตนั้นเสื่อมสมรรถภาพไป ไอ้ความรู้สึกทางกามารมณ์ ทางเพศมารบกวน มันก็งัวเงียไปเรื่องของเพศ ไม่โปร่ง เรียนอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่สนุก แม้แต่พักผ่อนมันก็ไม่สนุก กามารมณ์มันเรียกร้องไม่ให้พักผ่อน ให้ไปหาเหยื่อของกามารมณ์ ฉะนั้นเราจึงจะนอนพักผ่อนก็ไม่สบาย เพราะจิตมีไอ้ นิวรณ์ คือกามารมณ์มาเรียกร้อง แล้วความรู้สึกทางเพศรบกวนจิตใจอยู่จะเขียนหนังสือไม่ถูก จิตมันไม่โปร่ง มันไม่สามารถจะทำหน้าที่หรือการงานของจิตให้ดีได้ นี่ไอ้ความรู้สึกทางกามารมณ์ เขาเรียกว่า นิวรณ์ เข้ามา ชนิดที่สองก็คือ พยาบาท คือ โกรธใครอยู่ เกลียดใครอยู่ อึดอัดขัดใจเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ โกรธสิ่งของก็มี โกรธคนใช้ก็มี โกรธเพื่อนกันก็มี อะไรมันมีอาฆาตพยาบาทอยู่ จิตมันก็ขุ่นมัวไปด้วยโทสะ อันแรกจิตมันขุ่นมัวอยู่ด้วย ราคะ ไม่ร้ายแรงอะไรนัก แต่มันก็ทำให้ขุ่นมัวมันรบกวน อันนี้ก็ไม่ได้หมายถึงโทสะที่จะไปฆ่าใคร มันเป็นโทสะที่รบกวน เป็นนิวรณ์ ไม่โปร่ง นิวรณ์ ที่สามก็คือ ถีนมิทธะ ความมึนชา ซึมเซา ละเหี่ย ละห้อย เรียกว่า จิตตก นี่ก็เป็นนิวรณ์ อันที่สี่ อุทธัจจกุกกุจจะ จิตฟุ้ง จิตบ้า จิตเฟ้อ จิตฟู อันที่สาม จิตแฟบ ทำอะไรไม่ไหว อันที่สี่ จิตฟู ก็ทำอะไรไม่ค่อยถูกเหมือนกัน ดังนั้นให้จิตมันปรกติ ไม่มี อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน อันสุดท้ายเรียกว่า วิจิกิจฉา คือ จิตที่ลังเลไม่เป็นตัวเอง มันลังเลสงสัยไปเสียหมด สงสัยแม้ในสิ่งที่เล่าเรียนอยู่ สงสัยแม้ในการงานที่กระทำอยู่ มันไม่แน่ใจ มันเป็นจิตที่ความลังเลสงสัยรบกวน ไม่มีความสุข ทำอะไรก็ไม่ได้ดี ต้องเป็นจิตเกลี้ยงด้วยกันทั้งหมดแหละ เกลี้ยงจากกามารมณ์ เกลี้ยงจากความหมายแห่งกามารมณ์ เกลี้ยงจากความหมายแห่งความโกรธแค้น เกลี้ยงจากไอ้ความแฟบความหู่ เหี่ยว เกลี้ยงจากความฟูคือฟุ้งซ่าน เกลี้ยงจากความโลเลสงสัยลังเล ทีนี้ก็เป็นจิตเกลี้ยง เรียกว่า มันเป็นสมาธิ
ความหมายคำว่า สมาธิ ท่านจำกัดไว้ ๓ อย่างก็คือ มันสะอาด จิต (นาทีที่45.52) สะอาด ปราศจากนิวรณ์ และจิตนั้นเป็นสมาธิ คือว่ามันมีอะไรเป็นเรื่องที่จะต้องคิดต้องทำ มันก็รู้สึกต่อสิ่งนั้น อย่างนี้เรียกว่า จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นเป็นตัวเอง มีความเข้มแข็ง แล้วก็จิตเป็นว่องไว กัมมนียะ ควรที่จะทำงานของจิต หรือจะตรงกับคำว่า Active Activeness คือจิตมันเป็น Active ต่อหน้าที่การงาน นั่นคือจิตที่เป็นสมาธิ มีลักษณะสะอาด มีลักษณะเข้มแข็ง มีลักษณะว่องไวต่อหน้าที่ นี่คือจิตเป็นสมาธิ เป็นผลของ จิตตสิกขา
อยากให้ไปคิดดู มนุษย์คนไหนไม่ต้องการจิตชนิดนี้ นอกจากคนบ้า มนุษย์ไหนคนไหนในโลกนี้ชั้นไหนก็ตามไม่ต้องการจิตที่สะอาด จิตที่เข้มแข็ง จิตที่ว่องไวในหน้าที่ของตน เราจะมองเห็นได้ว่า คนจำนวนมากในโลก ที่เขาประสบความสำเร็จอะไรในทางวิทยาศาสตร์ทางอะไรก็ดี มันมีจิตชนิดนี้ทั้งนั้นแหละ แต่เขาไม่ได้เอามาพูดกัน มันจะมีได้โดยที่เขาก็ไม่รู้สึกตัว เพราะเขาอบรมมาโดยที่อย่างอื่น คนที่จะคิดเก่ง ทำเก่ง ค้นคว้าเก่ง อะไรเก่ง มันต้องมีจิตชนิดนี้ คือ จิตที่เป็นสมาธิ ที่เข้มแข็ง ที่เฉียบแหลม ที่มีกำลังมาก และก็ว่องไวที่สุดที่จะทำหน้าที่ของจิตในการจำก็ดี ในการคิดก็ดี ในการตัดสินใจก็ดี อะไรก็ดี นี่เรียกจิตมันสมบูรณ์ เป็นจิตที่ได้รับการศึกษามาแล้วอย่างสมบูรณ์ มีผลอย่างนี้ เขามีจิตชนิดที่จะดำรงชีวิตหรือดำเนินชีวิตดีที่สุดเพราะมี จิตตสิกขา
เอ้า,ทีนี้ไปอันที่สาม เรียกว่า ปัญญาสิกขา ปัญญา แปลว่า รู้ทั่ว (นาทีที่ 48:38) ป (ปะ) แปลว่า ทั่ว ญา แปลว่า รู้ ปัญญา แปลว่า รู้ทั่ว ถ้าเป็นสันสกฤตก็เป็น ปรัชญา ไอ้ความรู้นั้นเรียกว่า ปัญญา หรือปรัชญา แต่ไม่มีความหมายอย่างปรัชญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในเมืองไทย ไอ้ปัญญา Philosophy นั้นไม่ใช่ปัญญาในพุทธศาสนา ปัญญาในพุทธศาสนา หมายถึง รู้แจ้งโดยแท้จริงแล้ว ส่วน Philosophy นั้นยังคำนวณอยู่ ยังค้นคว้างุ่มง่ามอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่น่าลำบากใจที่ว่า เขาเอาไปเป็นสิ่งเดียวกัน เอาคำว่า ปรัชญา หรือ ปัญญา ไปเป็นความหมายของคำว่า Philosophy นักศึกษาทั้งหลายต้องรู้ไว้ให้ดี ต้องเข้าใจไว้ให้ดีว่า มันมีความผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้คำ ปัญญา หรือปรัชญา ต้องรู้จริง เห็นจริง แจ่มแจ้งจริง แล้วก็ทั่วถึงในที่ ในเรื่องที่ควรจะรู้ ถ้าเป็น Philosophy มันเป็นแต่เพียงกำลังค้นคว้าเพื่อจะรู้ด้วยความอยากรู้ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน พวกอินเดียที่เป็นนักศึกษา เขาเสียดายของเขามาก ที่เมืองไทยนี่บ้าบออะไรก็ไม่รู้ เอาคำว่า ปรัชญา อันประเสริฐของเขาไปเป็นคำแปลของคำว่า Philosophy พวกอินเดียเขาเสียดายของเขามาก ถ้าเอาคำว่า Philosophy ในอินเดียเขาแปลมันเพียงว่า ทัศนะเท่านั้นแหละ Philosophy ของฝรั่ง เมื่อแปลเป็นภาษาอินเดียเขาจะใช้คำว่า ทัศนะ คือความเห็นอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ปรัชญา ถ้าปรัชญาแล้วต้องเป็นปริญญา เป็นปริญญาตะ คือ รู้แจ้งทั่วถึงแล้ว สิ่งนั้นจึงจะเรียกว่า ปรัชญา ดังนั้นในเมืองไทยเราใช้คำผิด ๆ เกี่ยวกับภาษาเดิมของเจ้าของเดิมอยู่อย่างนี้รู้ไว้ด้วย ดังนั้นถ้าพูดว่า ปรัชญา ก็ขอให้รู้ว่ามันเป็นเรื่อง Philosophy ของพวกกรีกเจ้าตำรับตำรามากกว่า ถ้าเป็นของตะวันออกของอินเดียแล้วเขาหมายถึง ความรู้สูงสุดซึ่งเป็นการตรัสรู้ก็ได้ ปรัชญาหรือปัญญา
ทีนี้ความรู้ที่ถูกต้อง มันรู้อะไร ๆ มันก็รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ที่เราพูดกันว่า พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูรู้ทุกอย่าง รู้ไว้เสียด้วยว่า เฉพาะสิ่งที่ควรรู้ ถ้ามันไม่จำเป็นจะต้องรู้หรือมันไม่เกี่ยวกันก็ไม่ต้องรู้ ครั้งหนึ่งเราทะเลาะกันเป็นการใหญ่ เพราะมีคนพวกหนึ่งเขาให้พระพุทธเจ้ารู้ทุกอย่าง เอามาพูดจีนเดี๋ยวนี้ก็ได้ เขาว่าอย่างนั้น เอาพระพุทธเจ้ามาแก้รถยนต์เดี๋ยวนี้ก็ได้ ให้พระพุทธเจ้ารู้ทุกอย่างอย่างนี้ เราว่าเราไม่เห็นด้วย ที่ว่ารู้ทุกอย่างของพระพุทธเจ้านั้น มันก็รู้ในเรื่องที่จะดับทุกข์ ถ้าในกรณีที่จะดับทุกข์แล้วพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูรู้ทุกอย่างเลย แต่จะมารู้เรื่องโลก ๆ นี่ มันไม่ดับทุกข์นี่ ท่านก็ไม่สนใจที่จะรู้ แม้ไปโลกพระจันทร์อย่างนี้มันก็เรื่องเด็กเล่น เป็นเรื่องขี้ผง เป็นเรื่องไม่มีประโยชน์อะไรที่จะดับทุกข์ ก็ไม่ต้องรู้สิ แต่ถ้าว่าจะดับทุกข์ในหัวใจของคนแล้วท่านรู้หมดแหละ จนท่านตรัสว่า ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์ คือ ความดับทุกข์นะ จะพูดในเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้นเอง จะมาบัญญัติ ๆ พูดจากันแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น ถ้าอย่างนี้ท่านรู้มากและท่านรู้หมด แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาสอนหมด ก็สอนเท่าที่จำเป็นที่มนุษย์ควรจะรู้ ฉะนั้นเราจึงเห็นอยู่ในรูปของ อริยสัจจ์ บ้าง ปฏิจจสมุป บ้าง เท่าที่จำเป็นจะต้องรู้ จนท่านต้องเปรียบว่า ที่เอามาสอนนี่เท่ากับใบไม้กำมือเดียว ที่รู้ทั้งหมดเท่ากับใบไม้ทั้งป่า เอามาสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว สอนเฉพาะเจาะจง พูดกันเฉพาะเจาะจงที่จะดับทุกข์เท่านั้น ถ้าเปรียบก็เท่ากับใบไม้กำมือเดียวของใบไม้ ของใบไม้หมดทั้งป่า เขาก็ยังไม่ค่อยสนใจ แล้วก็ยังขี้เกียจ เราจึงดับทุกข์ไม่ได้ นี่ ปัญญาสิกขา มันมุ่งไปยังสิ่งที่ควรจะรู้เพื่อจะดับทุกข์ให้ได้ คือความรู้ที่มาจากการเห็นแจ้งแทงตลอด รู้เพราะเรียน เรียนในโรงเรียนนี่ก็เป็นเพียงอุปกรณ์ของความรู้ หรืออุปกรณ์ของ ปัญญาสิกขา ยังไม่ถึงตัว ปัญญาสิกขา เอามาคิดมาใคร่ครวญโดยวิธี ใคร่ครวญ แล้วใช้เหตุผลเป็นเรื่อง Logic บ้าง เป็นเรื่องปรัชญาก็ได้ นี่ไม่ใช่การรู้ เป็นการใคร่ครวญคำนวณค้นคว้าไปตามเหตุผล นี่ก็เป็นอุปกรณ์ของ ปัญญาสิกขา ไม่ใช่ตัว ปัญญาสิกขา ตัว ปัญญาสิกขา แท้จริงนั้น ทำจิตให้ดีในส่วน จิตตสิกขา แล้วเอาจิตนั้นมาดู ๆ ๆ ๆ สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง โดยไม่ต้องใคร่ครวญ ไม่ต้องคำนวณ เดี๋ยวนี้มันดู แล้วก็เห็นตามที่เป็นจริง นี่คือปัญญาสิกขา
ที่เรียกว่าปัญญานั้นก็คือผลของ วิปัสสนา วิ แปลว่า แจ่มแจ้ง ปัสสนา แปลว่า เห็น วิปัสสนา เห็นแจ่มแจ้งตามที่เป็นจริง ไม่เกี่ยวกับคิด ถ้าคิด ๆ ไปตามเหตุผล ถ้าเหตุผลผิดมันก็ผิด วิธีคิดผิดมันก็ผิด มันไม่แน่นอนเหมือนกับว่าดู ทำตาให้ดีที่สุด แล้วก็ดู มันก็เห็น ก็เห็นตามที่เป็นจริง ไม่ต้องคำนวณอีกต่อไป ทำสมาธิเพื่อให้จิตดี มีสมรรถภาพสูงสุดสำหรับจะดู เมื่อจิตเป็นสมาธิอย่างนี้แล้ว ก็เอาจิตนั้นมาดูลงไป ที่เงื่อนปมของปัญหาอะไรก็ได้ ของชีวิตก็ได้ ของกิเลสก็ได้ ของความทุกข์ก็ได้ ดู ๆ จนเห็นนี่เรียกว่า วิปัสสนา ต้องทำจิตให้เหมาะสำหรับจะดูเสียก่อน นี่เป็น จิตตสิกขา ที่สอง เอาจิตชนิดนั้นมาดู เห็นแจ้งตามที่เป็นจริง นี่เป็น ปัญญาสิกขา สิกขาที่สาม เราจึงจะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา ตถาตา อะไรก็ตาม ซึ่งเป็นความจริงของธรรมชาติ ความจริงของธรรมชาติไม่สำเร็จได้ด้วยการคิดการคำนวณ แต่สำเร็จได้ด้วยการอบรมจิตให้เหมาะให้ถึงที่สุดที่จะดู แล้วก็ดู ๆ ๆ แล้วก็เห็น ๆ ๆ ๆ นี่คือ ปัญญาสิกขา รู้ว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ความไม่มีทุกข์เป็นอย่างนี้ ถ้าให้ถึงความไม่มีทุกข์เป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องดูไปที่ของจริงทั้งนั้น วิทยาศาสตร์ในพุทธศาสนาก็คืออย่างนี้ คือไม่ฝากไว้กับความเชื่อ เชื่อพระเจ้า เชื่ออะไรก็ไม่ ๆ มี ไม่ฝากไว้กับการคำนวณ อนุมาน อุปมาตามหลักของตรรกะอะไรก็ไม่มี มันเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของการทำจิตให้ดีสำหรับจะดู แล้วก็ดู ๆ ๆ แล้วก็เห็น ๆ ๆ ๆ เป็นอย่างนี้ นี้เป็นอย่างนี้ ๆ ชีวิตเป็นอย่างนี้ กิเลสเป็นอย่างนี้ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ ความไม่มีทุกข์เป็นอย่างนี้ เราต้องกระทำอย่างนี้ นี่เรียกว่า ปัญญา ตัวหนังสือแปลว่า รู้ แต่ไม่ใช่รู้เพราะเรียน รู้เพราะดูและเห็น คือเรารู้จัก จะใช้คำว่า รู้จัก จะถูกกว่า มันผ่านจิตใจไปแล้ว เพราะว่ามันดูด้วยจิตชนิดนี้ เพราะจิตชนิดนี้เข้าไปดูแล้ว แล้วผ่านจิตใจไปแล้ว มันก็เป็นการเห็น มันก็เป็นความจริงที่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างถูกต้อง เพราะว่าจิตชนิดนี้มันเห็นตัวธรรมชาติด้วย จิตชนิดนี้มันเห็นตัวกฎของธรรมชาติด้วย จิตชนิดนี้จึงเห็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติด้วย และในที่สุดมันก็เห็นไอ้ผลที่ได้รับนั้นด้วย มันก็สมบูรณ์ ฉะนั้นเรามีจิต มี สีลสิกขา จากการที่กายที่วาจา มี จิตตสิกขา จากการที่จิตล้วน ๆ มี ปัญญาสิกขา จัดการกับระบบความรู้ สติปัญญา ความเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วจึงเชื่อ
ไอ้ความเชื่อของพระพุทธศาสนานี้เป็นความเชื่อหลังจากปัญญา ปัญญาเห็นอย่างไรแล้วจึงเชื่อ ไม่ได้เชื่อตามผู้อื่นที่ยังไม่ได้เห็นด้วยปัญญา ถ้าเชื่ออย่างนั้นยังไม่ใช่ความเชื่ออันแท้จริงในพุทธศาสนา เพราะมันเป็นเชื่อผู้อื่น พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสว่า ฉันพูดก็อย่าเพ่อเชื่อ เอาไปมองให้เห็น หรือไปลองปฏิบัติดู ปฏิบัติดูแล้วมันดับทุกข์ได้นี้แกก็เชื่อ ฉะนั้นจึงเป็นความเชื่อหลังปัญญา หลังเห็นอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า มันเป็นอย่างไร ดังนั้นเรามีความสมบูรณ์ด้วยเรื่องศีล ด้วยเรื่องสมาธิ ด้วยเรื่องปัญญา มีอยู่เป็น ๓ สิกขาในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ปัญญาเป็นไปถึงที่สุดแล้ว ก็เห็นตามที่เป็นจริง จิตเปลี่ยน จิตโง่ กลายเป็นจิตฉลาด จิตมี อวิชชาเปลี่ยนเป็นมี วิชชา จิตที่เป็นที่เกิดของกิเลส เปลี่ยนเป็นจิตที่ไม่อาจจะเป็นที่เกิดของกิเลส นี่ก็ผล ผลของการทำหน้าที่ เรียกว่า มรรคผลนิพพาน ไปเลย ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญา ๓ อย่างนี้ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว เราก็จะมีผลคือ มรรค ผล นิพพาน มรรค คือ ตัดกิเลส ตัดความชั่ว ผล คือ ได้รับผลจากการตัดกิเลส ตัดความชั่ว แล้วก็เข้าถึงสภาพชนิดหนึ่ง ภาวะชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีกิเลส ไม่มีความชั่วอีกต่อไป เรียกว่า นิพพาน ดังนั้นเราได้ผลเป็น มรรคผลนิพพาน จงมี สิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงที่สุดแล้วเราได้รับประโยชน์ ๓ ประโยชน์สูงสุดนั้นไม่ใช่ประโยชน์ในโลกนะ คือ มรรคผลนิพพาน อยู่เหนือกิเลส เหนือปัญหา เหนือกามารมณ์ เหนือกิเลสทุก ๆ ชนิด เดี๋ยวนี้อยู่ในโลกยังบูชากามารมณ์อยู่ ไม่เรียกว่ามีผลของไอ้สิกขา ๓ ถ้ายังหลงใหลในสิ่งที่ให้หลง ก็เรียกว่ายังไม่มีผลของสิกขา ๓ เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้มันไปทำผิดทำพลาด แล้วมันก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรกอยู่ที่นั่น ครั้นสมบูรณ์ด้วยสิกขา ๓ แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ทำผิดอีกต่อไป มีแต่ทำถูก สวรรค์ก็อยู่ที่นั่น นี้ถ้าสูงไปกว่าสวรรค์ ก็เป็นมรรคผลนิพพานอยู่ที่นั่น ที่การกระทำถูกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นได้อย่างนี้ที่นี้ อย่างนี้เรียกว่า สันทิฏฐิโก เราสวดมนต์ว่า สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก คือตรงนี้ อยู่ที่ตรงนี้ เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่จำกัดเวลา ดีจริง ควรเรียกกันมาดู ควรเอามาใส่ไว้ในใจ นี่คือ สิกขา ๓ มันมีผลทำให้เห็นเอง รู้จักเอง เชื่อด้วยตนเอง ได้รับประโยชน์อยู่ด้วยตนเอง เพราะปฏิบัติ สิกขา ๓ มาถูกต้อง
เอ้า,ทีนี้ขั้นของการปฏิบัติ ขอให้ท่านทั้งหลายชำระระบบศีล สีลสิกขา ว่ามีอะไรผิดพลาดอยู่บ้าง ที่เนื้อที่ตัวก็ดี ที่การกระทำทางกายก็ดี ที่การพูดจาก็ดี ที่สิ่งที่เป็นปัจจัยแก่ชีวิตก็ดี เครื่องใช้ไม้สอยก็ดี เพื่อนฝูงก็ดี ครอบครัวก็ดี อะไรก็ดีให้มันถูกต้องเสียให้หมด ก็เรียกว่าเป็น สีลสิกขา และอบรมจิตให้มีสมาธิอย่างที่ว่า คือ เป็นจิตสะอาด เป็นจิตเข้มแข็ง เป็นจิตว่องไวในหน้าที่ของมัน จิตของเราต้องเป็นอย่างนี้จึงจะเรียกได้ว่า เป็นจิตที่เกลี้ยง มีความสุขอยู่ในตัวมันเอง แล้วสามารถที่จะทำหน้าที่ของมนุษย์ได้ดีที่สุด นี่ไปปรับปรุงเสียให้มันเป็นอย่างนี้ในเรื่องของจิต
ทีนี้เรื่องของปัญญา เมื่อจิตมันถึงขนาดนั้นแล้ว ดูอะไรมันก็เห็นตามที่เป็นจริง มันก็เห็นถูกต้องหมด มันก็มีความรู้ที่ถูกต้องเอง เพราะดูด้วยจิตชนิดนี้ เราก็มีปัญญาสำหรับรู้ถูกต้อง สำหรับดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง เป็นชีวิตเย็น เป็นนิพพาน ชีวิตร้อนเป็น วัฏสงสาร โง่อยู่ที่นั่น วนเวียนอยู่ที่นั่น เป็นชีวิตร้อน เรียกว่า วัฏสงสาร เมื่อทำถูกต้องแล้วเป็นชีวิตเย็นเป็นนิพพาน นิพพาน ในตัวหนังสือนั่น แปลว่า เย็น นิพพาน ตามตัวหนังสือ แปลว่า เย็น แล้วเมื่อมันชีวิตที่เย็น ก็มีความเย็นเป็นนิพพาน เราก็ไปปรับปรุงชีวิตให้มันเย็น ชีวิตที่มันร้อนอยู่ด้วย นิวรณ์ หรือร้อนอยู่ด้วย กิเลสไปทำให้มันเย็นลง ให้มันเกลี้ยงไปจาก นิวรณ์ จาก กิเลส มันก็เป็นชีวิตเย็น พอแล้วมันเท่านั้นแหละ ถ้ายังมีอีกก็ว่า เมื่อเราเย็นแล้วเราก็ช่วยผู้อื่นเย็นด้วย อันนี้เป็นของแถมพก เพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ เราจะไปเป็นคนเย็นอยู่ในท่ามกลางคนร้อน มันก็ลำบาก ทำได้เหมือนกันแต่มันก็ลำบาก ฉะนั้นเราช่วยผู้อื่นเย็นเสียด้วยสิ มันจะได้เย็นกันทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งโลก หน้าที่ของพุทธบริษัทมันเป็นอย่างนี้ ทำชีวิตนี้ให้เย็น มันก็ช่วยเพื่อนมนุษย์ให้มีชีวิตเย็น เราก็อยู่กันอย่างสังคมเย็น ไม่มีความทุกข์เลย เราต้องมีศีล ไปจัดในส่วนศีลให้ดี ต้องมีสมาธิ ต้องจัดในส่วนจิตให้ดี แล้วก็ต้องมีปัญญา เจริญปัญญาให้ดี
ทีนี้ในทางปฏิบัติว่า เจริญสมาธิอย่างไร มีตำราเยอะแยะไปหมด วัดไหนแบบของวัดไหนก็ใช้ได้ทั้งนั้นแหละถ้าเพื่อเป็นสมาธิบ้าง แต่ไม่รับรองว่าจะเป็นไปได้ถึงที่สุด แต่ถ้าเพื่อเป็นสมาธิบ้างแล้วใช้ได้ทุกแบบแหละไม่ว่าแบบวัดไหน เพราะว่าเขาจะมีอะไรอย่างหนึ่งมาสำหรับจิตกำหนด เมื่อจิตกำหนดอยู่ได้ ควบคุมให้กำหนดอยู่ที่นั่นได้นั้นมันก็เป็นสมาธิทั้งนั้นแหละ ดังนั้นหลักของสมาธิก็คือจะต้องมีอะไรที่เหมาะสม เอามาให้จิตกำหนด อยู่ที่เพียงสิ่งนั้นเพียงสิ่งเดียว จิตก็หยุดฟุ้งซ่าน จิตก็หยุดรกรุงรังไปด้วยกิเลส มาเป็นจิตเกลี้ยงขึ้นมา ฉะนั้นเราไปเลือกเอาแบบไหนก็ตาม ในทางเป็นสมาธิบ้างนี้จะได้ด้วยกันทุกแบบ แล้วบางแบบอาจจะตายด้านไปอีกไม่ได้ ไอ้แบบที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็คือ แบบ อานาปานสติภาวนา เอาลมหายใจที่เรามีอยู่แล้วมาเป็นเครื่องให้จิตกำหนด เป็นวัตถุให้จิตกำหนด กำหนดลมหายใจ มันก็เป็นสมาธิ แล้วมันก็รู้เรื่องลมหายใจ หรือทุกอย่างที่เกี่ยวกับลมหายใจ ก็รู้เรื่องชีวิต แล้วก็จะรู้เรื่องกิเลส รู้เรื่องอะไรไปด้วย แล้วก็รู้การกำจัดกิเลสออกไปด้วย ดังนั้นเรื่อง อานาปานสติ ๑๖ ขั้น นั่นแบบของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่แบบของอาจารย์ไหน ที่วัดนี้เรานิยมแบบนั้น เรียกว่า อานาปานสติ ๑๖ ขั้น กำหนดที่ลมหายใจในลักษณะที่วิ่งตาม ตามเข้าตามออก ๆ นี่ขั้นแรก แล้วก็หยุดอยู่ตรงที่ ๆ มันควรจะหยุด เช่นที่จะงอยจมูกเป็นต้น เฝ้าดูอยู่ที่ตรงนั้น จิตแน่วแน่ ๆ ๆ จนจะมีจุดตรงนั้นเด่นชัดขึ้นมา จะเป็นรูปร่างอะไร เป็นดวงอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่สำหรับยึดถือ เป็นเพียงสำหรับจิตกำหนด เป็นเรื่องฝึกจิต ให้จิตมันแน่วแน่ ๆ ๆ แล้วมันเปลี่ยนเป็นจิตที่ละเอียด แล้วจะไปใช้ไปดู ดูความจริงของทุกสิ่ง คือ ดู อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นแล้วก็จะละกิเลส จะหมดกิเลสนั่นจุดหมายปลายทางแท้จริงมันอยู่ที่หมดกิเลส แต่ถ้าเอาผลเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็คือ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วมันก็มีความสุข จิตถ้าเป็นสมาธิจริงแล้วจะมีความสุข ไม่ต้องไปลงอาบอบนวด ไม่ต้องไปทำอะไรที่เป็นเสพติด เป็นอบายมุข มันก็มีความสุขอยู่ที่นี้ จิตมันว่างจากสิ่งที่ ที่ให้มันเป็นสุขไม่ได้ ดังนั้นจิตมันจะแสวงหาสิ่งที่มันเป็นสุขเสมอไป มันว่างไม่ได้ ถ้ามันหาอย่างถูกต้องไม่ได้ มันก็ต้องไปหาอย่างผิด ๆ เมื่อมันหาความสุขอย่างธรรมะไม่ได้ มันก็ไปหาความสุขอย่างกิเลส ดังนั้นจึงต้องไปกินเหล้า ต้องไปเสพเฮโรอีน หรือว่าต้องไปทำอะไรตามแบบของความผิด แล้วมันจะอยู่ว่างโดยปราศจากเหยื่อของความสุขไม่ได้ เราก็ให้เหยื่อของความสุขที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรดีกว่าจิตเป็นสมาธิ จิตสงบเป็นความสุข
มีฝรั่งคนหนึ่งเขาเขียนลงไปในหนังสือรีดเดอร์ไดเจสท์ว่า ไอ้ที่เราปราบยาเสพติดเฮโรอีนไม่ได้ เพราะว่าเรามันทำผิดอยู่ข้อหนึ่ง คือว่าเราไม่ได้เอาสิ่งที่เป็นสุขไปให้เขาแทนเฮโรอีน เมื่อเราทำให้เขาละเฮโรอีนได้ แล้วไม่มีอะไรไปแทนเฮโรอีน เดี๋ยวเขาก็กลับมาเสพเฮโรอีนอีก เพราะว่าจิตมันอยู่ว่างไม่ได้ จิตมันต้องมีของอร่อยอย่างหนึ่งอยู่เสมอ ดังนั้นถ้าเราปราบเฮโรอีนได้ เขาไม่สูบเฮโรอีนแล้วเดี๋ยวนี้ เราต้องเอาอะไรเข้าไปแทนให้เขาได้เสพสุข แล้วเขาก็จะไม่กลับไปเสพเฮโรอีนอีก แล้วฝรั่งคนนั้นยังเขียนว่า ไอ้ความสุขที่เกิดจากจิตสงบหรือสมาธิในพระพุทธศาสนานี่ ด้วยการฝึกฝนอบรมทำให้ได้ แล้วให้คนที่ละเฮโรอีนได้ มาหาความสุขชนิดนี้กันให้ได้ แล้วเขาก็จะไม่กลับไปเสพเฮโรอีนอีก การปราบเฮโรอีนก็จะสำเร็จ เดี๋ยวนี้ไม่สำเร็จ ปราบเฮโรอีนนี่เหมือนกับจับปูใส่กระด้ง ใส่แล้วมันก็ขึ้นมาอีก จับใส่อีกขึ้นมาอีก มันเหมือนกับจับปูใส่กระด้ง เหมือนที่เป็นอยู่อย่างนี้ทั้งโลก เวลานี้มันปราบเฮโรอีนไม่สำเร็จ เพราะว่ามันไม่เอาอะไรที่เป็นความสุขแก่จิตเข้าไปแทนเฮโรอีน ที่เราบอกให้เขาละเสีย อาตมาก็เห็นด้วย เพราะถ้าสามารถทำได้ ทำจิตเป็นสงบมีความสุขได้ แล้วมันก็จะแทนความสุขเลวร้าย ความสุขสกปรก ความสุขเกิดจากของสกปรกนั้นได้ ทีนี้ทำผิดทำเลวอย่างอื่น อาชญากรรม ของอันธพาลข่มขืนแล้วฆ่าก็เหมือนกัน ถ้ามีความสุขที่ถูกต้องเข้าไปแทนแล้วเขาก็จะไม่ทำอย่างนั้น เพราะทำอย่างนั้นมันไม่ใช่สนุกนัก มันเป็นเสี่ยงแก่ชีวิต ความตาย ถ้าเขาสามารถมีความสุข ไปแทนความสุขบ้า ๆ บอ ๆ นั้นได้แล้วเขาก็จะไม่ทำมันอีก
เรายังถือว่า ไอ้ความสุขที่เกิดจากจิตเป็นสมาธินี่ ควรฝึกฝนเข้าใจกันได้ทุกคน ให้ดื่มให้นั่นอยู่เสมอทั้งเวลาพักผ่อนและเวลาทำการงาน ทำการงานด้วยจิตชนิดนี้สนุกในการงาน (นาทีที่ 01:12:45-01:12:55 ไฟส์ชำรุด) ในการล้มยี่สิบสามสิบหนมันสอนทุกทีไป ดังนั้นเราจึงค่อย ๆ รู้ ค่อย ๆ รู้เพราะการหกล้มนั่นแหละ แล้วเราก็ไม่ล้ม แล้วเราก็ขี่ไปได้ก็อกแก๊ก ๆ ๆ หันไปหันมา แล้วมันก็สอนอีก ใครมาสอนไม่ได้ตอนนี้ มือตีนมันสอนเอง รถจักรยานมันสอนเอง จนเราขี่ได้เรียบ รถจักรยานมันสอน เรียกว่าการกระทำมันสอน งานนั้นมันสอน ไอ้เรื่องทำจิตให้เป็นสมาธินี้ก็เหมือนกัน คนสอนได้น้อยมาก สอนแต่บอกวิธีทำ แล้วการกระทำมันจะสอน กิเลสมันเกิดขึ้นมันก็สอน ทำไม่ได้ล้มเหลวมันก็สอน มันก็สอนอยู่ในตัวมันเอง ไม่เท่าไรเขาก็สามารถจะทำได้ดีขึ้น ๆ ๆ เหมือนกับขี่รถจักรยาน ให้รถจักรยานมันสอน ๙ วัน ๑๐ วัน แล้วมันก็ขี่ได้ นี่เรียกว่า ไอ้การกระทำนั้นมันสอน การทำจิต ทำสมาธิยิ่งเป็นอย่างนั้น คนสอนกันไม่ได้ คนสอนได้มันก็พูดอวดดี บอกแต่วิธีทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ต้องไปทำเองแล้วมันสอนเอง แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนี้ ว่าความเพียรเป็นสิ่งที่ท่านต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่ผู้ชี้ทาง ชี้แนวบอกแนว แล้วก็ไปทำเอง แล้วมันก็สอนเอง แล้วมันก็ได้ผล ดังนั้นขอให้ทุกคนพอรู้แนวทางของสมาธิแล้วไปทำเหอะ แล้วมันไม่ได้หรอก อาตมากล้าท้าเลย ครั้งแรกนี่มันไม่เป็นสมาธิหรอก มันไม่ได้หรอก แล้วก็อย่าเลิก ก็ทำเรื่อย ๆ ๆ เหมือนกับขี่รถจักรยาน ล้มแล้วขี่อีก ๆ มันจะไม่ล้ม มันจะไปงอกแงก ๆ เหมือนสมาธิแรกเป็น แล้วก็ทำต่อไปเถอะ มันก็จะเป็นสมาธิแน่วแน่ ๆ ๆ สำเร็จประโยชน์ นี่เรื่องของ จิตตสิกขา มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้เมื่อได้จิตที่เป็นสมาธิมาแล้วก็ดู ๆ ส่องเข้าไปที่อะไรที่มันเป็นปัญหา เราทุกข์เพราะอะไร เรากำลังมีทุกข์เพราะอะไร ปวดหัวเพราะอะไร ประสาทกินเพราะอะไร ส่องเข้าไปที่นั่นแหละ แล้วก็จะพบความจริง จะพบวิธีแก้ไข แล้วก็แก้ไขได้ นี่เรียกว่าใช้จิตที่ดีแล้วดูสิ่งนั้น รู้ตามที่เป็นจริง แล้วก็แก้ปัญหาได้ นี่เป็น ปัญญาสิกขา
สรุปความว่า สีลสิกขา ทำให้เกิดความถูกต้องที่กาย ที่วาจา จิตตสิกขา ทำให้เกิดความถูกต้องที่จิต ปัญญาสิกขา ทำให้เกิดความถูกต้องที่ทิฐิ ความคิด ความเห็น ความรู้ คนไหนในโลกที่มันกล้าปฏิเสธคำสอนระบบนี้ ถ้าคนทั้งโลกมันสนใจคำสอนระบบนี้ จนคนทั้งโลกมีศีล สมาธิ ปัญญา โลกนี้มันก็มีสันติภาพ สันติสุขอย่างยิ่ง ไอ้ที่เขาจะมุ่งแก้ด้วยเศรษฐกิจ ด้วยการเมือง ด้วยอะไรเป็นไปไม่ได้ ถ้าคนมันยังโง่ด้วยเรื่องนี้ กิเลสมันยังขี่คออยู่เรื่อย ไม่มีทางที่จะจัดการเมือง หรือการเศรษฐกิจให้โลกมีสันติภาพได้ มันก็นั่งจับปูใส่กระด้ง เหมือนองค์การสหประชาชาตินั่งจับปูใส่กระด้ง ไกล่เกลี่ยเรื่องนี้ไปเรื่องนู้นมา ไกล่เกลี่ยเรื่องนั้นไปเรื่องนี้มา ไกล่เกลี่ยเรื่องนั้นไปเรื่องนี้มาไม่มีสิ้นสุด เป็นท้าวมาลีวราช นั่งไกล่เกลี่ยไม่สิ้นสุด เหมือนจับปูใส่กระด้ง ถ้าว่าองค์การของโลกนี่ เขาจัดให้โลกมีความรู้เรื่อง สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ทั้งโลกนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นโลกที่มีสันติสุข สันติภาพ เพราะมีความรู้เรื่องธรรมะ เรื่องศีลธรรม อาตมาเคยพูดล้อไปหลายหนแล้วว่า ให้ฝนตกลงมาเป็นทองคำ ก็ไม่ทำให้คนที่ไม่รู้ธรรมะนั้นเป็นสุขได้ ไม่ทำให้โลกนี้เป็นสุขได้ เพราะโลกนี้มันไม่รู้ธรรม ถ้าฝนตกลงมาเป็นทองคำ มันก็ยังฆ่ากันตายอยู่นั่นแหละ เพราะมันแย่งกันเก็บทองคำ มันไม่มีศีลธรรม มันก็ฆ่ากันตาย เพราะแย่งกันเก็บทองคำ ทีนี้ใครมาเก็บไว้มากที่บ้านมันก็ถูกปล้นเรื่อยแหละ ไม่ต้องนอน ตัวเองก็ตายเพราะถูกปล้น แม้ฝนจะตกลงมาเป็นทองคำ ก็ไม่ทำให้โลกนี้มีสันติภาพได้ ถ้ามันไม่มีศีลธรรม มันไม่มีธรรม มันต้องมีศีลธรรม มีธรรม มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา และอยู่เป็นสุขได้โดยที่ฝนไม่ต้องตกมาเป็นทองคำหรอก แล้วไม่มีรัฐบาลไหนในโลกจัดเศรษฐกิจให้มีผลเท่ากับว่าฝนตกลงมาเป็นทองคำ มันก็ทำไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราก็พูดดักหน้าไว้ก่อนว่า แม้ฝนจะตกมาเป็นทองคำก็ไม่ทำโลกของคนที่ไม่มีศีลธรรมให้สงบได้ เรารีบมีศีลธรรม มีธรรม มีศีล สมาธิ ปัญญาจะดีกว่า แล้วจะมีความสุขได้ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปในสภาพไหน แม้จะเอาปรมาณูมาล้างโลกกันก็ไม่ทำให้คนนี้มีความทุกข์ได้ คนที่มีศีล สมาธิ ปัญญา มันจะหัวเราะเยาะ การกระทำด้วยปรมาณู ไม่มีความทุกข์ จึงพูดได้ (นาที่ที่ 1:18:59)เลยเองเลยว่า แม้โลกนี้จะเป็นอย่างไร คน ๆ นี้ก็ไม่มีความทุกข์ เพราะเขามีศีล สมาธิ ปัญญา ถึงที่สุด นี่คือการศึกษาตามหลักของพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ท่านทั้งหลายเอาไปคิดดูว่า นักศึกษากับธรรมะนั้นมันจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกันอย่างไร นักศึกษาเหมือนไอ้โง่ตาบอดตัวอ้วน ธรรมะนั้นเหมือนคนแคระตาดี มันต้องมารวมกันเป็นคน ๆ เดียวกัน ไอ้ชีวิตนี้ มันจึงจะดำเนินไปอย่างถูกต้อง นี่คือธรรมะกับนักศึกษาจะต้องเกี่ยวข้องกันอย่างนี้ ซึ่งอาตมาก็ได้ทำลายเวลาไปชั่วโมงครึ่งแล้ว ชั่วโมงกว่า ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งก็สมควรที่จะจบเรื่องธรรมะกับนักศึกษา ไอ้ธรรมะจะปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา มีคำอธิบายรายละเอียดเยอะแยะไปแล้ว หยุดไปอาบอบนวดเสียครั้งเดียว มีเงินเหลือซื้อหนังสือเหล่านี้ทั้งหมด ก็เลยไม่ต้องพูด เอ้า,อาตมาก็ขอปิดการศึกษาโดยหวังว่า ท่านทั้งหลายได้ดี ทำดีแล้ว มาแล้ว ดีแล้วได้สิ่งที่ดีแล้ว ได้พูดกันแล้วในลักษณะอย่างนี้ ขอแสดงความยินดี ขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่มาทำให้สวนโมกข์นี้มีประโยชน์ ท่านผู้ฟังไม่ต้องขอบคุณอาตมาก็ได้ อาตมาขอบคุณผู้มาฟังว่า ได้มาทำให้สวนโมกข์นี้มีประโยชน์ และเราก็ควรจะเอาประโยชน์นี้กลับไปกรุงเทพด้วยนะ อย่าทิ้งไว้ตรงนี้หมดนะ เอาความมีจิตเกลี้ยงนี่ติดไปกรุงเทพ เอาความรู้นี้ไปศึกษาใคร่ครวญค้นคว้าต่อไปที่กรุงเทพ แล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์เถิด ก็จะไม่เสียทีที่ได้มาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา โดยเลือดเนื้อเชื้อไขแล้วเราก็เป็นพุทธบริษัท โดยทะเบียน โดยสัญชาติ เราก็เป็นชาวพุทธ เป็นพุทธบริษัท ขอให้ได้เป็นพุทธบริษัท คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลทุกผู้ทุกท่านเทอญ
ทำไมไมโครโฟนตัวนั้นพูดไม่ดัง คุณเร่งหรือว่าปิดมัน
ไม่มีเวลาแล้ว โปรแกรมหมดแล้ว นี่คำบรรยายเรื่องสุดท้าย ที่ตั้งของความรู้สึก จิตนึกความรู้ ถ้าความรู้นั้นถูกต้องเป็น สัมมาทิฐิ ความรู้นั้นผิดพลาดเป็น มิจฉาทิฐิ ให้ทำจนจิตมี สัมมาทิฐิ ไม่มี มิจฉาทิฐิ เรื่องก็หมด สัมมาทิฐิ เป็นข้อต้นของ มรรค มีองค์ ๘ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาทิฐิ มีได้ด้วยการศึกษาอย่างที่ว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองแปลว่าตั้งต้นแต่มีศรัทธา และเข้าไปหาผู้ที่มีความรู้ ไปนั่งใกล้ผู้ที่มีความรู้ แล้วฟังคำสั่งสอนของผู้ที่มีความรู้ ประพฤติปฏิบัติดู ตามคำแนะนำของผู้รู้ ท่านใช้คำว่า ผู้รู้ ซึ่งหมายถึงพระอริยเจ้า แล้วก็มาปฏิบัติดู มิจฉาทิฐิ ก็จะหมดไป สัมมาทิฐิ ก็จะเกิดขึ้น ต่อไปนี้ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ สัมมาทิฐิ คำบรรยายเรื่อง สัมมาทิฐิ ก็มีอยู่ในหนังสือที่พิมพ์แล้วพอเพียงพอ อาตมาก็บอกไม่ได้ว่าอยู่เล่มไหนที่ไหน ไปเลือกดูที่ร้านขายหนังสือคงจะพบ ที่กรุงเทพเขามีร้านธรรมะบูชา ไม่ใช่ร้านของวัดนี้ เป็นร้านของส่วนบุคคล นั้นเขาเจตนาดีจะเผยแพร่ธรรมะของวัดนี้ เขาพิมพ์จำหน่าย เรื่อง อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่มีอธิบายละเอียดแล้ว พิมพ์แล้ว ไปถามเจ้าของร้านดู เล่มไหนเอามาดูที แล้วก็เลือก ๆ เอา เลือกมาสักเล่มสองเล่มแล้วมาศึกษาอยู่เรื่อย ๆ ไป อ่านครั้งเดียวไม่รู้เรื่อง ต้องศึกษาหลายครั้งหลายหนรู้เรื่อง
สัมมาทิฐิ เป็นรุ่งอรุณของทุกสิ่ง นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัมมาทิฐิ เป็นรุ่งอรุณของทุกสิ่ง ที่เป็นไปในทางดี แต่เดี๋ยวนี้มันรุ่งอรุณแล้วไม่เท่าไรกลางวันจะมา ก็แจ่มแจ้งไปหมด สัมมาทิฐิเหมือนกับรุ่งอรุณนำหน้าแสงสว่างทั้งหลายมา พูดเรื่อง สัมมาทิฐิ ก็พูดเรื่องปัญญานั่นเอง จิตเป็นสมาธิแล้วก็จะมีปัญญาเป็น สัมมาทิฐิ
ได้ยินว่าจะเลี้ยงพระกันไม่ใช่เหรอ แต่เผอิญวันมันตรงกับพระเขาไป (ชั่วโมงที่ 01:25:25) เกือบหมด มีพระเหลือจำนวนน้อย ก็เลี้ยงกันไปตามเรื่อง ช่วยฉันข้าวจานแมว กินข้าวจานแมว เป็นที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้าผู้ฉันข้าวจานแมว ไม่มีช้อนส้อมนะ พระพุทธเจ้าไม่มีช้อนส้อม ฉันข้าวด้วยมือ เดี๋ยวนี้ชาวอินเดียเขาก็ยังนิยมกินข้าวด้วยมือกันทั้งนั้น แม้ตามร้านอาหาร อาตมาเคยเข้าไปในร้านอาหารที่ประเทศอินเดีย ไอ้คนที่เขามากินข้าว เขากินด้วยมือกันเกือบทั้งนั้น น้อยคนที่จะกินด้วยช้อนส้อมเพื่อความสะดวกอย่างคนสมัยใหม่ คนที่แต่งตัวเรียบร้อย เข้ามาในร้านอาหาร ช้อนส้อมไม่ใช้วางอยู่ตรงนั้น เขาเปิบข้าวด้วยมือ หลายพันปีเขากินข้าวด้วยมือ เดี๋ยวนี้ก็ยังกินข้าวด้วยมือ เราพอจะเอาอย่างเขาได้ กินข้าวด้วยมือ แต่ถ้าจะคลุกขยำให้ขึ้นมาตามระหว่างนิ้วนี่เราทำไม่ได้ อาตมาเคยไปฉันร่วมกับพระ พระอินเดีย พระลังกานี่เขาทำได้ อาตมาขอว่าทำไม่ได้ เอาข้าวเอาแกงใส่ในถาด แล้วขยำจนขึ้นมาตามระหว่างนิ้วนี้ทำไม่ได้ แต่เขาทำได้ เขากินได้ แล้วเหลือเยอะแยะเขายังไปให้คนกินได้อีก คนกินไม่รังเกียจเลย ที่คลุกกันแบบนั้นดูคล้าย ๆ อุจจาระ คนทีหลังเขายังกินได้อีก เราขออนุญาตพิเศษขอฉันด้วยช้อนส้อมตามที่เคย ฉันข้าวจานแมวด้วยมือกันเสียบ้าง จะได้ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าได้โดยง่าย เป็นแบบครั้งพุทธกาล พระไปที่บ้านที่เขาจะเลี้ยง เขาส่งบาตรให้เจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านเอาบาตรไปในที่ปรุงอาหาร ไปจัดอาหารมาจากในครัว ใส่บาตร ๆ ๆ แล้วก็มาถวายพระที่นั่งอยู่ที่ในที่นั่น ในห้องรับแขกแล้วก็ฉัน เขาก็คอยดูว่าจะเติมไหม ถ้าต้องการจะเติมก็เติม ๆ พระท่านจะฉันในลักษณะที่ว่าฉันหมด ท่านไม่ยอมให้เติมจนเหลือฉัน แต่ถ้าเติมก็เติมอย่างที่เรียกว่า ฉันหมด แล้วก็ล้างบาตร แล้วก็กลับวัด นี่ครั้งพุทธกาล เรามาสาธิตที่นี่ ในครั้งแรกก็เอาบาตรไว้ที่เขารวมไอ้หม้ออาหาร แล้วใส่บาตร แล้วจึงประเคน ประเคน แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีใครช่วยยก มันลำบาก มันเปลี่ยน ต้องขอเปลี่ยน เอาบาตรวางอยู่ตรงหน้าพระ แล้วก็ไปใส่ลงในบาตร ใส่ลงในบาตร ตรงหน้าพระ แล้วประเคน งานมันก็น้อยหน่อย แล้วก็ใส่เท่าที่ เท่าที่เห็นว่าพระจะฉันหมด แล้วพระก็ขอเติมก็ได้ แล้วก็ฉันหมด แล้วก็ล้างบาตร นี่เรียกว่า ทำอย่างเดียวกับครั้งพุทธกาล
เพราะเหตุที่ชาวบ้านฆราวาสเขาเข้าไปประชิดตัวมากเกินไป พระจึงเปลี่ยนเป็นห่มคลุม ห่มจีวรคลุมเหมือนกับเข้าไปในบ้าน แม้อยู่ที่วัด เพราะว่าชาวบ้านเขาพาบ้านมาด้วย แล้วเข้ามาใกล้พระเกินไป แล้วพระก็ต้องห่มคลุม เหมือนกับเข้าไปในบ้าน นี่ที่จะเห็นมันก็จะมีอย่างนี้ เลี้ยงกันอย่างครั้งพุทธกาล เสมือนเลี้ยงในบ้านพระก็ห่มคลุม เสร็จแล้วลูกศิษย์ ทายก ทายิกาทั้งหลายก็กินข้าวจานแมวแบบเดียวกัน แต่ชาวบ้านเขาก็ทำอย่างบุฟเฟต์ก็ได้ มันก็ไม่น่าละเอียด น่ารังเกียจอะไร แต่พระนั้นมันก็รวม ๆ กันลงไปทั้งของหวานของคาว เพราะบาตรมันจำกัด เมื่อฉันเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็พูดจาที่เรียกว่า อนุโมทนา พอฉันเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าจะอนุโมทนาด้วยการพูดจา ให้เจ้าของบ้านเห็นประโยชน์ของการมีศาสนา เลี้ยงพระ เลี้ยงอะไรให้เขาสบายใจ ให้เขารู้สึกว่าเป็นบุญเป็นกุศลอย่างนี้เรียกว่า อนุโมทนา แล้วจึงกลับไปวัด ถ้าพระพุทธเจ้าท่านจะอยู่อนุโมทนาด้วยพระองค์เองไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม ท่านก็จะสั่งให้พระองค์ใดองค์หนึ่งอยู่ก่อน ให้แกนี้อยู่อนุโมทนากับชาวบ้านก่อน นอกนั้นกลับไปวัดก่อนอย่างนี้ก็มี แต่ตามปรกติแล้วพระพุทธเจ้าจะทรงกระทำเอง อนุโมทนาจนเจ้าของบ้านพอใจ เป็นสุขร่าเริง กล้าหาญ รู้สึกเป็นบุญ เป็นกุศล ฉะนั้นการไปบิณฑบาต หรือเรียกว่าการโปรดสัตว์ มันก็ถูก เพราะพระพุทธเจ้าไปโปรดสัตว์ อนุโมทนาเมื่อฉันแล้ว จนเจ้าของบ้านมีความสุข มีความพอใจ มีความกล้า มีความเชื่อในธรรมะ ในศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ค่อยได้อนุโมทนากันแบบนี้ แต่อนุโมทนาด้วยภาษาบาลี สวดภาษาบาลีซึ่งฟังไม่ค่อยถูก จะให้อนุโมทนาแบบภาษาไทยอย่างพระพุทธเจ้า พระก็ทำไม่ค่อยได้ เพราะพูดไม่ค่อยเป็น บางทีก็มีพระที่พูดเป็น อนุโมทนาเป็นภาษาไทย แล้วจึงอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน แต่ธรรมเนียมทั่วไปสวดอนุโมทนาเป็นภาษาบาลีหมด ไม่ได้อนุโมทนาเป็นภาษาไทย
ไปไหว้พระธาตุเหมือนกับไปไหว้สิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าท่านมีชีวิตอยู่ ท่านก็ทำอะไรของท่านเอง รับเครื่องสักการะด้วยพระองค์เอง เดี๋ยวนี้ท่านนิพพานไปแล้ว พระธาตุยังอยู่แทนพระพุทธเจ้า เราจึงไปถวายสักการะบูชา แสดงความรู้สึกอะไรที่นั่นเหมือนกับว่าไปทำกับพระพุทธเจ้าเอง ดังนั้นควรจะไปที่วัดพระธาตุด้วย จะช่วยให้รู้สึกได้มากกว่า ลึกกว่า คือความรู้สึกที่เกี่ยวกับพระคุณของพระพุทธเจ้า จะรู้สึกได้มากกว่า ฉะนั้นควรไปไหว้พระบรมธาตุด้วยจิตใจที่สงบ ด้วยจิตใจที่ลึกซึ้ง ที่ดีกว่าธรรมดา จะไปไหว้พระธาตุพระบาทที่ไหนก็ควรจะทำอย่างนั้น คือมันง่ายขึ้นกว่าที่จะไม่มีพระธาตุ หรือไม่มีอะไรเสียเลย
เลยไปตลาด ไปตลาดเลยไปถึงริมทะเล นั่นเมืองเก่าอยู่ที่นั่น ฝรั่งเขากำลังขุดค้นโบราณสถาน โบราณวัตถุใต้ดินอยู่เดี๋ยวนี้ พบวัตถุกระเบื้องเครื่องใช้เป็นของเก่าเกินกว่าพันปี ที่ตรงปากน้ำนั้นเคยเป็นตลาดนัด ระหว่างพวกจีนกับพวกอินเดียเปอร์เซียเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว คือสมัยศรีวิชัย เดี๋ยวนี้ยิ่งขุดพบหลักฐานอันนั้นมากขึ้น ในดินมีกระเบื้อง มีลูกปัด มีอะไรของสมัยเกินกว่าพันปี ลูกปัดลูกเท่าปลายนิ้วก้อยอย่างนี้ บางคนมีคนมาคอยยืนซื้อที่ปากหลุม ๓๐๐ บาท ๔๐๐ บาท เม็ดเดียว คือเป็นลูกปัดชนิดนู้น ลูกปัดของเปอร์เซียของอาหรับสมัยนู้น ฝ่ายนี้ไปที่ตรงนี้ ฝ่ายโน้นที่ตะกั่วป่า เขาแลกเปลี่ยนกันไปแลกเปลี่ยนกันมาโดยอาศัยแม่น้ำนี้ ตอนนั้นบ้านดอนยังไม่มี สุราษฎร์ยังไม่มี ยังเป็นทะเล ไอ้ตรงนี้มันเป็นไอ้ปากอ่าวที่มันวกมาอย่างนี้ ตรงมุมนี้เขาตั้งตลาดฝ่ายนี้ที่เรียกว่า เมืองไชยาหรือศรีวิชัย ก็ข้ามแม่น้ำนี้ไป ไปข้ามภูเขาไปฝ่ายตะวันตกเป็นตะกั่วป่า ฝ่ายโน้นก็มีอย่างนี้เหมือนกัน มีมากกระทั่งว่า เศษทองคำเล็ก ๆ ในดิน พวกนักโบราณคดีเขาสันนิษฐานกันว่า มันใช้ทองคำอย่างเงินตรา ทองคำที่แผ่บางเป็นแผ่นบางนั้น เมื่อเขาจะซื้อสินค้าราคานี้ ซื้อสินค้าของฝ่ายโน้น ไอ้คนนี้มันก็ฉีกทองคำให้ตามสมควรแก่ราคานั้น ทองคำมันจึงถูกฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ๆ ๆ ขนาดเม็ดข้าวเม่าก็มี มันก็ยังตกเรี่ยราดอยู่ในดินที่ลึก เขาไปขุดพบเข้า นี้ว่าอะไรกัน ๆ ไอ้พวกนักศึกษารู้ทางโลหะวิทยาดี เขาบอกนี่ไม่ใช่แร่ทองคำที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติ มันเป็นแผ่นทองคำที่มนุษย์ได้กระทำกับมันอย่างนี้ ๆ เขาสันนิษฐานว่าอย่างนั้น แต่ฝ่ายนี้ยังไม่มีพบ ฝ่ายตะวันออก คือที่พุมเรียง ไชยานี้ไม่พบ จะพบเป็นลูกปัดหรือชิ้นอะไรบางอย่างที่ไม่รู้ว่าอะไร และที่พบมากที่สุดก็คือ เศษกระเบื้อง เศษกระเบื้องสมัยซ้องแรกนั่นก็ นี่ก็สมัยศรีวิชัยที่นี่ ที่เก่ากว่านั้นก็พบที่ถัดไปที่ท่าชนะ นี่จะขึ้นไปถึงกระเบื้องสมัยก่อนนั้นไปหน่อย ที่มักเรียกกันว่า สมัยทวาราวดี ยังไม่ได้เคลือบน้ำยาเลยพวกนี้ แต่ถ้าที่นี่เป็นกระเบื้องเคลือบน้ำยาเป็นสมัยศรีวิชัย ถ้าสนใจก็ไปดูกันได้ แต่คงจะเห็นแต่การขุดกระเบื้อง พวกนั้นเขาขุดหาลูกปัดหรือของอะไรที่จะขายได้ ซึ่งผู้ที่เขามีความรู้มาจากกรุงเทพ มาจากไหนก็มา ก็มายืนซื้อที่ปากหลุม เมื่อเขาขุด กำลังขุดมาก ขุดพบมากก็มายืนซื้อกันอยู่ที่ปากหลุม ขายเดี๋ยวนั้นเลย ลูกปัดที่ประหลาดที่หายากในทางโบราณวัตถุ เม็ดหนึ่ง ๓๐๐ บาท ๔๐๐ บาท มีคนหนึ่งเขาซื้อมาปลายมือหนึ่งชนิดที่ร้อยบาทเล็ก ๆ ขาย ขอดูเขาที เขาก็ซื้อมาจากฝ่ายนู้น ฝ่ายตะกั่วป่า นี่เมืองโบราณพันกว่าปีมีพุทธศาสนา มีวัฒนธรรม มีอะไร สมัยนั้นมันตั้งอยู่ที่นี่ ที่ริมทะเล แล้วจะมาเลื่อนมาที่แถวนี้ ที่แถววัดเวียง แถววัดพระธาตุ แล้วตั้งกันที่วัดพระธาตุ เป็นพระบรมธาตุ พันกว่าปี วัดอื่น ๆ ก็มีใกล้ ๆ กันนี้แหละพวกเกินพันปี เช่น วัดแก้ว วัดหลง มันไม่อยู่ทางผ่านก็ต้องแวะเข้าไปดู นี่เมื่อไปนี้ตรงไปตลาดมันต้องแวะเข้ามาถนนสายนี้ จึงจะเห็นวัดแก้ว วัดหลง ที่วัดเกินกว่าพันปี ที่ดูง่ายสะดวกที่สุด ก็คือวัดพระธาตุ นะอยู่ตามทาง แวะดู ไปหาหนังสือเรื่องเกี่ยวกับวัดพระธาตุอ่านดูก็รู้ อวโลกิเตศวรนี่สำคัญที่สุด ที่เรานำมาจำลองก็อปปี้เป็นองค์นั้นอยู่สนามหญ้า ก็พบที่วัดพระธาตุ เดี๋ยวนี้เราถือเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรม ที่อยู่บนเสาสูงในบ่อสนามหญ้าตรงนั้นไปถ่ายรูปด้วย จะเท่ากับถ่ายรูปกับพระธรรม อวโลกิเตศวรเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรม สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ เป็นสัญลักษณ์ของอวโลกิเตศวร มีอวโลกิเตศวรเป็นสัญลักษณ์ของความ สุทธิ บริสุทธิ์ ปัญญา รอบรู้ เมตตา เมตตา ขันติ อดทน เป็นสัญลักษณ์ของสวนโมกข์อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสไปถ่ายรูป ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในลักษณะอย่างนี้จะถ่ายได้สวย พออาทิตย์ขึ้นแล้วมันจะมีแดดรั่วออกมาเป็นด่าง ๆ หมดไม่สวย ไม่มีแดดอย่างนี้ถ่ายรูปสวย คุณลองถ่ายดู ถ่ายรูปหมู่นี้ก็เหมือนกันจะสวยกว่า จะรอมีแดดแล้วมันรั่วลงมาเป็นด่าง ๆ สระนาฬิเกร์เป็นสัญลักษณ์ของนิพพาน ต้นมะพร้าว (นาทีที่ 1:40:19) ต้นมะพร้าวนาฬิเกร์ กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ ไปถ่ายกับสระนาฬิเกร์ คือ ถ่ายกับนิพพาน ถ่ายกับอวโลกิเตศวรนั้นถ่ายกับพระธรรม ต้นสาละต้นนั้นใบใหญ่ ๆ นั่นที่ประสูติและนิพพาน ก็ต้นไม้ที่ประสูติและนิพพาน ถ่ายรูปนี้ไปเป็นที่ระลึกบ้าง เก็บใบไปดูคนละใบก็ได้ ใบต้นสาละ เอากระดาษทับ ทับบนทับล่าง เอาเตารีด ๆ รีดจนแห้งจนเสมอ ใส่กรอบกระจกไว้ดู เอ้า,ปิดประชุมได้สำหรับอาตมา ขอส่งลากลับได้ ไม่ต้องลาอีก ถึงเวลาก็เชิญกลับได้
จะบอกรูปศิลป์ให้สักรูปเอาไหม ช่างภาพ คุณไม่เป็นศิลป์เสียเลย นี่คุณลองไปก้มคางชิดดินถ่ายตรงนั้นให้ก้อนหินก้อนนี้ติดอยู่ในภาพจะเป็นภาพประหลาดแล้วสวย นี่ตรงนี้ ขึ้นมาบนนี้ ๆ นี่ ดูช่อง ๆ เหมาะ ๆ ช่องโล่ง ๆ เข้ามาอีก ๆ แล้วก้มจนกล้องติดดิน ถ่ายก้อนหินทั้งหมดนี้ ทั้งหมดนี่เลยไปถึงโน่น จะเป็นภาพที่ประหลาดแล้วสวย ขยับดูเอง ๆ ขยับซ้ายขยับขวา ขยับดูเอง ให้มันได้ก้อนหินที่รูปตะคุ่ม ๆ ๆ แล้วสวย คุณจะถ่ายรูปก็มานั่งขั้นบันได หันหน้าไปทางโน้นแล้วเขาถ่ายก็ได้ เดี๋ยวนี้ตะวันกำลังอยู่ฝ่ายโน้น ถ้าต้องการจะนั่งบนนี้ก็ได้ นั่งบนนี้รอบ ๆ แล้วถ่ายมาจากทางนู้น อย่าเพ่อปิดไฟ ๆ นั่งที่ขั้น ๆ ๆ แล้วก็ถ่ายมาจากตรงนู้น ติดก้อนหินทุกก้อนไหม นั่ง ๆ ที่ขั้น ๆ ๆ ๆ ทำแถวให้สั้นแล้วถ่ายมาจากทางโน้น ปิดไฟทางนี้มันไม่สะท้อนแสง ชั้นล่างบ้างก็ได้ จะนั่งข้างล่างก็ได้ ถ้าสนใจไปถ่ายกับอวโลกิเตศวร เวลานี้อากาศเหมาะที่สุด แสงสว่างเหมาะที่สุดที่จะถ่ายอวโลกิเตศวร ไปยืนตรงหน้าพระธรรม สุทธิ ปัญญา เมตตา ขันติ ท่องไว้ในใจ ถ้าจะไปอวโลกิเตศวรก็ไปทางนี้ เดินไปบนนี้ แล้วจะไปเข้าอวโลกิเตศวร หน้าตึกเขียนอยู่แล้ว สาละ แท่นหินเขียนหนังสือว่า สาละ ได้เอาอย่างมากเพียงคนละใบ