แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เนื่องด้วยวิสาขบูชา เป็นบุพพปรลำดับ ต่อจากธรรมเทศนาที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นแห่งราตรี
เรามาคำนึงถึงข้อที่วันนี้เป็นวันวิสาขบูชามุ่งหมายฉลองชัยชนะของพระบรมศาสดาเหนือกิเลสมาร ซึ่งเป็นลักษณะของการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและเป็นการปรินิพพาน คือการดับไปแห่งกิเลสอันเป็นเหตุให้ลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า โดยหลักใหญ่ๆทั่วๆ ไป พุทธบริษัทควรจะทราบไว้ว่าพุทธศาสนามีใจความสำคัญว่าอย่างไร และถือเป็นหลักตรงกันได้ในระหว่างนิกายทุกนิกาย เรื่องนี้ยุติกันว่าได้แก่เรื่องอริยสัจทั้ง ๔ แต่เมื่อมีผู้มาทูลถามถึงข้อที่พระองค์ได้ตรัสสอนสาวกทั้งหลายเป็นอย่างมาก พระองค์ตรัสตอบว่าทรงสังสอนทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายเป็นอย่างมาก คือข้อที่ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้ ข้อนี้กล่าวตามพระบาลีซึ่งเป็นที่มาแห่งเรื่องนี้ คือจุฬสัจจกกสูตร ในตอนสรุปท้ายตรัสว่า สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ผิดกันอยู่เล็กน้อยกับที่เราสวดกันอยู่โดยมาก ประโยคแรกที่สวดกันอยู่ตามหนังสือสวดมนต์ ว่าสังขารทั้งปวงเป็นอนิจจัง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่ข้อสำคัญมันก็อยู่ตรงที่ว่าเบญจขันธ์นั้นเป็นตัวเรื่องเป็นตัวราว เป็นตัวเรื่องราว การตรัสรู้ ตรัสรู้เรื่องอริยสัจ ๔ แต่เมื่อจำแนกอริยสัจ ๔ ก็มีข้อความว่าในที่บางแห่งแตกต่างกัน จะแตกต่างกันโดยตัวหนังสือ แต่ใจความก็เหมือนกัน ข้อนี้ก็คือ คำกล่าวของพระสารีบุตร ในมหาหัตถิปโทปมสูตร มัชฌิมนิกายมูลนาถ พระสารีบุตรได้กล่าวว่า ความพอใจ ความอาลัย ความติดตาม ความหยั่งลงไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ อันใดอันนั้นเป็นทุกขสมุทัย การนำออกเสียซึ่งฉันทราคะ การละเสียซึ่งฉันทราคะในปัญจุปาทานขันธ์ อันใดอันนั้นเป็นทุกขนิโรธดังนี้
เมื่อกล่าวถึงพระสารีบุตรจะพบพระพุทธภาษิตในที่บางแห่งว่า พระองค์ทรงสรรเสริญพระสารีบุตรนี้ว่าเป็นผู้สามารถประกาศพระธรรมจักรได้เสมอเหมือนกับพระพุทธองค์ ข้อความนี้แสดงให้เห็นอยู่ว่า พระสารีบุตรได้ยกเอาความพอใจ ความอาลัย ความติดตาม ความหยั่งลงสู่ปัญจุปาทานขันธ์ ว่าเป็นทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ และว่าการนำออกเสียซึ่งฉันทราคะ การละเสียซึ่งฉันทราคะ ในปัญจุปาทานขันธ์นี้เป็นทุกขนิโรธ คือความดับแห่งทุกข์ ก็ควรจะพิจารณากันดูกับข้อที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ตลอดเวลาในที่มากแห่งว่า ทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์นั้น ได้แก่ตัณหา ทุกขนิโรธ ความดับแห่งทุกข์นั้น ได้แก่การดับเสียซึ่งตัณหา สรุปความว่าอันหนึ่งยกเอาเอาตัณหาเป็นหลัก สำหรับจะมีหรือจะละเสีย อีกแห่งหนึ่งถือเอาอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นหลัก ในการที่จะมีหรือจะละเสีย พุทธบริษัทเราจะเข้าใจอย่างไร ว่าข้อความทั้ง ๒ นี้ขัดแย้งกันหรือเป็นอันเดียวกัน ผู้ที่เข้าใจเรื่องปัญจุปาทานขันธ์จะเข้าใจได้เอง ในที่นี้ประสงค์แต่จะให้ทราบว่าเรื่องปัญจุปาทานขันธ์นี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา
ข้อที่พระสาวกมาประกาศพระธรรมในฐานะเสมือนกันกับพระศาสดาเช่นสูตรสูตรนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะสังเกตุ คือเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ มารก็มาทูลให้นิพพาน ในทำนองที่ว่าหน้าที่การงานสำเร็จแล้ว ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเถิด พระพุทธองค์ตรัสตอบมารว่า ตลอดเวลาที่สาวกทั้งหลาย ตลอดเวลาที่ธรรมวินัยของพระองค์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จนพวกเทวดาและมนุษย์เข้าใจและประกาศตามได้เสมอเหมือนพระองค์แล้ว จักยังไม่ปรินิพพานก่อน ข้อนี้ฟังดูให้ดีๆ ว่าพระองค์จะยังไม่ปริปรินิพพานจนกว่าสาวกทั้งหลายทั้งเทวดาและมนุษย์ จะสามารถรู้และประกาศธรรมวินัยนี้ได้เสมือนได้เหมือนกับพระองค์ นี่เราก็ควรจะเอามาคิดนึกดูให้ดี นี่เป็นเรื่องของเรา ว่าเราเป็นสาวกของพระองค์ ทรงหวังถึงกับว่าถ้าสาวกยังไม่รู้ธรรมะและประกาศธรรมะได้เสมอเหมือนพระองค์ก็จักยังไม่ปรินิพพานก่อน ข้อนี้เมื่อมีพระสารีบุตรเป็นเครื่องอ้าง ถึงกับว่าพระบรมศาสดาเองทรงยกย่องสรรเสริญว่าพระสารีบุตรประกาศธรรมจักรได้เสมอเหมือนกับพระองค์ แต่สาวกทั้งหลายเหล่าอื่นทั่วไปเล่า สามารถที่จะประกาศพระธรรมวินัยนี้ได้เหมือนอย่างพระองค์นั้นมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อาตมาได้สังเกตเห็นคัมภีร์ทั้งหลายเป็นอันมากของทางฝ่ายมหายานซึ่งกล่าวไว้ในลักษณะที่เห็นได้ว่าสาวกในยุคหลังต่อมานั้นได้รจนาร้อยกรองขึ้นยืดยาววิจิตรพิสดารเป็นที่น่าพอใจมากมายหลายสิบสูตรด้วยกัน แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าข้อความในสูตรทั้งหลายเหล่านั้นตรงกันโดยหัวใจของเรื่อง คือเป็นเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ ทั้งนั้น จนกล่าวได้ล่วงหน้าว่าสูตรไหนก็ตาม มันจะเป็นไปในทางที่ให้ถอนความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวว่าตนในขันธ์ทั้ง ๕ ทั้งนั้น ก็มาตรงกับข้อที่ว่า พระพุทธองค์ตรัสว่าสิ่งที่ทรงสอนสาวกมากที่สุดนั้นก็คือ การแสดงให้เห็นว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนิจจัง ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา ก็คือยึดมั่นถือมั่นไม่ได้นั่นเอง นี่คือหัวใจของพุทธศาสนา ถ้าจะพูดให้สั้นที่สุดก็พูดว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์นั้นเป็นหัวใจของพุทธศาสนา โดยมากจะกล่าวถึงอริยสัจ ๔ ว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา มันก็มีเรื่องมากเรื่องถึง ๔ เรื่องคือ เรื่องทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ และเรื่องมรรค นั่นเป็นการแจกออกไปให้มีข้อความละเอียดพิศดารสักหน่อย แต่ถ้าสรุปความให้สั้นแล้ว ก็จะเหลืออยู่แต่การไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์นั้นเป็นการดับทุกข์ นั่นเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ถ้าพิจารณาศึกษาดูให้ดีก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แม้จะแสดงไปในทางของอริยสัจ ๔ ก็ตาม จะแสดงไปในทางเรื่องอุปาทานขันธ์ก็ตาม จะเห็นได้อีกอย่างหนึ่งต่อไปว่า เมื่อทรงถูกถามว่าทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเป็นอันมากนั้นทรงแสดงอย่างไร ก็กลายเป็นว่าทรงแสดงเรื่องขันธ์ ๕ จนเห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น และมีพระพุทธภาษิตในที่อื่นตรัสว่า สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่ก็หมายถึงบทที่ว่า สัพเพธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา และธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ทรงมุ่งหมายเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นเป็นประธาน เป็นเบื้องต้นซึ่งเป็นคำตอบเมื่อถูกเขาถามว่าสอนอะไรมาก
เมื่อเอาข้อความทั้งหมดนี้มาประมวลเข้าด้วยกัน หยิบขึ้นมาแต่ใจความแล้วก็จะได้ใจความสั้นๆ ว่าเบญจขันธ์เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น การตรัสรู้ก็คือ การตรัสรู้เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน อันนี้เป็นหลักสำคัญในข้อที่ว่า ศาสนาอื่นนอกจากพุทธศาสนานั้น เขาสอนเรื่องมีตัวตนที่เป็นชั้นต่ำสุด เขาก็สอนกันว่ารูปเป็นตัวตน เวทนาเป็นตัวตน สัญญาเป็นตัวตน สังขารเป็นตัวตน วิญญาณเป็นตัวตน คือขันธ์ทั้ง ๕ แต่ละขันธ์เป็นตัวตน ข้อนี้รู้ได้จากนิครนถ์ชื่อสัจจกะ ผู้เข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นเอง แล้วก็มีลัทธิอื่น ศาสนาอื่น ไม่สอนเรื่องไม่สอนว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน แต่ก็ได้สอนสิ่งบางสิ่งว่าเป็นตัวตน อย่างที่เหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือลัทธิที่สอนว่ามีตัวตนอันถาวรที่เรียกว่า ปรมาตมัน หรือเมื่อเป็นบุคลาธิษฐานก็เรียกว่าพรหมาหรือพระพรหม นี่เป็นตัวตนถาวร ใจความสำคัญของเรื่องก็มีอยู่ที่ว่า พุทธศาสนาไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตนโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนปลาย ลัทธิอื่นนั้นมีตัวตน เอาขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวตก็มี เอาขันธ์ ๕ เอาขันธ์ทั้ง ๕ออกไปเสีย เอาสิ่งอื่นซึ่งมิใช่ขันธ์ ๕ เป็นตัวตนก็มี รวมความว่า หากเขาสอนว่ามีสิ่งที่เป็นตัวตน นี่แตกต่างกันในระหว่างพุทธศาสนากับลัทธิอื่น มีข้อความในที่บางแห่ง พระองค์ตรัสว่า ในลัทธิอื่นสอนกันอยู่แต่เพียง ๓ เรื่อง คือเรื่อง กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน ไม่มีสอนเรื่องอัตตวาทุปาทาน ในพุทธศาสนานี้มีสอนเรื่องอัตตวาทุปาทานด้วย จึงกลายเป็นครบทั้ง ๔ เรื่อง หมายความว่าในลัทธิอื่น ในศาสนาอื่นสอนเพียงเรื่องการละกามุปาทาน การละในกามทิฐิ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นด้วยทิฐิ สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นศีลและพรต ไม่สอนเรื่องยึดมั่นในวาทะว่าตน จึงไม่ได้สอนให้ละเรื่องยึดมั่นด้วยวาทะว่าตน การยึดมั่นด้วยวาทะว่าตนเป็นสิ่งที่ควรละเสียนั้นมีแต่ในพระพุทธศาสนา เป็นอันว่าเราควรจะจับใจความสำคัญของเรื่องนี้ให้ได้ว่า พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนอันสรุปได้เป็นหัวใจสั้นๆ ว่าอย่างไร ก็วันนี้เป็นวิสาขบูชา เป็นที่ระลึกแก่พระศาสดาผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้เป็นเครื่องช่วยสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง เราจะสืบคำสอนของพระองค์ไว้ โดยสรุปเป็นใจความสั้นๆ ได้ว่าอย่างไรดังนี้ อาตมาเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงได้นำมาวิสัชชนา ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดี สังเกตุให้ดี ทำความเข้าใจให้ดี จนจับใจความสำคัญได้ในส่วนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะสรุปความสั้นๆว่า การละเสียซึ่งปัญจุปาทานขันธ์นั่นแหละเป็นหัวใจของเรื่องทั้งหมด ซึ่งชี้เฉพาะไปยังสิ่งที่มีอยู่จริงในจิตใจของบุคคล มีมาแต่กำเนิด เกิดมาจากท้องบิดามารดา โตขึ้นมาก็เจริญด้วยปัญจุปาทานขันธ์ จนเป็นของประจำชีวิตจิตใจ สิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ นั่นแหละเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจกันให้ดี ให้ถูกตามที่เป็นจริง อย่าเป็นเพียงว่าท่องได้ทั้ง ๕ หรือตามที่เขาสอนกันอยู่ บางอย่างนั้นยังไม่ตรงกับความจริง ความทุกข์ทั้งปวงกี่อย่าง กี่อย่าง สรุปโดยย่อแล้วอยู่ที่ปัญจุปาทานขันธ์ ดังพระบาลีว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทาน นักขันธา ทุกขา คือเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครองอยู่นั้นเป็นตัวทุกข์ นี่คือใจความว่าเบญจขันธ์ที่มีอุปาทานยึดครองอยู่นั้นเป็นตัวทุกข์ ถ้าทำลายอุปาทานนั้นเสียได้ ไม่มีการยึดถือในเบญจขันธ์แล้ว ความทุกข์ก็ดับไป ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายอย่างหนึ่งก็ว่า เมื่อใดมีความยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อนั้นจะต้องเป็นทุกข์ เมื่อใดไม่มีความยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อนั้นก็ไม่เป็นทุกข์ หรือจะกล่าวให้เจาะจงลงไปอีกก็ว่า เมื่อคนเรายึดมั่นในขันธ์โดยความเป็นตัวตน เมื่อนั้นจะเป็นทุกข์ หรือจะกลับกันว่า เมื่อใดเป็นทุกข์ก็ดูดีให้ดีเถิด มันก็มีการยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ เรื่องที่จะต้องเข้าใจแจ่มแจ้งก็คือ เข้าใจให้แจ่มแจ้งที่สุดก็คือเรื่องเบญจขันธ์นั่นเอง เราได้ยิน ได้ฟังคำสอนไปในทำนองว่าเรามีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา เราไม่ทราบขันธ์แต่ละขันธ์นั้นเป็นอย่างไร ขันธ์ทั้ง ๕มีอยู่ตลอดเวลาพร้อมกันนั้นไม่ได้ มันจะมีอยู่ตลอดเวลาได้ก็แต่ทีละขันธ์ละขันธ์ จึงควรศึกษาดูให้ดีว่าเมื่อไรเรามีขันธ์อะไร หรือว่าเมื่อไรเรายึดมั่นในขันธ์อะไร ขอให้ตั้งต้นทำความเข้าใจกันใหม่จะดีกว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อไม่มีการยึดมั่นถือมั่นก็เรียกว่าขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์ แต่ถ้ามีการยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕ หรือปัญจุปาทานขันธ์ ชื่อมันต่างกันอยู่ สังเกตุดูให้ดีๆ เรียกว่าขันธ์เฉยๆ นั้นคือไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น เรียกว่าอุปาทานขันธ์ นั่นมันเมื่อยึดมั่นถือมั่น เพราะไปยึดมั่นถือมั่น มันก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมา ตามธรรมดาเป็นขันธ์เฉยๆ เป็นรูปขันธ์ ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเข้าก็เป็นรูปูปาทานขันธ์ เวทนาขันธ์ คือเวทนาเฉยๆ เมื่อไปยึดมั่นเข้าก็เปลี่ยนชื่อเป็นเวทนูปาทานขันธ์ สัญญาขันธ์เป็นสัญญาเฉยๆ พอไปยึดมั่นเข้ามันก็เป็นสัญญูปาทานขันธ์ สังขารขันธ์ ขันธ์เฉยๆ เป็นสังขารเฉยๆ พอไปยึดมั่นเข้ามันก็เป็นก็เปลี่ยนชื่อเป็นสังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณขันธ์เป็นวิญญาณเฉยๆ พอไปยึดมั่นถือมั่นเข้า วิญญาณเฉยๆ ก็เปลี่ยนชื่อเป็นวิญญาณูปาทานขันธ์ นี่ขอให้สังเกตุในข้อนี้ก่อน ขันธ์ ๕ เฉยๆ เราก็มีชื่อว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ส่วนปัญจุปาทานขันธ์นั้นก็มีชื่อว่ารูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ชื่อมันแปลกกันมาก ถ้ายังสังเกตุไม่เห็นก็ก็คงจะแย่มาก ควรจะสังเกตุเห็นว่าแม้แต่ชื่อมันก็ต่างกันอย่างนี้ ขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานยึดถือโดยเด็ดขาดคือ เบญจขันธ์ของพระอรหันต์ พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังมีขันธ์ทั้ง ๕ ทำหน้าที่ครบทั้ง ๕ อย่าง แต่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าพระอรหันต์ไม่มีกิเลส ก็คือไม่มีอุปาทาน ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นก็เลยเป็นเบญจขันธ์ที่ปราศจากอุปาทาน ก็เรียกว่าวิสุทธิขันธ์ วิสุทธขันธ์ วิสุทธขันธ์ ขันธ์ที่บริสุทธิ์ ส่วนขันธ์ ๕ ของคนธรรมดานี้ โดยปกติหรือจะเรียกว่าโดยทั่วไปนั้นมีความยึดมั่นถือมั่นเป็นของธรรมดา เมื่อยังไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังเป็นขันธ์ล้วนๆ เป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ ไม่ถูกยึดถือ ยังไม่ยึดถือ ก็ไม่เป็นความทุกข์ ในเวลาที่เราไม่รู้สึกเป็นทุกข์ก็คือ เวลาที่ไม่ได้ยึดมั่นขันธ์ว่าเป็นตัวเป็นตนนั่นเอง ข้อนี้จะต้องพิจารณาดูจนเห็น ไม่ใช่คิดคำนวณ ไม่ใช่เรื่องของการคิดการคำนวณ แต่ต้องดูด้วยปัญญา ด้วยดวงตาแห่งปัญญา ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ที่สามารถจะดู แล้วก็ดูจนให้เห็นว่า มีความทุกข์เพราะการยึดมั่นขันธ์ ๕ เมื่อมันเป็นทุกข์จะพบว่ามีการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง เมื่อไม่มีความทุกข์ สบายดี จิตใจว่าง ไม่เป็นทุกข์ในบางคราว นั่นก็เเพราะว่าเวลานั้นมันไม่ได้มีความยึดมั่นในขันธ์ ๕ หรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง นี่ก็คือบทศึกษา บทที่จะต้องศึกษากันจริงๆ จังๆ ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืนดีกว่า พูดว่าจะต้องคอยศึกษา คอยกำหนด คอยสังเกตุ คอยศึกษาให้เห็นความจริงข้อนี้อยู่ ถ้าจะศึกษาให้ดีถึงขนาด ก็ต้องฝึกจิตให้เป็นสมาธิก่อน จิตที่เป็นสมาธิแล้วมองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จึงศึกษาโดยตั้งต้นด้วยการทำจิตให้เป็นสมาธิ คือให้เป็นจิตที่ดีเสียก่อน จึงจะมองเห็นอะไรได้โดยง่าย อย่าว่าแต่จะศึกษาเรื่องธรรมะอันลึกซึ้งเช่นนี้เลย แม้เราแม้แต่ว่าเราจะคิดศึกษาเรื่องราวธรรมดาเรื่องทำมาหากิน วิชาความรู้ของพวกเด็กๆ ก็ตาม จะศึกษาได้ดีก็ต่อเมื่อมีจิตดีคือจิตเป็นสมาธิโดยธรรมชาติ หรือโดยการฝึกฝนส่งเสริมของเรา แล้วจะคิดเรื่องบัญน้ำ บัญชี คิดเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าจิตมันดี จิตกำลังสบาย ก็คิดได้ดี ถ้าจิตกำลังวุ่นวายด้วยกิเลส ด้วยนิวรณ์มันคิดไม่ได้ นี้ขอให้สังเกตุในข้อนี้ให้ครบกันเสียก่อน เพราะว่าทุกคนมันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น จะนึกคิดอะไรได้ดีก็เมื่อจิตมันดีปกติ ไม่มีเรื่องยุ่งอะไรมารบกวนจิตใจ ถ้ามันมีเรื่องยุ่งรบกวนจิตใจ ก็ต้องกระทำโดยวิธีหนึ่งวิธีใดเพื่อให้มันหายยุ่งเสียก่อน แล้วจิตนั้นจึงจะไปคิดอะไรได้ดี คำว่าคิดนี้มีอยู่ ๒ ชั้น คิดอย่างธรรมดาสามัญก็เรียกว่าคิด แต่ถ้าจะดูกันอย่างละเอียดประณีตสุขุมจนเห็นแจ้งโดยไม่ต้องคิด อย่างนี้ก็เรียกว่าดู แม้จะเรียกว่าคิดก็ยังได้ แต่มันคิดอีกวิธีหนึ่ง คือมันคิดโดยการดูให้เห็น นั่นแหละเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องดูให้เห็น คำพูดนี้มันกำกวม เช่นคำว่าพิจารณา คนทั่วไปก็จะถือว่าเป็นการคิดไปคิดมา ทบทวนไปทบทวนมาโดยการคิดแล้วเรียกว่าพิจารณา แต่ว่าการทำเพียงเท่านี้ไม่พอที่จะมองดูให้เห็นเบญจขันธ์ว่ายึดมั่นถือมั่นหรือไม่อย่างไร มันต้องทำมากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นคือดู ผู้ที่ได้เล่าเรียนมาบ้างก็จะได้ฟังได้ยินมาแล้วว่ากรรมฐานนั้นเบ่งเป็น ๒ ขั้นตอน ตอนแรกเรียกว่า สมถกรรมฐานหรือสมถภาวนา ตอนนี้ทำจิตให้เป็นสมาธิเท่านั้นเอง ตอนที่ตอนที่ ๒ หรือตอนหลังเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐานหรือวิปัสสนาภาวนา ตอนนี้ก็คือใช้จิตที่เป็นสมาธิแล้วนั่นแหละทำการดู ไม่ใช่ทำการคิด เพราะว่าการคิดนั้นมันคิดไปตามเหตุผล เป็นวิธีของความรู้อีกชนิดหนึ่งซึ่งเขาเรียกว่า นิยายะหรือนัยยะ แปลว่าคิดไปตามเหตุผล คำนวณไปตามเหตุผล อันนี้ไม่พอ จะต้องดู ดูโดยไม่ต้องอาศัยเหตุผล แต่คำว่าดูนี่ก็แปลก เราเคยใช้กันแต่ดูด้วยตาธรรมดา แต่นี่มันดูด้วยตาข้างใน ตาภายใน คือตาของปัญญา เป็นจิตที่เป็นสมาธิถึงที่สุด สามารถจะเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง นี่คือจิตที่เป็นสมาธิดีแล้ว มันทำหน้าที่ดู นี่ก็เรียกว่า วิปัสสนา วิแปลว่าแจ่มแจ้ง ปัสสนาแปลว่าเห็น วิปัสสนาแปลว่าดูจนเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ไม่มีอาการแห่งความคิด ฉะนั้นผู้ที่จะทำวิปัสสนาควรจะเข้าใจเรื่องนี้ให้ถูกต้องกันเสียก่อนว่าสมาธินั้นทำจิตให้เป็นสมาธิ รวมกำลังของจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียว แล้วก็ดูคือส่องลงไปที่สิ่งที่เราจะดูซึ่งในกรณีนี้ก็ได้แก่เบญจขันธ์ ถ้าจะเปรียบอุปมาโดยวัตถุ ก็เหมือนกับว่าเราเอาแว่นแก้วกลมๆ ที่มันหนาตรงกลางที่เขาเรียกว่า แว่นขยาย เอามารวมแสงอาทิตย์ซึ่งมาตรงๆ เป็นสายทั่วไปหมด เป็นมารวมสายแห่งแสงนั้นให้มารวมอยู่ที่จุดกลาง ด้วยอำนาจของแก้วกลมๆ ชิ้นนั้นซึ่งมีความหนาตรงกลาง แสงทั้งหลายมันก็รวมเข้าเป็นจุดเดียวกันจนเป็นสีขาว ประภัสสร ทอตา แสงนั้นส่องเข้าไปที่ตรงไหนมันไหม้ แม้เราไม่มีไฟธรรมดา เรามีแว่นกระจกอย่างนี้สักอันหนึ่ง แล้วมีแสงแดดช่วย เราก็ทำให้เกิดไฟขึ้นมาได้ด้วยการรวมแสงของแว่นชนิดนั้น แล้วก็เราก็ได้ไฟ จิตนี้ก็เหมือนกันธรรมดาพร่าเหมือนกับแสงสว่างทั่วไป เป็นเส้นแสงขนานกันไปไม่รวม แต่ถ้าทำสมาธิทำให้แสง เส้นแสงรวมกันเป็นจุดเดียว มันก็มีอำนาจแรงกล้าพอที่จะส่องลงไปที่ใดแล้วก็จะเห็นตามที่เป็นจริง ตามหน้าที่ของจิตชนิดนี้ คือจิตที่เป็นสมาธิแล้ว จึงเกิดอาการที่เรียกว่าวิปัสสนา คือเห็นอย่างแจ่มแจ้งด้วยจิตที่เป็นสมาธิแล้ว จิตที่เป็นสมาธินี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่จะเห็นธรรม ถ้าต้องการจะเห็นธรรมะแล้วต้องมีจิตชนิดนี้ที่เป็นเองตามธรรมชาติก็ไม่ใช่น้อย คือมากอยู่เหมือนกัน คือเมื่อเราตั้งใจจะรู้อะไร จะเห็นอะไร จะเข้าใจอะไร หรือจะเพ่งไปที่สิ่งใด มันก็เป็นไปได้โดยธรรมชาติส่วนหนึ่งหรือขั้นตอนหนึ่ง ต่อเมื่อไม่พอ เราจึงจะต้องทำเพิ่มเติมด้วยวิธีที่ทำสมาธิ หรือบางทีตามธรรมชาติมันมันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ มันเป็นไปในทางอื่นที่ตรงกันข้าม เราก็ต้องทำสมาธิ ให้มันมีจิตชนิดที่เป็นสมาธิ สำหรับจะดูหรือส่องลงไปที่ธรรมะ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าสมาธินี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะฝึกฝนให้มากที่สุดตามที่จะมีได้ อาตมาอยากจะให้ท่านทั้งหลายสังเกตุดูว่า เมื่อเราต้องการสมาธิธรรมชาติก็มีให้ เช่นว่าเราจะขว้างก้อนหินให้ถูกสิ่งใด ให้ถูกนก ถูกปลา ถูกคน ถูกหัวคน เราก็ขว้างไปถูกเพราะอำนาจของสมาธิตามธรรมชาติ หรือเมื่อพวกเด็กๆ เขาจะเล่นหยอดหลุมทอยกอง เขาต้องการให้ เขาต้องการโยนให้มันลงลงหลุมก็ดี หรือเขาต้องการโยนให้มันกระทบกันก็ดี เขาก็กระทำได้โดยสมาธิที่มีอยู่ตามธรรมชาติซึ่งก็ไม่น้อยเลย ทีนี้ทำไมไม่สนใจว่าตามธรรมชาติก็มีสมาธิให้อยู่แล้วไม่น้อยเลย ถ้าไม่พอก็ต้องฝึกฝนเพิ่มเติมให้มันพอ อย่าไปเข้าใจเสียว่าเป็นเรื่องเหลือวิสัย ที่จริงมันเป็นเรื่องอยู่ในวิสัย เพราะว่าธรรมชาติก็ต้องการให้มีและมันก็ได้ให้มาแล้วด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะควบคุมอะไรไม่ได้ในการเคลื่อนไหวของร่างกาย แล้วก็จะเหยียบจะย่างลงไปที่เราควรจะเหยียบจะย่างไม่ได้ มันก็ผิดๆ พลาดๆ ไปหมด นี่เราควรจะรู้จักธรรมชาติในส่วนนี้ แล้วก็ปรับปรุงมันให้ดี จะใช้คำศัพท์ๆ แสงๆ ก็ได้ว่าโดยสัญชาตญาณของสิ่งที่มีชีวิต มันก็มีความเป็นสมาธิมาแล้วตามสมควรแก่การที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันมีชีวิตอยู่ไม่ได้ มันทำอะไรไม่ถูกเป้าหมายไปเสียหมด สัตว์เดรัจฉานก็มี มันมีความมุ่งมั่น มันจะทำอะไร มันจะขบจะกัดอะไร มันจะพุ่งตัวไปทางไหนมันก็มีลักษณะอันนี้เท่าที่จำเป็นที่มันจะต้องมีเพื่อเป็นไปได้ แต่มนุษย์เรามันต้องมากกว่านั้น จะเอาเพียงเท่านั้นมันไม่พอ เพราะว่ามันยังมีเรื่องละเอียดลึกซึ้งสุขุมกว่าธรรมดาที่จะต้องเข้าถึง คือความลับของธรรมชาติในทางจิตทางใจที่มันละเอียดลึกซึ้งสุขุม เช่นสิ่งที่เรียกว่ากิเลส นี่มันเป็นของละเอียดสุขุมเหลือประมาณยากที่จะจับตัวมันได้ มันถึงต้องมีจิตชนิดที่ดี คือเป็นจิตที่เป็นสมาธิแล้ว รู้จักมัน รู้จักถึงต้นเหตุของมัน รู้จักถึงวิธีทำลายต้นเหตุนั้นๆ เสีย โดยหลักแห่งอริยสัจทั้ง ๔ ประการนั้นเอง ความทุกข์เป็นอย่างไร มันก็มีชั้นหยาบ ชั้นกลาง ชั้นละเอียด คนโง่ไม่สามารถจะมองเห็นความทุกข์ชั้นละเอียด แล้วจะสำคัญผิดเป็นความไม่ทุกข์หรือเป็นความสุขไปเสียก็มี นี่ความทุกข์ยังเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก ถ้ามันเป็นเรื่องเจ็บปวดตามธรรมดาที่เนื้อที่หนังมันก็เห็นได้ง่าย แต่เดี๋ยวนี้ความทุกข์ยังมีชนิดที่ละเอียดไปกว่านั้น ที่มันทรมานจิตใจแล้วก็ไม่แสดงให้เห็นว่ามันอยู่ที่ตรงไหน หรือเผาไหม้กันอย่างไร ซึ่งคนในโลกนี้ปัจจุบันนี้กำลังเป็นกันมากที่สุด อาตมาได้ประสบมาด้วยตนเอง เมื่อจะอธิบายธรรมะในพระพุทธศาสนานี้แก่คนที่ไม่เคยศึกษามาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ชาวต่างประเทศซึ่งเขาไม่เคยศึกษาพุทธศาสนามาก่อน เป็นคนธรรมดาสามัญอย่างวิสัยโลก คนเหล่านี้ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ เขาก็รู้สึกว่าไม่มีความทุกข์ ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา เขาไม่มีความทุกข์ เราจะไปบอกเขาเรื่องวิธีดับทุกข์ เราก็บ้าเอง เพราะว่าเขาไม่มีความทุกข์ เราไปบอกเขาว่าเรามีวิธีดับทุกข์ มันก็ไม่ถูกฝาถูกตัว เพราะฉะนั้นเราจึงสอนพุทธศาสนาแก่คนพวกนี้ไม่ได้ เราจะสอนได้ก็เฉพาะแต่ผู้ที่มีความรู้ว่า ความทุกข์มีอยู่ ผู้ที่รู้สึกว่าความทุกข์มีอยู่ เราจะสอนให้เขาเห็นว่ามันเป็นอย่างไร มันเกิดมาจากอะไร ถ้าเขารู้สึกว่าไม่มีความทุกข์เลย แล้วถามมาเรียนพุทธศาสนาทำไมเมื่อคุณไม่มีความทุกข์ เขาก็บอกว่า อยากจะเรียนความรู้มากๆ อยากจะมีความรู้มากๆ ในโลกนี้มันมีอะไรบ้าง เป็นความรู้รอบตัว เขาว่าอย่างนี้ หรือบางทีก็จะเรียนสำหรับไปสอนผู้อื่นเป็นอาชีพเลี้ยงชีวิต ถ้าอย่างนี้แล้วก็ไม่ถึงเรื่องของพระธรรม ไม่ถึงเรื่องของพระศาสนา มันเป็นวิชาความรู้ทั่วๆไป เป็นความรู้ท่องจำ เป็นความรู้คิดๆ นึกๆ พูดให้แปลกๆ ก็แล้วกัน การเผยแผ่พุทธศาสนาไม่สำเร็จเพราะว่าคนเหล่านั้นไม่มีความทุกข์ ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์
ทีนี้มาดูในพุทธบริษัทเราว่าระวังให้ดี เดี๋ยวจะเหมือนกันนั่นแหละ ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท ประกาศตัวเป็นพุทธบริษัทอยู่ในบ้านในเมืองของพุทธบริษัทเช่นประเทศไทย ก็มีคนเป็นอันมากที่ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ แล้วกำลังชอบสิ่งที่เป็นทุกข์ ไปทำในสิ่งที่เป็นทุกข์หรือเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อยู่ทั่วๆ ไป พวกนี้ก็สอนยาก ไม่อาจจะเข้าใจได้ มันจึงต้องตั้งต้นกันใหม่ ให้รู้จักสังเกตุความทุกข์ คำว่าความทุกข์นี้มันก็อธิบายยากเหมือนกัน เขามักจะเห็นแต่เรื่องเจ็บปวดปรากฏชัดๆ ความทุกข์อันละเอียดซ่อนเร้นนี้มันไม่ไม่เห็น นั้นคำว่าความทุกข์มันมีความหมายชั้นละเอียดที่ไม่หมายถึงความเจ็บปวด แต่หมายถึงความไม่ผาสุก ไม่เป็นผาสุก เป็นการรบกวน ไม่มีความสงบสุข เพียงนี้ก็จะเรียกว่าความทุกข์ คนที่จิตใจมันหยาบ มันกระด้าง มันก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์ มันก็ไม่สนใจ ก็เลยไม่เข้าใจคำว่าความทุกข์ ที่เราจะไปสอนเขาว่ามันมาจากความยึดมั่นในเบญจขันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยิ่งไม่เข้าใจ ตัวความทุกข์มันก็ไม่เป็นที่เข้าใจเสียแล้ว เหตุของความทุกข์ก็ไม่เข้าใจ ในบาลีบางแห่งมีคำของพระเถระบางองค์ กล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้กล่าวไว้ว่า เมื่อใดเห็นทุกข์ เมื่อนั้นจะเห็นเหตุแห่งความทุกข์ เมื่อใดเห็นความดับแห่งทุกข์ เมื่อนั้นจะเห็นหนทางแห่งความดับแห่งทุกข์นั้น อย่างนี้ก็มี มันเนื่องกันอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็จะต้องเห็นความทุกข์ซึ่งเป็นจุดตั้งต้น เป็นปัญหาแรก ให้รู้จักความทุกข์กันเสียก่อนก็จะมองเห็นเอง เหมือนว่าของ ๒ อย่างมันซ้อนกันอยู่ มันซ้อนกันอยู่ ถ้าเราเห็นอันหนึ่งก็ต้องเห็นอีกอันหนึ่งด้วยเพราะมันอยู่ติดกัน หรือมันซ้อนกันอยู่ ถ้ามันซ้อนกันถึง ๔ ชั้น เราก็เห็นได้ทีเดียวทั้ง ๔ ชั้น เดี๋ยวนี้มันไม่มีการตั้งต้นเห็นลงไปที่สิ่งนั้นหรือกลุ่มนั้น มันก็เลยไม่เห็นอะไร เอาเป็นว่าเราได้รับคำสั่งสอน รับพระพุทธศาสนามาแล้วตั้งแต่หลายชั่วบรรพบุรุษ มันก็ควรจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ในระดับที่เป็นปัญหาหรือว่ารวมอยู่ในเรื่องของพระธรรม ตามความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป รู้สึกแต่หยาบๆ แล้วก็พยายามเข้าใจหรือมองเห็นให้ละเอียดละเอียดยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นว่านอนไม่หลับ แล้วก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุอะไร มันก็ได้แต่โกรธตัวเองอยู่นั่นแหละ นอนไม่หลับมันก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว แล้วก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุไรจึงนอนไม่หลับ อย่างนี้มันก็ไม่แก้ไขได้ ก็ควรจะรู้ว่าเหตุอะไรมันทำให้นอนไม่หลับ ก็จะได้แก้ไขสิ่งนั้นเสีย เราจะดูว่าความทุกข์นี่ตามที่เราได้รับคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนานั้น ก็ว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ สรุปตอนสุดท้ายว่าความปรารถนาไม่ได้ตามที่ปรารถนาเป็นความทุกข์ และว่าปัญจุปาทานขันธ์คือ ขันธ์ทั้ง ๕ ที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนนั้นเป็นความทุกข์ ที่ว่าขันธ์ทั้ง ๕ ที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนเป็นความทุกข์นั้น มันยังละเอียดเกินไป เดี๋ยวนี้เข้าใจไม่ได้ แล้วมันไปอยู่สุดท้ายด้วย มาดูข้างต้นเสียก่อนว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์นี้มันเป็นอย่างไร แล้วคนมันก็เกิด แก่ ตายอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้เป็นความลำบาก ยุ่งยาก เกี่ยวกับภาษา คำว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์นี้ มันเป็นสัมปรายิกโวหาร ไม่ได้ตรงตามตัวหนังสือทีเดียว มันต้องพูดให้ชัดให้เต็มมาเป็นสามัญโวหารว่า ความเกิดที่เขายึดถือว่าเป็นความเกิดของเรานั่นเป็นตัวทุกข์ ความแก่ที่เขายึดถือว่าเป็นความแก่ของเรานั่นเป็นความทุกข์ ความตายที่เขายึดถือว่าเป็นความตายของเรานั่นเป็นความทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสอุปายาส ที่เขายึดถือว่าเป็นมันของเรา มันเป็นแก่เรานั่นแหละมันจึงจะเป็นทุกข์ นี่ดูให้ดีก็พอจะเข้าใจได้ว่า มันขึ้นอยู่กับความยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะว่าความเกิดของคนอื่นไม่มาเป็นทุกข์แก่เรา ความแก่ ความตายของคนอื่นไม่ได้เป็นทุกข์แก่เรา เพราะว่าเราไม่ได้ไปยึดถือ แต่ถ้าเราไปยึดถือมันก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน เช่นความเกิด ความแก่ ความตายของบุตร ภรรยา สามีของเรา เราก็พลอยไปยึดถือว่ามันเนื่องกับเรา เกี่ยวกับเรา เป็นของเราด้วย เราก็เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันสำคัญอยู่ที่ว่าไปยึดถือว่าเป็นตัวเรา หรือว่าของเราต่างหาก มันจึงจะมีความทุกข์ เช่นว่าเราเป็นผู้เกิด เราเป็นผู้แก่ เราเป็นผู้ตายอย่างนี้มันก็มีภาระเข้ามาแล้ว ไปยึดถือเอาว่าเป็นของเราด้วย มันก็เป็นของหนัก ชนิดที่ทำอันตราย ที่เรียกว่ามันเป็นปัญหา มันก็มีความทุกข์ เรามีปัญหาเรื่องการเกิดขึ้นมาเป็นคน มีภาระหน้าที่อย่างคน ก็มีความทุกข์ไปตามแบบของภาระ คือเรายึดถือว่าเรามีความแก่แลชรานี้ มันก็สร้างปัญหาทางร่างกาย ทางจิตใจให้เป็นธรรมดา คนแก่ๆ ย่อมรู้ได้ดี เด็กๆ หรือคนหนุ่มสาวยังรู้ไม่ค่อยได้ ต้องรอไว้ให้มันมีความแก่จริงๆ เสียก่อน แล้วความยึดถือมันก็เกิดเอง หรือเกิดอยู่แล้ว มันก็มีปัญหายุ่งใจเพราะความแก่ นี่ความแก่มันเป็นทุกข์ ถ้าคนมันโง่ ไม่รู้จักยึดถืออะไร มันก็ไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน ส่วนความตายนั้นมันมีทางที่จะยึดถือได้มาก เพราะว่าถูกสอน ถูกอบรมโดยไม่รู้สึกตัวให้มันกลัวตาย มันก็เป็นทุกข์ ก็เห็นการตาย เห็นลักษณะแห่งการตาย จนเห็นว่าเป็นของน่ากลัว มันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์มันก็เป็นทุกข์กันไปอย่างนั้นแหละ ไม่มองเห็นลึกว่ามันเป็นทุกข์เพราะเหตุอะไร คือไม่เห็นว่ามันเป็นทุกข์ ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา นี่สติปัญญามันไปไหนเสีย มนุษย์มันดีกว่าสัตว์เดรัจฉานจริงหรือไม่ มันก็จริงที่ว่ามนุษย์มันมีปัญญามาก แต่มันเอาไปใช้อย่างอื่น ไม่เอามาใช้ที่จะดูว่าเพราะว่าความยึดถือจึงเกิดความทุกข์ มันจึงสู้แมวหรือสัตว์เดรัจฉานทั่วไปก็ไม่ได้ มันไม่รู้จักยึดถือ มันก็ไม่เป็นทุกข์ สัตว์เดรัจฉาน เช่น แมว เป็นต้น มันอยู่ข้างๆ เราตลอดเวลาก็ดู มันยึดถือไม่เป็น มันก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้ามันมากถึงกับว่ารู้สึกยึดถือได้ มันก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความทุกข์เสียเลย แต่ที่มันจะมีความทุกข์มากอย่างคนที่มีความยึดถือเก่ง กว้างขวางนี้มันไม่มี สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ต้องเป็นทุกข์มากเหมือนกับคน เพราะมันยึดถือไม่ค่อยจะเป็น เพราะมันพูดกันไม่ได้ มันสอนกันไม่ได้ ในการที่จะยึดถือ มนุษย์ที่มันพูดกันได้ มันสอนกันได้ ลูกเด็กๆ คลอดมาจากท้องแม่ยังยึดถือไม่เป็น ไม่เท่าไรก็ยึดถือเป็น เพราะว่าการอบรมแวดล้อมของคนเลี้ยงมันทำให้ยึดถือเป็น ยึดถือโน่น ยึดถือนี่ ให้เขาเข้าใจว่าของเรา ของฉัน ตัวเรา ตัวฉัน นี่ก็มีอยู่ เป็นหลักของสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความยึดถือ หรือรู้สึกยึดถือ อีกทางหนึ่งมันเป็นภายใน มันยึดถือได้โดยสัญชาตญาณ เช่นว่าเด็กเกิดมาไม่มีความยึดถือ แต่ต่อมามันก็ได้สัมผัส ได้เกี่ยวข้องกับอะไร ได้กินอะไร ได้เล่นอะไร ได้รับการประคบประหงมอย่างไร ได้รับความสุข ได้รับความสบาย มันก็เสวยรสแห่งความสุขความสบาย มันก็ยึดถือในที่สุด แต่ว่าของกิน กินแล้วอร่อย มันก็จำได้ มีสัญญาว่าอร่อย มันก็ยึดถือในการที่จะได้กินอีก มันก็เลยทุกข์เป็นเพราะความยึดถือ เพราะฉะนั้นขอให้เราตั้งต้นศึกษาเรื่องความยึดถือ และสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือคือของทั้งหมดที่เข้ามาแวดล้อมคนให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เรียกว่าเป็นที่ตั้งของความยึดถือ ส่วนตัวความยึดถือนั้นเป็นความรู้สึกของจิตใจคือความโง่ที่เราโง่เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆๆ อยู่ในท้องไม่ได้โง่ เพราะว่าไม่ได้มีความรู้สึกอะไร พอคลอดออกมาแล้วก็เริ่มโง่ เริ่มหลงใหล รักสิ่งที่น่ารัก เกลียดสิ่งที่น่าเกลียด กลัวสิ่งที่น่ากลัว แล้วแต่ว่าไอ้คนเลี้ยง คนข้างๆ นั้นน่ะเขาอบรมกันอย่างไร เขาอบรมให้อย่างไร เขาทำกริยาท่าทางให้อย่างไร เด็กเกิดมาไม่รู้ว่าอุจจาระนี้สกปรก มันขย้ำเล่นก็ได้ หรือมันจะกินก็ได้ ถ้าปล่อยให้ไปตามเรื่องของมัน คนเลี้ยงต้องทำให้ดูว่านี่สกปรก ทำท่าสกปรกให้ดู ทำท่าเกลียด ท่ากลัวให้ดู เด็กโตขึ้นจึงจะค่อยรู้ว่าอุจจาระนี้สกปรก นี่เรียกว่าสิ่งแวดล้อมมันช่วยให้เกิดความยึดถือ ยึดถือในลักษณะเป็นคู่ๆ เช่นว่าอร่อยหรือไม่อร่อย สวยหรือไม่สวย สบายหรือไม่สบาย เป็นเรื่องได้หรือเรื่องเสีย เป็นเรื่องแพ้หรือเป็นเรื่องชนะ เป็นคู่ๆๆๆ มากมายหลายสิบคู่ในความรู้สึกของมนุษย์ หรืออาจจะเกินกว่าร้อยคู่ก็ได้ แล้วมันก็ยึดถือทั้งสองฝ่ายตามโอกาส ตามเวลา ไปยึดถือฝ่ายไหน ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ยึดถือฝ่ายสวย มันก็เป็นทุกข์เพราะมันไม่ได้ ยึดถือฝ่ายไม่สวย มันก็ลำบากยุ่งยากใจ ขึ้นชื่อว่าความยึดถือแล้วก็จะต้องเป็นทุกข์ ยึดถือในความสุขก็เป็นทุกข์ ยึดถือในความทุกข์ก็เป็นทุกข์ ยึดถือในความแพ้ก็เป็นทุกข์ ยึดถือในความชนะก็เป็นทุกข์ ขึ้นชื่อว่ายึดถือแล้วก็จะมีความทุกข์ เราก็สอนให้ยึดถือกันโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าได้นั่นแหละดี นี่เด็กๆ ได้รับการสั่งสอนอย่างนี้มาก มันก็ยึดถือในการได้ มันก็เป็นความทุกข์ของการได้ ความเสียมันตรงกันข้าม เพราะมันอยากได้ ก็ไม่ชอบการเสีย มันก็ต้องเป็นทุกข์เมื่อเสีย เพราะมันตรงกันข้ามจากการได้ซึ่งยึดถือไว้อย่างแน่นแฟ้น นี่คือความโง่ที่มันค่อยโง่ขึ้นทีละน้อยๆ มันก็มาก มันก็โง่มากในที่สุด จนยึดถือสูงสุดแล้วก็โดยไม่รู้สึกตัว ให้สังเกตุว่ามันไม่รู้สึกตัว นั่นแหละคือโมหะ คืออวิชชา
เอ้า, ทีนี้ก็มาดูเรื่องสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือกันก่อน เราเกิดมาเป็นสัตว์ อย่างคน อย่างมนุษย์นี้มันมีร่างกาย เนื้อหนังร่างกายนี้มันเป็นส่วนรูป เราก็มีร่างกายตามธรรมชาติให้มา ในระบบร่างกายนี้ มันมีสลับซับซ้อนเป็นร่างกายล้วนๆ เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุทั้ง ๔ ประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกายล้วนๆ เป็นเนื้อหนังล้วนๆ ก็มี แล้วก็เป็นชนิดที่ดีกว่านั้น คือเป็นส่วนที่เป็นระบบประสาท ที่มันจะช่วยให้เกิดความรู้สึกอะไรได้มากก็มี ในร่างกายนี้มีร่างกายล้วนๆ และมีระบบประสาทอยู่ที่ตรงตาก็สำหรับจะเห็น อยู่ที่ตรงหูก็สำหรับจะได้ยิน อยู่ที่จมูกก็สำหรับจะรู้กลิ่น อยู่ที่ลิ้นก็สำหรับจะรู้รส อยู่ตามผิวหนังทั่วไปก็เพื่อจะรู้สัมผัส นี่ประสาททั้ง ๕ มันเนื่องอยู่กับกาย เป็นเรื่องของกาย เรียกว่ารูป นี่ที่จะเป็นรูปขันธ์ ต่อเมื่อใดที่มันจะทำหน้าที่ของมันคือเป็นที่ตั้งแห่งจิต ที่เรียกว่าจิต หรือมโน หรือวิญญาณ หรืออะไรก็แล้วแต่เรื่อง แล้วแต่จะเรียกเป็นฝ่ายจิต จิตนี้มันทำอะไรไม่ได้ตามลำพัง มันต้องการที่ตั้งที่อาศัยก็คือร่างกาย มันก็อาศัยร่างกายซึ่งมีระบบประสาทนั่นแหละเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเมื่อใดร่างกายที่มีระบบประสาททำหน้าที่ เมื่อนั้นเราก็เรียกว่ารูปขันธ์ได้เกิดขึ้นแล้ว ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ๕ ทางนี้ รูปขันธ์ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อมันทำหน้าที่ พอมันไม่ทำหน้าที่ก็เรียกว่ามันดับไป แต่ก็มันทำหน้าที่อยู่เกือบตลอดเวลา เช่นตานี้เห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น อย่างนี้มันก็จะเป็นอยู่เกือบตลอดเวลา มันก็มีเกิดดับ เกิดดับ อยู่ตลอดเวลา ตาทำหน้าที่เห็น ดูแล้วก็หยุดไป หูทำหน้าที่ได้ยินแล้วก็หยุดไป นี้เรียกว่าตาเกิด ตาดับ หูเกิด หูดับ ก็คือรูปขันธ์นี่มันเกิดหรือมันดับ เป็นส่วนของร่างกายที่ทำหน้าที่ร่วมกับส่วนจิตใจ ก็เรียกว่ารูปขันธ์เกิด ในส่วนนามขันธ์คือฝ่ายจิตนั้น มันก็เรียกว่าเกิด ในเมื่อมันมาอาศัยรูป อาศัยร่างกายทำหน้าที่ ทีนี้เราก็ดูต่อไป รูปข้างนอก รูปข้างนอกที่เห็นด้วยตา ถ้ามาถูกกับรูปข้างในคือดวงตาที่มีระบบประสาทพร้อม มันก็เกิดการเห็น เรียกว่าจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา นี่รูปข้างในนั่นล่ะเป็นหลักสำคัญคือตัวร่างกายที่เป็นที่ตั้งแห่งลูกตา ไอ้ลูกตาที่เป็นที่ตั้งแห่งระบบประสาทที่มันจะรู้สึกอะไรได้ ครั้นแล้วรูปข้างนอกมันก็มากระทบระบบประสาทที่ตา เรียกว่ามากระทบตา มันก็เกิดการเห็นทางตา คือผลของจิตที่มาทำหน้าที่ทางตาเรียกว่า จักษุวิญญาณ การเห็นทางตา ไอ้วิญญาณนั้นเป็นฝ่ายนามธรรม เป็นฝ่ายจิต ก็เรียกว่าฝ่ายจิตได้เกิดขึ้นแล้ว เรียกว่าวิญญาณ นี่ขันธ์หรือส่วนที่เป็นวิญญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ส่วนที่เป็นตัวตาสำหรับเห็น ทำหน้าที่ก็คือเกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่ารูปขันธ์เกิดขึ้นแล้ว เมื่อมีการเห็นแล้ว เป็นวิญญาณแล้วก็เรียกว่าวิญญาณขันธ์เกิดขึ้นแล้ว วิญญาณขันธ์เกิดขึ้นแล้ว มันก็มีสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ผัสสะนี้ถ้ามองแต่ในด้านรูปธรรม ก็เรียกว่าเป็นสังขารในฝ่ายรูปธรรมก็ได้เหมือนกัน จะเรียกว่าเป็นสังขารในฝ่ายรูปธรรมก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่นิยมเรียก มีผัสสะแล้วก็เกิดความรู้สึกเป็นเวทนา เวทนาถ้าเห็นทางตาก็สวย ไม่สวย ได้ยินทางหูก็ไพเราะ หรือไม่ไพเราะ ทางจมูกก็หอมหรือเหม็น ทางลิ้นก็อร่อยหรือไม่อร่อย ทางผิวหนังก็นิ่มนวลหรือกระด้าง อย่างนี้เป็นต้น นี่เรียกว่าเวทนา ถ้าความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว หมายความว่าจิตในส่วนนี้ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ก็เรียกว่าเวทนาขันธ์ ติดตามหลังมาจาก หลังจากวิญญาณขันธ์ด้วยดี จนเข้าใจว่ามันมีพร้อมกันไม่ได้ ต้องให้วิญญาณขันธ์ทำหน้าที่ของมันแล้ว มันจึงจะเกิดเวทนาขันธ์ รู้สึกสุข ทุกข์ หรือว่าน่าน่ายินดี หรือไม่น่ายินดีนี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ ทีนี้มันก็ทำให้เกิดขันธ์ถัดไปคือสัญญาขันธ์ เวทนาที่รู้สึกแล้วทำให้เกิดความมั่นหมาย มั่นหมายลึกลงไปอีกว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นทุกข์อย่างยิ่งอย่างนี้ก็มี กระทั่งว่าเป็นความสุขที่มาจากฝ่ายชาย เป็นความสุขที่มาจากฝ่ายหญิง มีสัญญาสำคัญมั่นหมายว่าเป็นชาย เป็นหญิงอย่างนี้มันก็มี นี่เรียกว่าความสำคัญมั่นหมาย ตลอดไปถึงว่ามันเป็นการได้ เป็นการเสีย มันเป็นการได้ที่ดี มันเป็นการเสียที่เลว มันเป็นการแพ้ มันเป็นการชนะ มันสำคัญมั่นหมายไปตามความรู้สึกที่โง่ ที่หลง ไม่สำคัญมั่นหมายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้เพราะมันยังไม่ได้เล่าเรียน มันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เพราะฉะนั้นสัญญาขันธ์ของคนธรรมดามันก็เป็นไปในทางให้โง่ทั้งนั้นแหละ ให้หลงยึดเป็นอย่างที่ว่า เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นได้ เป็นเสีย เป็นแพ้ เป็นชนะ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นอะไรก็ตามมันสำคัญมั่นหมาย แล้วมันจะสำคัญมั่นหมายเป็นตัวตน สำคัญมั่นหมายเป็นของตนก็ยังได้ นี่เรียกว่าสัญญาขันธ์ มันมีผลออกมาจากเวทนาขันธ์ มันจึงมีพร้อมกันไม่ได้ มันสัมผัสเวทนาขันธ์ แล้วมันเกิดความรู้สึกอันใหม่ออกมาเรียกว่ามันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ถ้าจิตกำลังเต็มไปด้วยสัญญาขันธ์ ทำหน้าที่เป็นสัญญา ทำหน้าที่เป็นเวทนามันก็หยุดไป เพราะว่าจิตมันมีดวงเดียว มันทำหน้าที่ทีละอย่าง มีสัญญาขันธ์อย่างนี้แล้ว สำคัญมั่นหมายอย่างไรแล้ว มันก็เกิดความคิดไปตามความสำคัญมั่นหมาย ถ้าสวยมันก็คิดจะเอา จะยึด จะครอง ไม่สวย มันก็อยากจะฆ่า อยากจะไปให้พ้น เพราะฉะนั้นความคิดมันก็เป็นไปโดยสมควรแก่ความสำคัญมั่นหมาย นี่เรียกว่าสังขารขันธ์เกิดขึ้นแล้ว การปรุงแต่งแห่งความคิดเป็นเรื่องเป็นราวนี้มันได้เกิดขึ้นแล้วเรียกว่าสังขารขันธ์ เป็นกระแสแห่งความปรุงแต่งของความรู้สึกคิดนึก สังขารคำนี้มีความหมายอย่างนี้ สังขารคำเดียวกันนี้ในกรณีอย่างอื่นหมายความอย่างอื่น เช่นวัตถุสิ่งของเป็นสังขาร นั้นน่ะไอ้นั่นหมายถึงตัวผลแห่งการปรุงแต่ง เดี๋ยวนี้ยังเป็นเพียงการปรุงแต่งภายในจิตอันละเอียด อันไม่มีรูป ไม่มีร่าง ไม่ใช่วัตถุ ความคิดอย่างนี้เรียกว่าสังขารขันธ์ มันก็คลอดออกมาจากสัญญาขันธ์ ความคิดมันก็เป็นไปเรื่อย เช่นคิดจะได้ คิดจะเอา หรือคิดจะฆ่า คิดจะทำลาย คิดจะรักใคร่ คิดจะถนอม คิดจะส่งเสริม คิดจะหามา คิดจะคิดได้มากมาย เรียกว่าสังขารขันธ์ กระทั่งกลายเป็นความโง่ ความหลงอย่างอื่นต่อไป กลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นก็ได้ เราจึงได้สิ่งที่เรียกว่าขันธ์ครบ ๕ อย่าง คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ฟังแต่ชื่อ ไม่เข้าใจ มันก็กลายเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ ก็ไม่สนใจว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา เพราะเราไม่เข้าใจ แต่ที่แท้มันก็คือเรื่องของคนนั่นแหละ ส่วนที่เป็นร่างกายมันก็ทำหน้าที่อย่าง ส่วนที่เป็นจิตใจมันก็ทำหน้าที่อีกอย่าง ที่เป็นร่างกายก็มีเพียงขันธ์เดียวคือรูปขันธ์ ที่เป็นเรื่องฝ่ายจิตใจมันก็มีถึง ๔ ขันธ์คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นที่เข้าใจได้ว่าเรื่องขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มนุษย์รู้แล้ว รู้จักแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล ประชาชนรู้เรื่องนี้เป็นความรู้กันอยู่แล้ว ยึดถือกันอยู่แล้ว จะเห็นได้ตรงที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนธรรมะแก่ปัญจวัคคีย์ ท่านก็ตรัสขึ้นมาลอยๆ ว่ารูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา เป็นต้น ไม่ต้องมานั่งอธิบายแจกแจงว่ารูปเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร นี้ไม่ไม่ไม่เห็นมีข้อความที่สอนให้รู้จักรูปหรือเวทนาว่าคืออะไร นี้สอนเลยทีเดียวว่ารูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา ก็หมายความว่าไอ้รูปที่แกรู้จักดีและยึดถืออยู่ว่าเป็นอัตตานั้น เดี๋ยวนี้ฉันบอกแกว่ามันเป็นอนัตตา มาสอน มาบอกในส่วนที่มันเป็นลักษณะของความทุกข์ เกี่ยวกับความทุกข์ ส่วนที่ตัวมันเองเป็นอย่างไรนี้ เขาเข้าใจกันดีอยู่แล้ว เรื่องที่ประชาชนเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องสอนนี้ก็มีมาก แต่มาสอนให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมันเป็นอนัตตา อย่ายึดถือเป็นอัตตาเหมือนที่เคยยึดถืออยู่ก่อนเลย ฉะนั้นเราจะต้องมาเรียนเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะมันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ อย่างพระบาลีว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา นี่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นประโยคคำพูดที่สำคัญที่สุด แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร มันคืออะไร ทีนี้มาสนใจเสียใหม่ ศึกษากันเสียให้ดีๆว่ารูปเป็นอย่างไร เวทนาเป็นอย่างไร สังขารเป็นอย่างไร วิญญาณเป็นอย่างไร เมื่อตาเห็นรูปก็จะมีขันธ์ ๕ ได้ครบ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง ได้ยินเสียงก็จะมีขันธ์ ๕ ได้ครบ หรือมันอาจจะไปครึ่งท่อน หยุดเสียก็ได้เหมือนกัน แต่แม้กระนั้นถ้าไปยึดถือเข้าแล้วก็เป็นทุกข์ ทีนี้เราก็มีชีวิตอยู่ เดี๋ยวเกิดรูปขันธ์ เดี๋ยวเกิดเวทนาขันธ์ เดี๋ยวเกิดสัญญาขันธ์ เดี๋ยวก็เกิดสังขารขันธ์ เดี๋ยวก็เกิดวิญญาณขันธ์ ฉะนั้นเราจึงยึดถือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง คราวใดคราวหนึ่งตามโอกาส บางคราวจิตมันไม่ได้สนใจเรื่องอื่น มันสนใจแต่เรื่องวัตถุเรื่องร่างกาย ก็ยึดถือเอาร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตน ร่างกายแท้ๆ ที่มีระบบประสาทเท่านั้นแหละว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่ทำนั่น ทำนี่ ได้รับนั่น ได้รับนี่ ตัวตนของเราอยู่ที่ตรงนี้ แต่บางเวลาไม่ได้มาสนใจเรื่องร่างกาย รูปขันธ์ แต่ไปสนใจเรื่องจิต คือเวทนา เช่นรู้สึกเป็นสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย เอาเวทนานั้นเป็นตัวตนก็มี หรือเอาเวทนานั้นเป็นของๆ ตนก็มี เพราะมันรู้สึกได้ มันคิดว่าความรู้สึกนั้นเป็นตัวตน แต่ในบางเรื่องมันให้คิดไปในทำนองว่าเป็นของตน เช่นความสุขสนุกสนานของตน ตัวผู้ที่รู้สึกความสุขสนุกสนานนั้นเป็นตัวตน อย่างนี้เรียกว่ากำลังยึดถือเอาเวทนาว่าเป็นตัวตน ทีนี้ในบางกรณี ในบางคราวมันไปจดจ่ออยู่ที่สัญญาคือความสำคัญมั่นหมาย สำคัญมั่นหมายไปในสิ่งใดว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน อะไรเป็นผู้ทำความสำคัญมั่นหมาย หรือความสำคัญมั่นหมายนั้นเองถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน บางทีก็ยึดถือไปในแง่มุมอื่นว่าเป็นความสำคัญมั่นหมายของตน เพราะฉะนั้นการยึดถือนี้จะมีเป็น ๒ แขนง เป็น ๒ ชั้น ยึดถือว่าตัวตนก็มี ยึดถือว่าของตนก็มีในสิ่งเดียวกัน มันแล้วแต่ว่ามันมีเหตุปัจจัยให้มันยึดถือว่าอย่างไร พอมาถึงสังขารขันธ์ คิดนึกได้อย่างนั้น คิดนึกได้อย่างนี้ นี่ยิ่งง่ายมากที่สุดที่จะยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน เพราะมันคิดได้ ฉันคิดได้ ฉันคิดจะทำอย่างนั้น ฉันคิดจะทำอย่างนี้ ไอ้ที่ที่ผู้ที่คิดได้มันก็ถูกยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ง่ายที่สุด การยึดถือความคิดว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตนนี่จะมีได้มาก หรือรุนแรงเอาตามความรู้สึกธรรมดาสามัญ มันก็รู้สึกขึ้นมาได้เองว่ามีตัวตน ก็คิดได้นี่ ก็ทำนี่ สั่งให้ทำนี่ นั้นความคิดมันทำหน้าที่ มันทำหน้าที่คิด แล้วมันยังสั่งให้ร่างกายนี้ทำตามความคิดอีกด้วย ไอ้ความคิดก็เลยมีลักษณะเป็นตัวตนสำหรับจะยึดถือ ส่วนวิญญาณนั้นก็ง่ายเหมือนกันที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะมันมาคอยรู้สึกที่ตา รู้สึกทางตา ไอ้วิญญาณนั้นถูกยึดถือว่าเป็นผู้รู้สึกที่ตา วิญญาณนั้นเป็นผู้รู้สึกที่หู รู้สึกที่จมูก ที่ลิ้น ที่ผิวหนัง กระทั่งในใจ จึงถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ก็วิ่งมารู้สึกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาเป็นตัวเป็นตน วิญญาณอย่างนี้ก็ถูกยึดถือเป็นตัวตน หรือเป็นของๆ ตนได้ ยึดถือว่าเราเห็นและยึดถือว่าความเห็น การเห็นของเราก็ได้ การได้ยินได้ฟังของเรา การได้ดม ได้ลิ้นของเรา ยึดถือได้ทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตัวตนและฝ่ายของตน ทีนี้ยิ่งมีคำสั่งสอนว่าวิญญาณชนิดนี้ เป็นวิญญาณถาวร มันมาปฏิสนธิจากภพก่อนที่มันตายแล้ว ในภพก่อนโน้นร่างกายก็แตกสลายไป วิญญาณนั้นก็มาปฏิสนธิใหม่ เพราะว่าวิญญาณเป็นตัวตนที่เที่ยง ที่ถาวร ไม่รู้จักตาย ถ้ายึดถืออย่างนี้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ รู้อย่างนี้ มันก็ยิ่งยึดถือวิญญาณนั้นว่าเป็นตัวเป็นตนมากขึ้น เขาเรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณ จากภพก่อนโน้นมาสู่ภพนี้ แล้วก็ถือวิญญาณชนิดนี้มีอยู่ตลอดกาลตลอดไป โดยเรียกว่าตัวตนเสียก็มี เรียกว่าเจเจตภูต เรียกว่าบุรุษ เรียกว่าบุคคล เรียกว่าอาตมันก็มี แล้วแต่ภาษาของคนพวกไหน แต่ใจความเหมือนกันหมดว่ามันมีสิ่งหนึ่งซึ่งไม่รู้จักตาย เวียนว่ายไปผุดไปเกิด ไปไม่มีที่สิ้นสุด ภิกษุองค์หนึ่งชื่อสาติบวชอยู่ในพุทธศาสนายังเข้าใจอย่างนี้ วันหนึ่งเขาอวดโอ้ความรู้นี้กับเพื่อนภิกษุด้วยกัน ว่ามีวิญญาณแล่นไปแล่นมา ทราบถึงพระศาสดารับสั่งให้ไปหาไปเฝ้า ทรงซักไซร้ไล่เรียงว่าเขามีความรู้อย่างนี้ แล้วพระองค์ก็สอนเสียใหม่ ให้เขาเกิดความคิดว่ามันเป็นเพียงการปรุงแต่ง ไม่ใช่เป็นตัวตนที่แท้จริง สำหรับจะวิ่งไปวิ่งมา ในพุทธศาสนามีวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่วิญญาณชนิดนี้ ไม่ต้องวิญญาณชนิดอื่น เราจะเรียกมันว่าปฏิสนธิวิญญาณก็ได้เหมือนกัน เพราะมันเป็นจุดตั้งต้น การรู้แจ้งที่ตา ที่หู ที่จมูกนี้มันเป็นจุดตั้งต้น เหมือนกับว่าก่อปฏิสนธิ ถ้าไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น มันก็ไม่เกิดเรื่อง มันไม่เกิดเรื่องเป็นรูป เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอะไรได้ เพราะฉะนั้นวิญญาณที่ทำหน้าที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราจะถือว่าเป็นปฏิสนธิวิญญาณ เป็นจุดตั้งต้นของเรื่องราวก็ได้ หรือว่าจะเป็นเงื่อนต่อกันกับเรื่องแต่ก่อนก็ได้ เรื่องทางตารายรายรายแรกมาต่อกับรายหลังก็ได้ หรือว่าเรื่องทางตาไปต่อกับเรื่องทางหูรายก่อนๆ โน้นก็ได้ มันทำหน้าที่ให้มีความรู้สึกที่สืบต่อกันไปในสังขารกลุ่มนี้ คือในมนุษย์คนนี้ซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นผู้ก่อให้เกิดเรื่องหรือสืบต่อเรื่องหลายๆ เรื่องให้มันติดต่อกันไป เพราะฉะนั้นเรามารู้จักไอ้สิ่งทั้ง ๕ นี้กันให้ดีๆ รู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในส่วนลึกว่ามันมีระบบที่ทำให้รู้สึกได้ คือมีประสาท ร่างกายเหมือนกับเป็นออฟฟิสของจิต ทั้งกายและทั้งจิตมันเป็นออฟฟิสของความรู้ผิดรู้ถูก หรือออฟฟิสของสังขารการปรุงแต่ง ถ้าไม่มีกาย จิตก็ทำงานไม่ได้ เหมือนกับคนไม่มีออฟฟิส ไอ้กายทั้งจิตทั้งกายทั้งจิตรวมกันเข้าเป็นออฟฟิสสำหรับความปรุงแต่งในทางจิต หรือที่เรียกว่าธรรมะในฐานะที่เป็นสังขารคือการปรุงแต่ง นั้นการปรุงแต่งก็เป็นไปได้ที่ร่างกายและจิตใจ เป็นกระแสยืดยาวที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท นี้เป็นธรรมชาติเท่านั้น ไม่ต้องมีตัวตน แต่ที่มันจะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือนั้น มันหมายถึงในขณะที่มันเป็นขันธ์ เรียกว่าขันธ์ เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ดังที่กล่าวมาแล้ว
สังเกตุดูเอง ง่ายๆ สั้นๆ ว่าบางคราวเราคือจิตของเรามาสนใจอยู่ที่ร่างกายเป็นอย่างยิ่ง บางคราวจิตของเราไปสนใจอยู่ที่ความรู้สึกเอร็ดอร่อย หรือไม่เอร็ดอร่อย ไม่ยินดี หรือน่ายินดี หรือไม่น่ายินดี ไปสนใจอยู่ที่นั่นเป็นอย่างยิ่ง บางคราวจิตของเราไปสำคัญอยู่ที่ความมั่นหมายว่าอย่างนั้น มั่นหมายว่าอย่างนี้ มั่นหมายว่าได้ว่าเสีย ว่าแพ้ ว่าชนะ ว่าหญิง ว่าชาย ไปสนใจอยู่ที่นั่นอย่างเดียว บางคราวมันเป็นอย่างนั้น บางคราวมันไปสำคัญมั่นหมายมากตรงที่ความคิดนึกคิดนึกอย่างไร คิดดี คิดชั่ว คิดชนิดที่จะทำลายผู้อื่น หรือคิดว่าจะส่งเสริมผู้อื่นมันก็แล้วแต่เรื่อง จิตมันไปสนใจอยู่แต่ที่เรื่องนั้นหรืออย่างนั้น บางคราวก็ไปสนใจเรื่องความรู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องใด นี่เขาให้เรียนจากของจริง เขาให้เรียนจากความรู้สึกจริงๆ ว่าไอ้ตัวความรู้สึกที่เรียกว่าจิต ว่ามโนอะไรก็ตาม มันไปเที่ยวโง่ เที่ยวหลง เที่ยวสนใจอยู่ในจุด ๕ จุดนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เรียกว่ามันเกิดสิ่งที่เรียกว่า เว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้อยู่เป็นประจำ แต่ถ้าเกิดแล้วไม่มีการปรุงแต่งชนิดยึดมั่นถือมั่ว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา มันก็ไม่เป็นไร มันก็ไม่เป็นทุกข์ ขณะนี้ทุกคนก็ลืมตา ไม่ได้ตาบอดและตาก็ลืมอยู่ ก็เห็นรูปทั้งหลายที่อยู่รอบตัว แต่มันไม่ได้ปรุงแต่งไปในลักษณะที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ คือไม่มีเวทนาจากทางตา ไม่มีสัญญาจากทางตา ไม่มีสังขารจากทางตา การเห็นมันก็หยุดอยู่แค่นี้ มันก็ยังไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าในกรณีที่เห็นรูปนี้แล้วมันพอใจอย่างยิ่งหรือไม่พอใจอย่างยิ่งทางตา มันก็เกิดเวทนาทางตา เวทนาที่มาจากความสัมผัสทางตา ถ้าเกิดสัญญาลงบนเวทนานั้น แล้วมันก็เกิดสังขารเกี่ยวกับเวทนานั้น อย่างนี้แหละจะยึดถือ สังขารนั้นมีความคิดหลายรูปแบบ แบบที่มันยึดถือแล้วก็ต้องเป็นอุปาทาน มันก็เป็นที่ตั้งหรือเป็นที่กำเนิดแห่งความรู้สึกที่เป็นทุกข์ จะดูในแง่ของปฏิจจสมุปบาทก็ได้ มีนามรูป คือกายกับใจมันทำหน้าที่แล้ว อาสนะมันทำหน้าที่ได้ เกิดผัสสะแล้วเกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน ตอนที่เกิดอุปาทานนั้นเป็นความยึดถือ มันก็ทุกข์ ฟังดูมันก็ค่อนข้างจะลึกลับซับซ้อนมืดมนอยู่ แต่ถ้าเราสนใจพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าใจ ศึกษามันเรื่อยๆ ไป ไม่เท่าไรเราก็จะรู้จักสิ่งที่เรียกขันธ์ทั้ง ๕ แล้วรู้จักดี ถึงขนาดว่าเมื่อไรมีความยึดถือ เมื่อไรไม่มีความยึดถือ เมื่อไรเห็นรูป สักว่าเห็นรูปแล้วก็เลิกกัน ไม่ได้เกิดเวทนา สัญญา สังขารอะไร เอ้า, มันก็ไม่ยึดถือ เมื่อไรฟังเสียง ได้ยินเสียง ได้ยินสักว่าได้ยินแล้วก็เลิก ก็เลิกกัน เช่นได้ยินเสียงไก่ขัน เสียงแมลงร้องนี้ก็เลิกกัน ความคิดมันไม่ไต่ไปถึงว่าอะไร เสียงอะไร จะได้ จะเสีย จะมีค่า ไม่มีค่าอย่างไร มันก็หยุด ไม่ได้ยึดถือ แต่ถ้าได้ยินเสียงซึ่งแสดงให้เห็นคุณค่า ให้เห็นไอ้เรื่อง ให้เห็นอัสสาทะ ความเป็นเสน่ห์ของมัน คุณค่าของมัน แล้วมันก็ต้องคิดนึกไปจนยึดถือ นี่แยกกันให้เห็นชัดว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ถูกยึดถือนั้นมันเป็นอย่างไร ที่มันไม่ได้ยึดถือสักว่าเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปนั่นเรียก อันนั้นมันเป็นอย่างไร อุตส่าห์แยกความหมายของถ้อยคำที่มันคนละอย่าง บางคราวเราจะได้ยินคำสวดว่า ปัญจักขันธา รูปักขันโธ เวทะนากขันโธ สัญญากขันโธ สังขารักขันโธ วิญญาณักขันโธ เราได้ยินอย่างนี้ก็มี เรารู้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่บางคราวเราจะได้ยินว่า รูปูปาทานขันโธ เวทนูปาทานขันโธ สัญญูปาทานขันโธ สังขารูปาทานขันโธ วิญญาณูปาทานขันโธ นี่มันผิดกันลิบอย่างกับฟ้ากับดิน อันหนึ่งมันไม่มีความยึดถือ มันเป็นขันธ์ล้วนๆ ขันธ์เฉยๆ เรียกว่าเป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ เป็นสุทธขันธ์ล้วนๆ ไม่มีกิเลสเข้าไปยึดถือ แต่บางคราวมันไม่ใช่อย่างนั้น มันมีกิเลสเข้าไปยึดถือ นี่เรียกว่าอุปาทานเข้าไปยึดถือ มันก็เปลี่ยนชื่อเป็นอุปาทานขันธ์ เขาเรียกกันสั้นๆ ว่าขันธ์เฉยๆ ก็มี เรียกว่าอุปาทานขันธ์ก็มี อย่างหลังนี่ระวังให้ดีมันเป็นความทุกข์ เพราะมีความยึดถือ มันเป็นธรรมชาติที่ยึดถือไม่ได้ พอยึดถือเข้ามันก็เกิดเรื่อง เหมือนว่ามันกัดเอา ไม่ว่าอะไรจะอยู่ในรูปของขันธ์ไหน ไม่ยึดถือก็แล้วไป พอยึดถือมันก็กัดเอาเหมือนกับอสรพิษ อย่าไปจับ ไปยึด อย่าไปเกี่ยวข้องกับมัน มันก็ไม่เป็นไร พอไปเกี่ยวข้องเข้ามันก็กัดเอา นี่เรียกว่าไอ้เรื่องที่มันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นที่รวมแห่งเรื่องทั้งปวงนั้นคือเรื่องเบญจขันธ์ เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธองค์ถูกเขามาถามว่าสอนอะไรมาก ท่านก็ตอบว่าฉันสอนเรื่องรูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฉันสอนมากอย่างนี้ด้วยเรื่องนี้ ก็ฟังดูสิ ก็คือเรื่องขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง เมื่อพูดถึงความทุกข์ท่านสรุปว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานขันธา ทุกขา ตอนนี้หมายถึงขันธ์ที่ถูกยึดมั่น ถือมั่นจนเป็นทุกข์เสียแล้ว เรียกว่าขันธ์ ๕ ที่ยึดมั่นถือมั่นจนเป็นทุกข์เสียแล้ว เรียกว่า ปัญจุปาทานขันธา ทุกขา ส่วนตามธรรมดานี้จะสอนเป็นกลางๆว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง จนกระทั่งรูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา ฉันบอกว่ามันเป็นอย่างนี้นะ มันเป็นอนัตตาอย่างนี้นะ แกอย่าไปยึดถือกันนะ แต่ไม่ได้บอก บอกแต่ว่ามันไม่เที่ยงและเป็นอนัตตา ถ้าใครไปยึดถือเข้ามันจะกัดเอา มันจะเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าเมื่อจะสอน จะทรงสอน หรือจะทรงชี้ให้เห็นว่ามันเป็นทุกข์ หรือว่ามันยังไม่เป็นทุกข์ มันก็คือเรื่องขันธ์ทั้ง ๕ ฉะนั้นทั้งหมดในพระพุทธศาสนาก็คือ สอนเรื่องยึดถือหรือไม่ยึดถือในขันธ์ทั้ง ๕ ถ้าอริยสัจ จะพูดว่าความทุกข์แล้วก็ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ในคำว่าตัณหามันเต็มอยู่ด้วยขันธ์ทั้ง ๕ คือมันผ่านมาทางรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รวมอยู่ในคำว่าตัณหา และถ้ามีความยึดถือในขันธ์เมื่อไร ก็จะมีความทุกข์เมื่อนั้น มีคำของพระสารีบุตร เอ้อ, คำของพระสารีบุตรถูกแล้วที่พูดว่า ฉันทะ ความพอใจ อาลโย ความอาลัย อนุนโย การติดตามไป อัชโฌสานัง การหยั่งลงสู่ ปัญจุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ มันต้องพอใจเมื่อได้เกิดการยึดถือแล้ว มันจึงจะมีความหมาย ถ้ามันไม่พอใจ ไม่เกี่ยวข้อง มันก็ไม่มีความหมายอะไร ทีนี้ในฝ่ายที่จะดับทุกข์ ก็คือถอนฉันทราคะ คือความกำหนัดด้วยความพอใจ คือจะถอนเสียทั้งความพอใจและความกำหนัด ละทำลายเสียซึ่งความพอใจและความกำหนัดในปัญจุปาทานขันธ์ นั่นจะเป็นความดับแห่งทุกข์ จะเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันอย่างไรก็ได้ ถ้าไม่มีความพอใจในขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ มันก็ไม่มีเรื่องอะไร คือไม่มีทุกข์ พอมีความพอใจมันก็ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นจงพยายามถอนความพอใจ ทำลายความพอใจ สกัดกั้นความพอใจ อย่าให้เกิดความพอใจในเบญจขันธ์ขึ้นมา อาตมามองเห็นว่า หัวใจของพุทธศาสนาเราก็คือ เรื่องความยึดถือหรือไม่ยึดถือในเบญจขันธ์นั่นเอง ถ้ายึดถือก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ ทีนี้อย่าเรียนแต่ตัวหนังสือในพระไตรปิฎก ให้เรียนเข้าไปในหัวใจของคน ของตนเอง ตนเองมีหัวใจ มีเบญจขันธ์อยู่ในกลุ่มนี้ สังขารร่างกายนี้ คือทั้งทางกายและทางใจ เรียนเข้าไปข้างใน ดูหนังสือข้างใน ศึกษาข้างใน ให้พบสิ่งเหล่านี้ เข้าใจมันดีแล้วก็ควบคุมให้ได้ ไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ ยึดถือเมื่อใดก็เป็นทุกข์ นี่คือหลักแห่งพระพุทธศาสนา คือแสงสว่างของพระศาสดาที่มอบให้เราทั้งหลายใช้เป็นแสงสว่างเพื่อจะดำรงชีวิตอยู่อย่างที่ไม่ต้องเป็นทุกข์
ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงคัมภีร์ฝ่ายนิกายอื่น คำว่านิกายอื่นนี้ไม่ใช่นิกายธรรมยุต มันมานิกายในเมืองไทย นี่มันเหมือนกันทุกตัว หนังสือที่เล่าเรียนอย่างเดียวกัน ปฏิบัติอย่างเดียวกัน จะพูด จะเล็งถึงนิกายมหายาน เรานี้เป็นเถรวาท พวกมหายานนี้มีพวกหนึ่งมากมายเหมือนกัน เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ตอนเหนือๆ แล้วก็แผ่มายังประเทศจีน ญี่ปุ่น ทิเบต คัมภีร์มหายานนี้มีมาก อาตมาพยายามที่จะสำรวจดู อุตส่าห์ทนอ่านด้วยความยากลำบาก เพราะสำนวนมันฟังยาก อุตส่าห์ทนอ่าน ทนดูตาเปียกตาแฉะ ในที่สุดมันก็ไม่พบอะไรแปลกออกไปจากนี้ สูตรนั้นจะยาวยืดอย่างไรเป็นสูตรพิเศษสำคัญที่สุดของมหายาน มันก็มาพบเรื่องนี้เรื่องเดียวใจความก็คือไม่ยึดถือในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีสมาคมกำลังพยายามทนทุกข์ทรมานในการที่จะแปลหนังสือที่ตกค้างอยู่ในภาษาทิเบตที่ยุ่งยากลำบาก อุตส่าห์แปลกันตาเปียกตาแฉะ มากมายด้วย ออกมาแล้วมันก็ไม่ผิดแปลกแตกต่างไปจากที่ คำสอนที่เรามีอยู่ หรือได้รับกันอยู่ คือ อย่ายึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ทั้งนั้น เป็นเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ทั้งนั้นจึงจะดับทุกข์ได้ แต่เขามาพูดมากแจกเป็นฝอยละเอียดออกไปไกลๆๆๆ รอบตัว เป็นเรื่องยาวเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากในทางตัวหนังสือมันมาก เป็นอันว่าไม่ต้องสนใจอาตมาบอกได้ คือรับประกันได้ ว่าอย่าไปเสียเวลาไปศึกษาคัมภีร์นั้น คัมภีร์นี้ โดยเฉพาะฝ่ายมหายานเสียมากมาย เสียเวลาเปล่าๆ น่ะ ในที่สุดมันจะมาพบเพียงเท่านี้ เพียงว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่าไปยึดถือให้เป็นอุปาทานขันธ์ แม้ว่าพุทธศาสนาอย่างเซนที่ดูโลดโผน คล้ายกับแปลกประหลาดอย่างยิ่ง แต่ไปๆ มาๆ เนื้อความมันก็มาอยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ แต่วิธีพูดของเขามันโลดโผน แปลกประหลาด ชวนความสนใจ ไม่มีอะไรแปลก ในที่สุดไม่มีอะไรแปลกไปจากใจความสำคัญว่าอย่าไปยึดมั่นขันธ์ ๕ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งโดยความเป็นตัวตน สรุปความว่าพุทธศาสนาในรูปของเถรวาทนี้ก็ดี ในรูปของมหายานนั้นก็ดี ที่สอนไปเรียบๆ ง่ายๆ ก็ดี สอนอย่างโลดโผนก็ดี สอนอย่างใช้คำลึกลับก็ดี สอนอย่างใช้คำตื้นๆ ก็ดี มันเหมือนกันหมด ตรงที่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ ก็เลยเอามาพูดกันวันนี้ วันวิสาขบูชาเป็นวันแห่งแสงสว่างของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านได้มอบให้เรา พระองค์ทรงชนะความมืด ได้รับแสงสว่างมา และเอามาแจกจ่ายกัน จงรับไว้ให้ดีๆ ให้ถูกต้อง ให้วันวันนี้เป็นวันฉลองแสงสว่าง ฉลองความชนะที่มนุษย์ได้ชนะศัตรูอันร้ายกาจคือความทุกข์ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้นำ เป็นวีรบุรุษ เป็นมหาวีรบุรุษ นำกองทัพของมนุษย์เอาชนะศัตรูคือมารทั้งหลายได้ ทำให้มารทั้งหลายพ่ายแพ้หนีไป ให้มนุษย์ได้รับความพอใจ เป็นความสงบสุข ก็โดยบอกด้วยว่าอย่าไปยึดถือขันธ์ ๕ โดยความเป็นตัวตน นี่วันนี้เราก็ไม่พูดเรื่องอะไรกันนอกจากเรื่องอย่าไปยึดถือขันธ์ ๕ โดยความเป็นตัวตนหรือของตน เห็นเป็นของว่างจากตัวตนแล้ว จิตก็จะน้อมไปหาความหยุด ความสงบ ความเยือกเย็นคือพระนิพพาน พระนิพพานนี้แปลว่าเย็น ตัวหนังสือคำพูดว่านิพพาน นิพพานนี้แปลว่าเย็น ใช้พูดกันอยู่ในอินเดีย ในครั้งพุทธกาล ก่อนพุทธกาล มาแต่แรกเริ่มเดิมทีเป็นภาษาบาลี คำว่านิพพานแปลว่าเย็น อะไรเย็นก็เรียกว่านิพพานทั้งนั้นล่ะ ข้าวต้ม ข้าวสวยเย็นก็เรียกว่ามันนิพพาน กินได้แล้ว อะไรๆที่มันร้อนพอมันเย็นก็เรียกว่านิพพาน นี่ก็แปลว่าเย็นอย่างนี้ ทีนี้ก็เอามาใช้ในวงของธรรมะ ในพระพุทธศาสนา เอาคำว่าเย็นนั้นมาใช้ ยืมคำว่าเย็นนั้นมาใช้ เพราะว่าคนเขาชอบเย็น ไม่ชอบร้อน พระองค์ทรงยืมคำว่าเย็นมาใช้เพื่อจะให้คนสนใจ เย็นอกเย็นใจก็เรียกว่านิพพาน เย็นเพราะไม่วุ่นวายด้วยประการใดๆ ก็ก็เรียกว่านิพพาน สัตว์เดรัจฉานที่ไม่มีพิษไม่มีภัยอะไร เพราะมันเป็นสัตว์ที่มันเชื่องดีแล้วก็เรียกว่ามันนิพพานแล้ว คือมันเย็นแล้วเหมือนกัน ฉะนั้นขอให้สังเกตุดูให้ดีว่าคำว่าเย็นคำนี้ เมื่อถูกยืมมาใช้ในฝ่ายธรรมะแล้วความหมายมันลึกลับ มันลึกมากนะ มันไม่ใช่เย็นที่เป็นคู่กับร้อนนะ ถ้าเย็นที่เป็นคู่กับร้อน หวานคู่กับขม เป็นคู่ๆ อย่างนี้ยังไม่ใช่ เพราะใครๆ ก็ไม่ชอบเย็น ถ้าหนาวต้องห่มผ้ากันหนาว มันก็ลำบากเหมือนกัน ไอ้ร้อนมันก็ลำบากเหมือนกัน ไอ้เย็นมันก็ลำบากเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขอให้เอาไป ออกไปเสียให้หมดทั้งเย็นและร้อน จึงจะพบเย็นที่เป็นนิพพาน นี่จะต้องเรียกว่าพูดโดยสัมปรายิกโวหารอีกแล้ว ไอ้เย็นที่คู่กับร้อนนั่นโกยทิ้งไปเสียทั้งเย็นและทั้งร้อน แล้วจึงจะพบเย็นชนิดที่เป็นนิพพาน เพราะว่าหนาวสั่นงกๆๆ อยู่มันก็ไม่ไหว ไอ้ร้อนจนต้องอาบน้ำอยู่ตลอดเวลามันก็ไม่ไหว เอาปัดทิ้งออกไปเสียทั้งคู่ ทั้งเย็นและทั้งร้อน แล้วก็จะพบเย็นอกเย็นใจชนิดที่เป็นนิพพาน จะปัดยังไงออกไปเสียทั้งเย็นและทั้งร้อน ทั้งดีและทั้งชั่ว ทั้งบุญทั้งบาป ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทุกๆ คู่ ปัดออกไปอย่างไร ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ไอ้นั่นน่ะมันรวมอยู่ในเบญจขันธ์ ไอ้เย็นไอ้ร้อน ไอ้ได้ไอ้เสีย ไอ้สุขไอ้ทุกข์ ไอ้แพ้ชนะอะไรมันอยู่ในเบญจขันธ์ ทุกคู่ ทิ้งไป มันจึงจะพบเย็นที่เป็นความหมายของพระนิพพาน เย็นอย่างน้ำแข็งก็ไม่ไหว ร้อนอย่างน้ำร้อนก็ไม่ไหว เอาออกไปเสียทั้งน้ำแข็งและน้ำร้อน จึงจะพบเย็นชนิดที่เป็นนิพพาน จึงขอเตือนว่าให้จำคำว่าเย็นคือพระนิพพานนี้ไว้ให้ดีๆ แล้วก็รู้ความหมายแท้จริงของคำว่านิพพาน มันอยู่เหนือเย็นและเหนือร้อนตามความหมายชาวบ้าน จึงจะเป็นความเย็นอย่างนิพพานในโลกุตตรโวหารหรือที่เรียกว่าสัมปรายิกโวหาร โวหารอื่นนอกจากที่ชาวบ้านเขาใช้พูดจากัน ชาวบ้านพูดว่าเย็น มันก็ต้องซื้อเครื่องกันหนาวมา มันยุ่ง แต่ถ้าธรรมะพูดว่าเย็นเป็นนิพพาน ไม่ต้องใช้เครื่องกันหนาว เครื่องกันร้อน ไม่ต้องใช้อะไรหมด ก็มันว่างจากสิ่งรบกวนด้วยประการทั้งปวง นี่คือความดับทุกข์ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ ได้ค้นพบและมอบหมายให้แก่เรา เราเป็นสาวกของพระองค์ก็อย่าให้เสียทีที่ได้เป็นสาวกของพระองค์ ให้ได้รับสิ่งนั้นอย่างถูกต้อง ตรงตามพระพุทธประสงค์ เป็นมนุษย์ที่ออกจะประหลาดสักหน่อยล่ะต่อไปนี้ คือก็ไม่มีความทุกข์ ทุกข์ไม่เป็น มันมันฟังออกไหมว่าต่อไปนี้มีความทุกข์กับเขาไม่ได้ ทุกข์กับเขาไม่เป็น เอาแต่เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว อย่าให้มากไปถึงว่าต้องการความสุขเลย นั่นมันเป็นคำพูดโฆษณาชวนเชื่อ เป็นสามัญโวหาร ชาวบ้านก็รู้กันดี ใช้โฆษณาได้ ใช้จูงใจได้ แต่ถ้าว่าไม่พูดชนิดจูงใจ ไม่โฆษณาชวนเชื่อกันแล้ว ก็พูดว่าหมดทุกข์ก็แล้วกัน หมดทุกข์ก็แล้วกัน ที่สุดแห่งความทุกข์ ดับทุกข์สิ้นก็พอแล้ว อย่าคำหยาบๆ ว่าอย่าเสือกไปเอาความสุขเข้าอีก มันจะย้อนกลับมาสำหรับความยึดถือ แล้วมันจะกัดเอาอีก ฉะนั้นดับทุกข์สิ้นเชิงก็พอแล้ว ดับทุกข์อย่างเดียวพอแล้ว ที่สุดแห่งความทุกข์คือพระนิพพาน มันก็หมดปัญหา เพราะว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์หรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่งอีกต่อไป นี่เรื่องไม่ยึดมั่นเบญจขันธ์นั้นเป็นหัวใจแห่งพระพุทธ ศาสนา เอามาพูดกันในวันนี้ มันก็ถูกกาลเทศะอย่างยิ่ง มีเหตุผลอย่างยิ่งที่จะต้องเอามาพูดกันในวันนี้คือวันวิสาขบูชา
อาตมาเห็นว่าการบรรยายนี้สมควรแก่เวลา ขอกำชับท่านทั้งหลายว่าจงจำไว้ให้ดี เอาไปคิดไปนึกให้ดี ให้รู้จักไอ้เบญจขันธ์ที่มันเป็นเนื้อเป็นตัวของเรา แล้วเราจะโง่ไปถึงไหนกันที่ไม่รู้จักสิ่งที่เป็นเนื้อเป็นตัวของเราอยู่ แล้วก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันก็พอแล้ว ทุกอย่างมันก็จบลงที่ตรงนี้ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งปวงแล้ว ก็ไม่มีความทุกข์เลย ขอให้สนใจเรื่องนี้ให้มาก ที่บ้านก็ได้ ที่วัดก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ให้จิตใจให้ดีๆ ให้สงบ ให้ปรกติ แล้วก็จะมองเห็นชัดแจ้งเป็นวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาจริง ไม่ใช่วิปัสสนาพิธีรีรอง วิปัสสนาเห่อๆ ทำไปเท่าไรก็ไม่ได้ผลคุ้มค่าข้าวสุก ขอให้มองเห็นตามที่เป็นจริง ซึ่งเรียกในพระบาลีว่า ยะถาภูตัง ธรรมมะปัญญายะ ปัสสะติ เห็นชอบตามที่เป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ ขอยุติธรรมเทศนาในวันนี้ ไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังจงมีด้วยประการฉะนี้