แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาอยากจะทบทวนถึงการล้ออายุเกี่ยวกับตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่ามันเป็นสิ่งที่ควรจะเอามาล้อ คือเจตนาของเราจะทำไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชน โดยตั้งปณิธานไว้เป็น ๓ ประการ หากประการที่ 1 ก็คือ พยายามจะให้พุทธบริษัทเข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน และตั้งใจจะทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาด้วยกันทุกศาสนา และตั้งใจว่ามนุษย์ในโลกทั้งโลกควรจะออกมาเสียจากอำนาจของวัตถุนิยม
ปณิธาน ๓ ประการนี้ เป็นเหตุให้ถูกล้อ เป็นเหตุให้เกิดเรื่องที่ควรจะนำมาล้อ อยากจะปรารภกับท่านทั้งหลายบางท่านหรือบางพวกที่ยังไม่เคยฟังมาแต่ก่อน หรือท่านที่เป็นผู้พยายามจะเผยแผ่ธรรมะเพื่อการกลับมาแห่งศีลธรรมก็ดี ว่ามันมีความสำคัญอยู่เป็น ๓ ประการดังนี้ ธรรมะจะกลับมารุ่งเรืองในหมู่มนุษย์ได้
สำหรับข้อที่ 1 ว่าพุทธบริษัทจะต้องมีความรู้สึกลึกซึ้งเข้าใจถึงหัวใจแห่งศาสนาของตนของตน เดี๋ยวนี้ก็สังเกตดูเอาเองเถิดว่าเมื่อเราพยายามอธิบายถึงหัวใจแห่งพระศาสนา คือข้อที่ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ตัวตนอะไร เป็นอนัตตา ก็กลับถูกคนบางพวกกล่าวหาว่า สอนผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือสอนจนไม่มีคน แล้วก็ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย นี่ขอให้เป็นที่เข้าใจกันไว้ว่าผู้ที่รู้พุทธศาสนาแต่เพียงชนิดที่มีตัวมีตน มีสัตว์บุคคลเวียนว่ายตายเกิดนี้ เป็นพุทธศาสนาชั้นต้นหรือชั้นเปลือก เพราะมันมีบุคคลเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ถ้าเข้าถึงพุทธศาสนาชั้นหัวใจแล้วจะเข้าถึงความไม่มีตัวตน คือเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ก็คือไม่มีกิเลสนั่นเอง ความทุกข์จะดับหมดสิ้นเชิงก็ต่อเมื่อไม่มีความยึดถือโดยความเป็นตัวตนของตน
แต่ครั้นเรามาสอนเรื่องความไม่มีตัวตนของตน ก็กลับมีคนเข้าใจผิดหาว่าทำลายพระพุทธศาสนา เป็นคำกล่าวที่ทำลายพุทธศาสนาไปเสียอีก แล้วก็ถูกเขาด่า นี่คือสิ่งที่มันน่าล้อ หรือควรจะเอามาล้อ ก็เลยเอามาล้อกันจริง ๆ ก็เป็นการตอบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปพลาง พร้อมกันไปในตัว
ทีนี้ข้อที่ ๒ ที่ว่าจะทำความเข้าใจระหว่างศาสนาด้วยกันทุกศาสนานั้น ก็หมายความว่า ถ้าศาสนายังไม่มีความเข้าใจแก่กันและกัน มองเห็นเป็นข้าศึกแก่กันและกันอยู่ มนุษย์ในโลกนี้ก็ดูคล้ายจะว่าหมดที่พึ่ง เพราะว่าศาสนาแต่ละศาสนามาเป็นข้าศึก มุ่งหมายทำลายกันเสียเอง จึงได้ตั้งใจที่จะทำความเข้าใจระหว่างศาสนา ส่วนใดที่พอจะทำความเข้าใจกันได้ คล้ายกัน ลงรอยกัน แนวเดียวกันก็เอามากล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือหลักที่ว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือหลักที่เป็นหัวใจของศาสนาทุกศาสนา คือการสอนให้รักผู้อื่น ซึ่งย้ำมากที่สุดในศาสนาคริสเตียน ก็มีคนกล่าวหาว่าเอาศาสนาคริสเตียนมาสอน หรือผู้สอนก็กลายเป็นคริสเตียนไปแล้วอย่างนี้ มันก็น่าล้อ
ทีนี้ข้อที่ ๓ ที่ว่าจะพยายามทำให้มนุษย์ทั้งโลกออกมาเสียจากความลุ่มหลงในวัตถุนิยม นี้มันก็น่าล้ออยู่เหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นงานใหญ่ซึ่งใคร ๆ มองแล้วก็รู้สึกว่าเกินวิสัย เหลือวิสัยที่จะทำเช่นนั้นได้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกจมลงในวัตถุนิยม หลงใหลในวัตถุนิยม ลึกถึงขนาดที่ว่าจะถอนตัวออกมายาก ก็มีคนกล่าวหาอาตมาว่าเป็นคนไม่ดูอะไร เป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ ตั้งใจจะทำในสิ่งที่มันทำไม่ได้ คือจะพยายามดึงมนุษย์ทั้งหลายออกมาเสียจากวัตถุนิยม คือลุ่มหลงในเรื่องวัตถุ นี่ขอให้ท่านผู้มีหน้าที่เผยแผ่ธรรมะทั้งหลายช่วยรับรู้ไว้ด้วย สังเกตไว้ด้วย และว่าโดยที่แท้แล้ว ท่านทั้งหลายก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อแรก ข้อต้น คือทำให้พุทธบริษัทเข้าถึงหัวใจแห่งพุทธศาสนานั่นเอง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้พยายามแสดงหัวใจของพระพุทธศาสนาเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายโดยอธิบายสรุปความให้สั้น ให้สั้น ให้สั้นเข้ามา นับตั้งแต่ว่าเป็นอริยสัจ๔ หรือเป็น ธัมมา เหตุ ปัทวา หรือว่าเป็น สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ กระทั่งในท้ายที่สุดนี้ว่าตถตาคำเดียว ก็มีพวกเอาไปด่า เอาไปล้อว่าสอนพุทธศาสนาไม่คงเส้นคงวา เขาประชดกลับมาโดยที่อาตมาก็ขอร้องให้สอนหรือให้กระทำอะไรอย่างคงเส้นคงวา เขาก็บอกว่าอาตมานั่นแหละเป็นตัวทำอะไรอย่างไม่คงเส้นคงวา สอนหัวใจของพุทธศาสนาอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้นเป็นหลายอย่าง นี่ลองคิดดูเถิดว่า คนเขามองอย่างนี้ เขาเข้าใจอย่างนี้ ถ้าว่าเป็นความผิดของเราก็สงสารตัวเองก็เอามาล้อ ถ้าเป็นความโง่ของเขาก็สงสารตัวเองที่ว่ามันไม่ควรจะถูกกล่าวหา มันก็ควรจะเอามาล้อ ดังนั้นจึงเอามาล้อ ขอร้องให้ผู้มีหน้าที่เผยแผ่ธรรมะทั้งหลาย จงได้พยายามในความมุ่งหมายอันนี้ คือทำให้คนทุกคนเข้าถึงหัวใจแห่งพระพุทธศาสนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ทีนี้ ข้อที่ว่าทำความเข้าใจระหว่างศาสนาด้วยกันนั้นเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง หรือทางการเมืองอย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้ปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นเพราะความเป็นข้าศึกแก่กันในระหว่างคนที่ถือศาสนาต่างกัน นี่ถ้าเราช่วยพิสูจน์ให้เขาเห็นว่ามันไม่ต้องทะเลาะกัน มันไม่ได้ต่างกันโดยหัวใจ คือทุกศาสนาสอนให้เห็นแก่ผู้อื่น ให้รักผู้อื่นด้วยกันทั้งนั้น นั่นน่ะมันเป็นเรื่องสำคัญ นอกนั้นมันเป็นเรื่องเปลือก เช่นจะมายึดถือเพียงว่าคนนั้นกินหมู คนนี้ไม่กินหมู พวกยิวไม่กินหมู พวกคริสตังกินหมู พวกอิสลามไม่กินหมู นี่มันก็เป็นเรื่องยุ่งไปหมด คล้ายกับว่ามันเป็นข้าศึกแก่กัน แต่หัวใจของศาสนาทุกศาสนานั้นเขามุ่งสอนให้ทำความรักผู้อื่นเหมือนกับที่พระเจ้ารักเรา จึงขอแสดงความหวังว่า ท่านอาจารย์ผู้เผยแผ่ธรรมะทั้งหลายจะช่วยเหลือบ้านเมืองแก้ไขปัญหาข้อนี้ตามความสามารถของตน ของตน คือการทำความเข้าใจในระหว่างศาสนา
ส่วนข้อที่ว่าจะทำให้คนทั้งปวงพ้นจากอำนาจครอบงำของวัตถุนิยมนั้น ก็เป็นเรื่องใหญ่จริงดังเขาว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ควรจะท้อถอย หรือยอมแพ้โดยประการทั้งปวง เพราะมันเป็นหลักธรรมะข้อหนึ่งในศาสนาพุทธ หรือแม้ศาสนาอื่นก็ล้วนไม่ต้องการให้คนเราตกจมอยู่ในความลุ่มหลงในทางอารมณ์หรือวัตถุนั่นเอง เพราะว่าไอ้ความลุ่มหลงในอารมณ์นั้นมันเป็นที่ตั้งของกิเลส ถ้าทำให้คนไม่ลุ่มหลงในอารมณ์ กิเลสของคนก็จะน้อยลงไป กิเลสของโลกก็จะน้อยลงไป การทำลายล้างซึ่งกันและกันมันก็จะระงับไปเอง จึงขอให้ท่านผู้มีหน้าที่เผยแผ่ธรรมะทั้งหลาย ได้ช่วยรับรู้หลักการ ๓ อย่างนี้ซึ่งถือว่าเป็นปณิธานของผมให้กลายเป็นปณิธานของท่านทั้งหลายด้วย เรื่องเขาจะหัวเราะเยาะนั้นไม่เป็นไร แต่ว่าประโยชน์มันมีมากกว่า ลงทุนด้วยการถูกเขาหัวเราะเยาะนี้ ไม่ใช่อะไรหนักหนา อย่า..แต่อย่าให้มันเกิดการทะเลาะวิวาทถึงกับทำร้ายซึ่งกันและกัน
เดี๋ยวนี้ก็ชี้ให้ดูว่ามันน่าเอามาล้อ เราตั้งใจจะทำให้ดี ให้มันเป็นประโยชน์แก่เขานั่นแหละ เขากลับตั้งตนเป็นผู้คัดค้าน เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรู แล้วที่สุดแม้เราจะขอร้องให้เขาเลิกอบายมุข เขาก็มองเราเป็นศัตรู ไม่ได้มองว่าเป็นมิตรอย่างนี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้ปัญหามันก็ยังเหลืออยู่ หลายปีมาแล้ว ปัญหามันก็ยังเหลืออยู่ คือว่าพุทธบริษัทยังไม่เข้าใจถึงหัวใจแท้ ๆ ของพุทธศาสนาได้ และความเข้าใจในระหว่างศาสนาก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น แต่ก็มีหวังว่าอยู่ว่าจะเข้าใจกันได้
ส่วนการที่จะทำให้มนุษย์ในโลกหลุดจากความลุ่มหลงในวัตถุนิยมนั้น เห็นจะต้องค่อยทำค่อยไป เป็นระยะยาวมากทีเดียว นี่คือเรื่องที่เอามาปรารภสำหรับจะล้ออายุ ทีนี้ก็จะได้ใช้เวลาที่เหลือนี้ตอบคำถาม ซึ่งคำถามและคำตอบนี้มันก็เนื่องกันอยู่กับงานที่เรากระทำ เช่นเราจะพูดกันถึงเรื่องประพฤติธรรม เรื่องสมาธิภาวนานี้ มันก็เป็นเรื่องที่ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้มนุษย์ เพื่อนมนุษย์เข้าถึงหัวใจของพระศาสนา เรื่องอันเกี่ยวกับสมาธิ วิปัสสนา ทุกเรื่องมันเป็นเรื่องสำหรับจะเข้าถึงหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา ถ้าเราจะมาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการประพฤติปฎิบัติในทางจิตทางใจโดยเฉพาะแล้ว มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้พุทธบริษัทเพื่อนของเราเข้าใจถึงหัวใจของพระพุทธศาสนานั่นเอง
อาตมาอยากจะขอแนะนำว่า วิธีการที่จะเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนานั้น ก็คือวิธีปฏิบัติที่เรียกว่าภาวนานั่นเอง ซึ่งแยกออกเป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ถ้าสามารถประพฤติปฏิบัติในข้อนี้ได้ ก็จะเป็นการง่ายที่จะเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา คือการเห็นธรรมในชั้นลึกสุด เราจะต้องเข้าใจการปฏิบัติที่เรียกว่าภาวนานี้ให้ถูกต้องครบถ้วน ให้ตรงตามหลักเกณฑ์ คือให้เห็น
วิปัสสนานี้แปลว่าเห็น สมถะสำรวมจิตให้มันสงบ ก็จะใช้สำหรับดูแล้วก็เห็น ถ้ายังเป็นวิปัสสนาคิดนึกพิจารณาตามเหตุผลแล้วมันก็ไม่เห็น เมื่อไม่เห็นก็ไม่เป็นวิปัสสนา ไม่เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา วิปัสสนาจะต้องเป็นการเห็นตรงตามตัวอักษรของคำ ๆ นี้เสมอไป ถ้ายังต้องคิดนึกใคร่ครวญหรือพิจารณาอยู่ก็ยังไม่ใช่ถึงที่สุดของวิปัสสนา สมถะเตรียมดวงตาสำหรับจะดู แล้ววิปัสสนาก็ดู ดูก็เห็น ขอให้สนใจเครื่องมือที่จะทำให้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนากันอย่างนี้ นี่เแหละเป็นตัวอย่างที่จะต้องพยายามรับรู้แก้ไขกันสืบไป
ต่อไปนี้เป็นเวลาสำหรับถามปัญหา ขอให้ถามตามที่มี
ถาม พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้สำหรับทุกคนหรือสำหรับคนบางพวกเท่านั้นครับ
ตอบ ไม่ใช่หมวด ค ว่าพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้สำหรับทุกคนหรือสำหรับคนบางพวกเท่านั้นครับ ถามว่าพุทธศาสนาสำหรับทุกคนหรือสำหรับบางคน ถ้าถือตามพระพุทธภาษิต จะพบว่าทรงบัญญัติโลกุตตระไว้สำหรับคนทุกคน ไม่ใช่เพียงแต่ตัวพุทธศาสนาทั่ว ๆ ไป ดังนั้นเป็นอันว่าพระพุทธประสงค์นั้นต้องการสำหรับทุกคน ถ้าจะพูดให้ชัดลงไปก็ต้องว่าคนที่มีความทุกข์ คือทุกคนที่มีความทุกข์ หรือจะพูดอย่างเอาเปรียบอีกหน่อยก็ว่าทุกคนที่รับได้ ไอ้คนที่มันเกินไปรับไม่ได้นั้นมันก็ทำกันไม่ได้ ทุกคนที่มีความทุกข์ที่พอจะรับพระพุทธศาสนาได้ คำตอบนี้มีอย่างนี้
ถาม มีคนพูดว่าควรดึงธรรมะมาสู่ชาวโลก หรือดึงชาวโลกไปหาธรรมะดี อย่างนี้ มันอย่างไรกันแน่ครับ
ตอบ ควรจะมองเห็นกันได้ว่าดึงคนหรือโลกไปหาธรรมะดีกว่าที่จะดึงธรรมะลงมาหาชาวโลก เว้นแต่กรณีพิเศษ นี่ก็หมายความว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องที่ตายตัว คงตัว เป็นระบบที่เฉียบขาด ส่วนคนหรือโลกนี่มันไม่ตายตัว ไม่แน่นอน ลุ่ม ๆ ดอน ๆ จะดึงธรรมะที่เป็นของตายตัวมาหาโลก มันก็ไม่ควรหรือไม่มีทางที่จะทำได้ งั้นขอให้เราทุกคนเตรียมตนเพื่อปรับปรุงตนเข้าไปหาธรรมะ คือคล้อยตามธรรมะ อย่าให้ธรรมะต้องมาคล้อยตามเราเลย คำตอบมันมีอย่างนี้
ถาม ต่อไปจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับบารมี บารมีคืออะไร การสร้างบารมีคืออะไร เกี่ยวกับประชาชนทั่วไปอย่างไรครับ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าอย่างไร งานสร้างสรรที่สำคัญที่สุดคือการสร้างบารมีใช่ไหมครับ การบำเพ็ญบารมีไว้เฉพาะเพื่อนิพพานเท่านั้นหรือครับ ในกระแสแห่งวิวัฒนาการทางชีววิทยาของสัตว์โลกมีสิ่งที่เรียกว่าการสร้างบารมีรวมอยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ครับ
ตอบ เจ้าเดียวมากปัญหา ก็คงจะลำบากแก่ผู้ฟัง ทีนี้จะแยกตอบทีละปัญหาที่ว่าบารมีคืออะไร ตัวหนังสือแปลว่าทำให้มันถึงที่สุด เพราะว่าบารมีนี้การกระทำหรือเครื่องกระทำให้มันถึงที่สุด คือให้มันเต็ม ทีนี้การสร้างบารมีคืออะไร ก็คือการทำให้เต็มตามวัตถุที่ประสงค์ เกี่ยวกับประชาชนทั่วไปอย่างไร คนทั่วไปมีหน้าที่กระทำวัตถุประสงค์ของตนให้เต็มตามชนิด ๆ ของตน เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าอย่างไร นี้เป็นเรื่องเฉพาะพระพุทธเจ้าแล้วก็ต้องมีเป็นระดับพระพุทธเจ้าคือบารมีระดับสูงเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีมาตลอดเวลาอันสมควรแล้วจึงเป็นพระพุทธเจ้า การบำเพ็ญบารมีมีไว้เฉพาะเพื่อนิพพานเท่านั้นหรือครับ นี่ก็หมายความว่าเรารู้จักกันแต่เพื่อพระนิพพาน ที่จริงน่ะเพื่ออะไรก็ได้ที่มันควรจะทำให้มันเต็ม ส่วนเรื่องเพื่อพระนิพพานนั้นมันเป็นเรื่องใหญ่ เป็นหลักใหญ่ รู้จักกันดีทั่วไป แต่ขอให้รู้ไว้ด้วยเถิดว่า ไอ้วัตถุประสงค์ใด ๆ ที่มันมีค่า ก็ควรใช้หลักการบารมี คือรู้ว่าธรรมะข้อไหนที่จะประพฤติแล้วจะทำให้วัตถุประสงค์นั้นเต็ม จึงเรียกว่าไม่เฉพาะแต่เรื่องนิพพานเท่านั้น แต่คนที่เขารู้จักหรือได้ฟังแต่เรื่องนิพพานอาจจะเข้าใจอย่างนั้นไปเสียก็ได้ ที่ว่าในกระแสแห่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ มีการสร้างบารมีรวมอยู่ในนั้นด้วยหรือไม่ ข้อนี้จะต้องแยกเป็นว่ามีบารมีชนิดที่ว่าธรรมชาติให้เป็นไปเองโดยไม่ต้องเจตนา คือไม่มีเจตนาของผู้กระทำ ควรจะถือเป็นหลักว่าวิวัฒนาการของสิ่งที่มีชีวิตนั้น มันได้พยายามต่อสู้เรื่อย ๆ มาเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า มีความหวังหรือมีความต้องการตามธรรมชาติที่สัตว์วิวัฒนาการที่สูง ๆ ขึ้นมาจนกระทั่งเป็นมนุษย์ เรียกว่าเป็นการสร้างบารมีโดยธรรมชาติ โดยไม่ใช่เจตนาของคนหรือสัตว์นั้นโดยตรง สิ่งที่เรียกว่าบารมีนี้ ก็สรุปความว่า เพื่อใช้กับทุกอย่างที่ควรประสงค์ ไม่เฉพาะแต่เรื่องพระนิพพาน ..ต่อไป
ถาม การสร้างบารมีนี้ได้แต่สัตว์ทั่วไปในไตรภพนี้ได้หรือไม่ครับ
ตอบ คำว่าไตรภพในที่นี้ ตามหลักทั่วไปก็คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัตว์ที่ยังปรารถนากามเรียกว่าอยู่ในกามภพ ถ้ามีโชคดี มีปัญญา ก็สร้างบารมีให้สูงขึ้นไปเพื่อภพที่สูงขึ้นไป กามภพนี่ก็เพียงบูชากาม ก็คือมนุษย์ทั่วไป เทวดาชั้นกามาวจรทั่วไป กระทั่งถึงสัตว์นรกในอบาย มันกำลังไม่มีความสุข ไม่มีกามก็จริง แต่มันปรารถนากามด้วยเหมือนกัน สัตว์ที่ปรารถนากามก็ควรจะรู้เรื่องกามไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด ก็พยายามที่จะสร้างบารมีเพื่อภพอันสูงกว่ากาม สัตว์ที่อยู่ในรูปภพ อรูปภพ เช่นพวกรูปพรหม อรูปพรหม ถ้ามีสติปัญญาก็พยายามสร้างบารมีสูงขึ้นไป คือเพื่อโลกุตตรภพ โลกุตตรภูมิ ไม่เรียกว่าภพ แต่เรียกว่าโลกุตตรภูมิ แต่ปรากฎว่าพวกพรหมทั้งหลายไม่ค่อยจะสนใจ เรื่องราวที่เกี่ยวกับพรหมนี้แสดงให้เห็นว่าเขาพอใจที่จะอยู่เพียงเท่านั้นเป็นส่วนมาก อายุมันเลยยืนเป็นกัป ๆ หรือความยินดีของมันไม่เปลี่ยนแปลง นี่การสร้างบารมีของพวกรูปภพ อรูปภพนี่เป็นไปได้ยาก แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ควรสร้าง และก็สร้างได้เพราะมันมีปัญญา อะ..ต่อไป
ถาม สิ่งที่เรียกว่ามารเป็นตัวการที่ขัดขวางการสร้างบารมีใช่ไหมครับ
ตอบ นี่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสิ่งที่เรียกว่ามารนั้นเป็นตัวอุปสรรค มองดูจากสายตาปัจจุบัน ก็คงรู้สึกกันอย่างนั้นทุกคนว่ามารเป็นสิ่งขัดขวางการสร้างบารมี แต่ผมมันมองอุตริแหวกแแนวไม่เหมือนคนอื่น คือจะมอง จะมองเป็นในทางที่ว่ามารมันก็มาช่วยในการสร้างบารมี มารยิ่งมีบารมียิ่งแก่กล้า เคยเขียนเป็นกลอนไว้บทหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็ลืมเสียแล้ว มารยิ่งมีบารมียิ่งแก่กล้า เพราะว่ามารมาแล้วยิ่งบำเพ็ญบารมีให้มันหนักขึ้น ไอ้มารไม่มีมันเนือย ๆ มันไม่ขึงขัง ไม่เอาจริงเอาจัง คือถ้ามองอย่างนี้ก็จะเห็นว่ามารก็มาช่วยในการสร้างบารมี อุปสรรคศัตรูก็มาช่วยให้เราเก่งขึ้นกว่าที่จะไม่มีอุปสรรคศัตรู แต่เขามองกันในลักษณะอื่น คือเป็นธรรมดาสามัญว่ามารมาขัดขวางในการบำเพ็ญบารมีเป็นไปโดยยาก แต่ก็ไม่ ๆๆๆ เป็นผลแก่ที่จะไปขัดขวางพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าชนะมาร แต่นี่มารมันก็เป็นสิ่งที่แปลก กล่าวไว้แปลก ๆ ว่าเมื่อเขาสำเร็จเป็นผลแล้ว ในหน้าที่มารก็ยังมาอีก ทีแรกขัดขวางไม่ให้สร้างได้ ครั้นเขาสร้างได้แล้วก็ยังมาขัดขวางอีก คือมาชักชวนว่า ตายเสียเถิด อย่าได้สร้างอะไรต่อไปอีกเลย เช่นมารมาทูลให้พระพุทธเจ้าไปปรินิพพาน เมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ มาทูลกับพระพุทธเจ้าว่าปรินิพพานเถิด นี่ดู ๆ ๆ เอง ความหมายของคำว่ามาร ขัดคอในตอนต้นเรียกว่าขัดคอในตอนปลายอีก แต่ก็ไม่สำเร็จแล้วที่จะมาขัดขวางพระพุทธเจ้า ถ้าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าก็ควรจะใช้มารให้เป็นประโยชน์ อย่าให้มีมาร มารเข้ามาก็ใช้สำหรับทำบารมีให้แข็งกล้า สำเร็จตามที่ต้องการแล้ว แม้มารจะมาชวนให้หยุดให้เลิก ไม่ใช้ประโยชน์อันนั้นก็ไม่เอา นี่มาคิดดูให้ดี พระอาจารย์ทั้งหลายทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะในเวลานี้ อุปสรรคที่จะทำให้ไม่สำเร็จมันก็มี ถึงกับต้องสิกขาลาเพศไป นี่ทำเสร็จแล้ว พอถึงคราวที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ มันก็ยังจะมาเกลี้ยกล่อมให้นอนสบายดีกว่า อย่าไปใช้ความสามารถหรือจะใช้ผลของการบำเพ็ญบารมีนั้นเลย ขอให้มองดูสิ่งที่เรียกว่ามาร ในลักษณะที่มันไม่อาจจะเป็นมารแก่เราได้ ผมถือหลักอย่างนี้เสมอตลอดเวลาตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ เขาหาว่าบ้าก็ยิ่งดี มันจะได้พิสูจน์ให้เขาเห็นว่ามันไม่บ้านี่ ไอ้การที่เขาหาว่าเราบ้า มันก็ยิ่งดี เป็นโอกาสที่จะแสดงบทบาทกันให้เต็มที่ ดังนั้นเป็นคนไม่มีมาร เอ้า..ต่อไป
ถาม การตั้งความมุ่งหมายในการบำเพ็ญบารมีนั้น ควรจะตั้งไว้โดยประมาณมากน้อย สูงต่ำเท่าไรครับ ถึงจะสำเร็จสมตามปรารถนา ถ้าตั้งไว้มากหรือน้อยเกินไป จะเป็นอย่างไรครับ จำกัดอยู่เพียงบารมี ๑๐ ที่พวกนิยมบารมีนิยมท่องบ่นกันอยู่เท่านั้นหรือครับ
ตอบ ถ้าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าต้องมีหลักว่าตั้งให้พอดี มากใช้ไม่ได้ น้อยก็ใช้ไม่ได้ มันผิดหลักของอิทัปปัจจยตา ต้องพอดี ถูกต้องตามหลัก ตามกฎหรืออำนาจของอิทัปปัจจยตา ขอตอบว่าตั้งให้พอดี อย่าให้มากให้น้อย ให้สูงให้ต่ำ ถ้าตั้งไว้มากหรือน้อยเกินไปมันไม่ มันก็ผิดหลัก แล้วมันก็ไม่สำเร็จ ที่ว่ามันมี ๑๐ อย่าง อย่างที่ท่องกันอยู่เท่านั้นหรือ นั่นเขาระบุที่เหมาะสำหรับเป็นหลักทั่วไป และสำหรับพระพุทธเจ้าเป็นส่วนใหญ่ อาจจะไม่ถึงสิบก็ได้ หรืออาจจะเกินสิบก็ได้ ถ้าเราต้องการ ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นตัวหนังสือ เขาก็ว่าสิบเท่านั้น พูดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเราพูดให้มากให้แปลกไปกว่านั้นเขาก็ด่าเรา เขาก็หาว่าเราเป็นมิจฉาทิฏฐิ ลบล้างนั่น ลบล้างนี่ต่อไปอีก แต่ผมยืนยันว่าสิบก็ได้ ไม่ถึงสิบหรือเกินสิบก็ได้ เดี๋ยวนี้พวกฝ่ายมหายานบางนิกายเขาลดจนเหลือหกก็มี เพราะบางอย่างพอจะรวมกันได้ ก็ลดได้น้อยลงมาเหลือเพียงหก ถือเป็นหลักกันอยู่ในฝ่ายมหายาน มีบารมี ๖ บารมี ๑๐ นี่มีแต่พวกฝ่ายเถรวาท เอ้า,มีอะไรต่อไปอีก
ถาม มีคนพูดว่าบุญญาบารมี บุญกับบารมีต่างกันอยู่อย่างไรครับ อันไหนร่อยหรอได้ อันไหนร่อยหรอไม่ได้ อันไหนเป็นสัสสต อันไหนเป็นอุจเฉท อย่างนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ
ตอบ บุญแปลว่าสิ่งที่ล้างบาป บารมีแปลว่าสิ่งที่ทำให้เต็มตามวัตถุประสงค์ เมื่อมุ่งหมายต่างกัน บุญล้างบาป บุญใช้เป็นเครื่องมือล้างบาป บารมีใช้เป็นเครื่องมือทำให้เต็มตามวัตถุประสงค์ มันมีความหมายคนละอย่างแต่มันแผ่จิตกันได้เพื่อทำงานร่วมกัน ล้างบาปออกไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้เต็มเร็ว ๆ จะได้ดำเนินไปตามทางของวัตถุประสงค์ได้โดยเร็ว ที่ถามว่าอันไหนร่อยหรอได้ อันไหนร่อยหรอไม่ได้ ก็ตอบได้ง่าย ๆ ว่าทั้งบุญทั้งบารมีนี้ มันเป็นสังขตธรรม มีเหตุมีปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ขึ้นชื่อว่าสังขตธรรมแล้วร่อยหรอได้ ไม่ต้องสงสัย ที่ถามอันว่าเป็นสัสสตทิฏฐิ อันไหนเป็นอุจเฉทนี่มันไม่เนื่องกัน ไม่เนื่องกัน อันนี้มันเป็นการกระทำ มันไม่ใช่เป็นทิฏฐิ สัสสตเป็นทิฏฐิ อุจเฉทเป็นทิฏฐิ ส่วนบุญและบารมีนี้เป็นเรื่องกรรม เป็นลักษณะของกรรม ไม่มีทางที่จะจัดเป็นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง เว้นเสียแต่มันมีเรื่องระบุชัดลงไปว่าผู้ทำกรรมนี้มันมีทิฏฐิอย่างไร คนที่เป็นสัสสตทิฏฐิยึดมั่นเก่งนี่ ทำบุญบารมีได้มาก ได้เก่ง พวกที่เป็นอุจเฉททิฏฐินี่เขาไม่ต้องการ จึงไม่ค่อยจะมาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าบุญญาบารมี เอ้า,มีอะไรต่อไป
ถาม คำว่าโลกันต์ ที่สุดของโลก กับนรกาฬ ที่สุดของนรก สองคำนี้มีความหมายต่างกันอย่างไรครับ โพธิสัตว์ยังมีผลกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับโลกันต์หรือนรกาฬอย่างไรบ้างหรือครับ
ตอบ ที่ตัวหนังสือเป็นปัญหาทำให้เข้าใจผิด ไอ้คำถามของผู้ถามระบุมาชัดว่าโลกันต์ที่สุดแห่งโลก ที่สุดแห่งโลกคือพระนิพพาน แต่คำว่าโลกันต์อีกคำหนึ่งหมายถึงว่านรก ไอ้นรกที่ชื่อว่าโลกันต์ ท่านทั้งหลายกำหนดไว้ให้ดี ๆ ว่า คำว่าโลกันต์นี่เป็นคำที่ดิ้นได้ เพราะที่สุดแห่งโลก ดับคือโลกดับทุกข์แล้ว คำว่าโลกันต์ ที่สุดแห่งโลกนั้นคือนิพพาน นี่คำว่าโลกันต์อีกคำหนึ่งหมายความว่าอยู่ใต้ถุน ใต้ถุนของโลก นี้เป็นชื่อของนรก แล้วก็มีคำว่านรกาฬ นรกาฬนี่แปลว่าที่สุดแห่งนรก คือนรกชั้นสุดยอด ถ้าโลกันต์ที่หมายถึงนรกก็เป็นอย่างเดียวกับนรกาฬ แต่ถ้าโลกันต์ที่หมายถึงที่สุดแห่งโลกแล้วก็เป็นพระนิพพาน นี่มันต่างกันหรือเหมือนกัน ในเมื่อเรารู้ความหมายหรือจำกัดความหมายของคำว่าโลกันต์ให้มันชัดลงไปว่าอย่างไร โพธิสัตว์จะเป็นไปแต่ในทางของพระนิพพาน คือเป็นไปในทางของโลกันต์ที่เป็นที่สุดแห่งโลก ไม่เกี่ยวข้องกับโลกันต์นรก หรือนรกาฬ นรกชั้นยอดสุด พระโพธิสัตว์มีผลกรรมเป็นไปทางที่สุดโลก คือพระนิพพาน อ้าว,มีอะไรต่อไปอีก
ถาม ต่อไปนี้จะเป็นคำถามหมวดที่เกี่ยวกับวิปัสสนาและสมาธิ สิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นหมายถึงการสำรวมจิต การกำหนดอารมณ์ การคิด การพิจารณา การรู้สึก การรู้รส การเห็นหรืออย่างไรกันแน่ครับ
ตอบ นี่ผู้ฟังสังเกตดูให้ดี ๆ เขาหยิบเอาหัวข้อธรรมมาเรียงลำดับกัน นับตั้งแต่ว่าการสำรวมจิต และการกำหนดอารมณ์ การคิด การพิจารณา การรู้สึก การรู้ แล้วก็จบลงด้วยการเห็น ให้สนใจคำว่าการเห็น ให้มาก และเป็นคำสุดท้ายด้วย เขาวางเป็นลำดับไว้ดีแล้ว การเห็นนั่นน่ะคือวิปัสสนา นอกนั้นเป็นชั้นเตรียม ขั้นตระเตรียมของวิปัสสนา การสำรวมจิต การกำหนดอารมณ์ของวิปัสสนา การคิดในชั้นต้น การคิดให้ละเอียดละออเรียกว่าพิจารณา และการรู้สึกที่เป็นผลของการพิจารณา และการรู้ไปตามการพิจารณา ยังไม่ถึงที่สุด จนกว่าจะเป็นการเห็นแจ้ง จึงจะเป็นการวิปัสสนาแท้ ระบบใหญ่ทั้งระบบก็เอาตั้งแต่ศีลไปเลย เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา มีแยกขั้นตอนได้มาก ทั้งหมดนั้นมันก็เป็นส่วนประกอบ เป็นระบบย่อยที่จะรวมกันเป็นระบบใหญ่ ฉะนั้นหัวใจของระบบใหญ่ก็คือการเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ที่หมายถึงการเห็น คือยิ่งไปกว่าการรู้ ขอให้สังเกตไว้ดี ๆ ว่าถ้อยคำในพระบาลีเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีลำดับดีอยู่แล้ว แต่คนศึกษามันสะเพร่า มันทำสับสนซะบ้าง หรือมันไม่ถูกลำดับบ้าง ขอให้พวกเรารู้จักกำหนด อย่าให้เกิดการสับสนว่าวิปัสสนานั้นจะตั้งต้นไปได้ตั้งแต่มีศีล แล้วก็มีสมาธิ คือทำตา สร้างดวงตาให้สำเร็จสำหรับจะดู เมื่อดูแล้วก็เห็น เห็นนั่นน่ะเป็นวิปัสสนา จุดสุดยอดก็คือการเห็น จึงถือว่าสิ่งที่เรียกว่าวิปัสสนานั้น ถ้าหมายถึงระบบใหญ่ทั้งระบบ ตั้งต้นไปตั้งแต่ศีล สมาธิ จนมีการเห็นซึ่งเป็นตัววิปัสสนาแท้ ขอให้จับหลักอันนี้ให้ได้ว่าวิปัสสนาต้องแปลว่า "เห็น" อย่าไปแปลว่าคิด ว่ารู้ เพียงการคิด ผมเองก็เคยเข้าใจผิดเรื่องนี้มายุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ต่อมาเมื่อศึกษาค้นคว้าดูทางพระบาลีแล้วก็พบว่าวิปัสสนาต้องเป็นการเห็น เสมอไป ไม่ใช่การคิดหรือผลของการคิด ต่อไป
ถาม การที่มีคำกล่าวในอรรถกถาธรรมบทเรื่อง ว่าพระศาสดาได้ตรัสตอบคำถามของคนบางคนว่าธุระ ในศาสนานี้มี ๒ อย่าง คือคันถธุระ การศึกษาพระไตรปิฎก และวิปัสสนาธุระการบำเพ็ญเพียรทางจิต ดังนี้มีความเพียรที่ควรเชื่อถือได้อย่างไรครับ
ตอบ ดูเอาเองก็แล้วกัน ที่ถามน่ะคือดูเอาเองก็แล้วกัน คือดูให้เห็นว่าพระไตรปิฎกในสมัยพระพุทธเจ้านั้นมันมีเมื่อไหร่เล่า พระไตรปิฎกนี่ถูกจัดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว จึงไม่มีพระไตรปิฎกให้เรียน และแม้จะมีการเรียนเขาก็ไม่ได้เรียนอย่างเรียนพระไตรปิฎก เขาเรียนอย่างธรรมวิปัสสนา จะพูดว่าในสมัยพุทธกาลมีการศึกษาคันถธุระ คือเรียนพระไตรปิฎกนั้น มันไม่มีเหตุผลมันขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะพระไตรปิฎกเพิ่งจะมีเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ไอ้คนบางคนอาจจะแย้งว่าคำสอนอะไรก็ได้ แม้ไม่เป็นพระไตรปิฎกก่อนก็เรียกว่าพระไตรปิฎกได้ นี่มันพูดเอาข้างเข้าถู เลิกพูดกันดีกว่า ส่วนธุระที่สองก็คือวิปัสสนาธุระ การบำเพ็ญเพียรทางจิตนี่มีแน่ คือมีแน่ พระพุทธองค์ก็ทรงอบรมสั่งสอนเรื่องนี้โดยตรง วิปัสสนาธุระนั้นมีแน่ แต่คันถธุระนั้น ถ้าหมายถึงการเรียนพระไตรปิฎกมีไม่ได้ ถ้าเป็นการสอนเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามธรรมดา ก็พอจะมีได้เหมือนกัน อรรถกถาธรรมบทนี่เพิ่งแต่งเมื่อเวลาล่วงมาตั้งพันปี พูดย้อนหลังให้พระพุทธเจ้ามีการสอนพระไตรปิฎก อย่าไปเอาอะไรกับอรรถกถาธรรมบทให้มากนักเลย เอ้า,มีอะไรต่อไป
ถาม การขอศึกษากรรมฐานในสมัยพุทธกาลนั้น ต้องมีพิธีรีตองเกี่ยวกับการแสวงหาสถานที่ หาสำนัก หาครูบาอาจารย์ การมอบตัวกับอาจารย์ การขอกรรมฐาน และพิธีรีตองอีกมากมายอย่างที่ทำกันอยู่ในสมัยนี้ไหมครับ การมีพิธีกับไม่มีพิธีเช่นนั้น มีผลต่างกันอย่างไรครับ
ตอบ การมีพิธีอย่างที่ว่ายิบไปหมดนั้นน่ะ มีประโยชน์สำหรับสมัยนี้ สำหรับสมัยนี้มีประโยชน์ อุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นมีประโยชน์ เพราะสมัยนี้คนโลเลทั้งนั้นแหละ คนสมัยนี้เป็นคนโลเลทั้งนั้น มันก็มีระเบียบอะไรรัดกุมให้มากเข้าไว้สิ แต่ครั้งพุทธกาลไม่มีล่ะ ไม่เคยเห็นมี พยายามสอบสวนดูในเรื่องราวต่าง ๆ ก็ไม่มีพิธีรีตองมากอย่างนี้ แต่สำหรับสมัยนี้มีประโยชน์ เพราะคนมันโลเล สมัยพุทธกาลไม่จำเป็นเพราะคนมันไม่โลเล คนมันจริง ฟังคำสั่งสอนโดยตรงแล้วก็ไปปฏิบัติลับหลังพระพุทธเจ้า เขาก็มารายงานเป็นคราว ๆ อย่างนี้ก็พอแล้ว เอ้า,อะไรต่อไป
ถาม พระอรหันต์จะประกอบพิธีวิริยกรรมหรือปฏิบัติวัตรต่าง ๆ ร่วมกับหมู่ภิกษุผู้ที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์หรือไม่ครับ
ตอบ นี่ขอให้รู้ไว้เสียก่อนว่า พระอรหันต์นั้นอยู่เหนือการปฏิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าหมดกิเลสแล้ว สิ้นกิเลสแล้ว การปฏิบัติเพื่อการสิ้นกิเลสไม่ได้มีอีกต่อไป ในที่นี้ท่านอยู่ร่วมกับภิกษุทั่วไปที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านก็ยังลง ยังลดตัวลงมาทำระเบียบ ประพฤติปฏิบัติระเบียบวินัยอะไรต่าง ๆ ให้เหมือนกับภิกษุทั่วไปที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ท่านอยู่เหนือการต้องอาบัติ แต่ถ้ามีอะไรแสดงมันว่ามีลักษณะเหมือนกับต้องอาบัติอย่างกับภิกษุธรรมดา ท่านก็ยอมแสดงอาบัติ นี่เป็นเรื่องที่แปลกดี พระอรหันต์ไม่มีการต้องอาบัติ อยู่เหนือการต้องอาบัติ แต่ถ้าว่ามีการกระทำชนิดที่ถือกันว่าต้องอาบัติ ท่านก็แสดงอาบัติ พระอรหันต์ก็แสดงอาบัติเพื่อประโยชน์อย่าให้เกิดการยุ่งยาก ลำบากขัดแย้งกันขึ้นมาในหมู่คณะ คืออยู่ร่วมกับพวกที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ท่านก็กลมกลืนกันไปได้ จึงถือว่าพระอรหันต์ประกอบพินัยกรรมปฏิบัติศีลวัตรต่าง ๆ อย่างเดียวกับภิกษุที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์เพื่อความสามัคคีหรืออะไรก็สุดแท้ แต่รวมความแล้ว ก็ว่าเป็นผลดีแก่หมู่คณะทั้งหมู่นั่นเอง เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม มีผู้กล่าวว่าอาจารย์วิปัสสนาสมัยนี้ ไม่สนใจสมถะ ย้ำแต่เรื่องวิปัสสนา เป็นการผิดหลักพุทธภาษิตที่ว่า ฌานไม่มีแก่ผู้ไร้ปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไร้ฌาน นี้มันเป็นอย่างไรกันครับ
ตอบ นี่คำถามมันขัด มันขัดอยู่ในตัวคำถามมันแล้ว นี้ไม่ใช่ปัญหาจริง ปัญหาแสร้งว่า ปัญหาแสร้งตั้งขึ้นมา นั่นจึงขัดอยู่ในตัวปัญหานั่นเอง เพราะผู้ถามก็ยอมรับว่าตามพระพุทธภาษิตนั้นมีอยู่แล้วว่า ฌานไม่มีแก่ผู้ไร้ปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไร้ฌาน มันหนีกันไม่ได้ แล้วเราจะไปแยกทำแต่วิปัสสนาเพื่อปัญญาอย่างเดียวอย่างไรได้ ในเมื่อมันแยกกันไม่ออก มันไปทำเข้า มันก็มีทั้งฌานและทั้งปัญญา ฌานน่ะเหมือนกับดวงตาสำหรับจะดู วิปัสสนานั้นคือการเห็น ถ้าไม่มีดวงตาแล้วมันก็จะเอาอะไรดู ถ้าพูดว่ามีการเห็นคือวิปัสสนา มันก็ยังหมายความว่ามีสิ่งที่สามารถดู ก็เลยมีทั้งสมถะและทั้งวิปัสสนา อย่าแกล้งด่าอาจารย์สมัยนี้ว่าสอนแต่วิปัสสนา ไม่สนใจสมถะนี่ มันหาเรื่องด่าเขาเปล่า ๆ มันเป็นไปไม่ได้ เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม มีผู้กล่าวว่าสำนักใดไม่สอนเรื่องบำเพ็ญฌาน สอนแต่วิปัสสนาอย่างเดียวนั้น ขัดต่อพระพุทธประสงค์ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างนี้ข้อความจริงเป็นอย่างไรครับ แล้วก็คฤหัสถ์บางคนที่ได้บรรลุอรหัตผลตรงหน้าพระพักตร์ด้วยการฟังในชั่วเวลาเพียงไม่กี่นาทีนั้น เขาเอาเวลาไหนมาบำเพ็ญฌานครับ แล้วเป็นพวกสุกขวิปัสสก หรือเป็นพวกปฏิสัมภิทาครับ
ตอบ สำนักที่ไม่สอนการบำเพ็ญฌาน สอนแต่วิปัสสนาอย่างเดียวนั้นไม่ถูกหลัก เพราะพระพุทธประสงค์นั้นก็ตรัสไว้เป็นหลักว่ามันเนื่องกัน ถ้าใครจะมาสอนแต่ฌาน ไม่สอนวิปัสสนา จะถือว่าเขาเป็นมิจฉาทิฏฐิดังนี้ก็ดูจะมากเกินไป มันเพียงความเข้าใจผิดในระดับธรรมดา อย่าเรียกว่าเป็นถึงกับ ถึงกับเป็นมิจฉาทิฏฐิเลย มันเป็นเพียงความเข้าใจผิดชั้นธรรมดา ๆ ทีนี้ถามว่าคฤหัสถ์บางคนบรรลุมรรคผลตรงพระพักตร์พระพุทธเจ้าด้วยการฟังเพียงไม่กี่นาที นี้เขาเอาเวลาไหนมาบำเพ็ญฌาน คือมีฌานอัตโนมัติในการเห็นธรรม ฟังแล้วเห็นธรรม จิตรวมเป็นสมาธิอยู่ในการเห็นธรรม ตามหลักพระบาลีที่ว่า ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน มันเป็นของแฝดกัน การสำรวมจิตเป็นสมาธิ การรู้แจ้งมันเป็นปัญญา เป็นวิปัสสนา ผู้ที่ฟังพระพุทธองค์ตรัสตรงนั้นแล้วบรรลุมรรคผลน่ะ เขามีการสำรวมจิตเพื่อจะฟัง แล้วก็แจ่มแจ้ง จึงมีพร้อมกันทั้งสมถะและวิปัสสนา ไม่ต้องใช้เวลาไหนมาบำเพ็ญฌานเป็นพิเศษ เพราะว่ามันมีติดกันอยู่ในตัว ส่วนที่ว่าคนจำพวกนี้ คนบรรลุจำพวกนี้เป็นสุกขวิปัสสกหรือเป็นพวกปฏิสัมภิทา ตามข้อความในคัมภีร์มีได้ทั้งสอง เราจะเป็นพวกปฏิสัมภิทาเตวิชชามากกว่าเสียด้วยซ้ำไป อย่าเข้าใจว่าฟังเดี๋ยวเดียวง่าย ๆ เฉพาะพระพักตร์แล้วบรรลุนี่จะเป็นสุกขวิปัสสก รู้อย่างแห้งแล้งนี้ไม่ค่อยมี ไม่ค่อยพบ มีพบแต่เรื่องว่าเป็น เตวิชชา ฉฬภิญญา ปฏิสัมภิทัปปัตโต หรือชั้นสุดยอดได้ เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม มีผู้กล่าวว่า พระอรหันต์สุกขวิปัสสกนั้น มีแต่การเพ่งลักษณะฌานเท่านั้น โดยไม่มีการเพ่งอารมณ์ อารัมมณูปนิชฌานเลย อย่างนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ จะไม่มีฌานเสียเลยนั้นไม่ได้ ก็คือมีฌานโดยอัตโนมัติรวมอยู่ในการเพ่งลักษณะนั่นเอง การที่ท่านเพ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่ก็เรียกว่าเพ่งลักษณะได้ แต่ฌานคือการเพ่งส่วนที่เป็นสมถะนั้นน่ะ มันมีรวมอยู่ในนั้นด้วย อย่าลืมหลักที่กล่าวแล้วกล่าวอีกว่ามันไม่แยกกันได้ ถ้ามีปัญญาเห็นแล้ว ส่วนที่เป็นสมถะคือเป็นกำลังแห่งการเห็นนั้น ต้องมีซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ พระอรหันต์สุกขวิปัสสกมีปัญญาเห็นไตรลักษณ์เป็นเบื้องหน้า ส่วนการเพ่งฌานนั้นมีอยู่น้อยมากจนมองไม่เห็นหรือแฝงอยู่ การเพ่งฌานนั้นน้อยจนไม่เรียกว่าการเพ่งฌาน แต่มันก็มีอยู่ คือมีอยู่อย่างไม่มีโวหารเรียก เรียกว่าอัพโพหาริก ความมีฌานของท่านมีน้อยมากจนเป็นอัพโพหาริก แต่การมีปัญญาของท่านสมบูรณ์ เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม มีผู้กล่าวว่า การเข้าฌานไม่ใช่เรื่องของปัญญา เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่ต้องทำก็ได้นั้น นี้หมายความว่าอย่างไรครับ
ตอบ การเข้าฌานไม่ใช่เรื่องปัญญา ไม่ใช่ตัวปัญญานั้นจริง แต่ว่าการเข้าฌานไม่ใช่เรื่องเหลวไหล ก็ต้องทำเพื่อเป็นบาตรฐานของปัญญา มีหลักว่าสมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ จิตตั้งมั่นแล้วยังเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง นี่ต้องมีฌานคือสมาหิโต จึงจะมีปัญญา เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง ดังนั้นฌานไม่ใช่เรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องจำเป็น เป็นคู่แฝดของปัญญา ต้องมีควบคู่กันเสมอ มีอะไรอีก
ถาม การเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวโดยไม่มีสมาธิ ดังที่บางคนกล่าว หรือว่าเป็นการเจริญพร้อมกันทั้งสองอย่างไปในตัวครับ
ตอบ ถ้าการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นชนิดถูกต้อง เช่น สติปัฏฐาน ๔ ในอานาปานสติสูตร ซึ่งแจกไว้ เป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น เป็น ๑๖ ขั้นแล้ว สติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้ เป็นมากกว่าสองอย่างเสียอีก คือเป็นทั้งสมาธิด้วย เป็นปัญญาด้วย แล้วเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานด้วย แล้วเป็นการรู้ว่าบรรลุมรรคผลนิพพานแล้วด้วย สติปัฏฐาน ๔ ที่แท้จริงในอานาปานสติสูตรเป็นมากกว่าสองอย่างอย่างนี้ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ แบบอื่นไม่มี บางทีก็เป็นรุ่น ๆ เพียงสติเท่านั้นแหละ และมหาสติปัฏฐาน ๔ ก็ไม่ได้กล่าวไว้อย่างครบถ้วนเหมือนสติปัฏฐาน ๔ ในอาปานสติสูตร สติปัฏฐาน ๔ มีหลายรูปแบบ มีเพียงหมวดเดียวก็มี มีครบทั้ง ๔ หมวดก็มี แล้วแต่ว่ากล่าวไว้ในพระบาลีสูตรไหน อย่างไร แต่สติปัฏฐาน ๔ ที่สมบูรณ์แล้วมากกว่าที่จะเป็นเพียงสมาธิและปัญญา จะรวมการบรรลุมรรคผลอยู่ด้วย แล้วก็รู้ว่าบรรลุแล้วด้วย ขอให้สังเกตดูหมวดที่ ๔ ที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน ข้อแรกว่าตามเห็นอยู่ สังขารไม่เที่ยง ข้อที่สองเห็นอยู่ซึ่งความจางคลาย คือวิราคะ ข้อสามเห็นอยู่ซึ่งนิโรธคือดับสนิทแห่งทุกข์ ข้อที่สี่ปฏินิสสัคคะ เห็นปฏินิสสัคคะ ก็คือหลุดพ้นแล้ว สลัดกิเลสและความทุกข์ออกไปแล้ว รู้ว่าเป็นอย่างนั้นแล้ว นี่มันสมบูรณ์ถึงขีดสุด สติปัฏฐาน ๔ นี่สมบูรณ์ที่สุด ไม่มีอะไรขาดเลย เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม การเจริญอานาปานสตินั้น เป็นสมถกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐานครับ ทำไมบางคนจึงพูดว่าเป็นเพียงสมถกรรมฐาน แต่อนุสติ ๑๐ หรือรวมอยู่ในสมถกรรมฐาน ๔๐ เท่านั้น และบางคนว่าเป็นเพียงการกำหนดลมหายใจเท่านั้น จึงเป็นวิปัสสนากรรมฐานไปไม่ได้ อย่างนี้หรือครับ
ตอบ นั่นแสดงว่า นั่นแสดงว่าคนนี้มันไม่เคยอ่าน ไม่เคยผ่านอานาปานสติสูตร แล้วมันไปยึดมั่น ติดมั่นในหนังสือชั้นหลังคือวิสุทธิมรรค ที่พูดถึงกรรมฐาน ๔๐ และจัดเป็นอนุสติ ๑๐ เอาอานาปานสติไปรวมไว้ได้เป็นข้อหนึ่ง ถ้าอย่างนี้เป็นเพียงสมถกรรมฐานเท่านั้น แล้วก็นิดเดียวเท่านั้น ไม่ใช่อานาปานสติที่สมบูรณ์ ขอให้ผู้สนใจไปอ่านดูพระบาลีอานาปานสติสูตรที่สมบูรณ์เหมือนที่เราใช้สวดกันอยู่ จะเห็นว่าเป็นสมถะในหมวดแรก แล้วเป็นวิปัสสนาเข้ามาเจือในหมวดที่สอง และเป็นสมถะสูงสุดในหมวดจิต และเป็นวิปัสสนาสูงสุดในหมวดธรรม อานาปานสติที่สมบูรณ์แบบจึงเป็นตลอด คือเป็นสมถะ เป็นปัญญา เป็นการบรรลุมรรคผล แล้วเป็นการรู้ว่าบรรลุมรรคผลแล้ว อย่าไปติดอยู่เพียงแค่อานาปานสติในหมวดอนุสติ ๑๐ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่พุทธภาษิตเอาเสียด้วย เป็นเรื่องในหนังสือชั้นหลังเช่นวิสุทธิมรรค เป็นต้น เอ้า,มีอะไรต่อไปอีก
ถาม มีผู้กล่าวว่าเจริญสมาธิก็เท่ากับเจริญปัญญาอยู่แล้วในตัว ไม่ต้องสนใจการเจริญปัญญาก็เกิดปัญญาเอง โดยอ้างพุทธภาษิตที่ว่า นติชานัง อะปันยะสะ.นะติปัญญา อะจาวีโร(ไม่แน่ใจนาทีที่ 1:03:56) และที่ว่า สมาธิง ภิขเว อาเวส สมาหิโต ยตาภูตัง ปชานาติ อย่างนี้จะให้เข้าใจอย่างไรกันครับ เพราะมีหลักว่าต้องเจริญศีล สมาธิ ปัญญา
ตอบ ในตัวคำถามนั่นแหละมันแสดงอยู่แล้ว หรือเป็นคำตอบอยู่ส่วนหนึ่งแล้วว่ามันแฝดกันอยู่ คือไม่มีฌานแล้วก็ไม่ปัญญา แล้วก็ไม่มีปัญญาก็ไม่มีฌาน นี่มันแยกกันไม่ได้ มันแฝดกันอยู่ มันจะเกิดปัญหาเช่นนี้ได้อย่างไร คือถามว่ามันต้องเจริญครบทั้งศีล สมาธิ ปัญญา คนที่ถามนี่มันมองไม่เห็น การตั้งใจจะทำอะไรจริง ๆ เช่นตั้งใจจะเจริญภาวนานี้ การสำรวมในข้อนี้เขาเรียกว่าศีล ไม่ใช่มานั่งปาณาติปาตา อทินนาทานา แล้วจึงเรียกว่าศีล เขาเอาหัวใจของศีลคือการตั้งใจสำรวมระวัง สังวรณ์จะทำให้ดีที่สุด นั่นคือศีล เมื่อบุคคลตั้งใจเจริญภาวนาโดยเฉพาะอานาปานสตินี้ ความตั้งใจสำรวมระวังธรรมนั้นเป็นศีล แล้วก็เป็นสมาธิสมถะขึ้นมา แล้วก็เป็นปัญญาขึ้นมา แล้วก็เป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานขึ้นมา แล้วเป็นการรู้ว่าบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว นี่มันครบถึงขนาดนี้ เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม การเห็นดวงสว่างนั้นเป็นประตูแห่งนิพพานหรือครับ ตัวอย่างเช่น แสงสว่างแห่งดวงกสิณก็ดี การเห็นดวงสว่างในขณะแห่งการละนิวรณ์เชื่อถือได้หรือไม่ เป็นต้นก็ดี หรือเห็นดวงสว่างแห่งทิวาสัญญา อโลกสัญญา ที่เจริญเมื่อบรรลุทิพยจักขุก็ดี หรือแม้แสงสว่างชนิดที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องทำให้สมดุลกับจักษุและสมาธิก็ดี เหล่านี้ก็เรียกว่าเป็นประตูแห่งพระนิพพานด้วยกันทั้งนั้นหรือครับ แล้วดวงสว่างชนิดไหนเล่าครับที่จะเป็นวิปัสสนูปกิเลส อันจะพึงกำจัดเสียเล่าครับ
ตอบ มี ๆ ๆ หลายคำถาม ว่าขึ้นชื่อว่าดวงสว่างแล้วเป็นประตูแห่งพระนิพพานหรือ ถ้าแยกตอบเป็นอย่าง ๆ ดวงสว่างที่เอามาใช้เป็นดวงกสิณ เพ่งกสิณ เพียงเท่านั้นยังไม่เป็นประตูแห่งนิพพาน ต้องปฏิบัติสำเร็จเลยไปถึงละ ละกิเลสได้จึงจะถึงนิพพาน เพียงแต่ทำเป็นดวงกสิณเพ่งอยู่ ยังไม่ถึงขนาดเป็นประตูแห่งพระนิพพาน มีการเห็นดวงสว่างคืออโลกสัญญา ในการละถีนมิทธะนั่นน่ะ ก็เป็นการเพียงเพื่อระงับนิวรณ์ ยังไม่ควรจัดว่าเป็นประตูนิพพาน ทีนี้ดวงสว่างแห่งชีวาสัญญาที่จะเจริญเพื่อมีหูทิพย์ ตาทิพย์ มันก็เขาไม่ได้มุ่งหมายนิพพาน เป็นสมาธิภาวนาชนิดหนึ่งมุ่งหมายความมีจักษุทิพย์ ก็ไม่เรียกว่าเป็นประตูแห่งพระนิพพาน เพราะมันชัดอยู่ในความมุ่งหมายแล้ว เป็นสมาธิภาวนาอย่างหนึ่งใน ๔ อย่าง ส่วนดวงสว่างชนิดที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องทำให้สมดุลกับจักษุและสมาธินั้น นี่เป็นการปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์ ในการที่จะเป็นสมาธิชนิดที่จะสำเร็จประโยชน์แก่การเกิดปัญญาใกล้ประตูพระนิพพานเข้าไป ทีนี้ดวงสว่างขณะที่น้อมจิตไปเพื่อวิปัสสนานี้จะเรียกว่าดวงสว่างที่เป็นประตูแห่งพระนิพพานโดยตรง ส่วนดวงสว่างชนิดที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น หมายความว่ามันเป็นอุปสรรคมันแทรกแซงเข้ามาเมื่อจะน้อมจิตพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แสงสว่างก็โร่เข้ามาปิดกั้นเสีย เพราะคน ๆนี้มันเคยชินแต่การเพ่งแสงสว่าง แสงสว่างก็ชิงเกิดเมื่อจิตต้องการจะเพ่งวิปัสสนา ดวงสว่างหรือโอภาสชนิดนี้เป็นวิปัสสนูปกิเลส คือเป็นการกีดขวางทางแห่งวิปัสสนา เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม ดวงสว่างที่เกิดขึ้นในขณะที่เจริญสมาธินั้น ควรจะจัดการกับมันอย่างไรครับ
ตอบ อันนี้ตอบตายตัวคำเดียวไม่ได้ มันแล้วแต่ว่าเป็นสมาธิชนิดไหน ตอนไหน และประโยชน์ของประโยชน์อะไร ถ้าว่าเป็นสมาธิที่ต้องการมีจักษุทิพย์เป็นต้น มันก็ทำให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องจนกว่าจะถึงขีดสุด จัดการไปตามลำดับ ตามเรื่องก่อนจะถึงขีดสุด แต่ถ้ามันเป็นสมาธิที่ขัดขวางทางแห่งวิปัสสนา เป็นวิปัสสนูปกิเลสแล้ว ดวงสว่างชนิดนี้ต้องกำจัดเสีย ต้องเพิกถอนเสีย นี่เรียกว่าปฏิบัติอย่างตรงกันข้ามเลย ถ้ามาส่งเสริมให้การปฏิบัติเพื่อความสำเร็จ ก็รักษาให้ดวงสว่างนั้นไว้เป็นอย่างดี ทำให้ดีไปตามลำดับ แต่ถ้ามันมาขัดขวางทางแห่งวิปัสสนาก็เพิกเสีย ถอนเสีย มีอะไร ต่อไป
ถาม สัมมาสมาธิแห่งอัฏฐังคิกมรรคในพุทธศาสนานั้น ต่างจากสมาธิทั่ว ๆ ไปอย่างไรครับ
ตอบ สมาธิทั่วไปมันก็อยู่ตามลำพัง เป็นลักษณะธรรมดา ๆ สัมมาสมาธินี้หมายถึงสมาธิที่ถูกต้องแท้จริง แล้วมารวมกลุ่มกันอยู่ในอัฏฐังคิกมรรค ต่างกันอย่างนี้ สมาธิทั่วไป คล้าย ๆ เป็นสมาธิเถื่อน สัมมาสมาธินี้เป็นสมาธิที่มาอยู่ รวมอยู่ในอัฏฐังคิกมรรค เอ้า,มีอะไรต่อไป
ถาม มีผู้กล่าวว่าการเข้าถึงพระรัตนตรัย มีได้ด้วยสัมมาสมาธิ นี้มันหมายความว่าอย่างไรครับ
ตอบ การเข้าถึงพระรัตนตรัยมีได้ด้วยสมาธิ ด้วยสัมมาสมาธิ นี้อธิบายกันให้อ้อมค้อมก็จะได้ สมาธินี้ให้เป็นอนุสติในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เจริญอนุสติในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์อย่างนี้ละก็ พระรัตนตรัยนั้นมีได้ด้วยสมาธินั้น แต่เป็นพระรัตนตรัยในขั้นตอนแรก ๆ เท่านั้น ยังไม่สมบูรณ์ ยังมีชั้นเลิศ ยังไม่ใช่องค์จริง ต่อเมื่อดับทุกข์ได้แล้ว สิ้นเชิงแล้ว ปรากฎแก่จิตแล้วจึงจะเป็นองค์จริง อันนี้ไม่สำเร็จได้โดยลำพังของสมาธิ หรือแม้สัมมาสมาธิ ต้องครบองค์แปดของมรรค จึงจะมีพระรัตนตรัยพระองค์จริงได้โดยสมบูรณ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์แห่งอนุสตินี้ยังไม่ใช่องค์จริง เป็นองค์บุพภาค เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม หลักเกณฑ์ที่กล่าวกันว่าหลุดพ้นจากความทุกข์ด้วยปัญญา หรือสัมมาทิฏฐินั้น เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้ว แต่การหลุดพ้นด้วยศรัทธาหรือวิริยะนี่ ยังไม่เป็นที่เข้าใจกัน มันเป็นไปได้อย่างไรครับ
ตอบ เอ้าดี ที่เข้าใจคำว่าหลุดพ้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ให้มันชัดเจนว่าสัมมาทิฏฐิเป็นปัญญา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ทำให้หลุดพ้น ส่วนข้ออื่นที่ว่าหลุดพ้นด้วยศรัทธาหรือวิริยะนั้น มันเป็นคำกล่าวที่ไม่สมบูรณ์ เป็นคำกล่าวที่หนุนเนื่องกันอยู่กับส่วนที่ไม่ได้กล่าว ต้องกล่าวต่อไปให้สมบูรณ์ เช่นว่า ศรัทธายกะระติโอคัง (ไม่แน่ใจนาทีที่ 1:13:40) ก้าวล่วงโอคะได้ด้วยศรัทธา ศรัทธานี้มันหมายถึงศรัทธาในพระพุทธศาสนา เกิดมาหลังจากมีปัญญาเห็นตามที่เป็นจริง แล้วเกิดศรัทธา ฆ่าโอคะหรือความทุกข์ได้ นี่ศรัทธานี้ต้องไปเนื่องกับปัญญา เป็นผลของปัญญา เห็นด้วยปัญญาแล้วจึงเชื่อ นี่ก็ได้เหมือนกัน ข้อที่ว่า วิริเยน ทุก.ขมจ.เจติ ล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญา นี่ก็หมายความว่าวิริยะนั้น ไม่ได้เพียงว่าวิริยะลุ่ม ๆ วิริยะตอนเดียว หมายถึงวิริยะที่ดำเนินไปทุกขั้นตอน ดำเนินไปทุกขั้นตอนจนถึงที่สุดของสิ่งที่จะต้องกระทำ มันก็รวมปัญญาอยู่ในตอนท้ายสุด ก็หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ แต่เขายกให้เป็นความดีของวิริยะ ในคำที่กล่าวไว้ตรงชัด ไม่ดิ้นได้ก็คือ ด้วยสัมมาทิฏฐินั่นแหละ ถ้าว่าด้วยปัญญา ด้วยศรัทธาหรือด้วยวิริยะแล้ว มันเป็นคำกล่าวที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องทำความสมบูรณ์ให้ด้วยการอธิบายเพิ่มเติม เอ้า, มีอะไรอีก
ถาม ต่อไปนี้เป็นจะคำถามที่เกี่ยวกับสุญญตาและอัตตา มีคนกล่าวว่า ความสูญ มีอยู่ ๒ ชนิด คือ ความสูญชนิดที่ต้องแสวงหา นิพพานัง ปรมัง สุญญัง และความสูญชนิดที่ต้องละเสีย สุญญโตโลกันตเวศสัสสุ(ไม่แน่ใจนาทีที่ 1:15:40)” และแถมพูดว่า บทว่านิพพาสุญญา เป็นพุทธภาษิตนี้ มันเป็นอย่างไรครับ
ตอบ เท่าที่ศึกษามา ไม่มีความสูญชนิดที่ต้องแสวงหาหรือต้องละเสีย มีแต่ความสูญที่ต้องทำให้แจ้ง ให้เห็นแจ้งความสูญ ไม่เกี่ยวกับการละเสียหรือแสวงหามา ภาวะสูญสุญญตานั้นเป็นภาวะที่ต้องทำให้แจ้ง คือให้เห็นว่าสังขารทั้งปวงว่าง จากตัวตน ก็ไม่ยึดถืออะไร ก็บรรลุมรรคผลนิพพาน ที่พูดว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง เป็นพุทธภาษิตนั้น เข้าใจว่าเดาเอาเอง ผู้ถามเดาเอาเอง มันมีในบทสวดมนต์ที่เขาไปยกเอาข้อความในปฏิสัมภิทามรรคของพระสาลีบุตร กล่าวลักษณะพระนิพพานว่า ว่าง หรือ สุญะ นี่มาก แต่ไม่ได้กล่าวไว้สำเร็จว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง มีผู้ใดผู้หนึ่งไปเอามากล่าวไว้ในหนังสือสวดมนต์ แล้วในเมืองไทยนี่เอง ในเมืองไทยเมื่อเร็ว ๆ นี่เอง ประดิษฐ์ประโยคว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ขึ้นมา แล้วเอาไปเข้าคู่กับประโยคว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง ในพระบาลีธรรมบท การที่พูดว่า นิพพานัง ปรมัง สุญญัง เป็นพระพุทธภาษิตนั้น เขาว่าเอาเอง เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม การถือว่าอสังขตธรรมและสังขตธรรม มีความเป็นสุญญตาเหมือนกันแต่เป็นสุญญตาคนละชนิด คือชนิดหนึ่งเป็นสุญญตาที่มิควรถือเอา และอีกชนิดหนึ่งเป็นสุญญตาที่ควรถือเอา ดังนี้ เป็นการถือที่ถูกหรือผิดครับ
ตอบ สุญญตา ไม่ว่าในสังขตหรืออสังขต ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องเห็น ทำให้เห็นเพื่อจะปล่อยวางเสีย ไม่มีเพื่ออย่างหนึ่งเพื่อให้ละเสีย อย่างหนึ่งเพื่อให้ถือเอานี่ไม่มี เพราะสุญญตาไม่ใช่วัตถุหรืออารมณ์สำหรับถือเอาหรือละเสีย แต่เป็นวัตถุสำหรับจะทำให้แจ้ง ทำให้เห็นแจ้ง เห็นแจ้งสุญญตาแล้ว วิราคะก็จะเกิดขึ้น เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ปล่อยวางสิ่งที่เคยยึดถือ ไม่มีสุญญตาสังขตก็ดี อสังขตก็ดี ในสิ่งที่เป็นสังขตก็มีความว่างจากตัวตน และอสังขตคือพระนิพพานก็มีความว่างจากตัวตน ไม่อาจจะแยกเป็นสุญญตาที่ต้องถือเอาหรือสุญญตาที่ควรละเสีย มีแต่สุญญตาที่ต้องทำให้แจ้งเท่านั้น ,ต่อไป
ถาม มีผู้กล่าวว่า อสังขตธรรม หรืออสังขตภาพ ได้แก่นิพพานอย่างเดียว แต่ทำไมจึงมีพระบาลี สังขตวา อสังขตวา ซึ่งคำเหล่านี้เป็นพระวจนะ แปลว่าอสังขตทั้งหลาย ซึ่งมีความหมายว่ามีมากกว่าหนึ่งเล่าครับ
ตอบ ผมเข้าใจว่าสิ่งที่เรียกว่าอสังขตนั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะนิพพานอย่างเดียว คือจะต้องมีหลายอย่าง อาศัยพระบาลีนี้แหละเป็นหลัก สังขตวา อสังขตวา ธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขตและเป็นอสังขต จึงทำให้คิดไปว่าไอ้สิ่งที่เป็นอสังขต ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เปลี่ยนแปลงนั้น ยังมีอยู่อีก โดยเฉพาะก็คือสัจจะที่เรียกว่าความจริง คือเป็นกฎของความจริง เป็นกฎของธรรมชาติ อยู่เหนืออำนาจของทุกสิ่งที่สามารถบังคับทุกสิ่งให้เป็นไปตามกฎ ไอ้สิ่งที่เรียกว่ากฎหรือสัจจะนี้ ควรจะเป็นอสังขต คือไม่ถูกปัจจัยอะไรปรุงแต่ง นี่เป็นตัวอย่างที่พอจะทำให้เห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าอสังขตนั้น ไม่ได้มีแต่พระนิพพานอย่างเดียว เอ้า,ต่อไปอีก
ถาม มีคนกล่าวว่า อัตตามีอยู่ ๒ อย่าง คืออัตตาชนิดที่ต้องละเสีย อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ และอัตตาที่ควรแสวงหา ข้อความที่ตรัสกับปัญจวัคคีย์นี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ นี่เขาแยกอัตตาเป็น ๒ อย่าง อัตตาที่ควรละเสีย อัตตาที่ควรแสวงหา พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อัตตานุทิฏฐิง อูหัจจะ" ไม่ใช่ให้ละอัตตา หมายถึงละทิฎฐิว่าอัตตา ถูกแล้วอัตตาเป็นสิ่งที่ต้องละ แต่ถ้าตัวอัตตาไม่มาเป็นทิฎฐิ ไม่มาเป็นวัตถุความยึดถือ จะไปละอะไรมันได้ มันก็ต้องละ ก็ละความเห็นผิดที่ว่า อัตตานุทิฏฐิง หรืออัตตวานุปาทาน เป็นต้น ที่ว่าอัตตาชนิดหนึ่งควรแสวงหาคืออัตตาที่พระพุทธเจ้าตรัสกับปัญจวัคคีย์ที่เที่ยวตามหาผู้หญิง ท่านตรัสว่าเที่ยวหาผู้หญิงดีหรือหาตัวเองดี นี่คำพูดนี้ก็ไม่ได้ตรัสว่าให้แสวงหาอัตตานะ แต่เตือนสติว่าแสวงหาผู้หญิงดีหรือแสวงหาตัวเองดี เป็นโวหารธรรมดา ๆ นี่แหละ แม้เดี๋ยวนี้ก็พูดได้ คือแสวงหาอะไรอื่นดีหรือจะแสวงหาตัวเองดี นี่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เที่ยวแสวงหาอัตตา ถ้าจะพูดว่าแสวงหาอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวร ก็เป็นลัทธิอื่นนอกพุทธศาสนา คืออัตตาที่เรียกว่าอาตมันในฝ่ายศาสนาอื่น นี้เขาก็มีไว้แสวงหาอาตมัน เขาพูดกันติดปากชาวบ้าน พูดกันติดปาก เป็นอัตตาที่มีอยู่ก่อนพุทธกาล สมมติว่ามีอยู่จริงให้แสวงหา เท่ากับพวกเราในพุทธบริษัทแสวงหานิพพานนั่นเอง ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงยืมคำในศาสนาอื่นพวกอื่นมาใช้ พูดกับปัญจวัคคีย์ ว่าแสวงหาหญิงดีหรือแสวงหาอัตตาดี แต่ถ้าถือตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีอัตตาให้แสวงหา นั้นการที่พระพุทธเจ้าตรัสกับปัญจวัคคีย์นี้เป็นโวหารธรรมดา ๆ ที่แม้เดี๋ยวนี้เราก็เอามาใช้พูดได้ว่าหาของอย่างอื่นดีหรือหาตัวเองดี มันมีความหมายลึกว่าหาตัวเองให้พบนี่มีความหมายลึก ยิ่งสะดุดใจของปัญจวัคคีย์เหล่านั้น หยุดที่จะตามหาผู้หญิงก็มาบวช เมื่อรับฟังคำสั่งสอนจนพบไอ้ของจริง ดับทุกข์ได้ ได้บวช หรือว่าได้เป็นพระโสดาบัน หรืออะไรทำนองนั้น ไม่มีอัตตาที่ทรงสอนให้แสวงหา ในทางพุทธศาสนานี้ความหมายแห่งอัตตาเป็นสิ่งที่ต้องละเสีย เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม อีกนัยหนึ่ง มีผู้กล่าวว่ามีอัตตา ๒ ชนิด คืออัตตาสมมติ ต้องละเสียเพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ แต่อัตตาวิมุต ควรถือเอาเป็นที่พึ่ง อัตตทีปา ธรรมทีปา ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันกับพระธรรมดังนี้ นี่จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ อัตตาชาวบ้าน อัตตาสมมติ ไปหลงว่าอะไรเป็นอัตตา เช่นเห็นเบญจขันธ์เป็นอัตตา อย่างนี้ต้องละเสีย เพราะว่ามันเป็นของไม่จริง ไม่ไปเอากับมันนั่นแหละ มันไม่มีอัตตาจริง เป็นอัตตาที่ชาวบ้านว่าเอาเอง เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์เมื่อเข้าไปยึดถือ นี่ก็เป็นพวกหนึ่ง ส่วนอัตตาที่เป็นปัญหายุ่งยาก ที่มันเนื่องกับความหมายสูงสุดในลัทธิอื่น ในที่นี้เขาเอามาเรียกว่าอัตตาวิมุต เช่น พระพุทธภาษิตว่า อัตตทีปา ธรรมทีปา มีตนเป็นประทีป มีธรรมเป็นประทีป คือมีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง แม้อย่างนี้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงสอนให้ยึดถือ แต่ทำให้แจ้ง ทำให้ปรากฎ เพราะว่าแม้แต่พระนิพพานก็ไม่ต้องการให้ยึดถือ แม้แต่ธรรมะที่เป็นเครืองมือให้ถึงฝั่งโน้นแห่งพระนิพพานก็ยังไม่ให้ยึดถือ ใช้เป็นเครื่องมือเสร็จแล้วก็ไม่ต้องยึดถือ ตามความเห็นของผมเข้าใจว่า อัตตทีปา คำนี้หมายถึงว่า ให้ทำที่พึ่งด้วยตนเอง อย่าไปหวังพึ่งใครเลย อัตตาคำนี้ไม่ได้หมายหวัง ไม่ได้หมายถึงอาตมันในลัทธิอุปนิษัท ซึ่งมีค่าเท่ากับนิพพานในพระพุทธศาสนา นี่มีใจความสำคัญอยู่อย่างนี้ ในบาลีมีบทบัญญัติเด็ดขาดว่า สัพเพธรรมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา จะเอามาเป็นอัตตาไม่ได้ ถึงจะเป็นประทีปอย่างไรก็เป็นอนัตตาอยู่นั่นแหละ มีอะไรอีก
ถาม ยังมีบางคนกล่าวว่า สำหรับคำว่า อัตตทีปา ธรรมทีปา นั้น อัตตากับธรรมะมิใช่สิ่งเดียวกัน เพียงแต่อาศัยซึ่งกันและกัน อย่างนี้ก็มี นี้แปลว่าอะไรครับ
ตอบ อัตตทีปา กับธรรมทีปา มีอยู่กัน ๒ อย่าง คือ อัตตะกับธรรมะ ไม่ใช่สิ่งเดียวกันนี่ถูกแน่ เพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว แต่มันก็ถ้ามาเกี่ยวข้องกัน มันก็เป็นคำแทนกันได้ เป็นไวพจน์แก่กันและกันมากกว่าที่จะต้องอาศัยกัน หรือมิฉะนั้นอัตตาคำแรกมันไปยืมคำโบราณโน่นของศาสนาอื่นมาใช้ ซึ่งต่อมาก็ตกเป็นคำสำคัญในศาสนาอุปนิษัท ความหมายนั้นจะเข้ามาอยู่ในพุทธศาสนาไม่ได้ แล้วก็ไม่ต้องทำการเกี่ยวข้องในลักษณะที่อาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าจะมาเกี่ยวข้องกันจริงก็เป็นคำแทนชื่อเรียกแทนกันได้มากกว่าโดยสมมติ อืมมีอะไรอีก
ถาม คำว่า ทีปะ แปลว่าอย่างไร หมายถึงอะไร เกี่ยวกับคำว่าทวีปหรือไม่ครับ คำนี้เกี่ยวกับธรรมะอย่างไรครับ
ตอบ คำว่า ทีปะ ในภาษาบาลีแปลว่าเกาะกลางทะเลก็มี แปลว่าแสงสว่างหรือดวงประทีปก็มี แต่คำหลังนี้ใช้คำว่า ปทีป มากกว่า คำว่าทวีป ทวีปนั้นก็คือเป็นภาษาสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีก็ว่า ทีปะ คำว่า ทวีปะ หรือทวีปในภาษาไทยนี้แปลว่า มีน้ำ ๒ ข้าง หรืออย่างน้อย ๒ ข้าง ในภาษาบาลี ทีปะ ก็เหมือนกัน ทีแปลว่าสอง ปะแปลว่าน้ำ มีน้ำอย่างน้อย ๒ ข้าง นี่ก็คือเกาะนั่นเอง เป็นคำธรรมดาหมายถึงเกาะกลางน้ำซึ่งเป็นที่พึ่งของคนตกน้ำ เขาไปยืมเอาคำธรรมดาคำนี้มาใช้เป็นชื่อของพระนิพพานหรือธรรมะซึ่งเป็นที่พึ่ง ทีปะที่แปลว่าเกาะกลางทะเลนี้มากลายความหมายเป็นที่พึ่ง นี่แปลว่าที่พึ่งในความหมายในทางธรรมะ แต่ถ้าภาษาธรรมดาก็แปลว่าเกาะ เกาะกลางน้ำ คำว่าทวีปก็คือเกาะกลางน้ำ แม้แต่ชมพูทวีป คำนี้ก็หมายถึงเกาะ แต่มันใหญ่มาก เกี่ยวกับธรรมะก็คือว่าเอามาใช้เป็นที่พึ่ง มีความหมายเป็นที่พึ่ง นี่ควรจะสนใจว่าไอ้คำชาวบ้านทั้งหลายที่ใช้กันอยู่ตามบ้านตามเรือนน่ะ เขาเอามายืมมาใช้ภาษาธรรมะชั้นสูงได้ทั้งนั้น เช่นคำว่านิพพาน แปลว่าเย็น เย็นแห่งของร้อน คำธรรมดาของชาวบ้านเอามาเป็นคำธรรมะชั้นสูงอย่างนี้มีมาก คำว่าทีปะที่แปลว่าเกาะก็เหมือนกัน เอามาใช้เป็นธรรมะชั้นสูง ก็คือที่พึ่ง คำนี้เมื่อเป็นธรรมะ หมายความอย่างนี้ เมื่อเป็นภาษาชาวบ้านก็คือเกาะธรรมดา ๆ นี่เอง มีอะไรอีก
ถาม อาตมัน หรือปรมาตมัน ฝ่ายศาสนาเวทันตระของพราหมณ์ก็ดี หรือพระเจ้าในศาสนาที่มีพระเจ้าก็ดีนั้นเป็นอันเดียวกับอัตตาในบทที่ว่า อัตตทีปา อัตต(ไม่แน่ใจนาทีที่ 1:32) ในพุทธศาสนาหรือไม่ครับ
ตอบ ถ้าเอาตัวหนังสือเป็นหลัก เอาสำนวนภาษาชาวบ้าน มันก็ดูจะเป็นอันเดียวกันได้ คืออาตมัน ก็อัตตานั่นน่ะ แต่ว่าในพุทธศาสนาไม่มีอัตตา ไม่มีสิ่งที่เป็นอัตตา จึงถือว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ เพราะว่าอัตตะ อัตตาในอัตตทีปานั้นไม่ใช่อัตตาในเวตันตระหรือพระเจ้าในศาสนาที่มีพระเจ้า ความคิดจึงเดินไปอีกทางหนึ่งว่า คำว่าอัตตาในคำว่าอัตตทีปา มีอัตตาเป็นที่พึ่งนี้ มีความหมายว่าทำเอง ทำเอาเอง อย่าไปหวังให้ผู้อื่นทำเลย อัตตาในที่นี้แปลว่าเองหรือทำเอาเอง หรือได้เองดีกว่า แล้วไม่ควรจะไปเกี่ยวกับอาตมันในฝ่ายทันตระหรือไปเกี่ยวกับพระเจ้าในศาสนาอื่นให้มันยุ่ง ไปเปล่า ๆ เอ้า..มีอะไรอีก
ถาม คนบางคนพูดว่า รู้จักอัตตาชนิดสมมติบัญญัติอย่างเดียว ไม่รู้ถึงอัตตาที่แท้จริง นี่ก็พระพุทธจ้าสั่งให้ค้นหานี่ และพวกเขารู้พุทธศาสนาเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นนี้ จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ ในพุทธศาสนาไม่มีอัตตาสำหรับให้ค้นหา แม้ที่ตรัสกับปัญจวัคคีย์นั้นเป็นการใช้คำพูดที่ยืมมาให้เกิดความสนใจ ยืมมาใช้ให้เกิดความสนใจ ให้สะดุดใจ ในพุทธศาสนาไม่มีอัตตาที่สำหรับให้ยึดถือว่าเป็นของจริงหรือให้ค้นหา นี่เผอิญความหมายมันกำกวม มันทำให้อธิบายอย่างนี้ได้ พวกนี้จะเอาพระนิพพานเป็นอัตตา จะแสวงหาอัตตาคือพระนิพพานนั้น ถ้าพูดเรื่องสำนวนก็ได้ แต่ถ้าพูดจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ ในพุทธศาสนาไม่มีอัตตาสำหรับให้แสวงหา การที่รู้ว่าในพุทธศาสนาไม่มีอัตตาสำหรับให้แสวงหานั่นแหละ คือการรู้พุทธศาสนาสมบูรณ์ไม่ใช่ครึ่งเดียว มีอะไรต่อไปอีก
ถาม มีผู้เข้าใจว่าธรรมะที่พระพุทธองค์แสดงแก่ปัญจวัคคีย์ ๓๐ นั้น เป็นการแสดงให้ได้พบอัตตาและทำให้บรรลุโสดาบัน อย่างนี้เป็นการเข้าใจที่ถูกไหมครับ
ตอบ เป็นพระโสดาบันด้วยการมีอัตตาสำหรับยึดถือนั้นไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ ถ้าปัญจวัคคีย์แสวงหาอัตตาด้วยการยึดถือแล้วจะเป็นพระโสดาบันไม่ได้ คำพูดคำนี้เป็นคำเก่าแก่ก่อนพุทธกาล ตน ๆ ๆ นี้ติดมาจนถึงทุกวันนี้ มันรู้สึกได้เอง เกิดขึ้นเองในจิตใจว่าตน ๆ ๆ การแสวงหาตนน่ะคือแสวงหาสิ่งที่ยึดถือกันมาแต่กาลก่อนว่าสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสแก่ปัญจวัคคีย์ด้วยคำ ๆ นี้ เพื่อให้เกิดความสนใจเท่านั้น อย่าไปคิดว่าเป็นอัตตาซึ่งแทนพระนิพพาน เป็นอัตตาที่มีความหมายจูงใจสูงสุดมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่ก่อนพุทธศาสนาเกิด เอามาใช้อย่างนี้ก็ไม่เสียหายอะไร ต่อไป
ถาม ขันธ์ ๕ กับอุปาทานว่าขันธ์ ๕ ต่างกันอย่างไรครับ อันไหนเป็นอัตตาจริง อันไหนเป็นอัตตาสมมติ นี้เป็นอย่างไรครับ
ตอบ ขันธ์ ๕ ล้วน ๆ ยังไม่มีอุปาทานกับขันธ์ ๕ ที่มีอุปาทานเข้าไปยึดถือ มันก็ต่างกันแหละ อันหนึ่งมีอุปาทานยึดถือ อันหนึ่งไม่มีอุปาทานยึดถือ ทีนี้อัตตา ขันธ์ ๕ ล้วน ๆ ไม่มีอุปาทานยึดถือ นี้มันก็ไม่เป็นอัตตา ถ้าไม่ยึดถือมันก็ไม่เป็นอัตตา เป็นว่าบางคนมันไปยึดถือขันธ์ ๕ ล้วน ๆ นี้มันโง่ อัตตาที่เกิดมาจากขันธ์ ๕ ล้วน ๆ นี้ อยากจะเรียกว่าอัตตาผีหลอก คือมันหลอกให้เข้าใจไปว่าอัตตา ส่วนขันธ์ ๕ ที่เข้าไปยึดถือเอาเป็นตัวตนเข้าแล้วนี่มันเป็นอัตตาเสือกัด มันจะกัดคนนั้นน่ะ ขันธ์ ๕ ที่ไปยึดถือเอาแล้วด้วยอุปาทาน มันเป็นอัตตาเสือกัด อันตรายอย่างยิ่ง อย่าไปเอามัน ส่วนขันธ์ ๕ ล้วน ๆ ที่ไปเข้าใจว่าอัตตาด้วยความโง่นิดหน่อยนี่มันเป็นอัตตาผีหลอก มันหลอกให้โง่ หลอกให้หลงเท่านั้นเอง นี่ต่างกันอย่างนี้โดยอุปมา ทั้งสองอย่างนี้ไม่เป็นอัตตา ไม่มีอันไหนเป็นอัตตาจริง ไม่มีอันไหนเป็นอัตตาสมมติ มันเป็นอัตตาของอวิชชา ยึดถือเข้ามันก็ขบกัดเอา ยังไม่ยึดถือมันก็เหมือนกับถูกผีหลอกให้เสียเวลา
ถาม มีอาจารย์บางคนสอนว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าเบญจขันธ์เป็นอนัตตา ดังนั้นสิ่งที่อยู่นอกไปจากเบญจขันธ์ก็ถือว่าเป็นอัตตาได้ ดังนี้จะว่าอย่างไรหรือครับ
ตอบ พวกนี้เขาเรียกกันว่าพวกขันธ์ ๖ คือมีอะไร มีอะไรที่อยู่นอกไปจากขันธ์ ๕ ก็เลยเรียกว่าขันธ์ ๖ แล้วเขาเอาไอ้อันที่ ๖ นั่นแหละว่าเป็นอัตตา นี่เขายึดหลักพระพุทธเจ้าว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอนัตตา แต่ถ้ามีอะไรนอกจากไปห้านี้เขาว่าเป็นอัตตา นี่เขาไม่เข้าใจหลักที่ว่าแม้มันจะมีอีกอันหนึ่งมาเป็นอันที่หก มันก็ยังเป็นสิ่งที่เรียกว่าธรรม อยู่นั่นเอง จะเป็นสังขตธรรมหรืออสังขตธรรมก็ตามใจ แล้วธรรมทั้งปวงต้องเป็นอนัตตา ธรรมทั้งปวงไม่มีความหมายแห่งอัตตาตามหลักพระพุทธศาสนา นั้นถ้ามีอะไรนอกไปจากขันธ์ ๕ จะเอามาเป็นอัตตาก็ไม่ได้ เพราะมันยังเป็นธรรม ที่เป็นอนัตตา ดังที่มีหลักว่าสังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม มีผู้อ้างพระพุทธภาษิตที่ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ดังนี้ขึ้นมาเป็นหลักแล้วก็บัญญัติหลักโดย สติปัตทะมัย(ไม่แน่ใจนาทีที่ 1:39:50)กลับเป็นตรงกันข้ามว่า สิ่งใดเที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข สิ่งใดเป็นสุข สิ่งนั้นเป็นอัตตา ดังนี้ขึ้นมา ทำให้เกิดมีอัตตาที่เที่ยงแล้วเป็นสุขขึ้นมาในพุทธศาสนา นี้จะเข้าใจว่าอย่างไรครับ
ตอบ ตามหลักพุทธศาสนาคือธรรมทั้งปวงนี้ แม้ว่าเที่ยงหรือแม้ว่าสุขก็ยังมิใช่อัตตา แม้ว่าเที่ยงว่าสุขมันเป็นสังขตธรรม เที่ยงหรือสุขในความหมายอย่างนี้เป็นสังขตธรรม มีเหตุมีปัจจัย มันเป็นวิสังขารไปไม่ได้เพราะว่ามันเป็นเวทนา คำว่าสุขนี่เป็นเวทนา เป็นสังขตธรรมที่เป็นวิสังขารไปไม่ได้ แม้ว่าความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นจะมาจากสิ่งที่เป็นวิสังขารก็ตาม สุขก็ยังเป็นเวทนา มิใช่เป็นของเที่ยง เป็นอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรไปไม่ได้ การกลับเอาโดยปฏิปัตนัย(ไม่แน่ใจนาทีที่ 1:41:58)อย่างนั้น มันได้แต่ปากพูดหรือตัวหนังสือ ส่วนของจริงจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ จะเที่ยงหรือจะสุขก็ยังเป็นอัตตาไม่ได้ เอ้า,มีอะไรต่อไป
ถาม มีผู้ถือเป็นหลักว่า ถ้าอัตตาที่แท้จริงไม่มีแล้ว นิพพานซึ่งควรจะเป็นอัตตาที่แท้จริงก็พลอยไม่มีไปด้วย พุทธศาสนาก็กลายเป็นเรื่องไร้สาระ นี้จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ นิพพานมีอยู่แล้ว จะว่าไร้สาระได้อย่างไร ในพุทธศาสนามีนิพพานอยู่แล้ว จะว่าไร้สาระยังไง แต่ที่จะให้นิพพานเป็นอัตตานั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะอัตตานั้นมีความหมายสำหรับยึดถือ นิพพานยึดถือไม่ได้ ก็คือยึดถือก็ไม่เป็นนิพพาน ถ้ายังยึดถือนิพพานโดยความเป็นนิพพานเท่านั้นก็เป็นนิพพานไปไม่ได้ ยึดถือนิพพานเป็นตนเป็นของตน เป็นของเราแล้วไม่เป็นนิพพานเลย แต่เมื่อปฏิบัติถูกต้อง นิพพานก็ปรากฎเป็นสาระในพุทธศาสนานี้ พุทธศาสนาก็ยังมีสิ่งซึ่งยังเป็นสาระคือนิพพานนั้น นิพพานก็มีอยู่ พุทธศาสนาก็ไม่ไร้สาระ เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม มีคนอีกพวกหนึ่งแย้งว่า เมื่ออัตตาไม่มีแล้วจะมีอะไรไปเวียนว่ายตายเกิด เป็นนรก สวรรค์ ผีสาง เทวดา โอปาปาติกะ เหล่านี้ได้อย่างไรเล่าครับ แล้วในชาติปัจจุบันนี้ มีอัตตาอยู่ในคนแต่ละคนสำหรับทำหน้าที่เห็นรูป ฟังเสียง คิดนึกอะไรแล้ว เมื่อร่างกายแตกดับลง จะได้จุติไปปฏิสนธิในภพใหม่เป็นต่อไป ๆ ใช่ไหมครับ
ตอบ ปัญหานี้เขาแยกเป็นสองชั้น ว่าอัตตา หนึ่งคือเวียนว่ายตายเกิด ไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ คืออัตตาหนึ่ง อัตตาอีกความหมายหนึ่งคือมาทำหน้าที่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย สำหรับจะรู้สึกต่ออารมณ์นั้น ๆ นี้เป็นอัตตาต่อหน้าที่ประจำทวาร มันจะมีสิ่งที่เวียนว่ายตายเกิด ก็เป็นเพียงกระแสแห่งสังขาร ไม่ควรเรียกว่าอัตตา นี่พูดว่าแม้จะมีสิ่งที่เวียนว่ายไปเป็นนรก เป็นเทวดา ผีสาง พรงพรหมอะไรก็ตาม แม้มันจะมีได้อย่างนั้น สิ่งนั้นก็มิใช่อัตตา เป็นเพียงสังขารธรรมที่ปรุงแต่งกันไป เป็นรูป เป็นนามตามแบบของสังขาร ไม่ใช่อัตตา เรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุชื่อสาติ ดูเหมือนอยู่ในสูตรที่ชื่อว่าตัณหา มหาตัณหาสังฆนิสูตร นี่ผมก็จำชื่อไม่แม่น แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงขนาบภิกษุนี้ให้เลิกความคิดเช่นนี้ว่ามีอัตตาเวียนว่ายตายเกิด หรือกระทั่งว่าอัตตาสำหรับคิดนึกพูดจาที่นี่ก็ไม่ใช่อัตตา มันเป็นนามรูปที่ทำหน้าที่อันนี้ได้ไปตามแบบของสังขาร ตามกฎของสังขารตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีตัวอัตตามาประจำที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นว่าไม่มีอัตตาทั้งสองชนิด มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยปรุงแต่งตามกฎของสังขาร มันทำอาการอย่างนั้นได้ มันทำหน้าที่อย่างนั้นได้ ไม่ต้องเป็นอัตตา เป็นเรื่องของธรรมชาติล้วน ๆ มีอะไรอีก
ถาม พุทธบริษัทบางนิกายถือว่ามีอัตตาที่แท้จริงในพุทธศาสนา และถูกต่อต้านโดยพุทธบริษัทบางนิกายที่ไม่เห็นด้วย ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ เป็นโมฆบุรุษ ไม่รู้จักหัวใจของธรรมะอย่างนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ ท่านอาจารย์อยู่ในพวกไหนครับ
ตอบ พวกพุทธศาสนาแท้จริงแล้วก็ไม่ต้องมีอัตตา สำหรับพุทธศาสนานิกายไหนว่ามีอัตตาเป็นพุทธศาสนาเก๊ เป็นพุทธศาสนานิกายเก๊ คือจะไปกล่าวด่ากันอย่างนั้น มันก็ยิ่งไม่ใช่พุทธศาสนา ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มันก็คือมีพวกบางพวกแตกแขนงแยกออกไป มีความคิดเห็นว่ามีอัตตา ผมอยู่ในพวกที่ไม่มีอัตตา พุทธบริษัทที่ไม่ใช่พุทธบริษัทเป็นคนนอกปลอมเข้ามานี้ เอาลัทธิอัตตามาสอนในพุทธศาสนา เกิดเรื่องยุ่งยากลำบากที่สุดขึ้นมาครั้งหนึ่ง คือในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช จนพระเจ้าอโศกมหาราชต้องจัดการกับพระเหล่านี้ นักบวชเหล่านี้ จับสึกจับฆ่าก็มี เพราะสอนอย่างมีอัตตา มันมีอะไรอีก
ถาม พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุพเพกาหัง ภิกเวเอตรหุจะ ทุกขังเจวะ ปัญญาเตมิ ทุขสจะนิโรธะ ซึ่งแปลว่า แต่ก่อน ๆ มาก็ดี ในกาลบัดนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติแต่เรื่องทุกข์และความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น ดังนี้ นี้หมายความว่าพระพุทธองค์ตรัสแต่เพียง ๒ เรื่อง คือเรื่องเกิดขึ้นแห่งทุกข์และการดับลงแห่งทุกข์ โดยนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดและฝ่ายดับซึ่งเป็นเรื่องอริยสัจอันสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้เกิดมีบุคคลที่อยากจะกล่าวเรื่องที่ตนบัญญัติเอาเองมาอ้างว่ายังมีเรื่องที่สามซึ่งไม่รวมอยู่ในสองเรื่องนั้น เช่นว่า นิพพานเป็นอัตตาที่แท้จริงจนกลายเป็นลัทธิอุปนิษัทของฮินดูไป อย่างนี้เป็นการประทุษร้ายต่อพุทธศาสนาหรือไม่ครับ
ตอบ ยืดยาว คนฟังคงจะงง คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันไม่ได้พูดเรื่องอื่น นอกจากเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ๒ เรื่องเท่านั้น โดยรายละเอียดก็เช่นเรื่องปฏิจจสมุปบาททั้งสองฝ่าย ทีนี้มีพวกอื่นเขามาอ้างว่าเรื่องนิพพานเป็นอัตตาที่แท้จริง นั้นมันไม่รวมอยู่ในเรื่องทุกข์และเรื่องความดับทุกข์ มันเป็นเรื่องที่สามออกมา กลายเป็นพระพุทธเจ้าพูดผิด พูดให้มี ๒ เรื่อง คนนี้เขาจะให้มี ๓ เรื่อง นี่อัตตาอย่างนี้ ก็เท่ากับว่าทำลายพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาอุปนิษัทของพวกฮินดูไป เป็นการประทุษร้ายต่อพุทธศาสนา ประทุษร้ายพระพุทธภาษิตนั่นเอง เรื่องนิพพานคือเรื่องดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั่นเอง ไม่ต้องมีเรื่องที่สาม เรื่องที่สองคือเรื่องดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ซึ่งคู่กับความทุกข์ ไม่ต้องมีเรื่องที่สาม อย่าเอาเรื่องดับทุกข์ไปเป็นอัตตา กลายเป็นอุปนิษัท เป็นลัทธิอุปนิษัทนอกพระพุทธศาสนา เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม พวกที่ถือว่ามีอัตตาที่แท้จริง กับพวกที่ถือว่าไม่มีอัตตาที่แท้จริงโดยประการทั้งปวง พวกไหนเป็นพวกที่อาภัพกันแน่ครับ
ตอบ คำว่าอาภัพนี่หมายความว่าไม่ควรจะบรรลุนิพพาน ทำความเข้าใจเสียก่อนว่าอาภัพ อาภัพนี่หมายความว่าไม่สมควรที่จะบรรลุนิพพาน นี่ปัญหาเกิดขึ้นว่าไอ้พวกที่มีอัตตากับพวกที่ว่าไม่มีอัตตานี่ พวกไหนจะเป็นพวกอาภัพ ไม่มีอัตตานั่นแหละจะไปนิพพาน มีอัตตาก็อยู่ที่นี่ ติดอยู่ที่นี่ เกิดหยุดอยู่ตรงนี้ ผู้ที่ไม่มีอัตตานั้นน่ะจะไปนิพพาน ไม่อาภัพต่อการบรรลุนิพพาน พวกที่มีอัตตาก็อยู่ที่นี่เถิด ควรจะอยู่ที่นี่ จะติดอยู่ที่นี่ นี่ตัดสินเอาเองว่าจะเรียกว่าอาภัพหรือไม่อาภัพ เพราะเขายึดมั่นในอัตตาแล้วก็ติดอยู่ในอัตตา แล้วหลุดออกไปหานิพพานไม่ได้ เขากลับหาว่าโชคดีเสียอีก นั่นคือคนอาภัพต่อพระนิพพาน เอ้า,มีอะไรอีก
ถาม อายตนะคือนิพพานอันเป็นอสังขต ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เพราะเป็น มีบุคคลบางพวกจัดเป็นอัตตาทั้งวิมุตนั้น รวมอยู่ในส่วนไหนของเรื่องอิทัปปัจจยตาครับ หรือว่าไม่เกี่ยวกันครับ
ตอบ อายตนะคือนิพพาน คำนี้แปลกหูสำหรับผู้ที่มีการศึกษาน้อย พอได้ยินว่า นิพพานเป็นอายาตนะ ก็จะเอาไปเป็นอายตนะชุดเดียวกับอายาตนะ ๖ ไม่ใช่ชุดเดียวกัน คำว่าอายาตนะนี้หมายความแต่เพียงว่าสิ่งที่จะรู้สึกได้ สิ่งที่เป็นอสังขตเช่นนิพพานก็เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ จึงเป็นอายตนะชนิดอสังขต ส่วนรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นี้เป็นอายาตนะฝ่ายสังขต แต่ชื่อมันเผอิญไปเหมือนกัน เพราะคำว่าอายาตนะนี้มีความหมายกลาง ๆ คือมีความหมายว่าสัมผัสได้ รู้สึกได้ เข้าถึงได้ ฉะนั้นเราก็รู้ว่าคำว่าอายาตนะนี้มีความหมายพิเศษอย่างนี้ อย่าไปเอาอายตนะแม้จะเป็นอสังขตนั้นมาเป็นอัตตาและยกเป็นอัตตาชั้นวิมุตเลย อายาตนะคือนิพพานนั้น หากว่ามันอยู่ในส่วนการดับทุกข์สิ้นเชิงของปฏิจจสมุปบาท รวมอยู่ในเรื่องดับทุกข์สิ้นเชิงตามนัยแห่งอิทัปปจยตา เมื่อไม่มีสิ่งนี้ สิ่งนี้ก็ไม่มี คือว่าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สิ่งนี้ก็ไม่มีคือไม่มีทุกข์ สภาพไม่มีทุกข์นั้นสัมผัสได้ รู้สึกได้จึงเรียกว่าอายาตนะ ความดับความถึงที่สุดแห่งทุกข์นี่ รวมอยู่ในเรื่องอิทัปปจยตา ว่าเมื่อเหตุปัจจัยไม่มี ผลมันก็ไม่มี คือความทุกข์มันไม่มี เพราะมันไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย อืมต่อไป
ถาม เรื่องอิทัปปจยตาเป็นเพียงครึ่งเดียวของสัจธรรมทั้งหมดของพุทธศาสนา เหมือนอย่างที่บางคนเข้าใจกันนั้นหรือครับ
ตอบ อันนี้มันไม่สมบูรณ์นี่คำถามนี้ คือมันต้องเนื่องกับปัญหาอันก่อน คือคำว่าอิทัปปัจยตาในพุทธศาสนาน่ะมีแต่เรื่องปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์และดับทุกข์ ทีนี้มันก็เป็นเพียงเรื่องครึ่งเดียวของพุทธศาสนา เพราะไม่พูดถึงนิพพาน นี่เขาแยกนิพพานออกไปเสียจากอิทัปปัจจยตา แล้วมีปัญหาเกิดเรื่องที่สาม โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น อิทัปปัจยตาเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา คือเป็นทั้งเรื่องเกิดทุกข์และดับทุกข์ หรือที่สุดแห่งความทุกข์ คำนี้สำคัญมาก จำไว้ให้แม่น ๆ ว่าที่สุดแห่งความทุกข์" นั้นคือนิพพาน รวมอยู่ใน ๒ เรื่องว่าทุกข์กับดับทุกข์ อย่ามีเรื่องที่สามให้เป็นตัวตนอะไรออกมาอีกเลย จะกลายเป็นศาสนาอื่นไปเสีย มีอะไรอีก
ถาม ถ้าหากว่าข้อความในพระไตรปิฎก มีพูดไว้ ๒ อย่างในลักษณะที่ตรงกันข้าม เรามีหลักที่จะถือเอาฝ่ายไหนเป็นฝ่ายถูกต้องครับ ตัวอย่างเช่น พูดไว้อย่างมีหรือเป็นตัวตนก็มี ไม่มีหรือไม่เป็นตัวตนก็มี เป็นต้นครับ
ตอบ ถ้าข้อความในพระไตรปิฎกเกิดมีเป็นสองเรื่องสองอย่างตรงกันข้าม เช่นในที่แห่งหนึ่งบอกว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน คือมีตน ในที่หนึ่งพูดว่า อัตตาหิ อัตตาโนนัตถิ ตนของตนไม่มี นี่มันขัดกันอยู่อย่างนี้ ก็รู้จักแยกเป็น ๒ ชนิดสิ คืออันหนึ่งพูดอย่างโลกียโวหารของชาวบ้าน เป็นโวหารสมมติ อันหนึ่งเป็นโลกุตตระโวหาร หรือเป็นสัมปรายิกโวหาร พูดว่าอัตตาไม่มี นี่เป็นปรมัตถโวหาร รู้ไว้เสียว่าพระพุทธเจ้าท่านใช้ทั้ง ๒ ภาษา ทั้งภาษาโลกียะ และภาษาโลกุตตระ อย่าเอามาตีกันสิ พยายามศึกษาให้เห็นสิว่าท่านพูดโวหารไหน ถ้าพูดว่า อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน อย่างนี้ท่านพูดโวหารชาวบ้าน โลกียโวหารหรือโวหารสมมติ แต่ถ้าท่านพูดว่า อัตตาหิ อัตตาโน นัตถิ ตนของตนไม่มี นี้ท่านพูดภาษาจริง ภาษาความจริง ภาษาปรมัตถ์หรือโลกุตตรโวหาร มันไม่ขัดกัน ถ้าทีนี้ยังมีกรณีอื่น ไม่ใช่เป็นเพียงโวหารพูดที่ต่างกัน มันเป็นข้อความที่ขัดกัน เกิดข้อความมา ๒ ประเภทขัดกัน อย่างนี้ต้องตัดสินเอาเถิดว่า ไอ้โวหารไหนมันดับทุกข์ได้ เรื่องไหนมันดับทุกข์ได้ ความหมายไหนดับทุกข์ได้นั้นน่ะเป็นของจริงแท้ของพระพุทธเจ้า ถ้ายังไง ๆ มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ก็ปัดทิ้งไปเสียเถิด ไม่ใช่คำสัตย์ของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นไม่มีปัญหาอะไรที่ถ้าหากว่านะ สมมติว่าในพระไตรปิฎกมีพูดไว้ ๒ อย่างในเรื่องเดียวกัน เราก็ถือเอาอย่างหนึ่งได้ อย่างที่มันดับทุกข์ได้นั่นเอง
อาตมาเห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ๒ ชั่วโมงครึ่งแล้ว ก็จะต้องยุติกันที สำหรับการบรรยายล้ออายุในวันนี้ มันเหนื่อยแล้ว มันก็ต้องหยุดอยู่เอง แต่เรื่องที่จะพูดยังไม่จบ ถ้าอย่างนั้นพรุ่งนี้ ถ้าพรุ่งนี้ใครยังอยากฟังไว้พูดกันที่หินโค้งอีกก็ได้ คงจะจบ แต่สำหรับวันนี้ สู้ไม่ไหวแล้ว ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้