แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นภิกษุราชภัฏผู้จะลาสิกขาทั้งหลาย ในการบรรยาย “ ธรรมะเล่มน้อย ” สำหรับผู้ที่จะลาสิกขาเป็นครั้งที่ ๒ ในวันนี้ จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชน ขอให้สังเกตดูว่า ปัญหามันเกิดมาจากการที่เราไม่รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ในครั้งที่แล้วมาได้บอกให้ทราบถึงการที่เราไม่รู้ ปัญหาที่มีอยู่เฉพาะหน้าเราเราก็ยังไม่รู้ ปัญหาที่ว่าเกิดมาทำไมอย่างนี้ เราก็ไม่รู้ มาถึงตอนนี้ที่เราไม่รู้ก็คือว่า ธรรมชาติแห่งความเป็นบปุถุชนของเรานั้นมันเป็นอย่างไร ถ้าเรารู้จักธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชนของเรา เราก็จะแก้ปัญหาได้มากทีเดียว เดี๋ยวนี้เราเป็นปุถุชน มีธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชนอย่างไร เราก็ไม่รู้ จึงจำเป็นที่จะต้องพูดกันให้รู้ ผมถือว่าเรื่องที่จะต้องรู้ถัดมาเป็นเรื่องที่สองนี่ก็คือเรื่อง ธรรมชาติของความเป็นปุถุชน
ปุถุชนก็คือคนธรรมดา ที่เป็นตามธรรมดา เราก็ยังไม่รู้ว่ามันมีอย่างไร มันมีปัญหาอย่างไร วันนี้เราไม่ต้องพูดเรื่องอะไรอื่น นอกจากเรื่องความเป็นปุถุชนของปุถุชน ที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ความไม่รู้นั้นเขาเรียกว่า อันธพาล ตามภาษาบาลีนะ แต่ถ้าภาษากฎหมายในเมืองไทย อันธพาลคืออาชญากร ทำความผิดกลางถนน แต่ในภาษาธรรมะนั้น คำว่าอันธพาล หมายความว่า คนไม่รู้ อันธ มันแปลว่า ตาบอด คนตาบอดเขาเรียกว่า อันธ พาละ เขาแปลว่าอ่อน ยังอ่อนอยู่ ยังไม่แก่ อันธพาละ ก็หมายความว่าคนที่มันยังอ่อน นั่นแหละไม่รู้อะไรก็เรียกว่าอันธพาล ไม่สู้จะเจ็บปวดนัก อันธพาลในภาษาธรรมะนี่ ไม่เหมือนอันธพาลกลางถนนที่ตำรวจคอยจับอยู่ แต่เราก็จำเป็นจะต้องใช้คำคำนี้ ว่าเรากำลังเป็นอันธพาล แล้วก็ไม่รู้สึกตัว เราเป็นคนอ่อนต่อโลก อ่อนต่อสัจจะ อ่อนต่อความจริงของธรรมะ แล้วเราก็ยังมืดเหมือนกับตาบอด ไม่รู้ความที่เป็นเช่นนั้นของเรา นี่เรียกว่าเราเป็นอันธพาลตามแบบของธรรมะ เรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า ปุถุชน ปุถุชน แปลว่า คนหนา หนาในที่นี้หมายถึง สิ่งห่อหุ้มปัญญามันหนานัก สิ่งห่อหุ้มจิตใจมันหนานัก จิตใจมันก็เลยไม่รู้ ก็มีลักษณะเป็นอันธะ คือคนตาบอด คนไม่รู้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ควรจะรู้ มันก็เกิดเรื่องใหญ่โต นี่เราจึงรีบพยายาม หรือพยายามรีบทำเพื่อจะให้รู้ ขอให้สนใจ ทำให้สำเร็จประโยชน์
มีผลร้ายอยู่ตรงที่ว่า ลงทุนเพื่อความทุกข์ นี่คุณจะต้องดู ไอ้ธรรมชาติของปุถุชน เป็นคนหนา คนบอด เป็นคนไม่รู้อะไร มันก็กลายเป็นลงทุนเพื่อความทุกข์ อะไรๆ ที่เรายอมลงทุนนี่ ลงทุนด้วยชีวิตเลือดเนื้อ ร่างกาย เงินทอง ข้าวของ เวลา การศึกษา มันลงทุนเพื่อความทุกข์ไปเสียหมด มันไม่รู้ว่าอันนั้นเป็นความทุกข์ พูดให้ชัดลงไปก็ว่า มันลงทุนเพื่อสนองความต้องการของกิเลส เราทำอะไรๆ ทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการของกิเลส แล้วมันก็ต้องได้เป็นทุกข์ ฉะนั้นปุถุชนจึงกลายเป็นผู้ที่ลงทุนทุกอย่างก็เพื่อได้ความทุกข์เป็นผล นี่คือความโง่ นี่คือความเป็นอันธพาลในทางวิญญาณของเรา ไม่ได้ไปฉ้อฉลวิ่งราวฆ่าแกงใครอะไรที่ไหน แต่มีการกระทำภายในของตัวอยู่อย่างนี้ เขาเรียกว่าอันธพาลทางฝ่ายวิญญาณ ทางฝ่ายจิต ทางฝ่ายธรรมะ เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วแก้ไขกันเสีย อย่าให้ชีวิตนี้เป็นการลงทุนเพื่อความทุกข์อีกต่อไป นี่คือปัญหาที่เราจะพูดกัน
ทำไมมันจึงเป็นได้ถึงอย่างนี้ อะไรเป็นต้นเหตุ ควรจะโทษใคร มันก็โทษใครไม่ได้หรอกเพราะมันเป็นมาตามธรรมชาติ เป็นปุถุชนโดยธรรมชาติ เป็นอันธพาลโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาทำให้ มันก็เป็นของมันอย่างนี้ นี่คือข้อที่จะต้องศึกษากันโดยละเอียดหน่อย เติบโตขึ้นมาตามธรรมชาติด้วยความเป็นอย่างนี้ นี่ขอให้ดูมาตั้งแต่อยู่ในท้องของมารดา มันยังคิดนึกอะไรไม่ได้และสัมผัสก็ไม่ค่อยจะมี ตาหูจมูกลิ้นกายก็ไม่ค่อยได้ทำหน้าที่สัมผัส ในท้องของแม่ก็นอนอยู่เหมือนสิ่งที่มันไม่มีความรู้สึกอะไรนัก มันรู้สึกแต่เพียงกายสัมผัสบ้าง ความคิดนึกมันก็ไม่มี เราก็คลอดออกมา ก็ยังคล้ายๆ อย่างนั้น ในวันแรกคลอดออกมามันก็เกือบจะไม่รู้เรื่องอะไรที่เป็นความคิดนึก ฉะนั้นกิเลสมันยังไม่มี กิเลสมันยังไม่มี รู้ให้ดีเถอะ ว่าเกิดมาจากท้องแม่ กิเลสยังไม่มี ความโง่ยังไม่มี ความเข้าใจผิด ถูกนี่ยังไม่มี
ทีนี้ตามธรรมชาติเราก็เติบโตขึ้นทุกวันๆ ไม่กี่วันไม่กี่เดือน ร่างกายนี้มันก็สามารถทำหน้าที่ คือตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันก็ทำหน้าที่รับสัมผัสทางตาสวยไม่สวย ทางหู ไพเราะไม่ไพเราะ ทางจมูก หอมเหม็น ทางลิ้น อร่อยไม่อร่อย ทางผิวหนัง นิ่มนวลหรือกระด้าง มันเริ่มรู้ รู้ รู้สัมผัส ทีนี้มันก็เป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติสัมผัส ก็ปรุงความคิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่อมันเป็นความอร่อยทางตาหูจมูกลิ้นกายนี่ มันก็รู้สึกอย่างหนึ่ง คือชอบหรือรัก ต้องการหรืออยากได้ คือหมายมั่น ทีนี้ถ้ามันไม่ถูกตามที่ต้องการ คือมันเป็นเจ็บปวด เป็นทุกข์ มันก็เกิดความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นความรู้สึกไม่ชอบ มีความคิดเกิดขึ้นเป็นฝ่ายไม่ชอบ คือเป็นฝ่ายโทสะหรือโกรธะ แล้วก็เรื่อยๆ มา มันก็เพิ่มมากขึ้น เนี่ยเราก็หัดเป็นคนที่รู้จักชอบ รัก ต้องการ ยึดถือ นี่ฝ่ายหนึ่ง ทีนี้อีกฝ่ายหนึ่งก็ ไม่รัก หรือเกลียดหรือโกรธ ไม่ชอบ ขุ่นขึ้นมา แล้วก็ยึดถือว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่ความยึดถือว่า นี่น่ารัก นี่ไม่น่ารัก มันก็เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาสอน เด็กๆ เมื่อได้รับความเอร็ดอร่อยมันก็ชอบ มันก็ยึดถือว่าอร่อย ก็อยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด ที่มันไม่อร่อย มันก็เกลียด มันก็โกรธ โดยไม่ต้องมีใครมาสอน นี่เรียกว่าความเป็นปุถุชน อันธพาล หลับหูหลับตาตามธรรมชาตินี่มันได้เกิดขึ้นแล้ว ตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาสอน กว่าจะเติบโตเป็นเด็กโตนี่ มันชินแล้ว มันชินที่จะรัก มันน่ารัก มันชินที่จะโกรธ มันน่าโกรธ น่าเกลียด หรือกลัว เมื่อน่ากลัว โตขึ้นมาด้วยความปรุงแต่งตามธรรมชาติอย่างนี้ นี่เรียกว่าโดยไม่รู้สึกตัว ธรรมชาติมันปรุงแต่งเรามาอย่างนี้ จนเป็นอย่างนี้ อย่างเหนียวแน่น เรียกว่าถ้าน่ารักก็รัก ถ้าน่าโกรธก็โกรธ มีเท่านี้ ถ้ามันยังกลางๆ อยู่ ก็ยังสงสัย ยังระแวงอยู่ บางทีมันทำให้เกิดความรัก มันก็มีความรักมากขึ้นๆ ด้วยความไม่รู้ คือทารกนั้นยังไม่มีความรู้อะไร ว่าอะไรถูกอะไรผิด เขาไม่รู้ ทีนี้โดยธรรมชาติอะไรมาให้น่ารัก เขาก็รัก รัก รัก อะไรน่าโกรธ เขาก็โกรธ โกรธ โกรธ ที่ยังไม่รัก ไม่น่ารักหรือไม่น่าเกลียด มันก็ยังเก็บไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่สงสัย ค้นหาต่อไป ก็คือไม่รู้ คือยังคงไม่รู้ต่อไป ฉะนั้นเราจึงมีกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นขึ้นมาได้เองในจิตใจตามธรรมชาติ คุณช่วยสนใจคำว่าตามธรรมชาติ
เรากำลังพูดกันถึงเรื่องว่า ความเป็นปุถุชนตามธรรมชาติ เราก็มีกิเลสเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เป็นความโลภ เป็นความโกรธ เป็นความหลง ทีนี้คิดดูต่อไปว่าเมื่อทำซ้ำๆ เข้าแล้วมันจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นความเคยชิน นี่มีความเคยชินแห่งกิเลสเกิดขึ้น ส่วนนี้เราเรียกชื่อกันเสียใหม่ว่า อนุสัย ที่มันเป็นความโกรธ ความโลภ ความโกรธ ความหลงตามธรรมดา เราเรียกว่ากิเลส เป็นตัวกิเลสเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่มันเป็นความเคยชินแห่งกิเลสเราเรียกว่า อนุสัย ก็เกิดขึ้นสะสมไว้โดยธรรมชาติอีกเหมือนกัน เราไม่มีปัญญาจะรู้ มันก็ไม่รู้ และก็ไม่รู้ตลอดมา เคยชินที่จะได้จะเอา คือความโลภ ความโลภที่เคยชินเรียกว่า ราคานุสัย ความเคยชินที่จะรักหรือจะถือเอา ส่วนโทสะ ความโกรธนั้นเป็นความเคยชินแล้วก็เรียกว่า ปฏิฆานุสัย คือความเคยชินที่จะเกิดความกระทบกระทั่งแห่งจิต ถ้ามันถูกเข้ากับที่ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่น่ายินดียินร้าย ที่เรียกว่าโมหะ ก็เกิดอวิชชานุสัย ที่เป็นตัวกิเลสเรียกว่า โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นความเคยชินแห่งกิเลสเรียกว่า ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชช านุสัย ถ้าคุณเข้าใจนะ แล้วคุณก็สังเกตดู หรือมีตาปัญญามองดูจะเห็นว่า ในเรานั้นมันเต็มอยู่ด้วยอนุสัย คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลส ดังนั้นจึงได้เกิดกิเลสง่ายที่สุดเมื่อมีอารมณ์มากระทบ เพราะว่าภายในสันดานของเราเต็มอยู่ด้วยอนุสัย ความเคยชินที่จะรักเรียกว่าราคานุสัย อะไรน่ารักมา ก็รักเลย และก็มีความเคยชินที่จะโกรธหรือไม่ชอบ เรียกว่า ปฏิฆานุสัย อะไรมาไม่น่ารัก มันก็โกรธเลย อะไรที่มาในรูปที่ไม่แน่ว่าน่ารักหรือน่าโกรธ มันก็ไม่รู้ยิ่งขึ้น มันมีสิ่งมาเพื่อให้รู้ เราไม่รู้ เราก็โง่ยิ่งขึ้นๆ เลยเรียกว่า อวิชชานุสัย เรามีอวิชชานุสัยเต็มอยู่ในสันดาน เพราะฉะนั้นเราก็พร้อมที่จะโง่ ขอให้คนโง่ทั้งหลายรู้ข้อนี้ไว้ว่า ทำไมเราจึงพร้อมที่จะโง่ ทำไมเราจึงพร้อมที่จะสะเพร่า ทำไมเราจึงพร้อมที่จะดื้อดึง เพราะว่ามันมีอวิชชานุสัยอัดอยู่ในสันดานของเรา นี่คือธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชน นี่รู้จักมันเสีย ความเป็นปุถุชนโดยธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนี้ แล้วในเด็กๆ นั่นน่ะใครจะไปสอนได้ล่ะ แล้วมันก็ไม่มีความรู้มาแต่ในท้อง แล้วใครก็สอนไม่ได้ มันก็ยังอ่านหนังสือไม่ได้ พูดก็ยังไม่รู้เรื่อง แต่ธรรมชาติมันก็สอนให้รู้จักรัก ให้รู้จักเกลียด ให้รู้จักโง่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ทวีขึ้นๆ จนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็ไม่เคยเรียนเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นคนหนุ่มคนสาวจะถึงขีดสูงสุดหรือไวที่สุดสำหรับจะโลภ จะโกรธ จะหลง เมื่อยังเป็นเด็กๆ มันยังน้อยอยู่ พอมันโตเต็มที่มันก็ไวที่สุด เต็มที่สุดน่ะความเป็นปุถุชนตามธรรมชาติ ไวที่จะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ทีนี้มันก็ได้เกิดนะ มันก็ได้เกิดเรื่อยเป็นประจำวันเลย แล้วก็ร้อนระอุอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลงตลอดเวลาเลย แต่มันมีข้อประหลาดที่ว่า มันคล้ายๆ กับว่า มันสนุกดี เราเลยไม่เห็นเป็นความทุกข์ เราเลยไม่คิดที่จะแก้ไข เมื่อเกิดความโลภอยู่ในใจ มันก็มีความหวัง มีความสนุก มีความหวัง เมื่อเกิดความโกรธ มันก็สนุกที่จะทำร้ายผู้อื่น เมื่อมันเกิดความหลง ความโง่ มันก็หลงไปตามแบบของคนโง่ คนหลง คนสะเพร่า คนดื้อดึง มันก็เลยไม่มีใครที่ไหนที่จะมาคิดว่า อ้าว, นี่มันเลวร้าย เป็นอันตรายของมนุษย์ จนกว่าจะได้มาศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า บางคนก็ไม่มีโอกาสที่ได้มาศึกษาคำสอนระบบนี้ ก็ตายไปกับตัว คนไทยเรานี่ยังดีที่ว่านับถือพุทธศาสนา มันเป็นเหตุ เป็นโอกาสที่จะดึงให้มาสนใจธรรมะในพระพุทธศาสนา เราจึงได้เล่าเรียนเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ตอนแรกๆ เราก็ไม่รู้ เราไม่เข้าใจ เราไม่ค่อยเชื่อ หรือเราไม่อยากจะเรียนด้วยซ้ำไป ถึงใครจะสอนให้ อธิบาย เราก็ฟังไม่ค่อยถูกและเราก็ไม่ค่อยอยากจะเชื่อ ว่าความโลภ ความโกรธ ความหลงนี้เป็นสิ่งที่ต้องละ ทำลายล้างเสีย นี่ความเป็นปุถุชนของเรามันเป็นอย่างนี้ มันไม่ตั้งใจหรือมันไม่ชอบที่จะทำลายกิเลส และกิเลสมันก็เป็นเรื่องสนุก ตื่นเต้น โลดโผนดี แล้วส่วนใหญ่มันก็ให้เกิดความรัก ความหลงใหล ความพอใจ ไปตามอำนาจของความไม่รู้ เราจึงได้เป็นทาสของกิเลส นี่ขอให้ดูตรงนี้เถอะ มันเป็นมาได้เองถึงขนาดนี้ เป็นคนแต่ละคนที่พร้อมที่จะเกิดกิเลส โลภ โกรธ หลงอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็ได้เกิด เกิด เกิด วันหนึ่งหลายๆ เรื่อง หลายๆ ชนิด แล้วมันก็ได้ทนทรมานอยู่ในกองทุกข์อันละเอียด เขาขวนขวายกันอยู่ทั้งนั้นแหละ แต่ไม่ได้ขวนขวายเพื่อละกิเลส ขวนขวายเพื่อจะหาเหยื่อให้กิเลส อะไรสวย อะไรไพเราะ อะไรงดงาม อะไรอร่อย อะไรที่ไหนก็อุตส่าห์ไปหามาหล่อเลี้ยงกิเลส ฉะนั้นการส่งเสริมกิเลส เครื่องส่งเสริมกิเลส สถานที่ส่งเสริมกิเลส ปัจจัยเครื่องส่งเสริมกิเลส มันจึงเต็มไปหมดทั้งโลก เพราะมีคนต้องการ เราก็หาเงินหาทองไปซื้อหามันมาบำรุงกิเลสของเรา จึงเห็นชัดว่าเรานี่มีชีวิตอยู่ด้วยการลงทุนเพื่อความทุกข์ และเราไม่รู้สึกตัว ทั้งหมดเราลงทุนเพื่อความทุกข์ และเราไม่รู้สึกตัว
ถ้าศึกษากันละเอียดมันก็คือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง คุณสนใจก็ไปหามาอ่านดู เรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียด แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เวลาที่จะพูดเรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียด มันมากนัก พูดได้แต่ (22:25)) ของมันว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็คือเมื่อมีการกระทบทางตา กระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระ ทบกลิ่น อะไรก็ตาม มันก็มีวิญญาณเกิดขึ้น รู้ว่าเป็นอะไร กระทบแล้วก็เกิดเวทนา เป็นผัสสะกระทบแล้วก็เกิดเวทนา เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นไม่สุขไม่ทุกข์ คือว่าน่ารัก น่าพอใจก็มี ไม่น่ารักไม่น่าพอใจก็มี ยังพูดไม่ได้ว่าน่ารักหรือไม่น่ารักก็มี นี่แหละเขาเรียกว่า เวทนา พอเกิดเวทนาแล้ว นี่เป็นไปตามธรรมชาติทั้งนั้นนะ ไม่มีใครมาบังคับมันได้ มันเป็นไปตามธรรมชาติ เกิดเวทนาแล้วมันก็เกิดตัณหา คือความอยากหรือความต้องการ เวทนา น่ารักหรืออร่อย มันก็อยากได้ ตัณหาก็ตัณหาอยากได้ ถ้าไม่อร่อย ไม่น่ารัก ขัดใจกัน มันก็เกิดตัณหาที่อยากจะฆ่ามันเสียหรืออยากจะทำลายมันเสีย นี่ตัณหาฝ่ายที่อยากจะทำลายเสีย ถ้ามันไม่แน่ว่าน่ารักหรือว่าไม่น่ารัก มันก็พะวงสงสัยอยู่นั่นแหละ ก็เป็นตัณหาที่ทำให้เกิดความพะวงสงสัย ยึดมั่นพัวพันอยู่ นี่เขาเรียกว่า เป็นการเกิดขึ้นแห่งกิเลส ไปจับคู่กันดูเถอะ ถ้าสิ่งที่มากระทบมันน่ารัก มันก็อยากได้ ก็คือความโลภ เป็นตัณหาอยากได้ ถ้าไม่น่ารัก ไม่อยากได้ อยากฆ่า อยากทำลาย ก็เป็นความโกรธ มันเป็นตัณหาที่ไม่อยากเอาอยากได้ ทีนี้ถ้าว่ามันไม่แน่ แต่มันยังถือว่ามีค่า มันจะมีประโยชน์ มันก็สงสัย หรือว่าถ้ามันมาให้ ไม่รู้ว่าน่ารักหรือไม่น่ารักอยู่เรื่อยไป มันก็คือความโง่ที่มากขึ้น เพิ่มความโง่สำหรับที่จะยึดถือมากขึ้น นี่เรื่องของเราแท้ๆ เราไม่เคยรู้ เราก็ไม่รู้จักความเป็นปุถุชนของเรา พอเกิดตัณหาเกิดความอยาก เกิดตามธรรมชาติเป็นความอยากแล้ว มันก็เกิดความรู้สึกอีกอันหนึ่ง เรียกว่า อุปาทาน คือหมายมั่นในความรู้สึกนั้นเอง ในความรู้สึกนั้นมันจะหมายมั่นว่ามีตัวกู ผู้อยาก อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นของกู ความรู้สึกที่รู้สึกว่าอะไรเป็นตัวกูอะไรเป็นของกูนี้ เรียกว่า อุปาทาน มันไม่ใช่ตัวตนของจิตใจอะไรที่แท้จริงหรอก มันเป็นการปรุงแต่งตามธรรมชาติ ถ้ามันปรุงแต่งให้เกิดความอยากได้แล้ว มันก็เกิดความ รู้สึกว่ากูอยากได้มาเป็นของกู ถ้ามันเกิดความรู้สึกที่ไม่อร่อย ไม่น่าอยากได้ มันก็เกิดความอยากที่จะไม่ได้ อยากจะฆ่า อยากจะทำลายเสีย มันก็เกิดตัวกูที่จะทำลายล้างศัตรูของกู ถ้ามันไม่แน่ ก็เก็บไว้เป็นของโง่ เป็นวัตถุสำหรับให้ตัวกูโง่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไปยึดถือว่าอันนั้นเป็นตัวเป็นตน เพียงเกี่ยวข้องกันอยู่กับตัวกู นี่เรียกว่า อุปาทาน คือยึดมั่นถึงที่สุดด้วยอำนาจแห่งความไม่รู้หรือความโง่ของตน
นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่มีทางจะเรียนรู้ธรรมะได้ ไม่มีทางจะรู้ธรรมะจริงได้ ต้องรู้จักตัณหาของตัว รู้จักอุปาทานของตัว พอมีอุปาทานเป็นความรู้สึกเกิดขึ้นในใจเท่านั้นแหละ มันก็มีความรู้สึกว่า กู กู กู เรียกว่าตัวกูเกิดแล้ว ของกูเกิดแล้ว เขาเรียกว่าภพ ว่าชาติ ว่าทุกข์ เป็นความทุกข์ คือมันยึดถือโดยท่าเดียว เด็กทารก เด็กโต เด็กวัยรุ่น คนหนุ่มคนสาว ทั้งหมดนี้เขาไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เขาก็ยึดถือโดยท่าเดียว อะไรเข้ามาเกี่ยวข้องก็ยึดถือเป็นของกูหมด ยึดถือว่าบ้านเรือนของกู พ่อแม่ของกู ของเล่นของกู ของกินของกู อะไรของกู ของกู ของกู แล้วถ้าอะไรมันเกิดขึ้น เช่น เจ็บ เจ็บ การเจ็บเกิดขึ้น ก็ว่าเจ็บของกู ความไข้ของกู ความตายของกู ความมีอยู่ของกู นี่มันยึดไว้แล้วโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาสอนให้ยึด ฉะนั้นในพระบาลีจึงได้กล่าวคำไว้สั้นๆ ลุ่นๆ ถ้าว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ก็หมายถึงความเกิดแก่เจ็บตายที่คนคนนั้นมันได้ยึดถือเอาแล้วว่าเป็นของเขา ฉะนั้นจึงพูดได้เลยว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์ แล้วแต่เขาจะยึดถืออะไรอยู่แล้วเป็นปกติ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสรุปเสียทีเดียวว่า ความยึดถือนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ ตัณหาเป็นเหตุให้ยึดถือ อยากแล้ว พอยึดถือแล้วก็เป็นตัวทุกข์เหมือนกับแบกของหนัก เพราะเราหยิบของหนักขึ้นมาถือไว้ มันก็ทุกข์ทันที ไม่ต้องรอ มันเป็นทุกข์เพราะหนัก มันก็เป็นของเกิดทันที ยิ่งเราไปอยากไปยึดถืออะไรเข้า เราก็จะ ต้องแบกของหนักและเป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น แต่นี่มันเป็นเรื่องทางจิตใจ มันไม่รู้สึก ไม่เหมือนกับแบกก้อนหินอย่างนี้ มันรู้สึก ไอ้ยึดถือทางจิตใจ มันกลับสนุกไปเสียอีก อะไรๆ ก็ของกู บ้านเรือนของกู พ่อแม่ของกู อะไรของกู กู กูหมดเลย มันกลับสนุก เพราะว่ามันมีความไม่รู้ ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ ฉะนั้นชีวิตนี้จึงเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้ความทุกข์ นี่แหละชีวิตของปุถุชน ตามธรรมชาติของปุถุชน เขาจะมีความรู้สึกอย่างนี้เพิ่มขึ้นๆ ยิ่งอยู่ในโลกนาน ก็ยิ่งยึดถืออย่างนี้มากขึ้น แล้วเขาก็ยึดถือความรู้สึกที่ตรงสัมผัสนั่นแหละ ว่าเป็นสิ่งจริง เป็นของจริง ไม่ใช่ของลวงให้เป็นทุกข์ ของที่หลอกลวงให้เป็นทุกข์ กลายเป็นของจริงที่เราจะเอาไปเสีย ฉะนั้นเราจึงยึดมั่นหมายมั่นในสิ่งที่เป็นสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันก็เตลิดไป เลยไป ความโง่นั้นมันเลยไป เลยไปจนเอาของที่เป็นทุกข์มาเป็นสุข มันตรงกันข้าม ไอ้ที่มันหนัก หนักอกหนักใจเนี่ยกลับยิ่งชอบ ชอบเอามาไว้กันมากๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุนี้จึงหนักอกหนักใจ แล้วเอากับมันอยู่เรื่อย ไม่เท่าไรก็ได้เป็นโรคประสาท แก้ไขไม่ได้มันก็เป็นบ้า มันก็ไปตาย ไปฆ่าตัวตาย ไปอะไรไปตามเรื่องของคนที่ไม่รู้ นี่ความยึดถือนี้เป็นธรรมชาติของปุถุชน ถ้าไม่มีความยึดถืออย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ปุถุชน มันรู้เสียแล้วนี่ ทีนี้มันไม่รู้นี่ มันไม่รู้ตั้งแต่คลอดมาจากท้องแม่ แล้วก็ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้ จนมากระทั่งวันนี้มันก็ไม่รู้ นี่เรียกว่า ธรรมชาติของปุถุชน
ถ้าเราไม่รู้จักตัวธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชน เราก็แก้ไขไม่ได้ แล้วเราก็ต้องไม่รู้และทนทุกข์อยู่เรื่อยไป เขาก็สำคัญผิด เป็นคู่ๆ ไปเลย ที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง ที่เป็นทุกข์ ว่าสุข ที่ไม่ใช่ตัวตน ว่าตัวตน นี่เป็นคู่สำคัญๆ เห็นกลับตรงกันข้ามเสมอ เราก็อยู่ด้วยความโง่ชนิดนี้ทุกวันๆ ทุกคืนๆ ไม่มองเห็นว่ามันเป็นทุกข์หรือมันเป็นตัวกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันก็เลยอยู่กับกิเลสและแสวงหาเหยื่อให้กิเลส และทำไปด้วยความไม่รู้ มันก็ผิดหนักขึ้นๆ และอีกทีหนึ่งที่มันมาก ลำบากก็คือว่า มันธรรมชาติแวดล้อมปรุงแต่งล้วนๆ มันไม่ทำให้รู้ได้ทันที ที่จริงมันก็สอนไปตามตรง แต่คนไม่รู้ ไม่รับเอา เขาไม่ได้มองในแง่ที่ว่า มีส่วนลึกคือส่วนจิตใจ ส่วนกิเลส เขามองกันแต่ผิวนอก แล้วก็ทำตามๆ กันไปเรื่อย มันก็เลยไม่มีวันที่จะลืมหูลืมตา
ผมอยากจะเล่าเรื่องที่เคยเล่าบ่อยๆ ว่า เขาแสดงยี่เก เด็กๆ ก็พากันไปดูรวมทั้งผมด้วย แสดงเรื่องจันทโครพ จันทโครพเขาดื้อ เขาไปเปิดผอบกลางทาง ซึ่งฤาษีเขาสั่งว่าอย่าเปิด มันดื้อ มันไปเปิดผอบกลางทาง นางนั้นก็ออกมาจากผอบ เขาก็ต่อรองกัน คือนางเขาจะไม่รัก จันทโครพเขาอยากให้รัก ก็ต้องทำตามนางนั้นทุกอย่าง ให้ทำอย่างนั้นก็ทำ ให้ทำอย่างนี้ก็ทำ ให้หันซ้ายหันขวาอะไรทำหมด ตอนสุดท้ายนางนั้นเขาใช้ให้กินขี้ กินขี้ของนาง จันทโครพก็ยอมกินขี้ เด็กๆ ก็ฮากันใหญ่ มันของประหลาดที่ว่า ไอ้จันทโครพกินขี้ มันไม่รู้ว่ากิเลสเป็นเหตุให้กินขี้ มันไม่รู้ว่าความหลงรักเป็นเหตุให้กินขี้ มันเห็นอย่างผิวเผิน แต่ว่าอันนี้มันแปลกดีโว้ย ไอ้คนมันกินขี้ แต่เด็กๆ เหล่านี้ไม่รู้ลึกลงไปถึงว่าทำไมคนมันจึงกินขี้ มันมีอะไรที่เป็นต้นเหตุ คือความหลงรัก ความโง่ ความหลง ความหลงใหล ความอยากได้ มันจึงยอมกินขี้ นี่ธรรม ชาติของคน มันอยู่แค่นี้ มันไม่มองลึกลงไปได้ถึงส่วนลึกในภายใน มันเห็นได้แต่เพียงภายนอก มันก็โง่อยู่ตามเดิม โง่อยู่เท่าเดิม ไม่รู้ความจริงที่ลึกไปกว่านั้น ฉะนั้นเราก็หลงเอาตามความรู้สึกชั้นผิวนอกที่สุด มันก็ไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่า อะไรคืออะไร
ทำไมคนที่มีสติปัญญาขนาดนี้แล้ว เกิดมาก็หลายปีแล้ว ทำไมจึงไม่รู้ว่าเรากำลังหลง หลงกลับกันอยู่อย่างนี้ จนถึงกลับลงทุนเพื่อเอาความทุกข์มา แล้วตัวเองก็ไม่อยากจะทุกข์ ไม่อยากจะมีความทุกข์ แต่แล้วทุกอย่างที่กำลังทำอยู่ เป็นการลงทุนเพื่อเอาความทุกข์มา เพราะมันเข้าใจผิดกลับอยู่ตรงกันข้ามอย่างที่ว่าแล้ว เห็นทุกข์เป็นสุข ที่มันเป็นทุกข์เห็นว่าสุข ที่มันไม่เที่ยงเห็นว่าเที่ยง ที่ไม่ใช่ตัวตนเห็นว่าตัวตน ที่สกปรกปฏิกูล เห็นว่าไม่ปฏิกูล ไอ้คนที่จูบกันน่ะ ทำไมไม่รู้สึกบ้างว่า มันสูดของสกปรกเข้าไปกี่มากน้อย ผิวหนังคนมันตาย เซลล์มันตายเป็นผงละเอียดว่อนอยู่ทั้งโลก เขาว่าฝุ่นที่เราสะบัดกลางแดด ที่ฝุ่นฟุ้งขึ้นไป สะบัดผ้า สะบัดเสื้อ ส่วนใหญ่เขาว่าเป็นผิวหนังที่ตายแล้ว เซลล์ที่ตายแล้วของผิวหนังของคนแทบทั้งนั้น หมายความว่า เซลล์ผิวหนังที่ชรามันหลุดอยู่เรื่อย แล้วคนจูบกันมันก็สูดของสกปรกเหล่านั้นเข้าไป ทำไมมันจึงไม่รู้สึกว่าเรากำลังสูดของสกปรกเข้าไป นี่มันมองตรงกันข้ามเสมอ ยิ่งจูบแบบตะวันตก ก็คือดูดของสกปรกในปากเข้าไป ทำไมมันไม่รู้สึกว่าสกปรกล่ะ มันรู้สึกตรงกันข้ามไปเสียอย่างนี้ กิจกรรมทางเพศ ใช้อวัยวะที่สกปรกทำหน้าที่ แล้วก็ได้ผลออกมาเป็นความสกปรกอย่างยิ่ง แล้วก็บูชากันเป็นของใหญ่ เป็นของสูงสุด จะสมรสแต่งงานกันสักที ลงทุนเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน เป็นงานมีเกียรติที่สุด เพื่อใช้ของสกปรก อวัยวะที่สกปรก ให้ทำหน้าที่กันเต็มที่
นี่เอามาพูดไว้ในฐานะเป็นความหลงของปุถุชนตามธรรมชาติ เป็นความโง่ตามธรรมชาติของปุถุชน เป็นความเป็นปุถุชนโดยธรรมชาติ ก็คือไม่รู้สิ่งนี้ที่ตัวกระทำอยู่ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ จนบัดนี้บางคนก็พอจะรู้ บางคนก็ยังไม่รู้ บางคนก็ไม่รู้ไปจนตาย ว่าเกิดมาเพื่อลงทุนเอาความทุกข์ และเอาของน่าเกลียดมาเป็นของน่ารัก หรือเอาของสกปรกมาเป็นของไม่สกปรก แล้วก็บูชามัน นี่ไม่ต้องการจะพูดอะไรนัก นอกจากจะพูดว่า นี่ความเป็นปุถุชนโดยธรรมชาติ ความเป็นปุถุชนโดยธรรมชาติ หรือธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชน ก็คือเป็นอย่างนี้ ก็คือเรา ฉะนั้นขอให้เรารู้จักกันเสียดีๆ ว่าความเป็นปุถุชนของเรานั้น มันอย่างไร มันเท่าไร มันเลวร้ายสักเท่าไร
ทีนี้ก็ดูต่อไป จะพูดโดยอุปมาว่า ปุถุชน ธรรมชาติความเป็นปุถุชนนี่ มันเป็นเหมือนกับคนตาบอด เมื่อตะกี้ก็ได้พูดมาแล้วล่ะว่า เป็นอันธพาลในทางวิญญาณ ทุกคนเป็นอันธพาลในทางวิญญาณ แม้บวชพระ บวชเณร บวชอะไรอยู่ก็ไม่ยกเว้นล่ะ อันธะ แปลว่า ตาบอด คือมันไม่มองเห็นตามที่เป็นจริงว่าอะไรเป็นอะไร เหมือนที่ปุถุชนมันไม่เห็น ฉะนั้นทุกคนกำลังเป็นคนตาบอด ไม่เห็นธรรมชาติปุถุชนของตนเอง ถ้าคุณไม่มองเห็นธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชนของตนเอง คุณก็คือคนตาบอดใช่หรือเปล่า จะต้องพูดอะไรกันมากล่ะ ไม่มองเห็นความเป็นปุถุชนของตนเองที่กำลังมีอยู่เป็นตนเอง คุณก็คือคนตาบอดในความหมายนี้และก็อันธพาลอย่างยิ่ง ไม่เห็นสิ่งที่ตัวเป็นอยู่เอง คือความเป็นบุถุชนตามธรรมชาติของตนเอง
ทีนี้ก็อุปมาอีกอย่างหนึ่งว่า มันเป็นคนหูหนวก มันไม่ได้ยินธรรมะของธรรมชาติ ซึ่งร้องบอกอยู่เสมอว่าอะไรเป็นอะไร แต่ว่าอย่างนี้มันมักจะไปในทางเห็นเสียมากกว่าได้ยิน แต่เราจะพูดว่าได้ยิน คล้ายความหมายของคำว่า ได้ยินธรรมชาติร้องตะโกนบอกว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นปฏิกูล เป็นทุกข์เป็นอะไร มันร้องบอกอยู่เสมอ เราก็ไม่ได้ยิน ทั้งที่เรื่องนั้นมันกำลังเป็นอยู่กับเรา เราก็ไม่ได้เห็น เราก็ไม่ได้ยิน ในลักษณะหนึ่งเราก็เป็นคนตาบอด ในลักษณะหนึ่งเราก็เป็นคนหูหนวก ไม่ได้ยิน ธรรมชาติพูดมาเป็นล้านๆ ปีแล้ว เมื่อมันเกิดสังขารขึ้นมาในธรรมชาติ ธรรมชาติเหล่านั้นก็ร้องบอกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตาอยู่เรื่อย แต่คนมันหูหนวก มันไม่ได้ยิน มันต้องไปรักษาหูให้หายหนวกเสียก่อน มันจะได้ยินเสียงธรรมชาติร้องตะโกนบอกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา เป็นต้น จะไปรักษาหูให้หายหนวกกันที่โรงพยาบาลไหนล่ะ มันก็ไม่มี แล้วมันจะไม่อยากรักษาด้วยซ้ำไป นอกจากโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า คือพระธรรม แล้วเดี๋ยวนี้ใครล่ะมันอยาก อยากที่จะไปหาพระพุทธเจ้า อยากจะไปหาพระธรรม มันก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำไป มันก็ไม่มีโอกาสที่จะรักษาตาให้หายบอด หูให้หายหนวก นี่คือธรรมชาติของปุถุชน มันอยู่อย่างนี้
แล้วมันก็เป็นคนเปลือยกาย หน้าด้าน ไม่ละอายอยู่ตลอดเวลา คำว่าเปลือยกาย นี่มีความหมายเหมือนคำว่าไม่ละอาย เมื่อก่อนนี้ก็จะต้องพูดได้ว่า สัตว์มีชีวิตทั้งหลายไม่ได้นุ่งผ้า แล้วยังไม่ได้มีขนด้วยซ้ำไป มันเหมือนกับเปลือยกาย ต่อมาสัตว์มันสูงขึ้นๆ จนเป็นคน ทีแรกๆ มันก็ไม่ได้นุ่งผ้า ต่อมาคนมีมัน สมองสูงขึ้นมา รู้จักละอาย รู้จักนุ่งผ้า คือถึงขนาดที่เรียกว่ามันเกิดความรู้สึกคู่ๆ ชั่วดีอะไรขึ้นมาอย่างนี้ คนจึงค่อยรู้สึกนุ่งใบไม้และนุ่งผ้า เพราะความละอาย รู้จักปกปิดสร้างบ้านเรือน ปกปิดกิจกรรมอันน่าละอาย นี่มันน่าละอาย มันเป็นเรื่องน่าละอายก็จริง แต่มันยังภายนอกเกินไป ไอ้ภายในที่น่าละอายกว่านั้น มันยังไม่รู้จัก มันเลยไม่ละอาย คือเดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักละอายในข้อที่เราไม่มีธรรมะ เราโง่หรือเราไม่มีธรรมะ เรากำลังทำอยู่อย่างอวิชชา นี่เราไม่ละอาย เราทำกันทุกคนจนไม่มีใครละอายใคร มีความโง่ก็ทำไปอย่างโง่ แล้วก็ได้เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้ เราไม่ละอาย นี่เป็นการเปลือยกายยิ่งกว่า การเปลือยกายที่น่าละอายยิ่งกว่าไม่นุ่งผ้าเสียอีก มนุษย์มันยังรู้จักนุ่งผ้ากันขึ้นมาได้เอง แต่พอมาถึงขั้นนี้แล้ว จิตใจมันยังไม่มีอะไร ยังเสมือนกับว่าไม่นุ่งผ้าในทางจิตใจ ในทางวิญญาณ แต่ไม่มีใครละอายว่าฉันเป็นคนโง่ ถือเสียว่าไม่มีใครมารู้ของเรา กิเลสของเรา อะไรของเรา เราไม่ละอายเพราะไม่มีใครมารู้ของเรา วิธีหนึ่งก็ถือเสียว่า มันมีเหมือนๆ กันไปหมด จนใครไม่ละอายใคร คนนั้นก็มีกิเลส คนนี้ก็มีกิเลส ก็มีกิเลสด้วยกันทุกคนจนไม่มีใครละอายใคร นั่นแหละคิดดูให้ดีเถอะ ความไม่ละอายมันก็มีขึ้นมา ก็ไม่ได้ขวนขวายแก้ไข มันก็คงอยู่อย่างนี้
ฉะนั้นความมีหิริ โอตตัปปะนั้นเป็นธรรมะสำคัญเหมือนกัน อย่าไปสำคัญว่าเป็นธรรมะเด็กเล่นนะ ในโรงเรียนมักจะสอนกันในฐานะเป็นธรรมะต่ำๆ แต่จริงๆ เป็นธรรมะอย่างสูง ที่จะเป็นต้นเหตุให้คนเราไต่เต้าขึ้นไปหาพระนิพพาน ถ้าเราละอายความเป็นปุถุชนอยู่ตามธรรมชาติอย่างนี้ แล้วเราก็จะไต่เต้าขึ้นไปหานิพพาน ฉะนั้นขอให้สร้างความมีหิริ โอตตัปปะ รู้จักละอาย รู้จักกลัวในสิ่งเหล่านี้เถอะ มันจะแก้ไขความเป็นปุถุชนของเราได้ ความเป็นปุถุชนโดยธรรมชาติ นี่มันไม่รู้จักละอาย มันไม่รู้จักกลัวอย่างนี้ ถ้ามีธรรมะเข้ามาสูงขึ้นแล้ว มันก็จะรู้จักละอาย คือไม่อยากจะมีกิเลส โดยเฉพาะไม่อยากให้ใครเห็นว่าเรามีกิเลส เราละอาย แล้วเรากลัวว่าความทุกข์นี่เลวร้ายมาก ความทุกข์ ที่เรียกว่าความทุกข์ในพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เราก็กลัว มีหิริ มีโอตตัปปะ คืออย่างนี้ เราเกลียดกิเลส เรากลัวความทุกข์ มันก็ไปนิพพานแหละ ไม่ต้องสงสัย
เดี๋ยวนี้เราก็ไม่รู้ว่าความทุกข์ เราก็วิ่งเข้าไปหาความทุกข์ เหมือนที่พูดว่าลงทุนทั้งหมดนี้เพื่อความทุกข์ เอาชีวิตนี่เป็นเดิมพัน ลงทุนไปเพื่อให้ได้ความทุกข์มา มันโง่ขนาดที่ว่า เหมือนกับไฟมันไหม้อยู่บนศีรษะ แล้วมันคิดว่าจะดับไฟ มันก็วิ่งเข้าไปในกองไฟ ถ้าคุณไม่พิจารณาดูให้ดีเถอะ จะมองไม่เห็นนะ ไอ้ไฟไหม้แล้ววิ่งเข้าไปในกองไฟเพื่อจะดับไฟ จะมองไม่เห็น แต่มันกำลังเป็นอยู่อย่างนั้น ต้นเหตุที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เรากลับวิ่งเข้าไปหา เป็นทุกข์เพราะกิเลส เราก็วิ่งไปหากิเลส ส่งเสริมกิเลส เพิ่มเติมกิเลส เดี๋ยวนี้พูดกันในแง่การเมืองของโลก ผมก็พูดว่า เศรษฐกิจนั่นแหละเป็นปัญหาให้โลกมันวุ่นวาย ไอ้เศรษฐกิจไม่มีศีลธรรมนั่นแหละ ทำให้คนเห็นแก่ตัว เกิดปัญหาขูดรีดกันทั่วโลก เกิดขึ้นเพราะเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่มีศีลธรรม แล้วเขาก็จะเอาเศรษฐกิจนั่นแหละมาแก้ปัญหานี้ มันก็เหมือนกับว่า ไฟไหม้แล้ววิ่งเข้าไปหากองไฟ คือวิ่งเข้าไปหาต้นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ แล้วจะเอามันมาแก้ความทุกข์ ดับความทุกข์ นี่คือความโง่ นี่เรายังมีอาการเหมือนกับว่า วิ่งเข้ากองไฟเพื่อจะดับทุกข์ ไฟไหม้บนศีรษะก็วิ่งเข้าไปกองไฟ คิดว่าจะดับไฟ คิดว่าจะดับไฟ ก็วิ่งเข้าไปในกองไฟ คิดว่าจะดับกิเลส ฆ่ากิเลส แต่กลับไปบูชาเหยื่อของกิเลส แสวง หาเหยื่อของกิเลส อารมณ์ทั้งหลายทางอายตนะ ไปหามาแล้วจะดับกิเลสได้ยังไง มันเท่ากับไปหาฟืนมาเติมให้ไฟ จะดับไฟได้อย่างไร ฉะนั้นคนพวกนี้มันโง่กว่าแมลงเม่าที่บินเข้าไฟ เราชอบดูถูกเหยียดหยามแมลงเม่าว่า ไอ้สัตว์โง่บินเข้าไปหาไฟ แต่คนน่ะมันโง่กว่าแมลงเม่า มันจะไปดับไฟที่ไฟ มันอยากจะดับไฟ แต่มันวิ่งเข้าไปหาไฟ ฉะนั้นต้องถือว่ามันโง่กว่าแมลงเม่า นี่คนโง่ไฟไหม้หัว วิ่งเข้าไปดับไฟในกลางกองไฟ โง่กว่าแมลงเม่า นี่ความเป็นปุถุชนของเรา
ทุกๆ ประเด็นคุณจะต้องมองให้เห็นความเป็นปุถุชนของเราตามธรรมชาติ มีความโง่ขนาดนี้ แล้วทีนี้พอมาถึงคราวที่พระพุทธเจ้าหรือว่าบัณฑิต เขาจะสอนว่าอย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนั้นนะ เราก็ไม่เชื่อ เราก็ดื้อ เพราะเรามันติดเหยื่อของกิเลสเสียแล้ว เราบูชากิเลส เราแสวงหาเหยื่อของกิเลสร่ำไป เขาชวนมาทางนี้เราก็ไม่ไป เขาดึงมา เราก็ไม่ยอมมา เราก็ดื้อ ฉะนั้นต้องพูดว่า ไสช้างลอดรูเข็มยังง่ายกว่าจูงปุถุชนไปหาความดับทุกข์ จะชักชวนปุถุชนไปหาพระนิพพาน ความดับทุกข์น่ะ ไม่สำเร็จหรือยาก จนว่าไสช้างลอดรูเข็มยังง่ายเสียกว่า พระเยซูกล่าวไว้ว่า ชวนคนมั่งมีไปหาพระเจ้า เหมือนจูงอูฐลอดรูเข็ม นั่นยังไม่เท่าไรนะ ไม่ใช่บังคับ เดี๋ยวนี้แม้แต่การบังคับ มันก็ยังทำไม่ได้ จะไสช้างให้ลอดรูเข็มนี่ มันเป็นเรื่องบังคับ ใครๆ ก็มองเห็นว่าไม่ได้ แต่มันยังง่ายกว่าการที่จะชวน จูง เกลี่ยกล่อมปุถุชนไปหาพระนิพพาน ไปหาธรรมะ ไปหาความดับทุกข์ เขาถือหรือเขามองกันอย่างนี้ คุณลองไปมองตัวเองดูเถอะ ว่าตัวคุณเองน่ะ ถ้าจะชวนไปในทางพระนิพพานกันนี่ มันได้หรือไม่ได้ มันยากง่ายเพียงไร เขาถือว่าไสช้างลอดรูเข็มยังง่ายเสียกว่าจูงคนโง่ไปนิพพาน เพราะว่าไอ้คนโง่นั้นเป็นปุถุชนที่ไม่รู้จักตัวเอง เขาไม่ยอมไป เขายอมตายดีกว่า ที่จะให้ละทิ้งสิ่งนี้เสีย เขายอมตายเสียดีกว่า เป็นเหยื่อแห่งกิเลสของเขา โดยเฉพาะกามารมณ์ เขาบูชาเป็นของสูงสุด ถ้าเขาไม่ได้ เขายอมตายเสียดีกว่า แล้วมีคนมาชวนให้เขาออกไปเสียจากสิ่งนี้ เขาก็ไม่เอา นี่คือธรรมชาติของปุถุชน ธรรมชาติแห่งปุถุชนมันเป็นอย่างนี้
วันนี้ก็พูดกันเรื่องธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชนให้มันเห็นชัดกันเสียก่อน แล้วมันจึงจะเห็นตัวปัญหา ตัวปัญหาที่ทำให้ธรรมะเป็นไปไม่ได้ ธรรมชาติแห่งปุถุชน ปุถุชนแปลว่า คนหนา หนาของสิ่งที่หุ้มห่อดวงใจ หุ้มห่อปัญญา คือจะยอมรับว่าในแต่ละคนก็มีธาตุแห่งปัญญา มีธาตุ ธา-ตุ มีธาตุแห่งปัญญาอยู่ แต่มีอะไรมาหุ้มหนา ทำงานไม่ได้ ส่องแสงไม่ได้ จิตใจเห็นอะไรไม่ได้ เพราะว่ามีของมาหุ้มหนา ไอ้คำว่าหนา หนา นั่นน่ะ เอามาเป็นชื่อของคนธรรมดาเรียกว่า ปุถุชน ปุถุ แปลว่า หนา ปุถุชนแปลว่าคนหนา หนาด้วยสิ่งที่หุ้มห่อดวงใจ มันก็เห็นอะไรไม่ได้ ปุถุชนนี่เป็นอันธพาล โง่เหมือนตาบอด ทีนี้ฝ่ายตรง กันข้ามแท้ๆ ก็เรียกว่า อริยะ อริยะ หรืออริยชน อริยชนตรงกันข้ามจากปุถุชน ปุถุชนหนาทึบไปด้วยสิ่งปกปิดจิตใจหรือปัญญา ส่วนพระอริยเจ้านั้นบางกระทั่งว่าไม่มีเลย ไอ้สิ่งที่ห่อหุ้มปัญญานั้นบาง สิ่งที่ปิดตาบาง บางจนเห็นเรื่อๆ บ้าง ก็เริ่มเป็นอริยเจ้า ถ้าเปิดออกหมดเลยก็เป็นอริยเจ้าชั้นสูงสุด ฉะนั้นพระโสดาบันท่านก็เป็นผู้ที่เปิดไฝฝ้าในดวงตาได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ยังไม่หมด มันไปหมดกันเมื่อเป็นพระอรหันต์ นี่คุณรู้จักสิ่งตรงกันข้ามว่า อันหนึ่งเป็นปุถุชน อันหนึ่งเป็นอริยะ อันหนึ่งมีไฝฝ้าปิด ทึบ มืดเลย เหมือนกับเราเอาของทึบปิดตา มืดจนมองไม่เห็นอะไร ถ้าเป็นปุถุชนก็หมายความว่า อันนั้นมันจางออกๆ บางมากจนมองเห็นอะไรบ้าง เริ่มมองเห็นได้บ้าง รู้ทิศทางได้บ้าง จนกว่าจะออกหมด เห็นเต็มที่ นี่เป็นอริยะเต็มที่ อริยะนี่ อริยะก็แปลว่า ไปจากข้าศึก อริ แปลว่าข้าศึก ยะ แปลว่า ไป อริยะแปลว่าไปจากข้าศึก คือเริ่มหมดข้าศึก ข้าศึกในที่นี้ก็คือ กิเลสหรือความทุกข์ ก็เริ่มหมดจากข้าศึก จนหมดเลย ส่วนปุถุชนนั้นเต็มไปด้วยข้าศึก เต็มไปด้วยข้าศึก เห็นข้าศึกอยู่เต็มตัว คือกิเลสแผดเผาทรมานอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่าปุถุชน พอข้าศึกเริ่มหายไปและหมดสิ้นก็เรียกว่า อริยะ นี่ก็เป็นการที่ออกจากกองทุกข์ ปุถุชนอยู่ในกองทุกข์ เป็นความทุกข์เสียเอง อริยะก็คือเริ่มออกจากกองทุกข์ จนไม่มีทุกข์ ภาวะที่ไม่มีทุกข์เรียกว่า อริยะที่สุด นี่เรามาดูความเป็นปุถุชนของเราเอง ซึ่งเป็นตามธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ซึ่งมันหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะอยู่ในท้องแม่เกิดออกมา โตขึ้น มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตอนนั้นธรรมะอะไรจะเข้าไปสอนได้ล่ะ จะไปสอนเด็กๆ เรื่องนิพพาน เรื่องกิเลส เรื่องความทุกข์ มันสอนไม่รู้เรื่อง มันต้องให้เด็กๆ โตขึ้น ได้ชิมรสของกิเลส ของอนุสัย ของอาสวะ ที่มันแผดเผา ร้อน ร้อน ร้อน จนเป็นหนุ่มเป็นสาว พอพูดถึงความร้อน ความทุกข์ มันจึงจะฟังออก เพราะมันเคยร้อนและเคยทุกข์มาแล้ว จะพูดให้เด็กอมมือรู้เรื่องนี้ มันพูดไม่ได้ มันไม่มีความหมาย มันไม่รู้ความหมาย มันยังไม่รู้เรื่องกิเลส ยังไม่รู้เรื่องความทุกข์แผดเผาอย่างไร ฉะนั้นธรรมชาติมันจึงต้องรอให้กิเลสและความทุกข์ แผดเผาทารกนั้นเรื่อยๆ มา จนเป็นเด็กโต เริ่มพอจะรู้ เขาจึงถือกันว่าพระอรหันต์นี่อย่างเล็กที่สุด ต้องอายุ ๑๕ ปี หรือบางแห่งว่า ๗ ปีก็มี แต่ว่า ๗ ปีมันก็พอจะฟังอะไรรู้เรื่อง จะเป็นพระอรหันต์กันแต่ในท้องมันก็ไม่ได้ มันไม่รู้เรื่องอะไร แล้วคลอดออกมา จะพยายามให้เป็นพระอรหันต์แต่อ้อนแต่ออก มันก็ไม่ได้ จะเป็นพระอรหันต์ได้ก็ต่อเมื่อรู้จักความทุกข์พอสมควรแล้ว เห็นความทุกข์ได้และอยากจะพ้นทุกข์ เนี่ยมันจึงจะเป็นได้ ฉะนั้นอายุราว ๑๕ ปีก็ยังพอมีหวัง แต่ก็ว่าน้อย น้อยจนหาทำยาหยอดตาแทบจะไม่ได้ ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายกี่ร้อยกี่พัน พระอรหันต์ ๑๕ ปี เรียก ว่านับมี ๒-๓ องค์ ก็เลยบังเอิญอะไรกันก็ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้เรื่องนี้ เป็นแต่ได้ยินได้ฟังมา ก็จำไว้ ว่าพระอรหันต์อายุน้อยน่ะหายากที่สุด ล้วนแต่เป็นคนที่ผ่านโลกมาแล้ว พระอรหันต์ที่มากที่สุดก็คือ ผู้ที่ผ่านโลกอายุหลายสิบปีมาแล้วทั้งนั้น นั่นแหละความเป็นปุถุชนตามธรรมชาติ มันยึดครองเราไว้เรื่อยมาๆ มาบัดนี้อายุ ๒๐ กว่าปี มาบวชกันนี่ ฉะนั้นก็คิดดูเถอะว่า เรารู้จักความเป็นปุถุชนของเราอย่างไร เรารู้จักดีจน กระทั่งอยากทำลายมันหรือไม่ หรือถ้าว่าการบวชนี้มันบวชตามธรรมเนียม บวชตามประเพณีแล้ว มันยากมากที่จะรู้ธรรมะข้อนี้ แต่ไม่เป็นไร เอาละเมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็อย่าให้เสียทีเลย พยายามทำความเข้าใจ ให้รู้ ให้อะไร ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก็แล้วกัน
ฉะนั้นเราจึงมารบเร้าให้มองให้เห็นไอ้ตัวปัญหาอันแท้จริง อันยิ่งใหญ่นั้นเสียก่อน คือธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชนของเรา ซึ่งเป็นอันธพาลทางวิญญาณอย่างเต็มที่ ให้เห็นความเป็นอันธพาลของเรา ให้เห็นความเป็นปุถุชนของเราที่เป็นอยู่โดยธรรมชาตินี้เสียก่อน ก็จะศึกษาธรรมะได้โดยง่าย ถ้าเราไม่รู้จักความเป็นปุถุชน อันธพาลอย่างนี้ของเราตามธรรมชาติ เราจะไม่รู้สึกเดือดร้อนว่าจะต้องแก้ไขอะไร ไม่รู้จักทุกข์ ก็ไม่มีปัญหาที่จะดับทุกข์ ก็ไม่เดือดร้อนที่ว่าจะต้องดับทุกข์ จะต้องบวชเพื่อดับทุกข์ มันก็ไม่เกิดขึ้นในความรู้สึก แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่เราไม่รู้จักความเป็นปุถุชนของเรานี้ เราก็เกิดทิฐิ ความคิดความ เห็นอย่างอื่นต่อไป ต่อไป ต่อไป คือล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฐิทั้งนั้น มิจฉาทิฐิเหล่านั้นก็จูงเราต่อไปอีก จนยากที่จะกลับมาสู่กรอบของสัมมาทิฐิ เราก็ไปตามมิจฉาทิฐิจนกระทั่งว่า อบายมุขกลายเป็นของวิเศษสำหรับพวกมิจฉาทิฐิ ถ้าไม่กินเหล้าเขาว่าเข้าสมาคมไม่ได้ ถ้าไม่สูบบุหรี่เข้าสมาคมไม่ได้ นี่มิจฉาทิฐิมันถึงขนาดนี้ แต่เขาก็ไม่รู้ว่ามันเป็นมิจฉาทิฐิ แล้วเขาก็ทำสิ่งที่ทำลายตัวเอง สูบบุหรี่ไปรมปอดให้มันเสียเร็วๆ ไปกินเหล้าเข้าไปทำลายตับให้มันเสียเร็วๆ นี่ก็ยังทำกันอยู่เพราะมิจฉาทิฐินั้น เพราะความที่เขาไม่รู้จักปุถุชนของเขาเอง ไม่รู้จักความเป็นปุถุชนตามธรรมชาติของเขาเอง แล้วก็หัวดื้อไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมพิจารณาให้ฟังอะไรก็ไม่ฟัง ให้พิจารณาอะไรเสียใหม่ก็ไม่ยอมพิจารณา จะเอาแต่มิจฉาทิฐิของเขาอย่างเดียว จะบำรุงตัณหา กิเลสตัณหาด้วยเหยื่อของกิเลสตัณหาต่อไป ไม่ยอมสลัด นี่เรียกว่าไสช้างลอดรูเข็มเสียยังง่ายกว่าสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักความเป็นปุถุชนตามธรรมชาติของตน นี่ผมจึงเอามาพูดเป็นหัวข้อที่สองใน “ ธรรมะเล่มน้อย ” ของเรา สำหรับผู้ที่จะลาสิกขา วันนี้พูดเรื่องธรรมชาติแห่งความเป็นปุถุชน หรือความเป็นปุถุชนอยู่ตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องมองเห็นก่อน แล้วเราก็จะได้พูดเรื่องอื่นต่อไปที่มันจะแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ ที่ควรรู้ต่อไปในลำดับ เดี๋ยวนี้รู้จักความเป็นปุถุชนตามธรรมชาติของตน ของตนกันเสียก่อน ขอยุติการพูดในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ด้วยหัวข้อสั้นๆ ว่า ความเป็นปุถุชนโดยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก เอาละปิดประชุม ใครมีอะไรจะได้ไปทำ.