แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาจะได้บรรยายธรรมะตามหัวข้อที่ท่านได้กำหนดไว้ให้ในหมายกำหนดการ คือ หัวข้อว่า ธรรมะกับชีวิต หัวข้อเช่นนี้นับว่าเป็นหัวข้อที่มีเหตุผล ที่จะต้องศึกษาหรือสนใจ มีประโยชน์ มีค่า แต่เนื่องจากคนเราไม่รู้จักแม้ธรรมะ ไม่รู้จักแม้ชีวิต มันก็พูดเพ้อ ๆ กันไป ไม่ค่อยได้รับประโยชน์อะไร ธรรมะก็ถูกหาว่าเป็นสิ่งครึคระ ไม่มีใครรู้ว่าธรรมะนั่นคือเรื่องของตัวเอง ธรรมะคือเรื่องของตัวเอง หรือของสิ่งที่มีชีวิต และเป็นเรื่องที่สำคัญคือต้องเอามาใช้สำหรับความรอดชีวิต และการพัฒนาชีวิตให้สูงถึงที่สุดของมัน การจะรอดชีวิตเฉย ๆ ไม่มีประโยชน์อะไรนัก คนโง่ก็เพื่อกิน เพื่อกาม เพื่อเกียรติ แต่คนฉลาดก็ต้องการมากกว่านั้น คือ สภาพอันหนึ่งซึ่งสูงสุด ฉะนั้นเราจึงเอาเรื่องธรรมะไปพูดล้อกันเล่น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวสมัยนี้ เอาเรื่องของธรรมะไปล้อกันเล่น เพราะเขาไม่รู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไร ไม่รู้ว่าตัวเรื่องตัวของเขาเอง เรื่องความรอดของเขาเอง เรื่องอะไรของตัวเอง แล้วมักหาว่าเป็นเรื่องครึคระ เก่า เขาว่าธรรมะเป็นเรื่องเต่าล้านปี คำพูดนั้นอย่างโง่มาก ถ้าพูดว่าธรรมะเป็นเรื่องเก่าเต่าล้านปี เพราะธรรมะมันมากกว่านั้นมาก มากจนไม่มีตัวเลขที่จะคำนวณมันว่ากี่ล้านปี เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่เก่ากว่าสิ่งใด ๆ มีอยู่ก่อนสิ่งใด ๆ ก่อนเกิดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์เกิด จะรู้ได้โดยอาศัยหลักที่พูดแล้วเมื่อคืน คือธรรมะ ๔ ความหมาย ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ ใครรู้ว่าธรรมชาตินั้นมันมีมาตั้งแต่เมื่อไร แล้วใครรู้ว่ากฎของธรรมชาตินั้นมันมีมาตั้งแต่เมื่อไร เราอาจจะเชื่อได้ว่า ธรรมชาติทั้งหลายเกิดขึ้นโดยกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นกฎของธรรมชาติจะต้องมีอยู่ก่อนธรรมชาติ กฎที่เป็นนามธรรม ยิ่งกว่านามธรรม ไม่มีเนื้อมีตัว ไม่มีทางที่จะกล่าวได้ว่าเป็นอะไร กล่าวได้แต่ว่าเป็นกฎของธรรมชาตินั้นมีอยู่ก่อนธรรมชาติแล้วเสียอีก จึงเกิดธรรมชาติ แล้วจึงเกิดโลก เกิดสิ่งที่มีในโลก เกิดชีวิตขึ้นมาในโลก นั้นมันมากกว่าล้านปี ไม่รู้กี่ล้าน ๆ ๆ ๆ ๆ ปี มันมีธรรมชาติ แล้วมันมีกฎธรรมชาติ ก่อนกว่านั้นอีก นี่ธรรมะมันเก่า จนไม่รู้จะพูดว่าเก่าสักเท่าไร คนที่เห็นว่าไอ้ธรรมะเป็นเรื่องเก่าเต่าล้านปีนั้นยังโง่มาก ซึ่งคนสมัยนี้ชอบพูดกันนัก เห็นเป็นเรื่องล้าสมัยแต่เพียงล้านปี จริง ๆ มันมากกว่านั้นมาก ฉะนั้นขอให้เรารู้โดยคร่าว ๆ ว่าไอ้ธรรมะ ๔ ความหมายมันมีอยู่อย่างนี้
ในคัมภีร์ไบเบิล ของคริสเตียน เขามีประโยคหนึ่งซึ่งรับรองความข้อนี้ได้ด้วยเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเป็นฝ่ายคริสเตียน At the beginning the word was ตั้งต้นแรกเริ่มเดิมที The word มี The word นั่นแปลว่า คำพูด ถ้าภาษาอังกฤษ แปลว่า คำพูด ภาษากรีกเดิม เขาว่า Logos แปลว่า คำพูด ก็จริง แต่มันไม่ใช่คำพูดของคน มันคำพูดของพระเจ้าหรือคำพูดของธรรมชาติ คือกฎของธรรมชาติ บัญชาของธรรมชาติ เรียกว่า กฎของธรรมชาติ เขาถือว่าสิ่งนั้นมีอยู่ตั้งแต่ทีแรก แล้วก็สิ่งนั้นแหละมันอยู่กับพระเจ้า สิ่งนั้นกลายเป็นพระเจ้า สิ่งนั้นมารวม ร่วมทำงานกับพระเจ้า เขาใช้คำว่า The word แปลว่า คำพูด ซึ่งในหนังสือแจกกันเขาใช้คำว่า พระธรรม เมื่อจะเป็นคำพูดสูงสุดศักดิ์สิทธิ์ใช้คำว่า พระธรรม แต่ไม่ใช่โอวาท มันเป็นคำสั่ง นี่เป็นเรื่องของกฎของธรรมชาติที่สำหรับบังคับสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไป นั้นถ้าถือตามคัมภีร์ไบเบิลนี้ก็พูดได้ว่า ก่อนที่สุดนั้นมีกฎของธรรมชาติ และธรรมชาติจึงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ นี้มันน่าหัวที่เขา ไอ้กฎนั้นแหละคือพระเจ้า คือ God น่าหัวที่ว่าไอ้เรามีคำว่า กฎ ซึ่งมีทำหน้าที่อย่างเดียวกับ God อาตมาเคยล้อพวกบาทหลวงเล่นว่า God ของคุณ ก็คือกฎของพุทธศาสนา ก็คือกฎของธรรมะ กฎของธรรมชาติ เพียงแต่ว่าเรามันออกเสียงสั้นไป มันจึงเหลือแต่ กฎ ไอ้คำนี้ถ้าออกเสียงยาวมันก็เป็น God God ของพวกคุณ เขาก็หัวเราะกันใหญ่ สรุปความว่า ทีแรกมันมีกฎ หรือ God แล้วแต่จะเรียก เรียกไอ้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไป ในธรรมะ ๔ ความหมายของเรา ความหมายที่ ๑ คือ ตัวธรรมชาติ สภาพธรรมชาติ ความหมายที่ ๒ คือ ตัวกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติทั้งหลาย แล้วก็หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นี่คือธรรมะที่จำเป็นจะต้องสนใจไม่อย่างนั้นจะต้องตาย ความหมายที่ ๔ คือ ผลที่เกิดมาจากการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ อาตมาได้บอกไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้วนี้ว่า ขอให้สนใจธรรมะ ๔ ความหมายนี้ไว้ แล้วต่อไปจะศึกษาธรรมะทั้งหลายทั้งหมดได้โดยสะดวกง่ายดาย ถ้าเรามีหลักที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ตายตัวอยู่ เป็นกฎ เป็นแกน ธรรมะมี ๔ ความหมาย คือ ตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลจากหน้าที่นั้น ฉะนั้นธรรมะ ที่ว่าเป็นกฎของธรรมชาตินั่น มันจะมีอยู่ก่อนธรรมชาติ แล้วก็บันดาลให้ธรรมชาติเกิดขึ้นและเป็นไป
ที่นี่หัวข้อของเรามีว่า ธรรมะกับชีวิต เราก็จะพูดถึงคำว่า ชีวิต ชีวิตนี้คืออะไร มันเกี่ยวกับธรรมะอย่างไร เพราะท่านให้หัวข้อว่า ธรรมะกับชีวิต ดูหัวข้อที่ตัวเองกำหนดไว้ให้ดีนะว่า ธรรมะและชีวิต อยู่เป็น ๒ เรื่องนะ ธรรมะและชีวิต เป็นสอง ๆ สิ่งอยู่ เดี๋ยวจะบอกให้ฟังว่ามันกลายเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะว่าชีวิตก็คือธรรมชาตินั่นเอง ดังนั้นธรรมะคือธรรมชาติ ชีวิตก็คือธรรมชาติ ฉะนั้นธรรมะกับชีวิตจึงกลายเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่ และ หรือ เพื่อ เราได้รับคำสอนในโรงเรียนมาตั้งแต่เล็ก ๆ ว่า ชีวิต แปลว่า ความเป็นอยู่ หรือความที่ไม่ตาย ความที่ยังไม่ตาย เรารู้มันเพียงเท่านั้นนะ เพราะเราเรียนในโรงเรียนที่เขามีการสอนเพียงเท่านั้นว่า ชีวิต คือ การเป็นอยู่ เมื่อยังไม่ตาย ก็เรียกว่า มีชีวิต แต่แล้วเราก็เห็นว่า ชีวิตที่เราเห็น ๆ อยู่ มันตายทั้งนั้นนี่ ชีวิตต้นไม้ก็ตาย ชีวิตสัตว์เดรัจฉานก็ตาย ชีวิตคนก็ตาย หรือชีวิตเทวดาในเมืองเทวดามันก็ตาย หรือแม้แต่ชีวิตของพวกพรหมในพรหมโลก มันก็มีเรื่องที่แสดงให้เห็นได้ยินอยู่ว่ามันก็ตายเหมือนกัน แม้ว่าจะอายุยืนมากเป็นกัลป์ ๆ มันก็ตาย นี่เราก็รู้เรื่องแต่ชีวิตที่มีการตาย ถ้ามีการตายมันก็ต้องไม่เรียกว่า ชีวิตจริง เป็นชีวิตชั่วคราว นี้ในทางธรรมะ ในทางพุทธศาสนานี่จึงมีอีกคำหนึ่งเรียก ชีวิตนิรันดร คือ สิ่งที่มีอยู่ได้เป็นนิรันดรโดยไม่ต้องแตกดับ เพราะมันไม่ได้เกิด แล้วมันก็ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วมันก็ไม่ได้ดับ ชีวิตนิรันดรนั้นยังไม่ได้เอามาสอนกันในหมู่เด็ก ๆ หรือในการเล่าเรียนในโรงเรียน มันมีอยู่แต่ในพระคัมภีร์ที่ชั้นลึกของพุทธศาสนา ต้องเรียนเรื่องนั้นโดยเฉพาะ คือที่เรียกว่า อมฤตธรรม อมตะธรรม ธรรมที่ไม่ตาย สิ่งที่ไม่ตายนั้นคือชีวิตนิรันดรที่ไม่รู้จักตาย นั่นคืออะไร นี้ยังต้องเรียนกันมาก พวกมหาเปรียญก็ไม่รู้ มักจะมีคนพูดกันว่าพอรู้อะไรหน่อยก็เรียกมหาเปรียญ พอรู้ธรรมะก็ถูกเพื่อนล้อว่าเป็นมหา นั้นมันคนโง่พูด พวกมหาไม่ได้เรียนธรรมนัก เขาเรียนบาลี เขาเรียนภาษาบาลี รู้ธรรมะก็ต้องเป็นนักธรรม ถ้าเป็นมหาเป็นเปรียญ รู้ภาษาบาลี รู้ภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่ามหาเปรียญแล้วจะรู้ธรรมะ ไม่ใช่ ไอ้รู้ธรรมะก็ต้องพวกนักธรรม เรียนธรรมโดยตรง พวกมหานี่เขาเรียนบาลี อย่าไปล้อกันผิด ๆ มันน่าขายหน้าพุทธบริษัทในเมืองไทย พูดอะไรก็ไม่ถูก ถ้าเป็นมหามันก็รู้บาลีมาก ถ้าเป็นนักธรรมมันก็รู้ธรรมะมาก ดังนั้นต้องเรียนธรรมะ ต้องรู้ว่านักธรรม แล้วต้องเรียนธรรมะเป็นนักธรรม จึงจะรู้เรื่องที่สูงสุด เช่น เรื่องชีวิตที่ไม่ตาย เป็นต้น ในชั้นนี้ขอให้เข้าใจเสียก่อนว่า ไอ้ชีวิตมันมีหลายชนิด และหลายชั้น แล้วก็มีลักษณะต่าง ๆ กัน ชีวิตชนิดหนึ่งอาจจะเป็นของชั่วขณะ ๆ ๆ ๆ คือชีวิตที่เป็นยืนพื้น บางทีเราก็เรียกว่า จิต บางทีผ่าไปเรียกว่า อายุ ก็มี พอสิ้นอายุก็คือสิ้นชีวิต พอดับจิตก็คือดับชีวิต มันใช้ปนเปกันหมด คำว่า อายุ ก็ดี คำว่า จิต ก็ดี แต่คำว่าชีวิตนี่เรามุ่งเอาความที่มันยังเป็นอยู่ มันไม่ตาย มันเป็นอยู่ชั่วคราวในขีดจำกัด ก็คือชีวิตธรรมดา ถ้าเป็นอยู่ตลอดไปไม่รู้จักดับ มันก็คือชีวิตนิรันดร นั้นการที่ตั้งหัวข้อให้ว่า ธรรมะกับชีวิตนั่นหมายถึงชีวิตชนิดไหนกัน จะต้องทำความเข้าใจกันก่อน แต่จริง ๆ มันมีอยู่ที่ปัญหาของเรา หรือปัญหาของเรา คนธรรมดาที่มันมีชีวิตชั่วคราวนี่แหละ มันเป็นทุกข์ มันมีปัญหา มันเกิดมีปัญหาในชีวิต เมื่อเราจะต้องการจะแก้ปัญหา หรือดับทุกข์ เราจึงหาสิ่งที่มันจะแก้ หรือ ดับ คือ ธรรมะ ธรรมะนี้เป็นเครื่องดับทุกข์ หรือว่าดับปัญหาของชีวิต เมื่อจะให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มันก็ได้แต่คนที่มีความทุกข์หรือมีปัญหาในชีวิตเท่านั้นแหละที่จะไปหาธรรมะ คนหนุ่มคนสาวที่ยังเป็นบ้าระเริง หลง ไม่รู้สึกทุกข์ ไม่รู้สึกปัญหา ก็ไม่ต้องการธรรมะ นั้นถ้าเราไปเอาธรรมะไปให้เขา เขาก็ด่าว่าไอ้เต่าล้านปีอีกตามเคย
พวกฝรั่งมาที่นี่มาก อาตมาก็ถามเขาทุกคนแหละว่า คุณมีความทุกข์ยังไงจึงมาหาธรรมะ หรือพุทธศาสนา เขาบอกว่า ไม่มี คุณมีปัญหาอะไรที่ว่าทำให้คุณลำบากใจ ก็ไม่มี ไม่มีทุกข์ ไม่มีปัญหา อาตมาบอกเชิญกลับ ๆ ที่นี่ไม่มีเรื่องจะพูดกับคุณผู้ไม่มีความทุกข์และไม่มีปัญหา เขาทำหน้าบูด หน้าเบ้ไปตามเรื่องเขา เขาก็ว่า เขาจะหาความรู้เผื่อไว้ เผื่อ ๆ ไว้เป็นความรู้รอบตัว แล้วก็บอกว่า ไม่ได้หรอก ไอ้ธรรมะแท้จริงของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ความรู้เผื่อเลือก เผื่อไว้อย่างนั้นหรอก มันเป็นความรู้ที่จะมีปัญหาและมีความทุกข์สำหรับจะดับ นี่อยากจะบอกเล่าให้ฟังว่ามันเป็นอย่างนี้ ๘ คนใน ๑๐ คน ไม่มีปัญหา เรียกได้ว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ของพวกฝรั่งที่เขามา ๆ กัน เขาไม่มีปัญหา เขาไม่มีความทุกข์ แล้วจะมาศึกษาพุทธศาสนาให้เสียเวลาทำไม เพราะว่าพุทธศาสนาที่แท้จริงมันต้องดับทุกข์และดับปัญหา ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนาหรอก หรือว่าเป็นพุทธศาสนาเฟ้อ ธรรมะเฟ้อ ธรรมะเกิน ป่วยการ ธรรมะแท้จริงต้องดับปัญหา ต้องดับความทุกข์ นั้นเมื่อชีวิตมันมีปัญหา ชีวิตมันมีความทุกข์จึงค่อยมาหาธรรมะ หรือพุทธศาสนาสำหรับดับทุกข์ ดังนั้นคนหนุ่มคนสาวทั้งหลาย ขอให้สังเกตตัวดูให้ดี ถ้าไม่มีรู้สึกว่าเป็นทุกข์ หรือมีปัญหา มันก็ไม่รู้จะเอาธรรมะไปทำไม หลงระเริงกันไปตามเรื่องของตัวไปก่อนก็ได้ จนกว่าจะรู้สึกว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น มีความทุกข์อะไรเกิดขึ้น ฉะนั้นเราควรจะดูตัวเองว่า เดี๋ยวนี้เราเป็นอย่างไร เราเป็นสุขแล้วหรือยัง เราดับทุกข์แล้วหรือยัง ถ้าเรายังมีอะไรที่เป็นทุกข์ทรมานจิตใจอยู่ เรียกว่ายังมีความทุกข์แหละ นั่นจึงจะต้องการธรรมะ
คนสมัยนี้เขาไม่รู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องมีธรรมะดับทุกข์ในใจ เพราะว่าเขามีเหล้า มีอะไรอบายมุขทั้งหลายเพื่อจะดับทุกข์ เรื่องทางเพศ เรื่องทางกามารมณ์อะไรก็ดับทุกข์ หรือเขาไปเที่ยวเสียก็ดับทุกข์ เขากินเหล้าเสียก็หายทุกข์ เขาคิดไปในทำนองนั้น มันก็เลยเป็นผู้ที่ไม่ชอบธรรมะ แม้ว่าธรรมะจะดับทุกข์ได้จริง เขาก็ไม่ถือว่าธรรมะจะต้องดับทุกข์อย่างของเขา เพราะว่าเขามีทางดับทุกข์ของเขาอย่างอื่น ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่า มันดับไม่ได้ เขาก็ต้องไปฆ่าตัวตายอยู่บ่อย ๆ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สมัยนี้ อาจจะทำให้ฝรั่งพวกนักวิทยาศาสตร์คิดว่าเขาทำยาเป็นเม็ด ๆ กินเข้าไปเม็ด สองเม็ด แล้วเขาก็หายความรู้สึกที่เป็นทุกข์ได้ เขาไม่เคยสนใจธรรมะ จะสนใจไปทำไม แต่ขอให้ดูเถอะว่า จะทำยาเม็ดกินแล้วดับความรู้สึกที่เป็นทุกข์ในใจมันก็คงได้ แต่มันคงประเดี๋ยว ๆ เท่านั้นเอง แล้วมันก็กลับไปมีความทุกข์อีก ฉะนั้นเราควรจะมีอะไรที่ดีกว่านั้น ขอให้ดูที่ความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ ก็ไม่ต้องพูดกันให้เสียเวลา ฉะนั้นขอไปดูให้เห็นว่า มันมีความทุกข์หรือไม่ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เป็นปัญหากับเราหรือไม่ เรายังมีความทุกข์เพราะการดำรงชีวิต หรือเกิดอยู่ นี่ก็เรียกว่าทุกข์ ความเจ็บไข้ทำให้เราเป็นทุกข์ ก็ต้องเรียกว่ามีความทุกข์ ปัญหาเกี่ยวกับความแก่ ๆ ๆ ก็มีปัญหามาก ก็เป็นความทุกข์ ความตายที่ยังไม่มาถึง เราก็กลัว เราก็ไม่อยากตาย พอมีอะไรแสดงว่าจะต้องตาย เราก็เป็นทุกข์ ศูนย์กลางมันอยู่ที่ตัวเรา มันมีความรู้สึกว่าตัวเรา ถ้ามันแสดงท่าว่า จะไม่ได้อย่างที่เราต้องการ เราก็เป็นทุกข์ นี่คือปัญหา ถ้าใครไม่มีความทุกข์เลยด้วยประการทั้งปวงในปัญหาเหล่านี้แล้ว ก็ ก็ไม่ต้องศึกษาพุทธศาสนาแหละ เพราะพุทธศาสนามีอย่างเดียวแต่ที่จะดับทุกข์หรือจะเรียกว่าปัญหาก็ได้ เพราะสิ่งที่เรียกว่าปัญหานั้น ทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก เป็นทุกข์ ทรมานเหมือนกัน มันแทนกันได้ คำว่าความทุกข์ก็ดี คำว่าปัญหาก็ดีหรือคำอื่น ๆ อีกหลายคำมันแทนกันได้กับคำว่าความทุกข์ ที่นี้ความทุกข์ มันเป็นทุกข์ที่กาย ทางกาย เกี่ยวกับกาย เกี่ยวกับวัตถุก็มี เช่น ร่างกายมันเปลี่ยนไป มันเจ็บป่วยขึ้นที่ร่างกาย ให้ความทุกข์ทางใจไม่เกี่ยวกับร่างกายก็มี ความทุกข์ทุกข์ทางสติปัญญา ความคิดความเห็น ที่ไปคิดไปเห็นอะไรอย่างหนึ่งเข้าแล้วทำให้เป็นทุกข์อย่างนี้ก็มี ดังนั้นจึงมีความทุกข์ทั้งทางกายและทางจิต ทางจิตนี้ก็แบ่งได้เป็น ๒ ฝ่าย ไอ้จิตที่เนื่องอยู่กับกาย ก็เป็นความทุกข์กาย เหมือนคนบ้าส่งโรงพยาบาล นั้นเป็นเรื่องทางกาย ระบบประสาท ระบบสมอง เป็นความทุกข์ทางกาย ความทุกข์ทางจิต นั่นเกี่ยวกับจิต นั่นไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ หรือว่าสติปัญญา ความคิดความเห็น ความเข้าใจมันผิด แล้วมันเป็นทุกข์เพราะความเห็นผิดนั้น นี้ก็มี แปลว่าไอ้ความทุกข์นี่มันมีหลายชั้นเชิง หลายขนาด ยากที่จะกวาดล้างออกไปให้หมดสิ้นได้ ถ้าใครสามารถกวาดล้างความทุกข์ให้หมดสิ้นไปทุก ๆ ประการ โดยไม่มีส่วนเหลือ คนนั้นก็เป็นพระอรหันต์ ดังนั้นขอให้คนหนุ่มคนสาวอย่าได้เอาคำว่าพระอรหันต์มาล้อเลียนเลย เธอยังไม่รู้จักพระอรหันต์ มันก็ไม่จำเป็น มันก็บาปโดยที่ไม่ต้องรู้ว่ามันเป็นบาป จงถือเอาตามหลักตรง ๆ ว่า ถ้ามีความทุกข์ก็เป็นคนธรรมดา แม้จะเป็นเทวดาก็เป็นคนธรรมดาเพราะมีความทุกข์ เป็นพรหมก็เป็นคนธรรมดาเพราะมีความทุกข์ แต่ถ้าหมดทุกข์สิ้นเชิงก็เป็นพระอรหันต์ ดังนั้นเราไม่เคยเป็นเราก็ไม่รู้ จึงขอร้องว่าอย่าเอามาล้อเลียน มันจะโง่ลึกเข้าไปอีก มันจะบาปหนายิ่งขึ้นไปอีก อย่าเอาธรรมะมาล้อเลียน
ที่นี้ก็มาดูว่า ชีวิตนี่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งนะ ไอ้ร่างกาย ส่วนประกอบของร่างกาย ละเอียดลงไปถึงเป็นอณู เป็นปรมาณู มันก็เป็นธรรมชาติ ฉะนั้นชีวิตทางกายที่ยังไม่ตายนี้ก็เป็นธรรมชาติ แม้จะผิดธรรมดาอย่างไร ก็ยังเป็นธรรมชาติ มันจะไปอยู่ในรูปที่ผิดธรรมดาอย่างไรมันก็ยังเป็นธรรมชาติ สมมติว่าคน ๆ หนึ่งเผอิญมันมาเกิดมีหัวมาสิบหัว อย่างนี้มันก็ผิดธรรมดา แต่มันก็ยังเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติอยู่นั่นแหละ ดังนั้นตัวชีวิตก็คือตัวธรรมชาติ คิดดูให้ดี เพราะมีคำว่าธรรมชาติ และกฎของธรรมชาติ และหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นชีวิตทั้งกายทั้งใจไม่เป็นอะไรได้ นอกจากเป็นธรรมชาติ ดังนั้นชีวิตก็คือธรรมชาติ นี่รู้ชีวิตว่าคือธรรมชาติ เป็นเพียงธรรมชาติ สักว่าเป็นธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ชีวิตนี้เป็นธรรมชาติ ชนิดที่มีเหตุมีปัจจัย แล้วก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ ที่เห็นได้ง่าย ๆ ในชั้นหลัง ๆ นี่เราก็มีบิดามารดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นได้ด้วยน้ำนม ข้าวต้ม ขนม รอดอยู่ได้ด้วยการรักษาบริหารให้ถูกวิธีจึงรอดชีวิตอยู่ได้ นี่ดูอย่างนี้แล้วก็จะเห็นว่าชีวิตนี้มันเป็นของเปราะ หรือกรอบแกรบเต็มที ตายเมื่อไรก็ได้ ตายได้ง่าย ๆ เป็นส่วนที่ชีวิตที่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เป็นอย่างนี้เอง แล้วก็เป็นตัวธรรมชาติ ซึ่งกำลังเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ร่างกายเราก็ดี จิตของเราก็ดี เป็นธาตุตามธรรมชาติ นี้บางคนจะไม่เคยได้ยิน เพราะในโรงเรียนไม่ได้สอน มีสอนอยู่ในเรื่องของธรรมะว่าคน ๆ หนึ่งประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ ฉ ธาตุโร ภิกฺขเว อยํ ปุริโส(นาทีที่0.26.31.7) คนเรานี้ประกอบอยู่ด้วยธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ นี่คือชีวิต ระวังให้ดีเถอะคน ๆ หนึ่งประกอบด้วยธาตุ ๖
ธาตุดิน คือ สิ่งหรือสภาวะที่มันเป็นของแข็ง กินเนื้อที่ เห็นได้ที่หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก กระดูกนี้มันเป็นของแข็งกินเนื้อที่ คุณสมบัติของความเป็นของแข็งกินเนื้อที่ เรียกว่า ธาตุดิน ทีนี้คุณสมบัติที่อ่อนตัวได้ แต่มีการเกาะกุมที่รวมตัวกันเรื่อย หรือทำให้สิ่งที่เป็นส่วนประกอบนั้นมารวมตัวกัน ก็เรียกว่าคุณสมบัติแห่งการเกาะกุม เรียกว่า ธาตุน้ำ น้ำมันจะกระโดดเข้าหากันเสมอ เพราะมันมีคุณสมบัติเกาะกุม เรียกว่า Cohesion Cohesion คำที่ใช้ในภาษาวัตถุ ลักษณะที่มันมีการทำการเกาะกุม เราเรียกว่า ธาตุน้ำ ในร่างกายนี้เห็นได้ที่เลือด ที่หนอง น้ำตา น้ำมูก อะไรก็ตามที่มันเป็นของเหลว มีลักษณะเกาะกุม ให้ส่วนต่าง ๆ ทุกส่วน ทุกอณูมันเกาะกุมกันอยู่ กับธาตุอันนี้ นี่เราเรียกว่า ธาตุน้ำ
ทีนี้ ธาตุไฟ คือ ร้อนหรือเผาไหม้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความร้อนในร่างกาย ให้เกิดความเผาไหม้ เผาอาหาร เผาอะไรก็ตามให้สิ้นไป อะไรให้สิ้นไป ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติอันนี้ เราเรียกว่า ธาตุไฟ ไฟที่ทำให้กายร้อนอุ่นอยู่ ไฟที่ทำให้อาหารย่อยไป ในลักษณะแห่งการแผดเผา นี้เรียกว่า ธาตุไฟ นี้ ธาตุลม คือ คุณสมบัติแห่งการลอย เพราะการขยายตัวออกเรื่อยไป นั่นก็คือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า Gas มันขยายตัวเรื่อยไป แล้วมันก็เคลื่อน ๆ ๆ คุณสมบัติแห่งการเคลื่อนนี้เรียกว่า ธาตุลม ดูได้จากลมหายใจ หรือว่า ไออุ่นแก๊สอะไรต่าง ๆ นี่มันเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ นี่เรียกว่า ธาตุลม
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม 4 ธาตุนี้เป็นส่วนร่างกาย แล้วมีธาตุอีกธาตุหนึ่งคือ ธาตุวิญญาณ นี่เป็นธาตุจิตนี้ไม่ต้องมีตัว จะมีคุณสมบัติรู้สึกได้ คิดนึกได้ ต่อเมื่อธาตุนั้นเข้ามารวมอยู่ในธาตุกาย ร่างกาย แล้วก็จะเกิด มันจะทำหน้าที่ของมันได้ คือ รู้สึกได้ คิดนึกได้ นี่เรียกว่า ธาตุวิญญาณ เรามีร่างกายส่วนที่เป็นมันสมองเป็นต้น กระดูกไขสันหลังเป็นต้น เป็น Office ให้ไอ้วิญญาณธาตุ นี่มันทำหน้าที่ของมันได้ ดังนั้นเราจึงรู้สึกได้ คิดนึกได้ อะไรได้เพราะอำนาจของวิญญาณธาตุที่ ๕
ทีนี้ธาตุที่ ๖ อันสุดท้ายเรียกว่า อากาศธาตุ คือ ที่ว่าง ช่องว่าง ความว่าง นี่ดูความคิดของคนโบราณ นี่เขาถือว่าไอ้สภาวะว่างนั่น เป็นสิ่งในตัวมันเองอันหนึ่งเหมือนกัน เรียกว่า ธาตุว่าง เพราะมีธาตุว่าง เพราะมีความว่างนี่มันจึงให้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อะไรมาอาศัยอยู่ได้ และให้ วิญญาณธาตุ ทำงานได้ ถ้าไม่มีที่ว่างหรือไม่มีสภาวะว่าง ไอ้สิ่งต่าง ๆ มันก็ไม่มีที่อยู่ มันอยู่ไม่ได้ นี่ไอ้ธาตุนี้ก็รู้จักไว้ให้ดีนะ ไอ้ธาตุว่าง ที่ว่างนี่สำคัญมาก ถ้ามันเต็มตันไปเสียหมด มันก็ไม่มีอะไรอยู่ได้หรือเกิดขึ้นได้ ดังนั้นในโลกนี้ ในบรรยากาศของเรานี้ต้องมีที่ว่างให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความว่าง ธาตุว่างจึงเป็นเสมือนพื้นฐานให้สิ่งต่าง ๆ ตั้งอยู่บนนั้น เหมือนกับถ้วย ชาม แก้วน้ำอย่างนี้ เพราะมันมีที่ว่าง มันจึงมีประโยชน์ ถ้าแก้วน้ำ ถ้วย ชามมันตัน มันไม่มีที่ว่าง กลวงแล้วมันจะใช้ประโยชน์อะไรได้ เพราะมันมีที่ว่าง เพราะมันกลวงตรงนั้นแหละมันจึงมีประโยชน์ แก้วน้ำใช้ใส่น้ำได้ ชามใช้ใส่แกงได้ คุณสมบัติว่างอย่างนี้เรียกว่า ธาตุว่าง อากาศธาตุ รวมกันแล้วเป็น ๖ อย่าง ๖ ธาตุนี้ รวมกันเป็นชีวิต เราทุกคนกำลังมีการประชุมพร้อมแห่งธาตุทั้ง ๖ นี้ เราจึงมีชีวิตอยู่
สิ่งที่เรียกว่าชีวิตก็เป็นธาตุที่ลึกลับบอกไม่ถูก แต่ว่าถ้าไอ้ ๖ ธาตุนี้มันรวมกันได้ชีวิตก็มีอยู่ เป็นอยู่ ชีวิตก็เรียกว่าธาตุได้ แล้วยังมีอื่น ๆ อีกเยอะอีกมากมายที่เรียกว่าธาตุทั้งนั้นแหละ พุทธศาสนาเขาจะเรียกว่า ธาตุ ทั้งนั้นแหละ ความคิดความนึกก็เรียกว่า ธาตุ ความรู้สึก ความจำ ความสุข ความทุกข์อะไรเรียกว่า ธาตุ ไปหมด แต่ที่มันเป็นชีวิตของเราโดยตรงก็คือ ๖ ธาตุที่ว่านั้น ฉะนั้นเรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต คือ ธาตุทั้ง ๖ นั้นมารวมกันเข้าเป็นคน ๆ หนึ่ง ชีวิต อะไรที่มันเป็นธาตุนั้นคือตัวธรรมชาติ ที่กฎของธรรมชาติทำให้มันรวมกันเข้าอยู่เป็นไอ้กลุ่มได้ แม้จะรวมกันเป็นกลุ่มแล้วก็ยังเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง แม้จะเป็นชีวิตชนิดไหน มันก็ยังคงเป็นธรรมชาติ นั้นชีวิตก็คือธรรมะ คือ ธรรมชาติ นี่ที่บอกเมื่อตะกี้นี้ว่าคอยฟังให้ดีว่า ไอ้ชีวิตกับธรรมะจะกลายเป็นสิ่งอันเดียวกัน ไม่ต้องมี ๒ สิ่ง ว่า ธรรมะ และ ชีวิต เพราะว่าไอ้ชีวิตนี่เป็นสิ่งเดียวกันกับไอ้ธรรมะที่เรียกว่า ธรรมชาติ
ที่นี้ธรรมะไหนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต ให้ชีวิตเจริญเป็นสุข ก็คือธรรมะในความหมายที่ ๓ คือว่า หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ คือธรรมะ นี่ต้องมีธรรมะกับชีวิต ชีวิตคือตัวธรรมชาติในความหมายที่ ๑ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติในความหมายที่ ๒ แล้วมันต้องมีธรรมะในความหมายที่ ๓ คือ หน้าที่ที่เขาจะต้องกระทำ แล้วชีวิตนั้นก็จะรอดอยู่ได้และเจริญต่อไป นี่เรียกว่า หน้าที่ ช่วยจำไว้สั้น ๆ ว่าไอ้ชีวิตต้องมีหน้าที่ ธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เป็นชีวิตต้องมีหน้าที่ ให้ถูกต้องในธรรมะที่เป็นหน้าที่ มิฉะนั้นมันจะตาย ชีวิตสัตว์ ไอ้ชีวิตต้นไม้ ก็เห็นได้ว่ามันต้องมีหน้าที่ ไอ้ต้นไม้ก็ต้องมีหน้าที่ ดังนั้นมันจึงดิ้นรน มันต้องหาน้ำกิน ต้องหาอาหารกิน ต้องหาแสงแดด ต้องยื่นใบออกไปรับแสงแดด ถ้ามันอยู่ข้างใต้มันยิ่งโผล่ขึ้นไปให้สูงให้พ้นเพื่อรับแสงแดด ถ้าทิศนี้บังแดด มันยื่นไปทางทิศที่มีแสงแดด นี่เรียกว่าแม้มันจะเป็นต้นไม้มันก็มีหน้าที่ที่จะต่อสู้เพื่อชีวิต ดังนั้นต้นไม้นั้นจึงรอดอยู่ได้ มีหน้าที่ออกดอก ออกลูก เป็นการสืบพันธุ์ไว้ อย่าให้สูญเสียไปเสีย นี่หน้าที่ แม้แต่ชีวิตต้นไม้ ชีวิตสัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน มันก็ต้องทำหน้าที่ มันจึงรอดชีวิตอยู่ได้ มันก็ต้องหากิน แล้วต่อสู้ ป้องกันชีวิต ทำรูทำรัง ทำอะไรอยู่ตามธรรมชาติของไอ้สัตว์ ชีวิตระดับสัตว์ ถ้าไม่ทำหน้าที่นี้มันก็ตายแหละ นี่มาถึงคน มันก็ต้องทำหน้าที่ให้รอดชีวิตอยู่ได้ เป็นลูกแดง ๆ พ่อแม่ต้องช่วยคุ้มครอง พอโตขึ้นมาแล้วก็เป็นหน้าที่ของตัวเอง ที่จะรับผิดชอบต่อสู้ให้ชีวิตรอดอยู่ได้ นั้นต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตรอดอยู่ได้ ที่เรามันมองข้ามไม่สนใจ จึงไม่รู้จักธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ เราต้องหาอาหาร เราจึงมีอาหารกิน แล้วรอดชีวิตอยู่ได้ เหมือนที่เราศึกษาเล่าเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพ ก็เพื่อที่ได้เงินมาซื้อหาอาหารปัจจัยแรกสำหรับชีวิตรอดอยู่ได้ ดังนั้นจึงต้องหาอาหารกิน เพื่อให้ชีวิตพัฒนาต่อ มากไปกว่านั้นก็ต้องทำนั่นทำนี่ให้ชีวิตมันพัฒนา เพราะรอดชีวิตอยู่เฉย ๆ มันไม่น่าดู มันไม่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่าคนเราสักว่ามีชีวิตรอดอยู่เฉย ๆ มันก็ไม่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นเราต้องพัฒนาตามแบบชีวิตคน ให้ไปไกลให้มีประโยชน์ มีคุณค่าสูงมากขึ้นไป นี่เป็นหลักใหญ่ว่า หน้าที่ทำให้รอดอยู่ได้ หน้าที่ทำให้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าจะถึงสูงสุด นี่คือหน้าที่ ส่วนหน้าที่ปลีกย่อยนั้นไม่ไหวมากมายเหลือเกิน จะต้องรับประทานอาหาร จะต้องรับประทานน้ำ จะต้องถ่ายอุจจาระ จะต้องถ่ายปัสสาวะ จะต้องอาบน้ำ จะต้องบริหารร่างกาย หลายอย่างหลายประการ ต้องทำทุกอย่างให้ชีวิตมันพอสบายอยู่ได้ แล้วก็ให้มันรอดอยู่ได้ นี่ก็เรียกว่าหน้าที่เหมือนกัน ไอ้หน้าที่นี้ต้องทำ ถ้าไม่ทำมันก็ตาย นั่นแหละมันจึงเกิดปัญหาขึ้นมาว่า ไอ้การทำหน้าที่ทั้งหลายนี้มันยุ่งยากลำบากและเป็นทุกข์ เราจึงมีความรู้สำหรับจะทำให้มันไม่เป็นทุกข์ จะมีชีวิตอยู่อย่างที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่คือคนฉลาด พระอริยะเจ้าต้องการจะมีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์ ไอ้คนธรรมดาเขาไม่คิดถึงเรื่องนี้ เขาจะหาแต่ความเพลิดเพลิน สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ก็ช่างหัวมัน ถือคติอย่างนั้น นี่คือคนธรรมดา ถ้าพระอริยะเจ้า ท่านก็มุ่งหมายในทางที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ จึงมีเรื่องที่ต้องศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติ ให้มันรอดชีวิตอยู่โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ คือ การทำให้ถูกต้องในฝ่ายจิตใจ แม้ว่าจะต้องทำการทำงานตามธรรมดาสามัญทั่วไป แต่จิตใจไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว ไอ้การทำการงานนั้นจะเป็นทุกข์ คือ มันไม่สนุก มันลำบาก มันเหนื่อย คนจึงไม่ชอบทำงาน ชอบเรียนลัด ขโมย โกง คอรัปชั่น ก็เพื่อจะไม่ต้องลำบากในการทำงาน แล้วมันรอดไปได้เมื่อไร เอ้า,ให้มันโกง ให้มันคอรัปชั่น ในที่สุดมันก็ต้องเผชิญปัญหาอันอื่นที่จะเป็นความทุกข์ หรือทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นอย่าไปรวย อย่าไปคิดลัด เรียนลัดทางนั้นเลยมันไปไม่รอด มาทำให้ตรง ๆ ที่มันจะดับทุกข์ได้ตรง ๆ ดีกว่า ก็คือ การทำรู้จักทำจิตใจให้ถูกต้อง ไม่ต้องเป็นทุกข์ เรารู้สึกเป็นทุกข์เพราะเราดำรงจิตใจไว้ผิด เราจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์ ก็ต่อเมื่อเราดำรงจิตใจไว้ถูก ฉะนั้นเราจะมาศึกษาวิธีทำดำรงจิตใจไว้ให้ถูก เพื่อไม่ต้องเป็นทุกข์ นั่นแหละคือธรรมะ ที่เป็นหน้าที่ที่จะช่วยดับทุกข์ ถ้ามาศึกษาธรรมะกันก็ขอให้เข้าใจว่า ธรรมะในความหมายนี้ คือ หน้าที่ที่จะต้องทำไม่ให้เกิดความทุกข์ ดำรงกาย ดำรงวาจา ดำรงจิตไว้ในลักษณะที่ถูกต้อง ไม่เกิดความทุกข์ นั่นคือธรรมะที่ควรแสวง อย่างที่ท่านทั้งหลายแสวง ก็หมายถึงธรรมะในความหมายนี้ ดังนั้นจงแสวงให้พอ สำหรับที่จะไปมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์
ชาวนา ชาวสวน กรรมกร อะไรก็ตาม คนหนึ่ง เขาทำงานหนักอยู่ ตามธรรมดาของไอ้คนจน ถ้าเขาไม่ดำรงจิตใจให้ถูกต้อง ไม่มีความคิดจะตั้งจิตใจไว้ถูกต้อง เขาจะเป็นทุกข์มาก เขาจะโกรธโชคชะตา เขาจะด่าผี ด่าสาง เขาจะอาละวาด และเป็นทุกข์ นี่ประหนึ่งเขามีธรรมะ เขารู้จักดำรงจิตใจ ตั้งจิตใจไว้ให้ถูกต้อง เขาก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ แม้จะอาบเหงื่ออยู่กลางแดดเปรี้ยง ๆ ทำงานตลอดวัน เขาก็ไม่เป็นทุกข์ ไอ้คนชนิดนี้ ที่คนที่ไม่มีธรรมะแล้ว แม้ไม่ถึงขนาดนั้นมันก็เป็นทุกข์ อาตมาเคยเห็นไอ้คนขับรถยนต์แท็กซี่คนหนึ่ง มันบ่นมันด่าอะไรอยู่ไม่รู้ตลอดเวลาเลย คือ ชีวิตของมันเลวที่สุด มันจึงด่าอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องมีใคร มันก็ด่าชีวิตของมันเอง แสดงว่ามันกำลังมีนรกหมกไหม้อยู่ในจิตใจ ขับรถแท็กซี่ไปพลาง นี่เพราะเขาไม่รู้จักดำรงจิตใจไว้ให้ถูกต้อง เขาก็เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เรามันไม่สามารถจะทำอะไรเหมือนกันได้ คนฉลาดน้อยก็มี คนฉลาดมากก็มี เราก็ต้องแบ่งงานกันทำ เป็นชาวนา ชาวสวน เป็นกรรมกร เป็นถีบสามล้อ เป็นแจวเรือจ้าง เป็นล้างท่อถนน กวาดถนน ไปตามเรื่อง มันทำได้เพียงเท่านั้น มันก็ทำ แต่อย่าเป็นทุกข์ก็แล้วกัน เมื่อไม่เป็นทุกข์ แล้วก็เหมือนกับเศรษฐีที่มีสมบัติมหาศาลนอนอยู่บนวิมาน มันก็ไม่เป็นทุกข์ เรารู้จักทำจิตใจไม่ให้เป็นทุกข์ แต่เขาไม่สนใจ เขาจะด่าตัวเอง เขาจะด่าโชคชะตาวาสนา เขาคิดแต่จะไปฆ่านายทุนเสียให้หมด ความร่ำรวยจะไหลมาหาเขา เขาก็จะได้นอนสบายบ้าง เขาก็คิดกันอย่างนี้ นั่นเขาไม่เอาไอ้ความถูกต้องในชั้นแรกว่า เราจะดำรงจิตใจไว้ให้ถูกต้อง เราไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเขาไม่มีธรรมะสำหรับชีวิตในแบบของเขา ในระดับของเขา เขาก็ต้องเป็นทุกข์ นี่ขอให้ดูให้ดี แม้จะสูงขึ้นมา มีอาชีพเป็นครูบาอาจารย์ได้เงินมากกว่ากรรมกรเหล่านั้น ถ้าดำรงจิตใจไว้ไม่ถูกต้อง มันก็ต้องเป็นทุกข์แหละ ด้วยความห่วง ความวิตกกังวล ถ้าเลยไปกว่านั้นมันก็บังคับตัวไว้ไม่ได้ มันก็ไปทำอบายมุขจนเงินเดือนไม่พอใช้ นี่เดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์ ก็มีอบายมุขครบ ๖ กันได้มากขึ้น ๆ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน ครูบาอาจารย์ก็มีอบายมุขครบ ๖ แล้วมันจะเยือกเย็นเป็นสุขได้อย่างไร เพราะอบายมุขมันดึงลงไปในอบาย จึงมีเหมือนกับนรก ร้อนใจอยู่เสมอ นี่คือไม่มีธรรมะ ไม่ดำรงกายวาจาใจไว้ในลักษณะที่ถูกต้องมันก็เป็นทุกข์ ชีวิตนั้นมันก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเราดำรงไว้ถูกต้อง ไม่ต้องเป็นทุกข์ เขามีความเข้าใจว่า ถ้าไม่สนุกสนาน เอร็ดอร่อย หัวหกก้นขวิด เขาไม่พอใจ เขาไม่เรียกว่าความสุข เขาไม่ชอบ นี่หมายความว่าเขาไม่รู้ว่าไอ้ชีวิตนี้มันจะมีความสุขร้อนก็ได้ มีความสุขเย็นก็ได้ เขาไปหาความสุขทางกามารมณ์ทางอะไรเหล่านั้นมันก็เป็นความสุขร้อน ถ้าเขาไปหาความสุขเป็นธรรมะก็มีความสุขเย็น
ฉะนั้นดูให้ดี ๆ ไอ้ความสุขชีวิตนี้ มีทั้งชนิดเย็นและชนิดร้อน เหมือนกับนรกทั้งเป็นชนิดร้อน เยือกเย็น เป็นนิพพาน นี่เรียกว่า มันชีวิตเย็น ไอ้ความสุขร้อน ชีวิตร้อน ต้องใช้เงินมาก ความสุขชนิดร้อน ชนิดกัดเจ้าของ ต้องเสียเงินแพง ๆ ไปซื้อมันมา ไอ้ความสุขเย็น สงบเย็น ไม่กัดเจ้าของนั้นจะไม่ต้องใช้สตางค์เลยก็ได้ ไม่ต้องซื้อมา เพราะมันประพฤติกระทำเอาด้วยการดำรงจิตให้ถูกต้อง แต่นี่เดี๋ยวนี้ คนเกือบจะทั้งบ้านทั้งเมืองมันชอบความสุขร้อน ไปซื้อหาจนเงินเดือนไม่พอใช้ นี่ จนต้องกู้หนี้ พวกครูนี่ กู้หนี้ของสหกรณ์ แล้วเป็นหนี้อะไรไม่รู้จนหนี้ท่วมหัวเหมือนกัน พวกครูนี่อาตมาลองสอบถามดู ครูบางคนเป็นหนี้สหกรณ์ครูบ้าง เป็นหนี้นั่นบ้าง เป็นหนี้ท่วมหัว เหมือนตกอยู่ในนรกแหละ เราควรจะจัดชนิดที่ไม่ต้องมีไอ้ชีวิตร้อน ไม่ต้องมีความสุขร้อน มีแต่ความสุขเย็น นั่นแหละธรรมะแหละ ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว เราอาจจะพบความสุขเย็น เป็นได้โดยไม่ยาก ไม่สร้างความยุ่งยากในข้อที่ว่าเงินเดือนไม่พอใช้ เพราะว่าความสุขเย็นมันไม่ต้องการใช้เงิน ไม่ต้องเอาเงินซื้อ ไม่ต้องลงทุนด้วยเงิน ไม่เหมือนความสุขร้อน ขอให้ไปสนใจว่านั่น ธรรมะสำหรับชีวิต
ธรรมะที่เป็นหน้าที่ที่ถูกต้องของชีวิต ชีวิตจะต้องมีธรรมะชนิดนั้น นี่พอว่ามาถึงไอ้ความหมายที่ ๓ ไอ้ชีวิตกับธรรมะก็แยกกันได้ ถ้าพูดโดยความหมายที่ ๑ ธรรมคือธรรมชาติแล้ว ไอ้ชีวิตกับธรรมะเป็นสิ่งเดียวกัน ธรรมะก็ธรรมชาติ ชีวิตก็ธรรมชาติ ธรรมชาตินั่นเองคือชีวิต นี่ความหมายที่ ๑ ชีวิตกับธรรมะคือสิ่งเดียวกัน ชีวิตนี้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันจึงเกิดหน้าที่ เกิดหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามธรรมชาติ ไอ้หน้าที่นั้นก็คือธรรมะ ต้องไปมีกับชีวิตให้ถูกต้อง แล้วธรรมะมีแล้ว ไอ้ชีวิตนั้นก็จะสงบเย็น นี่คือธรรมกับชีวิต ถ้าแยกออกเป็น ๒ สิ่ง ก็ต้องแยกกันอย่างนี้ เพราะเหตุว่าคำว่าธรรมะมันมีความหมายกว้างอย่างที่พูดมาแล้วเมื่อคืน คำว่าธรรมะนี่มีความหมายนับไม่ไหว แล้วก็ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ คือธรรมชาติ ดังนั้นเราเลือกธรรมะคือธรรมชาติใน ๔ ความหมายนี้ไว้สำหรับเป็น หรือเดิมพัน สำหรับศึกษาธรรมะทั้งหลาย โดยสะดวกดาย นี่อาตมาเห็นว่า นี่เป็นหลักสำคัญสำหรับหัวข้อที่ตั้งขึ้นมาว่า ธรรมะกับชีวิต
ไอ้ธรรมะก็คือชีวิต แล้วก็มีธรรมะอีกส่วนหนึ่ง อีกความหมายหนึ่งคือ หน้าที่ของชีวิต ชีวิตต้องทำหน้าที่ของมันให้ถูกต้อง จนไม่มีปัญหาแล้วชีวิตนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ เอาละนี่พูดกันว่าชีวิตธรรมดา ชีวิตที่เห็นอยู่ว่ามันต้องตาย ไม่ใช่ชีวิตชนิดนิรันดร ถ้าจะเข้าใจชีวิตนิรันดร เราก็ต้องพูดกันไปอีกแนวหนึ่ง คือให้ไกลออกไปอีกถึงชีวิตนิรันดร คือดูเหมือนไอ้คำถามหรือว่าหัวข้อของไอ้คำบรรยายนี้ตั้งมาเป็นคำถามให้กับชีวิตธรรมดา คือ ชีวิตที่ต้องตาย มีการตายเป็นธรรมดา เมื่อยังไม่ตายก็เรียกว่ามีชีวิต แล้วไม่เท่าไรก็จะตาย พออายุมันครบเข้ามันก็ต้องตาย ต้นไม้ก็ต้องตาย สัตว์เดรัจฉานก็ต้องตาย คนก็ต้องตาย เทวดาก็ต้องตาย พรหมก็ต้องตาย นี่ชีวิตที่มันต้องตาย ก็มีหลักการหรือมีความจริง มีสัจจะ มีอะไรของมันรูปแบบหนึ่งสำหรับชีวิตที่ต้องตาย เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติที่ต้องอาศัยเหตุ อาศัยปัจจัย ปรุงแต่ง เช่น มีธาตุทั้ง ๖ ปรุงแต่ง ต้องมีปัจจัยแวดล้อมให้มันปรุงแต่ง แล้วก็ต้องเลี้ยงดูมันด้วยอาหาร ด้วยการบริหาร แล้วมันก็เสื่อมไป ๆ ตามกฎของธรรมชาติ จนปรุงแต่งอย่างไรก็ปรุงแต่งไม่ไหว บำรุงอย่างไรก็บำรุงไม่ไหว แล้วมันก็ต้องตาย มันจะมีอายุ สิบปี ร้อยปี พันปี หมื่นปี อะไรก็สุดแท้ ในที่สุดมันก็ต้องตาย นี่เรียกว่าชีวิตที่ต้องตาย เป็นความเป็นอยู่ที่ต้องแตกดับ
ทีนี้จะพูดถึงชีวิตอีกแบบหนึ่ง เป็นชีวิตนิรันดร นี่จะพูดลำบาก อาตมาก็รู้สึกลำบากในการที่จะพูด ในชั้นแรกที่จะพูด ก็คือจะพูดว่า จงขอให้เทียบเคียงโดยกลับตรงกันข้าม ชีวิตที่ไม่ต้องเกิด ชีวิตที่ไม่ต้องประกอบด้วยธาตุ ๖ แต่มันมีธาตุ (ธาตุธรรมธาตุ 51:07) ของมันเอง ชีวิตชนิดนั้น เขาเรียกว่าเป็น อสังขตธรรม สิ่งที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไรปรุงแต่งมันก็มีอยู่ได้ของมันเอง นั้นเขาเรียก อสังขตธรรม ถ้ามันต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่งจึงจะอยู่ได้เรียกว่า สังขตธรรม สังขตธรรม แปลว่า ถูกปรุงแต่ง มีการปรุงแต่ง เป็นผลของการปรุงแต่ง นี่ชีวิตที่ตาย ถ้าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ต้องอยู่ด้วยการปรุงแต่งนี้มันเป็นชีวิตที่ไม่รู้จักตาย มีแต่สิ่งที่เรียกว่า พระนิพพาน อย่างเดียวเท่านั้น มันก็คงจะพูดลำบากที่ให้เข้าใจได้ อาตมาก็ไม่แน่ใจว่า ท่านทั้งหลายจะเข้าใจเพราะว่า เพิ่งพูดกันเดี๋ยวนี้ พูดไม่กี่คำนี้มันรู้ไม่ได้ มันต้องพูดกันมากกว่านี้มาก จึงจะหยั่งเห็นไอ้สิ่งที่มันไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วมันไม่มีแตกดับ คือ มันไม่ตาย เพราะมันไม่ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง ไอ้ฝ่ายหนึ่งด้านหนึ่งซีกหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่มี ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วมันก็ต้องเปลี่ยนแปลง มันก็สิ้นอายุมันก็ตาย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง มันก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง มันก็ไม่มีการสิ้นอายุ มันก็ไม่ตาย เรียกว่า ชีวิตนิรันดร เรียกว่า อมตธรรม ในพระพุทธศาสนา แม้จะยังเข้าไม่ถึงก็ขอให้รู้ไว้ก่อน อย่าให้เสียทีที่เป็นพุทธบริษัทเลย เราเป็นพุทธบริษัทอยู่ในประเทศไทยที่มีพุทธศาสนา อย่าให้เสียที เราควรจะรู้ไอ้เรื่องของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน แม้ว่าเรายังทำไม่ได้ แม้ว่าเรายังเข้าไม่ถึง ดังนั้นเราจงรู้จักไว้ทั้งชีวิตชั่วคราวและชีวิตนิรันดร ชีวิตชั่วคราวประกอบอยู่ด้วยธาตุเหล่านี้ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลง เดี๋ยวมันก็แตกดับ ชีวิตที่ไม่ต้องประกอบอยู่ด้วยธาตุเหล่านี้ เป็นธาตุของมันเอง คือธาตุแห่งความไม่ตาย เป็นอมตธาตุ เป็นอสังขตธาตุ อันนั้นมันไม่รู้จักตาย เพราะมันไม่มีการกุมกันเข้าด้วยการปรุงแต่ง มันจึงไม่มีการเกิดขึ้น มันจึงไม่ต้องมีการตั้งอยู่ ถ้ามีการตั้งอยู่มันอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่ตั้งอยู่อย่างเรา ตั้งอยู่ด้วยเหตุปัจจัย ไอ้สิ่งนั้นมันตั้งอยู่โดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัย มันเท่ากับไม่ได้ตั้งอยู่ อันนั้นมันว่าง เป็นความว่าง เป็นเรื่องว่าง แล้วมันก็ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วมันก็ไม่แตกดับ มันเป็นภาวะของพระนิพพานที่ไม่มีความทุกข์เลย เพราะไม่ได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพราะไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไร เพราะไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ไม่มี ไม่มีความทุกข์เลย ถ้าจิตของเรารู้จักสิ่งนั้น สัมผัสสิ่งนั้นได้ จิตนั้นแหละจะได้สัมผัสชีวิตนั้น ชีวิตที่ไม่รู้จักตาย เมื่อจิตนั้นมันสมัครเป็นเช่นนั้น เห็นว่าเราเลิกละไอ้สภาพที่ต้องหมุนเวียน เปลี่ยนแปลงและตาย อยากจะเป็นอันเดียวกันกับไอ้ภาวะที่ไม่ตาย คือ จิตมันเปลี่ยนสภาพไปตามการที่ได้สัมผัสสิ่งที่ไม่รู้จักตาย นี่การตายก็ไม่มีสำหรับจิตนั้น จิตนั้นก็รู้สึกว่า ไม่ได้ตาย ก็เรียกว่า เข้าถึงชีวิตนิรันดร เป็นเรื่องของพระอรหันต์ แล้วต้องพูดอย่างน่าหัวว่า เป็นพระอรหันต์ขึ้นไป คือ เป็นพระอรหันต์ขึ้นไป ต่ำกว่านั้นไม่ได้ จึงจะถึงชีวิตนิรันดร ก็หมดแล้ว
ชีวิตชนิดหนึ่ง เป็นชีวิตที่จะต้องตาย ชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ไม่รู้จักตาย ทำไมไปเรียกมันว่า ชีวิต ไอ้ที่ไม่รู้จักตาย หรือพระนิพพานทำไมไปเรียกว่า ชีวิต ก็เพราะเป็นความมีอยู่ยังไงล่ะ มีอยู่อย่างไม่ต้องตาย ชีวิตเราก็มีอยู่แล้วก็ยังไม่ตาย นี้พระนิพพานนั้นมีอยู่แล้วก็ไม่รู้จักตาย ไม่ตายตลอดไปด้วย ก็เป็นชีวิตแท้ ชีวิตจริง ยิ่งกว่าชีวิตไหน ๆ ดังนั้นเราเพิกถอนไอ้สิ่งที่มันปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงว่าเป็นตัวเราเสียสิ อย่ามามีตัวเรา ที่ร่างกายนี้ ที่สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้อย่าเอาตัวเราที่นี้ ให้จิตบริสุทธิ์ หลุดพ้นไปเสีย จากความยึดถือสิ่งเหล่านี้ แล้วจิตมันก็ไปสัมผัส สิ่งเหล่าโน้น ฝ่ายโน้น ฝ่ายที่ตรงกันข้าม นี่เรียกว่าจิตมันเปลี่ยนสภาพ เป็นไอ้จิตที่ไปชอบไอ้สิ่งที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ไม่อยากให้ถูกปรุงแต่ง จิตนี้ก็ไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่ถูกอวิชชา กิเลส ตัณหาปรุงแต่ง ก็เป็นจิตที่ถึงสภาพชีวิตนิรันดร
แต่ทางพุทธศาสนาถือเป็นหลักว่า ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้นแหละ ชีวิตที่รู้จักตายก็ดี ชีวิตที่ไม่รู้จักตายก็ดี อันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวกูเป็นของกู เป็นธรรมชาติ ชีวิตที่รู้จักตายก็เป็นธรรมชาติไปตามแบบนี้ แล้วชีวิตที่ไม่รู้จักตายก็เป็นธรรมชาติไปตามแบบนั้น ฉะนั้นขอให้เข้าใจ คำว่า ธรรมชาติในทางพุทธศาสนานี่ ในทางธรรมะนี่ คำว่า ธรรมชาติ คำนี้มีความหมายกว้างลึกซึ้งกว่าไอ้ธรรมชาติที่ชาวบ้านเขาพูดกัน หรือแม้แต่พวกฝรั่งมันมีคำว่าธรรมชาติใช้ แล้วเอามาใช้กับคำว่า ธรรมชาติในพุทธศาสนาไม่ได้ พระนิพพานหรือชีวิตที่ไม่รู้จักตาย ก็ยังคงเป็นธรรมชาติ อย่าได้ยึดถือเป็นตัวตน ที่นี้ชีวิตที่รู้จักตายนี่ก็ยิ่งยึดถือไม่ได้ จะยึดถือเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ไม่ดูหน้าใคร เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย แล้วก็แตกดับลงต่อหน้าก็ได้ แล้วธรรมชาติที่รู้จักตาย ทั้งธรรมชาติที่รู้จักตาย และธรรมชาติที่ไม่รู้จักตาย ก็คือ ธรรมชาติเท่านั้นเอง เมื่อเห็นสิ่งใดโดยความเป็นธรรมชาติแล้ว มันก็ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่รู้สึกว่าเป็นตัวตนแล้วก็พ้นสภาพ ที่จะต้องมีทนทุกข์ทรมานเพราะเรื่องยึดถือว่าตัวตน ไม่ยึดถือว่าตัวตนอีกต่อไปก็ไม่มีความทุกข์ใด ๆ
ให้จับให้ได้สักอย่างหนึ่งว่า ไอ้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจนั้น จะล้วนแต่เป็นความยึดถือทั้งนั้นแหละ ยึดถือว่าน่ารัก มันก็เกิดความโลภ ไม่ได้ตามที่ต้องการมันก็เป็นทุกข์ คือ เกิดความโกรธ เมื่ออยากได้ เมื่อยังไม่ได้ มันก็มีความทุกข์ ไปรักมันเข้าก็มีความทุกข์ เพราะความรัก แล้วมันไม่ได้ตามที่ตัวรัก มันก็มีความทุกข์ต่อไปอีก นี่เขาเรียกว่า ความยึดถือ คือ หมายมั่นให้เป็นตัวเป็นตน (58:49) ให้มันได้ตามที่ใจมันอยาก ความทุกข์ทุกชนิดเกิดมาแต่ความยึดถือ แม้ว่าครูบาอาจารย์จะได้ยินเรื่อง อริยสัจจ์ ว่าทุกข์เกิดมาแต่ ตัณหา นั้นก็อย่าไปเข้าใจว่ามันขัดกัน เพราะว่า ตัณหา มันให้เกิดความยึดถือ แล้วจึงเป็นทุกข์ มี ตัณหา แล้วก็จะมียึดถือ อุปาทาน แล้วจึงจะมี ภพ มี ชาติ และเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ สรุปสั้นที่สุดว่า ความยึดถือนั่นแหละเป็นทุกข์ ทีนี้ชีวิตไม่ได้เป็นทุกข์ รู้สึกเป็นห่วงว่านักเรียนครูบาอาจารย์ของเราจะไปเชื่อคำพูด ลวก ๆ สะเพร่า ๆ ว่า ชีวิตเป็นทุกข์ พวกที่อ่านหนังสือกามนิตมาแล้วก็จะเข้าใจผิดอย่างนี้ได้ว่าชีวิตเป็นทุกข์ มันเอาไปพูดผิด ๆ นั่น ไอ้คำของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนานี้ ความยึดมั่นถือมั่นมันเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นชีวิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เป็นทุกข์ ชีวิตจะเป็นทุกข์ก็ได้ ชีวิตจะไม่ทุกข์ก็ได้ มันแล้วแต่ว่ายึดมั่นหรือไม่ยึดมั่น ฉะนั้นอย่าไปเหมาที่ว่า ชีวิตแล้วต้องเป็นทุกข์ มันต้องเป็นชีวิตที่ยึดมั่นถือมั่น
ถ้าจะพูดว่า ชีวิตเป็นทุกข์ มันก็มีความหมายอื่น ไม่ใช่ความหมายนี้ คือ คำว่า ทุกข์ ความทุกข์นี่มีหลายความหมายเหมือนกัน ทุกข์เจ็บปวดทนทรมานนี้ก็เป็นทุกข์ ความหมายที่ ๑ ชีวิตไม่ได้เป็นทุกข์ เพราะเจ็บปวด ทนทรมาน เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ชีวิตที่ยึดมั่นถือมั่น จึงจะมีความทุกข์ เจ็บปวด ทนทรมาน นี้คำว่า ทุกข์ ทุกขะ นี่ความหมายหนึ่งก็ว่า เมื่อดูแล้วมันน่าเกลียด ไอ้ชีวิตหรือสังขารที่มันมีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วไปดูเข้าแล้วน่าเกลียด ความที่ดูแล้วน่าเกลียดนั้นก็คือทุกข์เหมือนกัน ดังนั้นก้อนหินก็เป็นทุกข์ได้ เพราะดูแล้วมันเปลี่ยนแปลง มันไม่เที่ยง มันหลอกหลวงจัดว่าเที่ยง ดังนั้นถ้าเราเห็นก้อนหินในสภาพอย่างนี้เราก็รู้ว่า ไอ้นี่มันน่าเกลียด ความที่เห็นแล้วรู้สึกน่าเกลียดนี้ ก็คำบาลีก็เรียกว่า ทุกขัง เหมือนกัน ความหมายที่ ๓ ไกลไปลิบว่า ว่าง ว่างอย่างน่าใจหาย คือ ว่างจากตัวตนอย่างน่าใจหาย นั่นก็เรียกว่า ความทุกข์ เหมือนกัน ดูแล้วเห็นไม่มีอะไรเป็นตัวตนเลยแม้แต่นิดเดียว ว่างอย่างน่าใจหาย ภาวะที่ว่างอย่างน่าใจหาย นี้เรียกโดยบาลีว่า ทุกข์ ได้เหมือนกัน ทุกขัง ได้เหมือนกัน ทุกขัง เจ็บปวดทนทรมาน นี้ความหมายธรรมดา ทุกขัง ดูแล้วน่าเกลียดนี้ต้องฉลาดดู ทุกขัง คือ ว่างอย่างน่าใจหาย นั้นความหมายสูงสุด เขาเห็นอะไรไม่เป็นตัวเป็นตน เป็นธรรมชาติไปหมดนั่นแหละ เห็นเป็นว่างจากตัวตนอย่างน่าใจหาย เห็นทุกข์ชนิดนั้นแล้วก็คือเห็นนิพพาน ฉะนั้นเดี๋ยวนี้เราเป็นทุกข์ชนิดที่เจ็บปวดครางโอย ๆ ขออย่าให้เผลอหรือว่าโง่เง่า จนให้ชีวิตมันมีโอกาสต้องทนทรมานนั่งครางโอย ๆ หรือว่าไปฆ่าตัวตาย ไปโดดน้ำตาย มันไม่ควรจะมีสำหรับมนุษย์ผู้มีสติปัญญา หรือมีจิตใจสูง ตามหลักของพุทธศาสนาเราไม่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นทุกข์ ถ้าเราทำถูกต้อง เพราะเราทำผิดพลาด มันจึงต้องเป็นทุกข์ แล้วมาศึกษาธรรมะชนิดที่เป็นความถูกต้องอยู่เอาไปใช้ให้เพียงพอ ให้ถูกต้อง ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ แม้ความตายก็ไม่เป็นทุกข์ หัวเราะเยาะความตายได้ แม้จะเจ็บไข้ก็ไม่เป็นทุกข์ หัวเราะเยาะความเจ็บไข้ได้ ถ้ามีธรรมะพอนะ ถ้าไม่มีธรรมะพอมันก็ครางโอย ๆ อือ ๆ ไปตามแบบของคนที่ไม่มีธรรมะ ถ้าเห็นธรรมะสูงสุด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา ตถาตา เป็นอย่างนั้นเองโว้ย มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์หรอก มันหัวเราะจนตายเลยไป ไอ้ธรรมะที่มันจะคุ้มครองได้ไม่ให้เป็นทุกข์ มันไม่ยึดถือนี้เป็นตัวตน ไม่มีใครตาย มันเป็นอย่างนี้เองของสังขารทั้งหลาย ไม่ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราจะทำได้เท่าไรมันก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของเรา เราจะจริง ต่อตัวเราเท่าไร แล้วก็จะศึกษาธรรมะให้พอ แล้วเราก็จะอยู่เหนือความทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้เรายังบูชากามารมณ์ บูชาอบายมุขอยู่ มีตัวตนจัดอยู่อย่างนี้ มันพ้นไม่ได้ เมื่อไม่ได้อย่างที่กิเลส ตัณหา หรือความโง่มันต้องการ มันก็เป็นทุกข์แหละ ก็ดูความเป็นไปในหมู่คนที่ไม่มีธรรมะ ไอ้ข่าวเลวร้ายที่มาเต็มอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ประจำวันนั้น มันคือเป็นเรื่องของคนที่ไม่มีธรรมะทั้งนั้น ไปดูเหอะเรื่องไหนก็เรื่องนั้น เรื่องคนที่ไม่มีธรรมะทั้งนั้น ดังนั้นเราไม่ควรจะรวมอยู่ในพวกนั้น เราควรจะมีความรู้เพียงพอ ควบคุมชีวิตนี้ให้เป็นไปในลักษณะที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ ธรรมะ คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตซึ่งเป็นตัวธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นไปตามกฎธรรมชาติด้วยกันอย่างถูกต้องแล้วก็ไม่มีความทุกข์เลย
นี่อาตมาพูดเรื่อง ธรรมะกับชีวิต ตามคำขอร้องของคุณระบุอยู่ในไอ้หมายรายการนั้น พูดมากไปแล้ว จนบางคนรำคาญแล้วก็ต้องยุติกันที นี่ขอให้สนใจให้ดี เอาธรรมะไปใช้ให้เป็นคู่กับชีวิต แล้วมองให้ลึกจนว่า ไอ้ธรรมะกับชีวิตนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ถ้าแยกออกจากกัน ต้องให้ธรรมะติดมากับชีวิต ไม่เช่นนั้น ชีวิตจะเป็นทุกข์ ฉะนั้นธรรมะนั่นแหละคือคู่ชีวิต ธรรมะต้องคู่กับชีวิต มิฉะนั้นชีวิตจะเป็นทุกข์ ถ้าใครมองเห็นอย่างนี้ คนนั้นจะเรียกธรรมะว่า คู่ชีวิต ยิ่งกว่าผัวเมียเสียอีก เพราะผัวเมียรักกันอย่างไรก็ช่วยกันไม่ได้ แต่ธรรมะนี้ช่วยได้ เพราะฉะนั้นต้องถือธรรมะว่าเป็นคู่ชีวิตยิ่งกว่าสิ่งใด เอาละขอให้สามารถใช้ธรรมะให้เป็นคู่ชีวิต มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอจบการบรรยาย
ได้แต่พูดให้ดัง ๆ หน่อย
คำถาม : ดิฉันอยากจะกราบเรียนนะคะ ถามปัญหาคำว่า สันโดษ นะคะ เพราะทุกวันนี้รู้สึกว่าเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า สันโดษ นี่มันเพี้ยน ๆ ไป อยากจะขอความกรุณาหลวงพ่อได้โปรดกรุณาอธิบาย
ท่านพุทธทาส : มีปัญหาอย่างไร ตัวปัญหาโดยตรงมีอย่างไรเกี่ยวกับสันโดษ
คำถาม : คือคำว่าสันโดษทุกวันนี้นะคะ รู้สึกว่าเราจะเข้าใจว่าพอแล้ว ซึ่งในความรู้สึกของตัวของดิฉันเอง รู้สึกว่ามันคงจะไม่ให้เป็นอย่างนี้ แต่เราก็ยังไม่มีความรู้ว่าความหมายแท้จริงหรือจุดมุ่งหมายแท้จริงของสันโดษนั้นคืออะไร
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละพวกนี้เขาเข้าใจคำว่า สันโดษ ผิด แล้วก็กลายเป็นให้พระพุทธเจ้าพูดผิดไปเลย ปรับให้พระพุทธเจ้าพูดผิดเสียเลย คือพูดสิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่เจริญ ให้บ้านเมืองไม่เจริญ เดี๋ยวคราวนั้นมันพูดเรื่องสันโดษ อาตมาพูดว่าทุกคนต้องมีสันโดษ ต้องใช้สันโดษเป็นคู่ชีวิต มิฉะนั้นจะเป็นบ้าตายหมด พูดทำนองนี้ ก็มีคนไปบอก จอมพลสฤษดิ์ เขาขอเทปนั้น ขอเทปม้วนนั้นไปฟัง เขาโกรธมากว่าพูดชนิดที่มันจะทำลายความก้าวหน้าของประชาชน พอไปฟังเขาก็ไม่เป็นไร คือไม่ใช่มีความหมายอย่างนั้น แล้วเลิกกัน
สันโดษ ยินดีที่มีอยู่ในขณะนั้น ถ้าอะไร ๆ ก็ไม่มีสำหรับยินดีอยู่ในขณะนั้นมันก็บ้าตาย คิดง่าย ๆ ก็อะไรที่เรามีอยู่นี่ควรจะยินดีเท่าที่ควรจะยินดี ถ้าอย่างนั้นเราก็หิวเป็นเปรตอยู่เรื่อย เพราะไม่มีความอะไรที่พอใจหรือยินดีว่ามันได้มีแล้ว เราก็หิวเหมือนกับคนไม่มีอะไร หิวเป็นเปรตอยู่เรื่อย แล้วก็จะไม่มีกำลังใจสำหรับจะทำงานต่อไปด้วย นั้นทำวันนี้ ทำได้เท่านี้ ยินดีเท่านี้ มันจะหล่อเลี้ยงจิตใจให้พอใจสำหรับจะทำต่อไป ทำเท่าไรก็ไม่ยินดีก็เหมือนกับว่าไม่ได้อะไร จิตใจมันก็ไม่อยากทำ ฝืนทำมันก็เป็นบ้า เป็นโรคประสาทตาย แปลว่ายินดีที่มีอยู่ในขณะนี้ วันนี้หาได้ ๑๐ บาทก็ยินดี เพื่อให้จิตใจมันปรกติอยู่ด้วยความยินดี สำหรับจะได้มีเรี่ยวมีแรงหาต่อไป เคยยกตัวอย่างเรื่องนี้ด้วยว่า ไอ้ชาวนา เขาทำนา เขาขุดดินลงไปทีหนึ่ง เขาก็พอใจทีหนึ่ง ว่าขุดดินได้ทีหนึ่งแล้ว ในการที่ต้องขุดดินหลายพันครั้ง หลายพันที เดี๋ยวนี้เขาก็ได้ขุดไปทีหนึ่งแล้วเขาก็พอใจ ขุดอีกทีก็พอใจ ขุดอีกทีก็พอใจ ก็เป็นสุขอยู่ได้ด้วยการขุดดิน ถ้าขุดทีก็ไม่พอใจ ก็ยิ่งไม่พอใจ ยิ่งไม่พอใจ เดี๋ยวก็ทิ้งจอบหนีไปนั่นแหละ ดังนั้นมันมีไอ้ความพอใจที่ทำได้เท่าไร สำหรับหล่อเลี้ยงกำลังใจให้มีความสุขสำหรับเป็นกำลังทำงานต่อไป พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หรือคนอื่นกล่าวก็ตามแต่ พระพุทธเจ้าท่านก็รับรองว่า สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ ความสันโดษนั่นแหละเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ถ้าเรามีทรัพย์แต่เราไม่พอใจ ว่าทรัพย์ของเรา มันก็เหมือนกับไม่มีทรัพย์แหละ ถ้าเรามีความพอใจในสิ่งนั้น อันนั้นจะเป็นทรัพย์ เครื่องทำให้เราพอใจขึ้นมา ฉะนั้นการที่เราจะมีความพอใจเพราะทรัพย์ นั่นเพราะว่าเรามีความสันโดษ ท่านจึงระบุไปที่ว่า สันโดษนั้นเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง คำว่า ทรัพย์ แปลว่า เครื่องทำความพอใจให้แก่เจ้าของ ความรู้สึกพอใจนั่นแหละ สันโดษแล้วก็เป็นทรัพย์ ถ้าไม่อย่างนั้นคนเราจะไม่ทนทำอะไรต่อไปได้ ถ้าไม่มีอะไรที่พอใจ ๆ ๆ ๆ ตามที่ทำได้ ความสันโดษจะช่วยให้เยือกเย็นและมีกำลังสำหรับจะทำต่อไป ไม่มี ไม่มีสันโดษที่ว่าไม่ให้ทำอะไร ให้หยุดให้ไม่ต้องทำอะไร มันจะพอใจอะไร ถ้ามันไม่มีอะไรจะพอใจ มันก็ไม่รู้จะพอใจอะไร มันก็พอใจไม่ได้ มันก็หยุดไม่ได้ มันต้องมีอะไรมาทำให้พอใจได้มันจึงจะหยุดได้ ดังนั้นถ้าเขาพอใจและหยุดได้นั้นเขาต้องได้ทำอะไรมาเพียงพอแล้ว ฉะนั้นเพื่อให้มันมีกำลังสำหรับจะทำต่อไป ก็พอใจไปตามลำดับ ๆ ๆ เหมือนกับชาวนาทำนา ต้องขุดดินตั้งหมื่นครั้งอย่างนี้ แกก็พอใจทุก ๆ ทีที่มันเพิ่มขึ้น ๆ ๆ งานของเราสำเร็จไปเท่านั้น สำเร็จไปเท่านั้น เหลือน้อยลง ๆ ก็พอใจ ความพอใจชนิดนี้ส่งเสริมกำลังใจให้ทำได้ยืดยาวนาน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่รู้จักเกียจคร้าน จึงถือว่าเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ สรุปความว่า ถ้ามันเป็นสันโดษจริง มันจะส่งเสริมผู้นั้นให้มีความสุขในการทำงาน ถ้ามันเป็นสันโดษปลอม สันโดษเก๊ มันก็ทำให้ไปนอนเสีย กูไม่อยากทำงานให้มันเหนื่อย นั่นมันสันโดษปลอม สันโดษเก๊
เคยเข้าใจผิด ผู้หลักผู้ใหญ่เคยเข้าใจผิด ถึงกับเคยห้ามไม่ให้สอนเรื่องสันโดษในโรงเรียน นี่มีอยู่ยุคไม่ให้สอนสันโดษในโรงเรียน เพราะทั้งผู้สั่งกับผู้ปฎิบัติตามมันไม่รู้เรื่องสันโดษ มันไม่เข้าใจความหมายของคำว่า สันโดษ ถึงกับสั่งให้หยุดสอนเรื่องสันโดษในโรงเรียนกลัวว่าไม่ก้าวหน้า ที่แท้สันโดษเป็นตัวทำให้พอใจ อิ่มใจ ทำหน้าทำงานรุดหน้าไป แม้จะยืดยาวเหนื่อยยากแล้วมันก็ทำไปได้ด้วยความสันโดษ คือพอใจทุกทีที่ทำสำเร็จ ขุดดินทีพอใจที ๆ ๆ พอทำนาเสร็จฤดูหนึ่งมันต้องขุดตั้งพันครั้ง หมื่นครั้ง แล้วก็มันจึงทำไปได้เพราะความสันโดษ แปลว่า ยินดีด้วยที่มันมีอยู่ ด้วยสิ่งที่มีอยู่ ด้วยอะไรก็ได้ที่มันมีอยู่ สัน แปลว่า กำลังมีอยู่ โดษ แปลว่า ยินดี สันโดษ คือ ยินดีที่กำลังมีอยู่ ถ้าไม่มีทางจะพอใจยินดีด้วยสิ่งที่กำลังมีอยู่ มันก็หิวเป็นเปรตอยู่เรื่อยไป ไม่มีอะไรจะได้รับ จะเป็นนรกชนิดหนึ่งถ้าไม่มีสันโดษ จิตใจจะร้อนเป็นไฟอยู่ เอาไปคิดเอาเองก็แล้วกันว่า ถ้าสันโดษแท้ จะทำให้ทำงานสนุก ถ้าสันโดษเก๊ มันจะไม่ชวนให้ทำงานเลย
คำถาม : คือผมอยากจะถามสักเล็ก ๆ น้อย ๆ นะครับเกี่ยวกับขอบเขตของการ ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น มันมีขอบเขตแค่ไหนครับ เพราะว่ารู้สึกเมื่อคนฟังคำว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้แล้ว บางครั้งอาจจะนำเอาไปใช้ในทางที่มิจฉาทิฐิก็ได้ เพราะฉะนั้นผมอยากทราบว่า ขอบเขตนั้นมีแค่ไหนครับ
ท่านพุทธทาส : ถูกแล้วเรื่องนี้ มันก็มีปัญหาอย่างนี้ เพราะเขาฟังคำว่า ยึดมั่นถือมั่นไม่ถูก จับไม่ถูกลักษณะของความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือมั่นนั้นต้องทำด้วยความโง่ หมายมั่นว่า มันต้องเป็นตัวกู ต้องเป็นของกู ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของกู นี่เรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่น ต้องทำด้วยอวิชชา ต้องทำด้วยความโง่ พอเราคิดอย่างนั้น หมายมั่นอย่างนั้น มันก็เป็นทุกข์ แม้จะทำไปได้ ก็ทำอย่างมุทะลุดุดันและมีความทุกข์ ขอให้ทำด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น จะมีอะไร จะหาอะไร จะกินอะไร จะใช้อะไร จะบริโภคอะไร จงทำไปด้วยสติปัญญา คือ วิชชา ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น มั่นหมายด้วยความโง่ ให้เป็นตัวตนของตน แล้วต้องเป็นไปตามความปรารถนาของตน นี่ยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้คือของทรมานจิตใจ หนักอยู่บนจิตใจจึงเป็นทุกข์ เขาพูดมาแต่ข้างปลายจะฟังง่าย ไม่ว่าเราจะทำอะไรด้วยสติปัญญา ด้วยเมตตา กรุณา หรืออะไรก็ได้ อย่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น เพราะว่าไอ้ความหมายมั่นให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้มันเป็นความโง่ เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นไปตามความหมายมั่นของบุคคลใดได้ เพราะว่าทุกสิ่งเป็นไปตามความหมายมั่นของบุคคลใดแล้วก็รวยกันหมด ไม่มีใครยากจน หมายมั่นเท่ากับได้ ๆ ก็รวยกันหมดทั้งโลก ถ้ามันไม่ได้ตามที่หมายมั่น แล้วมันก็จะเป็นทุกข์ ถึงแม้มันได้มาตามที่หมายมั่น มันก็ยังเป็นทุกข์ เพราะว่าเขายึดถือ มันหนักอยู่ในหัวใจ นี่เขาเรียกยึดมั่นถือมั่น เมื่อเรามีเงินถ้าเรายึดมั่นถือมั่น เราจะนอนไม่หลับ แล้วมันจะเป็นโรคประสาท แล้วเราจะตาย เมื่อเรามีเงิน มีเงินก็มีด้วยสติปัญญา ก็จัดไว้ให้ถูกต้องอยู่ในธนาคาร เรียบร้อยปลอดภัย แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วง ก็นอนหลับสนิท ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ถ้ามันยึดมั่นถือมั่นแม้ไปอยู่ในธนาคารแล้วมันก็ยังเป็นห่วง ยังนอนไม่หลับอยู่ ถ้ายึดมั่นถือมั่นก็คือแบกของหนัก จิตใจจะแบกของหนัก ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงว่า มันยึดมั่นแล้วก็เป็นทุกข์ มี มีด้วยความยึดมั่นมันเป็นทุกข์ มีชีวิตด้วยความยึดมั่นมันก็เป็นทุกข์ ขอให้มีด้วยสติปัญญา มีภรรยาด้วยความยึดมั่น ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะภรรยา มีสามีด้วยความยึดมั่น ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสามี มีลูกด้วยความยึดมั่นก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยลูก มีเงินมีทองด้วยความยึดมั่น ก็จะเป็นทุกข์เพราะเงินเพราะทอง มีวัวควายไร่นา ยึดมั่นก็ต้องเป็นทุกข์เพราะวัวควายไร่นา ขออย่ามีด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีด้วยสติปัญญาจัดทำไปให้ถูกแต่ละวัน ๆ สิ่งเหล่านั้นมันไม่มาสุมอยู่บนหัวของคนนั้น ขออภัยพูดหยาบคายไปหน่อย ถ้าใครยึดมั่นถือมั่นอะไร สิ่งนั้นจะมาสุมอยู่บนหัวของคนนั้น มีเงินมีทอง มีข้าวมีของ มีบุตร ภรรยา สามี ก็ยึดมั่นด้วยอวิชชาแล้ว มันจะมาหนักอยู่บนจิตใจของบุคคลนั้น แล้วบุคคลนั้นจะนอนหลับยาก จะกระวนกระวาย จะได้เป็นโรคประสาท จะได้เป็นบ้าตาย เดี๋ยวนี้กำลังเป็นโรคประสาทมากขึ้น ๆ ทั้งโลก เพราะความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นอย่ามี อย่าทำ อย่าเสวย อย่าบริโภคอะไรด้วยความยึดมั่นถือมั่น จะกินอาหารด้วยความยึดมั่นถือมั่น นี่มันตะกละมูมมาม ถ้ากินอาหารด้วยสติสัมปชัญญะ มันก็เรียบร้อยน่าดู นี่เป็นตัวอย่าง ยึดมั่นถือมั่น คือ ไปจับฉวยด้วยจิตใจด้วยอำนาจของความโง่ จะให้มันเป็นตัวกูเป็นของกู เป็นไปตามความประสงค์ของกู อย่างนี้เรียกว่ายึดมั่น เราทำด้วยอำนาจของสติปัญญา เมตตา กรุณาอะไรก็ได้ ไม่เป็นทุกข์ ถ้าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นจะเป็นทุกข์ตลอดเวลาแล้วมันก็เลยต้องเป็นบ้าตาย ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นตลอดเวลาไม่กี่ชั่วโมงเราก็จะเป็นบ้า เดี๋ยวนี้เรามีเวลาที่จิตมันปล่อยว่าง วางบ้าง ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นเสมอไป
คำถาม : สมมติว่า ถ้าเราทำผิดศีลไปแล้ว เราก็ไม่ควรที่จะยึดถือหรือครับ
ท่านพุทธทาส : ว่าอะไรนะ ว่าอะไร ว่าใหม่สิ
คำถาม : สมมติว่าถ้าเราผิดศีลไปแล้ว สมมติว่าไปฆ่าใครสักคนหนึ่ง ซึ่งบางครั้งอาจจะทำไปด้วยความโกรธอะไรเช่นนี้ ถ้าเราสำนึกแล้วว่า เราไม่ควรที่จะยึดมั่นถือมั่น อย่างนั้นคือสิ่งที่ควรอภัยหรือว่าผิดตรงไหนบ้างครับ
ท่านพุทธทาส : โอ้ย, มันคนละเรื่องแล้ว นอกเรื่องแล้ว ถ้าเราทำผิดศีล มันก็ผิดศีล ถูกศีลก็ถูกศีล แม้แต่ศีลก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า ศีล ถ้าไปยึดมั่นถือมั่น มันก็กลายเป็นไม่ใช่ศีล ก็เป็น สีลัพพตปรามาส ยึดมั่นศีล เคร่งครัดศีล อะไรศีล เป็น สีลัพพตปรามาส ฉะนั้นเราจะต้องมีศีลด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา อยู่เหมือนกัน อย่าไปถือศีลด้วยความยึดมั่นถือมั่น คือ ด้วย อุปาทาน เมื่อเรารับศีล เราก็ สะมาทิยามิ ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ เราสมาทาน สมาทานศีล ทำด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วก็มีศีล ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นศีล คือ อุปาทาน อุปาทาน ในศีล ตัวกูจะดีจะเด่นจะดัง จะเคร่งคัดอวดคนนี่ อย่างนี้เขาเรียกว่า มีศีลด้วย อุปาทาน ไม่มีประโยชน์อะไร เป็นบ้า อย่าทำด้วยอุปาทาน แต่ทำด้วยสมาทาน สมาทาน แปลว่า จะถืออย่างดี ถือไว้อย่างดี เรียกว่า สมาทาน ถ้าไปหมายมั่นเคร่งครัด ยึดมั่น ไอ้อันนี้เขาเรียกว่า อุปาทาน อย่าทำอะไรด้วยอุปาทาน จงทำด้วยสมาทาน คือมีสติปัญญา สัมมาทิฐิ ควบคุมอยู่ อย่างนี้เรียกว่า สมาทาน จะทำอะไร จะมีอะไร จะใช้อะไร จะกินอะไร ก็ขอให้มันทำด้วย สมาทาน อย่าทำด้วย อุปาทาน มีศีลแล้วก็ต้องมีด้วยสติปัญญา มันถึงจะเป็นศีล ถ้ามีด้วย อุปาทาน มันก็เป็น สีลัพพตปรามาส เป็นเรื่องบ้า มันไม่พอดี มันไม่ถูกต้อง ดังนั้นถ้าเราสมาทานศีล แล้วก็มีศีลจริง มันฆ่าใครไม่ได้ มันไปฆ่าใครไม่ได้ ไม่มีปัญหา มันมีศีลมันจะไปฆ่าใคร จงมีชีวิตเพื่อ สมาทาน ชีวิต ดีกว่า อุปาทาน ในชีวิต ถ้ายึดมั่นถือมั่นในชีวิต ชีวิตนี้จะเป็นของหนัก จะทรมานจิตใจ จะเต็มไปด้วยวิตกกังวล ไม่เท่าไรเป็นโรคประสาท นอนไม่หลับให้อายแมว
(นาทีที่ 1.23.37-1.24.12 ไฟล์เสียงชำรุด) แมวนอนหลับคนนอนไม่หลับ คนทั้งโลก ทั้งโลกเป็นโรคประสาทนอนไม่หลับแต่แมวทุกตัวนี่นอนหลับ
ดีอยู่ นี่คนกำลังทำผิดด้วยความยึดมั่นถือมั่น จนละอายแมว ถ้าพูดว่าละอายหมาก็จะหยาบคายไปนัก ต้องเรียกว่าอายแมว
คำถาม : กราบนมัสการท่านเจ้าคุณที่เคารพอย่างสูงครับ ในฐานะที่ท่านเจ้าคุณมีความรู้แตกฉานแล้วก็รอบรู้ทั้งด้านธรรมะ แล้วก็ด้านการศึกษาด้วยนะครับ กระผมจึงขอกราบเรียนปัญหาทางด้านการศึกษาสัก ๒ ข้อ เพราะว่า ผู้ที่มานี้ก็อยู่ในแวดวงของการศึกษาทั้งนั้นนะครับ
ข้อแรก ก็คือเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาของไทยนะครับ ปรัชญาการศึกษาของไทยที่ใช้อยู่ทุกวันนี้โดยเฉพาะหลักสูตรประถมศึกษานี่นะฮะ จากการวิเคราะห์แล้วก็ปรากฏว่า เราได้นำแนวคิดจากปรัชญาบริสุทธิ์หลายลัทธิ มาจาก เป็นแนวทางจากการศึกษา เช่น ลัทธิจิตนิยมบ้าง วัตถุนิยมบ้าง แล้วก็ประสบการณ์นิยมบ้าง อันนี้เอามาผสมผสานเป็น จัดเป็นหลักสูตรประถมศึกษา ซึ่งมันน่าที่จะดี เพราะว่านำหลาย ๆ ลัทธิมารวม ๆ กัน แต่ว่าผลปรากฏออกมาว่าไม่เป็นที่พอใจเท่าที่ควรนัก ดังนั้นทัศนะของท่านเจ้าคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านคิดว่าแนวทางการจัดการศึกษาของไทยนั้น ควรจะเป็นไปในแนวทางใดจึงจะเหมาะสมกับสังคมไทย
ปัญหาที่สอง เกี่ยวกับความหมายของการศึกษา มีนักการศึกษาหลายท่าน ก็ให้ความหมายการศึกษาไว้หลายทัศนะ เช่น การศึกษาคือชีวิตบ้าง การศึกษาคือการเจริญงอกงามบ้าง แต่สำหรับท่านเจ้าคุณนี้ก็ได้ให้ความหมายไว้ว่า การศึกษาคือการทำลายเสียซึ่งสัญชาตญาณสัตว์ ทัศนะนี้พวกกระผมก็เคยได้อภิปรายกันในชั้นเรียน แต่ว่าก็รู้สึกว่า ไม่กระจ่างชัดนัก จึงขอความกรุณาให้ท่านเจ้าคุณได้กรุณาขยายความให้ชัดเจนด้วย กราบขอบคุณครับ
ท่านพุทธทาส : ฟังยาก เสียงมันก้องเลยฟังไม่รู้เรื่อง ข้อแรกว่าไอ้การศึกษาหรือแผนการศึกษาของประเทศเรา ไม่ได้ผลตามความมุ่งหมาย ก็ไปคว้านั่น คว้านี่ คว้าโน่นเอามา จนไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรกันแน่ จนไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร นี้มันจริงแน่ คือ คว้า ๆ ๆ ๆ เอามา แล้วมันใส่กันไม่ลงหรอก ไปคว้าเอามาทุกอย่าง ๆ มันก็ใส่กันไม่ลง มันก็ปฏิบัติไม่ได้ มันก็ไม่เป็นรูปเป็นร่างที่ดี เรา เราพูดเหมือนกับกำปั้นทุบดินนะว่า มันต้องถูก มันต้องถูกต้อง มันจึงจะสำเร็จเรื่องการศึกษา ไอ้ตัวอย่างที่ยกมานี่มันก็แสดงอยู่แล้วว่า เราจะไปยึดหลัก จิตนิยมบ้าง วัตถุนิยมบ้าง มันก็ไม่ถูก เพราะว่าไอ้ความถูกต้องนั้นมันไม่มีอยู่ที่จิตนิยมหรือที่วัตถุนิยม มันต้องถูกต้องทั้งสองฝ่าย หรือมันอยู่ตรงกลางระหว่างจิตและวัตถุ พุทธศาสนาไม่ใช่จิตนิยม พุทธศาสนาไม่ใช่วัตถุนิยม แต่มันเป็นไอ้ เป็นไอ้เรื่องไอ้ความถูกต้องนิยม ธรรมะนิยม เขาจะเรียกว่า ธรรมะนิยม หรือนิยมไอ้ความถูกต้อง หรือความเป็นธรรม อย่าไปนิยมจิตโดยส่วนเดียว อย่าไปนิยมวัตถุโดยส่วนเดียว พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ถูกต้อง สัมมา สัมมา นี่แปลว่า ซึ่งถูกต้อง สัมมัตตะ สัมมัตตะ (นาทีที่1:28:54 คือ สัมมากัสสัตตะ) นี่ สัมมัตตะ แปลว่า ความถูกต้อง ท่านให้ยึดความถูกต้องต่างหากล่ะ ไม่ใช่ยึดจิต ยึดวัตถุ ยึดนั่น ยึดนี่ แล้วมันก็ต้องดูไอ้ความถูกต้องของสิ่งนั้น ๆ ทีนี้ปัญหามันก็ไปอยู่ที่ว่าอะไรเรียกว่าถูกต้อง อะไรเรียกว่าไม่ถูกต้อง ถ้าตอบตามหลักของพุทธศาสนา อย่าไปเอาปรัชญาเพ้อเจ้อมาพูดกัน ไอ้ความถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนา ก็คือมันแก้ปัญหาได้ มันดับทุกข์ได้หมด มันทำให้ผู้นั้นเป็นสุขแล้วผู้อื่นก็พลอยเป็นสุข นั่นคือความถูกต้องของพุทธศาสนา ที่นี้ความถูกต้องตามหลักปรัชญาตะวันออก ตะวันตก มันเพ้อเจ้อจนไม่รู้มันเป็นอย่างไร มันยุ่งไปหมด จนจับไม่ได้ว่ามันจะถูกต้องกันที่ตรงไหน เขาบัญญัติ เขาก็บัญญัติกันหลายพวกจนเราไม่รู้ว่าจะยังไง แต่ถ้าพระพุทธเจ้า ตามหลักของพระพุทธเจ้า ความถูกต้อง คือ มันดับทุกข์ได้ มันพิสูจน์ว่ามันดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ของเราก็ได้ ดับทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ก็ได้ นั้นคือความถูกต้อง ความดี ความจริง ความอะไรมันก็ให้ความหมายว่ามันดับทุกข์ได้ ไม่ใช่จิตนิยม ไม่ใช่วัตถุนิยม ไม่ Positive ไม่ Negative ไม่ Optimist ไม่ Pessimist ไม่ ๆ อะไรหมด แต่มันอยู่ตรงกลาง ระหว่าง Positive ระหว่าง Negative ตรงนั้นนะมีที่ว่าง อยู่ตรงนั้นแหละจะไม่มีปัญหา ไม่มองในแง่ดี ไม่มองในแง่ชั่ว ไม่มองในแง่ร้าย อยู่ระหว่างดีระหว่างชั่ว จนคน คนที่เขารู้ดีนะ คนที่รู้ดีคนหนึ่ง อยู่บ้านนอกเรานี้ แต่ว่านานมาแล้ว ตายแล้วก็ได้ เขาแต่งคำกลอนไว้ อาตมาเอามาพิจารณา แหม อันนี้มันรู้จริง (นาทีที่ 1:31:09 ทั้งราบทั้งสูญล้วนแต่อัปรีย์) ก็เท่ากับว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ คุณคงไม่เชื่อ เพราะนี่ก็ไม่เชื่อ ที่มีใครมาบอกว่า ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ มันมีที่หลีกเร้นอยู่ตรงระหว่างชั่ว ระหว่างดี ตรงนั้นมีที่ว่าง อยู่ตรงนั้นแหละจะไม่อัปรีย์ อัปรีย์ นะภาษาบาลีไม่ร้ายกาจเท่าไรหรอก ไม่เหมือนในภาษาไทย อัปรีย์ อะ ไม่ ปรีย์ แปลว่า น่ารัก อัปรีย์ แปลว่า ไม่น่ารัก ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ อย่าไปรักกับมันเข้า อย่าไปยึดถือกับมันเข้า เรียกว่า ไม่หลงดี ไม่หลงชั่ว อยู่ตรงกลาง ตรงนั้นแหละ ที่ว่างระหว่างนั้น จะมีความสงบสุข ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งได้ทั้งเสียล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งกำไรทั้งขาดทุนล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งแพ้ทั้งชนะล้วนแต่อัปรีย์ ถ้าอยู่ตรงกลางระหว่างนั้น เป็น มัชฌิมาปฏิปทา นั้น ไม่อัปรีย์ คือจะไม่มีความทุกข์ จะไม่น่าเกลียด พระอริยะเจ้าท่านมีสายตาสูงกว่าพวกเรา ท่านถึงว่าอย่างนี้ นิพพานจึงมีความหมายเหนือชั่ว เหนือดี เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือบุญ เหนือบาป พูดว่าทั้งบุญทั้งบาปล้วนแต่อัปรีย์ คนก็ด่ากันใหญ่ อาตมาไม่กล้าพูด แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ทั้งชั่วทั้งดีล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งบุญทั้งบาปล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งได้ทั้งเสียล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งจะไม่เป็นอะไรในสุดโต่งในสองข้างนั้นจะอยู่ตรงกลางระหว่างชั่วระหว่างดี ระหว่างได้ระหว่างเสีย ระหว่างแพ้ระหว่างชนะ ชนะมันก็ยุ่งไปตามแบบชนะ แพ้มันก็แย่ไปตามแบบแพ้ อย่าไปแพ้อย่าไปชนะ อยู่ตรงนั้นเป็นที่สงบ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัส พุทธศาสนาจึงอยู่ตรงที่ถูกต้อง ไม่สุดโต่งฝ่ายโน้น ไม่สุดโต่งฝ่ายนี้ ไม่ได้ไม่เสีย ไม่แพ้ ไม่ชนะ ไม่ดีไม่ชั่ว ไม่บุญไม่บาป ไม่สุขไม่ทุกข์ตรงนั้น ว่างเป็นที่หลีกเร้นของจิต ไปอยู่ที่ตรงนั้นจะไม่มีความทุกข์
เดี๋ยวนี้ไอ้ปรัชญาการศึกษานี่ ของประเทศไทยนี้ก็น่าสงสารนะ คลานต้วมเตี้ยมตามหลังฝรั่ง ฝรั่งพูดจนเฟ้อเราก็เฟ้อ เราก็ไม่รู้ว่าจะเอาอะไร แล้วแก้ปัญหาในประเทศก็ไม่ได้ การศึกษาให้ไปแล้วก็ไม่มีผลอะไร เด็ก ๆ ยังเลวลง ๆ ยาเสพติดมากขึ้น อบายมุขมากขึ้น เด็ก ๆ ของเรานี้กำลังเลวลง ๆ ซึ่งเหมือนก่อนไม่ทำ เดี๋ยวนี้ก็ทำ ต้องเรียกว่าเลวลง เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาจะเอาอะไรเขาจะได้อะไร เด็ก ๆ ปิดเทอมมาบ้าน พอเปิดเทอมกลับไป ไปสงขลา ไปที่ของนักเรียน เขาได้เงินไปเต็มที่ แล้วก็ไปกินเหล้ากันในรถเสบียงทั้งนั้น ทั้งหญิงทั้งชายนั่งตักกัน นักเรียนนักศึกษา ซึ่งก่อนนี้ไม่มีนะ ไม่มี เพิ่งมีเดี๋ยวนี้ เพราะการศึกษามันเลวลง ไม่ทำให้เด็ก ๆ เขารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แม่ทำงาน พ่อแม่ทำงานเกือบตายให้เงินไป ลูกไปเรียน พอขึ้นรถไฟมันชวนกันไปรถเสบียงกินเหล้าเมามายกันทั้งนักเรียนหญิงนักเรียนชาย ทั้งนักศึกษาหญิง ทั้งนักศึกษาชายมีอะไรลามกอนาจารต่อหน้าคน การศึกษานี้พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวแล้ว ที่เราไปเอาของฝรั่งมามันช่วยไม่ได้แล้ว ไปจัดเสียใหม่สิ อย่าให้มันเป็นอย่างนี้ นั่นแหละถือถูกต้อง ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็พิสูจน์อยู่แล้วว่าผิด นักเรียนจะเป็นนักเรียนพวกนักเรียนครู เขาไล่จับกันในรถไฟ เกือบลงบนตักอาตมาที่นั่งอยู่บนรถไฟด้วย มันไม่น่าจะมี มันไม่เคยมี นี่การศึกษาของเราเป็นอย่างไร ขอให้คิดดู ไม่มีมรรยาทยิ่งกว่าไม่มีมรรยาท แล้วไม่รู้จักกิเลส ไม่รู้จักไอ้ความเสียหาย ไม่รู้จักอะไรต่าง ๆ การศึกษามันไม่ถูกต้อง เพราะปรัชญาการศึกษาไม่ถูกต้อง เพราะแผนการศึกษาไม่ถูกต้อง ไม่รู้ว่าดีอย่างไร ไม่รู้ว่าชั่วอย่างไร เช่นผู้สอนเองก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ไปกวาดขยะมากองโต ๆ แล้วมาใช้ให้เป็นประโยชน์ นี่ปรัชญาของพวกฝรั่งทุก ๆ แขนงมันจะเหมือนกับขยะ ที่เรากวาดมามันกองโต ๆ จะใช้อะไรได้ เราลองเป็นตัวของตัวเอง ลืมหูลืมตาแล้วก็จัดให้มันถูกฝาถูกตัว ถูกฝาถูกตัวให้มันแก้ปัญหาได้ นั่นแหละคือถูก การศึกษาต้องกำจัดกิเลส จึงจะเป็นการศึกษา เพราะว่ากิเลสเป็นสิ่งเลวร้ายทำให้ฉิบหายวินาศ การศึกษาต้องกำจัดกิเลสทางกาย กำจัดกิเลสที่เกิดทางวาจา กิเลสที่จะเกิดทางใจแล้วนี่เป็นอันได้แน่ เราจะไม่มีนักเรียนหญิงนักเรียนชายอย่างที่กำลังมีอยู่เดี๋ยวนี้ อย่างที่เล่าให้ฟัง ให้ควบคุมกายวาจาใจให้ถูกต้อง ไม่ให้กิเลสครอบงำแล้วทำไปตามอำนาจของกิเลส นี่คือการศึกษาที่ถูกต้อง เมื่อพวกฝรั่งเขาจะไม่ควบคุมอะไรกันเสียแล้วเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะไปตามก้นเขาได้อย่างไร มันก็ไม่เหมาะ ก็ดูพวกฝรั่งเอง นี่อาตมาจะพูดอย่างนี้ ขอให้เราทุกคนดูพวกฝรั่งเอง มันกำลังได้รับผลอย่างไร เน่าเฟะไปหมดทั้งโลกฝรั่งแล้ว แล้วคนไทยจะไปเอามาเป็นหลักได้อย่างไร ประเทศที่เคยรุ่งเรือง เป็นนักปราชญ์ เป็นตัวอย่าง เป็นแบบฉบับนี่ อย่าออกชื่อเลยมันไม่ดีว่าประเทศไหน เดี๋ยวนี้มันกำลังแย่ เฟะฟอนไปหมดแล้ว แล้วเราจะไปเอามาเป็นครู เป็นแบบฉบับได้อย่างไร
ดังนั้นขอให้ถือ ธรรมนิยม ไม่จิตนิยม ไม่วัตถุนิยม เพราะมันบ้าสุดเหวี่ยง เหวี่ยงซ้าย เหวี่ยงขวา ธรรมนิยมนั่นแหละอยู่ตรงกลาง เป็นความถูกต้องที่อยู่ตรงกลางระหว่างจิต ระหว่างวัตถุ วัตถุนิยมก็บูชาเนื้อหนัง บูชากามารมณ์ไปตามแบบ ไอ้จิตนิยมก็เข้าป่า เข้าดง เข้ารก ผิดปรกติไปอีกแบบหนึ่ง ความถูกต้องมันอยู่ระหว่างตรงกลาง ฝ่ายจิตก็ถูกต้อง ฝ่ายวัตถุก็ถูกต้อง แล้วเอามารวมกันเข้าเป็นระบบกลาง เดินไปให้ถูกต้องทั้งทางจิตและทางวัตถุ ถ้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลมันก็ไม่เกิดกิเลส ถ้าเป็นเรื่องสังคมมันก็รักผู้อื่น การศึกษาที่ถูกต้อง ต้องทำให้มีศีลธรรม ศีลธรรมนั้นสรุปลงที่รักผู้อื่น ถ้ารักผู้อื่นแล้วก็ไม่ฆ่าใคร ไม่ขโมยใคร ไม่ล่วงกาเมใคร ไม่โกหกหลอกหลวงใคร ไม่ทำอะไรทุกอย่างเพราะมันรักผู้อื่น ส่วนตัวเองก็บังคับจิตได้ ไม่ให้เกิดกิเลส มันก็อยู่เป็นสุขสบาย นี่มันถูกต้องทั้งส่วนตัวบุคคลและส่วนสังคม ส่วนตัวเรา เราต้องบังคับจิตได้ บังคับกิเลสได้ บังคับตนได้ ส่วนสังคมเราก็รักผู้อื่นได้ โลกนี้ก็หมดปัญหา ดังนั้นการศึกษาควรจะจัดให้มันได้ผลอย่างนี้ คือหมดปัญหาจริง ๆ จะเรียกว่า ระบบ ธรรมนิยม จะถูกที่สุด จะเรียกว่าระบบ พุทธนิยม ก็ได้เหมือนกัน แต่ต้องแปลความหมายของคำว่า พุทธะ ให้ถูกต้อง คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นิยมหลักนั้นก็ได้เหมือนกัน
ที่ ๒ ว่าอย่างไรนะ ใจความว่าอย่างไรนะ อ๋อ,ก็กลายเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว ไปออกเรื่องนี้แล้ว ความหมายคำว่า ศึกษา สิกขา เอาตามแบบพุทธศาสนาก็แล้วกัน ไม่ใช่ว่าเพราะเราเป็นพุทธบริษัท แล้วจึงอะไรก็ยึดพุทธศาสนาไปเสียหมด ไอ้ความที่เราเป็นพุทธบริษัทนั้นแหละ ทำให้เราเป็นอิสระ เอาอะไรก็ได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสว่า ฉันพูดก็อย่าเพิ่งเชื่อนะ อย่าเชื่อเพราะว่าสมณะนี้เป็นครูของเรานะ กาลามสูตร ข้อสุดท้าย (นาทีที่1:41:40 มา สมโณ ครูติ) อย่าเชื่อคำพูดนี้ เพราะว่าผู้พูดมันเป็นครูของเรา เป็นสมณะ เป็นครูของเรา สมณะนี้เป็นครูของเรา พระพุทธเจ้าท่านเปิดโอกาสให้เชื่อความคิด เหตุผลของตัวเอง ให้เชื่อที่มองเห็นอยู่ว่าจริง ไม่ต้องเชื่อผู้พูด ฉะนั้นเรามีการศึกษาระบบไหนดีนี่ก็ลองดูสิ ที่เรามองเห็นว่ามันจะถูกต้อง มันถูกต้องแก้ปัญหาได้เอาระบบนั้น ศึกษา สันสกฤต สิกฉา ถ้าออกเสียงอย่างสันสกฤตเขาใช้คำว่า สิกฉา คนไทยก็ลำบาก เรามาเปลี่ยนเป็น ศึกษา ถ้าเป็นบาลีเป็น สิกขา สิกขา สันสกฤตมันเป็น สิกฉา “ษ” เขาออกเสียงว่า ฉา เรามีการศึกษา คือให้เกิด สิ่งที่ให้เกิดการกระทำอันถูกต้อง ทางศีล ทางสมาธิ ทางปัญญา สิกขา มี ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ถูกต้องทางศีล คือ ทางมรรยาทระเบียบวินัย ให้ถูกต้องทางมรรยาท ทางการประพฤติ นี่เรียกว่า สีลสิกขา ให้ถูกต้องทางจิต มีจิตถูกต้อง มีสภาวะแห่งจิตปรกติ นี้ก็เรียกว่า จิตตสิกขา ให้มีความรู้ ความคิดเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจถูกต้อง นี่เรียกว่า ปัญญาสิกขา รวมแล้ว สิกขา หรือ ศึกษา คือ สิ่งที่ทำให้เกิดความถูกต้องทางมรรยาท ทางกายนี่ และก็ทางจิต และก็ทางความคิด สติปัญญา เมื่อเกิดความถูกต้องทั้ง ๓ ระดับนี้แล้ว นั่นเรียกว่า เป็นการศึกษาที่สมบูรณ์
ถ้าเราจะจัดการศึกษาแบบนี้ ก็ต้องไปปรับหลักสูตรให้เด็ก ๆ ของเราเกิดมีความถูกต้องทางการประพฤติ ทางกาย ทางมรรยาท นี่เรียกว่า สีลสิกขา และให้เขาเป็นคนมีจิตปกติ บังคับจิตได้ สมาธิคือบังคับจิตได้ เป็นเด็กที่บังคับจิตได้ นี่เรียก จิตตสิกขา ถูกต้องทางจิต และให้เขามีความรู้ถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง อย่างมงาย บูชากิเลสมันเข้าใจผิด ต้องบูชาธรรมะ ถูกต้องทางสติปัญญา ความคิด ความเชื่อ นี่เรียกว่า ปัญญาสิกขา รวมแล้วถูกต้องทั้ง ๓ ทางนี้ เรียกว่า สิกขา หรือ ศึกษา ซึ่งเราหาไม่พบในปรัชญาการศึกษาของฝรั่งทั้งโลกมันก็ไม่มีพูดอย่างนี้ ฉะนั้นจึงขอว่ามาเอาอย่างของพระพุทธเจ้ากันดีกว่า ท่านก็วางรูปแบบไว้แล้วว่า ศึกษา ๓ ศีลศึกษา จิตศึกษา ปัญญาศึกษา เกิดความถูกต้องขึ้นมาทั้ง ๓ ระดับ คือ กาย มรรยาทถูกต้อง จิต ภาวะจิต คุณสมบัติของจิตให้ถูกต้อง เอาความรู้ สติปัญญา ความเชื่ออันสูงสุด ความคิดความเห็นถูกต้อง รวมกันแล้วเรียกว่า มีการศึกษา นี้ไม่ใช่ความเห็นของอาตมา ไม่ใช่ความรู้ของอาตมา ไม่ใช่หลักเกณฑ์ของอาตมา ของพระพุทธเจ้า อาตมาพูดอะไรเป็นของตัวเองไม่เป็น พูดแต่ได้ตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ได้ศึกษามา คุณอย่ามายัดเยียดให้เป็นความรู้ ความเข้าใจ ความดี ความเด่นอะไรของอาตมา ผิดหมดแหละ ความจริงมันของพระพุทธเจ้า เอาของท่านมาพูด ตามที่ได้ศึกษามาหลายสิบปี เที่ยวไปบอกกล่าว จะไปเขียนอะไรก็ตาม ให้มันรู้กันเสียทั้งโลกทีว่า ไอ้การศึกษาหมาหางด้วนนั้นใช้ไม่ได้ ทำให้มันเต็ม ถูกต้องทางกายหรือมรรยาท ถูกต้องทางจิต ถูกต้องทางสติปัญญา เดี๋ยวนี้รู้แต่หนังสือกับอาชีพ มันถูกต้องไม่ได้ กิเลสมันพาไป ยิ่งมีอาชีพมาก เศรษฐกิจดี ยิ่งเป็นเหยื่อของกิเลสมาก
คำถาม : กราบเรียนถาม พระคุณท่านอีกสักข้อนะครับอาจจะเป็นข้อสุดท้ายก็ได้ เป็นความสงสัยของกระผม จากการที่ได้มาที่สวนโมกข์นี่ ตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ที่พระคุณท่านได้พูดถึงการเกิดของลัทธินะครับ ซึ่งเราก็ทราบอยู่แล้วว่า ปัจจุบันนี้ในเมืองไทยนั้นเป็นสภาพที่ไร้ศีลธรรม เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีการสุดโด่งของทางด้านทุนนิยมขึ้นมา แต่อันนั้นก็เป็นหลักธรรมดากฎเกณฑ์ทางธรรมชาติซึ่งต้องมีลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเป็นตรงกันข้ามนะครับ แล้วก็มีแนวคิดนี้ขึ้นมาต่อต้านกัน เป็นทางเป็นลักษณะของธรรมชาติ ที่นี้ก็เกิดการต่อสู้กัน ในประเทศไทยนี้นะครับ อยากจะกราบเรียนถามพระคุณท่านว่า คอมมิวนิสต์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นของประเทศไทยหรือเปล่า ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านลัทธิทุนนิยม แล้วก็เมื่อมีการต่อสู้กันจริง ๆ แล้วซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีการต่อสู้กันจริง ๆ ทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็โดยมีรัฐบาลสนับสนุนทางด้านหลัง อีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นของคนจำพวกหนึ่งซึ่งมีแนวคิดไม่เห็นด้วย แล้วทีนี้ก็อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะถือทาง เส้นทางของตัวเอง อีกฝ่ายหนึ่งก็มีทางรัฐบาลเป็นตัวสนับสนุน แล้วก็เป็นปัจจัยสำคัญ มีการ มีเครื่องมือหลาย ๆ อย่างซึ่งต่อสู้กับทางฝ่ายนั้น เช่น สปช. หรือ กอ.รมน. อะไรก็แล้วแต่นะครับ แล้วก็เป็นสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งมาต่อสู้ทางพวกนั้น ถ้าเช่นนั้นจึงเกิดการวางเฉยหรือทางเป็นกลางไม่ได้ เพราะมันเกิดการต่อสู้กันแล้ว อยากจะกราบเรียนถามพระคุณท่านว่า ทางออกของสิ่งเหล่านี้หรือสิ่งนี้คืออย่างไรนะครับ ขอกราบเรียนถาม
ท่านพุทธทาส : มันฟังไม่ถูก คุณปรีชา ทำไมเครื่องของคุณพูดฟังไม่ถูก สรุป ๆ คำถามใหม่อีก ถามสั้น ๆ สรุปคำถามสั้น ๆ
คำถาม : เมื่อมันเกิดการต่อสู้กันแล้วในสังคมไทยนะครับว่า พระคุณท่านเคยพูดมา ๒ ครั้งแล้วว่า ประเทศไทยนี้นะครับ เป็นสภาพซึ่งไร้ศีลธรรมแล้วก็เกิดลัทธิขึ้นมา คือลัทธิทุนนิยมขึ้นมานะครับ ตอนนี้ก็เกิดลัทธิต่อต้านขึ้นมาคือลัทธิคอมมิวนิสต์แล้วก็เกิดการต่อสู้กัน ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ต่อสู้กัน โดยทางทุนนิยมนั้นในประเทศไทยปัจจุบันนี้ก็มีการต่อสู้ได้หลายอย่าง เช่นทางรัฐบาลด้วย แต่ทีนี้ทางฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้นก็มีการต่อสู้เช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง ๒ ทางนี้ก็จับมือกันหรือว่าร่วมมือกันไม่ได้แล้วนะครับ ทางออกของปัญหานี้คืออย่างไร
ท่านพุทธทาส : ก็พอจะฟังถูกนิดหน่อย เพราะมันก้อง เลยฟังไม่ถูกว่าพูดว่าอะไร เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปราบคอมมิวนิสต์ ตั้งองค์การต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ ที่จริงมันไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มันเป็นอะไรไปเสียแล้ว ไอ้คอมมิวนิสต์คือพวกที่มุ่งทำลายนายทุน ถ้าคอมมิวนิสต์จริง คือมันมุ่งทำลายนายทุน ซึ่งเอาเปรียบมนุษย์ เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้ทำลายนายทุน เขาหาประโยชน์ของเขา เป็นผู้แสวงหาประโยชน์เพื่อตน แล้วก็ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ นั้นที่เราส่งไปปราบ ไปอะไรกัน ปราบคอมมิวนิสต์ ที่จริงคนเหล่านั้นไม่ใช่คอมมิวนิสต์เสียแล้ว เป็นผู้แสวงหาประโยชน์ตน เขาไม่ได้ทำหน้าที่ปราบปรามนายทุนอย่างตามอุดมคติของคอมมิวนิสต์ เรื่องมันเปลี่ยนแล้ว ไอ้คอมมิวนิสต์ชนิดที่หาประโยชน์ใส่ตนนั้น มันผิดหลักคอมมิวนิสต์ แล้วไม่เท่าไรเขาก็เป็นนายทุนเสียเองแหละ เขาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ พวกนี้ชนะเมื่อไรมันก็เป็นนายทุนเสียเอง เขาไม่ใช่คอมมิวนิสต์นะ ที่เราไปปราบไปฆ่า ไปอะไรคือผู้ร้ายธรรมดา ถ้าเป็นคอมมิวนิสต์จริง เขาก็จะต้องทำลายนายทุน ที่นี่เราเอาศีลธรรมมากวาดล้างนายทุนให้หมดไปเสีย คอมมิวนิสต์ก็ว่างงาน แล้วก็หมดไปเอง ที่เราพูดอย่างนี้ ที่เราพูดนะคือพูดอย่างนี้ เอาศีลธรรมมาล้างนายทุน ให้กลายเป็นเศรษฐีใจบุญเสียให้หมด เมื่อไม่มีนายทุนแล้ว คอมมิวนิสต์ก็ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะฆ่าจะทำลาย มันก็ไม่มีงานทำ มันก็เลิกร้างไปเอง โดยที่ไม่ต้องฆ่า แล้วก็หมดไปทั้งนายทุน และหมดไปทั้งคอมมิวนิสต์ ถ้าศีลธรรมกลับมา เดี๋ยวนี้คอมมิวนิสต์ที่เขาหวังจะได้ประโยชน์อะไร เขาจะได้ครองเมือง เขาจะได้อะไร นั่นไม่ใช่อุดมคติของคอมมิวนิสต์ เขาเป็นผู้ร้ายธรรมดา เราก็ไปต่อสู้ปราบปรามพวกนี้อยู่ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วเขาก็มุทะลุดุดันมากขึ้นทุกที เขาทำได้ตามพอใจ เมื่อวานนี้ก็เผาสถานีรถไฟเสียสถานีหนึ่งอีก นี้ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์เขาก็ไม่ทำอย่างนี้ เขาต้องไปทำลายนายทุน ไม่ใช่มัวทำลายรัฐบาลอยู่ คุณอย่าพูดให้ใกล้นัก อย่าพูดให้ใกล้นัก แล้วก็พูด
คำถาม : ท่านอาจารย์ที่เคารพครับ กระผมมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ คือว่า ปัจจุบันนี้ได้มีนักวิชาการ หรือว่าผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนานี้มากมาย แล้วก็ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนานี้ขึ้นมาหลายอย่าง หลายแขนงด้วยกัน ทีนี้ได้มีตามที่ผมศึกษามาและก็ได้อ่านหนังสือ เขาก็บอกว่า พุทธประวัติก็ตาม แล้วก็เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาบางอย่าง ก็ได้มีผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือว่าเกจิอาจารย์ได้แต่งขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยเฉพาะเรื่องของพระพุทธเจ้าที่เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ชั้นดาวดึงส์ ๓ เดือน แล้วก็เมื่อออกพรรษาเสร็จแล้วก็เสด็จลงที่เมืองสังกัสสนคร อะไรอย่างนี้เป็นต้นนะครับ ทีนี่เนื่องจากว่าพวกกระผมได้มีส่วนในการศึกษาเรื่องเหล่านี้อยู่ ทีนี้ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรเป็นเกณฑ์ครับในการที่จะตัดสินว่าเรื่องนี้ได้มีเกจิอาจารย์แต่งขึ้นภายหลัง หรือว่าเรื่องนี้มีแนวความที่จะเป็นจริงได้ อันนี้กระผมอยากจะทราบความคิดเห็นของท่านอาจารย์ ครับขอบคุณครับ
ท่านพุทธทาส : เรื่องนี้มันเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของเวลา ของสถานที่และของบุคคล ไอ้คำพูดอย่างนั้น เช่นว่าฝ่ายพระพุทธเจ้าได้ขึ้นไปบนสวรรค์ สอนเทวดาแล้วกลับลงมานั้น ไม่เข้าหูคนสมัยนี้ แต่ถูกที่สุดสำหรับคนสมัยโน้น แล้วในถิ่นโน้น ในยุดโน้นนะ ในยุคที่มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น ในประเทศอินเดีย เหมาะที่สุดจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังหรือประชาชนเหล่านั้นที่สุด พอมาถึงสมัยนี้มันก็ไม่เหมาะ เพราะสมัยก่อนเขาก็ไม่ต้องการให้ หรือเขาไม่สามารถจะใช้สติปัญญากันมากนัก แล้วก็ไม่อาจจะใช้สติปัญญาได้ด้วย แต่เขามีวิธีสำเร็จรูปทำให้คนเชื่อและทำตามนั้น แล้วมันก็ได้ผล ฉะนั้นเราอย่าไปมองว่า มันเป็นเรื่องหลอกกันเล่น มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพูดอย่างนั้น ต้องสร้างความเชื่อขึ้นมาอย่างนั้น แล้วคนเหล่านั้นที่นั่นสมัยนั้นพร้อมที่จะรับไอ้คำพูดอย่างนั้น หรือว่าเขาจะต้องพูดไปในทำนองว่า ไม่ด้อยกว่าใคร ไม่ล้าหลังใครในศาสนาอื่น ๆ เขาก็จะมีพูดถึงพระศาสดาไปสอนแม้กระทั่งเทวดา ศาสนาอื่นเขามีได้ ศาสนาพุทธก็มีได้ อย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ว่านี่ว่าชั้นเทวดาดาวดึงส์ไม่ได้ว่า ไอ้คนชั้นหลัง พระอาจารย์ชั้นหลังเขาเขียนไว้เขาว่า เหมาะแล้วที่จะให้คนถิ่นนั้นเชื่ออย่างนั้น ว่าพระพุทธเจ้าได้สอนทั้งเทวดาและมนุษย์จริง สัตถา เทวมนุสสานัง พุทโธภะคะวา เป็นศาสดาทั้งสอนเทวดาและมนุษย์ เขาสร้างเรื่องนี้เพื่อประดับบารมีพระศาสนา ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในยุคนั้นในถิ่นนั้นในสมัยนั้น ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะว่าพุทธเจ้าท่านก็ได้อนุญาตไว้โดยหลัก กาลามสูตร ว่าไม่ต้องเชื่อก็ได้ เมื่อไม่สมเหตุสมผลเราไม่เชื่อก็ได้ เว้นไว้แต่เราจะตีความหมายให้มันถูกต้อง เราต้องเห็นความจำเป็นของคนสมัยนั้นที่เขาจำเป็นจะต้องพูดอย่างนั้น หรือเขาจะต้องสร้าง make up อะไรขึ้นมาใหม่อีกบ้าง เพื่อให้มันเป็นผลดี ดังนั้นคำสอนที่ขยายตัวออกไปก็ด้วยความหวังดีต่อคนเหล่านั้นทั้งนั้น แล้วเขาก็ได้ผลนะเช่นพวกมหายาน เขาขยายผลออกไปบ้างอย่าง เขาก็ได้ผลตามความมุ่งหมายของเขา เพื่อจะพาคนระดับธรรมดาที่โง่เขลา ไม่ฉลาดเอาไปด้วยได้ สร้างลัทธิให้มันง่ายขึ้น สร้างลัทธิเกี่ยวกับสวรรค์ เกี่ยวกับโลกอื่น ๆ ลัทธิสุขาวดีนะทำให้ง่ายที่สุด คนภาวนาถึงพระพุทธเจ้าอมิตาภะ เขาไปสวรรค์ได้
เราไม่ต้องไปถือเอาข้อความนั้น ว่าพระพุทธเจ้าขึ้นสวรรค์หรือไม่ แล้วไปถือเอาส่วนที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไร เอามาประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล ไอ้คัมภีร์ที่ลำบาก น่าลำบากใจกว่านั้นก็เช่นคัมภีร์ชาดก เพราะในคัมภีร์นั้นมันจะมีว่า สัตว์ก็พูดได้ โพธิสัตว์เป็นสัตว์ก็มีนะ พระโพธิสัตว์เป็นสัตว์ก็มี แล้วสัตว์ก็พูดได้ เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องนั้นว่าจริงหรือไม่จริง แต่เราจะสนใจในข้อที่ว่าเขาพูดกันว่าอย่างไร ไอ้คำที่เขาพูดกัน สัตว์พูดหรือใครพูดก็ตาม เขาพูดว่าอย่างไร อันนั้นแหละมันกลับมีประโยชน์ เพราะมันพูดคำดี ๆ ทั้งนั้นแหละ พูดคำที่ใช้ประโยชน์ ปฏิบัติได้ทั้งนั้น เราเลยว่าสัตว์จะพูดหรือคนจะพูดหรือใครจะพูดก็ไม่สำคัญหรอก มันสำคัญอยู่แต่ เขาพูดอย่างไร แล้วเอาคำพูดนั้นมาใช้ประโยชน์ได้นี้ก็พอแล้ว ดังนั้นอย่าไปวินิจฉัยว่าชาดกนี่อย่างไรโว้ย คนก็พูดได้ สัตว์ก็พูดได้ มันเสียเวลาเปล่า ๆ ฝาผนังด้านนอกที่มีภาพสลักพระพุทธเจ้าผจญมาร มารมาจากไอ้มารโลก มาเผชิญพระพุทธเจ้าที่เราบทสวดพาหุง ที่นักเรียนก็สวดบทพาหุง พระพุทธเจ้าผจญมาร (นาทีที่ 2:00 ขี่ช้างคิรีเมขล์ สะหัสสะ พาหุมาร ขี่ช้างคิรีเมขล์) นี่รายละเอียดมันมากของมาร ใครเป็นนักเขียนที่นี่ก็ช่วยออกความเห็นว่าคุณเขียนภาพกิเลสได้หรือ ที่เป็นนักเขียนเหล่านี้ คุณเขียนภาพกิเลสได้ คุณจะเขียนภาพกิเลสว่าอย่างไร แต่ทีนี้เมื่อจะต้องเขียนภาพกิเลส เขาก็ต้องมีอะไรที่ให้มันมีความหมายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องเขียนเป็นภาพยักษ์ ภาพมาร ภาพอะไรต่าง ๆ เพราะว่าสิ่งที่มาผจญพระพุทธเจ้านั้นคือ กิเลส แล้วจะเขียนภาพกิเลสยังไง ใครเคยเห็นหน้าตากิเลสบ้างมันเขียนไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องสมมติเป็นพญามาร ที่ประชาชนเขารู้จักกันดี มารในมารโลกที่เขารู้จักกันดี ก็ต้องขอยืมภาพนั้นมาเขียนแทนเป็นตัวแทนของกิเลส แล้วก็เพราะพระพุทธเจ้าผจญมารแล้วก็ชนะมาร นี่ดังนั้นเขาจึงเขียนรูปยักษ์ มาร บริวารต่าง ๆ ๆ ๆ กัน ดูภาพ ภาพผจญมารก็แล้วกัน ภาพมารวิชัย มันจำเป็นที่ต้องเขียนอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นก็เขียนภาพกิเลสไม่ได้ เรื่องอื่น ๆ ก็เหมือนกันจำเป็นที่จะต้องเขียนอย่างนั้นขึ้นมา ก็เราไปคอยจับผิดในส่วนนั้น แล้วเราก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร มันเป็นเรื่องเปลือกนอกที่จะรองรับความหมายหรือใจความอย่างใดอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าไปจำพรรษาในดาวดึงส์ สอนเทวดา ไอ้คนสมัยโน้นเขาเชื่อ เขาเชื่อเทวดา เขายอมรับได้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรนั้นสำคัญกว่า พอพระพุทธเจ้าสอนเทวดาเสร็จแล้วกลับลงมานี่แสดงผลให้เราเห็นได้อยู่ในตัว พอพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกครั้งนั้น ทำให้โลกทุกโลกมองเห็นกันหมด เรียกว่าพระเจ้าเปิดโลก วันนั้นพระเจ้าเปิดโลก ทำให้โลกทุกโลก ไม่ว่าโลกอะไร ตั้งแต่โลกนรกใต้ดินขึ้นถึงพรหมโลก เปิดเห็นมองเห็นเหมือนอย่างกับจ่อหน้า นี่คุณอธิบายว่าอย่างไร มันมีประโยชน์มาก เมื่อธรรมะได้ประกาศออกไปแล้วถึงที่สุด ถึงเทวดาก็ได้รับแล้ว นี่สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ก็รู้จักกันดี เข้าใจกันดี รู้ว่าไอ้นรกอย่างไร มนุษย์อย่างไร สวรรค์อย่างไร พรหมโลกอย่างไร เรียกว่า พระเจ้าเปิดโลก นี่ก็สมมติเหมือนกัน พระเจ้าเปิดโลกให้สัตว์โลกทั้งหลายมองเห็นเหมือนกันอย่างกับอยู่กันจ่อหน้าทุก ๆ โลก มันจะได้เข้าใจกันดี หรือมันจะได้รักใคร่กันดี ปัญหามันจะได้หมดไป มันมีข้อที่แสดงให้เราเห็นได้อยู่อย่างนี้ว่า เขาจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น จะต้องบัญญัติเรื่องขึ้นมาอย่างนั้น หรือปาฏิหาริย์อื่น ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับส่วนองค์พระพุทธเจ้า ปาฏิหาริย์อย่างนั้น ปาฏิหาริย์อย่างนี้ เมื่อประสูติก็ดีอะไรก็ดี ก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ๆ เสมอ แล้วเหมาะที่จะพูดอย่างนั้นกับประชาชนที่นั่นในยุคนั้น เพราะเขารู้ความหมายกันดี หรือเขาจะเชื่อมันทั้งหมดนั้นก็ได้ เพราะว่าเขาก็ได้เชื่ออยู่แล้ว ทำนองนั้น ในกรณีอื่น ก็มีประโยชน์แก่เขา พอมาถึงสมัยนี้มันก็ต้องตีความได้ ตีความหมายให้ได้รับประโยชน์อย่างเดียวกัน ดังนั้นสิ่งเหล่านั้นไม่ต้องยกเลิกหรอกเก็บไว้เถอะ แล้วตีความหมายให้ถูกต้อง แล้วจะเป็นประโยชน์แม้กระทั่งสมัยนี้ พระพุทธเจ้าประสูติออกมา เทวดารับก่อน มนุษย์รับทีหลัง ก็เพราะว่าเทวดามันฉลาดกว่ามนุษย์ เขาก็เข้าใจธรรมะก่อน เราอย่าไปยึดว่าเทวดารับก่อน มนุษย์รับทีหลังให้มันเป็นตัวไอ้วัตถุอย่างนั้นสิ ถือเอาความหมายว่า คนฉลาดรับธรรมะได้ก่อน คนธรรมดารับได้ทีหลัง มันจะสามารถตีความได้ทุกข้อ ปาฏิหาริย์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า อย่าไปดูหมิ่น อย่าได้ไปดูถูกหรือว่าไปกล้ายกเลิก ถ้าไม่สนใจก็เก็บไว้อย่างนั้นแหละ ไอ้ผู้ที่เขาจะใช้ประโยชน์ได้ยังมี คือ ผู้ที่สามารถตีความหมายได้ถูกต้อง
จึงสรุปความว่า ไอ้เรื่องปาฏิหาริย์ที่ฟังไม่เข้าหู เข้าใจยาก อย่าไปสนใจก็ได้ มันไม่จำเป็นหรอก ไปสนใจคำสอนที่ว่าสอนอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ดับทุกข์ได้ดีกว่า แล้วก็ทิ้งไว้อย่างนั้นแหละ มันมีประโยชน์แก่บางคน หรือคนบางพวก หรือเมื่อเราสามารถตีความหมายเหล่านั้นได้ถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์แก่เรา อาตมาเมื่อแรก ๆ เรียนก็เหมือนกันแหละ ชักจะลำบากใจเรื่องอย่างนี้ แต่อาตมาในตอนหลัง ๆ นี้เข้าใจความหมายตีความได้ แล้วก็เลยไม่มีปัญหาอะไร ก็เก็บไว้อย่างนั้น เมื่อไม่ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องใช้ ถ้าต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ก็ใช้ได้ เพราะตีความมันถูกต้อง นี่เรื่องปาฏิหาริย์ ทุกศาสนาจะต้องมีปาฏิหาริย์ ทุกศาสนาจะต้องมีเรื่องแบบปาฏิหาริย์ ว่าอะไร
โยม : คือว่าช่วงนี้ก็เวลาก็พอสมควร แล้วก็คณะที่มาจากบางแสนก็เห็นว่าพอสมควร ก็ว่าขอลาอาจารย์กลับที่พัก
ท่านพุทธทาส : ก็ได้ลาไว้แต่เดี๋ยวนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ไม่ต้องลาไปได้เลย ลาเดี๋ยวนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ไม่ต้องลาให้ลำบาก
โยม : ไม่พอดีเห็นกลัวจะรบกวนท่านอาจารย์มากไปครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่เป็นไร ก็พอสมควรแก่เวลาก็หยุดได้ ไม่ต้องขอบคุณนะ มันเป็นหน้าที่ของอาตมาที่จะต้องทำอย่างนี้ แล้วไม่ต้องขอบคุณ อาตมาเสียอีกที่จะต้องขอบคุณผู้ฟัง ที่อุตส่าห์มาฟัง ทำให้เราเป็นคนมีประโยชน์ ทำให้สถานที่นี้มีประโยชน์ ฉะนั้นเราขอบคุณผู้มาฟัง ผู้มาฟังไม่ต้องขอบคุณเรา เพราะเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำอย่างนี้ มีสวนโมกข์มาเพื่อจะทำหน้าที่อย่างนี้ ดังนั้นจึงบอกว่า ท่านทั้งหลายไม่ต้องขอบคุณอาตมา เจ้าของบ้านเสียอีกจะขอบคุณแขกเพราะมาช่วยทำให้สถานที่นี้มีประโยชน์ อ้าว,ปิดประชุมเฉพาะวันนี้