แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเนื่องด้วยวิสาขบูชา ซึ่งท่านทั้งหลายคงจะทราบได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
พระธรรมเทศนานี้จะเป็นเทศนาอุปภา (นาทีที่ 03.38) ลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้แสดงแล้วในตอนเย็น วันนี้ เป็นวันวิสาขปุณณมี เป็นวันที่ระลึกแก่การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ความสำคัญนั้น มันอยู่ที่การตรัสรู้ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ แม้จะมีการบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีประโยชน์อะไร หรือว่าถ้าไม่มีการตรัสรู้แล้ว การปรินิพพานก็มีไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามใคร่ครวญดูให้ดี ว่าคำที่กล่าวนี้มีความหมายลึกลับ ลึกซึ้งกว่ากันอยู่เป็นชั้นๆ
ในตอนกลางวัน เทศนาในตอนบ่ายกลางวันก็ได้ แสดงถึงข้อที่ทรงยืนยัน หรือทรงประกาศว่า ถ้าได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ก็จะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาก็จะพ้นจากความตาย เอ้อ,พ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาก็จะพ้นจากความตายเป็นดังนี้ แต่ว่าเราก็มักจะเข้าใจกันไปเสียว่า สัตว์ทั้งหลายมีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายไปได้ มันเป็นเรื่องเหมือนกับว่า เล่นตลกต่อกัน เป็นการล้อเลียนกันอยู่ มันเป็นเรื่องของความผิดพลาดอย่างไร หรือว่ามันยังเป็นเรื่องที่ยังหลับหูหลับตา เหมือนกับว่าคนตาบอดอยู่อย่างไร ขอให้สนใจกันต่อไป ซึ่งจะได้วิสัชนา
เรื่องที่เราจะต้องพิจารณาก็คือว่า คำพูดนั้น มีอยู่หลายโวหาร อย่างน้อยก็เป็นสองโวหาร ก็คือโวหารธรรมดาสามัญแล้วก็โวหารที่ไม่ใช่ธรรมดาสามัญ ซึ่งเรียกกันว่า สัมปรายิกโวหาร ขอร้องให้ท่านทั้งหลายกำหนดจดจำคำพูดคำนี้ไว้ให้ดีๆ ว่าสัมปรายิกโวหาร ตามตัวหนังสือก็แปลว่า โวหารอื่นจากที่ใช้พูดกันอยู่ ถ้าเป็นสามัญโวหาร ก็เป็นโวหารที่พูดกันอยู่ตามธรรมดา จะยกตัวอย่างด้วยเรื่องการประสูติ ตรัสรู้และนิพพานนี้เอง
ถ้าพูดอย่างสามัญโวหารที่ท่านทั้งหลายได้เคยพูดกันหรือได้เคยฟังเขาพูด ฉะนั้นก็มีอยู่กันสามเรื่อง คือเรื่องประสูติเรื่องหนึ่ง เรื่องตรัสรู้เรื่องหนึ่ง และเรื่องนิพพานอีกเรื่องหนึ่ง เป็นสามเรื่อง แล้วคนละคราว แล้วก็ห่างกันหลายๆปี แม้ว่าจะเป็นไปในวันวิสาขปุณณมีเหมือนกันแต่ก็ห่างกันหลายปี เช่น ปีนี้ประสูติวิสาขปุณณมี ปีนี้ประสูติ แล้วก็ตั้ง35ปีจึงจะตรัสรู้ และอีก45ปีจึงจะปรินิพพาน มันคนละเรื่อง มันคนละอย่างมันคนละคราว แล้วก็ห่างไกลจากกัน นี่เราก็พูดกันตามธรรมดาว่าอย่างนี้
แต่ทีนี้ถ้ามองดูด้วย จะเรียกว่าญาณทัศนะก็ได้อีกอย่างหนึ่ง ก็จะมองเห็นไปในทำนองที่ว่า การประสูตินั้น คือการเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ก็มีเมื่อตรัสรู้นั้นเอง และเมื่อตรัสรู้นั่นเอง ก็มีการปรินิพพานแห่งกิเลสหรือตัวตนด้วย พระสิทธัตถะประสูติ นียังไม่ใช่พระพุทธเจ้าประสูติ เพราะว่าพระสิทธัตถะยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า พูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็คงเข้าใจ
พระสิทธัตถะจะประสูติก็ประสูติออกมาแต่ยังไม่ใช่พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจะต้องรอไปจนกว่า พระสิทธัตถะออกบวชแล้วก็ตรัสรู้ นั่นแหละ พระพุทธเจ้าจึงจะบังเกิดขึ้น ซึ่งการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั่นเอง มันเลยกลายเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นเรื่องเดียวกัน หรือสิ่งเดียวกัน มันจึงมีในเวลาเดียวกัน ในขณะจิตเดียวกันก็ได้
ทีนี้การปรินิพพาน ปรินิพพานของอะไร โดยหลักธรรม โดยหลักธรรมที่เป็นธรรมแท้ เป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นการดับของกิเลส ความสิ้นไปแห่งกิเลสเรียกว่าปรินิพพาน หรือดับไฟแห่งความยึดถือว่าตัวตน ซึ่งมีได้ด้วยการตรัสรู้ ดับความยึดถือว่าตัวตนจะได้หรือดับกิเลสนั่นเอง นั่นแหละ เป็นการปรินิพพาน ปรินิพพานของตัวตนซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ดังนั้นการตรัสรู้นั่นแหละจึงเป็นการดับเสียซึ่งกิเลส หรือว่าการดับซึ่งความยึดถือว่าตัวตน เป็นการปรินิพพานของกิเลสหรือของตัวตน
เมื่อเป็นอย่างนี้ การปรินิพพานนั้นก็เป็นสิ่งเดียวกันกับการตรัสรู้ ไม่ใช่ว่าสามสิ่งมีพร้อมกัน แต่มันเป็นของสิ่งเดียวกัน เป็นของเพียงสิ่งเดียว การตรัสรู้ทำให้เกิดพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ทำให้เกิดการปรินิพพานหรือสิ้นไปแห่งกิเลสและการยึดถือว่าตัวตน
พอพูดอย่างนี้ เรื่องมันก็เปลี่ยนเป็นคนละเรื่อง พูดอย่างหลังนี่ก็พูดได้ ทำไมจะพูดไม่ได้ พอพูดขึ้นก็เห็นได้ แต่มันคนละโวหาร พูดอย่างหลังนี่คือ สัมปรายิกโวหาร เป็นโวหารที่เขาไม่ได้ใช้พูดจากัน ถ้าพูดอย่างสามัญเขาก็พูดว่า ประสูติทีหนึ่ง ตรัสรู้ทีหนึ่ง ปรินิพพานทีหนึ่ง ห่างกันตั้งหลายปี เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน มีในขณะเดียวกันเพราะมันเป็นคนละโวหาร อย่างหลังนี่แหละเรียกว่า สัมปรายิกโวหาร เป็นโวหารอื่นที่ อื่นจากที่เขาใช้พูดกันอยู่ นี้คนที่มันไม่รู้ ไม่เข้าใจในโวหารนี้ มันก็หาว่าบ้า บางคนจะด่าเอาด้วยซ้ำไปถ้าเราไปพูดอะไรแปลกๆ อาตมาเคยถูกมาแล้ว ที่เขาด่าเอาเพราะว่าไปพูดอะไรแปลกๆ แล้วนี่แปลกหรือไม่แปลก ท่านก็ลองคิดดู ในการจะพูดว่า การประสูติ การตรัสรู้และการปรินิพพานนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ท่านทั้งหลายจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจนั้นไม่ใช่ความมุ่งหมายของอาตมาในที่นี้
ในที่นี้ต้องการแต่จะบอกให้รู้ว่า โวหารที่ใช้พูดกันนั้นมีอยู่สองโวหารดังนี้ โวหารธรรมดาเรียกว่าสามัญโวหาร โวหารพิเศษก็เรียกว่าสัมปรายิกโวหารซึ่งจะมองเห็นและเอามาพูดได้ก็แต่เฉพาะมีสติปัญญาอันเพียงพอเท่านั้น นี่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่าสัมปรายิกโวหาร การพูดด้วยโวหารอื่นๆจากที่เขาพูดกันอยู่
ตัวอย่างอีกอันหนึ่งซึ่งอยากจะเอามากล่าวให้ฟังก็คือเรื่องวรรณะทั้งสี่ มีคนคนหนึ่งเขาไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า วรรณะ4 มันต่างกันอย่างไรไหม ท่านก็ทราบว่าเป็นสำนวน เดี๋ยวนี้ก็ต้องพูดว่ามันต่างกันอย่างไรบ้างไหม ทำนองนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า อ้าว, ก็วรรณะพราหมณ์เขาก็สั่งสอน วรรณะกษัตริย์เขาก็รบพุ่ง วรรณะไวศยะก็ประกอบกิจการงาน วรรณะศูทรก็เป็นลูกจ้าง กรรมกร เป็นข้าทาสบริวาร พราหมณ์คนนั้นก็ อ้าว,ไม่ได้ถามอย่างนั้น ไม่ได้ถามอย่างธรรมดาอย่างนี้ ถามอย่างที่มันลึกกว่านี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อ้าว, ถ้าอย่างนั้นมันเหมือนกัน ทั้งสี่วรรณะนี้มันเหมือนกัน เหมือนกันเลย เหมือนกันยังไง เพราะว่ามันทำชั่ว มันไปตกนรกเหมือนกัน มันทำดีมันไปสวรรค์เหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกันสักนิดเดียว วรรณะทั้งสี่มันไม่ต่างอะไรกันอย่างนี้ ทีแรกก็ต่างกันเป็นสี่อย่าง พอเขาให้พูดขึ้นใหม่ ท่านก็บอกว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันเหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกัน คำพูดอย่างหลังนี้เป็นสัมปรายิกโวหาร ที่พูดได้ว่า วรรณะทั้งสี่นั้นเหมือนกัน
ถ้าจะยกตัวอย่างให้ง่ายกว่านี้ เดี๋ยวนี้เราก็พูดว่าคนนั้นเป็นไทย คนนั้นเป็นจีน คนโน้นเป็นแขก คนโน้นเป็นฝรั่ง ทำนองนี้ มันก็ต่างกัน แต่ถ้าพูดใหม่ซิ พูดอย่างสัมปรายิกโวหาร มันไม่ต่างกันนะ เพราะมันเป็นคนเหมือนกัน ไปดู มันมีขันธ์ มีธาตุ มีอายตนะอะไรเหมือนกัน ไม่มีความต่างกัน ถ้าเราพูดอย่างสัมปรายิกโวหาร ไอ้คนทั้งหลาย หลายๆชาติ หลายภาษานี้ก็ไม่ต่างกัน อย่างนี้เป็นต้น
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจไว้ มิฉะนั้นจะฟังแต่เรื่องบางเรื่องไม่ออก บางทีพระพุทธเจ้าท่านตรัสด้วยโวหารสามัญก็มี สามัญธรรมดาว่าสัตว์ทั้งหลาย มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา ไม่หลุดพ้นความเกิด ความแก่ ความตายไปได้ นี่ท่านพูดอย่างธรรมดา เด็กๆก็เข้าใจมองเห็นทันที เพราะมันเป็นสามัญโวหาร แต่อีกคราวหนึ่งหรือคราวอื่นท่านพูดว่า เอ้า,มาอาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาก็จะพ้นจากความเกิด ล่วงพ้นความเกิดไปได้ สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาก็พ้นจากความเกิด พ้นจากความแก่ไปได้ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาก็พ้นจากความตาย ล่วงพ้นความตายไปได้ดังนี้ มันเป็นคนละโวหารอย่างนี้ ถ้าใครไม่รู้เรื่อง ก็จะกล่าวหาพระพุทธเจ้าว่าพูดไม่คงเส้นคงวา ไม่อยู่กับร่องกับรอย เดี๋ยวพูดว่ามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ เดี๋ยวนี้ก็มาว่าล่วงพ้นความเกิดไปได้ ไม่ต้องเกิดอีกต่อไป เพราะมันพูดกันคนละที มันพูดกันคนละโวหาร ขอให้เข้าใจเรื่องอย่างนี้ไว้
แล้วที่เหตุที่แปลกไปจากนี้ก็หมายความว่า ไอ้คำคำเดียวกัน มันไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวกันหรือไม่ได้เล็งถึงของที่แตกต่างกัน เช่นเมื่อตรัสว่าโลก ใช้คำว่าโลกนี่ บางทีก็หมายถึงโลกธรรมดาสามัญที่เรารู้จักกันอยู่คือโลกนี่เอง แต่ในทางธรรมะที่เป็นสัมปรายิกโวหาร พระพุทธองค์ทรงหมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันคู่หรือจับคู่กันอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่โลกคือโลก ไอ้โลกนี้ก็อยู่ในตัวคน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไอ้โลกมันก็มาอยู่ในตัวคน แต่พูดโลกทั่วไป แผ่นดินโลก สังขาร สัตว์โลก อันนี้มันก็หมายถึงข้างนอก แผ่นดินก็ได้ สัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในแผ่นดินก็เรียกว่าโลก นี่เป็นคนละโวหาร
ถ้าจะดูให้มันถึงเรื่องที่ละเอียดลงไปถึงเรื่องจิตใจ จะแบ่งเป็นว่า จิต หรือจิตสมมติของบุคคล พวกนี้อยู่ในพวกกามวจร พวกโน้นอยู่ในรูปาวจร แล้วพวกโน้นก็อยู่ในอรูปาวจร พวกแรกมันบูชากาม กามารมณ์ พวกที่สองบูชาความสุขจากรูปบริสุทธิ์ พวกที่สามมันบูชาความสุขที่เกิดมาจากสิ่งที่ไม่มีรูป ดูมันต่างกันเหลือเกิน แต่แล้วมันก็คือ สัตว์ สังขารเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นเรื่องของร่างกาย จิตใจปรุงแต่งไปด้วยเครื่องปรุงแต่ง แล้วแต่ว่าเครื่องปรุงแต่งนั้นมันกำลังปรุงอยู่ในระดับไหน มันจะปรุงอยู่ในระดับไหนมันก็คือสังขารการปรุงแต่งทั้งนั้นแหละ กามวจรก็คือปรุงแต่งระดับหนึ่ง รูปาวจรก็คือปรุงแต่งระดับหนึ่ง อรูปาวจรก็คือปรุงแต่งระดับหนึ่ง มันเป็นการปรุงแต่งที่เรียกว่าสังขารนั่นเอง
ตรงนี้จะขอซ้อมความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า คำว่าสังขารนะ มีความหมายหลายอย่าง คนธรรมดาสามัญมันรู้แต่เพียงว่า สังขารนี้หมายถึงร่างกาย ดับสังขารหมายถึงตาย หมายถึงร่างกายอย่างนี้ หรือวัตถุ สิ่งของใดๆก็ตามที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา เรียกว่าสังขาร อย่างนี้ไม่ค่อยมีความหมายลึกซึ้งอะไร ความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่า สังขาร ก็คือ อาการที่มันปรุงแต่ง ปรุงแต่งอย่างนี้เรียกว่า กามวจร ปรุงแต่งอย่างนี้เรียกว่ารูปาวจร ปรุงแต่งอย่างนี้เรียกว่า อรูปาวจร มันเรื่องบ้าทั้งนั้นแหละ ยังเป็นทุกข์ทั้งนั้นแหละ หยุดสังขารเสียเถิด หยุดการปรุงแต่งเสียเถิด มันก็จะดับทุกข์เพราะว่าความทุกข์นี้มีเพราะความปรุงแต่ง
ไอ้บทที่ได้ยินกันจนชินหู เอามาคิดนึกกันบ่อยๆก็จะดี เช่นว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา อุปปาทะวะยะธัมมิโน สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ คนฟังก็มักจะเข้าใจว่า ศพที่นอนอยู่ในโลงก็คือสังขาร แล้วก็ไม่เที่ยง ที่จริงความหมายนี้ไม่ได้หมายถึงศพที่นอนอยู่ในโลง หมายถึงการปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ เตสํ วูปสโม สุโข หยุดไอ้สังขารเหล่านั้นเสียเป็นความสุข คือหยุดไอ้การปรุงแต่งนั้นเสีย เป็นความสุข เพื่อให้การปรุงแต่งนั้นมันหยุดเสีย แล้วมันจะไม่มีอะไรที่จะไม่เที่ยงเป็นทุกข์ สังขารแปลว่าการปรุงแต่ง ถ้าใครเคยรู้มาแต่ว่า มันหมายถึงสิ่งของ หรือร่างกาย นี่ก็เข้าใจเสียใหม่ว่า สังขารหมายถึงการปรุงแต่ง เมื่อสังขารหมายถึงการปรุงแต่ง ก็พอจะกล่าวได้ว่าเป็นสัมปรายิกโวหารอีกเหมือนกัน คือโวหารที่คนธรรมดาสามัญเขาไม่พูดกัน มันจะพูดได้ก็แต่บุคคลผู้รู้ นี่สัมปรายิกโวหารเป็นอย่างนี้
ทีนี้ ที่ละเอียดออกไป อาศัยกระแสแห่งการปรุงแต่งนั่นแหละ มันเป็นหลักสำหรับจะบัญญัติการพูดจา โดยหลักอิทัปปัจจยตา ก็ว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี นี่เป็นเรื่องของการปรุงแต่ง ทีนี้เราเอาตามความรู้สึกธรรมดา ก็จะไปตัดตอนเอามา ส่วนหนึ่งเรียกว่าสิ่งนี้ แล้วอีกส่วนหนึ่งเรียกว่าสิ่งโน้น หรือเรียกว่า อันนี้ หรืออันอื่น นี่เราจึงมี นี้หรือมี อื่น ที่เป็นเหตุให้แยกออกจากกันเป็นเราเป็นเขา แล้วก็รักกันไม่ได้ เพราะมันเป็นเราเป็นเขา ถ้าจะรักกันให้ได้ ต้องเอากิเลสมามากๆ เป็นเครื่องสนองกามารมณ์แก่กันจึงจะรักกันได้ นี่เพราะมันไม่เห็นความจริงข้อที่ว่า ไอ้ อื่นหรือ นี่นั่น โดยสัมปรายิกโวหารแล้วก็คือสิ่งเดียวกัน คือกระแสหรือสายแห่งการปรุงแต่งตามกฎอิทัปปัจจยตาสายเดียวกัน ตัดตอนเอาส่วนหนึ่งมาเรียกอย่างนี้ ตัดตอนเอาส่วนอื่นมาเรียกอย่างอื่น ก็คนโง่ นี่เป็นเหตุให้ยึดถือว่าเรา ว่าเขา ว่านี้ ว่าอื่น เดียวกันหรืออื่นจากกัน ทีนี้มันก็ยังละเอียดไปกว่านั้น เช่นว่าชาตินี้ ชาติหน้า ถ้ามันมีจริงมันก็คือสายกระแสแห่งการปรุงแต่งที่ถูกตัดออกมา ส่วนหนึ่งเรียกว่าชาตินี้ แล้วส่วนอื่นไปเรียกว่าชาติหน้าหรือชาติอื่น ถ้าว่ามองดูแล้วก็จะเห็นจริงว่ามันเป็นเพียงกระแสของการปรุงแต่ง
ยกตัวอย่างที่เด็ก ๆ พอจะฟังออก ก็เช่นว่าเรื่อง วัน กับเรื่อง คืน มีความรู้สึกอย่างเด็กๆก็จะรู้สึกว่า ไอ้วันกับคืนนี่ไม่เหมือนกัน เป็นคนละอย่างเลย แล้วก็เป็นภาพคือเป็นปฏิปักษ์ต่อกันวันกับคืน เพราะว่ากลางวันมันสว่าง กลางคืนมันมืด มันไม่เคยนึกถึงว่า ที่มันสว่างบ้างเพราะมันมีดวงอาทิตย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่มันมืดเพราะดวงอาทิตย์ไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ที่แท้มันเป็นสิ่งเดียวกัน คือมันเป็นผัสสะว่าเวลาที่ล่วงไป เท่านั้นเอง ที่มันเป็นกลางวันหรือว่าเป็นกลางคืนนั้น ก็เป็นผัสสะว่าเวลาที่ล่วงไปเหมือนกัน คนที่มองเห็นอย่างนี้มันก็ว่าเหมือนกัน คนที่ไม่มองเห็นอย่างนี้ มองเห็นอย่างธรรมดาสามัญ มันก็เห็นว่าต่างกัน แล้วมันก็จะเกิดโง่ต่อไปอีกจนเป็นข้าศึกแก่กัน นี่จะเป็นเหตุให้เกิดความยึดถือว่าดีหรือว่าชั่ว
ที่จริง ความดีก็เป็นการปรุงแต่ง ความชั่วก็เป็นการปรุงแต่ง แล้วก็เป็นกระแสแห่งความปรุงแต่ง ไปหยิบเอาส่วนที่ถูกใจมาเรียกว่าดี ไปหยิบเอาส่วนที่ไม่ถูกใจ ไม่น่าเสน่หา มาว่าเป็นเรื่องชั่ว ก็เกิดปัญหาเรื่องดีเรื่องชั่วใหญ่โตมโหฬารออกไป ไม่ค่อยจะมีที่สิ้นสุด แต่ก็ได้เห็นว่าเป็นกระแสของการปรุงแต่งเหมือนกัน มีอะไรนิด ต่างกันนิดหน่อย อันหนึ่งมันสนองกิเลส อันหนึ่งมันไม่สนองกิเลส แล้วก็เห็นว่า ไม่ดีกว่า ไม่ดีไม่ชั่วดีกว่า ไปดีไปชั่วให้มันโง่ทำไม ไปดีสำหรับจะไปรักมัน จะไปชั่วสำหรับให้มันเดือดร้อน รำคาญให้ป่วยการ จึงไม่มีความหมาย ทั้งดีและทั้งชั่ว มีจิตใจอยู่เหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป เหนือสุขเหนือทุกข์ มันยากสักหน่อยเพราะว่าเรามันชอบดี ชอบบุญ ชอบสุข แล้วก็ถูกทำให้เข้าใจอบรมกันมาจนยึดถือกันมั่นว่าไม่เอาไอ้ที่มันชั่ว ที่มันทุกข์ ที่มันบาป นี่มันก็ถูก ไม่ใช่ไม่ถูก มันก็เป็นของธรรมดาสามัญที่คนธรรมดาสามัญจะต้องจัดมันอย่างนั้น แต่แล้วหารู้ไม่ว่า ทั้งสองอย่างนี้มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะว่ามันก็เป็นสังขารด้วยกัน ไปยึดถือแล้วมันตัดเอาทั้งนั้น มันเหมือนกันที่ตรงนี้ จะเรียกว่าดีก็ตาม จะเรียกว่าชั่วก็ตาม เราไปยึดมั่นถือมั่น มันกัดเอาทั้งนั้นนะ บางทีที่ว่าดีกลับกัดเจ็บกว่าลึกกว่าที่เรียกว่าชั่วเสียอีก เพราะไอ้ที่เรียกว่าชั่วนะมันเห็นง่าย เราระวังอยู่ ไอ้เรื่องดีนั่น เราไม่ระวัง เราไปรักมัน เราไปกอดรัดมันจึงกัดได้มากกว่า กัดเจ็บกว่าลึกกว่า
ผู้ที่มีจิตหลุดพ้นมองเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงแล้ว ก็โยนทิ้งไปเสีย ทั้งดีและทั้งชั่ว นั่นคือบุคคลจำพวกพระอรหันต์ มีจิตใจอยู่เหนือดีและชั่ว เหนือบุญเหนือบาปเหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือสิ่งที่จัดกันเป็นคู่ๆตามสามัญโวหาร แต่เมื่อดูด้วยสัมปรายิกโวหารแล้วมันก็เหมือนกันอย่างนี้ ฉะนั้นเรา เมื่อจะต้องฟังคำตรัสของพระพุทธเจ้าในบางกรณี ก็มองให้ดีๆ มองให้เห็นว่าบางคราวท่านตรัสอย่างสามัญโวหารก็มี บางคราวท่านตรัสอย่างสัมปรายิกโวหารก็มี คือบางคราวท่านก็ตรัสอย่างมีสัตว์ มีบุคคล มีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป มีสุขมีทุกข์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแท้จริงของท่าน คือท่านพูดให้คนธรรมดามันฟังออกตามธรรมดา เข้าใจตามธรรมดา ยึดถือตามธรรมดา เมื่อเขาไม่ชอบความทุกข์ ชอบความสุข ท่านก็คอยผสมโรงว่าเอาสิ ถ้าไม่ชอบความทุกข์ ชอบแต่ความสุขก็ทำอย่างนี้ๆสิ นี่พลอยผสมโรงด้วยคนที่ยังมีตัวมีตน แล้วก็พูดตามภาษาคน มีตัวมีตนเป็นสามัญโวหาร แต่ถ้าพูดไปตามเรื่องจริงของท่านไป ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล
สัมมาทิฐิสิ่งที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ นั้นจึงมีอยู่เป็นสองชนิด โลกียสัมมาทิฏฐิ พูดอย่างมีสัตว์มีบุคคล มีดีมีชั่ว มีสุขมีทุกข์มีบุญมีบาป มีอะไรหลายอย่างเหมือนที่เขาพูดกันตามธรรมดาสามัญ นี้เรียกว่าสัมมาทิฐิทั่วไปอย่างชาวบ้าน แต่ถ้าสัมมาทิฐิอย่างแท้จริง อย่างเป็นธรรมะในพระพุทธศาสนา ไม่มีสัตว์ บุคคล ทุกข์ก็มีแต่ทุกข์ มีแต่เหตุให้เกิดทุกข์ มีแต่ความดับทุกข์และทางของการดับทุกข์ แล้วก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จนนึกว่าไม่มีอันนี้ ไม่มีอันอื่น ไม่มีดีไม่มีชั่ว เป็นเพียงการปรุงแต่งแห่งสังขาร มีผลออกมาเป็นสังขารที่เป็นผล ไอ้ตัวการปรุงแต่งนั่นแหละเป็นเหตุ แล้วไปยึดถือเข้ามันก็กัดเอา เพราะมันเป็นเพียงการปรุงแต่งที่ไม่รู้จักหยุด เรียกว่ามีการเปลี่ยนแปลง ลักษณะแห่งความทุกข์ ความน่าเกลียดน่าชัง หาความเป็นตัวตนไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจไว้ หรือเข้าใจเพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่เข้าใจขอให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นพุทธบริษัทตายด้าน หยาบคายไปหน่อย เป็นพุทธบริษัทตายด้าน ขุดหลุมฝังตัวเองอยู่ที่ตรงนี้ เคลื่อนไปไม่ได้
วันนี้ก็เป็นวันวิสาขบูชา วันนี้เป็นวันแห่งแสงสว่างคือตรัสรู้ วันนี้เป็นวันแห่งความดับทุกข์คือนิพพาน วันนี้เป็นวันที่เกิดขึ้นแห่งผู้รู้ คนโง่ตายไปคนรู้เกิดขึ้นมา ก็เรียกว่าเป็นวันแห่งแสงสว่าง อาตมาจึงอยากจะพูดว่า ทุกวันวิสาขบูชา ควรจะมาพูดกันถึงเรื่องแสงสว่าง เพื่อว่าให้เราได้รับแสงสว่างเพิ่มขึ้น หรือซักซ้อมแสงสว่างที่เคยรู้อยู่ก่อนแล้ว อย่าให้มันเลือนไปเสีย หรือว่าเพิ่มแสงสว่างอันใหม่เข้ามา เป็นเรื่องแปลกเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยฟัง แต่ละบทเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งกว่าเก่า สูงขึ้นไปยิ่งกว่าเก่า คือดับทุกข์ได้มากยิ่งกว่าเก่านั่นเอง
วันนี้อาตมาจึงพูดเรื่องถ้อยคำพิเศษคำหนึ่ง คือคำว่าสัมปรายิกโวหาร ขอท่านทั้งหลายจำไว้ สำหรับที่ได้ยึดถือจับฉวยเอาเรื่องบางเรื่องที่พระองค์ตรัสไว้โดยสัมปรายิกโวหาร คือเรื่องที่กล่าวแล้วในตอนกลางวัน ว่าคราวหนึ่งท่านตรัสว่า สัตว์มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่ตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นไปได้ แล้ววันนี้ก็เอามาให้ฟังถึงพุทธภาษิตที่ว่า อาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดก็จะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่ก็จะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายจะพ้นจากความตาย หรือพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง นี่อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว ทำให้รู้ เมื่อได้อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว ก็ศึกษาตามพระองค์ ปฏิบัติตามพระองค์ มองสิ่งทั้งปวงตามวิธีของพระองค์ ก็เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นเพียงสังขาร ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงการปรุงแต่งแห่งกฎอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เหมือนกับลูกโซ่เป็นห่วงคล้องกันไปไม่ขาดสาย อย่างนั้นแหละ จะเอาอันไหนเป็นอันดี จะเอาอันไหนเป็นอันชั่ว มันก็ไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่ง
ควรจะศึกษาตามพระบาลีที่ยกขึ้นไว้ข้างต้นเป็นนิกเขปบทนั้นว่า สุทธัง ธรรมะ สะมุบปาทัง(นาทีที่36:20 ) มันเป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ สุทธัง สังขาระ สังตะติง(นาทีที่ 36:30) มันเป็นเพียงการสืบต่อแห่งสังขารการปรุงแต่งล้วนๆ ผัสสันตัสสะ ยะถาภูตัง(นาทีที่ 36:40) เมื่อบุคคลเห็นอยู่ในเรื่องนี้ตามที่เป็นจริง ภะยัง นะโหติ คามณิ(นาทีที่ 36:50) อภัยย่อมไม่มีดอก นายบ้านเอ๋ย เรื่องนี้ตรัสกับผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง ชื่อคามณิเป็นผู้ใหญ่บ้าน คำนี้ แปลว่า ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านคนนี้ไปทูลถามว่าทำไมพระองค์จึงไม่มีความหวาดกลัว พระองค์ก็ตรัสว่า อย่างนี้จะไปกลัวอะไรกับมัน สุทธัง ธรรมะ สมุปปาทัง(นาทีที่ 37.19) มันเป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วน ๆ สุทธัง สังขาระ สังตะติง(นาทีที่ 37.25) มันเป็นเพียงการสืบต่อแห่งสังขารล้วนๆ ผัสสันตัสสะ ยะถาภูตัง(ไม่แน่ใจนาทีที่ 37.33) เมื่อบุคคลเห็นอยู่ตามที่เป็นจริง ภะยัง นะโหติคา มันนิ (นาทีที่ 37.42) ความกลัวไม่มีดอก นายบ้านเอ๋ย ผู้ใหญ่บ้านคนนั้น อาตมาแกล้งพูดเป็นภาษาบ้านเรา แม้ตัวบาลีก็หมายความอย่างนั้น คามณิดูก่อนนายบ้าน พะยัง อันว่า ภัยนะ โหติ(นาทีที่ 37.58 ) น่ะ ย่อมไม่มี เป็นผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้สนใจอยู่แต่เรื่องวัวควายไร่นา จะไปสนใจเรื่องคุ้มสุดที่หลุดพ้นจากสังขารจากโลก ก็น่าเอาอย่างอยู่เหมือนกันนะ
เราเป็นคนธรรมดาสามัญก็จริง แต่ว่าในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท มันควรจะได้อะไรจากพระพุทธเจ้าให้พอคุ้มกันกับการเป็นพุทธบริษัท จึงเป็นอันว่า ถึงวันวิสาขบูชาคราวหนึ่งแล้ว มาประชุมกันมากๆอย่างนี้แล้ว ก็ควรจะได้อะไรเพิ่มขึ้นให้สมกับการที่เป็นพุทธบริษัท
สุตทัง ธรรมะ สมุปาทัง(นาทีที่ 38.59) เป็นเพียงการเกิดขึ้นตามธรรมชาติของธรรมชาติล้วนๆ ธรรมะ สมุปาทัง(นาทีที่ 39.13 ) แปลว่า ธรรม ธรรมะนี้ แปลว่าธรรมชาติ จะหมายถึงตัวธรรมชาติ สภาวะธรรมชาติก็ได้ จะหมายถึงตัวกฎของธรรมชาติ ก็ยังเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง จะหมายถึงหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มันยังเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง จะหมายถึงผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่ มันก็เป็นธรรมชาติที่เป็นผลทั้งนั้น ฉะนั้นจึงถือว่ามันเป็นธรรมชาติ ไม่เป็นอะไรอื่น เนื้อตัวของเราที่เป็นร่างกายก็เป็นธรรมชาติ ที่เป็นจิตก็เป็นธรรมชาติ จะเป็นอะไรๆที่ประกอบกันขึ้นเป็นชั้นเป็นภาพเป็นอายาตนะมันก็ธรรมชาติ เรือนภายในก็มีที่เป็นภายนอกก็มี ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ เมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกันแล้วมีผลอะไรออกมา มันก็ยังคงเป็นธรรมชาติ เป็นเพียงธรรมชาติภายในธรรมชาติภายนอก เกี่ยวข้องกันปรุงแต่งกันตามกฎของธรรมชาติ มันก็ยังเป็นของธรรมชาติ ฉะนั้นจะไปกลัวอะไรกับมันในเมื่อ มันเป็นเพียงการเกิดขึ้นของธรรมชาติล้วนๆ
นี่หมายถึงความคิด ส่วนใหญ่หมายถึงความรู้สึกหรือสังขารขันธ์ คิดนึกอย่างนั้นคิดนึกอย่างนี้ หรือแม้ว่ามันเป็นเรื่องภายนอก เช่น เสือ เช่นผี หรือเช่นอะไรที่กลัวกันนัก ที่แท้มันก็เป็นสิ่งที่เข้ามาปรากฏเป็น ความคิด ความนึกความรู้สึกในภายใน แล้วจะไปกลัวอะไรกับมัน ถ้าพูดให้มันเลยออกไปก่อนหน้า มันกัดเอาเจ็บปวดเลือดไหลจะตายอยู่แล้ว มันก็ยังเป็นการเกิดขึ้นตามธรรมชาติล้วนๆอยู่นั่นแหละ นี่คนธรรมดาคงไม่เอา คงทนไม่ไหว ไม่ยอม กันมากถึงอย่างนั้น ก็ต้องกลัว ก็ต้องวิ่งหนี ก็ต้องเป็นทุกข์ อาตมาเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติเท่านั้น การเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติเท่านั้น ล้วนๆ ธรรมชาติล้วนๆ ทำไมจะต้องกลัว
เทวะ สุทธัง สังขาระ สันตติ (นาทีที่ 41.34) เป็นเพียงการสืบต่อแห่งการปรุงแต่งล้วนๆ นี่มองลึกเข้าไป ธรรมชาติล้วนๆนั่นแหละ มันทำการปรุงแต่งซึ่งกันและกัน การปรุงแต่งกันเรียกว่า สังขาร ทีนี้ การปรุงแต่งมันต่อกันเรื่อยเรียกว่าสันตติ สันตติแปลว่าต่อกันเรื่อย ไม่ขาดสาย สังขาระสันตติก็คือ สืบต่อแห่งการปรุงแต่งอย่างไม่ขาดสาย มันเป็นเพียงการสืบต่อแห่งการปรุงแต่งอย่างไม่ขาดสาย เช่นว่า ชีวิตนี้ ร่างกายนี้ มันเป็นการสืบต่อแห่งการปรุงแต่งอย่างไม่ขาดสาย มันจึงอยู่เป็นคนอย่างนี้อยู่ได้ ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นแต่ประการใด ความกลัวเกิดมาจากความยึดมั่นถือมั่น หรือความต้องการ
มีหลักใหญ่ๆซึ่งควรจะจำไว้ อย่าให้ไขว้เขวได้ ก็ความกลัวนั้นมาจากความต้องการหรือความรักหรือความปรารถนา เช่น เรากลัวตายก็เพราะว่าเรารักที่จะอยู่ รักร่างกาย รักชีวิตที่จะอยู่ นี่เป็นความต้องการ เป็นเหตุให้กลัวคือกลัวตาย มีเงินทองข้าวของ ก็กลัวว่ามันจะสูญหายไป ก็เรียกว่ามันกลัว ความกลัวนั้นเป็นเหตุให้เป็นทุกข์ มันมาจากความต้องการ ไอ้ความต้องการเป็นความรู้สึกตามธรรมดา ต้องการจะได้อย่างนี้มันไม่ได้ก็เป็นทุกข์ ได้อย่างอื่นก็เป็นทุกข์ ได้แล้วหายไปก็เป็นทุกข์ นี่ความต้องการ เป็นการปรุงแต่งอันหนึ่งเรียกว่าเป็นสังขารอันหนึ่ง เป็นความต้องการที่สืบต่อกันอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด เป็นการสืบต่อแห่งสังขาร
เราก็ไม่เห็นว่าเป็นเพียงธรรมชาติซึ่งเป็นเพียงการสืบต่อแห่งสังขาร เราเอามันเป็นเราบ้าง เราเอามันเป็นของเราบ้าง ของใครซึ่งเป็นของเราอีกทีหนึ่งก็ได้ ของลูกของเรา ที่จะเป็นอย่างอื่น จะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น มันก็มีมาก มันก็มีความทุกข์ เมื่อไม่เห็นว่ามันเป็นของธรรมชาติ มันก็ต้องไปกลัวด้วยความโง่เขลา เพราะคิดว่ามันจะได้อย่างที่เราต้องการ แต่ถ้าเราเห็นชัดลงไปว่า ของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่อาจจะเป็นไปตามที่เราต้องการ เราก็หยุดความต้องการ หยุดความต้องการก็ไม่มีความทุกข์เพราะว่ามันไม่อาจจะเกิดกิเลส
ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า เมื่อเห็นอยู่ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ แล้วจะเกิดความกลัวได้อย่างไรเล่า นายบ้านเอ๋ย ตัวหนังสือมันมีอยู่นี่ อาตมาจะตัดทิ้งออกไปก็ไม่ได้ คำว่า คามณิ มันแปลว่านายบ้าน ตัวหนังสือมันมีอยู่ มันก็ต้องว่าไปตามตัวหนังสือ ภะยัง นะโหติคามณิ(นาทีที่ 45.08 ) นายบ้านเอ๋ย ไอ้ความกลัวมันก็ต้องมี ความกลัวมันก็ไม่มีเพราะมันเห็นอยู่อย่างนี้
ธรรมะชั้นลึกหรือเรื่องที่มันลึกก็ต้องดูด้วยสติปัญญาที่แท้จริง จึงใช้คำว่า ยถาภูตัง ไอ้ความรู้ของพวกเราที่เรียนๆรู้ๆกันอยู่ในโลกนี้มันไม่ถึงขนาดนั้น แล้วก็ไม่ได้เรียนเรื่อง คือไม่ได้เรียนเรื่องให้รู้ตามที่เป็นจริง เรียนแต่จะทำมาหากินแล้วก็ได้อย่างใจก็พอใจก็ยินดีรักใคร่ ไม่ได้อย่างใจก็โกรธกับแค้น ตีรันฟันแทงกัน มันเรียนเพื่อจะทำตัวเองให้เป็นทุกข์ ทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์ไปตามเรื่องของกิเลสของตน นี่มันไม่มี ยถาภูตัง ที่เป็นปัญญา นี่มาดูให้เห็นตามที่เป็นจริง คือว่าเห็นสังขาร ตัวสังขารนะคือตัวการปรุงแต่ง แล้วปรุงแต่งกันเป็นสันสติ ไม่ขาดสาย ยืดยาว เหมือนกับว่า ห่วงโซ่ที่คล้องกันเป็นสายยาวแล้วไม่มีที่สิ้นสุด เห็นอย่างนั้น มันก็จะไม่เกิดเป็นตัวตนสำหรับจะดีจะชั่ว จะได้จะเสีย จะสุขจะทุกข์ จะแพ้จะชนะ หรือว่าเป็นคู่ๆๆๆตามที่มนุษย์เขายึดถือกัน
เมื่อใดเห็นชัดขณะนั้น ไอ้คำพูดก็เปลี่ยน คนโง่ก็ว่าน่ารัก มันก็รักแล้วก็พูดไปตามภาษาของคนรัก ส่วนพระอริยเจ้าเห็นตามที่เป็นจริง ว่ามันเป็นเพียงสังขาร สังขารที่เป็นเหตุหรือสังขารที่เป็นผลก็ตาม จะไปรักมันจะได้อย่างไร เพราะมันเป็นของธรรมชาติ หรือว่าจะเห็นว่ามันเป็นของปรุงแต่ง เป็นสังขารนี่ มันก็ไม่มีทางที่จะไปรักมันได้ เพราะมันเป็นสังขารของธรรมชาติ ขืนไปรักมันเข้ามันก็กัดเอา คือมันเปลี่ยนไปตามเรื่องของมัน ไอ้คนนั้นก็ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นคนที่มองเห็นอย่างนี้ก็ไม่เรียกว่า ไอ้ของนี้น่ารัก ไอ้คนที่มันไม่เห็นมันก็ ของนี้น่ารัก ของเดียวกันนั่นแหละ คนหนึ่งมันเห็นด้วยความรู้ที่โง่เขลา มันว่าน่ารัก ไอ้คนหนึ่งเห็นด้วยปัญญาญาณทัศนะตามที่เป็นจริง ธรรมชาติ ธรรมดา สังขารธรรมดา ไม่น่ารัก ดังนั้นคำพูดมันก็ออกมาต่างกัน คนหนึ่งว่าน่ารัก คนหนึ่งว่าไม่น่ารักสำหรับสิ่งเดียวกัน
นี่เมื่อเห็นตามที่เป็นจริงแล้ว คำพูดมันก็เปลี่ยนความหมายเพราะว่าเขาได้เห็นแปลกออกไปอย่างตรงกันข้ามจากที่คนธรรมดาเห็น ในพระบาลีเรียกว่า เห็นโดยประการอื่น เห็นโดยประการอื่น อัญญโตปัสสติ (นาทีที่ 48.53) ย่อมเห็นโดยประการอื่น จากที่คนธรรมดาเห็น คนธรรมดาทั่วไปเขาเห็นอย่างไร ไอ้คนคนนี้ที่รู้ธรรมะ เห็นธรรมะ มีธรรมะนี้ มันเห็นผิดอย่างอื่นไปจากที่คนธรรมดาเห็น ฉะนั้นที่คนธรรมดาเห็นว่าเป็นสุขมันก็เห็นว่าเป็นทุกข์ คนธรรมดาเห็นว่าน่ารัก มันก็ว่าไม่น่ารัก มันจะเห็นตรงกันข้ามจากที่คนธรรมดาเห็นไปหมด นี่เพราะว่ามันได้เห็นถึงของจริง ดังนั้นคำพูดมันก็เปลี่ยน มันมีโวหารอื่นสำหรับจะพูด สำหรับผู้ที่เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง พูดออกมาก็เป็นสัมปรายิกโวหาร คือผิดตรงกันข้ามจากที่คนธรรมดาเขาพูดกัน นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือว่าเราจะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน
ประโยชน์อย่างแรกที่พูดมาแล้วคือ ประโยชน์ในข้อที่ว่า เราจะฟังออกในพระพุทธภาษิต ที่บางคราวตรัสอย่างสามัญโวหาร บางคราวก็ตรัสอย่างสัมปรายิกโวหาร เช่นว่า เราจะต้องตายเป็นธรรมดา พ้นความตายไปไม่ได้ นี่เป็นตรัสอย่างสามัญโวหาร เดี๋ยวก็มาตรัสว่า พ้นจากความตายได้ นี่ก็เป็นสัมปรายิกโวหาร รู้ไว้เป็นประโยชน์ จะได้ฟังพระพุทธภาษิตออก
ทีนี้ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็เมื่อเราพูดกันเอง ถ้าเรารู้เรื่องนี้ดี มันพูดกันคนละโวหาร เดี๋ยวมันก็ได้ชกปากกัน แต่ถ้าว่าเรารู้กันแล้ว เราก็ไม่ต้องถึงขนาดชกปากกัน คนนี้มันพูดอย่างสามัญโวหาร เราก็ เออๆ มันก็อย่างนั้นแหละ แต่ถ้าคนหนึ่งมันพูดอย่างสัมปรายิกโวหาร มันก็ยิ่งถูกกว่าและก็ยิ่งจริงกว่า พุทธบริษัทก็ทำความเข้าใจกันได้อย่างนี้
พุทธบริษัทนี้จะต้องสนทนาธรรมกันอยู่เป็นประจำ อาตมาอยากจะบอกอย่างนี้ หรือจะเรียกว่าขอร้องก็ได้ เพราะว่าเมื่อได้อ่านดูในพระบาลี ในพระสุตตันตปิฎกนี้จะพบว่า แม้เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังสนทนาธรรมกันอยู่ พระอรหันต์ต่อพระอรหันต์ บางเรื่องสนทนากันจนสว่างก็มี ไม่รู้ว่าต้องอะไรกันนัก คือเป็นพระอรหันต์แล้วจะไปรู้อะไรอีก จะเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ควรต้องการอะไรอีก ไม่ควรต้องรู้อะไรอีก แล้วเอาเรื่องอะไรมาสนทนากันจนสว่าง ก็เพราะว่าธรรมะนั้น มันเป็นของมีค่า หรือมีโวหารอันละเอียดซับซ้อน เอามาหาความสุขแก่กันและกันด้วยการสนทนาธรรม นี่มันมีความสุขอยู่ที่นี่ มันก็ไม่ขาดแคลนความสุขอะไรที่ไหนอีก จะเห็นว่าพุทธบริษัทนี่ ควรจะสนทนาธรรมอย่างที่พระอรหันต์ท่านสนทนาธรรม อย่าถือได้ว่าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ ไม่รู้จะสนทนาไปทำไม ไอ้นั่นแหละมันยิ่งจำเป็นแหละ คนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์นี่จะต้องสนใจธรรมะให้มาก เพื่อจะได้ก้าวหน้าในทางธรรมะไง เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นว่าจะสนทนาธรรมกัน ให้มีประโยชน์ มีแต่จะเถียง อวดกัน เอาชนะกัน เพราะมันต้องการที่จะเอาชนะกัน มันก็ได้เถียงกัน แล้วมันก็ทำอันตรายกัน มันก็เลยเป็นการทะเลาะวิวาทกัน ไม่ใช่สนทนาธรรมซึ่งกันและกัน ควรจะไปปรับปรุงเสียใหม่ ว่าให้พุทธบริษัทสนทนาธรรมกันให้มากๆ และให้เป็นการสนทนาธรรม อย่าให้เป็นการทะเลาะวิวาทกันด้วยธรรม แย่งกันจะมีหน้ามีตาในทางธรรม อย่างนี้มีคำเปรียบไว้ในพระบาลีว่า มันมีไม้ไผ่ทำแพ สำหรับจะข้ามแม่น้ำ แต่มันหาอะไรเอามามัดเป็นแพเพื่อข้ามแม่น้ำไม่ มันดึงไม้ไผ่ออกมาเป็นลำๆแล้วมันก็หวดกันตีกัน จนคนก็ตกน้ำตายไป ไม้ไผ่ก็สูญหายหมด มันจะเป็นอย่างนี้
ถ้าเราขืนจะทำอย่างมีตัวมีตน เห็นแก่ตัวแก่ตน ยกตนข่มท่าน คนนี้รู้กว่าคนนี้ คนนี้อย่ามาพูด นั่นนะคือจะได้เอาธรรมะซึ่งเป็นเหมือนกับห่วงแพนี่ มาใช้ ยังไม่เป็นห่วงแพแต่เอามาใช้สำหรับตีกันให้ตายไปหมดทั้งสองข้าง นี่แม้จะทะเลาะกันด้วยธรรมะ มันก็ใช้ไม่ได้ ถ้าเป็นธรรมะจริง มันก็ไม่ต้องทะเลาะ เพราะการที่จะไม่ทะเลาะก็ขอให้ระวังเรื่องโวหาร
พูดอย่างสามัญโวหารก็ไปอย่างหนึ่ง พูดอย่างสัมปรายิกโวหารก็ไปอย่างหนึ่ง เราก็ไม่จำเป็นจะต้องทะเลาะกัน นี่อาตมาเห็นว่า เราควรจะเพิ่มแสงสว่างแก่จิตหรือดวงวิญญาณทุกคราวๆที่เราทำวิสาขบูชา วันนี้อาตมาก็ได้พูดถึงเรื่องของสัมปรายิกโวหารสำหรับผู้รู้หรือผู้รู้ธรรมะเอาไปใช้พูดจากัน หวังว่าท่านทั้งหลายก็คงจะได้รับประโยชน์โดยเอาไปใช้พูดจา อาตมาเห็นว่าการบรรยายธรรมะนี้สมควรแก่เวลาเพราะว่าเขามีกำหนดไว้ว่าจะทำอะไรกันต่อไป จึงขอยุติธรรมเทศนานี้เอาไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังจงมีด้วยประการฉะนี้