แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(ผู้ถาม) บางคนมีความจงรักภักดีต่อพุทธศาสนาแต่เป็นคนโง่ไร้สติปัญญาเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้วอธิบายคำว่าเทวดาว่าได้แก่ กษัตริย์และเศรษฐี คำว่าพรหมได้แก่ นักบวชนั่งเจริญสมาธิอยู่ในฌานสมาบัติ คำว่าเปรตได้แก่ คนขอทานและคนรับทุกข์ทรมาน คำว่าสัตว์นรกได้แก่ นักโทษ คำว่าสวรรค์ได้แก่ คนมีความสุข และคำว่านรกได้แก่ คนมีความทุกข์ไปเสียอย่างนี้ ซึ่งเขาจัดท่านอาจารย์ไว้ในหมู่ผู้มีคำอธิบายอย่างนี้ด้วยคนหนึ่ง นี่ท่านอาจารย์จะว่าอย่างไรครับ
(ท่านพุทธทาส) ว่าคนถามมันฟังไม่ศัพท์มันจับมากระเดียด ไอ้คนที่เขาอธิบายนี่เขาอธิบายความหมาย คือ ถ้าไม่สามารถจะเห็นนรกสวรรค์ต่อตายแล้วได้จริงและขอให้คำนวณโดยคุณค่า เช่นว่า เทวดานี่ คือคนไม่มีความทุกข์คนเล่นหัวสนุกสนาน ถ้าจะเรียกว่าเทวดาก็เทวดาสมมติ เช่น คนร่ำรวยหรือราชามหากษัตริย์อย่างนี้ก็เรียกว่าเทวดาสมมติ ให้ดูความหมายของคำว่าเทวดาได้จากสภาวะจิตใจของคนชนิดนี้ คำว่าพรหมอยู่ในพรหมโลก เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่เขาอยากให้ดูว่าเมื่อคนอยู่ในฌานสมาบัติภาวะจิตใจเหมือนกับผู้อยู่ในพรหมโลก เขาไม่ได้ใช้คำว่า ได้แก่ เหมือนคนโง่ๆ คนนี้นะ คนที่ถามนี่เป็นคนโง่นะ ฟังผิดฟังไม่ศัพท์จับไปกระเดียดใช้คำว่า ได้แก่ มันจึงว่าเทวดาได้แก่กษัตริย์ พรหมได้แก่คนเจริญสมาบัติ เปรตได้แก่คนขอทาน ใช้คำผิดเสียแล้วใช้คำว่า ได้แก่ ที่จริงผู้พูดผู้อธิบายเรื่องนี้ในเมืองไทยนี้เขาอธิบายกันมาหลายสิบปีแล้วเหมือนกัน เขาใช้คำว่า มีความหมายเช่น หรือว่า มีการเป็นอยู่ที่จะเปรียบเทียบกันได้เช่น เทวดาเปรียบกับการเป็นอยู่ของราชามหากษัตริย์ เปรตการเป็นอยู่ของคนขอทาน ไม่ได้ใช้คำว่าได้แก่ คนนี้มันโง่เองมันใช้คำผิดเอง เอาคำว่า ได้แก่ ได้แก่ มายัดให้เขา แล้วพลอยให้เป็นคนที่พูดไว้ดีแล้วกลายเป็นคนพูดผิด นี่คนโง่จะทำลายคนอื่นโดยไม่รู้สึกตัวและก็ไม่มีประโยชน์อะไร เขาจะจัดผมหัวให้เป็นคนหนึ่งในหมู่พวกนี้ก็ตามใจเขาสิเราไปบังคับเขาได้เหรอ แต่เราไม่มีคำพูดอย่างนี้ว่า ได้แก่ ได้แก่ เราก็จะพูดว่า มันมีความหมายแห่ง นรกมีความหมายแห่งความร้อนใจ คนร้อนใจคือคนตกนรกเป็นตัวอย่าง เทวดาคือคนที่ไม่รู้จักเหงื่อ กล่าวตามบาลีเลย พอเทวดาเหงื่อออกเมื่อไหร่จุติจากเทวดาเมื่อนั้น เทวดาเป็นคนที่ไม่เคยพบเหงื่อไม่รู้จักเหงื่อ เพราะว่าเขาไม่มีปัญหาเรื่องใช้เรี่ยวแรงนี่ความหมายของมันไม่ใช่ได้แก่ ขอให้ระมัดระวังคำพูดให้ดีๆ มีความหมายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ใช่ได้แก่ ผมก็ได้พูดเพื่อยกตัวอย่างในความหมายเพื่อเป็นสันทิฏฐิโก คำว่าเทวดาเทวดาที่เราได้ยินกันอยู่นั้นไม่เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าจะให้เป็นสันทิฏฐิโกสักนิดหนึ่งก็ขอให้ไปเพ่งเล็งที่จิตในเวลาที่ไม่มีความทุกข์มีแต่สนุกสนาน หรือเปรตอย่างนี้เมื่อมันหิวหิวอย่างโง่เขลา ซื้อลอตเตอรี่มาให้หิว ไปดูเวลาหิวมันคือเปรตความหมายของเปรต ไปซื้อลอตเตอรี่มาไว้หิวเล่นจิตไม่สงบเลย นั่นนะความหมายนั่นนะคือหิวหิวนั่นคือความหมายของเปรต นี่ไม่ถูกที่ว่าผมเป็นคนหนึ่งในพวกนั้นเพราะผมไม่ได้ใช้คำว่า ได้แก่ ไม่ได้ใช้คำว่า อยู่ที่ หรือว่าได้แก่ แต่ต้องการให้เปรียบเทียบโดยความหมาย ก็อย่างทราบด้วยจิตนี้เป็นสัณทิฏฐิโกว่า นรกเป็นอย่างไร สวรรค์เป็นอย่างไร เทวดาเป็นอย่างไร พรหมเป็นอย่างไร เอ้าต่อไป
(ผู้ถาม) มีผู้เสนอตัวเป็นอาจารย์ผู้สอนจำพวกหนึ่งสอนว่า พวกที่ไม่ยอมรับว่ามีอัตตาหรือวิญญาณซึ่งเป็นตัวตนนั้นพากันอธิบายว่า การเกิดใหม่ก็คือการเกิดดับของเซลล์ ซึ่งมีการเกิดดับใหม่ๆ อยู่เสมอมีพวกหนึ่ง แล้วว่าการมีลูกออกมานั่นก็เป็นการเกิดใหม่นี้ก็พวกหนึ่ง แล้วว่าการเกิดขึ้นแห่งอุปาทานว่าตัวกูของกูครั้งหลังๆ ก็เป็นการเกิดใหม่ทุกครั้งนี้ก็อีกพวกหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นโทษอันร้ายกาจของความไม่เชื่อว่ามีอัตตาหรือวิญญาณไปเกิด และเขาจัดท่านอาจารย์ไว้ให้อยู่ในพวกที่สาม คือ พวกที่มีการเกิดใหม่ด้วยอุปาทานว่าตัวกูของกูเป็นครั้งๆ ไป ข้อนี้ท่านอาจารย์จะอธิบายว่าอย่างไรครับ
(ท่านพุทธทาส) ไอ้ที่ว่าเกิดใหม่นี่คำเป็นปัญหากว้างขวางมาก การเกิด เกิดตาย นี่เขาก็เรียกว่าเกิดใหม่ในภาษาคนภาษาธรรม การเกิดใหม่ของเซลล์เล็กๆ ก็เป็นภาษาวัตถุ เกิดใหม่ ลูกเกิดออกมานี่ก็ภาษาคนภาษาเนื้อหนัง เกิดใหม่แห่งจิตก็ตัวกูของกูนี่เป็นภาษาธรรมะแท้ แล้วก็เกิดแห่งตัวกูของกูด้วยตัณหาอุปาทานนี้มันมีอยู่เรื่อยเพราะฉะนั้นจึงมีการเกิดใหม่อยู่เรื่อยแล้วก็ไม่เหมือนกันด้วย คำว่าเกิดใหม่ที่เขาจัดเราไว้ให้อยู่ในพวกที่สามนี้ก็ได้ถ้าอธิบายคำว่าเกิดนี้ถูกต้องตามเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ชาติการเกิดแห่งปฏิจจสมุปบาทวงทีหลังนี่คือเกิดใหม่ แล้วก็มีปฏิจจสมุปบาทวงทีหลังอีกก็มีเกิดอีก วงทีหลังอีกก็มีเกิดอีกนี่เรียกว่า เกิดใหม่ ที่ถูกต้องตามภาษาของพุทธศาสนา ไม่มีอัตตาไม่มีวิญญาณอย่างพวกนั้นพูด คือไปยืมของลัทธิอื่นมา ที่เชื่อว่ามีอัตตามีตัวตนนะ เป็น ลัทธิอุปนิษัท มีอยู่ก่อนพุทธกาลและพร้อมกันกับพุทธกาล นั่นเป็นพวกไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาเราจึงสอนให้รู้เสียแต่ทีแรกที่จะเข้ามาเป็นพุทธบริษัท ผมเคยเตือนพระเณรทุกองค์ว่าให้สนใจดีๆ บท ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานัง ธาตุมัตตะเมเวตัง ยะทิทัง ปิณฑะปาโตฯ ตะทุปะภุญชะโก นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญฯ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่วิญญาณ ไม่ใช่เจตภูต มันเป็นเพียงธาตุที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี่คือหัวใจของพุทธศาสนา ในสูตรทั้งหลายก็มีบ่อยๆ ที่ภิกษุบางองค์เขาถือว่ามีวิญญาณอย่างนี้ไปเกิดมาเกิด หรือมีวิญญาณ อัตตานี้อยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจคอยเห็นรูปฟังเสียงดมกลิ่นนี้พระพุทธเจ้าเรียก บอกให้รู้เสียใหม่คิดเสียใหม่ทั้งนั้น ว่ามันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ทำให้เห็นรูปฟังเสียงดมกลิ่นลิ้มรสได้ตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา หรือว่าถ้าร่างกายนี้มันจะไม่สิ้นสุดมันจะมีธาตุอันใดเหลืออยู่ก็เป็นไปตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตา สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วิญญาณ ไม่ใช่เจตภูต นี่การเกิดใหม่ตามหลักแห่งพุทธศาสนา ก็คือ ชาติ ที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาทในวงหลังๆ ว่าอย่างนี้ขอยืนยันว่าว่าอย่างนี้ เอ้าอะไรอีก
(ผู้ถาม) คนบางคนอธิบายว่า การอธิบายปฏิจจสมุปบาททั้งสายให้มีได้ในเวลาอันสั้นชั่ว 2-3 นาที ของการเกิดอุปาทานว่าตัวตน โดยไม่ต้องกินเวลาคล่อมภพคล่อมชาติถึง 3 ชาตินั้น เป็นเพราะบุคคลนั้นไม่เชื่อว่ามีอัตตาหรือวิญญาณซึ่งเป็นผู้ไปเกิดนี่ ท่านอาจารย์จะอธิบายว่าอย่างไรครับ เพราะดูเหมือนเขาเจาะจงว่าท่านอาจารย์เป็นผู้มีความเห็นเช่นนั้นครับ
(ท่านพุทธทาส) อธิบายว่าไม่มีตัวตน อย่างที่เขาพูดกัน คือไม่มีปฏิจจสมุปบาทคร่อมภพคร่อมชาติ นี่เพื่ออธิบายให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ อธิบายให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ในพุทธภาษิตเรื่องปฏิจจสมุปบาท อธิบายให้เห็นว่าไม่ได้คร่อมภพคร่อมชาติตั้ง 3 ชาติ ไปว่าวงหนึ่งใช้เวลาแว้บเดียวก็ได้ กว่าจะตายนี่มีปฏิจจสมุปบาทนับไม่ถ้วน ว่ามีกี่วงหรือมีกี่ชาติ การอธิบายไม่ให้ปฏิจจสมุปบาทคร่อมภพคร่อมชาตินี้คือการอธิบายให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ของเรื่องปฏิจจสมุปบาท มีเท่านี้ไม่ต้องอธิบายอะไร เอ้าต่อไป
(ผู้ถาม) โอปปาติกะสัตว์นี้เป็นอย่างไรกันครับ เห็นได้ที่ไหนครับ รูปร่างเป็นอย่างไรครับ
(ท่านพุทธทาส) นี่เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันอยู่ในเวลานี้ พวกหนึ่งเข้าใจว่าโอปปาติกะนั้นเป็นชื่อของสัตว์ชนิดหนึ่ง นี่เราไม่เห็นด้วย โอปปาติกะเป็นชื่อของกิริยาอาการที่เกิด ไม่ได้เป็นชื่อของสัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างอะไรของตนโดยเฉพาะ โอปปาติกะหมายถึงการเกิดในลักษณะที่ว่าฟุ้งขึ้นมาโตเต็มที่ไม่ต้องเกิดเป็นเด็ก ไม่ต้องมีบิดามารดา เกิดฟุ้งขึ้นมาโดยไม่ต้องมีบิดามารดา ไม่ต้องเป็นเด็กก่อน ไม่ต้องเป็นหญิงเป็นชาย ไม่ต้องมีเพศ กิริยาเกิดฟุ้งอย่างนี้เรียกว่า โอปปาติกะ อย่าเติมคำว่าสัตว์เข้าไป มันเป็นกิริยาอาการที่เกิดเป็นชื่อของกิริยาอาการ ทีนี้เมื่อเกิดแล้วจะไปเรียกสัตว์นั้นว่าโอปปาติกะสัตว์ ก็หมายความว่ามันเกิดโดยวิธีโอปปาติกะ โอปปาติกะไม่ใช่เป็นชื่อของสัตว์ เป็นชื่อของกิริยาอาการที่เกิด เห็นได้ที่ไหน เมื่อมีสติปัญญาเข้าใจความหมายของคำคำนี้ ก็จะเห็นได้ว่าเป็นกิริยาอาการเกิด มีรูปร่างอย่างไร ไม่แน่ไม่มีในตำรา แต่ว่าถ้าการเกิดอย่างนี้ เกิดเป็นพรหมมันก็มีรูปร่างอย่างพรหม เกิดเป็นเทวดาก็มีรูปร่างอย่างเทวดาไม่ผิดแปลกแตกต่างกันไป นี่ผมจึงอธิบายว่าเมื่อจิตคิดอย่างเทวดาก็เป็นเทวดาฟุ้งขึ้นมาในจิตใจนี้ เมื่อคิดอย่างสัตว์นรกก็เกิดเป็นสัตว์นรกฟุ้งขึ้นมาในจิตใจนี้ ไม่ต้องมีพ่อมีแม่ ไม่ต้องเป็นเด็กก่อน มีความรู้สึกเป็นอย่างพรหม จิตใจอยู่ในสภาพพรหมก็เกิดเป็นพรหมขึ้นในจิตใจนี้ การเกิดที่ไม่ต้องเป็นเด็กก่อน ไม่ต้องมีบิดามารดา ไม่ต้องเข้าไปในครรภ์ ไม่มีเพศ นี่การเกิดอย่างนี้เรียกว่า โอปปาติกะ เป็นชื่อของการกำเนิดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ชื่อของสัตว์เลย เอ้าต่อไป
(ผู้ถาม) คำว่า โอปปาติกา นี้ที่ถูกจะต้องออกเสียงว่า โอป-ปา-ติ-กา หรือ โอ-ปะ-ปา-ติ-กา กันแน่ครับ ที่หมายความว่า เมื่อถือเอาตามหลักภาษาบาลีมิใช่ถือเอาตามภาษาชาวบ้านที่ไม่เคยเรียนภาษาบาลี
(ท่านพุทธทาส) ที่ถูกต้องออกเสียงว่า โอ-ปะ-ปา-ติ-กา โอ-ปะ-ปา-ติ-กา อย่าไปออกเสียงว่า โอป-ปา-ติ-กา ไม่ถูกตามหลักภาษาบาลี เอ้ามีอะไรอีก
(ผู้ถาม) พรหมที่ลงมากินง้วนดินติดใจกลับพรหมโลกไม่ได้กลายเป็นมนุษย์ไปนั้น เป็นพรหมพวกไหนครับ
(ท่านพุทธทาส) เป็นพรหมพวกที่เมื่อกล่าวตามคัมภีร์ในพระบาลี เรียกว่าพรหมพวก อาภัสสรพรหม พวกนี้มีปีติเป็นภักษา ก็หมายความว่าเป็นเรื่องจิตใจไม่ใช่เนื้อหนัง มีแสงสว่างในตัวเองก็แสดงว่าเป็นเรื่องจิตใจ คล้ายๆ กับเป็นธาตุจิต ธาตุจิตใจอยู่ก่อน แล้วต่อมามันมาได้อาศัยวัตถุ เข้ามาเนื่องในวัตถุเป็นร่างกาย เลยมันติดอยู่ที่นี่ มันกลับไปเป็นจิตใจล้วนๆ อีกไม่ได้ เท็จจริงอย่างไรไม่ยืนยัน ไม่ต้องอธิบาย แต่ว่ากล่าวตามข้อความในพระคัมภีร์ พรหมพวกนี้เขาเรียกว่า อาภัสสรพรหม มีคนจำผิดๆ พูดผิดๆ ไม่ตรงตามบาลีอยู่มาก จะพูด ถ้าอนุญาตให้พูด ก็จะพูดว่าจิตที่ไม่เคยมาเนื่องกันกับกายนั้นก็มีอยู่แล้วมีอยู่ก่อน ต่อมาจิตนี้มันได้มาเนื่องกันเข้ากับกาย มันเลยติดอยู่ในกาย จมอยู่ในกาย ฝังอยู่ในกาย แล้วมันๆๆพอใจ มันมีความพอใจ จึงได้พูดอุปมาว่าพรหมพวกนี้ทีแรกก็อยู่ในพรหมโลกแล้วต่อมาลงมาที่โลกนี้มากินง้วนดินเข้าไป อร่อยติดใจ กลับพรหมโลกไม่ได้เพราะร่างกายมันเปลี่ยน เพราะมันเกิดร่างกายใหม่ซึ่งกลับไปพรหมโลกไม่ได้ มันจึงเป็นมนุษย์กันอยู่ที่นี่เขาว่าอย่างนี้ ไม่ต้อง ๆ ถือว่าเป็นหลักของพระพุทธศาสนานะ เป็นความเชื่อของคนที่เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านะ มันจะ มันจะขัดหลักวิทยาศาสตร์หรือไม่ขัดหลักวิทยาศาสตร์ไม่ต้องพูดถึงนะ เพราะไม่ได้พูดในนามพุทธศาสนานะ เอ้า, มีอะไรอีก
ผู้ถาม : ท่านอาจารย์ถูกเขากล่าวหาว่าปฏิเสธว่าไม่มีโอปปาติกะสัตว์นี่มันอย่างไรกันครับ ท่านอาจารย์เอาเหตุผลที่ไหนมาปฏิเสธครับ
ท่านพุทธทาส : เราไม่ได้ปฏิเสธ เราไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีโอปปาติกะหรือสัตว์ที่มีกำเนิดโดยโอปปาติกะ เราตอบว่ามี ๆๆ ดูได้ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เมื่อจิตมันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นมันก็เป็นโอปปาติกะที่นี่ เดี๋ยวนี้และมีแน่ คนธรรมดานี้พอมันคิดอย่างโจรมันก็เกิดเป็นโจรทันที คิดอย่างสาธุชนคนดีมันก็เกิดเป็นสาธุชนคนดีทันทีนะ คิดอย่างสัตว์เดรัจฉานมันก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานทันที คิดอย่างสัตว์นรกก็เป็นสัตว์นรกทันที คิดอย่างเปรตก็เป็นเปรตทันที นี่, ทำไมจะว่าไม่มี เรายืนยันอยู่อย่างนี้ มันมียิ่งกว่ามี แล้วเห็นได้ รู้สึกได้อย่างวิทยาศาสตร์ ไอ้ส่วนพวกที่ว่าไม่รู้อยู่ที่ไหนนั้นนะ นั่นแหละพวกนั้นนะมัน ๆ หลับตาพูด ไม่ทำให้รู้สึกได้จริงว่ามันมี เราไปเกิดเป็นผีเป็นสาง เป็นเทวดา เป็นอะไรแล้วก็ว่าไม่มี ไม่มีเนื้อตัวที่มองเห็นได้ นั่นแหละยิ่งไม่ยืนยันไอ้ความมี เรายืนยันความมีว่าอยู่ที่นี่ในหัวใจของคน กิริยาอาการของจิตที่เปลี่ยนไปเป็นสภาพอันอื่น ก็เหมือนกับว่าเกิดในโลกอื่น เกิดในชนิดอื่นนี้เรียกว่าโอปปาติกะกำเนิด การเกิดอย่างโอปปาติกะ เราไม่ได้ปฏิเสธ แต่เราพูดให้เห็นชัดว่ามี แล้วก็มีอย่างที่เป็นสันทิฏฐิโกคนนั้นเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตาผู้อื่น ๒ ชั่วโมงครึ่งแล้ว เป็นอันว่าการบรรยายตอนที่ ๒ นี้ต้องพอกันที ขอยุติการบรรยายครั้งที่ ๒ นี้ไว้แต่เพียงนี้ ๓ ทุ่มค่อยมาพูดกันใหม่