แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในภาคที่ ๒ ของการทำบุญล้ออายุในตอนบ่ายนี่ ตั้งใจว่าจะเป็นเรื่องตอบคำถาม แต่อย่างไรก็ดี ก็อยากจะขอทบทวนเรื่องที่ได้ทำไปแล้วในตอนเช้าอีกบ้าง เพราะความรู้สึกอันนี้ มันได้เกิดขึ้นเมื่อได้ยินได้ฟังการแถลงแสดงความรู้สึกของหลาย ๆท่านที่ได้ผลัดกันมาพูดเกี่ยวกับการล้ออายุของแต่ละคน ๆ ข้อนี้มันเพียงแต่ว่าอาตมารู้สึกยินดีมากที่ได้ฟังสิ่งที่เป็นเครื่องแสดงว่าหลายคนไม่ได้นอนใจ ไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ได้เฉื่อยชาอะไร พยายามที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาของมนุษย์ โดยเฉพาะก็คือเรื่องความตกต่ำทางศีลธรรม อดที่จะแสดงความยินดีไม่ได้ จึงขอแสดงความยินดีในการกระทำนั้น ๆ และอาจจะเลยไปถึงว่า อดขอบคุณไม่ได้ เพราะว่ามีหลายท่านทำไปเพื่อสนองความประสงค์ หรือเจตนาของอาตมา เป็นเรื่องที่ควรจะขอบคุณ แม้จะเป็นเรื่องส่วนตัว ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
ขอยึดมั่นในวิธีการล้ออายุ เพื่อเป็นเครื่องชำระอายุให้มันสะอาด อายุที่ยึดถือนี่ เป็นที่ตั้งของกิเลส เป็นของสกปรก ต้องชำระให้สะอาด และบางทีก็จะต้องทำอย่างรุนแรง เพราะว่ามันถลำลึกลงไปในเรื่องของกิเลส ก็เหมือนกับการซักฟอก ก็จะต้องถูด้วยแปรงเหล็กกล้าที่มันคมกริบ ถูด้วยแปรงเหล็กกล้าที่คมกริบ ถ้าเป็นหนังคน มันก็ถลอกปอกเปิกหรือเลือดไหลเลย นี่เรียกว่าล้ออายุ ที่ถึงขนาดที่จะได้ผล เพราะว่าอายุนี่มันตกลึกลงไปในส่วนของความผิด หรืออวิชชา คือแนวแห่งความทุกข์
อย่างที่ได้บรรยายมาแล้วในตอนต้นว่า ในชีวิตของเรานี่ มันถูกซื้อเอาไปเสียแล้ว ตั้งแต่แรกคลอดออกมา ซื้อเอาไปหมดสิ้นเลย ไปเป็นทาสของกิเลส ขอให้ระลึกย้อนหลงให้ดี ๆว่า คำพูดที่ว่ากิเลสนี่ ธรรมชาติมันสอนให้ การยึดถือว่าตัวกูของกูนี้ธรรมชาติมันสอนให้ คือเด็กทารกคลอดออกมาแล้ว พอได้รับการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันรู้สึกอร่อย นี่ขอให้สนใจนี่ พิเศษตรงนี้ พออร่อย มันก็รัก มันก็ชอบ มันก็พอใจ มันก็มีตัณหาในสิ่งที่ตัวชอบอย่างสุดชีวิตจิตใจ เมื่อตัณหาเป็นไปแรงกล้า มันเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ไม่ใช่มีตัวตนอะไรที่ไหน ตัณหา เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตอย่างแรงกล้า เมื่อความรู้สึกอย่างนี้เกิดแล้ว มันก็เกิดความรู้สึกตามหลังมาอีกชนิดหนึ่งคือ อุปาทาน หมายมั่นเป็นตัวกู ของกู กูเป็นผู้อยาก อยาก กูเป็นผู้อร่อย กูเป็นผู้อยากได้ กูยึดถือเอาเป็นของกูนี่ จิตของทารกนั้นมันถูกกิเลสคือตัณหาอุปาทานยึดเอาไปหมดแล้วโดยธรรมชาติ โดยอัตโนมัติของธรรมชาติ นี้เรียกว่าซื้อเอาตัวไปก็ได้ ยึดเอาไปก็ได้ หรือว่าเด็กมันสมัครตามไปเองด้วยความสมัครใจก็ได้ ดูแล้วก็จะเหนียวแน่นเหลือเกิน คือตัณหา ความอยากมันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เด็กเขาก็อยากในอารมณ์ที่อร่อยนั้น เกิดอุปาทานเป็นตัวกู เป็นเจ้าของอารมณ์ที่อร่อยนั้น ก็หมายความว่าจิตใจของเขา มอบให้อารมณ์ที่อร่อยนั้นปรุงรูปขึ้นมาเป็นกิเลส คือตัณหาอุปาทานเสียแล้ว ก็แปลว่ากิเลสมันได้เข้าไปซื้อตัว ยึดตัว เอาไปหมดสิ้นแล้ว ไม่ใช่ ไม่ใช่แต่เพียงวางมัดจำหรอก เรามันจึงเป็นตัวของกิเลสโดยฝีมือของธรรมชาติ จะเรียกว่าซื้อตัวก็ตามใจ หรือจะเรียกว่ายึดเอาตัว คร่าเอาตัวไปก็ตามใจ
ทีนี้ที่จะมองอีกทางหนึ่งก็คือว่า มันด้วยความสมัครใจนะ ไอ้ทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่อง เรื่องความทุกข์ ไม่รู้เรื่องปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ นี่คำนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ฉะนั้นเขาก็อยาก เขาก็พอใจ เขาก็ยึดถือไปสุดชีวิตจิตใจเพราะเขาไม่มีความรู้เรื่องว่าไอ้นี่มันเป็นทุกข์ เด็ก ๆยังไม่เคยมีความรู้เลยว่า อันนี้มันเป็นทุกข์ ตัณหาเป็นทุกข์ อุปาทานเป็นทุกข์ เขาก็เลยมีตัณหาอุปาทานเต็มที่ แล้วก็มากขึ้น ๆ เพราะว่าในใจของทารกนี้ ไม่มีใครแทรกแซงเข้าไปได้ ไม่มีบิดามารดา ครูบาอาจารย์คนไหนสอนทารกเล็ก ๆนี้ให้รู้ว่า อันนั้นมันเป็นความทุกข์ ตัณหาเป็นความทุกข์ อุปาทานเป็นความทุกข์ ไม่มีใครเข้าไปสอนได้ เด็กเขาก็รู้สึกเอง แล้วตัณหาอุปาทานนี้มันมี อัสสาทะ คือความเอร็ดอร่อย จับจิตจับใจ มันก็เป็นอันว่าเด็กทารกนี้ก็มีจิตใจเป็นของกิเลส ตัณหา อุปาทานเสียแล้ว แล้วก็ ก็เรียกว่าด้วยความสมัครใจของเขา เพราะเขาไม่มีความรู้ว่านี่เป็นอันตราย เห็นว่าอร่อย รู้สึกว่าอร่อย เขาก็ยินดี ยินดีที่จะเอา หรือว่ามอบไอ้ความคิดนึกรู้สึกให้ อุปมาในหนังสือคำกลอนเล่มนี้ก็ดีมาก ที่สวดกันแล้วเมื่อเช้านี้ว่า
เหมือนดังเด็กแล หนีพ่อหนีแม่ วิ่งตามโจรมา
แต่อดแต่ยาก นี่คงจะเป็น อยาก
แต่อดแต่อยาก ลำบากเวทนา โอ้อนิจจา โจราน่าเชย
โจรนี้ใจร้าย ทำใดทำได้ ไม่ปรานีเลย
แต่ร่ำร้องไห้ ไม่มีสุขเล๋ย ใจโจรนี้เอ๋ย ไม่คิดเอ็นดู
อยู่ด้วยพ่อแม่ ทุกสิ่งใดแล ช่วยถือช่วยชู
มีความเมตตา ปรานีเอ็นดู นี่แลลบหลู่ ละเลยทาน เอ๊ย, ศีลทาน
นี่ก็ใช้สำนวนว่าสมัครใจ คือเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่ง อยู่กับพ่อแม่ ทีนี้พวกโจรเก ๆ เกเร ก๊กหนึ่งมันผ่านมา เด็กก็เห็นเข้าที ก็เลยหนีพ่อแม่ตามโจรไปด้วยความสมัครใจ นี่พวกโจรมันก็ไม่เอ็นดูปรานีอะไรแก่เด็กนั้น เพราะมันเป็นสัญชาติโจร ก็ทำเจ็บปวด ว่าโจรนี้ใจร้าย ทำใดทำได้ ไม่ปรานีเลย ได้แต่ร่ำร้องไห้ ไม่มีความสุขเลย เมื่ออยู่กับพ่อแม่ได้รับความประคบประหงมจากพ่อแม่เป็นสุขสบาย หนีหลงตามโจรไป อยู่กับโจร ก็ถูกโจรกระทำ นี้เป็นคำเปรียบว่า สมัครไปเป็นสมุนของกิเลส รับใช้กิเลส เป็นลูกน้องของกิเลส ไม่รับใช้พระธรรม ไม่อยู่กับพระธรรม ซึ่งเป็นเหมือนพ่อแม่ มันก็หนีตามโจรไปคือกิเลส ทีนี้กิเลสก็ทำเอาตามชอบใจ เพราะว่ามันเป็นทาสของกิเลสด้วยความสมัครใจเสียแล้ว
ขอให้ย้อนไปทบทวนดูอีกทีหนึ่ง เราแต่ละคนทุกคนนี่แหละ เมื่อยังเป็นทารกแรกคลอดออกมา ได้รับการประคบประหงมทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ถ้าอะไรมันอร่อย เราก็ชอบ เราก็ติดใจ เราก็มอบชีวิตจิตใจให้แก่สิ่งที่อร่อยนั้น เรียกว่าเหมือนกับวิ่งตามโจรไป เพราะมันให้ความอร่อย ก็วิ่งตามโจรไป มันก็เกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน มันก็ยิ่งอร่อย ยิ่งสนุก ฉะนั้นตั้งแต่เล็ก ๆ มา เราเกิดมีหลักเกณฑ์ผิด ๆ ขึ้นมาในใจว่า ถ้าอร่อยมันก็ดีแล้ว ก็ยังบูชาแต่สิ่งที่เอร็ดอร่อย สนุกสนาน มอบกายถวายจิตใจ จนเป็นเด็กวัยรุ่น เราก็ยังไม่รู้สึกว่าความจริงเป็นอย่างไร จนเป็นคนหนุ่มคนสาว เราก็ยังไม่รู้สึกว่าความจริงนี้เป็นอย่างไร คือไม่รู้ว่านี่คือการเป็นทาสของกิเลสตัณหา เหมือนกับเด็กวิ่งตามโจรไป เข้าฝ่ายโจรเลย บางทีว่าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนแล้วก็ยังไม่รู้สึกว่าอันนี้มันเป็นเรื่องผิด ตรงกันข้าม เราจึงได้เห็นคนที่โตเป็นพ่อบ้านแม่เรือนแล้ว ก็ยังหลงใหลในเรื่องเอร็ดอร่อย สวยงาม บูชาอบายมุข เป็นพ่อบ้านแม่เรือนแล้ว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนแล้วยังบูชาอบายมุข เหมือนกับเด็กทารกแรกเกิดบูชาความอร่อยที่ได้รับ นี่เรียกว่ามันเหนียวแน่นนัก เราถูกกิเลสซื้อเอาตัวไป หรือจับกระชาก ลากถูเอาตัวไป หรือว่าเราสมัครไปกับเขาเหมือนกับเด็กโง่คนนี้ นี่มัน มัน มันลึกซึ้งเท่าไร มันเหนียวแน่นเท่าไร ทั้งเนื้อทั้งตัวของเรา มันก็เปรอะ ก็เป็นของกิเลสหมด แล้วก็เติบโตขึ้นมาด้วยลักษณะอย่างนี้ มีอายุที่โง่เขลา มีอายุที่เต็มไปด้วยความโง่เขลาเรื่อยมา ๆ เป็นอายุร้อนตลอดเวลา ถ้าผู้ใดไม่มองเห็นไอ้ความจริงข้อนี้ของตน จะเอาปัญญาไหนมาล้ออายุ ไม่มีทางเลย มันเป็นทาสของความเอร็ดอร่อย หรือกิเลส เกินกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์เสียอีก พันเปอร์เซ็นต์ หมื่นเปอร์เซ็นต์ มันจะเอาปัญญาไหนมาล้ออายุเล่า ฉะนั้นจึงขอร้องให้ทบทวน ให้คิดนึกย้อนกลับหลังไปถึงว่า จุดตั้งต้นของการเป็นทาสของกิเลส หรือถูกกิเลสซื้อเอาตัวไปแล้ว หรือด้วยความสมัครใจก็ตาม มันตั้งแต่เมื่อไร ใครคิดนึกได้ ใครระลึกได้ ใครระลึกถอยหลังได้ว่าเมื่อตัวเล็ก ๆได้ตกเป็นทาสของไอ้อารมณ์เหล่านี้แล้วตั้งแต่เมื่อไร แต่ว่าถ้ามันลำบากนัก ยุ่งยากนัก ก็เว้นไว้ ไม่ ไม่ต้องว่าตั้งแต่วันไหน เอาแต่ว่าเรามันตกเป็นทาสของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาแล้วตั้งแต่เล็ก ๆ อายุมันก็เป็นทาสของกิเลส เป็นทุกข์เรื่อยมา เดี๋ยวนี้รู้สึกกลัวหรือยัง ว่าจะถอนตนจากความเป็นทาส จะถอนตนออกมาจากไอ้ความถูกผูกพันนั้น มาเป็นอิสระกันเสียที
ทีนี้มันก็มาติดขัดตรงที่ว่ามันชอบความอร่อยเสียแล้ว มันบูชาความเอร็ดอร่อยเสียแล้ว จะเอาความจริงใจที่ไหน เกิดมาทำการต่อสู้ไอ้ ไอ้กิเลส เหมือนว่าเราหลงรักอะไรเสียสุดชีวิตจิตใจแล้ว จะเอากำลังที่ไหนมาคิดต่อสู้ ทำลายล้างไอ้สิ่งที่เราหลงรัก เอ้า, ทีนี้สมมติว่าเรา เราได้ระแคะระคายบ้าง อายุมากแล้ว เราก็ยังไม่จริง ไม่มีความจริงที่พอจะยึดเอาฝ่ายพระธรรม ยังอาลัยอาวรณ์ในฝ่ายกิเลสอยู่นั่นเอง เพราะว่าความยึดถือนั้นมันเหนียวแน่นเกินไป แม้จะรู้ว่าอันนี้เป็นข้าศึก เป็นกิเลสแล้ว แต่ไอ้ความที่เคยหลงรักเหนียวแน่นมานานเกินไป มันตัดไม่ขาด ฉะนั้นจึงไม่มีความซื่อตรงแม้แต่ตัวเอง เพราะว่ามันติดในรสอร่อยของความยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีกำลังใจพอที่จะถอนตัวออกมา ไม่มีความซื่อตรงต่อตัวเอง หรือต่อธรรมะ เพราะมันยกถวายให้แก่กิเลสไปหมดแล้ว ทีนี้จะล้ออายุเพื่อความยุติธรรมได้อย่างไรกัน
มีบาลีพระพุทธภาษิตที่ควรจะเอามายึดถือเป็นหลักสำคัญอยู่บทหนึ่งคือ ความมีสัญชาติแห่งคนตรง ความมีสัญชาติแห่งคนตรง มีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าพระองค์จะสามารถฝึกคนเหล่านี้ให้หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์กันได้ไหม ได้ทุกคนไหม พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าเขามีสัญชาติแห่งคนตรง ปฏิบัติตามธรรมที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่นานเลย เขาก็จะหลุดพ้นได้ ฉะนั้นมันสำคัญอยู่ที่ว่ามีสัญชาติแห่งคนตรง เดี๋ยวนี้เรามีแล้วหรือยัง ถ้าเรายังชอบเอร็ดอร่อย สนุกสนานตามรสของกิเลสอยู่แล้ว ไม่มีหวังที่จะมามีสัญชาติแห่งคนตรง เรียกว่ามีสัญชาติแห่งคนคด เล่นตลกต่อธรรมะอยู่เรื่อยไป นั่นแหละเราจึงได้เห็นคนที่เขาเรียกกันว่า มือถืออะไรก็ไม่รู้ ปากถือศีล มันไม่ มันไม่ตรงกันอย่างนี้ รับศีลอยู่ที่วัด กลับไปถึงบ้าน มันก็ไปทำไอ้สิ่งที่ไม่ควรจะทำ เพราะไม่มีสัญชาติแห่งคนตรง
จึงขอพูดข้อนี้ต่อจากที่พูดแล้วเมื่อตอนเช้าว่า คุณสมบัติสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือความตรง ซื่อตรงต่อธรรมะ จะเรียกว่าซื่อตรงต่อตัวเองก็ได้ แต่มันกำกวม เพราะว่าถ้าตัวเอง มันเป็นของกิเลสไปแล้ว ขืนไปซื่อตรงต่อตนเองของกิเลส มันก็ไม่มีทาง ถ้าเอาตัวตนออกมาได้ เป็นอิสระ ไม่เป็นทาสของกิเลส แล้วมาซื่อตรงต่อตนเอง อย่างนี้มันยังมีทาง ฉะนั้นการที่จะล้ออายุนี่ ใครจะเป็นผู้ล้อ ก็คือผู้มีสัญชาติแห่งคนตรง ถอนตัวมาจากทาสกิเลสได้แล้ว มาเป็นตัวเองแล้ว นี่คนนี้จะเป็นคนล้ออายุ จะล้อกิเลส จะล้อความทุกข์ อะไรที่มันควรจะล้อ ขอฝากแถมลงไปในองค์ประกอบของการที่จะต้องล้ออายุ ที่บรรยายแล้วเมื่อตอนเช้าด้วย
ทีนี้ก็จะดำเนินรายการไปในลักษณะที่เป็นการถามตอบปัญหา นี้มันเป็นการล้อส่วนตัวอาตมา มีคนเข้าใจผิดก็มี แกล้งเข้าใจผิดก็มี ก็ ก็กล่าวหาอาตมาอย่างผิด ๆ ด้วยเจตนาร้ายก็มี ด้วยเจตนาไม่รู้ก็มี ก็เรียกว่าเราโชคดีที่ถูกเขากล่าวหาด่าว่า ทำไมโชคดี มันก็จะไปล้อตัวเอง ก็จะได้ล้อตัวเอง เปรียบเทียบค้นคว้าศึกษาว่าอะไรถูกอะไรผิด เป็นโอกาสที่จะ ที่จะได้ทำไอ้ข้อลึกลับซ่อนเร้นนั่น ให้มันเปิดเผย ฉะนั้นจึงเปิดโอกาสให้รวบรวมเอาคำที่เขากล่าวหาก็ดี เขาแกล้งด่าก็ดี เอามาเป็นตัวปัญหาสำหรับให้ถาม เพื่อจะถือโอกาสตอบ และยินดีตอบทุกข้อให้มันหมดแง่มุมที่จะเข้าใจผิด และจะตอบให้ละเอียดลออที่สุด ที่มันจะได้หมดปัญหาจริง ๆ เอ้า, ทีนี้มีปัญหาว่าอย่างไร ก็ถามไปได้เลย
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑: ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า การทำให้คนหรือสัตว์ตาย โดยไม่มีเจตนาแห่งการฆ่า ก็ไม่เป็นบาปด้วยสิขาบทปาณาติบาตนั้น มีตัวอย่างเช่นอะไรบ้าง และมีหลักมาจากไหนครับ พวกที่ถือศาสนาอื่นที่สอนว่าฆ่าสัตว์ไม่บาป หรือกลับจะเป็นบุญไปเสียอีก ในเมื่อพระพุทธศาสนาเราสอนว่าฆ่าสัตว์เป็นบาปดังนี้ ผู้ฆ่าในศาสนาโน้นจะเป็นบาปตามหลักศาสนานี้หรือไม่ครับ
พุทธทาส: นี่ผู้ฟังไปจับใจความของปัญหาให้ได้เสียก่อน คือว่าอาตมาพูดไปหลายครั้งหลายหนแล้วว่า การทำให้สัตว์ตาย แล้วจะขาดศีลปานาติบาทข้อที่ ๑ นั้น มันต้องมีเจตนาที่จะฆ่าเขาให้ตาย คือเจตนาฆ่า ไม่ใช่เจตนาอย่างอื่น เป็นบัญญัติขึ้นว่ามีเจตนาอย่างนั้น แล้วพยายามอย่างนั้น แล้วทำจนตายแล้ว นี้ก็ขาดศีลข้อนี้ แต่ถ้าไม่ได้มีเจตนาฆ่าเลย ไปทำใครตาย มันก็ไม่มีส่วนที่จะขาดศีลข้อนี้โดยตรง หรือแม้แต่ว่าเป็นบางส่วนที่ร่วมมือ ตัวใจความสำคัญมันอยู่ที่ว่าเจตนานั้นมันอยู่ลึกในใจ ใครจะไปรู้ของใคร มันจึงได้แต่วางไว้เป็นหลักว่าแล้วแต่เจตนา
ที่จะยกตัวอย่างให้รุนแรงที่สุด ก็เช่นว่าเพชฌฆาตก็ต้องประหารชีวิตคนตามคำสั่งของศาล เพชฌฆาตคนนี้จะขาดศีลปาณาติบาตข้อ ๑ หรือหาไม่ ถ้าเราตอบตามหลักนี้ ก็ว่าแล้วแต่เจตนาของเพชฌฆาตคนนั้น ถ้ามันเป็นเพชฌฆาตที่ไม่ได้รับการอบรมศึกษาอะไร มันทำไปด้วยความโกรธแค้น เจตนาจะฆ่าให้ตายด้วยความโกรธแค้นหรืออะไรก็ตาม มันก็ต้องขาด ขาดศีลปาณาติบาต แต่ถ้ามันเป็นเพชฌฆาตที่ได้รับ ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี ไม่มีเจตนาจะฆ่า มีเจตนาแต่จะปฏิบัติเพื่อความยุติธรรมในโลก มันมีความบริสุทธิ์ใจอย่างนี้จริง ๆไม่มีเจตนาฆ่า เพชฌฆาตคนนี้ไม่ขาดศีลปาณาติบาต มันต้องมีเจตนาจะฆ่า เช่น เราจะไปซื้อปลากระป๋องมากินอย่างนี้ แล้วจะมาปรับให้เราเป็นบาป เพราะว่าเขาต้องฆ่า หรือมีส่วนให้เขาฆ่ามากขึ้น อย่างนี้ไม่มีเหตุผล การไปซื้อปลากระป๋องมากินนั้น ไม่ใช่เจตนาจะฆ่า ถ้าเพียงเท่านี้เป็นบาป ปรับให้เป็นบาป แล้วก็ไม่ต้องกินอะไรกันละ กินข้าวก็ต้องบาป เพราะว่าการกินข้าว ทำให้มีการไถนา เมื่อมีการไถนา ในรอยไถแดงฉานไปด้วยเลือดของสัตว์มากมาย คือมันต้องตาย และตายมากกว่าที่จะไปฆ่าเป็ดฆ่าไก่ทีละตัวเสียด้วยซ้ำไป ตัวเล็กตัวน้อยไส้เดือน ไอ้อะไรนิด ๆ หน่อย ๆ มันตายมากมายในรอยไถ แล้วคนที่กินข้าว กินข้าวสารที่เขาทำขายนั่น จะต้องพลอยเป็นบาปเพราะสัตว์ตายในรอยไถหรือไม่ คนกินข้าวไม่ได้ ไม่ได้มีเจตนาจะฆ่าสัตว์ เช่นเดียวกับไอ้คนซื้อปลากระป๋องมากินก็ไม่ได้เจตนาจะฆ่าสัตว์ มันก็ไม่ผิดศีลข้อปาณาติบาต และถ้ามีความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ ก็ไม่ด่างไม่พร้อยอะไรเลย เว้นไว้แต่ว่าเขาจะอุตริ ไปเกิดสงสัยขึ้นมา มีจิตหม่นหมอง ก็คงจะด่างพร้อยไปบ้าง ถ้าว่ามันมีเจตนาอย่างอื่น ไม่ใช่เจตนาฆ่า ก็ไม่บาปด้วยศีลปาณาติบาต หรือไม่ขาดศีล เรายังต้องทำอะไรหลายอย่างที่ทำให้สัตว์ตายโดยไม่ตั้งเจตนา เราเป็นโรคตัวพยาธิ ก็กินยาถ่าย ถ้ากินเพียงเพื่อรักษาชีวิต ป้องกันตัวเอง มันก็ไม่มีเจตนาฆ่า ก็ไม่ต้องบาป แต่ถ้าบางคนมันโกรธ โกรธตัวพยาธิ กินยาเจตนาฆ่าตัวพยาธิจริง ๆ มันก็ต้องขาด ก็ต้องขาดศีล เพราะมันเจตนาฆ่าตัวพยาธิเหล่านั้นด้วยความโกรธ ฉะนั้นใครจะกินยาฆ่าตัวพยาธิในท้อง ไส้เดือนก็ดี ตัวตืดก็ดี ทำไปดี ๆนะ ไม่อย่างนั้นจะขาดศีลนะ ถ้ามีเจตนาโกรธแค้น กูจะฆ่ามึง อันนี้มันก็ต้อง มันก็ต้องขาดศีล แต่ถ้าเจตนาตั้งไว้บริสุทธิ์เพียงเพื่อต่อสู้ป้องกันชีวิตตนเองอย่างนี้ พระเจ้าพระสงฆ์ก็กิน ได้ยินว่าแม้แต่พระอรหันต์ก็ฉันยาถ่าย ซึ่งทำให้พยาธิในท้องนี้เป็นตายกันไปไม่มากก็น้อย
ที่จะเป็นปัญหามากก็เช่นว่า แมวเห็นหนู ก็ตะครุบกิน นี่พวกที่ถือเถรตรง เขาว่าแมวก็บาป สัตว์เดรัจฉานก็บาป อย่างนี้เรา เรา ๆ ๆ เรามีความเห็นด้วยไม่ได้ แมวไม่ได้มีเจตนาฆ่าหนู จะกินเท่านั้นแหละ แต่พวกอาจารย์บางพวกบางกลุ่มเขาจัดให้แมวนี้เป็นบาป เป็นเวร ต้องตกนรก ผูกพันกันกับหนูกลับไปกลับมา เรียกว่ามันขาดศีลแมวตัวนั้น อาตมาเห็นว่าแมวไม่มีเจตนาจะฆ่า มันมีแต่ความรู้เรื่องกินเท่านั้น เห็นหนูคืออาหาร อาหารก็กิน ไอ้ความหมายคำว่าฆ่า ฆ่าให้ตายด้วยความโกรธหรืออะไรอย่างนี้มันไม่มี นี่ไปคิดดูเถิดว่า การทำให้ตายโดยไม่เจตนานั้น ไม่เป็นบาป ไม่ขาดศีลปาณาติบาต ฉะนั้นเราทำอะไรได้ที่ทำให้สัตว์ตายโดยไม่เจตนา มันก็ต้องทำได้
ทีนี้ตอนหลังปัญหามีว่า พวกที่ถือศาสนาอื่นบางศาสนา เขาบัญญัติว่าไม่บาป ฆ่าสัตว์ไม่บาป ไม่ได้บัญญัติว่าบาป เช่น ศาสนาคริสต์เตียนนี้ ไม่ได้บัญญัติว่าฆ่าสัตว์บาป บัญญัติแต่ฆ่าคน ฉะนั้นแม้แต่พระในศาสนาโรมันคาทอลิกนี่ก็ยังยิงปืน เป็นพระนี่ เป็นบาทหลวงนี่ ศาสนาคริสต์ตังก็ยังยิงนก ยิงอะไร เพราะว่าศาสนาของเขาไม่ได้บัญญัติว่าบาป ในบางศาสนา อย่าให้ออกชื่อเลย ว่าจะได้บุญเสียอีก การฆ่าให้สัตว์ตัวนั้นตาย เอาเนื้อมาแจกจ่ายเลี้ยงคนก็ได้บุญ แล้วเขามีพิธี มีความหมายว่าจะส่งชีวิตสัตว์ที่ถูกฆ่านี้ไปสู่สวรรค์โดยเร็ว ดีกว่าให้มันมารอเวลาอยู่ เสียเวลาเปล่า ๆ ช่วยให้มันไปสวรรค์เร็ว ๆ ฉะนั้นการฆ่าสัตว์นั้นก็ได้บุญ ไม่ใช่บาป นี้เป็นเรื่องของศาสนาอื่น แต่พุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนั้น มีเจตนาฆ่าแล้วก็บาป ที่มันมีปัญหาขึ้นมาว่าผู้ที่ทำตามหลักของศาสนาอื่นที่ว่าไม่บาปแต่ได้บุญนั้น เขาจะกลายมาเป็นคนบาปตามหลักในพุทธศาสนาหรือไม่ ข้อนี้ขอตอบ เสี่ยงต่อการถูกด่า ที่มีปากไสว ทั่วไปพร้อมจะด่าว่า มันบาปหรือไม่บาป แต่ตามศาสนาของเขา ตามศาสนาของเขา เพราะว่าไอ้บาปหรือบุญนี่เป็นเรื่องศีลธรรม เป็นเรื่องของการบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถธรรมของธรรมชาติ นี่ช่วยฟังให้ดีด้วย เป็นพยานด้วยนะ อาตมาต้องถูกด่า ๆ เรื่องที่พูดอย่างนี้ ช่วยเป็นพยานด้วย ว่าถ้าบาปก็บาปว่าตามที่เขาถือศาสนานั้น หรือไม่บาปก็ไม่บาปตามที่เขาถือศาสนานั้น นี่เป็นเรื่องศีลธรรมที่บัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถธรรมของธรรมชาติที่เป็นแต่เพียงทรงแสดง ฉะนั้นเราถือศาสนาไหน พระศาสดาของศาสนานั้นได้บัญญัติว่าอย่างไร เราก็เชื่อตามนั้น เพราะเรานับถือ เมื่อเชื่อตามนั้น จิตก็เป็นไปตามนั้น เรารู้สึกว่าบาป ก็บาป ไม่รู้สึกว่าบาป ก็ไม่บาป แล้วแต่บทบัญญัติ ฉะนั้นถือศาสนาอื่น จะไปพลอยมีบุญมีบาปด้วยศาสนาอื่นอีกศาสนาหนึ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าบัญญัติไว้ต่างกัน และจิตใจของเราก็เชื่อมั่นในศาสนานั้น เป็นความรู้สึกของจิตใจตามบทบัญญัติที่มนุษย์แต่งตั้งขึ้น ไม่ใช่สัจธรรมหรือปรมัตถธรรมของธรรมชาติ เช่นหลักธรรมะอื่น ๆที่ไม่ใช่ศีลปาณาติบาต เป็นต้น ฉะนั้นจึงขอตอบว่า ที่เขาทำบาปในศาสนาอื่น จะมาบาปในศาสนาอื่นมันก็ไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่ามันตรงกัน เมื่อบัญญัติไว้ต่างกัน ขัดแย้งกันมันก็เป็นบุญเป็นบาปไปตามศาสนาที่เขาถือ นี่จะต้อง จะตอบอย่างนี้ และมีหลักอย่างนี้ เพราะว่าไอ้นี้เป็นศีลธรรมที่เป็นการบัญญัติแต่งตั้ง ไม่ใช่สัจธรรมของธรรมชาติ มีปัญหาอะไรต่อไปอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๒: มีผู้กล่าวว่าท่านอาจารย์เอาลัทธิเซนมาเผยแพร่ในประเทศไทย แล้วก็สอนอะไร ๆ เป็นเซน หรือมหายานไปหมด เป็นการเสียหายอย่างยิ่งแก่พุทธศาสนา นี้ท่านอาจารย์จะว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส: ก็ว่าไอ้คนถามมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันไม่รู้ว่าเซนก็คือพุทธศาสนานั่นเอง คือหลักพุทธศาสนาที่เอาไปปรับปรุงวิธีพูด วิธีสอนให้มันโลดโผนรุนแรง ให้มันเหมาะแก่คนเฉียบแหลมมีสติปัญญาของประเทศจีนในสมัยนั้น คือประเทศจีนในสมัยที่พุทธศาสนานี้เข้าไปถึง ประชาชนส่วนใหญ่มันฉลาดมาแล้ว อยู่ก่อนแล้วด้วยลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเล่าจื๊อ หรือลัทธิเต๋า มันฉลาดมากแล้ว จะไปสอนพุทธศาสนางุ่ม ๆง่าม ๆ ธรรมดาอย่างนี้ มันไม่เอาหรอก คนเหล่านั้นไม่เอา มันต้องมีวิธีพูด วิธีสอนให้คมคาย ให้โลดโผน มันจึงเกิดไอ้วิธีพูด วิธีสอนอย่างเซนขึ้นมา แล้วก็เป็นพุทธศาสนาอยู่ตามเดิมไม่ใช่เป็น ไม่ใช่เป็นศาสนาอื่นไป
ลัทธิเซนทุกนิกายเอามาดูแล้ว มันก็สอนตรงกันในข้อที่ว่า อย่ามีอุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕ ทั้งนั้นแหละ จะยกเรื่องรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มา แล้วก็สอนอย่าให้มีอุปาทานในขันธ์แต่ละขันธ์ อย่างนี้ทั้งนั้น แต่วิธีพูด วิธีสอนมันมีอย่างอื่น ให้มันโลดโผน ให้มันจับจิตจับใจ ก็เป็นพุทธศาสนาที่มีวิธีพูดอย่างใหม่ให้มันโลดโผน เซนนั้นก็ไม่ใช่ลัทธิอื่นซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา ทีนี้คนถามนี่ มันไม่รู้อะไรเสียแล้ว แสดงว่าสอนอย่างนั้นเป็นเซน หรือเป็นมหายานไปหมด
มหายานนั้นไม่ใช่เซน เซนนั้นไม่ใช่มหายาน ไอ้เซนเกิดขึ้นนี่ก็ล้อเลียนมหายานมากกว่า มหายานนั้นมันง่ายเกินไป เพียงแต่ทำพิธีรีตองอย่างนั้นอย่างนี้ สวดมนต์ออกชื่ออมิตาภะกี่หมื่นครั้งก็ไม่รู้ ก็เป็นอันว่าไปอยู่สวรรค์สุขาวดี นี่เขาเรียกว่ามหายาน คือทำให้ง่าย ให้ไปได้ทุกคน ให้ไปได้ทุกคน เพราะคนทุกคนแม้จะไม่มีสติปัญญาอะไร เพียงแต่ปฏิบัติพิธีรีตองนี้ครบถ้วนแล้วก็ไปสุขาวดีได้ และไปได้มาก จึงได้เรียกว่ามหายาน
ส่วนเซนนั้น เพื่อจะล้อมหายานก็ต้องรู้ธรรมะลึกซึ้งอย่างเดียวกับที่เรารู้ คือไม่มีอุปาทานในขันธ์ทั้ง ๕ ฉะนั้นเซนนั้นไม่ใช่มหายาน มหายานก็มิใช่เซน แม้มันเกิดเมืองจีนด้วยกัน นี่มันเรียนมาลวก ๆ มันฟังมาลวก ๆ ว่าเซนนี้เป็นมหายาน ถ้าใครเคยเข้าใจอย่างนี้ เข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องว่าเซนนั้นมันล้อมหายาน ไม่ใช่มหายาน แต่ก็เป็นพุทธศาสนาด้วยกัน พุทธศาสนาอย่างเซนนั้น ทำมันโลดโผนให้มันมีรสมีชาติเหมาะสำหรับนักปราชญ์ ส่วนมหายานนั่นขยายมันง่ายลงไป ให้มีรสมีชาติสำหรับตาแก่ ยายแก่ ชาวนา ไอ้คนที่ไม่มีปัญญานั้นจะใช้ลัทธิมหายานได้ เพราะเขาลดต่ำลงไปจนถึงว่า ทำกันอย่างเป็นพิธีรีตองก็ได้ ถ้าเขาเชื่อจริง ก็ได้จริงเหมือนกัน คือไม่ต้องมีทุกข์จริงเหมือนกัน เพราะคนมันเชื่อเสียแล้ว ถ้าจิตใจมันเชื่อเสียแล้ว มันเป็นทุกข์ไม่ได้หรอก เพราะมันเชื่อว่าไม่ทุกข์เสียแล้ว
เช่น เขาเชื่อว่าการตายนี้เป็นการเรียกร้องของเพราะเจ้า ของพระเป็นเจ้า ความตายนี้เป็นการเรียกร้องของพระเป็นเจ้า เขาก็ไม่กลัวก็ไม่เป็นทุกข์ เขาจะสมัครใจเสียด้วยซ้ำไป เพราะเป็นการเรียกร้องของพระเป็นเจ้า นี่เป็นอำนาจของความเชื่อ ทำให้ความตายไม่ ไม่เป็นที่หวาดเสียวแก่คนที่เชื่อ แต่เรานั้นไม่ ไม่ถือลัทธิอย่างนั้น เรามีปัญญาที่จะถือว่าไอ้ความตายนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่แปลกประหลาดอะไร นี่มันมีความหมายคนละอย่าง เราอย่าไปดูถูกเขาเลย จะเป็นอย่างเซน หรือเป็นอย่างมหายาน ก็เป็นพุทธศาสนาที่มุ่งหมายจะดับทุกข์ทั้งนั้น มันต้องเลือกให้เหมาะสม อย่างคนไม่มีปัญญาจะมาศึกษาเซนก็ทำไม่ได้ ไม่มี ไม่มีเค้าเงื่อน ไม่มีเชื้อแห่งปัญญาจะมาศึกษาอย่างเซนไม่ได้ เอาอย่างมหายานดีกว่า เพียงแต่สวดมนต์ครบเท่านั้นครั้ง เท่านี้ครั้งก็เป็นอันว่าไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ถ้าความเจ็บไข้มาถึง จะตายนี่ยิ่งดีใจว่าจะได้ไปเร็ว ไม่ต้องรออีกนาน แล้วก็พวกอาซิ้มนี้ เขาก็ไม่ต้องกลัวความตาย เพราะว่าเขาได้สวดมนต์ไว้พอแล้ว เช่นสมมติว่า ๘๐,๐๐๐ ครั้ง พอเขาเจ็บจะตายนี่ ไอ้รถมารออยู่บนหลังคาแล้ว รถมันลอยมารอรับอยู่บนหลังคาแล้ว ฉะนั้นคนเหล่านี้ไม่เป็นทุกข์ พอดับจิตก็ไปขึ้นรถไปสุขาวดี มันเป็นอุบาย เป็นวิธีที่เขาวางไว้ให้ครบถ้วน ให้ ให้คนทุกประเภททำได้ คนโง่ที่สุดก็ทำได้ คนโง่ธรรมดาก็ทำได้ คนกลาง ๆทำได้ คนฉลาดก็ทำได้ คนฉลาดที่สุดก็ทำได้ คนละแบบคนละวิธี มุ่งผลอย่างเดียวกันคือไม่ต้องเป็นทุกข์ ฉะนั้นอย่าไปดูหมิ่นกันอย่างนี้
แล้วที่ว่าผม อะไร ทำความเสียหายให้แก่พระพุทธศาสนาโดยเอาลัทธิเซนมาเผยแผ่ในประเทศไทย ผมก็ไม่ได้ทำความเสียหาย กลับทำเป็นผลดีเสียอีก คือให้คนไทยมันหายโง่ ว่าพวกเซนนั้นเขาปฏิบัติกันอย่างไร คนไทยจะได้หายโง่ไปเป็นกอง ถ้าคนไทยบางคนมันมีปัญญาเฉียบแหลม มันจะใช้วิธีอย่างเซนบ้าง มันก็อาจจะใช้ได้ นั้นก็เป็นพุทธศาสนารูปแบบหนึ่ง ไม่เป็นการเสียหายแก่พุทธศาสนาไหน มันเป็นพุทธศาสนาเดียวกัน ซึ่งมันมีวิธีต่าง ๆ กัน อย่างจะไปกรุงเทพฯอย่างนี้ คนหนึ่งมันก็ไปเรือบินก็ได้ ได้ยินว่าเสียพันบาท ที่สถานีอากาศยานนี้ไปกรุงเทพ ฯ เสียพันบาท แต่คนหนึ่งมันจะคลานไปก็ได้ จะว่าอะไรมันเล่า มันคลานไปก็ได้ แล้วใครผิดใครถูก มันก็ถูกเฉพาะของตน ๆ อย่าไปดูถูก ไปดูถูกว่ามันจะโง่ คนหนึ่งมันจะขี่เกวียนไปก็ได้ คนหนึ่งมันจะขี่รถยนต์ไปก็ได้ แต่คนหนึ่งมันจะคืบคลานไปอย่างกับหอยทาก ปลิงหรือทากนี่ มันก็ได้ อย่าไปว่าเขาสิ มันก็เป็นวิธีให้ไปถึง
พุทธศาสนาต้องการให้มีจิตใจที่ไม่เป็นทุกข์ มีวิธีใดที่จะทำให้ไม่เป็นทุกข์ได้แล้ว ใช้ได้ทั้งนั้น ฉะนั้นอย่าไปหาว่าเขาผิดเขาถูก มันจะโง่เอง ไอ้คนที่ว่ามันจะโง่เอง เมื่อเขาเชื่อ เขาพอใจแล้ว เขาก็จะไม่เป็นทุกข์เหมือนกัน เขาเป็นพวกศรัทธาธิกะ อาศัยกำลังของศรัทธา เป็นเบื้องหน้าเพื่อดับทุกข์ ไอ้เรามันเป็นปัญญาธิกะ อาศัยกำลังของปัญญาเป็นเครื่องดับทุกข์ แต่ไม่ควรจะทะเลาะกัน เพราะว่าเขาไม่เป็นทุกข์ด้วยกัน ฉะนั้นเราจึงไม่ควรดูหมิ่นศาสนาอื่นที่เขาเอาศรัทธาเป็นเบื้องหน้า เช่นศาสนาคริสต์เตียนก็ดี ศาสนาอิสลามก็ดี ศาสนาพราหมณ์บางนิกายก็ดี เขา ๆ มีศรัทธาเป็นเบื้องหน้า เขาก็ไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว เพราะมันอยู่ที่ไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว
ผมไม่ได้ทำความเสียหายแก่พระพุทธศาสนาแม้แต่นิดเดียว แต่ว่าไปเอาเรื่องของพุทธบริษัทพวกอื่นมาให้พุทธบริษัทพวกนี้ รู้ไว้บ้างว่าพวกอื่นเขามีวิธีอย่างไร คงจะหายโง่ไปบ้าง ผมก็จะทวงบุญคุณว่าผมได้ทำผลให้ดีแก่พุทธบริษัท ไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่พระพุทธศาสนาเลย มีอะไรอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๓: มีผู้กล่าวว่า ท่านอาจารย์สอนว่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย นั้นเป็นมิจฉาทิฐิ ดังนี้ ท่านอาจารย์จะว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส: โอ๊ย, เล่น เล่นไม่ซื่อ เล่นสกปรกแล้ว เราไม่ได้ว่าโว้ย, พระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าท่านว่านะ อย่าไปพูดว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด มันไม่มีใครเกิด มันมีแต่สังขาร การปรุงแต่งตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละ
ทีนี้เขาไปสมมติให้ไป เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตาย เป็นเกิด มันเป็นกิริยาปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงของสังขาร ธาตุ ขันธ์ อันนี้ ไปตามกฎของธรรมชาติ เป็นอย่างนั้น ๆ แล้วชาวบ้านนั่น ก่อนพระพุทธเจ้าเสียอีก เขามาสมมติว่า กิริยาอย่างนี้เรียกว่าเกิด กิริยาอย่างนี้เรียกว่าตาย ทีนี้เขามีความยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน มีตัวมีตนมาก่อนแล้ว ก็เรียกว่า ตนมันเกิด ตนมันตาย เป็นความเกิด ความตายของตน ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องนี้ แล้วก็สอนว่านั้นมันเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติล้วน ๆ สุทฺธัมฺมา ปวตฺตนฺติ ธรรมชาติล้วน ๆ เท่านั้น มันเป็นไป ไอ้ธรรมชาติล้วน ๆ นี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มันเป็นไป คือมันเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของกฎอิทัปปัจจยตา เป็นต้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แล้วมันก็ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด รู้พุทธศาสนาอย่างเด็ก ๆ ก็จะรู้ว่า มีคนตาย มีคนเกิด ถ้ารู้พุทธศาสนาอย่างเป็นผู้ใหญ่พอสมควรแล้ว ก็จะเห็นตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า มันไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มันก็ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด มีแต่กิริยาแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังขาร ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ที่นั่งอยู่ที่นี่ทั้งหมดก็ไม่ใช่คน เป็นสังขารที่กำลังดำรงอยู่ตามเหตุตามปัจจัย ฉะนั้นที่นั่งอยู่ที่นี่ก็มิใช่คน มันอยู่อย่างอาการที่ว่ามันปรุงแต่งกันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ คือนั่งอยู่อย่างนี้ ถ้ามันจะปรุงแต่งไปในลักษณะที่ตาย มันก็เป็นการปรุงแต่งอยู่นั่นแหละ ไม่ใช่มีคนอยู่ที่นี่ หรือมีคนตาย หรือมีคนเกิด นี่คือหลักของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่มิจฉาทิฐิ การที่บอกว่ามีแต่สังขาร ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงถือว่าไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย นั่นไม่ใช่มิจฉาทิฐิ นั่นคือสัมมาทิฐิ เอ้า, มีอะไรอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๔: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ได้พูดว่าพระพุทธเจ้าท่านห้าม ไม่ให้พูดว่า ตาย ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด คือว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ใครพูดว่าตายแล้วเกิดก็บาป ใครพูดว่าตายแล้วไม่เกิดก็บาป นี้มันเป็นอย่างไรกันครับ
พุทธทาส: นี่สำนวนพูดที่เขาเอาไปพูดใหม่ เราไม่ได้ใช้สำนวนอย่างนี้ แต่ใจความอย่างนี้ คือว่าตามหลักของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติสัมมาทิฐิ ว่ามีแต่สังขาร หรือธรรมชาติล้วน ๆ ปรุงแต่งกันไป ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีใครตายแล้วเกิด คือไม่มีคน นี้จึงพูดไม่ได้ว่า ตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ที่เขาพูดว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิดนี้มันพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า คือก่อนพระพุทธเจ้านั้น เขามีการเชื่อว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีวิญญาณ มีเจตภูต ที่เข้าร่างออกร่าง แล้วก็ไอ้นี้ตายแล้วก็ไปเกิด ทีนี้บางพวกก็ว่าไม่เกิด มันเถียงกันเองอยู่แล้ว ก่อนพุทธกาลนั่น พวกหนึ่งเหวี่ยงสุดซ้ายว่า ตายแล้วเกิด พวกหนึ่งเหวี่ยงสุดขวาว่า ตายแล้วไม่เกิด มันก็ทะเลาะกันมาอย่างนี้มาแล้ว ก่อนพุทธกาล
พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาในโลกนี้ ท่านพบว่า พูดอย่างนั้นมันไม่ถูก ถ้าแกจะเชื่อ จะใช้คำว่า คนตายแล้วเกิดนี้ ก็ยังพูดอย่างนั้นไม่ได้ จะต้องพูดว่า ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับให้เกิดมันมี มันก็เกิดแหละ ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับให้เกิดไม่มี มันก็ไม่เกิดแหละ แต่นี้เรียกว่าพูดอย่างสมมติ เป็นโลกียโวหาร ถ้าพูดให้อย่างถูกต้องเป็นโลกุตตรโวหารละก็พูดว่า ไม่มีคนโว้ย, ไม่มีคนไม่มีคนไม่มีคนตะโกนให้ลั่นไปหมดว่าไม่มีคน
ดังนั้น จึงพูดไม่ได้ว่าใครตาย หรือใครเกิด หรือตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด นี่พูดไม่ได้ทั้งนั้น พูดว่าไม่มีคน นั่นแหละถูกที่สุด คือเป็นลัทธิอนัตตาสุญญตา สอนให้เห็นว่ามี ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร มี มีเยอะแยะไป แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงกระแสปรุงแต่งแห่งสังขาร ตามกฎอิทัปปัจจยตา มันเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของสังขารไปตามกฎแห่งสังขาร ไม่มีคน เมื่อไม่มีคนแล้วจะมาใช้คำว่า ตายหรือเกิด ใครตายใครเกิด มันก็ไม่ถูก บอกว่ามันไม่มีคน มันมีแต่กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของสังขาร อย่างนี้ไม่เป็นนัตถิกทิฏฐิซึ่งปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลย นี่เรายังยอมรับว่า มีกระแสแห่งการปรุงแต่งแห่งสังขาร ที่คนที่มันไม่รู้นั่นมันไปยึดเอาตอนใดตอนหนึ่ง มาสมมติเรียก ว่าคน ว่าสัตว์ ว่าคน นี้ก็เป็นอย่างการพูดชั้นสูง คือโลกุตตรโวหาร
ถ้าจะพูดให้ถูกอย่างโลกียโวหารชั้นต่ำ ก็พูดว่า มันแล้วแต่ปัจจัย ถ้าปัจจัยให้เกิดมี มันก็เกิด ถ้าปัจจัยให้เกิดไม่มี มันก็ไม่เกิด นี่ก็ถูกไปตอนหนึ่ง เป็นชั้นต่ำ เป็นชั้นโลกียโวหาร แต่ถ้าเป็นชั้นสูง เป็นชั้นโลกุตตรโวหาร ไม่มีคนโว้ย, พูดเท่านี้ก็พอ ก็ไม่ต้องพูดว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด มันไม่มีคนที่จะตายหรือเกิด นี่พูดว่า ไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิด คนใดไม่เข้าใจคำพูดข้อนี้ มันเป็นพุทธบริษัทเด็กอมมือ ช่วยจำไว้ด้วย มันยังเป็นพุทธบริษัทขนาดเด็กอมมือ มันจึงฟังคำพูดว่าไม่มีใครตาย ไม่มีใครเกิดนี้ไม่ออก ฟังไม่ถูก ก็มันยังเป็นพุทธบริษัทชั้นเด็กอมมือเกินไป ก็เอาสิ ก็เอาไป เอาอย่างชนิดที่ว่าโลกียโวหาร แต่เขาก็ต้องพูดว่า ถ้ามีเหตุปัจจัย มันจึงจะเกิด ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย มันก็ไม่เกิด มันก็ นี่คือพูด คำพูดที่ถูกต้อง
ไอ้สำนวนที่ว่า ใครพูดว่าตายแล้วเกิดก็บาป ตายแล้วไม่เกิดก็บาป นี่ ตรงนี้ไม่ได้ใช้คำว่าบาป แม้พระพุทธเจ้าตรัสก็ไม่ได้ใช้คำว่าบาป ท่านใช้คำว่า มันเป็นมิจฉาทิฐิ คือเป็นอันตคาหิกทิฏฐิ เป็นมิจฉาทิฐิ ประเภทเหวี่ยงสุดโต่ง เหวี่ยงไปทางเกิดก็ว่าเกิด เหวี่ยงไปทางไม่เกิดก็ไม่เกิด จึงเรียกว่าอันตคาหิกทิฏฐิ ทิฐิที่ถือเอาสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง จึงได้พูดว่าเกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง ไม่ได้ใช้คำว่าบาป ไม่ถึงกับจะเป็นบาป แล้วก็ไม่ได้ปรับให้ตกนรกรุนแรงอะไรนัก แต่มันจะไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้มีมิจฉาทิฐินั้น จะไม่ถึงกับตกนรกรุนแรงร้ายกาจอะไร แต่มันไม่บรรลุมรรคผล นี่เข้าใจกันไว้ให้ดี ๆ ว่า มันเป็นแง่ของภาษาบ้าง เป็นการตีความหมายผิดบ้างถูกบ้าง เอ้า, มีอะไรต่อไป
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๕: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ยกเลิกเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ซึ่งจะมีมาในชาติหน้า แล้วแสดงนรกสวรรค์ทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมาแทน นี้เป็นการบิดเบือนพระพุทธวจนะ นี้ท่านอาจารย์ยกเลิกจริงหรือ หรือว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
พุทธทาส: ถ้าตอบสั้น ๆ ก็ตอบว่าไม่ได้ยกเลิก ใครจะไปยกเลิกมันได้เล่า เราก็ไม่โง่ที่จะไปยกเลิกไอ้สิ่งที่มันยกเลิกไม่ได้ แต่บอกว่าไอ้นรกใต้ดินต่อตายแล้วนั้น อย่าเพิ่งนึกถึงก็ได้ นึกถึงแต่ว่านรกที่นี่ ที่มันตกอยู่ทั้งเป็น ๆ นี่ระลึกให้มาก เมื่อทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟอยู่ที่นี่ นี่คือนรกที่นี่ สนใจให้มาก ควบคุมให้ได้ อย่าให้ตกนรกชนิดนี้ เมื่อไม่ตกนรกชนิดนี้แล้ว ตายแล้วก็ไม่ ไม่ตกนรกชนิดไหนหมด ไอ้นรกต่อตายแล้วอยู่ใต้ดินนั่น มันควบคุมได้โดยนรกที่นี่ อย่าตกนรกที่นี่ ทั้งเป็น ๆนี่ แล้วตายแล้วก็ไม่ตกนรกไหนหมด
สวรรค์ก็เหมือนกัน สวรรค์ต่อตายแล้ว อย่าเพิ่งพูดถึงเลย มันยัง ยังไกลนัก มันไม่เป็นสนฺทิฏฺฐิโก มันก็เป็นเรื่องหลับตาพูด มันไม่ ไม่เห็นจริง เอาสวรรค์ที่เห็นจริง คือว่าเมื่อประพฤติดี มีปีติปราโมทย์ มีธรรมะปีติ ชื่นชมตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง นี่คือสวรรค์ที่นี่ ๆ สวรรค์เดี๋ยวนี้ ขอให้ได้สวรรค์อย่างนี้แล้วมันจะมีสวรรค์ต่อตายแล้ว หรือสวรรค์ชนิดไหนก็ตาม ให้รู้จักนรกที่ตกอยู่จริง ๆ ทุกวัน ๆ แล้วป้องกันเสีย อย่าให้มี ตายแล้วก็ไม่ตกนรกชนิดไหนหมด ขอให้ได้สวรรค์จริง ๆ ที่นี่ด้วยการประพฤติถูกต้อง ได้แล้ว ตายแล้วมันก็จะต้องได้สวรรค์ทุกชนิด ถ้ามันมีนะ
ไอ้เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้านั้น เขาพูดกันก่อนพุทธกาล เขาถือกันอยู่ก่อนพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาในโลกนี่ ประชาชนเขาถือนรกสวรรค์ชนิดนั้นกันแล้วทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นพระพุทธเจ้าตามแบบของท่าน คือท่านไม่คัดค้านใคร พุทธบริษัททั้งหลายช่วย ๆ ๆ ช่วยจำไว้ด้วย ช่วยฟังและจำไว้ด้วยว่า พระพุทธเจ้านั้นท่านมีปฏิปทาของท่าน คือ ไม่คัดค้านใคร เมื่อเขาว่าไปตามแบบของเขา ท่านก็จะไม่คัดค้าน ท่านก็บอกว่า ท่านว่าอย่างนั้นก็ดีแล้ว แต่เราไม่ว่าอย่างนั้น เราว่าอย่างนี้ แล้วก็ว่าของท่านไป คือไม่ไปหาว่าเขาพูดผิด พระพุทธเจ้าจะไม่คัดค้านผู้ที่พูดไม่ตรงกับท่าน แล้วหาว่าเขาผิด ท่านก็พูด ท่านก็ตรัสขึ้นมาว่า โอ้, นรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันเห็นแล้ว สวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันเห็นแล้ว นี่พระพุทธเจ้าตรัส ก็หมายความว่านรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสคนแรก
ไอ้พวกก่อนโน้น ก่อนพระพุทธเจ้านั่นเขาพูดว่า นรกสวรรค์อยู่ที่นั่นอย่างที่เขาพูดกัน นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า มีลักษณะอย่างนั้น ๆ ๆ มีรายละเอียดมาก เขาพูดเขาถือกันอยู่แล้ว เมื่อจะมาพูดกับคนชนิดนั้นซึ่งไม่ยอมเปลี่ยน ท่านก็ ก็พูดเลยไปได้ว่า ถ้าแกเชื่อนรกอย่างนั้น สวรรค์อย่างนั้น ถ้าแกไม่อยากจะตกนรกก็ปฏิบัติอย่างนี้ ๆ เช่น มีศีลนี่ ถ้าอยากได้สวรรค์นี่ ก็ ก็ปฏิบัติอย่างนี้ ๆ มีศีลมีทานก็ไปสวรรค์ตามแบบที่แกต้องการก็ได้ ไม่ต้องไปยกเลิกระบบนรกหรือสวรรค์ที่เขามีอยู่ก่อน แต่ฉันขอพูดว่า นรกที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันเห็นแล้ว สวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจฉันเห็นแล้ว คืออย่าทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มีนรก แล้วก็พอใจ ก็เป็นสวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง นี่เป็นพุทธศาสนาแท้จริง ว่านรก สวรรค์อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของคนที่ยังเป็น ๆ ไม่ใช่คนตายแล้ว ส่วนนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้านั้น เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านมนานแล้ว เราไม่ต้องการ เราไม่ เราไม่ ๆ ๆ ไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์เขา หรือไปบอกว่าเขา เขาโง่ เขาผิด ไม่ต้องพูด ไม่ต้องพูดดีกว่า
ฉะนั้น พุทธบริษัทจึงสนใจนรก สวรรค์ ที่เนื้อที่ตัว ที่ตา ที่หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปู่ย่าตายายของเราศึกษาดีแล้ว เข้าใจดีแล้ว จึงได้พูดว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นี่ปู่ย่าตายายเขาฉลาดพอแล้ว แล้วลูกหลานมาทำให้ปู่ย่าตายายโง่ไปเสียอีกลูกหลานนี้มันเป็นอย่างไร มันเนรคุณหรือว่ามันกตัญญู ปู่ย่าตายาย เขาทำมาดีแล้ว ถูกแล้ว สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ เรามาเลิก ไม่รู้ ไม่ ไม่ใช่ ไม่เชื่อ ไปอยู่ใต้ดิน ไปอยู่บนฟ้าตามเดิม นี่อิทธิพลของศาสนาที่มิใช่พุทธศาสนา ซึ่งรวมเรียกกันว่าศาสนาพราหมณ์ ซึ่งชาวอินเดียเขาได้นำขึ้นมาสอนในดินแดนแถวนี้ตั้ง ๒,๐๐๐ ปีไปแล้ว ก่อน ก่อนพุทธศาสนามาถึงเสียอีก ฉะนั้น ประชาชนแถวนี้จึงได้รับลัทธินรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ไว้เต็มที่เหมือนกัน แล้วก็จึงมีการสอนอย่างนี้ เป็นที่รับรองทั้งทางราชการ ทั้งทางราษฎร พระเจ้าแผ่นดินแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วงก็พูดอย่างนี้ทั้งนั้น พูดอย่างที่ชาวอินเดียเขามาสอนให้ นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้าทั้งนั้น นี้ไม่ถูกตรงตามพระพุทธภาษิตที่ว่า มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่บางทีผู้ที่เชื่ออย่างนั้น หรือสอนอย่างนั้น อาจจะคิดว่า อย่างนี้มันยากเกินไป ประชาชนไม่รู้เรื่อง สอนอย่างนั้นดีกว่า สอนตามที่เขาสอนกันอยู่และมันก็น่า น่ากลัวกว่า เพราะว่าความต้องการแท้จริงก็คือต้องการจะให้ประชาชนมีศีลธรรมเท่านั้นแหละ พูดอย่างไรทำให้ประชาชนกลัวบาป รักบุญได้แล้วก็ พูดเถิด ถ้าพูดว่านรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้ามีอยู่อย่างนั้น จะทำให้ประชาชนมีศีลธรรมได้ดี ก็พูดอย่างนี้ก็ได้ ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าพูดเป็นปรมัตถสัจจะจริง เด็ดขาดกันแล้ว ก็ว่าอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้ประชาชนที่โง่ ๆ ก็ไม่กลัว ไม่สนใจ เขาก็ไม่มีศีลธรรม แต่ถ้าประชาชนที่ฉลาดเขาฟังออก ฟังเข้าใจโอ้, มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาก็จะปฏิบัติดีถึงที่สุดไม่ให้เกิดนรกขึ้นที่นี่ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เกิดสวรรค์ขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันดีกว่า แต่มันทำไม่ได้สำหรับคนที่เป็นคนโง่ คนธรรมดา คนพื้นฐาน ดังนั้น การสอนเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า มันก็ยังคงมีอยู่มั่นคง ผมไม่ได้เป็นเจ้าลัทธิ ผมเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็ต้องพูดไปตามคำตรัสของพระพุทธเจ้า ที่ว่านรกที่อายตนะ ๖ สวรรค์ที่อายตนะ ๖ ให้สนใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ แล้วจะมาหาว่า ผมบิดเบือนพุทธวจนอย่างไรกัน ไปเปิดดูก็ได้ มันก็มีอยู่ในพระไตรปิฎก จึงไม่ได้พูดว่ายกเลิก ไม่จำเป็นที่ต้องยกเลิก แต่ทำให้มันเป็นสนฺทิฏฺฐิโกให้นรกเป็นสนฺทิฏฺฐิโก ร้อนอยู่ในใจ มันจะได้กลัวนรก ทำสวรรค์ให้เป็นสนฺทิฏฺฐิโกอยู่ในใจ แล้วจะเป็นสวรรค์ตัวอย่าง คนก็จะได้ชอบสวรรค์ แล้วคนก็จะประพฤติดีเพื่อได้สวรรค์ เพื่อไม่ตกนรก อย่างนี้เป็นวิทยาศาสตร์กว่า เหมาะสำหรับโลกที่เป็นสมัยวิทยาศาสตร์ นรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้านั้นนะ คนวิทยาศาสตร์เขาจะไม่สนใจเลย แต่ถ้าพูดว่าอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เขาอาจจะสนใจเต็มที่ เอ้า, มีเรื่องอะไรอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๖: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ยกเลิก ชาติ สำหรับการเวียนว่ายตายเกิด เข้าโลงแล้ว เข้าโลงอีก แล้วมากล่าว ชาติ แห่งจิตปัจจุบันในกระแสปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเกิดได้มากมายในแต่ละวัน ๆ นี้ ว่าเป็นการนำเอามิจฉาทิฐิมาสอนเป็นโมฆะธรรม หาสาระมิได้ นี้ท่านอาจารย์ยกเลิกจริงหรือครับ ทำไมจึงอธิบายอย่างนี้ครับ
พุทธทาส: นี่ก็คล้ายกับข้อที่แล้วมา ไม่ได้ยกเลิกชาติ ก็จะไปเลิกได้อย่างไร ชาติเกิดจากท้องแม่มันก็มีอยู่ตามธรรมชาติ จะไปยกเลิกได้อย่างไร ให้รู้แบ่ง ให้รู้จักแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด ไอ้ชาติทางร่างกาย ทางวัตถุคือเกิดจากท้องแม่ ทีนี้ชาติทางจิตทางวิญญาณ คือความรู้สึกว่าตัวกูของกูที่เกิดมาจากตัณหาอุปาทาน เกิดอยู่ในจิต ทีนี้ชาติฝ่ายวิญญาณก็เป็นชาติชนิดหนึ่ง เกิดทุกครั้งที่เกิดตัณหาอุปาทาน วันหนึ่งเราเกิดตัณหาอุปาทานกี่ครั้ง ไอ้ชาติชนิดนั้นจะเกิดเท่านั้นครั้ง
แล้วไอ้ชาติอย่างหนึ่งนั่นมันเกิดจากท้องแม่ทีเดียวก็เลิกกันกว่าจะเข้าโลง ทีเดียวเสร็จ เลิก ไม่มีปัญหา ไม่ทรมานใครด้วย เพราะมันเสร็จไปแล้ว แต่ว่าชาติที่เกิดจากตัณหาอุปาทานทางจิตที่ปรุงแต่ง ก็ได้รับอารมณ์นี่ ดูเอาเองเถิด เกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที เกิดเวทนาชนิดไหนก็ต้องเป็นทุกข์เพราะเวทนาชนิดนั้น แม้แต่สุขเวทนา มันก็ทรมานใจ เพราะฉะนั้นตัวกูของกู ที่ยึดถือในความสุข สุขเวทนามันก็ทรมาน ที่ในทุกขเวทนาก็ยิ่งทรมาน จึงว่าเกิดทุกที เป็นทุกข์ทุกที นี้หมายถึงเกิดในทางจิตใจ ในภายใน ด้วยอำนาจของอุปาทาน ทำให้เกิดความยึดมั่นว่า ตัวเราของเรา ตัวกูของกู ที่เรียกว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย ทุกคนมี อหังการ มมังการ มานานุสัย คือความเคยชินที่จะเกิดความยึดถือขึ้นมาว่า กู หรือของกู นี่ทุกคนมี เพราะฉะนั้นทุกคนจึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู ได้ง่าย ได้เร็ว ได้ทุกหนทุกแห่ง แล้วก็เป็นทุกข์ทุกที นี่เรียกว่าชาติ ในภาษาธรรม เป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ นี่เป็นปัญหา เป็นตัวปัญหาที่มันขบกัดเรา เจ็บปวดตลอดวัน ตลอดคืน ส่วนชาติเกิดจากท้องแม่นั่น มันเสร็จเรื่องไปแล้ว หมดเรื่องไปแล้ว ไม่ทำพิษทำอันตรายอะไร ฉะนั้นพระพุทธเจ้า ท่านมุ่งหมายชาติชนิดที่กำลังทำให้ความเกิดทุกข์อยู่เรื่อยไป ก็ไปดูเอาเองสิว่า ถ้ามันมีเวทนาก็จะเกิดตัณหา เมื่อมีตัณหาก็เกิดอุปาทาน เมื่อมีอุปาทาน ก็มีภพและมีชาติติดต่อกันไป ไม่ต้องรอ
ที่อธิบายไปไว้ชาติอื่น ภพอื่นเป็นหลายชาตินั้น เป็นคำอธิบายชั้นหลัง เป็นคำอธิบายผิด ๆ ไม่ตรงตามพระพุทธประสงค์ ไปดูตัวหนังสือในพระไตรปิฎกเอง หลายร้อยหรือหลายพันแห่ง ที่มีตัวสูตรปฏิจจสมุปบาท จะเป็นอย่างนี้ พอเกิดเวทนาที่ยึดถือ ก็จะต้องมีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติทันที ติดต่อกันไปอย่างสายฟ้าแลบ นี่แหละเป็นทุกข์ นี่คือชาติที่เป็นปัญหา เราควรจะสนใจเพื่อจะควบคุมไว้ให้ได้ คืออย่ามีอวิชชาเมื่อกระทบอารมณ์ เวทนาก็ไม่ถูกยึดถือ เพราะไม่มีตัวกู ไม่มี ไม่มีความคิดรู้สึกยึดถือเป็นตัวกู มันก็ไม่เป็นทุกข์ จึงบอกให้รู้ มีอยู่ ๒ ชาติ ชาติมีอยู่ ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งหมดปัญหาแล้ว อีกชนิดหนึ่งกำลังขบกัดเราอยู่ทั้งวันทั้งคืน ฉะนั้นชาติที่จะเข้าโลง เกิดจากท้องแม่แล้วเข้าโลง มันชาติเดียว คราวเดียว ไม่ ไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นไปตามธรรมชาติ สัตว์เดรัจฉานมันก็เป็นไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่มนุษย์มันเก่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน คือมันคิดได้ลึกซึ้ง เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน แล้วเผาผลาญจิตใจของตัวเอง ชาตินี้ต้องระวัง แต่ว่าไม่ได้ยกเลิกชาติชนิดที่เกิดจากท้องแม่แล้วเข้าโลง ก็ปล่อยไว้ตามธรรมชาติ แต่ขอร้องให้มาสนใจ ชาติที่กำลังขบกัด เคี้ยวกินเราอยู่ทั้งวันทั้งคืนนี่ ควบคุมมันเสียให้ได้ อย่าให้เกิดชาติชนิดที่เป็นทุกข์ เอ้า, มีปัญหาอะไร
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๗: คำว่า ชาติ โดยการนับการคลอดจากท้องแม่ แล้วเข้าโลงเป็นชาติหนึ่ง ๆ กับการนับการเกิดทางจิตที่ประกอบด้วยอุปาทาน ครั้งหนึ่ง ๆ ว่าเป็นชาติหนึ่ง ๆ อย่างไหนถูกต้องตามพุทธวจน หรือได้เปรียบในการบำเพ็ญบารมียิ่งกว่ากันครับ พวกไหนเป็นคนอาภัพ พวกไหนเป็นคนไม่อาภัพครับ เพียงแต่ได้เกิดจากท้องแม่แล้ว แต่ไม่มีการเกิดอุปาทานว่าตัวกู ของกู ขึ้นในจิตนั้น มันเป็นชาติของอะไรกันครับ
พุทธทาส: ชาติ ที่เกิดจากท้องแม่แล้วเข้าโลงนี้ ก็เรียกว่าชาติ แล้วอุปาทานที่เกิดขึ้นในจิตว่า กู ๆ ๆ นี้ก็เรียกว่า ชาติ ถูกต้องตามพุทธวจนทั้ง ๒ อย่าง พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธชาติไหน คือเกิดจากท้องแม่มันก็มี ท่านก็ยอมรับว่า มันก็มี ไอ้ชาติที่เกิดจากอุปาทานภายใน ในจิตว่า กู ๆ นี้ก็มี ก็ถูกต้องตามพระพุทธวจนะว่า มันมีทั้ง ๒ อย่าง
ทีนี้จะถามว่า ถือชาติอย่างไหนได้เปรียบในการบำเพ็ญบารมี บำเพ็ญบารมีนี้เพื่อจะดับทุกข์นะ แล้วทุกข์นี่มันเกิดเพราะชาติ ชนิด ชนิดทางวิญญาณ ชนิดจิต ทุกข์มันเกิดอยู่ที่ชาติชนิดที่เป็นความเกิดแห่งจิต ทีนี้เราบำเพ็ญบารมีเพื่อดับทุกข์ เราก็ต้องทำให้มันถูกตัวทุกข์ คือชาติที่เกิดด้วยตัณหาอุปาทาน ฉะนั้นผู้ที่เข้าใจชาติที่เกิดมาจากตัณหาอุปาทานนั้น คนนี้ได้เปรียบ ได้เปรียบกว่าคนที่มัวรู้จักแต่ชาติที่เกิดจากท้องแม่ครั้งเดียว แล้วมันเลิกไปแล้ว มันหมดปัญหาไปแล้ว พวกที่รู้จักแต่ชาติ เดียว คือชาติที่เกิดจากท้องแม่นั้น มันเป็นคนอาภัพ มันจะไม่เข้าใจเรื่องบรรลุมรรคผล หรือหลุดพ้น ไอ้คนที่มันรู้จักชาติที่เป็นตัวปัญหานั่นแหละ มันจะไม่อาภัพ คือมันจะสะดวกหรือพร้อมที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน
เพียงแต่เกิดจากท้องแม่อย่างเดียว แล้วไม่มีจิตรู้สึกว่า ตัวกูของกูนี้ เป็นชาติชนิดไหนกันครับ ก็คือเป็นชาติทางวัตถุ ทางร่างกาย ทางเนื้อหนัง ซึ่งสัตว์เดรัจฉานมันก็มี คนก็มี ไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นเรื่องธรรมชาติล้วน ๆ เป็นชาติทางวัตถุ เป็นชาติในภาษาคน ไม่ลึกซึ้งอะไร แล้วไม่สร้างปัญหาอะไร ไอ้ชาติที่สร้างปัญหาคือชาติแห่งตัวกูของกู ซึ่งเป็นเพียงอุปาทาน ไม่ ไม่มีวัตถุเป็นเนื้อเป็นก้อนอะไรนี่ มันกัด กัดหัวใจ เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เอ้า, มีอะไรอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๘: มีผู้กล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่า อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในตัณหาต่าง ๆ นี่มันเป็นไปได้อย่างไรกันครับ ตัณหาเป็นอารมณ์แห่งความยึดมั่นถือมั่นหรือครับ
พุทธทาส: นี่คน คนถาม มันพูดกันคนละภาษาเสียแล้ว ไม่ต้องตอบหรอก เขาพูดว่า อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในตัณหาต่าง ๆ นี่ มันไม่ใช่ภาษาพุทธศาสนา คนนี้มันไม่รู้ภาษาพุทธศาสนา มันจึงถามอย่างนี้
อุปาทานไม่ได้ยึดมั่นในตัณหา อุปาทานก็ยึดมั่นในวัตถุแห่งอุปาทาน คือกาม คือทิฐิ คือศีลพรต และความเห็นว่าตัวตน ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน ไม่ใช่อุปาทานมายึดมั่นในตัณหา นี่มันพูดผิดไปเสียแล้ว มันเป็นคนพูดไม่รู้ภาษาพุทธศาสนาแล้ว ไม่ต้องตอบก็ได้ เพราะมัน มันไม่รู้ภาษา มันตั้งคำถามผิด ตัณหาไม่ได้เป็นอารมณ์แห่งอุปาทาน ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน แล้วอุปาทานก็ยึดมั่นในกาม เป็นกามุปาทาน ยึดมั่นในความคิดเห็น เป็นทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความปฏิบัติอย่างโง่เขลา เป็นสีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในอัตตาว่าตัวกู-ของกู เป็นอัตตวาทุปาทาน อารมณ์แห่งอุปาทานมีอยู่ ๔ อย่าง อย่างนั้น ตัณหาไม่ได้เป็นอารมณ์แห่งอุปาทาน แต่ว่าตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน มีอะไรอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๙: คำว่า สีลัพพตุปาทาน มีผู้อธิบายว่ายึดมั่นในศีลและวัตรข้อปฏิบัตินอกพุทธศาสนาเท่านั้น ก็ในพระพุทธศาสนานี้ ไม่มีศีลและวัตรใด ๆ ที่จะยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปาทานหรือครับ
พุทธทาส: ในพุทธศาสนาเรานั้นยิ่งมีวัตถุ ที่ยึดมั่นถือมั่นด้วยสีลัพพตุปาทาน เพราะมันเกี่ยวข้องอยู่กับเรา ที่มันอยู่นอกศาสนาของเรา มันไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกันกับเรา จะไปยึดอย่างไรเล่า เพราะฉะนั้นที่จะเอามายึด มันก็คือสิ่งที่อยู่ข้าง ๆนั่นเอง ดังนั้นในพุทธศาสนาเต็มไปด้วยสิ่งที่จะยึดถือ แล้วเป็นสีลัพพตุปาทาน ไอ้ที่เราทำอยู่ทุกวันนั่นแหละ ถ้าโง่นิดเดียวก็กลายเป็นยึดถือด้วยอุปาทานไปหมด คือว่าให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี เจริญสมาธิภาวนาก็ดี ถ้าเข้าใจผิด ยึดมั่นความมุ่งหมายผิดแล้ว เป็นสีลัพพตุปาทาน เช่นว่า เราถือศีลก็เพื่อจะกำจัดโทษที่กาย วาจา แล้วไปยึดมั่นเสียว่าถือศีลแล้วก็จะศักดิ์สิทธิ มีความศักดิ์สิทธิ มีอะไรพิเศษอธิบายไม่ได้ อย่างนี้ยึดถือศีลนั้นผิดไปเป็นสีลัพพตุปาทาน หรือว่าการทำปาติโมกข์นี่ มีคนพูดว่าพอลง สักว่าลง สักว่านั่งเสร็จ ก็เกลี้ยง เกลี้ยงเหมือนกับอาบน้ำล้างบาปนี่ นี่เป็น สีลัพพตุปาทานในการลงปาติโมกข์ นี้การลงปาติโมกข์ ทำอย่างไร ทำเพื่ออะไร เราก็รู้กันอยู่แล้วนี่ แล้วทำไมไปยึดถือเป็นไอ้เครื่องล้างบาป เหมือนอาบน้ำล้าง บาป ถ้ายึดถืออย่างนี้ การลงปาติโมกข์ในความหมายอย่างนี้คือสีลัพพตุปาทาน มันมีอยู่ในนี้แท้ ๆ ที่นี้แท้ ๆ ในพุทธศาสนาแท้ ๆนี่ ที่จะยึดถือเป็นสีลัพพตุปาทาน ทีนี้พวกอรรถกถาบางพวก เขาก็ไปยึดถือไอ้ ไอ้ลัทธินอกศาสนา เช่นคลาน ๔ เท้าบ้าง กินอุจจาระปัสสาวะบ้าง ประพฤติทรมานตนบ้าง ว่านั่นเป็นสีลัพพตุปาทาน อยากจะพูดว่ามันเป็นอรรถกถาโง่ แต่ก็ไม่อยากพูดให้เขาด่า เพราะคนที่ถืออรรถกถาอย่างนั้นมันก็มีมาก มันยึดถือในพุทธศาสนาเราเองนี่ ผิดวัตถุประสงค์ละก็ เป็นสีลัพพตุปาทานทั้งนั้น ทุกเรื่องเลย ร้อยเรื่องพันเรื่อง ถ้ายึดถือเอาผิดวัตถุประสงค์แล้ว เป็นสีลัพพตุปาทานทั้งนั้น ว่ามาบวชเป็นพระเป็นเณรนี่ มันมีความประสงค์อย่างไร ถ้าไปยึดถือผิดวัตถุประสงค์ มันก็เป็นสีลัพพตุปาทาน ที่ถือบวชพระบวชเณรแล้วก็จะได้วิเศษ จะได้ศักดิ์สิทธิ หรือว่าจะได้ไปทำนองนั้น
สรุปความสั้น ๆ ว่า ยึดถือศีล หรือวัตรนั้น ๆ ผิดวัตถุประสงค์อันแท้จริง ผิดเหตุผลอันแท้จริง ผิดวัตถุประสงค์อันแท้จริง นี่ไปยึดถือไปอย่างนั้นแล้วก็เป็นสีลัพพตุปาทานหมด แม้ในสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา ที่ปฏิบัติกันอยู่ในวงพุทธบริษัทนี่ ถ้าไปยึดถือผิด ผิดความจริง ผิดตัวจริง ผิดของจริง ก็เป็นสีลัพพตุปาทาน ส่วนที่มันอยู่ในศาสนาอื่นนั่น อย่า อย่าไปกลัวเลย มันไม่ ไม่ไปยึดถือ เราก็ไม่ชอบอยู่แล้ว จะไปยึดถืออะไรกัน เพราะมันเป็น เป็นศาสนาอื่น จัดเป็นพวกอื่นเสียแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องไปยึดถือ แต่ระวังให้ดีที่มันมาอยู่ในพุทธศาสนาเรานี่ มันจะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือเมื่อเราเข้าใจผิด ในการกระทำนั้น ๆ การทำบุญกุศล มีร้อยอย่าง พันอย่าง ถ้ายึดถือผิดเป็นสีลัพพตปรามาส การเจริญศีล เจริญสมาธิ ภาวนา วิปัสสนา แม้แต่วิปัสสนานี่ ถ้ายึดถือผิดตัวจริง ผิดความมุ่งหมายอันแท้จริง กลายเป็นเรื่องขลัง เรื่องศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นสีลัพพตุปาทาน แล้วก็จะมีอยู่เป็นอันมาก เวลานี้ที่ทำเป็นสีลัพพตุปาทานไปเสียหมด ในเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องภาวนา เรื่องปัญญา ฉะนั้นตอบว่าไม่ต้องกลัว ไอ้ภายนอกพระพุทธศาสนานั้นไม่เข้ามารบกวนเรา ไอ้ที่มันมีอยู่ในพุทธศาสนาเรานี่แหละ ระวังให้ดี อย่าไปลูบคลำให้ผิด ๆ ให้มันกลายเป็นสีลัพพตุปาทานไปเสีย ให้ถือเอาให้ถูก ๆ ให้ทานก็ให้ถูกวัตถุประสงค์ของทาน รักษาศีลก็ให้ถูกวัตถุประสงค์ของศีล เจริญสมาธิปัญญา ก็ให้ถูกวัตถุประสงค์ของสมาธิปัญญา แล้วก็จะไม่เป็นสีลัพพตุปาทานขึ้นในพุทธศาสนา เอ้า, มีอะไรต่อไปอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๐: มีคนโจษท้วงท่านอาจารย์ว่าได้พูดว่า พระอรหันต์ผู้ทำสังคายนาพระธรรมวินัย ล้วนแต่เคยเป็นพราหมณ์มาก่อน จึงได้ใส่หลักลัทธิของพราหมณ์ไว้ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก ควรจะกวาดทิ้งลงคลองเสียให้หมด ดังนี้มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
พุทธทาส: คนนี้มันขยายความให้เขื่อง เพื่อด่าเรา เพื่อประโยชน์เขาเอง เราไม่ได้ว่าทุกองค์ และไม่ได้ว่าพระอรหันต์ชุดที่ทำสังคายนานะ ไม่ใช่ ไม่ใช่เล็งถึงพระอรหันต์ชุดที่ทำสังคายนา แล้วก็เป็นพราหมณ์มาก่อน แล้วทำสังคายนาให้เป็นพราหมณ์ไป จนพระไตรปิฎกของเราเป็นพราหมณ์นี่ เป็นไปไม่ได้
แต่พระอรหันต์แต่ในนามบางคนรุ่นหลังนี่ ที่เป็นพราหมณ์มาก่อน เขาได้อธิบายพุทธวจนะกลายเป็นพราหมณ์ไป อธิบายพุทธศาสนาให้กลายเป็นพราหมณ์ไป พระอรหันต์ชุดแรกเป็นพระอรหันต์แท้ไม่ลำเอียง แล้วก็ไม่เรียกว่าพราหมณ์มาก่อน ถ้าพราหมณ์มาก่อนก็ทุกคนหมด แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็จะต้องเป็นพราหมณ์มาก่อน เขาเป็นประชาชนชาวอินเดียที่มีสติปัญญาออกบวชค้นคว้า ตรัสรู้ แล้วก็เป็นพุทธสาวก หรือเป็นพุทธะ สัมมาสัมพุทธะขึ้นมานี่ รู้ถูกต้องประชุมกัน สอบสวนคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างนี้ ๆ เป็นที่ยุติ แล้วก็ตั้งไว้ ตั้งไว้เป็นไอ้พระไตรปิฎก ทีนี้ต่อมาการอธิบายพระไตรปิฎกที่เข้าใจยาก ข้อความในพระบาลีนั้นที่เข้าใจยากโดยบุคคลบางคน พระอาจารย์บางคน ที่เคยเป็นพราหมณ์มาแต่ก่อน ก็เลยเอาลัทธิพราหมณ์ตามความคิดเห็นของตัวใส่เข้าไปในพระบาลีนั้นโดยไม่รู้สึกตัว
ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น เอาเรื่องโลก บัญญัติเรื่องโลกอย่างในศาสนาพราหมณ์มาใส่เข้าไปในพุทธศาสนา เมื่ออธิบายคำว่าโลกวิทู โลกวิทูที่เป็นคุณบท อธิบายว่าโลกกว้างเท่านั้น ยาวเท่านี้ อาทิตย์เท่านั้น อะไรเท่านี้ เรื่อง ๆ เรื่องของเก่าแก่บรมโบราณของพวกที่เรียกว่าศาสนาพราหมณ์ เอามาใส่ไว้ในพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอย่างนั้น ๆ นี่ผู้ที่เคยเป็นพราหมณ์มาก่อน แล้วอธิบายพุทธศาสนาให้เป็นพราหมณ์ไปอีกทีหนึ่ง อย่างนี้เคยพูด แต่ที่พูดว่าพระอรหันต์ผู้ทำสังคายนาทุกองค์ ล้วนแต่เป็นพราหมณ์มาก่อน แล้วใส่ลัทธิพราหมณ์เข้าไปนี้ ไม่เคยพูด เพราะไม่เคยเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็เข้าใจเสียว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็เคยเป็นพราหมณ์มาก่อน แล้วก็สอนอย่างพราหมณ์มาเสียเลยไม่ดีกว่าหรือ พระอรหันต์เหล่านั้น ท่านพูดเรื่องดับทุกข์ ท่านสังคายนาเรื่องดับทุกข์ ที่เห็นชัดว่าดับทุกข์ได้จริงอย่างไร ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ถ้ามันดับทุกข์ได้แล้ว ไม่ ไม่ต้องไป ไปพะวงว่าพราหมณ์หรือไม่พราหมณ์ ถ้ามันดับทุกข์ได้และใช้ได้ นี่เป็นอันว่า ไม่ได้พูดว่าพระอรหันต์ผู้ทำสังคายนาเป็นพราหมณ์ แล้วใส่ลัทธิพราหมณ์ไปในพระไตรปิฎก แต่ได้พูดว่า พระอาจารย์รุ่นหลังบาง ๆ บางองค์ที่เป็นพราหมณ์ได้ใส่มติของพวกพราหมณ์ลงไปในการอธิบายธรรมะในพระพุทธศาสนา มีอะไรต่อไปอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๑: ถ้าเกิดมีการแปลพระไตรปิฎกฉบับนั้น ฉบับนี้จากภาษาบาลีเรื่องเดียวกัน ออกมาเป็นภาษาไทยมีข้อความไม่เหมือนกันดังนี้ แล้วจะให้พวกเราทำอย่างไรครับ
พุทธทาส: นี่ดูให้ดีนะ มันมี มันมีอยู่ ๒ แง่นะ ถ้าเป็นพระไตรปิฎกฉบับหนึ่งชุดหนึ่ง มีคนแปลหลาย ๆ คน แล้วแปลออกมาไม่เหมือนกัน นี้จะทำอย่างไร นี่ปัญหาหนึ่ง แล้วอีกปัญหาหนึ่งว่า ถ้าพระไตรปิฎกคนละฉบับ เช่น ฉบับไทย ฉบับมอญ ฉบับพม่า ฉบับลังกา ฉบับไหนก็ตามเถิด เมื่อแปลออกมาแล้ว เรื่องเดียวกัน ข้อความไม่เหมือนกัน นี่จะทำอย่างไร นี่มันเป็นปัญหาที่ควรจะนึกถึง แล้วมันก็ได้มีอยู่จริงด้วย เช่น พระไตรปิฎกแปลไทย ฉบับไทยแท้ ๆ แปลจากฉบับเมืองไทยนี้ มันก็ยังไม่ค่อยเหมือนกัน ยังแย้งกัน แล้วเราจะถือว่าอันไหนถูกเล่า ถือว่าคำแปลที่ใช้ประโยชน์ดับทุกข์ได้นั่นถูก ไอ้คำแปลชนิดที่ไม่รู้ว่าอะไร ใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ คำแปลนั้นต้องผิด ทั้งที่อ้างว่าแปลมาจากพระไตรปิฎกฉบับไทยข้อนั้นข้อนี้ด้วยกัน มันมี มีเป็นปัญหาขึ้นมาได้ ฉะนั้น ถ้าใครอ่านพระไตรปิฎกหลาย ๆ คำแปลเกิดไม่เหมือนกัน ก็ตัดสินอย่างนี้ ไอ้คำแปลนั้นมันมีเหตุผลดับทุกข์ได้นั้นก็ถูก ถ้าตนไม่รู้บาลีไม่ได้เรียนบาลี ก็ตัดสินอย่างนี้
ทีนี้ ถ้าว่ามันเป็นพระไตรปิฎกระหว่างประเทศซึ่งไม่ต้องแปล มันก็ต่างกัน อาตมาเคยตรวจดูแล้วว่า พระไตรปิฎกพม่า ข้อความบางบรรทัดบางประโยค ไม่เหมือนกันกับพระไตรปิฎกไทย นี้ก็มี จะทำอย่างไร เราไม่ต้องไปทะเลาะเป็นความกันหรอก เราก็ดูว่า เราควรจะถือเอาอย่างไหน คือถือเอาอย่างชนิดที่มันมีเหตุมีผล ดับทุกข์ได้ ตรงตามหลักพระพุทธศาสนาก็แล้วกัน
ฉะนั้น ไม่ต้องไปทะเลาะให้ใครผิด ใครถูก ผู้ที่ตรวจสอบจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เขาก็ทำไว้ดีแล้ว เมื่อเกิดต่างกันอย่างนี้ เขาจะไม่ไปวินิจฉัยว่าของใครผิด ของใครถูก แต่จะคงไว้ตามฉบับของเราว่าอย่างนี้ ๆ แล้วก็ใส่เชิงอรรถไว้บอกว่า ฉบับบาลี ฉบับพม่าเขาว่าอย่างนั้น ฉบับลังกาเขาว่าอย่างโน้น นี่อย่างนี้ดีที่สุด ทีนี้เรามาเปรียบเทียบกันดู ข้อความไหนที่มันดับทุกข์ได้ ข้อความนั้นถูก คือฉบับไทยถูก ฉบับลังกาถูก ฉบับพม่าถูก นี้ก็มีอยู่บ่อย ๆ ซึ่งบางทีเราก็เห็นได้ว่า ฉบับพม่าถูก ฉบับไทยไม่มีเหตุผลอย่างนี้ก็มี
ทำไมต้องทำอย่างนี้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้เพื่อประโยชน์อย่างนี้ คือเมื่อพระพุทธองค์จะปรินิพพานอยู่หยก ๆ ในตอนหัวค่ำ ท่านยังตรัสหลักเกณฑ์อันนี้ว่า ถ้ามันเกิดมีความขัดแย้งไม่ตรงกันในข้อความที่ต่างคนต่างก็อ้างว่ารับมาจากกพระพุทธเจ้าเองบ้าง รับมาจากพระมหาเถระผู้ไว้ใจได้บ้าง หรือรับมาจากพระเถระเพียงองค์เดียวก็ตามเถิด มันเกิดข้อความไม่ตรงกัน เกิดข้อความไม่ตรงกัน ท่านตรัสว่าอย่าเพิ่งไปค้าน อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าอันไหนผิด อันไหนถูก ให้เอาข้อความนั้นมาทำอาการที่เรียกว่า สุตเตโอสาเรตัพพัง คือหยั่งลงไปในสูตรทั้งหลาย ถ้ามันเข้ากันได้กับสูตรทั้งหลาย อันนี้มันถูก ถ้ามันลงไม่ได้กับในสูตรทั้งหลาย อันนี้มันไม่ถูก และว่า วินเย สันทัสเสตัพพัง คือสอบสวนในวินัย ถ้ามันลงกันได้ในวินัยก็ถูก ไม่ลงกันได้ก็ไม่ถูก แล้วมีเพียงสูตรกับวินัยเท่านั้น ไม่มีอภิธรรมหรอก นี้แสดงว่าเมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานอยู่หยก ๆ นั้น อภิธรรมมันไม่มี ท่านจึงพูดแต่ว่า สุตเตโอสาเรตัพพัง วินเย สันทัสเสตัพพัง อภิธรรมไม่มี อภิธรรมไม่ ๆ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ช่วยจำกันไว้ด้วย เผื่อมันจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับอภิธรรม หลักเกณฑ์อันนี้เรียกว่า มหาปเทส อย่างสุตตันตะคือฝ่ายธรรมะ มหาปเทส ฝ่ายวินัยนั้น ก็เรื่องเข้ากันได้กับสิ่งควรเข้ากันได้ กับสิ่งที่ไม่ควรนั้น เป็นมหาปเทสฝ่ายวินัย สำหรับตัดสินวินัยโดยตรง แต่ถ้าเป็นปัญหาทางธรรม ก็ใช้อันนี้ มหาปเทสทางธรรมนี่ นี้มีคำสั้น ๆ ๒ คำ เท่านั้นว่า สุตเตโอสาเรตัพพัง วินเย สันทัสเสตัพพัง หยั่งลงในสูตร สอบลงในวินัย คือหมายถึงทั่วไป วินัยทั่วไป มันก็มีหลักแสดงว่าโดยทั่วไป มันมีหลักอย่างนั้น ถ้าข้อความที่เป็นปัญหานั้นมันเข้ากันไม่ได้ก็ไม่ ๆ คือไม่ถูกแล้ว ในสูตรก็ดี ในวินัยก็ดี นี้เห็นได้ว่า พระพุทธองค์ก็ทรงเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าว่า มันจะเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น ฉะนั้นจึงได้ทรงวางหลักอันนี้ไว้เลย จะปรินิพพานอยู่หยก ๆแล้ว ก็ยังเป็นห่วงพวกเรา ว่าจะทะเลาะกันเรื่องไอ้ข้อความมันขัดแย้งกัน
ช่วยจำกันไว้ให้ดี ช่วยศึกษาเรื่องนี้ให้ดี เอาใช้เป็นประโยชน์ได้ที่ว่า สุตเตโอสาเรตัพพัง นั้นทำอย่างไร วินเย สันทัสเสตัพพัง นั้นทำอย่างไร ถ้าเอาแต่ว่าใจความสั้น ๆ ก็ว่า หยั่งลงสอบในสูตร หยั่งลงในสูตรเพื่อตรวจสอบ แล้วก็เปรียบเทียบในวินัยเพื่อตรวจสอบ เป็นอันแก้ปัญหาอันนี้ได้ว่า ถ้าพระไตรปิฎกระหว่างชาติมันเกิดไม่ตรงกันก็ดี หรือว่าพระไตรปิฎกในชาติเดียวนี้เกิดแปลไม่ตรงกันก็ดี จะทำอย่างไร ก็คือทำอย่างนี้ ให้เอาคำแปลหรือข้อความที่มันดับทุกข์ได้ เห็นอยู่นั่นว่าถูก แล้วมันก็จะไปลงกันในสูตรและในวินัยเอง เอ้า, มีอะไรต่อไป
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๒: มีผู้กล่าวหาท่านอาจารย์ว่า การที่ท่านอาจารย์จัดพุทธศาสนาให้เป็นวิทยาศาสตร์นั้น เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธเจ้าและลดค่าพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นี่ท่านอาจารย์จะว่าอย่างไรครับ
พุทธทาส: อย่างว่า ไอ้คนที่ถามมันไม่รู้ ไม่รู้จักวิทยาศาสตร์ มันไม่รู้จักว่าวิทยาศาสตร์นั้นคืออะไร วิทยาศาสตร์นั้นคือมูลฐานอยู่ที่คำว่าสนฺทิฏฺฐิโกสิ่งที่เห็นได้เองด้วยตนเองในเวลานั้น เป็นสนฺทิฏฺฐิโกนั้นแหละคือหลักใจความของคำว่าวิทยาศาสตร์ พระพุทธศาสนามีวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ ให้รู้สึกอยู่ เห็นอยู่โดยประจักษ์ ว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นอย่างนั้น ๆ นี่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ถ้าต้องคำนวณโดยไม่มีตัวจริง เป็นเรื่องคำนวณ ตั้งสมมุติฐานขึ้นมาด้วยนะ สมมติแล้วก็คำนวณแวดล้อมสมมติฐานว่ามันจริงอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ อย่างนี้เขาเรียกว่าปรัชญา พุทธศาสนาตัวแท้ ตัวจริง เนื้อหาของพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา แต่เป็นวิทยาศาสตร์ คือถ้ามีของจริงมาวางตรงหน้า เช่น เอาความทุกข์มาวางลงตรงหน้า แล้วพลิกดูว่า เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นเราจึงพูดให้เขาถือเป็นหลักว่า พุทธศาสนาใช้วิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ ไม่ใช้วิธีการอย่างปรัชญา แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงไอ้ที่จะไปใช้วิธีการแห่งศรัทธา ความเชื่อล้วน ๆไม่มี คำว่าศรัทธาในพุทธศาสนามาหลังจากปัญญาเสมอ ฉะนั้นจึงเป็นวิทยาศาสตร์ ศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นผลของการกระทำทางวิทยาศาสตร์ คือเห็นแจ้งแล้วจึงเชื่อ ทีนี้ ศรัทธาในพวกอื่นในศาสนาอื่นอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น จะเป็นศรัทธาตามทางปรัชญา คำนวณตกลงใจแล้วจึงเชื่อ หรือที่ต่ำกว่านั้นก็ว่า เขาพูดแล้วก็เชื่ออย่างนี้ มันไว้ให้พวกโน้น พุทธ ศาสนาต้องปฏิบัติตามวิถีทางแห่งวิทยาศาสตร์
ทีนี้ไม่ได้ลดค่าของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ลดค่าของพระพุทธเจ้ามาเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์ต๊อกต๋อยคนหนึ่ง เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายในโลก ไม่ใช่อย่างนั้น ที่เราพูดว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์นั่น ไม่ได้ลดค่าอะไร กลับเป็นการเพิ่มค่า เพิ่มน้ำหนัก เพิ่มเหตุผล เพราะไม่งมงาย เมื่อใช้วิถีทางอย่างวิทยาศาสตร์แล้วไม่งมงาย คือทำลงไปบนของจริง ไม่ใช่ การคำนวณลงบนของสมมติ เดี๋ยวนี้โลกเขาชอบปรัชญา ใช้วิธีการคำนวณลงบนสมมติ บนสิ่งที่สมมติ ซึ่งเรียกว่าสมมติฐาน ปรัชญาเลยเฟ้อไปทั้งโลก แล้วไม่มีประโยชน์อะไร ปรัชญาไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแก่มนุษย์ แต่วิทยาศาสตร์กำลังให้ประโยชน์แก่มนุษย์ แต่ที่เอาไปใช้ผิด ๆ จนเป็นอันตรายนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อจะเข้าถึงความจริงกันแล้วมันก็ต้องเป็นวิถีทางวิทยาศาสตร์ นี่เราไม่ได้ลดค่าของพระพุทธเจ้าลงมาเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง แต่ว่าจะเป็นจอมนักวิทยาศาสตร์อยู่เหนือนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตทีเดียว ไม่ได้ลดค่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เด็กเล่น คำว่าวิทยาศาสตร์มันกว้างเกินไป ไอ้ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มันเป็นวิทยาศาสตร์มันก็มี แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์สูงสุดคือวิทยาศาสตร์ดับทุกข์สิ้นเชิงโดยประการทั้งปวง
ขอยืนยันที่นี่ ตรงนี้อีกทีว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ มีระบบเป็นวิทยาศาสตร์ มีวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ แต่เป็นทางจิตใจ ไม่ใช่ทางวัตถุ ฉะนั้นจึงเป็นยอดวิทยาศาสตร์สูงสุด เหนือวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าก็เป็นยอดนักวิทยาศาสตร์ทางฝ่ายจิตใจ พูดอย่างนี้ไม่ได้ลดค่าของพุทธศาสนาหรือของพระพุทธเจ้าเลย มีอะไรอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๓: ชาวพุทธจะอธิบายเรื่องกัปชาติของพระพุทธเจ้า เรื่องชาดกต่าง ๆ อย่างไร จึงจะไม่เป็นสัสสตทิฎฐิ และเป็นที่ยอมรับได้ หรือมีประโยชน์แก่มนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นยุควิทยาศาสตร์ครับ
พุทธทาส: นี่เกิดชอบวิทยาศาสตร์ขึ้นมาแล้ว ผู้ถามคนเดียวกันหรือเปล่า ไอ้เรื่องนี้ มันเป็นปัญหาซับซ้อน การที่มีข้อความเรื่องชาดก แล้วกลับชาติชาดกเกิดมา เกิดชาตินั้นเป็นคนนั้น เกิดคนนั้นเป็นคนนี้ เช่นว่า พระเวสสันดรมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องชาดก เขาไม่ได้มุ่งหมายจะให้เป็นไอ้หลักวิชา ความจริง ปรมัตถ์ อะไรนักหรอก เขามุ่งหมายจะสอนศีลธรรม
ชาดกทั้งชุดอยู่ในหมวดทีฆนิกาย คือนิกายน้อย ๆ แล้วมุ่งหมายจะสอนศีลธรรมให้เข้ากันกับความเชื่อถือของคนในประเทศอินเดียสมัยนั้น ซึ่งเขาเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้ว เขาเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้า ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องชาดก นี้ท่านก็ไม่ได้ตรัสเรื่องกลับชาตินะ ไปดูให้ดีเถิด ไอ้เรื่องกลับชาติต่อท้ายชาดกนั้นเป็นเรื่องทีหลัง เป็นของทีหลัง คำอธิบายข้อนี้อย่างละเอียดที่สุด ที่ดีที่สุดก็คือ พระราชวิจารณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๕ ขอร้องว่าถ้าใครสามารถหาได้ เอามาดูได้ ก็ขอให้เอามาศึกษาเถิด
พระราชวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไรของรัชกาลที่ ๕ ไปหาซื้อหนังสือชุดชาดก และเล่มแรกนั่น ถ้าเขายังพิมพ์อยู่ตามเดิมโน้นนะ จะมีพระราชวิจารณ์นี้อยู่ ละเอียดเป็นที่พอใจ อาตมาเห็นด้วยทุกอย่างทุกประการ ว่าเขามุ่งหมายสอนศีลธรรม เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีมาแต่กาลก่อนทั้งในอินเดีย ทั้งนอกอินเดีย
ส่วนข้อความตอนกลับชาติเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่ของเดิม ไม่ใช่ของเดิม เป็นของใหม่ที่ผู้มีเจตนาดีจะทำให้สมบูรณ์แล้วก็ทำ ฉะนั้น อย่าเอามาอ้างเป็นเรื่องสัสสตทิฏฐิ หรืออะไรทำนองนี้ มุ่งหมายจะสอนศีลธรรม จะยกสถานะของพลเมืองให้มีศีลธรรมดีขึ้นโดยเร็ว คือกลัวบาป กลัวบาปเกี่ยวกับเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ฉะนั้น คำถามในปัญหานี้ไม่ต้องตอบหรอก เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะสอน สัสสตทิฏฐิ หรือ นัตถิกทิฏฐิ อุจเฉททิฏฐิอะไร แต่เป็นเรื่องศีลธรรม จะ จะเป็นอุปกรณ์แห่งการสอนศีลธรรม ยกย่องศีลธรรมขึ้นมาโดยเร็ว และไม่ใช่สอนวิทยาศาสตร์
คำสอนเรื่องกลับชาติของชาดกไม่ ๆ ไม่กล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธดำรัส เป็นของเติมทีหลัง เมื่อพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ คำสอนตอนนี้ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วก็ไม่ต้องพูด เพราะมุ่งหมายจะสอนศีลธรรมในยุคที่เขาต้องการจะยกย่องทางศีลธรรมโดยพระอาจารย์ในยุคต่อ ๆ มา ทำไปด้วยเจตนาที่หวังดี เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องกลับชาตินี้ เขาเชื่ออยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้านะ เป็นของเชื่อกันอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้า ก่อนพุทธกาล เรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงแตะต้อง ท่านจะไม่แตะต้องความเชื่อของคนที่เขาเชื่อกันอยู่แล้วก่อนพุทธกาล แต่ท่านจะหาช่อง หาโอกาส จะพูดผสมโรงเข้าไปอย่างไรให้ได้ประโยชน์ที่สุด นี่เป็นปฏิปทาของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ไม่มีเจตนาจะลบล้างใคร จะทำลายใคร ท่านไม่ได้เกิดมาเพื่อลบล้างใคร แต่ท่านเกิดมาเพื่อผสมโรงให้เรื่องนั้น ๆ มันสำเร็จบริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป พระเยซูก็ยังตรัสอย่างนี้ อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้า ไม่ได้เกิดมาเพื่อลบล้างไอ้คำสอนศาสนาที่มีอยู่ก่อน แต่จะมาช่วยส่งเสริมให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายนั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้ก็ได้แก่ไอ้เรื่องบางชนิด เช่น เรื่องตอนท้ายของอรรถกถาชาดกเกี่ยวกับเรื่องกลับชาติ เป็นต้น เอ้า, มีอะไรต่อไป
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๔: เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว จะพูดถึงพระองค์อย่างไร จึงจะไม่เป็นนัตถิกทิฏฐิ คือตายแล้วขาดสูญ และไม่เป็นสัสสตทิฏฐิ คือตายแล้วยังอยู่ สำหรับผู้ที่จะต้องพึ่งพระพุทธเจ้าในเวลานี้ครับ
พุทธทาส: นี่คนถามมันไม่รู้ความหมายของคำว่าสัสสตทิฏฐิ หรือนัตถิกทิฏฐิ และไม่รู้ความหมายของคำว่าพระพุทธเจ้า เขาจึงพูดว่าพุทธเจ้าตาย พระพุทธเจ้าไม่ตาย พระพุทธเจ้าไม่ตาย พระพุทธเจ้าไม่มีตาย พระพุทธเจ้าตัวจริงไม่มีตาย แต่ว่าเปลือกของท่าน คือร่างกายนั้นก็ตายได้ หรือเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัยได้ ไม่ควรพูดว่าตายเหมือนกัน เพราะไม่ต้องมีตัวตน สัตว์ บุคคล นี่มันเปลือกของพระพุทธเจ้าเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสังขาร พระองค์พระพุทธเจ้าจริงนั้นตายไม่ได้นะ พุทธบริษัททุกคนอย่าใช้คำพูดว่าพระพุทธเจ้าตาย คือถ้าใช้คำว่าปรินิพพาน ก็อย่าให้มีความหมายว่าตายนะ พระพุทธเจ้าตายไม่ได้ เพราะมีความเข้าใจผิด เอาลัทธิตัวตนไปใส่ให้ จึงกลายเป็นพระพุทธเจ้าเกิด พระพุทธเจ้าตาย
ที่ว่าตายแล้วนิพพานไปไม่มีอะไร เป็นนัตถิกทิฏฐิ นี้เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตาย พระพุทธเจ้าไม่รู้จักตาย เมื่อไม่รู้จักตายแล้วก็ไม่ ๆ ไม่มีทางจะกล่าวว่าพระพุทธเจ้าตายแล้วสูญ ไม่ได้ตายแล้วสูญ และก็ไม่ได้ตายแล้วยังอยู่ เป็นสัสสตทิฏฐิ เพราะว่าท่านไม่ได้ตาย ถ้าฟังไม่ถูกก็ตามใจคุณ นี่มันพูดได้แต่เพียงเท่านี้ว่าพระพุทธเจ้านั้นตายไม่ได้ ที่มันตายได้เกิดได้นั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นธรรมะสูงสุดที่ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม นี้ตายไม่ได้ สิ่งนี้ตายไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงไม่ตายได้ และเกิดใหม่ได้ นี่มันไม่มี
จิตของพระพุทธเจ้าถึงความเป็นจิตที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป จิตหลุดพ้นจากกิเลส ทีนี้ร่างกายของท่านก็เป็นเหมือนร่างกายคนธรรมดา ทีนี้จิตหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว เมื่อร่างกายนี้มันแตกดับลงไป ท่านว่าไม่มีโวหารที่จะพูดว่า จิตนั้นจะไปไหน จึงใช้คำเปรียบเหมือนกับไฟดับลงไปนี้ ไม่มีใครพูดได้ว่า ไฟไปไหน ปัชโชต เสตนิพพานัง เหมือนกับความดับแห่งไฟฉะนั้น นี่ท่านไม่ได้ตาย และไม่ตายแล้วไปไหน หรืออยู่ที่ไหน ฉะนั้นถ้าเข้าใจเรื่องนี้ดีแล้วก็ไม่มีทางที่จะเกิดสัสสตทิฏฐิ หรือ นัตถิกทิฏฐิ เกี่ยวกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ที่ว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่กับเราได้ทุกเมื่อนี้ ไม่ใช่สัสสตทิฏฐิ คือเป็นความจริงอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าในที่นี้หมายถึง ธรรมะที่ปราศจากกิเลสและความทุกข์ ถ้าเราปฏิบัติก็มีในเรา หรือพร้อมที่จะมีในเรา พร้อมที่เราจะปฏิบัติได้ คล้าย ๆ กับรอเราอยู่เสมอ ที่จะปฏิบัติเพื่อดับกิเลสและดับทุกข์ ไม่มีสัสสตทิฏฐิ หรือ นัตถิกทิฏฐิ เกี่ยวกับปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เอ้า, มีอะไรว่าไป
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๕: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า สอนว่า ไม่มีนรกไม่มีสวรรค์ หลังจากตายแล้ว และนิพพานอยู่ที่นี่ เมื่อจิตว่าง ดังนี้เป็นการกล่าวตรงตามที่ท่านอาจารย์กล่าวหรือเปล่าครับ
พุทธทาส: เราไม่ได้พูดว่า ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ หรือแม้หลังจากตายแล้ว เราว่ามีทั้ง ๒ อย่างก็ดี นรกสวรรค์ต่อตายแล้ว ก็ว่าไปตามเดิม ไม่ไปแตะต้องเขา นรกสวรรค์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่ยืนยันมาก ให้ตรงตามพุทธประสงค์ นรกสวรรค์อยู่ที่อายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอันว่ามันมี นรกสวรรค์ชนิดนี้ก็มี นรกสวรรค์ต่อตายแล้วไม่ได้ไปแตะต้องเขา ไม่ได้ไปวิพากษ์วิจารณ์เขา ขอให้เก็บไว้ แต่ควบคุมได้ โดยที่จัดนรกสวรรค์เดี๋ยวนี้ให้มันถูกต้อง มันควบคุมไปได้ถึงนรกสวรรค์ต่อตายแล้ว เป็นอันว่ามีนรกสวรรค์ทั้ง ๒ ชนิด ทั้ง ๒ ประเภท ไม่ได้ยกเลิกชนิดไหนเลย
ข้อที่พูดว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้นั้นเป็นสำนวนพูดให้เกิดความสนใจ นิพพานมีเมื่อจิตว่างจากกิเลส นี่ก็มีหลักมีเกณฑ์ คือเป็นนิพพานตัวอย่าง คำว่านิพพาน ที่เกี่ยวกันอยู่กับจิตนั้นก็คือ เมื่อจิตมันว่างจากกิเลส นี่ นี่พูด นี่ยืนยันว่าพูด และจะพูดต่อไปว่า นิพพานตัวอย่างมีเมื่อจิตว่างจากกิเลส เป็นความดับแห่งกิเลส นี่เป็นนิพพาน ถ้าดับชั่วคราวเป็นนิพพานชั่วคราว เรียกว่า ตทังคนิพพาน หรือสมยวิมุตติ นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ ขอให้คอยสังเกตเมื่อจิตว่างจากกิเลสโดยเหตุใด ๆ ก็ตาม แต่ยังไม่ใช่นิพพานสมบูรณ์ หรือตลอดกาลหรือนิรันดร นิพพานชั่วขณะเรียกว่าตัวอย่างก็ได้ เมื่อใดจิตว่างจากกิเลสนั่น รีบรู้จักเสียเร็ว ๆ คอยเฝ้าดูจิต เมื่อไม่ปรุงเป็นกิเลส เป็นจิตเยือกเย็น เป็นนิพพาน เพื่อที่จะเป็นตัวอย่าง แล้วจะได้ชอบใจ แล้วจะได้เป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานอันสูงสุด คือนิพพานเต็มรูปแบบ
เราสนใจนิพพานตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ชั่วประจำวันนี้ไว้ที่มันทำให้คนไม่ต้องปวดหัว ไม่ต้องเป็นโรคประสาทให้อายแมวนี่ ไว้ ๆ ไว้เรื่อย ๆ สิ ก็เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานอันแท้จริงหรือสูงสุด ที่ว่าอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นิพพานตัวอย่าง พูดจริง แล้วก็จะพูดต่อไปอีกด้วย เพราะนิพพานนี้แปลว่า เย็น เมื่อใดเย็น จิตเย็น เย็นอกเย็นใจ เมื่อนั้นเป็นนิพพาน แต่คำว่า เย็น คำนี้ ก็พิเศษอีกแหละ กลัวว่าไอ้ผู้ถามคงฟังไม่ถูกหรอก ผู้ถามมันรู้จักแต่เรื่องเย็นที่คู่กับร้อน ถ้าร้อนก็ต้องเปิดพัดลม ถ้าเย็น ถ้าหนาวก็ต้องห่มผ้า แต่มีความเย็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อไม่เย็นไม่ร้อน ไม่เย็นไม่ร้อน ชนิดนี้จะเกิดความเย็นชนิดอีกหนึ่งซึ่งเป็นนิพพาน เมื่อไม่รบกวนด้วยความเย็นหรือความร้อนในโลกนี้ มันก็มีความเย็นอย่างโลกุตตระคือนิพพาน ไอ้ที่ให้สอนกันในเบื้องต้นว่า เย็นคู่กับร้อน สุขคู่กับทุกข์นี่ นั้น ๆ ๆ ใช้ไม่ได้นะ นั้นใช้เป็นหลักไม่ได้ นั้น ๆ ไม่ใช่นิพพาน นั้นไม่ใช่ดับทุกข์หรอก ไอ้สุขที่คู่กับทุกข์ ก็ยังเป็นทุกข์ ไอ้เย็นทั้งที่คู่กับร้อนมันก็ยังเป็นทุกข์ ต้องปัดทิ้งไปหมดทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งเย็นทั้งร้อน ทั้งอะไรทุก ๆ คู่ นั่นจึงจะเป็นนิพพาน ฉะนั้นถ้าว่า จิตเย็นเป็นนิพพาน คือเย็นต่อเมื่อไม่มีทั้งร้อนและทั้งเย็นในความหมายของโลก ๆ เอ้า, มีอะไรอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๖: คนส่วนมากถือว่าตายแล้วจึงตกนรก หรืออบาย แต่มีบางคนในเวลานี้ ที่นี่ พูดว่าตกนรกทั้งเป็น นี่มันเป็นนรกหรืออบายแบบไหนกันครับ
พุทธทาส: นี่ขอให้สังเกตดู ว่าไม่ใช่แกล้งพูดกันขึ้นมา เดี๋ยวนี้ ที่นี่ มันพูดกันอยู่ไป ตกนรกทั้งเป็น เป็นคำที่เขาพูดกันอยู่ทั่ว ๆ ไป ถ้าสังเกตดูว่าเขาหมายถึงอะไร ตกนรกทั้งเป็น ก็หมายความว่าทั้งที่ยังเป็น ๆ อยู่นี้ มันทนทุกข์เหมือนกับตกอยู่ในนรก ก็เลยเรียกว่า นรกทั้งเป็น ทุกคนเคยชิมมาแล้วทั้งนั้นแหละ อย่าอวดดีเลย ตกนรกทั้งเป็นนี่ ไม่มากก็น้อย ดูนั่นแหละนรกทั้งเป็น เป็นตัวอย่างของนรกสมบูรณ์ เมื่อไร ที่ไหนก็ได้ นรกต่อตายแล้ว หรือนรกชนิดไหนก็ได้ ไอ้นรกทั้งเป็นนี่น่ากลัวกว่า เพราะมัน เพราะมันทำอันตรายเรา ไอ้นรกต่อตายแล้วยังไม่ถึงสักที แล้วก็ไม่แน่ว่าเราจะต้องตกนรก นรกหลังจากตายแล้วไม่มีปัญหา ไอ้นรกทั้งเป็นนี่ เป็นปัญหา ตกวันละกี่ครั้ง ไปทำเสียใหม่ อย่าให้ต้องตกเลย
ไอ้นรกทั้งเป็นนี่ มันเป็นสมบัติของคนที่ไม่รู้จัก ไอ้พวกที่รู้จักแต่นรกต่อตายแล้ว พวกนั้นมันตกนรกทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลา เข้าใจไหม ไอ้คนที่มันรู้จักแต่นรกต่อตายแล้ว นรกต่อตายแล้ว พูดยืนยันแต่อย่างนั้น ไอ้คนพวกนั้นมันตกนรกทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลาที่นี่ เพราะมันไม่รู้จักนรกชนิดนี้ แล้วมันตกอยู่ ๆ มันยังไม่รู้นี่ มันคอยเฝ้าแต่นรกต่อตายแล้ว เพราะฉะนั้น นรกทั้งเป็นนี่คือสมบัติที่มีไว้ให้ไอ้พวกที่เชื่อว่านรกต่อตายแล้ว เพราะมันไม่ได้จัดการกับนรกที่นี่ให้ถูกต้อง มันตกอยู่ตลอดเวลา นี่สมบัติของคนที่รู้จักแต่นรกต่อตายแล้ว มันต้องตกนรกทั้งเป็นอยู่ที่นี่ตลอดเวลา เอ้า, มีอะไรเร็ว ๆ
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๗: คำว่าปรโลก ปรโลก หมายความว่าอย่างไรครับ อยู่ใต้ดิน อยู่บนฟ้า หรือว่าอยู่รอบ ๆ ครับ เรานั่งอยู่ที่นี่จะถึงปรโลกโดยชาติทางจิตปัจจุบันในกระแสปฏิจจสมุปบาทนี้ได้หรือไม่ครับ
พุทธทาส: ปรโลก แปลว่า โลกอื่น เขามักจะแปลกันว่า โลกหน้า โลกข้างหน้า ก็หมายความว่า ต่อตายแล้ว อีกแหละ ปรโลกสำหรับคนพวกนั้นมีแต่ตายแล้ว แต่ว่าปรโลก ตัวหนังสือมันแปลว่าโลกอื่น ปร แปลว่า อื่น โลกอื่นจากโลกที่เรารู้จัก มันมีอยู่พร้อมกันก็ได้ พร้อมกันเดี๋ยวนี้มีอยู่พร้อมกัน เคียงคู่กันกับโลกนี้ แต่มันเป็นโลกอื่น เราไม่เห็น เราก็ไม่ ๆ ก็ไม่รู้จัก ไม่เห็น คอยหวังอยู่ว่า ต่อตายแล้วนั่นแหละจึงจะได้ไปโลกอื่น
ที่จริงโลกอื่นนี่ มีอยู่พร้อมกันกับโลกนี้ ที่นี้ เวลานี้ คือพอเราจิตหมกมุ่นเป็นนรก มันก็มีโลกนรกเข้ามาในจิตใจนี้ นี่โลกอื่นมันมาเยี่ยมเราแล้ว พอเรามีพอใจเป็นสวรรค์สบาย ไอ้โลกสวรรค์ มันก็เยี่ยมเข้ามาในจิตใจนี้แล้ว ไอ้โลกอื่นนั่นมันถึงได้โดยจิตใจ เช่นว่าเรามีความคิดเลวทรามอย่างสัตว์เดรัจฉาน เราก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว โดยร่างกายนี้ แต่จิตใจมันเป็นสัตว์เดรัจฉานไปแล้ว เมื่อจิตของเราเปลี่ยนเป็นอย่างไร ไอ้โลกชนิดนั้นจะเข้ามาสู่ร่างกายนี้
ร่างกายนี้เรียกว่า ร่างกายมนุษย์ ร่างกายคน แต่จิตใจนั้นจะมีสภาพเหมือนกับอยู่ในโลกไหนก็ได้ เมื่อจิตใจนั้นร้อน ก็เรียกว่าอยู่ในโลกนรก เมื่อจิตใจสะดวก สบาย สนุกสนาน ก็เรียกว่าอยู่ในโลกสวรรค์ เมื่อจิตใจไม่เป็นนรกไม่เป็นสวรรค์ นี่มันอยู่เหนือโลก เป็นนิพพาน พอเราร้อน ก็อยู่โลกนรก พอเราโง่ ก็อยู่ในโลกเดรัจฉาน พอเรากลัว ก็อยู่ในโลกอสุรกาย พอเราหิว ก็อยู่ในโลกเปรต พร้อมเสมอที่จะเข้ามาด้วยจิตที่มันตั้งไว้ผิด ถ้ามันผิดไปจากธรรมดาแล้วก็เรียกว่าโลกอื่นทั้งนั้น ถ้ามนุษย์อยู่ด้วยความรู้สึกตามธรรมดา ก็เรียกว่าอยู่ในโลกนี้ตามธรรมดาของมนุษย์ พอมันผิดไป เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ก็กลายเป็นโลกอื่นแล้ว ฉะนั้น ระวัง มันจะอยู่ในโลกอื่น มันอยู่ที่ปลายจมูกคุณนั่นแหละ มันอยู่ที่หน้าผากของคุณนั่นแหละ โลกอื่น ดูให้ดี ๆ เถิด มันจะเปลี่ยนเป็นโลกอื่นเมื่อไรก็ได้ นี่คำว่าโลกอื่น ตามหลักธรรมะแท้จริงจะเป็นอย่างนี้
แต่ถ้าเป็นหลักความเชื่อที่เชื่อสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าโน่น มันอยู่ที่อื่นหลังจากตายแล้ว เรียกว่าปรโลก สวรรค์ อะไรก็ดี มันต่อตายแล้วจึงจะไปถึง อยู่ที่อื่น เช่น นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า พอมาเดี๋ยวนี้ เขาไม่เห็น เขาไม่มีฟ้าสำหรับจะให้เป็นเนื้อที่สำหรับสวรรค์แล้ว ความรู้ทางอวกาศ ไม่มีเนื้อที่ข้างบนฟ้าไว้สำหรับตั้งสวรรค์ หรือว่าใต้ดินนี่มันก็ไม่มีที่ให้ ๆ ๆ ตั้งนรกไว้ มันอยู่ที่ในใจ เป็นอย่างไรก็เรียกว่าเป็นอย่างนั้น แล้วก็เรียกสมมติเรียกว่าโลก โลกแปลว่าของแตก คือจะเปลี่ยนอยู่เสมอ จะแตกและเปลี่ยนอยู่เสมอ ปรโลกแปลว่าโลกอื่น เรานั่งอยู่ที่นี่จะไปโลกอื่นได้โดยจิตใจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าจิตที่ฝึกดีแล้ว ไปโลกไหนก็ได้ จิตที่ฝึกดีแล้วอยู่ในควบคุมของเราจะไปสู่โลกไหนก็ได้ แล้วแต่เราต้องการ เอ้า, ปรโลกหมายความว่าโลกอื่นซึ่งผิดไปจากโลกที่เราเคยชินอยู่นี้ เราจะไปถึงปรโลกนานาชนิดได้โดย โดยจิตก็ได้ ส่วนที่จะไปด้วยร่างกายต่อตายแล้วนั่น ก็ไว้ให้พวกหนึ่งเขาถือกันอย่างนั้น เราไม่ไปพูดกับเขา เราไม่คัดค้านเขา มีอะไรอีก
------------------------------------------------------
คำถามที่ ๑๘: เรื่องนรกสวรรค์และเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เป็นเรื่องเหลวไหลสาระหรือ หรือมีไว้ใช้สำหรับเป็นเครื่องหลอกคนโง่ครับ
พุทธทาส: อ่านให้มันช้า ๆ หน่อยสิ ฟังไม่ถูก
(ทวนคำถาม) เรื่องนรกสวรรค์และเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระหรือ หรือมีไว้ใช้สำหรับเป็นเครื่องหลอกคนโง่ครับ
พุทธทาส: เป็นเรื่องจริงที่สุด ช่วยเป็นพยานนะ ว่าอาตมาพูดว่าเรื่องนรกเรื่องสวรรค์นี่เป็นเรื่องจริงที่สุด เรื่องเวียนว่ายตายเกิดนี่ยิ่งจริงที่สุด แต่มันมีความหมายไม่เหมือนกับที่เขา ๆ เขารู้ หรือเขาพูด หรือเขาสอนกันอยู่ก็ได้ ร้อนเป็นไฟคือนรก สนุกสนานพอใจก็เป็นสวรรค์ เวียนว่ายตายเกิดนี้เปลี่ยนอยู่เสมอ เรามีความคิดอย่างนี้ เป็นคนชนิดนี้ เดี๋ยวเราเปลี่ยนความคิดอย่างอื่น เป็นคนชนิดอื่น แม้ไม่ต้องตายเข้าโลง มันก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภายใน นี้จริงกว่า จริงกว่าที่ว่าจะ ๆ มีหรือจะถึงกันต่อตายแล้ว ที่มันรู้สึกอยู่กับใจนี้ จริงกว่านรก จริงกว่าสวรรค์ จริงกว่าเวียนว่ายตายเกิด จริงกว่า ส่วนเรื่องนรกสวรรค์เวียนว่ายชนิดที่ต่อตายแล้วหลังจากตายแล้วนี่ เราไม่มีหน้าที่ที่จะพูด เพราะว่าเขาพูดกันอย่างนี้ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เราไม่อยากจะพูดขัดแย้งกับคนเหล่านั้น เก็บไว้ ๆ จริงสำหรับคนพวกนั้น นี้จริงสำหรับคนพวกนี้ แล้วก็ไม่ต้องทะเลาะกัน แต่ถ้าว่ามองในแง่ศีลธรรม แล้วก็ไม่ได้มีไว้หลอกใคร มีไว้สั่งสอนด้วยความหวังดีให้เขามีศีลธรรม ไม่ได้เจตนาหลอก แต่ในทางปรมัตถธรรมนั่น ยิ่งไม่หลอก เพราะว่ามัน มันรู้สึกได้จริง ไอ้ความทุกข์ที่ร้อนเป็นไฟอยู่ในใจก็รู้สึกได้จริง ไม่ทุกข์ก็รู้สึกได้จริง ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องหลอก แต่คำอธิบายมีหลายอย่าง
แม้ว่านัก เป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวยงสมัยนี้ ก็ไม่ควรจะไปปฏิเสธเรื่องที่คนโบราณเขาพูดไว้ เพราะตัวก็รู้ไม่ได้ คำนวณก็ มันก็ไม่แน่ ฉะนั้น อย่าไปปฏิเสธ ก็ทิ้งไว้อย่างนั้น จนกว่าจะ จะพิสูจน์กันได้ แล้วมันไม่เสียหายอะไร มันก็เก็บไว้อย่างนั้นก็ได้ เขาสอนเรื่องนรกสวรรค์อย่างไรก็เก็บไว้ก่อนก็ได้ แต่ระวังไอ้นรกสวรรค์ที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ทำให้ดี ๆ จัดการกับนรกสวรรค์ชนิดนี้ให้ได้เถิด มันจะควบคุมนรกสวรรค์ต่อตายแล้วได้ ได้เลย ได้จริงเลย ฉะนั้น นรกสวรรค์นี้มันเป็นเรื่องจริงที่สุด และก็มีไว้สำหรับคนที่มีปัญญาจริง ๆ เท่านั้น จะเห็นได้ คนโง่เห็นไม่ได้หรอก ถ้ามีปัญญาจริง ๆ จะเห็นนรกสวรรค์ได้จริงเหมือนกัน