แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
***
สุขิโน วต อรหนฺโต ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ
อสฺมิมาโน สมุจฺฉินฺโน โมหชาลํ ปทาลิตํ
อเนชํ เต อนุปฺปตฺตา จิตฺตํ เตสํ อนาวิลนฺติ ฯ
ธมฺโม สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ ฯ
ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับสืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้แสดงแล้วในตอนเย็น ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุมาฆบูชา แสดงลักษณะต่างๆ อันเกี่ยวกับพระอรหันต์ คือว่าบุคคลจะสามารถดำเนินตนตามรอยแห่งพระอรหันต์ เพราะว่าวันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เราจึงควรจะทำการศึกษาเพื่อมีความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไปเกี่ยวกับพระอรหันต์ ดังบาลีข้างต้นที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทนั้นว่าสุขิโน วต อรหนฺโต พระอรหันต์ท่านเป็นผู้มีความสุขหนอ ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ ตัณหาของท่านไม่มี อสฺมิมาโน สมุจฺฉินฺโน อัสมิมานะท่านถอนขึ้นหมดแล้ว โมหชาลํ ปทาลิตํ ข่ายแห่งโมหะท่านก็ทำลายสิ้นแล้ว อเนชํ เต อนุปฺปตฺตา ท่านได้ลุถึงซึ่งความไม่หวั่นไหว จิตฺตํ เตสํ อนาวิลํ จิตของท่านไม่มีความขุ่นมัว ข้อนี้มีนัยยะอันจะพึงวินิจฉัยกันโดยละเอียด ที่ว่าพระอรหันต์ท่านอยู่เป็นสุขนั้น มันก็หมายความว่าไม่มีเหตุให้เกิดทุกข์ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ไม่มี โดยบทที่กล่าวว่า ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ ตัณหาของท่านไม่มี อัสมิมานะ ความสำคัญว่าเรามีอยู่ดังนี้ท่านถอนขึ้นแล้ว โมหชาลํ ปทาลิตํ ข่ายแห่งโมหะก็ถูกทำลายเสียแล้ว อัสมิมานะ ความสำคัญว่าตน เป็นบทรวบยอดของสิ่งที่จะต้องถอน ถ้ามีความสำคัญว่าตนอยู่เพียงใด ก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งการเกิดของกิเลสอยู่เพียงนั้น ข่ายซึ่งเป็นเสมือนเครื่องดักสัตว์ ได้แก่โมหะซึ่งทำความเข้าใจผิดโดยประการทั้งปวงก็ถูกทำลาย เหมือนกับว่าข่ายสำหรับดักสัตว์ถูกทำลายให้ขาดออกไปไม่อาจจะเป็นที่กักขังสัตว์ได้อีกต่อไป ท่านลุถึงความไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจแห่งกิเลส จึงได้มีจิตไม่ขุ่นมัว เราจะได้ยินได้ฟังกันอยู่ว่า พระอรหันต์มีสันดานอันบริสุทธิ์ มีขันธสันดานอันบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ข้อนี้จะต้องรู้กันเสียก่อนว่าสิ่งที่เรียกว่าขันธ์นั้นคืออะไร เพราะเหตุใดจึงบริสุทธิ์ หรือเพราะเหตุใดจึงไม่บริสุทธิ์ ขันธ์รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่ามีอยู่ ๕ อย่างที่เรียกว่า เบญจขันธ์ ของคนธรรมดาไม่บริสุทธิ์เพราะว่ามีอุปาทานเข้าไปจับยึด เป็นขันธ์ที่ถูกยึดถืออยู่ด้วยอุปาทาน ขันธ์นั้นจึงไม่บริสุทธิ์ ต่อเมื่อขันธ์นั้นไม่ถูกจับยึดอยู่ด้วยอุปาทานจึงจะเรียกว่าบริสุทธิ์ เพราะปราศจากด้วยอุปาทานนั่นเอง ทำอย่างไรขันธ์ถึงจะไม่ถูกอุปาทานยึดถือ ตอบได้สั้นๆ ว่าก็เพราะมีสติในขณะที่ขันธ์นั้นเกิดขึ้น ขันธ์นั้นมีการเกิดขึ้นและดับอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้มีความเข้าใจผิดกันอยู่ว่าขันธ์นั้นมีอยู่ตลอดเวลา ขอให้เข้าใจว่าขันธ์นั้นเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เราควรจะรู้จักธรรมชาติของขันธ์กันอย่างเพียงพอ ขันธ์มิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา คือว่าเกิดและดับอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่าง เมื่อตาเห็นรูป คือธาตุที่เป็นรูปที่ประกอบกันขึ้นเป็นดวงตาหรือเป็นประสาทตาและทำหน้าที่ของมัน อย่างนี้เรียกว่ารูปขันธ์เกิดแล้วในภายใน ที่เป็นภายนอกก็คือรูปที่ตาเห็นนั้นต้องมาประกอบกันเข้ากับตาซึ่งเป็นรูปในภายใน จึงจะเรียกว่ามีรูปขันธ์เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ อย่างนี้เรียกว่าวิญญาณขันธ์ก็ได้เกิดขึ้น ตากับรูปและจักษุวิญญาณร่วมกันทำหน้าที่ นี้เรียกว่าเป็นผัสสะ ผัสสะเกิดแล้วก็เกิดเวทนา นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์เกิดขึ้น เวทนาเกิดแล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งสัญญาความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไรตามที่จะจำได้ นี้เรียกว่าสัญญาขันธ์เกิดแล้ว สัญญาเกิดแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดความคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามความสำคัญมั่นหมาย ความคิดนึกนี้เกิดแล้ว ก็เรียกว่าสังขารขันธ์เกิดแล้วเป็นลำดับไป เช่น มีความคิดอยากจะได้เป็นต้น แล้วก็มีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้อยากจะได้ดังนี้ ทั้งหมดนี้ก็เป็นสังขารขันธ์ มันไม่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้ในจิตดวงเดียว เกิดวิญญาณขันธ์เมื่อตากระทบรูปเป็นต้นนั้น มันก็ให้โอกาสที่จะเกิดผัสสะและเกิดเวทนา วิญญาณขันธ์ทำหน้าที่ของตนในการเห็นรูปเสร็จแล้วก็ดับไป เวทนาคือความรู้สึก ก็เกิดขึ้นมาเรียกว่าเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์เป็นไปตามสมควรแล้วก็เกิดสัญญาขันธ์สำคัญมั่นหมายในเวทนานั้น นี้ก็เรียกว่าเกิดเวทนาขันธ์ ในเมื่อวิญญาณขันธ์ดับไปแล้ว เกิดเวทนาแล้วก็ให้โอกาสแก่สัญญาสำคัญมั่นหมายเวทนานั้นอย่างไร เวทนาขันธ์ก็ดับไปสัญญาขันธ์ก็เกิดขึ้น สัญญาขันธ์คือความสำคัญมั่นหมายเกิดแล้วก็ดับไปให้โอกาสแก่สังขารขันธ์ที่จะเกิดความคิดความนึกว่าอย่างไร เห็นได้ว่ามันจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ เราจึงไม่ควรจะพูดว่าคนนี้แบ่งออกได้เป็น ๕ กอง มันจะไม่มีโอกาสที่คนคนหนึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น ๕ กอง เพราะว่าแต่ละกองๆ นั้น มันไม่ได้มาเกิดพร้อมกัน ฉะนั้นการที่จะถือว่าเรามีขันธ์ ๕ อยู่นั้นมันเป็นไปไม่ได้ มันจะมีได้แต่ทีละขันธ์ เพราะว่ามันเกิดมาแล้วมันก็ดับไป ให้โอกาสแก่ขันธ์อื่นเกิดขึ้น นี้เรียกว่าขันธ์ ๕ มีการเกิดและดับอยู่เสมอ ทีนี้ถ้ามันเป็นขันธ์ ๕ เฉยๆ ไม่มีอวิชชาเข้าไปโง่ ไปหลงในขันธ์นั้น ก็ยังเรียกว่าขันธ์นั้นไม่มีอุปาทาน ยังเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์อยู่ แต่ถ้าว่ามีอวิชชาเข้าถือเอา เกิดตัณหาอุปาทานยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นขันธ์ที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว เช่น เมื่อตาเห็นรูป เกิดความยึดถือว่าตาของกู มันก็เกิดรูปขันธ์ที่ไม่บริสุทธิ์แล้ว เพราะว่ามีอุปาทานยึดถือ เมื่อเกิดวิญญาณขันธ์คือจักษุวิญญาณขึ้นมา เกิดความยึดถือว่าจักษุวิญญาณนั้นเป็นตัวกู หรือยึดถือการเห็นนั้นว่าของกู วิญญาณขันธ์นั้นก็ไม่บริสุทธิ์แล้ว เพราะมีความยึดถือว่าวิญญาณนั้นเป็นตัวตนหรือเป็นของตน วิญญาณให้เกิดผัสสะเกิดเวทนา ก็ยึดถือความรู้สึกที่เป็นเวทนานั้นว่าเป็นตัวตนก็ได้ เป็นของตนก็ได้ ความรู้สึกที่เป็นเวทนาว่าสุขว่าทุกข์นั้นส่วนมากก็จะถูกยึดถือว่าเป็นของตน เวทนานั้นก็ไม่บริสุทธิ์แล้ว เพราะมีกิเลสอุปาทานเข้าไปยึดถือเอาแล้ว เวทนาเป็นเหตุให้เกิดสัญญามั่นหมายว่าเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นต้น ก็เป็นเวทนาที่ถูกยึดถือ สัญญาความสำคัญมั่นหมายนั้นก็ถูกยึดถือ ความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวตนหรือของตนก็ดี ในเวทนานั้น เรียกว่าสัญญานั้นถูกยึดถือ สัญญาขันธ์นั้นก็ไม่บริสุทธิ์แล้วเพราะว่าถูกยึดถือ เกิดสังขารขันธ์ขึ้นมา ก็ยึดถือว่าความคิดของกูหรือตัวกูเป็นผู้คิดดังนี้ก็ดี สังขารขันธ์นั้นก็ไม่บริสุทธิ์แล้วเพราะถูกยึดถือ เบญจขันธ์ของปุถุชนถูกยึดถือด้วยอุปาทานดังนี้ ก็เรียกว่าขันธ์นั้นไม่บริสุทธิ์แล้ว ถูกยึดถือแล้ว เป็นของหนักและเป็นความทุกข์แก่จิตที่ทำการยึดถือ ลองสังเกตดูให้ดีว่าบางคราว บางขณะยึดถือรูปขันธ์ว่าเป็นตัวตน เช่นยึดถือว่าตานี้เป็นตัวตนเป็นของตน บางคราวก็ยึดถือวิญญาณว่าเป็นตัวตน บางคราวก็ยึดถือเวทนาว่าเป็นตัวตน บางคราวก็ยึดถือสัญญาว่าเป็นตัวตน บางคราวก็ยึดถือสังขารว่าเป็นตัวตน ข้อนี้ท่านต้องสังเกตเอาเอง ต้องศึกษาเอาเองว่าจิตกำลังยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน และจะดูให้เห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์แต่ละอย่างนั้น อาจจะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือของตนได้ด้วยกันทั้งนั้น และสังเกตให้เห็นว่าบางคราวเรายึดถือบางขันธ์ว่าเป็นตัวตน เราไม่มีทางที่จะยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมๆ กันว่าเป็นตัวตน ดังนั้นจึงมีพระบาลีว่า รูปูปาทานกฺขนฺธ, เวทนูปาทานกฺขนฺธ, สญฺญูปาทานกฺขนฺธ, สงฺขารูปาทานกฺขนฺธเป็นต้น ขันธ์แต่ละขันธ์อาจจะถูกยึดถือโดยความเป็นตัวตนได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าขันธ์ที่เกิดขึ้นในกรณีที่สมมุติเรียกกันว่าพระอรหันต์นั้น ไม่มีความยึดถือเพราะว่ามีสติสมบูรณ์อยู่โดยไม่ขาดตอนตามลักษณะของพระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ เมื่อสติเกิดขึ้นเสียแล้ว ความยึดถือก็เกิดขึ้นไม่ได้ รูปขันธ์ของบุคคลที่เราเรียกกันว่าพระอรหันต์จึงไม่ถูกยึดถือ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของท่านแต่ละอย่างไม่ถูกยึดถือว่าตัวตนหรือว่าของตน เวทนาก็ไม่ถูกยึดถือ สัญญาก็ไม่ถูกยึดถือ สังขารก็ไม่ถูกยึดถือ เพราะอำนาจของสติที่สมบูรณ์ ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นจึงเป็นขันธ์ที่ไม่ถูกยึดถือ ขันธ์ของพระอรหันต์จึงเป็นขันธ์ที่บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลาดังนี้ นี่เป็นเหตุให้เรารู้จักว่าพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร ผิดแปลกแตกต่างจากคนธรรมดาอย่างไร ขันธ์ของคนธรรมดามีส่วนที่จะถูกยึดถือเป็นอุปาทานขันธ์แล้วก็เป็นทุกข์ ขันธ์ของพระอรหันต์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจใดๆ ก็ไม่มีโอกาสที่จะถูกยึดถือ จึงเรียกว่าขันธ์เฉยๆ ไม่มีโอกาสที่จะเรียกว่าอุปาทานขันธ์ อุปาทานขันธ์ย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์ คงมีแต่ขันธ์เฉยๆ คือขันธ์ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ไม่ถูกยึดถือ จึงพูดได้ว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีขันธสันดานอันบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นลักษณะอันหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าเพราะไม่ยึดถือก็ไม่หนัก เมื่อไม่หนักก็ไม่เป็นทุกข์ เมื่อไม่เป็นทุกข์ก็ถือว่าเป็นสุข ขันธ์ไม่ถูกยึดถือโดยเฉพาะสังขารขันธ์หรือตั้งแต่สัญญาขันธ์เป็นต้นไป ตัณหาก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น พระอรหันต์จึงไม่มีตัณหา ไม่มีตัณหาก็ไม่มีอุปาทาน อัสมิมานะซึ่งเป็นชื่อของอุปาทานก็ไม่อาจเกิดได้โดยประการทั้งปวง การเกิดแห่งอัสมิมานะถูกทำลายไปแล้ว ความหลงว่าตัวตนคือเป็นโมหะก็ถูกทำลายไป ท่านก็ถึงซึ่งความไม่หวั่นไหวเพราะไม่มีตัณหานั้น ดังนั้นจิตของท่านก็ไม่ขุ่นมัว นี้เป็นลักษณะอันหนึ่งของพระอรหันต์ที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจว่าการเกิดแห่งขันธ์เป็นไปตามธรรมดาและมีสติตลอดเวลาที่มีการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ ก็เลยไม่มีการยึดถือขันธ์ จึงไม่มีอุปาทานขันธ์ มีแต่ขันธ์ที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสซึ่งเป็นเครื่องยึดถือ นี้ข้อหนึ่ง เพราะเหตุว่าไม่มีการยึดถือโดยประการทั้งปวงอย่างนี้ พระอรหันต์จึงไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนในทุกกรณี และก็ไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีตัวตนด้วย ข้อนี้เป็นความลึกซึ้งที่ลึกขึ้นไป ไม่รู้สึกว่ามีตัวตนด้วย ไม่รู้สึกว่าไม่มีตัวตนด้วย เรามันคิดเอาเองว่าเมื่อไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนก็พอแล้ว ก็เท่ากับว่าไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีตัวตนอยู่โดยอัตโนมัติ ฟังดูให้ดีในข้อที่ว่าพระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีตัวตน ความรู้สึกว่าไม่มีตัวตนนั้นมันไม่จำเป็นจะต้องเกิดแก่พระอรหันต์ เพราะว่าได้ตัดความหมายแห่งคำว่าตัวตนไปจนหมดสิ้น ไม่มีปัญหาเรื่องไม่มีตัวตนหรือมีตัวตน ความรู้สึกก็เลยไปถึงว่าไม่รู้สึกว่ามีผู้ใดดีกว่าตนหรือเสมอตนหรือเลวกว่าตน และก็ไม่รู้สึกว่าไม่มีผู้ใดที่ดีกว่าตนหรือเสมอกับตนหรือเลวกว่าตน นี่เป็นข้อที่ต้องสังเกตว่าไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีผู้ใดดีกว่าตน เสมอตนหรือเลวกว่าตน คนเรานี่แหละพวกเรานี่แหละที่จะไปมีความคิดเป็นคู่เปรียบว่าต้องไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนและก็ไม่อาจจะมีความรู้สึกว่าไม่มีตัวตนด้วย ท่านพูดให้มันสิ้นเชิง ไม่มีส่วนเหลือ ป้องกันความเข้าใจผิด เพราะไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนและไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีตัวตน ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ดีก็จะไม่มีเรื่องเถียงกันอีกเกี่ยวกับตัวตนของพระอรหันต์
พระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่าเขมะ ท่านกราบทูลในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าว่า พระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกว่ามีคนที่ดีกว่า เสมอกันหรือเลวกว่า พระอรหันต์อีกองค์หนึ่งชื่อสุมนะกล่าวข้อความในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าว่าพระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีคนที่ดีกว่าไม่มีคนที่เสมอกันไม่มีคนที่เลวกว่า พระพุทธองค์ทรงพอพระทัยในคำกล่าวทั้งสองแบบนั้นแล้วก็ทรงอนุโมทนาว่าเป็นคำกล่าวที่ดีที่ถูกต้อง นี่ขอให้ทุกคนสังเกตดูให้ดีว่าเรื่องตัวตนนี่มันมีแง่ที่จะทำให้พูดได้ตื้นลึกกว่ากันมากทีเดียว คือพระอรหันต์องค์หนึ่งกล่าวว่าไม่มีความรู้สึกว่ามีคนดีกว่าหรือเสมอกันหรือเลวกว่า พระอรหันต์อีกองค์หนึ่งกล่าวว่าพระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีใครดีกว่าหรือเสมอกันหรือเลวกว่า เรื่องมีกับไม่มีนี่ มันเป็นอุปาทานเท่ากัน อย่าไปเข้าใจว่าต้องไปยึดถือว่ามีจึงจะเป็นอุปาทาน แม้แต่ความยึดถือว่าไม่มีมันก็เป็นอุปาทานเท่ากัน ดังนั้นพระอรหันต์จึงไม่มีความรู้สึกว่ามีหรือไม่มีตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่ามีหรือไม่มีคนที่ดีกว่าหรือคนเสมอกันหรือคนที่เลวกว่า ถ้าท่านฟังไม่ดี ก็จะเห็นว่าพูดผิดอยู่คนหนึ่งหรือว่าคนหนึ่งพูดในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องพูด นั่นมันความโง่ของเราต่างหากที่ทำให้เข้าใจไปอย่างนั้น เมื่อพระอรหันต์ท่านกล่าวไปตามความรู้สึกโดยตรงโดยจริงแท้จริงแล้ว ท่านก็กล่าวได้ว่าไม่มีความรู้สึกว่ามีคนที่ดีกว่าหรือเสมอกันหรือเลวกว่า และก็ไม่มีความรู้สึกว่าไม่มีคนที่ดีกว่าหรือเสมอกันหรือเลวกว่า อันนี้มันสิ้นเชิง มันไม่มีอะไรเหลือที่เรียกว่าเป็นความยึดถือ สังเกตดูให้เห็นว่าความไม่มี ความหมดจดแห่งความยึดถือเป็นไปถึงอย่างนี้ จิตของพระอรหันต์เป็นจิตประภัสสรตลอดเวลา คือตายตัว จิตของคนธรรมดาประภัสสรเป็นขณะคือชั่วเวลาที่กิเลสไม่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าประภัสสรนั้นหมายความว่า ผ่องใส เรืองแสง สวยสด งดงาม สงบ หรือบริสุทธิ์ ความเป็นประภัสสรของคนธรรมดานี่ มันชั่วขณะชั่วเวลาที่กิเลสยังไม่เกิด เพราะว่าจิตนั้นยังไม่ได้รับการอบรมให้ดีให้ถึงระดับที่ว่าไม่เป็นที่เกิดแห่งกิเลส ส่วนพระอรหันต์นั้นเป็นบุคคลที่มีจิตอันอบรมดีถึงที่สุดแล้ว จิตนั้นไม่เป็นที่ตั้งที่เกิดแห่งกิเลสอีกต่อไป ดังนั้นความเป็นประภัสสรแห่งจิตของพระอรหันต์จึงเป็นการตายตัว เด็ดขาดและตลอดเวลา เรียกว่าเป็นจิตที่ไม่อยู่ในฐานะที่กิเลสอาจจะเกิดได้ คนเราปุถุชน จิตเป็นประภัสสรตามธรรมชาติ แต่จิตนั้นยังอยู่ในสภาพที่กิเลสอาจจะเกิดตามเหตุตามปัจจัย เรียกว่าประภัสสรที่ติดมาตามธรรมชาตินั้นยังให้โอกาสแก่กิเลสที่จะเกิดได้ ดังนั้นเราจึงต้องอบรมจิต คำว่าอบรมจิตนี้ก็คืออมรมให้อยู่ในฐานะที่กิเลสจะเกิดขึ้นไม่ได้ คืออบรมจิตให้เป็นจิตที่มีฐานะ ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส ความเป็นประภัสสรจึงต่างกันดังนี้ ขอให้สนใจในเรื่องนี้ให้เข้าใจ แล้วก็จะเกิดความตั้งใจที่จะอบรมจิต ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ก็ไม่มีความตั้งใจโดยแท้จริงที่จะอบรมจิต คนทั่วไปควรจะรู้เรื่องนี้ว่าความเป็นประภัสสรโดยธรรมชาตินั้นยังไม่ตายตัว ยังไม่แน่นอน ต้องอบรมด้วยวิธีที่เรียกว่ามีการประกอบในการอบรมจิตให้เป็นจิตที่สูง ให้เป็นจิตที่ยิ่ง ให้เป็นจิตที่หลุดพ้น หลุดพ้นจากการเกิดของกิเลส เป็นจิตที่ไม่อาจจะเกิดกิเลสได้ดังนี้ วิธีสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี ล้วนเป็นการอบรมจิตให้เปลี่ยนลักษณะไปอยู่ในลักษณะใหม่ คือ กิเลสเกิดไม่ได้ ผู้มองเห็นความจริงอันนี้ย่อมมีความรู้สึกปรารถนาที่จะอบรมจิต การที่พวกเราไม่ปรารถนาจะอบรมจิตก็เพราะว่าไม่เข้าใจความข้อนี้ ก็เป็นเหตุให้ไม่รู้จักจิตที่อบรมดี เป็นประภัสสรโดยเด็ดขาด กล่าวคือจิตของพระอรหันต์นั่นเอง จิตที่ไม่ได้รับการอบรมดีถึงที่สุดก็เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส กิเลสยังเกิดขึ้นในจิตนั้น ดังนั้นจิตนั้นจึงเห็นสิ่งทั้งปวงตามอำนาจของกิเลส ความเป็นประภัสสรไม่อาจจะต่อสู้การเกิดขึ้นของกิเลส มีอารมณ์ใดๆ เข้ามากระทบจิตก็ไม่อาจจะคงความเป็นประภัสสรไว้ ถูกปรุงแต่งให้เกิดเป็นอุปาทานขันธ์ไปเสียหมด ขอให้นึกดูว่าเมื่อมีรูปมากระทบตาเป็นต้น ทำให้เกิดวิญญาณ ทำให้เกิดผัสสะ ทำให้เกิดเวทนา แล้วความที่มันไม่อาจจะต่อสู้อำนาจของอารมณ์ อวิชชาก็ถือโอกาสเข้าปรุงแต่งผัสสะหรือเวทนา กลายเป็นผัสสะแห่งอวิชชา มีเวทนาแห่งอวิชชา ก็มีสัญญามีสังขารแห่งอวิชชา ความเป็นประภัสสรโดยธรรมชาติมันต่อสู้อารมณ์ไม่ได้ จึงไม่อาจจะเป็นที่พึ่งได้ จึงต้องอบรมจิตให้มีความเป็นประภัสสรที่ทนทานต่ออารมณ์ อารมณ์จะมาครอบงำเปลี่ยนจิตประภัสสรให้เป็นจิตเศร้าหมองไม่ได้ นี่คือความต่างกันระหว่างจิตของบุคคลธรรมดาสามัญกับจิตของพระอรหันต์ สรุปความสั้นๆ ว่าความเป็นประภัสสรแห่งจิตของปุถุชนนั้นอ่อนปวกเปียกอ่อนแอมากเกินไป รับอารมณ์แล้วก็ต่อสู้ไม่ได้ คือว่าไม่ได้อบรมไว้สำหรับให้มีสติทันท่วงที ไม่ได้อบรมไว้สำหรับจะมีปัญญาทันท่วงที อวิชชาจึงเกิดขึ้นจนความเป็นประภัสสรนั้นสูญเสียไป ความเป็นประภัสสรนั้นคือเรืองแสง ในบาลีใช้คำๆ นี้ในความหมายธรรมดาที่สุด มีบาลีที่กล่าวถึงโลหะ เช่น เหล็ก เป็นต้น เผาให้ร้อน มันก็เกิดอาการแดงขึ้นมา นี่ประภัสสรเริ่มแรก เผาอีกจนมันเหลืองขึ้นมาก็เป็นประภัสสรถัดไป เผาอีกจนมีสีขาวลุกโพลง เป็นความเป็นประภัสสรของก้อนโลหะนั้นถึงที่สุด นี่เรียกว่าเรืองแสง เพราะว่าไม่มีความมืดเข้ามาครอบงำ จิตนี้ได้รับการอบรมโดยสมถวิปัสสนา ก็มีความเป็นประภัสสรคือเรืองแสงมากขึ้นๆ เมื่อได้ทำถึงที่สุดแล้ว ความเรืองแสงนั้นกลับจะดับมืดลงมาไม่ได้ ไม่เหมือนกับว่าก้อนโลหะเผาให้ลุกโพลงเรืองแสงแล้วพอปล่อยให้เย็น มันก็ไม่เรืองแสง หรือว่าเอาน้ำสาดเข้าไป มันก็หมดความเป็นประภัสสรคือมันกลับเป็นโลหะที่ดำเหมือนทีแรก การอบรมจิตโดยสมาธิและปัญญา หรือโดยสมถะและวิปัสสนานั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพของจิตให้มีความเป็นประภัสสรที่ถาวร ทนต่ออารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งสติ ไม่อาจจะเกิดอวิชชาหรือไม่ให้โอกาสแก่อวิชชาที่จะเข้ามาปรุงแต่งจิตนั้น ในขณะแห่งการรับอารมณ์ก็ดี ในขณะแห่งการเกิดวิญญาณก็ดี เกิดผัสสะก็ดี เกิดเวทนาก็ดี เกิดสัญญาก็ดี เกิดสังขารก็ดี เรื่องนี้ต้องดูจากของจริงคือดูที่จิตนั้นเอง พยายามศึกษาจิตนี้เป็นอย่างยิ่งจนมองเห็นความจริงหรือข้อเท็จจริงเหล่านี้โดยประจักษ์ จะอ่านหนังสือหรือจะจดจำถ้อยคำที่ผู้ใดกล่าวให้ฟังก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร มันต้องสนใจที่จะคอยดูจิต เข้าใจจิต รู้จักจิต รู้จักธรรมชาติของจิต รู้จักวิธีที่จะกระทำจิตให้ยิ่งขึ้นไป ให้สูงขึ้นไป
ในบทที่เรียกว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค การประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง ซึ่งเป็นหลักธรรมะข้อหนึ่งในโอวาทปาฏิโมกข์ หลักปฏิบัติ คือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจด ที่ว่าทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดนั้นคือหมดจดจากความยึดถือ ด้วยการทำจิตให้ยิ่งในลักษณะที่คงไว้ซึ่งความเป็นประภัสสรได้เป็นการถาวร โอวาทปาฏิโมกข์ตอนต้นบอกถึงวัตถุประสงค์ คือไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้หมดจด โอวาทปาฏิโมกข์ตอนท้ายพูดถึงวิธีกระทำให้เป็นเช่นนั้น คือให้เป็นอยู่ด้วย อนูปวาโท อนูปฆาโต ไม่กล่าวร้าย ไม่พูดร้าย ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร สำรวมในระเบียบวินัยเป็นอย่างดี มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้ประมาณในการบริโภค ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อยู่ในที่อันสงัด อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในการทำจิตให้ยิ่ง ก็คืออบรมจิตให้มีความประภัสสรที่ตายตัวดังกล่าวแล้วนั่นเอง จะต้องเป็นผู้มีความถูกต้องในการพูดจา เรียกว่า อนูปวาโท ไม่กล่าวร้าย จะต้องมีความถูกต้องในการกระทำ เรียกว่าอนูปฆาโต ไม่ทำการเบียดเบียนกำจัดผู้ใด ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร สำรวมอย่างดีในปาฏิโมกข์คือระเบียบวินัยอันจะพึงยึดถือและปฏิบัติ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค นี่หมายความว่าควบคุมความอยากในทางฝ่ายร่างกายคืออาหารการกิน ถ้าทำผิดในเรื่องนี้ เรื่องอื่นๆ ก็จะพลอยล้มเหลว ฉะนั้นจึงมีความสำคัญไม่น้อยเลยที่จะรู้ประมาณในการบริโภค เดี๋ยวนี้คนในโลกไม่รู้จักประมาณในการบริโภค หลงใหลแต่ในเรื่องเฟ้อเรื่องเกิน ก็เกิดกิเลสขึ้นมาเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ดังนั้นควรจะถือเป็นสิ่งสำคัญข้อหนึ่งที่ว่าจะรู้ประมาณในการบริโภค การอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัดนั้น มันช่วยได้มากกว่าที่จะอยู่ในที่อันอัดแอหรือจอแจหรือรบกวน ท่านลองสังเกตดูเองเถิดว่าจะคิดนึกอะไรหรือแม้แต่จะอ่านหนังสือให้รู้เรื่อง เพราะในที่อันสงบสงัดทำได้ดี อ่านได้ดี คิดนึกได้ดี ดีกว่าในที่ที่รบกวน การแสวงหาที่อันสงัดอยู่นี้ ย่อมง่ายในการที่จะอบรมจิต ได้โอกาสแล้วก็อบรมจิตที่เรียกว่าอธิจิต คือจิตที่มันยิ่งไปกว่าธรรมดา ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนามีอยู่อย่างไรก็กระทำไป อบรมจิตนั้นจนเป็นจิตประภัสสรอันตายตัว ไม่เป็นที่เกิดแห่งกิเลสอีกต่อไป ถ้าจะพูดก็จะพูดได้ว่ามันต่างกันตรงนี้นิดเดียว จิตประภัสสรของปุถุชนมันยังเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส จิตประภัสสรของพระอรหันต์ไม่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอีกต่อไป มันต่างกันนิดเดียวอย่างนี้ แต่มันเป็นการต่างกันอย่างใหญ่หลวง เราจะมองดูว่ามันต่างกันนิดเดียวก็ได้ เพราะมันก็มีความเป็นประภัสสรมาด้วยกันในธรรมชาติแห่งจิต ทีนี้จิตที่ไม่ได้รับการอบรมมันเป็นประภัสสรที่อ่อนแอ กิเลสมันก็เกิดได้โดยง่าย จิตที่ได้รับการอบรมมันเป็นประภัสสรที่เข้มแข็ง เหมือนกับว่าไม่มีอะไรมาทำให้มันดับลงไปได้ให้มันกลับหมดแสงลงไปได้ นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระอรหันต์อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน พระอรหันต์เป็นผู้มีจิตเป็นประภัสสรอันเด็ดขาด เราเป็นผู้มีจิตประภัสสรล่อๆหลุบๆ ไม่แน่นอนไม่ตายตัว แต่มันก็ยังดีอยู่มากที่ว่าขึ้นชื่อว่าจิตแล้ว โดยธรรมชาติเดิมแท้ของมันแล้ว ย่อมมีความเป็นประภัสสร ถ้าว่าจิตไม่มีลักษณะแห่งความเป็นประภัสสรแล้ว เราก็ไม่มีทางจะทำให้จิตนี้เป็นจิตที่หลุดพ้นได้ ฉะนั้นความเป็นธรรมชาติประภัสสรนั้นแหละเป็นเครื่องช่วยอย่างยิ่ง เป็นธรรมชาติมีประจำอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าจิต มันจึงให้โอกาสแก่เราที่จะอบรมจิตนั้นให้มีความเป็นประภัสสรเช่นนั้นอย่างตายตัว เรียกว่ามันไม่ยากลำบากร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าธรรมชาติมันก็เป็นประภัสสรอยู่แล้ว มันเหลืออยู่บ้างที่จะต้องอบรมให้ความเป็นประภัสสรนั้นตายตัว จึงหวังว่าท่านพุทธบริษัททั้งหลายจะได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ มีความกล้าหาญ มีความประสงค์ที่จะอบรมจิตโดยไม่เห็นเสียว่าเป็นสิ่งเหลือวิสัย หรือเห็นเสียว่ามันไม่จำเป็นอะไร สู้ปล่อยไปตามเรื่องไม่ได้ กิเลสมันก็เป็นเรื่องสนุกอยู่มาก คนจึงไม่อยากจะอบรมจิตให้ปราศจากกิเลส เพราะกิเลสนั้นมันมีอัสสาทะคือมีรสอร่อย คนจึงยากที่จะเกลียดกิเลสหรือตั้งใจที่จะกำจัดกิเลส จึงยากที่จะเป็นพระอรหันต์ เรื่องของพระอรหันต์จึงไม่เป็นที่สนใจแก่บุคคลที่ยังมีความรักอาลัยในสิ่งที่เรียกว่ากิเลส เขายังพอใจในรสอร่อยหรืออัสสาทะของสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลส เขาจะมีความคิดไหนมาคิดเพื่อจะกำจัดกิเลส เขาจึงต้องสมรสกับกิเลสอยู่ต่อไปอย่างไม่รู้จักจะหย่าขาดกันเสียเลย
เมื่อวันนี้เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ อาตมาคิดว่าเรื่องอย่างนี้แหละควรจะเอามาพูดกัน เพื่อเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์และจะสะดวกแก่การตามรอยพระอรหันต์ ขอให้ท่านทั้งหลายฟังดูให้ดี พินิจพิจารณาให้เข้าใจแล้วไปพยายามกระทำให้เป็นประโยชน์แก่ตนตามที่มันจะมีได้ ขอให้สนใจอบรมจิตให้เป็นจิตอันยิ่ง แล้วปัญหาต่างๆ มันก็จะคลี่คลายออกไป พระอรหันต์ท่านเห็นเบญจขันธ์โดยความเป็นประการอย่างอื่นจากที่เราเห็นกัน ปุถุชนคนธรรมดาเห็นขันธ์แต่ละขันธ์เป็นอย่างไร พระอรหันต์ท่านย่อมเห็นขันธ์แต่ละขันธ์โดยประการอื่น โดยความเป็นอย่างอื่นจากที่ปุถุชนเห็น ปุถุชนจะเห็นขันธ์แต่ละขันธ์โดยความเป็นของเที่ยง นั่นมันเป็นเรื่องโง่เขลาถึงที่สุดแล้ว ยึดถือขันธ์โดยความเป็นตัวตนหรือของตน แล้วก็เห็นขันธ์โดยความเป็นของเที่ยงคือเป็นนิจจัง เป็นของเที่ยงแท้ จึงได้หลงรักด้วยความหวังว่าขันธ์นั้นจะเป็นอยู่เช่นนั้นกับเรา ขันธ์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงไปโดยประการอื่นแก่เรา ปุถุชนจึงเห็นขันธ์โดยความเป็นของเที่ยง แต่พระอรหันต์ย่อมเห็นขันธ์โดยความเป็นประการอื่นจากนั้น คือจะเห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อเราเห็นโดยความเป็นของเที่ยง พระอรหันต์เห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง มันก็ต่างกันอย่างนี้ นี่เรียกว่าในหมวดอนิจจัง เห็นต่างกันอย่างนี้
ทีนี้ก็มาถึงหมวดทุกขัง เราก็เห็นโดยความเป็นสุข มีเสน่ห์ มีอัสสาทะในขันธ์แต่ละขันธ์ เราจึงรักขันธ์แต่ละขันธ์ รักรูปขันธ์ เช่น ลูกตาของเราที่มีประสาทตา หูของเราซึ่งมีประสาทหู จมูกของเราซึ่งมีประสาทจมูก ลิ้นของเราซึ่งมีประสาทลิ้น เป็นต้นนี้ ว่าเป็นสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ เพราะให้ความสนุกสนาน สบาย เอร็ดอร่อยแก่เรา ไม่เห็นว่าเป็นของน่าเกลียดตามความหมายของคำว่าทุกขัง เพราะว่าทุกขังในความหมายที่กว้างที่สุดนั้นแปลว่าน่าเกลียด ที่แปลว่าทนยากลำบากนั้น มันหมายถึงขันธ์ที่มีความรู้สึกหรือยึดมั่นถือมั่นได้ แต่ถ้ารูปขันธ์ที่ไม่มีชีวิตวิญญาณ ไม่มีความรู้สึก มันก็ไม่มีอาการที่ว่าทนทรมาน แต่มันมีอาการที่เรียกว่ามันน่าเกลียด ดูเข้าแล้วมันน่าเกลียด เพราะมันเปลี่ยนแปลง เพราะมันเป็นมายา ทีนี้รูปขันธ์ก็น่าเกลียด เวทนาขันธ์ก็น่าเกลียด สัญญาขันธ์ก็น่าเกลียด สังขารขันธ์ก็น่าเกลียด เพราะมันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลง มันหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา พระอรหันต์จึงเห็นขันธ์โดยความเป็นของน่าเกลียด เมื่อเราปุถุชนเห็นขันธ์โดยความเป็นของน่ารัก ลักษณะต่อไปเราจะเห็นขันธ์ว่าเป็นของอบอุ่น สนุกสนาน สะดวกสบาย แต่พระอรหันต์ท่านเห็นโดยความเป็นโรค คำว่าโรคนี้แปลว่าเสียบแทงเหมือนกับของแหลมหรือของมีคมมันบาดมันแทง ขันธ์ทั้งหลายมีลักษณะอาการเป็นของเสียบแทง แต่เราไม่เห็นเช่นนั้น เราเห็นเป็นของที่น่ารักน่าพอใจ เป็นของอบอุ่นไม่ใช่เสียบแทง เป็นของให้ความสบายไม่ใช่เสียบแทง นี่ก็เห็นตรงกันข้ามจากที่พระอรหันต์ท่านเห็น เห็นโดยความเป็นของเสียบแทง เรียกว่าเห็นเป็นโรค ลักษณะถัดไป พระอรหันต์ย่อมเห็นขันธ์โดยความเป็นหัวฝีที่กลัดหนอง คนที่เคยเป็นฝีกำลังกลัดหนองมีความรู้สึกอย่างไร พระอรหันต์จะเห็นขันธ์ทั้งหลายเป็นเหมือนกับหัวฝีที่กำลังกลัดหนอง นี่ไม่ใช้คำว่าโรคคือไม่ได้เสียบแทงอย่างของมีคม แต่มันให้ความเจ็บปวดเหมือนหัวฝีที่กลัดหนอง ไปทำความเข้าใจเอาเอง พระอรหันต์มองเห็น แต่เราไม่มองเห็นเพราะมันเป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณที่มันละเอียดประณีตลึกซึ้ง เรามองไม่เห็น ลักษณะถัดไป พระอรหันต์มองเห็นขันธ์โดยความเป็นลูกศร คำว่าสัลละนี้ แปลว่าลูกศรก็ได้ แปลว่าหอกก็ได้ คือเป็นของที่บาง แหลม คม เป็นอันตราย เสียบแทงเอา ท่านเห็นขันธ์โดยความเป็นลูกศรคือพร้อมที่จะแทงอยู่เสมอ ปุถุชนไม่รู้สึกอย่างนั้น ลักษณะถัดไป ท่านเห็นขันธ์โดยความเป็นของกระทบกระทั่งสับโขกอยู่เสมอ อาการกระทบกระทั่งสับโขกเหมือนกับสับเขียง อย่างนี้มีอยู่ในขันธ์ ปุถุชนไม่มองเห็น ก็เห็นเป็นของน่ารักน่าพอใจ พระอรหันต์ท่านเห็นโดยความเป็นของกระทบกระทั่งสับโขกกันอยู่เสมอ ลักษณะถัดไป เรียกว่าอาพาธคือเจ็บไข้ ท่านเห็นขันธ์ทั้งหลายโดยความเป็นอาพาธคือความเจ็บไข้อยู่ตลอดเวลา ปุถุชนเห็นเป็นของสนุกสนานเอร็ดอร่อย เป็นที่น่ารักน่าพอใจ ไม่ใช่เหมือนกับโรคภัยคืออาพาธนั้น จึงเกิดความรักความยึดถือความหลงใหลในขันธ์ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับว่าเป็นอาพาธหรือเป็นความเจ็บไข้อยู่เสมอ ลักษณะถัดไป เรียกว่าเป็นปรปักษ์ ขันธ์ทั้งหลายมีลักษณะเป็นปรปักษ์ คือฝ่ายตรงข้ามหรือเป็นศัตรู ไม่มีความหมายแห่งตัวตนหรือของตน มีลักษณะที่แยกออกไปเป็นปรปักษ์ คือเป็นฝ่ายข้าศึกเป็นฝ่ายที่ตรงกันข้าม ปุถุชนเห็นขันธ์โดยความเป็นตัวตนเป็นของของตน ไม่อาจจะเห็นโดยความเป็นปรปักษ์ พระอรหันต์เห็นโดยความเป็นปรปักษ์ มันจึงตรงกันข้ามอย่างนี้ ลักษณะถัดไป เป็นความแตกทำลาย เมื่อของแตกง่ายแตกทำลาย เช่นฟองน้ำเกิดขึ้นเพราะความกระเทือน เมื่อมีเม็ดฝนหล่นลงมาที่ผิวน้ำ ก็เกิดเป็นฟองน้ำแล้วก็แตกทำลาย ขันธ์ทั้งหลายปรากฏแก่พระอรหันต์ในลักษณะอย่างนั้น คือเห็นว่าเกิดขึ้นแล้วแตกทำลาย เกิดขึ้นแล้วแตกทำลายเหมือนกับฟองน้ำที่ผิวน้ำทั่วๆ ไป ปุถุชนคนไหนมองเห็นอย่างนี้บ้าง ปุถุชนได้หลงรัก ยึดถือขันธ์โดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนอยู่เป็นปกติ จึงเห็นขันธ์ทั้งหลายแตกต่างจากที่พระอรหันต์ท่านเห็น นี่เรียกว่าหมวดทุกขัง ก็เห็นแตกต่างกันอยู่เป็นสองฝ่ายอย่างนี้
ทีนี้ในหมวดอนัตตา พระอรหันต์เห็นขันธ์ทั้งหลายโดยความเป็นของว่าง ว่างจากสาระหรือความเข้มแข็ง ตั้งมั่น เรามองเห็นโดยความเป็นตัวตนอันเข้มแข็งอันตั้งมั่น พระอรหันต์เห็นโดยความเป็นของว่าง นี่ก็อย่างหนึ่ง เราเห็นโดยความเป็นตัวตน แต่พระอรหันต์เห็นโดยความเป็นอนัตตาคือไม่ใช่ตัวตน มันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งหรือเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หาความเป็นตัวตนก็ไม่ได้ หาความเป็นของๆ ตน แม้ของมันเองก็ไม่ได้ คือมันจะเป็นตัวตนของมันเองก็ไม่ได้ มันจะเป็นของๆ ตนของมันเองก็ไม่ได้ นี้เรียกว่ามันเป็นอนัตตา พระอรหันต์ย่อมเห็นขันธ์ทั้งหลายโดยความเป็นอนัตตาอย่างนี้ นี่แหละตัวอย่างที่ท่านยกมาแสดงไว้ให้เห็นว่าพระอรหันต์เห็นขันธ์ทั้งหลายโดยประการอื่นจากที่ปุถุชนคนธรรมดาเห็น พูดได้ง่ายๆ ว่ามันเห็นตรงกันข้ามไปเสียหมด เห็นโดยประการอื่นนี้คือเห็นโดยความเป็นของตรงกันข้าม ไปสังเกตศึกษาดูให้ดีว่าเรากำลังเห็นขันธ์แต่ละขันธ์ในลักษณะอย่างไร ที่เป็นขันธ์ภายในก็ควรจะเห็นได้ชัด ที่เป็นขันธ์ภายนอกคือขันธ์ของคนที่เรารัก เราพอใจ เช่นลูกของเรา บุตรภรรยาสามีของเรา แต่ละขันธ์ๆ ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เรียกว่าขันธ์ภายนอกก็ดี ขันธ์ภายในก็ดี ควรจะเห็นในทำนองที่พระอรหันต์ท่านเห็น คือเห็นโดยประการอื่นจากที่ปุถุชนคนธรรมดาเห็น ครั้นเห็นอย่างนี้แล้วก็เห็นความไม่เที่ยง เห็นความเป็นทุกข์ เห็นความเป็นอนัตตาของขันธ์ทั้งปวงโดยแท้จริง อันนี้เป็นปัญญาเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง สตินำปัญญานี้มาทันเวลาที่จะเกิดขันธ์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งขึ้นมา ก่อนที่จะเกิดรูปขันธ์ วิญญาณขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งนั้น สติ มันขนเอาปัญญาที่รู้เห็นตามที่เป็นจริงในขันธ์นั้นๆ มาทันเวลาในขณะที่ประสบอารมณ์ทางตาทางหู เป็นต้น มันก็เลยไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ภายในหรือเป็นขันธ์ภายนอก
นี่ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า พระอรหันต์ย่อมเห็นขันธ์โดยความเป็นประการอื่นจากที่ปุถุชนเห็น พระอรหันต์เห็นเป็นอนิจฺจโต โดยความเป็นของไม่เที่ยง ทุกฺขโต โดยความเป็นทุกข์ โรคโต โดยความเป็นโรค คณฺฑโต โดยความเป็นหัวฝีที่กลัดหนอง สลฺลโต โดยความเป็นลูกศร อฆโต โดยความเป็นของกระทบกระทั่งสับโขกกันอยู่ตลอดเวลา อาพาธโต เป็นอาพาธเจ็บไข้อยู่ตลอดเวลา ปรโต เป็นปรปักษ์เป็นข้าศึกกันอยู่ตลอดเวลา ปโลกโต เป็นของแตกแล้วแตกเล่าอยู่ตลอดเวลา สุญฺญโต เป็นของว่างจากความหมายที่จะยึดถือได้โดยประการใดๆ อนตฺตโต โดยความเป็นอนัตตาคือไม่เป็นอัตตาได้แต่อย่างใด นี่คือลักษณะที่พระอรหันต์เห็นขันธ์ทั้งหลาย หรือสังขารทั้งหลาย สังขารขันธ์ทั้งหลายโดยความเป็นประการอื่นจากที่ปุถุชนคนธรรมดาเห็น พระบาลีบางแห่งแสดงความตอนข้อไว้ว่า ผู้ใดเห็นขันธ์โดยประการต่างๆ อย่างนี้แล้ว ปุถุชนนั้นจะเลื่อนมาสู่ความเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันเห็นลักษณะ ๑๐ ประการนี้ยิ่งขึ้นไป ก็จะเลื่อนขึ้นไปสู่ความเป็นพระสกิทาคามี พระสกิทาคามีเห็นลักษณะ ๑๐ ประการนี้ยิ่งขึ้นไป ก็จะเลื่อนขึ้นเป็นพระอนาคามี พระอนาคามีเห็นลักษณะ ๑๐ ประการนี้ยิ่งขึ้นไป ก็จะเลื่อนขึ้นไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์เมื่อมีการเห็นลักษณะ ๑๐ ประการนี้อยู่ ก็จะเสวยสุขอันเกิดจากความสงบรำงับ ไม่มีอะไรกระทบกระทั่ง มีความสงบเย็นเป็นนิพพาน ฟังดูก็แปลกที่ว่าเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังจะดูลักษณะ ๑๐ ประการนี้ในขันธ์ในสังขารทั่วๆ ไปอยู่ แล้วก็ยังได้รับประโยชน์คือเป็นความสุขชนิดหนึ่งของพระอรหันต์ซึ่งคนธรรมดาก็สั่นหัวไม่รู้สึกว่าจะเป็นสุขได้อย่างไร ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอิดหนาระอาใจ น่ารำคาญไปเสียทั้งนั้น มันจะเป็นบ้าตาย แต่พระอรหันต์เมื่อท่านมองซ้ำลงในลักษณะ ๑๐ ประการนี้ ท่านก็เห็นเป็นความสงบเย็น หรือหยุด เย็นลงไปทีเดียว ขอให้สนใจลักษณะดังที่ท่านแสดงไว้ที่พระอรหันต์จะเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นประการอื่นจากที่ปุถุชนคนธรรมดาเห็น เราเอาเรื่องนี้มาพูดกันในวันนี้เพราะเป็นวันพระอรหันต์ เป็นวันที่ระลึกแก่พระอรหันต์ เป็นวันที่เราจะต้องศึกษาพระอรหันต์ เข้าใจแล้วจักได้เดินตามรอยพระอรหันต์ ความเป็นพระอรหันต์ก็จะเกิดขึ้นและมีประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่จมอยู่ในกองทุกข์ วันมาฆบูชาเป็นวันที่เราจะต้องจัดต้องทำให้เข้าใจความเป็นพระอรหันต์ยิ่งขึ้น ให้มีความสว่างไสวแห่งความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวของพระอรหันต์ หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้ถือเอาประโยชน์อันนี้ให้ได้ตามสมควรในวันเช่นวันนี้ อันเป็นวันซึ่งกำหนดไว้ว่าเป็นวันพระอรหันต์และเป็นที่ระลึกแก่พระอรหันต์ อาตมาได้ยกเอาเรื่องราวของพระอรหันต์เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องมาแสดงแก่ท่านทั้งหลายทุกคราวที่มีการทำพิธีมาฆบูชา เป็นอย่างนี้หลายปีมาแล้ว ขอให้ไปอ่านหนังสือหรือเปิดเทปบันทึกเสียงฟังดูว่าในวันมาฆบูชาเราได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระอรหันต์กันทุกปี วันนี้ก็กำลังทำอย่างนั้น โดยเห็นว่าไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ ไม่มีอะไรที่จะคุ้มค่า การมาของท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ด้วยความยากลำบากและหมดเปลือง เดี๋ยวนี้ทำไมจึงมาทนง่วงนอนเพื่อจะพูดกันถึงเรื่องพระอรหันต์ คนที่ฟังไม่รู้เรื่องก็คงง่วงนอนและทนไม่ได้แล้วก็หลับไปแล้ว แต่คนที่เข้าใจเรื่องพระอรหันต์ก็คงจะไม่ง่วง คงจะมีตาเบิกโพลง สนใจอยากจะรู้เข้าใจในเรื่องของพระอรหันต์ ถ้าเป็นได้อย่างนี้ก็เป็นที่น่าพอใจ ก็ไม่เสียทีที่เราได้ทำพิธีบูชาคุณของพระอรหันต์ด้วยความเสียสละ อดกลั้นอดทนในการทนกันอยู่ได้จนถึงเวลานี้ อาตมาเห็นว่าการบรรยายลักษณะของพระอรหันต์ให้เป็นที่เข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไปนี้เป็นสิ่งที่ควรทำในวันมาฆบูชา ขอให้เก็บใจความดังที่ได้พรรณนามานี้ให้ได้ไปเป็นบทสำหรับศึกษาให้รู้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สรุปความว่า สุขิโน วต อรหนฺโต พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้มีความสงบสุข ตณฺหา เตสํ น วิชฺชติ ตัณหาของท่านไม่มี อสฺมิมาโน สมุจฺฉินฺโน อัสมิมานะว่าตัวกูว่าของกูนั้นท่านถอนขึ้นจนหมดสิ้น โมหชาลํ ปทาลิตํ ตาข่ายแห่งโมหะนั้นท่านทำลายหรือฉีกทิ้งไปแล้วไม่มีส่วนเหลือ อเนชํ เต อนุปฺปตฺตา ท่านได้เข้าถึงแล้วซึ่งความไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจของกิเลสเป็นต้น จิตฺตํ เตสํ อนาวิลํ จิตของท่านไม่ขุ่นมัวเพราะว่ามีความเป็นประภัสสรอันถาวร ดังนั้นพระอรหันต์จึงมีขันธ์อันบริสุทธิ์ ไม่เป็นอุปาทานขันธ์ เป็นขันธ์เฉยๆ เป็นขันธ์เกลี้ยงๆ เกิดขึ้นตามธรรมชาติธรรมดาของสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือยังไม่ตาย ยังรับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจอยู่ ปรุงแต่งเป็นขันธ์อะไรขึ้นมา ก็มีสติคุ้มครองจิตด้วยปัญญาอันรู้เท่าทัน ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ ไม่มีความทุกข์ จึงกล่าวได้ว่าพระอรหันต์มีขันธสันดานอันบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา ปุถุชนมีขันธ์ที่ยึดถือด้วยอุปาทาน เป็นอุปาทานขันธ์ ไม่บริสุทธิ์และเป็นทุกข์อยู่มาก เป็นส่วนมาก พระอรหันต์ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ท่านไม่มีความรู้สึกทั้งสองฝ่าย คือไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ไม่มีธุระอะไรที่จะต้องไปรู้สึกว่าไม่มีตัวตน เช่นเดียวกับที่ว่าไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตน นี้เป็นความละเอียดของเรื่องอันเกี่ยวกับตัวตน ไม่มีความรู้สึกว่ามีหรือไม่มีผู้ที่ดีกว่าหรือเสมอกันหรือเลวกว่า รู้สึกว่าไม่มี ฉะนั้นมันก็เป็นความรู้สึกที่เกี่ยวกับตัวตนหรือเป็นความยึดถือที่เกี่ยวกับตัวตนอยู่ในใจ มันจึงได้รู้สึกว่ามีหรือไม่มี อย่าทำอวดดีกับความจริงข้อนี้แล้วพูดเอาง่ายๆ หวัดๆ ว่าไม่มี ความรู้สึกว่าไม่มี มันก็เป็นความโง่เท่าๆ กับความรู้สึกว่ามี สัญญามีความรู้สึกว่ามีหรือไม่มีกันเสียเลย นั่นแหละจึงจะเป็นจิตที่หลุดพ้นรอดออกไปได้จากความยึดถือ สำนวนพูดนี้มันลำบาก แต่ถ้าว่าศึกษากันเสียบ้าง ก็คงจะพูดได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ท่านไม่มีความรู้สึกว่ามีหรือไม่มีอันเกี่ยวกับตัวตน ท่านก็หลุดพ้นอย่างวิเศษจากความหมายแห่งตัวตน จิตของท่านเป็นประภัสสรตลอดกาลเพราะว่าอบรมถึงที่สุดแล้ว เสร็จการอบรมแล้ว เป็นจิตประภัสสรตลอดกาลได้ ท่านเห็นขันธ์ทั้งหลาย เห็นสังขารธรรมทั้งหลาย เห็นโลกทั้งปวงโดยประการอื่นจากที่ปุถุชนเห็น เรานั่นแหละเห็นโลกเป็นอย่างไร เห็นขันธ์เป็นอย่างไร กลับความหมายนั้นเสีย กลับหลังหันหรือกลับหัวลงเสีย ให้มันผิดไปจากที่เคยเห็นมาแต่ก่อน ก็จะได้เห็นโลกทั้งปวงนั้นโดยประการเดียวกันกับการที่พระอรหันต์ท่านเห็น จะได้ไม่ยึดถือในสิ่งใดโดยความเป็นตนหรือเป็นของของตน ที่เราชอบพูดกันว่าเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น มันเป็นการเห็นของพระอรหันต์ เราไม่เห็นอย่างนั้น เราเห็นเป็นของนิจจัง สุขัง อัตตา อยู่เป็นปกติ เมื่อรู้สึกตัวเรื่องนี้กันเสียบ้างแล้ว ต่อไปมันก็คงจะดีขึ้นเป็นแน่นอน คือจะค่อยๆ เขยิบใกล้พระนิพพานเข้าไปบ้าง พระนิพพานนั้น แปลว่าเย็น เย็นอกเย็นใจ ไม่ใช่ความตาย ไม่ต้องตายก็บรรลุนิพพานได้ แล้วก็อยู่กับพระนิพพานโดยที่ไม่ต้องตาย พระนิพพานนั้นเป็น สนฺทิฏฺฐิโก รู้สึกได้ด้วยใจของตนเอง ถ้าตายแล้วจะรู้สึกได้อย่างไร พระนิพพานนั้นมีชื่อเรียกว่า ทิฏฺฐธมฺมิกนิพฺพาน หรือ ทิฏฺฐธมฺมนิพฺพาน แปลว่านิพพานที่ตนเห็นอยู่ด้วยตนเอง ตายแล้วจะเห็นได้อย่างไร ทิฏฺฐธมฺมนิพฺพาน นั้น พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า เมื่อใดจิตไม่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน เมื่อนั้นบุคคลนั้นอยู่กับทิฏฐธรรมนิพพาน เราจะเอาเปรียบสักหน่อยก็ได้ว่า เมื่อใดไม่เกิดกิเลสไม่เกิดอุปาทานอยู่ในจิตแล้ว เมื่อนั้นเราอยู่กับทิฏฐธรรมนิพพาน เรียกตรงๆ ก็ได้ว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ที่เรารู้สึกอยู่ในจิตใจของเรา นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ที่เรารู้สึกอยู่ในจิตใจของเรา อาตมาพูดไปตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ก็ยังไม่พ้นที่จะถูกด่า คนที่กรุงเทพฯที่เขามีความรู้อย่างอื่น เขาก็ด่าอาตมาว่าพูดเอาเองว่านิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ตามที่เรารู้สึกอยู่ในใจ นี่อาตมาไม่ได้ว่าเอาเอง ว่าไปตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า เมื่อใดจิตไม่มีอุปาทาน เมื่อนั้นผู้นั้นอยู่กับทิฏฐธรรมนิพพาน ทีนี้มันยากที่ว่าจะไม่มีอุปาทาน เราจะต้องเก่งพอสมควรทีเดียว จึงจะมีจิตชนิดที่ว่างจากอุปาทาน เมื่อใดมีสิ่งน่ารักน่าพอใจปรากฏขึ้นทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางผิวหนังก็ดี เป็นอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอย่างยิ่ง แล้วมีสติทันแก่เวลา ไม่หลงรัก ไม่หลงพอใจในอารมณ์เหล่านั้น จิตนั้นก็ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ไม่ถูกกิเลสปรุงแต่ง ไม่ถูกกิเลสอาศัย ความที่จิตเป็นอิสระอย่างนั้นเรียกว่าไม่มีอุปาทาน ผู้ไม่มีอุปาทานเช่นนั้นเรียกว่าอยู่กับทิฏฐธรรมนิพพาน ซึ่งแปลว่านิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ที่กำลังรู้สึกอยู่ในจิตใจของเราเอง เป็น สนฺทิฏฺฐิโก ทีนี้คนพวกโน้น เขาสอนว่าต้องรออีกหลายร้อยชาติหลายพันชาติหลายหมื่นชาติ ตายแล้วจึงจะเข้าไปสู่นิพพาน เราฟังไม่ถูกว่าตายแล้วจึงจะเข้าไปสู่นิพพาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเมื่อใดจิตไม่มีอุปาทาน เมื่อนั้นผู้นั้นอยู่กับทิฏฐธรรมนิพพาน คือ นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ที่รู้สึกอยู่ในจิตใจของตนเอง นั่นแหละคือพระอรหันต์ พระอรหันต์มีจิตปราศจากอุปาทานตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพระอรหันต์จึงมีความรู้สึกอยู่หรือเป็นอยู่กับทิฏฐธรรมนิพพานตลอดเวลา จึงมีนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ปรากฏอยู่ในจิตของพระอรหันต์หรือบุคคลที่เราสมมุติเรียกกันว่าพระอรหันต์ หมายความว่านามรูปหรือเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นเอง ไม่ต้องมีตัวตนบุคคลที่ไหน ถ้านามรูปนี้ประกอบอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญาควบคุมตัวมันเองไม่ให้เกิดตัณหา ไม่ให้เกิดอวิชชา หรือตัณหาอุปาทานในการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสโผฏฐัพพะและรู้สึกในใจ ไม่มีอุปาทานเกิดขึ้นแม้ในขณะใด เบญจขันธ์นั้นเองแหละจะอยู่ด้วยความเย็น เป็นเบญจขันธ์ที่บริสุทธิ์ เราจะเรียกว่ามันเป็นนามรูปชุดหนึ่งที่ไม่มีความทุกข์เลย หรือจะเรียกว่าจิตนั้นอยู่ด้วยความหลุดพ้นไม่มีความทุกข์เลย แต่เราไม่ชอบพูดอย่างนั้น เราชอบพูดว่าคนนั้น แล้วก็ตั้งชื่อว่าเป็นพระอรหันต์เสียด้วย นี่ให้รู้ไว้เถอะว่ามันเป็นคำพูดสมมุติ ใช้สมมุติเรียกกันอย่างนั้น ตั้งชื่อให้ว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่เรียกชื่อว่าเบญจขันธ์อันบริสุทธิ์ อันเป็นไปอย่างไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทาน นั่นแหละเป็นเบญจขันธ์ที่ไม่มีความรู้สึกเป็นความทุกข์ เราปรับปรุงตัวเราซึ่งเป็นเพียงนามและรูปนี้ให้มันสามารถที่จะมีสติปัญญาอันสมบูรณ์ ไม่ให้เกิดอวิชชาตัณหาอุปาทานขึ้นมาได้ในขณะที่มีการรับอารมณ์ เรื่องมันก็จบ เมื่อไม่มีการรับอารมณ์ มีสติปัญญาเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดอวิชชาในการสัมผัสอารมณ์ และก็ป้องกันได้ มันจะไม่เกิดอวิชชาในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ในขันธ์ทั้งห้านั่นเอง เรื่องมันก็มีเท่านี้ ถ้าเราอย่าไปคิดเขลาๆ ว่าเราจะเป็นพระอรหันต์ เราจะเป็นพระโสดาบันเป็นต้น เรื่องมันจะง่ายเข้า ถ้าเราไปคิดว่าเราจะเป็นพระอรหันต์ให้ได้ หรือเราจะเป็นโสดาบันให้ได้ มันเป็นความคิดของอวิชชาคือความโง่ ซึ่งเป็นสมบัติของคนโง่ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระอริยบุคคลในระดับใด มันเป็นเบญจขันธ์ที่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานอยู่เสมอไปไม่มีว่างเว้น เลิกความหมายมั่นที่จะเป็นพระอรหันต์เสียเถิด จะเป็นพระอรหันต์ได้โดยอัตโนมัติ ไม่มีความหมายมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตนหรือของอะไร ให้มันเป็นเพียงเบญจขันธ์ล้วนๆ เกิดขึ้นอยู่และดับไปตามธรรมชาติเท่านั้นเอง เหลือนิดเดียว ให้เรื่องมันสั้นเข้ามานิดเดียว ว่าสามารถจะควบคุมการรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้อย่างเฉลียวฉลาดที่สุด ไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาในตอนไหน ในตอนที่เป็นขันธ์อะไรโดยประการทั้งปวง นี่แหละคือพระอรหันต์ซึ่งไม่อยากเป็น ซึ่งไม่ต้องอยากเป็น ยิ่งอยากเป็นยิ่งไม่ได้เป็น ยิ่งไม่อยากเป็นมันจะยิ่งเป็นได้ง่ายเข้า
อาตมา มาชวนท่านทั้งหลายมาพูดกันถึงเรื่องพระอรหันต์และจะตามรอยพระอรหันต์ ก็หมายความว่ามาชวนกันไม่อยากเป็นพระอรหันต์หรืออยากเป็นอะไร นั่นแหละจะเป็นการตามรอยพระอรหันต์ จงเห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของตรงกันข้ามจากที่เราปุถุชนเคยเห็นมาแล้วในกาลก่อน นั่นแหละมันจะง่ายเข้า มันจะเป็นทางลัดสั้นที่สุดสำหรับพุทธบริษัทจะดำเนินไปสู่พระนิพพาน พูดอย่างนี้ก็เหมือนกับว่ามันอยู่คนละแห่ง จะต้องไป จะต้องไปหา จะต้องเข้าสู่ นั้นเป็นคำพูดชาวบ้าน พูดภาษาชาวบ้าน พูดเรียกว่าภาษาคน ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมก็คือระวังจิตอย่างถูกต้องด้วยดีอยู่ตลอดเวลา ไม่เกิดอวิชชาตัณหาอุปาทานใดๆ แม้ไม่ตั้งใจมันก็เป็นพระอรหันต์เอง เรื่องมันก็แปลกอยู่ ยิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้ ยิ่งรีบเดินยิ่งไม่ถึง เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจแล้วกระทำให้มันดับไปแห่งความรู้สึกว่าตัวตนว่าของตน ดับอวิชชา ดับตัณหา ดับอุปาทาน อยู่ที่ตรงนี้ไม่ต้องไปไหน ก็จะเกิดการบรรลุถึงพระนิพพานขึ้นมาโดยไม่ต้องไป ช่วยจำไว้สักหน่อยหนึ่งว่าพระนิพพานนั้นถึงได้โดยไม่ต้องไป พระอรหันต์นั้นเป็นขึ้นมาเองได้โดยที่ไม่ต้องอยากเป็น ถ้าว่าไม่มีสติปัญญามากพอที่จะศึกษาเรื่องราวตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์แล้ว ก็ขอให้ศึกษาไว้สักหน่อยหนึ่งว่า พระนิพพานนั้นถึงได้โดยไม่ต้องไป และจะเป็นพระนิพพานอยู่ในความรู้สึกแห่งจิตใจที่นี่และเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์นั้นเป็นได้โดยที่ไม่ต้องอยากเป็น ยิ่งอยากเป็นยิ่งไม่ได้เป็น เพราะมันเป็นความอยากของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เราเอาเรื่องของพระอรหันต์มาพูดกันโดยพยายามให้ละเอียดพิสดาร ก็เพื่อจะให้เห็นว่าพระอรหันต์นี้เป็นได้โดยไม่ต้องอยากเป็น ยิ่งอยากเป็นยิ่งไม่ได้เป็น จงระวังในความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ซึ่งเป็นตัณหาที่ ๒ เรียกว่า ภวตัณหา แล้วก็ไม่อยาก อยากที่จะไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่นอยากไม่เป็นนี่ ให้มันตรงกันข้าม เพราะว่าเห็นว่ามันไม่มีอะไรที่ควรจะเป็น เมื่อเห็นว่าไม่น่าเป็น เป็นไม่ได้ เป็นแล้วก็เป็นทุกข์ มันก็ไม่อยากเป็นขึ้นมาเอง นี่ก็เรียกว่าความหลุดพ้น ถ้าอยากเป็นหรืออยากที่ตรงกันข้ามด้วยความหมายแห่งตัวตน ว่าตนอยากเป็น ตนไม่อยากเป็น มีตัวตนสำหรับจะอยาก สำหรับจะเป็นหรือสำหรับจะไม่เป็นแล้ว มันก็ไม่หลุดพ้น เพราะมันอยู่ในบ่วงของความอยาก ฉะนั้นถ้าจะอยากจะหลุดพ้นหลุดรอดออกไปได้ ก็หยุดอยากเสีย คือไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน ซึ่งมันจะเป็นไปได้เพราะว่ามีวิชชา อบรมวิชชาให้เกิดขึ้น ให้เห็น ให้รู้ ให้แจ่มแจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่ามันไม่มีความเป็นตัวตน ไม่ควรที่จะมีบุคคลที่จะอยากอย่างนั้นอย่างนี้ให้มันเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าเราเกิดเป็นตัวตน อยากอย่างนั้นอยากอย่างนี้ขึ้นมา มันก็เป็นความทุกข์ มันจะไม่เป็นไปได้ตามที่มันอยากเพราะว่ามันไม่มีตัวตน
ฉะนั้นเรื่องนี้มันก็สรุปความได้ว่า เห็นชัดตามที่เป็นจริงว่าไม่มีอะไรที่น่าอยากเอาหรือน่าจะอยากเป็น ไม่อยากเอาไม่อยากเป็น อยู่ด้วยความเฉย ไม่ต้องเดือดร้อนวุ่นวายด้วยการที่มันต้องเป็นหรือต้องกระทบกระทั่ง ถ้ามันมากระทบกระทั่งก็ให้มันว่างไป โดยเห็นเป็นของว่างจากตัวตน ไม่ต้องมีอะไรกระทบอะไร อย่างนี้เรียกว่าหลุดพ้น เรียกว่าผู้หลุดพ้น ไม่มีอะไรที่จับตัวเอาไว้ได้ ไม่มีอะไรครอบงำ หุ้มห่อ ผูกมัดรัดรึงได้ เรียกว่าผู้หลุดพ้น คือเป็นพระอรหันต์นั่นเอง อาตมาเห็นว่าการบรรยายนี้สมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติธรรมเทศนานี้โดยความหวังว่าท่านคงจะได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับพระอรหันต์มากยิ่งขึ้นไปกว่าปีที่แล้วมา แล้วก็จะได้ควบคุมจิตใจหรือว่าดำเนินจิตใจที่เรียกว่านามรูปนี้ ให้ตั้งอยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง ไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดการปรุงแต่งวนเวียนอยู่ในความทุกข์ในนามรูปนี้ ก็จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ (จบไฟล์)