แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...มัชฌิมาปฏิปทา อาตัปปกถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาเป็นปุพพาปรลำดับสืบต่อจากธรรมเทศนาในตอนต้นแห่งราตรี เป็นที่รู้กันเป็นอย่างดีแล้วว่าได้กล่าวถึงเรื่องอริยอัฏฐังคิกมรรค ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่ามัชฌิมาปฏิปทา เป็นสิ่งที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้โปรดประทานแก่โลกในวันเช่นวันนี้ ซึ่งเรียกว่าวันอาสาฬหปุณณมี เป็นอันว่าวันนี้เราก็พูดกันด้วยเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา มีการแสดงธรรมเทศนาถึงสามครั้งด้วยเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว ให้สมกับที่วันนี้เป็นวันอาสาฬหปุณณมี
ในตอนนี้จะได้กล่าวตามเค้าความในนิกเขปบทว่า อาตปฺปํ ความเพียร ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อันท่านทั้งหลายพึงกระทำ ตถาคตา พระตถาคตทั้งหลาย อกฺขาตาโร เป็นแต่ผู้บอก คือบอกทาง บอกหนทาง หมายความว่าการเดินนั้น เป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายต้องกระทำเอง พระพุทธเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง เมื่อถามขึ้นมาว่าทางอะไรกัน ก็คือ มัชฌิมาปฏิปทาที่เรียกว่าอริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นหนทางประกอบไปด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ ดำเนินไปโดยสายกลาง ในที่นี้หมายความว่าไม่เข้าไปติดอยู่ในส่วนไหน จึงได้ดำเนินไปได้ถึงปลายทาง ถ้าติดส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วมันก็เดินไปไม่ได้ เมื่อพูดว่าสายกลางก็หมายความว่าไม่ติดอยู่ในส่วนไหน จะไหลไปได้จนถึงปลายทาง หนทางนี้พระพุทธเจ้าทรงแนะ ทรงเปิดเผย จำแนกแจกแจงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทจะได้พากันเดิน
เดินให้ถูกทางสายกลาง หมายความว่าก่อนนี้มันเดินไม่ถูกทาง ชีวิตนี้เป็นการเดินทางอยู่ในตัวมันเอง ทีนี้มันเดินผิด มันก็เป็นชีวิตที่เร่าร้อนไม่เยือกเย็น ประสงค์จะให้เดินเสียให้ถูกทาง จะได้กลายเป็นชีวิตที่เยือกเย็น ชีวิตนี้เป็นการเดินทางอยู่ในตัวมันเองนั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า เมื่อทารกคลอดออกมาจากท้องแห่งมารดา มันก็เริ่มมีความรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางจิตใจ เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาไม่เป็นโอกาสที่จะมีความรู้สึกทางตา ทางหู เป็นต้น มันก็เหมือนกับว่าหยุดอยู่ ครั้นคลอดออกมาจากท้องมารดาแล้วมีการทำหน้าที่ คือรู้สึกได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ทารกนั้นเมื่อได้รับอารมณ์ใดเข้าแล้ว ก็ย่อมมีความรู้สึก คือรู้สึกในทางชอบใจเป็นสุขก็มี รู้สึกไปในทางตรงกันข้ามคือไม่เป็นสุขหรือไม่ชอบใจก็มี
ทีนี้ทารกนั้นไม่มีความรู้ ไม่เคยเรียนธรรมะ ไม่รู้เรื่องของธรรมะ มันจึงไม่สามารถจะควบคุมจิตใจให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง มันจึงต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ เมื่อทารกนั้นได้อารมณ์เป็นที่พอใจก็เกิดความรู้สึกรักและพอใจ มีความอยากที่จะให้คงไว้ จนกระทั่งความอยากนั้นเข้มข้นมากขึ้นก็เปลี่ยนรูปเป็นอุปาทานหมายมั่นเป็นตัวกูผู้อยาก ความอยากนั้นก็เพื่อจะเอามาเป็นของกู มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของกู ถ้าที่น่ารักน่าพอใจ มันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นไปในทางความโลภหรือความกำหนัดยินดี ถ้าไม่เป็นที่พอใจ มันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นไปในทางโทสะหรือโกธะ ถ้ามันไม่แน่ว่าอย่างไรแต่ยังเป็นที่น่าสนใจคือไม่สุขไม่ทุกข์ มันก็ยึดถือไว้โดยความเป็นของที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันก็คือความโง่หรือโมหะต่ออารมณ์นั้นเอง ไม่เท่าไหร่ ความรู้สึกในทางจิตใจของทารกนั้นก็สามารถที่จะมีได้ครบทุกทาง คือทางความโลภ ความกำหนัดยินดี อันนี้ก็พวกหนึ่ง ทางความโกรธ ประทุษร้ายไม่พอใจไม่ยินดี อันนี้ก็ทางหนึ่ง และที่ไม่แน่ว่าจะพอใจหรือไม่พอใจแต่ยังเป็นที่ข้องใจ มันก็สงสัยวิตกกังวลเป็นโมหะความหลงใหลประมาทมัวเมาอยู่ นี้ก็ทางหนึ่ง เป็นอันว่ามีความรู้สึกได้ครบทั้งสามทาง
นี่ชีวิตของทารกนั้นมันเดินดำเนินมาอย่างนี้ คือในหนทางที่ประกอบอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ตามที่จะมีอะไรมาสัมผัสและปรุงแต่งจิตใจให้เกิดขึ้น นี้เรียกว่าชีวิตมันเป็นการเดินทางอยู่ในตัว เพราะมันจะอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ มันรับอารมณ์ รับอารมณ์เสวยอารมณ์แล้วก็รู้สึกต่ออารมณ์ ความคิดนึกต่างๆ ก็เกิดขึ้น นี่แหละคือการที่จิตใจมันเดินทาง และมันเดินผิดหรือเดินถูกก็ดูเอาเอง มันเดินจนเกิดความโลภหรือความกำหนัดยินดี นี่มันก็ผิดอย่างหนึ่งแล้ว เดินจนเกิดโทสะหรือโกธะ นี้มันก็ผิดอย่างหนึ่งอีก จนเกิดโมหะปมาทะ นี้มันก็ผิดอีกอย่างหนึ่ง รวมเป็นสามอย่าง เรียกว่ามีกิเลสอยู่ ๓ ประเภทด้วยกัน
กิเลสประเภทที่ ๑ คือโลภะหรือราคะนั้น เป็นกิเลสประเภทที่จะเอาจะได้ จะเอามายึดครองไว้เป็นของตัว มันก็หลงรักยินดีทะนุถนอมหึงหวง ส่วนประเภทที่ ๒ นั้นเกิดโทสะเกิดโกธะ เป็นกิเลสประเภทที่จะผลักออกไป ไม่ต้องการหรือจะทำลายเสียให้ตาย นี้เรียกว่าเป็นกิเลสประเภทผลักออกไป ตรงกันข้ามกับกิเลสประเภทที่ ๑ ซึ่งจะเอาเข้ามา ทีนี้กิเลสประเภทที่ ๓ คือโมหะหรืออวิชชานี้มันไม่แน่ว่าจะเอาอย่างไร เพียงแต่สนใจยึดถือว่าจะเป็นสิ่งที่จะมีประโยชน์แก่ตน มันเป็นกิเลสประเภทที่วิ่งวนอยู่รอบๆ อารมณ์นั้น จะเอาก็ยังไม่ได้เอา จะทำลายก็ยังไม่ได้ทำลาย แต่เป็นที่ข้องติดอยู่ ขอให้เราสังเกตดูให้รู้ว่ากิเลสนี้มีอยู่ ๓ ประเภทอย่างนี้ ชีวิตมันเป็นการเดินทางอยู่ในตัวมันเอง ไม่ต้องมีใครมาสอนให้ ไม่ต้องมีใครมาบอกให้ ทารกนั้นมันก็รู้จักเกิดกิเลสได้ทั้งสามประเภท คือประเภทโลภะ ประเภทโทสะ ประเภทโมหะ นี้เรียกว่ามันเดินทางมามากแล้ว เดินทางมาผิดๆ
ทีนี้เรื่องมันไม่มีเพียงเท่านั้น มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าอนุสัย คือความเคยชินในการที่จะผิดเช่นนั้นสืบต่อไป คือ เมื่อเกิดโลภะหรือราคะแล้ว มันก็จะเกิดความเคยชินสำหรับที่จะโลภหรือจะกำหนัด ความเคยชินนี้เก็บไว้ในสันดาน เรียกว่าราคานุสัย ความเคยชินที่จะกำหนัด รัก หลงใหล ด้วยอำนาจความอยากจะได้จะเอา นี้ก็เป็นอนุสัยที่สะสมไว้ประเภทหนึ่ง ทีนี้ถ้ามันเกิดกิเลสประเภทโกธะหรือโทสะ มันก็สร้างความเคยชินที่จะเป็นเช่นนั้นไว้อีกรูปหนึ่ง เรียกว่าปฏิฆานุสัย ความเคยชินที่จะกระทบกระทั่งคือจะโกรธนั่นเอง เป็นอนุสัยประเภทที่ ๒ ทีนี้เมื่อมันเกิดกิเลสประเภทโมหะหรือความประมาท มันก็เกิดอนุสัยประเภทที่ ๓ ซึ่งเรียกว่าอวิชชานุสัย ความเคยชินที่จะโง่ ที่จะไม่รู้ ที่จะประมาท เลยได้เป็นอนุสัย ๓ ชนิด คือราคานุสัย เตรียมพร้อมที่จะกำหนัดยินดี ปฏิฆานุสัย เตรียมพร้อมที่จะกระทบกระทั่งเป็นความโกรธ อวิชชานุสัย เตรียมพร้อมที่จะโง่ จะสะเพร่า จะหลงใหลมัวเมา
นี่เดี๋ยวนี้ทารกของเรา มีทั้งกิเลสคือความโลภโกรธหลง มีทั้งอนุสัยความเคยชินแห่งความโลภโกรธหลง ที่เรียกว่าราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ขึ้นมาแล้ว ชีวิตมันเป็นการเดินทางอย่างนี้เอง มันกระทบแล้วเกิดความรู้หรือเป็นความรู้สึกไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่เป็นการรู้ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน มันจึงเป็นไปในทางของกิเลส เกิดอนุสัยแล้วก็สะสมหมักหมมมากขึ้น พร้อมที่จะไหลออกมาเป็นอาสวะ เป็นกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ออกมาเหมือนกับว่าสร้างอัตภาพขึ้นใหม่ เต็มไปด้วยความรู้สึกทางกาม ความรู้สึกในทางภพ และความรู้สึกในทางอวิชชา สมบูรณ์พร้อมที่จะเกิดออกมาเป็นกิเลสทำนองเดียวกับที่เกิดมาแล้วแต่หนหลังเรื่อยๆ ไป ก็เป็นความทุกข์
นี่ขอให้ดูให้ดีว่า ชีวิตนี้เป็นการเดินทางอยู่ในตัวมันเอง คลอดมาจากท้องแม่แล้วก็กระทบอารมณ์ แล้วก็รู้สึกได้ แล้วก็สะสมความรู้สึกนั้นไว้ จนกว่าจะเติบโตเป็นเด็กโตมันก็มากมายเต็มทีแล้ว มากเท่าไหร่ก็คือการเดินผิดทางหรือเดินทางผิดเท่านั้น กระทั่งเติบโตมาเป็นคนหนุ่มคนสาวเวลายืดยาวมาถึงตอนนี้ มันก็เดินผิดไปไกล พร้อมที่จะโลภ จะกำหนัดยินดี พร้อมที่จะโกรธมีโทสะประทุษร้าย พร้อมที่จะโง่ จะหลงใหล จะงมงาย เป็นความผิดในการเดินทาง เมื่อการเดินทางผิด มันก็เกิดผลผิดคือความทุกข์ ฉะนั้นเรามนุษย์ที่ยังอยู่ในระดับนี้มันก็คือคนที่เดินทางผิด มันก็จมอยู่ในกองทุกข์
ทีนี้มันก็มีโชคดีที่ว่าเกิดบุคคลชนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาในโลก สำหรับจะมาสอนให้มนุษย์นี้เดินทางกันเสียใหม่ให้ถูกต้อง อย่าเดินอย่างที่แล้วมา ให้เดินให้ถูกทางที่เรียกว่าสายกลาง อย่าเอียงไปข้างโน้นข้างนี้ ซึ่งเป็นการยึดติด เป็นความโลภก็มี เป็นความโกรธก็มี เป็นความหลงก็มี ขอให้เดินในทางสายกลางที่ไม่เกี่ยวข้องกับความโลภความโกรธความหลง ฉะนั้นเราจึงได้พบหนทางที่จะเดินให้ถูก ให้ตรง ให้ดี มีผลคือไม่มีความทุกข์
นี่แหละท่านทั้งหลาย จงได้พินิจพิจารณาดูเถิด บางคนก็ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว บางคนก็เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ บางคนก็เป็นคนแก่คนเฒ่า เดินกันมาแล้วอย่างไรตั้งแต่แรกคลอดจากครรภ์แห่งมารดา เดินมาเท่าไหร่ เดินมานานเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ ผิดเท่าไหร่ ถูกเท่าไหร่ ดูๆ ให้ดีแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องผิดทั้งนั้น มันไม่มีส่วนที่จะถูก มีส่วนถูกได้ตามลำพังนั้นก็มีอยู่ได้เหมือนกันแต่มันเป็นส่วนน้อย ถ้าความทุกข์นั้นมันหยาบๆ เห็นได้ง่าย เด็กๆ นั้นก็รู้จักสังเกตแล้วก็กลัว แล้วก็ไม่คิด ไม่ทำ ไม่พูดอะไรชนิดนั้นอีกต่อไป มันก็พอที่จะป้องกันไม่ให้ความทุกข์หยาบๆ นั้นเกิดขึ้นมา แต่ว่ามันยังมีส่วนที่ละเอียดเข้าใจยาก เด็กๆ เหล่านี้ไม่สามารถจะเข้าใจได้ คนโตๆ ก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ จึงได้มีความคิดผิด เห็นผิด ต้องการผิด พูดจาผิด อะไรผิด ที่เรียกว่ามิจฉามรรค หรือมิจฉัตตะคือความเป็นผิด ความเป็นที่ผิดอยู่ในชีวิตนั้น ชีวิตนั้นเป็นการเดินทางที่ผิด มันก็เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ กิเลสก็เผาให้เร่าร้อน ความทุกข์ เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็มาขู่คุกคามให้เกิดความเร่าร้อน เกิดความเดือดร้อน เป็นทุกข์
นี่ชีวิตเดินทางมาในความมืดของอวิชชา มันก็เดินให้ถูกทางไม่ได้ มันก็ติดข้างนั้น มันก็ติดข้างนี้ เรื่องของความพอใจ ความไม่พอใจ ความโง่ความหลงใหล ไม่อาจจะเรียกได้ว่ามันเดินมาอย่างถูกต้องหรือเป็นทางสายกลาง เพราะล้วนแต่ว่ามันติดไปเสียทั้งนั้น มันติดนี้ก็คือเกิดความยึดมั่นถือมั่น แล้วเกิดกิเลสตัณหาอุปาทาน แล้วก็เป็นทุกข์ นี้เรียกว่ามันติด มันไม่ได้เดินมาอย่างถูกทาง คือไม่เป็นอริยอัฏฐังคิกมรรค ไม่เป็นหนทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการอันประเสริฐ
ทีนี้จะทำอย่างไรต่อไป ถ้ามันไม่มีบุญวาสนาเสียเลย มันก็จะต้องเดินทางอย่างผิดๆ นั้นต่อไปจนกระทั่งตาย ถ้ามันมีบุญวาสนาได้เกิดในถิ่นที่มีธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแพร่หลายอยู่ เขาก็จะได้ยินได้ฟังพระธรรมนั้นจนมีความรู้มีความเข้าใจมีความพอใจแล้วก็ปฏิบัติตามหนทางนั้น เหมือนอย่างเราท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัทในทุกวันนี้ มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่มีผู้นำมากล่าวมาสอน เราจึงรู้ว่าทางผิดเป็นอย่างไร ทางถูกเป็นอย่างไร หรือทางสายกลางนั้นเป็นอย่างไร จึงมาสนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อจะเดินให้ถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไป จนมีรูปมีร่างเป็นหนทางที่ถูกต้อง คือสามารถที่จะควบคุมจิตใจนี้ไว้ไม่ให้ตกไปตามอำนาจของอวิชชา ไม่เกิดโลภะ ไม่เกิดโทสะ ไม่เกิดโมหะ เป็นร่องรอยที่ถูกต้อง เป็นหนทางที่ถูกต้อง เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาขึ้นมาดังนี้
นี้คือหนทางที่พระพุทธเจ้าได้โปรดประทานให้แก่สัตว์ทั้งหลายในวันเพ็ญอาสาฬหปุณณมีวันหนึ่งเมื่อมีการตรัสรู้แล้วใหม่ๆ หนทางสำหรับปฏิบัติให้ถูกต้องได้เกิดขึ้นแล้ว พระองค์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายจะต้องปฏิบัติด้วยตนเอง พระพุทธเจ้าหรือพระตถาคตเจ้าทั้งหลายนั้นทำได้แต่เพียงบอกทาง จะช่วยเดินแทนก็ไม่ได้ จะช่วยอุ้มไปก็ไม่ได้ ท่านทั้งหลายจะต้องเดินเองดังนี้ เดี๋ยวนี้เราก็มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้กันแล้วพอสมควรว่า หนทางเป็นมัชฌิมาปฏิปทา สายกลางคือถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร การแสดงธรรมในวันนี้ก็พูดถึงแต่เรื่องนี้ เดี๋ยวนี้ก็เป็นคำรบที่สามแล้ว เป็นการบอกให้รู้ว่าชีวิตเป็นการเดินทาง ชีวิตได้เดินทางมาอย่างผิดพลาดอย่างไรเท่าไหร่ ต่อแต่นี้ไปก็จะควบคุมให้มันเป็นการเดินทางที่ถูกต้อง เราจึงมาสนใจในเรื่องอัฏฐังคิกมรรคมากยิ่งขึ้นๆ เพื่อให้มีความพอใจอย่างแรงกล้าในหนทางนี้ เราจึงประกอบพิธีอาสาฬหบูชาซึ่งกระทำกันมาทุกๆ ปีในวันเช่นวันนี้ดังที่กำลังกระทำอยู่
ขอให้เราทั้งหลายสำนึกรู้สึกว่าเรื่องมันเป็นอย่างนี้ เรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ คือว่าชีวิตนี้เป็นการเดินทาง พอทารกคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา มันก็เริ่มเดินทางเปะๆ ปะๆ ไปตามธรรมดาของทารกที่ยังไม่มีความรู้อะไร มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมชาติมันสอนให้อย่างไร มันก็รู้ได้เท่านั้น ทีนี้ธรรมชาติมันไม่ได้สอนละเอียดลออจนรู้เรื่องความดับทุกข์ รู้เรื่องวิมุตติความหลุดพ้นจากทุกข์ มันก็ปล่อยให้เด็กทารกนั้นทำเอาเอง รู้สึกเอาเอง คิดเอาเอง คาดคะเนเอาเอง สันนิษฐานเอาเอง มันก็รู้ไม่มากมายอะไรนัก รู้หลบหลีกแต่เพียงไม่ตายเสียก็ดีแล้ว นี่จะต้องดูกันถึงขนาดนี้ว่า ทารกเล็กๆ นั้น ถ้ามันทำอะไรผิดเจ็บปวดขึ้นมา มันก็ไม่ทำอีก เช่นว่าทารกน้อยๆ นั้น มันไปขยำเอาไฟ มันร้อน มันก็มีความรู้ว่านี่ร้อน จับไม่ได้อีกต่อไป นี้ก็เรียกว่าความรู้ที่เพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ หรือมันไปจับเอามดเอาแมลง มันกัดเอามันต่อยเอา ทารกก็รู้ว่านี่มันไปเล่นด้วยไม่ได้ แล้วมันก็ได้พบปะกับสิ่งที่เล่นด้วยได้ มันก็รักมันก็พอใจไปอีกทางหนึ่ง สิ่งอะไรกินได้ อร่อย มันก็รู้ มีความรู้ว่ากินได้และอร่อย สิ่งใดกินเข้าไปแล้วมันเป็นอันตรายแก่ปากแก่ท้อง มันก็จำไว้ มันก็ไม่กินอีกต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นการศึกษาโดยธรรมชาติของทารกนั้น
นั่นแหละคือการที่ชีวิตนี้มันเดินทาง มันเดินทางมาแล้วนานเท่าไหร่ก็ดูเอาที่อายุตามที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละคน คนนี้อายุ ๑๐ ปี คนนี้ ๑๕ ปี คนนี้ ๒๐, ๓๐, ๖๐, ๘๐ ก็แล้วแต่ว่ามันได้เกิดมานานเท่าไหร่ มันก็เดินทางไปเท่านั้น ผิดหรือถูกก็ดูเอาเอง มันมีส่วนผิดมากเท่าไหร่ มีส่วนถูกน้อยเท่าไหร่ก็ดูเอาเอง มันคงจะได้ผิดมากกว่าถูก จนกว่าจะมารู้ธรรมะพระธรรมคำสอนในพระศาสนาว่าต้องเดินกันอย่างนี้มันจึงจะถูกต้อง ที่มันรู้ได้เองนั้นมันน้อย เป็นความรู้เพียงว่าไม่ตาย ให้รอดชีวิตอยู่ได้เสียมากกว่า มันไม่รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะดีที่สุด มนุษย์เราจะดีที่สุดเพราะทำอย่างไร ส่วนนี้มันไม่รู้ มันรู้เพียงว่าทำอย่างไรจะอยู่ได้และก็ไม่ตาย คนทั้งหลายมีความรู้กันเพียงเท่านี้ ไม่รู้มาถึงว่าทำอย่างไรจึงจะหมดกิเลส บรรลุมรรคผลนิพพาน จนกว่าจะได้รับคำสั่งสอนที่เพียงพอในเรื่องของพระธรรมในเรื่องของพระศาสนา
พระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นมาในโลกนี้แล้วก็ทรงสั่งสอน ดูเหมือนว่าเป็นชีวิตจิตใจของพระพุทธเจ้าเสียทีเดียวในการที่จะสั่งสอน เช่น พอมีสาวกเกิดขึ้นเพียง ๖๐ รูป ก็บังคับให้ออกไปสั่งสอน ไม่ให้เฉื่อยชาอยู่ และให้ทำให้แพร่หลายที่สุด คือว่าอย่าไปทางเดียวกันสององค์ ให้ไปทางละองค์ๆ มันจะได้มีทางที่ออกไปเผยแผ่นั้นมาก ทรงเร่งรัดทรงขอร้อง บางทีก็ดูจะเป็นการอ้อนวอน บางทีดูก็จะเป็นการบังคับว่า เธอทั้งหลายจงไป จงไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ อย่างนี้เป็นต้น
นี่พระคุณหรือพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ท่านทำหน้าที่ของท่านอย่างนี้ ธรรมะจึงแพร่หลายออกไปจนไปถึงสัตว์เหล่านั้นผู้อยู่ในความมืดบอดของอวิชชาได้ลืมหูลืมตาสว่างไสวขึ้นมาจนรู้จักดำเนินในทางที่ถูกต้อง ที่เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค เป็นความถูกต้อง ๘ ประการรวมกัน แล้วก็หลีกห่างจากความทุกข์ได้ มีความลาดเอียงไปในทางที่สุดแห่งความทุกข์คือพระนิพพาน ด้วยประการฉะนี้
นี่แหละดูก็จะเห็นได้ไม่ยากนักว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายนี้ มันเป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง ทารกมันค่อยๆ รู้อะไรมากขึ้นๆ แต่แล้วมันไม่พอที่จะดับความทุกข์ทั้งปวง โดยมากก็เพียงเพื่อรอดชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้นมันจึงไม่เป็นมนุษย์ที่เรียกว่าดีที่สุดหรือเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง เพราะมันเดินทางไม่เป็น เดินทางไม่ถูก ต่อเมื่อได้รับพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว จึงเริ่มเดินทางถูกต้อง ความเป็นมนุษย์มันก็สูงขึ้นไปกว่าคนธรรมดา คือมันจะเอียงไปหาพระนิพพาน บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด เรื่องมันมีอย่างนี้ หน้าที่ที่จะต้องทำมันมีอยู่อย่างนี้ ใครจะทำให้ใครก็ไม่ได้ เป็นของเฉพาะตน ดังที่พระพุทธองค์ทรงกำชับว่า หน้าที่เหล่านี้ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกทาง นี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจกัน มองเห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามันมีอยู่อย่างนี้
ทีนี้เราก็จะได้ตั้งต้นขวนขวายที่จะเดินไปตามทาง ซึ่งเรียกว่ากระแสแห่งพระนิพพาน โสตะแปลว่ากระแส เป็นกระแสแห่งพระนิพพาน ใครเดินมาได้ถึงต้นกระแส เหยียบลงไปในกระแสแล้ว คนนั้นแน่นอนต่อพระนิพพาน เรียกว่าพระโสดาบัน คือผู้ที่ถึงทั่วแล้วซึ่งกระแส คือกระแสแห่งพระนิพพานนั้น นี่คือการเดินทางที่ถูกต้อง เดินถูกต้องเพราะสามารถที่จะปรับปรุงทุกอย่างให้มันถูกต้อง คือให้มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มีสติปัญญามากขึ้นๆ รู้จักดำรงจิตใจไว้ในลักษณะอย่างไร ซึ่งจะเป็นการถูกต้องและดีขึ้นๆ นี้เรียกว่าจิตใจนั่นแหละมันเป็นการเดินเป็นผู้เดิน ไม่ต้องมีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาที่ไหนก็ได้ จิตใจมันมีธรรมชาติอย่างนั้น มันควบคุมร่างกายควบคุมวาจา มันรู้สึกคิดนึกได้ สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณหรือวิญญาณธาตุนี้ มันมีหน้าที่อย่างนี้ มันมีความสามารถอย่างนี้ มันมีลักษณะอย่างนี้ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นธาตุตามธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้น เราเรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่าวิญญาณธาตุ มันเป็นธาตุนามธรรม มันทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีธาตุรูปธรรม มันจึงต้องอาศัยรูปธรรม คือดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายให้วิญญาณธาตุนี้ได้อาศัยทำหน้าที่ของวิญญาณนั้นได้ นี้ก็ต้องดูให้ดีเหมือนกันว่าจะต้องปรังปรุงให้มันเข้ากัน ใครเล่าที่จะปรับปรุง ก็คือจิตใจนั่นเอง มันจะรู้สึกเข็ดหลาบ และมันก็จะต้องการปรับปรุง
ร่างกายนี้เป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิต ทั้งกายและทั้งจิตรวมกันแล้วก็เป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งปัญญา ถ้าว่าได้รับปัญญาอย่างของพระพุทธเจ้ามา ก็ทำร่างกายและจิตใจนี้ให้ถูกต้อง ตั้งอยู่ในความถูกต้องนั่นแหละคือการเดินทางที่ถูกต้อง เพราะว่ามันสูงขึ้น ดีขึ้นๆ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลและนิพพาน จงสังเกตดูให้รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณหรือวิญญาณธาตุนี้มันมีอะไรน่าสนใจน่าอัศจรรย์ เมื่อมันทำหน้าที่คิด เราก็เรียกมันว่าจิต เมื่อมันทำหน้าที่รู้สำนึก เราก็เรียกมันว่า มโน เมื่อมันทำหน้าที่รู้แจ้งทางอายตนะ มีตา หู เป็นต้น เราก็เรียกว่าวิญญาณ ฉะนั้นถ้าจะว่ามันเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้ ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ต่างกัน มันจึงได้ชื่อต่างๆ กัน
ที่เรียกว่าจิตนี้ก็มีความหมายหลายอย่าง คือคิดนึกได้ ก็เรียกว่าจิต รู้จักทำให้มันมากขึ้น รู้จักก่อเพิ่มเติมให้มันมากขึ้น นี้ก็เรียกว่าจิต ถ้ารู้จักทำให้งดงามน่าดู แม้อันนี้ก็เรียกว่าจิต สิ่งที่เรียกว่าจิต อย่างน้อยก็มีหน้าที่ ๓ อย่าง คือคิดนึกก็ได้ ก่อสิ่งน้อยๆ ให้มากขึ้นก็ได้ ให้มันมีความงดงามวิจิตรอย่างนี้ก็ได้ เราเรียกมันว่าจิต
แต่ถ้ามันเพียงแต่รู้แจ้งทางตา หู เป็นต้น เรียกว่าวิญญาณ ก็ดีแล้ว แต่ถ้ามันสำนึกอะไรได้มากก็เรียกว่ามโน จึงจะสมกัน แล้วยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ ไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาพูดให้เสียเวลา พูดกันแต่สักสามชื่อว่า เมื่อมันรู้สึกได้ ก็เรียกว่ามโน เมื่อมันคิดได้ ก็เรียกว่าจิต เมื่อมันรู้แจ้งทางอายตนะ ก็เรียกว่าวิญญาณ เพียงเท่านี้ก็พอแล้วสำหรับจะศึกษาจิตให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ใครจะศึกษาจิต มันก็จิตนั่นแหละ เพราะว่ามันไม่มีตัวตนบุคคลที่ไหน จิตนั้นมันมีคุณสมบัติในตัวมันเอง รู้สึกคิดนึกได้ จำได้ สำคัญมั่นหมายได้ มันก็เพิ่มความรู้ในตัวมันเองมากขึ้นๆ จนกระทั่งรู้จักแบ่งแยกว่าเป็นฝ่ายเลวหรือฝ่ายดี ฝ่ายต่ำหรือฝ่ายสูง สิ่งปรุงแต่งจิตให้ต่ำ ก็มีอยู่พวกหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพวกกิเลส สิ่งที่ปรุงแต่งจิตให้สูง ก็มีอยู่พวกหนึ่ง เรียกว่าโพธิหรือปัญญา
ถ้ากิเลสได้รับการสะสมอบรมมาก มันก็ไปในทางต่ำและเป็นทุกข์ ถ้าโพธิได้รับการฝึกฝนอบรมมาก มันก็เป็นไปในทางสูง คือจิตนั้นจะประกอบไปด้วยปัญญามากขึ้น มากกว่าที่จะเป็นกิเลส อำนาจของปัญญาที่มีอยู่ในจิตมากนั่นแหละจะดึงจิตไปในทางของปัญญา ไม่ให้ตกไปในทางของกิเลส แต่ถ้าว่าคนมันไม่ดี มันเป็นคนปุถุชนธรรมดามีกิเลสมากเกินไป กิเลสนี้ก็จะดึงจิตไปในทางของกิเลส ไม่ค่อยมาในทางของโพธิหรือปัญญา
ดูแล้วจะเห็นว่าในขอบเขตของจิตนั้นมันเป็นเหมือนกับสนามรบ มันมีการรบกันอยู่ตลอดเวลา ระหว่างจิตที่ประกอบอยู่ด้วยกิเลสและจิตที่ประกอบอยู่ด้วยปัญญา ฝ่ายไหนชนะมันก็เอาไป มันก็เอาจิตนั้นไป ให้ไปทำตามแบบของฝ่ายนั้น บางคราวกิเลสชนะ ก็ไปทำชั่วทำเลวทำกรรมบาปหยาบช้าไปตามประสาของกิเลส บางทีฝ่ายโพธิฝ่ายปัญญาชนะ มันก็ดึงจิตไปตามทางของโพธิของปัญญา คนนั้นก็ทำแต่ความดี ความงาม ความถูกต้อง เป็นความเจริญ เมื่อมันรบกันบ่อยๆ เข้า มันก็รู้อะไรมากขึ้น อะไรเป็นความเจ็บปวดเป็นทุกข์ มันก็รู้ จิตมันก็รู้ รู้สึกและรู้จักที่จะเกลียด จะกลัว นี่ความเกลียดความชั่ว กลัวความชั่วกลัวความทุกข์ มันก็เกิดขึ้นเป็นสมบัติของจิต เป็นเจตสิกธรรมฝ่ายดีที่จะเป็นสมบัติของจิต เราเรียกกันว่าหิริ ก็มี โอตตัปปะ ก็มี
นี้สำคัญมาก ถ้ามันไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่รู้จักละอายและกลัวต่อความชั่วแล้ว จิตก็จะจมลงไปในความชั่ว ไม่มีทางจะยกขึ้นมาสู่ความดี เดี๋ยวนี้จิตมันก็รู้จักรักตัวเอง เจ็บปวดเข้ามันก็ฉลาดขึ้น มันก็รู้จักเกลียดจักกลัวความเจ็บปวด และต้นเหตุแห่งความเจ็บปวดคือความชั่ว มันก็ดีขึ้นมาได้อย่างนี้ โดยธรรมชาติ โดยกฎของธรรมชาติ ใครจะเรียกว่าโดยอำนาจของพระเจ้าก็ได้เหมือนกันตามใจเขา เราไม่ต้องทะเลาะกันเพราะเหตุนี้ แต่พุทธบริษัทเรียกว่ามันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของธรรมชาติ ตามกฎของอิทัปปัจจยตา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้จิตนี้มันดีขึ้นๆ มันก็สามารถควบคุมกายและวาจาให้ดีขึ้นๆ จนกระทั่งมาถูกมาตรงกันเข้ากับคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทา จิตสว่างไสวอย่างนี้แล้วมันก็เดินไปตามทางนั้น ไม่เท่าไหร่มันก็บรรลุถึงพระนิพพาน นี้เรียกว่าเดินไปตามทางที่ถูกต้อง เพราะว่าชีวิตเป็นการเดินทาง มันหยุดไม่ได้ มันมีหน้าที่แต่ที่จะทำให้มันถูกต้องยิ่งขึ้นไปจนถึงจุดหมายปลายทางของความถูกต้อง ได้เป็นมนุษย์ที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เรียกว่าความรอดไปได้ความหลุดพ้นออกไปได้จากความทุกข์จากปัญหา ได้เป็นชีวิตที่ดีที่สุดที่มันจะดีได้อย่างไร นี่เรื่องมันมีเท่านี้ ใครจะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ เรื่องมันก็มีอยู่อย่างนี้ เป็นกฎเกณฑ์ตายตัวของธรรมชาติ
ฉะนั้นถ้าใครสนใจอยากจะได้อยากจะมีให้เต็มที่ ก็ต้องขวนขวายศึกษาแล้วก็ปฏิบัติ ทำไมจะต้องปฏิบัติ เพราะเพียงแต่ศึกษาอย่างเดียวมันยังไม่มีผลอะไรนัก ถ้าได้ปฏิบัติแล้วมันจะเป็นการศึกษาเพิ่มขึ้น ศึกษาจากการได้ยินได้ฟังนั้นมีความรู้น้อยมาก ต่อเมื่อปฏิบัติแล้วมีผลอะไรเกิดขึ้นมันรู้จริงรู้มากกว่า การปฏิบัติจึงเป็นการศึกษาที่แท้จริง ยิ่งได้รับผลออกมาด้วยแล้วยิ่งเป็นการศึกษาที่แน่นอนยิ่งขึ้นไปอีกว่ามันเป็นอย่างไร ว่ามันคืออะไร นี้เรียกว่าการศึกษาที่แท้จริง คือการปฏิบัติแล้วได้รับผลของการปฏิบัติ มันกลายเป็นการศึกษาไปในที่สุด เมื่อดำเนินไปในทำนองนี้ มันก็ รู้มากขึ้น รู้มากขึ้นจนเพียงพอที่จะรอดตัว คือพ้นจากความทุกข์สิ้นเชิง หรือจะเรียกว่าได้ดีที่สุดตามที่มนุษย์ควรจะได้รับ
เดี๋ยวนี้พวกเราควรจะถือว่ามีบุญอยู่มาก มีบุญตรงที่ได้รับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจนรู้แล้วปฏิบัติโดยสะดวก ถ้าเราไม่ได้รับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนาเลยจะเป็นอย่างไร ลองสมมติดูว่า เราทุกคนที่นี่แหละ ถ้าเผอิญไม่ได้มาเป็นอย่างนี้ ไม่ได้รับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้ปล่อยไปตามบุญตามกรรม แล้วมันก็คงจะไม่ดีกว่าลิงค่างสักกี่มากน้อย จะไม่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานสักกี่มากน้อย คือมันเพียงแต่จะรู้จักเลี้ยงชีวิตอย่าให้ตายเท่านั้นเอง ไม่ได้มีคุณธรรมสูงสุดอะไรมากไปกว่านั้น เพราะฉะนั้นควรจะถือว่าเป็นการได้ที่ดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา วันที่ได้ดีมากก็คือวันที่เรียกว่าวันอาสาฬหปุณณมีในวันหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานธรรมะเป็นเครื่องกำจัดทุกข์เป็นวันแรกเป็นครั้งแรก แล้วก็สอนสืบต่อๆ กันมาจนถึงวันนี้ เราก็สนใจกันเป็นพิเศษ ทำให้มีผลยิ่งๆ ขึ้นไป
นี้อาตมาก็มีความประสงค์มุ่งหมายจะเน้นแต่ในข้อนี้ เพราะได้พูดมาแล้วในธรรมเทศนาตอนต้นๆ ตั้งแต่ตอนบ่ายกระทั่งตอนหัวค่ำว่า ธรรมะนั้นเป็นอย่างไร ทางสายกลางเป็นอย่างไร อัฏฐังคิกมรรคเป็นอย่างไร ซึ่งพอเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ธรรมเทศนาครั้งสุดท้ายนี้ก็เหลือแต่การขอร้องให้สนใจให้ตั้งใจเป็นพิเศษเพื่อปฏิบัติตามพระธรรม ตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายต้องทำเอง พระตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง นี่แหละคือหน้าที่ที่เราจะต้องทำตลอดทุกเวลาทุกสถานที่ จะอยู่ที่บ้านหรืออยู่ที่วัด มันก็ต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ธรรมะนี้ปรากฏออกมา ทำเร็วๆ ก่อนแต่ที่ร่างกายนี้มันจะบังเอิญเป็นไปด้วยการแตกทำลาย ถ้าร่างกายแตกทำลายแล้วมันทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นต้องรู้จักระวังรักษาร่างกายไม่ให้แตกไม่ให้ทำลายก่อนกำหนด ให้ร่างกายเป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งจิตใจ แล้วทั้งร่างกายและจิตใจนี้ก็จะเป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งพระธรรม ชีวิตนี้ก็จะประกอบไปด้วยพระธรรม ก็จะดำเนินไปได้อย่างแน่นอนที่สุดว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง
ขอให้ท่านทั้งหลายจงปรับปรุงร่างกายและจิตใจให้เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งที่อาศัยของพระธรรม แล้วพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็จะมาดำรงอยู่ประดิษฐานอยู่ในร่างกายพร้อมด้วยจิตใจอันจัดไว้ดีแล้วอย่างไรนี้ เรียกว่าทำร่างกายนี้ให้เป็นวิหาร ให้เป็นโบสถ์เป็นวิหารเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์พระธรรมและพระสงฆ์ นี้พูดอย่างอุปมา ให้ร่างกายเน่านี้กลายเป็นของมีค่าสูงสุด เพราะว่าเป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธพระธรรมและพระสงฆ์ ชีวิตนี้ก็ประเสริฐเพราะเต็มไปด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มันก็จะเดินไปตามทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา ถึงจุดหมายปลายทางได้เป็นแน่นอน
วันอาสาฬหปุณณมีเช่นวันนี้ เราก็ได้ใช้กันเป็นอย่างดีแล้ว เป็นวันพูดจาว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนซึ่งกันและกัน ให้เป็นวันที่มีแสงสว่างแห่งพระธรรม กำจัดความมืดของอวิชชาเสีย เกิดความสว่างไสวในการที่จะกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเหมือนพญามาร สิ่งที่เป็นอุปสรรคเรียกว่ามาร เป็นกิเลสก็มี เป็นความไม่ถูกต้องแห่งร่ายกายและจิตใจหรือเบญจขันธ์นี้ก็มี เป็นความตายที่แทรกแซงเข้ามาอย่างที่ไม่ควรจะเข้ามาอย่างนี้ก็มี เป็นการปรุงแต่งของกิเลสตัณหา ปราศจากวิชชาและแสงสว่างอย่างนี้ก็มี หรือว่าเป็นความคิดเป็นไปในทางกระหายต่อกามารมณ์เหมือนพวกเทวดาอย่างนี้ก็มี ล้วนแต่เป็นมารทำให้เกิดการขัดข้องในการที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน จึงต้องกำจัดมารเหล่านี้เสียด้วยแสงสว่างแห่งปัญญา ให้ปัญญากลายเป็นแสงสว่างชนิดที่เป็นอาวุธทำลายความมืดซึ่งเป็นมารนั้นเสียได้ ปัญญาเป็นอาวุธสำหรับกำจัดมารคือความมืดในลักษณะอย่างนี้
ปัญญานั้นมีอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาอย่างเพียงพอ เพียงแต่ว่าเราพยายามตั้งใจปรับปรุงส่งเสริมให้ถูกต้องให้ดีเท่านั้นแหละ มันจะเจริญงอกงามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ นี้ก็คือตัวปัญญา มาเป็นตัวนำ นำหน้าเหมือนกับรุ่งอรุณเป็นตัวนำแห่งเวลากลางวัน ถ้าสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นแสงสว่างนำหนทางไปสู่พระนิพพาน สัมมาทิฏฐิเป็นปัญญามันถูกต้องแล้ว ความต้องการก็จะถูกต้องขึ้นมาเอง การพูดจาก็จะถูกต้อง การทำการงานการเลี้ยงชีวิตก็จะถูกต้องเพราะอำนาจแห่งปัญญา ความพากเพียรความดำรงสติไว้ความตั้งจิตไว้มั่นคงก็จะถูกต้องเพราะอำนาจแห่งสัมมาทิฏฐิหรือปัญญา จิตทั้งหมดไปรวมกำลังกันอยู่ที่สมาธิ ถึงที่สุดแห่งสัมมาสมาธิแล้วปัญญาก็จะสูงยิ่งขึ้นไปกว่าธรรมชาติธรรมดา คือสัมมาทิฏฐินั่นเองจะมีกำลังแรงกล้ายิ่งกว่าแต่ต้นยิ่งกว่าทีแรก มันก็ยิ่งแก่กล้ากันไปตามลำดับ วนเวียนเหมือนกับว่าวัวพันหลัก คือปรับปรุงส่งเสริมซึ่งกันและกัน เจริญก้าวหน้าขึ้นไปพร้อมๆ กัน ในที่สุดก็จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาที่ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
มัชฌิมาปฏิปทาในขั้นเริ่มแรกก็เป็นเพียงพระโสดาบัน มัชฌิมาปฏิปทานั้นถูกอบรมให้มากขึ้นก็จะให้ผลเป็นพระสกิทาคามี อนาคามี เมื่อถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ ด้วยการกระทำอย่างเดียวกันแท้ๆ คือมีศีล สมาธิ ปัญญา ที่ได้เบ่งตัวเองให้เข้มแข็งแก่กล้ายิ่งขึ้นทุกที สัมมาทิฏฐินั้นเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแก่กล้ายิ่งขึ้นตามลำดับ ในชั้นแรกเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพียงเป็นพระโสดาบันก่อน แล้วก็เพิ่มการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้มากขึ้น จึงเป็นสกิทาคามี อนาคามี แล้วก็เพิ่มการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นให้มากขึ้น จึงได้เป็นพระอรหันต์ จบกิจพรหมจรรย์สำหรับมนุษย์ ไม่มีอะไรที่จะต้องทำอีกต่อไป เพราะว่ากิจที่จะทำเพื่อดับทุกข์นั้นได้ทำถึงที่สุดแล้วสำเร็จแล้ว เรียกว่า อยู่จบพรหมจรรย์ การประพฤติที่ดีเลิศประเสริฐได้ทำถึงที่สุดแล้ว นี้เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง
บางคนยังคิดเสียว่าไม่ใช่เรื่องของเราก็มี ก็ไม่อยากจะทำ บางคนก็จะคิดเสียว่ามันคงไม่สนุกสนานอะไรในการที่จะเป็นพระอรหันต์ เป็นปุถุชนที่หนาไปด้วยกิเลสอย่างนี้มันมีรสชาติกว่า คิดเสียอย่างนี้แล้วก็ไม่สนใจในเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา กลับจะรังเกียจเสียอีกว่ามันไม่มีรสชาติที่น่าสนุกสนาน นั้นเป็นอันธพาล นั้นเป็นปุถุชนอันธพาล เป็นอันธพาลปุถุชนมันก็ต้องจมอยู่ที่นั่น ถ้าความรู้ถูกต้อง ความเห็นถูกต้อง มันก็จะค่อยๆ ละจากความเป็นอันธพาล เป็นปุถุชนที่พอดูได้ กระทั่งว่าเป็นปุถุชนชั้นดี ชั้นดียิ่งๆ ขึ้นไป ก็จะก้าวเข้าไปในเขตของพระอริยบุคคล เมื่อถึงเขตของพระอริยบุคคล เช่นพระโสดาบันเป็นต้นนี้แล้ว มันก็แน่นอน มันจะไหลไปเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีการใช้กำลังมากมายนัก เพราะว่ามันได้ถึงกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว กระแสนั้นมีความเอียงไปทางพระนิพพานมันจึงเป็นการง่าย เหมือนกับว่ากลิ้งครกลงจากภูเขา เพราะว่าได้ถึงกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ถ้ามันยังไม่ถึงจุดตั้งต้นแห่งกระแสแห่งพระนิพพานมันก็เป็นการยาก ยากอย่างที่ปุถุชนคนอันธพาลจะประพฤติธรรมะเพื่อบรรลุมรรคผลในขั้นสูง มันมีความยากลำบากเหมือนกับการกลิ้งครกขึ้นภูเขา ท่านทั้งหลายลองเปรียบดูเองเถิดว่า กลิ้งครกขึ้นภูเขากับกลิ้งครกลงจากภูเขา สองอย่างนี้มันต่างกันกี่มากน้อย แล้วเราอยู่ในพวกไหน เราอยู่ในพวกที่ถึงกระแสแล้ว มีความง่ายเหมือนกับกลิ้งครกลงจากภูเขา หรือว่าเรายังหนามากเกินไป ไม่มีธรรมะเพียงพอ ยากลำบากอย่างยิ่งในการที่จะกลิ้งครกขึ้นภูเขา
นี่ขอให้ยกเอาไว้เป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่ละคนๆ ที่จะมีความรักตนมีการสงวนตนมากน้อยเพียงไร ใช้ความพากเพียรพยายามของตน ถ้ามีสติปัญญาพอก็จะทำได้ถูกทาง ก้าวหน้าไปได้โดยเร็ว ก็จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับเสียก่อนแต่ที่ร่างกายนี้จะแตกทำลาย ก็เรียกว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดก่อนตาย ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา
เราได้ปรารภเรื่องนี้ คือเรื่องพระธรรมคำสอนอันประเสริฐสุดคือหนทางแห่งพระนิพพาน เอามาซักไซ้ซักซ้อมทำความเข้าใจอันแจ่มแจ้งเพื่อประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จแก่เวลา เรียกว่าเป็นการทำที่ดี เป็นการกระทำที่ดีที่มีค่าสมกับที่เราได้พยายามสนับสนุนโดยทุกทาง แม้ที่สุดแต่ว่าจะพูดกันจนรุ่งสว่างในเรื่องนี้ มันก็ได้ผลเกินค่า คือทำให้เป็นคนเข้มแข็ง แล้วคงจะไม่เข้มแข็งเปล่า คือจะมีความรู้เกิดขึ้น มีแสงสว่างเกิดขึ้นพอที่จะเป็นประโยชน์ในการที่จะทำลายกิเลสตัณหาหรือความมืดของอวิชชา ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของมัชฌิมาปฏิปทาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น อาตมาเห็นว่าการบรรยายในครั้งสุดท้ายนี้ เป็นการกระตุ้นให้เกิดความเพียรในสิ่งที่ตนจะพึงกระทำ พอสมควรแก่เวลาแล้ว จะยุติการบรรยายไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้