แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระวิปัสสนาจารย์และท่านผู้สนใจในกิจกรรมของวิปัสสนาอื่นๆ ทั้งหลาย ในโอกาสแรกนี้ผมขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย โดยหวังว่าจะปรึกษาหารือกัน ทำประโยชน์แก่โลกโดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า สมาธิภาวนา เรื่องแรกนี่ก็คือขอให้คิดถึงปัญหาเฉพาะหน้าที่มีอยู่ในโลกนี้ก่อน ก่อนที่จะนึกแต่เรื่องส่วนตัวของเราเอง คืออยากจะให้มองเห็นโดยชัดเจนว่า เรื่องสมาธิภาวนานี้ใช้ประโยชน์ได้ทั้ง ๒ ฝ่าย คือฝ่ายสันติสุข สันติภาพของโลกมนุษย์แห่งยุคปัจจุบันนี้ด้วยก็ได้ และเพื่อผลอันใหญ่ อันยิ่งใหญ่ของบุคคลแต่ละคน ผู้ปฏิบัติเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้เรื่องเหนือโลก นี่รวมความว่าเรื่องในโลกก็ใช้ได้ และจำเป็นที่จะต้องมีใช้ และเรื่องเหนือโลกนั่นโดยตรง มีอยู่โดยตรง มีไว้โดยเฉพาะเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุด กิจกรรมอันนี้เท่าที่พบในพระบาลีทั้งหมดพบว่า พระพุทธเจ้าท่านใช้คำเรียกว่า สมาธิภาวนา ไม่เรียกว่า สมถะกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐานหรืออะไรอย่างที่เราใช้เรียกกันอยู่ ขอให้ทราบว่าท่านเรียกงานระบบนี้ทั้งหมดว่าสมาธิภาวนา ตามตัวหนังสือก็ต้องแปลว่า ภาวนา คือการทำให้เจริญ สมาธิด้วยสมาธิ นี่คือสิ่งที่เราจะทำให้เกิดมีขึ้น และให้เจริญขึ้นด้วยการใช้สมาธิ ด้วยอำนาจของสมาธิ หมายความว่าต้องมีสมาธิก่อน จึงสามารถทำให้เกิดความเจริญอันนี้ขึ้นมาได้ สมาธิภาวนานั้นท่านตรัสว่ามี ๔ อย่างคือ สมาธิภาวนาเพื่อให้มีความสุขในทิฐิธรรม คืออยู่กันที่นี่ด้วยความสุขในโลกปัจจุบันทันตาเห็นนี้ นี่อย่างหนึ่ง ข้อนี้ก็ คือสิ่งที่เราต้องคิดถึงก่อนด้วยเหมือนกัน และเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก สมาธิภาวนาที่สอง คือญาณทัศนะอันเป็นทิพย์ อันนี้อาจจะเกินไป หรือเกินความจำเป็นก็ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ อะไรเป็นทิพย์ๆ ก็ทำด้วยอำนาจของสมาธิเหมือนกัน เราทำให้มันมีขึ้นมาได้ด้วยอำนาจของสมาธิ ที่นี้ความถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ นี่ก็จะต้องเจริญให้รู้จักการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แห่งเวทนา สัญญา และวิตกคอยกำหนดสิ่งตามนี้อยู่ทุกคราวที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็ทำให้สติสัมปชัญญะสมบูรณ์อันนี้ก็มีอานิสงส์มากจะใช้ในชีวิตปกติตามธรรมดา เราจะเป็นคนไม่เสียสติสัมปชัญญะเลยในสิ่งใดก็ตามนี้ก็ได้ หรือเพื่อมีสติสัมปชัญญะในการปฏิบัติธรรมะที่สูงขึ้นไปอีกก็ได้ นี่จัดไว้เป็นอย่างที่สาม ๓ คือความสมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ จะทำให้เจริญมีขึ้นมาได้ก็เพราะสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ ดังนั้นท่านจึงตรัสเรียกว่าเป็นสมาธิภาวนาชนิดที่ ๓ ที่นี้ชนิดที่ ๔ สมาธิภาวนาเป็นไปเพื่อความสิ้นแห่งอาสวะ นี่ก็คอยกำหนดรู้ชัดซึ่งการเกิดขึ้น ดับไปแห่งปัญจุปาทานักขันธ์ คือขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นแล้วมีอุปาทานยึดครองอยู่ เกิดขึ้นมาอย่างไร ดับไปอย่างไร คอยกำหนดอยู่อย่างนี้จะเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ แต่ว่าความสิ้นอาสวะทำให้เกิด ให้มี ให้เจริญขึ้นมาได้ เพราะสมาธิ เพราะการทำสมาธิด้วยเหมือนกัน ใน ๔ อย่างนั้น มันมีเป็นสมถะบ้าง เป็นวิปัสสนาบ้าง เจือกันบ้างตามวัตถุประสงค์ อย่างที่หนึ่งว่าเพื่อความมีสุขอยู่ในทิฏฐธรรม ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่ท่านระบุไปยังการเจริญรูปฌาน ๔ มีลักษณะเป็นสมาธิโดยตรง ส่วนความมีญาณทัศนะเป็นทิพย์นั้นต้องมีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญาบางอย่างบางประการจึงจะทำให้ญาณทัศนะเป็นทิพย์เกิดขึ้นได้ ส่วนที่ ๓ ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะนี้ก็เหมือนกัน ฝึกในทางสมาธิ ฝึกในทางสติ ฝึกในทางให้รู้ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นต้น มันก็มีทั้งสมถะและทั้งวิปัสสนาเจือกัน ส่วนอันที่ ๔ สิ้นไปแห่งอาสวะนั้นจึงรู้ชัด รู้จักชัดด้วยปัญญาว่า อุปาทานขันธ์เป็นอย่างไร เกิดขึ้นมาโดยลักษณะอย่างไร ดับไปโดยลักษณะอย่างไร เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดเจนเห็นสุญญตาหรือว่างจากตัวตนชัดเจน มันจึงทำลายอาสวะได้ อันสุดท้ายนี้มีลักษณะเป็นวิปัสสนา เป็นอันว่าท่านเรียกการปฏิบัติทั้งหมดนี้ว่า สมาธิภาวนา คือสิ่งที่เราจะทำให้เจริญขึ้นมา มีขึ้นมาด้วยอำนาจของสมาธิ ก็ใช้สมาธิเป็นเครื่องมือ ดังนั้นมันจึงหลีกไม่พ้นที่ว่าเราต้องสนใจฝึกสมาธิ ไม่ว่าจะมุ่งหมายสมาธิภาวนาแบบไหนก็ต้องใช้สมาธิทั้งนั้น นี่รู้ไว้ก่อนว่าเรามันต้องฝึกสมาธิอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันมีผลตั้ง ๔ ประการนั้น เราจะมาพิจารณากันก่อนว่าจะเอาอย่างไรกันก่อน นั้นผมอยากจะเสนอแนะว่า ขอให้นึกถึงเป็นวงกว้างๆ ไปยังสังคม ยังประชาชนในโลก เพราะว่าเดี๋ยวนี้ประชาชนในโลกกำลังมีความทุกข์ ทุกข์ด้วยเหตุหลายอย่าง แต่ว่ามันไปรวมอยู่ที่จิตใจของเขา ทำให้จิตใจของเขาทนทรมาน นอนไม่หลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรบกวนประสาท เขาก็ทนทุกข์ทรมาน เพราะทำจิตให้ปกติไม่ได้ คือเขาทำสมาธิไม่เป็น ดังนั้นเขาจึงเป็นโรคประสาทกันมากขึ้น เมื่อสองสามปีก่อนได้ยินว่าโรคประสาทเรือนหมื่นๆ พอมาปีนี้ได้ยินประกาศสถิติวงการแพทย์ว่า แสนๆ เท่าที่มันรู้จากกันในทะเบียนเป็นแสนๆ คน คนเป็นโรคประสาท ผมคิดว่าตั้งล้านนะ เพราะว่าที่เขาพูดว่าแสนๆ เขาๆ พูดไปตามที่มาแจ้งความ มามีอยู่ในทะเบียนของคนเป็นโรคประสาท เพราะคนที่มันเป็นแล้วไม่มาแจ้งอีกมากมาย นั่นมันคงจะไม่ใช่เพียงแต่แสนๆ มันจะถึงล้านนะ เอาละเป็นอันว่าคนเป็นโรคประสาทกันเป็นแสนๆ เพราะอะไร มันอาจจะนอนไม่หลับเพราะวิตกกังวล เพราะดำรงจิตให้ปกติไม่ได้ เพราะเขาทำสมาธิไม่เป็น เขาจึงต้องทนทรมานด้วยความยุ่งใจ ความวิตกกังวลเป็นห่วง เป็นไอ้หวาดผวาอยู่เรื่อย เป็นโรคประสาทกันเป็นแสนๆ ซึ่งแมวสักตัวหนึ่งมันก็ไม่เป็น นั้นเรามนุษย์นี่ควรจะรู้จักละอายแทนกันบ้าง ละอายแมว แมวไม่เป็นโรคประสาทสักตัว โรคประสาทอย่างที่มนุษย์เป็น แมวไม่ได้เป็นสักตัวเดียว ถ้าบ้าก็บ้าอย่างอื่น บ้าโดยเชื้อโรคอย่างอื่น และเขาว่าไอ้คนที่เป็นบ้าแล้ว โรคประสาทแก่หง่อมจนเป็นบ้าหรือวิกลจริตไปแล้วจำนวนหมื่นๆ นะที่ต้องอยู่โรงพยาบาลบ้า จำนวนหมื่นๆ คน แมวไม่สักตัวหนึ่งก็ไม่เห็นเป็น เป็นโรคประสาททั่วๆ ไปเข้าโรงพยาบาลประสาทเป็นแสนๆ นี่คนเหล่านี้เพียงในประเทศเราประเทศเดียวนะ เป็นอย่างนี้ ถ้าทั้งโลกเท่าไหร่นี่ มันจะมีเท่าไหร่ ประเทศไทยมีพลเมืองไม่เกิน ๕๐ ล้านคน เป็นโรคประสาทเป็นแสนๆ เป็นโรคจิตหมื่นๆ นี่คนในโลกมัน ๓ พันกว่าล้านถึง ๔ พันล้านคนเห็นจะได้ คุณไปคิดดูมันเป็นโรคประสาทกันกี่ล้าน กี่สิบล้านหรือกี่ร้อยล้าน ความที่เขาไม่สามารถจะดำรงจิตให้ปกติอยู่ได้ เพราะเขาทำสมาธิไม่ได้ เอาละนอกบ้านเราก็เก็บไว้ก่อน มันยังเรียกว่าไกลมือ เอาในบ้านเราประเทศไทยเรานี่ คนโรคประสาทจำนวนแสนๆ นี้จะทำอย่างไรกันดี มันมีหลักอยู่ว่า ถ้าเขารู้จักดำรงจิตไว้ถูกต้องนะ เขาจะไม่เป็นหรือที่เขาเป็นอยู่มันจะค่อยๆ หายไป มันใช้คำว่า มีการดำรงจิตไว้อย่างถูกต้อง ในที่นี้ก็คือการรู้จักทำจิตให้เป็นสมาธิ การดำรงจิตให้ถูกต้องมั่นคงนะ มันไม่มีอะไรนอกจากเรื่องสมาธิ ท่านเรียกว่า สมาหิโต ได้มีจิตตั้งมั่นแล้ว
ฉะนั้นถ้าเราจะช่วยคนเหล่านี้รู้จักทำสมาธิในระดับต้นๆ นะ คือเป็นสมาธิพอสมควรเท่านั้นแหละ ก็จะป้องกันไอ้โรคประสาทจำนวนแสนๆ นี้ได้ นี่ก็สกัดไม่ให้เป็นโรควิกลจริตต่อไปอีก ซึ่งอยากจะพูดถึงเรื่องนี้กันก่อน จะใช้คำว่า สมาธิเพื่อสุขภาพทางจิต จำคำนี้ไว้ให้ดีๆ สมาธิเพื่อสุขภาพทางจิตกันในโลกนี้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ส่วนอีกอย่างหนึ่งนั้น สมาธิเพื่อก้าวหน้าไปสู่โลกุตตระ แล้วมันไกลมันสูงไป เป็นมรรคผลนิพพานไป เรายังไม่พูดถึง จะพูดกันแต่ว่า สมาธิเพื่อสุขภาพทางจิตของมนุษย์ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทีนี้สุขภาพทางจิตนี่ มันก็ไม่ใช่ของประชาชนเหล่านั้นโดยส่วนเดียว ระวังพวกเราแหละ ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ได้มีสุขภาพทางจิตสมบูรณ์หรือยัง มันมีเรื่องละเอียดอ่อนมากแล้วก็หลายซับหลายซ้อน ถ้าพระเราปรากฏว่าไม่มีสุขภาพทางจิต มันก็น่าละอายมาก น่าละอายชาวบ้าน พูดตรงๆ ว่า ถ้าพระเราเกิดเป็นโรคประสาทขึ้นมาสักองค์หนึ่งนี่ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน มันเป็นอย่างนั้น ถ้าชาวบ้านเขาเป็นก็พอจะให้อภัยได้ แต่ถ้าพระเป็นแล้วก็หมดท่าเลย ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน นี่ว่ามี ไม่มีสุขภาพจิตจึงได้เป็นโรคประสาท แล้วในที่สุดก็เป็นบ้าก็ได้ ในโรงพยาบาลโรคจิตไปดูเถอะพระแดงเถือกไปเหมือนกัน นอนกลิ้งไม่นุ่งผ้านุ่งผ่อนก็มีนะ นี่ผมรู้สึกว่าน่าเศร้ามาก น่าอาย น่าเสียดายหรือน่าเศร้ามาก สำหรับไอ้อาการอย่างนี้ได้เกิดขึ้นแก่สาวกของพระพุทธเจ้า จึงได้พูดในครั้งแรกนี้เพื่อให้นึกถึงกันก่อนว่า ถ้าอย่างไรให้นึกถึงสมาธิเพื่อสุขภาพทางจิตกันก่อนเป็นข้อแรก แล้วมันก็จะเป็นผลสำหรับไอ้สมาธิที่สูงขึ้นไปด้วย แปลว่าเราที่เป็นนักปฏิบัติธรรมนี่ ถ้ามีสุขภาพทางจิตดี คือมีสมาธิในขั้นต้นๆ ดี ดำรงจิตไว้ได้ดีก็จะส่งเสริมให้มีการปฏิบัติธรรมะในชั้นสูงขึ้นไปได้ดี เดี๋ยวนี้ถ้าเราทำสมาธิในขั้นต้น ซึ่งเป็นขั้นตระเตรียมเพื่อสุขภาพทางจิตก็ยังทำไม่ได้ มันก็ยากที่จะก้าวหน้าไปในอันดับสูงสูดได้ แม้กิจการงานอย่างอื่นของพระของเณรที่ไม่ใช่เป็นนักสมาธิ มันก็ต้องการสุขภาพทางจิตกันทั้งนั้นแหละ พระเณรธรรมดาที่ไม่เป็นผู้สนใจวิปัสสนาก็ต้องการสุขภาพทางจิตที่ดี เพื่อว่าเขาจะเป็นคนมีปกติดี มีมันสมองที่ดี มีมันสมองที่เข้มแข็ง อดทน รวดเร็ว จำเก่ง คิดเก่ง ทนเรียนหนังสือนานๆ ได้ ทนเรียนหนังสือวันละหลายๆ ชั่วโมงได้ ถ้าเขามีสุขภาพทางจิตดี
ฉะนั้นพระเณรที่เป็นนักเรียนปริยัติก็ควรสามารถมีสุขภาพจิตดี เพื่อให้การเรียนในหน้าที่ปริยัติดี หรือเพื่อเป็นการปกครองคณะสงฆ์ก็เป็นไปด้วยดี ทีนี้พระที่ดำรงตนเป็นฝ่ายวิปัสสนานี่ ก็ไม่ใช่ว่า ไม่ต้องการสุขภาพทางจิต ถ้าสุขภาพทางจิตมันอ่อนแอ มันก็ทำวิปัสสนาได้ไม่ดีเหมือนกันแหละ แล้วมันจะยุ่งยากลำบากที่ว่า ไม่มีหลักปริยัติที่เพียงพอ เป็นคนที่มีสุขภาพไม่ดี มันก็จำหลักปริยัติอะไรไม่ค่อยได้ นั้นก็มีนักวิปัสสนาบางพวกเข้าใจผิดรังเกียจปริยัติ ไม่แตะต้องปริยัติบวชแล้ววิ่งเข้าป่าเลย ระวังให้ดีนะจะได้เลยไปโรงพยาบาลนะ ถ้าทำอย่างนั้น บวชแล้ววิ่งเข้าป่าเลย มันควรจะมีความรู้ทางปริยัติที่เพียงพอจนสามารถที่จะใช้ฝึกฝนตัวเองได้ เขาเคยวินิจฉัยกันเรื่องนี้ในวงพระอรรถคาถาจารย์ ปริยัติกับปฏิบัตินี่อันไหนจะสำคัญกว่ากัน เขาบอกว่ามัน มันยากแหละที่จะพูดอันไหนสำคัญกว่ากัน ถ้าไม่มีปริยัติ ปฏิบัติก็สูญหายหมดแหละ เพราะว่าปฏิบัตินี่มันหายไปได้ง่าย ส่วนปริยัติเขาเขียนไว้ในกระดาษ ในหิน ในใบลาน ในอะไร มันอยู่ได้นี่ มันหายยาก พอเราไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเราก็ไปค้นเอามาจากพระคัมภีร์เหล่านั้น พบแล้วก็ปฏิบัติได้ อย่างนี้มันรักษาไว้อย่างถูกต้อง อย่างเที่ยงตรง อย่างยืดยาว จึงถือว่า ปริยัตินี่เป็นรากแก้วของพระศาสนา ปฏิบัติตั้งอยู่บนนั้นอีกที ปฏิบัติตั้งอยู่บนนั้นอีกทีหนึ่ง ปริยัติเป็นรากแก้วของพุทธศาสนาให้ถือเอาไว้ให้ได้ เพื่อให้ยังมีอยู่ในโลกนั่นแหละพอสงสัยเมื่อไรก็ไปเอาไปค้นเอามาใช้ได้หรือเมื่อปฏิบัติมันสูญหายไปเมื่อไร ไม่รู้จะไปดูที่ไหน ก็ไปค้นเอามาจากคัมภีร์ปริยัติทั้งหลาย ผมก็บอกได้เหมือนกันแหละไม่ใช่ว่าจะอวดดี แต่จะบอกให้ทราบว่า เมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ที่ผมมีสวนโมกข์ขึ้นมานี่ไม่รู้จะไปดูที่ไหนเหมือนกัน ไม่รู้จะไปดูการปฏิบัติที่ไหนในประเทศไทยนี่ เมื่อ ๕๐ ปีมาแล้วแรกมีสวนโมกข์ ผลสุดท้ายมันก็หันหน้าเข้าหาพระไตรปิฎก ก็เก็บๆๆ เอามาจากพระไตรปิฎกแล้วก็มาทดลองปฏิบัติแล้วก็รู้ขึ้นๆๆ จนพอใจ ข้อนี้ต้องทราบไว้ด้วยว่า ในครั้งพุทธกาลแท้ๆ ก็ไม่ได้มีพระอาจารย์ไปนั่งขนาบข้างคอยสอบอารมณ์ทั้งเช้าทั้งเย็น แต่ท่านจะบอกข้อความที่เป็นปัญหาให้ข้อหนึ่ง แล้วก็ไปปฏิบัติคิดค้นด้วยตนเองเป็นเวลา ๒ เดือน ๓ เดือน จึงจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือจึงจะมาหาอาจารย์ เรื่องนั่งขนาบข้างคอยสอบอารมณ์นี้ไม่พบในประวัติ ในพระบาลี ข้อนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าในการปฏิบัตินั้นมันไม่สำเร็จโดยลำพังสอน หรือบอกโดยบุคคล บุคคลจะสอนกันโดยตรงไม่ได้ ลองคิดว่าจะให้อะไรสอนต้องให้การปฏิบัตินั่นแหละมันสอน ให้ตัวการปฏิบัตินั่นแหละมันสอน บุคคลจะสอนอย่างนั้นไม่ได้ จะยกตัวอย่างให้ฟังว่า เหมือนจะหัดแจวเรือ จะหัดพายเรือ ดูจะเป็นกันทุกคนหัดพายเรือ คนสอนกันได้ที่ไหน บอกให้ทำอย่างนั้น ถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็พายไม่ได้ มันก็พายคดไปคดมา มันก็ต้องลงเรือ ต้องจับพายเข้า แล้วก็พายหันเห เก้กังๆๆ อยู่ แล้วพายนี่มันสอน เรือมันจะสอน แล้วคนนั้นจะค่อยๆ รู้จักพายเรือให้ตรง จนตรงเป็นว่าเล่น คนสอนกันไม่ได้ แม้แต่หัดว่ายน้ำก็เหมือนกันแหละ สอนในเบื้องต้นบอกทำอย่างนั้นๆๆ แล้วก็ไปทำเถอะมันก็ได้ หรือว่าจะขี่รถจักรยานมันสอนกันโดยบุคคลไม่ได้ เพียงแต่ทำให้ดูบอกอย่างนั้น บอกอย่างนี้ บอกหมดแล้ว มันก็ยังขี่ไม่ได้พอขึ้นมันก็ล้ม แล้วคำแนะนำดีแล้วเห็นเขายังขี่อยู่ทั่วไปแล้ว พอขึ้นแล้วมันก็ล้มแหละ ที่นี้ก็เป็นหน้าที่ของไอ้รถนั่นแหละจะต้องสอน ถ้าพูดให้ถูกกว่านี้นะต้องพูดว่า การล้มนั่นแหละมันสอน เมื่อรถมันล้มๆๆ หน้าแข้งถลอกปอกเปิกนั่นแหละ มันสอน ไม่ใช่คนสอนกันได้เรื่องอย่างนี้ นี่เรื่องวัตถุแท้ๆ คนก็ยังสอนกันไม่ได้ หรือเมื่อเด็กทารกมันจะหัดยืน จะหัดเดิน นี่คนสอนไม่ได้ ต้องการล้มของมันนั่นแหละจะสอนให้มันรู้จักทำตัวให้สมดุลไม่ล้ม แล้วก็ก้าวเดินไปได้ เพราะการล้มนั่นแหละมันสอน เดี๋ยวนี้คนมันไม่เข้าใจพอล้ม พอล้มเท่านั้น มันก็เลิก พอล้มเท่านั้น มันก็เลิก ฉะนั้นครั้งแรกมันก็เลิก มันก็ขี่ไม่ได้ ขี่รถไม่ได้ ยืนไม่ได้ นี่คนเดี๋ยวนี้มันอะไร มันต้องใช้คำว่ามันโง่ มันโง่มาก พอทำสมาธิวันนี้ไม่สำเร็จ มันก็รวนเร มันก็เลิก มันไม่ทำซ้ำๆ ล้มๆ ซ้ำๆ แล้วล้ม ล้มแล้วซ้ำ ซ้ำแล้วล้มเหมือนกับว่าเขาขี่ หัดขี่รถจักรยาน ล้มตั้งยี่สิบสามสิบครั้งมันจึงจะขี่ได้ มันไม่ยอมแพ้ แล้วมันต้องหัดกันเป็น ๑๐อวันขึ้นไปแล้วก็ล้ม บางคนอาจจะถึงร้อยครั้งมันจึงจะขี่รถจักรยานได้ นี้คนโง่นี่พอทำสมาธิวันนี้ไม่ได้ มันก็เลิกแล้ว พรุ่งนี้ มันก็เลิกแล้ว
ฉะนั้นคนเป็นอันมากจึงทำสมาธิไม่ได้แล้วก็มารายงานว่าผมทำไม่ได้ ผมทำไม่ได้ไปด้วยทั้งนั้น เพราะมันไม่เคยทำตั้ง ๒๐ ครั้ง ๓๐ ครั้งหรือ ๑๐๐ ครั้ง นี่ก็เพื่อบอกให้รู้ว่า ไอ้การปฏิบัตินั่นมันสอน คนสอนไม่ได้ คนสอนได้เพียงบอกว่าทำอย่างนั้น อย่างนั้น นั่นคือปริยัติ ปริยัติจะบอกว่าคุณขี่รถจักรยานคุณจับตรงนี้ คุณถีบตรงนี้ คุณบำรุงอย่างนั้น อย่างนี้ๆ มันเป็นเรื่องของคำสอน นี้คนปฏิบัติก็เอามาขี่ ขี่ก็ล้ม ล้มขี่ ขี่ล้ม ล้มขี่ ขี่ล้ม ล้มขี่ มันคอยรู้จักทรงตัวๆๆ จนมันขี่ได้ แต่ขี่รถจักรยานจิตก็เหมือนกันนะ มันจะยากอะไรรถจักรยานธรรมดา มันจะล้มอย่างนั้นแหละ ขี่รถจักรยานจิตนี่มันจะล้ม ๑๐๐ ครั้งก็ได้ มันจึงจะค่อยๆ ได้ ค่อยๆ ได้ ยืนได้คือเป็นสมาธิได้ ปริยัติก็มีหน้าที่ที่จะบันทึกไอ้คำหลักวิชาคำสอนไว้ แล้วก็โยนให้คนปฏิบัติ คนปฏิบัติไปทำ ทำมันก็ล้ม ทำมันก็ล้ม ล้มๆ ๒๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้งมันก็ไม่ล้ม มันก็ไปได้ ทำอย่างไรก็ขอให้รักษาหลักปริยัติไว้ อย่าให้ผิดแปลกวิปลาสไปเสีย ยังคงอยู่ ต้องการเมื่อไรไปดูให้ได้เอามาดู แล้วก็ทำตามนั้น ก็ค่อยๆ ได้ก็ได้แน่นอน ในที่สุดมันก็จะค่อยๆ ได้ นี่เรียกว่าปริยัติมันก็ช่วยโดยหลักวิชาแต่มันจะช่วยหมดก็ไม่ได้ ก็เพื่อจะให้คนๆ นั้นเอาไปฝึกเอาเอง ให้การปฏิบัติของเขาสอนเขาเอง พระพุทธเจ้าท่านก็ทำอย่างนี้ คือบอกหลักธรรมะสำคัญที่จะไปคิดค้นอะไรให้เรื่องหนึ่งแล้วก็ไป เดือน ๒ เดือน ๓ เดือนค่อยมาพูดกัน เพราะว่าผู้ที่ได้รับไปนั้น เขาไม่ได้เหลวไหล เขาไปนึกไปคิดไปใคร่ครวญ ไปทดสอบ ไปพยายามเรื่อย เหมือนกับพยายามจะขี่รถจักรยาน ล้มแล้วขี่อีก ล้มแล้วขี่อีก ล้มแล้วขี่อีก จะถลอกปอกเปิกหน้าแข้งเจ็บก็ไม่หยุด ในที่สุดเขาก็ทำได้ ขอให้เรารู้เรื่องนี้ทำให้ได้ในส่วนเรา คืออย่างน้อยที่สุดทำสมาธิในขั้นพื้นฐาน ทำสมาธิขั้นต้นๆ ขั้นพื้นฐานนั้นให้ได้ เพียงเท่านี้มันก็จะมีสุขภาพจิตดีขึ้นมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีอานาปานสติสร้างสุขภาพทางจิตดีกว่าแบบอื่น แบบอื่นก็ว่าไม่ใช่จะไม่ได้ แต่ตามความรู้สึกของผมว่า ถ้าจะสร้างสุขภาพทางจิต ทางร่างกายกันเร็วๆ แล้วก็แบบอานาปานสติจะได้ผลง่าย ได้ผลมาก ได้ผลเร็ว เพราะว่าไอ้ร่างกายนี่มันหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยลมหายใจ ถ้ามีวิชามีความรู้ที่จะจัดให้ลมหายใจหล่อเลี้ยงร่างกายให้ถูกต้องที่สุด เพียงพอที่สุด มากที่สุด ไอ้ลมหายใจมันก็หล่อเลี้ยงร่างกายดีที่สุด นั้นสุขภาพทางกาย มันก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ก็ฝึกต่อไปให้มันเนื่องไปถึงจิต ในร่างกายที่สบายดีแล้วจิต มันก็ง่ายที่จะฝึกฝนได้ เมื่อฝึกอีกไปขั้นตอนหนึ่ง มันก็ได้ผลทางจิต เราก็มีสุขภาพจิตดี คือมีจิตใจเข้มแข็งพอที่จะปรกติอยู่ได้ในชีวิตประจำวันในโลกนี้
ฉะนั้นถ้าประชาชนชาวบ้านทั่วไปของเรารู้จักทำสมาธิแม้ในขั้นต้น แล้วก็จะมีสุขภาพทางกายและทางจิตดี มีสมาธิพอสมควรที่จะระงับไอ้ความกระวนกระวายใจ ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจหรือความรู้สึกวิตกกังวลอะไรๆ ที่ทำให้เขานอนไม่หลับจนเป็นโรคประสาทได้ นั้นถ้าประชาชนเหล่านี้รู้จักทำสมาธิบ้างในบางระดับก็จะป้องกันไอ้โรคประสาทได้ คนเป็นโรคประสาทก็จะน้อยลง จะมีประโยชน์แก่บ้านเมือง จะมีประโยชน์แก่รัฐบาล เรียกว่ามีประโยชน์แก่สังคมมนุษย์ของเราก็แล้วกัน ทำไมจึงว่าระบบอานาปานสติดีกว่าระบบอื่นซึ่งไม่ได้ ซึ่งถ้าไม่เกี่ยวข้องกับลม ก็เพราะว่าไม่ได้ปรับปรุงขยับขยายการหายใจให้ถูกต้องให้มีลมหายใจเลี้ยงร่างกายอย่างถูกต้องที่สุด ปาณะหรือปราณ ปาณะหรือปราณ อานาปานะ นะคือ ปราณาปานะ นั่นเอง ปราณหรือปาณะในภาษาบาลี ปาณะในภาษาสันสกฤตนั่นคือ ลมหายใจ แต่เขาอธิบายเลยไปว่า ในลมที่หายใจเข้าไปนั้นมีเชื้อแห่งชีวิต มีสิ่งที่บำรุงชีวิตอยู่ด้วย นั้นการที่หายใจเอาอากาศ บรรยากาศนี้เข้าไป มันเป็นการสูดเอาชีวิตตามธรรมชาติที่มีอยู่ในอากาศนี้เข้าไปด้วย ฉะนั้นถ้ามีวิธีสูดลมหายใจให้ถูกต้อง ร่างกายนั้นจะได้พืชแห่งชีวิต เชื้อแห่งชีวิต กำลังแห่งชีวิตตามธรรมชาติเข้าไปเลี้ยงร่างกายมากกว่าธรรมดา
ฉะนั้นจึงมีวิธีเฉพาะว่าหายใจอย่างไรจึงจะได้สูดเอาปราณะนี่เข้าไปในร่างกายนี้ได้มาก วิธีหายใจอย่างไรจะมีประโยชน์แก่ร่างกายมากที่สุดนี่เขาค้นพบมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลด้วยซ้ำไป แล้วก็ยังสอนอยู่ในประเทศอินเดีย ใช้กันอยู่ในประเทศอินเดียจนกระทั่งบัดนี้ เชื่อว่าก็จะพบวิธีนี้ก่อนพุทธกาลด้วยซ้ำไป มันไม่มีเรื่องอะไร มีหลักแต่ว่าหายใจอย่างไรจะได้สูดเอาปราณในโลกนี่เข้าไปหล่อเลี้ยงภายในกายของเรามากที่สุด เขาเรียกวิธีนี้ว่าการควบคุมลมหายใจ เขาจะเรียกกันอยู่ทั่วๆ ไปในอินเดียว่า ปราณยาม ปราณายามะ นักปฏิบัติอินเดียทั้งหลายจะต้องศึกษาข้อนี้ก่อนเสมอ เขามีวิธีหายใจนะ บทเรียนที่ ๑ บทเรียนที่ ๒ บทเรียนที่ ๓ บทเรียนที่ ๑ หายใจอย่างนั้น เข้าเท่านั้น ออกเท่านั้น ยักย้ายกันไปต่างๆ นานา แล้วก็กระทั่งยากขึ้นๆ กระทั่งหายใจลึกที่สุด มีอยู่หลายบทเหมือนกัน ผมเห็นของโปรเฟสเซอร์คนหนึ่งที่กำลังพักอยู่ที่นี่ เขาเรียกว่าปราณายามะ ปฏิบัตินี่จะขอร้องให้เขาอนุญาตให้พิมพ์เป็นภาษาไทย แปลเป็นภาษาไทย ปราณายามะนี่จะมีประโยชน์กับพวกนักวิปัสสนามากทีเดียว ไม่ใช่ของพุทธโดยตรง มันเป็นของสากลในอินเดีย รู้จักวิธีหายใจให้มีประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยมากที่สุด แต่เขาพูดให้มันศักดิ์สิทธิ์กว่านั้น นั่นมันธรรมดาเกินไป เอาชีวิตเอาปราณนะเข้าไปให้มากที่สุด เราจะมีชีวิตเข้มข้นมากที่สุด สิ้นปราณคือตาย หรือปลง ปลงสัตว์เสียจากปราณ ปาณาติปาตา เวระมะณี ทำสัตว์ให้ตกล่วงจากปราณ ทำสัตว์ที่มีปราณให้ตกล่วง ให้ตกล่วงจากปราณ คือปราณนั้นมันหล่อเลี้ยงชีวิตไม่ได้อีก มันก็ตาย นี้ก็มีวิธีทำให้มันหล่อเลี้ยงมากที่สุดที่ธรรมชาติมันจะอำนวยให้ได้ ซึ่งเพียงเท่านี้มันก็เรียกว่ามีสุขภาพกายและสุขภาพจิต นี้ถ้าเรามาต่อกันเข้ากับไอ้วิธีปฏิบัติในพระพุทธศาสนาโดยตรง มันก็ต้องมีผลมากกว่า แปลว่าสติปัญญาอะไรๆ ที่เขามีกันอยู่ก่อนโน้น เอามาแหละ ไม่ใช่ของใครที่จะสงวนไว้ได้ แม้จะไม่ใช่ของพุทธศาสนา มันก็เป็นของธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ วิธีปฏิบัติอะไรๆ ก็เมื่อมันพิสูจน์ ก็มีประโยชน์ ก็ใช้ได้ แม้การดัดตนวิชาโยคะ ที่เรียกว่าโยคะ ดัดตนท่านั้น ดัดตนท่านี้มีอยู่มากมาย แต่ก็มีอยู่บางท่าบางชนิดมีประโยชน์แก่นักวิปัสสนา ผู้ต้องการจะนั่งนานๆ ถ้านั่งนานๆ โดยท่านั่งอย่างนั้นหรือว่าโดยใช้ท่านั่งอย่างนั้นมาเป็นเครื่องแก้ขบ ขัด เมื่อย ยอก ขัด มันก็สบายดี นี่สิ่งที่เรียกว่าโยคะ โบรงโบราณของอินเดียมันก็มีประโยชน์ที่จะสร้างสุขภาพทางกาย ให้สุขภาพทางกายดีแล้ว สุขภาพทางจิตก็ดี สุขภาพทางจิตดีก็ คือมีสมาธิ มีปัญญาตามสมควรแต่มีสมาธิมาก แล้วคนมันก็จะไม่เป็นโรคประสาท แล้วจะไม่เป็นบ้ามาก เหมือนที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ ตำราโยคะเดี๋ยวนี้แพร่หลายมากผมเห็นก็มีเกลื่อนไปหมดที่เขาพิมพ์ขึ้นขาย มีตั้งหลาย ๑๐ ท่าใน๔-๕ท่านั้นมีประโยชน์แก่นักวิปัสสนานั้นไปลองดู ท่าโยคะตามแบบโยคะบางท่าส่งเสริมสุขภาพทางกายและทางจิต วิธีปราณายามะ วิธีการหายใจตามแบบของโยคะโบราณเรียกว่า ปราณยาม นั้นก็มีประโยชน์แก่นักวิปัสสนา นักบวช ถ้าเป็นนักบวชทุกแขนงในอินเดีย เขาใช้ปราณายามะนี้ร่วมกันหมด มันไม่ถือว่าเป็นของลัทธิไหนโดยเฉพาะ ไม่ถือเป็นของพวกไหนโดยเฉพาะ ถือเป็นของธรรมชาติ ฉะนั้นชาวบ้านก็ เขาก็ทำนะ ชาวบ้านที่อยู่ที่บ้านที่เรือน เขาทำปราณายามะมากขึ้นๆๆ
ฉะนั้นเราจะเห็นคนสูงอายุนั่งทำปราณายามะอยู่ที่สนามหญ้าในบ้าน ริมบ้าน นอกบ้าน หรือที่สาธารณะต่างๆ กันทั่วไปแหละ มันดีอย่างนั้น ก็มีการหายใจที่ถูกต้องตามธรรมชาติที่สุด ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติมากที่สุดเกี่ยวกับการหายใจ และเขาทำสมาธิต่อไปได้และทำได้ดี ถ้าร่างกายขบขัดก็คล้ายๆ แก้โดยวิธีโยคะไม่ต้องไปจ้างหมอนวด มันก็แก้ไขให้ร่างกายปรกติได้ นี่ผมจะเรียกว่าเพื่อสุขภาพทางกายและทางจิตสำหรับประชาชนทั่วไป
ฉะนั้นขอให้พวกเรา วิปัสสนาจารย์ทั้งหลายแตกฉานในเรื่องนี้ก่อน อย่างน้อยก็เพื่อตัวเองนั่นแหละจะได้มีสุขภาพอนามัยดี คือว่าตัวพระวิปัสสนาจารย์เองนั่นแหละ อย่าได้ต้องเป็นโรคประสาทให้ละอายแมว ชาวบ้านเขาจะไม่นับถือ ถ้าพระวิปัสสนาจารย์เป็นโรคประสาทลงไปสักองค์ ล้มละลายหมดเลยคอยดูเถอะ ถ้ามันมีส่วนความผิดพลาดเสียแล้วนี่ นั้นขอให้พวกเราทุกคนนะมีสุขภาพทางกายและทางจิตที่ถูกต้องแก่การที่จะเป็นนักวิปัสสนา มันมีการฝึกสมาธิแม้เพียงในหมวดแรกนี่ ที่ว่าสมาธิภาวนาเพื่อความสุขในปัจจุบันนี่ให้ได้เสียก่อนใน ๔ แบบนั่น ใน ๔ ชุดมีอยู่ชุดแรก สมาธิภาวนาเพื่อความสุขในทิฏฐธรรม
เอ้า, ก็พูดต่อไปถึงเรื่องนี้ว่ามันมี มันก็ได้แก่การเจริญรูปฌาน พอใช้คำว่า รูปฌาน ดูมันจะขลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเสียอีก ก็อยากจะบอกให้ทราบว่า ไปอ่านดูในพระไตรปิฎกนะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสถึง รูปฌาน อรูปฌานแต่ย่อๆ ไม่มี ไม่มีรายละเอียด เพราะว่าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายอยู่แล้วในผู้ปฏิบัติ ในสูตรทุกสูตรที่ออกชื่อ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน อย่างไหนก็กล่าวแต่ย่อๆนะ โดยหลักไม่ได้บอกรายละเอียดซึ่งเราไม่เข้าใจ เราสมัยนี้ไม่เข้าใจ แต่คนสมัยนู้นเขาเข้าใจ เขาพอจะเข้าใจ และเขาก็เข้าใจกันอยู่แล้วไม่น้อย เขาจึงสามารถที่จะปฏิบัติในขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ นี้เพื่อผลเป็นสมาธิ เพื่อเป็นบาทฐานสำหรับเจริญวิปัสสนาให้บรรลุมรรคผลในขั้นต่อไป ที่เดี๋ยวนี้เรามันขาดตอนต้องรับคำอธิบายที่เพียงพอว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดสมาธิประเภทต้น ประเภทแรก คือมีความสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้ที่เรียกว่าทิฏฐธรรม ก็สรุปความว่า หาวิธีปฏิบัติที่ให้เกิดทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ทั้ง ๔ ฌาน ในหนังสือก็มีพอสมควรแล้ว สมัยนี้มีคนเขียนอธิบายกันมามากแล้ว สมัย ๕๐-๖๐ ปีก่อนโน้นมันไม่มี ไม่มีใครเขียนให้ ไม่มีใครเขียนไว้ เขียนแต่ย่อๆ ที่นี้ก็จะบอกไอ้หลักนะ ไอ้หลักของมัน คือไม่ใช่รายละเอียดนะ บอกหลักเกี่ยวกับสมาธิในระดับแรก คือ เพื่อเกิดรูปฌานทั้ง ๔ เข้าไปดูรายชื่อที่เรียกกันว่ากรรมฐาน ๔๐ จากหนังสือวิสุทธิมรรคและที่อานาปานสตินอกวิสุทธิมรรคอยู่ในพระไตรปิฎกโดยตรงดีกว่า ละเอียดกว่า ที่ผมพิมพ์ขึ้นเรียกว่า หนังสืออานาปานสตินะ แต่ที่นี้มันเหมือนกันหมดแหละ จะเป็นเรื่องกสิณทั้ง ๑๐ หรืออสุภทั้ง ๑๐ หรืออนุสติทั้ง ๑๐ หรืออะไรอีกก็ตาม ไอ้อันหรือข้อที่มันจะทำให้เกิดฌานได้ มันจะมีหลักเกณฑ์เหมือนกันหมด ไอ้ที่มันไม่ละเอียด ที่มันละเอียดเกินไปมันกำหนดให้มันเป็นของแน่วแน่ไม่ได้ มันก็ไม่เป็นฌานได้ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ใช้ให้เป็นอุปกรณ์ เช่นว่า พรหมวิหาร กำหนดไม่เป็นก็ไม่มีทางที่จะเป็นฌานได้ หรือมันไม่ประสงค์ที่จะให้เป็นฌาน แต่ต้องการให้ทำจิตอย่างนั้น ทำจิตอย่างนั้น ทำจิตอย่างนั้นให้แผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาไปทั่วรอบด้านนะ ถ้าทำอย่างนี้ก่อนแล้วจิต มันก็เหมาะที่จะทำให้เกิดฌานโดยกรรมฐานอื่นได้โดยง่าย จึงมีกรรมฐานบางชนิดก็เพื่อเป็นอุปกรณ์แห่งกรรมฐานอื่น เพื่อที่จะเกิดถึงฌานได้ ไอ้ที่มันจะเกิดถึงฌานได้มันต้องมีสมาธิ ต้องมีนิมิตของสมาธินั้นชัดเจน ต้องมีสมาธิที่จะเอามาทำเป็น ต้องมีนิมิตที่จะเอามาทำสมาธิให้มันชัดเจน เช่น กสิณเป็นวงๆ ดวงแดง ดวงขาว ดวงเขียว ดวงเป็นวงๆ นี่มันเอามาวางลงตรงหน้า มันกำหนดได้ชัดเจน แล้วจะกำหนดอสุภทั้งหลายมันก็เห็นอยู่ตรงหน้ามันก็กำหนดได้ชัดเจน อนุสติระลึกๆ แล้วก็ประมวลความระลึกให้มันเกิดจุดรวมขึ้นที่ตรงไหน ให้มันสร้างมโนภาพเป็นดวง เป็นแสง เป็นอะไรขึ้นที่ตรงนั้น มันก็ได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เรื่องของอานาปานสตินี่ มันมีหลักว่าลมหายใจ ลมหายใจกำหนด ลมหายใจ กำหนดลมหายใจ จนกำหนดที่จุดๆ หนึ่งที่ลมหายใจ มันผ่านอยู่เรื่อย มันกระทบอยู่เรื่อย กำหนดตรงนั้นแน่นเฟ้นมั่นคงแล้วทำให้เกิดนิมิตประเภทมโนภาพ เป็นดวง เป็นแสงอะไรขึ้นที่ตรงนั้นที่เรียกว่า อุคคหนิมิตของอานาปานสติ รวมความว่า เราต้องมีมโนภาพ ภาพนิมิตซึ่งไม่ใช่ตัวจริงขึ้นที่ตรงนั้น ตรงที่เราต้องการให้มันตั้งอาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานสติก็ที่ปลายจมูก นี้ถ้าว่าเป็นกสิณ เป็นดวงกลม ดวงกลมๆ เป็นสีต่างๆ กันนะเอาดวงใดดวงหนึ่งมาวางตรงหน้าแล้วกำหนดจนกระทั่งหลับตาเห็น แล้วก็ไปปะไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งที่จุดเดียวกับอานาปานสติก็ได้ มันต้องทำจนมีภาพที่ไม่ใช่ของจริง ที่ไม่ใช่ตัวจริง เป็นแต่ภาพที่เราสร้างขึ้นด้วยจิต ให้กำหนดต้องไปปะอยู่ที่ตรงไหนที่ตรงนั้นแน่วอยู่ที่ตรงนั้น นี่จากกสิณทั้ง ๑๐ มันก็ทำได้ง่าย เพราะว่ามันเป็นดวงอยู่แล้ว ทั่วไปอยู่แล้วข้างนอก ดวงที่ดูด้วยตาข้างนอกนั้น เดี๋ยวนี้มัน มันกลับมันเปลี่ยนไปอยู่ข้างในดูด้วยตาข้างใน หลับตาเสียก็ยังเห็นชัดอยู่ นี่ต้องเรียกว่ามีอุคคหนิมิตอย่างนี้ก่อนถึงเขาจะไปทำด้วยซากศพก็เหมือนกัน มันต้องประมวลไอ้ภาพที่เห็นของซากศพนั่นเป็นนิมิตอยู่ที่ตรงใดตรงหนึ่งในรูปแบบของอุคคหนิมิตทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นเราจะใช้อะไรก็ได้ สิ่งใดก็ได้ในหลายๆ อย่าง หลายๆ สิบอย่างมากำหนดจนได้มีสิ่งกำหนดได้โดยด้วยใจ ไม่ต้องลืมตาดู เป็นอุคคหนิมิต นี่แสดงว่าเดี๋ยวนี้เราบังคับจิตได้ขั้นตอนหนึ่งแล้ว คือสามารถสร้างภาพ มโนภาพหรืออุคคหนิมิตขึ้นมาได้ยังไง ตามธรรมดามันสร้างไม่ได้ เพราะมันไม่เคยพยายาม นี้ถ้าว่าพยายาม ๆ จนเราสามารถสร้างอุคคหนิมิตขึ้นมาเห็นชัดเจนอยู่ในตาข้างใน ก็เรียกว่าสำเร็จ การปฏิบัติสมาธิขึ้นมาได้ชั้นหนึ่งแล้ว มันต้องผ่านชั้นนี้ไปทั้งนั้น คือชั้นที่มีอุคคหนิมิตที่สร้างขึ้นมาได้จะโดยจากสิ่งใดก็ตาม เขาจะใช้สิ่งอะไรเป็นรูปภาพสำหรับเพ่ง จะเป็นรูปคน รูปของ รูปอะไรก็แล้วแต่มันได้ทั้งนั้นแหละว่าที่จริงนะ มันแล้วแต่ว่าอย่างไหนมันสะดวก อย่างไหนมันเหมาะสม ถ้าอย่างง่ายที่สุด ต่ำที่สุดก็วงกสิณที่ยากขึ้นไปหน่อยสูงขึ้นไปหน่อยละเอียดขึ้นไปหน่อย แต่มีผลดีกว่าก็เช่นลมหายใจ ซึ่งมันไม่มีรูปให้เห็นด้วยตาแต่มันสัมผัสได้ด้วยความรู้สึก ประสาทข้างใน แต่มันก็สามารถสร้างภาพนี้ขึ้นมาได้ตรงจุดที่มันกระทบอยู่เป็นประจำ ฉะนั้นเราจะพิจารณาของคนนอกนะที่เขาใช้หลอดไฟฟ้าบ้าง ใช้เทียนบ้าง หลอดไฟฟ้ามานั่งเพ่งจนหลับตาก็เห็น หลับตาก็เห็น แล้วมันก็เหมือนกันกับโดยหลักเกณฑ์ตามธรรมชาติเหมือนกัน คือมีอุคคหนิมิต ฉะนั้นเราจะมีฌานฝึกเพื่ออุคคหนิมิตทุกแบบ ถ้ามันเห็นได้โดยไม่ต้องลืมตาเห็นก็เป็นอุคคหนิมิตทุกแบบ
ฉะนั้นนิมิตนั้นมันจะใช้เป็นการศึกษา เป็นบทเรียนสำหรับทำให้มันสูงขึ้นไป สูงขึ้นไปให้จิตละเอียดประณีตขึ้นไป คือว่าบังคับควบคุมอุคคหนิมิต นั้นให้เปลี่ยนได้ตามที่เราต้องการ นี่แสดงว่ามันเป็นการควบคุมจิต บังคับจิต ต่อสู้กับจิต ต่อสู้กับอะไรต่างๆ จนเราชนะ จนเราสามารถน้อมจิตไปเพื่ออะไร เพื่อเห็นอะไร มันก็เห็นสิ่งนั้นๆ จิตไปเพื่อเห็นอะไร มันก็เห็นสิ่งนั้นๆ นี่เขาเรียกว่าอุคคหนิมิตนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนรูปได้ เปลี่ยนสีได้ เปลี่ยนขนาดได้ เปลี่ยนอิริยาบถได้ ทีนี้ก็เลือกเอาใหม่ พอมาถึงขั้นนี้แล้ว มันจะไปสู่ปฏิภาคนิมิต มันก็ต้องเลือกเอาใหม่อันไหนที่เหมาะสมจะมา เอามาปรากฏอยู่อย่างแน่วแน่ ไม่ยักย้าย ไม่โยกย้ายอีกต่อไป แต่ว่าต้องมีการโยกย้าย ยักย้าย เปลี่ยนแปลงมากมายจนให้มันอยู่ในอำนาจ ให้มันเคยชิน ให้มันอยู่ในอำนาจกันเสียก่อน ไอ้พวกปฏิภาคนิมิตน่ะ คือเราได้จัดสรรมาดีแล้วจากอุคคหนิมิต บังคับอย่างไรได้อย่างนั้น บังคับอย่างไรได้อย่างนั้น ลองบังคับดูหลายแบบ หลายสิบแบบ แล้วก็เลือกเอามาแบบหนึ่งเพื่อจะเพ่งดูอยู่อย่างนิ่ง อย่างเงียบ อย่างสงบที่สุด ถ้าว่าจะบังคับมัน อุคคหนิมิตนั้นจะถูกบังคับให้เปลี่ยนสีบ้าง เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เปลี่ยนขนาดบ้าง มันวุ่นวาย มันยังวุ่นวายอยู่ แต่มันวุ่นวายตามแบบของจิตวุ่นวายตามแบบของสมาธิไม่เป็นไร แต่ยังไม่ใช่สงบระงับแห่งจิต อุคคหนิมิตจึงจะต้องถูกทำ ถูกคัดเลือกให้ดีที่สุด แต่ต้องเลือกอันดีที่สุดที่เหมาะสมที่สุดมากำหนดกันใหม่เพื่อความแน่วแน่จนสามารถกำหนดรู้สึกวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตาได้ จนสามารถที่จะกำหนดได้อย่างนั้น คือการที่จิตกำหนดอารมณ์เรียกว่า วิตก อย่างนั้นคืออาการที่จิตรู้สึกเต็มที่ สัมผัสอารมณ์เต็มที่เรียกว่า วิจารณ์ เดี๋ยวนี้ความรู้สึกที่เป็นปีติเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเราทำได้สำเร็จแค่นี้ เดี๋ยวนี้ความรู้สึกที่เป็นสุขก็รู้สึกได้อยู่ รู้สึกความที่จิตเดี๋ยวนี้มีอารมณ์เดียวเขาเรียกว่า องค์ฌานทั้ง ๕ จะเป็นสิ่งที่ผู้นั้นกำหนดรู้ได้ มองเห็นได้ รู้สึกได้ก็ต้องซ้อมกันอยู่อีกนานแหละกว่ามันจะชัด แน่วแน่ มั่นคง ทั้ง ๕ นี่ก็เรียกว่า รูปฌานอันแรกทำให้ได้นี่มันจะกินเวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปีหรือจะต้องล้มกี่ ๑๐ ครั้ง กี่ ๑๐๐ ครั้ง มันล้มแล้วทำอีก มันล้มแล้วทำอีก มันล้มแล้วทำอีก มันก็ต้องได้เพราะเขาก็เคยทำได้กันมาแล้วจนเป็นธรรมดาที่ว่ามนุษย์ต้องทำได้ แต่ที่นี่คนโง่ มันทำทีแรกไม่ได้ มันก็เลิก ไม่ได้ทีแรกมันก็เลิก ก็เลิก มันก็ไม่ต้องทำ นี่เรื่องสมาธิ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับอ่านหนังสือ หรือไม่ง่ายเหมือนกับเรียนปริยัติ นี่ผมบอกอย่างนี้ก็เท่ากับว่า บอกว่าขี่รถจักรยานนั้นจับอย่างไร ถีบอย่างไร ประคองอย่างไรก็บอกกันตั้งมากมาย แล้วพอคุณไปขี่มันก็ล้ม พอล้มแล้วขี่อีก ล้มแล้วขี่อีก ล้มแล้วขี่อีก หลาย ๑๐ ครั้งมันก็ขี่ตรงไปได้นะ เรื่องของสมาธินี้ก็เหมือนกัน เมื่อได้บอกกันถึงที่สุดอย่างนี้แล้วไปทำเข้า มันก็ไม่ได้ ไปทำเข้ามันก็ไม่ได้ แม้ขั้นต้นๆ มันก็ยังไม่ได้อย่าว่าแต่ขั้นสูงๆ ขึ้นไป พอไปทำขั้นต้นๆ มันก็ล้มนะ แล้วมันก็ล้มนะจนกว่าจะทำได้ แล้วก็ทำได้สูงขึ้นไปตามลำดับ มีอุคคหนิมิตอยู่ในมือ อยู่ในอำนาจของเรา แล้วก็มีปฏิภาคนิมิตอยู่ในมือ อยู่ในอำนาจของเรา แล้วองค์ฌานทั้ง ๕ ก็จะอยู่ในมือ อยู่ในอำนาจของเรา เมื่อนั้นเราจะมีความสุขชนิดที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน หรือความสุขที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ในทิฏฐธรรมมีความสุขในทิฏฐธรรม
ฉะนั้นถ้าถึงขั้นนี้แล้วก็หมายความว่า เราบังคับจิตได้เต็มที่ สลัดนิวรณ์ทั้งหลายออกไปเสียได้ตามที่เราต้องการ เมื่อนิวรณ์มาเมื่อไรก็สลัดออกไปเสียได้ มาเมื่อไรก็สลัดออกไปเสียได้ ดังนั้นจึงไม่มีเรื่องปวดหัวยังไง จึงไม่มีเรื่องปวดหัว ไม่มีเรื่องนอนไม่หลับ ไม่มีเรื่องอะไรทำนองนั้น ถ้าประชาชนของเราทำได้ก็ไม่มีใครเป็นโรคประสาท แล้วถ้าในหมู่พระเราทำได้ก็จะไม่มีพระองค์ไหนเป็นโรคประสาทที่เกี่ยวกับวิตกกังวลหรือเกี่ยวกับนิวรณ์นะ กามฉันทะมันมันไหลไปในทางกาม พยาบาทไหลในทางไม่ชอบใจ โกรธแค้น ขัดเคือง ถีนมิทธะ มันฟุบ มันซุก มันตก พลังมันตก อุทธัจจกุกกุจจะมันฟุ้งแล้ววิจิกิจฉา คือมันไม่แน่ใจในสิ่งที่ควรจะแน่ใจ มันไม่แน่ใจในความปลอดภัย เช่น ชาวบ้านมันไม่แน่ใจในความปลอดภัย มันนอนไม่หลับต่อไปมันก็เป็นโรคประสาท อย่าว่าแต่เราไม่แน่ใจในการประพฤติปฏิบัติของเรา มันก็เป็นสมาธิไม่ได้ ฉะนั้นไปรู้จักนิวรณ์กันเสียให้ดีๆ แม้แต่นิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ยังอยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ที่ความรู้ของคนๆ นั้น นิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ยังไม่รู้จัก มีนิวรณ์เมื่อไรก็ไม่รู้สึก นี่ก็ทำไม่ได้แล้ว มันต้องรู้จักไอ้นิวรณ์ทั้ง ๕ โดยประจักษ์ในฐานะเป็นข้าศึกอันร้ายกาจ ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้แล้วอยู่กับนิวรณ์สบายไปเลย นี่มันก็ทำไม่ได้ มันต้องรู้เหมือนกับสิ่งที่เป็นศัตรูเข้ามาเมื่อไรก็มีความระคายเคืองแก่จิตใจเมื่อนั้นก็ได้ ก็ต่อสู้ได้ป้องกันได้จนไม่มีนิวรณ์ เมื่อคนอยู่โดยไม่มีนิวรณ์แล้วไม่มีการที่จะเป็นโรคประสาท คือจะมีความสุข ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่า ทิฏฐธมฺมสุขวิหารายะ เป็นไปเพื่ออยู่สุขในทิฏฐธรรม นี้เป็นสมาธิภาวนาประเภทที่ ๑ ใน ๔ ประเภทนั้น นี่เราเอากันแต่เพียงเท่านี้ก็พอในชั้นแรก ผู้นั้นจะมีสุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี สบายเป็นการชิมรสพระนิพพานล่วงหน้า แต่ไม่ใช่พระนิพพานจริงหรือเด็ดขาด มีความสุขเพราะจิตปราศจากนิวรณ์อย่างยิ่งที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าพระเราทำได้ เราก็สอนประชาชนได้ ประชาชนทำได้ก็ไม่มีใครเป็นโรคประสาท ที่ดีกว่านั้นก็คือว่าถ้าจิตประณีตละเอียดขนาดนี้แล้ว ไม่มีใครทำบาปทำกรรม ไม่มีใครเป็นอันธพาลเพราะว่าความสุขชนิดนั้นอร่อย อร่อยแก่ความรู้สึก ยิ่งกว่าไปกินเหล้าเมายาเสพฝิ่น เสพเฮโรอีนไปเสียอีก ถ้ามีความสุขที่เกิดจากสมาธิจริง คนเขาก็จะมาติดรสความสุขอันนี้โดยไม่อยากกินเหล้า สูบฝิ่น เฮโรอีนอะไรเสียอีก เพราะอันนี้มันมีความสุขที่ประณีตกว่า ลึกซึ้งกว่า เย็นกว่า แต่เดี๋ยวนี้เขาทำไม่ได้ เขากินไม่ได้นี่ เขาก็ต้องไปสูบบุหรี่ กินเหล้า เสพเฮโรอีน เคยมีคนๆ หนึ่งเขาสังเกตเห็นว่า การที่ทำให้คนทิ้งเฮโรอีนกันมากมายได้ ทิ้งเฮโรอีนได้ เขาท้าว่าไม่เท่าไหร่ มันจะต้องกลับไปสูบอีก เพราะมันไม่มีอะไรมาสูบแทน มากินแทนให้เป็นสุขสบายอยู่ เมื่อเขาไม่มีอะไรมาดื่ม มาเสพ ให้เป็นสุขอยู่ เขาก็กลับไปสูบเฮโรอีนอีก แม้เขาคิดว่ารส รสสุขของสมาธิเท่านั้นนะที่จะทำให้คนที่ติดเฮโรอีนแล้ว มันมาหลงอยู่กับรสสุขของสมาธิเท่านั้นแหละ ก็ไม่กลับมาเสพเฮโรอีนอีก นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะว่าไอ้รสของความสุขที่เกิดแต่สมาธิสามารถจะห้ามกัน ไอ้ความที่ไปหลงไอ้ความสุขที่เกิดแต่ยาเสพติดเหล่านั้น ไม่ต้องถึงเฮโรอีนกระมัง ไอ้พวกที่ทิ้งบุหรี่นี่ ใครทิ้งบุหรี่ได้แล้วไม่กลับไปสูบอีก มันต้องมีอะไรมาแทนนะ ผมคิดว่าไอ้ความสุข สงบ ที่เกิดแต่สมาธินี่จะมาแทนรสของบุหรี่ได้ โดยไม่ต้องกลับไปสูบบุหรี่อีก นี่ก็เป็นเรื่องสุขภาพอนามัยทางจิตที่ดี วันนี้เราพูดเรื่องสมาธิกันแต่เพียงระดับสุขภาพอนามัยทางจิต เพียงแต่ทำในระดับอุคคหนิมิตได้ก็มีสุขภาพอนามัยทางจิตดีโขไปแล้ว ถ้าสามารถทำให้ถึงไอ้ชั้นที่เป็นฌานได้แม้แต่เพียงรูปฌานที่ ๑ เท่านั้นก็ ก็ดีเลิศวิเศษแล้ว ถ้าเป็นรูปฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ขึ้นไปก็ยิ่งไปไกลไปนู้นแล้ว แต่ว่าเดี๋ยวนี้ที่นี่เอาเพียงสุขภาพอนามัยทางจิตดี เพียงปฐมฌานที่ ๑ ของรูปฌานก็วิเศษถมไปแล้ว แล้วแม้ยังไม่ถึงนั้นก็ยังได้สำหรับคนธรรมดาทั่วไปจะป้องกันไอ้ความวิตกกังวล ความร้อนใจ ชนิดที่ทำให้เป็นโรคประสาท ฉะนั้นขอให้เรานี่เข้าใจก่อน ทำได้ก่อนแล้วก็จะไปแยก เอ้อ, ไม่ใช่ ไปแจกให้ชาวบ้าน รู้จักใช้ยาป้องกันโรคประสาท อย่าให้มีใครต้องเป็นโรคประสาทกันเลย นี่จะให้คุณของพระธรรมมาช่วยคุ้มครองมนุษย์ก็ต้องทำอย่างนี้
ฉะนั้นขอให้จับหลักให้ได้แล้วมันก็จะเดินไปตามหลักเอง เช่นเดียวกับว่าเราจะขี่รถจักรยานให้ได้ เราเข้าใจหลักแล้วก็ขี่ ฝึกไปเรื่อยมันก็ล้มเรื่อยไป ล้มเรื่อยไป ก็ล้มน้อยเข้า ล้มน้อยเข้า แล้วก็ล้ม ไม่ล้ม แล้วก็ไม่ล้ม ไม่เรียบแล้วมันก็ค่อยๆ เรียบจนมันเรียบน่าดู ฉะนั้นรวมความว่าจับหลักของสมาธิให้ได้ แล้วก็ฝึก ฝึก แล้วมันจะสอนให้เองไม่มีใครสอนได้ ครูบาอาจารย์ก็ได้แต่ให้คำปรึกษา ให้คำทดสอบเป็นครั้งเป็นคราว เช่นเดียวกับที่ไม่อาจจะสอนใครให้ขี่รถจักรยานได้โดยบุคคลสอน แล้วมันต้องให้รถสอน ให้การหกล้มสอนให้ความเจ็บปวดนั้น มันสอน มันก็ค่อยๆ ได้ ฉะนั้นบอกไอ้ผู้ที่มาขอฝึกสมาธินะว่า ถ้าคุณไม่เหลวไหลทนทำซ้ำๆ ซากๆ ได้หลายๆ ๑๐ ครั้งนี่จึงค่อยมาฝึก และถ้าไม่อย่างนั้นเชิญกลับบ้านเถอะ ๒-๓ ครั้งไม่ได้แล้วเลิกนี่ เชิญกลับบ้าน ไม่มีทาง มันจะต้องทนได้หลายๆ ๑๐ ครั้ง ทำจิตอย่างนี้มันไม่สำเร็จ มันไม่ยอมหยุด ไม่ยอมเป็นสมาธินี่ ก็เอากะมันเรื่อยไปเป็น สิบๆ ครั้งแล้วก็จะต้องได้เป็นแน่นอน
นี่วันนี้ผมพูดว่าเรามาแบ่งสมาธิภาวนาสำหรับระดับพื้นฐานกันก่อน คือเพื่อสุขภาพอนามัยทางกาย ทางจิตเพื่อเราด้วย เพื่อประชาชนชาวบ้านของเราด้วย แล้วก็พูดหลัก แนวหลัก ไอ้แกนรากของไอ้สมาธินั้นคือว่ามันต้องมีอะไรมากำหนด แล้วมันก็ต้องมีอะไรก็ตามมาให้จิตกำหนด แล้วตรงที่จิตมันสัมผัสน่ะ ตรงนั้นทำให้มีสมาธิชนิดที่เป็นมโนภาพขึ้นมาโดยกำหนดดิบๆ ลงไปที่ของตรงๆ ลงไปที่สิ่งของหรืออะไรก็ตามแต่เสร็จแล้ว มันต้องให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นมโนภาพสำหรับจิตกำหนดได้ง่ายๆ ถ้ามีมโนภาพได้ก็หมายความว่าเราบังคับจิตได้พอสมควรแล้ว นี้บังคับจิตต่อไปให้มันเปลี่ยนแปลงมโนภาพได้ตามความปรารถนานี่ อุคคหนิมิตนั้นก็จะเลื่อนไปอยู่ในขั้นปฏิภาคนิมิต เลื่อนปฏิภาคนิมิตเสร็จรูปใดรูปหนึ่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อย่าไปเปลี่ยนมันอีก กำหนดอยู่แน่วแน่อยู่กับจิตจนเกิดความรู้สึกว่าสำเร็จ ก็คือพิสูจน์ได้ว่ามันมีองค์ฌานทั้ง ๕ แสดงอยู่ในความรู้สึกในนั้นจะมีความเป็นสุขอยู่ด้วย ปีติและสุขจะรวมอยู่ด้วย นั่นคือความสุขในทิฏฐธรรม คนก็จะไม่เป็นโรคประสาท นี่โดยหลักว่าอย่างนี้ หลักว่ามีอะไรมากำหนดจนเป็นอุคคหนิมิต แล้วก็ควบคุมฝึกฝนอบรมเปลี่ยนแปลงอุคคหนิมิตให้มันละเอียดไปกว่านั้นจนเป็นปฏิภาคนิมิต ได้ปฏิภาคนิมิตรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกัน กำหนดอยู่อย่างแน่วแน่จนเกิดความรู้สึกที่เป็นองค์ฌาน นี่หลักมีเท่านี้ ก็จะฝึกได้เองเหมือนว่าเรารู้วิธีพายเรือ แล้วก็หัดพายได้เอง รู้วิธีแจวเรือแล้วก็ไปแจวได้เอง มันต้องได้วันหนึ่งแหละ ได้ในวันหนึ่ง ต้องยอม ยอมทำซ้ำ หลายๆ ๑๐ ครั้ง ไม่ยอมแพ้แล้วผมเห็นว่าพอกันทีสำหรับคำบรรยายในวันแรกนี้ ชั่วโมงกว่า
สรุปความว่ามุ่งหมายที่สุขภาพทางกายและทางจิตกันก่อนได้แล้ว เพื่อประโยชน์เราด้วย เพื่อประโยชน์ญาติโยมทั้งหลายด้วย แล้วก็ให้เป็นเรื่องที่ทันตาเห็นกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือมีความสุขกันทันตาเห็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ สมาธิที่ให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เป็นปีติพอที่จะให้เป็นสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้ ผมขอให้เอาไปทบทวน ไปใคร่ครวญ ไปทบทวนจนเข้าใจ แล้วก็ลองดูเหมือนคนที่ได้รับคำอธิบายเรื่องขี่รถจักรยานอย่างไรแล้ว ก็เอาไป (นาทีที่ 1.06.34 เหมือนเนื้อหาไม่ต่อเนื่อง เข้าใจว่าไฟล์เสียงผิดพลาด) จะได้เข้ารูปเข้ารอยง่าย พระพุทธเจ้า จนเห็นสุญญาตาดูแผ่นดินจนเห็นสุญญาตา ดูต้นไม้จนเห็นสุญญาตา สุญญาตามีให้เห็นอยู่ในทุกสิ่ง ที่เป็นภาพเขียนหรือภาพอุปมานั้น เรามัน มันช่วยความจำหรือว่าช่วยสะดวกต้องทำจิตให้เหมาะสมจะมองเห็นสุญญาตาในทุกสิ่ง ทุกสิ่งว่างจากตัวตนว่างจากของตน แล้วมันก็ต้องเห็นที่สิ่งนั้น เห็นสิ่งที่มันเป็นหลอก สิ่งที่หลอกว่าตัวตนนะเราเห็น ให้เห็นว่าไม่มีตัวตนเข้าที่สิ่งนั้น นั้นก็ที่ตรงนู้นจึงทำให้นิพพานอยู่ในวัฏฏะสงสารนั่นเอง ในวัฏฏะสงสารการวนเวียนแห่งบุญและบาปสุขและทุกข์จะพบไอ้ความหยุด สงบ คือพระนิพพาน นี่ลงทุนสร้างภาพพระนิพพานต้นมะพร้าวนาฬิเกอยู่กลางสระใหญ่ เป็นปริศนาให้น้อมนึกตรงไหนมีความทุกข์ ตรงนั้นมีความดับทุกข์ ความดับทุกข์อยู่ที่ตรงไหนให้หาความดับทุกข์ ความทุกข์มีที่ตรงไหนให้หาความดับทุกข์ที่ตรงนั้น ไฟลุกอยู่ที่ตรงไหนให้ดับไฟที่ตรงนั้น หาที่อื่นไม่พบ สวดมนต์กันหรือยังไง ทั้งหมดนี้สวดมนต์กันเหมือนกันเหรอหรือไม่ชอบสวด (ตอนนี้ไม่สวดใช้ภาวนา) ก็ได้ (ว่างจากฟังบรรยายก็ภาวนา) แล้วแต่ชอบ แล้วแต่สะดวก แล้วแต่เหมาะสม แล้วแต่เรากำลังทำอะไรอยู่อย่างติดพันนั้นต้องทำให้ตลอด เอ้า, นิมนต์ไปนั่งตามความประสงค์ ปิดประชุมวันนี้ ค่อยเปิดวัน คืนวันพรุ่งนี้ ไปบิณฑบาตกันอย่างเมื่อเช้านะอย่างอื่นมันไม่มี