แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้มาถึงอุปมาธรรมคำกลอนข้อที่ ๑๔ หัวข้อเหล่านี้อยากจะขอทบทวนให้ได้ยินได้ฟังให้คุ้นหูอยู่ เสมอ ๆ จะได้จำได้คล่องปาก ข้อที่ ๑ เป็นลำดับมา ไม้อิงสามขา ศาสตราสามอัน โจรฉกรรจ์สามก๊ก ป่ารกสามดง เวียนวงสามวน ทุกข์ทนทั้งสามโลก เขาโคกสามเนิน ทางห้ามเดินสองแพร่ง ตัวแมลงห้าตัว มารที่น่ากลัวห้าตน บ่วงคล้องคนหกบ่วง เหตุแห่งสิ่งทั้งปวงหกตำแหน่ง แหล่งอบายสี่ขุม วันนี้สิ่งที่ต้องควบคุมสามจุด
สิ่งที่ต้องควบคุมสามจุดก็หมายความว่า มีจุดสามจุดที่ต้องควบคุม คำกลอนพาไปจึงต้องพูดว่าจุดที่ต้องควบคุมถ้าเรียกโดยภาษาธรรมดาก็เรียกว่าทวารทั้งสาม ที่นิยมเรียกกันว่ากรรมบถ ๆ คำว่ากรรมบถนี้คนแก่ ๆ ก็คล่องปากกันมาก เป็นกุศลกรรมบถบ้าง เป็นอกุศลกรรมบถบ้าง แต่สมัยนี้ไม่ค่อยมีใครจะเอามาพูดถึง เขาคงจะคิดว่ามันมากนัก เพราะขอร้องให้ถือแต่เพียงศีลห้า มันก็ยังไม่ได้ ขอร้องให้ถือเพียงศีลหนึ่งมันก็ยังจะไม่ได้อยู่อีก ไอ้กุศลกรรมบถนี้มันตั้งสิบเขาก็ขี้เกียจจำ โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสมัยนี้เพียงห้าก็สั่นหัวพอมาถึงสิบก็ไม่รู้ไม่ชี้เลย
เราเอามาพูดกันในวันนี้ในฐานะเป็นหลักธรรมะสำคัญ โดยหัวข้อว่า จุดที่ต้องควบคุมสามจุด คือทางกาย ทางวาจา ทางใจ มีการปฎิบัติที่เรียกว่ากรรมบถ กรรมบถแปลว่าทางแห่งกรรม ตัว บ ตัว ถ สะกดนี่บถ นี่อ่านว่า บด แปลว่าทาง มีความหมายอย่างเดียวกับทางคือมรรคนั่นแหละ ความหมายเดียวกัน กรรมบถก็คือหนทางแห่งกรรม เท่าที่ได้ผ่านมาในพระคัมภีร์โดยเฉพาะคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลาย ทำให้เห็นได้ว่าไอ้กรรมบถ ๆ นี่เป็นคำโบราณมากทีเดียว เชื่อได้ว่าก่อนพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในโลกนี้คำว่า ธรรมบถ ๆ นี้เขามีใช้กันอยู่แล้วพูดจากันอยู่แล้วในฐานะเป็นธรรมะระดับพื้นฐาน ซึ่งประชาชนต้องรู้ นี้เรียกว่ามีอยู่ก่อนพุทธกาล จะเป็นจุดตั้งต้นระดับพื้นฐานของมโนธรรมแห่งมนุษย์ทั้งปวงในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป ฉะนั้นอย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยเลย อย่าได้ดูหมิ่นเลย เป็นหนทางที่เคยช่วยมนุษย์ให้รอดมาได้ยืดยาวมาเป็นพันๆ ปี
ทีนี้ที่เรียกว่าจุดที่ต้องควบคุมสามจุดเกี่ยวกับกรรมบถนั่น ก็มาเรียกกันเสียใหม่ว่าทวาร กายกรรมก็กายทวารต้องควบคุม วจีกรรมก็วจีทวารต้องควบคุม มโนกรรมก็มโนทวารต้องควบคุม หลักเกณฑ์การควบคุมเรียกว่าบถ จึงได้เรียกว่ากรรมบถ สำหรับคำว่าทวารนี่ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกัน เข้าใจว่ายืมมาจากภาษาชาวบ้านที่เขาเรียกทวารประตูเรือนกันมาก่อน นี้ก็เคยบอกมาบ้างแล้วถ้ายังสนใจคงจะจำได้ว่า ไอ้ภาษาธรรมะนั้นยืมมาจากภาษาชาวบ้านทั้งนั้น เพราะเรื่องธรรมะเป็นเรื่องที่เพิ่งคิดที่หลัง พบที่หลัง รู้ที่หลัง จะเอามาสอนชาวบ้านไอ้เรื่องที่คิดได้นั้นต้องตั้งชื่อ ถ้าตั้งชื่อแปลกออกไปไม่มีใครรู้เรื่อง ต้องตั้งชื่อด้วยคำที่เขาพูดจากันอยู่เป็นประจำมันง่ายดี เช่นคำว่านิพพาน แปลว่า เย็น มันก็พบนิพพาน ในทางธรรมก็ยืมคำว่าเย็นนั่น คือคำว่านิพพานนั่นเองไปใช้คำนั้นแปลว่าเย็น ทางไปนิพพานก็ขอยืมคำชาวบ้านว่าหนทางหรือมรรคนั่นไปใช้ก็เรียกว่าหนทาง เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นก็ว่าได้
ดังนั้นจึงเห็นได้ง่าย ๆ ว่าคำว่าทวารซึ่งแปลว่าประตูเรือนนี่ มันก็ถูกยืมไปใช้เป็นจุดสำคัญที่จะต้องควบคุมระวังรักษาเกี่ยวกับประตูทางธรรมะ ยืมคำว่าทวารที่แปลว่าประตูบ้านประตูเมืองนี่ไปใช้ สำหรับประตูที่ในชีวิตคนในตัวคนคงเรียกว่าประตูต่อไปตามเดิม ต่อมาไอ้คำพูดมันขยายตัวมากไปมากยิ่งขึ้นแล้วมันจึงมีความหมายหลายอย่าง เท่าที่ปรากฎอยู่เดี๋ยวนี้คำว่าทวาร ทวารนี้ก็มีอยู่สามชุดด้วยกัน ทวารทางวัตถุ ทางเนื้อหนังร่างกายนี่เขาว่ามี ๙ เขานับเป็น ๙ คือ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ แล้วก็ปาก ๑ เป็น ๗ แล้ว ทวารหนัก ทวารเบา รวมเป็น ๙ ทำไมไม่นับสะดือเป็นทวาร ๑ ด้วยก็ไม่รู้ เพราะมันคงจะไม่ทำหน้าที่ของทวารมากมายหนัก เรื่องทวาร ๙ เป็นเรื่องทางร่างกายเป็นเรื่องทางวัตถุไม่ค่อยเกี่ยวกับพระธรรมเลย แต่ก็ยังอุตริมีคนอุตริเอาไปพูดให้ขลังให้ศักดิ์สิทธิเป็นเรื่องปิดทวาร ทำให้เกิดมีพระพุทธรูปเล็ก ๆ พระเครื่องขึ้นมาแบบหนึ่งเรียกว่า ปิดทวารทั้ง ๙ แล้วเขาก็ว่าเอาเอง ว่าจะเป็นการปิดคุ้มกันได้หมด เรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่เคยทราบ คนชั้นหลังเขาบัญญัติกันขึ้นเอง นี่เรียกว่าทวาร ๙ เป็นทวารทางวัตถุ สังเกตุดูเป็นทวารสำหรับออกเสียมากกว่าทวารเข้า นี่เป็นทวารสำหรับออกเสียมากกว่า
ทีนี้กลุ่มที่ ๒ ทวารทางอายตนะมีอยู่ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราพูดถึงกันอยู่เกือบจะทุกวันก็ว่าได้ ทวาร ๖ นี่เป็น ก. ข. ก. กา ของพระพุทธศาสนาในส่วนปรมัตถธรรม นี่เรียกว่าทวารด้วยเหมือนกัน ตาเป็นทวาร หูเป็นทวาร ซึ่งเรียกว่าจักษุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร มโนทวาร ๖ ทวารนี้เป็นทวารเข้าคือสำหรับเข้าไป อะไร ๆ ที่เข้าไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เข้าไปถึงจิตแล้วก็มีเรื่องมีราวมาก แม้จิตก็เป็นทวารรับอารมณ์ ก็เป็นทวารเข้าด้วยเหมือนกัน เรียกว่า ทวาร ๖ ทวาร ๙ ทวาร ๖ ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดในวันนี้ ไม่ได้มุ่งหมายจะพูดในวันนี้ ก็เหลือแต่ทวารอีกพวกหนึ่ง คือทวารกรรม ทวารสำหรับทำกรรม นี่ก็มี ๓ ระบุ ตา หู จมูก เอ้ย, ระบุกาย วาจา ใจ กาย วาจา ใจเท่านั้น เรียกว่าทวารกรรม ทวารสำหรับกรรม ทวารสำหรับการกระทำ นี่ก็เป็นทวารทั้งออกทั้งเข้าสังเกตุดูให้ดีมันก็มีแสดงอยู่ชัดแล้ว ไอ้ทวารทั้ง ๙ เป็นทวารออกเสียโดยมาก ขี้ตา ขี้หู ขี้จมูก ขี้ปาก มันก็ออกที่ทวาร ๖ อายตนะนี่ก็เป็นทวารเข้า เข้าไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปทำเรื่องภายใน ส่วนทวาร ๓ คือกาย วาจา ใจนี่มีได้ทั้งออกทั้งเข้าคือทั้งเข้าและทั้งออก แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา ทางใจ นี่ก็เรียกว่าออกได้ รับผลการกระทำเข้าไปทางกาย ทางวาจา ทางใจ นี่ก็เรียกว่าเข้าได้ แต่เพียงเท่านี้เรียกว่าทวารเท่านั้นคือเรียกว่าประตูเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นของดีหรือของชั่ว เป็นของที่ไม่ต้องไปพูดว่ามันดีหรือมันชั่วปล่อยมันไว้ตามธรรมชาติไม่บัญญัติว่าดีว่าชั่ว ไอ้สิ่งที่ไม่ได้บัญญัติว่าดีว่าชั่วเพราะบัญญัติไม่ได้หรือไม่ต้องบัญญัติอันนี้ก็เรียกกันว่าอัพยากฤต แปลว่าไม่ได้กล่าวว่าเป็นอะไร
เรารู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าทวาร ๆ ทั้งหลายนี้ในฐานะที่ยังไม่เรียกว่าดีว่าชั่ว มันจะดีหรือจะชั่วก็ต้องแล้วแต่ว่าไปจับไปทำกับมันอย่างถูกต้องหรือไม่ถูกต้องทำผิดทำถูกต่างหาก เหมือนว่าประตูเรือนนี่ไม่เรียกว่าดีว่าชั่ว แต่เมื่อใช้ผิดจึงจะเกิดโทษ เมื่อใช้ถูกก็เกิดคุณ เราสำคัญเอาความหมายว่ามันอยู่ตรงที่ว่าแล้วแต่ใช้ถูกหรือใช้ผิด ไม่ต้องไปโทษไอ้ทวารหรือประตูให้เสียเวลา มันอยู่ที่ว่าเจ้าของมันจะโง่หรือมันจะฉลาดมันก็ใช้ผิดหรือใช้ถูก ทีนี้ก็ดูเรื่องของทวารว่ามันเป็นอย่างนั้น มันจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมาได้ ทั้งทางเข้าและทั้งทางออก ทั้งทางออกหรือทั้งทางเข้า ถ้ามันเกิดมีความไม่เหมาะสมขึ้นมา คือผู้เข้าไปเกี่ยวข้องได้ทำความไม่ถูกต้องเหมาะสมขึ้นมา ไอ้เรื่องของทวารก็จะเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นทั้งทางออกและทั้งทางเข้า เช่นประตูนี้ ทำไม่ถูกขโมยเข้าไปมันก็เดือดร้อน ทำไม่ถูกหนีไฟออกไม่ทันมันก็ตายได้เหมือนกัน
ฉะนั้นเรื่องออกเรื่องเข้านี้มันอยู่ที่ว่ามีความเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นมันจึงมีปัญหาทั้งฝ่ายถูกและฝ่ายผิด เรียกว่ามีปัญหาทั้งฝ่ายบาปและฝ่ายบุญ มีปัญหาทั้งฝ่ายกุศลและอกุศลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกรรมบถ ๆ ซึ่งแปลว่าหนทางแห่งกรรมที่กระทำอยู่โดยทวารทั้ง ๓ คือ กาย วาจา ใจ ถ้าทำอย่างถูกต้องเป็นผลดีก็เรียกว่ากุศลกรรมบถ ถ้าทำผิดไม่ถูกต้องเกิดผลร้ายขึ้นมาก็เรียกว่าอกุศลกรรมบถ คำสองคำนี้จะคุ้นหูคนโบราณมากเพราะเขาพูดกันมาก เรียกว่ากุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถ คนแก่ ๆ เขาจำได้คล่องปากกันทั้งนั้นแหละ มาถึงสมัยนี้คนสมัยนี้ไม่ค่อยชอบพูด บางคนไม่เคยได้ยินไม่เคยพูดเลยก็มี ฉะนั้นขอให้พวกเราเดี๋ยวนี้รู้กันไว้เสียบ้างว่าคำว่ากรรมบถนี้สำคัญมาก คือเป็นหนทางแห่งกรรม ทำถูกเป็นฝ่ายกุศลทำผิดเป็นฝ่ายอกุศล ก็ที่บุคคลทำกันอยู่ทุกวันทั่วไปทั้งโลก การกระทำนี่ยังทำกันอยู่ทุกวันทั่วไปทั้งโลก แต่คำพูดเขาไม่ค่อยพูดกันเสียแล้วเขาไปพูดคำอื่นเรื่องอื่นกันเสียแล้ว คล้าย ๆ กับว่าไม่มีสิ่งที่เป็นกุศลกรรมบถหรืออกุศลกรรมบถเหลืออยู่ในโลกแล้ว เราก็ไม่ควรจะหลับหูหลับตามากถึงขนาดนั้น เราควรจะรื้อฟื้นไอ้ความรู้เรื่องนี้ การประพฤติกระทำในเรื่องนี้ให้กลับมามีประโยชน์แก่มนุษย์อย่างเดิมหรือว่ายิ่ง ๆ ขึ้นไป
จึงได้เอาเรื่องทวารทั้งสามมาพูดในฐานะเป็นจุดที่จะต้องควบคุมสามจุดดังที่กล่าวแล้ว สิ่งที่เรียกว่ากรรมบถแปลว่าหนทางแห่งกรรม หนทางแห่งการกระทำมันก็เป็นเรื่องภายในไม่ใช่เดินด้วยเท้าข้างนอก ทางนี้ไม่ได้เดินด้วยเท้าข้างนอก แต่ว่าเดินด้วย กาย วาจา ใจ อยู่ข้างใน เป็นการประพฤติกระทำที่ร่างกายไม่ต้องเคลื่อนไหวก็ยังได้เช่นการพูดจาหรือการคิด การนึก อยู่ในใจร่างกายไม่ต้องเคลื่อนไหวแต่มันก็เป็นการกระทำที่เรียกว่าเป็นการเดิน จะต้องระมัดระวังให้การกระทำหรือการเดินนี่ เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ผู้นั้นและแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แล้วก็เรียกว่าแก่โลกดีกว่า ถ้าว่าคนทั้งโลกนี่ เขาอยู่กันอย่างมีกุศลกรรมบถ โลกนี้ก็เป็นโลกพระศรีอาริย์ พระศรีอริยเมตไตรยไปเลย เดี๋ยวนี้มันไม่มี มันมีแต่อกุศลกรรมบถเสียเป็นส่วนมาก คือว่าทุกคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวเห็นแก่ประโยชน์ของตัว เขาก็ไม่คิดถึงผู้อื่น มันก็ทำการรุกร้ำประโยชน์ของผู้อื่น ผู้อื่นเขาก็ตอบแทน ก็มีการตอบโต้กันไปตอบโต้กันมา ถึงเรียกได้ว่าฆ่าล้างโครตกันก็มีเดี๋ยวนี้ นี่เพราะว่าไม่เดินตามคลองแห่งกุศลกรรมบถ
จึงจะต้องเข้ามาพิจารณาดูกันใหม่ ถ้าว่ามนุษย์ในโลกเขาตกลงกันได้จะหันมาใช้ธรรมะใช้ศาสนาใช้คำสั่งสอนของพระเจ้ากันอีกที โลกนี่ก็จะสงบสุขเหมือนที่แล้ว ๆ มา จะพูดถึงเรื่องควบคุมระวังจุดสามจุดนี้ต่อไป ควบคุมระวังรักษากาย วาจา ใจ เป็นหลักสำคัญจะขยายออกไปเป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ยังได้เพราะว่ามันแทนกันได้อยู่ที่ว่าเราจะต้องควบคุม จะต้องระวังอย่าให้เกิดการผิดพลาดขึ้นมาได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว สามทางนี้ที่เหลือก็ง่ายคือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มันน้อยเข้ามันเหลือสามทาง ถ้าดูไปถึงศาสนาอื่น ๆ เขาก็นิยมอบรมสั่งสอนเรื่องการควบคุมระวังรักษากาย วาจา ใจ นี้ด้วยเหมือนกัน ไม่มีศาสนาไหนที่จะบ้าบอจนถึงกับว่าสอนไม่ให้ควบคุมกาย วาจา ใจ ล้วนแต่สอนให้ระวังรักษาควบคุม กาย วาจา ใจ แม้คำพูดจะผิดกันไปบ้างแต่ความมุ่งหมายก็อย่างเดียวกัน คำว่าระวัง ๆ รักษา ควบคุมนี้คือทำให้มีแต่ฝ่ายกุศลไม่ให้มีฝ่ายอกุศล ทำให้มีแต่ฝ่ายกุศลไม่ให้มีในฝ่ายอกุศล แปลกเข้ามาตัวเดียวคือตัว อ. อ่านว่า อะ กุศลกับอกุศล
ตัวหนังสือนี้เถียงกันมากแม้ในพระคัมภีร์คำอธิบายในพระคัมภีร์ก็เถียงกันมากว่ามันแปลว่าอะไรแน่ ที่เขาแยกกันตามตัวหนังสือจริง ๆ เขาแปลว่าตัดหญ้าคา กุศะแปลว่าหญ้า กุศะหรือหญ้าจำพวกหญ้าคา หญ้าที่เป็นอันตรายเลวร้ายเรีกยว่าหญ้ากุศะ และละนี่มันแปลว่าตัด กุศละก็แปลว่าตัดหญ้ากุศะ ถ้าไม่ตัดคือทำผิด มันก็เป็นอกุศละคือไม่ตัดหญ้ากุศะ หญ้ากุศะนี่ถือว่าเป็นอันตราย ถ้าไม่แผ้วไม่ถางรกรุงรังไปหมด ก็ทำมาหากินไม่ได้ แล้วยังจะเป็นอันตรายคือจะบาดให้เจ็บปวดไป หรือว่าจะรกเป็นที่อยู่ที่อาศัยของสัตว์ร้าย มันก็เพิ่มอันตรายมากขึ้นไปอีก ดังนั้นเขาจึงมีแผนการที่จะกำจัดเสียซึ่งหญ้าอันอันตราย คือหญ้ากุศะนี่ การกระทำนั้นเรียกว่ากุศละตัดหญ้าคา แล้วก็ยืมเอามาใช้ทางฝ่ายศาสนาเป็นชื่อของการกระทำฝ่ายดี ความชั่วเปรียบเหมือนกับหญ้าคาที่อันตรายตัดมันเสียก็เรียกว่าเป็นกุศล นี่ก็เป็นคำที่ยืมมาจากชาวบ้านอีกก็ได้ ไอ้ชาวบ้านสมัยโน้นเขาถางหญ้าคาถากหญ้าคาเรียกว่ากุศละกันอยู่แล้ว พอเกิดทางธรรมะขึ้นมา ก็ยืมคำนี้มาใช้ว่ากุศละ คือตัดหญ้าคา หากแต่ว่าตัดหญ้าคาข้างใน หญ้าคาข้างนอกก็ตัดกันไปตามเรื่องของชาวไร่ชาวป่า แต่ว่าหญ้าคาข้างในก็ตัดกันไปตามเรื่องของชาววัดที่ไม่มัวแต่นั่งโงกสัปหงกเสียอย่างเดียว มันต้องขยันขันแข็งในการที่จะตัดหญ้าคาที่กาย ที่วาจา ที่ใจ
ทำผิดที่กายก็เรียกว่าหญ้าคาที่ร่างกาย ทำผิดที่วาจาก็เรียกว่าหญ้าคาที่วาจา ทำผิดที่ใจก็เรียกว่าหญ้าคาที่ใจ ถ้าใครตัดให้เกลี้ยงไปได้คนนั้นมีความสุขก็จะมีประโยชน์เพราะว่าไม่มีหญ้าคารบกวน แล้วก็จะไม่ก้าวร้าวรุกรานเอาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย เพราะว่าเขาไม่มีหญ้าคา นี่คำว่าฝ่ายกุศลก็แปลว่าตัดหญ้าคา ฝ่ายอกุศลก็คือไม่ตัดหญ้าคา มีแต่การกระทำที่เดือดร้อนทางกาย ทางวาจา และทางใจ เดี๋ยวนี้เขาไม่มามัวแปลกุศลว่าตัดหญ้าคาแล้ว คำว่ากุศลก็แปลว่าดีบ้าง ฉลาดบ้างเท่านั้นเอง คำว่าอกุศลก็แปลว่าไม่ดีหรือไม่ฉลาด แต่มันก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ฉลาดหรือไม่ฉลาดอย่างไร จึงเอาคำพูดแต่โบราณในครั้งพุทธกาลที่เหลืออยู่ในพระคัมภีร์มาพูดให้ฟัง นี่มันเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ก็รู้เอาเอง
กุศลตัดหญ้าคามีเทศน์ปุจฉา-วิสัชชนา พระองค์หนึ่งเป็นเชื้อจีน พระองค์หนึ่งเป็นไทย เทศน์ปุจฉา-วิสัชชนา ถามกันไปถามกันมา พระองค์ไทยบอกว่าตัดหางเปียเจ๊ก ก็เลยฮากันใหญ่นี่มันเคยใช้ โอกาสที่จะเอาคำเหล่านี้ไปพูดล้อเล่นเป็นเรื่องชวนหัวไปเสียก็มี ฉะนั้นคุณจำไว้ว่ากุศละแปลว่าตัดหญ้าคาของอันตรายรกรุงรัง กุศละตัดหญ้าคา อกุศละไม่ตัดหญ้าคา ก็หมายความว่าทำหญ้าคาให้มันมากขึ้น ปลูกหญ้าคาให้มันมากขึ้นจนรกรุงรังไปหมด อย่างนี้เรีกยว่าอกุศล หลับตาดูก็พอจะมองเห็นภาพว่า กุศลก็เกลี้ยงสะอาดราบรื่นสวยงามไม่มีอันตราย ถ้าอกุศลก็รกรุงรังไม่น่าดู เดินลำบากเต็มไปด้วยอันตราย ทีนี้การระวังทวารกาย วาจา ใจก็เพื่อให้เป็นกุศลอยู่เสมอ อย่าให้มีฝ่ายที่เป็นอกุศลเลย
เกี่ยวกับกรรมบถนี้มีแต่กุศลกับอกุศลเท่านั้นไม่เคยพบคำว่าอัพยากฤต ถ้าพูดเป็นธรรมหรือธรรมะมีกุศลธรรม อกุศลธรรมและก็มีอัพยากฤต อัพยากตธรรม แต่ฝ่ายที่เป็นกรรมนี่เท่าที่พบมานั้นไม่เคยพบอัพยากตกรรม เพราะว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ คือว่ากุศลกับอกุศลนี่มันเด็ดขาดเสมอไปแหละมันจะชัดลงไปว่ากุศลหรือว่าอกุศล ถ้าทำไม่ถึงนั้นมันก้อเป็นกิริยาไม่เป็นกรรม มันก็เป็นกิริยาก็จะเรียกว่าอัพยากฤต ได้ ถ้าถึงขนาดว่าเป็นกรรมบถขึ้นมาแล้วมันเป็นกรรมที่กุศลหรือเป็นอกุศลชัดเจนเสียแล้ว มันก็ไม่อาจจะเป็นอัพยากฤต คือกล่าวไม่ได้ว่าเป็นอะไร คำว่าอัพยากฤตนี่ผู้เรียนใหม่ ๆ นี่ช่วยจำกันไว้ให้ดี อัพยากฤตเขาแปลว่า กล่าวไม่ได้ว่าเป็นอะไร ไม่ได้ใช้คำว่าอยู่กลาง ๆ ละ อย่าว่ากลาง ๆ มันไม่ถูก คือมันกล่าวไม่ได้ว่าเป็นอะไรไม่เคยกล่าว พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยทรงบัญญัติว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นักปราชญ์เหล่าใดก็ไม่เคยบัญญัติลงไปว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ ๆ เคยบัญญัติว่าเป็นอัพยากฤต บัญญัติแต่ว่าเป็นกุศลหรืออกุศลโดยเด็ดขาดลงไป ถ้ามันทำทั้งสองอย่างคือทั้งกุศลและอกุศลก็เรียกว่ามันเจือกัน เพราะมันทำสองอย่างพร้อมกัน มันก็ไปเป็นดำอยู่ส่วนหนึ่งอยู่พวกหนึ่งขาวอยู่พวกหนึ่ง เอามาปนกันเหมือนเอาเม็ดดำ ๆ กับเม็ดขาว ๆ เอามาปนกัน มันก็ปนกันอยู่อย่างนั้นแหละ มันจะเป็นกลางไปไม่ได้
นี่เรียกว่ากรรมบถแล้วจะต้องเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ไม่เคยพบที่ว่าเป็นอัพยากฤต ที่จะเป็นอัพยากฤตก็คือยังไม่ถึงกรรมบถ ยังไม่เป็นกรรมบถยังเป็นแต่กิริยาเคลื่อนไหวที่ทำไปโดยไม่เจตนา อย่างพูดอย่างนี้ก็เป็นเรื่องกรรมไปแล้วเรื่องกรรม จำกันไว้เป็นหลักเบื้องต้นด้วยว่า ไอ้กรรมที่ต้องทำด้วยเจตนา ถ้าไม่ทำด้วยเจตนาไม่เป็นกรรมเป็นเพียงกิริยา ถ้าทำด้วยเจตนามันจะแน่นอนว่าเจตนาดีหรือเจตนาชั่ว ทำด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าทำด้วย อโลภะ อโทสะโมหะ มันมีเท่านั้นมันจะทำด้วยเจตนากลาง ๆ นั้นมันไม่มี ฉะนั้นกรรมที่จะเป็นกรรมมันต้องทำด้วยเจตนาที่แน่นอนด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ ก็เป็นฝ่ายชั่วด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เป็นฝ่ายดี ถ้าไม่มีเจตนาไม่ถึงเจตนาก็ไม่เรียกว่ากรรม เรียกว่ากิริยาเพราะว่าไม่มีเจตนาจึงยังไม่ใช่กรรม กุศลกรรมบถจึงมีแต่เรื่องดี อกุศลกรรมบถก็มีแต่เรื่องไม่ดี ถ้าเขาทำทั้งสองอย่างมันก็เป็นลายพร้อย คือมันเจือกัน แต่มันจะเป็นกลาง ๆ นั้นไม่ได้
อ้าว, ทีนี้ก็ดูกันต่อไปถึงว่าจะเอาอะไรมาระวัง เราจะต้องระวังทวารทั้งสามคือกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปแต่ทางกุศล ก็มีปัญหาว่าจะเอาอะไรมาระวังเป็นเครื่องระวัง ถ้าถามอย่างนี้แล้ว มันมีคำตอบที่เรียกได้ว่าไม่มีทางผิด เป็นกำปั้นทุบดินในพระพุทธศาสนาเลย ถ้าถามด้วยว่าจะระวังด้วยอะไร ป้องกันด้วยอะไร รักษาด้วยอะไร แล้วก็ตอบได้ว่าด้วยสติ ด้วยสติ สติ ให้เป็นกำปั้นทุบดินไม่มีทางผิด ฉะนั้นจำคำว่าสติไว้ไปใช้เป็นเครื่องระวัง รักษา ป้องกัน คุ้มครอง อะไรพวกนั้นแหละ ทั้งหมดนั้นแหละ ด้วยสติทั้งนั้นแม้แต่เรื่องภายนอกวัตถุสิ่งของก็ป้องกันระวังด้วยสติ อย่างทำรั้ว ทำฝาเรือน ทำอะไรก็ทำด้วยสติ จะทำไร่ ทำนา จะรักษาไร่นามันก็รักษาด้วยสติ รักษาทรัพย์สมบัติก็รักษาด้วยสติ เดี๋ยวนี้จะรักษาภายในคือรักษาร่างกายก็รักษาด้วยสติ รักษาวาจาก็รักษาด้วยสติ รักษาด้วยจิตใจ รักษาจิตใจก็รักษาด้วยสติ ท่านจึงสติเป็นเครื่องรักษา จะขยายความออกไปได้มาก ป้องกันคุ้มครองแล้วแต่จะใช้คำไหน มันมารวมอยู่ในคำว่ารักษา ระวัง รักษา อารักขา
เครื่องระวังคือสติ ก็ระวังโดยลักษณะ ๔ อย่างที่เรียกว่าความเพียรนั้นเอง ที่ตั้งแห่งความเพียร สติเป็นที่ตั้งแห่งความเพียร ความเพียรเป็นที่ตั้งแห่งสติ ๑. ระวังไม่ให้มันเกิดสำหรับสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด ฉะนั้นก็ระวังให้มันหยุดเกิดสำหรับสิ่งที่มันไม่ควรจะเกิดต่อไป ให้มันหยุดเกิดเสีย ทีนี้ก็ระวังให้เกิดสำหรับสิ่งที่ควรจะเกิด สิ่งไรควรจะเกิดมีก็ระวังให้มันได้เกิด และให้มันเกิด แล้วก็ระวังให้มันเจริญ ๆ ในสิ่งที่มันเกิดแล้วควรจะเจริญ รายละเอียดนี้ตรงกันกับเรื่องความเพียร ๔ ประธานความเพียร ๔ ในความหมายเดียวกันอย่าให้เกิดอกุศล ละอกุศลที่เกิดแล้วเสีย ให้กุศลเกิดขึ้น และให้กุศลที่เกิดแล้วนั้นเจริญ นี่เรามีสติเป็นเครื่องระวัง ๆ เพื่อให้ได้ทำหน้าที่ ๔ อย่างนี้ สิ่งไม่ควรเกิด อย่าให้เกิด สิ่งที่ไม่ควรเกิดได้เกิดแล้วก็หยุดเสียทำลายเสีย สิ่งที่ควรเกิดก็ให้เกิด ที่ควรเจริญก็ให้เจริญ เรื่องทางวัตถุก็เป็นอย่างนี้ ไอ้ความชั่วภายนอกทางกายทางทรัพย์สมบัติสิ่งของก็มีหลักอย่างนี้ อะไรไม่ดีก็ไม่ทำ ที่ทำอยู่ก็เลิกเสียทำแต่สิ่งที่ดีให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาโดยทางวัตถุโดยทางภายใน ทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักในการที่จะมีสติ เดี๋ยวนี้มันก็ลำบากยุ่งยากเสียหายหากเพราะความขาดสติด้วยกันทั้งนั้น เรื่องไอ้การมีสตินี่มันไม่ได้ง่ายนัก ถ้ามันง่ายมันก็ดี เจริญ หรือบรรลุมรรคผลกันเสียหมดแล้ว เพราะว่าไอ้เรื่องสตินี้มันไม่ได้ง่ายนัก
แต่แล้วมันก็หลีกไม่ได้ มันไม่มีทางอื่น มันไม่มีทางอื่นนอกจากทางที่ว่าเจริญสติ ให้มีสติมากพอและว่องไว การปฎิบัติกรรมฐานนั้นเป็นการฝึกให้สติมากพอและว่องไว กรรมฐานทุกแบบโดยพื้นฐานนั้นก็กำหนดสติ ให้มากพอและให้ว่องไว จะกำหนดดวงกสิณ หรือจะกำหนดอสุภ หรือจะกำหนดลมหายใจอะไรก็ตามมันฝึกให้สติกำหนดได้ ถ้ากำหนดได้ก็คือมีสติให้มันมากพอและให้มันว่องไว คือไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดโดยที่ว่าไม่มีสติ กรรมฐานทุกแบบมันเป็นเรื่องทำให้มีสติ แล้วก็ให้มีสติมากพอ และให้มีสติเร็วไวทันเหตุการณ์
ฉะนั้นขอให้มีหลักเรียกว่าเป็นหลักประจำตัว เป็นปณิธานประจำตัวว่าเราจะต้องฝึกฝนสติ จะมีสติอยู่ตลอดเวลา จะไปนั่งฝึกฝนสติชั้นลึกชั้นละเอียดสงบอยู่ที่ในป่าก็ได้ แต่ว่าจะต้องฝึกฝนสตินี่ตลอดเวลาไม่ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็ต้องใช้สติไปพร้อมกับการฝึกฝนสติ นี่ท่าว่าใครทำได้อย่างนี้คนนั้นจะเจริญรุ่งเรืองเร็วมาก เช่นว่าคุณเดินมาจากกุฎิแล้วก็มาที่นี่ เดินมาที่นี่ ส่วนหนึ่งเป็นการใช้สติเดินให้มันถูกต้องให้มันเรียบร้อยให้มันมาถึง ส่วนหนึ่งเป็นการฝึกสติเพิ่มขึ้น เพราะว่าเมื่อคุณเดินมาที่ละก้าว ๆ นั้นมันเป็นการฝึกสติให้มันเพิ่มขึ้น ๆ มากขึ้นแน่นแฟ้นขึ้นละเอียดประณีตสุขุมยิ่งขึ้น
ฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรขอให้มันเป็นไป ๒ อย่างพร้อมกัน อย่างว่าจะฉันอาหารอย่างนี้ ก็ให้มีสติฉัน ก็คือใช้สติในการฉันอาหาร แล้วก็ฝึกสติใหม่เพิ่มขึ้นในการฉันอาหารไม่ฉันด้วยกิเลส ไม่ฉันด้วยมั่วเมา หรือฉันอย่างมีปัจจเวกขณ์อย่างที่ว่ามาแล้ว ฉะนั้นในการกินอาหารก็มีการใช้สติเท่าที่มีอยู่แล้ว แล้วก็ฝึกสติใหม่ให้ละเอียดให้มากให้สูงยิ่งขึ้นไป ในทุกอิริยาบถตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์จะเดิน จะยืน จะนอน จะนั่ง จะกิน จะอาบ จะถ่าย แม้แต่ว่าจะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะนี่ก็ยังต้องมีการใช้สติและฝึกสติ
เป็นอันว่าทุกอิริยาบถ หรือว่าทุกเวลา หรือว่าทุกสถานที่ ทุกเวลาใช้สติที่มีอยู่และฝึกสติเพิ่มเติมทุกสถานที่ ไม่ว่าจะมาหยุดอยู่ที่ตรงไหน แล้วก็ทุก ๆ การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของอิริยาบถคือของร่างกาย เรื่องนี้ให้รู้ไว้ว่า มันทำได้ทุกอิริยาบถ เราจะต้องควบคุมทุกอิริยาบถให้เป็นไปอย่างถูกต้อง แล้วก็ให้มีความถูกต้องอยู่ทุกอิริยาบถ ทำให้เกิดความถูกต้องอยู่ในทุกอิริยาบถแล้วก็รักษาไอ้ความถูกต้องนั้นไว้ทุกอิริยาบถ เมื่อนั่งก็นั่งอยู่ด้วยความถูกต้อง เมื่อยืนก็ยืนด้วยความถูกต้อง เมื่อนอนก็นอนด้วยความถูกต้อง เมื่อเดินก็เดินด้วยความถูกต้อง นี่ต้องอาศัยสติเท่านั้นแหละ อื่นทำไม่ได้อื่นช่วยไม่ได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ อย่างนี้ต้องมีสติต้องคุ้มครองอย่าให้เกิดความผิดพลาดได้ขึ้นโดย ๖ ทางนั้น เรียกว่าสติจำเป็นต้องใช้ในทุกกรณี ใช้ในทุกกรณีฟังให้ดีว่าทุกกรณีนะ หมายถึงทุกเวลา ทุกสถานที่ ทุกหน ทุกแห่ง ทุกอิริยาบถ ทุกการงาน สัพพัตถะแปลว่าทุกกรณี เดี๋ยวจะไปแยกส่วนที่ไม่ต้องใช้ ส่วนที่ปล่อยตามสบายไม่มีสติ อย่างนี้ไม่ถูกแล้ว สติต้องใช้ทุกกรณี แยกออกไปว่าทุกสถานที่ ทุกเวลา ทุกหน้าที่การงาน ทุกอิริยาบถ เป็นกรณีที่ส่วนตัว กรณีที่เกี่ยวกับผู้อื่นยิ่งจะต้องระมัดระวัง ที่จริงมันก็ต้องระมัดระวังเต็มที่ทั้งเรื่องส่วนตัวและเกี่ยวกับผู้อื่น แต่เกี่ยวกับผู้อื่นนั้นถ้ามันผิดพลาดขึ้นมามันเสียหาย ๒ เท่า ๓ เท่า จึงน่ากลัวมากกว่าเราคนเดียว
จะต้องมีสติทุกกรณี แล้วแต่กรณีอะไร คำว่ากรณีคำนี้แปลว่าไอสิ่งที่ต้องทำ ถ้าสิ่งที่ไม่ต้องทำก็ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องให้เสียเวลาให้เหนื่อยเปล่า ๆ ถ้าเป็นสิ่งที่ต้องทำมันก็ต้องทำ เรียกว่าสิ่งที่มันเกี่ยวข้องฉะนั้นไปดูให้ดีเถอะว่ามันมีอะไรเป็นกรณีที่ต้องทำ ต้องทำเพื่อตัวเราเองมีชีวิตรอดนี่ก็มีอยู่มาก ต้องทำเพื่อให้หมู่คณะอยู่รอด พระศาสนาอยู่รอด อย่างนี้มันก็ยังต้องทำ ถ้าเรามีจิตใจกว้างขวางไอ้เรื่องที่จะต้องทำมันก็มีมากกว่าคนที่มีจิตใจคับแคบ บางคนเขามีจิตใจคับแคบเขาก็ทำแต่แคบ ๆ บางคนมีจิตใจกว้างขวางก็ทำมากออกไปถึงกับเป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์แก่บ้านเมือง ประโยชน์แก่โลก ประโยชน์แก่พระศาสนา ควรจะฟังออกทุกคนว่า คำว่าประโยชน์ศาสนากว้างที่สุด เพราะว่าพระศาสนานี้มีอยู่เพื่อประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ มนุษย์กี่โลก ๆ ก็อาศัยพระศาสนา เทวดา มาร พรมหม เทวดาทั้งหลายกี่ชนิดกี่โลกก็ต้องอาศัยพระศาสนา ฉะนั้นความมีอยู่แห่งศาสนาเป็นประโยชน์ทั้งแก่เทวดาและมนุษย์ ก็เรียกว่าไอ้คนนี้มันมีจิตใจกว้างมากแหละถ้าเขาเห็นแก่พระศาสนา เห็นแก่โลกแคบเข้ามา เห็นแก่บ้านเมืองยังแคบเข้ามา เห็นแก่คนไม่กี่คนก็ยังแคบเข้ามา และแคบที่สุดเมื่อเห็นแก่ตนผู้เดียว เห็นแก่ตัวกูผู้เดียว
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องลงทุนด้วยความยากลำบากบ้างในการที่จะฝึกฝนให้มีสติ นี่มันไม่ได้ง่ายเหมือนทำเล่น ๆ นะ มันก็ต้องลงทุนด้วยความลำบากอดกลั้นอดทนเหน็ดเหนื่อย แล้วก็ไม่ยอมแพ้ เรื่องจิตใจนี่มันยาก ถ้ายอมแพ้มันก็เลิกกันตั้งแต่ ๆ ทีแรก เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ลำบากทำยาก แต่ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ทำเรื่อยมันก็ต้องทำได้ขึ้นมา เช่นว่าจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างนี้ มันจะต้องล้ม ๆ ๆ ล้มแล้วล้มอีก ๆ หลายๆ ครั้งก็อาจจะทำได้ แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ ถ้าเรายอมแพ้ง่าย ๆ ก็ขายหน้าลูกทารกเด็กแดง ๆ เด็กสอนเดิน เด็กสอนนั่ง เด็กสอนยืน เด็กสอนเดิน ลูกทารกที่เพิ่งคลอดมาไม่เท่าไรเขาก็หัดนั่งเขาก็นั่งจนได้ ไม่เท่าไรเขาก็หัดยืนเขาก็ยืนจนได้ ไม่เท่าไรเขาก็หัดเดินเขาก็เดินได้ เขาหัดวิ่งเขาก็วิ่งได้ นี่ลูกเด็ก ๆ ลูกทารกก็ทำได้ คนโต ๆ ทำไม่ได้พอล้มทีเดียวเลิกกัน ฉะนั้นอย่าเห็นว่าทำทีเดียวไม่ได้ ก็ไม่เหมาะแก่เราแล้ว เราทำไม่ได้แล้วแล้วก็เลิกเสีย ถ้าถือหลักอย่างนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรกันทำอะไรไม่ได้ คนสมัยนี้เคยหัดขี่รถจักรยาน หัดพายเรือ แจวเรือมาแล้วทั้งนั้นแหละไปนึกดูบ้างเถอะ แม้แต่เรื่องเท่านั้นมันก็ยังต้องทำซ้ำ ๆ ๒๐-๓๐ ครั้งจึงจะทำได้ ทีนี้มาทำกับจิตมันยากกว่านั้นมากหรือแม้แต่ทำกับกายกับวาจามันก็ยังเนื่องอยู่กับจิต ฉะนั้นมันก็ต้องยากเป็นธรรมดา ทีนี้เราก็ต้องไม่ยอมแพ้ทำแล้วทำอีก ทำแล้วทำอีก มันก็ค่อย ๆ ดีขึ้นจนทำได้นี่เรียกว่าการฝึกสตินี่ต้องลงทุนมากอย่างนี้
เดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยจะเห็นว่าสำคัญ ขอให้เห็นว่าไอ้เรื่องเผลอสตินี่เลวร้ายที่เดียวสำคัญ เรื่องมีสตินี่ดีที่สุดควรจะมี ฉะนั้นการทำอะไรเผลอสติไปสักนิดหนึ่งก็ควรจะเสียใจให้มาก ถ้าฝึกสติได้ก็ควรจะดีใจว่ามันเป็นการได้ที่ดี แม้ที่สุดแต่ว่าลืมของ ลืมของเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะว่าของนั้นไม่มีราคาอะไรนัก ไอ้คนโง่นั้นมันก็ไม่เป็นไร ๆ แต่ถ้าผู้มีปัญญาเขาว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะว่าเราเป็นคนขาดสตินะ ยังลืมของแม้เล็กน้อยนี่ไว้เราเป็นคนขาดสติ เสียหายมากนะ ไม่ใช่เสียหายเท่าราคาของซึ่งไม่กี่สตางค์ หรือบางทีมันก็ยังไม่แน่ว่าเสียหายเท่าไร แต่ว่าถ้าได้ทำไปแล้วอย่างเผลอสติแล้วก็ควรจะเสียใจให้มาก เหมือนกับเราทำเสียหายมาก ๆ นั่นเราทำตัวให้เป็นผู้เผลอสตินี่ ขอให้ถือว่ามันเสียหายยิ่งกว่าเสียเงินสักหมื่น สักแสน สักล้าน แต่ว่าคนเขาไม่ค่อยคิดกันนะ เช่นคุณลืมปิดประตู ปิดหน้าต่าง ลืมปิดหน้าต่างลืมปิดประตูนี่คุณก็ว่าไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าโดยทางธรรมะถ้ามันลืมปิดในที่ ๆ มันไม่ควรจะลืม ก็เรียกว่ามันเสียหายมาก มันเสียหายธรรมะ เสียธรรมะขาดธรรมะคือสติ ต้องตีราคากันมากทีเดียว ถ้าลืมของลืมอะไรก็ตามมันไม่ใช่ราคา ข้าวของนั้นมันมีราคาเท่ากับสติที่เราได้เสียไป
ฉะนั้นลืมอะไรก็ตามแม้แต่ของเล็กน้อย ถ้าว่าลืมก็ควรจะเรียกว่าเสียหายทางสติ เผลอสะเพร่าเรียกว่าเสียหายทางสติ ในที่สุดก็จะเป็นคนไม่มีสติ เขาก็เรียกว่าเป็นคนประมาท คนประมาทคือคนตายแล้ว หัดเสียสติให้มากขึ้น ๆ สิก็จะได้เป็นคนประมาท แล้วก็จะเป็นคนตายแล้ว ตายแล้วในทางธรรมะนั้นแน่นอน แล้วอาจจะตายในทางโลก ๆ ทางเนื้อหนังร่างกายนี้ด้วยก็ได้ ถ้ามันประมาทอวดดีมากขึ้น มันก็ถูกใครฆ่าตายเป็นแน่นอน ชื่อว่าความประมาทแล้ว ก็ทำให้ต้องตายทั้งทางร่างกายและทั้งทางจิตใจ ตายทางจิตใจก็หาความสงบสุขไม่ได้มีแต่ทุกข์ทรมานอย่างเดียว เขาเรียกว่าตายทางจิตใจ ฉะนั้นเราจึงต้อง ๆ บูชาสติเป็นผู้ฝึกสติ ที่สูงสุดก็คือสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นหลักใหญ่สำหรับฝึกให้มีสติ แล้วก็มีความเพียร มีอิทธิบาท มีพละ มีอินทรีย์ มี โพชฌงค์ อะไรมาช่วย ๆ ๆ ให้ฝึกสติได้สำเร็จ เพราะมันรอดได้ด้วยสติ จึงถือเป็นหลักปฎิบัติ นอกนั้นเอามาประกอบช่วยให้ฝึกสติ ให้มีสติให้สำเร็จเป็นความเพียร เช่นอิทธิบาทอย่างนี้เอามาใช้เพื่อให้การฝึกสติมันสำเร็จ
ถ้ามีสติแล้วก็เท่ากับว่ามีพระนิพพานอยู่ในความหวัง คนที่มีสติจะไม่ทำผิดจะไม่ปล่อยให้กิเลสเกิด กิเลสไม่อาจจะเกิดและกิเลสจะไม่ได้กินอาหาร กิเลสจะค่อย ๆ ผอมไปจนกระทั่งศูนย์สิ้นไปเพราะมีสติ ถ้ามีสติสมบูรณ์ก็เท่ากับว่ามีพระนิพพานอยู่ในกำมือ ในที่นี้เราเพียงความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจมันน้อยกว่าเรื่องของพระนิพพานมาก ฉะนั้นถ้ามีสติแล้วก็จะคุ้มครองตำแหน่งทั้งสามนี่ได้ คือกาย คือวาจา คือใจ คุ้มครองได้ไม่ให้ทำผิด ผมไม่ได้พูดรายละเอียดเพราะถือว่าทราบกันแล้วทุกคน กุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถ อย่างละ ๑๐ ละ ๑๐ นี่ไปเปิดนวโกวาทดูก็ได้ ถ้าจนป่านนี้แล้วยังไม่เคยดูก็แย่มากนะ พระองค์ไหนไม่เคยเปิดนวโกวาทดูไม่รู้เรื่องกุศลกรรมบถ ๑๐ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ก็แปลว่าไม่ได้สนใจอะไรเลย
ฉะนั้นรายละเอียดอย่างนี้ไม่ต้องพูด ๆ แต่เรื่องเบื้องหลังที่ไม่มีเป็นตัวหนังสืออยู่ในตำราเรียนอันแรก ทีนี้จะควบคุมกาย วาจา ใจสำเร็จหรือไม่สำเร็จนี่ก็จะเป็นกุศลกรรมบถ หรืออกุศลกรรมบถนั้น มันก็มีมูลเหตุอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นควรสนใจสิ่งที่เรียกว่ามูลเหตุกันบ้าง เพราะว่าไม่มีอะไรนะที่ไม่มีมูลเหตุ เพราะสิ่งทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งแล้วมันก็มีมูลเหตุ ฝ่ายดีก็มีมูลเหตุ ฝ่ายชั่วก็มีมูลเหตุ ฝ่ายกุศลก็มีมูลเหตุ ฝ่ายอกุศลก็มีมูลเหตุ นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรจะรู้เป็นเรื่องแรกเรื่องมูลเหตุ มูลเหตุของฝ่ายดีฝ่ายกุศลก็คืออโลภะ อโทสะ อโมหะ ภาวะของจิตที่ไม่มีโลภะ ที่ไม่มีโทสะ ที่ไม่มีโมหะ นี้เป็นมูลเหตุของฝ่ายกุศล ถ้าเป็นโลภะ โทสะ โมหะนี่ก็เป็นมูลเหตุของฝ่ายอกุศล ไอ้โลภะ โทสะ โมหะนี่คือความรู้สึกคิดนึกที่ปรุงกันขึ้นมาในจิต เรียกว่าจิตสังขาร การปรุงแต่งทางจิตที่มันเป็นไปผิดทาง ผิดทางที่ควรปรารถนามันก็ออกมาเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง ถ้ามันปรุงแต่งไปถูกทาง จิตสังขารเดินไปถูกทาง มันก็ออกมาเป็นอโลภะ อโทสะ อโมหะ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง นี่เขาเรียกว่ามูลเหตุ มูลเหตุมีอย่างไรมันก็ทำไปอย่างนั้น โลภะ โทสะ โมหะ ก็ทำกันอยู่มีผลสมกับ โลภะโทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะนี่ก็จะทำให้มีผลไปในทางสูญสิ้นโลภะ โทสะ โมหะ อาจจะไปสู่ที่ใกล้แห่งพระนิพพาน
คำว่ากิเลสนี่มันแปลว่าของเศร้าหมองสกปรก นี่ก็ยืมแต่ของสกปรกคำว่าของสกปรกของชาวบ้านนี่ไปเรียกชื่อกิเลสในจิตใจ คำทุกคำยืมชาวบ้านไปใช้ ของสกปรกนี่ยืมคำนี้เอาไปใช้ เรียกชื่อความสกปรกทางจิตใจโลภะ โทสะ โมหะ เราไม่รู้สึกขยะแขยงสิ่งสกปรกในจิตใจคือโลภะโทสะ โมหะเพราะว่าจิตใจมันมืด มันมืดอยู่ด้วยอวิชชาไม่รู้ตามที่เป็นจริง มันก็กลับไปชอบโลภะ โทสะ โมหะ เพราะว่าสนุกสนานเอร็ดอร่อยดี เหมือนเด็กทารกเพิ่งเกิดมาไม่รู้จักว่านี้อุจจาระปัสสาวะ มันก็จะขย้ำอุจจาระเล่นสนุกไปเลย เพราะมันไม่รู้อะไรเป็นอะไร เหมือนกับคนเรากำลังมีโลภะโทสะโมหะ สนุกไปเลย เขาจึงได้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ๆ อบายมุขเป็นอันธพาลเป็นผู้ทำลายตัวเอง ทำลายผู้อื่นไปเลย ไม่รู้ว่านี่มันเป็นของอันตราย
ความโง่หรืออวิชชาเป็นแม่บทรวมของกิเลส ความโง่ทำให้อยากได้ที่ไม่ควรอยากได้ก็เป็นความโลภ ความโง่ทำให้อยากเกลียด อยากโกรธที่ไม่ต้องโกรธ มันก็เป็นความโกรธเป็นโทสะ ความโง่ทำให้หลงใหล พัวพันมัวเมาอยู่ในสิ่งที่ไม่ควรหลงใหล มันก็เป็นโมหะ มีผลของความไม่รู้คืออวิชชาทั้งนั้นแหละ ออกมาเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ที่นี่ถ้าว่ามันไม่ใช่อวิชชาแต่มันเป็นของตรงกันข้ามคือวิชชา มันรู้แจ้งตามที่เป็นจริง มันก็ออกมาเป็นอโลภะ อโทสะ อโมหะ ถ้ามันรู้ตามที่เป็นจริงแล้วมันจะไปโง่มันได้อย่างไรหละ มันก็ไม่ทำในสิ่งที่เป็นอันตรายหรือสกปรก หรือเป็นเหตุแห่งความวินาศ
ดังนั้นไปศึกษาจากภายในนะไม่ใช่จากหนังสือไม่ใช่จากฟังใครพูด ศึกษาจากภายในให้รู้จักตัวโลภะ ตัวโทสะ ตัวโมหะทุกคราวที่มันเกิดขึ้น เข้าไปศึกษาอย่างดีที่สุดเพื่อให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีโลภะ เดี๋ยวนี้ไม่มีโทสะ เดี๋ยวนี้ไม่มีโมหะ แม้แต่ชั่วขณะหนึ่ง ขณะหนึ่ง ก็ยังดีนะ เมื่อไรมันว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ มันว่างก็ขอให้รู้จัก แล้วก็จะได้ชมเชยมันจะได้พอใจ จะได้เลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไปในความที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แล้วต่อไปมันก็จะน้อมไปแต่ในทางไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะยิ่งขึ้น หมดโลภะ โทสะ โมหะเมื่อไรก็เป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ หมดชั่วคราวก็เป็นนิพพานชั่วคราวน้อย ๆ สั้น ๆ เบา ๆ ไปก่อน ถ้าหมดโลภะ โทสะ โมหะสมบูรณ์ก็เป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ นี่เดี๋ยวนี้เรามันก็ทำผิดในขั้นต้นๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มันก็ยิ่งหล่อเลี้ยง หรือให้อาหารแก่โลภะ โทสะ โมหะ. โลภะโทสะโมหะของผู้ไม่ควบคุมทวารทั้งสาม มันก็เป็นโลภะ โทสะ โมหะที่อ้วนท้วนแข็งแรงยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไอ้คนนั้นมันก็ต้องเดินไกลออกมาจากพระนิพพาน นี่เราก็ควบคุมตา หู ควบคุมกาย วาจา ใจนี่อย่างดีที่สุด มันก็ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ หรือมันเบาบางไป ไอ้คนนั้นมันก็เขยิบเข้าไปใกล้พระนิพพานอยู่เสมอ
เอ้า, เวลามันก็หมด แล้วก็พูดสรุปตอนท้ายถึงอานิสงส์ที่เราจะได้รับจากการควบคุมจุดที่ต้องควบคุมทั้งสามจุด ควบคุมกาย วาจา ใจสามจุดนี่ไว้ได้ก็จะได้รับอานิสงส์ คือเราจะมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข เพราะไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ชีวิตที่ไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นนั่นมันเป็นชีวิตที่มีความปรกติสุขเหลือประมาณนะ แล้วก็ไม่มีอันตราย ข้างนอกก็ไม่มีอันตราย ข้างในก็ไม่มีอันตราย ทางสังคมก็ไม่มีอันตราย ถ้าเราควบคุมกาย วาจา ใจไว้ได้มันก็ไม่มีเรื่องกับใคร ไม่มีใครมาคิดทำร้ายเรา ภายในก็ไม่เกิดกิเลส มันก็สบายไม่มีอันตรายจากกิเลส มีความเยือกเย็นเป็นพระนิพพาน ตามมากตามน้อย ไม่ใช่นิพพานสมบูรณ์ แต่ว่าก็เป็นไปเพื่อนิพพานตามแบบรูปของนิพพานคือเยือกเย็นหรือปรกติ คำว่าปรกตินี่มันมีความหมายดี คือมันไม่ขึ้นไม่ลงไม่ซ้ายไม่ขวาไม่ทางไหนหมด มันปรกติ นี่เรียกว่าอานิสงส์ที่เราได้รับในชีวิตนี้ เพราะควบคุมไอ้กาย วาจา ใจได้ ก็จะเป็นพื้นฐานแห่งชีวิตที่สูงขึ้นไป มันยังมีชีวิตที่จะต้องสูงขึ้นไปอีกหลายระดับ เพราะฉะนั้นต้องควบคุมกาย วาจา ใจให้ดีถูกต้องแล้วเป็นสุขอยู่ที่นี่ แล้วก็เป็นพื้นฐานสำหรับจะมีชีวิตที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนกว่าถึงระดับสูงสุดหลุดพ้น นี่อานิสงส์เพราะฉะนั้นก็ควรจะไม่ประมาท
มีนิทานตัวอย่างในคัมภีร์อรรถกถาเรื่องกุศลกรรมบถ มันคล้าย ๆ กับว่าทุกบ้านทุกเรือนถือหลักอันนี้กันหมดเป็นกุศลกรรมบถ แล้วก็โดยเฉพาะบางแห่ง บางเขต บางตำบล บางหมู่บ้าน ในอรรถกถาเขาออกชื่อหมู่บ้านอะไรผมก็จำไม่ได้ มันเป็นชื่อ ถือกุศลกรรมบถกันเป็นอย่างดี แล้วก็ครอบครัวนั้นเขาถือว่าผู้ที่มีกุศลกรรมบถนี่จะไม่ตาย ๆ ก่อนอายุ ทีนี้ไอ้คนหนุ่มคนหนึ่งมันอยากได้ลูกสาวเจ้าของบ้านนั้นนะ ลูกสาวเจ้าของบ้านนั้นนะเขาหมั้นกันไว้กับไอ้คนหนุ่มอีกคนหนึ่งซึ่งไปค้าเมืองไกล ไอ้คนโกงคนนี้มันก็เอากระดูกหมา กระดูกแพะห่อผ้ามาบอกพ่อบ้านคนนั้นนะว่าไอ้คู่หมั้นของลูกสาวของพ่อนะตายแล้ว เขามาขอลูกสาวคนนี้แทน เจ้าของบอกโอไปเถอะ ๆ บ้านเราไม่มีใครตายก่อนอายุ ในหมู่บ้านนี้จะไม่มีใครตายก่อนอายุเพราะว่าคนในหมู่บ้านนี้รักษากุศลกรรมบถอย่างเคร่งครัดทุกคน เขาก็เลยไล่คนหนุ่มคนนั้นแทบจะลงเรือนไม่ทันกลับไป นี้แสดงว่าเขาเคยยึดถือกันถึงขนาดนี้ จึงปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์ว่าจะไม่มีใครตายก่อนอายุ ถ้าว่ารักษากุศลกรรมบถอยู่เป็นปรกติ ตัวอย่างอานิสงส์
เอาหละเวลาที่มีก็หมดแล้วก็ขอให้เอาไปคิดไปนึก อีกสองสามข้อก็จะหมดแล้ว ไม้อิงสามขา ศาสตราสามอัน โจรฉกรรจ์สามก๊ก ป่ารกสามดง เวียนวงสามวน ทุกข์ทนทั้งสามโลก เขาโคกสามเนิน ทางห้ามเดินสองแพร่ง ตัวแมลงห้าตัว มารที่น่ากลัวห้าตน บ่วงคล้องคนหกบ่วง เหตุแห่งสิ่งทั้งปวงหกตำแหน่ง แหล่งแห่งอบายสี่ขุม สิ่งที่ต้องควบคุมสามจุด เอาละเอวัง นิมนต์