แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เรามาถึงหัวข้อว่า “แหล่งอบาย ๔ ขุม” คำว่า “อบาย” มีความหมายทั้งโดยภาษาคน และภาษาธรรม การรู้จักความหมายใน ๒ ทางนี้สำคัญมาก ก่อนนี้เขาพูดกันแต่ “อบาย” ในทางภาษาคน ทีนี้เราคิดหาทางอธิบายโดยภาษาธรรม เพื่อให้มันสำเร็จประโยชน์แก่เรื่องนี้ เพราะฉะนั้นขอให้สนใจไว้เป็น ๒ อย่างแล้วก็ไปนึกเอาเอง
“อบาย” นั้น ถือกันว่ามี ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี่แจกไว้เป็น ๔ อย่างนี้ตามที่ชาวบ้านเขารู้กัน นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เป็น ๔ อย่างตามที่ชาวบ้านเขารู้กัน แต่ในบาลีจะไม่มีเรื่อง “อสุรกาย” ในฐานะที่เป็นอบาย มันไปมีในอรรถคาถา ที่ว่าชาวบ้านรู้กัน ที่ตามที่ชาวบ้านรู้มันมีนี้ครบทั้ง ๔ คือมีอสุรกายด้วย ในบาลีไม่มีอสุรกาย ทีนี้เราไปดูในหนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” นั้น จะพบอบาย ๔ ฉะนั้นก็ถือว่าเป็นของมี ๔ ทีนี้ถ้าชาวบ้านธรรมดาพูดแต่ว่าอธิบาย อบาย ๔ นั้น นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย ชาวบ้านประชาชนคนได้รับคำสั่งสอนไอ้ตามหนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้ เขาถือไตรภูมิพระร่วงเขาก็เอามาจากคัมภีร์เก่า ๆ อื่น ๆ หลายคัมภีร์ ซึ่งไม่ใช่พระบาลีไตรปิฎก ไม่ใช่พระไตรปิฎกบาลี คงได้มาแต่หนังสือพวกนั้น แม้แต่ในอรรถคาถาของพระไตรปิฎกก็ไม่ค่อยได้พูดถึงอสุรกาย แต่ชาวบ้านยึดถือกันเป็นมั่นเหมาะว่ามี ๔ ทีนี้ถ้าพูดกันตามภาษาคนตามที่เขาพูดกันอยู่ก่อน อบาย ๔ คือ นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี่ก็เขาหมายถึง “ภพอื่น โลกอื่น” ซึ่งจะไปถึงต่อตายแล้วทั้งนั้นแม้แต่ว่าไอ้เดรัจฉาน เขาก็ไม่ค่อยหมายถึงเดรัจฉานกลางทุ่งนานี้ เขาหมายถึงเดรัจฉานตายแล้วไปถึง
นี่เราพูดถึงนรกในภาษาคน ที่พูดกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล และสมัยพุทธกาล และมาจนถึงบัดนี้ ก็ถือว่ามันอยู่ใต้ดิน ตรงกันข้ามกับสวรรค์ซึ่งอยู่ข้างบน บนฟ้านี่ คำพูดชาวบ้านก็ตกนรกใต้บาดาล ก็หมายความว่านรกนั้นมันอยู่ใต้บาดาลลงไปอีก เมืองบาดาลตามที่ชาวบ้านถือกันอยู่ในภาษาคนตามคัมภีร์เก่า ๆ นั้นมัน มันสุดของบ้านเมือง เมืองมนุษย์ เมืองนาค เมืองอะไร พอถึงเมืองบาดาลแล้วก็หมด แล้วอีกใต้นั้นลงไปก็เป็นนรก นรกใต้บาดาล สำหรับคำว่า “บาดาล” นั้นติดปากภาษาชาวบ้านคนไทยเรา ตกนรกใต้บาดาล มีเมืองบาดาล เมืองบาดาลนี้ก็เป็นบ้านเป็นเมือง มีราชามีอะไร เป็นพันธมิตรของทศกัณฐ์ในเกาะลังกา มีสูตรอยู่สูตรหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่าที่ชาวบ้านเขาเรียก บาดาล บาดาลนั้นไม่จริง ไอ้บาดาลนั้นคือจิตที่มีนรกท่วมทับ นี่ก็เท่ากับพระพุทธเจ้ายอมรับภาษาคน เอ้อ, ยอมรับภาษาธรรมเรื่องนรก คือความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่รุนแรงนั้นเรียกว่า “นรก” และนรกนั้นอยู่ใต้บาดาล คล้าย ๆ กับว่า ไอ้จิตที่มันถูกความทุกข์ครอบงำนั้นแหละคือบาดาล จิตที่ถูกความทุกข์รุนแรงครอบงำนั้นแหละคือบาดาล ถ้าเรา “ตกไปอยู่ใต้บาดาล” ก็หมายความว่า “กำลังถูกความทุกข์อย่างยิ่งครอบงำอยู่” แต่ที่เขาพูดกันตกนรกใต้บาดาล กลายเป็นนรกอยู่ เมืองนรกอยู่ใต้บาดาล เมืองบาดาลนี้ยังมีเกียรติกว่า เป็นบ้านเป็นเมืองมีพระราชาเรียกว่าเจ้าเมืองบาดาล ในบาลีมีพูดถึงบาดาลในภาษาคนก็มีว่าเป็นที่อยู่ของพวกอสูร เมื่อเทวดากับพวกอสูรรบกัน ถ้าถึงคราวที่พวกอสูรแพ้ อสูรจะหนีกลับเมืองของตนคือเมืองบาดาล เขาว่าลงไปทางรู รูสายบัว สายบัวที่มีรู อสูรหนีเทวดาลงไปทางสายบัวแล้วก็กลับไปเมืองบาดาล แต่ “อสูร” ชนิดนี้มันไม่ใช่คำเดียวกับ “อสูรกาย” สังเกตดูแล้วคงจะไม่ใช่คำเดียวกันกับอสูรกาย ดูแล้วคงจะไม่ใช่คำเดียวกัน ในบาลีมีพูดถึงอสูรแต่ไม่ใช่อสูรกาย เป็นคู่รบกับพวกเทวดา ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ทุกทีที่แพ้เขาก็หนีไปเมืองบาดาลทางสายบัว เรื่องตลก ๆ มีว่าไอ้คน ๆ หนึ่งเขาทำสมาธิแบบตาทิพย์ เขาทำสำเร็จเขาเห็นพวกอสูรเป็นกองทัพเลยหนีเทวดาลงทางสายบัวลงไปสู่เมืองบาดาล แล้วเขามาบอกเพื่อน เพื่อนบ้านว่าเขาได้เห็นพวกอสูรหนีเทวดาลงทางสายบัวลงไปเมืองบาดาล คนทั้งเมืองก็ว่า ไอ้นี่บ้า เกือบจับมัดแล้ว ดูเหมือนจะเป็นที่รับรองกันว่า เมืองบาดาลมีอยู่อย่างนั้น เป็นที่อยู่ของพวกอสูร มันไม่ใช่เรื่องเดียวกับทศกัณฐ์ไอ้เจ้าผู้ครองบาดาลนั้น จอมอสูรนั้นชื่อ เวปจิตติ แล้วก็เป็นนายเหนืออสูรทั้งหลาย ไอ้ราหูที่อมจันทร์นี่ก็เป็นอสูรเป็นพลเมืองเมืองอสูร นี่เรื่องเมืองบาดาลว่ามันอยู่ใต้สุดของพิภพของสัตว์ สัตว์ประเภทคน ใต้นั้นก็จึงจะมีนรก ทีนี้รายละเอียดเรื่องนรกก็แบ่งเป็นขุม ขุม ขุม ขุม มีการทรมานเฉพาะแบบเฉพาะขุมเฉพาะแบบแล้วแต่ว่านรกนั้นเป็นนรกอะไร เป็นนรกไฟ หรือนรกน้ำ หรือนรกอาวุธ นรกต้นงิ้ว นรกหมา หรือสัตว์ร้าย มันเป็นนรกทั้งนั้น นี่คือถือตามภาษาคน นรกคืออย่างนี้ ตายไปตกนรก
ทีนี้ “เดรัจฉาน” ก็คือเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่เขายังพูดถึงว่าเดรัจฉานบางชนิดมีตัวเป็นทิพย์ มีตัวเป็น เห็นไม่ได้อย่างนี้ก็มี ฉะนั้นมันก็ไม่ได้หมายถึงเดรัจฉานไอ้วัวควายตามทุ่งนาไปเสียหมด แล้วพูดว่าไปเกิดในโลกเดรัจฉานก็ต่อตายแล้ว มันก็เป็นอบายอย่างหนึ่ง อบายที่ ๒
อบายที่ ๓ “เปรต” ไม่ได้ระบุว่าอยู่บนสวรรค์หรือในนรก ที่แท้ก็อยู่ในโลกมนุษย์นี่เองแต่เรามองไม่เห็นตัว เปรตก็มีรูปร่างต่าง ๆ เป็นสัตว์ รูปร่างเป็นสัตว์เหล่านี้ และเปรตที่อยู่แฝงอยู่กับมนุษย์แต่มองไม่เห็นตัวก็ยังมี เช่นเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารเข้ามาขอส่วนบุญ จึงเกิด “ประเพณีทำบุญให้เปรตฤดูสารท เดือน ๑๐” อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ นั่นก็เปรตที่อยู่กันกับมนุษย์ และยังมีเปรตที่ทุเรศมาก พิกลพิการเจ็บป่วยนานาชนิด แล้วยังมีเปรตที่ว่ากลางวันเป็นเปรต กลางคืนเป็นเทวดาก็มี นี่ไอ้เปรตอย่างที่เขาพูดกันอยู่ในภาษาคน ภาษาโบราณตามกลอนพูดภาษาคนธรรมดาถือกันว่าอย่างนี้
ทีนี้ “อสุรกาย” นี้ก็เป็นภาษาที่ชาวบ้านเขาถือกันอยู่ว่ามีแต่ว่าไม่พบในบาลีในอรรถคาถา ดูเหมือนเขาจะหมายถึงว่าเป็นผีที่คอยหลอกหลอน พวกอสุรกายนี้เป็นผีที่คอยหลอกหลอน ส่วนอสูรนั้นเป็นอย่างที่ว่าแล้วเจ้าเมืองบาดาล เป็นสัตว์ เป็นสัตว์ประเภทมนุษย์ เผอิญไอ้คำมันไปตรงกันเข้า อสุระ อสุระ อสูร นี่เป็นเรื่องของพวกอสูรที่เป็นคู่รบกับพวกเทวดา แต่ถ้าเติม “กาย” เข้าไปก็เป็น “อสุรกาย” เป็นผี นี่เป็น “อบาย” ที่เป็นอสูรล้วน ๆ เช่น มีท้าวเวปจิตติครอง มีราหูที่เป็นพลเมืองนี้ คงจะไม่จัดเป็นอบาย พวกอย่างนี้จัดเป็นอบายไม่ได้ แต่ถ้าอสูรเป็นผีชนิดเลวนี่จัดเป็นอบาย แล้วก็รู้กันว่าพวกอสูรนี้มีนครอยู่ที่บาดาล อยู่ที่เมืองบาดาลใต้สุดลงไป แต่มันคนละคำ คงจะคนละคำที่เราเจาะน้ำบาดาล เจาะบาดาลนี่มันอยู่ที่ผิว เจาะน้ำบาดาลนี่มันกินได้ ไอ้เมืองบาดาลนี่มันลึกกว่านั้น นี่เรื่องอบาย ๔ อย่างตามแบบภาษาคน ตกนรก ตกไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ บาปที่ได้กระทำไว้
ทีนี้ผมไม่เห็นด้วยกับที่บางคนเขาแปลความหมายแต่เพียงว่า ไอ้นรกก็เช่น เรือนจำ นี่นรก สัตว์เดรัจฉานตามทุ่งนา ไอ้เปรตก็คนขอทาน คนไม่สมประกอบอย่างยิ่ง อสุรกายก็คือนักเลงฉกชิงวิ่งราวไม่แสดงตัว อย่างนี้กันก็มี เขาแปลอย่างนี้กันก็มี เราไม่เห็นด้วย เราขอแปลใหม่ตามภาษาคน เอ้อ, ตามภาษาธรรม คือ “ไม่ใช่เป็นวัตถุที่มีรูปกาย” เป็นเรื่องของ “จิต” ไปหมด อาศัยเค้าเงื่อนจากพระพุทธภาษิตที่มีในบาลีว่ามี “อายตนิกนรก อายตนิกสวรรค์” สวรรค์อยู่ที่อายตนะ นรกอยู่ที่อายตนะ เมื่อทำผิด ไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ร้อนเป็นไฟ นี่เรียกว่านรก เมื่อทำถูก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็สบายดี นี่ก็เรียกว่าสวรรค์ พระพุทธเจ้าเรียก อายตนิกนรก คือนรกที่เป็นไปทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีอายตนิกสวรรค์ อายตนนิกสัคคะคือสวรรค์ที่เป็นไปทางอายตนะ นี่เราก็เลยถือหลักอันนี้เอามาใช้กับไอ้ ๔ คำที่เรียกว่า “อบาย” ก็เพื่อให้มันได้ความ ได้ความที่มีความหมายที่ใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ รู้สึกได้ อย่างที่เรียกว่า สันทิฏฐิโก ถ้าเราอธิบายนรก เปรตหรือตามแบบเก่า เราสัมผัสไม่ได้ แต่ถ้าเรามาอธิบายว่าเป็นไปทางอายตนะเราก็สัมผัสได้ และบางเวลาเราก็จะตกนรกเสียด้วย และบางเวลาเรานั่นแหละจะเป็นเปรตอสุรกายไปเลยด้วยก็ได้ ผมเลยอธิบาย นรก ว่าความร้อนใจเป็นความทุกข์ ร้อนใจถึงที่สุด ความร้อนใจนี่มันก็คือนรก เมื่อไรมีความร้อนใจเป็นทุกข์ ทรมานใจถึงที่สุดก็เรียกว่านรก แบบใดแบบหนึ่งในนรก หลาย ๆ นรก
ทีนี้ “เดรัจฉาน” หมายถึง ความโง่ ความโง่สุดเหวี่ยง ความโง่ด้วยอวิชชาสุดเหวี่ยง ความโง่นั่นแหละคือความเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานอยู่ถึงโง่ เมื่อเราโง่เราเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ทีนี้ “เปรต” คือ ความหิวความอยากที่สุดประมาณ เทียบกันได้โดยไอ้คำที่เขากล่าวว่า “เปรตนี่ตัวเท่าภูเขา ท้องนี่เท่าภูเขา ปากเท่ารูเข็ม” ไอ้ที่ชาวบ้านที่เขาเชื่อตามภาษาคนเขาก็ถือว่ามันมีสัตว์อย่างนั้นจริง ๆ มีสัตว์ที่ตัวเท่าภูเขา ท้องเท่าภูเขา ปากเท่ารูเข็ม มีสัตว์อย่างนั้นจริง ๆ ไอ้เราถือว่าไม่ใช่ว่าเขาต้องการจะให้เชื่ออย่างนั้น เขาต้องการจะพูดเป็นมาตรฐานสำหรับคำนวณความหิว ว่ามันจะเป็นความหิวสักเท่าไหร่ เขาคำนวณดูเองว่าความหิวเมื่อปากเท่ารูเข็มมันกินเข้าไปได้เท่านั้น ท้องเท่าภูเขา แล้วมันจะหิวกี่มากน้อย ถือว่าไอ้ความหิวสุดประมาณสุดเหวี่ยง นั่นแหละคือความเป็นเปรต ความเป็นเปรต ไม่เอาตัวบุคคลเป็นหลัก เอา “ความ” หรือ “ภาวะ” เป็นหลัก นี่เรียกว่า “เปรต” มีอวิชชาเป็นเหตุให้หิว มีตัณหาเป็นเครื่องหิว มันก็หิวมาก
ทีนี้ “อสุรกาย” อันสุดท้าย คือ ความกลัว กลัวอย่างโง่เขลาสุดเหวี่ยง กลัวด้วยอวิชชา อสุระ แปลว่าไม่กล้า อะ ไม่ สุระ แปลว่า กล้า อสุระแปลว่า ไม่กล้า ก็คือ กลัว จะเป็นอสุระ อย่างที่ชาวบ้านเชื่อมันก็เป็นผู้มีความกลัว เพราะพวกอสุรกายนี่ไม่กล้าให้ใครเห็นตัว มันกลัว หรือว่า อสุระพวกไหน ตัวหนังสือมันว่า ความไม่กล้าหาญ พวกสัตว์ที่อยู่ในเมืองบาดาลได้ชื่อว่า “อสูร” คงไม่กล้าหาญเหมือนพวกเทวดา
เพราะฉะนั้น สภาวะแห่งจิต ๔ ชนิดได้ชื่อว่า อบายทั้ง ๔
มันก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เรานี่ มนุษย์นี่ต้องระวัง พอเราร้อนใจเราก็เป็นสัตว์นรก พอเราโง่เหลือประมาณเราก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน พอเราหิวกระหายเหลือประมาณเราก็เป็นเปรต พอเราขี้ขลาดเหลือประมาณเราก็เป็นอสุรกาย มันก็แปลกกว่าที่เขาเคยตีความในยุคกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ยุคนายเทียนวรรณ (ต.ว.ส. วัณณาโภ) เขาก็ตีความกันแบบ แบบไอ้นรกก็คือเรือนจำ เป็นต้น เดรัจฉานก็คือเดรัจฉาน เปรตก็คือไอ้ขอทานที่ยื่นถาดขอทาน ที่เจ็บป่วยพิการ อสุรกายก็คือไอ้คนที่ต้องหลบซ่อนตัวอยู่เป็นนิจ อย่างน้อยไอ้นรก ๔ ขุม อบาย ๔ ขุมนี้มีความหมายที่ตีได้ ๓ ชุด ๓ ชุด มีความหมาย ๓ ชุด อย่างแต่เดิมนั้นชุดหนึ่ง อย่างที่สมัยกรมพระยาฯ ตีนั่นก็อีกชุดหนึ่ง อย่างที่ผมตีตามชอบใจผมนี่ก็อีกชุด คุณไปเลือกเอาเอง ตีความอย่างไหนใช้เป็นประโยชน์ได้ก็ตีความอย่างนั้นดีกว่า ไม่อย่างนั้นมันจะมีประโยชน์อะไร ไอ้ความรู้ที่มีประโยชน์นั้นเรียกว่าเป็นความรู้ที่ควรถือเอา ไอ้ความรู้ที่ไม่มีประโยชน์มันก็ไม่ต้องถือเอา แต่เดี๋ยวนี้ที่มันจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์มันขึ้นอยู่กับความเชื่อ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี เราก็เข้าใจว่าตีความอย่างเดิมนี่มันก็ประโยชน์อย่างคนยุคโน้นสมัยโน้น ตีความอย่างนายเทียนวรรณ ก็เป็นประโยชน์อย่างคนยุคนายเทียนวรรณ ตีความอย่างผมก็มีประโยชน์อย่างคนยุคผม ผมว่าอย่างนั้น อบาย ๔ สี่ความหมาย
ทีนี้ทำอย่างไรจะไม่ตกอบาย ก็ประพฤติธรรมะไง ปิดอบาย ประพฤติธรรมะ ไม่ตกอบายก็ประพฤติธรรมะ ตั้งแต่อย่างต่ำสุดถึงสูงสุด ไอ้ธรรมะอย่างต่ำสุดเช่นว่าไม่กระทำอบายมุข ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดูการเล่น ไม่เล่นการพนัน ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร ถือธรรมะอย่างนี้ก็ไม่ตกอบายไปได้แล้ว เราเคยอธิบายให้เห็นว่ามีอยู่ในอบายมุข หรือในบุคคลที่กำลังทำอบายมุข ยกตัวอย่าง คนเล่นการพนันอย่างจริงจังนี่ พอเขาแพ้การพนันมันก็คือนรก พอคนแพ้การพนันหมดเนื้อหมดตัว พอเขาอยากจะชนะเหมือนอยากถูกล็อตเตอรี่ อยากจะชนะการพนัน ก็หิว หิวอยากจะชนะเขาก็เป็นเปรต แล้วเขาก็มีอะไรที่ลึกลับปกปิดซ่อนเร้น มันก็กลัวจะแพ้ ความกลัวจะแพ้นั่นมันคืออสุรกาย ความที่เขากลัวเหลือประมาณว่าเขาจะแพ้ และที่เขาโง่โดยหวังว่าไอ้การพนันจะช่วยได้ จะให้การพนันช่วยให้เขามีความสุขนั้นคือโง่ โง่ก็คือสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้นไอ้นักการพนันพวกเดียวเท่านั้นมีอบายครบทั้ง ๔ อย่าง นักการพนันนั้น บางเวลาตกนรก บางเวลาเป็นสัตว์เดรัจฉาน บางเวลาเป็นเปรต บางเวลาเป็นอสุรกาย จะเห็นว่าคำอธิบายอย่างนี้มันมีประโยชน์ จะเรียกว่า Practical หรือ Apply อะไรก็แล้วแต่จะเรียก อธิบายอย่างนี้มันจะ คนมันจะได้รู้จักแล้วมันจะไม่กระทำ ไม่ตกอบายอย่างนี้ แล้วรับรองได้ว่าอบายอย่างไหนก็ไม่ตก ถ้าเขาอย่าตกอบายอย่างที่เราพูดนี่ เขาก็จะไม่ตกอบายอย่างที่กล่าวไว้แต่โบราณ อย่างที่ชาวบ้านเขาเชื่อกันในสมัยไตรภูมิพระร่วงก็ดีหรือก่อนโน้นถึงครั้งพุทธกาลก็ดี นี่เราว่าเราตีความเหมาะสมถูกต้องใช้ปฏิบัติได้และก็มีประโยชน์คุ้มหมดเลย อย่าตกอบายชนิดที่เป็นสภาวะในจิตใจแล้วก็จะไม่ตกอบายชนิดไหนหมด
เราดูตัวเราเองบางเวลาเป็นอย่างไร เราหิวกระหายอะไรกันนักบ้างหรือเปล่า แม้มาบวชอย่างนี้ ถ้ามันหิวอะไรกระหายอะไรนั่นมันก็คือความหมายของเปรตเหมือนกัน ถ้าเรากลัวหรือขี้ขลาดเกินขอบเขตที่มนุษย์ธรรมดาไป มันก็เป็นอสุรกาย ถ้าร้อนใจก็เป็นนรก โง่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ฉะนั้นคอยเตือน ๆ ๆ ตัวเองว่าอย่าทำอย่างนี้ อย่าให้มันเป็นอย่างนี้ มันจะตกอบายที่นี่ แล้วมันจริงด้วย ไม่ต้องมีใครมาบอก ไม่ต้องมีใครมารับรอง มันจริงอย่างนั้นนี่ เราจะรู้สึกได้เองนี่ ที่เรารู้สึกได้เองนั่นสำคัญมาก สิ่งที่เรารู้สึกอยู่ได้แต่จิตใจของเราเองเขาเรียกว่า "สันทิฎฐิโก" บทของพระธรรม กลบทของพระธรรมที่เราสวดอยู่ทุกวัน “สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ”
แม้แต่เรื่องอบายนี้มันก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง และถือว่าพระพุทธเจ้าก็ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างถูกต้อง จะถือว่ากล่าวไว้อย่างถูกต้องก็น่าจะเอา อายตนิกนรก อายตนิกสวรรค์นี้มากกว่า และเมื่อถือว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วก็ สันทิฏฐิโก และก็อบายอย่างนี้ สันทิฏฐิโก กว่าอย่างไหนหมด เพราะว่าตามแบบโบราณตอนต่อตายแล้ว แล้วถึงไปพบไปปะเข้า เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ สันทิฏฐิโก หรือตีความเป็นคุกตาราง ไอ้คนขอทาน หรือว่านักเลง พวกนั้นมันก็ยังไม่สันทิฏฐิโก เท่ากับความรู้สึกที่มาปรากฏอยู่ในใจของเราร้อนเหมือนไฟไหม้เป็นนรก โง่ดักดานเดรัจฉาน หิวไม่มีความหมายไม่มีเหตุผลก็เป็นเปรต แล้วก็ขี้ขลาดมันก็เป็นอสุรกาย แปลว่า อบายทั้ง ๔ นี้มันก็อยู่ใกล้ ๆ อาจเผลอไปตกได้ ไม่ทันรู้ตัว ให้มีอะไรที่ดี ๆ มีสติดี ๆ ป้องกันอย่าให้มันพลัดลงไปในอบายได้แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง
ความคิดเกี่ยวกับเรื่องธรรมะทุกเรื่องแหละ มันมีประวัติ คือมีวิวัฒนาการ มีประวัติเปลี่ยนมา ๆ ๆ จน จนมาอยู่ในรูปปัจจุบัน ที่ใช้ได้กับปัจจุบัน ที่มันใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน มันใช้ได้แต่ในโบราณโน้นมันก็ต้องเปลี่ยน ๆ ๆ มาจนใช้ได้กับปัจจุบัน ฉะนั้นอธิบายเรื่องนี้ก็เหมือนกัน นี่เราอาจจะให้คำอธิบายที่มีเหตุผลของเรา แล้วใครจะมาว่าเราผิดก็ไม่ได้ เราพิสูจน์ได้เลยว่ามันผิด เพราะมันมีประโยชน์คำอธิบายอย่างนี้มันมีประโยชน์ มันถูกอยู่ที่มันมีประโยชน์ ที่ใช้เป็นประโยชน์ได้ก็คือถูก ถ้าไม่ใช้เป็นประโยชน์ได้มันก็ไม่มีประโยชน์ มันก็คือไม่ มันก็เท่ากับผิด
นี่เรารู้จักอบายทั้งโดยภาษาคนและโดยภาษาธรรม บางองค์อาจจะไม่ค่อยเข้าใจคำว่าภาษาคนกับภาษาธรรม ไปหาหนังสือเล่มนั้นอ่าน ภาษาคนก็คือพูดอย่างคนธรรมดาพูด ภาษาธรรมก็พูดอย่างคนมีความรู้ธรรมพูด แล้วก็พูดเรื่องเดียวกันแล้วมันก็พูดกับคนละอย่าง คนธรรมดามันก็พูดไปอย่าง เช่น เรื่องอบาย ๔ นี้คนธรรมดาพูดไปอย่าง คนที่ถือเอาธรรมะเป็นหลักก็พูดไปอีกอย่าง เราเรียกว่า ภาษาคน แล้วก็ ภาษาธรรม เมื่อไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ๒ คำนี้เกิดความยุ่งยากลำบาก ในที่สุดที่เขาใช้กันอยู่เขาใช้คำว่า Everyday Language ภาษาประจำวันทุกวันจำไว้ Everyday Language คือภาษาคน ไอ้ภาษาธรรมก็ใช้ Dharmic Language ภาษาคน ภาษาธรรม ทุกเรื่องอธิบายได้ทั้งโดยภาษาคนและภาษาธรรม และคำอธิบายอย่างไหนมีประโยชน์ให้ถือเอาอย่างนั้น
ในเรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องอบาย ๔ ลำบากที่ว่า ที่เป็นภาษาคนที่เขาอธิบายกันอยู่ทั่ว ๆ ไปมาแต่กาลก่อนนั้น เป็นเรื่องหลังจากตายแล้วทั้งนั้น อบายทั้ง ๔ นี้ต้องหลังจากตายแล้วทั้งนั้น ทีนี้เราไม่ชอบไอ้แบบนั้นหลังจากตายแล้ว เพราะว่าไอ้ที่มันไม่ทันจะตายมันก็มีอยู่ ฉะนั้นจึงชี้ที่ยังไม่ทันจะตายมีอบายได้ตกอบายได้เมื่อชีวิตนี้ร่างกายนี้ไม่ทันจะตาย จึงอธิบายเพื่อให้รู้ให้เห็นกันได้ในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นในภาษาคนมันเป็นเรื่องหลังจากตายแล้ว เป็น “สัมปรายิก” ไกลออกไป ส่วนภาษาธรรมเป็นเรื่องในจิตใจนี้ก็เป็นเรื่อง “ทิฏฐธรรมมิก” ทิฏฐธรรมมิกในทางที่ตนเห็นแล้ว ที่ว่าในลักษณะที่ตนเห็นได้รู้สึกได้อยู่ด้วยจิตใจดวงนี้ยังไม่ทันจะตายเรียกว่า ทิฏฐธรรม ก็ฝากไว้ต่อตายแล้วก็เป็น สัมปรายิก อบายทั้ง ๔ ก็มีทั้งชนิด สัมปรายิก และ ทิฏฐธรรมมิก อันไหนน่ากลัวกว่า ในตัวจริงของมันก็คอยสังเกตเอาเองเมื่อสิ่งนั้น ๆ มันเกิดขึ้นจริง ๆ แก่จิตใจเอง ก็รู้จักซะเถิด เราอาจจะตกนรก ที่มีความร้อนใจวิตกกังวลเดี๋ยวนี้ ที่นี่ในขณะที่ยังบวชอยู่นี่ก็ได้นะ ถ้าคุณไม่ระวังให้ดี เพราะฉะนั้นควรจะกลัวให้มากเสียให้ได้ กำจัดเสียได้ ไอ้เรื่องความโง่ มีความโง่จนเปรียบกันได้กับสัตว์เดรัจฉานก็อย่าประมาท มันโง่ได้ เราในสภาพอย่างนี้โง่ได้ ควรกลัวให้มาก ควรระวังให้มาก
ทีนี้เปรตหิวมันก็มีได้ โดยมากมันเป็นเรื่องอนาคต ความหวังในอนาคตทำให้เราหิวเหมือนกับเปรตได้ เพราะฉะนั้นก็ควรจะระวัง อย่าให้ต้องมีดีกว่า มันอาจจะมีอยู่เวลานี้ก็ได้ สำหรับเรื่องในอนาคตข้างหน้าเป็นความหิวเหมือนเปรต ดูไม่ยากนะ เมื่อเราอยากได้อะไรเหมือนจะขาดใจนั่นแหละหิวเหมือนเปรต คนเล่นการพนันมันหิวอยากจะชนะ หรือซื้อล็อตเตอรี่มันหิวที่จะได้ หรือเรื่องกามารมณ์มันวูบในจิตใจมันหิวที่จะได้ เป็นเรื่องความหิวชนิดหนึ่ง อบายได้ด้วยกันทั้งนั้น อย่าให้ต้องบอก ของใครของใครอย่างไหนก็รู้เอาเองก็แล้วกัน มันจะได้รู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้มากขึ้น ๆ ไม่อาจจะได้จากบอกเล่าหรืออ่านจากหนังสือ มันรู้ได้จริงก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นในจิตใจ
ความกลัว ไอ้กลัวผี กลัวงู กลัวอะไรนี่เราจะไม่ถึงกับจัดว่าเป็นพวกนี้ แต่ที่จริงมันก็เครือเดียวกัน ถ้าว่าเราจัดจิตใจไว้ไม่ถูกมันก็กลัวทั้งที่ไม่มี ไม่มีเรื่องที่ต้องกลัว ทั้งที่ไม่มีเรื่องที่ต้องกลัวเราก็กลัวได้เหมือนกัน นี่ให้ระวัง ให้ลองใคร่ครวญ คำนวณ ทดสอบดูแต่หนหลัง เราเคยกลัวมาเท่าภูเขาเลากา แล้วเราจะพบว่า ไม่มีอะไรที่ต้องกลัว จะเรียกว่า กลัวฟรี ก็ได้ มันกลัวแต่ฟรี ๆ มากมายมหาศาล มันไม่ต้องกลัวมันไม่เสียหายอะไรมันก็กลัว อย่างนี้มันมีมาแล้วในอดีต แล้วก็มากด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องความกลัวก็เป็นสิ่งสำคัญใหญ่โตอันหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างไม่มีความหมาย มันทำให้มนุษย์เดือดร้อน ให้มนุษย์เสียหาย ให้มนุษย์กลัวมากไปจนทำอะไรเกินขอบเขต โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ไอ้ความก้าวหน้าที่ก้าวหน้าเกินประมาณเกินขอบเขตที่ควรจะก้าวหน้าเพราะความกลัว เรื่องไปโลกพระจันทร์ก็ดี เรื่องประดิษฐ์อาวุธอะไรที่เกินจำเป็นก็ดี เพราะอำนาจแห่งความกลัว เดี๋ยวนี้เขาเอาเครื่องบินที่บรรทุกระเบิดเต็มลำไปเวียนเวนร่อนอยู่บนอากาศ เลิกไปแล้วหรือยังไม่รู้ อย่างนี้ก็ประเทศอเมริกา เครื่องบิน B52 บรรทุกระเบิดแล้วต้องมีเปลี่ยนเวรกัน บรรทุกระเบิดขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพราะความกลัวและทำมาเป็นปี ๆ ก็ไม่ได้ใช้ ทีนี้คงจะเลิกไปแล้วก็ได้ สร้างอาวุธจรวดแบบที่ไม่ต้องเอาเรือบินขึ้นไปลอยรออยู่บนนั้น นี่มันเรื่องของความกลัว นี่กลายเป็นเรื่องของโลก และเราไปโลกพระจันทร์ได้ ไปอวกาศได้เป็นว่าเล่น เขาก็มีโอกาสที่จะได้เปรียบผู้อื่น ผู้อื่นก็กลัว มันก็แข่งขัน ก็แข่งขันทำให้ได้ให้ทันกันไปเรื่อย เพราะฉะนั้นความก้าวหน้าที่เกินจำเป็นนี้เกิดขึ้นเพราะความกลัวชนิดนี้ ควรจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสวัสดีมงคลอะไรของมนุษย์ เป็นเรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องไม่ใช่เรื่องสวัสดีมงคล
ทีนี้ให้มาดูให้มันเล็ก ๆ เข้ามาส่วนบุคคลที่มีความกลัวแล้วเขาจะอยู่ได้อย่างไร โดยมากก็เป็นโรคประสาทอย่างน้อย คนที่มีอะไรกลัวอยู่เสมอก็เป็นโรคประสาทเป็นโรคจิต เป็นโรคหัวใจ เป็นโรคอะไรต่าง ๆ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งซึ่งควรจะขจัดออกไปจากจิตใจ จากเรา นรกก็ดี เดรัจฉานก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี เป็นสภาพแห่งจิตที่ควรจะถูกกีดกันออกไปเสียจากจิตใจของเรา เพราะฉะนั้นคุณอย่าไปคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ผมไปดึงเอามาใส่ไว้ในธรรมะชุดนี้เพราะว่ามันเป็นเรื่องของเรา เพราะเป็นเรื่องของคนทุกคนในโลก แล้วคุณก็เอาไปนั่งดูเอง ไอ้เรื่องที่เอามาใส่ไว้นี้ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ จำเป็นสำหรับมนุษย์ที่จะต้องรู้จะต้องจัดการ รู้ไว้เพื่อเป็นประโยชน์ รู้ไว้เพื่อจัดการ รู้ไว้อย่าให้เกิดโทษนั่นก็มี
ไม้อิงสามขา
ศาสตราสามอัน
โจรฉกรรจ์สามก๊ก
ป่ารกสามดง
เวียนวงสามวน
ทุกข์ทนทั้งสามโลก
เขาโคกสามเนิน
ทางห้ามเดินสองแพร่ง
แมลงห้าตัว
มารที่น่ากลัวห้าตน
บ่วงคล้องคนหกบ่วง
เหตุแห่งสิ่งทั้งปวงหกตำแหน่ง
แหล่งอบายสี่ขุม
ทุกอันมีความจำเป็นที่จะต้องรู้ รู้เพื่อจัดการตามสมควรแก่เรื่องของมัน พวกที่เขาไม่กลัวอบายก็มีอยู่มาก แล้วก็มีความเป็นอันธพาลทั้งนั้นแหละ พวกที่ไม่กลัวอบายในความหมายไหนก็ตาม จัดเป็นอันธพาลทั้งนั้น พวกที่ไม่กลัวอบายในความหมายทางภาษาคน อบายดิน คือที่ดูไม่เห็นเขาก็ไม่กลัว เขาก็ทำชั่วได้เพราะไม่กลัว เพราะไม่เห็น เพราะไม่กลัว เพราะฉะนั้นคนอันธพาลก็ไม่มีอบายที่ต้องกลัว ยิ่งอบายในจิตใจในความรู้สึกเขาก็ยิ่งไม่กลัว แต่ผมคิดว่าน่ากลัวกว่า อาจจะมองเห็นได้ว่าน่ากลัวกว่า เช่น นรกที่เผาร้อนอยู่ในใจนี้ จะเห็นได้และน่ากลัวกว่านรกใต้ดินที่จะไปถึงกันต่อตายแล้ว เมื่ออธิบายอย่างภาษาธรรมนี้ก็จะมีประโยชน์แก่พวกอันธพาลบ้าง นี่เรียกว่าพวกอันธพาลเพราะไม่กลัวอบาย
ที่นี้ไม่ใช่อันธพาล เป็นชาวบ้านชาวเมืองธรรมดา เป็นประชาชนตามธรรมดาตามปกติ เขาก็ไม่ค่อยกลัวอบาย อบายในภาษาคน เขาก็ไม่เห็น อีกนานนักกว่าเขาจะตายเขาก็ไม่กลัว เขาก็ทำบุญทำกุศลเป็นหลักประกันเอาไว้ แล้วเขาก็ไม่ค่อยกลัว ทีนี้ก็เป็นโอกาสของไอ้อบายจริง ๆ เข้าไปครอบงำ ทายกทายิกา ชาวบ้านชาวเรือนทั้งหลาย เป็นโรคประสาทกันงอมแงม เป็นโรคหัวใจกันงอมแงม ทั้งที่ทำบุญอยู่ทั้งวันตลอดวันตลอดคืน แต่ก็มีศรัทธาทำบุญอยู่ตลอดวันและทุกวันเพื่อป้องกันอบาย อบายโน้น อบายที่พูดกันอย่างภาษาคน อบายนี้เขาไม่ได้สนใจ ฉะนั้นพ่อบ้านแม่เรือนแบบนี้จึงเป็นโรคประสาททั้งนั้น เพราะอบายที่แท้จริงมันเข้าไปครอบงำจิตใจของเขา เขาร้อนใจอยู่เรื่อย อยู่เรื่อยทั้งที่ทำบุญ ทำบุญเก่งและทำอยู่เรื่อย แล้วก็โง่เขลาอยู่เรื่อย แล้วก็หิวอะไรอยู่เรื่อย หิวสวรรค์ก็ไม่ใช่หยอก มันก็เป็นไอ้นั่นเหมือนกันแหละ มันก็เป็นเปรตเหมือนกันแหละ ทีนี้มันก็กลัวอะไรก็ไม่รู้ ที่ควรกลัวไม่กลัว มันก็ได้กลัวอยู่เรื่อยไป เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องกลัวนั่นกลัวนี่อยู่เรื่อยไป ทั้งที่ว่าเป็นคนดี เป็นชาวบ้านดี ๆ เป็นปกติดี ๆ บางทีก็อยู่ในพวกที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาด้วยซ้ำ เป็นโรคประสาทกันงอมแงม เพราะว่าอบายเหล่านี้ตามไปรังควาน อบายจริง ๆ ซึ่งเขาไม่สนใจ ไปกลัวอบายชนิดโน้น ที่พูดกันมาอย่างยิ่ง แล้วก็ป้องกันอบายชนิดนั้น แต่ก็ไม่กลัวอบายชนิดที่เข้าไปรังควานอยู่ในภายใน กลัวสิ่งที่ไม่ได้มา ไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่เข้าไปฟอนอยู่ข้างในกลับไม่เห็นกลับไม่กลัว
นี่ผมจึงเอามาพูด แล้วก็ขอให้ทุก ๆ คนรู้จักมันเสีย อย่าให้มันเล่นงานเอา ปิดประตูอบาย ใช้คำ ใช้คำพูดเป็นหลัก “ปิดประตูอบาย” ขอให้ปิดประตูอบายได้ทั้งใน ๓ ความหมาย อธิบายอย่างก่อนโน้น อธิบายอย่างสมัยกลาง ๆ และอบายอย่างเดี๋ยวนี้ ที่พูดนี้ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกองค์ปิดประตูอบายได้ทั้ง ๓ ความหมายอย่างสนิทสนมเลย ไม่ตกอบายโดยประการทั้งปวง นี่เรื่องมันก็มีเป็นใจความสำคัญ ๆ อย่างนี้ คำว่า “อบาย” ตรงกันข้ามกับ “สบาย” ตัวหนังสือมันก็บอก “อบาย” ตรงกันข้ามกับคำว่า “สบาย” ถ้าเป็นอบายก็หาความสบายไม่ได้ ถ้าใครอยากจะสบายก็ปิดอบายเสีย เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าก่อนพุทธกาลทั้งนั้นแหละ คือก่อนพระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นตรัสรู้นี่ก็มีพูดเรื่องนี้กันอยู่ทั่วแล้วในหมู่ชนชาวอินเดีย เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องอบายเรื่องอะไรต่าง ๆ นี้เขามีอยู่ก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็มาตรัสได้แนบเนียนกว่าคือเป็นเรื่องทางจิตใจ แต่สังเกตดูจากพระบาลีนั้นแล้วเห็นว่าไม่ค่อยมีใครยอมเชื่อพระพุทธเจ้าท่านนัก เช่นเดียวกับสมัยนี้ถ้าเราพูดอะไรผิดแปลกไปจากที่เขาเคยพูดแล้ว น้อยคนจะยอมเชื่อ ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัส นรก สวรรค์ทางอายนะขึ้นมา จะมีคนรับเชื่อก็ในวงผู้รู้มีสติปัญญา ในหมู่สาวก ในคนทั่วไปเขาไม่ค่อยเชื่อ เพราะฉะนั้นประชาชนที่รู้แต่ภาษาคน เชื่อแต่ภาษาคน ถือหลักแต่ภาษาคน มันก็ยังมีอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ในวันนี้ ไม่ยกเว้นแม้ในเมืองหลวงที่จะเจริญ ก็ไปดูได้ที่ศาลพระพรหมที่เอราวัณ ขอให้คุณไปดูมันมีคนชั้นที่เป็นนักศึกษาหรืออะไรก็ยังไปทำอะไรกันที่นั่น เพราะว่าไอ้ความฝังจิตฝังใจนั่นแหละเหนียวแน่น ถ้าลงได้ฝังลงไปแล้วก็ถอนยาก เพราะฝังลงในอบายที่ลม ๆ แล้ง ๆ อบายที่แท้จริงเขาไม่สนใจ เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราอย่าต้องเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่เสียทีที่ได้บวชได้เรียน ได้บวชได้เรียน ขอให้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ให้เร็ว ๆ ให้ทันกับเวลา ช่วงบวชกันสัก ๓ เดือน อะไร ๆ ที่มันจะใช้แก้ปัญหาได้ ถึงทีที่ว่าจำเป็นรีบ ๆ ๆ รีบศึกษา รีบค้นคว้า รีบไต่ถาม รีบบันทึก บันทึกกันลืมไว้ มันลืมนะ ถ้าลืมแล้วมันยุ่งนะ ปิดหมวดการพูดเรื่องอบายก็พอกันทีมันไม่มีอะไรมาก มีเท่านี้ ขอยุติเรื่องอบาย ปิดประชุมแล้วก็ตีระฆัง