แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย การบรรยายถวายความรู้ หรือความคิดเห็นเป็นครั้งที่ ๒ ในวันนี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ความหมายของคำว่าวิปัสสนา ขอทบทวนถึงการบรรยายครั้งที่แล้วมา ว่าเราได้พูดกันถึงคุณค่าของวิปัสสนาสำหรับมนุษย์แห่งยุคปัจจุบัน แม้แต่ว่าผลของวิปัสสนาจะมีประโยชน์แก่มนุษย์ปัจจุบันนี้อย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุด คิดว่าเราต้องทำให้สำเร็จตามนั้น จึงจะเป็นการสืบอายุพระศาสนา หรือธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้าคิดว่าเราจะต้องทำให้ธรรมวินัยของพระองค์เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ แม้ในยุคปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นก็เป็นหมัน มันก็ไม่ต้องมีศาสนากันให้เสียเวลา พระพุทธประสงค์อันนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องสนอง คือการทำให้พระศาสนาของพระองค์เป็นประโยชน์แก่คนในยุคปัจจุบัน
ทำไมใช้คำว่าวิปัสสนาแทนคำว่าศาสนา ก็เพราะว่าเมื่อจะให้ศาสนาสำเร็จประโยชน์จริงๆ แล้ว มันก็ต้องทำกันถึงขั้นที่เรียกว่า วิปัสสนา ศาสนามุ่งหมายให้ดับทุกข์ วิมุตหลุดพ้นจากความทุกข์ ถ้าไม่เป็นวิปัสสนาขึ้นมา มันก็ไม่ดับทุกข์ ไม่ทำให้วิมุตหลุดพ้นจากความทุกข์ ศีลก็ช่วยให้มีสมาธิ สมาธิก็ช่วยให้มีปัญญาหรือวิปัสสนา ถ้ามันเข้าไปจนถึงวิปัสสนาแล้วมีผลเกิดขึ้นมา จึงจะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ไม่ว่าในยุคไหน
และทีนี้เราปรารภมนุษย์แห่งยุคปัจจุบัน มันมีปัญหาหลายอย่าง หรือมีเหตุผลหลายอย่างที่จะต้องพูดถึงคำว่ามนุษย์แห่งยุคปัจจุบัน ข้อแรกก็คือว่า มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้เขาไม่สนใจศาสนา มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ เขาถือว่าเขาดับทุกข์ได้โดยวิธีอื่น และที่มากไปกว่านั้นก็คือ มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้เขาถือว่าเขาไม่มีความทุกข์ นั่นแหละช่วย ช่วยทำความเข้าใจ หรือกำหนดไว้ในใจว่ามนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ เขาไม่ได้ถือว่ามีความทุกข์ นี่ผมพบมาด้วยตนเอง คนไทยยุคปัจจุบันไปตามคนฝรั่ง ก็รู้สึกเหมือนฝรั่ง พวกฝรั่งนั้นเขาถือว่า เราไม่ได้มีความทุกข์ชนิดที่เป็นปัญหาอะไรเลย เราแก้ปัญหาได้ด้วยวิชาความรู้ยุคปัจจุบันเช่น เทคโนโลยี เป็นต้น เขาอาจทำยากินให้หายเป็นทุกข์ ถ้ามันไม่หายจริงๆ เขาก็มีทางออกคือการฆ่าตัวตาย ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องการธรรมะสำหรับดับทุกข์ คือเขาถือว่าไม่ได้มีความทุกข์ เขาถือว่ามันเป็นธรรมดาอย่างนี้เองเหมือนกัน ฉะนั้นเขาจึงไม่สนใจเมื่อเราจะบอกเขาว่า ธรรมะเป็นเครื่องดับทุกข์ เพราะเขาไม่มีทุกข์นั่นแหละ นี่ยุคปัจจุบันมีปัญหาอย่างนี้
นี่สมมติว่าเขาจะสนใจขึ้นมา มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ก็มีหัวสมองประหลาดผิดจากมนุษย์ยุคก่อนๆ ก็ชื่อว่าเป็นยุควิทยาศาสตร์ มีหัวเป็นวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นเขาไม่ยอมงมงายแม้แต่นิดเดียว เขาจะต้องมีหลักการในการกระทำอย่างที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ เผอิญมันโชคดีที่ว่าพุทธศาสนาของเราก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มีหลักการอย่างวิทยาศาสตร์ ถ้าเราเข้าใจได้ เราก็จะทำให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ในยุควิทยาศาสตร์ หรือบูชาวิทยาศาสตร์อันนี้ได้ นี่เราต้องเข้าใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์กันบ้างตามสมควร มันก็ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนนัก
ถ้าพูดว่าวิทยาศาสตร์นั้นก็หมายถึงเรื่องจริง มีของจริง มาวางอยู่เฉพาะหน้า เพื่อค้นคว้าประพฤติปฏิบัติไปจนกว่าจะหมดปัญหา นี่แหละทำอย่างนี้ ทำลงไปบนของจริง อย่างนี่ก็เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ถ้าทำไปด้วยความเชื่อโดยไม่มีอะไรของจริงมาวางอยู่ตรงหน้า หรือว่าทำไปด้วยการคำนวณในสมมติฐาน สมมติอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เป็นหลักอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วก็หาเหตุผลมาแวดล้อมว่ามันเป็นอย่างนั้น ในที่สุดลงมติว่าอย่างนั้นถือเป็นหลักได้ ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ถ้าอย่างนี้มันเป็นปรัชญา ซึ่งมันไม่ต้องเอาของจริงมาวางตรงหน้า มันเอาสมมติฐานมาสำหรับคำนึงคำนวณ ไปตามวิธีคำนึงคำนวณ ที่เรียกว่านัย (อ่านว่า นัย-ยะ) หรือนัยยายะ ตามที่ปรากฏอยู่ในกาลามสูตร แม้จะใช้วิธีตรรกะที่เรียกว่า ลอจิกส์ มันก็ยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่นั่นเอง เพราะมันเป็นเรื่องการคำนวณ ไปตามวิธีคำนวณในแบบต่างๆ กัน ถ้าทำโดยวิธีอย่างนี้ก็เป็นปรัชญา ไม่ใช่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเชื่อตะพึดเหมือนกับศาสนาแบบเก่าบางแบบ มันก็ไม่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ ไม่เป็นทั้งปรัชญา เป็นเพียงขนบธรรมเนียมประเพณี สำหรับว่าเชื่อกันอย่างนี้และก็มีประโยชน์ดับทุกข์ได้ แล้วก็เชื่อกันไปอย่างนี้ นี่มันมาเรียกว่าเป็นศาสนาความเชื่อ ซึ่งหลีกไม่พ้นที่จะต้องมีความงมงาย คือเชื่ออย่างงมงายเข้าไปเป็นเดิมพัน
พุทธศาสนาจะเป็นศาสนาแห่งความเชื่อชนิดนั้นก็ไม่ได้ จะเป็นศาสนาแห่งปรัชญาและคำนวณไปตามเหตุผลนั้นก็ไม่ได้ พุทธศาสนาต้องมีหลักเป็นวิทยาศาสตร์ คือมีของจริงมาวางอยู่ตรงหน้า แล้วก็พลิกดู ค้นคว้าดู ทดลองดู อะไรดู จนได้ผลเป็นความรู้ความจริงขึ้นมา ว่าจะต้องทำกันอย่างนี้อย่างนี้ ประโยชน์จึงจะเกิดขึ้นอย่างนี้อย่างนี้ นี่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนสมัยนี้เขาถือเป็นหลัก เขาชอบวิทยาศาสตร์ เขาบูชาวิทยาศาสตร์ แล้วก็อย่างที่ผมว่ามาแล้วว่า โชคดีที่พุทธศาสนาเรามันมีหลักการเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นเราไม่ต้องฝืน ไม่ฝืนกระทำ หรือแสร้งกระทำ เราใช้หลักการนี้ตรงๆ ก็อาจจะทำความเข้าใจ ทำความพอใจกับมนุษย์แห่งยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุควิทยาศาสตร์ได้
ทีนี้ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นี่มันต้องดูลงไปตรงๆ ไม่ใช่คำนวณ ไม่ใช่คำนึงคำนวณ ไม่ต้องมีการคำนึงคำนวณ เพราะมีของจริงๆ มาวางให้ดูตรงๆ นี่แหละคือวิธีการของวิปัสสนา คือดูจนเห็นจริง นี่เรียกว่าวิปัสสนา ถ้าไปคำนวณใคร่ครวญ พิจารณาแบบใคร่ครวญแบบใช้เหตุผล อย่างนี้จะไม่ใช่วิปัสสนา เพราะไม่ได้ดูและไม่ได้เห็น มันเป็นเพียงคำนวณจนพอใจจนเข้าใจ อย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะไม่ได้ดู ไม่ได้ดู ดูๆๆๆ จนเห็นตามที่มันเป็นจริงอย่างไร
อย่าลืมว่าในพุทธศาสนาเรามีคำว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญาเห็นด้วยปัญญา เห็นชอบด้วยปัญญาตามที่เป็นจริง ยถาภูตญาณทัสสนะ นี่ก็เห็นด้วย ยถาภูตญาณ คือญาณตามที่เป็นจริง มันมีคำว่าอย่างนี้ มีคำว่าเห็น ว่ารู้ ลงไปตรงๆ เราจึงต้องทำให้มันมีการดูและการเห็น ฉะนั้นทำวิปัสสนานั้น ก็ทำให้มีการดูและการเห็น ไม่ต้องคำนึงคำนวณ หรือไม่ต้องหลับตาเชื่อไป อย่างนั้นมันไม่เป็นวิปัสสนา นี่จะดูให้ละเอียดลงไปก็จะพบว่า ในชั้นแรก เราต้องเตรียมสิ่งจะดู เพราะมันจะต้องมีการดูอย่างจริง อย่างดีที่สุด มันก็ต้องมีสิ่งที่จะดูให้ดีที่สุด นั่นก็คือจิตที่เหมาะสมที่จะดู คือจิตที่เป็นสมาธิจริงๆ
ฉะนั้น เราจึงต้องมีการทำจิตให้เป็นสมาธิในเบื้องต้นของวิปัสสนา เรื่องศีลนั้นเป็นเรื่องรองรับทั่วไป สำหรับจะได้มีชีวิตเป็นอยู่ที่สะดวก ที่ง่าย ที่จิตจะเป็นสมาธิ ถ้าศีลมันเกะกะ ระรานไปหมด พื้นฐานก็ไม่ดี จิตก็ไม่อาจจะเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิดี ก็หมายความว่ามันตั้งอยู่บนร่างกายวาจาที่ดี คือมีศีลดี แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นวิปัสสนา ยังเป็นเพียงพื้นฐานของจิตที่จะดี จะดูให้ดี ทีนี้เมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้ว มันก็มีเครื่องดู มีสิ่งสำหรับดู เอาไปดู ไปดูอะไร ก็ไปดูที่สังขารทั้งหลายที่มีอยู่จริง ดูๆๆๆ จนเห็นความจริง ตามที่เป็นจริง ซึ่งก็เรียกว่าเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามเป็นจริง ก็ปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง มันก็แก้ปัญหาได้ คือว่าดับทุกข์ได้นั่นเอง ดังนั้นเราจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน สำหรับการเป็นอยู่ที่ดี มีการเป็นอยู่ที่ดี จิตก็เป็นสมาธิได้โดยง่าย จิตเป็นสมาธิแล้ว ก็น้อมไปเพื่อการดู
วิ แปลว่า แจ่มแจ้ง ปัสสนา แปลว่า เห็น วิปัสสนา แปลว่าเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ใช่คิดนึกคำนวณเหมาๆ ก็ลงมติตามเหตุผล ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนั้นมันไม่ใช่เห็นอย่างแจ่มแจ้ง มันต้องดูๆๆๆๆๆ แล้วก็เห็นตามที่มันเป็นจริงอย่างไร นี่เรียกว่า วิปัสสนา การทำอย่างนี้เป็นวิธีการอย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นวิปัสสนาจึงเป็นของเหมาะสำหรับโลกในยุควิทยาศาสตร์ ฉะนั้นเราก็อย่าพูดผิดๆ อย่าพูดกับเขาผิดๆ ให้พุทธศาสนาเป็นอย่างโน้นอย่างนี้อย่างนั้น ไปเป็น จนไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเชื่อมากเกินไป เป็นเรื่องคำนึงคำนวณมากเกินไป เป็นเรื่องท่องจำมากเกินไป อย่างนี้น่ะไม่ใช่พุทธศาสนา ศาสนาต้องเป็นการกระทำ พุทธศาสนา พุทธศาสนาต้องเป็นการกระทำชนิดที่ว่าดูแล้วเห็นตามที่เป็นจริง ถ้าจิตไม่ดีก็ดูไม่ได้ ดังนั้นต้องทำจิตให้ดี ให้เป็นสมาธิ ที่เพียงพอ ที่คล่องแคล่วในการดู แล้วก็ดู แล้วก็เห็นตามที่เป็นจริง ก็จะเป็นพุทธศาสนา เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ไอ้รู้นี่ มันรู้เพราะว่าเห็นลงไปจริงๆ แล้วมันก็ตื่น มันก็ตื่นจากหลับ คืออวิชชา ไม่มีอวิชชา แล้วก็เบิกบานนะ คือไม่มีอะไรที่จะทำให้เศร้าหมอง มันก็เบิกบาน นั่นแหละคำว่าวิปัสสนามีความหมายอย่างนี้ มีความหมายว่าเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ฉะนั้นการกระทำก็ต้องขึ้นไป ขึ้นไป ขึ้นไป จนถึงการเห็นอย่างแจ่มแจ้ง อย่ามามัวแต่ท่องจำ มาคิดคำนึงคำนวณ พิจารณาว่าเพราะอย่างนั้นจึงเป็นอย่างนี้ ในที่สุดก็ลงมติว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ มันจะต้องเป็นอย่างนี้ เช่นว่ามันจะต้องไม่เที่ยง มันจะต้องเป็นทุกข์ มันจะต้องเป็นอนัตตา เพราะว่ามีเหตุผลอย่างนี้อย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ล่ะไม่ใช่วิปัสสนา เพราะมันคำนวณไว้กับ ฝากเอาไว้กับเหตุผล ไม่ได้เป็นการเห็นอย่างแจ่มแจ้ง มันต้องเป็นการเห็นอย่างแจ่มแจ้ง เหมือนเราดูอะไรด้วยลูกตา แล้วก็เห็น แล้วเราก็รู้ได้ว่ามันเป็นอะไร
แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องนามธรรม จะดูด้วยลูกตาธรรมดานี้มันก็ไม่ได้ มันก็ต้องดูด้วยตาอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ธรรมจักษุบ้าง ปัญญาจักษุบ้าง ญาณจักษุบ้าง แต่บางทีก็เรียกว่าจักษุเฉยๆ คือลูกตาเหมือนกัน แต่มันหมายถึงตาปัญญา ตาธรรมะ ที่จะดู นั่นแหละเราจะต้องสร้างขึ้นมา โดยทำจิตให้เป็นสมาธิก่อน จิตเป็นสมาธิแล้ว จิตนั้นอาจจะมีตาชนิดที่จะดูสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้เห็นตามที่เป็นจริงอย่างไร จึงมีวิปัสสนาตัวแท้กันที่ตรงนี้ คือดูแล้วก็เห็นตามที่เป็นจริง ดังนั้นเป็นความจำเป็นนะ ที่จะต้องทำศีลให้ดีเป็นพื้นฐานของสมาธิได้ แล้วก็ทำสมาธิให้สำเร็จ จึงจะมีจิตชนิดที่สามารถดู ดูให้เห็นตามที่เป็นจริงในสังขารทั้งปวง คือสิ่งทั้งปวงที่มันเป็นปัญหา ให้เห็นตามที่เป็นจริง ว่ามันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และก็ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ กิเลสก็ไม่เกิด ความทุกข์ก็ไม่มี ปัญหาไม่เกิด เพราะเราเห็นตามที่เป็นจริง เราปฏิบัติถูกต้องตามที่เป็นจริงไปจนหมดสิ้น นี่คือความหมายของคำว่าวิปัสสนา ดู เห็นตามที่เป็นจริง ปฏิบัติถูกต้องไปตามที่มันเป็นจริง นี่เป็นวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ มายืนยันความเป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนาไว้
เดี๋ยวนี้เขาชอบปรัชญากันทั้งโลก ทั้งโลกก็ชอบปรัชญา อะไรๆ เขาก็จะดึงไปหาปรัชญา ก็ตามใจเขา เขาก็บอกว่าพุทธศาสนานี้จะเอาไปทำให้เป็นปรัชญา ก็ได้เหมือนกันนะ แต่มันจะเปลี่ยนรูปเป็นปรัชญา แล้วจะไม่มีประโยชน์ตามที่มุ่งหมายไว้แต่เดิมนะ เพราะว่าปรัชญานั้น มันไม่มีวิปัสสนานะ มันไม่ใช่ดูแล้วเห็นนะ มันสมมติอะไรขึ้นมาคำนวณเท่านั้นเองนะ เอ้า,ก็ไม่ได้
ฉะนั้น เราเป็นผู้สอนวิปัสสนา หรือเผยแผ่พระศาสนาในระดับที่เป็นวิปัสสนา ก็ต้องรู้จักตัววิปัสสนา รู้จักความหมายของวิปัสสนา แล้วก็รู้จักคุณค่าของวิปัสสนาที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์แห่งยุคปัจจุบัน ที่เขาเป็นยุควิทยาศาสตร์ มันก็โชคดีที่ว่าพุทธศาสนาที่แท้จริงเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงไม่ลำบากอะไรเลย เพียงแต่ทำไปตามหลักการเท่านั้นแหละ มันก็เข้ารูปเข้ารอย สำเร็จประโยชน์ได้ ไม่ยุ่งยากลำบากอะไรนัก ที่เอาไปทำให้เป็นปรัชญาน่ะจะยุ่ง ระวังให้ดี และคนสมัยนี้เขาชอบ แล้วผมก็คิดว่าพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้ ก็ไม่เคยสนใจเรื่องปรัชญา ถ้าพูดไปในรูปปรัชญา ก็คงจะเปะปะๆ ไม่สำเร็จประโยชน์อีกเหมือนกัน ฉะนั้นมาพูดกันในแง่ลักษณะของวิทยาศาสตร์ดีกว่า จิตเป็นสมาธิแล้ว มองลงไปดูตามที่เป็นจริง ต้องมองลงไปบนของจริง อะไรเป็นของจริงที่จะเอามามอง
ข้อนี้มันก็แล้วแต่ว่าเรากำลังทำวิปัสสนากันแบบไหน ถ้าทำแบบอานาปานสติแล้วมันก็ยิ่งง่ายมาก เพราะมันมีของจริงสำหรับกำหนด สำหรับมอง คือลมหายใจกับสิ่งต่างๆ ที่เนื่องกันอยู่กับลมหายใจ ดูลงไปที่สิ่งนั้น ให้เห็นตามที่เป็นจริง เช่นว่าเมื่อทำคล่องแคล่วแล้วทั้ง ๑๖ ขั้นแล้ว มาถึงตอนที่จะดูให้เป็นวิปัสสนา ก็เป็นเรื่องดูให้เห็นความไม่เที่ยง เมื่อเห็นความไม่เที่ยง เราก็เห็นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้โดยอัตโนมัติ ดังนั้นดูความไม่เที่ยงกันก่อน เช่นว่าลมหายใจ ก็ดูที่ลมหายใจ รู้สึกต่อลมหายใจว่ามันเป็นอย่างไร ลมหายใจเป็นอย่างไร เรารู้สึกต่อลมหายใจนั้น ไม่ไช่คิดคำนวณ รู้สึกจริงๆ ต่อลมหายใจนั้น ว่าลมหายใจนั้นเป็นอย่างไร
ก็จะเห็นว่าลมหายใจนี้ มีเหตุปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ก็จะรู้สึกได้เอง ไม่ต้องคำนวณ รู้สึกลงไปชัดๆ เหมือนกับดูด้วยตานี่ว่า ไอ้ลมหายใจนี้มันไม่เที่ยง ทีนี้ก็ดูต่อไปว่าลมหายใจยาวเล่า ก็ไม่เที่ยง ไอ้ความยาวนั้นก็ไม่เที่ยง ลมหายใจสั้นเล่า มันก็ไม่เที่ยง ไอ้ความสั้นนั้นก็ไม่เที่ยง เพราะมันมีเหตุปัจจัยสำหรับยาว สำหรับสั้น ก็เห็นความไม่เที่ยง และจะเห็นต่อไปถึงผลที่เกิดขึ้นจากลมหายใจยาว หรือลมหายใจสั้น เช่นร่างกายรำงับ หรือร่างกายกำเริบ นี่ มันก็แล้วแต่ลมหายใจหยาบ หรือลมหายใจละเอียด ลมหายใจยาว หรือลมหายใจสั้น แล้วก็เห็นความหยาบ ความละเอียด ความกำเริบ หรือความสงบรำงับ ให้ล้วนแต่เป็นความเปลี่ยนแปลง ก็เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ และของความยาวหรือของความสั้น และของผลที่เกิดมาจากความเป็นลมหายใจยาว หรือความเป็นลมหายใจสั้น
ทีนี้ ก็ดูต่อไปถึงความที่ลมหายใจเหล่านี้ เป็นเครื่องปรุงแต่งร่างกาย กายเนื้อนี่ ร่างกายเนื้อหนังนี่ มันหล่อเลี้ยงอยู่ด้วยลมหายใจ ก็ดูให้เห็น โอ้ย, ไอ้ร่างกายนี้มันขึ้นอยู่กับลมหายใจ ไม่เที่ยงแท้ถาวรไปได้ เพราะมันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามลมหายใจ กำเริบ หรือว่าสงบรำงับ หยาบหรือละเอียด ก็เห็นความที่ไอ้ร่างกายนี้ก็ต้องไม่เที่ยงไปตามลมหายใจ มีกิริยาที่มันปรุงแต่งกัน มันก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นมันก็ยิ่งโยกเยก โยกโคลงมากยิ่งขึ้นไปอีก ก็เห็นการที่ร่างกายนี้ไม่เที่ยง การที่ลมหายใจปรุงแต่ง ร่างกายก็ไม่เที่ยง ผลของมันก็ไม่เที่ยง กิริยาอาการของมันก็ไม่เที่ยง ดูด้วยตา เหมือนๆ กับดูด้วยตา ไม่ใช่คำนวณ ถ้าคำนวณอย่างในโรงเรียนนักธรรมแล้วก็ไม่เป็นวิปัสสนา นั่นเราสอนอย่างปริยัติ ไม่ใช่ปฏิบัติวิปัสสนา แล้วก็สอนเรื่องความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาเหมือนกัน มันก็สรุปโดยการคำนวณ สรุปว่ามันไม่เที่ยง สรุปว่ามันเป็นทุกข์ สรุปว่ามันเป็นอนัตตา อย่างนี้ยังไม่เป็นวิปัสสนา
ทีนี้มาดูด้วยจิตที่เป็นสมาธิจึงเห็น โอ้,มันไม่เที่ยง ก็เห็นขั้นต่อไปอีก ก็การทำกายสังขารให้สงบรำงับ คือทำลมหายใจให้สงบรำงับ กายนี้ก็พลอยสงบรำงับ ระงับเป็นสมาธิยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป จนทั้งตัวเป็น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาณ จตุตถฌาณ ก็ยิ่งเห็นความไม่เที่ยง เพราะสิ่งเหล่านี้เพิ่งมี ความเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน อันนี้มันเพิ่งมี มันเป็นไปตามลมหายใจ ที่ถูกบังคับ ถูกควบคุม ทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างนั้นไปตามระเบียบ ไปตามกฎ ให้มันสงบรำงับ ร่างกายก็สงบรำงับ จิตก็สงบรำงับ เป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นรูปฌาน เป็นต้น เห็นว่าล้วนแต่กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ล้วนแต่กระแสแห่งความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนอันถาวรที่ตรงไหน
นี่หมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มันก็เห็นความไม่เที่ยง ให้เห็นความไม่เที่ยงทั้ง ๔ ขั้นตอน ลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น ลมหายใจแต่ร่างกาย ลมหายใจระงับ ร่างกายระงับนี่ ทั้ง ๔ ขั้นตอนล้วนแต่แสดงความไม่เที่ยง เพราะคิดดู มันไม่ต้องคำนวณ ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องสันนิษฐาน รู้สึกประจักษ์ชัดก็เหมือนกับว่าดูด้วยตา จึงเรียกว่าวิปัสสนา คือเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ทีนี้อานาปานสติหมวดที่ ๒ ก็คือเวทนาวิปัสสนา ในขณะที่มันสงบรำงับน่ะ มันก็มีฌานที่ประกอบไปด้วยองค์ต่างๆ เช่น วิตกวิจารณ์ ปีติสุข และเอกัคคตา ดูที่วิตก อ้าวเพิ่งโผล่มานี่ก็ไม่เที่ยง วิจารณ์ก็เพิ่งโผล่มานี่ก็ไม่เที่ยง ปีติและสุขนี้ก็เพิ่งโผล่มานี่ ก็ไม่เที่ยง ก็ดูว่าไอ้ปีติและสุขนี่เป็นตัวร้ายน่ะ เพราะว่ามนุษย์เราหลงใหลฝากตัวฝากเนื้ออยู่กับปีติและสุขทั้งนั้น เราบูชาปีติและสุข เราต้องการอย่างยิ่ง เราก็ไปบูชาไอ้ของที่มันไม่เที่ยง
ฉะนั้น มองให้เห็นชัด ปีติมันเพิ่งเกิดเพราะการกระทำจิตเหมาะสม เป็นฌานเป็นอะไรขึ้นมา ดูที่ปีตินี้ ว่ามีเหตุปัจจัย เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ก็ไม่เที่ยง อย่าไปบูชาสิ่งที่ไม่เที่ยง ความสุขก็เหมือนกัน มีเหตุ มีปัจจัย เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย คือไม่เที่ยง อย่าไปบูชาความสุขที่เป็นเวทนาอย่างนี้ ว่าเป็นของเลิศของประเสริฐ มันก็ไม่ถูก แม้เวทนาที่บริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ มันก็ยังไม่เที่ยง จะนับประสาอะไรกับเวทนาที่เกี่ยวกับกามารมณ์ มันยิ่งหลอกลวง ยิ่งไม่เที่ยงหนักขึ้นไปอีก ก็เลยไม่หลงใหลในเวทนาชนิดไหน นี่มันถอนมนุษย์ออกมาเสียจากความโง่ ความหลง ความถูกผูกพันโดยเวทนา ถอนมนุษย์ออกมาให้เป็นอิสระ มันก็มีความเป็นอิสระ และเป็นสุขที่แท้จริง ไม่ใช่สุขหลอกลวง ฉะนั้นขอให้เห็นว่าไอ้ปีติหรือสุขก็มันเป็นของไม่เที่ยง
เอกัคคตา มันก็อย่างเดียวกันอีก ใช่ว่ามัน จิตมีอารมณ์เดียวได้ มันชั่วขณะ บางขณะเมื่อกระทำ ปล่อยไปตามธรรมชาติจิตนิ่ง ก็ฟุ้งซ่าน ก็แผ่ซ่าน ไม่เป็นเอกัคคตา ดังนั้นเป็นเอกัคคตา ก็เป็นสังขารที่มีเหตุมีปัจจัย เกิดขึ้นเฉพาะครั้งเฉพาะคราวแล้วก็เปลี่ยนแปลงไป แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงแม้ในเอกัคคตานั้น เห็นความไม่เที่ยงในวิตก ไม่เที่ยงในวิจารณ์ ไม่เที่ยงในปีติ ไม่เที่ยงในสุข ไม่เที่ยงในเอกัคคตา ดังนั้นก็เป็นอันว่าเห็นความไม่เที่ยงลึกลงไปอีกในส่วนนามธรรม
ทีนี้อานาปานสติ หมวดที่ ๓ ก็เรื่องจิต ดูจิต จิตอย่างนั้น จิตอย่างนี้ มีตั้งหลายอย่าง ๒๐ อย่าง ๓๐ อย่าง ก็ได้ คือจิตที่กำลังเป็นอย่างไรก็ดูเถอะ เป็นอย่างไรอยู่ ก็ดูๆๆๆ จะพบแต่ความไม่เที่ยง จิตมีความโลภ จิตไม่มีความโลภ จิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ จิตมีอะไร ไม่มีอะไร ก็ทุกชนิดที่มันจะมาปรากฏก็ล้วนแต่เป็นจิตที่ไม่เที่ยง ถึงแม้ว่าเราจะบังคับมันให้เป็นจิตมีปราโมทย์ หรือจิตบันเทิง มันก็ไม่เที่ยงเพราะมันเปลี่ยนได้ มันก็หายไปได้ บังคับมาได้ เมื่อไม่มีบังคับ มันก็เปลี่ยนได้ เป็นอย่างอื่นไป มันก็เลยไม่เที่ยง บังคับจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่น มันก็คือไม่เที่ยงและเดี๋ยวมันก็ไม่ตั้งมั่น บังคับจิตให้ปล่อย มันก็ปล่อยเมื่อบังคับ หรือเมื่อพิจารณาเห็นอยู่ให้ปล่อย มันก็ปล่อย แล้วมันก็ยึดถืออีก นี่คือความไม่เที่ยง
ขอให้ฟังให้ดีว่าเราดู เห็นความไม่เที่ยงที่สิ่งที่ไม่เที่ยง และมีอยู่จริงเฉพาะหน้า ไม่คำนวณกันลับหลัง เพราะเดี๋ยวนี้เรามานั่งทำสมาธิอยู่ กำหนดลมหายใจสั้นยาวอยู่ กำหนดความที่ลมหายใจปรุงแต่งร่างกายอยู่ กำหนดลมหายใจที่สงบรำงับ และทำร่างกายให้สงบรำงับด้วยนี้อยู่ กำหนดองค์ฌาณ ยกเอาปีติมา เอาสุขมา แล้วดูความที่ปีติ และสุขปรุงแต่งจิตนั้น ก็เห็นไม่เที่ยง แล้วก็จิตขึ้นอยู่กับปีติและสุข ควบคุมปีติและสุขได้เท่าไร ก็ควบคุมจิตได้เท่านั้น ก็ล้วนแต่ไม่เที่ยงไปด้วยกันทั้งนั้น
สรุปความสั้นๆ ว่า ไม่มีการเอาอะไรมาคำนึงคำนวณลับหลัง อยู่ลับหลังของสิ่งนั้นๆ ซึ่งเป็นวิธีเรียนปรัชญา เรียนตรรกวิทยา เรียนอย่างอื่นในโรงเรียนนักธรรม ก็มีการคำนวณลับหลังอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เป็นนั่ง มานั่งวิปัสสนาอยู่ที่โคนไม้กลางดินนี้ ไม่ ไม่ทำอย่างนั้น ต้องมีอะไรจริงๆ มา ไม่ว่าจะดู ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ดูที่มีอยู่ในร่างกายจริงๆ จะดูรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ดูลงไปที่สิ่งนั้นจริงๆ จะดู ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ดูลงไปที่สิ่งนั้นจริงๆ ไม่มีการกระทำลับหลัง
ฉะนั้น ก็ดูปฏิจจสมุปบาท ก็ดูที่มันเป็นอยู่จริงๆ ไม่ใช่จะคำนวณ ไม่ใช่ศึกษาตามความจำและคำนวณไปตามนั้น มันดูว่าอวิชชาเข้ามาควบคุมผัสสะ ให้เป็นผัสสะโง่ ผัสสะโง่เป็นอย่างไร และเวทนาโง่เป็นอย่างไร และความต้องการที่โง่คือตัณหาเป็นอย่างไร เกิดอุปาทานเป็นตัวกูของกูอย่างไร เกิดภพอย่างไร เกิดชาติอย่างไร ทุกข์ทั้งหลายก็ประดังกันเข้ามาเป็น เป็นความทุกข์แก่จิตใจ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงกี่อย่าง มันก็ถูกรับเอามาเป็นของตน มันก็เป็นทุกข์ ที่เห็นชัดกันอยู่อย่างนี้เลย นี่เรียกว่าวิปัสสนา ดู เห็น ตามที่เป็นจริง และก็สามารถที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
เห็นจริงๆ ว่าทุกข์เกิดมาจากอุปาทาน เมื่อใดมีอุปาทาน เมื่อนั้นมีความทุกข์ มันก็เห็นอยู่อย่างนี้ก็ควบคุมอุปาทาน ไม่ให้เกิดอุปาทาน ทีนี้จะมองข้ามไปว่าทุกข์เกิดมาจากตัณหา คือความอยาก ความต้องการ ด้วยความโง่ หรืออวิชชา อย่างที่กล่าวไว้ในอริยสัจธรรมดานี้ ก็เห็นว่า โอ้,มนุษย์ก็มาจากความอยากนั้นจริงๆ ไอ้ความอยากอย่างโง่เขลานั้นก็ทำให้เกิดอุปาทาน ไอ้ตัวกูของกูผู้อยาก อะไรก็เป็นเรื่องของกู กูก็อยาก กูก็ยึดถือ ก็เป็นทุกข์ หรือจะดูให้มันลึกไปกว่านั้น ไปที่ต้นตอมันทีเดียว โอ้, มาจากอวิชชาเว้ย อยู่ในความโง่เว้ย จึงจะมีตัณหา ฉะนั้นไปสรุปเสียทีเดียวว่า ไอ้ความทุกข์ทั้งหลายมาจากอวิชชาก็ได้เหมือนกัน เพราะมีอวิชชาแล้วก็ทำอะไรผิดๆ ไปหมด ดูก็ดูผิดๆ รู้สึกก็รู้สึกผิดๆ เวทนาก็ผิด ตัณหาก็ผิด อุปาทานก็ผิด ภพชาติก็ล้วนแต่เป็นของผิด เพราะปรุงแต่งมาจากอวิชชา เห็นอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นวิปัสสนา
ฉะนั้นไปศึกษาดูเถิด จะดูที่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งสี่นี้ ก็เห็นลงไปบนนั้นจริงๆ จะดูลงไปเป็นธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ก็ดูลงไปบนสิ่งนั้นจริงๆ อย่าคำนวณ ก็เห็น เห็นอนิจจัง อย่าดูที่มันปรุงขึ้นมาแล้ว เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดูลงไปจริงๆ ไม่ต้องคำนวณลับหลัง ก็เห็นอนิจจังของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดู รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อายตนะภายนอก เมื่อมันมากระทบอายตนะภายใน จะเห็น มันจะดูได้ต่อเมื่อมันมากระทบอายตนะภายในนั่นน่ะ เราจึงจะเห็นอายตนะภายนอก เมื่อมันยังไม่มากระทบ มันก็ไม่เห็น มันไม่มีตัวจริงก็ต้องคำนวณ ถ้าคำนวณอย่างนั้นก็เป็นเรื่องปรัชญาอย่างเรียนในโรงเรียน แต่เดี๋ยวนี้มานั่งดูเมื่อตา เมื่อรูปมากระทบตาจริงๆ เมื่อเสียงมากระทบหูจริงๆ เมื่อกลิ่นมากระทบตรงจมูกจริงๆ เป็นต้น มันก็ไม่ต้องคำนวณ มันก็รู้จัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ได้ดี ในการปรุงแต่งนี้มันจะเป็นปฏิจจสมุปบาท เมื่อเห็นชัดอย่างที่ว่ามาแล้ว
หรือว่าจะมองดูในแง่ที่เป็นขันธ์ทั้งห้า เมื่อก้อนเนื้อลูกตา ประสาทลูกตา ทำหน้าที่มันก็เกิดรูปขันธ์ เมื่อวิญญาณขันธ์ เมื่อวิญญาณธาตุเข้ามาทำหน้าที่ที่ตา มันก็เกิดวิญญาณขันธ์ ในการเห็นรูปนี่ เราจะเห็นไอ้รูป คือตา กับประสาทตาและวัตถุที่มากระทบตานี้เป็นรูปขันธ์ ทั้งภายในและภายนอก แล้วก็วิญญาณธาตุที่มาทำหน้าที่อยู่ที่ประสาทตา นี่ก็เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นนาม แล้วก็ในภายใน นี่เรียกว่าเห็นรูปขันธ์ด้วย นามขันธ์ด้วย เห็นรูปขันธ์ด้วย เห็นวิญญาณขันธ์ด้วย เมื่อมันกระทบกันแล้ว เป็นผัสสะแล้ว มันก็เกิดเวทนาขึ้นมาอย่างไร รู้สึกจริงๆ ก็เห็นเวทนาขันธ์ที่มีอยู่จริง ไม่ได้คำนวณ เวทนาเป็นไปถึงที่สุดแล้ว ก็เกิดความสำคัญมั่นหมายเนื่องด้วยเวทนานั้น สำคัญมั่นหมายว่าสุข ว่าทุกข์ ว่าหญิง ว่าชาย ว่าอะไรๆ ก็ตามน่ะ ซึ่งมันเป็นสัญญา สำคัญมั่นหมาย นี่ก็เป็นสัญญาขันธ์ สำคัญมั่นหมายไปถึงที่สุดแล้ว มันก็เกิดความคิดนึกที่จะจัดกระทำ จะอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นสังขารขันธ์นี่ สังขารขันธ์เป็นตัวความคิดให้กระทำ กระทั่งกระทำเป็นตัวกรรม ทางมโนกรรมก็เห็นชัด วิญญาณขันธ์ก็เห็นแล้วตั้งแต่เมื่อมันทำหน้าที่ที่อายตนะข้างนอก ๕ อายตนะ และเมื่อมันทำหน้าที่ภายในจนเกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว มโน นี่ทำหน้าที่ทาง เป็นมโนวิญญาณ เป็นวิญญาณขันธ์ในเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นวิญญาณทำหน้าที่หลายครั้งหลายหน แล้วแต่ว่ามัน มันกำลังอยู่ในระยะไหน บางระยะมันทำหน้าที่ภายนอกเป็นวิญญาณ ๕ บางเวลามันทำหน้าที่ในภายใน เกี่ยวกับภายใน เป็นมโนวิญญาณ
ฉะนั้น จงรู้จักรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ให้ชัด ให้ลงไปบนตัวของมันเลย ไม่มีการคำนวณลับหลัง ไม่ต้องสมมติว่าอะไรหมด นี้จึงจะเรียกว่าวิปัสสนา เห็นขันธ์อย่างถูกต้อง นับตั้งแต่ว่าเห็นธาตุมาอย่างถูกต้อง เห็นอายตนะมาอย่างถูกต้อง เห็นขันธ์มาอย่างถูกต้อง เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เห็นชัดว่าถ้ามันมีอุปาทานเข้าไปยึดถือ ก็เป็นอุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์ เห็นได้ว่าความทุกข์นี่ มันมีอุปาทานแฝกกันอยู่กับเบญจขันธ์ ถ้าไม่มีอุปาทานเข้าไปแฝกอยู่ เป็นขันธ์ล้วนๆ ตอนนี้ไม่เป็นทุกข์ทรมาน อย่างเป็นทุกข์ก็ทุกข์น่าเกลียด เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลงเป็นทุกขลักษณะ เป็นลักษณะของสิ่งที่มีทุกข์ แล้วก็ทุกข์จริงๆ ที่ต้องเจ็บต้องปวดแล้ว ถ้ามันต้องติดกันอยู่กับอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น รู้จักแยกขันธ์ล้วนๆ ออกไปจากอุปาทาน หรือรู้จักแยกอุปาทานล้วนๆ ออกมาจากเบญจขันธ์ อย่างนี้ก็เรียกว่า เราดูแล้วก็เห็นชัดต่อเบญจขันธ์ และต่ออุปาทาน
บางเวลาเป็นขันธ์ล้วนๆ บางเวลาเป็นอุปาทานขันธ์ บางเวลาคนเราไปยึดเอารูปขันธ์เป็นตัวตน บางเวลาคนเราไปสำคัญเอาเวทนาขันธ์ว่าเป็นตัวตน บางเวลาไปสำคัญเอาสัญญาขันธ์ว่าเป็นตัวตน บางเวลาสำคัญเอาสังขารขันธ์ที่คิดนึกได้ว่าเป็นตัวตน บางเวลาก็เอาวิญญาณเป็นตัวตน นี่มันแล้วแต่เวลา แล้วแต่กรณี มันจะเกิดพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์ไม่ได้ มันต้องเกิดทยอยกันไปตามหน้าที่หรือตามลำดับ แต่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นมาก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น เห็นอยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้น จึงใช้คำว่าเห็น พระบาลีใช้คำว่าเห็น ปัสสนา แปลว่า เห็น คำนี้ไม่แปลว่ารู้ แต่เมื่อเห็นแล้วนี่ เรียกว่าเป็นความรู้ที่มาจากความเห็น เช่นเราเห็นก้อนหิน เราก็มีความรู้เรื่องก้อนหิน ซึ่งเราเห็นอะไรอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว ก็เรียกว่าเรามีความรู้ นี้จึงเรียกว่า ญาณ ยถาภูตญาณทัสสนะ ทัสสนะเห็นตามที่เป็นจริงอย่างไรแล้ว ก็เกิด ยถาภูตสัมมัปปัญญา ปัญญาเห็นชอบตามที่เป็นจริง นี่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างนี้
ฉะนั้น เราเป็นพระวิปัสสนาจารย์ สั่งสอนวิปัสสนา อาจจะต้องไปในทิศทางต่างๆ จะเผชิญกับปัญหาที่มีผู้ถามว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นอย่างไร จะต้องทำอย่างไร แล้วก็อธิบายให้เขาฟังอย่างถูกต้อง ในฐานะเป็นสิ่งที่ดูแล้วเห็น เราก็เคยดูและเคยเห็น เราก็สอนเขาให้ดูและเห็น ตามวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ มนุษย์สมัยนี้ก็ทำได้โดยง่าย เพราะเขามีวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ นิยมวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ทีนี้มันก็เหลืออยู่แต่ว่าทำไมเขาจึงไม่เอามาใช้ เขาไม่เอามาใช้เพราะว่าเขาไม่ ไม่ ไม่ ไม่ชอบผลที่เป็นความสงบ เป็นความหลุดพ้น เขาชอบผลที่เป็นความสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางเนื้อทางหนังนี่ เขาชอบผลอย่างนั้น เขาจึงเอาวิธีการวิทยาศาสตร์ไปแสวงหาสิ่งเหล่านั้น ไปบริโภคสิ่งเหล่านั้น ไปค้นคว้าประดิดประดอยเพิ่มเติมสิ่งเหล่านั้น เขาใช้วิธีวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างเหยื่อของกิเลสมากขึ้น เพื่อเขาจะได้จมอยู่ในกองทุกข์นี้มากขึ้น ทีนี้เราจะใช้วิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ เพื่อจะดับกิเลสนั้นๆ เสีย ไม่ใช้เพื่อสร้างเหยื่อให้แก่กิเลส แต่ใช้ในการจะดับกิเลสนั้นเสีย จะใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ด้วยเหมือนกัน ก็เรียกว่า เหมือนๆ กับ หนามยอกแล้วก็เอาหนามบ่ง
โลกปัจจุบันจะต้องอาศัยหลักการอันนี้ ก็เหมือนกับ หนามยอกแล้วเอาหนามบ่ง ไอ้หนามที่มันยอก เดี๋ยวนี้ก็คือความก้าวหน้าทางวัตถุ ที่อาศัยวิทยาศาสตร์วัตถุก้าวหน้า สร้างสิ่งสวยงามเอร็ดอร่อย สนุกสนานเพลิดเพลิน ขึ้นมาเต็มไปทั้งโลก ก็ผูกมัดคนไว้ในสิ่งเหล่านี้ แล้วก็มีความทุกข์เต็มอก นี่วิทยาศาสตร์มันสร้างความทุกข์ จึงจะให้วิทยาศาสตร์สร้างความดับทุกข์ ก็มองดูกันไปในทางที่ตรงกันข้าม เอาวิทยาศาสตร์นั่นเองมาแก้ไอ้โทษร้ายที่เกิดมาจากวิทยาศาสตร์
ที่เรียกว่าหนามยอกเอาหนามบ่ง บางคนอาจจะฟังไม่ถูก คนโบราณเขาฟังถูก เขาเห็นแล้ว เขาเคยทำแล้ว เขาจึงพูดไว้เป็นหลักว่าหนามยอกเอาหนามบ่ง เด็กรุ่นหลังฟังไม่ถูกก็ได้ ที่ผมเคยประสบมา หนามมันตำเข้าไปในเนื้อโดยเฉพาะที่เท้านี่ เราเดินไปในป่าที่มันมีหนาม ต้นไม้หนาม มีหนามเก่าๆ หักตกอยู่ที่พื้นดิน เดินเซ่อซ่าไปเหยียบเอาหนามเข้า มันก็ตำเข้าไป แล้วหักคาเสมอเนื้อจะทำอย่างไร คุณจะทำอย่างไร ก็หนามนั้นเป็นหนามชนิดใหญ่ แข็ง ยาว จะทำอย่างไร ไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมืออะไร ไม่มีอะไรเลย ก็กลายเป็นว่าเอาหนามมา หยิบสองหนามสองเล่ม ถือหนาม มือ มือข้างละหนาม แล้วก็แทงลงไปข้างๆ หนามที่ฝังอยู่ในเนื้อ แทงลงไปตรงๆ ขนาบสองข้างแล้วก็งัดพร้อมๆ กันอย่างนี้ ไอ้ปลายหนามสองข้าง มันก็เข้าไปตำไอ้หนามที่มันเสียบอยู่ แล้วก็งัด ถอนขึ้นมาพร้อมๆ กัน ไอ้หนามนั้นมันก็ออกมา นี่เขาเรียกว่าเอาหนามบ่งหนาม หนามยอกเอาหนามบ่ง หนามอันหนึ่งเป็นความทุกข์ หนามอีกสองอัน อีกสองเล่มนั้นเป็นความดับทุกข์ เป็นเครื่องมือสำหรับดับทุกข์
เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ก็สร้างความทุกข์ เหมือนกับหนามทีแรกที่ตำเข้าไปในเนื้อ ทีนี้วิทยาศาสตร์ที่จะขจัดความทุกข์นี่ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ดีกว่า สูงกว่า ฉลาดกว่า เหมือนกับหนามสองอันทีหลังนี่ มันทำหน้าที่ต่างกันมากกับหนามอันทีแรกที่มันตำเข้าไปในเนื้อ นี่เป็นหนามสองเล่ม งัดสองข้างดีดขึ้นมา นี่เราจะต้องอธิบายพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วมันก็จะทำหน้าที่ถอนหนามที่วิทยาศาสตร์อวิชชา วิทยาศาสตร์ที่ตกเป็นเหยื่อของอวิชชา ถอนหนามนั้นออกมาได้ ฉะนั้น หนามทีหลังก็เป็นพวกวิชชาก็คือดับทุกข์ ไอ้หนามก่อนนั้นเป็นพวกอวิชชาที่จะตำเข้าไปให้เจ็บปวด นี่อุปมาที่มองเห็น และเข้ากันได้ดีกับเรื่องนี้ และควรจะจำไว้เป็นหลักว่า ไอ้ที่มันจะแก้กันได้นั้น มันก็ต้องทันกันน่ะ แต่ไม่ใช่ มันไม่ต้องเหมือนกัน แต่ว่ามันทันกัน หนามยอกเอาหนามบ่ง
ในสังขารเมื่อเป็นทุกข์ ก็ต้องเอาสังขารอีกชนิดหนึ่งมาแก้มัน ทำลายให้หมดทุกข์ ให้มันว่างไปจากความทุกข์ มันจึงจะเป็นนิพพาน ฉะนั้นข้อปฏิบัติทั้งหลาย ศีล สมาธิ ปัญญานี้ก็เป็นสังขารนะ มันเป็นสังขารชนิดหนึ่งเหมือนกันน่ะ เพราะว่ามันมีเหตุ มีปัจจัย เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย เป็นสังขารชนิดหนึ่ง เราปฏิบัติมันจึงเกิดขึ้นมา เราไม่ปฏิบัติมันก็ไม่เกิดขึ้น เขาเลิกปฏิบัติมันก็ไม่เกิดขึ้น มันก็เป็นสังขาร ฉะนั้นสังขารชนิดนี้ มันจะแก้สังขารชนิดโน้น คือความทุกข์ที่เป็นความทุกข์ เป็นกิเลสตัณหา มันเข้าลักษณะว่าสังขารแก้สังขาร แต่มันคนละรูปแบบ ไอ้สังขารอวิชชา สังขารโง่ สังขารเป็นทุกข์ ก็แบบหนึ่ง สังขารฉลาดเป็นวิชชา เป็นปัญญา เป็นแสงสว่างมันก็อีกแบบหนึ่ง มันก็ฆ่ากันได้ นี่วิทยาศาสตร์ชัดๆ อย่างนี้
ฉะนั้น ถ้าเขาจะพูด จะให้เราพูดว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร ก็พูดให้มันถูกต้อง พูดให้มันถูกเรื่องถูกราว พูดให้มันถูกต้อง เขาก็จะพอใจ ยินดีรับฟัง แล้วก็เอาไปปฏิบัติตามนั้นก็ได้ผล นี่คือความหมายของคำว่าวิปัสสนา วิ แปลว่า แจ่มแจ้ง ปัสสนา แปลว่า เห็น วิปัสสนา แปลว่า เห็นอย่างแจ่มแจ้ง อย่าให้เป็นเรื่องหลับตาคลำ ไม่มีอยู่จริง สมมติขึ้นมา หลับตาคลำไปด้วยเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วสรุปความว่า มันคงจะเป็นอย่างนั้น มันคงจะเป็นอย่างนี้ หรือมันต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนี้ นี่เรียกว่ามันหลับตาคลำ ไม่ใช่วิปัสสนา ถ้ามันหลับตาคลำ แล้วถ้ามันลืมตา แล้วมันดู ดูแล้วมันเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้งและถูกต้อง นี่คือวิปัสสนา
อันนี้เป็นความหมายของคำว่าวิปัสสนาโดยพยัญชนะ วิ แจ่มแจ้ง ปัสสนา แปลว่า เห็น วิปัสสนาก็เห็นอย่างแจ่มแจ้ง นี่โดยพยัญชนะหรือโดยตัวหนังสือ ทีนี้โดยอรรถะ โดยเนื้อความ โดยความหมาย มันก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน มีการกระทำให้เห็น สร้างสิ่งที่จะเห็น แล้วก็เห็น เมื่อเห็นชัดลงไป มันก็จะถูกต้องแหละ มันก็แจ่มแจ้งเพราะมันดู มันก็ลืมตาดูนี่ มันก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง โดยอรรถะมันก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเราจึงดับทุกข์ได้ ด้วยการเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ถูกต้อง ตรงตามที่เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ วิปัสสนา อย่าไปวิปัสสนาที่อื่นเลย วิปัสสนาที่ดูแล้วเห็น เห็นอย่างแจ่มแจ้ง แล้วปฏิบัติถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ก็จะดับทุกข์ได้
นี่คือข้อที่ผมถวายความรู้ เป็นธรรมปฏิสันถาร แก่พระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ตามมีตามได้ ตามสติปัญญาที่ผมจะมี แต่ก็เมื่อต้องถวายความรู้ แล้วก็ต้องพูดไปตามที่จะมี สติปัญญาจะมี หรือตามที่ได้เคยผ่านมา ได้เคยปฏิบัติใช้สิ่งเหล่านี้มาอย่างไร ก็ถ่ายทอดกันไป เพื่อช่วยประหยัดเวลาของพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย อย่าต้องเสียเวลามากเกินไป และเมื่อได้รับคำชี้แจงแล้ว มันก็ประหยัดเวลาที่ไม่ต้องไปคลำหา มันก็เหลืออยู่แต่ที่จะไปทำ มันเป็นผลขึ้นมาอย่างนั้นจริงๆ
ฉะนั้นขอได้จำเอาไปเถอะ เอาไปใคร่ครวญดู เพื่อจะปรับปรุงแก้ไขกันเสียใหม่ ถ้าวิปัสสนาของเรายังเป็นเพียงหลับตาคลำแล้วก็ ไม่ได้ล่ะ ต้องเป็นลืมตาดู ลืมตาดู ไอ้หลับตาคลำมันใช้ไม่ได้ แต่มันก็อาจจะได้กระทำอยู่นะ ระวังให้ดีนะ หลับตาคลำอาจจะกำลังมีอยู่ก็ได้ แล้วก็เลิกเสีย แล้วก็ลืมตาดูๆ เห็นๆ อย่างแจ่มแจ้ง แล้วก็ทำไปจนถึงที่สุด นี่เรียกว่าความหมายของคำว่าวิปัสสนา เป็นหนทางที่จะให้วิมุต สมถะและวิปัสสนาสองอย่างนี้เป็นหนทางแห่งวิมุต แม้ว่าจะมีคำใช้น้อยมากในพระบาลี แต่ก็เป็นหลักที่แน่นอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส สมโถจะ วิปัสสนาจะ สองอย่างนี้เป็นหนทางแห่งวิมุต ก็แปลว่า เราก็ได้มุ่งหมายดีแล้ว มุ่งหมายที่จะอาศัยวิปัสสนาดับทุกข์ของเรา และมุ่งหมายที่จะใช้วิปัสสนาเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการดับทุกข์ให้คนอื่น ให้ผู้อื่น เราก็จะได้รับประโยชน์ส่วนเรา ผู้อื่นก็ได้รับประโยชน์ส่วนผู้อื่น
แล้วก็เป็นการสนองพระพุทธประสงค์ที่ทรงหวังว่า ให้พุทธบริษัททั้งหลายนี้จะช่วยกันเผยแผ่พรหมจรรย์ คือการประพฤติกระทำที่ประเสริฐ ที่วิเศษ ที่มันดับทุกข์ได้ ให้พรหมจรรย์นี้แพร่หลายไปจนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ สามารถบอกสอนต่อๆ กันไปได้ตามลำพัง นี่เป็นพระพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดเจนอย่างนี้ เราก็ได้สนอง เราก็ได้รับผล สอนผู้อื่นก็ได้รับผล สนองพระพุทธประสงค์ที่ทรงหวังไว้อย่างได้ผล มันก็คงจะจบกันที สมกับที่เป็นสมณศากยบุตติยะ สมณศากยบุตติยะ สมณะที่นับเนื่องในศากยบุตร มีนักปราญช์บางคน มันจะไม่รู้ มันเขียนศากยบุตร(อ่านว่า บุด-ตะ-ระ) นี้มันจิตนะ เราไม่ได้เป็นสมณศากยบุตร นะ นั่นคือพระพุทธเจ้านะ ถ้าเราต้องเป็นสมณศากยบุตติยะ นะ ไม่ใช่ ตะ-ระ คือผู้นับเนื่องอยู่ในสมณศากยบุตร เขียนให้ถูกๆ
เป็นอันว่าผมได้ถวายความรู้ต่อจากวันก่อน ที่ว่าวิปัสสนามีคุณค่าสำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบัน ทีนี้ก็พูดตัววิปัสสนาซึ่งมีความหมายชัดเจนอย่างไร ตรงกับความต้องการของมนุษย์แห่งยุคปัจจุบันอย่างไร ก็พอหมดเวลาตามที่กำหนดไว้ เรากำหนดเวลาไว้เท่านี้ ขอยุติการบรรยาย ขอแสดงความหวังไว้เป็น ก็เป็นการบรรยายสุดท้าย แล้วเราก็จะแยกกันแล้ว ขอแสดงความหวังว่า ให้สิ่งต่างๆ นี้เป็นไปตามที่ควรปรารถนา ตามที่พึงปรารถนา ให้สำเร็จประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เราจะต้องนึกถึงก่อนสิ่งอื่น ในฐานะที่เป็นพลเมือง แม้ว่าเป็นบรรพชิตก็ยังคงเป็นพลเมือง มีหน้าที่ต้องสนองคุณของประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสนองคุณของพระพุทธองค์เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก ทั้งโลก ทั้งโลก ทั้งจักรวาล กี่โลกๆ ก็มารวมกันหมดเป็นจักรวาล ให้มีความสงบสุขดับทุกข์ได้ ตามจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ทุกๆ ประการเทอญ ก็ถือโอกาสลา และผมก็ถือโอกาสส่ง