แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตามธรรมดาเราพูดกันเรื่อง ผู้จะลาสิกขาในเดือนท้ายของพรรษา มีการบรรยายสำหรับผู้จะลาสิกขา เพราะว่ามันเป็น มันเป็นไปตามเหตุการณ์ ในการพูดกันในครั้งที่หนึ่งนี้ ก็จะพูดถึงข้อที่ว่า ผู้บวชแล้วจะลาสิกขาออกไปนี่ ควรจะได้อะไรที่คุ้มกัน ก็ตั้งคำถามอย่างนี้ อย่างน้อยที่สุดมันก็จะต้องรู้ถึงความมุ่งหมายของการบวชเข้ามา ในลักษณะที่เป็นการบวชชั่วคราวตามแบบขนบธรรมเนียมประเพณีในประเทศไทยเรา เพราะว่าการบวชแท้จริงในพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่ว่าบวชชั่วคราว เป็นการบวชเปลี่ยนชีวิตจิตใจไปแบบนึงเลยไปตลอดชีวิต เดี๋ยวนี้เรามันมีธรรมเนียมใหม่เกิดขึ้นสำหรับการบวชชั่วคราว จึงทำเหมือนกันทีเดียวไม่ได้ จะเหมือนได้แต่บางอย่าง การบวชชั่วคราวมาศึกษาพุทธศาสนานี้ มันก็ควรจะ เป็นที่แน่นอนลงไปว่า มาหาโอกาสศึกษาลู่ทางสำหรับจะไปดำรงชีวิตให้ดีที่สุด
สำหรับผู้เป็นพุทธบริษัท เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า ธรรมะนี้มันเป็นระบบการปฏิบัติเพื่อการดำรงชีวิตให้มีผลดีที่สุด คือมนุษย์เราได้รับผลดีที่สุดทุกขั้นตอนของวิวัฒนาการของเรา มาศึกษาลู่ทางที่จะมีชีวิตให้ดีที่สุดและก็ถูกต้องที่สุดสำหรับความเป็นฆราวาส ในธรรมะโดยทั่วไปนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสำหรับฆราวาสหรือสำหรับบรรพชิต ธรรมะทั่วไปมุ่งหมายแต่จะดับทุกข์กันท่าเดียว ไม่มามัวแยกเป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิต อันนี้เรามาเพิ่งแยกกันทีหลัง มันไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ เรื่องของธรรมชาติมันมีแต่ความทุกข์และจะดับทุกข์กันอย่างไร เมื่อเอาความทุกข์มาเปรียบเทียบดูกันแล้ว ความทุกข์ของฆราวาส หรือของบรรพชิต มันก็ไม่ได้ไกลกันอย่างที่บางคนอาจจะนึก มันอาจจะเหมือนกันคล้ายกันเท่ากันตั้งแปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ก็ได้ ไม่ว่าใครก็ตามจะเป็นทุกข์ มันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะอุปาทานทั้งนั้นแหล่ะ เนี่ยคุณจำไว้เป็นหลักใหญ่ ที่เราสวดอยู่ทุกวันทุกวันว่า สังขิตเตนะ ปันจุปาทานะ ขันธาทุกขา (06:17) ก็ได้แก่ความทุกข์ โดยรายละเอียดเป็นอย่างนั้นๆ แล้วก็กล่าวสรุปว่า โดยสรุปแล้ว ปันจุปาทานะขัน เป็นทุกข์ ข้อนั้นล่ะเป็นข้อดีต้องจะเข้าใจดี จำติดเอาไป อยู่กับเนื้อกับตัวว่าไอ้ความทุกข์มันเกิดจากอุปาทาน เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ ของพระก็อย่างนั้น ของฆราวาสก็อย่างนั้น เรียกว่ากิเลสเนี่ย มันไม่มีกิเลสพระกิเลสฆราวาส มันเป็นกิเลสตามธรรมชาติ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เป็นชื่อของกิเลส เมื่อแจกแจงออกไป แปลว่า โลภ โกรธ หลง ทั้งสามอย่างนั้นมันก็เป็นผลของการมีอุปาทานในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสมอ เพราะอุปาทานในรูปหนึ่ง ออกมาเป็นความโลภ เพราะอุปาทานในรูปหนึ่งออกมาเป็นความโกรธ เพราะอุปาทานในรูปหนึ่ง ออกมาเป็นความหลง นึกว่ามีเรื่องที่จะต้องหนักอกหนักใจนั่นแหล่ะเป็นทุกข์ เรามารู้ความจริงข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นความลับของธรรมชาติข้อนี้
เมื่อคุณยังไม่มาบวช คุณก็มีอุปาทานเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คุณบวชแล้วจะสึกออกไปมันก็มีอุปาทานเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จนกระทั่งตาย มันจะมีอุปาทานเป็นตัวการของความทุกข์ อุปาทานแปลว่าความยึดมั่นถือมั่น แล้วมันเข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยคำ คำพูด ด้วยคำพูดคำนั้นว่ายึดมั่นยึดถือ ถ้าเราไปถือเข้ามันก็หนักมือ เราไปจับอะไรมาถือไว้หิ้วอยู่นี่มันก็หนักมือ ถ้าเราไม่จับไม่ถือไม่หิ้วเอาไว้มันก็ มือมันก็ว่างมันก็ไม่หนักมันก็ไม่เป็นทุกข์ จิตใจก็อย่างเดียวกัน มันไปจับอะไรเข้าไว้แล้วมาหิ้วมาถือไว้ กิริยานี้เรียกว่าอุปาทาน จิตใจมันก็หนักเพราะมันหิ้วมันถือ มันก็เป็นทุกข์ ถ้าเราจะศึกษากันเรื่องทุกข์โดยเฉพาะก็ต้องศึกษาเรื่องอุปาทานให้เป็นที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งอยู่ตลอดไป
แม้แต่ชีวิตนี้ถ้าถือ ถ้าจิตเอามาถือเป็นของกู ชีวิตก็เป็นของหนัก ถ้าจิตไม่ต้องถือ ชีวิตมีหลักเกณฑ์อย่างไรประพฤติปฏิบัติเป็นไปให้ถูกต้อง มันก็ไม่หนักแก่จิต มันก็เบาสบายแก่จิตเป็นตั้งๆ (นาทีที่ 10:10) เพราะว่าปฏิบัติต่อสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นอย่างถูกต้อง ไม่ใช่เอามาถือ เอามาหมายมั่น เป็นตัวกูของกู แล้วรักแล้วห่วงแล้ว ที่เรียกว่ายึดถือ ไอ้ความยึดถือที่เป็นไปถึงที่สุด หรือเต็มรูปของมันแล้ว มันก็ออกมาอยู่ในรูปที่เรียกว่า ตัวกู ตัวกูหรือของกู ผลของการยึดถือ มันพูดกันกลับไปกลับมาก็ได้ ยึดถือว่าตัวกู ยึดถือว่าของกู เมื่อมีความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูที่ไหนมันก็มีความยึดถือแล้ว ยึดถืออยู่ในความรู้สึกอันนั้น ในความรู้สึกอันนั้นก็เป็นความยึดถือ เพราะฉะนั้นเราก็พูดได้เลยว่า ไอ้ตัวกู เป็นของหนัก ตัวกูหรือของกูเป็นของหนัก มันก็หนักแต่จิตที่ยึดถือ มันก็ต้องหนักเป็นทุกข์ เพราะว่าหนักถึงเป็นทุกข์นี่พูดแทนกันได้ และก็ในหลายความหมาย หนักหลายความหมาย หนักหรือเป็นทุกข์นี่ อย่างที่พูดแล้วว่า เดี๋ยวเป็นโลภ เดี๋ยวเป็นโกรธ เดี๋ยวเป็นหลง แล้วโกรธ โลภโกรธหลงนี่ แจกลูกออกไปได้สิบๆร้อยๆนะ แต่บางอย่างก็เป็นกิเลสด้วยกัน แล้วมันก็หนักเป็นทุกข์ด้วยกัน นี้เป็นความจริง ที่เรียกว่าความจริงหรือความลับว่า ยึดถือก็หนัก ก็คือทุกข์ แล้วความยึดถือและความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู ยึดถือว่าตัวกู ยึดถือว่าของกู เมื่อใดเกิดความรู้สึกอันนี้ เมื่อนั้นเรียกได้ว่ามีความยึดถือ และเราก็ไม่ได้ยึดถืออยู่ตลอดเวลานะ ถ้าดูให้ดี ยึดถืออยู่ตลอดเวลามันก็เป็นบ้า ตายแล้ว ตายแล้วแน่นอน ไอ้ความยึดถือจนเกิดความรู้สึกว่าตัวกูว่าของกูนี่มันเป็นคราวๆ ถ้าในระหว่างที่บวชอยู่นี้ คุณตั้งใจคอยเฝ้าสังเกตุดูให้ดีศึกษาให้ดี ก็จะพบความจริงข้อนี้ ว่าเรามันเกิดตัวกูของกูที่เรียกว่ายึดถือนี่เป็นคราวๆ แล้วเกิดเมื่อไหร่เป็นทุกข์เมื่อนั้น
ทว่าความทุกข์นี่มีความหมายหลายอย่าง อย่างที่เรารู้กันอยู่ เจ็บปวดก็เป็นทุกข์ ผูกมัดก็เป็นทุกข์ เผาลนก็เป็นทุกข์ ทิ่มแทงก็เป็นทุกข์ หลายหลากหลายคำที่เป็นกิริยาที่ทำแล้วเกิดทุกข์ แต่ในทางธรรมะนี่ กล่าวสรุปรวมอยู่ที่ว่ามันหนัก เรียกว่าเป็นความหนัก เป็นภาระหนัก เป็นของหนักขึ้นมา เรียกว่าขันธ์ทั้งห้า มันเป็นของหนัก เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่เป็นของหนัก เพราะว่าเป็นของสำหรับยึดถือ แล้วคนก็ยึดถืออยู่ตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้ยึดถืออยู่ตลอดเวลาดังที่กล่าวแล้ว แม้ว่าเราจะโง่มีอวิชชาอยู่ตลอดเวลา แต่กิริยาที่ยึดถือด้วยอวิชชานั้น เกิด (นาทีที่ 14:31) อุปาทานมาจากอวิชชานั้น ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดเวลา จะเป็นต่อเมื่อมันยึดถือ คืออวิชชาเกิดขึ้นปรุงแต่งจิตใจในขณะที่จิตมันเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆที่เนื่องอยู่กับขันธ์ห้า เรื่องขันธ์ห้านี้มันก็ดีมาก ละเอียดมาก แต่กลัวว่า คนเราจะไม่สนใจ ที่จะเข้าใจ ที่จะจำไว้ตลอดชีวิต ผมเชื่อว่าคุณคงไม่จำไอ้คำว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ติดตัวไปแล้วไปรู้สึกตรวจสอบทบทวนอยู่จนตลอดชีวิต เพราะว่า แม้เมื่อบวชอยู่นี่ก็ยังไม่ค่อยสนใจเลย เรื่องขันธ์ห้า สึกออกไปแล้วมันก็คงจะไม่ค่อยสนใจ แต่นั้นน่ะมันเป็นบทประมวลเรื่องของคนเราทั้งหมดไว้ในคำห้าคำนั้น และมีอยู่ตลอดชีวิต แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า สังขิตเตนะ ปันจุปาทานะ ขันธาทุกขา (16:01) ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดถือทั้งห้านั้นเป็นทุกข์ เสยยะถีทัง รูปูปาทานักขันโธ (16:12) เรื่อยไป กล่าวคือ รูปขันธ์ เป็นที่ตั้งความยึดถือ เวทนาขันธ์เป็นที่ตั้งความยึดถือ สัญญาเป็นที่ตั้งความยึดถือ สังขารเป็นที่ตั้งความยึดถือ วิญญาณเป็นที่ตั้งความยึดถือ นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะเก็บไว้ในวัด ไว้ท่องไว้สวดกันอยู่แต่ในวัด หรือสำหรับคนแก่ๆ คนหนุ่มๆระวังให้ดี มันก็ยึดถือและเป็นทุกข์อยู่ที่สิ่งทั้งห้านั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งที่ควรจะพูดได้ติดปากตลอดเวลา คือ รูป จะหมายถึงในส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อมันทำหน้าที่ของมัน มันก็กำลังอยู่ในหน้าที่ของมัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อมันกำลังทำหน้าที่ของมัน นี่เราเรียกว่ารูป เมื่อมันทำหน้าที่ของมัน มันจะมีปัญหาขึ้นมาทันที เราจะพอใจหรือไม่พอใจ ในร่างกายรูปส่วนนั้นๆจะทำหน้าที่ ดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ แม้ว่าจะแยกออกไปจนถึงว่าเป็น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มันก็อย่างเดียวกัน แต่ธรรมดาก็ไม่ได้มีใครไปแยกมันถึงขนาดนั้น เราก็เอาที่ว่า มือ ตีน แขน ขา เนื้อตัว อะไรก็ตามที่มันทำหน้าที่ของมัน บางทีเราก็ถูกใจ บางทีเราก็ไม่ถูกใจ ถูกใจหรือไม่ถูกใจมันก็เป็นทุกข์เสมอกัน ทว่าถูกใจมันก็ยึดถือ ไม่ถูกใจมันก็ไม่ยึดถือก็ยึดถือกันคนละแบบ ความรักก็ยึดถือ ความเกลียดก็ยึดถือ ความกลัวก็ยึดถือ ทุกอย่างเป็นความยึดถือ ในส่วนที่ร่างกายก็มีส่วนที่จะถูกยึดถือ ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ในของตัวเราก็ดีในของคนอื่นแต่มันเนื่องกันอยู่กับเราก็ดี ก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ส่วนนี้เรียกว่าร่างกาย คือรูป มันจะมีปัญหาให้แก่เราจนตลอดชีวิต ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ สองอย่างนี้ เรื่อยๆไปจนตลอดชีวิต ถ้าเราโง่ มันก็ต้องมีความพอใจไม่พอใจ ความรักความเกลียดเนี่ยมันจะมีเรื่อยไป ก็ได้เป็นทุกข์กัน นี่พูดกันแต่โดยย่อเป็นอย่างนี้ เอาไปสังเกตุดูให้ดี ว่าเกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้วก็โทษผีสางเทวดา บนบานสารกล่าวอะไรกันไปตามเรื่อง เพิ่มความโง่ให้มากขึ้น ไม่ได้มาแก้ไขตรงสิ่งนี้ที่เรามันไปยึดถือเข้า หรือปล่อยให้อวิชชาความโง่ของเราทำให้เกิดความยึดถือขึ้นมา มีขันธ์ที่หนึ่ง คือ รูปขันธ์
ขันธ์ที่สอง ดูเวทนาขันธ์ ทีนี้ก็เลื่อนมาจากร่างกายมาอยู่ที่ความรู้สึกในใจ เมื่อเรารู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นความรู้สึกที่เกิดมาจากการสัมผัสอารมณ์ นี่ก็เรียกว่าเวทนา พูดกันง่ายๆก็คือ ตัวความถูกใจ หรือความไม่ถูกใจ เป็นว่าความรู้สึกอยู่ในใจขึ้น เป็นตัวความถูกใจหรือไม่ถูกใจ เช่น อร่อย ไม่อร่อย อย่างนี้ โดยมากมันเป็น มันมารวมอยู่ที่อร่อยหรือไม่อร่อย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่ก็เรียกว่าเวทนา พออร่อยที่ตา เช่น สวย เป็นต้น มันก็มีเรื่องให้ยึดถือ พอไม่อร่อยที่ตา คือ น่าเกลียด น่าชัง มันก็มีเรื่องให้ยึดถือ เราจึงแสวงสิ่งที่จะเกิดความอร่อยทางตา มามอมเมาตัวเองให้ติดเป็นเสพติด ก็แล้วแต่ว่าคนนั้นอยู่ในสถานะอย่างไร เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นวัยรุ่น เป็นอะไรมันก็จะต้องแสวงหา รูปที่อร่อยแก่ตา อุตส่าห์ไปซื้อไปหา (21:57) มา เพื่อให้อร่อยแก่ตา แล้วเค้าก็ไม่รู้ว่าเมื่อมันเกิดความยึดถือขึ้นมาแล้วก็เรียกว่าทุกข์ เป็นทุกข์ เมื่อไม่อร่อย หมายความไม่สวยไม่ถูกใจ ซึ่งมันก็มีอยู่ในโลกเหมือนกัน ก็ไม่อยากจะเห็นมันก็มาให้เห็น มากระทบ มันไม่สวยก็ตาม มันก็ยึดถือว่าไม่สวย แล้วมันก็รำคาญ เกลียดชัง อะไรไปตามเรื่อง ฉะนั้นคุณต้องจำไว้ ไปดูเอาเองว่าเรามันจะมีปัญหากับสิ่งที่เรียกว่าเวทนา ไม่สิ้นสุด คืออร่อยทางตาหรือไม่อร่อยทางตา อร่อยทางหู ไม่อร่อยทางหู อร่อยทางจมูก ไม่อร่อยทางจมูก อร่อยทางลิ้น ไม่อร่อยทางลิ้น อร่อยทางผิวหนัง ไม่อร่อยทางผิวหนัง กระทั่งอร่อยแก่ใจเองหรือไม่อร่อยแก่ใจเอง เรียกว่าเวทนา เป็นผู้ที่รุนแรงอยู่ อร่อยหรือไม่อร่อย ที่เป็นกลางๆ เรียกว่า ไม่สุขไม่ทุกข์ นั่นมันก็รบกวนจิตใจเหมือนกัน แต่ไม่รุนแรง เหมือนกับที่ว่า มันชัดลงไปว่า อร่อยหรือไม่อร่อย คือสุขหรือทุกข์
พูดว่าสุขหรือทุกข์ ความหมายมันกว้างไกล นี่ก็จะพูดให้ชัด ก็เจาะจงลงไป เลยใช้คำว่า อร่อยหรือไม่อร่อย ทางสิ่งทั้งหกนี้ เมื่อเราจะต้องเผชิญกับสิ่งนี้จนตลอดชีวิต ทว่าเรายังเป็นคนโง่ คนหลง เป็นปุถุชนเต็มที่ เต็มอัตราของปุถุชนอยู่ ก็จะต้องล้มลุกคลุกคลานกันไปเรื่อย เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าเวทนา กระทั่งโลก คนทั้งโลก เค้าก็มีปัญหาเกี่ยวกับเวทนา เค้าก็ต้องจ่ายเงิน ส่วนใหญ่ก็ทั้งหมด เกี่ยวกับเวทนาทั้งนั้นแหล่ะ ถึงคุณก็เหมือนกันแหล่ะ และคุณออกไปคราวนี้ก็ลองสังเกตุดู ว่าเงินของเราจะถูกจ่ายไปในเรื่องเกี่ยวกับเวทนามากกว่าสิ่งใดๆ จะมีบ้านสวย มีรถยนต์สวย มีอาหารดี มีเครื่องใช้สอยดี มีคู่ครองดี มีคนใช้ดี มีอะไรดีของตัวเพื่อเวทนาทั้งนั้น แล้วมันก็ต่อสู้กันไป ถ้าเราโง่กว่า มันก็ชนะเรา เราก็ลำบากมาก แต่ถ้าเราไม่โง่นัก เรามีธรรมะพอสมควร เราก็จะไม่แพ้มากเกินไป จะอยู่ไปได้ ถ้าไม่แพ้เลย ไม่พ่ายแพ้แก่เวทนาเลยก็เป็นครอบครัวพระอริยเจ้า ไม่ใช่ปุถุชน ถ้าแพ้แก่สิ่งที่เรียกว่าเวทนาทั้งพ่อบ้านแม่บ้านลูกบ้านหลานบ้าน มันก็เป็นเรื่องปุถุชนเต็มขั้น ก็ต้องมีความทุกข์มาก ถ้าเกิดมาทันทีมันจะยุ่งแต่เรื่องนี้ ยุ่งกับเรื่องเวทนาจนตาย บางคนอาจจะคิดว่าเราก็มีเรื่องอื่นทำ มีงานทำ แสวงหาเกียรติยศชื่อเสียง หาความดีความเด่น แล้วก็ไปดูเถอะมันก็เพื่อเวทนาทั้งนั้น นั้นมันจะ (26:12) คือเพื่อผลคือเวทนาที่จะย้อนกลับมา แม้ว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังเสียสละให้เวทนาบางอย่างออกไปเพื่อได้สิ่งเหล่านั้น แต่ในที่สุดก็เพื่อเวทนาที่รุนแรงกว่าที่ดีกว่า เพราะถ้าเรามีอำนาจมีวาสนามีอะไรมาก เราก็แสวงหาเวทนาที่ละเอียดปราณีตยิ่งๆขึ้นไป ที่เรียกว่ากามารมณ์อันปราณีตยิ่งๆขึ้นไป เพราะว่าเรามันเป็นทาสของเวทนา
พระพุทธเจ้าท่านตรัสยกเรื่องเวทนาเป็นเรื่องใหญ่โต เป็นเรื่องที่น่าเกลียดน่ากลัวหรือว่าน่าชังยิ่งกว่าสิ่งใด แต่บางทีท่านไปใช้คำว่าผัสสะ ผัสสะก็คือให้เกิดเวทนา ผัสสะไม่มีความหมายอะไรนอกจากให้มันเกิดเวทนา เป็นเรื่องเป็นราวเมื่อเป็นเวทนา เป็นที่ตั้งความยึดถือ แต่ถ้าชี้ให้ลึกลงอีกชั้นหนึ่งก็ไปชี้ที่ตัวผัสสะ ถ้าเรามีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายสำหรับจับผัสสะต่อสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็บอกให้รู้เสียว่ามันเป็นธรรมดา มันหลีกไม่พ้นที่จะต้องผัสสะ พอผัสสะแล้วมันก็ต้องมีเวทนา ก็มีเวทนาแล้วก็เป็นที่ตั้งความยึดถือ ก็ดึงจิตใจของเราออกไปตามทิศทางของเวทนานั้นๆ ก็เลยเป็นทุกข์ ไม่สงบ แล้วก็ร้อน เมื่อยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ คำว่าเป็นทุกข์นั่นมันรวมความหมายไว้หมดนะ ว่าร้อนว่าเจ็บปวดว่ามืดมัว ทุกอย่างที่ไม่พึงปรารถนา ฉะนั้นจึงหวังว่า คงจะมีความรู้ติดตัวไป ลาสิกขาไป สำหรับจะเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่าเวทนาให้ถูกต้องมากกว่าที่แล้วมา หรือมากกว่าก่อนบวช
ข้อถัดไปเรียกว่า สัญญา คนเราจะมีสัญญา คู่กันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าชีวิต เพราะสัญญาก็คือคำว่า รู้สึก รู้สึก รู้สึก รู้สึกเป็นอยู่ รู้สึกว่าเป็นอะไรอยู่ ถ้าไม่มีสัญญา ไม่มีสมปฤดี มันก็ตายแหล่ะคนเรา ที่เค้าเรียกว่า วิสัญญา หรือ วิสัญญี คือก็สลบ คือตาย ถ้ามันไม่กลับมา มันก็ตาย วิสัญญี คือไม่ ไม่มีสัญญา ถ้ามันเป็นพักเดียวมันก็ฟื้นขึ้นมา ถ้าไม่ฟื้นขึ้นมามันก็ตาย ปราศจากสัญญก็คือตาย หรือเท่ากับตาย แต่ว่า ตัวสัญญานี้ที่เป็นพื้นฐานมันเป็นอย่างนั้น ทำให้เรารู้สึกตัวอยู่ได้ ให้รู้สึกอะไรต่างๆได้เพราะมีสัญญา รู้สึกว่าอะไรเป็นอะไร จำหมายได้อยู่ ทีนี้สัญญามันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ มันมั่นได้ด้วยกิเลสด้วยอวิชชาไกลไปกว่านั้น มันสัญญาไปในทางที่จะให้เกิดเรื่อง ให้เกิดกิเลส ให้เกิดความทุกข์ เมื่อเกิดเวทนาอย่างใดขึ้นมาแล้วมันก็จะมีสัญญามั่นหมายให้เป็นสิ่งที่มีความหมายยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งว่าเป็นตัวกูของกูขึ้นมา เป็นตัวตน สัญญาไปว่า สำคัญนั่น สำคัญนี่ เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา มันจะตั้งต้นไปตั้งแต่ สัญญาว่าสุข เวทนาชนิดนี้ มาสัมผัสเป็นความอร่อย สบาย สัญญาก็จะเข้าสวมรอย สำคัญมั่นหมายว่า เป็นสุข และก็เลยไปจนเป็นสุขของเรา ถ้าลดลงไปอีก มันก็จะสัญญว่า ผู้หญิง สัญญาว่า ผู้ชาย นี่มันก็จะมีสัญญาสำคัญมั่นหมายยึดถือในระดับนี้เรียกว่าสัญญา มันเป็นความรู้สึกได้เอง เกิดขึ้นมาได้เอง สำคัญมั่นหมายได้เอง เพราะว่าเมื่อมันมีผัสสะ มีเวทนาอะไรมาเกิดขึ้นแล้ว มันก็จะสำคัญมั่นหมาย เอาตามความรู้สึกของมันเอง โดยเปรียบเทียบกับที่แล้วมาหรือจำได้ เช่น อร่อย อย่างนี้ เป็นเวทนา แล้วมันก็สำคัญไว้ว่า อร่อย วันหลัง ความอร่อยชนิดนี้มาอีก มันก็จำได้ว่า นี่อร่อย นี่คือสัญญา ที่ไม่อร่อยก็ สัญญา อะไรทุกอย่างมันเกิดเป็นสัญญาในใจของบุคคลนั้นๆ เราจึงมีความสำคัญมั่นหมาย ตามธรรมชาติธรรมดาของสัตว์ที่ไม่รู้ สัตว์ปุถุชน สัตว์ปุถุชนคือสัตว์ที่ยังไม่รู้ ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า มีอวิชชา มีความโง่ ความหลง สำหรับจะให้สำคัญมั่นหมาย ไปตามความรู้สึกที่มันได้รู้สึกแล้วสัมผัสแล้วมีเวทนาแล้วมั่นหมายแล้ว อวิชชา ทำให้สัญญาให้สำคัญมั่นหมายไปตามอวิชชา แล้วมันจะถูกได้ยังไง มันก็ถูกต้องไม่ได้ ก็ต้องผิดไปตามอวิชชา ที่ว่าผิดไปตามอวิชชาในที่นี้หมายถึงว่าสำหรับจะเป็นทุกข์ สำหรับจะให้เป็นทุกข์ ถ้ามันเป็นวิชชา เป็นความรู้แจ้งเสียก็จะไม่เรียกว่าสัญญา จะไปเรียกเป็นอย่างอื่น เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เรียกว่าความรู้ เรียกว่าญาณ อะไรไปทางนู้น มันก็รู้เหมือนกันนะแต่มันรู้ผิดกับรู้ถูก ถ้าสัญญาในความหมายนี้ มันหมายถึงสัญญาด้วยอวิชชา มันก็เป็นสัญญาผิด สัญญาสำหรับจะหมายมั่นจะยึดถือแล้วจะเป็นทุกข์ เรามีตัวกูเรามีของกู เรามีอุตรญาณของกู เรามีอะไรที่เรารักที่เราชอบอะไรต่างๆ แล้วเรื่องนี้ละเอียดมาก จะกระทั่งว่าละเอียดจนเป็นขณะจิตไปเลย มีสัญญาในขณะจิต เป็นขณะจิตไปเลย เช่นว่ามีการสัมผัสกับเพศที่ตรงกันข้าม มันจะเกิดสัญญาโดยอัตโนมัติว่าหญิงว่าชายว่าอะไรขึ้นมา แล้วมันก็จะมีความรู้สึกไปตามธรรมชาติที่เคยสำคัญมั่นหมายว่าอะไร ว่าหญิง ว่าชาย ความรู้สึกทางเพศจึงเกิดขึ้นได้เพราะมีสัญญาอันว่องไวที่สุดเกิดขึ้นในขณะที่สัมผัสกันถึงกันอาศัยกัน นี่เรื่องที่ว่าเร็วขณะจิตหนึ่งมันก็เป็นอย่างนี้ ทั้งๆที่มันเป็นหลายๆขณะจิต เป็นเวลายาวๆนานๆ มันก็เป็นได้ ข้ามปีข้ามเดือนก็ได้สัญญานี้ มันสัญญาสำหรับให้ยึดถือเหมือนกัน
สัญญานี่ก็เป็นที่ตั้งความยึดถือเหมือนกับเวทนา เวทนาเป็นความสุขเป็นความทุกข์ ก็สุขทุกข์ของกู ทีนี้สัญญามั่นหมายว่าเป็นอะไร มันก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวกูไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ทางดีก็ทางร้าย สัญญาสำคัญมั่นหมายว่าไอ้นี่มันเป็นศัตรูกับกูข้าศึกกับกู ไอ้นี่เป็นมิตรกับกูเป็นเพื่อนกับกู มันจะมีความยึดถืออย่างนั้นเสมอ สรุปเรียกว่ามันจะสำคัญมั่นหมายว่านี่เป็นผลดีแก่กูนี่เป็นผลร้านแก่กู มันก็มีความรู้สึกที่ทำให้ต้องเป็นทุกข์ ดังนั้นสัญญาก็เรียกว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือเช่นเดียวกับรูป เช่นเดียวกับเวทนา ที่กล่าวมาแล้ว แล้วมันเป็นปัญหาของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ถ้าว่ามันไม่สัญญา ไม่สำคัญมั่นหมายอะไรได้ ทุกสิ่งจะไม่มีความหมายขึ้นมา จะไม่มีความหมายที่จะดึงดูดใจขึ้นมา เมื่อผู้ชายสัมผัสอยู่กับผู้หญิง สัญญาโดยอัตโนมัติจะเกิดขึ้นว่า ผู้หญิงมันจะมีความหมายอย่างผู้หญิงจะทำอะไรอย่างผู้หญิงได้ ถ้าผู้ชายนั้นไม่มีสัญญาว่านั่นเป็นผู้หญิง มันจะไม่มีความรู้สึกที่จะทำอะไรได้ ฝ่ายหญิงก็เหมือนกันฝ่ายชายก็เหมือนกัน ฉะนั้นจึงว่า มีปัญหาร้ายกาจอยู่ที่มีสัญญาว่าอะไร ในทางเพศนั้นก็ร้ายกาจที่สุด และมันก็เป็นเพราะอำนาจของสัญญา ถ้าสัญญาไม่เกิดมันก็จะทำความรู้สึกทางเพศไม่ได้ ดังนั้นสัญญานั้นไม่จำเป็นจะต้องไปเกี่ยวข้องกับของจริง มันเป็นอะไรก็สุดแท้ แต่ต้องมีความสำคัญมั่นหมายลงไปว่ามันเป็นสิ่งนั้น เมื่อการสัมผัสระหว่างเพศเกิดขึ้นมันไม่ได้ไปคิดว่าเป็นธาตุดินน้ำลมไฟอะไรหรอก มันจะสัญญาสำคัญเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวเป็นตนเป็นหญิงเป็นชายเป็นผัวเป็นเมียนี่ล่ะ นี่ละเรื่องของสัญญา แล้วก็ไวเหลือประมาณ
ถ้าศึกษากันทางจิตวิทยาให้ละเอียดแล้วคุณจะเห็นว่าเป็นเรื่องหลอก หลอกสุดเหวี่ยง หลอกสุดเหวี่ยง คือเป็นมายา หรือเป็นเรื่องที่หลอก แต่ว่าเราไม่อาจจะรู้สึกว่าหลอก ก็จะรู้สึกว่าเป็นจริง เช่น ผู้ชายสัมผัสผู้หญิงเค้าก็จะมีความรู้สึกด้วยสัญญาว่าหญิงแล้วก็จะไม่รู้สึกว่าหลอก ถ้าเอาของปลอมไม่ใช่คนแต่ทำเป็นหญิงมาแทนผู้หญิง แต่เค้าไม่รู้ เค้าก็สำคัญว่าเป็นหญิง เป็นคน เป็นหญิง และมีผลเท่ากัน คนจะไปสำคัญซากศพเป็นวัตถุแห่งกามารมณ์อะไรก็ได้ถ้าเค้าสามารถจะสร้างสัญญาได้แนบเนียนลึกซึ้งโดยไม่รู้สึกตัว สัญญานี้จะทำไปโดยไม่รู้สึกตัว ฝรั่งเค้ามีอยู่คำนึงที่เรียกว่า อิมเมจิน เป็นกิริยา สำคัญเหมือนกับคำว่าสัญญา อิมเมจิเนชั่น เป็นความรู้สึกเป็นสัญญา เค้าทำหน้าที่เร็วจนเราไม่รู้ เมื่อผู้ชายสัมผัสกับผู้หญิง อิมเมจิเนชั่นทำงานเต็มที่ถึงที่สุด วิปเดียว แว็บเดียว ไม่สังเกตุเห็น สร้างความสำคัญว่าเป็นผู้หญิงแก่อีกฝ่ายหนึ่งสร้างความสำคัญว่าเป็นผู้ชายแก่อีกฝ่ายหนึ่งเกือบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ได้มีรสมีชาติอะไรขึ้นมาเพราะรสชาติของความสำคัญ ถ้าไม่มีความสำคัญตอนนั้นมันก็ไม่มีความหมายอะไร มันจะเป็นเหมือนท่อนไม้ หรือว่ามันจะเป็นเหมือนดินน้ำลมไฟ หรือมันจะเป็นอะไรไปเสีย เดี๋ยวนี้ สัญญานี้มันลึกซึ้งละเอียดเร็วเหลือประมาณ เราก็ตกอยู่ใต้อำนาจความลวงของสัญญา ในเรื่องที่เลวร้ายที่สุดในโลกนี้ก็คือเรื่องเพศ เพศตรงกันข้าม เมื่อไม่รู้เรื่องนี้มันก็ไม่รู้ว่ามายามันก็เลยเป็นของจริง ก็หลงใหลรักใคร่สุดเหวี่ยงไปตามแบบของอวิชชา ถ้ารู้เรื่องนี้ ไม่อาจจะเกิดสัญญาเรื่องนี้ ไม่อาจเกิดสัญญาหลอกลวงกันอย่างนี้ ก็เป็นพระอรหันต์ไปเลย ฉะนั้นเราก็ไปศึกษาสังเกตุดูให้ดี ว่าเราอยู่ด้วยสัญญาที่หลวกลวงอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่สัญญาว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาเป็นหญิงเป็นชายเป็นผัวเป็นเมียเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นนายเป็นนายจ้างเป็นลูกจ้างเป็นข้าศึกเป็นศัตรูเป็นผู้แพ้เป็นผู้ชนะ ร้อยแปดพันอย่างนะสัญญาที่เกิดขึ้น แล้วก็จะมีความหมาย จะแผดเผาหัวใจไปทางใดทางหนึ่ง แม้ว่าน่ารักมันก็เผาไปตามแบบความรัก น่าเกลียดก็เผาไปตามแบบน่าเกลียด น่ากลัวก็เผาไปตามแบบน่ากลัว อย่างนี้เรียกว่า สัญญูปาทานักขันธ์ สัญญาที่มีอุปาทานเข้าไปยึดให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ที่แท้มันเป็นธรรมชาติ เป็นอะไร เป็นกระแสจิตรู้สึกตามธรรมชาติ คุณเข้าใจเวทนาจนเห็นว่าเราเผชิญปัญหาอยู่กับเวทนาตลอดวันตลอดคืน เดี๋ยวนี้เราจะมองลึกเข้าไปอีก เราเผชิญอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าสัญญา ความสำคัญมั่นหมายด้วยอวิชชา
ยิ่งกว่านั้นไปอีกลึกซึ้งแนบเนียนยิ่งกว่านั้นไปอีกที่เรียกว่า สัญญาๆ นี่เลื่อนไปเป็น สังขาร ขันธ์ที่สี่เรียกว่า สังขาร เรียกว่าปรุงแต่ง คำว่าสังขารนี่ สังขะระนี่แปลว่าปรุงแต่ง สัง แปลว่าครบบริบูรณ์ ขะระ หรือ กะระ คำเดียวกัน แปลว่ากระทำ บาลีเรียกว่า สังขาร สัง แปลว่าพร้อมครบ ขาร ก็คือ การ (43:47) แปลว่า การกระทำพร้อมเรียกว่าปรุง ภาษา สันสกฤต เค้าเรียก สังสะการ สัมสักการะ (43:57) บาลีเราเรียกว่า สังขาร แปลว่าปรุง ก็หมายความ หลายเรื่องหลายสิ่งหลายส่วน ปรุงขึ้นเป็นผลิตผลอันใหม่ ก็คือความคิด ความคิดอันใหม่เป็นผลของการปรุงแต่งของจิต ด้วยอำนาจของเวทนาบ้าง สัญญาบ้าง รูปบ้างอะไรบ้าง มันก็ปรุงให้เป็นความคิด สังขารคือความคิด ความคิดที่ยังไม่สมบูรณ์ มันก็คิดว่าเป็นอะไร เป็นอะไร ถ้าสมบูรณ์มันก็จะไปถึงว่า อันนั้นมันกำลังทำอะไร เราจึงมีความคิดที่จะทำอะไร ที่จะพูดอะไร หรือว่าจะคิดต่อไปอย่างไร ความคิดนี้ถ้ามันทำอันตรายใครก็เรียกว่าเป็นอกุศล ถ้ามันไม่ทำอันตรายใคร ทำประโยชน์ก็เรียกว่ากุศล ความคิดนี่มีเป็นกุศลเป็นอกุศล ถ้าความคิดนั้นมันเป็นไปเพื่อประโยชน์มันก็เรียกว่ากุศล ถ้าความคิดนั้นมันเป็นไปเพื่ออันตรายทำลายล้างก็เรียกว่าอกุศล เมื่อเราสำคัญมั่นหมายอะไรเป็นรูปเป็นเรื่องประกอบกันเข้ากับความรู้สึกที่มันจะต้องมี แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้คืออวิชชา สิ่งที่ขาดไม่ได้คืออวิชชา ในเรื่องของขันธ์ในเรื่องการปรุงแต่ง จำพระบาลีไว้ว่ามีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง อวิชชานี้อยู่ในทุกหนทุกแห่ง สัพเพสุ ธัมเมสุ อวิชชา อนุปัตติตา (46:13) หรือบางทีก็ สัพเพสุ ฐาเนสุ อวิชชา อนุปัตติตา อนุปัตติตา (46:20) คือ คอยตาม ตามไปร่วมมือด้วย นี่ อนุปัตติตา ตกตาม ในขณะเวทนา ในขณะสัญญา ในขณะสังขารคิดนึก ตัวอวิชชานี้จะเข้าไปด้วย เข้าไปมีส่วนอยู่ด้วยเสมอ เรารู้สึกต่ออารมณ์ด้วยอวิชชา มันก็เป็นเวทนาเป็นสัญญาที่มีความยึดถือ เดี๋ยวนี้มันปรุงแต่งเป็นความคิดเมื่ออวิชชามันเข้าไปร่วมมือด้วยก็เป็นความคิดด้วยอวิชชา ผัสสะด้วยอวิชชา เวทนาด้วยอวิชชา สัญญาด้วยอวิชชา เดี๋ยวนี้ก็คิดสังขารด้วยอวิชชา ฉะนั้นตามธรรมดามันก็คิดถูกไม่ได้ ก็คิดไปตามอำนาจของอวิชชา เพราว่าเด็กเกิดมาจากท้องแม่มันไม่ได้เล่าเรียนอะไร มันยังไม่เคยเล่าเรียนอะไรเรื่องวิชชาเรื่องอวิชชา มันก็มาตามธรรมชาติ มันจึงอยู่ในอำนาจในวิสัยของอวิชชา ความคิดที่ปล่อยไปตามธรรมชาติมันจะไม่ถูก ไม่ถูกเรื่อง คือมันจะคิดไปในทางที่จะทำให้เกิดเรื่องหรือให้เป็นทุกข์ มันจะคิดไปในทางยึดมั่นถือมั่นซะเรื่อยไป เด็กๆก็โตขึ้นมาก็ไม่ได้เล่าเรียนธรรมะอะไรมาแต่ในท้องมีอวิชชาดำเนินจูงมานำมา ความคิดก็เป็นไปตามอำนาจของอวิชชา จึงต้องบอกกันต้องสอนกันต้องอบรมกันต้องอะไรกัน ไอ้ตัวเล็กๆเพิ่งเกิดมา ให้มันค่อยทำอะไรถูกๆๆๆที่ควรจะทำ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติเค้าก็ทำอะไรไม่ถูกตามที่ควรจะทำ
ทีนี้เราก็โตแล้ว เมื่อเรามีเวทนามีสัญญา จะปรุงความคิด ก็ระวังความคิดให้ดี ถ้ามันคิดไปทางอวิชชาแล้วมันก็จะมีเรื่องคือจะมีทุกข์ และที่มันยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า จิตส่วนหนึ่งมันจะยึดถือความคิด ว่าคิดถูก เพราะว่าอวิชชามันเป็นผู้ให้คิด อวิชชาเป็นผู้ยึดถืออีกทีมันก็ยึดถือว่าถูก มันก็ยึดถือไปในทางที่มันอยากจะทำตามธรรมชาติ และมันจะยึดถือไอ้ตัวความคิดนั่นว่าเป็นตัวตนซะด้วย ที่จริงมันก็ไม่ใช่ว่ามีจิตมีตัวมีตนอะไร มันเป็นการปรุงแต่งตามธรรมชาติ เกิดความรู้สึกประเภทความคิดขึ้นมา มันจะมีตัวตนเป็นผู้คิด แต่ว่าส่วนประกอบทั้งหลายตามธรรมชาติมันจะปรุงให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความคิด และความคิดนั้นมีอวิชชาปนอยู่ อวิชชาก็จะถือว่าเรามีตัวเราเป็นผู้คิด ยึดถือความคิดว่าเป็นตัวเราก็คือยึดถือสังขารว่าเป็นตัวเราผู้คิด และก็จะแยกออกว่าความคิดก็ของเรา เราเป็นผู้คิด ความคิดก็ของเรา เราซึ่งไม่มีตัวตนเป็นผีทั้งนั้น ต่อไปนี้เราก็จะต้องเผชิญกับความคิดตามคิดผู้คิด ระวังให้ดี ให้มันคิด ให้มันเกิดความคิด ให้มันปรุงความคิด ชนิดที่มีความรู้มีความรู้สึกตัวด้วยวิชชาด้วยปัญญาด้วยสติด้วยสัมปชัญญะ ความคิดนั้นมันจึงเป็นไปในทางที่ถูกต้อง คือไม่หลงยึดถือ ว่ากูคิด ความคิดของกู แล้วก็อาละวาด อย่างนี้เราเรียกว่าสังขาร คือความคิด คำว่าสังขารแปลว่าปรุงแต่ง อะไรปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขารได้ทั้งนั้น แม้ว่าวัตถุสิ่งของก็เรียกว่าสังขารได้เพราะมันมีการปรุงแต่ง แต่ในเรื่องของขันธ์ห้านี่ สังขารหมายถึงความคิด ความคิดเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาตามธรรมชาติ ตามอำนาจของธรรมชาติ ตามกระแสปรุงแต่งของธรรมชาติ ที่มีเวทนามีสัญญา และมันก็มีความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นมา แล้วก็ไปรู้เอาเอง ถ้าคิดผิด เป็นอย่างไรบ้าง คิดถูก เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งที่ไม่ทุกข์ไม่มีตัวมีตนความคิดก็เกิดขึ้นได้ และจิตก็ยึดถือตัวเราผู้คิด เป็นความคิดของเรา แล้วก็กระทำไปตามความคิด ถ้าคิดผิดมันวินาศกันทั้งโลกก็ได้ คิดถูกมันก็ดีไป คิดถูกไปในทางที่จะเป็นสุขสบายร่วมกันมันก็ดีไป
เดี๋ยวนี้มีปัญหาเรื่องความคิด ผิดหรือถูก น่าเห็นใจรัฐบาลที่เค้าไม่รู้จะคิดอย่างไร ความคิดที่เป็นอย่างไรจึงจะเรียกว่าถูก ... (52:29) มันก็เป็นความคิดที่ยังตัดสินกันได้ เพราะความคิดมันไม่รู้จะไปอย่างไร มันไม่มีอะไรที่เป็นที่เห็นแจ้งกระจ่าง เราทุกคนจะเผชิญกับปัญหานี้ คือไม่รู้ว่าอย่างไรมันจะผิดอย่างไรมันจะถูก เพราะเหตุผลในแวดล้อมปรุงแต่งมันมากจนไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติไปเลือกอวิชชาทุกทีไป มันก็มีส่วนผิดเพราะกิเลสมันก็ดึงไปตามอำนาจของกิเลส เมื่อความคิดมันเกิดขึ้นเป็นรูปของกิเลสก็คืออวิชชาพาไป มันก็ได้...(53:18) เป็นทุกข์ทรมานอย่างไรมันก็เอามันก็ยอมมันก็ชอบ เพราะอวิชชามันเป็นอย่างนั้น สังขาร ความคิดก็จะถูกยึดถือเป็นตัวเราผู้คิด ความคิดของเรา เป็นมโนกรรม แล้วก็ทำให้เกิดวจีกรรมขึ้น เกิดกายกรรมออกมาข้างนอก
อันสุดท้ายเรียกว่าวิญญาณ วิญญาณขันธ์ มีธาตุ วิญญาณธาตุ ทำหน้าที่รู้สึก เมื่อได้สิ่งซึ่งจะทำให้รู้สึก ให้แสดงบทบาทได้มันก็ทำหน้าที่ของมัน เรียกว่า วิญญาณธาตุ ความพร้อมของระบบประสาทที่ตา ความพร้อมของระบบประสาทที่หู ความพร้อมของระบบประสาทที่จมูก ความพร้อมของระบบประสาทที่ลิ้น ความพร้อมของระบบประสาทที่ผิวหนัง และก็ตัวใจเอง ฉะนั้นวิญญาณจึงไปทำหน้าที่ได้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นในรูปชนิดละเอียดที่เรียกว่า ประสาทหรือระบบประสาท ทำหน้าที่ได้ที่ตา ลูกตานั้นมันเป็นเนื้อ เป็นเนื้อไม่รู้สึกอะไร แต่มันมีอันหนึ่งที่เรียกว่าประสาทเป็นรูปอันละเอียดพร้อมอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่ผิวหนัง วิญญาณธาตุมันก็แสดงตัว ทำหน้าที่ของมันได้ เมื่อมีอะไรมากระทบกันเข้าที่ตรงนั้น ตากระทบรูป เสียงกระทบหู จมูกกระทบกลิ่น วิญญาณธาตุก็แสดงตัวออกมา ทำหน้าที่รู้แจ้ง รู้แจ้งว่ามันเป็นอะไรตามหน้าที่ของมัน เช่น ตามันก็มีหน้าที่จะรู้เรื่องสีเรื่องแสงเรื่องอะไรนี้ หูก็ทำหน้าที่รู้เรื่องของเสียงของคลื่นเสียง จมูกก็เรื่องของกลิ่นของแก๊สที่ระเหย ลิ้นก็เหมือนกันประสาทลิ้นรสที่มีอยู่ในสิ่งต่างๆที่เข้ามากระทบลิ้น ผิวกายก็รู้สิ่งที่เข้ามากระทบกายว่ามันเป็นอะไร เช่น มันอ่อนหรือมันแข็งเป็นต้น
วิญญาณนี้ก็ถือว่าเป็นภาพอยู่ตามธรรมชาติ แล้วมันก็ได้ที่แสดงบทบาทของมัน ที่ประสาทตา ประสาทหู จมูก ลิ้น กาย และมันก็ทำหน้าที่ของมัน จะเห็นได้ว่ามันเป็นตัวสื่อ สื่อสำหรับการติดต่อที่ร้ายกาจที่สุดนะสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ ถ้าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ โลกนี้มันก็ไม่มี เพราะว่ามันไม่อะไรที่จะทำการติดต่อสัมผัสรอบตัวได้ มันก็เท่ากับไม่มี คือมันไม่รู้สึกอะไร ทีนี้วิญญาณมันทำหน้าที่อยู่ที่ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันก็มีทุกอย่างที่มันจะสัมผัสได้ โลกนี้มันก็มีขึ้นมาสมบูรณ์ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่รู้สึกต่อทุกสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัวจะรู้สึกได้ มันก็มีวิญญาณเป็นสื่อรู้สึกต่อสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัว ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายและก็ทางใจเอง มันก็มีด้วยกันเราก็มีผู้อื่นก็มีสุนัขแมวอะไรมันก็มี มันสามารถที่จะรู้สึก สัมผัส ถึงกันเข้าแล้วสัมผัส คนโบราณเค้าคิดว่ามันเป็นสิ่งพิเศษศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่าตัวตน คือเค้าเอาวิญญาณที่มันรู้เห็นได้ฟังเสียงได้รู้กลิ่นได้รู้รสได้รู้สัมผัสได้คิดนึกได้ เรียกว่าตัวตน เค้าสอนกันมากมายเรื่องตัวตน เค้าก็ระบุไปยังวิญญาณ ระบุไปยังสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ หรือ วิญญาณธาตุ ทีนี้เค้าสอนกันอย่างนั้น จนเป็นคำสอนที่สูงสุดในประเทศอินเดีย จนกว่าพระพุทธเจ้ามาบอกว่า มันธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เป็นของที่เป็นไปได้เองตามธรรมชาติ ทำหน้าที่ได้ รู้สึกได้ ได้ไปตามธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีคนยอมเชื่อทั้งหมด คนที่ไม่เชื่อมีมาก ยังยึดถือวิญญาณไปเกิดมาเกิดเข้าจากเข้ามาในร่างออกไปจากร่าง เป็นตัวเป็นตน สิงอยู่ในร่างกายนี้ ถ้าร่างกายนี้แตกทำลายก็ไปหาร่างกายใหม่ได้อีกเป็นตัวเป็นตนอย่างนี้ วิญญาณคำนั้นยกให้พวกอื่นไม่ใช่ของเรา ถ้าวิญญาณในพุทธศาสนาก็หมายความว่า มันเป็นภาพตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง เมื่อใดมีความเหมาะสมตรงจุดที่มันจะทำงานได้มันก็ทำงาน รู้สึกทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ไม่ต้องมีตัวตน ถ้าว่ามีตัวตน ทุกอย่างมันจะเป็นเหมือนกันหมด คือธาตุทั้งหลาย ดินน้ำลมไฟมันจะเป็นตัวตนกันไปหมด พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้มองเห็นว่ามันมีอยู่อย่างนั้น แต่ไม่ใช่ตัวตน อยู่อย่างนั้นน่ะมันอยู่อย่างที่เรียกว่าไม่ใช่แน่นอนมันเปลี่ยนเรื่อย ดินน้ำลมไฟมันอยู่ในเหตุปัจจัยที่คล้ายๆคอยหล่อเลี้ยงกันไว้อย่างนี้ เป็นดินเป็นน้ำเป็นไฟเป็นลม เป็นธาตุทั้งหลายแล้วก็ไม่ได้เป็นตัวตน แต่เวลาที่ธาตุทั้งหลายมาปรุงกันเข้ามาถึงกันเข้าก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ของใหม่อะไรขึ้นมา เกิดอย่างที่เราเห็นว่าเป็นคนเป็นสัตว์เป็นต้นไม้เป็นก้อนอิฐเป็นอะไรก็สุดแท้ เพราะความที่มันเปลี่ยนไปตามการปรุงแต่งหรือสิ่งที่มาแวดล้อมบังคับปรุงแต่ง
แต่เรื่องนี้มันยากที่จะไม่ให้รู้สึกว่าเป็นตัวตนสำหรับสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ เราก็เกิดขึ้นมาในหมู่คนที่ยึดถืออย่างนี้ ประชาชนยึดถือความคิดอย่างนี้เป็นพื้นฐานอยู่ในวัฒนธรรมในประเพณีในการสั่งสอนเด็กตั้งแต่คลอดมาจากท้องแม่ จะถูกแวดล้อมอบรมให้รู้สึกว่ามีสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน และก็เอาสิ่งที่รู้สึกอะไรได้อย่างยิ่งนี้ว่าเป็นตัวตน พอเด็กเกิดขึ้นมาธรรมะยังไม่ได้เข้ามาพระพุทธเจ้ายังไม่ได้มาสอน ขนบธรรมเนียมประเพณีมันสอนไปในทางที่ทำให้มีตัวตนตามแบบความคิดของบุคคลก่อนพระพุทธเจ้าในประเทศอินเดีย เป็นตัวตน จึงลำบากที่เราจะมาพูดกันเดี๋ยวนี้สอนให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตนนี่ลำบากมาก เพราะตามความรู้สึกของธรรมชาติมันก็ชวนให้รู้สึกเองว่าเป็นตัวตน มันเป็นธรรมชาตินี่มันพูดยากเพราะว่ามันเป็นธรรมชาติ คือจิตหรือวิญญาณหรืออะไรแล้วแต่จะเรียกมันเป็นภาพอยู่ตามธรรมชาติ และมันคิดนึกได้อย่างอิสระ แล้วมันคิดว่าเป็นตัวตนใครจะไปห้ามมันได้ แล้วสิ่งที่เรียกว่าอวิชชาคือปราศจากความรู้ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งเหมือนกัน มันก็พร้อมที่จะเข้าไปปรุงจิตให้จิตคิดว่าเป็นตัวตน จึงไปศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท พอสัมผัสแล้วเกิดเวทนาแล้วมันพอใจแล้ว ความคิดว่าเราพอใจมันก็ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะมันคิดได้อย่างอิสระ คิดว่าเรา กูพอใจ กูได้ กูไม่ได้ กูไม่อร่อย เป็นศัตรูของกู เนี่ยเป็นความลึกลับของธรรมชาติ และจำเป็นแก่สิ่งที่มีชีวิต แม้ความรู้ทางจิตวิทยาสมัยใหม่มันก็ค้นไปตรงกันข้ามกับเรื่องนี้ ที่เรียกว่า สัญชาตญาณ น่ะ มันต้องคิดไปได้เองถึงจะมีตัวกู ตัวกูก็อยากอยู่ ตัวกูไม่อยากตาม ตัวกูก็ต้องต่อสู้ เพื่อไม่ให้กูตายน่ะคิดได้เองตามธรรมชาติและเป็นอิสระ เราจึงเห็นหมาแมวไอ้ตัวเล็กๆ ลูกแมวตัวเล็กมันก็ต่อสู้เป็นตั้งแต่พอลืมตา ไปจับมันเมื่อเล็กๆมันก็จะต่อสู้ ฟู่ๆ มันไม่ยอมให้จับมันจะถือเป็นศัตรูมันจะกัดหรือสู้ไม่ได้มันก็วิ่งหนี เนี่ยโดยสัญชาตญาณมันคิดเป็นตัวกูได้เอง กระทั่งเดี๋ยวนี้เค้าก็ยังพบว่าแม้แต่ต้นไม้มันก็ยังมีความรู้สึกแห่งตัวกูตามแบบของต้นไม้ แต่ว่าละเอียดมากละเอียดจนสังเกตุยากจับได้ยาก แต่การพิสูจน์ทดลองมันก้าวหน้ามากขึ้นๆจนทำให้เชื่อว่าต้นไม้มันก็มีความรู้สึกว่าตัวกูเหมือนกัน แต่อย่างนี้พวกอภิธรรมเค้าไม่ยอม ถ้าหากว่าคุณไม่ตายโดยเร็ว คุณก็จะได้พบเห็นข้างหน้าการศึกษาและการพิสูจน์ทดลองว่าแม้แต่ต้นไม้ก็มีความรู้สึกว่าตัวกู เป็นของไม่ลึกลับอะไรไม่ยากเย็นอะไร ซึ่งไม่นานนักมนุษย์ก็จะพบและพิสูจน์ให้เห็นชัดได้เลย
นี่วิญญาณ มันน่ายึดถือที่สุดน่ะ น่ายึดถือว่าเป็นตัวตน มันรู้ รู้เห็น รู้ดม รู้พูด รู้คิด รู้นึก รู้อะไรทุกอย่าง น่าจะเห็นว่าเป็นตัวตนที่สุด และก็ได้เคยเห็นกันมาไม่รู้กี่หมื่นปีก่อนพุทธกาล ตัวตน เรื่องขันธ์ห้า เรื่องละเอียดลึกซึ้งของธรรมชาติ แล้วก็ไม่มีใครเรียนกันในลักษณะอย่างนี้ มันก็ปล่อยไปตามบุญตามกรรม แต่เรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ คุณบวชเข้ามาแล้ว ถ้าจะเรียนหัวใจพุทธศาสนามันก็เรียนเรื่องขันธ์ห้า มันควรจะได้ความรู้เรื่องขันธ์ห้าติดไปตามสมควร สำหรับจะไปช่วยเหลือให้มันยึดถือน้อย ยึดถือสิ่งต่างๆในชีวิตน้อย แยกออกไปเป็นรูปเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารเป็นวิญญาณ และรู้ว่ามันเป็นเพียงอะไร อย่าได้นึกยึดถือแบบหลงใหลเหมือนก่อนที่จะเรียน ก่อนที่เราจะรู้เรื่องขันธ์ห้าเราก็ยึดถือ เดี๋ยวนี้เราก็รู้เรื่องขันธ์ห้าเพราะฉะนั้นเราคงจะควบคุมความยึดถือในขันธ์ห้านี้ได้บ้างตามสมควร และเราก็จะเป็นทุกข์น้อยลง แล้วก็ไม่เสียทีที่บวชได้เรียนเรื่องที่จะช่วยให้เราเป็นทุกข์น้อยลง แล้วก็มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เค้าไม่ต้องการจะเรียนไม่ต้องการจะรู้ก็ตามใจเค้า เค้าก็ไม่อยากจะบวช ถึงแม้บวชเค้าก็จะไม่เรียนเรื่องอย่างนี้ เค้าจะไม่เรียนเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งของพุทธศาสนา เรื่องความยึดถือนี้เป็นทุกข์ เป็นของหนัก ยึดถือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ตัวเรา ที่เค้าเรียกว่าตัวเรา เราเอาขันธ์ห้าหรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นตัวเราเสมอ อย่างบทสวดมนต์นี่ เอารูปเอาเวทนาเอาสัญญาเอาสังขารเอาวิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างเป็นตัวเรา แล้วแต่ว่ามันจะปรุงความคิดกันขึ้นมาอย่างไร
นี่เรื่องขันธ์ห้า เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ถ้าเราไปศึกษาการเกิดขึ้นแห่งขันธ์ห้าในชั้นจะเป็นอาการเกิดอันละเอียด มันก็กลายเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทไป เราไม่อาจจะพูดคราวเดียวกันได้ เราจะต้องพูดคราวอื่น แต่เดี๋ยวนี้เราจะพูดถึงสิ่งที่มันเผชิญกันอยู่ตรงหน้าก่อน เบื้องหลังของมันเรายังไม่พูด เดี๋ยวนี้เราจะเผชิญกันกับไอ้สิ่งห้าอย่างนี้ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ และเราก็ได้เผชิญมาแล้วตั้งแต่เกิดมาโดยไม่รู้สึกตัว และเกือบทั้งหมดเราพ่ายแพ้แก่มัน คือเราเป็นทุกข์ ดีแต่มันยังไม่ตายซะก่อน แต่ถ้าพูดในทางวิญญาณก็คือ ตายแล้วเกิดตายแล้วเกิดตายแล้วเกิด ตัวกูเกิดทีหนึ่งเป็นทุกข์ทีหนึ่ง ตัวกูเกิดทีหนึ่งเป็นทุกข์ทีหนึ่ง เกิดตายเกิดตาย นับไม่ไหว ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ดี ก็ต้องไปจับกันเข้ากับสิ่งต่างๆทางจิตใจ ที่มันเคยเกิดแล้วทางจิตใจแต่หนหลัง ถ้าคุณอยากจะเข้าใจดี คุณต้องเอาเรื่องที่พูดเดี๋ยวนี้ไปจับกับเรื่องที่มันได้เกิดขึ้นแล้วในจิตใจของเราแต่หนหลัง ก็จะรู้พุทธศาสนาดีขึ้น ก็มีวิธีเรียนโดยได้ยินได้ฟังนี่เป็นอันดับแรก และเรามีวิธีเรียนโดยคิดให้เข้าใจ คิดทบทวนด้วยสติปัญญาตามเหตุผลเท่าที่ปรากฎอยู่ในใจนะ อย่าไปเอาเหตุผลมืดนอกๆมานะ เท่าที่มันได้ผ่านมาแล้วที่มันจะเป็นเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง อย่างที่ผมบอกว่า เอาไปคิดทบทวนดูใหม่กับเรื่องที่มันได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลัง เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดีขึ้น รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็จะเข้าใจดีขึ้น เพียงแต่จะอ่านหนังสือเขียนไว้ในหนังสือยาก อ่านให้ตาบอดก็ยังไม่รู้ แต่ว่าถ้าเอาไปจับดูกับไอ้เรื่องที่มันได้ปรากฎจริงๆมาแล้วในใจจะรู้ดีขึ้น จะรู้จัก รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณดีขึ้น ทีนี้เราก็จะใช้ประโยชน์ได้ ไม่เสียทีที่เราสวดทุกวัน สังขิตเตนะ ปันจุปาทานะ ขันธาทุกขา (1:11:33) ขออย่าให้บทสวดบทนี้เป็นการร้องอย่างนกแก้วนกขุนทอง มันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา สำคัญที่สุด ประโยคนั้นน่ะ สังขิตเตนะ ปันจุปาทานะ ขันธาทุกขา (1:11:49) ถ้ามันเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็ให้พูดประโยคนี้ออกมาได้ก็จะดี ถ้ามันปวดหัว เรื่องมันรบกวนอะไรรุนแรง เป็นทุกข์ ตะโกนบทนี้ออกมาได้ก็จะดี จะเป็นพุทธบริษัท จะเป็นมนต์ เป็นบทมนต์ขับไล่ผี ความทุกข์ออกไปสะได้ เรานี่โง่ไปยึดถือ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เข้าแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าแล้ว บางคราวจิตที่มันธรรมชาติบางคราวจิตมันไปสนใจ หมายมั่นอยู่ที่รูป ร่างกาย แต่บางคราวจิตมันไปสนใจ หมายมั่นอยู่ที่เวทนา บางทีมันเข้าไปหมายมั่นเจาะจงอยู่ที่ที่เรียกว่าสัญญา มันแล้วแต่สิ่งแวดล้อม สิ่งต่างๆที่แวดล้อมอยู่ที่จะทำให้เรารู้สึกมากแต่ในส่วนใดส่วนหนึ่ง รูป หรือร่างกาย ในบางเวลา บางกรณี ในบางกรณีไปมั่นอยู่กับเวทนาเป็นเรื่องใหญ่เรื่องร้ายเรื่องกลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ บางเวลาก็สัญญา บางเวลาก็สังขาร บางเวลาก็วิญญาณ แต่ถ้าสำหรับจะเกิดความรู้สึกว่าตัวตนกันแล้วล่ะก็ ไอ้วิญญาณ สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่ มันจะเป็นตัวออกมาข้างหน้าสำหรับให้ยึดเข้าใจไปว่าเป็นตัวเป็นตน แต่อย่าลืมว่า ไม่ว่าจะไปยึดเอาคำไหนในห้าคำนี้ จะเกิดเรื่องทั้งนั้น จะมีปัญหาเป็นความทุกข์ขึ้นมา
คำพูดที่มีอยู่ในบาลีมันสับสน บางทีท่านพูดว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเฉยๆ แต่หมายถึงยึดถือแล้วแหล่ะ เป็นทุกข์แล้ว บางเวลา บางสูตร จึงจะพูดว่า รูปูปาทานักขันโธ ( 1:14:19) อย่างที่เรียกเป็นตัวทุกข์แท้ๆ ... (1:14:32) บางทีพูดว่ารูปเฉยๆ แต่ให้เป็นรูปที่ถูกยึดถือแล้วก็มี ผมสังเกตุดูในพระบาลีแท้ๆก็นึกโมโหเหมือนกันน่ะ ทำไมพูดไม่คงเส้นคงวา ถ้าพูดว่ารูปขันธ์น่ะก็คือไม่ได้ยึดถือ รูปูปาทานักขัน จึงยึดถือ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่อย่างนั้น มีบางกรณีที่พูดว่ารูปขันธ์เฉยๆแต่หมายถึงว่า ที่ถูกยึดถือ เช่นที่พูดว่า ... (1:15:04) ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักหมายถึงยึดถือแล้ว เราก็รู้เถอะว่า ถ้าจิตมันเผลอมันโง่มันไปยึดถือสิ่งทั้งห้านี้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าแล้วมันก็จะต้องมีความทุกข์ คำว่ายึดถือนี่ไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวกูของกู และต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งชนิดที่มันฝืนธรรมชาติ เกิดความรู้สึกรักมันก็เป็นทุกข์เพราะมันไม่เป็นไปตามที่รัก เกิดความรู้สึกเกลียดมันก็เป็นทุกข์ไปตามที่มันไม่เป็นไปตามที่เราเกลียด เราจึงเผชิญกับสิ่งที่เราไม่รัก เราพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก ทั้งรักและไม่รักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ได้
ผมพูดชั่วโมงเกือบครึ่ง พูดกับทั้งคืนก็ได้แต่คงจะร่วงอยู่ที่นี่หมดล่ะ ต้องพูดในเวลาอันสมควร ชั่วโมง ชั่วโมงเศษๆ แล้วก็อย่าพึ่งไปนึกเรื่องอื่นให้มันมากเรื่อง คืนนี้ถ้าจะทบทวนก็ไปทบทวนความหมายของ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ให้รู้จักมันให้ดีที่สุด ให้รู้จักว่าเมื่อไรเรียกว่ายึดถือ เมื่อไรเรียกว่าไม่ยึดถือ แต่ว่าโดยธรรมชาตินั้น พอมันโผล่ขึ้นมาในจิตมันยึดถือมาแล้วเพราะมันปรุงแต่งเสร็จเป็นความยึดถือ เป็นรูปที่ยึดถือมาแล้ว เป็นเวทนาที่ยึดถือมาแล้ว เป็นสัญญายึดถือมาแล้ว เราสกัดไม่ทันน่ะ เพราะมันเป็นเรื่องของจิต มันไวมาก แต่ขอให้เรารู้ไว้เถอะว่านี่มันยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์แล้ว แล้วจะให้เห็นชัดๆว่ามันสำคัญพอๆกันนะ ไอ้เวทนานี่มันก็ร้ายกาจเหมือนกัน ไอ้สัญญานี่ก็ร้ายกาจ ถ้าไม่มีสัญญาในโลกนี้จะไม่มีอะไรที่มีความหมาย เงินจะไม่มีความหมาย อะไรจะไม่มีความหมาย ผู้หญิงจะไม่มีความหมาย ผู้ชายจะไม่มีความหมาย เรื่องสัญญาก็ไม่ใช่เล่นๆ สังขารก็เหมือนกัน ถ้าคิดไม่เป็นมันก็เหมือนกับดับ โลกนี้มันดับไปแล้ว วิญญาณเหมือนกับผู้ต่อติดต่อขั้วหัวต่อถ้ามันไม่มีการติดต่อมันก็ไม่มีเรื่องเหมือนกัน มันก็ไฟฟ้าไม่มีขั้ว ฝ่ายสำหรับจะติดต่อ ส่วนรูปเนี่ยมันก็สำคัญที่สุดไปตามแบบของรูปเป็นวัตถุ ไอ้พวกจิตพวกน้ำก็ไม่มีที่ทำงาน ทำงานไม่ได้ ถ้าเราไม่มีร่างกายจิตก็ทำอะไรไม่ได้ ร่างกายแม้ว่าจะเป็นของทื่อของแข็งอะไรมันก็สำคัญที่จะเป็นที่ให้จิตมันทำงานได้ เหมือนกับตัวเปลือกหม้อแบตเตอรี่ก็ดี ตัวขดลวดก็ดี มันเป็นเปลือกเป็นวัตถุ แต่มันสามารถทำให้ไอ้สิ่งที่เรียกว่าไฟฟ้าแสดงตัวออกมาได้ ถ้าไม่มีเปลือกวัตถุนี่มันก็ไม่แสดงออกมา เราก็ไม่มีแรงไฟฟ้าที่จะใช้ทำอะไรได้ ฉะนั้นอย่าไปเห็นว่าร่างกายเป็นเปลือกเป็นวัตถุมันไม่มีค่าอะไร มันมีค่าร้อยเปอร์เซ็นต์กับเค้าด้วยเหมือนกันนะตามหน้าที่ของมัน ฉะนั้นเรารู้จักรูปให้ดีๆ มีความสำคัญเหมือนกับ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ท่านจึงแยกออกไปเป็นห้าส่วนให้ได้ศึกษากันง่ายๆและมีความสำคัญพอๆกัน อะไรๆมันก็จะรวมอยู่ที่นี่ โลกมันก็ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ ถ้าไม่มีสิ่งนี้มันก็มีโลกไม่ได้ มันไม่มีความรู้สึกเป็นโลกเป็นอะไรขึ้นมา ความสุขความทุกข์ก็มีไม่ได้ อะไรๆก็มีไม่ได้เท่ากับไม่มี ความทุกข์ก็มีไม่ได้ ความดับทุกข์ก็มีไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันมีแล้วนี่ สิ่งนี้ที่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์มันมีแล้ว ใครห้ามมันไม่ได้ พระเจ้าหรือใครก็ไม่รู้ไปสร้าง รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณขึ้นมาเป็นกลุ่มๆแล้ว แล้วในนั้นก็มีอวิชชายึดถือเป็นทุกข์กันอยู่แล้ว ก็คือพวกเราคนหนึ่งๆ ก็เป็นหน้าที่ของเราแต่ละคนๆจะต้องจัดการเอาเอง อย่าให้มันเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาในกลุ่มนี้ กลุ่มห้า ห้าส่วนนี้ คงพูดธรรมะลึกๆ ลึกที่สุดในพุทธศาสนาแก่คนที่จะลาสิกขา เค้าว่าผมบ้า โดยเฉพาะอาจารย์คึกฤทธิ์ เค้าด่าผมตลอดเวลาว่าเอาเรื่องไม่ควรพูดกับคนมาพูดกับคน ที่พูดกันที่คุรุสภาน่ะเค้าค้านเต็มที่ เค้าด่ามาในตัวเสร็จ ว่าเอาเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา มาสอนคน แล้วก็ไม่ใช่แต่คนนี้คนเดียว มากมายนะ คือเค้าไม่ต้องการจะให้คนรู้ หรือศึกษาเรื่องชนิดนี้ เค้าว่ามันเกินไป แต่เราก็ไม่เห็นด้วยเพราะความทุกข์มันเกิดเพราะไม่รู้เรื่องนี้นี่ก็ต้องทนให้เค้าด่าว่าสอนเรื่องที่มันสูงเกินไป คนที่จะสึกอยู่หยกๆนี่ก็จะมาสอนเรื่องหัวใจสูงสุดของพุทธศาสนา ฉะนั้นพอทีสำหรับวันนี้