แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งเป็นการช่วยกันทำให้ธรรมะเป็นประโยชน์แก่มนุษย์มากขึ้นตามพระพุทธประสงค์ เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้ธรรมะเป็นประโยชน์แก่โลกตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การเกิดขึ้นในโลกนี้ของตถาคตนั้น จะให้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ การมีศาสนา หรือธรรมวินัยของตถาคตอยู่ในโลกนี้ ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งเทวดาและมนุษย์ แล้วว่าเมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว บริษัททั้งสี่จะยังสืบธรรมวินัยไว้ในโลกนี้ เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งเทวดาและมนุษย์ ท่านทรงแสดงความหวังไว้ถึงสามสถานว่า การที่ตถาคตเกิดขึ้นมาในโลกก็ดี การมีศาสนาคำสอนขึ้นมาก็ดี การช่วยรักษาคำสอนไว้สืบๆ กันไปก็ดี ล้วนแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ความสุขเกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งหลายทั้งเทวดาและมนุษย์ เราก็ตั้งใจจะสนองพระพุทธประสงค์อันนี้คือทำให้ธรรมวินัยเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ เทวดาในที่นี้จะหมายถึงเทวดาในสวรรค์ก็ตามใจ แต่ความหมายกว้างขวางทั่วไปของคำว่าเทวดานั้น คือพวกคนที่ไม่รู้จักเหงื่อ ใครเป็นอยู่ได้โดยไม่ต้องรู้จักเหงื่อ สบายดี นี้ก็เรียกว่าเทวดา คนที่ยังต้องอาศัยเหงื่อ ยังอาบเหงื่อต่างน้ำอยู่ หรืออะไรอยู่นี่ก็เรียกว่ามนุษย์ ทั้งเทวดาและมนุษย์ยังต้องการธรรมะ ไม่ใช่ว่าเป็นเทวดาแล้วไม่ต้องการธรรมะ เทวดาก็ยังมีกิเลส เทวดาก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายเหมือนกับมนุษย์ ฉะนั้นจึงต้องการธรรมะ ทั้งเทวดาและมนุษย์ เราช่วยกันสืบพระธรรมไว้ในโลกนี้ก็เพื่อให้ทั้งเทวดาและมนุษย์จะได้มีความสุข นี่มันเป็นการสนองพระคุณของพระองค์ เราได้ร่วมมือกันกระทำเพื่อสนองพระคุณของพระองค์ในการทำประโยชน์ให้แก่เทวดาและมนุษย์ อาตมาจึงยินดีในการที่ได้ร่วมมือกันกระทำอย่างนี้ จึงแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายในลักษณะอย่างนี้ นี่เป็นข้อแรกที่ขอแสดงความรู้สึก ทีนี้อยากจะพูดถึงข้อที่ว่า เรามานั่งกันอยู่ที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งก็ต้องเรียกว่า นั่งกลางดิน แม้จะนั่งบนเสื่อบ้างก็เรียกว่านั่งกลางดิน อันนี้ก็เป็นความมุ่งหมายของเรา ที่อยากจะให้ท่านทั้งหลายได้นั่งในลักษณะอย่างนี้ ที่เรียกว่านั่งกลางดิน ที่จริงจะไปขนเอาเก้าอี้มาก็ได้ หรือไปนั่งในห้องประชุมที่มันมีเก้าอี้ก็ได้ แต่เห็นว่ามันไม่เข้ารูปกัน มันมีประโยชน์น้อย ขอให้นั่งในลักษณะอย่างนี้ที่เรียกว่ากลางดิน เพื่อจะเป็นการง่ายแก่การที่เราจะระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน เป็นอยู่กลางดิน แล้วก็นิพพานกลางดิน ถ้าใครยังไม่ทราบ ก็ขอให้ทราบ ถ้าใครทราบอยู่แล้ว ก็ขอให้ทำจิตใจให้เข้าถึงความหมายอันนี้ให้มากขึ้น เอามือลูบดิน แสดงความพอใจที่ดินว่าเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ก็เป็นที่นั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นที่แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า ที่อยู่อาศัยของพระพุทธเจ้า นิพพานคือตายของพระพุทธเจ้า เพื่อจะให้เราสรุปความหมายได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านมีชีวิตอยู่กับพื้นดิน เราอยากอยู่ตึก อยากอยู่วิมาน คงจะพบกันยาก เมื่อคนหนึ่งชอบอยู่กลางดินหรืออยู่กลางดิน คนหนึ่งจะไปอยู่บนวิมาน นี่มันก็พบกันยาก ฉะนั้นอย่างน้อยเรามาทำความรู้สึกกันที่นี่ ว่าพระพุทธเจ้าประสูติที่สวนลุมพินีใต้ต้นไม้ที่กลางดิน และเมื่อท่านตรัสรู้ก็นั่งกลางดินที่ริมตลิ่งที่โคนต้นไม้ที่เรียกกันว่าต้นโพธิ์เดี๋ยวนี้ ที่เป็นต้นมะเดื่อ ตระกูลมะเดื่อ แต่เพราะที่ เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าไปตรัสรู้ที่โคนของต้นไม้ไหน ต้นไม้นั้นจะถูกเรียกว่าต้นโพธิ์ไปหมด ไม่ว่ามันจะเป็นต้นอะไรมาก่อน ถ้าพระพุทธเจ้าไปนั่งตรัสรู้ใต้ต้นมะม่วง ต้นมะม่วงต้นนั้นก็จะกลายเป็นต้นโพธิ์ โพธิ อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้เมื่อท่านแสดงธรรมตามปกติ ก็พบกันที่ไหนก็ตรงนั้น มันก็มักจะเป็นในอุทยาน หรือตามถนน ริมถนนหนทางที่ไหนก็ได้ แต่ต้องรู้ว่าโรงธรรมในวัดของพระพุทธเจ้านั้นก็พื้นดิน กุฎิของพระพุทธเจ้าก็พื้นดิน ไปดูได้ ที่ประเทศอินเดีย ที่ยังมีซากอยู่เดี๋ยวนี้ จะมีไอ้แคร่เตี้ยๆ ไอ้เตียงถักเตี้ยๆ นั่นนะ วางอยู่บนพื้นดิน สูงนิดเดียว ต่ำไปอีกหน่อย ในที่สุดท่านก็นิพพานกลางดินใต้ต้นสาละ ในอุทยานแห่งหนึ่ง เรียกว่าบนพื้นดิน จะปูผ้าลงบนพื้นดิน หรือว่าจะมีเตียงเตี้ยๆ สูงเพียงฝ่ามือวางก็เรียกว่าพื้นดิน เรียกว่าท่านนิพพานกลางดินอย่างนั้นแหละ นี่ระลึกด้วยพุทธานุสติอันสูงสุดอย่างนี้ แล้วจะระลึกง่ายเมื่อเรามานั่งกันกลางดินในสภาพอย่างนี้ ฉะนั้นการมานั่งพูดกันกลางดินในสภาพอย่างนี้จึงได้เปรียบกว่าการที่จะไปนั่งพูดกันในห้องประชุมอันหรูหรา เว้นเสียแต่มีความจำเป็นอย่างอื่น แล้วเราก็ได้นั่งใต้ต้นไม้ด้วย ในแบบเดียวกันกับที่ว่าประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ สอนใต้ต้นไม้ นิพพานใต้ต้นไม้ ต้นโพธิ์นั้นรู้จักกันอยู่ทั่วไปแล้ว แต่ต้นสาละที่ประสูติและนิพพานนั้นเรานำมาปลูกไว้เป็นตัวอย่างที่หน้าตึก หลังนั้นนะ ตึกที่เรียกว่าโรงหนัง ไปศึกษา ไปสังเกตดู เรียกว่าต้นสาละ ที่แท้จริง ที่เอาพันธุ์เม็ดมาจากประเทศอินเดีย จะเก็บใบไปเป็นที่ระลึกสักใบหนึ่งก็ได้ ว่าเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าท่านประสูติ หรือว่าเป็นที่ระลึกในการมาสวนโมกข์ก็ได้ นี่ขอแสดงความรู้สึกที่เป็นเจตนาในการที่เราจะนั่งพูดกันกลางดิน ทีนี้สำหรับคำว่าสวนโมกข์ คำนี้แปลว่า เกลี้ยง ถ้าเป็นศัพท์ชาวบ้านนะ แปลว่าเกลี้ยง ไม่มีอะไรเกาะ จับ แปดเปื้อน ถ้าเป็นภาษาธรรมะก็แปลว่าหลุดพ้นไป หลุดพ้นไป คือไม่มีอะไรจับเอาไว้ได้ คำว่าโมกข์ แปลว่าเกลี้ยง เป็นภาษาชาวบ้านชาวเมือง ก็เพื่อให้เกลี้ยงจากกิเลส สะอาดจากกิเลส เกลี้ยงจากความทุกข์ คือไม่มีความทุกข์ ให้จิตใจมันเกลี้ยง เมื่อจัดไว้ตามธรรมชาติอย่างนี้จิตใจมันเกลี้ยงง่ายนะ พอเข้ามาในสถานที่เช่นนี้ จิตใจมันเกลี้ยงไปเอง เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะเข้าไปปรุงแต่งจิตใจให้ยุ่ง ไม่เหมือนกับเข้าไปในร้านค้า หรือในที่ที่มันมีอะไรยั่วให้จิตใจมันยุ่ง เรามาในที่ธรรมชาติอย่างนี้มันเกลี้ยง โดยธรรมชาตินี่มันแวดล้อมให้จิตใจมันเกลี้ยง คือให้มันหยุดปรุงแต่ง ฉะนั้นเราจึงมีจิตใจเกลี้ยงได้โดยง่าย จะรู้สึกว่าสบายใจไปแบบหนึ่งทีเดียว พอเข้าไปในที่อย่างนี้จิตใจมันเกลี้ยง เพราะสิ่งทั้งปวงนี้มันไม่ปรุงแต่งให้จิตใจเกิดความรู้สึกว่ามีอะไรที่เป็นตัวกูหรือเป็นของกู เมื่อไม่มีความรู้สึกเป็นตัวกูของกูอยู่ในใจ ใจมันก็เกลี้ยง เราก็รู้สึกสบาย เยือกเย็น หยุด เกลี้ยง เรียกว่าเกลี้ยง ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาความเกลี้ยงแห่งจิตใจจากภายในความรู้สึกของตนเองให้ได้ด้วย ให้รู้ว่าความเกลี้ยงแห่งจิตใจเมื่อกิเลสไม่รบกวนนั้นมันเป็นอย่างไร แล้วขอให้เก็บความรู้สึกนี้ไว้ในความจำ เอาติดไปด้วย ถ้าไปกรุงเทพฯ แล้วจิตมันยุ่งขึ้นมา ก็นึกถึงความที่จิตมันเกลี้ยงเมื่อนั่งอยู่ที่ตรงนี้ มันจะช่วยได้มาก มันจะมีประโยชน์ พยายามชิมรสของความเกลี้ยงแห่งจิตใจ คือรสของพระธรรม ให้รู้สึกไว้ให้ดี ให้ชิม ให้รู้สึกจริงๆ จะได้จำไว้แม่นยำ ว่าความเกลี้ยงนั้นมันเป็นอย่างไร จะได้จำเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์เมื่อกลับไปในสถานที่ที่ทำให้จิตใจมันวุ่น มันปรุงแต่ง มันยุ่งเหยิง มันไม่เกลี้ยง คำว่าเกลี้ยงนี้ เป็นภาษาธรรมะสูงสุดก็แปลว่าหลุดพ้น ก็คือนิพพานนั่นเอง จิตที่เกลี้ยงจากสิ่งปรุงแต่งนั้นถึงจะบรรลุนิพพานได้ ฉะนั้นขอให้พอใจจิตที่จะเกลี้ยงจากกิเลส เกลี้ยงจากความทุกข์แล้วก็เป็นนิพพาน ที่มาสวนโมกข์ก็เป็นโอกาสจะได้ศึกษาธรรมชาติภายนอก เช่นพื้นที่ต้นไม้ต้นไร่ที่มันไม่ชวนให้เกิดการปรุงแต่ง นี่เรียกว่าศึกษาธรรมชาติภายนอก แล้วก็ยังศึกษาธรรมชาติภายในคือจิตใจของเราเอง ทำความรู้สึกแก่จิตใจของเราเองว่าเป็นอย่างไร นี่เรียกศึกษาธรรมชาติภายใน ศึกษาธรรมะจากธรรมชาติจะรู้จริงกว่าศึกษาจากหนังสือ หรือแม้จากคำสอน หนังสือ หรือคำสอนมันก็เป็นการช่วยให้รู้จักศึกษาจากภายใน ฟังแล้วเอาไปปฏิบัติ ไอ้การปฏิบัตินั่นมันเป็นการศึกษาจากภายใน เดี๋ยวนี้ธรรมชาติช่วยได้มาก ให้ศึกษาทั้งจากภายนอกและภายใน ว่าไอ้ธรรมชาติอันสงบนั่นมันเป็นอย่างไร แล้วมันแวดล้อมจิตใจของเราให้เป็นอย่างไร เรารู้สึกต่อจิตใจของเราในภายในว่าเป็นอย่างไร นี่จะทำให้ศึกษาธรรมชาติได้ดี ท่านอย่าได้ประหลาดใจถ้าอาตมาจะพูดว่าธรรมชาติสอนดีกว่าคนสอน พระพุทธเจ้าท่าน พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงมุ่งหมายอย่างนี้ คือให้รู้เอง เห็นเอง สันทิฏฐิโก นั่นก็คือธรรมชาติสอน ที่คนสอน ได้ยินได้ฟังนี้ได้อะไรนี้มันก็ยังไม่เท่ากับว่าธรรมชาติมันสอน คือสัมผัสธรรมชาติภายนอกภายในเกิดความรู้อะไรขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าธรรมชาติสอน ธรรมชาติสอนนี้สอนได้มาก สอนได้ลึก สอนได้จริง สอนได้แจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งกว่าคนด้วยกันสอน ถ้าจะฟังหรือจะอ่านที่คนด้วยกันสอนก็เพื่อไปทำเสียใหม่ ให้เปลี่ยนเป็นธรรมชาติสอน สอนด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วก็ชิมความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าอ่านภาษาบาลีเขาเรียกว่า เสวยความสุขด้วยนามกาย ความรู้หรือการศึกษาในพระพุทธศาสนานี้ท่านแบ่งไว้เป็นสามขั้นตอน ข้อที่หนึ่ง ได้ยิน ได้ฟัง ได้เล่า ได้เรียน เหมือนที่เรียนๆ กันอยู่นี้เรียกว่า สุตะ เป็นความรู้เพียงขั้นนี้เท่านั้นแหละ ไม่มากมายอะไร ทีนี้ขั้นต่อไป ไปคิด ไปนึก ไปพิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญา รู้ลึกเข้าไปอีก เข้าใจมากเข้าไปอีก ตอนนี้ท่านเรียกว่าแทงตลอดด้วยปัญญา เป็นการแทงตลอดด้วยปัญญา ทีนี้เมื่อได้ผ่านไป ได้ประพฤติหรือได้สำเร็จในความรู้ถึงขั้นสุดท้ายนี่ จะได้ชิม รสของพระธรรมแท้ ในความรู้สึกนั้น ตอนนี้ท่านเรียกว่า เสวยสุขด้วยนามกาย นามกายคือฝ่ายจิตใจ เสวยสุขที่เกิดจากธรรมะนั้นด้วยจิตใจคือด้วยนามกาย ตอนสุดท้ายเรียกว่าเสวยสุขด้วยนามกาย อันนี้จะมีได้ต่อเมื่อปฏิบัติธรรมสำเร็จ นี่เป็นความรู้ขั้นสุดท้าย มีอยู่เป็นขั้นสุดท้าย หนึ่งรู้อย่างศึกษาทั่วไป สองแทงตลอดด้วยปัญญา สามเสวยสุขด้วยนามกาย ฉะนั้นถ้าใครไม่ได้เสวยรสแห่งพระธรรมด้วยนามกายยังไม่เรียกว่ารู้ธรรมะถึงที่สุด ฉะนั้นขอให้เอาไปแทงตลอดด้วยปัญญา และปฏิบัติ แม้ในภายในไม่ใช่ปฏิบัติภายนอก คือไม่ต้องทำท่าทาง ไม่ต้องอะไร ให้มันแจ่มแจ้ง ให้จิตมัน ทำลายกิเลสในภายในของมันเอง แล้วก็มีเสวยสุขด้วยนามกายเป็นแน่นอน นี่ก็จำไปด้วยเถอะว่าเดี๋ยวนี้เราเพียงแต่ยิน ฟัง ได้ยินได้ฟัง หรืออาจจะแทงตลอดด้วยปัญญาได้บ้าง หรืออาจจะเสวยสุขด้วยนามกายได้บ้างโดยอ้อม เช่นจิตมันว่างไปจากการปรุงแต่ง แต่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องเอาไปปฏิบัติให้เต็มที่ แล้วให้ได้เสวยความสุขด้วยจิตใจโดยตรงให้เต็มที่ เสวยสุขด้วยนามกาย และจะได้เตรียมตัวให้มันเป็นขั้นตอน ให้สำเร็จได้ทุกขั้นตอนก็แล้วกัน นี่ก็บอกให้เป็นทางสังเกตจะได้เตรียมตัว ให้เหมาะสม หรือว่าจะได้ปฏิบัติไต่เต้าไปอย่างมีผล เอาละทีนี้ก็จะพูดถึงตัวธรรมะ ซึ่งเป็นการแสดงธรรม หรือปาถกฐาธรรมตามความประสงค์ของท่านทั้งหลายต่อไป ในหมายกำหนดการนั้นเห็นเขียนไว้ว่าให้กล่าวโดยหัวข้อว่า แก่นพุทธศาสน์ในการบรรยายครั้งแรกนี้ อาตมาต้องขอเปลี่ยน เพราะว่าคำบรรยายชื่อแก่นพุทธศาสน์นั้น เคยบรรยายแล้ว แล้วเขาก็พิมพ์หนังสือแพร่หลายแล้ว แล้วก็ชื่อนั้นด้วย ชื่อแก่นพุทธศาสน์มันมีเป็นหนังสืออยู่เล่มหนึ่งแล้ว ถ้าวันนี้จะอธิบายโดยหัวข้อว่าแก่นพุทธศาสน์อีกแล้วมันไปเกิดพิมพ์เข้า มันก็จะมีชื่อเหมือนกัน มันจะยุ่ง นี่เราก็ป้องกันการยุ่งนี้เสียโดยไม่ใช้หัวข้อว่าแก่นพุทธศาสน์ แต่จะใช้คำที่คล้ายๆ กัน ว่าจะพูดเรื่อง แกนของพระธรรม ขอให้สนใจคำว่าแกนของพระธรรม มันมีคำคล้ายกันอยู่นะ แก่นกับแกน แก่นนั้นเป็นสาระ เป็นของแข็งให้ทรงตัวอยู่ได้อย่างมั่นคง นี่เรียกว่าแก่น เหมือนกับแก่นไม้อย่างนี้ แก่นพระธรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง ทีนี้ แกน หมายความว่าแกนกลาง แกนที่จะทำให้ประสานกันอยู่ได้ เป็นแกน แกนของพระธรรม เกือบคล้ายกัน ใช้แทนกันก็ได้ แก่นกับแกน แต่ว่าแกนนี่มันเป็นความหมายหนึ่ง เป็นแกน เป็นที่เกาะ เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย อย่างนี้ เหมือนกับโครง โครงร่างข้างในที่จะมีเนื้อหนังหุ้มห่ออยู่ข้างนอก เรากำลังจะพูดถึงพระธรรม มีแกนอย่างไร ก็จะพูดถึงคำว่าพระธรรมกันเสียก่อน ธรรมะ เป็นภาษาบาลี พระธรรมเป็นภาษาไทย นี่เป็นคำที่พิเศษตรงที่ว่า ไม่อาจจะแปลเป็นภาษาอื่นได้ ต้องคงไว้ตามภาษาเดิมคือภาษาอินเดีย เช่นพระธรรมนี้เราก็ไม่แปล เราเอามาใช้ชื่อว่าพระธรรมในภาษาไทย พระธรรมก็กลายเป็นภาษาไทยไปแล้ว พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่ไม่อาจจะแปลเป็นภาษาอื่น แปลก็ได้ แต่มันไม่ถูก มันไม่ครบตามความหมาย เพราะความหมายมันมากเกินไป เดี๋ยวก็จะรู้ได้เองว่าทำไมมันจึงแปลไม่ได้ ครั้งแรกพวกฝรั่งเขาอวดดี เขาจะแปลคำว่าพระธรรมนี่เป็นภาษาอังกฤษ เขาก็แปล เอาคำนี้แปลออกมา มันก็ไม่หมด แปลออกมาอีกคำมันก็ไม่หมด ได้ยินว่าแปลเป็นภาษาอังกฤษตั้งสามสิบกว่าคำแล้วมันก็ไม่หมดความหมายของพระธรรม ฝรั่งเลยยอมแพ้ รับเอาคำว่าธรรม พระธรรมนี่เข้าไปไว้เป็นคำอังกฤษในปทานุกรมอังกฤษไปเลย แต่เผอิญเขาไปใช้รูปศัพท์ที่เป็นสันสกฤต ฉะนั้นถ้าเราไปดูดิกชันนารีของฝรั่ง ไอ้คำว่าธรรมะนี่มันจะเป็นรูปสันสกฤตว่า dharma, dharma (นาทีที่ 24:22) นี่สันสกฤต เป็นนามแปลว่าธรรมะ เป็นคุณศัพท์ว่า ธรรมิกะ ถ้าเป็นบาลีก็ ธัมมะ ธัมมิก ไทยเรานี้ใช้บาลี ฉะนั้นเราจึงมีคำว่าธรรมะ ธรรมมิก (นาทีที่ 24:37) ฝรั่งเขาไปนิยมสันสกฤต เขาใช้รูปศัพท์สันสกฤต คำว่าธรรมะ dharma หรือธรรมมิก นี่ก็อยู่ในปทานุกรมอังกฤษแล้ว มันจะแปลออกเป็นเพียงความหมาย คำใดคำหนึ่งในภาษาอังกฤษนั้นมันไม่พอ เดี๋ยวจะรู้ว่าทำไมจึงไม่พอ ทีนี้ธรรมะนี่ ฉะนั้นก็แทนคำว่าศาสนาก็ได้ แทนคำว่าพระศาสนาก็ได้ ระบบพระศาสนาก็เรียกว่าธรรมะก็ได้ ในอินเดียโบราณนั้น เขาใช้คำว่าธรรมะ เมื่อเราเดี๋ยวนี้ใช้คำว่าศาสนา ในอินเดียสมัยโน้นเขาใช้คำพูดว่าธรรมะ ท่านถือธรรมะอะไร ท่านชอบใจธรรมะอะไรนี่ ก็เหมือนกับพวกนี้ พวกเราเดี๋ยวนี้ก็พูดว่าถือศาสนาอะไร ชอบศาสนาอะไร ระบบธรรมะเป็นที่ต้องการของมนุษย์สำหรับจะใช้เพื่อดับความทุกข์ ธรรมะมีความหมายมาก แต่ความหมายสำคัญมันก็คือดับทุกข์ ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ท่านก็รู้ ต้องรู้ธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นครู ท่านก็ต้องรู้ธรรมะสำหรับความเป็นครู ฉะนั้นคำว่าครู ครูนี่ แปลว่าผู้เปิดประตูให้สัตว์ออกมาเสียจากคอกขังแห่งความทุกข์ คือกิเลส ในเมืองไทยเราแปลคำว่าครูว่า ผู้หนัก ผู้มีบุญคุณหนัก แต่ภาษาอินเดียนี้ ผู้รู้ภาษาเขาบอกว่ามันแปลว่าเปิดประตู ถ้าเปิดประตูแห่งจิตใจ จิตใจถูก ถูกขังอยู่ในคอกของอวิชชา ในเล้ามืดเหม็นสกปรกหาความสุขไม่ได้ อยู่ในคอกอวิชชา ทีนี้ครู ครูนี่เป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณ ให้วิญญาณออกมาเสียจากคอกแห่งอวิชชา มาสู่แสงสว่างมีอากาศสะอาดสบาย นี่ ถ้าภาษาปทานุกรมธรรมดาเขาจะแปลคำว่าครูว่า ผู้นำในทางวิญญาณ ปทานุกรมธรรมดาในประเทศอินเดียจะแปลคำว่าครูนี่ว่า spiritual guide เป็นมัคคุเทศก์ในทางวิญญาณ แต่ความหมายเดียวกับคำว่าเปิดประตู เปิดประตูทางวิญญาณ ก็ออกมาๆ นำออกมาเสียจากคอก จากเล้า อันมืด อันเหม็น อันสกปรก นี่หน้าที่ของครู เปิดประตูดวงวิญญาณให้สัตว์ออกมาเสียจากคอก ที่กักขัง ฉะนั้นท่านจะต้องรู้ธรรมะสำหรับเปิดประตูคอกให้สัตว์ออกมาเสียจากวิญญาณ เสียจากคอกอวิชชาอีกส่วนหนึ่งด้วย ธรรมะในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ก็มีอยู่อย่างหนึ่ง ช่วยตัวเอง ธรรมะในฐานะที่เป็นครูก็มีอยู่อย่างหนึ่งที่จะช่วยผู้อื่น เราเกิดมีหน้าที่ต้องรู้ถึงสองธรรมะ ช่วยตัวเองและช่วยผู้อื่น และธรรมะนั่นแหละ มันจะช่วยทั้งตัวเองและช่วยผู้อื่น เดี๋ยวก็จะเข้าใจได้ แต่มีข้อปลีกย่อย หรือมีวิธีการที่แตกต่างกันบ้าง ทำไมท่านมีความรู้แล้วท่านยังสอนไม่ได้ ท่านต้องไปเรียนวิชาครู ไปสอบวิชาครูอีกส่วนหนึ่งจึงจะสอนได้ เพราะมีแต่ความรู้ มันก็รู้ แต่ว่าไม่รู้วิธีเปิดประตูเพื่อแจกจ่ายผู้อื่นมันก็ไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นเราจะต้องเรียนอีกส่วนหนึ่งคือว่ารู้จักเปิดประตู ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงตั้งใจสนใจที่จะศึกษาธรรมะ ทั้งสองสถาน คือในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ก็ให้เป็นมนุษย์ให้ได้โดยสมบูรณ์ และในฐานะที่เป็นครู ก็ให้สามารถทำหน้าที่ของครูนี่เป็นอย่างน้อยแล้ว สองอย่างแล้ว ทีนี้ถ้าท่านมีหน้าที่พิเศษอย่างอื่นอีกก็ต้องไปหาเอาอีก หาเพิ่มเติมเพื่อทำหน้าที่พิเศษนั้นอีกต่างหาก เช่นเป็นบิดามารดา เป็นบุตร เป็นธิดา เป็นอะไรก็สุดแท้ ก็หาธรรมะสำหรับความเป็นอย่างนั้นไว้ต่างหากให้มันเพียงพอ แต่เดี๋ยวนี้เรามองเห็นเฉพาะหน้านี้ว่ามันมีสักสองหน้าที่ใหญ่ๆ คือเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เป็นครูที่ถูกต้อง ก็คงจะพ้นจากข้อครหา ทีนี้จะพูดถึงธรรมะในความหมายที่กว้างที่สุดก่อน ที่ว่าจะเป็นแกนได้อย่างไร ธรรมะเป็นภาษาบาลีมีความหมายแยกกันเป็นสี่ความหมาย ความหมายที่หนึ่ง ธรรมะในฐานะที่เป็นธรรมชาติ ความหมายที่สอง ธรรมะในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สาม ธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สี่ ธรรมะในฐานะที่เป็นผลอันเกิดมาจากหน้าที่ ถ้าท่านเข้าใจความหมายสี่อย่างนี้แล้วต่อไปจะสะดวกที่สุด จะง่ายที่สุดในการที่จะศึกษาธรรมะ ให้รู้แจ่มแจ้ง แตกฉาน และสมบูรณ์ ถ้าท่านจะไม่ให้เสียเวลาเปล่า แล้วก็ช่วยจำไว้ให้ดี ว่าไอ้ความหมายสี่ความหมายนี้จะช่วยให้ท่านศึกษาธรรมะในอนาคตได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง แตกฉาน สมบูรณ์ ธรรมะ แปลว่าธรรมชาติ ถ้าแปลโดยตัวเดียว ธรรมะนี้แปลว่าธรรมชาติ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะ นั่นคือตรัสรู้เรื่องของธรรมชาติ ท่านตรัสรู้ในสี่ความหมาย ตัวธรรมชาติเองด้วย ตัวกฎของธรรมชาติ ที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งหลายด้วย ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติด้วย ที่ว่าชาวอินเดียเขาแปลคำธรรมะว่าแปลว่าหน้าที่ก็หมายถึงความหมายที่สามนี้ แล้วผลที่ได้รับจากการปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติด้วย นี่สี่ความหมาย หนึ่งตัวธรรมชาติ สองตัวกฎธรรมชาติ สามตัวหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ สี่ผลจากหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ จัดได้เป็นสี่ประเภทอย่างนี้ แต่อาจจะแจกรายละเอียดออกไปมากมายแล้ว ไม่สิ้นสุด เอาตรงนี้ก็ลองคิดดู ขอพูดเตือนสักทีว่า มันมีความหมายกว้างๆ ถึงสี่อย่างนี้ สี่ความหมายนี้ แล้วจะเอาคำแปลในภาษาอังกฤษคำไหน มาใช้ในการแปลคำว่าธรรมะให้ได้ความหมายครบทั้งสี่ประการนี้ มันก็ไม่มี ก็ต้องยอมแพ้ ก็ต้องใช้คำว่าธรรมะ คำเก่า คำเดิมไปตามเดิม แล้วก็รู้จักแยกแยะความหมายของคำว่าธรรม หรือธรรมะ หรือพระธรรมนี่เป็นสี่ความหมาย พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม พระธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องของธรรมะสี่ความหมายนั่นเอง ถ้าบอกเแต่ป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่รู้ว่าสอนอะไร ถ้าเราสอนธรรมะ สอนธรรมชาติสี่ความหมาย เราก็รู้ได้ ความหมายที่หนึ่ง ตัวธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาติตามปกติ ตัวธรรมชาติทั้งหลายนี่ ที่มีรูปก็มี ไม่มีรูปก็มี มีการปรุงแต่งก็มี ไม่มีการปรุงแต่งก็มี ที่อยู่ในตัวเราก็มี อยู่นอกตัวเราก็มี อยู่ทั่วไปในจักรวาลก็มี ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ นับตั้งแต่ที่ว่าง บรรยากาศ ดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ อะไรต่างๆ ทั้งโลก ในโลกนี้มีอะไรๆ อย่างที่มี รวมทั้งพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ ทั้งหมดนี้เรียกว่าธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ ที่เป็นข้างนอกตัวเรา มันไม่ค่อยเกี่ยวกับเรา ที่มันเกี่ยวกับเราคือในตัวเรา เพราะว่าความทุกข์ ความสุข มันจะเกิดในตัวเรา ฉะนั้นเรารู้จักไอ้ธรรมชาติในตัวเราเสียให้มากให้เต็มที่ ธรรมชาติในตัวเราที่เป็นรูปธรรมคือร่างกาย นี่ฝ่ายวัตถุ ที่เป็นนามธรรมก็คือจิตใจ รู้สึกคิดนึกอะไรได้นั่นแหละคือ นามธรรม เรียกว่าทั้งรูปและทั้งนามก็เป็นธรรมชาติ ประกอบขึ้นเป็นคนเราคนหนึ่งๆ นี่ก็เรียกว่าธรรมชาติ เป็นกายแปลว่าหมู่ หมู่แห่งธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันเข้าเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไอ้ส่วนต่างๆ รวมกันเป็นร่างกายหนึ่งร่างนี่เรียกว่าธรรมชาติ ดูตัวธรรมชาติที่ภายในที่เป็นตัวเราอย่างนี้ให้ดีๆ นี่เรียกว่ารู้ธรรมะที่เป็นธรรมชาติ ในความหมายว่าเป็นธรรมชาติ ทีนี้ความหมายที่สอง ธรรมะในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ ตั้งต้นมาตั้งแต่ ท้องฟ้าทั้งสิ้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ดวงอะไรทั้งหลาย โลกนี้ด้วย ล้วนแต่มีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่นะ แม้แต่ดวงอาทิตย์นั้นก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ มันไม่พ้นจากอำนาจกฎของธรรมชาติไปได้ จะมาเป็นดวงดาวอะไร อะไรๆ กี่ดวง มันก็ยังอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ ฉะนั้นในจักรวาลนั่น ถึงจะมีอยู่กี่จักรวาลก็ตาม ล้วนแต่ว่าอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ จักรวาลของเรามีพระอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง มีดาวบริวารมากมาย จักรวาลนี้ก็อยู่ใต้กฎของธรรมชาติ จักรวาลอื่นกี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่นจักรวาลก็ล้วนแต่อยู่ใต้กฎของธรรมชาติ เมื่อรู้จักคำว่ากฎของธรรมชาติ มันควบคุมสิ่งทั้งปวงอยู่ สิ่งทั้งปวงมีเหตุ มีปัจจัย แล้วสิ่งทั้งปวงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย มีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความเป็นตถาตา คือความเป็นอย่างนั้น นี่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ ถ้ามนุษย์รู้ ก็จะแก้ปัญหาได้มาก ถ้าเรารู้เรื่องกฎของธรรมชาติ แล้วจะแก้ปัญหาได้มาก จะสร้างสรรค์อะไรได้มาก ที่เราพัฒนาสร้างสรรค์อะไรต่างๆ ได้ กระทั่งมียานพาหนะไปดวงจันทร์ไปอะไรได้ นี่ก็เพราะว่ารู้เรื่องกฎของธรรมชาติ ถ้าไม่อย่างนั้นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ แต่นั้นมันเป็นเรื่องภายนอก ไปดวงจันทร์ได้ ก็ไม่ ไม่วิเศษอะไร ดับทุกข์ไม่ได้ ฉะนั้นรู้กฎธรรมชาติในภายในตัวเรากันดีกว่า ที่มันจะดับทุกข์ได้ ในตัวเรามีกฎธรรมชาติอย่างไร เราจะต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างไร นี่ รู้กฎธรรมชาตินี้ดีกว่า จะแก้ปัญหาได้ จะทำให้ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีอะไรที่จะย่ำยีหัวใจเรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปเช่นนั้นเอง ตามกฎของธรรมชาติ เราไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราจะแบ่งตัวเราเป็นผม ขน เล็บ ฟันหนัง 32 อย่างนี้ แต่ละอย่างก็มีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ที่จิตใจของเรา รู้สึกคิดนึกของเราก็มีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ควบคุมอยู่ ต้องคิด ต้องนึกอะไรไปตามกฎของธรรมชาติ เมื่อร่างกายกับจิตใจรวมกันเข้า ประพฤติจะทำอะไร มันก็เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ถ้าดูให้ดีว่า ทุกๆ เซลล์ที่ประกอบกันเข้าเป็นร่างกายเราก็มีกฎของธรรมชาติกำกับอยู่ทุกเซลล์ ถ้าเราจะขืนแบ่งมันออกเป็นอณู เป็นปรมาณู ทุกๆ ปรมาณูก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ ในทุกๆ ปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายของเรา ฉะนั้นรู้ รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากฎของธรรมชาติให้ดีๆ รู้ในภายในให้มาก รู้ภายนอกมันไม่สู้ที่รู้ในภายใน เราจะรู้ได้เข้าใจ จะได้ปรับปรุงร่างกายและจิตใจ ให้หมดปัญหา คือไม่ต้องเป็นทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตใจ ปรับปรุงจิตใจกันเสียใหม่ไม่ให้เกิดความทุกข์ได้ ถ้าปล่อยไปตามเดิม มันเกิดความทุกข์ไปตามธรรมชาติเดิม ถ้าเรารู้จักปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ มันก็รู้จักใช้ธรรมชาติอีกอันหนึ่งมาควบคุมแก้ไข ไม่ให้เป็นทุกข์ได้ คือเราจะดำรงจิตใจไว้ได้ในลักษณะที่จะไม่เกิดความทุกข์ นี่คือตัวธรรมะ รู้กฎของธรรมชาติ นี่ความหมายที่สองคือกฎของธรรมชาติ เรียกว่า ธรรมะ ทีนี้ความหมายที่สาม คือหน้าที่ หน้าที่ duty นี่ หน้าที่ มีตัวธรรมชาติ มีตัวกฎของธรรมชาติประกอบกันขึ้นเป็นชีวิต ไอ้สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายก็เลยต้องมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เพราะชีวิตมันเกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ มันจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายต้องมีหน้าที่ให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ เช่นต้นไม้ มีชีวิต ต้นไม้ก็ทำหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จึงจะรอดอยู่ได้ สัตว์เดรัจฉาน ก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จึงจะรอดอยู่ได้ คนเราก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จึงจะรอดอยู่ได้ ทีนี้มนุษย์เราไม่ได้ต้องการแต่เพียงว่ารอดอยู่ได้ เราต้องการให้ดีกว่านั้น ต้องอาศัยกฎของธรรมชาติ ความรู้ของธรรมชาติ ทำหน้าที่ให้ดีไปกว่านั้น ให้เป็นมนุษย์ที่ดีไปกว่านั้น สูงสุดขึ้นไปจนกว่าจะถึงนิพพาน ฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุนิพพานก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์ในระดับสูงสุด นี่เรียกว่าหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ผู้ใดทำหน้าที่คือผู้นั้นปฏิบัติธรรมะ เป็นครู ทำหน้าที่ของครู คนนั้นปฏิบัติธรรมะ เมื่อถือชอล์กอยู่หน้ากระดานดำ ไม่ต้องไปวัดไปวาที่ไหนก็ได้ ทุกคนแต่ละคนทำหน้าที่ของตนอยู่ที่ไหนก็มีการปฏิบัติธรรมะที่นั่น เมื่อชาวนาจับหางไถนาอยู่กลางนานั่นแหละเขาปฏิบัติธรรมะของเขาในฐานะที่เป็นชาวนา กรรมกรถีบสามล้ออยู่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะของกรรมกร ล้างท่อถนนอยู่ก็ปฏิบัติธรรมะในฐานะเป็นคนล้างท่อถนน แจวเรือจ้าง ถีบสามล้อ ทุกอย่าง เมื่อเขาทำหน้าที่ของเขา เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ แล้วเขาควรจะพอใจ แล้วเขาควรจะเป็นสุข ไม่ทิ้งชอล์กเร็วๆ แล้วไปหาอาบ อบ นวด เมื่อถือชอล์กอยู่หน้ากระดานดำนั่นแหละเป็นความสุข เพราะปฏิบัติธรรมะ พอใจ ยินดี ว่าได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ปีติเกิดขึ้นในหน้าที่ก็มีความสุขอยู่ที่ตรงนั้น นี้เป็นความสุขจริง ตามกฎของธรรมะ อย่าไปหาความสุขที่สถานอาบ อบ นวด นั้นเป็นความสุขหลอกลวง สุกเผาให้ร้อน สุกเผาให้สุก เป็นสุขหลอกลวง สู้ความสุขที่เกิดอยู่เมื่อทำหน้าที่พอใจในหน้าที่ ยกมือไหว้ตัวเองว่าได้ทำหน้าที่นี้เป็นสุขจริง สุขจริงไม่ต้องใช้เงินซื้อ สุขหลอกลวงต้องซื้อด้วยเงินแพงๆ เงินเดือนไม่พอใช้ ต้องคอรัปชั่น เป็นครูต้องขายข้อสอบ ต้องคอรัปชั่นเพราะเงินเดือนไม่พอใช้ ฉะนั้นขอให้รู้สึกว่าไอ้ธรรมะนี้มันสำคัญอยู่ ถ้าปฏิบัติตามนั้นแล้วมันก็มีความสุขอยู่ มันไม่เดือดร้อน มันให้ความสุขชนิดที่ไม่ต้องซื้อด้วยเงิน พอใจว่าได้ปฏิบัติธรรมะอยู่ ยกมือไหว้ตัวเองได้ก็มีความสุข นี่ท่านที่เป็นครู ควรสังวรไว้ให้ดี เพราะนอกจากเป็นมนุษย์คนหนึ่งแล้ว ท่านเป็นครู เมื่อได้ทำหน้าที่ของครูแล้วก็ควรจะยกมือไหว้ตัวเองได้ คือปีติ ปราโมทย์และเป็นสุขอยู่ที่นั่น สรุปความว่า หน้าที่นี่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรมะ ประพฤติธรรมะ แล้วเราก็พอใจ ว่าได้ประพฤติธรรมะ เราก็มีความสุข ก็เลย สุขอยู่ที่ตรงนั้นเอง ไม่ต้องลำบากไปถึงไหน ไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องทำอะไรอีกหลายๆ อย่างที่เป็นความยุ่งยาก ทำหน้าที่แล้วก็มีความสุข ทุกคนต้องทำหน้าที่ ต้นไม้ก็ต้องทำหน้าที่ ดูศึกษาเรื่องพฤกษชาติดูเถิด มันทำหน้าที่อะไรบ้าง สัตว์เดรัจฉานก็ทำหน้าที่ มนุษย์ก็ทำหน้าที่ แต่ว่าหน้าที่ของมนุษย์มันกว้างขวางกว่าสัตว์เดรัจฉาน เราต้องศึกษามาก ทำหน้าที่ช่วยตัวเอง ทำหน้าที่ช่วยผู้อื่นให้ไปถึงจุดหมายปลายทางสูงสุดคือพระนิพพานกันทั้งนั้น นี่เป็นหน้าที่ ความหมายที่สามคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี่เรียกว่าธรรมะ ทีนี้ ความหมายที่สี่อันสุดท้ายคือผลเกิดจากหน้าที่ เมื่อปฏิบัติหน้าที่แล้วก็มีผลเกิดขึ้นนะ เช่นเราทำนาได้ข้าวเปลือก หรือว่าทำงานทำการ แล้วก็ได้ผลของการงาน อย่างนี้ปฏิบัติธรรมะแล้วก็ได้ผลของการปฏิบัติธรรมะ เช่นบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลง ลงไป ความทุกข์ดับลงไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป จนถึงนิพพาน นี่เรียกว่าธรรมะในฐานะที่เป็นผลอันเกิดจากการทำหน้าที่ ฉะนั้นจำไว้ให้ดีเถิด ธรรมะทั้งหลาย แปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์ หรือว่าเท่าไรก็ตาม มันจะรวมอยู่ในความหมายสี่ความหมายนี้ ธรรมะที่หนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในฐานะที่มันเป็นธรรมชาติ ธรรมะพวกหนึ่งพระองค์ทรงแสดงไว้ในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ เช่นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมะพวกหนึ่งทรงแสดงไว้ในฐานะเป็นหน้าที่ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมะพวกหนึ่งทรงแสดงไว้ในฐานะเป็นผลของการทำหน้าที่คือ มรรคผลนิพพาน ธรรมะทั้งหมดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ แบ่งได้เป็นสี่พวก สี่ความหมายอย่างนี้ มันเป็นตัวธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นตัวกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นตัวผลเกิดจากหน้าที่นั้นอย่างหนึ่ง ถ้าท่านสนใจจำไว้ ศึกษาให้แม่นยำ ต่อไปจะเข้าใจธรรมะได้โดยง่าย โดยสะดวก ถ้าไม่สนใจก็เหมือนเดิม ท่านไม่สนใจ ทิ้งเสีย ไม่ฟัง ไม่สนใจ ก็เหมือนเดิม ก็เท่าเดิม แต่ถ้าว่าสนใจจำไว้ให้แม่นยำในสี่ความหมายนี้แล้วจะเปิดทางโล่ง แจ่มแจ้ง สำหรับจะเข้าใจธรรมะทุกๆ ระบบ ทุกๆ สาย ทุกๆ อะไรใน ในพระศาสนา พอมีปัญหาขึ้นก็ตามดู อันนี้เป็นอะไร นี่เป็นตัวธรรมชาติ หรือเป็นตัวกฎธรรมชาติ หรือเป็นตัวหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ หรือเป็นผลเกิดจากหน้าที่ เดี๋ยวก็เข้าใจแหละ ได้ยินชื่อธรรมะอะไรมาก็จัดหมวดมันให้ถูก บรรจุเข้าไปในหมวดนั้นให้ได้ ทีนี้มันก็มีฝ่ายตรงกันข้าม เช่นว่า หน้าที่ มันต้องถูกต้อง ถ้าไปทำผิดหน้าที่ มันก็มีผลตรงกันข้าม เพราะอย่างนั้นเราจึงมีกิเลส จึงมีบาป จึงมีนรก จึงมีอะไรออกไปอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นผลของไอ้ ไอ้การทำหน้าที่ผิดๆ ที่นี้เราต้องรู้สำหรับทำหน้าที่ถูกๆ ไม่ว่าที่ไหน เมื่อวางจิตใจไว้ผิด ก็คือปฏิบัติธรรมะผิด จะต้องร้อนเป็นนรกขึ้นที่นั่นแหละ นรกที่แท้จริง จะเห็นได้เอง ที่รวดเร็ว ฉับไว ไม่ต้องรอต่อตายแล้วนั่น คือนรกที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า นรกทางอายตนะ ฉันเห็นแล้ว ท่านตรัสว่า มยา ทิฏฐา (นาทีที่ 48:39) ฉันเห็นแล้ว นรกนั่นเขาพูดกันไว้ก่อนพระพุทธเจ้า ก่อนพุทธเจ้านี่คนพูดเรื่องนรก ถือเรื่องนรกกันมาก่อนแล้ว นรกอยู่ใต้ดิน เป็นหลุมไฟ เป็นอะไรทรมานคนอยู่ใต้ดิน นรกอย่างนั้นเขาพูดกันอยู่ก่อนแล้ว ทั่วไปในประเทศอินเดีย สมัยก่อนพระพุทธเจ้า กระทั่งสมัยพระพุทธเจ้าเขาก็พูด คือท่านไม่ยกเลิก ท่านไม่สนใจ ไม่ไปแตะต้อง ไม่ไปคัดค้านเขา แต่ท่านบอกว่านรกทางอายตนะ ฉันเห็นแล้ว คือที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ของคนแต่ละคนนั่นมีนรก ฉันเห็นแล้ว หมายความว่าเห็นของใหม่แปลกออกไปจากที่เขารู้อยู่ก่อน พูดกันอยู่ก่อน ท่านพูดใหม่ว่าฉันเห็นแล้ว ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจได้ ก็จะเข้าใจได้ว่า เมื่อทำผิดพลาดที่ตา นรกก็จะเกิดขึ้นที่ตา ทำผิดพลาดที่หู นรกก็จะเกิดขึ้นที่หู ทำผิดพลาดที่จมูก นรกก็จะเกิดทางจมูก ทำผิดที่ลิ้น นรกก็เกิดที่ลิ้น ทำผิดที่ผิวกาย ผิวหนัง นรกก็เกิดที่ผิวหนัง ทำผิดที่ใจ นรกก็เกิดที่ใจ อย่างนี้มันเห็นง่ายกว่า ชัดกว่า เร็วกว่า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไอ้ความร้อนใจที่เกิดมาจากการทำผิดพลาดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่นรกที่แท้จริง ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เห็นได้ชัด ไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น ถ้ามีธรรมะ นรกไม่เกิด มีธรรมะที่ถูกต้อง อย่างที่ว่าแล้วละก็ มันไม่มีการทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะมีการทำถูก และกลายเป็นสวรรค์ไป เป็นสวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แทนที่จะพูดว่า สวรรค์อยู่บนฟ้าโน่น มีเทวดา มีวิมาน มีที่โน่น เขาพูดกันอยู่ก่อนแล้ว ตามใจเขาเถิด เราไม่ค้านเขา แต่เราจะพูดอย่างพระพุทธเจ้าพูดว่า สวรรค์ที่อายตนะ ฉันเห็นแล้ว คือทำถูกต้องที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ไม่เกิดความทุกข์ แล้วก็เกิดความสุข เกิดความสบาย เป็นที่พอใจ นี่คือนรก เออ, คือสวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น มันจึงอยู่ที่ทำผิด หรือทำถูกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำผิดก็ไม่รู้ธรรมะ ทำถูกเพราะรู้ธรรมะ ก็ปิดนรกเสียได้ เปิดสวรรค์ได้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เราไม่ต้องตกนรกทั้งเป็น แต่เราก็ได้สวรรค์ทั้งเป็น ควรจะสนใจอย่างนี้ ถ้าพูดให้ถูกต้องที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้เกิดความยินดี ยินร้าย เป็นกิเลส เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง มันก็จะเย็น ชีวิตนี้จะเย็นเป็นนิพพาน ทำผิด มันก็ร้อน นั่นเป็นนรก ที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้จำหลักอันนี้ไว้ แล้วไปสังเกตดู ในกรุงเทพฯ จะดูหาได้ง่าย เพราะตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ให้ลงข่าวเห็นเต็มไปหมด ล้วนแต่นรกทั้งนั้นแหละ ที่เข้ามาลงในหน้าหนังสือพิมพ์ ล้วนแต่เรื่องนรกทั้งนั้นแหละ เรื่องสวรรค์ไม่ค่อยเห็นมี มันทำผิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงขนาดอาชญากรชั้นเอก ข่มขืน แล้วฆ่า หรืออะไร ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น เพราะว่าไม่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะ เรื่องเหล่านี้ไม่เกิด อาชญากรเหล่านั้น มันไม่รู้ธรรมะเลย มีกิเลสท่วมหัว แล้วก็ทำไปตามกิเลส เพื่อความบูชากิเลสนั่น เขาจึงทำความเลวร้ายกันถึงขนาดนั้น ถ้าไม่โง่ ไม่บูชากิเลส ก็ไม่ต้องทำสิ่งเลวร้ายถึงขนาดนั้น ต้องมีธรรมะเท่านั้นแหละที่ว่าจะไม่ทำความเลวร้ายถึงขนาดนั้น ฉะนั้นการมีธรรมะหรือมีศีลธรรมนี่จำเป็นแก่สังคมมนุษย์ ถ้าไม่มีธรรมะมันก็ต้องทำผิดนั่นแหละ แล้วมันก็มีความเลวร้ายเป็นนรกกันที่ตรงนี้ เดือดร้อนกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง ฉะนั้นการทำให้ประชาชนมีธรรมะหรือมีศีลธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของครู เมื่อก่อนเขารวมกันไว้เป็นกระทรวงเดียวกัน ธรรมะกับการศึกษา หนังสือ เขารวมไว้เป็นกระทรวงเดียวกันเรียกว่ากระทรวงธรรมการ มันก็มีเรื่องธรรมะมาก มีหนังสือพุทธจริยา มีอะไรเป็นเล่มๆ เฉพาะไปเลย ส่วนของธรรมะ เดี๋ยวนี้เขาตัดทิ้งไปหมดแล้ว สอนหนังสือ วิชาชีพ พร้อมกันไปกับธรรมะ เรียกว่ากระทรวงธรรมการ นี้ตัดไอ้ธรรมะออก เป็นการศึกษาหมาหางด้วน คือกระทรวงศึกษาธิการล้วนๆ มีการศึกษาหมาหางด้วน สอนแต่หนังสือกับวิชาชีพ นี่หมายความว่าทั้งโลกนะ กระทรวงศึกษาธิการทั้งโลก เขาสอนกันแต่หนังสือกับวิชาชีพ เป็นการศึกษาหมาหางด้วน เรียนจบแล้วไม่มีธรรมะ ไม่มีศีลธรรม เรียนจบเป็นฮิปปี้ เรียนจบไปเสพย์ยาเสพติด สิ่งที่น่าละอายที่สุดของวงการศึกษาในปัจจุบันนี้ก็คือว่า ยาเสพย์ติดระบาดขึ้นมาในโลก แล้วผู้เสพย์ยาเสพย์ติดก็คือคนที่ผ่านการศึกษามาแล้วทั้งนั้น ผ่านโรงเรียน ผ่านมหาวิทยาลัยมาแล้วก็ยังมาติดยาเสพย์ติดได้ นี่ปมด้อย หรือจุดเสื่อมของการศึกษา ที่ว่าให้การศึกษากันอย่างไร เสร็จแล้วมันยังมาบูชายาเสพย์ติดจนเป็นปัญหาระหว่างชาติ เป็นปัญหาของโลก หนักขึ้นทุกทีๆ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมี นี่เพราะการศึกษาหมาหางด้วน ถ้ามันเป็นคำหยาบคายนักก็เปลี่ยนเป็นการศึกษาแบบพระเจดีย์ยอดด้วน ถ้าให้พูดตรงๆ ก็จะพูดว่าการศึกษาหมาหางด้วน ก็มันเข้าเรื่องกันว่า มันเข้าใจผิดนี่ ไป หมาตัวนั้นไปติดกับ หางด้วน หางขาด มาบอกหมาทั้งหลายว่าตัดหางดีกว่า สบายดี อย่างนั้น อย่างนี้ หมาโง่ๆ มันก็ชวนกันตัดหาง ก็เกิดเป็นหมาหางด้วนขึ้นมา หมาฉลาดไม่ยอมตัด เดี๋ยวนี้ หมาตัวแรกที่มันไปติดกับหางด้วน มาชวนหมาตัวอื่นให้ตัดหางก็คือการศึกษาแผนใหม่นั่นเอง การศึกษาของพวกฝรั่งที่นำหน้า ตัดศาสนาออกไป ตัดธรรมะออกไป เป็นหมาหางด้วน แล้วเราคนไทยก็เป็นหมาโง่ หมาสมุน หมาตามหลัง ไปสมัครตัดหางกับเขาด้วย สภาพจริงๆ มันเป็นอย่างนี้ จนกว่าเมื่อไรเราจะเห็นว่า โอ้, ตัดไม่ได้โว้ย จะต้องต่อหางหมากันอีกแล้ว จะต้องสอนให้เต็ม หนังสือก็เรียน วิชาชีพก็เรียน ธรรมะก็เรียน ครบสามอย่างนี้แล้วหางไม่ด้วน ถ้าใครเห็นว่าหางด้วน ก็รีบต่อหางเสียเร็วๆ สิ มันจะได้หางไม่ด้วน คือรีบศึกษาธรรมะ รีบสอนธรรมะ รีบทำให้มีธรรมะ จะเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ เป็นการดีอย่างยิ่งแล้วที่ครูบาอาจารย์มาสนใจธรรมะ จะเป็นการต่อหางที่ไปโง่ตัดหางตามพวกฝรั่ง หางขาดนั่น นี่มาต่อหางกันเสียใหม่ เราไม่เอาอย่างฝรั่งก็ได้ ที่จะตัดธรรมะศาสนาออกไปเสียจากการศึกษา อาตมาก็พูดไปตามที่เขาเห็นๆ กันอยู่ รัฐบางรัฐของประเทศบางประเทศมีกฎหมายห้ามขาด ไม่เอาศาสนาเข้ามาสอนในสถานศึกษา ถ้าเอาการศึกษาธรรมะ ศาสนามาสอนในโรงเรียน หรือในวิทยาลัย รัฐนั้นเขาถือว่านั่นทำผิดกฎหมาย เขาจะลงโทษครูบาอาจารย์หรือสถาบันการศึกษานั้นว่าทำผิดกฎหมาย มันไปถึงขนาดนั้น นี้เราควรจะเป็นหมาแก่ตัวหนึ่งที่ว่ากูไม่เอา กูไม่ตัด กูไม่โง่ มึงอย่ามาหลอกกูเลย ในนิทานเรื่องนั้นก็มีหมาแก่ตัวหนึ่งไม่ยอมตัด มันควรจะเป็นประเทศไทยนี่ แต่เดี๋ยวนี้มันหมดแล้ว ประเทศไทยมันไปยอมตัดเสียแล้ว เป็นหมาโง่ไปตัดตามเขาด้วย เอาการศึกษาธรรมะหรือศาสนาออกไปจากการศึกษา มีไว้หลอกๆ นิดๆ หน่อยๆ ให้เด็กจดไว้ในสมุดเท่านั้นเอง อย่างนี้ไม่พอ ไม่พอที่จะแก้ตัว ไม่มีการศึกษาธรรมะที่แท้จริง ฉะนั้นถ้าว่าไอ้กระทรวงเขาไม่เอาก็ตามใจเขา แต่เราเป็นครูบาอาจารย์ เราเอาก็ได้ ถ้าเรามีเวลา มีอะไรเพียงพอที่จะสอนให้มนุษย์ ให้ ให้ ให้ นักศึกษาของเรารู้ธรรมะ แล้วเขาก็จะไม่ต้องตกนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเขาจะมีสวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา นี่หางไม่ด้วนมันเป็นอย่างนี้ มันดีอย่างนี้ นี่เดี๋ยวนี้เราไม่มีเวลาจะพูดกันให้หมด เราจึงพูดกันแต่หลักการใหญ่ๆ ว่าเราจะต้องเอาธรรมะมาช่วยความเป็นมนุษย์ของเราให้สมบูรณ์ เอาธรรมะมาช่วยความเป็นครูของเราให้สมบูรณ์ เราจะไม่เป็นการศึกษาหมาหางด้วน เพราะว่าเราเป็นครู เพื่อเป็นครู เป็นครูเอาบุญ เพื่อเป็นปูชนียบุคคลอย่างครู ไม่ใช่ผู้รับจ้างสอนหนังสือกินไปวันๆ หนึ่ง อย่างพวกครูที่มีหลักการว่ารับจ้างสอนหนังสือหากินไปวันหนึ่งๆ นั่นแหละ ไม่เท่าไหร่แหละเขาจะต้องเข้าไปในวงของไอ้คอรัปชั่น จะต้องคอรัปชั่นนะ เพราะเขาก็เห็นแต่ประโยชน์เป็นเงิน เป็นทอง ไม่เห็นประโยชน์เป็นบุญ เป็นกุศล ว่าครูนี้มันเป็นอาชีพที่ได้บุญ อย่าไปสนใจเรื่องเงินเดือนกันนักเลย มันไม่ไปไหนเสีย สนใจเป็นครูทำหน้าที่เปิดประตูทางวิญญาณ มันได้บุญมหาศาล ตีราคาไม่ไหว เงินเดือน เดือนละสี่ห้าพัน นี่ไม่มีความหมายอะไร เป็นขี้ฝุ่นใต้ฝ่าเท้ามากกว่า ไอ้ข้อที่ทำให้มนุษย์จะมีความสงบสุขนั่นได้บุญมหาศาล ตีเงิน ตีเป็นราคาไม่ได้ ความดี ความรอดนี้เขาเรียกว่า อนรรฆ เป็นสิ่งที่หาค่ามิได้ คือตีค่าไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีค่าเสียเลย ความดีทั้งหลายจะเป็นอนรรฆ คือไม่อยู่ในวิสัยที่จะตีค่า ฉะนั้นเราเปิดประตูทางวิญญาณ ผลงานนั้นเป็นอนรรฆ เกินกว่าที่จะตีค่า ถ้าเรารับเงินเดือนเป็นค่าจ้างสอนหนังสือ มันก็ตีค่าได้ ชั้นนั้นพันหนึ่ง ชั้นนั้นสองพัน ชั้นนั้นสามพัน อย่างนี้มันตีค่าได้เหมือนกับสิ่งทั่วไป แล้วก็ไม่ใช่บุญกุศล ถ้าเรามุ่งแต่จะยกวิญญาณของคนในโลก เปิดประตูให้ออกมาเสียจากคอกของอวิชชา สิ่งที่เราทำนั้นก็เลยมีค่าเกินกว่าที่จะตีค่าได้ แล้วก็ได้บุญด้วย มีลักษณะเป็นปูชนียบุคคลด้วย เงินเดือนก็ยังคงอยู่ เงินเดือนก็ไม่ใช่ค่าจ้างแล้วทีนี้ เงินเดือนเป็นค่าบูชา ถ้าเราไปมุ่งแต่จะเอาเงินเดือน มันก็เป็นค่าจ้าง แล้วเราก็ได้ค่าจ้าง เราก็ไม่ได้บุญ ไม่ได้กุศลอะไร ครั้งหนึ่งอาตมาเคยเขียนบทความตามที่ว่าครุสภาเขาขอร้องมา ลงในหนังสือวันครู มาเป็นครูเอาบุญกันเถิด อาตมาก็เขียนอย่างนี้แหละ อย่าเป็นครูเอาเงินเดือนกันเลย มาเป็นครูเอาบุญเอากุศลเป็นปูชนียบุคคลกันเถิด ฉะนั้นก็ขอฝากไว้ให้ท่านทั้งหลายเอาไปคิดดู เป็นครูเอาบุญกันเถิด แล้วก็เป็นปูชนียบุคคล เป็นอาชีพของปูชนียบุคคล ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นลูกจ้างสอนหนังสือหากินไปวันหนึ่งๆ ไม่เห็นว่ามันน่าชื่นใจอะไร แล้วก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ในการที่จะออกจากความทุกข์ ไม่สามารถจะออกจากความทุกข์ ถ้าบูชาเงินแล้วมันก็ ก็จะทำผิดไปโดยไม่รู้สึกตัว เพราะว่าเขาจะทำอะไรเพื่อกิเลส เพื่อเลี้ยงกิเลส ตกเป็นทาสของกิเลส เพราะไม่มีศีลธรรม ไม่เท่าไรก็งกเงิน ไม่เท่าไรก็เป็นพวกนายทุน ที่เป็นปฏิปักษ์กับคอมมิวนิสต์ นายทุนเพิ่งเกิดขึ้นมาในโลก เมื่อโลกไม่นิยมศีลธรรม สมัยที่โลกนิยมศีลธรรม นับถือศาสนาเคร่งครัด พวกนายทุนไม่มี มีแต่พวกเศรษฐีใจบุญ นี่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี้ สังเกตให้ดี ฟังให้ดีว่านายทุนกับเศรษฐีใจบุญนั่นมันต่างกันเป็นฟ้าและดิน นายทุนนั้นเขาลงทุนเพื่อเอากำไร ได้กำไรแล้วเขาไปเพิ่มทุนเพื่อเอากำไรอีก ไปเพิ่มทุนเพื่อเอากำไรอีก แล้วเขาก็ขูดรีดกันอย่างนี้ อย่างนี้เขาเรียกว่านายทุน ใช้อำนาจทุนเป็นเครื่อง (มีเสียงสุนัขเห่า “เอ้า, ไม่เอา” นาทีที่ 01:04:11) ก็เรียกว่านายทุน ทีนี้เศรษฐีใจบุญนั่นไม่ ไม่ใช่อย่างนั้น เศรษฐีใจบุญเขาก็ทำงานได้ผล ผลิตมากเหมือนกัน ผลิตมากเหมือนกัน แต่ว่ากินใช้ แต่พอดี เหลือเอาไปช่วยผู้อื่น กินใช้แต่พอดี เหลือเอาไปช่วยผู้อื่น คือเศรษฐีใจบุญ นายทุนผลิตมากได้กำไรมาก เพิ่มทุน กำไรมากขึ้นไปอีก เพิ่มทุน กำไรมากขึ้นไปอีก เพิ่มทุน จนเขาจะยึดครองมนุษย์ทั้งหมดไว้ใต้อำนาจของเขา บีบคั้นเอาตามพอใจ นี่ นายทุน เศรษฐีใจบุญ เขาก็ผลิตมาก ใช้แต่พอดี เหลือไปช่วยผู้อื่น ฉะนั้นไอ้โรงทานนั่นเป็นของที่คู่กันมากับเศรษฐี ถ้าเป็นเศรษฐีต้องมีโรงทาน นี่เป็นสัญลักษณ์ เขาสะสมทรัพย์ไว้ต้องหล่อเลี้ยงโรงทานไม่ให้ขาดแคลนได้ เขาฝังทรัพย์ ซ่อนทรัพย์ไว้หล่อเลี้ยงโรงทาน ให้โรงทานยังคงอยู่ได้เสมอไป นี่ เศรษฐีใจบุญเหล่านี้ เขาเลี้ยงกรรมกร เลี้ยงคนใช้ เลี้ยงอะไรเหมือนลูกเหมือนหลาน ลูกหลานอย่างไร กรรมกร คนใช้ก็อย่างนั้น กินข้าวด้วยกัน ไปวัดด้วยกัน ทำงานด้วยกัน หยุดด้วยกัน ทำงานด้วยกัน นี่ เศรษฐีเขาเลี้ยงคนใช้หรือกรรมกรอย่างนี้ ถ้าเป็นนายทุน เขาไม่เลี้ยงอย่างนี้ เขาก็จะบีบคั้นให้ทำงานมากๆ ให้ค่าจ้างแต่น้อยๆ มันก็จะเกิดวิวาทกันกับลูกจ้างหรือกรรมกรไม่มีที่สิ้นสุด นี่สภาพไร้ศีลธรรมเป็นต้นเหตุสร้างนายทุนขึ้นมา นายทุนก็แสดงบทบาทของนายทุน จนคนพวกหนึ่งทนไม่ได้ก็ต่อสู้นายทุน ก็คือพวกคอมมิวนิสต์ คุณมองให้เห็นเสียว่า นายทุนนั่นแหละเป็นผู้สร้างคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์มันไม่ได้มาจากไหน มาจากนายทุนทำให้เกิดขึ้นมา ทีนี้คอมมิวนิสต์ก็จะทำลายนายทุน เพื่อแย่งเอาประโยชน์มาเป็นของพวกตนที่เป็นคนยากจน ก็ต่อสู้กันไป จนเป็นลัทธิ ปันโลกกันแหละ จะครองโลกด้วยกัน นายทุนก็จะครองโลก กรรมกรก็จะครองโลก ทั้งสองฝ่ายก็ยังบูชากิเลสกันอยู่ มันก็ มันก็ไม่ถูก นี่เอา เอาธรรมะเข้ามาสิ เอาศีลธรรมเข้ามาสิ ก็หยุดเป็นนายทุน เพราะนายทุนมันเกิดขึ้นมาจากความไม่มีธรรมะ มันเห็นแก่ตัว พอธรรมะเข้ามามันหมดความเห็นแก่ตัว นายทุนก็หายไป กลายเป็นเศรษฐีใจบุญไปเสีย นายทุนทั้งหลายก็กลายเป็นเศรษฐีใจบุญไปเสีย ไม่ขูดรีดอีกต่อไป คอมมิวนิสต์ก็ว่างงาน คอมมิวนิสต์ก็ว่างงาน ไม่เท่าไหร่คอมมิวนิสต์ก็หมดไปเองโดยไม่ต้องฆ่า นี่ขอให้ดูว่าธรรมะเป็นอย่างไร อานุภาพของธรรมะเป็นอย่างไร ถ้ามีธรรมะแล้ว นายทุนไม่เกิด ที่เกิดอยู่แล้วก็หมดไป นายทุนหมดไป คอมมิวนิสต์ก็หมดไป ก็ไม่มีการทะเลาะวิวาทกันระหว่างนายทุนกับคอมมิวนิสต์ มันก็สบาย โลกนี้ก็มีสันติภาพ นี้พวกคอมมิวนิสต์มันหลับหูหลับตาฆ่านายทุน เอาฆ่าไปสิ มันไม่หมดนะ ตัวตาย ตัวแทน ตัวตาย ตัวแทน เพราะว่าสภาพที่ไร้ศีลธรรมมันจะสร้างนายทุนขึ้นมาใหม่เรื่อยไป ให้ฆ่า ให้คอมมิวนิสต์ฆ่านายทุนกี่ชาติๆ มันก็ไม่หมดหรอก เพราะว่าไอ้สภาพไร้ศีลธรรมมันจะสร้างนายทุนขึ้นมาเรื่อยไป ให้คอมมิวนิสต์ฆ่าจนตายมันก็ไม่หมดนายทุน ฉะนั้นช่วยกันสร้างศีลธรรมขึ้นมา ถ้าเป็นนักศึกษาหัวซ้าย เป็นครูหัวซ้ายแล้วก็มาสร้างธรรมะกันดีกว่า อย่าเข้าป่าเลย มาสร้างสภาพศีลธรรม แล้วนายทุนก็จะหมดไป ค่อยๆ หมดไป เกิดเศรษฐีใจบุญขึ้นมา คอมมิวนิสต์ก็ว่างงาน คอมมิวนิสต์ก็หมดจากโลกไปเอง นี่อานิสงค์สูงสุดของพระธรรม ของธรรมะ จะทำให้โลกมีสันติภาพ โลกนี้ไม่ต้องมีนายทุน ไม่ต้องมีคอมมิวนิสต์ ขอครูบาอาจารย์ช่วยเอาไปคิดนึกด้วย ถ้าเห็นด้วย ก็ช่วยเผยแผ่ ไอ้ลัทธินายทุนมันจะหมดไป ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็จะสูญหายไปเอง โลกนี้จะมีสันติภาพ นี่จะได้บุญอันใหญ่หลวงแหละ เพื่อช่วยมนุษย์กันได้อย่างใหญ่หลวง อาตมาพูดนี้ในฐานะแสดงประโยชน์อานิสงค์ของพระธรรม ท่านมาที่นี่เพื่อจะศึกษาเรื่องพระธรรม อาตมาก็พูดเรื่องพระธรรม ในที่สุดก็แสดงอานิสงค์ของพระธรรมว่ามาเถิดในโลกนี้ นายทุนจะหมดไป คอมมิวนิสด์ก็จะหมดตาม โลกนี้ก็มีสันติภาพ ถ้ายังมีคอมมิวนิสต์รบกันอยู่กับนายทุน มันก็ไม่มีสันติภาพ เราไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขาก็พลอยเดือดร้อน เดือนร้อนทั่วกันไปทั้งโลก เพราะการวิวาทของนายทุนกับคอมมิวนิสต์ ธรรมะมา หยุดเสียทั้งสองข้าง โลกนี้ก็มีสันติภาพ ทุกคนในโลกนี้ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ฉะนั้นขอให้ช่วยกันสุดฝีไม้ลายมือให้พระธรรมกลับมาครองโลก ให้มีศีลธรรมกลับมาในหมู่มนุษย์ มนุษย์มีศีลธรรมแล้วก็รักผู้อื่น เมื่อรักผู้อื่นแล้วไม่มีทางที่จะเกิดนายทุน นายทุนไม่มีแล้วคอมมิวนิสต์ก็หายไปเอง ไม่ต้องฆ่าให้เมื่อยมือ นี่คือประโยชน์อันสุดท้ายของพระธรรม ในการที่จะแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจอะไรของโลก เราจะอยู่กันได้อย่างผาสุก ถ้ามีธรรมะ ถ้าไม่มีธรรมะแล้วไม่มีทางจะผาสุก ให้จัดเศรษฐกิจอย่างไร จัดการเมืองอย่างไร จัดการปกครองอย่างไร ก็ไม่มีวันที่จะมีความผาสุก เพราะว่ากิเลสของคนมันยังมีอยู่ มันก็กวนคนให้เป็นไฟเรื่อยไป กิเลสมันไม่รู้จักพอ ฉะนั้นจัดเศรษฐกิจอย่างไรถ้าไม่มีศีลธรรมแล้วก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ อาตมายกตัวอย่างให้ฟังว่า ให้ฝนตกลงมาเป็นทองคำทั้งโลก ก็ทำให้โลกมีสันติภาพไม่ได้ ถ้าไม่มีศีลธรรมแล้ว ให้ฝนตกลงมาเป็นทองคำเต็มไปทั้งโลก โลกนี้ก็มีสันติภาพไม่ได้ ต้องมีศีลธรรม โลกจึงจะมีสันติภาพ ถ้าไม่มีศีลธรรม มันก็มีความเห็นแก่ตัว มีกิเลส ไม่รักผู้อื่น ทำลายผู้อื่น สมมติว่าถ้าฝนตกลงมาในโลกของคนที่ไม่มีศีลธรรม มันก็ฆ่ากันตายหมดด้วยการแย่งกันเก็บทองคำแหละ ไม่ต้องมีอะไร แทนที่ทองคำจะเป็นประโยชน์ ก็กลับทำให้คนฆ่ากันตายด้วยการแย่งกันเก็บทองคำ เอากับคนไม่มีศีลธรรม เอ้า, ทีนี้มันมาเก็บมาไว้มากๆ ที่บ้าน มันก็ถูกปล้นเรื่อย มันถูกปล้นเรื่อย ถ้ามันไม่มีศีลธรรม ฉะนั้นการที่ฝนตกลงมาเป็นทองคำก็แก้ปัญหาไม่ได้ ขอให้คิดดู ถ้าเรามีศีลธรรมแล้ว ฝนไม่ต้องตกมาเป็นทองคำหรอก มันก็อยู่กันสบาย ถ้ามีศีลธรรม มีความรักผู้อื่นเหมือนแบบโบราณนั่น ก็อยู่ด้วยความรักซึ่งกันและกัน เดี๋ยวนี้อยู่กันด้วยมึงก็มึง กูก็กู แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ นี่เพราะไม่มีศีลธรรม ไม่มีธรรมะ มันก็จะมึงกูๆ กันหนักขึ้นๆ มันก็จะฆ่ากัน วินาศในระดับอันดับสุดท้ายที่เรียกว่ามิคสัญญี ความเห็นแก่ตัวของตัวถ่ายเดียว เห็นผู้อื่นเป็นผักเป็นปลาเป็นเนื้อ มันก็ฆ่าผู้อื่นอย่างไม่มีความหมายอะไร นั่นแหละยุคมิคสัญญี หมดธรรมะแล้ว ถ้าธรรมะยังมีอยู่ ยุคมิคสัญญีเกิดไม่ได้ ฉะนั้นขอให้พวกเราสนใจที่จะรักษาธรรมะเอาไว้ ป้องกันมิคสัญญี ทำให้รักผู้อื่น ธรรมะทำให้รักผู้อื่น รักผู้อื่นคำเดียวพอ อาตมาอยากจะบอก ยืนยันว่า ขอให้ท่านถือศีลสักตัวเดียวเท่านั้นแหละพอ ศีลคือรักผู้อื่น ถ้ารักผู้อื่นแล้วมันก็ไม่ฆ่าใครใช่ไหม ไม่ขโมยใคร ไม่ล่วงกาเมใคร ไม่โกหกใคร ไม่หลอกลวงใคร ไม่ทำอะไรให้ผู้อื่นรำคาญ ไม่ดื่มน้ำเมา ที่จะทำให้ทำลายผู้อื่น เราถือศีลข้อเดียว รักผู้อื่น แล้วศีลทั้งหมด ศีลธรรมทั้งหมดก็จะมาหาผู้นั้น มามีที่ผู้นั้น ศีลห้ามันก็มารวมอยู่ที่คำเดียวว่ารักผู้อื่น รักผู้อื่น แล้วไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่ประพฤติผิดกาเม ไม่โกหกหลอกลวง ไม่ดื่มน้ำเมาให้ใครเหม็นรำคาญ ถือศีลตัวเดียว ก็แก้ปัญหาได้หมด ในสังคม เดี๋ยวนี้ในกรุงเทพฯ ในเมืองหลวงนั่น มีสภาพเลวร้าย ไร้ศีลธรรมกลางถนนหนทาง บนรถเมล์ก็มี สิ่งอนาจารก็มีแม้กลางถนนหนทาง บนรถเมล์ เพราะไม่มีศีลธรรม มันก็มีความทุกข์ทรมานเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง ฉะนั้นขอให้เหลียวหาศีลธรรมมาแก้ปัญหาเหล่านี้ นี่ประโยชน์ของพระธรรม คือสันติภาพของโลก สันติสุขของบุคคล คนแต่ละคนมีสันติสุขตามแบบของตนๆ แล้วโลกทั้งโลกมีสันติภาพตามแบบของโลก หรือตามแบบของสังคมที่มีสันติภาพ แล้วเราก็เป็นสุข ผู้อื่นก็เป็นสุข มันก็ควรจะพอแล้วมั้ง เอากันเพียงเท่านี้พอไหม ลองไปคิดดู อาตมาว่า เอาเพียงเท่านี้พอ เราก็เป็นสุข เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายก็เป็นสุข ต้องการมากกว่านี้ก็คงจะบ้า ไปคิดดู เราก็เป็นสุข ผู้อื่นก็เป็นสุข มันก็ควรจะพอแล้ว แต่เราก็ยังไม่ได้นะ ถ้าเราต้องการมากกว่านี้มันจะเป็นความคิดที่เพ้อเจ้อ เอาเพียงว่าเราก็เป็นสุข เพื่อนมนุษย์ทุกคนก็เป็นสุข ด้วยมีศีลธรรม ด้วยมีธรรมะ ประโยชน์ของธรรมะ นี่ มันมีอยู่อย่างนี้ ขอให้ไปคิดดู นี่เวลาก็พอสมควร แก่การบรรยาย พูดถึงเรื่องพระธรรม ในฐานะที่เป็นแก่น มันมีอยู่อย่างนี้ คือแข็ง ทรงตัวอยู่ได้ ในฐานะที่เป็นแกน สำหรับจะมีอะไรๆ มาเกาะๆ เกาะๆ อาศัยอยู่ได้ เป็นแกน หรือถ้าจะต้องสัมพันธ์กันกับสิ่งเหล่าอื่น มันก็เป็นแกนกลางให้ทุกสิ่งมันมาเกาะ แล้วเป็นแกนสำหรับหมุน คือหมุนไปดี หมุนไปถูกทาง นี่แกนของพระธรรม มีอยู่อย่างนี้ สี่ความหมาย ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องของธรรมชาติ ในเรื่องของกฎของธรรมชาติ ในเรื่องของหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ในเรื่องผลเกิดจากหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ความรู้นี้จะเป็นแกนกลางให้ความถูกต้องทั้งหลายมาเกาะๆ เกาะๆ เป็นของมั่นคงสำหรับความมีแห่งธรรมะ หรือสันติภาพของมนุษย์ มี เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่จะช่วยทำให้เป็นอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็จะเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก เพราะครูสามารถสร้างโลกให้มีสันติสุข สันติภาพ ด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ให้การศึกษาที่ถูกต้อง เด็กๆ ลูกศิษย์เขาโตขึ้น เขาก็ทำให้โลกนี้มีสันติสุข มีสันติภาพ เพราะความรู้ที่ถูกต้อง ฉะนั้นผู้สร้างโลกที่แท้จริงก็คือครู เป็นพระเจ้าผู้สร้างโลกที่แท้จริง เป็นครูที่แท้จริง เป็นปูชนียบุคคลทำงานเอาบุญ ครูที่รับจ้างสอนหนังสือหากินไปวันๆ หนึ่ง นั้นเป็นไม่ได้หรอก เป็นพระเจ้าสร้างโลกไม่ได้ จะเป็นสัตว์ที่พระเจ้าสร้างอยู่นั่นเอง แต่ถ้าครูที่บูชาอุดมคติของครู เปิดประตูทางวิญญาณอยู่เสมอ โลกนี้มีความสุขเพราะครู เป็นโลกที่ไม่มีความทุกข์ แต่มีความสุขเพราะครู เราอยากจะเรียกว่าครูคือพระเจ้าผู้สร้างโลก แต่ว่าสร้างผ่านทางเด็กๆ นักเรียน ลูกศิษย์ นั้นแหละ ให้เขาดี และโตขึ้น โลกนี้ก็เต็มไปด้วยคนดี โลกนี้ก็มีความสงบสุข ขอให้ครูหมายมั่นถึงอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องอวดดี ไม่ใช่เรื่องทะนงอวดดีอะไร มันเป็นความจริงที่มันต้องเป็นอย่างนั้น และเขามีความเป็นอย่างนั้นกันมาแล้วแต่กาลก่อน เพิ่งเปลี่ยนแปลงในตอนหลังๆ ฉะนั้นกลับไปหาไอ้สภาพที่ถูกต้องสำหรับสร้างโลกให้สมบูรณ์ ครูก็จะเป็นปูชนียบุคคล ในฐานะเป็นผู้สร้างโลกให้มีความสงบสุขต่อไปตามเดิม นี่ผลของธรรมะ เป็นตัวธรรมะ เป็นแกนของธรรมะ เป็นแก่นของธรรมะ แล้วแต่จะชอบเรียกกันอย่างไร คำบรรยายเรื่องแกนของธรรมะสมควรแก่เวลาแล้ว อาตมาขอยุติการบรรยายนี้ไว้ ด้วยความหวังว่าท่านจะเอาไปพินิจพิจารณา เข้าใจแล้วปฏิบัติตามนั้น แล้วก็เป็นผู้มีความสุข ไม่ว่าโลกนี้มันจะเป็นอย่างไร เราก็จะเป็นผู้มีความสงบสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาล ขอให้ท่านทั้งหลายสามารถประพฤติปฏิบัติ บำเพ็ญอย่างนี้ได้ด้วยกันจงทุกๆ ท่านเทอญ
มีเวลาเหลืออยู่บ้าง ถ้าไม่มีธุระอะไร ไม่รีบกลับไป จะคุยกันบ้างก็ได้ จะถามปัญหาก็ได้ ช่วงเวลาเล็กน้อยที่เหลืออยู่
(อุบาสก) จากที่กระผมได้ฟังหลวงพ่อพูดมานะครับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ มันอยู่ มันเป็นธรรมชาติ แล้วก็มันเป็นกฎของธรรมชาติ แล้วผมสงสัยว่า ในเมื่อเรา เรามีความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมชาติ และอย่างคำว่าอภิธรรมชาติ ที่ว่ามันเหนือธรรมชาติ เช่น อย่างที่เรารู้ๆ กันนะครับ เช่นพวกจิตวิญญาณ หรือว่าไอ้สิ่งที่มัน มนุษย์เราไม่รู้ ที่เราเรียกว่าอภิธรรมชาติ หรือว่าคนที่เกิดมาแล้วไม่เหมือนธรรมชาติ เช่น มีห้านิ้ว หรือว่าหกนิ้วอะไรอย่างนี้ ไอ้อย่างนี้ ใช่ว่ามันเป็นนอกเหนือธรรมชาติหรือเปล่าครับ
(ท่านพุทธทาส) โอ้, คุณรู้เสียใหม่เถิดว่า คำว่าธรรมชาติในพุทธศาสนานั่นนะ มันไม่ใช่คำว่าธรรมชาติอย่างที่พูดกันอยู่ในภาษาไทย หรือแม้แต่ในภาษาฝรั่ง ในพุทธศาสนานี้ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ จะมีรูปอย่างนั้น อย่างนี้ ดำหรือขาว หรือครบ หรือไม่ครบ เป็นธรรมชาติหมด ไปตามกฎของธรรมชาติซึ่งมันทำให้เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรที่เหนือธรรมชาติ เพราะแม้แต่พระนิพพาน ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎของธรรมชาตินี้ก็ยังเรียกว่าธรรมชาติ ธรรมชาติฝ่ายที่เหนือการปรุงแต่ง ธรรมชาติอสังขตะ ก็เรียกว่าธรรมชาติ ฉะนั้นรู้ไว้ว่าในพุทธศาสนาไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติ นับตั้งแต่ขี้ฝุ่นไปจนถึงพระนิพพาน ก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ เพราะเรามีความหมายอย่างนี้ สำหรับคำนี้ เอาไปใช้กับพวกอื่นไม่ได้ ที่พวกฝรั่งเขาจะมีคำว่าเหนือธรรมชาติ supernatural นี่ ไม่มี ใน ในภาษาธรรมะไม่มี สภาพอย่างนั้นก็คือธรรมชาติชนิดหนึ่งเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ นี่ให้รู้ไว้ว่าภาษาไทย ถือตามหลักภาษาบาลีก็เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ถือตามหลักภาษาบาลี ไปถือตามความหมายในภาษาฝรั่งก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นคำว่าธรรมชาติที่ใช้อยู่ในวงพุทธศาสนานี้ไม่รู้จะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่าอะไร คำว่า nature ของฝรั่งนั้น ไม่ ไม่อาจจะครอบงำความหมายของคำว่าธรรมชาติทั้งหมดในภาษาพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้เราก็ได้รับความลำบากอยู่เหมือนกัน ที่เราจะแปลหลักธรรมะ ที่มีหลักธรรมชาติอย่างนี้ไปให้พวกฝรั่งฟัง พวกฝรั่งเขาก็ไม่เข้าใจได้ เพราะเราไม่มีคำ ถ้าเราไปใช้คำว่า nature ก็ขอไปที ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่าเราหมายความอย่างนี้ ไม่ใช่ nature ตามที่พวกฝรั่งเขารู้กันอยู่ หรือจำกัดความหมายไว้เพียงเท่านั้น ไม่มีอะไรที่เหนือธรรมชาติ มันจะพลิกไปทางไหนก็ตาม positive ก็ดี negative ก็ดีเป็นธรรมชาติทั้งนั้น ไปโลกพระจันทร์ได้นี่ มันไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ เรื่องใต้ธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ หรือจะทำอะไรให้มากไปกว่านั้นก็ไม่เหนือธรรมชาติไปได้ ธรรมชาติ เป็นคำที่มีความหมายพิเศษสำหรับภาษาอินเดีย ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ แม้แต่พระเจ้า ก็ไม่เหนือธรรมชาติ ก็เป็นธรรมชาติของพระเจ้า แต่พวกที่ถือพระเจ้าเขาคงไม่ยอม ก็ทะเลาะกันแหละ เขาไม่ยอมให้พระเจ้าเป็นธรรมชาติ หรือว่าอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ เพราะเขามีความหมายของคำว่าธรรมชาติตามแบบของเขา ถ้าของเรา มันก็มีคำว่าธรรมชาตินี่ตั้งแต่ต่ำที่สุดจนสูงที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเหนือธรรมชาติไปได้ ไป ไปทำความหมาย วางระดับความหมายกันเสียใหม่ ว่าในพุทธศาสนานี้มีวิธีการอย่างหนึ่งสำหรับคำว่าธรรมชาติ หลักทั่วไปทางของฝรั่งนั้น มันเป็นเรื่องทางวัตถุเสียมากกว่า จึงมีคำว่าเหนือธรรมชาติ เมื่อเขารู้ไม่ได้ เขาก็ว่าเหนือธรรมชาติ นี่เรารู้ได้ รู้ไม่ได้ก็ยังเป็นธรรมชาติ ความรู้ก็เป็นธรรมชาติ ความไม่รู้ก็เป็นธรรมชาติ ความรู้ไม่ได้ก็ยังคงเป็นธรรมชาติ เดี๋ยวนี้กำลังมีปัญหาสำหรับพวกเราที่จะแปลคำว่าธรรมชาติเป็นภาษาอังกฤษ ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร คำว่า nature นั่นมันเหลือครึ่งเดียวเท่าที่พวกฝรั่งเขารู้ ที่มากไปกว่านั้น ฝรั่งเขาก็ไม่ยอมถือว่าเป็น nature เขาก็เกิดเป็นเหนือธรรมชาติ นอกธรรมชาติไป เพราะฉะนั้น ในภาษาบาลีนี่ มันเป็นธรรมชาติไปหมด สิ่งที่มีอะไรปรุงแต่งก็เป็นธรรมชาติ ไม่มีอะไรปรุงแต่งก็เป็นธรรมชาติ สังขตะก็เป็นธรรมชาติ อสังขตะก็เป็นธรรมชาติ ดังนั้นนับตั้งแต่ขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งถึงพระนิพพานล้วนแต่เป็นธรรมชาติ มันมีอยู่ตามธรรมชาติ มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติ ศึกษากับฝรั่งหลายคนแล้ว ความหมายของธรรมชาติอย่างที่ว่าสี่ความหมายนี้จะใช้คำว่าอะไรดี ฝรั่งทุกคนสั่นหัวเลย ไม่อาจจะให้คำฝรั่งที่ตรงกับธรรมชาติในความหมายอย่างนี้ เพราะคำว่า nature นั้นความหมายจำกัดแคบมาก เมื่อมาเทียบกับธรรมชาติในพุทธศาสนา ถือตามหลักของฝรั่ง พระนิพพานก็ไม่ใช่ nature ไม่ใช่ธรรมชาติ เพราะเรามีธรรมชาติทั้งสองชนิด ธรรมชาติทั้งที่เป็นของปรุงแต่ง และเป็นของไม่ถูกปรุงแต่ง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ทั้งสองชนิดก็เป็นธรรมชาติไปหมด ถ้าธรรมชาติของพวกฝรั่ง เขาอยู่ในพวกที่ปรุงแต่ง พวก nomina ไอ้ nominal (นาทีที่ 01:27:32) ทั้งหลายนี่ก็จะเป็นธรรมชาติ พวก phenomena (นาทีที่ 01:27:38) ทั้งหลายเป็นธรรมชาติ แต่พวกที่ไม่ใช่อย่างนั้นคือ nominal (นาทีที่ 01:27:43) เขาก็ไม่ยอมให้เราเป็นธรรมชาติ แต่เราจะทั้ง phenomena และ nominal (นาทีที่ 01:27:48) จะเป็นธรรมชาติเสมอกัน คือที่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ตาม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ตาม จะเป็นธรรมชาติเสมอกัน ฝรั่งเขาก็ล่วงรู้ถึงสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือไม่เหมือนกับธรรมดา phenomena (นาทีที่ 01:28:11) ทั้งหลาย คือปัจจัยปรุงแต่ง ไอ้ nominal (นาทีที่ 01:28:14) นั้นตรงกันข้าม ฉะนั้นเขาไม่เอามาเป็นธรรมชาติ เขายกเว้นออกไป แต่ในทางพุทธไม่ยกเว้นออก รวบเข้ามาทั้งสองตัวมาเป็นธรรมชาติเท่ากัน เรียกว่าเป็นธรรมชาติเท่ากัน อันหนึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่ง เป็นธรรมดา อันหนึ่งเหนือธรรมดาโดยประการทั้งปวงของชาวโลก แต่เราก็เรียกว่าธรรมชาติที่เหนือธรรมดา เรียกว่าธรรมชาติฝ่ายอสังขตะ การเผยแผ่ธรรมะ ประสบความลำบากตรงที่คำใช้ไม่พอ คำใช้ไม่ตรงกัน หรือแม้แต่การศึกษาธรรมะก็มีความลำบากตรงที่ภาษามันไม่พอ ภาษาของมนุษย์ธรรมดาไม่พอที่จะไปใช้อธิบายเรื่องอันลึกลับเรื่องของสังขตะ ของพระนิพพาน แล้วก็ยังภาษาไทยนี่ เขาก็ใช้ความหมายเปลี่ยนไปเสียจากความหมายเดิมของภาษาอินเดียซึ่งไปยืมเขามาใช้ ฉะนั้นไม่มีอะไรที่เหนือธรรมชาติ นอกเหนือธรรมชาติ เพราะคำว่าธรรมชาติวางไว้กว้างหมด ทั้งนี้ก็เพื่อว่าอย่าไปเอาอะไรมาเป็นตัวตนนั่นเอง เหนือธรรมชาติก็ดี ใต้ธรรมชาติก็ดี ไม่มีทางที่จะเอามาเป็นตัวตนอันถาวร เหมือนลัทธิศาสนาอื่นเขามีตัวตน ซึ่งเหนือธรรมชาติ แต่ในพุทธศาสนาไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน ที่จะเป็นเหนือธรรมชาติแล้วจะถือเป็นตัวเป็นตนได้ นี่หลัก มีอยู่อย่างนี้ ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ จะเข้าใจได้เอง พระพุทธศาสนาจึงไม่ยกเอาอะไรให้เป็นตัวตน หรือเหนือธรรมชาติไปได้ มีแต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แม้แต่เป็นที่จบที่สิ้นสุดแห่งกฎของธรรมชาติ มันก็ยังจัดเป็นกฎของธรรมชาติ ฝ่ายที่มันตรงกันข้าม คือไม่ปรุงแต่ง ปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป ก็ยังเป็นธรรมชาติอันถาวร ฉะนั้นภาษาไทย ไม่พอใช้ กับคำ กับสิ่งเหล่านี้ พระนิพพานเป็นธรรมชาติอันไม่รู้จักตาย นอกนั้นเป็นธรรมชาติอันรู้จักตาย ทั้งที่รู้จักตายและไม่รู้จักตาย ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ เมื่อเป็นธรรมชาติ ก็เป็นสักว่าธรรมชาติ เป็นตัวเป็นตน จะยึดถือเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ เราจะประกาศข้อความนี้กับชาวต่างประเทศ ภาษาไม่พอใช้ ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร บางทีคำคู่ที่ว่า phenomena กับ nominal (นาทีที่ 01:31:33) นั่นแหละจะใช้ได้ แต่ทั้งสองอย่างนั้นก็ยังเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง ฉะนั้นเราจึงไม่มี supernatural
(ท่านพุทธทาส) พูดให้ชัดๆ ฟังไม่ค่อยถูก เดี๋ยวตอบไม่ถูก ฟังปัญหาไม่ถูก
(อุบาสก) คือว่าท่านอาจารย์ครับ
(ท่านพุทธทาส) ดังๆ หน่อยสิ ใกล้ๆ ดังๆ หน่อย
(อุบาสก) เมื่อกี้ผมได้ยินท่านอาจารย์กล่าวว่า ตามที่ว่าสวรรค์ก็คืออยู่ชั้นฟ้า และก็นรกอยู่ใต้พื้นโลกนี่นะครับ คือท่านอาจารย์บอกว่า ไอ้การกล่าวเช่นนี้ เป็นการกล่าว ที่กล่าวขึ้นมาสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ หรือว่าพระพุทธเจ้าประสูตินะครับ ทีนี้ เมื่อคืนนี้ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งนะครับ เขาเขียนว่า เที่ยวเมืองนรก ทีนี้ผมอ่านไปๆ เป็นการเขียนขึ้นมาจากผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งผู้หญิงคนนี้เขาบอกว่า ตายไปแล้ว แล้วก็ฟื้นขึ้นมาอีก ซึ่งการฟื้นของเขานั้น ฟื้นมาในลักษณะว่า มีคนนำตัวเขาไป อะไรอย่างนี้นะครับ ทีนี้ผมอยากถาม อยากทราบว่า นรกของผู้หญิงคนนี้จะมีลักษณะอย่างไรครับ หรือว่ามันเป็นความเพ้อฝัน หรือว่ามันจะเป็นอยู่ใต้พื้นโลก หรือว่ามันซ่อนเร้น หรือว่ามีการครอบอยู่อีกของโลกของเราหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นนรกที่มีจริง หรือว่าไม่มีจริง อันนี้ผมอยากทราบจากความคิด หรือว่าจากความคิดที่ท่านอาจารย์จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไหมครับ
(ท่านพุทธทาส) เอาละ, เราจะพูดเรื่องนรกอีกทีหนึ่ง คือว่าเขาพูดกันมาแต่ก่อนพุทธกาลนั่น ว่าข้างบนโน้นมีสวรรค์อย่างนั้นๆ อย่างนั้นๆ โดยรายละเอียด ข้างใต้ดินนั่นมีนรกอย่างนั้นๆ อย่างนั้นๆ โดยรายละเอียด คนก็ยอมรับนับถือ เป็นความเชื่อ เป็นหลักที่เป็นสถาบันสำหรับเชื่อ ทีนี้คนที่มันมีความเชื่ออย่างนั้น มันก็ต้อง ต้องรู้สึกอย่างนั้นแหละ เพราะมันเชื่อไว้เป็นทุน ถ้ามันจะคุ้มดี คุ้มร้าย หรือมันจะฝันไป หรือจะอะไรไปก็สุดแท้ มันต้องเข้าไปเข้ากรอบแบบนั้นแหละ ทีนี้ในเมืองไทยเราก็มีคำสอนเรื่องนรกสวรรค์แบบนี้มาสอนอยู่ทั่วไป ก่อนพุทธศาสนาเข้ามาเหมือนกัน คือ คือ เรากล่าวได้ว่า ศาสนาพราหมณ์นั่นก่อนพุทธ ได้เข้ามาถึงดินแดนนี้แล้วก่อนพุทธ หรือมิฉะนั้น มันก็เข้ามาพร้อมกันก็ได้ เมื่อชาวอินเดียเข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนแถบนี้ เขามาสอนศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธ ทีนี้ในฝ่ายพราหมณ์ ฝ่ายฮินดูที่เขามีอยู่อย่างนั้นก่อน มันก็มาสอนก่อน มันรับเอาง่าย เชื่อง่าย แล้วก็ผู้มีอำนาจก็สนับสนุน ว่าการเชื่อชนิดนี้มีประโยชน์ ฉะนั้นจึงจัดรูปคำสอนชนิดนี้ให้มันแน่นแฟ้น หนักแน่นยิ่งขึ้น เช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วง ที่แต่งขึ้นโดยพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งเพื่อให้ประชาชนยึดถือ ฉะนั้นประชาชนเขาก็ยึดถือนรกสวรรค์รูปนี้ ฝังอยู่ใต้สำนึกเลย ฉะนั้นถ้าใครมันจะฝัน จะเผลอ จะเคลิ้ม จะอะไรไปในทางนรกสวรรค์ต้องรูปนี้เสมอเลย ผู้หญิงคนนั้นเขามีความเชื่ออย่างนี้เป็นทุนอยู่แล้ว จะมีแปลกอะไร ถ้าเขาจะรู้สึกเป็นเรื่องนรกสวรรค์ เขาก็ต้องรู้สึกแบบนี้ ทีนี้สวรรค์ นรก ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของพระพุทธเจ้านี่มันทีหลัง อันนี้จริงกว่า เห็นได้ด้วยตนเอง จึงเรียกว่าจริงกว่า จริงแท้ ส่วนที่บนสวรรค์ ใต้ดิน นรกแบบนั้เน ไม่มีใครเห็นจริงได้ ไม่มีผู้ใดเห็นจริงได้ด้วยตนเองได้ ก็ได้แต่เชื่อ ถ้าเชื่อและฝังอยู่ในใต้สำนึกแล้ว เมื่อฝันไป หรือเมื่อเคลิ้มไป หรือเมื่ออะไรไป มันก็ต้องอย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเขาก็เชื่อ เขาก็เชื่อ มันก็จริงของความเชื่อ ส่วนนรกสวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จริงของความรู้สึก สัมผัสได้ จริงกว่า สันทิฏฐิโก กว่า นี่เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ แต่ขืนพูดมากไป มันจะกลายเป็นทำลายความเชื่อชนิดโน้น มันก็จะเกิดเป็นรบ เป็นปฏิปักษ์กันขึ้นมา จึงขอว่าใครอยากจะเชื่ออย่างนั้นก็เชื่อไปเถิด มันมีประโยชน์เหมือนกัน ก็จะได้กลัวบาปกลัวกรรม ไม่อยากตกนรก ทำแต่ความดี แต่ถ้าใครจะเห็นนรกสวรรค์กันที่นี่ และเเดี๋ยวนี้ให้ชัดกว่านั้น มาเห็นตามแบบพระพุทธเจ้า คือการทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นนรก การทำถูกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นสวรรค์ เรามีให้จริง นี่มันเป็นสันทิฏฐิโก จริงที่นี่ และเดี๋ยวนี้ แต่มีประโยชน์ทั้งสองอย่างละ ไม่ต้องยกเลิก นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ไม่ต้องยกเลิก มีไว้เป็นเรื่องของศีลธรรมพื้นฐาน ให้คนกลัวบาป แล้วก็รักบุญ แล้วก็ทำแต่ความดี เพราะกลัวนรกใต้ดิน มันก็มีประโยชน์อย่างยิ่ง การปกครองประเทศ พระเจ้าแผ่นดินต้องการให้คนกลัวบาป และให้ทำ ทำบุญ ถ้าลัทธิไหนมันทำให้เป็นอย่างนั้นได้ก็ต้องยอมรับไว้ ฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงยอมให้ถือพร้อมๆ กันทั้งพุทธและพราหมณ์ ถ้าเป็นพราหมณ์ก็มีนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ตามที่เชื่อกันมาก่อน ถ้าเป็นพุทธแท้ก็จะเชื่อพระพุทธเจ้า นรกอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือสวรรค์ด้วย ก็เลยมีประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ทั้งระดับต่ำ และระดับสูง เมื่อเขาขุดค้นพระเจดีย์พันกว่าปีที่นี่ ที่วัดแก้ว ไปดูกันได้ ในซุ้มบูชาที่ในพระเจดีย์นั้นนั่น พบวัตถุทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายพราหมณ์ พบศิวลึงค์ ท่อนหนึ่ง พบพระพิฆเนศสององค์ รวมอยู่กับพระพุทธรูปในซุ้มพระเจดีย์ที่บูชา นี้แสดงว่า ครั้งกระโน้น พันกว่าปีโน้น เขาบูชาพร้อมๆ ถือพร้อมๆ กันทั้งพุทธและพราหมณ์ จึงล้วนแต่มีประโยชน์ การขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองนี้จะมีวัดพราหมณ์อยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดพุทธเสมอ วัดพุทธวัดไหนที่มีสำคัญเป็นหลักฐาน เช่น วัดพระธาตุ วัดไชยาราม วัดใหม่ ทางด้านตะวันออกของวัดจะมีโบสถ์ฝ่ายพราหมณ์ อยู่ในเขตของวัด ฉะนั้นเขายอมให้ถือกันทั้งพุทธและทั้งพราหมณ์ เพื่อให้คนได้ถือหมดยังไง คนฉลาดก็ถือแบบ คนไม่ฉลาดก็ถือแบบ เลยถือกันได้หมดทั้งคนฉลาดและคนไม่ฉลาด นี่เป็นนโยบายการปกครองบ้านเมืองที่ดีของผู้ปกครอง เดี๋ยวนี้เราก็ไม่คัดค้าน เราไม่ให้ยกเลิกนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ก็ไม่ต้องยกเลิก ไว้ให้พวกที่เขาจะถืออย่างนั้น แล้วก็จะกลัวบาป แล้วก็จะรักบุญ แต่ถ้าเป็นปรัชญา เป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นอะไรขึ้นมาก็ให้ถือมติอันนี้ มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คุณดูให้ดี คุณอย่าทำให้เกิดนรกขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นใช้ได้ นี่จะชอบอย่างไหนก็เลือกเอา หรืออย่างไหนจะเป็นพุทธบริษัทกว่าก็เลือกเอา โบราณเขาให้เชื่ออย่างโบราณ และก็ทำให้คนสมัยโบราณมีศีลธรรมดีกว่าคนสมัยนี้เสียอีก สมัยโบราณเขาอ่าน กอ ขอ นอโม ได้ แล้วก็อ่านหนังสือ เช่นหนังสือ สุบิน สอนนรกสวรรค์แบบนี้อย่างยิ่ง เขาแต่งไว้ให้เสร็จ ฝังหัวลงไปตั้งแต่เด็กๆ ผู้หญิงคนนั้น เที่ยวเก็บฟืนขายนอนหลับอยู่กลางป่า ยมบาลขึ้นมาเห็นผิดท่า จับตัวลงไปนรกสอบสวน ว่าทำบุญอะไรบ้าง แกบอกไม่ได้ทำบุญอะไรเลย ฉะนั้นเอาไปใส่นรก พอพาไปผ่านเขตที่ไฟลุก ผู้หญิงคนนั้นร้องตะโกน แหมนี่สีมือจีวรลูกสุบิน คือลูกของเขาบวชเณร ยมบาลว่า อ้าว, นี่ทำบุญอะไร ลูกบวชเณร เขาบอกว่าลูกของเขาบวชเณรแล้ว ก็เลยทำบุญแล้ว จะไม่ใส่ลงไปนรก จะเอาไปคืน เอากลับไปคืนเมืองมนุษย์ คนนี้ก็ตื่นนอนขึ้นมาจากกลางป่า ก็เลยเป็นคนเชื่อนรก เชื่อสวรรค์อย่างเคร่งครัด
เอาเถิด, ต้องขอโอกาสปิด ฝนจะเทลงมาแล้ว เดี๋ยวคุณจะลำบาก ทั้งหมดนี้ก็จะลำบาก เอา, ต้องขอปิดประชุมก่อนฝนลงมา ไปนอนในที่พักสิ คลุมโปงก็ได้ ให้พระเปิด เปิดเทปให้ฟัง นอนคลุมโปงฟังก็ได้
(อุบาสก) บัดนี้ ก็ถึงเวลาที่พวกคณะนิสิต และคณาจารย์จากมศว.บางแสนจะได้กลับไปที่พัก เพื่อจะได้พักผ่อนแล้วก็ตื่นขึ้นมาประมาณตีสี่ ในวันพรุ่งนี้
(ท่านพุทธทาส) นั่นแหละเอาตามโปรแกรม ตีสี่ ตีห้ามาที่นี่ ให้อาจารย์วรศักดิ์บรรยาย หรือว่าจะสวดมนต์ไหว้พระอะไรก็ตามใจ
(อุบาสก) ในนามของคณาจารย์และก็นิสิตมศว. บางแสน กราบขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูง ณ โอกาสนี้
(ท่านพุทธทาส) ไม่ขอบคุณ ไม่ขอบคุณ เป็นหน้าที่ ไม่ขอบคุณ ไม่ต้องขอบคุณ เราจะขอบคุณคุณเสียที่มา ทำให้มันเกิดประโยชน์ ผู้มาไม่ต้องขอบคุณ