แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ค่ำวันอาทิตย์เรากำหนดไว้สำหรับสนทนาธรรม เป็นประจำมานานแล้ว สำหรับวันนี้ผมมีความตั้งใจจะพูดกับผู้บวชใหม่โดยเฉพาะ ดังนั้นมันก็ควรจะเป็นเรื่องเริ่มต้นหรือตั้งต้น ก็เลยคิดว่าจะพูดในลักษณะที่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่สุดเลย เหมือนกับว่าเราเรียน ก ข ก กา แต่ก็จะต้องเป็นอย่างที่เราเห็นว่าดี มีประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นนักศึกษามาแล้ว โดยถือว่านักศึกษาเหล่านี้ก็ได้เรียน วิทยาศาสตร์บ้าง ประวัติศาตร์บ้าง ปรัชญาบ้าง อื่น ๆ บ้าง ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับสติปัญญาของมนุษย์ที่จะคิด จะนึก จะวินิจฉัย จะวิพากษณ์ วิจารณ์อะไร แล้วก็จะพูดให้ธรรมะ ให้เข้ารูปกันกับผู้บวชใหม่ที่เป็นนักศึกษา ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ถ้าเข้าใจแล้วจะมีประโยชน์ที่สุดในการที่จะศึกษาเรื่องต่อ ๆ ไปข้างหน้า ถ้ามันไม่เข้าใจพื้นฐานแล้วมันก็คงจะลำบาก และคงจะหมดความพยายามที่จะศึกษา ก็เลิกกัน ก็มีอย่างนั้น
พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสว่าเราไม่พูดเรื่องอื่น นอกจากเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น ดังนั้นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความทุกข์หรือความดับทุกข์ ก็เป็นอันว่าตัดออกไปได้ จะไม่มามัวตอบคำถามว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เทวดามีหรือไม่มี ผีมีหรือไม่มี เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับความทุกข์ และความดับทุกข์ ไอ้เรื่องอย่างนั้นไม่ตอบ ยังไม่ตอบ และไม่ต้องตอบ ไม่จำเป็นที่จะต้องตอบ เพราะมีอยู่มาก พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสเองว่าเรื่องด่วนเหมือนกับไฟที่กำลังไหม้ศีรษะคนอยู่ แล้วเรารีบด่วนทำอะไร ก็คือดับไฟนั้น ไม่ต้องโอ้เอ้ถามปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ แม้แต่ว่าไฟ มันเอาไฟมาจุดหัวเรา ว่าจุดด้วยน้ำยาอะไรนี่ ไม่ต้อง ป่วยการ มันจะพยายามที่จะดับก็แล้วกัน ให้ดับไฟ แล้วมันก็ควรจะว่า พอแล้วไม่ต้องไปต่อความยาวสาวความยืดอะไรให้มันเสียเวลา ถ้าเป็นเรื่องที่ตำรวจจัดการ เขาก็จัดการไปก็แล้วกัน
เดี๋ยวนี้เรามีเรื่อง เรื่องรีบด่วนในลักษณะนั้นน่ะ คือเรื่องความทุกข์ ดูจะไม่ต้องถามว่าไอ้ความทุกข์นี้คืออะไร เอาใจความสั้น ๆ สำคัญรวบยอดว่าสิ่งที่มันทำให้เราเจ็บปวดทนทรมานจนเราทนไม่ไหวนี่คือความทุกข์ คือไม่ให้ความสบาย สะดวก สงบ เย็นอะไร มีแต่การทรมาน ทีนี้ก็ดูว่ามันเป็นอย่างไร ไอ้ความทุกข์ที่ยกขึ้นเป็นเบื้องต้น สำหรับคำ ๆ นี้มาแต่ก่อนพุทธกาล ก็ถือเอาไอ้ปัญหาที่เกี่ยวกับความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ๔ คำนี้มันก็รวมความหมายของคำอื่น ๆ ไว้ด้วยหมด เช่นความเกิดมันต้องหมายเรื่อง หมายถึงเรื่องที่ทำให้เกิดอยู่ได้ ให้เป็นอยู่ได้ ให้เจริญไปได้ หรือหาอาหารการกินอะไรก็ตาม ไอ้ความแก่นี่มันก็ มนุษย์มันมีความแก่ แล้วมันมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาเองจากเรื่องของความแก่ ถ้าเราแก้มันไม่ได้มันก็เป็นทุกข์มาก เรื่องความเจ็บไข้นี่ก็คือต้องมี แล้วเราก็ต้องรู้ว่าทำอย่างไรมันจึงจะไม่ทรมานใจเรา มี/นี้(6.25)ปัญหาเกี่ยวกับความตายทุกชนิดที่ทำให้คนเป็นทุกข์ เดือดร้อน กระวนกระวาย วิตกกังวลอะไรต่าง ๆ นี่เป็นความทุกข์ ส่วนเรื่องอื่น ๆ นั้นถือเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่นเรื่องเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน โศกปริเทวะ ทุกข์กายทุกข์ใจเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด และโดยมากไอ้เรื่องเบ็ดเตล็ดเหล่านี้ก็มาจากไอ้ปัญหาใหญ่ คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ดังนั้นถือเอา ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นตัวปัญหาของความทุกข์
ทีนี้คู่กันนั้นก็มีเรื่องกิเลส ที่เป็นเหตุให้ทำผิดจนเป็นทุกข์ ที่เป็นเหตุให้โง่จนแก้ปัญหาเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตายไม่ได้ นี่คุณต้องเข้าใจแยกออกมาเป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของกิเลส ความโลภ ว่ามันเดือดร้อนอย่างไร เมื่อไม่ได้อย่างที่โลภมันก็เกิดโทสะ โกรธะ โกรธขึ้นมาทำให้เดือดร้อนอย่างไร เมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรมันก็ทำผิดไปหมด เรื่องมันก็มากขึ้นนี่เรียกว่าเรื่องกิเลส เรียกตรง ๆ ว่าโลภะ โทสะ โมหะ และมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกมากมาย ตามหน้าที่การงานของมัน เรียกว่าตัณหา เรียกว่าอุปาทาน เรียกว่าอวิชชา มีชื่ออีกมาก แต่ในที่สุดความหมายของมันก็มารวมอยู่ได้ที่ ๓ คำนั่นแหละ คือเป็นพวกโลภะ หรือเป็นพวกโทสะ หรือเป็นพวกโมหะ อย่างนี้เราเรียกว่ากิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะทำผิด หรือเป็นเหตุให้โง่ ไม่รู้จักแก้ปัญหา ที่เกี่ยวกับเกิด แก่ เจ็บ ตาย เขาจึงมีคำ ๒ คำไว้จำง่ายๆ ว่าไฟกิเลส และไฟทุกข์ ไฟทุกข์ หรือไฟกิเลส ไฟนี่หมายความว่าร้อน หรือเดือดร้อน ไฟกิเลสก็โลภะ โทสะ โมหะนี้เป็นไฟเผาให้ร้อน แล้วความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่เป็นไฟทุกข์ ไฟความทุกข์มันทำให้ร้อนเหมือนกัน ดังนั้นการดับไฟทั้ง ๒ ประเภทนี้เสียได้นั่นแหละเป็นการดับทุกข์ มันจึงได้ทั้ง ๒ เรื่อง ว่าเรื่องความทุกข์มันคือกิเลส อะไรคือความทุกข์ ก็ไฟนี่ ถ้าดับไฟนี้เสียได้อย่างไรนี้ก็เรียกว่าเรื่องความดับทุกข์ ถ้าใครเขาถามเราพวกนอกศาสนาก็ดี ถามว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องอะไร อย่าไปเสียเวลาโอ้เอ้โยกโย้ หรือว่ามันจะทำให้ไม่ได้รับประโยชน์ก็ได้ ตอบสั้น ๆ ว่าเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ ถ้าเขาถามว่าไอ้เรื่องอื่นล่ะ เรื่องที่ตายแล้วเกิดไม่เกิด คนมาแต่ไหน ใครสร้างโลกนี่ บอก...อันนั้นไม่รู้ ยังไม่ต้องรู้ ยังไม่จำเป็นเท่ากับเรื่องนี้ ถ้าเราดับทุกข์ได้แล้วใครจะสร้างโลกก็ตามใจสิ ถ้าเราดับทุกข์ได้แล้วจะเกิดอีกหรือไม่เกิดอีกมันก็ตามใจ เราดับทุกข์ได้ก็แล้วกัน หรือเทวดาจะมี ผีจะมี นรกจะมี สวรรค์จะมี ไม่มีนั้นไว้ทีหลังก็ได้ เดี๋ยวนี้เอามาดับทุกข์กันที่นี่ก่อนสิ เพราะปัญหามันอยู่ในลักษณะเหมือนกับไฟกำลังไหม้อยู่ที่ศีรษะของเรา หรือไหม้อยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่ผ้า เสื้อผ้านี่ มันต้องดับไฟกันก่อน นี่ปรารภแรกทีเดียวว่าพระพุทธศาสนานี้มันมีแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ หรือแก้ความดับ หรือดับความทุกข์ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส เราก็จะไม่ทำผิดจนเกิดทุกข์ แล้วเราก็จะดับความทุกข์ที่มันเกิดตามธรรมชาติ เช่นการเกิด แก่ เจ็บ ตายนี่เรียกว่าเกิดอยู่โดยธรรมชาติ ถ้าเราไม่มีกิเลสคือไม่มีโมหะ ไม่โง่ เราก็ดับทุกข์ได้ ดังนั้นการที่จะดับทุกข์ ต้องมุ่งตรงไปยังดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องอริยสัจ ๔ ก็แจกไว้ชัด เรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องทาง หรือวิธีถึงความดับทุกข์ แม้จะแจกเป็น ๔ มันก็เหลือแต่ ๒ คือ ทุกข์กับดับทุกข์
ในที่สุดก็มาสำคัญอยู่ตรงที่ว่ากิเลสคืออะไรอยู่ที่ไหน อย่างไร จะดับมันอย่างไร ถ้าเคยเรียน เคยอยู่วัด เคยเรียนแบบวัด อยู่วัดได้ยินอยู่ในวัด มันก็พอจะพูดได้ตามที่ได้ยินได้ฟัง หรือจำไว้ได้ว่ามันเป็นเรื่อง โลภ โกรธ หลงเป็นเรื่องกิเลส นาๆ ชนิดแจกลูกออกไป แต่แม่บทของมันก็คือ อวิชชา แม่บทของกิเลส เราก็จะต้องรู้เรื่องกิเลสเกิดขึ้นอย่างไร มันมีแม่ มีลูก มีอะไร มีเรื่องราวของมันอย่างไร เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่าจะพูดเรื่องกิเลสนะวันนี้ คุณอาจจะได้ยินได้ฟังมาผิด ๆ ก็ได้ เช่นจะมีคนพูดว่าเรามีกิเลสติดมาสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ชาติก่อนโน้น เราคลอดออกมาชาตินี้จากแม่ เราก็มีกิเลสครบถ้วน อาจจะได้ยินอย่างนี้ก็ได้ หรือว่าเราอาจจะมีอวิชชาติดมาในเลือดในสันดานในอะไรมาแต่ชาติก่อนๆ หรือมีอยู่ครบถ้วนเต็มที่แล้วตั้งแต่ในท้องแม่ พอเราเกิดออกมา เราก็มีอวิชชา อวิชชาความไม่รู้ ถ้าเคยได้ยินมาอย่างนี้ ฟังมาอย่างนี้ เชื่ออยู่อย่างนี้ ก็ขอร้องว่าเก็บไว้ทีก่อน เก็บไว้ทีก่อน(13.30) ไม่ต้องมาพูดกัน มาฟังดูว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร จึงตั้งต้นแรกเริ่มเดิมทีทีเดียว เราพูดในลักษณะที่ว่ามันเป็นมีวิทยาศาสตร์ มี logic มีอะไรพอจะเห็นได้ในตัว อย่าให้มีส่วนที่ว่าต้องเชื่อทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไรรวมอยู่ด้วย
ทีนี้ก็จะตั้งต้นว่า พ่อกับแม่ร่วมกันตั้งครรภ์ทารกขึ้นมา แล้วคลอดออกมา ไอ้เรื่องพ่อแม่ร่วมกันอย่างไร มีเหตุผลจำเป็นอะไรกี่อย่างจึงจะตั้งครรภ์ จึงจะคลอดออกมาได้นี่ คุณไปหาเอาเองจากไอ้หนังสือหนังหาเรื่องนั้นในทางการแพทย์ หรือวิชาสรีระวิทยาเป็นต้น เราไม่ต้องพูด เราไม่ต้องเอามาพูดให้มันมากในส่วนนี้ เพราะว่าไปหาเอาได้เดี๋ยวนี้ดีกว่า ละเอียดกว่า แต่ในคัมภีร์ก็มีพูดเหมือนกันนะ แม่กำลังมีไข่สุกเขาเรียกว่าระดู แล้วอยู่ร่วมกับพ่อ แล้วก็มีคันธัพพะ ซึ่งคงจะหมายถึงไอ้เสปิร์ม ตัวสเปิร์มนั้นมากกว่า แต่บางคนเขาจะอธิบายเองว่าเป็นจิตวิญญาณมาแต่ไหนก็ไม่รู้ เอ้า, ก็ได้เหมือนกัน เพราะมันยังไม่ทันทำอะไร ไอ้ ๓ อย่างนี้เป็นเหตุให้เด็กตั้งครรภ์ แล้วคลอดออกมา ทีนี้คุณก็คิดเอาเองสิว่า ไอ้เด็กคนนี้มันเอาอะไรมาด้วย มันเอากิเลสมา เอาอวิชชามา เอากรรม ผลกรรมมาอย่างไร ถ้าเชื่ออย่างที่เขาพูดกันอยู่ก่อนก็ตามใจ แต่ถ้าจะเชื่อตามที่ปรากฏอยู่ในพระบาลีแล้ว ก็ว่ามันยังไม่มีอะไร เด็กในครรภ์นั้นมันจะไม่รู้ว่าอะไรด้วยซ้ำไป ไม่รู้เรื่องอะไรหมดแหละ ไม่รู้เรื่องตัวกูของกู ไม่รู้ว่ามีธรรมะ ไม่รู้ว่ามีความทุกข์ ไม่รู้ว่ามีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คือไม่รู้อะไรหมด นี่เขาตั้งต้นอยู่ด้วยความไม่รู้ แต่เดี๋ยวนี้ธรรมชาติมันสร้างมาให้เสร็จคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อวัยวะสำหรับจะทำหน้าที่เป็น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ระบบประสาทที่จะทำหน้าที่ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้ธรรมชาติใส่มาให้เสร็จ เราไม่ต้องถามไปถึงว่าพระเจ้าสร้างให้มา หรือใครสร้างให้มา เรารู้แต่เพียงว่าเดี๋ยวนี้มันมาเสร็จแล้ว มาพร้อมเสร็จแล้ว
ดังนั้นเด็กพอคลอดออกมา มันยังไม่รู้อะไร ไม่รู้สึกอะไร หรือว่าจนกว่าจะได้สัมผัส จนกว่าจะได้สัมผัสด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย ด้วยใจ จึงจะรู้สึกว่ามีอะไรที่กระทบเขา แล้วเขาก็จะต่อสูดิ้นรนไปตามธรรมชาติกับสิ่งที่มากระทบ หรือว่าหมอเขาจะพิสูจน์ได้ว่าเมื่ออยู่ในครรภ์ มันก็สามารถจะรู้สึกอะไรได้ ก็ได้เหมือนกัน แต่ให้รู้ว่ามันน้อยเกินไป ไม่มีปัญหาอะไร เด็กไม่รู้จักคิดนึกสำหรับเป็นทุกข์ ถ้าเจ็บปวดมันก็ดิ้นรนไปตามธรรมชาติ มันยังไม่เกี่ยวกับความคิดนึก ยังไม่เกี่ยวกับกิเลส ยังไม่เกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่น เป็นอันว่าเมื่ออยู่ในท้องมันยังไม่เป็นกิเลส ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น อวิชชามันยังไม่ได้แสดงบทบาท ถือว่าเหมือนกับไม่มี อวิชชานี้มันต้องเต็มรูปของมัน มันจึงจะแสดงบทบาทได้ ที่คลอดมาจากท้องแม่ ตามที่กล่าวไว้ในพระบาลีนี้ แนวนี้ มันก็ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทานอะไร แต่พอมันเริ่มใช้อวัยวะ หรือมีอวัยวะที่ทำหน้าที่ เช่นตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รสนี่ มันจะเริ่มจุดตั้งต้นกันที่ตรงนี้ เช่นตาของทารกลืมตาขึ้นมา มันก็จะเห็นอะไรซึ่งมันจะต้องเห็นแหละ มันก็ฝังอยู่ในความจำว่าเห็น รูปร่างอย่างนั้น สีสันอย่างนี้ไปเสียทีหนึ่งก่อน ทีนี้หูมันได้ยิน มันก็จำเสียงทางหู เสียงอย่างนั้นเสียงอย่างนี้ ถ้ามันมาพร้อมกับอะไร มันก็จำได้ว่าเสียงอย่างนี้ทำให้เราอร่อย สบาย เสียงอย่างนี้ทำให้เราลำบาก จมูก กลิ่น มันก็ค่อย ๆ รู้ ค่อย ๆ รู้ ไม่ใช่จะรู้ทีเดียวหมด ลิ้น กินนมแม่ มันก็ค่อย ๆ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ผิวหนังมันได้สัมผัสกับอะไร มันก็เริ่มเป็นความรู้ขึ้นมาว่า ไอ้นิ่มนวลหรือกระด้าง เย็นหรือร้อน อ่อนแข็ง ก็ค่อยรู้ นี่มันจะต้องสัมผัสทางข้างนอกอย่างนี้ก่อน แล้วไอ้การกระทำปรุงแต่งทางจิตใจจึงจะค่อย ๆ มีขึ้นมา ดังนั้นเด็กจะไม่เกิดกิเลส ตัณหาอุปาทานได้ก่อน จนกว่าไอ้การสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเขานี่จะทำหน้าที่ไปถึงขนาด ถึงขนาดว่าสวยหรือไม่สวย ว่าหอมหรือเหม็นอย่างนี้เป็นต้น แต่ที่มันจะรู้สึกได้ก่อนก็น่ากลัวว่าจะเป็นเรื่องอาหารนี่ กินนม กินอาหาร กินอันนี้มันจะเป็นเรื่องรุนแรง รู้สึกได้ก่อน ส่วนเรื่องสวยหรือ ไม่สวย น้อยมากอ่ะ ไอ้ไพเราะหรือไม่ไพเราะนี่มันยังไม่รู้จักความหมาย มันไม่ได้เรียนรู้ว่าอย่างไรไพเราะ อย่างไรไม่ไพเราะ แต่มันก็จำได้ว่าเสียงอะไรเป็นอย่างไร เสียงอะไรเป็นอย่างไร เสียงขับกล่อมที่เขาใส่เปลแล้วกล่อมนี่มันก็ค่อย ๆ รู้ค่อย ๆ ได้ยิน ค่อย ๆ จำได้ ค่อย ๆ มีอิทธิพลตามธรรมชาติ ถ้าเสียงอ่อนโยนกล่อมเกลามันชวนให้หลับ มันก็หลับ มันค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ แล้วเมื่อมันถึงเวลาอันสมควร อายุมันจะเท่าไรก็ไม่อยากพูดหรอก แต่เมื่อถึงเวลาอันสมควร กี่วัน กี่เดือน ก็ตาม มันก็รู้จักแยก รู้จักแยกในลักษณะที่เป็นคู่ตรงกันข้ามเสมอ ว่าสวย ไม่สวย หอมหรือเหม็น ไพเราะหรือไม่ไพเราะ อร่อยหรือไม่อร่อย นิ่มนวลสบาย อ่อน นิ่มนวลสบาย หรือกระด้างเหลือเกินนี่ มันจะรู้แยกใน ๕ อย่างนี้ก่อน ตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ ไอ้ใจนี่เอาไว้ทีหลัง ค่อยๆ เจริญทีหลัง
เมื่อมันได้รู้จักแยกตามธรรมชาติ เช่นอร่อย หรือไม่อร่อยโดยเฉพาะนี่ มันจึงค่อยรู้จักเกิดความรู้สึก เกิดความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ เด็กไม่ๆ ไม่รู้จักมาตั้งแต่ในท้องอ่ะ มันต้องมาสัมผัสเข้ากับสิ่งที่ทำให้เกิดความรักความพอใจ หรือไม่เกิดความรักความพอใจนี่ก่อน มันจึงจะรู้จักว่าเป็นความพอใจ เป็นความไม่พอใจ คือความรัก หรือความโกรธ มันจะเริ่มฟักตัวเป็นความรู้สึกขึ้นมาได้เมื่ออายุมันพอสมควร อะไรสวยงาม เอร็ดอร่อย สนุกสนาน สบาย ไอ้ความรู้สึก มันก็แยกไว้ฝ่ายหนึ่ง อะไรมันไม่สวยไม่งาม ไม่สะดวกสบาย มันก็แยกไว้ฝ่ายหนึ่ง นี่เด็กมันจะรู้จัก รู้สึกยินดียินร้ายซึ่งเป็นต้นเหตุของเรื่อง เมื่อมีความรู้สึกยินดียินร้าย ได้รับสุขเวทนา พอใจก็ยินดี ได้รับทุกขเวทนา ไม่พอใจก็ยินร้าย อันนี้มันไม่รู้มาแต่ในท้องนะ มันจะมาค่อย ๆ รู้เมื่อสัมผัสเข้า สัมผัสเข้า มากเข้ารู้จักแยก รู้จักแยกเป็น ๒ ฝ่าย
ฝ่ายที่ชวนให้ยินดี ก็เรียกว่าความรู้สึกที่เป็นอวิชชา ฝ่ายที่ให้รู้สึกยินร้ายเรียกว่าโทมนัส ความรู้สึก ๒ อันนี้อ่ะเป็นจุดตั้งต้นของสิ่ง ของเด็ก ๆ ที่มันมีชีวิต จะมามีเรื่องมีราว อะไรเป็นอวิชชา มันก็ค่อย ๆ ชอบมากขึ้น อะไรเป็นโทมนัส ขัดเคืองมันก็ค่อย ๆ เกลียด เรียกว่ารู้จักแยก มันมาเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กายนี่หมายถึงผิวหนังทั่ว ๆ ไป แล้วเด็กพอเขาได้รับสิ่งที่ให้ยินดีหรือยินร้ายนี่ มันก็ต้องยินดียินร้ายไปตามสิ่งที่มากระทบ ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านได้ใช้คำที่น่าประหลาดเหลือใจ(24.55) ประหลาดที่สุดว่า ไอ้ทารกนั้นมันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มันจึงยินดียินร้าย นี่คำสูงสุด เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติที่เกี่ยวกับนิพพานอ่ะ เอามาใช้ในกรณีอย่างนี้ ทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ คือเขาไม่รู้ว่าถ้าไปยินดีเข้าจะเป็นทุกข์ ยินร้ายเข้าจะเป็นทุกข์ มันไม่มีความรู้ เพราะฉะนั้นเด็กมันก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ มันก็ยินดีที่ควรยินดี ยินร้ายที่ควรยินร้าย ทีนี้พอยินดีก็สุขเวทนา พอยินร้ายมันก็เกิดทุกขเวทนา มันก็คู่กันน่ะ พอทุกขเวทนามันก็ยินร้าย พอสุขเวทนามันก็ยินดี ธรรมชาติมันสอนให้เองจนเด็กรู้สึกแยกกันเป็นยินดีและยินร้าย เพราะมันไม่มีไอ้ความรู้ว่า นี่ทำแล้วจะเป็นทุกข์ นี่ทำเข้าแล้วมันไม่มีทุกข์ มันไม่รู้ที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันไม่มีความรู้ทางเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เพราะฉะนั้นมันจึงมีความคิดไปตามธรรมชาติที่ปราศจากความรู้ ตามธรรมชาติที่ปราศจากความรู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันต้องคิดไปตามนั้นแหละ เพราะฉะนั้นมันจึงมีส่วนผิดที่เรียกว่าอวิชชา เพราะว่ามันขาดความรู้นี่ มันต้องคิดนึกไปตามความไม่รู้ ที่นี้สำหรับอวิชชา คำนี้ประหลาดเหลือประหลาดอ่ะ ถ้าพูดตามหลักในคัมภีร์ ในบาลีมันถือว่า ถือว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไอ้ธรรมะนี่ประหลาดตรงที่ว่าถือเอาเป็นธาตุหมด เป็นธาตุอย่างหนึ่ง ธาตุ ๆ ๆ ทุกอย่างเป็นธาตุหมด กระทั่งพระนิพพานก็เป็นธาตุอย่างหนึ่ง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ จิตใจก็เป็นธาตุ ๆ หนึ่ง แม่แต่อวิชชาก็เป็นธาตุ ธาตุอวิชชา วิชชาธาตุ เพราะฉะนั้นธาตุมีมากมายหลายสิบธาตุเหมือนกัน ธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้นนี่คงจะแปลกสำหรับพวกคุณ แต่ในบาลีมันเรียกอย่างนั้น ธาตุตาก็สำหรับจะเข้ามาทำหน้าที่ที่ตา ให้ตาเห็นรูป เห็นทางตาได้ ธาตุหูก็มาทำหน้าที่เป็นหู ให้ได้ยินได้ฟังได้ ธาตุจมูกก็ทำหน้าที่ให้อวัยวะจมูกนั้นน่ะดมกลิ่นได้อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นธาตุไปหมด
สิ่งที่เรียกว่าธาตุนั้นมีอยู่เป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติในที่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง สำหรับจะประกอบกันเข้าเพื่อเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่อวิชชาก็เป็นธาตุหนึ่งในบรรดาธาตุเหล่านั้นนะ โดยพร้อม มีอยู่พร้อมในที่ทุกหนทุกแห่ง พร้อมที่จะแทรกตัวเข้าไปในเมื่อได้ความเหมาะสมดีกว่า เมื่อมีโอกาสและความเหมาะสม อวิชชาธาตุก็จะแทรกตัวเข้าไปในสิ่งนั้น ทำหน้าที่ตามแบบของอวิชชาธาตุ เมื่อเด็กเขาได้รับความอร่อย เขาหลงใหลในความอร่อยอยู่ นั้นโอกาสเหมาะสำหรับอวิชชาธาตุ จะแทรกตัวเข้าไปในความรู้สึกของเด็กที่อร่อยอยู่ หรือว่าเมื่อเด็กเขาโกรธขัดใจอยู่ ไม่อร่อยนี่ก็เป็นโอกาสที่อวิชชาธาตุจะแทรกเข้าไปในจิต ในความรู้สึกของจิต ของเด็ก หรือว่าเมื่อเด็กเขาไม่รู้ว่าอร่อย หรือไม่อร่อย เขาลังเลอยู่ ยังเป็นไม่แน่อยู่ มันก็มีโอกาสที่จะแทรกเข้าไปในความรู้สึกที่ไม่แน่ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เช่นว่าถูกใจมันก็แทรกเข้าไป ไม่ถูกใจมันก็แทรกเข้าไปได้ เมื่อจะถูกใจก็ไม่ใช่ ไม่ถูกใจมันก็ไม่ใช่ คือว่าไม่รู้อย่างไรกันแน่ มันก็ยังแทรกเข้าไปได้ จึงมีพระบาลีว่า สัพเพสุ ธัมเมสุ อวิชชา อนุปติตา(29.12) อวิชชาย่อมตกตามเข้าไปในธรรมทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เป็นความรู้สึกก็แล้วกัน เป็นความรู้สึกของสิ่งที่มีชิวิด และมีความ รู้สึก แรกๆ ก็ไม่มีความรู้มันเคว้งคว้างอยู่อย่างนั้นแหละ อวิชชาก็คล้าย ๆ กับผีชนิดหนึ่ง แทรกตัวเข้าไปทันที ไปจับตัวไอ้จิตใจนั้น เมื่อเด็กกำลังได้รับความพอใจ เอร็ดอร่อยอยู่ทางตา หู จมูก หรืออะไรก็ตาม อวิชชามันก็เข้าไปประสมโรง ปรุงให้ความเอร็ดอร่อยนั้นเกิดเป็นความหมายสำหรับจะยึดถือ ถ้ามันเป็นไม่ถูกใจ เป็นทุกขเวทนามันก็แทรกเข้าไปปรุงให้เกิดเป็นไอ้กิเลสตัณหาสำหรับจะยึดถือ แม้ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่ยินดียินร้าย มันก็ปรุงเข้าไปให้เกิดความรู้สึกจะเป็นความยึดถือ ที่นี้คุณก็พอจะเดาเอาเองได้ว่า ถ้ามันรัก หรือถูกใจ มันก็เป็นไปในทางโลภะ ราคะ ยึดถือ อย่างราคะ โลภะ ถ้าไม่ถูกใจมันไม่ก็เป็นไปในทางโทสะ หรือโกรธะ ถ้ามันไม่แน่ มันก็เป็นโมหะ ดังนั้นเราจึงมีกิเลสว่าเป็น โลภะ หรือ โทสะ หรือ โมหะ โลภะหรือ ราคะนี่มันเรื่องเดียวกัน คือจะเอา จะกอดรัดเอา ถ้าโทสะหรือโกรธะ จะผลักออกไป ไม่เอา ถ้าเป็นโมหะ มันก็โง่ มันก็วน ๆ เวียน ๆ อยู่รอบ ๆ ไม่รู้ว่าจะเอาหรือไม่เอา นี่เขาเรียกว่ากิเลส โลภะ โทสะ โมหะ คิดดูให้ดี มันไม่ได้เอามาแต่ชาติก่อน ไม่ได้ติดมาในท้องแม่
ตามหลักธรรมะในพุทธศาสนาว่า ทุกอย่างมันเป็นอิทัปปัจจยตา เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะว่ามีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ก็ว่าตลอดวันตลอดคืนก็ได้ มีส่วนถูกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเด็กคลอดออกมาเพราะมีอะไรเป็นปัจจัยมันจึงมีอันนี้ขึ้นมา เพราะมีอะไรเป็นปัจจัยจึงมีอันนี้ขึ้นมา เช่นทำไมเด็กจึงมีปฏิสนธิขึ้นมาใหญ่โตในท้องแม่เกิดออกมา แล้วก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีความรู้สึกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็รับอารมณ์ ธรรมชาติทำให้รู้แจ้งอารมณ์เป็นอย่างไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งแยกตัวออกได้ถึงความน่ารัก ความไม่น่ารัก หรือความไม่รู้ว่าเป็นอะไร มันดู ดู ดูจากตัวเอง ศึกษาจากตัวเอง ธรรมะแท้ธรรมะจริงต้องเรียนจากตัวเอง ไม่ใช่เรียนจากหนังสือ หรือเรียนจากบุคคล เพราะฉะนั้นเรื่องที่ผมพูดทั้งหมดนี้ คุณต้องเอาไปหวนเรียนจากตัวเอง ตั้งแต่แรกคลอดออกมาน่ะ มันมาอย่างนี้จริงหรือเปล่า อย่าเรียนแต่ในหนังสือ หรือเรียนจากคน นี่เรียนเพื่อให้รู้ว่า ไอ้มานี่ มันไม่ได้เอาอะไรมา มันเอาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มา เอาธาตุจิต คือธาตุวิญญาณมา หรือเอาธาตุที่ว่างสำหรับเป็นที่ตั้งแห่งดิน น้ำ ลม ไฟ มา เขาเรียกว่า ๖ ธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุที่ว่าง แล้วก็ธาตุจิตนี่ ๖ อย่างนี้ ที่ประกอบกันอยู่เป็นตัวสัตว์ ตัวคน ๆ หนึ่ง นี่มันก็ได้มาจากธรรมชาติ ตามธรรมชาติ เช่นว่ามันก็มาจากไข่ของแม่ แล้วไข่นั้นเจริญเติบโตขึ้น จนเป็นที่ตั้งอาศัยให้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ผสมปนเข้าไปเรื่อย ๆ จนเป็นที่ตั้งแห่งธาตุจิต ธาตุวิญญาณ มันจึงมีจิต แล้วตรงไหนเป็นที่ว่าง ตรงนั้นก็เป็นที่รองรับให้มัน ไอ้สิ่งนี้มันอยู่ได้ เพราะว่ามันต้องมีที่ว่างให้กับสิ่ง อะไรมันจึงตั้งอยู่ได้ ไอ้ที่ว่างนั้นเขาก็นับเป็นธาตุ ธาตุหนึ่งด้วยเหมือนกัน นี่เรียกว่ามันเป็นธาตุ เป็นเนื้อตัวคนขึ้นมา เป็นจิตใจคนขึ้นมา นี่ธาตุโดยละเอียด ถ้าธาตุตา ธาตุหู ธาตุจมูก ธาตุลิ้น เป็นส่วนเล็กส่วนย่อยออกไป ธาตุรูป ธาตุน้ำ ธาตุเวทนา ธาตุสัญญา ธาตุสังขาร ธาตุวิญญาณนี้ก็ย่อยออกไป ธาตุหนึ่งทำให้สามารถเห็นทางหู ธาตุหนึ่งสามารถทำให้ได้เห็นทางตา ได้ยินทางหู รู้ทางจมูก อีกธาตุหนึ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นเวทนา เป็นสุขทุกข์นี่คือเวทนาธาตุ แล้วสัญญาธาตุทำให้สำคัญมั่นหมายจำได้ว่าเป็นอย่างไรนี่ ธาตุสัญญาทำให้จำได้ ทำให้หมายมั่นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ทีนี้สังขารธาตุ ทำให้ปรุง ๆๆ แล้วแต่จะปรุงตามกฎอิทัปปัจจยตา ขึ้งในร่างกายของจิต ของเด็ก จิตของเด็ก กระทั่งออกมาแล้วปรุงเป็นเวทนา ไอ้ความรู้สึกต่าง ๆ นี้ วิญญาณธาตุทำหน้าที่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มันรู้จากสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สังขารธาตุ ให้คิดให้นึกได้ คือการปรุง เพราะฉะนั้นเด็กคนนั้นจึงสามารถรับอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และสามารถรู้สึกต่ออารมณ์เหล่านั้นโดยวิญญาณธาตุ จนกระทั่งว่ามันกระทบแล้ว กระทบกันแล้วระหว่างไอ้จิตกับสิ่งที่มากระทบ เกิดวิญญาณธาตุแล้ว มันก็เกิดเวทนา ธาตุเวทนามันทำหน้าที่ให้รู้ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจ หรือไม่รู้ไม่ชี้ ทีนี้มันผ่านอะไรไปแล้ว มันก็เป็นหน้าที่ของสัญญาธาตุ ที่จะจำ จะหมาย จะจำได้ เช่นเด็กทารกคนนี้ ไอ้คราวนี้มันกินของอย่างนี้ มันอร่อย มันก็จำได้ พอเห็นของอย่างนี้มาอีก มันก็คว้าหมับอย่างนี้เป็นต้น เช่นมันกินกล้วย มันจำได้ แล้วมันก็จำได้ว่าอย่างนี้รสกล้วย พอเห็นกล้วย ได้กล้วยมามันก็กิน มันก็รู้รส มันก็จำได้ ไอ้อย่างนี้มันเพิ่มขึ้นทุกที ๆ ทางเวทนา ทางสัญญา ทางสังขาร ทางวิญญาณ เด็กเจริญเติบโตขึ้นมาเท่าไร ไอ้ธาตุทั้งหลายเหล่านี้มันก็เจริญเติบโต แต่ที่เป็นที่น่าเศร้าก็เพราะว่ามันมีแต่ฝ่ายอวิชชาธาตุ ฝ่ายวิชชาธาตุยังไม่ค่อยมา ฝ่ายอวิชชาธาตุ ที่หลง ที่มืด ที่โง่นั้นมากลุ้มไปหมด ให้เด็กไปตามไอ้ธรรมชาติของอวิชชาธาตุ ตามบทที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ทารกไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ เพราะฉะนั้นอวิชชาธาตุนำไปแล้วเว้ย, เสร็จแล้วเกิดกิเลสกันเต็มรูป เต็มขนาด ทีนี้เอาวิชชาธาตุ ธาตุที่รู้ ที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จะค่อยมาทีหลัง จะมาทีหลังต่อเมื่อได้ทำผิดเข้าไปแล้ว ได้รับทุกข์แล้ว เช่นเด็กคนนี้เขาไม่รู้ว่านี่เป็นอะไร ก็ไปจับเอาไฟเข้า มันก็ร้อนโดยอวิชชาธาตุ มันไปจับเอาไฟเข้าเพราะไม่รู้ว่าอะไร ที่นี้พอร้อน พอร้อนมันก็รู้ว่าร้อน ทีหลังมันก็ไม่จับ นี่เรียกว่าวิชชาธาตุ ฝ่ายวิชชาธาตุเริ่มเข้ามาทำหน้าที่ แล้วมันก็ศึกษาด้วยความผิดพลาดนี้ไปหมด จนรับโทษความผิดพลาดแล้วทีหลังค่อยไปรับรู้ความถูกต้อง เพราะฉะนั้นวิชชาธาตุ ฝ่ายวิชชาธาตุหลาย ๆ อย่างมาทีหลัง ไอ้ฝ่ายอวิชชาธาตุมันมาสร้าง สร้างเสร็จหมด สร้างร่างกายสำหรับอย่างนี้ สร้างจิตสำหรับอย่างนี้ สร้างความคิดนึกรู้สึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีกิเลสได้ครบถ้วน เราจึงมีความทุกข์ได้ครบถ้วน เรามีตัณหาอุปาทาน เกิดความรู้สึกหมายมั่นเป็นตัวกูของกูโดยครบบริบูรณ์แล้ว นี่ ชีวิตมันตั้งต้นอย่างนี้
ไปอ่านเรื่องปฏิจจสมุปบาท ตาถึงกันเข้ากับรูป เกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา ๓ ประการนี้ถึงกันเข้าเรียกว่าผัสสะ คือกระทบ พอผัสสะแล้วจึงเกิดเวทนา สุข ทุกข์ อทุกขมสุข พอเกิดเวทนาแล้วก็จำได้ สัญญามั่นหมายได้ แล้วก็สังขาร ปรุงแต่ง คิดนึกไปตามเรื่องราวของไอ้สัญญาและเวทนา มันจึงเกิดมโนกรรม คิด วจีกรรม พูด กายกรรม กระทำ คือเหตุ ต้นเหตุที่ร้ายกาจก็คืออวิชชา คือเอาตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะ ไอ้ตรงนี้อ่ะ มันเป็นโอกาสของอวิชชา อวิชชาธาตุที่มีอยู่ในที่ทั่วไป เข้าไปเลย เพราะไม่มีวิชชาธาตุเข้ามาก่อนหรือต่อต้านไว้ เพราะฉะนั้นตามธรรมชาติก็ให้โอกาสแก่อวิชชาธาตุ เพราะฉะนั้นเด็กเล็ก ๆ จึงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะอวิชชาธาตุเข้าไปครองเสียแล้ว เพราะฉะนั้นเด็กก็ได้แต่คิดนึกไปตามอวิชชาธาตุ อร่อยก็รัก ไม่อร่อยก็โกรธ ไม่แน่ก็มัวเมาวนเวียนอยู่ เราเกิดความรู้สึกฝ่ายรักขึ้นมาอย่างไร ไปคิดให้เข้าใจ เราเกิดความรู้สึกฝ่ายชอบ ฝ่ายรัก ฝ่ายอยากได้ ฝ่ายยึดครอง ฝ่ายหึงหวง ขึ้นมาได้อย่างไร จนกระทั่งเด็กเล็ก ๆ ก็รู้จักหึงหวงนะ แล้วเราเกิดความรู้สึกฝ่ายโกรธ ฝ่ายเกลียด ฝ่ายไม่ชอบ ฝ่ายต่อต้านนี้ขึ้นมาอย่างไร เหมือนเด็ก ๆ มันก็มีอวิชชาธาตุของมันอ่ะ สำหรับจะต่อต้าน สำหรับจะโกรธ จะต่อต้าน เช่นลูกแมวนี่ ตัวเล็ก ๆ นี่ เข้าไปใกล้ขู่ฟู่ทันทีเลย เพราะเขามีไอ้ธาตุตามธรรมชาติ ที่จะต้องทำอย่างนั้น เด็กๆ ก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่ได้รับความโอบอุ้มทะนุถนอมมา มันก็ฟู่เหมือนกับลูกแมวเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ได้โอกาสอย่างนั้น เพราะว่าเขาขัดกล่อมทะนุถนอมมาเสียดี มันจึงเป็นไปในทางที่จะรักมากกว่าจะโกรธ จะขู่ แต่แล้วมันก็เหมือนกัน สิ่งที่มาทำให้รัก มันก็ทำให้รักนี่ก็เป็นกิเลส ฝ่ายรักคือโลภะ ราคะ ไอ้ที่มาให้ไม่ไม่พอใจเพราะไม่ได้ตามที่มันรักหรือต้องการ มันก็โกรธ กิเลสพวกที่ ๒ ถ้ามันไม่แน่ มันก็เป็นกิเลสประเภทที่ ๓ คือ โมหะ นี่ให้เข้าใจคำว่าอวิชชา เป็นธาตุตามธรรมชาติพร้อมอยู่ในทุกๆ อณูของโลก ที่จะเข้าไปสิงลงไปในจิตที่มันมีความรู้สึก อย่าไปเห็นเป็นของแปลกว่าทำไมเด็ก ๆ ของเราโตขึ้นมาโดยไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร จนกว่าจะได้รับโทษ หรือได้รับการอบรม ถ้าสมมุติว่าเด็ก ๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการอบรมเป็นเด็กเกิดในป่า เด็กเกิดกับสัตว์ป่า ไอ้ธรรมชาติแหละมันสอน ถ้ามันไปจับแมลงป่องเข้า มันก็ต่อยเอามือ ทีหลังมันก็จะไม่จับ หรือมันไปเหยียบหนามเข้า ทีหลังมันก็ไม่เหยียบ ทุกอย่างมันจะสอนโดยความทุกข์ที่ได้รับ แต่มันยังโชคดีที่ว่ามันเป็นลูกคน มีพ่อแม่เลี้ยงดู มันก็ได้รับการคุ้มครองป้องกันไม่ให้ต้องลงทุนในการศึกษามากนัก เพราะฉะนั้นเด็กจึงค่อย ๆ รู้ไปในทางที่จะปลอดภัย แต่มันก็เป็นไปในทางที่จะให้หลงรักถึงที่สุด และเมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการก็โกรธที่สุด เพราะฉะนั้นความรู้สึกรัก หรือโกรธ หรือว่ายังไม่แน่นี่ มันค่อย ๆ มีขึ้นมา ค่อย ๆ มีขึ้นมา จะมากขึ้น ๆ หนาแน่นขึ้น ๆ ไม่ใช่ติดมาจากชาติก่อนในท้องแม่มาครบบริบูรณ์มาอย่างนี้ แม้ความโง่ที่เรียกว่าอวิชชาก็ไม่ได้หอบขนเอามาจากชาติก่อน นี่พูดตามหลักพระบาลีมันเป็นอย่างนี้ อวิชชาเป็นธาตุอย่างหนึ่งอยู่ในนี้ ในสากลจักรวาลนี้ พร้อมที่จะอนุปติตา คือตกลงไปในที่ที่มันมีโอกาสที่จะตกลงไป เพราะนั้นเมื่อจิตของสัตว์รู้สึกตามสัมผัสนั่นแหละโอกาสของอวิชชา สัมผัสเราชอบ อวิชชาเขาก็สร้างให้แนวหนึ่ง สัมผัสแล้วเกลียด ไม่ชอบ เขาก็สร้างให้อีกแนวหนึ่ง ไม่ชอบก็ไม่ใช่ ไม่ชอบก็ไม่ใช่ ก็สร้างให้อีกแนวหนึ่ง มี ๓ แนวเท่านั้นคือ โลภะ โทสะ โมหะ นี่เรียกว่ากิเลสได้เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน เต็มความหมายของกิเลส
ทีนี้มันไม่ใช่เพียงแต่กิเลสเกิดขึ้นแล้วก็เลิกกัน กิเลสทุกตัว ทุกครั้ง ทุกคราวที่เกิดขึ้นแล้วมันเหลือ มันเหลือ เหลืออะไรอ่ะ เหลืออนุสัย เหลือความเคยชินไว้ให้ ไม่ใช่ว่ากิเลสเกิดทีแล้วดับไปแล้วเลิกกัน มันจะเหลือเชื้อที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นยิ่งขึ้นไว้ทุก ๆ ครั้งทุกคราวไป ส่วนนี้เขาเรียกว่าอนุสัย ส่วนนี้ไม่เรียกว่ากิเลส ไอ้ความโลภ ความโกรธ ความหลงที่เกิดทีแรก เรียกว่ากิเลส ที่เกิดความโลภแล้ว มันทิ้งเชื้อสำหรับจะโลภอีกไว้ในส่วนนี้เรียกว่าอนุสัย แต่เขาจะมักเรียกกันว่ากิเลสชั้นกลาง ผมไม่มีคำพูดกิเลสชั้นกลาง พูดตามบาลีว่าอนุสัย มันเกิดกิเลสโกรธขึ้นทีหนึ่งแล้ว ดับไปแล้ว ความโกรธดับไปแล้ว แต่ทิ้งเชื้อสำหรับจะโกรธเก่ง จะโกรธง่าย จะโกรธเร็ว หรือความเคยชินที่จะโกรธไว้ให้ เรียกว่าปฏิฆานุสัย ถ้ามันเกิดความรัก ความโลภ มันจะทิ้งราคานุสัยไว้ให้ ที่เราไปรักไปชอบไปหลงรักเข้านี่ มันก็จะทิ้งราคานุสัย ความเคยชินที่จะรักไว้ให้ เราไปโกรธเข้าที มันจะทิ้งปฏิฆานุสัย ความเคยชินที่จะโกรธอีกไว้ให้ ถ้าเราไม่ได้รู้สึกถึงกับว่ารักหรือโกรธ แต่พะวงสงสัย กับวิตกกังวลอยู่มันจะทิ้งอวิชชานุสัยไว้ให้ อวิชชามันเป็นความไม่รู้ตามธรรมดา แต่เกิดแล้วทิ้งเชื้อไว้ให้ก็เรียกว่าอวิชชานุสัย มันมีคำว่าอนุสัย ๆ ๆ แปลว่านอนตาม ตามนอน คือความเคยชินที่ฝังไว้ในจิตใจ เพราะฉะนั้นกิเลสธรรมดา โลภ โกรธ หลง กิเลสเคยชิน ฝังไว้เป็นความเคยชินเรียกว่าอนุสัย มีชื่อ ๓ ตามไอ้โลภ โกรธ หลงเหมือนกัน แต่ชื่อมันแปลกไปว่า ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย นี่เราจะมีเพิ่มขึ้นทุกคน ทุกวัน ทุกคน ทุกวัน ทุกคราวที่เรารัก หรือโกรธ หรือโง่ รักก็ให้ความเคยชินที่จะรัก โกรธก็ให้ความเคยชินที่จะโกรธ โง่หรือสะเพร่ามันก็ให้ความเคยชินที่จะโง่หรือสะเพร่า เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ จึงรักเก่ง โกรธเก่ง โง่เก่งขึ้นตามตัว ตามเวลา มาเป็นหนุ่มสาวเต็มที่แล้วมันก็รักเก่ง โกรธเก่ง โง่เก่ง สะเพร่าเก่งเต็มที่ของมัน นี่ธรรมชาติที่เป็นตัวมนุษย์ สำหรับจะทนทุกข์ กิเลสได้เกิดขึ้นแล้วก็จะสร้าง ทิ้ง จะทิ้งความเคยชินไว้ให้ คือทิ้งไอ้ความเคยชิน หรืออนุสัยไว้ให้มากเข้า ๆๆ มันก็อัดตัวที่จะดันออกมาอีก เพราะฉะนั้นเราจึงโกรธง่าย รักง่าย กลัวง่าย โง่ง่าย อะไรง่าย ส่วนนี้เขาเรียกว่าอาสวะแล้ว ที่มันอัดตัวไว้มากจะกลับออกมาอีก เรียกว่าอาสวะ กิเลสทีแรกเรียกว่า โลภะ โทสะ โมหะ นี่ก็เรียกว่ากิเลส ๆ ทีนี้ที่มันเก็บตัวไว้ เรียกว่าอนุสัย ๆ โลภอนุสัย โกรธอนุสัย หลงคือชินที่จะรัก ชินที่จะโกรธ ชินที่จะโง่ ทีนี้ความเคยชินที่เก็บไว้ ๆ อัดตัวมากเข้า ๆ ก็เป็นอาสวะ ที่หมักดองแล้วก็จะดันออกมาทางรูรั่ว คือทางกาย ทางวาจา ทางใจ มันก็ออกมาเป็นความ กิเลสน่ะ รัก โกรธ โง่ แรงกว่าเดิม แรงกว่าเดิม แรงกว่าเดิม แล้วก็ไปคิดดูเองเถิดว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่นี่ค วามโลภ ความโกรธ ความหลง มันสมบูรณ์พร้อมจะทำหน้าที่ในรูปแบบเดียวกัน เดี๋ยวนี้มันก็แบบเดียวกัน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันจะสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จะเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ที่เกิดกับเด็ก ๆ ก็เป็นของขนาดเด็ก เด็กเล่นอ่ะ เกิดกับเด็กวัยรุ่นมันโตขึ้นไป เกิดกับหนุ่มสาวมันก็โตขึ้นไป เกิดแก่ผู้ใหญ่มันก็โตขึ้นไป เกิดแก่ผู้แก่ผู้เฒ่ามันก็หนังเหนียว มันเป็นกิเลสที่หนังเหนียว ละยาก นี่รู้จัก ก ข ก กา ของมันอย่างนี้ และต่อไปนี้มันก็จะมีปัญหา เอาสิ ไปโลภเข้าสิ มันก็จะมีเรื่องยืดยาวไปตามแบบความโลภ จนไปเป็นทุกข์เป็นร้อน ไปโกรธเข้ามันก็มีเรื่องไปตามแบบของความโกรธ ไปโง่เข้าก็ไปในแบบของความโง่ นี่กิเลส เรื่องของกิเลสทำให้เป็นทุกข์เป็นร้อน ไอ้ความทุกร้อนนั้นเมื่อมันโง่แล้วมันก็ยึดถือ ที่น่ารัก ก็ไปรักที่น่ารัก ไปโกรธที่น่าโกรธ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นอุปาทาน ที่น่ารักมันอยากในที่น่ารัก แล้วมันก็เกิดยึดถือในที่น่ารัก และตัวที่จะเป็นผู้รัก นี่เรียกว่าอุปาทาน ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่เพิ่งเกิดเป็นตัวกูของกู กูรักกูอยากจะได้มาเป็นของรัก เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง เพราะฉะนั้นเมื่อเราเห็นของรัก น่ารักเราก็รัก แล้วเกิดรู้สึกว่ากูรัก กูจะเอาให้ได้ ตอนนี้เป็นอุปาทาน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาในความรู้สึก แต่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงอะไร เป็นความรู้สึกแล้วบังคับทุกอย่างให้เป็นไปตามความรู้สึก มันก็มีตัวกูที่จะรัก จะเอาให้ได้ จะเอามาคุ้มครอง จะหึง จะหวง จะอะไรตามเรื่องของกิเลส จนได้เป็นทุกข์ จนได้ฆ่าฟันกัน จนได้เดือดร้อนกันไปหมด นี่ไฟกิเลส
ทีนี้ก็ไฟทุกข์ คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยเหตุที่ร่างกายนี้ มันประกอบขึ้นด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศธาตุวิญญาณธาตุ ตาธาตุ หูธาตุ จมูกธาตุ ทุกธาตุประกอบกันเป็นคน ๆ หนึ่ง โดยที่มันเป็นธาตุประกอบกันปรุงแต่งขึ้นมา มันตายตัวไม่ได้ มันเพียงแค่ถาวรไม่ได้ มันจึงต้องเปลี่ยนไปตามเรื่องที่การปรุงแต่ง จะปรุงแต่งอย่างไร มันไปเข้าในกฎที่ว่าเมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้ก็เกิดขึ้น ดูที่เนื้อที่ตัวของเราทุก ๆ เซลล์ ทุก ๆ เซลล์ที่ประกอบกันเป็นเนื้อหนัง เป็นกระดูก เป็นอะไรก็ตาม มันมีปัจจัยปรุงแต่ง มันก็เปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย เด็ก ๆ จึงเติบโตขึ้นมาได้ มีร่างกายเปลี่ยนแปลง มีจิตใจเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงนี่คือความชรา การที่เปลี่ยนไปนี้แหละเรียกว่าชรา ถ้าเด็กทารกเปลี่ยนมาเป็นเด็กโต นี่ก็เรียกว่าชรา ถ้าพูดอย่างปรมัตถ์ ก็ถือว่าเด็กมันชรา ถ้าพูดอย่างธรรมดา ๆ ก็เรียกว่าเด็กมันโตเป็นหนุ่มไม่ใช่ชรา มันมองตรงกันข้าม แต่ถ้ามองตามความจริงเด็กก็เปลี่ยนมาเป็นความชราแล้ว เช่นเด็กอายุ ๕ ขวบ ๖ ขวบ นี่มันก็ชราเข้ามา ๕ ขวบ ๖ ขวบแล้ว ถ้าพูดอย่างปรมัตถ์ ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็กำลังจะหนุ่ม ยังไม่ชราก่อน ถ้าหลักธรรมะมันถือเอาความเปลี่ยนแปลงคือความชรา มันจะต้องมองในฐานะเป็นธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ให้มาก จะเห็นว่าเริ่มชรา ตั้งแต่เกิดออกมาก็เริ่มชรา ที่มันเริ่มเจ็บเพราะว่าการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไม่ถูกต้องเสมอไป เมื่อไหร่ผิดเมื่อนั้นมันก็มีความเจ็บไข้ จึงเป็นธรรมดา ความชราเป็นธรรมดา ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไอ้รูปธรรมเหล่านี้มันจะต้องตาย ประมาณ ๑๐๐ ปีมันก็จะต้องตาย เราจึงมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ทั้งหมดนี้ไม่เป็นไปตามที่ใครปรารถนา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นทุกข์อยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ที่มันไม่เป็นไปตามปรารถนาของใคร และเราก็บังคับไม่ได้ เช่นเราเจ็บ เราก็เป็นทุกข์ เราชราเราทำอะไรตามที่เราต้องการไม่ได้ เราก็เป็นทุกข์ แล้วเราก็รู้จักกลัวตาย ตามธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต โดยสัญชาตญาณมันก็กลัวตาย เพราะฉะนั้นสัตว์พอรู้จักความตาย มันก็สะดุ้งต่อความตายอยู่เสมอ เด็ก ๆ อายุไม่เท่าไหร่ก็รู้จักความหมายของความตาย เห็นนั่นตาย เห็นนี่ตาย เห็นหมาตาย เห็นแมวตาย เห็นคนตาย เห็นยิงกันตาย ฆ่ากันตาย มันก็รู้จักกลัวความตาย เพราะฉะนั้นความตายก็มีความหมายเป็นความทุกข์ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีความหมายเป็นความทุกข์ เห็นได้ง่าย ความเกิดนั้นเห็นโดยอ้อม เพราะต้องบริหารมาก ความเกิดจึงเป็นทุกข์ ไม่บริหารมันก็ตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความเกิดก็เป็นภาระที่ต้องบริหาร แล้วมันก็ต้องเป็นความทุกข์เหมือนกัน เกิด แก่ เจ็บ ตายในทางร่างกายนี่ก็เป็นทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทางจิตยิ่งเป็นทุกข์กว่านั้น เกิดขึ้นแห่งตัวกู เปลี่ยนไปแห่งตัวกู ดับลงแห่งตัวกูนี่สร้างความรู้สึกเป็นทุกข์มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงให้ผลที่เป็นความรู้สึกที่เป็นทุกข์แก่คนทั่วไป คนทั่วไปที่ไม่ได้รู้เรื่องนี้ คนทั่วไปที่ไม่มีธรรมะแจ่มแจ้ง เขาก็ต้องกลัวความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทนทรมานอยู่ด้วยปัญหา เกี่ยวกับเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่เสมออย่างนี้เราเรียกว่า ไฟความทุกข์ เมื่อตะกี้นั้นไฟกิเลส เผาให้ร้อน แต่นี่ก็ไฟความทุกข์ก็เผาให้ร้อนแบบของความทุกข์ นี่ถ้าว่ามีความทุกข์ นี่จึงต้องการความดับทุกข์
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ เรื่องนอกนั้นไม่พูด เพราะมันไม่จำเป็น อ้าว, ถ้าใครไม่มีความทุกข์ก็ไม่ต้องมาพูดกัน กลับไปบ้านได้ ไม่ต้องมาบวช เพราะไม่ได้ต้องการอะไรที่มีประโยชน์นี่ ถ้ามาบวชก็เพื่อศึกษาเรื่องดับทุกข์ เพราะว่าเรามีความทุกข์ มันมีบาลีว่า ถ้าว่าไม่มีความทุกข์ในโลก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องเกิดขึ้น ...ว่าอย่างนั้น ธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ต้องมีขึ้น เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความเกิดแก่เจ็บตายนี่เป็นทุกข์ จึงต้องมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา จึงต้องมีศาสนา หรือธรรมวินัยของพระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา เพื่อว่าสัตว์ทั้งหลายจะได้อาศัยแล้วดับทุกข์ เดี๋ยวนี้มันมีคนที่ไม่รู้สึกว่ามีความทุกข์มากขึ้น ๆ คนเหล่านั้นเขาจึงไม่สนใจเรื่องธรรมะเลย โดยเฉพาะพวกฝรั่งที่มาบ้านเรานี่เขาไม่มีความทุกข์ ถามว่าศึกษาพุทธศาสนาทำไม ก็รู้เผื่อ ๆ ไว้อย่างนั้น รู้เป็นความรู้รอบตัว ไม่มีความทุกข์หรอก ผมก็ไม่พูดด้วย พูดกับคนบ้าไม่มีความทุกข์ จะพูดเรื่องความดับทุกข์กับคนไม่มีความทุกข์ เราก็จะบ้าเอง เลยไม่ต้องพูด ไล่กลับ เชิญกลับเถิด เมื่อคุณไม่มีความทุกข์คุณก็กลับไป ไม่ต้องมาพูดอะไรกัน ถ้าเราไปพูดเรื่องความดับทุกข์กับคนที่ไม่มีทุกข์ นี่คิดดูเถิดว่าเรากับมัน จะเหมือนคนบ้า คนโง่ ทีนี้ไม่ต้องพวกฝรั่งหรอก ในคนไทยด้วยกันนี้ก็มี คนอุตริเป็นผู้ที่ไม่มีความทุกข์ มากเลย คนเหล่านี้ไม่ต้องการธรรมะ อย่าว่าแต่จะบวชเลย พูดธรรมะให้ฟัง มันก็ไม่เอา มันไม่มีความทุกข์นี่ จะมาพูดเรื่องความทุกข์กันทำไม เขาก็เอาแต่อวิชชา เอาความโง่ของเขา อวิชชาของเขา เกิดขึ้นอย่างไร ให้ความรู้สึกอย่างไร บังคับอย่างไรเขาก็ทำไปตามอวิชชา เขาจึงว่าถ้ามีความทุกข์ขึ้นมา เขากินเหล้าก็ได้ ถ้าเขาจะแก้ไขตัวเองไม่ได้จริง ๆ เขาก็ยิงหัวตัวเองโป้งเดียว เดี๋ยวมันก็หาย เขาก็คิดว่าอย่างนี้ เขาไม่สนใจไอ้วิธีธรรมะที่จะดับทุกข์ เขาสมัครไปยิงตัวตาย ไปโดดน้ำตาย ไปอะไรกันก็ได้เพื่อจะดับทุกข์ เพราะฉะนั้นธรรมะจึงไม่มีหรับคนพวกนี้ มีสำหรับแต่ผู้ที่รู้จักความทุกข์ และต้องการจะดับทุกข์ โดยวิธีที่ดีที่สุด แนบเนียนที่สุด แยบคายที่สุดอย่างนี้ ที่นี้เขามาถือหลักอย่างอื่น ถือเอาความเอร็ดอร่อยด้วยอวิชชา ความเอร็ดอร่อยของความโง่ ความหลง เป็นสิ่งสูงสุด แล้วก็บูชา แล้วก็เสนอสนอง ถ้าไม่ได้ก็อาละวาด อาละวาดกระทั่งฆ่าตัวตาย
นี่คุณไปทบทวนความเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องกิเลสกับความทุกข์ ไฟกิเลสกับไฟทุกข์ ไปมองเสียก่อน ถ้าไม่เห็นว่ามันกำลังเผาเราอยู่แล้วผมก็ไม่เรื่องจะพูดเหมือนกัน ถ้าคุณไม่มองเห็นว่าไฟกิเลส และไฟทุกข์ กำลังแผดเผาอยู่ เราก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดกัน ทีนี้กลับไปทบทวนดูว่าไฟกิเลส ไฟทุกข์ ได้เกิดขึ้นในเราอย่างไร ไม่ได้หอบเอามาแต่ชาติก่อนนู้น ไม่ได้ติดมาจากในท้องแม่ ทุกอย่างมันมีวิวัฒนาการโดยกฎอิทัปปัจจยตา เกิดเป็นสัตว์ขึ้นมาในครรภ์ คลอดออกมาพร้อมด้วยอวัยวะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับรู้สึก แล้วมันก็รู้สึกทางอวัยวะสำหรับรู้สึก แต่เพราะไม่มีความรู้ที่เป็นวิชชา อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เด็กนี้ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ มันก็เป็นโอกาสของอวิชชาที่มีอยู่ทั่วไป เข้าไปสิงในเด็กคนนั้น แล้วก็บันดาลไปตามเรื่องของอวิชชา เพราะฉะนั้นเด็กจึงหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัวอะไรไปตามอำนาจของอวิชชา จนกว่าเขาจะรู้สึกเจ็บปวดนี่ คิดแก้ไขทีหลังนี่ จะเป็นโอกาสแห่งวิชชาเข้ามาต่อสู้รบกันกับอวิชชา ถ้าอวิชชาชนะมันก็ไปตามเดิม ถ้าวิชชาชนะก็ลากมาแนวใหม่ที่จะดับทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจงพยายามให้โอกาสแก่วิชชา พยายามปิดโอกาสของอวิชชา คือสร้างวิชชาหรือสติปัญญาเอาไว้ อันนั้นแหละจะเป็นเครื่องปิดกั้นอวิชชา ดังนั้นศึกษาธรรมเป็นเรื่องของวิชชา และมีสติปัญญาใช้ธรรมะนั้นให้ถูกเวลา อันนี้จะสกัดกั้นอวิชชาที่จะมายึดครองกายใจนี้ บอกแล้วว่าอวิชชาเป็นธาตุชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ละเอียด พร้อมที่จะตกตามเข้าไปในธรรมทั้งปวง ทางรูป ทางนาม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุก ๆ ธาตุ นั่นอวิชชา เก่งอย่างนั้น
ทีนี้อะไรจะป้องกัน ก็คือสติปัญญาที่มีธรรมะเพียงพอ แล้วศึกษาธรรมะให้ถูกต้อง แล้วก็อบรมสติให้ว่องไว เอาธรรมะมาใช้ให้ทันเวลา ที่มันมีอะไรเกิดขึ้นทันเวลา ก็คือป้องกันอวิชชา ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นอาหารของอวิชชา ก็คือเป็นโอกาสของอวิชชานั่นเอง แต่ท่านใช้คำว่าเป็นอาหาร มันก็ถูกเหมือนกันแหละ เป็นปัจจัยสนับสนุนอ่ะ อาหาร นิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นอาหารของอวิชชา หล่อเลี้ยงอวิชชา ฉะนั้นอย่ามีชีวิตอยู่ในนิวรณ์ทั้ง ๕ เพราะเป็นปัจจัยสนับสนุนอวิชชา กามฉันทะ ยินดีในกามารมณ์นี่ส่งเสริมอวิชชา ให้โอกาสแก่อวิชชา พยาบาท ไม่ชอบ หงุดหงิด นิวรณ์นี้ก็ส่งเสริมโอกาสของอวิชชา ถีนมิทธะ งัวเงีย ละเหี่ยละห้อย นี่ก็เป็นส่งเสริมอวิชชา อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยฟุ้งซ่าน ก็เป็นอาหารอวิชชา วิจิกิจฉา ลังเล ไม่แน่ใจในความรู้ ในการประพฤติกระทำก็เป็นอาหารอวิชชา เพราะฉะนั้นอย่าอยู่ด้วยนิวรณ์เป็นอันขาด ถ้าอยู่ด้วยนิวรณ์ ก็คือการให้โอกาสแก่อวิชชา ดังนั้นอยู่อย่างไม่มีนิวรณ์ มีจิตเกลี้ยง เย็น สงบ อยู่อย่างนี้ให้ปราศจากนิวรณ์ อวิชชาไม่ได้โอกาส เหมือนกับโจร ขโมย จะเข้ามาเมื่อได้โอกาส ถ้าเราไม่ทำโอกาส มันก็เข้ามาไม่ได้ เพราะฉะนั้นพยายามทำจิตให้เกลี้ยง เย็น หยุดปราศจากนิวรณ์ คือการทำสมาธิ พยายามฝึกฝนการทำสมาธิให้จิตปราศจากนิวรณ์ อวิชชาจะไม่ได้โอกาส จะไม่ได้ปัจจัย จะไม่ได้อาหาร อวิชชานั้นจะไม่ได้โอกาส จะไม่ได้ปัจจัย ไม่ได้อาหาร อวิชชาจะค่อยผอมลง อวิชชาจะค่อยน้อยลง อวิชชาจะไม่มีโอกาสทำหน้าที่ว่าอย่างนั้นดีกว่า ดังนั้นไอ้การประพฤติกระทำเป็นไปในหน้าที่ ในชีวิตของคนนั้นมันก็ถูกต้องไปหมด เพราะอวิชชาไม่มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่วิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง สาวกของพระพุทธเจ้านี่เขาศึกษาวิชชา ประพฤติวิชชา เพิ่มเติมวิชชา อบรมวิชชา ใช้วิชชากันอยู่เสมอ ในที่สุดมันก็ชนะแก่อวิชชา เราก็หลุดพ้นไปจากปัญหา นี่คือหลักการใหญ่ในพระพุทธศาสนา ที่มีไว้สำหรับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง รวมเราด้วย มันมีหลักการอย่างนี้ เราจะไปโทษใครก็ไม่ได้ ว่าทำไมสร้างเรามาอย่างนี้ จะไปโทษใครที่มันสร้างมาเรามาอย่างนี้ ในสภาพที่พร้อมที่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าไปถามพวกพระเจ้า เขาก็ไม่ยอมรับหรอก เขาว่าพระเจ้าสร้างมาให้ดีทั้งนั้นแหละ แต่ดูเองเถิด ตามที่เป็นจริงมันมาในลักษณะอย่างนี้ นี่ถ้าว่าแก้ปัญหานี้ไม่ได้มันก็เป็นทุกข์จนตาย มันมีบุญกันตรงที่ว่ามันรู้ทันเวลา แก้ไขได้ ไม่ต้องไปเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปเป็นทุกข์ก็ยิ่งดี ก็เรียกว่ามีนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ก็ยิ่งดี แก้ปัญหาหมดไม่มีทุกข์เลยก็เรียกว่านิพพาน แก้ได้บางครั้งบางคราว บางระยะ บางเวลา ก็เรียกว่าตัวอย่างสินค้าของนิพพาน เมื่อใดกิเลสไม่เข้ามา ไม่เกิดขึ้น เมื่อนั้นแหละก็ไม่มีทุกข์ ก็เป็นตัวอย่างของพระนิพพาน
ตัวหัวหน้าตัวร้ายกาจที่สุดคือตัวอวิชชา อย่าเผลอสติให้อวิชชาเข้ามายึดครองไอ้ร่างกายนี้ เพราะเราเผลอเช่นมีนิวรณ์เป็นต้น พอจิตงัวเงียไม่ค่อยสมประกอบแล้ว อวิชชายึดครองทันที ยึดครองทั้งหมดเลย แล้วก็บันดาลไปตามอวิชชา จิตที่ไปผูกพันกามารมณ์นั้นเป็นโอกาสของอวิชชา จิตที่โกรธแค้น หงุดหงิด ขัดเคืองอะไรอยู่เป็นโอกาสของอวิชชา จิตละเหี่ยละห้อย เห็นได้ชัดนะ อวิชชาเอาสบายเลย จิตฟุ้งซ่าน มันก็บ้าอยู่แล้ว จิตไม่แน่นอน วิจิกิจฉา ไม่แน่นอนว่าเราจะเอาอะไรอย่างไร นี่ก็เป็นโอกาสของอวิชชา เพราะฉะนั้นเราควรจะมีความแน่นอน มีศรัทธาที่เชื่อลงไปอย่างแน่นอนว่าเราจะเอาอย่างไร อย่าให้ลังเล วิจิกิจฉาอยู่ว่าเกิดมาทำไม จะได้อะไร จะดับทุกข์ได้ไหม ที่เลวร้ายมากก็คือลังเลในพระธรรม ว่าพระธรรมนี้จะช่วยได้ไหม ถ้าลังเลในพระธรรมแล้วมันก็เท่ากับว่าลังเลในพระพุทธ พระสงฆ์ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราอย่ามีอะไรที่ลังเล ทุกวันนี่ทำอะไรไปโดยไม่มีความลังเล ต้องถูก ต้องจริง ต้องมีประโยชน์ ต้องควรทำที่สุด หรือว่าสิ่งที่เราจะศึกษาเพิ่มเติม จะหามาเพิ่มเติม ก็ต้องให้มันแน่นอนว่ามันถูกที่สุด จริงที่สุด สมควรที่สุด ควรจะทำที่สุด อย่ามีชีวิตอยู่ด้วยความลังเล
นิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา เป็นโอกาสของอวิชชา เป็นเครื่องสนับสนุนอวิชชา เพราะฉะนั้นอย่าอยู่ด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา อันนี้มันอยู่ปากคอกนะ หนังสือนวโกวาท มีแล้วทุกคนนะ ทุกคนมีหนังสือนวโกวาท แล้วก็รีบศึกษาเรื่องนี้ แต่ในนวโกวาท เขาจะพูดแต่เพียงว่านิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องกั้นความดีเท่านั้นแหละ ไม่ได้พูดเต็มที่เหมือนในพระไตรปิฎก นิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา เป็นที่เกิด เป็นโอกาสของอวิชชา พออวิชชาเข้ามายึดครองร่างกาย นามรูปนี้แล้วมันก็พินาศหมด มันไม่ใช่เพียงแต่กั้น สกัดกั้นความดีเล็ก ๆ น้อย ๆ
ผมตั้งใจจะพูดเพียงเท่านี้ ก ข ก กา ของธรรมะว่าสัตว์เกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วสร้างสมกิเลส ตัณหา อวิชชา อุปาทาน ขึ้นมาอย่างไร จนกว่าจะรู้สึกตัว และจะกำจัดแก้ไข แล้วก็พูดแล้วนะ ยืนยันแล้วนะว่าไม่ได้หอบเอามาจากชาติก่อนนะ มันมาปรุงมาทำกันขึ้นมาตามธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย กฎอิทัปปัจจยตา หลังจากคลอดออกมาจากท้องแม่ มันจึงไม่ใช่เหลือวิสัย มันไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัยที่จะแก้ไขให้ได้ มันจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในขอบเขต ในอำนาจ ในวิสัยที่เราจะแก้ไขมันได้ ขอแต่ให้ไปศึกษาเสียให้รู้ เข้าใจถูกต้องว่ามันมีเรื่องของมันอย่างไร มีวิธีการของมันอย่างไร มีอะไรของมันอย่างไร แล้วควบคุมให้ได้ นี่เรียกว่ารู้เรื่องเบื้องต้นที่สุด ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ซึ่งผมเรียกว่า ก ข ก กา ของพระธรรม ก ข ก กา ของธรรมะคืออย่างนี้ ถ้าว่าไอ้จับ ก ข ก กา นี้ไม่ได้แล้วก็ยากแหละ ลำบากที่จะไปเรียนให้ใหญ่โตมากมายขึ้นไป ทีนี้ผมก็ขอให้คิดดู หลายองค์คงจะเรียน การศึกษาระดับอุดมศึกษา สติปัญญาอะไรมามากแล้ว มีความเห็นว่าอย่างไร ไม่เข้าใจสงสัยข้อไหนก็ถามก็ได้ แม้จะคัดค้าน ไม่เชื่อก็ได้ ว่าไปได้โดยไม่ต้องเกรงใจ เราจะพูดกันพอสมควร แล้วก็เปิดโอกาสให้ซักถาม หรือคัดค้านก็ได้ เรื่องเล็กน้อยคือเรื่องทั้งหมด เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าท่านเรียก ผมเรียกว่า ก ข ก กา พื้นฐานของธรรมะ ถ้าตั้งต้นตรงนี้ไม่ได้แล้ว ไม่มีทางที่มันจะไปให้ถูกต้องได้ รู้จักกิเลส รู้จักความทุกข์ รู้จักกิเลส และรู้จักความเคยชินของมัน รู้จักไอ้หมักดองอาสวะของมัน รู้จักความทุกข์ ก็คือตามธรรมชาติมันเป็นของมันอย่างนั้น ถ้าเราตั้งใจไว้ไม่ถูกต้องก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเราตั้งใจไว้ถูกต้อง เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จะไม่มีความหมายในทางที่ทำให้เราต้องเป็นทุกข์ ถ้ามีธรรมะพอ โอ้, มันเท่านั้นเอง มันอย่างนั้นเอง ธรรมะสูงสุดของพระพุทธศาสนาคือคำว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ฉันไม่รัก ไม่เกลียด ไม่โกรธ ไม่กลัว ไม่เป็นทุกข์อะไรหมด นั่นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็ไร้ความหมาย ไม่มีพิษ ไม่มีฤทธิ์ ได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร ประพฤติถูกต้อง ไอ้ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไร้ ไร้ฤทธิ์เดชไปเลย หมดความหมายเลย ถ้าได้ยินเขาสวดมนต์ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บเป็นธรรมดา ความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้นั่นน่ะ เขาสวดในขั้นต้นนะ ขั้นศีลธรรม ให้รีบ รีบช่วยตัวเอง ที่จริงสิ่งเหล่านี้แก้ไขได้โดยธรรมะ ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย คือทำให้ ๔ อย่างนี้ไร้ความหมายนี่ทำได้ ซึ่งกำลังจะต้องทำต่อไป อย่ามัวหยุดยอมแพ้เสียว่า มีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไม่ได้ มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้เหมือนที่ชาวบ้านเขาสวดกันอยู่บ่อย ๆ มันสวดครึ่งท่อนนะน่ะ มันสวดไม่หมดนี่ มันควรจะสวดต่อไปจนถึงว่า ถ้าว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ที่มีความเกิดเป็นธรรมดาก็จะพ้นจากความเกิด ที่มีความแก่เป็นธรรมดาก็จะพ้นจากความแก่ ที่มีความตายเป็นธรรมดาก็จะพ้นจากความตายนี่จนว่ามีอะไรที่เป็นทุกข์แล้วจะไม่ต้องไปทุกข์ ไม่รู้เพราะเหตุใดเขาเอามาให้สวด ท่องกันเพียงเท่านั้น ตอนที่สำคัญไม่เอามาให้สวด มาท่องกันว่าเราจะต้องเอาชนะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายให้ได้ มันจึงจะดับเพลิงทุกข์ได้ ดับเพลิงกิเลสได้
อ้าว, เวลาที่เหลืออยู่เล็กน้อย คุณสงสัยก็ถาม ไมโครโฟนเขาไปวางไว้ให้ตรงนั้น ไม่เข้าใจส่วนไหน จะซักไซ้ส่วนไหนก็นิมนต์
Q : ขอกราบเรียนถามท่านเจ้าคุณอาจารย์ว่า ที่ว่าภาวะที่จิตอยู่ในภาพสะอาด สว่าง สงบนั้น เป็นภาวะของนิพพานนั้น แล้วภาวะของนิพพานที่อธิบายอย่างนี้ ไม่ทราบว่าเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องใช่หรือไม่
A : คนละเรื่องแล้ว ที่ว่าให้ถาม ถามเรื่องที่พูด สรุปหยก ๆ น่ะ นั่นมันคนละเรื่อง เรื่องเบื้องปลาย คนละเรื่อง จะให้ซักไซ้ ซักถามเรื่องไอ้ที่กำลังพูดจบไปหยก ๆ ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน หรือถ้าไม่เห็นด้วย จะค้านก็ได้ หมายถึงเรื่องที่กำลังพูด หรือที่พูดไปแล้วอ้าว, ก็กลายเป็นยกเรื่องอื่นมาถาม ก็ได้เหมือนกัน จิตที่สะอาด มันก็ไม่มีกิเลส สว่าง ก็มีสติปัญญา สงบก็มัน ก็ว่าไม่มีความทุกข์ ถ้าพูดว่าสงบก็คือไม่มีความทุกข์ ไม่มีไฟกิเลส ไม่มีไฟทุกข์ ๒ อย่างเผามันก็สงบ สะอาดเพราะว่ามันปราศจากสิ่งเศร้าหมองก็คือกิเลส สว่างก็เต็มไปด้วยความรู้ที่ถูกต้อง คือสติปัญญาสัมมาทิฏฐิ ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ จิตนั้นมันจะสลัดความทุกข์ไปได้หมด มันก็ไปอยู่กับนิพพาน ไอ้ ๓ อย่างนี้ให้ถือว่าเป็นสมบัติของจิต จะให้เป็นสมบัติของพระนิพพาน สะอาด สว่าง สงบ ก็ได้เหมือนกันแหละ แต่มันต้องอธิบายอ้อม ๆ กันหน่อย พระนิพพาน สะอาด ก็ไม่มีกิเลส พระนิพพาน สว่างก็เป็นสติปัญญา พระนิพพานสงบก็ดับทุกข์ได้ แต่คำ ๓ คำนี้ต้องการให้เป็นเรื่องของจิต เป็นคุณสมบัติของจิต เราพยายามรักษาไอ้ชีวิตก็แล้วกัน ชีวิตทั้งหมด ทั้งกาย ทั้งจิต ทั้งอะไรนี่ให้สะอาด คือปราศจากกิเลส ให้สว่างรุ่งเรื่องอยู่ด้วยปัญญา ให้สงบเย็นสบายไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่มันเป็นจุดมุ่งหมาย จุดมุ่งหมายที่เราต้องการ ทำไมเราไม่สะอาด เพราะมีกิเลส ทำไมมีกิเลส เพราะเรามีอวิชชา เพราะว่าไอ้สังขารกลุ่มนี้มันมีอวิชชายึดครอง มีกิเลส มันจึงสะอาดไม่ได้ สว่างไม่ได้ สงบไม่ได้ ถ้าสกัดกั้นอวิชชาไปเสียได้อย่างที่พูดเมื่อตะกี้ พอสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ มีสติปัญญา มีวิชชาเป็นความรู้เข้ามา อวิชชาเข้าไปยึดครองไม่ได้ ทีนี้ไอ้ระบบจิต กายนี้มันก็เดินไปถูก ก็คือไม่ต้องเป็นทุกข์ คือยังสะอาด คือจะสะอาด สว่าง สงบขึ้นมาได้ มันไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ เพราะอวิชชาเข้ามาเมื่อตะกี้นี้เอง ลองทำเพียงว่าไม่ให้อวิชชาเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะมีความสะอาด สว่าง สงบ เป็นที่น่าพอใจอยู่เสมอแหละ มีสติ มีความรู้ มีปัญญาพอที่จะไม่ให้อวิชชาครอบงำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส การได้สัมผัสผิวหนัง หรือว่าจิตใจได้รับอารมณ์ใด ๆ เข้ามาทั้ง ๖ ทาง ๖ ทาง ๖ อย่าง ฉลาดทันเวลา อวิชชาไม่เข้ามา เราก็มีความสะอาด สว่าง สงบ อยู่ตามเดิม
คำว่าทันเวลานี้สำคัญมาก หลักธรรมะในศาสนานี้ต้องการความทันเวลา เหมือนกับที่เขาพูดกัน ชาวโลกทั่ว ๆ ไป ชาวโลกที่รู้จักเวลา รู้จักค่าของเวลา รู้จักทำอะไรให้ทันแก่เวลา ไอ้เราก็ต้องการเหมือนกันในธรรมะในศาสนา ต้องการให้เราทำอะไรให้ทันแก่เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่นนี่ เวลาเร็วมาก สั้นมาก ถ้าทำอะไรไม่ถูกต้อง ทันแก่เวลาแล้วจะต้องเกิดเรื่อง จะต้องมีความทุกข์ เพราะไม่ทันแก่เวลา
เอ้า, มีอะไรก็ถามอีก เดี๋ยวจะหมดเวลา จะหมดเวลาแล้ว ฝนอาจจะตกมาก็ได้ คุณต้องรีบไป
Q : นมัสการท่านอาจารย์ครับ คือตามที่ฟังแล้ว ผมนั่งคิดดูนะครับ อย่าง ทำอย่างไรไม่ให้มันเกิดอวิชชานะครับ ซึ่งตัวแรกเป็นส่วนหล่อเลี้ยงพวกนิวรณ์ อันนี้เท่าที่ผมพยายามฝึกดู รู้สึกจะฝึกยากมาก แม้กระทั่งของง่าย ๆ อย่างเช่น ฝึกไม่ให้ง่วงนอนอย่างนี้ครับ ทีนี้ผมจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เราจะฝึกสมาธิ ฝึกพื้น ๆ นี่แหละครับ จะฝึกบังคับตัวเองทางจิตนี่ ฝึกยังไงจึงจะเอาพวกนี้ให้อยู่
A : ก็นั่นมันอีกปัญหาหนึ่งนะ นั่นคุณถามเรื่องทำสมาธิอย่างไร เรายังไม่ได้พูดกันเลยเรื่องทำสมาธิอย่างไร และอย่าใช้คำว่าเกิดอวิชชานะ มันจะไม่ตรงความจริง เพราะไม่มีใครตอบได้หรอกว่าอวิชชาเกิดมาจากอะไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่ามันรู้ไม่ได้ว่ามันเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากอวิชชา เกิดมาจากอวิชชา เพราะว่ามันไม่ต้องเกิดนี่ มันมีอยู่ เป็นธาตุ ธา-ตุ เป็นธาตุ ๆ หนึ่ง เหมือนกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมนี่ มันมีอยู่นี่ มันไม่ต้องเกิดอีก เพียงแต่มันจะเข้ามาจับเอาจิตใจของคน เมื่อคนมันไม่มีสติ อวิชชามันไม่ต้องเกิดหรอก คือมันเตรียมพร้อมอยู่เหมือนกับว่าลมอากาศนี่ มีโอกาสเมื่อไหร่มันก็เข้าไปครอบงำ จิตก็ประกอบไปด้วยอวิชชา อย่างนี้ไม่ใช่ว่าอวิชชาเกิด มันเป็นอวิชชาเข้ามายึดครองจิต ให้เป็นจิตอวิชชา อวิชชาเกิดมาจากไหนไม่มีใครตอบได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสไว้ เพราะมันเป็นธาตุ ๆ หนึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ มันจะมีโอกาสเข้ามายึดจิตใจหรือไม่ ทีนี้เราจะไม่ให้โอกาสแก่มัน ในการที่จะเข้ามายึดครองจิตใจของเรา เราก็ฝึกวิธีที่ป้องกัน คือสติ สติเป็นเครื่องป้องกันอย่างยิ่ง การฝึกอานาปานาสติโดยเฉพาะนี้ เป็นการฝึกให้มีสติมาก เร็ว สติต้องมีมากพอ และรวดเร็ว ทันเวลาด้วย นั่นเป็นเรื่องฝึกอานาปานาสติ ไปหาคู่มือมาอ่านดูแล้วลองฝึกดู คนสอนกันไม่ได้ ฝึกแล้วมันจะสอน การกระทำมันจะสอน มีหลักว่าอย่าทำอะไร เคลื่อนไหวอะไรก่อนที่จะรู้สึกตัวเสียก่อน อย่าพูด อย่าคิด อย่าทำ อย่าตัดสินใจ อย่าอะไรก็ตาม เมื่อมันไม่รู้สึกตัว เมื่อมันยังไม่รู้สึกตัวเสียก่อนล่ะก็ อย่าได้ทำอะไรลงไป ให้รู้สึกตัวเสียก่อนแต่ที่จะทำอะไรลงไป จะฉันท์อาหาร จะอาบน้ำ จะลุกขึ้น ยืน เดิน นั่งนอน หรือจะเคลื่อนไหวอะไร ก็ขอให้ฝึกรู้สึกตัวเสียก่อน นั่นน่ะคือฝึกสมาธิ จะเป็นแบบยุบหนอพองหนอ แบบไหนก็ได้ เหมือนกันทั้งนั้นแหละ ถ้าจะฝึกให้มีสติมากพอ รวดเร็ว สำหรับจะได้รู้สึกตัวเสียก่อน อย่าคิด อย่าพูด อย่าทำอะไรลงไปโดยไม่รู้สึกตัวเสียก่อน เราก็ฝึกในทางที่ว่า จะคิด จะพูด จะทำอะไร ให้ทำความรู้สึกตัวเสียก่อน นึกถึงพระพุทธเจ้าเสียก่อนนั่นแหละมันจะป้องกันได้ จะทำ จะพูด คิดอะไร นึกถึงพระพุทธเจ้าเสียก่อน หัดให้เคยชินเป็นนิสัย ส่วนอานาปานาสตินั้นมันเป็นไอ้เทคนิคสูงสุด เต็มที่ แข็งมาก คงจะทำได้ยาก คงจะทำไม่ได้ทันที เดี๋ยวนี้เราฝึกเพียงว่าทำอะไรนึกถึงพระพุทธเจ้าเสียก่อน ใช้วิธีอย่างนี้ไปก่อน แล้วค่อยฝึกอานาปานาสติ หรือว่าแบบที่เราชอบให้สำเร็จ เราก็จะกลายเป็นคนมีสติมาก มีสติเร็ว มีสติสมบูรณ์ แล้วเราก็จะไม่ทำอะไรผิด
หนังสืออานาปานาสติ บรรยายสำหรับนักศึกษาเล่มนั้นน่ะ อ่านแล้วปฏิบัติด้วยตนเองได้ คือมันสมบูรณ์ กำหนดลมหายใจ เพียงว่าเข้าออกก็ตามให้ได้ เท่านี้ลองฝึกไปเถอะมันก็ไม่ได้ ก็ฝึกไปจนกว่าจะได้ เราบังคับจิตของเรา จิตอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ๆๆ นี่มันไม่ใช่ธรรมดาแล้ว มัน ๆ ควบคุมธรรมดา ควบคุมธรรมชาติมาก ฝึกไปเถิด ไม่ต้องมีใครไปสอน ไม่ต้องมีใครไปนั่งกำกับอยู่หรอก กำหนดอะไรได้ตามเวลาที่เราต้องการ กำหนดของภายนอกก็ได้ แต่กำหนดของภายในคือลมหายใจ สะดวกกว่า แล้วจะไปทำกสิณ เป็นวงแดง ๆ เขียว ๆ มานั่งเพ่งก็ได้ ไปเอาอสุภ(1.30.01)ก็ได้ อะไรก็ได้ ไอ้นั่นมันภายนอกดูจะไม่สะดวก ภายในลมหายใจนี่จะสะดวก มีสติกำหนดลมหายใจ คือเอาลมหายใจเป็นอารมณ์ให้สติไปเกาะ แล้วอย่าทิ้งกันนะ อยู่กันอย่างนี้ อยู่กันอย่างนี้ ถ้าทำได้ก็เรียกว่าบังคับจิตได้มากพอ สติก็ถูกฝึกมากพอ ให้กำหนดอยู่แต่ที่นั่น แล้วไปเรื่อย ๆ ๆ ตามแบบของอานาปานาสติ อธิบายหลายสิบครั้งแล้วจนเบื่อที่จะอธิบายเรื่องนี้แล้ว เพราะอธิบายหลายสิบครั้งเต็มที ไปหาอ่านดู ในเทปก็มี ไปฟัง โดยหลักแล้วมันก็กำหนดลมหายใจ วิ่งตาม ๆ จนได้ ได้แล้วก็กำหนดอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่ให้ลมหายใจผ่าน กำหนดอยู่แต่ที่ตรงนั้นจนได้ แล้วก็ทำให้มีดวงอะไรเกิดขึ้นที่ตรงนั้น สำหรับจิตจะได้กำหนดให้ประณีตยิ่งขึ้นไปก็ได้ มันก็เรียกว่าบังคับจิตได้มาก ทำสติได้ ไม่น้อย มันจะค่อยสอนไปเอง สอนให้เอง ถ้าเคยขี่รถจักรยานได้แล้วก็ไปคิด ๆ ดู การขี่รถจักรยานได้นั้นไม่ใช่ใครสอน การกระทำนั้นเองสอน ไม่มีครูคนไหนจะมาช่วยสอนให้เราขี่จักรยานได้ แต่จะบอกวิธีนั่น ๆ แล้วเราก็ขี่ ขี่ก็ล้ม ล้มก็ขี่ ขี่ก็ล้ม ไอ้ล้มนั่นแหละสอน ทำสมาธิก็เหมือนกัน ไอ้ที่ล้มเหลวน่ะมันจะสอน เช่นเดียวกับขี่รถจักรยานล้มแล้วมันก็สอน พอล้มทีหนึ่ง มันช่วยให้เรารู้จัก adjust ไอ้ความถูกต้องนิดหนึ่งเสมอ แม้ที่สุด แต่เด็กเล็ก ๆ เพิ่งคลอด สอนยืนนี่ มันรู้จักของมันเองในการล้ม เพราะล้มมันรู้จัก ไม่มีใครสอนได้ ไม่ใช่ว่าจับให้เด็กยืนแล้วมันจะยืนได้ มันต้องรู้จักทำ balance ของมันเองทีละนิด ๆ แล้วก็ล้ม ล้มแล้วรู้จักเพิ่มขึ้น รู้จักเพิ่มขึ้น จนไม่ล้ม เขาเรียกว่าไอ้ธรรมะมันสอนเอง เป็นที่พึ่งแก่ตน หรือว่าเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ อาการอย่างนี้
ใครมีปัญหาอะไรอีก ไปนึกมาก็ได้ วันหลังมาค่อยมาถามก็ได้ ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่มีปัญหา ไปทบทวนข้อที่พูดนี้ แล้วคงจะเกิดปัญหาขึ้นมาบ้าง แล้ววันหลังก็มาถาม อ้าว, ก็จะต้องไปถึงกุฏิก่อนดับไฟ ต้องปิดประชุมแล้ว คุณรีบไปเสียก่อนฝนตก และก่อนดับไฟ เอาไปคิดไปนึกแล้ววันหลังมาถาม