แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนสหธรรมมิกที่สนใจในการอบรมตนให้เป็นธรรมทายาททั้งหลาย ในการบรรยายครั้งที่ ๔ นี้ ผมจะพูดโดยหัวข้อว่าความสำเร็จของธรรมทายาท ในครั้งแรกเราพูดถึงอุดมคติของธรรมทายาท แล้วก็พูดถึงงานการหน้าที่ของธรรมทายาท แล้วก็พูดถึงกำลังในการใช้กำลังของธรรมทายาท ที่นี้ก็มาถึงเรื่องความสำเร็จของธรรมทายาทซึ่งจะต้องพูดถึงเรื่องความไม่สำเร็จก็พร้อมกันภายในตัวแหละ ความสำเร็จมีอยู่อย่างไรความไม่สำเร็จก็มีอยู่ในลักษณะที่ตรงกันข้าม อาจจะรู้ได้ด้วยเอง ด้วยตนเองว่าความไม่สำเร็จนั้นเป็นอย่างไร เราทำอะไรก็ล้วนแต่หวังผลสำเร็จเป็นธรรมดา แต่เรื่องหวังผลความสำเร็จนี่ไม่เป็นธรรมะ เพราะว่าไอ้ความหวังนั้นย่อมจะทรมานจิตใจเสมอ ดังนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสสอนว่าอย่าทำด้วยความหวัง ถ้าเราหวังเมื่อไรมันก็ผิดหวังทันที เพราะความหวังไม่ใช่มันจะสำเร็จนี่ มันก็ยังต้องผิดหวังไปเรื่อยๆ มันก็ทรมานตนเหมือนกับตกนรก เสียเวลาเปล่าๆ ทรมานตัวเปล่าๆ อย่าหวังแต่ทำให้ถูกต้อง มีพระบาลีพุทธภาษิตตรัสถึงเรื่องนี้ไว้โดยตรง คือเราจะปฏิบัติธรรมะเพื่อบรรลุมรรคผลในระดับสูงอย่าทำด้วยความหวัง ขอให้ทำด้วยความถูกต้อง ทำด้วยความถูกต้อง และทำไป ทำไป แล้วมันก็บรรลุไปตามลำดับถึงที่สุดได้ ถ้าทำด้วยความหวังน่ะมันต้องหวังด้วยอวิชชา ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะเป็นความหวัง ไอ้ความหวังที่เรียกว่าอาสา อาสา มันก็เป็นกิเลสตัวหนึ่งเหมือนกันน่ะ คำว่าอาสาหรือความหวังก็เป็นกิเลสตัวหนึ่งด้วยเหมือนกัน เกิดมาจากตัณหา เกิดมาจากอวิชชา นั้นอย่าเอากับมันเรื่องความหวัง กำลังจิตไปถูกต้องแล้วก็ทำไป อย่ามีความหวังให้มันทรมานใจ
ในข้อนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสอุปมาว่าเหมือนกับแม่ไก่ฟักไข่สิบฟองบ้าง สิบสองฟองบ้าง ในบาลีนี้ก็มีแปลกอยู่อย่าง ท่านจะอ้างไก่เป็นอุปมาแล้วก็มักจะออกจำนวนไข่สิบฟองบ้างสิบสองฟองบ้าง แม่ไก่นั้นไม่ต้องหวังว่าไอ้ลูก ลูกของเราในไข่จงถีบทำลายเปลือกไข่ออกมาเป็นตัว ไม่ต้องหวัง และตามธรรมชาติไก่มันก็คงไม่ได้นึกหวัง สัญชาตญาณทำให้มันกกไปอย่างถูกต้อง ดังนั้นแม่ไก่จะต้องฟัก กกอย่างถูกต้อง แล้ววันหนึ่งลูกไก่ก็จะออกมาจากเปลือกไข่โดยที่แม่ไม่ต้องหวัง นี่ท่านอุปมาอย่างนี้ในการปฏิบัติธรรมะ หวังน่ะคือความกระหาย ความกระหายนั้นคือกิเลส มันก็จะเป็นเรื่องทุกข์แหละ แล้วก็จะจะตกนรกอยู่ในตัว เพราะว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าความหวัง ความกระหายนั้นน่ะย่อมจะทรมานเสมอ เดี๋ยวนี้ก็น่าเห็นใจเพราะว่าเรามันไปรับเอาคำสอนของพวกไหนมาก็ไม่รู้ ก็จะต้องของพวกฝรั่งอีกเป็นธรรมดา ซึ่งสอนอะไรแล้วก็ให้หวัง ให้หวังนี่ ดังนั้นเด็กๆของเราในประเทศไทยนี้มันหวังกันใหญ่ มันรู้จักหวังและหวังกันใหญ่ ตามแบบที่ครูเขาสอนให้ทำแต่ความหวัง จนเป็นวัยหนุ่ม วัยสาว วัยอะไรมันก็หวัง หวัง หวัง จนเป็นโรคประสาทไปในที่สุด
สรุปความว่าเรื่องนี้ไม่ต้องหวัง ทำให้มันถูกต้องไปเรื่อยๆ ด้วยสติสัมปชัญญะ เอากำลังจิตมาใช้เพื่อสติสัมปชัญญะ อย่าเอาไปใช้เพื่อความหวังเลย ยกตัวอย่างให้ง่ายขึ้นไปอีกก็เช่นว่า คนที่เขาซื้อลอตเตอรี่นะ มันก็ซื้อมาแล้ว บางคนนอนไม่ค่อยหลับ มันหวังจะถูกอยู่นั่นแหละ นอนไม่ค่อยหลับ มันก็ตกนรกทั้งเป็น เพราะหวังมันก็ผิดหวังทันที พอหวังมันก็ผิดหวังทันที มันก็ผิดหวังเรื่อยไปจนปรากฏว่าลอตเตอรี่นี้ไม่ถูก มันก็ทรมานใจเสียเปล่าๆ ที่นี้ไม่ต้องหวังซื้อแล้วก็แล้วไป ถ้าเราอยากจะซื้อนะ พอถึงวันเขาออกก็ไปตรวจก็แล้วกัน อย่าไปหวังให้มันทรมานจิตใจ แต่ว่าคนปุถุชนเขากลับเห็นเป็นเรื่องสุข สนุก ในความหวังนั้นเอง นี้มัน มันก็เรียกว่ามันสนุกในกิเลสน่ะ คือ คือความกระหายหรือความหวัง อย่างนี้ไม่ใช่ธรรมะเอามาใช้เป็นธรรมะไม่ได้ พวกเราจะเอา เอาระเบียบนั้นมาใช้ไม่ได้ เราจะทำอะไรด้วยสติสัมปชัญญะ สัมมาทิฐิ เป็นต้น ไม่ต้องมีความหวัง
เดี๋ยวนี้เราก็พูดกันถึงความสำเร็จ ก็เป็นอันว่าไม่เกี่ยวกับความหวัง ความสำเร็จไม่เกี่ยวกับความหวัง มีแต่ความหวังไม่มีทางสำเร็จ ฉะนั้นต้องทำอย่างถูกต้อง เมื่อทำอย่างถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องหวัง มันก็สำเร็จ มันไม่ทรมานหัวใจ แล้วมันจะไม่มีโอกาสผิดหวัง ผมอยากจะอวด แล้วผมก็เคยอวดว่าผมนี่โชคดีไม่เคยผิดหวังเลย ไม่เคยผิดหวังเลย เขาถามทำไมไม่เคยผิดหวัง ก็ผมไม่เคยหวังนี่ ไม่เคยหวังอะไรมันจะผิดหวังได้อย่างไร เมื่อต้องการอะไรก็ ก็คิดว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วก็ไม่หวัง ก็ไม่เคย ไม่เคยผิดหวังว่าจะได้อะไรจากใคร อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ไม่เคยหวังเพราะฉะนั้นจึงไม่เคยผิดหวัง ดูจะอ้วนมากเพราะเหตุนี้ก็ได้ เพราะมันสบายดีมันไม่เคยผิดหวัง มันไม่เคยทรมานใจอะไร ในเมื่อทำอะไร จะต้องการอะไร แล้วก็หวัง หวัง หวัง หวัง
ดังนั้นความสำเร็จมีได้ด้วยการกระทำที่ถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยความหวัง เราคิดถูกมีสัมมาทิฐิ ต้องการอะไรจะทำอะไรก็ทำสิ ไอ้ความหวังน่ะเอาไปทิ้งเสีย มีแผนการที่ถูกต้อง แล้วก็ทำโดยไม่ต้องมีความหวัง จึงใช้คำว่ามีการกระทำที่ถูกต้องแล้วก็สำเร็จประโยชน์โดยไม่ต้องหวัง เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดถึงไอ้การกระทำที่ถูกต้องคืออย่างไร การกระทำที่ถูกต้องนั้นคืออย่างไร อยากจะแนะเป็นหัวข้อ ๙ หัวข้อ เพราะเลข ๙ นี่มันก็ศักดิ์สิทธิ์ดี ไอ้เรื่องเลข ๙ ดูจะศักดิ์สิทธิ์กว่าเลขอะไรอยู่หลายๆเลขทีเดียว จึงอยากจะแนะเป็นหัวข้อสำหรับความสำเร็จสัก ๙ ข้อ
ข้อที่ ๑ มีความรู้เพียงพอ เราต้องมีความรู้ในสิ่งที่เราจะทำนั่นแหละเพียงพอ ถ้าในเรื่องของพระศาสนาเราก็ต้องรู้เรื่องพระธรรมหรือพระศาสนาอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ต้องเรื่องอริยสัจน่ะ อริยสัจ ๔ นี่ ซึ่งมันก็กินความไปถึงอริยมรรคมีองค์แปด แล้วเรื่องอริยสัจ ๔ นั่น ถ้าขยายเป็นรายละเอียดออกไปมันกลายเป็นเรื่องปฎิจจสมุปบาท ความทุกข์เป็นอย่างนั้นๆ เหตุให้เกิดทุกข์นี่ท่านขยายให้เป็นเเรื่องปฎิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร ตั้งแต่อวิชชาไปจนเกิดทุกข์ นี่เรียกว่าปฎิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร นี้เป็นเรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ ที่นี้เรื่องดับทุกข์ก็คือไม่มีทุกข์ ก็คือดับตามแนวแห่งปฎิจจสมุปบาท ฝ่ายนิโรธทวารน่ะ อวิชชาดับ สังขารดับ สังขารดับ วิญญาณดับ นามรูปดับ อายตนะดับ ผัสสะดับ เวทนาดับ ตัณหาดับ อุปาทานดับ ภพดับ ชาติดับ ทุกข์ทั้งหลายดับ จะเป็นอย่างนั้นได้ก็คืออริยมรรคมีองค์แปด เราจะต้องมีความรู้เรื่องอริยสัจอย่างเพียงพอ จึงจะรู้เรื่องปฎิจจสมุปบาทชนิดที่ใช้ปฏิบัติได้ หรือปฎิจจสมุปบาทที่เป็นการปฏิบัติ ที่เป็นทฤษฎียาวเฟื้อย อวิชชาถึงความทุกข์นั่นน่ะเป็นเรื่องทฤษฏีเป็นหลักวิชา
แต่ถ้าเป็นเรื่องปฏิบัติแล้วมันก็มีนิดเดียว คือระวังอย่าให้เผลอเมื่อมีผัสสะเท่านั้น ปฎิจจสมุปบาทก็หยุดน่ะ หยุดไปในทางทุกข์ เมื่อตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณแล้ว สามประการนี้เรียกว่าผัสสะ คือตากระทบรูปจนเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการนี้อยู่พร้อมกันเรียกว่าผัสสะ ระวังที่สุดตรงผัสสะ อย่าให้โง่อย่าให้เผลอ คือให้มี สติสัมปชัญญะ มีวิชชา นี่ผัสสะชนิดนั้นมันก็ ให้เกิดเวทนาที่เป็นความรู้ เป็นการศึกษา เป็นอะไรไป ว่านี่อะไร นี่จะต้องทำอย่างไร นี่จะไม่ต้องทำอย่างไร แล้วก็ไม่ต้องทำ และมันจะไม่ยินดีในเวทนา มันไม่ยินร้ายในเวทนา ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดทุกข์ ถ้ามันไม่มีวิชชา ปัญญา สติ ในขณะผัสสะ มันก็เกิดเวทนาอย่างโง่เขลาออกมา สำหรับยินดีหรือยินร้าย พอยินดียินร้ายมันก็เกิดตัณหา ไปตามความยินดียินร้าย ก็เกิดอุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์ ไปตามความโง่ ความไม่รู้ของอวิชชา
ดังนั้นการปฏิบัติปฎิจจสมุปบาทมันเหลือข้อเดียวระวังอย่าให้เผลอ เมื่อมีผัสสะปฎิจจสมุปบาททั้งสายก็ถูกต้องคือไม่เกิดทุกข์ อย่างนี้ก็ต้องรู้ อย่าเรียนปฎิจจสมุปบาทสำหรับเก็บไว้ในหนังสือเหมือนที่เป็นกันอยู่โดยมาก ที่จริงพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้อย่างละเอียดเพื่อให้เรารู้ ทรงกำชับอย่างยิ่งยิ่งกว่าสิ่งใดน่ะ ภิกษุองค์หนึ่งไปแอบฟังอยู่ข้างหลัง เมื่อพระองค์ทรงสาธยายปฎิจจสมุปบาทอยู่ด้วยพระองค์เอง ไม่เคยพบในพระบาลีในพระไตรปิฎก ว่ามีเรื่องอะไรที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสาธยาย มีแต่เรื่องปฎิจจสมุปบาทเรื่องเดียว จะขุนจะ ปฎิจจะ ปฏิจจอุปปจฎิ วิญญาณัง ทินนังธัมมานัง สังฆัสติผัสโส ปัสสะจะ ปัจจะยาเวทนา เวทนาปัจจะยา ตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง เป็นตลอดน่ะ เมื่อเรื่องตาจบแล้ว ก็เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ ๖ รอบ นี่มันน่าสนใจ เรื่องอื่นไม่ไม่มีเกียรติมากจนถึงกับพระพุทธองค์ทรงนำมาสาธยาย มันมีแต่เรื่องปฎิจจสมุปบาททรงนำมาสาธยาย พอภิกษุองค์หนึ่งแอบฟังอยู่ข้างหลัง ทรงเหลียวไปเห็นก็อ้าว,ดีแล้วนี่ อาชีพพรหมจรรย์ แกจงเอาไป จงศึกษา จงเล่าเรียน จงไอ้ปฏิบัติ
นี่เราก็ควรจะรู้ในในนฐานะที่มีความรู้อันเพียงพอรู้เรื่องอริยสัจไกลออกไปถึงอย่างนี้ ศึกษาเรื่องอริยสัจในฐานะเป็นตถา คือเรื่องเช่นนั้นเอง ของธรรมชาติ ความทุกข์จะต้องเป็นอย่างนั้น ทุกข์กับสมุทัยต้องเป็นอย่างนั้น ทุกข์กับนิโรธต้องเป็นอย่างนั้น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นอย่างนั้น อย่างนั้นถ้าเรียกว่าตถา ตถามี ๔ คือทุกขตถา ความทุกข์เป็นอย่างนั้น ทุกขสมุทยตถา ทุกข์กับสมุหทัยเป็นอย่างนั้น ทุกขนิโรธตถา ทุกข์กับนิโรธเป็นอย่างนั้น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาตถา มีตถาอยู่ ๔ คืออริยสัจ เป็นอย่างนั้น รู้เรื่องอริยสัจให้ถึงขนาดนี้ว่าคือ ความเป็นเช่นนั้นของธรรมชาติ ความรู้เรื่องอริยสัจก็เพียงพอ นี่โดยหลักนะ พูดกันได้แต่โดยหลัก ที่นี้เรื่องระบบของกิเลส ก็ต้องมีความรู้อย่างเพียงพอ โดยย่อดยหลัก โดยย่อก็คือว่าเมื่อตาหูกระทบรูปเป็นต้น มีวิญญาณ มีผัสสะแล้ว มันโง่ที่ตรงผัสสะ มันก็เกิดเวทนา โง่ก็ให้เกิดกิเลส เป็นความโลภบ้าง เป็นความโกธรบ้าง เป็นความหลงบ้าง นี่กิเลสมันเกิดขึ้นอย่างนี้ เกิดเมื่อเราโง่ในขณะแห่งผัสสะในทุกทวารน่ะ นี้เรียกว่าเกิดกิเลสขึ้นมาแล้ว ทุกคราวที่เผลอสติ ในขณะแห่งผัสสะ นี่เรียกว่ากิเลส อย่างนี้เรียกว่ากิเลส เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง และแจกรูปออกไปได้มาก ที่นี้เมื่อเกิดกิเลสแล้ว มันจะสะสมความเคยชินแห่งกิเลส ตอนนี้เราเรียกว่าอนุสัย เกิดกิเลสประเภทโลภมันก็สะสมความเคยชินที่จะโลภ เป็นอนุสัยแห่งความโลภ เรียกว่าราคานุสัย เมื่อโกรธโล..อ่า โทสะ โกธร มันก็จะสะสมความเคยชินที่จะโกรธเป็นอนุสัยเรียกว่าปฏิฆานุสัย
ทีนี้เมื่อมันเป็นอทุกขมสุข มันไม่ถึงกับยินดีหรือยินร้าย ไม่ใช่โลภ ไม่ใช่โกรธ แต่มันยังโง่ ก็เรียกว่า อวิชชานุสัย สำหรับโมหะต่อไป เกิดโมหะทีหนึ่งก็จะมีการสะสม อวิชชานุสัย นี่ช่วยมองให้ดีให้เห็นชัดว่าเกิดโลภะทีหนึ่งก็จะสะสมราคานุสัย เกิดโทสะทีหนึ่งก็จะสะสมปฏิฆา ปฏิฆะ ปฏิฆานุสัย เกิดโมหะทีหนึ่งก็สะสม อวิชชานุสัย ที่นี้ไอ้ทั้ง ๓ นี่ทั้ง ๓ อนุสัยนี่มารวมเป็นเป็นกลุ่มเดียวกันก็เรียกว่า อหังการมมังการมานานุสัย อนุสัยแห่งการถือ มานะแปลว่าถือตัว ว่าเรา ว่าของเรา โลภะมันก็เราเรื่องของเรา โทสะมันก็มีความหมายแห่งเราของเราอยู่ข้างใต้นั้น ถึงโมหะมันก็ยังไม่ละไปจากไอ้เรื่องตัวเราของเรา อนุสัยทั้งหมดน่ะมันมีความหมายแห่งตัวเราของเราเป็นหลัก
อนุสัยนี่แปลว่านอนตาม ตามนอน ตามนอน คือตามเกิดตามคอยหาโอกาสที่จะเกิด แต่ไม่ได้เป็นของเที่ยง นอนอยู่ในสันดาน เหมือนที่เราชอบพูดกัน อย่าชอบพูดอย่างนั้นนะว่าอนุสัยนอนนิ่งอยู่ในสันดาน พูดอย่างนั้นมันก็เป็นสัสสตทิฐิ มันผิดหลัก อนุสัยก็เป็นไอ้สังขาร เป็นสังขตธรรม ธรรมดานี่มีการเกิดได้มีการดับได้ แต่ความที่มันพร้อมที่จะเกิดมันแน่นอนที่จะเกิดน่ะ เราจึงเห็นว่าเหมือนกับว่านอนนิ่ง นอนรออยู่ในสันดาน คำพูดนี้พูดโดยภาษาคนก็ได้เหมือนกันแหละ แต่ถ้าพูดภาษาธรรมะ ภาษาความจริงแล้วไม่ได้หรอก เพราะว่าอนุสัยไม่ได้เป็นสัจ เป็นของเที่ยง มันเป็นของเปลี่ยนแปลง เป็นสังขารอยู่เหมือนกัน นั้นอนุสัยก็คือความเคยชิน ที่จะเกิดกิเลส ซึ่งมันรอพร้อมอยู่ในสันดาน มันมีเหตุมีปัจจัยนะมันจึงจะทำงานน่ะ อนุสัยมันต้องมีอะไรเข้ามายั่วมาล่อจากภายนอก มันจึงจะลุกขึ้นมาเป็นกิเลส ความเคยชินแห่งกิเลสเรียกว่าอนุสัย มีพร้อมที่จะเกิดเมื่อมีอารมณ์แห่งกิเลสมันก็ อนุสัยนั่นน่ะมันลุกกลับมาเป็นกิเลส
ทีนี้อนุสัยนี่สะสมมากขึ้น คือความเคยชินที่จะเกิดกิเลสมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น มันก็ดันออก มันก็ปรี่ที่จะออกมา เมื่อมันมีมากมันก็ดันมันก็มีความดันปรี่ที่จะออกมานะ อย่างเอาน้ำใส่ตุ่มที่มีรูรั่ว ถ้าเราใส่น้ำมาก มันก็ดันออกมาแรง ถ้าน้ำน้อยมันก็ไม่สู้ดัน อนุสัยในสันดานนี้ก็เหมือนกันแหละมันจะดันออกมา จะไหลออกมา ไอ้การที่มันไหลออกมา หรือส่วนที่มันไหลออกมานี้เราเรียกว่าอาสวะ ถ้าไม่มีกิเลสก็ไม่มีอนุสัย เพราะว่าอนุสัยมันคือความเคยชินของกิเลส เมื่อไม่มีอนุสัยเก็บกักไว้มาก็ไม่มีจะไหล ไม่มีอะไรจะไหลออกมา คือไม่มีอาสวะนั่นเอง ฉะนั้นเราทำอย่างไรให้สิ้นอาสวะ ให้สิ้นอนุสัย ให้สิ้นกิเลสล่ะ ถ้าจะสิ้นอาสวะก็ต้องสิ้นอนุสัย ถ้าจะสิ้นอนุสัยก็ต้องสิ้นกิเลส ทีนี้มันมีหลักของมันว่า ถ้าเกิดกิเลสทีหนึ่ง จะเพิ่มอนุสัยทีหนึ่งเหมือนกัน เกิดโลภทีหนึ่งเพิ่มอนุสัยโลภครั้งหนึ่ง เกิดโกธรทีหนึ่งเพิ่มอนุสัยโกธรทีหนึ่ง มันจะเพิ่มหนึ่ง หนึ่ง หนึ่ง ขึ้นไปทุกคราวที่เกิดกิเลส
ทีนี้ในทางที่ตรงกันข้ามอย่าเกิด มีอะไรมายั่ว ขณะที่มันจะต้องเกิดน่ะ ไม่ให้เกิด ถ้าไม่ให้เกิดได้ นี่อนุสัยจะลด ลดหนึ่งเหมือนกัน จะลดจะลดหน่วยหนึ่ง การที่ไม่ให้กิเลสเกิดได้ตามที่ควรจะเกิดนั้นน่ะจะเป็นการลดอนุสัย ถ้าเราระวังไม่ให้กิเลสเกิด เมื่อมีอารมณ์มายั่วให้เกิดจะลดอนุสัย อนุสัยจะลดลง จะบางลง เมื่ออนุสัยลดลงอาสวะมันก็ลดลงน่ะ มันไม่มีสะสมมากพอที่จะปรี่จะไหลออกมา ฉะนั้นเราอยู่อย่างไม่ให้เกิดกิเลสเถอะ อนุสัยจะลดอาสวะจะสิ้นในในโอกาสข้างหน้า อยู่ด้วยสติสัมปชัญญะอย่าให้เกิดกิเลสได้ อนุสัยจะลดลง แล้วอาสวะก็จะไม่มี ระบบกิเลสเป็นอย่างนี้ พูดสั้นๆมันเป็นอย่างนี้ มันเนื่องกันอยู่ระหว่างกิเลสระหว่างอนุสัยระหว่างอาสวะ หรือว่าเราจะสร้างปัญญาอันเฉียบแหลมขึ้นมา ตัดทำลายอนุสัยโดยตรงก็ได้ อาสวะก็จะสิ้นไปด้วย แต่จะทำอย่างเรียกว่าอย่างเนิ่นช้านะ อย่างตามปกติก็คือระวังอย่าให้เกิดกิเลส อนุสัยจะลด อาสวะจะไม่มี นี่เรียกว่าระบบของกิเลสเราต้องรู้ ต้องรู้มันอย่างเพียงพอ ช่วยจำไว้โดยหลักๆอย่างนี้
ทีนี้ก็เรื่องจิตประภัสสร มีใครเขียนถามก็ตอบเสียเลย จิตประภัสสร เป็นพระบาลี ว่าจิตนี้มีธรรมชาติ ประภัสสร คือเรืองแสง สว่างไสวและเรืองแสง แต่แล้วมันก็เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเกิดขึ้น เรียกว่าจรเข้ามาเป็นอาคันตุกะ ถ้ามันไม่มีอุปกิเลสเกิดขึ้นก็ประภัสสรไปตามเดิม ถ้าอย่ามีอุปกิเลสเกิดขึ้นก็จะประภัสสรตลอดกาล แต่เดี๋ยวนี้มันมีกิเลสเกิดขึ้นได้ในจิตชนิดนี้ เพราะว่าจิตชนิดนี้ยังมิได้อบรม จิตประภัสสรนั้นยังไม่ได้อบรม แม้จะประภัสสรแต่ให้โอกาสแก่กิเลสที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นกิเลสจึงเกิดขึ้นบ่อยๆ สูญเสียประภัสสรไปบ่อยๆ และพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดรู้ความจริงข้อนี้บุคคลนั้นจะมีจิตตภาวนา คือการทำจิตให้เจริญ ถ้าเขารู้ข้อนี้ เขารู้ว่ามันมีวิธีที่จะทำให้จิตประภัสสรเป็นการถาวร คือเราทำจิตนี่ให้เจริญจนกิเลสเกิดอีกไม่ได้ จิตเดิมๆที่เป็นประภัสสรนั้นกิเลสเกิดได้อยู่ ก็มาอบรมกันเสียใหม่ตามหลักพระธรรมที่เราเรียนๆ กันนี่ อบรมจิตอย่างไร ก็อบรมจิตอย่างนั้น จิตนั้นก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นไม่เกิดกิเลสได้อีก
ดังนั้นความเป็นประภัสสรมันก็ตลอดกาล ผู้ใดรู้ความจริงข้อนี้ จิตตภาวนาจะมีแก่ผู้นั้น นี้เรายังมีความแน่ใจว่าไอ้จิตตภาวนานี้มันไม่ไร้ผลและมันจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะอบรมแล้วไอ้ความเป็นประภัสสรของจิตนั้นจะตลอดไป จะถาวรอยู่เป็นจิตที่บรรลุมรรคผลนิพพานนั่นแหละ จิตเดิมประภัสสรแต่ว่า แต่ว่าไม่ไม่สามารถที่จะห้ามกันกิเลสไม่ให้เกิดได้ นั้น กิเลสจึงเกิดเป็นคราวๆ ทีนี้มาอบรมเสียใหม่จิตชนิดนี้จะไม่ให้โอกาสแก่กิเลสอีกความประภัสสรก็ตลอดกาล นี่ความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่นี่ เมื่อเรารู้ความจริงว่าจิตนี้อบรมได้ เพราะแต่เดิมมันไม่มีกิเลสมันประภัสสร เราก็อบรมเพียงอย่าให้เกิดกิเลสได้ มันก็เท่านั้นเอง เรื่องมันมีเท่านั้นเอง นี่เราต้องรู้เรื่องระบบจิตประภัสสร จะใช้ปฏิบัติได้ หรือจะรู้เรื่องดีจะบอกผู้อื่นก็ได้ นี่ก็ระบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน อยู่ในพวกความรู้ที่ต้องเพียงพอ
ทีนี้ระบบจิตว่าง ซึ่งยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก แล้วก็เอาไปล้อก็มีไม่เชื่อก็มี จิตว่างนั้นน่ะมีได้เมื่อจิตเห็นว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดถือ อย่างพระบาลีว่า เธอจงโมกขราชะ จงดูจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง แล้วมัจจุราชก็จะไม่เห็นเธอ เพราะว่าให้เห็นโลกเป็นของว่างนะ ก็เมื่อ เมื่อ เมื่อ จิตเห็นโลกเป็นของว่าง จิตก็ไม่รู้จะจับฉวยอะไร จิตที่ไม่ได้จับฉวยอะไรนี้เรียกว่าจิตว่าง มันจะคิดจะนึกจะพูดจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ แต่มันไม่จับฉวยอะไรโดยความเป็นของตนหรือเป็นตัวตน มีพระบาลีว่า อัตเตนาวา อัตตนิเยนาวา สุญโญโลโก โลกนี้ว่างจากความเป็นตน ว่างจากความเป็นของตน คำว่า โลกนี่หมายถึงทุกสิ่งที่เป็นสังขตะทุกสิ่งเลย ไอ้ทุกสิ่งนี้ว่างจากตัวตนว่างจากของตน หรือว่างจากความหมายแห่งตัวตน ว่างจากความหมายแห่งของตน นี้จิตที่อบรมดีแล้ว ศึกษามาพอแล้วมันก็เห็นความจริงข้อนี้ อ้าว,ไม่ ไม่ ไม่ ไม่มีตรงไหนล่ะที่จะเป็นตัวตนหรือเป็นของตน มันเลยไม่จับฉวยอะไร ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร อย่างนี้เราเรียกว่า “จิตว่าง ” ไม่มีอุปาทานก็ไม่มีทุกข์น่ะ ในเมื่อไม่มีอุปาทาน มันก็ไม่มีทุกข์น่ะเพราะว่าความทุกข์นี่เกิดมาจากอุปาทาน สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วความทุกข์เกิดมาจาก ปัญจุปาทานักขัน คือขันธ์ที่มีอุปาทาน เมื่อจิตไม่มีอุปาทานในขันธ์ใดๆก็ไม่เป็นทุกข์ นี่เรียกว่าจิตที่ไม่ได้ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นของตนนั้นเรียกว่า “จิตว่าง ” เพราะว่ามันเห็นความว่างนะ
นิพพานว่างอย่างยิ่งไม่มีอะไรว่างเท่านิพพาน ว่างจากกิเลส ว่างจากทุกข์ ว่างจากทุกๆอย่าง ถ้าเห็นความว่างมันก็คือเห็นนิพพาน แล้วจิตก็ไม่จับฉวยอะไรนั่นเป็นจิตว่าง เราอย่าไปจับฉวยอะไร คืออย่าหมายมั่น โดยอะไรเป็นตัวตนเป็นของตน จะไม่มีทุกข์ จะเป็นสุข หรือทำงานก็ทำด้วยดี จิตที่ไม่ ไม่ ไม่หมายมั่นยึดถืออะไรโดยความเป็นของตนน่ะ เป็นจิตว่างนี้ทำงานก็ดี ทำงานได้ดี ทำงานด้วยจิตว่างนั้นทำ ทำ ทำได้ดีกว่าจิตที่มีกิเลส ยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่ แม้แต่จะนอนก็หลับดีกว่าจิตไม่ว่าง จิตที่ไม่ว่างแม้จะนอนหลับก็หลับยาก ถ้าจิตว่างนั่งพักผ่อนก็สบายดี ทำงานก็ทำได้ดี จะนอนหลับก็หลับได้ดี จิตที่ไม่มีอุปาทานจับฉวยอะไรอยู่เขาเรียกว่าจิตว่างมีเท่านี้แหละ ไม่จับฉวยอะไรอยู่ก็ไม่มีอุปาทาน ก็ไม่เกิดกิเลสใดๆขึ้นมาได้ ก็ไม่ร้อนนะก็สบายดี อยู่ด้วยจิตว่างนั้นจะสบายดี ทั้งเมื่อทำงาน เมื่อพักผ่อน เมื่อนอน นี่เป็นระบบหนึ่ง เรียกว่าระบบจิตว่าง จะต้องรู้อย่างเพียงพอนะจึงจะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ หรือเอาไปสอนใครก็ได้
ให้สอนเรื่องความว่างเรื่องสุญญตานี่ คือสอนพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ถ้าสอนอย่างมีตัวตนมีของตนนี่เป็นพุทธศาสนาชั้นต่ำชั้นเด็ก สอนว่ามีตัวตนเป็นของตน อะไรของตนตนนี่สำหรับชั้นต่ำสำหรับมีตัวตน มันก็เพื่อให้ทำดีให้ทำให้ละชั่วให้ทำดี แต่ในที่สุดต้องสอนว่ามันไม่มีตัวตน มันว่างจากตัวตน นี่จึงจะเป็นพุทธศาสนาที่แท้จริง ถึงระดับของพุทธศาสนาสอนเรื่องความไม่มีตัวตน ไอ้สิ่งที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ หรือมิจฉาทิฐิ นี่ สัมมาทิฐิก็มีอยู่ ๒ ชั้น ชั้นที่มีตัวตนก็มี อะไรอะไรก็มีตัวตน มีบุญมีบาป มีสวรรค์ มีบิดามารดา มีนั่นมีนี่เป็นสัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะคือมีอาสวะ เป็นปุญญะภาคียา เป็นไปในส่วนแห่งบุญ นำให้เกิดใหม่ ส่วนสัมมาทิฐิที่เห็นว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางดับทุกข์เป็นอย่างไร จนกระทั่งเห็นปฎิจจสมุปบาท เห็นความไม่มีตัวตน โน่นเป็นสัมมาทิฐิชั้นที่ไม่มีอาสวะ เหนือบุญขึ้นไปเป็นไปเพื่อไม่เวียนว่าย
พุทธศาสนาเราก็มีทั้ง ๒ ชนิดสำหรับสอนคนชาวบ้านที่มีตัวตนก็สอนให้ดี แต่ถ้าสอนไอ้ผู้ที่จะรู้จริงเห็นจริงก็สอนให้พ้นดีขึ้นไป คือไม่มีตัวตน นี่เรียกว่ามันเป็นระบบ มีตัวตนหรือว่างจากตัวตน ขอให้พวกธรรมทายาททั้งหลายรู้ให้พอให้ถูกต้อง ให้พูดให้ถูกอย่าพูดให้ผิดในเรื่องนี้ ว่างไม่ว่างอย่างไร มีตัวตนไม่มีตัวตนอย่างไร มีดีมีชั่วและเหนือดีเหนือชั่วนั้นมีอยู่อย่างไร แล้วก็จะรู้เรื่องมัฌชิมาปฎิปทาน่ะ ต้องเห็นไอ้สัมมาทิฐิสูงสุด มัชฉิมาปฎิปทาจึงจะสูงสุด ไม่มีดีไม่มีชั่ว ไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ไม่มีได้ไม่มีเสีย ไม่มีแพ้ไม่มีชนะ นั้นมันสูงเกินไป ไอ้พวกชาวบ้านเขารับไม่ได้ ถ้าไปพูดอย่างนี้เขากลับจะหาเป็นมิจฉาทิฐิเสียอีก ที่ถูกจริงนี่กลับจะหาเป็นมิจฉาทิฐิเสียอีก คือไม่มีสิ่งใดที่ที่จะต้องถือว่าเป็นตัวตน ที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตนมันไม่มี อะไรแล้วมันก็มี มี มี มีไปตามธรรมชาติ ตามปัจจัยตามธรรมดาของมัน มันมี มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ว่าทุกสิ่งนั้นไม่มีความหมายแห่งตัวตน นี่เป็นสัมมาทิฐิที่ถูกต้อง ถ้าว่าไม่มีอะไรเสียเลยมันก็เป็นมิจฉาทิฐิ ประเภท นัตถิกทิฏฐิ หรือออเหตุกทิฏฐิ อกริยทิฏฐิ พวกโน้นไปไม่มีอะไรเสียเลย แต่ถ้ามีก็มีสิ แต่ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ก็ไม่ไปยึดถือมันมันก็ไม่มีความทุกข์ นี่เราต้องมีความรู้เรื่องตัวตน หรือเรื่องว่างจากตัวตนนี่ให้พอนะ ให้พอตัวนะ เธอทำงานให้ธรรมะให้ศาสนา
นี่ต้องรู้ว่าไอ้นิพพานนี้มันมีหลายระดับนะ นิพพานสมบูรณ์ นิพพานไม่สมบูรณ์ นิพพานชั่วคราว นิพพานทันทีที่นี่เดี๋ยวนี้ มีหลายระดับ เมื่อมันว่างจากกิเลสไม่มีกิเลสกวนจิต แล้วก็เป็นนิพพานชนิดหนึ่งเสมอแหละ ดังนั้นเราต้องมีเวลาที่นิพพานชั่วคราวน่ะคือกิเลสไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้มีอยู่ในจิต ไม่กวนจิต ว่างจากกิเลสนิดหนึ่งก็มีนิพพานนิดหนึ่ง มากก็มีนิพพานมาก ถ้าว่างจากกิเลสตลอดกาลมันก็เป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นเราจะต้องมีนิพพานไอ้ธรรมชาติชนิดชั่วคราวนี้ได้ เมื่อไม่เกิดกิเลสโดยเหตุใดก็ตามเมื่อนั้นก็เป็นนิพพานชนิดชั่วคราวนี้ ถ้าว่าเราทำสมาธิ ทำวิปัสสนาข่มขี่กิเลสไว้ได้ชั่วคราว มันก็เป็นนิพพานชั่วคราวชั่วสมัยเรียกว่า สามายิกนิพพาน หรือมันถ้ามันเผอิญเป็นมีเหตุอะไรเผอิญเป็น ไม่เกิดกิเลสด้วยเหตุนั้นก็เรียกว่า ตทังคนิพพาน นิพพานเย็น ความหมายว่าเย็นเพราะไม่มีร้อน ร้อนคือกิเลส ไม่มีกิเลสก็เย็น เย็นเป็นนิพพาน ฉะนั้นเราต้องมีเวลาที่ว่างจากกิเลสกันบ้างตามสมควร ไม่อย่างนั้นเป็นบ้าตายแล้วนอนไม่หลับ ไม่ได้มานั่งกันอยู่ที่นี่ นี่เรามีชีวิตรอดอยู่ได้เพราะมันมีความว่างจากกิเลสเล็กๆ สั้นๆ ระยะสั้นๆ เป็นคราวๆ หล่อเลี้ยงอยู่ จึงไม่ต้องเป็นโรคประสาท ไม่ต้องเป็นบ้า ไม่ต้องตายเหตุเพราะเหตุว่านอนไม่หลับ นี่นิพพานมีหลายระบบอย่างนี้หลายชั้นอย่างนี้ เราต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้เท่าที่เราจะเอามาใช้ได้ก่อน ถ้ายังไม่ถึงนิพพานโดยสมบูรณ์ เราอาจจะสอนประชาชนให้รู้จักใช้นิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วคราวนี้ หล่อเลี้ยงเขาไว้บ้าง ได้ยินว่าปีนี้เป็นโรคประสาทเพิ่มขึ้นเป็นแสนๆ ๗ แสนเมืองไทย เพราะมันไม่รู้จักจะทำให้มันหยุดเสียบ้าง
ดังนั้นรู้จักทำให้ว่างจากกิเลสเสียบ้าง อย่าวิตกกังวล อย่าอาลัยอาวรณ์ ให้มันติดเนื่องกันไป นี่จำเป็นมากนะไม่ ไม่อย่างนั้นเพื่อนมนุษย์ของเราจะเป็นโรคประสาทกันหมด แล้วก็ระวังตัวเองให้ดีๆ เดี๋ยวมันจะเป็นเสียเอง เมื่อนอนไม่หลับนานเข้ามันต้องเป็นโรคประสาท ให้รู้จักดำรงจิตไว้ให้ถูกต้องเท่านั้นแหละ มันก็เป็นไอ้ความหยุดแห่งการปรุงแต่ง หรือว่างจากตัวตน อยู่กับนิพพานเป็นชีวิตที่เยือกเย็น แม้ชั่วขณะๆ ก็ยังดี เย็นสนิทก็เป็น อนุปาทิเสสนิพพาน หมดกิเลสแล้วแต่ยังไม่เย็นสนิทก็ สอุปาทิเสสนิพพาน อย่างนี้มีในชัดอยู่ในพระบาลี ท่านเปรียบด้วยไอ้กระเบื้องเผา ในเตาเตาเผากระเบื้อง ลุกแดง สุก พอเขี่ยออกมา คีบออกมาจากเตา เพราะเตามันดำ แล้วมันก็เป็นไอ้ สอุปาทิเสสนิพพาน ความร้อนยังเหลืออยู่ แม้ดำแล้วก็จะยังร้อนอยู่ ต้องทิ้งไว้อีกระยะหนึ่งจนไม่ร้อนเลย ไปจับได้ดีนี้จึงจะเป็น อนุปาทิเสสนิพพาน อธิบายอย่างนี้ก็มี เรื่อง อนุปาทิเสสนิพพาน สอุปาทิเสสนิพพาน นี้มีมีอธิบายหลายอย่างแล้วชักจะยุ่ง ยึดถือเป็นหลักได้อย่างในพุทธนิกาย พระอรหันต์เป็นอนุปาทิเสสบุคคล ส่วนพระอนาภีอนาคามีลงมานี่เป็นสอุปานิเสสบุคคลคือยังมีกิเลสเหลืออยู่ ก็เรียกว่านิพพานมีหลายระดับมีหลายชั้น เราก็รู้รอบรู้พอสมควรที่จะถือเอาเป็นประโยชน์ให้ได้สักชั้นหนึ่ง หรือระบบหนึ่ง
หัวใจธรรมะนี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องรอบรู้เหมือนกัน เพราะไอ้สิ่งที่เรียกว่าหัวใจ หัวใจนี่มันดีมากเพราะมันง่ายนี่ จะเป็นอะไรไอ้เขาก็มักจะมีหัวใจกันทั้งนั้นแหละ หัวใจนั่น หัวใจนี่ หัวใจยักษ์ หัวใจลิง หัวใจ นี่คนเขาชอบหัวใจกัน นี้เอาหัวใจพระพุทธศาสนาไปให้ที่ว่ายึดถือแล้วมันคุ้มครองได้ บทสรุปบทย่อของไอ้ธรรมะทั้งหมดเรียกว่าหัวใจได้ โอวาทปาติโมกข์ ก็เป็นหัวใจได้ คาถาพระอัสชิก็เป็นหัวใจได้ สัพเพ ธรรมมา นารัง ก็เป็นหัวใจได้ ถ้ามันหัวใจขนาดใหญ่มันก็คำพูดมันก็มากออกไป หัวใจเล็กๆๆมาก็คำพูดมันก็น้อยมันเข้มข้น เดี๋ยวนี้ผมชอบบอกคนอื่นว่าหัวใจพุทธศาสนาแท้อย่างเข้มข้นน่ะมี ๓ พยางค์นะ คือ “เช่นนั้นเอง” ๓ พยางค์ “ตถาตา” เมื่อตอนเช้านี่ก็ยังบอกให้ฝรั่งคนเขาชอบใจมากหัวใจของพุทธศาสนาว่า “เช่นนั้นเอง” ถ้าเป็นภาษาอังกฤษมันเหลือ ๒ พยางค์ด้วยซ้ำไปว่า suchness เหลือ ๒ พยางค์ว่าเช่นนั้นเอง เรา ๓ พยางค์
อะไรๆทุกเรื่องมันคือแสดงความเป็น “เช่นนั้นเอง” อริยสัจก็ “เช่นนั้นเอง” อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือ “เช่นนั้นเอง” ปฎิจจสมุปบาท ก็ “เช่นนั้นเอง” เป็นอย่างอื่นไม่ได้ต้องเป็นไปตาม ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา ของมันจึงว่า “เช่นนั้นเอง” พอเห็นว่า “เช่นนั้นเอง” ก็อย่าประหลาดสิ มัน “เช่นนั้นเอง” นี่จะไปรักมันทำไม จะไปเกลียดมันทำไม จะไปกลัวมันทำไม จะไปอาลัยอาวรณ์กับมันทำไมมัน “เช่นนั้นเอง” แต่ถ้าฟังไม่ดีมันก็ไม่เข้าใจมันว่าบ้าก็ได้ แต่มันฟังดีฟังเข้าใจ โอ้,มันเช่นนี้เอง การเจ็บไข้มันเช่นนี้เอง ก็ไม่ต้องกลัว ไอ้ความตายมันก็เช่นนี้เองไม่ต้องกลัว ถ้าหายก็เช่นนั้นเองไม่ต้องดีใจ มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องยินดียินร้าย มันไม่เกิดกิเลสได้เพราะถ้าเห็น “เช่นนั้นเอง” นี่ใหม่หลังสุดเลย หัวใจพุทธศาสนาที่ใหม่หลังสุดเหลือ ๓ พยางค์แล้ว ก่อนนี้เป็นประโยคๆ ก็ชักจะเอือมเหมือนกัน เหลือว่า “เช่นนั้นเอง” บาลีว่า “ตถา” “ตถาตา” ถ้าตถา ๒ พยางค์ ถ้า ตถาตา ๓ พยางค์
ในบทสวดมนต์แปลออานาปาไอ้ปฎิจจสมุปบาทนั่นเอามาสวดดูมันจะมีคำว่า ตถาตา อวิตถตา อนัญญถตา อิทัปปัจจยตา “เช่นนั้นเอง” ขี้ฝุ่นเม็ดก็ “เช่นนั้นเอง” พระนิพพานอันสูงสุดก็ “เช่นนั้นเอง” มันไม่ยึดถืออะไรโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของของตนนี่ เรื่องหัวใจพุทธศาสนาให้รู้ไว้ให้พอควรแจกอันไหนไปดูบุคคล เขาควรจะได้รับประโยคยาวๆไป หรือว่าประโยคสั้นๆไป หรือว่าสมควรแล้วที่จะรับเพียง ๓ พยางค์ว่า “เช่นนั้นเอง” ไป เอ้า,ความรู้สุดท้ายผมจะพูดระบุไปยังภาษาคนภาษาธรรม ขอให้ทุกคนรู้ความจริงเกี่ยวกับภาษาคนและภาษาธรรมไว้ให้ดี เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสทั้ง ๒ ภาษา เมื่อท่านตรัสอย่างว่ามีตัวตนก็เป็นภาษาคน เมื่อไม่มีตัวตนก็เป็นภาษาธรรม ดังนั้นในพระไตรปิฎกของเรามีอยู่ครบทั้งภาษาคนและภาษาธรรม เมื่อพูดภาษาชาวบ้านก็เป็นภาษาคนมีตัวมีตน มีดีมีชั่ว มีบุญมีบาป มีแพ้มีชนะ มีได้มีเสีย นี้ก็เป็นภาษาคนไปหมด พอพูดเป็นอนัตตา เป็นสุญญตาหรือเป็นจริง จริงกว่าภาษาคนก็เป็นภาษาธรรม
ในที่ใดท่านตรัสไว้อย่างภาษาคนก็ให้ถือเอาความหมายอย่างภาษาคน ในที่ใดท่านตรัสไว้อย่างภาษาธรรมก็ถืออย่างภาษาธรรม พอเอามาปนเข้าไม่มีทางจะรู้เรื่อง เช่น ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน นี้มันก็มีตน เป็นภาษาคน ตนของตนก็ไม่มี ลูกเมียมันจะมีมาแต่ไหนนี่มันก็เป็นภาษาธรรม อย่างนี้เป็นต้น ไอ้ภาษาธรรมนั้นน่ะก็บางทีก็เรียกว่าภาษาพระอริยเจ้า ภาษาพระอริยวินัย พูดอย่างมีตัวตนก็เป็นภาษาชาวบ้าน พูดอย่างไม่มีตัวตนก็เป็นภาษาพระอริยเจ้า ภาษาธรรม ในอังคุตตรนิกายเปรียบเทียบว่าไอ้เต้นรำน่ะมันก็เป็นภาษาคน แต่เต้นรำมันเป็นอาการของคนบ้า นี่ภาษาธรรม ไอ้ร้องเพลงมันก็เป็นภาษาคน แต่ว่าร้องเพลงคือการร้องไห้นะนั่นน่ะคือภาษาธรรม หัวเราะก็ชอบกันทุกคนน่ะเป็นภาษาคน แต่ภาษาธรรมภาษาอะไรนัยว่ามันอาการของเด็กนะน่าละอายนะ ใครหัวเราะร่าอยู่นั่นคือทำอาการของเด็กอ่อนนอนเบาะ มันน่าละอายนะ นี่มันจะมีอย่างนี้ มันจะถอดรูปออกได้ทั้งนั้นแหละ เป็นภาษาคนหรือเป็นภาษาธรรม
นี่ก็ต้องรู้ไว้ว่าเรากำลังพูดกันภาษาคนหรือกำลังพูดกันภาษาธรรม พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสโดยภาษาโลกภาษาคนแต่ว่าไม่ได้ถือไม่ได้ยึดถือความหมายอย่างเดียวกันกับที่ประชาชนเขายึดถือ ท่านพูดด้วยภาษาชาวบ้านภาษาคนปุถุชนธรรมดาแต่ท่านไม่ได้ยึดถือความหมายอย่างเดียวกันท่านตรัสว่าอย่างนี้ เรารู้เรื่องภาษาคนภาษาธรรมกันไว้ ให้ดีๆ จะไม่ต้องทะเลาะกัน นี่ผมยกตัวอย่างมา ความรู้ที่เพียงพอน่ะโดยเฉพาะเรื่องอริยสัจ เรื่องระบบกิเลส เรื่องระบบจิตประภัสสร เรื่องจิตว่าง เรื่องนิพพานมีหลายระดับ เรื่องหัวใจของพระศาสนา เรื่องภาษาคนภาษาธรรม นี่ความสำเร็จข้อที่ ๑ ก็ต้องอาศัยความรู้อันเพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ยกเอามาให้เป็นตัวอย่างนี่ เป็นตัวอย่างเท่านี้ก็ดูจะพอมันมากแล้วยกมาหมดไม่ไหว เป็นตัวอย่างเท่านี้ก็จะพอ
ทีนี้ความสำเร็จมีปัจจัยข้อที่ ๒ คือว่ามีเจตนาอันบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมทายาทนี่ จะต้องมีเจตนาอันบริสุทธิ์นะ เจตนาบริสุทธิ์ อุทิศพระธรรม อุทิศพระพุทธ อุทิศพระศาสดา อย่าอุทิศตัวเองนะ ที่ทำอะไรนี่อย่าอุทิศตัวเอง อย่าเพื่อประโยชน์ผลของตัวเอง อย่าเพื่อลาภสักการะ เกียรติยศชื่อเสียงของตัวเอง อย่างนั้นเจตนาไม่บริสุทธิ์ ต้องอุทิศพระธรรม ซื่อตรงต่อพระธรรม แล้วก็เราก็จะทุ่มเทได้หมดแหละ จะละอะไรก็ละได้ จะเจริญอะไรก็เจริญได้ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ มันควรจะชำระเจตนาของตัวเสียให้บริสุทธิ์ อุทิศทั้งหมดเพื่อพระธรรม เป็นคำกลางๆ อุทิศเพื่อพระธรรม รวมพระพุทธรวมพระสงฆ์รวมอะไรอยู่ด้วยในคำเหล่านั้น เช่นบวชอย่างนี้ ขอให้อุทิศเพื่อพระพุทธเจ้าจริง อุทิศพระธรรมจริง อย่าอุทิศแก่ผลประโยชน์อะไรบางอย่าง ความจำเป็นอะไรบางอย่าง เช่นบวชพอแล้วแล้วไป บวชพอให้หาเมียง่ายอะไรอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่อุทิศเพื่อพระธรรม มันต้องอุทิศพระธรรมกันจริงๆ นับตั้งแต่บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง สอนจริง มีวิมุติเป็นสาระจริงๆ ไม่ใช่มีลาภสักการะเป็นที่หวังนะ นี้ก็เราจะต้องชำระเจตนาของเราให้บริสุทธิ์ ว่างๆเมื่อไหร่เป็นนั่งคนเดียวในที่เงียบสงัด ตรวจสอบดูเจตนา ส่วนที่ยังไม่บริสุทธิ์ไปแก้ไขเสียให้บริสุทธิ์
นี้ข้อที่ ๓ ภาวิตา เราจะต้องทำให้มันขยายตัวออกไป คุณธรรมใดๆที่เราประพฤติปฏิบัติ ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ภาวนา ภาวนาก็ดี จะต้องทำให้มันเป็นภาวิตา คือขยายออกไป ขยายออกไป อย่าให้หยุดอยู่เท่าเดิม ให้มี มีอะไรเกิดเพิ่มขึ้นมาเรื่อย เพิ่มขึ้นมาเรื่อย เรามี มี มีอะไร ไอ้ภาษารถยนต์น่ะเขาเรียกว่าคันเร่ง คันเร่ง ถ้าไปเหยียบเข้ามันเร่งน้ำมัน ในการปฏิบัติของเราก็เหมือนกันแหละ มันต้องเร่งได้ ไอ้ญาณทัศนะ ต้องเป็นสิ่งที่เร่งได้ ถ้าไปศึกษาเรื่องระดับญาณที่สูงขึ้นไปจนบรรลุมรรคผลน่ะมันล้วนแต่เร่งญาณทัศนะ ในข้อ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเท่านั้นน่ะ ทั้งนั้นเลย เร่งไอ้ความเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขึ้นไป ขึ้นไป ขึ้นไป จนบรรลุธรรมขั้นแรกเป็นพระโสดาบัน นี่มันเร่งได้อย่างนี้ นี้พอเป็นพระโสดาบันแล้วจะเป็นสกิทาคามี มันก็เร่งอันเดียวกันนั่นแหละ เร่งทัศนะเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยิ่งขึ้นไปอีก เป็นสกิทาคามีแล้วจะเป็นอนาคามี ก็เร่งไอ้คันเร่งการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยิ่งขึ้นไปอีก เป็นอนาคามีแล้วก็เร่งไอ้คันเร่งไอ้เรื่องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนเป็นพระอรหันต์ การทำให้มากอย่างนี้เรียกว่า “ภาวิตา” ดังนั้นทำให้มันเจริญขึ้นอย่างนี้เรียกว่า “ภาวิตา”
ฉะนั้นอะไรๆที่เราทำอยู่ทุกอย่าง ไม่ ไม่ ไม่ได้เฉพาะแต่เรื่องบรรลุมรรคผล จะทำอะไรที่วัดที่ทำเป็นสาธารณะประโยชน์สังคมสงเคราะห์อะไรก็ตามขอให้มันเป็นการขยายตัวเป็น “ภาวิตา” ปริยัติก็ให้ขยายตัว ปฏิบัติก็ให้ขยายตัว ปฏิเวธมันก็ต้องขยายตัวอยู่เอง นี่เรียกว่าทำให้มันเจริญทำให้มันเจริญมันก็ “ภาวิตา” ที่นี้พหุลีกตา ทำให้มากภาวิตา พหุลีกตาบทสวดมนต์จะพบบ่อยแล้วก็มีมากที่สุดเรื่องภาวิตา พหุลีกตา ทำให้มากคือทำซ้ำๆๆๆ ให้มันมากครั้งแล้วมันก็ดีขึ้นทุกครั้ง ดีขึ้นทุกครั้ง มันจนชำนาญ จนเรียกว่ามันอยู่ในอำนาจของเรา นี่พหุลีกตาไปดูเองเถอะเห็นได้ง่ายเลยล่ะ การที่เราทำได้ครั้งแรกนั้นน่ะมันก็อย่างนั้นแหละ แต่พอทำซ้ำๆๆๆ โอ้,มันจะจะดีกว่านั้นมาก จะใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านั้นมาก จะรวดเร็วกว่านั้นมาก นี่รียกว่าทำให้ซ้ำๆๆๆ จนเรียกว่าชำนาญมีทักษะในสิ่งที่ตัวกระทำ นี่มันชำนาญ มีวสี ก็คือ มันอยู่ในอำนาจของเรามีวสี ดังนั้นขอให้ทำให้มากเป็นพหุลีกตา ทำซ้ำๆๆๆ อย่านอนใจว่าได้แล้ว ได้แล้ว แล้วก็ปล่อย มันก็หายไปแหละ มันอยู่ที่ว่ามันหลุบเข้าหลุบออก หลุบเข้าหลุบออก มันไม่เข้าไปในประตูแห่งพระนิพพานเพราะมันหลุบเข้าหลุบออก หลุบเข้าหลุบออก จงทำให้เป็นภาวิตา เป็นพหุลีกตา มันก็จะผ่านพ้นไอ้ธรณีประตุนั้นเข้าไปได้ นี่ข้อนี้เป็นข้อที่ ๔ เรียกว่าทำให้มาก
นี้ข้อที่ ๕ ทำอย่างมีฐานกำลัง ทำอย่างมีฐานกำลังคือฐานที่ตั้งของกำลัง ทำอย่างมีฐานที่ตั้งของกำลัง มีฐานกำลังเพียงพอแหละ เมื่อคืนก่อนเราก็พูดกันถึงเรื่อง พละ ๕ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ที่เป็นธรรมสโมธาน มองไม่เห็นตัวนั่นน่ะ นั่นแหละคือฐานกำลังอย่างยิ่ง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พละ ๕ อินทรีย์ ๕ อันนั้นจะต้องมีอยู่ในทุกสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ทำงาน ทำการทำงาน ทำนา ทำสวน ทำไร่ อะไรก็ตาม ทำทาน ทำศีล ทำสมาธิ ทำภาวนา ทำอะไรก็ตาม จะต้องมีไอ้ฐานพละ ๕ นี่อยู่ ตรวจดูให้ดีอันไหนหย่อนก็เร่งหรือเพิ่มอันนั้น ศรัทธาหย่อนก็เพิ่มศรัทธา วิริยะหย่อนก็เพิ่มวิริยะ สติหย่อนก็เพิ่มสติ สมาธิหย่อนก็เพิ่มสมาธิ ปัญญาหย่อนก็เพิ่มปัญญา เพราะว่ามันเป็นฐานกำลังอันแท้จริงที่เพิ่มได้ลดได้ ก็ต้องเพิ่มน่ะให้พอดีพอดี อย่าให้ย่อหย่อน อย่าให้อินทรีย์ย่อหย่อน ทีนี้คำว่า กำลัง กำลัง นี่เป็นคำพูดที่กว้างมาก ไปคิดเอาเองบ้าง ฐานกำลังน่ะมันมีมาก ฐานกำลังทางวัตถุ อันแรกที่สุดฐานกำลังทางวัตถุ มีเงิน มีของ มีอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยครบถ้วนเลย ในกิจการของเรา อย่างทำนาก็ต้องมีจอบ นี่เรียกว่าไอ้ฐานกำลังทางวัตถุคือเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องอยู่เครื่องกินเครื่อง นี่มันกำลังแห่งวัตถุ
นี้กำลังแห่งร่างกาย ทำร่างกายให้มีกำลัง ร่างกายที่ไม่มีกำลังนี้มันก็จะทำอะไรไม่ได้ไม่เป็นที่ตั้งแห่งชีวิตนะ ฉะนั้นจงบำรุงร่างกายให้ถูกต้องให้พอดีสำหรับการงานของตน แล้วแต่ว่าทำอะไร ถ้าเป็นฆราวาสทำนา ก็ทำร่างกายให้มันเหมาะสำหรับทำนา ถ้าเป็นภิกษุปฏิบัติสมถภาวนา ก็ทำร่างกายให้พอเหมาะเต็มที่สำหรับการทำภาวนา เราจะมีกำลังกายเพียงพอ แล้วเราจะมีกำลังจิตที่เพียงพอ ความเข้มแข็งแห่งจิต ความเป็นสมาธิแห่งจิต เรียกว่ากำลังแห่งจิต มันก็ต้องเพียงพอ กำลังแห่งปัญญาความรู้ ปัญญาแปลว่าความรู้มีหลายชั้น หลายระดับเต็มที ขอให้มีเพียงพอครบถ้วน นี้กำลังศรัทธา ทำไมผมจึงพูดศรัทธาทีหลังทีหลังปัญญา เพราะว่าเขามักจะพูดศรัทธาก่อนอะไรหมด แต่เดี๋ยวนี้ในพุทธศาสนาเราศรัทธาต้องเป็นผลของปัญญา มิฉะนั้นมันจะงมงายนั่นศรัทธามันจะงมงาย ดังนั้นเมื่อปัญญามันเพียงพอแล้วไอ้ศรัทธามันก็งมงายไม่ได้ นั้นศรัทธาของเราก็มีกำลังดี ไม่ไม่มีอันตราย ถ้าปัญญาไม่พอไอ้ไอ้ศรัทธาจะเป็นอันตราย จะเข้ารกเข้าพง จะถูกหลอกจะถูกลวง จะทำอะไรอย่างที่ทำๆกันอยู่ เพราะว่าศรัทธามันไม่ถูกต้อง ก็เรียกว่ามันไม่พอ
ถ้าศรัทธามันตามหลังปัญญามามันก็พอแล้วก็ถูกต้องด้วย ไอ้ศรัทธานี้ก็ไม่ใช่เล่นเพราะมันมีแรงมาก อุทิศชีวิตก็ได้ แต่มันต้องถูกต้องนะ ในศาสนาอื่นเขาจะเน้นกันแต่ศรัทธา ในพุทธศาสนาจะต้องเน้นปัญญา ให้ศรัทธามันตามหลังปัญญา แล้วก็สัมมาทิฐิ ทำไมแยกออกมาจากปัญญา เมื่อมาเป็นสัมมาทิฐินี้ มันมาเป็นเหมือนกับเข็มทิศ ถ้ายังเป็นปัญญาอยู่มันก็เป็นที่กองใหญ่ ปัญญาความรู้กองใหญ่ ถ้ามันแยกตัวออกมาเป็นเข็มทิศ ปัญญานี้เราจะเรียกว่าสัมมาทิฐิ ก็เป็นกำลัง เป็นกำลังของสัมมาทิฐิ กำลังวัตถุ กำลังกาย กำลังจิต กำลังปัญญา กำลังศรัทธา กำลังสัมมาทิฐิ ถ้ามีอย่างนี้เกินพอแล้ว ก็เรียกว่าเกินพอแล้ว มันยังมีแต่ไม่ต้องเอามาพูดก็ได้ ขอให้มีเพียงเท่านี้เถอะมันพอแหละ ไอ้ที่จะเป็นกำลังหรือเป็นฐานไอ้ของกำลัง มันมาเป็นกำลังซึ่งหน้าก็มี มาเป็นกำลังอยู่ภายใต้ซ่อนตัวอยู่ อย่างธรรมสโมธานนั้นก็มี ได้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่ขอให้มันเป็นกำลังได้
ทีนี้ข้อที่ ๖ ทำให้มันติดต่อ บาลีก็มีว่า สัสสตวิริยา สัสสตวิริยังนี่ ความเพียรติดต่อ ทำให้ติดต่อ ทำให้มาก ทำให้ชำนาญแล้วก็ยังต้องทำให้ติดต่อด้วย คำว่าติดต่อนี่มันเป็นความจำเป็นสำหรับธรรมะ บางประเภท บางหมวด บางระบบมันต้องติดต่อติดต่อกันไปเลย แม้ในสิ่งเดียวข้อเดียวเราก็ต้องทำติดต่ออยู่เรื่อยเพื่อให้มันถึงที่สุด แล้วธรรมะบางประเภทมันต้องติดต่อกันกับธรรมะข้ออื่น เช่นโพชฌงค์ ๗ ประการ มีสติระลึกได้ดีแล้วก็เลือก เลือกคือธรรมวิจยะ ธรรมะวิจยะถูกต้องแล้วก็ลงมือทำคือวิริยะ วิริยะมีแล้วต้องหล่อเลี้ยงไว้ด้วยปีติทันควันเลย ปีติมีแล้วมันก็จะช่วยให้ระงับเป็นปัสสัทธิ ปัสสัทธิดีแล้วมันก็เป็นสมาธิ สมาธิสงบระงับ ไอ้,เอ่อ, มั่นมั่นคงแล้วมันก็เป็นอุเบกขา อุเบกขาสมโพชฌงค์อันสุดท้ายนี่ มุ่งอยู่แต่ความสำเร็จได้ ไม่ต้องทำอะไรอยู่เฉยๆมันก็ไปของมัน ไปของมัน เราคอยมุ่งว่ามันจะถึงจุดสำเร็จมีอุเบกขา ทั้ง ๗ นี้ มันติดต่อ ติดต่อ ส่งเสริมกัน แม้แต่สุดแต่ความเพียร ๔ อย่าง สัมมัปปธาน นี่ก็รู้จักกันดีก็ขอให้ดูเถอะมันติดต่อกันนะ ละ ป้องกันไม่ให้เกิดความชั่ว ก็ละความชั่วแล้วก็ทำความดีแล้วก็รักษาความดี มันมีลักษณะติดต่ออย่างนี้ ถ้าทำไม่ติดต่อ ทำแต่บางอันบางตอนแล้วมันก็ล้มละลายแหละ
ถ้าเป็นธรรมะชั้นสูงก็ยิ่งติดต่อ มีความติดต่อในแบบนี้เหมือนกัน เราเรียนนักธรรมโท เราเรียนเรื่องวิสุทธิ ๗ ดูให้ดีมันเป็นเรื่องติดต่อมีลักษณะติดต่อ ศีลและวิสุทธิทำให้มีจิตตวิสุทธิ จิตตวิสุทธิทำให้มีทิฏฐิวิสุทธิ ก็มีกังขาวิตรณวิสุทธิ มีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ กระทั่งญาณทัสสนวิสุทธิ นี่อย่าต้องอธิบายกันเลยเรามีในแบบเรียนแล้ว ขอแต่เพียงให้ดูไอ้อาการที่มันต้องติดต่อนะถ้านั้นมันล้มละลายมันไม่ถึง ทีนี้ไอ้ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิน่ะมันขยายออกไปได้ตั้ง ๙ ระยะคือเป็นเป็นวิปัสสนาญาณ ๙ ทั้ง ๙ นั้นก็ติดต่อ ถ้าไม่ติดต่อก็มันเป็นไปไม่ได้ มันไปไม่รอดหรอกเพราะมันปัจจัยของกันและกัน อุทยัพพยญาณเห็นไอ้ความเกิดขึ้นและความเสื่อม จะดูให้แรงให้มีผลมากก็ดูที่ความเสื่อม แตกสลายคือภังคญาณ ถ้าภังคญาณเป็นไปถึงที่สุดมันก็จะเกิดภยญาณ คือกลัวภายในวัฏฏสงสาร มันก็เห็นโทษแห่งวัฏฏสงสาร ว่าเกิดความเบื่อหน่ายในวัฏฏสงสาร มันจึงจะเกิดความอยากพ้นเป็นมุญจิตุกัมยตาญาณ แล้วมันจึงจะหาทางหาหนทาง เป็นปฏิสังขานุปัสสนาญาณ แล้วมันก็จะพบทางคือวางเฉยต่อสังขารทั้งปวง มันจึงจะพร้อมที่จะรู้อริยสัจ มันติดต่อกันอย่างนี้ มันถ้ามันขาดมันก็ล้มละลาย ถ้ามันขาดการติดต่อกันแล้วมันก็ล้มละลาย ดังนั้นระบบธรรมะที่มันมีลักษณะติดต่อขอให้ระมัดระวังให้มาก ให้มันไปไปติดต่อ นั่นว่ากันเพื่อไปนิพพาน ที่จะอยู่ในโลกนี้จะประพฤติประโยชน์อย่างโลกแก่ประชาชนแก่ตามก็ระวังไอ้เรื่องความติดต่อที่มันจะต้องทำให้ติดต่อ มันก็เลยเป็นคำสำคัญคำหนึ่งในระบบการปฏิบัติธรรมะว่าความเพียรเป็นไปติดต่อ
ข้อที่ ๗ ทำให้กลมกลืน หมายความว่ากลมกลืนเข้าด้วยกัน ทุกองค์คงจะนึกได้ว่าผมหมายถึงอะไร ก็คืออริมรรคมีองค์ ๘ เหมือนเชือกแปดเกลียว ไม่ใช่ ไม่ใช่เชือกแปดเส้น แต่ว่าเชือกเส้นเดียวแล้วมันมีแปดเกลียว แล้วมันกลมเกลียวกัน มันจึงเหนียวแน่นแปดเท่า ถ้ามันแยกเป็นเกลียวๆไอ้ความแข็งแรงของมันก็เหลือหนึ่ง ถ้ามันรวมกันมันกลายเป็นแปด มันประหลาดอย่างอื่นอีก คือว่าถ้ามันไม่ได้กลมเกลียวกันมันไม่เดินไปได้ล่ะ มันไม่เป็นหนทางมันเดินไม่ได้ หนทางนี้ต้องประกอบไปด้วยองค์แปด ถ้าขาดบางองค์แล้วเดินไม่ได้ ทางนั้นเป็นทางที่ใช้ไม่ได้ อย่างหนทางไปนี่ต้องมี มี มีหนทางมีแนวทาง มีเครื่องสังเกตให้เห็นทาง แล้วก็มีอุปกรณ์ใดๆก็ตามเช่นว่า มันจะมีสะพานถ้ามันเป็นคลองมันข้ามไปได้ มันจะต้องมีอาหารกินได้ในระหว่างทาง ไม่มีโจร ไม่มีเสือ ไม่มีอะไรเหล่านี้ มันก็มีกำลังใจที่จะเดินไป มีความหวัง มันจึงเดินไปได้ นี่หนทางมีองค์แปดประการ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโปนี่ ไปศึกษาเอาเองเถอะเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่ในแบบเรียน
พระองค์ทรงสรรเสริญสัมมาทิฐิองค์ที่หนึ่ง ว่าเป็นรุ่งอรุณแห่งกุศลธรรมทั้งปวง เพราะเป็นรุ่งอรุณแห่งการรู้อริยสัจ สัมมาทิฐิองค์ที่หนึ่งให้ถือเป็นรุ่งอรุณ ตอนแสงเงินแสงทองขึ้นมาแล้ว ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้นมา ไอ้รุ่งอรุณนั้นแหละคือสัมมาทิฐิ มาก่อนแล้วดวงอาทิตย์จะขึ้นมาเต็มๆดวง ดังนั้นเราสนใจเรื่องสัมมาทิฐิกันให้ดีๆ ให้มาใช้เป็นรุ่งอรุณได้ หรือจะใช้เป็นเข็มทิศได้มันก็เดินไปได้ ถ้าเรามีความเห็นความเข้าใจถูกต้องเราก็ปารถนาถูกต้องคือสัมมาสังกัปโป ไอ้ตรงนี้เป็นคำพูดที่ควรจะสนใจคือคำว่าสังกัปโป สังกัปโป แปลว่าความต้องการด้วยสติปัญญา ถ้าว่าต้องการด้วยกิเลสก็เรียกว่าตัณหา ฉะนั้นคำว่าอยาก อยาก ความอยาก เราอยาก เราต้องอยากแล้วจึงจะทำอะไรได้นั้นระวังให้ดีๆ ถ้าอยากด้วยความโง่ อยากด้วยกิเกส ก็อยากนั้นน่ะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ถ้าเราต้องการด้วยสติปัญญาความรู้ เรียกว่าสังกัปปะ ไม่เรียกว่าตัณหานะ ถ้าจะเรียกว่าอยากหรือต้องการก็เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นสังกัปปะ เพราะว่าเขาต้องการด้วยสติสัมปชัญญะด้วยปัญญา สังกัปปะนั้นใช้ได้ เป็นความอยากที่ใช้ได้เป็นเพื่อนได้ แต่กิเลสตัณหาไอ้ตัวตัณหาความอยากที่เป็นตัณหานั้นใช้ไม่ได้ มันพูดว่าอยาก อยาก ในภาษาไทยนี่เป็นอันตราย ผิดก็ได้ถูกก็ได้ ดีก็ได้ชั่วก็ได้ คำว่าความอยากในภาษาไทย แต่ในภาษาบาลีมันแยกกันเด็ดขาดปนกันไม่ได้
ถ้าอยากด้วยกิเลสก็เรียกว่าตัณหา ถ้าอยากด้วยวิชาด้วยปัญญาก็เรียกว่าสังกัปปะ ดังนั้นเรามีสังกัปปะอย่ามีตัณหา มีสัมมาทิฐิแล้วก็จะเกิดสัมมาสังกัปปะ คืออยาก หรือต้องการ หรือดำริ หรือใฝ่ฝันอะไรแล้วก็แต่จะเรียก มันก็ต้องการถูกต้องแล้วก็ก็ทำให้พูดถูกต้อง การงานถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง ความพากเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง สัมมาทิฐิมาก่อนเหมือนกองหน้า สัมมาทิฐิเป็นตัวทัพหลังทัพหลวงนอกนั้นก็เป็นไอ้เรื่องบริวาร นี่มรรคมีองค์แปดประการ ตัวอย่างแห่งการกลมกลืน ต้องกลมกลืนกันสนิทอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าทุกองค์นี้คงเคยเคยเห็นอังกะลุง ที่เขาเอากระบอกไม้ไผ่เสียงต่างๆกันมาสั่นโดยคนละคนไม่ใช่คนเดียวกัน ประสานกันเป็นเพลงได้ มันกลมกลืนกัน นั้นเป็นดนตรีของพวกชวา เมื่อพระเจ้าพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปชวา คนของท่านเอาอังกะลุงมาใช้ในประเทศไทย ดูลักษณะของอังกะลุงกลมกลืนกันดีที่สุดแล้ว คนหนึ่งนั่นมี มือหนึ่งมันมีเสียงเดียวมันก็สั่นกลมกลืนกันเป็นเพลงได้ เรียกว่าความกลมกลืนมันก็มีผล ถ้าไม่กลมกลืนมันก็ไม่มีผล นี่โดยอริยมรรคมีองค์แปดนี่จะต้องกลมกลืน กลมกลืน เป็นธัมมสมังคี ขอร้องให้ช่วยจำไว้ให้ดีนะไอ้คำว่าธรรมสโมธานคำหนึ่งมันขาดไม่ได้ นะคำว่าธัมมสมังคีนี่ก็เหมือนกันขาดไม่ได้ ไอ้ความสำเร็จมันอาศัยไอ้ธัมมสมังคี ธรรมสโมธาน นี่ก็กลมกลืนเป็นข้อที่ ๗
ข้อที่ ๘ ก็อยากจะพูดว่ารักษาอุดมคติ รักษ์อุดมคติก็ได้ เราต้องรักษ์อุดมคติที่เราได้ตั้งขึ้นไว้อย่างไร เราต้องรักษ์หมายความว่าเราก็ต้องรักษา รักษาอุดมคติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย บางคนมันคิดพอใจชั่วแล่นแล้วมันก็ไม่ทำ ทำไปไม่ได้มันไม่รักษ์อุดมคติ ไม่รักษาอุดมคติอย่างเสมอต้นเสมอปลายหรือว่าตลอดกาล ถ้าเรารักษ์อุดมคติแล้วมันมันมันมันทำได้ง่าย เพราะมันอยากทำนี่เพราะมันประสงค์จะทำ สิ่งที่ทำง่ายคือสิ่งที่เรารักจะทำ ถ้าไม่รักจะทำนั่นน่ะคือสิ่งที่ทำยากที่สุด เพราะเราไม่รักจะทำ เพราะฉะนั้นขอให้รักษาอุดมคติ ให้รักษ์อุดมคติ ไว้ตลอดไปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไอ้งานนั้นจะกลายเป็นของง่าย ไอ้การทำงานนั้นจะสนุกสนาน แม้จะเหงื่อไหลไคลย้อยถ้ายังไอ้รู้สึกบูชาอุดมคติอยู่ก็จะไม่รู้สึกเหนื่อย จะตากแดดตากฝนอะไรมันก็ไม่รู้สึกเหนื่อยแถมจะรู้สึกเป็นสุขในการงานเสียด้วย แล้วก็มีปีติ พอใจในงานที่มันสำเร็จไปทีละนิด ทีละนิด มันก็ปีติที่หล่อเลี้ยงวิริยะในสัมโพชฌงค์นั่นล่ะ มันจึงทำงานไม่รู้เหนื่อยด้วยแล้วก็เป็นสุขในการทำการงานด้วย จะไม่รู้สึกว่ามีอุปสรรค ถ้าอุปสรรคเกิดขึ้นเปลี่ยนให้มันเป็นของดีมีประโยชน์ไปเสียเป็นคุณไปเสีย เพราะว่าเป็นคนรักษ์อุดมคติ เป็นสุขอยู่ในการงานไม่มีอุปสรรคอะไรแล้ว อุปสรรคเข้ามาก็กลายเป็นคุณประโยชน์ไปหมด รักษาอุดมคติข้อที่ ๘
ข้อที่ ๙ ข้อสุดท้าย ไอ้ความเหมาะสม คำนี้พูดพูดยาก แต่ว่าพูดจะขอพูดไปทีว่าความเหมะสม มันรวมความถูกต้อง ความพอดี ความไอ้เข้าอะไรไปหมดเลย สัปปุริสธรรม ๗ ประการนั่นแหละคือกฎเกณฑ์แห่งความเหมาะสม ท่องเป็นภาษาไทยไว้ก็ได้ผมได้ยินหลายคนเขาท่องไว้เป็นภาษาไทยดีมาก เหตุ-ผล-ตน-ประมาณ-กาล-บริษัท-บุคคล เหตุ-ผล-ตน-ประมาณ-กาล-บริษัท-บุคคล เหตุ เหตุน่ะ ธัมมัญญู รู้เหตุพอดี เหตุแห่งสิ่งที่เราจะต้องทำเรารู้ แล้วอัตถัญญูรู้ผลของเหตุรู้พอดี อัตตัญญูรู้ตัวเองที่จะเป็นผู้กระทำ มัตตัญญูรู้อัตราที่พอดีรู้ประมาณที่พอดี กาลัญญูรู้เวลาที่ควรทำอย่าผิดเวลา ปริสัญญูรู้จักสังคมดีเพราะเราไปต้องเกี่ยวข้องกับบุค เอ่อ, กับสังคมนั้นๆ นะ อันสุดท้ายปริสัญญูรู้บุรุษ คือรู้บุคคลรู้ส่วนที่เป็นบุคคล เพราะว่าสังคมหนึ่งๆ มันก็ต้องมีผู้นำน่ะ มีบุคคล หรือว่าบุคคลประกอบกันขึ้นเป็นสังคม ถ้าว่าเรารู้จักบุคคลดีเราก็รู้สังคมดีเหมือนกันแหละ แต่ในที่นี้ก็ให้มันรู้จักบุคคลโดยเฉพาะ เพราะมันจะรู้ได้ง่ายกว่าที่จะรู้คนมากๆ บริษัทและสังคมคนมันมากก็ต้องรู้ไปเท่าที่ควรจะรู้ แต่สำหรับบุคคลหนึ่งๆก็ต้องรู้ให้มันชัดเจนลงไปอีก นี่นักธรรมตรีไม่ใช่รึ สัปปุริสธรรม ๗ มันอยู่ในนักธรรมตรีนะ อย่าต้องพูดกันให้มันมากนักเลย ไปพื้นไอ้ความจำไอ้อะไรกันเนียใหม่เถอะ ไอ้เจ็ดประการนี้ทำให้รู้ความพอดี ความเหมาะสม ความถูกต้อง ความพอดี ผิดความพอดี ผิดความเหมาะสมมันก็ล้ม ดังนั้นไปทำให้มันถูกต้องความพอดีความเหมาะสม เป็นข้อที่ ๙
นี่องค์คุณของความสำเร็จเท่าที่นึกเห็น เท่าที่เคยใช้เป็นประโยชน์ ก็คิดว่าวันนี้มันพอ ไอ้ ๙ ข้อ นี่มันพอ ไปปรับปรุงให้มันมีทั้ง ๙ ข้อ แล้วความสำเร็จจะเป็นหวังได้ อันหวังได้ ความรู้ที่เพียงพอ ๒ มีเจตนาบริสุทธิ์ ๓ ทำให้มันเจริญขายตัวออกไป ๔ ทำให้มากคือทำซ้ำซ้ำ ๕ ทำอย่างมีฐานกำลังอันมั่นคง ๖ ทำอย่างติดต่อ ติดต่อ ๗ ทำอย่างกลมกลืน ในในสัดส่วนที่มันต้องกลมกลืน หรือองค์ประกอบที่มันจะต้องกลมกลืน ๘ รักษาอุดมคติ ๙ มีความเหมาะสมทุกๆ ทุกๆประการ เหตุ-ผล-ตน-ประมาณ-กาล-บริษัท-บุคคล ท่องง่ายกว่าที่จะท่องเป็นบาลี คือ ธัมมัญญู อัตถัญญู มันมันยากกว่า เหตุ-ผล-ตน-ประมาณ-กาล-บริษัท-บุคคล ท่องให้ขึ้นปากอยู่เสมอ ทีนี้ไอ้ความไม่สำเร็จไปคิดเอาเองถ้าว่าไอ้ ๙ อย่างนี้มันเห็นชัดอยู่หรือเปล่า ไอ้ความไม่สำเร็จก็คือตรงกันข้ามไม่ต้องพูดถึงก็ได้ มันจะเสียเวลาเปล่าๆ ไปกลับเอาหัวลงสิ ตรงกันข้ามมันก็คือความไม่สำเร็จ มันก็เป็นอันว่าวันนี้เราพูดกันถึงเรื่องความสำเร็จหรือความไม่สำเร็จแห่งธรรมทายาท แห่งกิจกรรมของธรรมทายาท กิจกรรมของธรรมทายาทจะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของมัน เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัย นี่มันเป็นความจริงครอบจักรวาล ก็ต้องทำให้ถูกเหตุถูกปัจจัยของสิ่งนั้นๆ เราก็ประสบความสำเร็จ
เป็นอันว่าทำไปตามหลักการด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งช่วยให้เกิดความถูกต้องและอย่าหวังให้ทรมานหัวใจ หวังให้ทรมานหัวใจแล้วมันะกลายเป็นคนโง่ ไม่ทำเสียดีกว่า ก็ทำไปอย่างถูกต้องด้วย สติสัมปชัญญะ แล้วความสำเร็จก็เกิดขึ้น เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าแม่ไก่มีหน้าที่ฟักไข่ให้ดี ไม่ต้องคิดไม่ต้องหวังว่าลูกไก่จงออกมา นี่ก็เหมือนกันแหละ เราทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์เหล่านั้น อย่าไปหวังให้เกิดความกระหายหิวขึ้นมา ทำจะไม่มีแรงทำนะ ถ้าไปหวังจนหิวจนกระหายจะอ่อนเพลียจะไม่มีแรงทำ ทำให้สนุกไปเลย ทำงานเมื่อถูกวิธีแล้วมันจะสนุก มีความสุขอยู่ในการงาน ถ้าทำไม่เป็นไม่สนุก แล้วมันก็จะเกลียดการทำการงานไม่อยากทำการงาน ไปขโมยดีกว่าพวกเหล่านี้ พวกอาชญากร อาชญากรทั้งหลายมันขโมยดีกว่า แย่งชิงดีกว่า ปล้นดีกว่า แล้วมานั่งทำงานให้เหนื่อยทำไม แต่ถ้าว่าเขาเป็นสัตตบุรุษ เขามีความรู้จริงเขาจะรู้สึกพอใจตัวเองเมื่อทำการงาน เมื่อไปจี้ไปปล้นเขารังเกียจขยะแขยงตัวเอง ไม่มีความสุข เมื่อเขาทำการงานอยู่อย่างอาบเหงื่อต่างน้ำน่ะ เขา เขา เขามองเห็นอุดมคติอันนี้แล้วเขาก็เป็นสุขที่ได้ทำการงาน ได้เป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง มีปีติอยู่ ยกมือไหว้ตัวเองได้ เราควรจะมีหลักอย่างนั้นน่ะ ทำดีที่สุดแต่ไม่ต้องหวังให้ให้คอแห้ง แม้วันนี้ก็พูดเรื่องความสำเร็จหรือความไม่สำเร็จ
เมื่อตะกี้มีปัญหาอันหนึ่งถามเรื่องเกี่ยวกับพิธีรีตอง ขนบธรรมเนียมประเพณี เช่นเรื่องอะไรต่างๆนี่ ดูจะมีอยู่ในกระดาษแผ่นนี้ พิธีกรวดน้ำ พิธีทำบุญ แผ่เมตตา อุทิศเทวดา อุทิศพระอินทร์ พระพรหม อะไรมันเป็นยังไงกัน ถ้าว่าเรารู้ไอ้ ไอ้ ไอ้ความเหมาะสม ๗ น่ะ สัปปุริสธรรม ๗ เหตุ-ผล-ตน-ประมาณ-กาล-บริษัท-บุคคลน่ะ เอานั้นน่ะไปใช้ ควรทำอย่างไรก็ทำไปเถอะ รู้เหตุ รู้ รู้บริษัท รู้บุคคล แล้วก็ไม่ทำผิด มันจะเป็นอะไรไป จะต้องทำตามพิธี ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของบุคคลเหล่านั้น ก็อนุโลมได้ ดีกว่าไปทะเลาะกันนะ อย่าไปขัดคออย่าไปทะเลาะกับเมื่อเขาจะทำพิธี ให้เขาทำก็เขาทำไปได้ ไอ้ที่เราไม่ส่งเสริมเราก็ไม่ส่งเสริม ถ้าเราจะเป็นมิตรสหายกันไว้ก่อน แล้วค่อยหาโอกาสแก้ไขเขาเสียให้พ้นจากความงมงาย นี่ถ้าว่ามีสัปปุริสธรรมแล้วไม่ต้องไปทะเลาะวิวาท ขัดขวาง ขัดคอกันกับบุคคลที่เขายังยึดมั่นถือมั่นในไสยศาสตร์ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่าไปทะเลาะกับเขา ที่อำนวยได้ก็อำนวยไป เรียกว่านั้นมันเป็นเรื่องของบริษัทนั้น แต่แล้วพร้อมกันนั้นเราจะหาวิธีกลับตัวกลับใจเขาเสียให้ถูกต้อง ถ้าทะเลาะกันเสียแล้วมันก็เลิกกันนะ มันไม่ได้ ไม่มีโอกาสพูดกัน ไม่มีโอกาสกลับใจกลับอะไรของเขาแล้ว เราจะดูว่าเราควรจะทำอย่างไร รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บริษัท รู้บุคคล
ผมเชื่อว่าจะเป็นปัญหาเรื่องนี้ เพราะว่าเราไปนี่กลับไปในหมู่ประชาชนนี่ เจอก็ต้องพบกับประชาชนที่ยังยึดถือไสยศาสตร์ คือของของปุถุชนน่ะ สมบัติของปุถุชนคือ ไสยศาสตร์ ไม่ใช่สมบัติของพระอริยะเจ้า ที่เราเอาสมบัติของพระอริยะเจ้าไปให้เขา เขาไม่ยอมรับ บางทีเขาจะให้เราร่วมมือกับเขา เราก็ดูก่อนที่พอจะร่วมมือได้ก็ร่วมมือ เพื่อใกล้ชิดกับเขาเพื่อจะเปลี่ยนเขาเสีย ถ้าพูดให้ดีก็เพื่อจะเลื่อนชั้นของเขาเสีย ข้อนี้มันช่วยไม่ได้นะ ผมสังเกตมาโดยวิชาโบราณคดี ผมถือโอกาสศึกษาวิชาโบราณคดีพร้อมกันไปกับธรรมะในฐานะเป็นวิชาประกอบ มันจึงจากวิชาโบราณคดี ทำให้รู้ว่าสมัยก่อนโน้นเขาให้ถือทั้งสองศาสนาพร้อมกัน พระเจ้าแผ่นดินต้องการให้ประชาชนถือศาสนาสองอย่างพร้อมกัน ถึงแม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นจะถือพุทธ เป็นพุทธ ก็ยังอนุญาตให้ประชาชนถือศาสนาพราหมณ์พร้อมกันไปด้วย เพราะมันมีประโยชน์อย่างอื่นมีประโยชน์สำหรับคนที่ขี้ขลาด คนยังอ่อนแอ คนยังต่ำอยู่ ยังเป็นปุถุชนมากเกินไป ก็ต้องถือศาสนาพึ่งพระเจ้าพึ่งอะไรไปตามเรื่อง ทำไมพระเจดีย์พันกว่าปีที่วัดแก้วน่ะ ไปดูบ้างก็ได้เขาขุดลอกออกที่ในซุ้มลึก ซุ้มประธานลึก มันพบปูชนียวัตถุทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ไอ้ตอนหลังนี่มันอยู่ข้างใต้เขากลบหมด ไม่ไม่เห็นเห็นแต่เป็นพุทธทั้งนั้นแหละ เห็นแต่พระพุทธรูปทั้งนั้นแหละ
แต่เมื่อขุดดูถึงชั้นเดิมๆ ครั้งไอ้แผ่นดินเก่าโน้นน่ะมันพบทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ หรือว่าเราจะอ่านศึกษาโบราณคดีที่บันทึกไว้ที่อื่นก็เหมือนกันแหละ พระเจ้าแผ่นดินส่งเสริมให้ถือทั้งพุทธและทั้งพราหมณ์ ไอ้ส่วนทิศตะวันออกด้านหน้าของวัดแต่ละวัดจะมีศาสนาพราหมณ์ เช่นวัดพระธาตุนี่ตรงด้านหน้าก็จะมีไอ้ไอ้ที่ของเทวสถาน วัดไชยารามนั่นก็มีหน้าด้านตะวันออกที่เป็นไอ้เทวสถาน วัดใหม่ท่าโพ วัดกระทั่งวัดจิก วัดทางโน้นซึ่งเก่าถึงพันกว่าปี ทุกวัดมันมีศาสนาพราหมณ์อยู่ด้านหน้า ประชาชนเขาถือได้ทั้งสองอย่าง นั่นแหละเป็นที่มาแห่งพิธีรีตอง ความยึดมั่นอะไรต่างๆ เดี๋ยวนี้มันก็ยังหมดไปไม่ได้ ทางราชการเขาก็ยังส่งเสริมนี่ ให้ศาสนาพราหมณ์ ว่าอย่าไปเสียเวลาไปกระทบ ไปทะเลาะ ไปกระทบป่วยการ รู้จัก เหตุ-ผล-ตน-ประมาณ-กาล-บริษัท-บุคคล แล้วก็อำนวยเท่าที่จะอำนวยได้ เพื่อเราจะได้เป็นเพื่อนกัน แล้วก็แก้ไขซึ่งกันและกัน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งเหมือนกันแหละ ที่ธรรมทายาทจะต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็จะต้องเกิดเรื่องแน่ แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร เอาล่ะเป็นอันว่าการบรรยายวันนี้ มันก็สมควรแก่เวลาแล้ว มันเกินกว่าวันก่อนเสียอีกนี่ ดูนาฬิกาแล้ว ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้
พร้อมกันทั้งหมดสักรูปหนึ่งผมแนะนำที่ตรงคำว่า โลกิเตศวร ที่โปรยมาจากบ่อ ตรงนั้นแหละเหมาะถ่ายรูปรวมกันทั้งหมดมากๆ มันก็จะได้รูปคำว่าโลกิเตศวรไปเป็นเครื่องช่วยความคิด คำว่าโลกิเตศวรนั้นเป็นเรื่องสมมติ สร้างขึ้นให้เป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมในพุทธศาสนา ให้มันมีเครื่องสำหรับบูชา เช่นเดียวกับในศาสนาอื่น ซึ่งเขามาพระเจ้า แล้วมีพระพรหม มีพระอิศวร มีพระนารายณ์ มีอะไรสำหรับบูชา พวกชาวพุทธยุคหนึ่งเขาคิดขึ้นมา เขาจะให้มีเหมือนอย่างนั้น เขาก็ประดิษฐ์คำว่าโลกิเตศวร อยู่ตรงนั้นที่ขึ้นมาจากบ่อ
(เสียงพระรูปอื่น) ประมาณเวลาเท่าไรครับ เผื่อพวกกระผมจะได้ไป
(เสียงท่านพุทธทส) อ้อ, ไม่ใช่ผมนัดกันเองสิ นัดกันเอง เอาตรงนั้น
(เสียงพระรูปอื่น) พระเดชพระคุณคุณพ่อไม่กรุณาพวกกระผมได้
(เสียงท่านพุทธทส) ได้อะไร ได้อะไร
(เสียงพระรูปอื่น) พวกกระผมอยากจะได้หลวงพ่อเป็นประธานในรูป
(เสียงท่านพุทธทาส) อ๋อ, ก็ได้ เวลาเมื่อไรก็บอกผม ผมก็อยู่ตรงนี้ ก็ไปได้ทันที เวลาเหมาะไอ้ถ่ายรูปตรงนั้นน่ะ บ่ายสองโมง เอ้อ, เช้าสองโมงหรือว่าสี่โมงเช้าเป็นอย่างมาก ตอนบ่ายใช้ไม่ได้ ตรงนั้นถ่ายรูปไม่ได้ตอนบ่าย สองโมงหรือสี่โมงระหว่างนี้ ไปศึกษาเรื่องอวโลกิเตศวร สนุกที่สุดล่ะ เป็นเรื่องของธรรมะเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมในหน้า ในผิวหน้าของอวโลกิเตศวรนี่แสดงปัญญา แสดงสัจจะ แสดงเมตตา แสดงขันตี อยู่ในใบหน้าของอวโลกิเตศวร เรามองดูหน้าของอวโลกิเตศวร องค์เดิมนะ โอ้ย,มันจะช่วย ให้จิตเกลี้ยง พอโกธร โกธรใครมา พอมองดูหน้าอวโลกิเตศวร ทำให้หายโกธร หรือว่าเรามันโง่นักเรามองดูหน้าอวโลกิเตศวร มีแววแห่งความฉลาดเราก็ละอาย สุทธิปัญญา เมตตา ขันตี เราไม่บริสุทธิ์พอไปดูหน้าของคนบริสุทธิ์เราก็ละอาย เราไม่อดทนพอดูหน้าอวโลกิเตศวรแล้วเราก็จะอดทน รู้รู้จึงแน่ว่าถ่ายรูปอวโลกิเตศวรนี่ แล้วเอาไปไว้ดูเพื่อให้เกิดความรู้สึก สุทธิ ปัญญา ความเมตตา ขันตี เอ้า,จะทำอะไรกันต่อก็นิมนต์สิ จะเปิดเทปฟังต่อก็ได้ เปิดเทปวันอาทิตย์ฟังดูบ้าง
(เสียงพระรูปอื่น) พรุ่งนี้นัดถ่ายรูปประมาณ เก้าโมงสิบห้านาทีก่อนก่อนเข้าห้องเรียน ฉันฉันเสร็จไปล้างบาตรเสร็จ ก็ออกมา
(เสียงท่านพุทธทาส) ..อยู่แถวนั้นด้วย....
(เสียงพระรูปอื่น) ตั้งแถวประมาณ เก้าโมงสิบห้านาที