แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เพื่อนพรมจารีย์ที่สนใจในงานธรรมทายาททั้งหลาย ครั้งที่แล้วมาผมพูดถึงเรื่องอุดมคติของธรรมทายาท ส่วนในวันนี้จะได้พูดถึงงานของธรรมทายาท เมื่อพูดถึงอุดมคติแล้วก็ต้องพูดถึงการทำตามอุดมคติที่เราเรียกว่างาน ทำแล้วจึงจะสำเร็จประโยชน์ สำเร็จประโยชน์ด้วยการกระทำ ไม่สำเร็จประโยชน์ด้วยการพูด ดังนั้นเราก็ควรจะได้พูดเรื่องงานและการทำงานติดต่อกันไปกับเรื่องอุดมคติ การเป็นธรรมทายาทโดยอุดมคติอย่างไรก็พูดไปแล้ว ทีนี้ก็พูดถึงงานที่จะต้องทำต่อไป งานที่จะต้องทำนั้นขอให้สังเกตดูจากที่พูดมาแล้วเมื่อครั้งก่อนว่ามันมีอยู่เป็นสองชั้นคือทำให้ตัวเองเป็นธรรมทายาท และก็ทำให้ผู้อื่นเป็นธรรมทายาท ตัวเองเป็นธรรมทายาทก็ได้รับผลของการเป็นธรรมทายาทด้วยตนเอง นี่มันก็ได้แก่การที่ผู้นั้นจะต้องปฏิบัติลงไปจริงๆ ส่วนงานที่ทำเพื่อผู้อื่นนั้นผู้อื่นได้รับผล เราก็ได้ผลด้วยเมื่อผู้อื่นเขาปฏิบัติตามนั้น จึงมีอาการเหมือนกับที่เรียกว่าป่าวประกาศอบรม เป็นต้น ซึ่งผมก็จะเรียกเหมือนกับที่เคยเรียกมาแล้วว่า เป่าสังข์เงินหรือเป่าอูดเขาควาย จะถือว่าที่ได้อบรมกันมาแล้วที่กรุงเทพนั่นเป็นเรื่องหัดเป่าสังข์เงิน มาที่สวนโมกข์นี้ก็เป็นเรื่องหัดเป่าอูดเขาควาย ต่างกันอย่างไร มันก็เป็นอุบายหยาบต่างจากอุบายละเอียด สังข์เงินก็ต้องมีเสียงนุ่มนวล ครื้นเครงไปตามแบบของสังข์ แต่อูดน่ะ อูดเขาควายนี่เขาจะเรียกกันที่ภาษาหนังสือว่าอะไรก็ไม่รู้ บ้านนี้เขาเรียกกันว่าอูด มันจะมาจากคำว่าปูดก็ได้ ทำด้วยเขาควายนี่ก็เป็นอุบายหยาบ เสียงมันก็กระทบหูมากกว่าที่จะว่ารื่นระรื่นในหู อุบายหยาบเราก็ใช้สำหรับในกรณีที่มันมีกิเลสหยาบ คือคนมันมีกิเลสหยาบ อุบายละเอียดก็สำหรับคนที่มีจิตใจอ่อนโยน แม้จะมีกิเลสมันก็เป็นกิเลสที่อ่อนโยน จึงมีอุบายหยาบ อุบายละเอียดที่ต้องใช้ในการประกาศธรรมะหรือว่าอบรมคนให้มีธรรมะ ที่จริงมันก็เหมือนกับคำที่เขาพูดกันมาแต่ก่อนแล้ว เมื่อต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ พระเดชนี่ก็ใช้อำนาจ ใช้การบังคับ ใช้การควบคุม ส่วนพระคุณนั่นมันก็ใช้ความเกลี้ยกล่อม ชี้ชวน ชักจูง ไม่..ไม่ใช่เป็นเรื่องควบคุมหรือบังคับ
พระพุทธเจ้าท่านก็เคยทรงใช้ทั้งสองอย่างควบคู่กันไปและมันก็เป็นหลักธรรมดาทั่วๆไป แม้ในเรื่องโลกๆเขาก็ใช้กันทั้งพระเดชและพระคุณ ถ้าเราดูให้ดีแล้ว แม้การอบรมตัวเราเองก็ต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ เพราะมันมีสิ่งที่ต้องอบรมคือกิเลส ถ้ากิเลสมันกระด้างนักต้องใช้อุบายหยาบที่เรียกว่าเป็นการทรมานกันเสียบ้าง ไม่ใช่ว่าจะใช้เป่าอูดเป่าสังข์ให้ผู้อื่นฟังโดยส่วนเดียว แม้เราเองก็ต้องได้รับการกระทำเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน ก็อูดคือว่าทำกันหยาบๆ เป่าสังข์คือว่าทำกันอย่างละเอียดอ่อน แม้จะเป็นการอบรมตนเองมันก็ต้องใช้ทั้งสองวิธี คือวิธีที่ว่ามันรุนแรงในกรณีที่จะต้องใช้ความรุนแรง ในกรณีที่ละเอียดอ่อนก็ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ถ้าเกิดไปสับกันเสียได้ผลน้อยเต็มที ส่วนการกระทำกับผู้อื่นนั้นยิ่งชัดเจนมาก จึงควรจะใช้อุบายแข็งกร้าวแต่ไม่ใช่ไปฆ่าเขาตายนะ ใช้อุบายแข็งกร้าวก็เพื่อให้ประโยชน์ให้สำเร็จประโยชน์ ในกรณีเช่นนั้น บางทีก็ใช้ไม่ได้ก็ต้องใช้อุบายที่ละมุนละไม ก็เลยเป็นการกล่าวได้อีกทีหนึ่งว่า ไอ้เป่าสังข์เป่าอูดนี่ เป่าให้ตัวเองฟังก็ได้เพื่ออบรมตัวเองตั้งแต่ต้นจนปลาย หรือเป่าให้ผู้อื่นฟังก็ได้เพื่อกล่อมเกลาแก้ไขปรับปรุงผู้อื่น งานธรรมทายาทนี่มันต้องทำตัวเองให้เป็นก่อนเป็นธรรมทายาทก่อน ก็เป็นการอบรมตัวเองก่อน เสร็จแล้วจึงจะมีการอบรมผู้อื่น ก็มีโอกาสที่จะเป่าอูดเป่าสังข์ก็ตามนี่ให้ตัวเองฟังยุคหนึ่งน่ะ แล้วจึงไปใช้กับผู้อื่นที่เราจะทำงานให้มันก้าวหน้าออกไป เราต้องทำแก่ตัวเองให้สำเร็จก่อน แล้วจึงจะสามารถทำให้ก้าวหน้าออกไปถึงผู้อื่น
เมื่อเราจะต้องทำแก่ตัวเองก็ต้องเป่าให้ตัวเองฟัง การเป่าให้ตัวเองฟังนี้ก็เป่าไปตามหลักธรรมะซึ่งที่แท้ก็มีอยู่ในพระพุทธภาษิตแล้ว ในการเป็นธรรมทายาทจะต้องทำอะไรบ้าง ก็มีในพุทธภาษิต ไปเปิดดูสูตรในมัชฌิมนิกายก็มีสูตรหนึ่งเรียกว่า เรียกว่าธรรมายาทสูตร ธรรมาทายาทสูตร ท่านตรัสถึงเรื่องนี้ เรื่องที่เรากำลังเอามาพูดกันอยู่นี่แหละ ก็มีข้อความหลายตอน แล้วยังมีในสูตรอื่นอีก ในอิติวุตตกะก็มี ในทีฆนิกายก็มี สำหรับคำว่าธรรมทายาทนี่ คำว่าธรรมคำนี้ จะยึดเป็นเรื่องสมบูรณ์ก็มีในมัชฌิมนิกายคือธรรมาทายาทสูตรนั้น ผมก็เอามาใช้เป็นหลักๆทั้งหมด ที่หัวข้อสำคัญก็คือพระองค์ตรัสว่าเธอจงเป็นธรรมทายาท อย่าเป็นอามิสทายาท ให้รับมรดกธรรมอย่ารับมรดกอามิส ถ้าเป็นอามิสทายาทนี่ คือรับมรดกวัตถุอามิส ก็จะถูกติเตียน ใช้คำว่ากาหน้า ติเตียนว่าไอ้พวกนี้มันเป็นพวกอามิสทายาท แล้วพระศาสดาเองก็จะถูกติเตียนว่าพระศาสดาองค์นี้มีสาวกเป็นพวกอามิสทายาท นี่ท่านตรัสไว้อย่างนี้ การเป็นอามิสทายาทนั้นไม่ใช่ทำให้ถูกติเตียนแต่ฝ่ายสาวก แม้ฝ่ายพระศาสดาก็ถูกติเตียนว่ามีสาวกเป็นอามิสทายาท คล้ายๆว่ามันติเตียนกันทั้งฝูงทั้งโขลงทั้งพวก ในทางที่ตรงกันข้ามหากถ้าว่าเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาทแล้ว ก็จะได้รับการยกย่องทั้งฝ่ายสาวกและฝ่ายพระศาสดาด้วยเหมือนกัน บางทีเขาจะยกย่องว่าสาวกเหล่านี้เป็นธรรมทายาทรับมรดกธรรม และสรรเสริญพระศาสดานั้นว่าพระศาสดาองค์นี้มีสาวกเป็นธรรมทายาท น่าเลื่อมใสทั้งหมู่ทั้งคณะ นี่มันเป็นธรรมดาที่ว่าจะได้รับการดูหมิ่นหรือยกย่อง เพราะทำผิดทำถูกกันเช่นนี้
พระพุทธองค์ตรัสถึงไอ้เรื่องยกย่องหรือดูหมิ่นนี่ ก็หมายความว่าตรัสอย่างภาษาโลกจึงแยกเป็นการดูหมิ่นหรือการยกย่อง ถ้าเป็นเรื่องโลกุตระมันก็ไม่มีเรื่องยกย่องเรื่องดูหมิ่น แต่เดี๋ยวนี้ยังอยู่ในโลก ยังต้องทำงานเพื่อโลก ยังต้องทำแก่โลก แล้วใช้ภาษาโลกเพื่อเข้าใจกันโดยง่ายว่าเราจะต้องทำอะไร ในลักษณะเช่นไร หมายความว่าอย่าทำไปในลักษณะที่ให้เขาดูหมิ่น เมื่อถูกดูหมิ่นหรือเขาดูหมิ่นเสียแล้วก็ไม่มีใครศรัทธาหรือยอมรับคำสั่งสอนหรือจะปฎิบัติตาม มันก็ล้มเหลว เพราะฉะนั้นในขั้นแรกจึงต้องสร้างศรัทธากันไว้ก่อน นั่นเราก็รู้ว่าเรากำลังพูดด้วยโวหารโลกเพื่อฟังกันอย่างในภาษาโลก ไม่ได้พูดให้ยึดถือในเรื่องสรรเสริญหรือเรื่องดูหมิ่น แต่เราจะทำไปในทางที่ว่าช่างหัวมัน ดูหมิ่นก็แล้วก็ตามใจ สรรเสริญก็ตามใจเราไม่ยึดถือ อย่างนี้มันก็ล้มละลายน่ะ คือไม่มีใครเอาด้วยไม่มีใครเลื่อมใสและปฎิบัติตาม ดังนั้นพวกเราทุกคนน่ะในทุกกรณีน่ะต้องทำไปในลักษณะที่ให้เขาเลื่อมใสและสรรเสริญเพื่อจะได้รับเอาไปปฎิบัติตาม อย่าทำไปในลักษณะที่ให้เขามาเหยียดหยามหรือดูหมิ่น ให้มันจะล้มละลาย ในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้เอง คือมันต้องทำกันไปได้ด้วยความพอใจ ด้วยความเลื่อมใส ด้วยความศรัทธา เราจึงถือหลักในการกระทำเกี่ยวกับชาวโลกที่เราทำให้เขาเลื่อมใสศรัทธา
ในสูตรนั้นมีเรื่องที่ควรจะเอามาทำไว้ในใจว่า ภิกษุองค์หนึ่ง เมื่อได้ยินดังนี้ก็เลยยึดมั่นในธรรมทายาท คือเมื่อเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสชวนว่า อาหารบิณฑบาตรก็เหลืออยู่ แต่ตักเอาไปเททิ้งเสียเปล่า เธอจงฉัน จงบริโภค ภิกษุนั้นก็คิดว่า นี่มันอามิสทายาท ก็เลยไม่..ไม่..ไม่รับ ไม่ฉันน่ะนะ แล้วก็ไปปฎิบัติธรรมโดยด่วน นี่เราก็ต้องถือว่าเขาแสดงอุดมคติ ไม่ได้เป็นเรื่องถือรั้นบ้าบิ่นอะไร มากล่าวไว้ในที่นี้ก็เพื่อให้เห็นว่าไอ้คนอย่างนี้มันก็ยังมี ที่บูชาธรรมทายาท ไม่ใช่ว่าแกไม่มีอะไรจะฉันหรือกำลังหิว ไม่ใช่ แต่ให้ฉันอย่างนี้ก็ไม่ฉันก็แล้วกัน ไม่อยากให้หลุดกันเข้าไปในวงของอามิสทายาท มันก็เป็นสิ่งที่ควรจะสังวรณ์ไว้ว่าจะไม่ให้หลุดเข้าไปในวงของอามิสทายาท ขอตัวไปปฎิบัติธรรมะเป็นที่พอใจเสียก่อนแล้วจึงค่อยมาฉันก็ได้ เรื่องปฎิบัตินั่นปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นธรรมทายาท ก็มีอยู่สองสามแห่ง แห่งหนึ่งยกเอาศรัทธาเป็นเบื้องหน้า คือมีศรัทธาในพระตถาคตนั่นแหละ ถ้ามีศรัทธาในพระตถาคตเต็มที่นะถึงขนาดที่ใครจะมาดึงไปไหนไม่ได้ อย่างนี้ท่านใช้คำว่าเป็นโอรส เป็นลูก แทนที่จะใช้คำว่าเกิดแต่อกมาใช้คำว่าเกิดแต่ปาก นี้เข้าใจว่าเป็นภาษาในประเทศอินเดียสมัยนั้น เพราะถ้าว่าคำว่าเกิดมาแต่ใคร แล้วก็เขาจะใช้คำว่าเกิดมาจากปาก เพราะส่วนใหญ่แล้วเขาหมายถึงทุกคนนี่เกิดมาจากปากของพระพรหม พรหมน่ะ สัตว์ทั้งหลายล้วนแต่เกิดมาจากปากของพรหม
เดี๋ยวนี้ถ้าเรามีศรัทธาเต็มที่ ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีใครไปชักจูงกันไปทางอื่นได้ ก็จะเรียกผู้นั้นว่าเกิดมาเป็นโอรสเกิดแต่ปากของพระพุทธเจ้า เรื่องนี้มันปนกันยุ่งไปหมด ผมสังเกตดูว่าเขานิยมใช้ร่วมกัน เช่นธรรมะนี้ก็เรียกว่าธรรมกาย และจัดให้เป็นพรหมกาย หรือว่าพระพุทธเจ้าเองนั้นน่ะ ท่านก็ตรัสเรียกพระองค์เองว่าเป็นพรหมภูต เป็นธรรมภูต เป็นพรหมภูตก็คือเป็นพรหม ถ้าพูดว่าพรหมภูตก็ทรงเล็งถึงพระองค์เอง คำพูดว่าธรรมภูต เป็นธรรมนั้นก็คือเป็นพรหมนั่นแหละ ธรรมภูตกับพรหมภูตก็สิ่งเดียวกัน ก็ทั้งสองสิ่งนี้ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเอง เพราะฉะนั้นการที่เกิดจากพรหมหรือเกิดจากธรรมก็เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเกิดจากพรหมเป็นคำพูดกลางบ้านที่เขาพูดกันอยู่ทั่วไปนั้นก็ต้องเกิดทางปากไว้เกิดจากปากของพรหม เมื่อเดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้าเองท่านก็เป็นพรหม อย่างที่ตรัสเรียกพระองค์เองว่าพรหมภูต ธรรมภูต มันก็เป็นการง่ายที่จะเกิดจากปาก ปากของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเพียงดังพรหม เป็นที่เกิดออกมาของสรรพสัตว์ นี่เรียกว่าเพราะมีศรัทธามั่นคง มีจิตใจออกมาในลักษณะนั้น ก็เรียกว่าเกิดออกแล้วเป็นธรรมทายาทที่เกิดจากปากของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพรหมกาย เป็นธรรมกาย เป็นธรรมภูต เป็นพรหมภูต คำเหล่านี้ก็มีอยู่ในบาลี ไปหาอ่านดู จะได้เข้าใจว่าในประเทศอินเดียนั้นน่ะ คำที่เขาใช้พูดกันอยู่นั้นมันปนกัน ทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายพราหมณ์ นี้ชาวบ้านเขาเอามาพูดเสียจนเป็นภาษาชาวบ้าน พระพุทธเจ้าก็ต้องตรัสด้วยภาษาที่ชาวบ้านเขาพูดกัน ไอ้คำอย่างนี้มันจึงออกมาแปลกๆ เราก็เข้าใจไว้ว่าในพระบาลีนั้นใช้คำอย่างนี้ เดี๋ยวจะไม่เข้าใจ เดี๋ยวก็จะยุ่งกันไปหมด คำว่าธรรมกาย คำว่าพรหมกาย คำว่าธรรมภูต คำว่าพรหมภูตนั้นเป็นชื่อของพระพุทธเจ้านะ ท่านตรัสเองนะไม่ใช่เราไปตั้งให้ นี้ถ้าเราทำตนเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าถึงขนาดสูงสุด มันก็กลายเป็นธรรมทายาท เพราะว่าเกิดออกมาจากพระพุทธเจ้า เพราะว่าในภาษาชาวบ้านแท้ๆ ทายาทนั้นก็คือผู้ที่เกิดที่คลอดออกมาจากพ่อแม่ ไอ้ผู้ที่เกิดออกมาจากพ่อแม่นั่นแหละคือทายาท แต่เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องนามธรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเมื่อมีศรัทธาอย่างนี้แล้วให้ถือว่าคลอดหรือเกิดออกมาจากพระองค์ซึ่งเป็นพรหมภูต
ในชั้นแรกนี้เราจะต้องมีศรัทธา ตามความหมายของคำคำนี้ถึงที่สุดในพระพุทธองค์ก็จะเรียกว่าเป็นธรรมทายาทขึ้นมาทันที คือเป็นทายาท เป็นลูก เป็นหลาน ไอ้ที่มันคลอดออกมาจากพระองค์ซึ่งเป็นธรรมกาย นั่นไม่ใช่เนื้อหนังร่างกายเหมือนกับการคลอดบุตรทางเนื้อหนัง แต่มันก็ในความหมายเดียวกัน เกิดออกมาเหมือนกับลูก เกิดออกมาเป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้า สิ่งนี้เป็นเบื้องต้นที่สุด คือต้องทำด้วยศรัทธา เพราะฉะนั้นเราจึงชำระศรัทธา แล้วก็ปล่อยหรือปลงศรัทธาลงไปให้หมดในพระพุทธเจ้า หรือจะเรียกว่าในพระศาสนาก็ได้ นับตั้งแต่วันที่เราจะเข้ามาบวช เราก็บวช และเราก็บวชแล้ว แต่ศรัทธานี่ต้องเต็มที่เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ท่านใช้คำว่าไม่หวั่นไหว ไม่มีใครชักนำไปทางอื่นได้ นี่การคลอดชั้นแรก คลอดด้วยศรัทธา เสมือนหนึ่งว่าเกิดมาจากท้องบิดามารดาของสามัญสัตว์ ควรจะไปชำระศรัทธากันเสียให้ถูกต้องให้สะอาดหมดจดให้เต็มที่ เอาศรัทธาทั้งหมดนั้นลง ลง ลงไปในพระพุทธเจ้า อย่างนี้เรียกว่าเกิดเป็นธรรมทายาทแล้วในอันดับแรกและก็โดยพระพุทธภาษิตเองนั้นเอง เมื่อภิกษุนั้นมีศรัทธา ทีนี้ในบาลีสูตรอื่น ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้ก็ว่า ทำทานคือบริจาคหรือเสียสละเหมือนพระองค์ ในสูตรนี้ดูเหมือนกล่าวเท้าความไปถึงชาติก่อนๆด้วย ทรงเป็นผู้มีศรัทธาในการบริจาคทาน เสียสละอยู่ตลอดเวลา มีโวหารเรียกว่า มีมือเปียกอยู่เสมอ ก็ต้องล้างมือหยิบของให้เป็นทานอยู่เสมอจนมือไม่รู้จักแห้ง ถ้าใช้ทาน..ถ้าให้ทานเป็นประจำมันจะมีสำนวนเรียกว่ามีมืออันเปียกอยู่เสมอ นี่ก็มีพระบาลีที่ทรงสอนทรงเน้นว่าให้มีมือเปียกอยู่เสมอก็จะเรียกว่าเป็นธรรมทายาท เป็นการกระทำที่เป็นธรรมทายาท คือทำตามบิดา นี่ก็เราจะพอมองเห็นกันได้นะว่า ไอ้ธรรมทายาทนี่มันมีจิตมีวิญญาณเป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ให้ ให้ของให้อะไรก็สุดแท้แหละ ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องต้องให้ทั้งนั้น ของก็ให้ ธรรมะก็ให้ จิตใจอะไรต่างๆก็ล้วนแต่ให้ นี่ท่านเรียกว่าทำอย่างเดียวกันกับพระองค์จึงได้เป็นธรรมทายาท
นั้นในบรรทัดเดียวกันนั้นแหละนอกจากจะเป็นผู้ให้แล้วยังเป็นหมอผ่าตัด มีพระบาลีสรรเสริญพระพุทธองค์ว่าเป็นหมอผ่าตัด หมออย่างเดี๋ยวนี้ถ้าเรียกว่าอย่างเดี๋ยวนี้ก็หมอผ่าตัด คือหมอที่ทำงานด้วยลูกศร ทำงานด้วยมีดผ่าตัด หมายความว่า หมอผ่าตัดนี่มันต้องทำงานชนิดเต็มที่ คือมันรุนแรงน่ะ ไม่ต้องไปกลัวเขาจะเจ็บปวดหรือไม่ต้องกลัวว่าเขาจะโกรธขึ้นมา ก็โรคนั้นมันร้ายถึงกับต้องผ่าตัด คือมันเพียงแต่พูดกันไม่รู้เรื่องมันก็ต้องผ่าตัด ผมคิดว่าคงเล็งถึงไอ้ความกล้าหาญในทางจริยธรรม ถ้าเราจะเป็นธรรมทายาทเราต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม เราจะไปกลัวเขาโกรธ กลัวเขาเกลียด กลัวเขาทำอันตรายอย่างนี้ มันทำไม่ได้หรอก มันต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม แต่อย่าให้เป็นบ้าบิ่นนะ ไอ้บ้าบิ่นอวดดีนี่ก็ฉิบหายเหมือนกันนะ พินาศหมดน่ะ กล้าหาญ ถูกต้อง แท้จริง แล้วก็กล้าหาญ เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่ายังขาดกันอยู่มาก ความกล้าหาญทางจริยธรรมนี่ จึงไม่ค่อยจะมีเรื่องผ่าตัด ให้หมอผ่าตัด ก็ดูเอาเองก็แล้วกันนี่ ที่ทางที่วัดก็ดี ที่บ้านก็ดี บ้านเมืองก็ดี คนที่จะกล้าหาญในการที่จะเผชิญกับอันธพาลหรือว่าเผชิญกับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง มันก็ไม่ค่อยจะมี สมภารบางวัดปล่อยให้ทำอบายมุขในวัดด้วยซ้ำไป เพราะว่าเกรงใจเขาเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรหรอก เกรงใจคนที่มาขอทำอะไรในวัดที่ไม่น่าทำน่ะ แล้วเราก็ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะไม่ยอมให้เขาทำ โกรธก็โกรธ หรือเขาจะไม่ให้ข้าวกินก็เอา ก็ไม่ต้องกินถ้ามันกล้าหาญขึ้นมา แต่ว่าจะเอาไอ้สิ่งที่ไม่สมควรมาจัดมาทำกันในวัดนี่ มันก็ไม่ได้ ไม่ยอม
เดี๋ยวนี้ในโลกมันก็ขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมอยู่มาก ที่เป็นภายในก็่ืคือว่าเขากลัว ถ้าเขาจะสูญเสียความสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อย เขาก็ไม่กล้าประพฤติให้ถูกต้อง นี่ที่คนเราละอบายมุขไม่ได้ ละความชั่วไม่ได้ เพราะว่ากลัวจะสูญเสียความเอร็ดอร่อยเหล่านั้น มันไม่กล้าหาญ มันไม่กล้าผ่าตัดจิตใจของมันเอง นี้ผู้อื่นที่จะไปช่วยผ่าตัดมันไม่กล้าหาญอีกเหมือนกัน กลัวจะถูกเขาฆ่าตายน่ะ พูดกันตรงๆอย่างนี้ ข้อนี้จะต้องนึกถึงว่าพระองค์เป็นสัลละกะโต เรียกในบาลีสัลละกะโต(31.22) เป็นหมอผ่าตัด นี่งานของธรรมทายาทนี่มันก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องเป็นผู้กล้า เป็นหมอผ่าตัด เพราะมีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าที่จะเอาธรรมะไว้ นี่เรียกกล้าหาญทางจริยธรรม นอกวัดก็ไม่ทำในวัดก็ไม่ทำที่ไหนก็ไม่ทำที่จะให้มันเสื่อมเสียทางธรรมเพราะความขลาดกลัว ผมรู้สึกว่าในบรรดาบุคคลที่โลกรู้จักนะ ต้องยกให้พระเยซู พระเยซูคริสต์เป็นผู้กล้าหาญทางจริยธรรมจนตัวตาย จนตัวตาย เพราะถูกฆ่าตาย การพูดความจริงไปตามแบบของพระเยซูนั้นก็ทำให้ศาสนายิวหรือพวกพระในศาสนายิวที่เขามีอยู่ก่อน ก่อนพระเยซู ได้รับความเสียหายมากน่ะ ก็มันมีอะไรผิดพลาดอยู่มากแต่พระเยซูพูดความจริง พวกเหล่านี้ก็เสียหาย เขาก็โกรธ เขาก็หาเรื่อง ต่อสู้ต่อต้าน เผชิญกันด้วยคำพูด ก็น่าฟังมาก พระเยซูแสดงความกล้าหาญมาก แต่ความกล้าหาญของพระเยซูนั้นไม่ใช่บ้าบิ่นนะ ไม่ใช่ทำไปอย่างบ้าบิ่นทำไปด้วยเหตุผล จนพวกนั้นจนแก่คำพูด ฝ่ายข้าศึกจนแก่คำพูดในเมื่อมาปะทะคารมกัน
เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีความกล้าหาญทางจริยธรรมนี้ดูว่าจะต้องมีความรู้ด้วย ความรู้ที่เพียงพอด้วย เท่ากับความกล้าหาญ มีแต่ความกล้าหาญมากมันก็จะบ้าบิ่น หรือว่าจะทำผิดก็ล้มละลาย สู้เขาไม่ได้ จะต้องมีความรู้ปฎิภาณที่เฉียบแหลม สนใจก็ลองไปหาเรื่องของพระเยซูอ่านดูบ้าง ไม่เสียหลายนะ ไม่ใช่เราจะเปลี่ยนศาสนา แต่ไปอ่านประวัติของบุคคลที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมจนเอาชีวิตเดิมพันก็ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ แต่เรื่องนี้ทางฝ่ายคริสเตียนนั้นเขาถือกันว่า พระพระเจ้าส่งมาให้เป็นอย่างนั้น พระเจ้าจัดส่งมาเพื่อให้เป็นอย่างนั้น เราจะไม่นึกถึงข้อนี้ เราจะนึกถึงว่าคนธรรมดาก็ได้ ท่านเป็นวีรบุรุษในโลกนี้ ท่านกล้าทำอย่างนี้ด้วยความอุทิศต่อสิ่งสูงสุดซึ่งเรียกว่าพระเจ้าอีกนะ ถ้าเราทำอย่างนั้นบ้าง ก็อุทิศต่อสิ่งสูงสุดคือพระธรรมนั่นเอง พระเจ้ากับพระธรรมสองคำนี้ใช้แทนกันได้มากที่สุด พระธรรมคือกฏของธรรมชาติ นั่นแหละคือพระเจ้า พระเจ้าก็คือ เราเรียกว่าสัจธรรมของธรรมชาติ กฏของธรรมชาตินี่เป็นพระเจ้า เขาอุทิศพระเจ้า เราก็อุทิศพระเจ้าได้เหมือนกัน แต่ว่าพระเจ้าของเราเป็นสัจจริงสัจจะ ปรมัตถสัจจะของธรรมชาติ ดูๆว่ามันจะต้องมีความรู้เพียงพอ มีความกล้าหาญเพียงพอ มันก็มีความจริงใจเพียงพอ เรื่องงานของธรรมทายาทน่ะก็จะเป็นไปได้ เรื่องนี้ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเอาเองเถิด มันมีความหมายกว้าง ว่าความกล้าหาญทางจริยธรรมน่ะ มันอะไรบ้างมีความกล้ามีความหมายมาก
ที่มันสำคัญแก่พวกเราก็คือว่า ถ้าไม่มีอันนี้แล้วมันไม่เป็นไปได้หรอกในการที่จะสืบทายาทของพระพุทธเจ้า มันมีแต่ความขลาดที่เป็นภายใน ก็กลัวว่าจะหมดอร่อยทางอายตนะเลยไม่กล้า ไม่กล้าถือระเบียบ ถือศีล ถือวินัยน่ะไม่กล้า นี่ที่เกี่ยวกับสังคมก็ไม่กล้า กลัวชาวบ้านเขาจะโกรธ แล้วเขาก็จะไม่ช่วย เขาจะไม่ใส่บาตร ทีนี้ก็ไม่กล้า แล้วที่จะต้องเผชิญหน้ากับพวกมิจฉาทิจฐิก็ไม่กล้า แก้ตัวเสียง่ายๆว่าธุระไม่ใช่ ธุระไม่ใช่ แล้วไม่ยอมทำงานนี้ ธุระไม่ใช่ ก็เพราะความขลาดนั่นเอง นั้นต้องขลาดทั้งข้างใน ขลาดทั้งทั้งชั้นกล้าหาญ ไม่ขลาดนะต้องกล้าหาญ แล้วไม่ขลาดทั้งข้างในทั้งข้างนอกทั้งตรงกลางทั้งในทุกกรณี จึงจะทำหน้าที่ของธรรมทายาทได้ พระพุทธเจ้าก็ท่านตรัสตรงๆว่าจงเป็นสัลละกะโต(37.28)นี่ เป็นหมอผ่าตัดนี่ มันไปรวมความอยู่ที่ว่ามันเป็นธรรมทายาท เป็นโอรสซึ่งเกิดแต่ปาก ไอ้คำว่าโอรสเกิดแต่ปากนี่มีหลายแห่ง ย้ำมากแห่ง ถ้าจะถือเอาภาษาวัตถุ ภาษาคนพูดง่ายๆว่าเกิดแต่ปากก็คือว่า ท่านสั่งให้ทำอย่างไรเราทำอย่างนั้น ท่านสั่งให้ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น นั่นน่ะคือโอรสที่เกิดแต่ปาก พระโอษฐ์ของท่านสั่งให้ทำอย่างไรเราทำอย่างนั้น เราก็จะเป็นโอรสที่เกิดแต่ปากของพระองค์ ความหมายของธรรมทายาทแท้ ท่านทรงใช้คำๆนี้ พระโอรสที่เกิดแต่ปาก
ทีนี้ปากน่ะมีความหมายหลายอย่าง ภาษาธรรมก็คือปากนี่ปากที่พูดนี่ ท่านสั่งมาเราก็ทำ แล้วก็เป็นโอรสของท่านก็ทำตามปากท่านสั่ง ไอ้ที่มันความหมายลึกในภาษาธรรมะนั้น เกิดแต่ธรรม ประพฤติธรรม ประพฤติเหมือนกันกับที่พระองค์ทรงประพฤติกระทำเป็นตัวอย่าง นี่ก็เรียกว่าเกิดแต่ปากเหมือนกัน ปากของพรหมซึ่งเป็นที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้นเหตุแห่งปัจจัยทั้งปวง ที่รวบรวมมาได้ก็เกิดแต่ปาก ทั้งสองความหมายนี่ ความหมายธรรมดา ท่านสั่งอย่างไรทำอย่างนั้น ถ้าหลักธรรมะ มีอย่างไร ท่านประพฤติไว้เป็นตัวอย่างอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ท่านสั่งให้เป็นเราก็เป็นสิ จะใช้คำว่าท่านสั่งหรือท่านขอร้องก็สุดแท้นะ คือท่านใช้คำว่าเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย นี้เราจะเรียกว่าท่านสั่งหรือท่านขอร้อง ผมอยากจะพูดว่าท่านขอร้องอ้อนวอนเสียมากกว่า เพื่อเราจะได้เสียสละกันได้มากขึ้น เอ้า,สรุปได้ว่าท่านสั่งให้ทำตามท่านนะ ท่านสั่งให้ทำตามท่าน ฉะนั้นคำว่าศรัทธาก็ดี คำว่าหมอผ่าตัดก็ดี อะไรก็ดี คือท่านสั่งให้ทำตามท่าน เมื่อเราทำตามท่านแล้วก็เป็นลูกของท่าน ที่ท่านใช้คำว่าโอรสที่เกิดแต่ปาก นี่เราต้องทำงานอย่างนี้นะ งานตามอุดมคติ คือทำตามพระพุทธประสงค์ ผมอยากจะพูดว่า พระบารมีสิบประการนั่นแหละดีนี่สุดนะ เอามาเป็นหลักสำหรับทำตามท่าน ดีที่สุด ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ สัจจะ ขันติ อธิษฐานะ เมตตา อุเบกขา อย่าเห็นเป็นของที่เล่นๆ ไม่เกี่ยวกับเรา ควรจะจำไว้ได้อย่างขึ้นใจทีเดียว แล้วจะทำตามอย่างพระพุทธองค์โดยหลักแห่งบารมีสิบประการนี้ แต่ไม่ใช่ว่าเพื่อจะเป็นพุทธเจ้า ไม่ต้องพูดอย่างนั้นนะ แล้วก็ไม่ใช่เพื่อแข่งกับพระพุทธเจ้าด้วย แต่ว่าทำตามท่าน ฉะนั้นทางที่ท่านเดินไปแล้วเราก็เดินตาม มันก็เรียกว่าเป็นลูก เดินตามไป ปู่ย่าตายายเดินไปอย่างไร ลูกหลานเดินตามไปอย่างนั้น
ให้ทานมันก็บอกอยู่แล้ว เราจะต้องเสียสละแหละ เสียสละเหยื่อของกิเลส นี่ลึกซื้งมาก เสียสละข้าวของให้คนกินคนใช้มันก็เป็นเสียสละได้เหมือนกันน่ะ แต่ขอให้ลึกถึงว่าเราเสียสละกิเลสของเรา เราจึงให้ของข้าวของสิ่งนั้นไป มิฉะนั้นเราขี้เหนียว เรามีกิเลส ขี้เหนียว เราเสียสละให้ไปมันก็เป็นการเสียสละกิเลส ฉะนั้นทานแปลว่าการให้ ชนิดที่ทำให้ผู้ให้หมด หมดกิเลสไปทีละนิด ทีละนิด ทีละนิด ฉะนั้นคำว่าสะสมนั้นน่ะมันเป็นตรงกันข้าม ไอ้การให้สละออกไปทำให้เป็นธรรมทายาท แต่การสะสมน่ะกลับมันกลายเป็นอามิสทายาท คือเราต้องดูให้ดีนะเราอย่าอวดดีว่าไอ้ที่เราได้กิน ได้ใช้ ได้นุ่ง ได้ห่ม ได้ร่ำ.. ได้มีปัจจัยสี่ใช้น่ะเพราะบารมีของพระพุทธองค์ เพราะอำนาจพระพุทธคุณเราจึงไม่ไม่อด เราจึงอยู่ที่วัดก็มีกินมีใช้มีทุกอย่างแหละในเรื่องปัจจัยสี่ เพราะมันได้มาจากบารมีของพระองค์ แต่มันเป็นอามิสทายาท อย่าไปชอบกับมันนัก นี่เราจะกลายเป็นทำตรงกันข้าม คือธรรมทายาท คือให้ ไม่สะสม เอาไว้แต่พอกินพอใช้ ไม่มีส่วนเกิน นี่ก็เป็นอามิสทายาทในข้อที่เรียกว่าทานะบารมี
นี้ศีลก็รู้กันอยู่แล้วอย่าต้องอธิบายนักสิ มีศีลถึงที่สุด ทั้งโดยสิกขาบท ชนิดที่เป็นอาทิพรหมจรรย์ ทั้งโดยสิกขาบทที่เป็นอภิสมาจาร ทั้งโดยมรรยาททั้งเล็กๆน้อยๆแหละโคจรคือที่จะเที่ยวไปเที่ยวมา เรียกว่าโคจรนี่ยังผิดได้(44.40) นี่เรียกว่าศีล ทำตามแล้วเป็นอาธรรมทายาท เนกขัมมะนี้ก็อยู่แล้ว บวชแล้ว กำลังถอนตนออกจากกามอยู่แล้ว
ปัญญา เป็นเรื่องที่ต้องพอกพูนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีปัญญามันทำไม่ถูกนี่ ตั้งใจจะทำให้ดี เสียสละแล้วแต่ถ้าไม่มีปัญญามันทำไม่ถูก ต้องพอกพูนปัญญาไว้เสมอ เพื่อเป็นเครื่องมือแห่งธรรมทายาท
สัจจะ จริง รู้เองเถอะว่าจริงเป็นอย่างไร จริงสักเท่าไร แต่อย่าเอาไปปนกับคำว่าบ้าบิ่น เดี๋ยวนี้มันมีนะ จริง เคร่ง เคร่งที่สุดแหละ แสดงความเคร่งทุกอย่าง แต่มันหลอกเขา มันอวดเคร่ง มันจริงชนิดที่โกหก แสดงท่าทางเหมือนคนจริง แต่ในเนื้อแท้มันโกหก มันหลอกลวง มันอวดเคร่ง มันทำให้เขาหลงใหล อย่างนี้มันก็เรียกว่าจริงข้างนอก ข้างในมันคด
วิริยะ พากเพียร ขันติ อดทน อธิษฐานะตั้งจิตมั่น นี่มันคล้ายๆกัน ไอ้สัจจะ ไอ้วิริยะ ไอ้ขันติ อธิษฐานะ นี่มันเครือๆเดียวกันแต่แยกกันได้ วิริยะ ก็เรียกว่ากล้าเหมือนกันน่ะ คำนี้มันมีรากศัพท์ที่แปลว่ากล้า ถ้าเรามีวิริยะเราก็จะกล้าหาญทางจริยะธรรมได้เหมือนกัน ถ้าเรามีวิริยะ เรากล้าหาญแล้วเราก็ไม่กลัวเหน็ดเหนื่อย ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่กลัวว่าเหน็ดเหนื่อย ก็รุดหน้าเรื่อย
ไอ้ขันตินี่ไม่ใช่ของเล็กน้อยนะ ไปดูเอาเองในบทบอกวัตร ในบทบอกวัตรแบบเก่าน่ะเขารวบรวมเอาประโยชน์อานิสงฆ์ของขันติมาไว้ในนั้นหมด ดูจะมากกว่าหมวดขันติในพุทธศาสนสุภาษิตเสียอีก ที่สรุปความว่าขันตินี้เป็นกำลังของผู้บำเพ็ญพรต หมดความขันติ หมดความอดทนเมื่อไรก็ ความเป็น การบำเพ็ญพรตก็หมดน่ะ ฉะนั้นเราก็เป็นธรรมทายาท ก็คือการบำเพ็ญพรต
อธิษฐานะ ตั้งใจมั่น ปักใจลงไปมั่นในอุดมคติ
เมตตา รักผู้อื่น เมตตาเป็นคุณธรรม ทำโลกนี้ให้ปลอดภัยให้เป็นสุข ถ้ามนุษย์รักกันนะ ในโลกนี้ไม่มีปัญหา คือไม่มีการเบียดเบียนด้วยประการทั้งปวง เป็นเครื่องทำให้เกิดศาสนาพระศรีอริยเมตไตรย เมตไตรย แปลว่ามีเมตตา ประกอบอยู่ด้วยเมตตา เป็นไปโดยเมตตาเรียกว่าเมตไตรย เมตไตรยะ ทีนี้ยิ่งหายาก ในโลกนี้ยิ่งหายากยิ่งขึ้นทุกที ทั้งศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยก็ไกลออกไปทุกที ห่างออกไปทุกที ฉะนั้นควรจะช่วยกันดึงกลับมา
ข้อสุดท้ายเรียกว่าอุเบกขา คำว่าอุเบกขานั้นน่ะทำยุ่ง เพราะมันแปลได้หลายอย่าง และถือเอาผิดๆ วางเฉย ไม่ทำอะไร ไอ้ที่วางเฉยไม่ทำอะไรนั้น ไม่ใช่อุเบกขาในธรรมะหรอก มันวางเฉยอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ตัวแท้ๆอุเบกขาเหมือนกับ เพ่ง จ้อง ดูอยู่นะ ในเมื่อมันทำอะไรไม่ได้น่ะ มันอยู่นิ่งๆ เพราะมันทำอะไรไม่ได้ แต่มันคอยจ้องอยู่ว่าเมื่อไรจะทำได้ นั่นน่ะ อุเบกขาแท้จริง อุเบกขาที่ว่าไม่หวั่นไหว ไม่อะไรนั่นมันอีกความหมายนึงนะ อุเบกขาของพระอรหันต์น่ะ มันอีกความหมายหนึ่ง คือท่านเฉยเพราะไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหว แต่ถึงอย่างนั้นก็ดี เราควรจะถือว่าพระอรหันต์น่ะ ท่านคอยจ้องโอกาสจะทำประโยชน์แก่สัตว์โลกนะ ฉะนั้นคำว่าอุเบกขานี่ เขาให้แปลตามอุบะ เข้าไป อิกขะ ดู อุเบก อุเบกขะน่ะคือเข้าไปจ้องดู คือคอยดูอยู่ว่าเมื่อไรจะได้ทำ เมื่อไรจะทำได้ เมื่อไรจะช่วยได้ เมตตา กรุณา มุทิตา ถ้าไม่มีโอกาสจะทำ อุบกขาก็คอยจ้องดูว่าเมื่อไรจะมีโอกาสที่จะทำ มันคอยรอโอกาสอยู่ ดังนั้นอุเบกขาน่ะไม่ใช่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร หลับเสียก็ได้ ก็เป็นอุเบกขาเหมือนกัน ฉะนั้นขอให้ช่วยอธิบายกันเสียใหม่ในการเรียนนักธรรม สอนนักธรรม เรื่องพรหมวิหาร ๔ นี่ อุเบกขาอย่าแปลว่าวางเฉย ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ทำอะไร ไม่คิดจะช่วยอีกต่อไปนี่ ไม่ถูก คอยจ้องอยู่ว่าเมื่อไรจะมีโอกาสที่จะเมตตา จะกรุณา จะมุทิตากันอีก อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี่ก็คอยจ้องว่าเมื่อไรมันจะสำเร็จ มันถูกต้องแล้ว ปล่อยมันไป แต่คอยรอดูอยู่ว่าเมื่อไรมันจะสำเร็จ ฉะนั้นไม่ใช่มันวางเฉยชนิดที่ไม่มีความหมายอะไร ฉะนั้นอย่าทำให้อุเบกขาเป็นไอ้ธรรมะที่ใช้ไม่ได้ เขาถือเอาความหมายผิด ขอให้ถือว่าคอยจ้องอยู่ว่าเมื่อไรมันจะมีโอกาสที่จะทำ นี่คืออุเบกขาในพรหมวิหารนะ นี้เป็นความเห็นของผมว่า เราที่จะเป็นธรรมทายาท จะมีหลักปฎิบัติอะไรให้มันง่ายๆให้มันคลุมหมด ทุกอย่าง อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ฉะนั้นเขาให้ถือหลักไอ้บารมีสิบอย่างที่ว่ามานี่ แล้วมันจะเป็นธรรมทายาท ไปทุกๆข้อ ทุกๆตอน ทุกๆกระเบียดนิ้ว คือทำตามพระองค์
ลูกหลานหรืออนุชนต้องเดินตามรอยเท้าของบรรพบุรุษ ของบูรพาจารย์ นี่เรียกว่าเรามันทำตนให้เป็นธรรมทายาทในส่วนส่วนของตน เกี่ยวกับการเป็นธรรมทายาทนี้ทรงสรรเสริญพระสารีบุตรว่ายอดสุดเลิศของธรรมทายาท มีคำกล่าวตรงๆอย่างนั้น ไปศึกษาเรื่องพระสารีบุตร ดูตัวอย่างได้ที่พระสารีบุตร สรรเสริญพระสารีบุตรว่าเป็นยอดสุดของธรรมทายาท พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญ เช่นว่าสามารถประกาศธรรมจักรได้เหมือนพระองค์เอง ในบาลีมีอย่างนั้น ตถาคตยังธรรมจักรให้เป็นไปได้อย่างไร สารีบุตรนั้นก็ยังธรรมจักรให้เป็นไปได้อย่างนั้น ในบางทีท่านเรียกว่าลูกหัวปี เชษฐโอรส เรียกพระสารีบุตรว่าลูกหัวปี คือ เชษฐโอรส และบางทีก็เรียกว่าเสนาบดี คือผู้ช่วยอย่างใกล้ชิดอยู่ข้างๆ จงยกเอาสารีบุตรเป็นตัวอย่างยอดสุดของธรรมทายาท นี่ทั้งหมดนี้เราจะต้องเป่าปี่หรือเป่าอูดก็ตามให้เราฟังให้ตัวเราฟังอยู่เสมอ คือพูดกรอกหูตัวเองอยู่เสมอ ในข้อปฎิบัติเหล่านี้ถือว่าเป็นงานธรรมทายาท ส่วนที่จะต้องทำแก่ตัวเรา หรือเพื่อตัวเรา นี่มันเสร็จไปงานหนึ่งแล้ว ทีนี้งานที่สองก็คือที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ที่จะต้องทำอีกแผนกหนึ่ง ให้เรียกว่าเป่าปี่ เป่าสังข์ เป่าอูดก็ตามให้ผู้อื่นฟังอีกทีหนึ่ง ถ้าว่ามันควรเป่าอูดก็เป่าอูด ควรเป่าสังข์ก็เป่าสังข์ ดูให้มันถูกกรณี ไอ้เป่าอูดน่ะมันไม่น่าฟังหรอก พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสเตือนอย่างนี้เหมือนกันนะว่า แม้มันจะไม่น่าฟัง แต่ถ้ามันจริง และก็มีประโยชน์นะ ก็ดูเวลา เหมาะสมก็พูดเถิด แม้มันจะไม่น่าฟัง ถ้ามันมีประโยชน์ และท่านก็สอนให้พูดให้น่าฟัง แต่ถ้ามันจำเป็นจะต้องพูดเรื่องไม่น่าฟังมันก็ยังต้องพูด อย่างพระพุทธเจ้าตรัสพระสูตรบางสูตรทำให้ภิกษุอาเจียนโลหิตตายเป็นสิบๆรูปอย่างนี้ก็มี เมื่อมันจำเป็นจะต้องพูด นี่เราก็จะต้องเป่าปี่ให้ผู้อื่นฟัง
เอ้า,ทีนี้ดูกันที่ผู้ฟัง ผู้ฟังก็คงอยากจะพูดว่ามันมีอยู่สองประเภท ประเภทที่มันยังหลับอยู่ อย่างปลุกไม่ตื่นนี่ก็มี และอย่างทีมันพอจะปลุกได้ ปลุกให้ตื่นได้นี่มันก็มี มีอยู่สองพวก เคยอ่านในนิยายอะไรสำหรับเด็กเมื่อก่อนนี้ ปลุกด้วยการเขี่ยให้ตื่นมันก็ตื่น เขี่ยไม่ตื่นก็เตะมันเข้ามันก็ตื่น ไม่ตื่นอีกก็ว่าถลกหนังหัวมันเท่าเงินเหรียญให้มันตื่น คล้ายๆกับเป็นที่ยอมรับมาแต่โบราณนะว่าไอ้การปลุกนี่มันก็จะต้องมีเป็นชั้นๆๆๆ ฉะนั้นดูเอาเองว่ามันจะต้องใช้ชั้นไหน ถ้าเรายิ่งทำตนเป็นสัลละกะโต เป็นหมอผ่าตัด ตามพระพุทธองค์อยู่แล้วก็จะต้องดูเอาเองว่ามันต้องใช้ชั้นไหนในการปลุก ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด มันก็พอจะพูดกันได้ง่าย ลูกศิษย์ที่มันห่างออกไปมันก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดมันจะปลุกได้เสมอไป มันไม่แน่หรอก แต่ว่าผมคิดว่ามันมีโอกาสที่จะพูดได้ง่ายกว่าลูกศิษย์ใกล้ชิด ลูกศิษย์ห่างออกไป แล้วคนนอกทั่วๆไปแล้วคนทั้งโลก มันเป็นหลายชั้นอย่างนี้ผู้ที่เราจะไปปลุกเขาน่ะมันมีหลายชั้น ชาวโลกทั่วไป
เอ้า,ที่นี้ก็ดู ดูทีเดียวหมดกันก็จะได้เห็นว่า โอ๊ย ส่วนมากน่ะ ส่วนมากน่ะมันหลับใหล หลับใหลอยู่ในวัตถุนิยม คนในโลกเวลานี้ เป็นลูกศิษย์ของเราก็ดี ไม่เป็นก็ดี คนทั่วไปก็ดีเขากำลังหลับใหลอยู่ในวัตถุนิยม คือความเอร็ดอร่อยทางอายตนะ ดึงออกมายาก ที่เดี๋ยวนี้กำลังเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะปราบปรามอบายมุขอะไรก็ตามน่ะมัน เขาหลับใหลอยู่ในวัตถุนิยม มันดึงออกมายาก ดึงออกมาเสียจากอันตราย ช่วยเขาให้พ้นจากอันตราย ก็เขายังไม่ยอมมา เขาก็ยังไม่ยอมมา คนในโลกกำลังหลับใหลอยู่ด้วยวัตถุนิยม ทั้งติดวัตถุ รสอร่อยทางวัตถุ เชื่อ เขาเชื่อความคิดนึกของเขาเอง ดังนั้นเขาจึงดื้อด้าน ขอให้ไปดูกันในแง่นี้ก่อนว่าไอ้คนที่เราจะสอนเขาน่ะ ถ้าเขาอยากเชื่อตัวของเขาเองนั้นน่ะ แล้วเขาก็ดื้อด้าน เขาไม่ชอบให้เราสอน ฉะนั้นบางทีมันเป็นถึงกับว่าแม้เราสอนถูก เจ้าความดื้อด้านของเขาน่ะ เขาไม่อยากให้ ให้เรื่องเป็นไปในทางว่าเราสอนเขานี่ เขาไม่อยากให้ เขาได้ชื่อว่ามีผู้สอนเขานี่ แล้วเขาก็ดื้อด้าน นี่มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะพาคนไป พาสัตว์โลกไปตามแนวทางของพระพุทธเจ้า พูดอย่างตะวันออกเรา ก็พูดว่ายากเหมือนกับจะจูงช้างลอดรูเข็ม พูดอย่างตะวันตกไปทางโน้น ก็ว่าเหมือนจะจูงอูฐลอดรูเข็ม ที่นั่นช้างมันไม่มี มีแต่อูฐ ตัวใหญ่เท่าๆช้างน่ะ จะจูงอูฐลอดรูเข็มมันยาก บ้านเราไม่มีอูฐ มีช้าง เราก็พูดว่าจะจูงช้างลอดรูเข็ม มันก็ยาก รวมความมันก็ยากพอๆกันน่ะที่จะจูงไอ้คนเหล่านี้ออกไปหาพระธรรม คำนวณแล้วยากเท่ากับจูงช้างลอดรูเข็ม ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงเห็นความจริงข้อนี้ ตั้งเมื่อแรกตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงคิดว่าจะไม่สอน ไอ้คนเหล่านี้มันสอนไม่ได้ สอนยาก แต่เผอิญท่านฉุกคิดขึ้นมาว่า มันยังมีบางคนที่มันจะเข้าใจได้ จึงกลับพระทัยสอนเพื่อเห็นประโยชน์ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของคนพวกนี้ที่จะสอนได้ นั้นถึงเราเองก็เหมือนกันแหละ จะสอนทุกคนคงจะไม่ได้ แต่ว่าพวกที่จะสอนได้ก็มีอยู่ มีอยู่เท่าไรก็สอนกันไปเท่านั้น แล้วเราจะถือหลักว่ามันไม่มีอะไรที่ไม่เที่ยงนะ และไม่มีอะไรที่มันเที่ยงนะ ไม่มีอะไรที่มันเที่ยงแท้ตายตัวหรอก มันมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ฉะนั้นเราพยายามไปมันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ ในบุคคลที่เราคิดว่าจะสอนไม่ได้น่ะ แต่ขอให้พยายามเถอะ มันจะมีความเปลี่ยนแปลง ค่อยๆเปลี่ยนแปลง ค่อยๆเปลี่ยนแปลง แล้วมันอาจจะสอนได้เหมือนกัน เรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านก็เคยทรงกระทำ คือพยายามแล้วพยายามอีก ค่อยๆแก้ไขไป นี่ความยากของการที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้เป็นธรรมทายาทต่อๆๆๆกันไป เหมือนกับเกิดลูกเกิดหลาน เกิดเหลน เกิดโหลน ต่อๆกันไปตามลำดับนี่ ที่เราจะทำให้มีธรรมทายาทสืบสายกันไปนี่ เราเป็นธรรมทายาทแล้วจะให้ลูกศิษย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก เป็นธรรมทายาทแล้วให้ลูกศิษย์จากนั้นเป็นธรรมทายาทต่อๆกันไปอย่างนี้ มันเป็นงานที่เรียกว่ายากเหมือนนี่ เหมือนกับว่าจะชวนกันลอดรูเข็ม นี้การที่จะเป่า เป่า เป่าสังข์ เป่าอูด เป่าปี่ เป่าอะไรให้คนอื่นฟังนี่จะเตรียมตัวไว้เถอะว่ามันจะต้องประสบปัญหาอย่างนี้ แต่แล้วเราก็ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมแพ้ มีอุบายหยาบ อุบายละเอียด อุบายกลางๆ ใช้กันไปเรื่อยเพราะว่างานอื่นไม่มี สำหรับพวกเราน่ะงานอื่นไม่มี มีแต่งานนี้
เอ้า,ทีนี้ก็เป็นอันว่าเรื่องเป่าปี่ให้ตัวเองฟังก็พูดแล้ว เป่าปี่ให้ผู้อื่นฟังก็พูดแล้ว เราก็มาดูถึงไอ้ตัวงานที่จะทำกันต่อไป เราจะใช้คำว่างานและก็แผนงาน มีอยู่สองชั้น มีงานแล้วก็ต้องมีแผนงาน ไอ้ตัวงานมันเป็นตัวอุดมคติ และก็มีแผนที่จะทำตามอุดมคติ เราแยกออกพิจารณาเป็นสองชั้นมันง่ายกว่านะ แยกงานออกมาเป็นแผนงาน เป็นงานและแผนงานมันจะง่ายขึ้น อย่าเอาไปรวมกันเสีย เอ้า, ก็ดูที่งาน คำว่างาน งาน นี้มันมีความตื้นลึกไปตามแบบของคน ที่มีการศึกษาอย่างไร มีจิตใจอย่างไร มีสติปัญญาเฉียบแหลมอย่างไร คำว่างานนี่เราลองคิดดู เราเองน่ะเคยเข้าใจคำว่างานอย่างไร โดยทั่วไปก็จะคิดว่างานคือสิ่งต้องทำ คือเลี้ยงชีวิต นี่มันก็เห็นภาษาง่ายๆ ภาษาคนทั่วไป งานคือสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องทำเพื่อเลี้ยงชีวิต นี่คนธรรมดาเขาก็รู้สึกอย่างนี้ แต่ถ้ามีปัญญาขนาดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้ามันต้องมองลึกกว่านั้น คำว่างานนั่นคือหน้าที่ ที่สิ่งที่มีชีวิตมันจะต้องทำตามกฎของธรรมชาติ มันจะทำเพื่ออยู่รอดกันได้ ทำเพื่อบุญเพื่อกุศลกันได้ ไอ้หน้าที่นี้ต้องทำแหละ ถ้าทำก็ชื่อว่าทำหน้าที่ ทำด้วยจิตบริสุทธิ์เขาเรียกว่าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ พวกฝรั่งพวกนักจริยธรรมฝรั่งมันก็เน้นมากเรื่องนี้ เราก็ชอบใจเขา เพราะเขาก็พูดมาเหมือนกับเราแหละ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ duty for duty's sake หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ แต่คนธรรมดาจะไม่เห็นอย่างนั้น หน้าที่เพื่อปากของกูสิ เพื่อปากเพื่อท้องของกูสิ ไม่ใช่หน้าที่เพื่อหน้าที่ ฉะนั้นถ้าเรามีอุคมคติสูง เป็นพุทธสาวกเราจะเห็นว่าไอ้หน้าที่นี่ตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละคืองาน เมื่อถ้าทำ ถ้าถือหลักอย่างนี้การทำงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติเป็นการประพฤติถูกประพฤติดีเป็นกุศลไปเสียเลย ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น
ฉะนั้นหน้าที่คือสิ่งที่ควรทำหรือต้องทำในฐานะเป็นกฎของธรรมชาติ ชั้นแรกเพื่อให้ชีวิตรอด ชั้นต่อไปก็เพื่อให้ชีวิตก้าวหน้าก้าวหน้าก้าวหน้าสูงๆขึ้นไป ในที่สุดก็ถึงจุดหมายปลายทางที่ว่ามันจะได้ดีที่สุดเป็นอย่างไร ฉะนั้นการทำงานก็เป็นการทำที่ดี เป็นบุญเป็นกุศลอยู่ในตัว ช่วยกันนะ อธิบายให้ประชาชนชาวไร่ชาวนาชาวสวนอะไรก็ตามเถอะ ว่าการทำหน้าที่น่ะคือการปฏิบัติธรรม เดี๋ยวนี้จะแจวเรือจ้างอยู่ เดี๋ยวนี้จะถีบสามล้ออยู่ เดี๋ยวนี้จะกวาดถนนอยู่ เดี๋ยวนี้จะล้างท่ออยู่ นั่นน่ะคือการปฏิบัติธรรม คือทำหน้าที่ตามที่มนุษย์จะทำได้อย่างไรเต็มตามความสามารถของตน เมื่อเราจะไปเป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีไม่ได้ เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ เขาทำเต็มที่อย่างไรเราก็ทำเต็มที่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราเรียกว่าทำหน้าที่เท่ากันแหละ ไม่ควรจะดูถูกดูหมิ่นกัน ฉะนั้นเราจะถือว่าไอ้งานคือการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เป็นการปฏิบัติธรรมะอยู่ในการงาน ไถนาอยู่ก็ดี อะไรอยู่ก็ดี เหงื่อไหลไคลย้อยอยู่ก็ดี เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมะนั่นคืองาน งานคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ทำแล้วก็รอดชีวิต ทำแล้วก็ก้าวหน้าเรื่อยไป ทีนี้บอกให้รู้กันเสียเลยว่า ไอ้งานน่ะหรือหน้าที่นี่ต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา อย่าเห็นเป็นของแปลกที่มันจะเกิดอุปสรรคขึ้นมา ฉะนั้นถ้าใครเห็นอุสรรคเป็นของแปลกคนนั้นไปไม่รอดหรอก มันอ่อนแอ มันล้มละลาย มันไม่เข้มแข็ง เป็นธรรมทายาทไม่ได้ คือมันจะทายาทไม่ได้ มันจะทรหดอดทนอย่างทายาทไม่ได้ เมื่อเรารู้เสียแต่ล่วงหน้าว่าไอ้งานนี่ หน้าที่นี่ต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา ฉะนั้นก็เตรียมพร้อมก่อนแต่จะทำงานว่าเราจะสู้กันกับอุปสรรคนี่ แนะให้ถือว่าไอ้อุปสรรคน่ะมันช่วยให้เราเก่ง ถ้าไม่มีอุปสรรคเราจะไม่เก่งขึ้นกว่าเดิม เรายิ่งมีอุปสรรคมากเราจะยิ่งเก่งขึ้นกว่าเดิม ผมก็ได้เห็นความจริงข้อนี้ นั้นจึงมาบอกว่าไอ้ความเก่งของเรานี่มันมาจากการเผชิญอุปสรรค ฉะนั้นเราจึงไม่กลัวอุปสรรค เรายินดีจะเผชิญกับอุปสรรค ช่วยให้เรามันเก่งกล้าสามารถขึ้นมา
ทีนี้บอกให้เด็กๆหรือผู้ฟังรู้ว่ายิ่งยากน่ะยิ่งมีค่า ไอ้งานน่ะถ้ายิ่งยากแล้วยิ่งมีค่านะ อย่า อย่าไปท้อแท้ว่ายิ่งยากแล้วกูก็ไม่ต้องทำ กูก็ไม่ทำ กูก็ไม่เอา ฉะนั้นเดี๋ยวนี้จึงไม่มีใครทำงานที่ยากๆ คือต้องอดทนมาก ไอ้งานชิ้นสำคัญๆอย่างนั้นมันก็ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราฮึดสู้ขึ้นมาว่ายิ่งยากยิ่งดี เราก็ทำสิ เราชอบทำงานยาก เราเลือกเอาด้วย เราเลือกจะทำงานยาก งานน้อยๆ งานต่ำๆ งานง่ายๆ บอกไม่เอาละ เราไม่ชอบ ช่วยเลือกแต่งานที่มันยากๆน่ะมาให้ฉันทำ ยิ่งยากยิ่งมีค่า นี่ก็เห็นกันอยู่แล้ว ไอ้งานยากน่ะมันทำยากแล้วมันก็ มันก็มีค่า ผลงานก็ขายได้แพง มีประโยชน์แต่กว้างขวางอย่างนี้ ยิ่งยากยิ่งมีค่า จนกระทั่งเห็นว่าไอ้งานนั่นแหละคือตัวชีวิตน่ะ ที่รอดชีวิตอยู่ได้นั่นแหละคือตัวการงาน ไม่มีงานก็ไม่รอดชีวิต เพราะฉะนั้นให้ถือว่าไอ้งานนั้นคือตัวชีวิต ฉะนั้นถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ ชีวิตนั้นต้องเป็นตัวการงาน ว่างานน่ะมันคือตัวชีวิต ฉะนั้นรอดชีวิตอยู่ก็คือตัวการงานนั่นเอง แล้วเมื่อทำงานเรื่อย ทำงานเรื่อย ชีวิตมันก็เจริญเรื่อย ผลทางวัตถุมันก็ได้ ผลทางจิตใจมันก็ได้ ผลทางธรรมะ รู้อะไรมากขึ้น รู้อะไรมากขึ้น รู้อะไรมากขึ้นเพราะเราทำงานมาก ถ้าชีวิตเต็มไปด้วยการงาน เราก็รู้อะไรมาก ไม่เท่าไรเราก็รู้ความจริงของธรรมชาติ นั่นคือมันเป็นการเดินทางไปสู่ความหลุดพ้น เดินทางไปสู่นิพพานนั่นเอง ช่วยไปคิดด้วยข้อนี้ว่าไอ้ที่ทำการงานนั่นแหละคือการเดินไปนิพพาน ที่ทำการงานน่ะคือการกำลังก้าวเดินไปสู่นิพพาน ยิ่งทำงานยิ่งรู้เรื่อง ยิ่งทำงานยิ่งรู้เรื่อง ยิ่งทำงานยิ่งรู้เรื่อง ทำให้เกิดความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้เพราะทำการงาน ก็เกิดนิพพิทา เกิดวิราคะ เกิดวิมุติได้ ฉะนั้นการทำงานอย่างสุดเหวี่ยงนั่นคือการเดินไปสู่นิพพาน ไม่เชื่อก็ไปลองดู ทำงานให้มากทำงานให้จริง มันจะรู้อะไรมาก จนกระทั่งรู้จักเบื่อหน่าย รู้จักคลายความยึดมั่นถือมั่น ไปนิพพานทางอื่นไม่ได้นอกจากไปในทางที่ทำงานตามกฎของธรรมชาติ ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ก็เดินไปเดินไป ออกไปจากโลกนี้ไปสู่นิพพานได้ในที่สุด
ฉะนั้นก็ถือว่างานคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ งานนี้ต้องมีอุปสรรคเป็นธรรมดา ไอ้งานนี่ยิ่งมากยิ่งมีค่า ฉะนั้นงานคือตัวชีวิต เมื่อทำมากเข้ามันก็ มากเข้าน่ะ คือมันเป็นไปในทางสูงใกล้จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน เราอย่าไปสอนประชาชนให้เข้าใจว่าไอ้ทำงานนี่เป็นความโลภใส่ปากใส่ท้อง ถ้าอย่างนี้มันผิดหมดแหละ มันผิดทั้งทางโลก ผิดทั้งทางธรรมะ เพราะว่าเราเคยได้ยินพระสอนอย่างนี้เหมือนกันนะ สอนไม่ให้ทำงาน สอนให้ไปทำอะไรก็ไม่รู้นะ แต่เราจะสอนให้ทำงาน แม้ไอ้การศึกษาเล่าเรียนก็เป็นการทำงาน การปฏิบัติธรรม กรรมฐานวิปัสสนาก็เป็นการทำงาน แต่ว่ามันสำหรับคนพวกนี้ที่มันจะรีบเดินรีบด่วนอย่างนี้ ส่วนผู้ที่มันรีบไม่ได้ มันยังต้องเป็นชาวโลกธรรมดามันก็ต้องทำงาน ที่มาถึงเข้าน่ะ อย่าเกียจคร้านแล้วมันก็จะรู้เรื่องชีวิต รู้เรื่องไอ้ความก้าวหน้าของชีวิต แล้วมันก็จะเป็นไปทางของพระนิพพานด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันช้า จะช้ามาก ก็ไม่มากเกินไปหรอก เพราะว่าถ้ามันขยันทำงานมันก็รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้เร็วเหมือนกัน แต่ถ้ามันนอนขี้เกียจ คอยขโมย คอยอย่างนี้เสียมันก็ไม่รู้หรอก ฉะนั้นเราชวนให้คนทั้งหลายศึกษาชีวิตจากการงาน ทำการงานให้เป็น การศึกษาชีวิตก็เป็นการศึกษา เขาก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ออกจากโลกนี้ไปได้ นี่เรียกว่างาน อย่าต้องไปจำแนกว่าทำอะไรเลย มันรู้กันอยู่แล้วเห็นกันอยู่แล้ว ทำนา ทำสวน ค้าขาย ทุกอย่างทุกประการเรียกว่างาน ทำให้สุจริต มันก็เป็นชีวิตที่ก้าวหน้าไปตามทางของพระนิพพาน เรามีสิทธิที่จะเลือกได้ เอาการงานเร็วๆ หรืองานค่อยเป็นค่อยไป ให้มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่พระนิพพาน อะไรกันก็แล้วกัน
ทีนี้ก็จะพูดถึงคำว่าแผนงาน ไอ้งานน่ะคืออย่างนั้น ทีนี้เราจะมาวางแผนงาน เราต้องมองให้ชัดลงไปที่จะวางแผนงานนี่ อันแรกที่สุดก็คืออุดมคติ อย่างที่พูดเมื่อคืนแล้วที่แล้วมา แผนงานของเราจะต้องขึ้นต้นด้วยสิ่งที่เรียกว่าอุดมคติ เราต้องรู้ชัดเสียก่อนสิว่าอันนี้มันคืออย่างไร อันนี้มันจะไปทางไหน เป็นอุดมคติ กระทั่งถึงว่ามันเป็นของประจำประจำชีวิต ประจำมนุษย์ ประจำสัตว์โลก ประจำไอ้ประจำโลกน่ะ อุดมคติของคนนี่มันก็จะต้องดูว่ามันเกิดมาเพื่ออะไร ถ้าเข้าใจข้อนี้ถูกละก็อุดมคตินั้นมันก็ชัดน่ะ ประกอบด้วยอุดมคติเป็นข้อแรก หยิบขึ้นมาพิจารณาให้มันถูกต้อง แล้วทีนี้ก็มองดูวัตถุประสงค์ ซึ่งมันแคบเข้ามา อุดมคติมันกว้างเกินไป วัตถุประสงค์จะเอาเท่าไรอย่างไร วัตถุประสงค์วางไว้ให้แน่นอน เช่นอุดมคติของธรรมทายาทมันกว้างมาก วัตถุประสงค์นี่เราก็จะช่วย เราช่วยเพื่อนมนุษย์ของเราให้ไปตามทางของพระพุทธเจ้า ทีนี้ก็เหตุผล ในการวางแผนงานมันมีเหตุผลที่เราเห็นชัดอยู่ว่าถ้าทำอย่างนี้ อย่างนี้จะเกิดขึ้น ทำอย่างนี้ อย่างนี้จะเกิดขึ้น ทำอย่างนี้ อย่างนี้จะเกิดขึ้น หรือว่าทำอย่างนี้มันจะดับไป อย่างนี้มันจะดับไป อย่างนี้มันจะเกิดขึ้น มันกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาทจะต้องเอามาใช้ ทำอย่างไรผลจะเกิดขึ้นอย่างไร เรื่องตถาตา ความเป็นเช่นนั้นเองเป็นเช่นนั้นเอง ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของตถาตามันก็จะได้ผลตามที่เราต้องการ มีเหตผลชนิดที่ไม่มีที่สงสัยในสิ่งที่เราจะกระทำ
ทีนี้มันก็จะย่อยลงไปถึงวิธี วิธี นี้เราก็พบวิธีที่จะทำ และก็มีวิธีที่เห็นชัดว่าจะต้องทำอย่างไร ถ้าเหตุผลมันแสดงถูกต้องชัดเจนพอมันก็รู้ว่าวิธีจะทำจะต้องทำอย่างไร เราก็รู้ไปถึงว่ามันจะมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ในแผนงานนั้นจะต้องมีความรู้เรื่องอุปสรรค และการแก้ไขอุปสรรคนั้นไว้เสร็จเลย มันพร้อมเลย คือเรารู้อุปสรรคอะไรจะเกิดขึ้นแล้วก็จะแก้ไขมันอย่างไร ทีนี้ให้มันเป็นการสอนเราอยู่ในตัว แผนงานของเรา มีถึงว่าไอ้งานนั้นจะสอนเราอยู่ทุกกระเบียดนิ้วทุกเวลานาทีทุกนั่นน่ะ เราเรียนจากงาน เรียนจากชีวิต เรียนจากธรรมชาติ ไอ้การงานที่เราทำน่ะมันสอนเราอยู่ ว่าที่ถูกแล้วไอ้งานน่ะมันสอน หรือพูดให้มันฟังง่ายก็ว่าการกระทำนั่นแหละมันสอน ถ้าเป็นอาจารย์วิปัสสนาอย่าเรียกร้องอะไรมากนักนะ อย่าอวดดีว่าเราสอนนะ มันจะผิดนะ เราได้แต่บอกเขาไปทำอย่างนั้นน่ะ แล้วก็ไปทำ แล้วการกระทำของเขามันจะสอนเขาเอง เราบอกเขาได้แต่ว่าทำอย่างนี้ทำอย่างนี้ เขาก็ยังทำไม่ได้ยังมืดแปดด้าน แต่เขาไปทำมาเถอะ ฉะนั้นการกระทำนั้นน่ะมันจะสอนเขาเองสอนเขาเอง ไอ้ทำ..ดำรงจิตให้ถูกอย่างนั้นอย่างนี้สอนไม่ได้ มันมันจะต้องสอนของมันเอง เหมือนกับเด็กทารกที่มันจะสอนนั่ง ไม่มีใครสอนได้หรอก มันค่อยๆนั่งของมันเอง มันทำความสมดุลของมันเอง แล้วมันจะยืน มันจะสอนยืนนี่มันยิ่งจะต้องสอนเอง แล้วมันจะต้องเดินมันก็ต้องสอนเอง เหมือนกับเราจะว่ายน้ำมานี่มันก็บอกได้กันว่าทำอย่างนั้นเท่านั้น มันก็จมแหละ เพราะมันต้องไปทำเข้าไปทำเข้าแล้วมันก็ค่อยๆสอน เหมือนจะแจวเรือพายเรือนี่ไม่มีใครสอนกันได้นอกจากเอาเรือมา เอาพายมาแล้วก็พายเข้า แกว่งไปแกว่งมา แกว่งไปแกว่งมา เดี๋ยวมันจะค่อยรู้จัก จักจัดทำจักใช้วิธีให้มันตรงเข้า ตรงเข้า ตรงเข้า เรื่องขี่รถจักรยานนี่ยิ่งเห็นได้ง่ายถ้าใครเคยขี่รถจักรยาน มันสอนกันไม่ได้ ให้รถน่ะมันสอนให้ การขี่นั่นแหละมันสอน มันก็ล้มแหละ แล้วการล้มน่ะมันสอน ล้มสิบทีมันสอนทั้งสิบที เดี๋ยวมันก็ขี่ไม่ล้มแหละ แต่ว่าเปะปะ เปะปะ เปะปะไปก่อน ตอนนี้ก็ไม่มีใครสอนได้อีกเหมือนกัน ไอ้การเปะปะเปะปะนั้นจะสอนสอนสอนจนค่อยค่อยมันตรงเข้าตรงเข้าจนรถวิ่งแน่วไปเลย วางมือก็ได้เดี๋ยวนี้ ใครสอนล่ะ ไอ้การกระทำมันสอน นี่เรียกว่าธรรมชาติสอน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราเป็นแต่ผู้บอกวิธีบอกทาง เธอไปทำเอง เราจะจัดให้งานของเรานี่เป็นการสอนยิ่งขึ้นไปยิ่งขึ้นไปยิ่้งขึ้นไปอยู่ในแผนงานของเรา ให้งานมันสอนเรายิ่งๆขึ้นไป นี่เป็นการศึกษาอยู่ในตัว
ทีนี้ผมจะแถมพกเอาตามความรู้สึกที่เคยผ่านมา ว่าไอ้การทำงานนี่ยิ่งลงทุนน้อยเท่าไรยิ่งดี คนวางแผนงานใหญ่คิดทำงานด้วยทุนรอนมากผมจะเรียกว่าคนโง่ แล้วมันจะเจ๊งทุกรายแหละ นี่พูดกันง่ายๆว่าอย่างนี้ ขอให้มันมีหลักที่ว่าทำน้อยๆ ลงทุนน้อยๆไปก่อนเถอะ อย่าให้มันเกิน แล้วมันจะสอนกันไปในตัว มันจะทำได้ดี จะทำได้สำเร็จ ไม่ล้มละลาย เราทำลงทุนกันด้วยมือเปล่าแหละดี ถ้าเป็นธรรมทายาทนะขอให้ลงทุนด้วยมือเปล่าๆนี่ ไม่ต้องมีเงินซักบาทเดียว แล้วก็ทำไปเถอะแล้วมันจะมา มันจะมีมาเอง เมื่อไอ้ความสำเร็จในขึ้นต้นมันเกิดขึ้ินเกิดขึ้นก็มีคนช่วยเหลือมากเองมากเอง อย่าไปกู้เขามามากๆมาลงทุนนะมันจะบ้า จะปวดหัวตาย เป็นโรคประสาทตายเสียก่อน มันไม่ไม่ไม่สำเร็จได้ ฉะนั้นผู้ที่ลงทุนด้วยมือเปล่าละก็มีทางทำได้ เดี๋ยวจะว่าอวดดี ผมขออวดดีหน่อยว่าผมนี่เป็นผู้ลงทุนด้วยมือเปล่า ทำอะไรมาตั้งแต่ต้นแต่แรกทำด้วยมือเปล่าทั้งนั้นน่ะ แล้วก็มันมีคนช่วยช่วยช่วยช่วยกัน จนจะต้องบอกว่าจะพอกันที ฉะนั้นอย่าไปกู้เงินเขามาลงทุนนะ ทำเลย ทำไม่ทันหรอก ทำไม่ถูกหรอก แต่ว่าทำด้วยมือเปล่าเต็มที่เต็มที่สุดเหวี่ยงสุดความสามารถถูกต้อง แล้วมันก็จะค่อยเกิดขึ้นเกิดขึ้น ทั้งทางวัตถุทั้งและทางจิตใจ เราขอสร้างทางวัตถุหรือดำเนินงานทางวัตถุอะไรที่ทำๆอยู่นี่มันมาทีหลังทั้งนั้นน่ะ มันมาทีหลังไอ้การลงทุนด้วยมือเปล่าทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้นขอให้ถือว่าทำน้อยและพอดี ถ้าทำมากมีทางผิดพลาด เดี๋ยวนี้เขาเริ่มรู้สึกกันแล้ว มีคนพูดกันขึ้น แล้วก็มีคนเห็นด้วย ว่าในโลกนี้เขาคิดทำอะไรมันใหญ่เกินไปมันมากเกินไปแล้วมันไม่ค่อยคุ้มค่า เช่นเราสร้างบ้านสร้างเมืองให้มันใหญ่โตเป็นมหานครนี่มันกลายเป็นเรื่องบ้า มันสร้างปัญหาขึ้นมากไม่คุ้มทุน ถ้าเราอยู่กันอย่างน้อยๆ อย่างหมู่บ้านน้อยๆ ตำบลน้อยๆอย่างนี้ก็อยู่กันเป็นสุขกว่า ก็ไม่ต้องลงทุนมาก แล้วก็อยู่กันเป็นสุขกว่า ถ้าไปทำมหานครอยู่กันตั้งสิบล้านคนนี่ไปดูปัญหาสิมันเกิดขึ้นโดยแก้ไม่ไหว เป็นที่เลวร้ายที่สุดในมหานครนะมันมีเขาว่าประเทศอเมริกานั้นน่ะมี หนังสือพิมพ์เมื่อเช้านี้มันมีการข่มขืนผู้หญิงทุกหกนาที มีการขโมยทุกสี่นาที มีการฆ่ากันตายทุกยี่สิบสามนาทีต่อคนนี่ เพราะมันใหญ่มันคุมกันไม่ได้มันรักษากันไว้ไม่ได้ ถ้ามันอยู่กันน้อยๆเล็กๆมันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ มันก็ไม่เป็นเป็นไปได้ เพราะมันมันมันดูแลกันได้ควบคุมกันได้
งาน งานลงทุนลงรอนก็เหมือนกันเขาว่าสู้ทำชนิดที่พอดีๆไม่ได้ ก็เข้ากับหลักของเราที่ว่าไอ้สันโดษน่ะมันดีแล้ว เอาแต่พอดีๆเท่าที่จำเป็น ที่มันกระโดดพรวดพราดออกไปใหญ่หลวงจนใครๆก็คุมไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องยุ่งยากลำบากเสียหายที่แก้ไขไม่ทัน ฉะนั้นเราจะทำงานอะไรก็มีแผนงานที่ชนิดที่มันไม่ ไม่พรวดพราด แล้วก็ลงทุนน้อยที่สุดเป็นการดี เพราะว่าพระนิพพานนั้นให้เปล่า นี่ถ้าเรื่องทางจิตใจถือหลักว่าพระนิพพานเป็นสิ่งให้เปล่าไม่เอาสตางค์ เพราะฉะนั้นชาวบ้านที่ต้องการนิพพานนั้นน่ะไม่ต้องเสียสักสตางค์หนึ่ง เราจะทำปฏิบัติจนได้พระนิพพานก็ได้ ยิ่งต้องลงทุนมากแล้วก็ยิ่งยุ่งยาก ยิ่งลำบาก ยิ่งมีผลร้าย ยิ่งลงทุนน้อยยิ่งเป็นไปเพื่อความสงบสุข แม้กระทั่งว่าพระนิพพานนี่ไม่ต้องใช้เงินซักสตางค์เดียว ได้พระนิพพานมาบริโภคอยู่เปล่าๆ ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา บทสวดรัตนสูตร เดี๋ยวนี้เขาเริ่มรู้สึกกันแล้วว่าในโลกนี้กำลังทำผิด บูชาความใหญ่ ความกว้าง ความเลว มันเลยดูโลกทั้งโลกโลกสมัยนี้ มันก็เกิดตายกันในเรื่องที่มันใหญ่นั่นแหละ นี่ไม่เท่าไรก็จะมีคนตกเรือบินตาย เรือบินตกวันละไม่รู้กี่ลำ มันเกินที่จะควบคุมได้จะดูแลได้ ฉะนั้นยิ่งทุนลงทุนน้อยยิ่งดี แต่ว่าคนที่โดยมากเขาไม่เชื่อ ฉะนั้นผมอยากจะพูดว่าจะลงทุนทำวัดสร้างวัดสร้างวัตถุก็ดี ดำเนินการศึกษา การศาสนา การปฏิบัติธรรมก็ดี ขอยินดีในการที่จะตั้งต้นด้วยการลงทุนที่น้อยที่สุด นี่คือแผนงาน แล้วก็มีงาน แล้วก็มีแผนงานที่ทำไว้ดี เป็นอันเชื่อได้ว่าจะต้องประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นนี่ก็พูดมาสมควรแก่เวลาแล้ว มันจะต้องยุติกันที
ด้วยการขอย้ำว่าที่พูดมาแล้วว่าไอ้งานธรรมธาตุ ธรรมทายาทนี่ให้มองเห็นว่าเป็นงานที่ทำเพื่อผู้อื่นยิ่งกว่าจะทำให้เรานะ ยิ่งทำให้ผู้อื่นเท่าไรจะยิ่งเป็นงานธรรมทายาทเท่านั้น ขอให้เราดูพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าท่านเป็นบุคคลของผู้อื่นนะ ไม่ใช่ท่านเป็นบุคคลของตัวท่านเอง ไอ้เรานี่มักจะอะไรๆเพื่อเรา เพื่อตัวเรา แต่พระพุทธเจ้าน่ะท่านเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อผู้อื่น บำเพ็ญบารมีสี่อสงไขแสนกัปเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ถ้าเพื่อประโยชน์แก่ท่านนะท่านบำเพ็ญเป็นพระอรหันต์เสียตั้งแต่แรกๆแล้ว ไม่ได้มาบำเพ็ญสี่อสงไขแสนกัปเพื่อมาเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเพื่อคนอื่น ข้อนี้ต้องมองให้เห็นนะ พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อผู้อื่นน่ะ ทีนี้เราจะเป็นธรรมทายาทของท่านมันก็ควรจะถือว่าเพื่อผู้อื่น ถ้าเพื่อผู้เราผู้เราเองแล้วมันจะหด มันจะหดตัว ฉะนั้นถ้าเราถือหลักว่าเราทำเพื่อผู้อื่นนี่เราจะเป็นธรรมทายาท คือทำอย่างเดียวกันกับพระพุทธเจ้า เราจะเกิดจากปากพระโอษฐ์ของพระองค์ได้เพราะเราทำเพื่อผู้อื่น ถ้าเราตั้งใจอุทิศทำเพื่อผู้อื่น มันปลอดภัยไปตั้งแต่ทีแรก มันไม่เพิ่มกิเลส ถ้าเราทำเพื่อเรามันก็ตั้งต้นก่อกิเลส พอได้ผลมายิ่งพอใจยิ่งเห็นแก่ตัวมากเข้าก็ยิ่งก่อกิเลสหนักขึ้นไปอีก แล้วไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ ฉะนั้นอุทิศเพื่อผู้อื่นไว้เถิด แม้เราจะไม่ได้อะไรเลยในทางวัตถุแต่เราจะได้ทางจิตทางวิญญาณที่สุดสูงสุดเลย ฉะนั้นขอให้เรานึกถึงการกระทำนี้เพื่อผู้อื่นเหมือนพระพุทธเจ้าแล้วเราก็เป็นธรรมทายาทได้จริง แล้วก็ไม่ลำบากนัก เขาคิดว่าถ้าที่เราอยู่กันที่นี่เจ็ดสิบแปดสิบคนนี่ถ้าเราเอากันจริงๆในการเป็นธรรมทายาทเหลือจะพอที่จะช่วยมนุษย์ช่วยบ้านช่วยเมือง พระพุทธเจ้าท่านลงทุนด้วยพระอรหันต์หกสิบองค์เท่านั้นน่ะช่วยโลกได้ นี่เรามันมีกันตั้งร้อยหลายร้อยเราก็ยังช่วยไม่ได้ นี่เพราะมันยังขาดอะไรอยู่ ถ้าว่าเราเท่าที่นั่งอยู่ที่นี่นะเอาจริงนะ คงจะได้มากเหมืนกันน่ะ เพราะมันมากกว่าหกสิบองค์ ช่วยกันสืบธรรมทายาท สืบกิจกรรมของธรรมทายาท จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันก็อยู่ที่ว่าเราจะเอากันจริงหรือไม่จริงแค่นั้นเอง ขอให้ลองคิดดูว่าที่พูดนี่มันมีความจริงเท่าใด เป็นอันว่าเราได้พูดเรื่องงานของธรรมทายาท เป็นเรื่องที่สองต่อจากเรื่องอุดมคติของธรรมทายาทพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้