แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาธรรมเทศนา เป็นปุพพาปรลำดับสืบต่อจากเทศนาในตอนเย็น ปรารภเหตุที่วันนี้เป็นวันอาสาฬหปุณณมี มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ธรรมเทศนาอนุวัตรตามเหตุการณ์นั้นๆ จึงได้กล่าวถึงข้อความแห่งธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ยกเอาส่วนสำคัญที่สุดคือมัชฌิมาปฏิปทามาเป็นหัวใจของเรื่อง เรียกกันว่ามัชฌิมาปฏิปทาเพราะเป็นทางสายกลาง อย่างนี้ก็มี เรียกว่าอัฏฐังคิกมรรค เป็นหนทางประกอบด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ ดังนี้ก็มี สิ่งนี้เราจะถือกันว่าเป็นเครื่องมือกำจัดมาร ซึ่งหมายถึงกิเลสและความทุกข์ จึงถือว่าวันนี้เป็นวันได้รับเครื่องมือกำจัดมารจากพระผู้มีพระภาคเจ้า กำหนดไว้เป็นวันสำคัญเป็นวันพิเศษสำหรับความหมายของคำว่าอาสาฬหบูชา แต่ถ้าจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกได้ว่าเป็นวันที่ได้รับการชี้แนะหนทาง เป็นวันแห่งทางหรือการชี้ทาง เราก็ถือว่าเป็นวันที่ได้รับอะไรเป็นพิเศษ เป็นแสงสว่างแห่งจิตใจ คนธรรมดาสามัญทั่วไปควรจะถือความหมายว่าเป็นวันแห่งการชี้ทาง ถามว่าไปไหน ก็ไปสู่ที่สุดแห่งความทุกข์คือพระนิพพาน หนทางนี้มีความหมายพิเศษคือเป็นทางสายกลาง
คำว่ากลาง หมายความว่าไม่ข้องแวะอยู่ในที่ใดๆ ไม่เหวี่ยงไปทางซ้ายหรือทางขวา ไม่เหวี่ยงไปทางซ้ายคือกามสุขัลลิกานุโยค หมกมุ่นอยู่ในกาม ไม่เหวี่ยงไปทางขวาคือทรมานตนให้ลำบาก นี้ตามที่รู้กันอยู่ทั่วๆ ไป ก็มีอย่างนี้ ทีนี้มันก็มีความหมายอย่างอื่นของคำว่ากลาง ซึ่งไม่ค่อยได้เอามาพูดมาอธิบายกัน เอามาอธิบายไม่เข้าใจก็จะดูเป็นเรื่องทำความรำคาญกันเสียมากกว่า แต่อาตมาก็ยังคิดว่าจะเป็นการดีที่จะให้ได้ฟังกันเสียบ้าง หรือแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องรำคาญ โดยเฉพาะเด็กๆ คงไม่อยากฟัง คงหนีไปหมด ถ้าจะอธิบายกันถึงความหมายของคำว่าตรงกลางของมัชฌิมาปฏิปทาในลักษณะที่แปลกไปกว่าเรื่องสุดโต่งสองอย่างนั้น ขอให้ท่านทนฟัง ต้องขอให้ทนฟัง ถ้าไม่สนุก ไม่น่าสนใจ ก็ต้องขอให้ทนฟัง
คู่แรกที่สุดคือคำว่าอัตถิตา-นัตถิตา อัตถิตาแปลว่าความมี นัตถิตาแปลว่าความไม่มี ความมีก็สุดโต่งไปทางฝ่ายมี ความไม่มีก็สุดโต่งไปในทางไม่มี พุทธบริษัทที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องหนทางนี้ เขารู้ความเป็นกลางระหว่างความมีกับความไม่มี เมื่อพูดว่ามี มันก็หมายมั่นเป็นมี เป็นไปในทางสัสสตทิฏฐิ มีอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวรยั่งยืน ถ้าถือเอาว่าไม่มี มันก็เป็นฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ คือไม่มีหรือขาดสูญ นี่มันก็ผิดทั้งสองอย่าง เช่นว่า มีสัตว์มีบุคคลหรือไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล หรือที่พูดกันว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ อย่างนี้มันก็ผิดทั้งนั้น ตายแล้วเกิดอยู่ในฝ่ายมี ตายแล้วสูญอยู่ในฝ่ายไม่มี ถ้ามีความรู้ธรรมะดี ก็ไม่พูดว่ามีหรือไม่มี พูดว่ามีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา มีแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย โดยกฎอิทัปปัจจยตาว่า เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมเกิดขึ้น ในทางฝ่ายดับก็เหมือนกัน เมื่อไม่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ ดูเห็นเป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่งกันอยู่อย่างนี้ จึงไม่มีโอกาสที่จะพูดว่ามีหรือว่าไม่มี ถ้ามีก็ยึดถือเป็นตัวเป็นตน ถ้าไม่มีก็ยึดถือเป็นไม่มี ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่พ้นไปจากความยึดถือ จะไม่มีความยึดถือก็มองเห็นแต่ว่ามันเป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่ง ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ นี่เป็นความรู้สูงสุด ทำให้ไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เพราะว่ามันเป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่ง นี้เรียกว่าเป็นทางสายกลาง อยู่ที่กระแสแห่งการปรุงแต่ง ไม่อาจจะพูดว่ามีหรือไม่มี
ทีนี้คู่ถัดไปมันก็ ไม่ใช่นี้หรือไม่ใช่อื่น ไม่ใช่คนนี้ ไม่ใช่คนอื่น ที่จะตายไปเกิดไม่ใช่คนนี้ไม่ใช่คนอื่น นั่งอยู่ที่นี่ก็ไม่ใช่คนนี้ไม่ใช่คนอื่น เพราะมันมีแต่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไหลเรื่อย มันจึงไม่อาจจะพูดได้ว่าคนนี้หรือคนอื่น พูดไม่ทันจบว่านี้มันก็เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว แต่จะพูดว่าอื่น มันก็ไม่แน่นอนลงไปได้ว่ามันอื่นจริงๆ เพราะมันยังคาบเกี่ยวกันอยู่ในกระแสแห่งการปรุงแต่ง ผู้ที่เห็นธรรมะแล้วจึงไม่พูดว่าอันนี้หรืออันอื่น พูดแต่ว่ากระแสแห่งการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลง
อีกคู่หนึ่งก็ว่า ทำเองหรือให้คนอื่นทำ นี้มันขึ้นอยู่กับว่ามีคนนี้หรือมีคนอื่น ถ้าไม่มีคนนี้หรือคนอื่น มันก็ไม่พูดได้ว่าทำเองหรือให้คนอื่นทำ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น เราก็มียึดถือหมายมั่นว่าเราทำเองก็มี ใช้คนอื่นทำก็มี มันเป็นมีตัวมีตน มีสัตว์มีบุคคล เป็นคนๆ นี้ แล้วก็ถือว่าไม่ทำเองแล้วก็ใช้คนอื่นทำ ความยึดมั่นถือมั่นมีที่ตั้งอยู่ที่ตรงนี้ คือไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่าเป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่ง
คู่ถัดไปก็มีว่า ของใครหรือไม่ใช่ของใคร มันมักจะมีความยึดถือว่าของเราหรือว่าไม่ใช่ของเราเด็ดขาดลงไป นี้ฟังยาก เพราะโดยทั่วไปเขาสอนว่าไม่ใช่ของเราอยู่แล้ว แต่ต้องการให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของเราหรือตรงกันข้ามกับความไม่ใช่ของเรา คือมันจะเป็นอื่น มันเป็นสุดโต่งด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นอย่าว่าของใครหรือไม่ใช่ของใคร เพราะว่ามันเป็นเพียงกระแสแห่งการปรุงแต่ง เรียกว่าอยู่ตรงกลางเสมอไป
ถ้าเข้าใจในเรื่องปฏิจจสมุปบาทคือกระแสแห่งการปรุงแต่งแล้ว ก็จะเห็นเป็นกลาง ไม่ข้องแวะที่ตรงไหน กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทเหมือนกับของไหลเรื่อย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ใช่ตัวตน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็ไม่ใช่ตัวตน เกิดวิญญาณขึ้นมาก็ไม่ใช่ตัวตน มีผัสสะขึ้นมาก็ไม่ใช่ตัวตน มีเวทนาขึ้นมาก็ไม่ใช่ตัวตน มีตัณหาก็ไม่ใช่ตัวตน มีอุปาทานก็ไม่ใช่ตัวตน ล้วนแต่เป็นกระแสปรุงแต่งตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แต่มนุษย์เราไม่รู้สึกว่าอย่างนั้น รู้สึกว่ามีตัวตน กำลังผูกพันในอะไรยึดมั่นในอะไรก็เอาสิ่งนั้นเป็นตัวเป็นตน นี่มันเป็นเรื่องละเอียดซึ่งอธิบายก็ลำบาก จะอธิบายไปในทางว่าไม่มีตัวตนแก่บุคคลผู้ยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวตนอยู่ตลอดเวลาดังนี้ มันก็ลำบาก
ท่านลองคิดดูเถิด เกิดมาจากท้องของมารดา พอได้สัมผัสอารมณ์อะไรเข้า รู้รสของอารมณ์นั้นแล้ว มันก็ยินดี มันก็ยินร้ายไปตามธรรมชาติ ถ้ามันยินดีมันก็อยากได้ ถ้ายินร้ายมันก็อยากจะฆ่าให้ตายเสีย เมื่อมีความอยากยินดีก็ตาม ยินร้ายก็ตามรุนแรงแล้ว ความอยากนี้ก็ปรุงแต่งความรู้สึกถัดไป คือความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้อยาก มีตัวกูผู้อยากได้ หรือมีตัวกูผู้อยากจะฆ่ามันเสียเพราะว่ามันไม่ชอบ อยากจะตีมันให้ตายอย่างนี้ก็มี
นี้ขอให้ใคร่ครวญดูให้ดีให้พบว่า ความรู้สึกนี้เป็นเพียงความรู้สึกตามธรรมชาติ ปรุงแต่งอยู่ตามธรรมชาติ แม้จะรู้สึกว่าตัวตน มันก็ไม่ใช่ตัวตน มันก็ไม่มีตัวตน มัชฌิมาปฏิปทาสมบูรณ์ต่อเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่ได้ยึดมั่นเป็นตัวตนของตน สิ่งที่ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้ยึดมั่นเป็นตัวตนของตน สิ่งที่ปรุงแต่งกันอยู่ในจิตใจเป็นลำดับตามลำดับแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น เรียกว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม แต่ละอย่างๆ นี้ก็ไม่ใช่ตน ไม่มีความยึดถือว่าเป็นตัวตน จิตนั้นจึงจะเรียกว่าดำเนินอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาคือสายกลาง เรียกว่าไม่ยึดมั่นโดยความเป็นตัวตนในสิ่งใดทุกสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทนา เพราะว่าเวทนาเป็นสิ่งที่มีความหมายที่สุดสำหรับยึดถือ เวทนาเป็นสิ่งที่ชวนให้เกิดความยึดถือหรือยั่วให้เกิดความยึดถือ สุขเวทนายึดถือไปในทางได้ ทุกขเวทนายึดถือไปในทางไม่อยากได้ คืออยากไม่ได้ อยากฆ่า อยากทำลาย อทุกขมสุขเวทนา คือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหรือกังวลว่ามันจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรจะได้หรือควรจะทำลายเสีย
ในโลกนี้คนเรามีเวทนาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดตัณหา อะไรๆ ที่ขวนขวายกันไปนี้ก็เพื่อเวทนาทั้งนั้น หาเงินหาทอง หาอำนาจวาสนา หาชื่อเสียง หาอะไรก็หากันอย่างสุดเหวี่ยง นี้ก็เพื่อให้เกิดสุขเวทนา เวทนาที่ต้องการ อะไรๆ มันก็เพื่อเวทนา พระพุทธองค์จึงทรงระบุไปยังเวทนาว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือหรือปรุงแต่งไปในทางยึดถือ เช่นให้เกิดตัณหาอุปาทาน ให้รู้กันไว้ทุกคนว่าสิ่งที่เรียกว่าเวทนานั่นแหละ ถ้าจะถือว่าเป็นข้าศึกอย่างยิ่งมันก็ถูก เป็นข้าศึกอย่างยิ่ง เป็นข้าศึกที่หลอกให้รักเมื่อเป็นสุขเวทนา หลอกให้เกลียดเมื่อเป็นทุกขเวทนา หลอกให้หลงใหลวนเวียนเมื่อไม่ใช่สุขหรือไม่ใช่ทุกข์ คนเราลำบากยุ่งยากอยู่ในโลกนี้ตลอดชีวิตก็เพราะอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าเวทนา เมื่อไปยึดติดในเวทนามันก็ไม่เป็นกลาง เพราะมันไปเสียติดข้างใดข้างหนึ่งแล้ว มันไม่เป็นกลางไปได้ จิตสุขก็ข้างหนึ่ง จิตทุกข์ก็ข้างหนึ่ง แม้ที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์มันก็ไม่ได้อยู่ตรงกลาง เพราะมันสงสัยในการที่จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ให้ความหมายไว้อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ
อย่าเข้าใจว่าสุขเวทนากับทุกขเวทนาอยู่กันคนละฝ่าย แล้วอทุกขมสุขเวทนามันก็จะอยู่ตรงกลาง อย่างนี้ก็ไม่ถูก อทุกขมสุขเวทนานั้นมันมีความหมายจะไปในทางใดทางหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้พะวงสงสัย เป็นที่ตั้งแห่งอวิชชา เป็นอนุสัยที่เป็นกลางๆ ราคานุสัย เป็นไปในทางรักทางเอาทางได้ ปฏิฆานุสัย เป็นไปในทางเกลียดในทางไม่เอาไม่ได้ ส่วนอวิชชานุสัยก็ยังให้เป็นเครื่องผูกพันอยู่นั่นแหละ โดยสงสัยว่ามันควรจะได้หรือไม่ควรจะได้ เพราะยังไม่รู้จักโดยชัดเจน
อริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า จะมีโดยสมบูรณ์ก็เมื่อไม่ยึดมั่นในสิ่งใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทนา ถ้าสัตว์นั้นยังโง่เขลาเบาปัญญาไปยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่แล้ว มันก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทาจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อจิตไม่ยึดมั่นสิ่งใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ไม่ยึดมั่นในเวทนา นี่หนทางที่พระองค์แสดงมีอยู่อย่างนี้ หนทางมีอยู่อย่างนี้ หนทางที่ทรงแสดงหรือประทานให้ในวันนี้ที่เรียกว่าวันอาสาฬหปุณณมี มันมีอยู่อย่างนี้
ทีนี้ก็ให้ทราบกว้างออกไปว่า มัชฌิมาปฏิปทาหนทางสายกลางนั้น ตามปรกติแล้วก็ทรงแสดงด้วยมรรคมีองค์ ๘ อย่างที่เราก็ท่องกันอยู่ได้เป็นประจำ แต่มีพระบาลีที่แสดงไว้ชัดเจนว่า นอกไปจากอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาได้ ถ้าธรรมนั้นๆ มันเป็นไปเพื่อนิพพาน ไม่ทำให้ติดอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แม้แต่โพฌชงค์ ๗ ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทาได้ หรือธรรมชื่ออื่น เช่น พละ ๕ อินทรีย์ ๕ ก็เรียกว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาได้ ถ้าหากว่าธรรมเหล่านี้มันมุ่งตรงไปยังนิพพาน เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่บางทีก็เรียกว่าพละ บางทีก็เรียกอินทรีย์ แต่ถ้ามันเป็นชนิดที่เป็นวิเวกนิสฺสิโต อาศัยวิเวก วิราคนิสฺสิโต อาศัยวิราคะ นิโรธนิสฺสิโต อาศัยนิโรธะ โวสฺสคฺคปริณาโม น้อมไปเพื่อการสละ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ธรรมะใดมุ่งตรงไปเพื่อนิพพาน ไม่ข้องแวะในที่ใดที่หนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นหนทางได้ แล้วก็เป็นหนทางที่อยู่ตรงกลาง เป็นสายกลางได้ และว่าเป็นหนทางที่ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ได้ เพราะว่าถ้ามีการประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่พุ่งตรงต่อพระนิพพานแล้ว องค์แห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะมีครบถ้วนอยู่ในนั้น ถ้าเป็นอย่างยิ่งอย่างสมบูรณ์อย่างไม่มีประมาณ ก็ยิ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทาได้
ดังนั้นจึงมีการตรัสถึงโพธิปักขิยธรรมทั้งหมด ทั้ง ๗ หมวด ทั้ง ๓๗ ประการ ว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาก็มี ถ้าไม่ตรัสอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่ามัชฌิมาปฏิปทาแล้ว สิ่งที่รองลงไปที่จะตรัสว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทานั้นก็ระบุเอาโพชฌงค์ ๗ ประการ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ๗ ประการนี้เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาก็มี เพราะว่าโพชฌงค์ ๗ ประการนี้แต่ละอย่างๆ เมื่อบุคคลเจริญกระทำให้มาก ชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อสละทุกสิ่งแล้ว มันก็ตรงดิ่งไปสู่พระนิพพาน ไม่ข้องแวะในธรรมใดๆ ด้วยเหมือนกัน ขอให้ท่านทั้งหลายจำหลักเกณฑ์อันนี้ไว้ว่า ถ้าการประพฤติธรรมบทใดบทหนึ่งข้อใดข้อหนึ่งมีลักษณะไม่ข้องแวะ แต่มุ่งตรงไปยังนิพพาน ธรรมะนั้นก็ชื่อว่ามัชฌิมาปฏิปทาได้ เพราะดิ่งตรงไปยังนิพพาน
ทีนี้ที่จะต้องสนใจต่อไปก็คือว่า ถ้าชื่อว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว มันจะมีลักษณะเป็นการออกไปจากกองทุกข์ ออกไปจากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น เช่นกาม ทางที่จะออกไปจากกามเรียกว่านิสสรณะนั้น ก็คือมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง หรือว่าภพ ความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในลักษณะกามภพก็ดี ภพใดๆ ก็ดี รูปภพอรูปภพก็ดี มันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จะต้องออกไปให้พ้น ทางออกก็คือมัชฌิมาปฏิปทาทั้งนั้น หรือว่าโลกนี้ก็ดี ความทุกข์ก็ดี ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันนั้น เมื่อต้องการจะออกไปจากภพนี้จากโลกนี้ มันก็คือหนทางประกอบไปด้วยองค์ ๘ ที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาทั้งนั้น
ฉะนั้นเมื่อบุคคลรู้จักธรรมะใดเป็นไปเพื่อความทุกข์แล้ว ต้องการจะออกไปเสียจากธรรมนั้นๆ แล้ว ก็ไม่แคล้วที่จะต้องใช้มัชฌิมาปฏิปทา มันเป็นเรื่องที่แน่นอน ถึงขนาดที่ถือเป็นหลักได้ว่า ทางออกหรืออุบายเป็นเครื่องออกนั้นมีแต่อย่างเดียวคือมัชฌิมาปฏิปทาดังนี้ การที่ติดอยู่ในอะไร เป็นการทนทุกข์ทรมาน แล้วต้องการจะออกก็ไม่มีทางอื่นนอกจากอัฏฐังคิกมรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทา ฉะนั้นจงจำไว้ให้ดี จำไว้ให้แม่นยำ จำไว้เป็นคู่ชีวิตจิตใจ สำหรับจะเป็นทางออกไปเสียจากสิ่งอันไม่พึงปรารถนา เป็นเรื่องในทางใจ ผูกมัดทางใจ หลุดได้ทางใจ ด้วยอำนาจของมัชฌิมาปฏิปทา
มัชฌิมาปฏิปทา อริยมรรคมีองค์ ๘ มันเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นทางออกจากทุกข์ เพราะว่ามีปรกติคายเสียซึ่งอกุศล สิ่งที่เป็นบาปเป็นอกุศลเป็นไปเพื่อทุกข์นั้นอยู่ไม่ได้กับมัชฌิมาปฏิปทา เมื่อดำรงตนอยู่ในสายกลางแล้ว มันก็พ้นจากบาปจากอกุศลโดยประการทั้งปวง เพราะว่ามัชฌิมาปฏิปทาหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นมันมีธรรมชาติอย่างนั้น จึงมีอุปมาว่าเหมือนกับโอ่งที่คว่ำ หม้อที่คว่ำ ภาชนะอะไรๆ ก็ตาม ถ้าเราคว่ำเสีย มันจะเกิดคุณสมบัติอย่างหนึ่งขึ้นมา คือน้ำมันตั้งอยู่ไม่ได้ คว่ำโอ่ง คว่ำไห คว่ำหม้อ คว่ำอะไรเสีย มันจะเกิดลักษณะอันหนึ่งคือน้ำมันตั้งอยู่ไม่ได้ มันจะต้องไหลออกหมด
มัชฌิมาหรืออัฏฐังคิกมรรคนี้ มันเป็นเหมือนกับหม้อคว่ำ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งน้ำ น้ำจึงไม่เหลืออยู่ คือบาปอกุศลทั้งหลายจะไม่เหลืออยู่ที่มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับหม้อคว่ำ ฉะนั้นเราจงประพฤติธรรมข้อนี้ ให้กาย วาจา ใจ ประกอบอยู่ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา และอาการที่เรียกว่าหม้อคว่ำนั้นมันก็จะมี บาปอกุศลทั้งหลายก็รั่วไหลไปหมดด้วยอำนาจของหม้อที่มันคว่ำ ซึ่งเป็นลักษณะของมัชฌิมาปฏิปทา มันก็มีแต่อาการที่พึงปรารถนา ไม่เป็นเครื่องก่อสร้างขึ้นมาซึ่งความทุกข์ใดๆ
นี่แหละคือหนทางที่พระองค์ทรงตรัสรู้ แล้วก็นำมาสอนนำมาบอก เรียกว่าบอกทาง เป็นสิ่งที่ตรัสรู้เอง ไม่ได้ยินได้ฟังมาแต่บุคคลใด มันมีลักษณะเป็นทางเพราะเหตุใด ก็ทรงระบุไว้โดยชัดแจ้งว่ามันเป็นจักขุกรณี ญาณกรณี เป็นเครื่องทำให้เกิดจักษุ เป็นเครื่องทำให้เกิดญาณ มรรคมีองค์ ๘ ประการหรือมัชฌิมาปฏิปทานี้ มันมีธรรมชาติทำให้เกิดจักษุคือดวงตา เห็นอะไรได้อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง หรือว่าให้เกิดญาณ คือให้รู้อะไรได้ตามที่เป็นจริง คำว่าจักขุกรณี ญาณกรณี เป็นคุณสมบัติของมัชฌิมาปฏิปทาอย่างนี้ เป็นเหตุให้เกิดจักษุ เป็นเหตุให้เกิดญาณ ดำรงตนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทาหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการเถิด ก็ย่อมจะเกิดจักษุคือดวงตา และก็จะย่อมเกิดญาณคือความรู้ เมื่อญาณเกิดหรือเมื่อดวงตาเกิดอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออุปสมายะ สงบระงับ อภิญญายะ รู้ยิ่งเห็นจริง สัมโพธายะ รู้พร้อม นิพพานายะ เพื่อดับเย็น
ขอให้กำหนดไว้ให้ดีๆ ว่า เมื่อเกิดญาณหรือเกิดจักษุก็ตาม ด้วยอำนาจของมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว มันจะเป็นไปเพื่ออุปสมายะ เพื่อสงบระงับเสียซึ่งการปรุงแต่ง มันก็ไม่มีการปรุงแต่ง มันจะเป็นอภิญญายะ เป็นเครื่องรู้ยิ่ง เหมือนกับว่ายิ่งกว่าธรรมดาที่สัตว์ตามธรรมดามันจะรู้ สัตว์ตามธรรมดาไม่รู้ถึงกับดับทุกข์ได้ เดี๋ยวนี้มันรู้ถึงกับดับทุกข์ได้ จึงเรียกว่ารู้ยิ่ง หรือสัมโพธายะ คือรู้ครบ รู้พร้อมที่จะดับทุกข์ได้ ดังนั้นมันจึงดับทุกข์ได้ เรียกว่านิพานายะ คือเย็น คำว่านิพพาน แปลว่าเย็น เป็นคำของมนุษย์สมัยนั้นใช้กันอยู่หรือใช้กันอยู่ก่อนพุทธกาล คำว่านิพพานแปลว่าเย็น เมื่อไหร่มีความร้อนดับลงไปเป็นความเย็น ก็เรียกว่ามันนิพพาน
เพื่อเข้าใจคำนี้ได้ชัดแจ้งจริงๆ ก็ควรจะรู้ถึงเรื่องของคำๆ นี้ ที่มีการใช้กันอยู่ เท่าที่กล่าวไว้ในพระบาลีที่จะหาพบ ก็กระเบื้องที่เอาออกมาจากเตาเผา มันแดง มันขาว มันเหลือง แล้วมันแดง แล้วมันดำ กระเบื้องนั้นนิพพาน นี่คำบาลีใช้อย่างนี้ แปลว่าของที่มันร้อนจนลุกเป็นไฟ พอเย็นลง ดำลง นี้ก็เรียกว่ามันนิพพาน แสดงว่าคำว่านิพพานคำนี้ใช้กับวัตถุสิ่งของก็ได้ ฉะนั้นถ่านไฟแดงๆ เย็นลงก็เรียกว่ามันนิพพาน กระเบื้องเผาไฟร้อนโชนลุกจัดเย็นลงดับดำลงไป ก็เรียกว่ามันนิพพาน แม้ของร้อนไม่ถึงขนาดนั้น เช่น ข้าวปลาอาหารที่จะกิน ถ้ามันร้อนอยู่มันกินไม่ได้ ก็ต้องรอให้นิพพานเสียก่อน คำว่านิพพานจึงใช้แม้ในครัว เพราะว่ามันหุงข้าวต้มแกง ถ้ามันร้อนอยู่ยังกินไม่ได้ ต้องรอให้นิพพานเสียก่อน นี่นิพพานนี้ใช้กับวัตถุสิ่งของก็ได้อย่างนี้
มีในที่บางแห่ง คำว่านิพพานใช้กับสัตว์เดรัจฉานที่เขาฝึกดีแล้ว หมดฤทธิ์ หมดอันตราย หมดพยศร้ายแล้ว ก็เรียกว่าสัตว์ตัวนั้นมันนิพพาน เหมือนกับว่าสัตว์ร้ายมาจากป่า ฝึกจนเป็นสัตว์บ้าน ไม่มีอันตรายอีกแล้ว ก็เรียกว่ามันนิพพาน นี่คำว่านิพพานแปลว่าเย็นใช้กับสัตว์เดรัจฉาน
ทีนี้ก็ขึ้นมาถึงเรื่องจิตใจ ถ้าจิตใจมันเย็นมันก็เป็นนิพพาน มีข้อความในพระบาลีว่าใช้หมายถึงความเย็นอกเย็นใจ หญิงสาวคนหนึ่งเห็นพระสิทธัตถะ แล้วก็ร้องออกมาว่า บุรุษนี้ ถ้าเป็นลูกของใคร แม่ของเขาก็จะเย็นอกเย็นใจ พ่อของเขาก็จะเย็นอกเย็นใจ ถ้าเขาเป็นสามีของใคร ภรรยานั้นก็จะเย็นอกเย็นใจ คำว่าเย็นอกเย็นใจนั้นคือคำว่านิพพาน นี่นิพพานชั่วขณะหรือในระยะอันสั้น หรือว่าในขนาดอันไม่สมบูรณ์ก็เรียกว่านิพพานได้ ฉะนั้นความเย็นอกเย็นใจของคนเราก็เรียกว่านิพพานได้เหมือนกัน
นี่จะเพื่อให้เข้าใจคำว่านิพพานได้ง่ายๆ ได้ครบถ้วน ก็ให้ถือเอาความหมายของคำว่าเย็นๆ นั้นไว้ให้ได้ เย็นอกเย็นใจตามธรรมดานี้ก็เรียกว่านิพพานได้เหมือนกัน แต่มันเล็กน้อยหรือมันในระยะสั้น มันไม่เหมือนกับเย็นอกเย็นใจเพราะว่ามันหมดกิเลส แต่เราก็สามารถจะเทียบเคียงกันได้ว่า ที่มันเย็นอกเย็นใจนั้น มันดีกว่าร้อนอกร้อนใจ ชีวิตที่เยือกเย็นนี้มันดีกว่าชีวิตที่เร่าร้อน ชีวิตที่เยือกเย็นนั้นมันอยู่กับพระนิพพาน ชีวิตที่เร่าร้อนนั้นมันอยู่กับกิเลส แต่บางทีกิเลสมันก็หลอกได้เหมือนกัน หลอกให้เห็นเป็นของเย็นไปก็มี จึงเกิดมีคนเขลาพวกหนึ่งระบุกามารมณ์ที่สมบูรณ์ว่าเป็นนิพพาน เพราะว่ากามารมณ์นั้นเมื่อได้มาก็ทำให้หยุดความใคร่จะได้ เป็นความเย็นชนิดหนึ่ง แต่ไม่จริง เป็นของหลอกลวง บางคนก็ยังโง่ยังเขลา หลงเอากามารมณ์ว่าเป็นนิพพานก็มี นี้ก็ปรากฏอยู่ในพระบาลีสำหรับคนพวกหนึ่งเขาถือเอากามารมณ์ว่าเป็นนิพพาน ถ้าได้กามารมณ์ตามที่ต้องการ มันก็หยุดความกระหายได้ขณะหนึ่งก็เป็นนิพพาน เขาถือว่านี้เป็นนิพพานอย่างแท้จริงเพราะเขาไม่รู้ ลัทธิที่ถือว่ากามารมณ์เป็นนิพพานนี้มีสมาชิกมาก ได้ยินว่าในประเทศอินเดียก็ยังเหลืออยู่ ซุกๆ ซ่อนๆ อยู่ มันไม่จริง
ต่อมาคนเขาพบยิ่งขึ้นไปกว่านั้นว่า ฌานสมาธิต่างหากที่เย็นกว่ากามารมณ์ คนพวกนี้ก็ถือเอาฌาน โดยเฉพาะ จตุตถฌานว่าเป็นพระนิพพานกันอยู่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง มีอยู่ในครั้งพุทธกาล เอาจตุตถฌานเป็นนิพพาน เป็นที่รู้กันแพร่หลาย จะเอาปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน เป็นนิพพานก็ได้ เพราะมันก็ยังเย็นเหมือนกัน หรือเลยไปกว่านั้นเอาอรูปฌานเป็นนิพพานก็มีอยู่ เป็นที่สุดแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าก่อนแต่จะเป็นพระพุทธเจ้ายังเป็นพระสิทธัตถะอยู่ ก็ไปเที่ยวศึกษาในสำนักเหล่านี้ แต่ทรงพบว่ามันยังไม่ถึงขนาดที่จะเป็นนิพพานจริง จึงละอาจารย์เหล่านั้นเสีย ซึ่งเราก็ได้ยินได้ฟังในเรื่องพุทธประวัติว่าเคยไปศึกษากับอาจารย์ชื่ออาฬารดาบสบ้าง อุทกดาบสบ้าง แล้วก็พิสูจน์ให้อาจารย์เหล่านั้นรู้ว่ายังไม่จริง ยังไม่ถึงที่สุด จึงออกไปแสวงหาของพระองค์เอง จนพบว่าความสิ้นกิเลสโดยประการทั้งปวงนั้นเป็นนิพพาน นี่เย็นจริง เย็นเด็ดขาด เย็นถึงที่สุด นี่คือนิพพาน
คำว่านิพพาน เป็นคำพูดธรรมดาๆ ก็หมายถึงเย็นของอะไรก็ได้ แต่เมื่อมาใช้ในทางพระศาสนาจนถึงระดับสูงสุดแล้ว ก็หมายถึงสิ้นกิเลส หมดกิเลสและก็เย็นจริง สิ้นกรรมอยู่เหนือกรรมแล้วก็เย็นจริง นี่คือนิพพานแท้จริงที่จะได้รับจากมัชฌิมาปฏิปทาที่ถูกต้องและสมบูรณ์ พวกเราก็มีมัชฌิมาปฏิปทาชนิดที่ถูกต้องและสมบูรณ์แล้วก็เป็นไปเพื่อนิพพาน ก็คือนิพพานชนิดนี้คือนิพพานที่แท้จริง โดยอาศัยหนทางคือมัชฌิมาปฏิปทาคืออริยมรรคประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการที่พระพุทธองค์ทรงนำมาเปิดเผย มาแสดง มาจำแนกแจกแจง มาบอกให้เป็นครั้งแรกในวันเพ็ญอาสาฬหปุณณมี คือวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งคล้ายกับวันนี้ แล้วเราก็มาทำพิธีบูชา เรียกว่าบูชาธรรมะในวันอาสาฬหปุณณมี คือบูชามัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลางอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน ถือว่ามรรคนี้มีองค์ ๘ ประการ
ในที่บางแห่งเรียกกะทัดรัดยิ่งกว่านั้น ก็เรียกว่าสัมมาสมาธิอันมีบริขาร ๗ เข้าใจว่าบางคนจะเคยได้ฟังแล้ว แต่ส่วนมากคงยังไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำไป ว่าสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ นั่นคืออย่างไร เดี๋ยวนี้ก็จะไม่พูดทั้ง ๘ พร้อมกัน ยกเอาสัมมาสมาธิเป็นส่วนสำคัญ เรียกว่าเป็นตัวเรื่องของเรื่อง และที่เหลืออีก ๗ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ นี่เอาเป็นบริวารของสัมมาสมาธิ จึงใช้คำเรียกใหม่ว่า สัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ คือมีบริวาร ๗ นั่นเอง ยกเอาสัมมาสมาธิเป็นหลัก นอกนั้นเป็นบริวารของสัมมาสมาธิหมด นี้ก็มีเหตุผลอยู่ เพราะว่าตัวสัมมาสมาธินั่นแหละให้ประโยชน์ในการกำจัดมารโดยตรง สัมมาทิฎฐิ แม้จะเป็นญาณเป็นความรู้ มันก็เรียกว่าเป็นกองทัพหน้า ไม่ใช่กองทัพหลวง เป็นกองทัพหน้า แล้วก็มีกองทัพช่วยเหลือ กองทัพอุดหนุน กองทัพอะไรอีกมาก เครื่องมือเครื่องใช้อีกมาก กองทัพหลวงโดยแท้จริงนั่นคือสมาธิ คือสัมมาสมาธิ นี่เอาองค์สุดท้ายเป็นตัวยืนโรง เอาตัวนอกนั้นคือ ๗ องค์นั้นเป็นบริขารของสัมมาสมาธิเสียก็มี แม้อย่างนี้ก็ยังเรียกได้ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่นั่นแหละ แต่ว่าจัดรูปร่างกันเสียใหม่เหมือนกับว่ากองทัพมีสัมมาสมาธิเป็นทัพหลวง นอกนั้นเป็นทัพหน้าบ้าง ปีกซ้ายปีกขวาบ้างไปตามเรื่อง แล้วก็ฆ่ามารได้เหมือนกัน
เรามารู้กันเสียให้หลายแง่หลายมุมก็จะดีกว่า ว่ามัชฌิมาปฏิปทาตามปรกติ คือมรรคมีองค์ ๘ กลมเกลียวกัน แต่บางทีท่านก็เรียกว่าสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ นี้ก็ได้เหมือนกันแหละ ไม่ต้องเชื่อใคร เอาไปคิดดู ก็เห็นได้เอง อาตมาต้องการแต่จะให้ท่านทั้งหลายได้ทราบกันในวันนี้เป็นพิเศษว่า เรามีเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นใจความสำคัญของวันนี้ที่ประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ทำความเข้าใจให้ถึงที่สุด ชมเชยกันให้ถึงที่สุด พูดจาปรึกษาหารือกันให้ถึงที่สุดในการที่จะมีมัชฌิมาปฏิปทาเป็นเครื่องดำเนินชีวิตหรือประกอบกันอยู่กับชีวิต
ถ้าว่ามัชฌิมาปฏิปทามาประกอบกันอยู่กับชีวิตแล้ว มันก็จะเป็นชีวิตที่บาปอกุศลเกาะกุมไม่ได้ เหมือนกับหม้อ โอ่ง ไห คว่ำเสียแล้ว น้ำมันขังอยู่ไม่ได้ มัชฌิมาปฏิปทาช่วยได้มากถึงอย่างนี้โดยไม่ต้องมีเจตนา ถ้าไหมันคว่ำ หม้อมันคว่ำ น้ำมันก็ออกเองโดยไม่ต้องมีใครเจตนา ถ้าชีวิตนี้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา อกุศลมันก็ไหลออกไปเองโดยไม่ต้องมีเจตนา มันก็เป็นไปโดยลึกซึ้งถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นโลกุตตรธรรม อยู่เหนือความมีเจตนา มีศีล ก็มีศีลบริสุทธิ์แท้จริงชนิดที่อยู่เหนือเจตนา มีสมาธิก็แท้จริงอยู่เหนือเจตนา มีปัญญามีสติอะไรก็ล้วนแต่สูงสุดเหนือเจตนา เรียกว่ามันเป็นไปเพื่อพระนิพพานด้วยประการฉะนี้ เรียกว่าหนทางไปนิพพาน วันนี้พระองค์ทรงชี้ทาง ทรงมอบหมายทาง ทางไปไหน ทางไปนิพพาน ทำไมจึงไปนิพพาน เพราะว่ามันไม่ติดที่ไหน มันไม่ติดที่นั่น ไม่ติดที่นี่ ไม่ติดซ้าย ไม่ติดขวา ไม่ติดอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ติดในเวทนาซึ่งเป็นของยั่วให้ติดอย่างยิ่ง ในโลกนี้ไม่มีอะไรจะเป็นตังเหนียว จะล่อใจให้ติดเหมือนกับเวทนา เดี๋ยวนี้ไม่ติดในเวทนา มันก็ไปได้ นั่นแหละคือทาง ไม่ติดในเวทนาก็ไม่เกิดกิเลส ไม่ติดในกิเลส เรียกรวบยอดทีเดียวก็ได้ว่าไม่ติดในวัฏฏะ ไม่ติดในวัฏฏสงสาร
วัฏฏสงสารคือวงกลม กลมอยู่ด้วยกิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมแล้วก็เป็นเหตุให้ได้เกิดผลกรรม เสวยผลกรรมแล้วก็เกิดกิเลสอีก แล้วก็ทำกรรมอีก มีผลกรรมอีก เสวยผลกรรมเกิดกิเลสอีก วนเป็นวงกลมอย่างนี้ นี่เรียกว่าติดมรรค ติดในวัฏฏสงสาร ถูกกักขังอยู่ในวัฏฏสงสาร ทางไปนิพพานนั่นมันทำลายวัฏฏะ อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธะ น้อมไปเพื่อการสละโดยประการทั้งปวง ไม่มีอะไรจะติด ธรรมะที่เป็นไปเพื่อพระนิพพานมีลักษณะอย่างนี้ และก็เรียกว่าหนทาง หนทางไปสู่พระนิพพาน
พูดได้โดยไม่ต้องกลัวผิดว่า วันนี้เรามาประชุมกันเพื่อพูดจากันถึงเรื่องหนทางที่จะไปพระนิพพาน นิพพานนี้ไม่ต้องไป ถึงได้โดยไม่ต้องไป ถ้าไป มันไปที่อื่น ถึงนิพพานนั้นคือดับมันเสียที่นี่ ดับมันเสียที่ตรงนี้ ดับความร้อนให้หมดไป ความเย็นก็เกิดขึ้นแทน ฉะนั้นจึงไม่ต้องไป นิพพานไม่ถึงได้ด้วยการไป ยิ่งไปยิ่งไม่ถึง ยิ่งไปนั้นเพราะว่ามันโง่ มันไปหลงยึดติดในสิ่งใดมันก็เที่ยววิ่งหา วิ่งไปวิ่งมา เที่ยววิ่งหา มันก็ไม่ถึง มันก็ไม่ได้ ถ้ารู้ว่าความร้อนมันอยู่ที่ตรงนี้ มันเป็นกิเลส เป็นบาป เป็นอกุศล ก็ดับมันเสียด้วยอำนาจของมัชฌิมาปฏิปทา มันก็ถึงได้ที่ตรงนี้โดยไม่ต้องเดิน ฟังแล้วมันก็น่าหัวเราะว่าไม่ต้องเดินมันก็ถึง ยิ่งเดินยิ่งไม่ถึง ไม่ต้องเดินมันก็ถึงได้ที่ตรงนี้ คือดับมันเสีย สิ่งใดที่เป็นกระแสแห่งการปรุงแต่งด้วยอำนาจของอิทัปปัจจยตา ก็ดับมันเสีย ก็หยุดมันเสีย ก็เป็นความดับแห่งความทุกข์โดยประการทั้งปวง นี่ทางไปนิพพาน
คนที่ว่าเอาเอง สันนิฐานเอาเอง ก็คงจะหลับตาเห็นว่าเป็นทางยาวขาวไปไกลเฟื้อยไปทีเดียว นั่นมันเป็นมโนภาพที่ผิดแล้ว ถ้าว่ามันมีความคิดที่ถูกต้อง มันเห็นว่าดับสิ่งที่ลุกโพลงๆ อยู่เสีย คือสังขารที่เป็นการปรุงแต่ง มีอาการปรุงแต่งลุกโพลงๆ อยู่ที่นี่ เป็นกิเลสก็ร้อน เป็นความเกิดแก่เจ็บตายมันก็ทุกข์ มันมีความร้อน มันมีความทุกข์ มันไม่สงบเย็น ดับเสียได้ซึ่งไฟกิเลสและไฟทุกข์แล้ว มันก็เป็นนิพพานคือเย็นลงไปที่นี่ แสดงไว้โดยนัยยะแห่งมัชฌิมาปฏิปทาหรือองค์ ๘ แห่งความถูกต้องประกอบกันขึ้นเป็นอริยมรรคอันประเสริฐ มันเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งสำคัญของวันอาสาฬหปุณณมีที่เรามาประชุมกันที่นี่เพื่อประกอบพิธีอาสาฬหบูชาโดยนัยยะดังที่กล่าวมา หวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีความเห็นแจ้งเพิ่มขึ้นในเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา ให้สมกันกับข้อที่ว่าเราทำอาสาฬหบูชากันทุกปีๆ อย่าให้มันย่ำเท้าอยู่ที่เดียวเลย ให้มันมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า มีแสงสว่างมากขึ้น เกิดจักษุมากขึ้น เกิดญาณมากขึ้น แล้วก็เป็นไปเพื่อความสงบระงับ รู้ยิ่งเห็นจริง เป็นไปเพื่อพระนิพพาน เรื่องก็จะได้รับผลสมคุ้มค่าในการที่มาประกอบพิธีดังที่กล่าวนี้
อาตมาหวังอย่างนี้ จึงได้พูดอย่างนี้ จึงได้พูดด้วยเรื่องนี้ ในลักษณะอย่างนี้ เป็นปุพพาปรลำดับต่อจากเรื่องที่บรรยายแล้วเมื่อตอนเย็น มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือเรื่องของขวัญที่พระองค์ทรงประทานให้ในวันนี้สำหรับเป็นเครื่องกำจัดมาร จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ ต้องเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ มนุษย์ต้องมีให้ได้ มีให้มากจนถึงกับกำจัดความทุกข์ได้สิ้นเชิง การถึงนิพพานก็มีได้สมตามความมุ่งหมายของการเป็นพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา การบรรยายก็พอสมควรแก่เวลา อาตมาก็ขอยุติการบรรยายในครั้งนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้//