แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฎบวชจะต้องลาสิกขาทั้งหลาย การบรรยายรูปแบบมหาวิทยาลัยต่อหางสุนัขสิบชั่วโมงของเราเป็นครั้งที่ ๙ ในวันนี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่าพบชีวิตจริง การบรรยายนี้มันต่อเนื่องกับครั้งที่แล้วมา คือเรื่องความสะอาด ความสว่าง และความสงบ เมื่อจิตได้พบหรือมีความสะอาด ความสว่าง สงบแล้ว มันก็จะได้พบชีวิตจริง ทีนี้เราก็มาพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าชีวิตจริงต่อเนื่องกันไป
ไอ้ชีวิตจริงนี้มันเนื่องกันอยู่กับปัญหาที่ว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ถ้ามีตัวตนจริงนั่นก็ชีวิตจริง ถ้าไม่มีตัวตนก็มันก็ไม่ใช่ชีวิตจริง สิ่งที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนละก็คือมันไม่ใช่ชีวิตจริง แล้วปัญหามันก็อยู่ที่ว่ามันมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน เป็นปัญหาโลกแตกแม้กระทั่งในวงพุทธบริษัท มันน่าหัวและบางทีมันก็น่าละอายด้วยซ้ำไป ที่ว่ายังเถียงกันอยู่จนบัดนี้ว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ทั้งนี้ก็เพราะเหตุหลายประการอยู่เหมือนกันเช่นว่า ในพระพุทธภาษิตเองมันก็ตรัสทั้งสองอย่างคือ สัพเพ ธัมมา อะนัตตา สิ่งทั้งปวงมิใช่ตน ยังมีพุทธภาษิตว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน มันมีทั้งสองฝ่ายอย่างนี้ล่ะพุทธบริษัทจึงเถียงกันเรื่องมีตัวตนหรือไม่มีตัวตน
ความหมายของคำว่าตัวตนมันก็กำกวม และมีความหมายกันคนละแบบคนละพวก และเป็นคำโบราณที่สุด คำว่าตัวตนนี้เป็นคำโบราณของมนุษย์ก่อนพุทธศาสนา เขาก็ว่ามีตัวตนแต่ความหมายตัวตนนั้นเปลี่ยนเรื่อยยังเอาแน่นอนไม่ได้ แล้วในที่สุดเข้ามามีตัวตนอย่างแท้จริงอย่างยิ่งที่เรียกว่าอาตมันกันในศาสนาที่สำคัญที่สุดในประเทศอินเดียแม้ในยุคพุทธกาล ทีนี้พระพุทธเข้าท่านเกิดขึ้นในหมู่คนที่เขาเชื่อว่ามีตัวตนกันทุกคน ท่านจะทำอย่างไร ท่านจะไปหักหาญเขาโดยยกเลิกเขาโดยตรงมันก็คงทำไม่ได้ แล้วท่านก็ไม่มีปฏิปทาอย่างนั้น อย่างที่ผมเคยบอกแล้วถ้าเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้น พระพุทธเจ้าท่านมีหลักว่าเราไม่ยอมรับเราไม่ปฏิเสธ เราบอกเขาว่าคุณว่าอย่างนั้นก็ถูกของคุณ แต่ฉันจะว่าให้ฟังตามเรื่องของฉันคืออย่างนี้ แล้วก็ไม่ต้องเถียงกันไม่ต้องทะเลาะกัน ผลัดกันว่าคนละที พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในหมู่คนที่ทุกคนเชื่อว่ามีตัวตนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ท่านจะทำอย่างไร ถ้าเราเข้าใจในข้อนี้เราจะมองเห็นพระปรีชาญาณอันสูงสุดของพระพุทธเจ้า
เอ้า... ถ้ามีตัวตน มันก็ต้องทำให้ดี ทำให้มีตัวตนที่ดีคือทำอย่างนั้นๆๆ แต่ที่จริงนั้นมันไม่มีตัวตนเพราะว่าแม้ตัวตนที่ดีที่สุดแล้วมันก็ยังไม่ดับทุกข์ ไอ้ตัวตนที่ว่าดีที่สุดอย่างที่เขาว่ากันน่ะมันยังไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง มันดับทุกข์สิ้นเชิงต่อเมื่อไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน มันจึงเกิดอนัตตาไม่ใช่ตัวตนขึ้นมา อนัตตาแบบอื่นแบบอันธพาลก็เคยมีเหมือนกัน ก็มีอยู่แล้วเหมือนกัน ไอ้นัตถิกทิฎฐิ ไม่มีตัวตนไม่มีอะไรเสียเลยนี้เราจะเรียกว่าอนัตตาเหมือนกันแต่ว่าเป็นอย่างอันธพาล อนัตตาของพระพุทธเจ้านี้มันคล้ายกับอยู่ในระหว่างกลางนั่นล่ะ ถ้าคิดว่ามีตัวตนเอ้ามันก็มี แล้วจะทำอย่างไรก็ทำทำให้ถูกต้องอย่าให้เป็นทุกข์ แต่ที่แท้นั้นสิ่งทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน นี่ไอ้ตัวตนหรือไม่ใช่ตัวตนมันมีปัญหาคาราคาซังมาจนเดี๋ยวนี้
ตัวพระบาลีเองก็มีทั้งสองอย่าง แล้วมันยังมีกำกวมถึงว่าเรามีการเกิดเป็นธรรมดา มีการแก่เป็นธรรมดา มีการเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดความแก่ความเจ็บไปได้ ใช้คำว่าไม่ล่วงพ้นไปได้ แล้วทำไมมาตรัสคำสอนให้ปฏิบัติเพื่ออยู่เหนือเกิดเหนือแก่ พ้นเกิดพ้นแก่ พ้นเจ็บพ้นตายเป็นนิพพาน ในพระพุทธภาษิตมันมีทั้งสองอย่างอย่างนี้แหละ มันทำความลำบากให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถจะเข้าถึงความหมายอันแท้จริง สอนให้ปัจจเวกอยู่ทุกวันว่าไม่ล่วงพ้นความเกิดความแก่ความตายไปได้ เสร็จแล้วก็มาสอนเรื่องนิพพานที่พ้นเกิดพ้นแก่พ้นตาย นี่เราต้องยอม ยอมเสียว่าในพระบาลีก็มีทั้งสองอย่างแล้วเราจะทำอย่างไร ถ้ามีตัวตนจะมีกันอย่างไร ถ้าไม่ใช่ตัวตนไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตนจะมีกันอย่างไรจะต้องพูดกัน
ทีนี้ผมจะพูดถึงชีวิตจริง มันจะต้องถึงสิ่งที่เป็นตัวตนชนิดที่แท้จริงจึงพูดกันถึงเรื่องนี้ แล้วก็พูดถัดจากเรื่องความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ถ้าคุณมองเห็นได้แม้ด้วยความเข้าใจนะ มันก็จะมองเห็นได้ต่อไปเลยว่าไอ้ชีวิตที่มันเข้าถึงความสะอาด ความสว่าง ความสงบ มันจะเป็นชีวิตจริงคือมันไม่เป็นทุกข์ได้ แล้วยิ่งกว่านั้นจะไม่ตายด้วย จะไม่มีใครตายด้วย ต้องทบทวนไอ้ความหมายคำว่าสะอาดสว่างสงบ เอามาเป็นเครื่องทำความเข้าใจเกี่ยวกับว่าชีวิตจริง หรือชีวิตไม่จริง หรือชีวิตปลอม มันก็คือชีวิตที่ไม่สะอาดไม่สว่างไม่สงบนั่นล่ะ ซึ่งธรรมดามีๆกันอยู่ แต่เราก็เรียกว่าชีวิต ชีวิตจริง เราสงวนชีวิตนี้ แต่เราจะชี้ให้ดูว่ามันยังไม่จริงถ้ามันยังสกปรกมืดมัวและเร่าร้อน นี่ถ้ามันสะอาดสว่างสงบลงไปจึงจะเป็นชีวิตจริง มันก็สืบเนื่องไปถึงไอ้เรื่องตัวตนหรือมิใช่ตัวตนพร้อมกันไปด้วย
ทีนี้ผมอยากจะบัญญัติเพื่อความเข้าใจกันง่ายๆ เอาภาษาไทยเป็นหลักนะไม่เอาภาษาบาลีเป็นหลัก ถ้ากิเลสเป็นตัว กิเลสเป็นตัวคือเป็นตัวกูของกูอย่างนี้ตัวที่ไม่จริง เป็นตัวที่ไม่จริง กิเลสมันเป็นตัว ตัวที่ไม่จริง แต่ถ้าเอาธรรมะเป็นตัวธรรมะเป็นตน นี่คือตัวที่แท้จริง ถ้าเอากิเลสเป็นตัวอย่างที่เรามีกันอยู่ทุกคนน่ะ ตัวของเรานี้คือความหมายมั่นของกิเลสทั้งนั้น กิเลสเป็นตัวก็ไม่ใช่ตัวจริง ถ้าธรรมะเป็นตัวก็เป็นตัวจริง (นาทีที่ 10.51) แต่...เรียกเสียว่าเป็นตน นี่จึงต้องเป็นเรื่องของภาษาไทย ภาษาบาลีมีแต่คำเดียวคืออัตตาแปลว่าตัวก็ได้แปลว่าตนก็ได้ เอาภาษาไทยมันฟังมีความหมายแตกแยกกัน เป็นตัวก็เป็นตัวกูของกู เอากิเลสเป็นตัว เอาธรรมะเป็นตน นี่สองประโยคนี้จำให้ดีมันจะรับประกันได้ว่ามันต่างกัน
กิเลสน่ะเป็นตัว ธรรมะก็เป็นตน แต่ถ้าภาษาบาลีมันไม่มีคำที่แยกกันอย่างนี้ มันคำเดียวกันเสีย ก็ต้องพูดว่าตนที่แท้จริงกับตนที่ไม่แท้จริง ตัวนี้ตนเป็นตัวที่ไม่แท้จริง เป็นตนที่ไม่แท้จริง แต่ว่าตนนี่เป็นตนที่แท้จริง มีพระบาลีว่า สัพเพ ธัมมา อะนัตตา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมิใช่อัตตามิใช่ตน ก็เป็นอันว่าไอ้สิ่งที่เรายึดถือกัน ไปยึดมั่นถือมั่นพัวพันอะไรอย่างนี้ก็เรียกว่า มันเป็น มันไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริง
มีพระบาลีว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนก็มี อตฺต ทีปา อตฺต สรณา เธอจึงมีตนเป็นประทีปมีตนเป็นสรณะเถิด ท่านตรัสว่าให้มีอัตตาเป็นที่พึ่ง อัตตาเป็นสรณะเถิด แล้วก็ขยายความออกไปว่า อตฺตทีปา เอ้ย... ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา นั่นคือมีธรรมะเป็นประทีป มีธรรมะเป็นสรณะ เราอาศัยยืนยันได้ว่าท่านตรัสต่อเนื่องกันไปเลย อตฺตทีปา อตฺตสรณา (นาทีที่ 13.01)อนัญญสรณา ทีนี้ ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา (นาทีที่ 13.10)อนัญญสรณา มีธรรมะเป็นสรณะเถิด มีธรรมะเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย นี่เอาธรรมะเข้ามาแทนคำว่าตน
เมื่อพูดว่าอตฺตทีปา มีตนเป็นประทีป ก็คือธมฺมทีปา มีธรรมะเป็นประทีป เมื่อตรัสว่า อตฺตสรณา ก็หมายความว่าธรรมะสรณา มีตนเป็นสรณะนั้นก็คือมีธรรมเป็นสรณะ ในพระบาลีนี้จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงมุ่งหมายให้เอาธรรมะนั่นน่ะเป็นตน ผมจึงจัดรูปประโยคให้ฟังง่ายว่า เอากิเลสเป็นตัวใช้ไม่ได้ เอาธรรมะเป็นตนนี่ใช้ได้ แต่ไม่ใช่ตนที่เราจะยึดถือเอามาเป็นตัวตนของเรา เป็นตัวเราเป็นตัวตนของเรานะ คงเป็นตัวตนของธรรมะแต่ว่าเป็นที่พึ่งได้ นี่คือแยกกันได้อย่างนี้
เอากิเลสเป็นตัว เอาธรรมะเป็นตน ถ้าใช้คำไม่ถูกอยู่อย่างนี้อย่าไปเปลี่ยนมันแล้วก็จะเข้าใจได้ตลอดไป เพราะว่าคำว่าตัวนี่เราหมายความว่ามายา เป็นตัวกูของกูไม่ใช่ของจริง แต่ถ้าตนแล้วก็ธรรมะโน่น มันเป็นตนจริงตนแน่นอน ตนของธรรมะ ไม่ใช่ตัวของเรานะ เป็นตนของธรรมะน่ะเอามาเป็นที่พึ่งได้ ชีวิตจริงมันก็ต้องมีตนของธรรมะ ชีวิตปลอมมันก็เอาตัวกูของกูนี่เป็นตัวตน
ชีวิตจริง เอ้า...พูดถึงคำว่าชีวิตจริง ชีวิตจริงคือชีวิตที่มันได้เข้าถึงความสะอาด ความสว่าง และความสงบ ถ้ายังไม่เข้าถึงนั่น ชีวิตนั้นยังมายา ยังหลอกลวง ยังเหลวไหลเคว้งคว้าง ต่อเมื่อใดชีวิตหรือจิตก็ได้ จิตแห่งชีวิตนั้นมันมีภาวะสะอาดสว่างสงบเหมือนที่พูดกันโดยละเอียดแล้วในการบรรยายครั้งที่แล้วมานี่ เมื่อนั้นมันเป็นชีวิตจริง เราจึงพูดว่าชีวิตจริงคือชีวิตที่ถึงภาวะสะอาดสว่างสงบ ชีวิตจริงคือชีวิตที่เข้าถึงตัวตนอันแท้จริงที่กำลังพูดนี่ ชีวิตที่เข้าถึงตัวตนอันแท้จริงเป็นชีวิตจริง ตัวตนของธรรมะ เอาตัวตนของธรรมะมาสัมพันธ์กับชีวิต ชีวิตก็เข้าถึงตัวตนอันแท้จริงก็เป็นชีวิตที่จริง คือเป็นที่พึ่งได้ เป็นที่น่าพอใจ
ชีวิตจริงจึงได้แก่ชีวิตที่ได้รับเอาธรรมะเข้ามาเป็นตน ไม่เอากิเลสเป็นตน เอากิเลสเป็นตนก็คือเอาอุปาทานซึ่งเป็นตอนหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท ก็อธิบายมาแล้วน่ะในครั้งก่อน กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทมีการสัมผัส มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน เอาอะไรเป็นตัวเป็นตนเป็นของตนที่ตรงนั้นล่ะ ตัวตนนั้นล่ะเป็นตัวตนของกิเลส คือมันไม่จริงเพราะมันปรุงขึ้นมาจากอวิชชา ชีวิตจริงให้เอาธรรมะเป็นตน ไม่ใช่เอากิเลสเป็นตน ก็หมายความว่าอย่างนี้
กิเลสจะเป็นได้อย่างมากก็เพียงตัว ตัวกูของกู กิเลสจะเป็นได้อย่างมากเพียงเท่านั้น ไอ้ตัวกูของกูที่เอามาพูดถึงกันอยู่นี้น่ากลัวนะ ถ้าว่าตัวตนจริงต้องไปเอากันที่ธรรมะ แล้วธรรมะอะไรก็ต้องพูดกันอีกทีหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้จะเอาธรรมะที่มีผลเป็นความสะอาดสว่างสงบ หรือจะว่าเป็นธรรมะกลางของธรรมะเองของธรรมชาติของธรรมะเอง เช่น กฎของธรรมชาติ หรือพระธรรมในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาตินี่ก็ได้ นี่มันเป็นตนของธรรมะของธรรมชาติ เราจะต้องวิจารณ์เอาว่าอะไรเป็นตน อะไรมิใช่ตนกันให้ชัดแจ้ง เพื่อจะมีชีวิตจริงก็ต้องรู้ไอ้ตัวตนจริงกับตัวตนปลอม ทีนี้พูดถึงไอ้ตัวตนปลอม ตัวตนไม่จริงกันก่อน
ตัวตนไม่จริงก็คือตัวตนปลอม ตัวตนที่เป็นอุปาทานอันเกิดมาจากตัณหาในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท นี่ตัวตนไม่จริง รู้ได้ว่าตัวตนชนิดนี้มันร้อน มันหนัก มันเป็นทุกข์ เราไปเอาอะไรเป็นตัวตนเข้าแล้วมันร้อน แล้วมันหนัก แล้วมันเป็นทุกข์ นี่รู้เถิดว่าตัวตนนี้ไม่จริงแล้ว รู้จักมันให้ทุกคราว เมื่อไรเราร้อน ร้อนใจ เมื่อไรเราหนักใจ เมื่อไรเราเป็นทุกข์ หรือมีอาการที่ไม่พึงปรารถนาอย่างอื่นนี่ ให้รู้เถิดว่าเราเอาตัวตนที่ไม่จริงเข้าแล้ว
เราจะต้องรู้จักตัวตนที่ไม่จริงว่ามันเกิดอย่างไร อะไรเป็นต้นเหตุแห่งการเกิด ก็เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่พูดมาแล้ว มีสัมผัสด้วยความโง่ มีเวทนาด้วยความโง่ มีตัณหา มีอุปาทาน นี่คือการเกิดแห่งตัวตนที่ไม่จริง ตัวตนปลอม คือตัวตนแห่งอุปาทาน แดนเกิดของตัวตนที่ไม่แท้จริงมันเกิดที่ไหน มันเกิดที่เบญจขันธ์อันประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ขันธ์ห้าแต่ละอย่างหรือทั้งห้าอย่างที่เข้าไปยึดถือด้วยความโง่เขลาว่าเป็นตัวเป็นตน มันก็เกิดที่ขันธ์ห้าที่มีความยึดถือ
บางคราวเรายึดถือร่างกายเป็นตัวเราเพราะว่ามันกำลังทำหน้าที่ทางกาย บางทีกำลังอร่อยด้วยเวทนาก็เอาเวทนาเป็นตัวเรา บางทีเอาสัญญาความมั่นหมายเป็นตัวเราเพราะเรากำลังสำคัญมั่นหมายอะไรได้ด้วยสัญญา เอาสัญญาเป็นตัวเรา บางคราวเราก็เอาสังขารที่คิดนึกได้ บางทีมันคิดนึกได้ว่าควรเป็นตัวเรา นี่ปรัชญาตะวันตกมันก็มีนะที่ว่าคิดได้ดังนั้นฉันมี ถ้าฉันคิดดังนั้นฉันมี ปรัชญาของคนที่มีชื่อเสียงชื่อ Descartes (เดสก้าร์ส์)น่ะ
ฉะนั้นเราเห็นชัดเลยว่า บางทีเราก็เอาไอ้วิญญาณทางตาทางหูก็มันเห็นอะไรได้ก็มันดมอะไรได้ก็ฟังอะไรได้ เอาอันนะล่ะเป็นตัวตน อย่างนี้คือเอาวิญญาณเป็นตัวตน ฉะนั้นจึงบางคราวเอารูปเป็นตัวตน บางคราวเอาเวทนาเป็นตัวตน บางคราวก็เอาสัญญาเป็นตัวตน บางคราวสังขารเป็นตัวตน บางคราววิญญาณเป็นตัวตน นี้ก็คือตัวตนไม่จริงเหมือนกัน
ตัวตนปลอมเกิดที่เบญจขันธ์อันมีความยึดมั่น ตัวตนไม่จริงคือตัวตนที่มาจากสัสสติทิฏฐิ สัสสติทิฏฐิ ทิฏฐิว่ามีตัวตนอันเที่ยงมาแต่โบราณกาลก่อนพุทธกาลโน่น ตัวตนในสัสสติทิฏฐิในลัทธิที่เป็นสัสสติทิฏฐินี้ก็เป็นตัวตนไม่จริงหรือปลอม เพราะมันเกิดมาจากทิฏฐินั้น ทิฏฐินั้นทำให้เกิดเชื่อเกิดถือว่ามีตัวตน ฉะนั้นตัวตนของลัทธิสัสสติทิฏฐิจึงเป็นตัวตนที่ไม่จริงและเป็นตัวตนปลอม
ทีนี้เราก็มีนะ ในประเทศไทยเราก็ได้รับลัทธิอันนี้มาจากอินเดีย ชาวอินเดียมาสอนให้ คำโบราณๆที่ว่าเจตภูติ เจตภูติเข้าออกจากร่างกายนี้ก็ตายลง เจตภูตก็ออกไปหาที่เกิดใหม่ อยู่จนกว่าจะตายอีกก็ไปหาที่เกิดใหม่ เจตภูตนี่เป็นตัวตนในลัทธินี้ แต่บางทีก็เรียกว่าวิญญาณในความหมายของลัทธินั้น ไม่ใช่วิญญาณในความหมายลัทธิพุทธศาสนา วิญญาณเข้าร่าง วิญญาณออกจากร่าง วิญญาณไปหาร่างใหม่ ก็คือเจตภูตที่ว่านั้นแหละ บางทีใช้คำว่าชีโวอัตตาก็มี ในความหมายเดียวกับเจตภูติที่เข้าออกจากร่างนี้ล่ะ แต่โดยมากที่ชาวบ้านรู้จักและพูดกันอยู่ใช้คำว่าเจตภูติ คุณไปคุยกับคนโบราณๆเถิด เขามีลัทธิที่ว่ามีเจตภูต
นั่นล่ะตัวตนที่ไม่จริง ตัวตนในลัทธิสัสสติทิฏฐิที่มีอยู่ก่อนพุทธกาล และยังมีคนเชื่ออยู่ถืออยู่ในระดับชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่ผู้รู้ ไม่ใช่พุทธศาสนาหรือผู้รู้ เพราะว่ามันเป็นลัทธิที่มันเกิดขึ้นมาแต่แรกเริ่มเดิมที มันฝังแน่นไปในจิตใจของคนทุกคน มันเป็นสิ่งที่เขายึดถือมั่นได้ยึดถือได้ตามความรู้ของเขา ก็มันมีหลักมีฐาน แล้วมันยังมีประโยชน์ในทางศีลธรรมที่เชื่อว่ามีตัวเรา มีเจตภูตตัวเราเวียนว่ายตายเกิดนี้ เราต้องทำตัวดี ถ้าไม่เชื่อว่ามีมันก็ไม่ทำดี ถ้าเชื่อว่ามีมันขยันทำดีเพราะว่าจะต้องไปเกิดอีกมากมาย ฉะนั้นประชาชนจึงรับไว้ยึดถือไว้ ตัวตนนี้ ตัวตนของสัสสติทิฏฐิ
แล้วโดยธรรมชาติมันก็มีตัวตนที่คนจะรู้สึกได้เอง เด็กๆเกิดมามันไม่ได้มีความรู้มาจากในท้องหรอก แต่พอเกิดมาแล้วมันมีสิ่งแวดล้อมมาให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวตนมีของเรา อะไรก็ของเราแล้วเรามี เพราะฉะนั้นก็ต้องมีตัวตน และมีของตัวตน เด็กๆจะรู้สึกได้เอง เราก็นึกถึงตัวเราสิเมื่อเล็กๆอยู่ เรามีความรู้สึกในเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร เป็นมาอย่างไร นี่เรียกว่าตัวตนที่มันสำคัญเอาเองตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรู้สึก ก็เริ่มมีตัวตนชนิดนี้มาแต่อ้อนแต่ออกเรื่อยมาๆๆ จนบัดนี้สิ่งต่างๆมันก็ยังแวดล้อมให้เรารู้สึกเป็นตัวตน ยืนโรงอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งตายแล้ว เรารักเรา เราเห็นแก่เรา เราอุตส่าห์เล่าเรียน เราทำอาชีพมาก็เพื่อตัวตนของเรา ตามความรู้สึกของเราทั้งนั้นแหละ ทั้งหมดนี้เราจะเรียกว่าตัวตนที่ไม่จริง
เอ้า... ทีนี้ก็มาพูดถึงตรงกันข้ามคือตัวตนที่จริง ก็ต้องว่าตัวตนของธรรม ที่ว่า ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา คู่กับ อตฺตทีปา อตฺตสรณา นี้ต้องเป็นตัวตนของธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่เป็นตัวกูของกู ตัวตนของธรรมนั้นเราไม่อาจจะเอามาเป็นของเราหรือเป็นตัวเราแต่มันเป็นธรรมอยู่อย่างนั่นแหละ มันเป็นตัวตนของธรรมอยู่อย่างนั้นแหละ เราให้เข้าถึงตัวตนนั้นเถิด มันจะช่วยขจัดความทุกข์ออกไปหมดล่ะเป็นที่พึ่งได้
ตัวตนของธรรมที่เราอาจจะเอามาเป็นที่พึ่งแห่งไอ้ตัวตนของกู เดี๋ยวนี้เรามีตัวตนของกูของกิเลสเป็นทุกข์ นี่เราจะทำลายทุกข์นั้นก็ไปเอาตัวตนของธรรมมา ที่เรียกว่าธรรมเป็นที่พึ่ง ธรรมเป็นสรณะ เอาตัวจริงเข้ามาไอ้ตัวตนปลอมก็สลายไปเอง ดังบทว่า อตฺตทีปา อตฺตสรณา มีตนเป็นที่มีตนเป็นสรณะนั่นคือ ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา คือมีธรรมเป็นประทีปมีธรรมเป็นสรณะ เอาสิ่งที่เรียกว่าธรรมมาแทนที่สิ่งที่เรียกว่าอัตตาเสียแล้ว
ตัวตนชนิดนี้ที่เป็นธรรมนี่ก็หมายถึงว่าเป็นอสังขตธรรม สังขตธรรม อสังขตธรรม คู่นี้ก็ควรจำไว้นะ ถ้าสิ่งนั้นมันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมาเราเรียกว่าสังขตธรรมหมดล่ะ ถ้าสิ่งนั้นไม่ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเป็นอยู่เองโดยธรรมชาติ สิ่งนั้นเป็นอสังขตธรรม สังขตธรรมแปลว่าสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา อสังขตธรรมสิ่งที่ไม่ได้มีอะไรปรุงแต่งขึ้นมา
ทีนี้โดยสติปัญญาของเรา คุณทุกคนทุกองค์นี่เราลองสอดส่องดู จะพบแต่สิ่งที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้นแหละ ไอ้สิ่งที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งมันลึกมันยากกว่าที่เราจะมองเห็นได้ง่ายๆ มันต้องศึกษา เดี๋ยวนี้รูปธรรมนามธรรมกริยาอาการอะไรก็ดีล้วนแต่เป็นสังขตธรรม มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง รูปธรรมมีดวงอาทิตย์เป็นต้นที่เกิดเป็นต้นตอที่มาออกมาเป็นโลกนั้นโลกนี้ ดาวนั้นดาวนี้ เป็นน้ำเป็นดินเป็นไฟเป็นลม เป็นต้นไม้เป็นสัตว์เป็นคน ทั้งหมดนี้มันมีปัจจัยปรุงแต่ง ปรุงแต่งกันมาทยอยกันมาเหมือนว่าเป็นเหตุแล้วเป็นผล เป็นเหตุแล้วเป็นผล เป็นเหตุแล้วเป็นผล นั้นน่ะคือปรุงแต่ง สิ่งนี้มันรวมตัวเราชีวิตตัวเรานี้อยู่ด้วย เราก็เห็นได้ง่าย
ทีนี้สิ่งที่มันตรงกันข้ามน่ะเขาเรียกว่าอสังขต อย่างไอ้สิ่งแรกที่สุดอยากจะระบุไปยังกฎของธรรมชาติ กฎธรรมชาติอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงใครไปปรุงแต่งมันได้ ดังนั้นกฎธรรมชาติจึงไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จักเกิดไม่รู้จักดับ มันเป็นกฎธรรมชาติอนันตกาล ไม่มีอะไรปรุงแต่ง มีอยู่โดยไม่ต้องมีความมีเหมือนกับสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้มีความมีเรียกว่าภพภาวะ ภพเป็นความมีความเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีความมีอย่างนี้จึงมีอยู่ ส่วนอสังขตนั้นมันไม่ต้องมีภพแต่มันมีของมันได้ มันจึงประหลาดที่ต้องศึกษากันให้ดี อสังขตนี้
นิพพานก็รวมอยุ่ในอสังขตนี้ ไอ้ธรรมชาตินิพพานเป็นองค์นิพพานเป็นตัวนิพพานเป็นตนของนิพพานน่ะ นั่นคือธรรมะที่เป็นตนแล้วก็เป็นอสังขต ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้ก็คือไม่มีอะไรไปเปลี่ยนแปลงได้ เราสร้างขึ้นไม่ได้ อย่าเข้าใจว่าเราทำให้พระนิพพานเกิดขึ้นเหมือนที่พูดผิดๆ ไอ้ประโยคที่พูดว่าทำพระนิพพานให้เกิดขึ้นมันผิดนะ แต่ถ้าทำเพื่อให้พระนิพพานปรากฏแก่จิตแล้วก็ได้ เพราะเราไม่ได้สร้างนิพพานขึ้นมา มีอยู่แล้วแต่ทำให้ปรากฏขึ้นมาแก่ความรู้สึกของเรา วิญญาณของเราอาจจะรู้สึกต่อพระนิพพานได้เมื่อรู้สึกทางหูตาจมูกลิ้นกายใจ นิพพานเป็นอสังขตเป็นตัวตนของนิพพาน เป็นตัวตนของธรรม นี่จึงเป็นตัวตนจริง
เราไม่อาจจะหมายมั่นอสังขตให้เป็นตัวตนของเรา หรือของใคร เมื่อเราไม่หมายมั่นอะไรให้เป็นตัวตนของเราหรือของใคร นั้นน่ะเราจะถึงไอ้สิ่งที่มันเป็นอสังขต พอหมายมั่นแล้วมันก็เป็นเรื่องปรุงแต่งแล้ว ไม่อาจจะเข้าถึงอสังขต จิตที่ยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่ไม่อาจจะเข้าถึงสิ่งที่เป็นอสังขต มันจึงตรงกันข้ามไปหมด สังขตมีโดยมีความมี มีภพ อสังขตตั้งอยู่โดยไม่ต้องมีความมี คือไม่เหมือนสิ่งทั้งหลาย แต่จะเรียกว่าไม่มีก็ไม่ได้ มันก็มีอยู่ แต่ไม่ต้องมีโดยมีความมีเหมือนกับไอ้สังขตธรรมทั้งหลาย
ดังนั้นไอ้ที่เป็นอสังขตมันจึงเป็นนิรันดร มีอยู่ตลอดกาล ถ้าใครทำอะไรมันไม่ได้ มันไม่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นนิรันดร ไม่มีอาการที่เรียกว่าเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่มีอาการอย่างนี้ นี่สิ่งนี้เรียกว่านิรันดร นิรันดรก็คือไม่ตาย มีอีกชื่อหนึ่งว่าอมตธรรม สิ่งที่ไม่ตาย มีอยู่ได้โดยไม่ต้องมีการมีโดยไม่ต้องการมี มันไม่มีอาการแห่งการมี ก็ไม่มีเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ดังนั้นในสิ่งที่เป็นอสังขตหรือนิรันดรนี้จึงไม่มีอดีตปัจจุบันและอนาคต คือไม่ขึ้นอยู่กับเวลา ถ้ามันขึ้นกับเวลามันก็ต้องเป็นสังขตคือเวลามันเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทีนี้เขาไม่ขึ้นอยู่กับเวลาจึงได้ไม่เปลี่ยนแปลง
ดังนั้นจึงไม่มีอดีตไม่มีปัจจุบันไม่มีอนาคตสำหรับสิ่งนิรันดร คืออสังขต นี่คือตนจริง ตนธรรมะ ไม่ใช่ตัวกูของกูซึ่งไม่จริง ซึ่งเป็นสังขตปรุงแต่งด้วยความโง่ เกิดขึ้นมาจากความโง่ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ไปเอาเข้าแล้วก็ร้อน หรือหนัก หรือเป็นทุกข์ จึงสรุปเรียกว่าตัวตนที่ไม่จริง คือเป็นตัวกูอยู่นั่นแหละ ตัวกูที่มายาสร้างขึ้นมาด้วยอวิชชาอุปาทาน ทีนี้ตัวตนจริงมันตรงกันข้าม เข้าถึงตัวตนจริงได้รู้สึกได้ แต่อย่าไปคิดว่าเราสร้างมันขึ้นมานะ แต่เมื่อปฏิบัติดีแล้วจิตนี้เข้าถึงความสะอาด ความสว่าง ความสงบ แล้วจะพบตัวตนจริงนิรันดรซึ่งเป็นความไม่ตาย
ฉะนั้น อีกโวหารหนึ่งในอินเดียเขาจึงใช้คำว่าอมฤตธรรม ทุกคนเลยต้องการอมฤตธรรมทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไรก็ต้องการ เหมือนกับพวกเราชาวไทยชาวพุทธนี่ล้วนแต่ต้องการนิพพาน ไม่รู้ว่าอะไร ต้องการนิพพานทั้งที่ไม่รู้ว่าอะไร ผมเคยถามดูก็ต้องการนิพพานเพราะเคยได้ยินคำนี้กันมาแล้วทั้งนั้น ต้องการนิพพาน แต่ใจของเขาสำคัญมั่นหมายว่านิพพานนี่ได้อะไร ได้อะไรอร่อยสนุกสนานยิ่งกว่าที่เขามีๆกันอยู่ เขาตีความหมายนิพพานอย่างนั้นเขาจึงต้องการนิพพาน พอเราบอกเขาว่าไม่มีตัวตนว่างจากทุกสิ่งไม่ยึดถืออะไร ไม่ยินดีไม่ยินร้ายว่างเปล่านี่เอาไหม สั่นหัวเลย สั่นหัวไม่เอานิพพาน แล้วเมื่อตะกี้บอกว่าจะเอานิพพานๆ มันตามความหมายของเขาเขาก็ต้องการ พอเราบอกถึงความเป็นอมตะความเป็นนิรันดรอย่างนั้นอย่างนี้เลยสั่นหัว ในอินเดียก็เหมือนกันล่ะ สมัยโน้นมันก็ต้องการอมฤตธรรมทั้งที่ไม่รู้อะไร
ก็แปลว่าเราก็ต้องการตัวตนตามความรู้สึกของเราทั้งนั้น ก็อยากจะให้ตัวตนสนุกสนานเอร็ดอร่อยยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ที่นี่ ก็ต้องการนิพพานในความหมายนั้น นิพพานไม่ใช่เป็นอย่างนั้น นิพพานเป็นตัวตนที่แท้จริง จะไม่อำนวยความประสงค์ของกิเลสนั้นได้ นี่เรียกว่าตัวตนจริงเป็นตัวตนของธรรม เอามาเป็นที่พึ่งให้ตัวตนนี้ได้ เป็นอสังขตเช่นกฎของธรรมชาติหรือพระนิพพาน ไม่อาจจะหมายมั่นให้เป็นตัวตนของใคร เมื่อไม่หมายมั่นเป็นตัวตนอะไรของใครจึงจะเข้าถึงอสังขตและเป็นนิรันดรไม่ตาย ไม่มีอดีตปัจจุบันหรืออนาคตสำหรับสิ่งนี้ นี่เราก็พูดถึงตัวตนไม่จริงและตัวตนจริงมาแล้วนะ ทีนี้ต้องพูดต่อไปก็คือชีวิตจริง ชีวิตไม่จริง ถ้าได้ตัวตนจริงมาก็เป็นชีวิตจริง ถ้าได้ตัวตนปลอมมาก็เป็นชีวิตที่ไม่จริง
เอ้า... ชีวิตไม่จริงคืออย่างไรล่ะ มันก็คือชีวิตตามความรู้สึกของปุถุชน คำว่าชีวิตนี่เขามีความหมายว่าเป็นอยู่ เป็นอยู่คือไม่ตาย เขากลัวตาย เขาต้องการเป็นอยู่คือต้องการชีวิต แต่มันเป็นความหมายต่ำมากตามความรู้สึกของปุถุชน ชีวิตตามความรู้สึกของปุถุชนที่เกิดมาจากความกลัวตาย อยากจะอยู่ไม่อยากจะตาย นี่ชีวิตตามความรู้สึกของปุถุชน ถ้าละเอียดขึ้นไปอีกนิดก็ชีวิตตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ที่พูดมาแล้วก็เกิดผัสสะโง่ เวทนาโง่ ตัณหาโง่ อุปาทานโง่ เพราะถือว่ามีตัวตน เป็นชีวิตตามแบบของปฏิจจสมุปบาทระยะหนึ่งล่ะนะ เกิดจากอุปาทาน
ทีนี้ชีวิตไม่จริงมากที่สุด ชีวิตที่ไม่จริงมากที่สุดคือชีวิตวัตถุนี่ เราดูเถิดต้นไม้ต้นไร่มีชีวิต ลูกเป็ดลูกไก่มีชีวิต หรือในวัตถุสัตว์เซลล์เดียวก็มีชีวิต คือชีวิตตามคำนิยามในวิชาในชีววิทยา Biology บัญญัติชีวิตว่าไอ้ความยังสดอยู่ได้ของโปรโตพลาส (Protoplast) ซึ่งเป็นเนื้อในของเซลล์ๆหนึ่ง และเซลล์ๆหนึ่งยังสดอยู่ โปรโตพลาสที่ยังสดอยู่นั่นคือชีวิต ควรจะพูดว่าอันนั้นน่ะคือฐาน รากฐานชีวิตของฝ่ายวัตถุ เขาก็เรียกว่าชีวิตเหมือนกัน ภาษาไทยก็เรียกว่าชีวิตมันเลยปนกันใหญ่กำกวมกันใหญ่ ชีวิตในแง่ชีววิทยานั้นก็ยิ่งเป็นชีวิตไม่จริง ชีวิตชั่วขณะ ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกับวิ่ง
ทีนี้แม้ชีวิตที่มิใช่วัตถุนั้น ชีวิตตามความหมายของปุถุชนในทางนามธรรม มันก็เป็นชีวิตที่ยึดถืออวิชชาอุปาทาน ชีวิตนามธรรมตามความมั่นหมายของปุถุชนนี้ก็ไม่จริง ไม่ใช่ชีวิตจริง ทีนี้เราจะสังเกตง่าย ชีวิตชนิดที่มีแล้วรู้สึกหนัก รู้สึกร้อน รู้สึกเป็นทุกข์ นั่นน่ะชีวิตไม่จริง เด็กๆก็พอจะสังเกตได้ว่าชีวิตไหนมีภาระหนักอึ้งด้วยความยึดถือ ร้อนในกิเลสเป็นทุกข์ทรมาน นั่นชีวิตไม่จริง ชีวิตที่ยังไม่เข้าถึงตัวตนจริงนะที่พูดมาแล้ว ชีวิตไหนยังไม่เข้าถึงตัวตนจริง ชีวิตนั้นไม่จริง ถ้าเข้าถึงตัวตนจริง อสังขตจริง เกิดผลเป็นความสะอาดสว่างสงบออกมานี่เป็นชีวิตจริง และในตัวตนของธรรมเมื่อชีวิตไหนเข้าถึงแล้วชีวิตนั้นจะเข้าถึงของจริง ชีวิตนั้นก็พลอยได้รับความจริงคือไม่ต้องเป็นทุกข์ คือไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายไปด้วยเพราะมันเห็นความไม่ได้มีตน มีแต่จิตที่บริสุทธิ์
คุณก็จับใจความเอาเองว่าจิตที่บริสุทธิ์เท่านั้นน่ะที่จะเข้าไปถึงความเป็นชีวิตจริง จิตที่อบรมดีแล้วจนเข้าถึงความสะอาดสว่างสงบมันจึงจะเป็นชีวิตจริงได้ มันไม่ทุกข์มันไม่ร้อนมันไม่อะไร แม้มันจะเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามแบบของชีวิตนั้น มันก็ไม่มีความทุกข์ แล้วมันไม่ได้ทุกข์ มันไม่ได้ถือว่าเป็นตัวตน ชีวิตจริงเลยกลายเป็นชีวิตที่มิได้ยึดถือว่าเป็นตัวตนของกูของเรา มันก็เป็นของธรรมไปตามธรรมชาติ นี่เรียกว่าชีวิตไม่จริงตามความรู้สึกของปุถุชน เป็นไปในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทในทางวัตถุล้วนๆก็มี ในทางนามธรรมก็มี ไปเอากันแล้วเป็นทุกข์หนัก ร้อน เพราะมันไม่ถึงตัวตนที่แท้จริง
เอ้า...ก็นั้นๆชีวิตไม่จริงนะ ทีนี้ก็มาถึงชีวิตจริงกันบ้าง คือชีวิตที่มีภาวะสะอาดสว่างสงบ มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อยู่ในนั้น เคยอธิบายแล้วครั้งที่แล้วมานี่ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์จริงคือภาวะสะอาดสว่างสงบ เอาภาวะนี้มาใส่ไว้ในใจแล้วในใจนั้นก็มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็พูดได้ทันทีว่าชีวิตที่มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์จริงอยู่ในจิตนี่คือชีวิตจริง มีลักษณะสะอาดสว่างสงบ ดังนั้นชีวิตจริงนี่มันก็เข้าถึงสิ่งนิรันดร อมตะคือไม่ตาย มีอยู่ตลอดกาลไม่มีอะไรปรุงแต่ง โดยรู้สึกอยู่ ด้วยจิตที่รู้สึกอยู่ เช่นนั้นเรียกว่าชีวิตนั้นจริง
จิตนั้นเข้าถึงตัวตนจริงอย่างที่พูดมาแล้วข้างต้น มันอยู่กับตัวตนจริงเช่นนั้นแหละคืออยู่กับนิพพานซึ่งมีความเย็น มีความหมายเป็นความเย็นเพราะสะอาดสว่างสงบ ฉะนั้นชีวิตจริงๆไม่หนักเพราะยึดถืออะไรไว้ ชีวิตจริงๆไม่ร้อนเพราะกิเลสเผา ชีวิตจริงไม่มืดด้วยอวิชชา ชีวิตจริงจึงไม่เป็นทุกข์ ชีวิตจริงถ้าพูดเป็นภาษาเทคนิคสักหน่อยตามที่พระพุทธเจ้าตรัสก็คือว่า เวทนามันเย็นสนิท เย็นสนิทจนกระทั่งตาย
เวทนาคือความรู้สึกทางอายตนะนี่ธรรมดาเป็นของร้อนเพราะยึดถือด้วยความโง่ ยึดถือเป็นของเรา เวทนาก็เป็นของร้อน เมื่อไม่ยึดถือเวทนาเป็นของเราเวลานี้ก็เย็น ไม่สร้างความหนักความร้อนความมืดความทุกข์อะไรขึ้นมา นี่เรียกว่าเวทนาเป็นของเย็น และเย็นจนกระทั่งตาย ชีวิตจริงมีเวทนาเป็นของเย็นสนิททั้งทางนามและทางรูป คือทั้งทางกายและทางใจ เย็นสนิทจนกระทั่งตาย นี่ลักษณะชีวิตจริง
ชีวิตจริงมันว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ที่พูดเรื่องจิตว่างกันมาแล้ว จิตว่างจากกิเลส จิตจึงว่างจากความยึดมั่นถือมั่น จิตจึงว่างจากความทุกข์ อย่างนี้เราว่าจิตว่าง ไม่ใช่ว่างอันธพาลอย่างที่เขาชอบพูดขึ้นเพื่อด่าผม ไปแยกกันให้ดี ไอ้คำว่าจิตว่างนั้นคือว่างอย่างนี้ ชีวิตจริงจะถึงจิตว่าง ชีวิตไม่จริงไม่อาจจะถึงจิตว่าง ไม่อาจจะมีจิตว่าง หรือพูดกลับกันก็จิตว่างจึงจะถึงชีวิตจริง จิตไม่ว่างก็ไม่ถึงชีวิตจริง ไม่มีชีวิตจริง
ฉะนั้นเรามีชีวิตจริงไว้จะชนะอันตรายหรือความทุกข์ทุกชนิด ทุกแห่งและทุกเวลา ทุกชนิดนะ และทุกแห่ง ทุกสถานที่ ทุกเวลาด้วย เราจะชนะอันตรายคือความทุกข์หรือปัญหาทั้งหลายทุกชนิด ทุกแห่ง ทุกเวลานี้ด้วยความมีชีวิตจริง นี่สรุปเรียกว่าชีวิตจริง สะอาด สว่าง สงบ เป็นนิรันดร ไม่ตาย ไม่ถูกปรุงแต่ง เป็นตนจริงของนิพพาน ไม่หนัก ไม่ร้อน ไม่ทุกข์ ไม่มืด เวทนาจะกลายเป็นของเย็นสนิทจนกระทั่งตาย ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น มีชีวิตจริงแล้วมันจะเหมือนกับว่ามีเกราะป้องกันอันตรายทุกชนิด ทุกแห่ง และทุกเวลา สรุปเรียกว่าชีวิตจริง
หาให้พบ แล้วอย่าท้อใจเสีย ไม่ไหว คนสมัยนี้เขาท้อใจง่ายๆ ไม่ไหวแล้ว พ้นวิสัยแล้ว ไม่สนใจแล้ว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนี่ เมื่อพุทธศาสนามันมีอย่างนี้ เมื่อไม่เอาก็ไม่เอานะ จะมาศึกษาให้เสียเวลา เมื่อไม่เอาก็ไม่ต้องศึกษา ถ้าสนใจจะได้ของจริงเข้าถึงของจริงของพระพุทธศาสนาก็ต้องเข้าถึงอันนี้คือดับทุกข์สิ้นเชิงโดยแท้จริง นี่เป็นเค้าเงื่อนสำหรับให้คุณจำเอาไปเป็นเครื่องศึกษาสังเกตทดลองระวังระไวต่อไปข้างหน้า เรามีชีวิตไม่จริงมาจนกระทั่งบัดนี้ สนใจเรื่องชีวิตจริงกันเสีย0ทีแล้วก็ทำให้มันได้
ทีนี้จะเข้าถึงได้อย่างไร ไอ้ทางที่เข้าถึงนี่จะเข้าถึงได้อย่างไร นี่ไม่ต้องพูดแล้วพูดแล้ว พูดแล้วน่ะ มัชฌิมาคือทาง การบรรยายครั้งที่แล้วมามีอยู่ครั้งหนึ่งว่ามัชฌิมานั่นแหละคือทาง ฉะนั้นมัชฌิมาปฏิปทาแหละคือทาง อริยมรรคหนทางอันประเสริฐ อัฏฐังคิกประกอบไปด้วยองค์แปด พูดแล้วในครั้งที่เจ็ดใช่ไหม คุณไปเอามา เอามาใส่ไว้ตรงนี้ มัชฌิมาคือทางในการเข้าถึงชีวิตจริง
ฉะนั้นเราเดินทาง (นาทีที่ 49.52)... คือมีสติ สัมผัสอารมณ์ด้วยสติปัญญา เรามีสติปัญญาสัมผัสอารมณ์ทุกชนิด การเดินทางนี้จะไปถึงชีวิตจริงคือไม่ให้โอกาสแก่กิเลส กิเลสจะมาขวางทางเราไม่ได้ สติเพียงพอ รวดเร็ว ปัญญาเพียงพอ สติขนเอาปัญญามาทันเวลาเสมอเมื่อสัมผัสอารมณ์ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางผิวหนังก็ดี ทางจิตก็ดี สติเหมือนกับวิทยุที่เป็นคลื่นพาไอ้ Frequency ของมัน เป็นคลื่นพา แล้วปัญญาเหมือนกับคลื่นเสียงที่ติดมากับคลื่นพา มันทำให้เรารับฟังได้อยู่นี่ นี่เรามีสติปัญญาในการสัมผัสอารมณ์แต่ละวัน ๆ ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส นี้คือการเดินทางถูกต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา นี่เป็นหนทาง
ทีนี้ถ้าจะถามว่าที่ไหน เมื่อไร ทุกแห่งทุกเวลาที่เรามีสติปัญญา จะต้องวงเล็บว่าตามแบบของพระพุทธศาสนา สติปัญญาตามแบบอื่นไม่ได้และไม่เอา ต้องสติปัญญาตามแบบของพุทธศาสนา คือตามแบบของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีไว้ให้แก่เราที่เป็นสาวก เรื่องสติปัญญานี้ก็อธิบายแล้ววันก่อนในมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง
เอ้า... เป็นว่าเรารู้จักตนจริงและตนไม่จริง เรารู้จักชีวิตไม่จริงและชีวิตจริง ปัญหามันก็จะหมดล่ะ มันรู้จักชีวิตจริงแล้วก็มันก็เป็นไปแต่ในทางที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ อริยสัจจะแปลว่าของจริงอันประเสริฐคือเรื่องอย่างนี้ คือเรื่องนี้ ทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ดับทุกข์สนิทเป็นอย่างนี้ ทางให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ มันรวมอยู่ในคำว่าชีวิตจริง
เอ้า... ทีนี้จะพูดเป็นลักษณะสรุปท้าย พุทธศาสนาเรามีอนัตตาในทุกสิ่งที่ปุถุชนเข้าใจว่าเป็นอัตตา เป็นคำพูด logic นะ ฟังให้ดีนะแล้วก็ให้ถูกเรื่องของมันนะ พุทธศาสนามีอนัตตาในสิ่งที่ปุถุชนเห็นว่าเป็นอัตตา ปุถุชนเห็นสิ่งใดว่าเป็นอัตตา พุทธศาสนาจะมีอนัตตาในสิ่งนั้น คือทุกสิ่งที่ปุถุชนกำลังเห็นว่าเป็นอัตตา ตัวกูของกู ในสิ่งที่เป็นตัวกูของกูของปุถุชนนั้นน่ะมีอนัตตาอยู่ในนั้นตามหลักของพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็มีอัตตาในสิ่งที่ไม่มีความยึดถือว่าอัตตา ไม่มีความยึดถือว่าอัตตาในสิ่งใดนี่ก็จะมีความไม่ยึดถือ มีตัวตนของธรรมะปรากฏอยู่ที่นั่น
ฉะนั้นจึงพูดทำนอง Logic นะว่ามีอัตตาเมื่อไม่ยึดถือว่ามีอัตตา เรามีอัตตาตัวตนจริงเมื่อเราไม่ยึดถือว่ามีอัตตา เพราะว่าจะยึดถือในอัตตาว่าเป็นอัตตาปลอม เมื่อไม่มีการยึดถือว่าอัตตานั่นแหละจะมีอัตตาจริงขึ้นมา อย่าไปยึดถืออะไรเป็นอัตตาสิ เราก็จะมีธรรมะเป็นอัตตาขึ้นมา ฉะนั้นบรรดาสิ่งที่เป็นอนัตตาโดยธรรมชาติแล้วนั้นเป็นชีวิตปลอม สิ่งที่เป็นอัตตาจริงทำให้เข้าถึงชีวิตจริง เมื่อไม่ยึดถือว่ามีอัตตาก็เป็นอัตตาจริง อัตตาจริงนี้ทำให้เข้าถึงชีวิตจริง คือชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยความสะอาดสว่างสงบ ตนจริงชื่อว่า ผัสสะสรณา อตฺตทีปา อตฺตสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา มีธรรมะนั่นละเป็นตน แล้วก็เป็นทีปะ
ไอ้ทีปะนี่ ศัพท์นี้โดยแท้จริงนี้แปลว่าแสงสว่าง มีทีปะคือมีแสงสว่าง มีสรณะหรือมีที่ระลึกถึง แต่คำว่าทีปะนี่แปลว่าเกาะก็ได้ เกาะกลางทะเลหรือทวีปนั่นเอง ในภาษาไทยเรียกว่าทวีป ในภาษาบาลีเรียกว่าทีปะ (นาทีที่55.49)ไอ้นั่นมันวีปะ ตัวเดิมความหมายเดิมแท้แปลว่าแสงสว่าง แสงสว่างนั้นเป็นเหมือนเกาะเหมือนที่พึ่ง ทีนี้สรณะน่ะที่แล่นไปแล่นไปหา ที่จิตแล่นไปหา สรณะ สรแปลว่าแล่นไป สรณะเป็นที่แล่นไป มีธรรมะเป็นที่แล่นไปแห่งจิต ในฐานะที่เป็นแสงสว่างหรือเป็นเกาะหรือเป็นที่พึ่ง เอาธรรมะนั้นเป็นที่พึ่งก็เรียกว่าเอาอัตตาที่แท้จริงเป็นที่พึ่ง
ฉะนั้นเขาจึงมีคำพูดเป็นหลักกลางๆว่า แสวงหาตนที่จริง คำว่าแสวงหาตนนี่เป็นคำพูดโบราณเก่ากว่าพุทธกาลอีกเหมือนกัน เพราะว่าเขาต้องการอัตตา ต้องการตน เขาแสวงหาตนที่แท้จริง ชาวบ้านประชาชนยึดถืออย่างนี้คือมีตัวตน เขาก็แสวงหาตนที่แท้จริง เขาก็รู้ว่ามีตัวตนที่ไม่แท้จริงไว้ใจไม่ได้ เขาก็มีหลักที่จะหาตัวตนที่แท้จริง อย่างที่คุณอ่านพุทธประวัติตอนที่ภัททวัคคีย์เที่ยวตามหาผู้หญิงที่หนีไป ก็พบกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าหาตนดีหรือหาผู้หญิงดี ไอ้พวกนั้นโดยลัทธิที่มันมีอยู่แล้วในจิตใจมันก็ต้องหาตนดี เขาเลิกหาผู้หญิงแล้วก็หาตนก็มานั่งกันตรงนี้ ก็พูดกันเรื่องหาตน ก็เลยได้บรรลุมรรคผลเพราะการหาตนที่ถูกต้อง
พบตนที่เป็นตนที่มีความหมายควรแก่ความเป็นตนคือธรรมะ อสังขตธรรม จะเอาสังขตธรรมก็ได้แต่ต้องเอาฝ่ายดีที่เป็นตัวตนที่เรียกว่าฝ่ายดี แต่ถ้าว่าที่ไม่เป็นสังขต คือไม่ถูกปรุงแต่งเลยนั้นเป็นตนที่จริงกว่า เกินดีไปอีก ที่จริงกว่า เพราะในความดับทุกข์ที่สุดทุกข์ของเรามันจึงอยู่เหนือชั่วแล้วก็เหนือดี เหนือบาปแล้วก็เหนือบุญ เหนือบาปมีบุญแล้วก็เหนือบุญแล้วก็นั่นแหละโลกุตตระ ตนที่แท้จริง
ได้พบธรรมที่ควรแก่ความเป็นตนที่แท้จริงคือไม่ตาย เมื่อไม่ตายมันก็ชีวิตจริงล่ะ ชีวิตไม่จริงมันก็ตาย ชีวิตไม่จริงก็คือไม่ตาย ไม่ต้องตาย แสวงหาตนที่ไม่ตาย ตนจริงพบแล้วก็ทำให้ไม่มีความตาย ไม่รู้สึกว่ามีตาย ไม่มีความหมายแห่งความตาย นั่นก็เป็นพุทธศาสนา เป็นหลักพุทธศาสนาที่ต้องตั้งอยู่เหนือเกิดแก่เจ็บตาย เหนือความทุกข์ทั้งปวง หรือว่าตัดทำลายไอ้ความรู้สึกว่าตัวตนที่เป็นมายาเสียได้ เหลือแต่ตนจริงของธรรม มีธรรมตั้งอยู่ในจิต มีธรรมเป็นที่ปรากฏแก่จิต นี่เรียกว่าพบตัวตนจริง พบอมตธรรม พบชีวิตนิรันดร ชีวิตจริง
เพราะฉะนั้นจึงสรุปเอาว่าแสวงหาตนกันเถิด แล้วคุณก็งงว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่มีอะไรที่เป็นตน อย่าให้มันเกิดปัญหาที่ตีกันยุ่งอย่างนี้สิ แม้ว่าทางหนึ่งบอกว่าจงทำที่พึ่งแก่ตนโดยตน แสวงหาตนที่แท้จริงกันเถิด แล้วก็สะดุดกันว่า อ้าว...ก็ไหนว่าไม่มีตัวตนล่ะ ก็เลยไปไม่ได้ พุทธบริษัทไม่ควรจะงงแบบนั้น มีธรรมะเป็นตน หาตนที่เป็นธรรมะ พบตนชนิดนั้นแล้วก็ดับทุกข์ได้ มีอยู่หลายแห่งที่พระพุทธเจ้าชวนให้มาหาตนกันเถิด อย่ามัวไปเที่ยวหาผู้หญิงหาเงินหาทองหาอะไร ท่านหมายถึงอย่างนี้ ตนธรรมะทั้งนั้น ถ้าพบธรรมะเป็นตนก็พบตนที่แท้จริง เรื่องมันก็จบล่ะ
นี่วันนี้ผมก็พูดเพียงเท่านี้ว่าพบชีวิตจริง คือชีวิตที่มีตัวตนแท้จริง พบชีวิตจริง ทุกๆองค์เกิดมาขอให้ได้พบชีวิตจริงหรือพบตน ก็ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ได้บวชและได้มาปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ เอาละเวลาหมดแล้วขอยุติการบรรยาย แล้วก็ปิดประชุมกันในวันนี้ บ่ายสามโมงถ้าฝนไม่ตกมีอีก