แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ถาม วันนี้ก่อนจะเริ่มปัญหากระผมใคร่จะขอกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า เนื่องจากท่านนวกะปีนี้ ก็ใกล้จะแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ได้ประชุมกันก็ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะได้ทำประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่งในการที่ได้มาอยู่ที่วัดนี้ถึงสามเดือนเศษ ก็เห็นพ้องกันว่าได้ร่วมใจกันสละปัจจัยไว้ก้อนหนึ่งเพื่อจะถวายกับทางวัดเพื่อให้จัดซื้อนาฬิกาไฟฟ้าสำหรับติดตั้งที่เรือสักเรือนหนึ่ง และในห้องสมุดอีกเรือนหนึ่งรวมเป็นสองเรือน แล้วก็เหลือเงินจำนวนหนึ่งก็สุดแท้แต่ทางวัดจะจัดเกี่ยวกับห้องสมุด แล้วแต่ทางวัดจะเห็นสมควรเป็นจำนวนปัจจัยทั้งสิ้นห้าพันบาท ขอมอบให้ท่านอาจารย์ไว้ในวันนี้ด้วย
ท่านพุทธทาส ไม่ต้องไปหามาเลย นาฬิกาไม่ต้องไปหามาเลย ทีนี้ทำไม่ได้ ทำไปเสร็จ อย่าทำไปในลักษณะบังคับว่าต้องทำ ที่นี่มันก็ไม่มีระเบียบว่าจะต้องตอบแทน ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ และก็อย่าคิดอะไรให้มากนัก ใช้ไฟฟ้าอย่างนี้ไม่ได้หรอก เพราะไฟฟ้าไม่ได้มีตลอดเวลา
ทีนี้ใครมีปัญหาอะไร เวลาเหลือน้อยแล้ว จวนจะออกพรรษา จึงจะต้องแยกย้ายกันไป ควรจะประมวลเรื่องต่าง ๆ ให้มันเพียงพอ ให้มันเกิดธรรม ผมอยากจะพูดให้มันเป็นเรื่องติดต่อกันไปเป็นเรื่องเดียวจบว่า มันควรจะมีอะไรบ้างในการที่มาบวชกันคราวหนึ่งระยะหนึ่ง
ผมเคยพูดเป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าถ้าเราบวชเลยตลอดไป ร่างกายชีวิตมันก็รวบรวมเรื่องสำหรับจะไปแบบนั้น แต่ถ้าเรายังจะต้องกลับเข้าไปเป็นฆราวาส เราก็ต้องรวบรวมเรื่องที่มันเหมาะสมสำหรับที่จะเป็นฆราวาส ฟังดูคล้ายกับจะไปคนละทิศคนละทาง แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ไปคนละทิศคนละทาง มันเป็นแต่ว่าไปช้า ๆ ไปเร็ว ๆ ไปทิศทางเดียวกันแต่ว่าไปกันคนละวิธี ตามแบบที่ว่าเป็นฆราวาสมันก็มีเรื่องมาก ก็ไปอย่างแบบคนมีเรื่องมาก ภิกษุมีเรื่องน้อยก็ไปอย่างคนมีเรื่องน้อย ไอ้ที่ว่าไป ๆ นี่ ไปไหนกัน มันก็ไปแบบชีวิตที่ระทมทุกข์ไปสู่ชีวิตที่เบาสบาย ไม่ระทมทุกข์ คุณจะใช้คำว่านิพพานก็ได้ แต่คนละระดับ ถ้าว่านิพพานแปลว่าเย็น ไปจากชีวิตที่ร้อนไปสู่ชีวิตที่เย็น ฆราวาสก็ควรจะเป็นอย่างนั้น มันจะคิดก็ยิ่งเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว
คำว่านิพพานเอาความหมายว่าเย็นนี่มีมาก่อนพุทธกาล ถ้าต้องการนิพพาน ถ้าจะบรรลุนิพพานในความหมายว่าเย็นกันทั้งนั้นเลย ในช่วงพุทธกาลก็ใช้คำนิพพานเป็นคำพูดทั่วไปในชาวบ้าน ในเรื่องของบ้านเรือนว่าเย็น ถ้าฆราวาสเขาก็หมายถึงเย็นอกเย็นใจ ถ้าว่าเย็นอกเย็นใจคือคำว่านิพพาน คนเคยอ่านเรื่องพุทธประวัติก็จะพบตัวอย่างง่าย ๆ เช่นหญิงสาวโฆตะมีคนหนึ่งเมื่อเขาได้ผ่านพระสิทธัตถะไปนะเขาร้องขึ้นว่า “นิพพุตา นูน สา มาตา นิพพุโต นูนโส ปิตา” ซึ่งมันมีใจความว่า แม่ของเขาก็เย็นอกเย็นใจ พ่อของเขาก็ต้องเย็นอกเย็นใจ คำว่านิพพุตา คือคำเดียวกับนิพพาน เป็นคำกิริยา นิพพุตาเป็นคำนามว่านิพพาน นิพพุตาคือนิพพาน ไอ้ที่อย่างนี้ผู้หญิงคนนั้นไม่ได้หมายถึงนิพพานแบบมรรคผลนิพพาน แต่หมายถึงนิพพานแบบทั่วไป ในภาษาพูดของคนทั่วไปว่า”เย็น “ ฉะนั้นถ้าพูดเป็นไทยมันก็พูดกันให้ชัด ๆ เลยว่าเย็นอกเย็นใจ เย็นฉ่ำ พระสิทธัตถะนั้น ถ้าเป็นแม่ของใคร แม่นั้นก็เย็น “นิพพุตา นูน สา มาตา” ถ้าเป็นพ่อของใคร พ่อคนนั้นก็เย็น “นิพพุโต นูน โสปิตา” จำไม่ค่อยได้นักไอ้คำบาลี แต่ว่ามันว่าอย่างนี้ละ เราพอจะถือเป็นหลักได้ว่า เราต้องการความเย็นอกเย็นใจ แล้วมันก็ควรจะพอแล้วเที่คุณจะสึกไปมีครอบครัว ไม่ต้องทำอะไรมาก เอาเพียงเย็นอกเย็นใจนี่ก็พอแล้ว ปฏิบัติทุกอย่างถูกต้องหมด ไม่มีความร้อน เย็นอกเย็นใจก็ใช้ได้
ถ้าว่านิพพานนั้นเป็นชื่อวัตถุ ก็เมื่อวัตถุนั้นมันเย็น เป็นชื่อของสัตว์เดรัจฉานก็หมายความว่าสัตว์เดรัจฉานตัวนั้นหมดปัญหา หมดพิษ หมดฤทธิ์ หมดอันตราย ถ้าเป็นชื่อของมนุษย์ก็คือเย็นอกเย็นใจ บางพวกเล็งถึงมีกามคุณสมบูรณ์ก็เย็นอกเย็นใจ บางพวกเล็งถึงมีสมาธิ สมาบัติ ก็เย็นอกเย็นใจ แต่พระพุทธเจ้าท่านหมายถึงกิเลสไม่รบกวน เมื่อกิเลสไม่รบกวนไม่เกิดขึ้นก็เย็นอกเย็นใจ ฉะนั้นเราก็ประพฤติกระทำกันอยู่ในลักษณะที่ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นแผดเผาก็แล้วไป มันไม่ได้สุดวิสัย เหลือวิสัย และมันก็ไม่ได้พ้นสมัย หมายความว่าสมัยนี้ก็ยังทำได้ แต่ว่าคนโดยมากเขาจะมาพูดตัดบทกันเสียว่า เดี๋ยวนี้หมดสมัยแล้ว ป่วยการซึ่งทำไปก็ไม่ได้นิพพาน ก็มันเข้าใจนิพพานผิด
“นิพพาน เย็นอกเย็นใจ” นี่ยังคงจะได้เรื่อยไป เมื่อใดไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน เมื่อนั้นคนนั้นนิพพานใน “ทิฏฐธรรม “ พระพุทธสุภาษิตมีอยู่อย่างนี้ เมื่อกระทบอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว เขาไม่เพลิดเพลิน ไม่ต้องสรรเสริญ ไม่เมาหมก วิญญาณของเขาก็เป็นสิ่งที่กิเลสไม่อาศัย วิญญาณของเขาไม่มีกิเลสอาศัย กิเลสอาศัยไม่ได้ ก็เขาไม่เพลิดเพลิน ไม่สรรเสริญ ไม่เมาหมก นั่นละคือความไม่มีอุปาทาน ผู้ใดไม่มีอุปาทานผู้นั้นย่อม “ทิฏเฐวธัมเม ปรินิพพุโต” เย็นสนิทในทิฏฐธรรม ทิฏฐธรรม คือในเวลา ในสถานที่ที่ผู้นั้น รู้จักได้ รู้สึกได้ ที่เรียกว่า”สันทิฏฐิโก” นี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันรู้สึกอยู่ในใจอย่างนี้ ไม่มีกิเลส ไม่มีอุปาทาน มันปรินิพพุโต มันเย็นสนิท ฉะนั้นมันจะชั่วคราว เป็นกรณีชั่วคราว มันก็เย็นสนิท นี่เรียกว่า “สันทิฏฐิโก”
คุณจำไว้ให้ดี คำสำคัญ ๆ เหล่านี้ สวดมนต์ทำวัตรกันทุกวัน “สันทิฏฐิโก” “อกาลิโก” ก็ไม่ค่อยจะรู้ เมื่อจิตเย็นสนิทอย่างนี้มันรู้สึกอยู่ข้างใน นี่เป็น “สันทิฏฐิโก” และมันเป็น “อกาลิโก” คือ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องรอฤดูกาล ไม่ต้องรอเวลานะมันเย็นทันทีที่ไม่มีกิเลสตัณหา เรียก “อกาลิโก” นี่ “เอหิปัสสิโก” เรียกใครมาดูก็ได้ฉันมีให้ดู ถ้านิพพานกันตอนตายแล้ว ใครจะมาดู “”เอหิปัสสิโก” จะเรียกมาดูอะไร เดี๋ยวนี้มันไม่มี ฉะนั้นถ้ามันเป็นนิพพาน เป็นธรรมะ สวากขาโต เรียกมาดูได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือเรามีอยู่ในใจ แต่นั่นแหละเขาหมายความว่ามันไม่ใช่วัตถุที่หยิบให้ดูได้ แต่ว่าเรามีจริง ๆ ความเย็นอกเย็นใจ “ปรินิพพุโต” มีอยู่จริง ๆ ในใจ เรียกมาดูได้ มาดูสิ อย่างนี้เรียกว่า “เอหิปัสสิโก” นี่มันก็เป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพวิญญูหิ” หมายความว่าถ้าคนมันไม่โง่เหง้าจนเกินไป คือเป็นวิญญูชนบ้าง มันก็เห็นได้ด้วยตนเอง รู้สึกได้ด้วยตนเอง ยกเว้นคนโง่เง่าอันธพาลเกินไป เมื่อพบอย่างนี้ก็เรียกว่า “สวากขาโต” ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวดีแล้ว “สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก” ช่างมัน น้อมเข้ามาใส่ตน ควรน้อมเข้ามาใส่ตน นี้มันมีอยู่แล้ว
ฉะนั้นเรามีนิพพานทุกที ทุกที่ ที่กิเลสไม่เกิด หมายความว่า อนุปาทาโน ไม่มีอุปาทาน ไม่ยินดีในอารมณ์เหล่านั้น ไม่เพลิดเพลินสรรเสริญเมาหมกนั้นเรียกว่าไม่มีอุปาทาน เมื่อไม่มีอุปาทาน ก็ ทิฏเฐวธัมโม ปรินิพพุโต เย็นเท่านี้ เป็นทิฏฐธรรม ทีนี้ถ้าเราจะเรียนกันจริง ๆ ให้สำเร็จประโยชน์เราก็ต้องเรียนอย่างนี้แหละ เมื่อใดมันเย็น มันรู้สึกได้ว่ามันเย็น ก็รีบดูเถอะว่ามันเป็นอย่างที่ว่านี้ ถ้าเมื่อไรมันร้อนเป็นนรกอยู่ข้างใน มันก็คือเป็นตรงกันข้าม เป็นอยินดี อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็แล้ว ถึงกับว่าเพลินอย่างยิ่ง ช่างสรรเสริญงอย่างยิ่ง ของจิตของใจลงไปอย่างยิ่ง
บาลีสามคำนี้สำคัญมาก มันก็มีอยู่ทั่วไป ในกรณีที่จะพูดต้องพูดอย่างนี้ ท่านต้องใช้สามคำนี้เสมอ “อภินันทติ อภิวทติ อชโฌสาย ติฏฐติฯ” เพลิดเพลินอย่างยิ่ง สรรเสริญอย่างยิ่ง เมาหมกอย่างยิ่ง รู้สึกเพลินในอารมณ์นั้นอย่างยิ่ง ที่ว่าช่างสรรเสริญอย่างยิ่งเป็นภาษาจิต ภาษาจิตใจ ไม่ใช่พูดด้วยปาก คือบางที่มันก็พูดออกมาทางปาก มันสูดปากในอารมณ์นั้นมัน ถูกใจอย่างยิ่ง คนเรามันสูดปาก แต่ในที่นี้หมายถึงจิตใจมันนิยมชมชอบอย่างยิ่ง เรียกว่าสรรเสริญอย่างยิ่ง จิตก็ฝังแน่นลงไป มีอยู่ ๓ คำ เพลิดเพลินยิ่ง ช่างสรรเสริญยิ่ง เมาหมก ตั้งอยู่ ถึงคราวที่ดีที่สุดก็คอยดูว่าเมื่อไรมันเป็นอย่างนั้น นี่มันจะเป็นโดยรู้สึกตัว ไอ้คนประมาท คนสะเพร่า คนอวดดี อย่างสมัยนี้นะ ไม่ค่อยจะรู้สึกเท่าทันในกิเลสเหล่านี้ ก็คนเหล่านี้ เด็กสมัยนี้ หนุ่มสาวสมัยนี้ มันอบรมมาอย่างอื่น คือไม่เหมาะสมที่จะรู้ได้ง่าย ๆ ในข้อเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง ช่างสรรเสริญอย่างยิ่ง เมาหมกอย่างยิ่ง ไม่ค่อยจะรู้
ถ้าเป็นคนที่อบรมมาอย่างเหมาะสมคือปกติ เดี๋ยวนี้คนวัยรุ่นของเรามันมีแต่เตลิดเปิดเปิง มันโง่ มันหลง มันเมา มันก็ไม่รู้สึก และมันก็ไม่อยากจะรู้สึก และก็ไม่อยากให้ใครมาตักเตือนให้รู้สึก ฉะนั้นคุณคอยดูก็แล้วกัน ไอ้วัยรุ่น ๆ หลังจากคุณไปอีกจะร้ายกาจ จะลำบากมากยิ่งขึ้นอีก ทีนี้ว่าแต่เรา ๆ นี่ถ้ามันมีอะไรเกิดขึ้น มันจะเป็นอย่างนี้หรือไม่ หรือมันจะไม่เป็นอย่างนี้ สรุปแล้วมันก็เรื่องเพศ ไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ต่าง ๆ ไอ้ที่มันแรงร้าย ก็มันเรื่องเพศตรงกันข้าม ทีนี้พอไปสัมผัสเข้า ที่ร้ายกาจสุด ๆ ก็คือทางผิวหนังที่เรียกโผฏฐัพพะ นี่มันร้ายกาจมาก ยิ่งกว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางจิตใจ ไอ้ทางผิวหนังนี่มันร้ายกาจมาก แล้วเขาก็ยึดเป็นเรื่องถูกต้อง ถูกต้อง เหมาะสม สมควรที่เราจะได้สิ่งเหล่านี้ อยากจะได้อย่างสุดเหวี่ยง ไอ้ความสุขสูงสุด และมันก็ถือว่าสิ่งนี้นะ คุณจะสังเกตดูว่าไอ้ความสุขคืออะไร และที่สุดนั้นคืออะไร
กระผมอ่านหนังสือพิมพ์ที่เขาถามตอบกันระหว่างคนกับหมอ หมอที่ทำหน้าที่ตอบปัญหาอย่างนี้ทางหนังสือพิมพ์นะ ผู้หญิงคนหนึ่งเขาถามหมอว่า ไอ้ความสุขของเขาไม่ถึงที่สุดเมื่อเขาทำอะไรกับสามีหรือคู่รักของเขานี่นะ เขาใช้คำว่าความสุขของอิฉันไม่ถึงขีดสูงสุดเขาว่าอย่างนี้ ก็หมายความว่ารสทางเพศของเขาไม่ถึงขีดสูงสุด จึงขอความช่วยเหลือจากหมอ ไอ้หน้านั้นจะพบบ่อย ๆ ละ คุณสังเกตดูอ่านดูสิ ผมก็อ่านพบในหนังสือพิมพ์เหล่านี้ พอพบคำอย่างนี้ผมก็สะดุ้ง ไอ้คน ๆ นั้นมันใช้คำว่าความสุขไม่ถึงขีดสูงสุด ถ้าเอาอย่างนี้ความสุข ก็คือสุขกันที่นี่ ฉะนั้นมันก็ไม่มีทางไปเแน่เรา คือมันน่าจะว่าความบ้าของฉันไม่ถึงที่สุดไม่สูงสุด มันถึงจะถูกกว่า มันไปใช้คำว่าไอ้ความสุขของฉันไม่ถึงที่สุด ไม่สูงสุด
ทีนี้ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่เป็นเรื่องของนิพพานจะว่าอย่างไร จะใช้คำอะไร เมื่อความสุขคืออย่างนี้ และถึงที่สุดคือสุดเหวี่ยงเข้าไปรสของเพศ เพศรส มันก็ไม่มีคำใช้แล้ว ความสุขที่จริง ที่แท้จริง นี่แสดงว่าเด็ก ๆ ของเรากำลังเป็นอย่างนี้ มีคำพูดอีกแบบหนึ่งตามแบบของเขา มีภาษาอีกอย่างหนึ่งตามแบบของเขา แทนที่จะพูดว่า ไอ้ความรู้สึกความบ้าของเราไม่ถึงที่สุด เขากลับพูดว่าความสุขของเราไม่ถึงที่สุด นี่เขาจึงไม่เห็นว่าไอ้เรื่องนี้เป็นเรื่องสกปรก เรื่องบ้า เรื่องน่าเกลียดน่าชัง เรื่องเหน็ดเหนื่อย นี่เขาไม่เห็น อยากจะเห็นความสุขให้ถึงที่สุดให้สุดเหวี่ยง นี่ความสุขสูงสุดของเยาวชนของเราสมัยนี้คือสูงสุดของความรู้สึกทางกามารมณ์ และจะศึกษาธรรมะยาก ไอ้คนชุดนี้ ที่จัดการศึกษากันอย่างนี้ ใช้ภาษาพูดกันอย่างนี้ ต่อไปจะลำบากในการที่จะศึกษาธรรมะ เอาละ จะยอมให้ว่าใช้คำ ๆ นี้ในหลายความหมาย ทางเนื้อหนังก็สุข ทางวิญญาณ ทางสงบระงับก็สุข มันก็ดีเป็นเรื่องที่ดี ถ้าแบ่งกันได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่กลัวว่าจะแยกกันไม่ออกเสียแล้ว แล้วมันจะลำบากในการที่จะให้คนชนิดนี้มาเข้าใจความสุขทางวิญญาณ
เรามาเทียบกันดูก็ได้คำว่า “นิพพุตา” หรือนิพพาน แปลว่าเย็นอกเย็นใจ สำหรับฆราวาส ยิ่งเรารู้สึกสุดเหวี่ยงทางเพศกามกิจนั่นนะ มันเย็นอกเย็นใจหรือเปล่า คุณคงจะตอบได้ว่ามันเป็นรู้สึกเย็นอกเย็นใจหรือเปล่า หรือมันร้อน มันร้อนมันเป็นเรื่องสั่นระริกระรัววุ่นวายระส่ำระสายเหมือนกับคนบ้าจนถึงที่สุด เราศึกษาจากของจริงกันอย่างนี้ดีกว่า ถ้าเรายังบูชาสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งสูงสุด ก็คงจะลำบากละ เพราะมันจะเฮไปทางนั้นหมด ทำอะไรทุกอย่าง ขวานขวายทุกอย่าง การงานทุกอย่าง อะไรทุกอย่าง มันจะเพื่อสิ่งนั้นหมด มันก็ไม่ต้องพบกันกับความเย็นอกเย็นใจ มันก็ไม่มีนิพพาน หรือความสุขในความหมายของนิพพาน มาปรากฏให้เห็นได้ นี่เอาว่าทุกคนถ้ามันไม่นั่นเกินไป ไม่เลวร้ายเกินไป มันคงจะพอเข้าใจได้กับคำว่าเย็นอกเย็นใจ เย็นอกเย็นใจ เด็กตัวเล็กตัวน้อยเด็ก ๆ วัยรุ่นก็ตามมันก็น่าจะแยกออกมาได้ว่าความรู้สึกอย่างนี้เย็นอกเย็นใจ ไอ้ความสุขชนิดที่เราหลงกันอยู่นั้นไม่เย็นอกไม่เย็นใจ อย่างนี้ก็พอมีหวังที่จะแยกกันดูว่าอะไรเป็นอะไร ฉะนั้นถ้าใครจะมีลูกมีหลานหรือมีลูกมีหลานอยู่แล้ว ช่วยกันทำความเข้าใจข้อนี้ด้วย เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในอนาคตของเขา อย่าให้เขาเสียทีที่ว่าเกิดขึ้นมาทั้งทีไม่รู้จักไม่รู้เรื่องสิ่งที่มนุษย์ควรจะรู้จัก คือความเย็นอกเย็นใจนั่นเอง
นี้วิธีปฏิบัติของเราก็คือคอยกำหนดไว้ทุกคราวที่มันเกิดอะไรขึ้นในจิตใจ มันก็มีสองฝ่ายมันจะเกิดในฝ่ายบ้าหรือเกิดในฝ่ายดี ถ้าไปหลงเพลิดเพลินช่างสรรเสริญเมาหมกมันก็บ้า แต่ก็ให้รู้ว่าเรามันบ้า เรากำลังบ้า เรากำลังร้อน เรากำลังอยู่กับไฟกิเลส นี่ดีที่สุดถ้ารู้ได้อย่างนี้ และถ้าว่าดีกว่านั้นก็คือไอ้เรื่องชนิดนั้นมาจะให้เราร้อน เราควบคุมไว้ได้ รู้เท่าทันแล้วก็ไม่ร้อน นี่ก็ดี ดีมาก ดีที่สุด ดีวิเศษ นี่คือเรียนด้วยการปฏิบัติ หรือว่าเรียนจากภายในมีผลดีกว่าจากการเรียนด้วยหนังสืออันมากมาย ยิ่งหนังสือมาพูดถึงเรื่องอย่างนี้ ถึงผมพูดก็พูดเรื่องอย่างนี้ พิมพ์ ๆ ไปมันก็พิมพ์เรื่องอย่างนี้ แต่มันไม่รู้สึกด้วยจิตใจ มันยังไม่สำเร็จประโยชน์ มันเป็นเรื่องเรียนหนังสืออยู่เรื่อย มันไม่ใช่เป็นการทำให้รู้สึกด้วยจิตใจ
ทุกคราวที่กิเลสมันได้เกิดขึ้น เอาว่าทุกคราวที่กิเลสได้เกิดขึ้นกันก่อน กิเลสใหญ่ กิเลสน้อย กิเลสเลวร้าย กิเลส เขาเรียกว่ากิเลสทั้งนั้น ขอแต่ว่าทุกคราวที่กิเลสมันเกิดขึ้น ขอให้รู้สึกว่ากิเลสมันเกิดขึ้น ร้อนให้มันรู้ว่ามันร้อน รู้ว่ามันเป็นไปในลักษณะนั้น ตามแบบที่ว่า เพลิดเพลิน ช่างสรรเสริญ เมาหมก อุปาทาน ยึดถือ แล้วมันก็เป็นนรกในปัจจุบัน เป็นความร้อนในปัจจุบัน ตามแบบของกิเลส อย่าไปทำเมินเฉยเสีย อย่าหลีกเสีย อย่าละเลยเสีย ถ้ามันเกิดความทุกข์ ความร้อนอะไรขึ้นมา จับฉวยมาทันทีสำหรับศึกษา บางทีจะสอนกันผิด ๆ หรือทำกันมาผิด ๆ พอเป็นเรื่องกิเลสแล้วไม่รู้ไม่ชี้ ๆ อย่างนี้มันก็ได้เปรียบข้างกิเลสมากขึ้น ๆ ถ้ากิเลสเกิดขึ้นฉันจะรู้จะชี้จนถึงกับว่าจะทำลายให้หมดไป ให้มีสติ สัมปชัญญะ พิจารณาจนมันหายไป ความรู้สึกเลวร้ายเหล่านั้นหายไป ความยินดีหายไป ความหลงใหลหายไป ความมัวเมาหายไป จิตเปลี่ยนในความรู้สึกของเรา ที่จิตมันเปลี่ยนจากความเป็นอย่างโน้นมาเป็นอย่างนี้ใหม่นี่ เราจะรู้สึกเลย นี่คือเรียนจริงโดยแท้จริง
เรียนธรรมะจริงก็เรียนกันอย่างนี้ เรียกว่าเรียนจากของจริงเรียนจากธรรมชาติ เรียกว่าเรียนจากการปฏิบัติ เมื่อเรารู้จักกิเลส ๆ ก็อาจจะรู้จัก ที่มันตรงกันข้ามคือความไม่มีกิเลส แต่ถ้าว่ารู้จักกิเลสนี้มันต้องรู้เพียงพอ รู้รอบด้านว่ามันเกิดอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร มันก่อหวอดอย่างไร มันมีโอกาสอย่างไร นี่ให้รู้กันให้หมดนะ รู้กระทั่งว่าพอมันจะเกิด รู้ พอมันมีวี่แววว่าจะเกิดก็รู้แล้ว รู้ ๆ ต่อไปอีกจนถึงว่า อย่างไรมันเกิดง่าย อย่างไรมันชอบเกิด อะไรมันเป็นเครื่องสนับสนุน สถานที่ บุคคล อารมณ์ชนิดไหนมันสนับสนุนให้เกิดง่าย เราก็จะได้รู้จักระมัดระวังป้องกันไม่ให้มันเป็นอย่างฉะนั้น รู้จักป้องกันให้มันง่ายขึ้นมาก มันไม่ต้องเจ็บปวดมาก ดีกว่าเป็นแล้วมาแก้ไขนี่มันเจ็บปวดมาก เมื่อจะเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่มันส่งเสริมกิเลสละก็รู้ตัวเสียก่อน หญิงจะพบชาย ชายจะพบหญิงแค่นี้ละ มันก็เท่ากัน ไอ้คำสอนมันมักจะพูดแต่เรื่องฝ่ายชาย ไม่ได้พูดกับเรื่องฝ่ายหญิง ก็เรามันสอนพูดกันแต่กับผู้ชายนี่ ที่จริงมันก็เท่ากัน
ฉะนั้นคุณเข้าใจเรื่องนี้ ว่ากิเลสเกิดอย่างนี้ แล้วร้อนอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส จะว่าบรรพชิตบวชเข้ามาแล้วมันก็ยังไม่ต่างจากฆราวาสไปได้ ด้านจิตวิญญาณนะ มันต่างแต่เพียงภายนอกระเบียบภายนอก การเป็นอยู่ ภายนอกนี่มันก็ต่างกัน แต่ภายในนี่มันยังเหมือนกัน มันมีกิเลสแสดงบทบาทเหมือนกัน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้กิเลสมันลดน้อยไป มันลดลงไปจนเข้าเขตของพระอริยเจ้านั่นแหละมันจึงจะต่างกัน คุณจะบวชหรือไม่บวชมันก็ไม่ได้ต่างกันในส่วนนี้ ส่วนภายในจิตใจมันจะต่างกันเมื่อทำให้กิเลสลดลงจนเข้าเขตของความเป็นพระอริยเจ้า ฉะนั้นควรจะถือเอาตามที่เขาถือกันมาแต่ก่อนว่าแม้ในเพศฆราวาสมันก็มีพระอริยเจ้า เขาให้กันมากถึงกับ เทวสกิทาคามี พระอนาคามี มีได้ในชีวิตแบบฆราวาส ก็พระอริยเจ้าก็มีได้ในความเป็นฆราวาส นี่เกือบจะไม่ต่างกันตรงไหนเมื่อฆราวาสเป็นพระอริยเจ้า บรรพชิตเป็นพระอริยเจ้ามันก็เท่า ๆ กันแหละ เมื่อบรรพชิตยังไม่เป็นอะไรเลยยังมีจิตใจเหมือนฆราวาส มันก็เหมือนฆราวาสแหละมันก็เป็นฆราวาส นี่เรียกว่าไม่ไช่เอาตามสมมติบัญญัติแล้ว เอาตามความจริง เอาตามที่มันเป็นจริง เป็นของจริง
ที่เราบวชและจะกลับสึกออกไป ควรจะได้วิธีที่จะควบคุมชีวิตนี้ให้มันเป็นไปในลักษณะที่เย็น เย็นอกเย็นใจ จะไปทำอะไรก็ตามใจ จะไปทำงาน จะไปเป็นกรรมกร จะไปเป็นนายจ้าง จะเป็นคนร่ำรวย ยากจน ยังไงมันก็มีปัญหาที่ว่าร้อนใจมันก็ร้อนใจ เย็นใจมันก็เย็นใจ นี่เราสามารถที่จะทำให้เย็นใจได้เรียกว่าถูก เรียกว่าถูกละ ชีวิตนี้ไม่เผาลน ถ้าไปมีครอบครัวลูกเมียเข้า มันก็ยากขึ้นไปอีกละที่จะทำให้เย็นใจ แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าเก่งจริงมันก็พูดกันรู้เรื่อง พอจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน ให้มีการเป็นอยู่อย่างเย็นอกเย็นใจในครอบครัวนั้น เพียงแต่มันยากสักหน่อยในการที่จะทำเพียงคนเดียว คนโสดหรือคนอยู่คนเดียวมันทำได้ง่ายกว่า ฉะนั้นถ้ามีคู่ครองที่พูดกันรู้เรื่องก็ว่ามีบุญอยู่มาก ถ้ามีคู่ครองที่มันพูดกันไม่รู้เรื่อง ยังไงก็พูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว มันก็คงจะแย่มาก มันก็ตกนรกอีกชนิดหนึ่ง มันก็ทนไม่ไหวมันก็แตกกระจาย ฉะนั้นเราจึงต้องหาความรู้นี้เผื่อไปให้มากพอสำหรับอีกคนหนึ่งด้วย สำหรับผู้ที่จะไปมีครอบครัว นอกจากจะหาความรู้เพียงพอเพื่อตัว ยังต้องหาไปเพื่อให้เพียงพอสำหรับคนที่จะมาร่วมสัมพันธ์กันด้วย มิฉนั้นจะลำบากมาก แต่ถ้าว่าเราสามารถที่จะปรับปรุงตัวเรา ควบคุมตัวเรา รู้จักตัวเรา ชนะตัวเราได้ ท่านกล่าวว่ามันไม่ยากเกินไปที่จะควบคุมปกครองคณะคนอื่น แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันต้องการเพิ่มความรู้สามารถให้มากออกไปอีกส่วนหนึ่งละ ไม่ต้องสงสัย ต้องรับรู้ไว้ด้วยว่ามันจะต้องมีอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าว่ามีครอบครัวที่ไม่เกิดปัญหาอย่างนั้นละก็ ก็เรียกว่ามีบุญแหละ เหมือนกับว่าอยู่กันเป็นสุข เป็นครอบครัวที่เป็นสุข เป็นครอบครัวที่บำเพ็ญประโยชน์กว้างขวาง ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ประเทศชาติอะไร ได้อย่างกว้างขวาง มันก็ดีละ จะเรียกว่ามันเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงของโลก ของประเทศชาติ จะทำได้หรือไม่ได้ จะยากง่ายอย่างไรก็สนใจกันไปได้เลย จะเป็นการสอบไล่ ทั้งที่ตรงนั้นละเป็นครอบครัวที่มีแต่ความเย็นอกเย็นใจ ก็เรียกว่าสอบไล่ได้
ทีนี้มันมีความจริงอันลึกลับอยู่อย่างหนึ่งว่า ไอ้สิ่งทั้งหลายมันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ไอ้นั่นละมันจะเกิดความกีดขวางขึ้นมา เกิดอุปสรรคขึ้นมาจนต้องเร่าร้อน จนต้องเดือดร้อน จนเย็นอกเย็นใจไม่ได้ นี่ละถึงต้องมีธรรมะชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพื่อจะแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้มันดีที่สุด ในเมื่อแก้ไขไม่ได้ก็ไม่เป็นทุกข์ จะชนะสิ่งที่ตามธรรมชาติมันจะต้องเป็นอย่างนั้น หรือแก้ไขไม่ได้ ได้ก็โดยเหตุที่เราไม่เป็นทุกข์ เมื่อเราไม่เป็นทุกข์มากเข้า สิ่งเหล่านั้นมันก็จะค่อยเปลี่ยนแปลงเอง เพราะถ้าอะไร ๆ มันไม่ดีไปหมด ยังไม่ดีไปหมด เราต้องปรับปรุงตัวเรา ใช้ธรรมะสำหรับจะป้องกันไม่ให้เราเป็นทุกข์ สมมติว่าเมียก็ไม่ดี ลูกก็ไม่ดี คนใช้ก็ไม่ดี อะไร ๆ ก็ไม่ดี จะทำอย่างไร เมื่อมีธรรมะมากพอสูงสุดที่จะแก้ไขได้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ อย่างน้อยก็อย่าเป็นทุกข์ จะควรทำอย่างไรก็ทำไป จะแยกทางกันหรือว่าจะยังแก้ไขให้มันเข้ารอยกันได้ ก็มันแล้วแต่จะทำได้ ฉะนั้นมันก็เป็นธรรมชาติด้วยเหมือนกัน ที่ใช้คำว่าเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง เราจะแก้ไขเช่นนั้นเอง ด้วยเช่นนั้นเอง ถ้าแก้ไขได้ก็หมดปัญหา ถ้าแก้ไขไม่ได้ ก็คิดดูจะทำอย่างไร จะแยกกันหรือว่าจะแก้ไขกันต่อไป จนกว่าจะแก้ไขได้
ธรรมะสูงสุดที่สุดก็คือเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองก็ไม่เอามายึดมั่นถือมั่นให้เป็นทุกข์ เห็นว่าควรแก้ไขก็แก้ไขไป คล้าย ๆ กับแก้ไขยักษ์ให้เป็นมนุษย์ มันลำบากมั้ยที่จะแก้ไขยักษ์ให้เป็นมนุษย์ แต่ว่าคราวคุณประสบก็จะต้องแก้ไข คอยดูเถอะ แก้ไขยักษ์เป็นมนุษย์ ถ้าแก้ไขได้มันก็ดี ก็มีคนแก้ไขได้ มีคนเคยแก้ไขได้ในประวัติศาสตร์ของธรรมะมันมีการแก้ไขได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้ดูจะยิ่งยากกว่าสมัยนู้น เพราะว่าสมัยนี้มันมีสิ่งยั่ว สิ่งดึง สิ่งจูงไปหาไอ้ความเลวร้ายมันมากเกินไป ความนิยม ค่านิยมต่าง ๆ มันก็เปลี่ยนไป จนเขาจะเอาดีเป็นชั่วเอาชั่วเป็นดี เป็นอย่างนั้นแล้ว มันก็ลำบากมาก สำหรับผู้ที่จะยึดถือ คงเส้นคงวา ดีเป็นดี ชั่วเป็นชั่ว บางคนที่บูชาความรักอย่างหลับหูหลับตา เขาก็ยอมชั่ว ยอมรับเอาแฟนที่เป็นคนชั่วเข้ามาเป็นคู่ชีวิต แล้วก็ล้มลุกคลุกคลานไปด้วยกันแล้วเขาก็ถือว่าถูกต้องแล้วสำหรับสมัยนี้
แต่ถ้าถือธรรมะมันทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะความถูกต้องนั้นมันอยู่ที่ไม่เป็นทุกข์นะ ความถูกต้องตามหลักของศาสนานั้นคือไม่เป็นทุกข์ ถ้าตามแบบของปรัชญา จิตวิทยา เขามีเหตุผลอย่างอื่น เขาพูดอย่างอื่นก็มีเหตุผลมากมายที่จะวินิจฉัยว่าอย่างนี้ถูกต้อง อย่างนี้ไม่ถูกต้อง และส่วนมากก็เพ้อเจ้อ ใช้ไม่ได้ แต่ว่าตามทางศาสนาแล้วมันตายตัวว่า ไอ้ที่ไม่เป็นทุกข์นั้นแหละถูกต้อง ให้เรายึดถือหลักอันนี้ไว้ อย่าให้มันล้มลุกคลุกคลาน อย่าให้มันฝั้นเฝือ ที่มันพิสูจน์ความมีประโยชน์คือไม่เป็นทุกข์ด้วยกันทุกฝ่ายนี่แหละคือถูกต้อง
เรียกว่าจริงนะ ที่ว่าไม่เป็นทุกข์โดยแท้จริง ไม่ใช่ว่าไม่เป็นทุกข์ของอันธพาล มันพูดอย่างอันธพาล โวหาร อันธพาลไม่เป็นทุกข์อย่างนี้ ก็อย่างนั้น ก็เป็นเรื่องอันธพาล เอามารวมกันไม่ได้ มันไม่ต้องเป็นทุกข์โดยแท้จริง มันพิสูจน์ความมีประโยชน์ ที่เป็นประโยชน์อันแท้จริง นั่นคือความถูกต้อง มันไม่เอาเอร็ดอร่อย ไม่เอาไอ้อย่างนั้น มาเป็นหลักเกณท์ของความถูกต้อง นั้นมันเป็นความถูกต้องของกิเลส ไม่ใช่ความถูกต้องของธรรมะหรือโพธิ ถือธรรมะเป็นหลัก ไม่ได้ถือกิเลสเป็นหลัก
คุณควรจะยุติไอ้ตรงที่ว่ามันไม่มีความทุกข์ก็ควรจะพอใจแล้ว มีประโยชน์เมื่อมีความสุขที่แท้จริง ก็ควรจะพอใจแล้ว อย่าไปหลงในเครื่องประดับประดา ให้มันเฟ้อ ให้มันเกิน ถ้ามันเห็นชัด ๆ เพียงแค่นี้ก็พอแล้วสำหรับที่จะไม่เป็นทุกข์ อยู่อย่างสงบสุข มันก็ไม่เอานี่ มันจะไปเอาอะไรมาเพิ่ม ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เข้าไปจนเหลวหมด แทนที่จะสงบสุข อยู่เย็นเป็นสุขมันก็ไม่ได้ เพราะมันไปสร้างปัญหาอันอื่นขึ้นมา เรามีบ้านเรือนเท่านี้ มีลูกเมียเท่านี้ มีอะไรเท่านี้มันพอแล้วพอดีแล้ว สำหรับจะอยู่เย็นเป็นสุข ทีนี้มันไปหามาเพิ่มด้วยกิเลสนะ กิเลสมันไปหามาเพิ่ม มันจึงล้มเหลวหมด ที่ควรจะหยุดกันได้ยุติกันที มันก็หยุดไม่ได้ เมื่อกิเลสมันมาครองเมือง ครองจิตใจ ครองนครแห่งจิตใจ ถ้าธรรมะหรือโพธิแท้จริงมันครองเมืองนี่ มันก็แก้ปัญหาของมันได้ ฉะนั้นฝึกฝนไอ้เรื่องของธรรมะหรือโพธิ คือความรู้ที่ถูกต้องเรียกว่าโพธิ ความรู้ที่ไม่ถูกต้องเรียกว่ากิเลส ในที่สุดก็รู้จักมันดี เข้าใจมันดีทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายกิเลสและฝ่ายโพธิ บางทีฝ่ายกิเลสมันก็มีเหตุผลมาก เหตุผลสวยงาม เหตุผลอะไร เอาจนคนหลงไปได้เหมือนกัน เราศึกษากันพอ มาเพียงพอแล้ว ก็ควรจะรู้ได้ รู้อย่างไรเป็นกิเลส รู้อย่างไรเป็นโพธิ ถือเป็นธรรมะ
ทีนี้ผมก็อยากจะพูดไอ้คำที่กลัวว่าจะมองเห็นเป็นเรื่องพูดเล่น มองเห็นเป็นเรื่องไม่สำคัญ ก็คือคำที่พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่า “เช่นนั้นเอง” ไอ้ “เช่นนั้นเอง” คนโง่เอาไปใช้ไม่ได้ เพราะว่าไอ้คนโง่ไม่มีทางจะเห็น “เช่นนั้นเอง” นะ จะอวดดีอย่างไร คุณจะเห็น “เช่นนั้นเอง”ไม่ได้ถ้ายังโง่อยู่ มันต้องฉลาดพอที่จะเอาไปใช้ได้ ฉะนั้นคนโง่เอา “เช่นนั้นเอง” ไปใช้ไม่ได้ ขืนเอาไปใช้มันก็ผิดหมดแหละ มันก็ยุ่งตาย มันก็สร้างเรื่องใหม่ให้ยุ่งยาก เพราะ “เช่นนั้นเอง” มันเป็นของลึกซึ้งสำหรับคนมีปัญญาเท่านั้นจะมองเห็น ฉะนั้นคนมันมีปัญญามันก็เอาไปใช้ได้ ใช้ถูกต้องตามเรื่องตามราว ใช้ “เช่นนั้นเอง” สำเร็จ มันก็มีประโยชน์นะ เต็มตามความหมายของคำ ๆ นี้ “ถึงเช่นนั้นเอง” “เห็นเช่นนั้นเอง” “รู้จักเช่นนั้นเอง” ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์ เพราะจิตมันจะไม่ลดลลงไปจับฉวยอะไร ๆ ให้มันเป็นทุกข์ ถ้าเมียมีชู้ “มันเช่นนั้นเอง” ลงหรือไม่ลง เดี๋ยวนี้ก็เห็น ๆ กันอยู่มันไม่ลง มันต้องฟัดกันสุดเหวี่ยง จนถึงว่าฆ่าเมียตายแล้วฆ่าตัวเองตาย ถ้ามันเห็น”เช่นนั้นเอง”มันก็ไม่มีปัญหาอะไร หาเมียใหม่อีกกี่คนก็ได้ไม่ต้องฆ่าเมียตาย ไม่ต้องฆ่าตัวเองตาย มันไม่เห็นว่า”เช่นนั้นเอง”
ทีนี้ผู้หญิงก็เหมือนกัน เมื่อผู้หญิงที่เขาจะมีแฟนหรืออะไร ที่เขากินยาตายเพียงแต่แฟนเปลี่ยนใจนี่ ก็มีอยู่บ่อย ๆ มีคนเขียนจดหมายมาถามปัญหากับผมอย่างนี้บ่อย ผมบอกว่าตอบไม่เป็นตอบไม่ได้ เพราะปัญหาของคุณไม่ใช่ปัญหาธรรมะ ผมยังระบุให้ไปถามอาจารย์สมศรี สุกุมลนันท์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐนั้นที่เขาตอบปัญหาอย่างนี้เป็นประจำ ผมเคยตอบอย่างนี้ไปหลายราย เพราะผมไม่ตอบปัญหาคุณได้ ผมไม่ตอบปัญหาคุณได้ ปัญหาอย่างนี้ไม่ใช่ปัญหาธรรมะ เป็นปัญหาส่วนตัวบุคคลและมอบชีวิตจิตใจให้แก่กิเลสเสียแล้ว เป็นเรื่องชาวบ้านไปแล้ว
ฉะนั้นคุณก็ควรจะสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมะสูงสุด ที่เห็น “เช่นนั้นเอง” ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ที่สุดว่าเป็นเช่นนี้เอง ๆ ๆ ไปจนเรื่องสูงสุดของกิเลสของความทุกข์ ของความที่อะไร ๆ มันจะไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ อย่าไปต้องการมันจะดีกว่า จะทำอะไรก็ทำเถอะ ควรทำอะไรก็ทำเถอะ อย่าไปสร้างความต้องการ สร้างความหวังขึ้นมา มันจะเป็นทุกข์ ถ้าเห็น “เช่นนั้นเอง” มันจะเห็นหมดว่าควรทำอย่างไร เมื่อมันเป็นเช่นนี้เอง ควรทำอย่างไร ถ้าทำถูกมันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ มันก็ไม่เกิดปัญหา
เราไม่มีความผิด มันถูกป้ายถูกอะไรให้มีความผิด มันก็ถือว่าเป็นเช่นนั้นเอง ก็ต่อสู้ป้องกันไปตามที่ถูกที่ควรแก่ความเป็น “เช่นนั้นเอง” ไม่ต้องเป็นทุกข์ อย่างที่เรียกว่าต้องตายก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะมันเป็นเช่นนั้นเองด้วยเหมือนกัน ถ้าสู้ไม่ไหวจนต้องตายก็”เช่นนั้นเอง” สู้ไม่ไหวจนต้องพ่ายแพ้ฉิบหายมันก็”เช่นนั้นเอง” อย่าเป็นทุกข์ ก็แก้ไขไป แก้ไขไปตามที่มันควรจะแก้ไข มันก็จะพอรอดได้ พออยู่ได้ พอปรับตัวได้ พอตั้งลำใหม่กันได้
แต่ถ้าไม่ “เช่นนั้นเอง” แล้วมันจะทำไปอย่างวินาศหมด วินาศกันทุกฝ่าย เพราะว่า “เช่นนั้นเอง” มันยอดสุด สูงสุดของพุทธศาสนา ของพระธรรม ไปถึง “เช่นนั้นเอง” คนนั้นเป็นตถาคต ตถา เช่นนั้นเอง คตะ แปลว่าถึง ตถาคะตะ ถึงเช่นนั้นเอง นั้นคือ พระตถาคต อยู่เหนือปัญหา เหนือความทุกข์ เหนืออะไรหมดสิ้นเลย เหนือความเกิดแก่เจ็บตาย เหนือสิ่งเลวร้ายที่มันผันผวนกันอยู่ในโลกนี้ ในสังคมนี้ มันก็เลยเหนือหมด
ถ้าจะเอาหัวใจพระพุทธศาสนาไป ก็เอาหลักธรรมะเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่นเพราะมัน “เช่นนั้นเอง” ไม่ยึดมั่นถือมั่นเพราะว่ามัน “เช่นนั้นเอง” มันยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฉะนั้นคุณก็มีหลัก ไอ้ความทุกข์มันมาจากความยึดมั่นถือมั่นนี่แหละ ไปยึดมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งมันก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราเห็นว่ามัน “เช่นนั้นเอง” เราก็ไม่ยึดมั่น
ไอ้เรื่องนี้เป็นเรื่องยากอยู่เรื่องหนึ่งนะ ไอ้เรื่องยึดมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นขันธ์ ๕ ผมคิดว่าพวกคุณยังไม่เข้าใจนะ แล้วกระผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจได้ก่อนที่จะลาสิกขาออกไปนี่ ไอ้พวกที่บวชอยู่เป็นสิบพรรษายี่สิบพรรษามันยังไม่เข้าใจเลย ยังยึดมั่นถือมั่นเบญจขันธ์ อุปาทานขันธ์ ว่าเป็นตัวทุกข์ เพราะว่ามันไม่ได้สอนกันเรื่องนี้ไม่ได้ชี้แจงกันเรื่องนี้ เรื่องตัวตนนั่นแหละ ผมก็ยังไม่ค่อยได้สอนแหละ เพราะว่ามันสอนยากอธิบายยาก ก็เลยไม่ค่อยได้อธิบาย เอาไปตามตัวหนังสือที่มีอยู่ในพระบาลีในพระคัมภีร์ เดี๋ยวนี้เขาก็สอนกันอย่าง ไม่รู้ คือว่าปรับกันไม่ได้ ในเรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ นี่เขาสอนกันถึงกับว่าเรามีขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมในคราวเดียวกันทั้ง ๕ ขันธ์นี่ เขาสอนกันว่าไอ้คน ๆ หนึ่งแบ่งออกได้เป็น ๕ กอง ๕ ขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ผู้พูดผู้ศึกษาก็นึกว่ามันมีอยู่ทั้ง ๕ ขันธ์ พร้อมกัน แล้วมันก็เลยเตลิดเปิดเปิงไปถึงว่า แม้นอนหลับอยู่มันก็ยังมีขันธ์ครบทั้ง ๕ ขันท์ อย่างนี้ตายเลย ไม่รู้จะอธิบายกันอย่างไร ผมจนปัญญาที่จะอธิบายให้เห็นว่าเวลานอนหลับอยู่ก็มีขันธ์ครบทั้ง ๕ ขันธ์
ผมจำได้ผมเคยอธิบายเรื่องนี้มาบ้างแล้ว ไอ้ขันธ์มันคืออย่างนั้น ๆ มันจะมีพร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์ไม่ได้ รูป คือส่วนที่เป็นร่างกายระบบประสาท ยังไม่ถึงจิตนี่เราเรียกว่ารูปขันธ์ แล้วก็มีต่อเมื่อมันทำหน้าที่ ภาษาชาวบ้าน ภาษาคนธรรมดา เขาถือว่าเรามีร่างกายอยู่ตลอดเวลา ถึงคุณก็ต้องคิดอย่างนั้น แต่ภาษาธรรมะ ในภาษาธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ เรายังไม่มีรูปกาย ไม่มีรูปขันธ์จนกว่ามันจะทำหน้าที่ เวลาใดมันไม่ทำหน้าที่ ถือว่ามันไม่มี ถือว่ามันดับไปแล้ว เพราะไอ้ร่างกายรูปขันธ์มันทำหน้าที่จึงถือว่ามันมี คือมันเกิดขึ้นมา ฉะนั้นเขาจึงพูดว่าขันธ์แต่ละขันธ์ แต่ละขันธ์ แต่ละขันธ์จึงมีการเกิดและการดับ เมื่อใดรูปขันธ์ดับก็คือเมื่อมันไม่ทำหน้าที่ เมื่อใดรูปขันธ์ถ้าเกิดทำหน้าที่ มันก็เรียกมันเกิดขึ้นมา มันพูดภาษาธรรมะแท้ ๆ บางเวลาเราไม่มีรูปขันธ์นะเพราะมันไม่ได้ทำหน้าที่ มันเหมือนกับหายว่างไป แต่บางเวลาเรามีรูปขันธ์ที่ทำหน้าที่ ร่างกายทั้งหมด ระบบประสาททั้งหมดมันทำหน้าที่ เมื่อนั้นเกิดรูปขันธ์ มีรูปขันธ์
ทีนี้เรามันโง่ในตอนนี้ เอารูปขันธ์เป็นตัวเรา ฉะนั้นรูปขันธ์ก็มีส่วนที่ถูกยึดถือเอาเป็นตัวเราล้วน ๆ รูปขันธ์ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับเวทนา สัญญา คือมันยังไม่ทันเป็นเวทนา สัญญาอะไร มันยังเป็นรูปขันธ์อยู่ล้วน ๆ ก็ถูกยึดเป็นตัวเราได้เหมือนกัน ก็เพราะเรารู้ว่าเราทำอะไรได้ เราเดินได้ นั่งได้ เราชกต่อยอะไรได้ เรารู้สึกอะไรได้ ฉะนั้นเวลานั้นเขามีรูปขันธ์เป็นตัวตนสำหรับบุคคลนั้น ทีนี้รูปขันธ์นี่ ตากับรูปนี่มันก็ถึงการเกิดวิญญาณเป็นผัสสะเป็นเวทนา นี่เป็นเรื่องจิตละ จิตที่รู้สึกเกิดเป็นเวทนา รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ อร่อย ไม่อร่อย จิตนั้นมันก็เอาตัวเวทนานั้นเป็นตัวตน มีเวทนาเกิด เวทนาเพิ่งเกิด ไอ้รูปขันธ์ดับไป ไอ้เวทนาขันธ์เกิด ยึดเวทนาขันธ์มาเป็นตัวตน ยึดเวทนาขันธ์มาเป็นตัวตน ฉะนั้นบางเวลาเราจึงมีเวทนาขันธ์เป็นตัวตน เมื่ออร่อยอยู่ อะไรอยู่ จิตยึดมั่นในเวทนานั้น จิตจึงเอาเวทนานั้นเป็นตัวตน ที่จะพ้องกับรูปขันธ์นี่ เพราะมันไปเล็งที่ไอ้รู้สึกเวทนา ซึ่งเป็นผลมาทางรูปขันธ์ หรือมาทางอะไรก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้มันกำลังเป็นเวทนา เวทนาก็เป็นจิต จิตก็เอาเวทนาเป็นตัวตน ความรู้สึกเวทนานั่นแหละถูกยึดเป็นตัวตน ก็เรียกว่ามีเวทนาเป็นตัวตน เวทนาทำหน้าที่เสร็จไปแล้วดับไปแล้วก็ปรุงสัญญา หมายมั่นในเวทนานั้นหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเวทนานั้น หมายมั่นเป็นความสุข ความทุกข์เป็นของฉัน เป็นเหตุอะไรก็แล้วแต่จะสัญญาลงไป สัญญามีความสำคัญมั่นหมายลงไป ตอนนี้คือตัวตนเลื่อนมาอยู่ที่สัญญา ไอ้ตัวตนมาเกิดขึ้นในสัญญา ในสัญญาขันธ์ ในรูปขันธ์ ในเวทนาขันธ์ ก็เลิกกันไป ดับไป ตัวตนมาอยู่ที่สัญญาขันธ์ มีสัญญาขันธ์เป็นตัวตน เมื่อเสร็จเรื่องมันก็เกิดสังขารขันธ์ คิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามอำนาจของสัญญา ไอ้ตัวตนนั้นก็เลื่อนมาอยู่ที่สังขารขันธ์ สังขารขันธ์เลยเป็นตัวตนขึ้นมา สำหรับวิญญาณขันธ์นั้น มันมีอยู่หลายระยะ เมื่อตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ เขาเข้าใจว่าวิญญาณนั้นเป็นผู้เห็น มีตัวตนที่วิญญาณนั้นก็ได้ วิญญาณนั้นก็ถูกเห็นเป็นตัวตน หรือว่ามันเกิดเป็นเวทนาขึ้นมาแล้ว จิตมโนสัมผัสเป็นมโนวิญญาณ รู้เวทนานั้นอีกทีหนึ่ง นี่ก็เป็นวิญญาณ วิญญาณของมโนวิญญาณก็เป็นวิญญาณ ทีนี้เมื่อต่อมาจิตมีความรู้สึกคิดนึกต่าง ๆ รู้สึกต่อสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาทางมโนวิญญาณ นี้มันหลายระยะเกินไป เลยเป็นวิญญาณ คิดจะเรียกวิญญาณ นี้มีหลายระยะเกินไป เพราะวิญญาณขันธ์มีได้หลาย ๆ ชนิด หลาย ๆ ขั้นตอน แทรกอยู่ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง จะเป็นเพราะเหตุนี้มั้ง เขาจึงเอามาใส่ไว้สุดท้ายว่าวิญญาณขันธ์
รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มีอยู่ ๕ ขันธ์ บางเวลาความโง่ของเราเอารูปขันธ์เป็นตัวตน บางเวลาความโง่ของเราเอาเวทนาขันธ์เป็นตัวตน บางเวลาความโง่ของเราเอาสัญญาขันธ์เป็นตัวตน อย่าให้ผมพูดแต่ปากเหนื่อยเปล่า คุณไปดูว่ามันเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ บางเวลาจิตของคุณเอาอะไรเป็นตัวตน เดี๋ยวนี้มันคงจะยาก เพราะว่าคุณไม่รู้แม้แต่ว่าอะไรเรียกว่ารูปขันธ์ อะไรเรียกว่าเวทนาขันธ์ อะไรเรียกว่าสัญญาขันธ์ก็ไม่รู้เสียแล้ว มันต้องรู้อันนี้แล้ว แล้วมันจึงจะมารู้อีกที อ้าวเวลาไหนเราเอารูปเป็นตัวตน เวลาไหนเราเอาเวทนาเป็นตัวตน จนกระทั่งว่าเอาวิญญาณขันธ์เป็นตัวตน
ฉะนั้นจะเอาขันธ์ไหนเป็นตัวตน ก็เป็นอุปาทานขันธ์ทั้งนั้น และจะมีความทุกข์ทันที ทุกทีที่มีตัวตน เอาอะไรเป็นตัวตนก็ได้ เอารูปเป็นตัวตนก็ได้ เอาเวทนาเป็นตัวตนก็ได้ เอาสัญญาเป็นตัวตนก็ได้ เอาสังขารเป็นตัวตนก็ได้ เอาวิญญาณเป็นตัวตนก็ได้ แล้วมันจะมีความทุกข์ทันที และทุกทีที่มีตัวตน บทนั้นสำคัญที่สุด ไอ้ที่สวดเช้า ๆ สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปแล้วปัญจุปาทานักขันธา เป็นทุกข์ เป็นตัวทุกข์ ๕ นั้นเอาเป็นตัวตนพร้อมกันไม่ได้หรอกเพราะมันเกิดคนละที แต่ว่ามันเป็นได้ทั้ง ๕ เอาเป็นตัวตนได้ทั้ง ๕ แล้วแต่เหตุการณ์ว่ามันทำให้เอาอะไรเป็นตัวตน
จิตมันโง่ เมื่อรูปทำหน้าที่ก็เอารูปเป็นตัวตน จิตมันโง่ เมื่อเวทนาปรากฏ มันก็เอาเวทนาเป็นตัวตน จิตมันโง่ เมื่อสัญญาปรากฏในความรู้สึก มันก็เอาสัญญาเป็นตัวตน จิตมันโง่ เอาสังขารความคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้มา เป็นตัวตน ก็ต้องเอาวิญญาณที่รู้แจ้งเดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดื๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางกาย เดี๋ยวทางใจ เอานี้ป็นตัวตน ตามปกติมักเอาจะวิญญาณเป็นตัวตนกันโดยมาก ในสูตรในบาลีก็มีว่า คนธรรมดาทั่วไปจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาได้ง่ายที่สุดว่าวิญญาณเป็นตัวตน เพราะวิญญาณมันทำหน้าที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส โผฏฐัพพะก็ตามแบบหน้าที่ของวิญญาณ และถ้าเขาเชื่อว่ามีอีกวิญญาณปฏิสนธิไปเกิดด้วยแล้วก็ยิ่งเอาวิญญานเป็นตัวตนใหญ่เลย ไอ้วิญญาณโน้นมันคนละแบบ วิญญาณปฏิสนธินั้น วิญญาณทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ ที่เขาสอนกันอยู่แต่ก่อน ๆ มันคนละแบบ แต่ผมอุตริว่ามันแบบเดียวกันแหละ เมื่อวิญญาณตั้งตนที่ตา ที่หู นั่นละคือเริ่มปฏิสนธิ ตัวตนจึงเริ่มปฏิสนธิกันที่ตรงนั้น ไม่มีจุติ มีปฏิสนธิได้โดยที่ร่างกายไม่ต้องเข้าโลงไม่ต้องอะไรเดี๋ยวนี้ที่นี่ พอเห็นรูปเกิดจักขุวิญญาณมีจุดตั้งต้น จุดตั้งต้นที่ตรงนี้ มันจะมีผัสสะเวทนา ตัณหา อุปาทาน นั่นมันเป็นจุดปฏิสนธิอันหนึ่ง วิญญาณนะ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้ไม่มีใครพูดละ พอผมพูดเขาก็หาว่าบ้า โง่ พูดเอาเอง หลอกคน นี่คือสิ่งที่ผมกำลังถูกด่าอยู่ ถ้าอธิบายอะไรมันผิดไปจากที่เชาเคยอธิบายไว้แล้วก็ถูกด่า ถูกหาว่าอย่างนี้แหละ
ไอ้เรามันก็มองเห็นอย่างนี้แล้วก็เพื่อประโยชน์แก่ สัณทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก จึงพูดอย่างนี้ แล้วผมก็ไม่ได้เคยยกเลิกไอ้ที่เขาพูด ๆ สอน ๆ กันอยู่ ก็ปล่อยไว้เถิด ไอ้สำหรับของเขาก็สงวนไว้เถิด แต่ว่าเราต้องการให้เห็นอย่างนี้ มันดีกว่า เร็วกว่า ง่ายกว่า สำเร็จประโยชน์กว่า จึงเรียกว่าเป็น สันทิฏฐิโก กว่า เป็น อกาลิโก กว่า เป็น เอหิปัสสิโก กว่า ก็มองอย่างนี้กันสิ
คุณจะพอใจหอบเอาความรู้หรือความจริงอันน่าเบื่อเรื่องขันธ์ ๕ กลับออกไปบ้านได้หรือไม่ ผมกลัวว่าผู้บวชทั้งหลายจะนึกว่าครึคระ ๆ รุ่มร่ามรุงรัง ทิ้งไว้ที่วัดไม่เอาไป ไม่เอาความรู้เรื่องเบญจขันธ์หรืออุปาทานขันธ์กลับไปบ้านเมื่อสึก ไม่เอาไป เพราะเป็นความรู้ที่รุ่มร่าม รุงรัง ครึคระ นี่จะลำบากละ จะไม่รู้อะไรเป็นตัวตนที่ไหน เมื่อไร จะไม่รู้ว่าขันธ์ไหนเกิดเป็นตัวตนที่ไหนเมื่อไรขึ้นมา เมื่อสึกไปอยู่ที่บ้านแล้ว ที่นี้มันก็สกัดไม่อยู่ละ สะกัดกิเลสไม่อยู่ สะกัดความเกิดแห่งกิเลสไม่อยู่
ไอ้เรื่องขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรื่องงุ่มง่าม ครึคระ พูดให้เสียเวลา มันเป็นเรื่องจริงที่สุด เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดของพระพุทธศาสนา ขอร้องให้ทุกคนศึกษาอย่างยิ่ง ศึกษาจากของจริงไม่ใช่จากหนังสือ ศึกษาจากของจริงให้รู้จักตัวรูป ตัวเวทนา ตัวสัญญา ตัวสังขาร ตัววิญญาณ ที่มันเกิดอยู่ตลอดวันตลอดคืนนี่นะ เมื่อร่างกายทำหน้าที่เช่นตาเห็นรูปเป็นต้น มันก็เป็นรูปขันธ์ทำหน้าที่ เมื่อร่างกายที่เป็นรูปขันธ์ภายในไปถึงกันเข้ากับไอ้รูปขันธ์ภายนอก ถึงกันเข้าอย่างนี้เรียกว่าไอ้รูปมันทำหน้าที่ มันเกิดรูปขันธ์ มันทำหน้าที่แล้วมันเกิดวิญญาณขันธ์ กับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณอะไรขึ้นมา ก็เรียกว่าวิญญาณขันธ์ สามอย่างนี้มันถึงกันมันเรียกว่าผัสสะ ซึ่งจะต้องเกิดเวทนาเป็นแน่นอน ผัสสะนี่จะรวมไว้ในเวทนาขันธ์ก็ได้เพราะมันใกล้ชิดดี มันมีเวทนาขันธ์ต้องมีผัสสะ ถ้าไม่มีผัสสะก็ไม่มีเวทนาขันธ์ เมื่อเราไม่มีความรู้สึกเป็นเวทนา มันก็ไม่มีเวทนาขันธ์ พอเรารู้สึกในเวทนามันก็มีเวทนาขันธ์เกิดขึ้นมา ฉะนั้นจิตมันจะถือเอาความรู้สึกเวทนานั้นเป็นตัวตน เอารสแห่งเวทนานั้นเป็นของตน ตัวตนมันก็เลื่อนมาอยู่ที่เวทนา
นี่ก็มองเห็นให้ชัดลงไปว่าขันธ์ทั้ง ๕ เกิดพร้อมกันไม่ได้ มันคนละที ฉะนั้นตัวตนนี่มันจะเกิดพร้อมกันในขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ได้ เพราะว่าขันธ์ทั้ง ๕ มันไม่ได้มีอยู่พร้อมกันได้ ฉะนั้นตัวตนมันก็ผลัดกันเกิดในตัวขันธ์แต่ละขันธ์ ๆ ไป ทีละขันธ์ ละขันธ์ เมื่อใดมันเกิดในขันธ์ไหนก็ให้รู้ไว้ แต่จะต้องให้มองเห็นชัดว่า มันเป็นทุกข์ทุกทีและทันทีที่มันเกิดตัวตน เกิดอุปาทานว่าตัวตน เรื่องนี้จะต้องรู้และต้องควบคุมกันให้ได้และควบคุมกันไปจนตายแหละ ถ้ายังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสเสียก่อน ก็ต้องรู้เรื่องนี้ ต้องควบคุมเรื่องนี้กันไว้เรื่อย ๆ จนตาย จึงจะสำเร็จประโยชน์ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเห็นว่าหยุมหยิมนัก จู้จี้นักก็เลยไม่อยากจะรู้ ก็เลยปล่อยลืมเลือนไปไม่ต้องสนใจมันก็ได้เหมือนกัน มันก็อยู่กันอย่างเดิมแหละ ไม่รู้เท่าทันจิตใจ ไม่รู้เท่าทันกิเลส ไม่รู้เท่าทันความทุกข์
ถ้าเราจะไม่ให้เรื่องมากนัก ไม่แยกออกเป็น ๕ ขันธ์ ก็เอาแต่เพียงว่าตัวตน ความรู้สึกว่าตัวตนอย่าให้มันเกิด ก็จะไม่เป็นทุกข์ นี่คนอยากรู้มันก็จะถามต่อว่า เกิดที่ไหนเล่า แล้วมันก็ไปต้องพูดเรื่องขันธ์ ๕ กันอีก ไอ้คนนั้นมันไปถามว่าตัวตนเกิดที่ไหนเล่า ก็ต้องพูดเรื่องขันธ์ ๕ ขี้นมาอีก ก็เสียเวลาจุกจิกหยุมหยิมขึ้นมาอีก แต่ถ้าใครสามารถที่จะตัดตอนว่าตัวตน ความคิดว่าตัวตน ความรู้สึกมั่นหมายว่าตัวตนนี่ไม่เกิด ทำให้ไม่เกิดได้ ก็พอเหมือนกัน คือ เรียกว่ารวบยอด เหมารวบยอดกันหมด ไม่เกิดความรู้สึกชนิดนี้ ฉะนั้นก็ไม่ต้องเป็นทุกข์
นี่คุณก็ลองไปคำนวณดูสิว่าเราออกไปแล้วเราจะต้องเผชิญกับอะไร อะไรจะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนของตน ก็จะได้โกรธเขา ถึงกับด่าเขา ตีเขา ภายในครอบครัวก็ตาม หรือว่าตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องรักเรื่องหลงใหล เรื่องยึดถือ เรื่องกำหนัด อ้าวมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง รวมเรียกว่าเรื่องยินดียินร้าย ยินดียินร้ายมันก็เหมือนกันว่าจุดก่อหวอด จุดตั้งต้น เกิดกิเลส เกิดความทุกข์ เป็นเรื่อง ๆ ๆ ไป เป็นสาย เป็นวง เป็นวัฏสงสารเป็นอะไรไป นี่คือร้อนเรียกว่าไฟกิเลส ร้อนชุดนี้เรียกว่าไฟกิเลส ถ้าไม่เกิดขึ้นก็ไม่ร้อนเรียก ก็ว่ายังเย็นเป็นนิพพาน
ผมพูดว่าถ้าไม่มีกิเลสอุปาทานเกิดขึ้นมา จิตอยู่กับนิพพาน ก็มีคนเอาไปด่า เอาไปว่ากันตามแบบ ที่เขาไม่ยอมพูดอย่างนั้น ไม่ยอมถืออย่างนั้น เขาถือว่ามีวัฏสงสาร มีความทุกข์ตลอดเวลา แปลว่าถ้าไม่เกิดกิเลสขึ้นมา มันเป็นนิพพาน คือไม่เป็นวัฏสงสาร ระวังอย่าให้กิเลสเกิดก็จะได้อยู่กับนิพพาน แม้ชั่วขณะ ๆ ขณะใดไม่มีอุปาทาน ขณะนั้นเป็นปรินิพพานในทิฏฐธรรม นี่หลักมันมีอยู่อย่างนี้ พอมีอุปาทาน มันก็ไม่เป็นนิพพาน ไม่เป็นปรินิพพานในทิฏฐธรรม คือไม่ดับเย็นในทิฏฐธรรม พอไม่เกิดมีอุปาทานมันก็ดับเย็นในทิฏฐธรรม รู้สึกได้ด้วยตนเองที่นี่และเดี๋ยวนี้ เราเรียกว่านิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครพยายามที่จะเข้าใจ เพราะเขาตัดบท มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ เขาสอนกันมาอย่างนั้น ต้องรออีกหมื่นชาติ แสนชาติ อสงไขยชาติ ข้างหน้าในอนาคตกาลโน้นเทอญ มันจึงจะถึงนิพพานได้ พระนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้เขาไม่ยอมฟัง
ก็ตามหลักธรรมะนั้นเมื่อใดไม่มีตัณหาอุปาทานเมื่อนั้น เป็นนิพพานในทิฏฐธรรม เราควรจะสังเกตุดูจิตใจของเราเมื่อมันสบาย เยือกเย็นเป็นปกติ ไม่มีกิเลสรบกวนนี่มันอยู่กับนิพพาน ทิฏฐธรรมนี่ชนิดหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่ง อันดับหนึ่ง ระยะหนึ่ง คือจิตว่างจากกิเลสเมื่อไรก็เป็น จิตเป็นนิพพาน อยู่กับนิพพาน มีนิพพานเมื่อนั้น เพราะเมื่อมันเย็น ขอให้เข้าใจเรื่องนี้ดี ที่จะไปทำให้มันเย็นได้ เย็นได้มากที่สุดที่จะมากได้ แม้ว่าสึกออกไปเป็นฆราวาสก็ทำได้ อยู่เป็นพระทำไม่ได้ ไปเป็นฆราวาสมันก็ทำไม่ได้ ถ้าเป็นพระทำได้ไปเป็นฆราวาสมันก็ยังทำได้ ควบคุมการเกิดแห่งตัณหาอุปาทานไว้ได้ ก็อยู่กับนิพพานได้ น้อย ๆ ๆ ๆ ๆ เป็นระยะ ๆ ๆ ทีนี้พอเราทำให้มันมากเข้า มันก็ถี่ยิบติดกันไป ถ้าทำได้อย่างนี้อยู่ จิตมันเปลี่ยนสภาพ เป็นว่ากิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป ขอให้มีสติสัมปชัญญะควบคุมอย่างนี้ไว้ให้ได้ แล้วจิตมันจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นสภาพที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป นั่นละคือความเป็นพระอรหันต์ มีสติควบคุมอย่าให้กิเลสเกิดได้ตลอดกาล นั่นแหละจิตเปลี่ยนสภาพเป็นจิตที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป ตามหลักแห่งจิตประภัสสร กิเลสเกิดขึ้นก็สูญเสียความเป็นประภัสสร ธรรมดาจิตไม่มีกิเลสคือเป็นประภัสสร พอกิเลสเกิดขึ้นก็เป็นจิตเศร้าหมอง
ทีนี้จิตประภัสสรนั้นมันได้รับการอบรมใหม่อย่างที่ว่านี่ ได้รับการอบรมใหม่คือไม่ให้กิเลสเกิดได้ ไม่ให้กิเลสเกิดได้ ไม่ให้กิเลสเกิดได้ จนตายตัว ทีนี้กิเลสเกิดไม่ได้ความเป็นประภัสสรมันก็ตายตัว ความเป็นประภัสสรตายตัวนี่คือหมดกิเลส เรียกว่ามันเป็นนิพพานแท้จริงถาวรตลอดกาล การบรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะจิตเกิดกิเลสไม่ได้อีกต่อไป เป็นจิตประภัสสร นี่มันเห็นอยู่ง่าย ๆ ว่ามันมีได้อย่างนี้ ฉะนั้นทุกคนพยายามรักษาสภาพจิตว่างเกลี้ยงไม่มีกิเลสนี้ให้ได้เรื่อย ๆ ไปเถอะ มันจะเปลี่ยนสภาพเป็นเคยชินที่จะไม่เกิดกิเลสและก็เป็นประภัสสร ผมเรียกว่าสร้างบารมี ไม่ให้เกิดกิเลสได้ทีหนึ่งก็เป็นบารมีชาติหนึ่ง ไม่ให้เกิดกิเลสได้ทีหนึ่งก็เป็นบารมีชาติหนึ่ง ฉะนั้นกว่าเราจะตายนี่เราสร้างบารมีได้หมื่นชาติแสนชาติเหมือนกัน ก่อนจะตายเราสร้างบารมีสำเร็จหมื่นชาติแสนชาติแล้วบรรลุนิพพานได้เลย แต่พวกโน้นเขาต้องรอเข้าโลงแล้วเข้าโลงอีก เข้าโลงแล้วเข้าโลงอีกหลายหมื่นหลายแสนครั้งจึงจะเป็นการสร้างบารมีและเป็นนิพพาน ฉะนั้นบารมีของเราและบารมีของเขาแตกต่างกันลิบ เราพยายามไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่งก็เป็นบารมีชาติหนึ่ง เพราะตัวกูมันไม่อาจจะเกิดครั้งหนึ่ง เรียกว่ามันสร้างบารมีไว้ชาติหนึ่ง ชาติหนึ่ง ฉะนั้นวันหนึ่ง ๆ สร้างได้หลายสิบครั้ง ปีเดือนหนึ่งก็ได้หลายร้อยหลายพันครั้งชาติหนึ่ง ก่อนแก่เข้าโลงก็สร้างได้หลายหมื่นหลายแสนครั้ง บารมีของเราสร้างกันอย่างนี้ ที่นี่
นี่มันพูดกันไม่รู้เรื่องกับพวกที่ว่าเข้าโลงแล้วเข้าโลงอีก ชาติหนึ่งสร้างบารมี อีกชาติหนึ่งก็ต้องเข้าโลงเข้าโลงกันออกโลงกันตั้งหมื่นครั้งแสนครั้งแล้วจึงจะสร้างบารมีสำเร็จและบรรลุนิพพานมันนานนัก เราไม่รับความคิดเห็นอันนั้น เขาก็ถือกันอย่างนั้นโดยมาก และว่าเราพูดผิดออกไป เขาก็ด่าเราว่าพูดเอาเองบ้าง หลอกคนบ้างอะไรบ้างอย่างนั้น คุณก็ไปคิดดูสิ ว่าอย่างนี้เป็นสิ่งที่มองเห็นได้หรือไม่ มันจะเป็นไปได้หรือไม่ ทุกคราวที่กิเลสควรจะเกิดขึ้นในใจเราเอาไว้อยู่ ไม่ให้เกิด นี่คือบารมี ถ้าเราปล่อยให้มันเกิด มันก็มีความเคยชินที่จะเกิดอย่างนี้ มันเป็นอนุสัย เป็นอาสวะ เป็นอนุสัย แต่ถ้าเราควบคุมไว้ได้มันเกิดไม่ได้อย่างนี้เป็นบารมี นี้บารมีมากเข้า มากเข้า มันต่อเนื่องถึงกันไม่มีโอกาสที่จะเกิดกิเลสแล้ว จิตเปลี่ยนสภาพเป็นจิตที่กิเลสไม่อาจจะเกิดได้อีกต่อไป จิตนี่ก็เป็นจิตพระอรหันต์ เป็นประภัสสรตลอดกาล เป็นนิพพานจริง นิพพานเด็ดขาด นิพพานถาวร ไม่ใช่นิพพานชั่วขณะ ๆ เหมือนนิพพานของจิตประภัสสร เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นประภัสสร เดี๋ยวไม่ประภัสสร ฉะนั้นความเป็นประภัสสรชั่วขณะนั้นมันคือว่ามันเปลี่ยนเป็นตรงกันข้ามนะ คือจะประภัสสรตลอดกาล
ถ้าว่าเราอบรมจิตนี้เสียใหม่ อบรมด้วยการไม่ให้มันเกิดกิเลสตลอดไป ความเป็นประภัสสรมันก็เปลี่ยนเป็นจิตที่ไม่อาจจะเกิดกิเลสได้ต่อไป ไอ้คนโง่ ๆ มันถามว่า ถ้าจิตมันเป็นประภัสสรแล้วทำไมมันเกิดกิเลสได้ละ แต่ถ้าจิตมันยังไม่ได้รับการอบรมที่จะไม่ให้เกิดกิเลส ถ้าว่าอย่างนั้นจิตมันก็เกิดกิเลสอีกมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เราบอกว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น การประพฤติพรหมจรรย์นี่เพื่อไม่ให้กิเลสเกิดได้ จนกระทั่งกิเลสเกิดไม่ได้ จิตก็เป็นประภัสสรในรูปแบบถาวรเป็นนิพพาน เป็นการบรรลุพระอรหันต์ ฉะนั้นอย่าทำเล่นกับการที่ว่าควบคุมไว้ไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวนี่ อย่าทำเล่นนะ มีค่ามาก มีน้ำหนักมาก มีความหมายมาก ควบคุมจิตไว้ไม่ให้กิเลสที่ควรจะเกิดมันเกิดละก็ นี้มีค่ามาก และถ้าทำบ่อย ๆ ๆ ๆ จิตจะเปลี่ยนเป็นว่ากิเลสเกิดไม่ได้ มันก็เป็นนิพพาน เพราะว่ากิเลสเกิดไม่ได้ตลอดกาลเป็นนิพพานจริง นิพพานที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป
ตลอดเวลาที่เรายังบังคับไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ประภัสสร เดี๋ยวมันก็ไม่ประภัสสร คือจิตมันยังเป็นโอกาสให้กิเลสเกิดได้ และกิเลสก็เกิดบ่อย ๆ มันก็เป็นนิพพานชั่วคราว พอจิตนี้อบรมกันโดยวิธีอย่างที่ว่านั้นแล้ว มันเปลี่ยนสภาพเป็นต่อไปนี้กิเลสเกิดในจิตนี้ไม่ได้อีก นี้คือความเป็นประภัสสรตลอดกาล จะเรียกว่าเป็นพระอรหันต์ก็ได้ บรรลุนิพพานก็ได้ แล้วแต่จะเรียก
นี้มันเป็นเรื่องที่เขาเรียกกันว่าลึก เรียกว่าปรมัต แปลว่าอรรถอันยิ่ง อรรถอันลึก แต่ไม่ใคร่มีใครสนใจ เพราะเห็นว่ามันลำบากนัก ยุ่งยากนัก ลึกบ้าง อะไรบ้าง ไม่ค่อยสนใจ มันก็เลยไม่ต้องรู้กัน บวชยี่สิบพรรษาก็ไม่ต้องรู้กัน เพราะมันลำบากนัก ยุ่งยากนัก ขี้เกียจ ไม่สนใจที่จะรู้มัน นี้ถ้าคุณบวชเพียงสามเดือนคุณก็ไปคิดดูเองว่าจะเอาอย่างไง จะต้องการประโยชน์กันสักเท่าไร จะต้องการประโยชน์ยิ่ง ประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ถ้าต้องการเพียงว่าเล็ก ๆ น้อย ๆ เล่น ๆ ไปก่อน มันก็ได้แหละ มันก็ไม่ต้องสนใจก็ได้ มันก็คงจะรู้อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เล่น ๆ ไปก่อนบ้างเท่านั้นเอง
นี่สรุปความว่าเราจะต้องเรียนจากจิตโดยตรง ไม่ใช่เรียนจากคนพูดให้ฟังหรืออ่านหนังสือไปเสียตะพึด ไอ้นั้นมันจะไม่ทำให้กิเลสหมดได้ มันจะไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงในภายในได้ ต้องไปเรียนจากจิตใจ รู้จักจิตใจ และควบคุมจิตใจ ควบคุมความเป็นไปของจิต อย่าให้เกิดยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน ในขณะที่มันเป็นรูปขันธ์ก็ดี ในขณะที่มันเป็นเวทนาขันธ์ก็ดี ในขณะที่มันเป็นสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็ดี นี่คือเรียนจริง ปฏิบัติจริง เรียกว่าเล่นงานลงไปบนกิเลสจริง ๆ เล่นงานลงไปในกิเลสหรือความเคยชินของกิเลส จนถูกต้อง จนรู้เท่าทันหมด จนไม่มีโอกาสที่กิเลสจะเกิดขึ้นในจิตนี้อีกต่อไป นี่คือเป็นพระอรหันต์ละ
ทีนี้คุณอาจจะคิดว่าไปอยู่ในบ้านเป็นฆราวาส มันจะมากไปแล้ว เป็นอรหันต์มากไปแล้ว เกินไปแล้วก็ได้เหมือนกัน ก็ไปลดเอา ลดเอาเท่าที่มันพอดีเอง ลดลงไปเท่าไรจึงจะพอดีกับเรา อย่าให้มันทุกข์ร้อนเป็นนรก อย่าให้มันเหมือนกับที่เขาเป็น ๆ กัน เราต้องการให้มันดีกว่านั้น ให้มีความเย็นอกเย็นใจ สงบเยืยกเย็นมากเท่าที่จะมากได้ มันก็ได้รับอานิสงส์คุ้มค่า หรือว่า เกินค่าในการที่ได้บวชนี่ครั้งหนึ่ง แม้เพียงสามเดือน พูดเพียงเท่าที่พูดนี่จะครึ่งชั่วโมงก็หมดแล้วหมดเรื่อง หมดเรื่องที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา มันก็เหลืออยู่แต่ว่าจะปฏิบัติได้หรือไม่ ถ้าปฏิบัติได้ มันก็ได้ผลทั้งหมดในพุทธศาสนา ของพุทธศาสนา รู้จักขันธ์ทั้ง ๕ ดี จนควบคุมได้ไม่ให้เป็นที่เกิดแห่งตัณหา อุปาทาน คือไม่เกิดกิเลสตัวตน ไม่เกิดความยึดถือว่าตัวตนในขันธ์ ๕ ถ้าเราไม่เอาถึงขนาดเด็ดขาดสูงสุด เราก็เอาเท่าที่เราควรจะเอา มันจะมีชีวิตที่พอจะดูได้ ไม่ร้อนเกินไป
เดี๋ยวนี้มันเห็นว่าไม่จำเป็นไอ้เรื่องนี้ ไอ้ร้อนเกินไปเราก็ทนได้ ร้อนเป็นไฟมันก็สนุกดี ฉะนั้นเขาจึงไปอยู่กับอบายมุข อยู่กับเรื่องของกิเลสตัณหา อยู่กับเรื่องกามารมณ์ แทนที่จะลดไอ้ความหลงใหลในกามารมณ์ กลับไปส่งเสริมให้หลงใหลในกามารมณ์มากขึ้น หาอะไร ๆ มาส่งเสริมกามารมณ์ให้มันมากขึ้น เหมือนที่เขากระทำกันอยู่ คิดว่าจะหาเงิน ทำงานให้มีเงินเดือนเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสน แล้วก็หาปัจจัยแห่งกามารมณ์ให้มันสุดเหวี่ยง
นี่ผมมีพูดสรุปความนี้ว่าบวชชั่วคราวเพื่อกลับออกไปเป็นฆราวาส เธอควรจะได้อะไรไป ควรจะได้อะไรติดตัวไป อย่างน้อยก็ให้ได้รู้เรื่องกิเลส เรื่องความทุกข์ เรื่องเบญจขันธ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งกิเลสและความทุกข์ และก็จัดการให้มันถูกต้อง อย่าให้มันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสและความทุกข์ พูดภาษาสำนวนสมัยใหม่หน่อยก็ว่า อย่าให้ชีวิตนี้มันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสและความทุกข์ ให้ชีวิตนี้มันเป็นที่ตั้งของความดับทุกข์ของมรรคผลนิพพาน ก็จะไม่เสียทีที่ได้มาบวชเพื่อให้ถึงตัวของพระพุทธศาสนา ถ้าได้ลูบคลำพระศาสนามากพอ สำหรับที่จะเอาเป็นประโยชน์ได้แท้จริง คุณไปมองกันให้ดี ๆ ให้เห็นว่านี้แหละที่จะต้องเอากลับติดตัวไป เพื่อคุ้มค่าที่ได้มาบวช มาลงทุนบวช ได้ความรู้จากพระพุทธเจ้า ของพระพุทธเจ้า ไปเพียงพอที่จะทำให้ชีวิตนี้มันเยือกเย็น นี่ก็เป็นชีวิตจริงที่มันต้องสดชื่น จึงจะเรียกว่าชีวิต ถ้ามันเหี่ยวแห้งและเร่าร้อน นี่ไม่ควรจะเรียกว่าชีวิต ชีวิตจะต้องเป็นความเป็นอยู่ที่สดชื่น
เอาละ ๆ วันนี้ก็พอกันทีสำหรับการพูดเพื่อให้คุณได้เค้าเงื่อนทั้งหมด สำหรับจะเอาติดออกไปเป็นคู่ชีวิตจิตใจ ขอให้ใช้ธรรมะเป็นคู่ชีวิต อย่าถือว่าเพศตรงกันข้ามเป็นคู่ชีวิต หมา แมว มันจะหัวเราะเยาะเอา ไอ้คู่ชีวิตแท้จริงคือธรรมะไง ไม่ใช่เพศตรงกันข้าม แต่เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็คิดกันว่าเพศตรงกันข้ามคือคู่ชีวิต เราควรจะมองให้ดีกว่านั้น ไอ้สิ่งที่เป็นคู่ชีวิตพยุงชีวิตไม่ให้เป็นทุกข์นั้นคือพระธรรม ก็ไปบอกแฟนเราก็ได้ว่าเดี๋ยวนี้เราเอาพระธรรมเป็นคู่ชีวิต ชีวิตแกก็ดี ฉันก็ดี เอาพระธรรมเป็นคู่ชีวิตกันดีกว่าจะเอาเราแต่ละคนเป็นคู่ชีวิตกัน มันจะเป็นชีวิตบ้า มันเป็นไปไม่ได้หรอก ที่เป็นคู่ชีวิตได้จริงคือพระธรรม เอาละ, พอกันที ใครมีปัญหาอะไรก็ถาม.