แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่บวชอย่างราชภัฏต้องลาสิกขาทั้งหลาย การบรรยายที่เราเรียกว่ามหาวิทยาลัยต่อหางสุนัข ๑๐ ชั่วโมง เป็นตอนที่ ๘ ในครั้งนี้ ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ความสะอาด ความสว่าง และความสงบ สามคำนี้ที่เป็นคำพิเศษ ผมเคยพูดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้มีคนเอาไปพูดตามกันมากพอดู เพราะว่ามันสะดวกดี มันเข้าใจได้ง่าย แต่เชื่อว่ายังเข้าใจกันได้ไม่ถึงที่สุด เพราะมันมีความหมายมาก มีความสำคัญเกี่ยวพันกันมาก จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจให้ถึงที่สุด ถ้าเรารู้จักไอ้ ๓ คำนี้ มันจะรู้อะไรที่เนื่องจาก ๓ คำนี้อีกมากทีเดียว
สิ่งทั้งสามนี้จะสามารถช่วยให้เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงอยู่ในหัวใจของเรา ถ้าเรามีรู้จักไอ้สิ่งทั้งสามนี้ ไม่ทำให้มีขึ้นมา ก็ไม่มีโอกาสที่จะทำให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาอยู่ในหัวใจของเรา และอีกประการหนึ่งไอ้สิ่งทั้งสามนี้เป็นสัญลักษณ์ของจิตว่าง หรือเป็นคุณสมบัติของจิตว่าง จึงเห็นว่าควรนำมาพูดเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่าจิตว่าง ประเด็นใหญ่ๆก็มีอยู่สอง คือว่า เรื่องนี้จะช่วยให้เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจเราได้จริง แล้วจะเข้าใจไอ้คำว่าจิตว่างนั้นได้จริง
ผมก็จะพูดไปตามลำดับทีละตอน ในตอนแรกนี่ก็จะพูดว่า ที่ว่าสะอาด สว่าง สงบ นั้นมัน สะอาด สว่าง สงบ ของอะไร ก็ตอบว่าของจิตนั่นเอง สะอาด สว่าง สงบในที่นี้ ไม่ใช่ที่อื่น ไม่ใช่พื้นที่ ไม่ใช่บ้านเมือง ไม่ใช่ แต่ว่าเป็นภาวะของจิตที่ได้รับการอบรมถึงที่สุดแล้ว สะอาด มีความหมายอย่างไร ตอบ เพราะไม่สกปรกด้วยกิเลส สว่างหมายความว่าอย่างไร เพราะไม่มืดด้วยโมหะหรืออวิชชา ที่ว่าสงบเพราะอะไร เพราะไม่มีการปรุงแต่งที่เรียกว่าสังขาร สังขาร ก็ไม่มีการปรุงแต่ง ก็ดูกันไปตามลำดับว่าสะอาดเพราะไม่สกปรกด้วยกิเลส คำว่ากิเลสแปลว่าสกปรก ของสกปรกทั้งหลายน่ะก็เรียกว่ากิเลส เดี๋ยวนี้เอามาเป็นชื่อของกิเลสในใจ
ทีนี้สว่างนี่ ตรงกันข้ามกับมืด ที่มืดด้วยโมหะ มืดด้วยอวิชชา ซึ่งทำให้จิตมืด ทีนี้สงบเพราะไม่มีอะไรมากระตุ้นหรือปรุงแต่ง นี่คำว่าสังขาร สังขารนี่คือการปรุงแต่ง คือทำให้อะไรเกิดขึ้นใหม่อยู่เรื่อยนันล่ะ เรียกว่าสังขารล่ะ นั่นก็คือเหตุนั่นเอง เหตุที่ปรุงแต่งให้เกิดผล อาการที่ปรุงแต่งนั้นก็เรียกว่าสังขาร คำว่าสังขารแปลว่าปรุงแต่งนะ นี่ช่วยจำให้ดีๆก่อนนะ เดี๋ยวก็จะพูดให้มันชัดลงไป เดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่าสังขาร สังขารในความหมายอื่น แต่ตัวหนังสือมันคือปรุงแต่ง
เอ้า... ทีนี้จะดูในเรื่องสะอาดข้อแรก กิเลสเป็นเหตุให้สกปรก มันไม่สะอาด ทีนี้กิเลสนั่นคืออะไรล่ะ กิเลสนี่เรียกด้วยชื่อว่าโลภะ โทสะ โมหะ นี้ตัวบทหรือแม่บทของมัน และจากโลภะ โทสะ โมหะ นี่ออกมาเป็นชื่ออย่างอื่นอีกมากมาย แต่มันรวมได้ใน ๓ ชุดนี้ ฉะนั้นเราศึกษา ๓ ชุดนี้ ก็จะเข้าใจได้หมด โลภะ โทสะ โมหะ ๓ ชื่อนี้ คือกิเลส สกปรก เหมือนกับของสกปรกนี้ทำให้เสื้อผ้าเนื้อตัวสกปรก เดี๋ยวนี้ของสกปรกนี้ก็ทำให้จิตใจสกปรก
โลภะคืออะไร โทสะคืออะไร โมหะคืออะไร ผมก็เคยพูดมาแล้ว แต่กลัวว่าจะยังจำไม่ได้หรือไม่ชัดเจน ช่วยจำกันไว้ให้ดีๆเถิด มันเป็นหลักที่จะช่วยให้เราเข้าใจธรรมะง่ายที่สุด หรือเข้าใจเรื่องกิเลสง่ายที่สุด โลภะหรือราคะนี่มันพวกหนึ่ง มันเป็นพวกที่จะเอา ไอ้โลภน่ะมันคือพวกที่จะเอา มันอยากจะได้ ทีนี้ราคะมันมาจาก รชะ แปลว่าติดอยู่ กอดรัดอยู่ กำหนัดอยู่ ย้อมอยู่ เหมือนกับสีย้อมผ้า ราคะน่ะ ทั้งราคะและทั้งโลภะนี้มันเป็นพวกแรก คือพวกที่จะเอา และจะติดกันอยู่
ทีนี้ไอ้พวกที่สองมันโทสะหรือโกธะ โทสะมันก็โกรธ โกธะมันก็โกรธ ตัวมันตรงกันอยู่แล้ว โทสะมันก็ประทุษร้ายคือมันจะทำลาย มันไม่อยากเอา มันไม่อยากติดกันอยู่ มันอยากจะแยกออกไป แล้วก็ทำลายเสีย อาการของมันอย่างนี้
ทีนี้โมหะก็แปลว่าหลง นี่หลงน่ะคือว่ามันไม่รู้ว่าจะเอาหรือไม่เอา มันก็มีความสงสัยสนใจ ผูกพันอยู่ แต่ไม่แน่ว่าจะเอาหรือว่าจะทำลาย มันต่างกันอย่างนี้ ไอ้ตัวแรกมันจะเอามันก็ยึดไว้กอดรัดไว้ ไอ้ตัวที่สองมันจะผลักออกไป มันจะทำลายเสียให้หมด ไอ้ตัวที่สามนี้ไม่แน่ ได้แต่วนเวียนๆอยู่ สนใจอยู่นั่นแหละ สงสัยอยู่นั่นแหละ โง่มันโง่อยู่นั่นแหละ ถ้ามันมีกิเลสชื่ออื่นเข้ามา เราก็แยกดูความหมายของมัน จะชื่อจะอย่างไรก็สุดแท้แต่ ดูความหมาย ถ้าความหมายเป็นพวกจะเอาจะยึดล่ะก็เป็นพวกแรก ความหมายจะตีออกไป ตีเสียให้ตายนี้ก็เป็นพวกที่สอง ถ้าวนเวียนพัวพันอยู่ด้วยความโง่ ความหลง ความสงสัย มันก็เป็นพวกที่สาม
ฉะนั้น การที่เขาจะให้เราสงเคราะห์กิเลสชื่อนั้นชื่อนี้ลงไปในกิเลส ๓ พวกนี้ เราเอาหลักนี้เป็นหลักน่ะไม่มีทางผิด ถ้าผิดก็คือครูสอนผิดเอง เพราะว่าธรรมชาติของกิเลสมันมีอยู่อย่างนี้ เมื่อความโลภเกิดขึ้นในใจก็ศึกษาให้รู้จักความโลภ เดี๋ยวนี้ไม่ศึกษาเห็นโลภก็สนุกไปเลย ไม่ได้ศึกษาไอ้ตัวความโลภให้รู้จักว่ามันเป็นอย่างไร โกรธขึ้นมาก็ไม่สนใจศึกษาว่าความโกรธคืออะไร มันก็สนุกไปเลย ความโกรธมันก็สนุกไปแบบหนึ่งเหมือนกัน จะโมหะมันมืดหรือโง่นี้ยากที่จะศึกษามัน แต่อย่างน้อยวางหลักไว้ว่า พอโง่เมื่อไหร่แล้วก็ศึกษามันสักที ก็สนใจความโง่ของตัวเองให้รู้จักไว้ทุกคราวที่โง่ สักวันหนึ่งมันก็จะรู้จักไอ้โมหะ
เอ้า... ทีนี้มันมีความโลภขึ้นมาทีหนึ่งก็ตาม ความโกรธหรือความหลงก็ตาม มันเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ทีนี้มันฝังรากของมันไว้เป็นความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นอีก นี่เขาเรียกว่าอนุสัย ทีนี้จะไม่เรียกว่ากิเลสล่ะ กิเลสของสกปรกเกิดขึ้นแล้วมันจะฝังอนุสัยไว้สำหรับจะเป็นอย่างนั้นอีก ความโลภหรือราคะเกิดขึ้น มันก็ลงอนุสัย ลงรากอนุสัยอีก เคยชินเรียกว่าราคานุสัย ราคานุสัย ถ้าโกรธทีหนึ่งมันก็ะลงอนุสัยไว้คือความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นอีก เรียกว่าปฏิฆานุสัย ทีนี้ถ้ามันโง่ มันหลง มันโมหะไปทีหนึ่งแล้ว มันก็เก็บความเคยชินนั้นไว้ เรียกว่าอวิชชานุสัย อวิชชานุสัย
ถ้าเรามีอนุสัยนี่สำหรับจะโลภก็จึงโลภง่ายที่สุด ไวเหมือนสายฟ้าแลบ ถ้าเรามีปฏิฆานุสัยเก็บไว้ในสันดาน เราจึงโกรธง่ายที่สุด โกรธเร็วที่สุดเหมือนกับสายฟ้าแลบเหมือนกัน ทีนี้เรามีอวิชชานุสัย เต็มที่ เราจึงโง่ง่าย เผลอง่าย สัพเพร่าง่าย อวดดีง่ายอะไรทุกอย่างล่ะที่มันเป็นเรื่องของความโง่ นี้ความโง่นี่ไม่ใช่ของยากนะ มันโง่ได้เป็นสายฟ้าแลบ โง่ได้เหมือนกับฟ้าแลบ เร็วมาก สะเพร่า ประมาท ผลุนผลันออกไปด้วยความประมาทนี่
ถ้าเราเก็บอนุสัยไว้ในสันดาน อนุสัยนี่แปลว่านอนตามหรือตามนอน มันก็คือความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น มันสะสมไว้ แต่ไม่ใช่ว่าสะสมไว้อย่างของอย่างสิ่งของอย่างเก็บเงินเก็บอะไร มันสะสมความง่ายที่จะเกิด แต่มันก็ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลาหรอกนะอนุสัยนี่ มันก็เพียงแต่ว่ามันสะสมความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะในสันดานของเราน่ะมันง่ายที่จะเป็นอย่างนั้น ส่วนนี้ล่ะส่วนที่มันง่ายที่จะเป็นอย่างนั้นก็เรียกว่าอนุสัย
ทีนี้อนุสัยเก็บไว้ทุกทีที่ที่มีกิเลส พอเกิดโลภทีหนึ่งก็เก็บไอ้ราคานุสัยไว้ โกรธทีหนึ่งเก็บปฏิฆานุสัยไว้ โง่ทีหนึ่งเก็บอวิชชานุสัยไว้ ก็ลองคำนวณดูปีหนึ่งเราโง่กี่ครั้ง โกรธกี่ครั้ง โมหะกี่ครั้ง มันก็มีมากๆๆๆจนเป็นสันดาน ทีนี้มันจะออกมานี่ที่เก็บไว้ๆๆมาก ไอ้การที่จะออกมามันกันก็ยิ่งง่ายเพราะมันมีมาก ถ้ามันไหลออกมาเขาเรียกว่าอาสวะ มองลงไปที่ความกดดันที่มันเก็บไว้มาก แล้วมันก็มีความกดดันที่จะออกมา ความกดดันที่ออกมานี้เราจะเรียกว่าอาสวะ ก็แปลว่าจะไหลออกมา การไหลออกมา ออกมาแสดงมันเป็นกิเลสอีกแหละ หรือถ้าว่ามันจะไหลไปทางอื่นเป็นกามเป็นภพเป็นอะไรก็มี ชื่อมันแปลกออกไป กามาสวะ อาสวะทางกามก็พวกโลภพวกราคะ ภวาสวะพวกโมหะจะเป็นนั่นเป็นนี่ อวิชชาสวะก็พวกโมหะ
เรามีคำสามคำทำงานเนื่องกัน กิเลสที่เกิดขึ้นสกปรกและสะสมความเคยชินแห่งกิเลสไว้เรียกว่าอนุสัย ทีนี้ความกดดันที่จะออกมา หรือออกมาแล้วไหลออกมาแล้วก็เรียกว่าอาสวะ เรามีคำนี้พูดกันอยู่บ่อยๆแต่ดูจะยังไม่เข้าใจนักว่ามันเป็นมันเป็นคำโดยถูกต้องอย่างไร และทำหน้าที่อย่างไร ไอ้กิเลสก็ทำจิตให้สกปรก อนุสัยก็ทำสันดานให้สกปรก เพราะอนุสัยนี้เก็บไว้ในสันดาน ไอ้กิเลสนี่มันเกิดขึ้นแล้วที่จิตและทำจิตให้สกปรก อนุสัยเก็บไว้ในสันดาน มันก็ทำสันดานให้สกปรก ทีนี้อาสวะออกมา ออกมาอย่างไร ที่ไหน เมื่อไร ก็ทำอันนั้นที่นั้นเมื่อนั้นให้มันสกปรก มันออกมาจากสันดาน
ทีนี้คำว่ากิเลสหรือสกปรกน่ะ มันสกปรกแก่สันดานส่วนลึกของจิต แล้วก็สกปรกที่จิตด้วย นี่ไหลเลยออกมาข้างนอกมาที่กายที่วาจา ก็พลอยสกปรกไปด้วย ถ้ากิเลสทำให้พูดออกมามันก็พูดสกปรก กิเลสให้ทำกรรมทำกิริยาแล้วมันก็สกปรก กายวาจาก็พลอยสกปรก จิตก็สกปรกไปแล้ว สันดานก็สกปรก เมื่อเกิดอนุสัย หรือมันทำให้อาสวะไหลออกมาก็สกปรกตลอดสายเลย นี่กิเลสมันสกปรกอย่างนี้ เราจะต้องสังเกตให้ดี กำหนดศึกษาให้ดี ให้รู้จักตัวจริงของมัน อย่าเป็นไอ้ตัวหนังสือ นี่เพราะอย่างนี้แหละมันจึงสกปรก กิเลสเป็นเหตุให้สกปรก เอ้า... ทีนี้จะถือโอกาสพูดไปเสียเลยว่าจะทำให้มันสะอาดได้อย่างไร (นาทีที่ 19.41)เป็นคู่ๆไม่ใช่ดีกว่า
ทีนี้พระบาลีว่า ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ ย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา คือสะอาดด้วยปัญญา ปัญญาเป็นความรู้ เป็นของฟอกให้สะอาด ท่านจึงว่าบริสุทธิ์คือสะอาดได้ด้วยปัญญา ทีนี้เราก็จะมีปัญญาตอนไหนกันที่จะไม่ให้เกิดกิเลส เมื่อตอนบ่ายก็พูดถึงเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ว่ามันจะเกิดกิเลสเมื่อผัสสะมันโง่ เมื่อผัสสะมันไม่มีปัญญา มันสัมผัสอะไรด้วยความโง่ล่ะตอนนี้มันจะเกิดกิเลส ถ้ามีปัญญามาทันที่ผัสสะ ผัสสะไม่โง่ มันก็รู้จักผัสสะ รู้จักเวทนา ไม่เข้าใจผิด เช่นเวทนา น่ารัก น่าเกลียด น่าโกรธ น่ากลัว กิเลสก็เกิดไม่ได้ถ้ามีปัญญามาทันโดยสตินำมาในขณะแห่งผัสสะ เวทนาจะหลอกเราไม่ได้ เรารู้เท่าเวทนาว่าเวทนาเป็นอย่างนี้อย่างนี้ ไม่ยึดมั่นในเวทนานั้น นี้มันสะอาดเพราะปัญญาอย่างนี้
ทีนี้มันจะสะอาดลึกลงไปได้เพราะว่าเราห้ามกิเลสไว้เสียได้ ชำระกิเลสเสียได้ด้วยปัญญา อนุสัยมันก็ไม่เกิดเพราะมันไม่เกิดกิเลส มันไม่เกิดอนุสัย มันเป็นของคู่กัน เมื่อไม่เกิดอนุสัยสันดานมันก็สะอาด สันดานมันก็สะอาด เพราะไม่มีอนุสัยไปครอง ฉะนั้นถ้าอนุสัยไม่เกิดไม่มี อาสวะมันก็ไม่มี เรียกว่าสันดานถึงจิต ถึงทางออกมา ถึงกายถึงวาจา ตลอดทางที่มันจะไหลออกมามันก็ไม่มีไอ้ของสกปรก มันก็สะอาดกันไปหมด นี่ถ้าทำได้อย่างนี้มันมีผลให้สะอาดแก่สันดาน แก่จิต แก่ทวารทางกาย ทางวาจาด้วย นี่คือสิ่งสกปรก เป็นเหตุให้สกปรกหแล้วก็จะล้างมันออกเสียได้อย่างนี้ นี่เป็นเรื่องที่หนึ่งคือความสะอาด
ทีนี้เรื่องที่สองคือความสว่าง ไม่สว่างเพราะมันมืด ถ้าเอามืดออกไปเสียมันก็สว่าง เราควรจะถือว่าไอ้มืดนี่มันเหมือนของเกิดมา ถ้ามันไม่เกิดมามันสว่างอยู่โดยธรรมชาติ หลักทางจิตใจก็เป็นอย่างนั้น คือว่า จิตนี่เป็นประภัสสร คือสะอาดอยู่ สว่างอยู่ สงบอยู่ แต่พอกิเลสเกิดขึ้นมันก็สกปรกมืดมัวและกระวนกระวายอยู่อย่างนั้น ไอ้แสงสว่างถ้าทางวัตถุเช่นดวงอาทิตย์มันมีอยู่ ถ้าอย่ามีอะไรมาบังดวงอาทิตย์แสงก็ส่องสว่างอยู่เรื่อย
เดี๋ยวนี้โลกเรานี้มันถูกบังด้วยเหลี่ยมหนึ่งของโลกมันก็มืดอยู่ด้านนี้ มันมีอะไรมาบังมันก็มืด เอาไอ้ของบังออกเสียมันก็สว่าง เราจะถือเป็นหลักว่าไอ้สว่างนั่นก็คือของเดิม ไอ้มืดนี่มาใหม่ เหมือนกับสะอาดมันของเดิม สกปรกนี้มาใหม่ ทีนี้สว่างของเดิมของเดิมมืดนี้มาใหม่ มืดทางจิตใจน่ะ ไอ้มืดทางวัตถุเช่นไม่มีแสงแดดนั้นมันก็มืดทางวัตถุ ทีนี้ไม่มีปัญญามันมีโมหะมีไอ้นี่เข้ามาบังมันก็มืดทางจิตใจ อวิชชา ก็ต้องถือว่าเป็นกิเลสเหมือนกันแหละ โมหะก็เป็นกิเลส อวิชชาก็เป็นกิเลส กิเลสแม่ กิเลสลูกกันไปตามเรื่อง อวิชชามันเป็นกิเลสแม่ มันคลอดลูกออกมาเป็นโลภะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสลูก
ทีนี้เราก็มืดอยู่ด้วยกิเลส อาการนี้มีชื่ออีกอย่างหนึ่ง ฟังดูไพเราะดี คือกิเลสนิทรา เป็นบาลีก็กิเลสนิทรา ถ้าเป็นไทยๆกิเลสนิทราคือหลับแห่งกิเลส หลับอยู่ด้วยกิเลส กิเลสทำให้เราเป็นเหมือนคนหลับ นี่เราก็เรียกว่าหลับอยู่ด้วยกิเลส ถ้าผมพูดว่าทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่หลับด้วยกิเลสคุณจะโกรธไหม ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่กำลังหลับอยู่ด้วยกิเลสนิทรา ถ้าไม่มีปัญญามีความรู้ มันก็ยังหลับอยู่ หลับอยู่ด้วยกิเลสนิทรา ยังเขียนหนังสือได้นะ
นี่รู้จักอาการอย่างนี้ไว้เสียบ้างว่ามันมืดอย่างไร อย่างนี้ก็เขียนหนังสือกันได้ แต่มันมีโมหะมีอวิชชา มันก็เรียกว่ามืด หลับอยู่ด้วยกิเลสนิทรา มืดทางวิญญาณเขาถือว่ามันเป็นความมืดยิ่งกว่าทางวัตถุ มืดเพราะไม่มีแสงอาทิตย์ก็มืดน่ะ กลางคืนมันมืด แต่มืดด้วยกิเลส มืดด้วยอวิชชามืดยิ่งกว่านั้น มืดยิ่งกว่าขาดแสงแดด มืดยิ่งกว่าตาบอด ไอ้ตาบอดก็ไม่มืดเท่าไหร่หรอกเพราะมันยังมีความคิดนึกรู้สึกอะไรได้
มีหลักเป็นพระพุทธภาษิตที่ว่าไอ้โลกนี่ โลกคือหมู่สัตว์นี่ มันถูกอวิชชาหุ้มอยู่ เป็นเปลือกหุ้มอยู่ แสงสว่างเข้าไปไม่ได้ โลกคือหมู่สัตว์มันก็มืด เมื่อแสงสว่างเข้าไป แสงสว่างแห่งพระธรรมมันเข้าไปในจิตใจของเราไม่ได้เพราะอวิชชามันหุ้มไว้ ไอ้จิตใจของเรามันก็มืด นี่เรียกว่ามืดแห่งจิตใจมันเป็นอย่างนี้ มืดไม่รู้จริงนี้มันก็ทำผิดแหละ เหมือนกับคนตาบอดนี่เดินมันก็เกิดเรื่อง คือเดินมืดๆมันก็เกิดเรื่อง เพราะมันมืด ทีนี้จิตมันมืดด้วยอวิชชาไปทำอะไรเข้ามันก็เกิดเรื่อง คือเป็นไปในทางร้าย ที่จะบังเอิญให้ถูกต้องมีผลนี้มันเป็นไปไม่ได้ นี่เรากลัวความมืดของอวิชชา ของโมหะ เรียกว่ามันมืดแล้ว มันไม่สว่างแล้ว
ทีนี้จะทำให้มันสว่างจะทำอย่างไร ก็มันบอกกันอยู่ตรงๆแล้ว เป็นคู่กันอยู่แล้วว่า ปัญญาเป็นแสงสว่าง นัตถิ ปัญญา สมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญานั้นไม่มี แสงสว่างมีมากชนิด แต่แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี จึงถือว่าแสงสว่างของปัญญานี้มันสูงสุด ก็เอาแสงสว่างไปสิคือปัญญานี้มาจี้เข้าไปที่โมหะหรืออวิชชาคือความมืด นี่เครื่องกั้นเครื่องบังให้มืดมันก็หลีกไป มันก็เกิดความสว่างขึ้นที่นั่น
ไอ้แสงสว่างนี่มีชื่อเรียกหลายๆชื่อนะ แสงสว่างทางจิตใจนี่บางทีก็เรียกว่าปัญญา บางทีก็เรียกว่าธรรมจักษุ บางทีก็เรียกว่าวิชชา บางทีก็เรียกว่า อาโลโก อาโลกะ อาโลกะนี้แปลว่าแสงแดด แต่ทีนี้เอามาเป็นชื่อของแสงปัญญา คือรู้อย่างที่เคยบอกมาแล้วว่าไอ้คำชาวบ้านถูกยืมมาใช้เป็นคำธรรมะ เรียกเหมือนกันกับคำเดิมนั่นแหละแต่มีความหมายอย่างอื่น คือมีความหมายในทางจิตใจ จักษุก็ลูกตานี้ ยืมไปใช้ในทางธรรมะเป็นปัญญาจักษุ วิชาความรู้ทางจิต ทางวิญญาณ แสงสว่างทางจิต ทางวิญญาณ มันก็ล้างโมหะ ล้างอวิชชาที่ทำให้มืดนั้นหมดไป มันก็สว่าง
เดี๋ยวนี้ที่เราพูดกันติดปากว่าการศึกษาทำให้เราฉลาด ทำให้เราสว่าง แต่ดูมันจะผิวเผินไปสักหน่อย จะไปเรียนไปเข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัยมีการศึกษาเราก็สว่าง ไอ้สว่างนี้มันไม่สว่างถึงที่จะเดินทางไปนิพพานหรอก สว่างอยู่ใกล้ๆนี้ เว้นเสียแต่ว่าถ้าเราเอาคำว่าศึกษานั้นน่ะให้ไปมีความหมายคำกับเดียวกว่าสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าสิกขานี้ทำให้สว่างได้จริง ศีลสมาธิปัญญานี่ทำให้สว่างได้จริง ถ้าศึกษาอย่างที่เรามีเป็นการศึกษาระบบหมาห้างด้วนนี้ไม่มีทางที่จะสว่างได้ ฉะนั้นชวนกันมาต่อหางสุนัขกันเป็นการใหญ่
ศึกษาทำให้สว่างและต้องศึกษาให้ถูกต้องและเพียงพอ แล้วค่อยเป็นศึกษาในความหมายว่าสิกขา ศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา ปัญญาสิกขา นี่จะทำให้สว่างได้ ศีลสมาธิปัญญาทำงานเหมือนกับสหกรณ์ พื้นฐานที่ดีเป็นศีล มันก็ง่ายที่จะมีสมาธิ มีสมาธิแล้วมันก็ง่ายที่จะมีปัญญา มันร่วมมือกันได้ จะใช้ทำมืดให้สว่างก็ได้ หรือจะใช้ทำให้สกปรกให้สะอาดก็ได้ เหล่านี้เรียกว่าเรื่องสว่างเป็นเรื่องที่สอง
ทีนี้มาเรื่องที่สาม เรื่องสงบ สงบ เหตุที่ไม่สงบคือไม่สงบเงียบราบคาบลงไปได้น่ะ เพราะมันมีของกวน คือปรุง คือกระตุ้น ปรุงไว้ นั่นน่ะคือสิ่งที่เรียกว่าสังขาร มันนก็คือกิเลสนั่นเอง กิเลสอวิชชา กิเลสแม่บทนั้นน่ะมันทำให้เกิดสังขารคือของปรุง เมื่อปรุงแล้วมันก็สงบไม่ได้นี่ เพราะมันไปกระตุ้นไปทำให้เกิดอันใหม่เกิดของใหม่ ไอ้สังขารนี่แปลว่าปรุงแต่ง เป็นการปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขารได้ อำนาจที่จะปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขารได้ เรามักจะเข้าใจว่าสังขารร่างกายเรื่อยไป ไอ้สังขารร่างกายนั้นคือของที่ถูกปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขารเหมือนกัน
นี่พวกคุณ คุณคอยสังเกตให้ดีว่าสังขารนี่อย่างน้อยก็ ๓ ความหมายล่ะ สังขารคือการปรุงแต่ง หมายถึงกิริยาที่ปรุงแต่ง ทีนี้สังขารสิ่งซึ่งเป็นผู้ปรุงแต่งก็สังขารอีกแหละ แล้วสิ่งที่ถูกปรุ่งแต่งก็สังขารอีกแหละ ไอ้ผู้ปรุงแต่งก็คือกิเลสประเภทอวิชชานี้มันทำการ ทำหน้าที่ปรุงแต่ง ทำการปรุงแต่งไม่ยอมหยุด แล้วสิ่งที่ถูกปรุงแต่งก็คือสังขารนามรูปนี่ คือร่างกายจิตใจนี่ นี่ก็สังขารเหมือนกันเพราะมันถูกปรุงแต่ง ทีนี้กิริยาที่เป็นอย่างนั้นก็เรียกว่าสังขารเหมือนกันคือการปรุงแต่ง สังขารหมายถึง ๓ ความหมายอย่างนี้ ผู้ปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร ผู้ถูกปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร กิริยาปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร
ทีนี้ปรุงแต่งน่ะมันหมายความว่ามากวน มาทำ มาทุกอย่างน่ะที่จะไม่ให้มันอยู่อย่างสภาพเดิม เหมือนกับว่าเราปรุงแกงปรุงกับปรุงอะไรขึ้นมา ปรุงบ้านปรุงเรือนปรุงเมืองอะไรขึ้นมานี่ มันทำให้เกิดอะไรขึ้นใหม่เรื่อย อันนี้ไม่สงบเพราะกิเลสเป็นผู้ปรุง ต้องหยุดสังขารเสียคือหยุดการปรุงแต่งเสียแล้วก็จะสงบ ต้องทำลายกิเลสที่เป็นผู้ปรุงเสีย ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันก็มีผู้ปรุง มีเหตุปัจจัยสำหรับการปรุง มันก็ปรุงกันเรื่อย กิริยาปรุงก็คือปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ว่ามาแล้วตอนกลางวัน นั่นก็ปรุง ปรุงเรื่อยไปจนถึงที่สุด ทีนี้จะหยุดการปรุงแต่งได้อย่างไร โอ๊ย... มันก็ปัญญาอีกแหละ มันน่าหัวใช่ไหม ปัญญานี่มันเป็นไอ้อาวุธสารพัดนึก เป็นยาสารพัดนึก แก้ปัญหาได้สารพัดนึก
ปัญญาเห็นโทษของการปรุงแต่งแล้วมันก็จะหยุดการปรุงแต่ง ถ้ายังไม่เห็นโทษของการปรุงแต่ง มันก็ไม่หยุดการปรุงแต่ง มันต้องมีปัญญาแหลมลึกมองเห็นการปรุงแต่ง มองเห็นโทษของการปรุงแต่ง มองเห็นไอ้การปรุงแต่งมันบีบคั้น มันทำให้เราต้องเวียนว่ายไป คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปนี่ หรือเวียนว่ายไปในไอ้เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปนี่ไม่น่าสนุกเลย พอปัญญามองเห็นอย่างนี้มันก็เบื่อต่อการที่จะเวียนว่ายไปในการปรุงแต่ง มันจึงทำหน้าที่ที่จะหยุดการปรุงแต่ง อุปสมะ แปลว่าสงบ เข้าไปสงบ สังขาระอุปสมะ สังขารวูปสมะ เข้าไปสงบเสียซึ่งสังขาร ไปหยุดปรุงแต่ง นี่จึงจะสงบ คือไม่วุ่นวาย ปัญญามาทำหน้าที่ นับตั้งแต่เข้าใจเรื่องนี้ เกลียดการปรุงแต่ง และทำลายตัวผู้ปรุงแต่งคืออวิชชา หนทางที่มันจะปรุงแต่ง ปัจจัยที่มันจะปรุงแต่งก็ถูกปัญญาควบคุม หรือว่าทำลายหมดสิ้น หมดการปรุงแต่ง นี่เรื่องความสงบ
ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ มีอยู่ ๓ คำ ๓ อย่าง เป็นคุณสมบัติของจิต ถ้าจิตได้กระทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ว่าไปแล้วจิตก็มีคุณสมบัติ คือสะอาด คือสว่าง คือสงบ พอดีผมเลือกเอาตัว “ส” เหมือนกัน สะอาด สว่าง สงบ ไอ้คำอื่นมันก็มีแต่มันไม่เป็นตัวอักษรที่จะมาเข้าชุดกันได้ เลยเลือกเอา สะอาด สว่าง สงบ เพื่อจะเอาตัว “ส” ๓ ตัวน่ะ ๓ “ส” เพื่อจำง่าย เพื่อสังเกตง่าย เพื่อเรียนง่าย ๓ “ส” ถ้าพูดว่า ๓ “ส” ล่ะก็ขอให้นึกถึง สะอาด สว่าง สงบ เพราะเป็นคุณสมบัติของจิตในบัดนี้ที่ได้อบรมดีแล้วด้วยภาวนา เตือนว่าเรารู้จักสิ่งทั้ง ๓ นี้คือ สะอาด สว่าง และสงบนะ
เอ้า... ทีนี้ที่มันเกี่ยวกับพระรัตนตรัยอย่างไรต่อไป พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะไม่ดูแต่ที่เปลือก เราจะดูลึกเข้าไปถึง ส่วนลึก ส่วนใน ส่วนหัวใจ พระพุทธเจ้าโดยเปลือกนอกก็คือสังขาร ร่างกาย มีเบญจขันธ์ มีอะไรเหมือนกับเราทั่วไป นั้นเป็นพระพุทธเจ้าส่วนที่เป็นนามรูปเนื้อหนังข้างนอก แต่คุณค่าคุณสมบัติส่วนลึกของท่านก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ แห่งจิตใจของท่าน ในหัวใจพระพุทธเจ้ามีความสะอาดคือบริสุทธิ์ มีความสว่างหรือว่าปัญญา มีความสงบหรือนิพพานหรือสันติ เรียกเป็นไทยๆดีกว่า สะอาด สว่าง สงบ มีอยู่ในส่วนลึกศูนย์กลางของความเป็นพระพุทธเจ้า มันก็เรียกว่าหัวใจของพระพุทธเจ้า คือ ความสะอาด สว่าง สงบ แต่หัวใจทางนามธรรมนะ ไม่ใช่หัวใจก้อนหัวใจนะ
ทีนี้พระธรรมล่ะ พระธรรมไม่ใช่เปลือกนอก พระธรรมไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่ใบลาน ไม่ใช่อย่างนั้นนะมันเป็นเปลือกนอก เนื้อแท้ของพระธรรมคือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คือการศึกษาการปฏิบัติและได้ผลของการปฏิบัติ ก็คือความสะอาด สว่าง สงบอีก ปริยัติเรียนก็เรียนเรื่องสะอาด สว่าง สงบ ปฏิบัติกระทำก็กระทำเพื่อสะอาด สว่าง สงบ ปฏิเวธสำเร็จผลก็เป็นความสะอาด สว่าง สงบ เราจึงถือว่าหัวใจของพระธรรมก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ อย่าเอาเปลือกนอกเป็นเกณฑ์
ทีนี้พระสงฆ์ ถ้าพระสงฆ์จริงในหัวใจก็เหมือนพระพุทธเจ้าล่ะ พระสงฆ์ก็เรียนเพื่อสะอาด สว่าง สงบ ปฏิบัติก็สะอาด สว่าง สงบ ได้ผลเป็นความสะอาด สว่าง สงบ ถ้าระดับสูงสุดเป็นพระอรหันต์ก็ สะอาด สว่าง สงบ เต็มที่ ทีนี้ถ้าเป็นโสดา สกิทา อนาคา มันก็น้อยลงมาน้อยลงมา แต่มันก็มีความหมายเป็นสะอาด สว่าง และ สงบ ฉะนั้นพระสงฆ์ก็มีหัวใจเป็นความสะอาด สว่าง สงบ (นาทีที่ 43.05) ทีนี้ว่าพระพุทธจริง พระธรรมจริง พระสงฆ์จริง ก็คือความ สะอาด สว่าง สงบ แห่งจิต ทีนี้เราก็เอามาใส่ในหัวใจเราได้โดยทำจิตของเรานี้ พยายามทำจิตของเราให้สะอาด สว่าง สงบ หรือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาอยู่ในหัวใจของเรา ตามมากตามน้อย จะเป็นพระพุทธเจ้าน้อยๆ พระธรรมน้อยๆ พระสงฆ์น้อยๆ ก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย
พุทธบริษัทแปลว่าอะไรคุณทราบไหม บริษัทน่ะ บริแปลว่าวงรอบๆ ษัท แปลว่านั่ง บริษัท แปลว่านั่งเป็นวงรอบๆ รอบๆอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นพุทธบริษัท มันก็นั่งรอบๆพระพุทธเจ้า จะไปนั่งรอบได้ที่ไหน ก็พระพุทธเจ้านิพพานแล้วเผาแล้ว ก็ต้องเอาพระพุทธเจ้าจริงที่ยังอยู่คือหัวใจของท่าน คือความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิต จะไปนั่งล้อมได้อย่างไร ก็ทำจิตของเราให้เป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นก็มาอยู่ในหัวใจของเรา เราก็นั่งล้อมได้ด้วยจิตใจ นี่เป็นพุทธบริษัทจริงต้องเป็นอย่างนี้
นั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าได้ นั่งล้อมรอบพระธรรมก็ได้ พระสงฆ์ก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เรามีคำพูดคำเดียวว่าพุทธบริษัท นั่งล้อมรอบพระพุทธเจ้าโดยเอาพระพุทธเจ้าจริงไปใส่ไว้กลางหัวใจของเรา นี่เราสามารถนะที่จะทำให้มีพระพุทธเจ้าจริงขึ้นในหัวใจของเรา เราจะเรียกว่าถึงพระพุทธเจ้าก็ได้นะ นี่ถึงจริงๆคืออย่างนี้ ไม่ใช่พุทธัง สรณัง คัจฉามิ แต่ปาก ถึงแต่ปากนี้มันไม่ได้ ถึงจริงๆต้องเป็นอย่างนี้ เอาพระพุทธเจ้าจริง พระธรรมจริงมาใส่ในใจของเราเรียกว่าถึงจริงๆ เรากล้าพูดให้มากไปกว่านั้นว่าเราประสงค์เป็นอันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า เพราะท่านมาอยู่ในหัวใจของเรานี้ อาจจะกล้าพูดก็ได้ว่าเราก็เป็นพระพุทธเจ้าด้วยเหมือนกันล่ะ เพราะว่าพระพุทธเจ้าแท้จริงมาอยู่ในหัวใจของเราเสียแล้ว
นี่คือเครื่องมือทำให้ความเป็นความพุทธบริษัทของเราสมบูรณ์ ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ เป็นสิ่งที่เราทำให้เกิดขึ้นได้ ในหัวใจของเรานั้นคือการทำให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เข้าไปอยู่ในหัวใจของเรา ไม่มีอะไรดีกว่านี้ คุณสนใจเรื่องความสะอาด สว่าง สงบ ให้ถูกจุด ให้เต็มที่เต็มความหมายเถิดจะมีประโยชน์มาก นี้ตอนหนึ่งแล้วนะ สะอาด สว่าง สงบ ทำให้เรามีพระพุทธเจ้าในหัวใจของเราได้
ทีนี้ตอนที่ ๒ ผมพูดด้วยคำว่าไอ้จิตว่างน่ะประกอบอยู่ด้วยภาวะสะอาด สว่าง สงบ ไอ้คำว่าจิตว่างนี่ผมพูดมาหลายปีหรือสิบกว่าปี จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังมีคนไม่เข้าใจอยู่ เพียงแต่ว่าเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ แต่ยังมีคนที่ไม่เข้าใจ เข้าใจเขว เข้าใจผิด ขัดแย้งกันไปต่างๆนานา เดี๋ยวนี้ก็จะพูดเพื่อให้คุณเข้าใจ ที่จะมีสะอาด สว่าง สงบ มันก็ต้องจิตต้องว่าง หรือว่าถ้ามีสะอาด สว่าง สงบแล้วจิตมันก็ว่าง ถ้าจิตไม่สะอาดก็ไม่ว่าง ไม่สงบก็ไม่ว่าง ไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ ก็คือไม่ว่าง ถ้าว่างมันก็ สะอาด สว่าง สงบ
คำว่าจิตว่างในที่นี้น่ะหมายถึง จิต กำลังไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นอะไร แต่ความสำคัญมันอยู่ที่นั่น จิตไม่ได้เกิดกิเลสอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นอะไร นั่นเรียกว่าจิตว่าง เหมือนเมื่อมือไม่ได้จับอะไรก็เรียกว่ามือของเรากำลังว่าง พอมือของเราไปจับอะไรเข้าเสียแล้วมือของเราก็ไม่ว่าง จิตไม่ได้เกิดอุปาทานไปจับฉวยอะไรเข้าไว้ก็เรียกว่าจิตว่าง และจิตนี้ต้องมีอารมณ์เสมอ จิตนี้มันก็ต้องมีอารมณ์สำหรับรู้สึกทางจิต แต่ถ้ามันไม่ได้จับฉวยอารมณ์ใดๆเลย ไม้ได้ยึดมั่นอารมณ์ใดๆเลย ก็เรียกว่ามันว่าง
แม้จิตจะรู้สึกต่ออารมณ์ แต่ไม่ได้จับฉวยอารมณ์นั้นโดยความเป็นตัวตนหรือของตน จิตนี้ต้องมีอารมณ์เสมอ ไม่งั้นมันไม่เป็นจิต มันเป็นจิตต่อเมื่อมันมีอารมณ์มาร่วมด้วย ทีนี้ที่ว่าว่างนั้นไม่ใช่ว่างจากอารมณ์ จิตต้องมีอารมณ์มันจึงจะเป็นจิตขึ้นมาชนิดหนึ่งๆ แต่เมื่อไม่ได้จับฉวยอารมณ์ใดๆโดยความเป็นตัวกูเป็นของกู หรือโดยความเป็นตัวตนหรือของตน จิตนั้นมันก็ไม่มีการจับฉวย เมื่อไม่มีการจับฉวยก็เรียกว่ามันว่าง
ทีนี้พวกบางพวกเช่นพวกอภิธรรมนี่เขาว่าจิตว่างไม่ได้ เพราะจิตต้องมีอารมณ์ไม่ว่างจากอารมณ์ ก็ถูกแล้วจิตมีอารมณ์แต่จิตไม่ได้จับฉวย เหมือนกับมือไม่จับฉวยก็ยังเรียกว่าว่าง ไอ้ความว่างในที่นี้มันหมายถึงไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น มันอาจจะเอาไอ้ความว่างนี้เป็นอารมณ์ก็ได้นะ เอาความสะอาดเป็นอารมณ์ก็ได้ เอาความสว่างเป็นอารมณ์ก็ได้ เอาความสงบเป็นอารมณ์ก็ได้ แต่มันไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นความสะอาด ไม่ยึดมั่นถือมั่นความสว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นความสงบ โดยความเป็นตัวตนของจิตหรือว่าของไอ้ธรรมเหล่านั้น หรือแม้จิตจะมีอารมณ์ว่างกำหนดอารมณ์ว่าง ก็ไม่จับฉวยยึดมั่นอารมณ์ว่างไม่ยึดมั่นในความว่าง จิตก็ยังคงว่างอยู่
จิตรู้สึกว่างจากความจับฉวย รู้สึกต่อความว่าง ความว่างนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิต แต่จิตไม่จับฉวยเอาความว่างนั้นโดยความเป็นตัวตน ฉะนั้นจิตนั้นก็ยังว่าง ทีนี้จิตมีภาวะสะอาดก็ไม่ได้จับฉวยภาวะสะอาดมาเป็นตัวตนของตน เป็นเพียงอารมณ์เฉยๆ ก็ยังคงว่าง สะอาดและสว่าง จิตมีภาวะสว่าง รู้สึกกับความสว่าง มีสว่างนั้นเป็นอารมณ์ แต่ก็ไม่จับฉวยมาเป็นตัวตน มันก็ยังว่าง จิตมีภาวะสะอาด ไม่ได้จับฉวยความสะอาด มาเป็นตัวตน หลงไหลไปอยู่นี้ มันก็ยังว่าง จิตไม่ว่างจากอารมณ์จริง แต่ว่าจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นต่ออารมณ์ได้ ฉะนั้น เมื่อใดไม่มีความยึดมั่นในสิ่งใดเลย ก็เรียกว่าจิตนี้ว่าง
จะยึดความว่างเป็นอารมณ์นี้มันยึดไม่ได้อยู่ดี แล้วจิตมันก็ไม่ยึดเพราะจิตมันมีปัญญา มันฉลาดเสียแล้ว ไอ้จิตว่างนั้นมันประกอบด้วยปัญญาสูงสุด เพราะมันไม่ยึด ถ้ายึดก็โง่ ถ้าฉลาดรู้จริงมันก็ไม่ยึด ไอ้จิตฉลาดรู้จริงนั้น มันเห็นโลกคือสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่าง นี่เห็นนี่คือทัศนะ วิญญานะ คือปัญญา จิตมีปัญญา มีญาน มีทัศนะ เห็นสิ่งทั้งปวงหรือโลกทั้งปวงว่าง โลกนี้ว่างจากตัวตน ว่างจากสิ่งที่จะเป็นตัวตน และว่างจากสิ่งที่จะเป็นของตน
อตฺเตน วา อตฺตนิเยน วา สุญโญ โลกนี้สุญโญ คือว่างจากอัตตา ว่างจากอัตนียา ว่างจากความหมายที่จะเป็นตัวตน ว่างจากความหมายที่จะเป็นของตน จิตนี้เห็นอันนี้ด้วยปัญญาแล้วมันจะบ้าไปยึดถือ ยึดมั่นอะไรได้ มันเห็นโดยความเป็นของว่างจากตัวตนและของตนแล้ว จิตนี้ก็ไม่ยึดถือเพราะมันยึดถือไม่ได้ มันเห็นความยึดถือไม่ได้เพราะว่าโลกนี้มันเป็นของว่าง ทีนี้จิตก็พลอยว่างจากความยึดถือไปด้วย จิตในสภาพอย่างนี้เรียกว่าจิตว่าง คือไม่ยึดถืออะไรเลยโดยความเป็นตัวตนหรือของตน
ฉะนั้นท่านจึงสอนให้เรานี้พิจารณาแม้แต่อาหารบิณฑบาต จีวร เสนาสนะ เภสัช โดยความเป็น นิสสัตโต นิชชีโว สุญโญ ว่างจากตัวตนอย่างนั้น เป็นบทเรียนแรกที่สุด อย่าไปยึดถืออาหารบิณฑบาต จีวร เสนาสนะ เภสัช อะไรเลย ทั้งที่เราต้องการอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างยิ่ง อาศัยอยู่อย่างยิ่ง ก็อย่าได้ไปยึดถือ โดยความเป็นตัวตนเลย สิ่งเหล่านี้ก็รวมอยู่ในคำว่าโลก เขาใช้คำว่าโลกรวมหมดไม่ว่าอะไร จะเป็นร่างกายก็ได้ เป็นจิตใจก็ได้ มันเป็นโลกไปหมดน่ะ ทั้งหมดนั้นมันว่างจากตัวตนและของตน พอจิตเห็นอันนี้จิตก็ไม่ว่าง จิตก็ไม่ยึดถือมันก็ว่างเองเฉยเอง จิตจึงมีอะไรล่ะ จิตอิสระ อิสรภาพ ถ้ามันไปจับฉวยอะไรเข้าไว้มันก็เป็นทาสของสิ่งนั้น ทีนี้มันไม่จับฉวยอะไรเลย มันก็มีอิสระภาพ คืออิสระ อิสรภาพของจิต คือจิตไม่จับฉวยอะไร นี้ความว่างนั้นคืออิสรภาพ
ทีนี้เมื่อจิตไม่เป็นทาสของอะไร จิตนั้นก็มีอำนาจมีกำลัง มีพลานุภาพ มีทัศนะ มีสมรรถนะ จิตที่ว่างนี้มีกำลังสูงสุด มีอานุภาพสูงสุด มีอิสรภาพสูงสุด ฉะนั้นมันก็ทำอะไรได้ดี ทำอะไรได้ดี ฉะนั้นผมจึงพูดว่าทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ไอ้พวกที่มันเข้าใจไม่ได้มันก็โห่เพราะมันไม่เข้าใจ ทำงานด้วยจิตว่างทำอย่างไร คือทำงานด้วยจิตที่ว่างจากความยึดถืออะไรอยู่ จิตนั้นกำลังเป็นอิสระที่สุด จิตนั้นกำลังมีปัญญาที่สุด ที่มีสะอาดที่สุด สว่างที่สุด สงบที่สุดนั้นน่ะ จิตที่ไม่ได้เป็นทาสของอะไรไม่จับฉวยอะไรก็เป็นจิตอิสระ เฉลียวฉลาด
ถ้าไปจับฉวยอะไรมันก็เป็นทาสของสิ่งนั้นเสียแล้ว มันไม่อิสระ มันไม่อาจจะเฉลียวฉลาดได้เพราะมันได้ตกเป็นทาสของสิ่งนั้นเสียแล้ว ฉะนั้นอย่าไปเป็นทาสของอะไร คืออย่าไปยึดมั่นอะไร มันก็อิสระ มันก็คล่องแคล่วแล้วก็มีกำลัง ฉะนั้นจิตว่างทำงานได้ดี ทำงานยากๆได้ดี คิดเก่ง ทำเก่ง นึกเก่ง อะไรก็เก่งไปหมด ทำงานด้วยจิตว่างไอ้งานนั้นจะเป็นผลดี แล้วที่มันวิเศษประเสริฐที่สุดก็คือว่ามันเป็นความสุขอยู่โดยตัวมันเอง มันเป็นความสุขในตัวมันเองโดยอัตโนมัติ พอจิตว่างแล้วเป็นสุขที่สุด แล้วไปทำอะไรเข้าก็ทำได้ดี จะทำการทำงานอะไรในโลกนี้ก็ทำได้ดี จะปฏิบัติเพื่อไปนิพพานก็ทำได้ดี
ฉะนั้นขอให้ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง อย่ามีตัวกูของกูเป็นผู้ทำงาน อย่ายึดเอาจิตเป็นตัวกูของกูเป็นผู้ทำงาน ให้มันเหลือแต่จิต มันเป็นจิตเท่านั้นแหละ เลิกตัวกูของกูเลิกตัวตนเสียเสียให้เหลือแต่จิต คือถ้าเรายังอยากมีตัวเรานะ เรายังเสียดายตัวเราอยู่ อยากมีตัวเราก็ให้มันเป็นอันเดียวกับจิตที่ว่างไปเสีย มีก็ไม่ต้องมีตัวเราอีกส่วนหนึ่ง เหลือแต่จิตที่มันว่าง จึงจะมีอานุภาพทางจิตทางปัญญามาก
เอ้า... ยกตัวอย่างเหมือนว่าคุณจะเอาก้อนหินมาขว้างถูกต้นไม้ต้นนี้นะ คุณอย่ามีตัวคุณที่เป็นผู้ขว้าง เลิกตัวตนเสียให้มันเหลือแต่จิต เอาไปเป็นอันเดียวกับจิตเสีย แล้วจิตมันทำของมันเองได้ ไม่มีตัวคนไม่มีตัวเราที่จะเป็นผู้ขว้างผิดหรือขว้างถูก แล้วจะดีใจ หรือจะเสียใจนี้เลิกหมด ให้เหลือแต่จิตเป็นจิตไปเสียเอง เอ้า... ถ้าให้ดีกว่านั้น จิตก็อย่ามีเลยห้มีแต่การขว้าง ให้ตัวเราก็ดีจิตก็ดีเป็นการขว้างเท่านั้นน่ะ แล้วมันก็จะขว้างถูกด้วยอำนาจของความว่างของจิต มันเป็นธรรมชาติสูงสุดขึ้นมา นี่ความเป็นสมาธิมันก็มาก ถ้ามีตัวเราอยู่มันฟุ้งซ่าน ถ้ามีจิตอยู่มันก็ยังฟุ้งซ่าน อย่ามีทั้งสอง มีแต่การขว้าง ลืมหมด ไม่มีอะไร มีแต่การขว้างโดยธรรมชาติ อย่างนี้ก็จะมีฝีมือ
นี้ผมอาศัยหลักธรรมในพุทธศาสนานี้นะ พูดนะ แต่ว่าเผอิญมันไปตรงกับเรื่องของพวกเซ็น พวกเซ็นเขามีเคล็ดมีอะไรอย่างนี้เกี่ยวกับว่าฟันดาบบ้าง ยิงศรบ้างอะไรบ้างเหมือนกับปาฏิหารย์ แล้วก็เลิกตัวตนหมดเหลือแต่การกระทำ อะไรก็ไปรวมอยู่ที่การกระทำ ฉะนั้นคนเหล่านี้มันก็ฟันดาบเก่ง ยิงศรเก่ง อะไรเก่ง คือทำอะไรเก่งทุกอย่าง มันลืมตัวตนมันลืมจิตลืมอะไรหมด เหลือแต่การกระทำตามธรรมชาติ มันคล้ายๆ กับพระเจ้ามาช่วยทำให้ กฏของธรรมชาติหรือของเหล่านั้นมาช่วยทำให้
ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างจะมีผลดีที่สุด แล้วก็จะเป็นสุขอยู่ด้วยตัวมันเอง นี่คือจิตว่าง ไม่มีอุปาทาน ไม่มียึดมั่นถือมั่น ว่างจากความรู้สึกว่าตัวตน นี่ตัวว่างจากความยึดถือ จิตนั้นยังคงรู้สึกว่านั้นเป็นนั้น นั้นเป็นนั้น นี้เป็นนี้ก็รู้ได้ มันก็รู้ด้วยว่าว่าง มันก็รู้ว่าสะอาด มันก็รู้ว่าสว่าง มันก็รู้ว่าสงบ แต่มันก็ไม่ได้ยึดถือในสิ่งเหล่านี้เลย จิตนี้ไม่ยึดถืออะไร มือว่างอยู่เสมอ เราเรียกกันว่าจิตว่าง ทำงานได้ดี สนุกสนานอยู่ในการทำงาน ไม่ต้องรีบเลิกงานไปอาบอบนวด เพราะมันสุขอยู่ที่นี่แล้วจะไปอาบอบนวดทำไม ไอ้สุขอยู่ด้วยการกระทำด้วยจิตว่างนี่มันมากกว่าที่จะไปอย่างนั้น
มีความสุขอยู่ในตัวความว่าง มีความสะอาดอยู่ในตัวความว่าง มีความสงบอยู่ในตัวความว่าง สว่างอยู่ในตัวความว่าง เป็นปัญญาสูงสุดเมื่อจิตมันว่างจากกิเลส ว่างจากความยึดถือโดยประการทั้งปวง มีปัญญาสูงสุด มีแสงสว่างที่สุด มีสมรรถนะมากที่สุด นั่นน่ะคือจิตที่หลุดพ้น จิตที่หลุดพ้นไปจากไอ้ความยึดถือนั่นคือจิตว่าง ฉะนั้นจำไว้ว่าไอ้สะอาด สว่าง สงบน่ะเป็นองค์ประกอบของจิตว่าง คุณสมบัติของจิตว่าง จิตว่างประกอบด้วยคุณสมบัติคือ สะอาด สว่าง และสงบ
ทีนี้เราพูดกันถึงเรื่องนี้ซึ่งเป็นคำพูด ๓ คำ สะอาด สว่าง สงบ เอาเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาใส่ใจเราก็ได้ ถ้าเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วจิตว่างแน่ ไม่มีตัวตนไม่มีของตน ไม่มีตัวกูไม่มีของกู ก็เป็นสุขทันที มีสมรรถนะในการกระทำการงานในหน้าที่ พระพุทธเจ้าท่านก็ทำหน้าที่ของท่านด้วยจิตว่าง พระอรหันต์ทั้งหลายพระอริยเจ้าทั้งหลายก็ทำหน้าที่ของท่านด้วยจิตว่าง ท่านจึงทำได้ดีและมีความสุข ทีนี้เราเป็นลูกศิษย์เราก็ทำตามอย่าง ขอให้เข้าใจความว่างจิตว่าง แล้วทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่างจะไม่มีความทุกข์เลย จะเป็นสุขอยู่ในตัวการกระทำ และทำได้ดีด้วย
นี่เรื่องสิ่งทั้งสามนี้คือ ภาวะสะอาด ภาวะสว่าง ภาวะสงบ มีอยู่ที่จิต แล้วเป็นจิต สะอาด สว่าง สงบ และจิตนั้นไม่ยึดถืออะไรโดยความเป็นตัวตนของตน จิตนั้นก็คือจิตว่าง นี้หวังว่าคุณคงเข้าใจคำว่าจิตว่างอย่างถูกต้องอย่างนี้แล้วใช้ประโยชน์ให้ได้ ไอ้พวกโน้นเขาถือว่าจิตว่างไม่ได้เพราะมีอารมณ์ ก็ถูกแล้ว จะมีอารมณ์ก็มีไปสิแต่มันไม่ได้ยึดถืออารมณ์ มันก็ว่าง
ฉะนั้น เรามีเงินโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นในเงิน จิตก็ยังว่างอยู่ หรือมีอะไรก็ตามที่เป็นหน้าที่การงาน มีอะไรที่มันต้องทำไป โดยที่ระมัดระวังอย่าให้มันไปยึดมั่นถือมั่นเข้า ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นมันจะกัดเอาเจ็บปวดล่ะ คุณจำไว้ก็คอยๆสังเกต ไปยึดมั่นสิ่งใดสิ่งนั้นมันจะกัดเอาเจ็บปวด มันก็ไม่ยึดมั่น ก็ว่างก็ไม่มีไม่รู้จะกัดใคร มันไม่มีอะไรจะกัดใคร มันก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่เจ็บปวด
นี่คำบรรยายครั้งที่ ๙ ครั้งที่ ๘ เว้ย... เรื่อง สะอาด สว่าง สงบ ทำให้เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในใจของเราได้จริง ทำให้เรามีจิตว่างซึ่งเป็นสุขอยู่ในตัวมันโดยอัตโนมัติ แล้วมีสมรรถนะ มีอานุภาพ ที่ทำหน้าที่การงานอะไรให้มีผลดีถึงที่สุด
ขอกำชับเป็นคำสุดท้ายว่า จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยังมีต่อนะ ยกผลงาน ให้ความว่าง ทุกอย่างสิ้น กินอาหาร ของความว่าง อย่างพระกิน ตายเสร็จสิ้น แล้วในตัว แต่หัวที หมายความว่าตั้งแต่เกิดมาอย่ายึดถือว่ามันเป็นตัวเราของเรา ให้มันว่างตั้งแต่แรกเกิดมา นี้ก็มีบรรยายกันเพียงเท่านี้ สำหรับวันนี้ก็ปิดประชุม
มันจะเป็นอะไรนักหนาถ้าเอาเรื่องอย่างนี้ไปสอนในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย มันจะบ้าหรือดี คิดกันหน่อย นี่เป็นปัญหาถกเถียงที่เขาไม่ยอมให้มีการสอนไอ้ความรู้อย่างนี้ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัย จนเราต้องตั้งมหาวิทยาลัยเถื่อนต่อหางหมา