แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ถาม ตามที่ผมได้ท่องธัมมจักกับปวัตตนสูตรนะครับ และมีเรื่องข้องใจอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์คือ เรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งมีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นะครับ คำว่าทุกข์นี่ครับ ความหมายคือว่าเป็นอย่างนี้ ๆ และเป็นสิ่งที่ควรละเสีย เราละได้แล้ว ทั้งสามอย่างนี้มีความหมายว่าอย่างไรบ้างครับ
ท่านพุทธทาส สรุปคำถามว่าอย่างไรนะ สรุปคำถามว่าอย่างไร
ผู้ถาม สรุปคำถามคือว่า คำว่าทุกข์นะครับ ความหมายว่าเป็นอย่างนี้ ๆ หมายถึงอะไรครับ
ท่านพุทธทาส ว่ามาให้หมด
ผู้ถาม และก็เป็นสิ่งที่ควรละเสีย หมายความว่าอะไร และเราละได้แล้วนี้ก็หมายความว่าอะไร อยากจะให้อาจารย์ช่วยแสดงรายละเอียดให้ถ่องแท้อีกครั้งหนึ่งครับ
ท่านพุทธทาส มันเป็นเรื่องของวิธีพูด และก็มีลักษณะเหมือนกับปรัชญาตามแบบสมัยโบราณ จะมีรูปแบบนี้ มีรูปวิธีพูดกันสามอย่างอย่างนี้ ก็เรียกกันว่า สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ คือว่าเมื่อจะรู้สิ่งใดอย่างสิ้นเชิงนั้น เขาจะให้หลักไว้สามชั้นอย่างนี้ ให้รู้สิ่งนั้นมันคืออย่างไร ทีนี้เขาไม่ได้อธิบายว่า ทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ คือมันรู้อยู่แล้วในใจของบุคคลนั้น ก็ทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ เป็นวิธีพูดให้เสร็จไปสักขั้นตอนหนึ่ง ที่ว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ สมุทัยเป็นอย่างนี้ ๆ ไอ้คนนั้นมันเห็น เห็นอยู่แล้วเอง ไม่ใช่เอามาสำหรับให้คนอื่นเรียนรู้ เขาพูดสำหรับคนนั้น คนนั้นมันก็รู้ของมันเองอยู่แล้วว่าไอ้ที่เรียกว่าความทุกข์ที่มันเกิดอยู่กับเรา มันเป็นอย่างนี้ ๆ ตามที่มันรู้สึกอยู่ นี่เมื่อเขาเห็นทุกข์เขาก็เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันเป็นอย่างนี้ ๆ ตามที่มันเนื่องกันอยู่ นิโรธ ถ้าไม่มี ไม่มีเหตุแห่งทุกข์นี่ มันก็เป็นอย่างนี้ ๆ ตามที่เขารู้สึกอยู่ในใจ การปฏิบัตินี่ เมื่อเขาปฏิบัติอยู่ หรือมีอยู่ เขาก็รู้ว่ามรรค คืออย่างนั้น ๆ นี่อันดับแรกที่สุดให้รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ปรากฏแก่ใจผู้นั้นโดยแท้จริง
นี้มาถึงตอนที่สอง ว่าสิ่งนั้นหรือเกี่ยวกับสิ่งนั้นนะ เราจะต้องทำอย่างไร ที่เขาเรียกว่ากิจจญาณ แปลว่าหน้าที่ ญาณในหน้าที่ เมื่อความทุกข์เป็นอย่างนี้ ๆ ๆ แล้วเราจะต้องทำกับมันอย่างไร ก็ให้รู้จักชัดแจ้ง ไอ้ความที่มันเป็นอย่างนั้น ๆ ๆ นะ เรามีหน้าที่ที่ต้องรู้ให้ชัดแจ้ง เกี่ยวกับสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์นะ มันเป็นอย่างนั้น ๆ ๆ แล้วเราก็มีหน้าที่ ๆ จะต้องละมันเสีย เกี่ยวกับนิโรธ ไม่มีสมุทัย มันเป็นอย่างนั้น ๆ เรามีหน้าที่ ๆ จะต้องทำให้มันปรากฏออกมา ให้มันแจ่มแจ้งให้มันแจ่มแจ้งแก่เรา ปรากฏแก่เรา มรรคเป็นอย่างนี้ ๆ เราก็มีหน้าที่ต้องทำให้มันเกิดขึ้น มีหน้าที่ที่ต้องทำให้มันเกิดขึ้น ทุกข์มีหน้าที่ต้องรู้ให้ชัด สมุทัยมีหน้าที่ต้องละเสีย นิโรธ เรามีหน้าที่ ๆ ทำให้แจ่มแจ้ง มรรคมีหน้าที่ที่เราจะต้องทำให้มี
นี่เพื่อความแน่นอนยังมีความรู้อีกระดับหนึ่งเป็นระดับที่สาม ไอ้หน้าที่อย่างนั้น ๆ นะ เราทำเสร็จหมดแล้ว ที่จริงว่าทุกข์นี่เรารู้แล้ว สมุทัยเราละเสียได้แล้ว นิโรธนี่เราทำให้แจ้งได้แล้ว มรรคนี่เราทำให้มีขึ้นมาแล้ว เรียกว่ามันสมบูรณ์ที่สุดในการวางหลักหรือในการพูดจา มันมีในแง่ตรรกวิทยา ปรัชญา รวมอยู่ด้วยในวิธีพูดชนิดนั้น ถ้าคุณรู้เข้าใจเรื่องนี้นะ เอาไปใช้กับเรื่องอะไรก็ได้ ไอ้สามอย่างนี้ รู้ว่ามันเป็นอย่างไร รู้ว่าเรามีหน้าที่ทำกับมันอย่างไร รู้ว่าเราทำเสร็จแล้วหรือยัง สามอย่างนี้ เอาไปใช้กับรู้อะไรก็ได้ ถ้ารู้ครบสามอย่างนี้ เรียกว่ารู้ ๆ จริง รู้เสร็จแล้ว ๆ ไม่ใช่ว่าเพียงแต่รู้ว่ามันทำเสร็จแล้ว มันรู้ แล้วก็รู้ว่าควรทำอย่างไรและก็รู้ว่าทำเสร็จแล้ว มันเหมือนกับว่าคบของใหม่ ๆ อะไรมา ถ้าเราจะรู้ไอ้ของนั้นจริงก็ต้องรู้ว่าไอ้ นี่มันคืออย่างไร แล้วเรามีหน้าที่เกี่ยวกับมันอย่างไร แล้วเราทำเสร็จแล้วหรือยัง นั้นเรื่องอะไรก็ได้ จำไว้เถอะ เอาไว้ไปใช้สำหรับที่จะจัดการกับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งให้ถึงที่สุด ตามหลักแห่งปริวัฏ ๓ ญาณ ๓, ปริวัฏ ๓ มันคืออะไร มันเกี่ยวกับเราอย่างไร เราทำเสร็จแล้วหรือยัง ถ้าตั้งคำถามอย่างนี้มันเป็นตรรกะ เป็นวิถีทางตรรกะ เขาจะพูดให้เป็นหลักปรัชญา อย่างสมัยนั้นเขาก็ต้องพูดอย่างนี้ เป็นนัยยะ
นี่พระพุทธเจ้าก็มาตรัสเกี่ยวกับอริยสัจทั้ง ๔ ในรูปแบบของปรัชญา บางคนเข้าใจแล้ว บางคนยังไม่เข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็รู้แต่ว่าเมื่อตรัสอริยสัจ ๔ ทั้ง ๔ พร้อมกันไปในคราวเดียวกันในรูปแบบอย่างนี้นะ ทั้งชุดเลยนี่ นี่ท่านตรัสอย่างที่ว่ามันเป็นปรัชญา มันมีอยู่ ๔ อย่าง อย่างนี้ นี่ว่าจะตรัสให้เป็นพรหมจรรย์ เป็นตัวศาสนา เป็นตัวการปฏิบัติ ก็พูดถึงแต่มรรคมีองค์ ๘ อย่างเดียวก็พอ การปฏิบัติอริยสัจ ไม่ใช่ต้องปฏิบัติมากมายอะไร แต่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ นั่นละ ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้มันก็ครบถ้วน แล้วก็มีผล หมดแล้ว เพราะมันดับทุกข์ได้ เมื่อทุกข์ดับไป เหตุแห่งทุกข์มันก็อยู่ไม่ได้ เพราะมรรคมีองค์ ๘ นั้น เมื่อปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อยู่ เหตุแห่งทุกข์ก็ถูกทำลาย ทุกข์ก็ดับ ทุกข์ก็ไม่มี ความดับแห่งทุกข์ก็ปรากฏแก่เรา
นี่แม้ว่าพุทธศาสนามันเป็นเรื่องของการปฏิบัติในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ เราจะไม่เรียกว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญา เพราะว่าเมื่อถึงตัวพุทธศาสนาจริง ๆ มันต้องทำให้ประจักษ์เป็นเรื่องจริง เป็นสันทิฏฐิโก อะไรขึ้นมาจริง ๆ มันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาโดยเนื้อแท้เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ปรัชญา แต่วิธีพูดในบางเรื่องบางกรณี ในการเริ่มต้น หรือในการพูดอย่างหลักปรัชญามันก็มีเหมือนกัน แต่ว่าไอ้ตัวมันแท้ ๆ มันเป็นพรหมจรรย์เป็นการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแต่วางหลัก นั้นเราจะไม่ถือว่าพุทธศาสนาเป็นเพียงปรัชญาสายหนึ่ง มันไม่ถูก มันไม่จริง มันไม่ยุติธรรม
พุทธศาสนามันเป็นการปฏิบัติในรูปแบบของศาสนา มันเป็นศาสนาหนึ่งไม่ใช่เป็นเพียงปรัชญาแนวหนึ่ง แต่ว่าในรูปแบบของพระศาสนานี้ มันเป็นลักษณะเหมือนกับวิทยาศาสตร์ เป็นวิถีทางวิทยาศาสตร์ มีวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์คือต้องเอาของจริง มาดู มาใคร่ครวญ แจ่มแจ้ง และจัดการลงไปโดยประจักษ์แก่ใจอยู่เสมอ ความที่ประจักษ์แก่ใจอยู่เสมอนี้ ไม่ต้องคำนึง คำนวณ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ปรัชญา แต่มันเป็นลักษณะเหมือนกับวิทยาศาสตร์ ไอ้ ความที่ประจักษ์แก่ใจอยู่เสมอนี้เราเรียกว่า “สันทิฏฐิโก” คุณก็ท่องอยู่ทุกวันนี่พอช่วงทำวัตรเย็น มันก็มี สวากขาโต ภควตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจังตัง เวทิตัพโพ นี่ท่องอยู่ทุกวัน ให้เข้าใจคำเหล่านี้แหละ แล้วก็จะรู้ว่าพระธรรมมันมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ข้อที่เป็น “สันทิฏฐิโก” นะยิ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด คือต้องประจักษ์แก่ตา หรือตาปัญญาอยู่เสมอ “อกาลิโก” ไม่ขึ้นอยู่กับเวลานั่นแหละมันยิ่งเป็นวิทยาศาสตร์ มันมีลักษณะมีกิริยาเมื่อไรก็มีปฏิกิริยาเมื่อนั้น เรียกว่า “อกาลิโก เอหิปัสสิโก” มันมีตัวอยู่จริง เรียกมาดูได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าสวรรค์หรือนรกก็ตามมันอยู่ชาติหน้า งั้นจะเรียกใครมาดูได้ละ ความเป็นเอหิปัสสิโก มันก็มีไม่ได้เป็นไม่ได้ “อปนยิโก” ควรน้อมเข้ามาใส่ตัวนี่ มันยิ่งเป็นวิทยาศาสตร์เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำได้ จัดการให้เป็นประโยชน์ขึ้นมาได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของคำนวณหรือความรู้แห่งการคำนวณ ซึ่งเป็นปรัชญา และข้อสุดท้าย “ปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิ” เฉพาะตน ๆ เพราะมันเป็นเรื่องทางจิตใจที่ต้องเห็นด้วยใจของตน เฉพาะตนก็กลายเป็นเรื่อง แต่มันก็มีความหมายของสันทิฎฐิโกรวมอยู่ด้วย หมวดนี้ด้วยนะ ไอ้ปัจจัตตังเวทิตัพโพ นี่ คือเป็นเอง สันทิฎฐิโกเห็นเอง พอมาถึงปัจจัตตังเวทิตัพโพ นี่โดยเฉพาะตน เห็นเองเฉพาะตน แล้วก็มีคำว่าวิญญูหิอยู่ด้วย วิญญูหินั้นก็แปลว่าคนที่มีปัญญาตามปกตินะ คนโง่ คนบ้า คนใบ้ คนปัญญาอ่อน ไม่รวมอยู่ในคำว่าวิญญูหินะ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่สำเร็จประโยชน์แก่คนโง่ คนปัญญาอ่อน บ้าใบ้ เพราะมันไม่รวมอยู่ในคำว่าวิญญูหิ ฉะนั้นมันจึงได้เฉพาะไอ้คนที่ปกติและก็มีปัญญา เป็นคนปกติมีปัญญาหรือคนมีปัญญาเป็นปกตินั้นแหละ มันก็เป็นวิญญูหิ พอจะรู้ธรรมะได้ แต่คนพาล คนโง่ คนหลง คนปัญญาอ่อนมันไม่ได้ ยกออกไปเสีย ก็เป็นอภพฺพ อภัพบุคคลไม่อาจจะเข้าใจได้
นี่พูดทีเดียวหมดเห็นไหม ให้รู้ว่าอริยสัจมีระเบียบถ้อยคำสำหรับพูดในรูปอริยสัจ ๔ อย่างนี้ มันเหมือนกับวางระบบปรัชญาก็เป็นปรัชญาไป แต่ธรรมะพูดให้เป็นปรัชญาได้ แต่ตัวพุทธศาสนาที่ต้องเป็นปฏิบัติ ต้องเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ ดังนั้นมันจึงไปเน้นไอ้อันสุดท้ายในอริยสัจ ๔ คือมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติให้ครบนั่นนะ เขาถามว่าปฏิบัติอริยสัจ ปฏิบัติอย่างไร ถ้าเรารู้จริงจะตอบว่าปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เถอะ เท่านั้นแหละ พอปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ มันก็รู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งคือนิโรธ ทำมรรคให้มี
นี่อยากจะให้รู้กันไว้ทุก ๆ คน ทุก ๆ องค์ เผื่อกาลข้างหน้าว่า ไอ้หลักที่เขาพูดอย่างวิชาหรืออย่างปรัชญาพูดอย่างหนึ่ง พอถึงปฏิบัติมันก็กลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง คำพูดไม่เหมือนกัน จะยกตัวอย่างเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ยืดยาว ที่เราสวดกันยาว ๆ นั่นนะ อวิชชาเกิดสังขาร สังขารเกิดวิญญาณ มันเป็นรูปแบบของปรัชญา ให้รู้ว่าอย่างนั้น เป็นปรัชญาที่มีเหตุผลที่พอจะเห็นแจ้งได้ พอที่จะทำให้มันเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมาได้ พอถึงคราวปฏิบัติ อันนั้นมันสำหรับศึกษาอย่างรูปปรัชญา ศึกษาและเข้าใจได้ ทีนี้พอถึงคราวปฏิบัติมันมีเพียงแต่ว่า มีสติในเมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น พูดสั้น ๆ ก็มีสติเมื่ออายตนะทำงาน สั้น ๆ แค่นี้นะ มีแค่นี้พอ ปฏิจจสมุปบาทสำหรับรู้คือยาวเฟื้อย พอปฏิจจสมุปบาทสำหรับปฏิบัติมันคือมีสติเมื่ออายตนะทำงาน ก็คือควบคุมได้ที่ผัสสะ เป็นผัสสะแห่งวิชชาไว้เสมอ ก็คือปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทสำเร็จประโยชน์ทั้งสายคือทุกข์ไม่เกิดนะ มีสติเมื่ออายตนะทั้ง ๖ ทำงานนั่นแหละคือปฏิบัติ ปฏิบัติปฏิจจสมุปบาท แต่ตัวปฏิจจสมุปบาทตั้ง ๑๒ อาการ อาการยาวเฟื้อยและก็มีเรื่องมาก แล้วก็มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่จะเป็นไปอย่างนั้นตามธรรมชาติ เมื่อเราจะควบคุมมันให้เหลือนิดเดียว ให้มีสติเมื่ออายตนะทั้ง ๖ ทำหน้าที่เท่านั้นแหละ ก็ควบคุมปฏิจจสมุปบาททั้งหมดได้
ฉะนั้นเรารู้ให้เรารู้กันไว้ว่าเมื่อท่านพูด ในรูปแบบของวิชชาแล้วเรื่องมันก็จะมากหน่อย เป็นแบบรูปปรัชญาก็ได้อะไรก็ได้ แต่เมื่อพูดในรูปแบบจรณะ คือการประพฤติมันเปลี่ยนคำพูดทันทีไปอยู่ในประโยคอย่างอื่น เช่นว่า ปฏิจจสมุปบาทไปอยู่ในคำว่ามีสติ เมื่ออายตนะมันทำหน้าที่ หรือว่าอริยสัจ ๔ มันก็เหลือแต่เพียงอริยมรรคมีองค์ ๘ การปฏิบัติมีเพียงอริยมรรคมีองค์ ๘ เรื่องเดียว แก้ปัญหาเรื่องอริยสัจทั้ง ๔ ได้หมด นั้นการพูดอริยสัจ ๔ โดยพิศดารมันก็เป็นเรื่องของวิชชา เรื่องของปรัชญา หรืออย่างในวงนี้ก็พูดอย่างปริยัติ เป็นเรื่องของปริยัติ พอเป็นเรื่องของการปฏิบัติมันก็เหลือเพียงมรรคมีองค์ ๘ ทำให้ครบถ้วนกันเท่านั้นแหละ เรื่องอริยสัจ ๔ ก็หมดปัญหา เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยจะได้สนใจให้ชัด ไม่แยกออกมาให้ชัดว่าการปฏิบัตินั้นคือทำอย่างไร ในโรงเรียนนักธรรมก็ไม่ค่อยได้สอนกัน ว่าปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทอย่างไรมันก็ไม่ค่อยได้สอนกัน ถ้าสอนกันมันก็จะรู้ว่า อ้อ, มันก็อยู่แค่มีสติรู้อายตนะทั้ง ๖ ทำหน้าที่ ให้ผัสสะนั้นเป็นผัสสะแห่งวิชชาที่มีแสงสว่างเสีย ก็หมดแหละ ปฏิบัติอริยสัจ ๔ นั่นก็ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ พอ อริยสัจทั้ง ๔ แล้วให้ได้รับผลครบทั้ง ๔ เป็นเรื่องอริยสัจ ๔ ที่ได้รับผลโดยสมบูรณ์ นั้นเรื่องอะไรที่ท่านกล่าวไว้มาก ๆ ยาว ๆ ในภูมิปริยัติหรือปรัชญาก็ตาม พอมาถึงเรื่องปฏิบัติแล้วก็อาจจะเหลือประโยคสั้น ๆ เพียงประโยคเดียวก็ได้ ถ้าใครจับได้แสดงว่าคนนั้นมีความรู้ ถ้าใครสรุปเรื่องทั้งหมดนั้นเหลือประโยคเดียวสั้น ๆ ได้ ก็เรียกคนนั้นมีความรู้ในเรื่องนั้นจริง
ธรรมะมันเป็นอย่างนี้การที่ท่านแยกให้มันเป็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ นี่ต้องรู้ ก็รู้แล้ว สมุทัย นี่ต้องละ เราก็ละแล้ว นิโรธ นี่ต้องทำให้แจ้งขึ้นมา ให้รู้แจ้งขึ้นมา เราก็ทำให้รู้แจ้งแล้ว มรรค มันต้องทำให้มีขึ้นมา เราก็ทำให้มีขึ้นมาแล้ว ความจริงมีหลัก คืออะไร ข้อที่หนึ่ง เพื่ออะไร หรือต้องทำอย่างไร นี่ละที่สอง ทำเสร็จแล้วหรือยัง นี่ที่สาม เอาไปใช้ในเรื่องทำอะไรก็ได้ในโลกนี้ ใช้ได้ มันคืออะไร เราจะต้องทำอะไรกับมัน แล้วเราทำเสร็จแล้วหรือยัง นี่ก็เรียกว่าปริวัฏ ๓ ที่เกี่ยวกับอริยสัจ นี่เขาเรียกปริวัฏ ๓ หรือ ญาณ ๓ เขาก็เรียก นี้มันมี ๔ อริยสัจ อริยสัจ ๑ มี ๓ มันก็เลยมี ๑๒ คูณกันเข้าเป็น ๑๒ ที่เรียกมันมีอาการ ๑๒ มีปริวัฏ ๓
ปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ เอาไปใช้กับกิจการที่สำคัญในโลกเรื่องอะไรก็ได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นว่าคุณจะสึกไปมีเมีย และคุณมีลูก คุณจะรู้ว่าลูกนี้มันคืออะไร แล้วลูกนี้เราจะต้องทำกับมันอย่างไร อันที่สอง และว่าเราทำเสร็จตามนั้นแล้วหรือยังนี่ขั้นที่สาม เรียกว่าปริวัฏ ๓ เกี่ยวกับการมีลูก ตั้งแต่มีลูกมีเมียมีทรัพย์สมบัติอะไรก็ตามเขาว่าถ้าทำให้ถูกต้องในหลักทั้ง ๓ นี่ได้ละก็สมบูรณ์แล้ว นี่เรื่องของญาณ ๓ หรือปริวัฏ ๓ ของอริยสัจเป็นอย่างนี้
เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก หรือคุณจะซักอีกก็ได้ ถ้ามันเหมือนมีที่ไหนไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วก็เป็นปัญหาอื่นต่อไป
ผู้ถาม อยากจะถามปัญหา คำว่านิพพานนี่ครับ นิพพานของพระสมมติสงฆ์นี่ครับ แปลว่านิพพานกันตลอดทั้งวันหรืออย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส ถามใหม่ซิ ว่าอย่างไรนะ
ผู้ถาม เอ้อม, คำว่านิพพานนี่ครับ ของพระพุทธเจ้า กับของสมมติสงฆ์ นี่ต่างกันอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส ของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์ นิพพานจริงนิพพานสมบูรณ์เต็มขนาด ทีนี้ไอ้นิพพานของคนธรรมดานี่ อย่าเอาแต่สมมติสงฆ์ไปด้วยก็ได้ คนธรรมดาก็ได้ เป็นเพียงขณะที่มันยังไม่เกิดกิเลส ขณะใดที่มันยังไม่เกิดกิเลสก็มีความเย็นเป็นนิพพานได้ก็เท่านั้น พอเกิดกิเลสแล้วก็หายไป ก็เป็นทุกข์ เป็นวัฏฏะ เกิดเป็นความเดือดร้อน แต่ของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์นั้น ก็มันหมดกิเลสโดยประการทั้งปวงและตลอดกาล มันต่างกันอย่างนี้
พวกเราธรรมดาก็จะมีนิพพานบ้างก็มีเมื่อจิตมันไม่มีกิเลส ถ้าจิตว่างจากกิเลส เป็นจิตประภัสสร ไม่มีความหมายแห่งกิเลส ก็มีชั่วขณะ ๆ แต่ก็พอที่จะเลี้ยงชีวิตนี้ไว้ ไว้ได้ไม่ให้เป็นบ้านั่นนะ ถ้ากิเลสเขากวนทุกลมหายใจเข้าออกตลอดวันตลอดคืนมันก็ตายแหละ มันก็บ้า มันก็ตาย ขณะที่มันไม่มีกิเลสเราก็มีนิพพานโดยปริยาย ไม่ใช่นิพพานจริงหรือสมบูรณ์เหมือนกับของพระอรหันต์ เราได้ชิมนิพพานโดยตัวอย่างปริยาย ที่จิตมันเย็นปราศจากกิเลสคือความร้อน คำว่านิพพานนั้น แปลว่าหมดร้อน ไม่มีร้อน คำ ๆ นี้ใช้กันมาแต่โบราณกาลโน้น คือมันเย็นมันไม่มีร้อน มันเป็นของที่ติดไฟ ไฟลุกอยู่พอมันดับไฟลงก็เรียกว่ามันนิพพาน เรียกว่าถ่านไฟนิพพาน แกงกับในครัวนิพพานเย็นลงกินได้ นั่นก็ใช้กับวัตถุเมื่อวัตถุมันเย็น ใช้กับสัตว์เดรัจฉานเมื่อสัตว์เดรัจฉานตัวนั้นไม่มีอันตราย เพราะฝึกดีแล้วไม่มีอันตรายอีกต่อไป เรียกว่ามันเย็น นี้ของคนเราเมื่อใจคอมันเย็น เมื่อกิเลสมันไม่รบกวนนั่นแหละคือนิพพาน
แม้แต่เย็นอกเย็นใจตามธรรมดานี่ก็สงเคราะห์ ใช้คำว่าสงเคราะห์รวมเข้าไปในนิพพาน มันจะเป็นนิพพานอย่างเดียวกันไม่ได้หรอก แต่ว่าให้มันได้รู้รส รู้อาการ หรือได้ชิมรสนะ เหมือนชนิดเดียวกันได้ รส เมื่อกิเลสไม่เกิดขึ้นรบกวน คุณจำไว้อย่างนั้นนะรสของพระนิพพาน พอกิเลสเกิดขึ้นรบกวนก็เป็นรสของวัฏฏะสงสาร พอกิเลสไม่รบกวน จิตมันว่าง มันเย็น มันหยุด มันเกลี้ยง เมื่อนั้นกำลังชิมรสของพระนิพพาน ผมเรียกว่านิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้คืออย่างนี้ ทีนี้คนเขาไม่เข้าใจ เขาก็ด่าเราว่าเราพูดโกหกหลอกลวงประชาชน นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ เพราะเขาได้รับคำสั่งสอนมาแต่ว่าต้องอีกหลายหมื่นชาติแสนชาติเขาจึงจะนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ได้อย่างไร มันไม่ใช่ความหมายอย่างเดียวกัน แต่มันเป็นความอะไรเดียวกันโดยปริยายนะ ปริยายเดียวกัน พระอรหันต์ท่านหมดกิเลส ท่านก็เย็นหมดกิเลส เรานี่เย็นเมื่อกิเลสมันว่าง บางครั้งบางคราวโดยเหตุบังเอิญก็ได้ ถ้าโดยเหตุบังเอิญนี่เขาก็เรียก “ตทังคนิพพาน” มันมีความเป็นไปบังเอิญในชีวิตของมัน กิเลสมันไม่เกิดก็เป็นนิพพาน เพราะว่างกิเลสชนิดนั้น ถ้าเราบังคับจิตไม่ให้เกิดกิเลส มันก็ว่างไปจากกิเลส มันก็เป็นนิพพานอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่าอะไรนะ “นิคัมปณนิพพาน” คำเหล่านี้ไม่มีในพระบาลี ไม่มีในพระพุทธภาษิต มีหนังสือชั้นหลัง ๆ ต่อมาเขาอธิบาย มันมีได้ มีบ้างเหมือนกันแหละ เช่น ตทังคนิพพาน ทิฏฐธรรมนิพพาน นี้ก็มีพุทธภาษิตนะ แต่ที่มาจัดเป็นรูป เป็นแบบ เป็นชุดกันนี่มาจัดกันชั้นหลัง ในหนังสือชั้นหลัง
เมื่อหมดกิเลสสิ้นเชิงเป็นพระอรหันต์นั้นก็เรียกว่า”สมุจเฉทนิพพาน” “สมุทเฉทนิพพาน”เราเรียกเป็น ”ประหาร” ก็เรียก เรียกเป็น “วิมุตติ “ ก็เรียก “ตทังควิมุตติ” “นิคัมปณวิมุตติ” “สมุจเฉทวิมุตติ” “ตทังคประหาร” “นิคัมปณวิหาร” ”สมุจเฉทประหาร” มี ๓ เป็นหลัก ถ้าบังเอิญเป็นก็เรียกเป็น “ตทังค” จัดการมันลง ไปควบคุมมันไว้เรียกว่า “วิขัมภน” แต่ถ้ามันหมดเลย หมดสิ้นเลย สิ้นกิเลส ก็เรียกว่า “สมุจเฉท” “ตทังค” แปลว่าบังเอิญด้วยเหตุการณ์นั้น ๆ “วิขัมภน” แปลว่าข่มไว้ “สมุจเฉท” แปลว่าถูกตัดทำลายไปโดยสิ้นเชิง คุณควรจะตอบได้เองว่านิพพานของคนธรรมดากับนิพพานของพระพระพุทธเจ้าต่างกันอย่างไร ทางโน้นมันจะเป็น “สมุจเฉท” ทางเรามันจะเป็น “วิขัมภน” บ้าง เป็น “ตทังค” ก็ได้
ถ้าอยากจะรู้เรื่องนี้จริงก็คอยเฝ้าสังเกตุตัวเองว่าเวลาไหนบ้างที่กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นเผาลน จะรู้นิพพานจริงกว่าผมพูดให้ฟังหรือไปอ่านหนังสือ คุณไปเฝ้าดูตัวเองเวลาไหนบ้างที่กิเลสไม่เผาจิตใจเมื่อนั้นแหละ มันอยู่กับนิพพาน จะโดยบังเอิญก็ได้หรือโดยคุณพยายามมันก็ได้ มันจึงเป็นนิพพานชั่วขณะ ๆ หรือว่าในระดับที่ยังไม่เต็มเปี่ยม โดยกาลก็ชั่วขณะ โดยเทศะก็คือไม่เต็มเปี่ยม เป็นวิทยาศาสตร์โดยTime ก็ว่ามันชั่วขณะ โดยSpace มันก็ไม่เต็มเปี่ยม นั่นคือนิพพานที่เราอยากจะมีกันได้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ (นาทีที่ 32.32 – 32.52 ไม่มีเสียง)
พระพุทธเจ้านะ กับของพระอรหันต์ ของพระอรหันต์ก็แตกต่างกันก็คือ มันติดต่อกันเป็นสายเดียว ก็คือมันขาดจริง ๆ แต่ส่วนของเรานี่มันเกิดดับ ๆ ๆ ตามเหตุตามปัจจัย นี่เราก็สังเกตุดูตัวเราเองว่าเวลาไหนบ้างที่จิตใจมันเกลี้ยง มันเบาสบาย มันเย็น ไม่มีกิเลสมารบกวนเลย นี่จำไว้อย่างนี้ และเวลาไหนที่มันร้อนอยู่ด้วยราคะ โทสะ โมหะ มันเป็นอย่างไร คอยสังเกตุดูให้ดี และก็จำไว้นี่เป็นอีกอย่างหนึ่ง เอาไปเปรียบเทียบกันดู นิพพานกับวัฏฏะสงสารนะมันต่างกันอย่างไร เมื่อเกิดกิเลสนั้นเราเรียกวัฏฏะสงสาร มันมีมโนกรรมที่ปรุงแต่งเป็นความคิด เป็นผลแห่งความคิด เป็นอะไร เป็นรูปแบบวัฏฏะสงสาร วัฏฏะสงสารอย่างนี้นะ ไม่ใช่อย่างที่เขาพูดกันว่า มันก็ต้องตายแล้วตายอีกเข้าโลงแล้วเข้าโลงอีก จึงจะเป็นวัฏฏะสงสารแบบโน้น แบบที่ไม่สันทิฏฐิโก ทีนี้เราเป็นแบบสันทิฏฐิโก วัฏฏะสงสารที่เกิดกิเลสมันจะมีปฏิกิริยาอย่างไรขึ้นมา เป็นทุกข์เหมือนกับไฟเผา แล้วมันก็ยังไม่หยุด มันก็ยังจะต่อสู้ดิ้นรนให้เกิดกิเลสอีกแผดเผากันอีก วนอยู่อย่างนี้ ในวัฏฏะสงสารที่เป็นสันทิฏฐิโกที่มีอยู่ในจิตใจของเรา แต่ที่เขาพูดกันโดยภาษาธรรมดา ก็ว่าต้องเวียนว่ายตายเกิด ตายเข้าโลงแล้วเกิดใหม่ ตายเข้าโลงแล้วเกิดใหม่ ตายแล้วเกิดใหม่ไม่มีที่สิ้นสุดนั้นคือวัฏฏะสงสาร และเขาพูดอย่างนั้นก็อย่างนั้น ผมก็ไม่ได้จะขัดคอลบล้างอะไรเขา ก็มันไม่มีความจำเป็น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปเลิกล้างไอ้คำพูดเหล่านั้น ให้มันกลายเป็นคนบ้า คนอวดดี คนที่ยกย่องตัวเองเป็นศาสดา คือไม่ต้องละ เราพูดกันแต่ชนิดที่มันเป็นสันทิฏฐิโกก็แล้วกัน เมื่อไรเป็นนรก เมื่อไรเป็นเดรัจฉาน เมื่อไรเป็นเปรต เมื่อไรเป็นอสุรกาย เมื่อไรเป็นเทวดา เมื่อไรเป็นพรหม เมื่อไรเป็นมนุษย์ โดยคุณธรรมในใจ ให้รู้สึกอยู่ในใจ อ้าวกูเป็นสัตว์เดรัจฉาน กูมันโง่เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน เมื่อเป็นเปรต คือหิว ๆ ทะเยอทะยาน สร้างวิมานขึ้นมาในอากาศ เป็นนรกร้อนเหมือนไฟเผา เป็นอสุรกายขลาดกลัว ไม่กล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ ไม่กล้าแสดงตนไม่กล้าต่างๆ
ก็มีเป็น, สรุปความได้ว่านิพพานสมบูรณ์เด็ดขาดตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง ของสมมติสงฆ์และของบุคคลทั่วไป ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์คือนิพพานเป็นขณะ ๆ และก็ควรจะพูดว่าไม่ ไม่เต็มรูป นิพพานชั่วขณะตามเหตุปัจจัย เมื่อว่างกิเลสก็เป็นนิพพานได้พอสมควร แต่ถือว่ารสชาติเดียวกัน รสชาติเดียวกัน เหมือนของตัวอย่าง ก็รสอย่างเดียวกันกับของ ของที่เป็นของจริง เหมือนน้ำทะเลมันก็เค็มอย่างนั้นละ คือเอามาจิบชิมดูเป็นตัวอย่างสักนิด มันก็เค็มอย่างนั้นละ ถ้านิพพานจริงมันก็ได้สมบูรณ์ตลอดเวลา ถ้านิพพานชั่วขณะมันก็ไม่สมบูรณ์และไม่ตลอดเวลา แต่ก็ยังดี เป็นสมัยวิมุตติ เป็นพวกสมัยวิมุตติ หลุดพ้นชั่วคราวชั่วขณะก็ยังดี ไม่งั้นมันจะบ้าตาย ถ้ามันมีกิเลสตลอดทุกลมหายใจเข้าออก คุณไปคิดดูสิว่ามันจะเป็นอย่างไร ไปศึกษาดูเมื่อมีกิเลสมันเป็นอย่างไร เมื่อมีกิเลสอย่างนั้นทุกลมหายใจเข้าออกไม่กี่วันมันตายแน่ มันไม่ตายก็บ้า ขอให้มันมีไว้บ้างก็ยังดี ไอ้นิพพานขั่วขณะ ๆ อย่างน้อยก็เวลาหลับที่สนิทที่มันไม่มีกิเลสปรุงขึ้นมา ก็เป็นพักผ่อนที่ดี เย็น สบาย ถ้านอนหลับสนิท
นิพพานนะ ๆ ที่เขาสอนกันในโรงเรียนนักธรรม นี่ว่าอะไรนะไม่ทิ่มแทง หรือไปหมด ดับหมดนะ เมื่อผมเรียนผมก็เรียนอย่างนั้นนะ แล้วก็บอกกันมาอย่างนั้น แต่เดียวนี้เราไปค้นคว้าเอาเองจากพระบาลี จากอัตถกถา มันพบว่าคำว่านิพพาน โดยคำพูด โดยศัพท์ โดยนี่มันแปลว่าเย็น มันแปลว่าดับความร้อน หมดความร้อน คือมันเย็น ก็เป็นคำพูดที่ชาวบ้านลูกเล็กเด็กแดงเขาพูดกันอยู่ ในตามบ้านตามเรือนในครัวในอะไรก็ได้ กินกับข้าวยังร้อนกินไม่ได้ต้องรอมันนิพพาน นิพพานแล้วกินได้ ก็เคยบอกหลายหนแล้วว่าไอ้คำธรรมะ ไอ้ศัพท์บัญญัติเฉพาะเทคนิคดั้งเดิมของธรรมะ นี่เอามาจากศัพทธรรมดาของชาวบ้าน ในบ้านในเรือนในครัวในอะไรทั้งนั้นเลย เพราะว่าเขาจะไม่ตั้งคำใหม่ขึ้นมา เพราะตั้งคำใหม่ขึ้นมาก็ไม่มีใครฟังถูก เอาคำนั้นแหละมาใช้ให้ความหมายใหม่ เช่นคำว่าถนนสำหรับเดินนั่น ก็เอามาใช้ในทางปฏิบัติเพื่อนิพพาน เช่นคำว่าของสกปรก เหม็นโฉ่นั่น เอามาเป็นชื่อของกิเลส คำว่ากิเลส คำว่าอาสวะเป็นชื่อของหนองแผล เป็นชื่อของอาสวะกิเลสเป็นต้น เอาคำที่ชาวบ้านมีอยู่แล้วมาใช้เป็นคำบัญญัติเฉพาะ ให้ความหมายใหม่ แม้แต่คำว่านิพพานนี่ คำว่าสังฆะ แปลว่าหมู่ หรือฝูง ฝูงสัตว์ก็เรียกว่าสังฆะ ธรรมะนี่ก็จึงทรงอยู่ได้ ๆ ไม่ล้ม
ใครมีปัญหาอะไรอีก
ผู้ถาม ผมอยากจะถามอีกข้อคือว่า ญาณทั้ง ๓ นั้นมีส่วนช่วยในการถึงนิพพานอย่างไรบ้าง
ท่านพุทธทาส มันไม่ได้ช่วยไปถึงนิพพาน มันเป็นเครื่องวัดว่าไอ้การปฏิบัติของเรานั้น ไอ้สิ่งที่ต้องปฏิบัตินั่นนะทำเสร็จหรือยัง บริบูรณ์หรือยัง การปฏิบัตินั่นนะเป็นเครื่องช่วยไปนิพพาน แต่ญาณ ๓ เป็นเครื่องวัดว่าการปฏิบัตินั้นสมบูรณ์หรือยัง ถ้าสมบูรณ์ก็คือว่าจบเรื่อง ถึงที่สุด และประกาศตัวเป็นผู้รู้ได้ เป็นผู้ตรัสรู้ เป็นสัมมาสัมพุทธได้ ถ้าเรื่องนี้มันทำเสร็จจนเรียกว่ามีญาณ ๓ ถ้าเรื่องนี้เสร็จ มันประกาศตัวเป็นผู้สำเร็จในเรื่องนี้ได้ ไอ้ที่ส่งไปนิพพานนั้นคือการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ญาณ ๓ เป็นหลักเครื่องวัดในรูปแบบปรัชญา (นาทีที่ 42.02 – 42.18 ท่านพูดเป็นภาษาใต้ ...ว่าไม่มีใครกล้าถามสักคน.......)
ผู้ถาม มันมีคำว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในทางภาษาธรรม มันเกิดมันเกิดทุกข์ ตายมันถึงดับ คำว่าแก่ คำว่าเจ็บนี่ ในทางภาษาธรรมมันหมายถึง เช่นไร
ท่านพุทธทาส เกิด คือเกิดมา แก่ คือเปลี่ยนไปเลื่อนไปหาความดับ ตายคือดับ เจ็บ คืออุปสรรคบางอย่างบางประการที่แทรกเข้ามา ชีวิตโผล่ขึ้นมาเรียกว่าเกิด เปลี่ยนไปหาความดับเรียกว่าแก่ มีอะไรมาแทรกแซงให้เจ็บปวดเรียกว่าเจ็บ ในที่สุดมันก็ดับ ตาย ในทางภาษาธรรมมันหมายถึงกิริยาอาการที่มันเกิดขึ้นแก่สังขารโดยไม่ต้องมีสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะว่าคนมันต้องมีตัวตน WHO นาย ก. นาย ข. นาย ง. มันเกิดออกมาแล้วโว้ย, มันแก่แล้วโว้ย, มันนอนเจ็บอยู่โว้ย, มันตายแล้ว, มันฝั่งโว้ย, พูดกับสังขารที่เป็นบุคคล นี่พูดถึงสังขารที่ไม่ถูกสมมติเป็นบุคคล เป็นสังขารตามธรรมชาติ ก็หมายความว่ามันก็เกิดขึ้น หรือปรากฏออกมา แล้วมันก็เปลี่ยนไป แล้วมันก็แก่ มีอะไรมากระทบกระทั่งบางคราวก็เรียกว่าเจ็บ ในที่สุดมันดับไป มันก็เรียกว่าตาย ก็ดีเหมือนกันถ้าคุณจะพยายามเข้าใจความหมายของชนิดนี้เรื่อย ๆ ไปให้ครบไปทุกเรื่องทุกราวดีมาก ผมกล้าสัญญาว่าดีมาก คุณจะรู้ธรรมะเร็ว รู้ธรรมะเร็วมาก ถ้ารู้จักแยกแยะ ใช้มองเห็น ทั้งภาษาคน และภาษาธรรม มันยังมีละเอียดที่เป็นภาษาวิญญาณนะ เกิดความรู้สึกว่า “ตัวกู” ขึ้นมาเรียกว่าเกิด พอรู้สึกตัวกูค่อย ๆ เปลี่ยนก็เรียกว่ามันแก่ พอถูกกระทบด้วยอะไรแรง ๆ เรียกว่ามันเจ็บ พอรู้สึกว่าตัวกูดับก็คือมันตาย นี่อย่างละเอียด เป็นภาษาธรรมที่ละเอียดขึ้นไปอีก โดยเอาไอ้ ความรู้สึกว่าตัวกูที่เกิดขึ้นด้วยอวิชชานั่นเป็นหลัก ตัวกูเกิด ความรู้สึกว่าตัวกูเกิดคือความเกิด ความรู้สึกว่าตัวกูดับคือความดับ ไอ้ความรู้สึกว่าตัวกูร่อยหรอไปเรียกว่าความแก่ ถ้ามีความคิดนึกอะไรเข้ามากระแทก มากั้นมาขวางมาอุปสรรคเรียกว่ามันเจ็บ
อ้าว, ใครมีปัญหาอะไรอีกเดี๋ยวเวลามันก็หมดหรอก
ผู้ถาม ตามปกติกระผมสอนอยู่ที่วิทยาลัยพละ ทีนี้มันมีปัญหาอยู่สองอย่างที่แก้เองไม่ได้ คือหนึ่งปัญหาเกี่ยวกับการขโมย การขโมย ๆ ของอะไรอย่างนี้ กับปัญหาที่สองคือปัญหาทำนองกระทำชำเราอะไรพวกนั้น ทีนี้ทั้ง ๆ ที่ว่าปัญหาสองอย่างนี้มีการป้องกันและวางโทษไว้อย่างมากด้วย แต่รู้สึกว่าจะแก้ด้วยทำนองนี้มันแก้ไขไม่ได้ ทีนี้อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยให้หัวข้อธรรมะ ให้หัวข้อธรรมะและมาช่วยแก้ไขลักษณะอย่างนี้ด้วยครับ
ท่านพุทธทาส อย่างนี่มันไม่ใช่ปัญหาธรรมะ มันเป็นปัญหาเรื่องการปกครอง ทีนี้ถ้าเราปกครองโดยกฏหมายโดยอาชญา มันก็ได้ผลอย่างที่เป็นอยู่ ยิ่งไม่ ยิ่งไม่ได้ผลมากขึ้นในโลกปัจจุบันที่เจริญด้วยเครื่องส่งเสริมกิเลส ก็เรียกว่าการปกครองหรือการแก้ปัญหานั้นมันไม่ได้ ทีนี้ถ้าถามผม ผมก็บอกว่าทำคนให้มันมีศีลธรรม ทำคนให้มันมีศีลธรรม ปัญหาเหล่านี้มันก็หมดแหละ จะทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทำคนให้มันมีศีลธรรม ทำเยาวชนให้มันมีศีลธรรม วัยรุ่นให้มันมีศีลธรรม เด็ก ๆ ให้มีศีลธรรม มันก็ไม่มีขโมย ไม่มีข่มขืนกระทำชำเรา ไม่มีทุกอย่าง แต่ว่านักปกครองเดี๋ยวนี้เขาไม่มองเห็น เขาไม่เอา เขาไม่พยายามที่จะเอาศีลธรรมเข้ามาแก้ปัญหา ผมตะโกนมาตั้งยี่สิบสามสิบปีก็ไม่มีผล ไม่มีนักปกครองหรือรัฐบาลไหนจะรับความคิดเรื่องว่าจะแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยศีลธรรม ทำเด็กทำประชาชนให้มีศีลธรรม ปัญหาเหล่านี้มันก็หมด ทำให้คนมีศีลธรรมมันก็ไม่ทำสิ่งเหล่านั้น เดี๋ยวนี้มันไม่มีศีลธรรมคิดแต่จะได้คิดแต่จะเอา ไม่บังคับกิเลสไม่บังคับความรู้สึก มีแต่จะเอาตามความรู้สึก มันก็ขโมย ข่มขืนกระทำชำเราอย่างที่เป็นปัญหากันมากขึ้น ๆ มันมีเท่านี้แหละ ที่ว่าจะเอากฏหมายปกครองหรือจะเอาศีลธรรมเป็นเครื่องปกครอง เราว่าใช้ศีลธรรมเป็นเครื่องปกครองดีกว่า และถ้ามันจำเป็นจะใช้มันพร้อม ๆ กันก็ได้ คุณสอนที่โรงเรียนอะไร
ผู้ถาม วิทยาลัยพละ
ท่านพุทธทาส พละ
ผู้ถาม ในเรื่องศีลธรรมนี่มีอะไรบ้าง
ท่านพุทธทาส โอ้ย, พูดกันมาเยอะแยะ ไปหาอ่านเอง เดี๋ยวจะหาว่าผมโฆษณาขายหนังสือ เราพิมพ์ขึ้นมาจนไม่มีเหลือเลย ในหนังสือชุดปกดำที่เรียกว่าธรรมโฆษณ์นั่นนะ เป็นสิบเล่มนั่นนะเรื่องศีลธรรมล้วน ๆ เยาวชนกับศีลธรรม ศีลธรรมกับการเมือง จนกระทั่งอันหลังสุดนี่เมื่อธรรมะครองโลกก็เหลือศีลธรรม นี่ผมพูดเรื่องศีลธรรม พยายามที่จะให้เขาเอาศีลธรรมไปใช้ สิบถึงสิบห้าปีเรื่อย ๆ มา และก็พูดอยู่ทุกวันแหละ ถึงจะพูดวิทยุทุกวันอาทิตย์เดือนละครั้ง ผลพูดทั้งนั้นแหละให้นำศีลธรรมกลับมา
คนมีศีลธรรมโดยรากฐาน มันรักผู้อื่น รากฐานตัว ก ตัว ข ของศีลธรรม ตั้งต้นด้วยรักผู้อื่น เรื่องเกิดแก่เจ็บตายแล้วมันก็ทำกันไม่ลง ฆ่าก็ไม่ลง ข่มขืนก็ไม่ลง อะไรก็ไม่ลง แล้วข้อสองมันก็ว่าบังคับตน บังคับตนคือบังคับจิต บังคับจิตคือบังคับกิเลสนั่นเอง เราเรียกบังคับตน ถ้าบังคับตนได้มันก็ไม่ไปทำเลว ๆ เดี๋ยวนี้คนมันรู้ว่าไอ้นี่เลแต่ะมันบังคับตนไม่ได้มันก็ต้องทำเลว เป็นคนพาลคนชั่วมันก็รู้ว่านี่ชั่วนี่ผิดนี่ไม่ควรทำ นี่มันบังคับตนไม่ได้มันก็ต้องทำ เป็นขโมยมันก็รู้ว่าไอ้ขโมยนี้ไม่ดี มันบังคับตนไม่ได้มันก็ต้องทำ กามราคะเกิดขึ้นมันบังคับไม่ได้ มันไปหาทางอื่นไม่ได้มันก็ต้องข่มขืนนั่นแหละ เพราะมันไม่บังคับตน เราจึงเอาบังคับตนมาเป็นข้อที่สอง ไอ้ข้อที่สามมันถือว่าธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม ถ้าทุกคนมองเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตน ๆ นั้นคือการปฏิบัติธรรม แล้วมันจะจนได้หรือ มันจะจนได้หรือคนนั้นนะ เพราะการทำหน้าที่ของเราคือการปฏิบัติธรรมมันก็ทำไปสนุก ไปอย่างนั้น เพลิดเพลินสนุกมันก็จนไม่ได้ มันก็ ยากจนไม่ได้ เดี๋ยวนี้พลเมืองของเรามันยากจนเพราะมันมองไม่เห็นว่าการทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม หรือว่าได้บุญอยู่ในตัว มันก็จนเป็นส่วนมาก ถ้าว่าหน้านี้ที่คือการทำนาทำสวนทำไร่อะไรก็ตาม นั่นคือการปฏิบัติธรรม มันก็ทำอย่างสนุกมันก็ไม่รู้จักจน ไม่ต้องไปขโมยไม่ต้องไปมีปัญหาอะไร คล้ายกับว่าเป็นสุขเมื่อทำงาน ผมย่อเหลือแต่สามข้อแล้ว ก่อนนี้แจกมากอยู่ ไอ้หนังสือปกดำเล่มไหน ๆ แจกเป็นร้อย ๆ เล่ม
ไอ้หัวข้อศีลธรรมเดี๋ยวนี้เหลือสามข้อแล้ว ข้อแรกมันต้องใช้คำว่ารักผู้อื่น ว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น สิ่งที่มีชีวิตนะ คนก็ได้ สัตว์เดียรัจฉานก็ได้ ต้นไม้ก็ได้ มันมีชีวิต เราต้องรักมัน มันมีชีวิตเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย กับเรา อย่าทำลายมันโง่ ๆ เรียกว่ารักผู้อื่นเถอะ ศีลธรรมลงรากขึ้นมาทันที มันฆ่าเขาก็ไม่ได้ มันลักเขาก็ไม่ได้ ล่วงละเมิดกามารมณ์ ประพฤติผิดในกามารมณ์ก็ไม่ได้ โกหกก็ไม่ได้ ก้คล้ายมันกินเหล้า มันกินไม่ได้ก็เพราะมันกลัวจะไปรำคาญคนอื่น ไปเบียดเบียนผู้อื่น ข้อที่หนึ่งว่ารักผู้อื่น ข้อที่สองว่าบังคับตนหรือบังคับจิตบังคับกิเลส ข้อที่สามว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม กวาดถนนก็ได้ ถีบสามล้อก็ได้ แจวเรือจ้างก็ได้ นั่นคือการปฏิบัติธรรม ตามเหมาะสมแก่เรา ทำนาก็ได้ ทำสวนก็ได้ อะไรก็ได้ ให้ทำหน้าที่ของมนุษย์ หมดปัญหาของมนุษย์ มีความผาสุขเจริญก้าวหน้า เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่เรียกว่าหน้าที่หมด การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นคนมันก็เป็นสุข สนุกสนานอยู่กับการทำหน้าที่ ไม่ต้องไปอาบอบนวดให้เงินเดือนไม่พอใช้ มันเป็นสุขอยู่ที่โต๊ะทำงานถ้าเป็นข้าราชการ ถ้าเป็นชาวนามันเป็นสุขอยู่กับวัวกับควายกับจอบกับดินกับทุ่งนา แล้วแต่ว่าเขามีงานอะไร แจวเรือจ้างก็เป็นสุขอยู่กับแจว ทุกคนไม่ชอบทำงาน ทุกคนเกียจคร้านทำการงานในโลกทุกคน ไม่รักทำหน้าที่ ไม่รักทำการงาน ทำด้วยความจำเป็นบังคับเพราะอยากได้เงินเดือนมันจึงทนทำงาน ที่จริงมันไม่อยากทำงานหรอก มันอยากเล่นอยากหัวอยากนอน คือไม่ทำงาน แต่ก็จำเป็นบังคับเอาละต้องทนทำงาน เมื่อไหรจะสี่โมงจะปิดออฟฟิตไปเที่ยวอาบอบนวด โดยเนื้อแท้มันไม่อยากจะทำงานนะพวกคุณนะ คุณทั้งหลาย ข้าราชการก็ดี ประชาชนก็ดี โดยเนื้อแท้ไม่มีใครอยากทำงานนะ ทำเพราะจำเป็น แต่ถ้าเขาเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง เขาจะอยากทำงาน เขาจะเป็นสุขเมื่อทำงาน ถ้าเขาเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง ถ้าเขาไถนาอยู่กลางนาเขาจะเป็นสุขเพราะได้ทำอย่างนั้น ได้กวาดถนนก็ยิ้มแฉ่ง มันคงหายากในปัจจุบันนี้หาพุทธบริษัทยาก มีแต่คนไม่อยากทำงานขี้เกียจทำงานเป็นส่วนมากก็ว่า ไปขโมยดีกว่า รวยลัดดีกว่า คอรัปชั่นดีกว่า อะไร ๆ ดีกว่า โลกนี้จะปกครองกันด้วยกฏหมายหรืออำนาจหรือว่าจะปกครองกันโดยศีลธรรมมันมีอยู่สองแง่อย่างนี้แหละ พวกที่เคร่งศาสนาเป็นสัตบุรุษก็อยากให้โลกนี้ปกครองกันโดยศีลธรรม นี้ชาวบ้านทั่วไปไม่รู้จักศีลธรรมก็จะมาปกครองกันโดยกฎหมาย ด้วยอำนาจ
ผู้ถาม ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่าหากว่าเราต้องไปอยู่ในฐานะอย่างฆราวาสนี้ เราจะกำหนดใจตัวเองอย่างไรในการที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งของที่เรารักหรือบุคคลที่เรารักโดยที่ให้เกิดความทุกข์น้อยที่สุดหรือไม่มีทุกข์เลย
ท่านพุทธทาส ถามใหม่ ปากไขว้กันอยู่ เพื่อนเขาไม่ได้ยิน ชูหนังสือลุกขึ้นอ่าน ถามว่าอย่างไร สรุปคำถามให้สั้น ๆ
ผู้ถาม คือต้องการจะทราบว่าถ้าต้องไปอยู่ในฐานะอย่างฆราวาสนะครับ คือมันต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งของที่เรารักหรือบุคคลที่เรารัก แล้วเราจะมีวิธีกำหนดใจอย่างไรที่ทำให้มีความทุกข์เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ท่านพุทธทาส มันก็เป็นเรื่องจริง ปัญหาจริง เป็นเรื่องจริงอยู่ในโลก คือเป็นฆราวาสมันก็มีเรื่องเกี่ยวข้องกันอยู่กับสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความรัก บาลีเขาเรียกว่า “กามูปสญหิตา” เป็นเรื่องเข้าไปทำด้วยความใคร่ความรัก . “รชนียา” เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดรัดรึงใจ ถ้าเป็นฆราวาสมันต้องมีโดยเฉพาะเรื่องกามารมณ์ หรือแม้แต่เรื่องบุตร ภรรยา ทรัพย์สินเงินทองเป็นต้น มีสิ่งที่รักสุดชีวิตจิตใจ สำหรับฆราวาสและสิ่งที่มันรักสุดชีวิตจิตใจ มันก็จะทำให้เกิดความทุกข์ความร้อนสุดชีวิตจิตใจอีกเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าว่าเรามีธรรมะจริงมันก็จะป้องกันได้ ได้ยิ่งขึ้นไป ๆ ๆ ๆ ๆ จนป้องกันได้ ถึงที่สุดนะพ้นความเป็นฆราวาสไปได้เลย ถ้าจะตอบอย่างรวบรัดว่าเลิกความเป็นฆราวาสไปอยู่อย่างแบบอนาคาริก มันก็หมดไป กลายเป็นไม่มีปัญหา เมื่อต้องอยู่ในฆราวาสหลีกไปไม่ได้ต้องผูกพันกันอยู่ สิ่งเหล่านี้ก็มีธรรมะให้มันมากขึ้น แต่มันกลายเป็นธรรมะโลกุตระมันจึงจะมาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ฆราวาสที่เดือดร้อนอย่างยิ่งตามแบบฆราวาสนั้น ถ้าจะดับไอ้ความร้อนเหล่านี้ได้ต้องเอาธรรมะโลกุตระมาแก้ ทีนี้เขาไม่นิยมนี่ เขาว่าเอาธรรมะโลกุตระมาใช้เรื่องโลก ๆ เรื่องชาวบ้านไม่ได้ ผมก็เคยพูด ผมก็เคยถูกด่า ถูกล้อเลียน ถูกสบประมาท ว่าเอาโลกุตระมาสอนชาวบ้าน ให้ชาวบ้านคฤหัสน์มีธรรมะขั้นโลกุตระ
เดี๋ยวนี้มันก็มามีปัญหาอย่างที่คุณกำลังถามแหละ ความรักในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว มันไม่มีอะไรแก้ได้ นอกจากธรรมะขั้นโลกุตระ ทีนี้เมื่อเขาไม่ให้ใช้ธรรมะขั้นโลกุตระ ก็ว่าให้ทน ๆ ไป ให้ทน ๆ ไปก็แล้วกัน หรือทำลืม ๆ มันเสีย ถ้าจะแก้ได้ต้องศึกษาธรรมะขั้นโลกุตระ ซึ่งมีคำอธิบายยืดยาวแล้วว่าในที่สุดมันก็ไปสรุปที่ว่ามันยึดถือไม่ได้ มันเช่นนั้นเองแหละ อย่าไปทุกข์ เมียเป็นชู้ เช่นนั้นเอง ผัวเป็นชู้ เช่นนั้นเอง นี่มันก็ไม่มีอะไรเป็นทุกข์ เมื่อของรักของพอใจมันสูญหายไปมันก็เช่นนั้นเอง ที่สวดมนต์อยู่ทุกวันทุกคืน ตถตา อวตถตา อญัญถตา สูงสุดของโลกุตรธรรม ผมก็ช่วยสรุปให้คุณทั้งหลายแบบสั้น ๆ สุด ๆ แหละเดี๋ยวนี้นะ “เช่นนั้นเอง” สามพยางค์ ก่อนนี้อธิบายกันมากหลายบรรทัด อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา สุญญตา ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรมากมาย แต่ว่าทั้งหมดนั้นมันสรุปเหลือเพียงสามพยางค์เท่านั้น มันเป็น “เช่นนั้นเอง”
นี่ถ้าเรามองเห็น “เช่นนั้นเอง”ก็หมดปัญหา เจ็บไข้เช่นนั้นเอง หายก็เช่นนั้นเอง ตายก็เช่นนั้นเอง หายก็เช่นนั้นเอง อยู่ต่อไปก็เช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรที่ไม่เช่นนั้นเอง คุณลองยกตัวอย่างมาให้ดูสักเรื่องไหม อะไรที่มันไม่เป็น “เช่นนั้นเอง” ในโลกนี้ อะไรนะ ไปโลกพระจันทร์มันก็เช่นนั้นเอง โดยกฏของไอ้วัตถุมันก็เช่นนั้นเอง มันก็ไปโลกพระจันทร์ได้ หรือถ้าว่ามันตกเรือบินตาย เรือบินมันตก มันก็เช่นนั้นเอง มันไม่ตกมันก็เช่นนั้นเอง อะไรมันก็ “เช่นนั้นเอง” แล้วมันก็ไม่มีความทุกข์ ผมก็ถืออย่างนี้ผมถึงรอดอยู่ได้ รอดชีวิตอยู่ได้ สบายก็เช่นนั้นเอง ไม่สบายก็เช่นนั้นเอง ถามว่าเป็นโรคอะไร เป็นโรคเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองของโรค กินยาอะไร กินยาเช่นนั้นเองอยู่ทุกวัน กินยาเช่นนั้นเอง ได้ผลเป็นอย่างไรละ ก็ได้ผลเช่นนั้นเอง แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไรก็เช่นนั้นเอง กว่าจะลงโลงเข้าโลงก็เช่นนั้นเอง มันไม่มีอะไรนอกจาก “เช่นนั้นเอง” รักษาด้วยหลักของเช่นนั้นเอง หยูกยาก็คือความเป็นเช่นนั้นเอง เพราะที่มันแก้กันได้ ไอ้สิ่งนี้มาแก้สิ่งนี้ สิ่งนี้มาแก้สิ่งนี้ก็คือความเป็นเช่นนั้นเอง ถูกเข้ามันก็หายเพราะมันป็นเช่นนั้นเอง มันไม่ถูกกัน มันก็ตายก็คือเช่นนั้นเอง ฉะนั้นธรรมะที่ประเสิรฐที่สุดสำหรับปรมัตถธรรมนะ คือคำว่า “ตถตา ๆ” “เช่นนั้นเอง ๆ” เอาไปแขวนคอไว้สิ คลุมหมดเลย อันนี้เอาไปแขวนคอไว้สิ จะคุ้มหมดเลย จะไม่มีความทุกข์ จะไม่มีอะไร ใครฆ่าก็ไม่ตาย เพราะความตายมันก็เป็นเช่นนั้นเอง
ผู้ถาม ท่านอาจารย์ครับผมอยากถามต่ออีกข้อ คือเกี่ยวกับเสาห้าสาว่า ผมยังไม่เข้าใจความหมายเสาห้าที่อยู่บนหลังคา
ท่านพุทธทาส ไม่ใช่ธรรมะ ผมไม่ต้องตอบคุณหรอกมันไม่ใช่ปัญหาธรรมะ ไอ้เสาห้าเสาที่จัดไว้ให้สวย ๆ บนหลังคา ไม่ใช่ปัญหาธรรมะ เจตนาของเราก็ว่าให้คนมันดูและคิดเอาเอง ไอ้ห้ามันคงมีอะไรสำคัญสักอย่างหนึ่ง มิฉะนั้นคงไม่เอามาติด ติดไว้เต็ม ๆ เขาคงเอาไปคิดได้ เขาชอบจะว่าเป็นอะไรก็ตามใจเขา
ผู้ถาม แล้วเกี่ยวกับคำที่อาจารย์ชอบเน้นว่าโง่ กับ บ้า นี่ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีความหมายอย่างไร
ท่านพุทธทาส ความหมายธรรมดา ๆ เหมือนที่เขาพูดกัน โง่ก็คือไม่รู้ ก็คือทำไปอย่างโง่ ๆ ไม่รู้ บ้าก็คือหมด หมดหลักหมดเกณท์ หมดสติสัมปชัญญะ ก็คือเป็นอวิชชาทั้งนั้นแหละ ไอ้โง่ก็อวิชชา ถ้าอวิชชามันเดือดมันก็บ้า อวิชชาเนือย ๆ อยู่ มันก็โง่ อวิชชามันเดือดขึ้นมามันก็คือบ้า
ผู้ถาม ผมอยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับพระบาลีที่สวดในพระพุทธคุณร้อยบทครับ บทที่ว่า “มหโต” คือผู้เป็นมหาบุรุษ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบาย
ท่านพุทธทาส อธิบายอะไร อธิบายตัวหนังสือหรืออธิบายมหาบุรุษ
ผู้ถาม คำว่ามหาบุรุษมันหมายถึงอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส ก็บุรุษที่ยิ่งใหญ่ มหาก็แปลว่าใหญ่ บุรุษก็บุรุษ มหาบุรุษคือบุรุษที่ยิ่งใหญ่ โดยคุณธรรม โดยความสามารถ โดยอะไรที่เขาถือกันว่ามันใหญ่ พระพุทธเจ้าท่านยิ่งใหญ่โดยคุณธรรมสูงสุดเป็นพระพุทธเจ้า เพราะท่านก็ยิ่งใหญ่คุ้มครองโลกช่วยโลก เป็นหน้าที่ที่จะช่วยโลกทั้งเทวดาและมนุษย์ คำว่ามหาแปลว่าใหญ่ ถ้าทางวัตถุก็วัตถุใหญ่ ถ้าทางนามธรรมก็มันจิตใจใหญ่ ทางสติปัญญามันก็สติปัญญาใหญ่ ทีนี้พระคุณใหญ่ มหาบุรุษนี่ดูเหมือนจะเป็นคำที่เขาใช้ก่อนจะมีพระพุทธเจ้านี่ คนที่มีคุณธรรมใหญ่ คุณธรรมสูงเขาเรียกมหาบุรุษ ๆ มาถึงยุคพระพุทธเจ้าและก็ใช้กับพระพุทธเจ้า แต่เดี๋ยวนี้เขาก็มีมหาบุรุษอย่างโลก ๆ ก็มี หนังสือมหาบุรุษของหลวงวิจิตรวาทการคุณไม่เคยอ่านหรือ ไปซื้ออ่านดูมหาบุรุษอย่างนั้นก็มี หลาย ๆ คนที่เป็นฝรั่งในประวัติศาสตร์แล้วก็อยู่ในมหาบุรุษของหลวงวิจิตรฯ ทั้งนั้น ความหมายธรรมดาแหละไม่ต้องคิดมาก มันใหญ่โดยคุณธรรม มหาการุณิโก นี่ใหญ่โดยความกรุณา มีความกรุณายิ่งใหญ่ก็เป็นคุณธรรม
(นาทีที่ 1:11:36:6 – 1:11:48 ไม่มีเสียง)
ท่านพุทธทาส ถ้าไม่กลัว ถามอะไรบ้างก็ได้ สงสัยอะไรหรืออยากจะถามอะไรถามได้เลย ไม่มีปัญหาหรือว่ามีปัญหาแล้วถามไม่เป็น ผมนะไม่มีปัญหา มีปัญหาหรือไม่มีปัญหา มาทำอะไรให้เสียค่ารถ มาทำอะไรให้เสียเวลา มาทำอระไรให้เสียค่ารถ
ผู้ถาม ในพุทธภาษิตส่วนมากมักจะมีว่า
ท่านพุทธทาส ดัง ๆ หน่อย ๆ
ผู้ถาม ในพุทธภาษิตส่วนมากมักจะมีว่า ถ้ามีโลภะ โทสะ โมหะแล้ว จะไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม คำว่าไม่รู้อรรถนี่ คำว่าอรรถหมายความว่าอย่างไร
ท่านพุทธทาส มีคำอยู่สองคำเป็นคำคู่ไปด้วยกันเสมอ อรรถะ ธรรมะ ธรรมะหมายถึงเหตุ อรรถะหมายถึงผล ไม่รู้อรรถะคือไม่รู้เหตุของมัน (ท่านพูดผิด..และแก้เป็น) ไม่รู้ธรรมะคือไม่รู้เหตุของมัน ไม่รู้อรรถะคือไม่รู้ผลของมัน ถ้าเป็นภาษาหนังสือ ธรรมะแปลว่าหัวข้อหรือคำย่อ คำสรุปความ คำว่า อรรถะคือคำอธิบาย ถ้าเกิดกิเลสขึ้น โลภะ โทสะเป็นต้น ก็ไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ก็คือไม่เห็นเหตุ ไม่เห็นผลของเรื่องนั้น ๆ ไม่เห็นความจริง ที่เป็นเหตุเป็นผลของเรื่องนั้น ๆ เพราะมันกลุ้มไปด้วยความโกรธ ด้วยความโลภ ด้วยความมืดหน้าเพราะกิเลส คือในบาลีบางแห่งแทนที่จะใช้คำว่า “เหตุ” ท่านใช้คำว่า “พยัญชนะ” ก็มี พุทธภาษิตที่ส่งภิกษุไปประกาศพระศาสนาเป็นต้น ของท่านใช้คำว่า “สาตถัง สะพยัญชะนัง อัตถัง สะอัตถัง” นี่ก็คือคำอธิบายโดยพิศดาร เพราะคำว่าพยัญชนะนี่ตรงกับคำว่าเหตุ คือหัวข้อคำสรุปความ ให้สอนประชาชนให้ใช้เป็นหัวข้อสั้น ๆ ให้เขาจำง่าย อย่างนี้ สะพยัญชนัง ไอ้อัตถัง สะอัตถังให้สอนคำอธิบายให้เสร็จด้วยให้ครบให้บริบูรณ์ด้วย ฉะนั้นประชาชนก็ได้รับผลเต็มที่ ที่เป็นหัวข้อก็จำได้ท่องได้จำได้ ที่เป็นคำอธิบายก็เข้าใจแจ่มแจ้ง นี่ก็คือคำว่าอรรถะ ธรรมะ แต่โดยทั่วไปจะใช้คำว่าอรรถะกับธรรมะ ที่ใช้คำว่าอรรถะกับพยัญชนะนี่มีบางแห่ง มีแต่บางแห่ง ไม่ใช่แห่งเดียวมีหลายแห่ง
นึกออกหรือยังปัญหาถามไป เดี๋ยวเขาจะปิดประชุม ต้นไม้ที่นี่พูดได้จริงไม่ใช่ล้อเล่นนะ ทำใจดี ๆ แล้วฟังว่ามันพูดว่าอย่างไร ต้นไม้มันพูดว่าอย่างไร บอกสามตัว หรือบอกอะไร มันบอกเรื่องสบายใจ เรื่องเย็นใจ พอเข้ามาในวัดนี้ถึงสบายใจ เข้ามาในวัดนี้ก็เย็นใจ ต้นไม้มันบอก สบายใจกว่าอยู่กับบ้าน มานั่งอยู่กับต้นไม้สบายใจกว่าอยู่กับบ้าน ถามจริง ๆ นี่สบายใจหรือไม่สบายใจ มันสบายใจกว่าอยู่กับบ้านต้นไม้มันบอก ถ้าใครมานั่งตรงนี้แล้วยังไม่สบายใจต้นไม้ก็บอกไปหาหมอสราญรมณ์ รู้ไหมสราญรมณ์ ไปโรงพยาบาลสราญรมณ์ ที่บ้านกูด มานั่งตรงนี้แล้วยังไม่สบายใจไปเถอะไปหาหมอที่สราญรมณ์ เมื่อได้รับความสบายใจเย็นใจเอาจิตกลับไปบ้านด้วย นั่งอยู่ตรงนี้สบายใจอย่างไร เอาสบายใจนี้กลับไปบ้าน ได้คุ้มค่ารถ ได้คุ้มค่ารถแล้ว ทำใจเหมือนกับนั่งอยู่ตรงนี้ เมื่อถึงบ้านทำใจเหมือนนั่งอยู่ตรงนี้ มันเป็นเช่นนั้นเอง ๆ อย่าเป็นทุกข์เป็นร้อนกับมัน ทำงานให้มันสนุกไป มันเช่นนั้นเอง ทำให้สนุก อะไรที่ควรทำทำให้สนุก มีความสุขทุกเรื่อง ๆ ๆ ๆ ๆ
(นาทีที่ 1:23:37 เป็นต้นไป ท่านเทศน์เป็นภาษาใต้....กรุณาตรวจสอบ)
ไปแลรูปภาพที่ตึกโรงหนังแล้วหรือยังติดอยู่ หาเวลาไปแลซะดี ๆ รูปภาพมันพูดได้ไปฟังสิทุกรูป รูปภาพพูดได้ ไอ้เรื่องที่สนุกที่สุด ไอ้ เรื่องหนวดเต่าเขากระต่าย มีบรรยายให้ฟัง นิทานหลอก ๆ เรื่องสนุกที่สุด เรื่องหนวดเต่าเขากระต่ายหน่อกบ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ได้ละก็ คุ้มแล้ว คุ้มค่ามา ได้กำไรเกินค่ารถค่าอะไร ได้กำไรคุ้ม รู้จักหนวดเต่า เขากระต่าย หน่อกบ กลับไปแล้วก็ไม่มีความทุกข์ ที่วัดโคกตะเคียนก็มีเรื่องหนวดเต่า เขากระต่าย หนวดเต่า เขากระต่าย หน่อกบ ใครหาพบไม่มีความทุกข์เลย เดี๋ยวจะไปจับเต่าหมดเมือง มาหาหนวด จับเต่ามาหาหนวด จับกระต่ายมาหาเขา จับกบมาหาหน่อ หาตัวตนที่แท้จริงพบได้ก็นิพพาน พบหนวดเต่า เขากระต่าย หน่อกบ พบพระนิพพาน พบตัวตนที่แท้จริง
เปรียบเทียบกันให้ดีนะ จิตอยู่กับบ้านเป็นอย่างไร อยู่กับบ้านเป็นอย่างไร รู้ข้อดีก็ดี อยู่ที่นี่จิตใจเป็นอย่างไร จิตใจอย่างไรอยู่กับบ้าน จิตใจมันต่างกันอย่างไร แค่ไหนมันมีความทุกข์ แค่ไหนมันไม่มีความทุกข์ แต่ว่ามันมัวแต่ยึดถือ มาถึงแค่นี้มันวางเอง ไม่ยึดถือ ชาวบ้านมีแต่ยึดถือมันจึงเป็นทุกข์ กลับไปไปทำการบ้านคืออย่าหมายมั่น อย่ายึดถือ มันเช่นนั้นเอง ๆ ๆ ทุกอย่างมันเป็นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ไม่ต้องยึดถือ ทุกท่านสบายใจเมื่อนั่งอยู่ที่นี่ อยู่ในนี้ต้นไม้มันห้ามไม่ให้ยึดถือ มันห้ามจิตใจของคนไม่ให้ยึดถือ วางได้สบาย ไปถึงบ้านถึงมีแต่เรื่องให้ยึดถือ ๆ ใครฟังเรื่องลิงล้างหูแล้ว ในนิทานภาพเรื่องลิงล้างหู เรื่องนี้ต้องไปฟังให้ได้อย่าให้พลาด กลับไปถึงบ้านสบายแหละ ไปฟังเรื่องลิงล้างหูกลับไปถึงบ้านสบายแหละ มาอยู่กี่คืนนะ ๆ คืนเดียว จะให้อธิบายให้มากให้คุ้มกับค่ามา ทีหลังให้อยู่สองสามคืนถ้ามา ถ้าฟังธรรมก็กลับไม่ทัน
ผู้ถาม (นาทีที่ 1:30:36 พูดภาษาใต้เร็วมาก ฟังไม่ออก)
ท่านพุทธทาส (ท่านเทศน์เป็นภาษาใต้ ในช่วงต้น ๆ) จิตใจเชื่อในบุญในกุศล ทนลำบากได้ถึงสามวัด ต่อไปก็ไม่ทำผิด ไม่เป็นคนพาล ปิดประตูนรกได้ มันไม่ทำชั่วอีกต่อไป มันก็ไม่ตกนรก ไอ้ เรื่องชาติหน้านั้นนะ ถ้าเราเชื่อว่ามีก็ดี ไม่ให้โทษอะไร แต่ว่า
ผู้ถาม (พูดภาษาใต้เร็วมาก ฟังไม่ออก)
ท่านพุทธทาส คนที่มีปัญญาก็ว่าแล้วแต่บุญแต่กรรม มีบุญมันก็มาเกิดมันก็แล้วแต่บุญแต่กรรม อย่าพูดเด็ดขาดโดยส่วนเดียว
ผู้ถาม (พูดภาษาใต้เร็วมาก ฟังไม่ออก)
ท่านพุทธทาส ไม่ต้องเถียงกัน มันก็แล้วแต่บุญแต่กรรม ถ้าบุญกรรมมีมันก็เกิด บุญกรรมไม่มีมันก็ไม่เกิด ถ้าเราอยากเกิดก็ต้องทำบุญให้ดีที่สุด ทำไปถ้าเกิดจะได้เกิดดี อย่าไปทำกรรมชั่วจะเกิดชั่ว ถ้าชาติหน้าคิดว่ามี ดีจะได้ทำให้มาก ๆ ถึงมันไม่มี มันก็ยังได้เรา ถ้าหากชาติหน้าไม่มีบุญที่เราทำก็ยังได้เราอยู่ชาตินี้ ไปถามกันเองว่าอันไหนมันดีกว่า ไอ้ คนที่เคยเชื่อว่าชาติหน้ามีกับอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่าชาติหน้าไม่มี อันไหนมันจะได้เปรียบอันไหนมันจะดีกว่า พอจะมองเห็นว่าไอ้ คนที่เชื่อว่าชาติหน้ามี มันระมัดระวังมาก ทำบุญมากระมัดระวังมาก กลัวบาปมาก ก็ดีกว่า ไอ้ ถือว่าชาติหน้ามีมันได้เปรียบกว่าคนที่ถือว่าไม่มี อะไรที่สู้กันได้ อันนี้ดีกว่า ไม่มีใครมีเรื่องให้แลได้ เอากันแค่ว่าเลือกอันที่ได้เปรียบ ถ้าเราทำบุญเพื่อชาติหน้า มันก็ได้แหละ ถ้าเผื่อชาติหน้าไม่มี มันก็ได้ชาตินี้มากมายแหละ
พระพุทธเจ้าท่านว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยมีก็เกิด ถ้าเหตุปัจจัยไม่มีมันก็ไม่เกิด อย่าไปพูดโดยส่วนเดียวว่าเกิดหรือไม่เกิด อย่าพูดโดยส่วนเดียว มันจะผิด ถ้ามันมีเหตุปัจจจัยให้เกิด มันไม่หมดเหตุปัจจัย มันไม่หมดบุญ มันไม่หมดกรรม มันก็เกิด ถ้ามันหมดเหตุหมดปัจจัย ไม่มีบุญ ไม่มีกรรมจะแต่งให้เกิดมันก็ไม่เกิดแหละ ว่าแต่เราชอบนะ ชอบเกิดหรือไม่ชอบเกิดหละ ถ้าชอบเกิดแหละทำแต่ดี ๆ นะ จะไปเกิดดีแน่ เพราะอย่างน้อยมันได้ชาตินี้อย่างเต็มที่แหละ ชาติหน้ามันยังได้หลาว ถ้ามี ถ้ามันไม่มีมันก็ลบล้างกันไป แต่ว่าได้ชาตินี้มันมากเข้าไว้ดีแล้ว มันมีทางให้ได้คิดว่าเกิด ๆ ชาติหน้าจะได้ทำอะไร ถ้าได้ทำความดีเหมือนอย่างชาตินี้ ยังชอบ ถ้าชอบก็เอา ถ้าเบื่อที่จะมาเกิดมันก็คิดอีกทาง พระนิพพาน ไม่ต้องเกิด พอกันที ๆ ขี้คร้านแล้วโว้ย เวียนว่ายตายเกิดขี้คร้านแล้วโว้ย พอกันที่ ๆ อย่ามาเกิดเลย ขออย่ามาเกิดเลย จะได้ไม่เกิด เขาไม่อยากเกิด ถ้าเกิดเป็นทุกข์อย่าอยากเกิด พอที ๆ มีตัวตนมันต้องทนทุกข์เพราะมันต้องแบกของหนัก ไม่มีตัวตนก็ไม่ต้องแบกอะไร ก็ไม่หนักไม่ทุกข์
เขาว่าอย่าทุกข์ อะไรเกิดขึ้นอย่าทุกข์ ๆ ๆ ใครเคยเป็นทุกข์มาแล้ว รู้แล้ว อย่าเป็นทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์ เช่นนั้นเอง ๆ อย่าเป็นทุกข์ ทุกข์ก็ทุกข์เปล่า ๆ มันก็เป็นทุกข์ไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้ามันทุกข์แล้วได้อะไรบ้างก็น่าทุกข์ ถ้ามันทุกข์เปล่า ๆ ก็อย่าทุกข์ อะไรควรทำก็ทำแล้วอย่าเป็นทุกข์ ควรทำ ๆ ให้หมดเลยแล้วอย่าเป็นทุกข์ อะไรเกิดขึ้นก็ไม่เป็นทุกข์ เรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย มันนั้นเอง ๆ พระพุทธเจ้าสอน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา รวมความว่าพรรณนั้นเอง ๆ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือพรรณนั้นเอง อย่าเป็นทุกข์ มันไม่ได้ประโยชน์อะไร ทุกข์เปล่า ๆ แปลว่าทุกข์เปล่า ๆ ทุกข์ฟรี ๆ อย่าทุกข์ แต่ว่ามันจะหาทำง่ายนัก ไอ้ เรื่องที่จะไม่ทุกข์ หาทำง่าย แต่ว่าทำได้ พยายาม พระพุทธเจ้าสอนเรื่องให้ทำได้ ถ้าทำไม่ได้ ท่านไม่สอนแหละ สอนเรื่องที่ทำได้ ไอ้ที่เราจะไม่ต้องเป็นทุกข์ ทำได้ มันไม่ได้เหลือวิสัย ถ้าสนใจพยายามให้ความทุกข์มันน้อยลง ๆ ๆ ทุกที ๆ ๆ ๆ ความทุกข์ให้มันน้อยลง ๆ ๆ พอถึงวันที่จะตายถึงหน้าที่ ถึงจะตาย เลิก ๆ ๆ ไม่ต้องอะไรแล้วไม่ต้องการเกิดอีก พอกันที่ ๆ ไปสวรรค์ ไปเกิดใหม่ ถ้าทำความดีไว้ พอจะตายนึกขึ้นมา ๆ ว่าได้ทำความดีไว้อย่างไรแล จะได้ไปเกิดดี ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ก็ว่าดี บางคนขี้คร้าน ขี้คร้านซ้ำซากไม่เกิด มักจะไม่เกิด หยุดเกิด ไอ้พวกนี้จะไม่ทุกข์ จะหมดทุกข์ จะสิ้นสุข ไม่เวียนว่ายตายเกิด
พอความทุกข์มันเกิด แล้วถึงจะ อายหมู อายหมา อายแมว มันไม่ทุกข์ ใครเคยเห็นแมวทุกข์ หมาทุกข์ หมูทุกข์บ้างละ มันไม่รู้จักทุกข์ ไปแลดี ๆ มันไม่ทุกข์ พวกนี้มันไม่ทุกข์ มันไม่ปวดหัว ไม่ต้องกินยาแก้ปวดหัว ไม่ต้องกินยานอนหลับ ไม่ต้องไปโรงพยาบาลโรคจิต เราก็ทุกข์เก่ง ปวดหัว นอนไม่หลับ ครั้นว่าเกิดทุกข์ปวดหัวขึ้นมา หันไปแลหมา แลหมู ไอ้ พวกนั้นมันไม่ทุกข์ ไอ้ เราทุกข์แล้วน่าอายมั้ย เราเป็นคนทั้งที มันทุกข์ไม่เป็น ไอ้ พวกนั้นมันทุกข์ไม่เป็น ไอ้ คนมันทุกข์เป็นน่าอาย
ดี ได้ถามปัญหาสองสามข้อ ชาติหน้าคิดว่ามี ดีกว่าคิดว่าไม่มี คิดว่าหยุด ๆ ๆ เลิก ๆ ๆ ๆ ไม่เอา ถ้ายังไม่เอาคิดว่ามีไว้ก่อน ทำให้ดีไว้มาก ๆ จะได้เกิดดี ๆ ทำบุญทำอะไรให้ถึงขนาดจะถอยหลังกลับอีกไม่ได้ ได้ฟังเทศน์ก็ดี ได้ฟังธรรมก็ดีให้ถึงขนาดถอยกลับไม่ได้แล้ว มันก็ปิดประตูนรกแล้ว เราทำแต่ดีเข้าไว้ ไม่ต้องกลัวนรก ไม่ตกนรกแน่ ๆ ไอ้งานมันต้องทำ การงานต้องทำ มันอย่าต้องเป็นทุกข์เพราะการงานให้มันสนุก มันเป็นสิ่งที่จะต้องทำ ทำให้มันสนุกไปเลยดีกว่า อย่ามาทนทุกข์เพราะทำการงาน ทำนาให้สนุก ทำสวนให้สนุก เลี้ยงวัวเลี้ยงควายให้สนุก ไม่ต้องมีความทุกข์ จนกระทั่งตายก็ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องทุกข์ หลับไปเฉย ๆ เหมือนตะเกรียงดับ นึกไว้เถอะ อย่าลืม ๆ ตั้งใจไว้แหละ ไม่ทุกข์ กูไม่ทุกข์ กูไม่ได้เกิดมาเพื่อทุกข์ อย่าลืม ไม่ต้องทุกข์ ไม่ได้เกิดมาเพื่อทุกข์ มาทำอะไรให้มันสนุกไปสิ ไอ้ที่ว่าเอาปิ่นโตไปวัดมันไม่ใช่เพื่อชาติหน้าอย่างเดียว บางทีมันได้ชาตินี้มากกว่า บำรุงศาสนาไว้เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งโลก มันก็ได้บุญได้กุศลได้ประโยชน์มาก ไม่ใช่ว่าจะเกิด เพื่อชาติหน้าอย่างเดียว เพื่อเราคนเดียว บำรุงวัดนี้เพื่อคนทั้งโลก
กี่ทุ่มแล้ว ถามว่ากี่ทุ่ม ยังไม่สามทุ่ทครึ่ง ยังมีเวลาให้ถามปัญหา นาฬิกาเท่าไหร
เย็นอกเย็นใจสบายที่มาวัดนี้ หรือไปชายทะเล หรือไปไหนก็ เข้าไปในสถานที่ชนิดนั้น สบายบอกไม่ถูก นี่มันสงเคราะห์ (นาทีที่ 1:50:10 ท่านพูดภาษาใต้ ) ในตทังคนิพพาน ความประจวบเหมาะ ของสิ่งแวดล้อมทำให้กิเลสชะงักไม่อาจจะเกิด ถึงตาเห็นรูป หูฟังเสียง อไรก็ยังคงมี แต่กิเลสไม่เกิด บังเอิญประจวบเหมาะของธรรมชาติที่แวดล้อม ทำให้เกิดชิมรสนิพพาน เรียกว่า “ตทังค” ประกอบด้วยองค์นั้น ๆ องค์ที่บังเอิญมา เหมือนชาวบ้านเข้ามาตรงนั้นมันก็บอกมาหายใจทิ้งสบายใจ บางคนบอกว่ามันเย็นใจ สบายใจ มันวางจากความร้อนใจ เพราะเหตุนี้สงเคราะห์ลงไปในตทังคนิพพาน ถึงจะไม่โดยตรงมันก็โดยอ้อม เราไม่ได้ทำอะไรเลย เราไม่ได้ขนขวายอะไรเลย มันหยุดของมันเอง เรียก “ตทังคนิพพาน” ถ้าเราบังคับ เราทำ เรียกว่า “นิคัมปนนิพพาน” นิพพานเพราะเหตุชั่วคราวชั่วขณะ สามายิกะ เขาเรียก สามายิกะ ๆ ถึงจะชั่วเวลาก็ให้บ่อย ๆ นิพพานชั่วขณะขอให้บ่อย ๆ มันจะมากขึ้น ๆ มันจะมีศรัทธา มีฉันทะอะไรมากขึ้น ๆ ในนิพพาน แล้วมันจะง่ายขึ้นเยอะเมื่อถึงนิพพานจริง สิ้นกิเลส
ธรรมชาติมันสร้างมาไม่มีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าจิตนี้ประภัสสร ๆ คือว่างกิเลส รุ่งเรื่องอยู่โดยธรรมชาติ ตัวเศร้าหมองของจิตคือตัวอุปกิเลส เป็นอาคันตุกะเข้ามา ๆ คือถ้ามันว่างจากอาคันตุกะมันก็ไม่เศร้าหมอง ทุกคนก็ไม่มีความทุกข์เพราะไม่เกิดกิเลส ไม่มีอาคันตุกะเข้ามา ให้ชื่อว่าธรรมชาติมันไม่มีความทุกข์ เป็นประภัสสร เราก็รักษาความเป็นประภัสสรไว้ให้ได้ อย่าให้กิเลสเกิด แต่คนมันก็อาจจะโง่มากขึ้นขนาดที่เรียกว่าอยากที่จะตั้งใจรักษามากเกินไป จนเกิดกิเลสในตัวอยาก ตัวที่จะรักษา ก็เลยไม่พอใจ ถึงจะอยากนิพพานต้องการจะนิพพาน นี่ก็รอมันไป ทำไม่ให้มันยาก
ไอ้ความพอดีไม่ค่อยเอามาสอน ไม่ค่อยเอามามาศึกษา ประภัสสรไม่มีอาคันตุกะมา ไม่เศร้าหมองก็ไม่มีกิเลสเป็นอาคันตุกะมา ถ้าผู้ใดไม่คิดเรื่องนี้ไม่เข้าใจเรื่องนี้ จิตตภาวนาจะไม่มีสำหรับคนชนิดนั้น แต่ถ้าผู้ใดมองเห็นข้อนี้ เข้าใจเรื่องนี้ จิตตภาวนาจะมีสำหรับบุคคลชนิดนั้น นี้เมื่อคนมันไม่เข้าใจว่าจิตประภัสสรมันมี มันจะไม่ทำความเพียรภาวนาเพื่อให้จิตเป็นประภัสสรตลอดกาล ถ้าคนใดมันรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้แล้ว มันเป็นขนาดนี้แล้ว มันเป็นธรรมชาติซึ่งง่ายมากอยู่แล้ว ไอ้คนนี้มันก็ทำจิตตภาวนาโดยจิตเป็นประภัสสรตลอดกาล คือเป็นนิพพานโดยสมบูรณ์ จิตจะเป็นประภัสสร ชื่อว่านิพพานชั่วขณะ ๆ อยู่เรื่อยไป คือทำจิตตภาวนา ทำอารมณ์ที่ไม่ต้อนรับกิเลสอีกต่อไป ไม่ก่อกิเลสอีกต่อไปมันก็เลยประภัสสรตลอดกาล นิพพานมันคือสมบูรณ์ นิพพานอันนั้นมันก็สมบูรณ์ ไม่เช่นนั้นจะเป็นนิพพานชั่วขณะ นิพพานชั่วขณะอยู่เรื่อยไป ตามลักษณะของจิตประภัสสรยังไม่เก่ง ยังไม่เก่งพอที่จะต่อต้านกิเลส ไม่ได้รับการอบรม
เรารู้เรื่องนี้ดีก็มองเห็นชัดว่าอบรมได้โว้ย, อมรม ๆ มันก็ ๆ ได้ จิตนี้มันจะดี ถ้าอบรมดีแล้วนะ มันไม่ยอมให้เกิดกิเลส มันไม่ยอมให้เกิดกิเลส เป็นอาคันตุกะเข้ามา มันก็เลยได้ผลดีที่สุด สูงสุด คือทั้งหมดในเรื่องของจิต จิตตามธรรมชาติแม้จะเป็นประภัสสร มันก็อยู่ในสภาพปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นมาได้ มาอบรมจิตนี้ อบรม ๆ ๆ ๆ จนไม่ปล่อยให้กิเลสเกิดขึ้นมาได้ ความเป็นประภัสสรก็ตลอดกาลไปเลย ผู้ใดมองเห็นว่ามันมีอยู่ถึงขนาดนี้แล้ว ผู้นั้นยอมรับที่จะอบรมจิต ทำจิตตภาวนา จิตตภาวนาย่อมมีสำหรับบุคคลชนิดนั้น ย่อมไม่มีสำหรับบุคคลที่ไม่มองเห็นข้อนี้
ในพุทธศาสนา นั่งโงก ๆ นั่งง่วง ๆ นั่งซึม ๆ นั้นไม่ใช่ไม่มีกิเลส นั้นไม่ใช่ประภัสสร นั่งซึม นั่งง่วง มันไม่ใช่ประภัสสร คือมันมีง่วงโมหะ ถีนมิทธะครอบงำอยู่ ไอ้จิตประภัสสรมันแจ่มใส สบาย ต้องว่องไว ต้องสดชื่น ตามธรรมชาติ การที่จะนั่งนิ่ง ๆ นั่งระงับนิวรณ์ได้อยู่ จิตประภัสสรเป็นอะไรอยู่ในตัว เป็นสมาธิเป็นอะไรอยู่ในตัวจิตประภัสสร ไปนั่งนิ่ง ๆ ว่างอะไรก็ไม่ใช่จิตประภัสสร ว่างจนบรรลุ จิตก็ไม่ได้เป็นประภัสสรว่างจากทำสมาธิ เห็นนั่น เห็นนี่ มันก็ไม่ประภัสสร คือมัน ไม่ใช่สภาพประภัสสรดั้งเดิมแท้ อยากที่จะไปจับความเป็นประภัสสร พอไปต้องการมันเข้ามันก็เลยไม่ประภัสสร จิตไปต้องการอะไรเข้ามันก็ไม่ประภัสสร อยากจะมุ่งให้มันได้ประภัสสร อยากจะมันก็ไม่ประภัสสร ดำรงจิตให้ประภัสสรยากมาก
พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมชาติของจิตมันเป็นประภัสสรอย่าให้กิเลสเข้ามาก็แล้วกัน มันจะคงความเป็นประภัสสรได้ เราอย่าให้กิเลสเกิด รวมถึงว่าอย่าอยาก คือไม่อยากไว้ มันก็จะประภัสสร ให้ลองไปทำดู ทำดูด้วยตัวเอง กว่า ๆ ให้จิตมันอยู่ในสภาพประภัสสร ไม่มีความอยากที่จะประภัสสร มันกิเลส แล้วศึกษาไอ้เรื่องกิเลสพอสมควรไม่ให้มันมีขึ้นมาได้ กิเลสประเภทร้ายกาจ คือ ยินดี ๆ กำหนัด ยินดี ได้อร่อยและก็เพลิดเพลิน คำสรรเสริญเมาหมก บาลีมีอยู่สามคำ อภินันทติ เพลิดเพลิน อภิวทติ สรรเสริญ สูดปากได้เลย อร่อย, เมามก ทันติ อโชสายะ อโชสายะ ติถะตํ ดิ่งลง หยุดอยู่ เมามก อโชสายะ ติสะ เพลิดเพลินจากสรรเสริญ เมามาก ๓ คำ เมื่อได้รับความเอร็จอร่อย ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย กรือทางจิตเองก็ได้ เมื่อไปนึกถึงเรื่องเก่า ๆ อร่อยเหมือนกับว่าเป็ฯหัจจุบัน จิตมันเพลิดเพลินกับคำสรรเสริญ เมามาในสิ่งนั้นคือกิเลสเกิด กับ ๆ กิเลสประเภทนี้ เพราะมันเป็นกิเลสต้น ก็มันอยากจะได้เป็นกิเลสประเภทโทสะ โกรธมันมาทีหลัง เมื่อมันไม่ได้อย่างที่อยาก ทว่ากิเลสต้นไม่เกิด กิเลสหลังก็ไม่เกิด ภิกษุแท้ ๆ มันเป็นนักศึกษาจิต นักศึกษาเรื่องจิต จิตของตนเองในลักษณะสันทิฏฐิโก ภิกษุเข้าโรงเรียนจิตของตัวเอง ขณะนี้เรามันเข้าโรงเรียนนักธรรม ไปเรียนโรงเรียนนักธรรม ทีนี้ก็ไปเรียนวิธีที่จะเรียนจิตของตัวเอง จะมาเข้าโรงเรียน โดยตนเอง ของตนเอง คือทำวิปัสสนา ทำกรรมฐาน มันก็ทำไม่ได้ มันจึงเรียนไม่รู้เรื่อง นักธรรมมันก็หยุด เลิก มันไม่ได้ธรรมะ มันจึงมาเรียน มาเข้าดรงเรียน ของตัวเอง โดยตัวเอง โรงเรียนในจิตของตัวเอง ไม่ได้เข้ามันไม่ได้ทำ ไม่ได้ผลชาตินี้ ฉันก็จะอบรมจิต ให้เพียรถึงจิตเกิดกิเลสอีกไม่ได้ ไม่อำนวยกิเลสให้เกิด จิตจะได้ประภัสสรตลอดกาล.