แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษา : กราบนมัสการพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ วันนี้…ในคืนวันนี้มีคำถามที่ เพื่อนนักศึกษา สงสัย ประสงค์จะกราบเรียน ขอความกระจ่างกับท่าน เอ่อ, ใน ในขั้นนี้ จะเป็นปัญหา ส่วนตัว ซึ่งได้ปรึกษาหารือกันในกลุ่มแล้ว มี…ทุกคนมีอยู่คล้ายๆกัน นะครับ ปัญหาแรกคือว่า เรารู้สึกกันว่าการมีชีวิตอยู่ในสังคมนั้น มันไม่มีความมั่นคง ในทางจิตใจ เหมือนกับว่าไม่มีที่พึ่งทางใจ อยากจะทราบว่าเราควรจะทำอย่างไร และเราควรจะ ยึดอะไร เป็นที่พึ่งทางจิตใจ อันนี้เป็นปัญหาข้อแรกครับ
ท่านพุทธทาส : เมื่อสังคมมันไม่ได้ให้ที่พึ่งทางจิตใจ เราหาที่พึ่งทางจิตใจ จากที่อื่น คือจากธรรมะ ที่ไหนก็ได้ มีจิตใจเหมาะสมที่จะไปต่อสู้ในสังคม ควรจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า เพราะคำว่าสังคมนี้มันหมายถึง รวมกัน ไม่มีใครรับผิดชอบ เป็น… เป็นสนามสำหรับ ประลองฝีมือ ใครดีใครได้ นี่ ไอ้เรื่องของสังคม มันไม่ใช่ที่ ที่จะให้ที่พึ่ง ทางจิตใจแก่เรา นี่เราก็ไปหาที่พึ่งทางจิตใจจาก เอ่อ, สังคมของพระอริยเจ้า คือพระพุทธเจ้าท่านได้มี ท่านได้สร้างสังคมพระอริยเจ้าขึ้นมา อย่างน้อยก็เป็นที่ศึกษา อบรม ให้มีจิตใจเหมาะสม ที่จะไปต่อสู้ในสังคมชาวบ้าน อ่า, สังคมธรรมดา สังคมแห่งการแข่งขัน ของคนธรรมดา
แล้วมีปัญหาว่ายังไง ตัวปัญหาที่ถามน่ะ ว่ายังไง ข้อนี้น่ะ
นักศึกษา : คือ เราไม่มีที่พึ่งทางจิตใจ แล้ว เรา เราควรจะทำอย่างไร อันนี้ท่านอาจารย์ได้บอกว่า ควรยึดธรรมะเป็นที่พึ่ง แล้ว มัน..มันก็ยังไม่ ไม่กระจ่างว่า ควรจะยึดธรรมะข้อไหน หรือว่าอย่างไรที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ
ท่านพุทธทาส : นั่นน่ะมันก็เป็นเรื่องเฉพาะไป เฉพาะคนที่เป็นเจ้าของปัญหา ก็ไปหาธรรมะที่มันตรง กับเรื่องเฉพาะคน หรือว่า ถือว่าปัญหาในสังคมเป็นหลัก ในสังคมไหน มันมีปัญหา อย่างไร เราก็มีธรรมะจะไปต่อสู้ หรือแก้ปัญหาในสังคมนั้นๆ นี่มันไม่อาจจะตอบชัด ลงไป เป็นข้อๆ อ่า, เป็นคนๆ หรือเป็นเรื่องๆได้ ก็เรื่องมันมาก ควรจะระบุมาเลยว่า มันเป็นปัญหาอย่างไร มันมีปัญหาอย่างไร
เราต้องการจะอยู่ ในสังคมที่ไม่มีศีลธรรม ปัญหามันชัดอย่างนั้นน่ะ ทีนี้สังคมในโลกน่ะ มันเป็นสังคมที่ไม่มีศีลธรรม แม้ในประเทศไทยเรานี่ มันเป็นสังคมที่มีปัญหาทาง เศรษฐกิจ มุ่งมั่นกันแต่เรื่องทางเศรษฐกิจ จะเอาเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำหรับแก้ปัญหา อย่างนี้มันไม่ได้ เพราะว่าไอ้ตัวเรื่องเศรษฐกิจนั่นแหละ มันตัวสร้างปัญหา จะเอา เศรษฐกิจมาแก้ปัญหา มันก็แก้ไม่ได้ เพราะว่าเรามีเศรษฐกิจประเภทที่ ทำให้เห็น แก่ตัว เศรษฐกิจที่ทำให้คนเอาเปรียบผู้อื่น ทำคอรัปชั่น เขาทำนี่เขาทำเพื่อ เศรษฐกิจของ เขาทั้งนั้น ถึงแม้ว่า ในโลกทั้งโลกก็เหมือนกันแหละ เรื่องทางเศรษฐกิจน่ะมันทำให้เป็น ปัญหาโลกขึ้นมา ที่โลกอยู่กันไม่เป็นผาสุก มันควรจะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย ความมี ศีลธรรม ในบุคคลก็ดี ในประเทศก็ดี ในโลกก็ดี ถ้ามันมีศีลธรรม ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่เกิด
ไอ้เศรษฐกิจนั้น มันเป็นเรื่องที่ดี คือทำให้มีกำไร ตามที่ควรจะมี ที่ถูกที่ต้อง แต่คนเขา ไม่ใช้กัน อย่างนั้น เขาไม่ใช้เศรษฐกิจอย่างนั้น เขาใช้เศรษฐกิจสำหรับเอาเปรียบ สำหรับบีบคั้น สำหรับทำลายผู้อื่น เดี๋ยวนี้ใช้ ใช้เศรษฐกิจทำลายผู้อื่น มันคล้ายๆกับ ปัญหาส่วนบุคคล ก็ต่างคนต่างมีปัญหา ทางเศรษฐกิจของตัว แล้วก็ไปแก้ปัญหาด้วย การเอาเปรียบผู้อื่น ทางเศรษฐกิจน่ะ ก็เลยไม่มีศีลธรรมกัน แต่ละฝ่าย
เมื่อครั้ง…เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่ ก็พูดเรื่องนี้ พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ที่เราไม่มี ศีลธรรม สำหรับจะควบคุมเศรษฐกิจ อย่าให้มันเป็นปัญหา ถ้าเศรษฐกิจเป็นไปตามความ หมายของคำว่า เศรษฐกิจ อย่าเอาไปใช้เป็นเครื่องมือทำลายผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น มันก็ดี เดี๋ยวนี้เขาใช้เศรษฐกิจ เป็นเครื่องมืออันธพาล มันก็เลย เดือดร้อนกันไปหมด แม้ในเรื่อง ปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆ อ่า, มันก็เป็นเรื่องใช้เศรษฐกิจ ทำ ทำความทุกข์ยากให้แก่ผู้อื่น นับตั้งแต่เรื่องปลูก เรื่องผลิตขึ้นมาจากแผ่นดิน แล้วขาย แล้วซื้อ อ่า, แล้วขนส่ง แล้วคนกลาง แล้วคนรวบยอด มันก็ล้วนแล้วแต่ไม่มีศีลธรรม ปัญหาเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครนึกที่ว่าจะแก้ปัญหานี้ ด้วยศีลธรรม ประมาณ ๖ หรือ ๗ รัฐบาลมาแล้ว ที่เราคอยเงี่ยหูฟัง ว่ามีรัฐบาลไหนบ้างที่พูดถึง เศรษ…เอ่อ, ศีลธรรม ที่จะกู้ศีลธรรมขึ้นมา ใช้แก้ปัญหา ของประเทศชาติ ไม่มีเลย ไม่ได้ยินเลย ประมาณว่า ๖ หรือ ๗ รัฐบาลมาแล้ว จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน นี่ช่วยกันฟังหน่อย วันที่เขาจะแถลงนโยบาย ของรัฐบาล ดูเหมือนว่าจะปลายเดือนนี้ ช่วยฟังกันด้วยน่ะ ว่ามีเขาพูดถึงเศรษฐกิจไหม เอ้ย, พูดถึง ศีลธรรมไหม จะเอาศีลธรรมมาแก้ปัญหาของมนุษย์ไหม ถ้ายังไม่มีอีก ก็ยังไม่มีหวังล่ะ ที่ว่าเศรษฐกิจจะประกอบไปด้วยศีลธรรม มันก็จะเป็นเศรษฐโกง อยู่เรื่อยไป คือเอาเป็น เครื่องมือเอาเปรียบผู้อื่น ทำลายผู้อื่น เพื่อประโยชน์แก่ตัว เราตั้งชื่อว่า เศรษฐโกง ดีกว่า
เศรษฐกิจนั้นถ้าทำอย่างมีศีลธรรมแล้วจะมีประโยชน์แก่มนุษย์มาก คือทำให้ทุกอย่าง ดีขึ้น อ่า, มีผลมากชึ้น มีกำไรมากขึ้น แล้วก็ใช้แต่ในทางที่ถูกต้อง ส่วนบุคคลก็อย่าเอา ผลกำไรไปใช้ส่งเสริมกิเลส แล้วก็อย่าเอาอำนาจเศรษฐกิจ นี่ไปข่มเหงผู้อื่น ไปเอาเปรียบ ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของตัวจะได้มากขึ้นอีก
เราเตรียมตัวจะอยู่ในโลกที่ไม่มีศีลธรรม อย่างนั้นหรือ พูดให้มันชัดหน่อยได้ไหม คือคำถามที่ถามนี่ เราเตรียมตัวเรา เพื่ออยู่ในโลกที่ไม่มีศีลธรรมได้อย่างไร ไอ้ข้อนี้ ดูจะเป็น เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด มีค่าที่สุด เพราะว่าเราคงไม่สามารถ ที่จะบังคับโลก หรือ บังคับสังคมได้ สังคมมันก็ไปตามแบบของมันเอง คือไม่มีศีลธรรม มันจะยิ่งขึ้น แล้วเรา แต่ละคน ละคนนี่ จะอยู่ในโลก หรือในสังคมที่ไม่มีศีลธรรมนี้ได้อย่างไร ที่ว่าที่พึ่งทางใจ นั่น เอาไว้ใช้กับเรื่อง ไม่ใช่สังคม เป็นเรื่องทางจิตใจ เป็นเรื่อง อ่า, กิเลส เรื่องจะบรรลุ มรรคผลนิพพานกันไปเลย ถ้าจะอยู่ในโลกต่อสู้ในโลก ไอ้ที่พึ่งนี้ก็ มันเป็นที่พึ่งที่รวมๆ กันไป ไม่ใช่ทางใจล้วนๆ อยากจะเรียกว่า ไอ้ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทาง ทุกทาง แล้วถ้าให้มันมีศีลธรรม ก็ไม่มีปัญหา ถ้าเขาไม่มีศีลธรรมกัน เราจะอยู่กับคนที่ไม่มี ศีลธรรมนี้ได้อย่างไร นี่จะเป็นปัญหาหรือไม่ ขอให้เอาไปคิดดู ขอฝากให้เอาไปสังเกตดู ต่อไปนี้จะมีปัญหาอย่างนี้ ที่อยู่ในประเทศ ในบ้านในเมือง นี่ มันจะต้องอยู่ร่วมกับ คนที่ไม่มีศีลธรรม นับตั้งแต่อันธพาลเลวร้ายกลางถนน ขึ้นไปถึงไอ้คนที่ เขาเป็น อ่า, พ่อค้า เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นตำรวจ เป็นอะไรทุกอย่าง ที่มันปรากฏ เป็นข่าวอยู่เสมอว่าไม่มีศีลธรรม เราจะอยู่ได้อย่างไร เป็นปัญหากันทั้งโลก จะอยู่ในโลก ที่ไม่มีศีลธรรมได้อย่างไร มันตอบได้ ก็ตอบได้อย่างกำปั้นทุบดิน เพราะว่าไม่มีไอ้ เรื่องเฉพาะออกมาให้เห็นเป็นเรื่องๆ เมื่อเรามีปัญญาที่จะ สลัดความคิดนึกรู้สึก หรือ ไอ้เรื่องนั้นออกไป อย่าให้มันเป็นเรื่อง แล้วเราก็มีความอดกลั้นอดทน มีปัญหาว่าจะทน ไหวหรือไม่ ถ้ารู้จักหลบหลีกอย่างเฉลียวฉลาด คงจะพอทนไหว แล้วถ้าปัญหานี้ มันเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกันทั้งสังคม มันจะแก้ได้อย่างไร โดยบุคคลแต่ละคน ละคน อืม, ทางที่ดีที่สุด มันก็ควร เอ่อ, ควรช่วยกัน แก้ไขสังคม เปลี่ยนสังคมให้มันดีขึ้น นักศึกษา ชอบอาสาพัฒนาอะไรกันอยู่มากๆ ตามข่าวที่ปรากฏ ก็ไปเป็นเรื่องช่วยทางวัตถุ ปรากฏว่าไม่ได้ไปช่วยกันแก้ปัญหาทางศีลธรรม ก็ไม่ดีขึ้น อยากจะแนะว่า ถ้านักศึกษาจะเสียสละกันบ้าง เพื่อพัฒนาประเทศชาติ ล่ะก็ให้ทำไปในทาง อืม, แก้ไข ไอ้ความไม่มีศีลธรรมของสังคม นี่จะดี แล้วมันจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง ได้ทีหลังเอง เพราะว่าถ้าประชาชนมันมีศีลธรรมแล้ว มันไม่มีปัญหาอะไรอีก เดี๋ยวนี้มัน ไม่มีศีลธรรมจึงเกิดปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการปกครอง ปัญหาไปเสียทุกอย่าง แม้แต่จะผลิต…เอ่อ, จะปลูกจะฝัง มันก็ยังเบียดเบียนกัน
ในเมื่อไม่มีศีลธรรม แล้วจะทำกันยังไง เราก็ได้ผู้แทนที่ไม่มีศีลธรรม มาเป็นสภา เราก็ได้ รัฐบาลที่ไม่มีศีลธรรม มาเป็นรัฐบาล แล้วมันจะอยู่กันได้ยังไง ถ้ามันมีศีลธรรมกันหมด มันก็หมดปัญหา กล้าพูดออกไปอย่างที่ ไม่กลัวเขาจะโกรธหรือจะด่า เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่ ว่า เมื่อ ถ้าประชาชนทั้งหมด ไม่มีศีลธรรมนะ ต่อให้ ๑๐ รัฐบาลก็ปกครองไม่ได้ ปกครอง ให้มีสันติภาพไม่ได้ นี่พูดอย่างนี้ และถ้าว่าประชาชนมีศีลธรรม ไม่ต้อง ไม่ ไม่ต้องมี รัฐบาลเดียว ไม่ต้องมีแม้แต่รัฐบาลหนึ่ง มันอยู่กันได้ ใครจะเก็บไปคิด ไปนึก ไปโกรธ ไปด่า บ้างก็คงจะมี เราก็พูดไปแล้ว ทางวิทยุเมื่ออาทิตย์ที่แล้วมานี่ ถ้าประชาชนทุกคน มีศีลธรรม มันเหมือนกับไม่ต้องมีระบบการปกครอง ไม่ต้องมีรัฐบาล แม้แต่รัฐบาลเดียว ก็ได้ ถ้าว่า พลเมืองทุกคนไม่มีศีลธรรมแล้วก็ ๑๐ รัฐบาลก็ปกครองให้สงบเรียบร้อยไม่ได้ มันเต็มไปด้วยคนไม่มีศีลธรรม คอยจ้องที่จะประพฤติทุจริต อันธพาล คุมไม่ไหว ไอ้ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ก็พลอย ไม่มีศีลธรรมไปด้วย นี่ อ่า, มันไปรวมอยู่ที่ปัญหาทาง ศีลธรรม เรื่องของสังคม ไปรวมอยู่ที่ปัญหาทางศีลธรรม ศีลธรรมมันก็เกิดขึ้นในโลก ครั้งแรก ก็เพราะว่าไอ้สังคมมันไม่มี ไม่มีความสงบสุข เพราะมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม เขาจึงได้บัญญัติศีลธรรม สำหรับคนขึ้นมาตามลำดับ ตามลำดับ ตามลำดับ จนเป็นระบบ ใหญ่สมบูรณ์ เหลืออยู่จนทุกวันนี้ ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ว่า ประชาชนไม่ยอมรับ ไม่ยอมปฏิบัติ ศีลธรรม เพราะความเห็นแก่ตัว ไอ้ความเห็นแก่ตัวน่ะคือความไม่มีศีลธรรม ก็เลยมีปัญหา
ผู้แทนเขาก็ต่อสู้อย่างไม่มีศีลธรรม ที่จะเข้าไป เขาต่อสู้ด้วยอุบายเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามสุจริต ยุติธรรม ผู้แทนพวกหนึ่งก็เป็นเจ้าบุญทุ่ม เขาก็ทุ่ม ซื้อเสียงให้เขา ผู้แทนพวกหนึ่ง ก็เป็น อ่า, ถูกซื้อตัวเอามา ผู้แทนบางคนก็ชนะมาด้วยการพนันขันต่อ ระหว่างพวกพ้องของเขาที่เขามีนโยบาย และคนอีกจำนวนมากไม่ได้ไปเลือกผู้แทน คนที่มีศีลธรรมดี ไม่มีโอกาสเลือกผู้แทน อย่างพระเจ้า พระสงฆ์ ไม่มีโอกาสไปเลือก ผู้แทน ฉะนั้นผู้แทนนั้นก็ไม่พูดได้ว่าเป็นผู้มีศีลธรรม นี่เราพูดอย่างนี้เขาก็โกรธ แต่มันก็ เป็นความจริงอย่างนั้น ผู้แทนเลือกจะไปให้ควบคุมรัฐบาล รัฐบาลก็ลากคอเข้าไปเป็น ฝ่ายรัฐบาลเสียเอง แล้วไปคุมใครล่ะ มันผิดข้อตกลงเดิมที่ว่า จะมีผู้แทนไปควบคุมรัฐบาล หน้าที่ของผู้แทน นี่พอเป็นผู้แทนแล้วชิงกันเข้าไปเป็นรัฐมนตรี เป็นพวกรัฐบาลเสีย แล้วใครจะคุมใคร มันเลยรวนเรหมด ไอ้ระบบศีลธรรม หรือระบบ ไอ้, ความเป็นธรรม ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่า พูดให้เกลียดชังใครหรือให้ร้ายใคร พูดให้มองเห็นว่า มันกำลังมีปัญหาทาง ศีลธรรม ไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจ เดี๋ยวนี้ก็มองเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจหมด ไอ้ความที่ ไม่มีความสงบสุขนั่น เขาถือเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไม่ดี จะแก้กันแต่เรื่องเศรษฐกิจ ให้ประชาชน มีสันติสุข เราบอกว่าไม่เห็นด้วย ต้องมีศีลธรรม ประชาชนจึงจะมีสันติสุข เพราะว่าเศรษฐกิจ เศรษฐโกงนั่นเอง ที่ทำให้ประชาชนไม่มีความสงบสุข ต้องเอา ศีลธรรม ไปแก้เศรษฐโกง จึงกลายเป็นเศรษฐกิจ ที่มันถูกต้อง
ไอ้คำๆนี้มันประหลาดนะ ไอ้ “เศรษฐ” มันแปลว่า ประเสริฐที่สุด ภาษาบาลีก็ดี ภาษาสันสกฤตก็ดี ไปเปิดดู ดิกชันนารี (Dictionary) ไอ้คำว่า เศรษ-ฐะ หรือ เชรษ-ฐะ (ออกเสียง ศ เป็นเสียง sh แบบบาลี) 20.26 นี่มันแปลว่า ประเสริฐที่สุด ไอ้ เศรษฐกิจ มันก็ต้อง กิจที่ประเสริฐที่สุด เดี๋ยวนี้มันกลับกัน เป็นเครื่องมือสำหรับทำลายล้างกัน ในโลก มันไม่ตรงตามชื่อของมัน ที่ว่าประเสริฐที่สุด มัน มันถูกต้องแล้ว เพราะว่ามัน ทำให้สิ่งที่ไม่มีผล ออกมามีผลขึ้นมา วิชาเศรษฐกิจ ให้สิ่งที่มีผลน้อย ให้มีผลมากขึ้นมา หรือมีผลเลิศ ถ้าเป็นเรื่องทางธรรมะ แล้วก็จะไม่ต้องลงทุน สักสตางค์หนึ่ง ก็ได้ นิพพานมา นี่เป็นยอดเศรษฐกิจ ไม่มีใคร ไม่มีใครเอาด้วย ไอ้เศรษฐกิจแบบนี้ มันประเสริฐเกินไป ยังไม่มีใครเอาด้วย เขาก็เป็นเรื่องค้ากำไร ทำนาบนหลังคนอื่น นั้นแหละคือเศรษฐกิจ คุณก็ไปคิดดู ว่าจะช่วยกันอย่างไร ไหนๆเราก็อยากจะช่วยมนุษย์ อยู่ทั้งนั้น นี่เราก็มากลายเป็นเจ้าทุกข์เสียเอง ถูกเบียดเบียนด้วยเศรษฐกิจของคนอื่น ด้วยความไม่มีศีลธรรมของคนอื่น เราจะทำอย่างไร จึงสวนกลับไปว่า ช่วยกันแก้ไข สังคมให้มีศีลธรรม ดีที่สุด ในระหว่างนั้นเราก็ต้องอดทน ต่อสู้เฉพาะตนเฉพาะเรื่อง คือประพฤติธรรมน่ะ ประพฤติธรรม ถ้าเป็นเรื่องที่มันจะทำให้มีความทุกข์ เราก็ไม่มีความทุกข์ เพราะเรามีธรรมะขั้นสูง ขั้นเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความ เป็นอย่างนั้นเอง ไม่แปลกแล้วก็ไม่ทุกข์ นี่เป็นอันว่าไม่ทุกข์ พยายามช่วยกัน แก้ปัญหา เศรษฐกิจ ด้วยการทำให้ศีลธรรมมี กับคนก็ไม่โกงกัน จะออกไปพัฒนากับเขา หรือไม่ นี่ กลับไปนี่ พกไอ้ศีลธรรมให้มัน ให้พอ พอเอาไปสอน ทำให้ประชาชนเขา มีศีลธรรม เออ, มันจะแก้ไขสังคม หรือว่ามันแก้ไขศัตรู อุปสรรคของเราเองด้วย ไอ้ที่ไป ช่วยสร้างนั่น ทำนี่ ช่วยทางวัตถุนั้นก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ว่าไม่ ไม่น่าเลื่อมใส คือไม่ลึกซึ้ง ไม่แก้ปัญหาอะไรได้มากนัก ไปช่วยให้ประชาชนให้มีศีลธรรม นั้นจะแก้ปัญหาได้มาก
เอ้า, มีปัญหาส่วนไหน ที่ยังเป็นปัญหา
นักศึกษา : ขอเรียนถามพระคุณอาจารย์ ในปัญหาส่วนตัว ในข้อที่ ๒ ว่า อารมณ์ที่กังวลถึง ความรู้สึกของคนอื่นๆ ที่อยู่รอบๆตัวของเรา จนขาดความเป็นตัวของตัวเอง เช่น มีความกลัวว่าคนอื่นๆจะไม่รักเราไปหมด อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า มีสาเหตุมาจากสิ่งใด และควรจะทำอย่างไรดี
ท่านพุทธทาส : เดี๋ยวว่าอีกที ว่าอีกที จับใจความยังไม่ได้
นักศึกษา : อ่ะ…อารมณ์ที่กังวลถึงความรู้สึกของคนอื่นๆที่อยู่รอบตัวของเรา จนเรารู้สึกว่า ขาดความเป็นตัวของตัวเอง เช่น เรากลัวว่าคนอื่นๆจะไม่รักเรา อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ความรู้สึกชนิดนี้ เอ่อ, ควรจะทำอย่างไรดี และมีวิธีการที่จะแก้ไขอย่างไรดี
ท่านพุทธทาส : ตัวเรา ไปสนใจเรื่องของคนอื่น จนไม่เป็นตัวของเรา ดังนั้นต้องหมายความว่า มันถูก รบกวน อ่า, ถูกรบกวนจนจิตใจ ไม่เป็นปรกติ ไม่อาจจะใช้ความคิดนึก อะไรของเราได้ อันนี้มัน มันไม่แน่ คือว่าเราอาจจะ ไป ไปทำมันมากเกินไปก็ได้ เราต้องสงวนไอ้ความ เป็นตัวเราไว้ ไว้ก่อน ที่มีความปรกติ พอที่จะคิดนึกอะไรของเรา อย่างถูกต้อง อย่างเข้มแข็งมั่นคง เพราะเราดำรง อ่า, ชีวิตไว้ไม่ถูก มันจึงไปนึกถึงเรื่องของคนอื่น มากเกินกว่าเรื่องของตัวเรา ถ้าเราจะมองเห็นว่า ปัญหาของเรานั้นมันสำคัญกว่า ก็ต้องแก้ เสียก่อน จึงจะไปช่วยแก้คนอื่นได้ นี่เราก็ดึงมาให้เป็นปัญหาของเรา แก้ปัญหาของเรา ให้ได้ นี่ความเป็นตัวเรามี แล้วจึงค่อยคิดถึงคนอื่น อ่า, ฟังไม่ดีจะเห็นเป็นว่าเห็นแก่ตัว ที่จริงไม่ใช่เห็นแก่ตัว แก้ปัญหาของเราโดยเฉพาะให้ได้ก่อน นั้นไม่ใช่เห็นแก่ตัว เสร็จแล้ว ก็ช่วยแก้ปัญหาของคนอื่น ถ้าแก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้ ไม่มีทางจะไปแก้ปัญหาคนอื่น ฉะนั้นการทำอะไรลักษณะนี้ไม่ใช่เห็นแก่ตัว นี่เราจัดจังหวะผิด ไปๆ จะไปแก้ไขคนอื่น จะไปยุ่งปัญหาคนอื่น จนปัญหาของตัวไม่ได้แก้ มันๆผิด ผิดหลัก มีคำพูดว่า ให้เห็น ประโยชน์ของตัวนั่นแหละ ยิ่งกว่าประโยชน์ของคนอื่น แต่ไม่ใช่เห็นแก่ตัวนะ เพราะว่า เรามันจะต้องรอดก่อน เราจึงจะช่วยคนอื่นได้ เราไม่ยอมเสียประโยชน์ เอ่อ, ของเรา เราต้องมีประโยชน์ของเราที่มั่นคง แล้วเราจึงจะทำประโยนช์ผู้อื่น หรือเฉลี่ยประโยชน์ ให้แก่ผู้อื่น อย่างนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่เรียกว่าเห็นแก่ตัว
ไอ้ที่ว่าเราไปกลัว ว่าจะไม่มีใครรักเรา มันมากไป ไม่ต้องไปกลัว เราไปทำให้ดี อยู่เป็นประจำ ให้ถูกต้องอยู่เป็นประจำ โดยไม่ต้องกลัว ไอ้คนที่เขาจะรักเรา ก็เพราะว่า มีอะไรที่มัน มันน่ารัก นี้ไปกลัวแต่คนอื่นจะไม่รักเรา ก็ไม่มีอะไรมันที่น่ารัก มันจะฟุ้งซ่านมากไป พยายาม อ่า, ช่วยผู้อื่น เมื่อช่วยตัวเองได้แล้ว พยายามช่วยผู้อื่น ประพฤติประโยชน์ผู้อื่น อ่า, ทำตนให้เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกัน นี่อย่าไปห่วง อย่าไปหวัง เอ่อ, ดูเหมือน เคยพูดแล้วนี่ ว่าอย่า อย่าอยู่ด้วยความหวัง เราไม่ๆ ไม่หวังว่าคนอื่นรักเรา แต่เราทำไป ในทางที่คนอื่นต้องรักเรา โดยที่ไม่ต้องหวัง และก็ไม่มีผิดหวัง เพราะมันจะได้ เอ่อ, ตามที่ เราหวังโดยอัตโนมัติ ถ้าไปมัวแต่หวังก็เป็นเรื่องทรมานใจ เพราะไม่มีอะไรที่ไปหวังแล้ว มันจะได้ มันไม่ได้ด้วยความหวัง มันได้โดยการกระทำ ไม่ต้องไปหวัง แต่ว่ากระทำ ให้ถูก ตามกฏเกณฑ์ของธรรมะ หรือของธรรมชาติ อ่า, ตั้งเป็นหลักทั่วไปว่า เรามีความรักผู้อื่น ที่เรียกว่าเมตตานี่ กรุณา แม้อยู่ในใจ ก็ยังได้ ในชั้นแรกนี้ มัน มันแสดงออกไปทางกาย ทางวาจาเองโดยไม่รู้ตัว ถ้าใจข้างในมันเป็น มันแสดงออกไปทาง ข้างนอกทางกาย ทางวาจาของมันเอง พยายามทำให้จริง ที่จะมีความรักผู้อื่น ว่าทุกคนเป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะปัญหามันเหมือน กันนี่ คือทนทุกข์เหมือนกัน ขืนกลัวผู้อื่นจะไม่รักเรา ไม่กี่เดือนเป็นโรคประสาทแน่ อย่าไปทำมัน ลืมเสียดีกว่า
นักศึกษา : ขอเรียนถามพระคุณอาจารย์เป็นข้อที่ ๓ ว่า แม้ว่าเราจะนับถือพุทธศาสนา แต่มีหลายๆครั้งที่เรารู้สึกว่า คำสอนบางอย่างของศาสนาอื่นๆ น่ายึดถือและปฏิบัติ ถ้าเราจะหยิบสิ่งดีๆจากศาสนาอื่นนั้น มาเป็นข้อที่ปฏิบัติ จะเรียกว่าเราเป็น คนหลายๆศาสนา และเป็นคนที่น่าตำหนิหรือไม่
ท่านพุทธทาส : เรื่องนี้ เราพูดกันมากแล้ว หลายปีมาแล้ว พูดถึงที่ว่า ไอ้เนื้อแท้ของศาสนา มันเหมือนๆกันทุกศาสนา ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว ให้รักผู้อื่น อีกนั่นแหละ ไปดูเถิดทุกศาสนา ถ้ามันเป็นศาสนาแล้ว มันจะเน้นไอ้ข้อที่ รักผู้อื่น เป็นพื้นฐาน เอามาถือเข้าก็ว่าเป็น ไอ้, ศาสนาของเราก็ได้ เป็นศาสนาของธรรมชาติ ทุกศาสนาเอามารวมกันเข้า เป็นศาสนาเดียว ก็จะมีหลักอันนี้ เป็นข้อ เอ่อ, ข้อแรก หรือ นำหน้าทั้งหมด ถ้าพูดให้ลึก ให้ลึกไปอีกก็ว่า ก็คือไม่เห็นแก่ตัว เป็นทาง ทางปัญญาชั้นสูง ไม่ใช่เห็นแก่ตัว ระดับต่ำๆที่ไม่ช่วยเหลือใคร ไม่แบ่งปันใคร ไม่รักใครนั้น นั่นไม่เห็นแก่ตัว ระดับต่ำๆ ระดับศีลธรรม ไม่เห็นแก่ตัวทำอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่เห็นแก่ตัว ในระดับสูงสุด คือไม่มี ไม่มีความรู้สึกยึดถือว่าตัว ว่าตน ว่าของตน ที่ว่าจิตว่างจากตัวตน คือไม่ ไม่เห็นแก่ตน อย่างนี้ก็มี เอ่อ, พูดได้ว่าทั่วๆไปทุกศาสนา แต่เขาอาจใช้คำอย่างอื่น แล้วอาจจะไม่เข้าใจของเขา ถึงแม้ศาสนาที่เขามีตัว เป็นอันสุดท้าย เขาก็ให้ละ ตัวชนิดนี้ทั้งนั้น ละตัวชนิดที่ ที่ยึดถือแล้วเป็นทุกข์ ศาสนาฮินดูชั้นดีเลิศของเขา ให้ละตัว ที่เห็นแก่ตัว แล้วเป็นทุกข์ เห็นแก่ตัวแล้วเกิดกิเลส โลภ โกรธ หลง ให้ละเสีย ในเมื่อหมด กิเลสหมดทุกข์แล้ว เอาความไม่มีทุกข์เป็นตัวอีกทีนึง ไม่ต้องละตัวนี้ อยู่ อยู่นิรันดร์ แต่เราดู ก็จะพบว่าเขาสอนให้ละไอ้ตัวที่ทำพิษ เอ่อ, เลวร้าย ตัวที่ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เหมือนกันทุกศาสนา ศาสนาบางศาสนาถือดาบ เช่นศาสนา อิสลาม ก็ดี ศาสนาซิกซ์ก็ดี เขาถือดาบ เขาถือเพื่อให้คนละความเห็นแก่ตัวเหมือนกัน บางคนมันไม่ ไม่ยอมละ ละไม่ได้ก็ถือดาบมา ให้มันละ ให้ละความเห็นแก่ตัว ถ้าเข้าใจ เรื่องความเห็นแก่ตัว ปฏิบัติเพื่อไม่เห็นแก่ตัว ละความเห็นแก่ตัว มันจะถือทุกศาสนา พร้อมกันหมด เราไม่ถือว่า กบฏ /หัวเราะ/ ศาสนาไหน แม้ว่าเราจะถือพุทธศาสนา เราถือพร้อมกัน ทุกศาสนาที่มี ความหมายเหมือนกันหมด ไม่เห็นแก่ตัว ทำลายความรู้สึกที่ว่าตัว
เราเคยพูดกับคนบางคน หรือนักบวชบางองค์ที่เขาบวช เปลี่ยนศาสนามา เป็นถือ ศาสนาพุทธ เราพูดพาซื่อโง่ๆว่า อ่า, ถ้าคุณเข้าใจศาสนาของคุณดี แล้วคุณคงไม่เปลี่ยน ศาสนามาถือศาสนาพุทธ เขาโกรธ เขาถือศาสนาคริสต์มาก่อน พ่อแม่เขาเป็น ศาสนาคริสต์มาก่อน แล้วมาบวช มาถือศาสนาพุทธ บอกเขาว่าถ้าคุณเข้าใจศาสนา ของคุณดี แล้วคุณก็ไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา เดี๋ยวนี้ก็ยังพูดอย่างนี้อีกแหละ ถ้าว่าเข้าใจ ศาสนาตนดีแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา ขอให้เข้าถึงหัวใจศาสนาของตน ในระดับสูงสุด ลึกซึ้งที่สุด คือไม่ๆๆ ไม่ยึดถือตัวตน ไม่เห็นแก่ตน
เราเคยพูด เอ่อ, ครั้งหนึ่งให้ชื่อเรื่องว่า “ไม่มีศาสนา” หนังสือเล่มเล็กๆไม่กี่สตางค์ ไปหาซื้ออ่านดูก็ได้ ที่ร้านในกรุงเทพคงยังเหลืออยู่ “ไม่มีศาสนา” คือมีแต่สัจจะของ ธรรมชาติ เป็นอยู่อย่างนั้น อย่างนั้น แล้วมาบัญญัติเป็นพุทธศาสนาบ้าง เป็นศริสต์บ้าง เป็นอิสลามบ้าง เป็นฮินดูบ้าง ที่จริงมันเป็นกฎของธรรมชาติที่มีอยู่อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น ไปสรุปอยู่ที่ไม่เห็นแก่ตัว จึงจะเป็นสุข ส่วนสังคม ไม่เห็นแก่ตัวสูงสุด ก็หลุดพ้นในส่วนบุคคล รอดไปเลย เรื่องนี้เมื่อ เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว มันไป แพร่หลายในภาษาต่างประเทศ อ่า, มี มีคนแปลเป็นภาษาของตน ของตน อัดโรเนียว แจกกัน “No Religion” เดี๋ยวนี้ก็แปลรวมอยู่ใน ในเรื่อง “ภาษาคนภาษาธรรม” เป็นภาษา เยอรมัน เพิ่งพิมพ์ออกเมื่อเร็วๆนี้ เรื่อง “ไม่มีศาสนา” แปลเป็นภาษาเยอรมัน สะดวกที่จะ อ่านกันในทวีปยุโรป
ไอ้สิ่งท่ีเรียกว่าศาสนานั้น ศาสนานี้ เราตั้งเราบัญญัติกันขึ้น เอ่อ, ตามธรรมดา หรือว่าตาม สามัญสำนึกของโลก ของชาวโลก แม้แต่พระพุทธเจ้า นี่ ท่านก็ไม่ได้ตั้งบัญญัติ ชื่อนี้ ว่าพุทธศาสนา อันนี้ชื่อพุทธศาสนาของฉัน ของเราให้แก นี่ก็ไม่มี ท่านเรียกว่า ธรรมะ ธรรมะของผู้รู้ ธรรมะ ของธรรมะ เป็นธรรมธาตุ ของธรรมชาติ มีอยู่อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้น ท่านไม่ได้ตั้งชื่อเลย ว่าพุทธศาสนา ศาสนาอื่นก็เหมือนกัน เช่นศาสนา คริสเตียน นี่พระเยซู ไม่ได้ตั้งชื่อว่าอย่างนั้น ไม่มีเลย ไอ้สาวกชั้นหลัง ก็เอามาพูดกัน ตั้งชื่อขึ้น แล้วก็ ไอ้คนระหว่างศาสนาแหละ มันต้องตั้งชื่อให้แก่ศาสนา เพื่อจะเป็น ที่รู้ๆกันว่า ศาสนาอะไรที่ไหนอย่างไร ไม่มีศาสนาเสียดีกว่า แต่มีหัวใจของศาสนา คือธรรมมะ หรือสัจจะของธรรมชาติ ที่เป็นหัวใจของศาสนา ในทุกศาสนามีสิ่งนั้น ในเรื่องนั้นเราได้ให้อุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนกับน้ำ ในโลกมีไม่รู้มีกี่ชนิด ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยชนิด สิ่งที่เรียกว่าน้ำในโลก น้ำฝน น้ำคลอง น้ำบ่อ น้ำหนอง น้ำโคลน น้ำคลำ น้ำมูก น้ำตา น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำอะไรก็ตามใจ ไม่ ไม่รู้กี่สิบน้ำ แต่ในน้ำนั้น มันมีน้ำ ที่แท้จริงอยู่ในนั้น ไอ้ที่ทำให้เป็นน้ำเลือด น้ำหนอง น้ำโคลน น้ำคลำ นั่นไม่ใช่น้ำ มันมี อะไรส่วนหนึ่งต่างหากที่ไปปนลงไปในน้ำ และให้ได้ชื่ออย่างนั้น ถ้าเราเอาไอ้ส่วนนั้น ออกเสีย ก็เหลือเป็นน้ำเดียว เหมือนกันหมด คือเป็นน้ำกลั่นที่บริสุทธิ์เหมือนกันหมด น้ำปัสสาวะ น้ำอุจจาระ น้ำคลำ น้ำที่ไหนก็ตาม น้ำฝน น้ำบ่อ น้ำคลอง เอาส่วนที่มันไม่ใช่ น้ำออก ไปแล้วมันจะเหลือน้ำ ในน้ำทุกน้ำมีน้ำที่แท้จริง นอกนั้นมันเป็นส่วนประกอบ ข้างนอก ทุกๆศาสนาเป็นอย่างนั้น มันมีของดีของแท้ของจริงอยู่เป็นแกน เหมือนกับน้ำ พอเอาไอ้สิ่งที่มันเกะกะข้างนอกออกไปเสีย มันก็เหลือแต่น้ำ
พอเราเอาคำว่าศาสนาออกไปเสีย ไม่มีชื่อเรียกว่าศาสนาไหน และก็จะเหลือแต่ธรรมะ เหมือนกันหมด ของธรรมชาติ คือกฏเกณฑ์ที่ว่าเราจะต้อง ไม่ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เกิดกิเลส มีกฏเกณฑ์ อ่า, ของธรรมชาติที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อทุกคนอยู่เป็นสุข ให้สังคมอยู่เป็นสุข ข้อนี้จะเหมือนกัน รวมเรียกว่า ความไม่เห็นแก่ตัว นั่นแหละคือน้ำ น้ำอันบริสุทธิ์ ที่มี อยู่ในน้ำทั้งหลาย คือศาสนาทั้งปวง เอาไปคิด เอ่อ, พิจารณาเรื่อยๆ ต่อไป ต่อไปข้างหน้า จนกว่าจะมองเห็นข้อเท็จจริงอันนี้ และก็อยากจะพยากรณ์เสียเลยว่า ไม่ใช่หมอดูนะ พยากรณ์ตามเหตุผล ว่าไม่อีก อีกไม่เท่าไหร่ อีกไม่กี่สิบปี ร้อยปีข้างหน้าก็ได้ ไอ้คำว่า ศาสนา มันจะหมดไป ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามนี่มันจะหมดไป เด็กๆจะ ไม่ยอมรับ ก็เหลือแต่คำว่า ไอ้สัจจะของธรรมชาติ นั่นแหละ จะเหลืออยู่ สัจธรรมของ ธรรมชาติจะเหลืออยู่ แล้วก็ทุกๆคนถือได้ร่วมกันหมด ไม่ต้องแบ่งเป็นศาสนานั้น ศาสนานี้ เอ่อ, เมื่อการศึกษาเจริญขึ้น วิทยาศาสตร์ยิ่งเจริญขึ้น เขาก็จะเบื่อคำว่า ศาสนา นั้นศาสนานี้ เอาไปทิ้งเสีย เหลือแต่เนื้อแท้ของทุกศาสนา คือสัจธรรมของธรรมชาติ พระเจ้าก็กลับมาในรูปนี้ สัจธรรมของธรรมชาตินี่ก็จะเป็นพระเจ้าที่คุ้มครองมนุษย์ต่อไป เดี๋ยวนี้พระเจ้าก็ถูกทำให้ตายแล้ว ไม่มีใครเชื่อ เพราะพูดแบบนั้น แบบที่ยึดถือ แบบที่ผูก ที่ว่าเอาเองเกินไป พระเจ้าเป็นอย่างนั้น พระเจ้าเป็นอย่างนี้ พระเจ้าต้องการอย่างนั้น พระเจ้าต้องการอย่างนี้ คนสมัยนี้มันก็ไม่เอา ก็ทิ้งพระเจ้าเสีย ที่เลิกพูดอย่างนั้นเสีย เลิกศาสนานั้น ศาสนานี้เสีย เหลือแต่สัจจะของธรรมชาติ มนุษย์ยอมรับได้ นั่นแหละ คือพระเจ้าจริง กลับมาอีกที อีกกี่สิบปีก็ไม่รู้ อาจจะถึงร้อยปีสองร้อยปีก็ได้ เมื่อการศึกษา มันเจริญถึงที่สุด เตรียมนึกเตรียมคิดไว้พลางได้ ว่า ไอ้ข้อยึดถือเป็นของเรา เป็นศาสนา ของเรา ศาสนาของเขา แล้วไม่เหมือนกัน ทะเลาะกันก็นี่ ก็ต้องหมดไป มนุษย์ก็ฉลาดขึ้น ที่โง่มันก็ไม่ต้องมีศาสนาเสียเลย ถ้ามันฉลาดขึ้น มันก็จะรู้จักเอาแก่นของศาสนาออกมา จากทุกๆศาสนา เหลือเพียงอันเดียว ว่าสัจจะของธรรมชาติ แม้แต่กฏวิทยาศาสตร์ กฎอะไรต่างๆก็จะกลายเป็น สัจจะของธรรมชาติไปหมด แต่ที่มันดับทุกข์ได้นั่นแหละ คือสิ่งที่เราเอาเป็นศาสนา เขาจะยอมรับว่าความที่รักกัน เมตตากัน ไม่เห็นแก่ตัว นั้นแหละ จะช่วยโลกได้ อย่างอื่นช่วยไม่ได้ เดี๋ยวนี้กำลังเอาเปรียบกันอย่างยิ่ง คิดทำลาย กันอย่างยิ่ง ต่อหน้าและลับหลัง คิดทำลายล้างกันอย่างยิ่ง โลกไม่มีทางที่จะมีสันติภาพได้
ที่นี้เรามายึดถือเป็นศาสนานั้น ศาสนานี้ จึงเกิดเป็นปัญหาอย่างที่ถามนี้เมื่อตะกี้ ว่า ไปเอา หลักหลักธรรมมะในศาสนาอื่นมาถือเข้า แล้วก็จะ จะเสีย เสียไอ้ความเป็นศาสนาของตน หรือไม่ ก็ถ้ามันเหมือนกันก็ไม่ต้องเสีย ถ้าไปถือเปลือกของเขามานั่นอาจจะเสีย ถ้าไปเอา คว้าหัวใจของศาสนามาได้ จะไม่เสีย มันจะมีหัวใจเหมือนกัน อย่างที่พูดว่า ในน้ำทุกชนิดมีน้ำอันบริสุทธิ์
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : ปัญหาส่วนตัวข้อสุดท้ายที่จะกราบเรียนถามพระคุณเจ้ามีดังต่อไปนี้ สภาวะจิตใจอย่างไรจึงจะเรียกว่า ไม่ทุกข์ไม่สุข และสภาวะนั้นจะมีได้ไหม ในบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม
ท่านพุทธทาส : อืม, นี่เกี่ยวกับคำ บางคำที่จะต้องทำความเข้าใจ ในภาษาไทยเราหละหลวมในการใช้คำ จนมีปัญหา อ่า, คำว่า “ภาวะ” กับ “สภาวะ” นั้นไม่เหมือนกัน “ภาวะ” คือภาวะอย่างใด อย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ โดยที่ใครทำมันขึ้น หรือมันเป็นเองก็ได้ แต่คำว่า “สภาวะ” ทางภาษาบาลีที่มันเป็นเอง ที่มันเป็นของมันเอง นี่ถ้าเราเคร่งครัดอย่างวิชากฎหมาย ที่เราฟังคำพูดกันเป็นหลักแล้ว ถ้าจะถามว่า จิตที่ไม่สุขไม่ทุกข์ นั้นมันเป็นสภาวะ ที่มีได้เองหรือไม่ เดี๋ยวนี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ล่ะ ผู้ถามน่ะ /หัวเราะ/ ก็ลองนึกถึงตัวเอง ถ้ามันไม่สุขและไม่ทุกข์ มันก็คือเป็นสภาวะที่มันเป็นเองได้ หรือว่าถ้าเรานอนหลับเสีย มันก็ไม่มี รู้สึกสุขหรือทุกข์ ก็เป็นสภาวะที่ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เป็นได้เอง สภาวะ แปลว่า ภาวะที่เป็นเอง ไอ้ ภาวะ นี่แปลว่า สิ่งที่ ภาวะที่ต้องทำ
เดี๋ยวนี้ อ่า, มันๆ มันมีปัญหาว่า ที่เราจะรอมันเป็นเองอย่างนั้นน่ะ มันไม่ค่อยมี คือเราก็ นอนไม่หลับด้วย พอมีความทุกข์ขึ้นมา จึงต้องมีวิธีการอีกอันหนึ่ง ที่ทำให้เกิด ภาวะ ดีว่า อย่าใช้คำว่า สภาวะเลย เรามีวิธีปฏิบัติธรรมมะ ที่ให้เกิดภาวะไม่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ไอ้คนที่ต้องการที่จะไม่สุขหรือทุกข์นี่ มันสูงมากแล้วนะ อย่าเล่นตลกกับตัวเองนะ เมื่อตัวเองยังต้องการที่เป็นสุขอยู่ ก็มันยังไม่ถึงนั่นหรอก ที่ต้องการจะไม่เป็นสุขหรือ เป็นทุกข์ นั้นน่ะ แสดงว่ามันเบื่อทั้งสุขและทั้งทุกข์ แล้วมันจะขึ้นไปพ้น ที่จะเป็นสุขหรือ เป็นทุกข์ นั่นเป็นระดับสูงมาก เห็นว่าความทุกข์ก็ไม่ไหว ไอ้ความสุขนี้ก็ยังไม่ไหว คือว่า ไปยึดถือมันเข้า แล้วมันก็หนักเหมือนก้อนหิน จึงต้องการจิตที่ไม่มีทั้งสุขและทุกข์ เป็นระดับสูงที่เขาเรียกว่า ระดับว่าง ไอ้ส่วนที่เป็นเอง บางครั้งบางเวลา เราก็ไม่รู้สึก เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นั่นคนละอัน ไม่สุขไม่ทุกข์ตามธรรมชาติตามไอ้สิ่งแวดล้อมมา บังเอิญเหมาะสม เราก็หายใจอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือว่า เมื่อหลับเสียมันก็ไม่เป็นสุข หรือไม่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เมื่อสูบเฮโรอีน นี่รู้สึกเป็น สุขหรือเป็นทุกข์ ใครรู้บ้าง /หัวเราะ/ ถ้าไม่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็ไปสูบเฮโรอีน ก็แล้วกัน /หัวเราะ/ เป็นวิธีที่ง่ายดี ที่นั่งอยู่นี่คงไม่มีใครเคยลองนะ /หัวเราะ/ ตอบไม่ได้
วิธีที่จะทำให้จิต เอ่อ, มันหยุดไป ไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์ ไอ้ทาง ทางวัตถุทางฟิสิกส์ นี่คงมี เป็นยาบางชนิด ไอ้นักวิทยาศาสตร์คงจะช่วยทำให้ได้ กินแล้วไม่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ แต่มันไม่อาจดับทุกข์โดยสิ้นเชิงได้ เป็นเรื่องคุมไว้ชั่วคราว หรือหลอกกันชั่วคราว เราจึง ไม่หวังที่จะกินยาเม็ด เพื่อให้จิตเป็นนิพพาน คือไม่สุขไม่ทุกข์ เราหวังที่จะปฏิบัติให้ ถูกต้อง ตามหลักของธรรมะ จนจิตมันเปลี่ยนสภาพไป อยู่ในสภาพที่จะไม่รู้สึกสุขหรือ ทุกข์อีกต่อไป อย่างนี้จะให้มันเป็นเองเฉยๆไม่ได้ ไม่ใช่ ไม่ใช่เหมือนกับภาวะที่ว่าหลับ หรือภาวะที่ยังไม่มีอะไรมาปรุงแต่งหรือกระตุ้น เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครรู้สึกเป็นสุขหรือ เป็นทุกข์ เพราะมันลืมไป อย่างนี้ก็เป็นเองได้ และไม่พอ ไม่พอที่จะรับประกันว่า มันจะ เป็นอย่างนี้อยู่ได้ตลอดไป พอมีอะไรมาทำให้ทุกข์ก็ทุกข์อีก มีอะไรมาทำให้พอใจเป็นสุข ก็เป็นสุขอีก ยังไม่พอ ต้องไปศึกษาชนิดที่ว่า อะไรมา ก็ทำให้รู้สึก เอ่อ, รัก หรือเกลียด ไม่ได้ จึงจะเรียกได้ว่าไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์
ก็มีอีกคำหนึ่ง เรียกว่า “อทุกขมสุข” คือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ คืออารมณ์ที่เฉยๆ เมื่อนอนหลับก็ดี หรือว่าเมื่อ มันไม่มีอะไรมากวนให้เกิดรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ก็เป็น อทุกขมสุขได้ นี่ไม่ใช่ความหลุดพ้น ไอ้หลุดพ้นที่ไม่เป็นสุขเป็นทุกข์ อีกต่อไป นี่มันสูง ขึ้นไป ระดับปล่อยตัวตน ไม่มีตัวตน ไม่ยึดถือในเวทนา ไม่มีความหมายในเวทนา จะหวัง ให้เป็นเองนี่คงไม่ได้ ต้องไปศึกษาธรรมะให้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องอยู่ ก็ดีขึ้น ดีขึ้น จนวันหนึ่งมันถึงที่สุด ก็ ก็เป็นพระอรหันต์ พูดอย่างอื่นไม่ได้ ที่จะอยู่เหนือความรู้สึก ที่เป็นสุขเป็นทุกข์โดยประการทั้งปวง มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น จะเป็นเองไม่ได้ ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติ
เอ้า, มีอะไรอีก
นักศึกษา : ต่อไปนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับที่บรรยายในตอนบ่าย นะครับ ผมขอเรียนกราบถาม ท่านอาจารย์เป็นปัญหาแรก ดังนี้นะครับ ในกรณีที่สามีหลงมัวเมาในกามารมณ์ กับหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยา ผู้ที่เป็นภรรยาควรใช้วิธีใดในการดับทุกข์นั้น การทำสมาธิให้ใจสงบเป็นการแก้ปัญหาถูกวิธีหรือไม่
ท่านพุทธทาส : ปัญหามันไขว้กันไปหมด ถ้าถามอย่างนี้ คือเอาสูงๆกับต่ำๆมาปนคราวเดียวกัน ไอ้ภรรยา คงทำสมาธิไม่ได้ ถ้าอย่างนี้ (เสียงผู้ฟังหัวเราะ) มันไม่ใช่ปัญหาทางธรรมะโดยตรงด้วย เป็นปัญหาบ้านเรือน เขาก็ต้องไปทำความเข้าใจกัน ด้วยวิธีที่ดี ที่ฉลาด ให้มันเข้าใจกันได้ ให้ ให้เข้าใจกันได้ เรียกว่าเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างสามีภรรยา แล้วปัญหาก็ไม่มี ฉะนั้น จึงควรศึกษาธรรมะ ให้รู้ว่ามนุษย์มีจุดหมายปลายทางอย่างไร จะเดินกันไปทางไหน แล้วก็ช่วยกัน ซึ่งกันและกัน เพื่อจะเดินไปทางนั้น ปัญหาอย่างนี้คงไม่มี ถ้ายังไปบูชา กามารมณ์แรงอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง แล้วมันเดินด้วยกันไม่ได้ มันจึงไม่ใช่ชีวิตคู่ ที่ถูกต้อง มันเป็นชีวิตที่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่รวมอยู่ในเรื่องนี้ ก็ควรจะระวังเอาเอง อย่าให้เกิดขึ้น เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้น
เดี๋ยวนี้ในโลกนี้ มันมุ่งหมายกามารมณ์ บูชากามารมณ์ ไม่สนใจอุดมคติของมนุษย์ ของชีวิต มันจึงแต่งงานกันด้วยความหมายทางกามารมณ์ ไม่กี่วันก็ทะเลาะกัน ไม่กี่วัน ก็หย่ากัน ไม่กี่วันก็แต่งงานใหม่อีก ไม่กี่วันก็ทะเลาะกันหรือหย่ากัน เหมือนข่าวในโลก ปัจจุบัน ที่เป็นมากทางเมืองฝรั่ง แล้วเมืองไทยก็กำลัง ไปเอาอย่างเข้า ปีหนึ่งดารา ภาพยนตร์หย่ากันกี่คู่ คุณรู้ดีกว่าอาตมา ไม่ต้องถามก็ได้ วานนี้ก็มีคู่หนึ่ง หนังสือพิมพ์ลง ที่มีชื่อเสียงมาก อย่าทำไอ้แบบที่ว่า ไม่รู้เกิดมาทำไม ให้รู้ว่าเกิดมาทำไม ก็จะได้เลือกคน ที่เป็นคู่ จะได้เข้าใจกันได้ ว่าเกิดมาทำไม แล้วก็เดินไปด้วยกันได้
เอ้า, ถามปัญหาอื่นดีกว่า นี่ไม่ใช่ปัญหานี่
นักศึกษา : อันนี้เป็นคำถามที่ ๒ นะครับ ถ้าคนข้างเคียงกำลังเดินเข้าสู่หนทางแห่งกามารมณ์ และมัวเมาในสิ่งนั้น เราซึ่งเป็นบุคคลซึ่งใกล้ชิด ควรจะชี้ให้เห็นคุณโทษ ของกามารมณ์ในลักษณะง่ายๆได้อย่างไร
ท่านพุทธทาส : ไอ้คนข้างเคียงนี่หมายความว่ายังไง
นักศึกษา : อาจจะเป็นเพื่อนก็ได้ครับ
ท่านพุทธทาส : ไม่ใช่สามีภรรยา คือว่าเป็นคน คนอื่น ปัญหามันควรจะตั้งขึ้นมาว่า เราควรจะเข้าไปยุ่ง ด้วยเรื่องของคนอื่นสักเท่าไร มันมีความเหมาะสมว่า เราจะไปเกี่ยวข้อง หรือไปยุ่งเรื่อง คนอื่นเท่าไร หลักธรรมะเขาก็สอนให้ดู ตาม้า ตาเรือ ให้พอดีให้ถูกต้องเหมือนกัน มันก็ ต้องดูว่า มันเท่าไร เพียงไหน อย่างไร ถ้าเห็นว่า จะพูดกันรู้เรื่อง จะช่วยได้ ก็ช่วย ได้เต็มที่ อย่าไปให้ถูกเข้าไปกับคนที่เขาพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วเขาก็จะโกรธเอา หรือเขาจะ ทำร้ายเอา เขาไม่ชอบให้ใครเข้าไปแทรกแซงไอ้เรื่องส่วนตัวของเขา เรามีเมตตากรุณา นั้นถูกแล้ว แต่ระวัง ให้มันเมตตากรุณาที่ถูกที่ถูกทาง แล้วพอดีพอเหมาะ กับเรื่อง กับเหตุการณ์นั้นๆ ก็ดูเอาซิ จะช่วยกันเท่าไรก็ ตามที่มองเห็น มันไม่เฉพาะเรื่องกามารมณ์ คนเขาจะไปหลง เรื่องอื่นด้วยก็ได้ ถ้าทำผิดเรื่องอื่นก็ได้ มันไม่ใช่มีแต่เรื่องกามารมณ์เรื่องเดียวในโลกนี้ ตั้งหลักไว้กลางๆว่า เขากำลังเข้าไปหาอันตราย แล้วเราก็จะช่วยเขา ให้ได้ผลดี ให้ถูกวิธี เรียกว่าดูให้ดี เขาจะเป็นอันธพาล เขาจะขโมย เขาจะเป็นโจร เขาจะเป็นผู้ก่อการร้าย เขาจะอะไรอีกหลายๆอย่าง เราจะช่วย ห้ามเขาไว้ได้เท่าไร อย่างไร ก็ดูให้ดี ถ้าว่าทำความ แน่ใจให้เขาได้ ว่าเราเป็นผู้หวังดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นผู้มีความรู้ถูกต้อง ควรเชื่อฟัง ก็ทำได้ เขาคงจะเชื่อฟัง ค่อยๆพิสูจน์เหตุผลทีละนิด ทีละนิด ให้เขาเห็นว่าเราเป็นผู้แนะนำที่ดี อย่าพรวดพราดเข้าไป เป็นญาติก็มี เป็นพี่น้องก็มี เป็นคนอื่นก็กันมี เรื่องมันต่างกัน
สรุปว่าจะไปช่วยใครนั้น ต้องอย่าพรวดพราดเข้าไป ดูความเหมาะสม ไอ้ที่เรียกว่าพอดี หรือเหมาะสม เป็นๆ เป็นคำ เป็นหลักกลาง ใช้ได้ทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องอะไร ให้พอดี ให้ถูกต้อง ให้เหมาะสม จะใช้ได้ทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องอะไร
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : อันนี้เป็นปัญหาข้อถัดไปนะครับ อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า คนปัจจุบันเมื่อแต่งงาน แล้วก็มักจะหลงใหลในกามารมณ์ได้ง่าย ดังนั้นหากต้องการ จะมุ่งสู่นิพพาน ควรจะ หลีกเลี่ยงการแต่งงานไว้ก่อน ถึงแม้จะยังไม่เข้าใจหลักธรรมะมากนัก เช่นนี้จะดีหรือไม่
ท่านพุทธทาส : นั่น นั่นเราว่าเอาเองนี่ คือว่า ไอ้เรื่องของนิพพานนั้น มันมี ตามปกติ มันมีเมื่อๆ เมื่อผ่านโลกไปจนหมด จนหมดอะไร เอ่อ, หมดที่สงสัย เพราะมันเป็นระดับสุดท้าย หลงในกาม แล้วก็หลงในรูป หลงในอรูปแล้วจึงไปนิพพาน ไม่ ไม่หลงในกาม ไม่หลง ในรูป ไม่หลงในอรูปแล้วจึงจะไปนิพพาน ไม่หลงในความสุขจึงจะไปนิพพาน เอ่อ, ไม่หลงในบุญกุศลจึงจะไปนิพพาน เดี๋ยวนี้คนเหล่านี้ยังไม่รู้เรื่องบุญกุศล เรื่องบาป เรื่องอะไร ก็ไปทำให้รู้จัก เช่นไม่รู้เรื่องกามารมณ์ ก็ไปทำให้รู้จักว่ากามารมณ์นี้เป็น อย่างไร เป็นไฟ หรือว่าเป็นอะไร ธรรมดามันไปรูปนั้น คนในโลกจะผ่านปัญหา หรือผ่าน ไอ้วัตถุของความอยากขึ้นมาตามลำดับ ตามลำดับ จนสุดท้าย ไม่มีอะไรดีกว่านั้นแล้ว ก็ ก็ไปนิพพาน ทีนี้ก็เป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ธรรมดาแล้วถ้าอย่างนี้ เกิดไปเรียนศึกษาเรื่อง เรื่องโลก เรื่องในโลก หรือว่าความสุขในโลกเหล่านี้ ไม่ ไม่มีสาระอันแท้จริงอะไร อะไรๆ ที่เขาว่าดีกันในโลกทุกอย่างน่ะ เป็นความสุขก็ได้ เป็นบุญกุศลก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ ที่เขาว่า วิเศษดีทุกอย่าง นี่เรามองเห็นว่า เป็นเรื่องหนักทั้งนั้น เป็นเรื่องแบกหามและหนักทั้งนั้น อยากจะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ เอ่อ, แล้วก็จึงไปสนใจเรื่องนิพพาน ทีนี้คนที่ไม่เคย เอ่อ, แต่งงานนี่ มันก็ยากที่จะรู้ว่า ไอ้ความสุขหรือวัตถุประสงค์ของการแต่งงานนั้นเท่าไร เพียงไร มันก็เลยยังไม่ ยังเบื่อไม่ถูก ฉะนั้นการผ่านไปนั้นจึงทำให้เบื่อถูก แต่ถ้าเขาเบื่อได้ โดยที่ไม่ต้องผ่าน ก็ไปเข้าเรื่องพิเศษ กรณีพิเศษ อย่างตัวอย่างเรื่องสามเณรไม่กี่องค์ ที่เล่า ให้ฟังเมื่อตอนเย็น ที่นี้ลำพังการเรียนการอ่าน การที่ไม่ได้ผ่านนี่ จะช่วยให้เข้าใจ ถึงขนาด นั้นได้หรือไม่ อันนี้ตอบยาก เพียงแต่อ่าน เพียงแต่ฟังเรื่องธรรมะชั้นสูงสุด เรื่องมรรคผล เรื่องนิพพาน จะทำให้มองเห็น ไอ้เรื่องความสุขในโลกๆ นั้นเป็นสิ่งที่ ไร้สาระ จริงหรือไม่ ถ้ามันจริงได้ มันก็ได้เหมือนกัน ก็ต้องเป็นบุคคลพิเศษ อยู่ในกลุ่มที่ว่า กลุ่มสามเณร พระอรหันต์ที่ว่า มันก็เป็นเรื่องทำทางจิตใจ ที่จะทำวิปัสสนา ทำกรรมฐาน ถ้าทำสำเร็จ มันมองเห็นว่า ความสุขชนิดไหนก็ตาม เวทนาที่เป็นสุข ชนิดไหนก็ตาม เป็นมายาและ หลอกลวงทั้งนั้น อย่างนั้นล่ะก็ได้ ทำวิปัสสนาสำเร็จ เห็นโดยประจักษ์ว่า สุขเวทนา ทุกชนิดเป็นเรื่องมายา ไม่ใช่มีตัวจริง แล้วจิตมันก็น้อมไปเพื่อนิพพานได้
นี่ก็ทำได้ก่อนแต่งงาน หรือว่าแต่งงานแล้วจะทำได้ นั่นแหละคือปัญหา ถ้ามันจับพลัด จับผลูไปทำวิปัสสนา เห็นความจริงข้อนี้เสียก่อนแต่งงาน ไม่ต้องสงสัยล่ะ มันไม่แต่งงานแน่ แต่ถ้าแต่งงานแล้ว มันจะทำได้ ทำวิ…โดยวิปัสสนาแบบนี้ เป็นเรื่อง ที่ต้องผ่านไป แล้วก็มองเห็นทีหลัง ก็ได้เหมือนกัน เขาคงจะยุติชีวิตบ้านเรือน
ในๆ ในตำนาน ในคัมภีร์ก็มีเหมือนกัน ก็เป็นผัวเมีย มหากัสสปะ พระมหากัสสปะกับ ภรรยา นี่เขาแต่งงานแล้วอยู่ด้วยกัน แล้วก็เกิดสนทนาศึกษากันแต่เรื่องนี้ เรื่อง เรื่องที่มัน เหนือโลก จนเป็นที่เข้าใจ ในที่สุดก็ออกไปจากบ้าน จากเรือน เดินหันหลังให้กันไป คนละทิศคนละทาง ไปบวชสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่ มันก็ควรจะมีได้ มันถึงขนาด มันก็ควรจะมีได้
ทีนี้มาถึงไอ้ปัญหาที่ถามนี้ มันก็อยู่ที่เจ้าของปัญหา ว่าจะต้องการหรือไม่ ถ้าต้องการ ก็ลองดู ผู้ถามน่ะ ถ้าผู้ถามต้องการก็ลองดู ลองพิจารณาเห็นไอ้คุณค่า ของการ บรรลุ มรรคผล ว่ามันสูงเท่าไร ประเสริฐเท่าไร และเห็นคุณค่าของการ อยู่ครองเรือนนี่มันขี้ฝุ่น สักเท่าไร ก็เลยตัดสินใจได้ จะตอบเป็นปัญหากลางๆสำหรับทุกคนไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะคน
แม้พระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้ที่ผ่านชีวิตบ้านเรือนมาอย่างโชกโชน นี่สามเณรเล็กๆ ๗-๘ องค์ อายุ ๑๔ ปีเป็นพระอรหันต์นั้นมันพิเศษเกินไป มันจะเก่งกว่าพระพุทธเจ้าซิงั้น โดยที่มัน ไม่ต้องผ่านไอ้ชีวิตอย่างบ้านเรือน อย่างพระพุทธเจ้า พระสิทธัตถะนี้ผ่าน ชีวิตบ้านเรือน มาอย่างโชกโชน เต็มปรี่เกินจะโชกโชน แล้วก็ออกไป ก็ไม่มีปัญหา ที่นี้เราจะทำได้เท่าไร ไปคำนวณดูเอง ถ้ามันเป็นโชคดีมีปัญญา มองเห็นประโยชน์อันใหญ่หลวง ควรจะเอาโดย มา ไม่มาเห็นแก่ประโยชน์เล็กๆน้อยๆ อย่างนี้ ก็ได้เหมือนกัน มีทางที่จะเป็นไปได้ ทำไปได้จนสำเร็จ ก็นับว่าวิเศษ
โดยทั่วไป ไม่ต้อง ไม่ต้องไปบรรลุมรรคผลนิพพานกันน่ะ อย่างจะชี้ให้เห็นว่าโดยทั่วไปนี่ ไอ้ชีวิตโสดจะทำอะไรได้ มากกว่า กว้างกว่า สูงกว่า เพราะว่ามันไม่มีอะไรผูกพัน จะบวช หรือไม่บวชก็สุดแท้ ไอ้ชีวิตโสดนี่ที่มันเข้มแข็งเฉียบขาด จะต้องทำอะไรได้มากกว่าชีวิตคู่ แม้ว่าจะช่วยเหลือผู้อื่น ก็ช่วยเหลือได้กว้างกว่า เพราะเราไม่มีสิ่งผูกพัน บวชเป็นพระเป็น สมภารอย่างนี้ ก็ช่วยคนได้มากกว่าที่จะเป็นฆราวาส รุงรังไปด้วยครอบครัว ชีวิตฆราวาส นั้นน่ะ ชีวิตคู่น่ะ มันเหมือนกับหาบเอาบ้านเอาเรือนไปด้วย ชีวิตเดียวเหมือนคนตัวเปล่า มันเดินตัวเปล่า ชีวิตคู่เหมือนหาบเอาบ้านเอาเรือนไปด้วย ใครจะเดินสะดวกกว่ากัน ไปดู ไปเปรียบเทียบดู ใครจะเดินเร็วกว่ากัน สะดวกกว่ากัน ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับ พูดกันกลางๆได้ เป็นปัญหาส่วนบุคคล เอาไปคิดเอาเอง
เอ้า, เอาปัญหาอื่นดีกว่า
นักศึกษา : ถ้าเช่นนั้นขอเรียนถามอาจารย์เพื่อความละเอียดลงไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้นเราควรจะมีชีวิตที่ อยู่อย่างโชกโชนในเรื่องโลกๆ ควรจะ ควรจะดีกว่าชีวิตที่สมถะ หรือสันโดษใช่ไหมครับ
ท่านพุทธาส : จะตอบโดยส่วนเดียวอย่างนั้นไม่ได้ พุทธบริสุท…อ่า, พุทธบริษัทจะ ไม่อาจจะตอบ ไอ้คำถามโดยส่วนเดียว ด้านเดียวข้างใดข้างหนึ่งได้ มันมีข้อแม้ จะเข้าไปศึกษา อย่าง โชกโชนมันก็ดีเหมือนกัน ถ้ามันเป็นการศึกษา ที่นี้กลัวจะไม่เป็นการศึกษา มันจะไปจม ตายอยู่ในนั้น ขึ้นมาไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่ไหว เขามีวิธี วิธีลัดอย่างที่ว่า เข้าไปดูที่ตรง ไอ้, เวทนา สุขเวทนาที่เป็นจุดมุ่งหมายปลายทาง ของความต้องการทุกอย่าง เข้าไปดู ที่ตรงนั้น เห็นได้ชัด เห็นว่าไม่น่าเอา แล้วก็ไป ไปได้
ช่วยจำไว้สักคำนะว่า ไอ้สุขเวทนา นั้นมันเป็น ที่รวมแห่งความหมาย อ่า, ของสิ่งที่มนุษย์ ต้องการทุกอย่าง เช่นเรามีเงิน นี่ก็จะพูดว่า ใช้เงินหาความสุข มีอำนาจก็จะใช้อำนาจหา ความสุข มีเกียรติมีอะไรทุกอย่าง มีบุญมีกุศล ก็เพื่อจะใช้มันเพื่อหาความสุขคือสุขเวทนา ทีนี้เรามาทำให้เกิดสุขเวทนา อ่า, โดยสมาธิ ทำสมาธิสำเร็จเกิดสุขเวทนา เป็นเวทนา ที่ยิ่งกว่า เป็นสุขเวทนาที่ยิ่งกว่าสุขเวทนาทั้งหลายในโลก จึงดูสุขเวทนาสูงสุดนี้ ไอ้ย, ไม่ไหว มายาเหมือนกัน เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ก็ปัด ไอ้, ความหมายของสุขเวทนาออกไปหมด ไม่ต้องไปลองทุกอย่างตามลำดับ เพราะ ไอ้สุขเวทนาไหน มันก็ไม่ ไม่สูงสุดไม่ปราณีตที่สุดเท่ากับ สุขเวทนาที่เกิดจาก ไอ้, สมาธิ นั่นแหละวิธีที่เรียกว่า อานาปานสติ ทำให้เกิดสุข ขึ้นมาจากการทำสมาธิ แล้วก็เอา สุขเวทนานั้นมาพิจารณาเป็นเวทนา สุขที่สุด ที่รู้สึกอยู่ ที่เกี่ยวข้องอยู่ แล้วดูจิตที่ไป ขลุกขลักกันอยู่นั้น มันก็จะค่อยๆเห็นไอ้ความ หลอกลวง มายา ก็เบื่อหน่าย ก็คลายๆ ความต้องการ คลายความยึดถือ คลายความอยาก จนหลุดพ้นไปเลย นี่คือวิธีที่ไม่ต้อง เข้าไปคลุก ดูด้วยตนเองอย่างโชกโชน ในทุกเรื่องของไอ้โลก ก็มีอย่างนี้
ฉะนั้นผู้ที่ออกบวชก็สามารถจะ ชิมไอ้สุขเวทนาสูงสุด แล้วก็เบื่อได้ และน้อมไปทาง ไอ้, โลกุตระได้ นี่ถ้าคนธรรมดา มันจับพลัดจับผลูเป็นไปได้อย่างนั้น แล้วมันก็มีบุญอยู่บ้าง คือมันไม่หลง ไปจมตายอยู่ในนั้น มันหลุดออกไปได้ มันก็ไปได้เหมือนกัน มันก็ไปทาง ที่จะหลุดพ้นเหนือโลกไปได้เหมือนกัน แต่ไม่แนะนำว่าให้ทำอย่างนั้น กลัวจะไปจมตายอยู่ที่นั่น
เอ้า, มีอะไรต่อก็ว่าไป
นักศึกษา : คำถามครับ ทำอย่างไรจึงจะชักชวน หรือชี้ชวนให้คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเข้าวัยชราแล้ว หันมาสนใจธรรมะ ซึ่งปกติท่านไม่ได้สนใจเลย
ท่านพุทธทาส : ปัญหานี้มันพิเศษเฉพาะเกินไปนะ ไม่ใช่ปัญหาทั่วไป คงจะมี เอ่อ, มีมากนะ มีคนถาม อย่างนี้มาก่อนแล้ว แล้วไม่ใช่… แล้วใครที่ทำให้เรามา สนใจธรรมะได้ เมื่อพ่อแม่ ไม่สนใจ ต้องดูให้ละเอียดให้ ให้ถี่ถ้วนให้รอบคอบ ไม่ใช่ว่าจะต้องมาวัดทุกวัน หรือว่ามา ทำบุญทำทานอะไรทุกวัน เขาอาจจะมีความคิดที่ถูกต้อง ซึ่งเราไม่รู้ของเขา เดินอยู่ตาม ทางของธรรมะ เขาจึงรอดตัวอยู่ได้ ไม่ได้ไปสร้างความทุกข์อะไรขึ้นมา นี่ไม่ค่อย… ไม่กล้าตอบ เดี๋ยวไปโดนคุณพ่อ ที่เขามีอะไรลึกๆ ซึ่งเราไม่เข้าใจเขา จะเป็นเรื่องยุ่ง กันใหญ่ ที่จริงคุณพ่อคุณแม่นั้นก็อาจจะมีธรรมะอยู่เต็มตัว แล้วเราดูไม่ออก แล้วไปว่า อย่างนั้น
เอาล่ะถ้าว่ามันเป็นเรื่องจริง อ่า, ตามที่ว่ามานี้ ก็หา หาวิธี หาหนทางหาอะไรกันอย่าง ละเอียดปราณีต อย่างแยบคาย เรื่อยๆไป จนกว่าจะรู้จักธรรมะ พอใจธรรมะ แต่ถ้าว่า พ่อแม่เขาอยู่ในความสงบสุขอย่างดี ก็อย่าไป ??? (นาทีที่ 1.18.22) เขานะ เขามีอะไรดี กว่าเราแน่ ไม่งั้นเขาอยู่ไม่ได้หรอก อย่าไปเข้าใจว่าไม่มีธรรมะ ไม่รู้ธรรมะ แต่ถ้ามันเห็น ชัดอยู่ว่าไม่เข้าใจธรรมะจริง ไม่เข้าใจธรรมะเลย ทำอะไรผิดๆทั้งนั้นล่ะก็ ค่อยๆพยายาม ดี เป็นการสนองคุณ บิดามารดาอย่างสูงสุด สังเกตเอาเองเฉพาะเรื่อง แล้วทำไปตามลำดับ เฉพาะเรื่อง
เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
นักศึกษา : ขอกราบเรียนปัญหาถัดไปนะครับ การมีชีวิตคู่ที่ต้องการเดินไปสู่นิพพาน ถ้าภรรยามีความต้องการฝ่ายเดียว จะมีปัญหาในการเดินไปสู่นิพพานมากน้อยเพียงใด และจะแก้ไขอย่างไรดี
ท่านพุทธทาส : มีข้างเดียว มันก็ มันก็ไม่ได้ มันก็ขัดขากัน พยายามทำความเข้าใจ เราไม่ได้ใช้คำว่า เดินไปนิพพานทันที ตั้งแต่โอกาสแรก คือต้องการให้มีความเป็นมนุษย์ ที่มากขึ้น มีค่าสูงสุด มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น เรื่องนิพพานนั้นไปทีหลัง มาทีหลัง เดี๋ยวนี้มันเป็น เรื่องพูด มันก็พูดได้ว่า ไอ้มนุษย์นี่มันควรจะมองเห็น ไอ้, ข้อเท็จจริงอันนี้ ว่าการเวียนว่าย มาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อจุดจบคือนิพพาน ถ้าว่ามีชีวิตคู่ ก็อย่าต้องขัดขวางกัน ให้เป็นเพื่อน ปรึกษาหารือ คู่เดินทางกัน ก็จะดี คือมันจะได้เร็วเข้า แต่ถ้าคนหนึ่งไม่ประสีประสาเลย มันก็ต้องขัดขวางกัน มันก็ต้องยุ่ง ถ้า ถ้าทำความเข้าใจกันไม่ได้ ก็ต้องเลิกอุดมคติอันนี้ ไม่ใช่เพื่อนไปนิพพาน เหมือนตัวอย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อตะกี้ กรณีของพระมหากัสสป มองเห็นธรรมะในความเป็น…ในบ้านในเรือน แล้วออกจากเรือน เดินหันหลัง ไปบวช เป็นพระอรหันต์กันทั้งนั้น คงจะพูดจากันแต่เรื่องนี้ ตั้งแต่แรกแต่งงานจนถึงวันหนึ่ง ลงจากเรือนเดินไปคนละทิศ
ถ้าเรามีธรรมเนียมประเพณีที่ให้ศึกษาธรรมะให้รู้เรื่องนี้กันเสียก่อน ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว มันก็จะดีมาก จะเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น ในข้อ ในข้อที่ว่าเกิดมาทำไม เอาไอ้เรื่องเกิดมาทำไมนั่นน่ะไป ไปถกไปเถียงไปพูดจากันให้เป็นที่เข้าใจ พบจุดหมาย ปลายทาง แล้วก็หาคู่เดินทางที่มันพูดกันรู้เรื่อง จากนั้นก็ไปถึงจุดที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะ ไปถึง ใช้คำอย่างนั้นดีกว่า ทีนี้ไม่มีโรงเรียนไหนหรือมหาวิทยาลัยไหน หรือหลักสูตรไหน ที่จะมาสอนให้รู้กันเสียแต่เดี๋ยวนี้ว่าเกิดมาทำไม เขาให้เรียนแต่วิชาชีพ วิชาเทคโนโลยี ให้เก่ง ให้เข้มแข็งในการทำอาชีพ ให้สูงสุด แล้วก็ไป หาอะไรกันในทางนั้น ทั้งนั้น ทั้งคู่ ทั้งหมด มันก็ไม่ได้มีปัญหาว่าเกิดมาทำไม มันรู้เอาเองว่าเกิดมาหาความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันมีเท่านั้น
เรามีชมรม มีชุมนุม สังคมศึกษานี้เอาไป เอาไป เอาไปถกเอาไปศึกษา คำที่ว่าเกิดมาทำไม ให้เป็นที่แจ่มกระจ่าง ตอบกำปั้นทุบดินว่า ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะได้ กำปั้นทุบดิน มันก็คือความไม่รู้จักทุกข์เลย การที่จิตใจของคนนั้น ไม่รู้จักความทุกข์เลย เป็นทุกข์ไม่ได้ อีกต่อไป สนุกในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ทีนี้ประโยชน์ตนมันหมดแล้ว มันจบแล้ว ทุกคนไปถามตัวเองดูโดยบริสุทธิ์ใจ โดยแท้จริง ไม่ให้คนอื่นได้ยิน ว่าโดยที่แท้นี่ เราตั้งใจ ว่าเกิดมาทำไม ไปสะสางดูมันถูกหรือผิด แล้วไปปรับปรุงให้มันถูกเสีย คืออย่าให้เป็น อันตราย น่ะถูก ให้มีประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ล่ะก็ถูก
ความสุขมันมีความหมายอยู่ที่ความพอใจ นี่เป็นของแน่นอนที่สุด ทีนี้สิ่งที่พอใจมันมี หลายระดับนัก พอใจสิ่งต่ำๆ มันก็ไอ้ความสุขมันก็ต่ำ พอใจสิ่งที่มันสูงขึ้นไป ความสุข มันก็สูงขึ้นไป ไปพอใจสิ่งสูงสุด ไอ้ความสุขมันก็สูงสุด ทีนี้เราพอใจในสิ่งที่ต่ำๆ เช่น ของกิน ของเล่น หรือกระทั่งกามารมณ์ เรียกว่ามันเป็นวัตถุที่ยังต่ำ เมื่อได้รับความพอใจ จากสิ่งนั้น ก็เป็นความสุขขั้นต่ำ ซึ่งจะไม่เป็นความสุขไปเสียเลยก็ได้ มันยุ่งไปหมด พอใจในความสงบแห่งจิต เอ้า, มันก็สูงขึ้นไปกว่า เป็นความสุขที่สูงขึ้นไป ทีนี้สูงสุดก็ เอ่อ, หมดกิเลส ความพอใจที่ได้รับมาจากการที่จิตไม่มีกิเลส นี่สูงสุด ไม่มีอะไร สูงสุดกว่านี้ ทำ ทำให้ตัวเรามีความพอใจในตัวเรา ว่ากำลังทำอยู่แต่สิ่งที่ถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ตน เป็นประโยชน์ผู้อื่น แล้วก็พอใจ มันก็เป็นสุข เป็นสุขที่แท้ชนิดหนึ่ง เหมือนกัน หรือว่ากำลังเรียน เดี๋ยวนี้กำลังเรียนเป็นนักศึกษา ก็เรียนให้ดีที่สุดจนพอใจ ในการเรียน หรือพอใจตัวเองที่เรียนได้ดี นี้ก็เป็นความสุขเหมือนกัน เป็นความสุขที่ บริสุทธิ์ ไม่ใช่ความสุขเลอะเทอะ อย่างไอ้เรื่องอายตนะ รูป เสียง กลิ่น รส อันนั้นมันเป็น ความสุขที่ยุ่ง ที่เลอะเทอะ ที่มืดมน นี้ทำให้เรามีอะไร ที่มองเห็นชัดอยู่ว่า ดีมีประโยชน์ พอใจตัวเอง นับถือตัวเองได้ อันนี่เป็นความสุขขั้นแรกของปุถุชนเรา ในประเภทความสุข ที่บริสุทธิ์สะอาดที่จะก้าวหน้าต่อไปจนถึง อ่า, นิพพาน ถ้าเรียนก็เรียนให้ดี จนพอใจ ตัวเองในการเรียนดี อันนั้นเป็นความสุข พอใจในการที่ตัวเองมีอะไรดี เป็นความพอใจ ในธรรมะ ที่ประพฤติอยู่ นี่เป็นความสุขที่บริสุทธิ์ที่ควรยึดถือ อ่า, เป็นหลัก แล้วให้มัน ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ต่อไปจนถึงที่สุด ไอ้ความสุขด้วยอวิชชา ไปลุ่มหลงกามารมณ์ หรือ ลุ่มหลงอะไรก็ตามนั้น ไม่ใช่ความสุขที่ถูกต้องหรือบริสุทธิ์ มันจะเป็นเหมือน ขุดหลุมฝังตัวเอง
เอ้า, อีก ๑๐ นาทีแล้ว มีปัญหาอะไรว่ามา ยังเหลือ ๑๐ นาทีแล้ว
นักศึกษา : นี่เป็นคำถามสุดท้ายนะครับอาจารย์ครับ ถามว่า กลุ่มพุทธควรจะมีแนวทาง ในการปฏิบัติอย่างไรดี จึงจะถูกต้อง เหมาะสม และเกิดประโยชน์
ท่านพุทธทาส : ว่ายังไงฟังไม่ถนัด
นักศึกษา : คำถามมีว่า กลุ่มพุทธควรจะมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไรดี จึงจะถูกต้อง เหมาะสมและเกิดประโยชน์
ท่านพุทธาส : กลุ่มพุทธเหรอ กลุ่มชุมนุมพุทธศาสน์ กลุ่มพุทธทั้งโลกหรือว่ากลุ่มพุทธที่ธรรมศาสตร์ ยังไงแน่
นักศึกษา : ที่ธรรมศาสตร์ครับ
ท่านพุทธทาส : อ่อ, ที่ธรรมศาสตร์
ก็ตลอดหลายๆปีมานี่คุณทำอะไร หะ ทำอะไรตลอดเวลาที่แล้วมานี้ ศึกษาจริงหรือเปล่า ใคร่ครวญ สอบสวน สากัจฉา ซักฟอก กันจริงหรือเปล่า เราควรจะถือหลักทั่วไป คือว่า ไอ้กลุ่มพุทธทั้งโลก และทั้งพุทธศาสนานี้ เขาต้องการจะไปถึงจุดๆหนึ่ง คือเป็นคนมี ประโยชน์ที่สุด ทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่นแหละ ตัวเองดับทุกข์หมด ช่วยผู้อื่นให้ดับทุกข์ด้วย นี่เป็นหลักการของพระพุทธเจ้า ก็มุ่งหมายอันนี้ ทำเรื่องของตัวเองให้หมดไป ปัญหาให้หมดไป พอใจ เอามาศึกษาค้นคว้ากันอย่างที่ว่า เกิดมาทำไม จะต้องทำอะไร นั่นแหละ ทำให้จริงจังสักหน่อย อย่าๆอย่าเป็นพิธี อย่าสักแต่ว่าเป็นพิธี เหมือนที่ทำกัน โดยมาก เราต้องเกลียดความทุกข์กันจริงๆ อยากจะพ้นความทุกข์จริงๆ ไม่ ไม่ใช่พูดกันแต่ ตัวหนังสือ หรือว่าจะให้มีประโยชน์ที่สุดในการเกิดมา นี่ต้องรีบทำอะไรบ้าง อย่ามาทำเล่นๆอยู่
เราต้องถือว่า เราเป็นกลุ่มที่มีปัญญานะ จะเรียกว่าปัญญาชนหรืออะไรก็ได้ทังนั้นแหละ เพื่อเราจะต้อง ต้องจัดตัวเราเองไว้ว่าเป็น กลุ่มที่มีสติปัญญา เคารพตัวเองไว้ทีก่อน มันจะ ได้รักษาเกียรติอันนี้ไว้ แล้วก็ใช้สติปัญญาศึกษา ศึกษา ไอ้, ที่สำคัญที่สุดก็คือ ศึกษาตัว มนุษย์ ตัวชีวิต ศึกษาหนังสือศึกษาอะไรนี้ก็ศึกษาไป เรื่องอาชีพก็หลักสูตรของ มหาวิทยาลัยนั้นก็ทำไป นั้น จบอาชีพ จบความรู้เพื่ออาชีพ ไอ้ส่วนหนึ่ง มันอีกส่วนคือ ที่เป็นมุนษย์ที่ถูกต้อง นี่ก็ต้องอุตส่าห์ ทำให้สำเร็จ
วันก่อนเคยพูดตะโกนทีหนึ่งแล้ว มีคนโกรธก็มี ว่าการศึกษาที่ให้อยู่ปัจจุบันในประเทศ ไทยนี้ ไม่สมบูรณ์ ให้แต่ความรู้อาชีพ ความรู้ทางธรรมะที่ว่าเป็นมนุษย์กันให้ถูกต้อง อย่างไรนี้ไม่ได้ให้ จึงประณามว่าการศึกษาเป็น ระบบหมาหางด้วน ไม่น่าดู บางคนก็ชอบ บางคนก็โกรธ เขาให้รู้แต่ แต่ความรู้เพื่ออาชีพ หรือเฉลียวฉลาดในทางวิชาหนังสือ หนังหา แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นคนกันอย่างไร ให้หมดปัญหาความเป็นคน คือไม่ต้องทนทุกข์ มีอาชีพมีเงินมีทองนี้ไม่ใช่มันรับประกันได้ว่าจะไม่เป็นทุกข์ ทำพลาดนิดเดียวจิตก็ไป ลุ่มหลงกับกิเลส มันก็เกิดความทุกข์
เราต้องมีความรู้ที่ ๓ ความรู้ที่ ๑ คือรู้หนังสือเฉลียวฉลาด ทำให้เป็นผู้มีปัญญา สติปัญญา อย่างชาวบ้าน แล้วความรู้ที่ ๒ คือวิชาชีพเฉพาะวิชา แล้วแต่ว่าเรียนวิชาสาขาไหน เป็นวิชาชีพทั้งนั้น ไม่ว่าวิชาอะไร วิชาที่ ๓ คือรู้ธรรมมะ ว่าเราจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร จึงจะชื่นใจในตัวเอง พอใจตัวเอง เคารพตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ ในความรู้ที่ ๓ ถ้าไม่มี ก็เหมือนหมาหางด้วน ต้องให้มันมีความรู้ที่ ๓ ในความรู้ที่ ๑ ที่ ๒ ก็อยู่ในหลักสูตรแล้ว นี้จะไม่พูด ไอ้ความรู้ที่ ๓ นี่ ไปช่วยกัน ไปช่วยกันเอาจริงๆ ยกขึ้นมาสำหรับศึกษา สำหรับค้นคว้าให้มันเป็นความรู้ที่เพียงพอ ว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไรให้ถูกต้อง อยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนือปัญหา เหนือกิเลส เหมือนอย่างที่พูดทีแรก ว่า ไม่มีปัญหา อะไรที่จะมาทำให้เราเป็นทุกข์ได้ ให้เราอยู่เหนือวิกฤตการณ์ของสังคม นี่เรื่องหนึ่ง ให้เรามีชัยชนะเหนือกิเลสของเราเอง อีกอย่าง
ไม่ทราบที่อยู่นี้ทำกันยังไงบ้าง อาทิตย์หนึ่งทำอะไรบ้าง เดือนหนึ่งทำอะไรบ้าง ศึกษา หนังสืออะไรบ้าง แล้วไปทดสอบกันที่ไหนอย่างไร ยังสูบบุหรี่กันอยู่หรือเปล่า /หัวเรา/ นั่นแหละมันเป็นทดสอบกันดู อะไรๆที่มัน คล้ายบุหรี่ ยังมีอยู่หรือเปล่า ยังขี้ขลาด เชื่อโชค เชื่อลางอยู่หรือเปล่า เอาพระมาแขวนคอทำไม เพื่อประโยชน์อะไร ตรงตาม วัตถุประสงค์หรือเปล่า นี่เป็นเรื่องที่ต้อง ชำระสะสาง ใช้เวลาเป็นประโยชน์ที่สุด ไม่เกียจคร้าน ไม่เหลวไหลในหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นแก่ตัว
คนโบราณเขาถือหลัก ข้อนี้ว่า ถ้ายังไม่ได้ช่วยเหลือ หรือไม่ได้ให้คนอื่นกิน อะไรสักหน่อย แล้วตัวเองยังไม่กิน ตัวเองยังไม่กิน ในวันนั้น นี่คนโบราณเขาไปไกลถึงขนาดนี้ ที่ว่า เห็นแก่ผู้อื่นไม่เห็นแก่ตัว จึงมีทำบุญทำทาน อย่างน้อยก็โยนให้สุนัขกิน ให้กาไก่กิน ให้มดแมลงกิน ตัวเองจึงจะกิน นั่นแหละบทเรียนของเขาเป็นอย่างนั้น เราทำกันหรือเปล่า บางทีเรามีแต่แย่งกันกิน ไม่ได้ให้ผู้อื่นกิน
เอ้า, ไว้ศึกษากันคราวอื่น
ไอ้ปัญหานี้อยากจะไปถามคุณวรศักดิ์ คุณจะมีหลักสูตรกลางๆยังไง ในชมรมพุทธศาสน์ ที่จะช่วยออก ออกหลักสูตร โครงเรื่อง
เอ้า, ปัญหาก็หมด เวลาก็หมดนะ นี่ ๙ แล้ว ปิดประชุมเถอะ ชั่วโมงครึ่งที่เรามา คุยกัน