แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งแรกนี้คิดว่า จะไม่ต้องพูดเนื้อหาสาระของเรื่องอะไรนัก แต่จะพูดในลักษณะที่เป็นการแนะนำในขั้นต้น คือ ทำความเข้าใจในขั้นต้น เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า สวนโมกข์ ก็คือ ที่เรียกว่า ธรรมหรือธรรมะ เพราะว่ามาที่สวนโมกข์เพื่อศึกษาธรรมะ การบรรยายนี้จึงมีลักษณะคล้ายกับปฐมนิเทศ คือ การทำความรู้จักกันในเบื้องต้นของสิ่งที่จะต้องทำและมากกว่าทำปฐมนิเทศ เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าสวนโมกข์และสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ตามลำดับ ขอให้ตั้งใจฟังให้เข้าใจเรื่องของสิ่งทั้ง ๒ นี้ให้ดี เข้าใจว่า การบรรยายครั้งต่อไปก็จะเป็นประโยชน์ได้โดยง่าย
สำหรับสิ่งที่เรียกว่าสวนโมกข์นั้น เพิ่งมีขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี ๒๔๗๕ คือ ปีเดียวกับการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบที่เรียกกันว่าราชาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตย ในปีนั้นสวนโมกข์ก็ได้เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ว่าเกิดก่อนการเปลี่ยนการปกครองหนึ่งเดือน คือ เรามีสวนโมกข์เมื่อเดือนพฤษภาคม แต่การเปลี่ยนการปกครองเพิ่งมีเมื่อเดือนมิถุนายน ครั้งแรกก็มีที่ตำบล ลงไปทางใกล้ทะเลเรียกว่า ตำบลพุมเรียง มีขึ้นที่นั่นก่อน ตามความสะดวกแล้วจึงค่อยย้ายมาอยู่ที่นี่ ก็ที่นั่นมันแคบไม่สะดวกบางอย่าง ภูมิประเทศก็สู้ที่นี่ไม่ได้ อยู่ได้สิบกว่าปีก็ย้ายมาที่นี่ จนถึงบัดนี้ก็เป็นเวลาเท่าไรก็ลองคิดดู คือประมาณ ๔๘ ปีเห็นจะได้ ความมุ่งหมายที่มีสวนโมกข์นั้นด้วยสะดวกแก่ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมะ คือ มีผู้ที่เรียนธรรมะมาพอสมควรแล้วก็อยากจะปฏิบัติธรรม มีอยู่หลายคนรวมทั้งอาตมาด้วย ก็เลยหาสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อความสะดวกแก่การที่จะปฏิบัติธรรมะ นี่เราจึงต้องมีสถานที่ที่จัดไว้เฉพาะเพื่อการนี้ ได้จัดขึ้นโดยชื่อว่า โมกขพลาราม ตามตัวหนังสือก็แปลว่า อารามหรือป่าไม้เป็นกำลังแห่งโมกษะ โมกษะนั้นแปลว่า ความรอด ท่านทั้งหลายอย่าดูหมิ่นหรือมองกันเผินๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า ความรอด คำว่า ความรอดนี้ แปลกประหลาดที่ว่าเป็นจุดหมายปลายทางของศาสนาทุกศาสนาก็ว่าได้ ศาสนาในอินเดียทั้งหมดก็มีที่เรียกว่า ความรอดนี่เป็นจุดหมายปลายทาง ศาสนาโทเมติก(นาทีที่ 5.54) ทั้งหลาย คริสต์ ยิว อิสลาม เขาก็มีคำว่าความรอดเหมือนกัน เป็นจุดหมายปลายทาง เรียกชื่อต่างกันตามภาษานั้นๆ ฉะนั้นเราเห็นว่าคำๆ นี้มันวิเศษ มันเป็นจุดมุ่งหมายทุกศาสนา นี่ถ้าพูดให้จริงกว่านั้นก็มันเป็นจุดมุ่งหมายของมนุษย์นั่นเอง มนุษย์เกิดมาทำไม ตอบสั้นๆ ว่า เกิดมาเพื่อลุถึงความรอด เป็นจุดสุดท้ายปลายทางคือรอด รอดออกไปจากอะไร รอดออกไปจากสิ่งที่ผูกมัดที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ใช่เพียงแต่รอดชีวิตอยู่เฉยๆ รอดชีวิตเฉยๆ นี่มันมีความหมายคำอื่นอีกคำหนึ่ง แต่ว่ามีชีวิตอยู่ มันถูกผูกพันอยู่ด้วยความทุกข์ เรียกสั้นๆ ว่า ความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ เราก็ต้องการที่จะรอดออกไปจากสิ่งผูกพันนั้นอีกที่หนึ่ง นั่นแหละคือคำว่าความรอด ซึ่งเป็นความหมายทางศาสนา ทีนี้ป่าไม้จัดขึ้นเพื่อเป็นกำลังคือความสะดวก แต่การปฏิบัติเพื่อความรอด เราได้อ่านภาษาบาลีรู้เรื่องว่า ป่าไม้ที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายเขาอยู่กันนั้นจัดอย่างไร มีอย่างไร พออย่างไร เราก็อนุโลมตามนั้น ให้มันสะดวกแก่การที่จะเป็นอยู่ ไม่รบกวน ไม่รบกวนทางกาย ไม่รบกวนทางจิต แล้วก็ให้เกิดความรู้สึกธรรมดาๆ ตามธรรมชาติ ให้ชื่อว่า โมกขะ พละ อาราม รวมกันเป็นโมกขพลาราม ที่ท่านทั้งหลายได้มาเห็นสวนโมกข์ในลักษณะอย่างนี้ หลังจากที่มันมีมาตั้งเกือบห้าสิบปี แล้วก็ย้ายมาครั้งหนึ่งแล้ว นี่ขอให้พยายามที่จะให้ได้รับประโยชน์ตรงตามความหมายของคำๆ นี้ที่เราได้อาศัยสถานที่นี้เกิดความสะดวกในการที่จะศึกษาธรรมะที่เป็นไปเพื่อความรอด ก็อยากจะให้ใช้ให้สำเร็จประโยชน์ โดยจะแนะให้เห็นเป็นแง่ๆ ไป การมาอยู่ในที่อย่างนี้ มันอยู่ในบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การศึกษาธรรมะ อาจจะคุยโตว่า นี่แหละกรุงเทพ ถ้าอยู่เพื่อศึกษาธรรมะในบรรยากาศอย่างนี้ดีกว่าบรรยากาศอย่างที่กรุงเทพ เลยจัดสวนโมกข์ให้มีบรรยากาศที่เหมาะสม สะดวกแก่การศึกษาธรรมะ ซึ่งจะค่อยทราบละเอียดยิ่งขึ้นต่อไปข้างหน้า บอกคร่าวๆ แต่เพียงว่า ธรรมะนั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ นี่เราก็จัดที่ตามธรรมชาติ ให้ได้อยู่อย่างธรรมชาติ ใกล้ชิดธรรมชาติ มันก็ง่ายที่จะเข้าใจธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ เดี๋ยวจะได้พูดกันละเอียดถึงใจความข้อนี้ ในชั้นนี้บอกแต่ว่า สถานที่อย่างนี้มันจะทำให้เกิดการบรรยากาศที่เหมาะสมแก่การศึกษาธรรมะ ทีนี้ถ้าพูดไกลไปกว่านั้นก็พูดได้ว่า บรรยากาศชนิดนี้นี่แหละที่มันเป็นที่เกิดแห่งธรรมะ
เมื่อก่อนในโลกนี้ แรกมีโลกใหม่ๆ มันก็ไม่มีธรรมะ พอจะมีบุคคลบางคนหลีกออกไปจากบ้านเรือน ไปค้นคว้าเรื่องธรรมะก็ออกไปจากบ้านเรือน ไปอยู่ในบรรยากาศแบบธรรมชาติอย่างนี้ เขาก็ค้นธรรมะได้โดยง่ายและก็มากขึ้น ก็ท่องจำไว้ ก็บอกสอนแก่ทุกคนที่ไปหา ธรรมะมันจึงเกิดมีขึ้นมาในโลก แล้วบอกต่อๆ กันไป สืบต่อๆ กันไป จนกว่าจะไปอยู่ในรูปของศาสนา ก็ยังมีการบอกด้วยปาก สอนด้วยปาก เพิ่งมีการเขียนลงเป็นหนังสือก็เมื่อมนุษย์รู้จักใช้หนังสือ ก่อนนี้มนุษย์ไม่รู้จักใช้หนังสือ ในทวีปเอเชียเราก็ถือว่า ประเทศอินเดียรู้จักใช้หนังสือเมื่อก่อนหน้าพุทธกาลไม่กี่ปี ในสมัยพุทธกาลก็ยังไม่นิยมใช้หนังสือ ใช้ท่องจำอย่างที่เขาเรียกว่า ส่งสาร ส่งข่าวสารโน้นเขาใช้คนไปบอก ไม่ใช่เขียนด้วยหนังสือ ต่อมามันจึงเขียนเป็นหนังสือ นี่เรารู้ว่าธรรมะมันเกิดขึ้นในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ เราจึงแสวงหาความใกล้ชิดกับธรรมชาติ พูดให้มันลืมยากว่า ความเป็นเกลอกับธรรมชาติ ที่เราเป็นเกลอ ก็หมายความว่า เข้าถึงที่สุด สัมผัสถึงที่สุดกับธรรมชาติ นั้นจะได้รับประโยชน์เกี่ยวกับธรรมะ เพราะว่า ธรรมะเป็นเรื่องความจริงของธรรมชาติ พูดเป็นศัพท์เป็นแสงหน่อยว่า สัจจะของธรรมชาตินั่นแหละคือธรรมะ ขอให้จำไว้อย่างนี้ก่อน ที่เรามาอยู่ในที่อย่างนี้ นอกจากจะเป็นเกลอกับธรรมชาติโดยง่ายแล้ว มันเป็นโอกาสแห่งการฝึกชีวิตพรหมจรรย์ คำว่า พรหมจรรย์ นี่ ภาษาธรรมะมันกว้าง ไม่ใช่แต่เรื่องเพศเรื่องอะไรอย่างเดียว แต่ก็จะมีการประพฤติปฏิบัติพิเศษ เป็นที่ยืดยาว จริงจัง เราก็เรียกว่า พรหมจรรย์ทั้งนั้น คือ ความประพฤติอย่างเครียด เต็มที่ เพื่อบรรลุผลอะไรสักอย่างหนึ่ง เราอยู่ในที่อย่างนี้ก็สะดวกที่จะฝึกชีวิตพรหมจรรย์ จึงอยากจะแนะนำว่า ขอให้ลองฝึกตามที่จะทำได้ ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพไม่สะดวก อยู่นี่มันก็สะดวก และบางทีมันก็จะบังคับให้ทำด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างเช่น ศีลอุโบสถ อยู่ที่กรุงเทพก็ไม่ค่อยอยากจะลอง พอมาอยู่ในที่อย่างนี้ มันก็อยากจะลอง ลองง่าย แล้วบังคับให้ลอง ก็จะเป็นโอกาสให้ถือศีลอุโบสถหรือศีลแปดก็เรียก กันดูบ้าง เข้าใจว่าคงรู้เรื่องดีอยู่แล้วเกือบจะไม่ต้องอธิบาย แปลกจากศีลห้าก็ตรงชื่อว่า เว้นขาดเรื่องกิจกรรมทางเพศ แม้ขั้นสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ตาม เว้นกิจกรรมของคนที่อยู่กันเป็นคู่ทุกระดับนี่เป็นศีลข้อสาม ศีลข้อ๖ เว้นอาหารที่มันเป็นส่วนเกิน อย่ากินมันเลยอาหารส่วนเกิน ข้อ๗ เว้นในการประเล้าประโลมใจ ประเล้าประโลมตัวเอง ที่มันเป็นส่วนเกิน เรื่องฟ้อนรำ ขับร้อง เรื่องลูบทา ประดับประดาอะไรต่างๆ นี่ มันเป็นส่วนเกิน เป็นของพอดีสำหรับชาวบ้าน แต่เกินสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์เพื่อดับทุกข์ นี่ข้อที่๘ นั่นเว้นการใช้สอย เครื่องใช้ไม้สอยที่เป็นส่วนเกิน คุณก็ต้องมานอนเสื่อ นอนกระดาน เว้นที่มันเป็นส่วนเกิน มันก็กลายเป็นไม่มีอะไรเกิน ส่วนเกินทุกชนิด ช่วยให้เกิดกิเลส กิเลสเกิดมาจากส่วนเกิน อยากเกิน ต้องการเกินก็เกิดความโลภ อยากเกิน ต้องการเกิน มันก็ไม่ได้ตามที่ต้องการ มันก็เกิดความโกรธ การที่ต้องการเกินมันเป็นความโง่ ความหลง อยู่ในตัวแล้ว เพราะเรื่องเกินนี่เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น เพราะฉะนั้นขอให้อยู่อย่างที่เรียกว่า ไม่มีเกิน ลดลงไปเท่าที่จะลดได้ ตามแบบของพระศาสดาแห่งศาสนานั้นๆ ได้สอนไว้ แม้ในยุคปัจจุบันนี้ เขาก็มองเห็นข้อนี้ เขาจึงพูดไว้เป็นหลักทั่วไปว่า อยู่อย่างต่ำๆ แล้วก็มุ่งกระทำให้สูงๆ High play living ,High thinking พวกฝรั่งมาสอนเรา เราก็สนใจกันทีแรกๆ ที่แท้มันก็ไปขโมยมาจากหลักทางศาสนา เป็นเรื่องของทางฝ่ายศาสนา มีชีวิตอยู่ให้มันต่ำ แต่ความคิด ความนึก ความพยายามมันสูง ไปถึงความรอด ไปถึงพระเจ้า ไปถึงนิพพาน ส่วนเป็นอยู่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย แม้แต่วิธีการบริหารกาย มันก็เป็นอย่างต่ำๆ ที่สุด มันก็เลยได้ประโยชน์ของพรหมจรรย์ นี่ลองประพฤติชีวิตพรหมจรรย์กันดูบ้าง ไม่ต้องกลัว มันไม่มีอันตรายอะไร แต่มันทำให้รู้อะไรได้มาก อยู่ที่นี่ก็ลองถือศีลแปด ศีลอุโบสถ จะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ฝึกเป็นอยู่ต่ำๆ เราเคยมีคำพูดจำง่ายใช้กันตลอดมาจนบัดนี้ว่า กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนในเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง คือ อย่าให้มันยุ่งยาก เรื่องกินอาหาร ใส่จานเดียว ภาชนะเดียว เหมือนกับที่กินในรถไฟ ข้างทางรถไฟอย่างนั้น นี่ก็กินข้าวจานแมว อะไรก็ใส่ไว้ในนั้น มันก็เหมือนกับจานแมว แล้วก็อาบน้ำในคู ไม่ต้องมีห้องน้ำ ให้ยุ่งยากลำบาก แพง ก็ลงไปในลำธารลำห้วย อาบน้ำในคูตามธรรมชาติ หลายพันปี หลายหมื่นปี พระอรหันต์ทั้งหลายก็อาบน้ำในคูกันทั้งนั้น นอนในเล้าหมูก็หมายความว่า ที่นอนนั้นก็ไม่ต้องพิถีพิถัน อุปมาเหมือนกับเล้าหมู ตามที่มันจะมีได้ นี่คุณมาในยุคนี้ ที่พักมันดีกว่ายุคก่อนๆ มาก ยุคก่อนๆ มันก็คล้ายเล้าหมูจริงๆ ด้วยเหมือนกัน เอาไม้ตีกันเปะปะๆ คล้ายกับคอกวัวคอกหมู ก็พักกันไปตามบุญตามกรรม นี่เหมือนกับนอนในเล้าหมู แล้วก็ฟังยุงมันร้องเพลง คือ ฟังยุงที่มากัดนี่ให้เป็นเรื่องร้องเพลงไปเสีย อย่าไปโมโหกับยุง โกรธยุง ตียุง ตบยุง ต้องขอบใจที่มันมาร้องเพลงให้ฟังที่ข้างหู นี่เป็นการฝึกอย่างยิ่งที่จะฟังเสียงยุงเป็นเสียงเพลง มาร้องให้ฟังนี่ มันต้องมีการบังคับจิตใจหรือมีการฝึกจิตใจพอตัวทีเดียว นี่มันมีโอกาสที่จะฝึกกันในทีอย่างนี้ นี่ถือโอกาสฝึกกินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนในเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง ให้มันเคยไปสักครั้งหนึ่ง นี่โอกาสที่ว่าจะใช้สวนโมกข์ให้เป็นประโยชน์มันก็คืออย่างนี้ มันต้องไม่เหมือนอย่างยิ่งกับที่อื่น เพราะเรามุ่งหมายของเราโดยเฉพาะอย่างนี้
นี่ในสวนโมกข์นี้เราก็มีอะไรๆ อย่างที่คุณเห็น เห็นอยู่นี่ มันเป็นธรรมชาติล้วนๆ ก็มี เป็นครึ่งธรรมชาติก็มี เป็นการสร้างสรรค์โดยน้ำมือมนุษย์ล้วนๆ ก็มี ครึ่งธรรมชาติเช่นอย่างตรงนี้ เราดัดแปลงธรรมชาติเข้ามาครึ่งหนึ่ง ที่จริงไม่ได้นั่งพูด นั่งฟัง นั่งอะไรกันอย่างนี้ แล้วยังมีสระใหญ่ตรงโน้น ดัดแปลงธรรมชาติเป็นรูปสระ มีความหมายเป็นนิพพาน กลางวัฏสงสาร ต้นมะพร้าวนั้นแทนนิพพาน น้ำนั้นวัฏสงสาร ต้องไปนั่งทำความรู้สึกให้มันเข้าถึงความหมายอันนี้ นิพพานมันก็อยู่ในท่ามกลางความทุกข์ ความทุกข์ทั้งหลายเป็นวัฏสงสาร นิพพานมันก็ต้องหาที่ท่ามกลางความทุกข์ มันไม่ทุกข์ มันโผล่ขึ้นมาจากความทุกข์ก็แล้วกัน ถ้าไปหากันคนละทิศคนละทางแล้วไม่มีทางจะพบ บนยอดภูเขายังมีโบสถ์ ดัดแปลงให้เป็นโบสถ์ ตามแบบของวัดนี้ เอาต้นไม้เป็นผนังโบสถ์ เอาใบไม้ข้างบนเป็นหลังคาโบสถ์ ตามแบบวัดนี้ ดัดแปลงธรรมชาติกันอย่างนี้ ทีนี้ที่ไม่ใช่ธรรมชาติก็เช่นตึกหลังนี้ที่จะต้องไปศึกษาธรรมะจากรูปภาพ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ธรรมชาติ กระทำขึ้นเพื่อสะดวกแก่ผู้ที่มาที่นี่ได้ศึกษาธรรมะตามแบบวิธีนี้ การศึกษาธรรมะด้วยรูปภาพหรือด้วยสัญลักษณ์นั่น มันมีผลพิเศษต่างไปจากการศึกษาจากหนังสือโดยมาก เรื่องเดียวกันอ่านหนังสือก็ได้ แต่ทำเป็นวิธีให้ต้องคิดลึกๆ ซึ้ง ทบทวนมาก โดยมากเขาทำเป็นรูปภาพ เป็นปริศนา เป็นสัญลักษณ์ ประกอบกับประชาชนสมัยนั้นไม่รู้หนังสือ สอนหนังสือก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเขาไม่มีหนังสือ เขาอ่านหนังสือไม่ได้ จึงใช้รูปภาพแทนหนังสือ คล้ายๆ คนป่าก่อนประวัติศาสตร์ เขียนรูปภาพตามผนังถ้ำ เข้าใจรูปภาพแล้วก็เข้าใจธรรมะ ความหมายของธรรมะ ที่เป็นภาพตรงๆ เป็นเรื่องชาดก เป็นเรื่องสอนใจตรงๆ นี่ก็มีมาก เขาสลักภูเขาเป็นรูปภาพอย่างนี้กันมาตั้งสองพันปีแล้วเหมือนกัน นั้นเป็นวิธีเก่าแก่โบราณมากที่สอนด้วยรูปภาพ ยังชอบอยู่เลยเอามาใช้ที่นี่ เรียกว่าโรงหนังทางวิญญาณ ศึกษาธรรมะสนุกหน่อย สนุกกว่าอ่านหนังสือ แล้วก็มีโรงเรียน พรุ่งนี้ถ้าเป็นตอนบ่ายจะพูดกัน เราจะไปใช้ที่โรงเรียน อยู่ที่ไหล่เขา ไปทางทิศนี้ นั่งโรงเรียน นี่ธรรมชาติ ก็มิใช่ธรรมชาติ ก็เรามันทำขึ้น ก็ได้ความรู้สึกต่างกันจากที่เรียนในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัย ซึ่งอาคารเรียนมันแพงเป็นล้านๆ เดี๋ยวนี้เรามีอาคารเรียนตีราคาไม่ได้หรือไม่มีราคา อย่างที่ศานตินิเกตันที่อินเดีย เขาเรียนกันกลางดิน เมื่อฝนไม่ตก ใต้ร่มไม้ เหมือนกับเรานั่งกันตรงนี้ นี่ก็ถือว่าเป็นห้องเรียนหรือเป็นเวลาเรียนได้เหมือนกัน ที่นั่งอยู่กลางดินนี่เป็นการเรียนพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ยังระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้านั้นท่านประสูติก็กลางดิน ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็มานั่งกลางดิน สอนสาวกทั้งหลายทั่วไปก็กลางดิน ลงอุโบสถกลางดิน อะไรกลางดิน จนวาระสุดท้ายท่านนิพพานก็กลางดิน พวกเรานับถือพระพุทธเจ้าก็ควรจะนึกถึงข้อนี้ ก็ลองชิมกลางดินดูบ้าง ไม่ต้องขนเสื่อให้เหนื่อยก็ได้ นั่งลงบนดินนั่นน่ะเอามือลูบ ประคองว่า มันเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นที่แสดงธรรม เป็นที่ประทับอยู่ตลอดชีวิต กระทั่งเป็นที่นิพพานวาระสุดท้ายก็กลางดินนั่นเอง อย่างนี้ก็ถือเป็นการศึกษาอย่างยิ่ง การทำความรู้สึกกับสิ่งชนิดนี้ในทำนองนี้กลับเป็นการศึกษาอย่างยิ่ง ศึกษาด้วยจิตใจลึกซึ้งถึงจิตใจ และยังเป็นการทำกรรมฐานไปในตัว คือ เป็นพุทธานุสติ ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เป็นการทำให้อย่างเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านทำ ก็มีโอกาสที่จะเกิดความรู้สึกคิดนึกเหมือนพระพุทธเจ้า ท้ายที่สุดจึงพยายามเป็นอยู่ให้เหมือนกับพระพุทธเจ้า เพื่อว่าจะเกิดความคิดนึกรู้สึก เห็นแจ้งอะไรเหมือนพระพุทธเจ้าได้โดยง่าย โดยอาศัยหลักว่า เป็นอยู่เหมือนกับผู้ใดก็ย่อมจะมีความคิดเหมือนผู้นั้นได้โดยง่าย ระหว่างที่อยู่ที่สวนโมกข์นี้ก็พยายามที่จะเป็นอยู่ให้คล้ายพระพุทธเจ้าให้มากเท่าที่จะทำได้ นับตั้งแต่ว่า ที่ว่าเมื่อสักครู่นี้ กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู กระทั่งทุกอย่างคือจะพูดน้อย จะไม่หัวเราะเลย หรือว่าจะบังคับตัวเองทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ร่างกายปกติ เพื่อให้จิตใจปกติ เพื่อให้จิตมีความปกติเข้มแข็ง ตั้งมั่น ว่องไวในการคิดนึก จิตที่เราต้องการก็คือว่า ไม่มีกิเลสรบกวน เข้มแข็ง แล้วก็ว่องไวต่อการคิดนึก เราต้องอบรมจิตให้ว่องไวต่อการคิดนึก นี่เรามีความสะดวกที่จะฝึกฝนอย่างนี้เมื่ออยู่ที่นี่ นอกจากนั้นเรายังมีที่ปล่อยไว้ตามธรรมชาติล้วนๆ เช่น ส่วนใหญ่เกือบทั้งวัดนี่ก็ปล่อยตามธรรมชาติ มีภูเขาลูกหนึ่งเรียกว่า ภูเขาพุทธทองนี่ เขาเรียกกันมาอย่างนั้น อธิบายว่าอย่างไรก็ไม่ทราบ นี่ถ้าว่าถือเอาตามสำเนียงบ้านนอกของที่นี่ก็มันมีความหมายไปในทางว่า เคยมีพระพุทธรูปที่เป็นทองในภูเขาพุทธทอง และยังมีลำห้วยลำธารตามธรรมชาติอีกหลายอย่าง พยายามที่จะศึกษาดู จากธรรมชาติ จากปรากฏการณ์ของธรรมชาติ สนใจเรื่องคอมมิวนิสต์ ก็ดูต้นไม้ใหญ่ๆ ขนาดยักษ์อยู่กับตะไคร่น้ำเป็นขุ่ยๆ ขี้โคลนได้ นี่คนร่ำรวยกับคนจนอยู่กันได้อย่างนี้ ตามธรรมชาติ แต่มนุษย์มันโง่ ไปทำเป็นอยู่กันไม่ได้จนต้องรบราฆ่าฟันกัน เวลานี้จะหาดูได้จากธรรมชาติ เป็นความจริงตามธรรมชาติ นี่คือสวนโมกข์ แนะนำให้รู้จักสวนโมกข์เท่าที่ควรจะทราบ
เอ้า, ทีนี้สิ่งต่อๆ ไปก็คือธรรม ธรรมะ รู้จักสวนโมกข์พอควรแล้ว มารู้จักธรรมะกันต่อไปอีกให้พอสมควร เพื่อมาสวนโมกข์เพื่อจะศึกษาธรรมะ อบรมธรรมะ เมื่อพูดถึงธรรมะก็ให้ทราบไว้ว่า คำๆ นี้ มันประหลาดที่สุดในภาษาที่ใช้กันอยู่ในโลก ใช้คำว่า ธรรมในภาษาไทย ธรรมะในภาษาบาลี ปรมัตถ์ในภาษาสันสกฤตนี่ มันเป็นคำประหลาด มันหมายถึง ทุกสิ่ง ทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร เดี๋ยวจะเจอ จะบรรยายให้ฟัง นี่บอกแต่เพียงว่า มันเป็นคำประหลาด มันหมายถึง ทุกสิ่ง ในส่วนเนื้อหาของมันในใจความของมัน มันหมายถึง ตัวสัจจะของธรรมชาติ สัจจะ คือ ความจริงตามที่เป็นอยู่จริง ของธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้น นี่เรียกว่า ธรรมะ ก็มีคำว่า สัจธรรม ใช้คำว่าสัจธรรม หมายถึง สัจจะทั้งหมดทั้งสิ้นของธรรมชาติ เดี๋ยวนี้เรามีคำว่า ธรรมสัจจะ ใช้อีกคำหนึ่ง หมายถึง สัจจะเฉพาะกรณีที่เป็นปัญหา ธรรมะทั้งหมดทั้งสิ้นมันมีความจริงของธรรมชาติ นี่เราเรียกรวมๆ กันว่า สัจธรรม ทีนี้มีคำกลับกันเสียเป็นธรรมสัจจะ สัจธรรม ธรรมสัจจะ กลับกันเสีย ธรรมสัจจะนี่จะหมายถึงเฉพาะ ปัญหาเฉพาะกรณี เรามีความทุกข์อย่างไร เราต้องการธรรมะข้อไหนโดยเฉพาะ เอามาแก้ปัญหานั้น เราจะเรียกส่วนนี้ว่า ธรรมสัจจะ เฉพาะกรณีนี้ สมมติว่าบางคนมันขี้โกรธ อยากจะมีธรรมะแก้ความโกรธโดยเฉพาะ ก็ไปเอาธรรมะส่วนนี้มา นี่เราเรียกว่า ธรรมสัจจะสำหรับแก้ความโกรธ แต่ถ้าเราพูดว่า สัจธรรมก็หมายหมดเลยไม่ยกเว้นอะไร ของทั้งหมดของธรรมชาติ เหมือนกับยา ตู้ยาทั้งตู้นี่เราเรียกว่า เราเปรียบเหมือนกับสัจธรรม ยาแต่ละขวดเอาไปแก้โรคอะไรโดยเฉพาะกรณีนั้นๆ ชั่วขณะนั้น อันนั้นจะเรียกว่า ธรรมสัจจะ ฉะนั้นคุณจะต้องรู้สัจธรรมในฐานะทั้งหมด แล้วก็รู้เฉพาะเอามาใช้แก้ปัญหาเฉพาะ นี่ก็เรียกว่า ธรรมสัจจะ ก็แยกออกจากสัจธรรมมาเป็นสิ่งเฉพาะเพื่อจะแก้ปัญหาเป็นกรณีๆ ไป แต่รวมทั้งหมดนั้นก็เรียกว่า ธรรม หรือธรรมะเฉยๆ ก็ได้ ทั้งสัจธรรมทั้งธรรมสัจจะ นี่มันเป็นธรรมเฉยๆ คำเดียว
ทีนี้ก็ขอให้เรียนธรรมและมีธรรม ให้รู้ธรรมและมีธรรม ที่เป็นอยู่โดยมากรู้ธรรมะ แต่ไม่มีธรรมะ มันรู้เพื่อเรียน มันรู้เพื่อจด เพื่อให้จำได้ รู้ธรรมะตอบปัญหาธรรมะได้ แต่ในบุคคลนั้นไม่มีธรรมะ คือ เขาไม่ได้ประพฤติธรรมะนั้น เขาไม่ได้ประพฤติจนสำเร็จประโยชน์เกี่ยวกับธรรมะนั้น อย่างนี้เราเรียกว่า เขารู้ธรรมะแต่เขาไม่มีธรรมะ นั้นเราเอาอย่างนั้นไม่ได้ เรารู้ธรรมะก็รู้ แล้วเราก็มีธรรมะด้วย คือ เราประพฤติปฏิบัติให้มันได้จริงๆ ด้วย เรารู้และมีนี่ มันก็ต้องรู้และมีชนิดที่ว่ามีประโยชน์ พวกฝรั่งเขามาบ้านเรา เขาก็มาศึกษาพุทธศาสนา ถามว่า ศึกษาทำไม เขาบอกว่า มันเป็นความรู้รอบตัว เขาจะเอาไปเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็นับว่าเขาคิดถูกเหมือนกัน แต่ปรากฏว่ามันก็ไม่ได้ ไม่ได้ตามที่ต้องการ มันเรียนธรรมะไม่ถูกตัว เรียนพุทธศาสนาไม่ถูกตัว พุทธศาสนา น้อยคนที่จะมาเรียนพุทธศาสนาเพื่อจะพบหนทางดำรงชีวิต ฝรั่งเขาเรียกเขาเองว่า Way of life บางคนก็มาดูเมืองไทย ดูวัฒนธรรมไทยทั่วๆ ประเทศ ถามว่า ดูทำไม เขามาดูเพื่อจะพบสิ่งที่เขาเรียกว่า Way of life อาตมาก็บอกเขาว่า ดี คุณทำอย่างนี้ถูก แต่จะถูกถึงที่สุดหรือไม่ Way of life อันนั้นมันก็คือ ความหมายในทางพุทธศาสนานั่นเอง ธรรมะทั้งหมดมันเป็นตัวทาง เป็นตัวทางของชีวิตไปถึงปลายทาง คือ ความรอดของชีวิต ธรรมะทั้งหมดมันก็เป็น Way of life แต่มันเผื่อออกไปจากความทุกข์ทั้งมวล ทีนี้เนื่องจากว่า ธรรมะปฏิบัติเพื่อให้ดับทุกข์ได้จริงๆ นี่ มันละเอียดมันประณีต มันสุขุม ทำเล่นๆ กับมันไม่ได้ แล้วก็มันลึกซึ้งสวยสดงดงามอย่างยิ่ง จนมีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับคำว่า ศิลปะของพุทธบริษัท ฝรั่งจำนวนมากที่คุยกับเขา เขาบอกว่า เขามาศึกษาศิลปะของพุทธบริษัท พวกนี้มาศึกษาเรื่องพระพุทธรูปทั้งนั้นแหละหรือที่มันเกี่ยวกับพระพุทธรูป โบสถ์ วิหาร ก็เรียกว่าเขามาศึกษาศิลปะของพุทธบริษัท อาตมาเลยบอกเขาว่า ไม่ใช่โว้ย, พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยรู้จักสิ่งเหล่านี้ พระพุทธรูปก็ดี โบสถ์วิหารกลางเปรียญหรูหราอย่างนี้ก็ดี พระพุทธเจ้าไม่เคยรู้จัก ท่านไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ทำไมถึงจะมายัดเยียดให้เป็นของพุทธบริษัท ถ้าคุณจะสนใจศิลปะของพุทธบริษัท คุณต้องสนใจวิธีปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้จริงๆ ต้องพูดกันตั้งนาน กว่าเขาจะยอมรับว่า เออ, เขานี่ไม่ได้หาศิลปะของพุทธบริษัทซะแล้ว มันเป็นเรื่องละเมอเพ้อฝันตามแบบของนักโบราณวัตถุเท่านั้นเอง นี่คำว่า ศิลปะ นี้ก็เป็นคำที่สำคัญ ควรจะเข้าใจไว้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจ เพราะมันมีความสวยงาม มีความน่าสนใจ
การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละไปดู มันก็เป็นลักษณะของศิลปะ แต่จะเป็นศิลปะด้านลึก ด้านจิต ด้านวิญญาณ มันเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้ง่ายๆ แต่นี้ไหนๆ เราก็ตั้งใจจะรู้ จะศึกษากันแล้ว ก็ขอให้รับรู้ไว้ด้วยว่า จะต้องเข้าถึงสิ่งที่ละเอียดสุขุมงดงามที่สุดของพุทธศาสนา คือ ศิลปะแห่งการดำรงชีวิต ชนิดที่อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง คุณฟังดูดีๆ ชีวิตชนิดนั้นจะอยู่เหนือความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ฉะนั้นมันจึงไม่ง่าย มันจึงละเอียดประณีตสุขุมเหมือนกับศิลปะสูงสุด ถ้าดูความงามที่เป็นความหมายของคำว่าศิลปะแล้วอันนี้ที่งามที่สุดไม่มีอันไหนจะงามเท่า การมีชีวิตอยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวง มันงามที่สุด ความหมายของคำว่าศิลปะ งามที่สุดลึกซึ้งที่สุด ดึงดูดใจที่สุด นั่นคือ ธรรมะ
ฉะนั้นเราจะต้องรู้ธรรมะกันในรูปนั้นหรือในแนวนั้น มันจึงจะเป็นธรรมะจริงอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้หรือท่านทรงประสงค์ว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย คือ มันงามไปตามลำดับจนถึงวาระสุดท้าย อยู่เหนือความทุกข์ คือ เราปฏิบัติอยู่ที่นี่ในโลกนี้ ไม่ต้องตายแล้ว มันก็มีความงามอยู่ที่ว่าการปฏิบัตินี้ทำให้จิตอยู่เหนือความทุกข์ เป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น เขาก็หัวเราะกันอยู่ เขาก็ร้องไห้กันอยู่ เรามันก็เฉยได้เพราะว่ามีธรรมะ ไม่ต้องไปยินดียินร้าย ไม่ต้องขึ้นๆ ลงๆ ไม่ต้องฟูๆ แฟบๆ นี่เรียกว่า เป็นความงดงามของธรรมะในรูปแบบของศิลปะทางจิตทางวิญญาณ
ทีนี้คุณก็ลองคิดดูเอาเอง ว่าทำอย่างไรมันจะไปถึงนั่น เดี๋ยวนี้เรามีการกระทำที่ผิดพลาดกันอยู่อย่างมากมายแล้วไม่ค่อยจะรู้สึกตัว คือว่า เราไม่ได้ศึกษาธรรมะในฐานะเป็นสัจจะของธรรมชาติหรือเป็นวิทยาศาสตร์ เราศึกษาธรรมะกันในฐานะเป็นวิชาปรัชญา ฝรั่งเขาสนใจกันในแง่ของปรัชญา ธรรมะนี่เอาไปพูดให้เป็นปรัชญามันก็ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่มันจะไม่เป็นพุทธศาสนายิ่งขึ้น แล้วมันยากที่จะเข้าถึง จะไม่สำเร็จประโยชน์ คุณเปรียบเทียบเอาเองก็แล้วกันว่า ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ มันก็ต้องตั้งต้นด้วยของจริงที่มีอยู่จริงเฉพาะหน้า พิสูจน์ทดลองลงไปบนของจริงที่มีอยู่ตรงหน้า แต่ถ้าว่าเป็นปรัชญา มันตั้งต้นลงไปบนของสมมติ ซึ่งไม่ได้มีอยู่จริง ที่เรียกว่า Hypothesis มันก็เป็นสมมติที่สมมติขึ้นมาอันหนึ่ง และมันยังต้องมีหลักว่า มันควรจะเป็นอย่างนั้นควรจะเป็นอย่างนี้ เพราะมันเป็นของสมมติ แล้วก็เรียนลงไปบนของสมมติ ก็หาเหตุผลมาแวดล้อมสิ่งสมมติ เพื่อจะหามติสุดท้าย Conclusion นี่อย่างนี้ มันเป็นคนละรูป คนละแบบกับการศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมะต้องทำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่าไปทำอย่างปรัชญา ยิ่งทำอย่างปรัชญาแล้วจะยิ่งไกลออกไปๆ จนติดตามไม่ไหว ถ้าทำกันอย่างวิทยาศาสตร์แล้วมันจะใกล้เข้ามาๆ จนจับตัวได้ จับจุดหมายปลายทางได้หรือถึงจุดหมายปลายทางได้ ฉะนั้นถ้าจะศึกษาธรรมะกันจริงๆ ในฐานะที่เป็นธรรมะก็ศึกษาอย่างหลักการทางวิทยาศาสตร์ เอาของจริงมาเป็นตัวปัญหาสำหรับศึกษาสำหรับตีให้แตกออกไปด้วยการพิสูจน์ค้นคว้าทดลอง จะยกตัวอย่างให้ฟัง เช่นว่า ถ้าจะศึกษาธรรมะ อย่างธรรมะ อย่างพุทธศาสนา ก็ตั้งต้นศึกษาอันแรก คำแรก ข้อแรก ก ข ก กา ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่จริงมีอยู่จริง แล้วเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทบ กระทบกันกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมันเป็นอย่างไร มันอะไรเกิดขึ้น นี่ต้องเห็นจริงไปตามลำดับ ไม่มีการคำนวณจนกว่าจะเกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว จริงๆ ไม่ต้องมีการคำนวณ อย่างนี้เรียกว่า ศึกษาพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแท้จริง เป็นการศึกษาธรรมะ
คำแรก ข้อแรกที่จะศึกษาคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ศึกษาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มันยุ่งยาก นั่นมันจะมาทีหลัง มันจะถูกลากมาหมดต่อทีหลัง เดี๋ยวนี้พอเราศึกษาธรรมะแล้วก็เอาเรื่องเหล่านี้มาก่อน เรื่องศีล ๕ เรื่องศีล ๘ เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อะไรก็ตามอย่างที่พวกคุณก็ยังประสบมาแล้ว ไปท่อง ไปจำกันมาแล้ว ไม่ตั้งต้นให้ถูกเรื่องของมัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอยู่จริง ให้เกิดอะไรขึ้นมาจริงๆๆๆ จนเป็นทุกข์จริง จนตัดต้นเหตุของมันได้แล้วก็ดับทุกข์จริงนี่ แล้วดูหนังสือที่เขาแต่งให้ฝรั่งเรียนหรือฝรั่งแต่งกันขึ้นสำหรับเรียน จะศึกษาพุทธศาสนานี่ก็ต้องศึกษาเรื่องวิชาเกี่ยวกับประเทศอินเดีย ที่เรียกว่า อินโดโลยี นี่หลายสิบหน้าหลายร้อยหน้า เรียนเรื่องประเทศอินเดีย ก็รู้ว่าคนอินเดียเป็นอย่างไร วัฒนธรรมเป็นอย่างไร อินเดียมีปรัชญาอย่างไร เรียนปรัชญาอินเดียกันจนจบหมด มันก็เวียนหัวตายแหละ เพราะว่าหลายๆ สิบเรื่องนั้นมันลงกันไม่ได้แล้วก็เอาปรัชญาอินเดียนี่ไปเปรียบเทียบกับปรัชญาตะวันตก ของพวกกรีกของสมัยโน้น แล้วเปรียบเทียบกันทั้งโลกเลย เรียนเรื่องปรัชญาไม่รู้จบ แล้วจึงจะมาพูดถึงเรื่องตายเกิด มันก็ไม่เป็นพุทธศาสนา มันมีคนตายคนเกิดแล้วไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่มีคนตายไม่มีคนเกิด ไม่มีการที่เรียกว่า อวตาร คนนี้ตายไปเกิดด้วย คนๆเดียวกันนี้ตายไปเกิดด้วย อย่างนี้ไม่มีในพุทธศาสนา ฝรั่งเขาศึกษาไปจนมีอย่างนั้น มีการคนเดียวตายแล้วเกิด ที่เรียกว่า เกิดใหม่ นี่เรื่องกรรมก็ศึกษานิดเดียว เรื่องดี ทำดีๆ ทำชั่วๆ เรื่องเนื้อกรรม พ้นกรรม ไม่รู้ หมด ศึกษากันหลายสิบปีก็ไม่รู้พุทธศาสนา ก็มันไปศึกษาในรูปแบบของปรัชญา แล้วจะมาศึกษารูปแบบของวิทยาศาสตร์ก็อย่างที่ว่า ตัว ก ตัวแรกนั้นจะต้อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถูกกันเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดทุกข์ ต้องปรากฎชัดแจ๋วอยู่ในใจ เหมือนกับเอามาวางตรงหน้าใส่ฝ่ามือดูนั่น รู้จักความทุกข์ชัดแจ๋วอย่างนี้ เห็นเหตุของมันที่มันขึ้นมาตามลำดับชัดแจ๋วอย่างนี้ เห็นการที่เราตัดกระแสนี้ได้ ทุกข์ไม่อาจจะเกิดชัดแจ๋วอย่างนี้ นั้นวิธีที่เราทำอยู่นั่นแหละที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นมันทำให้ตัดกระแสอย่างนี้ได้ มันเรียนคนละอย่าง เรียนคนละวิธี
ฉะนั้นถ้าพวกเราต้องการจะมีพุทธศาสนาจริงก็ให้เรียนอย่างที่ว่า มันเป็นพุทธศาสนา เรียนอย่างเรียนศาสนา อย่าไปเรียนอย่างปรัชญา ถ้าเรียนอย่างศาสนาเฉพาะพุทธศาสนาแล้วมันจะเป็นการเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ ศาสนาอื่นไม่รับรอง แต่ถ้าเป็นพุทธศาสนาแล้วจะต้องมีการเรียนเหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องมีสมมติฐาน ไม่ต้องไปโดยเหตุผลตามสมมติฐานนั่น มันเป็นการเรียนเรื่องสมมติไม่ใช่เรียนเรื่องจริง นี่เรียกว่า เราเรียนธรรมะให้ถูกวิธีก็จะต้องมีวิธีเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ อย่าเรียนอย่างปรัชญา
เอ้า, ทีนี้เน้นคำว่าวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ถ้าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มันก็อิงอยู่กับธรรมชาติ สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะมันจึงเป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งหมด อย่างที่ได้พูดทีแรกตอนต้นว่า มันเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างไร เดี๋ยวจะว่าให้ฟัง ทีนี้ก็มาถึงคำว่า ธรรมะ ธรรมะที่เป็นสัจจะของธรรมชาตินั้นแบ่งออกได้เป็น ๔ ความหมายหรือขั้นตอน ธรรมะคือตัวธรรมชาติ คือตัวธรรมชาตินั่นเอง จะธรรมชาติที่มีรูปเป็นสสาร หรือไม่มีรูปเป็นพลังงาน หรือว่ายิ่งไปกว่านั้นอีก เป็นเรื่องทางจิตทางใจ อะไรก็ตาม นี้เรียกว่าธรรมชาติทั้งหมด ตัวธรรมชาติทั้งหมดนี้ที่อยู่ในตัวเรา เนื้อหนัง เลือด อะไรของเรานี่ก็เป็นตัวธรรมชาติ และนอกตัวเราก็ธรรมชาติ ทั้งหมดก็เป็นธรรมชาติ เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นดิน เป็นอะไร มันก็เป็นธรรมชาติ นี้เรียกว่า ธรรมะคือธรรมชาติ
ทีนี้ความหมายที่สองถัดมาก็คือ กฎของธรรมชาติ ธรรมชาติก็ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ คือ สิ่งที่ควบคุมธรรมชาติ หรือสร้างธรรมชาติเหล่านี้ขึ้นมา เราจะใช้คำว่า Nature กับคำว่า ธรรมชาติ มันไม่ค่อยตรงนักแหละ แต่มันไม่มีคำไหนที่จะมาใช้กันได้กับคำว่าธรรมชาติในพุทธศาสนา เอาคำว่า Nature มาใช้ แล้วก็รู้กันว่า บัญญัติเฉพาะของเรา แล้วมันก็มีกฎของธรรมชาติคือว่า Law of nature ธรรมชาตินั้นมีกฎ กฎของธรรมชาตินั้นมีก่อนสิ่งใดหมด คือ มีก่อนธรรมชาติ มันต้องมีกฎของธรรมชาติอยู่ก่อนธรรมชาติ มันจึงบังคับให้มีธรรมชาติปรากฏออกมา ฉะนั้นกฎของธรรมชาติจะต้องมีอยู่ก่อนสิ่งใด เมื่อยังไม่มีดวงอาทิตย์ ไม่มีดวงจันทร์ ไม่มีสุริยะจักรวาล ยังว่างเปล่า ยังไม่มีอะไรอยู่ มันก็มีกฎของธรรมชาติอยู่แล้ว ฉะนั้นกฎของธรรมชาตินั่นแหละมันทำให้เกิดระบบจักรวาลอะไรต่างๆ ออกมา คือ ทุกสิ่งมันออกมาโดยอำนาจแห่งกฎของธรรมชาติ รู้จักสิ่งนี้ให้ดีๆ แล้วก็อยู่ในที่ทั่วไป ในทุกสิ่ง ในธรรมชาติทุกสิ่งมีกฎของธรรมชาติ เข้าไปสิงอยู่ ควบคุมอยู่ กำกับอยู่ อย่างในตัวเรานี่ มีเนื้อหนังกระดูกแล้วอะไรก็ตาม มันเป็นธรรมชาติ แล้วมันก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมสิ่งเหล่านี้อยู่ ทุกคนเป็นอย่างนี้ ในสัตว์เดรัจฉานทั่วไปก็เหมือนอย่างนั้น ต้นไม้ทั้งหมดก็เหมือนอย่างนั้น สิ่งที่ไม่มีชีวิตก็เหมือนอย่างนั้น มีกฎของธรรมชาติสิงอยู่ ควบคุมอยู่ อย่างนี้เราเรียกว่า กฎของธรรมชาติ บาลีก็เรียกด้วยคำสั้นๆ ว่าธรรมหรือธรรมะเหมือนกัน นี่บอกไปที่หนึ่งแล้วว่า คำนี้แปลกประหลาดเป็นที่สุด ไม่มีคำใดในโลกมนุษย์ที่จะแปลกประหลาดเท่าคำๆ นี้
ทีนี้ที่สามออกไปก็คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนี่จะต้องมีหน้าที่ที่เขาจะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ คนมีชีวิตก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ สัตว์เดรัจฉานมีชีวิตปฏิบัติให้ถูกตามหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติมิฉะนั้นจะต้องตาย ต้นไม้นี่มีชีวิต ต้นไม้นี่ต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ มีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ อะไรเป็นมีชีวิตอันนั้นจะต้องมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติเพื่อรอดชีวิต เพื่อมีชีวิต อันนี้สำคัญที่สุดคือ ตัวธรรมะในความหมาย นี่สำคัญที่สุด ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่า ธรรมะเหมือนกัน หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเพื่ออยู่รอดและเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงวาระสุดท้ายนี่เรียกว่า ธรรมะ ที่เราต้องการกันนัก อุตส่าห์หาอุตส่าห์เรียน อุตส่าห์มาเรียนนี่มันก็คือ ธรรมะในความหมายที่สามนี่คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ อันถูกต้องเพื่อรอดชีวิตอยู่และก็เจริญก้าวหน้าไปจนถึงผลสูงสุด
ที่ยังมีอีกอันหนึ่งอันที่สี่ คือ ผลที่เกิดจากหน้าที่ ไปทำหน้าที่ที่ไหนมันก็มีผลที่เกิดจากหน้าที่ ผลดี ผลร้าย ผลได้ ผลเสีย ผลอะไรก็ตาม แล้วแต่ว่าทำหน้าที่ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด มากหรือน้อย ผลจะมีผลเกิดขึ้นโดยสมควรแก่หน้าที่ ผลทั้งหมดนี่ก็เรียกว่า ธรรมะ คำเดียวกัน อักษรเดียวกัน ธรรมหรือธรรมะแล้วแต่จะออกเสียง มันเล็งถึงตัวธรรมชาติเป็นข้อแรก มันเล็งถึงกฎของธรรมชาติเป็นข้อที่สอง มันเล็งถึงหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติเป็นข้อที่สาม มันก็เล็งถึงผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นข้อที่สี่ ทั้งสี่ความหมายนี่มันเรียกด้วยคำๆ เดียวกันว่า ธรรมหรือธรรมะ นี่ธรรมะคำประหลาดที่สุด คลุมถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร แต่แบ่งออกได้เป็น ๔ กลุ่ม ตามความหมายนั้นๆ เรารู้จักธรรมชาติในฐานะที่เป็นธรรมะ ก็เพื่อจะรู้จักตัวเราเองให้มันดีขึ้นว่า มันคืออะไร เป็นยังไง ตัวเราคือธรรมชาติ ไม่รู้จักธรรมชาติก็ไม่รู้จักตัวเองดีขึ้น ทุกๆ สิ่งที่มันเหมือนกันเรา ที่เกี่ยวข้องกับเรา เราไม่ใช่อยู่คนเดียวได้หรือไม่ใช่อยู่ตามลำพังมนุษย์ได้ มันต้องอาศัยอะไรสักอย่างที่เป็นตัวธรรมชาติด้วยกัน ฉะนั้นรู้จักธรรมชาติไว้จะรู้จักตัวเราดีที่สุดและทุกสิ่งที่มันเนื่องกับตัวเราดีที่สุด แล้วก็รู้จักกฎของธรรมชาติไว้จะทำให้เรารู้จักพระเจ้า พระเป็นเจ้าหรือสิ่งสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด เราเรียกว่า พระธรรมหรือพระธรรมเจ้า ในเมื่อผู้อื่นเขาจะเรียกว่าพระเจ้าก็ตามใจเขา มันสิ่งเดียวกันสิ่งสูงสุดสิ่งใดคือพระเจ้า คนทุกคนมันอยู่ใต้อำนาจของสิ่งสูงสุด มันดิ้นไปไม่ได้ป่วยการ มันต้องไปตามกฎเกณฑ์ของสิ่งสูงสุดนั้น
ฉะนั้นรู้จักไว้ดีกว่า อย่าทำให้ผิด มันจะไม่ผิด มันก็จะมีผลก้าวไปข้างหน้า ฉะนั้นเราต้องรู้จักกฎของธรรมชาติ มันจะช่วยให้เรารู้จักพระเจ้าหรือสิ่งสูงสุด ทุกสิ่งออกมาจากพระเจ้า พระเจ้าสร้างขึ้น พระเจ้าควบคุมอยู่ พระเจ้าจะยุบจะเลิกจะทำลายเสียเมื่อไรก็ได้เป็นครั้งเป็นคราว ตามเหตุ ตามยุค ตามสมัย ตามเหตุ ตามปัจจัย พระเจ้านี่มีอำนาจเหนือสิ่งใด และพระเจ้านี่มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่มีทางที่จะซ่อนตัวให้พ้นจากพระเจ้า และพระเจ้านี่เป็นเรื่องของทุกเรื่องครบหมด ไม่มีเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับพระเจ้า นี่มันน่ากลัวอย่างนี้ สิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า แต่ที่แท้มันก็คือกฎของธรรมชาติ ตายตัว มีอยู่หลายกฎ หลายชื่อ ค่อยๆ เรียนต่อไปข้างหน้าจะพบ ในพุทธศาสนาเรานิยมเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา กฎของธรรมชาติก็มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ถ้ามีสิ่งนี้เป็นต้นเหตุสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ถ้ามีสิ่งนี้เป็นต้นเหตุสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ไม่หลุดจากพระเจ้า ถ้ามีพระเจ้ามันจึงเกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วมนุษย์มันก็รู้จักพระเจ้า ทำให้มีพระเจ้าเกิดขึ้นมาในโลกเป็นเรื่องที่เรียนที่รู้กัน ทีนี้ถ้าพระเจ้าที่มันต่ำกว่านั้นก็ คือ มนุษย์นั่นแหละมันสร้างพระเจ้าขึ้นมา นี่พระเจ้าชนิดนั้นมันก็มีอยู่ แต่ไม่ใช่พระเจ้าแท้ มนุษย์ว่าเอาเอง มนุษย์เขารู้อะไรเขาก็ว่าไปตามความรู้ ความรู้สึก มันจึงมีเรื่องมาก ที่เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำตามกฎของธรรมชาติ คือ เราจะปฏิเสธพระเจ้าไม่ได้ พระเจ้า คือ กฎของธรรมชาติระบุให้ต้องทำอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้นนะ เราต้องกินอาหาร เราต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เราต้องอาบน้ำ เราต้องทำอะไร ลองไม่ทำดูอย่างนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้น นี่มันมากกว่านั้นอีก เราต้องทำอะไรมากกว่านั้นอีกตามกฎของธรรมชาติ ที่เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ถ้าเรารู้หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มันจะช่วยให้เรารู้จักจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุด ที่ประเสริฐที่สุด ก็รู้จักธรรมะในฐานะที่เป็นหน้าที่ ตามกฎของธรรมชาติ ก็คือ เรารู้จักหนทางที่จะออกไปจากความทุกข์ คือ ทางออกของมนุษย์ที่จะออกไปจากความทุกข์ เป็นทางรอดของมนุษย์ที่จะออกไปจากความทุกข์ ขอให้รู้จักหน้าที่เถอะแล้วจะพบทางออกทางรอดของมนุษย์ ข้อสุดท้ายรู้จักผลที่เกิดจากหน้าที่ตามสมควร นี่ก็คือเป็นข้อเท็จจริงเป็นความจริงเรื่องกรรม เรื่องผลของกรรม กรรมมีผล ผลนี้จะกระทบกับผู้ทำจะเป็นของผู้ทำ เรื่องกรรม เรื่องผลกรรมเกี่ยวกับตัวเราอย่างไร นี่เราจะต้องรู้ ผลจากการทำหน้าที่เป็นธรรมะที่เราต้องรู้ นี่คือ ธรรม ๔ ความหมาย เรียกว่า ธรรม เพียงคำเดียวเหมือนกันทั้งหมด คุณมาสวนโมกข์เพื่อจะศึกษาธรรมะ ธรรมะไหนให้รู้กันซะบ้างนี่ มิฉะนั้นมันก็จะทำกันไปไม่ได้ และจะศึกษามันทั้งหมดก็คงไม่ได้ ชั่วเวลาไม่กี่วันมันทำไม่ได้ นี่มันก็รู้ได้แต่เขาโครงทั้งหมดโดยย่อ แล้วก็รู้ว่าส่วนไหนเรื่องไหนจะศึกษากันโดยละเอียด มันก็ไม่พ้นไปจากธรรมะความหมายที่ ๓ คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นเอง ฉะนั้นเราคงจะได้พูดกันถึงเรื่องที่มันจำเป็นก่อนหรือว่ารีบด่วนทันแก่เวลาที่มีอยู่นี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ฉะนั้นขอฝากไว้กับท่านทั้งหลายทุกคน จงไปคิดดูให้ดี ไปใคร่ครวญให้ดี และก็แสดงความประสงค์ คำขอร้อง หรือว่าคำถามขึ้นมาให้ตรงกับความประสงค์ของตนของตน อาตมาก็จะพยายามตอบให้ตามที่จะตอบได้ ให้สำเร็จประโยชน์ตามความประสงค์ของแต่ละคน เชื่อว่าคงจะได้รับประโยชน์คุ้มค่ามาหรือว่าคุ้มค่าที่ลงทุนมา จะถือเสมือนหนึ่งว่าท่านทั้งหลายยังไม่มีความรู้เรื่องธรรมะอะไรเลย อาตมาจะถือว่าท่านทั้งหลายทุกคนยังไม่รู้ธรรมะอะไรเลย และก็จะดำเนินเรื่องของเราไปตั้งแต่ต้นสำหรับคนที่ไม่รู้ธรรมะอะไรเลยไปตามลำดับจนกว่าจะรู้ธรรมะนั้นพอสมควร นี่เรียกว่า เราทำความเข้าใจกันในขั้นแรก จะเรียกว่าปฐมนิเทศหรืออะไรก็สุดแท้แต่มันก็ต้องกระทำเป็นแน่ เพื่อปรับความเข้าใจกันเสียก่อน จะได้รู้จักเรื่องของตนๆ ดี ในการที่จะทำให้มันลุล่วงไป ก้าวหน้าไป
นี่วันนี้ หนึ่งชั่วโมงเต็มแล้ว ไม่ได้พูดเรื่องอะไรเลยโดยสาระละเอียดลอออะไร เป็นการแนะนำในเบื้องต้นให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าสวนโมกข์กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะให้พอสมควรกับการที่เราจะศึกษาธรรมะกันต่อไปในวันหลัง เพื่อประหยัดเวลาให้มากที่สุด ก็ขอให้มีปัญหาที่แท้จริงที่เหมาะแก่ตนเองจริงๆ ยื่นมาให้อาตมาพิจารณาแล้วบรรยายไปตามนั้นจะดีมาก คือ จะประหยัดเวลาแล้วก็จะได้ผลดี สำหรับวันนี้ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ ช่วยเอาไปพินิจพิจารณาดูแล้วใช้สวนโมกข์นี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่มันจะใช้ได้ และขอยุติการบรรยายในวันนี้เพียงเท่านี้