แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฏจะต้องลาสิกขาทั้งหลาย การบรรยายเพื่อมหาวิทยาลัยต่อหางสุนัข ๑๐ ชั่วโมงเป็นครั้งที่ ๕ ในวันนี้ผมจะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า “โพธิหรือกิเลส” พอได้ยินว่าโพธิหรือกิเลส บางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องครึคระคร่ำคร่าโบรมโบราณหรือว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ คำว่ากิเลสพอจะเข้าใจได้ แต่คำว่าโพธินี่ไม่ค่อยจะรู้จักกัน แล้วก็วาดไว้ไกลเกินไปในพระคัมภีร์ ในเรื่องของธรรมะสูงสุด
ทีนี้ผมจะบอกว่าไอ้กิเลสกับโพธินั้น คือสัตว์ ๒ ตัวที่กัดกันอยู่ในหัวใจของเรานั้น ในคนเราน่ะมันมีสัตว์ ๒ ตัว ชื่อกิเลสและโพธิ กัดกันเรื่อยไป บางวันตัวนี้ชนะ บางวันตัวโน้นชนะ แล้วผลมันก็เกิดขึ้นต่างกัน ฉะนั้นยินดีฟังเรื่องกิเลสและโพธิในฐานะเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด
ทำไมคุณไม่ลองตั้งปัญหาดูบ้างว่า ทำไมคนมีความรู้ปริญญายาวเป็นหางมาจากเมืองนอกก็ยังทำคอรัปชั่น ทำไมมันมีความรู้ถึงขนาดนั้นแล้วมันยังทำคอรัปชั่น? นี่มันเรื่องอะไรกัน? หรือว่าอันธพาลนี่ที่เราจัดเขาไว้เป็นอันธพาลเป็นโจรน่ะมันฉลาดเหลือประมาณ ทำไมอย่างนั้นล่ะ? ทำไมความฉลาดทำให้มันเป็นโจรได้? หรือแม้ตัวเราเองนี้แหละบางทีมันก็หักห้ามจิตจากความชั่วและการกระทำชั่วไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะกิเลสและโพธิน่ะ
บางทีโพธิชนะกิเลส บางทีกิเลสชนะโพธิ (นาทีที่ 3.30) ก็ต้องวนเวียน ฉลาดน่ะบังคับกิเลสไม่ได้ โพธิแพ้ก็ทำคอรัปชั่น พวกอันธพาลที่ฉลาดเพราะว่าโพธิมันพ่ายแพ้ต่อกิเลส เราบางทีห้ามตัวเองจากการทำชั่วไม่ได้ก็เพราะว่าโพธิมันพ่ายแพ้ต่อกิเลส เราควรจะศึกษาเรื่องโพธิ เรื่องกิเลสนี้ให้เพียงพอก็เพื่อว่าจะได้รับประโยชน์เต็มที่ในการมีชีวิตเป็นมนุษย์ สิ่งที่เรียกว่าโพธินั้นเราสามารถจะพัฒนาให้มากให้ดีที่สุด จนกระทั่งชนะกิเลสเสมอไป ให้โพธินี่มันชนะกิเลสเสมอไป ให้สัตว์ตัวที่ชื่อว่าโพธิน่ะชนะสัตว์ตัวที่ชื่อว่ากิเลสเสมอไปในชีวิตของเรา เราควรรู้เรื่องนี้ตามสมควร
เอ้า... ตั้งต้นกันตั้งแต่ต้นตอที่สุดของสิ่งที่เรียกว่ากิเลสหรือโพธิ ทั้งสองนี่มันมาจากต้นตอเดียวกัน คือ มโนธาตุ หรือจิตธาตุ หรือวิญญาณธาตุ แล้วแต่จะเรียกน่ะ คือมันเป็นธาตุแห่งความรู้ด้วยกันทั้งนั้น มันมีธาตุแห่งความรู้อยู่ในสิ่งที่มีชีวิต ถ้าเรียกว่ามโนธาตุก็ตรงตามตัวเลย มโนแปลว่ารู้ ธาตุแปลว่าธาตุ ธาตุแห่งความรู้เรียกว่ามโนธาตุ จิตธาตุนี่คือคิดหรือก่อความคิด จิตธาตุ ธาตุแห่งจิตคือมันก่อความคิด มันก็ความรู้อีกแหละ วิญญาณธาตุมันสำหรับรู้แจ้ง วิว่าแจ้ง ญาณว่ารู้ รู้แจ้ง รู้แจ้งทางตา ทางหู ก็เรียกว่าวิญญาณธาตุ
แล้วมันมีธาตุอยู่ตามธรรมชาติสำหรับรู้ก็เรียกว่าวิญญาณธาตุได้ ที่เขาไปเอาอันนี้มาเป็นไอ้วิญญาณจุติ ปฏิสนธิ จะเรียกว่ามโนธาตุ จิตธาตุ วิญญาณธาตุ ก็เหมือนกันน่ะ เอาตรงที่ว่ามันเป็นธาตุแห่งความรู้ซึ่งจะต้องมีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิต มันมีธาตุเดียวนะคือธาตุรู้ ธาตุนี้เป็นกลางๆยังไม่เป็นโพธิยังไม่เป็นกิเลสโดยกำเนิดของมัน มันเป็นกลางๆ ทีนี้มันมีเหตุมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้มันปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งว่ามันเป็นโพธิไปทางหนึ่ง หรือเป็นกิเลสไปทางหนึ่ง
ฉะนั้นกิเลสก็ไม่ใช่โง่นะ มันเป็นความรู้ จะเฉลียวฉลาดก็ได้แต่มันเดินทางผิด ความฉลาดที่เดินผิดทาง จะเรียกว่าโพธิที่เดินผิดทางก็ได้ มันเป็นกิเลสน่ะ ที่มันเดินถูกทางตามความหมายมันก็เป็นโพธิ ฉะนั้นธาตุรู้มีอยู่เป็นต้นตอหรือเป็นเดิมพัน พูดตามหลักเกณฑ์อันนี้เราอาจจะพูดได้ว่าแม้ในพฤกษาชาตินี่ก็มีธาตุรู้ เพราะพฤกษาชาตินี้รู้สึกอะไรได้มากเหมือนกัน มันเป็นธาตุรู้ แต่มันต่ำเกินไป มันจะเป็นโพธิโดยชัดเจน เป็นกิเลสอย่างชัดเจนมันก็ไม่ได้ แต่มันก็เป็นได้น่ะอย่างที่ว่าน้อยมาก ละเอียดมาก ดูไม่ค่อยเป็น ทีนี้ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไอ้ธาตุรู้ของมันแสดงออกชัดกว่าต้นไม้ เราจึงเห็นสัตว์เดรัจฉานที่ฉลาดหรือที่โง่ ที่ซื่อหรือที่คดโกง เพราะว่าธาตุรู้ของมันเดินไปทางนั้น ทางใดทางหนึ่งในสองทางนั้น
เราจะต้องยอมรับไอ้สิ่งที่เรียกว่าสัญชาตญาณน่ะ ที่เขาเรียกว่าสัญชาตญาณ Instinct หรืออะไรพวกนี้ คำว่าญาณมันแปลว่ารู้ สัญชาตญาณคือความรู้ที่มันเกิดอยู่เอง มนุษย์มีสัญชาตญาณ สัตว์เดรัจฉานมีสัญชาตญาณ แถมว่าต้นไม้ก็มีสัญชาตญาณเพราะมันรู้จักหาอาหารกินเอง ไม่ต้องมีใครสอน ไอ้สัญชาตญาณนี่มันเป็นธาตุรู้โดยพื้นฐานตามธรรมชาติ แต่ว่าสัญชาตญาณต้องมีความรู้ที่ทำให้ตัวรอดอยู่ได้ ทำให้หนีภัยหนีอันตรายได้ นี่มันก็เป็นความรู้ หรือว่าจะเป็นโพธิอย่างธรรมชาติเกิดเอง
แต่ว่าในความรู้ตามสัญชาตญาณนั้นมันก็เพื่อตนนะ เพื่อตนเอง เพื่อเห็นแก่ตน รอดอยู่ก็เพื่อตน หนีภัยก็เพื่อตน จะทำอะไรก็ต้องทำเพื่อตน นี้มันเป็นสัญชาตญาณ ที่เป็นสัญชาตญาณอย่างนี้เราอย่าไปปรับอะไรกันให้มากนัก และอย่าไปยกย่องสรรเสริญกันมากนัก มันยังไม่เป็นกิเลสหรือโพธิที่เต็มที่เต็มขนาด ต้องดูต่อไปเรื่อยมาๆจนพอจะสรุปได้ว่ามันมีการกระทำอันแน่นอนตายตัวอย่างไร จึงจะแยกเป็นกิเลสหรือโพธิ
อย่างว่าแมลงผึ้งสามารถทำรังได้อย่างน่าอัศจรรย์ นี่มันก็โดยสัญชาตญาณ ยังไม่ถึงขนาดที่จะเรียกว่าโพธิ นกกระจาบทำรังได้อย่างน่าอัศจรรย์ก็โดยสัญชาตญาณยังไม่เรียกว่าโพธิ หรือว่าสัตว์เดรัจฉานที่มันทำอะไรไม่ถูกใจเรา แต่ว่ามันตรงกับความต้องการของสัญชาตญาณของมัน เราก็อย่าเพ่อปรับมันเสียเลยว่าเป็นกิเลสอะไร มันเป็นความรู้ที่จะต่อสู้ ถ้าสุนัขมันกัดเรา เราจะปรับให้เป็นกิเลสของมันหรือว่าจะลงโทษมัน ปรับมันมากเกินไปก็ไม่ถูกน่ะ เพราะมันทำไปตามสัญชาตญาณที่จะต้องกัดเราเพื่อความอยู่รอดของเขา ฉะนั้นสัญชาตญาณยังไม่ใช่กิเลสหรือโพธิโดยสมบูรณ์ แต่ว่ามันมีเงื่อนหรือปมที่จะออกมาเป็นกิเลสหรือเป็นโพธิโดยสมบูรณ์ในระยะหลังๆ
ถ้ามันกัดเรา สุนัขมันกัดเรา เราตีมันหลายๆหนมันก็จะฉลาดจนไม่กัดเราก็ได้ ไอ้ตอนนี้น่ะมันฉลาดกว่าสัญชาตญาณซึ่งรู้แต่จะกัด ทีนี้มันถูกอบรมสั่งสอนเฆี่ยนตีอย่างนั้นอย่างนี้มันก็เปลี่ยนได้ จนเดินไปทางของโพธิว่า โอ้...ไม่ควรกัดโว้ย อย่าไปกัดเลยมันถูกตี มันพันกันยุ่งอยู่ไอ้กิเลสกับโพธิ เพราะว่ามันเป็นของสิ่งเดียวกันในต้นตอ (นาทีที่ 13.01) หรือสักว่าความรู้เท่านั้นน่ะ กิเลสก็ความรู้โพธิก็ความรู้แต่มันแยกทางกันเดิน มีมโนธาตุหรือธาตุรู้เป็นจุดตั้งต้นออก จะแตกแยกไปเป็นกิเลสหรือโพธิก็มาจากสิ่งเดียวนี้
อย่างที่พูดแล้วว่าไอ้จิตธาตุ วิญญาณธาตุ มโนธาตุนั้น มันมีคุณสมบัติประจำตัวของมันคือรู้ ถ้ามันมีอะไรมาแวดล้อมปรุงแต่งที่เรียกว่าพัฒนาอย่างถูกต้อง คำว่าอย่างถูกต้องนี้ถูกต้องตามทางธรรม คือจะไม่เป็นโทษเป็นอันตรายจะมีแต่ประโยชน์ นี้มันก็เป็นโพธิ เราให้ชื่อใหม่ว่าเป็นโพธิ ถ้ามันพัฒนามาผิดทาง ผิดทางของธรรมเป็นอันตรายมันก็เป็นกิเลส และยิ่งเป็นกิเลสหรือยิ่งเป็นเป็นโพธิมากขึ้นตามสิ่งแวดล้อมปรุงแต่ง เรียกว่าเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
กิเลสหรือโพธิล้วนแต่มาจากธาตุรู้ ในธาตุรู้นี้มันเปลี่ยนไป พัฒนาไปตามเหตุปัจจัยเสมอ อะไรเข้ามาแวดล้อมปรุงแต่งมันก็ไปตามเหตุปัจจัยอันนั้น จะถูกหรือจะผิดมันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตนอะไรที่ไหน มันไปตามเหตุตามปัจจัย ในบางทีมันก็มีความหมายหรือมีหน้าที่เหมือนกันจนแยกกันไม่ออก
เพราะฉะนั้นมันควรจะมองดูว่า ลูกเด็กๆเกิดมาจากท้องมารดา มันไม่ได้มีความคิดที่จะคิดเลวคิดชั่ว บุญหรือบาปอะไร มันต้องคิดไปตามธาตุของมโนธาตุที่มีอะไรมาปรุงแต่งแวดล้อมมัน พอเกิดมาจากท้องแม่แล้วมันก็ต้องรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง อะไรที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ปรุงแต่งจิตใจของเด็กนั้น คือมีความรู้เพิ่มขึ้น ความรู้นั้นจะเดินไปทางเป็นประโยชน์หรือความรู้นั้นจะเดินไปในทางให้โทษ มันก็แล้วแต่สิ่งที่มาแวดล้อม ฉะนั้นการมีชีวิตที่มีวัฒนธรรมดีในบ้านเรือน มีอะไรมาแวดล้อมดี เด็กๆก็มีจิตใจที่เดินไปในทางโพธิ ไม่เดินไปในทางกิเลส แต่ว่ายังไม่มีใครทำดีมากน้อยหรอก มันก็ยังเปะปะๆไปตามเรื่องธรรมชาติที่เป็นกิเลสก็ได้เป็นโพธิก็ได้ แล้วเดี๋ยวเราจะใคร่ตรวจกันดู
จะพิจารณาถึงการเริ่มต้น การพัฒนาไอ้ธาตุรู้ที่มีอยู่ในสิ่งที่มีชีวิต มันก็เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่มันมีชีวิตหรือมันดำเนินชีวิต ต้นไม้นะ เอาต้นไม้ก่อนชีวิตต่ำต้อย เมื่อมันมาเป็นต้นไม้มันงอกขึ้น แล้วมันก็ผ่านฤดูฝน ผ่านฤดูแล้ง ผ่านฤดูฝน ผ่านฤดูแล้ง ก็ต้องพูดว่ามันฉลาดขึ้นนะ อย่าไปโห่นะว่าต้นไม้มันฉลาดขึ้น ก็ต้นไม้ที่มันไม่เคยผ่านแล้ง ผ่านฝน มันก็ไม่ฉลาดหรอก ผมเห็นไอต้นลูกกอที่นี่ไม่มีขน ไอ้ต้นกอที่เชียงใหม่แถวโน้นมีขนเพราะต่อสู้กับธรรมชาติอันโหดร้าย ที่ผิวเปลือกมีขน แล้วก็เพราะไฟไหม้มันทุกปี มันมีการต่อสู้มีขนที่ป้องกันไฟ มีเปลือกที่ป้องกันไฟได้ ซึ่งต้นกอที่นี่ไม่จำเป็น ดูต้นเกลี้ยง นี่เราจะถือว่า ไอ้ธาตุรู้ที่มีอยู่ในชีวิตก็เพราะต้นไม้มันพัฒนาได้เหมือนกัน อย่าว่าแต่คนเลย
ใครจะไม่เชื่อก็ได้ แต่ผมขอร้องว่าให้ไปสังเกตดู มันเห็นอย่างนี้ มันเริ่มพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่เป็นต้นไม้ ชีวิตที่ต่ำต้อย ทีนี้พอสูงถึงขนาดสัตว์เดรัจฉาน มันก็ฉลาดขึ้นตามสัญชาตญาณแห่งการเอาตัวรอด มันยังไม่ฉลาดเพื่อจะไปมรรคผลนิพพานได้น่ะ แต่มันต้องฉลาดขึ้นในการที่จะเอาตัวมันรอด ไอ้ลูกสัตว์ตัวเล็กๆเกิดขึ้นมาโดยค่อยๆรู้ที่จะทำตัวให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เขารอดอยู่ได้ ให้เขาสบาย ลูกหมา ลูกแมว ลูกไก่ เหมือนกันหมด รู้จักทำในสิ่งที่ให้ตัวได้รับประโยชน์มากขึ้น ไอ้ธาตุรู้มันก็พัฒนามาในทางของโพธิ แต่ถ้ามันไม่พอมันก็จะทำไปในทางที่เราไม่ชอบก็ได้ แต่เพื่อประโยชน์ของมันน่ะมันถูกแล้ว มันไม่ถูกกับประโยชน์ของเรา มันอาจจะไม่ตรงกันก็ได้
ข้อที่ว่าโพธิมันพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่สัตว์ที่ต่ำต้อย มดแมลงนี่ก็จะเห็นได้ ฉะนั้นในคัมภีร์ชาดกห้าร้อยชาติหรือห้าร้อยกว่าชาติของพุทธศาสนานี่ คุณไปเปิดดูเถิดมีสัตว์ตั้งแต่ปลาดุก รู้จักปลาดุกนะ เป็นปลา สัตว์ต่ำต้อยเป็นปลาเนี่ย เขาก็เป็นโพธิสัตว์ได้เหมือนกัน โพธิสัตว์เป็นปลาดุก โพธิสัตว์เป็นงู โพธิสัตว์เป็นนาค โพธิสัตว์เป็นกระทั่งว่าเป็นคน กระทั่งว่าโพธิสัตว์เป็นเทวดา นี่คือข้อที่ว่าโพธิมันพัฒนาขึ้นมาจากระดับต่ำที่สุด สัตว์อันต่ำต้อยไม่ฉลาดนั้นค่อยฉลาดๆขึ้นมา มันสัตว์ที่ต่ำต้อยแต่มันก็ฉลาดขึ้นมา เพราะว่าโพธิมันพัฒนา
ฉะนั้นสัตว์ที่เรียกว่าโพธิสัตว์ จากเป็นปลาขึ้นมาถึงเป็นคนนี้มันก็คือการพัฒนาแห่งโพธิ เขาเรียกชื่อกันว่าโพธิสัตว์ สัตว์ที่กำลังพัฒนาโพธิ เท่าที่ผมจำได้นึกได้ไม่มีโพธิสัตว์ที่เป็นมด เป็นแมลง ไม่เคยพบ พบแต่เรื่องเป็นปลา มีบ้าง เอาเถิด... นี่เอาโดยสันนิษฐานว่ามันโพธิขึ้นมาเรื่อยๆน่ะจนกว่าจะเป็นปลา หรือถ้าถือว่าปลาเป็นจุดตั้งต้น ไอ้มดแมลงเหนือกว่า เพราะฉะนั้นไอ้มดแมลงก็ต้องมีโพธิยิ่งกว่าปลา ในบัญชีอวตารของพระนารายณ์ที่เรียกกันว่านารายณ์สิบปางน่ะ เชื่อว่าหลายองค์ที่นี่เคยอ่านมาแล้ว คุณไปดูลำดับของมันสิ ไอ้พระนารายณ์อวตารสิบปางนี่ไอ้ปางแรกมันเป็นปลานะ แล้วปางถัดมามันเป็นเต่า แล้วปางถัดมามันเป็นหมูนะ แล้วปางถัดมามันเป็นราชสีห์ แล้วปางถัดมามันจึงค่อยเป็นคนแคระ ไอ้คนเล็กๆ คนแคระ คนสมัยคนป่า จึงจะค่อยมาเป็นคน คนเต็มๆคนโตๆนี้ (นาทีที่ 22.33) พระลักษณ์สุรามนี่ก็ชักจะลืมชื่อ จนกระทั่งมาเป็นพระราม จนกระทั่งมาเป็นพระกฤษณะ จนกระทั่งมากวาดเอาพระพุทธเจ้าของเราเข้าไปใส่ไว้ด้วยปางหนึ่ง เป็นปางสุดท้ายที่ผ่านมาแล้ว และยังจะมีข้างหน้าทำนองพระศรีอาริย์นั่นอีกหนึ่งปาง ก็เรียกกัลกยาวตาร
นี่เห็นได้ชัดเลยว่ามันเป็นวิวัฒนาการของโพธิของสัตว์ของคน คัมภีร์สูงสุดของฝ่ายพราหมณ์มันก็มีลักษณะวิวัฒนาการทางโพธิตั้งแต่เป็นปลา เป็นเต่าเป็นหมูเป็นราชสีห์ เป็นคนเตี้ย เป็นคนเก่ง กระทั่งเป็นพระราม กระทั่งเป็นพระกฤษณะ เป็นพระพุทธเจ้า และก็จนมาอีกปางสุดท้ายสูงสุดของวิวัฒนาการ มันเรื่องของโพธิที่แสดงให้เราเห็น ไปสูงสุดอยู่ที่พระพุทธเจ้า ที่จะมาข้างหน้าเป็นพระศรีอาริย์ทำนองนั้น ดูจะเอาเปรียบอยู่มากนะคือเอาคนดีๆเก่งๆในประวัติศาสตร์เข้าไปไว้ในเครือของอวตารหมด ไม่เป็นไรน่ะ เดี๋ยวนี้เราเอามาดูในลักษณะที่โพธิมันพัฒนา
ถ้าดูจากบัญชีในชาดก ในพระพุทธศาสนาแล้วก็ไกลมาก การเดินทางไกลมาก โพธินี้ต้องเดินทางไกลมากกว่าจะพัฒนามาถึงระดับที่จะเป็นพระพุทธเจ้า นี่เรียกว่าตามวิวัฒนาการภายนอก อ้าว..ทีนี้ดูวิวัฒนาการภายใน เด็กๆเกิดมามันอาจจะมีคุณสมบัติทางโพธิเหมือนกับปลา เหมือนกับเต่า เหมือนกับหมู เหมือนกับราชสีห์ ตามไอ้หลักไอ้นารายณ์สิบปางนั้นก็ได้ ในชาดกของเรามันแยกออกซอยมากเกินเป็นตั้งห้าร้อย เด็กโตขึ้นทุกวันน่ะมันเหมือนกับเปลี่ยนอวตารสูงขึ้นมาๆ จนกว่าจะเป็นเด็กที่ถูกต้อง เป็นโพธิที่ถูกต้อง จะไปในทางถูกต้อง เป็นมนุษย์สูงสุด แต่ถ้าของเด็กบางคนมันไม่ไปอย่างนั้นล่ะ มันก็ไม่ถูกต้องหรอก มันต้องไปเป็นอันธพาล ต้องไปเป็นโจร เป็นสัตว์นรก
ฉะนั้นเราจะดูให้ดี ไอ้ความลึกลับของโพธินี้มันสำคัญอะไรหนักหนาที่เราจะต้องดูให้ดี มันสำคัญที่สุดเลยเพราะมันจะรอดได้ หรือรอดไม่ได้ก็เพราะอันนี้ ถ้าโพธิมันเดินไม่ถูกทางเราก็วินาศ มันเป็นกิเลสไปหมด มันเดินไปเป็นโพธิกิเลสไปหมด ไม่เป็นโพธิปัญญา ระยะหลังนี่เราเป็นมาอย่างไรในทางของโพธิ
ให้เข้าใจให้ง่ายขึ้นผมจะยกตัวอย่างเด็กๆอีกน่ะ เด็กคลอดออกมามันรู้จักทำอะไรมากขึ้น กระทั่งว่ามันรู้จักโกหก รู้จักขโมย นี้ก็เป็นโพธินะเพราะเด็กก็ไม่รู้จักเรื่องบุญเรื่องบาปเรื่องดีเรื่องชั่วสักที แต่ก็อาจจะรู้จักขโมย เด็กเล็กๆนี้ขโมยของกินมันก็ตามสัญชาตญาณ คือว่าเราต้องกิน เราต้องหาวิธีกินให้ได้ มันก็เป็นโพธิแบบนั้นแบบระดับนั้น ถ้าเด็กมันโกหกอย่าเพ่อปรับว่าเลวร้ายนะ ไม่ใช่ผู้ใหญ่โกหกนะ ผู้ใหญ่โกหกนี้จะทำด้วยกิเลส แต่ถ้าเด็กตัวเล็กโกหกมันเป็นโพธิของเด็ก เพราะเด็กเขารู้ว่าต้องอย่างนี้เราจึงจะไม่ถูกตี
เด็กคนหนึ่ง ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่ง ผู้ใหญ่เขาสั่งว่าไม่ให้ไปเที่ยวหรือว่าไปเที่ยวช้านักจะถูกตี มันก็ยังหนีไปเที่ยว ไอ้ความคิดจะหนีไปเที่ยวของมันยังเป็นโพธิอยู่ เพราะมันยังเด็ก ถ้ามันเที่ยวนานเกินไปหรือว่าแอบมาไม่ให้ใครเห็นมานั่งอยู่ในซอกประตูนะ พอผู้ใหญ่เห็นเข้าจะตีมันบอกไม่ได้ไปนี่อยู่ที่นี่เห็นไหมอยู่นี่ ก็โกหกว่ามันอยู่ที่นี่ นี่คือโพธินะยังไม่ใช่กิเลสนะ เพราะมันยังเด็กมาก มันรู้จักใช้ปัญญาที่จะหนีไปเที่ยว และที่จะโกหก นี่โพธิมันเริ่มเดินมา เริ่มมโนธาตุ ธาตุรู้มันเริ่มเดินมาในทางของโพธิ แต่มันยังใช่ไม่ได้เพราะมันจะกลายไปเป็นกิเลสในที่สุด แต่ในชั้นนี้เราจะต้องรับลองว่าเป็นโพธิ
อย่างแมวมันขโมยปลากินนี่ มันเป็นโพธิของแมวนะ จะไปปรับอทินนาทานเหมือนกับคนมันไม่ได้ หรือแม้แต้ว่าสัตว์ใหญ่มันต้องกินสัตว์เล็กๆ จับกินเป็นอาหาร มันก็เป็นเรื่องของโพธิของสัตว์ ไม่ใช่บาปกรรมอย่างที่จะมาจัดกับมนุษย์ ถ้าว่าเราโกหกกับโจรเพื่อเอาตัวรอด ไม่ต้องถูกฆ่า อย่างนี้ก็ยังเป็นโพธิน่ะแม้ว่าโกหก โกหกเพื่อเอาตัวรอด แต่ถ้ามันไม่มีเรื่องอย่างนั้นโกหกมันกลายเป็นกิเลส ยิ่งกว่านั้นบางทีเราก็จะต้องฆ่าใครสักคนหนึ่งเพื่อเอาชีวิตรอด ป้องกันตัวนี่ มันก็ยังเป็นโพธิอยู่นั่นล่ะ เพราะสิทธิที่จะเอาตัวรอดนั่นมันเป็นของธรรมชาติ ธรรมะเราก็ไม่ได้ตัดทิ้งออกไป การที่ใครมันจะฆ่าใครสักคนหนึ่งเพื่อเอาตัวรอดมันยังเป็นโพธิ แต่ว่าในที่สุดมันก็จะต้องเป็นกิเลส มันต้องกลายเป็นโพธิกิเลส ไม่ใช่โพธิปัญญา
คนฉลาดน่ะจึงจะรู้จักขโมย คิดดูถ้าหากมันโง่มันขโมยไม่เป็นน่ะ หรือถ้าโง่มันขโมยให้เขาจับได้ตีตาย โพธิมันต้องฉลาดมันจึงขโมย แต่โพธิมันไม่ควรจะฉลาดอยู่เพียงรู้จักขโมย มันควรจะฉลาดต่อกันไปว่า โอ้...ขโมยนี้ไม่ดี จะถูกตีตาย หรือว่าจะให้โทษทีหลัง แล้วก็เลิกขโมย โพธิในระดับที่ควรขโมยมันก็หายไปเอง มันก็เปลี่ยนไปเป็นโพธิที่เห็นว่าไม่ควรขโมย หรือว่าขโมยแล้วถูกตีถูกจับหลายๆหนเข้ามันก็เปลี่ยนไป เป็นไม่ขโมย โพธิที่ถูกต้องก็จะไม่ขโมย ส่วนที่ยังเป็นกิเลสก็ยังขโมยต่อไป ฉะนั้นโพธิหรือกิเลสอาจจะทำอะไรเหมือนๆกันก็ได้ในระดับที่มันยังไม่สูง
ฉะนั้นเราระวังให้ดี จะไม่ไปตำหนิติเตียนใครหรืออะไรเขาง่ายๆโดยเฉพาะเด็กๆ ถ้าเด็กๆมันขโมย ตัวเล็กๆนี่มันรู้จักขโมย รู้จักโกหก ก็ควรจะบอกว่าฉลาดนะ แต่ว่าฉลาดอย่างนี้เดือดร้อนนะ ฉลาดอย่างอื่นเหนือไปกว่านี้สิ ฉลาดที่จะไม่โกหก ฉลาดที่จะไม่ขโมยนี่ อย่างนี้เด็กก็จะเปลี่ยนเป็นฉลาดเพื่อไม่ขโมย ฉลาดเพื่อไม่โกหก ถ้าเราไปด่าเขาไปตีเขาเพราะโกหกหรือขโมยในระยะเด็กตัวนิดเดียวนี้มันก็ไม่ถูกแล้ว มันก็คงจะเจ็บเปล่าแล้วเราก็โง่ด้วย เพราะไม่ยอมให้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่ชื่อว่าโพธิแล้วต้องคิดได้คิดออกเพื่อตัวรอด และโพธินั้นจะค่อยๆพัฒนามาถึงระดับสูงสุด เอาตัวรอดได้จริงอันนี้ เราก็แยกทางเดินกันโดยเด็ดขาด ว่าอย่างนั้นเป็นโพธิ อย่างนี้เป็นกิเลส แล้วในที่สุดไอ้โพธินี้มันจะกลายเป็นผู้ฆ่ากิเลส
ฉะนั้นในร่างกายเรามันมีสัตว์สองตัวรบราฆ่าฟันกันอยู่คือโพธิกับกิเลส ถ้ามีการปรับปรุงถูกต้อง มันก็ช่วยให้โพธิฆ่ากิเลสยิ่งๆขึ้นไป ถ้าพูดให้เป็นวิทยาศาสตร์หน่อยก็คือ เราจะกั้นกระแสแห่งมโนธาตุหรือธาตุรู้ให้มันเดินมาแต่ทางนี้ อย่างเดินไปทางนั้น กระแสแห่งมโนธาตุนี่จะถูกกั้นทดออกมาเหมือนกับทดน้ำให้เดินมาแต่ทางนี้ เป็นโพธิๆๆๆกระทั่งสูงสุด ทีนี้ไอ้ฝ่ายที่เป็นกิเลส โพธิที่เป็นกิเลสมันก็มีกำลังเหมือนกัน มันก็ต่อสู้ไอ้โพธิที่เป็นปัญญา ทางทีมันก็สู้ได้หรือชนะ แต่บางทีมันก็แพ้ ถ้าแพ้ไอ้โพธิ กิเลสมันก็ลากตัวไปทำอะไรในแบบของกิเลส นี่การต่อสู้ในภายในเรา คนๆมนุษย์นี่มันมีอยู่อย่างนี้
มันจะแยกทางกันเดินอย่างไร หรือจะมีอะไรเป็นเครื่องตัดสินลงไปว่าทางนี้ผิดทางนี้ถูก ก็ขอให้นึกถึงไอ้ทีแรกเริ่มเดิมทีขั้นต้นน่ะ กิเลสกับโพธิคือสิ่งเดียวกัน คือมโนธาตุหรือธาตุแห่งความรู้ จะเป็นกิเลสก็ได้ จะเป็นโพธิก็ได้ มันเป็นธาตุรู้ และไอ้ตัวรู้นี่มันจะเป็นโพธิก็ได้เป็นกิเลสก็ได้ เพราะมันรู้คนละอย่างเท่านั้นเอง ไอ้โพธิมันก็คือแยกมาตามทางที่ว่าเป็นความรอดอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองโดยแท้จริงและผู้อื่นด้วย และถ้ามโนธาตุหรือไอ้ธาตุแห่งความรู้มันเดินมาทางนี้มันก็เป็นโพธิแท้และยิ่งขึ้นทุกที
ทีนี้มันเดินผิดทางไปจมลงในความผิด ความโง่ ความทุกข์ ทำตนเป็นทุกข์ ทำผู้อื่นเป็นทุกข์ มันก็เป็นกิเลส แต่ว่าสมรรถนะในการที่จะรู้ในการที่จะฉลาดมันอาจจะเท่ากันก็ได้ โพธิรู้ถูก โพธิรู้ผิด คือกิเลสมันอาจจะมีกำลังมีสมรรถนะมีอะไรเท่ากันก็ได้ ฉะนั้นมันจึงสามารถจะต่อสู้กันอยู่ได้ในชีวิตของเราตลอดเวลา และถ้ากำลังฝ่ายไหนมันมาก ฝ่ายนั้นก็ชนะ ก็ดึงอีกฝ่ายไปตามอำนาจของมัน บางวันเราตัดสินใจผิด บางวันเราตัดสินใจถูก มันก็เพราะว่าไอ้การต่อสู้กันของกิเลสกับโพธินี่มันผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ หรือว่าอันไหนมันจะดึงอันไหนไป
อ้าว...ทีนี้ไอ้มโนธาตุ ธาตุรู้ที่จะเป็นความฉลาดนั้นมันจะฉลาดไปทางไหน มันก็ตัวอย่างเด็กนี่ มันจะฉลาดไปทางโกหกหรือขโมยต่อไป หรือมันจะฉลาดในทางที่รู้ว่าขโมยและโกหกนี้ไม่ดี เพราะเคยได้รับโทษรับปฏิกิริยาสอนให้รู้ว่าไม่ดี นี่มันก็แยกเดินไปทางที่ถูก โพธิก็เดินไปในทางธรรม กิเลสก็เดินไปในทางอธรรม เรามีคำคู่อยู่คู่หนึ่งเรียกว่าธรรมและอธรรม ธรรมต้องเป็นประโยชน์ อธรรมต้องไม่มีประโยชน์ โพธิก็เดินไปทางธรรมเพราะเป็นโพธิสัตว์ ขึ้นมาเป็นพระโพธิสัตว์ขึ้นมา แล้วก็เป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด นี่ถ้าโพธิมันเดินไปสู่ทางในทางธรรม ทีนี้ถ้าว่ากิเลสก็เดินไปในทางอธรรม แทนที่จะไปเป็นโพธิสัตว์มันก็ไปเป็นอันธพาล ออกมาจากต้นตอเดียวกันคือธาตุรู้ อันหนึ่งไปเป็นโพธิสัตว์อีกอันหนึ่งไปเป็นอันธพาล ในที่สุดมันก็เป็นสัตว์นรก
ทีนี้ทางพุทธศาสนาของเรามีหลักอยู่อย่างว่า ไม่นิรันดร ไม่ตายตัว ถ้าเป็นศาสนาคริสเตียนหรือเครือนั้นเขาไปตกนรกตายตัวสวรรค์ตายตัว แต่ของพุทธเราไม่ตายตัว มันเป็นสัตว์นรกจนมันเบื่อ จนมันเข็ดมันราบ แล้วมันกลับเปลี่ยนขึ้นมาเป็นคนธรรมดา เป็นโพธิสัตว์อีกก็ได้ ฉะนั้นในคัมภีร์เขาจึงมีกล่าวไว้ว่าไอ้ตัวร้าย ร้ายจนพระเทวทัตนี้ เมื่อนานไปนานหนักเข้าๆมันกลายเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งโน่น เป็นปัจเจกพุทธะองค์หนึ่งในอนาคต นี่ดูไอ้ความกวัดแกว่งของกิเลสและโพธิ ไปลงนรกเป็นอนันตกรรม หมดเรื่องนั้นแล้วก็ขึ้นมาใหม่ก็มาเป็นมนุษย์เป็นโพธิเป็นโพธิสัตว์ เป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ มันไกลอย่างนี้
มันก็ดูได้ในตัวเรานี่ เราทำผิดทำเลวทำชั่วติดคุกติดตารางอะไรก็ได้ เสร็จแล้วมันมารู้เรื่องนี้ดี มันก็กลับตัวเป็นคนละอย่างออกมานี่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป เหมือนพระเทวทัตในอนาคตจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เป็นโพธิเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยปรุงแต่งให้ได้เป็นอย่างนี้
ทีนี้ในชีวิตเรา ปัญหาของเราๆที่ว่าเป็นนักศึกษานี้ดูให้ดีเถิด ให้รู้จักกิเลสและโพธิที่มีอยู่ในภายใน ในบุคคลหนึ่งๆน่ะมีการต่อสู้กัน มโนธาตุที่ได้รับเหตุปัจจัยปรุงแต่งมันเดินไปทางต่ำ หนักเข้ามันก็ฝ่ายต่ำอยากต่ำ มีความรู้สึกฝ่ายต่ำประจำตัว และมโนธาตุอีกอันหนึ่งมันปรุงแต่งไปในทางสูง มันก็ฝ่ายสูงใคร่สูงเกิดความรู้สึกฝ่ายสูง ทีนี้ในคนๆหนึ่งก็มีความรู้สึกสองอย่าง ความรู้สึกฝ่ายสูง ความรู้สึกฝ่ายต่ำ นั่นคือตัวกิเลสคือตัวโพธิ มันก็รบกันอยู่ภายใน ความรู้สึกฝ่ายต่ำ ความรู้สึกฝ่ายสูงรบกัน เอ้า...วันนี้อันหนึ่งแพ้ไป พอเผลอขึ้นไอ้วันหลังมันก็มันมีเรื่องให้มันรบกันใหม่อีก มันไม่แพ้ตลอดกาล เพราะมันมาจากธาตุรู้ด้วยกัน มันก็ต่อสู้กันได้เรื่อย
เมื่อผมดูหนังตะลุง ผมสังเกตเห็นไอ้ข้อเท็จจริงอันนี้ที่เขาเอามาแสดง แล้วก็จะสอนคนในเรื่องนี้ คุณเคยดูหนังตะลุงหรือไม่ก็ไม่ทราบ ผมจะเล่าให้ฟังว่าไอ้หนังตะลุงที่มันถูกตามแบบฉบับแผนโบราณนั้น พอมันเริ่มขึ้นที่จะแสดงนี้เริ่มจะแสดงนี่มันมีฤๅษีตัวหนึ่งมาอยู่ตรงกลาง แล้วมีข้างนี้ตัวหนึ่งเป็นลูกยักษ์ มีข้างนี้อีกตัวหนึ่งเป็นลูกมนุษย์ พอมันจะเริ่มแสดงเข้าให้สองตัวนี้มันรบ รบกันอย่างน่าดูน่ะ แล้วก็พอในที่สุดแห่งการรบ ไอ้ฤๅษีเขาก็มาสอนตัวนี้ที ฤาษีก็มาสอนตัวนี้ที แล้วไอ้สองตัวนี้มันก็เลิกรบ มันหันหลังให้กัน ตัวนี้ไปทางนี้ ตัวนี้ไปทางนี้คนละทางแล้วก็เลิกรบกัน
ฤๅษีเขาบอกอะไรให้ไม่รู้ ไม่ได้ยิน เงียบๆ พอรุ่งขึ้นมันก็รบกันอีก ก็แสดงวันหลังก็ต้องมีรบอย่างนั้นอีกน่ะ แล้วฤๅษีก็ทำกันอย่างนั้นอีก วันหลังมันก็มีอย่างนั้นอีก มันจะแสดงกันกี่ร้อยครั้งพันครั้งหนังตะลุง มันแสดงรูปภาพนี้ในลักษณะที่มันมีรบกันระหว่างธรรมกับอธรรม ฤๅษีเขาก็ไกลเกลี่ยปรับปรุงทุกคราวล่ะ มันก็ตกลงกันได้คราวหนึ่งเท่านั้นล่ะ แล้วต่อมามันก็รบกันอีก
ฉะนั้นระวังให้ดี ในโลกนี้มันจะเป็นอย่างนี้ ในโลกนี้จะมีการรบกันระหว่างฝ่ายที่ตรงกันข้าม ฝ่ายธรรม ฝ่ายอธรรม มีใครไกลเกลี่ยกันได้สักพักหนึ่งเดี๋ยวมันก็รบกันอีก อย่าลืมว่าในคนเรามันก็เป็นอย่างนั้นนะ ในคนเราในวันนี้มันรบกัน ยุติไปได้คราวหนึ่งรุ่งขึ้นมันจะมีเรื่องให้รบกันอีก ความรู้สึกฝ่ายต่ำกับความรู้สึกฝ่ายสูง มันจะต้องรบกันต่อไปจนกว่าจะถึงจุดสุดท้ายคือนิพพาน ยังไม่นิพพานยังไม่โมกษะอยู่เพียงใด มันก็ต้องรบกันไปอย่างนี้
ทีนี้จะเอาใครที่ไหนล่ะมารับผิดชอบ มันก็ต้องไอ้สิ่งที่สมมติกันว่าเรา เรานี้ มันก็อยู่ในนั้นล่ะ บางวันโพธิเป็นเราก็ค่อยยังชั่ว แต่บางวันกิเลสน่ะมันขึ้นมาเป็นเรามันก็แย่ วันไหนกิเลสขึ้นมาเป็นเราวันนั้นก็แย่ วันไหนโพธิขึ้นมาเป็นเราวันนั้นก็ดีๆ ใครล่ะจะไปจัดมัน ก็มันก็เรื่องของโพธิอีกนั้นล่ะ เรื่องของโพธิหรือโพธิตัวนั้นล่ะตัวที่มันแย่บ่อยๆ เพราะกิเลสมันเล่นงานเราบ่อยๆ มันก็รู้จักจัดเสียใหม่ ให้มันเป็นโพธิที่จริงขึ้นๆ เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์ก็สามารถที่จะเอาชนะกิเลสมากขึ้นๆจนกว่ากิเลสจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด
ฉะนั้น เราก็จัดให้ความรู้สึกฝ่ายสูงชนะความรู้สึกฝ่ายต่ำมากขึ้นๆ ถ้าเคยขโมย ก็ลดเสียไม่ขโมย ถ้าเคยโกหก มันก็ค่อยๆเลิกไปจนไม่โกหก ถ้าเราประพฤติผิดในกามก็ค่อยๆเลิกไปจนไม่ประพฤติผิดในกาม อย่างกับสูบบุหรี่อยู่ก็ค่อยๆเลิกเสียสิ จนไม่ต้องสูบบุหรี่ สูบหลายตัวนักก็ลดลงๆจนเหลือน้อยๆจนเลิกสูบ พัฒนาโพธิ ความรู้สึกฝ่ายสูงชนะความรู้สึกฝ่ายต่ำ คือธรรมกับอธรรมรบกันอยู่ในโลกภายนอกและโลกภายในคือในจิตใจของเรา เมื่อกิเลสมันชนะมันมีผลอย่างไร เมื่อโพธิชนะมันมีผลอย่างไร
เราสังเกตดูให้ดีจะรู้ได้ ถ้ากิเลสคือความรู้สึกฝ่ายต่ำชนะ เอ้า...มันก็ทำอย่างฝ่ายต่ำ ได้รับความสุขสนุกสนานพอใจ ในที่สุดไอ้ความสุขนั้นมันจะกลายเป็นทุกข์ขึ้นมา อย่างที่มีหลักว่าสุขเกิดในลำดับแห่งทุกข์ ทุกข์เกิดในลำดับแห่งสุข เอ้า...กิเลสฝ่ายต่ำชนะได้รับความสุข แต่แล้วมันจะถูกลงโทษโดยปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ฉะนั้นไอ้ความสุขของกิเลสฝ่ายต่ำนั้นมันจะถูกลงโทษ แล้วมันก็จะสำนึกตัว แล้วมันก็จะค่อยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคือมันฉลาดขึ้น ถ้าฝ่ายกิเลสชนะมันจะเสวยสุข แล้วมันก็จะถูกลงโทษมีปฏิกิริยาสมแก่การกระทำ พอถูกลงโทษเจ็บปวดนี้มันก็ฉลาดขึ้น มันจะมาในฝ่ายของโพธิ ได้เปรียบฝ่ายโพธิ
ถ้าว่าฝ่ายโพธิชนะบ้าง มันเสวยสุขเหมือนกัน แล้วมันไม่ถูกลงโทษ คือมันไม่มีปฏิกิริยามาจากทางไหนที่จะเป็นการลงโทษหรือให้มีความทุกข์มันก็ฉลาดต่อไป ทำอย่างนี้ดีๆ มีแต่ความสุขอย่างเดียว แต่ถ้าว่ากิเลสมันแทรกเข้ามา มันมีกิเลสชนิดที่มันแทรกเข้ามาในเมื่อโพธิมันทำหน้าที่ ก็ทำให้โพธิหลงใหลในความสุข มัวเมาในความสุข โง่ลงไปก็ได้ โพธิก็เป็นฝ่ายถอยกำลัง เพราะไปหลงใหลในความสุข เพราะกิเลสมันแทรกเข้ามา นี่ความไม่แน่นอนเพราะว่ากิเลสกับโพธิมันอยู่อย่างนี้
ไปจับตัวดูเถิดคือความรู้สึกฝ่ายสูงของเรา กับความรู้สึกฝ่ายต่ำของเรามันรบกันเรื่อย อันไหนชนะก็พาไปตามความต้องการของฝ่ายนั้นแล้วผลมันก็เกิดขึ้น แม้ว่าฝ่ายเลวชนะได้รับความสุขมันก็ต้องมีความทุกข์หลังจากนั้น แล้วมันก็ฉลาดขึ้น คือชีวิตมันสอนมันในตัวมันเอง ไอ้ที่ผิดนี่สอนดีที่ดีสุดเพราะมันเจ็บปวด ที่ถูกมันทำให้เหลิงได้ไม่ค่อยสอน แต่มันก็พอจะสอนได้บ้างว่าทำอย่างนี้ถูกและได้ผลดี ถือเป็นหลักได้ ถ้าไปเหลิงในความสุขนั้นมันก็กลับโง่เป็นกิเลส เราก็ต้องสอนกันใหม่อีก ทำผิดอีกมันก็ฉลาดขึ้นมาอีก ทีนี้มันก็ต่อสู้กันไปอย่างนี้ในที่สุดโพธิจะชนะ ถ้าถือตามกฎของธรรมชาติ ไอ้ฝ่ายที่เป็นโพธิจะชนะในสุดท้ายที่สุด คือเป็นโพธิสัตว์เป็นพระพุทธเจ้าไปเลย กิเลสหมด ทำลายกิเลสหมด กิเลสไม่อาจจะเกิดขึ้น เหมือนอย่างที่พูดแล้วตอนกลางวัน นี่ไอ้โพธิชนะเด็ดขาดมีผลเป็นนิพพาน ชนะเด็ดขาดและถาวร
ทีนี้มนุษย์มันลูบคลำอยู่ทั้งกิเลสและโพธิจนรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ คนก็จะนิยมชมชอบเรื่องของโพธิ คะแนนเสียงมันก็มาทางฝ่ายโพธิ มนุษย์ที่มีปัญญาในโลกมันก็นิยมโพธิ มันก็รังเกียจกิเลส ฉะนั้นระบบโพธิ วิชาความรู้ในระบบโพธิมันก็ได้รับการพัฒนาๆสูงขึ้นมาจนเป็นระบบศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาเรา คำว่าพุทธะนั้นคือโพธิ คำเดียวกับโพธิ เป็นระบบพุทธศาสนาโพธิสมบูรณ์ มันเรียกความนิยม เรียกคะแนนเสียงได้จากมหาชน คนก็เกลียดกิเลส มโนธาตุที่เป็นพวกกิเลสก็ได้รับการประณาม มโนธาตุที่เป็นโพธิปัญญานี้ก็ได้รับความนิยม มันก็ตั้งสถาบันแห่งโพธินี้ขึ้นมาได้ มนุษย์ก็สนใจโพธิ ดำเนินตามโพธิเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้า ดับทุกข์ได้เหมือนพระพุทธเจ้า
เอ้า... ทีนี้เราก็พูดกันถึงเรื่องพัฒนาโพธิ คุณเรียนนักธรรมมาแล้วก็มีเรื่องพัฒนาโพธิที่เรียกว่าเรื่องบารมีสิบ และระบบของโพธิโดยตรงก็คือที่เรียกว่าโพชฌงค์เจ็ด นี้ตามหลักของพุทธศาสนาที่จะพัฒนาโพธิให้สูงขึ้นไปจนเป็นพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าบำเพ็ญบารมีเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณน่ะเขาเรียกว่าบารมีสิบ อันหนึ่งข้อที่หนึ่งทาน ให้เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว ทานให้ การให้เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว สองก็ศีล ควบคุมไม่ให้มีความผิดพลาดทางกาย วาจา ควบคุมความเห็นแก่ตัว ทำให้โพธิมันได้เข้ารูป เนกขัมมะสามนี้ออกมาเสียจากกามคือเหยื่อที่จะทำให้จิตนี้ตกหลุมพราง โพธิก็ตกหลุมพรางได้ ตกหลุมพรางในทางกามได้ เพราะฉะนั้นจึงมีระบบเนกขัมมะหลีกๆๆออกจากไอ้กาม หรือว่าเหยื่อของกาม
ปัญญา รู้ทุกสิ่งที่ควรจะรู้ เท่าที่ควรจะรู้เนี่ยเรียกว่าปัญญา อันที่ห้าวิริยะ กล้าหาญและพากเพียรที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ทีนี้เราไม่ค่อยกล้าหาญนี่ เรากลัวกิเลส เราพ่ายแพ้แก่กิเลสเสียจนชิน กลัวจะไม่ได้อร่อย กลัวจะไม่ได้เหยื่ออย่างนั้น มันก็ไม่กล้าไม่พากเพียร มันก็ต้องกล้าหาญและพากเพียรคือวิริยะน่ะ ฉะนั้นโพธิมันก็เข้มแข็งขึ้นมาด้วยวิริยะ อันที่หกเรียกว่าขันตี อดทน รอได้ คอยได้ ยังไม่ได้ผลเดี๋ยวนี้ก็รอได้คอยได้ ไม่ยอมเปลี่ยนให้มันเลว ให้มันชั่ว รอผลของความดี อดทนความเจ็บปวดในการรอผลขอความดี ข้อที่เจ็ดเรียกว่าสัจจะ นี้จริงๆๆ จริงต่ออุดมคติของโพธิของความเป็นมนุษย์ จริง ซื่อตรงต่ออุดมคติของไอ้ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องคือโพธินั่นล่ะ นี่เรียกว่าสัจจะจริงภายใน แล้วมันออกมาเป็นจริงภายนอกเอง ขอให้เราจริงต่ออุดมคติ ต่อตัวเรา ทีนี้มันจะจริงต่อเพื่อนฝูง ต่อมิตรสหาย ต่อหน้าที่การงาน ต่อเวลาราชการ มันก็จริงไปหมด
แปดอธิษฐานะ อธิษฐานะแปลว่าตั้งใจมั่น อธิษแปลว่าทัพ ฐานะแปลว่าตั้งมั่นๆ คือตั้งทัพลงไปบนอุดมคติ เขาเรียกอธิษฐาน เราอธิษฐานหมายความเราทำใจของเราตั้งมั่นลงไปในสิ่งนั้น ต้องการจะทำ อธิษฐานเพื่ออะไรก็ได้ที่มันทำในทางดี อธิษฐานชั่วก็ได้มันก็ได้ชั่ว อธิษฐานในทางดีมีจิตตั้งทัพลงไปในจุดนั้น ในอุดมคติอันนั้น นี่ก็เพื่อทำให้จิตมันเข้มแข็ง ให้การกระทำมันเข้มแข็ง เขาเรียกว่าอธิษฐาน แล้วข้อเก้าเมตตา คำเมตตานี้คือมิตรภาพ สร้างแต่มิตรภาพเรื่อยไปตลอดชีวิตนี่ โพธิถ้ามันเดินถูกทาง มันก็จะพอใจในมิตรภาพ ชมเชยในมิตรภาพ ยินดีในมิตรภาพ มันเป็นของคู่กัน โพธิกับเมตตา
และในที่สุดอันสุดท้ายอุเบกขา เฉย หยุดเฉย เมื่อทุกสิ่งมันเป็นไปถูกต้องแล้วก็รอได้ เฉยอยู่ได้ แล้วเฉยอยู่ในความถูกต้อง อุเบกขานี่ไม่ใช่มันเฉยไม่ทำอะไร อย่าเอาคำของท่านไปตีความผิดๆ เฉยแล้วก็ไม่ทำอะไรไม่ใช่อุเบกขาในศาสนา อุเบกขาเฉยในศาสนาคือว่าเมื่อถูกต้องแล้วก็รออยู่ รักษาความถูกต้องนั้นไว้ เพ่งดูอยู่ๆเฉยๆให้มันเป็นไป คือรักษาความสม่ำเสมอไว้เฉยๆให้มันเป็นไปเองของมัน ใครจะไปบังคับมันได้ มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยตามแบบของสังขาร เมื่อเราจัดเข้ารูปเขารอยแล้วก็ปล่อยมันเป็นไป เฉยอยู่ในความถูกต้อง อย่าเฉยเฉยเฉยนะ เฉยอยู่ในความถูกต้องทั้งหมดนี้เรียกว่าอุเบกขา
นี่เรียกว่าบารมีสิบในพุทธศาสนา เขาถือกันว่าเป็นสิ่งที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า สัมมาสัมโพธิญาณจะสมบูรณ์เพราะบำเพ็ญบารมีสิบนี้ คุณอย่าเห็นเป็นของครึ เอาไปแยกแยะดู ให้มันมีการกระทำสิบอย่างนี้อยู่เถิด โพธิจะงอกงามเร็วเหมือนต้นไม้ที่ได้ดินดี อากาศดี อาหารดี มันจะงอกงามเร็ว ออกลูกออกผลในที่สุด
อย่าถือเอาความหมายที่ผิดๆนะ อย่างให้ทานนี้เขาจะเอาสวรรค์วิมานอะไรกันน่ะ ให้ทานของเรานี่เพื่อจะทำลายความเห็นแก่ตัว สิ่งที่เรียกว่าทานนี้ทำไปเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว (นาทีที่ 55.41) ศีลก็จะปลุกให้มันสงบ เข้ารูปเข้าแบบ เนกขัมมะหลีกออกมาเสียจากเหยื่อ ปัญญาฝึกฝนอยู่เรื่อยๆให้รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ต้องพอกพูนมันไม่งั้นมันไม่เจริญ วิระยะนี่คือความพากเพียร จึงต้องมีความกล้าหาญแน่ใจมันจึงจะพากเพียร ขันติมันเจ็บปวดนะ ต้องทนน่ะ เราทำงานอะไรพากเพียรอะไร มันก็ต้องเจ็บปวด เมื่อเจ็บปวดก็ต้องทนได้รอได้ ทีนี้สัจจะนี่จะเปลี่ยนเครื่องหล่อเลี้ยงไว้ไม่ให้เลิก ไม่ให้ล้มเลิกในอุดมคติ จริงๆๆๆใน อุดมคติ
ทีนี้อธิษฐานมันก็ปักหลักลงลากคอนกรีต แล้วมันก็มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง นี้เมตตามิตรภาพนี่มีอานิสงส์มากพรรณนาไม่ไปไหว มันทำให้ได้รับความร่วมมือ ความรักใคร่ ความร่วมมือรอบด้านๆ ไอ้มิตรภาพนี่จำเป็นมาก มันถูกต้องอย่างนี้แล้วอุเบกขาคือความเฉยอยู่ในความถูกต้องอันนี้ เหมือนกับต้นไม้เราไม่บังคับมันได้ให้ออกลูกออกดอก แต่เราทำ ทำให้มันถูกต้องๆ เมื่อทำให้ถูกต้องแล้วเราก็รอดูอยู่เฉยๆ ต้นไม้ก็ออกลูกออกดอก
นี่ เครื่องพัฒนาโพธิในหลักพุทธศาสนา ตามหลักของพุทธศาสนาที่นิยมกันอยู่ เป็นที่รับรองอยู่ เอาไปใคร่ครวญดู มันคงจะน่าดู น่าเลื่อมใส น่าไว้ใจยิ่งกว่าการศึกษาในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นระบบหมาหางด้วน สอนแต่ความรู้กับอาชีพ มันจะโพธิจะไปได้อย่างไร ก็รู้หนังสือให้มันฉลาดบ้าง แต่พออาชีพได้ผลมา มันก็ติดเหยื่อของไอ้กามารมณ์ ได้ผลมาเป็นปัจจัยของกามารมณ์ ลุ่มหลงในกามารมณ์ เพราะฉะนั้นไอ้วิชาชีพในโลกนี้จะพัฒนากันอย่างไรก็ไม่ทำให้มนุษย์นี้หลุดพ้นไปจากวิกฤตการณ์ได้ มันต้องทำโพธิให้ถูกต้องต่อไปเป็นอันดับที่สาม คือเรียนธรรมะเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เป็นมนุษย์ให้ถูกต้องคือพัฒนาโพธิให้ถูกต้องเหมือนที่เรากำลังพูดนี่ แล้วความเป็นมนุษย์นั้นมันก็ถูกต้อง มันก็ควบคุมอะไรได้หมด ก็เป็นความรู้เป็นการศึกษาเป็นอาชีพ เป็นการครองชีวิต อะไรมันก็ถูกต้องหมด นี่พัฒนาโพธิเพื่ออย่างนี้
เอ้า... ทีนี้จะพูดถึงอีกหมวดหนึ่งเขาเรียกว่า องค์แห่งโพธิ คือมันเข้ารูปแล้วเราจะเห็นรูปร่าง เห็นไอ้โครงสร้างเรียกว่าโพชฌงค์ โพชฌงค์องค์แห่งโพธิ ไอ้โพชชะนั่นคือคำเดียวกับโพธิ ถ้าคุณเคยเรียนบาลีแล้วคุณรู้เลยว่าไอ้คำว่าโพชชะน่ะคือคำว่าโพธินั่นเอง ไอ้ธิน่ะมันเป็นชะได้ โพชฌงค์องค์แห่งโพธิ องค์มันตรงกับคำว่าแฟกเตอร์คือส่วนประกอบ โพชฌงค์ก็แฟกเตอร์แห่งโพธิ ท่านแสดงไว้ในพระบาลีในรูปของพระพุทธวจนะเลยสำหรับหมวดนี้
หนึ่งสติ มีสติระลึกรอบด้าน สองธัมมวิจยะ วิจัยธรรมคือเลือกเอาให้มันถูกธรรม อุปมาทางภาพพจน์ก็คล้ายกับว่าสติมันกวาดมาหมดเลย อะไรเป็นอย่างไรในสากลจักรวาล ความรู้อะไรก็ตามน่ะ ถ้าธัมมวิจยะมันก็เลือกเอาเฉพาะที่ควรจะเอา ฉะนั้นเราทำอะไรทุกอย่างไม่ได้ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องทำอะไรทุกอย่าง เราจะเลือกได้แต่ส่วนที่ควรกระทำ นี่ได้มาแล้ว ธรรมวิจัยนี่ ได้ธรรมที่ควรจะได้ ได้มาแล้ว คือหลักปฏิบัตินะ คุณไปทบทวนใคร่ครวญดูหลักปฏิบัติทั้งหลายทั้งหมด แปดหมื่นสี่พันธรรมขันธ์นั้นมันมีอยู่อย่างไร แล้วก็เลือกเอามาตรงกับเรื่องของเราที่ดับทุกข์ได้นี่ขั้นที่สอง
ขั้นที่สามก็วิริยะอีกซ้ำกับตะกี้ กล้าหาญพากเพียร ระดมทุ่มเทกำลังกาย กำลังพลังงานทั้งหลายเพื่อจะพัฒนาไอ้ธรรมะนั่น ทีนี้ข้อที่สี่ปีติ ปีติแปลว่าอิ่มใจ อิ่มใจในที่นี้คืออิ่มใจในธรรม ไม่ใช่อิ่มใจได้เงิน อิ่มใจได้กาม อิ่มใจได้เกียรติ ไม่ใช่อย่างนั้น คำว่าปีติอิ่มใจในธรรมโดยรู้สึกว่านี่มันถูกแล้ว ที่เรากำลังทำอยู่น่ะมันถูกแล้ว มีปีติในธรรมเป็นความสุข ปีติจะเกิดขึ้นที่ไหนมันก็เป็นความสุขที่นั่น เมื่อเราพอใจในสิ่งที่เรากระทำอยู่ปีติในธรรมมันก็เกิดขึ้น เราก็มีความสุขเมื่อทำนั่นแหละ นี่ผมพูดไม่รู้จักกี่ครั้งกี่หนแล้วขอให้หาความสุขจากการงานเมื่อกำลังทำงาน มีความรู้สึกอย่างนี้มันคือถูกแล้วๆ ปฏิบัติธรรมแล้ว แล้วก็มีปีติเป็นธรรมมีธรรมปีติ แล้วก็เป็นสุขอยู่ที่การงาน นี่ข้อนี้เรียกว่าปีติ เป็นสุขนั้นมันไม่ใช่สุขเฉยๆ แต่มันเป็นสุขที่สนับสนุนกำลังใจ เพิ่มกำลังใจให้แก่วิริยะ ฉะนั้นใครก็ตามที่ทำอะไรอยู่อย่างขยันขันแข็งนั่นคือวิริยะนะ คุณรีบหาปีติมาหล่อเลี้ยง เหมือนกับน้ำมันหล่อเลี้ยง ให้วิริยะมันเป็นไปได้โดยสะดวก ถ้าใครไม่ปีติในสิ่งที่ตนกระทำ เดี๋ยววิริยะมันก็ล้มละลาย ฉะนั้นจะมีวิริยะในสิ่งใดต้องมีปีติเกิดเพราะการกระทำสิ่งนั้นหล่อเลี้ยงไว้ การกระทำมันก็ดี เป็นไปดี ก้าวหน้าดี
ทีนี้ปัญหาต่างๆก็จะระงับลง เขาเรียกว่าปัสสัทธิ ผมแปลว่าเข้ารูป เขาแปลกันในแบบเรียนว่าระงับสงบระงับ ผมแปลว่าเข้ารูป ถ้าไม่เข้ารูปไม่สงบระงับ ถ้าสิ่งต่างๆมันเข้ารูปถูกต้องโดยเทคนิคของมันแล้วมันก็ระงับลงหมดปัญหา ปัญหาต่างๆมันระงับลงมันสิ้นสุดลงนี่เรียกว่าปัสสัทธิ ถ้ามันระงับลงเพราะความเข้ารูปแล้วมันก็เป็นสมาธิโดยอัตโนมัติน่ะ กำลังจิตทั้งหลายมันระดมลงไปในสิ่งนั้นในที่นั้นก็เรียกว่าสมาธิ ทีนี้สุดท้ายก็คือปัญญา เอ้ย... อุเบกขา สมาธิอุเบกขา มันถูกแล้วก็เฉยอยู่ในความถูก ให้ความถูกเป็นไป อุเบกขา
น่าสะดุดใจไหม ทั้งบารมีสิบทั้งโพชฌงค์เจ็ดมันจบลงที่อุเบกขา ทั้งสองหมวดนี่มันจบรั้งท้ายด้วยอุเบกขา เฉยอยู่ในความถูกต้อง ถ้าไปกระวนกระวายไปหวังมันก็ผิดอีกน่ะ มันก็ผิดกลายเป็นกิเลสอีก ระงับได้แล้วก็เฉยอยู่ในความถูกต้อง อย่าไปหวังจนนอนไม่หลับ
จะยกตัวอย่างอีกอันหนึ่งว่าซื้อลอตเตอรี่มา ไอ้คนหนึ่งมันมาฝันหวังแต่จะถูก มันนอนไม่หลับเป็นโรคประสาทเพราะมีลอตเตอรี่ อีกคนหนึ่งซื้อลอตเตอรี่มาไม่รู้ไม่ชี้ เก็บไว้ถึงวันออกค่อยมาสอบดูก็แล้วกันถ้าถูกก็ถูก ไม่ถูกก็ไม่ถูกน่ะ นี่มันต่างกันมากอยางนี้ นี่ประโยชน์ของอุเบกขามันทำให้นอนหลับ มันทำให้ไม่ปวดหัว มันทำให้ไม่เป็นโรคประสาท
ฉะนั้นการบำเพ็ญบารมีเพื่อโพชฌงค์นี้มันจบด้วยอุเบกขาทั้งสองหมวด ก็แปลว่าไอ้ชีวิตนี้เราได้ปรับปรุงทุกอย่างๆถูกต้องแล้วก็อุเบกขา ปล่อยให้มันเฉยอยู่ในความถูกต้อง แล้วมันก็วิวัฒน์ไปเอง ในที่สุดก็ถึงมรรคผลนิพพานเอง อุเบกขารั้งท้าย
ผมสรุปความว่าขอให้ทุกคนทำตนเป็นโพธิสัตว์ ไม่ใช่อวดดี ไม่ใช่เห่อ ไม่ใช้บ้า ไม่ใช่ว่าดี ขอให้ทุกคนทำตนเป็นโพธิสัตว์คือผู้พัฒนาโพธิ โพธิสัตว์ตามความหมายที่แท้จริงคือผู้ที่พัฒนาโพธิ โพธิเจริญเรื่อยๆคนนั้นเป็นโพธิสัตว์ ฉะนั้นคุณก็พัฒนาตัวเองนี่อยู่เรื่อยๆโดยหลักสิบประการหรือเจ็ดประการนี้ พัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย จัดตัวเองเป็นโพธิสัตว์คือผู้ที่จะพัฒนาโพธิ จนกว่าจะได้ถึงยอดสุดของโพธิก็คือนิพพาน เขาเรียกคือเย็นสงบ มันสูงสุด โมกขะโมกษะก็เรียก คือหลุดพ้นเกลี้ยงจากความทุกข์ เกลี้ยงจากความร้อน มันก็เป็นความเย็น
เอาเป็นว่าคำบรรยายนี้เพื่อต่อหางหมาที่มันยังขาดอยู่ในระบบการศึกษาแห่งยุคปัจจุบัน มันขาดความรู้เรื่องนี้อยู่ก็ต่อมันไปสิ ผมพูดหยาบคายกันไปหน่อยว่าเรานั่งศึกษากันที่นี่คือมหาวิทยาลัยต่อหางหมา ความรู้อะไรที่มันยังขาดอยู่ในระบบการศึกษาของโลกเรามาต่อกัน สิบชั่วโมงก็ดูจะพอถ้าพูดให้มันถูกจุด วิทยาลัยนั่งกลางดินทำแบบของพระพุทธเจ้าเพื่อต่อหางหมาให้แก่ระบบการศึกษาที่หางขาดหางด้วนอยู่
วันนี้ก็พูดเรื่องโพธิกับกิเลส ก็คือพูดเรื่องที่มันเป็นปัญหาอยู่ในตัวบุคคลที่มันต่อสู้กันตลอดเวลาในบุคคล คือการต่อสู้ระหว่างความรู้สึกฝ่ายต่ำ กับความรู้สึกฝ่ายสูง คุณเป็นโพธิสัตว์โดยการพัฒนาโพธิ ในที่สุดโพธิก็จะชนะกิเลส นั่นก็คือความรู้สึกฝ่ายสูงมันชนะความรู้สึกความรู้สึกฝ่ายต่ำ ปัญหาก็หมด โมกษะหรือนิพพานคือปัญหาหมด ไม่ร้อนมีแต่เย็น
ผมสังเกตดูไอ้นักศึกษา นักเรียนของเราโดยมาก พอพูดว่าโพธิแล้วมันก็ยกให้พระพุทธเจ้าเลย เราไม่สนใจ ไม่ใช่เราเรื่องของเรา ธุระไม่ใช่ จริงๆมันคือสิ่งที่อยู่ข้างในของเราที่เราจะต้องพัฒนาให้มันสู้กันกับกิเลสได้ ให้ความรู้สึกฝ่ายสูงชนะความรู้สึกฝ่ายต่ำได้ ก็รอดตัว มนุษย์ก็หมดปัญหาได้ การศึกษาแท้จริงแต่โบราณเขามุ่งหมายอย่างนี้ให้โพธิชนะกิเลส
มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ เมื่อสองสามร้อยปีนั่น มันตั้งขึ้นโดยพระในศาสนาคริสเตียน พระก็สอนก็จัดไปตามระบบของศาสนามุ่งหมายให้เป็นคนดีเป็นสุภาพบุรุษ ก็มีการสอนธรรมะอยู่ในระบบการศึกษา มันหางไม่ด้วน ไม่เป็นหมาหางด้วน ทีนี้ต่อมามันค่อยๆเปลี่ยน ค่อยๆตกไปอยู่ในอำนาจของโลกของรัฐบาลโลกๆมากขึ้น มันก็เอาศาสนาออก เอาพระออก ไม่มีพระเข้าไปเกี่ยวข้องในมหาวิทยาลัยเหล่านี้นะ แล้วระบบการศึกษามันก็เป็นหมาหางด้วน ไม่ได้มุ่งหมายเพื่อความเป็นสุภาพบุรุษ แต่เพื่อความร่ำรวย เพื่อความมีอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ให้การศึกษาการสนับสนุนการเมืองการปกครองการเศรษฐกิจประชาธิปไตยอะไรก็ตาม แล้วมนุษย์มันก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีธรรมะมาควบคุม มันก็ไปหาประโยชน์ที่เป็นกิเลสหมด กิเลสก็ชนะโพธิ โลกก็ปั่นป่วนอย่างนี้ เอาละ... พอทีการบรรยายเรื่องโพธิกับกิเลส ปิดประชุม