แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ในการบรรยายครั้งนี้จะกล่าวโดยหัวข้อที่คุณกำหนดให้ว่า ชีวิตบั้นปลายในปัจฉิมวัย การบรรยายชุดนี้ล้วนแต่ไปตามหัวข้อที่คุณกำหนดให้ มันก็อาจจะแปลกหูบ้าง ไม่เป็นไร คือมันยังเป็นเรื่องของธรรมะหรือของธรรมชาติไปตามเดิม ถ้าเรามุ่งหมายจะเข้าใจสิ่งเพียงสิ่งเดียว คือสิ่งที่เรียกว่าชีวิต นับตั้งแต่ว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก ไม่ใช่เพียงแต่น่ารู้จัก ไอ้น่ารู้จักเราไม่ต้องรู้จักก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้มันมีอะไรที่น่าสนใจ น่ารู้จัก และยังจำเป็นที่จะต้องรู้จัก ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วชีวิตนั้นมันก็จะกลายเป็นศัตรูขึ้นมาเรียกว่าชีวิตนั้นเองกลายเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นศัตรูอะไรขึ้นมา เราจึงต้องรู้จักและขอให้รู้จักกันให้เพียงพอ ให้ถูกต้องและต้องควบคู่กันไปเสมอว่าถูกต้องและเพียงพอ บางคนมันรู้ถูกต้องน้อยเกินไปมันไม่เพียงพอ รู้มากแต่ไม่ถูกต้องก็ใช้ไม่ได้ จึงต้องรู้พอดีที่ถูกต้องแล้วก็เพียงพอ แล้วรู้กันต่อไปว่าชีวิตนี้คือการต่อสู้ มันเป็นการต่อสู้อยู่โดยธรรมชาติในสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องเข้าไปผสมโรงกับมัน จะหลีกออกมาไม่ได้ ให้เป็นการต่อสู้ ไม่มีการต่อสู้มันก็ไม่มีผลแห่งการต่อสู้ คือมันไม่ชนะ มันมีอะไรที่จะไปต่อสู้เราก็ได้พูดกันมา แล้วได้พูดไปถึงชีวิตที่อยู่กันเป็นคู่ ที่เป็นอุดมคติสูงสุดนั้นจะต้องเป็นอย่างไร ที่เป็นอันธพาลและโง่เขลาอย่างที่เป็นกันโดยทั่วไปนั้นเป็นอย่างไรมันก็มีอยู่ เมื่อยังจะต้องมีชีวิตเป็นคู่ก็ต้องทำให้ดีที่สุดสำหรับชีวิตที่เป็นคู่ จนถึงกับว่ามันเป็นเพื่อนเดินทางแก่กันและกัน และถ้าหากมีบุตรหลานออกมาก็ต้องทำให้กลายเป็นผู้ที่จะเดินทางต่อ ถ้าในชีวิตพ่อแม่เดินไม่ถึง ก็ให้ลูกหลานเดินต่อให้ถึงในนามของมนุษย์ หรือของสิ่งที่มีชีวิตก็ได้ ถ้าเราถือหลักว่าชีวิตนั้นเป็นกระแสแห่งวิวัฒนาการไปกว่าจะถึงที่สุด สูงสุด มันจะไปจบลงที่ที่สูงสุด ถ้าไม่ถึงที่สุดมันก็ไม่หยุดหรือไม่จบ มันก็จะต้องให้เป็นการช่วยกัน ถ้าเป็นชีวิตเดี่ยวมันก็เบากว่า สะดวกกว่า แต่ว่าเมื่อจำเป็นจะต้องเป็นชีวิตคู่ มันก็ต้องทำให้เป็นการประสานงานกัน คือช่วยแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน เป็นผู้ปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน
ทีนี้ต่อมาก็พูดกันถึงเรื่องว่าชีวิตนี้เพื่อใคร ทำไม จะทำอย่างไร มันก็เพื่อชีวิตนั้นเอง แต่ถ้าเรายังมีตัวมีตน มันก็ต้องเพื่อตัวตน ตามความรู้สึกของบุคคลที่มีตัวตน เมื่อเอาชีวิตนั้นเป็นตัวตน มันก็เพื่อตัวตน ทุกอย่างมันขวนขวายไปเพื่อตัวตน ซึ่งคนธรรมดาจะรู้สึกอย่างนั้น ถ้าคนมีปัญญา หลุดพ้นแล้ว มันก็เพื่อธรรมชาติ ธรรมดา เพื่อชีวิตนั่นเอง มันก็ต้องทำให้จนกระทั่งว่าชีวิตนั้นเป็นที่สิงสถิตของพระเจ้า ชีวิตนั้นกลายเป็นโบสถ์วิหารที่สิงสถิตของพระเจ้า นี่วิธีพูด ท่านพูดกันมาอย่างนี้ในบุคคลระดับหนึ่ง ซึ่งผ่านชีวิตมาในระดับหนึ่ง แล้วก็พูดกันไว้ในลักษณะอย่างนี้ มันก็ฟังไม่ถูกสำหรับลูกเด็กๆ ฟังเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ อะไรก็ไม่รู้ แล้วมันก็ง่วงนอน แล้วมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร นี่มันก็จะเป็นอย่างนี้ ขอให้พยายามเอาไปคิดนึก ซ้ำๆ เสียใหม่ ให้ได้ผล คือว่ารู้จักทำชีวิตให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้องและสูงสุดกันจริงๆ
พอมาถึงวันนี้ ได้พูดถึงชีวิตในบั้นปลาย หรือปัจฉิมวัย หัวข้อนี้จำกัดไว้แคบ ตัดตอนมาสั้น และเป็นชีวิตของคนคนเดียว ชั่วชีวิตเดียว และจึงมีปัจฉิมวัยแห่งชีวิตนั้น ถ้าพูดถึงชีวิตในความหมายที่ลึกซึ้งกว่า เป็นชีวิตในภาษาธรรม ไม่ใช่ชีวิตคน มันเป็นชีวิตของสิ่งที่ไม่รู้จักตาย เป็นชีวิตนิรันดร ชีวิตอย่างนั้นไม่มีปัจฉิมวัย คือมันกลายเป็นชีวิตที่ไม่มีตายอีกต่อไป มันกลายเป็นนิรันดร จึงไม่มีแก่ และสมกับคำสมกับความหมายคำว่าชีวิตคือความเป็นอยู่ นั่นแหละคือความเป็นอยู่จริง ควรจะเรียกว่าชีวิตจริง ถ้ายังแก่และตายได้แล้วมันก็ตายอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่ชีวิตที่เป็นอยู่ เป็นชีวิตที่ตาย ลองไปเปรียบเทียบกันดูไอ้ชีวิตที่มันรู้จักตายกับชีวิตที่มันไม่รู้จักตาย พวกชีวิตที่รู้จักตายเท่านั้นแหละที่มีปัจฉิมวัย คือชีวิตบั้นปลาย ถ้าเป็นชีวิตนิรันดรเสียแล้วมันไม่มีบั้นปลาย หรือเขาจะไม่พูดว่ามีบั้นต้น บั้นกลางอะไรด้วยซ้ำไป แต่ทีแรกมันยังเข้าไม่ถึง ยังเป็นคนธรรมดาสามัญ จึงเรียกว่ามีเบื้องต้น ปฐมวัย แล้วก็พยายามไปจนเป็นมัชฌิมวัย ตรงกลาง ไปจนถึงปัจฉิมวัย ถ้าชีวิตธรรมดาก็ตายเข้าโลง แต่ถ้าศึกษาไปถึงชีวิตชนิดนิรันดรมันก็ไม่มีการดับ ไม่ต้องตาย ไม่ต้องเข้าโลง ชีวิตชนิดนั้นจึงไม่ไม่มีปัจปัจฉิมวัย คือไม่อาจจะไปแบ่งเขาเป็นปัจฉิมวัย หรือมัชฌิมวัย หรือปฐมวัย และที่แบ่งเป็นปฐมวัย ปัจฉิม มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัยได้ก็หมายถึงชีวิตชนิดที่ยังมีความหมายแห่งตัวตน เอาเป็นว่าเราพูดถึงชีวิตที่มีความหมายแห่งตัวตนที่แบ่งเป็นปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัยก็ได้ แม้กระนั้นมันก็ยังมีเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันเป็นพิเศษ และมีความหมายพิเศษอยู่เหมือนกัน และมันก็คงจะเป็นเรื่องแบบเดียวกันแหละ คือฟังยากและชวนให้ง่วงนอน และไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นไปได้ คือเอาเอาผลสุดท้ายในทางธรรมเป็นหลัก ชีวิตคนทั่วๆ ไปนี้ตามธรรมดาเราก็เห็นว่า ยิ่งนานเข้ามันก็ยิ่งแก่หง่อมเข้า แล้วมันก็ตาย มันก็เป็นชีวิตที่จบลงด้วยความตาย แล้วก็ทุรนทุรายเพราะไม่อยากตาย มีความแก่ มีความร่วงโรย ทรุดโทรมไปจนกระทั่งตาย นี่คุณก็จะสังเกตเห็นหรือเห็นๆ กันอยู่ รู้กันดีอยู่ แต่ทีนี้เขามีความหมายอีกอันหนึ่ง ยิ่งอายุมาก ยิ่งเป็นหนุ่ม ยิ่งสดชื่น ไม่ทรุดโทรม แล้วก็ยิ่งเป็นหนุ่มจนไม่รู้จักแก่ นี่คงจะฟังไม่ถูก ก็ลองมาฟังความคิดของท่านเหล่านั้น ที่เขามองกันอย่างนี้ มองกันมาแต่โบราณ ข้อนี้มันหมายความว่า ร่างกายมันแก่ก็แก่ไป แต่สติปัญญามันยิ่งหนุ่ม นี่พวกคุณไม่เคยแก่ ก็ยากที่จะรู้จักโดยสัมผัสความจริงข้อนี้ เรามันยังไม่แก่ ถ้าเราเคยแก่ เราทำถูกวิธี แล้วอาจจะรู้สึกได้ตามที่ท่านกล่าวไว้ว่า ดวงวิญญาณ หรือสติปัญญานั้นมันยิ่งหนุ่ม คือมันยิ่งรู้อะไรมาก แล้วมันยิ่งขจัดความทุกข์ออกไปได้มาก ที่มันเคยมีความทุกข์มาตั้งแต่เด็กจนวัยกลางคนจนจะเป็นคนแก่นี่มันเต็มไปด้วยความทุกข์ ทีนี้คนแก่ชนิดที่ว่านี้เป็นคนแก่ฉลาด ยิ่งอายุมากมันยิ่งรู้ มันยิ่งรู้ที่จะดำรงจิตใจให้หยุด ให้ปกติ ให้สงบ ให้เยือกเย็น ให้สว่างไสว จึงกลายเป็นพูดว่ายิ่งอายุมากยิ่งหนุ่ม ก็เลยต้องแยกแยกทางพูดกันว่า ถ้าว่าโดยร่างกาย ปัจฉิมวัย ชีวิตมันก็ทรุดโทรมแล้วก็จะตาย แต่ถ้าว่าโดยทางวิญญาณที่เขาปฏิบัติถูกต้อง ก็กลายเป็นยิ่งหนุ่ม ไม่เป็นคนแก่หงำเงอะเหมือนกับเราเห็นๆ กันอยู่โดยมาก เราจะเห็นแต่ปู่ย่าตายายที่แก่หงำเงอะ น่าเกลียดน่าชัง ลูกหลานก็ยังไม่อยากจะดู อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ไอ้นั่นน่ะมันเป็นไปแต่ทางร่างกาย แต่ทางจิตใจทางดวงวิญญาณมันเป็นไปไม่ได้ คือมันไม่มีไอ้ความแก่ หรือไม่มีความเจริญที่เรียกว่ามีคุณธรรม มีคุณธรรมสูง เราจึงต้องแยกกันว่าจะเอาร่างกายหรือเอาดวงวิญญาณเป็นหลักกัน ถ้าเอาร่างกายเป็นหลักมันก็ทรุดโทรมถูกแล้ว แม้พระพุทธเจ้าก็ต้องแก่ ร่างกายก็ทรุดโทรม กลายเป็นร่างกายของคนแก่ แต่ดวงจิตดวงวิญญาณกลายเป็นนิพพานที่ไม่รู้จักตาย นั้นจึงเรียกว่าหนุ่มถึงที่สุด หนุ่มที่ไม่รู้จักแก่อีกต่อไป นี่ปัจฉิมวัย วิตบั้นปลายของคนชนิดนี้มันเป็นอย่างนี้ ก็เลยมาพูดให้ฟังให้คิดกันเสียทั้ง ๒ อย่าง
หัวข้อที่คุณกำหนดให้ว่าชีวิตบั้นปลายในปัจฉิมวัย ฟังดูก็คล้ายตามธรรมดา ให้พูดเรื่องธรรมดา ก็พูดเรื่องธรรมดาว่ามันเป็นคนแก่หงำเงอะ แต่ถ้าว่าเป็นนักศึกษาโดยแท้จริง มีธรรมะโดยแท้จริง ไอ้จิตใจมันกลับหนุ่ม คือกลับรู้ สว่างไสว แจ่มแจ้ง สงบเย็น ไม่เป็นเหยื่อของความแก่ ไม่เป็นเหยื่อของความตาย ไม่หงำเงอะ ไม่เซอะซะ ไม่ร้องครวญครางแล้วก็ตายไป ถ้าศึกษาพระพุทธประวัติก็คงจะเข้าใจได้ ว่าตอนกลางวัน พระพุทธเจ้ายังเดินทางไกลเป็นโยชน์ๆ อยู่ ตอนกลางวันยังเดินทางเป็นโยชน์ๆ อยู่ พอค่ำลงตอนหัวค่ำท่านก็นิพพาน คิดดู ลองพยายามที่จะแสดงฉากนี้กันบ้างไหมพวกเรา สาวกสมัยนี้จะพยายามแสดงฉากคนแก่แบบนี้กันบ้างไหม คนอายุ ๘๐ ปี กลางวันยังเดินทางไกลระหว่างจังหวัดนั้นถึงจังหวัดนี้เป็นโยชน์ๆ อยู่ พอถึงที่แห่งหนึ่งหัวค่ำลงก็นิพพาน แล้วก็นิพพานแบบปิดสวิทช์ไฟฟ้า แม้ว่าจะมีโรคเบียดเบียนอยู่ในขณะนั้นคือโรคลงโลหิตมาก๑[1] แต่ก็ไม่มีความหมายอะไรแก่ร่างกาย ก็ยังปกติ ยังสดชื่น ยังทำอะไรได้ แล้วก็นิพพาน เหมือนกับว่าปิดสวิทช์ นี่แหละบั้นปลายหรือปัจฉิมวัยของบุคคลอย่างพระพุทธเจ้า นั้นสมัยโบราณเขานิยมคุณธรรมชนิดนี้กันเป็นสิ่งสำคัญหรือเป็นหลักใหญ่ ไม่เหมือนกับคนสมัยนี้ซึ่งเขาไม่คิดไม่เคยคิดถึง ไม่ได้คิดที่จะตายอย่างมีศิลปะเหมือนคนโบราณ คือตายอย่างปิดสวิทช์ จึงเอามาพูดให้ฟังด้วยว่า ชีวิตบั้นปลายหรือปัจฉิมวัยนั้น ถ้าทำให้ถูกวิธี มันเป็นได้ถึงอย่างนี้ คือบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ที่เรียกว่าสำเร็จแล้ว ผู้สำเร็จแล้วนี่ เขาใช้คำว่าสำเร็จแล้วในเมืองไทยใช้คำว่าสำเร็จแล้ว เขาหมายถึงสำเร็จความเป็นพระอรหันต์ เราจะใช้คำว่าสำเร็จในความเป็นมนุษย์อันดับสูงสุด เช่นเรียนสำเร็จ จบมหาวิทยาลัยชั้นสุดท้าย ก็เรียกว่าสำเร็จ หรือเรียนสำเร็จ แต่นั่นมันเรื่องเรียนในโรงเรียน แต่นี่ท่านเรียนของท่านตามธรรมชาติ แล้วก็สำเร็จคือถึงที่สุด สังเกตเห็นในตอนหลังว่า ไอ้คำว่า สำเร็จๆ นี้ ก็ได้แก่คำที่พูดอยู่ในอินเดียสมัยนั้นว่า ตถาคโต ตถาคต เราเคยเข้าใจคำว่าตถาคต เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น กระทั่งเข้าใจว่าหมายถึงแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวก็มี หมายถึงสัตว์ทั่วไปทุกๆ คน ทุกๆ สัตว์ก็มี คำอธิบายพร่ำเพรื่อ พร่า ตอนหลังนี้สังเกตเห็นว่า ในประเทศอินเดียครั้งกระโน้น ครั้งพุทธกาล ผู้ที่สำเร็จธรรมะอันดับสุดท้ายนั้นเขาเรียกว่า ตถาคต แปลว่า ผู้ถึงซึ่งตถา ตถานั้นคือความเป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นอีก คือความไม่ตาย ลัทธินิกายไหนเขาก็มีความหมายแห่งตถา ตถาตามลัทธินิกายของเขา เมื่อเชื่อว่าคนนี้ถึงจุดๆ นั้นก็เรียกว่า ตถาคต จึงมีคำถามชนิดที่เป็นทิฏฐิว่า ตถาคต เบื้องหน้าแต่กายแตกตายแล้วมีอีก ตถาคต เบื้องหน้าแต่ตายแตกกายแล้วไม่มีอีก เขาใช้คำว่าตถาคตคือผู้สำเร็จแล้ว ตายแล้วจะกลับมีอีกไหม จะกลับไม่กลับมีอีก แต่ละนิกายละพวกเขาก็บัญญัติของเขาว่ามีบ้างไม่มีบ้าง แต่พระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่พูด ไม่พูดว่ามีหรือไม่มี พูดแต่ว่ามันมีปัจจัย มันก็มีอีก ไม่มีปัจจัยมันก็ไม่มีอีก เมื่อตถาคตมันไม่มีปัจจัย ก็คือไม่มี มันก็แล้วแต่จะบัญญัติกันอย่างไร ว่าตถาคตนั้นมีปัจจัยเหลือหรือไม่มีปัจจัยเหลือ นี่คนที่เขาสำเร็จถึงจุดหมายปลายทางของความมีชีวิตความเป็นมนุษย์นี้เขาเป็นอย่างนี้กัน ปัจฉิมวัย ชีวิตบั้นปลายมันเป็นอย่างนี้กัน ก็หมายความว่า ยิ่งแก่ร่างกายจะทรุดโทรมไปก็ช่างมัน แต่ดวงจิตดวงวิญญาณยิ่งรุ่งเรือง ยิ่งรุ่งเรือง ยิ่งแจ่มแจ้ง แจ่มแจ้งเท่าไรก็ขจัดความหม่นหมองออกไปได้เท่านั้น มันก็มีแต่ความบริสุทธิ์ ความสงบเย็น หรือจะเรียกว่าความหนุ่มทางวิญญาณ และจะบอกอะไรให้รู้หน่อย ไอ้คำว่าทางวิญญาณนั้น ที่นี่เป็นคนพูดขึ้น ที่อื่นเขาไม่พูด แต่ก่อนนี้พอพูดขึ้นก็ถูกด่าหาว่าพูดเอาเองบ้าๆ บอๆ ก็ครูบาอาจารย์ชั้นสูงของพวกคุณนั่นแหละเป็นคนด่าเป็นคนว่าเก่งนัก คำว่าทางวิญญาณ มันมีอยู่ ๒ ทาง ทางเนื้อหนัง มันก็แก่หง่อมไปตามเรื่อง แต่ทางวิญญาณ ดวงจิตดวงใจเรายิ่งหนุ่มขึ้นทำได้ไหม วันนี้เราพูดเรื่องปัจฉิมวัย ในปัจฉิมวัยนี้พูดถึงทางเนื้อหนังร่างกายมันแก่หง่อมทรุดโทรม น่าเกลียดไป แต่ทางวิญญาณ ดวงวิญญาณรุ่งเรือง แจ่มใส สงบเย็น จนกระทั่งเหนือเหนือความตาย เหนือความเปลี่ยนแปลง ก็ดับร่างกายลงไปได้โดยที่มีความรู้ถึงที่สุด เรื่องไม่มีตัวตน พระพุทธเจ้าทำลายความยึดถือว่าตัวตนได้หมดจดตั้งแต่เมื่อวันตรัสรู้ นั่นแหละคือนิพพานของท่านไม่มีเศษเหลือ ไม่มีเศษกิเลสเหลือตั้งแต่วันตรัสรู้ และก็ท่านอยู่มาๆ จนอายุ ๘๐ ปี ท่านก็ดับร่างกายนี้ด้วยนิพพานนั้น โดยนิพพานที่ได้แล้วเมื่อตรัสรู้ ส่วนเราไม่มีนิพพานสำหรับที่จะมาดับร่างกายทำนองนั้น เราก็ดับด้วยความโง่ ร้องครวญครางโวยวายเหมือนหมู เหมือนวัว เหมือนอะไรก็แล้วแต่ เพราะเราไม่มีนิพพานที่จะมาเป็นเครื่องมือสำหรับดับชีวิตให้เยือกเย็นเรียบร้อยเหมือนพระอรหันต์ทั้งหลาย
เอาล่ะ, ทีนี้ดูให้ชัดกันยิ่งขึ้นไปอีกเรื่องปัจฉิมวัยเป็นอย่างไร เป็นปัญหาอย่างไร เพราะการที่คุณถามขึ้นมานี้คงหมายถึงมันเป็นปัญหา นี่ก็บอกให้สังเกต ที่เขาเคยสังเกตกันมาแล้ว แล้วก็กล่าวไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ว่า ไอ้พวกหนึ่งมันแก่ในความหมายภาษาคนหรือทางเนื้อหนัง มันก็แก่เปล่าๆ มันก็แก่เปล่าๆ เหมือนวัวแก่ สุนัขแก่ หมาแก่ ไอ้สัตว์แก่ มันก็แก่ไปได้ทั้งนั้น ต้นไม้ต้นไร่มันก็แก่ นี่มันแก่ไปตามธรรมชาติ ก็เรียกว่าแก่เปล่า มันก็ทรุดโทรม หดเหี่ยวจนแตกทำลายไปนี่ คนคนนี้มันแก่เปล่า นี้อีกคนหนึ่งมันแก่ความรู้ มันไม่ใช่แก่เปล่า ยิ่งอายุมากมันยิ่งรู้อะไรมาก มันยิ่งมีความเป็นนักปราชญ์มาก เพราะชีวิตมันสอนให้เอง ที่พูดมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่าชีวิตจะเป็นการเรียน การสอน การสอบไล่ การอะไรอยู่ในตัวมันเอง ทีนี้ไอ้คนแก่ในที่นี้ ยิ่งอายุมากมันก็ยิ่งมีความรู้มาก มันไม่แก่เปล่าเหมือนวัวแก่ ควายแก่ แต่มันแก่เหมือนกับมนุษย์ที่แท้จริงแก่ คือมันแก่วิชาความรู้ อันโน้นมันแก่เนื้อหนังร่างกาย อันนี้มันแก่วิชาความรู้ ฉะนั้นคนแก่ชนิดนี้จึงรู้อะไรมาก เขาถือเป็นคุณธรรมอันหนึ่ง เรียกว่า รัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ราตรียาว หรือนาน คือเขาได้ผ่านชีวิตมายาว นาน แล้วเขาก็รู้เรื่อยๆ มาในตัวชีวิตนั้นเอง จากตัวชีวิตนั้นเอง คนชนิดนี้เต็มไปด้วยความรู้ เราอยากจะให้ปู่ตาย่ายายปู่ชวดตาชวดของเราเป็นเช่นนี้ เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งแก่ลูกหลาน นั้นคำว่ายิ่งแก่มันยิ่งรู้นั้น มันเป็นธรรมชาติ คุณมองให้ดีๆ เถอะ จะเห็นว่ามันเป็นไปได้โดยธรรมชาติ เราดูสัตว์ สัตว์ทั่วไป สัตว์ที่เราเลี้ยงๆ ไว้ พออายุมากเข้ามันก็ยิ่งฉลาดมากเข้า ไปเอาใจใส่มันสักหน่อย ไอ้สัตว์ตัวเล็กๆ เพิ่งเกิดนั้นโง่ หลอกได้ง่าย จับได้ง่าย อะไรได้ง่าย แต่ตัวแก่ๆ หลอกมันยาก จับมันยาก และในเรื่องราวแต่กาลก่อนในตำนาน ในคัมภีร์ อะไรก็ตาม เขาจะเอ่ยถึงไอ้ไอ้สัตว์ที่มันแก่ไว้ในเรื่องนั้นๆเป็นตัวอย่างที่หลอกมันไม่ได้ อย่างเรื่องหมาหางด้วนที่เอามาเปรียบเทียบเรื่องการศึกษาหมาหางด้วน หมาหนุ่มตัวหนึ่งมันไปติดกับหางขาด แล้วมันก็มาหลอกหมาทั้งหลายว่าหางด้วน หางไม่มีนี่ ดีกว่าหางมี ไอ้สุนัขเด็กๆ หนุ่มๆ โง่ๆ มันก็ช่วยกันตัดหางตามอย่างสุนัขตัวนั้น พอมาถึงสุนัขแก่ตัวหนึ่งก็บอกว่า ไอ้โง่ ไอ้หลอก ไม่เอากับมึง สุนัขตัวแก่นั้นน่ะ มันรู้ได้อย่างไร เพราะว่ามันเป็นสุนัขแก่ มันมีความคิดมาก มันมีอะไรมากกว่าไอ้ที่ยังหนุ่มอยู่ สัตว์อื่นก็เหมือนกัน เช่นลิง เช่น แม้แต่วัวควาย แต่มันยิ่งแก่มันยิ่งรู้เรื่องอะไรมาก ฉลาดกว่าไอ้ตัวเล็กๆ เราเคารพความแก่ในทางสติปัญญาของคนแก่ เรามีหลักเกณฑ์ที่จะเคารพคนแก่ก็เพราะเหตุนี้ ฉะนั้นพวกเราอย่าไปดูถูกคนแก่ ถึงเขาไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย มีปริญญามีอะไร แต่เขายังรู้อะไรบางอย่างมากกว่าเรามาก ซึ่งเราไม่รู้ เราจึงมีโอมีความเหมาะสมที่จะไปคุยกับเขา ไปคุยกับคนแก่ มหาวิทยาลัยตามธรรมชาติในประวัติศาสตร์นั้นก็คือปากของคนแก่ สมัยคนป่า สมัยนู้น สมัยหมื่นๆ ปีอยู่ถ้ำ พวกเหนือสุดอยู่ในกระท่อมน้ำแข็ง ที่ว่าอากาศมันหนาวเลยน้ำแข็ง มันก็อยู่ในกระท่อมน้ำแข็ง เด็กๆ หรือคนหนุ่มมันก็มานั่งล้อมคนแก่ คนแก่มันก็บรรยายเรื่องต่างๆ ให้ฟังตามแต่จะชอบ เขาก็ทำกันอย่างนั้นทุกคืนๆ นี่คือมหาวิทยาลัยสมัยนู้น คนมันก็รู้และฉลาดสืบๆ กันมาเป็นลำดับได้ เพราะว่าคนเหล่านั้นเป็นคนแก่ มีเรื่องที่จะพูดให้เด็กๆ ฟัง แล้วเด็กๆ นั้นได้ยินได้ฟังมากเข้าต่อมาก็เป็นคนแก่ ก็มีเรื่องที่จะพูดให้เด็กๆ รุ่นหลังฟังต่อไปอีก ฉะนั้นเขาจึงให้เกียรติแก่คนแก่ เคารพนับถือคนแก่ เราก็ควรจะพิจารณาดูให้ดี เพราะสมัยนี้ชักจะดูถูกคนแก่กันมากขึ้น หาว่าคนแก่ไม่ได้เล่าไม่ได้เรียน ถูกแล้วไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัย แต่เขามีมหาวิทยาลัยอื่นเรียน คือชีวิตนั่นเอง มันเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนพวกนี้ แล้วมันเรียนจริงกว่า มันไม่ได้เรียนในกระดาษ ในหนังสือ มันเรียนจากตัวชีวิตโดยตรง เรียนจากความซึมซาบแห่งจิตใจโดยตรง เรียนทางวิญญาณเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราจงรู้จักใช้ประโยชน์จากคนแก่ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำให้มันมากได้ แล้วเราก็เตรียมตัวสำหรับจะเป็นคนแก่ที่มีประโยชน์มากที่สุดด้วย ดีไหม ไปคิดดู เราจงเตรียมตัวสำหรับจะเป็นคนแก่ที่มีประโยชน์ที่สุด แก่ภาษาคน ร่างกายแก่ แก่ ภาษาธรรม วิญญาณแก่ คนละอันเลย คนละเรื่องเลย ไอ้แก่ภาษาคนร่างกายแก่นี้มันแก่ของมันไปได้เองตามธรรมชาติ แก่หง่อมตายได้เอง นี้แก่ภาษาธรรม ดวงวิญญาณแก่นี่ต้องช่วยกันหน่อย ต้องช่วยคิดนึกศึกษาสังเกตอะไรให้มากเข้าไว้ แล้วมันก็จะเป็นแก่ทางวิญญาณ คือทางสติปัญญา เพียงแต่มีความแก่ทำนองนี้เท่านั้นแหละ ไม่ต้องไปเรียนอะไรที่ไหนเขาก็ยังมีความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย คนข้างหลัง วิชาความรู้ทางธรรมะ ทางศีลธรรมเกิดมาจากคนแก่ชนิดนี้ทั้งนั้น ในประวัติการณ์อันยืดยาวนานมา ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลเรื่อยๆ มาจนบัดนี้ เพราะฉะนั้นเตรียมเป็นคนแก่ที่น่านับถือ ที่มีประโยชน์กันเสียบ้าง ไหนๆ ก็ตั้งหัวข้อให้พูดอย่างนี้แล้วนี่ คนหนึ่งมีชีวิตอยู่ด้วยอวิชชา อีกคนหนึ่งมีชีวิตอยู่ด้วยวิชชา ไปเทียบกันดู คนๆ หนึ่งมันมันมันมีชีวิตแต่ละวันๆ อยู่ด้วยอวิชชา เหมือนกับหลับตา มืดยิ่งกว่าความมืด คือมืดเหมือนคนตาบอด ส่วนอีกคนหนึ่งมันมีชีวิตด้วยวิชชา ไปแตะอะไรเข้ามันแจ่มแจ้ง มีสติ สัมปชัญญะ มีปัญญา และอยู่กันมาอย่างนี้ มันก็ต่างกันมาก ถ้าพูดกันถ้าพูดว่าเป็นการแข่งขันเดินทางกันแล้วมันก็ทิ้งกันไกล มันเหมือนกับเดินไปคนละทาง วิชชาคือความรู้ชนิดที่มันจะแก้ปัญหาได้ จะดับความทุกข์ได้ นี้อวิชชา มันตรงกันข้าม มันปราศจากความรู้ชนิดนั้น มิหนำซ้ำจะไปมีความรู้ชนิดที่ตรงกันข้ามจากการที่จะแก้ปัญหาได้ หรือความทุกข์ได้ เมื่ออยู่ด้วยอวิชชา มันก็เพิ่มความทุกข์หนักเข้าๆ มากขึ้น เพิ่มปัญหามากขึ้น เพิ่มความมืดมันมากขึ้น คนแก่คนหนึ่งมีชีวิตมาด้วยอวิชชา คนแก่คนหนึ่งมีชีวิตมาด้วยวิชชา เราจะอยู่ในพวกไหนก็ตามใจ ทีนี้คนแก่คนหนึ่งมีชีวิตเป็นการศึกษา อีกคนหนึ่งมีชีวิตกินๆ นอนๆ และกามารมณ์ ลองหลับตาเห็นภาพ ดูภาพ คนหนึ่งมันมีชีวิตเป็นการศึกษาอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที อีกคนหนึ่งมันมีชีวิตเป็นการกินๆ นอนๆ เพื่อกามารมณ์ มันจะเป็นคนแก่ที่ต่างกันสักเท่าไร คนหนึ่งมันมีชีวิตเป็นการเดินทาง อีกคนหนึ่งมันมีชีวิตเป็นการนอนอืดเหมือนหมูอยู่ที่นี่ นี่มันไม่ใช่พูดให้ฟังแต่ปาก มันเป็นเรื่องจริง คนหนึ่งมีชีวิตเป็นการเดินทาง มันก้าวหน้าเรื่อยทั้งทางกาย ทั้งทางจิต และโดยเฉพาะทางจิต ทางวิญญาณ คือทางสติปัญญา มันรู้เรื่องนั้น รู้เรื่องโน้น รู้เรื่องโน้น มันเดินทางในทางจิตทางวิญญาณอยู่เรื่อย เรียกว่าเป็นการเดินทาง อีกคนหนึ่งมันนอนอืดเหมือนหมูอยู่ที่นี่ คือไม่รู้อะไรเพิ่มขึ้น แล้วมันกลับจะหลงใหลอยู่ในความเป็นอย่างนั้น เหมือนกับหมูชอบนอนจมอยู่ที่ในปลัก ไม่ค่อยชอบเที่ยวไปวิ่งเล่นเหมือนกับม้า นี่เป็นเครื่องเปรียบเทียบให้เห็นได้ง่าย ชีวิตหนึ่งเดินทาง ชีวิตหนึ่งนอนอืดอยู่ที่นี่ คนหนึ่งมันมีชีวิตเป็นการงาน เป็นการเป็นงาน คนหนึ่งมีชีวิตเป็นการเล่นหัว การเล่นหัวนี่ถ้าสมัยโบราณเขาติเตียนกันมาก เขาดูหมิ่นดูถูกกันมาก แต่เดี๋ยวนี้ดูกลับจะนิยมเรื่องเล่นหัวกันมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวที่เขาจัดไว้ในวัยพรหมจารี จะแสดงอาการเล่นหัวให้ใครเห็นแล้วก็จะถูกตำหนิ แม้แต่เรื่องหัวเราะตามสบายใจ หัวเราะร่วนยิกๆๆๆตามสบายใจ เขาจะจัดเป็นคนเลวนะถ้าสมัยก่อน ไม่บังคับตัวเอง อย่างบ้านนอกนี่เขาเรียกว่าไอ้คนกระจ้อน หรือว่านะแหล พูดว่า นะแหล คุณคงฟังไม่ถูก มันเป็นภาษาเมืองนี้ คือกระจ้อนหรือกระแตตัวเล็กๆ ชนิดหนึ่ง ที่ตัวกระดิ๊กๆ อยู่เสมอ แล้วก็ร้องกระจิ๊กๆอยู่เสมอ เขาเรียกว่า นะแหล ทีนี้ผู้หญิงคนไหนมันหัวเราะแบบนั้น หัวเราะร่วนยิกๆ อยู่เสมอ เขาปัดทิ้งเป็นไอ้หญิงนะแหล สาปให้เป็นหญิงกาลกิณีไปเลย แสดงว่าเขาไม่นิยมไอ้ความเล่นหัว ไอ้การเล่นหัว เขานิยมความสำรวม ระวัง ปกติ ไปจนกว่าจะพ้นเขตนี้ เขตพรหมจารี อยู่ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง คนหนึ่งมีชีวิตเป็นการเป็นงาน มันก็สนุกสนานในการทำงาน บูชาการงาน มีชีวิตเป็นการงาน มีการงานเป็นชีวิต มันก็มีชีวิตเป็นการงาน คนหนึ่งมันมีชีวิตเป็นการเล่นหัว เราอย่าไปตามไอ้ความเจริญสมัยใหม่ โดยเฉพาะพวกฝรั่ง เขามีชีวิตเป็นการเล่นหัวมากขึ้น และเขามีความนิยมอิสรภาพ เสรีภาพเกินขอบเขต แล้วทำอะไรออกมา ดูเอา อิสรเสรีภาพเกินขอบเขตตามแบบของฮิปปี้ ฮิปอะไรก็ไม่รู้ล่ะ เรียกไม่ถูก แต่คือมันนิยมความอิสระเกินขอบเขต เพื่อความเล่นหัวตามสบาย เรียนมหาวิทยาลัยกันมาแล้วนะ ถ้าเกิดมีความเห็นอย่างนี้ได้ เพราะมันมีนิยมไอ้การเล่นหัว ทีนี้คนหนึ่งมันมีชีวิตเป็นความชนะตลอดเวลา อีกคนหนึ่งมันมีชีวิตเป็นความพ่ายแพ้ตลอดเวลา คุณอาจจะหมายถึงการต่อสู้กันโดยร่างกาย หรือว่าต่อสู้กันด้วยวาจาโต้เถียง แล้วก็ชนะหรือแพ้ อย่างนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ที่กำลังพูด กำลังพูดมีชีวิตเป็นความชนะอยู่ตลอดเวลา หมายความว่า เขาชนะความรู้สึกฝ่ายต่ำอยู่ตลอดเวลา ชนะกิเลส ชนะความรู้สึกฝ่ายต่ำฝ่ายชั่วอยู่ตลอดเวลา นี่ก็ถือว่าชีวิตเป็นสงครามอยู่ตลอดเวลา ฝ่ายต่ำจะดึงลงต่ำ ฝ่ายสูงจะดึงขึ้นสูง ชีวิตเป็นการทำสงครามอยู่ตลอดเวลา แล้วก็มีคนบางคนเขาชนะในสงครามนี้อยู่ตลอดเวลา เขาบังคับความรู้สึกฝ่ายต่ำไว้ได้ ความรู้สึกฝ่ายสูงชนะอยู่เสมอ ฉะนั้นเขาจึงไม่ทำอะไรผิดพลาด ก็อยู่อย่างที่เรียกว่าไหว้ตัวเองได้ ไม่มีรังเกียจกินแหนงตัวเอง ยิ่งนึกทดสอบตัวเองยิ่งพอใจในตัวเองว่าไม่มีอะไรที่น่าเกลียดน่าชัง น่าขยะแขยง หนักเข้าก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ คนชนิดนี้เรียกว่าเป็นผู้ชนะอยู่ตลอดเวลา อีกคนหนึ่งมันพ่ายแพ้แก่กิเลส ปล่อยตามกิเลส เอาความสนุกสนานเป็นเบื้องหน้า พ่ายแพ้แก่กิเลส มันก็ต้องไปทำความชั่วมากขึ้นๆ มาตรวจดูแล้วไม่มีสักนิดเดียวหนึ่งที่ตัวเองจะยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่คือคนที่พ่ายแพ้อยู่ตลอดเวลา ก็เปรียบเทียบกันดู ปัจฉิมวัยมันจะไปรูปไหนเปรียบเทียบกันดู ทีนี้คนหนึ่งมันยิ่งสูงขึ้นไปแล้วนะ มีชีวิตอยู่เหนือโลก อีกคนหนึ่งมันมีชีวิตจมอยู่ใต้โลก นี่เป็นคำพูดภาษาธรรม ภาษาอุปมา ภาษาสัญลักษณ์ คนหนึ่งมีชีวิตอยู่เหนือโลก คนหนึ่งมีชีวิตจมอยู่ใต้โลก ไอ้โลกก็คือสิ่งต่างๆ ที่มันมีอยู่ในโลก ที่มีความหมาย ที่เป็นที่ต้องการของคน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรที่มันมีอยู่ในโลกในลักษณะอย่างนี้เราเรียกว่าโลก ที่แท้มันก็เป็นเหยื่อในโลก เป็นเหยื่อของโลก เป็นเหยื่อประจำโลกอยู่ในโลก ที่เราอยู่ในลักษณะที่ไอ้สิ่งเหล่านี้มันหลอกลวงเราไม่ได้ หลอกลวงให้เราไปกินเหยื่อเหล่านั้นไม่ได้ เราประพฤติกระทำถูกต้องในลักษณะที่ไม่กินเหยื่อในโลก นี่ก็เรียกว่ามันเหนือโลก อีกคนหนึ่งมันลุ่มหลงในความสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางวัตถุ ทางเนื้อหนัง ในอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น นี่เขาเรียกว่าคนที่มันจมอยู่ใต้โลก อยากจะให้ทุกๆ คนนี้ไปตรวจสอบตัวเองดูให้ดี วันคืนที่เราอยู่โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ นั้นน่ะ เราอยู่ใต้โลกหรืออยู่เหนือโลก ถ้าเราอยู่ใต้ความบีบคั้นของสิ่งที่เป็นเหยื่อเหล่านี้ ก็เรียกว่าเรามันจมอยู่ใต้โลก แต่ถ้าเราสามารถดำรงตัวอยู่เหนือความหลอกลวงบีบคั้นของสิ่งเหล่านี้ ก็เรียกว่ามันอยู่เหนือโลก นี่เป็นธรรมะที่ลึก ลึกขึ้น นี้คนทั่วไปเขาไม่เห็นอย่างนั้น เขาก็อยู่จมโลกอยู่ สบายดี สนุกดี พอใจและหวังที่จะเป็นอย่างนั้นจนตลอดชีวิต คนบางคนเขาหวังที่จะอยู่ในโลก กินเหยื่อให้เอร็ดอร่อยสนุกสนานในโลกจนตลอดชีวิต ไม่เคยนึกถึงเรื่องที่ว่ามันจะอยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งเหล่านี้เลย
ทีนี้อยากจะพูดอีกคนหนึ่งอีกคู่หนึ่ง ไอ้คนหนึ่งมันจบชีวิตน่ะ ปัจฉิมวัย มันจบชีวิตมัน ตายลงกลางวัฏสงสาร ไอ้คนหนึ่งมันจบชีวิตหรือตายลงไปกลางพระนิพพาน คู่สุดท้ายมันเปรียบอย่างนี้ คนหนึ่งมันตายมันจบชีวิตและตายลงไปท่ามกลางแห่งวัฏสงสาร อีกคนหนึ่งมันจบชีวิตมันตายลงท่ามกลางนิพพาน ความหมายที่เข้าใจยากคือคำว่า วัฏสงสาร กับคำว่า นิพพาน นั่นเอง อาจจะเข้าใจอยู่แล้วก็ได้ อาจจะยังไม่เข้าใจก็ได้ว่า วัฏสงสารนั้นคืออะไร วัฏสงสาร คำนี้แปลว่า หมุนเป็นวงกลม ความหมุนเป็นวงกลม ที่มันหมุนนะอยู่ได้เพราะของ ๓ สิ่งคือ ความอยาก ความต้องการ นี่สิ่งหนึ่ง และก็การกระทำตามที่อยากที่ต้องการนี่อย่างหนึ่ง แล้วก็ได้ผลจากการกระทำ นี่อย่างหนึ่ง มันเป็น ๓ อย่าง มันอยาก แล้วมันทำ แล้วมันได้ผล แล้วมันก็อยากอีก แล้วก็ทำอีก แล้วก็ได้ผล แล้วก็อยากอีก แล้วก็ทำอีก แล้วก็ได้ผล แต่ทั้งหมดนั้นเป็นไปด้วยความโง่ ถ้ามันเป็นไปด้วยความโง่ มันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่า วัฏสงสาร แต่ถ้ามันทำไปด้วยปัญญา ด้วยวิชชา อย่างนั้นมันไม่เป็นวัฏสงสารไปได้ เดี๋ยวมันสลาย กระจาย หยุด จบ ไปเสียเอง มันจึงไม่เป็นวัฏสงสาร ถ้าว่าทำไปด้วยสติปัญญา อยากด้วยสติปัญญา ทำลงไปด้วยสติปัญญา ได้ผลมาด้วยสติปัญญา มันก็จะยากที่จะทำให้ทำอยากแบบโง่ๆ อีก มันค่อยดีขึ้น ค่อยสว่างขึ้น แล้วจนกระทั่งมันไม่ทำ ไม่อยากเลยไม่ทำ อย่างนี้มันไม่เป็นวัฏสงสาร คือไม่หมุนเป็นวงกลม ที่มันโง่ แล้วมันอยาก แล้วมันทำ แล้วมันได้ แล้วมันยิ่งโง่ขึ้นไปอีก ไอ้ผลที่ได้มาทำให้ยิ่งโง่ขึ้นไปอีก ก็อยากโง่ไปกว่าเดิม ทำอย่างโง่ไปกว่าเดิม ได้ผล โง่ไปกว่าเดิมเข้มข้นเข้าเป็นวงกลม ที่หมุนจี๋ด้วยอำนาจแห่งความโง่ อย่างนี้เรียกว่าวัฏสงสาร ระวังให้ดีมันมีอยู่ในชีวิตของใคร ใครกำลังมีชีวิตเป็นวัฏสงสารบ้าง นี้ถ้ามันเป็นนิพพาน มันมีสติปัญญา มีสัมมาทิฏฐิเข้ามา มันจะไม่ทำอย่างนั้น มันจะไม่เป็นอย่างนั้น แล้วมันก็จะหยุดเป็นนิพพานเพราะอำนาจของวิชชา ของปัญญา มันหมุนไม่ได้ แล้วก็ด้วยดี มันก็อยู่ในชีวิตนี้ด้วยเหมือนกัน เราจะไปหยุดให้เป็นนิพพาน ก็ต้องหยุดที่วัฏสงสาร ที่มันอยากด้วยความโง่ หยุดมันเสีย ที่จะทำด้วยความโง่ หยุดมันเสีย ที่ได้ผลมาอย่างโง่ๆ ก็หยุดมันเสีย มันก็หยุดได้ในตัววัฏฏะนั่นแหละ ถ้ามันเกิดสติปัญญาขึ้นมาอย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นเขาจึงสอนให้ดูความทุกข์ แล้วให้ดูความดับทุกข์ที่ความทุกข์นั้น เราอุตส่าห์ลงทุนสร้างรูปภาพในความหมายนี้ขึ้นมาภาพหนึ่ง ใช้รถแทรกเตอร์ทำงานเดือนหนึ่งจึงจะสำเร็จรูปภาพรูปนี้ คือสระนาฬิเกที่อยู่ริมลำธารนั่นแหละ ไปดู รูปภาพภาพหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า นิพพานอยู่ในท่ามกลางวัฏสงสาร วัฏสงสารในที่นี้หมายถึงน้ำ น้ำทั้งหมด น้ำในสระเป็นวัฏสงสาร เป็นความหมายของบุญบาป สุขทุกข์ ดีชั่ว แพ้ชนะ อะไรที่เป็นคู่ๆ คู่ๆ เขาเรียกว่าทะเลขี้ผึ้ง ทีนี้มะพร้าวต้นนั้น มะพร้าวนาฬิเก มันอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง แต่มันไม่ใช่ทะเลขี้ผึ้ง นี่ก็ไม่ใช่ความคิดของเราโดยสิ้นเชิง มันเป็นไอ้บทกล่อมลูกให้นอนของเมืองใต้ตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงพัทลุงถึงโน่นน่ะ ที่เขาเคยรุ่งเรืองด้วยธรรมะ ด้วยพุทธศาสนาสมัยพันกว่าปีมาแล้ว เขามีบทกล่อมลูกให้นอนบทนี้ตรงกันแหละ ตั้งแต่ชุมพรถึงพัทลุง
มะพร้าวนาฬิเก ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง
ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ
คนไม่เข้าใจก็เห็นว่าไร้สาระ ไปที่สระนั้นแล้วก็ไม่สังเกตหนังสือที่เขาทิ้งไว้ให้อ่าน เพราะไม่เข้าใจก็เลยเห็นเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ ไม่ได้สนใจ ไม่ได้จดเอามา ถ้าเราเป็นนักเลง นักศึกษา เราจะสนใจ เอ๊ะ, นี่ ทำไมมันว่าอย่างนี้
มะพร้าวนาฬิเกต้นเดี่ยวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง
ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ
หรือบางทีว่า กลางทะเลขี้ผึ้ง ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย
ต้นเดี่ยวโนเนนั้น เขาหมายถึงว่า เดี่ยวจริงๆ คือไม่มีทางที่จะเทียบคู่กับสิ่งใด ก็มีแต่พระนิพพาน ที่ไม่มีอะไรจะไปเป็นคู่ได้ ที่เป็นคู่ๆ ได้ก็คือทะเลขี้ผึ้ง เดี๋ยวไอ้ขี้ผึ้งพอร้อนก็เหลว พอเย็นก็แข็ง ไอ้เป็นคู่ๆ ว่า ไอ้เหลว-ไอ้แข็ง เย็น-ร้อน ได้-เสีย แพ้-ชนะ บาป-บุญ สุข-ทุกข์ พวกนี้มันเป็นคู่ๆ คู่ๆ ส่วนพระนิพพานมันอยู่เหนือความเป็นคู่เหล่านั้นหมดสิ้น เขาจึงใช้คำว่า ต้นเดียวโนเน ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย เขาเรียกว่าความหยุดดับแห่งวัฏสงสาร หาพบที่ตัววัฏสงสาร มันเกิดปัญหาที่ไหนต้องแก้ปัญหาที่นั่น ปัญหาเกิดที่บ้าน ไปรดน้ำมนต์ที่วัด มันผิดหลักอันนี้ ฉะนั้นตรงไหนเป็นที่เกิดของปัญหาต้องแก้ปัญหาที่นั่น คนโบราณเขาจะพูดเป็นคำสอนเหมือนกับปริศนา จำง่ายๆ ว่า ขึ้นทางไหนลงทางนั้น ถ้าปัญหามันขึ้นมาทางไหนก็ยุบมันลงไปทางนั้น นี่เมื่อมันเกิดมาจากความโง่ ความหลง ความไม่รู้ ความอะไรต่างๆ ก็ต้องทำไอ้สิ่งเหล่านั้นให้สิ้นไป นี่เรากำลังพูดว่าคนหนึ่งมันจบชีวิตกลางวัฏสงสาร คนหนึ่งมันจบชีวิตกลางนิพพาน นี่ชีวิตบั้นปลาย ชีวิตบั้นปลาย หรือว่าปัจฉิมวัย คนๆ หนึ่งเกิดมาจนกระทั่งตายลงไปในความโง่ คือวัฏสงสาร อยาก กระทำ ได้ผล อยาก กระทำ ได้ผล อยาก แล้วก็ทำ แล้วก็ได้ผล นี่แปลว่าวัฏสงสาร ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งวาระสุดท้ายมันตายลงไป มันตายลงไปในอาการอย่างนี้ เขาเรียกว่ามันตายลงไปในวัฏสงสาร ชีวิตบั้นปลายหรือปัจฉิมวัยของมัน ก็คือตายลงไปในวัฏสงสาร ก็ต้องพูดว่าคนโดยมากนั่นแหละ อย่าเห็นเป็นเรื่องดูหมิ่นด่าทออะไร เพราะคนโดยมากมันก็เกิดมาในวัฏสงสาร แล้วก็ตายอยู่ในวัฏสงสาร แล้วมันก็เกิดใหม่ แล้วก็ตายอยู่ในวัฏสงสารอย่างนี้ ชีวิตบั้นปลายของเขาเป็นอย่างนี้ ไอ้คนหนึ่งมันตาย ถึงใช้คำว่าจบชีวิตลงไปในท่ามกลางพระนิพพาน คือมันหยุดวัฏสงสารเสียได้ตั้งแต่เมื่อมันรู้ธรรมะสูงสุด มันละกิเลสได้ มีนิพพานประจำตัว ประจำจิต ฉะนั้นเมื่อตายมันก็คือตายลงในนิพพาน หรือว่าในวินาทีสุดท้ายที่มันจะตาย มันเกิดปล่อยวางได้ ไม่เอาอะไรโดยประการทั้งปวง มันปล่อยวางได้ แล้วมันก็บรรลุนิพพาน พร้อมกับที่ตาย นิพพานพร้อมกับตาย ฟังดูดีๆ ตายไม่ใช่นิพพาน ตายเป็นของร่างกาย ไอ้นิพพานเป็นของจิต ทีนี้สำหรับคนนี้มันกรณีพิเศษหน่อย มันเพิ่งมาคิดออก มาเพิ่งมาเห็นแจ้งตรงเมื่อมันร่างกายมันแก่จะตายอยู่แล้วพอดี เพราะว่าร่างกายทนไม่ได้ มันจะดับจะจบ คนนั้นก็เอ้า, สมัครดับไม่เหลือ สมัครดับไม่เหลือ ไม่มี ไม่ต้องมีตัวกูอีกต่อไป อย่างนี้ก็ยังชื่อว่า ตายในนิพพาน โอกาสมีกระทั่งวาระสุดท้าย นั้นอย่าทำเล่น อย่าให้พลาดโอกาสอันนี้ ถ้าเมื่อมันจะต้องตายกันแน่ๆ จริงๆ แล้ว สมัครดับไม่เหลือ สมัครนิพพาน มันก็จะมีโอกาส อย่าไปร้องไห้ดิ้นรน ตะโกนเพื่อนมาหามไปโรงพยาบาลทีนี่มันยุ่ง ถ้าเมื่อมันจะตายและจะสมัครเมื่อมันจะตายแน่ สมัครดับไม่เหลือ จะได้เป็นนิพพาน จะได้เรียกว่าตายลงไปในนิพพาน อย่างว่าเราถูกรถยนต์ชนกลางถนน มันแหลกแล้วจะไปหวังอะไรกันนัก ก็สมัคร มีความคิดนึกแว่บหนึ่งเหลืออยู่ ก็คิดนึกว่าดับไม่เหลือ อย่าไปดิ้นรนที่จะไม่ตาย ดิ้นรนที่จะไปโรงพยาบาล ดิ้นรนที่จะไปเรียกตำรวจ นี่มันบ้ามากเกินไปแล้ว ฉะนั้นสมัครดับไม่เหลือ จึงฝากไว้สำหรับจะต้องใช้ในเมื่อถ้ามันจำเป็นจะต้องใช้อย่างนี้ ใครจะไปรู้ล่ะว่าแความตายโดยอุบัติเหตุจะมาเมื่อไรก็ได้ มาอย่างไรก็ได้ ถ้ามันต้องแตกดับ ร่างกายมันต้องแตกดับ แล้วจิตก็พลอยไปด้วยผสมโรงไปด้วย หยุดกันที พอกันที การเวียนว่ายตายเกิดนี้พอกันที มันก็ยังมีโอกาสที่จะนิพพานได้ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต นี่คือปัจฉิมวัยของชีวิตหรือบั้นปลายของชีวิตที่มันดีที่สุด คือมันไม่ยอมพลาดท่าเสียที มันยังเอาไว้ในขอบเขตของพระนิพพานได้ เรียกว่ามีให้เลือกถึงขนาดนี้ ฉะนั้นคุณก็ไปเลือกกันให้ดีๆ
นี่เราก็ได้พูดถึงไอ้บั้นปลายแห่งชีวิตสำหรับเปรียบเทียบมาให้ดู เป็นคู่ๆ คู่ๆ นี้เรียกว่าไอ้เรื่องที่มันจะต้องเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เรื่องพูดเปล่าๆ ปลี้ๆ มันเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นจริงๆ ถ้าพูดตามแบบฉบับ มันยังมีละเอียดกว่านี้ เราเกิดมาเป็นปฐมวัย แล้วเป็นมัชฌิมวัย แล้วเป็นปัจฉิมวัยในที่สุด ถ้ามันมีการเลื่อน เลื่อน เลื่อน สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ตามแบบโบราณ เก่าแก่ เขาว่า ไอ้แรกๆ มันก็หลงอยู่ในความสุขทางกาม ทางเพศ เป็นธรรมดาของคนหนุ่ม ทีนี้ต่อมามันก็เป็นพ่อบ้านแม่เรือน มันก็พ้นกามไปหลงอยู่ในเรื่องทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงอะไรต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับกาม เป็นเงิน เป็นทอง เป็นของ เป็นหลักทรัพย์เป็นอะไรต่างๆ ก็เรียกว่ายังเลื่อนอยู่เหมือนกัน ทีนี้ต่อมามันเลื่อนขึ้นไปถึงสิ่งที่มิใช่วัตถุ ไปยึดเหนียวแน่นอยู่ที่เกียรติยศชื่อเสียงบ้าง บุญกุศลบ้าง อะไรบ้างซึ่งเป็นของที่ไม่ได้เป็นวัตถุ นี่จากกาม มันไปสู่วัตถุล้วนๆ จากวัตถุล้วนๆ มันไปสู่สิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ฉะนั้นปัจฉิมวัย บั้นปลายชีวิต เขาก็มักจะไปหลงอยู่ที่เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง บุญกุศลตามแบบคนแก่ ยังไม่จบ ถ้าจบเขาจะต้องละสิ่งนั้นเสียอีกทีหนึ่ง มุ่งหมายความดับไม่มีเหลือแห่งความยึดถือตัวตน นั่นแหละจะจบด้วยนิพพาน แม้เดี๋ยวนี้คุณคิดว่ามันยังทำไม่ได้ก็จำไว้เปรียบเทียบเล่นๆ ก็ยังได้ แล้วเผื่อเมื่อถึงเวลาเข้าจริงๆ มันอาจจะทำได้ ในปฐมวัยก็เรื่องกามารมณ์ มัชฌิมวัยก็เรื่องวัตถุทรัพย์สิน ไม่ใช่ตัวกามารมณ์ พอปัจฉิมวัยก็เรื่องที่เป็นนามธรรม เป็นเรื่องความดี บุญกุศล ไปจนกระทั่งว่า ปิดลงด้วยความดับของทุกสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องของนิพพาน แต่โบราณเขาสอนไว้อย่างนี้ เขาจัดลำดับของมนุษย์ที่มีความสูงต่ำไว้อย่างนี้ แล้วมันก็เป็นไปได้ตามวัย โดยธรรมชาติมันก็เป็นไปได้ตามวัยอยู่แล้ว วัยแรกก็ลุ่มหลงกามารมณ์ วัยถัดมาก็ลุ่มหลงทรัพย์สมบัติ วัยถัดมาก็ลุ่มหลงเกียรติยศชื่อเสียง บุญกุศล พ้นนั้นก็เป็นนิพพาน ขอให้ไอ้ปัจฉิมวัยมันไปสนใจอยู่ที่นิพพาน
ทีนี้ก็อยากจะย้ำไอ้ที่พูดเมื่อวานอีกทีหนึ่งว่า ตามแบบโบราณจริงๆ นั้นเขาก็จะต้องจบลงที่ประโยชน์ผู้อื่น เกิดมาทีให้จบลงด้วยการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น อย่าเพียงแต่ส่วนตัว คือว่าเกิดมาในระยะหนุ่มสาวก่อนสมรสนี่ ต้องทำดีที่สุดสำหรับเป็นพรหมจารี ศึกษาเล่าเรียนดี ประพฤติมรรยาทดี อะไรดีตามบทเรียนแบบฉบับที่เขาวางไว้สำหรับพรหมจารี นี่ก็ดีชั้นหนึ่ง ทีนี้ก็ถึงความเป็นคฤหัสถ์ คือครองเรือน ชีวิตสมรส เป็นบิดามารดา นี่ก็ทำอย่างดีที่สุด เป็นบิดามารดาที่ดีที่สุด สร้างสรรค์บุตรธิดาที่ดีที่สุด มันก็เลื่อนชั้นหนึ่งอีก ทีนี้เป็นบิดามารดาในโลกจนเอือมระอา อยากจะหลีกออกไป ก็ไปอยู่ในที่สงบสงัดจะเป็นในป่าก็ได้ ที่ไหนก็ได้ คือว่าเลิกเกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ นี่ก็เรียกว่าอยู่ป่า เป็นวนปรัสถ์ ไปอยู่ป่า นี้เมื่ออยู่ป่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในความรู้แล้วก็ออกมาท่องเที่ยวไปในหมู่ประชาชน อบรมสั่งสอนให้เขาได้รับประโยชน์ เหมือนกับที่เราเรียกว่า เที่ยวแจกของส่องตะเกียง ตอนนี้ก็เรียก สันนะยาส หรือ สันยาสี หลักหลักเกณฑ์อันนี้เก่าแก่โบราณเต็มที เกิดมาเป็นพรหมจารี ต่อมาก็เป็นคฤหัสถ์ครองเรือน ต่อมาก็เป็นวนปรัสถ์ หาความสงบ พอใจแล้วต่อมาก็สันยาสี เที่ยวแจกของส่องตะเกียงไปจนกว่าชีวิตจะดับลง เหมือนพระพุทธเจ้าตอนกลางวันยังเที่ยวเดินทางอยู่เป็นโยชน์ๆ เที่ยวแจกของส่องตะเกียงไปตามเรื่อง พอตอนค่ำลงหัวค่ำ ท่านก็ปรินิพพาน เหมือนกับปิดสวิทช์ไฟฟ้า นี่มองดูเถอะ คุณจะรู้สึกว่ามันเหมือนกับศิลปะ ยอดสุดของศิลปะแห่งการมีชีวิตและความตาย งดงามที่สุด มีชีวิตอย่างนี้ ดับลงอย่างนี้ เป็นแบบที่งดงามที่สุด เป็นยอดของศิลปะ แต่มันก็ทำยาก แล้วก็สั่นหัวกันเสียหมด แล้วมาพูดให้ฟังเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เสียเวลา บ้าๆ บอๆ และเป็นเรื่องที่ไม่ยุหรือไม่กระตุ้นให้หลงใหลไปในโลกด้วย มันยิ่งไม่สนุก มันไม่สนุกเพราะมันไม่ยุให้โลดเต้นไปในโลก มันชี้ทางแห่งความดับทุกข์ ความหยุด ความสงบเสีย จะเตรียมบั้นปลายสำหรับความสงบอย่างนี้มันไม่สนุกเลย มันไม่เหมือนกับว่าทำบุญสักบาทหนึ่ง แล้ววิมานหลังหนึ่ง แล้วนางฟ้าห้าร้อย บางคนเขาต้องการจะจบชีวิตอย่างนี้นะ ทำบุญไว้บาทหนึ่ง ตายไปก็ไปสวรรค์มีวิมานมีนางฟ้าเทวดาห้าร้อย ของขวัญตั้งหมื่นตั้งแสนก็มี บางคนก็เตรียมจะจบชีวิตกันแบบนี้ เรามองแล้วมันเป็นเรื่องที่เอาด้วยไม่ได้ เราจึงมาหาวิถีทางตามคำสั่งสอนที่มีหลัก มีแก่นสาร มีเหตุผลที่เราพอจะมองเห็นได้ว่าดีกว่า หยุดที่นี่ เดี๋ยวนี้ ถึงความหยุด ความดับ ความไม่เป็นทาสของอะไรกันเสียที ไปหลงรักอะไรคือเป็นทาสของสิ่งนั้น ไปหลงรักสวรรค์วิมาน มันก็เป็นทาสของสวรรค์วิมาน เราจะหยุด จะจบ จะเย็น จะดับไม่เหลือกันที่ปัจฉิมวัย เป็นการดับปิดสวิทช์ของชีวิตกันในลักษณะอย่างนี้ นี้คือข้อความย่อๆ ที่จะแสดงถึงปัจฉิมวัยหรือชีวิตในบั้นปลาย ขอให้ทุกคนเอาไปคิดดูเถอะว่ามันจะดีวิเศษหรือไม่มีความหมายอะไรก็สุดแท้ ไม่มีใครบังคับ แต่ขอให้เอาไปทำให้มันได้รับประโยชน์มากที่สุด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา เมื่อคุณมาด้วยความสนใจว่าจะศึกษาธรรมะ ก็เชื่อได้ว่าอยากจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากพระพุทธศาสนา และเราก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ชีวิตมาเป็นมนุษย์นี้ท่านก็ว่ามันแสนยาก เราเชื่อตามท่านก็แล้วกันว่ามันแสนยากที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็จะทำอย่างไรให้ได้รับผลดีที่สุด ฉะนั้นคำบรรยาย ๔ ๕ ครั้งที่แล้วมา คงจะเป็นประโยชน์บ้าง ก็เป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์พอสมควรแล้วในการพบปะสมาคมกันครั้งนี้ ขอยุติการบรรยายสำหรับครั้งนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้
คนโบราณแท้ๆ เมืองนี้หรือเมืองไหนก็ตาม พอไหว้อย่างนี้ เขาจะบอกว่าไหว้พระนะลูกเอ๋ย ไม่ใช่ไหว้ฉัน คือคุณจะต้องมุ่งหมายไหว้พระ พระพุทธเจ้า ไหว้พระพุทธเจ้า นี่ไอ้คนที่นั่งอยู่ด้วยหรือจะรับไหว้นี้ รับไหว้แทนพระ แทนพระพุทธเจ้า ไม่ถือว่าเราเป็นผู้ที่มีสิทธิชอบธรรมควรค่าอะไรที่จะเรียกร้อง ฉะนั้นขอให้ทุกคนเมื่อไหว้แล้วก็ให้ไหว้ถึงพระพุทธเจ้า ให้เลยบุคคลนั้นไปยังพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นชีวิตนิรันดรเหมือนกัน พระพุทธเจ้าพระองค์จริงไม่ได้ตาย ไม่ได้ดับ กลายเป็นชีวิตนิรันดร ฉะนั้นเมื่อไหว้เมื่อกราบก็อย่าให้เป็นเพียงท่าทางหรือพิธี ให้จิตมันไปถึงสิ่งสูงสุด ที่มีบุคคลคนหนึ่งกำลังเอามาพูดให้ฟัง อย่างที่นี่อาตมาเป็นคนพูดให้ฟัง แล้วคุณก็เข้าใจ พอจบเรื่อง ถ้าไหว้ก็ต้องไหว้ไปยังบุคคลผู้เป็นเจ้าของสิ่งสูงสุด ผู้ตรัสรู้และเปิดเผยสิ่งสูงสุด การไหว้นั้นก็จะได้บุญมากขึ้นไปอีก
หัวค่ำนี้ยังมีอีกครั้งหนึ่งใช่ไหมที่กำหนดไว้ ข้างล่าง เขียนว่า ปัจฉิมนิเทศ ชื่อแปลกๆ
๑ พระโรคโลหิตปักขัณทิกาพาธ คือโรคท้องร่วงเป็นโลหิต (จาก http://www.dhammathai.org/buddha/g54.php; สืบค้นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔)