แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นาทีที่ 01:23 คนสมัยนี้อย่าอวดดีให้โง่..ว่าปู่ย่าตายายในทุกๆเรื่องเลย โดยเฉพาะเรื่องตีระฆังนี้ ผมอยากจะให้รู้กันไว้ เรื่องตีระฆังนี้ไม่ได้ทำแบบอาจารย์ก่อนๆเขาทำกันมา ถ้าตีเรียกคนก็ตี ๓ ลา และก็ ... ๓ ที นาทีที่ 2.00 ถ้าเตรียมพร้อมแล้ว/จะลงมือแล้วก็ตีเสียง ๓ ที กลองก็ดี ระฆังก็ดี ถ้าบอกก่อนที่จะลงมือ แล้วพอตีแล้วจะลงมือทำนี่ก็ตี ๓ ที ถ้าตีก่อนหน้านั้นก็จะเรียกคนมาประชุมคนมา-จะตี ๓ ลา ยอดถ่าย (นาทีที่2:28) ๓ ที แต่คนโบราณไม่ได้โง่กว่าคนสมัยนี้ คนสมัยนี้จะโง่ก็เสียเปล่ายังอวดดี ก่อนที่จะตีก็ต้องครางเสียก่อน เรียกว่าคราง ...ตอนนั้นไม่หนัก.....(นาทีที่ 2:45 )……….บางทีเอาไม้ไปถูๆหน้ากลองน้อยๆ เอาไม้ไปถูระฆังน้อยๆ ให้ดังกึกๆๆๆๆ น้อยๆ เบาๆ เท่านั้น แต่ว่าเมื่อจะตี คือ ตีเบาๆ ถี่ๆ ตอนนี้ครูบาอาจารย์เขาเรียกกันมาว่า คราง ต้องให้กลองให้ระฆังนี้คราง แล้วถึงค่อยตีสิ่งที่เราต้องการจะตี พอครางเสร็จแล้ว ตี ๓ ลาก็หมายความว่าตีแรง เบาลง เบาลง เบาลงเป็นหางยาวจนเงียบกริบไปนี่เขาเรียกว่า ๑ ลา แล้วก็เงียบกริบแล้วตีอีกดัง! แล้วก็ตียาวถึง ๓ ลา ๓ ชุด พอจะจบแล้วก็จะตี ๓ ทีดังๆ.....ยอดถ่าย..(นาทีที่ 3:47)….. นี่ เป็นธรรมเนียม เรียกว่า เรียกประชุม ทีนี้ พอประชุมแล้วขึ้นธรรมมาส ขึ้นจะเทศน์นะก็จะได้ตี ๓ ที คือ ตี ๓ ปัง ก็ต้องครางเหมือนกัน นี่ เขาโง่หรือว่าฉลาดก็คิดดู ก่อนที่จะตีระฆัง ตีกลองในลักษณะไหนก็จะต้องคราง คราง อึง อึง เสียนิดแล้วถึงตี ๓ ปังหรือ ๓ ตุ้มแรงๆ นี่ บอกว่าลงมือนะ ใครจะมา-ไม่มาไม่รู้แล้ว บางทีปิดประตูโบสถ์ ปิดประตูอะไร ไม่เปิดแล้วจะลงมือทำงานแล้ว ต้องช่วยกันรักษาไว้ให้มันอยู่ตลอดไปจะกี่ชั่วคน ร้อยปี พันปี ก็แล้วแต่ ความฉลาดของบรรพบุรุษนี้ต้องช่วยกันรักษา แล้วเป็นระเบียบที่สุด ไอ้คนโง่ๆไม่เป็นระเบียบ นึกจะตีก็ตี ตี ๓ แป๊ง แล้วก็ตี ๓ แป๊ง โดยไม่มีครางก็ไม่มีใครเตรียมตัวฟัง ให้ครางนั้น คือ การบอกให้เตรียมตัวฟัง นี่ ดี และอีกทีจะทำให้คนไม่ตกใจ คนกำลังอยู่ใกล้ๆระฆัง ใกล้ๆกลอง หรือคนไม่สบายอยู่ในที่ไม่ไกลนัก หรือคนหลับอยู่นี้เขาก็จะไม่ตกใจ นี่ คือความฉลาดของบรรพบุรุษของเราเป็นกันพรรณนั้น ไอ้รุ่นหลังเดี๋ยวนี้มันโง่นะ มันไม่คิดไม่นึกทำอะไรหวัดๆหยาบๆ แล้วมันไม่มีระเบียบตายตัว รุ่นหลังสมัยนี้ไม่ใช่มันดีขึ้น เป็นคนสะเพร่า รุ่นหลังไม่มีระเบียบ ต้องช่วยกันรักษาทุกอย่าง ทุกประการ หลายๆประการ แม้ที่สุดที่จะตีกลองตีระฆังประชุมเต็มอัตราก็ต้องตี ๓ ลา .แล้วยอดถ่าย..(นาทีที่ 6:10 ) ๓ ที ถ้าตีฉันข้าว กลองฉันข้าวนี้ก็ตี ๑ ลา และยอดถ่าย…..…(นาทีที่ 6:18 )…๑ ที ถ้าตีลงมืองาน เปิดงานก็ตี ๓ ที ไม่ว่าจะตีชนิดไหนก็ตามต้องมีคราง เรียกว่า คราง นำก่อนเสมอ มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนโง่ กลายเป็นคนโง่ไปทำของที่บรรพบุรุษทำไว้ดีแล้วเป็นระเบียบแล้วให้มันเลวลง ให้มนุษย์เลวลง นี่ คนโง่ทำให้ของที่บรรพบุรุษทำไว้ดีแล้วมันเลวลง เหมือนกับทำให้มนุษย์เลวลง จึงขอร้องว่าจะตีกลองเรียกประชุมก็ดี ตีกลองฉันข้าวก็ดี ตีกลอง ๓ แป๊งเพื่อลงอะไรก็ดี ให้เป็นไปตามระเบียบ เคารพสติปัญญาของอุปัชฌาย์อาจารย์แต่ก่อนๆให้ยังคงมีชีวิตอยู่เป็นมรดก เคยขอร้องบ้างแล้วแต่ว่ามันก็ไม่ได้อยู่ เปลี่ยนคนกันเรื่อย นาทีที่ 7.24 ก็เลยให้ฟังกันเรื่อยๆว่าอย่าอวดดีให้กลายเป็นคนโง่กว่าบรรพบุรุษเลย
ทีนี้ มีอะไร เดี๋ยวนี้เข้ามา ๑ ใน ๖ ของพรรษาแล้วนะ ถ้าพรรษามี ๖ ส่วนมันล่วงไปแล้ว ๑ ส่วน เหลืออีก ๕ ส่วนใช้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่ ทันเวลาที่ต้องการว่ามาบวชพรรษานี้ต้องการจะได้อะไร? ขอให้รู้ว่ามันล่วงไป ๑ ใน ๖ แล้ว ยังที่เหลืออยู่ ๕ ใน ๖ นี้ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ให้มากที่สุดได้ไปตามที่ต้องการ ไอ้มาบวชนี่ต้องการอะไร? หรือควรจะต้องการอะไร? ก็ควรจะมีแน่นอนอยู่ในใจ แต่ก็ช่วยไม่ได้หรอก ผมเชื่อว่าต้องมีคนที่มาบวชนี้ไม่รู้ว่าต้องการอะไร นอกจากเชื่อเขาว่ามันดีแน่ มันมีประโยชน์แน่ ตามธรรมเนียมต้องบวชแน่ แล้วก็บวช-บวชเพื่อโยมบ้าง อะไรบ้าง โดยที่ไม่มีความต้องการที่ชัดเจนลงไปว่าเพื่ออะไร? นั่นแหละจะทำให้ไม่ค่อยสนใจตระเตรียม ปรับปรุง จัดแจงอะไรให้มันได้ตามนั้น มันอยู่ในลักษณะที่ว่า ตื่นข่าว พอถึงฤดูบวชก็ตื่นข่าว ซึ่งมันขัดกับหลัก กาลามสูตร ที่ว่า มา อิติกิรายะ เชื่อถือ รับเอาเพราะว่าเขาเล่าลือกันอยู่ว่าอย่างนั้น ถึงได้มีบวชเพราะตื่นข่าวเล่าลือว่าดีแน่ ถ้าอย่างนี้มักจะไม่ค่อยรู้อะไรว่าต้องการอะไร? ทีนี้ คนที่ตั้งใจว่าต้องการอะไรให้ดีที่สุด ให้มากที่สุดในการบวช ๑ พรรษานี้ก็เหมือนกัน ก็ยังไม่ได้ ก็ยังไม่ได้เพราะไม่รู้ว่ามันควรจะต้องการอะไร? ที่รู้มันน้อยไปก็ได้ แต่อย่างไรเถิดก็ขอให้ได้ อย่างน้อยก็เท่าที่มันน้อยที่มันควรจะได้ ส่วนใหญ่ที่สุดที่มีค่าที่สุดมันควรจะได้อะไรนั้น มันมีอยู่เป็นระบบใหญ่ทีเดียวแหละ จะทำเล่นกะมันไม่ได้หรอกมันจำไม่ได้ ทีนี้ บางคนก็คิดว่าต้องการพักผ่อนเท่านั้นไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม ถือโอกาสการบวชเป็นการพักผ่อน ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เป็นไรมันง่ายนิดเดียว มันก็จะเป็นการพักผ่อนได้โดยง่าย ที่เป็นข้าราชการอยู่ก็ได้เงินเดือนด้วย ก็ยิ่งเป็นการพักผ่อนที่ได้เปรียบ ถ้าต้องการเพียงพักผ่อนมันก็ต้องได้แน่อาจจะได้เต็มด้วย แต่ถ้าต้องการจะรู้อะไรให้เต็มตามหลักของพระศาสนา เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เราเต็มในอนาคต ในชีวิตข้างหน้าก็ขอให้รีบ แต่แล้วมันก็จะไปติดอยู่ที่ปัญหาที่ว่า ไม่รู้ว่าอะไรอีกเหมือนกัน ไม่รู้ว่าอะไรอีกเหมือนกัน ถึงไปทำให้รู้ว่ามันคืออะไร ที่มันจะต้องการนี้มันคืออะไรที่จะรู้? มันต้องคิดให้ออกว่ามนุษย์มันต้องการอะไร? มันควรจะได้อะไรที่ดีที่สุดของมนุษย์? ถ้าต้องการรู้ศีลธรรมธรรมดา ธรรมดาก็คงไม่ยากนัก แต่ถ้าต้องการจุดสุดยอดของธรรมะของศาสนา-มันก็ลึกอยู่ มันก็ลึกอยู่ บางคนก็เห็นว่าเกินไปจนไม่ควรจะต้องการก็มี แต่เราจะคิดว่าเราสึกออกไปแล้ว ยังอีกหลายสิบปีกว่าจะตาย จะดำเนินชีวิตหลายสิบปีนั้นกันอย่างไร? ถ้าต้องการอย่างนี้แล้วก็จะต้องเตรียมตัวให้มาก ให้รู้จุดหมายปลายทาง สุดโน้นด้วยแม้ว่ายังไม่ถึง หรือมันอาจจะไม่ถึงก็ได้ แต่ก็ต้องรู้ไว้มันจะได้เดินไปถูกทาง
ผมเท่าที่รู้สึกและก็คอยบอกเตือนกันอยู่เสมอว่า อย่าไปฟุ้งซ่าน ทะเยอทะยานในลักษณะยึดมั่น-ถือมั่นให้มันมากนัก จะเอาแต่เพียงว่าฉันทุกข์ไม่เป็น จะกลายเป็นคนที่มีความทุกข์ไม่ได้ หรือทุกข์ไม่เป็น รู้จักดำรงชีวิตจิตใจชนิดที่ทุกข์ไม่เป็น ทุกข์ไม่เกิด ทุกข์เกิดยาก หรือทุกข์เกิดขึ้นแล้วสามารถจะปัดทิ้งไปทันทีได้นี้ อย่างนี้ก็เรียกว่า ทุกข์ไม่เป็น แต่อย่าไปนึกถึงแต่คำว่า พระอรหันต์ หรืออะไร ไม่ต้องนึกก็ได้มันจะทำให้ยุ่งมีปัญหาอย่างอื่นเกิดขึ้น เอาแต่เพียงว่าเราจะทุกข์ไม่เป็น ทุกข์กับเขาไม่ได้ จะมีความสุขเป็นที่พอใจ ถ้าทุกข์เกิดขึ้นจะปัดออกไปให้ได้ในทันที แล้วก็ไม่ทุกข์ ให้มีเวลาที่ไม่ทุกข์เต็มไปหมดติดต่อกันไปหมด ในที่สุดถ้าว่ามันได้จริง มันก็เป็นพระอรหันต์เอง ถึงที่สุดเอง แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่ต้องนึก พยายามทำให้เป็นอย่างนั้นอยู่เรื่อยไป บำเพ็ญบารมีในรูปนี้เรื่อยๆไป บังคับไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้ครั้ง ๑ เป็นบารมีหน่วย ๑ เต็มที่สมบูรณ์ แล้วก็ควบคุมบังคับกันไป ค่อยๆควบคุมกันไป มันก็มีบารมีเพิ่มขึ้นมาก ส่วนสกัดกั้นหรือบังคับ โลภะ ได้ครั้ง ๑ ก็มีบารมีหน่วย ๑ คือ คะแนน ๑ กำจัด โทสะ ออกไปครั้ง ๑ ก็คะแนนหน่วย ๑ กำจัด โมหะ สะเพร่า ที่เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านหลงใหลอะไรก็ตาม ก็เป็นบารมีหน่วย ๑ ใน ๓ กิเลส นี้ เดี๋ยวหน่วยนั้น เดี๋ยวหน่วยนี้ วันหนึ่งก็หลายหลายหน่วย คือ หลายๆบารมี ๑ เดือนก็หลายสิบ ๑ ปีก็หลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นได้ อย่างนี้เราจะต้องรู้จักทำและพร้อมกันไปนั้นเราก็จะมีความทุกข์น้อยลง น้อยลง ระยะที่จิตมีความทุกข์มันจะลดลง ระยะที่จิตว่าง-ไม่มีทุกข์นั้นมันจะมากขึ้น ขอให้รู้ว่า ว่าง ไม่มีความทุกข์ นั่นแหละพื้นฐานเดิมของจิต โชคดีที่ธรรมชาติมันจัดมาให้อย่างนั้น มันจัดมาให้สำหรับไม่เป็นทุกข์เป็นพื้นฐาน พอเผลอ พอทำผิด มีความโง่อะไรอย่างหนึ่ง มันจึงจะเกิดความทุกข์หรือ กิเลส ขึ้นมา แล้วเกิดความทุกข์ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นถ้ามีความทุกข์ครั้ง ๑ พอเดี๋ยวก็หมดเรื่อง มันก็ดับไปเข้าสู่สภาพที่ไม่มีทุกข์ ว่างอยู่ตามเดิมอีก เพราะฉะนั้น เราคอยระวังแต่ที่มันจะเกิด กิเลส หรือเป็นความทุกข์ขึ้นมา ศึกษาเรื่องนี้ดีให้ที่สุด แล้วก็ทำให้ได้ในที่สุด แล้วมันจะได้คือทำให้เราเป็นคนไม่ทุกข์กะเขา มีความทุกข์น้อยที่สุด ทุกข์ไม่เป็นแล้วแต่เราเป็นประโยชน์แก่คนรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลาด้วย นี่ เรียก ประโยชน์ผู้อื่น เราจะนึกถึงจะทำประโยชน์แก่ผู้อื่นที่เรียกว่า สังคม รอบตัวเราอยู่ด้วยตามสมควรที่จะทำได้ หรือเท่าที่จะมากได้ แล้วเรื่องมันมีเพียงเท่านั้น ไม่ต้องคิดมากกว่านั้นเราอยู่ด้วยความสุขส่วนตัวเรา แล้วก็การที่มีเราอยู่ในโลกนี้เป็นประโยชน์แก่สังคม คือ คนรอบๆตัวเรา แล้วเราจะไปทำประโยชน์ทางวัตถุ แล้วแต่อาชีพอะไรก็ได้ หรือว่าจะช่วยชี้ให้รู้ธรรมะ มีธรรมะ ไม่ต้องเป็นทุกข์เหมือนอย่างเราอีกก็ได้ นี่เรียกว่า สงเคราะห์ทางจิตทางวิญญาณ ก็ได้ สงเคราะห์ทางวัตถุอย่างเรามีเงินมีอะไรก็ช่วยเขาไปอย่างนี้ก็ได้ ถ้าสงเคราะห์ทั้งทางวัตถุทั้งทางวิญญาณนั่นแหละดี เพราะฉะนั้น จึงต้องเตรียมตัวไว้ด้วยว่าในอนาคตนั้นเราจะมีการสงเคราะห์ผู้อื่น พร้อมกันไปกับที่เราไม่มีความทุกข์ มีชีวิตอยู่อย่างไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วเราจะถาม จะศึกษาอะไร จะไต่ถามอะไรขอให้มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้ง ๒ นี้ ว่าเราจะไม่มีความทุกข์ จะออกไปเป็นฆราวาสชนิดที่ทุกข์กับเขาไม่เป็น นี่ เรื่องส่วนตัว นี่ลึกมากละเอียดมากนะ ไอ้เรื่องทำประโยชน์ผู้อื่นนั้นมันเรื่องข้างนอก ผิวเผิน มันยังทำง่ายกว่า แม้ว่าเรายังไม่เป็นพระอรหันต์ เราก็สอนผู้อื่นได้เท่าที่เราเรียนรู้ หรือเคยปฏิบัติมาแล้ว ยังไม่เป็นพระอรหันต์เราก็สอนผู้อื่นเท่าที่เรารู้และเคยปฏิบัติมาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เตรียมตัวไว้ด้วย สึกออกไปแม้ยังไม่เป็นพระอรหันต์นี้ก็ช่วยเหลือผู้อื่น สั่งสอนผู้อื่น เท่าที่เรารู้และปฏิบัติมาได้แล้ว ส่วนตัวเรานี้จะต้องเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์นะ แต่คำว่าไม่มีความทุกข์นี้มันกว้างขวางมาก มันลึกซึ้งมาก มันหลายระดับ ต้องสนใจกันมาก ต้องศึกษากันมาก มากกว่าที่ว่าจะไปทำประโยชน์ผู้อื่น ที่เราพูดกันอยู่เรื่อยเรื่อง กิเลส ตัณหา อุปาทาน ควบคุมมันให้ได้แล้วเราก็ไม่เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เรามันเป็นทาสของ กิเลส ตัณหา ตามสัญชาตญาณอยู่เสียส่วนหนึ่ง แล้วก็ตามที่ความเจริญก้าวหน้ามากเกินกว่าสัญชาตญาณนี้ก็อีกส่วนหนึ่ง เช่น เราจะต้องมี ราคะ กำหนัดทางเพศทางอะไรตามธรรมชาติ ตามธรรมดาของสัญชาตญาณ อย่างนี้เราก็จะต้องเอามาพิจารณาด้วยเหมือนกันว่า มันเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาต้องการให้เอาชนะ เพราะว่า จุดสุดยอดของพุทธศาสนา คือ หลุดพ้น คุณจำคำว่า วิมุตติ ในฐานะที่เป็นจุดยอดของพุทธศาสนา ถ้าหลุดพ้นแล้วก็เย็น เย็นแล้วก็เป็น นิพพาน ต้องทำให้หลุดพ้น เดี๋ยวนี้เรามันเป็นทาสของ กิเลส ตัณหา หมายถึงที่เป็นไปตามสัญชาตญาณแล้ว แล้วเรายังมี กิเลส ตัณหา เพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาล คือ ความรู้ความก้าวหน้าของมนุษย์แห่งยุควัตถุในปัจจุบัน ทำให้เราอยาก-ใคร่ในความเอร็ดอร่อยในทางเนื้อทางหนัง ภาษาศาสนาเขาใช้คำคำนี้ เรียกว่า เนื้อหนังไม่ได้หมายความตรงๆ ถ้าเขาพูดว่า เนื้อหนัง เขาก็หมายความว่า ความสุขทางวัตถุ ความสุขทางวัตถุมันจะมีปัญหากับเรามากขึ้นเหมือนกัน เพราะเขาประดิดประดอยอะไรขึ้นมาใหม่ๆแปลกๆยิ่งๆขึ้นไปทุกที พอเราอยากได้ ก็คือ เราเป็นทาสมันแหละ เพราะฉะนั้น ต้องระวังอย่าไปเป็นทาสของมัน คือ เราอย่าไปอยากได้เพราะความหลงรักใน อวิชชา คือ ความโง่ ถ้าต้องการก็ต้องการด้วยสติปัญญา เอามาเท่าที่มันจะจำเป็นหรือควรจะมี อย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าเป็น ทาส มันยังจะง่ายหรือมันยังจะควบคุมกันง่ายกว่าความรู้สึกเป็น กิเลส ที่เป็นไปโดยสัญชาตญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิเลส ตัณหา ทางเพศ ทางกามารมณ์ ที่เราเป็นทาสของมันโดยธรรมชาติ หรือโดยสัญชาตญาณตามธรรมชาติ พอร่างกายมันเจริญวัยเติบโตขึ้นมาจนถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นหนุ่มเป็นสาว ต่อม Gland ทั้งหลายทำหน้าที่เต็มที่ของมัน มันก็ต้องการความรู้สึกชนิดนั้น-เราก็ต้องไป เราก็ต้องรับใช้มัน นี่ ส่วนใหญ่ก็เล็งถึงอันนี้ที่เรียกว่า เป็นทาส ต้องลุกไปหาสถานเริงรมย์ กามารมณ์ เพื่อบำบัดความใคร่ทางกามารมณ์ หรือแม้แต่ลุกขึ้นไปสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เพื่อตนเองนี้ก็เรียกว่า เป็นทาส เหมือนกัน ไปคำนึงคำนวณดูตามที่มันผ่านมาแล้ว เมื่อคนหนึ่งมันทนอยู่ไม่ได้ต้องลุกไปบำบัดความใคร่ ที่ร้าน ที่โรงแรม ที่ไหนก็ตาม หรืออย่างน้อยที่สุดต้องไปบำบัดความใคร่แก่ตนเองตามลำพังก็ตามนี่ เรียกว่า เราเป็นทาสมัน มันจูงจมูกเราไป ถ้าอยากจะปลดเปลื้องตัวให้หลุดพ้นจากทาส-ความเป็นทาสอันนี้ นั่นแหละคือ ธรรมะ มันจะมากเกินไปหรือพอดี ไปคิดดูว่าจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนานี้ต้องการจะให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส เช่น ทำให้รัก-ก็ไม่รัก ทำให้โกรธ-ก็ไม่โกรธ ทำให้เกลียด-ก็ไม่เกลียด ทำให้กลัว-ก็ไม่กลัว ให้มันหลุดพ้นจากความเป็นทาสตามธรรมชาติ คนเราพอมีอะไรมายั่วให้โกรธ-เดี๋ยวมันก็โกรธ นี่ มันเป็นทาสของความโกรธ ทำให้กลัวมันก็กลัว มันมีกลัวตามสัญชาตญาณอยู่แล้วมันก็ต้องกลัว ต้องปฏิบัติชนิดที่ให้หลุดออกมาเสียได้จากการบีบบังคับของสิ่งเหล่านี้ ที่ให้รัก-ไม่รัก ที่ให้โกรธ-ไม่โกรธ ที่ให้กลัว-ไม่กลัว ที่ให้เศร้า-ไม่เศร้า ที่ให้วิตกกังวล-ก็ไม่วิตกกังวล ข้อผูกพันเหล่านั้นนี้เราทำลายเสียโดยที่จิตจะไม่อยู่ใต้นั้นอีกต่อไป สิ่งเหล่านั้นก็คงมีอยู่ตามเดิม แต่เดี๋ยวนี้เรามีจิตใหม่ที่อบรมดีแล้ว ที่สิ่งเหล่านั้นจะมาลากเราเอาไปเป็นทาสไม่ได้ คือ ไปรัก ไปโกรธ ไปเกลียด ไปกลัว-ไม่ได้ เรียกว่า เราอยู่เหนือ เราอยู่เหนือแม้แต่ความตาย คุณอาจจะยังไม่เข้าใจก็ได้ว่า ทำไมจึงมีพูดว่าไม่ตาย? เหนือตาย? เป็น อมฤตธรรม เหนือเกิด เหนือแก่ เหนือเจ็บ เหนือตาย คุณอาจจะเข้าใจผิดอยู่ก็ได้ ที่จริง เขาหมายความแต่เพียงว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีปัญหากับเรา มันจะเจ็บก็ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ มันจะแก่ก็ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ มันจะตายก็ไม่ทำให้จิตเป็นทุกข์ นี่เรียกว่า อมฤตธรรม ได้ อมฤตธรรม อยู่เหนือเกิด เหนือแก่ เหนือเจ็บ เหนือตาย แล้วก็มีเหนืออะไรอีกหลายๆอย่างที่ว่ามันทำให้เราเป็นทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้เป็นตามธรรมชาติ ทุกข์ตามธรรมชาติ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว กิเลส เหล่าอื่นนั้นไม่ใช่ธรรมชาติ คือ มันไม่ต้องเกิดก็ได้ ไม่เหมือนกับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่มันต้องเกิดแน่ แต่เรื่องรัก เรื่องโกรธ เรื่องอะไรซึ่งไม่ใช่ธรรมชาตินั้นมันก็มี ทีนี้ ถ้าเราโง่/เผลออะไรไป มันก็มาเป็นนายเหนือเรา มันมาสวมเอาเรา เราก็จะต้องเปลื้องเอาไปให้พ้นเหมือนกับเราเปลื้องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ออกไปได้ไม่ได้หมายความว่าคนๆนั้นจะไปอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว จะไปเกิดในชาติหน้าแล้ว ไม่มีความแก่ ไม่มีความเจ็บ ไม่มีความตาย อย่างนั้นไม่ใช่ ถ้าเข้าใจอย่างนั้นมันก็ผิด แต่ก็มีคนเข้าใจอย่างนั้นอยู่เหมือนกัน จะเกิดในโลกที่ไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย-มันบ้า มันต้องมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายอย่างนี้ แต่ว่ามันไม่มีปัญหาแก่เรา มันไม่ทำอันตรายเรา ไม่ต้องมีความทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เรียกว่า อยู่เหนือ เป็นพระอรหันต์อยู่เหนือ เราก็หัดตามรอยพระอรหันต์ไปได้โดยไม่อวดดีว่าจะเป็นพระอรหันต์ หรืออะไรก็ได้ แต่เราจะให้ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้มีความหมายน้อยลง น้อยลง น้อยลง จนไม่ย่ำยีจิตใจของเราให้เป็นทุกข์ ในอนาคตเมื่อคุณสึกออกไปแล้วคุณไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้หรืออย่างไร? จะไปมีชีวิตชนิดที่ไม่มีอะไรทำให้จิตใจเป็นทุกข์ ทั้งชนิดธรรมชาติ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และชนิดที่มิใช่ธรรมชาติ คือ ไปเป็นทาสของอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น คือ เป็นทุกข์ชนิดที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ที่จะต้องมีแน่นอน คือ เกิด แก่ เจ็บ ตายต้องมีแน่นอน/ตายตัว ทีนี้ ทุกข์ที่มันไม่ได้ตายตัว มันอยู่ที่ความโง่ของเราว่า มี หรือ ไม่มี มีมาก-หรือมีน้อย ไปยึดมั่น-ถือมั่นในสิ่งใดเข้าก็เป็นทุกข์เพราะเหตุนั้น ไม่ยึดมั่น-ถือมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ก็เรียกว่า อิสระ เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จำคำว่า อิสระ มีจิตที่เป็นอิสระ แล้วมันก็หลุดพ้น หลุดพ้นจึงเป็นอิสระ หรือเป็นอิสระที่เรียกว่า หลุดพ้น แล้วแต่จะมอง มันหลุดพ้น พอหลุดพ้นมันก็เย็นเป็น นิพพาน แล้วมันปกติที่สุด
ไอ้ ๒-๓ ความหมายนี้พัวพันกันอยู่-จำไว้ให้ดีดี ต้องหลุดพ้น ต้องเป็นอิสระ แล้วก็ต้องปกตินะ ไม่มีอะไรที่ผิดปกติแก่จิตนี้ แล้วก็เย็นเป็น นิพพาน เพราะฉะนั้น อยู่ด้วยจิตที่เย็นเป็น นิพพาน ก็คือ จิตที่หลุดพ้น ที่อิสระ ที่ปกติ ที่บริสุทธิ์ แต่ความหมายทางศาสนาเขาใช้คำว่า หลุดพ้น เป็นส่วนใหญ่ วิโมกข์ ก็หลุดพ้น วิมุตติ ก็หลุดพ้น หลุดพ้นแล้วก็เย็นเป็น นิพพาน เอง ให้อยู่ด้วยความหลุดพ้น ผลของ วิชชา และ วิมุตติ ความรู้แล้วก็หลุดพ้น อยู่ด้วยผลของ วิชชา และ วิมุตติ เป็น วิหาร การอยู่ของพระอรหันต์
มันมีสูตรอยู่สูตรหนึ่งมีคนมาถามพระพุทธเจ้าว่า อัญญเดียรถีย์ เหล่าอื่นทั้งหลาย เขาสนุกสนานกันอยู่ตลอดวัน ด้วยการพูดจาโต้เถียงกันว่า ของท่านผิด ของเราถูก เราพิสูจน์ความผิดของท่าน เราพิสูจน์ความถูกของเรา แล้วก็สนุกสนานกันอยู่ตามแบบของ เดียรถีย์ เหล่าอื่น แล้วพระสมณโคดมเล่าเป็นสุขสนุกสนานอยู่ด้วยอะไร? พระพุทธเจ้าตอบว่า เราอยู่สนุกสนานอยู่ด้วย ผล ของ วิชชา และ วิมุตติ ผลของ วิชชา และ วิมุตติ คือ รู้เท่าทันธรรมชาติ เรียกว่า วิชชา ไม่มี อวิชชา / วิมุตติ คือ หลุดพ้นจากความเป็นทาส เพราะฉะนั้น สิ่งทั้งปวงที่ว่ามาเมื่อกี้นี้ เราสนุกสนานอยู่ด้วย ผล ของ วิชชา และ วิมุตติ ในเมื่อลัทธิอื่น เดียรถีย์ อื่น เขาสนุกสนานอยู่ด้วยการยกวาทะ อวดความรู้ ความเป็นอยู่ลัทธิของตน เป็น สัจจาภินิเวส อย่างนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น อย่างนี้ของฉันเท่านั้นถูก-ของคนอื่นผิด เขาก็สนุกของเขาได้ ทีนี้ เราในฐานะเป็นพุทธบริษัท-สาวกของพระพุทธเจ้า ขอเป็นสุข-สนุกอยู่ด้วย ผล อันเกิดมาจาก วิชชา และ วิมุตติ เพราะฉะนั้น คุณก็หา วิชชา คือ ความรู้ที่ควรจะรู้ให้มันพอ แล้วมันก็ วิมุตติ คือ หลุดจากความเป็นทาสที่เป็นตามธรรมชาติ หรือที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง ก็คือ ธรรมชาติเหมือนกัน แต่มนุษย์สร้างขึ้นเองหรือเรียกว่าควบคุมได้ สำหรับความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นธรรมชาติเราควบคุมมันไม่ได้ไม่ให้เป็นอย่างนั้น แต่เราทำให้มันไม่มีอิทธิพลเหนือเราได้ ไม่ให้เกิดความทุกข์แก่เราได้ ตรงนี้คงจะเป็นบทเรียนที่ยาก ที่ว่าจะไม่ต้องเดือดร้อนเป็นทุกข์เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องเรียนให้พอ ต้องศึกษาให้พอ ที่เคยพูดมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่า เห็นเช่นนั้นเอง ให้มันพอให้มันเพียงพอ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท อะไรนั้นคือเป็นเช่นนั้นเอง เห็นเช่นนั้นเองให้ยิ่งเข้าถึงให้จริงแล้วมันก็พอ ความเกิดก็เช่นนั้นเอง ความแก่ก็เช่นนั้นเอง ความเจ็บก็เช่นนั้นเอง ความตายก็เช่นนั้นเอง ความหายก็เช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเองไปหมด อย่างนี้เขาเรียกว่า อยู่ด้วย วิชชา สูงสุด คือ เห็นเช่นนั้นเอง รู้เช่นนั้นเอง แล้วก็หลุดจากความบีบคั้นผูกพันของสิ่งที่เราเรียกกันว่า เป็นทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ดี ยึดมั่น-ถือมั่นเป็นทุกข์ เพราะความได้-ไม่ได้อะไรก็ดีที่มันจะเกิดขึ้นเพราะมนุษย์สร้างขึ้น เขาเรียก เพลิงกิเลส และ เพลิงทุกข์
เพลิงทุกข์ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
เพลิงกิเลส คือ กิเลส ทั้งหลายที่เราจะไปสร้างมันขึ้นนั่นแหละ เรียกว่า เพลิงกิเลส
ทั้ง เพลิงกิเลส และ เพลิงทุกข์ พระพุทธเจ้าดับสนิทแล้ว นี่เรียกว่า นิพพาน นี่เราก็ทำอย่างเดียวกันเท่านั้น ให้ เพลิงกิเลส มันไม่เกิดขึ้น เพลิงทุกข์ มันจะเกิดขึ้น-ก็ดับได้ ดับได้ด้วย เช่นนั้นเอง หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ เช่นนั้นเอง จะดับพิษสงอันเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นนั้นเองอันนั้นอีกแหละจะดับความหลงหรือดับความยั่วยวนของ รูป เสียง กลิ่น รส / ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราเห็นเช่นนั้นเองของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วก็หมดปัญหาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้เหมือนกัน คุณลองนึกถึงอนาคตสิว่า เราจะไปเผชิญเข้ากับความยั่วของ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทาง อายตนะ ทั้ง ๖ นี้จะมากน้อยสักเท่าไหร่ ทีแรกมาแต่หนหลังเราก็เคยรู้รสมาแล้ว พอมาบวชอยู่นี้ก็ย้อนนึกถึงอีกทีก็ได้เพื่อการศึกษา หรือนึกไปล่วงหน้าในอนาคตว่าจะไปเผชิญกับมันอีกนี้จะไปเผชิญกับมันอย่างไร? นี่ เรามาเรียนเรื่องนี้ เรามาฝึกเรื่องนี้ มาปฏิบัติเรื่องนี้ เรียนให้พอ ฝึกให้พอแล้วตลอด ๑ พรรษา ก็จะกลับไปเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่าก่อนแน่ เพราะฉะนั้น ใครก็มีเรื่องของตนโดยเฉพาะไม่ค่อยเหมือนกันหรอก ฉะนั้น ขอให้จัดโปรแกรมเฉพาะตน เฉพาะตน จะศึกษาอย่างไร? จะปฏิบัติอย่างไรให้ทันกับเวลา? ให้รู้สิ่งที่ควรจะได้รู้เสียในระหว่างบวช ให้ฝึกในสิ่งที่ควรจะได้ฝึกเสียในระหว่างบวช จะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์หลังจากที่ว่าจะต้องลาสิกขาออกไป
นี่ ผมพูดสำหรับผู้ที่จะยังลาสิกขา หมายความว่าให้จัดโปรแกรมให้ทันแก่เวลา ส่วนผู้ที่ยังไม่ต้องลาสิกขานี้จะขี้เกียจ หรือจะเนือยๆ จะขับเคลื่อนไปอย่างไรก็ยังได้ แต่มันก็เป็นความประมาทหรือเป็นความโง่เหมือนกัน ทั้งผู้ที่จะลาสิกขาหรือไม่ลาสิกขาควรจะทำให้เต็มที่ด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ปัญหาอะไรจะเกิดจะมีขึ้นมา ก็ขอให้มันเข้ารูปกับเรื่องที่เราตั้งไว้เป็นหลักสำหรับเรา ว่าเราจะเอาอย่างไร? และอย่าลืมว่ามันก็เท่านั้นแหละ เท่าที่ผมพูดเมื่อกี้นี้ เราไม่เป็นทุกข์ เรียกว่า ไม่เป็นทุกข์ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์ ความทุกข์จะเกิดขึ้น-เราสามารถปัดออกไปทันทีทันควันได้ ไม่ต้องทนทุกข์ และก็การที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์รอบด้านทุกคนนั้นอย่างไร? ผมคิดว่าควรจะนึกไว้ตั้งแต่บัดนี้เหมือนกัน มันจะเข้าใจได้ดีกว่า เพราะว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังรู้จักความทุกข์ของเราเองดี เราก็ควรจะคิดถึงความทุกข์ของผู้อื่นที่เราจะช่วยเขาในอนาคตด้วยก็ดี มันจะแจ่มแจ้งมากขึ้น เดี๋ยวนี้เราจะมองดูว่าปัญหาของเราโดยเฉพาะนี้ แต่แล้วปัญหาของเพื่อนมนุษย์คนอื่นก็เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องของ กิเลส และความทุกข์แล้วมันก็เหมือนกัน คุณแยกให้มันเห็นชัดๆแล้วบันทึกไว้ อย่าให้มันลืมเสีย อย่าให้มันตีกันยุ่ง คนที่อวดดีว่าเราจำได้ ไม่จด ไม่บันทึกนี้ ในที่สุดก็ไม่มีอะไรเหลือ มันเหลือน้อยมาก ความรู้มันลืมได้ จดไว้กันลืมพอลืมจะได้มาดู จนกว่าเมื่อไรมันแจ่มแจ้ง ปฏิบัติผ่านไปแล้วมันจึงจะไม่ลืม แต่ในระยะอันสั้นแล้วเรื่องมากเรื่อง ร้อยเรื่อง สิบเรื่อง ร้อยเรื่องนี้มันต้องช่วยจด หรือว่าไม่จดกระดาษก็ต้องจดในใจ คือ ไปนั่งคิดนึก คิดนึก ทบทวน ทบทวน ทบทวนอยู่เสมอ อย่างนี้เรียกว่า จดลงในหัวใจ ผมว่าสมัยนี้สะดวกที่สุดเพราะมันมีกระดาษดินสอหาง่าย ช่วยความจำ ช่วยบรรเทาความยาก จดไว้ในสมุดเล็กๆเล่มหนึ่งก็ได้ก็พอ สมุดเล็กๆเล่มหนึ่งก็พอว่าเราต้องทำอะไร? ควรทำอะไร? คือควรจะได้อะไร? แล้วจะได้มันอย่างไร? แล้วมาแต่หนหลังมันตอบคำถามนี้ จะช่วยตอบคำถาม มันช่วยตอบคำถาม มันประกอบด้วยการตอบคำถามมากทีเดียว เรื่องแต่หนหลังเอามาคิดนึกได้ เดี๋ยวจะไปเข้าใจผิดที่บทธรรมะบทหนึ่งที่ว่า อตีตังนานวา คะเมยยะนัปปฏิกังเขอนาคะตัง (นาทีที่41:14) เขาไม่ได้ห้ามอย่างนี้ หมายถึงกังวลด้วย กิเลส อดีต อนาคตนี้ ทีนี้ เราเอาอดีตมาศึกษาแล้วเราเตรียมการสำหรับจะแก้ปัญหาอนาคต มันก็เลยกลายเป็นเรื่องปัจจุบันไปหมด เอาอดีตมาศึกษาเดี๋ยวนี้ได้เรื่องปัจจุบัน และเตรียมป้องกันปัญหาในอนาคตก็คือเรื่องของปัจจุบัน ผมได้ยินหลายคนยังโง่ยังตีความข้อนี้ผิด ว่าเรื่องในอดีตเอามาคิดนึกไม่ได้ หรืเรื่องอนาคตเอามาคิดนึกไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ประสงค์อย่างนั้น ท่านประสงค์ว่าอดีตที่มันเป็น กิเลส เป็นรบกวนนั้นตัดทิ้งไปเสีย แต่อดีตที่เอามาศึกษาให้รู้อะไรอะไรได้นี้ ให้เกิด สันทิฏฐิโก ได้นี้ ก็ต้องเอามา ความโง่ของตัวเอง ความทุกข์ของตัวเอง ความผิดพลาดของตัวเอง กระทั่งความถูกต้องของตัวเองซึ่งมันต้องบ้างเหมือนกันแม้จะไม่มาก ก็เอามาทบทวนใหม่ ศึกษาได้
นี่ เรียกว่าเราทำความรู้จักกับไอ้สิ่งที่เรียกว่า ตัวเอง นั้นเสียก่อน ที่จริงก็บอกแล้ว รู้กันแล้วว่าไม่มีตัวตนอะไรที่ไหน ตัวเองนั้นคือร่างกายกับจิตใจที่จับกลุ่มกันอยู่ เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาปรุงแต่งแวดล้อม นั่นแหละคือ ตัวเอง แต่เมื่อเราพูดภาษาธรรมดาธรรมดาว่า ตัวเอง คือ ตัวเรา ที่กำลังมีปัญหา นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ยากลำบากที่จะมองเห็นว่าสิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงแต่ธรรมชาติตามธรรมดา-มิใช่ตัวตน ถ้าเห็นเป็นธรรมชาติ-ธรรมดามันเห็นเช่นนั้นเอง แล้วมันก็ไปในทางไม่มีทุกข์ ทีนี้ ไม่เห็นเป็นธรรมชาติธรรมดามันก็มีตัวตน ก็ควบคุม กิเลส ยาก ควบคุมลำบากเพราะ กิเลส มันอยู่ที่ตัวตน มันตั้งอยู่ที่ตัวตน ถ้าความรู้สึกโดยแท้จริงมันไม่เป็นตัวตน กิเลส ก็ไม่รู้จะเกิดอย่างไร นี่คือหัวข้อหรือว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบวช การเรียน การไปอยู่ในป่า เพื่อจะศึกษาอะไรสักระยะหนึ่ง สมัยนี้ก็ดี สมัยโน้นก็ดี เหมือนกันในอินเดียก็ดี เขาก็มีว่าไปบวช ไปเข้ามหาวิทยาลัยของศาสนาสักระยะหนึ่ง แล้วก็กลับออกมาอยู่ต่อสู้ในโลก ไปเข้ามหาวิทยาลัยของฤๅษี มุนี ศาสดา ที่จริงนั้นของธรรมชาติ ไปเข้ามหาวิทยาลัยของธรรมชาติเป็นพิเศษสักระยะหนึ่ง พอความรู้เพียงพอแล้วก็ออกมาดำรงชีวิตชนิดที่ธรรมดาแต่ว่าไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราบวช ๓ เดือนก็เข้ารูปนั้น มันก็เข้ารูปนั้น เรียกว่า ศึกษาธรรมะ ศึกษาพุทธศาสนามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าก็ได้ แต่ที่แท้เป็นมหาวิทยาลัยของธรรมชาติให้รู้พอพอตัว ต่อไปนี้จะลาสิกขาหรือไม่ลาสิกขาก็ตามใจ เพราะฉะนั้นจะต่อสู้ความทุกข์ได้ อยู่เหนือความทุกข์ได้ ชนะความทุกข์ได้ หลุดพ้นได้มากขึ้นทุกที อย่าเผลอไปอยู่ใต้อำนาจของ กิเลส ของอารมณ์ ความทุกข์มันมีน้อยเข้าทุกที รู้จักทำจิตให้ปกติ ทำจิตให้อิสระ ทำจิตให้เย็น พอใจอยู่กับการกระทำที่กำลังกระทำอยู่ แม้จะแจวเรือจ้าง จะถีบ ๓ ล้อ จะล้างท่อถนนหรืออะไรก็ตาม มันพอใจได้แล้วมันก็ใช้ได้ มันก็ไม่มีความทุกข์-มันก็เย็น ถ้าไปเห่อตามเทวดาเข้า-มันก็ร้อน เทวดาเป็นมาร เทวะบุตรเป็นมาร ก็คือว่า มันล่อให้เราเห่อจะเอาเหมือนอย่างเทวดาจนเราวินาศฉิบหายเสียเอง เทวะบุตรมารตามความเข้าใจของผม แต่เขาก็ไม่ได้ว่าอย่างนี้ แล้วเขาก็ด่าเราว่าอธิบายอย่างนี้หลอกคนดู แต่ว่าเทวดาบนสวรรค์จริงๆลงมาหลอกล่อให้คนเป็นทุกข์ เขาก็ว่ากันอย่างนั้นก็ตามใจเขา คนที่อยู่ในโลกด้วยกัน มนุษย์ด้วยกันที่มันสบาย เป็นอยู่อย่างสบาย คนจนมันก็ตามเขาหยุดไม่ได้ เลิกไม่ได้ เมื่อคนร่ำรวยกินเหล้า คนจนก็จะกินเหล้า เย็นลงก็กินเหล้า คนร่ำรวยเที่ยวผู้หญิง คนจนก็จะเที่ยวผู้หญิง นั่นคือว่า เทวะบุตรมารทำให้คนจนคนธรรมดาเอาชนะความทุกข์ไม่ได้ ในที่สุดก็เหลือแต่เรื่องของจิตที่โง่เขลา มี อวิชชา เป็นทุกข์ เพราะมันได้ชิมรสแห่งความทุกข์เพียงพอกันแล้ว มันก็คิดจะเลิกละความทุกข์นั้น แล้วไม่มีใครช่วยได้นอกจากตัวเอง มันต้องปรับปรุงตัวเองให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา เดี๋ยวมันก็ช่วยตัวมันเองได้ พระพุทธเจ้าก็จะไม่ช่วยอย่างที่เรียกว่ามายกพาไป ท่านก็ชี้ทาง ท่านชี้ทางให้ช่วยตัวเอง ให้ถอนตัวเองออกมาจากความเป็นทาสของ อวิชชา ซึ่งเป็นบ่อเกิดของสรรพ กิเลส ทุกอย่างทุกประการ บ่อเกิดของความทุกข์ทุกอย่างทุกประการ เมื่อความทุกข์เกิด ความทุกข์ชนิดไหนเกิดอยู่ในใจเผาลนเร่าร้อนอยู่ในใจ ก็รีบศึกษามันทันทีนั่นแหละดีที่สุด รีบศึกษาที่ตัวความทุกข์นั้น เข้าโรงเรียนของธรรมชาติกันเลย ไม่ต้องเป็นความทุกข์มากมายก็ได้ เพียงแต่หม่นหมอง-จิตใจหม่นหมองแล้วก็รีบศึกษาความหม่นหมองให้ละเอียดที่สุด จนมันหายไปจนแก้มันได้ นี่เรียกว่า เราเข้ามหาวิทยาลัยของธรรมชาติ แล้วมันก็จะมากขึ้น มากขึ้น คือ รู้มากขึ้น รู้มากขึ้น รู้มากขึ้น จนรู้พอตัว
เดี๋ยวนี้เรายังเป็นคนธรรมดาอยู่กี่มากน้อยก็ให้รู้เสียเถิด เรายังโลภง่าย โกรธง่าย โง่ง่าย หลงง่ายอะไรอยู่กี่มากน้อยก็ให้รู้เสียเถิด แล้วก็ทำให้มันน้อยลง น้อยลง น้อยลง ให้มันเกิดขึ้นมาโดยยาก กระทั่งมันเกิดไม่ได้เพราะเรามีสติสัมปชัญญะพอสำหรับจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้ เรียกว่า ต้องรู้จักเข็ดหลาบ เมื่อมีความทุกข์อีกก็ศึกษาให้รู้แตกฉานไปเลย จะได้ป้องกันได้ ไม่หยุดแม้แต่มีความทุกข์น้อยๆ เช่น มีนิวรณ์ที่เรียกว่าความทุกข์น้อยๆรบกวนจิตใจ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา อย่างนี้เกิดทุกวัน เกิดเป็นประจำตลอดชีวิตนี้ ก็จัดการกับมันรายตัวไปเลย ศึกษาให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เพราะเหตุไร? วิธีใด? ควบคุมมันได้โดยวิธีของสมาธิ โดยวิธีของการทำสติป้องกัน เพราะฉะนั้น เวลาไม่มากหรอกสำหรับ ๓ เดือนสำหรับศึกษาฝึกฝนสิ่งเหล่านี้ ทำให้เป็นที่แน่ใจว่าให้เรารู้เพิ่มขึ้นในฐานะเป็นผู้ชนะ ชนะ ชนะ ไม่แพ้ คือ ชนะให้มากขึ้น มากขึ้น คือ ไม่แพ้ พอแพ้ก็คือ ทุกข์ คือ เป็นทุกข์ พอไม่เป็นทุกข์ ก็คือ ผู้ไม่แพ้ เพราะมันเป็นชีวิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์แล้วกลับมีประโยชน์แก่สังคมรอบด้าน นี่ มาตรฐานของพระอรหันต์ก็มีอยู่อย่างนี้ เราก็ลองไปฝันหวานดูบ้าง เดี๋ยวนี้เรายังไม่เป็นพระอรหันต์รู้จักฝันหวานเอาบ้าง จะอยู่อย่างไม่รู้จักเป็นทุกข์ จะไม่เป็นทุกข์อะไรเลย และให้การเป็นอยู่ของเราเป็นประโยชน์แก่คนรอบด้าน
เดี๋ยวนี้เราพ่ายแพ้แก่สิ่งที่จะมาสนองความอยาก หรือ กิเลส ของเราอยู่ตลอดเวลา สันทิฏฐิโก ในพุทธศาสนาสำคัญมาก คือ เรียนจากความรู้สึก ได้รับผลอยู่ในความรู้สึก จะต่อสู้อยู่ในความรู้สึก เรียกว่า สันทิฏฐิโก ภาษาอังกฤษมีอยู่คำ Infinitism / Infinitism (นาทีที่ 53:50) คือไม่อาศัยตำรา ไม่อาศัยบอกเล่าอะไร เรียนมาจากความรู้สึกแล้วมันก็พูดไปตามความรู้สึก เมื่อเทศน์ก็เทศน์ไปตามความรู้สึก เมื่อเรียนก็เรียนจากความรู้สึก คำนี้เป็นหลักการในพุทธศาสนา Infinitism (นาทีที่54:20) แต่เราก็ต้องเรียนจากหนังสือหนังหาตำรับตำรานั้นเป็นเบื้องต้น เพื่อให้เราสามารถเรียนจากความรู้สึกของเราในภายใน จะปฏิบัติจัดการลงไปกับ กิเลส ในภายใน ทีนี้ พอถึงคราวจะพูดให้เพื่อนฟังก็พูดไปตามความรู้สึก ผมชอบทำอย่างนี้ ชอบพูด ชอบเทศน์ ชอบปาฐกถาจากความรู้สึก ทีนี้ เพื่อให้คำพูดของเรามีหลักฐานบ้างจึงอ้างพระพุทธภาษิต อ้างพระไตรปิฎกเป็นเครดิตหน่อย ให้เขาเอาคำของเราไปศึกษาใคร่ครวญดู หรือว่ามันง่ายหน่อยถ้าเราจะอาศัยหลักพุทธภาษิต พระคัมภีร์ มันง่าย มันทำได้ง่ายหน่อย แต่มันไม่กระจ่าง แจ่มแจ้ง ชัดเจนได้หรอกถ้าเราไม่พูดไปตามความรู้สึก มันพูดได้เท่าตัวหนังสือ
นี่ผมก็ทำให้เสียเวลาไปแยะแล้วก็เพื่อให้รู้ว่า คุณควรจะมีปัญหาอย่างไร? คุณควรจะตั้งปัญหาอย่างไร? ให้มันเกิดผลตรงกับที่ว่า เรามีเจตนามาลองบวชดูสัก ๓ เดือน เพราะฉะนั้น จงตั้งปัญหาชนิดที่ว่ามันเป็นปัญหาจริง และจะใช้แก้ปัญหาจริงๆเมื่อได้รับคำอธิบาย คำอะไรก็ให้มันตรงกับปัญหาจริงๆ แล้วก็จะดับปัญหา ขจัดปัญหาได้จริง ก็ควรจะเป็นปัญหาจริงเฉพาะคนเป็นคนๆไปเลย ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไปไม่อาจจะถามในที่ประชุมอย่างนี้เพราะกระดาก ละอาย เอาไว้ถามเฉพาะคนก็ได้เหมือนกัน ในเวลาอื่นก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เปิดเผยได้ไม่ต้องละอายก็ถาม ก็วิจารณ์กันในที่ประชุมอย่างนี้ก็ได้ แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันก็ไม่ควรละอายต่อกัน จนไม่กล้าถามปัญหาชนิดที่เป็นธรรมชาติธรรมดาที่สุดของมนุษย์ทุกคน
ทีนี้ เวลาเหลืออยู่บ้างสักครึ่งเวลา ใครมีปัญหาอะไรก็เอาเถิด?
ถาม : กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ปัญหานี้ไม่ทราบว่าจะซ้ำกับที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายไปแล้วหรือไม่นะครับ คือ ปัญหาที่ผมอยากกราบเรียนถามเป็นรูปว่า ตามบทที่สวดมนต์ที่ ภัทเทกรัตตคาถา นี้นะครับ ไม่ให้คนเรานี้คิดถึงเรื่องที่เป็นอดีตหรือเรื่องที่จะเป็นอนาคตนี้นะครับ อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ทางด้านกามหรือว่าเป็นเรื่องความทุกข์ทางด้านอื่นทั้งหมดของมนุษย์ ที่เกิดมีมนุษย์บางคนหรือเพื่อนฝูงเราบางคนเกิดวิตกกังวลในเรื่องที่เป็นอดีตมาแล้ว และก็วิตกกังวลในเรื่องที่จะเป็นไปในอนาคตนี้ เราจะมีธรรมะข้อไหนบ้างที่จะแก้เขาได้ ไม่ให้เขาคิดถึงเรื่องเหล่านี้?
ตอบ : คำอธิบายในบาลีก็มีเหมือนกัน คือ การที่ไม่ผูกพัน-ไม่อาลัยกับที่แล้วมา-ไม่หวังกับอนาคต คือ พูดกันให้มันชัดเจน สูตรนี้ตั้งชื่อว่า ภัทเทกรัตติสูตร ภัทเทกรัตติคาถา แสดงลักษณะของ ภัททบุคคล (นาทีที่ 59:34) คือ คนที่แจ่มใส งดงาม แจ่มใสในที่นี้ ภัทท (ออกเสียงว่า พัด-ทะ) (นาทีที่ 59:42) ก็คือว่า สดชื่น แจ่มใส เป็นสุข ทีนี้ถ้าต้องการจะเป็นคนสดชื่น แจ่มใส เป็นสุข มีลักษณะอย่างนั้น ก็อย่าอาลัยในอดีต-แล้วก็อย่าหวังในอนาคต ถ้าใช้คำธรรมดาก็ต้องใช้รวบรัดอย่างนี้ อาลัยในเรื่องของ กิเลส ที่เป็นอดีต และ อย่าหวังในเรื่องของ กิเลส ในอนาคต ใช้คำธรรมดาเป็นภาษาไทย ก็ใช้คำว่า อาลัยในอดีต คือ อาลัยในเหยื่อของ กิเลส ในอดีต และก็อย่าหวัง อาสา / อาสา แปลว่า หวังในเหยื่อของ กิเลส ของอนาคต อย่าแผ้วถางทางให้ กิเลส ในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่รู้เรื่องอดีต-ไม่รู้เรื่องอนาคต แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ศึกษาเรื่องอดีตหรือเรื่องอนาคต เดี๋ยวนี้เรามันอาลัยแต่ในเรื่องที่ผูกพันที่ยึดถือของ กิเลส ในอดีต ไม่รู้จักปล่อยวาง-ไม่รู้จักสิ้นสุด อย่าอาลัยในสิ่งที่ยึดมั่น-ถือมั่นมาแล้วในอดีต และอย่า อาสา หรือหวังสำหรับจะยึดมั่น-ถือมั่นในอนาคต เท่านี้ก็พอ ความหมายมันก็พอ เอาอดีตมาศึกษาก็ได้-เอาอนาคตมาวางแผนการก็ได้ แต่ไม่ใช่เพื่อจะไปยึดมั่น-ถือมั่นให้เกิดการยึดมั่น-ถือมั่นที่เป็น กิเลส ในสิ่งใด ทำให้ถูกอย่างยิ่งอยู่ในปัจจุบัน ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ (นาทีที่ 62:03) ให้เห็นแจ้งอยู่ในกรณีนั้นๆในปัจจุบันนี้ ก็เหมือนอย่างนี้ถ้าเอาอดีตมาพิจารณาอยู่เดี๋ยวนี้ ก็แจ้งอยู่ในอดีต หรือว่าอนาคตถ้าพลาด เผลอ โง่อย่างอดีตมันก็จะมีความทุกข์อย่างอดีต เพราะฉะนั้น จะหยิบเอาอะไรมาพิจารณาก็แจ่มแจ้งในกรณีนั้นๆอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าเรายึดถือ ขันธ์ ในอดีต ก็เรียกว่า อาลัยในอดีต หมายมั่น ขันธ์ ในอนาคต ก็มี อาสา ในอนาคต ล้วนแต่เป็น กิเลส ด้วยกัน อาลัยในอดีตก็ด้วยอำนาจของ กิเลส คือว่า อาลัยอาวรณ์อย่างถอนไม่ได้ มีตัวตนในอดีตมันก็ยังอาลัยอาวรณ์อยู่ ทีนี้ก็หมายมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตสำหรับตัวตนในอนาคต คนชนิดนี้จะซูบเศร้า ทนทรมาน เผาลน ไม่แจ่มใส ภัทเทกรัตต มีราตรีมีอายุอยู่วันเดียวก็แจ่มใส ก็น่าชม เราแปลกันว่า น่าชม ภัทท (ออกเสียงว่า พัด-ทะ) (นาทีที่ 64:07) แปลว่า เจริญ น่าดู สวย น่าดู น่าดู
อย่าเอาเรื่องในอดีตมาทำให้เสียเวลา-แต่เอามาทำให้เป็นสติปัญญาได้
อย่าเอาเรื่องในอนาคตมาทำความเผาลนแก่จิตใจ-แต่จะมาพิจารณาเพื่อควบคุมมันให้ถูกต้องนี้ได้
เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง เราจะรู้เท่าทันอนาคตเพราะว่าอารมณ์ทุกอย่างมันจัดเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคตได้ หรือว่า ขันธ์- รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้มันจัดเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้
ก็จะละความอาลัยใน ขันธ์ ในอดีต
ไม่ อาสา- หวังใน ขันธ์ อันเป็นอนาคต และ
ขันธ์ เป็นปัจจุบันนี้ศึกษาแก้ไขทำให้หมดปัญหา
อดีตมันล่วงไปแล้ว-ให้มันแล้วไป ในส่วนที่มันเป็นเรื่องเป็นเหตุ เป็นผล เป็นกรรม เป็นอะไรต่างๆนี้เลิกไปเสีย แต่มันก็ยังเอามาใช้เป็น พยาน เรียกว่า เป็น พยาน เป็นการศึกษา เพื่อหาความแน่นอนเกี่ยวกับธรรมะ-ได้ เพราะเรื่องในอดีตทุกเรื่องมันเป็น สันทิฏฐิโก อยู่ในใจ-เอามาใช้ศึกษาได้ เรื่องในอนาคตไม่มี สันทิฏฐิโก ได้แต่มาดหมาย คำนึง คำนวณ แต่เราก็อาจจะควบคุมได้โดยมีความรู้ ความเข้าใจ มีปัญญาเดี๋ยวนี้อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้น จึงเน้นว่า จงทำสติปัญญาเดี๋ยวนี้ให้เพียงพอ แล้วมันจะควบคุมอนาคตเอง ทำปัจจุบันให้ดีแล้วอนาคตจะถูกควบคุมเองเพราะปัจจุบันนี้มันแจ่มแจ้ง เราจะเอาอดีตมาศึกษามาศึกษาได้ แล้วก็ศึกษาอยู่ในปัจจุบันเพื่อควบคุมอนาคต ในอนาคตมันไม่มีอะไรที่จะเอามาศึกษา มันเอามาศึกษาไม่ได้เพราะมันยังไม่เกิด เราก็มีหน้าที่แต่เพียงว่า จะมีสติปัญญาพอที่จะควบคุมอนาคตได้ ไม่ให้มันเกิดทุกข์ขึ้นมา ปฏิกังเข นั้นมันหวังที่จะได้ นี่เราไม่ได้หวังที่จะได้ เราหวังที่จะควบคุมมันอย่าให้กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา มันคนละคำพูด ไม่ได้หวังจะได้อะไร จะเอาอะไร เอาสุขสนุกสนานเอร็ดอร่อยอะไรในอนาคตนั้น แต่หวังจะควบคุมอนาคตอย่าให้เป็นพิษขึ้นมา
มีอะไรอีกไหม? ปัญหานี้ว่าไปให้หมด ถ้ามีอะไรจะถามอีก เกี่ยวกับปัญหานี้ก็ถามอีกได้
ถาม : ปัญหานี้รวมทั้งเรื่องที่ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องทุกข์ด้วยใช่ไหมครับ? ที่อาจารย์บอก
ตอบ : ทุกข์ เกี่ยวกับทุกข์
ถาม : ถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับไม่ใช่ทุกข์ ก็ ..
ตอบ: อย่าให้มีความทุกข์เกิดขึ้นในอนาคต เอาความทุกข์ในอดีตมาศึกษาในปัจจุบันให้เข้าใจจนว่าจะควบคุมไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นในอนาคต มิฉะนั้นเราจะทำไม่ทัน เราจะทำไม่มากพอที่จะพ้นความทุกข์ในอนาคต เอาความเคยชินแต่หนหลังมาเป็นพยาน มาทำให้เราเกิดความกลัว ทำให้เราเกิดความละอาย เกิดความเข็ดหลาบ ไม่อยากจะซ้ำรอยอย่างนั้นอีก
อย่างเดี๋ยวนี้เรามานั่งใคร่ครวญพิจารณาอยู่ในที่อันสงบสงัด ว่าความโง่ในอดีตเป็นอย่างไร? ความผิดพลาดเผาลนโดยความทุกข์เป็นอย่างไรในอดีต? แล้วเราทำผิดอย่างไร? เท่าไร? อันนั้นแหละจะต้องไม่ผิดอีก เราจะรู้แจ้งมันเสียไม่ให้มันซ้ำรอยอีกในอนาคต ไอ้ที่ว่าความทุกข์นั้น หมายถึง อาลัยอาวรณ์แม้ล่วงไปแล้วก็ยังเอามาทุกข์ เรื่องยังไม่มาถึงข้างหน้าก็ยังเอามาทุกข์ เอามาทุกข์อยู่จนที่ปัจจุบันนี้ อย่างนี้ก็ขาดทุนวินาศเลย แม้แต่ผลกรรม ผลชั่ว ความบาปอะไรก็ตาม กลับใจที่จะไม่ทำอีกต่อไปแล้วก็ไม่ต้องเอามาทรมานจิตใจอีก เป็นอันว่าเลิกกัน แก้บาป หรือแสดงอาบัติให้มันเลิกกันทีกับอดีตที่เลวร้าย ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่ความถูกต้อง ความดีอะไรไป จนความชั่วในอดีตไม่มีโอกาสให้ผลเพราะเดี๋ยวนี้มันอัดอยู่ด้วยความดี ความถูกต้อง
ถาม : ขอกราบเรียนต่ออีกนิดหนึ่งครับ หมายความว่า คนที่นำเอาเรื่องเหล่านี้มาคิด เขามีกรรมเป็นของตัวเองในอดีตมาหรืออย่างไรครับท่านอาจารย์?
ตอบ: ก็สอนในเบื้องต้นเพื่อป้องกันไม่ให้ทำกรรมชั่ว เพื่อจะให้รู้สึกว่าเรามีกรรมเป็นของตัวนะ-อย่าไปทำกรรมที่ไม่น่าปรารถนาเข้าเท่านั้นเอง-เบื้องต้น แต่เบื้องปลายก็ต้องการให้ไม่ทำกรรม ไม่มีเจตนาที่จะทำกรรม จะอยู่เหนือกรรม เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นคนเล็กๆสำหรับธรรมะ ยังเป็นเด็กๆต่อธรรมะ ให้ถือหลักมีกรรมดี-กรรมชั่ว ทำเข้าแล้วก็ต้องรับผลกรรม แล้วก็จะระมัดระวังไม่ทำกรรมชั่ว-จะทำแต่กรรมดี เสวยผลแห่งกรรมดี นี่ ยังเป็นเด็กๆอยู่ก็สอนอย่างนี้ พอโตขึ้นเต็มที่หลายรอบแล้ว ก็โอ๊ย! กรรมที่ไหนก็ไม่ไหวโว้ย! เรื่องเป็นไปตามกรรมนี่พอที เราจะไม่เป็นไปตามกรรม เราจะไม่ทำอะไรให้เป็นกรรม เราจะอยู่เหนือกรรม ว่าอย่างนั้น สิ้นกรรม กันที ๒ ขั้นตอนอยู่ ที่เอามาสวดนั้นเป็นขั้นตอนแรก-เรามีกรรมเป็นของตัว ไม่พ้นจากการรับผลแห่งกรรมไปได้ นี่เรียกขั้นต้นๆ แต่ในที่สุดเราอยู่เหนือกรรมได้ สิ้นกรรมได้นั้นมันอีกตอนหนึ่ง ตอนจะเป็นพระอรหันต์ก็อยู่เหนือกรรมหรือสิ้นกรรมได้
ที่ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ นี่ก็สอนกันเบื้องต้น สอนให้ไม่ประมาท เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ แต่ธรรมะแท้ธรรมะจริง-ตัวจริงสอนให้อยู่เหนือเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่เหนืออำนาจ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เดี๋ยวนี้มันยังไม่รู้อะไรก็สอนให้ไม่ประมาท รีบทำแต่ความดี ต่อสู้กับความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อมีปัญญามากเข้า มากเข้า มากเข้า มันจะเลื่อนระดับไปถึงว่ามันอยู่เหนืออำนาจของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มาทำจิตนี้ให้เป็นทุกข์ได้เพราะสิ่งที่เรียกว่า ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวตน ขึ้นมาในจิตใจอีกนั่นแหละ เมื่อไม่เกิดความรู้สึกว่า ตัวตน ขึ้นมาในจิตใจ-อะไรมันก็ไม่มี มันก็เท่ากับไม่มี หลุดพ้นจากความยึดถือว่า ตัวตน ความคิดว่า ตัวตน นี้เป็นกรงขังอันใหญ่หลวง สวยสด งดงาม ไม่อยากจะออกไปจากกรงขังนี้ เราก็ดูเอาเถอะเพื่อนของเรา คนหนุ่มที่เป็นเพื่อนๆของเรา-เขาไม่อยากจะออกไปจากกรงขังนี้ คือ ความเป็นทาสของ กิเลส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กรงขังในอดีตก็ไม่อยากจะละทิ้ง และยังจะสร้างกรงขังในอนาคตเตรียมไว้อีก ปัจจุบันนี้ก็อยู่ในกรงขัง กรงขังของ อวิชชา เราก็มองดูให้เห็นสิ มองให้เห็นว่า อวิชชา คืออะไร? ยึดมั่น-ถือมั่นคืออะไร? กรงขังของ อวิชชา คือ ตัวความยึดมั่น-ถือมั่นที่สร้างขึ้นด้วย อวิชชา แล้วมันก็ขัง ขังสัตว์คนนั้น คือ จิตของสัตว์ให้ติดอยู่ตรงนั้น คือ จิตจะยึดมั่น-ถือมั่น ยึดมั่น-ถือมั่นแล้วในอะไรก็ตามมันก็เป็นความทุกข์ พูดให้เป็นเรื่องจริงมันก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญแหละธรรมะนี้ ถ้าไม่พูดเป็นเรื่องจริง พูดคำนวณคาดคะเนมันก็กลายเป็นเรื่องเหนือที่จะรู้ได้ ยากที่จะรู้ได้ เป็นเหนือธรรมชาติไปเสีย ที่จริงมันเรื่องธรรมชาติแท้ๆ ถ้าเราเข้าใจแล้วจะเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีเหนือธรรมชาติที่ไม่อาจจะรู้ได้หรือไม่อาจจะควบคุมได้นั้น-ไม่มี เพียงแต่ว่าต้องมีสติปัญญาเพียงพอกันเท่านั้น
เมื่อ ๔๐ ปีมาแล้ว ฝรั่งมันก็ยอมรับนะ คำว่า Supernatural / Supernatural ไอ้เหนือธรรมชาตินั้นมันยอมรับกัน ใช้กันอยู่เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมาแล้ว เดี๋ยวนี้คำนั้นกลายเป็นคำเด็กเล่นไปแล้ว คือ ไม่มีอะไรที่ Supernatural มันลดลงมาจนเหลือเป็น Spiritual ความละเอียดลึกซึ้งในระดับที่เป็นของธรรมชาตินี้ ที่สมัยก่อนจะพูดว่า Supernatural เดี๋ยวนี้มาพูดเป็น Spiritual มันละเอียด ลึก แต่มันก็ไม่เหนือธรรมชาติไปได้ ต่อไปเรื่อง Spiritual จะกลายเป็นเรื่องง่าย ธรรมดา เปิดเผยเหมือนกับเรื่องวัตถุไป มันก็ไปเข้ารูปเข้ารอยกับเรื่องของเราในพุทธศาสนา คือ เป็นพระอรหันต์แล้วจะเห็นเป็นธรรมดา เป็น ธาตุ ตามธรรมชาติไปหมด แม้แต่ พระนิพพาน คนที่ยังไม่รู้จัก พระนิพพาน ก็เห็น พระนิพพาน เป็น Supernatural พอเห็น-ก็อยู่ในวิสัย ในความสามารถ ในวิสัยของเรา พระนิพพาน ก็ลดลงมาเป็นเรื่อง Spiritual ทีนี้ พอเรารู้มากจนถึงกับมีได้ ถึงได้ เป็นอยู่ได้ ก็ลดลงมาเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหมือนกับวัตถุธรรมดา เป็นเรื่อง ธาตุ ตามธรรมชาติไป นี่ ธรรมะมันมีไกล มีครบหมดดักอยู่แล้ว ทีนี้ การศึกษาในโลกปัจจุบันเดินขึ้นไปไม่ถึง ต่อไปก็จะถึงเพราะมันมีอยู่แล้วไอ้ที่ว่า ลึก ลึก ลึก ก็ไม่ได้ลึกอะไรเพราะมีอยู่แล้ว เคยเห็นกันแล้ว เคยพูดกันแล้ว เป็นธรรมดาสามัญไปแล้ว เป็น ธาตุ ตามธรรมชาติไปหมดไม่ยกเว้นอะไร
เดี๋ยวนี้เราไม่เห็นว่าเป็น ธาตุตามธรรมชาติ เขาก็จัดให้เป็นสิ่งลึกซึ้งบ้าง สูงสุดบ้าง เหนือธรรมชาติบ้าง ซึ่งต่อไปคุณก็อาจจะเห็นว่าไอ้เรื่องที่จะชนะ กิเลส นี้ไม่ใช่เรื่องเกินธรรมชาติ เรื่องที่คนเราจะไม่มี กิเลส นั้นไม่ใช่เรื่องเกินธรรมชาติ คือ พระอรหันต์เป็นบุคคลที่ไม่มี กิเลส ไม่ใช่เรื่องเกินธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ตามธรรมชาติ คนที่ไม่รู้หรือว่าแรกได้ยินมันก็ว่าสุดวิสัยนี่ มันเหนือธรรมชาติ เอาคำว่าเหนือธรรมชาติมาใช้ แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาแต่ว่ามันลึกหน่อย เช่น เรื่องทางวิญญาณก็ตอบว่า โอ๊ย!มันอยู่ตรงนี้เอง ก็เป็นเรื่องธรรมดา จนถึงกับธาตุตามธรรมชาติ ก็เหมือนกับธาตุวัตถุเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องที่มีเหตุมีปัจจัย หมุนไปตามเหตุตามปัจจัย มันเป็นเช่นนั้นเอง ตามกฎแห่ง อิทัปปัจจยตา ความสุขก็เท่านี้ มันก็เช่นนี้ มันก็เท่านี้ แล้วมันก็ โอ๊ย! กูไม่เอากับมึงแล้ว คือ มันก็เท่านี้มันก็แค่นี้ (ครับ ขอบคุณครับ)
เป็นเช่นนั้นเองนี้วิเศษที่สุด เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาแต่ไม่มีใครสนใจ มันจะหลุดพ้นออกไปได้ด้วย การเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งทั้งปวง ไม่เข้าไปสู่บ่วงของอะไรอีก คือ ไม่รักและไม่เกลียดอะไรอีกแล้ว พูดให้เป็นวิทยาศาสตร์แบบที่เขาพูดกันสนุกสนานในหมู่นักคิดนี้ก็พูดกันได้มาก พูดกันไม่รู้จบ ความเป็นเช่นนั้นเอง / ความเป็นเช่นนั้นเอง ไม่เป็นบวก-ไม่เป็นลบ ไม่เป็น positive-ไม่เป็น negative ไม่เป็นดี-ไม่เป็นร้าย ไม่เป็นอะไร มันเป็นธรรมดา เป็นสมดุล เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จิตจึงรักไม่ได้-ชังไม่ได้ ไม่มี อวิชชา คือ รักไม่มีโทมนัส คือ เกลียด เพราะเห็น ความเป็นเช่นนั้นเอง ของสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น เราพอจะมองเห็นได้ว่ามันไม่เป็นบวก-มันไม่เป็นลบ ถ้ามันมีความหมายแห่งบวกอยู่-มันก็รัก มีความหมายแห่งลบอยู่-มันก็เกลียด
หมอคนหนึ่งถามผมว่า ไม่สบายด้วยโรคอะไร? ผมบอกไม่สบายด้วยโรคเช่นนั้นเอง โรคชื่อว่าโรคเช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้นเอง เขาเลยชอบใจใหญ่ แล้วคุณจะกินยาอะไรแก้โรคนี้? ก็กินยาชื่อเช่นนั้นเองอีก ชื่อเดียวกับโรค เขาเลยชอบใจใหญ่ เขารู้ธรรมะได้ ฉันไม่ได้เป็นโรคอะไรนอกจากโรคเช่นนั้นเอง แล้วจะกินยาอะไร? ก็กินยาเช่นนั้นเองเพราะว่าความทุกข์ก็มันเช่นนั้นเอง นิพพาน ก็เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองมันก็แก้ ต่อสู้ ทำลายกันไปเอง หัวใจของพุทธศาสนาก็ทิ้งไว้อยู่ในพระไตรปิฎกไม่ได้เอามาพูดกัน ไม่ยอมเอามาพูดกัน ถ้าเอามาพูดก็พูดกันอย่างผิดๆ ทีนี้ บางคนก็คิดว่าผมเอาเรื่องอะไร Make up ขึ้นมาเอง ที่จริงมันเป็นเรื่องในพระไตรปิฎกที่มีอยู่แล้วเขาไม่เอามาพูดกัน พอเราเอามาพูดเขาก็หาว่าเรานี้ประดิษฐ์อะไรขึ้นมาหลอกคน
เอ้า มีปัญหาอะไรอีก? นาฬิกาเตือนแล้ว
คุณรู้เรื่องเช่นนั้นเองนี้ ขอให้พอ สะสมให้พอสำหรับออกไป สึกออกไปนี่ เอาอาวุธเช่นนั้นเองไปแก้ปัญหาทุกอย่าง ทุกประการ อะไรอะไรมันชื่อเช่นนั้นเองหมด อะไรอะไรเกิดขึ้นก็หัวเราะเยาะไว้ทีก่อน -ไอ้เช่นนั้นเองมาอีกแล้ว ได้ลาภหรือเสื่อมลาภก็-เช่นนั้นเอง ได้ยศหรือเสื่อมยศก็-เช่นนั้นเอง ได้นินทาได้สรรเสริญก็-เช่นนั้นเอง ได้สุขได้ทุกข์ก็-เช่นนั้นเอง
ถาม : ที่ผมสงสัยมีอยู่ ๓ คำนะครับ ที่ยังไม่เข้าใจดีพอ คือ คำว่า สะอาด สว่างและก็สงบ อยากเรียนอาจารย์ให้อธิบายละเอียดอีกสักครั้งหนึ่ง ขอให้ยกตัวอย่างมาเป็นอุทาหรณ์..
ตอบ : อันนี้มันเอาคำนี้มาใช้ หรือว่าประดิษฐ์ผูก ๓ คำนี้ขึ้นมาใช้ เพื่อช่วยให้ง่าย ให้เร็ว ให้สะดวกขึ้นในการที่จะพูดจา เมื่อคนทั่วไปเขาชอบจะยึดหลักอะไร ยึดคำอะไรไว้เป็นคู่ คู่หู คู่ใจอย่างนี้ เราก็ประดิษฐ์คำเหล่านี้ขึ้นมาให้
สะอาด ก็เท่ากับ บริสุทธิ์
สว่าง ก็เท่ากับ รู้ หรือ ปัญญา
สงบ มันก็คือ สันติ หรือ นิพพาน
แล้วมันไม่แยกกันหรอก มันทำงานด้วยกัน ถ้าสะอาดมันก็สว่าง ถ้าสว่างมันก็รู้ มันก็สงบ ยิ่งมันสงบมันก็ยิ่งสะอาด มันก็ยิ่งสว่าง วนกันอยู่อย่างนี้ให้จิตมันสะอาดปราศจาก กิเลส จิตที่ไม่มี กิเลส มันก็สว่าง คนมันมี กิเลส นี้มันก็เหมือนอยู่ในโลกที่หลับ โลกของคนปัจจุบันมันก็คือโลกที่หลับ มันก็คือไม่สว่าง มันก็ไม่สงบ มันมีความวุ่นวายกันทั้งโลก สะอาดมันสุทธิหรือบริสุทธิ์ สว่าง คือ ปัญญา ญาณทัสนะ อันนี้คือ สว่าง สงบ ก็คือ สันติ นิพพาน สงบ เย็น คำพูดไม่สำคัญหรอกให้ไปสังเกตศึกษาให้รู้ว่า เมื่อไรจิตมันสะอาดหรือไม่สะอาด? เมื่อไรจิตมันสว่างหรือมันไม่สว่าง? เมื่อไรจิตมันสงบหรือมันไม่สงบ? ไปศึกษาจากตัวจิตเอง ถ้าจิตมันสะอาด สว่าง สงบ ถึงที่สุด เด็ดขาดไปเลย มันก็นั่นแหละชั้นสูงของมนุษย์ ชั้นพ้นโลก ชั้นเหนือโลกของมนุษย์ ถ้ามันยังสกปรก มืดมัว เร่าร้อน กระวนกระวายอยู่มันก็คือ ธรรมดา ระดับธรรมดาที่มันไม่รู้ ไม่มีความรู้ ซึ่งเป็นง่าย เป็นง่ายแก่ปุถุชนคนธรรมดา เรากำลังมีจิตชนิดที่ไม่อาจจะสะอาด สว่าง สงบ ได้ตามที่ต้องการนั้น คือ มันยังเป็นจิตที่อ่อนแอ เปิดโอกาสให้ไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบนี้ได้ง่ายเกินไปจนเป็นธรรมดาไป อะไรมานิดก็เกิดไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบเสียแล้ว เราต้องอบรมจิตชนิดนี้ให้มันแน่นอน แน่นอน แน่นอนขึ้น ที่จะไม่เปลี่ยนหรือจะไม่เกิดไอ้ความไม่สะอาด ไม่สว่าง ไม่สงบ ให้มันสะอาด สว่าง สงบอยู่ตามธรรมชาติเดิม เดิม เดิมของมัน จิตโดยธรรมชาติเดิม สะอาด สว่าง สงบ พอมีอะไรเข้ามากระทบจิตนี้มันเปลี่ยน เพราะจิตนี้มันอ่อนแอ จิตนี้ไม่ทนต่อการกระทบ จิตนี้ไม่มี ปัญญา ไม่มี วิชชา ที่จะต่อสู้เพียงพอ
ทีนี้เรามาอบรมมัน อบรมมันด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าอบรมได้-จิตนี้มันจะเข้มแข็งสามารถจะต่อสู้กับสิ่งที่มากระทบจิต แล้วก็มารักษาสภาพสะอาด สว่าง สงบเดิมของมันไว้ได้ ไอ้เหตุการณ์โดยแท้จริงมันเป็นอย่างนี้นะ คุณรู้ว่ามันมีธรรมชาติ สะอาด สว่าง สงบเป็นสมบัติเดิมนะ แต่มันสูญเสียความสะอาด สว่าง สงบเป็นคราวๆ เพราะมันไม่สามารถจะต่อสู้กับอารมณ์ที่มากระทบ ทำไมมันไม่สามารถต่อสู้? เพราะมันยังเป็นจิตเด็กอ่อนอยู่ตามที่ยังไม่ได้รับการศึกษา ฝึกฝน อบรม ทีนี้ เราก็มาศึกษา ฝึกฝน อบรมหนักเข้า หนักเข้า จิตนี้มันก็เปลี่ยนสภาพเป็นดี เป็นจิตที่ไม่มีอะไรจะทำให้มันสูญเสียสภาพเดิม มันก็จะคงสะอาด สว่าง สงบ อยู่ต่อไปจนตายตัวไปเลย มีความสะอาด สว่าง สงบ เป็นของตายตัวไปเลย ก่อนนี้มันแพ้บ่อยๆ มันสู้ไม่ได้เพราะจิตมันไม่ได้รับการอบรม เพราะฉะนั้น คุณก็ อบรมจิต ที่เรียกว่า ภาวนา คำว่า อบรม เขาเรียกว่า ภาวนา เขาแปลกันว่า เรียกว่า Develop (นาทีที่ 94:36) คำว่า ภาวนา เรียกว่า Develop - ปฏิเวธ มีให้ยึดเป็นหลักไว้ ๓ ส.
ส.-สะอาด
ส.-สว่าง
ส.-สงบ
จำง่าย เข้าใจง่าย ถือเป็นหลักง่าย ระวังรักษาง่าย สะอาด สว่าง สงบ นี้เป็นคุณค่าที่อยู่ใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสิ่งเดียวกัน
พระพุทธเจ้ามีจิต สะอาด สว่าง สงบถึงที่สุดด้วยพระองค์เอง
พระธรรมก็คือระบบที่ทำ ที่เรียน ที่ปฏิบัติ เพื่อได้รับผลที่ปฏิบัติเป็นความสะอาด สว่าง สงบ
พระสงฆ์ คือ ผู้ทำตามอย่างพระพุทธเจ้าในการประพฤติธรรม มุ่งหมายความสะอาด สว่าง สงบ
เป็นพระสงฆ์สมบูรณ์เมื่อไร มีสะอาด สว่าง สงบ สมบูรณ์เมื่อนั้น ทีนี้ มียังไม่สมบูรณ์เป็นพระสงฆ์ครึ่งๆกลางๆ ก็มีสะอาด สว่าง สงบ แบบครึ่งๆกลางๆไปก่อน
ถ้าเอาเป็นของธรรมชาติมันก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสะอาดก็สว่าง เพราะสว่างก็สงบ เพราะสงบก็สะอาด สว่าง สงบ วนกันอยู่ หลอมกันเป็นเรื่องเดียวกันกันได้
ถาม : ผมอยากจะกราบเรียนถามอาจารย์ครับ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะทำอะไรก็ตาม จะต้องใช้สติเป็นตัวควบคุม และต้องใช้ปัญญาเป็นตัวนำทาง ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า วิธีการที่จะฝึกหรือจะควบคุมสตินี้ เรามีหลักการและวิธีการอย่างไรบ้างครับ?
ตอบ : นั่นก็หมายความว่าคุณยังไม่เข้าใจในเรื่องที่เขาเรียกว่า กรรมฐาน ที่เรียกว่า กรรมฐาน กรรมฐาน นี้แหละ เช่น อานาปานสติกรรมฐาน อย่างนี้ไปฝึกเข้าเถิดมันจะมากขึ้น สมบูรณ์ขึ้น ทั้งปัญญาและสติ สมาธิ อะไรหมด ในระบบนั้นมันจะทำให้เกิดมีสติมากกว่าแต่ก่อนแน่ และมีความเป็นสมาธิมาก มีความเป็นปัญญามาก หรืออะไรอะไรที่พึงปรารถนาทั้งนั้นแหละ-มาก เขาใช้คำว่า อินทรีย์ - ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ๕ อย่างนี้จะมากขึ้นมากขึ้น เพราะมันสำเร็จด้วย ๕ อย่างนี้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้ามีอันนี้พอมันก็ทำให้สำเร็จ พอทำสำเร็จมันก็มีมากขึ้น ทำสำเร็จมันก็มีมากขึ้น มากขึ้น เพราะการปฏิบัติกรรมฐานอย่างถูกต้องนี้ ระบบไหนก็ตามถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องมันจะมีผลเหมือนกัน จะเพิ่มที่เราต้องการอย่างยิ่ง คือ สติ ปัญญา ส่วนสมาธินั้นมันยัง-ราก รากตามมาทีหลัง ที่ต้องการจำเป็นจริงๆในการดำรงชีวิต ต่อสู้กับความทุกข์นี้ คือ สติ กับปัญญา แต่เขาพูดกันแบบชนิดที่เรียกว่าเหมือนกับเล่นลิ้นว่า ในสติก็มีสมาธิ ในปัญญาก็มีสมาธิ ในความเชื่อก็รวมอยู่ในนั้นแหละ ความพากเพียรก็คือการกระทำที่มากขึ้น เพราะฉะนั้น ในการเจริญสมาธิมันจึงมีครบทั้ง ๕ อย่าง เช่น เราเจริญ อานาปานสติ ให้จริงจังลงไป มุ่งหมาย มันจะมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ เข้ามาทำงาน แล้วก็มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น แล้วก็ อินทรีย์ หรือ พละ ดี!
ถ้าคุณมองเห็นข้อนี้นะว่า ไอ้การที่จะขจัด กิเลส และ ความทุกข์ ในชีวิตประจำวันในชีวิตประจำวันออกไป มันอาศัยสิ่งสำคัญ ๒ อย่าง คือ สติ กับ ปัญญา สตินั้นมีความหมายกว้างขวางมาก มีหน้าที่มาก ป้องกัน รักษา แก้ไขอะไรนั้นเป็นเรื่องของสติและด้วยปัญญา สติ แปลว่าความระลึกได้ ระลึกอะไร ก็ระลึกปัญญา ก็คือ ไปเอา ปัญญา มาแก้ปัญหาทัน ทันควัน นี่ เป็นหน้าที่ของ สติ ทีนี้ ปัญญา มันมีหน้าที่แก้ปัญหา คือ รู้เท่าทันสิ่งที่มันมีอยู่เฉพาะหน้า ถ้า ปัญญา มาไม่ทัน คือ ระลึกไม่ได้ ปัญญา มาไม่ทันเพราะระลึกไม่ได้เพราะไม่มี สติ-ปัญญา ก็เป็นหมัน เพราะฉะนั้น ถ้าเรามี สติ เราจะเอา ปัญญา มาใช้ได้เต็มที่ ถ้าเราฝึกให้มีมากทั้ง ปัญญา ทั้ง สติ ทั้ง สมาธิ ทั้ง วิริยะ ทั้งฝึกลองฝึก กรรมฐาน ระบบไหนก็ได้จะมีผลให้เกิดอย่างนี้ ทีนี้ เท่าที่พระพุทธเจ้าท่านแนะไว้นะว่าระบบ อานาปานสติภาวนา นี้สบายที่สุด สะดวกที่สุด เหมาะสมที่สุด และก็ยังมีระบุไว้ชัดว่า ตถาคตก็ได้ประพฤติอย่างนี้ ประพฤติระบบ อานาปานสติ นี้
ทีนี้ เราก็มาสังเกตดูว่ามันก็จริง จริงอย่างพระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ แนะไว้ เราจึงแนะนำสั่งสอนเป็นรูประบบ อานาปานสติ ส่วนที่อื่นสำนักอื่นอาจจะมีอย่างอื่น เขาชอบอย่างอื่นก็ได้เหมือนกัน ตามใจเขา แต่ว่าถ้าทำถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของมันแล้ว ก็จะมีผลเหมือนกัน ก็มี สมาธิ มี ปัญญา มี สติ มีอะไร ตัวดับ กิเลส ได้นั่นแหละ แต่ว่าจะดับได้เร็ว ได้ช้า ได้มาก ได้น้อย ได้สะดวกนี้มันก็ขึ้นอยู่กับระบบเหมือนกัน ทีนี้ เราแน่ใจว่าระบบ อานาปานสติ นี้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด สะดวกที่สุด ถ้าไปนั่งทำ นั่งปฏิบัติตามรูปแบบนั้นก็ยิ่งดี แต่แม้จะไม่นั่งทำตามรูปแบบก็ขอให้มันมีผลคล้ายกัน มีสติคอยควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นให้ระลึกได้ทันทีถึงความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของ สังขาร ทั้งปวง หรือของอารมณ์ ของการปรุงแต่ง ของอะไรก็ตาม เรียกว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นสิ่งที่จะทำให้เรารักผ่านมาในสายตา สติทำให้เราระลึกได้โดยปัญญาที่รู้ว่าไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ เป็น อนัตตา เพราะฉะนั้น มีสตินำเอาปัญญาความรู้เรื่องไม่เที่ยงเป็น ทุกข์ เป็น อนัตตา มาต่อสู้กับอารมณ์นั้น แล้วอารมณ์นั้นก็ไม่ครอบงำจิตใจเราได้ ถึงแม้จะเป็นอารมณ์ที่น่ารัก หรืออารมณ์ที่น่าเกลียด น่าโกรธ ให้เข้าใจไว้แล้วก็ซ้อมปฏิบัติอยู่เรื่อยไป ต่อไปเราสึกออกไปเผชิญกับกิจการงานที่มันมาก มันกว้างใหญ่โต อารมณ์ที่มากระทบมันก็ยากลำบาก ยุ่งยากมากกว่าแต่ก่อนแต่เดิม เพราะฉะนั้น ขอให้มีสติเพียงพอ ปัญญาเพียงพอ สมาธิเพียงพอ เข้มแข็งอดทนเพียงพอ
ถ้าพลาดไปก็ขอให้รู้จักละอายกันบ้าง เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยละอาย แล้วก็ไม่รู้ว่าพลาดมันก็เลยละอายไม่ถูก และต้องกลัว-พลาดแล้วมันเสียหายก็ต้องกลัวกันบ้าง เมื่อเจ็บปวดก็ต้องรู้จักเข็ดหลาบกันบ้าง เดี๋ยวนี้มันอยู่ที่ไม่รู้ มันไม่รู้จัก แล้วมันก็ไม่กลัว มันก็ไม่ละอาย มันก็ไม่เข็ดหลาบ ถ้าเป็น อันธพาล ก็ยิ่งแล้วเลย เห็นว่าเป็นของโก้เก๋เข้าไปอีกกับการมี กิเลส / พาล (ออกเสียงว่า พา-ละ) แปลว่า อ่อน เด็กอ่อนๆเพิ่งเกิด เรียกว่า พาล คือ มันยังอ่อนอยู่ มันจึงไม่มีสติปัญญา ไม่มีความคิด ไม่มีอะไรเลย เรียกว่า มันยังอ่อนอยู่ ถ้ามันอ่อนมากมันไม่รู้อะไรเลยเขาเรียกว่า อันธ (ออกเสียงว่า อัน-ทะ) / อันธ แปลว่า ตาบอด / อันธพาล (ออกเสียงว่า อัน-ทะ-พา-ละ) นี้ อ่อนอยู่ด้วยสติปัญญาเหมือนกับคนตาบอด แต่นี่เดี๋ยวนี้เราไปใช้กับอันธพาลเกเรกลางถนน ระวังเรานี้จะเป็นอันธพาลอยู่โดยไม่รู้สึกตัว ถ้าเรายังไม่รู้อะไรเหมือนคนตาบอดนั่นก็เรียก อันธพาล เรียกเขาว่า อันธพาล ที่ตำรวจจับไปเป็นฝูงๆ แล้วเราไม่เป็น อันธพาล นี่! ระวังให้ดี เราก็อยู่ใน อันธพาล ประเภทหนึ่ง ระดับหนึ่ง ไม่รู้อะไร อ่อนต่อความรู้เหมือนกับคนตาบอด ถ้าพูดถึงเรื่อง มรรคผลนิพพาน แล้วเราก็เป็นคนอันธพาลอยู่มากเหมือน อ่อนต่อความรู้เรื่องนี้เหมือนกับคนตาบอดมองไม่เห็นอะไร ไม่ถึงกับต้องไปข่มขืนแล้วฆ่า อยู่ที่วัดนี้แล้วทำอะไรผิดๆก็เป็น อันธพาล ก็ได้ มันไม่รู้อย่างถูกต้องแล้วทำผิดหมดจนมีความทุกข์นี้ อันธพาล ในฝ่ายธรรมะในภาษาธรรมหมายถึงอย่างนี้ ไม่ถึงกับไปปล้นจี้ ข่มขืนแล้วฆ่า ไม่ต้องถึงขนาดนั้นหรอก เป็น คนตาบอดต่อธรรมะ ก็เรียกว่า อันธพาล คำว่า พาล ในภาษาบาลีไม่น่ากลัวอะไร แปลว่า ยังอ่อนอยู่ก็แล้วกัน ไม่ใช่ว่าเกเร ดุร้าย มันยังอ่อนอยู่ มันเพิ่งเกิด มันเพิ่งคลอด พอมันโตขึ้นมามันก็หาย ทีนี้ มันไม่รู้จักโต มัน พาล มันอ่อนอยู่จนจะเน่าเข้าโลงไปแล้ว มันก็ยัง พาล อยู่ นี่เรียกว่า คนพาล ถ้ามันรู้อะไรที่เร็วๆ เขาเรียกว่า บัณฑิต
เอ้า! มีปัญหาอะไรอีก?
ถาม : ขอต่ออีกนิดหนึ่งครับ ผมขอกราบเรียนท่านอาจารย์อีกนิดหนึ่งครับ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าความทุกข์อะไรนี้เป็นเช่นนั้นเองอะไรหมดนี้ ผมมีความเห็นว่าอาจจะมีคนมองไปในทางด้านว่า ศาสนาพุทธเขาไม่ต้องนับถือ ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป อะไรมันก็เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง จะเป็นไปได้ไหมครับ?
ตอบ : ก็ได้สิ ก็มีคนว่าอย่างนั้นอยู่แล้ว มีคนด่าอย่างนั้นอยู่แล้ว ว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เท่านั้นเอง เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ไม่ต้องทำอะไร! มันไม่เข้าใจคำว่าเช่นนั้นเอง คือ เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา-เช่นนั้นเอง ความทุกข์ก็เกิดขึ้นตามกฎของความทุกข์ เหตุปัจจัยของความทุกข์ ความดับทุกข์ก็เป็นไปตามเหตุ ตามกฎ ตามปัจจัยของการดับทุกข์ เพราะฉะนั้น คุณก็คงฟังไม่ถูกแหละ ที่ผมว่าเช่นนั้นเองมันไม่มีความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบ เห็นเช่นนั้นเองเป็นเหตุให้เฉยได้ ไม่รัก-ไม่ชัง ไม่ยินดี-ยินร้าย ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไร มีปัญหาอะไรก็ต้องแก้มันตามกฎของเช่นนั้นเองไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ นั่นเรียกว่า เช่นนั้นเอง มีความหมายอย่างนั้น โดยเฉพาะเจาะจงก็หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท คำว่าเช่นนั้นเองมันตามกฎของ ปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่เช่นนั้นเองแล้วมันจะเป็นอย่างไร? มันจะเป็นไปได้อย่างไร? มันต้องเป็นไปตามเรื่องของมันนั้นเอง เช่น ความเจ็บไข้จะเกิดขึ้น-มันก็มีความเป็นเช่นนั้นเองสำหรับความเจ็บไข้ที่จะเกิดขึ้น ทีนี้ เมื่อมันหาย-มันก็มีความเป็นเช่นนั้นเองของการที่มันจะต้องหาย มันจะหาย ก็สร้างความเป็นเช่นนั้นเองของฝ่ายที่มันจะหาย ให้ไปแก้ความเป็นเช่นนั้นเองของฝ่ายที่มันจะเจ็บไข้ อย่างนี้ก็ไม่เห็นแปลกอะไรกันระหว่างเจ็บไข้กับหาย-เป็นเช่นนั้นเองด้วยกัน และจึงไม่ยินดี-ยินร้าย
นี่ความละเอียดอ่อนของพุทธศาสนาอยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่เห็นความเป็นเช่นนั้นเอง เพื่อจะไม่ยึดมั่นถือ-มั่นอะไรว่าอย่างไร เห็นเป็นเช่นนั้นเองก็เฉยได้ ไม่ยึดมั่น-ถือมั่น ไม่ยินดี-ไม่ยินร้าย คือ คำว่า ตถาตา ถูกทิ้งไว้ในคัมภีร์จนฝุ่นจับมองไม่เห็น ไม่มีใครเอามาใช้ เขาเอามาใช้แต่เรื่องสวยๆ งามๆ หรูๆ หราๆ ฟู่ๆ ฟ่าๆ ที่มันมีความหมายเป็นบวก-เป็นลบ เช่นนั้นเองมันไม่มีความหมายเป็นบวก-เป็นลบก็เลยไม่น่าสนใจ ไม่ยั่วความรู้สึก คำว่า เห็นตามที่เป็นจริงอย่างไร? ยถาภูตะ ก็คือ เห็นเช่นนั้นเอง ยถาภูตญาณทัสสนะ ก็ดี ยถาภูตสัมมัปปัญญา ก็ดี ญาณทัสสนะ มีปัญญาเห็นตามที่เป็นจริงอย่างไร ก็คือ ตามที่มันเป็นเช่นนั้นเอง ตามกฎเกณฑ์ของมัน เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ก็ได้ เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็ได้ เช่นนั้นเองสำหรับเป็นทุกข์ เช่นนั้นเองสำหรับจะดับทุกข์ มันเป็นเช่นนั้นเองอย่างไม่มีความหมายเป็นบวก-เป็นลบ ที่มนุษย์มันมาจัดให้เป็นบวก-เป็นลบ ถ้าตรงกับความต้องการของตัวก็เป็น-บวก เมื่อไม่ตรงกับความต้องการของตัวก็เป็น-ลบ และมันจึงเลือก มันจึงยึดถือ มันจึงอะไรยุ่งไปหมด มันต้องไม่รักและต้องไม่เกลียด ปราศจากความยึดถือเพราะไม่เห็นว่าน่ายึดถือ ไม่มีความหมายสำหรับจะยึดถือ เรียกว่า เช่นนั้นเอง ที่เป็นชื่อของพระอรหันต์จะตรงกับคำว่า ตาที ตาที แปลว่า คงที่ เมื่อคงที่ ก็คือ เป็นเช่นนั้นเองอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง พระอรหันต์นี้มีชื่อว่า ตาที แปลว่า ผู้คงที่ คงตัว คงที่ คงตัว-ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ขึ้น-ไม่ลง ไม่ฟู-ไม่แฟบ ไม่ยุบ-ไม่เหี่ยวอะไร ถ้าเดี๋ยวนี้ไม่เข้าใจก็ไปสังเกตดูเรื่อยๆไป ว่าอะไรอะไรทุกอย่างมีกฎแห่งความเป็นเช่นนั้นเองของมัน แม้แต่ทรายสักเม็ดหนึ่งก็มีความเป็นเช่นนั้นเองของความที่มันจะเป็นทราย เพชรสักเม็ดหนึ่งก็มีความเป็นเช่นนั้นเองของความที่มันจะเป็นเพชร สภาพอย่างนั้นก็เหมือนกับทรายแต่ทรายมันไม่มีใครต้องการ ไอ้เพชรมันขายได้แพงนี้คนก็ไปสนใจเพชร
เห็นเช่นนั้นเอง คือ เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็วางเฉยในสิ่งนั้นๆที่เข้ามาถึงเข้า ความรักเกิดไม่ได้ ความโกรธเกิดไม่ได้ คุณลองหัดเอาไปใช้ ผมอยากจะขอร้องว่า นี่ หัวใจของพุทธศาสนา-เอาไปใช้ พอคนใต้บังคับบัญชามันดื้อมันทะลึ่งขึ้นมา อย่าเพิ่งโกรธ-มันเช่นนั้นเอง เมื่อนายเหนือหัวมันบ้าอะไรขึ้นมา-มันก็เช่นนั้นเอง อย่าไปน้อยใจ อย่าไปเสียใจ คุณใช้ เช่นนั้นเอง ให้มันเป็นศอกกลับให้ทันเวลา ทันเหตุการณ์ด้วย สติ เช่นนั้นเองเป็น ปัญญา นะ แล้ว สติ เอาไปใช้ให้ทันเวลา ปัญหาอะไรกี่ร้อยอย่างที่คุณเคยมีมาแล้วและมันจะมีอีกนั้น เช่นนั้นเอง นี้แก้ได้ สู้ได้ทุกปัญหา ตถตา ตถาตา คำใดคำหนึ่งใช้ได้ ความเป็นอย่างนั้น ตถา คือ อย่างนั้น / ตา แปลว่า ความ / ตถาตา - ความเป็นอย่างนั้น สำหรับเป็นทุกข์ สำหรับดับทุกข์ สำหรับมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ล้วนแต่ เช่นนั้นเอง
ผมจะไม่ใช่ว่ายกตัวหรืออวดดี แต่ผมมีความรู้สึกว่าครูบาอาจารย์ในกาลก่อน เขาไม่เอาเรื่องนี้มาพูด มาสอนคน-ประชาชนไม่เคยได้ยิน ก็จะเป็นเพราะว่าเขาเห็นว่ามันเกินไปก็ได้ มันยังไม่ควรเอามาพูดคนไม่เข้าใจ ไม่มีประโยชน์อะไรเลยไม่เอามาพูด มีอยู่ในพระบาลีใน สุตตันตะ ก็มี ใน อภิธรรม ก็มี คำว่า ตถาตา นี้ แม้แต่เรื่อง อนัตตา ฟังง่ายกว่า เขาก็ยังห้ามกันไม่ค่อยให้เอามาสอนหรอก ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านว่าเรื่องนี้มันเกินไปอย่าเอามาสอนเลย มันจะกลายเป็นเข้าใจผิดแล้วให้โทษไปเสียก็ได้ หรือว่าสอนมันก็ไม่เข้าใจมาสอนให้เหนื่อยเปล่าๆเลยไม่สอน ผมก็เคยถูกผู้หลักผู้ใหญ่เขาอธิบาย แนะนำ ห้ามว่าอย่าสอนเรื่อง สุญญตา อนัตตา ให้มันมากนัก มีคนขอร้องก็มี มีคนห้ามก็มี ท่านกลัวว่ามันจะเป็นอันตรายขึ้นแก่ทั้ง ๒ ฝ่ายหรือทุกฝ่ายนี้ เรามันไม่เชื่อ เรามันดื้อ ของดีที่สุดของพระพุทธเจ้าทำไมไม่เอามาสอน? ก็แปลว่าเราเล่นไม่ซื่อ อย่างน้อยเราก็เป็นคนเล่นไม่ซื่อต่อพระพุทธเจ้า หรือต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา ผมก็เลยเฉยเสีย ไม่รู้ไม่ชี้ ท่านจะห้ามก็ห้ามไปซิ เราก็ว่าไปเรื่อย เรื่อง อนัตตา เรื่อง สุญญตา เรื่อง ตถาตา นี้ หาคำพูดใหม่ๆให้เข้าใจง่ายๆ เช่น คำว่า จิตว่าง ในเรื่องนี้ก็มีคนเขาด่า เอาไปล้อ เอาไปด่าเพราะว่ามันขัดกับประโยชน์ของเขาก็มี มันทำให้เขาเสียเกียรติไปเสียก็มี ว่าทำไมไม่สอนในสิ่งที่มันควรจะสอน? มันเกิดปมด้อยแก่บางคน แก่ผู้สอนบางคนเขาก็โกรธแต่เราก็ไม่ได้เด่นมาแต่ไหน มันเป็นคำของพระพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว ท่านต้องการให้สัตว์ทั้งหลายได้รู้เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เป็นเรื่องที่ทีแรกทรงคิดว่าอย่าสอนเลยเหนื่อยเปล่าๆนั่นแหละ ตรัสรู้ใหม่ๆแล้วอย่าสอนเลยธรรมะที่ตรัสรู้นี้ คือ ธรรมะเรื่อง อนัตตา เรื่อง สุญญตา ตถาตา คือ ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละว่าอย่าสอนเลย เรื่องที่ลึกที่ยากจนพระพุทธเจ้าเองก็ไม่คิดว่าจะสอน ต่อมา ท่านก็เห็นว่ามันมีบางคนที่จะเข้าใจได้ ถ้าไม่สอนไอ้คนนี้มันก็เสียประโยชน์ ถ้าอย่างนั้นก็สอน ทีนี้ ก็เราเห็นว่ามันควรจะพยายามสอนกันไปเท่าที่จะได้ก็แล้วกัน ได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น เรื่อง ตถาตา คือ เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท นั้นไม่สอนเรื่องนี้มันก็ไม่มีพุทธศาสนา ก็มีเท่าที่ศาสนาอื่นเขาสอนๆกันอยู่ก่อน เดียรถีย์ อื่นเขาสอนๆกันอยู่ก่อน เราต้องสอนเรื่องไม่ใช่ตัวตนนี้ ผู้ใดเห็น ปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็น ธรรม ผู้ใดเห็น ธรรม ผู้นั้นเห็น ตถาคต มันมีหลักชัดอยู่อย่างนี้ เห็นธรรมที่ทำให้เห็นพระพุทธเจ้านั้น คือ เห็น ปฏิจจสมุปบาท ตัว ปฏิจจสมุปบาท คือ ตัว ตถาตา / ตถาตา อวิตถาตา อนัญญถตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท โธ สิ่งเดียวกันนะ
ความที่เราไม่ได้ตามที่เราต้องการ-มันเป็นทุกข์ แต่ท่านก็ไม่ได้สอนว่าถ้าอย่างนั้นได้ตามที่ต้องการสิจะได้ไม่เป็นทุกข์ ท่านกลับสอนว่าอย่าไปต้องการอะไรสิมันจะไม่มีปัญหา ความที่ไม่ได้ตามที่ต้องการแล้วมันเป็นทุกข์ เธอก็อย่าไปต้องการอะไรเข้าสิมันจะดับทุกข์ แต่ถ้าชาวบ้านเขาก็ต้องบอกว่า อ้าว! ก็ให้มันได้ตามที่ต้องการสิ ให้มันได้ๆๆๆตามที่ต้องการสิมันจะดับทุกข์ ทีนี้ เพื่อจะให้ไม่ต้องการอะไรจึงสอนเรื่อง อนัตตา ตถาตา ให้เห็นว่ามันไม่ควรจะได้ มันได้ไม่ได้ มันไม่ควรจะได้ ก็เลยไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไรมันก็ไม่มีทุกข์ ทีนี้ คำสอนที่ต่ำไปกว่านั้นเขาก็สอนให้ได้กาม ได้สวรรค์ ได้อะไรตามที่ว่ามันอร่อย นี่ เขาแก้โดยทำให้มันได้ตามที่มันอยากจะได้เพื่อจะดับทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าท่านกลายว่าไม่ต้องการอะไรสิ เราไม่ต้องการอะไร แม้ว่าเราจะไปเกี่ยวข้องกับมัน ใช้มัน อะไรมันก็อย่าให้เกิดความต้องการในนั้น ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ต้องด้วยอำนาจของความต้องการ ด้วย ตัณหา อุปาทาน / สติ-ปัญญา รู้ว่าหน้าที่นี้ต้องทำ-ก็ทำเท่านั้นแหละ อย่าไปต้องการให้มันร้อนใจ มันเป็นความต้องการที่โง่เขลาอยู่ในตัว คำว่า ต้องการ ต้องการ ในที่นี้หมายถึง ต้องการด้วยความโง่เขลาอยู่ในตัว พูดว่า ต้องการ หรือ ตัณหา พอแล้ว หมายความว่ามันรวม อวิชชา อยู่ในนั้น-มันก็เป็นทุกข์แน่ แต่ปัญญามันก็บอก อย่างนี้ควรทำ ทำอย่างนี้ ก็ทำไป-อย่าต้องการก็ได้ ถือเป็นหน้าที่ที่ทำ เพราะถ้าต้องการแล้วมันโง่ พอโง่แล้วก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเกิดความต้องการก็คือว่ามันโง่เสียแล้ว เพียงแต่ปัญญารู้ว่าควรจะทำอย่างไรก็ทำไป ไอ้ความต้องการที่ร้อน ที่เผาลนจิตใจมันก็ไม่มี ก็ทำได้ เดินหน้าอะไรได้ หากินได้ กินได้ เก็บไว้ได้ อะไรได้
สามทุ่ม สี่สิบแล้ว
ท่านพุทธทาสฯ สี่สิบแล้วหรือ? เราได้ยินสามทุ่มเมื่อกี้ ไม่ได้ยินตีเป้งทีหนึ่งนะ เอ้า!ต้องปิดประชุมแล้ว สามทุ่มสี่สิบแล้ว อีกสิบนาทีจะดับไฟแล้ว ให้คุณกลับไปก่อนไฟดับ