แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในครั้งนี้จะกล่าวโดยหัวข้อตามที่ท่านกำหนดให้ว่าชีวิตเพื่อใคร ทำไม และอย่างไร ที่จริงคำตอบมันก็มีอยู่แล้วทั่วๆ ไปในการบรรยายครั้งที่แล้วๆมา หากแต่ว่าเป็นคำตอบที่ไม่ได้ตอบเจาะจง บรรยายไปตามเนื้อเรื่อง ถ้าหากเข้าใจในคำบรรยายเหล่านั้นทั้งหมดมันจะมีคำตอบอยู่ในนั้นด้วยว่าชีวิตนี้เพื่อใครทำไมเป็นอย่างนั้นก็จะเป็นไปได้อย่างไร อยากจะขอให้ท่านทั้งหลายทบทวนเรื่องมาตามลำดับทุกครั้งของการบรรยาย เพื่อให้มันมีความเข้าใจติดต่อกัน เชื่อมกันดีหรือมีความกระจ่างเพิ่มขึ้น ข้อแรกจะต้องสำนึกไว้ว่าไอ้ชีวิตนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าไม่ได้เป็นเจตนาของเรา ให้ท่านต้องมองให้เห็นความจริงข้อนี้ ไอ้ชีวิตนี้มันก็ได้เกิดขึ้นแล้วและก็มีความรู้สึกคิดนึกในตัวมันเองว่าเรา และก็ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นมันไม่ได้เป็นเจตนาของเรา ทีนี้บางคนอาจจะเล่นแง่ว่ามันไม่ใช่เจตนาของเรา มันก็ไม่ใช้เรา มันจะเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน อย่างนี้มันก็ทำไม่ได้เพราะว่าถ้าทำไปอย่างนั้นมันก็เท่ากับทำตัวเองซึ่งก็ทนไม่ได้อีกเหมือนกัน ดังนั้นเราจึงยอมรับรู้ว่ามันมีชีวิตและก็เป็นของเรา เมื่อพูดโดยสมมติโดยที่ชาวบ้านเขาพูดกันตามความรู้สึกมันก็ต้องรู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่พูดภาษาธรรมะอันลึกซึ้งว่าชีวิตหรืออะไรๆ มันไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตนนั้นมันอีกระดับหนึ่งนะ ไอ้ระดับคนธรรมดาทั่วไปก็คือความรู้สึกของเรานั้นแหละเราก็จะรู้สึกว่า เราเป็นผู้มีชีวิต เป็นเจ้าของชีวิต ชีวิตเป็นเราก็ได้ ชีวิตเป็นของเราก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะเล็งกันในความหมายไหน โดยมากมันรู้สึกเป็นตัวเราตามความรู้สึกธรรมดาสามัญมันรู้สึกเป็นตัวเรา แต่ว่าไอ้ความหมายว่าของเราก็มันก็จะซ้อนอยู่ในนั้น จะแฝงอยู่ในนั้น มันมีตัวเราที่ยืนอยู่เป็นตัวเจ้าของเรื่อง มันก็มีไอ้เรื่องนั้นแหละเป็นของมัน ชีวิตมันก็มีความรู้สึกว่าชีวิตเป็นของชีวิตตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้โดยสัญชาตญาณ คือเกิดได้เอง รู้สึกได้เอง มีความหมายแห่งตัวเรา มันจึงแน่นแฟ้นลึกซึ้งสลัดออกไปยาก แล้วเราก็ไม่เคยคิดจะสลัด เมื่อมารู้ทีหลังว่าจะต้องสลัดมันจึงสลัดไม่ได้ มันสลัดยากที่จะสลัดอะไรออกไปว่ามิใช่เรานี้มันยาก เพราะว่ามันถือเอาเป็นเราเป็นของเราโดยสัญชาตญาณ อยากจะให้จำไว้สักคำหนึ่งคือคำว่า อหังการะมมังการะมานานุสัย เขียนว่าอหังการ แล้วก็เขียนว่า มมังการแล้วก็ เขียนว่ามานานุสัย อ่านที่เดียวติดกันหมด อหังการะมมังการะมานานุสัย นั่นแหละความหมายแห่งชีวิต อนุสัยคือความคิดที่มันซ้ำซาก แน่นแฟ้น เนืองๆ แน่นๆ อยู่ตลอด ซ้ำอย่างซ้ำซาก เรารู้สึกที่ซ้ำซากเหนียวแน่นว่าฉันว่าของฉัน มมัง อหังการะว่าว่าว่าฉัน มมังการะว่าของฉัน อนุสัยคือความเคยชินแห่งความรู้สึกที่เหนียวแน่นซ้ำซาก พอคนเราเกิดมาจากท้องแม่ยังเล็กอยู่ก็ไม่ค่อยรู้สึกรุนแรงอะไรนัก แต่มันก็มีเชื้อที่จะให้รู้สึกเช่นนั้น คือรู้สึกว่าฉัน ว่าของฉัน มันมีเชื้ออย่างนั้นอยู่ในสัญชาตญาณคือในความรู้สึกของสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ ทารกในครรภ์ออกมาก็ได้เชื้อแห่งความรู้สึกชนิดนั้นโดยสัญชาตญาณ ถ้าคนเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดคนเดียวกันเขาก็จะพูดว่าของชาติก่อน ความรู้สึกเช่นนั้นของชาติก่อนๆ ติดมา เราจะพูดตามหลักพระพุทธศาสนาที่ว่ามันไม่มีอะไรตายตัวแบบนั้น มันเป็นของที่เป็นไปตามปัจจัยมันเพิ่งเกิด ก็คือพอเด็กทารกเกิดมาไม่กี่วันกี่เดือนมันก็รู้สึกนั้นนี้ได้ ถูกสอนให้รู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ คุณก็ไปดูเอาเองก็แล้วกันถึงว่าตัวเราเองที่เกี่ยวกับตัวเราเองลืมหมดจำไม่ได้ แต่ก็ไปดูไอ้เด็กเล็กๆ มันเริ่มพูด เริ่มสอน เริ่มอะไรกันอย่างไร ในที่สุดมันก็ไปมากอยู่ที่ในความหมายว่าเรา ว่าของเรา เขาสอนให้พูดว่ากินเสียนะ หนูกินเสียนะ หรือว่าอะไรที่มันเป็นของหนู เป็นตัวหนู เป็นของหนู บ้านของหนู พ่อของหนู แม่ของหนู อะไรของหนู แล้วก็ตัวหนู ทีนี้เด็กๆ มันก็รับไอ้ความหมายอันนี้เข้าไว้เป็นความหมายแห่งตัวตนและของตน ตัวฉันและของฉัน แล้วมันก็เพิ่ม เพิ่มมากขึ้น เพิ่มมากขึ้น กี่วัน กี่เดือน กี่ปี มันจะโตเป็นหนุ่มสาว มันต้องได้รับเอาความหมายอันนี้คือได้ยินและได้รับเอาความหมายอันนี้เข้าไปไว้ในความรู้สึกจนเป็นนิสัยที่เรียกว่าอนุสัย คือทำให้มีความรู้สึกว่าตัวฉัน นี่ส่วนหนึ่ง อีกสวนหนึ่งก็ของฉัน ถ้าว่ามันพลุ่งจัดมันก็เป็นตัวกูเป็นของกู ทีนี้เป็นหนุ่มเป็นสาวมีความรู้สึกอย่างนี้เต็มที่ ยังจะต่อไปอีกนานเป็นกว่าจะเป็นคนแก่คนเฒ่า มันก็เต็มที่ถึงขนาดเหนียวแน่น นั้นน่ะมันละยากชีวิตมันเต็มไปด้วยความหมายแห่งตัวกูของกูอย่างนี้ นี่เราก็รับเอาไว้เหนียวแน่นโดยไม่ต้องมาสอนกันอีกแล้วในการที่จะมีความรู้สึกว่าตัวตน ทีนี้คำสอนเขาก็สอนเรียกว่าทับลงไปซ้ำ ย้ำๆ หัวตะปูลงไปอีก ให้ยึดถือว่าตัวตน ให้ยึดถือว่าของตนให้ทำดีเพื่อตัวตนจะได้ดี แล้วก็ทำดีต่อไปตัวตนจะได้ไปเกิดในสวรรค์หรือว่าไปนิพพานก็สุดแท้ คำสอนชนิดนี้ได้มีขึ้นแล้วตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีสติปัญญาก่อนพระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องตัวตนนี้มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า สอนกันมาจนเกิดพระพุทธเจ้า นี้ท่านก็มารู้ลึกไปกว่านั้นเรื่องว่าความจริงมันไม่ได้เป็นตัวตน แต่เมื่อเขายึดถือเหนียวแน่นเป็นตัวตนเราจะมาบอกเขาว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้มันก็มาทะเลาะกับคนบ้ามันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นท่านก็สอนอย่างมีตัวตนไปก่อนเหมือนกันว่ามีตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ทำดีเพื่อให้ตนได้ดี จนกว่าเมื่อมันจะเบื่อ เบื่อดี ดีของตนนี่ถึงจะสอนเรื่องโอ้, ที่แท้มันไม่ใช่ตัวตนฉะนั้นเรื่องอนัตตาไม่ใช่ตัวตนน่ะมันมาทีหลัง เราถือลัทธิมีตัวตนกันเต็มที่จึงมาเรียนพุทธศาสนา เรียนอะไรเรื่องไม่มีตัวตนนี่มันทีหลัง นี่ในประวัติศาสตร์อันยาวนานก็เป็นอย่างนั้น ประชาชนในอินเดียระบุเฉพาะประเทศอินเดียที่เป็นที่เกิดแห่งศาสนาทั้งหลายเหล่านี้ เขาสอนเรื่องมีตัวตน คนก็ถืออย่างมีตัวตนมาแน่นแฟ้นจนจนถือว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ ที่ว่ามันมาเกิดเปลี่ยนเหมือนกับว่าขึ้นศักราชใหม่อย่างพระพุทธเจ้านี่มันจึงเกิดกระทบกระทั่งกันขึ้น ท่านก็มีความรู้ความสามารถที่จะสอนต่อจากเรื่องที่มีตัวตนเปลี่ยนเป็นเรื่องไม่ใช่ตน แม้จะมีสิ่งชนิดนั้นที่ว่าเป็นของเที่ยงแท้ถาวร เป็นอมตะอะไรก็ตามก็ยอมรับแต่ไม่ถือว่าเป็นตัวตน ถือว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นธรรมธาตุของมันอย่างนั้นเอง ทีนี้อีกพวกหนึ่งหรือพวกมาก พวกมากกว่ามากเขาไม่ยอมเปลี่ยนน่ะ เขายังมีตัวตนอยู่ ฉะนั้นลัทธิฝ่ายฮินดูที่เราเรียกรวมๆ กันว่าฝ่ายพราหมณ์หรือฝ่ายพระเวทย์เขาไม่ไม่ยอมเลิกไม่ยอมเปลี่ยนคำว่ามีตัวตน เขาก็ยังมีตัวตน เขาสอนตัวตนที่ดีขึ้นไป ดีขึ้นไปไม่ใช่ตัวตนอย่างที่รู้สึกเองตามธรรมชาติอย่างนี้ เขาสอนเหมือนกันว่าที่เรารู้สึกเองตามธรรมชาติว่าตัวกูของกูนี้ไม่จริงเป็นอวิชชา เป็นกิเลสต้องละเสีย ก็ละตัวตนชนิดนี้แล้วก็ไปพบตัวตนที่แท้ที่จริงที่ถาวร เป็นตัวตนตลอดกาลเขาก็มีตัวตนตลอดกาล แล้วเรื่องมันก็จบที่มีตัวตนอันถาวรตลอดกาล ฝ่ายโน้นน่ะฝ่ายฮินดู ฝ่ายพราหมณ์ ฝ่ายพระเวทย์ รวมเรียกว่าฝ่ายพราหมณ์ก็แล้วกัน ทีนี้ฝ่ายพุทธพอไม่มีตัวตนเห็นไม่มีตัวตน ว่างจากตัวตน จิตว่างจากตัวตนไม่ถืออะไร เลยถือเอาความว่างนั้นเป็นจุดจบ ฉะนั้นนิพพานจึงหมายถึงว่างอย่างยิ่ง ว่างจากตัวตน พูดสรุปสั้นๆ ว่าเขาจบลงที่มีตัวตนอันถาวร เป็นนิรันดร แล้วก็จบลงที่ความว่างอันเป็นนิรันดร มีก็มีสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาติ ที่มันเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงไป ไอ้ที่มันไม่เปลี่ยนแปลงก็อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง แม้กระนั้นเราก็ไม่เรียกว่าตัวตน นั้นเราจึงมีธรรมะธรรมธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่เป็นอสังขตะ เป็นอมตะ เป็นนิพพานได้เหมือนกัน และเป็นว่างจากตัวตน บางทีก็จะพูดแต่เพียงว่าไม่ควรจะเรียกว่าตัวตน แม้พระนิพพานจะมีอยู่จริง สิ้นสุดแห่งความทุกข์จริง สิ้นสุดแห่งกิเลสจริง แต่มันก็มีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี แม้จะมีอยู่ก็ไม่เรียกว่าตัวตน ไม่เรียกว่าตัวตนของพระนิพพานเอง หรือไม่เรียกว่าตัวตนของใครคนใดคนหนึ่งที่จะไปเอาเข้าที่หลัง นี่ความหมายเรื่องอัตตากับเรื่องอนัตตาซึ่งเป็นหลักใหญ่มันมีอยู่อย่างนี้ เป็นหลักที่สำคัญมากที่ถ้าต้องการจะศึกษาให้รู้พุทธศาสนาว่าต่างกับศาสนาอื่นอย่างไร ถ้าไม่เข้าใจข้อนี้ดีแล้วจะปนกันยุ่งและจะสับสน จะฟั่นเฟือ หรือจะสลัว เข้าใจแจ่มแจ้งไม่ได้ แล้วก็พูดไปผิดๆ ก็ได้ เอามาปนกันยุ่งไปหมด อ้าว, ทีนี้คุณจะเอาอะไรเป็นชีวิต สิ่งที่ตั้งต้นมาตั้งแต่ในท้องแม่นี่ก็เป็นชีวิต ซึ่งเราเข้าใจว่าตัวตน กระทำกับมันอย่างตัวตน ยึดถืออย่างตัวตน แต่ที่แท้ในที่สุดเรามารู้ อ้าว, มันไม่ใช่ตัวตนไปรู้จักสิ่งที่ตรงกันข้าม เป็นพระนิพพานก็ยังไม่อยากเอานิพพานนั้นเป็นตัวตน ฉะนั้นพุทธศาสนานี้จึงมีคำกล่าวว่าเข้าใจยาก ถึงแม้พระพุทธเจ้าเองท่านก็รู้สึกว่ามันเข้าใจยากเรื่องนี้ ถึงกับว่าเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ ท่านก็รู้สึกว่ามันเข้าใจยาก ทุรานุโพโธ สัตว์จะรู้ตามได้ยาก ก็เลยท้อพระทัยคิดว่าไม่สอน ไอ้เรื่องนี้ไม่สอนไอ้เรื่องที่ตรัสรู้มานี้จะไม่สอน มันเข้าใจยาก มันคงไม่เข้าใจ ต่อมาเกิดความคิดที่เปลี่ยนว่ามันคงจะมีบางคนเข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าสอน แล้วก็สอนเท่าที่จะสอน จึงสอนเท่าที่มีอยู่ ปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะมันเป็นเรื่องเข้าใจยาก ทีนี้ฝ่ายพราหมณ์ฝ่ายโน้นน่ะเขาได้เปรียบ เพราะว่าไอ้ความรู้สึกตามสัญชาตญาณของสัตว์มันก็มีตัวตนอยู่แล้ว โตขึ้นมาก็เน้นเรื่องตัวตน ทีนี้พอตัวตนอย่างนั้นไม่ดีก็เปลี่ยนเป็นตัวตนที่ดีกว่า เปลี่ยนตัวตนที่ดีกว่า ตัวตนที่ดีกว่า มันง่าย ง่ายที่จะรับเพราะมันเข้ากับความรู้สึกธรรมดาของสัตว์ที่ว่ามีตัวตน เพราะเขามีตัวตนอันถาวรอยู่ตลอดอนันตกาล คนแต่งหนังสือกามนิตก็ไปยืมหลักอันนี้มาใส่เรื่องกามนิต ไอ้จุดสุดท้ายที่กามนิตจะไปถึงได้ก็คือตัวตนที่ถาวรนั่นแหละ นี่ไม่เป็นหลักพุทธศาสนา ฉะนั้นถ้าใครถือว่าหนังสือกามนิตถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาเอามายืนยันแล้วจะลำบากมาก จะแย่มาก เพราะมันไม่ใช่หลักพุทธศาสนาที่จะไปมีตัวตนที่ถาวรอย่างเรื่องนั้น แต่บางคนเขาก็ถือว่า เข้าใจว่า ถือว่าอธิบายพุทธศาสนาด้วยเรื่องกามนิตเป็นไปไม่ได้ คือไม่ใช่หลักพุทธศาสนา ก็เป็นฝ่ายโน้นน่ะ ฝ่ายที่เรียกว่าฮินดูหรือพราหมณ์ ทีนี้ความเข้าใจยากอยู่ที่ปฏิเสธตัวตน นี้พวกฝรั่งเขามาศึกษาพุทธศาสนาพอมาถึงตอนนี้เข้า เขาไม่เข้าใจถึงที่สุด เขาจัดให้พุทธศาสนานี่เป็นความคิดประเภทปฏิเสธที่เรียกว่า Negative เป็นหลักลัทธิที่ปฏิเสธไม่มีอะไร ไม่มีอะไร นี่ไอ้ฝ่ายที่ตรงกันข้าม ฝ่ายฮินดูฝ่ายพราหมณ์นั้นเขาเป็น Positive คือมีอยู่ มีอยู่ มีอยู่ มีอยู่ตลอดกาล จนกระทั่งมีอยู่ มีอยู่ตลอดกาล นี่มันเข้ากันได้กับความรู้สึกของคน ฉะนั้นคนเขาจึงชอบอย่างนั้นและรับเอาอย่างนั้นเข้าไว้เต็มที่ ส่วนพุทธศาสนานั้นเขาจัดให้เสียว่าเป็น Negative มีแต่ปฏิเสธเรื่อย หลักคำสอนบางแห่งมันก็มีลักษณะปฏิเสธเรื่อยอย่างนั้นเหมือนกัน แต่อย่าไปเข้าใจผิดๆ ตามเขาไปว่าเป็น Negative พุทธศาสนาไม่เป็น Negative ถ้าคุณจะไปสนทนาปรัชญาชั้นลึกชั้นสูงกับพวกอื่นชาวต่างประเทศนี่ต้องบอกให้เขารู้ด้วยว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ Negative คือมันมีอะไรเหมือนกันแหละแต่เราไม่เรียกว่าตัวตนเท่านั้นแหละ นิพพานก็มีอยู่อะไรที่ควรจะปรารถนานั้นก็มีอยู่แต่เราไม่เรียกว่าตัวตน ไม่ใช่ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเป็น Negative แล้วเป็นมิจฉาทิฐิ เขาก็เรียกว่า Nihilism เขาจะรู้สึกว่าเป็นลัทธิที่เลวร้ายอันตรายที่สุด Nihilism ปฏิเสธว่าไม่มีอะไรเลย อย่างในอินเดียเขาเรียกว่า ณัฐิกะทิฐิ ทิฐิที่ว่าไม่มีอะไรเลยพุทธศาสนาไม่ใช่อันนั้น มีสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรดับทุกข์ได้ นั่นมี ฉะนั้นจึงไม่ใช่ Negative แล้วมันก็ไม่ใช่ Positive แบบที่เขามีมีกัน มันก็ต้องเป็นในแบบของตัว หรือจะเรียกว่าอยู่ในระหว่าง Positive กับ Negative ก็ได้ คือไม่ใช่ว่ามีอย่างโง่เขลา ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย มันก็มีอย่างแบบที่ว่า เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้ก็เกิดขึ้น มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้ก็เกิดขึ้น คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เคยพูดให้ฟังมาแล้ว ที่คุณควรจะติดตามศึกษาต่อไปอย่างอย่างไม่หยุด ไปศึกษาปฏิจจสมุปบาทให้เข้าใจจนได้ ถ้าพูดว่ามีก็ผิด พูดว่าไม่มีก็ผิดตามหลักพุทธศาสนา จึงพูดได้เพียงว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี นี้เขาเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คืออยู่ตรงกลาง ถ้าถามว่าตัวตนมีหรือไม่มี เขาก็บอกว่ามีแต่ไม่ไม่ควรเรียกว่าตัวตน เป็นเป็นเป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย อะไรๆ ที่เขาถือกันว่าเป็นตัวตนนั้นเราก็ยอมรับว่ามันมี เมื่อเขาถือว่าตัวตน เราถือว่าไม่ใช่ตัวตน เราถือว่าเป็นเพียงความที่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยลักษณะที่เรียกว่า เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้ก็มี มัสมิงสติ สิ่งนี้มี อิทังโหติ สิ่งนี้ก็มี อย่างนี้เรื่อยไปเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท จะไปใช้กับอะไรก็ได้ในโลกทั้งโลก มันก็มีอะไรเป็นต้นเหตุ มันจึงมีอันนั้น ก็อันนั้นเป็นต้นเหตุ จึงมีอันนั้นอันนั้นไปเรื่อยนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไปศึกษาดู เนื้อหนังร่างกายเราทั้งดุ้นทั่งก้อนนี้ก็มีแต่ลักษณะอย่างนี้ เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ ผม ขนเล็บ ฟัน หนัง กระดูก เนื้อ เอ็น อะไรก็ตาม ถึงจิต ความคิดก็เหมือนกัน เพราะมีเหตุปัจจัยให้จิตมันเกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วมันก็คิดๆ ว่าอย่างนั้น อย่างนั้น มันไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งที่ว่าเมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี ถ้าเราจะถูกถูกถามว่าตัวเรามีไหม ตัวเราคืออะไร ชีวิตมีไหม ชีวิตคืออะไรไปหาคำตอบให้มันดีที่สุด ให้มันนักเลงที่สุด ไอ้ชีวิตจริงๆ มันก็มิได้มีนะพอมาถึงขั้นนี้ มันก็มีแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งไปตามกฎอันนี้ แล้วก็เรียกว่าชีวิตอย่างที่กำลังเป็นคนอยู่เดี๋ยวนี้ยังไม่ทันจะตายนี่ มันก็ไม่มีแก่นสารอันถาวรอะไร ตายก็ง่าย เหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลงอะไรขาดตอนลงไปมันก็ตาย มันเป็นของที่แตกง่ายตายง่าย นี่ชีวิตในความหมายที่มันจริงหรือมันลึก ชีวิตเป็นตัวเองก็ไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งหลายของมัน ไอ้ตัวเรานั้นน่ะเป็นเพียงลมๆ แล้งๆ ฝากไว้กับที่สิ่งที่เรียกว่าชีวิต แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้สึกอย่างนั้นคิดดู ก็ยอมรับเหมือนกันทุกคนจะไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้น เพราะความรู้สึกตลอดเวลา มีอยู่ตลอดเวลาว่ามีตัวฉัน มีของฉันที่ได้เรียกว่าเป็นอหังการะมมังการะมานานุสัย ที่ให้จดไว้เมื่อตะกี้น่ะ ความรู้สึกอันนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ใครจะมารู้สึกเอาเองว่า โอ้, ไม่มีเรา ไม่มีของเรานี้มันเป็นไปไม่ได้ เพราะความรู้สึกว่าเรา ว่าของเรามันมีอยู่ตลอดเวลา อะไรเกิดมากระทบเข้ามันก็มีแต่จะคิดอย่างนั้น มีแต่จะปรุงอย่างนั้น พออะไรมากระทบตา มันก็มีความรู้สึกว่ากูเห็น แล้วกูรัก กูไม่รัก หรือว่ากูคิดอย่างนั้น กูคิดอย่างนั้น อะไรมากระทบหู มันก็คิดอย่างนั้น กลิ่นมากระทบจมูก มันก็รู้สึกอย่างนั้น ลิ้นก็เหมือนกัน ผิวหนังก็เหมือนกัน จิตใจเองก็เหมือนกัน ฉะนั้นเราอยู่ด้วยความรู้สึกว่าตัวฉัน ว่าของฉันตลอดเวลา มองให้เห็นข้อนี้ให้ชัดเหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์ ว่าเราอยู่กับความรู้สึกที่ว่า ตัวฉัน ของฉันนี่อยู่ตลอดเวลา กลางคืนก็ฝันได้ กลางวันนี้อยู่ในความรู้สึกเต็มๆ ว่าตัวฉัน ว่าของฉัน มันจึงเหนียวแน่น ถ้าเอาตามความรู้สึกธรรมดาสามัญไม่เกี่ยวกับวิชาปัญญาอะไร ก็มีตัวฉัน มีตัวฉันตามความรู้สึกของคนนั้นๆ แต่ถ้าเอาตามสติปัญญาของผู้รู้มองเห็นแล้ว อ้าว, มันไม่มีตัวฉัน มีแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งของธรรมชาติเป็นไป นี้ก็มีปัญหาว่าไอ้ชีวิตอยู่ที่ตรงไหน ไอ้ตัวเราอยู่ที่ตรงไหน ก่อนที่จะถามว่าชีวิตนี้เพื่อใคร ชีวิตมันอะไรมันตรงไหน ฉะนั้นไอ้ผู้ถามควรจะถามด้วยคำพูดที่มีความหมายตามธรรมดา ชีวิตตามธรรมดา ที่เรารู้สึกว่าเราต่อสู้ดิ้นรนอยู่คือไม่ตาย ชีวิตคือความไม่ตาย ไม่ตายเพื่อใคร ทีนี้ตามความรู้สึกของมันเองก็เพื่อตัวมันเอง เอาตามความจริงตามข้อเท็จจริงที่มีจะรู้สึกได้เอง มันก็เพื่อตัวมันเองเพราะมันมีความรู้สึกว่าตัวฉันและของฉัน ทุกอย่างต้องเพื่อตัวฉัน ทุกอย่างมันเป็นของฉัน ทุกอย่างมันก็เพื่อตัวฉัน นี่ถ้าเรารู้สึกอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าเราเป็นคนธรรมดา ไม่ไม่ปรับให้เป็นคนใจบาปหยาบช้าอะไรนะ แต่ระวังให้ดีนะไอ้ที่ว่าคนธรรมดานี่ ไอ้ความรู้สึกอย่างนี้มันทำให้เกิดความสงบสุขหรือความทุกข์ มีสิทธิ เรามีสิทธิที่จะรู้สึกคิดนึกว่าตัวฉันและของฉันและก็คิดได้ตามธรรมชาติไม่ถือว่าเป็นคนบาปคนชั่วอะไรเพราะมันรู้สึกตามธรรมชาติ แต่แล้วมันมีปัญหาว่าเมื่อมันมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่แล้วมันเป็นผลอย่างไรมันเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทีนี้ที่ท่านมองเห็นที่พระศาสดาตรัสรู้และมองเห็นว่าไอ้ความคิดนี้เอง ตัวฉันของฉันนี้เองเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลาย มันเกิดในความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความวิตกกังวลไอ้ ความทุกข์นานาขึ้นมาเพราะอันนี้มันเป็นจุดตั้งต้น ฉะนั้นเราจึงมาดูกันเสียใหม่ว่า ไอ้ตัวฉันของฉันนี้มันลมๆ แล้งๆ เป็นอวิชชาความรู้ที่ผิดมีค่าเท่ากับไม่มีความรู้ การรู้สึกว่ามีตัวฉันมีของฉันนี้มันเป็นความรู้ผิด แล้วมายึดถือไว้อย่างเหนียวแน่นมีค่าเท่ากับไม่รู้ รู้ผิดทำให้เกิดปัญหาหนักอกหนักใจขึ้นมา ถ้าไม่มีความรู้สึกว่าตัวฉันหรือของฉันและจิตก็จะเป็นอิสระ จิตถูกกักขังเหมือนกับถูกขังคุกเพราะมันขังอยู่ในความรู้สึกว่าตัวฉัน ว่าของฉัน แล้วเขาจึงเรียกว่าติดอยู่ในวัฏฏะ ถ้าปราศจากไอ้ความรู้สึกตัวฉันของฉันก็เรียกว่าหลุดพ้น วิมุตติหลุดพ้นออกไปจากกองทุกข์ มันมีความจริงอยู่อย่างนี้ เราจะพูดว่าชีวิตนี้เพื่อใคร มันไม่ควรจะถามว่าเพื่อใคร มันควรจะตอบว่าชีวิตนี้มันเพื่อวิมุตติเสียมากกว่า เพื่อวิมุตในที่สุด ตอบอย่างนี้ฟังไม่รู้เรื่องไม่ต้องตอบ พอเอาใกล้ๆ เข้ามาอย่างคนธรรมดาสามัญ อย่างคนทั่วไปเขาจะชีวิตเพื่อใครมันก็ต้องเพื่อตัวเอง คือเพื่อชีวิตนั้นเอง เราต้องรับรู้ว่ามันมีชีวิตซึ่งเกิดอยู่แล้ว แล้วก็รู้สึกอยู่ว่าตัวเรา นี่เราจึงต้องจัดกับมันให้ถูกต้อง เรียกว่าหาทางให้มันเดิน ธรรมะนั่นแหละเป็นทางเดิน ในพุทธศาสนาของเราจึงพูดว่าธรรมะนั่นแหละคือทางเดิน และธรรมะที่ชื่อว่าทางมันก็มีอยู่แล้วคืออริยมรรค อัฏฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ ความถูกต้อง ๘ ประการนั้นรวมกันเรียกว่าทาง แล้วทางเดินคืออันนั้นและจัดให้ชีวิตมันเดินไปตามทางนั้นเพื่อประโยชน์แก่ตัวมันเองจะไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่คือเดินอย่างนี้ ทำไมต้องเดินถ้าไม่เดินมันก็จมอยู่ในกองทุกข์ เดินอย่างไรก็เดินไปตามความถูกต้องที่เรียกว่าทาง หนทาง เป็นพุทธบริษัททั้งทีไอ้คำ ๘ คำนี้ต้องคล่องนะอย่าให้ใครถามแล้วตอบไม่ได้เหมือนบางเรื่องที่แล้วมาหรือพวกฝรั่งถามแล้วตอบไม่ได้ขายหน้ามัน มันต้องคล่องที่สุดแหละไอ้ ๘ คำนั้น สัมมาทิฐิเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ดำหริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ สัมมาอาชีโว คำรงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม พากเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจมั่นชอบ ชอบในที่นี้ก็หมายถึงถูกต้อง ทิฐิก็คือความรู้สึกคิดนึก คิดเห็น ความเห็นของสติปัญญาเรียกว่าทิฐิต้องถูกต้อง แล้วความปรารถนาก็ต้องถูกต้องไอ้ข้อนี้มันไม่เป็นไรถ้าไอ้ความเห็นมันถูกต้องแล้วมันปรารถนาถูกต้องเอง แล้วมันก็จะพูดจาถูกต้องเอง ก็มีการกระทำถูกต้องเอง มีการดำรงชีวิตอยู่ถูกต้องเอง มีความพากเพียรถูกต้องเอง มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้องเอง แล้วมันจึงสำคัญอยู่ที่องค์แรกคือ ทิฐิ อันนี้เขาเรียกปัญญา สัมมาทิฐิ ปัญญาเห็นชอบก็ได้ สัมมาทิฐิ ทิฐิชอบ ความเห็นชอบก็ได้แต่คือตัวปัญญา ฉะนั้นถ้าตัวปัญญาหรือตัวทิฐิมันถูกต้องแล้วมันลากอันอื่นถูกต้องหมด ฉะนั้นพระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่ามันรอดด้วยปัญญา มันถูกด้วยปัญญา มันหลุดพ้นด้วยปัญญา จนกระทั่งว่าพุทธศาสนาเราเป็นศาสนาแห่งปัญญา ศาสนาอื่นอาจจะยกเอาศรัทธามาเป็นหลัก มาเป็นกำลังสำคัญก็มี แต่พุทธศาสนาเอาปัญญาเป็นหลักสำคัญ ศาสนาอื่นเอาการบังคับจิตเป็นหลักสำคัญก็มี ก็เรียกว่าวิริยะ และเราเอาปัญญาเป็นหลักสำคัญ พระพุทธเจ้าของเราองค์นี้ท่านเป็นพวกที่มีปัญญาเป็นหลักสำคัญ แล้วท่านก็เลยสอนเรื่องปัญญาเป็นหลักสำคัญ จึงตรัสว่าบริสุทธิ์ได้เพราะปัญญา ชีวิตที่มีปัญญาเป็นชีวิตประเสริฐสุด ล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสมาทานสัมมาทิฐิคือปัญญา เหล่านี้เป็นต้น มากมายเหลือเกินที่ว่ามันจะรอดตัวได้เพราะปัญญา เราเอาปัญญาเป็นทางเดิน ปัญญาเป็นอุปมาเป็นคำเปรียบของแสงสว่าง ไม่มีแสงสว่างอะไรจะเท่าปัญญา แสงสว่างนี้เป็นหนทาง เป็นเครื่องส่องทาง เป็นตัวทางเป็นอะไรพร้อมเสร็จ เมื่อตั้งปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ว่าชีวิตเพื่อใครนี้มันตอบได้หลายระดับ จะตอบระดับเด็กๆ คุยกับเด็กๆ ก็ตอบไปอย่าง ระดับผู้ใหญ่มีสติปัญญาศึกษามาเพียงพอก็ตอบไปอย่างหนึ่ง ถ้าสูงสุดมันก็ตอบไปอีกอย่างจนกระทั่งว่ามันไม่มีตัวเราและไม่มีชีวิตไม่มีตัวเรา ชีวิตเป็นความรู้สึกที่กักขังตัวเองอยู่ในคุก พ้นจากความรู้สึกคิดนึกอันนี้ก็คือหลุดรอดจากคุก หลุดรอดจากกักขัง หลุดรอดจากตัวเรา ที่จะตอบนี้มันก็ต้องต้องต้องจัดว่าตอบสำหรับเด็กๆ หรือตอบสำหรับผู้ใหญ่ หรือตอบสำหรับผู้รู้ หรือตอบสำหรับผู้รู้ที่สุดสูงสุด ถ้าตอบอย่างมีตัวตนกันก็ตอบเพื่อตัวตน เพื่อเดินไปให้ถูกทางจุดหมายปลายทางก็จะหมดตัวตนเอง ทีนี้ถ้าว่าจะตอบอย่างศีลธรรม ไม่ใช่ตอบอย่างปรมัตถธรรม มันก็คือมีตัวตนเพื่อตัวตนที่ดี ไอ้คำ ๒ คำนี้จำไว้เถอะมันมีประโยชน์ ถ้าเราจะพูดอย่างศีลธรรมที่คนทั่วไปจะรับได้และมีตัวตนนะ ถ้าพูดอย่างศีลธรรมมันจะมีตัวตน มีตัวตนอย่างที่เขาว่า ตัวตนตายเกิดตัวตนอะไรก็ตามนี้พูดอย่างระดับศีลธรรม ถ้าตอบอย่าง ถ้าเขาพูดระดับปรมัตถธรรมตอบคำตอบมันจะมีอีกอย่างแม้จะคำถามเดียวกัน ปรมัตถธรรมก็แปลว่าไอ้ธรรมะที่มีเนื้อความอันลึกซึ้งสูงสุดอย่างยิ่ง ระดับนั้นไม่มีตัวตน ระดับศีลธรรมมีตัวตนอยู่กันในโลกนี้ ทีนี้เราถูกถามอย่างนี้ เราควรจะนึกถึงเพื่อนมนุษย์ตามธรรมดาก่อน เราก็มีคำตอบในระดับศีลธรรมกันก่อน เมื่อถึงที่สุดเรื่องศีลธรรมแล้วจึงค่อยมีคำตอบในระดับปรมัตถธรรม ทีนี้เมื่อมีคำตอบในระดับทั่วไป ในระดับศีลธรรม มันมีตัวเรานี่ มันก็ชีวิตนี้เพื่อเราและก็ต้องเพื่อนของเราด้วย ไอ้ระดับศีลธรรมนี้ต้องจำไว้นะว่ามันมีเพื่อนของเราด้วยนะ ถ้ามีแต่ตัวเรามันเป็นศีลธรรมที่แคบที่บ้าๆ บอๆอยู่นะ ประโยชน์นี้มันต้องเพื่อเราและเพื่อนของเรา เมื่อพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องศีลธรรมนี้ ท่านก็ตรัสอย่างนี้แหละว่าเพื่อเราและเพื่อผู้อื่นด้วย ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ใช่เพื่อเราอย่างเดียว ฉะนั้นชีวิตนี้มันเพื่อเราและเพื่อนของเรา ไอ้เพื่อนของเราที่เราเรียกกันว่าเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้าเป็นพุทธบริษัทแท้เต็มตามความหมายแล้วมันจะลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน เพื่อนของเรา คำว่าเพื่อนของเรามันจะลงไปถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย ไม่ใช่เพียงแต่มนุษย์ด้วยกัน และอยากให้ลงไปถึงต้นไม้ต้นไร่ด้วยเพราะมันก็มีชีวิตรู้สึกคิดนึกเหมือนกันนั่นแหละเพื่อนของเรา ฉะนั้นชีวิตนี้เพื่อใคร เพื่อเรากับเพื่อนของเรา แต่เขามักจะใช้คำว่าผู้อื่นมันฟังยาก ผู้อื่นเดี๋ยวมันก็เป็นข้าศึกศัตรูกับเราเสียอีก อื่นจากเรามันคือตรงกันข้ามจากเรา พูดอย่างนั้นมันต้องตีความหมายดีๆ เพื่อตนเองและผู้อื่น มันมีความหมายชนิดที่ไม่ค่อยเป็นหลักที่ดีนัก คือมันไม่ชัดพอ เพื่อเรากับเพื่อเพื่อนของเราดีกว่า และเพื่อนของเรานี้ทั้งหมดเลย ทั้งมนุษย์ ทั้งสัตว์ ทั้งสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ทีนี้ในระดับศีลธรรมมันก็มีหลักอยู่แล้วโดยศีลธรรมว่าเ ราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้นี่มันมีตัวตนและก็อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้เป็นหลักทางศีลธรรม ฉะนั้นเราต้องไม่ทำเพื่อตัวเราอย่างเดียว มันต้องทำเพื่อเพื่อนที่อยู่ร่วมกันด้วย ฉะนั้นจึงต้องจัดให้มันมีการประพฤติกระทำต่อกัน เรามีประโยชน์ได้ตามที่เราต้องการแล้ว เราก็ช่วยแนะนำสั่งสอน ช่วยเหลืออะไรก็ตามให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์อันนั้นด้วย ทำไมจึงทำอย่างนี้เพราะตอบอย่างมีตัวเราเพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ คำพูดนี้ถูกต้องทางศีลธรรม แต่ทางปรมัตถธรรมดูเป็นเรื่องที่แสดงความเห็นแก่ตัว เอาตัวเป็นหลักมากเกินไป ไม่น่าฟัง ทำเพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้นี่ทางชั้นสูงสุดเขาฟังเป็นเรื่องแปล่งๆ แต่ถ้าว่าชั้นระดับธรรมดาสามัญเรื่องศีลธรรมแล้วก็ดีถูก เพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ เราต้องทำให้ทุกคนอยู่กันได้อย่างเรียบร้อย นี้เราจึงต้องเดิน เดินทางไปตามทางคือธรรมะ เพื่อเราจะอยู่ในโลกมีความสุข เพื่อนของเราทุกคนจะอยู่ในโลกมีความสุข จิตใจที่วางไว้กว้างอย่างนี้เป็นพุทธบริษัท ถ้าเห็นแก่ตัวอย่างเดียวไม่ไม่มีความเป็นพุทธบริษัท ทีนี้อีกมุมหนึ่งเมื่อถูกถามว่าทำไมจะต้องทำอย่างนี้ มันก็ตอบได้ว่าเพื่อให้ชีวิตนั้นน่ะมันเป็นสิ่งที่มีค่าถึงที่สุดของมัน นี่คุณต้องมองกันละเอียดสักหน่อยคือว่า ชีวิตนี้มันจะดีได้เท่าไรไอ้เราก็ยังไม่รู้ แต่มันก็มีของมันว่ามันจะดีได้เท่าไร ประเสริฐที่สุดได้เท่าไร ต้องช่วยให้มันได้ดี ได้ประเสริฐถึงที่สุดเท่านั้น เมื่อเขาพูดตามหลักศีลธรรมแล้วเขาก็ถือว่าชีวิตนี้มีค่าที่สุดยิ่งกว่าเพชรพลอยยิ่งกว่าอะไร แต่ละคนใช้มันไม่ถึงนั้น ไม่ถึงค่า นี้เราจะถือหลักว่าไอ้ชีวิตนี้มันจะมีค่าได้เท่าไร เราจะจัดจะทำให้มันมีค่าถึงที่สุดเท่านั้น เอาอย่างโลกๆ กันเอามันก็อยู่เป็นคนมั่งมี มีเกียรติยศ มีพวกพ้องเป็นสุขอย่างยิ่งในโลกนี้ ก็เรียกว่าชีวิตแบบโลกๆ นี้มันมีค่าถึงที่สุด นี้ถ้าว่าไกลไปกว่านั้นชีวิตนี้มันสามารถจะไปนิพพานได้ จะบรรลุถึงนิพพานได้ ก็ช่วยให้มันได้บรรลุถึงนิพพานได้ด้วย นี่ในชั้นปรมัตถธรรม มันช่วยให้ชีวิตเป็นไปถึงที่สุด คำตอบไอ้คำพูดมันจะเกิดขึ้นมาว่าชีวิตนี้เพื่อชีวิตเอง เดี๋ยวจะไม่มีใครเอาเสียอีก ถ้าชีวิตนี้เพื่อชีวิตเองไม่ใช่เพื่อตัวกู ฉะนั้นจิตใจมันควรจะแจ่มแจ้งกว้างขวางพอที่จะมองเห็นว่าชีวิตในระดับโลกมันก็เพื่อตัวกู เพื่ออะไรของกูนี้ แต่ถ้าในระดับสูงสุดมันไม่มีตัวกู มันก็เพื่อชีวิตนั่นเอง เพื่อสิ่งนั้นเอง ทีนี้มีหลายเรื่องนะถ้าว่าถ้าว่าจะให้สูงสุดกันแล้วมันต้องเพื่อสิ่งนั้นเอง ถ้ายังเพื่อตัวกูของกูอยู่ยังไม่สูงสุด คุณจะมีชีวิตเพื่อตัวเองก็ได้ไม่ผิด ไม่ผิดอะไร ไม่บาป ไม่กรรม ไม่ชั่ว ไม่อะไร แต่มันไม่สูงสุดเพราะมันยึดถือ แล้วมันก็ต้องหนัก เหมือนกับถือจับ ถือหิ้วแบกหามให้มันหนัก ฉะนั้นชีวิตมันจึงเป็นของหนักอยู่ในตัวชีวิตตามหลักธรรมะก็ว่าอย่างนั้น เบญจขันธ์ร่างกายนามรูปนี้มันเป็นของหนักเมื่อยึดถือ เรายึดถือว่าของเราก็จับก็ทำไปตามแบบความยึดถือมันก็หนักมันก็มีปัญหาเหมือนที่ประสบอยู่ ปัญหาเรื่องการบริหารชีวิต ปัญหาเรื่องทำให้ชีวิตนี้ได้รับการศึกษาเล่าเรียนมีค่า มีสามารถ มีอะไรล้วนแต่เป็นภาระตลอดเวลา ฉะนั้นพอมีความรู้พิเศษแทรกเข้ามาว่าทำไม่ให้มันหนักเกี่ยวข้องกับชีวิต จัดชีจัดแจงชีวิต ดำเนินชีวิตอะไรไปตามนั้น แต่อย่าให้เป็นของหนัก คือไม่ยึดถือ คือไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา มันก็เกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าอย่างนั้นทำไปทำไมก็เพื่อชีวิตนั้นเอง ฉะนั้นคนที่ถือว่าเพื่อชีวิตนั้นเองก็มีจิตใจสูงกว่าไอ้คนที่พูดว่าเพื่อเราหรือเพื่อเพื่อนของเรา นี่คำถามที่คุณให้บรรยายว่าชีวิตนี้เพื่อใคร แล้วก็ทำไมจึงต้องอย่างนั้น แล้วก็โดยวิธีใด ได้ชั่วโมงหนึ่งแล้ว สรุปกันเสียทีหนึ่งนะ ถ้าว่าชาวบ้านนะมีชีวิตเพื่อตัวกูนั้นนะ ถ้าว่าเพื่อธรรมะสูงสุดแล้วก็ชีวิตเพื่อชีวิตดีกว่าเพื่อธรรมชาติ เพื่อไอ้ธรรมชาติที่เราที่พระเจ้าที่เรียกว่าพระเจ้า เพื่อไม่ใช่เราก็แล้วกัน ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตนี้มันเป็นไปโดยถูกทาง ทั้งเพื่อตัวเราและทั้งเพื่อชีวิตเองในระดับสูง มันก็ทำนั้นแหละพูดมาแล้วหลายๆ หัวข้อแล้ว ก็ครั้งที่แล้วๆ มาก็ไอ้ธรรมะนั่นแหละ ปฏิบัติธรรมะนั่นเอง ปฏิบัติธรรมะก็คือการทำหน้าที่อย่างถูกต้องของมนุษย์ เราให้ความหมายแก่คำว่ามนุษย์พอแล้ว ทีนี้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องแก่มนุษย์ทั้งหมดนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมะ เราให้คำพูดที่ชัดกะทัดรัดง่ายขึ้นว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม หลายคนคงเคยได้ฟังประโยคนี้มาแล้วเพราะเคยอ่านหนังสือบางเล่มมาแล้ว แล้วก็พูดมาหลายปีแล้วให้ถือหลักว่าการงานคือการปฏิบัติธรรม การงานทุกชนิดคือการปฏิบัติธรรม ตามลงไปถึงการหาอาหารกินก็เรียกว่าการงาน การงานก็ต้องเป็นการปฏิบัติธรรม ต้องอาบน้ำ ต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ต้องทำทุกอย่างเพื่อบริหารกายมันก็เป็นการงานมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อชีวิตมันรอดอยู่ ที่เราก็เล่าเรียน ไอ้เล่าเรียนนี่ก็คือการงาน ฉะนั้นการงานนี้คือการปฏิบัติธรรม ฉะนั้นขอให้ทำให้การเล่าเรียนที่เรียนอยู่นั้นนะเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะว่ามันเป็นหน้าที่อันถูกต้องของมนุษย์ เมื่อเสร็จการเรียนแล้วก็ต้องประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่เราและเพื่อนมนุษย์ของเรา ประเทศชาติอะไรว่ากันไป ไอ้การงานนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรมและที่เราก็พูดเผื่อต่อไปถ้าเรามีลูกมีหลานมีเหลนก็ต้องช่วยให้เขารอดไปได้นั้นก็เป็นการงานแล้วก็เป็นการปฏิบัติธรรม จึงสรุปสั้นๆ ว่าการงานคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างถูกต้อง ถูกต้องแก่อะไร ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทีนี้พอเราทำการงานก็เป็นการปฏิบัติธรรม นั้นแหละคือว่าเดิน อาจจะยังไม่ทราบก็ได้นี่ไม่ใช่ดูถูกพวกคุณว่าคุณอาจจะยังไม่ทราบก็ได้ว่าคำว่าปฏิบัตินั้นมันแปลว่าเดินนะ ที่เป็นภาษาบาลีมันแปลว่าเดินนะปฏิบัติที่เราเอามาใช้เป็นภาษาไทยว่าปฏิบัติกระทำ จริงๆ คำคำนี้มันแปลว่าเดินมันเดินไปหาจุดปลายทางของมัน ในการปฏิบัติธรรมนั่นแหละคือการเดิน ฉะนั้นปฏิบัติหน้าที่ของมนุษย์ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมก็คือการเดินไปตามทางธรรม ฉะนั้นการงานที่ถูกต้องแก่ความหมายของมนุษย์ย่อมเป็นการเดินทางอยู่ในตัวมันเอง แล้วมันก็อยู่ที่ไหนล่ะ อยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา ที่ร่างกาย ที่วาจาการพูดจา ที่จิตคิดนึกทิฐิความคิดเห็น คนเรานี้มีส่วนสำคัญที่จะต้องรู้ไว้ ที่จะต้องจัดให้มันถูก ชั้นกายเปลือกนอก ชั้นวาจานี้ต้องถูกต้อง จิตไอ้เรื่องของจิตดำรงจิตไว้ให้ถูกต้อง เรื่องของสติปัญญาความคิดเห็นนั้นก็ต้องถูกต้อง อันนั้นอาศัยการเล่าเรียนที่เพียงพอ ไอ้จิตถูกต้องนี้ดำรงจิตด้วยวิธีสมาธิตามแบบธรรมดาสามัญนี้ก็พอ จิตถูกต้องเป็นจิตเป็นสมาธิได้ แต่ถ้าจะมีทิฐิสติปัญญาเพียงพอแล้วต้องอุตส่าห์เล่าเรียน เช่นอุตส่าห์ฟังอุตส่าห์คิดนึกแล้วเอาไปทำการดูด้วยวิปัสสนา นั้นจึงจะมีทิฐิถูกต้องมีสัมมาทิฐิขึ้นมา ฉะนั้นมันถูกต้องอยู่ที่ร่างกายของเรา ถูกต้องอยู่ที่การพูดจาของเรา ถูกต้องอยู่ที่จิตของเรา ถูกต้องอยู่ที่สติปัญญา ทิฐิความคิดนึกของเรา ไม่ต้องไปถูกต้องที่อื่นแล้วมันเป็นไปไม่ได้ มันถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา เขาพูดให้เป็นให้เป็นของขลังมากขึ้นก็พูดว่าทำเนื้อตัวของเรานี่ให้เป็นที่สถิตอยู่ของพระเจ้า คำพูดอย่างนี้มีพูดกันในศาสนาที่มีพระเจ้า ทีนี้เราก็มีพระเจ้าเหมือนกันแต่เป็นพระธรรม เราก็ปรับปรุงเนื้อตัวร่างกายของเรานี้ให้เป็นที่สิงสถิตของพระเจ้า ของพระธรรม ทีนี้พระเจ้าเรื่องนี้เขาเขาถือกันว่าอยู่ในโบสถ์ แล้วก็ทำร่างกายเนื้อตัวของเราให้เป็นโบสถ์ ให้เป็นโบสถ์เป็นที่สิงสถิตของพระเจ้า แต่ของเราก็คือพระธรรม พระธรรมคือกฎของธรรมชาติและนั่นแหละคือพระเจ้า ธรรมะใน ๔ ความหมายเข้าใจให้ดี จะมีพระเจ้าอยู่ในความหมายหนึ่ง ทีนี้เราประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามกฎนั้นๆ อยู่ก็คือเรามีพระเจ้าอยู่ในเนื้อในตัวของเรา เราทำเนื้อทำตัวของเราให้เป็นที่สิงสถิตของพระเจ้าและนั่นแหละคือการเดินทาง ช่วยสนใจคำว่า การงานคือการปฏิบัติธรรมให้มากและจะจะเป็นผู้เดินทางแน่นอนและเดินดีที่สุดและไม่ล้มเหลว ก็เพื่อถ้ายังมีตัวเราก็เพื่อตัวเรา ถ้าไม่เพื่อตัวเราก็เพื่อมันเอง ก็เพื่อชีวิตเพื่อธรรมชาตินั่นเอง มันมันอยู่ได้เป็น ๒ ขั้นตอนอย่างนี้ ทำอย่างไรก็คือปฏิบัติธรรม ถ้ามีตัวเราก็เพื่อเรา ถ้าไม่มีตัวเราก็เพื่อธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม พราะว่าสิ่งที่ปฏิบัตินั้นมันก็คือธรรมอยู่แล้ว ไอ้ร่างกายชีวิตจิตใจนี้คือธรรมชาติหรือธรรมในความหมายหนึ่งอยู่แล้ว มันปฏิบัติธรรม ถ้าไม่มีตัวเรามันก็เพื่อธรรม ธรรมปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม ถ้ามีตัวเราเราก็ปฏิบัติธรรมเพื่อตัวเรา ถ้ามีตัวเราอยู่ตลอดเวลาเพียงใด เราก็เหมือนกับหามของหนักอยู่เพียงนั้น ไม่ได้พูดให้ท้อถอยนะแต่บอกให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ถ้ามีคนยึดถือว่าตัวเราแล้วมันก็เหมือนกับหามของหนักอยู่เพียงนั้น มีบ้างไหมไอ้เวลาไหนที่เราลืมตัวเรา ไม่ได้นึกถึงตัวเรา เวลานั้นน่ะสบายที่สุด ไอ้ไอ้คำว่าลืมตัวนั้นมี ๒ ความหมาย ไอ้ลืมตัวของคนโง่เมื่อความโง่เข้ามาครอบงำแล้วมันลืมตัวมัน ไอ้ลืมตัวอย่างนั้นให้โทษ อย่าไปลืมตัวแบบนั้น ไอ้ลืมตัวแบบธรรมะก็คือเวลาที่เราไม่มีความคิดว่าเรา ว่าของเรา เวลานั้นเราสบายที่สุด เมื่อไหร่ก็ได้ที่ไหนก็ได้ไปคิดไปเถิดะไอ้ที่เรานั่งน้ำตาไหลอยู่นั้นน่ะมันมีตัวเราทั้งนั้นแหละ มันมีตัวเราผิดความหวังอย่างยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเวลาที่จิตไม่มีตัวเราไม่มีความรู้สึกว่าตัวเรานั้นมันอยู่กับนิพพาน สัตว์เดรัจฉานจะต้องเรียกว่ามันได้เปรียบ คือมันคิดไม่ค่อยเป็น สัตว์เดรัจฉานจึงมีตัวเราน้อยกว่าคน โดยปริมาณปริมาตรก็น้อยกว่าคน โดยเวลามันก็น้อยกว่า คือมันคิดไม่เป็นมันเอามาวิตกกังวล ค่ำลงแล้วก็ยังมานอนคิดอยู่เรื่องนี้เรื่องนั้น ไอ้สัตว์เดรัจฉานมันทำไม่เป็น คนนี้มันทำเป็น อย่างที่เขามีคำพูดในบาลีว่ากลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ นั่นแหละคน นั่นแหละเรื่องของคน กลางคืนอัดควันคิดกลุ้มอยู่ในความคิด พอกลางวันก็เป็นไฟไปเลย ไปทำอะไรต่างๆ เป็นไฟไปเลย สัตว์เดรัจฉานทำไม่เป็น ไอ้ภาระหนักของชีวิตจึงไม่มี ทีนี้คนมันเป็นคนเสียแล้ว มันกลับไปเป็นสัตว์ไม่ได้ มันต้องดันทุรังไปข้างหน้าแล้วแก้ปัญหาอย่างคน รู้จักปรับปรุงจิตใจให้สูง ให้ฉลาด อย่าให้มันมีตัวตนเสียตลอดเวลา เรื่องนี้เราพูดที่นี่ผิดกับผู้อื่นเขาพูด ที่สำนักอื่น อาจารย์อื่น อาจจะพูดว่าเรามีตัวตนตลอดเวลา เรามีกิเลสตลอดเวลา เรามีความทุกข์ตลอดเวลา เรามีอวิชชาตลอดเวลา เขาพูดเขาสอนกันอยู่ เราไม่เอาเราไม่ยอมรับ เราไม่เชื่อ เราถือว่าเรามีกิเลสบางเวลา มีความเชื่อบางเวลา มีความทุกข์บางเวลา มีอวิชชาบางเวลาเพราะมันมีการกระทบทางอายตนะ นี้คุณจะเชื่ออย่างไหนก็ไปคิดเอาเอง เราถือว่าเรามองเห็นว่าถ้ามีกิเลสตลอดเวลาแล้วบ้าตายหมดแล้ว เป็นบ้าตายกันหมดแล้วไม่ได้มานั่งคุยกันที่นี่ ลองไปมีกิเลสดูตลอดเวลาซิอย่างน้อยมันก็เป็นโรคประสาท พูดกันไม่รู้เรื่องคือมันบ้าตาย ฉะนั้นเวลาที่จิตของเราไม่มีกิเลสนั้นมันมีอยู่มาก มีอยู่มากพอ เรารักษาไว้ซิ ไอ้เวลาที่จิตมันว่างจากกิเลสให้มันคงมีอยู่ให้มากๆ ขึ้น จนกระทั่งว่าเวลาเราจะทำอะไรก็อย่าทำด้วยกิเลส จะขยันเล่าเรียนก็อย่าขยันด้วยกิเลส ขยันด้วยสติปัญญาอย่างนี้ก็ไม่เป็นไรไม่ใช่กิเลสไม่มีความทุกข์ อย่าทำด้วยกำลังของกิเลสและทำด้วยกำลังของสติปัญญา เราเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่เลี้ยงเฉยๆเลี้ยงไว้ศึกษา เลี้ยงไว้สังเกตจึงมาบอกคุณให้รู้ว่าไอ้สัตว์เดรัจฉานนั้นน่ะมันมีกิเลสน้อย แคบ สั้นกว่าคน นี่ไอ้หมาตัวนี้คุณไป (หัวเราะ) มันมีตัวกูของกูน้อยกว่า น้อยเวลากว่า ความทุกข์มันจึงน้อยกว่า พรุ่งนี้มันไม่มีนี่มันไม่ได้คิดถึงพรุ่งนี้นะ ไอ้เรามันคิดถึงพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เดือนหน้า ปีหน้าก็ยังคิดไว้แล้วนะ ไอ้หมาตัวนี้พรุ่งนี้ก็ไม่ได้คิด พรุ่งนี้จะกินอะไรก็ไม่ได้คิด เพราะฉะนั้นมันมีความทุกข์น้อย น้อยกว่าคนอย่าอวดดีไป มันมีตัวตนที่น้อยมันขยายไม่ออก มันจำกัดอยู่ด้วยร่างกาย ด้วยจิตใจ ด้วยสมองของมันมันมีเท่านั้น หิวแล้วก็กิน อิ่มแล้วก็พอ หิวก็กินอีกไม่ได้กินหิวก็ยังไม่งุ่นง่านเหมือนคนนะ นี่เคยดูมาตลอดเวลาไอ้สัตว์ของเราที่เลี้ยงๆไว้ เวลามันหิวไม่ได้กิน ไม่ให้กิน ไม่ได้กินมันก็ไม่งุ่นง่านเหมือนคน ไอ้คนพอหิวแล้วพิษร้ายเหลือเกิน ไอ้สัตว์กลับดีกว่าเสียอีก ฉะนั้นเราจะศึกษาจากของจริงอย่างนี้เหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์ไม่คำนวณไม่ใช่เรียนปรัชญา เพราะว่าถ้าสมองมันก้าวหน้าเจริญเบิกบานคิดได้มาก มันก็คิดไกลมาก และก็เป็นโอกาสของไอ้ความยึดมั่นถือมั่นที่มันจะมาก ฉะนั้นกิเลสมันก็จะมากและ ความทุกข์มันก็จะมาก ฉะนั้นความทุกข์ของมนุษย์นี่มันก็มากกว่าสัตว์เดรัจฉานเพราะว่าเรามันคิดเก่ง เอาแล้วนี่ตั้งชั่วโมงเกือบครึ่ง เอาเป็นว่าถ้ามีตัวตนก็ทำเพื่อตัวตน ทำโดยวิธีที่จะให้ตัวตนดีขึ้น ดีขึ้น ถ้าความคิดมันไปไกลถึงสุดปลายทางไม่มีตัวตนแล้วมันก็ทำเพื่อเพื่อธรรมะ เพื่อธรรมชาติ เพื่อธรรมธาตุ ทำเพื่อธรรมะนั้นงดงามที่สุด ไม่มีน่าเกลียดชังที่ตรงไหน ไอ้ทำประพฤติธรรมะเพื่อธรรมะ ประพฤติธรรมะเพื่อตัวกูนี้มันก็รุงรัง แม้จะไม่ใช่บาปกรรมอะไรนัก ก็มันก็ต้องมีความทุกข์ ต้องมีเรื่องเกะกะ มีเรื่องที่ไม่น่าดูเหมือนกับที่ว่าให้ทำปฏิบัติธรรมะเพื่อธรรมะ แม้เรื่องอื่นๆ ที่เราได้ยินได้ฟังมาก็ก็มันมีหลักคล้ายๆ กัน ไอ้ศิลปะเพื่อศิลปะน่าดูที่สุด ถ้าศิลปะเพื่อตัวศิลปินเองแล้วจะบ้า คุณไปดูซิที่มันประกวดศิลปะ ไอ้ศิลปะชนิดไหนที่เขาทำด้วยจิตบริสุทธิ์ ศิลปะเพื่อศิลปะ ศิลปะชิ้นนั้นลึกซึ้งละเอียดน่าดูที่สุด แต่ถ้าศิลปะเพื่อตัวกูเพื่อจะขายเพื่อจะหลอกเอาเงินเขาศิลปะชิ้นนั้นหลอกลวงที่สุด ไม่มีความงามถึงที่สุด มันไม่ใช่ศิลปะเพื่อศิลปะ นี้ชีวิตที่ปฏิบัติธรรมนี้มันทำเพื่อชีวิตบริสุทธิ์มันก็น่าดู แต่ถ้าเพื่อชีวิตตัวกูมันก็มีรูปแบบอีกอย่างหนึ่ง รุ่มรามรุงรังเกะกะไปตามเรื่องของมัน ทีนี้สรุปความที่ถามว่าเพื่อใคร ถ้ามีตัวตนก็เพื่อตัวตน ถ้าไม่เพื่อไม่มีมีตัวตนก็เพื่อธรรมะ เรามีรูปภาพที่เป็นคำตอบเรื่องนี้ดีอยู่ชุดหนึ่งคุณไม่สังเกตในตึกชั้นบนหลังหลังไอ้รูปยักษ์จับวัว ถ้าไม่ได้ดูไปดูเสียนะ เด็ก มันมี ๑๐ ภาพ ตลอดตลอดเรื่อง ภาพที่ ๑ เด็กเกิดขึ้นมาหันรีหันขวางไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม แล้วภาพที่ ๒ เด็กเห็นรอยวัวที่ดิน เริ่มเห็นรอยวัวที่ดิน ภาพที่ ๓ ก็เดินไปตามรอยวัวที่ดินจนเห็นก้นวัว ภาพที่ ๔ มันก็สู้วัวจับวัว ภาพที่ ๕ มันก็จับได้ ภาพที่ ๖ มันก็เป่าปี่ขี่วัว เขาให้คำเปรียบที่ดีนั้นน่ะสูงสุดของมนุษย์แบบมีตัวตนน่ะ ไอ้ขี่วัวนั้นก็มีความหมายอย่างหนึ่งได้ประโยชน์ที่ขี่วัว ยังแถมเป่าปี่ด้วยคือไพเราะเสนาะเสนาะโสตด้วยนั้นนะมันสูงสุดแค่นั้นนะได้ทั้งประโยชน์ได้ทั้งความงามความไพเราะไอ้โลกมันก็จบแค่นั้น ทีนี้พอภาพถัดไปมันก็ว่างหายไปทั้งวัวและหายทั้งคน ทั้งปี่ ทั้งอะไรหายไปหมด พอพอถัดภาพถัดไปอีกมันก็งอกใหม่ผลิออกมาใหม่ในรูปอื่น ไม่ใช่ในรูปที่แล้วมา และไอ้รูปสุดท้ายมันที่จะแจกของส่องตะเกียง ภาพที่สุดจะแจกของส่องตะเกียงให้ประชาชน ตอบว่าชีวิตนี้เพื่ออย่างนั้นและก็ดีที่สุด ชีวิตนี้เพื่อมาตามลำดับจบเรื่องของตนและก็เพื่อผู้อื่น เพื่อแจกของส่องตะเกียงเป็นภาพสุดท้าย ถ่ายรูปไปไว้ดูหรือเขียนสเก็ตซ์ไปไว้ดู มันมีประโยชน์เป็นความคิดนึกของชาวจีนตั้งพันกว่าปีมาแล้ว ประวัติของไอ้ภาพเขียนเขาคิดนึกอย่างนั้น เขามองเห็นอย่างนั้น แล้วมันมาเข้ากับหลักธรรมะในพุทธศาสนาพอดี เกิดมาเพื่อสร้างตนถึงที่สุดแล้ว หมดตนแล้วก็เพื่อผู้อื่น นี่เกิดมาเพื่อใครชีวิตนี้เพื่อใคร เพื่อตนและผู้อื่นจบตัวกูของตัวเองและผู้อื่นเสร็จแล้วก็เพื่อมันเพื่อชีวิตล้วนๆ ชีวิตที่ไม่รู้จักตาย ชีวิตของไอ้ธรรมะที่เป็นไอ้นิรันดรชีวิตนิรันดรไม่ใช่ตัวกูของกู ชีวิตนิรันดรไม่มีความหมายแห่งตัวตน เลิกตัวตน พ้นตัวตนแล้วมันไปมีความเป็นอยู่ชนิดหนึ่งซึ่งเราเรียกว่าชีวิตเหมือนกันแต่เป็นชีวิตนิรันดร เป็นชีวิตอมตะ อมฤต นี่มันเพื่ออย่างนั้น ใครไปได้ถึงนั่นก็เรียกว่าจบหลักสูตรของชีวิต จบหลักสูตรของชีวิต ไม่ถึงนั่นก็ได้ครึ่งๆ กลางๆ ก็เพื่อตัวกูของกู เอาหละเวลามันก็หมดนานแล้วขอยุติการพูดจาในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้