แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายกว่าจะสมควรแก่เวลา แม้ธรรมเทศนานี้ก็เป็นธรรมเทศนาเป็นบุพพาประลำดับ คือสืบต่อธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาไปแล้วในตอนเย็นและตอนหัวค่ำ ธรรมเทศนาเนื่องในวิสาขบูชา มีความประสงค์จะแสดงให้พุทธบริษัททั้งหลาย มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของพระศาสดายิ่งขึ้น เพราะว่าวันวิสาขบูชานี้เป็นวันสำหรับพระพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำหรับพระธรรม วันมาฆบูชาเป็นวันสำหรับพระสงฆ์ มีเรื่องราวดังที่ท่านทั้งหลายก็พอจะทราบได้อยู่แล้ว เฉพาะในวันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เราจึงมาทำความเข้าใจกันพิเศษ กันเป็นพิเศษ ในเรื่องอันเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า จนกระทั่งว่า มีความตั้งใจแน่วแน่ในการที่จะเข้าถึงพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ที่สามารถอยู่กับเนื้อกับตัวของเราได้ จึงได้พิจารณากันเป็นพิเศษโดยละเอียด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น ทีนี้ก็อยากจะให้ระลึกนึกถึงคำสอนที่สำคัญข้อหนึ่งว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย ท่านทั้งหลายลองฟังดูให้ดี จับใจความให้ได้ว่าข้อนี้หมายความว่าอย่างไร ในตอนแรกทรงปรารภขึ้นมาว่ามีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ในตอนสอง ปรา ทรงปรารภว่า มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ อันหนึ่งให้มีตนเป็นที่พึ่ง อันหนึ่งให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง นี่มันหมายความว่าอย่างไรกัน มันขัดกัน หรือว่า อ้า, เป็นความหมายเดียวกัน ตามความรู้สึกของอาตมาแล้ว รู้สึกว่า เป็นความหมายเดียวกัน คือทรงแสดงว่า การมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะนั้น ก็คือการมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะนั่นเอง ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าตน จึงมิใช่สิ่งที่จะพึงรังเกียจ เพราะว่าสามารถใช้เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ด้วย การมีตนเป็นที่พึ่งก็คือมีธรรมะเป็นที่พึ่ง การมีตนเป็นสรณะ ก็คือมีธรรมะเป็นสรณะ เราจะทำอย่างไร จึงจะได้ที่พึ่ง ซึ่งจะเรียกว่าอย่างเดียวหรือสองอย่าง นี้ตามใจของบุคคลผู้ได้ฟังแล้ว จะคิดนึกไปอย่างไร ท่านทั้งหลายปรารภกันว่า พระพุทธเจ้าพระองค์จริง คือความไม่เห็นแก่ตน ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ นี้มันตนไหนกัน ถ้าไม่เห็นแก่ตน นั้นหมายความว่าอย่างไร นี่แหละ คือเรื่องที่จะทำให้เกิดการทุ่มเถียง ขัดอกขัดใจจนทะเลาะวิวาทกันอีกก็ได้ ถ้าไม่เห็นแก่ตน แล้วทำไมจะต้องมาเอาตนเป็นที่พึ่ง หรือว่าถ้าไม่เห็นแก่ตนแล้ว จะเอาตนเป็นที่พึ่งได้อย่างไร การที่มีตนเป็นที่พึ่งนั้น มันจริงกี่มากน้อย ถ้าไม่เอาตนเป็นที่พึ่ง แล้วก็จะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง นี่แหละจงคิดดูเถิดว่า ถ้อยคำที่ใช้กันอยู่นั่นแหละทำให้เกิดปัญหา เพราะว่าถ้อยคำนั้นมันกำกวม ถ้าว่าอย่ากระทำตนเป็นผู้เห็นแก่ตน นี่ก็ถูกต้องที่สุด เป็นภาษาธรรมดาๆ สำหรับชาวบ้าน แล้วเขาก็ถือเป็นหลักกันทั่วโลก และทุกศาสนาด้วยเหมือนกัน ว่าไม่ให้เห็นแก่ตัว ศาสนาพุทธก็เน้นมากในเรื่องไม่ให้เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เป็นกิเลส ความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นกิเลส และดูเหมือนจะสอนไกลไปถึง ไปยิ่งกว่านั้น คือถึงกับว่าอย่าให้มีตัวเอาเสียเลย เมื่อไม่มีตัวแล้ว จะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร จึงเป็นการสอนที่พร้อมกันไปว่า ทำลายตัวเสีย ไม่มีอะไรเป็นตัว หรือเป็นของตัว จึงจะเรียกว่า ไม่เห็นแก่ตัวโดยแท้จริง เพราะว่าเราไม่มีตัวที่จะเห็น เราจึงไม่อาจจะเห็นแก่ตัว ตัวข้างในคือตัวของเรา ตัวข้างนอกคือตัวของผู้อื่น แล้วก็ไม่เห็นแก่ตัว อ้า, ทั้งหมด นี่มันจะเกิดอะไรขึ้นมา ภาษากำกวมเล่นตลกได้อย่างนี้ ควรจะทำการศึกษากันไว้ให้ดีๆ อย่าให้เกิดการขัดขวางกันขึ้น กล่าวโดยสามัญสำนึก ก็จะกล่าวได้ว่าอย่าเห็นแก่ตัวข้างใน คืออย่าเห็นแก่ตัวกู ของกู แต่เห็นแก่ตัวข้างนอก คือตัวของเพื่อนสัตว์ ผู้เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายทั้งหลาย ให้เห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่ตัว มันพูดได้อย่างนั้น แต่ว่าเป็นตัวข้างนอกคือตัวของผู้อื่น เป็นตัวของสัตว์ผู้เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดังนั้น การที่จะพูดว่าไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว นี่ระวังให้ดี มันจะเล่นตลก ไม่เห็นแก่ตัวกู นี่ก็ถูกแล้ว แต่ถ้าไม่เห็นแก่ตัวสู มันก็ไม่ถูก มันต้องเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ เห็นแก่ตัวของเพื่อนมนุษย์ สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ ไม่เห็นแก่ตัวข้างใน แต่เห็นแก่ตัวข้างนอก นั่นแหละคือคำสอนในพระพุทธศาสนา เมื่อเห็นแก่ตัวข้างนอกได้ มันก็ไม่เห็นแก่ตัวข้างใน คือเห็นแก่ตัวของเพื่อนฝูงได้ โดยไม่ต้องเห็นแก่ตัวของตัวกู เพราะฉะนั้น คำว่าไม่เห็นแก่ตัวนี่ มันเล็งถึง อ้า, ตัวกูข้างใน คือตัวกูของกิเลส แล้วทำลายตัวกูเสีย ก็คือทำลายตัวกูข้างใน คือตัวกูของกิเลส ถ้าเป็นตัวกูข้างนอก คือตัวกูของเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันแล้ว ไม่ต้องทำลาย นี่ช่วยแยกออกกันเป็นสองฝ่ายให้เด็ดขาดออกไปว่า มันตัวกูไหน ที่จะไม่ควรจะเห็นแก่มัน แล้วมัน ยังมีตัวกูไหนที่ต้องเห็นแก่มัน ยิ่งกว่านั้นแล้ว ตัวกูไหนเล่าที่จะเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะได้ ดังพระพุทธภาษิต ที่ได้ยกขึ้นมาไว้เป็นหัวข้อแห่งเทศนานี้ อัตตะทีปา อัตตะสะระณา อะนันยะสะระณา จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย จงมีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย นี่มันมาจบกันที่นี่ กลับมีตนหรือมีตัวเป็นที่พึ่ง แล้วการมีตัวมีตนเป็นที่พึ่งเป็นสรณะนั้น ก็คือ มีธรรมะเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ ดังนั้น เป็นการมองเห็นได้ชัดว่า ตนในที่นี้กับธรรมะนั้น เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน อ้าว, ทีนี้ทำไม จึงเอาธรรมะเป็นตน ก็มีทางที่จะต้องวินิจฉัยว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าตัวตนนั้น มันต้องเป็นของตนที่มันเข้มแข็ง ที่มันทรงตัวมันเองอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง คือเป็นสาระอย่างยิ่ง เป็นสาระที่เข้มแข็งอย่างยิ่ง จนทรงตัวมันเองได้ อะไรบ้างเล่าที่จะเป็นตัวตนได้ถึงขนาดนี้ มันก็ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากธรรมะ ธรรมะนั่นแหละเป็นตัวตนที่เข้มแข็ง ทรงตัวมันเองอยู่ได้เป็นตัวเป็นตน ธรรมะไหนเล่า ที่อยากจะให้ถือเป็นหลักกันทั่วไปๆ ว่า ถ้าเราจะพูดให้หมดจดสิ้นเชิง ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลอันเกิดมาจากหน้าที่ ทั้งสี่ความหมายนี้เป็นตถาตา ที่เป็นอย่างนั้นเอง อย่างเฉียบขาด ไม่เห็นแก่หน้าใคร เพราะมันมีความเป็นอย่างนั้นเอง ไม่เป็นอย่างอื่นได้ แล้วก็อย่างเฉียบขาด อย่างไม่เห็นแก่หน้าใคร เราควรจะถือว่าธรรมะเช่นนั้นเป็นตัวตน คือเที่ยงแท้ คงทนถาวร ในรูปแบบของอสังขตธรรม ควรจะยกให้ว่าเป็นตัวเป็นตน อย่างน้อยก็ของธรรมะนั้นเอง ถึงจะเอามาเป็นตัวเป็นตนของเราไม่ได้ ก็เป็นตัวเป็นตนของธรรมะนั่นเอง อย่างเข้มแข็งเฉียบขาด ดังนั้น จึงสามารถเป็นที่พึ่งและเป็นสรณะแก่สัตว์ทั้งหลายได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะ ท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดีๆ ก็จะพบไอ้ตัวตนที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้อย่างนี้ เพราะว่า “ตน” คำนี้ ในกรณีนี้ หมายถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั่นเอง ทีนี้ก็จะย้อนกลับกันไปถึงว่า ทำอย่างไร จึงจะทำลายตัวตน ตัวกูที่เป็นกิเลสเสียได้ และก็เข้าถึงตัวตนซึ่งเป็นตัวธรรมะ ซึ่งเป็นตัวตนอันแท้จริง นี่มันก็อยู่กับการอบรมจิตให้ถูกต้อง และถึงที่สุด อบรมจิตให้ถึงที่สุดอย่างถูกต้องนั้นทำอย่างไร ควรจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของจิตกันเสียบ้าง จิตจะเป็นอะไร เอ้อ, โดยแท้จริง โดยสิ้นเชิง นั้น เราไม่อาจจะรู้ได้ เรารู้แต่ในส่วนที่เราจะใช้เป็นประโยชน์ได้ ต้องขอยกตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์สักหน่อย เช่นเรื่องไฟฟ้า ที่เรากำลังได้รับแสงสว่างจ้า สะดวกสบายอยู่นี้ พวกนักวิทยาศาสตร์ก็ยอมสารภาพว่า เราไม่รู้ว่าไอ้ตัวไฟฟ้าที่แท้จริงนั้นมันเป็นอะไร แต่เราทำให้ แต่เราสามารถทำให้มันออกมาเป็นประโยชน์แก่เราได้ โดยทางไอ้ขดลวดก็มี โดยทางวัตถุเคมีก็มี มีอยู่สองทางที่จะทำให้สิ่งที่เรียกว่าไฟฟ้านั้น ออกมารับใช้เราได้ รับใช้ได้มากเสียด้วย อย่างน่าอัศจรรย์ด้วย ทั้งที่เราไม่ได้รู้จักตัวมันโดยตรง โดยแท้จริง แต่รู้จักวิธีที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ดังนั้น เรื่องจิตนี่ก็เหมือนกัน มันจะเป็นอะไรโดยแท้จริงนั้น ปล่อยไว้ก่อนก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้จักทำให้จิตนั้นเป็นประโยชน์มากที่สุดแก่ตัวเรา หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้อง มันก็แก่ตัวจิตนั่นเอง เมื่อเราพูดว่าตัวเรา นี่เราพูดโดยสมมติ แต่โดยแท้จริงแล้ว ไอ้ตัวเรานั้นมันก็คือสิ่งที่เรียกว่าจิต ถ้าจิตคิดไปอย่างโง่ๆ ว่า ตัวเรา มันก็ตัวเราอยู่ที่จิต จิตมันฉลาด อ้า, มันก็มีตัวเราอยู่ที่จิต ดังนั้น เราจึงมีเรื่องที่จะต้องกระทำแก่จิต ให้จิตนั้นเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ได้ผลถึงที่สุด ทีนี้ก็ดูถึงธรรมชาติของจิตในส่วนที่ว่า เราจะอบรม แก้ไข ปรับปรุงมันได้อย่างไร หลักใหญ่ในเบื้องต้นที่สุด ก็คือหลักที่ว่า จิตนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุ ธา-ตุ นะ ไม่ใช่ทาสขี้ข้า ธาตุ (ออกเสียง ธา-ตุ) เรียกว่า อ่านว่าธาตุ จิตนี่ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธาตุพิเศษกว่าธาตุทั้งหลายอื่น คือเป็นธาตุที่มีความรู้สึกอยู่ได้ในตัวมันเอง มันรู้สึกได้ มันคิดนึกได้ เรียกว่าเป็นธาตุแห่งความรู้ เพราะเหตุใด เพราะว่าไอ้ธาตุจิตนี้ มันเป็นอย่างนี้เอง จิตนี้เป็นธาตุแห่งโพธิ เป็นเชื้อแห่งโพธิ แต่ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ธรรมดานั้น ไม่ถึงที่สุด ไอ้โพธินั้นยังไม่ถึงที่สุด ก็ต้องอบรมให้โพธินั้น เป็นไปถึงที่สุด พระพุทธเจ้าท่านทรงอบรมให้โพธิชนิดนี้เป็นไปถึงที่สุด จนบรรลุที่สุดแห่งโพธิ เรียกว่าสัมมาสัมโพธิญาณ จิตที่ถึงขนาดนี้ จึงรู้แจ้ง โดยประจักษ์ทุกอย่าง ทุกประการ ในเรื่องที่ควรจะรู้ คือดับทุกข์ได้ ดังนั้น พระโพธิสัตว์ที่แท้จริงก็คือ ผู้ที่กำลังพัฒนาโพธิ เราก็มีคำเรียกพระสิทธัตถะว่า เป็นโพธิสัตว์ นับตั้งแต่โตแล้ว จะออกบวชอยู่แล้ว แล้วก็ออกบวช ออกบวชไปจนกว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตอนนี้เราเรียกท่านว่าโพธิสัตว์ คือ ผู้อบรมโพธิให้เจริญงอกงามถึงที่สุด ผู้พัฒนาโพธิ ให้เจริญงอกงามถึงที่สุด เมื่อโพธินั้นเป็นไปถึงที่สุด ก็เป็นพระพุทธเจ้าได้ ทีนี้สิ่งที่ตรงกันข้ามก็คือไม่โพธิ หรือกิเลส กิเลสหรือความไม่เป็นโพธินี้ มันครอบงำจิตนี้ในบางคราว ทั้งที่โดยเนื้อแท้ของจิตนั้น มีธรรมชาติแห่งโพธิ คือมันเป็นธาตุรู้ มันพร้อมที่จะรู้ มันเป็นสิ่งที่อาจจะอบรมให้รู้ได้ พระพุทธเจ้าจึงสามารถอบรมให้เป็นโพธิที่ถึงขนาด แล้วก็ได้เป็นพระพุทธเจ้า ทีนี้เราทั้งหลายจะทำอย่างไร จึงจะเข้าถึงความเป็นพุทธะ คือมีพุทธะอยู่ในตัวเรา ดังที่กำลังวิสัชนา ถกเถียงกันอยู่ อาตมาก็ขอตอบว่า ไม่มีทางอื่น นอกจากทำตนเป็นโพธิสัตว์ พูดอย่างนี้ก็มีคนด่าอีกตามเคย ยกตัวเองเป็นโพธิสัตว์ แต่ไม่เป็นไร คนชนิดนั้นมันไม่รู้อะไร เราจงอ้างสิทธิที่จะเป็นโพธิสัตว์ เพราะว่าจิตของเราก็มีโพธิ เป็นธาตุประจำอยู่ในจิต จิตก็เป็นธาตุ โพธิก็เป็นธาตุ มันเป็นธาตุที่มีโพธิเหมือนกับเมล็ดพืช ที่เราจะต้องเพาะหว่าน บำรุงรักษาเลี้ยงดู ให้มันเป็นพืชที่งอกงามสมบูรณ์ จนได้รับผล ได้รับประโยชน์ จิตที่มันยังเป็น อ้า, จิตธรรมดา มี มีแต่เพียงเชื้อของโพธิ คือยังมีโพธิในขั้นอ่อน ขั้นที่เป็นพืช ดังนั้นเราต้องเพาะปลูก นี่คืออบรมด้วยการกระทำที่เรียกว่าภาวนา คำว่าภาวนาแปลว่าการอบรม โพธิสัตว์ก็คือ ผู้ที่กำลังอบรมจิตอยู่ เราจะเป็นโพธิสัตว์ สักคนหนึ่งไม่ได้หรืออย่างไร เรามีสิทธิอันชอบธรรม ที่จะอบรมโพธิแห่งจิตใจของเรา ให้ถึงที่สุด คือเป็นโพธิจริงๆ ไม่เป็นโพธิแต่สักปากว่าเปล่าๆ ผู้ที่กำลังอบรมโพธิของจิตให้เจริญงอกงามนั่นแหละคือโพธิสัตว์ อย่าให้มันมีความหมายยุ่งยากลำบากไกลไปกว่านี้เลย มันจะไม่สำเร็จประโยชน์ก็ได้ ในทางฝ่ายมหายานเขาบัญญัติความหมายของคำว่าโพธิสัตว์ไว้ว่า ผู้ที่ตั้งใจจะขนสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดรอดออกไปจากวัฏฏสงสาร ถ้ายังมีสัตว์เหลืออยู่แม้แต่เพียงตัวเดียว คนเดียว โพธิสัตว์ก็จะยังไม่เข้านิพพาน โพธิสัตว์จะขนสัตว์ทั้งหลายให้ออกจากกองทุกข์ได้หมดไม่เหลือแม้แต่คนเดียว โพธิสัตว์จึงจะยอมปฏิบัติเพื่อเข้าสู่นิพพาน อาตมาเห็นว่ามันจะมากไปเสียแล้ว แล้วมันจะล้มเหลว เพราะไม่สามารถจะทำให้คนทุกคน สำเร็จผลในการที่จะออกจากวัฏฏสงสาร ก็เพราะว่ามันมีคนเกิดทะยอยมาเรื่อย ทะยอยมาเรื่อยโดยไม่ขาดสาย แล้วโพธิสัตว์จะทำให้คนทุกคนให้บรรลุมรรคผล แล้วตนจะได้เข้าสู่นิพพาน นี้มันจะเป็นไปอย่างไรได้ มันเห็นชัดโดยตัวมันเองว่า มันทำไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องคุยโต มากเสียแล้ว เราไม่เอาด้วย โพธิสัตว์นี้จะเอาความหมายแต่เพียงว่า ผู้กำลังพัฒนาโพธิ อบรมโพธิ ให้โพธิเป็นไปถึงที่สุด ถึงกับเป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระพุทธเจ้าท่านทำได้ สำเร็จดังที่เห็นๆ กันอยู่ เราจึงมาฉลองความสำเร็จของพระองค์ด้วยการทำพิธีวิสาขบูชาอย่างในวันนี้ ทีนี้เราก็จะให้ ตั้งใจจะทำตนให้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างสมกัน จึงตั้งใจที่จะมีความเป็นพระพุทธเจ้าในเรา คือมี เอ้อ, การเกิดขึ้นแห่งคนใหม่คนหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยความรอบรู้ ฆ่ากิเลสได้แล้ว ดับเย็นเป็นนิพพาน คือมีการประสูติ มีการตรัสรู้ มีการนิพพานอย่างเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้เป็น ท่านได้กระทำสำเร็จไปแล้ว ถ้าต้องการอย่างนี้จริง ไม่ต้องการกันแต่ปาก ก็เห็นจะต้องบำเพ็ญตนเป็นโพธิสัตว์ คือกำลังพัฒนาโพธิ ซึ่งเป็นพืชพันธุ์อยู่ในจิต อันเป็นธาตุที่มีโพธิอยู่ในตัว จิตของคนทุกคนมีเชื้อแห่งโพธิ หรือจะเรียกว่าโพธิก็ได้ อยู่ในธรรมชาติของจิต ดังนั้น จิตนั้นจึงสามารถพัฒนาให้เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยโพธิสูงสุด ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส ซึ่งเป็นของตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรียกว่าโพธิ ถ้าโพธิมี กิเลสก็ไม่มี ถ้ากิเลสมี โพธิก็ไม่มี ถ้านึกดูให้ดีสักหน่อย ก็จะเห็นว่า กิเลสกับโพธิ นี่มันเป็นสิ่งเดียวกัน คือมันเป็นคุณสมบัติของจิต ที่เรียกว่า มันมีความรู้ ถ้ามันรู้ถูก มันก็เป็นโพธิ ถ้ามันรู้ผิด มันก็คือกิเลส ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่ากิเลสนั้น มันก็มีลักษณะรู้ แต่มันรู้ผิด รู้ในรูปแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็มีลักษณะแห่งความรู้สึก หรือความรู้ แต่มันรู้ผิด มันตรงกันข้ามกับโพธิ แต่มันเป็นอย่างเดียวกัน คือมันเป็นความรู้ เป็นสมบัติของจิตด้วยเหมือนกัน ดังนั้น กิเลสกับโพธิเป็นสิ่งเดียวกันในแง่นี้ คือเป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่ง อะไรเหมือนกันเลย แต่มันแตกต่างอย่างตรงกันข้าม ในข้อที่ว่า ไอ้ความรู้ของโพธินี่มันรู้ถูกต้อง ใช้ดับทุกข์ได้ ไอ้ความรู้ของกิเลสนั้นมันรู้ผิดพลาด มีแต่จะสร้างความทุกข์และทำลายตัวเอง ขอให้รู้จักโพธิและกิเลส สองอย่างนี้ให้ดีๆ ว่าในแง่ที่มันเหมือนกันก็มี คือเป็นสมบัติของจิตสำหรับรู้ ทีนี้ว่าดูในแง่ที่มันต่างกันก็คือว่ามันรู้ต่างกัน ถ้าเป็นโพธิมันรู้ถูกสำหรับการดับทุกข์ ถ้าเป็นเรื่องของกิเลสมันรู้ผิด สำหรับจะสร้างความทุกข์ขึ้นมา ดังนั้น สิ่งทั้งสองนี้ก็จะเป็นปรปักษ์ต่อกัน แล้วเป็นคู่ต่อสู้ซึ่งกันและกันตลอดกาลนิรันดร คล้ายๆ กับว่ามีดำกับขาว ซึ่งจะต่อสู้กันไปอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น เหมือนพระกับมาร เหมือนมีคู่กันอยู่ในวัฏฏสงสาร ต้องต่อสู้กันไปอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น ทีนี้เราจะอยู่ตรงไหน ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มันไม่มีอะไรเลย นอกจากสิ่งที่เรียกว่าจิต จิตนี้ มันก็แล้วแต่ว่า อ้า, มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งอย่างไร ถ้าจิตนี้ ของคนๆ นี้ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งไปในทางถูกต้อง โพธิก็เจริญ มีแต่จะเอาชนะกิเลสได้ แต่จิตของคนบางคน มันตรงกันข้าม มันมีแต่เหตุปัจจัยสำหรับจะให้เกิดกิเลส มันก็มีแต่จะเกิดกิเลสอยู่ร่ำไป มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ แล้วมันเป็นตัวความทุกข์เสียเอง กิเลสก็เป็น อ้า, สิ่งที่มีคุณค่าในทางที่จะทำให้เป็นทุกข์ โพธิก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในทางที่จะดับทุกข์ มันเป็นสิ่งตรงกันข้ามนะสำหรับจะต่อสู้กันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แล้วแต่เราจะสมมติเรียกมันว่าอะไร แต่มันต้องเป็นสิ่งตรงกันข้าม ต่อสู้กันตลอดไป ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมันก็มามีรวมอยู่ในจิตดวงเดียวกันด้วย คือจิตของคนๆ หนึ่งนั้น อ้า, มีได้ทั้งกิเลสและโพธิ มันก็ต้องต่อสู้รบรากันไป อันไหนชนะ อันนั้นมันก็ครอบครองจิต ซึ่งครอบครองร่างกายอยู่แล้ว ดังนั้น เมือง นี้ ซึ่งมีร่างกายเป็นตัวเมือง มีจิตเป็นพระยาที่ครองเมือง มันจึงขึ้นอยู่กับว่าจิตนั้นกำลังเป็นอะไร ถ้าจิตนั้นเป็นโพธิ ก็โพธิครองเมือง ถ้าจิตนั้นเป็นกิเลส กิเลสก็ครองเมือง มันอาจจะสับเปลี่ยนกันในระยะสั้นๆ ก็ได้ ทีนี้จะทำอย่างไร จิตนั่นแหละมันจะต้องรู้จักตัวเองมากขึ้น แล้วก็รู้จักดำรงตัวเองอยู่ในลักษณะที่ให้โอกาสแก่โพธิ ไม่ให้โอกาสแก่กิเลส จิตนี้ก็เจริญรุ่งเรืองไปตามทางของโพธิ ไม่เท่าไรมันก็จะชนะกิเลสโดยเด็ดขาด ไม่ใช่ผลัดกันแพ้ ไม่ใช่ผลัดกันชนะ ข้อที่มันชนะโดยเด็ดขาด นั่นแหละ คือสิ่งที่เรียกว่าการตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ กิเลสทั้งหลายที่เป็นของร้อน ดับเย็นสนิท แล้วมันก็ปรากฏความเย็นออกมาแก่จิต เป็นจิตที่หลุดพ้นจากความทุกข์ หรือของร้อน แล้วก็อยู่กับนิพพาน คือความเย็น ภาวะแห่งความเย็น ไม่เป็นความทุกข์ นี่จิตมันมีเรื่องที่สำคัญอยู่อย่างนี้ เรื่องอื่นนอกจากนี้ไม่ต้องไปสนใจก็ได้ มันจะไม่พอแก่เวลา สนใจแต่ว่าไอ้จิตนี้มันอบรมได้ แล้วก็สนใจแต่ในการอบรมจิต จะอบรมจิตอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ทรงค้นพบแล้ว แล้วก็ทรงสั่งสอนไว้อย่างชัดเจนและเพียงพอ ถ้าคนมันไม่เลวเกินไป มันก็สามารถที่จะรับเอาความรู้อันนี้ของพระพุทธเจ้าไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์แก่ตนได้ แต่ถ้ามันเป็นคนบาป คนเลวมากเกินไป มันก็ไม่อาจจะสนใจ มันไม่รู้เรื่อง มันก็ต้องปล่อยไปตามยถากรรม กิเลสมันก็ชนะโพธิมากขึ้นสำหรับคนชนิดนั้น เราทั้งหลายอย่าต้องตกไปในความต่ำ ความเลว ถึงขนาดนั้น จงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ รู้จักวิธีอบรมจิตตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ เมื่ออบรมไปตามนั้นแล้ว จิตก็มีวิวัฒนาการไปในทางของความถูกต้อง ไปในทางของความสูง คืออยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนือปัญหาโดยทุกประการ ท่านทั้งหลายมาเป็นสาวกบริวารของ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เพื่อประโยชน์อย่างนี้เอง ถ้าใครอยากจะตั้งปัญหาถามว่า เกิดมาทำไม คนนี้ก็ต้องตอบว่าเกิดมาเพื่ออบรมโพธิ ให้โพธิเจริญงอกงาม เบิกบานจนเป็นอนุตรสัมโพ อ้า, สัมมาสัมโพธิญาณตามอย่างพระพุทธเจ้า แล้วอะไรจะดีกว่านี้ มันก็หาไม่พบ ไม่มีอะไรจะดีกว่านี้ ดังนั้น เราจึงถือว่า เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ เกิดมาเพื่อได้สิ่งนี้ในฐานะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นี่แหละ จะเป็น พุทธบริษัทที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา หรือว่าจะเป็นบรรพชิต หรือภิกษุ สามเณร เมื่อเรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ มันก็มีหน้าที่สำหรับทุกคนแต่ละคน ผู้รับผิดชอบตนของตน ที่จะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน คือประพฤติถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แล้วก็ได้รับประโยชน์อันนั้น ทันเวลา คือก่อนตาย ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ให้ความตายเข้ามาขัดขวาง คือตายเสียก่อนโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรในทำนองนี้ จงพยายามทำให้ได้รับประโยชน์ในทำนองนี้เสียก่อนแต่จะตาย ก็จะได้ชื่อว่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา เราก็จะได้พิจารณากันถึงพระพุทธภาษิตที่ว่า จงมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย จงมีธรรมะเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมะเป็นสรณะ อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นสรณะเลย นี่จะต้องทำอย่างไร ในพระบี ในพระบาลีบางแห่งพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ มีใจความว่า การมีตนของตนเป็นที่พึ่ง นั้นก็คือ การดำรงตนอยู่ในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้งสี่ ก็หมายความว่าทรงระบุสติปัฏฐานสี่ ว่าเป็นแนวทาง เป็นหนทางที่จะทำที่พึ่งให้แก่ตนจนถึงกับว่า มีธรรมเป็นที่พึ่ง สติปัฏฐานทั้งสี่มีเรื่องที่จะต้องปฏิบัติ ให้เข้าถึงไอ้ความจริงของสิ่งทั้งสี่นั้น คือความจริงของสิ่งที่เรียกว่ากายอย่างหนึ่ง ความจริงของสิ่งที่เรียกว่าเวทนาอย่างหนึ่ง ความจริงของสิ่งที่เรียกว่าจิตนั่นเองอย่างหนึ่ง แล้วก็ความจริงของสิ่งที่เรียกว่าธรรม ซึ่งในที่นี้หมายถึงความเป็นเช่นนั้นเอง หรือหมายถึงสัจจะ หมายถึงธรรมสัจจะ อ้า, ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันก็คือความเป็นเช่นนั้นเอง ที่เรียกกันว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าถึงสัจจะอันนี้ นั่นแหละคือเข้าถึงความจริงอันลึกซึ้งของสิ่งที่เรียกกันว่าธรรม ธรรมคือตัวตนอันเด็ดขาด อันเฉียบขาด มีอยู่อย่างเข้มแข็ง สำหรับควบคุมสิ่งทั้งหลายทั้งปวง คือกฎแห่งอิทัปปัจจยตา กฎแห่งอริยสัจทั้งสี่ ที่เรียกสั้นๆ ว่าตถตา หรือว่าตถา เข้าถึงความจริงของตถตา หรือตถา ก็จะกลายเป็นตถาคตองค์หนึ่งขึ้นมาทันทีนี่ นี่เราก็เรียกว่า ตามพระพุทธเจ้าได้อย่างดี ถึงกับเรียกว่าตามทัน เมื่อตามทันก็เข้าถึงความเป็นอันเดียวกัน จนพูดได้ว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ในเรา หรือแม้จะกล้าพูดว่า เราเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง มันก็ยังเป็นความจริง มันจะต่างกันอยู่บ้างก็ ก็ในข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระพุทธเจ้าตามลำพังพระองค์ คือตรัสรู้เอง ถ้าเราจะเกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ก็ด้วย ด้วยการฟังคำสอนของพระพุทธจ้า แล้วมาปฏิบัติตาม ไอ้ความเป็นพระพุทธเจ้าของเราก็เลยเป็นพระพุทธเจ้าที่คลานตาม ก็เรียกว่าอนุพุทธะ คลานตามพระสัมมาสัมพุทธะ ที่เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงได้ ด้วยพระองค์เองดังนี้ เราไม่อาจจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ อย่าไปหวังให้มันป่วยการ ถ้าเป็นอนุพุทธะคือ คลานตามพระพุทธเจ้าจนทัน มีอะไรๆ เหมือนกัน ตรงข้อที่ว่า โพธิได้เจริญถึงที่สุดจนถึงดับ อ้า, กิเลสและความทุกข์ได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็นับว่ามันดีที่สุดแล้ว เป็นสิ่งที่ควรเอามานึกคิดพิจารณากันในวันวิสาขบูชา เช่นวันนี้ ดังนั้น อาตมาจึงได้รบเร้ามาก ในการแสดงธรรมเมื่อตอนเย็นก็ดี เมื่อตอนหัวค่ำก็ดี แม้ตอนนี้ก็ยังรบเร้าในเรื่องนี้อยู่อีกนั่นเอง ขอให้ท่านทั้งหลาย ตั้งอกตั้งใจศึกษาให้เข้าใจ แล้วทำตนให้เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะให้ได้ ด้วยการใช้ธรรมะอันเป็นเครื่องมือคือ สติปัฏฐานทั้งสี่ สติปัฏฐานทั้งสี่นั้น มีแสดงไว้เป็นสองรูปแบบ หรือพูดอย่างนั้นก็อาจจะไม่ถูกนัก ควรจะพูดว่าปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นสองแบบ แบบหนึ่งมันช่างมากมาย ไม่น่าเชื่อ ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสได้ทีเดียวถึงอย่างนั้น หรืออย่างไร นั่นก็คือมหาสติปัฏฐานสูตร อันยืดยาวในคัมภีร์ทีฆนิกาย เพียงแต่เอามาอ่านๆ อ่านเท่านั้นจะกินเวลาหลายชั่วโมง ทีนี้อีกแบบหนึ่งก็คือ แบบที่ทรงแสดงไว้ในรูปของ อานาปานสติ ไปอยู่ในสังยุตตนิกาย เป็น อ้า, เป็นหลักสำคัญ คือมีพระสูตรชื่อนั้น แต่แล้วเรื่องอย่างเดียวกันนี้ มีประปรายอยู่ในที่ทั่วๆ ไป แม้แต่ในพระวินัยปิฎกก็มีเรื่องสติปัฏฐานสี่ที่อยู่ในรูปของอานาปานสติ ดังที่กล่าวแล้ว อาตมาได้พยายามค้นดูว่ามัน ก็พบว่า มันมีอยู่สองรูปแบบนี้เท่านั้น ที่มันใหญ่ ใหญ่จนยาว จนรู้สึกว่ามันจะเฟ้อเสียแล้ว ก็คือมหาสติปัฏฐานสูตร ในคัมภีร์ทีฆนิกาย ที่มันพอดี และที่พระพุทธเจ้าท่านทรง อ้า, ชี้ชวน แนะนำให้ใช้มากที่สุด ก็คือสติปัฏฐานสี่ที่อยู่ในรูปแบบของอานาปานสติ ในสูตรชื่อว่า อานาปานสติสูตร อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย แล้วก็ได้ใช้แบบนี้เป็นหลักสำหรับศึกษาและปฏิบัติในส่วนอาตมา จนถึงกับเขียนออกมาเป็นหนังสือหนังหา เรื่องอานาปานสติหลายรูปแบบ คือพิสดารบ้าง ไม่สู้จะพิสดารบ้าง แล้วก็ย่อที่สุดบ้าง ไปหาอ่านดูเอาเองว่า เรื่องอานาปานสติ ๑๖ ขั้น นั้น เขียนไว้อย่างย่อๆ ไม่กี่หน้าก็มี เขียนไว้อย่างกลางๆ หลายสิบหน้าก็มี เขียนไว้อย่างละเอียดเป็นหลายร้อยหน้าก็มี ล้วนแต่เรียกชื่อว่าอานาปานสติภาวนา ทั้งนั้น
อานาปานสติภาวนา หมายความว่า การเจริญ หรือทำให้มาก ทำให้เจริญขึ้น อานาปานสติ แล้ว อานาปานสตินั้น ก็คือสติปัฏฐานสี่ เพราะว่าอานาปานสติแบบนี้ แบบอื่นไม่พูดถึง ไม่รับรอง แต่ อานาปานสติแบบนี้จะมีอยู่ ๑๖ ขั้น โดยแบ่งออกเป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น หมวดแรกมี ๔ ขั้น ก็พูดถึงร่างกาย คือลมหายใจ ลมหายใจยาวเรื่องหนึ่ง ลมหายใจสั้นเรื่องหนึ่ง กายทั้งปวงคือว่าลมหายใจปรุงแต่งกาย เกิดเป็นสองกาย เป็นกายลมหายใจ และกายเนื้อหนัง สอง สองกายนี้มันสัมพันธ์กันไป นี่ก็เรื่องหนึ่ง แล้วก็เรื่องทำให้ลมหายใจสงบระงับ ทำกายสังขารคือลมหายใจให้สงบระงับ จนกายระงับ จนจิตระงับ เป็นสมาธิในระดับที่พอแก่ความต้องการ สี่ขั้นนี้เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสติปัฏฐานที่หนึ่ง ทีนี้เมื่อทำสำเร็จในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ก็ทำในส่วนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการที่มีความสงบระงับแห่งลมหายใจ หรือร่างกาย จนมีความสุขเป็นเวทนาที่เป็นสุข มีปีติเป็นเครื่องนำหน้าของความสุข ก็เลยยกเอาไอ้ปีติและความสุขซึ่งเป็นเวทนานี้ เอาไปเป็นหลักสำหรับปฏิบัติในหมวดที่สองซึ่งเรียกว่าหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ศึกษาในส่วนที่เป็นปีติก่อน เป็นขั้นที่หนึ่งของหมวดที่สอง ศึกษาในสุขซึ่งเป็นเรื่องที่สองของหมวดที่สองนี้ แล้วศึกษาความที่ปีติ และสุขนี้ เป็นจิตสังขารปรุงแต่งจิต นี้เป็นเรื่องที่สามของหมวดที่สองนี้ แล้วศึกษาเรื่องการทำให้จิตสังขารอยู่ในอำนาจ เพื่อไม่ให้ปรุงแต่งจิตอย่างที่จะก่อให้เกิดทุกข์ได้อีกต่อไป นี้เป็นเรื่องที่สี่ของหมวดที่สอง หมวดที่สองก็เลยมีการปฏิบัติ ๔ ขั้น ก็เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สำเร็จแล้วก็จะเป็นผู้บังคับจิตได้ เพราะสามารถควบคุมจิตสังขาร กล่าวคือเวทนานั้นๆ ถ้าสามารถควบคุมเวทนาได้ในทุกๆ ความหมาย จึงไม่เกิดกิเลสตัณหาจากเวทนานั้นๆ อย่างน้อยก็มีประโยชน์อย่างนี้ คือเวทนาไม่เป็นสิ่งที่มีพิษมีสงแก่เราอีกต่อไป
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่สามซึ่งเรียกว่าหมวดจิตตานุปัสสนา นี้ก็ฝึกลงไปที่จิตโดยตรง กำหนดรู้ว่าจิตเป็นอย่างไร สามารถควบคุมจิตได้มาตั้งแต่หมวดที่สอง คือควบคุมจิตสังขาร ซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตได้แล้ว พอมาถึงตอนนี้ก็สามารถจะบังคับจิต ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ คือบังคับจิตให้มีความรื่นเริงบันเทิง บังคับจิตให้หยุดให้ตั้งมั่น บังคับจิตให้ปล่อย ในที่สุด ข้อปฏิบัติจึงมีอยู่ ๔ เรื่อง ด้วยเหมือนกัน เรื่องที่หนึ่ง คือรู้จักจิตในลักษณะต่างๆ ทุกอย่าง เรื่องที่สองบังคับจิตให้ปราโมทย์บันเทิง เรื่องที่สามบังคับจิตให้หยุด ให้ตั้งมั่น เรื่องที่สี่ก็บังคับจิตให้ปล่อย ปล่อยความยึดมั่นถือมั่น หรือทำ หรือทำความยึดมั่นถือมั่นให้หลุดไปจากจิต หรือว่าจะทำจิตให้หลุดจากความยึดมั่นถือมั่น ความหมายมันก็อย่างเดียวกัน แม้ว่าคำพูด หรือตัวหนังสือจะแตกต่างกัน เดี๋ยวนี้เป็นผู้มีอำนาจเหนือจิตแล้ว เป็นผู้บังคับจิตให้เป็นอย่างไรก็ได้ ดังนั้น เราก็จะใช้มัน เพราะว่ามันอยู่ในอำนาจของเราแล้ว ฝึกดีแล้ว เหมือนวัว ควาย ช้าง ม้า ฝึกดีแล้วก็เอาไปใช้งาน เดี๋ยวนี้จิตนี้ฝึกดีแล้วก็เอาไปใช้งาน คือดู ดู ดู ดูความจริงของธรรมชาติ หรือของสังขารทั้งปวง จึงได้ไปฝึกในหมวดที่สี่ ที่เรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใช้จิตที่ฝึกดีแล้วนี้เป็นเครื่องดู แต่โดยมากก็ใช้คำว่าพิจารณา ถ้าอยากจะใช้คำว่าพิจารณา ก็ให้รู้ความหมายที่ถูกต้องว่า มันเป็นเรื่องดู ไม่ใช่คิด นำ ไปแปลกๆ เอ้า, ให้มันเป็นเรื่อง มากเรื่องออกไป โดยการใช้เหตุผลอย่างนั้น อย่างนี้ นั้นไม่ถูก ที่ถูกนั้นก็ดูอย่างเดียว จิตที่เป็นสมาธิดีแล้ว มาดูสิ่งซึ่งมันกำลังเป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันยึดถืออะไรอยู่ ก็ดู ดูสิ่งนั้น จนเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสิ่งนั้น นี่เป็นขั้นที่หนึ่งของหมวดที่สี่ ทีนี้ว่าดูจนเห็นไอ้ความจริงของไอ้ธรรม หรือสังขารเหล่านั้นแล้ว จิตมันก็คลายตัวจากความยึดถือ แล้วก็ดูเข้าไปที่ความคลายตัว แห่งความยึดถือของจิตนั้น นี่ก็เป็นขั้นที่สองของหมวดที่สี่ ถ้ามันคลายตัวไปถึงที่สุดแล้ว มันก็ดับความยึดมั่นถือมั่น นี่เป็นเป็นขั้นที่สามของหมวดที่สี่ ก็ดูกันข้อสุดท้ายว่า เดี๋ยวนี้สลัดคืนหมดแล้ว ไม่มีอะไรๆ ให้คงเอาไว้ให้ยึดมั่นถือมั่นแล้ว เป็นขั้นที่สี่ของหมวดที่สี่ ขั้นที่หนึ่งเรียกว่าอนิจจานุปัสสี ตามดูความไม่เที่ยงของสิ่ง หรือสังขารที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ ขั้นที่สองเรียกว่าวิราคานุปัสสี คือความคลายออก จางออกแห่งความยึดมั่นถือมั่น ขั้นที่สามเรียกว่านิโรธานุปัสสี คือดูความยึดมั่นถือมั่นที่คลายออก จนดับลงหมดสิ้น ขั้นที่สี่เรียกว่าปฏินิสสัคคานุปัสสี คือดูความที่เดี๋ยวนี้สลัดคืน ขว้างทิ้งเจ้าของเดิมไปแล้ว นี่พูดอย่างอุปมาว่า ก่อนนี้เราโง่ เรามีอวิชชา ยึดมั่นถือมั่น ไปเอาของที่เป็นของธรรมชาติมาเป็นของตน แล้วก็ได้เป็นทุกข์ มันเหมือนกับปล้นเอาสมบัติของธรรมชาติมาเป็นของตน มันเป็นโจร มันเป็นอันธพาล ดังนั้น มันจึงต้องมีความทุกข์ เดี๋ยวนี้จิตปล่อยวาง ไม่เอามาเป็นของตนก็คือคืนให้เจ้าของเดิม คือธรรมชาติ ธรรมชาติทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย จงไปเป็นของธรรมชาติเถิด กูไม่เอามึงมาไว้เป็นของกูอีกต่อไปแล้ว นี่เรียกว่ามันสลัดคืน เป็นปฏินิสสัคคะ นี่คือหมวดสุดท้ายเรียกว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน รวมเป็น ๑๖ ขั้นด้วยกัน แบ่งได้เป็น ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น แต่ละขั้นๆ ทำจนเชี่ยวชาญ ชำนาญ ปรากฏอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าออก มันละเอียดมากเหลือเกิน ที่ทำให้ปรากฏชัดอยู่ทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าออก ไม่มีอะไรที่จะทำให้ประณีตละเอียดมากไปกว่านี้แล้ว วิธีแห่งอานาปานสติเป็นวิธีที่แยบคายที่สุด ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแนะนำ เพราะเป็นวิธีที่สงบเงียบเยือกเย็นที่สุด คือไม่น่ากลัว ไม่วุ่นวาย ไม่เหมือนกรรมฐานอย่างอื่น ซึ่งฟุ้งซ่าน หรือน่ากลัว หรือวุ่นวาย เช่นอสุภกรรมฐาน เป็นต้น ไม่เงียบสงบ และเยือกเย็น เหมือนอานาปานสติ พระองค์จึงทรงแนะความดี อ้า, ของอานาปานสติสำหรับภิกษุทั้งหลาย ให้ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ความข้อนี้ปรากฏอยู่ในพระบาลีมากมายหลายแห่ง ในพระไตรปิฎกนั้น เคยรวบรวมเอามาไว้ท้ายเรื่องอานาปานสติที่อธิบายกันโดยสมบูรณ์ ผู้สนใจก็ไปศึกษาค้นคว้าดูเถิด ก็จะพบว่า พระพุทธองค์ทรงชักชวน ในกรรมฐานแบบนี้ คือแบบอานาปานสตินี้ยิ่งกว่ากรรมฐานแบบอื่น ยังตรัสว่าพระองค์ก็สำเร็จมาได้ด้วยกรรมฐานแบบนี้ ซึ่งจะหาอ่านดูได้จากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ เป็นอันว่าเป็นแบบที่ทรงเคยใช้สำเร็จประโยชน์มาแล้วโดยพระองค์เอง และทรงแนะนำให้สาวกทั้งหลายใช้ตาม เพราะมันสะดวกที่สุด มันสบายที่สุด มันสงบระงับเยือกเย็นไปตั้งแต่ต้น ไม่มีเรื่องที่เอะอะ น่าหวาดเสียว เป็นอันว่า มันมีวิธีที่จะอบรมโพธิ ให้โพธินั้นเจริญงอกงาม จนถึงระดับสมบูรณ์ เป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิ เราก็เป็นพระพุทธเจ้าชนิดอนุพุทธะ คือตามหลังพระสัมมาสัมพุทธะ ไปสู่ที่เดียวกัน ไปสู่ภาวะอย่างเดียวกัน นี่คือเรื่องที่ว่าเราจะทำเรา ให้เข้าถึงพุทธะ มีความเป็นพุทธะ คือมีพระพุทธเจ้าอยู่ในเราได้อย่างไร เมื่อตอนเย็นเคยใช้คำว่า จงทำร่ายกายนี้ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า อานาปานสติเป็นวิธีที่จะทำให้ร่างกายนี้ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ขอให้ลองพยายามกระทำให้สำเร็จประโยชน์ถึงที่สุดเถิด จิตนี้ก็จะมีโพธิเจริญรุ่งเรืองถึงที่สุด ในระดับที่ดับทุกข์ทั้งปวงได้ นี่ก็เกิดพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ ขึ้นมา เป็นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าองค์นี้ เป็นการดับแห่งกิเลส มีนิพพานเป็นความเย็นของพระพุทธเจ้าองค์นี้ องค์เล็กๆ นี้ ซึ่งควรจะเป็นกันได้ทุกคน ถ้าว่าได้ตั้งอกตั้งใจ เอ้อ, จริงๆ มีความประสงค์ที่จะเป็นนั้น เอ้อ, เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันก็เป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย คำแนะนำของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ จึงทรงยืนยันว่าเป็น สวากขาโต ภะคะวะตาธัมโม ธรรมะนั้น เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไว้ดีแล้ว ถ้าใครปฏิบัติตามไม่ได้ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ตรัสไว้ดีแล้ว เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งที่ผู้ตั้งใจจริงๆ สามารถจะปฏิบัติตามได้ มันจึงเป็นสิ่งที่ตรัสไว้ดีแล้ว เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้เป็นคนหนวก คนบอด คนบ้าใบ้ คนไม่สมประกอบ ป้ำๆ เป๋อๆ เราก็มีความปกติแห่งความเป็นมนุษย์ในระดับมาตรฐาน ดังนั้น โพธิแห่งจิตของเราก็ต้องอยู่ในระดับมาตรฐาน คือสามารถเพาะหว่านให้มันออกมาเป็นต้น ลำ งอกงามถึงที่สุด เป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิได้ โดยไม่ต้องสงสัย หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ท้อใจ คงจะมีความกล้าหาญ ร่าเริงบันเทิงในการที่จะปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ตามนี้ มันเหลืออยู่แต่ว่า จะสนใจหรือไม่สนใจ จะพยายามหรือไม่ จะเอาจริงหรือไม่เท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้อย่างน้อยก็ขอให้เป็นไปในทางที่ว่า แม้ยังปฏิบัติไม่ได้ ก็ขอให้รู้ ให้เห็น ให้มองเห็น ว่ามันมีอยู่อย่างนี้ มันอยู่ในวิสัยที่คนแต่ละคนที่เป็นคนปกตินะ อาจจะบรรลุถึงได้ มันจะช้าไปบ้าง หรือมันจะเร็วไปบ้าง มันก็เป็นเรื่องธรรมดา มนุษย์ตามปกติสามัญนั้น จะต้องบรรลุถึงได้ แม้ว่าจะช้าไปบ้าง ก็ไม่ช้าเกินการ คือจะได้ชิมรสแห่งพระนิพพาน ก่อนแต่ที่จะเน่าเข้าโลงไป คือตาย ก่อนแต่ที่จะตายนี่คงจะได้รู้เรื่องนี้ ได้สัมผัสเรื่องนี้ คือได้ชิมนิพพาน เป็นทิฐธรรมนิพพาน คือรู้สึกได้ในชีวิตนี้ด้วยกันทุกคน
การทำวิสาขบูชาของเรา แม้เพียงแต่รู้เรื่องนี้ก็ ก็นับว่ามีผลคุ้มค่า แต่ถ้าถึงกับปฏิบัติได้ตามนั้นได้แล้วก็ยิ่งเกินค่า มีผลเกินค่า ควรจะได้พยายาม ตลอดวันเวลาของการทำวิสาขบูชา ให้มีความก้าวหน้า ไม่ย่ำเท้า ไม่ซ้ำที่ อยู่ทุกๆ ปี แต่ละปีๆ ขอให้มีความก้าวหน้า มันก็คงจะถึงเข้าสักวันหนึ่ง ก่อนแต่จะเน่าเข้าโลงไป ธรรมเทศนาเป็นกัณฑ์สุดท้ายแห่งวิสาขบูชา คือการแสดง ให้เห็นว่า เราจะดำเนินตามพระพุทธองค์ได้อย่างไร แล้วจะไปทันกันได้ในลักษณะอย่างไร อันนี้จะมีการตรัสรู้ เอ้อ, ประสูติ ตรัสรู้ และนิพพานได้ในความหมายหนึ่ง ในระดับของตนๆ ได้ด้วยกัน ทุกคนดังนี้ เรียกว่าการทำวิสาขบูชานั้นไม่เป็นหมัน พระพุทธเจ้าตรัสให้มีตนเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ ให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะ ก็คือทรงมุ่งหมายอย่างนี้ ให้มีตนที่ช่วยตน เป็นตนที่อบรมดี คือจิตที่อบรมดี แล้วก็มีผลคือมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ เพราะว่าจิตที่อบรมดีแล้วนั้น สามารถทำให้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ มีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมะเป็นสรณะได้โดยไม่ต้องสงสัย ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้