แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
(เสียงผู้ชาย) ก็วันนี้ ผมคิดว่า วันที่ ๑ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ แล้วก็ปีใหม่ด้วยและเป็นวันอุโบสถด้วย กระนั้นผมขอเชิญชวนทุกท่านวันนี้จะ???อุโบสถซ้อมไปเลยอีกแล้ว (นาทีที่ 02:45 ) ความสามารถของท่านผู้ปฏิบัติ
(นาทีที่ 02:54 – 04:20 เสียงสวดมนต์)
(เสียงท่านพุทธทาส) วันนี้เป็นวันที่จะต้องรับศีลรับพรปีใหม่ตามสมควร ตามธรรมเนียม เรื่องรับศีลนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่เรื่องรับพรยังมีปัญหายังต้องทำความเข้าใจ พรแปลว่าดี แปลว่าความดี จะให้กันจากปาก ให้กันแต่คำพูด มันก็ได้แต่คำพูด คือได้แต่เสียง ได้แต่ลมปากเหมือนที่ให้กันโดยมาก ถ้าจะให้เป็นพรจริง ๆ ก็มันต้องปฏิบัติเท่านั้นเอง ถ้าเป็นพรจริง ๆ ต้องทำขึ้น ไม่ใช่ว่าให้แต่ปาก ให้แต่ปากนั้นดีเหมือนกัน ช่วยกำลังใจ ถ้าให้คำอธิบาย คำสั่งสอนก็มันยังดียิ่งขึ้นไปอีก คือจะได้เอาไปปฏิบัติ แต่ในที่สุดมันก็รวมอยู่ที่การปฏิบัติ ให้เป็นพร ให้เป็นพรอย่างปีใหม่ คือแปลกออกไป มากออกไป กว้างไกลออกไป เพราะฉะนั้นอาตมาก็จะพูดว่าพรปีใหม่ก็คือปฏิบัติธรรมะให้ยิ่งกว่าปีเก่า ปฏิบัติธรรมะให้ยิ่งกว่าปีเก่า นี่คือพรของปีใหม่ จะได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ
ธรรมะคืออะไรนี่ พูดกันมามากแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่เคยฟัง บางคนฟังแล้วก็ไม่สนใจจะจำ เพราะเห็นว่าไม่สำคัญว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะคือการกระทำที่ถูกต้องแเก่ความเป็นมนุษย์ของตน ๆ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ต้องเป็นการปฏิบัติที่การกระทำ ไม่ใช่เอาแต่เรียนแต่พูดเฉย ๆ และการปฏิบัตินั้นต้องถูกต้อง ผิดพลาดไม่ได้ ถูกต้องอย่างไร ถูกต้องแก่ความเป็นคนของเราทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ เราเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่คนเฒ่า นี้เขาเรียกว่าขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ การปฏิบัตินั้นต้องถูกต้องที่ความเป็นเด็กของเรา เป็นยุวชนของเรา เป็นหนุ่มเป็นสาวของเรา เป็นผู้ใหญ่พ่อบ้านแม่เรือนของเรา เป็นคนแก่คนเฒ่า แล้วแต่ว่าใครกำลังจะเป็นอย่างไร ให้มีการปฏิบัติถูกต้องแล้วมันก็มีความสุขมีความเจริญเกิดจากการปฏิบัติ นี้เรียกว่าดีเป็นภาษาไทย เรียกว่าพรเป็นภาษาบาลี ขอให้ทุกคนตั้งใจให้มีธรรมะมากขึ้นกว่าปีเก่า นี้คือการรับพรปีใหม่
ถือโอกาสพูดเท่าที่เวลาจะอำนวย ว่าถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้องยิ่ง ๆ ขึ้นไป จะต้องระลึกนึกโดยหัวข้อเหล่านี้ คือว่าเรารู้จักตัวเองยิ่งขึ้นไป โดยถือว่าที่แล้วมารู้จักตัวเองน้อยนัก จึงได้ทำผิด ๆ ทำไม่ถูก มานั่งร้องไห้อยู่บ่อย ๆ หรือเป็นบ้าไปเลย นั้นไม่รู้จักตัวเอง ขอให้ทุกคนรู้จักตัวเองว่าเป็นอย่างไรยิ่งขึ้นไปกว่าปีเก่า โดยเฉพาะก็คือรู้จักว่าเป็นเป็นมนุษย์เว้ย ไม่ใช่เป็นสัตว์เว้ย เป็นมนุษย์นะ ไม่ใช่เพียงว่าลูกคนนั้น หลานคนนั้น นามสกุลนั้นแบบนี้ ให้มันเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องตามความเป็นมนุษย์ นั้นคือมีจิตใจสูงพอก็จะมีความสุข มีความสงบสุขตลอดวันตลอดคืน มีความสงบสุขจึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ แล้วตัวเองเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เรามีความสงบสุขส่วนตัวเรา และการที่มีเราอยู่ในโลกในบ้านในเมืองนี้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่ด้วยตลอดเวลา นี้เป็นคำสั่งคำสอน พระพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้า ว่าให้พุทธบริษัททุกคนทำตนให้เป็นประโยชน์ตนเองและเป็นประโยชน์ผู้อื่นด้วย ท่านเน้นเหลือประมาณว่าประโยชน์ตนด้วย ประโยชน์ผู้อื่นด้วย ไม่ได้พูดแต่ว่าประโยชน์ตน ไอ้คนที่มันไม่รู้กล่าวหาผิด ๆ ว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว ธรรมะเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว นี้ไม่ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัส พระพุทธเจ้าตรัสว่าประโยชน์ตนด้วย ประโยชน์ผู้อื่นด้วย พระพุทธศาสนาไม่ควรจะถูกตำหนิว่าเห็นแก่ตัว ประโยชน์ตัวเท่านั้น ต้องปฏิบัติให้มีผลว่าเราก็มีความสุขและผู้อื่นก็พลอยได้รับประโยชน์จากเรา ก็คือมีความสุขตาม ๆ กันไป คือปฏิบัติถูกต้องกันทั้งหมู่ ทั้งคณะ ทั้งบ้าน ทั้งเมือง ทั้งโลกก็ยิ่งดี นี้เรียกว่าเรารู้จักตัวเองว่าเป็นมนุษย์ คราวนี้เราจะต้องเชื่อตัวเอง รู้จักตัวเองและต้องเชื่อตัวเอง มีความเชื่อแน่ว่าเราเป็นมนุษย์ได้ เราจะเป็นมนุษย์ให้ได้ และเชื่อแน่ลงไปว่าเราไม่เสียทีที่เกิดมาต้องเป็นมนุษย์ให้ได้ และมีความเชื่อว่าเราปฎิบัติได้ทุกอย่างที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ นี่เรียกว่ามีความเชื่อ
ข้อที่หนึ่งมีปัญญาคือรู้จักตัวเอง ข้อที่สองมีศรัทธาคือความเชื่อ เชื่อตัวเอง แล้วข้อที่สามก็ต้องบังคับตัวเองอย่าเชื่อเปล่า ๆ บังคับตัวเองให้ทำตามหลักตามเกณฑ์ของธรรมะบังคับ คนธรรมดานั้นอยู่ใต้อำนาจกิเลส กิเลสชักจูงไปเรื่อย มันก็เลยผิดหมดไปตามอำนาจกิเลส ที่ต้องมีธรรมะบังคับดึงมาให้อยู่ในร่องรอยของธรรมะ เพราะฉะนั้นจะต้องบังคับตัวเอง เรื่องถือศีล เรื่องปฏิบัตินี่มันต้องเกี่ยวกับเรื่องบังคับตัวเองทั้งนั้น บังคับไม่ให้ฆ่า บังคับไม่ให้ลัก บังคับไม่ให้ประพฤติผิดในกาม บังคับไม่ให้พูดเท็จ บังคับไม่ให้ดื่มของเมา ถ้าถือศีล ๘ ก็บังคับต่อไปอีก ๓ ข้อ เรียกว่าบังคับทั้งนั้น จิตบังคับยากจึงต้องตั้งอกตั้งใจให้มากเป็นพิเศษจึงจะบังคับได้ เหมือนกับบังคับช้างตกมันหรือยิ่งกว่า ช้างตกมันยังอาจจะบังคับง่ายกว่า จิตยิ่งกว่าช้างตกมัน เวลานี้เราทำกันเล่น ๆ จิตจึงบังคับไม่ได้ ยิ่งเหลวไหล เหลวไหลมากก็ไปเป็นอันธพาล เป็นคนรกโลก ไม่มีประโยชน์ ขอให้บังคับตัวเอง นี้เรียกว่า ทมะ หรือ ทโม บังคับตัวเอง เป็นหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา ที่เมื่อบังคับตัวเองแล้วก็จะต้องได้ผล เราก็พอใจว่าเราบังคับตัวเองได้ มีศีล มีธรรม เราก็พอใจเรียกว่าสันโดษ ยินดีในคุณธรรม นี่ก็ต้องรู้สึกเพราะว่าความสุขมันมาแต่ความพอใจ ถ้าไม่มีความพอใจก็ไม่มีความสุข เงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยาสามีก็ตาม ถ้าไม่พอใจมันจะไม่รู้สึกเป็นสุข ถ้าพอใจมันจะรู้สึกเป็นสุข พอใจมากก็เป็นสุขมาก เราทำตัวเราเองให้เป็นที่พอใจแก่เราเองให้มาก คือมันก็มีแต่ดี ๆ ๆ ถูก ๆ ๆ แล้วก็พอใจตัวเอง แล้วก็มีความสุข มีความพอใจตัวเองเมื่อไร แล้วก็มีความสุขเมื่อนั้น ความพอใจตัวเองนี่ไม่ใช่กิเลส ความพอใจเมื่อมันชนะกิเลสนั้น เราดีหมายความว่าเราชนะกิเลส ไม่ใช่ว่าได้ทำตามกิเลสไปปล้น ไปฆ่า ไปลัก ไปโกง ไปขโมย ไปทุจริต แล้วก็พอใจตัวเองนั้นเป็นไปไม่ได้ มันยังเกลียดตัวเอง ถึงแม้ว่าเป็นคนอันธพาล มันก็รู้ว่าไอ้ทำนี้มันผิด มันต้องหลบหลีก ต้องซ่อนเร้น ไม่อาจจะพอใจได้ ถ้าเป็นเรื่องพอใจตัวเองต้องเป็นเรื่องเปิดเผย เห็นชัดเลยว่าเราทำดี เราอวดเขาได้ เราพอใจ เป็นธรรมะที่จะต้องประพฤติปฏิบัติจนพอใจตัวเอง อย่าให้นึกแล้วเกลียดตัวเอง กินแหนงตัวเอง อิดหนาระอาใจตัวเอง มันไม่มีความสุขหรอก ความสุขจะมีต่อเมื่อนึกถึงตัวเองแล้วพอใจตัวเอง เต็มไปด้วยความดีความงาม น่านับถือ น่าบูชา
นี้ข้อสุดท้ายเราก็เคารพตัวเอง ข้อนี้กินความมาก เคารพตัวเอง มีความนับถือตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ เมื่อสำรวจตัวเองดูทุกแง่ทุกมุมแล้วพอใจตัวเองถึงขนาดที่ว่ายกมือไหว้ตัวเองได้ ส่วนนี้เรียกว่าเคารพตัวเองได้ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในเรา กระทั่งมีมรรคผลนิพพาน อยู่ในเรา ในกายและจิตนี้ แล้วก็เคารพตัวเองถึงที่สุดเลย ก็หมดเท่านั้น เรื่องมันก็จบ ตั้งต้นมาแต่ว่ารู้จักตัวเองให้มากกว่าปีก่อน ปีนี้รู้จักตัวเองให้มากกว่าปีก่อน ปีนี้ขอให้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ก็จะสามารถประพฤติปฏิบัติยิ่งกว่าปีก่อน คือมีความเชื่อยิ่งกว่าปีก่อน ให้มีการบังคับตัวเองอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าปีก่อน แล้วให้พอใจตัวเองได้มากกว่าปีก่อน แล้วให้ยกมือไหว้ตัวเองได้มากกว่าปีก่อน ครบ ๕ ข้อแล้ว ก็ชื่อว่าได้ประพฤติปฏิบัติในทางที่จะเกิดเป็นพรอย่างยิ่ง ความดี ความงามเลิศประเสริฐอย่างยิ่งเรียกว่าพร มันก็เกิดขึ้นได้ด้วยข้อนี้ ด้วยเหตุนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้ทำให้ปีใหม่นี้มีธรรมะมากกว่าปีก่อน เป็นความก้าวหน้า อย่าให้ซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เหมือนกับขดเชือกล่ามควาย เชือกล่ามควายขดเป็นวง ๆ ๆ โยนโครมนอกชานก็เป็นวงอยู่แบบนั้น ถึงจะยาวเป็นกิโลก็เป็นวงขดกลมอยู่อย่างนั้น มันออกไปไม่ได้ เหมือนกับเราซ้ำ ๆ ๆ ๆ อยู่ทุกปี ปีนี้ไม่ดีกว่าปีที่แล้ว มันก็ไม่ไหว มันก็เหมือนกับขดเชือกล่ามควาย มันก็จะเป็นควายเสีย ขอให้มันยืดออกไป ๆ ๆ เหมือนหลักกิโล ไปไกลถึงเมืองไหนก็ได้ ไปนิพพานในที่สุด นี้คือพรปีใหม่
รวมความว่าจะต้องปฏิบัติธรรมะให้ยิ่งไปกว่าปีเก่า และขอให้ถือหลักนี้ตลอดไปทุก ๆ ปี ทุก ๆ ปี ทุก ๆ ปี รู้จักตัวเองมากกว่าปีก่อน เชื่อตัวเองมากกว่าปีก่อน บังคับตัวเองมากกว่าปีก่อน พอใจตัวเองมากกว่าปีก่อน เคารพนับถือตัวเองมากกว่าปีก่อน นี้เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยตรง แล้วก็มีคนเอาไปทำเป็นหลักธรรมสากลใช้กันทั้งโลกเลย พวกฝรั่งยิ่งถือหลักพวกนี้มาก เมื่อครั้งพวกฝรั่งยังมีศาสนา ยังมีธรรมะ เขายึดหลักนี้แน่นแฟ้น แต่เวลานี้ไม่รับรอง มันรวนเรกันหมดแล้ว แต่ว่าเราเป็นพุทธบริษัทต้องเอาไว้ให้ได้ ให้ตรงตามพระพุทธประสงค์ ฉะนั้นถ้าว่าให้พรก็คือขอให้ปฏิบัติโดยหลัก ๕ ประการนี้ก็ได้ ให้ยิ่งขึ้นไปกว่าปีก่อน และท่านทั้งหลายก็จะได้รับพรเป็นแน่นอน ไม่เสียทีที่ได้อุตส่าห์มาด้วยความยากลำบาก ได้ยินว่าอุตส่าห์มาจากเมืองนครฯก็มี จำนวนมากเหมือนกันนะวันนี้ มันไกลนะมาจากเมืองนครฯ ขอให้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าในการมา มาสวนโมกข์ให้จิตใจเกลี้ยง เกลี้ยงกว่าปีก่อน ขอให้เรามีจิตใจเกลี้ยงกว่าปีก่อน กิเลสและความทุกข์ไม่ครอบงำ ไม่ได้ถ้ามีจิตใจเกลี้ยงกว่าปีก่อน นี้ก็เรียกว่าได้รับพรปีใหม่ ไม่เสียทีที่มาไกล
เอ้า, ทีนี้ก็รับศีล ซึ่งไม่ต้องอธิบายอะไร ขอแต่ว่าให้รับศีลให้เกิดปกติทางกายและทางวาจาสำหรับศีล ๕ และ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ มันคือไม่เอาส่วนเกิน เติมไปอีก ๓ ข้อนั้นเป็นเรื่องเกิน อย่าเอาส่วนเกิน อย่ากินเกิน ข้อวิกาลน่ะ อย่ากินเกิน มากเกิน บ่อยเวลาเกิน ดีเกิน แพงเกิน บ้าทั้งนั้น ถ้าให้มันเกินเรื่องกิน และอย่าให้มันเกินในเรื่องบำรุงบำเรอร่างกาย ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม ดีดสีตีเป่า ประดับประดา ลูบทาตกแต่ง นี้มันเกิน อย่าทำเลย ทำเท่าที่พอ พอ เท่าที่จำเป็นไม่ต้องให้มันเลยไปถึงนั้น ไม่ต้องลุกขึ้นรำเหมือนคนบ้า ไม่แต่งตัวให้เลอะเทอะเหมือนคนบ้า ก็ไม่ต้องให้มันแพง ไม่ต้องให้มันเปลือง มันเกิน มันหมด มันไม่เหลือไว้ช่วยตัวเอง คนที่วินาศก็วินาศเพราะไปใช้ส่วนเกิน ทำบุญเกินก็วินาศ อย่ากลัว บวชลูกคนหนึ่งเสียสามหมื่นก็มี เมื่อเร็ว ๆ นี้ปรากฎว่าบวชลูกคนหนึ่งเสียสองแสน นี้บ้าเท่าไรคิดดู บวชลูกคนไม่เท่าไรลูกก็สึก เสียเงินสองแสนไม่น่าเชื่อ แต่ว่าเป็นเรื่องจริง นี้มันเกิน นิสัยเกินมันมากเกินไป
ทีนี้ขอว่า อุจฺจาสยนมหาสยนา อย่าได้มีเครื่องใช้ไม้สอย ที่กินที่อยู่อะไร อย่าให้มันเกิน บ้านที่มีอย่าให้มันเกิน บ้านพออยู่ได้ก็อยู่ อย่าต้องมีบ้านราคาล้านหนึ่งเลย เครื่องใช้ไม้สอยในบ้านพอดีอย่าให้มันเกิน อย่าให้มันแพงเกิน ดีเกิน อะไร ๆ ก็ต้องทองไปทั้งหมดนี้มันเกิน ต้องมีมากเกิน ไปดูเถิด พิจารณาดู อะไรเกินก็รีบให้ ๆ เขาไปเสียดีกว่า มันจะทำให้เราบ้า เอาไว้แต่พอดี กินอยู่แต่พอดี นี่ข้อ ๓ ข้อเพิ่มเข้ามาเป็นศีล ๘ อย่าให้มันเกิน
ข้อสามจากกาเมเปลี่ยนเป็นอพฺรหฺม ก็อย่าให้มันเกิน การสมสู่กันระหว่างเพศไม่ต้องทำทุกวัน ไม่ต้องทำทุกวัน ถ้าทำทุกวันมันเกิน ให้เว้นเสียบางวัน เขาเรียกว่าอพฺรหฺม ก็เลยไม่มีอะไรที่เกินสำหรับผู้ถือศีล ๘ ส่วนศีล ๕ นั้นจำเป็น เป็นหลัก เป็นรากฐานที่ควบคุมกาย วาจา รวมถึงใจด้วย ให้มันอยู่ในร่องในรอย ไม่เตลิดออกนอกร่องนอกรอย ฉะนั้นจงรับศีล ๕ ตามที่ควรจะรับได้ ที่รับศีล ๘ ก็ขอให้รับเพราะว่ารับได้ บางคนรับศีล ๕ บางคนรับศีล ๘ ขออนุโมธนา ให้เกิดอานิสงส์เป็นพรสำหรับปีใหม่ด้วยเหมือนกัน นี้รับศีลปีใหม่ รับพรปีใหม่ ขอให้มีความหมายอย่างนี้ เอ้า, เราก็จะได้ทำพิธีต่อไป
(นาทีที่ 21:58-28:00 เป็นบทสวด)
(เสียงผู้ชาย) ต่อจากนี้ก็จะถวายทานนะครับ ถ้าเดี๋ยว ถ้าเดี๋ยวถวายทานเสร็จว่าเท่าที่ผมทราบจากอาจารย์ถ้าว่าว่าอิทังนี้ดี กว่าบทอื่นมาก แต่ว่าผมก็จะเอาความหมายของอิทัง ตามที่ผมทราบจากอาจารย์น่ะ แต่ผมจำไม่ค่อยชัด จะว่าไปตามนี้ ???ว่ากันไปเลย (นาทีที่ 28:06 )
(นาทีที่ 28:26 – 30:33 เสียงสวดมนต์)
(เสียงท่านพุทธทาส) ทีนี้ให้พรตามธรรมเนียมเป็นภาษาบาลี อนุโมทนาส่วนกุศลที่ตนได้กระทำ และตนก็ต้องอุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วตามธรรมเนียมของพุทธบริษัท ที่พระว่านี้ว่า ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ นี้ก็คือว่าขอให้ผลทานที่ได้ทำในวันนี้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วตามลำดับ คือถึงแก่ผู้ที่เป็นใกล้ชิด บิดามารดาเป็นต้น ที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วก็ห่างออกไป ก็ญาติ ห่างออกไป จนมิใช่ญาติ จนเป็นศัตรู จนเป็นชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ในสากลจักรวาลไม่เลือกหน้า เป็นการซ้อมจิตใจไว้เสมอ ซ้อมจิตใจไว้เสมอให้ตั้งจิตใจแบบนี้ คือให้ไม่เห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่สัตว์ที่มีชีวิตทุกคน โดยบทว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อมีบุญมีความดีอะไรขอให้นึกถึง ภิกษุทั้งหลายอนุโมทนาว่าให้สำเร็จประโยชน์ในข้อนี้ไปตามลำดับ ๆ เหมือนฝนตกลงมาในที่สูงบนภูเขาเป็นต้น แล้วย่อมจะไหลลงมาสู่ที่ต่ำตามลำดับ ทำให้ร่องเล็ก ๆ เต็ม ทำให้ปลายห้วยเต็ม ทำให้ห้วยเต็ม ทำให้คลองเต็ม ทำให้แม่น้ำเต็ม ทำให้ปากอ่าวเต็ม ทำให้ทะเลเต็ม มหาสมุทรเต็ม ข้อความว่าแบบนั้น ให้ตั้งใจให้ตรงตามข้อความที่พระว่า แล้วก็จบ อนุโมทนาและก็ว่าเป็นภาษาบาลีด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง
(นาทีที่ 32:40-37:20 เสียงสวดมนต์)
(เสียงท่านพุทธทาส) ทีนี้ปัญหาเรื่องจะตักบาตรนี้ จะทำกันอย่างไรจึงไม่ชุลมุนเกินไป ถ้าตักสวนทางแล้วก็อัดกันแน่น ไปไม่รอด แล้วก็ถ้าจะมารุมกันตรงกลางหมด ก็มาติดอยู่ตรงกลางนี่เอง ฉะนั้นขอให้อยู่ตรงไหน ตรงเข้าไปตรงนั้น อยู่ตรงไหน ตรงเข้าไปตรงนั้น แล้วค่อยเลื่อนไปทางซ้ายมือเรื่อยไป เลื่อนไปทางซ้ายมือเรื่อยไป แล้วค่อยกลับมา เมื่อสุดปลายค่อยกลับมาตั้งต้นฝ่ายนี้ได้ คงจะไม่เบียดเสียดยัดเยียดหรือ ติดกันแน่นจนลำบาก ช่วยทำความเข้าใจ เดินเข้ามาตรง ๆ อยู่ตรงไหนตักตรงนั้น อย่าเข้ามาตรงกลางอย่างเดียว มันจะติดกันแน่นหมดเดินไม่ได้ เดินเข้ามาตรง ๆ แล้วตักไปทางซ้ายเรื่อยไป
(นาทีที่ 38:27 – จบ เป็นเสียงบรรยากาศทั่วไป)
[T1]ฟังไม่เข้าใจ
[T2]ฟังไม่ทัน