แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาและครูบาอาจารย์ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาคิดว่าจะได้อธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ดังที่ได้พูดไปแล้วเมื่อคืน ทีนี้ก็จะได้พูดเลยไปถึงการที่จะใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ สังเกตดูก็มีหลายคนไม่รู้ว่าเรียนธรรมะไปทำไมแต่ก็ยังคงมาเรียนธรรมะศึกษาธรรมะอยู่นั่นเอง เพราะว่าเพื่อนเขาเรียนกัน ถ้าตัวไม่เรียนมันก็ดูเป็นเรื่องขายหน้าเขา ก็เลยอุตส่าห์เรียนผสมโรงกันไปอย่างนั้นแหละ โดยที่ไม่รู้ว่าเรียนทำไมหรือเรียนอย่างไร บางคนคิดว่าเรื่องธรรมะเป็นวิชาวิชาหนึ่งเหมือนกับวิชาทั้งหลายที่มนุษย์เขาก็เรียนๆรู้กันไว้ เป็นเรื่องรอบตัว เป็นความรู้รอบตัวไปเสียก็มี หลักสูตรการศึกษาของกระทรวง จัดเรื่องธรรมะไว้เป็นสังคมศึกษา ศึกษาเกี่ยวกับสังคมนี่มันน้อยไป คือไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั่นเอง ที่ถูกเราจะต้องเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะอย่างเต็มที่จนถึงกับว่ามันจำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ ถ้าต้องการจะเป็นคนเกิดมาก็ว่าได้เป็นคนก็แล้วไป แต่ถ้าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไรหรือมันสูงกว่าคนก็ต้องอาศัยธรรมะแน่ ที่จริงมันมันยังมีความจำเป็นหรือความลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น ด้วยความเป็นคนนี่ถ้าปราศจากธรรมะแล้วจะต้องมีความทุกข์ ใครจะเป็นคนดำรงชีวิตอยู่เป็นคนทำมาหากินอย่างคนอะไรก็ตาม แต่ถ้าปราศจากธรรมะแล้วก็จะต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าการมีชีวิตอยู่เป็นคนนั้นมันเต็มไปด้วยการต่อสู้ หรือการกระทำการขวนขวายไอ้ความดิ้นรนทุกอย่างน่ะ ถ้าไม่มีธรรมะเข้ามาช่วยสิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นทุกข์ไปทั้งนั้น เพราะว่าเราทำผิดต่อตัวเองต่อจิตใจของตัวเอง นั่นแหละเป็นส่วนใหญ่จนมันเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจที่เรียกกันว่าเกิดกิเลสแล้วก็เป็นทุกข์ ยุ่งยากลำบากด้วยใอ้ความทุกข์เหล่านี้ ความรักก็มี ความเกลียดก็มี ความโกรธก็มี ความกลัวก็มี ความวิตกกังวลก็มี ความเศร้าหมองแห่งจิตใจก็มี ไปคิดดูเถอะ ทั้งหมดนี้มันเป็นอย่างไรแล้วมันก็เกิดได้ง่ายดายอย่างไร คนเราจึงมีความทุกข์อันละเอียดนี้อยู่ด้วยกันทุกคน จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร นั่นแหละมันเป็นความความประสงค์หรือวัตถุประสงค์ของธรรมะ แต่หลายๆคนน่ะเกือบจะทุกคนคงจะไม่เชื่อ ไม่เชื่อในข้อที่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องรบรากันกับเรื่องของความรัก ความเกลียด ความโกรธ ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความหึง ความหวง ความวิตกกังวล อะไรเหล่านี้ เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรโดยไม่ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ให้เขาคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่โดยเนื้อแท้แล้วธรรมะนั่นแหละจะช่วยให้คนเรามีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีสิ่งเหล่านั้นซึ่งเป็นความทุกข์ หมายความว่ามีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ แล้วก็ทำสิ่งที่ดีที่มีประโยชน์มีคุณค่าให้มากที่สุด ทั้งแก่เพื่อตัวเราเองและเพื่อผู้อื่น นี่มันอยู่ที่ตรงนี้ที่ว่าความเป็นมนุษย์ประเสริฐสุดกว่าสัตว์ทั่วไป อยู่อย่างไม่เป็นทุกข์ก็ทำประโยชน์อย่างยิ่งให้ทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่น อย่างนี้สัตว์เดรัจฉานทำไม่เป็น มนุษย์ก็มีค่ามากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ทีนี้อะไรมันจะทำให้อยู่เป็นสุขเป็นผาสุกไม่เดือดร้อนทางกายทางจิต แล้วก็ทำทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ตลอด เวลาแล้วก็สนุกสนานในการทำประโยชน์ เป็นสุขอยู่ในการทำประโยชน์ไม่ต้องไปหาความสุขจากสถานเริงรมย์นี่มันจะเป็นอย่างไร มันจะดีเกินไปหรือว่ามันจะบ้าหรือว่ามันจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เดี๋ยวนี้เราในฐานะที่เป็นนักธรรมะ เรามองเห็นอยู่อย่างนี้ คือว่าการจะเป็นมนุษย์กันในลักษณะอย่างนี้นั้นมันเป็นได้ ไม่ต้องเป็นทุกข์ด้วยทำแต่ประโยชน์ด้วยและเป็นสุขอยู่ในการทำประโยชน์ ไม่ต้องไปเป็นทาสของสถานเริงรมย์ คนเป็นอันมากเป็นทาสของสถานเริงรมย์ อุตส่าห์หาเงินหาทองไปใช้จ่ายที่สถานกามารมณ์เหล่านั้น นั่นคุณเป็นทาสของกามารมณ์ เมื่อเป็นทาสแล้วมันจะดีไปไม่ได้ มันจะมีความสุขไปไม่ได้ นอกจากว่ามันหลอกตัวเองว่าเป็นสุข เป็นสุข ซึ่งที่แท้มันก็เป็นเรื่องของความทุกข์ชนิดที่หลอกลวงอย่างยิ่ง ถ้าผู้ใดต้องการจะเป็นมนุษย์อย่าง กันอย่างที่ว่านี้ คือไม่มีความทุกข์เลยและสนุกอยู่ด้วยการทำประโยชน์มีความสุขอยู่ที่นั่นแล้วก็ลองสนใจเรื่องธรรมะ ทีนี้เราก็จะพูดกันถึงเรื่องว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นทุกข์เลยกันก่อน ในเรื่องหัวใจของพุทธศาสนาก็อยู่ที่ตรงนี้ ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความทุกข์ เราต้องรู้ดีว่าความทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไรทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดความทุกข์ นี่เป็นความจริงของธรรมชาติเป็นกฎของธรรมชาติเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องรู้แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ ให้ได้รับผลคือไม่มีความทุกข์ ก็แปลว่าเราจะเรียนพุทธศาสนากันถึงหัวใจของพุทธศาสนา คือเรื่องดับทุกข์ จะ จะขอบอกเป็นใจความกว้างๆก่อนว่า ถ้าจะเรียนธรรมะให้เป็นธรรมะเพื่อให้เป็นธรรมะแห่งพุทธศาสนาจริงๆนั้น เราจะต้องเรียนธรรมะในวิถีทางของวิทยาศาสตร์ อย่าได้เรียนธรรมะในวิถีทางของปรัชญาเป็นต้นเลย เดี๋ยวนี้คนในโลกนักศึกษาครูบาอาจารย์ติดเฮโรอีนปรัชญากันทั้งนั้น หรือติดคำว่าปรัชญา ติดความหมายของคำว่าปรัชญา ติดคำพูดปรัชญาเหมือนกับติดเฮโรอีน นี่ไอ้วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับการที่จะศึกษาพุทธศาสนา เราจะต้องศึกษาธรรมะในพุทธศาสนาตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าบางคนคงจะเข้าใจอยู่แล้ว แต่บางคนไม่ยังไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไรกันนั้นต้องพูดบ้าง เรียนวิทยาศาสตร์หมายความว่ามันเรียนด้วยของจริง ด้วยของที่มีอยู่จริง เอามาดู เอามาพิสูจน์ เอามาทดลอง เอามาค้นคว้า จนจะได้จนได้รับผล คือได้รู้ความจริงและปฏิบัติได้ตามที่ต้องการได้รับผลตามที่ต้องการ อย่างนี้เราเรียกว่าวิถีทางของวิทยาศาสตร์ เรียนลงไปบนของจริง แต่ถ้าเรียนอย่างปรัชญานั้นมันไม่มีของจริงมาให้เรียน มันมีได้แต่สมมติฐาน เป็นทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาไม่มีตัวจริง เมื่อมีทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็พยายามหาเหตุผลมาแวดล้อม ให้รับทฤษฎีอันนั้น หามติสุดท้ายเกี่ยวกับทฤษฎีอันนั้น แล้วก็ แล้วก็ตกลงกันเท่านั้นแหละ มันเป็น Conclusion ที่มันตกลงกันเท่านั้นไม่ใช่ของจริงมันผิดก็ได้ แต่เราจะต้องเห็นว่า ปรัชญานั้นเขาเรียนลงบนสมมติฐาน สิ่งที่สมมติขึ้นมามันไม่ได้มีตัวจริง เป็นทฤษฎีอันหนึ่งที่สมมติขึ้นมา แล้วก็ทำความเข้าใจไปเรื่อยๆจนกว่าจะยอมรับทฤษฎีอันนั้นดูว่ามันมีผลที่ว่าวางไว้อย่างนั้น วางไว้อย่างนั้น วิธีปรัชญานี้ใช้ไม่ได้กับพุทธศาสนา แต่ถ้าใครจะทำก็ทำได้ หมายความว่าเราจะเรียนพุทธศาสนากันอย่างปรัชญาก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ผลตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนา เราจะต้องเรียนพุทธศาสนาอย่างวิถีทางวิทยาศาสตร์ ความจริงของธรรมชาติในด้านจิตใจ นี่มันต่างกันอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรเราจะเอาไป จะเอาไปทำอย่างเป็นปรัชญาก็ได้ แต่จะไม่ได้ผลอย่างที่ว่าเราจะทำกับมันอย่างที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวนี้เราเรียนธรรมะอย่างกับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลจริงสำเร็จประโยชน์ที่ว่าจะดับทุกข์ได้ ทีนี้ก็จะบอกต่อไปว่าจะตั้งต้นเรียนกันที่ไหน กอ ขอ กอ-กาหรือ A B C D ของพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นธรรมะอย่างวิทยาศาสตร์นี่ จะต้องตั้งต้นกันลงไปที่ตรงไหน ช่วยจำไว้ให้แม่นด้วยว่าไอ้ กอ ขอ ของเราตั้งต้นลงที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าดูถูกว่าคำพูดครึคระของคนโบราณเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นเรื่องจริงแท้ของธรรมชาติเป็นความฉลาด เป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าหรือของนักธรรมะทั้งหลายที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข คุณจะต้องตั้งต้นเรียนพุทธศาสนาที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครทำอย่างนั้นน่ะ ไปเรียนที่ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ อะไรก็ว่ากันไปเรื่อย อันนั้นมันเป็นไอ้การทำไปตามแบบเพื่อเป็นเรื่องเข้ามาสู่ศาสนานี้ เป็นพิธีกรรมเข้ามาสู่ศาสนานี้ บำเพ็ญไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ยังไม่ใช่เป็นการเรียนหรือลงมือเรียนพุทธศาสนาหรือธรรมะโดยตรง ขอบอกไว้อย่างนี้ก่อน เอ้า,ก็ขอให้ติดตามฟังต่อไปว่าไอ้ กอ ขอ กอ-กา ของเรามันตั้งต้นลงที่ตาสำหรับเห็นรูป หูสำหรับฟังเสียง จมูกสำหรับรู้สึกกลิ่น ลิ้นสำหรับรู้สึกรส กายคือผิวหนังสำหรับจะรู้สึกสิ่งต่างๆที่มากระทบที่ผิวหนังที่กาย แล้วใจนี่อยู่ข้างในผิดเพื่อน ๕ อย่างอยู่ข้างนอก อย่างสุดท้ายคือใจนั้นอยู่ข้างในสำหรับกระทบกับสิ่งที่มันจะรู้สึกขึ้นมาในใจนั่นเอง เช่นว่าเราระลึกถึงความหลังนี่ก็เป็นสิ่งที่มากระทบใจ และใจก็ได้รับความก็มีความรู้สึกต่อสิ่งนั้นอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นสนใจดูให้ดีว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ เรารู้จักมันหรือยัง เราควบคุมมันได้หรือไม่ ถ้าเราควบคุมมันไม่ได้ มันก็จะเป็นนรกขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราควบคุมมันได้ มันจะเป็นสวรรค์ขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันยากสักหน่อยนะ ถ้าว่าสนใจฟังก็พอจะเข้าใจได้ เพราะถ้าเราทำผิดเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเป็นนรกขึ้นมาที่นั่น คุณจะต้องนั่งร้องไห้ จะต้องไปกินยาตาย ไปกระโดดน้ำตายในที่สุด หรือจะเป็นประสาทเป็นจิตไปตามเรื่อง อย่างนี้เรียกว่านรกที่ ที่เห็นได้ทันทีทันควันทันใจ เพราะทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะเกิดเรื่องขึ้นมาจนได้นั่งร้องไห้หรือว่าเป็นทุกข์ทรมานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี ไปสนใจดูข้อนี้กันเสียก่อน ถ้าทำถูกต้องเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ามีอะไรมากระทบและทำถูกต้อง ปัญหาจะไม่เกิดความทุกข์จะไม่เกิด จะควบคุมได้ว่าเราควรจะได้อะไรเราก็ได้อย่างนั้น แล้วก็เป็นสวรรค์อยู่ที่ความประพฤติกระทำถูกต้องที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้ก็จะพูดเป็นลำดับไปว่าผิดอย่างไรถูกอย่างไร จะเอาว่าทางฝ่ายผิดก่อน พอตามากระทบรูป รูปมากระทบตาหรือว่าตากระทบเข้ากับรูป คือมีการเห็นทางตา เรามีตาและก็มีรูปมากระทบตา เกิดสิ่งที่สามคือการเห็นทางตา สิ่งที่หนึ่งคือตา สิ่งที่สองคือรูปที่มากระทบตาและสิ่งที่สามคือเกิดการเห็นขึ้นมาทางตาเรียกว่าจักษุวิญญาณ นี่เป็นสามอย่างแล้ว ทีนี้สามอย่างนี้ทำงานร่วมกัน คือถึงกันเข้าทำงานร่วมกันเรียกว่าผัสสะ ผัสสะแปลว่าการกระทบ ทีนี้ในขณะที่กระทบคือผัสสะนั่นแหละสำคัญมาก สำคัญมากอยู่ที่ว่าเวลานั้นเราโง่หรือเราฉลาด เวลาที่มีผัสสะนั่นเราเป็นคนโง่หรือเป็นคนฉลาด เป็นคนโง่หมายความว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความรู้มาช่วยทันไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะควบคุม ก็เรียกว่าผัสสะโง่ในขณะแห่งผัสสะ มนุษย์มีอวิชชา มีความโง่มันก็เป็นผัสสะโง่ ถ้าในขณะนั้นเกิดมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญามีความรู้อะไรอย่างถูกต้องในขณะผัสสะแล้วก็ ก็เรียกว่าผัสสะฉลาดมันจะแยกทางกันเดิน ถ้าผัสสะโง่มันก็เกิดเวทนาโง่ คือความรู้สึกที่โง่ เรียกว่าเวทนาโง่ มีเวทนานั้นจัดเป็นที่ยินดีหรือไม่ยินดีอะไรก็ตามใจ มันเจืออยู่ด้วยความโง่เพราะว่าเจ้าของมันโง่ มันผัสสะด้วยความโง่ไอ้ความรู้สึกอันนั้นก็เป็นความรู้สึกที่เจืออยู่ด้วยความโง่ เขาเรียกว่ามีเวทนาโง่ ที่เวทนาโง่ก็เกิดความอยากที่โง่เรียกว่าตัณหา แล้วก็อยากไปตามเวทนาว่าเป็นอย่างไร น่ารักเราก็รัก น่าเกลียดเราก็โกรธ น่าโกรธเราก็โกรธนี่มันจึงมีการบางทีก็ยินดีพอใจ บางทีก็ยินร้ายไม่ ไม่พอใจ แล้วแต่ว่าเวทนานั้นเป็นอย่างไร เวทนาโง่มาให้มันเกิดความอยากอย่างโง่ ทีนี้เมื่อเกิดความอยากแล้ว ในใจรู้สึกอยากที่ว่าน่ารักมันก็รักก็อยากจะได้ น่าเกลียดน่าชังมันก็โกรธมันก็ไม่อยากจะได้ คือมันอยากจะทำลายเสีย นี่มันเกิดเป็นความอยากรุนแรงขึ้นมาในใจ โดยกฎของธรรมชาติอีกนั่นแหละ ถ้าเกิดความอยากขึ้นในจิตใจแล้ว มันจะปรุงเป็นความรู้สึกอีกอันหนึ่งต่อเนื่องกันไป คือความยึดมั่นถือมั่นว่ากูอยาก กูต้องการจะได้มาเป็นของกูหรือกำลังได้อยู่เป็นของกู เช่น ยกตัวอย่างเช่นว่าเรากินเคี้ยวอยู่อร่อยอยู่ในปาก รู้สึกอร่อยอยู่ในปาก แล้วมันจะเกิดความคิดว่าเรานี่อร่อย อร่อยเป็นของเรา นี่ก็เรียกว่าเกิดความอยากแล้วก็ต้องเกิดความรู้สึกมีตัวผู้อยาก ตัวผู้อยากมาทีหลังความอยาก เมื่อเราเห็นของรักอยากจะได้ ความอยากนั้นเป็นไปเต็มที่แล้ว มันจะปรุงความรู้สึกอีกอันหนึ่งว่ากูอยาก กูนี่เป็นผู้อยากและอยากจะได้มาเป็นของกู แล้วความรู้สึกว่าตัวกูของกูมันก็เกิดขึ้นในใจ เพิ่งเกิดเดี๋ยวนี้ มันเกิดมาจากความอยาก นี่เมื่อเกิดความอยากเป็นตัวกูของกูแล้วมันก็ดิ้นรนกระวนกระวายด้วยความรู้สึกตัวกูของกู มันเกิดเป็นตัวกูของกูชนิดหนึ่งขึ้นมาแล้ว เรียกว่ามันเกิดแล้ว มันมี มีความเป็นตัวเป็นตนโง่ๆนี้ขึ้นมาแล้ว มันเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วมันก็จะต้องมีปัญหาเกี่ยวกับตัวกูว่าสิ่งที่อยากนี้มันจะสูญหายไปหรือว่าจะอย่างไรก็สุดแท้ อะไรๆก็จะมาเป็นปัญหาแก่ตัวกู กูจะตายเสียไม่ได้อยู่กับไอ้สิ่งเหล่านี้ หรือว่ามีอะไรเข้ามาขวางเข้ามาแทรกแซงเข้ามา มันก็เป็นเรื่องความทุกข์ทั้งนั้น จะเป็นความทุกข์ทางละเอียดทางจิตทางวิญญาณ เปรียบได้ก็เหมือนกับว่าถ้าเรา มือของเราหิ้ว หิ้วอะไรอยู่ จับอะไรแล้วหิ้วไว้มือของเราจะหนัก เดี๋ยวจะเมื่อยเดี๋ยวจะทนไม่ได้นี่เป็นความทุกข์ที่มือ ถ้าใจของเราไปจับอะไรเข้าแล้วหิ้วอะไรไว้มันก็จะหนักที่ใจเช่นเดียวกับที่มันหนักที่มือ ฉะนั้นเราจึงหนักอยู่ด้วยความที่ยึดถือว่ากูว่าของกู ทรัพย์สมบัติของกูเงินทองข้าวของของกู บุตรภรรยาสามีของกูอะไรก็ล้วนแต่ยึดถือว่าของกู นี่เรียกว่าอุปาทานส่วนนี้ อุปาทานนี้มีแล้วก็เกิดตัวกู มีแห่งตัวกูคลอดตัวกูออกมาเป็นปัญหาสารพัดอย่าง ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันก็เข้าไปที่ตัวกู มันเข้าไปสุมอยู่ที่ตัวกู ต้องมีปัญหาเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย แล้วก็มีปัญหาเรื่องสิ่งต่างๆในโลกนี้มันไม่เป็นไปตามความต้องการของกู มันก็เป็นทุกข์อย่าง อย่างขนาดใหญ่ขนานใหญ่ ไม่มีอะไรที่เป็นไปตามความต้องการของใครได้ตามกฎของธรรมชาตินั้นๆ มันก็ต้อง ไอ้คนที่ยึดถือไว้ให้มันเป็นไปตามความต้อการของกู มันก็ต้องเป็นทุกข์นี่เป็นความทุกข์ ถ้าคุณเข้าใจคำพูดนี้ก็ไม่ต้องคำนวณอย่างปรัชญา ไม่ต้องคำนวณโดยไอ้ตรรกะ logic น่ะ หรือไม่ต้องคำนวณโดยปรัชญา หรือเป็น Philosophy ไม่ต้องใช้ ถ้าใช้ก็ไม่ไปเรียนธรรมะในพุทธศาสนา คือเราจะต้องทำกับมันอย่างวิทยาศาสตร์ เรารู้จักตาของเราดี เรารู้จักสิ่งที่มากระทบตาดี และเกิดการเห็นทางตาขึ้นมา เราก็รู้จักมันดี สามอันนี้มาถึงกันเข้าเรียกว่าผัสสะ เราก็รู้จักมันดี เวลานั้นเราโง่หรือฉลาดเราก็รู้จัก ถ้าเราโง่เป็นผัสสะโง่ เราฉลาดเป็นผัสสะฉลาด ที่เดี๋ยวนี้มันเกิดเป็นผัสสะโง่มันก็มีรสเป็นเวทนาขึ้นมาก็เป็นเวทนาโง่ทำให้เกิดความอยาก ซึ่งไม่ควรจะอยากไม่ต้องไม่จำเป็นจะต้องอยากมันก็อยาก ก็เพราะว่ามันโง่ พออยากแล้วเกิดความรู้สึกว่าผู้อยาก อันนี้จะลำบากหน่อย เดี๋ยวจะกลายเป็นปรัชญาที่ต้องคำนวณไปเสียอีก อย่าต้องคำนวณ ถ้าเราอยากอะไรแรงๆแล้วมันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่าเรานี่อยาก อยากจะเอามาเป็นของเราเป็นของกู นี่มันก็จะหนักเหมือนกับว่าหิ้วอะไรไว้ด้วยจิตใจที่กำลังเป็นทุกข์ นี่ความทุกข์ทีแรกคืออย่างนี้ให้รู้จักมันอย่างนี้ เป็นตัวกูขึ้นมาแล้วอะไรๆก็จะระดมมาเป็นปัญหาที่ตัวกูทั้งโลกเลยก็ได้ เราก็มีความทุกข์ทางจิตใจมีความทุกข์ทางวิญญาณ ไม่ใช่หมายถึงว่าเจ็บป่วยที่เนื้อที่หนัง มีมีดบาด มีแผลมีอะไรถูกยิงถูกฆ่าที่เนื้อที่หนัง ไม่ใช่หมายถึงอันนั้นนะ คำว่าความทุกข์ในที่นี้ หมายถึงมันบีบคั้นจิตใจเป็นของหนัก เหมือนกับมือเราหิ้วอะไรไว้แล้วมันก็หนัก จิตใจมันหิ้วอะไรไว้ในความเป็นของกูตัวกูมันก็หนัก ทีนี้คุณอาจจะสงสัยว่า แล้วไอ้ที่เรื่องเจ็บๆที่เนื้อที่หนังที่ร่างกายนี่เป็นอย่างไร มันก็เหมือนกันแหละ ถ้าว่ามันมีแผลเจ็บที่เนื้อที่หนัง ก็เรียกว่ามันมากระทบทางกาย ถ้ามันมากระทบทางกาย มันรู้สึกมันเป็นเพียงความรู้สึกเจ็บที่กายนั่นแหละของธรรมชาติ รู้สึกตามธรรมชาติ รู้สึกที่ระบบประสาทตามธรรมชาติ อย่าเอามาเป็นของกูอย่าเอามาเป็นของกู ถ้าเป็นความรู้สึกที่ระบบประสาทตามธรรมชาติ มันก็ไม่เจ็บมากมาย เลยคิดว่ากูจะตายแน่แล้ว อันนี้คือนิมิตแห่งความตายนี่มันก็เป็นความทุกข์มหาศาลเข้ามาที่ยึดถือว่ากูแล้วกูจะตายแล้ว ฉะนั้นฝึกในข้อนี้จะมีประโยชน์มาก สำหรับความเจ็บที่มันจะเข้ามาหาเรา ความเจ็บไข้ก็ดี ความเจ็บเนื้อหนัง แผลแทงยิงอะไรก็ดี พยายามที่จะมองเห็นให้ว่าเป็นความรู้สึกที่ระบบประสาทตามกฎของธรรมชาติเท่านั้น มันจะเจ็บน้อยนะ แล้วถ้าสามารถทำจิตเป็นสมาธิได้แล้วก็จะไม่เจ็บเลย แล้วอย่าไปรับเอามาเป็นของกู ฟังดูให้ดี เรื่องตาที่หนึ่งเห็นแล้วก็สัมผัสแล้วก็รู้สึกแล้วก็อยากแล้วก็ยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ นี่ถ้าว่าไปในทางตรงกันข้ามคือมันฉลาด กระทบทางตาแล้ว ผัสสะแล้ว มีเวทนาทางตาแล้ว ถ้ามันสวยก็เพราะว่ามันอย่างนี้เอง มันไม่สวยมันก็อย่างนี้เอง จิตของเราจะไม่ไปพ่ายแพ้แก่ความสวยหรือหรือว่าความไม่สวย มันก็ไม่เกิดความอยากอย่างโง่ๆ เพราะผัสสะนี่มันไม่โง่เสียแล้ว ในขณะแห่งผัสสะมันมีสติปัญญาเสียแล้วเป็นผัสสะฉลาดเสียแล้ว มันก็ไม่หลงรักไอ้รูปที่สวย ไม่หลงเกลียดรูปที่ไม่สวยอย่างนี้เป็นต้น มันแยกทางกันเดิน ผัสสะมันมีปัญญา มีวิชชา มันก็ไม่เกิดตัณหาคือความอยาก ก็ไม่เกิดยึดถือ จิตมันก็ไม่ไปหิ้วอันนั้นไว้ว่าเป็นตัวกูว่าเป็นของกู มันก็ไม่เป็นทุกข์อย่างนั้นล่ะ เรื่องนั้นต้องกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ทำไปสิ อย่าไปเอาให้มาเป็นของกูมาเป็นตัวกู ถ้าสิ่งที่มากระทบตาแล้วเราจะต้องทำอย่างไรเราก็ทำไปเถิดโดยไม่ต้องยึดถือให้มันเป็นตัวกูของกูและให้เป็นทุกข์ ถ้าของน่ารักมาเห็นรู้สึกว่าน่ารักก็อย่าไปหลงรัก รู้ว่าอย่างนี้เขาเรียกว่ามันสวยหรือมันน่ารักแล้วมันเกี่ยวอะไรกับกู ถ้ามันไม่เกี่ยวอะไรก็ไม่ต้องก็ไปตามเรื่อง ถ้ามันมีความจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้อง ก็เกี่ยวข้องโดยที่ไม่ต้องหลงรักหรือหลงเกลียด ในโลกนี้มันมีเรื่องที่ให้น่ารักให้น่าเกลียด แล้วเราก็เกี่ยวข้องโดยที่ไม่ต้องหลงรักหรือหลงเกลียด ก็ทำไปได้ทุกอย่างตามที่ควรจะทำ นี่เรียกว่าความทุกข์ไม่เกิด ไปโง่ไปหลงผัสสะด้วยความโง่มีเวทนาโง่ มีความอยากโง่ อุปาทานโง่มันก็ต้องเป็นทุกข์ล่ะ นี่อุตส่าห์ไปศึกษาจากของจริงอย่างนี้ในใจของตัว ในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับตัวอย่างนี้จึงจะรู้ธรรมะ จะไปศึกษาที่อื่นหรือจะไปอ่านจากหนังสือนั่นน่ะมันไม่ได้ ถึงหนังสือเขาเขียนอย่างนี้แต่เราไม่รู้สึกได้ เราศึกษาจากที่มันเกิดกับเราจริงๆ เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจริงๆ อย่างนี้เขารวมเขาเรียกชื่อว่า สันทิฏฐิโก ที่ในบทสวดมนต์ทำวัตรเขาก็มีว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อกาลิโก นั่นน่ะ เข้าใจไว้เถิดว่าสันทิฏฐิโกหมายความว่าเรารู้สึกอยู่ด้วยความรู้สึกจริงๆ ไม่ใช่ไปอ่านหนังสือมา ไม่ใช่ไปจำมา ไม่ใช่ใช้เหตุผลทางปรัชญาแล้วก็ว่าเอาอย่างนี้ ก็ไม่ไม่ไม่ใช่สันทิฏฐิโกไม่เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าเป็นสันทิฏฐิโกต้องรู้สึกอยู่กับใจ สิ่งใดที่เป็นสันทิฏฐิโกสิ่งนั้นก็คือรู้สึกอยู่กับใจ พยายามทำให้ถูกต้องเป็นสันทิฏฐิโกความทุกข์ก็ทุกข์จริง ไม่ทุกข์ก็ไม่ทุกข์จริง รู้จักสิ่งต่างๆที่มันเกี่ยวกับจิตใจด้วยความรู้สึกจริงๆก็เรียกว่าเป็นสันทิฏฐิโก ขอทบทวนอีกทีหนึ่งเพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ว่าบางคนจะไม่สนใจ คุยกันเสียก็ตามใจ แต่อาตมาขอทบทวนอีกครั้งว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ก็จะเล่าเรื่องให้ฟังเสียเลยว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านประทับนั่งอยู่ที่กุฏิของท่าน โดยที่ท่านสำคัญว่าไม่มีใครอยู่ด้วย มีอยู่อยู่คนเดียวท่านก็เลยเอ่ยขึ้นมาว่า จักขุญจะ ปะฏิจจะ รูเปจะ อุปปัชชะติ วิญญาณัง ติณณัง ธัมมานัง สังฆาติ ผัสโส ผัสสะปัจจยาเวทนา เวทนาปัจจยาตัณหา ตัณหาปัจจยาอุปาทานัง อุปาทานังปัจจยาภโว ภโวปัจจยาชาติ ชาติปัจจะยา ชะรามะระณัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาติ เอวะเมตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโย โหติ นี่ว่าเป็นภาษาบาลีท่านว่าอย่างนี้ โดยสำคัญว่านั่งอยู่คนเดียว ไอ้เรื่องที่ท่านว่านี้มันเป็นสูตรที่กำลังพูดกัน ว่าอาศัยตาด้วยรูปด้วยเกิดจักษุวิญญาณ ประโยคที่หนึ่ง อาศัยตาด้วยรูปนั้นด้วยก็เกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ถึงกันเข้าเรียกว่าผัสสะ ประโยคถัดไปก็ว่าผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ เพราะมีชาติจึงมีชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาส คือทุกข์ทั้งปวง ก็เหมือนที่อธิบายแล้ว มีมีคำบัญญัติเหมือนกับสูตรเหมือนกับ Formula ที่ตายตัว เกี่ยวกับตาว่าเรื่องตา พอจบเรื่องตาท่านก็ว่าเรื่องหู เรื่องอาศัยหูด้วยเสียงด้วย มากระทบกันเข้าเกิดการได้ยินทางหู สามอย่างนี่เรียกว่าได้ยินทางหูหรือผัสสะทางหู มีผัสสะแล้วเกิดเวทนาคือรู้สึกเกี่ยวกับหูว่าไพเราะเสนาะน่าฟังหรือไม่ไพเราะ เวทนาแล้วก็เกิดตัณหาคืออยาก ถ้าไพเราะดนตรีไพเราะมันก็อยากไปตามไพเราะ เสียงที่ไม่น่าฟัง สุนัขกัดกันมันก็ไม่น่าฟัง มันก็อยากจะเลิก อยากจะระงับ อยากจะทำลาย นี่ก็มีอุปาทานเกิดขึ้นว่ากูนี่ได้ยิน ได้ยินเป็นความไพเราะของกูหรือความไม่ไพเราะของกู นี่อุปาทานมันเกิดมีตัวกู เป็นตัวกูยืนขึ้นมาแล้ว ปัญหาทุกอย่างมันจะเกิดแก่ตัวกูและเป็นทุกข์ นี่เรื่องหู พอท่านว่าเรื่องตาจบแล้วก็ว่าเรื่องหู ว่าเรื่องหูจบแล้วก็ว่าเรื่องจมูก จมูกด้วย กลิ่นมากระทบด้วย เกิดการรู้สึกได้กลิ่นทางจมูกนี้เรียกว่าผัสสะให้เกิดเวทนาตัณหาอย่างเดียวกันอีก จนกระทั่งเรื่องลิ้น รส ผิวหนังกับสิ่งมาสัมผัสผิวหนัง ใจกับมาใจกับสิ่งที่มาสัมผัสทางใจเป็นหกเรื่อง ชุดหนึ่งหกเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้อความเหมือนกันหมด ข้างในมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เมื่อมันถึงกันเข้าเกิดวิญญาณ สามประการนี้ถึงกันเข้าเรียกว่าผัสสะ มีผัสสะแล้วก็มีเวทนา แล้วก็มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติและเป็นทุกข์ ถ้าคุณได้ฟังอย่างนี้มันก็เป็นเรื่องที่คุณได้ฟังเรื่องหนึ่ง อาจจะเป็นเพียงวิชารอบตัวก็ได้ แล้วเมื่อคุณยังไม่เข้าใจ ยังไม่เข้าใจคือยังไม่เห็นชัดอย่างนี้มันก็เป็นปรัชญาได้ คุณจะสัมผัส จะมีความรู้ในข้อนี้อย่างเพียงเป็นปรัชญาก็ได้ ยังไม่สำเร็จประโยชน์จนกว่าเมื่อใดเอาไปทำให้มันเป็นเหมือนกับวิทยาศาสตร์ ถ้ารู้เรื่องตาดี เรื่องรูปดี เรื่องเห็นทางตาดี เรื่องผัสสะทางตาดี เวทนาความอยากความยึดถือ เกิดตัวกูของกู เป็นทุกข์อย่างไรนี่ ตอนนี้จะเป็นพุทธศาสนาแท้เป็นธรรมะในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ เมื่อเรารู้จริงๆว่าเกิดอย่างนี้ เกิดโดยการปรุงแต่งอย่างนี้ความทุกข์เกิดขึ้น ถ้าโดยการไม่ปรุงแต่งอย่างนี้ทุกข์ไม่เกิดขึ้น คือถ้าเราโง่เมื่อผัสสะแล้วความทุกข์จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับ เราฉลาดเมื่อมีผัสสะ ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นมันก็ดับทุกข์ เราจึงรู้ทั้งที่ว่ามันเกิดทุกข์และดับทุกข์ นี่เรียกว่ารู้ปฏิจจสมุปบาทในพระพุทธศาสนา คำนี้มันแปลกหูแต่ว่าช่วยจำไว้เถอะไม่เสียทีหรอกไม่เสียทีจำ ปฏิจจสมุปบาทแปลว่าอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น คำนี้แปลว่าอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น มันว่าทั้งร้อยครั้งพันครั้ง มันก็เท่านั้นแหละไม่มากกว่านั้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ตา รูปอาศัยกันแล้วเกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้อาศัยกันก็เกิดเป็นผัสสะ อาศัยผัสสะเกิดเวทนา อาศัยเวทนาเกิดตัณหา อาศัยตัณหาเกิดอุปาทาน อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น เป็นกฎธรรมชาติ เป็นกฎครอบโลกครอบจักรวาลคือครอบหมด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ตามลำพัง ต้องอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจึงเกิดขึ้น ฝ่ายวัตถุสสารก็ดีต้องมีอาศัยอะไรอย่างหนึ่งแล้วเกิดขึ้น ฝ่ายพลังงานก็ดีต้องมีอาศัยอะไรอย่างหนึ่งแล้วจึงเกิดขึ้น ฝ่ายจิตใจก็เหมือนกันต้องอาศัยอะไรอย่างหนึ่งแล้วจึงเกิดขึ้น ให้จำคำว่าอาศัยกันแล้วจึงเกิดขึ้น นั่นแหละหัวใจของพุทธศาสนาล่ะ ถ้าเรียกเป็นบาลีก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ไม่น่าจะจำนะ ถ้าน่า ถ้าเห็นว่าน่าจะจำก็อุตส่าห์จำว่า ปฏิจจสมุปบาท แปลว่าอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น มองดู โลกนี้ทั้งโลกมันอาศัยอะไรก็ตามใจ เหตุปัจจัยมันอาศัยกันแล้วก็เกิดขึ้น อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น เกิดดวงอาทิตย์ เกิดดวงจันทร์ เกิดดวงเกิดโลก เกิดดาวพระเคราะห์ เกิดอะไรทั้งหมดนี่ทั้งจักรวาลล้วนแต่เป็นสิ่งที่อาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจึงเกิดขึ้น ทีนี้ความทุกข์ก็เหมือนกัน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจมันอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจึงเกิดขึ้น ทั้งฝ่ายวัตถุก็ดีฝ่ายจิตก็ดีต้องอาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วจึงเกิดขึ้น นี่เรียกว่ารู้กฎของธรรมชาติรู้จักตัวธรรมชาติดีรู้จักกฎของธรรมชาติดี แล้วรู้จักหน้าที่ของเราดี คือเราต้องควบคุมให้ได้ไม่เช่นนั้นมันจะทำให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเราควบคุมมันไม่ได้ มันจะทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ต้องรู้เท่าทันมันควบคุมไว้อย่าให้มันเกิดความทุกข์ขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างที่กล่าวทีแรกแล้วว่าพอทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรกก็จะอยู่ที่นั่น ถ้าคุณไม่โง่เกินไปคุณจะเข้าใจได้ว่านรกมันอยู่ที่นั่นอย่างนั้น เมื่อทำผิดทางตาหูจมูกลิ้นกายใจหกอย่างนี้ นรกมันจะเกิดขึ้นที่นั่น ในความหมายเป็นทุกข์ทรมานที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง ถ้าเราทำถูกต้องมันก็จะมีสวรรค์เกิดขึ้นที่นั่นที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง จึงอยู่ที่ทำผิดหรือทำถูก ทำผิดหรือทำถูกมันอยู่ที่มีความโง่หรือมีความรู้ ถ้ามีวิชชาความรู้มันก็ทำถูกมันก็ไม่เกิดนรก ก็เกิดสวรรค์ได้ ถ้ามันมีอวิชชาความไม่รู้ มันก็ทำผิดก็เกิดนรกขึ้นที่นั่น ไอ้นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้านั่นก็ก็ไม่เป็นไร ถ้าเราไม่ตกนรกที่นี่ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว ไม่มีตกนรกใต้ดินน่ะ นรกใต้ดินเก็บไว้ก่อนก็ได้ไม่ต้องพูดถึง สวรรค์บนฟ้าก็เหมือนกันน่ะ เก็บไว้ทีก่อนยังไม่ต้องพูดถึง เอาสวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ประพฤติถูกต้องที่นี่ให้ได้เสียก่อน มีสวรรค์ที่นี่แล้ว ไอ้สวรรค์บนฟ้าก็อยู่ในเงื้อมมือเรา ถ้าเราต้องการนะ แต่ระวังให้ดีอย่าไปโง่เข้าอีกเอามาเป็นของเราเข้าอีกมันจะเกิดความทุกข์ด้วยสวรรค์นั้นอีกเหมือนกัน ถ้าเรายึดถือสวรรค์เป็นของเรามันก็จะกัดเรา มันจะกัดจิตใจของเรา เราไปยึดถือของรักมันก็กัดจิตใจของเรา เราไปยึดถือของเกลียดมันก็กัดจิตใจของเรา มันมีไว้แต่ไม่ต้องยึดถือดีกว่า ถ้าจะต้องเกี่ยวข้องก็ไม่ต้องยึดถือเช่นว่าเงินทองทรัพย์สมบัตินี่มีไว้ได้ใช้มันได้ใช้ประโยชน์ได้ แต่อย่าไปยึดถือว่าตัวกูว่าของกูเข้ามันจะนอนไม่หลับ นั่นน่ะคือมันกัดกัดเอา ไอ้ที่เป็นโรคประสาทโรคจิตนี่เป็นเพราะความยึดถือทั้งนั้น มันเอาเงินไปไว้ธนาคารแล้วมันยังมานอนวิตกกังวลอยู่ ไม่กี่วันมันก็เป็นโรคประสาท ถ้าเก็บไว้ในธนาคารแล้วก็ไม่ต้องนึกถึงก็ได้ เมื่อจะไปใช้ก็ไปเบิกมาใช้ก็ได้ไม่ต้องมานอนรำพึงวิตกกังวลอยู่ นี่เขาเรียกว่าไม่ยึดถือ จะยกตัวอย่างอีกสักนิดหนึ่งว่าไปซื้อล็อตเตอรี่มาฉบับหนึ่ง ถ้ายึดถือมันก็นึกอยู่เรื่อยว่าเมื่อไหร่จะถูก เมื่อไหร่จะถูก มันรบกวนจิตใจอยู่เรื่อยเมื่อไหร่จะถูกมันจะนอนไม่หลับก็ได้ ไอ้คนนี้มันก็จะเป็นโรคประสาทเพราะซื้อล็อต เตอรี่มาใบหนึ่ง อีกคนหนึ่งมันไม่ต้องหรอก ซื้อมาแล้วเก็บไว้พอถึงวันออกค่อยตรวจสลากก็แล้วกัน อย่างนี้มันไม่ได้ยึดถือ มันก็ไม่ต้องปวดหัวไม่ต้องเป็นโรคประสาทหรือนอนไม่หลับ นี่ที่เราจะเห็นได้ง่ายๆ เพราะว่าชอบซื้อล็อตเตอรี่กันทุกคน เกือบจะทุกคนซื้อมายึดถือให้มันกัดเอา นอนไม่หลับ แล้วซื้อมาก็ไม่ต้องยึดถือไม่ต้องมาวิตกกังวลถึงวันออกค่อยตรวจก็ได้ ถ้าถูกก็ถูก ไม่ถูกก็แล้วไป ถูกก็ไม่ยินดีอะไร ไม่ถูกก็ไม่เสียใจอะไรให้มันป่วยการ ถ้าเราถูกก็ได้เงินใช้ ถ้าไม่ก็ไม่ต้องหลงรักหลงยินดี ไม่ถูกก็ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องมาเดือดร้อน เสียใจให้มันจิตใจมันเป็นทุกข์ สรุปความว่าพระพุทธเจ้าหรือพุทธศาสนาก็ตามมีหลักว่าเป็นทุกข์เพราะยึดถือ ช่วยจำไว้ด้วย เป็นทุกข์เพราะยึดถือ มีบ้านมีเรือนมีเงินมีทองมีบุตรภรรยาสามี จะต้องมีความทุกข์ถ้ายึดถือ ถ้าไม่ยึดถือก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วก็ปฏิบัติไปได้ปฏิบัติต่อบุตรภรรยาสามีเงินทองข้าวของทรัพย์สมบัติ ปฏิบัติใช้สอยทำหน้าที่ไปได้โดยไม่ต้องยึดถือและก็ไม่เป็นทุกข์ เหมือนกับเรามีเพชรพลอยเงินทองมากแล้วเอามาหิ้วไว้อย่างนี้ มันต้องตายแน่ เสร็จแล้วก็วางไว้ตรงนี้ก็แล้วกัน ไม่ต้องมายึดถือให้มันเมื่อยมือ จิตใจก็เหมือนกันถ้ามีอะไรที่ว่าเป็นความสมมติว่าเป็นของเรา เราต้องกินต้องใช้ก็อย่ายึดถือก็วางไว้ตามที่ของมัน เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันใช้มันอะไรโดยไม่ต้องยึดถือก็เรียกว่ามันไม่เป็นทุกข์ (ช่วงนาทีที่ 44.44- 44.56 เสียงขาดหายไป)ให้จำเป็นหลักว่าเป็นทุกข์เพราะยึดถือ มันจะต้องมีผัสสะมีเวทนามีตัณหา แล้วยึดถือ เกิดตัวกูของกูขึ้นมา(ช่วงนาทีที่ 45.12 – 45.20 เสียงขาดหายไป) ฉะนั้นมีหลักว่าถ้ายึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ เราก็ฉลาดมีสติสัมปชัญญะไม่ยึดถือ ไม่ให้เกิดความยึดถือแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วก็อยู่ได้โดยสบายโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ทีนี้ความยึดถือจะเกิดขึ้นก็เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ผิวกายได้รับสัมผัสทางผิวกาย หรือจิตได้อารมณ์ทางจิต มันก็มีหกอย่างนี้ที่เป็นปากทางให้เกิดความยึดถือ ศึกษาให้ดีควบคุมให้ได้ไม่ให้เกิดความยึดถือเลยไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่เรียกว่าเราเห็นแจ้งรู้จักสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท แปลว่าอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น การที่มันอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น คือภาวะที่มันอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น รู้จักให้ดีนี่รู้จักปฏิจจสมุปบาท จำคำนี้ไว้ให้ดีก่อนนะว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นกฏธรรมชาติมีอยู่ในสิ่งทั้งปวง ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมะนั่นแหละผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะ ฉะนั้นคนที่ฉลาดแล้วก็มีโอกาสที่จะเห็นพระพุทธเจ้าที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทีนี้คนโง่ทั้งหลายนี่ว่าพระพุทธเจ้าตายแล้ว เผาแล้ว เหลือแต่กระดูกแล้วไม่เห็น ไม่เห็นพระพุทธเจ้าได้อีกแล้ว แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะ และธรรมะนี้ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ว่ามานี้ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต เดี๋ยวนี้เราอาจจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง นั่นคือธรรมะที่เกิดขึ้นแห่งทุกข์หรือดับลงแห่งทุกข์เพราะเราควบคุมได้ ถ้าเราเห็นอันนี้ก็คือเราเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ายังมีอยู่ตลอดกาล ตายไม่ได้เผาไม่ได้ พระพุทธเจ้าแท้ๆก็ตายไม่ได้และเผาไม่ได้ ที่ตายได้เผาได้นั่นเปลือกของท่านคือร่างกายของท่าน พระพุทธเจ้าพระองค์จริงคือธรรมะหรือพระธรรม พระธรรมเรื่องอะไร พระธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทนั้นเรื่องอะไร คือเรื่องอาศัยกันแล้วเกิดทุกข์ขึ้นมา อาศัยกันแล้วดับทุกข์ลงไป เรื่องดับทุกข์เรื่องเกิดทุกข์ดับทุกข์นั่นแหละคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมะอย่างยิ่ง เห็นแล้วเรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า คือเห็นธรรมะเป็นอันเดียวกัน เห็นพระพุทธเจ้าเห็นธรรมะนั้นเป็นอันเดียวกัน เมื่อคืนนี้เราพูดถึงธรรมะในสี่ความหมาย พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมะนี้ พระองค์ก็ทรงเคารพธรรมะ เป็นพระพุทธเจ้าแล้วยังเคารพธรรมะ ไม่มีอะไรที่จะสูงพอที่พระพุทธเจ้าจะเคารพได้นอกจากธรรมะ โดยที่พระพุทธเจ้าท่านก็ถือหลักว่าอยู่โดยไม่มีที่เคารพนั้นไม่สมควร ทีนี้ตถาคตจะเคารพอะไร ก็ทรงทราบว่าต้องเคารพธรรมะที่ได้ตรัสรู้นั่นเอง ก็คือความจริงที่เอามาพูดเรื่องดับทุกข์ เรื่องทุกข์เรื่องดับทุกข์นั้นเองเป็นตัวธรรมะที่แม้พระพุทธเจ้าก็เคารพ เพราะตรัสรู้ธรรมะนั้นจึงได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าเพราะรู้ธรรมะนั้น แล้วท่านก็เคารพธรรมะที่ท่านตรัสรู้ เดี๋ยวนี้เราก็เคารพพระพุทธเจ้า คือเคารพธรรมะแล้วก็มีประโยชน์คือดับทุกข์ได้ เพราะเราเห็นพระพุทธเจ้าคือเห็นทุกข์เกิดอย่างไรทุกข์ดับอย่างไร นี่เรียกว่ารู้ แต่ที่แท้รู้อย่างเห็นเหมือนกับวิถีทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่รู้อย่างคำนวณเหมือนวิธีปรัชญา ขอให้นักเรียนนักศึกษาทั้งหลายซึ่งเคยรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อยู่มากแล้ว ให้ใช้วิธีวิทยาศาสตร์นั่นแหละเพื่อจะรู้ธรรมะ ให้ถือพุทธศาสนาตัวแท้เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เป็นปรัชญา แม้ว่าเดี๋ยวนี้เขาจะเอาไปเป็นปรัชญาก็ได้ตามใจเขา ห้ามเขาไม่ได้ เขาจะพูดถึงปรัชญา พุทธปรัชญา พุทธปรัชญา พุทธปรัชญาก็ตามใจเขา เราพุทธบริษัทไม่เอาด้วย เราพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์คือของจริง เห็นอยู่ ประจักษ์อยู่ สัมผัสได้อยู่ รู้ได้อยู่ และก็ดับทุกข์ได้ นี่คือพุทธศาสนาที่เป็นพุทธศาสนา พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ทางจิตชนิดหนึ่ง อย่าเอาเป็นรูปแบบตรรกวิทยา หรือปรัชญา หรือว่าจิตวิทยาล้วนๆหรืออะไรทำนองนั้น ขอให้เอาในรูปแบบของการปฏิบัติ กระทำลงไปมีผลชัดขึ้นมา แต่โดยเหตุที่มันละเอียดลึกซึ้งและงดงามอย่างยิ่ง เราจะถืออีกแบบหนึ่งก็ได้คือถือว่าเป็นศิลปะ เป็นศิลปะของการมีชีวิต ศิลปะของการเป็นมนุษย์ที่ไม่รู้จักกับความทุกข์ เป็นมนุษย์ที่ไม่รู้จักกับความทุกข์ จึงถือว่าเป็นยอดสุดของศิลปะนั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันงามเบื้องต้น มันงามตรงกลาง มันงามเบื้องปลาย มันงามข้างต้น มันงามตรงกลาง มันงามข้างปลาย คือมันงามหมด นั่นคือวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์อย่างที่ว่านี่ ที่จริงต้องเป็นวิธีของศาสนา เป็นวิธีรูปวิทยาศาสตร์ไม่ใช่คำนวณปรัชญาลมๆแล้งๆ นี่คือธรรมะที่เราจะต้องรู้กันต่อไป เพราะเราจะต้องรู้จักตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราให้ดี ตั้งต้น กอ ขอ กอ-กาที่นั่นแล้วก็เรียนไป เรียนไป จนรู้ จนรู้ จนอ่านออก จนเขียนได้ จนปฏิบัติดับทุกข์ได้ เห็นธรรมะคือเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรมะ ก็อย่าไปเรียนในหนังสืออย่างเดียว หนังสือมันก็ช่วยให้ตั้งต้นเรียนได้ แต่มันจะเห็นอันนี้ไม่ได้ มันต้องเรียนที่เนื้อที่ตัวของเราอย่างสันทิฏฐิโก เรียนเรื่องตาก็เรียนที่ตา เรียนเรื่องหูก็เรียนที่หู เรียนเรื่องจมูกก็เรียนที่จมูก เรียนที่สิ่งที่มากระทบตา หู จมูก เรียนที่ผัสสะที่เกิดขึ้นที่นั่น เวทนาเกิดขึ้นที่นั่น ตัณหาเกิดขึ้นที่นั่น เรียนจากสิ่งนั้นโดยตรงแบบสันทิฏฐิโก ไม่ต้องคำนวณต้องเห็นแจ้งโดยประจักษ์แล้วก็เป็นสันทิฏฐิโก จำคำว่าสันทิฏฐิโกไว้ด้วย ถ้าไม่มีสันทิฏฐิโกยังไม่เป็นธรรมะในพระพุทธศาสนา ถ้าถึงขนาดที่เป็นธรรมะในพระพุทธศาสนาต้องเป็นสันทิฏฐิโก อย่างบทสวดว่าสวากขาโต ภควตาธรรมโม พระธรรมนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสกล่าวอธิบายไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโกมันเป็นสันทิฏฐิโกเห็นเองไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องคำนวณอย่างวิธีคำนวณ มันเห็นชัดลงไปด้วยจิตใจโดยตรงนี่เรียกว่าสันทิฏฐิโก อกาลิโก เมื่อไรเมื่อนั้น ไม่ต้องรอ ทำผิดก็เป็นนรกที่นั่น ทำถูกก็เป็นสวรรค์ที่นั่น ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ต้องรอ มันเป็นอกาลิโก ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เอหิปัสสิโก เรามีอยู่ข้างในจนเรียกเพื่อนมาดูได้ ถ้าเราจะเรียกเพื่อนมาดูอะไร เราต้องมีไว้ให้เขาดูใช่ไหมถึงจะควรเรียกเขามาดู เดี๋ยวนี้เราต้องมีธรรมะที่เรารู้อยู่อย่างนี้ เราจึงเรียกเพื่อน มาดู มาดู แล้วก็ให้ดู ว่านี่ความทุกข์เป็นอย่างนี้ ความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ ฉันดับทุกข์ได้อย่างนี้ ฉันดับทุกข์ไม่ได้อย่างนี้ เรียกเพื่อนมาดูได้ ต้องเป็นสันทิฏฐิโก มันอยู่ข้างใน เอหิปัสสิโก ควรเรียกเพื่อนมาดูได้ เพราะมันมีอยู่จริง เหมือนเรามีเพชรมีพลอยอยู่ในฝ่ามือเราเรียกเพื่อนมาดูได้ โอปะนะยิโก น้อมเข้ามาสู่ตน คือเก็บไว้ในตน มันอยู่ในตน ถ้าไม่มี ถ้ายังดับทุกข์ไม่ได้ก็ทำให้ดับทุกข์ให้ได้นี่เรียกว่าโอปะนะยิโก น้อมเข้ามาในตัว ปัจจัตตังเวทิตัปโพวิญญูหิ ผู้ที่มีปัญญาเป็นวิญญูชนแล้วก็ต้องทำได้ เว้นไว้แต่โง่เกินไปก็ไม่ต้องทำ ยิ่งถ้าไม่สนใจด้วยก็ไม่ต้องทำ ถ้าไม่สนใจที่จะรู้ที่จะดับทุกข์ก็ไม่ต้องทำ คือมันไม่ไม่ทำไม่ได้ มันทำไม่ได้มันจึงใช้ได้ แต่วิญญูชนมีสติปัญญาพอที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ ก็เรียกว่าวิญญูชน วิญญูชนพอจะรู้ได้แต่รู้ได้ถ้าเป็นวิญญูชน ถ้าเป็นอันธพาลก็ไม่มีทางจะรู้ได้ ธรรมะเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นของที่จะดับทุกข์ รู้เพื่อดับทุกข์และก็ดับทุกข์ได้ ไม่เป็นหมันต้องดับทุกข์ได้ นี่เราจะรู้เรื่องของธรรมชาติ รู้เรื่องกฎของธรรมชาติ รู้เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ รู้ผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่ แล้วก็ทำให้ถูกหมด ธรรมชาตินั้นมันก็คือตัว ตัวคนทุกคนเป็นธรรมชาติ คนทุกคนมีร่างกาย มีจิตใจ ร่างกายจิตใจเป็นตัวธรรมชาติ แล้วร่างกายจิตใจของเราทุกอณูทุกปรมาณูมันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันมีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ที่ตัวที่เนื้อของเรา กายใจของเรามีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ ทุกๆเซลจึงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เพราะมันมีกฎธรรมชาติอยู่ที่นั่น เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องบริหารกายให้ถูกตามกฎของธรรมชาติอย่าให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา แล้วเราก็ได้รับผลเมื่อเราทำถูกต้องคือสบายดี ธรรมะทั้งสี่ความหมายอยู่ที่ในคนนั่นเอง ในคนแต่ละคนทุกคนหรือสัตว์เดรัจฉานก็ได้ที่มันมีชีวิต ในนั้นเราจะเห็นว่ามันมีเป็นธรรมชาติอยู่ มีเป็นกฎของธรรมชาติอยู่ ชีวิตทั้งหมดจะต้องมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอยู่ เช่นจะต้องกินอาหาร จะต้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ต้องทำอะไรทุกอย่าง ตั้งต้นกินอาหารแล้วก็มีหน้าที่อื่นๆอีกมากที่ให้เขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เพราะว่าเพียงแต่รอดตายอยู่ได้นี้ไม่ค่อยมีค่าเท่าไหร่ รอดตายอยู่ได้ต้องทำอะไรที่ดีที่สุดด้วยมันก็เป็นหน้าที่ด้วยเหมือนกัน หน้าที่ที่หนึ่งให้มันรอดชีวิตอยู่ได้ หน้าที่ที่สองให้มันได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นี่มันเป็นสองชั้นอยู่อย่างนี้ เรารู้จักหน้าที่ให้ดีๆสำหรับร่างกายที่มีชีวิตนี้ ให้มันขึ้นไปจนถึงสูงสุดที่เรียกกันว่าพระนิพพาน พระนิพพานคือภาวะที่มันไม่ต้องเป็นทุกข์อีกเลย ถ้าผู้ใดมันขึ้นถึงระดับที่ไม่ต้องเป็นทุกข์อีกเลยนั่นก็คือนิพพานของคนนั้น ถ้ามันยังเป็นทุกข์อยู่มันก็ไม่ใช่นิพพาน หรือถ้ามันไม่ไม่เป็นทุกข์ตลอดไป มันก็เป็นนิพพานเล็กๆนิพพานน้อยๆนิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วครู่ชั่วขณะก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังดีนะ นิพพานชั่วขณะนี่ยังดีนะที่ไม่เป็นโรคประสาทก็เพราะนิพพานชนิดนี้นะ อาตมาขอบอกว่าทุกคนที่ยังไม่เป็นบ้า ยังไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นโรคจิต เพราะว่ามันมีระยะที่มันหยุดสงบเป็นนิพพานอยู่บ้าง ถ้ามันถูกเขย่าด้วยกิเลสด้วยความทุกข์ตลอดไปละก็มันตายแล้ว มันเป็นโรคประสาท เป็นโรคจิตละมันตายแล้ว เดี๋ยวนี้เรายังมีเวลาที่เรานอนหลับพักผ่อน มีเวลาที่จิตหยุดปกติ จิตว่างจากกิเลส จิตว่างจากความทุกข์อยู่พอสมควร นั่นแหละพระคุณของพระธรรม พระคุณของพระนิพพานที่ทำให้เรารอดชีวิตอยู่ได้ เรามีเวลาว่างจากกิเลส มีเวลาว่างจากความทุกข์พอสมสัดสมส่วน ไปดูเอาเองอย่าอย่าเข้าใครออกใคร ยี่สิบสี่ชั่วโมงแบ่งออกไปเป็นกี่นาที ก็ลองไปดูว่ามันมีความทุกข์ในยี่สิบสี่ชั่วโมงนี่กี่นาทีหรือกี่ชั่วโมง แล้วมันว่างอยู่โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์น่ะมันกี่ชั่วโมง ไปดูอย่างยุติธรรมที่สุด แล้วก็จะพบว่าที่มันว่างจากความทุกข์มันมากพอมันจึงไม่เป็นโรคประสาท มันมันจึงไม่เป็นบ้าตาย ฉะนั้นควรขอบพระคุณของพระธรรม คือระยะที่มันว่างจากกิเลสและความทุกข์ เป็นนิพพานที่เย็น นิพพานก็เย็น ภาษาชาวบ้านแปลว่าเย็น ก็ยืมคำภาษาชาวบ้านว่านิพพานว่าเย็นนี่ไปใช้เป็นคำทางศาสนา เย็นเพราะไม่มีกิเลสซึ่งเป็นของร้อน กิเลสเป็นของร้อน พอดับกิเลสมันก็เย็น หรือว่างจากกิเลสมันก็เย็นนั่นคือนิพพาน เพราะความว่าเย็นอกเย็นใจคือนิพพาน ชั้นน้อยๆชั้นต่ำๆมันก็ยังไม่ใช่สูงสุด ถ้าสูงสุดมันเด็ดขาดไปเลย มันไม่กลับร้อนได้อีกนั่นแหละนิพพานแท้จริง เดี๋ยวนี้เราอยู่กับนิพพานน้อยๆ นิพพานชั่วขณะ นิพพานตัวอย่างให้เราชอบ พอเราชอบแล้วเราก็อยากจะให้มันมากขึ้น มันก็จะได้เต็มที่สักวันหนึ่ง ขอให้เราเริ่มชอบไอ้สิ่งนี้กันไปก่อน เป็นอุปนิสัยเป็นปัจจัยแก่พระนิพพานคือเรามองเห็นอยู่ว่ามันดับทุกข์ได้อย่างนั้นแล้วเราชอบ แล้วก็พยายามให้เป็นอย่างนั้นเรื่อยๆไป นี่เรียกว่าความเจริญในทางศาสนา ความเจริญในทางจิตใจเกี่ยวกับพระศาสนา เราเรียกว่าความเจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนา เรามีจิตใจที่เย็นอกเย็นใจมากขึ้นๆเพิ่มขึ้นๆ ในที่สุดนี้อาตมาขอให้พรว่าท่านทั้งหลายทุกคน จงรู้จักพระธรรมสำหรับทำให้จิตใจของท่านทั้งหลายแต่ละคน เย็น เย็น เย็น มากขึ้น เย็นมากขึ้น ก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนา มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ จบที่พูดวันนี้ต่อท้ายเมื่อคืน