แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ และท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายธรรมะในครั้งนี้ อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อว่า ธรรมกับการปฏิบัติธรรม ในครั้งที่แล้วมา เราได้พูดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีธรรม มีธรรมแล้วเราจะต้องปฏิบัติ ให้มันถูกต้อง มิฉะนั้นเราก็จะกลายเป็น นนท์ทุก อาตมาเข้าใจว่าท่านทั้งหลายทุกคน คงจะได้ยินเรื่องนนท์ทุก เขาได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วก็เอาไปฆ่าตัวเองตาย ไอ้นนท์ทุก ตัวนี้ คำนี้ คำพูดคำนี้ อยากให้เขียน ไอ้นน ทอ ทหารสะกดด้วย จะได้แปลว่ามันชอบความทุกข์ และมันก็ได้ตาย แล้วก็สมน้ำหน้ามัน ไอ้นนท์ทุก ท่านทั้งหลายต้องระมัดระวังที่จะไม่เป็น นนท์ทุก ในความหมายที่ว่าได้อะไรวิเศษมาแล้วก็ใช้ฆ่าตัวเองตาย เพราะว่ามันชื่อ นนท์ทุก แปลว่า ชอบทุกข์ ชอบความทุกข์ ก็ได้ทุกข์จริงจริง พูดกันมาแล้วในการบรรยายครั้งก่อนว่า ไอ้มนุษย์ นี้มีวิวัฒนาการสูงสุด มีมันสมองสูงสุด คิดเป็น เฉลียวฉลาด เลยสัตว์เดรัจฉานซึ่งยังอยู่คงที่ มนุษย์ก้าวหน้าเรื่อยทางมันสมอง เมื่อสัตว์เดรัจฉานอยู่คงที่ เดี๋ยวนี้มนุษย์ก้าวหน้าก็ตามลำดับ เรื่องไฟฟ้า เรื่องปรมาณู เรื่องอวกาศ เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ทุกชนิด คอมพิวเตอร์อะไรต่างๆ แล้วก็ไม่เห็นว่า มนุษย์มันมีตรงไหนที่ดีกว่า พอจะเป็นเครื่องอ้างว่า สัตว์เดรัจฉานไม่หัวเราะเยาะ มนุษย์ต้องทำยาแก้ปวดหัว แก้นอนไม่หลับ แก้โรคประสาท ขึ้นมากิน เป็นตัน ตัน ร้อยตัน พันตัน แล้วมัง ที่ต้องกินยา แก้ปวดหัว แต่สัตว์เดรัจฉานมันไม่ต้อง คิดดู ว่าเรามันมีความเป็นอยู่ อย่างละอายแก่สัตว์เดรัจฉาน เพราะใช้ไอ้สิ่งที่ดีที่สุด ที่ธรรมชาติให้มานั้น ไม่ถูกต้อง วิวัฒนาการทางมันสมองสูงสุดที่ธรรมชาติให้มา เราใช้มันไม่ถูกต้อง จึงได้เป็นที่หัวเราะเยาะของสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามันรู้ว่ามนุษย์กำลังเป็นอย่างไร ขอให้ท่านทั้งหลายใช้ธรรมะเพื่อแก้หน้าอันนี้ อย่าให้มันดี อย่าให้มันเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน ให้มนุษย์มีความสุขด้วย และมีเป็นความเป็นประโยชน์แก่ทุกคนหรือทุกสิ่งรอบตัวเองด้วย ข้อนี้ต้องเป็นที่แน่นอนนะว่าต้องการอะไร บางทีท่านอุตส่าห์ลงทุนศึกษาเล่าเรียนค้นคว้ามา สวนโมกข์อะไรต่างๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าต้องการอะไร สำหรับความเป็นมนุษย์ มันมีมาก ถ้าจะพูด แต่อาตมาอยากจะสรุป ให้มันจำง่ายๆ เพียงว่า ตัวเอง มี ไม่มีทุกข์ก็แล้วกัน มีความสุขคือไม่มีทุกข์ มีความสงบสุขเป็นที่พอใจอยู่เสมอ แล้วก็ให้ผู้อื่น หรือสังคมนั่น พลอยรับประโยชน์ด้วย มันมีสองอย่างเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้คำว่าประโยชน์ทั้งสอง ประโยชน์ทั้งตนและประโยชน์ทั้งผู้อื่น ขอให้เรามีประโยชน์ทั้งสอง ตัวเองมีความสุข แล้วก็มีชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์แก่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว เราก็มีโอกาสที่จะยิ้มเยาะ ยิ้มเยาะสัตว์เดรัจฉาน ถ้าเราไม่ได้อย่างนี้ คือเราเป็นทุกข์มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยรอบตัวเรา มันก็สำหรับจะให้สัตว์เดรัจฉานหัวเราะเยาะเรา เนี่ยไก่ก็มาให้ดู ว่ามันไม่เคยเป็นทุกข์เลย ไม่เคยเห็นไก่ปวดหัว ไม่เห็นเคย ไม่เคยเห็นไก่ปวดฟัน ไม่เคยเห็นไก่นอนไม่หลับ ไม่เห็นตัวไหนเป็นโรคประสาทหรือเป็นโรคจิต แต่คนนี่กำลังมีปัญหาอย่างนี้มากขึ้น ปวดหัว ปวดฟัน นอนไม่หลับ เป็นโรคประสาท เออ กำลังเบียดเบียนกันอย่างยิ่งในทางสังคม อย่างที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันทุกวัน อย่างไม่น่าเชื่อว่ามันมากมาย หรือเลวทรามถึงขนาดนั้น นี่คือปัญหาของมนุษย์ที่ว่า จะต้องมีธรรมะทำไมกัน ธรรมะจำเป็นอย่างไร อาตมาก็พูดว่า เพื่อมนุษย์จะไม่ต้องละอายแก่สัตว์เดรัจฉาน ในทางส่วนตัวก็ดีกว่า ในประโยชน์ผู้อื่นก็ดีกว่า แล้วก็ไม่ต้องเป็นนนท์ทุก คือไม่ได้ ไม่เอา ไม่ได้ใช้ของวิเศษที่ได้รับมานั้น ฆ่าตัวเอง เดี๋ยวนี้เรากำลังเป็นนนท์ทุก เพราะใช้มันสมองอันวิเศษของมนุษย์นั้น ทำลายตัวเอง ให้เดือดร้อนอยู่ทั่ว ไปทุกหัวระแหงในโลกนี้ นี่กำลังมีวิกฤตการณ์เบียดเบียนกันทั่วทุกหัวระแหงในโลก เพราะคนแต่ละคนก็ได้รับการกระทบกระเทือนจากสงครามนั้นๆ และยังไม่สามารถจะขจัดสงครามภายใน คือกิเลสของตน จนในที่สุดก็เรียกว่าเป็นนนท์ทุก คือมันชอบความทุกข์ ด้วยความโง่ ไม่รู้ว่านี้เป็นความทุกข์ ข้อนั้นหน่ะดูให้มากเถอะ ว่าสติปัญญาของเรา มันไม่มีความหมายตรงตามคำว่าสติปัญญา ไปมีความหมายตรงกับคำว่า อวิชชา มีสติปัญญาเป็นอวิชชา คือมันรู้ สำหรับจะทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง มันกลับไปทำเข้า จนได้มีสภาพเป็นวิกฤตการณ์อันถาวรอย่างที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีธรรมะ ครั้งที่แล้วมาได้พูดไปแล้วอย่างนี้ นี่วันนี้ก็จะพูดว่าธรรมะกับการปฏิบัติธรรม เพื่อขยายความข้อนั้นให้มันละเอียดออกไป
ธรรมะกับการปฏิบัติธรรม มันก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า ธรรมะนั้นต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติไม่มีความเป็นธรรมะ ที่จะช่วยได้ มันเป็นธรรมะในความหมายอื่นโน่น มันก็ เพราะฉนั้นอย่าได้ลืมเสียว่า คำว่าธรรมพยางค์เดียวเนี่ย มีความหมายถึง สี่หมวดใหญ่ๆ ด้วยกัน ธรรมะ คือตัวธรรมชาติทั้งหมด ทั้งสิ้นทั้งปวง ธรรมะคือตัวกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แต่ว่าปทานุกรมธรรมดาในประเทศอินเดีย เขาแปลคำ ธรรมะนี้ว่า หน้าที่ ปทานุกรมของเราจะแปลว่าอย่างไรก็ไม่ได้เปิดดู แต่ปทานุกรมธรรมดาสามัญสำหรับคนทั่วไป คำว่า ธรรมะในประเทศอินเดีย แปลว่าหน้าที่ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องทำอย่างมนุษย์ อย่างที่เป็นมนุษย์ นี้เรียกว่า ธรรมะ
นับตั้งแต่หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องรอดชีวิตอยู่ได้ ปฏิบัติให้ดี สูงขึ้นไปจนบรรลุโมกษะหรือนิพพาน นี่เรียกว่าหน้าที่ ทีนี้ธรรมะกับการปฏิบัติธรรมะ ธรรมะนี่คือธรรมะไหน ก็ธรรมะที่รู้ โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องกฎของธรรมชาติ แล้วเรามีหน้าที่ปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ นี่คือการปฏิบัติธรรม ธรรมะกับการปฏิบัติธรรมะ ก็คือการรู้ กฎของธรรมชาติ แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎนั้นๆ เราก็มีธรรมะ ธรรมะก็คุ้มครองเราให้เดินไปถูกทาง สำหรับความดับทุกข์ ให้มีแต่ความสงบสุข อยู่ด้วยกันทุกฝ่าย คือทั้งตัวเราเอง แหละผู้อื่นทุกคน ลงไปถึงสัตว์เดรัจฉาน เดี๋ยวนี้มนุษย์ไม่มีธรรมะ ทำลายสัตว์เดรัจฉานเสียมาก ว่าจะลงไปถึงต้นไม้ต้นไร่ พฤกษาชาติทั้งปวง เดี๋ยวนี้มนุษย์ไม่มีธรรมะ ทำลายต้นไม้ต้นไร่ พฤกษาชาติทั้งปวง เสียวอดวายหมด นี่เพราะไม่มีธรรมะ มันก็ไม่ได้อยู่อย่างเป็นสุขด้วยกันทุกทุกฝ่าย ซึ่งเกื้อกูลแก่กันและกัน อย่างจะแยกกันไม่ได้ ขอให้ท่านทั้งหลายนึกถึงธรรมะในทุกวิถีทางที่มันถูกต้อง ที่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติธรรมะ ท่านอาจจะถามว่าเมื่อไร ที่ไหน อาตมาก็บอกว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ใช่ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ จะไม่เป็นธรรมะ เพราะธรรมะต้องปฏิบัติลงไปที่ความทุกข์ ก็เมื่อมีความทุกข์ จะต้องได้รับผลเมื่อปฏิบัติด้วย เช่นนิพพาน เป็นเครื่องดับทุกข์ ก็ต้องปฏิบัติเมื่อมีทุกข์ และก็ที่นี่ ก็จะได้แก้ความทุกข์นั้นตรงๆ แล้วก็เดี๋ยวนี้ ก็เพื่อจะได้รับผลของธรรมะ ของพระนิพพาน คือความเย็น ไม่มีความร้อนซึ่งเป็นความทุกข์ ครั้นจะพูดว่านิพพาน ต่ออีกหมื่นชาติ แสนชาติ เหมือนที่ใครเขาพูดกัน นั้นก็ตามใจ ยกไว้ให้คนพวกนั้น นิพพานอีกหมื่นชาติ แสนชาติ ก็ยกไว้ให้คนพวกนั้น ที่เขาพูดอย่างนั้น เรานี่พูดว่านิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ตามคำของพระพุทธเจ้าว่า สันทิฏฐิโก อะกาลิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ สันทิฏฐิโก รู้สึกอยู่ด้วยใจ ในใจของตัวเรา ถ้านิพพานไม่มารู้สึกอยู่ในใจของเรา ไม่ใช่นิพพานที่จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา แล้วก็ทันทีที่มีการประพฤติปฏิบัติ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นต้องดับทุกข์ให้ได้ นี่เป็น อะกาลิโก ไม่จำกัดเวลา เนี่ยเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ คนมีสติปัญญาสามัญ ไม่ใช่คนโง่ จะรู้ประจักษ์ได้ด้วยตนเอง นั้นธรรมะต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ คือเมื่อมีความทุกข์แก่บุคคลผู้มีความทุกข์ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีหลัก ที่จะต้องปฏิบัติ จำแหนกออกไปให้มันเหมาะเจาะกับเรื่อง คือว่า เมื่อความทุกข์ยังไม่เกิด เราก็ต้องรู้เรื่องความทุกข์ เป็นอยู่อย่างที่ความทุกข์ไม่อาจจะเกิด นี่ก็เป็นปัจจุบันเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าจะเอาเป็นอดีต อนาคตอะไร เมื่อความทุกข์ยังไม่เกิด เราระมัดระวังอยู่เป็นปัจจุบันทีเดียว ว่าความทุกข์ต้องไม่เกิด มีคำว่า การเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ที่เป็นบาลีเรียกว่า สัมมาวิหาร ท่านจะเคยได้ยินแต่คำว่า พรหมวิหาร อะไรเป็นต้น ไม่เคยได้ยินคำว่า สัมมาวิหาร แปลว่า การเป็นอยู่โดยชอบ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อิเมเจ ภิกคเว สุภัททะ สัมมาวิหะระยุง อสัณโญ โลโก อะระหังเตหิ อัสสะ (นาทีที่ 16:43)
ดูก่อนสุภัททะ พระภิกษุเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบ สุดท้ายโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ สุภัททะนั้นคือ บุคคลที่พระพุทธองค์ทรงสนทนาด้วยเป็นคนสุดท้าย เมื่อจะปรินิพพาน ถ้าเป็นอยู่โดยชอบ โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ คำนั้นว่า สัมมาวิหะระยุง (นาทีที่ 17:21) เป็นคำกิริยา ถ้าเป็นคำนามก็ว่า สัมมาวิหาโร เป็นอยู่โดยชอบ เราจะถือว่าหลักสัมมาวิหาโรเนี่ย เป็นอยู่โดยชอบเพื่อป้องกันไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น ท่านจะปฏิบัติธรรมะข้อไหนก็ได้ ให้มันเหมาะกับการเป็นอยู่ของท่าน แล้วก็ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น วันก่อนก็บอกแล้วว่า คำว่าธรรมะคำนี้ ควรจะมีบทนิยามว่าอะไร เมื่อใคร่ครวญดูทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว เห็นด้วยกับบทนิยามที่มีอยู่ว่าธรรมะ คือระบอบการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ในทุกสถานการณ์ ช่วยจำไว้เถอะ แม้มันจะยืดยาวสักหน่อย ก็ช่วยท่องไว้ให้ขึ้นปาก ธรรมะคือระบอบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา จะเติมท้ายอีกหน่อยว่า ในทุกสถานการณ์ เป็นระบอบปฏิบัติ ไม่ใช่ระบอบเพียงแต่ พูดพูด เรียนเรียน เขียนเขียน อยู่ในสมุด ต้องปฏิบัติอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ธรรมะคือระบอบการปฏิบัติ ระบอบการปฏิบัตินั้นถูกต้อง หรือจะเรียกว่าจำเป็นก็ได้ แก่ความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้นนั้น แล้วก็ในทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ คือเราวิวัฒนาการอยู่เรื่อย วิวัฒนาการน้อย น้อยก็คือว่าตั้งแต่เกิดมาจนกว่าจะเข้าโลง มันมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงเรื่อย วิวัฒนาการใหญ่ ก็คือว่าตั้งแต่ เมื่อยังเริ่มมีมนุษย์ในโลกจนมีมนุษย์ปัจจุบันนี้ นี่เป็นวิวัฒนาการยาวใหญ่ ก็เวิวัฒนาการเหมือนกัน ต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้องกับความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ถ้าแม่จะช่วยเหลือได้ ตั้งแต่คลอดออกมาเป็นเด็กแดงๆ เด็กโต เด็กวัยรุ่น เป็นหนุ่มเป็นสาว พ่อบ้านแม่เรือน คนแก่คนเฒ่า เนี่ยต้องถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ แยกเป็นส่วนปลีกย่อยไปว่า ทุกทุกสถานการณ์ อย่างเวลานี้เราอยู่ในสถานการณ์สงครามอย่างนี้เป็นต้น แล้วก็มีธรรมะที่เหมาะสมถูกต้องแก่สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยสงคราม หรือว่าประเทศชาติจะอยู่ในสถานะอย่างไร เราก็มีธรรมะสำหรับปฏิบัติถูกต้อง ทุกทุกสถานการณ์ แต่อย่าพูดเพียงว่าทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการก็ได้เหมือนกันแหละ มันก็พอ พอที่จะขยายความออกไปเป็นทุกสถานการณ์ได้เหมือนกัน ธรรมะคือระบอบแห่งการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่การเป็นมนุษย์ ของมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ในทุกทุกสถานการณ์ นี่เรียกว่าสัมมาวิหาโร ตามพระพุทธภาษิตได้ คือว่ามันเป็นอยู่อย่างที่กิเลสเกิดไม่ได้ แล้วไม่เท่าไหร่กิเลสมันหมด ท่านรู้จักกิเลสไว้ โดยธรรมชาติอย่างนี้กันสักหน่อย ก็เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโง่ ทีหนึ่ง นี่เรียกว่าเกิดกิเลส ทีหนึ่ง พอเกิดกิเลสทีหนึ่ง มันก็มีการสะสมความเคยชินแห่งกิเลส ทีหนึ่ง และความเคยชินแห่งกิเลสเนี่ย ก็เรียกว่า อนุสัย กิเลสและอนุสัย กิเลสคือตัวกิเลส อนุสัยคือตัวความเคยชินแห่งกิเลส
ทั้ง กิเลสสะสมไว้มาก แล้วมันก็จะกดดันเพื่อจะออกมา ไหลออกมา นี่เขาเรียกว่า อาสวะ กิเลสคือตัวกิเลส อนุสัยคือความเคยชินแห่งกิเลส เมื่อสะสมไว้มากก็จะมีอาสวะมาก พร้อมที่จะกลับออกมาภายนอกเป็นกิเลสอีกแหละ เป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง อีกแหละ แล้วมันก็เผาลนเราอยู่ตลอดเวลาที่มี กิเลส เมื่อใดมีกิเลสออกมา มีอาสวะเป็นกิเลสออกมา มันก็เผาเราเมื่อนั้น เมื่อมันว่างมันไม่ออกมา มันก็ยังไม่เผาเรา เหมือนบางเวลาเราไม่มีกิเลสออกมา เราก็สบาย ประเดี๋ยวกิเลสออกมา เป็นความโลภก็ได้ เป็นความโกรธก็ได้ เป็นความโง่ก็ได้ เราก็ร้อนเป็นไฟ เมื่อไม่มีกิเลส ก็เย็น แต่จะไม่พูดว่าเป็นน้ำ เพราะคำว่าเย็นที่เป็นความหมายคำว่า ไม่มีกิเลสเนี่ย มันเหนือร้อน เหนือเย็น ในภาษา ไอ้ธรรมดา ภาษาฟิสิกส์เนี่ย (23.14)สิ้นไปแห่งความร้อน มันก็เรียกว่า นิพพาน คือเย็น เย็นอก เย็นใจ หมดเลย
งั้นเราระวังอย่าให้กิเลสเกิดขึ้น มันก็ไม่มีอนุสัยที่สะสม มันก็ไม่มีอาสวะที่จะออกมา นี่เราไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นทีหนึ่ง มันก็ทำลายอนุสัยทีหนึ่ง ทีนี้เรามีอนุสัยที่จะสร้างกิเลส ที่จะให้ติด กิเลสอีกใหม่หน่ะ มากสะสมไว้ตั้งแต่เกิดมานู่น ตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่ พอเป็นเด็ก รู้ความได้ว่าอร่อย ไม่อร่อย ถูกใจ ไม่ถูกใจ อะไรเหล่านี้ แล้วก็เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างใดอย่างหนึ่ง น้อยๆ มาก่อน ทีนี้มันเกิดกิเลสนั้นทีหนึ่ง มันก็สะสมอนุสัยไว้ทีหนึ่ง ฉะนั้นอนุสัยมันก็พอกพูนมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ฉะนั้นเราสะสมกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก จนบัดนี้ ทีนี้เราจะลบมันได้อย่างไร เพราะมันเป็นบวกมาเรื่อย ทีนี้จะให้มันกลับตรงกันข้ามคือเป็นลบ ก็ลบด้วยการระวังไม่ให้เกิดกิเลส เมื่อกิเลสควรจะเกิด มายั่วให้ มีอะไรมายั่วให้เกิด กำลังจะเกิดอยู่แล้ว เราบังคับมันได้ไม่ให้เกิด ถ้าทำได้อย่างนี้ทีหนึ่ง อนุสัยที่มีสะสมไว้ในสันดานจะลดลงทีหนึ่ง คือลดลงหน่วยหนึ่ง ถ้าสมมติว่ามันมีตั้งร้อยหน่วย พันหน่วย หมื่นหน่วยแล้ว เราบังคับกิเลสให้ได้ มันถึงที่สุด จวนจะเกิดอยู่แล้ว เราบังคับได้ ถ้าอย่างนี้แล้วมันบังคับกิเลสนั้นได้ด้วย ไม่ ไม่ต้องทนทุกข์ แล้วมันจะลดอนุสัยความเคยชินของกิเลสในสันดานนั้น ลงหน่วยหนึ่งด้วย ทุกครั้งที่บังคับกิเลสได้ อนุสัยลดลงหน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่งเสมอ ถ้าเราบังคับได้มาก มากครั้ง มากเวลา มันก็ลดลงมาก มากหน่วย อนุสัยมันก็เบาบาง อนุสัยที่สะสมกิเลสไว้นั้น มันก็เบาบางลง ลดลง น้อยลง เอ๊ะว่าทำไปจนถึงที่สุด มันลดหมด ก็เป็นพระอรหันต์ หมดกิเลส หมดอนุสัย หมดอาสวะ เป็นพระอรหันต์ เพราะการเป็นอยู่โดยชอบ พูดกลับอีกทีหนึ่งว่า ถ้าเป็นอยู่โดยชอบเนี่ย กิเลสจะไม่เกิด และอนุสัย ความเคยชินแห่งกิเลสที่เคยสะสมไว้แต่ก่อน ก็จะลด ลดทุกครั้งที่บังคับกิเลสได้ เนี่ยเป็นอยู่โดยชอบมันเป็นอย่างนี้ และเป็นพระอรหันต์ได้ ได้จริงในที่สุด อนุสัยลดลงจนหมด อาสวะก็ไม่มี
เราจะต้องเป็นอยู่โดยชอบ เพื่อจะจัดการป้องกันนะ ไม่ให้เกิดกิเลส เกิดความทุกข์ เดี๋ยวนี้เราได้สติปัญญาสูงกว่าสัตว์เดรัจฉานตามธรรมชาติ แต่เราไม่ได้ใช้มันอย่างนี้นี่ โลกกำลังใช้สติปัญญาเพิ่มกิเลส เพิ่มวัตถุปัจจัยแห่งกิเลส เขาใช้เครื่องจักรผลิตวัตถุปัจจัย สวยงาม เอร็ดอร่อยมาให้มนุษย์ ได้กินได้ใช้ ได้ซื้อหาด้วย ไม่ใช่ให้ฟรี ไม่ได้แจกเปล่าๆ เราต้องซื้อเขาด้วย ไอ้สิ่งที่จะหล่อเลี้ยงกิเลสของเรา เราต้องซื้อเขามา บริษัททั้งหลายก็ผลิตไอ้ของเหล่านี้ขาย เราก็ต้องซื้อเขามา เนี่ยสติปัญญาของมนุษย์ใช้เพื่อผลิตเหยื่อของกิเลส เอามากินมาใช้ มาขาย มาล้างผลาญกัน จะเป็นนนท์ทุกก็ตอนนี้เอง ถ้าว่าไม่ดี สติปัญญาเฉียบแหลมใช้เพื่อทำลายมนุษย์เอง ให้อยู่ไม่เป็นสุข เรียกว่าตายทางวิญญาณแล้วก็ได้ เนี่ยในขั้นที่หนึ่ง หรือว่าขั้นต้นก็ได้ เราเป็น เราใช้ธรรมะ เมื่อความทุกข์ยังไม่เกิด เราเป็นอยู่ให้ถูกต้อง ไม่ให้มันเกิด
ทีนี้มาตอนที่สอง ก็ปัจจุบันอีกเหมือนกัน เมื่อความทุกข์กำลังเกิด เมื่อกำลังร้อนอก ร้อนใจ เหมือนกับนรกอยู่ข้างในใจ น้ำตาไหล ไปโดดน้ำ กระโดดน้ำตายให้มันพ้น รู้แล้วรู้รอดไปที วิธีอย่างนั้นมันไม่ใช่วิธีของพุทธบริษัท จะไปกินยาตาย หรือกระโดดน้ำตาย หรือฆ่าตัวตายโดยวิธีใด ไม่ใช่วิธีของพุทธบริษัท พุทธบริษัทก็ต้องมีธรรมะอีกหล่ะ ธรรมะในการปฏิบัติธรรมะ เมื่อความทุกข์มันกำลังเป็นไฟลุกโพลงๆ อยู่ในใจ ถ้าธรรมะพอ มันก็ดับได้ ธรรมะไม่พอ มันก็ดับไม่ได้ ในตอนนี้เรียกว่า สติ สติเนี่ยมันสำคัญไปทุก ทุก ทุกทุกเวลา แต่เวลานี้ก็สำคัญมาก ที่กำลังมีทุกข์โพลงๆ อยู่ในใจ ต้องระลึกกันได้ว่า มันอะไรกันโว้ย ถ้าสติมีพอ มันก็จะระลึกได้ว่า อ้อเหมือนที่เราเรียนมา เมื่อมีความโง่ มีกิเลส มีอะไรแล้ว มันก็ต้องทำให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา โดยนัยยะแห่ง ปฏิจจสมุปบาท โดยกรรมวิธีของธรรมชาติ ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นทุกข์ มันต้องมีสติมากำจัดอวิชชาในกระแสแห่ง ปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ดับทุกข์ ทีนี้ถ้าเรื่องมันยุ่งยาก ซับซ้อน ลำบาก ก็เอากันสั้นๆ ทีก่อนก็ได้ว่า มีสติปัญญารู้สึก ตามหลักธรรมะที่เราเรียนมาแล้วว่า โอ้ มันเป็นอย่างนี้เองเว้ย จะเป็นความทุกข์ตามธรรมชาติ เช่น ความเจ็บ ความไข้ ความจะตาย อะไรก็ตาม นี่ก็เป็นทุกข์ แต่เป็นทุกข์ตามธรรมชาติ
ทีนี้ที่เป็นทุกข์ เพราะว่าไปทำเรื่องเข้ากับใครเนี่ย คือการเบียดเบียนของผู้อื่นเนี่ย มันก็เป็นทุกข์ เขาเรียกว่าตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง คือธรรมชาตินอกตัวเรา มีความทุกข์เกิดขึ้นมาจากสิ่งนอกตัวเรา กับความทุกข์เกิดขึ้นมาจากสิ่งภายในตัวเรา เช่นร่างกายมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องไข้ ต้องตาย เรามีความทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง เจ็บปวดอยู่ มีสติรู้ว่า โอ้ย, มันเช่นนี้เองโว้ย มันเช่นนี้เองโว้ย
นี่คือธรรมะที่สำคัญ และค่อนข้างยากที่จะปฏิบัติได้ มันเป็นยาขนานที่ยากจะรู้จัก ยากที่จะกินได้ ที่จะรู้ เช่นนั้นเองโว้ย มันเช่นนี้เอง เช่นนี้เอง จะมานั่งร้องไห้อยู่เสียเวลา จะแก้ไขอย่างไร ก็ลุกขี้นแก้ไข จะมานั่งร้องไห้อยู่ทำไม เราเรียนเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กันมาแล้วอย่างเพียงพอ ว่ามันไม่เที่ยง มันดูแล้วน่าเกียจน่าชัง มันให้ความทุกข์ มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับมันได้ อย่างเนี้ยรวมเรียกว่า เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ถ้าเป็นบาลีก็เรียกว่า ตถาตา ตถัตตา ตถาตา แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเจ็บปวดขึ้นมาในความรู้สึก ก็อ้าว มันอย่างนี้เองตามธรรมชาติ ถ้ามันมีการปรุงแต่งอย่างนี้ มันก็ต้องมีผลอย่างนี้ คือเจ็บปวดอยู่ เห็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวทนาที่กำลังรู้สึก ไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนา เนี่ย สำคัญนัก ทำคนให้เป็นพระอรหันต์มาแล้วนับไม่ถ้วนในครั้งพุทธกาล เขาบรรลุธรรมะเป็นพระอรหันต์กัน ในความรู้เท่าทันกันในสิ่งที่เรียกว่าเวทนา เวทนาเป็นสุขก็ได้ เวทนาเป็นทุกข์ก็ได้ เวทนาที่ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ก็ได้ ขึ้นชื่อว่าเวทนาแล้ว ทำให้คนโง่ คนหลง หลงยึดถือ มีตัวมีตนจนเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เรามีเวทนาที่เป็นทุกข์ ก็มองดูให้เห็นตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน มันสักว่าเวทนา ไอ้เวทนานี่ มันสักว่าเวทนา สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ให้ ไม่ให้ค่า ไม่ให้ความหมายในลักษณะที่เป็นตัวตนอะไร มันสักว่าความรู้สึกตามธรรมชาติ เมื่อเรารู้เป็นสุข เพราะอร่อย เพราะอะไรก็ตาม หรือเรารู้สึกเป็นทุกข์ เพราะไม่อร่อย หรืออะไรก็ตาม มันเป็นเวทนา ที่เป็นสักว่าความรู้สึกตามธรรมชาติที่มันต้องเกิดขึ้นตามกฎเกณฑ์ของมัน อาหารไม่อร่อย มันก็สักว่าเวทนา ที่ต้องรู้สึกขึ้นตามธรรมชาติสำหรับอาหารชนิดนี้ และถ้าอร่อย มันก็รู้สึกอร่อย เป็นสุข เป็นเวทนาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากอาหารชนิดนี้ มันจะแปลกอะไร มันสักว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ข้อนี้เขาสอนให้ภิกษุพิจารณาศึกษากันเป็นอันมากทีเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ ถ้ามันเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา ก็ดูว่ามันเป็นความรู้สึกสักว่าเวทนาเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ใหญ่กว่าตัวตนเป็นเจ้าของเวทนาแล้วว่าจะตาย ก็กลัวว่าจะตาย นี่เป็นความทุกข์แบบหนึ่ง หรือเป็นเจ้าของเวทนาว่า อร่อยจริงโว้ย มันก็เป็นตัวตนขึ้นมา สำหรับที่จะแบก ยึดมั่น ถือมั่น ในความอร่อยแล้วเป็นทุกข์ในรูปแบบอื่นต่อไป เราหลงรักในสิ่งใด มันจะมีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะความยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งนั้น เมื่อเห็นเวทนา สักว่าเวทนา สักว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินะ ความหมายมันต้องให้มันชัดว่า ความรู้สึกที่ต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อย่าเอามาหลงรัก หลงเกลียด มันก็จะขจัดไอ้ความทุกข์นั้นออกไปได้ทันที เจ็บปวด ก็เป็นความรู้สึกตามธรรมชาติที่เนื้อหนัง อย่าเกิดความรู้สึกโง่ๆ ว่าตัวกูได้รับความเจ็บปวด ตัวกูจะตายแล้วนี่ อันนี้อย่าให้เกิด พระพุทธเจ้าท่านได้เปรียบไว้เป็นอุปมาอุทธาหรณ์สำหรับจำง่ายๆ ว่ามันเป็นสองชั้นกันอยู่ เมื่อคนๆหนึ่ง เขาถูกลูกศรเด็กเล่นเล็กๆ ไม่มียาพิษเสียบเข้าไปในเนื้อ มันก็เจ็บเท่านั้น แต่ทีนี้เดี๋ยวก็มีลูกศรใหญ่ อาบยาพิษเต็มที่ แล่นมาเสียบเข้าไปอีกทีหนึ่ง
อันไหนมันจะเจ็บปวดกว่ากัน คิดดู งั้นเราจะให้เวทนาทั้งหลาย ทำอันตรายเรา เพียงแต่เหมือนลูกศรเด็กเล่นเล็กๆ เข็มแทงอย่างนี้ ไม่ให้กลายเป็นลูกศรดอกใหญ่อาบยาพิษ นั่นคือความโง่เกิดขึ้นว่า กูเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นเจ้าของสุขเวทนา เป็นเจ้าของทุกขเวทนา ในเมื่อตัวกูอย่างนี้เกิดขึ้น ในความรู้สึก เท่ากับเหมือนกับดอกศรดอกใหญ่อาบยาพิษ ถ้ามันเจ็บปวดตามธรรมดา เป็นแผล หรือว่า ถูกมีดบาด ถูกแทง อันนี้มันก็ให้เป็นลูกศรเด็กเล่น แต่ว่าทุกชนิดเราจะทำให้มันเป็นลูกศรเด็กเล่น แม้ว่าความเจ็บป่วยที่จะถึงตาย มันก็เป็นความรู้สึกของเวทนา ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พอเผลอไปกลายเป็นตัวกูเกิดขึ้น เป็นเจ้าของเรื่องหล่ะก็ ที่นี้มันจะรู้สึก ในความรู้สึก เจ็บมาก ปวดมาก มีปัญหามาก เป็นทุกข์มาก เนี่ยเวทนาสักว่าเวทนา ทุกชนิด หรือถ้ามันเกิดตัวกูขึ้นมาก็แก้ลำมันเสีย โดยเอามารับกรรมกันโว้ย มันเกิดมารับกรรม ให้มันแล้วกันไปที มันเลิกล้างกันไปที ก็ทนถือว่ารับกรรม ก็ไม่ต้องเจ็บปวดนัก บางทีจะดีใจเสียอีก ว่ามันจะได้สิ้นกรรมกันที ความเจ็บปวดเจ็บป่วยถึงตายนี่มันได้รับกรรม สิ้นกรรมกันทีมันก็ดีเหมือนกัน มันก็ไม่เป็นทุกข์ ฉนั้นเมื่อกำลังเป็นทุกข์อยู่ ก็มีธรรมะดับความทุกข์นั้นเสีย เนี่ยสองขั้นตอนแล้วนะ อยู่ตามปกติก่อนความทุกข์จะมีมานั้น เราก็มีธรรมะป้องกันมันไว้ พอธรรมะมาเกิดขึ้นจริงจริง ความทุกข์มาเกิดขึ้นจริงๆ ก็มีธรรมะ ประเภทที่จะสลัดมันออกไป ทีนี้จะอยู่ต่อไปอย่างไรหล่ะ จะอยู่ต่อไปอีกหลังจากนั้นแล้ว มันก็ต้องมีธรรมะ สำหรับจะอยู่ต่อไปข้างหน้า โดยไม่ต้องมีความทุกข์อีก มันก็คล้ายกับจะย้อนไปหาอันที่หนึ่ง อันแรก อยู่มาอย่างไรความทุกข์ไม่เกิด แล้วก็จะอยู่ต่อไปอย่างที่ความทุกข์ไม่เกิด ต้องมีสติให้สมบูรณ์ที่สุด สติสมบูรณ์นี่ไม่ใช่เรื่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย พูดหล่ะก็ง่าย แต่พอทำแล้วก็ยาก เพราะว่าถ้ามีสติสมบูรณ์จริงๆ ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสเกิดไม่ได้ อาสวะ อนุสัยสูญสิ้นไปหมด เพราะความมีสติสมบูรณ์ แต่เราก็ต้องพยายาม เราไม่เอ่ยอ้างถึงว่าจะเป็นพระอรหันต์ แต่เราจะจัดการในปัจจุบันเนี่ย เพื่อควบคุมอนาคต ให้มันเป็นไปในภาวะที่พึงปรารถนา คือไม่เกิดกิเลส ก็เป็นอยู่ด้วยสติ ในอายตนะทั้งหก คำว่า อายตนะทั้งหก อย่าเป็นคำสำหรับเอาไปหัวเราะเยาะกัน น่าจะโง่เองนะจะบอกให้ อายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เขาเรียก อายตนะทั้งหก เป็นสิ่งที่จะต้องจัดการกันอย่างถูกต้อง ควบคุมกันไว้ให้ดี สำรวมควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาสำหรับเห็นรูป อย่าโง่นะ หูสำหรับฟังเสียง อย่าไปโง่เพราะการฟังเสียง จมูกสำหรับรับกลิ่น ก็อย่าโง่เพราะกลิ่น ลิ้นสำหรับรับรส ก็อย่าโง่เพราะชิมรส อาตมาเห็น รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้มันโง่กันมาก เพราะเรื่องลิ้นชิมรส ไปซื้อของแพงๆมากิน นี้ผิวหนังนี้ร้ายกาจเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ความกำหนัด ความรู้สึกในทางกามารมณ์ อาศัยผิวหนังเกิดขึ้น ทีนี้ก็ใจ อันสุดท้ายลึกอยู่ข้างใน เป็นสิ่งที่หก ก็เหมือนกัน มันต้องควบคุมมีสติ ศึกษาไว้ให้ดี ให้มีสติมากพอ และก็รวดเร็ว ถ้าไม่รวดเร็วไม่เป็นสติ ต้องมีความรู้คือปัญญาพอ
และความมีสติก็ต้องพอ มีสติมากและก็รวดเร็ว ทันแก่เหตุการณ์ พอตาเห็นรูป กระทบรูปปั๊บ สติก็มาปั๊บ ก็ควบคุมตาไม่ให้โง่ หรือถ้าเห็นว่าสวยและรัก ก็โง่ เห็นว่าไม่สวยแล้วโกรธเกลียด ก็โง่ ฉนั้นต้องไม่มีทั้งสองอย่าง เรื่อง หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เหมือนกันแหละ มีสติควบคุมไม่ให้มันโง่ ไม่ให้เกิดผัสสะโง่ สัมผัสด้วยความโง่ คือความไม่รู้สึกตัว แล้วเกิดเวทนาขึ้นมา เป็นเวทนาโง่ สำหรับให้รักให้เกลียด แล้วก็เกิดความอยาก ความต้องการที่โง่ คือตัณหา มันอยากอย่างนั้นสำหรับของน่ารัก มันอยากอย่างนี้สำหรับของน่าเกลียด เรียกว่าอยากได้ กามะตัณหา อยากเป็น ภาวะตัณหา อยากไม่เป็น ภาวะตัณหา วิภาวะตัณหา มีอยู่สามอย่าง เหมือนกับช้างตัวหนึ่งกินน้ำสามสระ ไปดูรูปภาพในตึกนั้น เนี่ยเราอยู่ด้วยความโง่มันก็เกิดตัณหาจนได้ แล้วก็มีความทุกข์ พอมีตัณหาคือความอยาก แล้วมันปรุงเป็นความรู้สึกขึ้นมาเอง เป็นตัวกูผู้อยาก อันแสนจะมายาที่สุด ไอ้ความรู้สึกว่าตัวกู ตัวกู อย่างนั้นอย่างนี้ อยากอย่างนั้นอย่างนี้ ได้อย่างนั้นอย่างนี้ คือเป็นเพียงความรู้สึกคิดนึกที่ปรุงขึ้นมา ไม่มีตัวจริง เมื่อใดมีความอยากเกิดขึ้นเต็มที่อยู่ในจิตใจ จิตใจนั้นก็ปรุงไอ้ความรู้สึกว่าตัวกู ขึ้นมา จากความอยากนั้นเอง ถ้าเราควบคุมความอยากเสียได้ ตัวกูเกิดไม่ได้ เนี่ยมันน่า ที่ว่า ไอ้ความอยากมันสร้างผู้อยาก มันผิดกันอยู่กับเรื่องทางธรรมดาสามัญ ทางวัตถุเนี่ย มันต้องมีผู้อยากก่อน แล้วมันจึงจะมีความอยากได้ แต่ถ้าเรื่องธรรมมะอันลึกซึ้งเนี้ย มันมีความอยากตามธรรมชาติเท่านั้น แล้วความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยากมันจะเกิดตามมาทีหลัง ความอยากเกิดก่อน ผู้อยากเกิดทีหลัง ก็ เด็กๆ ก็จะอ้าวนี่มันผิดโลจิกส์แล้วโว้ย กูไม่เชื่อแล้วโว้ย กูไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ลองไปคิดดูให้ดี เพราะว่าไอ้ตัวกูผู้อยากมันเป็นเพียงมายาเท่านั้น มันก็ปรุงขึ้นมาจากความอยาก ความอยากก็เกิดขึ้นมาจากความโง่ เมื่อมีการสัมผัส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉนั้นระวังเมื่อมีการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดีดี อย่าให้โง่ไปอยากอะไรเข้า ถูกใจก็อยากได้ ไม่ถูกใจก็อยากฆ่าเสีย นี่เป็นความอยาก ถ้าความอยากนี่มีเยอะ รู้สึกตัวกูผู้อยาก เป็นเจ้าของความอยาก เป็นเจ้าของสิ่งที่อยาก เรียกว่าตัวกู ของกู เกิดขึ้นแล้ว เป็นความรู้สึกเท่านั้นแหละ รู้สึกว่าตัวกู รู้สึกว่าของกู ไม่ใช่มีตัวจริงอะไรที่ไหน ทั้งท่านกล่าวว่ามันไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อนันต ไม่ใช่อัตตา มันเป็นอนัตตา เราไม่เข้าใจ เพราะเราไม่รู้เรื่องนี้ ฉนั้นรู้เข้าใจว่าไอ้ตัวกู ของกูเนี่ยเป็นความคิดนึกปรุงขึ้นมา หลังจากที่ได้มีความอยาก อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดมาจากความโง่ ในขณะที่สัมผัสทางอายตนะหกทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเห็นได้ว่าไอ้ตัวร้ายมันอยู่ที่ตรงเวทนา ถ้าเป็นเวทนาน่ารักก็รัก น่าเกลียด ก็เกลียด ไอ้เวทนาเนี่ย จะทำให้เกิดเรื่อง นั้นถ้าควบคุมเวทนาได้ โอ้ สักว่าความรู้สึกตามธรรมชาติเท่านั้นโว้ย อย่ามาหลอกกูเลย ไอ้เวทนาเนี่ย มันสักว่าความรู้สึกตามธรรมชาติ มันไม่ได้มีตัวตนอะไรที่ไหน แต่มันก็หลอกคนให้วินาศ ฉิบหาย มาตลอด ทุกยุคทุกสมัยในโลก ถ้าควบคุมมันได้ก็เป็นพระอรหันต์
ก็บอกแล้วว่าอย่าทะเยอทะยานเพื่อจะเป็นพระอรหันต์ ทะเยอทะยานเพียงว่าจะไม่มีความทุกข์ก็พอแล้ว อยู่อย่างไม่มีความทุกข์ก็พอแล้ว ให้เป็นพระอรหันต์ก็เป็นเองเถอะ อย่าไปใฝ่ฝันให้มันเกิน ให้เกินฐานะเลย เดี๋ยวมันจะเป็นบ้าไปทางอื่นอีก ไม่ต้องใช้คำว่ากูจะเป็นพระอรหันต์ มีแต่ว่ากูจะไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว ถ้าเกิดความทุกข์ขึ้นมาก็รีบสลัดออกไปเสีย ว่ากูไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์ กูไม่เอา ความรู้สึกอันนี้กูไม่เอา สลัดออกไปจากจิตใจเสียโดยเร็ว อย่างทื่อๆ ซะทีนึงก่อน ก็มาตั้งตัวใหม่ คิดนึกให้ดี อย่างนั้น อย่างนี้ ให้มันเลิกล้างกันไปจริงๆ ถือคาถาว่า กูไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทุกข์ไว้ให้แม่นๆ ให้แม่นยำ ให้รวดเร็ว จะได้สลัดความทุกข์ออกไปได้ทันที อย่าต้องน้ำตาออก ไอ้เรื่องที่ยั่วให้รัก ให้หลง ก็แหมือนกัน กูไม่ได้เกิดมาเพื่อจะหลง ควบคุมจิตเป็นปกติ จิตปกตินี่สำคัญมาก จะเรียกว่าจิตอิสระก็ได้ ถ้าไม่อิสระไม่ปกติ ถ้าจะปกติต้องอิสระจากสิ่งไอ้เหล่านี้ สิ่งที่มาทำให้โง่ หรือดึงไปหากิเลสตัณหา และความทุกข์ นี่เรียกว่าจิตมันไม่เป็นอิสระ มันถูกกิเลสดึงไป หรือพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ ความโง่ของสติปัญญา ที่โง่ดึงไป เดี๋ยวนี้เราฉลาดกันแต่จะโง่ ฉลาดแต่จะกินให้อร่อย ฉลาดแต่ที่จะอยู่ดีกินดี อย่างเอร็ดอร่อย ไม่มีขีดกั้นเนี่ย ฉลาดของความโง่ ความโง่ของความฉลาด ระวัง มันเป็นความฉลาดของความโง่ หรือความโง่ของความฉลาด อย่างมนุษย์ กำลังฉลาดแต่ในทางที่จะทำให้ปัญหาเกิดขึ้นในโลก ก็ได้ทนทุกข์ ฉนั้นเรามีสติ รวดเร็ว ทันควัน ในการสัมผัสเมื่อไร ที่ไหนก็ตามแต่ ทางอายตนะทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกมันอยู่ที่นี่ โลกมันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราจัดการถูกต้อง กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็คือจัดการถูกต้อง ทั้งโลกเลย คุณควรจะมองเห็นจริงๆ เห็นเป็นสันทิฏฐิโกจริงๆ ว่า สมมติว่าถ้าเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่างนี้ มันจะมีความหมายอะไรหล่ะ โลกนี้ มันก็เท่ากับโลกนี้ไม่มี ไอ้ที่เรียกว่าโลก ก็คือสิ่งที่จะเข้ามาสู่จิตใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฉนั้นพระองค์จึงตรัสว่าไอ้โลกมันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าจะเป็นนรก มันก็เป็นนรกอยู่ที่นั่น ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือมันทำผิดเข้าแล้วทางอายตนะ ถ้ามันจะเป็นสวรรค์ มันก็เป็นสวรรค์อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อาตมาจึงพูดว่า นรกสวรรค์ มันอยู่ที่ในใจ ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกับคนโบราณเขาพูด แต่คนพวกหนึ่งเขาด่าอาตมาว่าพูดโกหก พูดหลอกลวงคน นรกอยู่ใต้ดินไปถึงก็ตายแล้ว สวรรค์อยู่ข้างบนไปถึงก็ตายแล้ว ก็บอกว่าไม่ใช่มันที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เมื่อทำผิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรกก็อยู่ที่นั่น เมื่อทำถูกทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์มันก็อยู่ที่นั่น ก็ยังมีคนเขียนด่า พึ่งพิมพ์ออกมาใหม่ๆอีกเล่มนึง ไปหาซื้ออ่านดู สอนว่า นิพพานอยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ สวรรค์อยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ก็ยังถูกด่าอยู่
อาตมายืนยันว่า มันก็ยังเป็นความถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ ก็ยังตรัสว่ามหาสมุทรก็อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ ตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ เป็นมหาสมุทรอันลึก ที่ตกลงไปแล้ว มีหวังตาย ขึ้นมาได้โดยยาก คือเราพลัดตกลงไป สิ่งที่มันยั่วอยู่ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายสุขเวทนา กามรมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสมุทรอยู่ที่นั่นแหละ แล้วก็เป็น ตกแล้วขึ้นยาก โดยมากก็ตาย ตายแล้วเกิดใหม่ แล้วก็ตกอีก วนเวียนอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นวัฏสงสาร ไม่ทันจะเข้าโลง ก็มีวัฏสงสารเป็นร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติแล้ว เอาชนะอันนี้ได้แหละ คือนิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้ หลังจากไอ้ตกนรก ขึ้นสวรรค์อะไรเป็น ร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ ทีนี้คนพวกหนึ่งเขานับไอ้พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ นับด้วยการเกิดจากท้องแม่ แล้วเข้าโลง เกิดจากท้องแม่แล้วเข้าโลง นั่นหมื่น หมื่น หมื่น หมื่นครั้งแสนครั้ง จึงจะนิพพาน เขาก็รอไปสิ ไอ้เรามันมีหมื่นชาติ แสนชาติ ที่นี่ไม่ทันจะเข้าโลงเนี่ย มีได้หมื่นชาติ แสนชาติเหมือนกัน เข็ดขยาดแล้วก็หยุด แล้วก็เป็นนิพพาน ได้ก่อนแต่จะเข้าโลง พูดอย่างนี้ถูกด่านะ ไม่เชื่อลองไปพูดดู อาตมากำลังถูกด่า ว่าพูดอย่างนี้ ถ้าคุณลองไปพูดต่อก็จะถูกด่าโดยคนพวกนั้นอีก เขา เขามีความหวังจะสร้างบารมี หมื่นชาติ แสนชาติ ไปนิพพาน เราก็บอกว่าเราก็หมื่นชาติ แสนชาติไปนิพพาน คือทำผิดหมื่นครั้ง แสนครั้งที่นี่และเดี๋ยวนี้ เกิดตัวกูครั้งหนึ่งนับเป็นชาติหนึ่ง เกิดตัวกูครั้งหนึ่งนับเป็นชาติหนึ่ง กว่าจะเข้าโลงนับเป็นหมื่นชาติแสนชาติเหมือนกัน แล้วคอยระวังไม่ให้เกิดกิเลสนี่ คือการสร้างบารมีของเรา ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เต็มหมื่นชาติแสนชาติ บรรลุนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ เขาไม่เอา ก็ตามใจสิ เรามีหน้าที่พูด เราบังคับเขาไม่ได้
ทีนี้ก็อยากให้เอาไปคิดดู คุณจะเลือกเอาอย่างไหน ใช้ธรรมะเป็นสันทิฎิโก ที่นี่และเดี๋ยวนี้ หรือใช้ธรรมะเป็นความงมงาย ตาย เกิด เข้าโลงอีกกี่ร้อยครั้ง พันครั้ง จึงจะมีผล ก็ลองคิดดู เราทำบุญ ทำกุศล ทำความดีที่นี่ ก็ต้องรอต่อตายแล้วจึงจะได้ผลเนี่ย อันไหนมันจะดีกว่า ถ้าทำแล้วมันได้ผลที่นี่ ทำแล้วได้ผลทันที เรามีทุกข์ที่นี่ ก็จะดับทุกข์ต่ออีกหมื่นชาติ แสนชาติ มันบ้าหรือดี ก็ไปคิดดู
นิพพานเป็นเรื่องดับทุกข์ เรามีทุกข์อยู่ที่นี่ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็จะรออีกหมื่นชาติ แสนชาติ จึงจะดับทุกข์ มันจะทำกันได้อย่างไร ขอให้สนใจ มีสติ ทันต่อเหตุการณ์ที่มันเป็นที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ทั้งนั้นแหละ พอสัมผัสทางตาเป็นต้น มีอวิชชาโง่เข้ามา ควบคุมแล้วมันก็เป็นสัมผัสโง่ มันก็เป็นเวทนาโง่ เป็นความอยากต้องการที่โง่ คือตัณหา ถ้าเกิดตัวกูของกูเป็นอุปาทาน ตามความอยากที่โง่ แล้วตัวกูของกูมันก็รับเอาทุกสิ่งมาเป็นของกู มันก็เป็นความทุกข์ พูดสั้นเป็นภาษาเทคนิค เป็นภาษาทฤษฏี ไอ้ที่สวดเช้าๆว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทา นะขันธาทุกขา (นาทีที่ 54:07) นั่นแหละเป็นบทสรุปทั้งหมดเลย โดยย่อแล้ว ปัญจุปาทา นะขันธา (นาทีที่ 54:25) เป็นตัวทุกข์ คือสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้น ที่เราเรียกกันว่าคน ว่ามนุษย์เนี่ย ส่วนต่างๆนั้นถูกยึดถือว่าเป็นตัวตน แล้วก็เป็นทุกข์ทันที เพราะมีตัวตน ภาราอะเว ปัญจะขันธา (นาทีที่ 54:47) ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักเน้อ มันหนักแก่ผู้แบกนะ ถ้าไม่แบกไม่ยึด ไม่ได้เป็นทุกข์นะ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนัก มันหนักแก่ผู้แบก ภาระหาโร จบุคคโล (นาทีที่ 55:02) บุคคลนั่นแหละแบกภาระ ของหนักไป คือมันเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูขึ้นมาแล้ว เป็นบุคคลขึ้นมาแล้ว มันก็ได้แบก ถ้ามันไม่เกิดเป็นความรู้สึกเป็นตัวกูหรือเป็นบุคคล แล้วใครมันจะแบกหล่ะ มันก็ไม่มีใครแบก ฉนั้นความโง่ของเรา สร้างความรู้สึกเป็นตัวเรา เป็นบุคคลขึ้นมา ภาระหาโร จบุคคโล (นาทีที่ 55:19 ) ภาราทานัง ทุกขัง โลเก (นาทีที่ 55:22) การแบกของหนักเป็นความทุกข์ในโลก ภาระนิเคปนัง สุขขัง (นาทีที่ 55:28) ขว้างทิ้งไปเสีย ก็เป็นความสุข ฉนั้นระวังอย่าเกิดไอ้ความรู้สึกเป็นตัวกู ของกู เป็นบุคคลขึ้นมา แล้วอะไรอะไร มันจะมาบรรทุกข์ ลงไปบนบุคคลนั้น แล้วมันก็ได้เป็นทุกข์จริง เนี่ยสติปัญญาที่ถูกใช้ไปผิด มันก็จะสร้างไอ้สิ่งสำหรับเป็นทุกข์มากขึ้น โลกปัจจุบันกำลังเป็นอย่างนี้ แล้วมันเป็นบาปเพราะฉลาด เพราะฉลาดในการที่จะทำความทุกข์ให้แก่ตัว นี่ก็เรียกว่าเป็นนนท์ทุก งั้นพวกคุณอย่าเป็นนนท์ทุกกันเลย ขอร้องสักที อย่าเป็นนนท์ทุก ได้อะไรมาสำหรับฆ่าตัวเอง แล้วก็ชอบไอ้สิ่งที่เป็นความทุกข์ จัดการกับปัจจุบัน ไม่ต้องนึกถึงอดีต ไม่ต้องนึกถึงอนาคต ให้มันมากเรื่อง เดี๋ยวจะนอนไม่หลับอีก จัดการกับปัจจุบันให้ถูกต้อง แล้วมันจะคุ้มครองอนาคต หรืออดีตที่เคยทำผิดมาแล้วก็เลิกกันได้ เพราะจัดการถูกต้องในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสอนไว้ว่า ติตัง นาวากัมมายะ (นาทีที่ 56:37) คุณก็สวดบทนี้กันอยู่บ่อยๆ อย่าพะวงถึงอดีต อย่าพะวงถึงอนาคต จัดการให้ถูกต้องกับปัจจุบัน แล้วอนาคตมันก็จะคุ้มครองตัวมันเอง ด้วยการทำถูกต้องในปัจจุบัน ไม่งั้นคุณจะนอนไม่หลับ ปวดหัว แค่นั้นก็จะเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน ไก่มันนอนหลับนะ สุนัข หมา แมวมันนอนหลับ เพราะอนาคตมันไม่ย่ำยีจิตใจของมัน ไอ้เรานอนไม่หลับก็เพราะเหตุนี้ ฉนั้นเพื่อไม่ให้อนาคตเป็นปัญหา ก็จัดการกับปัจจุบันให้ถูกต้อง ให้เด็ดขาด ให้เฉียบขาดลงไป อะไรเป็นหน้าที่ อะไรเป็นหน้าที่ ทำให้เสร็จ ให้หมด ให้ครบ ให้ถ้วนให้ถูกต้อง อย่าให้มีเหลือ ถ้าจัดการกับปัจจุบันถูกต้องแล้ว อนาคตจะควบคุมตัวมันเองอย่างถูกต้อง
นี่คุณพอจะมองเห็นได้แล้วกระมังว่า พุทธศาสนาหรือวิธีการปฏิบัตินั้นป็นรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่ตรรกะวิทยา หรือ ไม่ใช่เป็นจิตวิทยาเพ้อเจ้อ มันเกี่ยวข้องกับจิต แต่ในฐานะเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะจิต ก็เป็นวิทย์ เป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ แล้วให้เป็นเรื่องอย่างวิทยาศาสตร์ ให้มันเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องคำนวน
ไอ้เรื่องปรัชญา มันเรื่องเพ้อๆ ที่เขาชอบกันนัก ไอ้ปรัชญา มันเป็นเรื่องเพ้อๆ เพ้อฝัน เพราะมันต้องมีสมมติฐาน จุดตั้งต้นของปรัชญาคือสมมติฐาน ที่ไฮพสเตซิส มันไม่ได้มีตัวจริง มันเป็นสมมติ เหมือนกับสมมติทางคณิตศาสตร์ ที่จะต้องสมมติ มันไม่ใช่ตัวจริง เอามาสมมติ แล้วมีการคำนวนไปตามเหตุผล ว่าสมมตินี้จริงโว้ย ให้เชื่อว่าจริง แม้แต่ความดีก็ต้องตั้งสมมติฐาน มาหาเหตุผลว่าเรา เอ้อ มันดีจริงโว้ย แม้แต่ความทุกข์ก็เหมือนกันอีก นักปรัชญาก็ต้องหาสมมติฐานมา แวดล้อมด้วยเหตุผลว่าเป็นทุกข์จริงโว้ย อย่างนี้วิธีปรัชญา จะเรียกว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันมากกว่า ถ้าเป็นพุทธศาสนาต้องเป็นรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องมีสมมติฐาน ต้องมีของจริงจริง มาวางลงไปเป็นเดิมพัน ก็จะศึกษา พิสูจน์ ค้นคว้า ลงไปบนของจริงนั้น ซึ่งไม่ใช่สมมติฐาน ดังนั้นเราจึงไม่ใช้คำนึง คำนวน อย่างแบบปรัชญา เราใช้การที่เห็นลงไปจริงจริงโดยประจักษ์ ที่เรียกว่า ปัญญา ยถาปูตะ สัมมะ ปัญญา ยถาปูตะ ยานะทัศนะ (นาทีที่ 59:44) เป็นต้น ของจริง ปัญญาจริง ลูกตาจริง จัดการลงไปกับสิ่งที่เป็นตัวจริง ที่วางอยู่เฉพาะหน้าเราอย่างนี้ เราจะเรียกว่าวิถีทางวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ธรรมะต้องเป็นอย่างนี้ อย่าทำธรรมะให้เป็นปรัชญา มีสมมติฐาน แล้วก็แวดล้อมด้วยเหตุผลที่เป็นการคำนึง คำนวน พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสห้ามไว้ ว่าอย่าใช้วิธีการทางตรรกะ คือตรรกะวิทยา อย่าใช้วิธีการทางนะยะ ก็คือวิธีการทางปรัชญา แต่ใช้วิธีการในทางที่เป็น ยถาปูตะ สัมมะ ปัญญา (นาทีที่ 60:42) มีของจริง จัดการลงไปกับของจริง เกิดความรู้ตามที่เป็นจริง ทั้งถ้าว่าจะต้องพูดกับชาวต่างประเทศที่เขามาชักชวน หรือขอความรู้ทางปรัชญา เราก็บอกว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา มันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าคุณชอบปรัชญา จะให้พูดอย่างปรัชญาก็พูดได้ ก็พูดให้เพ้อเจ้อไป ปีนึงก็ไม่จบ ถ้าเขาชอบปรัชญา เดี๋ยวนี้คนก็ชอบปรัชญา หลงใหลในคำว่าปรัชญา แต่ดูจะมีความเข้าใจผิด ซ้อนอยู่ในนั้น เนื่องจากถ้อยคำ ที่เราไม่ควรจะทำผิดในเรื่องนี้ พุทธศาสนาต้องเป็นเรื่องจริง ของของจริง มีวิธีการศึกษาและปฏิบัติลงไปโดยทางวิถีทางวิทยาศาสตร์ แล้วเราก็จะดับทุกข์ได้ ถ้าให้ความทุกข์เป็นเรื่องสมมติ แล้ว คำนึง คำนวนไปตามเหตุผลที่ว่าจะนึกเอาเอง อย่างนี้ละก็ มันก็ไม่มีทางจะดับทุกข์ จะไม่ไปถึงพระนิพพาน ที่เป็นเครื่องดับทุกข์ ฉนั้นเตรียมตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ ร้อยเปอร์เซนต์เลย อย่าไปชอบว่าจะเป็นนักปรัชญาเลย ใครเขาชอบก็ปล่อยเขาไปเหอะ เดี๋ยวนี้หนังสือที่พิมพ์ขึ้นในโลก จะมีว่า ชื่อว่าพุทธปรัชญานี้มากที่สุด หายากที่จะมองว่า พุทธ วิทย์ วิทยาศาสตร์ หรือพุทธวิทยาศาสตร์นี้หายาก ที่เขาพิมพ์ขึ้นมาขายในโลกเวลานี้ เพราะว่าโลกมันกำลังหลงคำว่า ปรัชญา ขอใช้คำหยาบคายที่สุดว่า มันอร่อยแก่สมอง ปรัชญา ไอ้วิทยาศาสตร์นี้มันไม่เป็นอย่างนั้น ไอ้ปรัชญา มันเป็นเฮโรอีนแก่มันสมอง คนมันก็ติดกันใหญ่ ถ้าพุทธศาสนาไม่เป็นอย่างนั้นมันต้องเป็นเรื่องจริง ของจริง ตามธรรมชาติที่เป็นจริง โดยกฎของธรรมชาติ
ต้องมีวิธีการที่จริง โดยกฎของธรรมชาติ แล้วก็มาแก้ไขปัญหานั้นๆ ถ้าเราทำอย่างนี้แล้วก็สติปัญญาของเราจะไม่หลอกลวงเราให้โง่ เดี๋ยวนี้เรากำลังถูกหลอกลวงโดยสติปัญญาของเรา หลงใหลแต่ในเหยื่อของกิเลส แล้วผลิตมันเรื่อย ผลิตเหยื่อของกิเลส ผลิตปัจจัยของกิเลส มาส่งเสริมกันจนคนมีกิเลส มันก็พูดกันไม่รู้เรื่อง มันก็มีแต่จะทำลายล้างกัน ด้วยอำนาจของกิเลสของตัว คือความเห็นแก่ตัว ถ้ามีกิเลสก็ต้องเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวแล้วมันก็ต้องทำ เพื่อประโยชน์ของตัว ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น ตัวเองก็ไม่เป็นสุข ผู้อื่นก็ไม่เป็นสุข แม้แผ่นดินโลกนี้ก็ถูกทำลายล้าง เดี๋ยวนี้เขาว่าน้ำมันจะหมดแล้วใช่ไหมในแผ่นดิน ต่อไปอะไรมันก็หมดไปจากแผ่นดินอีกหล่ะ เพราะความโง่ของมนุษย์ที่มีความเห็นแก่ตัว ในความเอร็ดอร่อย ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็นพุทธบริษัทเลย เมื่อใดธรรมะกลับมา เมื่อนั้นมันถึงจะหมุนไปในทางที่ถูกต้อง อาตมาจึงพูดว่า ธรรมะกับการปฏิบัติธรรมะ รู้เรื่องธรรมะให้ถูกต้องในส่วนที่เป็นความจริง แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์แห่งความจริง ธรรมะในความหมายที่สาม คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นั่นแหละคือสิ่งที่จะช่วยเราได้ ขอให้สนใจในเรื่องนั้น ก็จะอยู่เหนือความทุกข์ ไม่โง่เป็นนนท์ทุก คือชอบความทุกข์ แล้วก็ใช้สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อฆ่าตัวเอง การบรรยายนี่ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้นึกถึงว่าวันแรกเรามาพูดถึงเรื่อง ธรรมะจำเป็นอย่างไร วันนี้ก็พูดถึงเรื่อง ธรรมะและการปฏิบัติธรรมะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้สติปัญญา ทางมันสมองที่เป็นวิวัฒนาการที่ดี นี่ทำลายตัวเอง ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนจงมีความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ แล้วก็ใช้เรื่องนี้ ใช้สติปัญญาอันนี้ ให้ถูกต้อง ตามความหมายคำว่าสติปัญญา มีความเจริญงอกงาม ก้าวหน้าในทางการศึกษา การปฏิบัติ การเป็นอยู่ อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ