แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนและนักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลายได้ยินว่า ท่านทั้งหลายต้องการจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสมาธิบ้าง อาตมาก็เห็นด้วยในความคิดอันนี้ เพราะว่า มันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการปฏิบัติธรรมะเพื่อดับทุกข์ อย่างที่ใครๆ ก็เคยได้ยินอยู่แล้วว่า ระบบทั้งระบบนั้นท่านแจกเป็นศีล สมาธิและปัญญา ศีล คือ การเตรียมกายวาจาหรือส่วนร่างกายไว้ให้พร้อมสำหรับการเกิดแห่งปัญญา คือ ญาณที่เป็นเครื่องตัดกิเลส สมาธิก็เป็นการเตรียมจิตไว้ให้พร้อมที่จะเกิดปัญญาหรือญาณเป็นเครื่องตัดกิเลส เมื่อมีญาณหรือปัญญาเป็นเครื่องตัดกิเลส มันก็ตัดกิเลส เราก็ได้รับผลแห่งการที่ไม่มีกิเลส คือ พระนิพพานในระดับสูงสุดเด็ดๆ ขาด หรือว่าในระดับต้นๆ ชั่วขณะ ซึ่งก็เป็นความสุขอย่างเดียวกัน ขึ้นชื่อว่า ความหมายของพระนิพพาน มันก็ต้องหมายความว่า เย็นหรือดับไปแห่งความร้อน มันก็ได้ความเย็น
ที่นี้มาดูกันให้ชัดลงไปว่า สมาธินั้นเป็นอย่างไร ต้องมีศีล คือ มีพื้นฐานทางร่างกายเหมาะสมที่จิตจะเป็นสมาธิเท่าที่จะทำได้ ปรับปรุงร่างกายเท่าที่จะทำได้แล้วก็จึงทำสมาธิ การฝึกสมาธิย่อมได้สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกสิ่งหนึ่ง คือ สิ่งที่เรียกว่า สติ เมื่อมีการฝึกสมาธิอยู่ก็เป็นการฝึกสติไปด้วยตลอดเวลา ความสำคัญของสตินั้นเหลือที่จะประมาณได้ ถ้าว่าไม่มีสติ ปัญญาก็เป็นหมัน ปัญญาเหมือนกับอาวุธวิเศษที่คมที่มีสมรรถนะมาก แต่ถ้าไม่เอามาใช้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันก็นอนอยู่ในซอก ฉะนั้นถ้ามีสติ คือ ความระลึกมันก็ระลึกถึงปัญญานั่นเอง มันก็เท่ากับว่า เอาอาวุธอันวิเศษนั้นมาใช้ฆ่าศัตรูได้ มันก็ได้รับประโยชน์ เดี๋ยวนี้เราโดยมากก็มีปัญญา อ่านบ้างศึกษาใคร่ครวญบ้างก็มีปัญญา แต่แล้วก็ไม่มีสติที่จะให้ปัญญามันเกิดขึ้น เมื่อมันมีเหตุการณ์เฉพาะหน้าในแต่ละวัน เราก็มีเหตุการณ์เฉพาะหน้าทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางผิวหนังบ้าง แม้กระทั่งทางจิตเองบ้าง และเราก็พ่ายแพ้ถึงเหตุการณ์เหล่านั้น คือ ในบางกรณีก็ไปหลงรักบ้าง ในบางกรณีก็ไปหลงเกลียดบ้างหรือว่าเอามาเป็นสิ่งที่วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา เป็นความทุกข์ยืดเยื้อ ถ้าเรามีสติเพียงพอ มันก็เป็นการระลึกได้ถึงปัญญาที่เรามีอยู่ศึกษาไว้มาเป็นความเฉลียวฉลาดในขณะที่มีความสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางผิวหนังหรือทางจิตเอง นั่นแหละขอให้เข้าใจว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราดับความทุกข์กันไม่ได้ในชีวิตประจำวันนี่ เพราะว่าสติมันไม่พอ ก็เท่ากับว่าไม่ได้เอาปัญญามาใช้ ไม่ได้เอาอาวุธมาใช้ ปัญญาเหมือนกับอาวุธ สติเหมือนกับการเอามาใช้ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะปกติอยู่ได้หรือไม่สามารถจะฉลาดอยู่ได้ แล้วมันก็โง่ในขณะที่มีการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องของมันมีว่าพอตา ยกตัวอย่าง เรื่องทางตา พอตาเห็นรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา ๓ประการ คือ ตาด้วย รูปที่เห็นด้วย จักษุวิญญาณด้วย นี่ทำงานร่วมกันเขาเรียกว่า ผัสสะ คือ เมื่อตาเห็นรูปนั่นเอง แต่ท่านระบุละเอียดว่าเมื่อตาด้วย เมื่อรูปที่เห็นนั้นด้วย เมื่อจักษุวิญญาณการเห็นรูปนั้นด้วย ๓ อย่างนี้มันถึงกันเข้าทำงานร่วมกันนี่ท่านเรียกว่า ผัสสะ เมื่อหูกับเสียงถึงกันเข้าเกิดการได้ยินทางหู ๓ อย่างนี้ทำงานร่วมกันท่านเรียกว่า ผัสสะทางหู ทางจมูกๆ กับกลิ่นถึงกันเข้าเกิดการได้กลิ่น รู้สึกกลิ่น เรียกว่า ฆานวิญญาณหรือวิญญาณทางจมูก ๓ อย่างนี้ถึงกันเข้าก็เรียกว่า ผัสสะ ช่วยจำคำว่า ผัสสะๆนี้ไว้ให้ดีๆ ลิ้นถึงเข้ากับรสอร่อยหรือไม่อร่อยก็สุดแท้ ก็เกิดความรู้สึกทางลิ้นที่เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ ๓ อย่างนี้พบกันเข้าเรียกว่า ผัสสะทางลิ้น ผิวหนังได้พบกันเข้าอันเนื่องกับสิ่งที่มากระทบทางผิวหนังแห่งทุกส่วน ส่วนใดก็ได้ของร่างกาย ส่วนที่มากระทบนั้นเรียกกันบาลีว่า โผฏฐัพพะ แปลกหู คนที่ไม่เคยได้ยิน เมื่อกายกระทบกันเข้ากับสิ่งที่มากระทบผิวกายนี้ มันก็เกิดการรู้สึกทางกาย เรียกว่า กายวิญญาณ กายนี้ด้วย สิ่งที่มากระทบด้วย กายวิญญาณด้วย ทำงานร่วมกันเรียกว่า ผัสสะทางกาย ทีนี้จิตมีความรู้สึกมากระทบก็เรียกว่า ก็เกิดมโนวิญญาณ ความรู้สึกทางมโน ทางจิต ทางใจเขาเรียกว่า ผัสสะทางจิต จำคำว่า ผัสสะๆ ไว้ให้ดีๆ นั่นแหละตัวปัญหา ถ้าผัสสะโง่ เรื่องก็จะเป็นทุกข์ไปในที่สุด คือ มันจะโง่ไปตลอดจนเป็นทุกข์ ถ้าผัสสะ มันฉลาดมีความรู้ในเรื่องมันก็จะฉลาดไปจนตลอดแล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์หรือไม่เกิดทุกข์ ที่นี้ผัสสะนั้นจะโง่หรือจะฉลาดก็แล้วแต่ว่าสติมันขนเอาปัญญามาทันเวลาที่ผัสสะที่ทำกันที่ทำอาการผัสสะนั้นหรือไม่ พูดสั้นๆ ว่า เมื่อตาเห็นรูปมีผัสสะทางตา สติเอาปัญญามาทันผัสสะนั้นก็เป็นผัสสะที่ฉลาด ผัสสะที่ฉลาดมันก็ให้เกิดความรู้ เพราะมันมีความฉลาด เวทนาที่จะเกิดต่อไปจากผัสสะ มันก็เป็นเวทนาที่มีความรู้ควบคุมอยู่ มันก็ไม่เกิดตัณหา คือ ความอยากอย่างโง่ๆ จะน่ารักก็รัก น่าโกรธก็โกรธ น่าเกลียดก็เกลียด น่ากลัวก็กลัว อย่างโง่ๆ เพราะมันโง่มาแต่ผัสสะและมันก็โง่มาที่เวทนาและก็โง่มาที่ตัณหา คือ ความอยาก ก็เกิดอุปทานว่า ตัวกูกูอยาก ก็เกิดภพ คือความเป็นแห่งตัวกูขึ้นมาในกรณีนี้ ภพนี่เพิ่งมีเดี๋ยวนี้ ภพเต็มที่แล้วก็เกิดชาติ คือ ความรู้สึกว่าตัวกูที่เต็มรูปแบบของมันเรียกว่า ชาติ มันมีชาติแล้วอะไรก็เป็นของกู มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ความเกิดก็ของกู ความแก่ก็ขอกู ความเจ็บก็ของกู ความตายก็ของกู ลูกของกู เมียของกู ผัวของกู ทรัพย์สมบัติของกู อะไรมันก็มารวมอยู่ที่ตัวกู มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ถ้าสติมี มันก็เอาปัญญามาทันในเวลาผัสสะก็เป็นผัสสะฉลาด ให้เกิดเวทนาก็เป็นเวทนาที่มีความฉลาดควบคุมอยู่ ฉะนั้นมันจึงมีปัญญาไปด้วย ที่นี้สุขที่ฉันน่ะเห็นตาเห็นรูปทางตาก็รู้ได้ว่าสวยก็ได้ ไม่สวยก็ได้ แต่มันไม่ไปหลงรักที่สวย ไม่เป็นหลงเกลียดที่ไม่สวย มันรู้ว่าเวทนาทั้งนั้น คือ ความรู้สึกตาทั้งนั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนนี้มันเป็นปัญญาที่เราเคยศึกษาว่า ของมากระทบตานั้นสวยก็ได้ ไม่สวยก็ได้ เพศหญิงก็ได้ เพศชายก็ได้ อะไรก็ได้ แต่ให้รู้สึกว่า เวทนานั้นมันสักแต่ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อจมูก เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อผิวหนังได้สัมผัสทางผิวหนัง เมื่อจิตได้รับความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่มันไม่หลงรัก ไม่สุขเวทนา ไม่หลงเกลียดในเวทนา เพราะว่าเวทนานั้นมันประกอบอยู่ด้วยปัญญา เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดความอยากอย่างโง่เขลาเป็นตัณหา เมื่อไม่มีตัณหา มันก็ไม่มีอุปาทาน ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูเพราะมันไม่มีความอยาก ไม่มีความอยากก็ไม่ปรุงความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยาก มันก็ไม่มีกูผู้อยาก มันก็ไม่มีภพมันก็ไม่มีชาติ ในกรณีอันเกี่ยวกับตาเห็นรูป หรือเมื่อหูได้ยินเสียง หรือเมื่อจมูกได้กลิ่น ความทุกข์มันก็ไม่มี ถ้าหลับตามองเห็นภาพอันนี้ว่า ถึงจุดที่เรียกว่าผัสสะนั่นแหละ มันเป็นจุดตั้งต้นที่จะแยกทางไว้ฝ่ายที่เป็นทุกข์หรือไปฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ ถ้าสติมาทันค้นเอาความรู้มาในขณะผัสสะเป็นผัสสะฉลาด ก็ไม่เกิดตัณหาอุปาทาน ภพ ชาติและเป็นทุกข์ ฉะนั้นกลายเป็นผัสสะที่ฉลาดว่า เวทนา สักแต่เวทนา ที่มันร้องเย้ยๆ ว่า สักแต่เวทนาเท่านั้นโว้ย กูไม่หลงกับมึง ว่าสวยหรือไม่สวย น่ารักหรือไม่น่ารักจนเกิดความรักหรือเกิดความไม่รัก รู้ว่าเวทนาเท่านั้นมันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ เรามีเรื่องที่จะต้องจัดการกับเวทนานี้ไหม ถ้ามันมีเรื่อง ก็จัดเวทนานั้นอย่างไรตามที่สมควรที่จะไม่เกิดเรื่องราวขึ้น จะหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเวทนานั้นก็ได้ หรือรูปที่มากระทบกันเข้า เราจัดให้มันกลายเป็นวัตถุแห่งการศึกษาไปเสียและมันก็ไม่เกิดตัณหาอุปาทาน ภพชาติที่เป็นทุกข์ ถ้ามันไม่ต้องทำอะไรหมด ก็ไม่ทำอะไรหมด ถูกปล่อยให้มันเลิกไปดับไป แต่ถ้าว่ามันสมควรที่จะทำอะไรทำได้เกี่ยวกับเวทนานั้น มันอาจจะเขยิบไปถึงว่า สวยก็ลองสวยดูบ้างแต่แล้วจิตก็ไม่หลงในความสวย ถ้าไม่สวยก็ดูมันไม่สวย ไม่หลงในความไม่สวยจนเกิดรำคาญเป็นทุกข์ ในเรื่องที่หูได้ยินเสียงไพเราะหรือไม่ไพเราะก็มีหลักอย่างเดียวกัน จมูกได้กลิ่นหอมเหม็นก็มีหลักอย่างเดียวกัน ลิ้นได้รู้รสอร่อยหรือไม่อร่อยก็มีหลักอย่างเดียวกัน ผิวหนังได้สัมผัสทางผิวหนังก็มีหลักอย่างเดียวกัน คือมันเกิดเวทนา และก็สติเอาปัญญามาทันในขณะผัสสะ เวทนานั้นก็เวทนาฉลาดเป็นเวทนาฉลาด คือ มีสติปัญญาควบคุมอยู่ มันก็ไม่เกิดตัณหาอุปทาน ภพ ชาติที่เป็นทุกข์ประจำวัน นี่ท่านมองให้เห็นความสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติ ปัญญาก็ไม่มาในขณะแห่งผัสสะก็เป็นผัสสะโง่และก็เป็นเวทนาโง่ เป็นความอยากที่โง่ คือ ตัณหา และมันก็ปรุงเป็นตัวกูผู้อยากโง่ถึงที่สุดว่า มีตัวกู กูอยากขึ้นมา จนกระทั่งว่ามันต้องเป็นทุกข์ทุกชนิด เพราะมีตัวกูยืนรออยู่สำหรับจะเป็นเจ้าของนั่นเจ้าของนี่ มันก็ได้เป็นทุกข์ เอ้า, สรุปความเป็นพิธีว่า ถ้าไม่มีสติคนเราจะต้องเป็นทุกข์ ทุกคราวที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้รับอารมณ์ภายนอกเอามาสัมผัส
ที่นี้เราจึงต้องการความมีสติ ขจัดปัญหาเหล่านี้เพื่อจะมีสติ และเราก็ต้องฝึกสติ ให้ฝึกสติก็คือที่เรียกว่า สติปัฏฐาน การฝึกให้มีสติมาทันแก่เวลา นี่คือ ความจำเป็นที่จะต้องฝึกสติ ก็คือ ฝึกสมาธินั่นแหละเพื่อจะเอามาใช้ให้ทันแก่เวลาให้มีสติมากพอ ให้มีสติรวดเร็วพอทันแก่เวลา ไม่ใช่ง่ายแต่ก็ไม่เหลือวิสัย เพราะว่าพฤติของจิตมันเป็นไปรวดเร็วเหมือนกับฟ้าแลบ รวดเร็วอย่างฟ้าแลบ ถ้าสติไม่มากไม่พอไม่เร็วจริงๆ มันก็ไม่ทัน ไม่ทันที่จะมีสติ เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส หรือกายสัมผัสทางผิวกาย หรือจิตรู้สึกอะไรขึ้นมา ฉะนั้นการฝึกสติให้มากพอและรวดเร็วนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่ง ถ้ามองอีกทางหนึ่งเป็นประโยชน์ปลีกย่อยก็คือว่า ถ้ามีสมาธิ มันก็มีความสุข มันหยุดสิ่งต่างๆ ไม่ให้มารบกวนได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิเสียแล้วไม่มีอะไรมารบกวนจิตได้ มันก็มีความสบายก็มีความสุข ฉะนั้นเราจึงฝึกให้สมาธิสำหรับจิตมีสมาธิ มันก็ไม่มีอะไรมารบกวนได้ หรือจะพูดกลับกันก็ได้ว่า เมื่อมีอะไรมารบกวน มันก็อยู่ในสมาธิเสียก็ป้องกันการรบกวนได้ แต่ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ด้วยสติแล้วเราก็ต้องฝึกสติด้วยวิธีที่เรียกว่าสมาธิภาวนา หรือเรียกว่าสติปัฏฐานก็ได้ แต่ด้วยเหตุที่เราฝึกด้วยการหายใจ เราก็เรียกว่า อานาปานสติภาวนา การฝึกจิตโดยอาศัยการหายใจเข้าออก เป็นการฝึกให้จิตมีคุณค่าถึงที่สุดเท่าที่มันจะมีได้ จิตที่มาตามธรรมชาติ ตามสัญชาตญาณ มันก็มีของมันอยู่ระดับหนึ่ง แต่ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ถึงที่สุด
ในเมื่อเราต้องการจะให้จิตนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ถึงที่สุด เราก็ฝึกมัน ให้จิตนี่มีสติ รวมทั้งมีปัญญาเมื่อเราศึกษาเรื่องธรรมะอยู่ จิตก็สะสมปัญญาความรู้เอาไว้ เมื่อเราฝึกสมาธิอยู่ มันก็เป็นการฝึกให้จิตมีสติ คือ เครื่องที่จะขนเอาปัญญามาใช้ทันเวลา ถ้าจิตสามารถจะมีทั้งสติและปัญญาได้แล้วก็รอดตัว คอยดูเถอะความล้มเหลวต่างๆ ความทุกข์ร้อนที่เกิดขึ้นมาในใจ ความวิตกกังวลประจำตัว นี่มันเกิดมาจากการที่ไม่มีสติพอ ไม่มีปัญญาพอ เมื่อเรามองเห็นข้อเท็จจริงอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดฉันทะ ความพอใจที่จะฝึกสมาธิ เกิดความพากเพียรในการฝึกสมาธิ เอาใจใส่สอดส่องอยู่กับการฝึกสมาธิ เราก็ต้องฝึกได้สักวันหนึ่ง เมื่อมีสมาธิแล้วก็จะมีสติด้วย มีสมาธิด้วย มีปัญญาด้วย นี่แยกออกให้เห็น เพราะว่าระบบของการฝึกนั้นมันทำให้เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญาด้วย แต่ข้อนี้หมายถึงระบบอานาปานสติ ๑๖ ขั้นอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ การฝึกสมาธิมีหลายสิบแบบทุกแบบเป็นสมาธิได้ด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าแบบไหนสำนักไหน จะช่วยให้เกิดสมาธิได้ไม่มากก็น้อย แต่ที่ให้เกิดสติสมบูรณ์ให้เกิดปัญญาไปตามลำดับนี่ไม่แน่ อาตมาได้พิจารณาสังเกตดูแล้วว่า ไม่มีระบบไหนที่แน่ คือ ตรงตามที่เราประสงค์นี้ยิ่งไปกว่าระบบที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เอง เรียกว่า อานาปานสติภาวนา ทรงชี้แจงแนะนำมาว่า พวกเธอจงฝึกอานาปานสติภาวนา ความสำเร็จของพระองค์เองในการตรัสรู้ก็ได้อาศัยอานาปานสติภาวนาทรงเล่าไว้เอง เรื่องอย่างนี้หาอ่านดูได้จากหนังสือชื่อพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ว่า พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการตรัสรู้มาก็ด้วยอานาปานสติภาวนา ก็ทรงแนะนำสั่งสอนว่าให้ใช้ระบบนี้ ฉะนั้นเราจึงรับเอาระบบนี้มาเป็นหลักปฏิบัติสำหรับสถานที่นี้ นั่นคือ ฝึกอานาปานสติภาวนาเพื่อมีสติ เพื่อมีสมาธิ เพื่อมีปัญญา และเพื่อรู้อาการที่ปัญญาตัดกิเลส ตัณหา อุปาทานกระทั่งถึงรู้ว่ามันตัดกิเลส ตัณหา อุปาทานแล้ว นี่เรียกว่า อานาปานสติภาวนา รวมความว่า เราจะฝึกสมาธิ
ที่นี้ก็อยากจะอธิบายส่วนที่เป็นความลับของธรรมชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกี่ยวกับเรื่องที่จะเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธินี่ อาตมาใช้คำว่า ความลับของธรรมชาติ หมายความว่า ธรรมชาติมันมีอยู่แล้ว มันมีกฎเกณฑ์ของมันอยู่แล้ว ว่าถ้าทำอย่างนี้ๆ แล้วผลก็จะเกิดขึ้นอย่างนี้ๆ ถ้าทำอย่างนี้ๆ ผลก็จะเกิดขึ้นอย่างนี้ๆ ถ้าทำอย่างนี้ๆ ผลก็จะเกิดขึ้นอย่างนี้ๆ นี่เรียกว่า มันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ทุกอย่างมันมีกฎเกณฑ์ของธรรมชาติต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เราจึงจะได้รับผลตามที่เราต้องการ ที่นี้ในเรื่องที่เกี่ยวกับสมาธินั้นมันมีอยู่ว่า จิตตามปกตินั้นมันฟุ้งซ่านหรือมันเบา มันไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ เราต้องฝึกให้มันหนักแน่นมั่นคง ให้มันเกลี้ยงเกลาจากสิ่งที่มารบกวนจิต ให้จิตเป็นอิสระว่องไวในการทำหน้าที่ของมัน ตามหลักสั้นๆ ก็ฝึกให้มั่นคงเข้มแข็ง ให้บริสุทธิ์สะอาด ให้มันไวต่อหน้าที่ของมันที่จะต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง นี่คือความหมายของคำว่าสมาธิ ถ้าพูดว่าเป็นสมาธิแล้วก็ต้องประกอบไปด้วยลักษณะ ๓ อย่างนี้ คือ จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์ของสมาธิ จิตบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลาจากนิวรณ์ที่มารบกวนจิต ที่นี้จิตก็เป็นอิสระว่องไวเฉียบแหลม รวดเร็วในการทำหน้าที่ของจิต และจิตชนิดนี้มันก็มีสมาธิและมีปัญญา ซึ่งตัดกิเลส ตัณหาอุปาทานและก็ประสบผลสำเร็จ
เอ้า, ที่นี้ก็พูดให้แคบเข้ามาว่าที่จะเป็นสมาธิหรือตั้งมั่นได้นั้นมันเป็นอย่างไร มันเป็นหลักทั่วไปว่าไม่ว่าจะทำสมาธิแบบไหนต้องจัดให้จิตได้กำหนดที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อยู่อย่างแนบแน่นตลอดเวลาที่เราฝึก คือธรรมดานั้นจิตเหมือนนกบินปลิวว่อนไปในอารมณ์ต่างๆ ฉะนั้นความเป็นสมาธิมันไม่มี ที่นี้เราต้องจับมันให้กำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วแต่เราจะใช้ ให้จิตมันกำหนดได้ก็แล้วกัน มันจึงเกิดมีระบบสมาธิมากมายหลายสิบแบบ นับตั้งต้นแต่ว่ากำหนดกสิณ คือ ดวงหรือวงมีสีต่างๆ กัน นี่มันง่ายเพื่อมันง่าย วงกลมๆ ขนาดเหมาะสมตั้งอยู่ตรงหน้าแล้วจิตก็เพ่งกำหนดอยู่แต่ที่สิ่งนั้น ถ้าทำสำเร็จก็เป็นสมาธิแบบกสิณทั้งหลาย แม้เพ่งหลอดไฟฟ้าเพ่งอะไรทำนองนี้ก็ล้วนนับรวมอยู่ในกลุ่มนี้ หรือบางทีก็ไปเลือกเอาซากศพในป่าช้าต่างๆ กันเป็นเครื่องกำหนด อันนี้มันมีความมุ่งหมายอย่างอื่นแฝงอยู่ด้วย นอกจากเป็นสมาธิแล้วต้องการจะให้เห็นความไม่งาม ความหลอกลวงอะไรของสิ่งสวยงาม เป็นต้น เพ่งที่ซากศพจนจิตเป็นสมาธิ มันก็ได้เหมือนกัน ยังมีอย่างอื่นอีกมากมายหลายสิบแบบ แต่มันมีตรงกันทุกแบบ ก็คือ ข้อที่ว่าต้องมีอะไรอย่างหนึ่งมาให้จิตกำหนด อย่าให้มันปลิวว่อนไปตามสบาย อาตมาก็ได้บอกแล้วว่าที่พอใจที่สุดที่เห็นว่ามีประโยชน์ที่สุดก็คือที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะไว้เองว่า ลมหายใจ เรามีการหายใจ เรามีลมหายใจ ฉะนั้นขอให้เอาลมหายใจนั่นเป็นวัตถุ เป็นนิมิต เป็นอารมณ์แล้วแต่จะเรียก เป็นวัตถุก็เป็นที่ตั้งสำหรับจิตจะกำหนด เป็นอารมณ์ก็คือว่า จิตมันจะได้เกาะที่นั่น เป็นนิมิต ก็คือ จิตมันจะได้เพ่งดูที่นั่น และก็ยังเรียกชื่ออย่างอื่นได้อีก เดี๋ยวนี้เราเรียกกันอยู่มากก็คือว่า มันเป็นวัตถุสำหรับจิตกำหนด มันเป็นอารมณ์สำหรับจิตเกาะ เป็นนิมิตสำหรับจิตเพ่งดู เมื่อเขาใช้อย่างอื่นก็ได้ แต่ว่าระบบอานาปานสตินี้มุ่งหมายจะให้ใช้ลมหายใจที่หายใจอยู่ตลอดเวลานั่นเอง และระบบนี้มันดีอยู่ที่ว่า จะปฏิบัติไปได้เรื่อยไม่ต้องเปลี่ยนระบบ ไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง ไม่ต้องเปลี่ยนอารมณ์ ปฏิบัติเกี่ยวกับลมหายใจไปได้เรื่อยจนไปถึงขั้นสุดท้าย คือ หลุดพ้นไม่รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว เพราะเหตุที่เกี่ยวกับลมหายใจอยู่ตลอดสาย เราจึงเรียกชื่อระบบนี้ว่า ระบบอานาปานสติภาวนา การทำจิตให้เจริญด้วยอาศัยลมหายใจเข้าออก ๑๖ ขั้นนั้นละเอียดมาก ไม่เหมาะที่จะเอามาจาระไน มันจะทำให้ยุ่งหัวและเสียเวลามาก นี่จะบอกแต่ใจความสำคัญก็คือว่า เอาลมหายใจมาเป็นวัตถุสำหรับกำหนดเป็นอารมณ์ สำหรับเกาะ สำหรับยึดเป็นนิมิต สำหรับเพ่งดู ก็ตรงนี้อยากจะอธิบายให้เข้าใจแทรก อธิบายแทรกให้เข้าใจสักนิดหนึ่งว่า สิ่งที่จิตจะเกาะได้ง่ายที่สุด สะดวกที่สุดนั้นมันเป็นเรื่องของภาพที่เห็นด้วยตา เห็นด้วยตาเนื้อธรรมดานี้ก็ได้ เช่น เห็นก้อนหินก้อนนี้ก็เป็นภาพก้อนหินที่จิตกำหนด หรือเป็นภาพตาภายใน คือ ไม่ใช่ตาเนื้อ เป็นตาภายใน คือ เรื่องของจิตมันเห็นได้ในภายในโดยมโนภาพ คุณลืมตาดูก้อนหินก้อนนี้ให้ติดตา ที่นี้ก็หลับตายังเห็นก้อนหินก้อนนั้นอยู่ เขาเรียกว่า เรามีการเห็นได้ถึง ๒ ชั้น เห็นด้วยตาธรรมดาในตอนแรกและต่อมาก็จะเห็นด้วยตาภายใน คือ ตาจิต ตอนนี้เรียกว่า เห็นมโนภาพ ถ้าภาพก้อนหินธรรมดาที่เห็นด้วยตานี้ก็เรียกว่า ภาพธรรมดา แต่ถ้าเห็นด้วยตาข้างในหลับตาเสียแล้วยังเห็นอย่างนี้เรียกว่า มโนภาพ การฝึกสมาธิจะต้องผ่านมาทางการเห็นด้วยมโนภาพทั้งนั้นเพราะมันง่าย จะไปตั้งต้นด้วยกสิณด้วยอสุภะด้วยอะไรทุกอย่างทุกแบบในที่สุดจะต้องมารวมอยู่ที่การเห็นมโนภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ที่นี้อย่างว่าดูหลอดไฟฟ้าด้วยตาแล้วหลับตาเสียก็ยังเห็นหลอดไฟฟ้านั้นเหมือนกับเมื่อลืมตาอย่างนี้เรียกว่า มโนภาพ นี่ก็หมายความว่าเราสามารถบังคับจิตให้สามารถสร้างมโนภาพ แปลว่า เราเริ่มมีอำนาจเหนือจิตขึ้นมานิดหนึ่งแล้วหรือขั้นหนึ่งแล้ว คือ ทำจิตให้มีมโนภาพได้ จิตที่จะเป็นสมาธิชั้นดี ชั้นละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไปจะต้องเพ่งมโนภาพทั้งนั้น มโนภาพนั้นจะสร้างขึ้นมาจากอะไรก็ได้ สร้างมาจากวัตถุเห็นๆ อยู่นี่ก็ได้ สร้างมาจากความคิดนึกก็ได้ ถ้าสร้างสำเร็จ แต่มันยาก มันยากมากที่จะสร้างมโนภาพจากความรู้สึกคิดนึก ฉะนั้นเราสร้างมาจากสิ่งที่มันเห็นได้ด้วยตาหรือรู้สึกได้ด้วยระบบประสาท อย่าเอาลมหายใจมาเป็นอารมณ์ของสมาธิ ในชั้นแรกก็เป็นลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออกอยู่ แต่ในที่สุดเราเปลี่ยนให้มันเกิดมโนภาพขึ้นมาเป็นดวง เป็นรูปร่าง เป็นมโนภาพที่สุดของจมูกที่ลมหายใจจะต้องกระทบทุกครั้งที่มันหายใจเข้าออก นั่นก็เรียกว่า สร้างมโนภาพขึ้นมาที่ตรงนั้น นี่อธิบายล่วงหน้าไปแล้ว เสร็จแล้วว่า มันต้องฝึกจิตจนสามารถมีมโนภาพสร้างขึ้นมาสำหรับมันจะกำหนดลงที่นั่นอย่างแน่วแน่ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป มันจึงจะเกิดสมาธิเต็มที่ๆ เรียกว่า เป็นฌานหรือรูปฌาน เป็นฌานที่หนึ่ง เป็นฌานที่สอง เป็นฌานที่สาม เป็นฌานที่สี่
ที่นี้เราก็มาพูดกันใหม่ตั้งแต่ต้นถึงเรื่องอานาปานสติ กำหนดลมหายใจในขั้นแรก เรานั่งในที่ๆสะดวกสบายพอสมควรเพื่อไม่มีอะไรรบกวนแต่ถ้าเราหาที่อย่างนั้นไม่ได้ เราก็ไม่รู้ไม่ชี้กับมันเสีย อย่าไปสนใจว่า มันมีอะไรหนวกหู ไม่ต้องไปสนใจ เพราะเราหาที่ๆ ดีกว่านั้นไม่ได้ถ้าเราอยู่ที่บ้าน อาตมาไปเห็นพวกฝึกสมาธิในอินเดีย เขานั่งฝึกสมาธิอยู่ในอุทยานสาธารณะ คนมันเที่ยวเต็มไปหมด มันก็ยังฝึกของมันได้มันนั่งตรงนั้นตรงนี้ตามที่เห็นสะดวก มันก็หลับตาปิดหูปิดตาก็ทำสมาธิของมันได้ ทั้งที่คนไปเที่ยวเกลื่อนทั่วไป นี่มันไม่โง่ มันหาได้ที่ดีที่สุดอย่างไร มันก็ทำได้ ที่นี้พวกเรามันโง่ว่า ต้องเงียบสงัด ต้องไม่มีอะไรกัน มันก็ถูกเหมือนกัน ความโง่มันก็ถูก แต่อย่าไปตัดกันอย่างนั้น ต้องได้เมื่อหาที่เงียบสงัดไม่มีอะไรไม่ได้ตรงไหนก็ได้ ที่บ้านก็ได้ คือ อย่าไปดูไปฟังไปสนใจกับมันนี่เรียกว่าหาที่ที่พอเหมาะ และเมื่อร่างกายปกติดีไม่เจ็บไม่ไข้ ไม่มีวิปริตในร่างกาย ฉะนั้นนั่งลงทำสมาธิด้วยท่านั่งที่เขาเรียกว่า นั่งขัดสมาธิ ขัดสมาธิ ก็คือ ขัดสมาธิ ขัดสมาธิเป็นท่านั่งที่มันแน่นพอที่จะทรงตัวอยู่ คือ ทำร่างกายให้เป็นสมาธิให้มันแน่น ให้มันตั้งมั่นเหมือนกัน ในท่านั่งขัดสมาธิแบบที่เขาสอนๆ กันอยู่ มันเป็นท่านั่งที่เหมาะสำหรับจะฝึกสมาธิ คือ พับเท้าซ้ายเข้ามาไว้บนเข่าขวา ยกเท้าขวาขึ้นมาวางบนเข่าซ้าย มันก็แน่นอัด แล้วมือวางไว้บนเข่า อย่างนี้มันก็มีความแน่นล้มไม่ได้เหมือนกับรูปปิรามิด รูปปิรามิดสามเหลี่ยมมันล้มไม่ได้ ฉะนั้นผู้ชายตามปกติที่แนะนำก็ต้องให้นั่งฝึกสมาธิ นั่งขัดสมาธิ ในเมืองไทยก็ว่าผู้หญิงเขาก็นั่งอีกแบบหนึ่ง นั่งพับขาไปตรงๆ แต่ที่ประเทศพม่า ที่สำนักใหญ่ของพม่านั่งสมาธิ ก็ขัดสมาธิทั้งหญิงทั้งชาย นั่งแบบขัดสมาธิเพชรเหมือนพระพุทธรูปที่ขาไขว้กันอยู่อย่างนี้แน่น ที่นี้ฝรั่งบางคนเขานั่งไม่ได้ ขามันแข็งมาแต่เดิม มันนั่งไม่ได้ มาหัดดัดขานั่งเป็นสมาธิได้ นั่งท่าสมาธิได้อยู่เป็นสัปดาห์ๆ ร้องห่มร้องไห้น้ำตาไหล ว่านั่งขัดสมาธิก็นั่งไม่ได้ กว่ามันจะได้ก็กินเวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน คนไทยเรานี้โชคดีที่ว่านั่งขัดสมาธิเป็นมาแต่เด็กๆ ที่นี้ก็ได้ท่านั่งที่มันแน่น มันล้มไม่ได้ นี่เผื่อเอาไว้ที่ว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วความรู้สึกมันไม่เต็มสำนึก มันกึ่งสำนึกร้ายสำนึกก็ตาม มันไม่ล้มเพราะเรานั่งอย่างนี้ เรานั่งวิธีที่เรียกว่า ขัดสมาธิ ส่วนขานี่ก็ขัดกันอยู่อย่างล้มไม่ได้และมือของมันก็อยู่บนเข่าอย่างนี้ มันก็ยิ่งล้มไม่ได้ นั่งให้ตัวตรงให้จุดศูนย์ถ่วงมันอยู่ตรงกลางของกระดูกสันหลังตลอดลงไปนี่ มันก็ล้มไม่ได้ มันก็เป็นสมาธิ ไม่มีสำนึกแล้วมันก็ล้มไม่ได้ มันมีเหตุผลอย่างนั้นหรือมันมีความจำเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าทำไม่ได้ มันก็ผ่อนผันกันไปตามเรื่อง กระทั่งว่าเราจะนั่งพิง คือ เก้าอี้ที่มันสะดวกให้การพิง มันช่วยกันสักหน่อยมันก็ได้เหมือนกันแหละแต่ไม่สมบูรณ์แบบ ถ้าสมบูรณ์แบบจะต้องนั่งโดยไม่พิงอะไร และก็นั่งให้มัน Compact ของมันเองในตัวเองล้มไม่ได้อย่างนี้เป็นวัตถุประสงค์ ที่นี้เราต้องนั่งตัวตรงเพื่อเกิดความปกติในการหายใจ ถ้าเรานั่งตัวงอมันไม่เกิดความปกติในการหายใจและมันจะล้มด้วย ฉะนั้นจึงแนะให้นั่งตัวตรง ที่นี้ก็เริ่มกำหนดลมหายใจ ลมหายใจมันมีอยู่แล้วอย่างไร เราก็กำหนดให้มันรู้ก่อนว่าเป็นอยู่อย่างไร เพื่อจะรู้ธรรมชาติเสียก่อนว่า ตามธรรมดามันเป็นอย่างไร ก็เริ่มสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจจะใช้คำว่า จิตก็ได้ จิตเป็นผู้กำหนดเพราะภาษามันดิ้นได้ มันทำความลำบากเหมือนกัน ถามอะไรกำหนดลม จิตก็ได้ สติก็ได้ กำหนดลม จิตที่กำหนดลมเขาเรียกสติก็ได้ เมื่อมันเข้าไปมันก็ตามกำหนดเข้าไป เมื่อมันออกมาก็ตามกำหนดออกมาก อาตมาถึงใช้คำใหม่ขึ้นมาคำว่า วิ่งตามลม ฉะนั้นขั้นหนึ่งขั้นที่แรกสุดของเรา คือ วิ่งตามลม และทางที่ลมมันวิ่งอยู่ คือ จากจมูกถึงสุดที่สะดือ นี่สมมตินะจุดข้างในสุดที่สะดือ จุดข้างนอกสุดที่ปลายจมูก แล้วจะมีลมหายใจวิ่งไปวิ่งมาอยู่ระหว่าง ๒ จุดนี้ ที่นี้จิตก็วิ่งตาม ไม่ให้ขาดตอน ไม่ให้มีระยะที่ว่างที่ไม่ได้กำหนด อย่าให้มี เมื่อเข้าไปสุดข้างในแล้วมันจะมีระยะกว่าที่มันจะกลับออกมา ตรงนั้นมันอาจจะว่างแล้วขาดตอนและจิตหนีเข้าไปที่อื่นก็ได้ หรือว่าหายใจออกสุดแล้วก่อนที่มันจะกลับเข้าไป มันมีระยะว่างนิดหนึ่ง นี่ก็ต้องระวังให้ดี ว่างนิดหนึ่งนี่จิตอาจจะหนีไปที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าเราเป็นนักเลงสักหน่อย มันก็ไม่หนีได้ เรียกว่า วิ่งตามลมหายใจเข้าออกๆ ให้สำเร็จสักขั้นหนึ่งก่อน นี่ขั้นแรกก็มีอย่างนี้
เดี๋ยวนี้ก็เรามีลมหายใจเป็นวัตถุ เป็นอารมณ์ เป็นนิมิตสำหรับจิตกำหนด ทั้งเข้าและทั้งออกคือตลอดเวลาต้องเข้าออกๆ เหมือนกับว่า เขาเปรียบอุปมาเหมือนกับว่า พี่เลี้ยงระวังเด็กที่นอนอยู่ในเปลยังไม่หลับ แกก็ต้องส่ายหน้าไปตามเปลแกว่งไปแกว่งมาให้เห็นเด็กอยู่ตลอดเวลา อย่าให้เด็กมันตกลงมาจากเปล จิตนี้กำลังมีอาการกำหนดที่ลมหายใจที่เข้าออกๆไม่ให้ขาดตอนได้ เพียงขั้นแรก ขั้นที่หนึ่งเท่านั้นแหละกำหนดลมหายใจออกเข้าๆ นี่ อาจจะเป็นปัญหาแก่บางคนและทำไม่ได้ และคนนั้นมันโง่ มันก็ทำไม่ได้แล้วทำไม่ได้แล้ว ทำได้นิดหน่อยแล้วมันก็ไม่ได้แล้ว จิตของเราบังคับไม่ได้ หนีไปตลอดเวลาทำไม่ได้ คนนี้มันโง่ เพราะมันไม่รู้ว่าไม่มีใครทำอะไรได้ด้วยการกระทำครั้งแรก อาตมาชอบเปรียบข้อนี้ เปรียบข้อเท็จจริงอันนี้เกี่ยวกับการขี่รถจักรยาน อาตมาเข้าใจว่า ทุกคนที่นั่งในที่นี้ขี่รถจักรยานกันเป็นทั้งนั้น และอยากจะถามว่าใครบ้างที่มันพอขึ้นนั่งบนจักรยานครั้งแรกแล้วขี่ไปได้เลย มันมีใครบ้างยกมือ คนไหนพอขึ้นนั่งบนจักรยานทีแล้วถีบไปได้เลย ก็ลองถามดูมันล้มกี่ครั้ง ยี่สิบครั้ง สามสิบครั้ง สี่สิบครั้ง มันจึงค่อยๆ เข้ารูป ค่อยๆ เข้ารูป ค่อยๆ เข้ารูป แล้วก็ขี่รถจักรยานได้ ถ้าคนโง่มันก็เลิกหัดเสียซะแต่การล้มครั้งแรก ไม่เอาแล้ว โว้ย, กูทำไม่ได้แล้ว มันไม่เหมาะสำหรับกู มันก็ไม่ได้ ที่นี้ตรงนี้มีเคล็ดมากที่คนโง่ไม่ค่อยรู้ คือ ไม่มีใครสอนได้ ไม่มีใครสอนได้อย่าไปหวังให้ใครสอนป่วยการ อาจารย์คนไหนมาบอกว่าสอนได้ มันก็อวดดี มันโกหกและอวดดี คือ ใครสอนให้คุณขี่รถจักรยานได้ ไปคิดดูใหม่ถ้าขี่จักรยานเป็นไปถามไปตรวจสอบดูใหม่ว่า ใครมันสอนให้คุณขี่จักรยานได้ เพื่อนคนไหนมันสอนได้ มันได้แต่บอกอย่างนั้นๆ เราก็เห็นอยู่แล้ว คนอื่นเขาขี่กันอยู่จับตรงไหนถีบตรงไหนแต่พอขึ้นไปมันล้ม ที่มันขี่ได้ รถจักรยานนั่นแหละมันสอนคิดๆ ดูให้ดี รถจักรยานเป็นผู้สอน และถ้าชัดยิ่งขึ้นไปอีกว่า การล้มมันสอน การล้มของจักรยานมันสอน ไม่ใช่ครูอาจารย์ที่ไหนมันสอน การล้มหัวเข่าถลอกปอกเปิกนั่นแหละ มันสอนจนมันขี่ได้ ที่นี้มันก็ขี่ได้ก๊อกแก๊กๆ แล้วใครมันสอนให้ขี่ได้เรียบ ไม่มีใครสอนได้หรอก รถอีกแหละมันสอนจนขี่ได้เรียบ แล้วสอนให้ขี่ปล่อยมือได้ ไม่มีใครมาสอนได้นอกจากรถ มันสอน อาตมาจะอวดสักหน่อย เมื่อเป็นฆราวาสชอบขี่รถจักรยานปล่อยมือเลี้ยวได้ไปไหนก็ได้ ไม่มีใครสอน รถมันสอน นี่ก็เรียกว่า การกระทำมันสอน ฉะนั้นการทำสมาธิแล้วไม่ได้เหมือนกับล้มทีแรกนั่นแหละ ขอให้ทำใหม่ ขอให้ซ้ำใหม่ เดี๋ยวมันจะค่อยๆ ได้ ค่อยๆ ได้ ค่อยๆ ได้ เหมือนกับขี่รถจักรยานล้มน้อยเข้าๆ จนมันขี่ได้ ฉะนั้นถ้าขี่รถจักรยานต้องล้มสามสิบครั้ง ทำสมาธิเพียงวิ่งตามลม นี่ก็ขอให้ทำได้ถึงสามสิบครั้งของการล้ม ของการล้มเหลว อย่าอ่อนแอ อย่าท้อถอย อย่าเลิกเสียเพียงการทำไม่กี่ครั้ง และก็ไปทำและมันล้มคือจิตหนีและเอาการล้มเหลวมาใคร่ครวญใหม่ มาระมัดระวังใหม่มากำหนดใหม่ว่าทำอย่างไรกำหนดวิธีให้แน่นให้จิตต่อให้ละเอียดอ่อนให้มากขึ้น มันก็จะค่อยๆ ได้ ค่อยๆ ได้ ตอนแรกจะล้มบ้างๆ ก็ล้มน้อยเข้าเปะปะๆ ไปแล้วค่อยๆ เรียบๆ เข้าจนเรียบที่สุด เราสามารถจะกำหนดลมหายใจออกเข้าๆสม่ำเสมอ ในขั้นแรกนี่ฝึกกันเท่านี้ก่อนก็ได้ เพียงแต่ว่าวิ่งตามลมที่เข้าออกๆ อยู่จุดตั้งต้นข้างในที่สะดือ คือหยุดที่ตรงสะดือ ข้างนอกสุดปลายจมูก มันกระทบปลายจมูกที่ตรงไหน จะกระทบจมูกสุดข้างบนหรือว่ากระทบที่ริมฝีปากกำหนดไว้สักแห่ง ไปทำการประพฤติโดยวิ่งตามๆ อยู่จนได้ทีหนึ่งก่อน แล้วจึงมาพูดกันใหม่ว่าจะฝึกอย่างไรต่อไป จนกว่าจะเกิดมโนภาพที่ตรงไหน แล้วควบคุมมันอย่างไร เป็นสมาธิถึงที่สุดอย่างไร ขอให้พูดกันวันหลัง
ส่วนนี่เวลามันสมควรที่จะเลิกแล้ว ไม่เชื่อวันนี้คุณลองไปฝึกวิ่งตามดู นั่งที่โคนไม้ไหนก็ได้และนั่งฝึกอย่างวิ่งตาม ให้ใครมันแห่มาล้อมมายืนล้อมดู ไม่รู้ไม่ชี้ทั้งนั้นแหละให้มันมายืนล้อมดู สักร้อยคนเราก็ไม่รู้ไม่ชี้ ที่นี้เราก็หลับตาเสียแล้วก็รู้สึกแต่ลมหายใจที่มันเข้าอยู่ออกอยู่ๆ ก็เรียกว่า ทำได้อยู่มือ อยู่ในอำนาจของเราทำได้ในส่วนนี้ แล้วค่อยฝึกในข้อว่าเฝ้าดูและสร้างมโนภาพหรือเปลี่ยนแปลงมโนภาพอะไรกันต่อไป อาตมาพูดให้ทุกคนมองเห็นความจำเป็นที่ต้องฝึกสมาธิเพื่อเกิดสติในการเอาเป็นพาหนะนำปัญญามาทันในเวลาขณะแห่งผัสสะ จะแก้ปัญหาได้ถ้าเข้าใจในเรื่องนี้ก็คงจะอยากฝึกสมาธิขึ้นมาบ้าง นี่คือว่าสร้างความพอใจ สนใจในเรื่องฝึกสมาธิมาให้พอสมควร เรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเราพอใจและอยากจะต้องการแล้วมันไม่ยากหรอก มันง่ายหมดแหละ ที่นี้ไปคิดใคร่ครวญดูให้เกิดความพอใจอยากจะฝึกสมาธิเสียก่อน จึงจะสำเร็จ เหมือนกับเราเห็นเขาขี่รถจักรยานได้ เราก็อยากจะขี่เป็น อยากจะขี่เป็นอย่างมาก เราจึงทนฝึกจนขี่เป็น สมาธินี่ก็เหมือนกันต้องมีความอยากความพอใจขนาดนั้นนี่เราก็จะต้องฝึกสมาธิได้เป็นแน่นอน ฉะนั้นไปฝึกเรื่องวิ่งตามให้พอได้สักขั้นตอนหนึ่ง แล้วคืนพรุ่งนี้หัวรุ่งค่อยพูดกันใหม่ให้มันต่อไป และวันนี้ก็พอกันทีเพียงเท่านั้น แล้วก็ปิดประชุมให้คุณไปทำอะไรก็ตามที่กำหนดไว้