แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศิลปะแห่งการครองชีวิตหรือว่าเป็นทางแห่งชีวิต ตามหัวข้อที่ท่านทั้งหลายกำหนดให้ได้ดำเนินมาถึงครั้งที่ ๒ ซึ่งจะมีหัวข้อเฉพาะว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ข้อนี้เราต้องการจะให้หลักธรรมะหรือพระศาสนานั้นมาเป็นเรื่องที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ จึงได้วางหัวข้อเรื่องอย่างนี้ ท่านชอบในหัวข้อว่า ชีวิตต้องสู้ อาตมาก็มาเปลี่ยนเสียนิดหนึ่งว่า ชีวิตคือการต่อสู้ เมื่อชีวิตคือการต่อสู้ แล้วมันก็ต้องสู้นั่นเอง ควรจะมองเห็นในขั้นแรกที่สุดอย่างง่ายๆ กันเสียก่อนว่า ต่อสู้ระหว่างอะไร ก็ตอบได้ง่ายๆ ว่า ต่อสู้ระหว่างความอยู่กับความตาย ชีวิต คือ ความเป็นอยู่ ความตาย คือ ไร้ชีวิต การต่อสู้ของชีวิต ก็คือ ต่อสู้กับความตาย มันจึงเกิดการต่อสู้ระหว่างความอยู่กับความตายเป็นธรรมดา คือ เป็นไปได้เองตามธรรมชาติ เราจะต้องรู้โดยหลักทั่วๆ ไปว่า แม้โดยหลักแห่งชีววิทยาที่แสดงความเป็นมาของชีวิตตามแบบของวัตถุ มันก็เต็มไปด้วยการต่อสู้ ความต่อสู้เริ่มตั้งแต่ว่ามีชีวิต แม้ของสัตว์เซลล์เดียวจนมาเป็นสัตว์หลายเซลล์ สัตว์ครบถ้วนบริบูรณ์ ตลอดเวลานั้นเป็นการต่อสู้เพื่อรอด มันได้ต่อสู้ ไม่ได้ มันพ่ายแพ้แล้ว มันได้สูญหายไปเสียมากมาย ไปศึกษาดูเรื่องทางชีววิทยา และบางทีก็เป็นการต่อสู้ที่มีกำลังอ่อนแอมาก มันดิ้นรนไปตามเรื่อง เผอิญมีความเหมาะสมต่อสู้ได้ง่ายก็รอดชีวิตอยู่ได้ มีความเหมาะสมก็รอดชีวิตอยู่ได้ กว่าจะมาเป็นสัตว์เป็นคนเหมือนอย่างที่เราเห็นอยู่นี้ มันมีการต่อสู้มากเหลือเกิน นี่จะมองดูกันในแง่ของธรรมชาติ คือ ชีววิทยา ตามธรรมดาที่สุด มันก็เป็นการต่อสู้ระหว่างความอยู่รอดกับความตาย ทีนี้คำว่า ต่อสู้ คำนี้ก็คือ การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดนี้ขั้นหนึ่ง การต่อสู้เพื่อพัฒนาหรือวิวัฒนาที่สูงขึ้นไปกว่าจะถึงที่สุด นี่อย่างหนึ่ง ขอแยกดูให้เห็นเป็น ๒ อย่างว่า ต่อสู้เพื่อรอดชีวิตอยู่ได้ นี่มันก็ชั้นหนึ่งเท่านั้นแหละ ซึ่งสิ่งที่มีชีวิต มันก็ต้องต่อสู้ ไม่ต่อสู้มันก็ตาย ดังนั้นเขาจึงพบซากฟอสซิลต่าง ๆ ที่สัตว์ที่มันเคยมีอยู่แล้วมันตายไปเสีย มันไม่อยู่มาถึงบัดนี้ก็มาก เพราะมันสู้ไม่ไหว มันสู้ไม่รอด นี่พวกที่รอดอยู่ได้ มันก็ต่อสู้ดิ้นรนไปเพื่อให้ถึงระดับสูงสุดหรือดีที่สุด เหมือนมนุษย์เรานี่ เรารอดอยู่ได้แต่เราไม่พอใจเพียงชีวิตรอดอยู่ได้ เราก็ต่อสู้เพื่อให้มันดีกว่านี้ยิ่งๆ ขึ้นไป นี่ก็เป็นการต่อสู้ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรารู้ความหมายของคำว่าต่อสู้ไม่เพียงพอเพราะว่าเราก็จะต้องต่อสู้ต่อไป ในภาษาไทยเราคำว่า ต่อสู้ๆ นี่ มันมักจะเล็งถึงการวิวาท ฆ่าฟัน ทำลายล้างซึ่งกันและกันเสียมากกว่า การดิ้นรนเพื่อรอดชีวิตอยู่ได้ตามธรรมชาตินั้น เราไม่ค่อยจะใช้คำว่าต่อสู้ ที่จริงมันก็คือต่อสู้ ทีนี้เราถือเอาความหมายให้หมดทั้ง ๒ อย่างก็ได้ ต่อสู้นี้ คือ ดิ้นรนเพื่ออยู่รอดและสูงขึ้นไปนี่ความหมายหนึ่ง ต่อสู้เพื่อฆ่าฟันทำลายล้าง ใช้อาวุธทำลายล้าง นี่ก็คือต่อสู้ นี่ก็ความหมายหนึ่ง
มนุษย์เราก็มีการต่อสู้ภายนอกแบบนี้ เช่นว่า มีโจร มีขโมย มีข้าศึกมาติดพัน นี่เราก็ออกไปต่อสู้ เข่นฆ่าทำลายล้างข้าศึก นี่มันก็เป็นการต่อสู้ เป็นการฟาดฟันลงไปด้วยอาวุธ แต่ที่เราต่อสู้ตลอด ตลอดเวลาไม่เคยว่างเว้น คือว่า ต่อสู้ของชีวิต เพื่อชีวิตอยู่รอดและดียิ่งๆ ขึ้นไป นี่คือต่อสู้ชนิดทุกข์ ทุกอณูของชีวิต ทุกวินาทีของเวลาที่จะไปรบทัพจับศึกนั้นนานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง ต่อสู้อย่างนั้น จะไปทะเลาะวิวาทกับใคร ต่อสู้กันแล้วนานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง นับว่าน้อยมาก แต่ที่ต่อสู้อยู่ในตัวชีวิตเองนั้นมีตลอดเวลา นับตั้งแต่ว่าต้องกินอาหาร ต้องถ่าย ต้องอาบ ต้องล้าง ต้องบริหารกาย ต้องมีร่างกายที่ถูกต้องให้รอดชีวิตอยู่ได้ เราทำทุกอย่างโดยรู้สึกตัว ด้วยเจตนาก็มี โดยธรรมชาติที่มันทำกันเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องรู้สึกตัวก็มี ในภายในร่างกายของเราประกอบด้วย ส่วนประกอบต่างๆ กระทั่งถึงตัวชีวิตเล็กๆ จุลินทรีย์ทั้งหลาย เป็นโลหิตแดง เป็นโลหิตขาว อยู่ตลอดเวลา มันก็ต่อสู้ นี่เรียกว่า ส่วนย่อย ส่วนเล็กของร่างกาย เพราะฉะนั้นชีวิตมันก็ต่อสู้ รวมกันทั้งหมดมันก็ต่อสู้ เราต้องบริหารร่างกายให้รอดชีวิตอยู่ได้ นี่ก็เป็นการต่อสู้ ถ้าดูให้ดีก็จะพบระบบการต่อสู้อย่างน้อยก็ ๒ ความหมาย คือว่า เห็นได้โดยประจักษ์ภายนอก ต่อสู้ภายนอก และต่อสู้ภายใน ดิ้นรนอยู่ในภายใน นี่ก็มี เป็นอันว่าเรามีข้าศึกที่ต้องต่อสู้ ข้าศึกในที่นี้ก็หมายถึง เรื่องของความดับ ความแตกดับ ความตาย ที่เป็นไปเพื่อความตาย เรามีข้าศึกจะมาฆ่าเรา มันก็หมายถึงว่า จะมาทำให้เราตาย เราก็ต่อสู้ นั่นข้าศึกภายนอก ทีนี้ข้าศึกภายใน คือ ความไม่ถูกต้อง ภายในของร่างกายเราก็ต้องต่อสู้เพื่อให้มันถูกต้อง ข้าศึกภายนอกที่เป็นมนุษย์ด้วยกันก็มี ก็เป็นข้าศึก เมื่อมันพูดกันไม่รู้เรื่อง ประโยชน์ขัดกัน มันก็เป็นข้าศึกกัน เราก็ต้องต่อสู้ ที่ว่าข้าศึกตามธรรมชาติแท้ๆ ไม่ใช่คน เป็นของตามธรรมชาติ ลึกกระทั่งลงไปถึงสัตว์ถึงอะไรต่าง ๆ สัตว์เดรัจฉานก็ดี มันก็เป็นข้าศึกที่ต้องต่อสู้ กระทั่งถึงว่าธรรมชาติอันดุร้ายอยู่ตามธรรมชาติ ภัยตามธรรมชาติที่เห็นๆ กันอยู่มีหลายอย่าง มันก็เป็นข้าศึกเหมือนกัน เป็นข้าศึกภายนอกซึ่งล้วนแต่ต้องต่อสู้ ทีนี้ข้าศึกภายในนี่ละเอียด คือ ความไม่ถูกต้องของร่างกายก็ต้องต่อสู้ แต่ว่าเป็นเรื่องทางร่างกายนั้นยังไม่ลึกลับ ไม่ยุ่งยากลำบากเท่ากับเรื่องทางจิตใจ การที่จิตใจมันไม่เป็นไปอย่างถูกต้อง นั่นก็คือ ข้าศึกสูงสุด ช่วยจำคำนี้ไว้ด้วยว่า มันเป็นคำสำคัญที่จะต้องพูดกันอีกมาก หรือคุณจะต้องรู้ จะต้องเข้าใจมันอีกมาก คือ ความไม่ถูกต้องของจิต หรือจิตที่วางไว้ไม่ถูกต้อง จิตที่ตั้งไว้ไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นศัตรู เป็นข้าศึก เป็นไพรี ยิ่งกว่าศัตรูทั้งหมดในโลกนี้มารวมกัน รู้จักข้าศึกตัวสำคัญกันเสียทีว่า จิตของเราเองที่ตั้งไว้ไม่ถูกต้อง หรือจะเรียกว่าตั้งไว้ผิดก็ได้ นั่นแหละคือ ศัตรูไพรี ข้าศึกที่ร้ายกาจสูงสุดยิ่งกว่าศัตรูทั้งหมดในโลกนี้รวมกัน พอมาถึงศัตรู ข้าศึกขั้นนี้ เราก็จะเห็นได้ทันทีว่า ศัตรูนอกนั้นเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นเรื่องขี้ผงไปหมด ศัตรูเรื่องคนจะมาฆ่า เสือจะมากัด หรืออะไรๆ ที่เป็นส่วนภายนอก หรือแม้แต่ว่าร่างกายผิดปกตินี้ก็ยังไม่แรงร้ายเท่ากับจิตที่ตั้งไว้ผิด เราจะมุ่งหมายศัตรูภายในที่ร้ายกาจที่สุดก็คือ จิตที่ตั้งไว้ผิด ตรงนี้คงจะฟังยากสำหรับท่านทั้งหลายหรือทุกคน ถ้าจิตอันหนึ่งตั้งไว้ผิด แล้วจิตอันไหนที่จะตั้งไว้ถูก ในเมื่อเรามีจิตเพียงจิตเดียว คนหนึ่งมีจิตได้เพียงดวงเดียวในคราวเดียว คำว่า เรานี่ อันไหนที่เป็นเราที่ผิด และอันไหนจะเป็นเราที่ถูก นี่เป็นเรื่องอธิบายยาก ขอให้ถือเอาตามความรู้สึกสามัญสำนึก บางทีเราก็คิดผิด บางทีเราก็คิดถูก และบางทีเราก็มีเรามาห้าม หักห้ามตัวเรามา ควบคุมตัวเรา ขอให้มองเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า ร่างกาย นาม รูป จิตใจ นี่มันแบ่งออกได้เป็น ๒ ฝ่ายซึ่งตรงกันข้าม มันก็ทำปฏิกิริยาต่อกัน ฝ่ายที่ถูกมันจะมาเกิดขึ้นทันควัน หักห้ามฝ่ายที่ผิด
ฉะนั้นเราที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าของจะต้องอบรมให้ดีๆ ให้ความรู้สึกคิดนึกหรือจิตฝ่ายที่ถูกต้องเกิดขึ้นทันเวลาที่จะหักห้ามหรือทำลายล้างจิตที่มันเป็นฝ่ายผิด สิ่งที่มันรบราฆ่าฟันกันในภายในก็คือ ระหว่างจิตฝ่ายผิดหรือจิตฝ่ายถูก ฝ่ายถูกนิยมเรียกกันว่า สัมมาทิฐิ ฝ่ายผิดนิยมเรียกกันว่า มิจฉาทิฐิ คำสากลเขาเรียกว่า ธรรมชาติฝ่ายต่ำหรือธรรมชาติฝ่ายสูง บางทีธรรมชาติฝ่ายต่ำครอบงำจิต จิตก็ทำผิด ธรรมชาติฝ่ายสูงครอบงำจิต จิตก็ถูกหรือสูง มันก็มีการรบกัน ต่อสู้กันระหว่างธรรมชาติฝ่ายต่ำกับธรรมชาติฝ่ายสูง นี่เรามาเลือกเอาจะเอาฝ่ายไหนเป็นเรา ถ้าสติปัญญามันเพียงพอ มันถูกต้อง มันยังถูกต้องอยู่ มันก็เลือกเอาฝ่ายสูง คือ ฝ่ายถูกต้อง ถ้าว่าสติปัญญาหรือความถูกต้องมันไม่มี มันไม่พอ ฝ่ายมิจฉาทิฐิ ฝ่ายผิดมันครอบงำ มันก็เลือกเอาฝ่ายผิด เพราะฉะนั้นในบางเวลา บางโอกาส คนเราจึงเลือกเอาฝ่ายผิด ฝ่ายชั่ว ฝ่ายเลวร้ายเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เป็นสิ่งที่อยากจะกระทำแล้วก็ทำลงไป ทีนี้ฝ่ายสูง ฝ่ายถูก ฝ่ายดีมันต่อต้านไม่ไหว มันแพ้ ฝ่ายชั่ว ฝ่ายต่ำมันชนะ มันก็ทำไปตามที่ความรู้สึกฝ่ายต่ำหรือฝ่ายชั่วมันจะทำ เพราะฉะนั้นเราจึงมีโอกาสที่จะกระทำผิด เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นอาชญากรรม เป็นอะไรต่างๆ แม้ตัวเราเองนั่นแหละก็ด้วยเหตุในบางครั้ง มันก็เป็นไปในรูปนั้น แม้มันจะไม่แรงร้ายเหมือนกับอันธพาลชั้นเลว อันธพาลชั้นเลวที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เราต้องถือว่า มันเป็นฝ่ายผิดหรือเป็นอันธพาลด้วยเหมือนกัน บางเวลาเราควบคุมตัวเองไม่ได้ คือ จิตฝ่ายสูงควบคุมจิตฝ่ายต่ำไม่ได้ จิตฝ่ายต่ำมันก็บังคับร่างกายกลุ่มนี้ไปทำที่ไม่น่าดู เราจึงมีโอกาสทำผิด
ตั้งแต่เกิดมานี่ถ้าเราเคยมีทำผิดอะไรบ้าง กี่เรื่องกี่อย่าง มากหรือน้อย สูงหรือต่ำ มันก็เป็นเรื่องเดียวกันนี้ คือ ธรรมชาติฝ่ายสูงมันพ่ายแพ้แก่ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็ตามที มันมีเหตุปัจจัยมากที่จะทำให้ฝ่ายสูงพ่ายแพ้แก่ฝ่ายต่ำ แต่มันก็มีเหตุปัจจัยทางหนึ่งเหมือนกันที่จะทำให้ฝ่ายสูงชนะฝ่ายต่ำ ฉะนั้นจึงมีอยู่มากที่เราเอาชนะฝ่ายต่ำ เราก็ดำรงตนไว้ในฝ่ายถูกฝ่ายสูง คือ ฝ่ายถูกต้อง ทั้งหมดนี้เป็นการต่อสู้ดิ้นรนฟาดฟันกันเรียกว่า แหลกลาญ ยิ่งกว่าที่จะฟาดฟันกันด้วยอาวุธเสียอีก การต่อสู้ระหว่างจิตต่อจิตนี้ ถ้าเขียนเป็นรูปภาพได้ก็จะน่าดู ซึ่งผู้ที่เขามีปัญญา เป็นศิลปิน เขาก็เคยเขียนกันขึ้นเหมือนกันก็น่าดู เอาเป็นว่าเรามีชีวิต ชีวิต คือ สิ่งที่มีการต่อสู้ ชีวิต คือ การต่อสู้ ดังนั้นชีวิตมันจึงหลีกไม่พ้นจากการต่อสู้ มันก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อการได้ที่ดี เพื่อความสงบสุข
ทีนี้มันมีข้าศึก คำว่าข้าศึกๆ นี้ก็ คือ สิ่งที่มันเป็นปรปักษ์หรือตรงกันข้าม มันจะทำลาย อย่างดีมันก็เป็นข้าศึกต่อชั่ว ชั่วก็เป็นข้าศึกต่อดี มันเป็นข้าศึกกันอยู่อย่างนี้ ทีนี้เรายึดเอาหลักข้างฝ่ายดีก็มีข้างฝ่ายชั่วเป็นข้าศึก ทำลายร่างกายของเราก็มี ทำลายจิตใจนั่นแหละร้ายกาจยิ่งไปกว่าทำลายร่างกาย ทำลายร่างกายก็เป็นข้าศึกภายนอก ทำลายจิตใจก็เป็นข้าศึกภายใน เราดูข้าศึกกันให้เป็นที่เข้าใจ ที่จะต้องดูกันเป็นเบื้องต้นเป็นหลักทั่วไป แต่มันค่อนข้างละเอียด ก็คือ สิ่งที่เรียกกันว่ามาร ในทุกๆ ศาสนามีคำว่า มาร ใช้ด้วยกันทั้งนั้น แต่จะเป็นคำพูดตรงกันไม่ได้ เพราะว่าเราพูดภาษาไทยที่มาจากภาษาบาลี ศาสนาอื่นเขาใช้ภาษาอื่น เขาก็ต้องใช้ภาษาอื่น สำเนียงอย่างอื่น มันจะมาตรงกับภาษาบาลีว่ามาร อย่างนี้มันก็ไม่ได้ แต่ความหมายมันเหมือนกัน เราจึงถือว่าทุกศาสนาก็มีสิ่งที่เรียกว่า มาร ซึ่งตรงกันข้ามกับพระเจ้าหรือความดี พระเจ้าเป็นฝ่ายความดี มารเป็นฝ่ายความร้าย คำว่า มารๆ นี่ก็เป็นคำภาษาไทยที่รู้จักกันดีอยู่มาก เพราะพอพูดว่า นี่เป็นมาร ทุกคนฟังถูกว่าหมายความว่าอะไร แต่ว่าจะรู้จักความหมายอย่างแท้จริงของคำว่ามารถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ มันอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก คำว่า มาร ตัวพยัญชนะคือตัวหนังสือนั้นแปลว่า ผู้ทำให้ตาย คำว่า มาร มาจาก มาระ มาระก็คือ ตาย มาระ คือ ผู้ทำให้ตาย ถ้าทำร่างกายให้ตายก็เป็นมารทางกาย ถ้าทำจิตใจให้ตายก็เป็นมารทางจิต ถ้าทำความดีให้ตาย นี่ก็เป็นมารทางวิญญาณ รวมความว่า สิ่งที่มันเป็นอุปสรรคศัตรูขัดขวางไม่ให้พบกับสิ่งที่เราควรจะปรารถนาก็คือเรียกว่า มาร
ลองจดจำไปตามคำที่ท่านได้พูดไว้เป็นหลัก เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่พุทธบริษัทดูบ้างก็ได้ แม้จะไม่ได้เป็นพุทธภาษิตโดยตรงแต่เป็นโดยอ้อม คือ ชื่อเหล่านี้ก็มีอยู่ในรูปพุทธภาษิต แต่ที่มาจัดเป็นมาร ๕ กลุ่ม ๕ พวกนี้เป็นการกระทำของพระอาจารย์ผู้รอบรู้ในทางธรรม เขาเรียกกันว่า มาร ๕ อย่าง มารทั้ง๕ แยบคายลึกซึ้งเกินกว่าสติปัญญาของเราจะคิดได้หรือมองเห็นได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นก็ฟังที่ท่านพูด
ข้อที่ ๑ ท่านเรียกว่า กิเลสมาร ความรู้สึกนึกคิดที่เลวร้าย เรียกว่า กิเลส เกิดขึ้นเมื่อไรก็เป็นมาร ทำให้เราหมดดี ทำดีก็ตายหมด ทำให้เราทำความชั่วแล้วเราก็ต้องรับผลความชั่ว ถึงตายหรือว่า ตายทางจิต ตายทางวิญญาณ คงจะเข้าใจกันได้ไม่ต้องอธิบายให้เสียเวลาว่ากิเลสมันคืออะไร ชื่อโดยย่อๆ ก็เรียกกันว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เป็นหัวหน้าก๊ก ลูกน้องรายละเอียดยังมีอีกมาก จำไว้เพียงว่า โลภ โกรธ หลง นี่ก็แล้วกัน เรียกว่า กิเลส พอเกิดขึ้นก็ล้างผลาญความดีโดยรอบทั้งหมดเลย ถึงจัดว่าเป็นมาร ทำให้ร่างกายถึงตายก็ได้ ทำให้จิตถึงตายก็ได้ ทำให้สติปัญญาถึงตายก็ได้ ฉะนั้นถือว่า กิเลสเป็นเครื่องขัดขวางทำลายล้างหรืออุปสรรคที่ใหญ่โตมากที่สำคัญมาก
ทีนี้ตัวมารที่ ๒ เรียกว่า ขันธมาร ขันธ์ นี่ก็คือ ส่วนประกอบที่ประกอบกันขึ้นเป็นเรา ในกรณีอย่างนี้มักจะหมายถึง ร่างกายซึ่งเป็นที่ตั้งของจิตใจ ขันธ์เป็นมาร ก็หมายความว่า ร่างกายของเราไม่เป็นไปในทางที่พึงปรารถนา มันกลับกลายเป็นอุปสรรคเสีย เช่น ร่างกายทุพพลภาพ ร่างกายไม่อำนวยแก่การประพฤติกระทำความดี เป็นอุปสรรคในการจะทำความดี ขันธ์นี่ก็เป็นมาร มันทุพพลภาพ มันพิกลพิการก็ได้ ทีนี้ขันธ์ มันยังมีทางจิตใจอีกนะ นอกจากร่างกายนี้แล้วมันยังมีทางจิตอีก ที่เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เกิดความรู้สึกเป็นเวทนาขึ้นที่เป็นที่ตั้งของความหลงโกรธ หลงรัก หลงอะไรนี่ก็เรียกว่ามันเป็นมาร ทีนี้สัญญาความจำหมาย สัญญาขังความจำหมาย บางทีมันก็เป็นมาร คือ มันไม่ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง มันชำรุด มันพิกลพิการ มันวิปลาสไปเสีย ความจำความหมายนี่มันวิปลาสไปเสียก็เรียกว่า สัญญาขังนี่มันเป็นมาร สังขาร สังขารขันธ์ ความคิดความนึก พอมันผิดมันก็เป็นมาร วิญญาณขันธ์เมื่อมันผิด เห็นผิดทางตา ทางหู คือ รับอารมณ์ผิดมันก็เป็นมาร แต่ดูเหมือนท่านจะประสงค์ว่า วิญญาณนี่เป็นตัวการที่ทำให้เกิดเรื่องเกิดราวทุกชนิด ถ้าเราไม่มีวิญญาณ คือ รู้แจ้งทางตาหูจมูกลิ้นกายแล้ว โลกนี้มันก็ปิด ปิดฉากทันทีเหมือนกับไม่มีโลก ฉะนั้นวิญญาณมันจึงกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้มันมีโลก แล้วก็มีปัญหาทุกอย่างในโลก ลักษณะอย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นมาร แต่ว่ามันจะละเอียดเกินไปเกินที่คนธรรมดาจะทราบจะสนใจ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นมาร รูปเป็นมาร ร่างกายนี่ขัดขวางต่อการทำประโยชน์หรือความดี เวทนาเป็นมาร ความรู้สึกทางเวทนามันขัดขวาง สัญญาความจำหมายใช้ไม่ได้ก็ขัดขวาง สังขารความคิดนึกใช้ไม่ได้ก็ขัดขวาง วิญญาณนี่มันก็ดึงไปในทางให้มันเกิดเรื่อง ให้มันมีเรื่องยุ่งยากลำบาก เรียกว่าเบญจขันธ์เป็นมาร เรียกสั้นๆ ว่า ขันธมาร โดยมากก็หมายถึง ร่างกาย ส่วนที่เป็นร่างกาย นี่จะต้องต่อสู้ ดิ้นรน ต่อสู้ปรับปรุงไม่ให้มันเป็นมาร เดี๋ยวจะพูดถึงวิธีต่อสู้ ตอนนี้พูดถึงตัวมารกันก่อน
ทีนี้ตัวมารที่ ๓ มัจจุมาร คือ ความตาย มัจจุราชนี่เป็นมาร อันนี้ดูจะง่ายเป็นภาษาง่าย ๆ ความหมายตื้นๆ ว่า ความตายแล้วเป็นมาร เพราะพอความตายมา มันหมดเรื่อง มันจบเรื่อง อะไรก็ต้องหยุดชะงักหมด การกระทำความดีความเจริญอะไรต่างๆ มันก็หยุดชะงักหมด มันเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับชีวิต มันจึงเป็นมารต่อชีวิตโดยตรงเรียกว่า มัจจุมาร มารคือความตาย ก็ต้องต่อสู้
ทีนี้ที่ ๔ สังขารมารก็เรียก อภิสังขารมารก็เรียก นี่คือ การปรุงแต่งเป็นมาร มีการปรุงแต่งก็มีความทุกข์แหละ การปรุงแต่งที่สมบูรณ์แบบนั้นก็เรียกว่า กรรม การกระทำที่เราเรียกว่า กรรม คือการปรุงแต่งที่มันถึงที่สุดของมัน แล้วก็มันมีผลกรรมเสมอ ถ้ากรรมก็ต้องมีผลกรรมเสมอ แล้วผู้ทำนั้นจะเป็นผู้รับผลกรรม นี่การปรุงแต่งให้มีกรรมมีผลกรรมอย่างนี้ มันเป็นมาร มันขัดขวางไม่ให้สงบสุข ให้มีแต่ความทุกข์ อธิบายกันง่ายๆ ว่า ผลบาปผลกรรมอะไรของเราที่ทำไว้แต่หนหลังนี่มันมาถึงเข้า แล้วมันก็เป็นมารทำลายเรา พูดง่าย ๆ ธรรมดาๆ ว่า ผลกรรมมันเป็นมาร
ทีนี้มารที่ ๕ สุดท้าย เรียกว่า เทวปุตตมาร ที่เขาอธิบายกันทั่วๆ ไป เขาว่า เทวดาบนสวรรค์โน้น พวกเทวบุตร พวกเทวดาหนุ่ม ๆ บนสวรรค์โน้นลงมาเป็นมารแก่มนุษย์ นี่เขาก็อธิบายกันอย่างนี้ เราไม่อยากอธิบายอย่างนั้น เราเอาความหมายของคำว่า เทวบุตรมาเป็นตัวมาร คำว่า เทวบุตร นั้น ตามความหมายมันก็คือว่า ผู้ที่หลงใหลแต่ในเรื่องกามารมณ์ คำว่า เทวะเป็นเรื่องเล่น เป็นเรื่องเล่นสนุกสนาน แล้วก็ส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับกามารมณ์ คำว่า เทวบุตรก็มีความหมายถึง จิตที่มันหลงใหลติดพันจมอยู่ในกามารมณ์ ฉะนั้นจึงได้ความหมายนี้มาเป็นมาร ความที่บูชากามารมณ์เป็นมาร รู้สึกได้จากตัวเองกระมัง ความคิดนึกรู้สึกโน้มไปทางกามารมณ์เมื่อไร การศึกษาก็เหลวหมด ความบูชาค่าของกามารมณ์นั่นแหละ คือ เทวปุตตมาร เทวดาลงมาจากบนสวรรค์มาเป็นมารขัดขวางทำลายล้าง เขาใช้คำว่า เทวปุตตมาร หมายถึง เทวดาหนุ่มๆ เทวดาคะนอง เทวดาไม่รับผิดชอบ คือ ไม่เป็นเทวดาที่น่านับถือ พวกที่เขาเชื่อว่า เทวดาจากบนสวรรค์ลงมา เขาก็อธิบายกันไปแบบนั้น มาแกล้งมาอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็เป็นผี เป็นอะไรก็ไม่รู้ซึ่งเราไม่อยากจะสนใจ แต่เราจะถือเอาความหมายว่า ความบูชา การเล่นสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วมุ่งหมายอยู่ที่กามารมณ์ นั่นคือคำว่า เทวบุตรในที่นี้ แล้วก็มาเป็นมาร ก็รู้เอาเอง เพราะต้องเผชิญกันอยู่เสมอ พูดกันตรงๆ ก็ต้องว่า เผชิญกับมารตัวนี้อยู่เสมอ
นี่พูดตาม เรียกว่าตามที่มีพูด พูดตามที่รับนับถือกันอยู่ในหมู่พุทธบริษัท ว่าข้าศึกหรือมารมีอยู่ ๕ อย่าง ๕ ประการอย่างนี้ ทบทวนว่า กิเลสนั้นเป็นมารแก่เรา ร่างกายของเราก็เป็นมารแก่เรา ความตายก็เป็นมารแก่เรา สังขารการปรุงแต่งไปตามกฎของการปรุงแต่ง มันก็ขัดขวางเราให้เวียนอยู่ในกรรมในผลกรรม เทวปุตตมาร ก็คือ ความนิยมในการเล่นสนุกสนาน ทีนี้เราก็มองเห็นชัดแล้วว่าเราทุกคนมีมารเหล่านี้เผชิญหน้าอยู่ กำลังต่อสู้กันอยู่ก็มี บอกแล้วว่า พุทธศาสนานี่ต้องเรียนกันอย่างวิทยาศาสตร์ ไม่เรียนอย่างปรัชญา คือ คาดคะเนหรือคำนวณเอา ต้องเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ คือ มีของจริงปรากฏอยู่ ฉะนั้นเราจะต้องเห็นชัดลงไปว่ามารทั้ง ๕ อย่างนี้มันมีจริงปรากฏอยู่ เป็นของจริงเป็นความจริงต่อหน้าเรา คือ อยู่ในความรู้สึกของเราทั้ง ๕ ชนิดนี้ เราต้องรู้จักมันให้ดี รู้จักมันอย่างตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ เป็นวัตถุที่เราต้องพิสูจน์ค้นคว้าทดลองทำลาย นี่เรียกว่า มารหรือข้าศึก ถ้าเห็นว่ามันมากนักทั้ง ๕ อย่างนี้ เอาอีกชุดหนึ่งที่มันง่ายๆ สั้นๆ ซึ่งเขาก็นิยมใช้เป็นวิธีสอนอยู่เหมือนกัน จะเหลือเพียง ๓ อย่าง คือว่า การกระทำที่ผิดที่เลวเรียกว่า กรรมะกิเลส ๆ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ กาเมสุมิจฉาจาร พูดเท็จอะไรก็ตามนี่ที่มันเป็นการทำผิดๆ เลวๆ นี่มันเป็นมาร ไปทำเข้ามันก็เกิดปฏิกิริยาที่จะทำความเจ็บปวดทำลายล้างเรา สรุปความว่า การทำไม่ดี ทำเลว ทำชั่วของเรานั้นเป็นมาร ตัวที่หนึ่งแห่งชุดนี้นะชุดที่สอง ทีนี้ความรู้สึกที่ไม่พึงปรารถนา ที่รบกวนจิตใจของเราอยู่ ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า นิวรณ์ เรียกสั้นๆ ว่า นิวรณ์ ความรู้สึกเลวร้ายที่ไม่เป็นประโยชน์อะไร คอยรบกวนจิตใจให้เสื่อมสมรรถภาพในการที่มันจะทำความดี อย่างนี้ก็เรียกว่า นิวรณ์ ต้องเรียนมันอย่างวิทยาศาสตร์อีก ไม่ใช่ว่าได้ยินชื่อแล้วก็จำๆ กันไว้
นิวรณ์ที่ ๑ กามฉันทะ ความรู้สึกที่โน้มเอียงไปทางกามารมณ์ คนในวัยหนุ่มวัยสาว ร่างกายมันถึงที่สุดของการที่จะมีความรู้สึกทางกามารมณ์ มันจึงมีความคิดที่โน้มเอียงไปทางกามารมณ์ได้โดยง่ายหรือตามธรรมชาติ ความรู้สึกชนิดนี้เราเรียกกันว่า กามฉันทะ เมื่อเราตั้งใจจะทำงานที่ละเอียดประณีตหรือเรียนหนังสือหนังหาอะไรก็ตาม ถ้าความรู้สึกที่โน้มเอียงไปในทางเพศทางกามารมณ์เข้ามารบกวนแล้วเราก็เรียนไม่ได้ คงจะปรากฏแล้วด้วยกันทุกคน ถ้ามันเป็นไปมากมันก็ต้องทิ้งงานทิ้งการไปชั่วคราว ไปทำอะไรที่เป็นการต่อต้านกำจัด นี่เอาเป็นว่า ถ้าความรู้สึกทางกามเข้ามาแล้วมันก็เป็นนิวรณ์อันหนึ่ง ทำให้จิตใจเสื่อมสมรรถภาพ ไม่สามารถทำหน้าที่ของจิตใจได้ แล้วทุกคนก็ต้องมี เคยมีก็รู้จักมันได้ดี มันเป็นวัตถุทางวิทยาศาสตร์
นิวรณ์ที่ ๒ ตรงกันข้ามเรียกว่า พยาบาท ความเกลียดชัง ความไม่ชอบ ความอาฆาตมาดร้ายอะไรก็ตาม รวมกันเรียกว่า พยาบาท ในที่นี้เขาเรียกว่า พยาบาท คือ จิตที่ไม่ชอบที่มันเกลียดชังอะไรอยู่ คนก็ได้ สัตว์ก็ได้ อะไรก็ได้ ทุกคนก็เคยโกรธเคยเกลียด เคยเก็บความโกรธไว้ในใจ ทีนี้เมื่อใดความรู้สึกอันนี้มันเข้ามาจิตมันก็มีนิวรณ์ จะเรียนหนังสือก็ไม่ได้ มันจะงุ่นง่านหงุดหงิด มันจะทำอะไรอย่างประณีตละเอียดก็ไม่ได้ จิตมันคับแค้นอยู่เรื่อยในความรู้สึก นี่ก็ไปดูเอง เราก็ต้องมีคนที่เราไม่ชอบหรือสิ่งที่เราไม่ชอบหรืออะไรที่เราไม่ชอบ แล้วมันก็มีความรู้สึกไม่ชอบเหลืออยู่ในจิตใจมาคอยรบกวน
นิวรณ์ถัดไปก็คือ ความทิฏฐิ ลดลงแฟบลง คือ ทิฐิที่มันลดลงจากระดับปกติ เขาเรียกว่า ถีนมิทธะ ความง่วง เหงา มึนชา เรียกว่า ความละเหี่ยละห้อยดีกว่า ความละเหี่ยละห้อย ความที่จิตมันท้อแท้ จิตมันหมดกำลังจิต เรียกว่า จิตอ่อนกำลังท้อแท้ บางคราวเราอยากจะทำอะไรให้ดีที่สุด จิตมันเกิดท้อแท้ทำไม่ได้ นี่ก็เรียกว่า นิวรณ์ ชื่อ ถีนมิทธะ
ทีนี้บางทีตัวถัดไปตรงกันข้ามเรียกว่า อุทธัจจะ (อุทธัจจกุกกุจจะ) นี่ฟุ้งเกินกว่าปกติ ตัวที่สามมันละเหี่ยละห้อยแฟบเกินกว่าปกติ คือ ถอยกำลัง ตัวที่ ๔ นี่ฟุ้งเกินปกติ ฟุ้งซ่านถึงกับว่า นั่งไม่ได้ นอนไม่หลับ อะไรอย่างนี้ นี่ก็จะต้องเคยผ่านกันมาแล้วกันทั้งนั้นแหละ บางครั้งบางคราวมันเป็นอย่างนั้น มันฟุ้งจนคิดอะไรไม่เป็นรูปเป็นเรื่อง นอนไม่หลับ
ตัวสุดท้ายตัวที่ ๕ เรียกว่า ความลังเลไม่แน่ใจ นี่เรียกว่า วิจิกิจฉา ถ้าเราเกิดความลังเลไม่แน่ใจในสิ่งที่มันเกี่ยวข้องอยู่กับเราที่เราจะต้องรู้จะต้องทำ มันก็เป็นนิวรณ์ทำให้เราทำไม่ได้ เราลังเลในความสามารถของเรา ลังเลในความรู้ของเรา ลังเลในกำลังอะไรของเรา ลังเลในชีวิตของเรา กระทั่งลังเลในธรรมะในศาสนาที่เราจะถือเอาเป็นที่พึ่ง มันลังเลไปหมด มันไม่แน่ใจไปหมด
ทั้ง ๕ อย่างนี้เรียกว่า นิวรณ์ เป็นมารและเป็นมารจริงๆ ไม่ใช่มารสมมุติ ไม่ใช่มารไว้ท่องกันแต่ชื่อ ขอให้ทุกคนไปจำชื่อมันไว้ให้แม่นเลยดีกว่า ดีกว่าไปจำเรื่องอื่นที่มีประโยชน์น้อยกว่านี้มากก็ยังอุตส่าห์จำ อันนี้สำคัญก็ยังไม่ค่อยอยาก จะจำ จำว่า
รับรองได้ว่าถ้าคุณฆ่ามารทั้ง ๕ ตัวนี้ได้ก็จะมีความสุขด้วย การเรียนจะก้าวหน้าจะวิเศษ ปีหนึ่งเอาปริญญาสองสามอย่างก็ได้ ถ้าจิตมันไม่มีนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ การเรียนของคุณจะดีขนาดว่าปีหนึ่งเอาสักสองสามปริญญาก็ได้ การเรียนโดยเฉพาะของเรามันถูกขัดขวางด้วยสิ่งที่เรียกว่า นิวรณ์ ความจำก็ไม่ดี ความคิดก็ไม่ดี การตัดสินใจก็ไม่ดี อะไรก็ไม่ดีไปหมดด้วยอำนาจของนิวรณ์ มันสมควรแล้วที่จะเรียกมันว่า มาร มารผู้ทำลายล้าง มารตัวที่ ๑ ของชุดนี้คือ ทำผิดทางกายทางภายนอก ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม นั่นมันเป็นหยาบ เป็นส่วนหยาบข้างนอก ตัวที่ ๒ มันคือเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ที่มารบกวนจิตใจ ทีนี้ตัวที่ ๓ เราเรียกว่า กิเลสและอนุสัย กิเลสและอนุสัย ถ้าเป็นบาลีต่อสนธิศัพท์กันเป็น กิเลสานุสัย กิเลสและอนุสัย กิเลส คือ ที่ออกชื่อมาแล้ว คือ โลภโกรธ หลง อนุสัย คือ ความเคยชินแห่งกิเลส ตัวกิเลสแท้ๆ คือ ความรู้สึกโลภ รู้สึกโกรธ รู้สึกหลง ทุกคนมี เมื่อเรารักอยากได้ต้องการด้วยความโง่ ก็เรียกว่า มีความโลภ อยากได้อย่างโง่เขลา ก็คือ ความโลภ ทีนี้เมื่อไม่ได้หรือมันไม่สบอารมณ์กับเรา เราก็โกรธ เมื่อมันน่ารักเราอยากได้ เพราะเราเกิดความโลภ เมื่อมันไม่ตรงกับความรู้สึกของเรา เราไม่ชอบเราก็โกรธ ทีนี้เมื่อมันไม่รู้ตามที่เป็นจริง มันก็ได้แต่พะวงสงสัยอยู่ มัวเมาอยู่ ติดพันอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะรักหรือจะโกรธ นี่ก็เรียกว่า โมหะ ความหลง โลภะ โทสะ โมหะ ความรู้สึกที่จะเอาจะยึดครองนี้เรียกว่า โลภะ ความรู้สึกที่จะไม่เอา จะทำลายจะฆ่าเสียนี่เรียกว่า โทสะ ความรู้สึกที่มืดอยู่ยังไม่รู้อะไรแน่ ได้แต่มัวเมาหลงใหลวนเวียนอยู่นี่เรียกว่า โมหะ ที่มันมีชื่ออีกมากชื่อที่จะแสดงกิริยาอาการอีกมาก ไปสังเกตดู ถ้ามีลักษณะอาการที่จะเข้าไปเอาไปยึดไปครองนั่นก็เป็นพวกโลภะหรือราคะ ถ้ามันไม่เอามันจะทำลายเสีย นั่นก็เป็นโทสะ ถ้ามันไปหลงใหลพัวพันอยู่ในความโง่ก็เรียกว่า โมหะ ก็ต้องเรียนอย่างวิทยาศาสตร์นี่แหละ ไม่ใช่ได้ยินแต่ชื่อแล้วก็ฝากไว้แต่ชื่อ ต้องรู้จักว่ามันมีแก่เราหรือที่เราเคยมีมาแล้ว เราเคยมีโลภะอย่างไร เคยมีโทสะอย่างไร เคยมีโมหะอย่างไร เอามาดูกันอีกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูเมื่อกำลังมีดีที่สุด ดูเมื่อมันกำลังมีอยู่ในใจดีที่สุด จะไปน้อมนึกของเก่ามาดูก็ได้เหมือนกันแต่ไม่ดีถ้าเทียบกับดูเมื่อมันกำลังมี เมื่อมีโลภะหรือราคะก็ดูจิตไปนั่งดูๆ เดี๋ยวมันก็จะเห็นจะรู้จักจะเกลียดชังขึ้นมา จะค่อยๆ หายไปถ้าดูเป็น เมื่อโกรธอะไรอยู่ ขัดใจอะไรอยู่แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็มาขัดใจอยู่ด้วยความโง่ในอวิชชา มันก็โกรธได้แม้แต่สิ่งของ โกรธได้แม้แต่แมว โกรธได้แม้แต่จิ้งจกมันร้องหนวกหู คนโง่ๆ มันก็โกรธได้ มันก็โกรธได้เป็นธรรมดา เราก็ดูจิตที่กำลังเป็นอย่างนั้น เรียกว่า ดูความโกรธ เห็นความโกรธ บางทีก็เรียกว่า โกรธะ โกรธ บางทีก็เรียกว่า โทสะ จิตที่ประทุษร้าย จิตที่รู้สึกประทุษร้าย ทีนี้โมหะ เมื่อมันโง่มันหลง มันสะเพร่า มันอวดดี มันไม่รู้อะไรตามที่เป็นจริงแต่มันก็ไปพะวงหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ เข้าใจผิดแล้วก็ไปพะวงหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นี่แหละโมหะ ๓ อย่างนี้มันก็เกี่ยวพันกันอยู่เสมอ เพราะต้องการก็มีความโลภ เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็มีความโกรธ เมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร มันก็มีความหลง ทุกคนไปจับมาร ไปดูให้รู้จักมาร อย่างน้อยให้รู้จักมารที่มันมีอยู่จริงๆ โลภะ โทสะ โมหะ นี่เรียกว่า กิเลส
ทีนี้ความเคยชินแห่งกิเลส นี่ก็ดูเถอะ ถ้าเราไปมีกิเลสอย่างไรทีหนึ่งแล้วความเคยชินเกิดขึ้นที่จะเป็นอย่างนั้นต่อไปได้โดยง่าย เมื่อเรารักบ่อยๆ ก็กลายเป็นคนขี้รัก เมื่อเราโกรธบ่อยๆ เราก็กลายเป็นคนขี้โกรธ เมื่อเราโง่บ่อยๆ เราก็เป็นนักโง่ ที่ชินๆ ที่จะเป็นอย่างนั้นเราเรียกว่า อนุสัย ถ้าอยากเกิดกิเลส มันก็ไม่มีอนุสัย ถ้าเกิดกิเลส มันก็จะมีอนุสัย คือ เคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นถ้าเราไม่ให้เกิดกิเลส อนุสัยก็จะไม่มี อนุสัยจะไม่สร้างขึ้น คือ อนุสัยที่มีอยู่ก่อนก็จะลดลงๆ เช่นเราเป็นคนโกรธมีอนุสัยแห่งความโกรธอยู่ ทีนี้เราบังคับใหม่ ไม่โกรธเลย ทีนี้อนุสัยแห่งความโกรธจะลดลงๆ แล้วเราก็จะโกรธน้อยลงหรือจนกระทั่งจะไม่โกรธ เพราะฉะนั้นรู้จักกิเลสเสียด้วย รู้จักความเคยชินแห่งกิเลสเสียด้วย มันเป็นการเสพติดในทางวิญญาณ ไปโลภเข้าแล้วมันก็เสพติดในความโลภ คือชอบที่จะโลภอีก ไปโกรธเข้ามันก็เสพติดในทางความโกรธ คือ มันชอบที่จะโกรธอีก ไปโง่เข้ามันก็เสพติดในความโง่มันชอบที่จะโง่อีก คือ มันชอบที่จะเป็นอย่างนั้นอีก เราเรียกว่า ความเคยชินแห่งกิเลสหรืออนุสัย เมื่อเรามีอนุสัยมากๆ แล้วเราจึงโลภง่าย โกรธง่าย โง่ง่าย ดังนั้นเราตัดทอนมันเสียโดยบังคับ อย่าให้โกรธอีกอย่าให้โลภอีก อย่าให้โกรธอีก อยู่เรื่อยๆ ไป มันจะลดลง ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นมันมากขึ้นๆ มันก็จะกดดันจนไหลออกมาง่ายๆ ความโลภความโกรธนี่จะออกมาง่ายๆ ความที่ไหลออกมารุนแรงนี่เขาเรียกว่า อาสวะไหลออกมา หมักอยู่จนบูดเปรี้ยวในสันดาน มีความกดดันสูงก็ไหลออกมา นี่เป็นกิเลสที่เรียกว่า อาสวะ คือ กิเลสที่ไหลออก มีกิเลสแล้วก็มีความเคยชินแห่งกิเลสสะสมไว้และมีกิเลสที่ไหลออกมาเป็นกิเลสที่รุนแรงยิ่งขึ้น ในพวกกิเลสทั้งหมดนี้ เรียกว่า มาร ทบทวนดูอย่าให้มันสวนกันทั้งหมดนี้ มารชุดทีหลัง ๓ มารนี้ อันที่ ๑ ทำชั่วทางภายนอกเลวๆ นี่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ อะไรก็ตาม เรียกว่า กรรมะกิเลส การกระทำที่เลว ทีนี้ตัวที่ ๒ เรียกว่า นิวรณ์ ความรู้สึกที่ไม่น่าปรารถนาที่มารบกวนจิตอยู่เสมอเรียกว่า นิวรณ์ มีอยู่ ๕ ชื่อ ต่อมาก็ถึงกิเลสโดยสมบูรณ์ เป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลง แล้วก็มีความเคยชินด้วย แล้วก็มีการไหลออกด้วย จะพูดอย่างอื่นก็ยังมีอีก แต่ป่วยการเพราะว่าเพียง ๒ ชุดนี่ก็พอแล้ว มันพอแล้ว บางคนก็สั่นหัวแล้ว จะยอมแพ้เสียแล้ว ดูกันใหม่เถอะ อุตส่าห์ไปดูหยิบขึ้นมาดูเวลาที่มีเวลาว่าง เวลาที่เราจะมอบให้การศึกษาธรรมะเราเอาสิ่งเหล่านี้มาดู พวกมารทั้ง ๕ อย่างที่ว่ามาแล้ว พวกมารทั้ง ๓ อย่างที่ว่ามานี้ ชุดไหนก็ได้ ข้างในมันเหมือนๆ กันทั้งนั้นแล้วแต่เราจะแยกมันข้างนอก ขึ้นชื่อว่ามารแล้วก็เป็นข้าศึก ทำลายล้างให้เราต้องต่อสู้มาร ต้องฆ่ามาร นี่ชีวิตของเรามันก็เต็มอยู่ด้วยมารเหล่านี้นี่ งั้นการที่พูดว่า ชีวิตคือการต่อสู้ มันก็ไม่ใช่คำพูดเหลวไหล ไม่ใช่คำพูดเพ้อเจ้อ พูดเล่นให้มันสนุก มันเป็นคำจริง มันเป็นความจริงที่ว่า ชีวิตนี้มันต้องต่อสู้เพราะมันเต็มอยู่ด้วยมาร ก็ต้องต่อสู้เพื่อทำลายล้างมาร ข้าศึกภายนอก มารภายนอกก็มี มารภายในก็มี ใครขัดคอเป็นอุปสรรคก็เรียกว่า มารภายนอก มนุษย์ด้วยกันก็ได้ ธรรมชาติก็ได้ ทีนี้มารภายใน คือ การกระทำของเราเอง ทางกาย ทางวาจา ทางใจที่มันเกิดขึ้นเอง นี่เรียกว่า มารภายใน ข้าศึกภายใน อันนี้ละเอียดมาก ลำบากมาก ทำยากมาก ถ้าชนะมารได้หมดก็เป็นพระอรหันต์สูงสุด ถ้าชนะได้แต่บางอย่างบางระดับก็เป็นพระอริยบุคคลที่รองๆ ลงมาจากพระอรหันต์ เมื่อว่าชนะได้หมดมันก็เป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้เรายังไม่ถึงกับเป็นพระอรหันต์หรือว่าเรายังไม่อวดดีที่จะอวดเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเราจะถือเอาประโยชน์อันนี้ เรียกว่า เป็นการทำตามรอยพระอรหันต์ พระอรหันต์ คือ ผู้ชนะมารแล้ว เราก็ทำตามรอยของท่าน เพื่อว่าเราจะได้รับประโยชน์อันนี้ เราจึงรู้จักมารและต่อสู้เพื่อทำลายล้างมาร ทีนี้เราได้พูดถึงคำว่า ข้าศึก
เมื่อเราได้พูดถึงคำว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ต่อสู้ข้าศึกภายในภายนอก เรารู้จักข้าศึกแล้ว รู้จักมารแล้ว ทีนี้ก็รู้จักอาวุธที่จะฆ่ามาร ก็คือ ธรรมะ มารทุกชนิดฆ่าให้ตายได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ไม่ว่ามารชนิดไหน เพราะคำว่าธรรมะมีความหมายกว้างอย่างที่เคยพูดมาแล้ว คำเดียวมันพอจะใช้แก้ปัญหาแก้อุปสรรคทั้งหมดทั้งสิ้นได้ พระพุทธเจ้าท่านใช้ธรรมะท่านสอนนี่ใช้ธรรมะที่เรียกว่า ปัญญา แม้ว่ามันจะเป็นคำพูดที่เอาเปรียบครอบคลุมกว้างๆ โญเทถะ มารันจะ ปัญญาวุเธนะ... โญเทถะ มารันจะ ปัญญาวุเธนะ (นาทีที่ 1.00.00) เธอจงรบมารด้วยอาวุธ คือ ปัญญา มารชนิดไหนอาวุธคือ ปัญญาสามารถล้างฆ่ามารได้หมด ทีนี้อย่าทำเล่นกับคำว่าปัญญา ปัญญารุ่นเด็กๆ นั่นมันก็ไม่ฆ่ามารได้ ปัญญาบางชนิดปัญญาเฉโก มันก็ไปเข้าฝูงมารเสียอีก สมัครเข้าไปหากินกับมารเสียอีก ปัญญาชนิดนั้นปัญญาอันธพาล มันต้องปัญญาจริง ปัญญาแท้ของธรรมะ คือว่า รู้เรื่อง อันนั้นดี รู้จักสิ่งนั้น รู้จักเหตุให้เกิดสิ่งนั้น รู้จักความดับแห่งสิ่งนั้น รู้จักทางให้ถึงความดับแห่งสิ่งนั้น อย่างน้อย ๔ ที่เรียก อริยสัจ ๔ รู้จักสิ่งนั้นดี รู้จักเหตุให้เกิดสิ่งนั้น รู้จักความดับของสิ่งนั้น รู้จักทางให้ถึงความดับของสิ่งนั้น รู้จักสิ่งนั้นดีก็รู้จักว่า มันมีเป็นอย่างไร เป็นกี่ชนิด กี่อย่าง ลักษณะอะไรก็รู้จักดี เช่น รู้จักมารก็รู้จักมารดี รู้จักว่ามารนี้เกิดมาจากอะไร เกิดจากอวิชชา ความโง่ ก็รู้ว่ามันเกิดมาจากนี้ที่เกิดของมัน แล้วมันมีเสน่ห์ของมาร เหยื่อล่อของมารที่ทำให้คนไปหลงติดในมาร คือ ความเอร็ดอร่อยทาง อายตนะ ความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เราเรียกว่า เสน่ห์ของมาร ทีนี้ว่าไปติดบ่วงมารนี้เข้าแล้วมันเป็นทุกข์ นั่นก็คือว่า โทษร้ายของมาร นี่จะดับมารทางออกจากมาร ความดับแห่งมารก็ต้องมี ความถูกต้อง ๘ ประการอย่างที่เคยพูดแล้ว แล้วมารก็ดับไป นี่อย่างว่าเรื่องมารเรื่องเดียวก็ต้องรู้ว่า มันคืออะไร มันมาจากอะไร มันมีอะไรเป็นของล่อ ของหลอก ของยั่วให้เราไปติดบ่วงของมัน แล้วมันทำอันตรายอะไรแก่เรา แล้วทำอย่างไรเราจะดับมันได้ ความดับของมันคืออย่างไร นี่เรียกว่า รู้จริง รู้รอบ เรียกว่า ปัญญา จำไว้เป็นหลักกลางๆ เท่านั้นก็พอ อย่างน้อย ๔ อย่าง มันคืออะไร มันมาจากอะไร มันเพื่ออะไร มันโดยวิธีใด มันคืออะไร มันมาจากอะไร จะดับมันเสียอย่างไร แล้วก็โดยวิธีใด ดับนั้นคืออย่างไรแล้วก็โดยวิธีใด ถ้าให้มากไปกว่านี้ก็รู้ว่ามันมีอะไรล่อเรา หลอกเรา แล้วมันทำพิษ ทำโทษอะไรทำร้ายอะไรแก่เราอย่างไร เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันอยู่ตามกฎของธรรมชาติ เดี๋ยวจะลืมเสียจะทบทวนใหม่ว่า อาวุธที่จะฆ่ามาร ก็คือ ธรรมะ ธรรมะกว้างนักมากนักเอามา ธรรมะที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง คือ ปัญญาตามคำแนะนำของพระพุทธเจ้า เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่ามารนั้นมันมาจากไม่มีปัญญา มารมันเกิดจากอวิชชา มารมันเกิดจากความปราศจากปัญญา ฆ่ามารก็ฆ่าด้วยปัญญาคือมีปัญญา มันตรงกันข้ามอย่างนี้ เรามีปัญญาแล้วเราก็ไม่ทำบาปทำชั่ว เพราะเรารู้อยู่ดีว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าเรามีปัญญาจริง มันก็ไม่เป็นนิวรณ์ ถ้ามีปัญญาเพียงพอมันก็ จิตมันก็เกลี้ยงเกลาจากความรู้สึกโน้มเอียงไปทางกามหรือในทางโกรธ หรือว่าในทางที่มันอ่อนเปลี้ย ในทางที่มันจะฟุ้งซ่าน หรือที่มันจะไม่แน่ใจอะไร ถ้าว่ามันมีปัญญาสมบูรณ์แล้วนิวรณ์มันก็ถูกทำให้กระจัดกระจายสูญหายไป นี่ก็เรียกว่า เอาปัญญาฆ่านิวรณ์ แต่ก็อาจจะอธิบายเป็นอย่างอื่น มีหัวข้อธรรมะเฉพาะใกล้ๆ อย่างอื่นก็ได้ แต่เห็นว่ามันยุ่งนัก สู้อย่างนี้ไม่ได้ ปัญญาอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนี่มันจะแก้ปัญหาหมด ถึงแม้จะทำอย่างอื่น ใช้ชื่ออย่างอื่นมันก็ไม่พ้นจากความมีปัญญา กิเลสทั้งหลาย โลภะ โทสะ โมหะ นี่มันจะทำลายไปด้วยปัญญา ปัญญาที่สูงสุดถึงระดับที่เรียกว่าเป็น วิปัสนาปัญญา เป็นวิปัสนาญาณ วิปัสสนาปัญญาเป็นวิชา เป็นแสงสว่างสูงสุด มันจะฆ่ากิเลสทั้งหลายได้
ทีนี้ก็มาดูมาร ๕ ตัวกันอีกทีหนึ่งดีกว่าว่า จะฆ่ามันด้วยปัญญาอย่างไร มารที่ว่า กิเลสมาร มันก็เหมือนกับคำอธิบายเมื่อสักครู่นี้ ถ้ามีกิเลส มีปัญญาเข้ามาแล้วก็มันก็กระจายเหมือนกับว่าพอมันมีแสงสว่างมา ความมืดก็ไม่รู้หายไปไหนหมด พอเอาแสงสว่างเข้ามาความมืดก็หายไปไหนหมดเอง นี่กิเลสมาร ฆ่าด้วยปัญญา
ทีนี้ขันธมาร ถ้าเรามีปัญญา เราก็รู้จักปรับปรุง ควบคุม จัดการให้ขันธ์ นี่มันไม่เกิดเป็นอุปสรรคขึ้นมา ถ้ามันมีอุปสรรคขึ้นมา ก็รู้จักทำให้มันหมดให้มันหายไปให้มันหมดอุปสรรค คือแก้ไขให้มันไม่เป็นอุปสรรค ไม่เป็นมารขึ้นมา นับตั้งแต่ว่ารู้จักรักษาโรคภัยไข้เจ็บ รู้จักบริหารกาย ขันธ์นี้ แล้วก็มีปัญญา มีสติทันทีท่วงทีในขณะที่มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ ก็มีปัญญาเข้ามาทันท่วงที ควบคุมไว้ไม่ให้เป็นไปทางฝ่ายของกิเลส
ทีนี้มัจจุมาร ความตาย จะเอาปัญญามากำจัดมารนี้ได้อย่างไร ความตายใน ๒ ความหมาย คือ ตัวตายอย่างร่างกายตาย ถ้าเรามีปัญญาเราก็ป้องกันได้เต็มที่ที่ร่างกายจะอยู่ไปได้ตามที่มันควรจะอยู่ได้เพราะปัญญา แต่ถ้าเป็นความตายในทางจิตใจ คือ ความผิดทางจิตใจ ความโง่ ความหลง ความตายในความหมายทางจิตใจ มันก็มีปัญญาเข้ามาทำให้เกิดความรู้ ความจริง ความเห็นแจ้ง มันก็ไม่ตาย เรียกว่า ความตายฝ่ายวัตถุก็ป้องกันด้วยปัญญา ความตายฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณก็ป้องกันไว้ด้วยปัญญา คือว่า รู้ถูกต้องตามที่เป็นจริงในสิ่งทั้งปวง
ถัดไปที่ว่า สังขารมาร กรรมหรือผลกรรมซึ่งมาจากกิเลส ถ้ามีปัญญาแล้วก็มันไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ถ้ามีปัญญาถึงขนาดที่ไม่มีตัวตน ปัญญาสูงสุดถึงขนาดไม่มีตัวตน ตัวเราของเรานี่ การกระทำก็ไม่เป็นกรรม กรรมมันก็ยกเลิกไปเอง นี่มันฆ่ากรรมและผลกรรม ระงับผลกรรม ระงับกรรมเสียได้ เรียกว่า ฆ่าสังขารมารเสียได้ ไม่มีการปรุงแต่งที่เป็นความทุกข์
เรื่องสุดท้ายที่เรียกว่า เทวะอุตมาร ถ้าเป็นเทวดาหนุ่มๆ ขี้เล่นมาจากสวรรค์จะฆ่าเสียด้วยปัญญาอย่างไร อันนี้ก็ไม่อยากอธิบายเพราะว่าเราไม่ถืออย่างนั้น เราถือว่า จิตใจของเราที่โน้มเอียงไปในทางเล่นสนุกสนาน เอร็ดอร่อย โดยเฉพาะทางเพศ ทางกามารมณ์ นี่เป็นมาร เราก็ฆ่าเสียด้วยปัญญา คือ เลิกโง่เกี่ยวกับเหตุนั้นหรือเกี่ยวกับเรื่องชนิดนั้นกันเสียที เทวบุตรมารก็ไม่มารบกวนหรือตายหมดไม่มารบกวน นี่โดยหลักใหญ่เป็นอย่างนี้ โดยรายละเอียดปลีกย่อยอาจจะอธิบายไว้มากกว่านี้ จะไปหาอ่านจะไปสนทนาศึกษาจากที่อื่นก็ได้ โดยรายละเอียดปลีกย่อยมันยังมีอีกมาก แต่ว่าโดยหลักใหญ่มันมีอย่างนี้
ดังนั้นเรามีอาวุธ คือ ปัญญา ที่อยากจะพูดถึงปัญญาอีกนิดหนึ่ง ในภาษาไทยมันกินความกว้างจนถ้าเป็นความรู้จะเรียกว่าปัญญาเสียหมด แม้แต่ภาษาบาลีชั้นหลังๆ ที่ไม่ใช่พุทธภาษิต มันก็มีความหมายคล้ายๆ กันว่า ปัญญาเกิดจากการเรียนรู้ อย่างที่คุณฟังเรียนจดจำนี้ มันก็เกิดความรู้มากขึ้น ปัญญา คือ ความรู้หรือความรู้เป็นปัญญา นี่ก็ใช้ประโยชน์ได้ตามสมควรแต่ไม่หมด มันมีปัญญาที่ยิ่งไปกว่านั้น คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดด้วยเหตุผล เขาเรียกว่า จินตา ไม่ใช่ว่าคิดเล่นๆ คิดเล็กๆ น้อยๆ มันเป็นการใช้เหตุผล ถ้าจะเข้าใจง่ายก็นึกถึงความหมายของคำว่า Reasoning Reasoning ในภาษาอังกฤษ มันไม่ใช่คิดง่ายๆ โง่ๆ เล็กๆ น้อยๆ เฉยๆ มันมีการใช้เหตุผลทบทวนไปมา อย่างนี้ก็เรียกว่า ปัญญาที่เกิดจากความคิด มีอันสุดท้ายว่า ปัญญาเกิดจากการกระทำทางจิตใจ คือ ทำจิตให้เจริญ นี่ก็คือ การทำสมาธิ ทำวิปัสสนา ทำอะไรทำนองนั้น ปัญญาสูงสุดก็ เรียกว่า ปัญญาเกิดจากความเจริญแห่งจิตใจ ทางจิตใจ
อันแรก เรียกว่า สุตะปัญญา ปัญญาเกิดจากการเล่าเรียน ในโรงเรียนก็ได้ อันที่สอง เรียกว่า จินตามายะปัญญา ปัญญาเกิดจากการใช้เหตุผล การคิดนึก อันที่สาม เรียกว่า ภาวนามายะปัญญา เกิดจากความเจริญทางจิตใจ คือ จิตใจมันสูงขึ้นไปตามเรื่องของสมาธิวิปัสสนา ปัญญาชนิดนั้นมันสูงมันออกมา ปัญญาชนิดนี้ที่เล็งถึงในการกำจัดมาร นำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อจะกำจัดมาร ฆ่ามาร ฉะนั้นเราอย่า อย่าพูดหยุดเสียว่า เรียนรู้จำได้แล้วจะเป็นปัญญาที่เพียงพอ เพราะมันยังไม่พอ มันต้องเป็นปัญญาที่คิดนึกใช้เหตุผลจนเป็นความเข้าใจ นี่เป็นปัญญาขึ้นมาอีกทีหนึ่ง มีอำนาจมีกำลังมากกว่าปัญญาที่เรียนเฉยๆ ทีนี้ก็ยังไม่พอ ต้องไปๆ ฝึกฝน ฝึกฝนอบรมทางจิตใจโดยวิธีสมถะภาวนา วิปัสสนาภาวนา จนจิตเฉียบแหลมคมกล้าแล้วมองเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ตามแบบของธรรมะ นี่เรียกว่า ปัญญาสูงสุด ทำอย่างนี้เรื่อยไปๆ แล้วก็ดูความจริงของสิ่งทั้งปวงเรื่อยไปๆ มันก็ไปเองจนถึงที่สุด มันดูสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงแต่มันทำทีเดียวไม่ถึงที่สุด มันต้องค่อยเป็น ค่อยมากขึ้นๆ ๆ จนกว่าถึงที่สุดไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง เรื่องเดียวกันนั้น คือ ดูสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงให้เห็นว่าเป็นจริงอย่างไร เช่นว่า มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี่ ดูอันนี้ในครั้งแรกดูได้เท่านี้ก็บรรลุผลเพียงเท่านี้ แล้วก็ดูอันนี้ดูอย่างนี้ต่อไปอีกมันก็เพิ่มขึ้นๆ จนเป็นพระอรหันต์ก็เริ่มเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในระดับสูงสุดสุดท้าย ขอให้จำไว้ให้ดีว่า ที่เรียกว่า ปัญญา ปัญญานี่มันมีอยู่ถึง ๓ ชนิด หรือ ๓ ระดับ ในภาษาไทยเราเรียกว่า ปัญญา หมด มันก็ควรจะต้องสับสนเป็นธรรมดา ทีนี้เอาภาษาอังกฤษมาช่วยประกันความสับสน ปัญญาอันแรกก็เป็นเพียงความรู้ ที่เรียกว่า ความรู้ ปัญญาที่ ๒ คือ ความเข้าใจ ปัญญาที่ ๓ คือ เห็นแจ้งโดยประจักษ์ ปัญญาที่แรก ความรู้ เรียกว่า Knowledge หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกที่หาได้ตามโรงเรียน ปัญญาที่สอง ความเข้าใจ เป็น Understanding อะไรทำนองนี้ ในความหมายธรรมดานี้ ต้องไป ศึกษาฝึกฝนการใช้เหตุผล Reasoning การใช้เหตุผล
ทีนี้ต่อไปอีกต้องไปทำจิตเป็นสมาธิ จิตนั้นสามารถที่จะมองในสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง เป็นวิปัสสนา อย่างนี้มันเป็นที่เขาเรียกกันว่า เรียกสั้นๆ เขาเรียกกันว่า Wisdom Wisdomไม่ใช่ Knowledge Wisdom ไม่ใช่ Understanding Wisdom นั้นไปถึงสูงสุด รู้ถึงที่สุด มันมีคำว่า Intuitive อีกคำหนึ่งระดับเดียวๆ กับ Wisdom บางทีเอามารวมกันเสียเลยเป็น Intuitive Wisdom Intuitive มันเห็นข้างใน เห็นจากข้างใน ชัดเจนอยู่ในข้างใน Wisdom นี่ความเห็นแจ้งโดยปราศจาก ไม่ใช่คำนึงคำนวณ แล้วก็เป็นอยู่ในภายใน นี่เขาแบ่งแยกกันให้มันขาดออกไปอย่างนี้ เรียกว่า Intuitive Wisdom ถ้าเราไปใช้คำเดียวกัน นี่ก็ปัญญา แล้วมันก็ปนกันได้สับสนกันได้ ต้องจำกัดว่า ปัญญาขั้นแรกคืออย่างนี้ ปัญญาขั้นสองคืออย่างนี้ ปัญญาขั้นที่สามคืออย่างนี้ แล้วเราก็ใช้ปัญญาขั้นที่สามนั่นแหละเป็นอาวุธเพื่อจะฆ่ามาร ตามพระพุทธภาษิตที่ว่า เธอจงรบมารด้วยปัญญาวุธ ปัญญาวุเธนะ ด้วยปัญญาอาวุธ ด้วยอาวุธ คือ ปัญญา
ในทางพุทธศาสนา อะไรๆ ก็จะมามอบให้ปัญญาทั้งนั้น บริสุทธิ์ก็เพราะปัญญา อื่นๆ เป็นองค์ประกอบของปัญญา มาช่วยให้ปัญญาเป็นไปถึงที่สุด มันต้องเกิดจุดที่สำคัญที่สุด คือ ปัญญาก่อน แล้วปัญญานี่ไปแก้ปัญหาทั้งหลายได้ ฆ่ากิเลสก็ด้วยปัญญา ให้บริสุทธิ์ก็ด้วยปัญญา ฆ่ามารก็ด้วยปัญญา รอดพ้นก็เพราะปัญญา อะไรมันก็เพราะปัญญา จึงถือเอาเรื่องของปัญญาเป็นสารพัดประโยชน์ แก้ปัญหาได้หมด แล้วให้เป็นปัญญาที่สมบูรณ์แล้วก็เพียงพอ ถูกต้องเพียงพอ ปัญญาผิดๆ เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ใช่ปัญญาหรอกแต่เราก็เอาไปใช้กันเหมือนกัน เช่น โจรขโมย มันก็มีปัญญาสูงสุดตามแบบโจรขโมย ภาษาไทยใช้ได้ มันมีปัญญาแบบโจรเรียกว่า เฉโก ความเฉลียวฉลาด ที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า Cunning Cunning นั้นเพราะเขาหมายถึง ที่เราเรียกว่า ปัญญาเหมือนกัน ปัญญาคด ปัญญาอันธพาลที่เป็น Cunning นั่นเฉโกมันเป็นอย่างนั้น เราไม่ข้องแวะกับปัญญาคดโกง ปัญญาเฉโก ปัญญามิจฉาทิฐิ เช่น พวกอันธพาลเขาใช้ พวกโจรเขาใช้ เขาฉลาดในการที่จะกระทำโจรกรรมนี่เขาก็เฉียบแหลมมากเหมือนกัน เดี๋ยวนี้การศึกษาในโลกก็เป็นไปในทางของปัญญาเฉโก ปัญญาที่จะทำลายกันเสียมากกว่า ไม่สร้างสันติภาพ ดังนั้นโลกจึงไม่มีสันติภาพ เพราะว่า ปัญญาของมนุษย์ยุคปัจจุบันเป็นไปในทางเฉโก เห็นแก่ตัวๆ เห็นแก่ตัวด้วยปัญญา มีปัญญาเพราะเราเห็นแก่ตัว โลกนี้มันก็เต็มไปด้วยการเบียดเบียน
เป็นอันว่า วันนี้เราพูดกันเป็นตอนที่ ๒ ว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ไปดูเถอะ อย่าเชื่อใครเป็นอันขาด ไปดูให้เห็นเองว่า ชีวิตคือการต่อสู้ นับตั้งแต่ว่าทุกๆ เซลล์ในร่างกาย มันต่อสู้เพื่อรอดอยู่ เซลล์เนื้อหนังรอดอยู่มันก็ต่อสู้ มันก็ต้องมีการต่อสู้ โลหิตแดงโลหิตขาวต่อสู้เพื่อรักษาร่างกายนี้ไว้ให้มีสภาพปกติ เมื่อมีสิ่งอะไรแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายมันก็มีหน้าที่ต่อสู้โดยธรรมชาติ โดยที่เราไม่รู้สึก เจ้าของไม่รู้สึก แต่ข้างในมันต่อสู้กันอย่างเต็มที่ ที่ว่าโลหิตขาวมันจะต่อสู้สิ่งแปลกปลอมที่พลัดเข้าไปในร่างกาย มันก็เป็นการต่อสู้ นี่ที่เรารู้สึก เราก็ต่อสู้ เราก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ร่างกายมันสบาย นี่เรารู้สึก นี่ต่อสู้ทางกาย ถ้าธรรมชาติภายนอกเป็นข้าศึกก็ต่อสู้ป้องกันแก้ไขกันไปตามเรื่อง เช่น เราทำบ้านเรือนอยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มใช้สอยก็เพื่อจะต่อสู้ข้าศึกจากธรรมชาติ หนาวร้อนตามธรรมชาติ นี่เรื่องทางฝ่ายร่างกายหมดไปก็เหลือเรื่องจิตใจ ต่อสู้การกระทำอันชั่วร้าย ต่อสู้นิวรณ์อันชั่วร้าย ต่อสู้กิเลสอันชั่วร้าย ต่อสู้ให้ลุล่วงไป เรียกว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ถ้ายอมแพ้ มันก็ไม่มีการต่อสู้ ถ้ายอมแพ้เสียตั้งแต่ทีแรก มันก็ไม่มีการต่อสู้ ชีวิตมันต้องเป็นการต่อสู้ เราก็อย่ายอมแพ้ แล้วมันก็ชนะสักวันหนึ่งเป็นแน่ ล้วนพูดเป็นกันมาก่อนแล้วนี่ว่า ชีวิตคือการต่อสู้ วันนี้เรามาพูดกันให้มันชัดลงไปว่าต่อสู้อย่างไร ต่อสู้ด้วยอะไร ต่อสู้โดยวิธีใด ที่ไหน เมื่อไรก็ตามแต่เหตุของมัน
เอาแหละก็เป็นอันว่าวันนี้เราก็พูดถึงเรื่องชีวิตในความหมายที่สองคือการต่อสู้ พอสมควรแก่เวลา จะเกินเวลาที่กำหนดแล้ว ยุติการบรรยายไว้ทีก่อน