แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะได้ยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนาเป็นบุพพาปรลำดับ มีข้อความสืบต่อจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาแล้วในตอนเย็น เรื่องที่วิสัชนานั้นคือเรื่องการกระทำพิธีวิสาขบูชาให้สำเร็จประโยชน์เต็มที่ตามความหมายของคำๆนี้ตามที่จะมีได้อย่างไร และได้สรุปความว่าวันที่เรียกกันว่าวันวิสาขบูชานี้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เราผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นจะได้รับประโยชน์อะไรจากการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน อาตมามีความเห็นว่าเราก็ควรจะได้รับผลอย่างเดียวกัน คือว่าจะต้องกระทำวันวิสาขบูชานี้ ให้เป็นวันเหมือนกับว่ามีการเกิดขึ้นแห่งบุคคลใหม่ และให้มีการเกิดขึ้นแห่งแสงสว่างอันสูงสุดและให้มีการดับเย็นแห่งกิเลส ความหมาย ๓ ประการนี้มีข้อความโดยละเอียดอย่างไร เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณากันโดยละเอียดสืบไป
(04:10) พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพระพุทธเจ้าเพราะการตรัสรู้สิ่งสูงสุดที่มนุษย์ควรจะรู้ กิเลสก็ดับลง ความเย็นเพราะไม่มีกิเลสก็ปรากฏถึงที่สุดแก่พระองค์ นี่แหละท่านทั้งหลาย จะจับใจความสำคัญอันนี้ไว้ให้ได้เถิด ว่ามีการเกิดขึ้นแห่งของใหม่หรือบุคคลใหม่ และก็ประกอบไปด้วยความรู้ที่ทำลายกิเลสตัณหาอวิชชาเสียได้ กิเลสนี้ดับแล้วก็มีความเย็นปรากฏออกมาเพราะการดับแห่งความร้อน ในวันนี้เราจะมีการเกิดใหม่แห่งบุคคลใหม่ จะได้หรือไม่ เกิดเป็นคนรู้เป็นคนตรัสรู้ แล้วกิเลสก็ดับลงไปก็เหลืออยู่แต่ความเย็น เพราะการดับหายไปแห่งความร้อน ในวันนี้ใครคนไหนบ้างที่ได้เป็นเหมือนกับการเกิดใหม่ คือเปลี่ยนแปลงไปคนละรูปแบบกับคนเก่า แล้วก็มีความแจ่มแจ้งในพระธรรม แล้วก็เย็นเพราะการดับไปแห่งกิเลสหรือความร้อนนั้น ถ้าไม่มีใครได้รับผลอย่างนี้เอาเสียเลย ก็น่าจะกล่าวว่าการทำวิสาขบูชาของเรานี้มันเป็นหมัน เพราะฉะนั้นขอให้พยายามอย่างยิ่งว่าในวันนี้ให้มีการเกิดใหม่ ให้จิตใจชนิดใหม่หรือดวงใหม่ให้จงได้ และให้มันประกอบไปด้วยแสงสว่างแห่งพระธรรม กำจัดกิเลสได้ตามสัดส่วนแม้ว่าจะไม่หมดจดสิ้นเชิง แต่ว่ากำจัดกิเลสลงไปได้เท่าไรความร้อนก็หายไปเท่านั้น และความเย็นก็เกิดขึ้นแทน แล้วใครบ้างที่ได้รับแสงสว่างในลักษณะที่เป็นจิตใจดวงใหม่ในวันนี้ แล้วก็ได้รับความเย็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหรือแปลกออกไปจากแต่ก่อน
(07:39) ช่วยทบทวนกันให้ดี มันพอมีทางที่จะเป็นอย่างนี้กันบ้างหรือไม่ อาตมาก็พยายามอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราทั้งหลายได้รับประโยชน์จากการทำพิธีวิสาขบูชา อย่าให้การกระทำนี้เป็นหมันเปล่า อย่าให้การตรัสรู้ เอ่อ,ของพระศาสดาเป็นหมันเปล่า นี่แหละคือข้อที่จะต้องมาปรึกษาหารือกัน ท่านทั้งหลายจงพิจารณาไปตั้งแต่ต้นว่าปัญหาของคนเรานั้นมันคืออะไร อย่าคิดให้มันฟุ้งซ่านมากไป ดูตามที่มันมีอยู่จริงๆ ปัญหาของคนเรานั้นก็คือความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ก็ไม่ต้องดิ้นรนเดือดร้อนอะไร นี่อะไรที่มันเป็นความทุกข์โดยแท้จริง ควรจะรู้จักไม่มีข้าวกินมันก็เป็นทุกข์ ยากจนมันก็เป็นทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นทุกข์ หรือว่ามีข้อขัดข้องอย่างอื่นๆที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ฉะนั้นมันเป็นความทุกข์จริงๆ เป็นความทุกข์ถึงที่สุดเป็นความทุกข์แท้ๆหรือเปล่า ถ้าถือเอาตามคำตรัสของพระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสว่า ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา เบญจขันธ์ที่ประกอบไปด้วยอุปาทานเป็นตัวทุกข์ นี่มันทุกข์จริงหรือเปล่า นี่เราจะเชื่อพระพุทธเจ้าหรือว่าจะเชื่อตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ใครไปยึดถือเข้าว่าเป็นตัวตนหรือของตนนั่นเป็นทุกข์ ทีนี้เราล่ะรู้สึกอย่างไร รู้สึกว่าไม่มีเงินใช้ดูจะเป็นทุกข์กว่านั้น หรือว่าการเอ่อ,มีอุปสรรคขัดข้องใดๆเป็นทุกข์ยิ่งกว่านั้น ถ้าตัวความทุกข์มันไม่ตรงกันเสียดังนี้แล้ว เรื่องความดับทุกข์ก็ไม่ตรงกันอีก แล้วเราจะได้รับ เอ่อ,เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี่แหละ อาตมาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพินิจพิจารณากันเป็นพิเศษ
(11:18) เรื่องไม่มีอาหารจะกิน เรื่องเจ็บไข้ เรื่องยากจน เรื่องถูกเบียดเบียนนี่มันก็เป็นทุกข์จริง ถึงพระพุทธเจ้าจะตรัสก็ต้องตรัสว่าเป็นทุกข์ แต่มันเป็นทุกข์ในความหมายไหนสักเท่าไร เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทำความเพียรเพื่อจะตรัสรู้ และในวันที่ตรัสรู้นั้นเองก็ทรงค้นหาว่าอะไรเป็นความทุกข์ ความทุกข์มาจากไหน ท่านพบว่าความทุกข์มาจาก ทุกข์ทั้งปวงมาจากชาติ หมายความว่าความแก่ความเจ็บความตายความไม่สบายร้อนอกร้อนใจทุกอย่างทุกประการนั้นมันมาจากชาติ ชาติมาจากภพ ภพมาจากอุปาทาน อุปาทานมาจากตัณหา ตัณหามาจากเวทนา เวทนามาจากผัสสะ ผัสสะมาจากอายตนะ อายตนะมาจากนามรูป นามรูปมาจากวิญญาณ วิญญาณมาจากสังขาร สังขารมาจากอวิชชา จบลงที่อวิชชา อวิชชาเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ ทุกข์ทั้งปวงมาจากต้นเหตุคืออวิชชา นี่ลองนำเอามาเป็นหลักสำหรับศึกษาและพิจารณาว่าความทุกข์ทั้งปวงมาจากอวิชชาคือภาวะที่ปราศจากความรู้อันถูกต้อง ในการที่จะทำจิตให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ใจความข้อนี้ก็อาจจะเอามาใช้ได้ในทุกกรณี มันยากจนไม่มีข้าวจะกินก็เพราะอวิชชาของเขา ไม่มีเงินใช้ก็เพราะอวิชชาของเขา เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็ต้องเพราะอวิชชาของเขาด้วยเหมือนกัน อะไรๆก็ดูจะมาจากอวิชชา คือภาวะที่ปราศจากความรู้อันถูกต้อง ในการที่จะขจัดปัญหาโดยประการทั้งปวง แต่เดี๋ยวนี้เรามาพิจารณาดูอีกทีหนึ่งว่า แม้คนที่มีข้าวกินจนเหลือกินมันก็เป็นทุกข์ คนไม่เจ็บไข้สบายดีอนามัยดีมันก็ยังเป็นทุกข์ แม้ว่าจะร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีจะอำนาจเป็นผู้ครองบ้านครองเมืองมันก็ยังเป็นทุกข์ นี่มันเรื่องอะไรกัน คนเหล่านั้นมีอวิชชาหรือเปล่า
(15:03) ถ้าตอบอย่างกำปั้นทุบดินว่าถ้ายังเป็นทุกข์ก็ต้องยังมีอวิชชา เพราะฉะนั้นมันจะสบายดีมีข้าวกินมีเงินใช้มีอะไรเต็มไปหมด มันก็ยังมีอวิชชาในส่วนที่ทำให้ต้องเป็นทุกข์ คนมีเงินก็ต้องทุกข์เพราะเงิน คนมีอำนาจวาสนาก็ต้องเป็นทุกข์เพราะอำนาจวาสนาเพราะว่ามันโง่ เพราะว่ามันมีอวิชชาในเรื่องนั้นๆ มันมีอะไรไว้เป็นของตนมันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น มีวัวมีควายก็เป็นทุกข์เพราะควาย มีเงินมีทองก็เป็นทุกข์เพราะเงินเพราะทอง มีบุตรภรรยาก็เป็นทุกข์เพราะบุตรภรรยา ก็เป็นอันว่ามีอะไรโดยอวิชชาก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น จนถึงกับว่ามีบุญมันก็ต้องทุกข์เพราะบุญ สำหรับคนโง่มีบุญสำหรับยึดถือจนร้อนอกร้อนใจ หรือมีบุญสำหรับปรุงแต่งให้ความคิดมันวุ่นวาย มันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะบุญ นี้ก็คืออวิชชาในเรื่องอันเกี่ยวกับบุญ ซึ่งคนที่มีบุญหรือชอบบุญจะต้องพิจารณาดูให้ดีๆ เอาไปพิจารณาดูให้ดีๆ ทีนี้จะได้พูดให้เป็นขั้นสุดท้ายว่า ขนาดคนมีความสุขก็ยังมีความทุกข์ มีความสุขชนิดไหน เอ้า,ว่าไปก็แล้วกัน มีเงินมากมีเกียรติยศชื่อเสียงมาก มีมิตรสหายมาก มีความพอใจในความสุขของตน มันก็ต้องยังมี จะต้องมีความทุกข์เพราะว่าสิ่งนั้นมันเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นมันจะหายไปเป็นห่วงว่าสิ่งนั้นมันจะหายไปและมันก็จะต้องหายไปจริงๆด้วย ไปสังเกตดูเถอะเพราะความไม่เที่ยงแห่งสังขารเหล่านั้น มีความสุขมันก็เปลี่ยนเป็นความทุกข์ เช่นว่ามีความสุขแล้วก็รู้สึกกลัวว่ามันจะหมดไปมันจะมาเพิ่มเติมไม่ทัน มันก็ต้องเป็นทุกข์หรือมันหวงแหนความสุขมันตระหนี่ในความสุขมันก็ต้องเป็นทุกข์ มันยังมีวิตกกังวลอีกหลายๆอย่างที่เกี่ยวกับความสุขที่ตนมีมันก็ต้องเป็นทุกข์ นี่ความทุกข์ในความหมายที่เรียกว่าเจ็บปวดทนทรมาน
(18:16) ทีนี้คำว่าความทุกข์ ทุกข์นี่ยังมีอีกความหมายหนึ่งคือดูแล้วมันน่าเกลียด น่าเกลียดที่ตรงไหน น่าเกลียดที่ตรงมายาไม่ใช่ของจริงแท้แน่นอน มีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง นี้เรียกว่าดูแล้วน่าเกลียด คือเป็นบาลีก็ว่าเป็นทุกข์และก็ว่ามันเป็นอนัตตา เพราะว่าของที่เป็นมายาไร้สาระอันถาวรแน่นอน มันก็เป็นอนัตตาเคว้งคว้างไปเลย ดูแล้วอะไรจะเป็นความไม่ทุกข์ ในที่สุดก็ต้องวกไปหาคำศัพท์ของพระพุทธเจ้าที่ว่ายึดมั่นในสิ่งใดความทุกข์ก็เกิดขึ้นจากความยึดมั่นนั้น ยึดมั่นในรูปร่างกายนี้ว่าของตนก็ต้องเป็นทุกข์เพราะรูปนั้นมันเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นในเวทนาว่าของตน มันก็ต้องเป็นทุกข์เพราะว่าเวทนานั้นมันก็เปลี่ยน มันเปลี่ยนเร็วกว่าร่างกายเสียอีก ยึดมั่นในสัญญาความมั่นหมายว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ เพราะสัญญาซึ่งก็เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงด้วยเหมือนกัน ยึดมั่นในสังขารคือความคิดนึกรู้สึกมันก็เป็นทุกข์ เพราะมันไม่เป็นไปตามที่รู้สึกคิดนึก รู้สึกยึดมั่นในวิญญาณ วิญญาณที่เกิดประจำทางตาหูจมูกลิ้นกายมันก็เป็นทุกข์ เพราะมันจะไม่คงเส้นคงวา มันจะไม่เที่ยงแท้ถาวรแน่นอน หรือจะยึดมั่นในวิญญาณที่เค้าถือกันอย่างปรัมปราว่าวิญญาณไปเกิด ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปฏิสนธิวิญญาณ นี้มันก็ยังต้องเป็นทุกข์อยู่ดี เป็นห่วงเรื่องจะไม่ได้เกิดดี แล้วก็เอาอะไรกับมันไม่ได้แม้แต่ปฏิสนธิวิญญาณก็เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่เรียกว่าสังขาร ดังนั้นมันก็ไม่เที่ยงไปตามวิสัยแห่งสังขาร ก็เป็นอันว่ายึดถืออะไรก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ากล่าวโดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบไปด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์
(21:13) ทีนี้อะไรเล่าที่จะไม่ทุกข์ มันก็มีอย่างเดียวกันนั้นคือความไม่ยึดมั่นในเบญจขันธ์นั้นเอง เมื่อพูดว่าไม่ยึดมั่นในเบญจขันธ์ก็คือไม่ยึดมั่นในสิ่งใดๆ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงบรรดามีในโลกนี้มันสรุปรวมอยู่ได้ที่เบญจขันธ์ พวกที่เป็นวัตถุเป็นรูปธรรมมันก็รวมอยู่ที่รูปขันธ์ ที่เป็นเรื่องของจิตใจของเจตสิกมันก็เอ่อ,เรียกว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มันก็เปลี่ยนแปลง เมื่อมีความทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลงไม่ควรจะยึดถือ คือไม่ยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ ก็เท่ากับว่าไม่ยึดถืออะไรๆในโลกทั้งหมดทั้งสิ้น หรือจะใช้คำว่าโลกแทนก็ได้ ไม่ยึดถือสิ่งใดๆในโลก ก็ไม่มีทางที่จะเป็นทุกข์เพราะว่าไอ้ความทุกข์นี้มันอยู่ที่ความยึดถือ เห็นตัวอย่างได้ง่ายๆ เอ่อ,ก็อย่างในทางวัตถุ มือของเราไปจับยึดอะไรไว้ มือนั้นจะเมื่อยมือแล้วก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะความเมื่อยมือ ไปหิ้วอะไรเข้าไว้ แม้จะมีน้ำหนักน้อยมันก็เมื่อยมือ แล้วมันก็เป็นทุกข์เพราะการหิ้ว ถ้าเราไม่หิ้วเราปล่อยเสียให้มือมันว่าง ไม่จับอะไรไว้ ไม่หิ้วอะไรไว้ มันก็ไม่มีความทุกข์ คือมันไม่มีความหนักที่มือ จิตนี้ก็เหมือนกันไปจับอะไรหิ้วขึ้นไว้ โดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของๆตน จิตนั้นมันก็จะต้องหนักเพราะการหิ้ว หรือการยึดถือนั้นไว้ เอ่อ,เช่นเดียวกับมือนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจิตที่ยึดถืออะไรไว้โดยความเป็นตัวตนเป็นของตน มันก็ต้องเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า เอ่อ,การยึดถือในเบญจขันธ์นั้นเป็นทุกข์ นี่กลัวว่าหลายๆคนจะยังไม่รู้จักว่าเบญจขันธ์นั้นคืออะไร คงจะได้ยินคำนี้มามากแล้วแต่ไม่เข้าใจหรือยังเข้าใจผิดกันอยู่ ขอซ้อมความเข้าใจในข้อนี้สักหน่อย (24:10) เบญจขันธ์คือขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ที่ ๑ คือรูปขันธ์ที่เป็นภายในก็คือร่างกายทั้งหมดทั้งสิ้น รวมทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เอ่อ,ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่างนี้ มีประสาทสำหรับรู้สึก รวมประสาทนี้เข้าไว้ในฝ่ายรูปก็เลยเป็นรูปขันธ์ด้วยกันทั้งนั้น ร่างกายที่ประกอบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย มีระบบประสาทประจำอยู่ทั้ง ๕ แห่งนั้นเรียกว่ารูปขันธ์คือกาย เมื่อมีอะไรมากระทบกับสิ่งทั้ง ๕ นี้มันก็เกิดวิญญาณขึ้นที่นั่น เช่นตาเห็นรูปก็เกิดจักษุวิญญาณการเห็นทางตา หูได้ยินเสียง เอ่อ,หูกระทบกับเสียงก็เกิดวิญญาณทางหู จมูกถึงกันเข้ากับกลิ่นก็เกิดวิญญาณทางจมูก มีของมาถึงกันเข้ากับลิ้นก็เกิดวิญญาณทางลิ้น มีอะไรมาถูกผิวกายก็เกิดวิญญาณทางผิวกาย นี่เรียกว่าเกิดได้ทั้งทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย ทีนี้ตากับรูปกับจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตาทำหน้าที่ร่วมกัน ก็เรียกว่าผัสสะ คือการกระทบ กระทบแล้วก็รู้สึกเป็นเวทนาว่าน่ายินดีหรือไม่น่ายินดี ส่วนนี้เรียกว่าเวทนาขันธ์ ตาหูจมูกลิ้นกายจึงมีระบบประสาทเพื่อทำหน้าที่นั้น ก็เรียกว่ารูปขันธ์ แล้วเราก็มาได้เวทนาขันธ์ คือเวทนาที่รู้สึกขึ้นมา เวทนารู้สึกแล้วก็ทำให้เกิดสัญญาความจำได้หรือความสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นอะไร นี้ก็เกิดสัญญาขันธ์คือความมั่นหมายด้วยความจำได้ว่ามันเป็นอะไร หรือแม้ของใหม่ไม่ใช่ของเก่าก็มีความมั่นหมาย ความมั่นหมายนั้นก็เรียกว่าสัญญาขันธ์ มีความมั่นหมายหรือสัญญาอย่างนี้แล้วก็เกิดความคิดไปตามความมั่นหมายนั้น ความคิดนี้เรียกว่าสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ในกรณีอย่างนี้หมายถึงความคิด ไม่ได้หมายถึงวัตถุสิ่งของร่างกายภาษาชาวบ้านที่เรียกว่าสังขารๆ นั่นอีกความหมายหนึ่ง แม้แต่ตัวหนังสือเหมือนกันว่าสังขารแต่ความหมายต่างกัน ในที่นี้หมายถึงความคิดนั่นก็เป็นสังขารขันธ์ และวิญญาณที่เกิดขึ้นในระยะแรกที่สุด เช่นว่าตากระทบรูปเป็นต้น
(27:45) คือว่าเมื่อเกิดเวทนาแล้ว จิตรู้สึกต่อเวทนานั้นเป็นมโนวิญญาณอย่างนี้ก็เป็นวิญญาณขันธ์ ความรู้สึกต่างๆ จิตรู้สึกก็เป็น เอ่อ, เกิดมโนวิญญาณเป็นวิญญาณขันธ์ ดังนั้นวิญญาณขันธ์จึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก แต่ก็เรียกว่าเป็นขันธ์ๆ หนึ่งคือวิญญาณ ท่านจงช่วยจดจำคำทั้ง ๕ คำนี้ไว้ให้ดีๆ มีความจำเป็นมากที่จะต้องรู้ เข้าใจถูกต้องสำหรับศึกษาพระธรรมทั้งปวงทั้งหลายต่อไปข้างหน้า ทบทวนอีกทีหนึ่งว่าเมื่อรูปกายที่รวมระบบประสาทอยู่ด้วยเมื่อใดทำหน้าที่ของมันเมื่อนั้นเรียกว่ารูปขันธ์ เมื่อยังไม่ได้ทำหน้าที่ของมันยังไม่เรียกว่ารูปขันธ์ แม้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ร่างกายก็มีอยู่อะไรก็มีอยู่ที่เกี่ยวกับร่างกาย แต่ถ้าว่ามันไม่ได้ทำหน้าที่ของมันก็เรียกว่ารูปขันธ์ยังไม่เกิด มันเป็นเพียงรูปธาตุหรืออะไรที่ยังไม่ทำหน้าที่ ดังนั้นเราจะมีรูปขันธ์ก็ต่อเมื่อตาหรือหูหรือจมูกหรือลิ้นหรือกายทำหน้าที่ของมัน ไม่ใช่เรามีรูปขันธ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าใครเคยศึกษาหรือเคยเข้าใจว่าเรามีรูปขันธ์ตลอดเวลา อาตมาเอ่อ,จะบอกว่าไปศึกษาเสียใหม่ เราจะมีรูปขันธ์ต่อเมื่อรูปขันธ์ทำหน้าที่ของมัน แล้วเราก็ยึดถือไอ้รูปขันธ์ที่ทำหน้าที่ได้อย่างนั้นว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา นี่คือมีรูปขันธ์ที่ยึดถือแล้ว เมื่อรูปขันธ์ทำหน้าที่ของมันเฉยๆ ยังไม่ถูกยึดถือก็เรียกว่ารูปขันธ์ แต่พอไปยึดถือรูปขันธ์นั้นว่าของเราเข้าก็เลยกลายเป็นรูปูปาทานขันธ์ คือรูปขันธ์ที่ถูกยึดถือแล้ว ทีนี้เมื่อ เอ่อ,รูปขันธ์ เอ่อ,นี้ทำหน้าที่แล้วก็เกิดวิญญาณขันธ์ คือตากับรูปถึงกันเข้าเกิดวิญญาณทางตา หูกับเสียงถึงกันเข้าเกิดวิญญาณทางหูดังที่กล่าวแล้ว นี่เราก็เกิดวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มีวิญญาณขันธ์อยู่ตลอดเวลา เรามีเฉพาะเมื่ออายตนะภายในถึงกันเข้ากับอายตนะภายนอก เช่นตาถึงกันเข้ากับรูป หูถึงกันเข้ากับเสียง จมูกถึงกันเข้ากับกลิ่น สิ่งมากระทบกายถึงกันเข้ากับผิวกายนี่เราจึงมีวิญญาณขันธ์ ดังนั้นเรามีวิญญาณขันธ์เฉพาะเวลาที่มันมีการกระทบทางอายตนะ เราไม่ได้มีวิญญาณขันธ์อยู่ตลอดเวลา
(31:07) เมื่อมีการกระทบเป็นผัสสะแล้วก็มีเวทนาขันธ์ ดังนั้นเวทนาขันธ์เพิ่งเกิดภายหลังจากการกระทบแล้ว มิได้มีอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีการกระทบก็ไม่มีเวทนาขันธ์ เมื่อวิญญาณขันธ์ทำหน้าที่ดับไปแล้ว เป็นผัสสะดับไปแล้วมันก็มีเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์ทำหน้าที่ของมันแล้วก็ปรุงสัญญาขันธ์หมายมั่นในเวทนานั้น เวทนาขันธ์ก็ดับไปสัญญาขันธ์ก็เกิดขึ้นมาแทน สัญญาขันธ์สำคัญมั่นหมายอย่างไรเกิดขึ้นทำหน้าที่ของมันก็ส่งเสริมให้เกิดสังขารขันธ์คือความคิดนึก สัญญาขันธ์ก็ดับไป สำหรับสังขารขันธ์จะได้เกิดขึ้นแทน นี่แปลว่ามันจะอยู่พร้อมกันทั้ง ๕ ขันธ์ไม่ได้ เพราะมันทำหน้าที่กันคนละที ดังนั้นเราจะมีขันธ์ทั้ง ๕ พร้อมกันในเวลาเดียวกันไม่ได้ ควรจะศึกษาไว้ให้ดี ถ้าเวลาหลับไม่ทำหน้าที่อะไรเลยก็เหมือนกับว่าไม่มีขันธ์อะไรเลย ทั้งที่ร่างกายก็ยังมี นอนอยู่อึดถึดอยู่นั่นมันก็ไม่ใช่รูปขันธ์ เพราะมันไม่ได้ทำหน้าที่หยั่งรู้ นี่ช่วยจำไว้เป็นหลักว่าไอ้ขันธ์ ๆๆ นี่มันมีเฉพาะเมื่อมันทำหน้าที่ของมัน เมื่อรูปทำหน้าที่ของรูป วิญญาณทำหน้าที่ของวิญญาณ เวทนาทำหน้าที่ของเวทนา สังขารทำหน้าที่ของสัง เอ้อ,สัญญาทำหน้าที่ของสัญญา สังขารทำหน้าที่ของสังขาร มันจึงมีขันธ์แต่ละขันธ์ๆนั้นเกิดขึ้น แล้วพร้อมกันไม่ได้เพราะมันเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน มันมีพร้อมกันทั้ง ๕ ไม่ได้ นี่ถ้ารู้จักขันธ์ทั้ง๕ อย่างนี้แล้วก็รู้ว่ารูปขันธ์นี้มันก็น่ายึดถือว่าตัวตน เพราะร่างกายส่วนวัตถุประสาททั้งหลายนี้มันก็ทำอะไรได้มาก
(33:31) น่าพอใจน่ายึดถือว่าเป็นตัวเรา ดังนั้นบางครั้งบางกรณีเราจึงยึดถือเอาร่างกายนี้ว่าตัวเรา ทีนี้ในบางครั้งบางกรณีเราไปคิดว่าวิญญาณน่าอัศจรรย์กว่า มันรู้แจ้งอะไรได้ เอานั่นเป็นตัวเราดีกว่า หรือบางเวลาไอ้เวทนานี้เป็นตัวเราเพราะมันรู้สึกอยู่กับเรา รู้สึกประจักษ์อยู่เป็นความสุขหรือเป็นความทุกข์หรือเป็นอทุกขมสุข คือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เอาเวทนานี้เอ่อ,เป็นของเราส่วนมาก จะเอาเป็นตัวเราก็ยังเป็นส่วนน้อย บางทีอาจจะโง่ไปถึงกับว่าเพราะมันรู้สึกได้ มันควรจะเป็นตัวเรา ทีนี้ก็มาถึงสัญญา คือเวทนาทำให้เกิดสัญญามั่นหมายอะไรแล้ว ความสำคัญมั่นหมายนั้นน่ะมันก็น่าจะยึดเอาเป็นตัวเราเพราะมันสำคัญมั่นหมายได้ สำคัญว่าเราเป็นเราสำคัญอะไรว่าของเรา แล้วไอ้ตัวที่สำคัญอะไรได้น่าจะยึดถือว่าเป็นตัวตน บางครั้งเราจึงยึดเอาสัญญาว่าเป็นตัวตน ทีนี้ความคิดมันเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เช่นสัญญาเป็นต้น ไอ้ตัวที่คิดนั่นน่ะมันน่าจะยึดถือเอาว่าเป็นตัวเรา นักปรัชญาฝรั่งเศสชื่อ เดการ์ต เขาพูดอย่างนี้ว่า ฉันเป็นตัวฉันเพราะฉันคิดได้ ดังนั้นฉันจึงเป็นตัวฉัน ก็เหมือนกับๆ ความรู้ของเดียรถีย์อื่นไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่ยึดถือสังขารหรือความคิดหรือสิ่งที่คิดว่าเป็นตัวฉันเป็นตัวตน เป็นอันว่าทั้ง ๕ นั้นน่ะไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนโดยแท้จริง แต่คนที่ยังไม่รู้ก็ยังมีอวิชชาก็จะต้องยึดถือเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ละอย่างหรือแต่ละคราวแล้วแต่ว่ามันจะปรุงแต่งเป็นอย่างไร มีอวิชชาปรุงแต่งให้คิดนึกไปอย่างไร มันก็ยึดถือว่ามีตัวตน ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะรูปขันธ์เปลี่ยนแปลง เพราะเวทนาขันธ์เปลี่ยนแปลง เพราะสัญญาขันธ์เปลี่ยนแปลง เพราะสังขารขันธ์เปลี่ยนแปลง เพราะวิญญาณขันธ์เปลี่ยนแปลง
(36:25) นี่เรื่องนี้เรื่องอยู่ในตัวคนทุกคน สัตว์ที่สมติกันว่าคนนี่มันก็มีขันธ์๕ อย่างนี้เกิดดับอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นเรื่องที่มีอยู่ในตัวท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายไม่รู้จักสิ่งที่มีอยู่ในตัวท่านทั้งหลาย นี้ลองคิดดูเถอะว่ามันจะเป็นอย่างไร มันโง่หรือฉลาดมันบ้าหรือดี สิ่งที่มีอยู่ในตัวตนแท้ๆจะทุกกระเบียดนิ้วอย่างนี้ก็ยังไม่รู้จักว่ามันเป็นอะไร แล้วก็ปล่อยเพ้อๆไป จะยึดมั่นขันธ์นั้นขันธ์นี้ แต่ละคราวแต่ละทีว่าเป็นตัวตนหรือของตนอย่างนี้ต้องเป็นทุกข์ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ซึ่งแปลว่าเมื่อกล่าวโดยสรุปย่อแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานถ้าไปยึดถือว่าตัวตนหรือของตนนั้นเป็นความทุกข์ นี่ความทุกข์ในความหมายของพุทธศาสนา หรือพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เป็นทุกข์ที่ละเอียด ประณีตสุขุมทางจิตทางวิญญาณ ท่านไม่ได้ตรัสไปในทางว่าไม่มีสตางค์ใช้แล้วก็เป็นทุกข์ เป็นหนี้เขาแล้วก็เป็นทุกข์ ถึงท่านจะตรัสก็เป็นเรื่องตรัสอย่างชาวบ้านพูดกัน มันไม่ใช่หลักของพระพุทธศาสนา หลักของพระพุทธศาสนามีความทุกข์อยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่น ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดเรียกว่าจิตนั้นไม่ว่าง จิตนั้นมันติดธุระในการยึดถือ จิตนั้นไม่ว่าง จิตไม่ว่างอย่างนี้ต้องเป็นทุกข์ เพราะเมื่อใดจิตนี้ไม่ได้ยึดถืออะไรโดยเป็นตัวตนของตนเลย เหมือนกับมือเปล่าๆไม่ได้จับฉวยอะไร จิตชนิดนั้นเรียกว่าจิตว่าง ถ้าว่างแล้วไม่เป็นทุกข์ จิตที่ไม่ว่างที่มันจับยึดหรือมันวุ่นมันก็เป็นทุกข์ จิตที่มันว่างมันไม่วุ่นมันไม่จับยึดมันก็ไม่เป็นทุกข์ ดังนั้นจงรู้สังเกตว่าเมื่อไรจิตยึดมั่นถือมั่นอะไรแล้วเป็นทุกข์อย่างไร ไม่ต้องไปถามใครที่ไหน เพราะมันรู้ประจักษ์อยู่ในใจของตนเอง
(38:59) ก็ได้รู้จักจิตชนิดที่เรียกว่าไม่ว่าง ทีนี้เวลาไหนจิตไม่ได้หมายมั่นยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน เมื่อนั้นไม่อาจจะทุกข์ได้ไม่อาจจะเป็นทุกข์ได้ นี่เรียกว่าจิตว่างมันทุกข์ไม่ได้ มีชีวิตอยู่ด้วยจิตว่างเถอะมันจะได้ไม่เป็นทุกข์ เมื่อจะทำการทำงานทำไร่ทำนาทำอาชีพทำธุรกิจใดๆก็ทำด้วยจิตมันว่างเถิดมันจะได้ไม่เป็นทุกข์ ถ้าจิตมันก็คิด คิดในการทำงานก็อย่าคิดไปในรูปที่มีตัวมีตน ให้คิดแต่ในเรื่องของเรื่อง คิดแต่ในทางของสติปัญญา ถ้าเราต้องการเงินเราก็คิดหรือมีความรู้สำหรับคิดว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้เงินมา แล้วก็ทำไปอย่างนั้นโดยที่ไม่ต้องให้เลยไปถึงว่าตัวกูทำตัวกูต้องการ ไม่ได้แล้วก็โมโหโทโสอย่างนี้เรียกว่ามันเป็นตัวกูของกูเกิดเสียแล้วจิตไม่ว่างเสียแล้ว แล้วจะต้องเป็นทุกข์ ไม่ทำอะไรก็เป็นทุกข์แม้จะนอนก็ไม่หลับ เรื่องตัวกูของกูที่เข้ามาทำให้จิตไม่ว่างนี่ร้ายกาจที่สุด ทรมานที่สุดเป็นทุกข์ที่สุด อย่าคบค้าสมาคมกับมันเลยมันร้อน มันต้องดับเสียมันจึงจะเย็น พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เป็นสัมมาสัมโพธิญาณรู้ รู้อะไร ถ้าโดยสรุปแล้วก็รู้ว่าไม่ควรยึดถืออะไรๆ ถ้าพูดให้สั้นก็รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือโดยความเป็นตัวเราของเรา เพราะเหตุไรไม่ควรยึดถือ เพราะมันจะเป็นทุกข์ ทำไมจึงเป็นทุกข์ เพราะบังคับมันไม่ได้ มันต้องเป็นของมันอย่างนั้นเอง ร่างกายก็ดี จิตใจก็ดี ชีวิตก็ดี มันของข้างในมันก็มีเหตุปัจจัยของมันเอง เรียกว่ามีกฎแห่งเหตุปัจจัยของมันเอง
(41:23) มีอิทัปปัจจยตาของมันเอง สังขารข้างนอกแก้วแหวนเงินทองบุตรภรรยาสามี ก็ยึดถือไม่ได้ เพราะมันมีอิทัปปัจจยตาของมันเอง มันไปตามกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาของมันเอง เราอย่าไปยึดถือกันอย่างนั้นอย่างนี้มันจะเป็นทุกข์ เราก็ทำไปเกี่ยวข้องกันไปหรือว่ามีไว้หรือบริโภคหรือใช้สอยโดยที่ไม่ต้องมีจิตที่ยึดถือ เช่นมีเงิน ไว้ที่ธนาคารไม่ต้องยึดถือ ถ้ายึดถือมันวิ่งมาอยู่บนหัวเราทั้งที่มันเก็บไว้ที่ธนาคาร ดูให้ดีเถอะไอ้คนที่มีเงินทั้งหลายฝากไว้ในธนาคาร ยึดถือเมื่อไรมันวิ่งมาอยู่บนหัวเรา ยึดถือเมื่อไรวัวควายทุ่งนามันวิ่งมาอยู่บนหัวเรา ที่ดินไร่นาเรือกสวนอะไรต่างๆก็เหมือนกัน บุตรภรรยาสามีก็เหมือนกัน ยึดถือเข้าเมื่อไรมันก็วิ่งมาอยู่บนหัวเรา นี่คือเรื่องของความยึดถือ มี อย่ายึดถือ ใช้กินอย่ายึดถือ สะสมเก็บไว้ก็ได้แต่อย่ายึดถือ เพราะพอยึดถือทีไรมันวิ่งมาอยู่บนหัวเราทุกทีไปเราก็ทนไม่ไหว นี้เป็นคำพูดเปรียบให้เห็นว่าถ้าไม่ยึดถือก็ไม่มาอยู่บนจิตใจของเรา จิตใจมันก็ยังว่างอยู่ก็ไม่ยึดถือ ระมัดระวังในทางปฏิบัติก็ระวังอย่าให้เกิดความยึดถือ จะทำงานก็ทำไปมีสติปัญญารู้ว่าทำอย่างนี้ก็ทำไป อย่ายึดถือให้เกิดความคิดประเภทตัวกูของกูเข้ามาเกี่ยวข้อง มันจะหนักมันจะร้อน มันจะมืดมนมันจะทำอะไรไม่ได้ดี นี่เป็นจะเรียกก็เรียกว่าเรียกเป็นยอดของศิลปะเป็นศิลปะยอดสุดของมนุษย์ ที่เค้าเรียกกันว่าศิลปะทั้งหลายใดๆที่งามมากที่ทำยากมาก ศิลปะทั้งหมดนั้นก็ไม่เท่ากันกับศิลปะแห่งการไม่ยึดถือและประโยชน์มันก็มากกว่ากัน คือถ้าเราไม่ยึดถือแล้วมันไม่เป็นทุกข์ เพราะจิตนั้นก็ฉลาดเฉลียวแคล่วคล่องว่องไว ทำงานอะไรๆก็ทำได้ดีที่สุด คือจิตมันปรกติ จิตมันไม่หนัก ไม่มืด ไม่ร้อน ไม่กระวนกระวาย จิตปรกติเป็นจิตว่าง เป็นจิตที่ไม่มีตัวกูของกูในความรู้สึกมันก็สบาย นอนก็หลับดี ทำงานก็สนุกดีมีความสุขอยู่ในการงานที่กระทำ
(44:29) ถ้ามันตรงกันข้ามมันเป็นทุกข์ไปทั้งนั้นไม่มีการพักผ่อนเลย ไปนอนมันก็ไม่หลับมันไม่เป็นการพักผ่อน ไปทำงานอยู่มันก็ไม่สนุกมันเบื่อระอามันเกลียดไปเสียหมด ถ้าใครเคยเป็นอย่างนี้ก็เข้าใจเถอะว่า นี่มันคืออย่างนี้แหล่ะ คือมันอย่างนี้เอง ให้จำคำอย่างนี้เองไว้ด้วย เดี๋ยวมันก็จะไปถึงคำที่ว่าอย่างนี้เอง เมื่อไปยึดถือเข้ามันก็หนักแล้วมันก็เป็นทุกข์ นี่คือมันเป็นอย่างนี้เองไม่ใช่ใครจะทำให้ มันเป็นของมันอย่างนี้เอง มันเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นกฎของอิทัปปัจจยตาว่ามันเป็นอย่างนี้เอง ทุกอย่างมันมีความเป็นอย่างนี้เองของมันๆ ก้อนหินก้อนนี้ก็มีความเป็นอย่างนี้เองของมัน คือมันมาตามเหตุตามปัจจัยของมันมาปรากฏอยู่ที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ ต้นไม้ต้นนี้ก็เหมือนกันมันมีความเป็นอย่างนี้เองของมันที่มันจะต้องมาเป็นต้นไม้อยู่อย่างนี้ที่ตรงนี้ สุนัขตัวนั้นก็เหมือนกันแหละมีความเป็นอย่างนั้นเองของมัน มันจึงมาเป็นสุนัขอยู่อย่างนี้ นี่เราทุกคนที่นั่งอยู่นี่ก็มีความเป็นอย่างนี้เอง ดังนั้นแต่ละคนๆจึงต้องมานั่งอยู่ที่นี่ ความเป็นอย่างนี้เองก็คือเป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา กฎของธรรมชาติ ที่ว่าเมื่อมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจะเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัยสิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อมีสิ่งนี้ๆดับลงสิ่งนี้ๆที่เป็นผลนั้นก็ดับลง มันจะเกิดก็เพราะกฎแห่งอิทัปปัจจยตา มันจะดับก็เพราะกฎแห่งอิทัปปัจจยตา นี้เรียกว่าความเป็นเช่นนั้นเอง เรามันโง่เหลือประมาณ มันเป็นของมันเช่นนั้นเองเราก็จะเอามาเป็นอย่างที่เราต้องการ เมื่อมันไม่เป็นให้เราตามที่เราต้องการเราก็นั่งร้องไห้อยู่
(46:52) ถ้าเป็นมากก็ถึงขนาดฆ่าตัวตายก็มี อย่างนั้นก็กระวนกระวายนอนไม่หลับ ไม่กี่เดือนกี่ปีก็ต้องเป็นโรคประสาทกันงอมแงม ดังนั้นคนที่เป็นโรคประสาทจนเต็มโรงพยาบาลเต็มไปหมด แม้กลางถนนนั้นนั่นก็เพราะมันไม่รู้จักคำว่าอย่างนั้นเอง มันต้องการแต่ให้เป็นไปตามกิเลสของมันต้องการ อวิชชาของมันต้องการ มันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็มีความทุกข์ทรมาน มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะความยึดถือ จะให้เป็นตัวตนเป็นของตนตามที่ความโง่มันคิดไป นี่เขาก็เรียกว่าอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ภาวะที่ปราศจากความรู้อันถูกต้องว่าอะไรเป็นอะไร หรือว่าไอ้สิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเองมันไม่มี ไม่มีความรู้อย่างนั้นก็เรียกว่าอวิชชา คือไม่วิชชาคือไม่รู้ว่าสิ่งทั้งปวงมันเป็นอย่างไร ถ้ารู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเช่นนั้นเอง มันก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไร ทีนี้ปัญหาเช่นนั้นเอง ฝ่ายที่มันจะให้เป็นไปตามที่เราต้องการ เช่นเราอยากได้เงินเราก็หากฎแห่งความเป็นเช่นนั้นเองที่ถูกต้องสำหรับจะได้เงิน เราก็ทำไปตามกฎเช่นนั้นเองจนได้เงิน ถ้าเงินมันกลับหายไปเสียอีกก็เรียกว่ามันก็เป็นเช่นนั้นเองของมัน มันก็หายไป เราจะมานั่งร้องไห้อยู่ทำไม มันก็หายเช่นนั้นเองอย่างอื่นมาแก้ไขต่อไปอีกจนมันกลับมาหรือหาเอาใหม่ ขอให้มองเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง ว่าทุกอย่างมันมีความเป็นเช่นนั้นเอง คือเป็นไปตามกฎแห่งอิทัปปัจยตา การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็คือรู้ข้อนี้ ท่านรู้ว่าไอ้ความเป็นเช่นนั้นเองมันมีอยู่เป็นความจริง แต่ความจริงนี้ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกันนะ อย่ารู้จักกันแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ให้รู้ไว้ว่าแม้แต่ไอ้สิ่งที่เราเรียกว่าสัจจะหรือความจริงนี้มันก็เป็นธาตุด้วยเหมือนกัน มันเป็นธาตุ ธา-ตุ เป็นธาตุแห่งสัจจะ เป็นธาตุแห่งความจริง
(49:30) จะเรียกให้ไพเราะหน่อยก็เรียกว่าธรรมธาตุก็ได้ ธาตุแห่งธรรม หรือจะเรียกว่าสัจจะธาตุก็ได้ ธาตุแห่งสัจจะ แห่งความเป็นเช่นนั้นเองตามกฎแห่งอิทัปปัจยตา บางทีก็เรียกว่ากฎแห่งปฏิจจสมุปบาท ถ้าใช้กว้างครอบคลุมไม่ยกเว้นสิ่งใดก็เรียกว่าอิทัปปัจยตา ถ้าจะเอากันแต่เรื่องของความทุกข์และความดับทุกข์เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทก็พอ หรือจะเรียกให้เต็มยศของมันว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ก็ได้ นี่คือความเป็นเช่นนั้นเอง พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่าตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตามและตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตามแต่ธาตุนั้นมันมีอยู่แล้ว ฐิตา ว สา ธาตุ ธาตุนั้นมันมีอยู่แล้ว คือธาตุแห่งสัจจะหรือธาตุแห่งธรรมะว่ามันเช่นนั้นเอง คือเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ดังนั้นเราก็พูดได้ว่าอิทัปปัจยตาคือความเป็นเช่นนั้นเองที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ หรือจะว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นคือความเป็นเช่นนั้นเองที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถ้ายาวนักก็ย่นมาเหลืออริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ นั้นแหละคือความเป็นเช่นนั้นเองที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เอามาสอนพวกเรา ทีนี้ท่านก็สอนท่านก็ยืนยันว่าสิ่งนั้นน่ะ ความเป็นเช่นนั้นเองมันมีอยู่ก่อน แปลว่าตถาคตจะเกิดขึ้นหรือตถาคตจะไม่เกิดขึ้น ไอ้สิ่งนั้นเองธาตุที่เป็นเช่นนั้นเองมันก็มีอยู่แล้ว มันก็มีอยู่ นี้มันแสดงว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ ท่านไม่สามารถจะสร้างกฎหรือสร้างสัจจะอันลึกซึ้งของธรรมชาติได้ แต่ท่านรู้ ท่านพยายามจนรู้จนตรัสรู้เรื่องนี้ ซึ่งมันเป็นของธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติเช่นนั้นเองแล้วก็นำมาสอนพวกเรา ท่านเรียกสิ่งนี้ว่า ตถตา บ้าง ตถาตา บ้างแล้วแต่มีอยู่ทั้ง ๒ คำ คำไหนก็ได้ มันแปลว่าความเป็นเช่นนั้นเอง
(52:10) ตถา แปลว่าเช่นนั้น ตา แปลว่าความ ตถาตา แปลว่าความเป็นเช่นนั้น นี่พยายามเข้าใจคำว่ามันเป็นเช่นนั้น แล้วอย่าต้องหัวเราะอย่าต้องร้องไห้ เพราะความเป็นเช่นนั้นมันไม่ตามใจเราหรือว่ามันเผอิญมันได้ตามใจเราก็หัวเราะเป็นบ้าเป็นหลัง ไม่เป็นไม่ตรงตามใจเราก็นั่งร้องไห้น้ำตาเช็ดหัวเข่า นี่ความที่ไม่รู้ก็แล้วต้องเป็นทุกข์ ตถตาแปลว่าความเป็นเช่นนั้น มีคำช่วยประกอบให้แน่นแฟ้นมั่นคงดิ้นไม่ได้เข้ามาอีกตามลำดับว่า อวิตถตา แปลว่าความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น มันมีคำประกอบต่อไปว่า อนัญญถตา ความไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น ธัมมัฎฐิตตา เป็นความตั้งอยู่โดยธรรมชาติตามธรรมดา ธัมมนิยามตา ความเป็นกฎตายตัวของธรรมดา อิทัปปัจจยตาคือความเป็นอิทัปปัจจยตา ความที่ว่ามีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัยสิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัยสิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ๆดับลงสิ่งนี้ก็ดับลง ความตายตัวของกฎของธรรมดา เป็นความจริงสูงสุดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้และก็นำมาสอน แล้วท่านก็จำคำว่าอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทถูกไว้ว่าความเป็นเช่นนี้ๆเอง อยู่ในรูปของการที่อาศัยสิ่งนี้แล้วสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คำว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นเป็นคำที่ไม่ค่อยจะมีใครสนใจเพราะว่ามันเข้าใจยาก ไม่เข้าใจแล้วก็ไม่สนใจปัดทิ้งไปหมด แต่นั้นมันเป็นคำสำคัญเป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนา เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็คือตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท ท่านทั้งหลายอาจจะเคยได้ยินแต่เพียงว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ ท่านก็เข้าใจเสียให้ถูกต้องว่าอริยสัจ ๔ นั้นก็คือปฏิจจสมุปบาท เมื่อพูดให้สั้นๆย่อๆมันเหลือเพียง ๔ เป็นอริยสัจ ๔ ถ้าพูดเต็มที่มันกลายเป็นปฏิจจสมุปบาท ๑๑ ขั้นตอน
(55:00) ขอให้ไปอ่านดูเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเถิด ท่านตรัสรู้ขึ้นมาตามลำดับตั้งแต่ความทุกข์ทั้งปวงแล้วก็มาถึงชาติ มาถึงภพ มาถึงอุปาทาน มาถึงตัณหา มาถึงเวทนา มาถึงผัสสะ มาถึงอายตนะ มาถึงนามรูป มาถึงวิญญาณ มาถึงสังขาร มาถึงอวิชชา การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเมื่อไล่มาตามลำดับตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้มันจะมีอย่างนี้ คือเป็นรูปปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมะสูงสุด ที่เรียกปฏิจจสมุปบาทก็เพราะมันขยายออกไปละเอียด เรียกว่าอริยสัจเพียง ๔ ก็เพราะพูดสรุปกันสั้นๆ นั่นแหละคือธรรมะที่เป็นตถตา คือความเป็นอย่างนั้น อวิตถตา ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา ไม่เป็นโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น ธัมมัฎฐิตตา ความตั้งอยู่ตามธรรมดาโดยกฎของธรรมชาติ ธัมมนิยามตา เป็นกฎตายตัวของธรรมดา อิทัปปัจจยตานั่นคืออิทัปปัจจยตา ความเป็นเช่นนั้นๆมันเฉียบขาดเหลือประมาณ เรียกว่าเป็นกฎของธรรมชาติเฉียบขาดยิ่งกว่าสิ่งใดๆ พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นมันก็มีอยู่แล้ว แล้วก็มันบังคับสิ่งทั้งปวงเป็นไปตามกฎนั้น แล้วเราก็มีกฎนั้นแหละเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เหมือนกับว่าเป็นพระเป็นเจ้าสูงสุด พระผู้เป็นเจ้าสูงสุดนั้นอยู่ที่กฎอิทัปปัจจยตา พระเจ้าในคัมภีร์คริสเตียน ซึ่งเอามาจากของพวกยิว ถ้าเรียกในภาษาฮิบรูว่า ยะโฮวาห์ ถ้าเป็นภาษาฮิบรูแท้ๆ ก็เรียกว่า ยาห์เวห์ มาเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้ปัจจุบันนี้ว่า ยะโฮวาห์ ยะโฮวาห์นั้นคือยาห์เวห์ ยาห์เวห์นั้นแปลว่า เป็นอย่างนั้น คือเป็นอย่างที่ฉันเป็น คำว่าพระยะโฮวาห์หรือ ยาห์เวห์นั้นแปลว่า เป็นอย่างที่ฉันเป็น เป็นอย่างนั้น นั่นมันก็ตรงกันกับตถตา มาตรงกับอิทัปปัจจยตา
(57:34) ถ้าไม่มีพระยะโฮวาห์หรือยาห์เวห์ เป็นพระเจ้าจะพูดไปในรูปบุคคล เป็นภาษาธรรมเป็นบุคคลของเราก็มี ความเป็นเช่นนั้นเองเป็นพระเจ้าสูงสุด แต่เราไม่เรียกเป็นคน เราไม่ยอมรับว่าเป็นอย่างคนๆ มันเป็นธรรม ธรรมะ เป็นกฎแห่งธรรมชาติ แต่ใจความมันเหมือนกันตรงที่ว่ามันเป็นอย่างนั้นมันไม่เป็นอย่างอื่นได้ ไอ้ความที่มันต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้มันคือสิ่งสูงสุดเหมือนกับว่าเป็นพระเจ้า ถ้าใครถามว่าพุทธศาสนามีพระเจ้าไหม ก็ตอบว่ามีสิ คือกฎของธรรมชาติที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา หรือจะเรียกได้ทุกคำแหละไม่ว่าคำไหน กฎตถตาก็ได้ กฎอวิตถตาก็ได้ กฎอนัญญถตาก็ได้ กฎธัมมัฎฐิตตาก็ได้ ธัมมนิยามตาก็ได้ ปฏิจจสมุปบาทก็ได้ นี่เราก็มีพระเจ้าคือสิ่งเฉียบขาด และก็เป็นสิ่งที่ให้สิ่งต่างๆเป็นไป สิ่งต่างๆออกมาจากสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเป็นที่มาแห่งสิ่งทั้งปวง เหมือนที่เค้าเรียกพระเจ้าเป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งปวงหรือสร้างสิ่งทั้งปวง เค้ามีพระเจ้าอย่างคน เรามีพระเจ้าอย่างธรรมะ กฎอันนี้ที่เหมือนกับพระเจ้านี่ พระพุทธเจ้าท่านได้ค้นพบที่เรียกว่าท่านตรัสรู้ ตรัสรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา แม้ถ้าท่านรู้จักสิ่งนี้ก็คือรู้เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ เราก็เกิดคนใหม่ขึ้นมาเหมือนพระพุทธเจ้ามีแสงสว่างแห่งธรรมะนี้ขึ้นมา แล้วกิเลสของเราก็ดับไป เราก็ได้ความเย็นเป็นนิพพาน นี่เรามีทางที่จะทำให้เราได้มีคนใหม่ขึ้นมา แล้วก็ตรัสรู้ถึงที่สุดคือรู้อิทัปปัจจยตา แล้วก็ได้ความเย็นเพราะการดับไปแห่งกิเลส ด้วยอำนาจของการรู้อิทัปปัจจยตา พูดสั้นๆก็ว่ารู้ตถตา ให้สั้นกว่านั้นก็เรียกว่า ตถา ตถาแปลว่าความเป็นอย่างนั้น ในบาลีสังยุตตนิกายเรียกอริยสัจ ๔ ว่า ตถา พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ ก็คือตรัสรู้ ตถา
(01:00:17) เป็นผู้เข้าถึงซึ่งตถา ก็เรียกว่า ตถาคต ตถา แปลว่า ตถา คือเป็นเช่นนั้นเอง คต(คะ-ตะ)แปลว่าถึง ผู้ที่ถึงซึ่งตถาก็เรียกว่าพระตถาคตก็หมายถึงพระพุทธเจ้า ทีนี้เราพยายามที่จะศึกษาให้รู้ตถาหรือตถตาก็จะถึงเอ่อ,ตถาหรือตถตาเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า ดังนั้นเราสามารถที่จะมีการเกิดใหม่ การเกิดขึ้นแห่งคนใหม่ที่เรียกว่าประสูติแล้วก็ตรัสรู้ด้วย คือรู้กฎอิทัปปัจจยตาแล้วก็บรรลุนิพพานด้วย เพราะว่าทำลายกิเลสหมดลงไป แล้วก็เย็นเป็นนิพพาน ทำได้อย่างนี้จะดีไหม ถ้าทำได้อย่างนี้มันจะเป็นวิสาขบูชามากน้อยเท่าไร การทำวิสาขบูชาของเรามันก็ไม่สักว่าเป็นพิธีเสียแล้ว มันเป็นตัวจริงเสียแล้ว คือทำให้เกิดอาการอย่างเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทำให้เกิดขึ้น คือเกิดแห่งจิตดวงใหม่หรือคนใหม่ ก็เต็มไปด้วยการตรัสรู้ รู้ทั่วหมด แล้วก็ดับกิเลสให้เย็นเป็นนิพพานจนได้นิพพาน อาตมาอยากจะหวังสักหน่อยนึงว่า ตามที่อาตมาพูดไปนี้แม้ยังจะปฏิบัติไม่ได้ก็ขอให้เป็นความรู้ไว้ก่อนก็ได้ เป็นเรื่องของความรู้ไว้ก่อนก็ได้ จนกว่าจะกลายเป็นเรื่องของการปฏิบัติมันก็ยังดีกว่าไม่รู้อะไรเสียเลย ถ้ามันรู้แจ้งอย่างนี้บ้างมันก็ยังดีกว่าไม่รู้อะไรเสียเลย จนกว่าเมื่อได้เอาไปปฏิบัติแล้วปฏิบัติได้นั้นมันจึงจะรู้จริง เป็นความรู้ที่เรียกว่าจริง รู้ประจักษ์แก่ใจ เดี๋ยวนี้ก็รู้ตามที่ได้ฟังพูดๆๆ ต่อๆกันมา แต่ถึงกระนั้นเมื่อเป็นความรู้ที่ถูกต้องมันก็เป็นการได้ที่ดี ดีกว่าไม่รู้ ดังนั้นขอให้พยายามรู้ขอให้พยายามฟังให้ดี ว่าอย่างวันนี้อย่างไรๆเสียก็ให้เกิดความรู้ใหม่เหมือนกับจิตดวงใหม่อะไรเกิดขึ้นมาใหม่ในภายใน และก็เป็นแสงสว่างแล้วก็ดับกิเลสดับความโง่โดยเฉพาะ แล้วก็จะเย็นเพราะกิเลสที่เป็นของร้อนมันถูกกระทำให้ดับไป
(01:03:12) แล้วเมื่อเรามาคิดว่ามันก็มีค่ามากเหลือประมาณแล้ว เพียงแต่รู้โดยความเข้าใจโดยเหตุผลเพียงเท่านี้มันก็มีค่าเหลือประมาณแล้ว คือมันเกิดความรู้ใหม่ เกิดจิตดวงใหม่ เกิดแสงสว่างใหม่ เกิดการดับแห่งกิเลส เกิดความเยือกเย็นใหม่ที่เราไม่เคยพบมาแต่ก่อน นี่ก็คือนิพพาน อาตมาชอบ ใครจะไม่ชอบก็ตามใจแต่อาตมาชอบ ชอบแล้วเอามาพูด เอามาพูดด้วยความหวังดี คงจะมีคนชอบบ้างกระมังคงไม่เหนื่อยเปล่า ก็อุตส่าห์เอามาพูดเพราะว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ การกระทำวิสาขบูชาของเราไม่เป็นหมันโดยแน่นอน ถ้าท่านทั้งหลายได้เข้าใจในเรื่องนี้ก็ไม่เหนื่อยเปล่า ไม่เปลืองเปล่าไม่เสียเวลาเปล่าที่อุตส่าห์มาทำวิสาขบูชา มีอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกปีๆ อย่าไปตีราคาว่า ธรรมะกินไม่ได้ๆ เงินบาทเดียวยังซื้ออะไรได้ ธรรมะกินไม่ได้แล้วก็ไม่สนใจ แล้วอย่าไปเห็นว่าไอ้ความทุกข์เพราะไม่มีสตางค์ใช้มันใหญ่โตเหลือเกิน ให้มองเห็นว่าความทุกข์ที่เผาหัวใจอยู่ข้างในทั้งที่มีเงินใช้ยิ่งเผาหัวใจไปอีกนั่นน่ะ มันเป็นความทุกข์ที่น่ากลัวกว่า มีทั้งเงินมีทั้งอำนาจมีอะไรๆเต็มไปหมด มันก็ยังมีความทุกข์เผาหัวใจ อย่าเข้าใจว่าคนที่เป็นเศรษฐีเป็นพระราชามหากษัตริย์ครองโลกมันก็ มันก็ยังมีความทุกข์เผาหัวใจถ้าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรด้วยอำนาจของอวิชชา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ต้องออกบวชล่ะ อยู่ในวังท่านก็สบายดีแล้ว ทำไมยังมีปัญหาว่ามันมีความทุกข์มันต้องออกบวช ท่านต้องไปหาไอ้เรื่องที่จะดับทุกข์ได้ ท่านไปหาจนพบแล้วมาสอนพวกเรา พวกเราก็กลายเป็นแรด ท่านจะประวีร์เท่าไรมันก็ไม่ฟัง หรือฟังมันก็ไม่มีความหมายว่าไพเราะอะไร นี่ความเป็นแรดของเรานั่นแหละคืออวิชชา
(01:05:57) ถ้าอันนี้ยังไม่ออกไปแล้วก็ไม่มีทางที่จะได้รับประโยชน์อะไรจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หวังว่าท่านทั้งหลายจะยังคงเคารพต่อความเป็นพุทธบริษัทของตน จงทำตนให้เป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง อย่าเป็นกันแต่สักว่าชื่อในทะเบียนสำมะโนครัวทำนองนี้มันไม่พอ ให้เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงมีจิตใจที่สว่างไสวแจ่มแจ้ง ตรงกับคำว่าพุทธ แล้วก็มีการตื่นจากหลับคือกิเลสให้สมกับชื่อว่าพุทธ พุทธนี่แปลว่าตื่น ตื่นนอน ตื่นจากหลับคือกิเลส พุทธนี้แปลว่ารู้ คือรู้สิ่งที่ควรจะรู้ แล้วพุทธนี้แปลว่าเบิกบานก็ได้ เมื่อมันหมดเรื่องเศร้าหมองห่อหุ้มแล้วมันก็เบิกบานเหมือนดอกไม้บาน ขอให้จิตใจของเรามีความเบิกบานเหมือนดอกไม้บาน เพราะว่าเรารู้ เพราะว่าเราตื่นจากความหลับคือกิเลส เราก็เป็นพุทธบริษัทได้ ถ้าไม่อย่างนั้นเป็นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าอาตมาจะมีอำนาจตัดสินให้ท่านทั้งหลาย จะบอกให้รู้ว่าเป็นอย่างนี้ก็ไปตัดสินท่านเองตัวท่านเองว่ามันเป็นพุทธบริษัทแล้วหรือยัง ถ้ามันยังไม่รู้มันยังไม่ตื่นนอนมันยังไม่เบิกบานแล้วมันเป็นพุทธบริษัทไม่ได้ ขอให้เห็นว่าเรื่องนี้มันสำคัญ สำคัญกว่าเรื่องไม่มีข้าวกิน ไม่มีเงินใช้ เจ็บไข้ได้ป่วยเต็มไปด้วยความขาดแคลนนั้นมันเป็นเรื่องขี้ผง ความทุกข์ในจิตใจที่ทนทรมานอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่นนั้นมันร้ายกาจกว่า เพราะว่าแม้ว่าจะมีข้าวกินมีเงินใช้มีอะไรเต็มไปหมดมันก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นแหละ ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าธรรมะนี้มันเพื่อประโยชน์ แก้ปัญหาของทั้งเทวดาและมนุษย์ ท่านใช้คำว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งเทวดาและมนุษย์
(01:08:33) เทวดาก็คือผู้ที่มีสตางค์ใช้มีเงินใช้ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่อะไรหมดไม่มีปัญหาอะไรหมด นี่พวกเทวดา แต่มันก็ยังเป็นทุกข์เพราะมันมีอวิชชายังไม่ตื่นจากหลับแห่งกิเลสด้วยเหมือนกัน มนุษย์ก็คือผู้ที่กำลังลำบากอยู่ด้วยปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง มันไม่ค่อยมีอะไรไม่ค่อยจะมีข้าวกินไม่ค่อยจะมีเงินใช้ อย่างธรรมดาก็เรียกว่ามนุษย์มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง หมดปัญหาแล้วก็เรียกว่าเทวดา ยังมีปัญหาก็เรียกว่ามนุษย์ แต่มันมีความทุกข์เท่ากันทั้งเทวดาและมนุษย์ ถ้ามันมีจิตที่ยึดถือ ยึดถือในความเป็นเทวดาของมันนั่นแหละยิ่งทุกข์มาก มนุษย์ที่ถือในความเป็นมนุษย์ของตนจะทุกข์น้อยกว่าด้วยซ้ำไปเพราะตัวมันเล็กกว่า มันไม่หนักมากเหมือนกับตัวเทวดา ซึ่งมันใหญ่นัก ยึดถือในความทุกข์ ทุกข์น้อยกว่ายึดถือในความสุขซึ่งมันชวนให้ยึดถือ ยึดถือมาก ยึดถือหนัก มันไม่ต้องอวดดี มันจะมีความร่ำรวยเป็นเศรษฐีเป็นมหาเศรษฐีเป็นเจ้าโลก มันก็ยังมีความทุกข์เพราะความยึดถือไม่น้อยกว่าหรืออาจจะมากกว่าไอ้คนที่ไม่เป็นอย่างนั้น คือคนที่ไม่ค่อยจะมีอะไร เมื่อตะกี้ดูหนังเรื่องพวกอะบอริจินในออสเตรเลียไม่ต้องนุ่งผ้า คิดดูเถอะ พวกเรามีปัญหาต้องหาผ้ามานุ่ง พวกนั้นมันไม่มีปัญหาเรื่องนุ่งผ้า มันก็ไปขุดแย้ ขุดเหี้ย ขุดตะกวด ขุดแมลงด้วงอะไรมาแล้วก็กิน กินแล้วก็ไม่ต้องมีหม้อมีไห นี่คิดดูเถอะมัน มันก็ไม่ได้เอ่อ,มันก็ไม่ได้ทุกข์ยากลำบากมากไปกว่าพวกเทวดา พวกเทวดาพวกคนรวยเศรษฐีจะเป็นทุกข์มากเพราะมีเรื่องให้ยึดถือมาก พวกนั้นผ้านุ่งก็ไม่มีจะยึดถืออะไร บ้านเรือนก็ไม่มีแล้วไม่ยึดถืออะไร รุ่งขึ้นก็ไปหาสัตว์มาเผาไฟกินมันก็พอแล้ว ไปรูดดอกหญ้ามาบดด้วยก้อนหินเป็นแป้งแล้วก็หมกไฟก็เอาแป้งนั้นมากินได้แล้ว นี่มันยังมีความยึดถือน้อยกว่าเศรษฐีมหาเศรษฐีที่ในประเทศที่เจริญ คิดดูให้ดีว่าไอ้ความทุกข์นี้มันอยู่ที่ความยึดถือ (01:11:21) เป็นอันว่าอาตมาได้พูดถึงใจความสำคัญของคำว่าวิสาขบูชา การทำพิธีเป็นที่ระลึกในวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งมีผู้ประสูติขึ้นมาเป็นคนใหม่ ตรัสรู้เต็มไปด้วยแสงสว่าง กิเลสดับไปและเย็นเป็นนิพพาน ความหมายแห่งการประสูติการตรัสรู้และนิพพานโดยละเอียดในภาษาธรรมมันมีอย่างนี้ ถ้าพูดอย่างภาษาคนก็อย่างที่พูดๆกันอยู่ก่อนๆนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นตายไม่ได้นิพพานไม่ได้อย่าฆ่าพระพุทธเจ้าของตัวเองเสีย พระพุทธเจ้าไม่มีวันตาย พระพุทธเจ้าแท้จริงในความหมายภาษาธรรมไม่ตาย ในภาษาคนสมมติเอาสังขารร่างกายหนึ่งเป็นพระพุทธเจ้าก็ตายแล้วก็เผาแล้วเหลือแต่กระดูก ถ้าเราจะทำวิสาขบูชาชนิดละเอียดแท้จริง ก็ขอให้บูชาถึงพระพุทธเจ้าชนิดที่ไม่ตาย ที่ไม่รู้จักตาย แล้วมาอยู่ได้ในหัวใจของเรา วันใดเรามีจิตใจสะอาดสว่างสงบ ไม่ยึดถืออะไรโดยให้เกิดกิเลสแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่ในใจของเรา ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนจงได้พยายามปรับปรุงร่างกายของตนให้กลายเป็นที่สถิตประทับของพระพุทธเจ้า ให้ร่างกายของเราเป็นที่สถิตประทับของพระธรรมซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดเหมือนกับพระเป็นเจ้า แล้วเนื้อตัวของเราก็คือพระสงฆ์เพราะว่าปฏิบัติอยู่อย่างเต็มที่ตามกฎแห่งพระธรรม ก็เป็นอันว่าทั้งพระพุทธทั้งพระธรรมทั้งพระสงฆ์บรรจุอยู่ในตัวเรา ในสิ่งที่สมมติว่าร่างกายของเราตัวเราคนนั้นคนนี้ก็จะมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เต็มอยู่อย่างเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นควรจะทำพิธีวิสาขบูชาอย่างยิ่ง ถ้าเราปรับปรุงร่างกายของเราให้เป็นอย่างนี้ได้ ถ้าไม่รู้จักปรับปรุงมันก็เป็นกายเน่ากายสกปรกที่เกิดมาจากของสกปรก ถ้ารู้จักปรับปรุงมันก็จะกลายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ได้ หัวใจของเรานั้นจะกลายเป็นที่ประทับของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ได้ การทำวิสาขบูชาของเราก็มีความหมาย ดังนั้นขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้รับประโยชน์จากการทำวิสาขบูชาในวันนี้ มากน้อยตามกำลัง พละและอินทรีย์ของตนๆ คือมีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เท่าไรก็จะสามารถยึดเอารับเอาซึ่งพระธรรมได้ ตามมากตามน้อยเป็นแน่นอน ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
บทสวดมนต์ (01:17:59) (มีบางประโยคเดาภาษาใต้ไม่ออก ขออนุญาตถอดความเท่าที่ทราบนะคะ)ไม่ให้ยถาเพราะว่ายังมีเท็จ... พระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริงคำนี้ไพเราะที่สุด ไม่รู้ว่าแต่ปากหรือว่าด้วยจิตใจ อโหพุทโธ พระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง ไม่รู้ว่าแต่ปากหรือว่าด้วยจิตใจ อโหธัมโม พระธรรมเจ้าน่าอัศจรรย์จริง อโหสังโฆ พระสังฆเจ้าน่าอัศจรรย์จริง ว่ากันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว นี่ก็ว่ากันคนละหลายๆ...