แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย บัดนี้เป็นวาระที่ ๒ ที่จะได้บรรยายธรรมะ ในลักษณะ ถาม-ตอบ ในข้อที่มีความสงสัยข้องใจ อยู่ในบุคคลหลาย ๆ คน ท่านทั้งหลายจะสังเกตเห็นได้ว่า คำตอบเหล่านี้ มันจะเป็นอะไรก็ตามใจ แต่ในทางหนึ่งนั้น มันเป็นการเปลื้องตัวเอง ของอาตมา จากข้อที่ถูกกล่าวหา ข้อที่ถูก กล่าวหามันเป็นสิ่งที่ควรเปลื้อง แม้ไม่ถูกกล่าวหาแต่ถ้ามันมี ข้อสงสัย ข้องใจ มันก็ต้องเปลื้อง ถึงสิ่งที่ควรเปลื้อง ด้วยเหมือนกัน
ท่านจงพิจารณาดู เปรียบเทียบดูว่า โคลน ถ้ามันเปื้อน แล้วก็ต้องล้าง มันไม่ควรจะทนเปื้อนโคลนอยู่ ไม่ว่าโคลนไอ้นั้น มันจะมีผู้เจตนาสาดรดเรา มันก็ต้องล้าง หรือว่าไอ้ความโง่ของเรา ทำโคลนเปื้อนเราเอง มันก็ต้องล้าง หรือว่ามันไม่ใช่เจตนาของใคร มันโดยเหตุบังเอิญ ไปยืนไปเดิน ข้างม้า ข้างวัว ข้างรถ ที่มันทำ โคลนกระเด็นมาใส่อย่างนี้ โดยไม่มีเจตนาของใคร ไอ้โคลนนี้มันก็ต้องล้างอยู่นั่นเอง เรียกว่า โคลน แล้วมันก็ ต้องล้างแหละ ถ้ามันมาเปื้อนแล้วมันก็ต้องล้าง
เพราะฉะนั้นขอถือว่า คำตอบเหล่านี้ ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะ บุคคลใด เรื่องใด หรือตรวจสอบแก่ใคร ถือว่าเป็นโคลนทุกชนิด ที่มาจากทิศทางไหนก็ได้ ฉะนั้นเราถ้ารู้สึกว่ามันมาเปื้อนที่เรา นั้นเราก็ต้องล้าง ดังนั้นการถาม-ตอบ ให้เข้าใจนี้ มันก็เป็นเรื่องล้างโคลน คำถามก็เป็นเหมือนกับ เป็นการเสนอ ให้ทราบว่า มันมีโคลน เปื้อนอยู่ อย่างนั้น ที่นั่น แล้วคำตอบก็คือ ล้างมันออกไปเสีย นี้เราก็จะมีการถาม และการตอบ สืบต่อไป กว่ามันจะไม่มีโคลนเหลือ พูดว่าอย่างนี้ก็แล้วกัน เอ้า, ทีนี้มีอะไรที่จะถามต่อไป ก็ถาม
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ถือว่า เมื่อไม่มีอัตตวาทุปาทาน แล้ว อุปาทานอื่นย่อมไม่มี แต่เขาแย้งว่า ยังมีอุปาทานทั้ง ๓ เหลืออยู่ นี้มันอย่างไรกันครับ
ท่านพุทธทาส: ทำความเข้าใจในตัวปัญหากันเสียก่อน ที่เขากล่าวหาอาตมาว่า อาตมาเป็นผู้พูด หรือสอน หรือถือว่า ถ้าไม่มีอัตตวาทุปาทาน แล้ว อุปาทานอื่นย่อมไม่มี นี่เขา เขาหาว่าอาตมาสอนอย่างนี้ แต่เขาขอแย้งว่า ยังมีอุปาทาน ๓ เหลืออยู่ แม้จะหมดอัตตวาทุปาทาน แล้ว ก็ยังมีกามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน อัตตวาทุปาทาน เหลืออยู่ ข้อนี้มันอาจจะฟังยาก สำหรับทายกทายิกาบางคนผู้ไม่รู้เรื่องนี้ คงจะฟังออก แต่ผู้ที่รู้เรื่องนี้อยู่เป็นทุนมาก่อนแล้ว อาตมาขอยืนยันว่า อาตมาถือเป็นหลักว่า เมื่อไม่มีอัตตวาทุปาทาน แล้ว อุปาทานอื่นย่อมไม่มี นี้เป็นความจริง จริงตามที่เขากล่าวหา มันก็กลายเป็นไม่ได้กล่าวหา เพราะอาตมาถือ อย่างนั้น ยืนยันอย่างนั้น สอนอย่างนั้นว่า ถ้าไม่มีอัตตวาทุปาทาน แล้ว อุปาทานอื่นย่อมไม่มี
อธิบายกันตอนนี้ก่อนว่า อัตตวาทุปาทานนั้นคืออะไร อัตตวาทุปาทานนั้น คือ อุปาทาน หรือทิฏฐิ ที่ทำให้กล่าวออกมาว่า มีตัวตน ทิฏฐิที่ทำให้กล่าวออกมาว่า มีตัวตน แล้วก็ยึดมั่นสิ่งที่ทิฏฐิเห็นว่า เป็นตัวตน เป็นอุปาทาน ว่าตัวเรา ว่าของเรา ดังนั้นอุปาทาน อ่า อ่า, ดังนั้นอัตตวาทุปาทาน ก็คือ อุปาทาน ว่าตัวเรา ว่าของเรา หรือพูด อย่างหยาบคาย ว่าตัวกู ว่าของกูนั่นเอง อันนี้เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน ถ้าอุปาทานอันนี้ หมดแล้ว อุปาทานอื่นจะไม่มีเหลือ ๓ อันจะไม่มีเหลือ อัตตวาทุปาทาน เป็นสิ่งที่จะต้องละได้ โดยพระอรหันต์ เท่านั้น โดยอรหัตตมรร เท่านั้น อัตตวาทุปาทานนั้นจะละได้เด็ดขาด โดยอรหัตตมรรค หรือผู้เป็นพระอรหันต์ เท่านั้น ที่จะถอนอุปาทาน ว่าตัวตน ว่าของตน เสียได้
ถ้าเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ต้องเรียกว่า อัตตานุทิฏฐิ อย่างบาลีว่า อัตตานุทิฏฐิง โอหัตจะ (นาทีที่ 07:30) ถอนอัตตานุทิฏฐิ เสียได้ ก็จะอยู่เหนือมัจจุ มัจจุราชนะ เป็นคาถาที่ตรัสแก่โมฆราชมาณพ ว่าถอนอัตตานุทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่าตนเสียได้ แล้วก็จะอยู่เหนือมัจจุราช มัจจุราชจะตามหาท่านไม่พบ นี่คือ ความเป็นพระอรหันต์ ถ้าถอนอัตตานุทิฏฐิ หรืออัตตวาทุปาทานได้ ก็จะเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นจะถือว่าไม่มีกิเลสอื่น หรืออุปาทาน อื่น เหลืออยู่
ทีนี้คนบางพวกที่เขาเห็นไปว่า ถอนอัตตวาทุปาทานได้แล้ว ก็ยังมีอุปาทานเหลืออยู่อีก ๓ ซึ่งไม่ได้ ถอนนะ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี่ก็ต้องขออภัยที่จะ พูดลงไปตรงๆ ว่า กลุ่มอภิธรรม เขาอธิบาย อัตตวาทุปาทาน เป็นอย่างเดียวกันกับสักกายทิฏฐิ คำอธิบายว่า อัตตวาทุปาทานนั้น คือ สักกายทิฏฐิ อธิบายเหมือนกันทุกตัวอักษรนั้นมีอยู่ในอภิธรรม ในกลุ่มคัมภีร์อภิธรรม และอภิธรรมบางอย่าง ที่ตกค้างเหลืออยู่ในสุตตันตะ ในขุททกนิกาย ซึ่งเคยเป็นอภิธรรมมาก่อนยุคโน้น แยกออกไปไม่หมด อธิบาย คำอธิบายชนิดนั้น เหลือตกค้าง ตกค้างอยู่บ้างใน ขุททกนิกาย ในรูปแบบอภิธรรม
ดังนั้นเราจะพูดว่าในอภิธรรมปิฎกก็ดี ในอภิธรรมที่มันตกค้างอยู่ในสุตตันตะ ในชุดขุททกนิกายก็ดี เขาจะอธิบายสักกายทิฏฐิ เป็นอัตตวาทุปาทาน อธิบายอัตตวาทุปาทานเป็นสักกายทิฏฐิ เมื่อเขาเอาเป็นอัน เดียวกันเสียอย่างนี้แล้ว การละอัตตวาทุปาทาน ของคนพวกนี้ มันก็ละแต่เพียงสักกายทิฏฐิหรือที่พระโสดาบัน ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เหลือนอกนั้นไม่ได้ละ เขาจึงยึดถือเอาว่า อัตตวาทุปาทาน หรือ สักกายทิฏฐินั้นละแล้ว ก็ยังมีอุปาทานอื่นเหลือ อีกตั้ง ๓ อย่าง นี่มันเป็นความผิดพลาด ของการอธิบายคำคำนี้
อัตตวาทุปาทาน ที่เป็นอย่างเดียวกันกับสักกายทิฏฐินั้น มันขัดต่อเหตุผล มันเป็นไปไม่ได้ สักกายทิฏฐิ นั้นมันเป็นเพียงความเห็น ว่ากายนี้ของตน ไม่ได้ถอนอัตตวาทุปาทานโดยสิ้นเชิง ไปเอาอันอื่นสิ่งอื่นมาเป็นตน แม้ว่าไม่เอากายนี้เป็นตน มันก็เอาอันอื่นเป็นตน ก็แปลว่า ละตน อัตตวา ละอุปาทานว่าตนนั้นไม่หมดไม่สิ้น มันถึงมีเหลืออยู่ เขาจึงพูดว่า แม้ละอัตตวาทุปาทาน แล้ว ยังมีอุปาทาน ๓ เหลืออยู่ นี้มันมีข้อเท็จจริงเป็น อย่างนี้ นักศึกษา อ่า, ก็ นักธรรมที่เป็นนักศึกษา ก็สังเกตดูเอาเอง ถ้าท่านเห็นว่าอัตตวาทุปาทานเป็นอย่างเดียว กับสักกายทิฏฐิแล้ว มันก็ต้องเป็นอย่างเขาว่า
ทีนี้ไปคิดดูเอาเองว่ามันเป็นไปได้ไหม ที่ว่าอัตตวาทุปาทาน มันเป็นอันเดียวกันกับสักกายทิฏฐิ นั้น เป็นไปได้ไหม แม้มันจะมีคำอธิบายเช่นนี้อยู่ใน คัมภีร์อภิธรรม หรืออภิธรรมที่ตกค้างเหลืออยู่ในสุตตันตะ อาตมาไม่เห็นด้วย เห็นตามหลักที่มัน เข้ากันได้กับส่วนใหญ่ ทั่วไปหมดนะว่าอัตตวาทุปาทานนั้น มันเป็นการ ละอหังการ มมังการ มานานุสัย ละอนุสัยที่เป็นเหตุให้กระทำ ความยึดถือว่าตน ว่าของตน มันละอหังการ ละมมังการ ละมานานุสัยโดยหมดสิ้น จึงจะเป็นอัตตวาทุปาทาน ดังนั้น จึงไม่มีสักกายทิฏฐิ อ่า, ไม่มีวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส หรืออุปาทานใด ๆ เหลืออยู่
นี่อาตมาบอกแล้วว่า ท่านทายกทายิกาทั้งหลายที่ไม่เคยได้เรียนเรื่องนี้ คงฟังไม่เข้าใจ มันเป็นเรื่อง ถ้อยคำ บางคำที่ยากที่ลึกในพระคัมภีร์ แต่ถ้าเคยเรียนนักธรรม มาบ้างแล้วก็คงพอจะเข้าใจได้ ว่าอาตมายืนยัน ว่าละอัตตวาทุปาทานได้แล้ว เป็นอันหมดสิ้นทุกอุปาทาน และหมดกิเลส สังโยชน์ อนุสัยโดยประการทั้งปวง เหมือนคาถาโมฆราช ที่ว่า อัตตานุ ทิจถิง อูหัตจะ เอวังมะจุตจะโลจะยา เอวังโลกัง อะเวกขันตา เอวังมัจจุราชา อุปัจสะติ (นาทีที่ 13.11) ถอนอัตตานุทิฏฐิ อย่างนี้ได้แล้ว มันก็เป็นพระอรหันต์ นี้คนเขาไป ยึดถือว่า อัตตวานุปาทานนั้น เป็นเพียงสักกายทิฏฐิ ละความเห็น เออ, อย่างขั้นต้นของอุปาทาน ว่ากายของตน มันก็เลย เกิดปัญหาขัดแย้งกันขึ้นมา แต่ไม่ใช่ข้อขัดขวางการปฏิบัติใด ๆ หรอก
พยายามละอัตตวาทุปาทาน ให้ได้เถิด มันก็หมดปัญหาหมดเรื่อง ก็จะมีอะไรเหลืออยู่ไม่เหลืออยู่นั้น คงจะรู้ได้เอง เมื่อละอัตตวาทุปาทานได้ ฉะนั้นจึงสรุปความว่า ถ้าละอุปาทานว่าตัวตนของตน หรือละอหังการ มมังการ มานานุสัยได้แล้ว มันก็หมดนะไม่มีปาทานอะไรเหลืออีก ข้อเท็จจริงเป็นอยู่อย่างนี้ อาตมาก็ยืนยัน ตามที่เขากล่าวหาว่า อาตมาเป็นผู้กล่าวว่า เมื่อไม่มีอัตตวาทุปาทานแล้ว อุปาทานอื่นย่อมไม่มี นี้จริง ยืนยันอย่างนี้
ส่วนข้อที่เขาถือว่าอัตตวาทุปาทานละแล้ว ยังมีอุปาทาน กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน เหลือนี้ไม่เห็นด้วย เพราะนั่นมันอ่อนกว่า เป็นเด็กกว่า เออ, เป็นเด็กกว่าอัตตวาทุปาทาน ถ้าละ อัตตวาทุปาทานได้ อุปาทานเด็ก ๆ ๓ ตัวนั้น จะไม่มีเหลือ นี้ขอให้เข้าใจตามนี้ เอ้า, มีอะไรต่อไป
คำถาม: เขากล่าวท่านอาจารย์ว่า กล่าวว่า คำว่า ปรินิพฺพุโต (นาทีที่ 15:11) ใช้กับสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ถ่านไฟก็ได้ นี้เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพระนิพพาน ที่ยังมีข้อเท็จจริงอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: เขากล่าวหาว่า อาตมาดู หมิ่นเหยียดหยามพระนิพพาน โดยกล่าวว่า คำว่า ปรินิพฺพุตะ (นาทีที่ 15:33) นั้นนะ ใช้กับสัตว์เดรัจฉานก็ได้ ถ่านไฟก็ได้ นี้มันมีที่มา ในพระพุทธภาษิต ในพระบาลีว่า คำว่า ปรินิพฺพุโต (นาทีที่ 15:45) นี้มันแปลว่า ดับเย็น คำว่า นิพพานก็ดี ปรินิพพานก็ดีนี่ มันเป็นคำที่แปลว่า ดับเย็น เขาใช้เป็นภาษาพูดอยู่แต่ก่อนพุทธกาล ในยุคพุทธกาล ที่ไหนก็ตามเป็นภาษาชาวบ้าน คำว่า นิพพาน นี้แปลว่า เย็น ถ้าใช้กับวัตถุ ก็วัตถุนั้นเย็น ถ้าใช้กับสัตว์เดรัจฉาน ก็หมายความว่า สัตว์เดรัจฉานตัวนั้นหมดพยศ โดยสิ้นเชิง ถ้าใช้กับคนที่มีชีวิตจิตใจก็คือ ใจมันเย็น ถ้าเย็นจริงก็เป็นนิพพานจริง ถ้าเย็นไม่จริงก็เป็น นิพพานไม่จริง
ทีนี้พิจารณา ดูกันหน่อยก็ได้ว่า นี้มันเป็นปัญหาทางอักษรศาสตร์ คำว่า นิพฺพุโต (นาทีที่ 16:41) หรือ นิพพาน นี้แปลว่า เย็น ว่าเย็นอกเย็นใจนี้ก็ได้ เย็นของวัตถุก็ได้ เช่น เด็ก ๆ ในสมัยโน้น ครั้งกระโน้น ในแผ่นดิน โน้นนะ เขาเขาจะต้องตะโกนว่า เอ้า, ข้าวต้มนิพพานแล้วมากินกันได้ นี่ใช้คำว่า นิพพาน กับข้าวต้มที่มันเย็น แล้ว ถ่านไฟแดง ๆ คีบออกมาจากเตา มันดำลงก็เรียกว่า มันเย็น มันก็ว่านิพพานแล้ว นี่คำว่า นิพพาน นี้ใช้กับ วัตถุ เออ, ทีนี้ใช้กับสัตว์เดรัจฉานก็คือว่า ช้าง ม้าอะไร เอามาจากป่า เอามาฝึกจนไม่มีฤทธิ์ ที่เป็นพยศ หรืออันตรายแล้ว ปลอดภัยโดยแท้จริงแล้ว เขาก็พูดว่าสัตว์ตัวนี้มันดับแล้ว คือ เย็นแล้ว ขายได้แพง เพราะมันฝึกดีแล้ว นี้คำว่า นิพพาน เย็น นี้ใช้กับสัตว์เดรัจฉาน
ทีนี้ เออ, นิพพานที่แปลว่า เย็น ที่ใช้กับคนนั้นนะ เช่น ไอ้คำร้องของหญิงสาวคนหนึ่ง เมื่อเห็น พระสิทธัตถะเดินผ่านไป หญิงสาวคนนั้นร้องขึ้นว่า คน ๆ นี้ ถ้าเป็นลูกของใคร แม่ของเขาก็เย็น พ่อของเขา ก็เย็น ถ้าเป็นผัวของใคร เมียเขาก็เย็น นี่ อย่างนี้มันหมายถึง เย็นอกเย็นใจ ถ้าพระสิทธัตถะนี้ เป็นลูกเป็นหลาน ของใคร ไอ้พ่อแม่ปู่ย่าตายายมันก็จะเย็น คือ เย็นอกเย็นใจ ถ้าเป็นสามีของหญิงใด หญิงนั้นก็ต้องเย็น ใช้คำว่า นิพฺพุโต นิพฺพุโต (นาทีที่ 18:30) เออ, ซึ่งเป็นคำกิริยาของคำว่า นิพพาน นั่นเอง นี้คำว่า นิพพาน แปลว่า เย็นอกเย็นใจอย่างนี้ นี่ภาษาชาวบ้านนะ ภาษาชาวบ้านพูดอยู่กลางบ้านนะ ถ้าหมายถึงวัตถุก็วัตถุเย็น ถ้าหมายถึงสัตว์เดรัจฉานก็หมดพยศ ถ้าหมายถึงคนก็หัวใจมันเย็นอกเย็นใจ ก็เรียกว่า นิพฺพุโต (นาทีที่ 18:52) แล้ว ดับแล้ว นิพพานแล้ว นี้ภาษาชาวบ้านแยกออกไปไว้เสียทางหนึ่ง
ทีนี้ภาษาธรรมะ หรือภาษาศาสนา ผู้มีความรู้ทางธรรมะ เป็นฤาษีมุนีอะไรก็ตามที่อยู่ในป่า เขาค้นพบ ความเย็นใจที่ยิ่งไปกว่านั้น ความเย็นใจที่เกิดจากสมาธิ ฌาน สมาบัติก็มี แม้แต่พวกที่ มันเกิดยึดถือขึ้นมาว่า กามารมณ์ เต็มที่ ได้อย่างอกอย่างใจ นี้เย็นก็มี เพราะฉะนั้นในพระบาลี เช่น พรหมชาลสูตรแสดงทิฏฐิ ครบทุกอย่างนะ ก็แสดงทิฏฐิของคนพวกหนึ่ง ว่าเอากามารมณ์สมบูรณ์ ว่าเป็นนิพพาน นี้ก็มี เพราะเขาเย็น หลอก ๆ อิ่มด้วยกามารมณ์นั้นเขาว่าเย็น แล้วเป็นนิพพาน นี้พวกหนึ่ง
ทีนี้อีกพวกหนึ่งก็เอา สมาธิที่สำเร็จ ที่ทำสำเร็จเป็นรูปฌาน เป็นต้น ว่าเป็นนิพพาน แสดงจตุตถฌาน โดยมาก ว่าเป็นนิพพาน ถ้าสูงขึ้นไปก็เอาอรูปฌาน ว่าเป็นนิพพาน แต่เป็นเรื่องสมาธิ หรือสมาบัติทั้งนั้น มายืนยันว่าเป็นความเย็น คือ ความเย็นเป็นนิพพาน นี้พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น ท่านก็ได้ศึกษาสิ่งเหล่านี้ หมดแล้ว ท่านปฏิเสธหมด จะเป็นเรื่องฌาน ของรูปฌาน อรูปฌานอะไรก็ตาม ท่านว่ายังไม่ถึงขีด ที่จะเรียกว่า นิพพาน ต่อเมื่อใดสิ้นอาสวะกิเลสโดยประการทั้งปวง จึงจะเย็นจริง ซึ่งควรจะเรียกว่า นิพพาน เพราะฉะนั้น นิพพานของพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนานี้ มันจึงหมายถึง เย็นจริง คือ เย็นเพราะหมดไฟ ไฟนั้น คือ กิเลส ไม่มีกิเลส แล้วก็เย็นจริง นี้ก็เรียกว่า นิพพาน แล้วก็จริง แล้วก็ถึงที่สุด และสูงสุด
ทีนี้อาตมา บอกให้ผู้ฟังทั้งหลายทราบว่า คำว่า นิพพาน หรือปรินิพพาน นี้เขาเป็นคำชาวบ้าน ใช้กับ วัตถุ หรือสัตว์เดรัจฉาน หรือคนชาวบ้านนั้นก็มีอยู่พวกหนึ่ง มันเป็นเรื่องของอักษรศาสตร์ พอผู้รู้ในป่า ในดง เขาค้นพบธรรมะไอ้ ในทางจิตใจ เขาขอยืมคำไปนี้ เออ, คำนี้ไปใช้ เขาเขาขอยืมคำว่า เย็น ๆ กลางบ้านนี้ไปใช้ เป็นภาษาธรรมะ ที่ค้นพบใหม่ของพระศาสดาผู้รู้ ข้อนี้ก็ขอให้ย้ำเตือนอีกทีว่า ไอ้ภาษาธรรมะทั้งหลายนะ ล้วนแต่ยืมไปจากภาษาชาวบ้านทั้งนั้นแหละ ถ้าไปตั้งคำขึ้นใหม่ มันแปลกไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเข้าใจ ก็ฟังไม่ถูก นั้นจึงต้องเอา คำชาวบ้านขอยืมไปใช้ที จนคำว่า เย็น เดี๋ยวนี้ฉันพบความเย็นที่เย็นกว่าของแกแล้ว โว้ย, เย็น เพราะจิตมันสงบ มันหมดกิเลสนี้มันเย็น เย็นจริง นี้คำมันจึงตรงกัน เป็นคำเดียวกัน ทั้งเรื่องชาวบ้าน และเรื่องธรรมะสูงสุด เช่น คำว่า นิพพาน เป็นต้น ถ้าเด็ก ๆ พูด มันก็หมายถึง ข้าวต้มเย็น ข้าวสวยเย็น แกงเย็น อะไรเย็น กินได้ หรือว่าไอ้ช้างม้าตัวนี้ มันเย็นแล้ว มันไม่มีพิษอันตรายแล้ว หรือว่าคนนี้โชคดี มีลูกมีหลานดี เย็นอกเย็นใจเหลือเกิน นี่มันเย็นภาษาชาวบ้าน ก็คือคำว่า นิพพาน
ฉะนั้นการที่บอกว่า คำว่า นิพพาน หรือปรินิพพาน ใช้กับสัตว์เดรัจฉาน หรือวัตถุนี้ ไม่ใช่เหยียดหยาม พระนิพพาน เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริง มันมีข้อความในพระบาลีที่แสดงให้เห็นว่า คำเหล่านี้ใช้อยู่ กลางบ้านนะ เป็นอย่างนี้ พอเอาไปใช้ในภาษาธรรมะชั้นสูง ก็ก็มีความหมายเลื่อนขึ้นไป เป็นภาษาธรรม คือ เย็นเพราะหมดกิเลส ท่านลองทบทวนดูเถิด นิพพานหรือเย็นนี้ ของวัตถุ เช่น ข้าวต้มหรือถ่านไฟ มันก็เย็น นิพพาน สัตว์เดรัจฉานฝึกดีแล้ว หมดพิษแล้ว ก็เย็นนะเป็นนิพพานของสัตว์เดรัจฉาน นิพพานของสัตว์ เดรัจฉานนะ ไม่ใช่อย่างเดียวกับนิพพานของพระอรหันต์ แต่ชื่อหรือคำพูดนั้นมันคำเดียวกัน นี้เย็นของคน ชาวบ้าน เย็นอกเย็นใจ ไม่มีเรื่องอะไรรบกวนให้ร้อนใจ นี้ก็เย็น นี้ก็เป็นนิพพาน ๓ เรื่องนี้เป็นเรื่องชาวบ้าน
พอถึงคราว เรื่องสติปัญญาชั้นสูงขึ้นไป พวกหนึ่งว่าถ้าสมบูรณ์ทางกามารมณ์ก็เย็น นี้มันเย็นของ คนนั้น ลัทธินั้น อีกพวกหนึ่งว่าบรรลุฌานสมาบัติ ตามที่เราต้องการนั้นแล้วก็เย็น ก็เป็นนิพพาน นั้นมันก็ นิพพานของคนพวกนั้น เพราะพวกเราชาวพุทธนี้ นิพพานต้ิงหมดกิเลส คือ ไฟที่ ไฟกิเลส แล้วมันก็ดับเย็น พระพุทธเจ้าดับเพลิงกิเลส และดับเพลิงทุกข์ได้ ดับได้ทั้งกิเลสและทุกข์มันก็เย็น มันก็เย็นเหลือที่จะเย็น ฉะนั้นนิพพานใช้กันอย่างนี้ ถ้าเป็นภาษาหนังสือ ถ้าการเอามาแต่เรื่องทางพุทธศาสนา มันก็เป็นเรื่อง หมดกิเลสของพระอรหันต์ ฉะนั้นมีการกล่าวว่า อาตมาดูหมิ่นเหยียดหยามพระนิพพาน คนนั้นมันหลับตาพูด หรือความโง่มันมากเกินไปก็ได้ มันไม่เคยศึกษาไอ้คำว่า นิพพาน หรือปรินิพพาน นั้นมันมีความหมายอย่างไร ข้อเท็จจริงมันมีเท่านี้ มาพูดเรื่องอื่นต่อไปดีกว่า
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า บวชมานาน ๕๐ พรรษาแล้ว ยังอธิบายหัวใจของพุทธศาสนาว่า ได้แก่ ธรรม เพียงคำเดียว โดยแยกเป็น ๔ ความหมายคือ ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ และผลจากหน้าที่นั้น อย่างนี้มันไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงเลย นี้มันเป็นอย่างไรกันครับ
ท่านพุทธทาส: เราอธิบาย ว่า ธรรม คำเดียว เป็นใจความทั้งหมด ของพระพุทธศาสนา ถ้าพูดให้ถูก ก็ต้องพูดอย่างนี้ว่า ธรรมคำเดียว เป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา แต่แม้สิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา มันก็ยังเรียกว่า ธรรม คำนั้นอยู่นั่นแหละ เพราะเหตุว่าธรรมคำเดียวนี้ มันหมายถึง ทุกสิ่ง ๆ ไม่ยกเว้นอะไร ถ้าเขาเคยเรียนบาลีมาบ้าง เขาก็จะรู้ได้เองว่า คำว่า ธรรม คำเดียวในพุทธศาสนา หมายถึง ทุกสิ่งไม่ยกเว้น อะไรนั้น ที่ว่าทุกสิ่งนั้น หมายถึง รูปธรรม นามธรรม หรือกิริยาอาการ หรือผลที่อะไร ก็ตามที่มีอยู่ตาม ธรรมชาติ เรียกว่า ธรรมทั้งนั้น
บางพวกก็มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็เรียกว่า สังขตธรรม บางพวกก็ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็เรียกว่า อสังขตธรรม ก็ได้แก่ พระนิพพานนั่นแหละ นี้จึงพูดได้ว่า ตั้งแต่ขี้ฝุ่นอันละเอียดสักเม็ดหนึ่ง แล้วสูงขึ้นไป ตามลำดับ ถึงไอ้ต้นไม้ต้นไร่ วัตถุสิ่งของ มนุษย์เทวดาอะไรก็ตาม จนกระทั่งถึงพระนิพพาน เรียกได้ด้วยคำ ๆ เดียวว่า ธรรม ขอสรุปสั้น ๆ ว่าตั้งแต่ขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งถึงพระนิพพาน หมดนั้นไม่มีอะไรยกเว้น เรียกว่า ธรรม คำเดียว นี่ภาษาบาลีมันเป็นอย่างนี้ เป็นวัตถุธรรมก็มี เป็นนามธรรมก็มี เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นไอ้ อัพยากฤตก็มี เป็นสังขารก็มี เป็นวิสังขารก็มี มันมากมายเหลือเกิน
นี้ขอให้ช่วยจำไว้ด้วยว่า ธรรมคำเดียวหมายถึง ทุกสิ่ง แต่เราแยกออกมาใช้กันตามปกติธรรมดา ในชาวบ้านนี้เอาพระธรรมคำสอน เอาส่วนที่เป็นพระธรรมคำสอนมาเป็นธรรม เป็นพระธรรม หรือบางที ก็แยก เอาความถูกต้อง ความยุติธรรม มาเรียกว่า ธรรม นั้นมันเป็นส่วนย่อย ที่แยกออกมา ตามที่ต้องการ จะพูด แต่คำนี้โดยตัวหนังสือ หรือทางอักษรศาสตร์แล้ว มันหมายถึง ทุกสิ่ง
ทีนี้อาตมาจะ ต้องการจะช่วย ให้เข้าใจกันง่าย ๆ จึงบอกว่า เราควรจะแบ่งเป็น ๔ ความหมาย หรือ ๔ ระดับเถิด โดยธรรมชาติ เขาเรียกว่า ธรรม กฎของธรรมชาติ เขาเรียกว่า ธรรม หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ก็เรียกว่า ธรรม ผลที่ออกมาจากหน้าที่นั้นก็เรียกว่า ธรรม นี้ก็ไปเข้าใจเสียด้วยว่า ภาษาบาลีตัวหนังสือคำนี้ มันมันเป็นอย่างนี้ มันกว้างถึงอย่างนี้ เรา เออ, รู้กันแต่ว่าพระธรรมคำสอนเรียกว่า ธรรม หรือความไม่ทุจริต คดโกง เรียกว่า ธรรมนั้น มันน้อยนะ มันแคบ มันเหลือน้อยมากนะ นั้นมันเป็นการบัญญัติเฉพาะส่วนน้อยนะ ถ้าจะให้หมดกันแล้วก็ว่า ธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้น เรียกว่า ธรรม กฎเกณฑ์ของธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้น ก็เรียกว่า ธรรม หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ ก็เรียกว่า ธรรม
ฉะนั้นจึงพูดย้ำแล้วย้ำอีก ว่าใครปฏิบัติหน้าที่ของตน ตามแต่จะเป็นอะไร ก็เรียกว่า เขาประพฤติธรรม นั้นอย่าประพฤติธรรมอะไรให้มันยุ่งยากมากมายไปนักเลย ทำหน้าที่ของมนุษย์ ตามที่ตนจะทำได้ให้ดีที่สุดนั้น เรียกว่า ประพฤติธรรม ประพฤติแล้วมันจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี้คือ ประพฤติธรรม เพราะเป็นสุข พอใจ ยินดี อยู่ในการประพฤติธรรม ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อหา สิ่งสนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางกามารมณ์ ที่ไหนจึงจะเป็นสุข อย่างนั้นมันสุกหลอก สุก ก สะกด ไม่ใช่ ข สะกด ไอ้สุขจริงมันอยู่ที่ ความยินดี พอใจในการที่ได้ประพฤติธรรม คือ ทำหน้าที่
ฉะนั้นใครมีหน้าที่อย่างไรก็ทำไปเถิด หน้าที่ผู้ชายก็ทำหน้าที่ผู้ชาย หน้าที่ผู้หญิงก็ทำหน้าที่ผู้หญิง หน้าที่ลูกก็ทำหน้าที่ลูก หน้าที่พ่อแม่ก็ทำหน้าที่พ่อแม่ ให้ดีที่สุด แม้ที่สุดแต่หน้าที่คนใช้ หน้าที่กวาดถนน ล้างท่อถนน แจวเรือจ้าง ถีบสามล้อ ทำให้ดีที่สุดเถิด เขาเรียกว่า ประพฤติธรรม ตามที่ตนจะทำได้ แล้วก็จะ เป็นประโยชน์แก่ตน และประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น เขาจะได้ เงินได้ปัจจัยมาเลี้ยงชีวิต แล้วการงานของเขา ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่นว่า คนล้างท่อถนน เขาก็ได้ปัจจัยเลี้ยงชีวิตของเขา แล้วความสะอาดของถนน ก็เป็นประโยชน์แก่คนอื่นทุกคน นี้ขึ้นเรียกชื่อว่า ธรรมแล้ว ถ้าใครไปประพฤติปฏิบัติเข้า มันก็จะมีประโยชน์ ทั้งแก่ตนและคนอื่น
ประพฤติธรรมอย่างนี้ บริสุทธิ์มาก ไม่เจือด้วยกิเลส ไม่เจือด้วยความหลอกลวง ไม่ต้องมีปัญหา เรื่องทะเลาะวิวาท แย่งชิง หลอก คดโกง ทุจริต แล้วก็ทำได้ในที่ทั่วไป ทำได้ทุกคน มีเกียรติ์เสมอกันทุกคน มีสติปัญญามากก็ทำหน้าที่สูงขึ้นไป มีสติปัญญาน้อยก็ทำหน้าที่ต่ำลงมา แต่ทำด้วยความเข้าใจถูกต้อง เต็มกำลัง เต็มสติปัญญา เรียกว่า ประพฤติธรรม เสมอกันหมด ชาวนาที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำนานี่ ก็ทำนาสิ พอลงมือไถนาก็ยินดีว่า ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ ในฐานะเป็นชาวนา ก็อิ่มอกอิ่มใจ แล้วก็ไถนาไป แล้วก็ขุดนาไป ใส่ปุ๋ยไป ทำหน้าที่เลี้ยงดูต้นข้าวไป ก็จะเป็นสุข ตลอดเวลา ไม่ ๆๆ ต้องระบุว่า ต้องขายข้าว ได้เงินมา แล้วจึงจะเป็นสุข
ฉะนั้นคนโบราณเขาได้ทำนา ไอ้ข้าวมันออกแล้วก็เป็น เขาพอใจเป็นสุขตลอดเวลา ข้าวออกรวงแล้ว ไม่รู้ไม่ชี้ พวกแม่บ้านไปจัดการไปขายอะไรก็ตามใจ ไอ้ฉันพอใจและเป็นสุข นับตั้งแต่ไถนาขุดนา ไถน้ำเข้านา รักษาต้นข้าว ทำทุกอย่างให้มัน ต้นข้าวมันเจริญที่สุด เขาก็พอใจเป็นสุขเสียแล้ว ส่วนจะเอาข้าวไปขาย เอาเงินมา นี้ไม่ไม่ได้สนใจหรอก เพราะว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไป ที่จะไปกินไปเล่นไปหัวไป เอร็ดอร่อย ด้วยเงินนั้นนะ มันเป็นเรื่องเล็กน้อยเกินไป นี้พ่อบ้านที่เป็นสัตบุรุษในพุทธศาสนาแล้วเขาเป็นชาวนา เขาก็หาความสุขได้ แม้จากการไถนา จากการขุดนา จากการเลี้ยงดูพื้นที่นา ให้ต้นข้าวมันเจริญเติบโต
นี่ธรรมะคือ หน้าที่ เพราะเขาทำหน้าที่ เขาประพฤติธรรมะ แล้วผลของหน้าที่ไม่ไปไหนเสีย เราจะเจตนาหรือไม่เจตนา มันก็ออกมา เราจะกินหรือจะไม่กิน จะใช้หรือจะไม่ใช้ มันก็ไม่มี ความหมาย อะไรนัก มันออกมาตามกฎของธรรมชาติ ก็เป็นธรรมเหมือนกัน ธรรมในความหมายว่า ธรรมชาติ หรือเป็นไป ตามธรรมชาติ สนใจแต่ประพฤติธรรมดีกว่า แล้วก็รู้ในข้อนี้ให้มาก ส่วนเรื่องธรรมชาติ มันก็รู้ตามสมควร ไม่ต้องมาก ไม่ต้องทั้งหมด ไอ้เรื่องกฎของตามธรรมชาติ ก็รู้ตามที่เราควรจะรู้ แต่สำหรับพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านทราบหมด ในที่ส่วนที่ควรทราบ
ดังนั้นขอให้รู้เสียด้วยว่า ไอ้สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้ นั้นไม่มีอะไร นอกจาก กฎของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แต่ท่านเป็นพระพุทธเจ้า ท่านต้องรู้มาก คือ รู้หมดในสิ่งที่ควรจะรู้ ส่วนเราลูกศิษย์นี้ไม่ต้องรู้มากเพียงเท่านั้นนะ เท่าที่จะปฏิบัติ เพื่อที่จะละทุกข์ได้ ก็พอ แล้วก็รู้ตามพระพุทธเจ้าด้วย ไม่ใช่ค้นคว้าเองหรือตรัสรู้เอง
นี้คำว่า ธรรม มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์ในลักษณะอย่างนี้ ให้รู้ว่าคำเดียวครอบหมดไม่ยกเว้นอะไร ยิ่งกว่าครอบจักรวาลเสียอีก คำว่า ธรรม นี้มันไม่ใช่เพียงแต่ครอบจักรวาล แต่มันครอบหมดแม้นอกจักรวาล คือ ทั้งหมดไม่มีอะไรเหลือแหละ จะมีโลกกี่โลก จะมีอะไรเท่าไร มันก็เป็นธรรมชาติทั้งนั้นแหละ เลยเรียกว่า ธรรม คำว่า ธรรม มันมีความหมายอย่างนี้ ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็คือ ธรรม ที่เป็นเรื่องการดับทุกข์นี่ ที่เรียกว่า ความจริงในเรื่องอริยสัจนี่ พูดย่อ ๆ ก็มี ๔ อย่างนะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าพูดละเอียดแล้วก็เป็น ปฏิจจสมุทบาท มี ๑๑ อาการ นั้นก็คือ เรื่องอริยสัจเหมือนกันแหละ
และอย่าอย่าเข้าใจผิด ว่าเรื่องอริยสัจนั้น ไม่ใช่เรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่ใช่ เรื่องอริยสัจ ที่จริงมันเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ว่า อธิบายย่อ ๆ หรืออธิบายโดยละเอียด ที่มันเป็นหัวใจของ เรื่องดับทุกข์ได้ นี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ก็ยังคงเรียกได้ว่า ธรรมนะ เข้าถึงธรรม รู้ธรรม เห็นแจ้งธรรม นั้นนะ ก็ดับทุกข์ได้ ฉะนั้นคำ ๆ นี้มันจึงแปลก ว่าหมายถึงทั้งหมด ในพุทธศาสนาก็ได้ หมายถึงส่วนใด ส่วนหนึ่ง ของพุทธศาสนาก็ได้ หมายถึงหัวใจแท้ ๆ ของพุทธศาสนาก็ได้
อาตมากล่าวว่า คำว่า ธรรม คำเดียวนั้นมันหมายถึงทั้งหมด ถ้าพูดว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ก็หมายถึง ธรรมที่เป็นเรื่องดับทุกข์โดยเฉพาะ นี้เขากล่าวหาว่า อธิบายหัวใจของพุทธศาสนา ว่าได้แก่ ธรรม เพียงคำเดียว นี้ก็ยืนยันเหมือนกันนะ ว่า ธรรม เพียงคำเดียวก็เป็นหัวใจของพุทธศาสนาได้ แต่ว่าธรรมคำเดียว นั้นแหละ เป็นทั้งหมดของพุทธศาสนาก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้นอีก เป็นทั้งหมด ของที่มิใช่พุทธศาสนา เป็นเรื่องของ สิ่งทั้งปวง ทั้งหมดทั้งสิ้นใน สากล นี้ก็เรียกว่า ธรรม เพราะฉะนั้นการกล่าวว่า ธรรม คือ ทุกสิ่ง ในใน พุทธศาสนาก็ถูกแล้ว ธรรมเป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็ถูกด้วยเหมือนกัน เพราะว่าเขาไม่เคยเรียนบาลี เขาไม่รู้ว่า คำว่า ธรรม ในภาษาบาลีนั้น มีความหมายอย่างไร เขาจึงเข้าใจไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ให้อภัย แก่เขาก็แล้วกัน เอ้า, มีอะไรว่าต่อไปอีก
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวตู่พุทธพจน์โดยคิดว่าตัวเองนั้นเก่งกาจสามารถ จะพูดอะไร ก็เป็นคำพูดของพระพุทธเจ้าทั้งหมด คล้ายกับว่าตัวนั้นเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเสียเอง นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: นี่คำกล่าวหานี้ว่า อาตมากล่าวตู่ พระพุทธพจน์ เอาคำของพระพุทธเจ้า มากล่าวว่า เป็นคำของตัวเอง คล้าย ๆ กับว่าอาตมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง นี้เขาไม่ยอมฟัง ไม่ยอมรับว่า อาตมานั้นมี ชื่อว่า พุทธทาส เป็นทาสรับใช้พระพุทธเจ้า ฉะนั้นที่จะตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง นั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันปฏิญาณอยู่อย่างนี้ ประกาศตนเองอยู่อย่างนี้ แล้วที่ว่าจะไปตู่ เอาคำของพระพุทธเจ้ามาเป็นคำของ ตัวเองนั้นมันก็ไม่มี แล้วมันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แล้วก็บอกอยู่เสมอว่า พระพุทธเจ้าท่านได้กล่าวไว้อย่างนี้ อย่างนี้ ถ้าเราจะประมวลเอาทั้งหมด มากล่าวให้สั้น ให้รัดกุมเข้ามาเพื่อฟังง่าย มันก็ไม่ใช่ตู่พระพุทธเจ้า มันช่วยทำ คำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจได้สะดวก ได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป อย่างนั้นไม่มีการกล่าว หรือการกระทำ ที่เป็นการตู่คำของพระพุทธเจ้า เรายังคงสอนไปตามคำของพระพุทธเจ้า แล้วไม่เคยพูดว่า นี่เป็นความรู้ของเรา อาตมาคอยบอกอยู่เสมอว่า นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ ไม่ใช่อาตมาว่านะ นี่ บางคนก็คงจะยังจำได้ ว่าอาตมา เคยท้วง กันอย่างนี้กี่ครั้งกี่หนมาแล้ว นั้นไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องที่ว่า จะตู่พระพุทธวจนะ เอามาเป็นคำของตัว มันมีไม่ได้ แล้วที่ว่าจะตั้งตัวเองเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งนั้นนะ ก็ไม่เคยคิด ไม่เคยฝัน แล้วก็เรียกตัวเองว่า พุทธทาส เป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ ซื่อตรงอยู่เสมอ ข้อเท็จจริงมันมีอย่างนี้ เพียงเท่านี้ เอ้า, ต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ความคิดของท่านอาจารย์คือ ความหลงผิดของเดียรถีย์ ซึ่งเป็นการทำลายพุทธศาสนาโดยตรง นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: นี้คือคนนี้มันไม่รู้บาลี ไม่รู้ภาษาสันสกฤต ไม่รู้ภาษาไทย นั้นจึงไม่รู้ว่าคำว่า เดียรถีย์ มันหมายความว่าอย่างไร ไอ้คำนี้ก็ได้อธิบายไปแล้วเมื่อ ตอนสาย ตอนเช้า ความคิดของเรา ความรู้ของเรา ความเชื่อของเรา การปฏิบัติของเรา เดินไปตามทางแห่งพระ พระพุทธศาสนา หรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราเป็นสาวกของเดียรถีย์องค์หนึ่ง คือ พระพุทธเจ้า ซึ่งเรายอมรับ เราไม่ยอมรับเดียรถีย์อื่นนอกจากนี้ นี่คนนี้ มันไม่รู้ว่าคำว่า เดียรถีย์ หมายความว่าอะไร มันจึงใช้คำว่า เป็นความหลงผิดของเดียรถีย์ เดียรถีย์นั้นเป็น เจ้าลัทธินะ ตัวเจ้าลัทธิ ตัวศาสดา แห่งลัทธิหนึ่ง ๆๆๆ นะ เราเป็นได้ก็เพียงสาวกของเดียรถีย์ นั้นอาตมาก็เป็น ได้เพียงสาวกของพุทธเดียรถีย์ ไม่เป็นสาวกของเดียรถีย์อื่น นอกไปจากนั้น
คำว่า เดียรถีย์ เป็นสันสกฤต ถ้าเป็นบาลีแปลว่า ติดธีญะ (นาทีที่ 04:41) เป็นภาษาไทยเรียกว่า เดียรถีย์ ตามสันสกฤต คำ ๆ นี้แปลว่า ลัทธิ ซึ่งเป็นเสมือนท่าจอดเรือ ลัทธิทั้งหลายที่คนนิยมนับถือมากแล้วมันจะเป็น เหมือนกับว่า ท่าจอดเรือ ใครต้องการจะไปจอดท่าไหนตามความพอใจ นั้นนะเขาเรียกว่า เป็นท่าหนึ่ง ๆๆๆ คือ เป็นลัทธิหนึ่ง หรือเดียรถีย์หนึ่ง เจ้าของท่านั้นจึงจะเรียกว่า ตัวเดียรถีย์ ตัวเจ้าของลัทธิ คนนอกนั้นก็เป็นเพียง ผู้ใช้ท่า เป็นสมาชิกเท่านั้นเอง อย่าง เราพุทธบริษัททุกคนนี้ก็เป็นสาวก ของเดียรถีย์ ในที่นี้หมายถึง พระพุทธเจ้า ไม่ใช่เดียรถีย์อื่นซึ่งเรียกว่า อัญญเดียรถีย์ ความคิดทั้งหมด ความเชื่อทั้งหมด คำสอนทั้งหมด ของข้าพเจ้า ของอาตมานี้ เป็นไปตามหลักของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านก็เป็นเดียรถีย์หนึ่งนะ
อาตมาก็เป็นเพียงสาวกของเดียรถีย์ เป็นสารถีไม่ได้นี่ ถ้าเป็นความหลงผิด ของอาตมาที่เป็นสาวกของ เดียรถีย์ มันก็มีได้ถ้าเป็นความหลงผิด ของอาตมามันก็มีได้ แต่เดี๋ยวนี้พยายามสุดความสามารถแล้ว ที่จะไม่ให้ มันผิด เพราะศึกษาพระธรรมคำสอน หรือปฏิบัติดู หรือว่าค้นคว้าดู อะไรทุกอย่าง สุดความสามารถ เพื่อไม่ให้ มันผิด อาตมาก็ยืนยันได้อย่างนี้ ถ้ามันผิดเพราะไม่รู้เท่าถึงการณ์ มันก็ต้องจนใจที่ว่ามันจะต้องผิด หรือจะต้อง ขออภัย แต่รับรองว่าไม่มีความประมาท แม้แต่นิดเดียว เพื่อจะทำให้มันถูกแต่โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ความคิดนี้ ก็ไม่แปลกไปจากหลักพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนา เอามากล่าว มันก็ยังเป็นพุทธศาสนา ไม่เป็นการทำลายพุทธศาสนา แต่ประการใดเลย ข้อเท็จจริงมันก็มีเพียงเท่านี้ ข้ออื่นต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวของที่ลุ่มลึกว่าเป็นของตื้น กล่าวของที่ยากว่าเป็นของง่าย เป็นการดูถูกพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง นี้เป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: เขากล่าวหาว่าอาตมาไปเอาของลึก มาบอกว่าเป็นของตื้น ไปเอาของยากมาบอก ว่าเป็นของง่าย นี้ไม่เคยกระทำ และทำไม่ได้หรอก ของลึกจะมาหลอกคนว่าเป็นของตื้น นี้ก็ทำไม่ได้ ของตื้น จะมาบอกคน ว่าเป็นของลึกนี้ก็ทำไม่ได้ ของยากจะมาหลอกว่าเป็นของง่าย นี้ก็ทำไม่ได้ ของง่ายจะมาหลอก ว่าเป็นของยากก็ทำไม่ได้ แต่ความพยายามสุดเหวี่ยงนั้นคือพยายาม จะให้ของที่ลึกนั้นมาเป็นที่เข้าใจ แก่คนทั่วไป นี้เรียกว่า พยายามทำของที่มันลึกนะ ให้มันตื้นขึ้นมา ขอให้เข้าใจได้ ไอ้ทำของที่ยาก นี้ให้มันง่าย ขึ้นมา ด้วยการอธิบาย ๆๆ ให้มันเข้าใจได้ง่าย ๆ ขึ้นมา การพยายามอย่างนี้ อาตมาถือว่าเป็นการทำหน้าที่ ถูกต้อง แล้วตามพระพุทธประสงค์
พระพุทธองค์ก็ทรงพยายามทำอย่างนั้น ทำของที่มันตื้นให้มัน ทำของที่มันลึกให้มันตื้น ของที่ยาก ให้มันง่าย ของที่ปิดให้มันเปิด นี่เป็นหลัก เป็นหลักที่เราจะต้องกระทำ ไอ้ธรรมะที่ลึก ก็ยังคงเป็นของลึก เช่น เรื่องปฏิจจสมุทบาท พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นเรื่องลึก แต่เป็นเรื่องจำเป็น ที่พุทธบริษัทจะต้องรู้ ก็ช่วยเอามา ทำให้มันตื้น ดังนั้นจึงพยายามอธิบายปฏิจจสมุทบาทในลักษณะที่ท่านทั้งหลายจะพอเข้าใจได้ ไม่ปล่อยให้เป็น เรื่องลึกและเข้าใจผิดๆ ถือกันผิด ๆ พูดกันผิด ๆ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ทำให้มัน ตื้นขึ้นมา เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เป็นเรื่องลึกนั้นก็ไม่เป็นหมัน มันไม่เป็นหมัน มันเอามาใช้ประโยชน์ได้ นี่การพยายามทำของลึกให้ตื้น ทำของที่ยากให้ง่าย นี้ยอมรับว่า พยายามอยู่จริงอย่าง สุดเหวี่ยง แต่ที่จะหลอกเอาของลึกมาบอกว่าตื้น ของตื้นมาบอกว่าลึก นี้ไม่เคยมี และไม่เคยทำ และจะไม่ทำ เป็นอันขาด ข้อเท็จจริงมันก็มีอยู่เท่านี้ เอ้า, มีเรื่องอะไรต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า การที่พูดว่า การปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว คือ พุทธบริษัท ที่แท้จริง นั้นเป็นวิธีการอธิบายความหมาย ในทัศนะของทาสเดียรถีย์ ที่เลวร้ายที่สุด นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: อาตมายังยืนยันอยู่ว่า การปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว นั้นแหละ คือ การปฏิบัติ ของพุทธบริษัทที่แท้จริง ถ้าเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง ต้องปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว อย่างต่ำอย่างเลว ก็ไม่เห็นแก่ตัวที่เอาเปรียบผู้อื่น อย่างสูงก็คือ ทำลายความยึดถือว่าตัว เข้าถึงความไม่มีตัว ความมิใช่ตัว คือ เรื่องอนัตตา ปฏิบัติเพื่อให้เห็นอนัตตา ทำลาย ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตนนั้นเสีย ไม่มีความเข้าใจผิดเหลือ นี่คือพุทธบริษัทที่แท้จริง ยืนยันได้ว่า ปฏิบัติทำลายความเห็นแก่ตัว นี้เป็นพุทธศาสนา และยังขยายออกไป อีกว่า ถึงศาสนาอื่นก็เหมือนกัน หัวใจของทุกศาสนา อยู่ที่ทำลายความเห็นแก่ตัว การพูดอย่างนี้ก็ถูกหา หรือถูกด่าอีกว่า ไปทำพุทธศาสนาให้ต่ำลงไป เท่ากับศาสนาอื่น นี้มันเป็นความจริงนี่ไม่รู้จะพูดอย่างไร ทุกศาสนามันล้วนแต่ ทำลายความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น
ก็ยังคงยืนยันอยู่เดี๋ยวนี้ ว่าการปฏิบัติเพื่อทำลาย ความเห็นแก่ตัวนั้น นอกจากจะเป็นพุทธบริษัทแล้ว ก็ยังเป็นไอ้ บริษัทแห่งศาสนาอื่น ที่ถูกต้องได้ด้วย นี้เป็น การกล่าวของผู้ที่มองเห็น หัวใจของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นทาสของอัญญเดียรถีย์ ที่เลวร้าย แต่เป็นทาส ของเดียรถีย์ที่สูงสุดคือ พระพุทธเจ้า เรื่องความไม่เห็น แก่ตัวนั้นแหละ เป็นทั้งหมด เมื่อไม่เห็นแก่ตัวแล้วก็ ก็ไม่เบียดเบียนใครในสังคมนี้ก็อยู่เป็นสุข แล้วเมื่อไม่เห็น แก่ตัวแล้ว จิตใจก็ไม่เร่าร้อนด้วยกิเลส เมื่อไม่เห็นแก่ตัวแล้ว ก็บรรลุมรรคผลนิพพานเลย ไอ้เรื่องไม่เห็นแก่ตัว หรือไม่มีตัวนี้ มันดีอย่างนี้ ดังนั้นจึงย้ำมากในความรู้เรื่องไม่เห็นแก่ตัว ย้ำในการปฏิบัติเพื่อไม่เห็นแก่ตัว ย้ำในการผลของการปฏิบัติ คือปฏิบัติไม่เห็นแก่ตัวแล้ว ได้รับผลมา เป็นความสุขของตนเอง เป็นความสงบสุข ของผู้อื่น เป็นการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน
ฉะนั้นขอยืนยันว่าไอ้การปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวนี้ ไม่ใช่ลัทธิเดียรถีย์อื่น แต่เป็นเดียรถีย์นี้ คือ พุทธเดียรถีย์ ซึ่งคนเหล่านั้นไม่เคยได้ยินคำว่า พุทธเดียรถีย์ ต้องไปศึกษาเสียก่อนว่า เดียรถีย์คำนี้ หมายความว่าอะไร ถ้าเข้าใจได้โดยถูกต้อง ว่ามันเป็นชื่อของลัทธิ มันก็ต้องจำกัดความออกไปว่าเป็น เดียรถีย์อื่น หรือเป็นเดียรถีย์นี้ ถ้าเดียรถีย์นี้ก็ของพระพุทธเจ้า ถ้าเดียรถีย์อื่นก็ของมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย นี้ขอยืนยันว่า ยังคง แนะนำว่า เราปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัวกันเถิด นี้คือหลักของพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่น ทุก ๆ ศาสนา ที่จะเป็นที่พึ่งแก่โลกได้ด้วย ข้อเท็จจริงมีอย่างนี้ ว่าต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ให้บทนิยามแห่งคำว่า ความหิว ในพระบาลีที่ว่า ความหิวเป็นโรค อย่างยิ่ง นั้นได้แก่ ตัณหา อุปาทาน ไม่หมายถึง ความหิวอาหารอย่างที่เด็กอมมือเขารู้จัก ซึ่งเป็นการตีความ ตามใจตัวเองอย่างวิตถาร ผิดแปลก แหวกแนวอย่างจงใจ นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: ข้อนี้มันมีพระบาลีอยู่ว่า ฉิพัจฉา ปรมา โรคา (นาทีที่ 51:58) แปลเป็นไทยว่า ความหิว เป็นโรคอย่างยิ่ง ทีนี้ถ้าพูดกันภาษาธรรมดา ความหิว คือ หิวข้าว หิวน้ำ หิวอาหาร แต่ถ้าพูดตามภาษาละเอียด อ่อนกว่านั้น คือ เป็นภาษาธรรมแล้ว มันหมายถึง หิวกามารมณ์ หิวของเอร็ดอร่อยทางจิตใจนั้น คือ กิเลส นี่ความหิวของกิเลส กับความหิวธรรมดา หิวข้าว หิวน้ำนี้ อันไหนจะเป็นโรค โดยแท้จริง ไอ้คำว่า โรค นี้ ตัวหนังสือคำนี้มันแปลว่า เสียดแทง ทิ่มแทงให้เจ็บปวด ถ้ายังไม่ทราบก็ทราบเสียก่อน เพราะคำว่า โรคะ โรคะ ในภาษาบาลีนั้น คำนี้ตัวหนังสือ มันแปลว่า ทิ่มแทงให้เจ็บปวด เอ้า, ความหิวไหนที่จะทิ่มแทงให้เจ็บปวด หิวข้าว หิวน้ำ หรือว่า หิวกิเลส อาตมาเห็นว่าหิวกิเลสนั่นแหละ ทิ่มแทงเจ็บปวดยิ่งกว่า หิวข้าว หิวน้ำ
เพราะฉะนั้นจึงบอกผู้ฟังทั่วไปว่า พระบาลีที่ว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่งนั้น ความหิวนั้น หมายถึง กิเลส ตัณหา เรื่องมันก็มีเท่านี้ เมื่อเขาไม่มองเห็นความหิวชนิดนี้ เขาจะไปเห็นว่า หิวข้าวหิวน้ำตามธรรมดา ที่เด็ก ๆ ก็หิว ก็ร้องไห้อยู่ ก็ตามใจสินี่ ก็ตามใจเขาสิ เราถือเอาความหมายของคำว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่งนั้น คือ ความหิวของกิเลส ตัณหา หิวข้าวหิวน้ำของเด็ก ๆ นั้น แม้จะเสียดแทง ว่าเป็นโรคก็จริง แต่ไม่ใช่อย่างยิ่ง ไม่ใช่อย่างรุนแรง นี่เรื่องมันมีเท่านี้ ต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ถูกเลี้ยงดูจนอ้วนพี อิ่มหมีพีมัน ไปด้วยการบริโภคอย่างดี แล้วยังไม่รู้จักความหมายของคำว่า ความหิว อย่างถูกต้องอีก นี้เป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: อาตมาถูกเลี้ยงอย่าง อิ่มหมีพีมันเลยไม่รู้จัก ความหิวของของหิวอาหาร ไปรู้แต่ ความหิวของกิเลส ก็ต้องดูเอาเองก็แล้วกัน ว่าคนที่พูดอย่างนี้ มันมีความรู้สึกคิดนึกอย่างไร อยากจะพูด สักหน่อยหนึ่งว่า แม้จะถูกเลี้ยงดู จนอิ่มหมีพีมันแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามนะ มันยังหิว กิเลสอยู่นั่นแหละ แม้ร่างกายนี้จะไม่หิวอะไร ที่เป็นของกิน ของอะไรแล้วแต่ มันก็ยังหิวด้วยกิเลสอยู่นั่นแหละ คนที่ คนที่อ้วน อิ่มหมีพีมัน ด้วยเรื่องข้าวปลาอาหาร ก็ยังหิวด้วยกิเลสอยู่ ดังนั้นจึงถือว่าหิวกิเลสนั้นนะ จริงกว่า รุนแรงกว่า กว่าความหิวอย่างอื่น จึงสมตามพระพุทธภาษิตที่ว่า เป็นโรคอย่างยิ่ง เรามีคำว่า อย่างยิ่ง เติมเข้าอยู่ อยู่ในนั้น ด้วยนะ ไม่ใช่หิวเป็นโรคเฉย ๆ เป็นโรคอย่างยิ่ง แล้วหิวไหนจะเป็นโรคอย่างยิ่ง ก็ต้องหิว กิเลสตัณหา ยิ่งอ้วน ยิ่งพี ทางเนื้อทางหนัง ก็ยิ่งมีทางกิเลส ตัณหามาก ฉะนั้นก็ยิ่งเสียดแทงมาก จึงยกไปไว้ให้ เป็นเรื่องความหิว ของกิเลส ตัณหาว่าเป็นโรคอย่างยิ่ง ขอยืนยันว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงหมายอย่างนั้น และทรงตรัสโดย ภาษาธรรม อันลุ่มลึกละเอียด อ่อนกว่า ภาษาชาวบ้าน ซึ่งพอว่าหิวก็คือ หิวข้าวหิวน้ำเท่านั้นเอง ข้อเท็จจริงมันมีอยู่อย่างนี้ มีอะไรอีกก็ว่าต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า จู่ ๆ ก็มาสอนให้ละตัวกู ของกู อันเป็นธรรมขั้นสูง โดยไม่เคย สอนธรรมขั้นพื้นฐาน เป็นการปูทางให้ใครได้รับรู้มาก่อนเลย โดยไม่ตั้งต้นสอนว่า ตัวกู หรือตัวเรา นั้นคืออะไร มีอยู่และสูญไปอย่างไร มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: สอนเรื่องตัวกู ของกู ก็สอนแต่บุคคลที่พอจะเข้าใจได้ ไม่อาจจะสอนแก่เด็ก ๆ หรือคนที่ยัง ไม่รู้หลักธรรมะอะไรเสียเลย สำหรับคำสอนชั้นพื้นฐานให้มีตัวกู ให้มีตัวกูอย่างดีนั้น เขาสอน กันอยู่ทั่วไปแล้ว เขาสอนกันจนเหลือเฟือแล้ว จนคนมีตัวกู ของกู เต็มแน่นอัดไปหมดแล้ว เราจะไปสอนซ้ำ อย่างนั้นอีก มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นจึงมาสอนเรื่องละตัวกู ของกู เพราะว่าความทุกข์นี้ มันเกิดมาจาก ตัวกู ของกู ตัวกู ของกูเป็นเพียงความเข้าใจผิด เห็นผิด คิดผิด ยึดถือผิด ๆ เพราะอวิชชา เพราะไปครอบงำจิต ให้รู้สึกว่าเป็นตัวกู ของกู ไอ้การที่จะ สอนขึ้นมาถึงขั้นนี้ได้ มันก็ต้องอาศัยคนที่มัน เคยมีตัวกู ของกูเป็น ทุกข์ทรมานมาพอสมควรแล้ว ตัวกูคืออะไร เราก็สอนอยู่ไม่ใช่ไม่สอน คือว่ามายาอันหนึ่ง ในจิตคิดเห็น เชื่อถือ ยึดถืออย่างนั้น นั่นนะตัวกู ของกู เป็นมายา มีอยู่เมื่ออวิชชายังมีอยู่ แล้วจะหมดไปเมื่ออวิชชาหมดไป
ทีนี้ส่วนที่อาตมาอยากจะ ระบุให้ชัดลงไปว่า ไอ้คำสอนเรื่องตัวกู ของกูนี้ มันเป็นธรรมะชั้นสูง ก็จริงแหละ แต่ว่า ควรเอามาใช้ ในขั้นทั่ว ๆ ไป นี้ด้วย เพราะว่าตัวกูทีไร ของกูทีไร มันเกือบตายทุกที คนทั่วไปนี่ ไปดูให้ดีเถิด พอมีตัวกู ของกูเมื่อไรแล้ว มันก็ทุกข์ทนทรมานนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้จักบรรเทา ไอ้ตัวกู ของกู สำหรับอยู่ในโลกนี้ในระดับต่ำ ทั่ว ๆ ไป รู้จักบรรเทาตัวกู ของกูเสียบ้างเถิด จะมีความทุกข์น้อยลง แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ถ้ามันมีตัวกู ของกูจัด มันก็จะเป็น อันธพาลมากไป นี่ส่วนตัวมันเอง แล้วมันจะร้องไห้เก่ง เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามความต้องการ แห่งตัวกู ของกู มันยึดถือว่าตัวกู ของกูแล้ว มันก็จะมุทะลุ ดุดัน มันชอบทำร้ายผู้อื่น หรือว่ามันยึดถือว่า ของกูแล้ว มันจะต้องนั่งลงร้องไห้ เมื่อของที่มันมีอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงไป แตกสลายไป ฉิบหายไปนี้ มันก็จะต้องนั่งลงร้องไห้
ดังนั้นลูกเด็ก ๆ ก็ควรจะมีความรู้เรื่อง ตัวกู หรือเรื่องของกูนี้ให้พอสมควร ถ้ามันผิดแล้วมันมาก เกินไป แล้ว มันก็จะเหมือนกับคนบ้า แล้วมันจะทำลายตัวมันเอง ไอ้ตัวกูจัดนี้ต้องเป็นโรคประสาทแน่นอน ไอ้ของกูจัด ก็ต้องเป็นโรคประสาทแน่นอน ให้รู้ความพอดี ว่าเราควรจะมี ไอ้ความรู้สึกอย่างไร มีเงินมีทอง มีของมีอะไร ก็จะต้องรู้สึกอย่างไร ที่จะไม่ ทำอันตรายแก่ตัวเอง ไอ้ตัวกู ของกูนี้ ถ้าไม่รู้จักควบคุมมันแล้ว มันจะกัดเอา จนเจ้าของนั้นนะ จะวินาศไปทีเดียว เป็นโรคจิตบ้าบอไปทีเดียว
เพราะฉะนั้นโชคดี ที่ว่าบรรพบุรุษปู่ย่า ตาทวดของเรา เคยรู้ธรรมะ รู้พุทธศาสนา ได้สร้าง ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ควบคุมตัวกู ควบคุมของกูไว้แล้วพอสมควร เราเกิดขึ้นมา ในฐานะเป็นลูกหลาน ของท่าน แล้วก็ปฏิบัติตาม มันก็ได้รับความรู้ในเรื่องนี้โดยไม่รู้สึกตัว ทำให้เป็นอยู่ได้ โดยพอดี สะดวกสบาย ไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นบ้า เดี๋ยวนี้มีคน บ้าถึงขนาดฆ่าตัวเอง ทำลายตัวเองเหมือนกับว่า เล่นนี้มันบ้า มันไม่รู้จักเรื่องตัวกู ของกู ถ้ามันมีความเข้าใจเรื่องนี้พอสมควรแล้ว การฆ่าตัวเองอย่าง ที่ทำ ๆ กันอยู่นั้น จะไม่มี ฉะนั้นเขาจะรู้จักแก้ไขให้เป็นไปในทางที่จะไม่ฆ่าตัวเอง มันไม่มีประโยชน์อะไร ตัวกูมันเป็นบ้า มันจึงฆ่าตัวเอง
นี้ก็ควรจะเอามาสอนกัน ให้พอเหมาะพอดี แม้ในระดับปุถุชนนี้ก็ก็ควรจะรู้เรื่องนี้ให้พอดี ๆ จะไม่ต้องน้ำตาเช็ดหัวเข่าบ่อย ๆ นัก แล้วเมื่อสูงขึ้นไป ก็ละไป ๆ มันก็บรรลุมรรค ผล เพราะการทำลาย เสียได้ซึ่งตัวกู ของกู ภาษาบาลีเขาเรียกชื่อเพราะนะว่า อหังการ มมังการ มานานุสัย ความเคยชินที่จะถือว่า มีตัวฉัน มีของฉัน นี่ชื่อยาวอย่างนี้ ความเคยชินที่จะถือว่า มีตัวฉัน มีของฉัน นี่คือ ตัวกู ของกู ขอยืนยันว่า ควรจะเอามาสอน ในระดับทั่ว ๆ ไป ตามสมควร เพื่อจะไม่ต้องร้องไห้ เพื่อจะไม่ต้องฆ่าตัวตาย เพื่อจะไม่ต้อง เป็นโรคประสาท เด็ก ๆ มันก็ฆ่าตัวเองตาย ฆ่าตัวเองตายได้ ถ้ามันยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องดีเรื่องเด่น อะไรมาก เกินไป เราก็ควรจะ สอนเด็ก ๆ ตามสมควร ฉะนั้นอาตมายังคงยืนยันต่อไปว่า จะสอนเรื่องละตัวกู ของกู ตามสมควรแก่สถานการณ์ และก็ไม่ผิดขั้นตอนอะไร นี่เรื่องของมันก็มีอยู่อย่างนี้นะ เอ้า, พูดเรื่องอื่นต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ที่สอนว่านิพพานอยู่ที่ใจ อันไม่มีอุปาทานก็ดี หรือว่าสวรรค์ อยู่ในอกก็ดี นรกอยู่ในใจก็ดี นั้นบิดเบือนพุทธพจน์ เป็นการอธิบายผิด ๆ โดยใช้เล่ห์เหลี่ยม ในทางคำพูด อธิบายความหมายสองแง่สองง่าม นับเป็นภัยอย่างยิ่ง นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นิพพานอยู่ที่จิต ที่เข้าถึงไอ้ความเป็นเช่นนั้นเอง นี้ เออ, ปู่ย่าตายาย เขาว่ามาก่อนอาตมานานแล้ว ไม่ใช่อาตมาเป็นคนแรก ที่จะบอกว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ บรรพบุรุษไทยของเราที่เข้าถึงธรรมะ มาแต่กาลก่อนนะเขาพูดไว้ เพราะเขาเห็นมันจริงอย่างนั้น นิพพานอยู่ ในใจ ก็เพราะนิพพานนั้น รู้สึกได้ด้วยใจ สัมผัสได้ด้วยใจ ความหมดกิเลส คือ นิพพาน รู้สึกได้ด้วยใจ สัมผัสได้ ที่ใจ เมื่อมันรู้สึกอยู่ที่ใจมันก็อยู่ที่ใจนะ แต่ต้องเป็นใจที่หมดกิเลส ตัณหา อุปาทานแล้ว ส่วนสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ว่า ท่านก็ตรัส ที่พูดแล้วเมื่อตอนเช้านี้ว่า อายตนิกนรก อายตนิกสวรรค์ (นาทีที่ 01:04:33) สวรรค์ที่เป็นอยู่ตามอายตนะ ทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ นั้นนะ ที่ท่านชี้ว่านรก หรือสวรรค์ นี้มันอยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่นอกตัวเรา เมื่อทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ มันก็เป็นนรกที่นั่น เมื่อทำถูกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นสวรรค์อยู่ที่นั่น นี่พระพุทธวจนะว่าอย่างนี้
เพราะฉะนั้นปู่ย่าตายายของเราที่พูดอย่างนี้ ก็ไม่ได้บิดเบือนพุทธวจนะ อาตมาก็ไม่ได้บิดเบือน พุทธวจนะ กล่าวตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ และกล่าวตามที่ปู่ย่าตายายก็ได้เคยกล่าวอย่างนี้ มาแล้วแต่ก่อน ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ คนที่เอา นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้านั้นนะ คนมันไม่รู้อะไร มันได้แต่เชื่อ ตาม ๆ กันมา ที่คนไม่รู้มันพูด คนไม่รู้มันพูดต่อ ๆ กันมา แล้วก็พูดกันอยู่ก่อนพุทธกาลโน่น
นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้านี้ ก่อนพุทธกาลก็พูดกันมาแล้ว แล้วก็พูดกันมาตามแบบภาษาชาวบ้าน ภาษาคนไม่รู้อะไร ก็เพื่อให้มันน่ากลัว ก็พูดอย่างนั้น มีผลเพียงแค่ศีลธรรมของเด็ก ๆ นะ ถ้าเป็นปรมัตถธรรม ของผู้ใหญ่แล้ว มันก็ใช้ไม่ได้ เพราะว่ามันอยู่ในใจ มันเผาอยู่ในใจ หรือในอีกทีหนึ่งก็ให้รู้ไว้ว่า เราไม่ต้องการ แม้แต่สวรรค์ นรกก็ไม่ต้องการเพราะมันเจ็บปวด ไอ้สวรรค์ก็ไม่ต้องการเพราะมันหลอกลวง เราต้องการจะ อยู่เหนือสวรรค์ขึ้นไปอีก คือ นิพพาน แล้วก็รู้สึกได้ด้วยใจ เป็นประโยชน์เพราะว่ามันรู้สึกได้ด้วยใจ ถ้าไม่รู้สึก ได้ด้วยใจ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เดี๋ยวนี้นิพพานมีประโยชน์ เพราะว่ารู้สึกได้ สัมผัสได้ว่าปราศจากความทุกข์ โดยสิ้นเชิง
ฉะนั้นการพูด ว่า สวรรค์ในอก นรกในใจนั้น นิพพานก็อยู่ที่ใจ นี้ไม่ใช่การบิดเบือนพุทธวจนะ ไม่ได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางคำพูด ไม่ได้ใช้คำพูดชนิดสองแง่สองง่าม เป็นการกล่าวจริงที่สุด ในลักษณะที่เป็น สนฺทิฏฺฐิโก เมื่อมันโง่ มันไม่เป็น สนฺทิฏฺฐิโก มันก็เข้าใจไม่ได้ มันคงจะเข้าใจได้แต่พวกที่ สามารถจะเห็น ประจักษ์ แก่ใจตนเป็นสนฺทิฏฺฐิโก เท่านั้นแหละ จึงจะเห็นว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นิพพานก็อยู่ที่ใจ เมื่อรู้สึกสัมผัสต่อความสิ้นไปแห่งกิเลส เรื่องมันก็มีเท่านี้ ไม่มีการบิดเบือนพุทธวจนะ ไม่มีการพูดให้เป็น ๒ ความหมาย ดิ้นได้ กำกวม หลอกลวงอะไร พูดไปตรง ๆ ชัด ๆ สวรรค์ในอก นรกในใจ นิพพานก็รู้สึกได้ที่ใจ เรื่องมันก็มีเท่านี้ เอ้า, มีอะไรต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า การใช้คำว่า ตัวกู ของกู นั้น เป็นคำอันธพาล คำวิปริต ก่อไปใน ทางต่ำทราม นับว่าเป็นวจีทุจริตในเบื้องต้น นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: คำพูดว่าตัวกู ว่าของกู มันก็ ก็มีปัญหาอยู่ที่คำว่า กู คำว่า กู นี้เป็นคำหยาบ หรือคำไม่ หยาบ มันก็เป็นเรื่องของอักษรศาสตร์ ถ้ามันรู้ภาษาไทยดี มันก็รู้ว่าภาษาพูดในสมัยสุโขทัย ขุนรามคำแหงนี้ คำว่า กู นี้เป็นคำธรรมดา ไม่หยาบไม่คายอะไรเลย พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเอี้ยง หรืออะไรก็ไม่รู้ นี่คำจารึก ราชโองการ หรือคำทั่ว ๆ ไป ที่ใช้กันอยู่ในสมัยสุโขทัย คำว่า กู นี่เพิ่งจะมาหยาบคาย ในสมัยหลัง ๆ เมื่ออักษรศาสตร์มันเปลี่ยน
เอาละ อาตมาก็ยอมรับว่า มันเป็นคำหยาบ คำว่า กู นี้ แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการจะให้เข้าใจง่าย ๆ เร็ว ๆ ว่าไอ้ความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตนนั้นนะ มันเป็นเมื่อจิตมันปกติ แต่ถ้าจิตมันเดือด พลาดพลุ่งขึ้นมาแล้ว มันจะมีความหมายแห่งตัวกู ของกู แทนความหมายแห่งคำว่า ตัวตนหรือของตน ที่พูดว่า ตัวกู ของกู ก็ต้องการจะให้เล็งหมายถึง เมื่อไอ้ความยึดมั่นมันเดือดจัด พุ่งถึงขีดสูงสุด เป็นตัวกู ของกู แสดงว่ามันเป็น ความหมายที่ให้เห็นว่า เป็นทุกข์ที่สุด ยึดมั่นที่สุด เป็นทุกข์ที่สุด เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ ที่ว่าเป็นคำของ อันธพาล เป็นวจีทุจริตนั้น มันไม่มีเจตนา จะพูดอย่างนั้น ในฐานะที่ว่า พูดคำหยาบ หรือคำอันธพาล ต้องการจะให้รู้ว่า ถ้าว่า ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตน มันเป็นไปสุดขีด สุดเหวี่ยงแล้ว มันจะมีความหมาย เป็นตัวกู ของกูเสมอ ทำไมจะต้องพูดวจีทุจริต เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องหลอกลวงใคร ไม่เป็นเรื่องที่จะ แสวงหาประโยชน์อะไร นอกจากจะให้ มองเห็นความจริงได้ง่าย ๆ แล้วใครบ้างล่ะ เมื่อโกรธขึ้นมาแล้ว หรือเมื่อโลภจัดขึ้นมาแล้ว เมื่อมันโง่มากแล้ว มันจะไม่มีความรู้สึก ที่มีความหมายเป็นตัวกู ของกู
ทุกคนนะ พอมันโกรธจัดขึ้นมา โลภจัดขึ้นมา โง่จัดขึ้นมา ไอ้ความหมายธรรมดาที่ว่า ตัวตนนั้นนะ ตัวเรานั้น มันจะเป็นตัวกู ของตน หรือของเรา ก็จะกลายเป็นของกู ฉะนั้นทุกคนจงไปรู้จัก ไอ้ตัวกู ของกู ว่าหัวหูหน้าตาของมันเป็นอย่างไร รู้จักจากภายใน มองดูเข้าไปข้างใน ว่าตัวกูนี้มันคืออะไร เกิดขึ้นมาแล้ว มันร้อนอย่างไร ก็กำจัดมันเสีย บรรเทามันเสีย ป้องกันมันเสีย มันจะได้กลัว ฤทธิ์อันแรงร้าย ของคำว่า ตัวกู ของกู ไม่ต้องการจะให้เป็นคำหยาบ ไม่ได้มีเจตนาจะให้เป็นคำหยาบ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการด่า แต่เป็นเรื่องของ การช่วยให้เข้าใจธรรมะโดยเร็ว ข้อเท็จจริง เรื่องนี้ก็มีอยู่แต่เพียงเท่านี้ มีอะไรต่อไปอีก
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า พยายามอธิบายพุทธพจน์ ที่เป็นของลึกทวนกระแสโลก ให้เป็น ของง่ายซึ่งใคร ๆ ก็เข้าใจได้ การทำเช่นนี้ เป็นการอธิบายธรรมง่าย ๆ ตามกระแสโลกของเดียรถีย์ นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: อธิบายพุทธพจน์ที่เป็นของลึก ให้เป็นของง่าย นี้เป็นเจตนาของอาตมา ยอมรับว่าเป็น เจตนา แต่สำหรับอาตมาอธิบายพระพุทธพจน์ ที่เป็นของลึกให้เป็นของง่าย ไอ้ของลึกนั้นนะ มันไม่อยู่ใน ระดับ ที่ชาวบ้านจะเข้าใจได้ คือเรียกว่า ทวนกระแสจิตของคนธรรมดาสามัญ มันไม่เข้าใจได้ ทีนี้เมื่อเราจะ อธิบาย ให้คล้อยไปตาม ไอ้กระแสจิตของคนสามัญ เราก็ต้องทำให้มันง่ายเข้าสักหน่อย พอที่เขาจะเข้าใจได้ ยังจะพยายามต่อไป ที่จะอธิบายพุทธพจน์ที่ลึกนี่ ให้มันเป็นของง่าย
พวกเดียรถีย์อื่นนอกจากพุทธศาสนา เขาก็มีความลึก จนผู้ที่ กล่าวหา หรือตั้งคำถามนี้ไม่อาจจะ เข้าใจได้ นั้นอย่าโง่ไปว่า พวกเดียรถีย์นั้น มันพูดเป็นแต่เรื่องง่าย ๆ ตื้น ๆ พวกเดียรถีย์ที่พูดถึงเรื่อง โลกไม่เที่ยง โลกเที่ยง โลกขาดสูญ โลกไม่ขาดสูญ นั้นเขาพูดได้ลึก จนคนชนิดนี้เข้าใจไม่ได้ นี้ก็เป็นการพูดอย่างที่ไม่เข้าใจ คำว่า เดียรถีย์ หรือเดียรถีย์อื่น พวกมิจฉาทิฏฐิเขาก็มีไอ้คำอธิบาย หรือคำพูดที่ลึก ตามแบบของมิจฉาทิฏฐิ ไปหาดูเอาเอง เรื่องลัทธิอื่น เดียรถีย์อื่น บรรดาที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะลัทธิอาจารย์ทั้ง ๖ ที่เรา เคยเรียนกันมาใน แบบเรียนนักธรรมนั้นนะ มันไม่ใช่คำพูดง่าย ๆ อธิบายอะไรได้ง่าย ๆ มันอยู่ที่ว่าถูก หรือผิด ต่างหาก ก็ต้องการให้มันถูก และให้มันง่ายพอที่ว่า คนทั่วไปจะเข้าใจได้ และได้รับประโยชน์ เอ้า, สรุปว่า ขอยืนยันตัวเองว่าพยายามอยู่เสมอ ที่จะอธิบายของลึก ให้เป็นของง่ายพอที่จะเข้าใจได้ สำหรับทุกคน การทำเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการทำได้ง่าย ไม่ใช่เป็นของทำได้ง่าย อย่าเข้าใจผิดไป ว่าเป็นของทำได้ง่าย มันก็ยาก อย่างยิ่งเท่าที่ความยากข องพุทธวจนะข้อนั้น ๆ ที่เราจะเอามาอธิบายให้มันง่าย เอ้า, มีอะไรก็ว่าต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวว่าพระอภิธรรมไม่ใช่พุทธพจน์ที่แท้จริง นี้ข้อเท็จจริง เป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: นี้ก็ได้พูดเมื่อตอนเช้าแล้วว่า อภิธรรมทั้งหมดทั้งกระบิ ทั้งโขยงนั้นเอาไปทิ้งทะเลเสีย ก็ได้ ไอ้โลกนี้จะไม่ขาดความรู้ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเรื่องดับทุกข์ พระพุทธวจนะต้องเป็นเรื่องแสดงความดับ ทุกข์เสมอ แล้วก็ไม่เฟ้อ อภิธรรมมิได้อยู่ในรูปของพุทธวจนะ ยืมเอาพุทธวจนะในสุตตันตปิฎกบางคำ ไปอธิบายให้มันเฟื้อ คำอธิบายในอภิธรรมปิฎกทุกคำนะ จะติดตามมาพบต้นตอเดิมในสุตตันตปิฎกเสมอ ทีนี้เอาไปอธิบายจนเฟ้อ เราก็ถือว่า ไม่ได้อยู่ในรูปของพุทธวจนะ หรือไม่ได้เป็นพุทธวจนะดั้งเดิมมันเอาเนื้อหา ไปสักนิดหนึ่ง แล้วก็ไปพอกด้วยคำอธิบายที่เพ้อเจ้อ มากมาย ทั้งหมดนี้เรียกว่า เอาไปทิ้งทะเลเสีย ให้หมดก็ได้ โลกนี้ก็จะไม่ขาดอะไรไป สำหรับคำสั่งสอนที่จะดับทุกข์ได้
มีนักอภิธรรมนั่งอยู่ที่นี่บ้าง ก็คงจะด่าอาตมาอยู่ในใจแล้วก็ได้ แต่ก็ไม่กลัว ยังพูดอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ว่าอภิธรรมของคุณนะ เอาไปทิ้งทะเลได้ทั้งกระบิก็ได้ โลกนี้จะไม่ขาดอะไรเลย สำหรับการดับทุกข์ นี้ถ้าว่า จะพูดถึงอภิธรรมกันแล้ว ก็ต้องว่าอภิธรรมที่แท้จริง ไม่ใช่อภิธรรมที่ท่านยกขึ้นมา เชิดชูยึดถือ และดูหมิ่นดูถูก ผู้อื่น อภิธรรมแท้จริงก็คือ เรื่องสุญญตา เรื่องจิตว่าง เรื่องไม่มีตัวกู ไม่มีของกู นั่นแหละอภิธรรมที่แท้จริง มี ๒-๓ คำเท่านั้นแหละ ไม่ต้องตั้ง ๔๒,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เขียนแล้วก็หามกัน แทบถ้าจะไม่ไม่รอดนี่ นั้นมันอภิธรรมเฟ้อ
อภิธรรมที่แท้จริง นะมันจะสรุปเหลืออยู่ว่า ไม่มีตัวตน ว่างจากตัวตน เหลือเท่านั้นเอง เช่นนั้นเอง คำว่า เช่นนั้นเอง คือ ยอดสุดของอภิธรรม ทุกอย่างมันมารวมอยู่ที่คำว่า มันเช่นนั้นเอง มันเท่านั้นเอง ยึดถือไม่ได้ ยึดถือไม่ได้ ไม่ต้องแจกโดยรายละเอียดให้มันเสียเวลา หรือจะใช้คำว่า สุญญตา ก็ได้ ไอ้ความว่าง นั้นคือ ตัวอภิธรรมแท้ ยอดสุดของอภิธรรม หรือตถตา ความเป็นเช่นนั้นเองนะ คือ ยอดสุดของอภิธรรม อภิธรรมอย่างนี้ต้องเก็บไว้ เพราะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยัน ท่านทรงใช้ สุยโต โมกัง อเวขสุ โมฆราชนะ สะตาสะโต (นาทีที่ 01:18:06) แกจงมีสติ เห็นโลกโดยความเป็นสุญญ คือ ว่างอยู่ตลอดเวลานะ โมฆราช ท่านว่าอย่างนี้
เพราะฉะนั้นเรื่องไอ้สุญญโตนี้ มันสำคัญมาก เห็นอยู่โดยความเป็นของว่างจากตัวตน นี้คือ อภิธรรมแท้ อภิธรรมเฟ้อ แจกจิต แจกเจตสิก ร้อยดวงพันดวงหมื่นดวงนั้นนะมัน เรื่องเสียเวลาเปล่า ๆ เพราะมันไม่แสดงว่า จะขจัดไอ้ตัวตนออกไปได้อย่างไร มันไปพูดเรื่องทางอักษรศาสตร์ ไอ้ทางตรรกศาสตร์ ไอ้ทางจิตวิทยามากเกินต้องการ ช่วยกันเป็นพยานด้วยนะ ว่าอาตมาพูดว่า มากเกินต้องการ นั้นนะคือเฟ้อ ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีประโยชน์อะไรเสียเลย เพราะมันยังยืมคำในสุตตันตปิฎกไปใช้อยู่ แล้วก็ไปดูเถิด ที่เอาไป อธิบายในอภิธรรมนั้นนะ ไม่ดีไปกว่าที่เขามีอยู่แล้วในสุตตันตะ
เพราะฉะนั้นเราจึงว่า อภิธรรมนี้ ไม่ใช่พุทธพจน์ที่แท้จริงก็ได้ เป็นคำอธิบายใหม่่สวมพระพุทธพจน์ แล้วก็มิได้กล่าวอยู่ในรูปลักษณะของพุทธพจน์ ดังถ้อยคำที่กล่าวในวินัย หรือในสุตตันตะ ถ้าเขาจะด่าเรา ว่าเราไม่เชื่ออภิธรรม ไม่ยอมรับอภิธรรม ก็ยอมให้เขาด่า เพราะว่าใจของเรามันไม่เชื่อจริง ๆ แล้วจะว่ายังไง นั้นขอยืนยันตามเดิมว่า อภิธรรมไม่ได้อยู่ในรูปของพุทธวจนะ หรือจะขยับมา อย่างที่เขาว่านี้ก็ได้ว่า อภิธรรม มิใช่พุทธวจนะที่แท้จริง เป็นพุทธวจนะเฟ้อ ที่อธิบายให้มันมากเกินความจำเป็น ในภายหลัง ฉะนั้นข้อเท็จจริง มันมีอยู่อย่างนี้ มีอะไรต่อไปก็ว่าไป
คำถาม: เขากล่าวว่า ท่านอาจารย์กล่าวว่า ธรรมสูงสุดของพระพุทธเจ้า คือ จิตว่าง นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: คำว่า จิตว่าง นั้นนะ เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ให้เราเรียนง่าย จำง่าย พูดกันง่าย ไอ้คำว่า จิตว่าง นั้นนะ ไม่มีตัวหนังสือโดยตรง แต่มีความหมายที่หมายความอย่างนั้น ข้อนี้จงช่วยกันฟังให้ดี ว่าเรื่องคำว่า ว่าง ว่าง ๆ นั้นนะ คำสูงสุดในพุทธศาสนา คือ ว่างจากตัวตน ไม่ใช่ว่างอันธพาล ว่างไม่มีอะไร หรือว่างไม่คิดนึก อะไร นั้นไม่ใช่จิตว่าง ในที่นี้ จิตว่างในที่นี้ คือ จิตว่างจากความยึดมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู คิดอะไรก็ได้ นึกอะไร ก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ถ้าจิตมันว่างจากความมั่นหมายเป็นตัวกู ของกู ก็เรียกว่า จิตว่าง มูลเหตุดั้งเดิมนั้นมันมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า จงมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง สุญโญ ว่าง แล้วว่างจากอะไร อตตเนนวา อตตนิเยนวา (นาทีที่ 01:21:51) ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน
ท่านย้ำ ท่านสอน ท่านขอร้อง หรือท่านปลอบโยนอะไรก็ตาม เธอจงดูโลกโดยความเป็นของว่าง ว่างจากความหมายแห่งตัวตน ว่างจากความหมายแห่งของตน พอมันจิตมันเห็นว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจาก ของตนในสิ่งทั้งปวง อย่างนี้แล้ว จิตมันก็เคว้งคว้าง ไม่รู้จะไปฉวยอะไรมาเป็นตัวตนของตนนี่ ผิดที่ไม่ได้ฉวย เอาอะไรมาเป็นตัวตนของตนนี้ เราเรียกว่า จิตมันว่าง ถ้าจิตมันไปกำไปกุมไปจับ เอาอะไรมาเป็นตัวตนของตน แล้วจิตนั้น มันก็ไม่ว่างสิ เพราะว่ามันติดกันกับสิ่งที่จับฉวยยึดถือ ฉะนั้นคำว่า จิตว่าง นั้นมันถอดรูปมาจาก พระพุทธวจนะหลาย ๆ คำ เช่นว่า เธอจงเห็นโลกเป็นของว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน เมื่อจิตมันเห็น ไอ้โลกว่างจากตัวตน ว่างจากของตน แล้วมันก็ไม่อาจจะจับฉวยยึดถืออะไร อย่างนี้อาตมาเอามาเรียกว่า จิตว่าง
คิดนึกอะไรก็ได้ แต่ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ในใจนะไม่มีความยึดถือ โดยความหมายแห่งตัวตน แต่ปาก มันก็ต้องพูดตามภาษาชาวบ้าน บางทีก็บ้านของฉัน เงินของฉัน หรือว่ารักษาประโยชน์ของตน เป็นถ้อยเป็นความกันที่โรงที่ศาล อ้างสิทธิของตน อย่างนี้มันก็ทำได้ ตามแบบของชาวบ้าน แบบของชาวโลก แต่ในใจของบุคคลนั้น อย่าได้ยึดถือโดยแท้จริง ว่ามันเป็นทรัพย์สิน เงินทอง ของตน ปากมันอาจจะพูดว่า ลูกของกู แต่ในใจที่มันรู้ธรรมะแล้ว มันเห็นว่าไม่ใช่ของกู ไม่มีความหมายแห่ง ของกู มันของอิทัปปัจจยตา
ฉะนั้นลูกหลานที่ออกมาเป็นแถวนี้ มันของอิทัปปัจจยตาไม่ใช่ของกู ถ้ามันเห็นความจริงข้อนี้อยู่ แม้ปากมันจะพูดว่าลูกของกู เรียกว่า ลูกของกู อ้างสิทธิว่าลูกของกู ในเมื่อมันต้องอ้าง มันก็อ้างสิ แต่ในใจมัน ไม่มีความหมายมั่น เป็นตัวกู เป็นของกู ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของก็เหมือนกันแหละ มันก็ยึด ยึดว่าตัวกู ของกู มันก็เป็นทุกข์แหละ อย่าไปยึดเป็นของกู ก็ไม่เป็นทุกข์แหละ ถ้าเอาไปฝากไว้ในธนาคาร แล้วยังยึดว่า เป็นของกูอีก มันก็นอนไม่หลับแหละ มันก็ต้องเป็นทุกข์แหละ ไม่เท่าไรมันก็เป็นโรคประสาทแหละ
นี่เรื่องว่าตัวกู ของกู มันมีอยู่อย่างนี้ ถ้ามันเต็มอยู่ในใจ จิตมันก็ไม่ว่าง ถ้ามันไม่มีในใจเลย จิตมันก็ว่าง พอจิตว่างเราก็สบาย เราก็เย็น เราก็นอนหลับ เราก็เป็นสุข ไม่มีทุกข์ ฉะนั้นจิตว่าง เป็นคำพูดที่ อาตมาถือว่า เหมาะสมที่สุด รัดกุมที่สุด เรียนง่ายที่สุด จะขอยกเว้นจิตว่างอันธพาล จิตว่างอันธพาลนั้นเป็นทางออกของ อันธพาล อันธพาลเขาใช้เป็นทางออก เพื่อจะแก้ตัว จึงเรียกว่า จิตว่างอันธพาล ใช้แก้ตัว ว่าจะทำอะไรได้ ตามชอบใจ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่บาป ไม่อะไรอย่างนี้ จิตว่างอันธพาล มันว่างแต่ปาก ปากมันว่า แต่ใจมันยึดถือ เต็มที่ นั้นมันจิตว่างอันธพาล ถ้าจิตว่างโดยแท้จริง มันไม่ต้องพูดออกมาก็ได้ ปากหุบเงียบก็ได้ ไม่ต้องพูดหรอก ว่าจิตว่าง อะไรว่าง มันก็ว่า จิตมันไม่ยึดถืออะไรเป็นของตน
ทีนี้ก็อยากจะให้ดูกันให้ละเอียดลงไปว่า ไอ้ธรรมดาโดยปกติธรรมดา คนเรานี้จิตมันว่างนะ เช่น คุณนั่งอยู่แถวนี้ทั้งหมดนี้ จิตกำลังว่าง ไม่ได้ยึดถืออะไรว่าตัวตน ว่าของตนนี่ จิตว่างอย่างนี้จึงฟังอาตมา พูดรู้เรื่อง ถ้าอะไรเป็นตัวตนของตน กลุ้มอยู่ในจิต ไม่มีว่างแล้วคงฟังอาตมาพูดไม่รู้เรื่องล่ะ แล้วก็จะรำคาญ เสียด้วย เดี๋ยวนี้จิตมันว่างจากไอ้ตัวกู ของกู พอที่จะฟังอาตมาพูดรู้เรื่อง มันจึงมีประโยชน์ นั้นไอ้ประโยชน์ ของจิตว่าง เป็นอย่างนั้น แล้วมันก็นอนหลับนะ ถ้าคนจิตมันว่างนะ ถ้าจิตมันไม่ว่าง มันนอนไม่หลับ กินยานอนหลับ กี่เม็ดมันก็ไม่หลับ แล้วมันก็ตายเลย กินเข้าไปมากมันก็ตายเลย จิตมันไม่ว่าง
นี้เรารู้จักกันให้ยุติธรรมสักหน่อยว่า ที่รอดชีวิตอยู่ได้ ไม่เป็นโรคประสาทนี้ เพราะว่าจิตมันว่างอยู่ ตามธรรมชาติ ว่างตามธรรมชาติ ตัวกู ของกูไม่ได้เกิดขึ้น เพราะอำนาจของธรรมชาติ เช่นว่า คนเขามาที่นี่ เขามาแต่ที่อื่น เขามานั่งลงตรงนี้เขาบอกว่า โอ๊ย, นี่มันทำไม สบายใจบอกไม่ถูกนะ ไอ้คนนั้นเขาไม่รู้ ว่าไอ้ธรรมชาติแถวนี้ มันบังคับแวดล้อม จิตของเขาให้ว่าง ให้ลืมไอ้สิ่งต่าง ๆ ที่บ้านที่เรือน ข้างหลังโน้นหมด จิตว่างจากความยึดถือไม่นึกถึงอะไร ไม่ยึดถืออะไร แล้วสบายที่สุดมานั่งตรงนี้ มานั่งกับก้อนหินนี้ มันจึงสบาย ที่สุด เพราะธรรมชาติทั้งหมดนี้ ต้นไม้ ก้อนหิน ดิน ทรายต่าง ๆ ก็ตาม มันแวดล้อมจิตใจไปให้ว่าง ไปเสียจาก ความยึดถืออะไร ที่ยึดถือมาแต่บ้าน คนกลุ้มใจมาแต่บ้าน พอมานั่งตรงนี้ มันว่าง แล้วมันก็เลย หายกลุ้มใจ มันสบายใจ มันบอกไม่ถูก สบายบอกไม่ถูก ไม่รู้เหตุผล แต่รู้สึกแต่ว่ามันสบาย
นี้ถ้าใครมันมีจิตว่างอย่างนี้ คนนั้นจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์ จะนอนหลับสนิท จะทำอะไรได้ดี จะคิดเลขก็ คิดได้ดี จะเรียนหนังสือก็เรียนได้ดี จะทำการงานอะไรก็ทำได้ดี เพราะจิตมันว่าง จากความเดือดพล่านแห่งตัวกู ของกู ฉะนั้นจึงบอกเมื่อเช้านี้ว่า อย่าทำอะไรด้วยความหวังแห่งตัวกู ของกู แล้วมีสติปัญญา ไล่ตัวกู ของกู ออกไปเสีย เพราะทำงานนั้นด้วยสติปัญญา แล้วอย่าหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าหิวอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะไม่ว่าง แล้วการงานนั้นก็จะดี จะทำงานได้ดี ทำงานได้ผลดี แล้วจะมีความสุขในการทำงานนั้นด้วย นี้เรียกว่า ทำงาน ด้วยจิตว่าง ไม่มีทุกข์ เป็นความสุขไปในตัว แล้วงานนั้นก็มีผลดีด้วย
นี้จิตว่างที่ถอดรูป ออกมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า นี้คนอันธพาลมันไม่รู้จัก มันรู้จักแต่จิตว่าง อันธพาลของมันเอง สำหรับที่จะแก้ตัว ไม่ต้องรับผิดบ้าง แก้ตัว จะบุกรุกแต่คนอื่นบ้างอะไรบ้าง ฉะนั้นมันไม่ เกี่ยวกัน นั้นมันจิตว่างอันธพาลของคนเหล่านั้น ที่เขาด่าอาตมา สาปโคลนก้อนเบ้อเร่อ มายังอาตมา เรื่องจิตว่าง มันเป็นจิตว่างอันธพาลของเขาเอง อาตมาไม่เคยสอนอย่างนั้น ไม่เคยแนะนำอย่างนั้น สอนแต่เรื่อง จิตว่างตามแบบของพระพุทธเจ้า ว่าเธอจงเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากความหมาย แห่งตัวกู ของกู เมื่อไม่มีอะไร มีความหมายแห่งตัวกู ของกูแล้ว จิตมันก็ไม่รู้จะยึดถืออะไร มันก็ไม่ยึดถือ มันก็ว่าง นี้คือ จิตว่าง ไม่มีตัวตนแล้ว ความตายก็ทำอะไรท่านไม่ได้ มันไม่มีตัวตนที่จะตายนี่ มัจจุราชก็หา ตัวท่านไม่พบ เพราะท่านมันว่าง ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตนหรือของตน ความตายนี้มันจะไม่มีความหมายได้ ก็ต่อเมื่อมันมีอะไรเป็นตัวตนของตน
ฉะนั้นเราอยู่ด้วยจิตที่ปราศจากความมั่นหมายว่าตัวตน ว่าของตน ความตายก็จะไม่พบกันกับจิตนี้ มันจึงตายโดยที่ ไม่มีความตาย มีแต่การปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงตามกฎอิทัปปัจจยตา ไม่มีตัวกูผู้ตายนี่ ไม่มีตัวตน ที่ไหนจะตาย ก็เลยไม่กลัวความตาย เพราะฉะนั้นอะไร ๆ ที่เป็นนิมิตรแห่งความตาย ผ่านมามันก็ไม่กลัว มันก็ไม่สะดุ้ง มันก็ไม่หวาดเสียว ขนมันก็ไม่ลุก ขึ้นมาเพราะความกลัวใด ๆ นี่เป็นลักษณะของผู้ที่มีจิตว่าง ว่างน้อยก็เป็นสุขน้อย ว่างมากก็เป็นสุขมาก ว่างที่สุดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง ในความหมายว่า ถอน อัตตวาทุปาทาน ได้หมดสิ้น ถอนอัตตานุทิฏฐิ ได้หมดสิ้นก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง
นี้ธรรมะสูงสุดของพระพุทธเจ้า ก็คือ เรื่องความว่าง ที่มีอยู่ในจิต ที่ได้มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง แล้วว่าไม่มีอะไรที่มีความหมายแห่งตัวตน หรือของตน นั้นเป็นธรรมะสูงสุดจริง ก็ยืนยันว่าเรื่องสุญญตา เป็นเรื่องสูงสุดในพุทธศาสนา แสดงความเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตน ไม่มีที่ตั้ง แห่งกิเลส กิเลสเกิดไม่ได้ เอ้า, ข้อเท็จจริงมีเท่านี้ ว่าอะไร ว่าต่อไป
คำถาม: เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวว่า คอมมิวนิสต์มาศาสนาพุทธก็อยู่ได้ อันนี้ข้อเท็จจริง เป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: เขากล่าวหาว่า อาตมาได้กล่าวว่า คอมมิวนิสต์มาศาสนาพุทธก็อยู่ได้ จริง มันก็ยืนยัน ว่าจริง เพราะว่าพระพุทธศาสนานี้ไม่ใช่ของเปราะ เหมือนกับแก้วที่แตกง่าย พุทธศาสนามีความมั่นคง ทนทานได้ ต่ออันตราย ข้าศึกศัตรูทั้งหลาย พุทธศาสนาไม่ใช่ของแตกง่ายเหมือนเปลือกไข่ หรือแก้วบาง ๆ หรือไอ้ที่อะไรที่มันกระทบนิด มันก็แตก พุทธศาสนามีความมั่นคง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตรงตามกฎของธรรมชาติ มีความถูกต้องของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นมันมั่นคง ให้คอมมิวนิสต์มาสัก ๑๐ คอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ก็จะสลายแตกกระจายไปเอง เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
พูดเพียงเท่านี้ ทุกคนคงว่า นี่ว่าเอาเองนี่ นี่ว่าได้ แต่ถ้าอธิบายมันก็ ก็กินเวลามากหน่อย พุทธศาสนา มันสอนให้คนรักกัน อยู่กันอย่างเป็นผาสุก โดยที่ว่าแม้จะมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกว่ากันนี่ ไอ้ต้นไม้ใหญ่ ๆ นี่ อยู่ได้กับตะไคร่เขียว ๆ เป็นขุย ๆ อยู่ที่โคน นี้มันต่างกันมาก แต่มันก็อยู่กันได้ เพราะมันมีความรักใคร่ ความรักใคร่ชนิดนี้ไม่มีในหมู่คอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์จะมีแต่ว่า จะเอาอาวุธมาเกลี่ยให้มันเท่ากัน มาช่วย เฉลี่ยให้มันเท่ากัน นั้นมันไม่ใช่พุทธศาสนา อาตมาถือว่าลัทธิโหดร้ายนั้น มาผูกเข้ามากับลัทธิรักใคร่ เมตตา กรุณา มันจะสลายตัวไปเอง พุทธศาสนาแข็งมาก จนเราเอาเป็นที่พึ่งได้ ถ้าคอมมิวนิสต์เข้ามาถูกกับ พุทธศาสนา คอมมิวนิสต์นั่นแหละจะเป็นฝ่ายแตกกระจัดกระจายไปเอง แต่เดี๋ยวนี้มันน่าเศร้า น่าเสียใจที่สุด ว่าพุทธศาสนาชนิดนั้นมันไม่มี มันมีแต่พุทธศาสนาเปลือก พุทธศาสนาอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งไม่สามารถจะต่อต้าน คอมมิวนิสต์ได้
นี้ขอให้มีพุทธศาสนาจริงแท้ของพระพุทธเจ้ามาเถิด แล้วก็มายืนอยู่เป็นหลักเถิด คอมมิวนิสต์จะมา กระทบไม่ได้ คอมมิวนิสต์มาแล้ว กระทบแล้ว ก็จะแตกกระจายไปเอง เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง จะพิสูจน์ได้ก็ ต่อเมื่อเราทุกคน ในในโลกนี่ ช่วยกันทำให้พุทธศาสนาจริง มีขึ้นมาแล้วมาเผชิญหน้าคอมมิวนิสต์ดู ถ้าคอมมิวนิสต์เป็นเพียงผู้ถืออาวุธมาฆ่ามาฟัน นี้ลัทธิอื่นมันก็มี ไม่ใช่คอมมิวนิสต์มันก็มี ลัทธิหาเมืองขึ้น ลัทธิอะไรก่อน ๆ มันก็ถืออาวุธมาเหมือนกัน หรือแม้แต่คนปล้น คนเป็นขบถ นี้มันก็ถืออาวุธมาเหมือนกัน มันไม่ใช่คอมมิวนิสต์ อย่างนั้นเป็นธรรมดา มันก็ทำลายได้แต่ร่างกาย เมื่อมันมีอำนาจมันมีอาวุธ มันก็ทำลาย ได้แต่ร่างกาย มันไม่อาจ จะทำลายธรรมะ ไม่อาจจะทำลายลัทธิในจิตใจของเรา
คอมมิวนิสต์ก็ก็คุย ๆ โต ว่าจะสร้างโลกให้มีสันติ ไอ้พุทธศาสนาก็ยืนยัน ว่าจะสร้างโลกให้มีสันติ นี้ฟังดูแล้วคล้ายจะเหมือนกัน แต่นี่มันไม่เหมือนกันตรงวิธีสร้างสันติ เราสร้างสันติด้วยความรักใคร่ เมตตา กรุณา คอมมิวนิสต์เขาจะสร้างสันติ ด้วยการเอาอาวุธมาเกลี่ยให้พื้นโลกนี้มันเสมอกันนี้ มันจะเหมือนกัน อย่างไรได้ แล้วของใครจะดีกว่า ของใครจะเป็นที่น่าชื่นชมกว่า ก็ไปคิดดูเอาเอง เพราะฉะนั้นอย่าขี้ขลาดเป็น อสูรกายไปเสียอีก ว่าพุทธศาสนาทนไม่ได้ คอมมิวนิสต์เข้ามาพุทธศาสนาหมด ไม่จริง พุทธศาสนาแท้จริงนะ ของพระพุทธเจ้านั้น จะคงกระพันชาตรีที่สุด ๑๐ คอมมิวนิสต์ก็ทำลายพุทธศาสนาให้หมดไปไม่ได้ ขอให้เป็น พุทธศาสนาที่แท้จริงก็แล้วกัน
อาตมาก็ยังยืนยันว่า แม้คอมมิวนิสต์จะมาพุทธศาสนาก็อยู่ได้ ถ้าอยู่ที่ไหนไม่ได้ ก็อยู่ในหัวใจของ พุทธบริษัท ถ้าโบสถ์ อาราม วัดวา วิหาร มันจะถูกทำลายพังไปหมดสิ้น ไม่มีเหลือ นั้นมันข้างนอก นั้นไม่ใช่ พุทธศาสนา พุทธศาสนาอยู่ได้ในหัวใจของพุทธบริษัท ทั้งที่ไม่ต้องมีโบสถ์ มีวิหาร มีวัดวาอาราม เพราะว่า คอมมิวนิสต์เขาเผาหมดแล้ว แล้วเขาก็ทำลายพระพุทธศาสนา ในหัวใจของพุทธบริษัทไม่ได้ นี่คือ ความคง กระพันชาตรี ของพุทธศาสนาที่แท้จริง ของพุทธบริษัทที่แท้จริง เดี๋ยวนี้เรากลัวแต่ว่า มันไม่มีพุทธบริษัท ที่แท้จริง พุทธศาสนา ไอ้คอมมิวนิสต์ไม่ทันมา มันก็แตกสลายของมันหมดแล้ว พุทธ ๆ คอมมิวนิสต์ไม่ทันมา พุทธศาสนาก็หมดเสียแล้ว น่าเศร้ากันในข้อนี้ ช่วยกันเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงสักหน่อยเถิด พุทธศาสนา คงกระพันชาตรี ที่จะต่อต้านสิ่งเหล่านี้ได้เสมอไป คอมมิวนิสต์มาพุทธศาสนาก็ยังอยู่ได้
มีหลายคนนะเขาเข้าใจผิดในเรื่องนี้ แต่ตื่นตูมกันไปพักหนึ่ง อาตมาก็ยังยืนว่าจริงอย่างนั้นแหละ ขอให้พุทธศาสนาที่แท้จริงอยู่เถิด ไม่ใช่พุทธศาสนา เพียงแต่พระเครื่องที่แขวนคอ เดี๋ยวนี้จะมีพุทธศาสนา แต่เพียงพระเครื่องที่แขวนคอ อย่างนี้ไม่ได้นะ ป้องกันคอมมิวนิสต์ไม่ได้นะ เพราะว่าพระที่แขวนคอ ไอ้ไอ้นักต่อสู้เหล่านั้นนะ มันไม่เป็นพระเสียแล้ว มันเอาพระมาแขวนที่คอ แล้วมันก็ยกแก้วเหล้าข้ามหัวพระ ทุกทีที่มันกินเหล้า แล้วพระจะอยู่ได้อย่างไร ไม่เป็นพระเศียรแล้ว มันเป็นหัวโล้น ๆ แล้ว ไม่เรียกว่า พระเศียรแล้ว เพราะว่ามันยกแก้วเหล้าข้ามหัวพระเครื่องที่แขวนอยู่ที่คอ อย่างนี้พุทธศาสนามันก็ไม่มี เพราะมันเอาเหล้า มาไล่พุทธศาสนา ออกไปเสียจากพระเครื่อง ออกไปจากจิตใจหมดแล้ว
ฉะนั้นอย่าหวังพึ่งพุทธศาสนาชนิดนั้น เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์เลย พระเครื่องนั้นมันถูกเอาแก้วเหล้า ข้ามหัวไปข้ามหัวมาจนหมดความเป็นพระแล้ว มันช่วยป้องกันไม่ได้นะ ถ้าแขวนไว้ ควรจะแขวนข้างหลัง ดีกว่า เพื่อพระเครื่องมันจะได้ไม่ข้ามหัวพระ นี่ช่วยแนะกันเสียใหม่ ถ้าแขวนพระเครื่องแล้วแขวนข้างหลังสิ แก้วเหล้ามันจะไม่ได้ข้ามหัวพระ ยังคงเป็นพระอยู่บ้าง บางทีจะช่วยได้
ทีนี้ก็คงจะแขวนพระเครื่องกันอยู่หลายคนเหมือนกันแหละ อาตมาบอกให้สังเกตอย่างนี้ พุทธศาสนา ไม่ได้มีอยู่ที่พระเครื่องหรอก แล้วพระเครื่องก็ไม่เป็นพระเครื่องแล้ว เพราะว่าเอาแก้วเหล้าข้ามหัว เสียจนหมด ความเป็นพระแล้ว นี้ดูให้ดีเถิดว่าถ้าพุทธศาสนาที่แท้จริง ก็จะแข็งกระพันชาตรี เผชิญหน้า คอมมิวนิสต์ได้ ต่อให้ ๑๐ คอมมิวนิสต์ก็ไม่มาทำลายพุทธศาสนาได้ ถ้ามันเป็นพุทธศาสนาที่แท้จริง นี่ข้อเท็จจริงมีอยู่อย่างนี้ มองเห็นกันเสียบ้างเถิด มันจะได้หายกลัว เดี๋ยวนี้มันกลัวจนเป็นอสูรกายไปหมดแล้ว เอ้า, มีอะไรก็ว่าต่อไป
คำถาม: เขาว่า การกระทำของท่านอาจารย์ทั้งหมด เป็นการกระทำบาปอันยิ่งใหญ่ เป็นคนอกตัญญู ต่อปวงชน คำอธิบายต่างๆ ของท่านอาจารย์ เป็นคำอธิบายธรรมของพวกอันธพาล สำคัญตัวผิดคิดว่า การอธิบายคำของครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ในอดีตนั้น เป็นการอธิบายผิดไปเสียหมด เป็นพระเถระพาลเกเร ที่ชอบเอาความเห็นของตัวเอง มาเผด็จการคำสอนของพระองค์ การกระทำดีมีประโยชน์ของท่านอาจารย์นั้น ถ้าจะมีก็เป็นเพียงหน้าฉาก ตบตาหลอกลวงให้คนหลงเท่านั้น ยอมรับไม่ได้ นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: มีหลายข้อจริงนะ การกระทำของอาตมา เป็นการทำบาปอันใหญ่ยิ่ง ทุกคนก็คิดดูเถิด อาตมาได้ทำมาจนบัดนี้หลาย ๑๐ ปีแล้ว ทั้งหมดนั้นเป็นการกระทำบาปอย่างยิ่ง ก็ไปวินิจฉัยกันดูเอง ว่ามันจริง หรือเปล่า ทีนี้ว่าเป็นคนอกตัญญูต่อปวงชน นี้เขาคงจะหมายถึงว่าประชาชนเลี้ยงดู บำรุงรักษาอยู่ แล้วก็เป็น คนอกตัญญู ไปให้สิ่งที่เป็นอันตรายแก่เขา คือ สอนผิดพระพุทธศาสนา เป็นการทำลายเขา อาตมาเป็นคน อกตัญญูต่อคนทั้งหลายเหล่านั้น
ทีนี้มันเหมือนกัน ไปดูเอาเองเถิดว่า ได้สอนอย่างไร สอนประชาชนอย่างไร ที่ทำให้เขาเสียหายนะ มันมีอะไร มีแต่สอนให้เขาเข้มแข็ง ถูกต้อง ทนต่ออันตราย ข้าศึก ศัตรู ทั้งภายนอก และภายใน ให้ประชาชน สามารถที่จะมี ธรรมะเป็นเครื่องป้องกันตัว ให้ประชาชนรอดจากความทุกข์ หรือข้าศึกอันร้ายกาจ กล่าวคือ กิเลส อาตมามีความตั้งใจอย่างนี้ พยายามอยู่อย่างนี้ กระทำอยู่อย่างนี้ แล้วก็ประสบความสำเร็จพอสมควร ไม่ใช่จะล้มเหลวเสียทีเดียว ฉะนั้นไม่ควรจะถือว่า เป็นคนอกตัญญูต่อประชาชน ก็ขออ้างเอาไอ้หนังสือ หนังหาต่าง ๆ ที่พิมพ์ออกมาแล้ว หลายร้อยเล่มหลายหมื่นหน้า พูดทางวิทยุ ก็มีอยู่ตลอดเวลา ก็ไปพิจารณาดู ว่าใน สิ่งเหล่านั้นนะ มันมีอะไรตรงไหน ที่เป็นอกตัญญูต่อประชาชน หรือทำลายประชาชน เอ้า,
ทีนี้ข้อที่เขาว่า คำอธิบายของอาตมา เป็นคำอธิบายของพวกอันธพาลนะ มันพาลที่ตรงไหน ก็ดูเอาก็ แล้วกัน อย่างว่าคำอธิบายเรื่องจิตว่างนี้ เป็นคำอธิบายของอันธพาล ถ้ามันจิตว่างจริง มันก็ของพระพุทธเจ้า คำ อันธพาล ก็ของพวกคนที่ไม่รู้เรื่องจิตว่างโดยแท้จริง คำอธิบายของอาตมาเป็นคำอธิบายอันธพาล แล้วคำอธิบายชนิดไหนล่ะ ที่ไม่อันธพาลนะ เอาไปเปรียบเทียบกันดู เอ้า, ให้สมมุติว่าคำอธิบายของอาตมา ทั้งหมดเป็นอันธพาล แล้วคำอธิบายชนิดไหน ที่ไม่เป็นอันธพาล ลองเปรียบเทียบดู คำอธิบายของใคร ใกล้ชิด หรือตรงตามพระพุทธวจนะมากที่สุด เอามาพิสูจน์กัน ถ้ามันเป็นการแกล้งกล่าวหา แกล้งด่ากันโดยใช้ อำนาจ บาทใหญ่อย่างนี้ ก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องพูด เราไม่พูดกันดีกว่า เมื่อพูดอย่างที่ไม่ไม่ยึดถือไอ้ ไอ้ธรรมะ ไม่ยึดถือ หลักของธรรมะ เราไม่พูดกันดีกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าท่านจะสนทนา กับพวกอัญญเดียรถีย์ อื่นนะ ท่านก็จะตั้งข้อต่อรองไว้ ในเบื้องต้นว่า เราต้องพูดกันตามจริงตามตรงนะ ถ้าผิดก็ว่าผิดนะ ถ้าถูกก็ว่าถูกนะ ถ้าสัญญาอย่างนี้ได้ ก็เอา ก็ยอมพูดกัน นี่เราไม่มีความเป็นอันธพาล ด้วยการที่จะต้องมาทะเลาะวิวาทกัน ด้วยการพูดจา ดังนั้นอย่าต้องตอบคำถามเหล่านี้จะดีกว่า
นี้ข้อต่อไปเขาหาว่าอาตมา ดูถูกดูหมิ่น คำอธิบายของครูบาอาจารย์ ในอดีต ว่าผิดทั้งนั้น ไม่มีหรอก เพราะว่าอาตมาก็อาศัย คำอธิบายของครูบาอาจารย์ในอดีต แล้วก็มีคำอธิบาย ของอาจารย์บางกลุ่มนะ ที่มันใช้ไม่ได้ ก็ต้องปฏิเสธ ก็ต้องไม่เอา ถ้าถามว่าเพราะเหตุไร ก็ต้องบอกว่ามันผิดนี่ มันผิดนี่ฉันรับเอาไม่ได้ มันก็มีเหมือนกัน ไม่ได้ปฏิเสธว่า คำอธิบายของครูบาอาจารย์ผิดไปหมด มันยังมีส่วนที่ถูก และเราถือเอา และอาตมายังถือว่า แม้เขาอธิบายผิด มันก็ยังมีประโยชน์ เพราะเราได้รู้ว่ามันผิด ถ้าเขาอธิบายผิด ๆ ก็ยังมี ประโยชน์แก่เรา คือ มันบอกให้เรารู้ว่า นี่มันผิด นี่มันมีประโยชน์อย่างนี้ แล้วมันก็ไม่ได้ลบหลู่คำอธิบายของ ครูบาอาจารย์ในอดีต โดยถือเสียว่าครูบาอาจารย์ในอดีตทุกท่าน ท่านก็เจตนาดีที่จะอธิบายให้ถูกต้อง เมื่อมันผิดพลาดไปบ้าง ก็จะเป็นไรไป มันก็เป็นธรรมดา ท่านเจตนาดี ตั้งใจอธิบายให้ถูกต้อง มันผิดพลาด ไปบ้างก็เป็นธรรมดา
สำหรับอาจารย์ ครูบาอาจารย์ในอดีตที่จะต้องพูดถึง กันบ้างก็เช่น อาจารย์ผู้อธิบายคัมภีร์วิสุทธิมรรค นี้อาตมาก็ยอมรับว่า บางอย่างก็เห็นด้วย แต่บางอย่างก็ไม่เห็นด้วย ทีนี้เมื่อคนโดยมาก เขายอมรับว่า คัมภีร์วิสุทธิมรรค ไม่ไม่ผิดพลาดแม้แต่ตัวอักษรเดียว อาตมาก็ไม่เห็นด้วย ไม่เอาด้วย ถือว่าบางส่วนมันมีผิด บางส่วนก็มีประโยชน์และถือเอา นี่อย่ามาหาว่า ปฏิเสธคำอธิบาย ของครูบาอาจารย์ทั้งหมด มันจะปฏิเสธ เฉพาะเมื่อมันไม่เห็นด้วยนะ
นี่รู้จักอาตมาในข้อนี้ ไว้อย่างนี้ จะดีกว่า โดยเฉพาะคำอธิบายของอาจารย์อภิธรรมรุ่นหลัง ๆ นี้แล้ว ไม่เห็นด้วย แล้วไม่เข้ามาอยู่ในหัวของอาตมาเลย นี้เรียกว่า จะไม่ยอมรับอย่างโง่เขลา ให้มันผิดหลักกาลามสูตร หลักกาลามสูตรมีอยู่อย่างไร ไปหาศึกษาเอาเองเถิด อาตมาจะไม่ทำผิดหลักกาลามสูตร เชื่องมงาย รับเอา งมงาย รับเอาทันที โดยไม่มี ยะถาภูตะธัมมะปัญญา (นาทีที่ 01:48:15) อย่างนั้นไม่เอาด้วย
นี้ข้อต่อไปเขาหาว่าอาตมาเป็นพระเถระพาล เกเร ชอบเอาความเห็นของตัวเอง มาเผด็จการคำสอน ของพระพุทธองค์นี่ อย่างนี้นะจะเป็นไปได้หรือไม่ เอาความเห็นของตัวเอง มาเผด็จการคำสอนของพระองค์ นี้จะเป็นไปได้หรือไม่ มันมัน อ่า, คนเดี๋ยวนี้เขาไม่โง่ถึงขนาดที่ใครจะทำอย่างนี้ได้หรอก คนเดี๋ยวนี้เขาพอที่จะ วินิจฉัยได้ว่า อะไรเป็นอะไร ไม่มีใครเก่งถึงขนาด จะทำอย่างนั้นได้ แล้วก็ลองคิดดูว่า จะทำไปเพื่ออะไร เป็นพาลเกเร เอาความเห็นของตน มาหักล้างคำสอนของพระพุทธองค์ คำสอนของพระพุทธองค์นั้น ไม่มีทางที่ใครจะหักล้างได้ พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างท้าทายว่า เทวดา มาร พรหมที่ไหน ก็ไม่พิสูจน์คำสอน ของพระพุทธองค์ ว่าเป็นของผิดได้ ถ้ามันรวมกันทั้งหมดนั้น ก็ไม่มาพิสูจน์คำสอนของพระองค์ว่าผิดได้
เพราะฉะนั้นไม่มีใคร สามารถหักล้าง คำสอนของพระองค์ได้ แม้ว่าเขาจะพยายาม ก็ได้แต่พยายาม เท่านั้นแหละ มันจะหักล้างคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ให้สำเร็จไปได้นั้น มันเป็นไปไม่ได้ อาตมาก็ไม่โง่ จนถึงกับจะพยายามในสิ่งที่มันทำไม่ได้ มันเห็นชัดอยู่ว่าทำไม่ได้ แล้วก็ไม่เคยพยายามอย่างนั้น
เอ้า, ข้อต่อไป เขาว่า การกระทำดีมีประโยชน์ของท่านอาจารย์นั้น ถ้าจะมีอยู่บ้างก็เป็นเพียงหน้าฉาก ตบตา หลอกลวง ให้คนหลงเท่านั้น ยอมรับไม่ได้ นี่ก็ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ดีกว่า ไปดูเอาเองว่าอาตมา มีหน้ากาก หน้าฉาก แล้วตบตา หลอกลวงให้ท่านทั้งหลายหลงเชื่อ อาตมาเคยพูดหลายครั้งหลายหนแล้วว่า พระพุทธเจ้าท่าน ได้สั่งสอนไว้ว่า แม้ตถาคตพูดก็อย่าเพิ่งเชื่อ นี่อาตมาเคยบอกท่านทั้งหลายอย่างนี้นะ คงจะนึกกันได้ เพราะพูดบ่อยนัก แล้วที่ครูบาอาจารย์ สำนักนั้นสำนักนี้ สอนว่าอย่างนี้ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ให้เอา มหาปเทสทั้ง ๔ มาวัดดู มาเกลี่ยกราดคราดมันดู ถ้ามันจริงมันทนอยู่ได้นั้นจึงค่อยเชื่อ อาตมาก็สอน ท่านทั้งหลายอยู่อย่างนี้ แล้วจะมีโอกาสไหน เอาอะไรมาตบตา ให้เชื่ออย่างงมงาย
เรื่องกาลามสูตรนี้ ดูไม่ค่อยจะมีใครสอนกันนัก แล้วก็ชักจะชวนกันปกปิดเสียด้วย อาตมาเป็นผู้เปิด โปงว่า เอานี้มาเถิด เอานี้มายึดถือเถิด แล้วจะไม่มีใครหลอกได้ จะไม่มีใครมาหลอกให้เชื่อ อย่างงมงายได้ นี้จะมาหาว่าอาตมาเป็นผู้ หลอกลวงตบตาเสียเอง จะเป็นไปได้หรือไม่ เป็นไปได้ขอฝากไว้กับ ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะเชื่ออาตมา หรือจะเชื่อผู้กล่าวหาอย่างนี้ ก็ตามใจนี่ ขอให้พอใจด้วยตนเอง ตัดสินใจด้วยตนเอง ว่าจะเชื่อฝ่ายไหน ข้อเท็จจริงทุกข้อนี้มันมีอยู่อย่างนี้ แล้วก็เป็นเรื่องที่ว่า เกือบจะไม่ต้องพูดอะไรกันก็ได้ เพราะว่าท่านทั้งหลายก็คงจะรู้จักอาตมาดีพอสมควร เอ้า, มีอะไรต่อไป
คำถาม: มีคนบางพวกกล่าวว่า เคยมาศึกษาธรรมะกับท่านอาจารย์ และไปเรียนอภิธรรม จึงรู้ว่าคำสอนของท่านอาจารย์ผิด เป็นคำสอนของเดียรถีย์ นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: ถ้าอย่างนี้เป็นเรื่องข้อเท็จจริงส่วนตัว ถ้ามีใครที่ไหนเป็นอย่างนี้ ก็ไปถามไอ้คนนั้นเถิด จะให้เราไปรู้จักคนนั้นได้อย่างไร และเมื่อไปเรียนอภิธรรมแล้วจึงจึงจะรู้ว่า คำสอนของเราผิด คือเป็นคำสอน ของเดียรถีย์ อย่างนี้ก็ขอฝากไว้ข้อเท็จจริง ที่มันจะเป็นอยู่จริงและเป็นไปจริง เป็นมาแล้วจริงอย่างไร ถ้าเรียน อภิธรรมชนิดเฟ้อ แล้วก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า อะไรผิดอะไรถูก ถ้าไปเรียนอภิธรรมแท้จริงของพระพุทธเจ้า แล้วก็จะมารู้ได้เองว่า อาตมาสอนไม่ผิด สอนถูก เป็นเดียรถีย์นี้ ไม่เป็นเดียรถีย์อื่น ฉะนั้นขอให้เอาอภิธรรม แท้จริง มาเป็นเครื่องวัด มาเป็นเครื่องตัดสิน แล้วก็จะรู้ได้เองว่าคำสอนนี้ไม่ผิด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมะ เสียแล้ว เป็นเรื่องโต้แย้งส่วนบุคคลเสียแล้ว ไม่ต้องวินิจฉัยอะไรให้เสียเวลา มีอะไรก็ว่าต่อไป
คำถาม: เขาว่า พุทธทาส คือพระ เขาว่าพุทธทาส คือ เดียรถีย์ทาส เป็นทาสผู้ทรยศ มีเจตนาเลวร้ายต่อ ชาวพุทธ ด้วยการกระทำจงใจการบิดเบือนพุทธพจน์ และลักลอบเอาคำสอนของเดียรถีย์ เข้ามาปลอมปน ในพระธรรม นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: เอ้า, พุทธทาส คือ เดียรถีย์ทาส นี้ถูก แต่ไม่ใช่เดียรถีย์อื่น เป็นพุทธเดียรถีย์ พุทธทาส เป็นทาสของพุทธเดียรถีย์คือ พระพุทธเจ้า และไม่เคยทรยศต่อพระพุทธเจ้า ไม่มีเจตนาร้ายต่อพระพุทธเจ้า หรือต่อชาวพุทธทั้งปวง มีเจตนาดีต่อพุทธบริษัททั้งปวง ให้พุทธบริษัทเข้าถึงพระพุทธพจน์ ได้โดยง่าย และโดยเร็ว ไม่เอาคำสอนของเดียรถีย์อื่น มาหลอกมาปลอม ว่าเป็นคำสอนแห่งเดียรถีย์นี้ นี้ยืนยันอย่างนี้ นี้มันเป็นข้อกล่าวหา ไม่ใช่ข้อเท็จจริงว่า ธรรมะไม่ใช่เรื่องธรรมะ ไม่ต้องพูด มันเป็นเรื่องด่าบุคคลโดยบุคคล ไม่ต้องพูด มันไม่เกี่ยวกับธรรมะ ฝากไว้กับท่านทั้งหลายทุกคน ว่าจะเชื่อใคร จะเชื่ออาตมา หรือจะเชื่อผู้ที่ กล่าวหาอาตมา ก็เลือกเอาตามใจ และเรื่องมันก็จะหมดไปเอง เอ้า, มีใครจะว่าต่อไปอีก
คำถาม: ทีนี้ ผมคิดว่าคนที่นี่ก็คงจะสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมท่านอาจารย์ที่ศึกษาธรรมะ มาตั้งแต่ ก่อนบวช จนบัดนี้เป็นเวลากว่า ๖๐ ปีแล้ว ซึ่งเชื่อว่าก่อนผู้กล่าวหาเกิดเสียอีก ทำไมจึงถูกกล่าวหาว่า รู้แล้ว อธิบายผิด โดยประการทั้งปวง ส่วนผู้กล่าวหาซึ่งศึกษาธรรมะเพียงไม่กี่ปีมานี้ รู้และอธิบายถูกทั้งหมด นี้เป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: นี้มันคุณสงสัย คุณก็ไปถามไอ้คนนั้นดีกว่า จะดีกว่ามาถามผม
คำถาม: และได้ยินมาว่าเขาท้าให้ท่านอาจารย์ไปโต้วาทะกัน ให้เห็นผิดเห็นถูก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ท่านอาจารย์จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: การไปโต้วาทะนี้เป็นเรื่องบ้า พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ทำนะ ช่วย ๆๆ รู้ไว้เสียด้วยทุกคน ว่าการโต้วาทะนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านห้าม เพราะมันเป็นการทะเลาะวิวาท เราไม่จำเป็นจะต้องมี การทะเลาะวิวาท เมื่อเราพูดกันไม่รู้เรื่อง ก็ไม่รู้เรื่อง ดีกว่าที่จะไปทะเลาะกันด้วยวาทะ มันก็จะเป็นการลุกลาม เป็นการทำอันตราย เบียดเบียนซึ่งกันและกันโ ดยทางรูปธรรมได้ คือ การฆ่าฟันกันได้ เพราะฉะนั้นอย่านิยม การโต้เถียง หรือทะเลาะวิวาทด้วยวาทะ พระพุทธเจ้าท่านห้าม และถือเป็นอกุศลชนิดหนึ่งทีเดียว
ข้อที่ว่าอาตมาศึกษามาตั้ง ๖๐ กว่าปี แล้วพูดอะไรผิดหมด แต่คนบางคนศึกษามาไม่กี่ปี พูดอะไรถูก หมด นี้มันอาจจะเป็นได้นะ ขอ ๆๆ ฝากไว้ว่ามันอาจจะเป็นได้ อาตมาเรียนมา ๖๐ กว่าปี พูดอะไรผิดหมด คนหนึ่งเรียนมา ๒-๓ ปี พูดอะไรถูกหมด มันก็อาจจะเป็นได้ ก็จะเป็นได้หรือไม่ได้ ก็อย่าต้องพูดเลย ไปไปดู เอาเอง ทุกคน พุทธบริษัททุกคน สังเกตดู พิสูจน์ดู ใคร่ครวญดู ด้วยความรู้ของตนเอง ว่ามันจะเป็นไปในรูป ไหน เอ้า, ไม่ตอบข้อนี้ มีอะไรว่าต่อไป
คำถาม: เขาว่าการที่คนจำนวนมาก พากันนับถือท่านอาจารย์นั้น ไม่ใช่ของแปลกอะไรเลย เพราะคนเหล่านั้น ล้วนเป็นคนเชื่อง่าย มีความคิดเห็นตื้น ๆ ทั้งนั้น นี้เป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: ก็แล้ว แล้วแต่คนเหล่านั้น คนที่มา เชื่ออาตมานั้นเป็นคนโง่ทั้งนั้น ก็ก็ดูเอาเองสิ มันเป็นคนโง่หรือคนไม่โง่ คนที่พูดกันเท่าไร ๆ ก็เข้าใจไม่ได้ ก็ไม่ใช่ว่าเขามันโง่ เขามันสติ มีสติปัญญา ของเขาเอง นั้นเราก็ต้องการจะพูดกับคนเหล่านี้ คนชนิดที่มีสติปัญญาของตนเอง ไม่ต้องการจะพูดกับคนโง่ เชื่อง่าย เพราะว่าไปแล้วก็เชื่อ เหมือนที่ทำกันอยู่โดยมาก รวมทั้งผู้ ผู้กล่าวหานั้นด้วย อาจจะเคยพูดกันแต่ กับเฉพาะคนเชื่อง่าย และโง่ ๆ เขาจึงมองเห็นเป็นอย่างนี้ไป ขอให้สังเกตดู คำสอน คำอธิบาย คำชี้แจง อะไรต่าง ๆ ที่ได้ทำไปแล้ว พิมพ์ขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ว่าข้อความเหล่านั้นเป็นเรื่องสำหรับคนโง่ หรือสำหรับคนมีปัญญา และเมื่อเขาได้อ่าน ข้อความเหล่านั้นแล้ว พอใจ ยินดีรับเอาไปศึกษา และปฏิบัติ เขาเป็นคนโง่ หรือเป็นคนมีปัญญา ก็ขอให้พิจารณาดูเอาเอง ไม่ต้องตอบ
คำถาม: เขากล่าวว่า จากการเฝ้าดูแล้วพบว่า คนที่มาสนใจคำสอนของท่านอาจารย์นั้น ส่วนมาก เดินทางผิด และประสบความหายนะเกือบทั้งสิ้น แต่ท่านอาจารย์ และพวกบริวารต่างสุขเกษมเปรมปรีดิ์ อ้วนพีไปตาม ๆ กัน นี้เป็นอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: นี้ฟังดูว่าเราหลอกเขาจนเราอ้วนพีไปตาม ๆ กัน แล้วคนที่มา รับคำสอนไปจากที่นี่นั้น ไปประสบความวินาศ ฉิบหายทั้งนั้น ดู ๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องตอบหรอก เพราะมันเป็นการป้ายกัน อย่าง ไม่มีเหตุผล ไอ้คนส่วนมากที่ได้รับคำสอน ไปประพฤติปฏิบัตินั้นนะ ดูจะเป็นคนเจริญ รุ่งเรืองกันทั้งนั้น หาที่วินาศ หรือหายนะยาก แล้วเราก็ไม่ได้ต้องการอะไร ที่จะเป็นการสุขเกษมเปรมปรีดิ์ อ้วนพีไปตาม ๆ กัน ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ พอรอดตัวไปได้วัน ๆ หนึ่ง อยู่ด้วยความสันโดษมักน้อย จึงไม่ต้องการจะหลอกลวงใคร ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องหลอกลวงใครนี่ เมื่อเขาเห็นอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องเห็นของเขา เราไม่ต้องอธิบาย ใครอยากรู้ก็ไปถามเขาผู้พูดสิ เอ้า, มีอะไรต่อไปอีก
คำถาม: เขากล่าวว่า ท่านอาจารย์ใช้เวลาอันยาวนาน ประกาศสัจธรรมที่แท้จริง จนคนหมู่มาก เชื่อถือแล้วจึงบิดเบือน บ่ายเบี่ยง ออกนอกทิศทางแห่งสัจธรรม ทีละน้อย ๆ ในเวลาต่อมา อย่างแยบคาย ถ้าไม่สังเกตก็จับไม่ได้เลย นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: นี้ก็ฟังดู ว่าอาตมาสอนดีสอนถูก จนคนเขาเชื่อถือ และต่อมาก็หักหลัง บิดเบือน ทำลายร้างคนเหล่านั้น ถ้าไม่สังเกตก็จะเห็นไม่ จะไม่เห็นจะจับไม่ได้ เอ้า, ทุกคนมีความคิดเห็นของตน มีอิสรภาพ ในการที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ขอเชิญวิพากษ์วิจารณ์ไปตามอิสระ ว่าอาตมาได้ประพฤติ กระทำ อย่างนี้หรือไม่ ไอ้คำพูดของเขามันขัดกันเอง ไอ้คำด่าบางคำ นะว่าประกาศแต่ของหลอกลวง เดี๋ยวนี้มายืนยัน ว่าเวลายาวนาน ประกาศสัจธรรมที่แท้จริง มันขัดกันเองเสียอย่างนี้ แต่พอคนหมู่มากเชื่อแล้ว ก็หักหลัง บิดเบือน หลอกลวง ไม่รู้จะทำไปทำไม เอ้า, ไม่ต้องพูด นี่ข้อต่อไป
คำถาม: เขากล่าวว่า งานเผยแพร่ส่วนใหญ่ของท่านอาจารย์นั้น เมื่อเขาวิเคราะห์วิจัยอย่างลึกซึ้งแล้ว เห็นว่าเป็นงานของเดียรถีย์ ที่แฝงมาในร่างของสมณะผู้ทรงศักดิ์ อันเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมการทำลาย พุทธศาสนาอย่างมีเลศนัย เปรียบเหมือนขนมหวานเจือปนด้วยยาพิษ นี้จะว่าอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: ไอ้งานของเรา เป็นงานของเดียรถีย์ที่แฝงมาในร่างของสมณะผู้ทรงศักดิ์ นี้เขาคง หมายถึง เดียรถีย์นอกพุทธศาสนา แล้วเราก็เอาเข้ามาสอนในพุทธศาสนา ในฐานะสมณะผู้ทรงศักดิ์ เราก็ใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวงคน เหมือนขนมหวานเจือด้วยยาพิษ อย่างนี้มันจะทำได้อย่างไร