แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาส : เอ้า, ถ้ามาพร้อมกันแล้วก็นิมนต์ ใครมีปัญหาอะไรว่าไป ตามลำดับ
พระสงฆ์ : จากสังคมที่เห็นแก่ตัวในปัจจุบันนี้ ถ้าเรายังจะมารักษาศีลรักษาธรรมอย่างนี้ เราจะอยู่ไหวกับสังคมในปัจจุบันนี้หรือครับ
ท่านพุทธทาส : หึๆๆ นี่เป็นปัญหาของคนอื่น ปัญหาของสังคม จะเอาด้วยสิ เมื่อสังคมมันเลว เลวร้ายและกำลังเลวร้ายยิ่งขึ้น เราควรจะทำอย่างไร เราควรจะไปผสมโรงกับมันหรือว่าจะต่อต้าน ความเห็นของผมมันมีไปในทางว่า ต้องต่อต้าน คนที่เห็นว่าไม่ควรต่อต้าน ไม่ควรแก้ไข ไม่ควรปรับปรุง คงจะเป็นผู้ที่กลัวว่าจะเสียเปรียบหรือจะทำไม่ได้ และก็ตอบไม่ได้ด้วยว่าจะทำอย่างไร คือจะผสมโรงส่งเสริมหรือว่าจะทำอย่างไร ที่จริงมันก็ควรต่อต้านแก้ไขแต่มันยากมาก และมันก็ยิ่งต้องการระยะเวลายาวนาน นี้คนเหล่านั้นทนไม่ไหวก็ไม่คิดต่อต้าน ไม่คิดแก้ไข ที่นี้ก็ดูเอาเองก็แล้วกัน ว่าไม่แก้ไขจะทำอย่างไร จะปล่อยไปอย่างนั้นได้ก็ตามใจ แต่โดยหลักทั่วๆ ไป หรือที่เขาถือกันมานั้นต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข เราเป็นมูลเหตุของความเลวร้ายเหล่านั้น จะปล่อยให้มันเลวร้ายมากขึ้น มันก็ไม่มีเหตุผล สู้แก้ไขกันไปตามมีตามได้ กระเสือกกระสนไปในทางที่มันถูก ในส่วนที่ทำได้ ถ้าในวงแคบที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาลของสังคมใดสังคมหนึ่ง มันก็ทำได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องทั้งโลกนี่คงจะยาก เพราะบางประเทศ สมาชิกของโลกบางประเทศเขาไม่เอา เขากลับจะซื้อโอกาสเอาเปรียบ อย่างฝ่ายตรงกันข้ามเดี๋ยวนี้ก็อยากให้ศีลธรรมในหมู่คนนี้เลวลงอีก เพื่อจะได้เปรียบข้างเขา ทางฝ่ายลัทธิที่มุ่งทำลายรัฐบาล นี่มันเป็นเรื่องของประโยชน์ เป็นเรื่องแสวงหาประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องความจริง คุณถามว่าได้หรือไม่ได้นี้ ไม่มีใครบอกได้ มันแล้วแต่ความโง่หรือความฉลาดของผู้ที่ทำ เชื่อว่าถ้าว่ามันมีคนฉลาดพอแล้วมันก็ร่วมมือกันจริงๆ มันก็ต้องได้แหละ ถ้าหากว่ารัฐบาลนำในการต่อต้านความไม่มีศีลธรรมและคนที่มีความรู้ความสามารถก็ร่วมมือกันทั้งหมด อย่างนี้มันต้องได้แน่นอน ไม่มากก็น้อย ก็มีหวังว่าต้องพอสมควร ส่วนที่จะปล่อยไปตามบุญตามกรรมนั้น มันไม่มีเหตุผล เขาถือเป็นหลักกันมาแต่โบร่ำโบราณ ผู้ปกครองบ้านเมืองต้องต่อต้านวิกฤติการณ์ทางศีลธรรมด้วยนะ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าเข้าไปอีก ผู้ปกครองประเทศแต่โบราณโบรมมา เขาเป็นห่วงทางธรรมะหรือทางศีลธรรมนี้มากกว่าทางวัตถุเสียอีก พูดถึงคำว่าธรรมมากกว่าสมัยนี้มาก เท่าที่ผมอ่านพบในบาลีในอรรถกถามันเป็นอย่างนั้น พระเจ้าแผ่นดินเป็นห่วงเรื่องธรรมะของพระเจ้าแผ่นดินเอง เป็นห่วงเรื่องธรรมะของข้าราชบริพาร เป็นห่วงธรรมะของประชาชนทุกคน แต่ก็มีพระเจ้าแผ่นดินอันธพาลไม่ถือธรรมะ ไม่เอาธรรมะแล้วก็วินาศไป อย่างนี้ก็มีมากเหมือนกันนะ ก็มีมาแล้ว และก็มีมากเหมือนกัน สรุปความว่าจะต่อต้านไหว ไม่ไหว มันแล้วแต่ว่าจะมีผู้นำที่สามารถหรือไม่สามารถ .......... ปัญหาอื่นต่อไป
พระสงฆ์ : จะขอถามปัญหาครับ ... ในบทสวดมนต์อิทัปปัจจยตาครับ ในปฏิจจสมุปบาทนะครับ ที่ว่าภพเป็นปัจจัยชาติย่อมมี อุปทานเป็นปัจจัยภพย่อมมี คือผมอยากให้อาจารย์ช่วย ช่วยพูดเกี่ยวกับวัฏจักรและวงจรของวงนี้ล่ะครับ
ท่านพุทธทาส : ..... ไหนว่าใหม่สิฟังไม่ค่อยถูก ว่าใกล้ๆ ใหม่ เอ้าพูดใกล้ๆ และก็ดังๆ ชัดๆ หน่อย
พระสงฆ์ : ครับในบทสวดนะครับ อิทัปปัจจยตา ในปฏิจจสมุปบาทนะครับ ที่ว่าภพเป็นปัจจัยชาติย่อมมี อุปทานเป็นปัจจัยภพย่อมมี ตัณหาเป็นปัจจัยอุปาทานย่อมมี ผมอยากให้อาจารย์ช่วยแนะ พูดถึงวัฏจักรและวงจร ไอ้ของอันนี้นะครับ
ท่านพุทธทาส : จะใช้ให้ไปอ่านเอาเองจากหนังสือปฏิจจสมุปบาทมันก็ไม่มี หนังสือแบบเล่มนั้นมันก็กำลังไม่มี อิทัปปัจจยตา (อิ-ทับ-ปัจ-จะ-ยะ-ตา) ปฏิจจสมุปบาท (ปะ-ติจ-จะ-สะ-มุบ-บาท) คุณอย่าว่า ปะ-ติจ-จะ-สะ-มุบ-ปะ-บาท มันไม่ถูกตามตัวหนังสือ ปฏิจจสมุปบาท ถ้าว่าให้สมบูรณ์มันต้องตั้งต้นมาแต่คำว่าทุกข์ ทุกข์ ความทุกข์น่ะมีเพราะชาติคือความรู้สึกยึดถือเป็นตัวตนของชาติ ชาติมีเพราะภพ ความสมบูรณ์ที่จะเกิดชาติ ภพมีเพราะอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เข้ามาในความรู้สึก อุปาทานมาจากตัณหาคือความอยาก ตัณหาด้วยความอยากและความโง่เขลานั้นก็มาจากเวทนาที่โง่เขลา เวทนาที่ไม่มีสติไม่มีปัญญาไม่มีอะไร ที่นี้เวทนาโง่เขลาตัวนี้ก็มาจากผัสสะที่โง่เขลาเหมือนกัน คือผัสสะที่ไม่มีปัญญา ไม่มีสติเกิดขึ้นในขณะนั้น นี้ผัสสะนี้ก็มาจาก การกระทบระหว่างสิ่งทั้ง ๓ คืออายตนะภายในเช่นตาเป็นต้น อายตนะภายนอกคือรูปเป็นต้น แล้วค่อยเกิดจักษุวิญญาณการเห็นทางตา นี่เรียก ๓ อย่าง ตา รูป จักษุวิญญาณ ทางตา ๓ อันนี้กระทบกันเรียกว่าผัสสะ ผู้ที่แรกศึกษาควรจะศึกษาปฏิจจสมุปบาท รูปนี้คือรูปที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเอามาท่องเล่นเองเมื่ออยู่ลำพังพระองค์ มันขึ้นต้นแปลกกันหน่อย แต่ว่าเรื่องเดียวกัน อธิบายก็ได้แต่อย่าเสียเวลา เพราะว่าขึ้นต้นว่าตากับรูป คุณต้องเข้าใจไปถึงตัวจริงนะไม่ใช่จำความข้อความนี้ได้ คือตากับรูปที่มากระทบตา เมื่อถึงกันเข้า ก็เกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตา นี่ควรจะเข้าใจเพราะมันง่าย เพราะมันธรรมดาที่สุด ตากระทบกันเข้ากับสิ่งที่มากระทบตา ก็เกิดการเห็นทางตา ตาเรียกว่าจักษุ สิ่งที่มากระทบตาเรียกว่ารูป การเห็นทางตาเรียกว่าจักษุวิญญาณ ๓ อย่างนี้มาถึงกันเข้า ก็เรียกว่าผัสสะหรือสัมผัส คุณจะต้องเล็งถึงตัวจริงไม่ใช่ว่าตัวหนังสือหรือคำพูด เรามีสัมผัสทางตาอยู่มากๆ ครั้งวันหนึ่ง วันหนึ่ง ทีนี้ในขณะที่มีการสัมผัสนั้น จิตใจนั้นหรือคนนั้นก็ตามแล้วแต่จะเรียกกัน มันไม่มีสติรู้สึกตัว มันไม่มีปัญญารู้จักสิ่งเหล่านี้ตามที่เป็นจริง ในกรณีของคนธรรมดาเป็นอย่างนั้น ที่นี้เราเอาตัวเองเป็นหลักจริงอย่างนั้นหรือเปล่า ในขณะแห่งผัสสะนี้ เราจะไม่มีสติระลึกว่าอะไรเป็นอะไร หรือปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร เราปล่อยมันไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็เรียกว่าผัสสะโดยอวิชชา ผัสสะด้วยอวิชชา ผัสสะตามอำนาจของอวิชชา เรียกสั้นๆ ว่าอวิชชาสัมผัส คือเราไม่รู้ไม่ชี้ปล่อยมันไปตามเรื่อง มันก็สัมผัสของมันไป นั่นน่ะคืออวิชชาสัมผัสของคนธรรมดาทุกคน รวมทั้งเราด้วยนี่ พอสัมผัสอารมณ์เหล่านี้ด้วยจิตใจที่ปราศจากสติและปัญญา ผัสสะนี้เรียกว่าผัสสะโง่ ผมก็ตั้งชื่อนี้เองว่าผัสสะโง่ ในบาลีเขาเรียกว่าอวิชชาสัมผัส สัมผัสโดยอวิชชา มันสำคัญอยู่ตรงที่ว่าขณะนั้นมันไม่มีสติระลึกได้ ไม่มีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันขาดอันนี้มันจึงเป็นผัสสะโง่ ผัสสะโง่นี้ก็เลยเกิดเวทนาโง่ ถ้าผัสสะฉลาดเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ มันก็เกิดเวทนาฉลาด เวทนาที่มีความรู้สึกควบคุม มีปัญญาควบคุม เดี๋ยวนี้มันเป็นผัสสะโง่ก็ให้เกิดเวทนาโง่ สำหรับยินดีเมื่อเวทนานั้นมันถูกใจ สำหรับจะยินร้ายเมื่อเวทนานั้นมันไม่ถูกใจ หรือว่าฉงนสงสัยเมื่อไม่แน่ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจ ผัสสะให้เกิดเวทนาโง่ คือเวทนาที่ปราศจากความรู้ตามที่เป็นจริงในเวทนานั้น ดังนั้นเวทนานั้นก็เป็นเวทนารู้สึกยินดี รู้สึกยินร้าย รู้สึกฉงนสงสัยขึ้นมาทีเดียว เวทนาที่มาจากผัสสะโง่นะ ถ้าเวทนามาจากผัสสะฉลาดมันรู้ว่าเวทนานี้สักว่าเวทนาเท่านั้น สักว่ามันเป็นความรู้สึกที่เกิดตามธรรมดาเท่านั้น เรารู้ว่ามันเป็นรู้ๆ สึกอย่างไร และก็รู้ว่าควรจะทำกับมันอย่างไร ควรจะจัดการกับมันอย่างไร หรือไม่ควรหลงกับมันเลย หรือไม่ควรเกี่ยวข้องกับมันเลย นี่ว่าเวทนาที่มีสติปัญญาเนื่องมาจากผัสสะมันมีสติปัญญา ในเมื่อผัสสะมันไม่มีสติปัญญา ไอ้เวทนาที่เกิดขึ้นมันก็ว่างเหมือนไม่มีสติปัญญาด้วยเหมือนกัน ก็จะเรียกๆ เป็นชุดเดียวกันเลยว่าเวทนาโง่ เรามีผัสสะโง่คือลืมตัวเมื่อผัสสะ แล้วก็มีเวทนาโง่ลืมตัวว่ามีเวทนา เวทนานี่โง่อย่างนี้แล้วมันก็ให้เกิดตัณหาคือความอยากที่โง่ ตัณหาที่โง่มันก็พูดไม่ได้หรอกเพราะว่ามันเป็นความอยากที่โง่ เมื่อเป็นตัณหาแล้วมันก็โง่แน่นอนล่ะ เมื่อผัสสะมันโง่ เวทนามันก็โง่ ตัณหามันก็โง่ เราจะพูดว่าตัณหานี้มาจากเวทนาโง่กันได้ มาจากผัสสะโง่ก็ได้ มันสำคัญอยู่กับคำว่าโง่นั่น ไอ้โง่ โง่ ทำให้เกิดตัณหาคือความอยากที่โง่ นั้นคนก็พูดว่าตัณหามาจากอวิชชาก็ได้เหมือนกัน เพราะตัณหามันคือความอยากที่ประกอบด้วยอวิชชา ถ้าความอยากนั้นมันมีสติปัญญา มีอะไรดีมันก็ไม่ใช่ตัณหา ความอยากที่ฉลาดนั้นไม่ใช่ตัณหา เป็นความต้องการที่ถูกต้อง เช่นเรามีความทุกข์ รู้สึกต่อความทุกข์ อยากจะดับทุกข์ ไอ้ความอยากนั้นไม่ใช่ความอยากที่โง่ ไม่ใช่ตัณหา เป็นพวกสังกัปปะ สัมมาสังกัปโป อยากจะดับทุกข์ เวทนาโง่ให้เกิดตัณหาหรือความอยากที่โง่ แต่ในบาลีจะเรียกเฉยๆ ไม่เติมคำว่าโง่ ไม่เติมคำว่าโง่ เพราะว่าพอพูดไปตามธรรมชาติของคนธรรมดาซึ่งมันโง่ มันก็ย่อมหมายความว่ามันโง่อยู่นั่นแหล่ะ พูดผัสสะเฉยๆ คือผัสสะโง่ ผัสสะให้เกิดเวทนาคือเวทนาโง่ เวทนาให้เกิดตัณหาคือตัณหาโง่ ที่นี้เมื่อเกิดตัณหาแล้ว มันก็ให้เกิดอุปาทานยึดถือไปตามความหมายแห่งตัณหา ตัณหาคือความอยากที่โง่ มันก็โง่ที่ยึดถือ ยึดถือนั้นคือการกระทำของความโง่ เรียกว่าอุปาทาน ตัณหาให้เกิดอุปาทาน ยึดถือด้วยจิตใจว่าตัวเราบ้าง ว่าของเราบ้าง นั่นเรียกว่าอุปาทาน ถ้ามองดูโดยอาการอื่น ก็เรียกว่ายึดถือไปในทางกามบ้าง ยึดถือไปทางทิฐิบ้าง ยึดถือไปทางงมงายบ้าง ยึดถือไปทางตัวตนบ้าง แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญคือยึดถือในทางตัวตน ยึดถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวกู ว่าของกู ว่าอัตตา ว่าอัตตะนิยา เมื่อไรที่ความรู้สึกเป็นตัวเราเกิดแล้ว มันก็เรียกว่ามีความยึดถือแล้ว ยึดถือเอาว่าเรา ยึดถือเอาว่าของเรา นี่อุปาทานเกิดแล้ว คือการกระทำการยึดถือด้วยความโง่ ว่าถ้าได้เกิดภพขึ้นมากล่าวว่าถ้ามีการยึดถืออย่างนั้นแล้ว ความหมายแห่งตัวตนมัน มันเป็นภพว่าเป็นอะไร ว่าฉันเป็นอะไร กูเป็นอะไร กูจะได้อะไร กูอยู่ที่ไหน อะไรขึ้นมาทีเดียวในเวลานั้น ในเวลาที่มันอยากไปยึดถือ จะเริ่มมีตัวตนขึ้นมาเพราะยึดถือว่ามีตัวตน มันก็มีตัวตนขึ้นมา ภพแปลว่าความมี ความเป็น หรือความเป็นอยู่ หรือความเป็นมีอยู่ ในที่นี้มีอยู่แห่งตัวตน มีอยู่แห่งตัวตนแล้วก็เรียกว่าเป็นชาติเกิดแล้ว ที่ว่าภพให้เกิดชาติ เกิดตัวตนที่สมบูรณ์แล้วก็รับเอาสิ่งต่างๆ เข้ามาเป็นของตน ความเกิดของตน ความแก่ของตน ความตายของตน ความได้ของตน ความเสียของตน อะไรก็ของตนแล้วมันก็เป็นทุกข์ไปตามนั้น ถ้าอย่าไปรับเอามาคือไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตน ไอ้สิ่งนั้นไม่มาเป็นของตนมันก็ไม่ทุกข์ มันก็ไม่เป็นทุกข์ ทีนี้ปุถุชนก็เป็นอย่างนี้ก็เรียกว่าทุกข์ เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่ว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมีก็ต้องไปเรียนจากเรื่องจริงภายในโดยเฉพาะและที่ได้ผ่านมาแล้วด้วย จะได้รู้สึกจริงๆ ไม่ไปฟังคนอื่น ไม่ได้เชื่อคนอื่น ไม่ได้เอาตามตัวหนังสือ ถ้าไปเอาตามตัวหนังสือหรือเชื่อคนอื่นมันไม่เป็นธรรมะจริง ต้องเอาจากที่เรารู้สึกจริงๆ ก็เรียกว่า สันทิฏฐิโก อันบุคคลพึงเห็นได้เอง อกาลิโก ไม่จำกัดเวลาที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ผู้มีปัญญาเห็นได้ด้วยตนเอง นี่เขามีธรรมะ เขารู้ธรรมะกันในลักษณะสันทิฏฐิโกอย่างนี้ คุณก็เรียนมันอย่างนี้ ที่จริง เดี๋ยวก่อน ถ้าว่ามาจากข้างบนเขาเรียกว่าอนุโลม เพราะมีอันนั้นจึงมีอันนี้ เขาเรียกอนุโลม เพราะว่าอันนี้มีเพราะอันโน้นนี้ขึ้นไปอีกเขาเรียกปฏิโลม ดังนั้นเราให้มันคล่องแคล่วทั้งปฏิโลม เพราะมีตากับรูปกระทบกัน ถึงกัน จึงมีจักษุวิญญาณ การเห็นทางตา นี่ทบทวนใหม่นะ เพราะมีตา มีรูป มีจักษุวิญญาณทำงานร่วมกันจึงมีผัสสะ ถ้ามีผัสสะจึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาจึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาจึงมีอุปาทาน อย่างที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ เพราะมีอุปาทานจึงมีภพ เพราะมีภพจึงมีชาติ เพราะมีชาติจึงมีทุกข์ นี่ว่าลงมาตามลำดับ ถ้าจะว่ากลับทวนลำดับขึ้นไป ก็คือว่าเพราะมีทุกข์ ทุกข์มีเพราะชาติ ชาติมีเพราะภพ ภพมีเพราะอุปาทาน อุปาทานมีเพราะตัณหา ตัณหามีเพราะเวทนา เวทนามีเพราะผัสสะ ผัสสะมีเพราะการกระทบกันระหว่างสิ่งทั้ง ๓ คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณที่เกิดขึ้นที่อายตนะนั้น นี่เราเรียกว่าเรื่องทางตา ทีนี้เรื่องทางหูก็เหมือนกัน เรื่องทางจมูกก็เหมือนกัน ทางลิ้นก็เหมือนกัน ทางผิวหนังก็เหมือนกัน ทางภายในใจเองก็เหมือนกัน มีอะไรมากระทบหูเกิดการได้ยินทางหูเป็นผัสสะ ๓ อย่างนี้รวมกันเป็นผัสสะทางหู ก็มีเวทนาทางหูมี ตัณหาทางหูมี เรื่อยไปจนมีทุกข์อีก ทางจิตนั่นก็หมายความว่ามันต้องมีใจ มโนที่เรียกว่าใจ และมีความรู้สึกที่คิดนึกอะไรขึ้นมาแต่หนหลังแล้วก็ได้มาเกิดเป็นความรู้สึกคิดนึกขึ้นมากระทบใจ มันเกิดความรู้สึกทางใจ ๓ อย่างนี้เรียกผัสสะทางใจ แล้วก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ มันมีอยู่ ๖ ชุด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปขีดเขียนดูลงในเศษกระดาษเพื่อให้ติดตา เหมือนกับว่ามันให้มันชิน แม้แต่พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ท่านยังเอามาว่าเล่นเหมือนกับเราทบทวนอะไรหรือร้องเพลงอะไรเล่น ทีนี้เรายังไม่ประสีประสาอะไรและก็ไม่สนใจถึงขนาดที่จะให้มันแน่นอน ให้มันชัดเจน จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ ปฏิจจะ อุปปัชชะติ วิญญานัง ติณนัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส ผัสสะปัจจะยา เวทนา เวทนาปัจจะยา ตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง อุปาทานปัจจะยา ภโว ภวปัจจะยา ชาติ ชาติ ปัจจะยา ชรา มรณัง โสกะ เทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสา ........... ว่าไปจนจบ เอวะเมตัสสะ เกวลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สมุทโย โหติ การเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนแห่งกองทุกข์มีในอาการอย่างนี้ ท่านก็ว่าทางกรณีของหูอีก กรณีของจมูกอีก ของลิ้น ของกายเหมือนกับเราท่องสูตรคูณ เข้าใจปฏิจจสมุปบาทโดยสูตรนี้ให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจะไปปรับสูตรที่มันเข้าใจยาก ที่ขึ้นต้นว่า อวิชชาปัจจะยา สังขารา สังขาระปัจจะยา วิญญานัง
วิญญาณะปัจจะยา นามะรูปัง นามะรูปะปัจจะยา สะฬายะตะนัง สะฬายะตะนะปัจจะยา ผัสโส ต่อไปนี้จะเหมือนกัน มันมีอะไรแปลกอยู่ข้างต้นว่า อยู่ ๓ ๔ ๕ ๔ จังหวะ ถ้าไม่เข้าใจอธิบายไม่ได้ เพราะเราไม่เข้าใจคำว่าวิญญาณหรือสังขารซึ่งอธิบายยาก ในโรงเรียนก็สอนกันอย่างไม่เข้าใจ คือเขาเอาอวิชชาที่มันจะมีในขณะแห่งผัสสะนั้นไปว่าเป็นเรื่องต้น เป็นตัวต้นเสีย เพราะอวิชชาคือขาดความรู้ที่ถูกต้อง เพราะมีสังขารคืออำนาจที่จะปรุงแต่งสิ่งต่างๆ ให้เป็นไป ถ้ามีวิชชามีปัญญามีความถูกต้องมันจะไม่ปรุงอะไร ด้วยเหตุที่มันมีอวิชชาคือมันขาดวิชชา มันมีแต่ความไม่รู้ มันจึงปรุงให้เกิดอำนาจที่จะปรุงแต่งอะไรฟุ้งซ่านได้ อย่างเป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะปรุงแต่งวิญญาณให้ทำหน้าที่ทางอายตนะทั้งหลาย สังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ มีการปรุงแต่งที่ตาที่หูแล้วก็เกิดปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณทางตาทางหูทางจมูกนี่ วิญญาณในการเกิดนามรูป นี้จะแปลกสำหรับคนทั่วไปหรืออย่างพวกคุณนี่ ธรรมะก็ไม่ได้ถือว่าไอ้นามรูปหรือกายใจนี้มีอยู่ตลอดเวลา เขาถือว่ามันมีอยู่ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อใดมันทำหน้าที่เมื่อนั้นมันจึงจะเรียกว่ามันมีอยู่ นี่แปลกไหม นี่ถ้าคุณจำอันนี้หรือเข้าใจอันนี้ไว้ได้ก็จะดีนะ คือตามทางธรรมะนั่นไม่ได้ถือว่าอะไรมีอยู่ตลอดเวลา ถือว่ามีอยู่เมื่อมันทำหน้าที่ของมัน เช่นตานี้ เราถือว่าเรามีอยู่ตลอดเวลา แต่ทางธรรมะเขาไม่ได้ถือว่าตามีอยู่ตลอดเวลา ตามีอยู่เมื่อทำหน้าที่ทางตา เมื่อตาทำหน้าที่ทางตาหรือของตาเขาเรียกว่าตาเกิด แปลกดีนะ ตาเกิดหรือตาเพิ่งเกิด เพราะตาทำหน้าที่ของตาเสร็จแล้ว ตาก็ดับ ก็เป็นหน้าที่อันอื่นๆ ต่อไปอีก นี่ ตา หู จมูก ลิ้น กายก็เหมือนกันแหละ แล้วก็ยังประหลาดอีกแม้แต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่เขาเรียกว่ามันเกิดและมันดับ ต่อเมื่อมันทำหน้าที่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรก็ทุกอย่างล่ะ มันมีหรือมันเกิดขึ้นเมื่อมันทำหน้าที่ มันเป็นของแปลกสำหรับผู้ที่ไม่เคยทราบว่า ทำไมจึงพูดว่าตาเกิด หูเกิด จมูกเกิด รูป แม้แต่รูปเกิด เสียงเกิด อะไรเกิดนี่ ถ้ามันไม่เข้ามาอยู่ในความรู้สึกในการทำหน้าที่ก็เหมือนกับไม่มี เหมือนกับไม่เกิด ดังนั้นจึงพูดว่า เพราะวิญญาณมี คือวิญญาณธาตุถูกปรุงแต่งโดยสังขารทำหน้าที่ของวิญญาณแล้ว กายกับใจมันก็ทำหน้าที่ได้ด้วย เพราะมันมีวิญญาณเข้ามาทำหน้าที่กับร่างกายนี้แล้ว ใจกับร่างกายมันก็มีขึ้นมาเรียกว่านามรูปมันเกิด แล้วนามรูปกายกับใจนี้มันมีที่ต่อ ที่รับอารมณ์เขาเรียกว่าอายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีร่างกายและจิตใจแล้ว ก็มีโอกาสที่จะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจสำหรับทำหน้าที่ จึงว่านามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ๖ นี่อายตนะ ๖ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะคือการกระทบทางอายตนะนั่นเอง นี้ก็เหมือนที่ว่า เหมือนที่ว่าเมื่อตะกี๊ มีผัสสะแล้วก็มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีภพ มีชาติ มีทุกข์ จะอธิบายอย่างที่หลังนี้ยุ่งกว่าเก่า สู้พยายามเอาที่พระพุทธเจ้ามาท่องเล่นไม่ได้ โผล่ขึ้นมาก็ตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการเรียกว่าผัสสะ เพราะผัสสะก็มีเวทนา เพราะมีเวทนาก็มีตัณหา นี่คุณจะเห็นชัดได้ทันที ถ้าให้ไปอธิบายเรื่องอวิชชาเกิดสังขาร สังขารเกิดวิญญาณ วิญญาณเกิดนามรูป นามรูปเกิดอายตนะ อายตนะเกิดผัสสะ อย่างนี้คุณจะไม่เข้าใจก็ได้หรือเข้าใจลางๆ จะเข้าใจดีขึ้นก็ต่อเมื่อไปศึกษาจนในคำเหล่านี้มันเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้นอาจจะเข้าใจได้ทีหลัง ถึงผมเองก็เหมือนกัน ไม่เข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทเคยโง่ เรื่องนี้พูดผิด เรื่องนี้สอนผิด เรื่องนี้มาตั้งเป็นปีๆ เหมือนกัน จนกว่าจะมาพบสูตรทีหลัง สูตรที่พระพุทธเจ้ามาจัดเอง ท่องเองนี้ พอเข้าใจสูตรนี้ก็แล้วจึงเอาไปปรับจับกันเข้ากับไอ้สูตรสมบูรณ์ที่เริ่มมาแต่อวิชชา มันก็เข้าใจได้ แต่ก็ยากเหมือนกันที่จะต้องรู้เรื่องคำว่าสังขารคืออะไร วิญญาณคืออะไร นามรูปคืออะไร ไอ้นามรูปนั้นมันไม่ใช่เกิดจากท้องแม่เป็นกายและใจ ไม่ใช่ มีคนอธิบายว่านามรูปนั้นเป็นการเกิดจากท้องแม่ ดังนั้นปฏิจจสมุปบาทเลยเกิด ๓ หน เลยยุ่งกันใหญ่ ปฏิจจสมุปบาททั้งสายไม่ใช่เกิด ๓ หน เกิดหนเดียว แต่มันเตรียมที่จะเกิดตั้งแต่อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะนั้นยุ่งมาก ดังนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าท่านถือว่านี้เป็นตัวพุทธศาสนา จึงตรัสว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมคือเห็นปฏิจจสมุปบาท” คือเห็นอย่างชัดแจ้งลงไป ถ้ายิ่งปฏิบัติได้ด้วยก็ยิ่งดี เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นเรา เห็นเราคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นเราตถาคต เห็นตถาคตคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นปฏิจจสมุปบาท มันเป็นเรื่องพุทธศาสนาทั้งหมด เพราะว่าพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสของท่านไว้เอง ว่ามันไม่มีเรื่องอื่น ฉันไม่ได้พูดเรื่องอื่นพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น ปุพเพ จาหัง ภิกขะเว เอตะระหิ จะ ทุกขัญเจวะ ปัญญาเปมิ ทุขขัสสะ จะ นิโรธัง ท่านว่าอย่างนั้น แต่ก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ฉันพูดเฉพาะเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ เรื่องทุกข์กับดับทุกข์นั้นเมื่อขยายออกไปให้เป็นตัวหนังสือสมบูรณ์ก็คือเรื่องนี้ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้ามันเป็นเรื่องดับทุกข์ มันมีวิชชา มีสติ มีปัญญาเสียตรงที่ผัสสะ มันเลยเป็นผัสสะปัญญา ผัสสะวิชชา มันก็ให้เกิดเวทนาชนิดจะรู้สึกว่าเป็นอะไรก็ไม่หลงรัก ไม่หลงเกลียดเกี่ยวกับเวทนา มันไม่เกิดตัณหา มันไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ มันไม่เกิดทุกข์อย่างนี้มันดับทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทที่พูดไปในทางที่ดับทุกข์เป็นอย่างนี้ ที่เกิดทุกข์ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าว่าถ้าเราไม่มีเกิดอวิชชาในขณะแห่งผัสสะแล้วก็ไม่เกิดตัณหาอุปาทานที่เป็นทุกข์ หรือว่าที่มันไม่เกิดทุกข์อยู่ตามธรรมดา สักว่าตาเห็นรูปแล้วเลิกกันนี่ มันก็เป็นได้เหมือนกัน ตามันก็ดูอยู่ตลอดเวลาแล้วทำไมไม่เกิดทุกข์ เพราะมันไม่ได้มีผัสสะด้วยอวิชชา คือไม่มีผัสสะที่จะทำให้หลงรักหรือหลงเกลียดในสิ่งที่ได้เห็น ถึงแม้ว่าเราจะเห็นรูปอยู่แทบตลอดวัน มันก็ไม่ได้เกิดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท เพราะมันไม่ได้มีอวิชชาขึ้นมาในขณะที่มีผัสสะ ทีนี้ในกรณีที่จะมีความทุกข์มันก็ต้องมีอวิชชาคือความโง่ขึ้นในขณะที่มีผัสสะทางตา ผัสสะทางหู ผัสสะทางจมูก ทั้ง ๖ นี้ ทั้ง ๖ ทางนี้มันก็จะเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา เพราะมีอวิชชาทำงานที่ผัสสะนั้นเอง อวิชชาทำงานเมื่อมีผัสสะ นี่พูดอย่างที่เรียกว่าพูดอย่าง Practical พูดอย่างที่มันเป็นจริง ปฏิบัติอยู่จริง ถ้าพูดอย่าง Theoretical มันก็ต้องเอาอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป ไอ้ที่ฟังยากเข้าใจยากนะมาพูด พูดอย่างวางหลักทฤษฏี ที่นี้มันพูดอย่างที่มันเป็นอยู่จริงในระยะสั้นๆ เป็นอยู่ชัดๆ ก็ไม่ต้องพูด มาตั้งแต่อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป และก็ไม่ได้เอ่ยถึงคำว่าอวิชชาไว้ในตัวสูตรนั้นด้วย แต่เรารู้ได้โดยความจริงของมัน คุณพยายามฟังให้เข้าใจอีกครั้งก็ได้ว่าตา ตา หู จมูก ลิ้น กายเหมือนกันหมดล่ะ นี่ก็ยกตัวอย่างเป็นกรณีตา ถึงกันเข้ากับรูปที่เห็นทางตา มันก็เกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตา นี่ชัดไม่มีทางที่จะสงสัยหรือไม่เข้าใจ นี่มันชัดอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทมันชัดอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทวิธีนี้ สายนี้ สูตรนี้ ที่นี้ไอ้ ๓ อย่างนั้น ติณนัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส การมาถึงเข้าด้วยกันแห่งสิ่งทั้ง ๓นี้เรียกว่าผัสสะ คือตา รูป แล้วก็วิญญาณ ๓ อย่างนี้ถึงกันเข้าเรียกว่าผัสสะ ที่นี้ไอ้ตัวจริง เรื่องจริง ของจริงน่ะผัสสะนั้นเป็นผัสสะที่ปราศจากวิชชา เป็นผัสสะโง่ก็เลย เกิดเวทนาโง่ เกิดตัณหาโง่แต่ในบาลีมันไม่ได้ใส่ตัวอวิชชาไว้ มันรู้ได้โดยนัย ผัสสะโง่ให้เกิดเวทนาโง่ เมื่อขณะกระทบน่ะมันปราศจากความรู้คือมันโง่เสียแล้ว ผลที่เกิดขึ้นมาเป็นเวทนามันก็ต้องโง่ด้วย อย่างนี้ไม่ต้องสงสัยอีก มันมองเห็น เมื่อเรารับอารมณ์สัมผัสอารมณ์ด้วยความโง่ ด้วยปราศจากความรู้ ไอ้ผลที่ออกมาเป็นเวทนา เป็นรสอร่อย เป็นอะไรมันก็คือโง่ด้วย พอโง่แล้วมันก็ต้องอยากโง่ มีเวทนาโง่เกิดความอยากโง่ ก็อยากได้ อยากเอา อยากเป็นนั่นแหละ ถ้าเวทนามันฉลาดคือเวทนามันมีความฉลาดเจืออยู่ ว่าโอ้มันเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติเท่านั้นเว้ย กูไม่ไปหลงกับมัน มันก็ไม่อยาก ไม่อยากด้วยความโง่ ไม่ได้ไม่อยากได้ อยากเอา อยากเป็น มันจะรู้ไปในทางว่าเวทนามันเป็นอย่างนี้ มันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร เราจะต้องจัดต้องทำกับมันอย่างไรก็ทำไปสิ อย่างสมมติว่าอาหารในปากไม่อร่อย นี่ว่าทุกขเวทนา ถ้าโง่มันก็โกรธ ถ้าไม่โง่มันก็ไม่ต้องโกรธ ก็ของมันไม่อร่อยก็เท่านั้นแหล่ะ ถ้าอยากอร่อยก็ไปแก้ไขได้ให้มันอร่อยได้หรือไม่ ไม่อยากจะแก้ไขให้มันยุ่ง ก็มันอย่างนี้เองก็กินเข้าไปสิ นี่เรียกว่าเวทนาโง่หรือไม่โง่
ในเรื่องทางตาก็เหมือนกันมันสวยน่ะ มันสวย มันก็สวย มันสักว่าไอ้ภาพให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้คือเราไม่ไปโง่ที่ว่าจะต้องอยาก อยากได้ อยากเอา อยากเป็น มันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องก็เกี่ยวข้องด้วยความฉลาด ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะไอ้สิ่งที่มันสวยหรือไม่สวย ที่มันเพราะไพเราะหรือไม่ไพเราะ ที่หอมหรือเหม็น ที่อร่อยลิ้นหรือไม่อร่อยลิ้น ที่นิ่มนวลหรือกระด้างแก่ผิวหนัง หรือที่มันสบายใจหรือมันกระทบกระแทกใจ มันเป็นคนฉลาดปกติอยู่ได้เพราะรู้เท่าทันซึ่งเวทนานั้น ดังนั้นปัญหาในทางปฏิบัติมันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ตรงที่ว่าจะควบคุมเวทนาหรือไม่ มันมีปัญญาควบคุมเวทนาหรือไม่ มันต้องเก่งขนาดว่ารู้สึกต่อเมื่อผัสสะว่าไอ้นี่มาแล้ว ไอ้นี่มาแล้ว พอมาถึงเวทนาแล้วควบคุมได้ เดี๋ยวนี้เราไม่ได้รู้สึกตัว ไม่ได้ควบคุมหรอก อร่อยก็พอใจไม่อร่อยก็โกรธ ไพเราะหูก็พอใจไม่ไพเราะหูก็โกรธ นี่ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และความเป็นกามารมณ์ มันอยู่ที่เรื่องผิวกายหรือดูทางกาย เป็นมาก ความเป็นทางกามารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น นี่ยังน้อย ความเป็นกามารมณ์ทางผิวหนัง มันมีรสชาติสูงสุด กระทั่งทางจิตใจด้วย มันก็ลำบากเหมือนที่ลำบากกันอยู่ เป็นทาสกามารมณ์กันอย่างถอนไม่ขึ้น กามารมณ์ทางเพศรุนแรงอยู่ที่ทางผิวหนัง ทางกาย ทางโผฏฐัพพะ ส่วนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น มันเป็นส่วนประกอบให้เท่านั้น มันเป็นการยากแก่คนธรรมดาสามัญจะไปรู้สึกกามารมณ์อย่างตามที่เป็นจริงว่า โอ้, มันอย่างนั้นเองโว้ย มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้นเอง ความรู้สึกสูงสุดในทางเสพกันทางเพศ ใครมันเคยรู้สึกบ้างว่า โอ้,นี่มันเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติเท่านั้นเอง มันมีแต่อยากจะรู้สึกมากกว่านั้นไปอีก มากกว่านั้นไปอีก ให้ลืมตัวให้สุดเหวี่ยงโน่น มันไปในทางโน้น ดังนั้นคุณก็รู้ไว้ว่ามันมีความยากลำบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ และปัญหาที่เราเอาชนะได้ยากก็คือทางกาย ทางเพศตรงกันข้ามทางกามารมณ์ ที่เอาไอ้เรื่องทางตา ทางหู มาเพิ่มเข้าอีก มาแต่งรสอะไรเข้าอีก มันเลยไปกันใหญ่ นี่เรียกว่าเรื่องของคนที่อยู่ในวิสัยแห่งกามเป็นอย่างนี้ ถ้าอยู่ในวิสัยที่เหนือกาม พวกรูป พวกอรูปเขามีปัญหาอย่างอื่น เขาเรียกว่าชั้นรูปาวจร ชั้น อรูปาวจร พวกนั้นไม่มาเกี่ยวข้องกับความหมายทางกาม แต่มีความรู้สึกทางตัวตนมาก ความรู้สึกทางตัวตนเหนียวแน่น ได้สบายเพราะความสงบระงับแห่งสมาธิ และยึดมั่นถือมั่นอุปกรณ์แห่งสมาธิ ตัวสมาธิ อะไรเป็นตัวเป็นตนไม่แพ้กับเรื่องทางกามเหมือนกัน ในทางรูปหรือทางอรูป มันก็เป็นของทุกข์รวมอยู่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทด้วยเหมือนกัน เช่นพระโยคีได้รับความสุขทางจิตใจเนื่องด้วยรูปฌาน มันก็มีอาการอย่างเดียวกันนี่แหละ แต่เป็นเรื่องทางจิต ก็เป็นปฏิจจสมุปบาททางจิต มีความทุกข์เต็มที่ในทางจิตตามแบบของปฏิจจสมุปบาท ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่เกิดมาจากรูปฌาน หรือความสุขที่เกิดมาจากอรูปฌาน แต่ว่าเรื่องนี้มันยังไกล ไกล ยังไกลจากวิสัยแห่งคนธรรมดาที่จะสัมผัสหรือเกี่ยวข้อง เราก็ไม่ค่อยพูดกัน แล้วก็เลยพูดกันแต่เรื่องทางคนธรรมดาที่มีความรู้สึกติดอยู่ในความหมายของกาม ของเพศ ถ้าเด็กๆ ยังไม่มีความหมายทางกาม มันก็มีเท่าเด็กๆ มันชอบรูป ชอบเสียง ชอบกลิ่น ชอบรส ชอบความนิ่มนวลตามธรรมดา ยังไม่ถึงขนาดที่จะเป็นกาม เช่นความอบอุ่นสบาย เช่นแม่อุ้มกอดไว้ มันสบายอย่างนี้ก็เรียกว่าทางกายทาง โผฏฐัพพะเหมือนกัน แต่ยังไม่เป็นกาม มันไม่เหมือนกับผู้หญิงผู้ชายกอดกันในความหมายแห่งกามนั่นแหล่ะความหมายมันมากกว่า เรื่องกาย เรื่องโผฏฐัพพะนี้ก็มีอยู่เป็น ๒ ชั้น ธรรมดามันก็มี พร้อมที่จะเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน แต่ถ้ามันเป็นเรื่องกามผนวกเข้าไปอีกเรื่องหนึ่งก็มากทีเดียว ดังนั้นคำว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ใช้กับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับสัตว์ที่อยู่ในวิสัยแห่งกาม เป็นกามไปหมด รูปก็รูปที่ตั้งแห่งกาม เสียงก็เสียงที่ตั้งแห่งกาม กลิ่นก็กลิ่นที่ตั้งแห่งกาม ไอ้รสหรือ รสที่ตั้งแห่งกาม กายสัมผัสนี่เป็นรส เป็นที่ตั้งแห่งกามถึงที่สุด ความคิดนึกก็น้อมนึกไปทางกาม ดังนั้นมันกามหมดทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นที่ส่วนไหน มันก็เป็นปฏิจจสมุปบาทตั้งต้นที่ส่วนนั้นแล้วก็ไปจบลงที่ความทุกข์ ถ้าว่ามันมีสติปัญญามาทันในขณะแห่งผัสสะ มันเปลี่ยนกระแส มันไหลกลับคือมันไม่ไปหาความทุกข์ มันเปลี่ยนมาเป็นการศึกษาเสีย รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าเวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้เวทนาเป็นสักว่าเวทนาเท่านั้น สักว่าความรู้สึกตามธรรมชาติเท่านั้น มันก็ไม่เกิดตัณหาอุปาทาน มันเกิดการศึกษาเสีย ก็เลยไม่ต้องเกิดทุกข์ นี่ก็มันไหลกลับคือมันดับทุกข์ แต่ตามธรรมดาของคนที่ไม่รู้มันก็ไปตามกระแสที่ว่า กระแสธรรมดาไปหาความทุกข์ ดังนั้นถ้าคุณเข้าใจ คุณจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องเดียวเท่านั้น เรื่องเดียวและสำคัญที่สุดของมนุษย์ คือความทุกข์และความดับทุกข์ มันอยู่ที่นี่ ก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่า เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นเรา หรือจะพูดอีกทีว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้นคือเรื่องพุทธศาสนาทั้งหมด คุณพยายามศึกษาแล้วศึกษาอีกกว่าจะชนะมันได้ นั่นคือเรื่องศึกษาพุทธศาสนาทั้งหมด ก็จะมีสติ มีปัญญามากพอเอามาใช้ทันในขณะแห่งผัสสะ ในปฏิจจสมุปบาท เราบวชมา... เอ้า, ก็เรียนวินัย เรียนศีล เรียนสมาธิ เรียนอะไรตอนนี้ ก็คือฝึกตัวให้มีสติและปัญญามาก คล่องแคล่ว รวดเร็วพอที่จะเอามาใช้ในขณะแห่งผัสสะ มันมีเท่านั้น ปัญหาที่ความทุกข์มันมีที่ผัสสะ ทีนี้ถ้าผัสสะควบคุมได้ด้วยปัญญา ด้วยวิชชา ด้วยสติก็ไม่เกิดทุกข์ ทำอย่างไรมันจึงจะควบคุมผัสสะได้อย่างนี้ มันก็ตอบได้ง่ายๆ ว่า ต้องมีสติเพียงพอ มีปัญญาเพียงพอ มีวิชชาหรือความรู้สัมมาทิฐิเพียงพอ มันจึงจะมาทัน มาช่วยทันในขณะแห่งผัสสะ ที่นี้ปัญหาก็มีต่อว่าทำอย่างไรจึงจะมีมากเพียงพอ ก็ฝึกสิ นี่เขาเรียกว่าภาวนา ภาวนาแปลว่าทำให้เจริญ ทำให้มาก ก็ฝึกสิ จะว่าโยคะก็ได้แปลว่าประกอบ ทำให้มาก ภาวนาทำให้เจริญ ก็มีภาวนามีโยคะในการที่จะให้มีสติมีปัญญา จึงต้องฝึกสมาธิ ฝึกวิปัสสนา ฝึกสมถะหรือฝึกวิปัสสนา ที่นี้จะฝึกสมถะวิปัสสนาได้โดยง่ายโดยสะดวกก็ต้องมีศีลด้วย และก็มีวินัยมีศีล และพร้อมที่จะฝึกสมถะหรือวิปัสสนา ถ้าเราฝึกได้เราก็จะเป็นคนที่มีสติมีปัญญามากพอ เร็วพอ ที่นี้ก็มาทันในขณะแห่งผัสสะของปฏิจจสมุปบาท มันก็มาควบคุมผัสสะของปฏิจจสมุปบาทได้ มันก็ย้อนกลับไปเป็นการศึกษาดับทุกข์ไปเลย มันไม่เลยไปเป็นตัณหาอุปาทาน ภพ ชาติ ที่พูดเมื่อคืนว่าอันนี้ทำยากโว้ย ทำที่บ้านทำยาก ฝึกที่บ้านฝึกยาก มาบวชกันสักพักหนึ่ง เพื่อที่จะสะดวกและง่ายในการศึกษาและการฝึก ฝึกอะไร ฝึกให้มีสติปัญญามากและเร็ว คุณต้องจำให้แม่นว่าทั้งมากและทั้งเร็ว มากพอและเร็วด้วย มันจึงจะมาทันในขณะที่เร็วเหมือนสายฟ้าแลบ ขณะผัสสะ
เอามาพูดคร่าวๆ ในเรื่องบวชของเรา เรามาบวช ถ้าทำไปตามหลักเกณฑ์จริงๆ มันก็ต้องประพฤติปฏิบัติสำรวมกายวาจาให้พร้อมคือมีศีล มีศีลแล้วมันก็มีสมาธิโดยง่าย มีสมาธิแล้วมันก็มีปัญญาโดยง่าย ในปัญญาที่เรียกว่าปัญญานั้นมันมีรวมอยู่หลายอย่าง สติก็มี ปัญญาก็มี ทิฏฐิก็มี วิชชาก็มี ความรู้ก็มีอะไรอยู่ในนั้น ญานทัศนะยิ่งมี ที่นี้เราก็จะเป็นคนที่สู้กับผัสสะได้ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่พ่ายแพ้แก่ผัสสะในชีวิตประจำวันเหมือนที่แล้วมาแต่หนหลัง ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมีคือการปรุงแต่งกันเป็นลำดับมันมีเรื่องราวอย่างนี้ แล้วมันเป็นตัวพุทธศาสนา เป็นตัวทั้งเนื้อทั้งตัวของพุทธศาสนา เป็นตัวธรรมะทั้งหมด เป็นที่รู้กันคำว่าธรรมะที่ว่าเห็นแล้วเห็นพระพุทธเจ้าทุกเวลา เรียกว่าทุกเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก จงประพฤติกระทำให้ถูก ให้ถูกต้องในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ถ้าผิดพลาดมันก็ต้องเป็นทุกข์เท่านั้น ไม่มีอะไรมาก ถ้าผิดพลาดก็ต้องเป็นทุกข์ แล้วมาสรุปด้วยคำประหลาดๆ ไอ้ปฏิจจสมุปบาทนี้สรุปไว้ด้วยคำประหลาดๆ เช่นคำว่าตถตา เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ฟังดูมันง่ายเหลือประมาณ มันเป็นอย่างนี้เองมันไม่เป็นอย่างอื่น แต่รู้เรื่องมันสิ มันไม่ได้ยาก มันไม่ได้ง่ายอย่างที่ว่าพูดเป็นเช่นนั้นเอง เรื่องมัน มันเป็นเช่นนี้เอง อย่าไปหลงรัก อย่าไปหลงเกลียด มันก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดทุกข์ ที่เราสวดทำวัตรเช้า มันเอาแต่บทสรุปคำเดียวมาว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา โดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานทั้ง ๕ นั้นเป็นทุกข์ นี่จะต้องอธิบายกันอย่างลึกซึ้งอีกแนวหนึ่ง เมื่อคุณไปสัมผัสทางอายตนะแล้วมันจะเกิดขันธ์ ๕ ครบถ้วน เมื่อตาเห็นรูปเรียกว่าเกิดวิญญาณ สัมผัสแล้วก็เกิดเวทนาขันธ์คือเวทนาโง่ที่ว่า เกิดเวทนาแล้วก็จะเกิดสัญญาสำคัญเป็นนั่น เป็นนี่ เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นเรา เป็นของเรา เป็นกระทั่งว่าเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย เป็นได้ เป็นเสีย นั่นเป็นสัญญาขันธ์ ที่นี้ก็คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ กูจะเอาอย่างนั้น กูจะเอาอย่างนี้เกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างนี้เป็นสังขารขันธ์ มันก็ครบมีทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ เมื่อมันมีอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทไม่ได้แยกกันเลย แต่ครูเขาไม่ค่อยสอน ไม่ค่อยสอนให้นักเรียนเห็นขันธ์ ๕ ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ที่นี้คุณเรียนมาอย่างขันธ์ ๕ ว่าขันธ์ ๕ ที่ประกอบด้วยอุปาทานเป็นทุกข์ ก็รู้เสียสิ เมื่อตาหรือหูก็ตามมันเป็นรูปนะ พอมันหลับอยู่ไม่ทำหน้าที่ก็ยังไม่เกิด พอมันมาทำหน้าที่ทางตา ทางหู สัมผัสนี่ก็ตา หูเกิดขึ้นมาแล้วเรียกว่ารูปเกิด รูปขันธ์เกิด แล้วก็เกิดวิญญาณทางตาก็เรียกว่าวิญญาณเกิด มีผัสสะและเวทนาขันธ์เกิด เวทนาขันธ์เกิดแล้วเกิดความสำคัญมั่นหมายต่างๆ นานาเรียกว่าสัญญาขันธ์มันเกิด ก็คิดแต่อย่างนั้น คิดแต่อย่างนี้ คิดดี คิดร้าย นี่ก็สังขารขันธ์เกิด แล้วเกิดครบทั้ง ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเกิด นี่หมายความว่ายึดถือกันหมดแล้ว ยึดถือเป็นตัวตนกันหมดแล้ว ก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะไปยึดมั่นในขันธ์ ๕ จึงเป็นทุกข์ เพราะขันธ์ ๕ นั้นไม่ได้อยู่ที่ไหนอยู่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ตรงนั้นเป็นรูปขันธ์ ตรงนั้นเป็นเวทนาขันธ์ ตรงนั้นเป็นสัญญาขันธ์ ตรงนั้นเป็นสังขารขันธ์ ตรงนี้เป็นวิญญาณขันธ์ ครบอยู่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทด้วยเหมือนกัน ดังนั้นถ้าใครเข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ คนนั้นจะเห็นปฏิจจสมุปบาท ในขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ ในปฏิจจสมุปบาทได้ ก็มีการยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทคือตัวพุทธศาสนา เห็นแล้วเห็นพระพุทธเจ้า หนังสือเรื่องปฏิจจสมุปบาทออกมาได้ไม่ทันถึงปีขายหมด ได้ยินว่าขายหมด ผมก็ไม่รู้ว่าให้คุณไปหาอ่านเอาที่ไหน คุณไปยืมพวกพ้องที่เขาซื้อๆ ไว้ ลองอ่านดูจะเข้าใจเรื่องนี้โดยสมบูรณ์ ที่ร้านขายหนังสือไม่มี แต่คงมีพวกพ้องเขาซื้อกันไว้บ้าง ขอยืมอ่าน นี้คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท อาการที่ส่ง ส่ง ส่ง ส่ง ส่งกันเป็นเหตุปัจจัยกัน แล้วก็เป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของคนของมนุษย์ที่มีความรู้สึกคิดนึก แล้วก็เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์เพราะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ กระแสคือกระแสแห่งการปรุง ปรุงแต่งที่ปรุงแต่งไหลเป็นเกลียวไปนั่นแหละ ถ้าหยุดซะได้ควบคุมได้ก็ไม่เป็นทุกข์ แล้วมันตรงผัสสะนั่นแหละจะควบคุมได้หรือไม่ได้ ถ้ามันเลยนั่นไปแล้วมันควบคุมยากเสียแล้ว แล้วก็มันจะต้องเลยไปถึงความทุกข์เสียมากกว่า เกิดตัณหาแล้วก็ควบคุมยาก คุมไม่ไหวแล้ว มันเป็นทุกข์เป็นอุปาทานอยู่ใน เหมือนกับอัตโนมัติ พระบาลีตรัสว่านันทิ นั่นแหละเป็นอุปาทาน ดังนั้นตัณหานั่นแหล่ะเป็นอุปาทาน หรือในเวทนานั่นเองมีอุปาทาน อย่างนี้คุมไม่ไหวแล้ว เร็ว มาก นันทิ ตะทุปา ทานัง นันทินั่นแหล่ะที่เป็นอุปาทาน เพราะนันทิมีได้เมื่ออร่อยในเวทนา เมื่ออร่อยในตัณหา เมื่อก่อนแต่ที่จะเรียกว่าอุปาทานในปฏิจจสมุปบาทนี้เสียอีก แม้ในขณะแห่งเวทนา แห่งตัณหาก็มีนันทิแล้ว เอ้า,นี่เรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยย่อด้วยหัวใจ
ใครมีปัญหาอะไรอีก ขึ้นปัญหาต่อไป
พระสงฆ์ : เอ่อ... ผมขอถามปัญหาเกี่ยวกับรูปของวัตถุครับ เดี๋ยวนี้จะเห็นได้ว่าวัตถุนะครับ เจริญขึ้นทำให้จิตใจของคนเรานี่เสื่อมลง แต่มันจะเป็นไปได้ไหมครับว่า ถ้าวัตถุเจริญขึ้นครับ จิตใจคนก็เจริญขึ้นตามไปด้วย
ท่านพุทธทาส : ก็คุณว่ามันเป็นเรื่องสิ่งเดียวกันนั่นแหล่ะ วัตถุกับจิตใจมันเรื่องเดียวกันหรือสิ่งเดียวกันเหรอ
พระสงฆ์ : มันคนละสิ่ง
ท่านพุทธทาส : คนละสิ่ง เดี๋ยวนี้วัตถุถูกค้นคว้าประดิษฐ์ประดอยให้เจริญขึ้น เพื่อหลอกให้จิตใจมันโง่นี่ คุณคิดดูเถอะมันๆ เจริญขึ้น มันปรับปรุงมากขึ้นเพื่อให้มันโง่ในทางจิตใจ ให้ไปหลงรัก หลงบูชา หลงยึดถือ ก็คือทำให้จิตใจมันโง่ลง ดังนั้นมนุษย์มันก็โง่ลงเท่าที่วัตถุหลอกลวงในโลกประดิษฐ์ขึ้นมาก มันฉลาด ถือว่ามันฉลาดที่มันประดิษฐ์ประดอยวัตถุเหล่านี้ขึ้นมา แต่แล้วมันประดิษฐ์ขึ้นมาสำหรับหลอกให้โง่ แม้แต่ตัวคนที่ประดิษฐ์ขึ้นมามันก็ยังโง่ ยังหลงอร่อยจากวัตถุที่มันเองประดิษฐ์ขึ้นมา ดังนั้นความเจริญทางวัตถุไม่ได้หมายความว่าเจริญในทางจิตใจ ทางวิญญาณหรือทางธรรม นั้นยิ่งไปหมกมุ่นหลงอยู่แต่วัตถุ ก็ละทิ้งทางธรรม ไม่สนใจทางธรรม คือโลกปัจจุบันนี้ไม่สนใจทางธรรม สนใจแต่ค้นคว้าลึกเข้าไปในทางวัตถุ ออกมาใหม่ๆ ให้ล่อใจ ให้จูงใจคนในโลกได้ แล้วคนทั้งโลกก็สนใจแต่ที่จะมีวัตถุใหม่ๆ วัตถุที่อร่อยที่ประดิษฐ์ขึ้นมาสำหรับความอร่อยใหม่ๆ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่วัตถุเจริญแล้วจิตใจเจริญด้วย เว้นไว้แต่ว่าเอามุ่งหมายไปในทางที่จะทำให้จิตใจมันเจริญ เช่นว่าใช้ร่างกาย ใช้มันสมอง ใช้อะไรที่มัน ให้มันเป็นไปในทางเรื่องของจิตใจ คำว่าเจริญมี ๒ ความหมาย เจริญเพื่อดับทุกข์ก็เรียกว่าเจริญเหมือนกัน เจริญเพื่อให้ทุกข์มากขึ้นก็เรียกว่าเจริญเหมือนกัน เพราะว่าไอ้คำๆ นี้มันกำกวม คำว่าเจริญนี่มันเป็นคำที่กำกวม เพื่อยุ่งมากขึ้นให้เป็นทุกข์มากขึ้น เราก็ใช้คำว่าเจริญ เพื่อให้มันดีให้มันสงบให้มันดับทุกข์ก็เรียกว่าเจริญ นี่มันเจริญทางวัตถุ นี้มันเจริญทางนามธรรม แม้ภาษาบาลีก็เหมือนกันคำว่า วัฒนา วัฒนะที่เป็นภาษาบาลีแปลว่าเจริญ คำนี้มีความหมาย ๒ ทาง กำกวมเหมือนกัน เจริญเพื่อเป็นทุกข์ เพื่อยุ่งยากมากขึ้นก็เรียกว่าวัฒนา เจริญเพื่อให้สงบเป็นพระนิพพานก็วัฒนา แต่ต้องแยกทางกันเป็นสองฝ่ายแหล่ะ คือทางฝ่ายสังขาร ทางฝ่ายวิสังขาร คือทางฝ่ายกายหรือทางฝ่ายจิต ทางฝ่ายจิตก็เพื่อนิพพานหรือเพื่อสงสาร เพื่อสังขารวัฏฏะสงสาร เราพยายามทำความเจริญในฝ่ายที่เป็นดับทุกข์ ที่เป็นวิสังขารคือไม่เป็นสังขาร ความเจริญในโลกนี้กำลังเจริญสุดเหวี่ยงในทางสังขารคือปรุงแต่งให้เป็นไปตามความต้องการของกิเลสตัณหามากขึ้น การเจริญทางวัตถุ ทางจักรกล ทางเทคโนโลยีสุดเหวี่ยงเหมือนกัน แต่โลกก็ไม่ได้ดีขึ้นในทางจะมีสันติภาพ เพราะมันแยกกันเดินคนละทาง วัตถุเจริญนั้นเห็นได้ชัด เจริญเพื่อรับใช้กิเลส ดังนั้นกิเลสก็ครองโลก ที่คอมมิวนิสต์เขาว่าวัตถุนำจิต นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเจริญทางธรรม มันหมายถึงไอ้ธรรมชาติล้วนๆ ถ้าร่างกายของสัตว์ดีขึ้น มันสมองของมนุษย์ก็ดีขึ้น วัตถุมันนำจิต ในระยะแห่งวิวัฒนาการที่มันวิวัฒนาการ ทางกายดีขึ้น ดีขึ้น ทางสมองก็ดีขึ้น ดีขึ้นจนเป็นมนุษย์ หรือว่าในปัจจุบันนี้ ระยะสั้นๆ นี้ ถ้าเราบำรุงร่างกายให้ดี มันสมองส่วนที่ทำหน้าที่อย่างสมองก็ดีขึ้น แต่ไม่ฉลาดในทางที่จะดับกิเลส ไม่ฉลาดในทางที่จะเป็นนิพพาน ดังนั้นเราจะอยู่ให้สบาย กินอยู่ให้สบาย อะไรสบายให้ร่างกายดีที่สุด มันจะเป็นได้ สมองก็ฉลาดขึ้น เก่งขึ้น แต่ไม่เป็นไปเพื่อดับกิเลส เป็นไปเพื่อ เพื่อจมอยู่ในกิเลส มันก็เก่งๆ เพื่อจะจมอยู่ในกิเลส เพราะดังนั้นไอ้หลักลัทธิที่ว่า วัตถุนำจิตหรือจิตแล้วแต่วัตถุนั้น หาความหมายมันสั้นนิดเดียว มันแคบอยู่ตรงนั้น มันหยุดอยู่ตรงนั้น มันไม่นำไปนิพพาน มันนำไปอยู่ใต้วัตถุอยู่เรื่อยไป ดังนั้นเราจะอาศัยลัทธินี้มาแก้ปัญหาของโลก สันติภาพให้แก่โลกนี้ ผมไม่เห็นทาง ไอ้ directive materialism มันจะทำโลกให้มีสันติภาพไม่ได้ แต่ยอมรับว่าจริงที่ว่าจิตมันก็อาศัยวัตถุ แต่อย่าลืมว่าส่วนที่วัตถุอาศัยจิตมันก็มีเหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราอย่าว่าอย่างนั้น เราว่ามันอาศัยซึ่งกันและกัน อย่าว่าวัตถุเหนือจิตหรือจิตเหนือวัตถุ ถ้ามันอาศัยซึ่งกันและกันในบางคราวมันก็ผลัด ผลัดกันอยู่เหนือ เวลาร่างกายสบายมันสมองก็ปลอดโปร่ง นี่ก็ถูกแล้ว แต่มันไม่นำไปสู่พระนิพพาน ดังนั้นความเจริญนั้นมันก็ไม่ใช่ความเจริญที่จะแก้ปัญหาได้ คำว่าเจริญนี้จำไว้เลย ทุกคนจำไว้เลย ความหมายกำกวน สองแง่สองง่าม ว่ามากขึ้นก็แล้วกัน เช่นป่ารกทึบเป็นดงไปหมด ก็ใช้คำว่าเจริญเหมือนกัน ที่อีกข้างหนึ่งโค่นเสียให้หมดป่า มาปลูกตึกอยู่ก็ว่าเจริญเหมือนกัน มันเลยเอาไหน เลยไม่รู้จะเอากันอย่างไร อย่างไหนกันแน่ ดังนั้นคำว่าเจริญนั้นคือมากขึ้นเท่านั้น คือมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้องคำว่าเจริญ ได้ทั้งนั้น ถูกต้องก็ได้ไม่ถูกต้องก็ได้ หากความหมายมีว่ามากขึ้น ดังนั้นเราจะชอบคำว่าเจริญในความหมายโลกๆ ที่เขากำลังนิยมกันอยู่เดี๋ยวนี้ มันจะทำให้เราหลงลงไปอยู่ข้างใต้ เรื่องมากๆและเรื่องลำบากมาก คุณมีรถยนต์กี่คัน คุณมีรถยนต์กี่คัน อยากมีกี่คัน มันก็นั่นแหล่ะระวังแหล่ะความเจริญ มีบ้านกี่หลัง มีเมียกี่คน มีรถยนต์กี่คัน มันจะเป็นเครื่องวัดความเจริญหรือไม่ วัตถุเจริญขึ้นไม่ได้หมายความว่าจิตใจจะเจริญไปในทางของพระนิพพาน มันจะเจริญไปในทางไปเป็นทาสของวัตถุมากขึ้น และปัญหาก็เพิ่มขึ้น เราดับทุกข์ไม่ได้ด้วยวัตถุ ผมก็นึกมากเรื่องนี้ เราเชื่อเหมือนกันว่าเขาอาจจะค้นพบทางวัตถุ ไอ้สารประกอบอะไรที่มันปรุงขึ้นแต่กินแล้วสบายเหมือนกับนิพพานก็ได้ แต่ไม่ใช่นิพพาน เป็นนิพพานไปไม่ได้ จะเป็นยาชนิดที่ว่ากินแล้วหยุด สงบ ระงับ นอนสบาย ไม่ต้องการอะไร มันก็ทำได้แหละ มันต้องทำได้ แต่แล้วมันดับทุกข์อะไรไม่ได้ มันก็ต้องกินยาอันนั้นเรื่อยๆ ทั้งวันทั้งคืน แล้วในที่สุดมันก็จะไม่ได้ขึ้นมา เพราะความชินยาจะทำง่ายกว่ายาแก้ปวดหัวเสียอีกมั้ง ทำยากินให้สบายเหมือนกับเมากัญชา ยาเม็ด ยาเม็ดกินให้นิพพาน หยุด หยุดไอ้ความยุ่งหัว หยุดมันสมอง หยุดอะไรก็สบาย ถ้าทำได้ก็ดีแหละ นักวิทยาศาสตร์ต้องทำได้ แต่จะกลายเป็นยาเสพติดที่ต้องห้ามเสียอีก ดังนั้นเราจึงไม่หวังว่าจะช่วยกันทำยานี้ขึ้นมากินและก็มีอาการเหมือนกับบรรลุนิพพาน ไม่มีหวัง ต้องปฏิบัติเรื่อยๆ ไปในทางดับกิเลส ทำลายกิเลสหรือรังของกิเลสจนไม่มีกิเลสเกิดแล้วเราก็จะสบายก็ได้ นี้ปัญหาอะไรอีกหรือคุณจะซักต่อก็ได้ ถ้าเรื่องของคุณยังไม่จบ คุณถามอีกก็ได้ ถ้าจบแล้วก็เปลี่ยนเป็นปัญหาอื่น
พระสงฆ์ : อีกอย่างหนึ่งครับ ถ้าร่างกายเราแข็งแรง แล้วก็สมองเราปลอดโปร่ง มีวิญญาณ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าจิตใจเราจะดีเสมอไป
ท่านพุทธทาส : นั้นมันก็สบายแบบอนามัย แบบสุขภาพ แล้วทีนี้เราจะเป็นอย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ เพราะมันมีกฏอีกอันหนึ่ง กฏของธรรมชาติที่มันต้องเปลี่ยนนั่น อวัยวะของเราที่เคยปกติเคยสบาย มันเปลี่ยนเป็นไม่สบาย เช่นเปลี่ยนเป็นแก่ชราอย่างนี้ มันก็สบายอยู่ไม่ได้ ปัญหาก็เกิดขึ้นมา แล้วก็ต้องมีจิตใจที่สูงเหนือนั้น จนไม่แยแสกับความชรา จนว่าไม่แยแสต่อความตายอย่างนี้ เราก็สบายอยู่ได้ เพียงแต่ร่างกายมีอนามัยดีนี้ จิตใจมันก็ยังเอาอะไรมาคิดให้เป็นทุกข์ได้ แล้วความสบายทางร่างกาย ทางความอนามัยนั้นไม่คงที่ เปลี่ยนได้ หายไปได้ เรามีร่างกายสบาย แล้วจิตใจก็ปกติ และมีธรรมะทางสติปัญญาเพียงพอ จนว่าอะไรๆ จะเกิดขึ้นก็ไม่เป็นทุกข์ นี่จึงจะได้ อะไรเกิดขึ้นเห็นเป็นเช่นนั้นเองหมดไม่มีความทุกข์ จะทำอะไรก็ทำ ทำได้ แล้วมุ่งหมายเพียงเท่านี้ อย่ามีความทุกข์ แล้วก็มีประโยชน์อยู่ตลอดเวลา แล้วมันมีเท่านี้จริงๆ แต่เราพูดแล้วถูกด่า หาว่าลดๆ ค่าของธรรมะ ลดค่าของพระพุทธเจ้า ผมว่ามันมีเท่านี้ อย่ามีความทุกข์ แล้วเป็นคนที่มีประโยชน์อยู่ตลอดเวลา พอแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นมันก็ไม่มีความทุกข์ พอยกเอาไอ้เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายเข้ามาเป็นข้อแรก แล้วก็ประสบกับที่ไม่รัก แล้วก็พลาดจากที่รัก ถัดๆ ไป ที่จะมาทำให้เราเป็นทุกข์ ที่มาสอบไล่เราว่าเราจะเป็นทุกข์หรือไม่ ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจว่าไม่มีความทุกข์ก็ใช้ได้ อย่าไปเอาคำว่าบรรลุพระอรหันต์มาใช้ มันจะยุ่งเปล่าๆ ไม่ต้องนึก เอาแต่ไม่เป็นทุกข์ก็พอแล้ว แล้วเป็นคนมีประโยชน์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้กำไรมันมากขึ้น อยู่อย่างไม่เป็นทุกข์แล้วก็มีประโยชน์ เป็นประโยชน์อยู่ตลอดเวลา เหมือนพระพุทธเจ้า หรือเหมือนพระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีความทุกข์ และก็ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่โลกอยู่ตลอดเวลา ผมอยากจะพูดว่าให้เรา พวกเรานี้ไม่ใช่ใคร มันเรียนแต่เรื่องทางด้านวัตถุมากเกิดไป ตั้งแต่แรกๆ แรกเข้าโรงเรียนมาจนบัดนี้ มันเรียนเรื่องธรรมะน้อย จึงเห็นเรื่องธรรมะเป็นของแปลก หรือลึกหรือไม่เข้าใจ เพราะเราเรียนมาน้อยนี่เอง คุณไปเทียบดู คุณเรียนเรื่องอะไรมาก จนบัดนี้ เอ้า,ลองเทียบกันดูเถอะ บางทีจะไม่เคยเรียนธรรมะเลยก็ได้ หรือว่าเรียนมาน้อยมาก แต่เรื่องทางวัตถุที่เตลิดไปถึงเรื่องการเมืองการเศรษฐกิจ การอะไรนี้มันมาก มันเรียนมาก มัน ก็รู้มาก ส่วนนี้มันมืด มันเอาไปปรับกันไม่ ไม่ ไม่พอ ไม่ทัน ดังนั้นถ้าว่าโรงเรียนหรือการศึกษาในโลกเขาจัดให้เรียนมาเท่าๆ กัน คู่เคียงกันมา แล้วเราจะดีกว่านี้ มันจะมีหูตาสว่างกว่านี้ เรียนเรื่องวัตถุ เรื่องโลก เรื่องกาย เรื่องอะไร ขนานกันมากับเรื่องธรรมะและเรื่องจิตใจ แล้วเราจะมีปัญหาน้อย จะมีความสว่างในชีวิตมากทีเดียว ที่นี้คุณต้องมาชดเชยกับการบวช ระหว่างบวชก็เพื่อเรียนธรรมะ ชดเชยกับที่มันไม่ได้เรียนมาตั้งแต่ทีแรก ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัยไม่สอน เรามาหาเวลาชดเชยกันด้วยการบวช ผมว่าการศึกษาหมาหางด้วน เขาโกรธ เขาด่าทั้งนั้น ผมก็ยินดี เพราะมองเห็นว่าการศึกษาในโลก มันยังเป็นหมาหางด้วย มันไม่ครบ ไม่พอที่จะให้มนุษย์ที่จบการศึกษาแล้ว ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความพอใจ เรียนแต่เรื่องหนังสือ เรียนแต่เรื่องอาชีพ ไม่เรียนธรรมะเสียเลย ก่อนผมไม่ได้เรียนธรรมะโดยตรง แต่เพราะนับถือศาสนา แล้วก็มีธรรมะอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ เดี๋ยวนี้ศาสนาก็ไม่นับถือ เรียนก็ไม่เรียน เรียนแต่เรื่องวัตถุก้าวหน้ากันไป ไม่รู้จะไปทางไหน มันแปลกที่ว่าบรรพบุรุษปู่ย่าตายายของเราเขามีธรรมะได้โดยที่ไม่ได้เล่าเรียนอย่างพวกเรา เพราะปฏิบัติศาสนา แม้จะด้วยความงมงายทีแรก แต่เขาก็ละไอ้ความยึดมั่นถือมั่นได้กันอย่างเป็นที่น่าพอใจ คนแก่ๆ ที่ทันเห็นนี่มันก็ยังมี ความเฉยได้ ความปล่อยวางได้มากกว่าคนเดี๋ยวนี้ เขาพูดเป็น อ้อ, มันอย่างนี้เอง มันอย่างนี้เอง ถ้าเมียมีชู้ก็อย่างนี้เอง ไม่ต้องไปฆ่า เพราะมันมีความรู้ทางธรรมะโดยไม่ต้องเรียน แต่ผมมีโดยการเชื่อในศาสนา เชื่อคำพระเจ้า เดี๋ยวนี้มันไม่เชื่อ เมียมีชู้มันฆ่าล้างโคตร เพียงแต่ดูตามัน ฆ่าหรือเปล่า มันไม่ได้ทำอะไรกันมากกว่านั้น นี่ความที่มันไม่มีธรรมะเลย คนเรามันแย่มาก มันอยู่ในฐานะที่แย่มาก ปู่ย่าตายายเขาเป็นสุข อยู่กันเป็นสุขกว่านี้มาก ปู่ย่าตายายเขาไม่ค่อยได้กลัวเจ็บกลัวตาย และไม่มีปัญหามากเหมือนคนเดี๋ยวนี้ ตายก็ตาย ผมเคยเห็นคนแก่ๆ สมัยปู่ย่าตายายนั่น เขาไม่ได้กลัวตาย ตายก็ตาย เขาจะพูดอย่างนี้เสมอ เขาถือว่ามันถึงที่ตาย หรือว่าถ้าว่าถือศาสนาอื่นๆ ก็ว่าพระเจ้าต้องการแล้วไม่เป็นไร จะยิ่งดีใจเสียอีกที่จะได้ตายเพราะพระเจ้าเรียกตัว อันนี้มันก็ไม่เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เจ็บอะไรนิดหนึ่งก็จะไปโรงพยาบาล มันกลัวตายมากเกิน ท้องเสียมากไปหน่อยก็จะไปโรงพยาบาล ปวดหัวมากไปหน่อยไปโรงพยาบาล คนสมัยโน้นไม่รู้ไม่ชี้ขนาดนี้ เดี๋ยวมันหายเอง ปัญหาที่มีอยู่จริงไม่ต้องเกรงใจ คุณมาถามเหอะ เพราะมันจะเป็นประโยชน์
พระสงฆ์ : ผมอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เกี่ยวกับมนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย แล้วร่างกายส่วนประกอบที่เป็นมนุษย์นี้ มันเป็นพวกดิน น้ำ ลม ไฟ ต่างๆ เหมือนกัน เวลาเราตายหรือว่าไอ้ทำความดีหรือความชั่ว เมื่อตายแล้วมันก็ต้องเข้าสู่สภาพเดิมเหมือนกันทุกคน แบบนี้แล้วเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมะจะมีผลอะไรขึ้นมาบ้างครับ แบบคล้ายๆ เรา ถ้าเรา แบบคล้ายถึงเราจะปฏิบัติชั่ว เราสามารถอยู่จนกระทั่งเราได้สบาย จนกระทั่งเราตายไปแล้วนี่ครับ เราปฏิบัติดี เราไม่ได้เสพอะไร แล้วเราตาย น่าจะเหมือนกันไม่ใช่เหรอครับ แบบคล้ายว่า จะตายแล้วเข้าสภาพเดิมได้
ท่านพุทธทาส : นั่นแหละ ถ้าคุณมองอย่างนั้น มันก็เหมือนกันนั่นแหละ ตายแล้วก็ไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ตามเดิม อะไรไปตามธาตุเดิม แต่ว่าเราทนทุกข์ไหว ถ้ามันมีความทุกข์ก่อนแต่ตายนี่ เราไหว เราจะไม่ปวดหัว เราจะไม่เป็นโรคประสาท เราจะไม่เป็นโรคจิต เราต้องทนได้
พระสงฆ์ : ถ้าเรามีปัญญา แต่คนบางคนกระทำดี แต่เป็นคนโง่ แต่คนบางคนกระทำชั่ว แต่เป็นคนฉลาดนี่ ผมว่า คนที่ฉลาดมันน่าจะเอาตัวรอดได้มากกว่า
ท่านพุทธทาส : อย่างนั้นเขาไม่เรียกฉลาด ถ้าว่า ถ้าพูดอย่างธรรมะ ภาษาธรรมะ ไอ้ฉลาด ไอ้หาประโยชน์ฉลาดอย่างนั้น เขาเรียกว่าฉลาดอย่างกิเลส เรียกว่าเฉก แม้แต่โกวิโทนี้ก็ยังเป็นฉลาดชนิดที่เป็นอวิชชา ฉลาดเป็นอวิชชา คือฉลาดในทางที่ไม่ควรจะฉลาด ไอ้ฉลาดในพุทธศาสนาต้องดับทุกข์ได้ ต้องดับทุกข์ได้จริงๆ จึงจะเรียกว่าฉลาด มีปัญญาใช้คำว่าปัญญา มีญาณทัศนะ มีปัญญาฉลาด แต่ว่าฉลาดที่กิเลสนำไปนั้นน่ะ มันก็เรียกว่าเฉโกบ้าง ไม่มีคำอื่นเรียก อย่างฉลาดแกมโกงอย่างนั้น เช่นเด็กคนนี้ตัวเล็กๆ นี้นะ มันๆ รู้ว่าแม่จะตี พ่อจะตีเพราะเหตุนี้ มันก็มีความฉลาดที่จะโกหกว่าไม่ได้ทำอันนี้ เพื่อจะไม่ให้ถูกตี เพราะมันต้องๆ มีความฉลาดที่ๆจะเป็นเรื่อง เป็นเพื่อนของกิเลส ดังนั้นเรา เราต้องรู้ว่าไอ้ความฉลาดมันมาจากธาตุ ธาตุของความฉลาด ธาตุของความรู้ แต่แล้วแต่ว่ามันจะเดินไปผิดหรือเดินไปถูก ถ้ามันเดินมาถูกก็เรียกว่าโพธิ ถ้าความฉลาด ธาตุแห่งความฉลาดมันเดินมาถูกก็เรียกว่าโพธิ ถ้ามันเดินผิดเรียกว่ากิเลส แต่จริงๆ ความฉลาดเหมือนกัน แล้วมันก็จะต้องเกิดขึ้นเองได้เหมือนกัน โดยไม่ต้องรู้และไม่รู้หรือจนกว่าจะรู้ จนกว่าจะเปลี่ยนแปลงมัน ถ้าว่ามัน แม่ไม่ให้สตางค์เขาก็ต้องขโมย ดังนั้นอย่าๆ ไปหาว่าเขาโง่หรือว่าจะไปตีเขา เมื่อแม่ไม่ให้สตางค์ มันก็ความฉลาดของมันก็ต้องขโมย หรือว่าแม่เขาห้ามไม่ให้ทำอะไร ไปทำก็แล้วแม่จะตีก็ต้องโกหกเพราะดังนั้นการโกหกก็คือความฉลาด ต้องหาทางออกให้แก่ความผิดของตัวให้ได้ ดังนั้นกิเลสก็คือความฉลาดที่มันเดินผิดทาง ถ้าเราฉลาดในทางถูกก็ดับทุกข์ ไอ้ธรรมะนี้ต้องการเพื่อจะดับทุกข์นะ คุณๆ ต้องๆ จำเมื่อตะกี้ เพราะเมื่อตะกี้ก็พูดทีแล้ว พระพุทธศาสนาไม่มีเรื่องอื่น นอกจากเรื่องดับทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันไม่ได้พูด .....
พระสงฆ์ : แล้วผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากการตาย มันไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนานี่
ท่านพุทธทาส : ไม่ได้พูดถึง จะพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น ถ้าว่ามันไม่มีความทุกข์ก็ไม่ได้สนใจคือไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง พุทธศาสนาไม่ต้องตอบคำถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด พุทธศาสนาพูดแต่ดับทุกข์ ดับที่นี่ให้ได้แล้วจะไม่มีเหลือสำหรับดับที่ไหนอีก ดังนั้นทำดับทุกข์ที่นี่ให้ได้ คือว่าดี ทำดี ทำอะไรที่มันดับทุกข์ได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ให้มันหมดปัญหาต่อ ดังนี้ถ้าสมมติว่ามันจะเกิดอีก ชาติโน้นจะเกิดอีก มันก็ไม่มีทุกข์ถ้าทำถูกต้องอย่างนี้แล้ว แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยังใช้คำอย่างนี้ ถ้าโลกหน้ามี เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะเราทำสำหรับจะไม่เป็นทุกข์แล้วทีนี้ ถ้าว่าพูดอย่างแท้จริง อย่างที่พระพุทธเจ้าพูด อย่างพระพุทธเจ้าท่านจะพูดถึงเรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ไม่พูดถึงเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เรื่องตัวตน เรื่องอะไรไม่พูด ตายแล้วจะเป็นอย่างไรก็ไม่พูด แต่พูดโดยการอ้อมว่า ดับทุกข์ที่นี่ให้มันหมดเถอะ ถ้าแม้ว่ามันจะมีเกิดมาใหม่อีก มันก็ไม่มีทุกข์ ดังนั้นอย่าไปตั้งปัญหาว่าจะเกิดหรือไม่เกิด จะเอาอะไรไป จะเอาไปได้อย่างไร เหมือนที่ชาวบ้านเขาชอบพูดกันนัก แล้วผมก็ไม่พูด ไม่อยากให้พูด ขอร้องให้หยุดพูดเรื่องอย่างนั้น มาพูดเรื่องจะดับทุกข์อย่างไร เขากลับไม่ชอบ แล้วชักชวนเขาให้เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาจริง ๆ เขากลับไม่ชอบ เขาอยากจะให้พูดเรื่องตายแล้วจะได้อะไร จะพาไปอย่างไร ซึ่งมันเป็นเรื่องไม่จำเป็นทั้งนั้น แล้วเขาหาว่าเราซะอีกไม่พูดเรื่องพุทธศาสนา เพราะไม่พูดเรื่องตายแล้วเกิด ไม่พูดว่าจะเกิดอย่างไร จะเอาอะไรไปได้อย่างไร เรื่องอย่างนี้ถ้าว่าแล้วมันก็เขาพูดกันอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้า ตายแล้วเกิด เกิดอย่างไร เขาพูดกันอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้า เขาถือว่ามีตัวมีตนกันอย่างแน่นแฟ้นอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้า พอพระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้นมาในโลก ท่านก็จะไปพูดเรื่องนั้นซ้ำทำไม ท่านก็พูดถึงปัญหาที่สำคัญกว่า คือเรากำลังมีความทุกข์ ทุกข์อย่างที่ทุกข์กันอยู่นี่แหละ ที่พวกท่านทั้งหลายทุกข์กันอยู่นี่ ท่านจะดับมันได้อย่างไร นั้นอย่ามาถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ป่วยการมาถาม เดี๋ยวนี้จะดับทุกข์ที่มีอยู่นี้อย่างไร ดังนี้เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนา
พระสงฆ์ : บางสิ่งบางอย่างเขารังแกเราด้วยความเลวร้ายนี่ เราจะตอบแทนเขา เราจะต่อสู้เขาด้วยความดี คล้าย ๆ แบบนี้เราก็เสียเปรียบเขาซิครับ แบบถ้า .....
ท่านพุทธทาส : นั้นมันเป็นปัญหาทางศีลธรรม ถ้าจะว่าพูดกันแล้วมันเป็นปัญหาทางศีลธรรมที่มันลดหลั่นลงมา แต่เขาก็เปิดโอกาสให้คุณก็เลือกเอาซิ เลือกเอาซิ ก็ลองตอบแทนดู ลองต่อสู้แบบนั้น ต่อสู้แบบนี้ ต่อสู้แบบโน้น ต่อสู้ แล้วในที่สุดจะพบเองว่าต่อสู้แบบไหนดีที่สุด จะต่อสู้ด้วยความร้ายดีหรือว่าจะต่อสู้ด้วยความดี ดี พระเยซูก็ เขาสนใจเรื่องนี้มาก เขาจึงสอนสาวกทางให้ต่อสู้ด้วยความดี ถ้าเขาตบแก้มซ้ายให้เขาตบแก้มขวาด้วย หรือว่าถ้าเขาขโมยเสื้อไปแล้ว เอาผ้าห่มตามไปให้ด้วย นี่มันมากกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก ดังนั้นเรายังไม่มากนัก ไม่ต้องกลัว พุทธบริษัทนี้แม้จะสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี แต่ก็ยังไม่มากนัก ก็ยังไม่เลยไปถึงว่า ก็เขาให้เลือกนี่ เลือก ต่อสู้หรือตอบแทน ตอบโต้แบบไหนลองเลือกดู แล้วจะพบเองแบบไหนดีที่สุด ในที่สุดทางศีลธรรม มันมายุติแบบต่อสู้ด้วยความดี ชนะด้วยความดี ดังนี้ดีกว่า ถ้ากลัวว่าเสียเปรียบ มันก็ดูให้ดีก่อน ก็เอาสิ ชนิดไหนไม่เสียเปรียบลองดู เรื่องก็จะบานปลายไปใหญ่ ยุติไม่ได้ ก็เป็นปัญหาของมนุษย์จริงๆด้วยเหมือนกัน ที่ว่าจะมีศัตรูเกิดขึ้น แล้วทำร้ายเรา ทำอันตรายเรา เราจะต่อสู้อย่างไร จึงจะเป็นผลดี ถ้าเราต่อสู้แบบฟันต่อฟัน ตาต่อตาก็คือโบราณ โบราณเขาสอนกันมาอย่างนั้น พระเยซูเกิดขึ้นมา ว่านี้ใช้ไม่ได้ เลิกๆ ไอ้ฟันต่อฟัน ตาต่อตานี้ให้เลิก เปลี่ยนเป็นอย่างที่พระเยซูสอน พุทธศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าว่าเรายิ่งดีเขาก็หาว่าแพ้ เหมือนกับหมายิ่งวิ่ง มันยิ่งไล่กัด หรือว่าวัว ยิ่งวิ่งหนี มันยิ่งไล่ แล้วก็อย่างนั้น ก็อย่าง ในที่สุดมันก็ไปจบลงด้วยการทำให้ยุติได้ด้วยความรัก ด้วยความเข้าใจกันได้ แต่มันก็ยาก ไม่ใช่ง่ายในการที่จะให้ ให้เพื่อนร่วมโลกกัน ถืออย่างเดียวกันนี้มันยาก ผมก็ไม่มองเห็นทางเหมือนกันแหละ เห็นเหมือนกับคุณว่า เราไม่กล้าถือหลักจนคนอื่นมาเอาเปรียบเรา หรือเราเสียเปรียบแก่คนอื่นอยู่ตลอดเวลา ปัญหาในโลกอย่างเดี๋ยวนี้ว่า มันไม่มี ๒ ฝ่ายระหว่างขวากับซ้าย หรือเสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ จะมาชวนให้ถือธรรมะเพื่อสันติภาพ มันไม่กล้า มันไม่กล้า เพราะกลัวเสียเปรียบ อย่างรัสเซียเขาจะครองโลกนี้เขาไม่ ไม่ ไม่ถือ ไม่ถือธรรมะหรอก เขาก็ต้องการจะครองโลกหรือมาถือธรรมะอยู่ได้อย่างไร เขาไปชวนอเมริกันว่าถือธรรมะ โอ้,เสียเปรียบรัสเซีย เอาไม่ได้ เราทำไม่ได้ เราก็เสียเปรียบรัสเซีย ดังนั้นโลกนี้ก็ไม่มีทางที่ว่าจะถือธรรมมะกันได้ นี้มันเป็นปัญหาที่เรียกว่าเหนือวิสัยของบุคคลบางคน เลยยกให้เป็นกรรมของสัตว์โลก เป็นกรรมของสัตว์โลกทั้งโลกที่คนในโลกมันทำความเข้าใจกันไม่ได้ แล้วมันจะฆ่ากันวินาศ จนพวกที่ไม่มีไอ้ส่วนสงครามก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ยกให้ว่าเป็นกรรมของโลก ของสัตว์ที่เกิดมาในโลกที่มันไม่มีธรรมมะ นี่เราก็มีสงคราม เราไม่ได้ทำอะไรกับเขาก็เดือดร้อนเหลือประมาณ บางทีจะถูกกัมมันตภาพรังสีตายเปล่าๆ ไม่ได้ทำอะไรกับเขา (นาทีที่ ๑:๓๕:๔๖ เสียงหาย) เรียกว่าไม่เป็นทุกข์ ถ้าเขาจะรบกัน เอาปรมาณูมาหว่านเต็มไปทั้งโลก เราก็เตรียมสำหรับจะไม่เป็นทุกข์ จะดับจิตลงไปโดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าธรรมดามันก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เราจะไม่ ไม่รู้สึกเป็นทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่แล้ว เรามาอยู่ร่วมโลกกับอันธพาล มันก็ต้องได้รับลูกหลง เราจะต้องตายก็ไม่เป็นทุกข์แล้วกัน มันจบลงโดยไม่เป็นทุกข์ ตลอดเวลาไม่เป็นทุกข์ นั่นน่ะคือถูก ดังนั้นผมจึงไม่กลัวเหมือนที่เขากลัว สงครามโลกครั้งที่ ๓ ที่ ๔ ผมไม่กลัว เพราะว่าเรามีธรรมมะสำหรับจะไม่กลัว แล้วก็ไม่เป็นทุกข์ด้วย ไม่กลัวคือไม่เป็นทุกข์ ถ้ากลัวก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าคนแก่ๆคนนั้นมันกลัวนัก ไปบอกเขาเถอะว่า มันนอกเบ็ดเตล็ด เรื่องนอก นอกเรื่อง เราไม่ต้องเป็นทุกข์ ต้องไม่เป็นทุกข์เพราะชีวิต ที่มันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาไม่เป็นทุกข์เว้ย อย่างเดียวพอ มันจะเป็นอะไรก็ช่างมัน มันอย่างนั้นเอง มีคนพูดเรื่องหนึ่งว่ามีคนกลัวไปล่วงหน้าที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓ นี้ กลัวจนเป็นโรคประสาทกันเยอะแยะไปแล้ว เพราะมันอบรมมาผิด มันอบรมมาผิดวิธี มันระงับความกลัวไม่ได้ มันกลัวเก่ง มันคิดอย่างมีเหตุผลสำหรับจะต้องกลัว แล้วมันก็กลัว แล้วมันก็เป็นโรคประสาทไปล่วงหน้ากว่ามันจะต้องตาย เมื่อสงครามมาถึงจริงๆ ดังนั้นคุณอย่ากลัว ถ้ากลัวก็ไม่ใช่ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า บอกกันอย่างนี้ดีกว่า
.... ทอง ขอน้ำให้เรากิน เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก ปัญหาแต่ละปัญหาซักได้ถึงที่สุด
พระสงฆ์ : ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า การทำสมาธิในขั้นต้นที่กำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น หรือว่าวิ่งตามลมหายใจอยู่ตลอดเวลานั้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขั้นนี้เราทำได้ดีแล้วและจะไปสู่ในขั้นที่ ๒ ต่อไป และในการทำสมาธินี้จะเป็นพื้นฐานในการทำให้เราดับทุกข์ได้จนถึงขั้นนิพพานถาวรได้หรือไม่ครับ
ท่านพุทธทาส : ถามไม่ค่อยได้ยิน ... คือมันต้องรู้แหล่ะ ต้องรู้ว่าได้หรือไม่ได้ เช่นว่าเราจะกำหนดลมหายใจที่เรียกว่าวิ่งตามลมนี้ ถ้าเรากำหนดไม่ได้เราก็รู้ ถ้ามันหนีทิ้งไปเสียเราก็รู้ ถ้าได้เราก็รู้ ทำไมจะไม่รู้ มันมีแต่พยายามให้มันได้เท่านั้นแหละ มันอย่างนั้นแหละไอ้การทำสมาธิ มีอะไรอันหนึ่งมาสำหรับจิตกำหนด กำหนด ถ้ามันหนีไปเสียไม่กำหนดก็คือล้มละลาย ถ้ามันกำหนดอยู่จนถึงที่สุดตามที่เราต้องการก็เรียกว่าสำเร็จ มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ เพราะนั้นอย่า อย่ายอมแพ้ง่ายๆ สิ ทำเรื่อยไปจนได้ ก็วิ่งตาม วิ่งตามสิได้ก็ก็ได้สิ จะได้เลื่อนขึ้นไปในชั้นที่เฝ้าอยู่ ที่แห่งหนึ่งก็ได้อีกแหละ มันก็รู้อยู่นี่ว่าได้หรือไม่ได้
พระสงฆ์ : คือหมายความว่า เรายังต้องตามอยู่ตลอดเวลา และไม่มีสิ่งอื่นมารบกวนอย่างนี้ใช่ไหมครับ
ท่านพุทธทาส : อืม, ถ้ามันวิ่งตามอยู่ มันอะไรจะรบกวนได้ เพราะมันคอยกำหนดอยู่แต่สิ่งนี้ มันไม่สนใจสิ่งอื่น ก็ไม่มีอะไรมารบกวนได้ ถ้ามีอะไรมารบกวนได้ มาเอาจิตไปเสียไม่มีการกำหนดนั่นก็คือล้มเหลว คือไม่ได้ ทำใหม่อีก ทำใหม่อีก ผมเคยบอกว่าให้ดูตัวอย่างหัดพายเรือ หัดแจวเรือ หัดขี่รถจักรยานนี้ ไม่มีใครทำได้ทันที เห็นอยู่แท้ๆ พอไปทำมันก็ไม่ได้ แม้จะพายเรือนี่เห็นเขาพายอยู่ตรง พอเราลงไปจับพายหันไปหันมา ต้องหัดตั้งหลายๆ ๑๐ ครั้งกว่าจะพายเรือตรง ขี่รถจักรยานก็จะยิ่งเห็นชัด มันต้องหลาย ๑๐ ครั้ง มันต้องล้มหลาย ๑๐ ครั้ง มันจึงจะขี่ได้ ทีนี้ทำจิต ขี่จิตนี้ก็เหมือนกัน ต้องปลุกปล้ำกันหลาย ๑๐ ครั้งก็ขี่ได้ ก็หมายความว่าเราควบคุมจิตได้คือเป็นสมาธิ ดังนั้นจะทำไปทำไม คุณถามว่าจะไปเพื่อนิพพานอันถาวร ได้หรือไม่ ก็แสดงว่าไม่เข้าใจ ไอ้นิพพานถาวรนั้น มันต้องเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง แล้วมันเฉยมันไม่ยึดถืออะไร ก็เป็นนิพพานถาวร ถ้าไม่งั้นเป็นเพียงนิพพานชั่วคราว ชั่วขณะ ชั่วเวลาเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อย เราต้องเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงจนไม่ยึดถืออะไร ดังนั้นเราจะเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงนั้น มันต้องเห็นด้วยจิตที่เป็นสมาธิเท่านั้นนะ ด้วยเหตุนี้เราต้องฝึกจิตให้เป็นสมาธิก่อน สำหรับจะได้เอามันเป็นเครื่องเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง จิตเป็นสมาธินั้นตั้งมั่นบริสุทธิ์ ว่องไว รวดเร็ว ว่าอีกที ถ้าว่าอีกทีหนึ่งก็คือการเตรียมจิตสำหรับจะดู จิตเป็นสมาธิสมถะนั้นคือเราเตรียมมันให้พร้อมที่จะดูเป็นจิตวิปัสสนา จิตวิปัสสนาคือเป็นจิตที่ดูให้เห็นตามที่เป็นจริงว่าอะไรมันเป็นอย่างไร ที่นี้มันไม่มี ไอ้ลูกตาเท่านั้นมันยังไม่มี ก็เลยฝึกสมาธิ ฝึกสมถะคือทำจิตนี้ให้เป็นจิตที่พร้อมที่จะดู เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นวิปัสสนา ละกิเลสได้ก็เป็นนิพพานอันถาวร พูดมาตั้งแต่ข้างบนก็ว่า นิพพานที่แท้นั้นมันต้องเห็นสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง จนไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร เราจะเห็นได้อย่างไร เอาไรไปเห็น เอาตาไหนไปเห็น ก็คือฝึกจิตให้เหมาะสำหรับจะดู นี่คือฝึกสมาธิในระยะแรก ถ้าเราฝึกในระยะแรกเป็นสมาธิได้ เราก็ได้ลูกตามาสำหรับจะดูคือจิตที่เป็นสมาธิ สมาธิมันรวมโฟกัสรุนแรงที่จะส่องให้ลึก กำลังจิตกำลังอะไรต่างมันรวมมาเข้มข้นสำหรับจะส่อง สมาธิจึงมีใจความสำคัญว่า รวบรวมจิตที่มันซ่านไปรอบด้านให้กลับ ให้มารวมกันอยู่ที่จุดเดียว เพื่อให้มันแรงในการที่จะเห็นนั้นน่ะ แต่เขามักจะพูดไปในการที่จะรู้ เขาใช้คำว่ารู้ ใช้คำว่ารู้มันไม่ค่อยถูก คุณจำไว้เถอะ เพื่อจะเห็นมากกว่า วิปัสสนาแปลว่าเห็น ปัสสนาแปลว่าเห็น วิแปลว่าแจ่มแจ้ง เพื่อจะเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ต้องเตรียมจิตชนิดนั้นมา ก็คือเตรียมจิตที่เป็นสมาธิ เรียกง่ายๆว่ารวมโฟกัสที่พล่ารอบตัวมาเป็นจุดเดียว แล้วมันก็แรงมาก เหมือนไอ้แก้วโค้งๆ เอามารอแสงอาทิตย์ รวมแสงอาทิตย์ที่พล่าทุกด้านมาเป็นจุด รวมมันก็เลยลุก ร้อนจัดจนลุก ลุกไปเป็นไฟได้ ทำจิตให้เป็นสมาธิ มันก็มีอุปมาเหมือนอย่างนั้น ไอ้ทางแสงที่มันๆ ซ่านไปทุกทิศทุกทางมารวมอยู่ที่จุด มารวมอยู่ที่จุดนี้มันก็เลยร้อนจัด จนลุกเป็นไฟ ที่นี้จิตที่มีปกติซ่านไปรอบตัว เอาอารมณ์เพียงอย่างเดียวมาให้กำหนด ให้มาอยู่ที่นี่ มารวมกันอยู่ที่นี่ มารวมกันอยู่ที่นี่ จิตนั้นมันก็เป็นจิตแรง เรียกว่าเหมาะสำหรับจะส่องดูธรรมะความจริงของสิ่งทั้งปวง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริง เพราะมันมีแรงส่องมาก พอเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กิเลสมันก็อยู่ไม่ได้ เมื่อหมดกิเลส มันก็นั้นน่ะคือปลาย จุดหมายปลายทาง นิพพานอันสมบูรณ์ถาวร เดี๋ยวนี้เราอยู่กับนิพพานชั่วคราว นิพพานน้อยๆ นิพพานชั่วคราว คือเมื่อจิตไม่มีกิเลส เมื่อจิตว่างจากกิเลสตามธรรมชาติหรือตามเหตุปัจจัยอะไรก็ได้ บังเอิญก็ได้ บังเอิญกิเลสไม่เกิดก็สบายดี พอกิเลสเกิดขึ้นก็คือไฟ ลุก ร้อนเป็นทุกข์ ที่นี้มันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ มันก็ว่างจากกิเลสเป็นขณะ ขณะ เวลาที่เราสบายใจ คุณไปสังเกตดูเถอะ เวลาไหนที่สบายใจมันยังไง เวลาไหนที่ใจหยุด สงบ เย็น ใสเป็นยังไง มันก็เป็นได้เองอยู่บ่อยๆ แหละ หรืออย่างน้อยมันก็ต้องมีตามสมควรทุกวัน ทุกวัน อย่างน้อยที่สุดเราก็หลับ มีเวลาที่เราหลับ ที่กิเลสไม่รบกวน เวลาที่กิเลสไม่รบกวน นี้เราจะสมมติเป็นนิพพานชั่วขณะ แล้วเราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ตลอดเวลานั้น พอกิเลสมาก็ทุกข์กันอีกนะ เผลอไปกิเลสเกิดขึ้นก็เป็นทุกข์กันอีก สู้กันไปสู้กันมาหรือมันเปลี่ยนของมันเอง มันก็หายไป เอ้า, ก็สบายกันอีก นี่เรียกว่า วัฏฏะสงสาร เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง ให้ทำจนกิเลสเกิดไม่ได้ ปิดกั้นหรือว่าป้องกันหรือว่าทำลายหรือว่าละเสียหรือว่าบรรเทาเสียอะไร จนกิเลสไม่เกิดโดยเด็ดขาด ดังนี้เป็นพระนิพพานแท้ถาวรนิรันดร ดังนั้นเราอยู่ได้ด้วยนิพพานน้อยๆ ชั่วขณะอยู่แล้ว ทุกคนนะ ทุกคนนะ ถ้าใครไม่มีเวลาที่จะว่างจากกิเลสบ้าง คนนั้นเป็นบ้านานแล้ว ไม่ได้มานั่งพูดกันอยู่นี้ หรือเป็นทุกข์อยู่จน ดังนั้นสนใจนิพพานชั่วขณะน้อยๆ นี้บ้าง จะเข้าใจนิพพานสมบูรณ์ นิพพานใหญ่ นิพพานสมบูรณ์ บางทีเราเรียกว่านิพพานตัวอย่าง นิพพานตัวอย่างสินค้า คุณต้องพยายามชิมมันให้มาก คุณจะได้ชอบหรือรักไอ้นิพพานที่สมบูรณ์ พยายามชิมนิพพานตัวอย่างสินค้านี้ เมื่อเวลาไหนจิตมันสบาย สบาย สบายก็คือพอใจนั่นแหล่ะ ชิมมันให้มากๆ จะได้พอใจ จะได้รักความเป็นอย่างนั้น จะพยายามมากขึ้นๆ จนมันเป็น มันใกล้นิพพานจริงเข้าไปทุกที จนมันสมบูรณ์ได้ เราพูดอย่างนี้เขาหาว่าพูดเอาเอง พูดโกหก พูดหลอกลวงคน พูดให้นิพพานของพระพุทธเจ้าไร้ความหมาย ผมถูกด่าอยู่เรื่อย ถูกด่า ด่าโดยคนที่เขา เขาสอนมาไม่มีนิพพานอย่างนี้ นิพพานตัวอย่าง นิพพานชิมลองที่นี่เดี๋ยวนี้ไม่มี เขาให้รออีกกี่หมื่นกี่แสนชาติ คุณจะต้องรอตายแล้วตายอีกกี่หมื่นกี่แสนชาติ คุณจึงจะถึงนิพพาน จึงจะได้รู้ รู้รสของนิพพาน เรียกว่าไม่ๆ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เราชิมรสพระนิพพานตัวอย่างนี้เรื่อยไป เรื่อยไป เรื่อยไป จะมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น แล้ววิธีนับชาติ นับว่ากี่ชาตินี้ เราก็นับผิดกันด้วย นับว่าเกิดอุปาทานครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่งไม่ต้องตายเข้าโลง ถ้าเกิดอุปาทานตัวกูของกูครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง เดี๋ยวมันดับไปคือตาย ดังนั้นในวันหนึ่งเราอาจมีหลายสิบชาติ หลายร้อยชาติ หลายพันชาติ ดังนั้นเราก็มีชาติตั้งหลายหมื่นหลายแสนชาติได้ ก่อนเข้าโลง เราก็เลยได้นิพพานที่สมบูรณ์ได้ ไม่ต้องรอหลายหมื่นหลายแสนชาติอย่างที่เขาพูด ชาติเข้าโลงชาติเกิดท้องแม่ ชาติเข้าโลง ก็รอไปอีกกี่หมื่นกี่แสนชาติก็ตามใจ เรามันนับชาติกันแบบนี้ แบบที่เผลอเกิดกิเลสครั้งหนึ่งคือชาติหนึ่ง ดังนั้นกว่าจะตายก็ได้หลายหมื่นหลายแสน แล้วพบกับนิพพานกันก่อนแต่จะเข้าโลง มีคนด่าอย่างหยาบคายมากว่าพูดเอาเอง โกหกหลอกลวงประชาชนทำให้นิพพานของพระพุทธเจ้าหมดความหมาย ทำให้พุทธศาสนาไม่มีค่า เพราะนิพพานที่นี่เดี๋ยวนี้มันง่ายเกินไป คนนั้น คนนั้น มันไม่รู้ว่าไอ้นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ช่วยมันไว้ ไม่ต้องเป็นบ้าตาย คือมันมีเวลาที่สงบจิตสงบใจว่างจากกิเลสอยู่บ้าง เราจึงไม่เป็นบ้าตาย ถ้าใครมีโลภะ โทสะ โมหะอยู่ทั้ง ๒๔ ชั่วโมง สองสามวันมันก็ตาย ไม่ต้องรอเป็นเดือนหรอก คุณลองไปใคร่ครวญสังเกตดูเถอะ ถ้ามีความโลภ ความโกรธ ความหลงกิเลสเหล่านี้อยู่ทั้ง ๒๔ ชั่วโมงไม่มีเวลาหลับ วันเดียวมันก็ตาย ดังนั้นเรามีเวลาว่างจากกิเลสตามธรรมชาติโดยสมควรที่จะรอดชีวิตอยู่ได้ ถ้ากิเลสเกิดตลอดเวลามันก็ปวดหัว ปวดหัว ปวดหัวแล้วมันก็เป็นโรคประสาท เป็นโรคจิต แล้วมันก็ตาย อยู่ไม่ได้ เวลาไหนสบายที่สุด สบายจริงๆ ไม่ใช่สบายทางกามารมณ์นะ ไอ้นั้นมันก็สบายชนิดที่ว่าเหมือนกับไม่ได้พักผ่อน ไม่สบาย แล้วก็มี มีคำประหลาดที่เป็นภาษาอังกฤษน่ะ ผมสอบถามฝรั่งดูแล้วว่าไอ้ Having ไอ้ Good time น่ะ ไอ้นั่นนะร้าย ไอ้ Good time น่ะ คือเวลาอร่อยไปตามเรื่องของกิเลสทั้งนั้น เขาแนะว่าให้ใช้คำว่า Happy time ท่านจะต้องมีเวลา Happy time ที่พูดอย่างผมพูดต้องใช้คำเป็นภาษาอังกฤษว่า Happy time ถ้า Good time คือว่าไอ้เรื่องบ้านะ เรื่องอร่อย เรื่องสนุกสนาน เรื่องกิเลส เรื่องที่ปุถุชนนิยมนะ นั่นแหละ Good time Having a Good time เหมือนแมวนอนตากแดดสบายอย่างดังนั้น Having a Good time แต่ว่าถ้าว่าไปเทียบกับแมวแล้วเราจะเป็น Happy time ได้ เพราะว่าไอ้แมวนอนตากแดดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับกิเลสอะไรได้ ที่มีบ้านเรือนสบาย ที่มีลูกเมียพรั่งพร้อม มีเงินใช้นี่ Good time ถ้า Happy time มันหมายถึงจิตมันสบาย ไม่ใช่ร่างกายสบาย ดังนั้นภาษาทำยุ่ง คือทำให้เข้าใจผิดได้ด้วยกันทุกภาษา เราก็เคยใช้ภาษาผิด ภาษาไทยเอง ภาษาไทยของเราเองเราเคยใช้ผิด ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษก็ยิ่งมีทางที่จะใช้ผิด ไอ้คนฟังก็เข้าใจผิดต่อไปอีก เลยเรื่องมันไม่จบ สบายดีฟังแล้วมันก็น่าชื่นใจนะ แต่มันมีความหมายชนิดที่ ที่ร้ายกาจก็มี สบายดี และมีความหมายที่ถูกต้องดีจริงๆ ก็มี ไอ้ศัพท์ที่บูชากามอารมณ์ เขาก็ เมื่ออร่อยด้วยกามารมณ์คือสบายดี หรือได้กามารมณ์อย่างที่เขาต้องการ เขาก็เรียกว่าสบายดี แต่ท่านพระอรหันต์ว่าบ้า ยุ่งจะตายสบายดีอะไร ความหมายมันคนละอย่าง ต้องเป็นทาสของกิเลสนะเขาว่าสบายดี เมื่อได้เป็นทาสของกิเลส กิเลสได้เหยื่อได้อะไรเป็นทาสของกิเลสนั่นน่ะ สบายดี แต่ตามทางธรรมะนั้น เมื่อ เมื่ออยู่เหนือกิเลส เมื่อควบคุมกิเลสได้ เมื่อกิเลสไม่มาตอแย กิเลสไม่ชวนไปหาเหยื่อ เมื่อนั้นน่ะสบายดี ต้องหาเงินไปซื้อกามอารมณ์ พอความรู้สึกเกิดขึ้นก็ต้องไปหาเหยื่อของกามารมณ์ ไม่เป็นอิสระแก่ตัว ดังนี้เขาก็ว่าสบายดี โชคดี สบายดี มีเงินไปหล่อเลี้ยงกิเลสตัณหามาก เงินเดือนไม่พอใช้ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องนึกถึงเรื่องเงินเดือนจะพอใช้หรือไม่พอใช้ เราจะเอาแต่ว่าหล่อเลี้ยงกิเลสสบายดี รู้จักความหมายภาษาธรรมกับภาษาคนไว้ให้ดี หาหนังสือเรื่องภาษาคนภาษาธรรมอ่านเสียบ้าง ที่ร้านนายวิโรจน์มีขาย ทุกคำมันมีความหมายเป็น ๒ ภาษา เช่นความสุข ความสุขภาษาคนคืออย่างนั้น ความสุขภาษาธรรมคืออย่างนี้ ใช่ว่าดูหน้าไม่ได้นะ มันต่าง แม้อย่างอื่น ความหมายอย่างอื่น มันก็ยังต่างกันอยู่นะ เรื่องอื่นความหมายอย่างอื่น โลกในภาษาคน โลกในภาษาธรรม พระเจ้าในภาษาคน พระเจ้าในภาษาธรรม ที่นี้หนังสือเรื่องภาษาคนภาษาธรรมแปลเป็นภาษาอังกฤษก็มี แปลเป็นภาษาเยอรมันก็มี ไอ้ที่เขาแปลเป็นภาษาเยอรมันนะ มันมีคนเขียนวิจารณ์ลงหนังสือต่างๆ ว่าเป็นวิธีใหม่ที่เราจะใช้ในการศึกษาวิชาความรู้หรืออ่านพระคัมภีร์กันใหม่ เราจะได้รับประโยชน์ที่แปลกออกไป ที่ไม่เคยได้ ซึ่งก็หมายความว่าเดี๋ยวนี้เราจะอ่านคัมภีร์ไบเบิลกันเสียใหม่ด้วยวิธีภาษาธรรม เราจะได้ความหมายที่ถูกต้อง ที่มีประโยชน์ อย่างที่เราไม่เคยใช้ ก่อนนี้เราอ่านแต่ภาษาธรรม อ่านภาษาแต่คน มันเข้าใจไม่ได้ แล้วมันขัดกับวิทยาศาสตร์ คัมภีร์ไบเบิลถ้าเอาตามภาษาคนตรงๆ แล้วมันขัดกับวิทยาศาสตร์ เรื่องพระเจ้าเรื่องอะไรต่างๆ มันขัดกับวิทยาศาสตร์ แต่พอตีความหมายเป็นภาษาธรรมมันเลยสบาย เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์ คำ คำนั้นๆ มันมีความหมายของมันต่างหาก ไม่เหมือนกับที่มนุษย์ใช้อยู่เวลานี้ มันก็โทษใครไม่ได้เพราะภาษามันอย่างนั้นเอง คำว่าแสงสว่างที่ทำพิษ ที่ทำให้อ่านแล้วมันขัดกัน พระเจ้าสร้างแสงสว่างวันแรก แล้วก็สร้างไอ้มืด สร้างสว่าง สร้างอะไรแบ่งแยกเป็น ๒ ฝ่าย และสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ วันที่ ๔ คุณฟังดู แสงสว่างสร้างแล้วในวันที่ ๑ แล้วมาสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ในวันที่ ๔ แล้วใครมันจะเข้าใจได้ สงสัยไอ้แสงสว่างนั้นไม่ใช่แสงสว่างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ แสงสว่างอะไรก็ไม่รู้ แล้วมันควรจะใช้คำอย่างอื่น ผมบอกว่าโดยภาษาธรรมแล้วไอ้แสงสว่างนั้นคือกฎวิวัฒนาการ สังขารนะ กฎของสังขารอำนาจการปรุงแต่ง เรียกว่าแสงสว่าง เขาใช้คำว่า Light ตรงๆ แสงสว่างนี้ สร้างวันที่ ๑ สร้างดวงอาทิตย์ดวงจันทร์วันที่ ๔ ดังนั้นก็กลายเป็นว่า Light คือกฏวิวัฒนาการ ไอ้กฎวิวัฒนาการนั่นสร้างดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ในวันที่ ๔ วันหนึ่งวันหนึ่งจะเรียกว่ายุคหนึ่งก็ได้ อันนี้มันเข้าใจได้ มันมีกฏอะไรอันหนึ่งทีแรก แล้วไอ้สิ่งต่างๆ เกิดมาตามลำดับตามลำดับ แล้วถึงวัน วัดสุดท้ายพระเจ้าหยุดสร้างอะไรหมด จัดเป็นวันอาทิตย์ไม่สร้างอะไรเลย อย่างนั้นเขาจะบอกกันว่าไอ้การสร้างนี้มันพอกันที ในธรรมชนิดนี้ถ้าเราไปเอาตามตัวหนังสืออย่างนั้นโดยภาษาคน แล้วไม่มีใครเข้าใจได้ สร้างแสงสว่างวันที่ ๑ อีก ๔ วันสร้างดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ไม่ใครเข้าใจได้ อันนี้มันก็เป็นเงื่อนต้นที่คนจะต้องระมัดระวังความหมายของเรื่องราวของถ้อยคำอะไรต่างๆ ให้มันมีอยู่ ๒ ชนิด โดยภาษาคนโดยภาษาธรรม ซึ่งละเอียดกว่า พูดโดยภาษาคนมันก็มีคนนี้ พูดโดยภาษาธรรมมันก็ไม่มีคน พระเจ้าท่านพูดว่าอนัตตาไม่ใช่สัตว์บุคคล พูดโดยภาษาธรรม ความสุขโดยภาษาคนก็อย่างที่คนเขาเรียกกันว่าความสุข กามอารมณ์นั้น ความสุขในภาษาธรรมก็ที่ธรรมะประสงค์ คือความสงบ ความอยู่เหนืออำนาจกามารมณ์ นี้ความสุขภาษาธรรมอยู่เหนือกามารมณ์ ความสุขภาษาคนอยู่ใต้กามารมณ์ ภาษาคนกับภาษาธรรมนั้นมันต่างกันอย่างนี้ นั้นก็เรียกความสุขนิพพานก็เป็นสุข อยู่ในโลกนี้เขาก็เป็นสุขของเขา แต่สุขคนละแบบตรงกันข้ามเลย สุขเกิดจากสมาธิก็ยัง ยังไม่ใช่กามอารมณ์ แต่สุขเกิดจากพระนิพพานยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นอีก ไกลไปกว่านั้นอีก สุขได้ตามต้องการ กามารมณ์นี้ก็เป็นสุขแบบนั้น หยุดกามารมณ์เสียมาสงบทางจิตเป็นสมาธิก็สุขไปอีกแบบหนึ่ง เหนือขึ้นมา ให้ละเอียดไปกว่านั้น เป็นไอ้พวกอรูปฌาน เป็นอรูปสมาธิ ก็ยิ่งเป็นสุขละเอียดไปกว่านั้น กระทั่งหมดกิเลสเลย อันนี้สุขที่สุด สูงสุดไม่มีสูงกว่านี้อีกแล้ว ดังนั้นเวลาที่กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นไม่ได้มารบกวน คุณสนใจให้มาก แล้วคุณจะเข้าใจคำว่านิพพาน ถ้าไม่สนใจอันนี้กันบ้างก็จะไม่มีวันรู้เรื่องพระนิพพาน และต้องรออีกหลายหมื่นชาติหลายแสนชาติ ถ้าสนใจเมื่อกิเลสไม่รบกวนจิตเป็นนิพพาน นี่จะพบนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ อย่างน้อยก็นิพพานตัวอย่าง เวลาที่สบายใจดีตามความหมายตามทางภาษาธรรม สบายใจดีตามภาษาคนนั้นไม่ได้หรอก มันเรื่องกินเรื่องอร่อย เรื่องนี่ นั่นทั้งนั้น เมื่อสบายใจดีตามทางภาษาธรรมนั่นคือตัวอย่างของพระนิพพาน ชิมรสพระนิพพาน เราทำให้กิเลสไม่มา ไม่มารบกวน อย่าให้เกิดกิเลสขึ้นรบกวน มากขึ้น มากขึ้น คือกิเลสมาน้อยเข้า น้อยเข้า นานเข้า ห่างเข้า ห่างเข้า ห่างเข้า จนไม่มาเลย ก็นิพพานสมบูรณ์ ความหมายมันแพร่ไปรอบด้าน กระทั่งไม่มีปัญหาเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไม่มีปัญหา ไม่ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ มันๆ เท่าไหร่ละ คุณลองคิดดู ไอ้พวกคนมั่งมี มหาเศรษฐี พระราชา เทวดา อิ่มเอิบไปด้วยกามารมณ์ แต่มันก็ยังกลัวตาย กลัวเจ็บ กลัวตาย มันจะเป็นสุขได้อย่างไร บางทียิ่งหลงใหลไปในกามารมณ์มาก มันก็ยิ่งกลัวความตายจะมาถึงเร็วเข้า มันก็กลัวล่วงหน้าวิตกกังวล เพราะมันยังมีปัญหาเรื่องความเจ็บความตาย เดี๋ยวนี้มันอยู่เหนือกฎ เหนือปัญหาทุกปัญหา ไม่มีปัญหาแก่จิตใจนั้นก็คือไม่มีกิเลสโดยประการทั้งปวงนั่นแหละ ไม่มีกิเลสทุกชนิดทุกรูปแบบโดยประการทั้งปวง คนนั้นก็หมดปัญหา แม้แต่ว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ทำให้เป็นปัญหาไม่ได้ ทำให้เป็นปัญหาไม่ได้ก็คือเป็นทุกข์ไม่ได้ เดี๋ยวนี้เรามาเป็นทุกข์ได้โดยการคิดนึกเอาก็ได้ เราจะเป็นอย่างนั้น เราจะเป็นอย่างนี้ เราจะเสื่อมเสียอย่างนั้น จะเสื่อมเสียอย่างนี้ พรุ่งนี้เราจะกินอะไร พรุ่งนี้ลูกเมียจะกินอะไร พรุ่งนี้จะ มันก็คิดได้ให้เป็นทุกข์ อย่าเป็นทุกข์ เมื่ออะไรมีต้องทำควรทำ ก็ทำไป ไม่มี ไม่มีได้ ไม่มีเสีย ไม่มีกำไร ไม่มีขาดทุน ไม่มีอยู่ ไม่มีตาย ไม่มีอะไรหมด เป็นจิตใจที่มันเกลี้ยง ดังนี้เราก็จะเรียกว่าจิตใจที่สบาย และสบายจริงด้วย ไม่ได้สบายว่าหมายหลอกๆ เมื่อชาวบ้านเขาพูดว่า แหมสบายดี ฉันสบายดี ก็ดูเถอะ เขาก็หมายความถึงมีอะไรกินใช้พออยู่ได้ แต่ปัญหาต่างๆ เยอะไปหมด เรื่องเจ็บ เรื่องไข้ เรื่องเป็น เรื่องตาย เรื่องโจรจะปล้น เรื่องอะไรมันมี เห็นนึกถึงว่าดับทุกข์สิ้นเชิง ปัญหาไม่มีเหลือนั่นนะคืออย่างไร ซึ่งบางเวลาจิตใจมันก็เป็นอย่างนั้น แต่แล้วมันไม่เป็นอย่างนั้นตลอดไป มันมีวกกลับไปหามีอีก ปัญหามีความทุกข์ แล้วเมื่อมีความทุกข์แล้วก็ชิมมันเท่านั้นคือวัฏฏะสงสาร ตัวอย่างของวัฏฏะสงสารคือทนทุกข์ในนรก ในเปรตอสุรกายในอะไรต่างๆ แล้วแต่จะเรียก เมื่อเราเป็นทุกข์ เมื่อเราว่างไม่มีทุกข์นั่นแหละคือตัวอย่างของมรรคผลนิพพาน รีบทำ รีบทำ ให้มันมาก มาก มาก ให้จิตใจมันน้อมไปชอบไอ้ความสุขอย่างมรรคผลนิพพานมากขึ้น มากขึ้น ดังนี้เขาเรียกมันมีจิตน้อมไปในนิพพาน มีศรัทธาน้อมไปในทางธรรมะ แล้วมันก็จะค่อยเป็นไปเอง ค่อยเป็นไปเอง เดี๋ยวนี้เรายังทำอะไรมากไม่ได้ก็จริง แต่เราจับเค้าเงื่อนมันให้ถูก อย่างน้อยบวช ๓ เดือนยังไม่ได้อะไรเลย ก็ยังให้ได้จับเค้าเงื่อนของมันให้ได้ จับ จับตัวเรื่อง ตัวเค้าเงื่อน ตัวแนวอะไรของมันให้ได้ สมาธินั้นต้องทำ เพื่อให้จิตเป็นจิตที่มีประโยชน์ อย่างน้อยในการที่จะส่องดูความจริงของธรรมชาติ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าไม่เอากันถึงอย่างนี้ สมาธิมันก็ช่วยให้ทำงานได้ดี ทำงานที่ออฟฟิตได้ดี คิดเลขดี จำเก่ง ตัดสินใจเก่ง ก็ด้วยจิตเป็นสมาธิ แม้จะทำงานที่บ้าน ที่เรือน ที่โลก มันก็ยังทำได้ดี ถ้าเราสามารถที่มีจิตเป็นสมาธิได้ตามที่เราต้องการ ก็ฝึกไว้มั่ง ตัวอะไรยุ่งหม่นหมองมา หายใจยาวๆ ๒-๓ ทีหายหมดเกลี้ยง แล้วจิตใจก็สบายทำต่อไป ทำงานต่อไป เอ้า, ปิดประชุม คุณมีเวลา ๑๐ นาทีไปถึงกุฏิก่อนไฟดับ