แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านพุทธทาสภิกขุ : รู้ได้ว่าเรื่องธรรมะ เรื่องธรรมะก็กว้างนักก็จะเอาเท่าที่เห็นว่าควรจะทราบ แต่ว่าในครั้งแรกนี้ ปัญหาปลีกย่อยเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะพูดกัน ในครั้งแรกนี้ที่เราจะพูดกันถึงเรื่องทั่วๆไปเกี่ยวกับธรรมะ หรือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะอันแท้จริงในพระพุทธศาสนา ใช้คำว่าอันแท้จริง ธรรมะในที่นี้หมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องดับทุกข์ ทีนี้มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกลางดิน คือ ศัพท์ธรรมะส่วนใหญ่แทบทั้งหมดจะสอนกลางดิน มานั่งอยู่กลางดินที่ไหนก็ได้ เราจึงเลือกที่อย่างนี้ ในเวลานี้ในลักษณะการนี้สำหรับบรรยายธรรมะ ให้มันเข้ารูปกันกับข้อปฏิบัติธรรมะเกิดกลางดิน สมกับที่พระพุทธเจ้าท่านก็ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะเขามันไม่อยากจะอยู่กลางดินหรือชอบกลางดิน โดยทั่วไปมันอยากอยู่ที่สบายเป็นสวรรค์เป็นวิมานกันทั้งนั้น ไม่มีใครชอบอยู่กลางดิน โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาด้วย มันเรียนหาเงินเพื่ออยู่สบายอย่างสวรรค์วิมานกันทั้งนั้น มันจึงไม่สนใจเรื่องกลางดิน แต่แล้วมันก็น่าหัวที่ว่าธรรมะมันกลายเป็นเรื่องกลางดิน นี่คือสิ่งที่เราควรจะสังเกตดูในเบื้องต้นว่าจิตของคนเรามันคอยแต่จะเป็นทาสของอารมณ์ หรือ เรียกง่ายๆว่ามันเป็นทาสของความอร่อย มันจึงไม่ชอบกลางดินหาว่านั่นเกินไป อยากจะให้ทราบคือว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ไม่มีใครได้แต่งตั้ง ธรรมชาติมันมีอยู่อย่างไร พระพุทธเจ้าท่านก็ค้นพบและก็เอามาบอก ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องจริง มันไม่ใช่เรื่องคำนวณ คิดค้นอย่างเรื่องปรัชญา
ปรัชญานี่มีสองความหมายปรัชญาอย่าง Philosophy คือ ปรัชญาตามความหมายของพวกฝรั่งนั้นมันเป็นเรื่องคำนวณด้วยเหตุผล มีสมมุติอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง หาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งนั้นโดยการคำนวณเกี่ยวกับเหตุผล อย่างนี้มันเป็นปรัชญาของฝรั่งคือ คำว่า Philosophy ของฝรั่งมันคืออย่างนี้ แล้วมาแปลเป็นไทยว่าปรัชญา ซึ่งเป็นภาษาอินเดีย ซึ่งมันไม่ได้หมายความอย่างนั้น คำว่าปรัชญาในประเทศอินเดีย หมายถึง ปัญญาที่รู้แจ่มแจ้งถึงที่สุดตามที่เป็นจริง มันจะเรียกว่า ปรัชญา ส่วนปรัชญาที่คำนวณกันและยุติกันไว้ด้วยเหตุผลของการคำนวณอย่างนี้ถือว่าไม่จริง นี้ยังไม่จริง หรือยังไม่จริงถึงที่สุด นี่คือเป็น Philosophy ของฝรั่ง แต่เดี๋ยวนี้บาปกรรมอะไรก็ไม่รู้ ในเมืองไทยไปเอาคำว่า ปรัชญาไปใช้เป็นคำแปลของคำว่า Philosophy มันเลยสับสนกันหมดจนพูดลำบากที่สุด จนต้องบอกให้รู้ว่าเป็นปรัชญาอย่างของฝรั่งนะ นี่เป็นปรัชญาของอินเดียนะ และคำว่าปรัชญามีความหมายอย่างฝรั่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งคาดคะเน คำนวณทั้งนั้น ถ้าเป็นปรัชญาตามภาษาอินเดีย มันก็เป็นเรื่องรู้จริงรู้แจ้งโดยเหตุสมบูรณ์ และโดยประจักษ์ด้วย ทีนี้ก็ต้องดูให้เห็นด้วย ธรรมะนี้มันไม่ใช่เรื่องปรัชญาอย่างฝรั่ง ถ้าเป็นปรัชญามันก็เป็นปรัชญาอย่างภาษาอินเดีย คือ ของมีอยู่จริงตามธรรมชาติ และไปมองเห็นเข้า และค้นพบ ไปมองเห็นเข้าไม่ต้องมีการคำนวณ ก็มาพูดเป็นระบบขึ้นมา เป็นคำสอนที่เป็นระบบขึ้นมา อย่างนี้เขาเรียกว่า ธรรมะดับทุกข์ในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น ควรจะรู้ไว้อย่าให้มันปนกันยุ่งไปหมด เดี๋ยวนี้ ในเมืองไทยที่เขาพูดกันอยู่ในวงนักศึกษาทั้งหลาย เมื่อเขาพูดว่าปรัชญา หมายเป็นปรัชญาแบบฝรั่งมันเป็นแบบ Philosophy แต่เขาก็เรียกว่า ปรัชญา เจ้าของภาษาคือ ชาวอินเดีย เขาโกรธมากที่ในเมืองไทยนักศึกษาไทยเอาคำปรัชญาไปใช้เป็นคำแปลของคำว่า Philosophy ของฝรั่ง เขาหาว่ามันไม่รู้ มันโง่ มันไม่รู้ มันใช้ผิดๆ ถ้าคำว่าปรัชญาของอินเดียก็คือคำว่า ปัญญาในภาษาบาลี รู้แจ้งโดยประจักษ์ถูกต้องที่สุด คำว่า Philosophy ที่เขาแปลเป็นภาษาอินเดียเขาแปลว่า ทรรศนะ คือความเห็นอย่างหนึ่งๆเรียกว่า ทรรศนะ ให้รู้กันไว้ด้วยเถิดว่า Philosophy ในเมืองไทย แปลว่า ปรัชญา ในประเทศอินเดียแปลว่า ทรรศนะ คนละความหมาย เราไม่ถือว่าธรรมะในพระพุทธศาสนานี้เป็นเพียงทรรศนะหนึ่งๆเราไม่อาจถือได้ เราถือว่าธรรมะในพระพุทธศาสนานี้ เป็นความจริงถึงที่สุดแล้ว ที่ค้นพบแล้วระบบหนึ่งๆ มิใช่เป็นเพียงทรรศนะหนึ่งๆก็ให้รู้ไว้เป็นความรู้พื้นฐาน อย่าได้ไปสับสนกับที่เขาพูดกันอยู่พวกหนึ่งตามวิธีที่พวกฝรั่งเขาใช้ ฝรั่งเขาศึกษาพุทธศาสนาอย่างเป็น Philosophy พอมาเมืองไทยแปลอย่างปรัชญา นี่มันก็เลยไม่รู้กันกับเรื่อง ที่จริงฝรั่งศึกษาพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นทรรศนะหนึ่งๆเท่านั้นแหละ ก็มีอย่างนั้น อย่างนั้น และฝรั่งมันก็ไม่รู้แจ่มแจ้งในตัวธรรมะนั้นมันก็เลยถือเป็นทรรศนะหนึ่งๆจริงด้วยเหมือนกัน มันเป็นปรัชญาอย่างฝรั่งคือเป็นเพียงทรรศนะหนึ่งความคิดเห็นอันเหนึ่ง แต่ชาวอินเดียเขาเป็นความรู้แจ้งอย่างถูกต้องและโดยประจักษ์แก่ใจ ทีนี้ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ว่าธรรมะลึก เรื่องลึกๆของธรรมะถ้ายังไม่รู้ สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้และยังไม่อาจจะรู้เรื่องนั้นมันก็เป็นเพียงทรรศนะจริงเหมือนกัน แม้จะเอามาพูดให้ฟังมันก็เป็นเพียง Philosophy ชนิดที่เป็นทรรศนะหนึ่งๆ แต่ถ้าเรื่องนั้นรู้แล้ว ผ่านไปแล้ว ประจักษ์ผ่านไปแล้ว เรื่องนั้นเรื่องเดียวกันมันก็กลายเป็นปรัชญาอย่างอินเดียอย่างภาษาอินเดียไป คือ รู้โดยถูกต้องและโดยประจักษ์ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องปฏิจจสมุปบาท คือสำหรับพวกที่ไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยเฉพาะฝรั่งยังไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือว่าเรานี้แหละชาวพุทธที่ยังไม่รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันก็กลายเป็น มันก็ตั้งอยู่ในฐานะทรรศนะ เป็น Philosophy ทรรศนะอย่างเป็น Philosophy แต่เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น สำหรับพระอนันต์ เป็นพระอรหันต์แล้ว ผ่านไปแล้วโดยถูกต้อง เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็กลายเป็นเรื่องปรัชญา คือ รู้แจ้งโดยประจักษ์ไป นี่ควรจะรู้ไว้ด้วยว่าเรื่องอะไรที่ยังไม่รู้มันก็อยู่ในฐานะเป็น Philosophy คือปรัชญาเป็นPhilosophy แต่ถ้าเรื่องนั้นผ่านไปแล้ว รู้ชัดแจ้งไปแล้ว มันก็กลายรูปเป็นปรัชญาโดยสมบูรณ์ โดยความหมายของคำว่าปรัชญาในภาษาประเทศอินเดียจะเป็นอย่างนี้ทุกเรื่อง แม้เรื่องเล็กๆน้อยๆเข้าไปสังเกตดูเถิด ถ้าเรายังไม่รู้มันอย่างแจ่มแจ้ง รู้เพียงอ่านหรือเขาเล่าให้ฟัง มันก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่งเท่านั้นแหละ แต่ถ้าไปทำสิ่งนั้นๆหรือผ่านสิ่งนั้น หรือชินสิ่งนั้น ลองสิ่งนั้นมาแล้ว มันไม่ใช่ความรู้อย่างนั้นเสียแล้ว มันเป็นความรู้อย่างแจ่มแจ้งโดยประจักษ์นี่ปรัชญากับ Philosophy มันต่างกันอย่างนี้ สำหรับธรรมะนั้นเราต้องรู้กันอย่างที่เรียกว่าเป็นปรัชญาโดยแท้จริงไม่ใช่เป็น Philosophy ปรัชญาเป็นPhilosophy เป็นความรู้อย่างหนึ่ง คาดคะเนโดยอนุมาน โดยอุปมานโดยอะไรก็สุดแท้แต่ซึ่งยังไม่ได้รู้จริงรู้เพียงการพูดสมมุติขึ้น แล้วก็คาดคะเนแล้วก็อนุมานหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ถ้าอย่างนี้มันไม่ดับทุกข์ ความรู้ขนาดนี้จะไม่ดับทุกข์ เหมือนที่เราเรียนเรื่องธรรมะชั้นสูงในโรงเรียนนักธรรมมันไม่ดับทุกข์ ถ้ามันรู้เพียงจำได้ มันรู้เพียงคิดตามเหตุผล มันคาดคะเนไปตามเหตุผล แต่ถ้าปฏิบัติแล้วรู้ ได้ผลแล้วชิมรสแห่งผลนั้นแล้ว ผ่านไปอย่างนี้แล้วเรียกว่า รู้ รู้ตามความหมายของคำว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนาที่มักจะเรียกกันว่า ตรัสรู้
ฉะนั้น การรู้เรื่องธรรมะจึงมีหลายระดับ รู้ระดับอ่านจำได้นี่ ก็รู้หนึ่ง และก็รู้ระดับคิดใคร่ครวญตามเหตุผล เกิดความเข้าใจขึ้นมานี่ก็เรียกว่ารู้หนึ่งเหมือนกัน ทีนี้ได้ผ่านแล้ว ปฏิบัติแล้ว ผ่านแล้วชิมรสของสิ่งนั้นตลอดไปแล้ว อันนี้ก็เป็นความเห็นแจ้ง นี่ก็คือรู้เหมือนกันเรียกว่ารู้เหมือนกัน ภาษาอังกฤษเขาไม่มีคำจะใช้ให้มันชัดเจนอย่างนี้ ใช้กันคำว่ารู้ๆเหมือนๆกันไปหมด มันก็เลยฟังยาก ถึงแม้ในภาษาไทยนี้ก็เถอะ ถ้าเราพูดถึงเรื่องรู้ รู้ ก็ให้รู้เสียก่อนว่ารู้ รู้ระดับไหน รู้ระดับอ่าน ฟังและจำได้อันนี้มันก็รู้หนึ่ง รู้ระดับคิดใคร่ครวญด้วยเหตุผลเข้าใจนี่มันก็รู้หนึ่งเหมือนกัน แล้วเราก็ทำให้มันเป็นตามนั้นได้แล้ว ผ่านมันแล้วรสชาติเป็นอย่างไรรู้แล้วนี่ก็รู้หนึ่งเหมือนกัน แต่เรามักจะใช้คำๆเดียวกันว่ารู้ คำว่ารู้คำเดียวเท่านั้น แล้วพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ถ้ารู้ธรรมะจริง มันต้องรู้ในระดับเห็นแจ้งและดับทุกข์ได้ ถ้ารู้ในลักษณะที่อ่านและจำได้เรียกว่า นักธรรมมันก็ดับทุกข์ไม่ได้ มันไม่ได้ดับนี่ๆ มันยังเป็นแต่เพียงรู้ด้วยอ่านประวัติ อ่านบันทึกมันไม่ได้ปฏิบัติ ทุกข์ก็เลยไม่ดับ รู้อย่างบันทึกของเรื่องนั้นๆมันไม่ดับทุกข์ แต่ถ้าได้ปฏิบัติแล้วผ่านไปแล้วที่มันรู้อีกทีหนึ่งนี่เรียกว่า ดับทุกข์ รู้ธรรมะรู้พระพุทธศาสนาต้องรู้อย่างหลังคือ อย่างที่ดับทุกข์ได้ นี่เป็นหลักพื้นฐานเบื้องต้นทั่วไปที่ควรจะทราบไว้ ว่าการที่จะรู้ธรรมะถึงขนาดดับทุกข์ได้นั้นคือรู้อย่างไร ฉะนั้น เราจึงนิยมให้เป็นการปฏิบัติให้หมด คือ การอบรมและที่ตั้งใจจะอบรมกันที่นี่ มันก็เลยเป็นเรื่องต้องให้ปฏิบัติไปหมดนับตั้งแต่การขบ การฉัน การนั่ง การนอน การเป็นไปในแต่ละวัน ในประจำวันแต่ละวันมันก็เป็นเรื่องให้รู้ด้วยการกระทำผ่านไปเกิดทั้งหมด อย่างเช่นว่า เราจะรู้เรื่องพระพุทธเจ้า เราก็เพียงแต่อ่านหนังสือก็รู้เท่านั้น แต่ถ้าว่าเรามาเป็นอยู่เหมือนอย่างพระพุทธเจ้ากิน นอน ยืน เดิน อะไรก็ตาม ให้เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเป็น เราก็รู้มากกว่านั้น ในที่สุดแต่ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้า เราก็ไม่รู้เรื่องนี้ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้าจะรู้สึกอย่างไร จนกว่าเราลองอย่ามีรองเท้ากันดูสิ อย่ามีรองเท้าจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร หรือว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่มีช้อนส้อม ไม่ได้ใช้ช้อนส้อม เราก็ไม่รู้ ฉะนั้นเราลองไม่ใช้ช้อนส้อมกันดูบ้าง แล้วก็ลองฉันอะไรเหมือนอย่างครั้งพุทธกาลดูบ้างก็จะรู้ นี่คือมันจะรู้จักจากการปฏิบัติ เราศึกษาอ่านมันก็ไม่รู้บ้างทีก็ไม่มีซะด้วยซ้ำไป เรื่องนั้นๆ จะต้องทำให้มันมีด้วยการปฏิบัติ 20.40- 20.41 น. ( ฟังไม่ชัด ) พูดภาษาธรรมดาท่านกินท่านอยู่ ท่านนั่ง ท่านนอน ท่านยืน ท่านเดิน ทำยังไงในแต่ละวัน เราพยายาม ถ้าจะให้ผลดีเป็นการศึกษาแท้จริงแล้ว ขอให้ถือหลักว่าจะเป็นอยู่ให้เหมือนพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด นั่นคือเรียนเรื่องพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง รู้จริง พยายามเป็นอยู่เหมือนการเป็นอยู่เหมือนพระพุทธเจ้าให้มากที่สุดทุกเรื่องไป ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ขอให้พยายามบิณฑบาตและฉัน หรืออะไรก็ตามที่จะให้เหมือนพุทธกาลมากที่สุดนั่นแหละคือการเรียนรู้เรื่องพระพุทธเจ้า ซึ่งมีผลดีกว่าการอ่านหนังสือมีผลดีกว่าอ่านหนังสือพุทธประวัติ เล่าเรื่องพระพุทธประวัติ
และที่นี้ก็พูดถึงเรื่องดับทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้เองว่า ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ เรื่องอื่นไม่พูด จะเอาเรื่องอื่นมาใส่มันยุ่ง เรื่องที่ตายแล้วเกิดตายแล้วไม่เกิดอย่าเอามาใส่ให้มันยุ่ง พูดกันแต่เรื่องความทุกข์และความดับทุกข์ จะได้ตรงกับคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เอง ว่าฉันพูดแต่เรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์ มีศัพท์ว่า ปุพเพ จาหัง ภิกขะเว เอตะระหิ จะ ทุกขัญเจวะ ปัญญาเปมิ ทุขขัสสะ จะ นโรธังแปลว่า แต่ก่อนโน้นก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์ กับเรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น ถ้าเราจะศึกษากันโดยแท้จริงแล้ว อย่าให้มันมากเรื่องมันเป็นเรื่องที่ทำให้ฟุ้งซ่านเปล่า อาจต้องพูดกัน ศึกษากัน ถกเถียงกัน ค้นคว้ากัน ทดลองกันแต่เรื่องความทุกข์ ความดับทุกข์เท่านั้น นี่พระพุทธศาสนา ที่นี้เรียนเรื่องความทุกข์ก็ไม่ใช่เรียนตามบันทึกที่เขาบันทึกไว้ เราต้องมีความทุกข์จริงๆนั้นแหละ ที่เรามีจริงๆตัวความทุกข์นั้นแหละเอามาดู เอามาศึกษา เอามาพิจารณา เอามาทำความเห็นแจ้ง เข้าใจเห็นแจ้ง ไม่ใช่ท่องแต่ปาก ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ มันก็ได้แค่ท่อง ท่องสวดมนต์ ท่องทำวัตรนะมันไม่พอ ท่องมันก็ดีมันก็จำ จำหลักโดยทางหลักทางภาษาได้ แต่ไม่พอ ต้องมาเรียนกันที่ตัวความทุกข์จริงๆ มันมีความเกิดขึ้นมาก็เรียนที่ตัวความเกิด ความแก่ขึ้นมาก็เรียนที่ตัวความแก่ มีความเจ็บขึ้นมาก็เรียนที่ตัวความเจ็บ มีความตายหรือจะตายก็เรียนที่ตัวความตาย แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นที่ตัวปัญหาต่างๆที่เกิดมาจากความเกิด ปัญหาที่มาจากความเกิด ปัญหาที่มาจากความแก่ ปัญหาที่มาจากความเจ็บ ปัญหาที่เกิดมากับความตาย เอามาเรียนได้โดยที่เราไม่ต้องตาย แต่ว่าถ้าปัญหาเกี่ยวกับความเกิดมันเกิดอยู่กับเราและมันจะเป็นทุกข์ ปัญหาที่เกี่ยวกับความแก่ที่มันมีอยู่กับเรามันก็เป็นทุกข์ แล้วเราก็ไม่อยากจะแก่ ไม่อยากจะเจ็บไม่อยากจะตายนั่นแหละคือ ตัวปัญหา นั่นแหละความรู้สึกเป็นทุกข์ที่เกี่ยวกับเรื่องของการเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายทั้งหลายเอามาพิจารณา มาดูให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องทรมานจิตใจ มันเป็นเรื่องทรมานจิตใจ นี่เราเรียนเรื่องความทุกข์ มีความรู้สึกที่ทนทรมานแก่จิตใจอย่างไรอยู่ เดี๋ยวนี้รู้สึกอย่างไรอยู่ มันจะขยายออกไปได้อีกนิดหนึ่ง ก็คือว่าเหตุของมัน มูลเหตุของมันเป็นอย่างไร มันมาแต่อะไร มันถึงได้เกิดปัญหาคือ ความทุกข์ขึ้นมาอย่างนี้
ทีนี้ก็เรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ มันก็ดูได้โดยการมองต่อไปว่า ถ้ามันไม่มีอย่างนั้นก็คือไม่เป็นทุกข์ แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่มีอย่างนั้น ก็เพราะว่ามีชีวิตเป็นอยู่ให้ถูกต้อง อย่ามีชีวิตเป็นอยู่ด้วยความเป็นอวิชชา ความโง่ ความหลง มีชีวิตอยู่ด้วยอวิชชา ความโง่ ความหลง มันก็ต้องเป็นทุกข์ละ คือมันจะรับอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในฐานะเป็นทุกข์ในฐานะเป็นทุกข์ ถ้าเขามาทางตามันก็โง่ หลงรักหลงเกลียดจึงเกิดทุกข์ ถ้าเข้ามาทางหูมันก็โง่ หลงรักหรือหลงเกลียดอย่างใดอย่างหนึ่งจนเป็นทุกข์ เข้ามาทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางใจเองสุดท้ายมันจะโง่ ด้วยความโง่ที่มันมีอยู่ นั่นมันก็ยินดีหรือยินร้ายซึ่งล้วนแต่เป็นทุกข์ ยินดีมันก็เป็นทุกข์ เพราะความยึดถือ มันเป็นของหนักที่ต้องยึดถือไว้ด้วยจิตใจ มันทรมานใจ ถ้ายินร้ายมันก็กัดเอา เจ็บปวดเวลานักเลย เขาก็เรียกว่ายึดถือด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าจะเรียนธรรมะให้ถูกตัวธรรมะ มันก็ต้องเรียนที่ของจริงอย่างนี้แหละ ทีนี้ ถ้าเราไม่ต้องการจะเรียนอย่างนี้มันก็ป่วยการมันก็เสียเวลาเปล่า ถ้าเราจะเรียนเพื่อจำๆไว้ได้ พูดได้ อย่างนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรหรอกอย่างมากก็ไปเป็นเพียงครูสอนเรื่องนี้หากินเป็นนกแก้วนกขุนทอง พูดให้จ้อ สอนๆไปวันหนึ่งแล้วได้เงินเดือน เพราะเป็น ผู้สอนผู้พูดอย่างนี้ได้ อย่างนี้พอทำได้ แต่นั่นมันไม่ใช่ความมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามุ่งหมายจะให้ดับทุกข์ได้จริงๆ มันก็ต้องเอาไปดับทุกข์ให้ได้จริงๆ เราในฐานะที่เป็นสัตว์คือ คน คนหนึ่งซึ่งมีความทุกข์ เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษา จะต้องรู้จะต้องทำให้ได้ อย่าลืมว่าเรามันก็เป็นสัตว์ตัวหนึ่ง หรือเป็นคนๆหนึ่งที่ตกอยู่ใต้อำนาจกฎของธรรมชาติอันนี้ เราจะเป็นฆราวาสก็ตาม จะเป็นพระก็ตาม มันก็ตกอยู่ใต้อำนาจกฎธรรมชาติอันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนเฒ่า คนแก่ก็ตามมันก็อยู่ใต้อำนาจกฎอันนี้ หรือว่าจะเป็นฝรั่ง เป็นไทย เป็นจีน เป็นแขกมันก็อยู่ใต้อำนาจกฎธรรมชาติอันนี้ อย่าไปคิดว่าเราจะไม่ประสบมันปัญหาอันนี้ เดี๋ยวนี้เรายังไม่ประสบ เราไม่มองเห็นมันก็เพราะว่าความโง่ของเรา เราก็ไม่มองเห็นว่าเราประสบปัญหาอันนี้แล้วจะไปโทษใคร จึงมาศึกษาดูว่ามันจริงอย่างที่ว่านั่นหรือเปล่า แต่ถ้าเรายังไม่มองเห็นความจริงข้อนี้ว่าเรามีปัญหาอย่างนี้ มีความทุกข์อย่างนี้มันก็ป่วยการเปล่ามันก็เสียเวลาเปล่า การศึกษานั่นจะเสียเวลาเปล่า จึงมีหลักมันต้องศึกษากันด้วยเหตุที่ว่ามันมีปัญหาอยู่จริงเช่นเดียวกับที่เราเจ็บไข้ เราจึงต้องไปหาหมอหรือไปหายามากิน หรือมีการปฏิบัติทางแพทย์อย่างใดอย่างหนึ่งก็เพราะว่าเราเจ็บไข้ มันเป็นอย่างนี้มันก็ต้องถูกต้องตามเรื่องราวมันก็มีผล แต่ถ้าไม่ได้เจ็บไข้อะไรไม่มีโรคอะไรจะไปหาหมอนี่มันก็ไม่มีประโยชน์ หรือว่าจะไปตรวจดูเผื่อว่ามันจะโรคก็ได้เหมือนกันมีประโยชน์เท่านั้นเอง แต่ธรรมะนี่มันคล้ายๆกันอย่างนั้น คือว่ามันต้องมีทุกข์ มีความทุกข์อยู่จริงๆถึงจะไปหาธรรมะเพื่อดับทุกข์ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันก็ไปศึกษาๆส่วนวิชา หรือส่วนทฤษฎีเคยรู้ว่าเราเป็นทุกข์หรือไม่ ดูแล้วมันคล้ายกับเสือกกะโหลก ไม่มีความทุกข์จะไปหามันมีความทุกข์ขึ้นมา มันก็มีประโยชน์เหมือนกัน เวลาเป็นเช็ดดูร่างกายมีโรคหรือไม่ ถ้ามีโรคจะได้รักษา มันก็มีประโยชน์ถ้าเราศึกษาธรรมะกันอย่างนี้ในเบื้องต้นแล้วก็ดี คือศึกษาธรรมะให้รู้ว่าเรามีความทุกข์หรือไม่ น่าหัว ไม่รู้สึกว่ามีความทุกข์หรือเป็นทุกข์จะไปศึกษาให้รู้ว่ามีความทุกข์หรือไม่ คือเราไม่รู้เรื่องความทุกข์เพียงพอมันจะต้องมีความทุกข์มันถึงจะไปศึกษาธรรมะเพื่อจะดับทุกข์ได้ผล ถ้ามันไม่มีความทุกข์ที่รู้สึกอยู่มันก็เหมือนกับว่าแกล้งเป็นคนไข้ไปขอการรักษา นี่ที่ว่าพระพุทธศาสนาที่ไม่ใช่เป็น Philosophy แบบพระพุทธศาสนาเป็นธรรมะเป็นสัจจะเป็นปรัชญา คือความจริงที่ต้องรู้ ขอให้เข้าไปจับดู ไปวัดกันดูกับเรื่องราวที่เรามีอยู่จริง เพราะว่าอุตส่าห์บวช อุตส่าห์บวช อุตส่าห์จัดให้บวชให้มีการบวช มันเพื่อประโยชน์อะไรแล้วมันจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าจะเพื่อรู้จำๆได้สอนได้ พูดได้ไปสอนเป็นอาชีพมันก็ได้เท่านั้น มันก็ได้เท่านั้นก็อย่างนี้แต่ไม่ตรงตามหลัก หรือตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของธรรมะซึ่งจะดับทุกข์
ฉะนั้น มาเรียนรู้กันให้จริงที่จะดับทุกข์กันให้ได้ ถ้าเกิดความทุกข์ขึ้นมาจะดับความทุกข์ให้ได้อย่างนี้ดีกว่า ดีกว่าจะเป็นเรื่องพูดๆล้วนๆ เดี๋ยวนี้เรียนพระพุทธศาสนา หรือสอนพระพุทธศาสนากันแต่เรื่องพูดล้วนๆ ไม่ถึงตัวธรรมะเลย ตัวธรรมะต้องเป็นของจริง เป็นตัวจริงเป็นเรื่องจริงที่รู้สึกอยู่จริงๆ นี้ขอให้ปรับปรุงเรื่องของเราให้มันเข้ารูปนี้ เดี๋ยวนี้มันก็สะดวกมากมีหนังสือให้อ่านแยะ แต่ว่าหนังสือนี้มันช่วยไม่ได้มากนัก ถ้าจะให้มันได้มากมันก็ต้องอ่านเข้าไปที่ตัวของคนมีความทุกข์ เราเรียกโดยอุปมาว่า หนังสือเล่มนอกหนังสือเล่มใน ถ้าเราอ่านหนังสือธรรมดาอย่างที่มีให้อ่านนี้ เราเรียกว่าหนังสือเล่มนอก อ่านไปเถอะมันไม่ค่อยทำอะไรได้มากนัก แต่ถ้าจะให้ได้รับประโยชน์มันต้องอ่านหนังสือเล่มใน อ่านเรื่องเดียวกันนั่นแหละที่มันอยู่ในหนังสือเล่มนอก แต่มันอยู่ข้างใน ที่มันมีอยู่จริงในชีวิตในตัวชีวิตก็เพราะว่ามันมีอยู่อย่างนี้หนังสือเล่มใน แจ่มแจ้ง ชัดเจนดี เหมือนกับหนังสือเล่มนอก เหมือนกับที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนอก แต่หนังสือเล่มนอกมันก็มีแต่ตัวหนังสือ ส่วนหนังสือเล่มในอ่านไปแล้วมันก็พบความจริงเรื่องความทุกข์ทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อ่านแต่หนังสือเล่มนอกก็อ่านไปเถอะ สวดท่องบ่นกันไปเถอะ มันก็ไม่เห็น มันต้องไปดูไปอ่านที่หนังสือเล่มใน คือที่ตัวการเปลี่ยนแปลงของสังขารทั้งปวงในภายใน ความไม่เที่ยง และความเป็นทุกข์ เป็นของทนทรมาน และเป็นของที่เอาตามใจเราไม่ได้ นั่นเขาเรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับจะศึกษาในพุทธศาสนา ถ้าอ่านจากหนังสือเล่มนอก มันก็อ่านอย่างนกแก้วนกขุนทอง ยิ่งไม่ค่อยสนใจจะคิดจะนึกด้วยแล้ว มันก็จะเหมือนกับนกแก้วนกขุนทองพูด จึงอ่านหนังสือเล่มในซึ่งไม่ต้องออกเสียงไม่ต้องพูดก็ได้ คือมันต้อง ดู ดู ดู ดู ดูด้วยปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนา คือ การดูด้วยปัญญา ว่าเห็นความจริงที่มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาที่มีอยู่แก่สังขารทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตัวเราที่สมมุติเรียกว่า ตัวเรา ตัวคนๆหนึ่งนี้ทุกอย่างมันมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดูที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่เรียกว่าอาการสามสิบสองก็ได้ จะดูให้ลึกไปถึงธาตุทั้ง๔ ก็ได้ ก็เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เรียกว่าเรียนพระพุทธศาสนาด้วยการอ่านจากหนังสือเล่มใน เรามักจะอ่านกันเฉพาะหนังสือเล่มนอก คือ หนังสือที่พิมพ์ขึ้นมาเป็นเล่มๆ และก็มีข้อความอ่านจำได้ ท่องได้ ตอบคำถามได้ สอบไล่ได้ เป็นนักธรรมเอก เป็นเปรียญ เป็นอะไรไปตามเรื่อง แต่มันก็เป็นการอ่านตามแบบหนังสือภายนอก ไม่เห็นตัวจริงของสิ่งนั้นๆ เพียงแต่อ่านบันทึกเรื่องราวที่เขาบันทึกไว้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ นี่คืออ่านพระไตรปิฎกเล่มนอก ถ้าจะอ่านพระไตรปิฎกเล่มในกัน ก็ดูกันที่เนื้อตัวแท้จริงเรื่องกาย เรื่องใจ เรื่องความคิดนึกของใจ เรื่องการปรุงแต่งแห่งจิตใจ กระทั่งดูเห็นตัวความทุกข์ที่กำลังขบกัดอยู่ในใจ นี่จึงจะรู้ธรรมะ ในที่สุดก็จะเห็นได้เองว่ามันยากที่จะให้คนอื่นดูแทนหรือสอนให้ได้ มันต้องดูเอง รู้สึกเองด้วยตนเอง เดี๋ยวนี้เราก็เรียนวิธีที่จะไปดูเองหรือฝึกเอง อย่างที่ผมจะพูดให้ได้มากที่สุดเท่าไรมันก็เพียงว่าไปดูเอง รู้สึกเอง มาสอนวิธีดูให้กันเท่านั้นแล้วต้องไปหาเวลาดูเองจนเห็นเอง นั่นจึงจะเรียกว่า รู้หรือเห็นก็ได้
อย่าลืมว่า ธรรมะแท้จริงมันต้องถึงขนาดสันทิฐิโก เห็นเอง ถ้าไม่เห็นเองให้เป็นผู้อื่นบอกหรือเป็นตัวหนังสือนี่ยังไม่เป็นตัวธรรมะที่แท้จริง ยังไม่ใช่ตัวธรรมะที่แท้จริงเป็นตัวธรรมะหนังสือ เป็นตัวธรรมะพูด ตัวธรรมะเสียงเป็นเสียง พยายามให้เป็นธรรมะตัวอยู่ข้างใน เห็นชัดอยู่เอง เรียกว่า สันทิฐิโก ถ้าพูดว่าทุกข์ มันก็คือความทุกข์ที่รู้สึกอยู่เอง เป็นทุกข์อยู่เอง ถ้าพูดว่าไม่ทุกข์ก็ให้มันรู้ว่าไม่ทุกข์อยู่เอง ก็จะพูดว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็อยู่เอง เป็นอยู่เอง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่ก็บอกกันไปโดยรายละเอียดเรื่อยไปๆ เขียนไว้ให้อ่านให้เข้าใจให้ได้ยินให้ได้ฟัง แต่ต้นจนถึงที่สุดแล้วเราก็เอาไปใช้เป็นวิธีที่ดูข้างใน ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรให้เห็นตัวจริงมันเกิดขึ้นอย่างไร แล้วมันก็จะตรงกับตัวหนังสือที่ท่านบันทึกไว้เป็นพระคัมภีร์นั้น เช่นเรื่องอริยสัจ ๔ หรือเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ดี อ่านกันได้ๆอ่านเท่าไรก็ได้ แต่จะยังไม่เห็นจนกว่าจะมีวิธีดูกันข้างใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดูเข้าไปที่ตัวความทุกข์ที่มันรู้สึกเป็นทุกข์ และรู้ว่าอะไรเป็นเหตุของมัน และดูว่าอะไรเป็นสิ่งแวดล้อมปรุงแต่งให้เหตุอันนี้มันมีขึ้นมา หรือมันแสดงบทบาทของมัน ยกตัวอย่างเรื่องความทุกข์โดยทั่วไปที่มันเกิดขึ้นมาจากที่เรามันโง่ ในขณะที่มันมีผัสสะ คำว่าผัสสะก็หมายความว่า มีการกระทบระหว่างอายตนะทั้งสอง คือ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส ผิวหนังกับสิ่งที่มากระทบผิวหนัง หรือว่าจิตเกิดความรู้สึกอันใดที่เกิดขึ้นในจิต มันเป็นคู่ๆ พอมากระทบกันขึ้นแล้วก็รู้สึกว่าเป็นอย่างไร นี่เขาเรียกว่าผัสสะ เช่น ตามากระทบกับรูปเกิดจักษุวิญญาณรู้แจ้งทางตาว่ามันเป็นรูปอะไรอย่างไร ลักษณะอย่างไร สีสันอย่างไร อันนี้เป็นจักษุวิญญาณ เมื่อตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณทำงานร่วมกันอยู่อย่างนี้เขาเรียกว่า ผัสสะ ในกรณีแห่งหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เหมือนกันแหละ อายตนะภายนอก อายตนะภายในกระทบกันอยู่เกิดจักษุวิญญาณอยู่ ทำหน้าที่อยู่ อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ นี่เรียกว่า ขณะแห่งผัสสะถ้าเราโง่ในขณะแห่งผัสสะแล้วต้องเกิดทุกข์ เราต้องไม่โง่ในขณะแห่งผัสสะจึงจะไม่เกิดทุกข์ คือมันมีผัสสะมันก็มีเวทนา เวทนาคือความรู้สึกถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ถ้าถูกใจมันก็อยากเกิดตัณหาคืออยาก อยากได้ อยากเอา ถ้าไม่ถูกใจเกิดอยากเกิดตัณหา อยากฆ่า อยากจะทำลาย อยากจะผลักออกไปเสีย ถ้าไม่แน่นอนว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจมันก็พะวงสงสัยอยู่นั่นแหละ มันยังคิดอยู่ว่ามันคงจะมีค่าอย่างไรอย่างหนึ่งอยู่ มันไม่รู้ นี่อย่างนี้มันเกิดตัณหา อยากตามสมควรแก่เวทนาแล้ว พอมีตัณหาความรู้สึกอยากเกิดขึ้นในใจแล้ว ความรู้สึกว่าตัวกู เป็นผู้อยากก็เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดอยู่ก่อนแต่เกิดเมื่อมันมีตัณหา คือความอยากโดยแท้จริงแล้ว นี่มันเป็นเรื่องธรรมชาติของจิตมันปรุงแต่งกันได้เองอย่างนี้ ถ้าเกิดความรู้สึกอยาก มันก็จะเกิดความรู้สึกว่ากูผู้อยาก ตัวเราผู้อยาก อยากเอามาเป็นของเรา นี่เรียกว่าอุปาทานเกิดแล้ว มีตัวกูแล้ว ยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่แล้ว ก็เกิดความหนักอกหนักใจ วิตกกังวลเพราะความยึดถือนั้นมันก็เป็นทุกข์แหละ มันช่วยไม่ได้ นี่เราอ่านเรื่องราวนี้ตามที่มีอยู่ในพระบาลีก็ได้ แต่แรกยังไม่เห็นมันต้องไปดูที่ตัวจริงที่มันเกิดขึ้นมาจริงๆ ในกรณีที่ตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน ก็หนักอกหนักใจอยู่ นี่เรียกว่า เมื่อมีผัสสะแล้วต้องไม่โง่ ต้องมีสติมา ต้องมีปัญญา ต้องมีวิชชามา ต้องไม่เกิดตัณหา และไม่เกิดอุปาทานและไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้ามีผัสสะแล้วยังโง่อยู่ ยังไม่มีสติ ยังไม่มีปัญญา แล้วมันก็ต้องเกิดเวทนา ตัณหา อุปาทานมันเป็นทุกข์ นี่เป็นรายละเอียด แต่มันสรุปความได้สั้นๆว่า จะเป็นทุกข์เพราะโง่เมื่อมีผัสสะ จะไม่เป็นทุกข์เพราะไม่โง่เมื่อมีผัสสะ มีผัสสะมีเมื่อไรก็ได้แล้วแต่เหตุการณ์ เดี๋ยวมาทางตา เดี๋ยวมาทางหู เดี๋ยวมาทางจมูก เดี๋ยวมาทางลิ้น เดี๋ยวมาทางผิวกาย แต่โดยมากมาทางจิตใจ คือจิตใจมันนึกคิดด้วยความจำ สัญญา ความจำมาแต่หนหลังในอดีต มันนึกเรื่องอะไรขึ้นมาก็เป็นอารมณ์ของจิต เป็นธรรมารมณ์ของจิต สำหรับถึงกันเข้ากับจิตเกิดมโนวิญญาณ เกิดผัสสะทางมโน เกิดเวทนา เกิดตัณหาทางมโน แล้วมันก็ต้องเป็นทุกข์
นี่ขอให้สังเกตดูอีกส่วนหนึ่งว่านี่มันไม่ใช่เรื่องคำนวณ ถ้ายังไม่รู้ อ่านแต่เรื่องแล้วไม่เข้าใจ มันก็ยังเป็นการคำนวณ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ถ้ายังไม่รู้ไม่เข้าใจฟังผมพูดอย่างนี้ มันก็ยังเป็นเรื่องต้องคำนวณ ว่าจริงไหมที่พูดนั่น มันก็ยังเป็นคำนวณ เป็นปรัชญา เป็น Philosophy แต่ถ้ามันได้เห็นชัดลงไปแล้วตามนั้นด้วยใจจริง มันก็เป็นปรัชญาจริง เป็นปรัชญาจริง ไม่ใช่ปรัชญา Philosophy เดี๋ยวนี้เขาเรียนธรรมะพระพุทธศาสนากันอย่างปรัชญา Philosophy ไปกันทั้งโลกก็ว่าได้ ไม่ค่อยจะได้ประโยชน์อะไร เขาเรียนพระพุทธปรัชญา เขาไม่เรียนพุทธศาสนาหรือพุทธธรรมโดยตรง เขาชอบคำว่าพระพุทธปรัชญากันหนักหนา ปรัชญาอย่าง Philosophy พวกฝรั่งมันก็เรียกเป็นอย่าง Philosophy แบบ Buddhism ทีนี้คนในเมืองไทยมันเห่อตามฝรั่ง มันก็เรียกตามพระพุทธปรัชญา แล้วมันก็เรียนอย่างพุทธปรัชญา ซึ่งไม่รู้จบไม่เข้าถึงตัวจริง หนังสือเรื่องพระพุทธปรัชญาจะเต็มโลกอยู่แล้ว มันพิมพ์ขึ้นมามาก แต่มันก็ไม่เข้าถึงตัวจริงที่จะดับทุกข์ได้ เพราะมันเป็นปรัชญาเป็น Philosophy นั่นเอง คือ ปรัชญาคำนวณ ปรัชญาที่เป็นคนต้องการคำนวณ นี่เราจะเอากันอย่างนี้เหรอ พวกคุณจะเอาไปเพียงต้องการจะเป็นครูสอนเงินเดือนก็ได้เหมือนกัน เรียนกันเพียงเท่านี้ก็ได้ แต่ถ้าต้องการจะดับทุกข์แล้วเท่านี้มันไม่พอหรอก เพียงเท่านี้มันไม่พอ มันก็ต้องมากกว่านี้มันจะต้องถึงตัวจริงแล้วก็ดับทุกข์ได้ ฉะนั้น เราจะเอากันอย่างไร ก็มาตกลงกันให้เป็นที่เข้าใจว่าเราจะเรียนกันให้ถึงตัวธรรมะ ถึงตัวพระพุทธศาสนา อย่างที่เรียกว่าเรียนหนังสือเล่มใน เรียนหนังสือเล่มใน ที่จริงต้องสงบกาย สงบใจ สงบปากสงบคำให้มาก เพื่อมีจิตใจละเอียดสุขุม พอที่จะอ่านหนังสือข้างใน และก็ปรับปรุงชีวิตของเรา การเป็นอยู่ประจำวันของเรา ให้มีความเหมาะสมพอที่จะทำอย่างนั้นได้ คือให้เหมาะสมที่จะมีจิตใจอย่างละเอียด ประณีต และเห็นธรรมะในภายในได้ และก็จะมีประโยชน์อย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นละก็ ก็ไม่ต้องมาที่นี่นะ และก็มีหนังสืออ่านๆไปก็แล้วกัน จำได้เข้าใจก็สอนได้เหมือนกัน แต่ถ้าต้องการจะมาอยู่ในป่า อยู่กลางดินอย่างพระพุทธเจ้าท่านเคยกระทำแล้วละก็ มันก็อีกแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่ง ถ้าอยากจะได้ผลแบบนี้ก็อดทน ต้องอดทน ตั้งอกตั้งใจอดทน แล้วก็ศึกษาให้มันเข้าถึงธรรมะนั้น เขาเรียกว่า ประณีต ละเอียด สุขุม ให้มันเป็นเรื่องละเอียด ประณีต สุขุม ต้องเตรียมตัวสำหรับจะทำอะไรๆ นี่อย่างละเอียด ประณีต สุขุม ไม่ใช่ว่าทำอย่างหวัดๆนั้นนะ ใช้ไม่ได้เป็นไปไม่ได้ ถ้าทำอย่างอวดดียกเลิกกันเลย ถ้าทำอย่างอวดดี ยกเลิกกันไปเลยมันทำไม่ได้
ฉะนั้น จึงต้องมีการเป็นอยู่อย่างสงบเสงี่ยม เพื่อมีจิตใจละเอียดประณีต สุขุม มันจะได้ใช้มันดูให้เห็นสิ่งเหล่านี้ คือมันดูด้วยจิตใจละเอียด ประณีต สุขุม คือ จิตใจที่ฝึกดี แล้วจิตใจตามธรรมชาติธรรมดาของคนธรรมดานี่มันหยาบ มันดูอะไรไม่เห็น จึงต้องมีการอบรมให้มันละเอียดที่เรียกว่า สมาธิ เพื่อที่จะมีจิตใจที่ละเอียดดูธรรมะชั้นลึก เราจะต้องฝึกสมาธิในหลักสูตรนั้น เขาจึงมีการฝึกสมาธิรวมอยู่ด้วยกับการศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมะจริงได้ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ถ้าจิตยังสับสนวุ่นวายอยู่เหมือนคนทั่วไปตามธรรมดาแล้ว จิตนั้นจะดูธรรมะไม่เห็น จิตนั้นจะดูธรรมะไม่เห็น ต้องทำจิตให้สงบระงับลงมาอย่างที่เรียกว่าสมาธิ มีความหมายของสมาธิโดยสมบูรณ์แล้วมันจะเห็น จะเห็นของมันเอง มันจะเห็นมากขึ้นจนรู้อย่างเพียงพอที่จะไม่เป็นทุกข์ นี่ท่านบอกว่าอย่าประมาท อย่าประมาทก็หมายถึงข้อนี้ ต้องมีความพอใจที่จะทำและก็ทำอย่างละเอียด ประณีต สุขุม มันก็ได้ประโยชน์ มันจะทำอย่างผิวเผินอย่างหยาบๆ มันไม่ได้ ยิ่งทำอย่างไม่มีจิตใจจะทำแล้วก็ทำไม่ได้หรอก ถ้าสมมุติว่านะ พวกคุณคนใดคนหนึ่งไม่ได้รักจะบวช ไม่ได้รักจะศึกษา มาบวชเห่อๆตามๆกันมา หรือว่ามันถูกบังคับให้บวช อย่างนี้ไม่มีทางหรอก มันไม่มีทางหรอก แล้วมันจะเหนื่อยเปล่า เสียเวลาเปล่า เปลืองเปล่า ถ้าไม่ว่าจะเอาประโยชน์ให้ได้กันโดยแท้จริงให้สมกับที่บวชแล้ว ก็ขอให้ตั้งใจให้ตรงกับเรื่อง ตั้งใจให้ตรงกับเรื่อง คือ ต้องการจะรู้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ที่ควรจะรู้ที่ควรจะปฏิบัติ นี่เราอุทิศให้ตั้งแต่ทีแรกเลย แล้วก็บวช พอบวชแล้วก็เอาจริงทุกขั้นตอน มันก็ต้องได้รู้ได้เห็นธรรมะด้วยจิตที่เหมาะสม
ในเรื่องบวชนี้บางคนเขายึดถือมากเกินไป จนเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไปเสีย อย่างนี้มันก็ไม่ถูก เรื่องบวชนี้มันก็เพียงแต่ให้ความสะดวกที่จะศึกษา หรือจะปฏิบัติธรรมะเท่านั้น จะศึกษาหรือปฏิบัติโดยไม่บวชมันก็ได้เหมือนกัน แต่มันไม่สะดวก เมื่อมันมีหลักเกณฑ์ที่ละเอียด สุขุม ประณีตอย่างที่ว่ามาแล้วนี่ ชีวิตหยาบๆตามธรรมดาของชาวบ้านมันปฏิบัติไม่ได้ คือมันทำไม่ได้ จะศึกษาอย่างนั้น จะทำจิตอย่างนั้นมันทำไม่ได้ มันจึงเปลี่ยนระบบชีวิตจากชาวบ้านมาเป็นการบวช เพื่อให้มันมีความประณีต สงบระงับพอ และมันก็ทำได้ เช่นจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ควบคุมกิเลส เพื่อทำลายกิเลส ไม่สะดวกในการที่จะทำที่บ้าน ในชีวิตแบบที่ครองเรือน จะต้องสลัดสิ่งเหล่านั้นหมดเลยเป็นจิตที่เกลี้ยงอยู่ในที่สงบๆ แล้วประพฤติปฏิบัติธรรมตามหลักเกณฑ์ที่ได้ยินได้ฟังมา ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอน ก็ได้ก็ง่าย ในทุกกรณีที่มีการบวชในพระไตรปิฎกจะมีอย่างนี้ทั้งนั้น คือพอได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักการที่จะดับทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไรแล้ว คนนั้นมันก็จะรู้สึกขึ้นมาได้ตนเองว่า โอ้ ไม่ไหว กับการที่จะประพฤติให้ได้ตามนี้นั้น อยู่ที่บ้านเรือนทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ฉะนั้น จึงขอสละบ้านเรือนมาบวชเพื่อจะทำได้ เดี๋ยวนี้เราไม่เป็นอย่างนั้นใช่ไหม นี่เราบวชกัน สมัครบวช หรือบวชตามอะไรก็สุดแท้ เราไม่ได้มองเห็นว่าอย่างนั้น ไม่ได้มองเห็นว่าไม่บวชแล้วจะปฏิบัติไม่ได้ เราบวชตามความนิยมที่เขาชักชวน บวชกัน เขาจัดให้บวชกัน มันไม่เหมือนกับการบวชในครั้งพุทธกาล เราก็จะไม่ได้ผลอันนี้ แต่ถ้าเราอยากจะให้ได้ผลอันนี้ เราก็รีบเปลี่ยนแปลงจิตใจเสียสิ เปลี่ยนแปลงจิตใจที่ไม่ถูกให้มันเข้าร่องเข้ารอย ถูกตรงกันกับที่มันได้เคยมีมาแล้วในพระพุทธศาสนา ว่าผู้บวชทุกคนเขามองเห็นว่าถ้าไม่บวชนะ มันไม่สะดวกที่จะปฏิบัติธรรม จึงได้บวช ถ้าเราต้องการผลการปฏิบัติธรรม เราก็ต้องทำให้มันเข้ารูปเข้ารอยนั้นนะ เห็นชัดว่าชีวิตฆราวาสนะมันหยาบ มันกระด้าง มันวุ่นวาย มันไม่อาจจะรู้ธรรมหรือปฏิบัติธรรม จึงได้มาเปลี่ยนชีวิตมาอยู่อย่างบวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีชีวิตอย่างที่เรากำลังจะทำกันอยู่นี่ เพราะว่าบางแห่งการบวชไม่แตกต่างกันกับการอยู่บ้าน การบวชในที่บางแห่งคนบวชเข้ามาแล้วกลับกินดีอยู่ดีกว่าอยู่ที่บ้าน มีสตางค์ใช้มากกว่าอยู่ที่บ้าน สรวลเสเฮฮามากกว่าที่บ้านอย่างนี้ก็มีเหมือนกันในเมืองไทย ถ้าอย่างนี้มันไม่เป็นการบวช ไม่ได้รับผลการบวชอย่างที่พูด บวชแล้วกลับเป็นฆราวาสมากกว่าก่อนบวช กินอยู่สบายบำรุงบำเรอร่างกายด้วยทรัพย์สมบัติสิ่งของยิ่งกว่าเมือไม่ได้บวชอย่างนี้มันก็มี เพราะที่วัดนะมันมีอะไรมาก วัดบางวัดมันมีอะไรมากกว่าที่บ้าน อย่างนี้ไม่ใช่บวช ดังนั้นขอยินดีตามแบบที่มีไว้สำหรับให้เป็นการบวช เรื่องอาหาร เรื่องเครื่องนุ่งห่ม เรื่องเครื่องใช้สอย เรื่องที่อยู่อาศัยเรื่องหยูกยาให้เป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้แนะนำให้ บิณฑบาตก็ขอทานกินเป็น ปรทัตตูปชีวี มีชีวิตอยู่เนื่องด้วยผู้อื่น อย่างเมื่อเช้านี้ เราไปบิณฑบาต ก็คือไปขอทาน แล้วได้อะไรมาก็กินอย่างคนขอทาน อย่าไปละโมบโลภมาก เอร็ดอร่อยไปเสียมันก็จะไม่ได้ผล บางทีเราอาจจะต้องฉันข้าวเปล่าๆมันก็ได้ บางทีอาจจะต้องฉันข้าวผลไม้ ไม่มีกับข้าวก็ได้ บางทีอาจจะมีกับข้าวนิดเดียวก็ได้ การเป็นอยู่อย่างง่ายๆต่ำๆอย่างนั้นแหละมันมีจิตใจเหมาะที่จะรู้ธรรมะ เห็นธรรมะ เรื่องเครื่องนุ่งห่มเรื่องปัจจัย ๔ ที่จำเป็นแก่ชีวิตนั้นลดลงไปต่ำที่สุด ที่นี่เราพูดเป็นคำพูดจะเรียกว่าเป็นเรื่องขำๆหรือตลกๆก็ได้ แต่ว่ามีความหมาย กินข้าวจานแมว มีอะไรนิดหน่อยใส่ในบาตรรวมๆกันแล้วก็ฉัน ก็เรียกว่ากินข้าวจานแมว แล้วก็อาบน้ำในคู ไปอาบในลำธาร ในคู นอนในกุฏิเล้าหมู กุฏิเถ้าเล้าหมูหรือมีสภาพเหมือนเล้าหมู แล้วก็ฟังยุงร้องเพลง คำว่าฟังยุงร้องเพลงมันก็มีความหมาย ทดสอบว่าถ้าเราโกรธยุง แล้วมันก็ไม่ใช่ร้องเพลงหรอก ถ้าเราฟังเสียงยุงเป็นเสียงร้องเพลงได้ เราก็ไม่โกรธยุง ไม่ตบยุง ถ้าเราไม่ฟังเป็นเสียงยุงร้องเพลง ก็คือโกรธ ปวด เจ็บ แล้วก็ตบยุง ถ้าหัดจิตใจเสียใหม่ได้ ก็เป็นเหมือนกับฟังยุงร้องเพลง มันก็ไม่ตบยุงมันก็ได้ นี่เรียกว่าฝึกเปลี่ยนระบบชีวิตเสียใหม่ให้มันเป็นอย่างนี้ คือให้เข้ารูปตามหลักที่จะประพฤติพรหมจรรย์อันละเอียด อันประณีต สุขุมอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นได้ นี่ขอปรับความเข้าใจในเบื้องต้นอย่างนี้ว่าเราจะปรับปรุงระบบการเป็นอยู่ของเราให้ละเอียด ให้ประณีต ให้สุขุมเหมาะกับการที่จะศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมะอันละเอียด อันประณีต อันสุขุมนั่นเอง พรหมจรรย์ที่จะดับทุกข์ได้ มันละเอียด มันประณีต สุขุม เป็นธรรมะละเอียด ประณีต สุขุม เราก็ต้องปรับปรุงชีวิต เปลี่ยนแปลงชีวิตให้มันไปอยู่ลักษณะละเอียด ประณีต สุขุมแล้วมันก็ง่ายในการที่จะประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ชนิดนั้น นี่คือการบวชที่จะได้รับผลของการบวช แต่ถ้าเราไม่ต้องการผลอันนี้แล้วจะมาบวชทำไม มันก็คงจะเสียเวลาเปล่า เหนื่อยเปล่า เปลืองเปล่า ถ้าเราบวชโดยไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น แต่เมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องการจะได้ผลอย่างนั้น ก็รีบเปลี่ยนแปลงเสีย เปลี่ยนแปลงจิตใจ ความรู้สึกคิดนึกเสียใหม่ให้มันเข้ารูปเข้ารอยกันกับการที่จะศึกษาธรรมะอันละเอียด ประณีต สุขุมที่จะปฏิบัติธรรมะละเอียดประณีต สุขุม มันอยู่อย่างบรรพชิต สาวกของพระพุทธเจ้าอยู่อย่างที่ว่าคนละแบบกับฆราวาส ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็จะพูดว่าอยู่อย่างบรรพชิต คือ อยู่อย่างไม่ต้องใช้เงิน ถ้าอยู่อย่างฆราวาสมันต้องอยู่อย่างใช้เงิน ถ้าอยู่อย่างบรรพชิตได้ ก็พูดอย่างง่ายๆว่าอยู่อย่างไม่ต้องใช้เงิน ไม่ได้ก็ทนเอา ไม่มีอะไรก็ทนเอา ไม่ต้องหาเงิน ไม่ต้องใช้เงิน จึงจะเป็นการอยู่อย่างบรรพชิต ไม่มีอะไรกิน ไม่มีอะไรใช้ มันก็ต้องทำกันโดยวิธีไม่ต้องจะใช้เงิน ให้มันมีมาเป็นอยู่ได้ นี่เรียกว่าบวชโดยแท้จริง ฉะนั้น อย่าไปหงุดหงิดกับที่มันขาดแคลนอะไรบ้าง ในการเป็นอยู่นี้ ถ้าถึงกับว่าฟังยุงร้องเพลงได้ ฟังเสียงยุงกลายเป็นเสียงร้องเพลงได้ก็จะไม่ขาดแคลนอะไร จะไม่รู้สึกว่าขาดแคลนอะไร ขอให้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เวลาที่มาพักมาค้างอยู่ที่นี่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อปรับปรุงจิตใจกันเสียใหม่ ต่อไปนี้ก็จะเป็นคนที่มีความอดทน อดกลั้น อดทนต่อการบีบบังคับของกิเลสเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นคนละเอียดลออ ประณีต สุขุม ไม่พรวดพราด ไม่สะเพร่า และเป็นคนมีปัญญาไว ปัญญาลึก ปัญญากว้างขวาง เพราะปฏิบัติแบบนั้นก็ปฏิบัติตามแบบนั้น เรียกว่ามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีความถูกต้องทางกาย วาจา มีความถูกต้องทางจิต และมีความถูกต้องทางความคิดนึก ความรู้สึกต่างๆ นี่เรียกว่าเจริญ ก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนา ที่จะดับทุกข์ได้ๆตามลำดับๆ
นี่คือเรื่องที่ผมอยากจะปรับความเข้าใจกันในวันแรก เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาอะไรให้สำเร็จประโยชน์ในวันต่อๆไป ขอให้ทำความเข้าใจ และใช้สำเร็จประโยชน์ด้วยการพูดของเรา การสั่งสอนอบรมอะไรของเรานี่มันสำเร็จประโยชน์ได้จริงไม่เป็นหมัน อย่างน้อยก็เพื่อตัวเราเองดับทุกข์ได้ เมื่อเราจะไปสอนผู้อื่นไปช่วยเหลือผู้อื่นนั่นก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำได้อีกเหมือนกัน เป็นเรื่องขัดเกลา ในชั้นแรกนี่เราจะรู้ต้องเข้าใจต้องปฏิบัติได้ในเรื่องของเรา ให้มันมีความรู้ว่าได้ผลเกินคาด ได้ผลคุ้มค่ายังไม่เท่าไรได้ผลเกินคาดมันจึงจะดี ชีวิตนี้มันจะได้มีประโยชน์มีผลเกินคาด ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของมันได้ เรียกว่าเกือบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรไม่ได้กำไรอะไร มันไม่คุ้มค่า ถ้าไม่มีธรรมะมาช่วยแล้วมันก็ไม่คุ้มค่า อย่าว่าแต่จะคุ้มค่าหรือเกินค่า มันไม่คุ้มค่า จะไปโทษใคร มันก็โทษเจ้าของชีวิตนั่นแหละ ที่มันไม่รู้จักทำให้ชีวิตนี้เกิดประโยชน์อย่างเกินค่าหรือคุ้มค่า จะให้มันมีประโยชน์เกินค่า หรือคุ้มค่าก็คือ ทำให้มันมีธรรมะมากขึ้นๆ เราพูดกันอย่างมีอุปมาว่า ชีวิตนี้เป็นเหมือนกับสิ่งที่เติมธรรมะลงไปได้ เหมือนโอ่งไหที่เราเติมน้ำลงไปได้กว่ามันจะเต็ม ในชีวิตนี้มันก็เป็นสิ่งที่เติมธรรมะลงไปได้ เติมลงไปได้ จนกว่ามันจะเต็มไปด้วย ธรรมะนั่นแหละ ตอนนั้นแหละมันจะคุ้มค่าเกินค่า หรือยิ่งกว่าเกินค่า ในชีวิตที่ได้รับสิ่งที่มีค่าที่สุด ซึ่งจะเรียกว่า พระนิพพาน หรือจะเรียกอะไรก็ตามใจ แต่เดี๋ยวนี้เราจะพูดด้วยโวหารธรรมดาๆสามัญว่ามันได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้วก็เกินค่าของธรรมชาติธรรมดา ของร่างกายที่เป็นปฎิกูล ให้มันได้ผลเกินค่า ของร่างกายที่เป็นเพียงสิ่งปฏิกูล
ขอให้ทุกๆท่านได้รีบพยายามเตรียมตัวเพื่อทำให้ชีวิตนี้มันมีค่า มีประโยชน์เกินค่า เรื่องมันมีเท่านั้นแหละ ถ้าใครทำให้ชีวิตมันมีประโยชน์เต็ม มีค่าเกินค่าได้ก่อนจะตายก็ใช้ได้แล้ว มันก็ใช้ได้ นึกถึงสิ่งสูงสุดของมนุษย์เสียก่อนจะตาย เพราะเวลาที่เหลือจากนั้นก็มีแต่ผลดี ไม่มีความทุกข์ ที่เขาเรียกว่า ความสุขอย่างยิ่งเรื่อยๆไป ธรรมะมันมี ๕ อย่างนี้ ถ้าไม่เอาอย่างนี้ก็ไม่รู้จะให้อะไร จะมีอะไร จะให้อะไรได้ ธรรมะมันมีอย่างนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน เป็นสิ่งสูงสุด เป็นจุดหมาย ถ้าไม่ต้องการพระนิพพานก็เลิกกันแหละ มันไม่มีอะไรที่จะให้ ธรรมะไม่มีอะไรที่จะให้ นอกจากสิ่งที่เรียกไปว่านิพพานในอันดับสุดท้าย นี่ประชาชนพุทธบริษัทเดี๋ยวนี้ไม่ต้องการนิพพาน ต้องการเงินอย่างนี้เป็นต้น ไม่ต้องการนิพพาน มันก็พูดกันไม่รู้เรื่อง และมันก็ไม่อาจจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดตามหลักของพระพุทธศาสนา เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ขอให้สังเกตดูผมพูดเรื่องอะไร ในครั้งแรกผมพูดเรื่องอะไร คือพูดด้วยเรื่องทั่วๆไปที่มันเกี่ยวข้องกันทุกๆเรื่องสำหรับเตรียมตัวให้เหมาะสม เพื่อที่จะศึกษาหรือปฏิบัติพุทธศาสนาในอันดับต่อไป หัวข้อเรื่องที่พูดในวันนี้ก็คือ การเตรียมตัวสำหรับศึกษาพระพุทธศาสนา การบรรยายครั้งแรกมีชื่อเรื่องการเตรียมตัวศึกษาพระพุทธศาสนา ให้ได้รับประโยชน์เต็มที่คุ้มค่าแก่เวลา ถ้าเราพูดกันถูกเรื่องถูกราว มันก็ไม่ต้องพูดกันมากก็สำเร็จประโยชน์ ถ้าพูดกันไม่ถูกเรื่องถูกราว มันก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จประโยชน์ จะพูดกันตลอดปีก็ไม่มีทางสำเร็จประโยชน์ แต่ถ้าพูดถูกเรื่องถูกราวของธรรมชาติแล้ว มันก็ไม่ต้องพูดกันมากนัก มันเอาไปทำให้เป็นประโยชน์ได้ จึงหวังว่านักศึกษาผู้สนใจทั้งหลายคงจะได้เตรียมตัวสำหรับศึกษาพุทธศาสนาให้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าของการมาที่นี่ในโอกาสครั้งต่อไปด้วย ขอยุติการบรรยายในครั้งแรกไว้เพียงเท่านี้ ....
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ศึกษารูปภาพในตึกนั้นแล้วยัง แล้วยัง ศึกษารูปภาพในตึกนั้นแล้วยัง ศึกษาแล้วยังดูเองก็ได้ มีพระที่เขาอยู่ในนั้นเขาช่วยได้ ถ้าต้องการจะถามอะไร นั่นก็เป็นโรงเรียนไว้สำหรับศึกษา ถ้าดูธรรมะออกก็รู้ธรรมะข้อหนึ่ง ดูรูปเข้าใจก็รู้ธรรมะข้อหนึ่ง ดูรูปภาพเข้าภาพหนึ่งก็เข้าใจธรรมะข้อหนึ่ง หรืออาจจะหลายข้อก็ได้เพราะมันอธิบายได้หลายข้อหลายแง่ วันนี้เที่ยวไปดูทั่ววัดไปหรือยัง ทำความรู้จักกับวัดเสียก่อนสิ มันจะไม่รบกวนความสนใจ ไปดูทั่วๆวัด โบสถ์อยู่บนยอดภูเขา เสมาสำหรับทำสังฆทาน ตรงโน้นมีโรงปั้นตุ๊กตา สอนธรรมะด้วยตุ๊กตา ทุกแห่งเป็นธรรมชาติ ไปนั่งหาความสงบได้ ทำสมาธิได้แล้วแต่ชอบกันตรงไหน มีเรี่ยวแรงพอจะพูดได้วันละครั้ง ผู้ที่จะช่วยพูดไม่อยู่ ๒-๓ รูป คุณวรศักดิ์ก็ไม่อยู่ ท่านโพธิ์ที่จะช่วยสอนอาปานุสติได้ก็ไม่อยู่ เขาไปจัดงานที่เกาะสมุย ระหว่างองค์ที่อธิบายได้ทั่วๆไปได้ก็ไม่อยู่เวลานี้ ไม่ได้อยู่ที่นี่..ว่าอะไรนะ
ผู้สนทนา : โรงละครอยู่ที่ไหนครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : นั่นหลังใหญ่นั่น ที่มีรูปภาพฝาผนังเต็มไปหมดด้านในเรียกว่า โรงมหรสพทางวิญญาณ
ผู้สนทนา : ผู้ที่บรรยายไม่อยู่เหรอครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : อยู่ที่นั่น อยู่ประจำอยู่ที่นั่น แต่บางเวลาก็ไปธุระเหมือนกัน ไปบิณฑบาตเหมือนกัน แต่ว่าความประสงค์แท้จริงต้องการให้คิดออกเอง ไอ้ภาพเหล่านี้เขาเรียกว่าภาพปริศนาธรรม ปริศนา ปริศนา คือคำถาม ถ้าผู้อื่นบอกให้เสียแล้วจะรู้น้อยมาก จะได้ความรู้น้อยมาก ถ้าคิดออกเองจะได้ผล คือความรู้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คนโดยมากมันเป็นคนขี้เกียจหรือเป็นคนไม่จริง หรือไม่ชอบอบรมปัญญา มันชอบให้ผู้อื่นอธิบายเรื่อยๆ ไม่ๆคิดเอง ไม่พิจารณาเอง วิธีของมันก็คือว่าเอาเก้าอี้ตัวหนึ่งไปวางตรงหน้าภาพนั้น สำรวมจิตเป็นสมาธิพิจารณาหาความหมายของมัน มันจะค่อยๆออกมาๆ แบบสันทิฐิโก จะรู้ความหมายขึ้นมาเองพอรู้ความหมายแล้วก็จะรู้สึกว่า ภาพเหล่านั้นมันด่าเรา มันด่าเราที่ไปนั่งดู ไอ้ชาติโง่ แค่นี้ก็ไม่รู้ ถ้ามันมีความรู้สึกอย่างนี้ มันถึงขนาดของการใช้ภาพปริศนาธรรมเพื่อสอน ดูทีละภาพไปนั่งกันอย่างดีที่สุด กลางคืนก็ยิ่งดี รู้ความหมายลึกเข้าไปๆ จนรู้สึกว่าภาพนั้นมันด่าคนดู ไอ้ชาติโง่แค่นี้ก็ไม่รู้ ใช้ได้ ถ้าให้ผู้อื่นอธิบายเรื่อยๆแล้วก็ไม่รู้ ไม่ค่อยรู้หรอก รู้อยากผิวเผินหรือไม่รู้ เพราะเขาไม่มีเวลาที่จะนั่งพินิจพิจารณา เข้ามาเดี๋ยวเดียวก็จะดูทุกภาพ ภาพเดียวจะต้องดูทั้งชั่วโมง หรือดูหลายๆหนด้วยซ้ำไป ถ้าดูออกมันจะกลายเป็นเรื่องของเรา กลายเป็นเรื่องความโง่ของเรา เท่านี้ก็ไม่รู้ ในตึกนั้นมีหนังสือที่เป็นผลงานของที่นี่ที่ทำมา ๔๐ ปี ในนั้นนะมีหนังสือไปดูๆว่าทำงานมา ๔๐ ปีมันได้ไหม ถ้าไม่เหลวไหล ทำไปเรื่อยๆ มันก็ได้มากเกินกว่าที่คนธรรมดาคาดคิด เพราะหลายๆคนเขาไม่เชื่อว่าหนังสือทั้งหมดนั้นคนๆเดียวทำ หลายคนเขาไม่เชื่อ เพราะเขาคิดเขาทำไม่ได้ เขาเป็นคนเหลวไหล ทำงานไม่สนุก ต้องขยันและทำงานสนุก รู้สึกว่าเป็นสุขในการงานแล้วมันก็ทำได้เรื่อย แล้วมันก็มากเกินคาด แล้วมันก็มากเกินคาด ฉะนั้น ขอให้ทำอะไรด้วยจิตใจที่สนุก เป็นสุขในการกระทำ แล้วก็มันจะทำได้มาก และมันเป็นการพักผ่อนอยู่ในตัว เพราะมันไม่เหนื่อย ถ้ามันเป็นสุขอยู่ในการงานที่กระทำแล้วมันจะไม่เหนื่อย และมันก็ไม่ต้องการพักผ่อน ทำไปเถิด ทำไปเรื่อยๆทำงาน ๑๘ ชั่วโมงก็ได้ นี่มันสนุกพอใจหลงใหลในการทำงานวันละ ๑๘ ชั่วโมง
เวลา ๖โมงเขาเลี้ยงน้ำปานะที่นี่ นิมนต์ฉันน้ำปานะ มาฉันน้ำปานะที่นี่แล้วก็ทำวัตรเย็นตรงนี้ ทำวัตรเย็นกันตรงนี้ ถ้าสวดไม่ได้ก็นั่งฟัง นั่งหลับตาฟังก็มีประโยชน์เยอะเลย แม้เราจะสวดไม่ได้นั่งหลับตาฟังที่เขาสวดก็มีประโยชน์ เพราะว่าที่นี่สวดอย่างแปลเป็นไทยด้วย เสร็จแล้วเขาก็จะเปิดเทป เป็นการบรรยายเรื่องหนึ่งทุกคืนๆ ถ้าถือว่าเป็นการศึกษาแล้วก็ไปนั่งที่ตรงมุมใดมุมหนึ่งหลับตาเสีย ฟังตลอดเวลา มันก็เหมือนฟังเลคเชอร์เรื่องหนึ่งกลางคืน ใช้เวลาเป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะใช้ได้ ตี ๔ ก็ตีระฆัง ลุกขึ้นตี ๔ เสร็จแล้วก็มาทำวัตรเช้ากันที่นี่ ตี ๔ และก็ตี ๕ ถึงจะเปิดไฟ พอดีเตรียมตัวสำหรับไปบิณฑบาต ไปบิณฑบาตสัก ๑๐ รูป ที่เหลืออยู่นั้นช่วยจัดให้ที่ฉันให้พร้อมตามวินัย ตามหลักพระวินัยที่ไม่ไปบิณฑบาตต้องจัดเตรียมอะไรให้พร้อม แล้วก็ฉันอย่างฉันกลางทะเลทราย ฉันพอให้รอดตาย ไม่ใช่ฉันให้เพื่ออิ่มหมีพีมันแข็งแรง และก็อย่าทำความรู้สึกว่าฉันผักหรือว่าฉันเนื้อ ให้ถือว่ามันเป็นธาตุตามธรรมชาติ ที่เรียกว่าผักมันเป็นธาตุตามธรรมชาติ ที่เรียกว่าเนื้อมันก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ ฉะนั้น อย่าไปแบ่งแยกว่าเป็นผักหรือเป็นเนื้อ มันจะโง่ กินผักมันก็โง่ กินเนื้อมันก็โง่ อย่ากินทั้งผักอย่ากินทั้งเนื้อ กินธาตุตามธรรมชาติที่ควรกิน แม้แต่ตัวผู้กิน มันก็สักว่าธาตุตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตนบุคคลอะไรที่ไหน หัดอย่างนี้ทุกคราวที่ฉันอยู่ตลอดเวลาที่บวชอยู่ บริโภคอาหาร อย่าไปทำให้มันเป็นเนื้อสัตว์ หรือเป็นผักเป็นอะไรขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องของความโง่ เป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดกิเลส ภิกษุที่แท้จริงจะไม่ฉันเนื้อ ไม่ฉันผัก แต่จะฉันอาหารอันถูกต้องเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ เฉพาะส่วนที่ควรฉัน ชิ้นไหนไม่ควรฉันก็ไม่ฉัน เอาให้หมากิน ที่ควรฉันก็ฉัน และก็ไม่ต้องทำความเข้าใจว่าของคาว ของหวาน ไม่ต้อง มองดูเป็นอาหารที่ควรฉันก็แล้วกัน แล้วก็ฉันอย่างที่ว่าพระฉัน อย่างละโมบโลภมาก หรือดีใจได้มาก แล้วก็อย่าโกรธขัดใจเมื่อได้น้อย หรือไม่อร่อย เป็นต้น ข้อนี้ไม่ใช่ง่าย พูดง่าย แต่ทำมันก็ยาก ก็ควรจะหัดทำ ฝึกทำเสียในระหว่างที่บวชอยู่ จะอาบน้ำให้เย็นเยือก ต้องไปที่ลำธาร น้ำที่ปั๊มขึ้นมาไม่ค่อยเย็นเยือก น้ำลำธารเย็นเยือก นิมนต์ๆๆ