แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย เป็นอันว่าอาตมาจะได้กล่าวถึง ธรรมะในฐานะที่เป็นหนทางแห่งชีวิตถือว่าเป็นศิลปะแห่งการครองชีวิตตามความประสงค์ที่ท่านแสดงไว้ ตามธรรมดาในประเทศไทยเรา ในวัด ในวงวัดนี้ ไม่ได้ใช้คำอย่างนี้หรือว่าไม่นิยมใช้คำอย่างนี้ เช่นว่า เรื่องของชีวิต ปัญหาแห่งชีวิต ศิลปะแห่งชีวิต อย่างนี้ไม่ค่อยได้ใช้เพราะไม่มีธรรมเนียมใช้มาแต่ก่อนเลยรู้สึกว่าเป็นคำประพันธ์ของชาวบ้านมากไปก็เลยไม่ค่อยได้ใช้กัน แต่เดี๋ยวนี้ก็ค่อยยังชั่ว มีคนเลียนตามแบบที่พวกชาวต่างประเทศเขาพูดหรือเขาใช้ เช่น คำว่า วิถีทางแห่งชีวิต ชาวต่างประเทศเขาใช้กันมากทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาหรือไม่เกี่ยวกับศาสนา และคำว่า ศิลปะแห่งการดำรงชีวิต เขาก็ยิ่งใช้กันมาก เพราะว่าคนพวกนี้ชอบคำว่าศิลปะหรือ Art ในเมืองไทยเรายังไม่ค่อยมี แต่ก็ไม่เป็นไรเราก็ถือเอาประโยชน์มากกว่าที่จะถือเอาธรรมเนียม ถ้าอะไรเป็นที่เข้าใจกันได้เราก็ใช้คำอย่างนั้น ใช้วิธีการอย่างนั้น แต่มันก็ต้องทนบ้างที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงขนาดที่เรียกว่าด่าก็มีเหมือนกันและเป็นเรื่องที่อาตมาเคยถูกมาแล้ว ดูจะถูกมากกว่าใครๆและรู้เรื่องนี้ดี เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นของธรรมดา ไม่ค่อยมีใครวิพากษ์วิจารณ์ในการที่จะใช้คำให้ที่เรียกว่าทันสมัย นี้คำว่า ทันสมัยไม่ได้หมายความว่าเห่อสมัยอะไร มันเป็นการใช้คำที่ประหยัดเวลา คำที่เขาใช้กันอยู่ก็แพร่หลายทั่วโลกเพียงแต่ว่าออกชื่อมาเท่านั้นเขาก็เข้าใจกันแล้วอย่างนี่มันประหยัดเวลาได้มาก ดังนั้นเราก็ใช้หรือนิยมใช้กันขึ้นมา เป็นอันว่าจะใช้หัวข้อการบรรยายตามที่ท่านขอร้อง พุทธศาสนาในฐานะที่ว่าเป็นวิถีแห่งชีวิตหรือศิลปะแห่งชีวิต แต่ในครั้งแรกนี้ วันนี้ จะพูดในหัวข้อว่า ชีวิตที่ต้องรู้จัก ไม่ใช่เพียงแต่น่ารู้จัก หัวข้อที่เขียนให้ไปว่าชีวิตเป็นสิ่งที่น่ารู้จัก เขาบอกว่า ไม่ใช่น่ารู้จักแต่ว่าต้องรู้จัก ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก นี่เป็นหัวข้อ ก็ลองคิดเอาเองบ้างแล้วจะเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ทำไมจึงต้องรู้จัก ดูมันในแง่ไหนก็จะเนื่องถึงกันหมดในฐานะที่มันเป็นตัวเรา ชีวิตนั้นเป็นตัวเรา คือ สิ่งที่เราเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าตัวเรา มันก็ต้องรู้จัก ถ้าไม่รู้จักตัวเราก็คิดดูเถิดมันจะเป็นอย่างไรบ้าง ชีวิตนั่นแหละคือตัวปัญหา ปัญหามันก็เกิดแก่ชีวิต จนกระทั่งว่าเป็นตัวชีวิตเสียเอง ชีวิตกับปัญหานั้นเป็นอย่างเดียวกัน คือ มันเป็นสิ่งที่เราต้องสะสาง ต้องแก้ไข ต้องปรับปรุง ต้องทำอย่างกับว่ามันเป็นปัญหา นี่พวกฝรั่งมันก็พูดกันถึงข้อนี้มาก ที่เรียกว่า Problem of life นั่นแหละ ทีนี้ทำไมมันเป็นปัญหา เป็นปัญหาแล้วมันเป็นอย่างไร ทำไมถึงทนอยู่ไม่ได้ เพราะว่าปัญหาทั้งหลายนั้นมันรบกวน มันเป็นสิ่งหนักอกหนักใจ รบกวน แต่การทำความหนักอกหนักใจ เขาก็มีคำพูดขึ้นมากันอีกคำหนึ่งว่า Burden of life ของหนักของชีวิต มันก็คือปัญหาของชีวิต เป็นของหนักกดทับแก่ชีวิต เราจึงมองดูสิ่งเหล่านี้รวมๆ พร้อมกันไป ใช้คำพูดอย่างคนสมัยใหม่หรือคนปัจจุบันเขาใช้ เป็นอันว่าเราจะต้องรู้เรื่องของชีวิตหรือตัวเราในฐานะที่เป็นปัญหาที่เราต้องสะสางหรือว่าเป็นของหนักที่เราจะต้องปลงลงไป คำพูดอย่างนี้ก็มีแม้ในพระบาลีเอง มีของหนักอันปลงลงแล้วนี่เป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ โอหิตะปาโร (นาทีที่ 10:05)ก็มีของหนักที่ยกลงได้แล้ว คำนี้เป็นคุณบทของพระอรหันต์ ก็คือ ถ้าไม่มีของหนัก ของหนักของอะไร ของหนักของชีวิต ก็มาเข้าเรื่องของที่ว่าเป็นปัญหาของชีวิต เราก็ใช้คำเหล่านี้ได้ในฐานะที่เป็นคำเดิมๆ มีอยู่แล้วในพระบาลี แต่คนโง่บางคนมันไม่เคยได้ยินได้เห็น มันก็ล้ออะไรบ้างว่า ชอบใช้คำใหม่ๆ แปลกๆ อุตริ ดีดดิ้นก็ตามใจ เอาเป็นว่า เราจะพูดธรรมะ พูดถึงธรรมะในลักษณะที่เป็นเรื่องของชีวิต เป็นปัญหาทุกอย่างของชีวิต
ทีนี้ก็พูดกันถึงคำว่า ชีวิต นั่นแหละสักนิดหนึ่ง คำพูดคำนี้มันมีทั้งโดยภาษาคนและโดยภาษาธรรม ภาษาคน ชีวิต หมายถึง เรื่องทางวัตถุ เนื้อหนัง ร่างกาย คือไม่ตาย เหมือนที่เราสอนลูกเด็กๆใน โรงเรียนว่าชีวิต คือ ความเป็นอยู่ ยังไม่ตาย โดยเล็งเอาร่างกายเป็นหลัก ชีวิตของคนก็ดี ชีวิตของสัตว์ก็ดี ชีวิตของต้นไม้ก็ดี ยังมีความเป็นอยู่ของเซลล์แต่ละเซลล์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย พวกนี้เป็นของสดที่ยังเป็นชีวิตที่ยังไม่ตายที่เรียก โปรโตพลาสต์ เป็นนิวเคลียสของเซลล์ทั้งหลายนี่ นั้นมันยังไม่ตาย ยังมีความรู้สึกอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ยังดิ้นรนตามลักษณะของสิ่งที่มีชีวิตอยู่ ถ้าเซลล์เหล่านี้ยังไม่ตายก็ยังเรียกว่า ยังมีชีวิต เนื้อหนังร่างกายก็ยังมีชีวิต แม้แต่ต้นไม้ก็ยังมีชีวิต เพราะเซลล์เหล่านั้นยังเป็นอยู่ ชีวิตชนิดนี้ไม่มีปัญหาเป็นชีวิตทางฝ่ายวัตถุ เป็นภาษาคนธรรมดาไม่ลึกซึ้งเป็นธรรมะอะไร นี้คำว่า ชีวิต มันมีความหมายตามภาษาธรรม หมายถึง เรื่องทางจิตใจ มันกลายเป็นนามธรรมไป คือ ความที่มันยังคงทนอยู่ได้ ภาวะที่มันยังเป็นอยู่ได้ไม่ต้องแตกสลาย ของทั้งหมด ของทั้งกาย ของทั้งจิต ของทั้งอะไร ทั้งหมดที่เราดิ้นรนต่อสู้พยายามอยู่ ให้สิ่งนั้นมันคงอยู่ได้ เป็นไปได้ นี่เขาเรียกว่า ชีวิตในทางภาษาธรรมหรือว่าชีวิตในด้านจิตด้านวิญญาณ ชีวิตมีความหมายอยู่เป็น ๒ ประการ คือว่า โดยภาษาวัตถุหรือโดยทางนามธรรม ถ้ามีความถูกต้องทางวัตถุ ทางร่างกายและชีวิตอย่างร่างกายมันก็อยู่ได้ ถ้ามีความถูกต้องทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ ชีวิตฝ่ายจิตหรือฝ่ายวิญญาณ มันก็อยู่ได้ ก็ลองคิดดูการที่เรายังกินอาหาร ยังมีการถ่ายเท มีการบริหารอะไรอยู่ ชีวิตร่างกายมันก็มีอยู่ ถ้าเรามีความถูกต้องเกี่ยวกับการประพฤติ การกระทำในแต่ละวันๆ มันก็เลยมีชีวิตทั้งหมด มีทางจิตใจเป็นเรื่องใหญ่นั้นยังคงอยู่ เช่น เราไม่เป็นบ้า ไม่เสียสติ อะไรทุกๆ อย่างยังเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบที่ควรจะเป็น ความคิดความนึกยังถูกต้อง อะไรๆ มันยังมีความถูกต้องในฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ เราก็มีชีวิตอยู่ นี่ดูให้ดีมันแยกกันไม่ได้ ชีวิตทางฝ่ายวัตถุกับชีวิตทางฝ่ายวิญญาณนี้ มันต้องไปด้วยกัน แต่เมื่อดูกันในทางคุณค่าหรือความหมายที่สำคัญแล้ว ชีวิตในด้านจิตด้านวิญญาณนั่นแหละ มันสูงสุด เพราะว่าแม้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ แต่เป็นเรื่องของคนไม่รู้อะไร เป็นเรื่องโง่เง่าเต่าปูปลาก็มีแต่การทนทุกข์ทรมานอย่างนี้ มันก็ไม่มีความหมายอะไร ต้องมีชีวิตทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณถูกต้องสมบูรณ์อยู่ด้วย มันจึงจะมีความหมาย นี้ถ้าเป็นชีวิตทางร่างกาย เราก็มีวิชาความรู้อีกระบบหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวกับพระธรรมหรือพระศาสนาก็ได้ เรียกว่า เป็นความรู้อย่างโลกๆ เป็นความรู้ทางสรีรศาสตร์ ทางแพทย์ศาสตร์ ทางเรื่องที่ชาวโลกเขาก็ได้ทำการค้นคว้า ศึกษาปรับปรุงจนมีความก้าวหน้าถูกต้องสมบูรณ์ ไม่ต้องไปหาพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปหาพระเยซูอะไรที่ไหน แต่ถ้ามันเป็นเรื่องชีวิตทางด้านจิตด้านวิญญาณนั่นแหละ มันจึงต้องไปหาพระพุทธเจ้า คือ ไปศึกษาเรื่องธรรมะนั่นเอง แต่เราก็ยังยอมรับว่ามันยังเนื่องกันอยู่ ชีวิตส่วนวัตถุส่วนร่างกาย มันก็เนื่องกันอยู่ ในเรื่องความเป็นอยู่อย่างโลกๆ ก็มีคำสอนอยู่ในพระคัมภีร์อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ไม่ได้ลดต่ำลงมาถึงสรีรศาสตร์หรือแพทย์ศาสตร์อะไร ถ้าเราจะต้องบำรุงร่างกายในลักษณะที่สูงขึ้นไป พอให้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ พอให้เหมาะสมจะเป็นเครื่องรองรับชีวิต ในส่วนที่เป็นจิต เป็นวิญญาณ
ฉะนั้นขอให้มองให้เห็นความจริงข้อนี้ แล้วก็จะเข้าใจถูกต้องหรือตอบปัญหาได้ถูกต้อง ในเมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นมาว่า พุทธศาสนานี้เป็นวัตถุนิยมหรือว่าเป็นวิญญาณนิยมหรือเป็นจิตนิยม เราก็ตอบได้อย่างถูกต้องว่า ไม่เป็นอะไรโดยส่วนเดียว เป็นความถูกต้องระหว่างทั้งสองส่วน ความถูกต้องทั้งของเรื่องกายและของเรื่องจิต นั่นแหละเป็นหลักของพระพุทธศาสนา เป็นวัตถุนิยมอย่างเดียวมันก็ไม่ไหว เป็นจิตนิยมอย่างเดียว มันก็เป็นคล้ายๆกับบ้าๆบอๆ เพราะว่าลำพังจิตมันอยู่ไม่ได้โดยที่ไม่มีร่างกายหรือวัตถุเป็นเครื่องรองรับ คำว่าชีวิตที่เราประสงค์กันในที่นี้ ก็หมายถึง ความที่มันเป็นอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้องทั้งทางกายและทางจิตโดยไม่แยกกัน พุทธศาสนาหรือว่าภาษาพุทธศาสนาก็มีคำๆ หนึ่งเรียกว่า นามรูป นามคือจิต รูปคือกาย แล้วไม่แยกกันเอารวมเป็นคำเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน เป็นเอกวจนะเรียกว่า นามรูป อย่าไปแยกกันเป็นสอง ให้รวมกันเป็นหนึ่ง ตามหลักของภาษาบาลีก็ เรียกว่า นามรูปัง เป็นเอกวจนะเป็นสิ่งเดียว จะถือเอาสิ่งนี้เป็นชีวิตก็ได้ เรื่องของธรรมะก็เป็นเรื่องความถูกต้องของสิ่งที่รวมเรียกกันว่า นามรูป คือ กายและใจ ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก เพราะมันคือตัวเราหรือปัญหาทั้งหมดของเรา นี่ข้อแรกเป็นอย่างนี้
นี่เราต้องรู้จักและรู้ว่าอย่างไร ที่ว่าเราต้องรู้จักชีวิตหรือชีวิตเป็นสิ่งที่เราต้องรู้จัก เราต้องรู้ว่าอย่างไร ข้อแรกสรุปความว่า เราต้องรู้ว่า ถ้าปล่อยไปตามเรื่อง มันก็คือความทุกข์ทั้งนั้น นี้ข้อแรกช่วยจำให้ดี ว่าชีวิตนี้ ถ้าปล่อยไปตามเรื่องตามบุญตามกรรม มันก็คือความทุกข์ทั้งนั้น เอาไปดูก็แล้วกัน แต่คนไม่ค่อยมองเห็นกันว่า ความทุกข์คืออะไร เป็นอย่างไร เขายังมีเวลาหัวเราะสนุกสนานในชีวิตที่เขาปล่อยไปตามเรื่อง นั่นคือการที่ไม่รู้ สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ถ้าจะนึกถึงคำว่า มันเป็นของหนักที่ต้องพยายามต่อสู้ ช่วยยก ช่วยค้ำ ช่วยประคองอะไรอยู่เสมอ มันจะเข้าใจได้ง่าย แต่ธรรมดาคนเราไม่มีความรู้เรื่องของชีวิตก็เป็นอันว่า มันปล่อยไปตามบุญตามกรรม ความไม่รู้ในเรื่องชีวิต นั่นแหละเขาเรียกว่า อวิชชา มันก็ทำหน้าที่ของมัน ก็คือ มีอวิชชานั่นแหละเป็นเจ้าเรือน คือ ถ้าเราไม่รู้จักคำว่า ชีวิต แล้วอวิชชาก็จะเป็นเจ้าเรือน จะเป็นอยู่อย่างไม่รู้ว่าชีวิตนั่นคืออะไร หรืออะไรคืออะไร ความทุกข์คืออะไร ความดับทุกข์คืออะไร มันไม่รู้ทั้งนั้น และเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วความทุกข์ก็จะเป็นไป คือว่า กระแสแห่งความทุกข์ก็จะเป็นไป ที่เรียกเป็นภาษาบาลีฟังยากๆ จำยากๆ ว่า ปฏิจจสมุปบาท ที่จะเกิดความทุกข์นั้นก็จะเป็นไป นี่คือเรื่องที่อยากจะให้เข้าใจ เป็นเรื่องสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่า เป็นต้นเงื่อนของศาสนา กระทั่งเป็นตัวศาสนา กระทั่งเป็นที่สุดของศาสนา พูดอย่างภาษาชาวบ้านก็ว่า มันเป็นตั้งแต่ตัว ก ถึงตัว ฮ เรื่องปฏิจจสมุปบาท มันเป็นทั้งหมดของตัวพระพุทธศาสนา เมื่อคืนก็ได้พูดให้ฟังแล้วว่า ศึกษาพุทธศาสนา ตั้งต้น ก ข ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละคือเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่กำลังพูดถึง ถือว่าท่านทั้งหลายไม่รู้ธรรมะอะไรเลย ไม่รู้พระพุทธศาสนาเลย มาศึกษาพุทธศาสนาโดยแท้จริง เราก็ตั้งต้นเรียนพุทธศาสนากันที่ ก ข ของมัน ก็คือ เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู เป็นอย่างไรก็พอจะรู้กันแล้วกระมัง ตาสำหรับเห็นรูป หูสำหรับฟังเสียง จมูกสำหรับดมกลิ่น ลิ้นสำหรับรู้รส กายผิวหนังสำหรับรับสัมผัสทางผิวหนัง จิตสำหรับรู้สึกคิดนึก ที่ต้องเรียนมันอย่างวิทยาศาสตร์ คือ ไม่ใช่เพียงแต่ออกชื่อ แต่ต้องรู้จักมันจริงๆ เมื่อพูดถึงว่า ตา ก็ต้องรู้จัก ตา นั้นจริงๆ หู จมูก ก็ต้องรู้จักมันจริงๆ อย่างที่มันเป็นอยู่ทุกวันๆ
ทีนี้ก็เรียนเรื่องตาเป็นคำแรกข้อแรก เมื่อตาเห็นรูปหรือสิ่งที่มากระทบตาก็เกิดการเห็นทางตา คงจะเข้าใจแล้วกระมัง ไม่ต้องอธิบายแล้วกระมัง เมื่อตาได้กระทบกันกับรูปก็จะเกิดการเห็นทางตา นี่มันชัดจนไม่ต้องอธิบายอะไรอีกแล้ว และทุกคนก็เคยเป็น เคยผ่านมาแล้ว เมื่อตาเห็นรูปก็เกิดการเห็นทางตา เขาเรียกว่า จักษุวิญญาณ เราก็เห็นรูปอยู่ ตาก็เห็นรูปอยู่ไม่รู้กี่ครั้ง ที่นี่สามอย่างนี้ทำงานร่วมกัน คือ ตา กับ รูปที่เห็น และจักษุวิญญาณที่เกิดขึ้น นี่เป็นสามอย่างสามเส้า มันทำงานร่วมกันทำงานถึงกันเรียกว่า ผัสสะ คือ สัมผัส ก็คือ มีสัมผัสทางตา เมื่อมีการเห็นรูปทางตาแล้ว เขาเรียก มีการสัมผัสทางตา คือ ตาได้ไปสัมผัสกับรูปเข้าแล้วโดยสมบูรณ์ นี่ก็ควรจะเข้าใจได้ไม่ต้องอธิบายอะไรอีกกระมัง มีสัมผัสทางตาแล้วก็จะเกิดความรู้สึกทางตาที่เรียกว่า เวทนา ถ้ารูปที่เห็นสบายแก่ตา ตาก็เป็นสุขสบาย ถ้ามันไม่สบายแก่ ตาก็รู้สึกเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ทางตา ที่จริงก็เป็นเวทนาเป็นความรู้สึกที่เป็นสุขหรือที่เป็นทุกข์ มันเกิดขึ้นทางตา เมื่อเราเห็นรูปที่เราไม่ชอบ เราก็เป็นทุกข์ทางตา เมื่อเราเห็นรูปที่เราชอบ เราพอใจ เราก็รู้สึกเป็นสุขทางตา นี่ตรงนี่จะทำยุ่งที่ว่ามีเป็นสุขมีเป็นทุกข์ แล้วถ้าบางอย่าง มันไม่ถึงกับบัญญัติว่าสุขหรือบัญญัติว่าทุกข์ ก็เรียกว่า ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็มีอีกอันหนึ่ง เป็นสามความรู้สึก นี่เรียกว่า เวทนา ความรู้สึกอาศัยการสัมผัสทางตา นี่เวทนานี่มีแล้วย่อมให้เกิดความอยากความต้องการ ไปตามความหมายของเวทนา คือ เวทนาที่เป็นสุขทางตานั้น มันก็เกิดความอยากจะได้ จะเอา จะมี จะยึดถือ จะครอบครอง ถ้าว่าเวทนาที่เกิดมาจากสัมผัสทางตา มันไม่เป็นสุขแต่เป็นทุกข์ ความอยากมันเกิดขึ้นในทางที่จะไม่เอา ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากคุ้มครอง ถึงกับอยากจะทำลายเสีย ความอยากอย่างที่หนึ่งมันจะเอา ความอยากอย่างที่สองมันจะทำลายเสีย นี่ก็เรียกว่า ปัญหาของความอยาก ที่เป็นอยู่จริงที่เป็นไปตามเรียกว่า ตามบุญตามกรรมดีกว่าของคนที่ไม่รู้ธรรมะ พอมันอยากจะเอาหรือมันอยากจะฆ่าเสียอะไรก็ตาม มันมีความอยากขึ้นแล้ว มันมีความคิดที่ลึกซึ้งสลับซับซ้อนอันหนึ่งเกิดขึ้น คือ ความคิดนึกว่า ฉันหรือกูนี่อยากหรือต้องการ ตรงนี้บางคนอาจจะค้านว่า มันผิดหลักลอจิก ทำไมความอยากจึงเกิดก่อน ตัวผู้อยากเกิดที่หลัง มันผิดลอจิก นั่นมันลอจิกของเด็กๆ มันลอจิกของเรื่องทางวัตถุ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางจิตใจทางนามธรรม มันเป็นอย่างนั้นจริง มันมีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกว่า มีตัวฉันมีตัวกู มีตัวเราผู้อยาก นี่ก็เรียกว่า อุปาทาน ทีนี้มันก็มีความคิดประเภทที่มีตัวฉันตัวกูที่สมบูรณ์ขึ้นๆ จนมันทำอะไรไปตามที่มันอยากหรือมันยึดถือ เขาเรียกลำดับต่อจากนั้นไป ว่ามันมีตัวฉัน มีตัวเราขึ้นมา แล้วก็มีความเต็มที่ ความหมายแทนตัวเราเหมือนกับว่าคลอดตัวเราออกมา เป็นตัวเราขึ้นมาโดยสมบูรณ์ มันก็เลยมีปัญหาเกิดขึ้นแก่ตัวเรา ถ้าไม่มีตัวเรา ปัญหาก็ไม่รู้จะเกิดแก่ใคร พอมีความรู้สึกเป็นตัวเราขึ้นมาสำหรับยืนโรง ก็ปัญหาต่างๆ มันก็เกิดขึ้นมาแก่ สิ่งที่เรียกว่า ตัวเรา คือความคิดอย่างผิดๆ อะไรๆ มันก็ไปรุมอยู่ที่ตัวเรา ความเกิดความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันกลายเป็นของเรา เราก็ต้องมีความทุกข์ การได้ การเสีย การแพ้ การชนะ การอะไรต่างๆ มันก็เป็นของเรา มันก็เลยมีปัญหาสำหรับเป็นทุกข์ เมื่อไรมันกลายไปเป็นธรรมชาติ มันก็กลายมาเป็นของเรา เป็นของตัวเรา เรื่องที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันก็ควรจะเป็นไปตามธรรมชาติ มันกลับมารู้สึกแก่จิตของเราว่า เป็นเรื่องที่เกิดแก่เรา เพราะว่ามีตัวเราเกิดขึ้นมาแล้วมาคอยรับอยู่
นี่พอเริ่มเรียน ก ข ก กา ก็ดูชักจะงง เริ่มมึน เริ่มเวียนหัวแล้วใช่ไหม ถ้าอย่างนี้ก็ดูจะต้องยอมแพ้ แต่มันหลีกไม่ได้ที่มันจะต้องไม่เป็นอย่างนี้ พระพุทธศาสนามันเป็นอย่างนี้เอง แล้วผู้เรียนต้องเรียนอย่างเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนอย่างมีของจริงปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ไม่ใช่สันนิษฐานว่ามีอยู่หรือเป็นอยู่ โดยการสันนิษฐาน โดยการคำนวณ โดยการใช้สมมติฐานว่ามันมีอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าไปเรียนอย่างนั้น มันกลายไปเป็นเรียนปรัชญา ไม่ใช่เรียนวิทยาศาสตร์ เรียนพุทธศาสนาต้องเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นขอให้ทนฟังอีกรอบหนึ่ง หรือถ้าจะจดก็จดให้ถูกต้อง พอเรามีตาแล้วตาเห็นรูปก็เกิดการเห็นทางตา นี่เป็นเรื่องที่สาม เรื่องที่หนึ่งคือ ตา เรื่องที่สองคือรูป เรื่องที่สามคือเกิดการเห็นทางตา แล้วสามสิ่งนี้มาทำงานสัมพันธ์กันเรียกว่า ผัสสะหรือการกระทบทางตา พอหลังจากการกระทบก็เกิดความรู้สึกที่เป็นพอใจหรือไม่พอใจ คือสุขหรือทุกข์หรือไม่ถึงกับเป็นสุขหรือทุกข์ นี่เรียกว่า เวทนา อาศัยการกระทบทางตา อย่าไปเอาเรื่องนอกตัว เอาเรื่องที่เคยผ่านมากับตัวแล้ว ที่ตาเคยเห็นรูปอะไรแล้วเกิดความรู้สึกแล้วก็พอใจเป็นบางกรณี บางกรณีไม่พอใจ ไปเอาเรื่องจริงนั้นมาปรับเข้ากับหัวข้อธรรมะนี้ กระทบทางตาก็เกิดความรู้สึกทางตา พอใจหรือไม่พอใจหรือไม่กล่าวได้ว่าพอใจหรือไม่พอใจ เรียกว่า เวทนา ถ้ารู้จักเวทนาชัดพอแล้วก็จะเรียกว่า เรียนได้ พอจะเรียนได้ ถ้าเวทนายังเป็นเพียงคำพูด เป็นคำเป็นลมๆ อยู่ก็จะไม่รู้ ไม่รู้ธรรมะ เวทนาที่เราเคยผ่านมาแล้ว มีมาแล้ว บางครั้งเป็นสุขเวทนาเพราะมันถูกใจ บางครั้งเป็นทุกขเวทนาเพราะไม่ถูกใจ หรือบางครั้งมันยังกลางๆ อยู่ไม่อาจจะพูดได้ว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ยังมี ต้องรู้จักเวทนานี้ให้ดีๆ เวทนานี้จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหา เกิดเรื่องเกิดราว เกิดฆ่ากันตาย เกิดวิบัติฉิบหายในทางศีลธรรมก็เพราะสิ่งที่เรียกว่าเวทนานี่ ชีวิตตัวร้ายก็อยู่ตรงที่เป็นเวทนานี้ ที่มันยังไม่จบ พอเวทนาแล้วก็อยากที่มันจะทำเรื่องของมันต่อไปมันก็อยากโดยสมควรแก่เวทนา เวทนาเป็นที่พอใจก็อยากได้ เวทนาไม่เป็นที่พอใจมันก็อยากทำลายเสีย นี่เราจึงเห็นมีการฆ่าหรือสิ่งที่ตรงกันข้ามจากการฆ่า เรียกว่า ความอยากหรือตัณหา ตัณหา แปลว่า ความอยากที่มาจากความโง่ ความอยากที่มาจากสติปัญญานั้นไม่เป็นไร ไม่เรียกว่า ตัณหา ต้องเป็นตัณหาที่มาจากความโง่ ความที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เคยอยากกันทุกคนนี่ พูดกันตรงๆ ดีกว่า ทุกคนเคยอยากชนิดนี้มาแล้วทั้งนั้น อยากจะเอาเมื่อถูกใจ อยากจะไม่เอาอยากทำลายเมื่อไม่ถูกใจ ไปทำความรู้สึกซ้ำกันเสียใหม่ในความอยากนั้นให้รู้จักรู้สึกโดยประจักษ์แก่ความอยาก เหมือนกับว่ามองเห็นด้วยตา แต่เรื่องนี้มันไม่ได้มองเห็นด้วยตา มันเรื่องมองเห็นด้วยใจ แต่ว่าขอให้มองเห็นด้วยใจ อย่าเป็นเรื่องที่ฝันเอาหรือคำนวณเอา เราเคยมีความอยาก อยากมาก อยากน้อย อยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากทำลาย อยากอะไรก็มี ความอยากนี้เรียกว่า ตัณหา ทั้งนั้น ความอยากนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ พอเกิดความอยากเสร็จแล้วมันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นปัญหาหนักขึ้นไปอีกว่า ก็คือว่า รู้สึกว่ามีตัวฉัน ฉันเป็นผู้อยาก ฉันเป็นผู้ต้องการ ฉันเป็นผู้อย่างนั้นอย่างนี้ นี่เรียกว่า อุปาทาน ช่วยจำให้แม่นยำ คำในภาษาศาสนา มันมีความหมายไม่เหมือนกับชาวบ้านธรรมดา เช่น คำว่า เวทนา นี่ไม่ได้หมายถึงสงสาร มันหมายถึงความรู้สึกสามอย่างนั่นแหละ รู้สึกพอใจหรือไม่พอใจหรือว่าไม่เป็นทั้งสองอย่าง นี่เรียกว่า เวทนา นี่พอมาถึงตัณหาก็คือ ความอยาก ไม่ใช่ตัณหากามารมณ์อย่างเดียว ตัณหากามารมณ์ก็รวมอยู่ในความอยากนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ตัณหาในภาษาธรรมะ มันหมายถึงอยากทุกชนิดแหละ อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเอา อยากไม่ให้ได้ อยากไม่ให้มี อยากไม่ให้เป็น อยากไม่ให้เอา นี่ก็เรียกว่า ตัณหา ทั้งนั้น ถ้ามันขึ้นชื่อว่าความอยากก็เรียกว่า ตัณหา ทั้งนั้น ไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องของกามารมณ์
เอ้า, ทีนี้ก็มีความอยาก ลองไปทบทวนดูเอง เดี๋ยวนี้เวลาไม่พอ ก็ไปทบทวนดู เวลาหลังก็ได้ ว่าเราเคยอยากครบบริบูรณ์อย่างนี้หรือไม่ และพออยากแล้วมันก็มีความรู้สึกอันหนึ่งซึ่งเป็นผู้อยาก ความรู้สึกว่า กูผู้อยาก กูอยากมันพลุ่งขึ้นมา ภายหลังความอยากมันได้เกิดขึ้นเต็มขนาดแล้ว นี่จะถูกค้านว่า มันผิดตรรกะ ไม่มีตัวผู้อยากสักครู่ก็ไม่อยากได้ นี่มันเรื่องจิตใจ มันเรื่องธรรมะ เป็นเรื่องของศาสนาแล้วมันก็พิสูจน์อยู่ในตัวพร้อมกันไป เพื่อให้รู้ว่าที่ ตัวฉันตัวกูตัวผู้อยากนั้นไม่ใช่ของจริง มันเป็นมายา มันเป็นลมๆ แล้งๆ มันจึงเกิดเมื่อไรก็ได้ แล้วมันจึงเกิดภายหลังแต่จิตมันรู้สึกอยากเสียก่อน คือ จิตมันรู้สึกอยากแล้วมันจะเกิดความรู้สึกว่าฉันอยาก นี่จำไว้ว่าในฐานะเป็นของแปลกของหลักธรรมะ มันไม่มีลอจิกอย่างชาวบ้าน มันเกิดความอยากแล้วมันเกิดตัวผู้อยากทีหลัง ชาวบ้านเค้าต้องมีตัวผู้อยากผู้ทำเสียก่อน มันจึงมีการกระทำ นั้นมันเรื่องง่ายๆ ตื้นๆ ของชาวบ้านเป็นเรื่องทางวัตถุทางกายเสียมากกว่า เรื่องทางจิตอันลึกซึ้งที่จะแสดงให้เห็นว่าตัวฉัน ตัวเรา ตัวผู้อยากนั้นไม่มีตัวจริง เป็นความคิดที่เกิดขึ้นอย่างลมๆ แล้งๆ หลังจากที่มันมีความอยากเกิดขึ้นแล้วในใจ มันเกิดความอยากแล้วมันก็เกิดเป็นความรู้สึกมีตัวผู้อยาก จนตอนนี้เรียกว่า อุปาทาน อุปาทาน แปลว่า เข้าไปถือเอา เกิดความรู้สึกชนิดหนึ่งที่เข้าไปถือเอาเรื่องนั้นว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน เราเรียกความรู้สึกอันนี้ว่าเราบ้าง ว่าของเราบ้าง ถ้ามันรุนแรงนักก็ว่ากู ว่าของกู ธรรมดาว่าฉันหรือของฉัน เราหรือของเรา แล้วก็ไม่ต้องพูด เข้าใจว่าเคยมาแล้วทั้งนั้นแหละ แต่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ลำดับ ไม่รู้อะไรเป็นเหตุของอะไร ความรู้สึกเป็นตัวกูตัวฉันอย่างนั้นอย่างนี้เคยกันมาแล้วทั้งนั้น เกิดได้แก่บุคคลที่มีอายุพอสมควรที่จะรู้ความหมายของคำว่า สุขหรือทุกข์ ดังนั้นเด็กๆ อายุสี่ห้าขวบก็จะเกิดความรู้สึกทั้งหมดนี้ได้
นี่ก็เกิดอุปาทาน ความรู้สึกประเภทตัวตนผู้อยากและเกิดเป็นความรู้สึกประเภทที่ว่าเนื่องต่อกันไปว่ามี ความมีขึ้นแห่งตัวตน เรียกว่า ภพ ภาวะความมีขึ้นแห่งตัวตน มีภพนี่เหมือนกับมีท้องแก่แล้ว มันก็คลอดออกมาเป็นชาติ คือ ตัวตนที่สมบูรณ์ การเกิดทางนามธรรม ทางภาษาธรรม ฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ เกิดตรงนี้ เกิดเมื่อมีความรู้สึกว่ามีตัวตนโดยสมบูรณ์โพล่งออกมาเป็นอยู่ในความสำนึกนี่เรียกว่า ชาติ เราเกิดชาติเป็นตัวตนของเรานี่วันหนึ่งได้หลายครั้ง อาศัยเรื่องทางตาก็เกิดได้อย่างที่ว่านี้ อาศัยเรื่องทางหูก็เกิดได้อย่างเดียวกันอีก ทางจมูกได้กลิ่นก็เกิดได้อย่างเดียวกัน ลิ้นก็อย่างเดียวกัน สัมผัสผิวหนังก็อย่างเดียวกัน คิดนึกเอาเองภายในก็อย่างเดียวกัน มันเกิดได้ตั้งหกทาง ดังนั้นการเกิดแห่งตัวเราตัวตนนี้ เกิดได้ถึงหกทาง วันหนึ่งๆ จึงมีการเกิดได้มาก หลายสิบครั้ง อาจจะเป็นร้อยครั้งก็ได้ ขอให้ศึกษาที่นั่นแล้วจะรู้จักตัวพุทธศาสนา ตัวธรรมะที่เป็นตัวพุทธศาสนา ที่อื่นไม่มี ที่อื่นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามใจ สมัครใจเรียนหรือไม่สมัครใจเรียนก็ตามใจ แต่พระพุทธเจ้าท่านได้มอบให้สิ่งนี้ให้เป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาของพระพุทธศาสนา
นี่เราปล่อยไปตามเรื่องที่มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างนี้และก็มีอวิชชาเป็นเจ้าของเรื่อง ก็คือ ในขณะที่เราได้เห็นรูปด้วยตา ได้รู้ทางตา ได้สัมผัสทางตาอะไรตลอดเวลานั้น มันเป็นอยู่ด้วยอวิชชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการสัมผัสนั่นแหละ สัมผัสทางตาในรูปที่สวยงามหรือไม่สวยงามนั่นแหละ ในขณะสัมผัสนั้นแหละมันมีอวิชชา จิตมันมีอวิชชา มันไม่รู้ว่า นี่มันเป็นอะไร เป็นอย่างไร ก็สัมผัสด้วยความโง่คืออวิชชา ก็เกิดความรู้สึกตามความโง่ ตามอวิชชาว่าสวยบ้าง ไม่สวยบ้าง น่ารักไม่น่ารักบ้าง มันไม่เฉย ไม่เป็นกลางอยู่ได้ นี่เรียกว่า ผัสสะด้วยอวิชชาหรือความโง่ ก็เกิดเวทนาขึ้นมาตามความโง่แล้วเกิดความอยาก คือ ตัณหาขึ้นมาตามความโง่ แล้วอุปาทานยึดถือเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาตามความโง่ ก็เกิดภพตัวความโง่คลอดออกมาเป็นคนโง่ดิ้นเร่าๆ อยู่ ทั้งสายนั้นแหละ มันเต็มไปด้วยอวิชชา มันเจืออยู่ด้วยอวิชชา
ฉะนั้นเราต้องรู้ชีวิตนี้ดีว่า ถ้าปล่อยไปตามเรื่องมันจะเกิดความทุกข์ มันจะเป็น ปฏิจจสมุปบาทที่ให้เกิดความทุกข์อย่างที่ได้พูดไปแล้วมันมีอวิชชาเป็นเจ้าเรือน ถ้าไม่ยอมแพ้มีความอดทนพอก็ทนศึกษาให้เข้าใจ มันมีเรื่องนี้เรื่องเดียวเป็นทั้งหมดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นตั้งแต่ ก ถึง ฮ ถ้ายอมแพ้ก็ไม่ต้องศึกษา และก็ไปจับเอาเรื่องขี้ปะติ๋ว นั้นบ้างนี้บ้าง ร้อยเรื่องพันเรื่องมาศึกษาแล้วก็จะไม่เข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ถ้าคุณอยากจะเข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา คุณต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ เล่านิทานเรื่องนี้ให้ฟังอีกทีก็ได้ ว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว สมบูรณ์แล้ว วันหนึ่งท่านนั่งอยู่องค์เดียวคิดว่า ไม่มีใครอยู่ด้วย ท่านเห็นเป็นโอกาสเหมาะท่านก็เลยท่องข้อความนี้ขึ้นมา เหมือนกับว่าบางคนที่มันว่างก็ร้องเพลงเล่น ปากมันอยู่ไม่สุข มันร้องเพลงเล่น เมื่อพระพุทธเจ้าท่านประทับอยู่องค์เดียว ท่านก็เกิดร้องเพลงนี้ขึ้นมา ที่เป็นภาษาบาลีมันมีว่า (นาทีที่ 49.55-50.29) นี้ท่านว่าเรื่องตา แล้วท่านก็ว่าเรื่องหูอีกข้อความเหมือนกัน แล้วก็ว่าเรื่องจมูกข้อความเหมือนกันอีก เรื่องลิ้น เรื่องผิวหนัง เรื่องจิตใจ ดูอาการคล้ายๆ กับว่าท่านเป็นสุขอย่างยิ่งที่ได้พูดอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสูงสุดในเรื่องพระศาสนาของท่าน ทีนี้ท่านเหลียวไป อ้าว, พระองค์หนึ่งมายืนฟังอยู่ข้างหลัง อ้าว, ดีแล้วๆ แกมาแล้ว นี่เอาไป (นาทีที่ 51.11) เอาไปๆ เอาไปเรียนเอาไปศึกษา อันนี้เป็นอาทิพรหมจรรย์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ แล้วก็เป็นไปเรื่อยจนเป็นถึงที่สุดของพรหมจรรย์ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ไม่มีเรื่องอื่น มีแต่เรื่องทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ดับลงอย่างไร เป็นตัวพระศาสนา นี่เป็นที่มาของเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เราถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง จัดเป็นตัวพุทธศาสนาแท้ๆ ความรู้เรื่องชีวิตโดยแท้จริง ก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นตัวเรื่องพุทธศาสนา ถ้าเรียกเป็นภาษาฝรั่ง เค้าเรียกว่า Dependent origination Dependent แปลว่า อาศัยกันๆ Origination แปลว่า ปรุงกันขึ้นมา อาศัยกันแล้วปรุงขึ้นมานี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท อาศัยตากับรูปเกิดจักษุวิญญาณ จักษุวิญญาณปรุงผัสสะ ผัสสะปรุงเวทนา เวทนาปรุงตัณหา ตัณหาปรุงอุปาทาน ไม่มีอะไรเป็นตัวเอง มีแต่ปรุงและถูกปรุง ถูกปรุงแล้วก็ปรุงต่อไปนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มีชื่อเรียกว่า อิทัปปัจจยตา ก็มี มีชื่อเรียกว่า ตถตา มันเป็นเช่นนี้ เองก็มี มีชื่อเรียกว่า อนัญญถตา มันไม่เป็นอย่างอื่นไปจากนี้ได้ก็มี อวิตถตา มันไม่ผิดไปจากการเป็นอย่างนี้ได้ก็มี เป็นธัมมนิยามตา เป็นกฎตายตัวของธรรมดา เป็นธัมมัฏฐิถตา เป็นการตั้งอยู่โดยธรรมดา แต่มันมีใจความสำคัญอยู่ตรงที่เรื่องที่ว่าให้ฟังเป็นปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นตัวพุทธศาสนา อยากจะบอกให้ทราบว่า ที่คนในโลกไม่กล้าพูด เพราะมันไม่รู้พระพุทธศาสนา ก็เพราะมันไม่สนใจเรื่องนี้ ในเมืองไทยนี้แหละ เขายังถือเป็นหลักกันว่า เรื่องนี้อย่าเอามาสอนๆ เรื่องปฏิจจสมุปบาทยังไกลเกินไป ยังลึกเกินไป คนไม่เข้าใจ อย่าเอามาสอนกระมัง ดังนั้นคุณจึงไม่ค่อยได้ยิน แต่มันขัดกับที่พระพุทธเจ้าบอกว่า นี้มันเป็นจุดตั้งต้นของการศึกษา ดังนั้นจึงเป็นโชคที่ยังไม่ดี ในเมืองไทยก็ดี ต่างประเทศก็ดี พวกที่เป็นพุทธศาสนา มันไม่ได้ตั้งต้นด้วยเรื่องนี้ อย่างที่บอกแล้วบอกอีกให้พวกคุณถือไว้ว่า ถ้าจะลงมือพุทธศาสนาแล้ว ก ข ก กา ของมันตั้งต้นที่ ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มาถึงกันเข้าเรียกว่า วิญญาณ ถึงกันเข้าเรียกว่า ผัสสะ ให้เกิดเวทนา เกิดตัณหา อุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ นั่นแหละคือตัว ก ข ก กา ที่เป็นไปตามลำดับ จนถึงที่สุดฝ่ายความทุกข์ แล้วก็มีถอยๆ กลับ นี้เป็นเรื่องฝ่ายที่ดับทุกข์ เราเข้าใจฝ่ายที่มันเกิดทุกข์ เกิดความทุกข์เสียก่อน เรื่องตามันเป็นอย่างไร ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นอย่างนั้นแหละ อะไรกระทบผิวหนัง นิ่มนวลก็ไปอย่างหนึ่ง หยาบกระด้างก็ไปอย่างหนึ่ง มันเกิดอาการผัสสะ เวทนาไปตามลำดับ
ทีนี้เรื่องที่หกมันออกจะอยากสักหน่อย มันเป็นเรื่องทางจิต ทางมโน ทางจิตไม่ได้ทำงานที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ห้าอย่างนี้ แต่ว่าจิตมันกำลังทำงาน นั่งอยู่ตรงนี้ เศร้า เพ้อ ละเมอ ฝันไปถึงเรื่องแต่หนหลังในอดีต ก็เป็นอารมณ์สำหรับมโนกระทบกันเข้ากับธรรมารมณ์นี้ก็เกิดมโนวิญญาณแล้วก็เกิดผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน อย่างเดียวกันได้ ปัญหามันจึงยาก อันที่หกนี่ แม้ว่าตาไม่ได้เห็นรูป หูไม่ได้ฟังเสียง จมูกไม่ได้ดมกลิ่นก็ตาม แต่จิตมันยังสัมผัสอารมณ์ในอดีตที่สะสมไว้ได้ ที่แท้มันก็เอาเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ในอดีตนั้นแหละมาทำสัมผัสใหม่โดยทางจิตใจ ดังนั้นเราจึงมีโอกาสมากเหลือเกินที่มีเกิดความทุกข์ เพราะเรื่องทางจิตใจ เอามาคิดนึกเมื่อไรก็ได้ มันเกิดโอกาสเหมาะเมื่อไร ความจำแต่หนหลังมันก็ขึ้นมา เคยโกรธใคร เกลียดใคร รักใคร เคยได้ เคยเสีย เคยแพ้ เคยชนะ เคยอะไรต่างๆ มันเอามาปรุงเป็นอารมณ์อันหนึ่งสำหรับจิตใจจะสัมผัสแล้วมันก็สัมผัสไปตามเรื่องที่ว่า ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท นี่ถ้าคุณไม่มองเห็นชีวิตอันนี้ละก็ป่วยการที่จะศึกษาเรื่องชีวิตหรือปัญหาของชีวิตหรือหนทางแห่งชีวิตหรือศิลปะแห่งการครองแห่งชีวิต เราต้องรู้จักตัวชีวิตจริงๆ อย่างที่ว่ามานี้จนเราควบคุมมันได้ เราจึงจะไม่มีความทุกข์ เรียกว่า เรามีธรรมะสำหรับควบคุมชีวิตได้ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่ก็ได้บอกให้ฟังว่า ชีวิตนี่เป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก หรือต้องรู้ว่าถ้าปล่อยไปตามเรื่องมันจะเกิดความทุกข์ แล้วมันจะเกิดกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท แล้วมันจะมีอวิชชา ความโง่ไม่รู้อะไรเป็นเจ้าเรือนไปในทุกกรณี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขั้นตอนไหนก็ตามอวิชชามันเข้าควบคุมทั้งนั้น เมื่อเห็นรูปก็อวิชชา เมื่อเกิดจักษุวิญญาณก็อวิชชา เมื่อสัมผัสก็อวิชชา เมื่อเวทนาก็อวิชชา เมื่อตัณหาก็อวิชชา เมื่ออุปาทานก็อวิชชา เมื่อภพเมื่อชาติก็อวิชชาตลอดสายเป็นความทุกข์ นี้เรียกว่า มีอวิชชาเป็นเจ้าเรือน แล้วปฏิจจสมุปบาทหรือกระแสแห่งชีวิต ฝ่ายที่จะให้เกิดความทุกข์มันก็ตั้งขึ้นเป็นสายแห่งความทุกข์ จบลงที่ความทุกข์ ทีนี้มันก็จะซ้ำซากๆ จนเป็นความเคยชิน ในความซ้ำซากนี้เราเรียกว่า วัฏฏะสงสาร คำว่า วัฏฏะสงสารนี้เข้าใจว่าท่านทั้งหลายเคยได้ยินแล้ว แต่อาจจะเข้าใจความหมายไม่ถูกต้อง รู้ความหมายคนละอย่างกันดีกว่า วัฏฏะสงสารที่เขาว่า เวียนว่ายตายเกิด ตายเข้าโลงแล้วเกิดใหม่ เกิดใหม่ตายอีกๆ อย่างนี้เรียกว่า วัฏฏะสงสาร ก็ถูกเหมือนกัน นั่นวัฏฏะสงสารโดยเอาร่างกายเป็นหลัก นี่วัฏฏะสงสารที่เกี่ยวกับใจ เป็นเรื่องของจิตใจโดยแท้ ก็คือ เรื่องที่กำลังพูด พอเรามีความพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม มันก็เกิดกิเลส คือ ความพอใจหรือไม่พอใจ มันก็เป็นกิเลส ความรัก ความโกรธ ความโลภ ความหลง นี่มันเป็นกิเลส นี่กิเลสก็ให้เราทำไปตามอำนาจของกิเลส นี่เขาเรียกว่า กรรม กิเลสเป็นเหตุแห่งกรรม ความรู้สึกของเราทำให้เราทำอะไรไปอย่างหนึ่ง สิ่งที่เราทำลงไปเรียกว่า กรรม ทีนี้ กรรมมันต้องมีผลการกระทำตามสมควรแก่กรรม แล้วก็ได้รับผลกรรม กิเลสมันก็เกิดขึ้นมาใหม่อีก จากการที่ได้รับผลกรรม มันไม่หยุดอยู่ ว่ารับผลกรรมแล้วเลิกกัน รับผลกรรมเป็นที่พอใจมันก็เกิดอยากทำต่อไป เพื่อได้มากขึ้น อะไรทำนองนี้ ถ้าไม่พอใจมันก็คิดไปในทางร้าย ทางทำลาย ไปทางฆ่าฟันตามเรื่อง สรุปความว่า รับผลกรรมแล้ว กิเลสไม่ได้หยุด กิเลสเกิดต่อไปในรูปที่สอง ในรอบที่สอง ความอยากเป็นเหตุให้กระทำ กระทำแล้วได้รับผลกรรม มันก็ทำให้อยากต่อไปอีก อยากแล้วก็ทำอีก ได้ผลของการกระทำแล้วก็อยากต่อไปอีก แล้วก็ทำแล้วได้ผลของการกระทำแล้วก็อยากต่อไปอีก ไปดูในสิ่งที่เรียกว่า วัฏฏะสงสาร คือวนอยู่ในของสองสิ่งสามสิ่ง นี่เรียกว่า วัฏฏะสงสาร ที่มันมีอยู่ในชีวิตของเราจริงๆ ถ้าเรามีปัญญามองเห็นชีวิตของเราโดยแท้จริงโดยประจักษ์แล้วเราจะมองเห็นวัฏฏะสงสารอยู่ในชีวิตนั้น ชั่วชีวิตของเรานั้นจะมีความอยากแล้วมีการกระทำตามความอยาก แล้วมันได้ผลตามสมควรของการกระทำแล้วมันก็อยากอีก แล้วอยากอันใหม่ต่อไปอีก มันเนื่องมาจากที่ได้รับผลนั่นแหละ มันก็อยากอีก ก็ทำอีก ได้รับผลอีก อยากอีก ทำอีก ได้รับผลอีก แล้วมันมีหลายๆ เรื่อง หลายๆ วงมาพัวพันกันยุ่งไปหมดก็มี นี่ถ้าคุณยิ่งต้องศึกษาชีวิตจนมองเห็นอันนี้ว่า ชีวิตนี้เต็มไปด้วยวัฏฏะสงสาร ไม่ต้องเข้าโลง ไม่ต้องรอจนตายแล้วเกิดใหม่ นั่นเป็นวัฏฏะสงสารในอีกแบบหนึ่ง เขาถือไว้อีกแบบหนึ่งให้เขา เราไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอะไร ที่มันเป็นปัญหาที่มันทรมานเรานักหนาเท่ากับวัฏฏะสงสารในชีวิตหนึ่งๆ นี่ รอบหนึ่งของการกระทำ ของความอยาก ของการกระทำแล้วได้รับผล แล้วอยาก แล้วกระทำ ได้รับผลรอบหนึ่งๆ นี่ เรียกว่า วัฏฏะสงสาร ก็ไปนึกดูเราเคยอยากอะไรบ้าง เมื่อวานนี้ก็ได้ วันนี้ก็ได้ เราทำอะไรลงไปตามนั้น แล้วมันได้ผลขึ้นมาแล้วเราหยุดอยากได้เมื่อไร เราก็อยากต่อไปอีก ถ้าได้อย่างที่เราต้องการก็อยากมากไปอีกหรืออยากจะลองอย่างอื่นอีก คือถ้าไม่ได้ตามต้องการ มันก็อยากจะลองอย่างอื่นอีก มันก็ไม่หยุด นั่นชีวิตก็คือวัฏฏะสงสารนั่นเอง วัฏฏะสงสารก็คือชีวิตนั่นเอง
นี่การที่จะรู้จักว่า ชีวิตมันคืออะไร มันเป็นอย่างนี้ นี่เราจะมองเห็นได้ว่า มันเป็นไปตามกรรม เข้าไปอยู่ในตามวงของกรรมขอบเขตของกรรมหรือว่าในคุกในตารางของกรรม ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกรรม แม้ว่าจะเป็นกรรมดี มันก็เป็นคุกเป็นตารางชนิดหนึ่ง เหมือนกับกรรมชั่วและมันไม่พ้นไปจากกรรมไปได้ มันต้องทนรับภาระเป็นของหนักของชีวิต ที่เป็นดีก็แบกหามความดี ที่เป็นร้ายก็แบกหามความร้าย มันทุลักทุเลด้วยกันทั้งนั้น นี่เขาเรียกว่า ความทุกข์ ความทุกข์ในความหมายสมบูรณ์นั้นก็คือดูแล้วมันน่าระอา อย่าเข้าใจครึ่งเดียว โดยมากเข้าใจครึ่งเดียวว่า ความทุกข์นั้นคือเจ็บปวดเหลือทน เรียกว่า ความทุกข์ ที่รู้สึกว่าไม่เจ็บปวด สะดวก สบายเอร็ดอร่อย สนุกสนานนั้นระวังให้ดี มันก็มีลักษณะแห่งความทุกข์ คือ ดูแล้วน่าระอา นี่ขอให้รู้ไว้ว่า คำว่าความทุกข์ ทุกข์นี่ใช้แม้กับสิ่งไม่มีชีวิตจิตใจ พระบาลีมีอยู่กลุ่มหนึ่ง คำว่า ความทุกข์นี่มีความหมายที่ใช้แม้แต่สิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ เช่น ก้อนหิน เช่นอะไรเหล่านี้ มีลักษณะแห่งความทุกข์ โดยที่มีหลักว่า มันไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดทั้งไม่เที่ยงทั้งเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เช่น ก้อนหินนี่ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง จึงมีลักษณะแห่งความทุกข์ คือ ดูแล้วน่าระอาเพราะไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ จึงว่าเป็นอนัตตา ไม่เป็นตัวเป็นตนของมันเลย เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา ไม่ใช่ตัวตนของมันเลย ความทุกข์คำนี้ความหมายมันกว้างมากกว่าที่เขารู้สึกกันอยู่ตามธรรมดา คนทั่วไปรู้สึกความหมายว่า เจ็บปวดทนยากเท่านั้นแหละ แต่ความจริงที่เป็นสุข สะดวกสบาย สนุกสนานนั้น มันก็มีลักษณะที่ไม่เที่ยง เมื่อมันไม่เที่ยง มันก็น่าระอา มีลักษณะแห่งความน่าระอา เป็นของน่าระอาหรือเราจะมองให้ละเอียดกันสักหน่อยว่า เมื่อเป็นทุกข์เจ็บปวด มันก็ทนไม่ไหว ทีนี้สบาย พอใจ สนุกสนาน เอร็ดอร่อย มันก็คือความทนหนักชนิดหนึ่งซึ่งเราไม่รู้สึกว่าต้องทน ที่จริงมันเป็นความทนชนิดหนึ่งที่เราต้องทน ต้องแบก ต้องดันเอาไว้ ต้องรักษาเอาไว้ คือ มันมากดทับที่จิตใจเราเหมือนกัน จึงเห็นว่าดูแล้วก็น่าระอา ท่านวางไว้เป็นหลักว่าเมื่อท่านเข้าไปจับฉวยยึดถือแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น ความทุกข์ไปจับฉวยของเราก็เป็นทุกข์ ความสุขไปจับฉวยว่าเป็นความสุขของเรา มันก็เป็นทุกข์ มันหนักอยู่บนหัวใจของเรา ลองไปรักใครมากๆ ลองดู มันก็หนักอยู่ในหัวใจของเรา แต่เรารู้สึกสบาย เป็นสุขและพอใจให้มันทรมานเราอย่างนั้น ดูอย่างนี้ก็เห็น ว่าที่เรียกว่า สุขเวทนามันก็คือความทุกข์หมายความว่าอย่างนี้ นี่คือข้อแรกที่เราต้องรู้ว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่เราต้องรู้จัก คือ เราต้องรู้ว่าถ้าเราปล่อยไปตามเรื่องมันก็คือความทุกข์นั่นเอง ชีวิตนี้เมื่อเราปล่อยไปตามเรื่องก็คือความทุกข์นั่นเอง ดังนั้นเราก็ควบคุมชีวิตไว้ให้ถูกต้องตามแบบของพระธรรม ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องเป็นความทุกข์ เราจึงต้องเรียนพระธรรม
ทีนี้ข้อที่สอง ข้อที่หนึ่งต้องรู้ว่าถ้าปล่อยไปตามเรื่องมันมีความทุกข์ ข้อที่สองก็กลับตรงกันข้าม คือเราต้องรู้ว่าเราไม่ปล่อยไปตามเรื่อง น่าหัวอยู่ไหม ข้อที่หนึ่งว่าปล่อยไปตามเรื่องไม่ได้จะเป็นทุกข์ ข้อที่สองเราจะต้องไม่ปล่อยไปตามเรื่อง คือ เราจะต้องควบคุมมัน ลองเดาเอาเองว่า จะควบคุมอย่างไร ถ้าเราปล่อยไปตามเรื่อง เรื่องกระแสปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ว่าเมื่อสักครู่มันก็เป็นอย่างนั้น ทางตาเป็นอย่างนั้น ทางหูเป็นอย่างนั้น ทางจมูกเป็นอย่างนั้น จนเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่ปล่อยไปตามเรื่องเราก็ควบคุมไม่ให้เป็นอย่างนั้น นี่ก็คือ เราจะต้องมีสติปัญญาอย่างเพียงพอที่ควบคุมกระแสอันนั้น คือว่า พอตาเห็นรูป ฉลาดไม่โง่ นั้นก็สักว่ารูป นี่คือตาเห็นรูป เกิดจักษุวิญญาณ จากการเห็น พอไปสัมผัสกันเข้าแล้วก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น มันเกิดเวทนาสวยงามก็คืออย่างนั้น ไม่สวยไม่งามก็คืออย่างนั้น เกิดสุขเวทนาก็อย่างนั้น ทุกขเวทนาก็อย่างนั้น ไม่โง่กับมัน ไม่โง่ไปแบ่งแยกว่า น่ารักน่าชัง ยินดียินร้าย นี่อย่างนี้เรียกว่า มีสติปัญญา ไม่โง่มีสติรู้ทันท่วงที พอตาเห็นรูปแทนที่จะไปรักไปเกลียด สติก็มาทันทีว่าอย่างนั้นแหละ อย่าไปนั่นมันเลย เช่น ตามันเหลือบไปเห็นศัตรูเก่าของเรา ธรรมดาถ้าปล่อยไปตามธรรมดามันก็โกรธก็เกลียด มันก็อยากจะหนีให้พ้นจนเป็นทุกข์ หรือถ้าไปเห็นคนรักคนใคร่ของเรา จิตใจมันก็เป็นไปในตรงข้าม มันก็ได้รับการทนทรมานอีกแบบหนึ่ง ถ้ามีสติมีปัญญามันก็ไม่เป็นอย่างนั้น มันเฉยอยู่ได้ มันก็ปกติอยู่ได้ เห็นหน้าคนเกลียด มันก็เฉยอยู่ได้ เห็นหน้าคนรัก มันก็เฉยอยู่ได้ สำหรับจะได้รู้ว่ามันควรทำอย่างไรต่างหาก ถ้ามันควรทำอย่างไรก็ทำไปอย่างที่ควรจะทำ ไม่เสียเวลาไปรักมึงเกลียดมึง ไม่ยอมไปเสียเวลาอย่างนี้ นี่เรียกว่า ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทหรือควบคุมกระแสแห่งชีวิตนั่นเอง ชีวิตมันมีกระแสอย่างที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท มันต้องรัก ต้องเกลียด ต้องกลัว ต้องเป็นทุกข์ เพราะมันไม่มีสติปัญญาจะควบคุม เดี๋ยวนี้เรามีสติปัญญาควบคุม เรามีสติเพราะเราฝึกสมาธิ เรามีปัญญาเพราะเราฝึกวิปัสสนา คำพูดสองคำนี้พวกคุณคงจะเคยได้ยินมาแล้ว แต่ไม่รู้ว่าอะไรแน่ ทำสมถะกรรมฐานบ้าง ทำวิปัสสนากรรมฐานบ้าง สำนักนั้นสำนักนี้ ได้ยินมาแล้วแต่ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงที่ว่าสมถะกรรมฐานเพื่อผลมีสติมีสมาธิ ทำวิปัสสนากรรมฐานเพื่อผลมีปัญญา แล้วก็เอามาใช้ในขณะชีวิตมาสัมผัสกับของข้างนอกนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางจิตเอง และก็มีสติปัญญาพร้อมและทันเวลาเพียงพออยู่เสมอ มากลายเป็นคนฉลาด ในขณะที่มีสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะนี่ ก่อนนี้เราเป็นคนโง่สัมผัสสิ่งเหล่านี้ด้วยความโง่แล้วเกิดเรื่องเป็นความทุกข์ ชีวิตนั้นก็เป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เรามีสติปัญญาเพียงพอ อบรมฝึกฝนเพียงพอ เราก็เอามาใช้เพื่อจะควบคุมชีวิต ควบคุมจิตนี่ เมื่อสัมผัสตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นก็จะไม่เกิดอาการอย่างนั้น จะไม่เกิดหลงที่ว่าสวยหรือไม่สวย ไม่เกิดสุข ทุกขเวทนาที่ทำให้เกิดความอยาก เป็นตัณหา ไม่เกิดอุปาทานตัวกูของกู อยากไปตามความโง่ เพราะเดี๋ยวนี้มันไม่โง่นี่มันมีสติ มันมีปัญญา มันมีวิชชา ชีวิตมันเปลี่ยนใหม่เป็นชีวิตของวิชชา ของปัญญา ของสติ ปัญญาหรือวิชชานี่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร คือไม่หลงอะไร นี่สติ คือ ระลึก ระลึกได้ทันควันเขาเรียกว่าสติ ถ้าระลึกช้าไม่ทันแก่เวลาไม่เรียกว่าสติ สติคือเครื่องระลึกทันแก่เหตุการณ์ ทันแก่เวลา ระลึกในปัญญา คือ ความรู้ในที่ถูกที่ต้องที่จริง ที่เราก็มีชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยสติปัญญา แต่ก่อนนี้เรามีชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา ความโง่ ความหลง ความสะเพร่า เอาความผิดพลาดแต่หนหลังนั่นแหละมาตรวจสอบดู วัดดู ว่าเราเคยมีชีวิตด้วยความโง่ เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปมีชีวิตด้วยวิชชา ด้วยปัญญา ด้วยสติ จนกระทั่งว่ามีชีวิตแบบใหม่รูปใหม่ตามที่พระพุทธเจ้าท่านประสงค์ให้เรามีสติปัญญาอยู่เหนือความทุกข์ เป็นชีวิตที่อยู่เหนือความทุกข์ เป็นศิลปะแห่งการครองชีวิต ศิลปะนี้คือการรู้จักยกระดับของชีวิต ซึ่งอยู่เหนือความทุกข์เสมอไป ความทุกข์หรือปัญหาแห่งความทุกข์มันครอบงำไม่ได้ และก็มีชีวิตอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ต่อไปนี้ถ้าเราทำได้เราจะมีชีวิตแบบเดียวกับพระพุทธเจ้า ผู้รู้ คือ ไม่โง่อีกต่อไป รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผัสสะ เวทนา ตัณหา เรื่องความทุกข์รู้ดี และไม่เป็นอย่างนั้นแหละ จึงจะไม่เป็นทุกข์ รู้ดีเหมือนกันจึงจะเรียกว่า ผู้รู้ ทีนี้ก็เรียกว่า ผู้ตื่น ตื่น คือ ตื่นนอน คนหลับมันไม่รู้อะไร นี่เรามันหลับอยู่ตลอดเวลาด้วยความโง่ของเราที่แล้วมาแต่หนหลังเรามีชีวิตด้วยความโง่ ดังนั้นชีวิตของเราจึงเป็นเหมือนความหลับอยู่ด้วยกิเลสด้วยความโง่ เดี๋ยวนี้เรามากลายเป็นคนตื่น ตื่นจากหลับเพราะมีความรู้อันนี้ นี้เรียกว่าผู้ตื่น ทีนี้ก็เป็นผู้เบิกบาน คือ ไม่มีความทุกข์ มันก็เบิกบานเหมือนดอกไม้ที่บาน พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่นและเป็นผู้เบิกบาน นี่สาวกของท่านก็ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ชีวิตของเราก็เปลี่ยนเป็นชีวิตของผู้รู้ เป็นชีวิตของผู้ตื่นจากความหลับคือความโง่ และเป็นผู้เบิกบานอยู่ด้วยความไม่มีทุกข์ ไม่มีความทุกข์มาเบียดเบียนเรียกว่า เบิกบาน ชีวิตมันเปลี่ยน ก็มีเท่านั้น เรารวมเรียกสั้นๆ ว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก
วันนี้เราพูดกันหัวข้อแรกอย่างที่คุณกำหนดให้ว่า ชีวิตน่ารู้จักไม่พอ น่ารู้จักไม่พอ มันน้อยนัก มันต้องรู้จักและต้องรู้จักในลักษณะที่ว่า ถ้าปล่อยไปตามเรื่องมันเป็นชีวิตโง่ แล้วก็เป็นความทุกข์ทั้งนั้น เราต้องควบคุมมันไว้ได้เป็นชีวิตที่ฉลาด มันก็ไม่มีความทุกข์ นี่ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องรู้จักไม่ใช่เพียงแต่น่าสนใจหรือน่ารู้จัก แต่ต้องรู้จักถึงที่สุดและเต็มที่ รู้ว่าเป็นสิ่งที่น่ารู้ นี่ก็รู้ด้วยว่ามันเป็นสิ่งน่ารู้จัก แต่เราต้องรู้จัก อย่าน่ารู้อยู่เฉยๆ น่ารู้อยู่เฉยๆ มันยังไม่มีประโยชน์ ดังนั้นต้องรู้ๆ แล้วจึงจะมีประโยชน์ นี้ก็รู้อย่างถูกต้องแล้ว แจ่มแจ้งชัดเจนและเพียงพอ รู้ไม่ถูกต้องนี้เรียกว่า รู้ผิด รู้ไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วน ไม่เต็มที่ก็ไม่พอ ต้องรู้อย่างเพียงพอและรู้อย่างถูกต้องด้วย แล้วเพียงพอด้วย แล้วกระจ่างชัดประจักษ์ชัดเหมือนของใส่ในฝ่ามือ แล้วมองดูในที่สว่างมันกระจ่างชัดอย่างนั้น มันประจักษ์ชัดอย่างนั้น เรารู้จักตัวสิ่งที่เรียกว่า ชีวิตนั้นประจักษ์ชัดถึงขนาดนั้น ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุมของมัน ก็เพียงพอ ก็สามารถที่จะควบคุมชีวิตนี้ไม่ให้มีความทุกข์อีกเลย ไม่ต้องมีความทุกข์อีกเลย ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องรู้จักเพื่อจะควบคุมไว้ได้ไม่ต้องมีความทุกข์อีกเลย
ใจความที่ตั้งใจจะพูดครั้งแรกก็มีเท่านี้ ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก มันเป็นอยู่อย่างที่ว่า ถ้าปล่อยไปตามเรื่องมันจะมีแต่เรื่องทุกข์ ถ้าเราควบคุมไว้ตามหลักของพระธรรมมันจะไม่มีความทุกข์ ดังนั้นชีวิตก็เป็นสิ่งที่ปรับปรุงได้ ควบคุมได้ พัฒนาได้ อะไรได้แล้วแต่จะเรียก การกระทำนั้นๆ ก็เรียกว่า พระธรรม ปฏิบัติธรรม รู้พระธรรม ปฏิบัติพระธรรม จัดชีวิตกันเสียใหม่ก็คงจะไม่เสียทีที่เกิดเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา นี่เป็นคำด่าหรือเปล่า คำว่า เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนานี้เป็นคำด่าหรือเปล่า มันเป็นคำด่ากี่มากน้อยเอาไปคิดดูด้วย การที่เราทำให้สมกับที่เป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา มันมีอานิสงส์ มันมีประโยชน์สักกี่มากน้อย ขอให้ช่วยไปทำให้เสร็จเสียเร็วๆ ให้ทันแก่เวลาทุกคน เป็นอันว่าวันนี้ยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ ด้วยการสมควรแก่เวลา