แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชชนาในพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในโอกาสนี้มิได้เป็นธรรมเทศนาอะไร มากมายไปกว่าเป็นเครื่องเตรียมจิตใจของท่านทั้งหลาย ให้มีความเหมาะสม พร้อมที่จะประกอบพิธีวิสาขบูชา นั่นก็ได้แก่การทำการระลึกนึกถึงพระคุณของ สมเด็จพระบรมศาสดา ตามที่มีอยู่อย่างไร มีความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้งในพระคุณของพระองค์ ก็มีจิตใจที่พร้อมที่จะกระทำพิธีวิสาขบูชาดังกล่าวแล้ว ในข้อแรกนี้ จะขอร้องให้ท่านทั้งหลายกระทำในใจแยบคาย ให้เข้ากันกับโอกาส หรือบรรยากาศ อ้า, ในพิธีวิสาขบูชา อย่างน้อยท่านก็ต้องนึกว่าพระพุทธเจ้าทรงเกี่ยวข้องอยู่กับป่า ประสูติก็ใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ก็ใต้ต้นไม้ สอนภิกษุโดยทั่วไปเป็นส่วนมากก็ใต้ต้นไม้ แล้วเสด็จปรินิพพานก็ใต้ต้นไม้ ทีนี้ยังยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือว่าเมื่อประสูติก็ประสูติกลางดิน เมื่อตรัสรู้ก็ตรัสรู้เมื่อประทับนั่งกลางดิน สอนภิกษุทั้งหลาย ส่วนมากที่สุดก็กลางดิน เพราะว่ามีชีวิตอยู่แบบกลางดิน โรงประชุมก็พื้นดิน กุฏิของพระพุทธเจ้าก็พื้นดิน ที่อาศัย อ้า, ของภิกษุ ก็เป็นพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ ยังไปดูได้ที่โบราณสถานในปัจจุบันนี้ ในที่สุด เสด็จปรินิพพานก็กลางดิน เดี๋ยวนี้เราก็ได้มานั่งอยู่ในป่า อ้า, ใต้ต้นไม้ และกลางดิน จึงเชื่อว่าบรรยากาศชนิดนี้คงจะช่วยส่งเสริมจิตใจของท่านทั้งหลายให้มีความพร้อม มีความเหมาะสม มีความสะดวกดาย ที่จะประกอบพิธีวิสาขบูชา ยิ่งกว่าในบ้านในเมือง เราประกอบพิธีวิสาขบูชาตามแบบป่า ในวัดป่า พระเถื่อน คือเป็นธรรมชาติมากเท่าไรก็ยิ่งคล้ายกับในสมัยพระพุทธกาลมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ท่านทั้งหลายก็จะจำได้ง่ายๆ ว่า ในวันนี้ เรามากระทำพิธี วิสาขบูชาแบบป่า ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันได้อยู่แล้วว่าแบบป่านั้นเป็นอย่างไร โดยหัวข้อใหญ่ๆ ก็คือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม และปรินิพพานของพระองค์ เดี๋ยวนี้ เราจะประกอบพิธีที่เรียกว่าวิสาขบูชา ในเรื่องอันเกี่ยวกับกาลเวลานั้นก็หมายความว่า ในวาระสมัยที่พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ วันเพ็ญที่พระจันทร์กำลังเสวยวิสาขฤกษ์ นี่เป็นการนับตามปฏิทินที่ใช้อยู่ในหมู่พุทธบริษัท ตั้งแต่พุทธกาลมาทีเดียว บัดนี้โอกาสเช่นนั้นก็มาถึงเข้าอีก คือวันนี้เป็นวันที่คล้ายกันกับวันนั้น วันที่เรียกกันว่า วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เราพยายามตามที่เราจะทำได้ นอกจากจะให้คล้ายกันโดยสถานที่แล้ว ก็ยังให้คล้ายโดยกาลเวลาด้วย หมายความว่าทั้งเทศะ ทั้งกาละ พยายามที่จะให้ตรง หรือคล้ายกันที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ เดี๋ยวนี้เราก็ทำได้ ทีนี้เราก็จะต้องนึกถึงการบูชา การบูชานั้น ต้องกระทำกันให้เต็มที่ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในทางกายนั้น เราก็มีการกระทำโดยอิริยาบถที่แสดงความเคารพ โดยวัตถุสิ่งของที่แสดงความเคารพ โดยอิริยาบถที่แสดงความเคารพนั้นก็คือบูชา กราบไหว้ และเวียนประทักษิณตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่เรียกว่าเวียนขวา คือเอาข้างขวาให้กับบุคคล หรือวัตถุที่เราจะกระทำการบูชา แล้วก็เดินเวียน ๓ รอบ เป็นอย่างน้อย อิริยาบถทุกอิริยาบถแสดงอาการเคารพ นี้เรียกว่าบูชาด้วยกาย โดยวาจานั้นเราก็กล่าวคำบูชา ประกาศพระคุณของพระศาสดา แสดงความที่เราเป็นพุทธมามกะ นับถือพระพุทธ พระพุทธองค์ พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ กล่าวคำบูชา เต็มตามที่จะกล่าวได้อย่างไร ทีนี้ก็มาถึงการบูชาด้วยจิตใจ นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก มีจิตใจระลึกนึกถึงอย่างถูกต้อง อย่างแจ่มแจ้ง อย่างประจักษ์ชัดเจนลงไปทีเดียวว่า อะไรเป็นอะไร เมื่อมองเห็นพระพุทธคุณมากเท่าไร น้ำใจก็จะรู้สึกนอบน้อมและบูชามากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะเตือนท่านทั้งหลายให้ระลึกนึกถึงพระคุณของพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เรียกว่าเป็นผู้เสียสละอย่างยิ่ง ใช้สำนวนโวหารคนเดี๋ยวนี้ก็ว่า ยอดผู้เสียสละ เสียสละนั่น เพื่อประโยชน์คนทั้งโลก คำว่าโลกในที่นี้นั้นหมายถึงทั้งเทวดาและมนุษย์ พระพุทธองค์ตรัสว่าการเกิดของตถาคตนี้ การเกิดขึ้นแห่งตถาคตนี้เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ ธรรมวินัยของตถาคตนี้ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ การมีอยู่หรือการรักษาไว้ซึ่งธรรมวินัยให้ยังคงอยู่นี้ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ ยังมีอะไรอีกเป็นอันมากที่ท่านตรัสย้ำถึงเรื่องเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ ขอให้นึกถึงข้อนี้ ว่าพระพุทธองค์ทรงเสียสละนั้น เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทวดาและมนุษย์ ดังนั้น จึงรวมพวกเราทั้งหมดอยู่ด้วยในคำว่าเทวดาและมนุษย์ เทวดาคือผู้หมดปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง สำเริงสำราญเบิกบานไปตามแบบของผู้ที่หมดปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง มนุษย์นั้นหมายถึงคนธรรมดา ยังมีปัญหาลำบากด้วยเรื่องปากเรื่องท้อง ยากจน เข็ญใจก็ยังมี นี้เราก็ยังมีกันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ บางคนก็ไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง แต่บางคนก็ยังมีปัญหามากเหลือเกิน จึงเรียกว่าเรามีกันในโลกนี้ทั้งเทวดาและมนุษย์ในลักษณะอย่างนี้ พระองค์ทรงอุบัติบังเกิดขึ้น ทรงแสดงซึ่งธรรม ทรงบัญญัติซึ่งวินัย ให้ช่วยกันประพฤติปฏิบัติรักษาไว้เพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ ก็คือแก่เพื่อเราเอง เราจึงสำนึกในพระคุณของพระองค์เป็นเบื้องต้นว่า ทรงเสียสละเพื่อประโยชน์แก่เราทั้งหลาย ทีนี้จะดูต่อไปถึงว่าพระคุณอันยิ่งใหญ่นั้นเป็นอย่างไร ประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้นเป็นอย่างไร นั่นก็คือ ทรงชี้ทางให้สัตว์ทั้งหลาย ดำเนินตามพระองค์ แล้วก็ดับทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง โลกนี้มืดด้วยอวิชชา พระศาสดาอุบัติบังเกิดขึ้น เป็นวิชชา เป็นแสงสว่าง เป็นเครื่องส่องทาง ชี้ทาง ให้รู้จักสิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงตามที่เป็นจริง จึงสามารถดับทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ พระคุณอันยิ่งใหญ่แก่สัตว์ทั้งหลายนั้น สรุปอยู่ที่นี่ พระคุณส่วนพระองค์ก็มีเป็นอันมาก แล้วก็เนื่องมาถึงสัตว์ทั้งหลายด้วย เช่น พระปัญญาคุณ นอกจากจะทำให้พระองค์หมดปัญหาของพระองค์ คือดับกิเลสและดับทุกข์แล้ว ยัง เอ้อ, เป็นเหตุให้พระองค์ทรงสามารถชี้แจง สั่งสอนแก่ผู้อื่น ให้ดำเนินตามได้ด้วย พระบริสุทธิคุณของพระองค์นั้น ทำให้ดับทุกข์สิ้นเชิงแล้ว ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่บุคคลผู้ได้พบได้เห็น จะเกิดความเชื่อ ความเลื่อมใส ความตั้งใจแน่วแน่มั่นคงที่จะดำเนินตาม สำหรับพระเมตตาคุณนั้น ก็บ่งชัดว่าเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น อ้า, ตาม ตามหน้าที่หรือตามความหมาย ของคำว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเรียกเต็มที่ก็ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบ ครบถ้วนได้ด้วยพระองค์เอง สามารถที่จะยกตัวเองออกจากกองทุกข์ แล้วก็สามารถช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายออกจากกองทุกข์ได้ด้วย เราจึงรับนับถือพระองค์ว่าเป็นสรณะที่พึ่งของตน ของตน ด้วยกันทุกคน คำว่าพระองค์ในที่นี้ขยายความออกไป ถึงพร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์ จะมีคำกล่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์ เป็นสรณะของพุทธบริษัท เพื่อความสมบูรณ์ พระพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแล้วสอน พระธรรมคือ การปฏิบัติตามคำสอน พระสงฆ์คือ ผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้การตรัสรู้ของพระองค์ไม่เป็นหมัน ในส่วนเกี่ยวกับผู้อื่น ความสมบูรณ์จึงมีอยู่ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่นเอง เราจึงน้อมระลึก นึกพร้อมกันไป แม้จะออกชื่อพระพุทธองค์โดยความเป็นประธานอันยิ่งใหญ่ ก็ยังมีบทประกอบว่า สะธัมมัง สะสังฆัง พร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์ ท่านทั้งหลายจงกระทำในใจอย่างนี้ ให้ตรงตามเรื่อง เรื่องราวอันนี้ ทีนี้ก็จะกล่าวถึง ความหมายสำคัญของวัน วันนี้ ที่ว่าเป็นวันประสูติ เป็นวันตรัสรู้ เป็นวันปรินิพพาน มีลักษณะเหมือนกับปาฏิหาริย์ เช่นว่าทำไมจึงมามีพร้อม ๓ อย่าง ในวันเดียวกัน นี้มีนัยยะอันจะต้องอธิบาย แต่อยากจะกล่าว เอ่อ, ให้กว้างออกไปสักหน่อยหนึ่งว่า พุทธบริษัทบางนิกายไม่ได้ถืออย่างนี้ เช่น พุทธบริษัทฝ่ายมหายาน ก็ไม่ได้ถืออย่างนี้ และก็ไม่ตรงเป็นอันเดียวกัน ทั้ง ๓ เหตุการณ์ ด้วย นั้นก็เป็นเรื่องของพุทธบริษัทนิกายนั้น แต่ว่าพุทธบริษัทเถรวาท คือนิกายนี้ อย่างที่ถือกันอยู่ในประเทศไทย ประเทศลังกา ประเทศพม่า เป็นต้นนี้ มีถือกันอย่างนี้ว่าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกัน ถ้าถือว่า ไอ้คำกล่าวนี้ เป็นคำในภาษาคน ก็ชวนให้ฉงน ว่าทำไมมันจึงมีได้บังเอิญถึงขนาดนั้น ถึงขนาดมีได้ในวันเดียวกัน ถ้าจะถือตามภาษาคน มันก็เป็นอย่างนี้ คือเป็นของน่าประหลาด น่าอัศจรรย์ แต่ถ้าอธิบายกันโดยภาษาธรรม ซึ่งมีนัยยะอันลึกซึ้งกว่าธรรมดาแล้ว ก็อธิบายเป็นอย่างอื่นว่า เหตุการณ์ทั้งสามนั้น เป็นเหตุการณ์เดียวกัน เช่นว่าประสูติ ก็การที่พระพุทธ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมานี้เรียกว่าประสูติ การตรัสรู้ก็หมายถึง ไอ้การที่เป็นพระพุทธเจ้านั่นเอง การปรินิพพานนั้นหมายถึง การดับเย็นถึงที่สุด ซึ่งไม่มีอะไรเย็นไปกว่านั้น แต่คนโดยมากเข้าใจไปว่าปรินิพพานนั้น คือการดับสังขารที่เรียกกันง่ายๆ ว่าตาย ข้อนี้ ขอให้สนใจกันเป็นพิเศษสักหน่อย พระพุทธเจ้านั้นตายไม่ได้ ใครว่าพระพุทธเจ้าตายได้ หรือนิพพานอย่างตายได้ จะถือว่าคนนั้นไม่ใช่พุทธบริษัท พระพุทธเจ้าหรือสัมมาสัมพุทธเจ้าในความหมายไหนก็ตาม ตายไม่ได้ ปรินิพพานไม่ได้ ถูกเผาเหลือแต่พระธาตุไม่ได้ ถ้า เว้นไว้แต่จะพูดโดยภาษาคน สมมติเป็นคนๆ ว่าคนนั้นเป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ตาย แล้วก็เผา นั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้าจริง เป็นพระพุทธเจ้าภาษาคน หรืออย่างสำหรับเด็กๆ ข้อนี้ ขอให้สนใจให้มาก ถ้าว่าพระพุทธเจ้าตายแล้ว นิพพานแล้ว เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง การพูดว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ก็จะเป็นคำโง่เขลา ไร้สาระโดยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าต้องยังอยู่ และอยู่กับเราเสมอไปด้วย เราจึงจะมีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ทำอย่างไร จะมองกันอย่างไร จึงจะเข้าใจได้ว่าพระพุทธเจ้านั้นตายไม่ได้ ที่เรียกว่าปรินิพพาน หรือนิพพานนั้น ในกรณีนี้ มิได้หมายถึงพระพุทธเจ้าตาย อย่างที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าตาย หรือจะให้เข้าใจโดยลำดับก็ต้องนึกถึงคำว่านิโรธ แปลว่าดับลง นิพพานแปลว่าเย็นสนิท ในวันตรัสรู้นั้น กิเลสดับ แล้วก็เย็นสนิท เย็น ดับโดยนิโรธ กิเลสดับ ดับแล้วก็เป็นนิพพาน คือเย็นสนิท ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า คำว่านิพพานนั้นแปลว่าเย็น หรือว่าของร้อนมันดับลงไปจนเย็น ส่วนที่ดับ กิริยาดับเรียกว่านิโรธ กิริยาเย็นเรียกว่านิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันนั้น ดับ ถ้าจะพูดว่าตายก็กิเลสตาย กิเลสดับหรือตายนั้น ก็เกิดเป็นนิพพาน คือเย็น มีคำใช้จำกัดความเฉพาะว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุ คือธาตุแห่งความเย็น ไม่มีความร้อนเหลือ นี่แหละ ในวันที่ตรัสรู้นั้น มีอาการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า คือมีการตรัสรู้ธรรมะอันสูงสุด และมีอาการที่กิเลสดับ แล้วความเย็นถึงที่สุดปรากฏแก่จิตของบุคคลที่เราสมมติเรียกกันว่าพระพุทธเจ้าในเวลานั้น เดียว เวลาเดียวกันนั้น มีได้ทั้งประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน ด้วยอาการอย่างนี้ ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า ในขณะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น มีทั้งการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า มีทั้งการตรัสรู้ของจิตที่เราสมมติกันเรียกว่าพระพุทธเจ้า และมีทั้งการดับแห่งกิเลส และมีความเย็นถึงที่สุด ปรากฏแก่จิตของบุคคลที่เราสมมติเรียกกันว่าพระพุทธเจ้า นี้เป็นการชี้ให้เห็นชัดว่า พระพุทธเจ้านั้นได้ลุถึง อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แล้ว ตั้งแต่ วันที่ตรัสรู้ เดี๋ยวนี้คนทั่วไปถือกันตามความหมายอย่างหนึ่งว่าพระพุทธเจ้า เข้าสู่พระนิพพาน คือตาย และเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ในวันที่สมมติเรียกกันว่าตายนั่น นี้มันขัดกันกับความหมายที่แท้จริง ในวันที่ ที่เรียกกันว่าตายนั้น เป็นการดับของเบญจขันธ์ ไม่ใช่ดับของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะดับไม่ได้ จะตายไม่ได้ แต่ว่าเบญจขันธ์ของท่านที่ตรัสรู้แล้วนั้น อยู่มาถึงวันหนึ่ง มันดับ ทีนี้มัน การดับนั้น มันผิดจากของคนอื่น คือมันดับโดยมีอนุปาทิเสสนิพพาน ที่ท่านได้ประสบแล้วเมื่อวันตรัสรู้ ท่านบรรลุถึง อนุปาทิเสสนิพพานอยู่ตลอด พระชนม์ชีพ คือชีวิตของพระองค์ ทรงอยู่ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็หมายความว่าเย็นถึงที่สุด ร้อนไม่ได้ อยู่ตั้งแต่เมื่อตรัสรู้แล้ว จนถึงวาระสุดท้ายที่เบญจขันธ์ของท่านจะดับ อย่าพูดให้ผิดๆ ไปว่าพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน เหมือนที่พูดกันโดยมาก หรือว่าพระพุทธเจ้าดับขันธ์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานนะ มันจะทำให้เกิดตัวตน เป็นลัทธิที่มีตัวตน ผิดหลักพระพุทธศาสนา ถ้าถามว่าอะไรดับ หรืออะไรตาย ก็ต้องพูดว่าเบญจขันธ์ต่างหาก พระพุทธเจ้านั้นดับไม่ได้ ตายไม่ได้ ถ้าพระพุทธเจ้าตายแล้ว เราก็หมดที่พึ่ง ใครพูดว่าพระพุทธเจ้าตาย หรือปรินิพพานซึ่งเป็นความตาย คนนั้นเป็นคนฆ่าพระพุทธเจ้าเสียด้วยตนเอง ตามความรู้สึกของตนเอง เราอย่าเป็นคนมีความรู้สึกอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าต้องไม่ตาย ต้องไม่ดับหายไปไหน ต้องยังอยู่ อยู่กับเราด้วย ทุกคนด้วย ข้อนี้ ขอยึดถือหลักที่ว่า โยธัมมังปัสสติ โสมังปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา โยมังปัสสติ โสธัมมังปัสสติ ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม นี่ท่านทรงยืนยันอยู่อย่างนี้ เพราะไม่ได้เอาร่างกาย หรือเบญจขันธ์นี้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ช่วยสังเกตดูให้ดีๆ ว่า ท่านไม่ได้ตรัสว่า เบญจขันธ์ร่างกายนี้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ทรงระบุไปยังธรรม ที่เราเรียกกันว่าพระธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม เลยไปถึงว่าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ที่เห็นปฏิจจสมุปบาท ก็คือพระสาวกทั้งหลาย เห็นปฏิจจสมุปบาทก็ได้ชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระองค์ เมื่อธรรมยังอยู่ ก็ยังมีโอกาสที่จะเห็นพระองค์ ซึ่งไม่รู้จักดับ ไม่รู้จักตาย ในที่อื่นได้ตรัสว่า คำว่าธรรมกาย หรือพรหมกาย นี้เป็นชื่อของตถาคต อีกคู่หนึ่งว่า ธรรมภูตหรือพรหมภูต นี้เป็นชื่อของตถาคต คำว่าภูตคำเดียวกับคำที่เราเรียกกันว่าภูตผีนั่นแหละ คำว่าภูตไม่ได้หมายความว่าผีเหมือนที่เราเข้าใจ คำว่าภูตในภาษาบาลี ภู-ตะ หมายถึงว่ามันเป็นแล้ว ถ้ามันยังไม่ได้เป็น ก็ยังไม่มีภูตะ ถ้าเป็นขึ้นมาแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สมมติเรียกกันว่าสิ่งที่มีชีวิต อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็น หรือภูตะ เป็นคนก็ได้ เป็นสัตว์ก็ได้ เป็นต้นไม้ก็ได้ ถ้ามันเป็นโดยสมบูรณ์แล้ว ก็เรียกว่าภูตะทั้งนั้น ธรรมกายะแปลว่ากายแห่งธรรม พรหมกายะแปลว่ากายแห่งพรหม หรือว่ามี เอ้อ, ธรรมกายหรือมีพรหมกาย ผู้มีพรหมกายนี่คือตถาคต ผู้มีธรรมกายนั่นคือตถาคต ธรรมกายจะพูดง่ายๆ ภาษาธรรมดาก็ว่าเป็นตัวธรรม แต่คำว่า กายะในที่นี้ แปลว่าหมู่ คือรู้กันด้วยว่า คำว่ากาย กายะนี่แปลว่าหมู่ แม้ร่างกายนี้ ที่เรียกว่ากาย ก็เพราะมัน มันมีหลายอย่างรวมกันเป็นกาย จึงเรียกว่าหมู่ คำว่ากายแปลอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก จาก จะแปลว่าหมู่ พหลพลกาย ทหาร ยศทหารเป็นหมู่เป็นกอง ก็เรียกว่าพลกาย กายคือหมู่ พลกายคือหมู่แห่งคน นี้เป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ธรรมกาย ก็แปลว่าหมู่แห่งธรรมคือธรรมทั้งหมด ถ้าว่าพรหมกายก็คือหมู่แห่งพรหม แล้วพรหมทั้งหมด ธรรมภู ธรรมภูต หรือธรรมภูโต ก็คือว่าเป็นธรรมแล้ว พรหมภูโตก็แปลว่าเป็นพรหมแล้ว คำว่าพรหมในที่นี้หมายถึง สิ่งสูงสุด สิ่งประเสริฐที่สุด ไม่ได้หมายเฉพาะแต่พระพรหม หรือพวกพรหมในลัทธิอื่น ในลัทธิพราหมณ์ หรือในลัทธิอะไรก็ตาม ที่ถือว่าสัตว์จำพวกหนึ่งเรียกว่าพรหมนี้ก็หามิได้ คำว่าพรหมนี้ก็หมายถึง ประเสริฐที่สุดเรียกว่าพรหม หรือจะให้เลยไปถึงว่า เหนือสิ่งทั้งปวง เป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งปวง หรือว่ามีอยู่ในที่ทั้งปวง อย่างนี้ก็ได้ เราเอาแต่เพียงว่าพรหมคือประเสริฐที่สุด ไม่มีอะไรเหนือไปกว่านั้น ธรรมกาย หมู่แห่งธรรม พรหมกาย หมู่แห่งพรหม ก็หมายความว่า ธรรมะกับพรหมนั้น มีความหมายที่เนื่องกัน สัมพันธ์กัน ธรรมะนั่นแหละเป็นพรหม เมื่อเป็นพรหมก็คือธรรมะ หมายความว่าธรรมะนั้นประเสริฐที่สุด ธรรมกายเป็นชื่อของพระพุทธเจ้า พรหมกายเป็นชื่อของพระพุทธเจ้า ธรรมภูตเป็นชื่อของพระพุทธเจ้า พรหมภูตเป็นชื่อของพระพุทธเจ้า นี้ใจความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่าธรรม ทีนี้คำว่าเป็นแล้วนี่ คืออยู่ เป็นอยู่ เป็นอยู่แล้ว ไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงความตาย ถ้าตายก็ไม่ใช่ภูตะ ต้องไม่ตายจึงจะเป็นภูตะ หรือว่าเป็นแล้ว เป็นอยู่แล้ว ธรรมะก็ไม่ตาย พรหมก็ไม่ตาย ถือเอาคำนี้เป็นหลัก แล้วก็จะเห็นได้ว่าไม่ตาย คำว่าพรหมกาย หรือธรรมกายเป็นไวพจน์ คือเป็น เป็นคำแทนชื่อของพระพุทธเจ้า จะเรียกว่าพระพุทธเจ้าก็ได้ จะเรียกว่าองค์ธรรมกายก็ได้ จะเรียกว่าองค์พรหมกายก็ได้ เป็นคำแทนชื่อ ใช้แทนกันได้ นี้ก็ขอให้เอามารวมเข้าด้วยกัน ก็จะได้ความว่า พระธรรมที่ไม่รู้จักตาย ใครเห็นแล้วชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ถ้าใครเห็นพระพุทธเจ้าโดยถูกต้องแท้จริง คนนั้นก็จะต้องเห็นธรรม หรือธรรมะที่ไม่รู้จักตาย นี่คือข้อที่ เอ้อ, มีเหตุผลอันจะพึงถือว่าพระพุทธเจ้านั้นตายไม่ได้ ปรินิพพานไม่ได้ ไอ้ที่มันปรินิพพานนั้น ใช้กันผิด มันเป็นคำใช้ผิด ด้วยเย็นที่สุด ถ้าว่าจะหมายถึงความดับ หรือความตายก็ต้อง ต้องเป็นคำว่านิโรธ กิเลสต่างหากดับไม่เหลือ แล้วก็เกิดผลคือความเย็นขึ้นมา ธาตุแห่งความเย็นเป็นนิพพานธาตุ ถ้าเย็นถึงที่สุดไม่ได้ขยับอะไรไว้ก็เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ถ้ามันยังเหลือร้อนอยู่บ้างเพราะมันไม่ถึงที่สุดก็เรียกว่าสอุปาทิเสสปรินิพพานธาตุ พระพุทธเจ้าไม่ได้เข้าไปสู่ สิ่งนั้น เหมือนกับว่า ของหรือบุคคลเข้าไป ในที่ไร ๆ แต่ว่าจิตของผู้ที่สมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้านั้นได้สัมผัสกับความเย็นอันนี้ ถ้าจะเรียกก็เรียกว่าบรรลุพระนิพพาน หรือจะบรรลุอนุปาทิเสสนิพพานนั้นก็ได้ จะต้องเข้าใจว่าไอ้ความเย็นอันนี้มีแล้วตั้งแต่เมื่อตรัสรู้ สิ้นกิเลส กิเลสดับไม่มีส่วนเหลือ ความเย็นก็เย็นถึงที่สุดไม่มีส่วนเหลือ พระพุทธเจ้าได้เข้าถึงความเย็นอันนี้แล้ว ตั้งแต่ขณะแห่งการตรัสรู้เสร็จสิ้นลง นี่เกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา เพราะการตรัสรู้ซึ่งทำลายกิเลส กิเลสดับเป็นนิโรธลงไปหมดแล้ว ปรินิพพานคือความเย็นก็ปรากฏแก่จิตของพระองค์ คือบุคคลซึ่งเราเรียกกันโดยสมมติว่าพระพุทธเจ้า นี้ขอใช้คำกล่าวชนิดที่ไม่ต้องเป็นบุคคล คือคำกล่าวที่ว่า ตรัสรู้คือ รู้แจ้ง เห็นแจ้ง โดยประจักษ์ แล้วเกิดบุคคลที่เห็นแจ้งโดยประจักษ์ บุคคลในที่นี้เป็นชื่อแทนจิต คือจิตของผู้ที่เราเล็งถึงว่าใคร แล้วก็จิตนั้นก็เข้าถึงความเย็น ดังนั้น ก็แปลว่ามีการเกิดขึ้น อ้า, ของการรู้ การดับลงแห่งกิเลส แล้วก็การเข้าถึงความเย็น ในเวลาที่เราเรียกกันว่า ตรัสรู้ ที่ต้นโพธิ์นั่นเอง นี้ท่านก็พอจะมองเห็นได้แล้วว่า การประสูติคือเกิดของพระพุทธเจ้า การตรัสรู้คือการเป็นพระพุทธเจ้า การลุพระนิพพาน บรรลุอนุปาทิเสสนิพพานนั้น ได้มีแล้วในเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกัน เป็นเรื่องเดียวกัน แยกขณะออกเป็น ๓ ขณะ หรือ ๓ ลักษณะ หรือ ๓ อาการ ก็แล้วแต่จะเรียก ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ๓ อย่าง นี้ มีในวันเดียวกัน หรือจะต้องพูดยิ่งกว่านั้นอีกว่าไม่ใช่ในวันเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ในขณะเดียวกัน มีทั้ง ๓ อาการ จะเห็นอย่างนี้ หรือพูดอย่างนี้ได้ ก็แต่โดยภาษาธรรม ถ้าพูดโดยภาษาคน มันก็ต้องเป็นอย่างที่ว่า ว่าประสูตินั้นมีในตอนเที่ยงวัน ตรัสรู้มีในตอนรุ่งอรุณ ปรินิพพานมีในเวลาพลบค่ำ ในวันที่ทรงมีชื่อตรงกัน แต่ไม่ใช่วันเดียวกันได้ เพราะว่ามันก็มีวันประสูติวันหนึ่ง วันตรัสรู้วันหนึ่ง ในปรินิพพาน วันปรินิพพานวันหนึ่ง หากแต่ว่ามันเป็นวันที่มีชื่อตรงเป็นอย่างเดียวกัน คือวันเพ็ญวิสาขะ วันเพ็ญวิสาขะวันหนึ่งเป็นวันที่ประสูติ วันเพ็ญวิสาขะอีกหลายปีจึงจะเป็นวันตรัสรู้ แล้ววันเพ็ญ เอ้อ, วิสาขะต่อมา อีกตั้ง ๔๕ ปี จึงจะเป็นวันเพ็ญปรินิพพาน วันชื่อเดียวกันแต่ไกลกันเป็นสิบๆ ปี อย่างนี้ นี่ไม่อาจจะว่าเป็นวันเดียวกัน และไม่อาจจะเป็นขณะเดียวกัน ขอให้เห็นความแตกต่างระหว่างคำพูด ว่าพูดโดยภาษาคนนั้นเป็นอย่างไร พูดโดยภาษาธรรมนั้นเป็นอย่างไร อันไหนมีทางที่จะเป็นไปได้ และอันไหนเป็นสันทิฏฐิโก คือจะต้องเห็นได้ ระลึกได้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งของตนเอง เอาละเป็นอันว่า เมื่อท่านทั้งหลายพอใจที่จะถือว่าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานในวันเดียวกัน ก็ให้รู้เถิดว่าถ้ากล่าวโดยภาษาคนแล้ว มันเป็นเพียงชื่อวันที่เหมือนกัน คือวันเพ็ญ วิสาขปุณณมี ด้วยกันทั้งนั้น แต่มิใช่ในวันเดียวกัน มันห่างกันเป็นสิบๆ ปี จึงว่าวันชื่อเดียวกัน แต่แม้อย่างนี้ก็นับว่าเป็นน่าอัศจรรย์ บังเอิญหรือปาฏิหาริย์อยู่มาก ที่ว่าวันประสูติ หรือวันตรัสรู้ หรือวันปรินิพพานนั้น บังเอิญจำเพาะจะต้องมามีในวันเพ็ญ วิสาขปุณณมี ด้วยกัน เมื่อมีความเชื่ออย่างนี้ ก็ได้เหมือนกัน ไม่เสียหายอะไร ก็เรียกว่าเชื่ออย่างนี้ กล่าวอย่างนี้ เป็นลักษณะของภาษาคน แต่ถ้าจะกล่าวโดยภาษาธรรม มันมองลึกกว่านั้น เป็นสันทิฏฐิโกยิ่งกว่านั้น คือมองเห็นว่า การรู้แจ้งสมบูรณ์ในเรื่องความดับทุกข์ ที่เรียกกันว่าการตรัสรู้นั้น คือตรัสรู้อริยสัจสี่ ซึ่งจำแนกพิสดารออกไปแล้วก็คือ ปฏิจจสมุปบาท ๑๑ นั่นนะ คืออริยสัจสี่ ตรัสรู้เรื่องนี้ การรู้เรื่องนี้ทำให้เกิดบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาที่เราเรียกสมมติ ที่เราสมมติเรียกกันว่าพระพุทธเจ้า คือเป็นผู้ตรัสรู้ การรู้เรื่องอริยสัจ การบรรลุถึงความจริงของอริยสัจโดยสมบูรณ์นี้อย่างหนึ่ง แล้วก็ทำให้เกิดการตรัสรู้แก่จิตใจดวงหนึ่ง ของคนคนหนึ่ง นี้ก็อย่างหนึ่ง แล้วการเป็นเช่นนั้นทำให้กิเลสดับลงไปไม่มีเหลือ กิเลสดับลงไปไม่มีเหลือแล้วก็มีความเย็นถึงที่สุด ปรากฏแก่จิตของบุคคลนั้นเอง ถ้าพูดอย่างนี้ก็เล็งกันอย่างนี้ แล้วก็ประสูติ ตรัสรู้ นิพพานนั้นมีในขณะเดียวกัน ขณะเวลาเดียวกัน ยิ่งกว่าวันเดียวกันเสียอีก คิดดูเถิด มันพูดว่าในวันเดียวกันก็ถูกต้อง คือ ทั้ง ๓ อันนั้น มีในวันนั้น แต่ว่าที่ยิ่งกว่านั้นคือ มันเป็นสิ่งเดียวกัน จะเรียกว่าขณะจิตเดียวกันก็ได้ คือมันเนื่องๆ กันไปโดยขณะจิตนั้น ขณะหนึ่ง ขณะจิตหนึ่ง รู้แจ้งแทงตลอด ขณะจิตถัดมา ก็มีการเกิดแห่งพระพุทธเจ้า ขณะจิตถัดมาก็มีการบรรลุถึงความเย็นสูงสุดคือ อนุปาทิเสสปรินิพพาน คือความเย็นอย่างไม่มีความร้อนเหลือ นี่พูดภาษาธรรม คนที่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็ด่าอาตมาจนไม่รู้จะด่ากันอย่างไรแล้ว ที่อุตริพูดในแบบภาษาธรรม มันไม่เหมือน มันไม่ตรงกับที่เขาเคย เขาเคยคิด หรือเขาเคย เคยเชื่อกันมาแต่ก่อน แต่อาตมาก็ไม่รู้สึกอะไรที่ใครเขาจะด่า จะมี จะรู้สึกอยู่อย่างไร เห็น เห็นอยู่ในใจอย่างไร ก็อุตส่าห์เอามาบอกท่านทั้งหลาย ลงทุนให้เขาด่า เพื่อประโยชน์เอามาบอกแก่ท่านทั้งหลาย ว่าเรามองกันอย่างนี้ก็ได้ เพราะการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานนั้น คือสิ่งเดียวกัน สิ่งๆ เดียวกัน ทีนี้คนเขามักจะพูดว่าพระพุทธเจ้าบรรลุอนุส เอ้อ, บรรลุ อนุปาทิเสสนิพพานนั้นนะ เมื่อวันที่เราเรียกกันว่าตาย คือดับขันธ์ นั้นไม่จริง ตามตัวหนังสือเป็นไม่ได้ คือว่าขันธ์นั้น มันดับไปตามเหตุตามปัจจัยของเบญจขันธ์ ตามปัจจัยของรูป ของนาม แต่ว่าเบญจขันธ์กลุ่มนี้ของพระพุทธเจ้านั้น มันดับลงโดยจิตที่ลุถึงอนุปาทิเสสปรินิพพาน หรือนิพพานธาตุมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันตรัสรู้โน้น อาการแห่งอนุปาทิเสสนิพพานนี่ยืนยงคงมาจนถึงวันสุดท้ายเมื่อเบญจขันธ์ดับ จึงพูดว่าเบญจขันธ์นั้นดับลงด้วย ใช้คำว่าด้วย ดับลงด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพานธาตุยาปะรินิพพุโต นี่พูดให้ฟังด้วยภาษาคน โดยสมมติว่าพระพุทธเจ้าดับด้วยอนุปาทิเสสปรินิพพาน อนุปาทิเสสปริ ปรินิพพานนั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดตรงนั้น เวลานั้น เมื่อ เมื่อมีการดับอย่างนี้ มันมีมาตลอดเวลาที่พระ พระ หลังจากพระองค์ประสูติแล้ว จนมาถึงวันที่จะดับขันธ์ จึงถือว่าขันธ์นั้นดับลงด้วย หรือพร้อมทั้งอนุปาทิเสสนิพพาน หมายความว่าเมื่อเบญจขันธ์ดับ จิตไม่มี ไม่มีอะไรรู้สึกแล้ว ไอ้ความเย็นชนิดนั้นที่เป็นอนุปาทิเสสนิพพานก็ต้องดับด้วย ความเย็นนั้นก็ดับด้วยเพราะที่ตั้งแห่งความรู้สึกว่าเย็นมันดับเสีย คือเบญจขันธ์มันดับเสีย จึงต้องพูดว่าดับด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน หรือดับพร้อมกันกับ อนุปาทิเสสนิพพาน คำอธิบายอย่างนี้ เอ้อ, มันจะลึกซึ้งกว่ากันกี่มากน้อย ก็ขอให้พิจารณาดู ขืนอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ ก็คงจะทำให้ท่านทั้งหลายเสียเวลามากไปอีก ก็ขอสรุปความว่า ถ้าท่านผู้ใดมีข้อข้องใจว่าเหตุการณ์ทั้งสาม มีในวันเดียวกันนั้นเป็นอย่างไรแล้ว ก็จงพิจารณาใคร่ควรดูโดยนัยนี้เถิด ว่าการประสูติ ตรัสรู้ และนิพพานนั้น จะว่าวันเดียวกันมันก็ได้ มันเพียงแต่วันชื่อเดียวกันไม่ใช่วันเดียวกันได้ ประสูติแล้วต้องอีก ๓๕ ปี จึงถึงวันตรัสรู้ ตรัสรู้เมื่อ ๓๕ ปีแล้วต้องรอมาอีก ๔๕ ปี จึงจะถึงวันปรินิพพาน หากแต่วันนั้นเป็นวันชื่อเดียวกัน คือวันเพ็ญวิสาขปุณณมี ถืออย่างนี้ก็ได้ ไม่เสียหายอะไร มันก็ยังถูกอยู่นะ แต่การที่ใช้คำว่าวันเดียวกันนั่น มันกำกวมนะ มันเพียงแต่วันชื่อเดียวกันเท่านั้นแหละ ให้เห็นเสียอย่างนี้ ทีนี้ถ้าว่าเห็นลึกกว่านั้น ก็ต้องเห็นว่าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานนั้นก็คือสิ่งเดียวกัน โดยแยกเป็น ๓ ลักษณะ หรืออาการ การที่จิตรู้ก็คือการตรัสรู้ นั้นเป็นการเกิดแห่งพระพุทธเจ้า แล้วก็กิเลสดับ จิตสัมผัสกับความเย็นที่เป็นอนุปาทิเสสนิพพานนี้คือ การนิพพาน หมายถึงการบรรลุนิพพาน มีพร้อมกันกับการตรัสรู้ หรือการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า อย่างนี้ อ้า, มันจะเป็นอย่างไร จะถูกมาก ถูกน้อยอย่างไร แต่แล้วก็แล้วแต่ใจใครจะมองอย่างนี้ก็ได้ ไม่มองอย่างนี้ก็ได้ แต่ถ้าใครมองอย่างนี้ อาตมาอยากจะเรียกว่า เป็น ผู้นั้นเห็นธรรมะมากกว่า เห็นธรรมะยิ่งกว่า เห็นธรรมะชัดแจ้งกว่า ในข้อที่ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม อันนี้จะเป็นไปได้มากกว่า เป็นไปได้จริงกว่า ตรงเห็นธรรมอันลึกซึ้งอย่างนี้ เห็นการประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพานของพระตถาคตว่าเป็นอย่างนี้ เอาละเป็นอันว่า วันนี้ ท่านทั้งหลายจะทำในใจถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งมีการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานโดยนัยยะอันไหน คือโดยภาษาคนหรือภาษาธรรม ผู้ใดจะถือโดยนัยยะภาษาคนก็ได้ ไม่เสียหายอะไร แต่จะต้องมีการเห็นธรรมในลักษณะของภาษาคน แต่ถ้าผู้ใดเห็นธรรมลึก จนถึงกับว่าเป็นสิ่งเดียวกัน คนนั้นก็เห็นพระพุทธเจ้ามากกว่า ลึกกว่า สูงกว่า เพราะเห็นในลักษณะภาษาธรรม มีทางที่จะเห็นธรรม ชนิดที่เห็นพระองค์ได้มากกว่า จริงกว่า ลึกกว่า หรือถึงที่สุดกว่า ท่านผู้ใดชอบอย่างไหนก็ทำในใจอย่างนั้นเถิดตามศรัทธา ตามความเชื่อที่ได้ศึกษามา หรือว่าได้ยึดถือเป็นหลักประจำใจอยู่ แต่อาตมานั้นประสงค์ให้เกิดความก้าวหน้า ให้เกิดความเข้าใจอันละเอียดอ่อนและลึกซึ้งถึงที่สุด จึงได้พูดอย่างนี้ขึ้นมา แล้วก็จะเป็นคำอธิบายที่มีความลึกซึ้ง แยบคาย อวดคนอื่นได้ อวดชาวต่างศาสนาก็ได้ อวดพวกพุทธบริษัทต่างนิกายกัน เช่น พวกมหายานอย่างนี้ก็ยังได้ ว่าเถรวาทเรามีความรู้อย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ ท่านจะมีความเห็นอย่างไรก็ตามใจท่าน นี่เป็นเรื่องจิตใจ บูชาด้วยจิตใจ คือเห็นความจริงข้อนี้แล้ว มีความรัก มีความเลื่อมใส มีความเคารพบูชาอย่างยิ่งในพระพุทธองค์ด้วยจิตใจ ก็เมื่อเห็นความน่ารัก น่าเลื่อมใส น่าพอใจในพระองค์แล้ว เราก็มีความเคารพบูชา เต็มตามนั้น เราก็มีการบูชาทางจิตใจอย่างเต็มเปี่ยม มีการบูชาทางวาจา ด้วยการกล่าวคำ สุดที่เราจะกล่าวได้ นี่ก็เป็นส่วนวาจา แล้วก็เราทำการเคารพบูชาด้วยร่างกาย ด้วยสิ่งของ มีการเวียนประทักษิณ เป็นต้น นี้ก็เป็นการบูชาด้วยกาย ขอให้ท่านทั้งหลายมองเห็นชัดแจ้งโดยประจักษ์ว่า บูชาด้วยกายอย่างไร บูชาด้วยวาจาอย่างไร บูชาด้วยจิตใจอย่างไร มีปีติ ปราโมทย์ ซึ่งเป็นตัวบุญตัวกุศล ในการประกอบพิธีวิสาขบูชาในวันนี้ อาตมาขอให้ทุกท่านเตรียมใจ ชนิดที่มีความแจ่มใสไม่มืดมน คือมีความสะอาด สว่าง สงบ เพราะมีการเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ไม่มืดมน แล้วทำพิธีวิสาขบูชาเถิด ขอให้ถือว่า การทำพิธีวิสาขบูชานี้ คือการทำให้พระพุทธเจ้ามาอยู่กับเรายิ่งขึ้นไปกว่าเวลาอื่น เข้าใจหรือไม่เข้าใจ อยากจะขอซ้ำอีกทีว่าการทำพิธีอาสาฬหบูชา(นาทีที่ 56:57 )นี้ เป็นการทำให้พระพุทธเจ้าอยู่กับเรายิ่งกว่าเวลาอื่น พระพุทธเจ้าไม่ได้ตาย พระพุทธเจ้าไม่ได้หายไปไหน พระพุทธเจ้าจะยังอยู่และจะต้องยังอยู่กับเรา เราประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างนี้ เพื่อประโยชน์อย่างนี้ อย่าให้พวกศาสนาอื่นเขาเยาะว่า พุทธบริษัทนั้นนับถือคนที่ตายแล้วเป็นที่พึ่ง เขานับถือพระเจ้าที่ยังอยู่เป็นที่พึ่ง พุทธบริษัทนี้โง่อะไรกันนักหนา ที่นับถือคนที่ตายแล้วเป็นที่พึ่ง เราจะบอกว่า แกอย่าพูดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าของฉันโดยแท้จริงนั้นไม่รู้จักตาย ตายไม่เป็น ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม เป็นธรรมกาย เป็นพรหมกาย เป็นธรรมภูต เป็นพรหมภูต ซึ่งไม่รู้จักตาย ทำในใจถึงพระพุทธเจ้าที่ไม่รู้จักตาย และอยู่กับเรา ส่วนที่พระพุทธเจ้าที่ตายแล้ว เผาแล้วนั้น มันเป็นเรื่องของภาษาธรรม เป็นเรื่องของชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องของเรา พระพุทธเจ้าของเราไม่ได้ตาย แล้วมันก็ไม่ต้องเผา และมันยังอยู่กับเราตลอดเวลา ที่ตายและเผานั้นเป็นเพียงสังขารร่างกาย ส่วนหนึ่งที่เป็นวัตถุธาตุ ของโครงร่างที่ประชุมกันอยู่ ที่เคยถูกสมมติว่า เป็นร่างกายของพระพุทธเจ้า ส่วนนั้นตายและถูกเผาเหลือแต่พระธาตุ แต่พระพุทธเจ้าองค์จริงนั้นไม่ตาย ต้องไม่ตาย ใครว่าพระพุทธ พระพุทธเจ้าตาย คนนั้นแหละฆ่าพระพุทธเจ้า มันจะบาป หรือว่าตกนรกสักกี่ร้อยชาติ พันชาติ ก็ตามใจมัน ใครว่าพระพุทธเจ้าตายแล้วคนนั้นแหละคือคนฆ่าพระพุทธเจ้า โดยแท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่มีตาย และไม่อาจจะตาย ไม่อาจจะตาย ทำอย่างไร อย่างไร ก็ไม่อาจจะตาย อย่างที่พระองค์ตรัสว่า ธรรมวินัยอันเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วนั้นจะอยู่เป็นศาสดาของพวกเธอ หลังจากที่ล่วงลับไปแล้วโดยร่างกาย หลังจากที่เราล่วงลับไปแล้วโดยร่างกายนะ ลับไปแล้ว แต่โดยที่ไม่ใช่ร่างกายคือโดยธรรมะอันแท้จริงมันไม่ลับ มันไม่ตาย ดังนั้น จะอ้างพระพุทธภาษิตข้อไหนก็ได้ ถ้าเข้าถึงความหมายอันแท้จริงแห่งพระพุทธภาษิตนั้นแล้ว จะพบว่าพระพุทธเจ้านั้นตายไม่ได้ ไม่อาจจะตาย ใครถือว่าพระพุทธเจ้าตายแล้ว หรือปรินิพพานที่เรียกว่าตายแล้วนั้น คนนั้นมันไม่เห็น มันว่าตามๆ กันไป เหมือนที่ที่เขาพูดตามๆ กันมา อย่างนี้มันผิดหลักกาลามสูตร ถือเอาตามที่ฟังตามๆกันมา ถือเอาที่ปฏิบัติตามๆ กันมา ถือเอาตามที่เขาพูดกันกระฉ่อนอย่างนี้ มันไม่ได้ มันไม่เป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัท ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีปัญญาของตนเอง รู้จักโดยประจักษ์ว่า พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระธรรมเป็นอย่างไร พระสงฆ์เป็นอย่างไร รวมเป็นสิ่งเดียวกันแล้วตายไม่ได้ ไม่มีวันตาย อยู่เป็นที่พึ่งแก่เรา นี่ขอให้เราเอาพระพุทธเจ้าอย่างนี้มาใส่ไว้ในใจ มีแต่พระเครื่องแขวนไว้ที่คอนั้นมันไม่พอ เพราะมันไม่รู้อะไรจึงต้องทำอย่างนั้น แขวนพระเครื่องไว้ที่คอ แล้วก็ยกแก้วเหล้าข้ามหัวท่าน ข้ามหัวไปข้ามหัวมา จนหมดความเป็นพระพุทธเจ้า อย่างนี้จะพุทธาภิเษกกันกี่สิบครั้ง กี่ร้อยครั้ง มันก็ไม่มีความเป็นพระพุทธเจ้า เพราะว่าเอามาแขวนที่คอแล้วยกแก้วเหล้า ข้ามหัวไปข้ามหัวมา ทำไมเรียกว่าหัว ไม่เรียกว่าพระเศียร เพราะเอาแก้วเหล้ายกข้ามหัวท่านจนหมด หมดความเป็นพระเศียร เหลือแต่หัว ข้ามหัวไปข้ามหัวมา นี้เข้าใจว่า พึ่งพระเครื่องเป็นพระพุทธเจ้านี่ไม่รู้จะทำกันอย่างไร อาตมาอธิบายไม่ถูก อยากจะแนะว่าเอาพระเครื่องแขวนไว้ข้างหลังสิ จะได้ไม่ยกแก้วเหล้าข้ามหัว แขวนคอแต่แขวนไว้ข้างหลัง เวลายกแก้วเหล้ากิน แล้วก็ไม่ข้ามหัวพระเครื่อง อย่างนี้บางทีจะช่วยบรรเทาได้บ้าง ใครชอบแขวนพระเครื่องช่วยนึกถึงข้อนี้ด้วย อย่าเอาแก้วเหล้า หรือเอาอะไรที่มันไม่ควรกัน ไปข้ามหัวท่าน นำมาแขวนไว้ที่คอ จะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ถ้าเอาแก้วเหล้าไปข้ามหัวเสียจนหมดความหมาย แต่ว่าพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในใจแท้จริงอย่างที่ว่ามาแล้วโน้น ไม่มีอะไรข้ามหัวได้ อยู่เหนือ เหนือสิ่งทั้งปวงเสมอแหละ นั่นจะคุ้มครองเรา จะช่วยเหลือเรา พระพุทธเจ้าพระองค์จริง คือพระธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัส เอาธรรมะสูงสุดคือการเห็นอิทัปปัจจยตาโดยเฉพาะนี้แหละไว้ในใจ มันจะคุ้มครองตลอดไป คนนั้นจะไม่ตายตามพระพุทธเจ้า เอาพระพุทธเจ้ามาใส่ไว้ในใจแล้วคนนั้นจะไม่ตายเหมือนกับพระพุทธเจ้า ที่ไม่รู้จักตาย เอ้า, ถ้าพอใจในคำอธิบายนี้ วันนี้ก็มีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ในใจ แล้วก็ประกอบพิธีวิสาขบูชา ทำไมอาตมาถึงพูดนำอย่างนี้ ก็เพื่อว่าให้เตรียมใจให้พร้อม ให้ดีที่สุด ให้เหมาะสมที่สุด ให้เป็นไปได้ที่สุด ในการที่จะประกอบพิธีวิสาขบูชา อีกอย่างหนึ่งก็หมายความว่า ถ้าเราเป็นพุทธบริษัท เราจะต้องทำให้ดีขึ้น ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ ไม่ซ้ำที่ ไม่ย่ำเท้า ไม่ถอยหลัง นั้นการทำพิธีวิสาขบูชา หรือพิธีอะไรก็ต้องดีขึ้นไป ยิ่งกว่าปีที่แล้วๆ มา ขอให้ท่านทั้งหลายสนองความปรารถนาอันนี้ ด้วยการทำจิตใจให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปกว่าปีที่แล้วมา แล้วกระทำพิธีวิสาขบูชาเถิด นี้ก็มีเรื่องเบ็ดเตล็ดที่จะพูดว่า เราจะเดินเวียนประทักษิณ ถ้าใครสวมรองเท้า ก็ช่วยนึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้า นี่ ช่วยบอกกันด้วยว่าพระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้าโว้ย ท่านเดินพระบาทเปล่าตลอดเวลาแหละ พระพุทธเจ้าไม่มีร่ม พระพุทธเจ้าไม่มีมุ้ง ทำไมเรามันดีกว่าพระพุทธเจ้า มีร่ม มีมุ้ง มีรองเท้า มีอะไร มันมากเกินไปแล้วกระมัง ถ้าว่าจะเดินเวียนประทักษิณที่นี่ มันมีรากไม้ มันมีก้อนกรวด มันก็ต้องปวดเท้าบ้าง ก็ขอให้เอาความปวดนั้นนะ บูชาพระคุณท่านอีกทีหนึ่ง ดูจะแพงกว่า ดีกว่าดอกไม้ที่ซื้อมา ตามความเจ็บปวด ลำบาก เหน็ดเหนื่อย ที่ทำประทักษิณนี่ จะเป็นเครื่องสักการะบูชาอีกส่วนหนึ่ง ที่ดี ที่ยิ่งขึ้นไป นึกถึงพระพุทธเจ้าว่า ท่านไม่มีรองเท้า ท่านไม่มีฉลองพระบาท หรืออะไรแล้วแต่ จะเรียก ดังนั้น ถ้าว่ามันเจ็บปวดบ้าง สำนึกเสียบ้าง ว่าพระพุทธเจ้าท่านก็เป็นอย่างนั้นแหละ เมื่อท่านไม่มีรองเท้า ท่านก็ต้องปวดเท้าเมื่อท่านเดิน พอเราปวดเท้าอย่างนั้นบ้างเรานึกถึง โอ้, พระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ท่านเป็นอย่างนี้ เราก็เป็นลูกศิษย์ของท่าน ก็สมัครที่จะเป็นอย่างนี้ ดังนั้น ขอให้มันปวดมากกว่านี้ ก็ยังจะยินดี นี่เป็นเรื่องที่ว่ากระทำในใจกันอย่างไร ถ้าจะเดินเวียนประทักษิณ มันก็ต้องปวดเท้าบ้างเพราะที่นี่มันมีรากไม้ มีก้อนกรวด มีก้อนหินเล็กๆ พระพุทธเจ้าเห็นแก่สัตว์ เดินไปโปรดสัตว์ เป็นโยชน์ๆ ข้ามบ้านข้ามเมือง เดินไป ดำเนินไปเป็นโยชน์ๆ ไม่ใช้ยานพาหนะ นั่นถือว่า ภิกษุนี้ บัญญัติว่าภิกษุนี้ ไม่เจ็บไม่ไข้ จะขึ้นยานพาหนะที่ลากพาไปด้วยสัตว์มีชีวิต หรือด้วยคนมีชีวิตนี้ไม่ได้ ไม่ถูก เป็นอาบัติ อย่างไม่มากก็น้อย ฉะนั้น ท่านจึงเดิน ดำเนินด้วยพระบาท คือไม่ขึ้นยานพาหนะเพราะว่ามันลากด้วยวัวบ้าง ลากด้วยคนบ้าง ไม่มีรถไฟ ไม่มีรถยนต์ ฉะนั้น ท่านจึงไม่ขึ้นยานพาหนะ ทีนี้เราก็ควรจะตั้งใจให้ดีว่า เมื่อมีการปวดเท้าเพราะการเดิน ก็นี่แหละคือพระพุทธเจ้าแหละ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ก็จะดีใจ จะมีปีติ ปราโมทย์ ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกปวด นั่นคือบูชาคุณของพระพุทธเจ้า เป็นอันว่ามันจะพอกันทีแล้วกระมัง สำหรับเตรียมจิตใจเพื่อทำพิธีวิสาขบูชา นี่มันเป็นเวลาตั้งชั่วโมงแล้ว กว่าแล้ว ต่อนี้อาตมาก็ขอยุติการแสดงธรรมเทศนา เพราะความสมควรแก่เวลา เพื่อเตรียมการกระทำพิธีวิสาขสืบต่อไป ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
การบูชา พระสงฆ์ทำก่อน ฆราวาสทำทีหลัง พระสงฆ์กล่าวเป็นภาษาบาลี ฆราวาสกล่าวเป็นภาษาไทย ดังนั้น ขอนิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลาย จุดเครื่องสักการะบูชา แล้วยืนขึ้น รับเครื่องสักการะเหล่านั้น บูชาพระคุณของพระพุทธองค์ พร้อมทั้งพระพุทธ พร้อมทั้งพระ อ้า, พร้อมทั้งพระธรรม พร้อมทั้งพระสงฆ์ นี่คือความหมายแห่งการกระทำ เอ้า, ภิกษุ เอ้อ, สามเณรทั้งหลาย จงทำในใจให้แยบคาย ให้มีพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่ในหัวใจของเราให้ได้ คืออย่าให้หัวใจถูกครอบงำอยู่ด้วยกิเลส ด้วยความสำคัญมั่นหมาย ด้วยความโง่ ว่ามีตัวมีตน มีนั่นมีนี่ เดี๋ยวนี้เราจะไม่มีอะไร ให้เป็นจิตใจที่ว่างจากสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง พอมีจิตใจอย่างนี้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะเข้ามาอยู่ในจิตใจของเรา ดังนั้น ขอนิมนต์ทุกองค์หลับตาเสีย ทำในใจ ไม่มีวัดนี้ ไม่มีวัดไหน ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกไหน ไม่มีทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ไม่มีทิศเหนือ ทิศใต้ มีจิตใจว่าง จิตใจอย่างนี้จะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาประทับอยู่ (นาทีที่ 69:17 ถึง นาทีที่ 76:51 เป็นบทสวดมนต์)
นิมนต์นั่งสำหรับภิกษุกล่าวคำบูชาเป็นภาษาบาลี ทีนี้ขอญาติโยมทั้งหลายผู้เป็นฆราวาสจุดธูป จุดเทียน แล้วยืนขึ้น ที่ว่า หิตายะสุขายะ ในกรณีนี้ขอให้ถือว่าไม่ใช่ หิตายะสุขายะ อย่างโลกๆ ให้ถือว่า หิตายะสุขายะ อย่างธรรมะ ประโยชน์สุขที่เป็นไปเพื่อปรินิพพาน เป็นไปเพื่อดับทุกข์สิ้นเชิง เราใช้คำว่า หิตายะสุขายะ ร่วมกัน แล้วเขาใช้ในหมู่ชาวบ้าน ก็หมายถึงเรื่องโลกๆ นี้ขอบอกให้รู้ว่าที่เราว่า หิตายะสุขายะ นั้นไม่ใช่เรื่องอย่างโลกๆ ดังนั้น เนินดินอันนี้เป็นองค์พระสถูป เราถือว่าพระสถูปเป็นวัตถุแทนองค์พระพุทธเจ้าสำหรับการทำสักการะบูชา ญาติโยมทั้งหลาย จุดธูป จุดเทียน แล้วยืนขึ้น อาตมาจะว่านำ ให้ท่านทั้งหลายว่าตาม แล้วก็จะได้ทำประทักษิณ (นาทีที่ 78:78 ถึงนาทีที่ 79:33 เป็นบทสวดมนต์ ต่อด้วยท่านพุทธทาสกล่าวนำ แล้วฆราวาสกล่าวตาม)
ท่านพุทธทาส : เราทั้งหลาย
ท่านพุทธทาส : ถึงซึ่งพระผู้มีพระภาค
ท่านพุทธทาส : พระองค์ใด
ท่านพุทธทาส : ว่าเป็นที่พึ่ง
ท่านพุทธทาส : พระผู้มีพระภาค
ท่านพุทธทาส : พระองค์ใด
ท่านพุทธทาส : เป็นศาสดาของเราทั้งหลาย
ท่านพุทธทาส : เราทั้งหลาย
ท่านพุทธทาส : ชอบใจพระธรรม
ท่านพุทธทาส : ของพระผู้มีพระภาค
ท่านพุทธทาส : พระองค์ใด
ท่านพุทธทาส : พระผู้มีพระภาค
ท่านพุทธทาส : พระองค์นั้น
ท่านพุทธทาส : ได้อุบัติบังเกิดแล้ว
ท่านพุทธทาส : ในหมู่มนุษย์
ท่านพุทธทาส : ชาวอริยกะ
ท่านพุทธทาส : .ในมัชฌิมชนบท
ท่านพุทธทาส : เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ
ท่านพุทธทาส : เป็นโคตมโดยพระโคตร
ท่านพุทธทาส : เป็นศากยบุตร
ท่านพุทธทาส : ออกบรรพชาแล้ว
ท่านพุทธทาส : จากศากยตระกูล
ท่านพุทธทาส : เป็นผู้ตรัสรู้
ท่านพุทธทาส : ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ท่านพุทธทาส : ในโลก
ท่านพุทธทาส : พร้อมทั้งเทวโลก
ท่านพุทธทาส : มารโลก พรหมโลก
ท่านพุทธทาส : ในหมู่สัตว์
ท่านพุทธทาส : พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
ท่านพุทธทาส : ทั้งเทวดาและมนุษย์
ท่านพุทธทาส : พระผู้มีพระภาค
ท่านพุทธทาส : พระองค์นั้น
ท่านพุทธทาส : เป็นพระอรหันต์
ท่านพุทธทาส : ผู้ตรัสรู้ชอบเอง
ท่านพุทธทาส : ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ท่านพุทธทาส : เสด็จไปดีแล้ว
ท่านพุทธทาส : เป็นผู้รู้แจ้งโลก
ท่านพุทธทาส : เป็นสารถีฝึกบุรุษ
ท่านพุทธทาส : ไม่มีสารถีอื่นยิ่งกว่า
ท่านพุทธทาส : เป็นศาสดา
ท่านพุทธทาส : ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ท่านพุทธทาส : เป็นผู้ตื่นแล้ว
ท่านพุทธทาส : เป็นผู้เบิกบานแล้ว
ท่านพุทธทาส : เป็นผู้มีภัคยธรรม
ท่านพุทธทาส : ไม่ต้องสงสัยเลย
ท่านพุทธทาส : อนึ่ง
ท่านพุทธทาส : พระธรรม
ท่านพุทธทาส : อันพระผู้มีพระภาคเจ้า
ท่านพุทธทาส : ตรัสไว้ดีแล้ว
ท่านพุทธทาส : ผู้บรรลุพึงเห็นเอง
ท่านพุทธทาส : ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา
ท่านพุทธทาส : ควรเรียกให้มาดู
ท่านพุทธทาส : ควรน้อมเข้ามาสู่ตน
ท่านพุทธทาส : วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ท่านพุทธทาส : อนึ่ง
ท่านพุทธทาส : พระสงฆ์สาวก
ท่านพุทธทาส : ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ท่านพุทธทาส : เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
ท่านพุทธทาส : ปฏิบัติตรงแล้ว
ท่านพุทธทาส : ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว
ท่านพุทธทาส : ปฏิบัติสมควรแล้ว
ท่านพุทธทาส : นี้คือคู่
ท่านพุทธทาส : แห่งบุรุษสี่คู่
ท่านพุทธทาส : เป็นบุรุษบุคคลแปด
ท่านพุทธทาส : เป็นสงฆ์สาวก
ท่านพุทธทาส : ของพระผู้มีพระภาค
ท่านพุทธทาส : เป็นสงฆ์ควรแก่ของคำนับ
ท่านพุทธทาส : ควรแก่ของต้อนรับ
ท่านพุทธทาส : ควรแก่ของทำบุญ
ท่านพุทธทาส : ควรแก่การกราบไหว้
ท่านพุทธทาส : เป็นนาบุญของโลก
ท่านพุทธทาส : ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ท่านพุทธทาส : ก็พระสถูปนี้
ท่านพุทธทาส : เขาสร้างขึ้นแล้ว
ท่านพุทธทาส : อุทิศเฉพาะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ท่านพุทธทาส : เพื่อระลึกถึง
ท่านพุทธทาส : ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ท่านพุทธทาส : เพื่อเกิดความเลื่อมใส
ท่านพุทธทาส : บัดนี้
ท่านพุทธทาส : เราทั้งหลาย
ท่านพุทธทาส : มาถึงแล้ว
ท่านพุทธทาส : ซึ่งวันวิสาขปุณณมี
ท่านพุทธทาส : อันเป็นที่รู้กันว่า
ท่านพุทธทาส : เป็นการประสูติ
ท่านพุทธทาส : การตรัสรู้
ท่านพุทธทาส : และการเสด็จปรินิพพาน
ท่านพุทธทาส : แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ท่านพุทธทาส : จึงได้มาประชุมกัน
ท่านพุทธทาส : ในสถานที่นี้
ท่านพุทธทาส : ถือเครื่องสักการะ
ท่านพุทธทาส : มีประทีป
ท่านพุทธทาส : และธูป เป็นต้น
ท่านพุทธทาส : ทำร่างกายของตน
ท่านพุทธทาส : ให้เป็นภาชนะ
ท่านพุทธทาส : รองรับเครื่องสักการะนั้น
ท่านพุทธทาส : ในใจระลึกถึงอยู่
ท่านพุทธทาส : ซึ่งพระคุณ
ท่านพุทธทาส : ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
ท่านพุทธทาส : ตามที่เป็นจริง
ท่านพุทธทาส : บูชาอยู่
ท่านพุทธทาส : ด้วยเครื่องสักการะนี้
ท่านพุทธทาส : อันถือไว้แล้วอย่างไร
ท่านพุทธทาส : จะทำประทักษิณ
ท่านพุทธทาส : สิ้นวาระ ๓ รอบ
ท่านพุทธทาส : ซึ่งพระสถูปนี้
ท่านพุทธทาส : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพุทธทาส : ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า
ท่านพุทธทาส : แม้เสด็จปรินิพพาน
ท่านพุทธทาส : โดยพระวรกาย
ท่านพุทธทาส : นานมาแล้ว
ท่านพุทธทาส : แต่ยังคงอยู่
ท่านพุทธทาส : โดยพระคุณ
ท่านพุทธทาส : อันข้าพเจ้าทั้งหลาย
ท่านพุทธทาส : รู้ได้
ท่านพุทธทาส : โดยความเป็นอตีตารมณ์
ท่านพุทธทาส : ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า
ท่านพุทธทาส : จงทรงรับ
ท่านพุทธทาส : ซึ่งเครื่องสักการะ
ท่านพุทธทาส : อันข้าพเจ้าทั้งหลาย
ท่านพุทธทาส : ถือไว้แล้วนี้
ท่านพุทธทาส : เพื่อประโยชน์
ท่านพุทธทาส : เพื่อความสุข
ท่านพุทธทาส : แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ท่านพุทธทาส : ตลอดกาลนานเทอญ
(สิ้นสุดการกล่าวนำและกล่าวตาม)
อ้า, คำว่า ข้าพเจ้า รวมทั้งพระภิกษุ และทั้งคฤหัสถ์ พระภิกษุไม่สะดวกที่จะไปเดินเวียนด้วย ก็จะสวดพระพุทธ เอ้อ, พระพุทธคุณให้ ในใจก็เวียนด้วย ขอมีหุ้นส่วนแห่งฆราวาสทั้งหลายผู้เดินเวียน เอ้า, กรุณาจัดแถวให้ท่านผู้อาวุโสที่สุดเดินนำหน้า จัดแถว จัดแถว ข้างหน้าหลีกหน่อย อย่าเพิ่งเดิน ข้างหน้าหลีกหน่อย อย่าเพิ่งเดิน ขอให้จัดผู้อาวุโสที่สุดเดินนำ แล้วเราเดินตาม เอ้า, เราสวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ร่วมในการเวียนประทักษิณ ขอให้ทายก ทายิกา ทั้งหลาย (นาทีที่ 88:29 ถึงนาทีที่ 95:54 เป็นบทสวดมนต์) ครบ ๓ รอบแล้วก็หยุดลงตรงนั้น ปักธูป ปักเทียน ลงตรงนั้น ไม่ต้องไปอัดอยู่ที่รวมกัน (นาทีที่ 96:05 จนจบ เป็นบทสวดมนต์)