แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาจารย์ : เอ้า, มีอะไรอีก
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า บวชมานานกว่า ๕๐ พรรษา ยังไม่เข้าใจแม้นคำง่าย ๆ ตื้น ๆ เช่นคำว่าโลกิยธรรมกับโลกุตตรธรรม โดยอธิบายตามอัตโนมัติของตัวเอง แล้วกล่าวตู่ว่าเป็นพุทธพจน์ นี้มันเป็นอย่างไรกันครับ
ตอบ : เอ้า, นี้มันตอบมาแล้วอธิบายมาแล้วในข้อ ๆ ที่แล้วมาว่า โลกิยธรรมเป็นอย่างไร โลกุตตรธรรมเป็นอย่างไร เราก็อธิบายให้ฟังแล้วตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในหมู่มนุษย์ ซึ่งก็ตรงตามหลักของพระคัมภีร์ ไม่มีคำตอบอะไรอีกสำหรับคำถามข้อนี้ เพราะได้อธิบายมาแล้วโดยละเอียดในการคำถามคำตอบข้อ ๆ ที่แล้วมา เอาข้ออื่นดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ไม่มีความรู้ความเข้าใจในตัวปัญหาของธรรมะ นี้จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ : ไม่มีความรู้ความเข้าใจในตัวปัญหาของธรรมะ ใครมันฟังถูกเล่า ตัวปัญหาของธรรมะ เขามีคำขยายความว่าอย่างไรเกี่ยวกับข้อนี้
ถาม : ที่เกี่ยวกับโลกิยธรรมและโลกุตตรธรรม ตามแบบอภิธรรมที่กล่าวถึงจำนวนจิต เจตสิก
ตอบ : อืม, ถ้าอย่างนี้ก็ค่อยชัดหน่อย ไอ้ปัญหามันชัดหน่อย ไม่มีความรู้ความเข้าใจในตัวธรรมะ ที่กล่าวตามแบบอภิธรรม มีหลักจำนวนจิต จำนวนเจตสิก เรื่องอภิธรรมมันเป็นเรื่อง อ่า, ถ้าพูดไปมันก็เป็นการทะเลาะกับอภิธรรม เราก็ถือว่าอภิธรรมไม่ได้อยู่ในรูปของพระพุทธวจนะ เอาพระพุทธวจนะไปอธิบายเอาตาม ๆ พอใจความเห็นของตัวเอง เรียกว่าคัมภีร์พระอภิธรรม เราถือว่าคัมภีร์อภิธรรมเหล่านี้ยกไปทิ้งทะเลเสียให้หมดก็ได้ โลกนี้ก็ไม่ขาดอะไรไป เหลืออยู่แต่วินัยกับสุตตันตะก็พอ เราจึงอธิบายหลักทุกข์และหลักความดับทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแบบของ ตามหลักของปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา
คัมภีร์อภิธรรมเอาเรื่องของปฏิจจสมุปบาทไปอธิบายใหม่ ก็ยิ่งไม่ ๆ ๆ มีความกระจ่าง และน้อย ๆ ๆ กว่าที่มีอธิบายอยู่แล้วในสุตตันตปิฎก พูดให้ชัดว่า เรื่องความดับทุกข์ที่คัมภีร์อภิธรรมเอาไปอธิบายนั้น มีน้อย ๆ กว่าที่มีอยู่ในสุตตันตปิฎก เพราะเขาเอาไปอธิบายในแง่ที่มันเฟ้อ คือ เฟ้อในทางปรัชญา เฟ้อในทางอักษรศาสตร์ เฟ้อในทางตรรกะ เฟ้อในทางอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ดังนั้นเราจึงไม่สนใจ เพราะว่ามันไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์
เราสงวนไว้แต่เรื่องปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์เท่าที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก มันมากท่วมท้นกว่าที่ไปอธิบายในอภิธรรมปิฎก ตัวหนังสือในอภิธรรมปิฎกอาจจะมาก หรือมากกว่า หรือเท่ากัน ก็ตามใจเถิด แต่ว่าไอ้เนื้อหาแล้วมันไม่มี มัน ๆ มีอยู่ในคัมภีร์สุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นต้นตอที่พวกอภิธรรมยืมคำไปอธิบายเป็นรูปอภิธรรมปิฎกอย่างเฟ้อ นั้นเราไม่ชอบเฟ้อ เราไม่ชอบเกิน เราชอบที่ตรงไปตรงมาเท่าที่มันจะดับทุกข์ได้
ดังนั้นขอให้สนใจเรื่องความดับทุกข์ มีอยู่พร้อมแล้วในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งมีพระวินัยเป็นเบื้องต้น จึงขอพูดย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า คัมภีร์อภิธรรมปิฎกทั้งหมดนั้นเอาไปทิ้งทะเลเสียก็ได้ โลกนี้ก็จะไม่ขาดอะไรไปนอกจากความเฟ้อ ถ้าอยากจะเฟ้อเรื่องปรัชญา เรื่องตรรกวิทยา เรื่องอักษรศาสตร์ ทำนองนี้แล้วก็ได้ คัมภีร์อภิธรรมปิฎกมันยังมีประโยชน์ และมีประโยชน์อย่างยิ่งในแง่นี้ แต่มันไม่ได้พูดถึงความดับทุกข์ ถ้าพูดถึงความดับทุกข์แล้ว เอาคัมภีร์อภิธรรมทั้งหมดนี้ไปทิ้งทะเลเสียก็ได้ โลกนี้ก็จะไม่ขาดอะไรไปในเรื่องที่เกี่ยวกับความดับทุกข์ นี่ให้ต่อไปอีก
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ปฏิเสธการเวียนว่ายไปในวัฏสงสาร นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : ไอ้คนนี้มันไม่รู้ว่า ไอ้วัฏสงสารนั้นคืออะไร เขาวัฏสงสารหลังจากตายแล้ว วัฏสงสารก่อนตาย เราบอกวัฏสงสารที่เป็นสันทิฏฐิโก ที่จริงกว่าจำเป็นกว่าว่า วัฏสงสารนี้อยู่ในจิตใจ ในบุคคล เมื่อบุคคลอยากอะไร มันเป็นกิเลส เมื่อบุคคลกระทำอะไรลงไปตามความอยากนี้ มันเป็นกรรม กรรมแล้วมันก็เกิดผลที่บุคคลได้รับอยู่นี่ นี่คือวัฏสงสารที่วนเวียนอยู่ในจิตใจของคน วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า เป็นรอบ ๆ วันหนึ่งอาจมีวัฏสงสารหลายรอบ นี่เราชี้อย่างนี้
ไม่ใช่ว่าไอ้ชาติหนึ่งที่แล้วมา กับชาติปัจจุบันนี้ และชาติอนาคตข้างหน้าอีกชาติหนึ่ง รวมเป็น ๓ ชาติเรียกว่าวัฏสงสาร นั้นมันของคนโง่นะ และของคนที่พูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนวัฏสงสารหยาบ ๆ โง่ ๆ อย่างนั้น ท่านชี้ในปฏิจจสมุปบาท เพียงวงหนึ่งก็มีวัฏสงสารแล้ว และปฏิจจสมุปบาทนี้อาจจะเกิดขึ้นได้หลายวงในวันหนึ่ง ๆ ของคนที่ธรรมดาสามัญ เดี๋ยวนี้เราก็ชี้วัฏสงสาร ที่ร้ายกาจ ที่รุนแรง ที่เป็นปัญหามาก เพราะมันอยู่ที่ความอยาก แล้วการกระทำตามความอยาก และได้ผลขึ้นมาแล้ว มันทำให้อยากต่อไปอีก
นี่อย่างนี้ไม่เป็นการชี้วัฏสงสารหรือ มันชี้อย่างยิ่งเกินกว่าที่จะชี้ แล้วชี้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วชี้ในหัวใจของบุคคล วัฏสงสารที่มันมีอยู่ในหัวใจของบุคคล นี้คือเรื่องจริงของพุทธศาสนา ทุกเรื่องต้องชี้ที่ไป ลงไปในจิตใจของบุคคล จึงจะเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพ ดังนั้นอย่าหลับตาด่าเราว่า เราไม่ได้พูดเรื่องวัฏสงสาร หรือปฏิเสธว่าไม่มีวัฏสงสาร เราชี้ว่ามีอย่างยิ่ง มีอย่างน่ากลัว มีอยู่อย่างในจิตในใจ ในชีวิตประจำวัน ทุกวัน ๆ ของคนแต่ละคน วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนั่น รีบออกมาเสียด้วยการทำลายกิเลส
พอหมด ๆ กิเลส วัฏสงสารก็ ๆ ไม่กลม แล้วมันก็หมุนไม่ได้ เพราะไม่มีกิเลส แล้วก็ไม่ทำกรรม แล้วก็ไม่มีผลกรรม มันก็หยุด หรือว่าเราจะทำกรรมสูงสุด คือกรรมไม่ดำไม่ขาว คืออริยมรรค เป็นไปเพื่อพระนิพพาน อัฏฐังคิกมรรคนั้นจะทำลายวัฏสงสาร จะหยุดเสียซึ่งวัฏสงสาร นี้เป็นการอธิบายทั้งวัฏสงสาร และวิธีที่จะออกมาเสียจากวัฏสงสาร เราไม่ได้ปฏิเสธว่า ไม่มีวัฏสงสาร เรายืนยันว่า มีอย่างยิ่ง มีอย่างน่ากลัว ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนรีบ ๆ ทำตนให้ออกมาเสียจากวัฏสงสาร เอ้า, เรื่องอื่นต่อไปดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ไม่ควรที่จะเรียกตัวเองว่าภิกษุ เพราะไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร นี้จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ : อืม, ภิกษุแปลตามความหมายที่ถูกต้องว่า ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร แล้วเขา ๆ ว่าอาตมาไม่เป็นภิกษุ ไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร ก็ยกประโยชน์ให้แก่เขา ไม่อยากจะทะเลาะกับเขาในเรื่องนี้ เอ้า, เรื่องอื่นดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า เป็นปุถุชน ไม่มีปัญญาลึกซึ้ง พอที่จะเข้าใจความหมายของพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้ นี้จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ : นี่ลองฟังดูสิว่าเป็นบุถุชน ไม่มีปัญญาพอที่จะเข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้า ถูกแล้ว ถ้าเป็นบุถุชนมันก็หนาไปด้วยฝ้าที่ปิดตา มันก็ไม่เข้าใจความหมายของพระพุทธเจ้า ไม่ความ ไม่เข้าใจความหมายธรรมะของพระพุทธเจ้า นี้ก็ไม่มีอะไรที่จะตอบ นอกจากจะตอบว่า ก็ไปดูเรื่องพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เราได้พยายามสั่งสอนอบรมเผยแผ่มาแล้วอย่างไร แล้วก็ตัดสินเอาเองเถิดว่า เรานี้เข้าใจหรือไม่เข้าใจพระธรรมของพระพุทธเจ้า พูดเรื่องอื่นดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ปฏิเสธหรือไม่เชื่อ นรก สวรรค์ หรือภพภูมิต่าง ๆ ทั้ง ๓๑ ภูมิ การไม่เชื่ออย่างนั้น เป็นการดูถูกพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า นี้จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ : เอ้า, นี้มัน ๆ ๆ ซ้ำกับข้อที่แล้วมาเมื่อตะกี้ เรื่องนรกสวรรค์ เราไม่ได้ปฏิเสธนรกสวรรค์ เราไม่ได้ไม่เชื่อในนรกสวรรค์ เรายอมรับและเชื่อในเรื่องนรกสวรรค์ แต่ว่าตามแบบนี้ ๆ คือแบบที่ประจักษ์แก่ใจ อยู่ในใจ ในภาษาธรรม นี้เราเชื่ออย่างยิ่ง ยอมรับอย่างยิ่ง ต้องการจะไม่ตกนรก ต้องการจะไปสวรรค์ แต่ว่ามันไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะทั้งนรกและสวรรค์มันยังเป็นวัฏสงสาร ยังเป็นการเวียนว่าย มันต้องการจะพ้นเสียจากทั้งนรกและสวรรค์
ทีนี้เรื่องภพภูมิต่าง ๆ นั้นน่ะ มันเป็นเรื่องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ทั้ง ๓๑ ภพ ๓๑ ภูมิน่ะ มัน ๆ วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร จะไปเอาอะไรกับมันล่ะ ดังนั้นไอ้ภพภูมิ ๓๑ ที่อธิบายอย่างที่เขาอธิบายกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้านั้น เราไม่เห็นด้วย ถ้าจะอธิบายภพภูมิเหล่านั้นแล้ว ขออธิบายเสียใหม่ว่า ทุกภพทุกภูมิอยู่ในจิตใจของบุคคล นี้ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องภพเรื่องภูมิ ขอแต่ให้มองให้เห็นถูกตัวของมันตามที่เป็นจริงว่า มันมีอยู่ในจิตใจของพระพุทธเจ้า
เราถือว่าพระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมายอย่างนี้ ท่านสอนอย่างนี้ การอธิบายอย่างนี้ไม่เป็นการดูถูกพระปัญญาของพระพุทธเจ้า ที่เชื่ออยู่อย่างงมงาย นั่นแหละดูถูกปัญญาของพระพุทธเจ้า คือไม่มายอมเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้เปิดเผยแท้จริงว่า มันมีอยู่ในจิตในใจของคน ไอ้ที่เชื่อว่านรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า นั่นแหละดูถูกปัญญาของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า มันมีอยู่ตามอายตนะ เป็นไปตามอายตนะ
ดังนั้นการเชื่อภพภูมิตามแบบตัวหนังสือในไตรภูมิ นั้นแหละคือเชื่ออย่างดูถูกปัญญาของพระพุทธเจ้า หรือว่าเพราะไม่เข้าใจพระปัญญาของพระพุทธเจ้า จึงอธิบายอย่างนั้น เมื่อไรเขาเข้าใจเรื่องนี้โดยถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว เขาก็จะเห็นว่า ไอ้ภพหรือภูมินี้มันอยู่ในจิตใจของคน คำอธิบายของเราไม่เป็นการดูถูกพระปัญญาของพระพุทธเจ้า แต่ว่าเปิดเผยความจริงที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้นั้น ให้เห็นได้ง่ายขึ้น ได้เร็วขึ้น ได้สะดวกขึ้น ตามความจำเป็นของเรื่องนี้ เอ้า, ต่อไปดีกว่า
ถาม : เขากล่าวว่า ไม่น่าให้อภัยแก่ท่านอาจารย์ ที่ไม่เชื่อในคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้กล่าวอ้างถึงอดีตชาติของสัตว์ต่าง ๆ ไว้มากมาย นี้มันเป็นอย่างไรกันครับ
ตอบ : คำสอนของพระพุทธเจ้าที่กล่าวถึงอดีตชาตินั้น ก็มีบ้างแต่ไม่ได้มากมายเหมือนคัมภีร์ชาดก ที่ตกแต่งร้อยกรองกันขึ้นหนหลัง เรื่องอดีตชาติโดยทางเนื้อหนัง ตายเข้าโลงแล้วจึงเกิดอีก จึงมีเรื่องอีกอื่นอีกนั้น มันก็เป็นเรื่องที่เขากล่าวไว้ก่อนพระพุทธเจ้า นอกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็มี ในคัมภีร์อุปนิษัทของพวกพราหมณ์ก็กล่าวอย่างนี้ เพราะเอ่อ, พุทธบริษัทจะเอาไปผูกขาดเอาเป็นของตนหรือของพระพุทธเจ้า มันจะเข้ารูปเดิมที่ว่า ถ้าต้องการที่จะเกิดดีก็ทำให้ดี ทำอย่างนั้น ทำให้ดีจะได้เกิดดี นี้ก็เรียกว่าเตรียมชาตินี้ไว้สำหรับการเกิดดี
แต่คำว่า ชาติ ของเรา มันละเอียดถี่ยิบกว่านั้น เกิดตัวกูครั้งนี้ ให้จดจำไว้ ศึกษาให้ดี ปฏิบัติให้ดี สำหรับจะมีผลดีแก่การเกิดตัวกูครั้งหลัง ๆ วันหนึ่ง ๆ เกิดตัวกูของกูกี่ครั้ง ๆ ก็นับว่าชาติหนึ่ง ๆ ดังนั้นในปีเดียวก็มีหลายร้อยชาติ หลายพันชาติ กว่าจะตายก็มีตั้งหลายหมื่นชาติ นี่เวียนว่ายหลายหมื่นชาติตามแบบนี้ แล้วก็จะพบความจริงที่จะหลุดพ้นออกไปจากวัฏสงสารได้ ดังนั้นคำ เอ่อ, หลักที่ว่ามันเนื่องกัน นี้เรายอมรับ เกิดตัวกูชาตินี้ มันก็มีผลเกี่ยวโยงไปถึงการเกิดตัวกูชาติหน้า คือครั้งหลัง ครั้งหลังนี่ การเกิดตัวกูของกูครั้งนี้ จะมีผลเกี่ยวโยงไปถึงการเกิดตัวกูของกูครั้งหลัง หลัง ๆ ๆ ๆ ซึ่งวันหนึ่งก็มีหลาย ๆ ครั้ง ดังนั้นการที่มีผลกรรมสืบต่อถึงกัน มันก็มีได้
พระพุทธเจ้าท่านไม่คัดค้านไอ้ ๆ ๆ เรื่องชาติหรือการเวียนว่ายในชาติ ตามแบบที่เขากล่าวอยู่ก่อน ท่านยอมรับมาเป็นคำสอนในพุทธศาสนานี้ ก็เพียงแต่ว่าทำไว้ให้ดีจะได้ไปเกิดชาติใหม่ที่ดี แต่ชาติชนิดนั้นมันยังไกลนัก ยังไม่เป็นปัญหา มันมีต่อตายแล้ว แต่ว่าไอ้ชาติที่เป็นปัญหาคุกคามอยู่ เดี๋ยวนี้ ที่นี่ แต่ละวัน ๆ ไม่รู้กี่ชาตินี่ ควรจะจัดการกันก่อน เพราะมันคุกคามเราเหลือเกิน จนทำให้การเกิดตัวกูของกูในครั้งนี้ มีประโยชน์แก่การเกิดตัวกูของกูในครั้งหลัง นี่มันจะเป็นการเวียนว่ายที่ดีขึ้น ๆ ๆ จนกว่าจะหมดปัญหา
ดังนั้นเราก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง ๆ อดีตชาติหรือเรื่องอะไรต่าง ๆ แล้วก็เชื่อยิ่งกว่าเชื่อ แต่ต้องในคำอธิบายอย่างนี้ ไม่ใช่คำอธิบายเพ้อเจ้อ ไม่มีประโยชน์ แล้วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นโทษเป็นภัยอะไร ใครจะให้อภัยหรือไม่ให้อภัยก็ไม่มีความหมายแก่เรา เอ้า, ต่อไปอีก
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบายโอปปาติกะว่าเป็นเพียงการเกิดทางใจเท่านั้น เป็นการอธิบายตามความรู้ความชอบใจของตัวเองอย่างน่าสังเวช เป็นการอธิบายบิดเบือนไปจากความจริง คือไม่อธิบายว่า โอปปาติกะเป็นสัตว์ที่มีทั้งรูปและนาม มีทั้งกายและใจ มีกายเป็นปรมาณูโปร่งแสงที่เรียกว่ากายทิพย์ นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : การอธิบายโอปปาติกะเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง มีทั้งรูปและนาม มีกายเป็นปรมาณูโปร่งแสงที่เรียกว่ากายทิพย์ นี้เป็นคำอธิบายของพวกอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนา เรื่องกายทิพย์หรืออะไรทิพย์ ๆ อย่างนี้ เป็นของพวกอื่น รายละเอียดที่เป็นหลักฐานไปอ่านดูจากโปฏฐปาทสูตร ทีฆนิกาย คำว่าโอปปาติกะตามความหมายในพุทธศาสนานั้น หมายถึงกิริยาอาการอันหนึ่งเท่านั้น คือการเกิดขึ้นมาโดยไม่ต้องมีพ่อแม่ แล้วเกิดขึ้นมาโตเต็มที่สมบูรณ์โดยไม่ต้องเป็นเด็ก
การเกิดชนิดนี้มีได้อย่างไร มันก็คือความคิดเกิดขึ้นอย่างไร คนนั้นก็เป็นอย่างนั้น เช่นว่ามีความคิดอย่างเลว เป็นความคิดอย่างโจรเกิดขึ้น คนนั้นในร่างนั้นมันก็กลายเป็นโจรกะทันหันขึ้นมา โดยไม่ต้องเข้าท้องมารดา และไม่ต้องเป็นเด็ก คือเป็นโจรเต็มที่โดยไม่ต้องเป็นเด็กมาก่อน กิริยาอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยบิดามารดา เกิดขึ้นโตเต็มที่ เสียดายแต่ที่ว่า ในคำพูดนั้นมันไม่มีระบุว่า ไม่เป็นหญิงไม่เป็นชายด้วย นั่นแหละคือโอปปาติกะ เป็นเพียงกิริยาเกิดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งนะ
ที่เอาคำว่าโอปปาติกะไปเป็นชื่อของสัตว์ชนิดหนึ่งนั้นไม่มี ไม่ ๆ มี ไม่ ๆ ๆ มี ไม่ถูกต้องตามคำสอนใน ๆ หลักพระพุทธศาสนา เพราะว่าโอปปาติกะนั้นไม่ได้เป็นชื่อของสัตว์ เป็นชื่อของกิริยาอาการที่เกิดผลุงขึ้นมา โดยไม่ต้องอาศัยบิดามารดาและไม่ต้องมีการเติบโต เพราะมันโตเต็มที่เสียเลย เช่นเราเกิดเป็นคนดี มันก็ดีเต็มที่เสียเลย เกิดเป็นคนชั่วก็เป็นคนชั่วเลย ไม่ต้องเป็นเด็กมาก่อน นี่โอปปาติกะ
ตามความรู้ของอาตมายืนยันว่า ไม่ใช่เป็นเรื่อง ไม่ใช่เป็นชื่อของสัตว์ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เป็นชื่อของสัตว์ที่มีร่างกายโปร่งแสงเหมือนกายทิพย์ ไม่ใช่ เป็นชื่อของกิริยาอาการ ที่มันมีการเกิดผลุงขึ้นมาโตเต็มที่ โดยไม่ต้องมีบิดามารดา ก็คือการเกิดทางจิต โดยจิตปัจจุบันจิตมันเกิดเลวขึ้นมาเป็นสภาพอย่างโจร หรือว่าอย่างบัณฑิต หรือว่าแม้จะเกิดเป็นพระอริยเจ้า ก็โดยอันนี้เหมือนกัน การตรัสรู้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยเจ้า มันก็คือการเกิดผลุงขึ้นมาโดยแบบของโอปปาติกะ ไม่ต้องมีบิดามารดา ไม่ต้องเป็นเด็กก่อน
ดังนั้นระวังให้ดี คิดอย่างหมาจะเกิดเป็นหมาน่ะ นั่งอยู่ที่นี่ ในร่างนี้ ถ้าคิดอย่างหมาจะเกิดเป็นหมา คิดอย่างคนจะเกิดเป็นคน คิดอย่างเทวดาจะเกิดเป็นเทวดา คิดอย่างสัตว์นรกจะเกิดเป็นสัตว์นรก ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในร่างกายอย่างนี้ อาการชนิดนี้เรียกว่าโอปปาติกะ คือการเกิดผลุงขึ้นมา ไม่ใช่เป็นชื่อของสัตว์ แต่ใครจะถือว่าเป็นชื่อของสัตว์ก็ เขาก็มีสิทธิที่จะถือได้ เราไม่ไปทะเลาะกัน เราถืออย่างนี้สำหรับคำ ๆ นี้ เอ้า, มีปัญหาอะไรอื่นต่อไปอีก
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิจึงไม่เชื่อเรื่องการเข้าทรง นี้เป็นอย่างไรกันครับ
ตอบ : เราไม่เชื่อการเข้าทรง แล้วเราเป็นสัมมาทิฏฐิ ตอบเท่านี้ ขี้เกียจตอบเรื่องอย่างนี้
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า เป็นผู้ทำให้ผู้อื่นเข้าใจคำสอนพุทธศาสนาผิด แล้วยังเที่ยวตำหนิคนอื่นว่าอธิบายผิด นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : เราพยายามทำให้ผู้อื่นเข้าใจพุทธศาสนาโดยง่ายและโดยเร็ว ในลักษณะที่เป็นประโยชน์ เข้าใจแล้วไม่เป็นประโยชน์นั้น ก็ไม่ ๆ ต้องการน่ะ รู้แล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องการ ต้องเข้าใจและต้องรู้แล้วที่ชนิดที่มีประโยชน์ พยายามทำอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา แล้วจะพยายามทำไปจนตายแหละ ทำให้ผู้อื่นเข้าใจพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง นี้เมื่อใครจะมาเห็นว่า มันเป็นการทำให้เข้าใจผิด ก็ตามใจเขา
นี้เราไม่มีการตำหนิผู้อื่นที่ ที่ทำอะไรไม่เหมือนเรา ที่พูดไม่เหมือนเรา ที่คิดไม่เหมือนเรา เราไม่เสียเวลาไปตำหนิใคร ถ้าเราพูดบ้างในเรื่องนี้ก็เพื่อให้เขาเข้าใจถูก เพราะว่าการตำหนิผู้อื่นนั้นเป็นลักษณะของคนพาล ขอร้องทุกคนว่าแม้เราจะไม่ชอบเขา ไม่เห็นด้วยกับเขา ก็อย่าไปตำหนิเขาเลย เพราะว่าการตำหนิผู้อื่นนั้นเป็นลักษณะของคนพาล พระพุทธเจ้าเมื่อ ๆ ท่าน เมื่อท่านตรัสรู้แล้วท่านก็เห็นว่า เขาเข้าใจผิด เขาไม่อย่างนั้น เขาก็ไม่ไป ท่านก็ไม่ไปตำหนิเขา เมื่อเขามาแสดงทิฏฐิของเขาแก่ท่าน ท่านก็ตอบว่า เออ, ก็ถูกของท่านแหละ แต่เราจะว่าอย่างนี้ เราขอว่าอย่างนี้
นี่เรื่องอย่างนี้มีในพระสูตรมากที่สุดแหละว่า พวกมิจฉาทิฏฐิมาแสดงทิฏฐิของเขาต่อพระพุทธเจ้า แล้วท่านจะตรัสว่า เออ, ก็ถูกของคุณแหละ แต่ฉันจะว่าอย่างนี้ ฉันขอว่าอย่างนี้ ก็แปลว่าท่านไม่มีโอกาสที่จะตำหนิใคร ถ้ามีใครมาเขียนลงไปว่า พระพุทธเจ้าตำหนิใครแล้ว มัน ๆ ไม่จริงน่ะ แม้จะมีคำชนิดนี้อยู่ในพระไตรปิฎก ก็เป็นพระไตรปิฎกเพิ่งเขียนแหละ พระพุทธเจ้าจะไม่เป็นผู้ตำหนิใคร เว้นไว้แต่ว่า คำว่าตำหนินั้นมันหมายถึงการตำหนิในการ ตักเตือน ชี้แจง สั่งสอน เหมือนกับตำหนิโทษของภิกษุผู้ประพฤติผิดวินัย ตำหนิเพื่อให้ประพฤติเสียใหม่ อย่างนี้ไม่อยู่ ไม่รวมอยู่ในข้อนี้
คือท่านไม่ไปตำหนิเกี่ยวกับเรื่องลัทธิ ความคิด ความเห็น ที่จะยึดถือเป็นรูปแบบของพรหมจรรย์หรือศาสนา ดังนั้นผมก็ถือว่าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ก็จะถือหลักอย่างเดียวกัน คือ ๆ ถือว่า การตำหนิผู้อื่นนั้น เป็นการไม่สมควรหรือเลวทรามอย่างยิ่ง เอ้า, พูดเรื่องอื่นต่อไป
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวว่าไม่มีตัวตนที่จะไปเกิดใหม่นั้น เป็นการกล่าวตู่พุทธพจน์ในทางที่ผิดอย่างไม่น่าให้อภัย และเป็นการอธิบายธรรมผิด ๆ อย่างเลวทรามที่สุด นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : นี่เราพูดว่าไม่มีตัวตนนี้ ก็พูดน่ะ ยอมรับว่าพระพุทธศาสนามีหลักที่จะให้มองเห็นว่า ไอ้ธรรมชาติทั้งหลายนั้นมันไม่เป็นตัวตน และที่จิตที่ คิดนึกได้ รู้สึกอะไรได้ จิตนี้ก็มิใช่ตัวตน เป็นสักว่าจิตมันคิดนึกรู้สึกได้ตามเหตุตามปัจจัย แล้วมันก็คิดนึกไปตามเหตุตามปัจจัย มันก็สักว่าจิตที่เป็นธรรมชาติหรือเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน ถ้ามันไม่มีตัวตนแล้ว มันก็ไม่ต้องพูดว่า อะไรตายหรืออะไรไปเกิดใหม่ นี้เป็นคำสอนในชั้นสูงสุด ในชั้นโลกุตตระ ถ้าเป็นชั้นต้น ๆ มันก็พูดว่ามีตัวตนแล้วไปเกิดใหม่ นี้เพื่อพูดตามความรู้สึกของคนทั่วไป
เมื่อเขาเข้าใจว่ามีตัวตน เชื่อว่ามีตัวตนเสียแน่นแฟ้น แล้วเขาก็ต้องเชื่อว่า มันมีการตาย ตัวตนมันตาย แล้วตัวตนมันไปเกิดใหม่ เรื่องนี้เราไม่ต้องไปเถียงกับเขา เราก็ไปพูดว่า ถ้าอยากเกิดใหม่ที่ดีแล้ว ต้องทำอย่างนี้ ๆ ดีกว่า เราพูดส่วนนี้แหละ เขา ๆ อยากจะเกิดใหม่ที่ดี ก็ทำอย่างนี้ ๆ เอ้า, คุณอยากเกิดก็เกิด ฉันไม่อยากเกิด ฉันก็ควรจะได้ไม่ต้องเกิด
การพูดว่าไม่มีตัวตนนั้น พระพุทธเจ้าตรัส ไม่ใช่เราว่า เราสอนไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า มันไม่ ๆ มีตัวตน มีแต่ธาตุ เป็นไปตามเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งตามกฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กฎอิทัปปัจจยตา ในขั้นหนึ่งตอนหนึ่ง มันปรุงแต่งไปในทำนองที่ว่า จิตนี้ประกอบไปด้วยอวิชชา แล้วรู้สึกว่า กูเป็นกู กูตัว เป็นตัว ตัวตนอย่างนี้ มันก็มีตัวตน สำหรับจิตที่ประกอบไปด้วยอวิชชา พอจิตพ้นจากอวิชชา มันก็ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน
ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า โดยแท้จริงแล้วสังขารทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน แล้วจะ ทำไมจะต้องมา ๆ ๆ ยกว่า เป็นความผิดของเราที่สอนไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ไม่มีตัวตน ขอยืนยันว่าการสอนว่าไม่ ว่าไม่มีตัวตนนี้ คือถูกที่สุดและดีที่สุด ถูกที่สุดและดีที่สุด คือคำสอนว่า สังขารทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน เอ้า, ต่อไปอีก
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบายแบบตายแล้วสูญ เป็นนัตถิกทิฏฐิ ในเรื่องไม่มีตัวตน ไม่มีบุญ ไม่มีบาป การเกิดไม่มี นั้นเป็นการอธิบายของเดียรถีย์ อย่างคนปราศจากวิชาความรู้ อย่างคนไม่รู้จริง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดหลงผิดว่า ไม่มีตัวตนที่ตายแล้วพาบุญกุศลไปด้วยได้ นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : ข้อแรกเขาหาว่า เราสอนว่าตายแล้วสูญ เราไม่เคยสอน อ้างหนังสือ หลายร้อยหน้า หลายร้อยเล่ม หลายหมื่นหน้า ที่พิมพ์ไปแล้ว ๆ พิมพ์ออกไปแล้ว มี ๆ ตรงไหนบ้าง เล่มไหนบ้าง บรรทัดไหนบ้าง ที่อาตมาสอนว่าตายแล้วสูญ ถ้าว่าใครมันไปหาพบว่า ตรงไหน บรรทัดไหน ที่อาตมาได้สอนว่าตายแล้วสูญ ก็จะให้รางวัลผู้หาพบสักหมื่นหรือแสนก็ได้ ขอยืมเงินจากพวกคุณนี่ไปให้รางวัลเขา ที่หาว่า ที่ค้นพบว่า อาตมาได้สอนว่าตายแล้วสูญ
อาตมาได้สอนเรื่องนี้ตั้งแต่แรกบวช พรรษาแรกของการบวชน่ะ ประมาณก็ ๆ ๕๐ ๕๔ ปีมาแล้ว สอนยายชีประจำวัดประจำโรงธรรมนะว่า พุทธศาสนานั้นน่ะ เขาไม่ได้สอนว่าตายแล้วเกิด ไม่ได้สอนว่าตายแล้วสูญ พวกคุณอย่ายึดถือว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญ มันต้องว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับเกิดมี มันก็เกิด ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับไม่เกิด อ่า, สำหรับเกิดไม่มี มันก็ไม่เกิด อย่าพูดโดยส่วนเดียวว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด ให้ ๆ ๆ ตอบว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย คืออิทัปปัจจยตา
ทีนี้ถ้าให้ดีกว่านั้น ให้จริงกว่านั้น ก็ให้เห็นลึกลงไปว่า มันไม่มีตัวคนที่กำลังเกิดอยู่ ที่กำลังอยู่ มีชีวิตอยู่ นั่งกันอยู่ทีนี่ก็ตาม มันไม่ ๆ ใช่มีตัวคนที่กำลังเกิดอยู่ มันมีเพียงธาตุทั้งหลาย ถูกปรุงแต่งไปตามกฎเกณฑ์แห่งอิทัปปัจจยตา เป็นกระแสเปลี่ยนแปลงแห่งธาตุทั้งหลาย ไม่มีตัวคน เดี๋ยวนี้ไม่มีตัวคน แล้วใครมันจะตาย แล้วใครมันจะเกิด พอเห็นว่าไม่มีตัวคน มันก็เลิกพูดกันได้ เรื่องตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด อาตมาสอนอย่างนี้ในโรงธรรมศาลาตั้งแต่ปีแรกบวช คำนวณแล้วมันราว ๕๔ ปีมาแล้วนะ
ดังนั้นเชื่อว่า อาตมาสอนอย่างนี้ก่อนคนที่ถามปัญหานี้เกิดนะ คนที่ถามปัญหานี้อายุคงไม่ถึง ๕๐ ปีนะ อาตมาได้สอนอย่างนี้มาแล้วตั้งแต่ก่อนคนนี้เกิดว่า อย่าพูดนะว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด ถ้าว่าเราจะต้องพูดว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดบ้างนี่ เราก็จะพูดบ้าง อย่างล้อเล่นก็มี อย่างมีการสอนโดยอ้อมก็มี คือว่าถ้าเชื่อเรื่องตายเกิดหรือไม่เกิดนี้ ให้เชื่อว่าตายแล้วเกิดไว้ดีกว่า ได้เปรียบกว่าที่จะเชื่อ จะสอน จะเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด
แต่ถ้าคนบางคนมันอยากจะตัดบทว่า เอ้า, ตายแล้วไม่เกิดดีกว่า มันง่ายดี ก็ตามใจเขาสิ อาจจะพูดอย่างนี้ก็ได้ แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นมันไม่ มันพูดไม่ได้ว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด และถ้าเห็นลึกเข้าไปอีก ก็จะเห็นว่า มันไม่มีคนอยู่ แล้วใครมันจะตาย แล้วใครมันจะเกิด นี้คือเป็นพุทธศาสนา นี้เป็นคำสอนของพุทธเดียรถีย์ อาตมาเป็นสาวกของพุทธเดียรถีย์ ก็ต้องพูดไปอย่างนี้
ถ้าเป็นเดียรถีย์อื่น มิจฉาทิฏฐิอื่นน่ะ เขาจะยืนยันไปว่าตายแล้วเกิดบ้าง บางพวกก็ตาย ๆ แล้วไม่เกิดบ้าง มีตัวตนอันเป็นสักเป็นบุคคล แล้วก็เกิดบ้างไม่เกิดบ้าง นั้นเดียรถีย์อื่นไม่ใช่เดียรถีย์นี้ ในเดียรถีย์นี้ ในธรรมวินัยนี้ จะไม่มีการพูดว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด แต่จะพูดว่าอิทัปปัจจยตา มันเป็นเพียงสาย กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา อย่าพูดว่ามีคนตาย มีคนเกิด มีคนอะไรเลย เป็นอันว่า มัน ๆ กล่าวหาอย่างเปะปะ ที่เราไม่ได้พูด มันก็ว่าพูด ถ้ามีหลักฐานว่าได้พูด ก็จะให้รางวัลหมื่นหนึ่ง เอ้า, ต่อไปดีกว่า
ถาม : ก็ตอนท้ายของปัญหา เขาก็บอกว่า ถ้าเชื่ออย่างนั้นแล้วก็ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดแล้วก็เข้าใจว่า ไม่มีตัวตนที่ตายแล้วพากุศลไปได้ด้วย อันนี้อาจารย์ไม่ตอบหรือ
ตอบ : เอ้า, มันไม่มีตัวตน แล้วมันก็ ไม่มีตาย ไม่มีไป มันมีแต่กระแสแห่งธรรมชาติตามกฎอิทัปปัจจยตา บุญกุศลก็เป็นกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ถ้ามันจะติดไปในสังขารอันนั้น หรือสายแห่งอิทัปปัจจยตาอันนั้น มันก็เป็นเรื่องของสังขาร หรือกระแสแห่งสังขารอันนั้น มันไม่ใช่ของบุคคลใดเลย เมื่อเราไม่มี บุคคล สัตว์ ตน อยู่แล้ว มันก็ไม่มีปัญหาว่าจะพาหรือไม่พาบุญกุศลไปด้วย
ถาม : มีผู้กล่าวว่า การที่สอนว่าตายแล้วสูญนั้น เป็นการชี้ทางให้ ฆ่ากัน โกงกัน ทำนองจะเล็งให้เข้าใจว่า ท่านอาจารย์สอนอย่างนั้น นี้จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ : ทำไมจะเล็งว่า อาจารย์สอนอย่างนั้น ก็ว่าตายแล้วสูญน่ะ มันเป็นมิจฉาทิฏฐิของเดียรถีย์อื่น ทีนี้เขาเห็นว่า อย่างนั้นมันชวนให้ ฆ่ากัน โกงกัน มันก็ ๆ ๆ ๆ ได้ มันก็อาจจะจริงตามเขาว่าก็ได้ นี้มันไม่เกี่ยวกับเรา เราไม่ได้สอนว่าตายแล้วสูญ แล้วก็ไม่ ๆ ๆ ๆ มีส่วนที่จะเกี่ยวที่จะพูดด้วยจะเกี่ยวข้องด้วยว่า มันสอนกันว่าควรจะสอนอย่างนั้น เราสอนเรื่องทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว จนกว่าจะ ไม่อยากดี ไม่อยากชั่ว ก็สอนเรื่อง เหนือดี เหนือชั่ว
เรื่องตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญนี้ มันเป็นความเห็นที่เห็นผิดแล้วว่าออกมา เราก็ยืนยันว่า มันแล้วแต่เหตุปัจจัย มันจะตายดีหรือเกิดดี มันก็ต้องทำเหตุปัจจัยที่ดี อย่าทำเหตุปัจจัยที่ชั่ว แล้วตัวปัญหาที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา มันอยู่ที่ว่าต้องการจะไม่เวียนว่ายตายเกิด จึงไม่มามัวมาพูดว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วสูญนั้น มันเสียเวลา พูดว่าทำอย่างไรมันจึงจะไม่เวียนว่ายตายเกิด นั่นก็คือหยุดไอ้ความคิดว่าตัวตนเสีย อย่ามีความคิดว่าตัวตน ให้มันเป็นเพียงไอ้การปรุงแต่งของสังขารทั้งหลาย
เมื่อไม่มีตัวตนแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะเวียนว่ายตายเกิด เหลืออยู่แต่การปรุงแต่งของสังขารทั้งหลาย เป็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ถ้าเป็นตามธรรมชาติแล้ว มันไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีน่ารัก ไม่น่ารัก ไม่มีไอ้ที่ว่าบุญหรือบาป เป็นต้น มันมีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา อย่าไปเห็นว่า มันเป็นบุญหรือเป็นบาป มันไม่เป็นอะไรทำนองนั้น มันเป็นแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา
ใครไปพูดว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ กับกระแสอิทัปปัจจยตา คนนั้นมันก็โง่เองแหละ เพราะมันไม่มีความเป็นอย่างนั้น มันไม่มีตัวตนในกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา แล้วมัน ใครจะตาย ใครจะเกิด ใครจะบุญ ใครจะบาป ใครจะนรก ใครจะสวรรค์ มันก็ไม่มี เรื่องปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา มีความสำคัญสูงสุดประเสริฐที่สุดอย่างนี้ คือเป็นเรื่องที่ทำให้มองเห็นว่า โอ้ว, มันไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ ไม่มีอะไร มีแต่กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา นี่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาสูงสุด ไม่มีศาสนาไหนเปรียบเทียบ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท นี้เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา เป็นอาทิพรหมจรรย์ จึงมีคำตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท นี่ในตอนนี้ว่า การเห็นธรรมในพุทธศาสนานั้นคือเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ดังนั้นพยายามเห็นธรรมที่แท้จริงก็จะเห็นพระตถาคต เห็นธรรมที่แท้จริงคือปฏิจจสมุปบาท
ดังนั้นความจริงของพระ ของปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือพระตถาคต เราอาจจะเข้าถึงพระตถาคตได้ หรือเป็นพระตถาคตเสียเองก็ตามใจ เพราะการเข้าถึงปฏิจจสมุปบาทคือการตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทตามแบบของพระพุทธเจ้า คือการถึงพระพุทธเจ้า เข้าถึงพระพุทธเจ้า มีจิตใจเหมือนพระพุทธเจ้า ต่างกันแต่ว่าเราต้องเรียนคำสอนจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เอง มีเท่านั้น เอ้า, แล้วเรื่องตายแล้วสูญ เราไม่ได้พูด เป็นเรื่องของเดียรถีย์อื่นไม่ใช่เดียรถีย์นี้ เอ้า, ต่อไป
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ยกตนข่มท่าน พูดว่าพระสงฆ์โดยทั่วไปเลวทรามต่ำช้าไปหมด เป็นคนหลอกลวงชาวบ้าน ดำรงชีพด้วยการสอนว่าตายแล้วเกิด โดยเขาอ้างว่ามีอยู่ที่หน้า ๒๔ ของหนังสือชื่อ เรียนรู้พุทธศาสนาภายใน ๑๕ นาที ของนายปุ่น จงประเสริฐ นี้จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ : ว่าอย่างนั้นก็ไปถามนายปุ่นสิ อย่ามาถามเราสิ ถ้ามันมีในหนังสือของนายปุ่น ทีนี้ไอ้เรื่องยกตนข่มท่านนี้ เราไม่ได้ทำ ไม่มีเจตนาจะทำ ถ้าเผลอพูดเล่นพูดเย้าพูดหลอกนี้ มันก็อาจจะเป็นได้ แต่ไม่มีเจตนาจะทำ ดังนั้นจึงไม่มีการยกตนข่มท่าน ไม่เคยพูดว่าพระสงฆ์โดยทั่วไปเลวทรามต่ำช้าไปหมด นั่นหนังสือพิมพ์มันว่า ไม่ใช่เราว่า แล้วเราก็ไม่เคยหลอกลวงชาวบ้านเพื่อดำรงชีวิต ไอ้สอนว่าตายแล้วเกิด นี้เขามากลับว่าเราว่า สอนว่าตายแล้วเกิด เมื่อตะกี้หาว่าสอนว่าตายแล้วไม่เกิด หาว่าหลอกลวงชาวบ้านด้วยการสอนว่าตายแล้วเกิด เรื่องนี้ทั้งหมดทุก ๆ ประเด็นไม่เกี่ยวกับเรา
ถ้าใครพิสูจน์ได้ว่าเรายกตนข่มท่านแล้ว ก็จะขอ ขอโทษ ขอแสดงอาบัติ ขออะไรทุกอย่าง เอ้า, ไปหาหลักฐานมาว่า เราได้ทำอะไรที่เป็นการยกตนข่มท่าน หรือจะให้รางวัลมากที่สุดด้วย ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเราเป็นคนยกตนข่มท่าน มีแต่จะทำความเข้าใจ ถ้าว่ามันรุนแรงไปบ้างก็เจตนาดี ทำความเข้าใจ ถ้ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิมากเกินไป มันต้องถลกหนังหัว กระทบฝ่ามือ มันอาจจะทำรุนแรงอย่างนี้ก็ได้ แต่ไม่ใช่การยกตนข่มท่าน เอ้า, ต่อไป
ถาม : นี้ผมสงสัยว่า ทำไมคนที่อ้างตนว่าเป็นนักอภิธรรม จึงชอบไปอ้างคำของคนอื่น เพื่อด่าผู้อื่นด้วยเล่าครับ
ตอบ : อื้ม, นั่นคุณสงสัย คุณสงสัยไปตามเรื่องของคุณน่ะ ผมไม่ต้องตอบ และคนที่เป็นนักอภิธรรมนี้ ด่าคนเก่ง โกรธเก่ง โกรธง่าย โกรธเร็ว หาเรื่อง หาเลขได้มาก แล้วบางทีทำอะไรรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องผัวเมีย เรื่องกามารมณ์ด้วย ไม่ต้องตอบ ไม่ต้องตอบ มันจะเป็นเรื่องด่าคนอื่น
ถาม : เขากล่าวว่านายปุ่น จงประเสริฐ เป็นกระบอกเสียงของท่านอาจารย์ ซึ่งเผยแพร่ความคิดที่เป็นยาพิษชั่วร้ายสู่ชาวพุทธ ขืนปล่อยไว้เป็นอันตรายต่อพุทธศาสนา จึงต้องทำลายกระบอกเสียงอันนี้ไปเสียด้วยกัน นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรบ้างครับ
ตอบ : เอ้า, ก็แยกดูสิ ถ้านายปุ่นเป็นกระบอกเสียงของเรา มันก็ต้องพูดเหมือนเราสิ ถ้านายปุ่นพูดไม่เหมือนเรา จะมาเป็นกระบอกเสียงของเราได้อย่างไร นี้มันก็เป็นเรื่องพิสูจน์ดีอยู่แล้ว ถ้าให้นายปุ่นเป็นกระบอกเสียงของเรา มันก็ต้องพูดเหมือนเราเท่านั้นน่ะ ไม่มีอะไรที่ต่างกัน นี้เมื่อ ๆ ๆ นายปุ่นเขาเผยแผ่ความคิดเป็นยาพิษที่ชั่วร้าย จะทำลายเสียก็ ๆ ตามใจสิ เราไม่มีหน้าที่ที่จะทำลายใคร เรามีหน้าที่แต่ทำความเข้าใจถูกต้องแก่กันและกัน นี้มีคำว่าจะต้องทำลายไปเสียด้วยกัน ทั้งเจ้าของเสียงและกระบอกเสียง นี้มันไม่ถูกล่ะเพราะว่ามันพูดไม่เหมือนกัน มันไม่ควรจะไปด้วยกัน เอ้า, เรื่องอื่นดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ไม่เข้าใจคำว่าวัฏสงสารและคำว่านามรูปเลยแม้แต่น้อย โดยอธิบายว่า ในขณะใดที่จิตไม่ได้ปรุงแต่งเป็นตัวกูของกู ขณะนั้นไม่มีวัฏสงสาร มีนามรูปล้วน ๆ ไม่เป็นวัฏสงสาร เป็นนิพพานในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสียมากกว่า นี้เป็นการอธิบายขาวเป็นดำอย่างมักง่าย อย่างคนที่ไม่มีความรู้ในธรรมเลย ข้อนี้เท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : นี้มันมีคำกล่าวหาว่า อธิบายกลับตรงกันข้าม ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ เพราะว่าไอ้คน คนถามนั้นน่ะ คนหา กล่าวหา มันไม่เข้าใจคำว่าวัฏสงสารอย่างที่กล่าวมาแล้ว เขาวัฏสงสารตามแบบรูปภาพฝาผนัง เวียนว่ายตายเกิด ข้ามภพข้ามชาติ อย่างนั้นเราก็ไม่ได้คัดค้าน เราก็ปล่อยไว้เป็นเรื่องของคน ชนิดนั้น แบบนั้น พวกนั้น แต่สำหรับเราต้องการจะมีพวกที่มีความรู้ความเข้าใจกันเสียใหม่ว่า วัฏสงสารที่นี่และเดี๋ยวนี้ อยู่ในจิตใจของคน พยายามทำลายเสียให้ได้ อย่าให้มันหมุนเป็นวัฏสงสารเลย
แล้วข้อที่ว่า เมื่อใดจิตไม่มีการปรุงแต่งเป็นตัวกูของกู ขณะนั้นน่ะมันไม่มีกิเลสนะ ถ้าจิตไม่มีการปรุงแต่งตัวกูของกู มันไม่มีกิเลส กิเลสต้องเกิดมาจากความคิดนึกที่เป็นตัวกูของกูเสมอ ในขณะที่จิตไม่มีตัวกูของกู คือไม่มีกิเลส เมื่อไม่มีกิเลสก็ไม่ร้อน เมื่อไม่ร้อนก็เย็นเป็นพระนิพพานในความหมายหนึ่ง อันดับหนึ่ง ระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นจึงพูดว่า เมื่อใดจิตไม่มีตัวกู เมื่อนั้นจิตอยู่กับพระนิพพาน เมื่อใดจิตมีตัวกูของกู คือความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมา มันก็เป็นวัฏสงสาร
ตัวกูของกูไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา มีอยู่ต่อเมื่อเผลอไป อวิชชาครอบงำ ปรุงแต่งเมื่อ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกู ไอ้นี่ฟังดูแล้วเห็น ๆ ได้ว่า คน ๆ กล่าวหาน่ะ มันเข้าใจไปว่าตัวกูของกูมีอยู่ตลอดเวลา หรือว่าวัฏสงสารมีอยู่ตลอดเวลา ที่นั่งอยู่ที่นี่หลายคนทีเดียว อาจจะเข้าใจว่าวัฏสงสารมีอยู่ตลอดเวลา โดยอาศัยคำพูดว่า เรากำลังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ชาติหลัง ชาติแล้วมา ชาตินี้ ชาติหน้า ชาติต่อไป นั้นเป็นวัฏสงสาร ดังนั้นเราก็ไม่มีเวลาออกจากวัฏสงสาร หรือเราก็ไม่มีเวลาที่เราว่างจากวัฏสงสาร
นี้อาตมาบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น ไอ้นั่นยกให้พวกนั้น เขาอยากจะถืออย่างนั้นก็ถือไป แต่จะบอกว่า เมื่อไรมันไม่มีกิเลสที่ทำกรรมและรับผลกรรมเป็นวงกลมอยู่ เมื่อนั้นเราไม่มีวัฏสงสาร วัฏสงสารนี้เร็วมากชั่วมีกิเลส เป็นเหตุให้ทำกรรม เช่นเป็นมโนกรรม ทำมโนกรรมแล้วได้รับผลของกรรม ร้อนใจอยู่นี้ อาจจะเร็วเพียงครึ่งวินาที อึดใจเดียว หรือว่าสองสามนาทีก็ได้ วัฏสงสารมีได้ในชีวิตคนวันหนึ่ง ๆ ได้หลาย ๆ วง ทุกวงร้อนทั้งนั้นแหละ หมุนเชี่ยวเป็นเกลียวไปด้วยความร้อนทั้งนั้นแหละ อย่ามีสิ ควบคุมไว้อย่าให้มี มันมีเมื่อมีกิเลส
กิเลสเกิดเมื่อมันมีตัวกูของกูเป็นรากฐาน คืออวิชชาปรุงแต่งตัณหาอุปาทานเป็นตัวกูของกู แล้วมันก็มีความต้องการแห่งตัวกูของกูซึ่งเป็นกิเลส แล้วก็ทำไปตามความต้องการของกิเลส ก็ได้รับผล ก็วนเวียนอยู่ที่ตรงนี้ อย่าตกวัฏสงสาร อย่าเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารประจำวัน ๆ นี้เลย ถ้าไม่เวียนว่ายวัฏสงสารประจำวันนี้แล้ว วัฎสงสารไหนก็ไม่ตก ไม่เวียนว่าย นั่นวัฏสงสารต่อตายแล้ว ข้ามภพข้ามชาตินั้น เก็บไว้ก่อนก็ได้ เก็บให้พวกนั้น ฝากพวกนั้นไว้ก่อนก็ได้ เราไม่ตกแน่ เพราะว่าเราไม่ตกวัฏสงสารที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่เรื่องวัฏสงสาร
ไอ้นามรูปนี้มันก็เป็นตัวยืนโรง รูปจะมีแต่ลำพัง ไม่มีนามก็ไม่ได้ นามจะมีแต่ลำพัง ไม่มีรูปก็ได้ ก็ไม่ได้น่ะ ไอ้นามกับรูปคือกายกับใจนี้ ต้องแฝดกัน อยู่ด้วยกันเสมอ ถ้ามันไม่ได้รับการอบรม ไม่ได้ฟังธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับการแนะนำดี มันก็มีโอกาสให้อวิชชาครอบงำส่วนที่เป็นนามหรือเป็นจิตนั่น แล้วก็ปรุงแต่งตัวกู ปรุงแต่งกิเลส ไอ้นามรูปนั้นก็เวียนว่ายวัฏสงสารอยู่ในตัวมันเอง ในตัวมันเองนะ ฟังดูให้ดีนะ เมื่อในนามในจิตนั้นน่ะมันมีอวิชชา แล้วมีตัณหา มีอุปาทาน มีกิเลส แล้วมันก็เวียนว่ายในอำนาจของกิเลส ของกรรม ของผลกรรม อยู่ในตัวมันเอง นี่วัฏสงสารที่นี่และเดี๋ยวนี้ในหัวใจของคนทุกคน
อย่าตกวัฏสงสารนี้ แล้วไม่มีตกวัฏสงสารไหนอีก ต่อตายแล้วก็ไม่มี ไม่มีวัฏสงสารไหนที่จะเวียนว่ายอีก นี้นามรูปและวัฏสงสารมีข้อเท็จจริงอย่างนี้ ขอให้ทุกคนศึกษาให้เข้าใจให้ดี และอย่าได้เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารเลย รีบเกลียด รีบกลัว รีบถอยห่างออกมาเสีย ด้วยการทำลายส่วนใดส่วนหนึ่งของวัฏสงสารก็ได้ แล้วมันก็หยุดหมุนแหละ เหมือนลูกล้อนี่มันประกอบด้วยกงล้อ กี่กงก็ตามใจ มันเป็นวงกลม ถ้าเราทำลายเสียสักกงหนึ่งน่ะ ส่วนหนึ่งของ ๆ วงกลมแล้ว มันหมุนไม่ได้
นี่ทำลายกิเลสก็ได้ ทำลายกรรมก็ได้ หรือว่าไม่ยึดถือเอาผลกรรม ไม่ยึดมั่นในผลแห่งกรรมก็ได้ มันก็เหมือนกับกงที่ขาดไปส่วนหนึ่งแล้ว ล้อมันก็หมุนไม่ได้ นี่อย่ายินดีในกิเลส อย่ายินดีในกรรม อย่ายินดีในผลของกรรม วัฏสงสารก็หยุด หยุดแล้วก็เย็นเป็นนิพพานใน ๆ ระดับหนึ่ง ในความหมายหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่ง จนกว่ามันจะทำผิดใหม่ เอ้า, มีอะไรต่อไปอีก
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวอย่างไร้สำนึกว่าในวัฏสงสารมีนิพพาน ครับ
ตอบ : ก็ยอม ๆ รับว่า ได้ ๆ กล่าวว่าในวัฏสงสารมีนิพพาน ในความหมายที่ว่า ให้หาค้นพบไอ้นิพพานในวัฏสงสาร เพราะว่านิพพานนั้นคือความดับหรือหยุดแห่งวัฏสงสาร คิดดูเอาเองทุกคนก็แล้วกันว่า ไอ้หยุดหรือดับแห่งวัฏสงสารนั้นน่ะ จะไปหาที่ไหน จะไปดูที่ไหน มันก็ดูที่วัฏสงสารที่มันหยุดและมันดับนั่นเอง นี่เราก็พูดอย่างที่พอมองเห็นได้ ทีนี้เขา ๆ ถือกันตามหลักของเขา พวกไหนก็ไม่รู้ สอนกันมาอย่างที่เรียกว่าพระนิพพานอยู่ทิศหนึ่ง วัฏสงสารอยู่อีกทิศหนึ่ง ไม่มีวันที่จะพบกันได้ วัฏสงสารอยู่สุดฝ่ายโน้น พระนิพพานอยู่สุดฝ่ายนี้ แล้วจะดับวัฏสงสารได้อย่างไร พระนิพพานจะดับวัฏสงสารได้อย่างไร
จะดับไฟต้องดับที่ไฟนะ นี่พูดกันง่าย ๆ เด็ก ๆ ฟังถูกว่า ถ้าจะดับไฟต้องดับลงไปที่ไฟ พอมีความดับแห่งไฟ มันมีที่ไหนถ้ามันไม่มีที่ไฟนี่ ดังนั้นความดับไฟมันก็ต้องมีที่ไฟ ความดับแห่งวัฏสงสาร มันก็ต้องมีที่วัฏสงสารนั้นเอง เมื่อถือเอาความดับวัฏสงสารเป็นนิพพาน มันก็ต้องหาพระนิพพานที่ความดับแห่งวัฏสงสาร หาความดับแห่งกิเลสที่กิเลสนั่นแหละ ทำให้กิเลสมันดับลงไป มันก็มีความดับกิเลสที่นั่น ดังนั้นเราจึงบอกว่า หาความเย็นที่ความร้อน ที่การดับลงแห่งความร้อน นั่นแหละคือความเย็น
ปู่ย่าตายายของคนเมืองนี้ เอ้อ, อย่าเมืองนี้ กว้างหน่อยว่าของคนแถบนี้ ถิ่นนี้ ฉลาดมากนะ ที่พูดว่ามะพร้าวนาฬิเกร์กลางทะเลขี้ผึ้ง นิพพานอยู่กลางวัฏสงสาร อุตส่าห์ลงทุนทำสระน้ำ สระใหญ่ มีต้นมะพร้าวอยู่กลางสระ เสียเงินค่าน้ำมันรถแทรกเตอร์ไปแยะนะกว่าจะได้สระนี้มา เพื่อให้คุณไปนั่งดู ไปนั่งดู เอ่อ, ดูน้ำในสระพลิ้ว ๆ อยู่เป็นวัฏสงสาร
บุญบาป ดีชั่ว สุขทุกข์ แพ้ชนะ ได้เสีย หญิงชาย นั่นเป็นวัฏสงสาร คือส่วนที่เป็นน้ำ และพระนิพพานแม้อยู่กลางวัฏสงสารในกลางสระนั้น ก็ไม่ใช่ ๆ สระนั้น ไม่ใช่ ๆ น้ำ ไอ้ที่ตรงต้นมะพร้าวน่ะเป็นพระนิพพาน ไปดูเถิด มันอยู่กลางวัฏสงสารได้โดยที่ไม่ต้องเป็นวัฏสงสาร เพราะมันเป็นความดับแห่งวัฏสงสาร
ดังนั้นจึงมีบทร้องว่า มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง ก็หมายความว่า ที่ต้นมะพร้าวน่ะ ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง คือความทุกข์ไม่ถึง ความทุกข์ไปถึงอยู่แต่ที่วัฏสงสาร คือน้ำ ทะเลขี้ผึ้ง ขี้ผึ้งพอร้อนก็เป็นของเหลว พอเย็นก็เป็นของแข็ง นี่คือบุญและบาป ดีและชั่ว มันคู่กันอยู่อย่างนี้
นิพพานต้องเหนือนั้น ต้องเหนือบุญเหนือบาป เหนือดีเหนือชั่ว ก็เหนือความทุกข์ ก็เหนือวัฏสงสาร คือหยุดวัฏสงสาร ดับวัฏสงสาร แต่มันก็ดับที่อื่นไม่ได้ มันก็ดับที่วัฏสงสาร ถ้าเหนือวัฏสงสาร มันก็ ๆ ๆ อยู่เหนือวัฏสงสารที่เรามองเห็นได้อยู่ว่า อำนาจอิทธิพลของวัฏสงสารทำอะไรแก่พระนิพพานไม่ได้ ถึงกับพูดว่า ที่นั่นฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง ที่นั่นถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ พ้นบาปมาแล้วมาติดอยู่ที่บุญ พ้นบุญแล้วจึงจะไปที่นั่นคือพระนิพพาน
นี่เราจึงยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่า พ้นพระนิพพานนั้น ต้องดูที่วัฏสงสารและดับมันเสียให้ได้ ต้องการความเย็นก็ดับความร้อนเสีย ดับความร้อนที่ไหนมีความเย็นที่นั่น ดับวัฏสงสารที่ไหนมีพระนิพพานที่นั่น ดับกิเลสที่ไหนก็มีพระนิพพานที่นั่น ดับน้อยก็มีน้อย ดับมากก็มีมาก ดับชั่วคราวก็มีชั่วคราว ดับถาวรก็มีถาวร ดังนั้นอย่าไปค้นหาที่อื่นเลย จะดับทุกข์ต้องดับที่ความทุกข์ อย่าเอาไปไว้คนละอย่าง คนละแห่ง ความทุกข์อยู่ที่บ้าน เครื่องดับทุกข์อยู่ที่วัด แล้วเมื่อไรมันจะเจอกัน มันมีความทุกข์ที่ตรงไหน มันก็ต้องดับทุกข์ที่นั่น
ยังขอยืนยันต่อไปว่า ให้ค้นหานิพพานในวัฏสงสาร ให้ค้นหาความเย็นที่สุดกลางเตาหลอมเหล็กที่กำลังลุกโชนอยู่ ถ้าโง่ก็คงไม่ ฟังไม่ออก ถ้าไม่โง่เกินไปก็คงจะฟังออกว่า ดับทุกข์ก็ต้องดับที่ความทุกข์ ดับร้อนก็ต้องดับที่ความร้อน ดับวัฏสงสารก็ต้องดับที่วัฏสงสาร เราจึงจะได้ความเย็นหรือพระนิพพานมาที่ตรงนั้นเอง ตรงนั้นเอง ยืนยันว่าตรงนั้นเอง เอ้า, เรื่องอื่นดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า สอนว่าในจิตดวงเดียวกันนั่นเอง มีทั้งนิพพานและวัฏสงสาร นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : นี่ภาษาที่เราไม่ได้พูด เขาก็ว่าพูด ว่าจิตเป็นดวงเป็นเดิงนี้เราไม่พูด ว่าจิตนั้นนะมันมีภาวะที่รู้อะไรได้ รู้สึกอะไรได้ ตามความหมายของคำว่าจิต คิดนึกก็ได้ รู้สึกอะไรก็ได้ นี้ด้วยจิตอันนี้แหละ คล้าย ๆ ว่ามันก็ไปปรุงแต่งกันผิดเข้า มันก็เป็นวัฏสงสารขึ้นมา หรือว่าด้วยจิตอันนี้แหละ ถ้าปฏิบัติถูกต้อง มันก็เป็นพระนิพพานขึ้นมา ในจิตดวงเดียว ในขณะเดียว จะมีทั้งสองอย่างไม่ได้ มันต้องเป็นคนละขณะจิตเสมอ นั่นเขาพูดว่าจิตดวงเดียว เราก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร นอกจากว่าในดวงเดียวกันนั้นมีทั้งนิพพานทั้งวัฏสงสาร อย่างนี้เราไม่เคยพูด เราไม่ยอมรับ เราไม่เชื่ออย่างนั้น
แต่ว่าจิตนี้สามารถที่จะอบรมปรับปรุงแก้ไขอะไร ให้มันเป็นวัฏสงสารก็ได้ ให้มันเป็นนิพพานก็ได้ ถ้าทำให้มันร้อนขึ้นมา มันก็เป็นความทุกข์ เป็นวัฏสงสาร คือจิตที่ประกอบไปด้วยอวิชชา ดึงอวิชชาออกเสียก็จะหมดปัญหา ก็กลายเป็นจิตตรงกันข้าม คือเป็นจิตที่ไม่มีวัฏสงสาร มีแต่นิพพาน นี้เมื่อตัวเรา ๆ มันไม่มี ที่เป็นเจ้าของจิตอีกทีหนึ่ง มันไม่มี มันก็เป็นหน้าที่ของจิตนั้นเอง ธรรมชาติของจิต เมื่อมันเป็นจิตที่ทำผิด เสวยแต่ความทุกข์ นานเข้า ๆ มันก็เบื่อ มันก็ระอา มันอยากจะไม่เป็นอย่างนั้น มันก็ดิ้นรนไปทางอื่น เปลี่ยนรูปไปในทางอื่น คือไม่มีอวิชชามาครอบงำ มันก็เป็นจิตชนิดที่ไม่มีความทุกข์
ดังนั้นจิตที่ฉลาด ที่ประกอบด้วยปัญญานี้ จะต้องควบคุมจิตที่โง่ อย่าให้เกิดขึ้นมาได้ใน ๆ ๆ ตัวเรา เรียกว่าตัวเราก็ไม่รู้ว่าจะเรียก ถ้าไม่เรียกว่าตัวเรา ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร ว่าในนี้ชื่อสมมติเรียกว่า คนเรานั้นมีจิต โดยจิตนี้เปลี่ยนไปได้ตามเหตุปัจจัย ทำผิดในเรื่องนี้ ก็เป็นไปในทางเกิดทุกข์ เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายให้เกิดทุกข์ ถ้ามันรู้จักเข็ดหลาบ มันรู้จักระวัง มันรู้จักเปลี่ยนแปลงโดยสัญชาตญาณของจิตนี้ มันก็หมุนมาทางตรงกันข้าม มันก็ไม่เกิดอวิชชาและไม่เกิดทุกข์ เรียกว่าจิตฉลาดจะควบคุมจิตโง่ หรือว่าทำลายจิตที่มันโง่ให้หมดไป มันคล้ายกับว่าชิงกันครองเมือง จิตฉลาดครองเมือง หรือว่าจิตโง่ครองเมือง
เรา เรานั้นไม่มี มีแต่จิตที่ชิงกันครองเมือง แล้วทั้งเมืองและทั้งจิตนี้เราสมมุติเรียกว่าเรา มันก็เป็นเรื่องสมมติเท่านั้นน่ะ ทีนี้ไอ้จิตที่มันเป็นทุกข์ มัน ๆ เอือมระอาต่อความทุกข์ มันเบื่อระอาต่อความทุกข์ มันก็ดิ้นรนใหม่ เปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่กล้าทำอย่างเดิมอีก ไม่กล้าทำอย่างที่มันจะเกิดความทุกข์นั้นอีก นี่เรียกว่าเป็นปัญญา เป็นปัญญา เป็นปัญญา ก้าวหน้าไปจนสามารถทำให้มันเป็นอย่างที่ตรงกันข้าม คือไม่มีทุกข์
นี่ทางออกเสียจากวัฏสงสาร ก็คือเหตุปัจจัยที่มาส่งเสริมปรุงแต่งจิต ให้รู้จักทุกข์ ให้เห็นทุกข์ ให้เบื่อหน่ายระอาต่อความทุกข์ แล้วมันไม่ยอมเกิดหรือปรุงแต่งทำนองนั้นอีก มันก็เปลี่ยนมาในทางที่ดับทุกข์ จิต จิตอย่างเดียวเป็นทั้งหมด เป็นสุขก็ได้ เป็นทุกข์ก็ได้ เป็น อ่า, จะสมมติเรียกว่าอะไรก็ได้ จะอบรมไปในทางให้เป็นทุกข์ก็ได้ อบรมไปในทางให้ไม่มีทุกข์ก็ได้ ไม่เวียนว่ายในวัฏฏะแห่งกองทุกข์ มันก็คือจิต จะออกมาเสียจากวัฏฏะคือกองทุกข์ มันก็คือจิต
เมื่อจิตยังเวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ มันก็เป็นทุกข์ ถ้ามันออกมาเสียได้ก็ มันก็เป็นหลุดพ้น เป็นวิมุตติจิต จิตวิมุตติ ก็ออกมาเสียจากกองทุกข์ หลุดรอดออกมาจากกองทุกข์ ออกมาจากวัฏสงสาร มันก็จิตอีกนั่นเอง จนกว่าจิตจะหมดเหตุหมดปัจจัย ดับไม่มีอะไรเหลือ มันก็เลิกกัน มันจบที่ตรงนั้น
ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ของบุถุชนคนธรรมดานะ คนโง่ คนบุถุชนธรรมดานี้ มันก็มีจิตนี้กลับไปกลับมา กลับไปกลับมา มีอวิชชา ก็เดินไปในวัฏสงสาร ฉลาดขึ้นมา ก็หยุดหรือระวังไม่ให้เกิดวัฏสงสาร แล้วก็เป็น ๆ ๆ พระอริยเจ้าเพิ่มขึ้น ๆ จาก อ่า, คือไกลจากความเป็นบุถุชน ถอยห่างจากความเป็นบุถุชน
ทีนี้สามชั่วโมงแล้ว รู้สึกคอแห้งแล้ว เดี๋ยวต้องหยุดพักผ่อนทีก่อน ค่อยบรรยายต่อเวลาบ่ายสามโมง นี่ตอนเช้าสามโมงนี้ บรรยายสามชั่วโมงแล้ว ถ้าตอนบ่ายสามโมงพูดอีกสามชั่วโมง เอ่อ, ก็อาจจะหมดปัญหาได้ เอ้า, เป็นอันว่า อาตมาขอยุติการบรรยายในงวดเช้าไว้เพียงเท่านี้ ทุกข้อทุกตอนเป็นเรื่องที่ควรล้อทั้งนั้น ทำดีก็ถูกล้อ ทำไม่ดีก็ถูกล้อ ไอ้การควรล้อมันมีได้สองความหมายอย่างนี้เอง อย่าเห็นเป็นความแปลกประหลาดอะไรที่ไหนเลย
เอ้า, ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้