แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย การทำบุญเนื่องด้วยอายุประจำปี ๒๕๒๓ มาถึงเข้าอีกในวันนี้ ท่านทั้งหลายก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นปีที่ ๗๔ ปีโดยบริบูรณ์ เราก็จะประกอบพิธีกันตามสมควร แต่ไม่ใช่พิธีรีตองซึ่งมันเกินไป เอาแต่เพียงเป็นพิธีที่สำเร็จประโยชน์
ข้อแรกที่สุดอาตมาขอแสดงความขอบคุณ ขอบพระคุณท่านทั้งหลายที่มาร่วมในงานนี้ และท่านทั้งหลายบางท่านที่ให้ของขวัญตามพิธีของการบำเพ็ญบุญเนื่องด้วยอายุในวันนี้ ท่านมาจากที่ไกลก็เหน็ดเหนื่อยหมดเปลืองด้วยความเห็นแก่อาตมา ก็ขอขอบพระคุณ บางคนก็ถึงกับให้ของขวัญคือการเว้นเสียจากการบริโภคอาหารตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง การกระทำอันนี้ถือว่าเป็นของขวัญแก่อาตมาเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว อาตมาก็ขอแสดงความขอบพระคุณแก่ท่านที่ให้ของขวัญนี้เป็นพิเศษออกไป แม้ที่สุดแต่ว่าบางท่านก็ได้สมาทานอุโบสถศีลเป็นพิเศษในวันนี้
อุโบสถศีลนั้นก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีเฉพาะวันอุโบสถ แต่ถ้าเป็นวันที่ มีความตั้งใจพิเศษ มีเจตนาพิเศษ ก็ได้เหมือนกัน จะเพิ่มขึ้นเป็นหน้าและหลังวันอุโบสถก็ยังได้ และถ้ามีความมุ่งหมายเป็นพิเศษเป็นกรณีพิเศษในวันอื่นก็ยังกระทำได้
ในวันนี้ก็ได้เห็นว่าท่านทั้งหลายก็ได้มีการสมาทานอุโบสถ เพื่อประโยชน์แก่การทำบุญเนื่องด้วยอายุของอาตมา จะถือว่าเป็นการให้เกียรติ ก็เป็นการให้เกียรติ จะถือว่าเป็นการแสดงความเคารพบูชาเป็นพิเศษ ก็ถือได้ว่าเป็นการให้การเคารพบูชาชนิดพิเศษ จึงขอขอบคุณเป็นพิเศษออกไป ในการที่ท่านทั้งหลายบางจำพวก ได้แสดงความเคารพและให้เกียรติด้วยการสมาทานอุโบสถศีลเป็นพิเศษในวันนี้ นี่ก็ถือว่าเป็นของขวัญที่สมควรแก่วัน ๆ นี้ด้วยเหมือนกัน
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่จะต้องขอโทษตามธรรมเนียม คือถ้ามีความบกพร่องบางอย่างบางประการในการต้อนรับท่านทั้งหลายผู้มา จะบกพร่องของบุคคลใดก็สุดแท้ แต่อาตมาขอรวบยอดเอามาเป็นการขอโทษว่า ถ้ามันจะมีการบกพร่อง การบกพร่องนี้อาจจะมีก็เฉพาะผู้ที่รู้สึก ถ้าไม่มีความรู้สึกแล้ว ก็จะไม่มีการบกพร่อง คงจะมีบางคนแม้จะไม่ได้รับการต้อนรับอะไรเลยก็ไม่รู้สึก เมื่อไม่รู้สึกก็ไม่บกพร่อง ดังนั้นขอให้เข้าใจไว้โดยหลักอีกทีหนึ่งว่า ถ้ารู้สึกมันก็มี ถ้าไม่รู้สึกมันก็ไม่ ก็ไม่มี นี้อะไรก็ตาม ถ้าเราไปรู้สึกมันเข้า มันก็เกิดมีขึ้นมา ถ้าเราไปรู้ ไม่รู้สึกมัน มันก็ไม่มี
นี้ถ้าท่านบางคนเกิดมีความรู้สึกขึ้นมาว่า มีการบกพร่อง มันก็มีการบกพร่อง อาตมาก็ต้องขอโทษตามธรรมเนียมเจ้าของบ้าน ที่ไม่ให้ความสะดวกสบายตามที่ท่านต้องการ แต่ถ้าบางคนจะถือว่า ไอ้การบกพร่องนี้ก็ยกมอบให้เป็นการอุทิศถวายเป็นของขวัญไปเสียด้วย ไอ้การบกพร่องนั้นมันก็จะกลายเป็นการได้บุญแก่บุคคลนั้นไปอีกทางหนึ่ง ดังนั้นขอท่านทั้งหลายจงวินิจฉัยเอาเอง ทำในใจเอาเอง ทำให้มันแยบคายตามที่จะทำได้
ทีนี้ข้อหนึ่งก็จะเรียกว่า ขอข้อรับผิด ข้อที่ต้องรับผิด ถ้าท่านมาได้ ๆ ผลไม่คุ้มค่าเพราะเหตุใด ๆ ก็ตาม การมาของท่านไม่ได้รับผลคุ้มค่า อาตมาก็ขอรับผิด เรื่องนี้ปล่อยให้ยมบาลเขาเล่นงานอาตมาเองก็แล้วกัน ถ้าจัดทำอะไรไปในลักษณะที่ไม่ได้ผลคุ้มค่า ยมบาลเขาก็คงจะจัดการเล่นงาน ถามว่าทำไมจัดอะไรไปไม่ได้ผลคุ้มค่า นี้ไว้เป็นเรื่องที่อาตมาจะพูดจากับยมบาลเอง ก็ขอรับผิดในข้อที่ว่า ถ้ามันได้ผลไม่คุ้มค่าสำหรับท่านบางคนในการที่มา แต่ขอให้พิจารณากันอย่างเป็นธรรมว่า จะได้ผลคุ้มค่าหรือไม่ได้ผลคุ้มค่านั้น มันก็อยู่ที่การกระทำของผู้นั้นอีกเหมือนกัน
สำหรับอาตมานั้นรับรองได้ว่ากระทำสุดความสามารถ สุดที่จะทำได้ ในการที่จะให้ท่านทั้งหลายได้รับผลคุ้มค่า แต่ถ้ามันเกิดไม่ได้ผลคุ้มค่าขึ้นมา ก็ผู้รับไม่สามารถหรือด้วยเหตุใดก็ ๆ ดี นี่มันก็ต้องมีการได้ผลไม่คุ้มค่า ก็เพราะว่าจะรับเอาไม่เป็นหรืออะไรก็ได้ อย่างว่ากิจการของสวนโมกข์โดยทั่วไปนี้ ยังไม่ได้รับผลคุ้มค่า เพราะว่าผู้มาส่วนมากหรือส่วนใหญ่ ไม่สนใจในสิ่งที่สวนโมกข์มีให้ มาเที่ยว ๆ หน่อยหนึ่งแล้วก็กลับไป สิ่งที่มีไว้ให้ไม่สนใจก็ได้ผลไม่คุ้มค่า เหมือนกับรูปภาพที่อยู่ที่หัวผนัง อ่า, ฝาผนังด้านหัวตึกนั้นน่ะ แจกลูกตาสองสามคนรับ วิ่งหนีกลับไปเสียเป็นฝูง ๆ เลยไม่ได้อะไรไปนี่
นี่คือความจริงหรือข้อเท็จจริง ที่ได้เป็นอยู่จริงเกี่ยวกับกิจการของสวนโมกข์ ถ้าอย่างไรก็ขอให้ช่วยกันหน่อย ปรับปรุงให้มันได้รับประโยชน์ สมความตั้งใจของการที่มีสวนโมกข์ และท่านทั้งหลายก็มา นี่คือเรื่องที่อาตมาตั้งใจจะกล่าวเป็นเรื่องแรก ขอขอบพระคุณที่ได้มาและที่ได้ให้ของขวัญ และขอโทษถ้ารู้ทัน ถ้าท่านรู้สึกว่ามีอะไรบกพร่อง และขอรับผิดถ้ามันเกิดการได้ผลไม่คุ้มค่าขึ้นมา
ทีนี้เรื่องที่จะกล่าวต่อไปก็คือการทำบุญอายุ ขอรวบรัดเอาว่า ไอ้การทำบุญอายุนี่มันมีอยู่สองแบบ แบบหนึ่งมันประจบอายุ แบบหนึ่งมันล้ออายุ แบบแรกมันประจบอายุเพราะว่ามันกลัวตาย มันก็เอาอกเอาใจอายุ ทำบุญให้อายุอย่างนั้นอย่างนี้ เลี้ยงดูกันเป็นการใหญ่เพราะว่ากลัวตาย อย่างนี้เรียกว่าทำบุญประจบอายุ ทำบุญล้ออายุนั้นไม่กลัวตาย แล้วก็ล้ออายุที่ล่วงมาด้วยความไม่น่าเลื่อมใส หรือมีข้อที่ควรจะล้อ น่าล้อ ที่อาตมานี้เลือกเอาไอ้ชนิดที่ทำบุญล้ออายุ ดังที่ทราบกันมาหลายปีแล้วว่า มันเป็นการทำบุญล้ออายุ
ถามว่าทำไมจะต้องล้ออายุ ตอบว่าเพราะมันน่าล้อ ใครบ้างตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ ไม่ได้ทำอะไรรี ๆ ขวาง ๆ ชนิดที่น่าล้อ ควรล้อ หรือทำมากไปกว่านั้นอีก มันก็น่าด่าหรือควรด่า อันนั้นมันมากไป เอาแต่เพียงว่าน่าล้อ ใครบ้างช่วยทบทวนมาดูตั้งแต่เกิดมาว่า อ่า, เป็นวันเป็นเดือนเป็นปีจนกระทั่งวันนี้ มันมีการกระทำถูกต้องไปหมดไม่มีข้อบกพร่องที่น่าล้อ อาตมาคิดว่ามันคงจะมี แต่จะอุบเอาไว้ไม่เอามาล้อ ไม่เอามาบอก
ทางที่ดีควรจะคิดว่า ไอ้ล้ออายุนี้มันก็เหมือนกับพระแสดงอาบัติ อาบัตินั้นถ้าเอามาแสดงเปิดเผยแก่ผู้อื่นเสียแล้ว ก็เป็นอันว่าหมดไป ตามอำนาจของวินัย แม้แต่ต้องอาบัติปาราชิก ก็แสดงเปิดเผยเสียโดยการลาสิกขา การละสิกขาออกไป นั่นน่ะคือการเปิดเผย มันก็หมดอาบัติ อาบัติอื่น ๆ ที่ไม่ต้องสึก ลาสึก มันก็ต้องเปิดเผย ก็ต้องเปิดเผยไอ้ความผิดของตัว แล้วก็เป็นอันว่าเลิกกัน
การล้ออายุนี่อาตมาเห็นว่า มันมีความหมายอย่างเดียวกันกับการแสดงอาบัติ ดังนั้นถ้ามีอะไรที่เห็นว่าเป็นความบกพร่องผิดพลาด ที่ควรจะล้อก็เอามาล้อกันเสีย จะให้ตนเองล้อหรือให้ใครช่วยล้อก็ได้เหมือนกัน เพราะมันเป็นที่เปิดเผยแล้วมันก็จะสิ้นสุดลง นี่เรียกว่าการล้อไอ้ความผิดพลาดของตัว มันก็เหมือนกับการแสดงอาบัติของภิกษุสงฆ์ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากระทำ มันมีอานิสงส์ เอาอายุมาล้อบ่อย ๆ นี่ มันคงจะสะอาดขึ้นเหมือนกับอาบน้ำให้มัน มันก็จะทำให้อายุยืน มันมีความเข้มแข็งอยู่ในอายุ เพราะว่ามันมีความฉลาด มีความสะอาด มีความเข้มแข็ง
อาตมาเห็นอย่างนี้ว่า เอาอายุมาล้อบ่อย ๆ นี้มันจะเข้มแข็งขึ้น แล้วมันก็ทำให้อายุยืน ถ้าล้อสิ่งที่ควรล้อให้หมดไป มันก็จะได้ปีติปราโมทย์ว่ามันหมดไป มันเป็นบุญเป็นกุศล ถ้ามันเกิดความเย็นอกเย็นใจเกี่ยว กับข้อนี้ มันก็ได้ผลเป็นพระนิพพานโดยปริยาย ในปริมาณไม่ ๆ มากนักแต่ก็ไม่น้อยนักเหมือนกัน ถ้ามันมีความเย็นอกเย็นใจแล้ว ก็เรียกว่ามีนิพพานน้อย ๆ ชั่วขณะ ดังนั้นเราทุกคนควรจะแสวงหาโอกาสหรือการกระทำที่ให้เกิดความเย็นอกเย็นใจ เหมือนกับว่าเอาพระนิพพานมาเตือนไว้บ่อย ๆ ว่า แกต้องอยู่อย่างเย็นอกเย็นใจ อย่าอยู่อย่างมีความร้อนเหมือนกับตกนรก นึกถึงแต่ความเย็นอกเย็นใจไว้เสมอ
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องการอดอาหารยี่สิบสี่ชั่วโมงในวันล้ออายุนี้ มันไม่ใช่เป็นเรื่องอย่างที่บางคนพูดเอาเองว่า เป็นอัตตกิลมถานุโยค ผิดหลักของพระธรรมเพราะเป็นอัตตกิลมถานุโยค คนที่พูดอย่างนี้มันเป็นคนขี้กิน มันเป็นคนตะกละเห็นแก่กิน มันก็รู้สึกอย่างนั้นเป็นธรรมดา เช่นว่าถือเนสัชชิกะ ธุดงค์ไม่นอนตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ก็มีคนหาว่ามันเป็นอัตตกิลมถานุโยค เดี๋ยวนี้ไม่กินอาหารยี่สิบสี่ชั่วโมงก็มีคนหาว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันยกไว้ให้คนขี้กิน คนอ่อนแอ คนตะกละในการกิน มันจะคิดอย่างนั้นไปก็ตามใจ สำหรับเรานี้มันถือเป็นการกระทำที่มีผลดีแก่สิ่งที่เรียกว่าชีวิต
ไอ้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ จะต้องจัดต้องทำให้มันเป็นชีวิตที่ดีมีผลดีอยู่เสมอ พระพุทธองค์ทรงอดอาหารเป็นเวลาตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า ๗ วันบ้าง ๗ สัปดาห์บ้าง แล้วแต่จะเชื่อคำไหน ๗ สัปดาห์นี่ตั้ง ๔๙ วัน ๗ วันนี้ก็มีอยู่ชัด มันเป็นเรื่องที่มีความหมายสำหรับเรื่องนั้นโดยเฉพาะ แต่ว่าเราละอายุ ก็เว้นอาหารเสียวันหนึ่งวันนี้ ไม่ใช่ล้อพระองค์ ไม่ใช่ล้อพระพุทธเจ้า ไม่ได้ล้อการกด อ่า, การอดอาหารของพระองค์ แต่มีความหมายอย่างอื่นว่า ชีวิตที่เห็นแก่กิน เห็นแก่กินเอร็ดอร่อย เห็นแต่จะกินมาก ๆ กินบ่อย ๆ นั้น ควรจะเอามาล้อกันเสียบ้าง ด้วยการ ๒๔ ชั่วโมงนี้จะไม่กิน
ที่หมอบางคนเขาพูดว่า ไม่กินอาหารตามปรกติแล้วท้องจะเสียนั้นน่ะ เราไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้เรายิ่งไม่เชื่อ เพราะทำมาหลายปีแล้วไม่เห็นท้องเสีย ไม่เห็นเป็นโรคอะไรไข้เจ็บอะไร ที่พูดว่าไม่มีอาหารในกระเพาะ น้ำย่อยอาหารมันก็จะย่อยเอากระเพาะ กระเพาะมันจะเสีย นี่มันหลับตาพูด เพราะเมื่อเราตั้งใจว่าจะไม่กินอาหารอย่างนี้ น้ำย่อยอาหารมันก็ไม่ออกหรอก อาตมารู้สึกอย่างนั้น
เมื่อตั้งใจว่า ๒๔ ชั่วโมงนี้ไม่กินอาหาร น้ำย่อยอาหารมันก็รู้ รู้ประสีประสาเหมือนกัน มันก็ไม่ออกมาย่อยกระเพาะให้ปวดท้อง เว้นไว้แต่คนที่จิตมันไม่ตั้งใจจะเว้น แล้วมันมาเว้นเสียโดย ๆ ไม่มีเหตุผล เว้นโดยที่มันไม่ ๆ ถูกฝาถูกตัวนั้นน่ะ มันอาจจะปวดท้อง มันอาจจะเป็นลม หรืออาจจะเป็นอะไรไปก็ได้ แต่ข้อนี้มันก็ ๆ ไม่แน่เหมือนกัน แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยดีกว่า แต่ว่าอย่ายึดถือจนเกิดความขลาดที่ไม่ควรจะขลาด
อาตมานั้นถือว่า จิตของเรา เราต้องบังคับได้ นี้ช่วยจำไว้ด้วย จิตของเรา เราต้องบังคับได้ จิตของเราต้องเหมือนลูกของเรา มันต้องว่านอนสอนง่าย จิตของเรามันต้องว่านอนสอนง่าย มัน มันต้องเป็นสิ่งที่เราบังคับได้ ดังนั้นเดี๋ยวนี้เราบอกว่า อ้า, หยุดกินข้าวกันสักวัน มันก็ต้องได้สิ มันก็ต้องเป็นลูกที่ว่านอนสอนง่าย แล้วก็ทำให้ร่างกายเป็นไปโดยสมประกอบ ที่ว่า เอาล่ะ, วันนี้ไม่กินข้าว มันก็ยิ่งได้รับการพักผ่อน กระเพาะก็ต้องได้รับการพักผ่อน ร่างกายได้รับการพักผ่อน อ่อนเพลียก็นอนเสียก็ได้
แต่ถ้ามันรู้สึกเป็นบุญเป็นกุศลมันก็ไม่อ่อนเพลีย มันเคยพิสูจน์มันหลายปีแล้ว แต่มันก็ไม่แน่เหมือนกัน มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไอ้ปีต่อไปมันอาจจะสู้ไม่ไหว ลุกไม่ไหวก็ได้ มันแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่เดี๋ยวนี้เรามีหลักเฉพาะหน้าว่า ไอ้จิตของเรา เราต้องบังคับได้ เหมือนกับว่ามันเป็นลูกของเรา ๆ มันต้องว่านอนสอนง่าย ดังนั้นเราก็จะทำให้มันว่านอนสอนง่าย มันเป็นการฝึกจิตไปโดยตรง
เอ้า, ทีนี้ก็ว่า เรา เรา หลายคำแล้วนะ เราไหนกันล่ะ ก็ไหนบอกว่าไม่มีเรา เราไหนกันอีกล่ะ ถ้าได้ศึกษาธรรมะมาพอสมควรแล้ว ก็จะรู้สึกว่าไอ้เรานี้คือความรู้สึกของจิตคิดไปว่าเป็นเรา เราก็มีขึ้นมาในเมื่อมันมีอุปาทานในสิ่งที่เราอยากเราต้องการ เมื่ออยากต้องการอะไรอย่างรุนแรง ไอ้ความรู้สึกทีหลังตามมาว่า เราอยาก เราต้องการ ดังนั้นเราก็เป็นเรื่องของจิต เป็นจิตเท่านั้นเอง ไม่ ๆ ได้เป็น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น
แล้วถ้าอย่างนั้นจะถามว่า จิตนี้เป็นเราหรือ ก็ไม่ใช่ ขอยืมชั่วคราว จิตก็ต้องเป็นจิต ถ้ามันมีจิตสองจิต จิตหนึ่งที่จะคอยบังคับ จิตหนึ่งที่จะคอยรับการบังคับ มันมีสองจิต เดี๋ยวนี้มันก็เกิดมีสองเราขึ้นมา มันก็ผิดใหญ่แหละ ถ้าเอาจิตเป็นเราน่ะ มันได้แต่โดยสมมติเท่านั้นแหละ แต่ในคัมภีร์บางคัมภีร์เขาเขียนไว้ว่า จิตคือเรา คืออัตตานี้ก็มีเหมือนกัน แต่อาตมาไม่เชื่อ ถ้าจะยอมรับข้อความนั้นก็หมายความว่า พูดกันโดยสมมติว่าเอาจิตนี่แหละเป็นเรา อย่างว่าเราจะบังคับเรา ก็คือจิตอันหนึ่งมันก็จะบังคับจิตอีกอันหนึ่ง มันก็มีสองจิตได้
จิตนี้มันประกอบขึ้นด้วยไอ้ความรู้สึกที่เรียกว่าเจตสิก เป็นจิตโง่ก็เพราะมีเจตสิกโง่ เป็นจิตฉลาดก็เพราะมีเจตสิกฉลาด ดังนั้นมันเกิดมีสองจิตขึ้นมาได้ จิตหนึ่งฉลาด จิตหนึ่งมันโง่ ดังนั้นจิตโง่น่ะมันก็ถูก มันก็ควรจะได้รับการฝึกฝนอบรม จิตฉลาดนั่นแหละจะเป็นผู้ฝึกฝนหรือให้การอบรม ก็เป็นอันว่าจิตฉลาดนั้นน่ะมันล้อจิตโง่ ถ้าจิตชนิดไหนมันเคยโง่ไปแล้ว ก็ให้จิตฉลาดมันล้อกันเสียบ้าง มันเป็นของไวมาก มันสลับฉากกันได้ปุ๊บปั๊บเลย ไอ้จิตโง่ ๆ มาจิตดีมันก็หยุดไว้ จิตฉลาดมันก็หยุดจิตโง่ไว้ ล้อจิตโง่จนจิตโง่เลิกล้มความคิดไป
นี่ล้ออายุ มันก็เรียกว่าไอ้จิตฉลาดมันล้อจิตโง่ ทุกคนน่ะจะต้องมีทั้งจิตฉลาดและจิตโง่ จิตโง่มันก็ทำให้ยึดมั่นถือมั่น รัก โกรธ เกลียด กลัว วิตกกังวล โศกเศร้า เป็นทุกข์ไปอย่างนั้นน่ะ มันโง่ เวลานั้นมันโง่ มันมีจิตโง่ จิตฉลาดมา มันก็หัวเราะเยาะ เอ้าโอ้ย, มันไม่ควรจะโง่ก็เลิกเสียเถิด เลิกยึดมั่นถือมั่น เลิกยินดียินร้าย เลิกรัก เลิก เลิกโกรธ เลิกเกลียด เลิกกลัว เลิกวิตกกังวล เลิกอะไรต่าง ๆ ที่มันเป็นความโง่ นี่ให้จิตฉลาดมันล้อจิตโง่ ที่เรียกว่าล้ออายุนั้นน่ะ จัดให้จิตฉลาดมันมีโอกาสที่จะได้ล้อจิตโง่
ย้อนไปหน ย้อนไปหนหลัง ย้อนไปเบื้องหลังก็ได้ ไอ้ความโง่อะไร ๆ แต่หนหลัง เอามาสิ ขุดขึ้นมาสิ แล้วก็เอาจิตฉลาดนี่ล้อมันไปก็แล้วกัน ทีนี้เดี๋ยวนี้เราทำบุญล้ออายุ ไอ้การล้อนี้สำหรับอาตมา เพราะมันเป็นเรื่องล้อตัวเอง สำหรับท่านทั้งหลายจะมาพลอยล้ออาตมาด้วยก็ได้ ไม่โกรธ ใครมีอะไรจะมาล้อ ถ้ามีอะไรที่น่าล้อก็ช่วยกันล้ออาตมานี่ได้ แต่ว่าโดยความหมายนั้นก็ อาตมาตั้งใจจะล้อตัวเอง
ทีนี้มีอะไรล่ะที่น่าล้อ อุ้ย, เยอะแยะเลย อาตมามีสิ่งที่ ๆ น่าล้อ จะเรียกว่าบกพร่องก็ได้ ไม่บกพร่องก็ได้ แต่ว่าการกระทำบางอย่างมันทำไปในลักษณะที่น่าล้อ เอากันง่าย ๆ อย่างนี้ก็ได้ว่า อาตมาเป็นต้นเหตุนะ โดย ๆ ตั้งใจ โดยไม่ตั้งใจก็ตาม โดยเจตนาก็ตามหรือโดยไม่เจตนาก็ตาม แต่ได้กระทำอะไรไปในลักษณะที่ทำให้ท่านทั้งหลายเหล่านี้ต้องลำบาก ต้องมาที่นี้ด้วยความลำบาก นี้ก็ถือว่ามันเป็นอะไร ดังนั้นอาตมาที่ทำให้ท่านทั้งหลายต้องลำบาก เอ้า, ก็เอามาล้อ ล้อนี่ ทำให้เขาลำบากโว้ย มันควรจะคิดให้ดีเสียใหม่ อย่าทำให้คนอื่นต้องลำบาก การทำให้คนอื่นลำบากนี้มันไม่ถูกแน่
ทีแรกก็ว่า ตั้งใจจะพูดอะไรกันเล่น ล้ออะไรกันเล่น เป็นภายในไม่กี่คนประจำปี ก็ทำไปอย่างนั้นแหละ แล้วทำไมไอ้จำนวนมันเพิ่มมากขึ้นก็ไม่รู้ นี่ทำไมจำนวนมันเพิ่มมากขึ้นก็ไม่รู้ ตั้งใจจะพูดเล่น พูดล้อตัวเองเล่นสนุก ๆ กันภายใน ไม่ต้องบอกใครกี่คน นี่ก็ ๆ ตั้งใจว่าอย่างนั้น เรียกว่าล้ออายุ แต่ว่ามันเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดูก็เห็นได้ว่า ทั้งภิกษุสามเณร ทั้งอุบาสกอุบาสิกา ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ก็เลยคิดว่า นี้มันเป็นความผิดพลาดของเราเสียแล้วกระมัง ทำให้คนอื่นลำบากมากเกินกว่าที่จำเป็น
นี้ก็เป็น ๆ ๆ แง่หนึ่งแหละ อย่างน้อยก็เป็นแง่หนึ่งที่เห็นอยู่ประจักษ์อยู่ รู้สึกว่าตัวเองนี่มันควรจะถูกล้อ สะเพร่าอย่างไรทำให้คนอื่นลำบาก นี้ก็มีอีกหลายแง่หลายมุม พูดไปก็ได้ว่า ไอ้ชีวิตนี้มันไม่ค่อยจะเป็นชีวิต อาตมามีอายุเท่าไร ๗๔ ปีบริบูรณ์ ย่างเข้า ๗๕ ปี มีชีวิตมาตั้ง ๗๕ ปี ไอ้ชีวิตมันก็ยังไม่ค่อยจะเป็นชีวิต นี่มันก็น่าล้อ คำว่าชีวิตต้องแปลว่าเป็นอยู่อย่างสดชื่นเหมือนของสด ไม่ใช่ของเหี่ยวแห้งหรือเป็นทุกข์ ไอ้ชีวิตนี้ต้องเป็นของสดชื่น
นี้ความสดชื่นมันไม่ค่อยมี มันมีน้อย มันก็ควรจะล้อ พยายามมากว่า ๕๐ ปี คือบวชมานี่บวชได้ ๕๐ กว่าปี ก็พยายามจะให้มันมีชีวิตที่สดชื่น ที่อยู่เหนือปัญหา ที่รอด ที่หลุด นี่มันก็ไม่รอด ไม่หลุดได้ตามความต้องการหรือเต็มตามความต้องการ มันมีอะไรที่เป็นการรบกวนอยู่บ้าง อยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน ดังนั้นยังไม่พอใจชีวิตชนิดนี้ ก็เรียกว่าต้องเอามาล้อว่า ชีวิตอะไรกันโล้ย เอ่อ, กันโว้ย ตั้ง ๗๐ กว่าปีแล้วไม่รู้จักสดชื่นเสียทีนี่ จะต้องว่ากันต่อไป นี้ที่มันเกี่ยวกับตัวเองล้วน ๆ มันก็รู้สึกว่ายังมีอะไรเหลืออยู่ที่จะต้องล้อ ก็ต้องล้อ ล้อให้ท่านทั้งหลายฟัง เผื่อว่าท่านทั้งหลายอาจจะจำเอาไปสำหรับเป็นวิธีการล้อตนเองก็ได้
อาตมาจะบอกว่า ทุกปีมันต้องก้าวหน้า ถ้าไม่ก้าวหน้าก็ต้องล้อแหละ ดังนั้นขอบอกกล่าวท่านทั้งหลายทุกคนทุกท่านว่า จงทำให้มันก้าวหน้าทุก ๆ ปี พอครบปีสรุปได้ว่ามันก้าวหน้า ทีนี้อาตมาเห็นบางคนไม่ก้าวหน้าอยู่บางอย่าง ขอบอกว่าช่วยทำให้มันก้าวหน้าเสียที คนแก่ ๆ อายุมาก ๆ ด้วยซ้ำไป ไม่พูดถึงเด็ก ๆ หรือคนหนุ่ม ๆ อายุถึงเท่านี้แล้วก็ยังว่า นะโม ตัสสะ ไม่ถูกต้อง บางคนยังว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นี้ไม่ถูกต้อง
ใครว่าไม่ถูกต้องก็ว่าเสียให้ถูกต้อง เพราะว่าบางคนยังพูดว่า สัมมาสัมพุทตัสสะ อยู่นั่น คนนี้เขาว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทตัสสะ นี้มันไม่ถูก มัน สัมพุทธัสสะ โน่น ไม่ใช่ สัมพุทตัสสะ คนแก่บางคนยังว่า สัมมาสัมพุทตัสสะ พระเณรบางองค์ก็ยังโง่ขนาดนั้นน่ะยังว่า สัมมาสัมพุทตัสสะ อยู่ก็มี อาตมาก็เหมือนกัน เผลอไม่ได้ เผลอมันก็มักจะว่า สัมพุทตัสสะ สัมมาสัมพุทตัสสะ ก็เลยเอามาล้อกันว่า มันยังไม่ก้าวหน้าเว้ย นี่แม้แต่ของเบื้องต้นที่สุดว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ นี่มันก็ยังว่าผิดเป็น ตัสสะ นี่น่า ๆ ล้อหรือไม่น่าล้อ ถ้าน่าล้อก็ล้อให้มันหมดเสียแค่ปีนี้ อย่าให้มันเหลือไปถึงปีหน้าและปีต่อไป อาตมาคงจะไม่ได้ยินคำว่า นะ นะโม ผิด ๆ สัมมาสัมพุทตัสสะ อีกต่อไปนี่
หนึ่งปีต้องก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ อย่าให้มันซ้ำอยู่ อย่าให้มันผิดอยู่ ไอ้พละผู้มีพละภาคเจ้านั้นเลิกเสียเถิด สวดมนต์ ๆ รับเทศน์ก็ยังมีพละผู้มีพละภาคเจ้าอยู่ มันไม่ใช้เหมือนเดิม มันใช้ไม่ได้ มันไม่ก้าวหน้า เลิกเสียเถิด ให้มัน พระผู้มีพระภาคเจ้า สวดบาลี ร เป็น ล ล เป็น ร ไอ้โลกะกลายเป็นโรคะไป มันก็ผิดเลยแหละ มันทำ ทำลายพระบาลีหมดเลยแหละ ถ้า ถ้าว่าโลกะเป็นโรคะ แล้วมันก็ มันก็เสียความหมายหมด มันผิดหมดน่ะ พระที่ว่า ร เป็น ล ล เป็น ร ช่วยเลิกเสียทีเถิด ช่วยเลิกเสียทีเถิด มันเปลี่ยนความหมายของพระบาลีมากเกินไป
ถ้ามันล้อตัวเองบ่อย ๆ ไม่ค่อยจะฟัง ก็โขกหัวตัวเองเข้าบ้างสิ มันคงจะหมดไปโดยเร็ว นี่ นี่มันยิ่งกว่าล้อแล้วแหละ นี่จึงพูดว่า ยังมีทางที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงอยู่มาก และควรจะล้อตัวเองถึงขนาดว่า แม้แต่ นะโม ตัสสะ ก็ว่าไม่ถูก บทอื่น ๆ ก็ว่าไม่ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยะถา วาริวะหา ปูรา ปาติ ปูเรน นี่ พระเณรยังว่าผิดกันอยู่มาก ทีฆายุโก ว่า ทีกายุโก อันนั้นมันผิด มันผิดอยู่มาก ผิดอยู่หลายคำ ถ้าแปลความหมายตามนั้นแล้วใช้ไม่ได้ บางทีมันเป็น ให้ ให้ร้ายหรือด่าทายกทายิกาก็มี
เช่นว่า อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ให้อายุ วรรณะ และสุขะ และพละ พระเณรบางองค์ก็ว่า อายุ วโณ สุขัง พลัง ก็ให้แผลสกปรก วโณ แปลว่า แผลเปื่อยที่สกปรก ไอ้วัณณะแปลว่าความดีความงาม แทนที่จะว่าวัณณะ ก็ว่า วโณ อายุ วโณ สุขัง พลัง ก็บ้าเลย เอาแผลสกปรกไปหาย ไปให้ทายกทายิกาที่เขาอุตส่าห์มาเลี้ยงมาดู นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องล้อและเอามาล้อ แล้วก็ช่วยกันทำให้มันหมดไปเสียที
นี้เอ้า, ทีนี้มันเรื่องของตัว แล้วก็เรื่องของคนอื่นบ้าง อาตมานี้เขาหาว่าบ้า คนเป็นอันมากเขาหาว่าอาตมานี้เป็นคนบ้า บ้าที่ให้ธรรมะกลับมา บ้าอยู่คนเดียว บ้าอยู่คนเดียวตลอดเวลาว่าให้ธรรมะกลับมา พูดเพ้อเจ้อไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี่ว่าให้ธรรมะกลับมา เพ้อบ่นไปคนเดียว นี้มันเป็นคนบ้า นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะเอามาล้อ ควรจะเอามาล้อ แล้วก็สลดสงสารตัวเองเหมือนกันว่ามันเป็นคนบ้า พล่ามอยู่คนเดียวว่าธรรมะกลับมา จงกลับมา
ถ้าธรรมะไม่กลับมาโลกาวินาศ ถ้าธรรมะกลับมาโลกาก็จะเจริญ พูดมากี่ปีแล้ว ก็ยังพูดออกวิทยุออกอะไรอยู่ตามโอกาสว่า ช่วยกันสนใจข้อนี้ ให้ธรรมะกลับมา ถ้าธรรมะไม่กลับมา มันก็มีแต่คนไม่มี ๆ ธรรมะ นักเศรษฐกิจก็ไม่มีธรรมะ นักการเมืองก็ไม่มีธรรมะ นักปกครองก็ไม่มีธรรมะ ข้าราชการก็ไม่มีธรรมะ พ่อค้าก็ไม่มีธรรมะ ชาวนาก็ไม่มีธรรมะ ประชาชนชนิดไหนก็ไม่มีธรรมะ แล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร
ถ้ามันเต็มไปด้วยคนอันธพาล นักเศรษฐกิจก็อันธพาล นักการเมืองก็อันธพาล นักปกครองก็อันธพาล ข้าราชการก็อันธพาล พ่อค้า ประชาชน ชาวนา ชาวสวน มันก็อันธพาล มันจะอยู่กันได้อย่างไร มันก็เบียดเบียนกันตายหมดน่ะ นี่ถ้าธรรมะไม่กลับมา มันโลกามันวินาศ มันคืออย่างนี้ ธรรมะไม่กลับมา มันก็มีอันธพาลเพิ่มขึ้น ธรรมะหายไปเท่าไร อันธพาลเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ถ้าธรรมะหายไปหมด อันธพาลก็เต็มบ้าน แล้วเราจะอยู่ที่ไหน อยู่ในห้องนอน เขาก็ตามเข้าไปเบียดเบียน แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน เราก็ไม่มีแผ่นดินอยู่ ถ้าธรรมะไม่กลับมา นี้เราจะไม่มีแผ่นดินอยู่ ขอให้คิดดูเถิด คนที่มันยังไม่คิด อย่าประมาท มันจะมาถึงเข้าสักวันหนึ่งนะ ดังนั้นมาช่วยกันหน่อย มาช่วยกันบ้าง มาช่วยกันตามที่จะช่วยได้ให้ธรรมะกลับมา ช่วยได้อย่างไรก็ช่วยเถิด ด้วยเงิน ด้วยของ ด้วยเรี่ยว ด้วยแรง ด้วยการพูดจา การอะไรก็สุดแท้แต่จะทำได้ เพื่อให้ธรรมะมันกลับมา
อาตมาเพ้ออยู่คนเดียวอย่างนี้ บ้าหรือดี ก็ช่วยลองคิดดู แต่ก็สงสารตัวเองจนต้องเอามาล้อว่า เราอุตส่าห์ทำทั้งทีเขาว่าเราบ้า บ้าอยู่คนเดียว ไม่มีใครจะร่วมบ้าด้วยสักกี่คน เดี๋ยวนี้อยากจะอวดหน่อยว่า มีหลายคนแล้วแหละที่เขาร่วมบ้าด้วย ในการที่ให้ธรรมะกลับมา นี้มันมีแล้ว มันมีขึ้นมาแล้ว ก็จะล้อได้น้อยลงไปหน่อย
อีกเรื่องหนึ่งก็ว่า ให้หาความสุขในการงาน นี่เขาก็ว่าบ้าเหมือนกัน ไม่มีใครยอมรับ ไม่มีใครฟังถูกว่า ให้หาความสุขในการทำงาน เมื่อทำงานอะไรอยู่ ขอให้รู้สึกเป็นสุข เพราะเราได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติ คือการทำงาน ธรรมะคือหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติ นี่ใครคัดค้านบ้าง หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติมีอยู่อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการเลี้ยงชีวิต ในการรอดชีวิต ในการทำให้ชีวิตหลุดพ้น
ดังนั้นการทำงานแม้แต่จะทำไร่ทำนา นี้มันก็เป็นทำหน้าที่เพื่อให้ชีวิตอยู่ได้ มันก็เป็นธรรมะในระดับหนึ่งแหละ เรียกว่าได้ประพฤติธรรมะ ดังนั้นควรจะพอใจ รู้สึกเป็นสุขใจอย่างยิ่งเมื่อได้ทำงาน ทำหน้าที่ของตนไม่ใช่เพื่อเงินเดือน แต่ว่าเพื่อหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็พอใจว่าได้ประพฤติธรรม ก็พอใจแล้วก็มันเป็นสุข ความเป็นสุขเกิดจากความพอใจ ทำให้พอใจเถิด จะเป็นสุข ถ้าพอใจหลอกลวง สุขนั้นก็หลอกลวง ถ้าพอใจแท้จริง สุขนั้นก็แท้จริง พอใจในกามารมณ์มันเป็นพอใจหลอกลวง ไอ้ความสุขกามารมณ์มันก็หลอกลวง ถ้าพอใจในการทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมะ ไอ้พอใจนั้นมันแท้จริง ไอ้ความสุขนั้นมันก็แท้จริง
ดังนั้นขอให้เราทุกคนพอใจเมื่อได้ทำงาน จะถูพื้น จะล้างจาน จะกวาดบ้าน หรือ ๆ อะไรก็ตาม ก็ได้ทำงานตามหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตามที่มนุษย์ควรจะทำ แล้วก็ควรจะพอใจ เราควรจะยอมรับนับถือเขาว่า เขาเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาจะแจวเรือจ้างอยู่ จะถีบสามล้ออยู่ จะล้างท่อถนนอยู่ อะไรก็ตามเถอะ เขาได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติเท่าที่เขาจะทำได้ เขาทำอะไรเป็นเพียงเท่านั้น เขาทำอะไรให้มากกว่านั้นไม่ได้ มันเหลือความสามารถของเขา แต่เมื่อเขาทำเต็มตามความสามารถของเขาก็ควรจะยกให้ว่า เขาได้ประพฤติธรรมเต็มตามหน้าที่ของเขา อย่าไปดูถูกดูหมิ่นเขาเลย แม้เขาทำหน้าที่ล้างท่อถนน ที่เหม็นที่สกปรกอะไรต่าง ๆ
เราก็เหมือนกันแหละ เราจะทำได้มากเพียงที่ความสามารถของเรามี เราเป็นชาวนาก็ได้ เป็นชาวสวนก็ได้ เป็นพ่อค้าก็ได้ เป็นนายธนาคารก็ได้ เป็นข้าราชการก็ได้ เป็นกระทั่งเป็นประธานาธิบดีก็ได้ ถ้ามันสามารถ มันก็เลยพอใจว่า ได้ทำหน้าที่แล้วก็มีความสุข มีความสุขอยู่ที่โต๊ะทำงาน ไม่ใช่ว่ารีบให้มันเลิกงานเร็ว ๆ เย็นแล้วเลิกงานเร็ว ๆ ไปหาความสุขที่สถานเริงรมย์ ไอ้นั่นมันบ้า มันเป็นความพอใจหลอกลวง ความสุขนั้นก็หลอกลวง เงินเดือนมันก็ไม่พอใช้ เพราะกิเลสนี่มันบานออกไปได้ ขยายตัวออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด เงินเดือนมันก็ไม่พอใช้
นี้ถ้าว่าคนมันพอใจอยู่ที่โต๊ะทำงาน ยิ่งทำงานยิ่งเป็นสุข พอเป็นสุขอยู่ที่โต๊ะทำงาน มันก็ไม่อยากเลิกงาน มันเป็นสุขอยู่ที่นี่ มันไม่ต้องเลิกงานไปเที่ยวบาร์ เที่ยวอาบอบนวด เที่ยวสถานเริงรมย์ มันก็มีความพอใจจริง มันก็มีความสุขจริง เงินเดือนมันก็เหลือใช้ ไม่ต้องเอาเงินเดือนก็ได้ เพราะมันมีความสุขจริงอยู่ที่โต๊ะทำงาน นี่อาตมาบอกว่าอย่างนี้
ขอให้ทุกคนมีความสุขสนุกในการทำงาน แม้คนเดียว ด้วยคน ๆ เดียว ด้วยตัวเองคนเดียว ก็เป็นสุขอย่างยิ่ง เขาว่าบ้า เอ้า, เขาว่าบ้าก็บ้า แล้วก็เอามาล้อดูว่า ไอ้นี่มันเป็นอย่างไร ถูกเขาหาว่าบ้าอย่างนี้ หลายเรื่องหลายประเด็นด้วยกัน ก็ควรจะเอามาพูดกันในการล้อ เอ้า, ก็เป็นที่เข้าใจกันแล้ว นี้พอกันทีสำหรับเหตุผลที่ว่า ทำไมจะต้องบำเพ็ญบุญเนื่องด้วยอายุในรูปแบบของการล้อ ไม่ทำไปในรูปแบบของการประจบอายุ เช่นชักชวนให้ทำอะไรมาเลี้ยงมากินกัน ให้ใหญ่โต ให้วิเศษ ให้เอร็ดอร่อย สนุกสนานรื่นเริงอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนที่เขาทำบุญแบบประจบอายุกันโดยมาก
อาตมานี้ทำบุญแบบล้ออายุ ดังนั้นขอให้ทุกคนอดอาหารดูสัก ๒๔ ชั่วโมงเป็นของขวัญ ใคร ๆ จะต้องไม่จ่ายเงินเลยในวันนี้ แค่ทำบุญอายุให้ ๆ อาตมานี้ มันควรจะเป็นเรื่องอย่างนั้น การอดอาหารนี้มีอา อานิสงส์ว่า ให้มันเข้มแข็ง ให้มันฉลาด ให้มันเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ เราอาจจะอดได้ถึง ๔ วัน ๕ วัน ๗ วันเหมือนพระพุทธเจ้าก็ได้ แต่เรามันขี้ขลาดไว้ล่วงหน้า เรามันกลัวไว้ล่วงหน้า อดครึ่งวันมันก็จะตายแล้ว มันว่าจะเป็นลมแล้ว นี่มันไม่รู้ความจริง ดังนั้นขอให้ทำทุก ๆ อย่างไปในทางที่รู้ความจริงเพิ่มขึ้น
เอ้า, ทีนี้ก็มาถึงเรื่องแสดงธรรม เอ้า, คุณพรเทพมาเตรียมให้ที่นี่พร้อมที เอาไมโครโฟนไว้ที่นั่นตัวหนึ่ง เมื่อตะกี้ท่านทั้งหลายก็อาราธนาธรรม ให้แสดงธรรม อาตมาก็จะถือโอกาสแสดงธรรมเนื่องในวันล้ออายุด้วยเหมือนกัน การบรรยายธรรมนี้เราจะมีตามแบบของเรา ๓ โมงเช้า แล้วก็บ่าย ๓ โมง แล้วก็ค่ำ ๓ ทุ่ม เอา ๓ ๓ ๓ ทั้งนั้นเลย ตอนเช้าก็ ๓ โมง ตอนบ่ายก็ ๓ โมง ตอนค่ำก็ ๓ โมง นี้วันนี้ก็เป็นไอ้ตอนเช้า บ่าย ๓ โมง พูดพล่ามไปเสียตั้งชั่วโมงแล้ว เสียเวลาไปเปล่า ๆ ชั่วโมงหนึ่งแล้ว ยังไม่ได้แสดงธรรม
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องแสดงธรรม สำหรับปีก่อน ๆ ท่านก็เห็นอยู่แล้วว่า แสดงธรรมอย่างไร แล้วก็เอามาพิมพ์เป็นเล่มหนังสือแจกในปีถัดมา อย่างปีนี้ก็มีอีก ค่ำนี้ก็จะแจก มาพร้อมกันดี แต่ปีนี้จะแปลกกว่าปีก่อน ๆ คือจะแสดงธรรมไปในรูปที่เรียกว่า ถามตอบหรือปุจฉาวิสัชนา คืออาตมาสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อสงสัยข้องใจต่าง ๆ นานา เอามาถามได้
นี่มีความสงสัยข้องใจของตนเอง หรือสงสัยข้องใจเพราะได้ยินได้ฟังของคนอื่นมา หรือคำที่เขาล้อเขาด่าอาตมาอย่างไร ก็เอามาผนวกกันเข้าด้วย ให้เป็นข้อข้องใจและข้อสงสัยแล้วก็เอามาถาม แม้แต่ว่าถามอย่างล้อก็ได้ ก็ ๆ ได้เปิดโอกาสไว้แล้ว จะถามตามปรกติก็ได้ ถามด้วยความเคารพก็ได้ ถามอย่างล้อก็ได้เหมือนกัน ขอให้เอามาถามมาล้อ ทุก ๆ ข้อ ทุก ๆ ประเด็น ที่มันรบกวนความสงสัย
ทีนี้อาตมาก็จะเป็นผู้ตอบ ก็ขอให้พระภิกษุที่นั่งอยู่ข้าง ๆ นี้ เป็นผู้ประมวลไอ้คำถามเหล่านั้นเอามาถาม ท่านก็จะต้องถามว่า ถามแทนในนามของท่านทั้งหลายด้วยก็ได้ จะถือว่าเขาถามส่วนตัวของเขาก็ได้ ก็เป็นอันว่าจะได้ผล บางทีจะทำให้มันคุ้มค่าประโยชน์ คุ้มค่าที่ท่านทั้งหลายมา ไม่เกิดการคุ้มค่า แล้วที่ยมบาลจะเล่นงานอาตมา มันก็เลยรอดตัวไปที ดังนั้นมันจะสำเร็จหรือไม่ มันก็อยู่ที่ผู้ถาม เขาจะถามอย่างไรให้มันสำเร็จประโยชน์ เอ้า, แล้วต่อนี้ไปก็เราจะเริ่มทำอย่างที่เขาเรียกกันว่า เทศน์ปุจฉาวิสัชนา เรียกว่ามันถามตอบ เอ้า, ขอนิมนต์
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า ในการแสดงธรรมและบรรยายธรรม ชอบอ้างคำอังกฤษเกือบจะคำต่อคำ ยิ่งกว่าคนเรียนนอกเสียอีก นี้มันอย่างไรกันครับ
ตอบ : นี้เขาถามว่า มีคนกล่าวหาว่า แม้ในการแสดงธรรมบรรยายธรรม ก็ชอบอ้างคำภาษาอังกฤษ มีเน้นว่าเกือบจะคำต่อคำนี้ นี่มันเป็นเรื่องโกหกมากเกินไป เกือบคำต่อคำนี้มันมากเกินไป ไปดูสำเนาเทศน์ สำเนาบรรยาย สำเนาอบรมนักสิตนักศึกษานี่ ที่พิมพ์เป็นหนังสือแล้ว มันมีที่ไหนบ้างล่ะที่ถึงกับขนาดคำต่อคำ มันหลาย ๆ บรรทัดหลาย ๆ หน้า นี้จึงจะมีภาษาอังกฤษสักคำหนึ่ง นี่แสดงว่าไอ้คำที่กล่าวหานั้นไม่ ๆ เป็นความจริง
อาตมาก็ขอตอบว่าทำไมจะต้องเอ่ยถึงคำภาษาอังกฤษ นี่มันมีเหตุผลอยู่สองอย่าง เมื่อควรจะเอ่ยถึงคำที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นน่ะมันมีอยู่ว่า ไอ้ ๆ ๆ ๆ ข้อความอย่างนี้ หลักเกณฑ์อย่างนี้ ทฤษฎีอย่างนี้ เขามีพูดกันอยู่แล้วในภาษาอังกฤษ รวบรัดเป็นคำ ๆ เดียวพอ ถ้าเราเอามาใช้ มันก็ฟังถูกทันที เช่น คำว่า Positive, Negative, Subjective, Objective อันนี้มัน ๆ รู้กันอยู่แล้ว เนื้อหาของคำมันมาก เอาไปพูดเสียเวลาทำไม ก็ใช้คำอย่างนี้ นี่เพื่อประโยชน์ประหยัดเวลา เพื่อผู้ฟังเข้าใจได้โดยง่าย เพราะเขารู้คำอย่างนั้นอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้คำภาษาอังกฤษในกรณีอย่างนี้
ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อ ๆ ๆ อบรม นักศึกษา นิสิต คนหนุ่มคนสาวที่กำลังเป็นนักศึกษา ที่ระดับนักศึกษาปัญญาชนนั้นน่ะ มันมีความคิดไปถึงว่า ไอ้คนเหล่านี้จะต้องไปพูดจากับชาวต่างประเทศที่เข้ามาในเมืองไทย ชาวต่างประเทศเขาจะสนทนากับคนเหล่านี้ แล้วกลัวว่าคนเหล่านี้จะใช้คำผิดกับชาวต่างประเทศ ไอ้คำธรรมะทั้งหลายนี่ มันมีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษที่ ถูกบ้าง ผิดบ้าง กำกวมบ้าง นี้เท่าที่อาตมาได้สนใจศึกษารวบรวมมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว มันพอที่จะรู้ว่า คำไหนมันเป็นอย่างไร
คำว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะแปลว่าอย่างไร คำว่าพระพุทธเจ้าจะแปลว่าอย่างไร คำว่าพระตถาคตเจ้าจะแปลว่าอย่างไร นี้รู้ดีกว่านักศึกษาเหล่านั้น ฉะนั้นก็มักจะถือโอกาสบอกคำที่เป็นภาษาอังกฤษให้เขาไปเสียเลย เพราะว่าเขาจะไปพูดกับฝรั่งหรือใครที่ไหน เขาจะได้ใช้คำถูกต้อง มันก็มีประโยชน์อย่างนี้ ดังนั้นบางทีจึงใช้บอกคำภาษาอังกฤษควบกันไปกับคำธรรมะเหล่านั้น ซึ่งมันยากที่เขาจะเข้าใจได้ เพราะมีความรู้อย่างธรรมดา ๆ แล้ว เขาไปนึกแปลเอาเองนี่ มันจะได้คำภาษาอังกฤษที่น่าหัว แล้วก็จะไม่ตรงตามเรื่องด้วย ดังนั้นจึงถือโอกาสบอกให้เสียเลย
ด้วยเหตุผลสองประการนี้ คือว่าให้เขาเข้าใจทันทีรวดเร็ว หรือว่าให้เขารู้คำที่จะไปพูดกับชาวต่างประเทศ เราจึงมักจะใช้คำภาษาต่างประเทศกำกับข้อความหรือถ้อยคำที่เราพูดไป นี่คือเรียกว่า มันถูกด่าโดยที่ไม่มีเหตุผลที่ควรจะด่า ก็เลยเอามาล้อเสียวันนี้ด้วย ก็โชคดีได้รับคำด่าที่ไม่ควรจะถูกด่า เอ้า, มีอะไรต่อไปอีก ก็ถามต่อไปดีกว่า เรื่องนี้มันมีเท่านี้
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบายชาติการเกิดตามอัตโนมัติของตัวเองอย่าง ตื้น ๆ แคบ ๆ ง่าย ๆ อย่างนั้น นับเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ อย่างเช่น ไม่อธิบายเรื่องภูมิ ๓๑ ว่าเป็นเรื่องจริงตามตัวอักษร เป็นต้น นี้มันมีข้อเท็จจริงอย่างไรกันครับ
ตอบ : นี้ปัญหานี้มีสองประเด็น คือว่าอธิบายเรื่องชาติเอาเอง แล้วก็ไม่อธิบายอย่างที่คนทั่วไปเขาเข้าใจ และอีกอย่างหนึ่งว่า ไม่พูดเรื่องภูมิ ๓๑ ตามที่เป็นจริง ข้อนี้ถ้าให้ตอบสั้นเพียงคำเดียว ก็ตอบว่าเพื่อให้คำอธิบายนั้นมันเป็นสันทิฏฐิโก จำคำว่าสันทิฏฐิโกไว้ก่อน สันทิฏฐิโกแปลว่าเห็นแจ้งด้วยตนเอง สันแปลว่าเอง ทิฏฐิแปลว่าเห็น สันทิฏฐิแปลว่าเห็นเอง สันทิฏฐิโกแปลว่าเห็นสิ่งที่จะเห็นได้ด้วยตนเอง
นี้อธิบายเรื่องชาติตามแบบที่เราอธิบายกันอยู่ คือในภาษาธรรม นี้อธิบายว่า พอมีความรู้สึกประเภทตัวตนเกิดขึ้นในจิตว่า ตัวกู ตัวกูต้องการ ตัวกูอยากได้ ตัวกูยึดครอง ตัวกูแสวงหานี่ ความคิดอย่างนี้ก็เรียกว่า ความรู้สึกที่เป็นตัวกู เป็นของกู ความรู้สึกชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อไรเรียกว่าชาติเมื่อนั้น จะอธิบายให้ชัดลงไปว่า แม้เด็กคลอดออกมาจากท้องแม่แล้ว แว้ ๆ อยู่แล้ว ก็ยังไม่ใช่ชาติในความหมายนี้ เป็นชาติทางเนื้อหนังทางวัตถุ ลูกหมาลูกแมวมันก็ชาติได้ ชาติอย่างนั้นน่ะไม่ใช่ต้องเป็นคน
ทีนี้ไอ้คนคลอดมาจากท้องแม่แล้ว มันยังไม่มีชาติที่แท้จริง ยังไม่มีชาติที่แท้จริง ยังไม่มีชาติที่จะเป็นความทุกข์ ต่อเมื่อไรเด็กนั้นโตขึ้นพอสมควรนะ เด็กนั้นต้องโตพอสมควร กี่วัน กี่เดือน กี่ปี นี้ก็ไม่ระบุชัดล่ะ แล้วก็เด็กนั้นมันมีความรู้สึกในระบบประสาท จนถึง ๆ กับ รู้สึกอร่อย รู้สึกไม่อร่อย รู้สึกรัก รู้สึกเกลียด ขึ้นมาแล้วนั้นน่ะ มันจะเกิดไอ้ความต้องการตามที่อร่อยหรือไม่อร่อย เรียกว่าตัณหา แล้วเกิดอุปาทานต่อท้ายว่า กูอร่อย กูไม่อร่อย กูอยากได้ นี่เรียกว่าไอ้ความรู้สึกประเภทตัวตนเกิด เมื่อใดเด็ก ๆ นั้นมีความคิดรู้สึกขนาดนี้ นี่เรียกว่าชาติโดยสมบูรณ์แล้ว เด็กนั้นมีชาติโดยสมบูรณ์แล้ว
ถ้ามีชาติแต่เพียงว่าคลอดมาจากท้องแม่ อันนี้ไอ้ ๆ อะไรมันก็มีชาติได้ แล้วก็ไม่ ๆ ๆ เป็นปัญหา ไม่ใช่เรื่องของความทุกข์ เรื่องของความทุกข์น่ะมันอยู่ที่ชาตินี้ ชาติที่เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนแล้วก็เป็นทุกข์อยู่ นี้เราให้ดูชาติที่เป็นจิตปัจจุบัน จิตปัจจุบันที่รู้สึก เป็นตัวกู เป็นของกู อยู่นั่นแหละคือชาติ ให้เห็น ให้รู้ ให้เห็นด้วยจิต ให้ประจักษ์ด้วยจิตว่า ชาติคืออย่างนั้น
นี่จะเข้าเรื่องก็ว่ามันเป็นสันทิฏฐิโก รู้สึกประจักษ์ชัดอยู่ในใจ เป็นตัวกู เป็นของกู ประจักษ์อยู่ในใจเป็นสันทิฏฐิโก ส่วนชาติที่แล้วมา ชาติอนาคต ชาติที่สักว่าพูดกันนั้นน่ะ มันยังไม่มีประโยชน์ ยังไม่จำเป็น ยังไม่ใช่ตัวปัญหา ที่เป็นความทุกข์และความดับทุกข์ เรียกว่าชาติในภาษาคนเกิดจากท้องแม่ ชาติในภาษาธรรมเกิดจากอวิชชา เมื่อใดอวิชชาทำหน้าที่เต็มที่ เกิดการคลอดตัณหา คลอดอุปาทานออกมา นี่คือเป็นชาติ ชาติที่เป็นตัณหาและเป็นความทุกข์นั้นคือชาติอย่างนี้
ทีนี้ไอ้ชาติอย่างคลอดจากท้องแม่ จะต้องไปพูดอะไรกันอีกเล่า มันรู้กันอยู่แล้ว แล้วก็พูดกันทั่วไปแล้ว แล้วก็เป็นเรื่องของไอ้ธรรมะต้น ๆ ที่เรียกว่าศีลธรรม เป็นเรื่องทางศีลธรรมต้น ๆ มุ่งไปทางเนื้อหนังมากกว่า เราต้องการจะอธิบายชาติที่เป็นภาษาธรรม เป็นชาติจริง ๆ ถ้าเกิดตัวกูของกูอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ความตายก็จะเป็นทุกข์ ความเกิดก็จะเป็นทุกข์ ความแก่ก็จะเป็นทุกข์ อะไรก็จะเป็นทุกข์ เพราะว่ามันรับเอามาเป็นของกู เป็นความเกิดของกู เป็นความแก่ของกู เป็นความตายของกู เป็นความได้ของกู เป็นความเสียของกู เป็นกำไรของกู เป็นขาดทุนของกู นี่มันจึงเป็นทุกข์ มันต้องมีชาติอย่างนี้ มันจึงจะมีเรื่องและเป็นปัญหา
เมื่อยังไม่มีใครอธิบาย อาตมาก็ไป ก็ต้องอธิบาย แล้วไม่ใช่อธิบายเอาเอง อธิบายตามหลักพระพุทธภาษิตที่มีอยู่แล้วในพระคัมภีร์ รวมเรียกว่า รวม ๆ ๆ เรียกว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ไปหาศึกษาจากเรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียด จะเข้าใจคำว่าชาติอย่างนี้
แล้วคำว่าชาติในปฏิจจสมุปบาทนั้นหมายแต่อย่างนี้ ไม่ได้หมายถึงชาติคลอดจากท้องแม่ มันต้องเกิดด้วยชาติอย่างนี้กันเสียก่อน ไอ้ชาติที่เกิดจากท้องแม่ จึงจะมีความหมาย จึงจะมีปัญหา จึงจะมีความทุกข์ ไอ้ชาติตัวกูโดยอุปาทานอย่างนี้ มันไปรับเอาชาติเกิดจากท้องแม่มาเป็นของกู มันก็พลอยมีปัญหาขึ้นมา ดังนั้นชาติที่เป็นปัญหาแท้จริงนั้น คือชาติที่เกิดด้วยความรู้สึกว่า เป็นตัวตนหรือของตน เรียกเป็นไทย เป็นภาษาไทยหยาบ ๆ ก็ว่า ความรู้สึกประเภทตัวกูของกู นี้คำว่าชาติ
ทีนี้ไอ้เรื่องภูมิ ๓๑ นี่ ไอ้ภูมิที่ตรัสไว้ ๓๑ นี้ไม่เคยพบที่เป็นพระพุทธภาษิตน่ะ อาจารย์ชั้นหลังเขาไป เก็บที่นั่นมาบ้าง เก็บที่นี่มาบ้าง มารวมกันให้มันเป็น ๓๑ ภูมิ ๓๑ ภูมินั้นเขาว่าอบาย ๔ ๔ ภูมิคือนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย แล้วก็มนุษย์นี้จัดไว้ ๑ ภูมิเท่านั้นน่ะ อาตมาอยากจะพูดว่ามันโง่ที่สุดที่จัดมนุษย์ไว้เป็นภูมิเดียว ที่เทพชั้นกามาวจรในสวรรค์เขาเลยจัดไว้ ๖ ภูมิ อย่างที่เรียกว่าเทพกามาวจร แล้วรูปพรหมจัดไว้ ๑๖ ภูมิ อรูปพรหมจัดไว้ ๔ ภูมิ รวมเป็น ๓๑ ภูมิ อบาย ๔ นรกอยู่ใต้ดิน เดรัจฉานตามทุ่งนา เปรตอยู่ที่โลกของเปรต แล้วก็อสุรกายนี้เป็นผีมองไม่เห็นตัว อยู่ที่ไหนใน ๆ โลกของอสุรกาย
อาตมาว่าอธิบายอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าไม่เป็นสันทิฏฐิโกก็ไม่เป็นพระธรรมในพระพุทธศาสนา นี้ขอย้ำให้ช่วยจำกันไว้ทุกคนว่า ถ้ามันไม่เป็นสันทิฏฐิโก มันยังไม่เป็นธรรมะในพระพุทธศาสนา ก็พระธรรมนั้นจะต้องเป็น สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ มันสำคัญอยู่ที่เป็นสันทิฏฐิโก เห็นด้วยตนเอง ปัจจัตตังเวทิตัพโพ รู้สึกได้ด้วยตนเองโดยผู้รู้ ไอ้นรกใต้ดินนั้นน่ะ มันไม่ ๆ เป็นสันทิฏฐิโก มันว่าไปตามความเชื่อที่เขาว่า นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้าอะไรนี่ เขาว่าไว้ก่อนพระพุทธเจ้าโน่น ช่วย ๆ ๆ ๆ รู้กันเสียว่า ไอ้ ๆ นรกสวรรค์แบบที่พูด ๆ กันอยู่นั้น เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แล้วไม่ใช่เรื่องในพระพุทธศาสนาก็ได้
เดี๋ยวนี้เราอยากจะให้อบาย นรกน่ะ มันเป็นสันทิฏฐิโก ก็ชี้ไปว่า เมื่อไรร้อนใจเหมือนไฟเผา เมื่อนั้นน่ะคือนรก นรกก็ไปอยู่ใจ ไอ้คน ๆ นั้นมันก็เป็นสัตว์นรกไป ทั้งที่ร่างมันเป็นคนอย่างนี้ แต่ว่าไอ้ ๆ ความทุกข์ความร้อนใจ ด้วยกิเลสก็ดี ด้วยผลกรรมก็ดี อะไรก็ดี มันร้อนอยู่ในใจ นั่นน่ะนรกมันอยู่ที่ในใจ แล้วมันเกินกว่าสันทิฏฐิโก เพราะมันร้อน ๆ ๆ ๆ อยู่โดยประจักษ์นี่ มันเป็นสันทิฏฐิโกจริง ๆ จึงแสดงนรกชนิดนี้ แทนที่จะพูดว่า นรกอยู่ใต้ดินจะไปถึงก็ตายแล้ว นี่มันหลอกให้เชื่อก็ได้หรือมันพูดไปตามความเชื่อ ไม่สันทิฏฐิโก
ถึงแม้ว่านรกนั้นจะมีอยู่จริง มันก็ไม่สันทิฏฐิโก เพราะมันยังไม่ได้ตกนี่ ไอ้นรกที่มันตกอยู่จริงเดี๋ยวนี้ ร้อนใจอยู่บ่อย ๆ นี้เป็นนรก นรกนี้น่ากลัวกว่า เป็นปัญหากว่า แล้วก็เกิดอยู่ในใจของคน แล้วมันดีที่ว่า ถ้าเราอย่าตกนรกในใจกันอย่างนี้แล้ว ตายแล้วไม่ตกนรกชนิดไหนหมด นรกจะมีอยู่กี่ร้อยกี่พันขุมที่ไหนก็ตามใจ ถ้าเราประพฤติตนไม่ตกนรกที่นี่และเดี๋ยวนี้ในใจแล้ว นรกไหน ๆ ก็ไม่ตก หลังจากตายแล้วก็ไม่ตก ดังนั้นจึงพูดถึงนรกชนิดนี้ ที่เขาหาว่า พูดผิด ๆ พูดเอาเอง พูดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ตรงคำสอนของพระพุทธเจ้า
เอ้า, ทีนี้ที่เรียกว่าเดรัจฉานนั้นน่ะ ไม่ใช่สัตว์ที่อยู่ตามทุ่งนา เมื่อใดคนนี่แหละ ถ้ามันโง่ โง่เหลือประมาณ โง่อย่างไม่น่าจะโง่นั้นน่ะ มันเป็นสัตว์เดรัจฉานในร่างคน คนนี่มันเป็นสัตว์เดรัจฉานเมื่อมันโง่ เอ้า, เราก็รู้สึก รู้จักสัตว์เดรัจฉานได้อย่างสันทิฏฐิโกอีกเหมือนกัน อยู่กลางทุ่งนา มันไม่ ๆ มาอยู่ในใจเรานี่ มันจะเป็นสันทิฏฐิโกได้อย่างไร แต่ความหมายของความเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือความโง่มาอยู่ในใจเรา เรารู้สึกยิ่งกว่ารู้สึก ดังนั้นมันก็เป็นสันทิฏฐิโกนี่ คำว่าสัตว์เดรัจฉานในความหมายนี้ จึงเป็นธรรมะกว่าที่จะชี้ไปยังสัตว์เดรัจฉานกลางทุ่งนา ความโง่สัตว์เดรัจฉานที่มาอยู่ในใจเรานี่ เป็นสัตว์เดรัจฉานแบบที่เห็นได้ด้วยตนเองเป็นสันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพ เรารู้สึกความโง่ของเราได้ด้วยตนเอง
นี้เปรต เขาว่าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ รูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่ในโลกของเปรต ถ้าบอกว่าไอ้เปรตนี้มันเป็นชื่อของความหิว หิวด้วยความไม่รู้ เป็นอวิชชา มันก็หิว ๆ ๆ ๆ ใจจะขาด หิวกามารมณ์ก็ได้ หิวเงิน หิวของ หิวอะไรก็ได้ เพราะมันโง่มันจึงหิว ถ้ามันไม่โง่มันไม่หิว มันทำการงานได้โดยไม่ต้องหิวนะ ข้อนี้ขอบอกท่านทั้งหลายทุกคนว่า อย่ามีความหิวนะ จะทำอะไร จะอยากได้อะไร ก็ขอให้ทำไปเถิด ทำโดยไม่ต้องหิว ถ้าหิวมันจะเป็นเปรต หิวเงิน หิวทอง หิวยศ หิวศักดิ์ หิวอะไรก็ตาม มันจะเป็นเปรตทันที
ดังนั้น หาเงิน หาเกียรติ หาอะไร ก็ทำไปได้โดยสติปัญญา อย่าหิว หรือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่าหวัง ดังนั้นอย่าหวัง อย่าทำอะไรด้วยความหวัง ถ้าทำด้วยความหวังแล้วมันจะเป็นเปรต นี้มันจะร้อนอยู่ในจิตในใจ อยากได้เงิน คิดดูให้ดีจะได้อย่างไร ก็ทำไป ทำไปด้วยสติปัญญา อย่าหวัง อย่าหิว ไอ้ที่หวังและหิวนี่เป็นเปรตเป็นนรกอยู่ในใจ ไม่เท่าไรมันจะแสดงออกมาเป็นโรคประสาทน่ะ อย่าหิว อย่าหิวเงิน อย่าหิวอะไรที่หิว ๆ กันน่ะ มันจะเป็นโรคประสาท มันทำให้วิตกกังวลแล้วเป็นโรคประสาท
ยกตัวอย่างว่า ซื้อลอตเตอรี่เอามาเก็บไว้ ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องหิวให้เป็นเปรต ถึงวันออกค่อยสอบฉลากก็แล้วกัน ไอ้คนหนึ่งมันซื้อมาแล้วมันหิว หวังอยู่ทุกวัน ทั้งกลางวันทั้งคืน ทั้งวันทั้งคืน กว่าจะถึงวันลอตเตอรี่ออก มันก็เป็นเปรตตลอดเวลาเพราะความหิว มันจะทรมานจิตใจจนถึงกับเป็นโรคประสาท นี่ตัวอย่างว่า ขอให้ทุกคนทำอะไรไปด้วยสติปัญญา อย่าให้มันมีความหวังหรือความหิวแทรกเข้ามานี่ นี้คือเราไม่ต้องเป็นเปรต
นี้อสุรกาย มันเป็นชื่อของความกลัวอย่างโง่อีกนั่นแหละ มันต้องโง่จึงจะตกอบายได้ ต้องโง่ทั้งนั้นแหละ มันกลัวอย่างไม่มีเหตุผล มันกลัวอย่างที่ไม่ต้องกลัว กลัวไส้เดือน กลัวจิ้งจก กลัวตุ๊กแก กลัวลูกหนู กลัวอะไรยิ่งกว่ากลัวความทุกข์เสียอีก ยิ่งกว่ากลัวนรกไปเสียอีก นี่มันเรียกว่าความกลัว เป็นอสุรกายคือความไม่กล้า อสุรแปลว่าไม่กล้า เราอย่ากลัวอย่าโง่เขลาอย่างนี้ ก็ไม่เป็นอสุรกาย ความกลัวนี้ควรจะถือว่าเป็นอสุรกายเพราะมันไม่เห็นตัว แต่ว่าไม่ใช่อสุรกายเป็นตัวเป็นตนเป็นพลักเป็นผีอยู่ในโลกไหน แฝงอยู่ในโลกนี้ คนมองไม่เห็นอย่างนี้ มันไม่เป็นสันทิฏฐิโก ไม่เป็นสันทิฏฐิโก ไอ้ความกลัวที่อยู่ในจิตนั้นน่ะเป็นอสุรกาย ที่จะเป็นสันทิฏฐิโก จะปรากฏแก่เรา
ดังนั้นขอสรุปความว่า ที่อธิบาย อธิ อธิบายสัน อ่า, เสีย ๆ ใหม่อย่างนี้ ก็เพื่อความเป็นสันทิฏฐิโก นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย เป็นสันทิฏฐิโก อาตมา ๆ อธิบายอยู่อย่างนี้ ดังนั้นการที่ผู้นี้มาเกิดความข้องใจว่า ทำไมไม่อธิบายเรื่องนี้เสียเลย ไม่อธิบายเรื่องนรกใต้ดิน เปรตในโลกเปรต อสุรกายอสุรกาย ที่เคยบอกว่าไม่ต้องน่ะ เพราะว่านั้นมันไม่เกี่ยวกับเรานี่ มันไม่มาแตะต้องเรา เราจะดูที่มันมาทรมานอยู่ในจิตในใจของเราแล้วรู้สึกได้จริงนี้ มันเป็นสันทิฏฐิโก
เรื่องมนุษย์นี่ก็เหมือนกันแหละ มันเป็นมนุษย์ต่อเมื่อประกอบไปด้วยธรรมะของมนุษย์ จะเรียกว่ามี ๑ ก็ไม่ถูก มันมีหลาย ๆ อย่างหลาย ๆ ชนิด แต่คัมภีร์นั้นน่ะเขาก็เรียกว่า ๑ มนุษย์มีแต่ ๑ ไอ้อบายเขาจัดให้มีตั้ง ๔ ท่าเขาจะชอบมาก เขาจัดไว้ให้ตั้ง ๔ แต่มนุษย์นี้จัดไว้ให้เพียง ๑ นี้เทพ สวรรค์ ๖ ชั้นน่ะ ตั้งแต่ชั้นที่ ๆ ท่องกันอยู่ทุก ๆ วันนั้นแหละ ชั้นจาตุมหาราช ตั้งต้นขึ้นไปจนถึงชั้นดาวดึงส์ ชั้นดุสิต ชั้นยามา ปรนิมมิตวสวัตตีเป็นที่สุดนั้นน่ะ เขาว่าอยู่บนสวรรค์ บนข้างบนโน่น คู่กับนรกที่อยู่ข้างล่าง แล้วไปถึงก็ตายแล้ว ถ้าไปถึงก็ตายแล้ว มันจะเป็นสันทิฏฐิโกที่นี่ได้อย่างไรอีกล่ะ
นี้เราอยากจะบอกว่า ไอ้ผลแห่งความดีที่ได้ทำไว้ ตามประสาโลก ประสาชาวโลก แล้วให้เกิดความยินดีความพอใจ ตามแบบชาวโลกที่ยังปรารถนากาม เมื่อได้กามตามที่ตนปรารถนาแล้ว นั่นแหละคือสวรรค์ จะไปแจกกี่ชั้นก็ได้ตามความพอใจ สวรรค์หรือกามารมณ์ที่มนุษย์ได้รับอยู่นี้ แจกเป็นกี่ชั้นก็ได้ตามตัวหนังสือนั้นแหละ ไอ้ชั้นสูงสุดที่เรียกว่าปรนิมมิตวสวัตตีนั้นน่ะ มีคนคอยสนองความต้องการทุกกระเบียดนิ้ว บริโภคกามโดยมีคนคอยสนองตามความต้องการ ไอ้ที่หยิบกินเองอะไรเองนี้ มันยังต่ำ ๆ ลงมา ก็คือเรื่องกามารมณ์ทั้งกลุ่ม แบ่งออกเป็นกี่ชั้นก็ตามใจ เรามาชี้ที่ความรู้สึกของจิตที่เป็นไปตามอำนาจของกามารมณ์ มีอยู่หลาย ๆ ระดับว่า นี้สวรรค์ ๖ ชั้น
ทีนี้มาถึงพรหม รูปพรหม ๑๖ ชั้น เขาก็ว่าอยู่ในโลกที่สูงกว่าสวรรค์ขึ้นไปอีก ขึ้นไปข้างบนอีกนู่น พูดกันไม่ได้แล้วกับคนสมัยนี้ ซึ่งเขาขึ้นไปโดยยานอวกาศแล้วก็ไม่พบอะไรเลยนั้น มันพูดกันไม่ได้ แต่เราก็บอกว่า ไอ้สวรรค์นั้นมันก็อยู่ในจิตที่ข้องแวะอยู่กับกามารมณ์ ไอ้พรหมนี้มันก็อยู่ในจิตเมื่อไม่ข้องแวะกับกามารมณ์ เมื่อเป็นสมาธิแล้วก็ไม่ข้องแวะกับกามารมณ์ ถ้าสมาธินั้นมันมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ ก็เรียกว่า รูปฌานหรือรูปสุข จิตที่มีความรู้สึกต่อรูปฌานต่อรูปสุขนี้ เราเรียกว่ารูปพรหม แบ่งเป็น ๑๖ ชั้นหรือกี่ชั้นก็ได้ทั้งนั้น แต่เดี๋ยวนี้เขาก็นิยมแบ่งเป็น ๑๖ ชั้นตามแบบของฌานทั้ง ๔ ฌานแต่ละทั้ง ๔ นี้มันแบ่งออกย่อย ๆ ไปได้ มันต่างกันนิด ๆ ๆ ๆ นี่ก็เลยเป็นได้รูปพรหม ๑๖ ชั้น
นี้ส่วนอรูปพรหม ๑๖ ชั้นน่ะ มันเก่งกว่านั้นไปอีก เขาก็ยิ่งว่ายิ่งสูงขึ้นไปอีก อยู่ข้างบนยิ่งขึ้นไปอีก อาตมาบอกว่ามันอยู่ที่ในใจ เมื่อใดจิตนี้มันเข้าถึงอรูปฌาน มีอรูปสุขตามแบบของฌาน ไม่ใช่สุขอย่างชาวบ้านนี่ มันก็เป็นอรูปพรหม ๔ นี่ก็บอกในลักษณะที่ว่า มันอยู่ในใจทั้งนั้น เพื่อความเป็นสันทิฏฐิโก ดังนั้นเราก็พูดภูมิ ๓๑ เหมือนกัน แต่เราพูด ๆ แบบสันทิฏฐิโก อยู่ในใจ หาดูได้ในใจนี่
นี้เขามาพูดว่า เราไม่อธิบายเรื่องนี้เสียเลย ไม่พูดถึงเรื่องนี้เสียเลยก็ไม่ถูก เราพูดยิ่งกว่าพูด แล้วก็เราพูดชนิดที่มันมีอยู่ในใจ สัมผัสได้ด้วยใจ ด้วยเอ่อ, โดย ๆ บุคคลทุกคน มันเป็นสันทิฏฐิโก เมื่อเขาพูดอย่างที่มีอยู่ที่อื่น อยู่ใต้ดินบ้าง อยู่บนฟ้าบ้าง เราไม่พูด เพราะพูดอย่างนั้นมันพูดตามคนเก่า ๆ เก่าก่อนพระพุทธเจ้าเสียอีก เขาพูดกันอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วไม่มีประโยชน์อะไร ไม่รู้สึกได้ พูดอย่างรู้สึกได้เป็นสันทิฏฐิโก แล้วก็ต้องอยู่ในใจทั้งนั้น ปู่ย่าตายายเขาก็พูดไว้ดีแล้ว สวรรค์ในอก นรกอยู่ในใจ นี้มันก็หาดูได้ในใจนี่ ก็เป็นอันว่าเราก็พูดตามที่บรรพบุรุษของเราที่เป็นชาวพุทธเขาได้พูดกันมาแล้ว
ดังนั้นจึงขอบอกให้รู้ว่า ไอ้ชาตินั้นน่ะพูดตามแบบปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้า ไม่ได้พูดตามความรู้สึกคิดนึกเอาเองของตนเอง ไอ้ภูมิทั้งหลายก็ได้พูดแบบสันทิฏฐิโก ที่หาพบในจิตใจของตัวเอง ที่จะต้องไปค้นกันใต้ดินหรือบนฟ้านั้น ก็ยกไว้ให้พวกเหล่านั้นเขาไปค้นกันเถิด อาตมาไม่สนใจ สนใจแต่จะค้นดูจากภายในใจว่า มันมีอยู่จริง มันอาจจะเปลี่ยนได้ ๓๑ อย่างตามแบบที่เขานิยมพูดกันมานี้ได้จริง แต่มันมีตัวจริงคนละอย่าง ใช้ ๆ หลักเกณฑ์อันนั้นได้ว่า ไอ้ ๓๑ ภูมินั้นน่ะ จิตเปลี่ยนได้ ๓๑ อย่าง อย่างที่ว่ามาแล้ว ดูได้ในใจ เป็นสันทิฏฐิโก นี้อาตมามีความเข้าใจอย่างนี้ ยืนยันอย่างนี้ แนะนำอย่างนี้ เรื่องหรือในเรื่องนี้
ทีนี้ที่มันจะต้องพูดกันอีก ที่เขาหยอดไว้ตอนท้ายว่า เรื่องนิพพาน เมื่อไม่ ๆ ยินดียินร้าย เมื่อไม่มีกิเลสนั้นเป็นนิพพาน อาตมาขอยืนยันอีกตลอดเวลาว่า เมื่อไม่มีกิเลสจิตอยู่ด้วยนิพพาน เมื่อว่างจากกิเลสแม้แต่นิดหนึ่ง มันก็มีนิพพานนิดหนึ่งแหละ จิตว่างจากกิเลสเท่าไร มันก็มีนิพพานเท่านั้น จิตว่างจากกิเลสชั่วคราวก็มีนิพพานชั่วคราว จิตว่างกิเลสเด็ดขาด ก็เป็นนิพพานจริง นิพพานถาวร ดังนั้นพยายามที่จะอย่าให้กิเลสเกิดขึ้น จะได้อยู่กับนิพพาน
ไอ้นิพพานนี้จำเป็นที่เราจะต้องมี คือเย็นเพราะว่างจากกิเลสนั้นต้องมี ต้องมีอยู่ให้พอสมควร ถ้าไม่มีพอสมควร จะเป็นโรคประสาท จะเป็นบ้าและตาย มันต้องมีความเย็นของจิตที่มันว่างจากกิเลส ในอัตราที่พอสมควร สมมติว่าเวลา ๒๔ ชั่วโมงนี้ เราว่างจากกิเลส เป็นจิตว่างจากกิเลส อยู่กับนิพพานสัก ๑๘ ชั่วโมงหรือ ๒๐ ชั่วโมงก็ดี ให้กิเลสรบกวนเพียงไม่กี่ชั่วโมง นี้จะรอด รอดชีวิตอยู่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นโรคประสาทจะตาย ถ้ากิเลสเผาอยู่ทั้ง ๒๔ ชั่วโมง มันก็ตายแน่ ดังนั้นมันว่างไปเสียบ้าง อยู่กับพระนิพพานบ้าง แล้วก็เราก็จะรอดอยู่ได้
นี่นิพพานนี้ นิพพานแท้จริงของธรรมชาติ ไม่ใช่นิพพานสมมติอย่างในลัทธิอื่น ๆ ซึ่งสอนตกทอดกันมาจนมาปนเปอยู่ในหมู่พุทธบริษัท นิพพานต่อตายแล้ว นิพพานอีกกี่อสงไขยกัป กี่กัปก็ไม่รู้ อย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร พุทธศาสนาไม่สอนอย่างนี้ คือมีหลักว่า เมื่อไรจิตว่างจากกิเลส ไม่มีความหมายแห่งตัวกูของกู จิตดับเย็นสงบ นี้เป็นนิพพาน ชั่วคราวก็เรียกว่าสามายิกนิพพาน รู้สึกได้ด้วยตนเองก็เรียกว่าทิฏฐธรรมิกนิพพาน ขอให้สนใจว่า นี้เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตเราให้อยู่ได้ เราอาศัยพระนิพพานจึงรอดชีวิตอยู่ได้ ถ้าเราไม่มีนิพพานในระดับใดระดับหนึ่งอยู่ในจิตในใจแล้ว เราตายหมดแล้ว ไม่ได้มานั่งกันอยู่ที่นี่ เพราะมันเป็นบ้าตาย เป็นโรคประสาทตาย เป็นอะไรตาย เพราะกิเลสมันรบกวนตลอดเวลา
ดังนั้นขอให้นึกว่า เมื่อไรว่างกิเลส เมื่อนั้นมีนิพพาน ชนิดนั้น เท่านั้น ชั่วเวลานั้น โดยปริมาณนั้น ๆ เรารอดชีวิตอยู่ได้ เพราะพระนิพพานเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่กับเราเองตลอดเวลา ช่วยเราให้เป็นมนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ เรากลับไม่รู้พระคุณของพระนิพพาน ก็เป็นสัตว์เนรคุณไปเท่านั้นเอง ชีวิตนี้มันรอดอยู่ได้ เพราะพระนิพพานโดยธรรมชาติอย่างนี้หล่อเลี้ยงไว้ เมื่อใดจิตว่างจากกิเลส เมื่อนั้นเป็นพระนิพพานชนิดหนึ่ง ดังนั้นไปสังเกตดูให้ดีว่า เมื่อไรจิตว่างจากกิเลส
ดังนั้นเป็นอันว่า อาตมาได้มี ก็ได้กล่าวไปตามเหตุผลว่า ชาติมันเป็นอย่างนี้ ไอ้ภูมิ ๓๑ มันเป็นอย่างนี้ และพระนิพพานโดยแท้จริงนั้นน่ะ มันคือความว่างจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตนี้ประภัสสร คือว่างจากกิเลส แล้วกิเลสก็จรมาเป็นคราว ๆ เหมือนแขก อีกบทหนึ่งว่า ปกติวิสุทฺธมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ แปลว่าจิตนี้มีความบริสุทธิ์อยู่เป็นปรกติ มีความบริสุทธิ์อยู่เป็นปรกตินะ ซึ่ง ๆ ๆ ว่าคนเหล่านี้อาจจะไม่ค่อยได้ยินนัก จะได้ยินแต่พวกว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว
ส่วนบทที่ว่า ปกติวิสุทฺธมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ นี้ไม่ค่อยจะได้ยิน ความหมายก็คล้ายกันแหละ จิตนี้มีปรกติ วิสุทธิ์คือบริสุทธิ์ ว่างจากกิเลสอยู่เป็นปรกติ ตามธรรมชาติเดิมมันเป็นอย่างนั้น ทีนี้กิเลสมันเข้ามาเป็นคราว ๆ มันก็สูญเสีย สูญเสียความบริสุทธิ์เป็นคราว ๆ เท่านั้น พอไอ้กิเลสนี้ไม่มา มันก็เป็นประภัสสรหรือปรกติอยู่ตามธรรมชาติ นั่นแหละคือชีวิตที่มันรอดอยู่ได้ หรือชีวิตจริงเมื่อ ๆ ไม่มีกิเลสเข้ามารบกวน ขอให้รู้จักไว้ให้ดี พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ถ้าใครไม่รู้ความจริงเรื่องนี้ คนนั้นจะไม่มีการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง เอ้า, เป็นอันว่าพูดแล้วทั้งเรื่องชาติและเรื่องภูมิ ๓๑ หรือกลับข้อเสียแล้วล่ะ เออ, กลับข้อแล้ว เอ้า, ว่า ๆ ไปใหม่ คำถามต่อไป
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบายนิพพานอันเป็นธรรมที่ลุ่มลึกแสนยากให้เป็นของง่าย เป็นการเหยียบหยามความตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เช่น อธิบายว่า มีนิพพานเมื่อมีสติควบคุมอารมณ์ไม่ให้ยินดียินร้ายได้ ก็เป็นนิพพานแล้ว เป็นต้น นี้มันเป็นอย่างไรกันครับ
ตอบ : นี่ว่าอธิบายนิพพานด้วยความรู้ของตน เหยียดหยามความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราก็ตอบว่า ที่อธิบายอย่างที่อธิบายนั้นแหละ อธิบายตามพระพุทธเจ้า ถ้าอธิบายผิดไปจากนี้ นอกจากนี้แล้ว ไม่ใช่นิพพานของพระพุทธเจ้า นิพพานลุ่มลึกแสนยากนี้ ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าลุ่มลึกแสนยาก แต่ก็ไม่พ้นจาก ไม่พ้น ไม่ ๆ เหลือวิสัยของมนุษย์ เมื่อจิตว่างจากกิเลส เป็นอัน เป็นนิพพานชนิดหนึ่งชั่วคราว ตาม โดยธรรมชาติ นี้ก็มีหลักที่ ๆ ๆ ตายตัวอยู่ใน ๆ ๆ คำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ไปคิดดูเอาเองด้วยสามัญสำนักก็ได้ว่า ถ้าจิตไม่มีกิเลสแล้วมันจะเป็นอะไร
เมื่อไรไม่มีกิเลส มันก็ สะอาด สว่าง สงบ มันก็เย็นตามความหมายของคำว่านิพพาน คำว่านิพพานนี้ ตัวหนังสือแท้ ๆ แปลว่าเย็น เขายืมเอามาจากคำว่าเย็นของชาวบ้าน ไปใช้ในเรื่องของพระธรรมหรือเรื่องของพระศาสนา เรื่องของพระศาสนาเพิ่งพบทีหลัง เมื่อ ฤษี มุนี โยคี เข้าใจพระนิพพานตามความหมายของตัว ของ ๆ ๆ ท่าน แล้วก็ยืมคำนี้ไปใช้ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องนิพพาน ท่านก็ยืมคำ ๆ นี้ไปใช้ ดังนั้นคำว่านิพพานมีอยู่ด้วยกันในลัทธิทุก ๆ ลัทธิ แต่ความหมายมันต่างกัน แต่ความหมายอันแท้จริงนี้ มันหมายถึงเย็น ปราศจากร้อน อะไรร้อน ก็กิเลส เมื่อมันไม่มีกิเลสก็ไม่ร้อน เมื่อไม่ร้อนก็คือเย็น
สำหรับภาษาชาวบ้านนั้น วัตถุเย็น เขาก็เรียกวัตถุนิพพาน สัตว์เดรัจฉานเย็นไม่มีพิษร้าย เขาก็เรียกสัตว์เดรัจฉานนิพพาน จิตใจเย็นก็เรียกว่าจิตใจมันนิพพาน นี้คำว่าเย็น นี่หลายขนาด บาง ๆ พวกถือว่า มีกามารมณ์แล้วใจมันก็เย็น อิ่มไปด้วยกามารมณ์ใจก็เย็น พวกนี้ก็เอากามารมณ์เป็นนิพพาน พวกที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ไม่ใช่ ๆ จิตเป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นสมาบัติ นี้เย็น เอ้า, สมาบัติก็เป็นนิพพาน พระพุทธเจ้า ไม่ใช่ ๆ ต้องหมดกิเลส ต้องสิ้นกิเลส แล้วก็เย็น แล้วก็นี้เป็นนิพพาน นี่มันจริงกว่าอย่างนี้
เราก็ยกตัวอย่างเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจคำว่านิพพาน ในให้เข้าใจไอ้เรื่องที่ลึกได้ ก็ด้วยการยกตัวอย่างอย่างนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นการเหยียดหยามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นถ้าใครต้องการนิพพานชิมลอง นิพพานชั่วคราว นิพพานในปริมาณหนึ่งแล้ว ก็จงพยายามอย่าให้เกิดความร้อนขึ้นในจิตใจ คืออย่าให้กิเลสเกิดขึ้นในจิตใจนั้นเอง ก็จะได้ชิมรสของพระนิพพานไปเรื่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ ถ้าอยู่ด้วยการชิมรสของพระนิพพานอยู่เรื่อย ๆ แล้ว กิเลสจะผอมลง ๆ เพราะว่ากิเลสมันไม่ได้อาหาร มันผอมลง ๆ ถึงโอกาสหนึ่งมันก็สิ้นไป
ดังนั้นจงอยู่ด้วยการกระทำอย่าให้โอกาสแก่กิเลส อย่าให้กิเลสเกิดขึ้น อยู่กับพระนิพพานไว้เรื่อยไป กิเลสจะไม่มีโอกาส พูดโดยสมมติว่า ไอ้ ๆ บ้านเมืองของกิเลสนั้น มันจะทรุดโทรมลงพังทลายไป จิตใจนี้ก็จะเป็นที่อยู่อาศัยของพระนิพพานตลอดเวลา ก่อนนี้เรามีพระนิพพานเฉพาะครู่เฉพาะยามที่กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นรบกวน เดี๋ยวนี้เราทำลายกิเลสหมดไปแล้ว เราก็อยู่กับพระนิพพานตลอดเวลา
การ ๆ ทำให้เข้าใจพระนิพพานโดยละเอียดตามที่พระพุทธเจ้าประสงค์อย่างนี้ ไม่ใช่เป็นการเหยียดหยามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือให้รู้จักพระนิพพานในความหมายทั่วไป นิพพานที่เข้าถึงได้ นิพพานที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราอยู่ เป็นอันว่าไม่ได้เหยียดหยามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า นี่เมื่อเรามีเจตนาอย่างนี้ ก็มีคนหาว่าเหยียดหยามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มันก็เป็นเรื่องที่น่าล้อ แล้วก็เอามาล้อเสียในวันนี้ด้วย เอ้า, เรื่องอื่นต่อไป
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวว่าคนทั่วไปสามารถเรียนรู้พุทธศาสนาได้ภายใน ๑๕ นาที นี้มันมีข้อเท็จจริงอย่างไรครับ
ตอบ : มันเป็นการเล่นลิ้นเพื่อจะด่าเรา เราไม่ได้บอกว่าคนสามารถเรียนพุทธศาสนาได้ใน ๑๕ นาที แล้วคำนี้เราก็ไม่ได้กล่าว ดูเหมือนนายปุ่นมากกว่า แต่เราจะกล่าวให้ยิ่งกว่านั้นว่า พุทธศาสนานี้เรียนได้ในพริบตาเดียว ๑๕ นาทียังนานนัก คือว่าพุทธศาสนานั้น ถ้าจะให้เรียนกันภายในสิบห้านาที มันก็เรียนได้โดยเรียนอย่างนี้ ๆ นี้ถ้าจะเรียนกันได้ในพริบตาเดียวก็ได้ ให้เรียนกันอย่างนี้ ๆ คือให้เรียนรู้เช่นนั้นเอง รู้ความเป็นเช่นนั้นเอง พูดได้ด้วยคำเพียง ๓ พยางค์ว่า ถ้าเช่นนั้นเอง รู้เช่นนั้นเอง ถึงเช่นนั้นเอง นั่นน่ะคือรู้พุทธศาสนาหมดสิ้น
หลักปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนากี่ระบบ มัน ๆ ๆ ไป ๆ รวมอยู่ที่จุดปลายว่า รู้ความเป็นเช่นนั้นเอง คือเป็นยถาภูตญาณทัสสนะ รู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่า เอ้า, มันเป็นเช่นนั้นเอง ที่แจกเป็นรายละเอียดก็คือปฏิจจสมุปบาทอันยืดยาวนั้นน่ะไปดูเถิด แล้วมันก็รู้เช่นนั้นเอง รู้เช่นนั้นเอง รู้เช่นนั้นเอง จนถึงอันสุดท้าย เรื่องปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตาซึ่งครอบโลกน่ะ มันสรุปเหลืออยู่เพียงว่า ตถตา เป็นอย่างนั้น อวิตถตา ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตา ไม่เป็นโดยประการอื่นไปจากความเป็นอย่างนั้น ธัมมัฏฐิตตา เป็นความตั้งอยู่โดยความเป็นธรรมดาของธรรมชาติ ธัมมนิยามตา เป็นกฎตายตัวของธรรมดา
อันนี้มันยุ่งยากลำบากมากเรื่อง ไม่ต้องจำก็ได้ อย่าไปจำเลย จำคำว่าตถตาไว้คำเดียวก็พอ แปลว่าเป็นเช่นนั้น เป็นเช่นนั้น ก็จะเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นน่ะคือเช่นนั้นเอง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าจะแยกออกไปเป็นว่า มันปรุงแต่งกันเป็นสายยาวออกไปเป็นปฏิจจสมุปบาท กระทั่งว่ามีอายตนะ มีผัสสะ มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน มีทุกข์ มันก็คือเช่นนั้นเอง ที่ต้องทุกข์มันก็เพราะเป็นเช่นนั้นเองอย่างนั้น ที่ได้ไม่ต้องทุกข์ก็เพราะมันเป็นเช่นนั้นเองอย่างนั้น ดังนั้นเรามีเช่นนั้นเองไว้เป็นเครื่องดับทุกข์
อะไรเกิดขึ้นมาก็เห็นเช่นนั้นเองไว้ก่อน แล้วก็จะไม่รัก แล้วก็ไม่เกลียด จะไม่โกรธ จะไม่กลัว ไม่วิตกกังวลอะไรหมด เพราะมันเช่นนั้นเอง ถ้ามันเกิดทุกข์ขึ้นมา มันก็เห็นเช่นนั้นเองของความทุกข์ แล้วก็หาเช่นนั้นเองของความดับทุกข์ที่มันเป็นคู่ปรปักษ์กันเข้ามาสิ ไอ้เช่นนั้นเองอย่างนี้ไม่เป็นทุกข์ เราก็เช่นนั้นเองที่ ๆ ๆ มันดับทุกข์ เอาเข้ามาสิ มาฟัดกับเช่นนั้นเอง ไอ้เช่นนั้นเองกับเช่นนั้นเองมันก็ฆ่ากันเองน่ะ ในที่สุดไอ้ความทุกข์มันก็ดับไป เพราะเรามีเช่นนั้นเองฝ่ายที่ดับทุกข์หรือฝ่ายพระนิพพาน
นี่พุทธศาสนาเรียนได้ในพริบตาเดียวก็ด้วยคำว่าเช่นนั้นเอง ถ้าจะไปแจกเป็นอริยสัจจ์ ๔ เป็นเรื่องอนัตตา เป็นเรื่องกรรม เป็นเรื่องอะไร มันก็ ๆ กินเวลาตั้ง ๑๕ นาทีหรือกว่านั้น การที่เอามาพูดใน ๑๕ นาทีนั้นน่ะ เอามาแต่หัวใจ หรือจะตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าเราอยากเรียนพุทธศาสนาใน ๑๕ นาที เราจะเรียนอะไร เรียนอย่างไร ก็บอกอย่างนี้เป็นหลักอริยสัจ หลักเรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องพระนิพพาน ก็จะเรียนใน ๆ พริบตาเดียว ในชั่วอึดใจเดียวนี่ ก็เรียนเรื่องเช่นนั้นเอง ถึงความเป็นเช่นนั้นเอง รู้เรื่องความเป็นเช่นนั้นเอง มันก็จบพระพุทธศาสนาทั้งหมด
นี่กล้าบอกกล้ายืนยันว่า ท่านทั้งหลายช่วยจำไว้ว่า หัวใจของพุทธศาสนา ถ้าจะเอาให้เข้มข้นกันที่สุดกว่าที่เคยพูดมาแต่ก่อน ๆ แล้วก็ มันจะมาพูดใหม่เดี๋ยวนี้ว่า หัวใจพุทธศาสนาคือคำว่า เช่นนั้นเอง สามพยางค์นั้นน่ะ ไม่มีอะไรล่ะที่จะไม่ ๆ เป็นเช่นนั้นเอง ทางวัตถุก็เช่นนั้นเอง ทางจิตทางนามธรรมก็เช่นนั้นเอง กิริยาอาการของมันก็เช่นนั้นเอง การปรุงแต่งของมันก็เช่นนั้นเอง เกิดสุขเกิดทุกข์ขึ้นมามันก็เช่นนั้นเอง
จงพยายามศึกษาไอ้คำว่า เช่นนั้นเอง อยู่ให้เป็นที่เข้าใจและแจ่มแจ้งอยู่เสมอ อะไรเกิดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เห็นชัดเหลือชัดเลยว่า เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ก็ไม่หลงรักหลงเกลียด ไม่หลงยินดี ไม่หลงยินร้าย กิเลสเกิดไม่ได้เพราะอำนาจของเช่นนั้นเอง หัวใจของปฏิจจสมุปบาท สรุปอยู่ที่คำว่าเช่นนั้นเอง ปฏิจจสมุปบาทคือคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนา คือสอนว่าทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรและดับไปอย่างไร สมตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ฉันไม่พูดเรื่องอื่น ฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น เดี๋ยวนี้ก็ดี ต่อไปข้างหน้าก็ดี
ทีนี้ไอ้ความทุกข์และความดับทุกข์นี้ มันรวมอยู่ที่คำว่าเช่นนั้นเอง เรียกว่าตถตาก็ได้ ตถาตาก็ได้ ตถาเฉย ๆ ก็ได้ ในพระไตรปิฎกมีอยู่ทั้งสามคำน่ะ ทั้งตถา ทั้งตถตา ทั้งตถาตา นี้ใครถึงตถา คนนั้นก็เป็นตถาคตน่ะ ตถา แล้ว คต ตถาก็เช่นนั้นเอง คต แปลว่าถึง ผู้ใดถึง ๆ ตถา ผู้นั้นชื่อว่าตถาคต คือว่าถึงความสูงสุดของสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้จะถึง มันถึง ๆ ไอ้เช่นนั้นเอง
ไอ้เช่นนั้นเองที่ ๆ ตัวใหญ่ที่สุดก็คือพระนิพพาน พระนิพพานมีความเป็นเช่นเองตามแบบของพระนิพพาน เป็นเช่นนั้นเองที่ยิ่งใหญ่กว่าเช่นนั้นเองใด ๆ ดังนั้นถึงตถาก็ถึงพระนิพพาน เป็นตถาคต ถ้าถึงตามลำพังตนเองก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าถึงโดยการศึกษาเล่นเรียนของพระพุทธเจ้าก็เป็นพุทธสาวก แต่แล้วในที่สุดต้องถึงความเป็นเช่นนั้นเองด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าอยากจะเรียนพุทธศาสนาวิธีลัดสั้นที่สุดก็เรียนเรื่องเช่นนั้นเอง นี้มันไม่เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา หรือว่าดูหมิ่นคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาอันสั้น ยิ่งสั้นยิ่งดี ไม่เช่นนั้นมันก็ตายเสียก่อน เราไม่ยอมรับว่า นิพพานต่อตายแล้วอีกหลายหมื่น หลายแสน หลายล้านชาติ อันนี้เราไม่ยอมรับ แล้วก็ไม่อยากจะให้ท่านทั้งหลายยอมรับ เพราะนิพพานต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ และนิพพานมีอยู่เองแล้วแต่ก่อนนี้ คือเมื่อว่างจากกิเลสเป็นนิพพานอยู่แล้ว แล้วก็ต้องทำให้มันยิ่งขึ้นไปที่นี่และเดี๋ยวนี้ก่อนแต่เข้าโลง ขยายนิพพานชั่วคราว นิพพานเล็ก ๆ น้อย ๆ น่ะ ให้มันเต็มที่ขึ้นมาเสียให้ได้ก่อนแต่ที่จะเข้าโลง นี้คือวิธีเข้าไปหาพระพุทธศาสนา เข้าไปหาพระพุทธเจ้า เข้าไปหาพระนิพพาน โดยวิธีที่ลัดสั้นที่สุดที่เราชอบ แล้วเขาหาว่าเราเป็นคนทำลายพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องที่น่าล้อแล้วก็เอามาล้อ เอ้า, เรื่องอื่นต่อไปดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบายอย่างตื้น ๆ ไม่เป็นพุทธศาสนา แต่เป็นของเดียรถีย์ เช่น อธิบายว่า นรกเป็นความทุกข์ทา งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์เป็นความสุขทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : ใจความของคำถามหรือข้อสงสัยนั้นมันว่า อธิบายนรกสวรรค์ทางอายตนะนั้น เป็นของตื้น ๆ ไม่เป็นพุทธศาสนา แต่เป็นของเดียรถีย์ ไอ้คนนั้นมันโง่ มันไม่ ๆ รู้จักคำว่าเดียรถีย์ มันไม่ระบุลงไปว่าเดียรถีย์อื่น คำว่าเดียรถีย์นั้นมัน ๆ แปลว่าเจ้าลัทธิ ลัทธิไหนก็ได้ แม้พุทธศาสนาก็เป็นเดียรถีย์หนึ่ง ที่เขาว่าอย่างนี้ว่า เป็นเดียรถีย์นั้น ก็ต้องเติมคำว่าอื่นเข้าไปด้วย ในพระบาลีพระไตรปิฎกนั้น ไปเปิดดูทั้งพระไตรปิฏก จะมีพบคำว่า อัญญเดียรถีย์ คือเดียรถีย์อื่น อื่นนั้นนอกจากพุทธศาสนา
นี่คนนี้มัน มันไม่รู้ มันใช้ไม่เป็น มันว่าเป็นของเดียรถีย์ มันไม่รู้ว่าเดียรถีย์นั้นแปลว่าลัทธิเท่านั้นแหละ เจ้าลัทธิ ต้องเป็นเจ้าลัทธิด้วยจึงจะเรียกว่าเดียรถีย์ ถ้าเป็นลูกน้องก็เรียกว่าสาวกเดียรถีย์ อาตมานี้เป็นสาวกเดียรถีย์ คือพระพุทธเจ้า แต่ไม่เป็นสาวกของเดียรถีย์อื่นที่เรียกอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก นี่อยู่พร้อมหน้ากันแล้วนะ ขอประกาศตัวนะว่า พุทธทาสเป็นสาวกของเดียรถีย์คือพระพุทธเจ้า ทำไมพูดอย่างนี้ เพราะคำว่าเดียรถีย์เป็นคำกลาง ๆ ผิดก็ได้ ถูกก็ได้ ถ้าจะให้ผิดต้องเติมคำว่าอัญญเดียรถีย์เข้าไป เดียรถีย์อื่นนอกจากพระพุทธศาสนา ไปดูในพระไตรปิฎก เมื่อกล่าวเอ่ยถึงเดียรถีย์จะต้องมีคำว่าอื่นด้วยเสมอไป ไม่มีคำว่าเดียรถีย์เฉย ๆ
คำว่าเดียรถีย์ ถ้าเป็นบาลีมันก็เป็น ติตฺถิย คำนี้มาจากคำว่า ติตฺถ ที่แปลว่าท่าจอดเรือ ธรรมดาว่าท่าจอดเรือนั้นมันหมายความว่า มันมีเรือไปจอดมาก แล้วก็จอดตามความต้องการของตน ๆ เรือฟืนไปจอดท่าฟืน เรือผักไปจอดท่าผัก เรือปลาไปจอดท่าปลา นั้นน่ะก็เรียกว่าท่าจอดเรือ เป็นที่รวมของเรือ เรียกว่า ติตฺถ ทีนี้ลัทธิศาสนาที่มีพระศาสดาแต่ละองค์บัญญัติขึ้น ๆ นี้ มันเป็นเหมือนกับท่าจอดเรือ ใครชอบท่าไหนก็ไปที่ท่านั้น มันก็เกิดเป็นหลายท่าเรือขึ้นมา ติตฺถิย นี้แปลว่าเสมือนดั่งท่าจอดเรือ คำว่าเดียรถีย์นั้นแปลว่าเสมือนดั่งท่าจอดเรือ ใครชอบท่าไหนก็ไปจอดท่านั้น
แต่ถ้าในพุทธศาสนานี้ เราก็เป็นท่าหนึ่งซึ่งมีอะไร ๆ อย่างนี้ ใครชอบก็มา ใครไม่ชอบก็ไปท่าอื่น ซึ่งท่านเรียกว่าเดียรถีย์อื่น อฺติตฺถิย ก็มี อฺติตฺถิยปริพฺพาชก ก็มี แต่ท่าจอดเรืออื่นนั้นน่ะคือมิจฉาทิฏฐิ ถ้าจะเป็นมิจฉาทิฏฐิต้องเรียกให้ถูกต้องตามพระบาลีว่าเดียรถีย์อื่น ถ้าว่าเป็นท่าจอดนี้แล้วมีคำว่า อิธ อิธ ภิกฺขเว นี้ อิธ ท่านี้ ในธรรมวินัยนี้ ธรรมวินัยนี้คือท่าจอดเรือนี้ ในธรรมวินัยนี้เขาถือกันอย่างนี้ ๆ ๆ ถ้าใน อัญ อฺติตฺถิย คือท่าจอดเรืออื่นนั้น เขาถือกันอย่างโน้น ๆ
ดังนั้นเขาหาว่า อาตมาไปเอาคำสอนของเดียรถีย์มา ก็บอกว่า ก็ได้เหมือนกันถ้าเดียรถีย์นั้นคือพระพุทธเจ้า เดียรถีย์แปลว่าเจ้าลัทธิ มีอยู่มากมายหลายอย่าง พระพุทธเจ้าก็เป็นเจ้าลัทธิองค์หนึ่ง ก็เรียกว่าเดียรถีย์องค์หนึ่ง เดียรถีย์นี้ นอกนั้นก็เรียกว่าเดียรถีย์อื่น มีมากมาย ดังนั้นถ้าใครจะด่าอาตมาว่า เป็นเดียรถีย์นี้ มันไม่ถูกหรอก เพราะไม่ได้เป็นเจ้าลัทธิ แต่ถ้าด่าว่าเป็นสาวกเดียรถีย์แล้วถูกต้องที่สุด คือเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเดียรถีย์หนึ่ง แต่ถ้าด่าเป็นสาวกของอัญญเดียรถีย์นี้ ไม่เป็นไปได้ ไม่ถูกเลย เพราะอาตมาไม่เป็นสาวกของเดียรถีย์อื่น นอกจากเดียรถีย์นี้
นั่นแหละขอให้เข้าใจคำว่าเดียรถีย์กันเสียให้ถูกต้อง ภาษาไทยมันพูดสั้น ๆ กำกวม พูดว่าเดียรถีย์เฉย ๆ แล้ว ก็หมายถึงไอ้พวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่ถูกน่ะ คำว่าเดียรถีย์เฉย ๆ หมายถึงกลาง ๆ เดียรถีย์นี้คือพระพุทธเจ้า เดียรถีย์อื่นคือว่ามิจฉาทิฏฐิทั้งหลายทั้งปวง อาตมาเป็นสาวกของเดียรถีย์คือพระพุทธเจ้า ขอยืนยันอย่างนี้เสมอไป
ดังนั้นการอธิบายธรรมะใด ๆ ก็เป็นการอธิบายตามหลักแห่งพุทธเดียรถีย์ ไม่ใช่เดียรถีย์อื่นซึ่งเต็มไปทั้งพระไตรปิฎกด้วยเหมือนกัน อธิบายว่า นรกมีอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้พระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่ใช่อาตมาว่า นรกอยู่ที่อายตนะ เรียกว่า อายตนิกะนรก นรกที่เป็นไปทางอายตนะ คือเป็นไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือเมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำผิด เกิดเป็นทุกข์เป็นร้อนขึ้นมา นรกนี้เรียกว่านรกทางอายตนะ ทีนี้สวรรค์ก็เหมือนกัน เมื่อทำถูกต้องทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นความเอร็ดอร่อยทางกามารมณ์ นี้ก็เรียกว่า อายตนิกะสัคคะ สวรรค์ สวรรค์ทางอายตนะ
นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ มีหลักฐานอยู่ในสังยุตตนิกายพวกนั้นน่ะไปเปิดดูก็ได้ แต่นี้คนนี้มันโง่ มันไม่เคยเห็น มันไม่เคยได้ยินได้ฟัง มันว่าอาตมาว่าเอาเอง เอ่อ, ทีนี้เราอย่าว่าใครว่าเลย อย่าว่าพระพุทธเจ้าว่ากันมาว่า ตนเองน่ะจงดูเถิดว่า ไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันร้อนขึ้นมาก็ได้เมื่อทำผิด มันเป็นนรกอยู่ที่นี่ จริงกว่า สันทิฏฐิโกที่สุดเลย สวรรค์ก็เหมือนกัน สบายใจ พอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อไร ก็เป็นอยู่ที่นั่นแหละ ที่ใจน่ะ ที่มาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย พระพุทธเจ้าท่านตรัสให้ชัดขึ้นมาว่า นรกหรือสวรรค์มันเป็นไปที่อายตนะ
นรกใต้ดิน ไอ้สวรรค์บนฟ้าน่ะ พวกอื่นเขาพูดนะ เขาพูดอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่มีความประสงค์จะไปทะเลาะกับเขา ไปโต้แย้งกับเขา เออ, ว่าอย่างนั้นก็ว่าไป แต่ว่าฉันเห็น ๆ อย่างนี้จึงได้ตรัสว่า ไอ้นรกที่เป็นไปทางอายตนะนี้ฉันเห็นแล้ว สวรรค์ที่เป็นไปทางอายตนะนี้ฉันเห็นแล้ว แล้วก็เรียกชื่อชัด ๆ ว่า อายตนิกะนรก คือนรกที่เป็นไปทางอายตนะ อายตนิกะแปลว่าเป็นไปทางอายตนะ ทั้งนรกและทั้งสวรรค์มีได้ที่อายตนะ เป็นไปตามอายตนะ แล้วแต่ว่าอายตนะนั้นมันได้ปรุงแต่งกันอย่างไร ถ้าร้อนก็เป็นนรก ถ้าสบายพออกพอใจก็เป็นสวรรค์ คำพูดอย่างนี้ไม่มีใครเคยพูด ก่อนพระพุทธเจ้าไม่มีใครเคยพูด พูดแต่นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้ากันทั้งนั้น
แล้วมีอรรถกถาจารย์บางองค์ที่จะเขลาอะไรขึ้นมา ก็อธิบายว่า แม้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างนี้ มันก็ยังหมายถึงนรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้าอยู่นั้นเอง พระอาจารย์คนนี้เขาพูดว่า ไอ้นรกจะมาอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้อย่างไร มันคนโง่ไม่รู้ภาษาธรรมเสียเลย เป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถาที่พิมพ์ให้คนเรียนอยู่เดี๋ยวนี้แหละ ไปเปิดดูเถิด อรรถกถาของตอนนี้ พระอรรถกถาจารย์จะอธิบายว่า ไป ๆ มา ๆ ก็นรกใต้ดินสวรรค์บนฟ้าอยู่อีก ไม่ยอมรับว่ามันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเป็นไปตาม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นี้ผู้ที่สงสัยอย่างนี้มันเป็น ๆ สาวกของพระอรรถกถาจารย์ชนิดนั้น ซึ่งอาตมาไม่เอาด้วย มันไม่เป็นสันทิฏฐิโก มันไม่เห็นได้ด้วยตนเอง แล้วก็ไม่ใช่พุทธศาสนา มันต้องเป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพ มันจึงจะเป็นพุทธศาสนา มันเห็นด้วยอย่างยิ่ง บูชาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ที่ท่านตรัสว่า นรกเป็นไปทางอายตนะ สวรรค์เป็นไปทางอายตนะ
ขอให้พวกเราทุกคนควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ดี อย่าให้มันเกิดเป็นนรกขึ้นมา ถ้าต้องการสวรรค์ ทำให้มันเป็นสวรรค์อยู่เรื่อย แต่ถ้าไม่ต้องการนรกหรือสวรรค์แล้ว ก็อยู่เหนืออำนาจอายตนะเสียเลยดีกว่า ยกเลิกอิทธิพลของอายตนะเสียให้หมด ไม่เอานรก ไม่เอาสวรรค์ ก็คือเอาพระนิพพาน เมื่อไม่มีความหมายแห่งนรกหรือสวรรค์แล้วก็ มันก็เป็นนิพพาน คือสูงกว่านั้น เหนือนั้นขึ้นไป นรก สวรรค์มันอยู่ในโลก พระนิพพานอยู่เหนือโลก เหนืออำนาจของอายตนะ ข้อนี้ก็ตอบว่า อธิบายอย่างนี้เป็นพุทธศาสนาที่สุด เป็นของพุทธเดียรถีย์ที่สอนว่า นรกและสวรรค์เป็นไปตามอายตนะ เอ้า, คำอื่นดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบาย สวรรค์ นรก นิพพาน อย่างคนด้อยปัญญา อธิบายความตื้น ๆ โดยเปรียบเทียบให้เห็นง่าย ๆ เพียงชาตินี้ นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : นี่เขาหาว่า การอธิบายให้เห็นง่าย ๆ ในชาตินี้เป็นการกระทำของคนด้อยปัญญา ท่านทั้งหลายลองคิดดูเถิด การอธิบายให้เห็นได้ที่นี่ ในชาตินี้ เป็นสันทิฏฐิโกนี้ กลายเป็นคนด้อยปัญญา เราถูกด่าว่าเป็นคนด้อยปัญญา เพราะอธิบายให้เห็นได้ง่าย ๆ ว่า ที่นี่ เดี๋ยวนี้ และชาตินี้ เอ้า, ก็ดีเหมือนกัน ก็ดีเหมือนกัน เขาว่าน่ะไม่เป็นไร เราไม่ได้เป็น เราพยายามที่จะอธิบายให้เห็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ ในสิ่งที่เขาพูดว่าถึงต่อตายแล้ว มันนานเกินไป ไม่มีประโยชน์อะไร ต้องเห็นกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ โดยบทว่าสันทิฏฐิโกก็ได้ โดยบทว่าปัจจัตตังเวทิตัพโพก็ได้ ใครเป็นคนด้อยปัญญา ก็ไปพิจารณาดูเอาเองก็แล้วกัน พูดถึงเรื่องอื่นดีกว่า
ถาม : เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า กล่าวว่าเรื่องโลกิยธรรมไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า นี้ข้อเท็จ จริงเป็นอย่างไรครับ
ตอบ : นี้เขาว่า ถ้าเรื่องโลกิยธรรมแล้วเราเป็นผู้กล่าวว่า ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้อนี้ต้องอ้างหลักฐานประจักษ์พยานที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไป ที่ได้พิมพ์ขึ้นเป็นหนังเล่มหนังสือหลายร้อยเล่มแล้ว ไปเปิดดูเถิด ได้พูดอย่างนี้ที่ไหน เรื่องโลกิยธรรมนั้น ถ้ามีแง่พูดก็พูดว่า มันเป็นของคนด้อยปัญญาก่อนพุทธกาล พูดกันอยู่ก่อนพุทธกาล เรื่องโลกิยธรรมทั้งหลายน่ะ เขาพูดกันอยู่แล้ว ก่อนพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิด นี้พอพระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้น จะทำอย่างไรล่ะ เมื่อเขาเชื่อกันอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านก็ต้องพูดให้ดีที่สุด ที่จะให้ได้ประโยชน์แก่คนเหล่านั้น
จะยกตัวอย่างให้ฟังว่า เมื่อพอ ๆ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมา เขา คนน่ะเขาเชื่อเรื่องนรกเรื่องสวรรค์อย่างนั้นอยู่แล้ว เชื่อตายตัวเด็ดขาดอย่างนั้นอยู่แล้ว ตามแบบของโลกิยธรรม ท่านจะทำอย่างไร ท่านจะไปยกเลิกหมด มันจะได้หรือ มันก็ไปหาเรื่องทะเลาะกัน ท่านก็มีวิธีที่ฉลาดกว่า คือผสมรอยเข้าไปเลยว่า เมื่อแกต้องการสวรรค์อย่างนั้น แกต้องทำอย่างนี้ ๆ เมื่อแกไม่ต้องการจะตกนรกอย่างนั้น แกต้องทำอย่างนี้ ๆ
ที่มันสำคัญที่สุดก็คือเรื่องตัวตนหรือไม่ใช่ตัวตน เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในโลก ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น คนทุกคนในสมัยนั้นน่ะมันเชื่อเรื่องมีตัวตนอยู่ทั้งนั้น หรือที่เป็นส่วนน้อยก็เชื่อว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ที่มันเชื่อกันอยู่เป็นพื้นฐานแน่นแฟ้นก็เชื่อว่า มีตัวตน มีอัตตา มีต่ำ ๆ มีสูงสุด เป็นปรมอัตตา เป็นปรมาตมัน เขาสอนกันอยู่อย่างนั้น ที่เรียกว่ายุคอุปนิษัท
พระพุทธเจ้าก็ได้เกิดขึ้นในยุคอุปนิษัท ที่เขาสอนเรื่องมีตัวตนกันอยู่อย่างนั้น แล้วท่านจะทำอย่างไร ท่านจะมาเลิกว่า ผิดถูกยกเลิก เอ่อ, ผิดใช้ไม่ได้ ยกเลิกหมด นี้ก็ทำไม่ได้หรอก มันทำไม่ได้ ทำกับคนบ้าทั้ง ๆ โลกอย่างนั้น ทำไม่ได้ ท่านก็ต้องบอกไปตามเรื่องที่มันจะเข้ารูปกันได้ คือถ้า ๆ ท่านถือว่า มีตัวตนเป็นของท่าน มีตัวตนเป็นที่รัก มีตัวตนเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ท่านจงทำอย่างนี้ ๆ ๆ สิ ตนมันจะได้เป็นที่พึ่งแก่ตน แต่ว่าฉันน่ะอยากจะพูดว่า ตนมันไม่มี แล้วอะไรของตนมันจะมีมาแต่ไหน ถ้าขืนมีตัวตน มันก็ไม่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ดังนั้นควรจะดูขึ้นไปอีกระดับหนึ่งว่า มันไม่มีตัวตน
ไอ้ที่เราเรียกกันว่าตัวตนนั้นน่ะ มันเป็นความคิดผิด นึกขึ้นมาเองว่าเป็นตัวตน ท่านจึงสอนเรื่องไม่มีตัวตนได้แก่คนบางคนเท่านั้นแหละ ท่านตรัสรู้ใหม่ ๆ แล้วท้อพระทัยว่า ไม่สอนโว้ยเรื่องนี้ มันไม่มีใครเข้าใจแน่ เรื่องไม่มีตัวตนนี้ ไม่มีใคร ๆ เข้าใจ แต่แล้วท่านก็มาเฉลียวพระทัยว่า โอ้, มันอาจจะมีคนบางคนเข้าใจ เอ้า, ก็ยอมสอน แล้วก็สอนมาด้วยความยากลำบากน่ะ ที่จะสอนไม่มีตัวตน มันสอนได้แต่พวกบุคคลที่มันมีตัวตนอย่างเอือมระอา อยากจะเหวี่ยงทิ้งอยู่แล้วทั้งนั้นน่ะ คือสอนปัญญาชน ฤษีมุนีที่เป็นปัญญาชน ที่จะพอเข้าใจเรื่องนี้ได้ ส่วนประชาชนก็ต้องมีตัวตนไปก่อน
ดังนั้นท่านก็สอนไอ้โลกิยธรรมสำหรับคนที่มีตัวตนไปก่อน ดังนั้นเราจึงพบคำสอนในพระพุทธศาสนาในชั้นคิหิปฏิบัติน่ะ มีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดก็คือ ไอ้สิงคาโลวาทสูตรในทีฆนิกายนั้นน่ะ ไปดูเถิด เรื่องโลกิยธรรม เรื่องสำหรับผู้มีตัวตน
จึงขอบอกกล่าวเสียเลยว่า ขอให้พวกเราทุกคนนี่ รู้เสียด้วยนะ อย่าพูดเรื่องนี้ผิด ๆ นะ คือพระพุทธเจ้าท่านสอนทั้งอย่างมีตัวตนและอย่างไม่ ๆ ใช่ตัวตนนะ ท่านสอนทั้งสองอย่าง อย่าว่าท่านสอนเพียงอย่างเดียว มันจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น เพราะว่ามนุษย์ทั้งหลายมันมีตัวตนอยู่โดยธรรมชาติ มันยึดถือตัวตนอยู่โดยธรรมชาติ แล้วคำสอนของศาสนาอื่น ๆ ก่อนพระพุทธเจ้า ก็สอนว่ามีตัวตน จนคนมันมีตัวตนแน่นแฟ้น พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาจะสอนเรื่องมิใช่ตัวตนนี้มันก็ลำบาก แต่ท่านก็สอนจนได้ จนประสบความสำเร็จ
ปัญหานี้เกี่ยวกับเมืองไทยด้วย เมืองไทยเดี๋ยวนี้ก็เหมือนกันแหละ ก่อนพุทธศาสนาเข้ามาถึงแผ่นดินนี้น่ะ พวก ๆ ฮินดู พวกพราหมณ์ ได้เข้ามาสอน เรื่องตัวตนแล้วเขามาสอนอยู่ก่อน มาจากอินเดียก่อนพุทธศาสนา มาสอนเรื่องตัวตนตามแบบของอุปนิษัท ฝังจิตใจของประชาชนในถิ่นนี้ เรื่องมีตัวตนเวียนว่ายตายเกิดอยู่แล้ว แล้วโดยสัญชาตญาณแท้ๆของมนุษย์เรา มันก็รู้สึกเป็นมีตัวตนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเขาสอนง่าย เขาสอนได้เปรียบ เขาสอนฝังแน่น
ประชาชนในแผ่นดินนี้ ถือลัทธิมีตัวตนตามแบบศาสนาพราหมณ์ อยู่อย่างแน่นแฟ้น พอพุทธศาสนามาถึงแผ่นดินนี้ จะมาสอนเรื่องไม่มีตัวตนนี้ มันต้องต่อสู้กันอย่างยิ่ง ต้องมีปาฏิหาริย์กันมากมาย ปราบผีปราบยักษ์ จนกระทั่งต้องใช้คำว่าอย่างนั้น กว่าจะสำเร็จเป็นร่องรอย เป็นรูปรอยของพุทธศาสนาว่า ไม่มีตัวตนได้นี้ลำบากมาก
ทีนี้คนธรรมดาสามัญก็มีตัวตนติดมาในสันดาน จนกระทั่งบัดนี้วันนี้ ประชาชนพื้นฐานน่ะมีตัวตนทั้งนั้น ดังนั้นเขาก็รับเอาคำสั่งสอนส่วนนั้นน่ะ ส่วนที่ว่ามีตัวตนนั้นน่ะไป ก็เรียกว่าพุทธศาสนาก็มีให้ทั้งคำสอนระดับโลกิยธรรม ก็เป็นพุทธศาสนาที่จำเป็นจะต้องสอนอย่างมีตัวตน นี้ผู้ใดมีปัญญาหากเข้าถึงระดับสูง ก็ว่ารู้เรื่องอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นโลกุตตรธรรม ดังนั้นเราจึงมีให้ทั้งโลกิยธรรมและโลกุตตรธรรม เราจึงมีให้ทั้งแก่คนที่ยึดถือตัวตนและคนที่ไม่อยากจะยึดถือตัวตน
ดังนั้นไปบอกคนที่เขายังไม่รู้ว่า พุทธศาสนานี้สอนทั้งอย่างมีตัวตนและสอนทั้งอย่างที่ไม่มีตัวตน ที่ให้เว้นบาปทำบุญ เวียนว่ายตายเกิดอย่างดี นี้มันมีตัวตน ถ้ามันเอือมระอาที่เวียนว่ายตายเกิดแล้ว ก็มาเรียนเรื่องไม่มีตัวตน ก็จะเป็นพระนิพพาน นี่ความสมบูรณ์ที่สุดของพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา สมบูรณ์ที่สุดคือทั้งอย่างมีตัวตนและอย่างไม่มีตัวตน เรื่องโลกิยธรรมมันก็เป็นไปตามแบบตัวตน เรื่องโลกุตตรธรรมก็เป็นไปตามแบบของไม่ใช่ตัวตน เราต้องสอนกันทั้งสองแบบ
อาตมาก็พยายามให้ดีที่สุดทั้งสองแบบ ก็ปรากฏอยู่ในหลักฐานเอกสารทั้งหลาย ที่ได้พิมพ์ขึ้นแล้วจำนวนมากมาย แต่อยากจะบอกว่า เรื่องโลกิยธรรมนี้สอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า จะ ๆ ถือว่าไม่ใช่ของพระพุทธเจ้ามาก่อนก็ได้ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าท่านมาบังเกิดขึ้นในหมู่คนเช่นนี้ ท่านก็จะต้องสอนไปตามสมควร เมื่อคนมันยังถึงโลกุตตระไม่ได้ ก็ต้องสอนโลกิยะกันไปก่อน แล้วเราก็ไม่ได้ ประณาม ตำหนิ ติเตียนคำสอนชนิดที่เป็นโลกิยะเลย จำเป็นที่ต้องทำกันไปก่อนสำหรับคนที่มีตัวตน จนกว่าเขาจะอยากเลิกตัวตน จึงจะสอนโลกุตตรธรรม