แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นราชภัฏผู้จำต้องลาสิกขาบททั้งหลาย การบรรยายของเราในครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑ หรือครั้งแรก แห่งการบรรยายชุดหนึ่งที่เราจะเรียกว่า “มหาวิทยาลัยต่อหางหมา ๑๐ ครั้ง” ฟังก็ดูหยาบคายมากแต่มันมีความจริงเป็นอย่างนั้น คือ เป็นการประท้วงการศึกษาในโลกทั้งโลกที่มันไม่สมบูรณ์ มันยังเหมือนกับหมาหางด้วนมันไม่พูดสิ่งที่มนุษย์ควรจะรู้ให้สมบูรณ์ คือไม่ได้สอนกัน สอนกันแต่หนังสือกับอาชีพ ส่วนที่จะเป็นมนุษย์เป็นอย่างไร ที่จะสร้างสันติภาพในโลกนี้ได้ไม่ได้สอน
นี้เราก็จะพูดกันในส่วนนี้ ส่วนที่มันยังขาดอยู่นี่ จึงเรียกว่าเป็นการต่อหางสุนัขที่มันยังด้วนอยู่ หรือจะให้มองไปอีกทางหนึ่งก็ว่าต่อยอดพระเจดีย์ อันนั้นมันอาจจะเกินไปอีกทางหนึ่งก็ได้ อาจต่อเพียงเพื่อให้มันสวยงาม ต่อหางสุนัขนี้มันไม่ใช่เพียงเพื่อสวยงามอย่างเดียว มันเพื่อความจำเป็นอย่างอื่นที่มันจะเดินตรง เป็นต้น
ทำไมเราจึงไปเรียกว่ามหาวิทยาลัย เพราะว่ามันเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดของมนุษย์ ในระดับสูงสุดของมนุษย์ ทีนี้ เอ่อ มีความมุ่งหมายจะให้ได้รู้เรื่องที่ยังขาดอยู่ แม้กระทั่งว่านั่งกลางดินมีผลอย่างไร เขาเรียนกันแต่บนตึกราคาล้าน มันก็โง่แก่การที่จะรู้ว่าการนั่งกันกลางดินจะมีผลอย่างไร งั้นเราก็มานั่งกันกลางดินซึ่งเป็นเจตนาของผม ให้พวกคุณต้องมานั่งกลางดิน ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือว่าเป็นที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า ผู้ประสูติก็กลางดิน ตรัสรู้ก็นั่งกลางดิน เมื่อสอนพระสาวกก็มานั่งกลางดิน เมื่อนิพพานก็นั่งกลางดิน นอนกลางดิน นี่เป็นที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า
ไม่เป็นที่ระลึกเปล่า มันเป็นความรู้ให้เรารู้ว่าไอ้นั่งกลางดินนี่มันมีผลอะไรบ้างแก่จิตใจ อย่างน้อยที่สุดก็มีผลให้รู้จักธรรมชาติ ให้สัมผัสธรรมชาติซึ่งเป็นเจ้าของธรรมะ ธรรมะเป็นของธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นเจ้าของธรรมะ เพราะว่าธรรมะนั้นคือเรื่องของธรรมะชาติ เรื่องของกฎธรรมชาติ ซึ่งในความหมายนี้รวมทั้งพระเป็นเจ้าในศาสนาอื่น ศาสนาพุทธมีกฎของธรรมชาตินี้เป็นพระเจ้าเหมือนกับที่ศาสนาอื่นเขามีพระเจ้า
และก็ยังหมายถึงหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตจะต้องประพฤติปฏิบัติ ไม่เช่นนั้นมันจะตาย หรือมันจะไม่ได้สิ่งที่ควรจะได้ ความหมายสุดท้ายก็คือผลที่เกิดมาจากการปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติอีกนั่นเอง เราชอบที่จะทำอะไรๆให้มันใกล้ชิดธรรมชาติ หรือเป็นการสัมผัสธรรมชาติอยู่เสมอ
สำหรับการบรรยายครั้งแรกหรือชั่วโมงแรกนี้ผมจะพูดด้วยหัวข้อว่า “คู่ชีวิต” ซึ่งก็แปลกๆนะ ไหนๆมันก็แปลกแล้วก็ให้มันแปลกไปเสียให้หมด บรรยายครั้งที่หนึ่งว่าด้วย “คู่ชีวิต” บอกเลยก็ได้ว่าสิ่งซึ่งเป็นคู่ของชีวิตนั้นคือพระธรรม คู่ชีวิตนั้นคือพระธรรม เราจะได้พูดกันถึงเรื่องสิ่งที่เรียกว่าชีวิตก่อน
ในโรงเรียนในมหาวิทยาลัยในโลกนี้ เขาสอนเรื่องของชีวิตกันแต่ในทางวัตถุที่เรียกว่า Bio หรือชีวิต Biology เรียกว่าเรื่องชีวิต เป็นชีวิตแต่ในทางวัตถุเท่านั้นถ้าเป็นเรื่องทาง Biology มันก็เป็นหมาหางด้วนอีกตามเคย เพราะมันบอกชีวิตแต่ในแง่ของวัตถุ คือ Bio นี้เราจะมาต่อหางให้เป็นเรื่องชีวิตที่สมบูรณ์ คือ ชีวิตในฝ่ายนามธรรมที่เขาใช้คำว่า Spirituality คำนี้หมายถึงนามธรรมซึ่งเป็นเรื่องจิตเป็นเรื่องวิญญาณ เป็นเรื่องสติปัญญา ชีวิตนี้สำคัญกว่า ชีวิตที่เป็นฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายสติปัญญานี้มันสำคัญกว่า
อยากจะให้รู้เสียเลยเป็นหลักว่าไอ้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ เกี่ยวกับความสุข ความทุกข์ของมนุษย์นี้ ทั้งหมดทั้งสิ้น มันพอจะแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ คือทางกายหนึ่ง ทางจิตหนึ่ง ทางวิญญาณหนึ่ง ก็เป็นที่ต้องขอบอกกล่าวว่ามันเป็นคำที่ต้องตั้งขึ้นเองบ้าง เพราะมันไม่มีคำนี้ใช้มาก่อน เมื่อคุณเข้าใจ ความหมายหรือตัวจริงของสิ่งเหล่านี้แล้วก็รู้ได้เองว่า ไม่ได้มีแต่คำที่พูดกันอยู่ก่อนจึงตั้งคำขึ้นใหม่ หรือว่าคุณตั้งเองตามชอบใจต่อไปก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราจะใช้คำว่าเรื่องทางกาย เรื่องทางจิต เรื่องทางวิญญาณ ถ้าเข้าใจไอ้ ๓ ความหมายนี้แล้วมันจะง่ายมากในอนาคตสำหรับพวกคุณ ที่จะเข้าใจในธรรมะอันกว้างขวาง
เรื่องทางกายก็คือเกี่ยวกับวัตถุ วัตถุภายนอกกาย กระทั่งวัตถุภายในกาย กระทั่งร่างกาย ร่างกายของคนนี้เราเรียกว่าเรื่องร่างกาย มันก็มีของมันระบบหนึ่งแหละ ปัญหาของมันก็มีอยู่ระบบหนึ่งน่ะไม่เหมือนส่วนอื่น
ทีนี้เรื่องทางจิตซึ่งมันเป็นของประจำกันมากับสิ่งที่เรียกว่าชีวิตน่ะ สิ่งใดมีชีวิต มีร่างกายแล้ว มีร่างกายแล้วมันก็ต้องมีชีวิต เพราะว่าร่างกายหมายถึงของสิ่งที่มีชีวิต แล้วสิ่งที่มีชีวิตนั้นต้องมีจิตล่ะ มิฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ แต่คนพวกอื่นเขาอาจจะสอนว่าอย่างต้นไม้นี่ไม่มีชีวิต เอ้อ... ไม่มีจิต บางพวกว่าไม่มีชีวิตด้วยซ้ำไป ที่ถือกันมากในหมู่นักธรรมว่าต้นนี้ไม่มีจิต ไม่มีวิญญาณ ก็ตามใจเขาเท่าที่เราเรียนมาสังเกต ศึกษามา สิ่งที่มีชีวิตแม้ต้นไม้นี้ก็มีจิตมีวิญญาณ คือมันรู้สึกได้ต่ออันตรายต่อความสุข ความสบายมันต่อสู้เพื่อรอดอยู่ได้ เพราะมันมีความรู้สึก เรื่องนี้ไม่เป็นไร ต่อไปในอนาคตเขาก็จะเปิดเผยให้เล่าให้เรียนให้รู้กันได้โดยทางวิทยาศาสตร์
มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งพยายามศึกษากันกว่าเรื่องนี้ และก็เปิดเผยการผลการค้นคว้า กระทั่งพิสูจน์ได้ว่าต้นไม้นี้มีความรู้สึก รู้สึกกลัวตาย รู้สึกไม่อยากตาย รู้สึกดิ้นรนเพื่อจะให้อยู่รอด เขาทำเครื่องวัดซึ่งวัดไอ้ความรู้สึกของไอ้ต้นไม้ที่ยังเป็นๆ วัดได้ว่ามันมีความรู้สึก แสดงออกมาทางเข็มของเครื่องวัดรู้สึกกลัว รู้สึกหวั่นไหว นี่วิทยาศาสตร์ทางวัตถุก็จะพิสูจน์ได้ว่าต้นไม้มีความรู้สึก
ในหลักโบราณในหลักศาสนาก็ถือว่าต้นไม้มีความรู้สึก มีจิต มีวิญญาณ กระทั่งพูดเลยไปถึงว่า เทวดาสิงสถิตอยู่ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัยการทำลายต้นไม้นี่ ทำลายชีวิตต้นไม้มีอาบัติเท่ากับทำลายสัตว์ที่มีชีวิตอย่างนี้เป็นต้น ยอมรับความมีชีวิตหรือความมีจิต มีความรู้สึกนั่นเอง
นี้สิ่งที่เรียกว่าจิตนั้นมันแยกออกไปจากกาย มันก็อาศัยกายนี่เป็นที่ตั้งเหมือนสำนักงาน แล้วมันก็ทำหน้าที่ของจิตคือความรู้สึกคิดนึก คัมภีร์โบราณในพุทธศาสนาเราแต่ไม่ใช่พุทธภาษิตนะ เขาว่าจิตหรือวิญญาณนี้ตั้งอยู่ที่ก้อนหัวใจ เรียกว่าหทัยวัตถุ หรือหัวใจน่ะหัวใจสูบฉีดโลหิต เขาว่าอย่างนั้น มันขัดกับความรู้สมัยนี้ซึ่งไอ้ความรู้สึกต่างๆนี้มันมีที่ตั้งอยู่ที่สมอง ที่มันสมอง นี้ผมก็เห็นด้วยกับฝ่ายว่ามันตั้งอยู่ที่มันสมอง หรือเนื้อสมอง จิต ความรู้สึก ระบบประสาทนี่มันมีสำนักงานอยู่ที่มันสมอง ไม่ได้อยู่ที่หัวใจอย่างในพระคัมภีร์ เช่นคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้นว่า
พิสูจน์กันอย่างเดี๋ยวนี้ก็คงจะได้ง่ายๆเช่นว่า ถ้าเราผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเสียเป็นคนละหัวใจ ไอ้ความรู้สึกที่คิดนึกมันก็ไม่เปลี่ยนน่ะเพราะมันอันเดิม นี้สมมติว่าผ่าตัดสมองเปลี่ยนสมองเสีย นี่จะเปลี่ยนหมด ความรู้สึกคิดนึกก็จะเปลี่ยนหมด ไอ้ความรู้สึกคิดนึกมันมีสำนักงานอยู่ที่มันสมอง เป็นของประจำกันมากับสิ่งที่มีชีวิตจะต้องมีจิต จึงถือว่าระบบนี้ จิตนี่มันเนื่องอยู่กับระบบประสาทซึ่งเนื่องกันอยู่กับกาย มันเป็นระบบหนึ่ง มันจะเป็นจิตดีหรือจิตไม่ดี จิตสงบหรือจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นสมาธิหรือจิตไม่เป็นสมาธิ จิตรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อย่างเป็นต้น นี่คือระบบจิต
ระบบที่ ๓ ก็เรียกว่าระบบทางวิญญาณ เพราะเราไม่มีคำเก่าที่ที่ใช้กันอยู่ก่อน เราผูกเอาเองว่าทางวิญญาณ เพื่อตรงกับที่พวกฝรั่งเขามีคำว่า Spirituality ขึ้นมา Spiritual นี้เดี๋ยวนี้ใช้กันมาก ถ้าความสุขทาง spiritual แล้วก็เขาไม่หมายถึงทางวัตถุเลย เขาหมายถึงเรื่องทางสติปัญญาที่แสดงออกมาทางจิต ผมใช้คำว่าทางวิญญาณไปก่อน
ถ้าเรามีจิตเข้มแข็งสมบูรณ์ปกติ แต่เราเป็นคนโง่ก็ได้ ไอ้ส่วนนั้นน่ะส่วนที่จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดหรือไม่ ละเอียดที่สุดนั้นมันเป็นอีกระบบหนึ่งเราเรียกว่าระบบฝ่ายวิญญาณ ร่างกายอยู่ฝ่ายนี้ ไอ้จิตนี้มันอยู่ตรงกลาง มันเนื่องอยู่กับกายโดยอาศัยกายเป็นที่ตั้ง และจิตนี้มันเนื่องกันอยู่ฝ่ายระบบสุดฝ่ายวิญญาณโน้น เพราะว่าจิตนี้มันเป็นที่ตั้งของระบบสติปัญญาหรือวิญญาณ เช่นเดียวกับว่ากายเป็นที่ตั้งของจิต
ฉะนั้น หลับตาดูสักหน่อยว่าจิตมันอยู่ตรงกลาง ฝ่ายนี้มันเนื่องอยู่กับกาย อาศัยกายตั้งอยู่ และฝ่ายนี้มันเนื่องอยู่กับไอ้วิญญาณ นี่ขอเรียกว่าวิญญาณ มันเป็นที่ตั้งของระบบวิญญาณ มันอยู่กัน ๓ ระบบอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็มี่คำครบแล้วว่าไอ้ Physical นี้มันคือฝ่ายกาย ไอ้ Mental นั้นน่ะมันอยู่ตรงที่จิตนั่นเอง และ Spiritual มันอยู่สุดฝ่ายโน้นคือฝ่ายวิญญาณหรือฝ่ายปัญญา เราเกิดมีคำใช้ครบแล้วในโลก แต่ในภาษาไทยนี่คำที่สามนี่ไม่รู้จะเรียกอะไร ผมก็เรียกว่าทางวิญญาณไปก่อน
จึงพูดสำหรับจำง่ายๆว่า ถ้าเรามีปัญหาทางร่างกาย เช่นเจ็บไข้ทางร่างกายก็ไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญทางร่างกาย บำบัดทางฟิสิกส์ ถ้าหากว่าเราเป็นเจ็บไข้ทางจิตก็ไปที่โรงพยาบาลโรคจิต โรคทางจิต แต่ถ้าเราเป็นโรคทางวิญญาณแล้วก็ไม่มีโรงพยาบาลไหนในโลก ต้องไปโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้าคือระบบธรรมะ จะแก้ไขด้วยระบบธรรมะ แก้โรคทางวิญญาณ
นี้ควรแก่การเข้าใจแจ่มชัดในระบบ ๓ ประการนี้ให้ดีเพื่อว่าเราจะสามารถจะรู้ว่า เดี๋ยวนี้เรากำลังเป็นโรคชนิดไหนจะแก้ไขกันอย่างไร ที่ไหน หรือแม้ข้อธรรมะก็เหมือนกันแหละ มันก็จะมีแยกประเภทเป็นว่ามันจะแก้ปัญหาทางกาย หรือแก้ปัญหาทางจิต หรือแก้ปัญหาทางวิญญาณ ในทางธรรมดูเหมือนจะเรียกกันว่าทิฏฐิเสียมากกว่า ทิฏฐิ ทิฏฐิ นี่ล่ะคือทางวิญญาณ กาย วาจา นี้อยู่ฝ่ายกาย จิต (นาทีที่ 19.31) ... ปัญญาหรือทิฏฐินี่อยู่อีกระบบที่สาม ในทางธรรมทางคัมภีร์นี่จะใช้กันโดยมากว่าทางทิฏฐิ ทิฏฐิถูก ทิฐิผิด นี่เรื่องทางวิญญาณ เรื่องที่มันเกี่ยวกับคนเรามันแบ่งได้เป็นทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณอย่างนี้
เพราะฉะนั้นชีวิตๆนี้เหมือนกันมันแบ่งได้เป็นสามระดับหรือสามความหมายอย่างนี้เอง ชีวิตทางกายก็อย่างวิชา Biology ชีวิตทางจิตก็เรื่องทางจิตอย่างในสมัยปัจจุบัน เรื่องทางวิญญาณก็เป็นเรื่องของศาสนา เพราะว่าศาสนาทั้งหลายมุ่งจะแก้ปัญหาทางวิญญาณส่วนใหญ่ทั้งนั้น ชีวิตจึงมีอยู่ ๓ ชนิด ชีวิตทางกาย มีปัญหากันทางกายแก้ปัญหากันไปตามทางกาย ในทางจิตก็แก้ไขไปทางจิตทางประสาท ส่วนทางวิญญาณนั้นก็แก้ไขไปตามทางวิญญาณ ซึ่งล้วนแต่มีศาสนาเป็นหลักกันทั้งนั้นหลายๆศาสนา แล้วแต่ว่าใครจะถือศาสนาอะไร เขาก็ใช้ศาสนานั้นๆ เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาทางวิญญาณของตนๆ
เรามีทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ แต่ถ้าจะให้เหลือเพียงสองมันก็ได้ คือทางรูปและทางนาม ทางกายนี่ก็ทางกาย ทางจิตกับทางวิญญาณนี้มันเป็นเรื่องทางฝ่ายวิญญาณด้วยกัน คือฝ่ายที่เรียกว่านามธรรมด้วยกัน นี้ในบาลีที่พบก็มีโรคทางกายและโรคทางจิต ใช้คำว่ากันอย่างนั้น แต่จิตของท่านน่ะหมายถึงทางจิตและทางวิญญาณ เดี๋ยวนี้เราจะแยกให้มันเข้าใจง่ายเราแยกเป็นสามซะเลย ทางกายอย่างหนึ่ง คือทาง Biology และก็ทางวิญญาณอีกทางหนึ่ง รวมทางจิตเอาไว้ด้วยเพราะว่าวิญญาณก็ต้องอาศัยจิตเป็นที่ตั้ง และทั้งหมดนั้นต้องอาศัยกายเป็นที่ตั้ง เพราะว่าวิญญาณตั้งอยู่บนจิต จิตตั้งอยู่บนกาย ทั้งหมดมันมารวมกันที่กลุ่มกายนี้
ก็ถือโอกาสรู้เสียด้วยเลยว่าคำว่ากายนั้นน่ะเขาแปลว่า “หมู่” ภาษาบาลีแท้ๆคำว่ากายแปลว่าหมู่ ไม่ได้แปลว่าเนื้อหรือเนื้อหนังหรืออะไรทำนองนี้ แต่ว่ากายแปลว่าหมู่ เช่น พลกายนี้ก็หมู่พลน่ะคือกองทัพน่ะ คือพลกาย กายแปลว่าหมู่ นี่ไอ้ร่างกายนี้ก็แปลว่าหมู่เพราะว่ามันประกอบด้วยอะไรมากมายเหลือเกินกว่าจะเป็นหนึ่งร่างกายขึ้นมาได้ กายเป็นที่อาศัยของจิต จิตเป็นที่อาศัยของวิญญาณอย่างที่ว่า
ทีนี้เราก็มาดูชีวิต ชีวิตทางฝ่ายร่างกายก็ไปเรียนเรื่อง Biology ตั้งแต่ว่าโลกนี้มันไม่มีชีวิต มันกี่กี่พันล้านปีมาแล้วที่มันแยกมาจากดวงอาทิตย์ แล้วกว่ามันจะเริ่มมีไอ้สิ่งที่มีชีวิตคือเย็นลงๆ (นาทีที่ 24.10) ... เย็นลงๆ มีน้ำ มีของเขียว ชีวิตเกิดขึ้น นั่นแหละมันเริ่มมีชีวิตทางฝ่ายกาย ทางฝ่ายกายวิวัฒนามาเป็นสัตว์เซลล์เดียว สองเซลล์ สามเซลล์ เรื่อยมาจนกระทั่งว่าเป็นไอ้สัตว์เลื้อยคลาน เป็นสัตว์เดรัจฉานโดยสมบูรณ์
และมันก็เพิ่งจะมีไอ้อย่างชนิดที่เรียกว่าเป็นคนหรือคล้ายคนนี่เมื่อสักล้านสองล้านปีมานี่กระมัง เขาว่านะไม่ใช่ผมว่า ผมก็ว่าตามที่เขาศึกษามาและเขาก็สอนกันไว้ และก็เป็นคนชนิดที่พอจะเรียกว่าคน ไม่ใช่คนครึ่งคนครึ่งลิงนี้สักแสนหรือสองแสนปีมานี้ และคนนี้มันก็เจริญๆทางร่างกายจนมีร่างกายอย่างคน นี้คนทางฝายร่างกายไปเรียน Biology เกี่ยวกับเรื่องนั้น
มันจึงเกิดมีชีวิตทางกาย มีชีวิตทางวิญญาณ เมื่อมีสติปัญญาสมบูรณ์แก่คนนี้จึงมีคนชนิดที่มีสติปัญญา มีชีวิตทางวิญญาณเกิดขึ้น คงจะพร้อมๆกับว่าเมื่อศาสนาที่เป็นหลักฐานเกิดขึ้นในโลก คนจึงมีความเป็นคนชนิดที่ทางฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายสติปัญญา ซึ่งเขาถือกันว่าประมาณสัก ๘,๐๐๐ ปีมานี่ที่มนุษย์มีมันสมองสมบูรณ์พอที่จะรู้จักเรื่องทางจิต ทางวิญญาณ เป็นระบบศาสนาขึ้นมา
๘,๐๐๐ ปีมานี้มันก็แก่กว่าพระพุทธศาสนาสัก ๕,๐๐๐ ปีครึ่ง เรานี่มัน ๒,๐๐๐ ปีครึ่ง ๒,๐๐๐ ครึ่ง ๒,๕๐๐ ปีเกิดพระพุทธเจ้านี่มันสูงสุดทางวิญญาณ และทางวิญญาณในลำดับที่ยังไม่สูงสุดเขาก่อนหน้านั้นไปอีกสัก ๕,๐๐๐ กว่าปี จึงถือว่าชีวิตที่ประกอบไปด้วยความสมบูรณ์ทางวิญญาณ ทางสติปัญญาพอที่จะรู้เรื่องของวิญญาณนี่สัก ๘,๐๐๐ ปีมานี้ นั้นถ้าชีวิตทางกายก็ถอยหลังไปโน่นน่ะไปเมื่อมันเกิดไอ้ชีวิตที่จะเป็นชีวิตทางกาย ทางวัตถุ ทางกาย แล้วชีวิตทางสติปัญญานี่ก็เมื่อสัก ๘,๐๐๐ ปีมานี้
นี่เราก็ได้ ๒ ชีวิตแล้วเห็นไหม ชีวิตในแง่มุมทางฝ่ายวัตถุฝ่ายกายเป็นมาอย่างไร ไอ้ชีวิตในฝ่ายสติปัญญา ทิฏฐิ วิญญาณนี้เป็นอย่างไร
เอ้าดูชีวิตทางกาย มันเป็นเรื่องทางร่างกาย มันก็ต้องการเหตุปัจจัยอาหารทางร่างกาย ต้องการปัจจัย ส่งเสริมทางร่างกาย เดี๋ยวนี้เราถือเป็นหลักว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เครื่องบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ นี่ปัจจัยสำหรับทางกาย ชีวิตทางกายจะร้อนเป็นทุกข์เรียกว่าร้อนก็แล้วกันเป็นทุกข์ เพราะมันขาดแคลนวัตถุปัจจัยของร่างกาย นับตั้งแต่ไม่มีอาหารกิน ไม่มีเครื่องปกปิดร่างกาย ไม่มีที่อยู่อาศัย และชีวิตทางกายร้อนขึ้นมาเป็นทุกข์ขึ้นมาเพราะมันขาดแคลนปัจจัยทางฝ่ายร่างกาย ชีวิตทางกายมันจะเย็นลงไปในความหมายหนึ่งก็เพราะสมบูรณ์ด้วยปัจจัยทางกายตรงกันข้าม ไม่มีปัจจัย ๔ มันร้อนเป็นทุกข์ พอปัจจัย ๔ สมบูรณ์ถูกต้องมันก็เรียกว่าพอจะเย็นได้ แต่ว่าเย็นทางกายไม่ใช่เย็นทางใจ
ทีนี้ถ้าว่ามันเกินไปจนเกินความเป็นปัจจัยมันก็เป็นเรื่องเหยื่อของกิเลส กินดีเกินไป แต่งตัวนุ่งนุ่งห่มอะไรเกินไปมันก็เป็นเรื่องของกิเลส มันก็เกิดเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติขึ้นมา เรื่องกินสมบูรณ์ดีถูกต้องดีก็พอจะเย็น ถ้าว่าเกินไปมันก็เป็นเรื่องร้อน (นาทีที่ 29.43)ก็เพราะมันไปกินของกิเลส ไอ้เรื่องกามนี้ก็เหมือนกันถ้ามันควบคุมได้มันอยู่ในระเบียบมันก็พอจะเย็นได้บ้าง ไม่กระสับกระส่าย แต่ถ้าเรื่องกามมันสมบูรณ์ขึ้นมามันก็ร้อนอีกนั่นแหละ เรื่องเกียรติยศชื่อเสียงก็เหมือนกัน เมื่อยังต้องการมันก็ร้อน เมื่อไม่ต้องการมันก็เย็น หรือได้ตามที่ต้องการมันก็พอจะเย็น แต่ถ้าเราไปหลงไปบ้ามันก็ร้อนอีกล่ะ
ฉะนั้นไอ้คำว่า กิน กาม เกียรติ สามคำนี้ถ้าไม่ถูกต้องคือไม่พอดีแล้วก็จะร้อนมากไป น้อยไป อะไรมันก็ร้อน ถ้าพอดีมันควบคุมได้มันก็พอจะเย็นลงมาได้ทางกายได้บ้าง ชีวิตทางกาย ด้านกาย ด้านโลก ด้านโลกียะนี่
ทีนี้ก็อยากให้รู้เสียเลยนะว่า ไอ้เรื่องทางกายนี่หรือทางวัตถุนี่มันคาบเกี่ยวกับเรื่องทางจิต ไอ้ร้อนทางจิตมันก็แสดงออกทางกาย กายกับจิตมันไม่ใช่...มันไม่แยกออกจากกันได้ เพราะว่าจิตมันมีหน้าที่รู้สึกแม้เป็นเรื่องทางกาย กายมันก็เป็นเหมือนประตูหรือหนทางที่จะให้อะไรๆมันเข้าไปถึงจิต ประตูเข้าน่ะ และมันเป็นประตูออกสำหรับไอ้เรื่องทางจิตนี่แสดงออกมาทางกาย ออกมาภายนอกมาสู่โลก
ร่างกายของเราที่ประกอบไปด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นประตูสำหรับอะไรเข้าไปหาจิต หรือสำหรับไอ้กิริยาของจิตมันแสดงออกมาข้างนอกที่ท่านเรียกว่าประตู คุณได้ยินคำนี้กันบ้างแล้วเป็นแน่ ทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันเป็นประตูอย่างนี้ ที่เห็นชัดๆก็ไอ้ ๕ อย่างข้างต้นน่ะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นประตูแก่จิต จิตรับอะไรเข้าไปทางนี้ และส่งอะไรออกมาทางนี้
แต่ถ้าจะให้จิตมันเป็นประตู มันก็ลึกเข้าไปกว่านั้นน่ะ จิตมันเป็นประตูคิดนึกรู้สึกรับอารมณ์ข้างนอกเข้าไปสู่ส่วนลึกของอะไรก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรน่ะ ในส่วนลึกของจิต ของสันดาน จิตในส่วนลึก มีจิตในส่วนนอกนี่สำหรับผ่านเข้าออกก็ไม่ต้องพิจารณาอะไรๆให้มาก ให้พิจารณาไอ้ที่มันร้ายกาจยุ่งยากอยู่ทุกวันคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่ากาย เป็นทวารส่งของข้างนอกเข้าไปหาจิต ส่งเรื่องของจิตออกมาสู่ของข้างนอก
ทีนี้อยากจะให้รู้เสียเลยที่เกี่ยวกับทวารเหล่านี้นะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านรกทางอายตนะฉันเห็นแล้ว สวรรค์ทางอายตนะฉันเห็นแล้ว เมื่อก่อนนั้นเขาพูดกันถึงเรื่องนรกอยู่ใต้ดิน อย่างภาพเขียนฝาผนังน่ะ มันคือนรกทางกาย นรกทางวัตถุ ก็หมายถึงร่างกายถูกกระทำอย่างนั้นน่ะเป็นนรก อยู่ใต้ดินตามที่วาด และสวรรค์นั้นก็อยู่ข้างบนบนฟ้าข้างบนนั่น มีวิมาน มีผู้เสวยสวรรค์เป็นบุคคล มีนางฟ้า ส่งเสริมความสุขเป็นร้อยเป็นร้อย ร้อยๆนั่นล่ะคือสวรรค์ข้างบน แต่เป็นเรื่องทางกายและทางวัตถุทั้งนั้น
นรกกับสวรรค์ชนิดนั้นที่เขาพูดกันนั้นเขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า เขาสอนกันอยู่ก่อน แต่คุณจับใจความให้ได้ว่ามันเป็นเรื่องทางกายอย่างนี้ เจ็บปวดทางกายอยู่ใต้ดิน เอร็ดอร่อยทางกายอยู่ข้างบนสวรรค์ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านมาตรัสเสียใหม่ว่านรกที่อายตนะฉันเห็นแล้วก็คือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีนรกเมื่อทำผิด มันร้อนขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันนรกที่ไม่ใช่วัตถุและที่ไมใช่กาย มันเป็นนามธรรม เป็นความรู้สึก มันทุกข์ร้อนอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่นรกฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายโน้นฝ่ายกาย ฝ่ายนี้ฝ่ายวิญญาณ หรือสวรรค์ก็เหมือนกันเมื่อถูกต้องเขาก็จะเป็นสุข สนุกสนานอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็นั่นล่ะคือสวรรค์ เป็นสวรรค์ทางวิญญาณ มันคู่กันอยู่อย่างนี้ มันคู่กันมาอย่างนี้
ถ้าเอาวัตถุเอาร่างกายเป็นหลักนรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า แล้วก็เป็นไปตามเรื่องนั้น แล้วก็เอาเรื่องฝ่ายนาม ฝ่ายวิญญาณเป็นหลัก แล้วทั้งนรกทั้งสวรรค์มันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่นั่น ไอ้พูดอย่างนี้เป็นการชี้ไปยังตัวจริง ไอ้พูดอย่างโน้นน่ะมันอุปมา เหมือนกับว่าถูกฆ่า ถูกเผา ถูกต้ม ถูกอะไรอยู่ หรือว่าโหยอารมณ์อันเป็นกามคุณอยู่ มันควรจะเป็นอุปมาแต่เขากลับเอาเป็นตัวจริง ทีนี้ผมอธิบายตามพระบาลีเรื่อง “ตัวจริง” ว่าไอ้ร้อนอยู่ที่อายตนะทั้ง ๖ นี้เป็นนรก สบายอยู่อะไรเหล่านี้เป็นสวรรค์ของสภาวะนี่อุปมา นี่มันกลับกันอยู่อย่างนี้ ใครโง่ ใครฉลาดคุณก็ไปคิดเอาเอง
แต่ผมยืนยันตามหลักพระพุทธเจ้าว่านี้คือจริง นรกที่อยู่ที่อายตนะ ๖ นี้คือ “นรกจริง” สวรรค์ที่อยู่ที่อายตนะ ๖ นี้คือ “สวรรค์จริง” ท่านจึงตรัสว่าฉันเห็นแล้ว ฉันเห็นแล้ว ก็ไม่ได้พูดตามที่เขาพูดกันอยู่ก่อนพระองค์ ที่เขาพูดกันอยู่ก่อนพระองค์เขาพูดกันว่าอย่างนั้น มันจะเป็นเรื่องคาดคะเนหรือเป็นอะไรก็ตามใจเขา เราจะไม่ไปแตะต้อง เราจะไม่ไปคัดค้าน
เออนี่คุณช่วยจำไว้สักข้อหนึ่งด้วยนะแทรกให้ได้ยิน เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นไม่ตรงกับลัทธิของเรา พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่าไปคัดค้าน และก็ไม่ต้องยอมรับ เมื่อเราไม่เห็นด้วยเราก็ไม่ยอมรับ แต่เราก็อย่าไปคัดค้าน อย่าไปด่าเขา อย่าไปอะไรเขา ก็บอกว่าคุณว่าอย่างนั้นก็ถูกของคุณนะ เราไม่อาจจะยอมรับแต่เราก็ไม่ได้คัดค้าน แต่เราก็มีว่าอย่างนี้ๆ เราก็พูดของเราไปแล้วกัน นี่ควรจะถือเป็นหลักกันทุกๆคนนะ ถ้าลัทธิอื่นเขามาในแบบอื่นรูปอื่นเราไม่คัดค้าน เราไม่ยอมรับ แต่เราบอกว่าของพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ๆ เราก็ว่าไปแต่ไม่ต้องทะเลาะกัน
ไอ้ที่มันจะไปทำลายของเขา ยกตัวของตัวขึ้นมานี้ มันจะไปทะเลาะกัน มันจะทำอันตรายกันเพราะไอ้หลักธรรมะนั่นเอง พระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ให้พูดถึงเรื่องอะไรๆไอ้ที่เขาพูดกันอยู่ก่อนในหลายๆเรื่องรวมทั้งเรื่องนรกสวรรค์นี้ด้วย กระทั่งที่พูดขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องของท่านว่าฉันเห็นแล้วอย่างนี้ๆ นั้นเรามีนรกสวรรค์ทั้งที่เป็นกล่าวกันอยู่ตามทางวัตถุ ทางกาย สอนในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนพระพุทธศาสนาเข้ามา กระทั่งพุทธศาสนาเข้ามาเขาก็ไม่ได้เอา คำข้อนี้ของพระพุทธเจ้ามาสอนประชาชนก็ยังถือตามก่อนๆโน้น นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ไอ้นรกสวรรค์อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจ พอมาพูดเข้าก็เห็นเป็นเรื่องอุปมาเสียอีก มันกลับกันเสียอย่างนี้
เรื่องไอ้วัตถุหรือกายกับจิตและวิญญาณน่ะมันจะมีความหมายคนละทางอย่างนี้ เช่น เรื่องนรกสวรรค์ทางฝ่ายกาย นรกสวรรค์ทางฝ่ายวิญญาณ เป็นต้น เราจำเรื่องที่จะเป็นเรื่องเปรียบเทียบได้ง่าย คำสอนในอังคุตตรนิกายที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า การร้องเพลงคือการร้องไห้ การเต้นรำคืออาการบ้า การหัวเราะเป็นเรื่องของเด็กนอนเบาะ ที่ท่านไม่ยอมรับคุณค่าของมันอย่างที่คนทั่วไปยอมรับ เช่น เขาว่าร้องเพลงๆ เดี๋ยวนี้เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ก็นิยมเพลงร้องเพลง ไอ้เทปเพลงนี่จะขายมากกว่าเทปอะไรหมด
ท่านตรัสว่าไอ้ร้องเพลงนี้มันคือร้องไห้ คนโง่มันร้องไห้ทางวิญญาณ มันมีอาการเหมือนคนร้องไห้น่ะ หูตาคางคอนี่มันร้องเพลงเหมือนกับคนร้องไห้ ไอ้ร้องเพลงน่ะมันคือร้องไห้ของคนโง่ ทีนี้เต้นรำก็เหมือนกันน่ะทั่วโลกเขานิยมเต้นรำ มันเป็นอาการของคนบ้า มันเหมือนอาการของคนบ้า ทีนี้เมื่อหัวเราะชอบหัวเราะกันนัก อะไรก็ชอบยั่วให้หัวเราะ ไอ้หนังสือประเภทช่วยหัวเราะขายดีที่สุดทั้งนั้น นี่มันเด็กอ่อนนอนเบาะนะ เป็นเรื่อง (นาทีที่ 41.23)... ของเด็กอ่อนนอนเบาะ
แล้วเราก็ดูสิว่าไอ้ร้องเพลงเต้นรำ หัวเราะสรวลเสเฮฮามันเรื่องฝ่ายกาย ถ้าเรื่องทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณแล้วมันก็คือเรื่องการร้องไห้ เรื่องบ้า เรื่องของเด็กไม่เดียงสา นี่คุณพอจะเข้าใจได้ว่าเรื่องกาย เรื่องจิต เรื่องวิญญาณ มันอยู่กันคนละระบบ ถ้าเราเอามาปนกันเราจะพูดกันไม่รู้เรื่องน่ะ เช่นเรื่องนรกสวรรค์นี้เอาอย่างทางกายแล้วทางฝ่ายวิญญาณมาปนกันแล้วมันก็พูดกันไม่รู้เรื่อง เป็นอันว่าไอ้เรื่องชีวิตทางกายนี้ขอให้เป็นระบบกายไปเสียให้หมด
ที่นี้มาทางวิญญาณ ระบบจิต ระบบวิญญาณ มันก็มีอะไรที่ตรงกันข้ามน่ะ คำว่าวิญญาณๆนี้เป็นคำประหลาดที่สุดซึ่งผมก็ยอมรับว่าจนปัญญาที่จะหาหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ตามธรรมดาก็หมายถึงวิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ เครื่องทำให้สัมผัสไอ้สิ่งข้างนอกได้นั้นก็เรียกว่าวิญญาณ ให้รู้ รู้แจ้ง รู้ประจักษ์ต่อสิ่งภายนอกได้ก็เรียกว่าวิญญาณ เมื่อมีอะไรมากระทบตา หู จมูก สิ้น กาย ใจ ก็เกิดวิญญาณขึ้นมา
ทีนี้เขามีคำว่าวิญญาณอย่างอื่นมาแต่ก่อนโน้น วิญญาณปฏิสนธิ วิญญาณจุติไปเกิดใหม่นั้นก็มีนะ วิญญาณในความหมายอย่างนั้นก็มี แล้ววิญญาณในความหมายที่ลึกที่สุดสูงสุดที่สุดก็เล็งถึงพระนิพพาน เรียกพระนิพพานว่าวิญญาณเพราะว่าเป็นสิ่งที่เราอาจจะรู้สึกได้ทางวิญญาณด้วยวิญญาณ เรียกพระนิพพานว่าวิญญาณ เพราะวิญญาณนั้น (นาทีที่ 43.47)อนิทัสสะนังคือแสดงรูปร่างให้เห็นไม่ได้ ไม่แสดงตัวเป็นรูปร่าง และก็อนันตังไม่มีที่สุด เรื่องอื่นมีที่สุด เรื่องพระนิพพานเรื่องอสังกัปปะเท่านั้นที่จะไม่มีที่สุด
สัพพะโตปัพพัง (นาทีที่ 44.07) มีทางเข้ามาหาโดยรอบด้าน เหมือนกับแสงไฟน่ะมีดวงไฟและก็มีแสงไฟสร้างรอบตัว นี้ก็เรียกว่าสัพพะโตปัพพังได้เหมือนกัน มันมีรัศมีรอบด้านออกไป แต่ในนี้ท่านพูดกลับกันว่ามันมีทางที่จะเข้ามาหา เข้ามาถึง เข้ามาบรรลุพระนิพพานน่ะ เข้ามาได้รอบด้าน วิญญานัง อะนิทัสสะนัง อนันตัง สัพพะโตปัพพัง อันนี้จะถึงได้ต่อเมื่อดับกิเลสดับอะไรหมดแล้ว ด้วยเข้าไปถึงพระนิพพานที่เรียกว่าวิญญาณ
เอาเถิด เอาให้จับใจความสำคัญไว้แต่เพียงว่า วิญญาณเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องสติปัญญาชั้นสูงสุด ชีวิตแบบวิญญาณก็เป็นฝ่ายที่มันเป็นไอ้เรื่องจิตเรื่องวิญญาณอันละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น ทีนี้ร่างกายนี่มันร้อนเพราะความขาดแคลนปัจจัยเป็นต้น ในชีวิตทางวิญญาณไม่ต้องร้อนเพราะเหตุเช่นนั้น แต่ร้อนเพราะมันเกิดกิเลสขึ้นมา ถ้าเกิดกิเลสขึ้นมาระบบวิญญาณร้อนเป็นไฟเลย รู้จักกิเลสกันไว้พอเป็นหลักว่าไอ้สิ่งสกปรกเศร้าหมองแก่จิตใจทำให้จิตใจร้อนนี้เราเรียกว่ากิเลส ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ทวาร นี่แหละที่เรียกว่าจะให้เกิดกิเลสแห่งจิตใจ
ยกตัวอย่างแต่ทางตาก็พอ เมื่อตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ มีผัสสะระหว่างตากับรูป ในขณะ ผัสสะนี่คนนั้นมันเป็นคนโง่ปราศจากความรู้อันถูกต้อง มันก็เกิดเวทนาสำหรับจะหลงรัก เวทนาสุขก็หลงรัก เวทนาทุกข์ก็หลงเกลียด เวทนาไม่สุขไม่ทุกข์หลงก็ในทางสงสัยกังวล นี้ก็เรียกว่าเวทนาแห่งความโง่ของคนโง่ มันก็เลยเกิดความอยาก มันก็เลยเกิดกิเลส น่ารักก็อยากจะได้อยากจะเอาหลงใหลไปทางน่ารัก น่าโกรธน่าเกลียดก็หลงใหลไปทางน่าโกรธน่าเกลียด ไม่รู้อะไรก็หลงใหลไปด้วยความสงสัย นี่คือความโลภ กิเลสคือความโลภ กิเลสคือความโลภเมื่อน่ารัก กิเลสคือความโกรธเมื่อมันไม่น่ารักหรือมันไม่ได้อย่างที่ตัวรัก และเมื่อมันไม่รู้ว่าอะไรมันก็สงสัย เป็นโมหะ โง่
จำหลักของกิเลสว่า ถ้ากิเลสใด อย่างไร เมื่อไหร่ ที่ไหนน่ะ มันเป็นเหตุให้เราคว้าเอามากอด เข้าไปหาเข้าไปยึดเอามากอดรัด กิเลสประเภทนี้มันเรียกว่าโลภะคือความอยาก ทีนี้ถ้ากิเลสประเภทใดถ้าเกิดขึ้นแล้วมันทำให้เราอยากจะผลักออกไป ตีให้ตาย ฆ่าให้ตาย ทำลายเสีย กิเลสประเภทนี้คือโทสะคือโกธะ ทีนี้ถ้ากิเลสประเภทใดทำให้เราวนเวียนหลงใหลอยู่รอบๆรอบๆไม่รู้จะทำอย่างไร นี่เราเรียกว่าโมหะ
กิเลสมี ๓ อย่างเท่านี้ คุณจะตัดสินได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องถามใครด้วยโดยดูที่ตัวกิเลส ความรู้สึกของกิเลส ถ้ามันเข้าผสมเข้าหาเข้ายึดถือเข้ากอดรัดแล้วก็คือพวกโลภะ แต่ถ้ามีมันแยกจากกันทำลายกันเสียก็เป็นโทสะโกธะ ถ้ามันวนอยู่ด้วยความโง่เราก็เรียกว่าโมหะ นี่จำไว้เป็นหลักน่ะ ผมอุตส่าห์สังเกตศึกษาและเอามาพูดให้ฟังนี้มันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดน่ะจึงเอามาพูดให้ฟัง แต่ว่าอาจจะไม่มีใครสนใจก็ได้ มันก็เลยไม่รู้อยู่นั่นแหละ นี่เรารู้จักกิเลสอย่างนี้
ถ้าว่าเกิดกิเลสได้ทีหนึ่ง มันจะเกิดความเคยชินแห่งกิเลสทีหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้นเราเกิดกิเลสกี่ครั้งในหนึ่งวันน่ะ มันจะเกิดความเคยชินเพื่อกิเลสเท่านั้นครั้งเหมือนกัน ความเคยชินนั้นเหมือนๆกับเก็บไว้น่ะนั่นคือสะสมกิเลส ที่เรียกว่าอนุสัย เมื่อมันทำลงไปจริงๆเรียกว่าตัวกิเลส เช่นโลภ เช่นโกรธ เช่นหลง แล้วมันสะสมความเป็นอย่างนั้น ความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้นไว้ในสันดานนี้คืออนุสัย กิเลสประเภทอนุสัยคือเคยชินที่จะเกิดกิเลส มีอนุสัยมากมันก็เกิดกิเลสง่ายฉะนั้นเราจึงเกิดกิเลสง่าย รักก็รักง่าย โกรธก็โกรธง่าย เกลียดก็เกลียดง่าย กลัวก็กลัวง่าย เพราะมันสะสมอนุสัยแห่งกิเลสไว้มากเกินไป นี่คือกิเลส ระบบกิเลสมันเป็นอย่างนี้
ถ้าเราบังคับไม่เกิดกิเลส ไอ้ความเคยชินก็ลดล่ะลดหนึ่งน่ะ มันมาให้เกิดกิเลสควรจะเกิดกิเลสแล้วเราบังคับได้ไม่เกิดกิเลส แล้วมันก็ลดลดไอ้ระบบความเคยชินนั้นลงไปหนึ่งหนึ่งหนึ่งเสมอไป ถ้ามันลดหมดก็หมดล่ะ ทีหลังมันไม่เกิดกิเลสได้ก็บรรลุมรรคผล เอาเป็นว่านี่คือระบบกิเลส ชีวิตทางจิตทางวิญญาณมันร้อนเพราะมันมีกิเลสเกิดขึ้น เช่นเดียวกับระบบทางกายมันร้อนเพราะมันขาดแคลนปัจจัยสี่ มันคนละชนิดต้องการกันคนละอย่าง ปัญหาคนละอย่าง
เมื่อมันเย็นน่ะ ชีวิตทางวิญญาณเมื่อมันเย็นก็คือเมื่อปราศจากกิเลส เมื่อว่างจากกิเลสก็เย็น ชีวิตฝ่ายวิญญาณน่ะเมื่อมีกิเลสมาก็ร้อน พอปราศจากกิเลสก็เย็น ไอ้ความปราศจากกิเลสนี้เราจะเรียกให้มันจำง่ายๆไพเราะสักหน่อยว่า ความสะอาดความสว่างความสงบแห่งจิต นั้นมันคือความปราศจากกิเลสและเย็นน่ะ เข้ามาแล้วก็เย็น ชีวิตฝ่ายวิญญาณก็จะเย็นเพราะความสะอาด สว่าง สงบ คือว่างจากกิเลสน่ะ ลองเปรียบเทียบกับดูน่ะระบบกายร้อนเมื่อเป็นอย่างไร เย็นเมื่อเป็นอย่างไร ระบบวิญญาณร้อนเมื่อเป็นอย่างไร เย็นเมื่อเป็นอย่างไร เราก็เข้าใจชีวิตดีขึ้นทั้งสองความหมาย
เอ้า... สรุปว่าชีวิตนี้มันมีเป็น ๓ ระบบได้ตามหลักทั่วไป คือทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ดังนั้นปัญหาในชีวิตมันก็มีได้ทั้ง ๓ ทาง กายอยู่ข้างนอก แล้วก็จิตนี่ด้านนี้ติดอยู่กับกายคือระบบประสาท ด้านโน้นติดอยู่กับวิญญาณหรือสติปัญญาเป็นที่ตั้งฝ่ายวิญญาณ ชีวิต ๓ ระบบรวมกันจะเรียกว่าคนๆหนึ่งก็ได้ มีชีวิตอยู่ ๓ ระบบในคนๆหนึ่ง
จะต้องจัดให้ถูกต้องทั้ง ๓ ระบบนะ ถ้ามันถูกต้อง ๓ ระบบนี้เป็นชีวิตที่ถูกต้องนี้ แล้วมันจะเข้าถึงชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เดาซิว่าอะไรคืออะไร เราจะเรียกว่าชีวิตนิรันดร คือนิพพานในความหมายที่ว่ามีอยู่เป็นนิรันดร สภาพอันนั้นคอยรออยู่เป็นนิรันดร ใครทำถูกทำถึงก็เข้าถึงได้ ก็เข้าถึงนิรันดรเข้าถึงความเป็นชีวิตที่ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป นี่แหละชีวิตนิรันดร เมื่อชีวิตทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณจัดการกันดีแล้วๆ ชีวิตก็จะเข้าไปถึงชีวิตนิรันดร คือนิพพานที่เป็นนิรันดร นิพพานในความหมายที่เป็นนิรันดรก็มีอยู่
ธรรมดาเราจะให้นิพพานอยู่ที่นี่ อยู่ที่ความเยือกเย็น ว่างกิเลส แต่ถ้าว่าไอ้ความว่างกิเลสนั้นมันเย็นตลอดกาลเป็นนิรันดร เป็นคุณสมบัตินิรันดรของมันก็เรียกว่านิพพานเป็นนิรันดร ถ้าจะเข้าได้เข้าถึงได้เมื่อชีวิตนี้ ชีวิตมนุษย์น่ะมันทำถูกต้องทั้งทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ ก็จะเข้าถึงชีวิตนิรันดร รู้ไว้ด้วยว่ามันยังมีชีวิตนิรันดร และมันคือนิพพานนิรันดร ไอ้นิพพานที่มนุษย์เกี่ยวข้องอยู่นี้มันมีหลายความหมายหลายระดับ ขอให้เย็นก็แล้วกัน จำคำนิพพานว่าแปลว่าเย็น จะได้ไม่...ขออภัยจะได้ไม่โง่ (นาทีที่ 54.58)บางคนหลายๆมากๆทีเดียว
นิพพานนี้แปลว่าเย็น ภาษาธรรมดาภาษามนุษย์แปลว่าเย็น เมื่อไรเย็นก็เป็นนิพพาน เย็นน้อยก็เป็นนิพพานน้อย เย็นระยะสั้นก็เป็นนิพพานระยะสั้น ถ้าเป็นเย็นของวัตถุก็เป็นนิพพานของวัตถุ แต่ถ้าเย็นของเดรัจฉานก็เป็นนิพพานของสัตว์เดรัจฉาน ถ้าเย็นของคนก็เป็นนิพพานของคน ไม่ใช่อันเดียวกันหรอกแต่ความหมายเดียวกันล่ะคือเย็น เย็นอกเย็นใจของคน
ถ่านไฟแดงๆพอเย็นลงดำแล้วก็เรียกว่าถ่านไฟมันนิพพาน ภาษาพูดครั้งกระโน้นน่ะ แกงกับอาหารร้อนกินไม่ได้ต้องรอให้มันนิพพานแล้วพอจะกินได้จึงเรียกกันมากิน นี้ภาษาในครัวใช้คำว่านิพพานอย่างนี้ นี้สัตว์เดรัจฉานมันมีฤทธิ์มีเดชมีอันตราย จับมาจากป่าคือมันร้อน นี้เขามาฝึกๆๆจนเชื่องเหมือนกับแมว สัตว์เดรัจฉานตัวนั้นนิพพาน หมดร้อน หมดอันตราย ไม่ใช่ของคน มันนิพพานของสัตว์เดรัจฉาน
ทีนี้คนเราจะร้อนด้วยอะไรก็ตาม ร้อนด้วยความต้องการ ความหิว ความโง่ ความอะไรก็ตามน่ะ มันร้อนก็ยัง ก็ต้องการความเย็น อะไรมาทำให้เขาเย็นได้บ้างเขาก็รู้สึกจะเรียกว่านิพพาน คือเย็น เย็นขึ้นมาทันที จะเป็นคนชาวบ้านโง่เขลาอย่างไรเขาก็มีคำว่าร้อนว่าเย็นนี้ใช้อยู่แล้ว เมื่อใดเย็นเขาก็ว่านิพพาน
ทีนี้ตามประวัติของคำว่านิพพาน สืบสวนดูแล้วมีอยู่ถึงสัก ๓ ยุคน่ะ ๓ ยุค ๓ ระดับหรือ ๓ ยุค ยุคหนึ่งคนเข้าใจว่าสมบูรณ์ทางกามารมณ์เป็นนิพพาน เพราะมันหิวกามารมณ์เหมือนใจจะขาด มันร้อน พอได้กามารมณ์มาสนองความอยากเข้ามันก็สบายใจ เหมือนกับว่าเย็น คือหลอกน่ะมันเย็นหลอก แต่เย็นเพราะได้กามารมณ์นี้ก็ถือว่าเป็นนิพพาน บัญญัติว่าเป็นนิพพานกันมายุคหนึ่งแล้วในครั้งโบราณก่อนพุทธกาล นิพพานคือกามารมณ์สมบูรณ์ ยุคหนึ่ง พวกหนึ่ง ระดับหนึ่ง
ทีนี้ต่อมามีคนพบว่า โอ้...ไม่ใช่ โอ้...ไม่ใช่ อันนั้นมันร้อน เย็นบ้าอะไร จิตสงบเป็นสมาธินี่ นี่พวกฤาษีมุนีกลุ่มหนึ่งเขาพบว่าจิตหยุดเย็นเป็นสมาธินี่นิพพาน ก็ทำสมาธิกันใหญ่ สมาธิก็เกิดขึ้นหลายแบบ และแบบที่นิยมกันมากที่สุดก็คือพรหมวิหาร เป็นสมาธิด้วยและยังไปเกิดในพรหมโลกด้วย คือเย็นให้นานหน่อย เย็นอย่างมีตัวตนให้มันนานๆหน่อยก็ไปอยู่พรหมโลก มาถึงยุคนี้ก็เอาจิตที่เป็นสมาธิคือทางจิต เรื่องทางจิต ละจากเรื่องทางกายมาสู่เรื่องทางจิต เอาไอ้ความเป็นสมาธิแห่งจิตเป็นนิพพาน คือให้เกิดฌาณเกิดสมาบัติขึ้นหลายๆระดับจนสูงสุดนี้เป็นนิพพาน นี่ล่ะทีนี้พระพุทธเจ้าจะเกิดแล้ว พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเป็นพระสิทธัตถะก็ไปเที่ยวศึกษาไอ้ระบบเหล่านี้ก่อน
ระบบสุดท้ายของไอ้เรื่องเย็นเป็นสมาธิที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญา และตอนนั้นท่านก็ไปศึกษาทดลองกับอาจารย์คนสุดท้ายคืออุทกดาบสรามบุตร โอ้...ท่านว่าไม่ใช่ ไม่ใช่เย็นแท้ยังไม่ยอมรับว่าเป็นนิพพาน ท่านก็ออกมาหาของท่านเองจนพบว่าระบบสิ้นกิเลสโน่น นี้เรื่องทางวิญญาณใช่ไหม เรื่องทางวิญญาณโดยสมบูรณ์สิ้นกิเลสน่ะเย็นเป็นนิพพาน นิพพานจริง
ฉะนั้น ระบบกายที่เย็นด้วยกามารมณ์นี้ไม่ไหว ระบบจิตเย็นด้วยสมาธินี้ก็ยังไม่ใช่สูงสุด พอมาถึงระบบวิญญาณเย็นมีสติปัญญาถึงที่สุดตัดกิเลสหมดอันนี้นิพพานแท้ นิพพานสามยุคนี้มันขึ้นอยู่กับกายกับจิตกับวิญญาณเหมือนกัน นี่นิพพานรู้จักนิพพานกันไว้ในความหมายว่าเย็นเถิดแล้วจะไม่จะไม่ผิดพลาดน่ะ แล้วก็จะไม่โง่หลง โง่จะต้องรอกันอีกแสนชาติอสงไขยชาติภพภูมิที่คนก่อนๆเขาพูดกัน ต้องสร้างบารมีหมื่นชาติแสนชาติอสงไขยชาติถึงจะนิพพาน นี่เราไม่พูดอย่างนั้น ไอ้บารมีของเราที่นี่ตรงนี้ถ้าเราบังคับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้ทีหนึ่ง อนุสัยก็ลดลงไปทีหนึ่งนี่ เราสร้างกันที่นี่ร้อยครั้งพันครั้งหมื่นครั้งแล้วก็เย็นลงๆๆ แล้วเราเย็นได้ที่นี่
เมื่อใดจิตมันเย็นด้วยความว่างจากกิเลสแล้วก็เรียกว่าเป็นนิพพาน ที่นั้น เมื่อนั้น เท่านั้นน่ะ สั้นก็ได้ เล็กก็ได้ นานก็ได้ เอาความเย็นแห่งจิตเป็นนิพพาน ถ้ามันไม่เย็นจริงก็ไม่ใช่นิพพานจริง นิพพานชั่วคราว ถ้าเย็นจริงสูงสุดเด็ดขาดก็เป็นนิพพานจริง ฉะนั้นเมื่อใดจิตว่างจากกิเลสนะสังเกตดูให้ดีศึกษาดูให้ดีว่านั่นน่ะคือพระนิพพานตัวอย่าง นิพพานน้อยๆมาให้ดูเป็นตัวอย่างในระยะสั้นๆ แล้วก็พยายามที่จะบังคับกิเลสไม่ให้กิเลสเกิดเรื่อยๆเป็นการสร้างบารมี ความว่างจากกิเลสระยะที่ว่างจากกิเลสก็จะยาวออกๆ นิพพานของเราก็ยาวออกๆจนกว่าจะสมบูรณ์ หรือว่านิพพานของเรายังน้อยอยู่ ละกิเลสได้น้อย ก็ให้มันมากขึ้น นิพพานก็ใหญ่ขึ้นๆและสมบูรณ์
ฉะนั้น หวังนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้จะถูกต้องตามหลักของพระพุทธเจ้า ที่ไหนมีเย็นเพราะว่างจากกิเลสที่นั้นเป็นนิพพาน ว่างจากกิเลสก็คืออย่าไปหลงที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่าไปหลงอารมณ์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าไปกำหนัดยินดี อย่าไป (นาทีที่ 01.02.19)...ยึดมั่นที่นั่นแล้วกิเลสก็ไม่เกิด ไม่เกิดอุปาทาน ใช้คำว่าคำระบุชัดว่าไม่เกิดอุปาทานคือไม่เกิดกิเลส เมื่อไม่เกิดกิเลสอย่างนี้ ไม่มีอุปาทานอย่างนี้ ตนก็รู้สึกเย็นอยู่ในใจก็คือรู้สึกเอง ฉะนั้นก็เลยเรียกว่าทิฏฐธรรมนิพพาน ทิฏฐธรรมแปลว่ารู้สึกด้วยตนเอง คือเรารู้สึกด้วยจิตใจของเราเอง อย่างที่เขาเรียกว่า ...(นาทีที่ 01.02.55) ไอ้นี่คือสันทิฏฐิโก รู้สึกอยู่ในใจด้วยตนเองนั้นน่ะเป็นทิฏฐธรรมะ ไอ้เย็นที่รู้สึกอยู่ด้วยตนเองอย่างนี้เรียกทิฏฐธรรมนิพพาน
ขอให้สนใจ ให้สะสมรวบรวมไว้ ทีละเล็กทีละน้อยก็ตามใจให้มันมากขึ้นๆจนมีทิฏฐธรรมนิพพาน นิพพานที่รู้สึกเองนี้ให้มันมากขึ้นๆจนกว่าจะสมบูรณ์ ชีวิตทางวิญญาณมันต้องการอาหารนี้คือธรรมะที่ให้เย็นให้เป็นนิพพานอย่างนี้ เรียกชีวิตฝ่ายวิญญาณ ชีวิตฝ่ายกายทำให้ถูกต้อง ชีวิตฝ่ายจิตทำให้ถูกต้อง ชีวิตฝ่ายวิญญาณทำให้ถูกต้อง แล้วก็จะเข้าถึงชีวิตนิรันดรคือนิพพานนิรันดร
เอ้า... คุณควรจะตอบได้แล้วกระมังทุกคนที่นั่งฟังอยู่นี่ถ้าไม่หลับ อะไรเป็นคู่ชีวิต เพราะว่าไอ้การบรรยายครั้งแรกนี้จะพูดถึงสิ่งที่เป็นคู่ของชีวิต เท่าที่บรรยายมาแล้วนี้พอจะจับได้หรือยังว่าอะไรมันเป็นคู่ของชีวิต คู่ชีวิต (นาทีที่ 01.04.20)...คู่ชีวิตนี่ ถ้าอย่างนั้นก็ได้เป็นฝ่ายว่างเปล่า ชีวิตฝ่ายว่างเปล่า มันจะมีเมียมีผัวอะไรเป็นคู่ชีวิต แต่ถ้ามันเป็นชีวิตฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณมันก็ไม่ใช่นะ (นาทีที่ 01.04.37)... มันก็คือไอ้สิ่งที่เราเรียกกันว่าธรรมะ ธรรมะนี่ล่ะ
เมื่อวานก็บอกแล้วธรรมะ ๔ ความหมาย อันนี้มีประโยชน์มากถ้าจำไว้ได้นะก็จะช่วยให้เข้าใจธรรมะง่าย ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากหน้าที่ตามธรรมชาติ ร่างกายชีวิตจิตใจนี้มันเป็นธรรมชาตินะดูให้ดีๆนะ มันเป็นตัวธรรมชาติเป็นตัวชีวิตเองนะ ธรรมชาติน่ะร่างกายเรานี่ประกอบด้วยร่างกายนี้ก็คือตัวธรรมชาติ ดินน้ำลมไฟคือตัวธรรมชาติ แล้วก็จิตที่มันเกิดปรุงขึ้นเป็นจิตในร่างกายนี้มันก็ยังเป็นธรรมชาติ กายก็ธรรมชาติ จิตก็ธรรมชาติ ฉะนั้นตัวชีวิตก็คือตัวธรรมชาตินั่นเอง นี้มันจะยิ่งกว่าคู่ชีวิตนะเพราะมันเป็นชีวิตเสียเอง
เอ้า... ทีนี้กฎของธรรมชาติ เมื่อร่างกายเป็นธรรมชาติไอ้กฎของธรรมชาติก็คือที่มันควบคุมร่างกายนี้อยู่ ร่างกายที่เป็นธรรมชาติถูกควบคุมอยู่ด้วยกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นร่างกายนี้หรือชีวิตนี้จึงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มีเกิดมีแก่มีเจ็บมีตายมีอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็เรื่อยไปตามที่มันจะต้องเป็นไปตามกฎ แล้วมันยังมีกฎที่ร้ายกาจที่ว่าทำอย่างนี้เป็นทุกข์นะ ทำอย่างนี้ไม่ทุกข์นะ นี่กฎที่ร้ายกาจ กฎธรรมชาติที่ควบคุมไอ้ชีวิตนี้อยู่ ฉะนั้น กฎธรรมชาตินั้นน่ะมันควบคุมชีวิตนี้อยู่ จึงจะเรียกว่าเป็นคู่ชีวิตหรือมันจะเป็นนายของชีวิตก็ตามใจ แต่มันคู่กันกับชีวิตเพราะว่าชีวิตมันคือธรรมชาติ ไอ้กฎของธรรมชาติมันก็อยู่กับธรรมชาติ
ทีนี้คำว่าธรรมในความหมายที่ถัดไป หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งต้นไม้ ทั้งสัตว์เดรัจฉาน ทั้งมนุษย์นี้มันจะต้องมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มิฉะนั้นมันจะต้องตาย หรือมันไม่ได้ไอ้ชนิดที่ดีที่สุดที่มันควรจะได้ นี้เราก็มีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติด้วยกัน ชีวิตทั้งหลายเราหาอาหารกิน เราต่อสู้อันตราย จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้รอดชีวิตได้ นี่คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี้คู่กับชีวิตอย่างนี้
ถ้าหน้าที่นี้ไม่มีมันออกไปเสียแล้วชีวิตนี้จะต้องตายนะ คุณลองไม่กินอาหารดูสิ มันก็จะแย่นะ เพียงแต่ไม่อาบน้ำน่ะมันก็จะแย่สักเท่าไร เพียงไม่บริหารร่างกายเท่านั้นล่ะมันก็จะแย่ ไอ้หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี้คือคู่ชีวิตที่พระพุทธเจ้าท่านเอามาสั่งสอนเป็นพระศาสนาขึ้นมานี้คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เป็นระบบหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่จะต้องรู้และต้องทำ ที่เราเรียกว่าพระธรรม พระศาสนา ศีลสมาธิปัญญานี่หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นี่คือธรรมะที่จะต้องอยู่กับเราเป็นคู่ชีวิตกับเราคือพระธรรม พระธรรมนั้นน่ะเป็นคู่ชีวิต
ใครมีแฟนก็ไปบอกแฟนเสียว่าคุณไม่ใช่คู่ชีวิต พระธรรมน่ะ พระธรรมเป็นคู่ชีวิตของเธอด้วย พระธรรมเป็นคู่ชีวิตของฉันด้วย เราแต่ละคนมีพระธรรมเป็นคู่ชีวิตขึ้นมาด้วยกัน ฉะนั้นอย่าโง่ให้มันมากนักเดี๋ยวน้ำตาจะร่วง ถ้าว่าเอาคนเป็นคู่ชีวิตแล้วมันจะต้องน้ำตาร่วงเพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นได้ผิวเผินเกินไป เพราะไอ้ร่างกายนั้นมันหลอกลวงเกินไป
ฉะนั้น เรามีธรรมะเป็นคู่ชีวิตแล้วก็ได้ผลออกมาเป็นมรรคผลนิพพาน ศีลสมาธิปัญญานี้เป็นพระธรรมคู่ชีวิต ปฏิบัติแล้วได้ผลคือมรรคผลนิพพาน คือเหตุผลของการที่มีคู่ชีวิตชนิดนี้ ควรจะมองเห็นกันพอเป็นสันทิฏฐิโกได้ ไม่ต้องเชื่อผม คุณเชื่อตัวเองเถิดที่ผมพูดมานี้มันจริงหรือว่าไม่จริง ธรรมะต้องเป็นสันทิฏฐิโกเสมอถ้าเชื่อคนอื่นแล้วใช้ไม่ได้ ถ้าเชื่อครูบาอาจารย์ไหนก็... (นาทีที่ 01.09.46) ต้องเห็นเองและเชื่อเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าฉันพูดไปแล้วอย่าเชื่อ ไปมองดูด้วยยถาภูตะสัมมัปปัญญาของตนเอง เห็นก่อนแล้วจึงเชื่อ
ข้อสุดท้ายของกาลามสูตรมีอยู่ว่า มา สมโณ โน ครูติ อย่ารับเชื่อเพราะคนนี้เป็นครูของข้าพเจ้า เพราะสมณะนี้เป็นครูข้าพเจ้า ก็คือพระพุทธเจ้านั่นเองแหละ ท่านบอกว่าอย่าเชื่อเพราะว่าสมณะนี้เป็นครูของข้าพเจ้า เป็นครูของเรา ฉะนั้นเรามีสิทธิที่จะไม่เชื่อภายนอก ไม่เชื่อคน ไม่เชื่ออะไร แต่เราฟังได้ เรามาทดสอบปฏิบัติดูได้ พอเห็นว่าชัดแล้วอย่างนี้ก็เชื่อ แล้วบางอย่างมันมองเห็นน่ะ มันมองเห็นได้ อะไรที่เป็นคู่ชีวิตโดยแท้จริงของเรานี้อย่างนี้เราก็พอจะมองเห็นได้ ถ้ามองเห็นได้อย่างนี้คือสันทิฏฐิโก ทำแล้วมันมีอยู่จริง พอที่จะเอหิปัสสิโกไปเรียกเพื่อนมามาดูๆอย่างนี้มันจึงเป็นธรรมะจริง ถ้าไม่สันทิฏฐิโกไม่มีอยู่จะเรียกใครมาดูได้ยังไม่ใช่ธรรมะที่แท้จริง มันเป็นธรรมะตัวหนังสือ เป็นธรรมะคำพูด เป็นธรรมะอะไรก็ไม่รู้ ยังไม่มีความเป็นธรรมะโดยสมบูรณ์
ฉะนั้น ถ้าเรามีเย็นเมื่อไร ด้วยเหตุใด วิธีใด เราเรียกเพื่อนมาดูได้ว่าเย็นๆอยู่อย่างนี้มาดูๆ นี่ธรรมะจริง แม้ไม่รู้พระไตรปิฎกไม่รู้อะไรมากๆ ไม่เป็นอาจารย์ไอ้ธรรมะอะไรก็เถิด แต่ถ้าเขาทำโดยมีอยู่ที่จิตมันเย็นว่างจากกิเลสได้แล้วล่ะก็คือนิพพาน มาดูๆๆ นี่ธรรมะที่ทำให้เกิดเย็นนี้เป็นสิ่งสูงสุดของตัวพระพุทธศาสนา เป็นคู่ของชีวิต ถ้าชีวิตไม่มีอันนี้ชีวิตนั้นจะร้อน ชีวิตนั้นจะเป็นอันตราย จะเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นข้าศึกศัตรูขึ้นมาเสียเอง ถ้ามีธรรมะเข้ามาให้มันชีวิตนี้จะเย็น จึงจะเป็นมิตร จะให้ความสงบสุข
จึงขอให้รู้จักธรรมะเองเถิด และถึงผมไม่บอกคุณก็รู้ได้เองว่าธรรมะคือคู่ชีวิต ไม่ใช่แฟนแน่นอน เรื่องที่จะพูดวันนี้มันก็ คู่ชีวิตที่เรียกว่าคู่ชีวิตคือธรรมะ ในโลกนี้ในมหาวิทยาลัยไหนก็ยังไม่ได้สอน การศึกษาระบบนั้นมันเป็นหมาหางด้วน จึงเกิดมหาวิทยาลัยต่อหางหมากันที่นี้ให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ออกไปๆ จนกว่ามันจะสมบูรณ์ นี่เราเปิดมหาวิทยาลัยกันสัก ๑๐ ชั่วโมงต่อหางหมา วันนี้เรื่องคู่ชีวิตหรือสิ่งที่เป็นคู่ของชีวิตคือธรรมะ
ในฐานะที่เป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงจะต้องเคารพ จะต้องเชื่อฟังต้องรับเอา ถ้าเราเห็นอย่างนี้เราจะรักผู้อื่นด้วย ยอมรับหลักที่ว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะมันเป็นชีวิตอย่างเดียวกับเรา มีปัญหาอย่างเดียวกับเรา ร้อนก็ทำผิด เย็นก็ทำถูก เย็นจริงก็เป็นนิพพานได้ด้วยกัน แล้วเราก็มีคนที่มีธรรมะเป็นคู่ชีวิต
ฉะนั้น ถ้าคุณจะมีแฟนหรือว่ามีแฟนอยู่แล้วก็ตามทำให้เขามีธรรมะด้วย ไม่งั้นจะต้องกัดกันอย่างแน่นอน มันเป็นคู่กันไม่ได้หรอกจะต้องกัดกันอย่างแน่นอน เอาละการบรรยายนี้ก็พอสมควรแก่เวลาคือ ๑ ชั่วโมงแล้ว ขอยุติเสียที