แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย การบรรยายในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๔ หรือจะเป็นครั้งสุดท้าย จะได้กล่าวโดยหัวข้อว่า ผลจากการประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ ลองทบทวนดูให้ดีก็จะพบว่าเราได้พูดถึงเรื่องธรรมะอย่างที่ติดต่อกันมา ในครั้งแรกที่สุด ก็พูดถึงว่าการศึกษาธรรมะของพวกเรายังสับสน แล้วครั้งที่ ๒ ก็ว่าจะศึกษาธรรมะกันอย่างไร ครั้งที่ ๓ ก็ว่าการประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ ในวันนี้ก็จะพูดถึงผลที่เกิดมาจากการประสบความสำเร็จ อันที่จริงการประสบความสำเร็จนั้นมันก็เป็นผลอยู่เหมือนกัน แต่มันเป็นผลที่กลายเป็นเหตุเพื่อให้ได้อะไรต่อไปอีก เราจึงมีผลอีกครั้งหนึ่งคือผลจากการที่ประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ ธรรมะ ๔ ความหมาย ที่พูดย้ำๆ กันอยู่เสมอ ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นี้หมายความว่าเราได้มีการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติแล้ว แล้วก็ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ แล้วก็มีผลจาการปฏิบัตินั้นตามแต่ว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรข้อไหนเท่าไร ทีนี้เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว มันก็มีผลที่พอจะรวบรัดเป็นครั้งสุดท้ายได้ว่า ความสุขที่เกิดมาจากธรรมปีติถ้าจะจำบาลีก็จำว่า ธมฺมปีติ สุขํ เสติ ผู้มีปีติในธรรมย่อมนอนเป็นสุข เราเรียกว่าความสุขที่เกิดมาจากธรรมปีติ ทุกคนจะต้องสนใจคำว่าธรรมปีติต่อ เมื่อมีธรรมปีติจึงจะมีความสุขที่แท้จริง ในท่อนนี้อยากจะพูดถึงหัวข้อพระบาลีนั้น สักนิดหนึ่งก่อนว่ามีถ้อยคำชัดอยู่ว่า ผู้มีปีติในธรรมย่อมนอนเป็นสุข อยากจะพูดถึงคำว่านอนเป็นสุข นั้นมันเป็นสำนวนพูดเป็นภาพพจน์ของการพูด ถ้าคนที่มีอิริยาบถเป็นสุขเมื่อคืนนอน นอนสบาย แต่ขอให้รู้ว่าความหมายของคำว่านอนนั้นไม่ได้หมายถึงอิริยาบถนอนโดยตรงหรือโดยอย่างเดียว นั่งนอนยืนเดินก็ได้ หมายความว่าตลอดเวลา เราพูดกันตามปรกติธรรมดาก็พูดได้ว่า คนนี้ประสบความสำเร็จในการงานแล้วมันนอนสบายไปเลย ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะอิริยาบถนอน อิริยาบถไหนก็ได้ นั่งนอนเดินยืนหรือย่างอื่นก็ได้แล้วมันก็เป็นสุข จึงพูดเสียใหม่ว่าผู้มีธรรมปีตินั้นจะมีชีวิตที่อยู่อย่างเป็นสุข สุขในที่นี้หมายถึงสุขเกิดจากธรรมปีติ ถ้าสุขเกิดจากอย่างอื่นแล้วก็ไม่จริง ไม่แท้ ปลอม หรือไม่ควรจะเรียกว่าความสุขที่แท้จริง ความรู้สึกเป็นสุขที่แท้จริงต้องมาจากธรรมปีติ ฉะนั้นรู้จักคำว่าปีติกันเสียให้สมควรหรือให้ครบถ้วนให้สมบูรณ์ คำว่าปีติในภาษาไทยก็มีความหมายได้เป็นสองอย่าง ปีติชนิดหนึ่งเป็นความรู้สึกที่รุนแรงจนเนื้อเต้นตัวสั่นปากสั่นตัวลอยนี้เรียกว่าปีติ ซึ่งเป็นความรู้สึกของจิตที่รุนแรง นี่เราไม่ได้หมายถึงปีติชนิดนี้โดยตรง เราหมายถึงความรู้สึกปีติที่อิ่มใจหรือพอใจที่ไม่ต้องรุนแรงถึงขนาดนั้น ไม่ต้องโลดเต้นถึงขนาดนั้น มีความพอใจนิ่งเงียบเฉยอยู่ก็ได้ ในภาษาไทยก็เรียกว่าปีติเหมือนๆ กัน ปีติรุนแรงถึงกับกระโดดโลดเต้นเนื้อตัวสั่นจิตใจสั่นระรัวไปหมด อาการอย่างนั้นจะไม่เรียกว่าความสุข ถ้าอาการอย่างนั้นสงบไปแล้วเหลืออยู่แต่ความพอใจเป็นพื้นฐาน นี่ปีติอย่างนี้ที่จะเรียกว่าเป็นสุข เป็นความสุขหรือให้เกิดความสุข สังเกตเห็นว่าภาษาอังกฤษก็มีอยู่ ๒ คำ คือคำว่า Rapture นี้ หมายถึงปีติโลดโผน คำว่า Contentment นั้นคือปีติที่เงียบสงบ คือความพอใจที่มันเงียบสงบไม่สั่นระรัว ธรรมปีตินี้ต้องหมายถึงความพอใจหรืออิ่มใจชนิดที่สงบ คำว่ามีธรรมปีตินอนเป็นสุขก็หมายถึงปีติชนิดนี้ เมื่อเราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมหรือทำอะไรก็ตามที่มันดีที่มันถูกที่มันจริง ถ้าประสบความสำเร็จแล้วเราก็จะรู้สึกปีติ แล้วก็เป็นความสุข ถ้าประสบความสำเร็จในธรรมะระดับสูง ปีตินั้นมันก็สูง ถ้าชั้นธรรมดาสามัญประสบความสำเร็จในการงานการเรียนนี้มันก็เป็นธรรมดาสามัญ แต่มันก็ให้ผลเป็นความสุขที่แท้จริง ฉะนั้นเรามาแยกกันดูให้ดี ให้เห็นชัดว่าปีติอันบริสุทธิ์เป็นอย่างไร ความได้ตามใจกิเลสนั้นมันเป็นอย่างไร เช่นเราได้ของรักของชอบใจที่เรารักมากๆ ต้องการมากๆ เราก็ดีใจจนใจเต้น นี้มันไม่เหมือนกับเมื่อเรารู้สึกว่าเราได้ทำอะไรที่ดีที่ถูกที่ประเสริฐแล้วเราก็ดีใจ แต่มันไม่โลดโผนจนถึงกับใจเต้น นี่คนธรรมดาเอาไปปนกันเสีย ได้เงินได้ทองได้ของรักได้คู่รักแล้วก็ปีติ แล้วก็ว่าเป็นความสุข นั่นก็เป็นความสุขไปอีกแบบ ไม่ใช่ความสุขที่หมายถึงในที่นี้ ที่หมายถึงธรรมปีติคือปีติที่ประกอบไปด้วยธรรม การได้วัตถุแห่งกามารมณ์เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่างนี้ไม่เรียกว่าปีติที่ประกอบไปด้วยธรรม มันก็เป็นปีติอย่างอื่น หรือเป็นปีติปลอม เป็นปีติโคลงเคลงหรือไม่ควรจะเรียกว่าปีติก็ได้ มันเป็นเพียงความชอบอกชอบใจด้วยอำนาจของกิเลส มันจะมีความสุข มันเป็นความสุขชนิดหลอกลวง เป็นเรื่องของกิเลส แล้วก็ทำให้คนต้องน้ำตาไหลหรือฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ เพราะปีติชนิดนี้ ถ้ามันปีติในธรรมต้องมีการกระทำที่ถูกต้อง ประสบความสำเร็จในธรรม แล้วก็อยู่เป็นความสงบอยู่ในจิตใจตลอดเวลานาน อันนี้อยากจะแนะให้ศึกษาให้สังเกตจนรู้จักเอามาใช้ให้มีประโยชน์ให้มากที่สุด คือว่าให้เราทุกคนนี่ ได้มีชีวิตอยู่ตลอดวันหนึ่งๆๆ นี้ด้วยธรรมปีติ เขาจะต้องประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นความมุ่งหมายในชีวิตนี้ ถึงขนาดหนึ่งทีเดียว ขนาดที่พอจะทำให้ตัวเองมีความพอใจในตัวเองได้ว่าปลอดภัยก็ได้ถึงขนาดที่ปลอดภัยก็ได้ หรือถึงขนาดที่พอจะเรียกได้ว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือได้พอสมควรหรือได้ถึงขนาดที่ไว้ใจได้ นอนใจได้ว่ามันจะไม่กลับไปเป็นผิดเป็นเลวเป็นทุกข์อย่างแต่ก่อน เรียกให้ชัดลงไปก็ตรงที่ว่าเราได้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องพอสมควรแก่การที่จะพอใจแล้ว ทีนี้การศึกษาธรรมะที่เราศึกษากันมาเรื่อยๆ นี้ ถ้าศึกษาให้ดีมันก็จะให้ผลเป็นความแน่ใจแก่เรา ว่าเรามีธรรมะถึงระดับที่ปลอดภัยแล้ว ชีวิตนี้ของเราปลอดภัย มีค่าสมกับความเป็นมนุษย์ แล้วเราก็พอใจ มันก็ได้แต่ความพอใจในตัวชีวิตในตัวตนของตนที่ถือว่าเป็นตัวตน ก็เลยรู้สึกเป็นสุขและเป็นความสุขที่แท้จริง เราจะต้องทำอะไรให้ถูกให้ดีจนแน่ใจว่ามันมีอะไรดี หรือถูกอยู่ในตัวเราถึงขนาดที่จะเรียกว่ายกมือไหว้ตัวเองได้ คำโบราณเก่าแก่เขาก็มีพูดกันอยู่แล้วว่าเคารพนับถือตัวเองได้ เราจะต้องมีความเคารพนับถือตัวเองได้ ไหว้ตัวเองได้ ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมปีตินี้ก็จะมีอยู่เป็นพื้นฐาน สำหรับให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข ข้อนี้มันเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ความจริงความตรงอยู่มาก ที่ว่าถ้าเรารู้สึกว่าตัวเรามันยังเล่นตลกโกหกตัวเองอยู่ หรือหลอกลวงสังคมอยู่มันก็ไม่อาจจะมีปีติชนิดนั้นได้ก็ไม่มีความสุขได้ เดี๋ยวนี้เราเป็นนักศึกษา เราสำรวจดูตัวเองว่า มันไม่มีอะไรที่จะติเตียนตัวเองได้ เราไม่มีความชั่วความเลวให้ซ่อนเร้นไว้ เราไม่ได้โกหกหลอกลวงบิดาเอาเงินมาใช้จ่ายอย่างไม่ซื่อตรง หรือเราไม่ได้ทำอะไรที่มันควรจะตำหนิตัวเองเลย ก็พอใจว่าเป็นนักศึกษาที่สะอาดเป็นนักศึกษาที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ แม้เพียงเท่านี้ก็เป็นธรรมปีติ ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขที่แท้จริงได้ แล้วก็ตลอดเวลาไปทุกอิริยาบถ เพราะว่าเมื่อเราเป็นคนดีคนตรงคนจริง คนอย่างนั้นมันเป็นอยู่ตลอดเวลามันเป็นอยู่ทุกอิริยาบถ ฉะนั้นเมื่อเข้าไปในห้องศึกษาก็ปีติ เมื่อออกมาข้างนอกก็พักผ่อนก็ปีติ หรือแม้แต่จะมานั่งกินอาหารอยู่มันก็ปีติ ไปอาบน้ำไปห้องส้วมอยู่มันก็ปีติ มันปีติเพราะเหตุว่าชีวิตนั้นมันถูกต้อง มันมีความถูกต้องมันมีธรรมะอยู่ในตัวมัน มันจึงมีความพอใจ นับถือตัวเองอยู่ตลอดเวลา จะแยกออกไปชัดอีกชั้นหนึ่งว่า เช่นว่าเรานั่งกินอาหารอยู่ ไม่ใช่เพราะรสอาหารอร่อยนะ เราพอใจว่าเรานี้มีชีวิตอยู่อย่างสมควรที่จะกินอาหารนี้ หรือว่าการกินอาหารนี้มันกินสำหรับคนที่มีความถูกต้อง มีประโยชน์แก่โลกมีประโยชน์แก่ศาสนา ไม่กินอาหารก็ตาย เดี๋ยวนี้ก็ต้องกินอาหาร แต่ว่าอาหารนี้มันกินเพื่อความเป็นมนุษย์ที่ดี ที่มีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น สมมุติว่าเราไปนั่งซักผ้าอยู่ เราจะมีปีติปราโมทย์ได้อย่างไร เหมือนกับว่ามันรู้สึกความที่ตนเป็นคนที่ถูกต้องและดีมีประโยชน์ควรแก่การปีติ ฉะนั้นการซักผ้าให้มันใส่นี้มันก็ควรจะพอใจ มันเป็นองค์ประกอบของการที่จะให้มันมีอยู่อย่างมนุษย์ที่มีประโยชน์แล้วก็พอใจในความเป็นมนุษย์ของตน บางทีอาจจะล้างจานอยู่ บางทีอาจจะกวาดเรือนอยู่ ก็มีปีติชนิดเดียวกัน ว่านี้มันเป็นการกระทำของบุคคลที่มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง มีความไว้ใจได้ เป็นไปในทางที่ถูกต้องหรือสูงขึ้นไป จนกว่าจะถึงระดับสูงสุด จะไปทำอะไรอยู่ที่ไหนในอิริยาบถใดก็มีความพอใจในความเป็นมนุษย์ของตน แม้จะไปนั่งเรือเล่นนั่งรถเล่นมันก็เป็นการกระทำของคนที่มีประโยชน์แก่มนุษย์สำหรับความเป็นมนุษย์ แก่ความสงบสุขของโลก มันเป็นการกระทำที่มีค่าไปเสียหมดของคนนั้น นั้นแหละดูให้ดีเถิดว่า คนที่มีธรรมะประสบความสำเร็จในการมีธรรมะอยู่ในตัวนั้น มันให้เกิดธรรมปีติ แล้วก็มีความสุขมีความพอใจไม่จำเป็นว่าจะต้องมานั่งสอนใครมานั่งเทศน์อยู่อย่างนี้ แม้ที่สุดแต่ไปพักผ่อนไปส้วมไปถาน ไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะมันก็พอใจ เพราะว่ามันเป็นการกระทำเพื่อให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่สำหรับเป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ดังนั้นไม่รู้สึกลำบากในการที่ต้องกิน ต้องอาบ ต้องถ่าย เพราะว่าการกิน การอาบ การถ่าย นั้นมันก็เพื่อประโยชน์แก่โลก นี้ขอให้เราทำถึงขนาดที่เป็นที่แน่ใจได้ว่ามันมีธรรม มันประกอบอยู่ด้วยธรรมในบุคคลคนนั้น แล้วปีติมันก็เกิดขึ้นเป็นธรรมปีติ ตื่นอยู่ก็เป็นสุขด้วยปีตินั้น ล้มตัวลงจะนอนมันก็เป็นสุขอยู่ด้วยปีตินั้น หลับไปก็หลับไปก็เป็นฝันดีเป็นเรื่องหลับดีไป พอตื่นขึ้นมามันก็ติดต่อกันอีก ด้วยปีติในการเป็นมนุษย์ของตนที่ยังมีความถูกต้องอยู่ รุ่งขึ้นวันใหม่นี้ก็จะทำหน้าที่ของตนต่อไปจนเสร็จสิ้นวันจนจะถึงเวลานอนพักผ่อน อย่างนี้ทุกวันๆ ทุกเดือนๆทุกปี จะเป็นคนอย่างไรคิดดู นั้นไม่มีเรื่องของการตกนรกทั้งเป็น ไม่มีความผิดไม่มีความชั่วที่จะต้องปิดบังซ่อนเร้น ก็เป็นธรรมปีติ เรียกว่ามันมีความถูกต้องมีธรรมะคือมีความถูกต้อง ของความเป็นมนุษย์อยู่ทุกๆ ขั้นตอนแห่งชีวิตของเรา ความถูกต้องนี้เป็นเหตุให้เกิดปีติที่แท้จริง แล้วมันค่อยเกิดความสุขที่แท้จริง แยกเป็นข้างนอกข้างในก็ได้เป็นปีติได้ทั้งนั้น ปีติในตัวชีวิตที่มันได้ดีถึงอย่างนี้ ลองพิจารณาดูว่าเราได้ทำให้มันถึงขนาดที่มีปีติในตัวชีวิตจิตใจของเราหรือไม่ เราได้มีชีวิตอย่างนี้ มีร่างกายอย่างนี้ มีร่างกายที่สามารถทำสิ่งที่ดีอย่างนี้ เราก็ควรจะพอใจได้ในการที่เราจะมีชีวิตนี้มีร่างกายนี้ กระทั่งว่าเราจะมีเสื้อผ้าที่เราอยู่สวมอยู่นั้น มันก็เป็นเสื้อผ้าที่มีค่า เพราะว่ามันได้ใช้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายที่มีค่าและถูกต้อง ฉะนั้นของภายนอกมันก็ให้เกิดปีติได้ มีบ้านมีเรือนมีที่อยู่ที่อาศัยชนิดที่เป็นประโยชน์แแก่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ มันก็เป็นที่ตั้งแห่งปีติได้ อะไรๆ มันก็มาสรุปรวมอยู่ที่ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องที่ดีที่มีประโยชน์ แม้ที่สุดถ้ามันจะเกิดเจ็บไข้จะเป็นจะตายขึ้นมาก็มีวิธีคิดที่ควรจะปีติว่ามันทำได้ถึงอย่างนี้ ถ้ามันเป็นไข้มันก็ดีกว่าตาย ถ้าเป็นเรื่องตายมันก็จบกัน แต่ว่าเราได้ทำสุดความสามารถของเราแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ควรจะทำได้แล้ว ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ต้องกลัวตาย ไม่ต้องเดือดร้อนเป็นทุกข์เพราะกลัวตาย ยังคงเป็นสุขอยู่ว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้ว จนถึงวาระสุดท้ายคือเจ็บไข้และตาย ก็ให้มันตายไปด้วยความรู้สึกที่ปีติ คือพอใจตัวเองเคารพนับถือตัวเองยกมือไหว้ตลอดตัวเองได้ ตลอดเวลาจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายคือตาย แล้วไม่มีอะไรที่จะไม่รู้สึกพอใจและเป็นสุข มีแต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกพอใจและเป็นสุข เพราะมันได้ทำให้ถูกต้องทุกอย่างทุกประการตามที่เราควรจะทำ นี่แหละอานิสงส์ของพระธรรมที่ประสบความสำเร็จ แล้วก็ให้เกิดปีติเป็นธรรมปีติ แล้วก็เกิดความสุขที่แท้จริงอยู่ในชีวิตนั้น นี่เรื่องสำหรับธรรมดาสามัญสำหรับพวกเราแม้ในระดับคนหนุ่มคนสาวที่ยังเป็นนักศึกษา ระดับนี้ก็ยังสามารถจะสร้างสรรค์ธรรมปีติให้หล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจอยู่ตลอดเวลา ก็อยู่ด้วยความสงบสุข นี่ถ้าสมมุติว่าประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมะขั้นที่บรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็เป็นไปมากกว่านี้ คือเป็นไปในระดับสูงสุด คือความสุขอันแท้จริง มีธรรมะให้เกิดปีติเหมือนกัน จะเลยไปถึงขนาดที่ว่ามันหยุดความรู้สึกปีติหรือเป็นสุข อยู่เหนือความสุขเหนืออะไรไปเสียอีกนู้น มันจะไปไกลถึงขนาดนู้น เดี๋ยวนี้เราเอาในระดับบุคคลที่ยังมีความรู้สึกพอใจในปีติและพอใจในความสุข เราอย่าเพิ่งพูดถึงพระอรหันต์กันก่อนเลย แต่มันก็ไปแนวนั้นนะ แนวที่ประสบความสำเร็จของธรรมะสูงสุดเป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้เอาอย่างคนธรรมดา ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของตน เช่นอยู่อย่างนี้เป็นคนหนุ่มคนสาวกำลังศึกษาเล่าเรียนอย่างนี้ หรือว่าจะกำลังประกอบการงานอะไรอยู่ก็ตาม ยังเป็นคนครองเรือนยังเป็นฆราวาสก็พยายามปฏิบัติธรรมะในระดับคือในขอบเขตของฆราวาสให้ประสบความสำเร็จให้จนได้ จนพอใจในตัวเองในชีวิตของตัวเอง ว่ามันประกอบอยู่ด้วยธรรมะคือความถูกต้อง ทีนี้ก็รักษาความถูกต้องนี้ไว้ตลอดเวลา อย่าให้มันเกิดความผิดพลาดขึ้นมา หรือถ้ามันเกิดขึ้นมาก็สลัดออกไปให้ยังคงเหลืออยู่แต่ความถูกต้อง ข้อนี้มันไม่มีใครมารู้ของเราได้ มันเป็นเรื่องในใจเรารู้คนเดียว มีความถูกต้องหรือมีความผิดพลาดเรารู้คนเดียว เราก็จัดหรือทำได้ ผิดพลาดไปก็ละเสีย แล้วก็สำนึกบาปและกลับตัวเสียไม่ทำอีก ให้มันเหลืออยู่แต่ความถูกต้องสำหรับจะพอใจต่อไป เอาล่ะ ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ทุกแง่ทุกมุมว่าสิ่งนี้มันไม่เกี่ยวกับความมีเงินหรือไม่มีเงิน มันไม่เกี่ยวกับความมั่งมีหรือความยากจน มันไม่เกี่ยวกับอะไรทำนองนั้น มันเกี่ยวแต่ความถูกต้องหรือความไม่ถูกต้อง เอาความไม่ถูกต้องออกไปให้เหลือแต่ความถูกต้อง แม้จะกำลังยากจนก็ขอให้มันมีความถูกต้อง แล้วก็ใช้ความถูกต้องแก้ไขความยากจน มันก็จะไหว้ตัวเองได้ แม้ยังยากจน แม้กำลังแก้ไขความยากจน ขอให้มุ่งมั่นที่จะยึดมั่นในธรรมะอย่างนี้ เช่นเดียวกับพวกที่เขานับถือพระเจ้าพระเป็นเจ้า เขาก็ยึดมั่นอย่างนั้น ยึดมั่นในความถูกต้องตามความประสงค์ของพระเจ้า ตามที่เขาได้เล่าได้เรียนมาว่าพระเจ้านั้นต้องการอะไรต้องการอย่างไร เมื่อเราได้ประพฤติตรงสนองความประสงค์ของพระเจ้า มันก็มีความพอใจ สิ่งที่ทำผิดก็สารภาพเหมือนกับว่าพระเจ้ายกโทษให้ เดี๋ยวนี้พระเจ้ามาอยู่ในใจเราแล้ว สำหรับจะรู้ความผิดของเรา ยกโทษความผิดของเรา ให้มันเหลือแต่ความถูกต้อง นี่พูดเผื่อไปเพราะว่ามันได้เกิดขึ้นไอ้ความผิดมันได้เกิดขึ้น แต่เราก็พยายามที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้น และบังคับตัวเองอย่างเข้มแข็ง จะไม่ให้ความผิดพลาดมันเกิดขึ้น แต่ถ้ามันมีเหตุให้มันเกิดขึ้นมาแล้วก็พยายามที่จะแก้ไขทำคืนสลัดคืนไม่ทำอีก ให้มันพอใจตัวเองได้ในการที่ว่ามันจะไม่ทำอีก นี้ก็เรียกว่าประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ แล้วก็เกิดธรรมปีติติดต่อกันไป ฉะนั้นขอให้อยู่ด้วยธรรมปีตินี้ตั้งแต่วาระนี้จะเป็นนักศึกษา จนกว่าจะผ่านพ้นไปเป็นบิดามารดาเป็นครูบาอาจารย์เป็นอะไรต่อไปข้างหน้า ก็ให้มันสืบต่ออยู่ด้วยธรรมปีติ มีความยินดีพอใจในการกระทำของตัวเอง คือมีธรรมะนั่นแหละ แล้วก็จะไม่ต้องกลัวไม่ต้องเป็นห่วงไม่ต้องสงสัยว่ามันจะขาดอะไร อย่างนั้นก็สังเกตจดจำไว้ให้แม่นยำว่าความสุขนั้นมันมีหลายชนิด อย่างน้อยมันก็ ๒ ชนิด คือความสุขที่มิได้มาจากธรรมปีติ ฉะนั้นอย่าไปชอบมัน มันจะกลายเป็นตัว ก. สะกดแล้วมันก็จะเผาให้ร้อนมันจะลนให้ร้อน มันเป็นความสุก ก. สะกด ไม่ได้มาจากธรรมปีติ ให้มันเป็นความสุขที่มาจากธรรมปีติก็เย็น ก็สบายตามความหมายของคำว่าความสุข ต่อแต่นี้ไปก็ขอให้สนใจคำว่าธรรมปีติไว้ให้เสมอไป สำหรับจะไปทดสอบตัวเองว่า พอมันเกิดความรู้สึกยินดีพอใจอะไรขึ้นมานี้ก็รีบทดสอบโดยเร็วว่าความพอใจยินดีนี้มาจากธรรมะหรือมาจากอธรรม เราอาจจะรู้สึกได้ง่ายรู้สึกพอใจยินดีด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งขึ้นมา แล้วก็รีบทดสอบโดยเร็วว่ามันมาจากธรรมปีติหรือเปล่า หรือมันจะกลายเป็นธรรมปีติได้หรือไม่ ถ้าใครเอาเงินมาให้มาก หรือว่าถูกล็อตตารี่โดยบังเอิญมันก็จะต้องยินดีกันเป็นการใหญ่ และดูให้ดีว่ามันยินดีที่ประกอบด้วยธรรมะหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามันเป็นเรื่องปีติโลดโผนของกิเลสความต้องการแล้วละก็ อย่าไปยินดีกับมันนัก เดี๋ยวมันจะต้องเช็ดน้ำตาหรือว่ามันจะทำให้เป็นบ้าก็ได้ ปีติที่ไม่ประกอบไปด้วยธรรม ทำให้เป็นบ้าก็ได้ นี้เอาไว้สำหรับควบคุมตัวเองตักเตือนตัวเองว่าในวันหนึ่งๆ มันมีอะไรเกิดยินดีขึ้นมา ก็ดูว่ามันมาจากธรรมะหรือเปล่า เป็นธรรมปีติหรือเปล่า พยายามทำให้มันกลายเป็นธรรมปีติเสีย ถ้ามันไม่ใช่ธรรมปีติ เราจะมองดูไปในแง่ที่เห็นว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาแก่เรา เพราะการที่เรามีธรรมะ จะเกิดรวยเกิดมีชื่อเสียงเกิดมีอะไรขึ้นมาก็พยายามที่จะหมุนเข้าไปหาธรรมะ มองให้เห็นว่ามันเป็นผลของการมีธรรมะ ในเรื่องสำหรับอยู่ในโลกมันมีอยู่อย่างนี้ เพื่อไม่ให้ร้อนเป็นไฟ ก็คือต้องเอาธรรมะเข้ามากำกับไว้เสมอไป เมื่อมีธรรมะแล้วก็ควรจะยินดีพอใจ แล้วมันก็กลายเป็นธรรมปีติ มันก็ให้ความสุขทุกอิริยาบถ ภาวนาถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมปีติไว้ตลอดเวลา เราจะสร้างปีติเพราะธรรมะเป็นของประจำ จะทำอะไรนิดหน่อยแม้เรื่องเล็กน้อยนิดหน่อยในชีวิตประจำวันก็ขอให้มันมีความถูกต้องแล้วก็จะได้พอใจ เช่นว่าจะดื่มน้ำสักแก้วหนึ่งก็ขอให้มันมีความถูกต้อง ไม่ได้ดื่มด้วยมูมมามด้วยตะกละด้วยเผลอสติ ในการดื่มน้ำนั้นมันก็มีธรรมะ แล้วก็ มันก็ช่วยให้เราพอใจว่ามีธรรมะ ยกตัวอย่างที่เล็กที่สุด จะเคลื่อนไหวอิริยาบถใดอะไรจะเดินจะเหินจะนั่งจะนอนจะอะไรนี้ก็ขอให้มันเป็นที่แน่นอนว่ามันประกอบอยู่ด้วยความถูกต้อง ในทางธรรมะเป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นอะไรก็ตามมันมีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องอยู่ตามสถานะของมันแล้วก็เรียกว่าเขามีสิทธิที่จะปีติปราโมทย์ได้ แล้วเขาควรจะพอใจแต่ในความถูกต้องอย่างนี้ อย่าปล่อยให้มันหละหลวมเผอเรอไปพอใจในเรื่องสรวลเสเฮฮาตะกละตะกลามไม่มีสติสัมปชัญญะไม่มีกิริยามารยาทที่ดีงาม มองดูก็จะเห็นว่าการที่มันจะอยู่ในร่องรอยของธรรมะได้มากถึงเพียงนี้ มันต้องมาจากการที่เราประสบความสำเร็จในการบังคับจิตบังคับความรู้สึก ควบคุมกายวาจาใจให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของความถูกต้องหรือตามกฎของธรรมชาติที่เป็นความถูกต้อง สำหรับที่จะดีจะมีความสุข ก็ต้องลงทุนกันบ้าง ไม่ใช่ลงทุนเป็นเงินเป็นทองอะไร ลงทุนด้วยการอดทน ความยากลำบากในการที่จะศึกษา ในการที่จะปฏิบัติ ในการที่จะควบคุมตนเองอยู่ตลอดเวลา ต้องเสียสละความสรวลเสเฮฮาสนุกสนานเอร็ดอร่อยของกิเลสด้วย ที่มันเป็นความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาตามแบบของกิเลสที่เราเคยทำมาแต่ก่อนนั้น จะต้องเสียสละ นี่เรียกว่าการลงทุน ไม่ใช่ต้องควักเงินออกมาซื้อหาอะไรอีก แต่ลงทุนด้วยความอดทน ซึ่งมันก็ต้องเจ็บปวดบ้าง บังคับจิตให้อยู่ในร่องรอยของธรรมะไม่ให้มันไปสรวลเสเฮฮาด้วยกิเลส มันมีความเจ็บปวดบ้าง คือเจ็บปวดในทางจิต เหมือนกับไม่ได้ไปสนุกสนานเล่นหัวสรวลเสเฮฮา นี่มันรู้สึกถึงความเจ็บปวดในทางจิต ก็ทนได้ แล้ววิธีที่จะทนให้ง่ายมันก็ไปหาธรรมปีติไปหาความถูกต้องจากการที่เราทนได้หรือจากการที่เราไม่ไป อย่างเราอยากจะไปเที่ยวกลางคืน แล้วมันความรู้สึกไอ้ฝ่ายธรรมะมันบอกว่าไม่ควรจะไป เกิดความเจ็บปวดขึ้นฝ่ายกิเลส ถ้าทนได้ก็ดี ถ้าทนไม่ได้มันก็ ก็ไป มันก็ดื้อธรรมะไป ถ้าทนได้มันก็มีความรู้สึกชนะเป็นฝ่ายธรรมะ เราก็หน่วงความรู้สึกของเราให้มาพอใจในความถูกต้อง คือความไม่ไป คือความที่อยู่อย่างมีธรรมะแล้วก็พอใจอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นความสุขดีกว่าไปเที่ยว ออกไปเที่ยวกลางคืน เอาธรรมะมาสู้รบกับอธรรมหรือว่าเอาความพอใจในธรรมมาสู้รบกับความพอใจของกิเลส เมื่อกิเลสมันต้องการจะไปหาเหยื่อของกิเลส ความพอใจในธรรมะก็ดึงไว้ว่าไม่ต้องไป มาหาความสุขความพอใจกันที่นี่ด้วยธรรมะดีกว่า นั่นแหละมันจะมีธรรมะมากขึ้น ไม่ต้องเสียเงินเสียทองไม่ต้องเสียสตางค์ ซื้อหาเครื่องแต่ตัวสวยๆ ออกไปเที่ยวสรวลเสเฮฮาให้เป็นเหยื่อของกิเลส จนกระทั่งมันวินาศไปด้วยอำนาจของกิเลส ดึงมันไว้ให้มันมาหาความสุขความพอใจกับธรรมะ และธรรมปีติมันก็ยังเกิดได้ ช่วยเหนี่ยวรั้งให้จิตใจนั้นมาหาธรรมะ ให้เรารู้จักใช้ธรรมปีติในทุกกรณี จะนั่งอ่านหนังสือมันก็คงจะปวดหลังเมื่อยหลังหรือขี้เกียจจะอ่านบ้าง นี่ก็จะต้องหาธรรมปีติมาช่วยมากลบเกลื่อนไอ้ความขี้เกียจหรือมากลบเกลื่อนความเมื่อยหลังนั่งอ่านหนังสือ หรืออะไรก็ตามที่มันทำให้ไม่อยากจะทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตามธรรมดาก็เป็นเรื่องความเบื่อหน่ายความขี้เกียจซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็ใช้ความรู้สึกที่ถูกต้องสติสัมปชัญญะที่เพียงพอ ให้มันเกิดความสนใจยินดีในความถูกต้องในธรรม และทำสิ่งที่ควรทำเพลินไปเลย ก็เรียกว่ามันเพลิดเพลินในธรรม เพลิดเพลินในการงานที่ประกอบไปด้วยธรรม แม้จะเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อยมันก็ไม่รู้สึก มันเพลินไปในธรรมเพราะว่ามีปีติในธรรม มันก็เลยเป็นเรื่องถูกต้องหมด เมื่อทำการงานก็ดี เมื่อพักผ่อนก็ดี เมื่อรับผลของการงานก็ดี อะไรก็ดีมันอยู่ด้วยธรรมปีติทั้งนั้น นี่เราจะเอาอย่างไรกันอีกถ้าว่าชีวิตนี้ มันอยู่ด้วยความอิ่มใจพอใจเยือกเย็นตลอดเวลาจนกว่าจะตาย จนกว่าจะเน่าเข้าโลง มันอยู่ด้วยความถูกต้องพอใจยินดีอยู่ตลอดเวลา นี้คือสิ่งที่เราจะต้องจัดจะต้องทำ มันจะเป็นเองไม่ได้ จะปล่อยมันเป็นเองมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องศึกษาให้รู้ เราต้องจัดและเราต้องทำ แล้วมันก็จะได้ แล้วมันก็จะได้เรื่อยๆ ขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุด ที่จะปล่อยให้เป็นไปเองนั้น มันไม่มีหวัง มันไม่รู้มันก็ทำไม่ถูก และมันไม่รู้ว่าจะไปทิศไหนทางไหน มันก็ไม่มีหลักการ มันก็ไม่มีความมุ่งหมาย เดี๋ยวนี้เราก็มีความรู้ มีหลักการว่าต้องทำอย่างนี้ แล้วเราก็พยายามอย่างที่มีความมุ่งหมาย ก็ประสบความสำเร็จเรื่อยๆ ไป มันก็มากขึ้นๆ มันก็เลื่อนชั้นให้สูงขึ้นไปได้ให้มากขึ้นไปได้ คือการประพฤติธรรมะหรือการบังคับจิตนั้นมันก็จะมากขึ้นไปจะสูงขึ้นไป จนเรียกได้ว่าเป็นผู้มีภูมิ มีธรรมสูง มีจิตสูงก็คือมีภูมิธรรมของจิตนั้นมันสูง ทีนี้มันรอดตัวแล้ว เพราะมันรู้เสียแล้ว เพราะมันขึ้นถึงระดับที่จะปลอดภัยแล้ว เรียกว่าตอนต้นๆ คงจะลำบากหน่อย มันจะต้องอดทนจะต้องต่อสู้ จนกว่ามันจะถึงระดับที่ไว้ใจได้พอใจในตัวเองได้จริงๆ นี่คือผลของการประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ ผลอันนี้จะเรียกว่าธรรมปีติ คำที่อยากจะย้ำแล้วย้ำอีกให้จำให้แม่น ว่าธรรมปีติมีผลเป็นธรรมปีติ สำหรับจะได้ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตจนตลอดชีวิตให้อยู่แต่ในสภาพที่เรียกว่าเป็นสุขหรือใช้คำธรรมดาสามัญว่านอนสบาย หรือนอนเป็นสุขไม่มีความทุกข์ไม่มีปัญหา ทำอะไรให้มันถูกต้องไปเสียหมดไม่ว่าเรื่องอะไร เป็นธรรมปีติไปได้หมด ทำเพื่อตัวเองก็ได้ทำเพื่อผู้อื่นก็ได้ อย่าลืมว่าชีวิตของคนเราที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์นั้น มันต้องทำสิ่งที่ควรทำครบถ้วนทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่น ถ้าทำได้แต่เพียงเพื่อตัวเองนี่ไม่สมบูรณ์ไม่ครบถ้วนบางทีจะไม่ถึงครึ่ง เอาอย่างมากก็ครึ่งหนึ่ง เรียกว่ายังไม่สมบูรณ์ อย่างเรื่องในพระศาสนานี่จึงเน้นเรื่องผู้อื่นไว้ด้วยเสมอไป ให้มันออกมาเสียจากคุกจากตารางคือความเห็นแก่ตัว นี่พูดเป็นภาพพจน์ให้จำง่าย ว่าเราทุกคนติดคุกติดตารางแห่งความเห็นแก่ตัว ไม่มีอิสรภาพที่จะไปช่วยผู้อื่น ก็ลองคิดดูสิ เราไม่คิดจะช่วยผู้อื่นมันเป็นการยากที่เราจะช่วยผู้อื่นเพราะเรามันเห็นแก่ตัว ที่เราจะทำอะไรที่นิยมกันว่าเป็นเรื่องช่วยผู้อื่นนั้นมันไม่ได้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่เขาเรียกกันง่ายๆ ว่าทำดีเอาหน้านะ มันมีเสียมาก มันมีมากอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้ยังไม่เรียกว่าช่วยผู้อื่น ยังทำเพื่อเห็นแก่ตัว ให้ทานเอาหน้า อะไรเอาหน้าเอาเกียรตินี่ไม่ได้ช่วยผู้อื่นเพราะมันทำเพื่อตัว มันทำเพื่อความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์ของตัว ก็ต้องหลุดพ้นจากความรู้สึกชนิดนี้อีกทีหนึ่งจึงจะเรียกว่าอิสรภาพโดยสมบูรณ์ มีอิสรภาพในการที่จะช่วยผู้อื่น ฟังดูมันก็แปลกดี เดี๋ยวนี้กิเลสมันกักขังเราไว้ ไม่ให้คิดจะช่วยผู้อื่น จนกว่าจะชนะกิเลสนั้นความคิดเรื่องช่วยผู้อื่นเห็นแก่ผู้อื่นมันจึงจะมี ฉะนั้นเขาจึงวางหลักไว้ บัญญัติไว้เป็นหลักว่าถ้ายังไม่สูงขึ้นมาถึงระดับที่ไปช่วยผู้อื่นแล้ว ยังไม่เต็ม ยังไม่เป็นมนุษย์ที่เต็ม ยังไม่เป็นชีวิตที่เต็ม ชีวิตนั้นยังไม่สมบูรณ์ยังไม่เต็ม มันเป็นชีวิตที่ช่วยตัวเองได้แล้ว แล้วก็ช่วยผู้อื่นได้ด้วยเป็นชีวิตที่เต็มที่สมบูรณ์ ในเรื่องของตัวเราที่จำเป็นแก่ตัวเรามันไม่มากนัก คิดไปคิดดู แต่เรื่องที่จะช่วยผู้อื่นนั้นยังมีอีกมากมาย ช่วยกันไม่หวาดไม่ไหว เขาจึงนิยมในความมีจิตใจที่กว้างขวางเป็นมหากรุณาเมตตาอันใหญ่หลวง นี่คือความเต็มของคุณธรรม ความเต็มของความดี หรือความเต็มของความเป็นมนุษย์ แล้วมันก็ยิ่งเป็นความสุขเป็นธรรมปีติที่ใหญ่หลวงเป็นความสุขที่ใหญ่หลวง จำไว้เป็นคู่กันว่าต้องประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นจึงจะครบถ้วนหรือจะจบเรื่องของความเป็นมนุษย์ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ คือได้ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นโดยสมบูรณ์ ถ้าอย่างนั้นก็โดยลักษณะของพระพุทธเจ้า ลักษณะของพระโพธิสัตว์ ลักษณะของพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเหล่านี้ไม่เคยเห็นแก่ตัว ไม่เคยทำอะไรแคบๆ ในวงแคบๆ ด้วยความเห็นแก่ตัว ถ้าอย่างนั้นการออกบวชที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่เรื่องความเห็นแก่ตัว ซึ่งคนโดยมากเขายังเข้าใจผิดกันอยู่ว่าไปบวชเสียนั้นเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัว ที่จริงเขาต้องการจะไปทำอะไรอย่างหนึ่งซึ่งมันมากไปกว่าเรื่องตนเองผู้เดียว มันจะทำให้สมบูรณ์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี่ยอดสุดของมนุษย์มันอยู่ที่นั่น จะถึงไปถึงหรือไม่ถึงก็แล้วแต่ความต้องการความพอใจ แต่เขาได้วางระเบียบหรือแบบฉบับไว้ให้อย่างชัดเจนไม่ต้องคิดอีกให้เสียเวลา ถึงเราจะคิดก็คิดได้ไม่ดีกว่านี้ไม่แปลกออกไปจากนี้ สนใจแต่จะทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้เต็มตามพระพุทธภาษิต เมื่อพระพุทธเจ้าท่านจะปรินิพพานท่านตรัสสั่งไว้เป็นคำสุดท้ายว่าให้ทำประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด เอาล่ะเป็นอันว่า วันนี้เราพูดกันถึงผลที่จะได้จากการประสบความสำเร็จในการมีธรรมะ คือได้สิ่งประเสริฐสูงสุดสิ่งหนึ่งมา มีชื่อว่าธรรมปีติ ธรรมปีติจงจำเอาไปกำหนดเอาไปสร้างมันขึ้นมาแล้วมีไว้สำหรับเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตนี้มีความสุขที่แท้จริง ความสุขอย่างอื่นไม่แท้จริง ความสุขที่เกิดมาจากปีติในธรรมเป็นความสุขที่แท้จริง ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ต่อไปนี้ก็เป็นโอกาสสำหรับการถามปัญหาบ้าง พอจะสมควรแก่เวลา
ถาม: ที่อาจารย์บอกว่าธรรมปีติ นี้หมายถึงว่าปีติที่เกิดขึ้นจากการประสบความสำเร็จจากการปฏิบัติธรรมแล้วใช่ไหมครับ
ตอบ: นั่นก็หมายความว่าอย่างนั้น ต้องมีธรรมะแล้วก็มีปีติในธรรม
ถาม: ในการปฏิบัติธรรมนี้นะครับ คือยกตัวอย่างเช่น การที่เราไปนั่งฝึกอานาปานสติแล้วเกิดปีติขึ้นมาอย่างนั้นนี่ ปีติที่ได้นี้มันตรงกับที่ท่านอาจารย์พูดว่าธรรมปีติหรือไม่
ตอบ: ปีติในอานาปานสติข้อที่ ๕ ที่ ๖ มันก็หมายถึงปีติรุนแรงที่ประสบความสำเร็จในธรรม ที่จะพลุ่งแรงชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็กลายเป็นความสุขที่สงบ แต่ว่าธรรมปีติที่จะมีได้ตลอดเวลานั้น มีได้ตลอดเวลา ตั้งแต่กำหนดลมหายใจยาวได้สำเร็จก็มีปีติ กำหนดลมหายใจสั้นได้สำเร็จก็มีปีติ มีปีติได้ทุกขั้นตอน ทุกขั้นตอนแห่งการปฏิบัติ เพียงแต่ได้ลงมือปฏิบัติ มันก็มีปีติได้ พอใจแล้วว่า แหมโอกาสดีได้ปฏิบัติแน่ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค นี่เราจะเรียกว่าธรรมปีติอย่างที่พูดถึงนี้เป็นพื้นฐาน ส่วนปีติที่เป็นองค์ฌานนั้นนะเป็นเรื่องพิเศษเป็นเรื่องที่อยู่ในเทคนิคของการปฏิบัติฌานหรือทำให้ฌานเกิดขึ้นมา
ถาม: อย่างนี้ก็หมายความว่าปีติที่เกิดขึ้นจากการฝึกอานาปานสติยังมีโอกาสที่จะเสื่อมคลายไปได้ใช่ไหมครับ อย่างนั้นใช่ไหมครับ
ตอบ: ก็เปลี่ยนเป็นความสุขนะ
ถาม: แล้วอย่างธรรมปีตินี่จะไม่เปลี่ยนใช่ไหมครับ
ตอบ: อ้าว ธรรมปีตินี้ก็ให้ความสุขชนิดที่ยืดยาวที่เป็นพื้นฐานเป็นรากฐานตลอดเวลา ปีติที่เป็นองค์ฌานแล้วก็ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเขาใช้ชั่วเวลานั้นเท่านั้น เวลาที่ทำให้เกิดขึ้นให้มันรู้จักปีติแล้วจะได้มีความสุข แล้วจะเห็นว่าเวทนานี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เดี๋ยวนี้เราพูดถึงธรรมปีติ อยากจะให้ใช้เป็นพื้นฐานตลอดชีวิตทั้งวันทั้งคืน กันจนตลอดชีวิตสำหรับว่ามันจะได้มีความสงบเย็นมีความพอใจในธรรมอยู่เป็นธรรมดา อย่าไปพอใจในเรื่องของเนื้อหนังของกิเลสตัณหา มันจะสุกร้อน สุก ก.สะกด ให้พอใจอยู่ในธรรมปีติ ปีติในธรรม มันก็จะเย็นอยู่ได้ และมันจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บทางวิญญาณ
ถาม: อาจารย์ครับอย่างนี้ธรรมปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่ลงมือปฏิบัติลงไปใช่ไหมครับ
ตอบ: การทำความดีหรือทำอะไรที่มันเป็นความดี ความถูกต้องแล้วเรียกว่าปฏิบัติทั้งนั้น นับตั้งแต่ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ ถ้าได้ทำก็ควรจะพอใจแล้วควรจะมีปีติในระดับนั้น ปฏิบัติธรรมหมายถึงทำหน้าที่ ได้ทำหน้าที่แล้วก็พอใจว่าได้ปฏิบัติธรรม หรือแม้ที่สุดแต่ว่าเราบริหารร่างกายชีวิตให้อยู่ได้เพื่อปฏิบัติธรรม นั่นมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นหนึ่งเหมือนกัน ควรจะพอใจด้วยเหมือนกัน
ถาม: อาจารย์ครับในชีวิตของการเป็นนักศึกษานะครับ เราก็ต้องมีการศึกษาซึ่งวิชาชีพเพื่อไป ประกอบอาชีพในอนาคตนะครับ
ตอบ: เอาว่าใหม่ ฟังไม่รู้เรื่องเลย
ถาม: ในชีวิตของการเป็นนักศึกษาครับ เราก็ต้องมีการศึกษาซึ่งวิชาชีพที่จะต้องนำไปใช้ประกอบอาชีพต่อไป เราจะนำธรรมะข้อไหนหรือข้อปฏิบัติอย่างไรในการที่จะไปใช้ในการศึกษาและในการประกอบอาชีพของเรา
ตอบ: ธรรมะข้อที่เป็นนักศึกษาให้แท้จริง คือการเป็นนักศึกษาแท้จริงนั่นก็คือธรรมะ ข้อนี้ในที่นี้
ถาม: อย่างไรครับ
ตอบ: อ้าวยังไม่รู้หรือ ไม่ตอบแล้ว คือนักศึกษาที่แท้จริงนั่นเอง ยังไม่รู้ก็ไม่ตอบแล้ว
ถาม: การที่เราทำหน้าที่ของเราในฐานะที่เราเป็นลูกที่ดีหรือเป็นสามีที่ดีหรือเป็นภรรยาที่ดี
ตอบ: ทุกอย่างไปแหละทุกอย่างที่มันถูกต้องที่ดี
ถาม: รวมถึงการปฏิบัติธรรมะตลอดเวลา
ตอบ: ในระหว่างที่เป็นนักศึกษาก็เป็นนักศึกษาที่ดี ปฏิบัติธรรมะคือการเป็นนักศึกษาที่ดี ถ้าอย่างนั้นต้องมีผู้ ถ้ายังเด็กอยู่ยังต้องมีผู้บอก นี้มันก็โตพอแล้ว และก็เป็นมานานแล้วด้วย มันก็ควรจะรู้จักว่าเป็นนักศึกษาที่ดีนั้นเป็นอย่างไร เอาธรรมะชนิดที่ทำให้พอใจในการศึกษาไปใช้ เห็นว่าการศึกษานี่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่คือธรรมะ ทำให้ประสบความสำเร็จในการเป็นนักศึกษา แล้วต่อไปจะไปประกอบอาชีพ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ต่อไปเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะทำให้ดีที่สุด ให้เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเรื่อยไป ให้มันพอใจได้ไปตั้งแต่วันนี้ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เราใช้คำรวมๆ ว่ายกมือไหว้ตัวเองได้ ให้ไปเป็นนักศึกษาจนยกมือไหว้ตัวเองได้
ถาม: อาจารย์ครับ ธรรมปีตินี้เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมหรือไม่ หรือว่าเป็นผลพลอยที่ได้จากการปฏิบัติธรรม
ตอบ: ก็เรียกว่าผลยังไง เรียกว่าผล ผลของการประสบความสำเร็จในการมีธรรม
ถาม: นี่ก็ความว่าเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อธรรมปีติ แต่ว่ามันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเราโดยตรงอย่างนั้นใช่ไหมครับ
ตอบ: มันเป็นผลที่เกิดขึ้น แล้วเราก็ถือเอา แต่ถ้าเรารู้เรื่องมาก่อน เราจะใช้เป็นเป้าหมายก็ได้ ว่าจะทำอะไรๆ ก็จะทำให้เกิดธรรมปีติ อย่างนี้ก็จะเรียกว่าเป้าหมายได้ พอจะว่าเรียกว่าเป้าหมายได้ แต่เป้าหมายแท้จริงมันคือความสุข ความสงบสุข อาศัยธรรมปีติเป็นอุปกรณ์เป็นเครื่องมือ ทำอะไรทำให้ดีจนเป็นที่พอใจแก่ตัวเอง
ถาม: อาจารย์ครับ ถ้าอย่างนี้ถ้าเรามองในระดับสูงนี้นะครับ ระดับสูงคือว่าอย่างการปฏิบัติทางศาสนานี้นะครับ โดยเฉพาะการดับทุกข์นี้ ซึ่งมีธรรมปีติที่เกิดขึ้นจากการละกิเลสได้แล้วนี้หรือการสิ้นกิเลสแล้วนี้ แต่ว่าเราไม่เคยที่จะในลักษณะว่ามันยังไม่สิ้นเชิงลงไป กิเลสมันยังไม่สิ้นเชิงลงไป เป้าหมายที่ตั้งว่าธรรมปีติก็คล้ายๆ กับอุดมคติที่ตั้งเอาไว้อย่างนั้น
ตอบ: ไม่ใช่ ไม่ใช่ เรามีธรรมปีติกำกับตลอดเวลาตลอดสาย พอสักว่าได้ลงมือทำก็พอใจแล้ว พูดง่ายๆ ว่าพอได้ลงมือปฏิบัติก็พอใจแล้วในข้อที่มันได้ลงมือปฏิบัติ ทีนี้ปฏิบัติเรื่อยๆ มันก็มีผลนิดหนึ่งๆๆๆ มันก็พอใจนิดหนึ่งๆๆ เรื่อยไป ก็เรียกว่าธรรมปีตินี้ต้องมีอยู่ตลอดเวลา มีได้ตลอดเวลา หล่อเลี้ยงกำลังใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าปฏิบัติอย่างปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาแล้วมันมีครบของมันตลอดเวลา มีสติ มีธัมมวิจยะ มีวิริยะ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสมาธิ มีอุเบกขา ๗ อย่างนั้นเป็นส่วนประกอบอยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็เพิ่มขึ้นๆ ในตัวมันเองทุกๆ ส่วนตามการปฏิบัติที่มันก้าวหน้า ฉะนั้นเราควรจะให้มีความพอใจตัวเองได้เรื่อยไปตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ
ถาม: อาจารย์แต่บางครั้งนี่ เราทำงานหรือเราเรียนหนังสือบางครั้งมันก็ไม่มีๆความพอใจหรือว่าไม่มีความสุขใจเลย เราก็อาจกล่าวได้ว่าบางครั้งการทำงานหรือว่าการปฏิบัติธรรมของเรานี่มันไม่มีธรรมปีติหล่อเลี้ยง อย่างนี้เราจะแก้ไขมันอย่างไร
ตอบ: ก็เรียกว่าเรามันทำไม่ถูก มันทำไม่ถูกเรื่อง ทำไม่ตรง ทำยังผิดอยู่ แก้ไขให้มันถูกเสีย ขั้นต้นให้เห็นว่าเรานั้นทำหน้าที่ที่ควรจะทำ แล้วมันก็ประสบความสำเร็จมาทีละนิดๆๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องหาความสำเร็จทีละนิดๆ นี้มาให้ได้ นับตั้งแต่ว่าเรียนตัว ก. รู้แล้วก็ยินดีแล้วก็เรียนตัว ข. ต่อไป เด็กตัวเล็กๆ ก็เป็นอย่างนั้น เรามักจะประมาทหรือสะเพร่าหรือมองข้าม ไม่ทำให้ดีไม่จัดให้ดีเลยไม่พบสิ่งที่ควรจะมีปีติ ซึ่งที่แท้มันก็มี เช่นวันนี้เรียนอะไรจริงจังประสบความสำเร็จ ในวันนี้ก็ควรจะยินดี สำหรับมีกำลังใจที่จะเรียนต่อไปในวันหน้า เมื่อสักครู่นี้อาจจะพูดมากไปหน่อย เมื่อไม่เรียน เวลาที่ไม่เรียนก็อาศัยยึดหลักชีวิตนี้มันถูกต้องของการมีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง มันก็เลยเป็นมูลเหตุของธรรมปีติได้ เราไม่ได้เรียนหนังสือตลอดวันนี่ บางเวลาเราต้องไปกินอาหาร ไปซักผ้า ไปอาบน้ำ ไปอะไรต่างๆ นี้ จะให้มันมีปีติเย็นฉ่ำอยู่ตลอดเวลาที่ไปซักผ้า ไปถูบ้าน ไปอาบน้ำ ไปส้วมไปถานนี่ได้อย่างไร นี้มันต้องคิดเป็น ต้องมองเป็น ว่านี่คือชีวิตที่มันมีอยู่ และก้าวหน้าไปสำหรับจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ของเรา ฉะนั้นเราก็จะต้องอาบน้ำให้ดีที่สุด ซักผ้าให้ดีที่สุด ล้างจานให้ดีที่สุดเสียด้วยเหมือนกัน มันก็จะมีสมาธิมีปีติมีอะไรอยู่ในนั้น แม้แต่ล้างจานกวาดบ้าน แต่คนโง่คนขี้เกียจไม่มีโอกาสที่จะได้รับหรอก ไม่อาจจะเกิด เขาโง่เพราะคิดไม่เป็น เขาขี้เกียจไม่อยากจะทำ ถือว่างานนี้ต่ำ งานนี้ต่ำ คนโดยมากจะโง่กันในข้อนี้ ข้อที่มีงานต่ำมีงานสูง คนฉลาดเขาไม่มีงานต่ำมีงานสูง มันเป็นงานก็แล้วกัน
ถาม: อาจารย์ครับหมายความว่าในทุกขณะที่เราทำงานนี้ ให้เราสร้างฉันทะหรือความพอใจในงานนั้นใช่ไหมครับ
ตอบ: อย่างนั้นก็เป็นเรื่องเขาสอนกันอยู่เป็นประจำแล้ว เรื่องอิทธิบาท ๔ เอาไปศึกษาเอาไปใช้ทำให้สำเร็จ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ก็เป็นอุปกรณ์ให้ประสบความสำเร็จ
ถาม: การกระทำอย่างนั้นเป็นการฝึกสติด้วยใช่ไหมครับ ที่ว่าให้เราพอใจในแต่ละงานที่เราทำทำไป
ตอบ: หมวดนี้เขาใช้ทุกอย่าง เราจะต้องทำอะไรฝึกอะไรนี่ ธรรมะหมวดนี้เอาไปใช้ได้ทุกอย่าง มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาในสิ่งที่เราต้องทำ แล้วเราจะสำเร็จ แล้วเราก็จะพอใจอีกเหมือนกัน
ถาม: แล้วการกระทำของเรานี่จะต้องมีการกระทำที่ จะต้องเนิบนาบหรือจำเป็นหรือไม่ครับต้องมีการเนิบนาบ หรืออย่างไรครับ
ตอบ: ฟังไม่ถูก พูดใหม่ซิ ฟังไม่ถูก
ถาม: การที่เราจะฝึกในการกระทำแต่ละอย่าง จะต้องมีการกระทำที่เนิบนาบ ให้มีสติรู้ที่กำลังทำอะไรอยู่อย่างนั้นใช่หรือไม่ครับ
ตอบ: อ้อ นั้นเป็นเรื่องธรรมะ เป็นเรื่องหลักธรรมะ จงทำอะไรด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา ด้วยความถูกต้อง มันเป็นหลักทั่วไปอยู่แล้ว อิทธิบาท๔ นี่มันก็ช่วยให้แรงขึ้นให้สำเร็จง่ายขึ้นเร็วขึ้น
ถาม: อาจารย์ครับที่เมื่อสักครู่นี้อาจารย์พูดถึงว่า หากเรามีความตั้งใจที่จะทำอะไรให้ดีที่สุดแล้ว ธรรมปีติมันก็จะเกิดขึ้นได้ แต่คราวนี้ในบางครั้งการที่เราตั้งใจหรือว่ามุ่งหวังอะไรไว้อย่างดีที่สุดเลยนี้ แต่มันทำไม่ได้ดังที่เราคิดเอาไว้ หรือบางครั้งทำให้เกิดเราเครียดขึ้นมา อันนี้เราอาจจะกล่าวได้ไหมว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว
ตอบ: ถูกต้องอะไร มันไม่สำเร็จ ถ้าถูกต้องมันต้องสำเร็จ เราก็ต้องรู้ที่ถูกต้องว่าอะไรที่เราทำได้หรือควรทำหรืออยู่ในหน้าที่ที่เราต้องทำ พอได้ทำก็ควรจะพอใจ เป็นกำลังใจไว้ก่อน ก็ทำไป ก็พอใจยิ่งๆ ขึ้นไป ที่มันก้าวหน้า ที่ต้องทำในวันนี้ ทำให้ดีทำให้พอใจ สำหรับที่จะทำใหม่ต่อไปในวันพรุ่งนี้มะรืนนี้
ถาม: อาจารย์คะ ในความเข้าใจของหนูนะคะคิดว่าธรรมปีตินี้เรากำหนดรู้เพื่อที่จะให้เป็นกำลังใจสำหรับเราในการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นๆหรือเปล่าคะ ใช่หรือเปล่าคะ
ตอบ: ก็ใช้เป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจกำลังใจก็ได้ แต่ตัวแท้ของมันก็เพื่อจะให้มีความสุขไปพลาง เขาต้องการให้มีความสุขไปพลางในทุกกรณี อีกทางหนึ่งจะใช้เป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจให้อยากทำอะไรหรือให้ทำอะไรได้มากได้ดีก็ได้เหมือนกัน
ถาม: แล้วกับวางอุเบกขานี่อย่างไหนจะดีกว่าคะ คือเวลาเราประสบทุกข์หรือว่ามีความสุขอะไรแล้วเราวางอุเบกขาไป กับการที่ว่าเราทำอะไรถูกต้องแล้วเกิดธรรมปีตินี้
ตอบ: เดี๋ยวนี้คงจะไม่เข้าใจในเรื่องอุเบกขานะ อุเบกขาเป็นองค์๑ ใน ๗องค์ที่มีปีติรวมอยู่ด้วย ไปศึกษาเรื่องโพชฌงค์ ๗ ประการ สติข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ธัมมวิจยะคือใคร่ครวญโดยปัญญา ข้อ ๓ วิริยะทำกันจริงๆ จังๆ แล้วก็ปีติหล่อเลี้ยงวิริยะ แล้วก็ปัสสัทธิความสงบระงับแห่งจิต แล้วก็สมาธิการที่จิตตั้งมั่น และก็อุเบกขาแปลว่า เพ่ง เฉย อยู่ หมายความว่าดูความถูกต้องที่มันกำลังเป็นไปอยู่ กว่ามันจะถึงระดับที่มีผลเต็มที่ นี่เขาเรียกว่าอุเบกขา เมื่อมันถูกต้องไม่ต้องทำอะไรแล้วอยู่นิ่งๆ มันก็ไปของมันจนถึงที่สุด แล้วมันก็ต้องรู้จักทำจิตไม่ให้กระวนกระวาย ให้มันเฉยอยู่ ในเมื่อ ๖ อย่างมันมี มันถูกต้องแล้ว ทั้งหมดมัน ๗ อย่าง สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ เมื่อ ๖ อย่างมันถูกต้องแล้ว ก็วางอุเบกขาคือคุมเฉยอยู่ เห็นมันถูกต้องอยู่ มันก็เป็นไปเรื่อยจนกว่าจะบรรลุอะไรขึ้นมา หมั่นทำจิตอุเบกขาเมื่อเจ็บเมื่อไข้เมื่อจะตายนั้นอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่ความหมายนี้ คือไปยืมมาจากอทุกขมสุขเวทนามาเรียกอุเบกขา อย่างนี้มันเป็นความรู้ชั้นสูงมันจึงจะอุเบกขา มันจึงจะวางเฉยได้ในสิ่งที่มันทำให้เป็นทุกข์ หรือน่ากลัว หรือแม้แต่เป็นสุข คือให้มันเฉยได้ ถ้ามีธรรมปีติ มันจะช่วยเฉยได้มากกว่าที่จะไม่มีธรรมปีติ หรือใช้ธรรมปีติเป็นเครื่องช่วยให้เฉยได้ เราพอใจในชีวิตแล้ว ความตายมันจะมาครอบงำก็เฉยได้ บางทีเรียกชื่อไม่เหมือนกัน ข้อนี้ต้องระวังให้ดี ตัวจริงเราเรียกชื่อกันคนละอย่าง ก็ตอบยากมันเข้าใจยาก ไปสังเกตดูให้ดีแล้วก็เข้าใจได้เอง ที่พูดวันนี้ทั้งหมดทั้งสิ้น นี้ต้องการเพียงว่าให้เรามันมีความรู้ที่เรียกว่าพอใจในชีวิต พอใจในความมีชีวิตเป็นมนุษย์นี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเวลาไหน เวลาเหนื่อยก็มานั่งอยู่นิ่งๆ นั่งพักผ่อนก็พอใจเพราะมันเป็นมาอย่างถูกต้อง นี่ที่พักผ่อนนี้สำหรับจะดำเนินต่อไป มันถูกต้องแล้วที่จะต้องนั่งพักผ่อนเพราะมันเหนื่อย ถ้าว่าเจ็บไข้ มันบังคับให้เจ็บไข้ ก็ต่อสู้ไปกว่ามันจะหายแล้วก็จะทำต่อไป มันไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นร้อนเพราะความเจ็บไข้ เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมี เพื่อให้ชีวิตทั้งหมดนี้เต็มไปด้วยความพอใจ ไม่มีความทุกข์ ความพอใจในชีวิตนั่นแหละคือความสุข …..(1:20:26) เรียกว่าธรรมปีติ ต้องปฏิบัติธรรมะให้ก้าวหน้า นั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็ธรรมปีติก็สูงขึ้นไปตาม แล้วเราก็จะได้ความพอใจในตัวเรา พูดว่ามีเรามีตัวเรา นี้พูดอย่างสมมุติอย่างธรรมดา จะได้มีตัวเราที่พอใจยิ่งขึ้น แล้วก็มีความสุขยิ่งขึ้น แม้ในการปฏิบัติเพื่อให้หมดตัวเรา การปฏิบัติชั้นสูงเพื่อให้หมดตัวเรา แต่ถ้าประสบความสำเร็จจิตมันก็มีความพอใจในตัวมันเองได้ มีปีติปราโมทย์นั่นมันจึงจะมีสมาธิ มีปัสสัทธิ มีสมาธิ ก็จะมีปีติปราโมทย์ในการกระทำอยู่ตลอดเวลา แล้วมันเป็นสมาธิอยู่ในตัวมันเองโดยอัตโนมัติ ก็ทำงานให้สนุกไปก็แล้วกัน เป็นเคล็ดหรือว่าเป็นศิลปะสูงสุดในทางจิตใจสำหรับมนุษย์จะได้ถึงสิ่งสูงสุดหรือถึงสถานะที่สูงสุดของความเป็นมนุษย์ พอใจในการได้ทำหน้าที่ หรือมีแต่การทำหน้าที่อย่างถูกต้องให้พอใจ นั่นแหละต้องการ
ถาม: อาจารย์คะ แล้วอย่างอุบายที่ทำให้เกิดธรรมปีตินี่นะคะ ถ้าเกิดว่ามันเกิดขึ้นมาแล้วนี่ถือว่าเป็นการหลอกลวงตัวเองหรือเปล่าคะ
ตอบ: เดี๋ยวพูดใหม่ซิ ฟังไม่ถนัดตอนแรก
ถาม: อย่างอุบายที่ทำให้เกิดธรรมปีตินี่นะคะ ถ้าเกิดว่าเราทำให้เกิดขึ้นมาได้แล้วนี้ ถือเป็นการหลอกลวงตัวเองหรือเปล่าคะ
ตอบ: คำว่าอุบายนั้น ทางธรรมะเขาไม่ถือว่าเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง ภาษาไทยธรรมดาถือว่าเป็นเรื่องหลอกลวง คำว่าอุบายในทางธรรมะ แล้วก็ให้นึกถึงคำว่าเทคนิค หรือนึกถึงคำว่าเทคโนโลยีคือความฉลาดในการใช้เทคนิค นั้นนะคืออุบายสำหรับให้ปฏิบัติธรรมะสำเร็จ แล้วมันก็เป็นไปตามกฎของความจริงที่มันประสบความสำเร็จ มันก็ไม่ต้องหลอกลวงใคร ถ้าจะประสบความสำเร็จ ก็มีสิทธิหรือมีความชอบธรรมที่จะพอใจที่ควรจะพอใจ ถ้าจะเห็นเป็นการหลอกลวง มันก็จะเห็นเป็นการหลอกลวงให้ทำดี ไม่ควรจะจัดว่าเป็นบาปกรรมอะไร การหลอกตัวเองให้ทำดี เจตนาทีแรกมันไม่ได้เจตนาหลอก แต่ว่ามันเป็นวิธีหรืออุบายอันหนึ่งที่จะยุให้ทำดี การที่บิดามารดาครูบาอาจารย์ยุเด็กเล็กๆ ให้ทำดี อย่าเห็นเป็นเรื่องหลอกลวงเลย มันเป็นวิธีอันหนึ่ง เพราะว่าคนที่จะทำดีหรือการประพฤติดีต้องมีส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งอยู่เสมอคือความยินดี คือความพอใจยินดีให้รู้สึกว่าเราดี เรามีดี เราได้ทำดี มันเป็นการกระตุ้นโดยธรรมชาติตามธรรมชาติ เรื่องอยากดีอยากให้ดีนี้มันเป็น ต้องถือว่าเป็นสัญชาตญาณของสิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึก เด็กๆ เขาอยากดีเป็น ใช้คำว่าชักจูงก็ได้ ชักจูงให้มันทำดี
ถาม: การทำให้เกิดธรรมปีติกับการที่ว่าเราไม่ยึดถือในขันธ์ ๕ นี่มันเป็นเรื่องคนละด้านกันใช่ไหมคะ
ตอบ: จะต้องตั้งคำถามว่าทำให้เกิดปีติ เกิดธรรมปีติกับการไม่ยึดถือในธรรมปีติมันจะเป็นไปได้อย่างไร ในชั้นนี้เราพูดสำหรับบุคคลที่มีตัวตนสำหรับจะก้าวหน้า ก็ยึดถือตัวตนอย่างที่ยึดถืออยู่แล้วยึดถือเป็นปรกติแล้ว ก็ทำให้เกิดผลดีแก่ตัวตน ให้เกิดความก้าวหน้าแก่ตัวตน ทีเรื่องไม่ยึดถือดี ยึดถือไม่ดี ยึดถือนั้นเป็นระดับที่จะปล่อยวางที่จะอยู่เหนือความมีตัวตน ถ้าขึ้นมาถึงชั้นนี้แล้วก็เอาตัวตนออกไปได้ให้เหลือแต่จิต จิตก็เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติชนิดหนึ่งอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันต้องการเหตุต้องการปัจจัยที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติด้วยเหมือนกัน แล้วจิตนั้นจึงจะก้าวหน้า ถ้าเราพูดกันในระดับที่จะสลัดตัวตนสลัดความยึดถือ ก็ให้จิตก้าวหน้าด้วยกำลังกระตุ้นต่างๆเหมือนกัน แม้ปีตินี้ก็ยังต้องการอยู่ แต่มันจะไม่มีความหมายไปในทางเพื่อตัวเราเพื่ออะไรมากขึ้น มันเป็นเรื่องกระตุ้นจิตตามธรรมชาติ มันยังเป็นเรื่องที่อยู่ข้างหน้าที่ยังไกลอยู่ไปถึงระดับที่จะไม่มีตัวตน นี่พูดที่วันนี้พูดสำหรับที่จะกลับไปบ้านไปอยู่อย่างมีพื้นฐานคือธรรมปีติ ก็มีตัวตนที่เยือกเย็นเป็นสุขเป็นที่พอใจ แล้วก็ไม่ต้องเกิดกิเลสแล้ว ไม่สะสมกิเลส ไม่มีอนุสัย มันก็จะค่อยเกิดปัญญา ปัญญาที่สูงขึ้นไปๆ เพื่อให้ธรรมปีตินั้นมันสูงขึ้นไป จนถึงระดับที่จะหมดตัวตนในโอกาสอื่น เอาเป็นว่าต่อไปนี้จะไม่มีเศร้าสร้อยหงอยเหงา จะไม่มีการร้องไห้ จะไม่มีการอึดอัดขัดใจ ชีวิตนี้จะไม่มีความเร่าร้อน ไม่มีปัญหาแล้วก็ปิดประชุมสามทุ่มครึ่ง