แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นสหายโดยธรรมทั้งหลาย การบรรยายเพื่อค่ายธรรมะสถาน เป็นครั้งที่ ๔ ในวันนี้อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อว่า ลักษณะแห่งความเป็นอันเดียวกันของศาสนาทุกศาสนา เราประชุมกันคราวนี้เพื่อทำความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อว่าจะร่วมกิจกรรม ร่วมการกระทำ ร่วมแรงของศาสนาเพื่อประโยชน์แก่โลก เมื่อศาสนายังมีความขัดแย้งกัน หรือเข้าใจว่าขัดแย้งกันโดยบุคคลที่ถือศาสนานั้นๆมันก็หาความร่วมมือ ได้ยาก และมันก็ต้องมีความขัดแย้งในส่วนที่ว่าไม่อาจจะใช้ศาสนาให้เป็นประโยชน์แม้แก่ตนเองโดย หรือจากศาสนาของตนเอง อาตมาอยู่ในจำพวกที่ถือว่า อ้า, ทุกศาสนาเป็นศาสนาเดียวกัน ขอให้ใช้ความสังเกตว่าอาตมาว่าเป็นศาสนาเดียวกัน ไม่ได้ใช้ว่าเหมือนกัน ถ้าเหมือนกันมันก็ต้องมีมากกว่าหนึ่ง เอามาเปรียบเทียบกันแล้วมันเหมือนกัน ทีนี้ถ้าพูดว่าเป็นอันเดียวกัน มันหมายความว่ามีแต่หนึ่งเท่านั้นแหละ ศาสนาทั้งหลายมีแต่เพียงหนึ่งศาสนา นี่ลักษณะแห่งความเป็นอันเดียวกันนี้คืออะไร เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาที่เกิดมาจากการศึกษาที่มันมากเกินไปที่มันเฟ้อเกินไป หรือมันมีวิธีการศึกษา ที่ละเอียดลออมากเกินไป จนทำให้มองเห็นว่ามันต่างกัน เป็นคนละศาสนาเอาเสียทีเดียว ในประเทศอินเดียประเทศเดียว มันก็มีลัทธิศาสนาที่สอนว่ามีตัวตน คู่กันไปกับศาสนาลัทธิศาสนาที่สอนว่าไม่มีตัวตน เพียงเท่านี้มันก็ทะเลาะกันแล้ว แล้วคำว่าตัวตนก็ยังให้ความหมายต่างๆต่างๆกัน เรามาดูข้อนี้แล้วก็จะเห็นว่ามันต่างกันเพราะศาสนาหนึ่งสอนว่ามีตัวตน ศาสนาหนึ่ง ศาสนาหนึ่งสอนว่าไม่มีตัวตน มันตรงกันข้ามอย่างนี้จะเป็นอันเดียวกันได้อย่างไร หรือว่ามีพระเจ้าเป็นผู้สร้างกับไม่มีพระเจ้าผู้สร้าง มีแต่การเป็นไปตามกฎวิวัฒนาการของธรรมชาติเท่านั้น พวกหนึ่งถือว่าคนเราเป็นผลิตผลของพระเจ้าผู้สร้าง พวกหนึ่งถือว่าเป็นผลิตผลของกฎแห่งวิวัฒนาการนี่ มันก็มีจุดเริ่มต้นที่ต่างกันอย่างนี้ แล้วทำให้เกิด อ้า, แบ่งแยกกันเอง ว่าเราว่าอย่างนี้จริง คนอื่นว่าอย่างนั้น เปล่า คือผิด มีสัจจาภินิเวส ความฝังเข้าไปในสัจจะตามแบบของตนๆนี่เรียกว่าสัจจาภินิเวส ด้วยกันทั้งนั้นนะ แต่ละศาสนาก็มีสัจจาภินิเวสของตนจนพูดว่านี้จริง อื่นเท็จ รึเปล่า นี่คำที่เขาใช้พูดกันอยู่ในระหว่างลัทธิศาสนาในประเทศอินเดีย ครั้นถือว่ามีพระเจ้ากับไม่มีพระเจ้านี้แม้ในอินเดียก็มีอย่างเคร่งเครียด ถือว่ามีตัวตนหรือว่าไม่มีตัวตน มันก็มีอย่างเคร่งเครียด ทีนี้เมื่อมองกันไปทั้งโลก มันก็ทั้งโลกก็ต้องมียิ่งมีมากขึ้น ศาสนาที่มีพระเจ้า ศาสนา อ้า, ที่สอนว่ามีพระเจ้าถือพระเจ้าเป็นหลักนี่ก็มีอยู่ พวกหนึ่งไม่มีพระเจ้า เช่น พุทธศาสนาหรือเครือเดียวกับพุทธศาสนาในอินเดีย เช่น ลัทธิไชนะ ก็ไม่ถือว่ามีพระเจ้า หรือคนที่ถือกันว่าเป็นศาสดา เช่น เหลาจื๊อ ขงจื๊อ ก็อยู่ในพวกที่ไม่มีพระเจ้า อย่างชนิดที่เป็นบุคคล ขอให้ลองคิดดูว่า อ้า, เราจะรวมกันได้อย่างไร แล้วรวมความคิดรวมกำลังกันได้อย่างไร ที่สูงสุดที่ละเอียดก็มีคำใช้ว่าสุญญวาทกับอสุญญวาท พุทธศาสนา พวกที่เครือเดียวกับพุทธศาสนาเป็นสุญญวาททั้งนั้น คือว่างจากตัวตน พวกอุปนิษัททั้งหมดเป็นอสุญญวาทคือมีตัวตน มัน เรียกว่า มันตรงกันข้ามนะ แล้วจะเป็นศาสนาเดียวกันได้อย่างไร นี่อาตมาก็ ก็ยังยืนยันอยู่ว่ามันเป็นศาสนาเดียวกันอยู่นั่นเอง ก็จะพยายามพูดให้ท่านทั้งหลายฟังดู ก็ต้อง เอ้อ, ขอทบทวน ไปถึงไอ้ธรรมะ ๔ความหมายอีกแหละ ก็ได้ขอร้องแล้ว ขอร้องอีกว่า ให้ถือเอาธรรมะ ๔ ความหมายนี่เป็นหลักพื้นฐานสำหรับศึกษาเรื่องทุกเรื่องต่อไปข้างหน้า หลักพื้นฐานก็คือตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลที่ได้รับจากหน้าที่ ขอให้ยึด ให้ถือหลักอันนี้แหละเป็น เป็นพื้นฐานเป็น basic เป็น basis ว่า ว่าจะออกรูปจะเกิดรูปแบบของไอ้มติต่างๆออกมาว่าอย่างไร ถ้าเรามีกฎของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ธรรมชาติมันมีอย่างเดียวเท่านั้นแหละ คิดดูให้ดีเถิดมันไม่มีกี่อย่างหรอก ถ้าทุกศาสนาออกมาจากหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ มันก็ต้องมีไอ้หัวใจ ส่วนลึก นิวเคลียส หรือว่าไอ้ essence ที่ ๕ ของมันจะต้องเป็นอันเดียวกัน แม้ว่าคำพูดที่ใช้นี่มันต่างกัน การที่มาถือว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน แล้วกฎธรรมชาติมันมีอะไร กฎธรรมชาติมันมีอะไรสักอย่างหนึ่งเท่านั้นแหละ แต่คนมาแยกเรียก คนพวกหนึ่งมันชอบเรียกว่าตัวตน คนพวกหนึ่งมันแยกไปเรียกว่าไม่ใช่ตัวตนไอ้สิ่งเดียวกันนั่นแหละ หรือแม้ที่สุดแต่ว่าจะเรียกกฎของธรรมชาติ ว่าพระเจ้าก็ได้เหมือนกัน ในเมื่อพวกหนึ่งยังไม่ยอมเรียกว่าพระเจ้ายังเรียกว่ากฎของธรรมชาติ ดังนั้น ท่านไปจับคู่กันดู คือศาสนาที่ถือว่ามีพระเจ้ากับไม่มีพระเจ้า ศาสนาที่ถือว่ามีตัวตนกับไม่มีตัวตน ศาสนาที่ถือว่าดุ้นเดียวกับหลายดุ้นนี่ วิภัชวาทกับอวิภัชวาท พวกวิภัชวาทจะถือว่ามันประกอบอยู่ด้วยของหลายอย่าง พวกอวิภัชวาทก็ถือว่าดุ้นเดียว เช่น อาตมันนี้มีดุ้นเดียวแบ่งแยกไม่ได้ แต่ถ้าว่าถืออย่างพุทธศาสนามันเป็นสังขารแล้วมันแบ่งแยกได้เป็นส่วนๆ นี่เรียกว่าวิภัชวาท การแบ่งแยกนี้ แบ่งไปตามความคิดเห็น อ้า, ของบุคคลนั้นๆ เรียกว่าทิฏฐิ ตามทิฏฐิของบุคคลนั้นๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทิฏฐินี่ เกิดมาจากสัมผัส สัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ด้วยมืออะไรก็ได้ เมื่อเราไปสัมผัสเข้าแล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมา อันนั้นก็จะเป็นทิฏฐิอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง ทีนี้เมื่อสัมผัสด้วยใจ ใจไปสัมผัสไอ้สิ่งที่เป็นปัญหาเป็นไอ้สิ่งที่มันรู้สึกอยู่ จิตสัมผัสต่อสิ่งนั้นลงไปแล้วก็เกิดทิฏฐิตามที่มันมีผลจากการสัมผัสนั้น สัมผัสนั่นแหละเป็นที่เกิดเป็นบ่อเกิดของทิฏฐิ นี้ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ตายตัวที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ว่าทิฏฐิเกิดมาจากสัมผัส จิตพอมันไปสัมผัส ข้อมูลหรืออะไรก็สุดแท้แหละเพราะอย่างไรแล้วมันก็ออกเป็นผล เป็นผลออกมาเป็นทิฏฐิ นี่เป็นเหตุให้มีทิฏฐิว่า มีตัวตนไม่มีตัวตน มีพระเจ้าไม่มีพระเจ้า ว่างไม่ว่าง แบ่งแยกได้ไม่แบ่งแยกได้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะว่าไอ้คนมันมีพื้นฐานแห่งการศึกษาต่างกัน จึงมี เครื่องสัมผัสนะต่างกัน แม้สัมผัสด้วยมือนี้ มันก็ยังต่างกัน ทีนี้สัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ใจนี่สำคัญที่สุด ที่สัมผัสลงไปแล้วมีผลเกิดขึ้นมาเป็นความรู้เป็นทิฏฐิ ความคิดความเห็น อันแรกท่านเรียกว่าทิฏฐิ เพราะทิฏฐินี่มาทำเป็นความรู้เป็นอะไรก็ได้ นี่ถ้าไปสัมผัสผิดที่ คือคนละที่ก็ยิ่งมีผลต่างกันมาก อย่างที่ในพระบาลีก็มี เรื่องตาบอดคลำช้าง มีอยู่ในพระบาลีในพระไตรปิฎกโดยตรง ไม่ใช่นิทานพื้นบ้านของชาวอินเดียอย่างที่ฝรั่งเรียก ในบาลีมีถึง ๙ คน ตาบอดทั้ง ๙ คน คลำช้างในที่ ๙ แห่งของตัวช้าง แล้วก็บอกว่าช้างเหมือนนั่น ช้างเหมือนนั่น ช้างเหมือนนั่นพระราชาเอาคนตาบอดมา ให้คลำช้าง แล้วให้มายืนยันว่าช้างเหมือนอะไร มายืนยันต่างกันก็ทะเลาะกัน ทะเลาะหนักกันเข้าก็ชกกันทั้งตาบอดอย่างนั้นแหละ พระราชาเลยหัวเราะชอบใจใหญ่ ที่คนตาบอดมันชกกันเพราะบอกว่าช้างมันรูปร่างอย่างไร ต่างๆกัน นี่เราถือว่าศาสนา ตัวศาสนาของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างเดียว แต่คนไปคลำเข้าในบางแง่บางมุมก็ออกมาเป็นคำพูดที่ต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเช่นว่ามีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ว่างหรือไม่ว่างอย่างนี้เป็นต้น หรือเหมือนกับว่า ไอ้ทางเดินมันมีหลายทิศทางไปสู่จุดๆเดียวกัน ทางเดินมาสวนโมกข์นี่มาได้หลายทิศทาง คนเข้ามาสัมผัสสวนโมกข์ในทิศทาง คือมุมต่างๆกัน ก็จะรู้สึกว่ามันต่างกัน ตัวศาสนานั้นนะเป็นแต่ตัวทางเท่านั้นแหละ โปรดช่วยพิจารณาดูให้ดีสิ ไอ้ตัวศาสนานั้นเป็นแต่ตัวทาง ไม่ใช่ตัวจุดปลายทาง ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ ไอ้ปฏิบัติตามกฎของธรรมชาตินี้เป็นแต่ตัวทาง ตัวหนทาง คำว่าทางนี่มีใช้กันทุกศาสนา พระเยซูท่านก็ปฏิญญาว่าท่านเป็นตัวทาง ตัวท่านเป็นตัวทาง ตัว..(นาทีที่ 15:52) ก็ใช้คำว่าทางเป็นตัวศาสนา พุทธศาสนาก็ใช้คำว่าทางเป็นตัวศาสนา เช่นคำว่าปฏิปทา ทีนี้คำอื่นๆซึ่งใช้ร่วมกันอยู่ทุกศาสนาในอินเดีย อาตมาสังเกตเห็นว่ามีคำประหลาดคำหนึ่งซึ่งไม่ค่อยคุ้นกับหูเรากันนัก คำนั้นคือคำว่า อิริยา อิริยาก็แปลว่าทางเหมือนกัน มันเป็นตัวศาสนา แต่ละลัทธิๆ มีอิริยาเป็นของ เป็นของลัทธิ ประจำลัทธิของตน อย่างพุทธศาสนาเรานี้มีอริยมรรคมีองค์แปดเป็นอิริยา อริยมรรคมีองค์แปดเป็นอิริยาในพุทธศาสนา ในศาสนาอื่นก็มีอย่างอื่นเป็นอิริยาของเขา ของเขา ก็เป็นตัวลัทธิสำหรับปฏิบัติ เป็นรูปโครงเด่นชัด เรียกว่าทาง คำว่า เต๋า ก็แปลว่าทาง มีคำว่า ทาง ใช้กันทุกศาสนาเลย ไอ้ตัวศาสนานั้นเป็นตัวทางไม่ใช่ตัวจุดยอด ทีนี้ทางก็คือการบัญญัติให้ปฏิบัติ ดังนั้น การบัญญัติว่าพระเจ้าเป็นต้นเหตุของสิ่งทั้งปวงก็หมายความว่าความเชื่ออย่างนั้นเป็นแต่ตัวทาง มันไม่ใช่ว่าตัวพระเจ้าเป็นตัวที่บุคคลนั้นถึงแล้ว การบัญญัติว่ามีตัวตนว่าไม่มีตัวตนว่าว่าง ว่าไม่ว่างนี่ล้วนแต่เป็นการแสดงทางให้เรามีความคิดอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้นไปตามแนวนั้น คือตามแนวของความคิดว่า ว่างหรือไม่ว่าง มีตัวตนหรือไม่มีตัวตน แล้วแต่จะใช้คำคู่ไหน แล้วไปเอาผลที่ไหนกันนะ เมื่อทั้งหมดนี้มันเป็นเพียงตัวทางเท่านั้นนะ ตัวศาสนาคือตัวทาง แล้วทางนั้นไปไหน ไอ้ทางนั้นก็ใช้คำ ก็ใช้ก็ใช้คำว่าทางร่วมกันแล้ว ก็ใช้คำร่วมกันอีกทีหนึ่งว่า รอด คำว่ารอดนั่นแหละ เป็นตัวแสดงจุดหมายปลายทางของทุกศาสนาอีกเหมือนกัน มันน่าประหลาดที่ว่าคล้ายๆกับว่า มัน มันมีไอ้การเนื่องกัน มีต้นตอเดียวกันสัมพันธ์กันแล้วมันใช้คำร่วมกันหมด คำว่ารอด ทางนั้นไปสู่ความรอด ไอ้ตัวทางนี้เป็นตัวศาสนาแล้วก็แปลกๆ ต่างๆกัน แล้วก็ไปสู่ความรอด อย่างเดียวกันได้อย่างไร ถ้ารอดจริงต้องเหมือนอย่างเดียวกัน ตรงกันเป็นอย่างเดียวเท่านั้นหลายรอดไม่ได้ แม้ว่าไอ้ตัวทางมันจะมีหลายอย่าง อย่างว่ามาสวนโมกข์นี้มาได้หลายทาง แต่พอมาถึงสวนโมกข์แล้วมันก็มีอันเดียว ทีนี้คำว่ารอดนี่ไปศึกษาดูให้ดี ใน ในอินเดียทุกศาสนา มีคำว่ารอด เป็นที่มุ่งหมายแล้วใช้รวมกันด้วย ถึงจะเป็นลัทธิที่ตรงกันข้ามเป็นเดียรถีย์ย์อื่น นอกจากพุทธศาสนาเขาก็ใช้คำว่ารอดเหมือนกัน ใช้คำว่านิพพานเหมือนกัน คำนี้ใช้รวมกันมาเพราะว่ามันมีใช้อยู่ก่อน ก่อนเกิดพุทธศาสนาคำเหล่านี้ได้ถูกใช้แล้วโดยคนที่มีสติปัญญา พวกฤษีมุนี ไปพบอะไรใหม่ก็ใช้คำนั้นขึ้นมา แล้วอย่าลืมว่าอาตมาเคยบอกหลายครั้งหลายหนแล้วว่ายืมคำชาวบ้านมาใช้ทั้งนั้นเลย เช่นเดียวกับพบวิธีปฏิบัติ เอาคำว่าทาง ทางเดินถนนหนทางชาวบ้านนี่ไปใช้ เมื่อรอด เอาคำว่ารอดของชาวบ้านไปใช้ คำว่านิพพานนี้แปลว่าดับเย็นของสิ่งที่มีความร้อนเอาไปใช้ ทุกคำนะมันเอาคำชาวบ้านไปใช้ นี่ เราจึงสังเกตเห็นว่าใช้คำร่วมกัน พุทธศาสนาก็มีคำว่านิพพานใช้ มีคำว่าอรหันต์ใช้ มีคำว่ารอด หลุดพ้น วิมุตติ วิโมกข์นี่ใช้ ซึ่งลัทธิฝ่ายอื่นที่เป็นปฏิปักษ์เป็นเดียรถีย์อื่น เราคือเดียรถีย์นี้พวกนอกนั้นคือเดียรถีย์อื่น พระบาลีใช้หลักอย่างนี้ เดียรถีย์นั้นแปลว่าลัทธิ ซึ่งเปรียบเสมือนท่าจอดเรือ คำว่า ติถะแปลว่า ท่าจอดเรือหนึ่งๆท่าหนึ่ง ท่าหนึ่ง ดิถิยะคือลัทธิซึ่งเป็นเสมือนดั่งท่าจอดเรือ ท่าจอดเรือมันก็คือว่าใครมีธุระกิจการเนื่องด้วยท่าจอดเรือไหน มันก็ไปที่ท่าจอดเรือนั้น เช่น เรือถ่านมันก็ไปจอดท่าจอดเรือถ่าน เรือผักก็ไปจอดท่าเรือผัก เรือขายปลาก็ไปจอดท่าขายปลา ลัทธิทั้งหลายที่สอนอยู่อย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง เรียกว่าเดียรถีย์หนึ่ง ดิถิยะแปลว่าลัทธิประดุจจะดังท่าจอดเรือ ลัทธิอื่นเรียกว่าอัญญเดียรถีย์ เต็มไปหมดในพระบาลีพระไตรปิฎก ส่วนลัทธิเรานี้ก็คือเดียรถีย์นี้ แต่ไม่มีคำใช้อย่างนี้ คล้ายว่า ธรรมวินัยนี้ ศาสนานี้ อะไรเสียไม่ได้ใช้คำว่าดิถิยะโดยตรง จะถือโดยหลักของภาษาแล้วก็เป็นดิถิยะด้วยเหมือนกันคือเป็นเดียรถีย์หรือเป็นพุทธเดียรถีย์ด้วยเหมือนกัน อาตมายินดีที่จะประกาศตัวว่าพุทธทาสสาวกแห่งพุทธเดียรถีย์ ช่วยจำกันไว้ด้วยทุกคน พุทธทาสนี่เป็นสาวกแห่งพุทธเดียรถีย์ไม่ใช่เดียรถีย์อื่นนะ เดียรถีย์อื่นไม่ใช่พระพุทธเจ้านะ พุทธเดียรถีย์คือเดียรถีย์พระพุทธเจ้า ลัทธิเป็นเพียงดังท่าจอดเรือของพระพุทธเจ้า ของพุทธะ นี้เคยรู้ว่ามันมีลัทธิมาก เดียรถีย์มีมาก เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสท่านต้องตรัสว่าเดียรถีย์อื่นเสมอไป คือนอกจากท่านยกเว้นท่าน นี่ เราก็มีคำใช้ร่วมกันแม้แต่คำว่าเดียรถีย์ คำว่านิพพาน คำว่าอรหันต์ คำว่าอะไรก็แล้วแต่เถิด นี่เป็นเหตุให้ เกิดความแตกแยก เราใช้คำร่วมกันแต่มีความหมาย ไม่เท่ากัน เช่น คำว่านิพพานในพุทธศาสนานี้เป็นอย่างนี้ แต่นิพพานในเดียรถีย์อื่นนั้นเป็นอย่างอื่น กระทั่งว่าเคยเอากามารมณ์สมบูรณ์เป็นนิพพาน เคยเอาปฐมฌานเป็นนิพพาน ทุติยฌานเป็นนิพพาน ตติยฌานเป็นนิพพาน จตุถฌานเป็นนิพพาน กระทั่งอรูปฌานทั้ง ๔ เป็นนิพพานอันสุดท้าย พอมาถึงนิพพานอันสุดๆไม่มีอีกก็คือพระพุทธเจ้าสอนว่าความสิ้นกิเลสเป็นนิพพาน ใช้คำว่านิพพานร่วมกันแต่มีตั้งเท่าไรล่ะ ๑๐ อย่างนะความหมายคำว่านิพพาน นี่เป็นเรื่อง เอ้อ, ที่จะต้องเข้าใจว่าเพื่อนิพพานด้วยกันทั้งนั้นในสมัยนั้น ถ้าไม่ใช้คำว่านิพพานก็ต้องใช้คำว่าวิมุตติ หรือวิโมกข์ด้วยกันทั้งนั้น ในอินเดียใช้คำว่า นิพพานมาก พอใช้ จะใช้คำว่าวิมุตติ วิโมกข์ วิโมกข์นี่มากกว่า คือชาวบ้านรู้จักคำว่าวิมุตติหรือวิโมกข์นี่มากกว่าคำว่านิพพาน แต่ในพระบาลี พระไตรปิฎกมีแสดงให้เห็นได้ชัดว่า ใครๆก็มีนิพพานของตน ตามลัทธิของตน จนต้องระบุชัดออกมาว่าขอพระองค์จงแสดงนิพพานของพระองค์ ถ้ามีลัทธิอื่นมาหาพระพุทธเจ้ามาทูลถามพระพุทธเจ้าก็ขอให้พระองค์ทรงแสดงนิพานของพระองค์ คือนิพพานอย่างของพระองค์ พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงนิพพานตามแบบของท่าน แต่คำว่าวิมุตตินี่ ดูจะเป็นคำที่ใช้ popular มากกว่าคำว่านิพพาน เพราะว่าหญิงขอทานแก่ๆตามท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ ล้วนแต่ต้องการวิมุตติทั้งนั้น เราเคยไปพบหญิงขอทานแก่ๆเหล่านี้สงสารจะให้เงินยังไม่เอา บอกว่าต้องการอะไร ต้องการวิมุตติ เขาใช้คำว่ามุกติ วิมุตติถ้าออกเสียงสันสกฤตมันเป็นวิมุกติ วิมุกติ ก สะกด ต.เต่าสระอิ ต้องการมุกติ ต้องการอะไรก่อน ต้องการวิมุกติ มุกตินี่ก่อน ไม่ต้องการอาหาร ไม่ต้องการอาหาร ไม่ต้องการเงิน นี้มาทีหลัง ต้องการเงินทีหลัง ต้องการอาหารทีหลัง ต้องการมุกติก่อน คนขอทาน หญิงแก่ผอมมีแต่กระดูกยังต้องการวิมุก ยังไม่รับเงิน นี่มันแพร่หลายถึงขนาดนี้ เขาต้องการมุกติแปลว่าความรอด ไอ้คนหนึ่งเป็นผู้ชายเป็นนักบวชที่ไหนก็ไม่ทราบ คนที่ไปด้วยอาตมา ยื่น ยื่นสตางค์ให้ มัน มัน มันถลึงตา ถลึงตาใส่ ยกมือปฏิเสธ ปฏิเสธ มันคล้ายๆกับว่าดูถูกเขา แล้วเขาก็ทำอาการ เอา เอา ยกมือของเขาขึ้นวนๆๆๆ บนหัวของเขาหลายๆรอบแล้วชี้พุ่งขึ้นไป ทำอย่างนี้หลายๆหน แสดงว่าเขาต้องการมุกติ เราพูดกันไม่ได้ พูดภาษาอะไรกันไม่ได้กับนักบวชพื้นเมือง แล้วเขาไม่ต้องการเงินเอาเงินให้เห็นเป็นดูถูก จะต้องการวนๆ วนๆ กลมๆ แล้วคล้ายๆ กับวัฏสงสารนี้แล้วพุ่งพรวดออกไป ออกไป นี่คำว่ารอดคือมุกติ ในทุกศาสนาจะมีคำว่า รอด ทางรอด ความรอด ทางรอด ทำให้ถึงความรอด ในอินเดียใช้คำว่าวิมุตติ วิโมกข์นี่ ในศาสนาอื่นก็ต้องใช้คำที่มีความหมายอย่างเดียวกัน ความหมายของคำว่ารอดนั้นคงจะอยู่ในคำว่า human...(นาทีที่ 26:46) อะไรทำนองนั้นของทุกๆศาสนา นั้นนะเป็นจุดหมายปลายทางของศาสนา นี่ตัวศาสนามันต่างกันได้ ไอ้วิมุกติคือความรอดนั้นต้องเป็นสิ่งเดียวกันถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่รอดจริง แต่ถ้าเป็นความเข้าใจผิดสำคัญผิด เขาอาจจะบัญญัติวิมุกติหรือความรอดนั้นต่างกันออกไปอีกก็ได้นะโดยการที่ว่าเผลอไป ใช้ความหมายผิด ใช้คำผิด ที่เห็นได้ง่ายๆก็คือว่าพุทธศาสนา วิมุกติหรือรอดได้ เมื่อเข้าถึงความว่างคือนิพพาน ว่างไม่มีตัวตนเหลือ แต่พวกอุปนิษัททั้งหลายรอดเมื่อมีตัวตนเหลือ ไปรวมกับตัวตนใหญ่ คืออาตมันตัวเล็กนี้ปฏิบัติธรรมะดีแล้ว หลุดรอดออกไปได้จากโลกนี้ไปรวมกับตัวตนใหญ่ เป็นตัวตนใหญ่อยู่ เป็นอนัน เป็นอนันตะ เป็นนิรันตะ เป็นนิรันดร นิรันดรก็นั่นแหละคือตัวตน เขามีตัวตนเป็นนิรันดร นิรันดรอยู่ที่ตัวตน ดังนั้น เขาจึงไม่ ไม่เรียกว่าว่าง เขามีตัวตนเหมือนกับพระเจ้าอย่างนั้น แต่มีตัวตนอย่างพระเจ้าอยู่กับพระเจ้าแต่มีตัวตนนี่ อุปนิษัททุกลัทธิได้ยินว่าตั้ง ๓๐๐ แขนงกระมัง อุปนิษัทนี้ จะรวมอยู่ที่เป็นตัวตน ไปเป็นตัวตนใหญ่ ศาสนาอุปนิษัทจึงเป็นลัทธิที่ว่ามีตัวตนเป็นอัตตวาที แล้วก็เป็น ไม่แบ่งแยก โดยตัวตนนั้นแบ่งแยกไม่ได้ เพราะเป็นอวิภัช อวิภัชวาที แล้วตัวตนนั้นไม่ใช่ว่างไม่ใช่ว่างอย่างพุทธศาสนาเพราะฉะนั้น เขาจึงเป็นอสุญญวาที อสุญญวาท ส่วนพุทธศาสนานี้ ถือว่าไม่มีตัวตน มันก็เป็นอนัตตวาที หรือว่าล้วนแต่แบ่งแยกเป็นสังขาร เรียกว่าวิภัชวาที แล้วก็มันว่าง ตามปกติมันก็ว่างแล้วในที่สุดความรอดสุดท้ายนั้น คือว่างไป ก็เลยเรียกว่าสุญญวาทีหรือสุญญวาท แต่คำเหล่านี้มันยังเป็นแสดงลักษณะไอ้ตัวศาสนาตัวหนทางทั้งนั้นนะ การนำความคิดให้มองเห็นเป็นอนัตตา เป็นว่าง เป็นวิภัชได้ อย่างนี้เขาเรียกว่า เป็นหลักความคิดที่จิตจะต้องเดินไป เพื่อหาจุดหมายปลายทาง ฉะนั้น ตัวจุดหมายปลายทางต่างหากหรอก ที่ว่ามันจะ จะสำคัญ เป็นตัวสำคัญ ถึงแล้วจะหมดปัญหา ถึงแล้วจะรอด รอดจากอะไร ต้องมาถึงตรงนี้ จึงจะพบว่าศาสนาทุกศาสนาเหมือนกัน เป็นอันเดียวกัน คือทุกศาสนานำไปสู่ความรอด นี้เหมือนกันแล้ว เหมือนกันแล้ว ว่าทุกศาสนานำไปสู่ความรอด ทุกศาสนามีจุดหมายปลายทางเป็นความรอด ทีนี้ความรอดนั้นถ้าจริงแท้ต้องเหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกันต้องมี มีผิดพลาดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ใครพอใจอย่างไรก็ ก็ควรจะเลือกเอาอย่างนั้นได้ ใครจะพอใจว่าไปเป็นอาตมันถาวรอยู่เป็นความรอดก็ได้ ใครจะพอใจว่าว่างไปหมด เป็นสุญญตาก็ได้เหมือนกัน แล้วมันเหมือนกันที่ตรงไหน คนหนึ่งถือว่ามีอาตมันไปเป็นอาตมัน คนหนึ่งว่าไม่มีอาตมัน ว่าง มันจะเหมือนกันที่ตรงไหน มันยังจะเหมือนกันได้อีกครั้งหนึ่งว่า คือว่าไม่มีความทุกข์ ถ้าวิธีอธิบายอย่างมีตัวตน ทำให้ไม่มีความทุกข์ได้เลยมันก็ถูกแหละ เขามีวิธีอธิบายอย่างหนึ่งนะโดย โดยความมีตัวตน ว่าถึงแล้วก็ดับทุกข์หมด ก็ถูก เรามีวิธีอธิบายอย่างหนึ่งไม่มีตัวตน รู้แล้วปฏิบัติตามแล้วถึงแล้วก็ดับทุกข์หมดก็มันเหมือนกันที่ตรงนี้ มันจะเหมือนกันที่ดับทุกข์หมด มันก็จะน่าฉงนที่ว่า พวกหนึ่งสอนว่าไม่มีตัวตนก็ดับทุกข์หมด พวกหนึ่งสอนว่ามีตัวตนก็ดับทุกข์หมด นี่เพราะเหตุอะไร เพราะว่าความหมายที่ใช้กับคำพูดเหล่านั้นแหละมันไม่เหมือนกัน คำว่าตัวตนของเรากับตัวตนของพวกอื่นนะมัน มันไม่เหมือนกัน แล้วอีกอย่างหนึ่งมันจำเป็นที่จะต้องพูดอย่างนั้น จะต้องใช้คำอย่างนั้น เพราะว่ามนุษย์นี่มันมีความคิดนึกของมันเองทุกคนแหละ มนุษย์บางคน หรือบางพวก มันมีความรู้สึก ซึ่งสรุปแล้วจะต้องมี จะต้องมีอะไร ถ้าพูดว่าไม่มีอะไร ไม่เข้ากับความรู้สึกของเขาต้องพูดว่ามี คือเขาเป็นพวก positive เขาจะต้องมี มีตัวตนมีอะไรที่เป็นมีอยู่ ได้อยู่ มนุษย์ส่วนน้อยที่จะเป็น negative ที่จะรู้สึกความไม่มี แล้วพอใจในความไม่มี ฉะนั้น คำพูดว่ามีตัวตนนี้เข้ากันกับความรู้สึกคิดนึกของคนส่วนมาก ลัทธิศาสนาที่สอนว่ามีตัวตน มีอะไรเป็นตัวเป็นตนนี้มันได้เปรียบ ได้เปรียบโดยธรรมชาติ คือมันเข้ากับความรู้สึกของคนทั่วไป เอาคนเดี๋ยวนี้ก็แล้วกันนะ เอาพวกเราเดี๋ยวนี้เป็นหลัก คนหนึ่งก็มาสอนว่ามีนะ มีตัว มีตนไปนิพพานอยู่สบายอยู่กันถาวร กับพวกหนึ่งว่าสอนว่าตรงนี้มันก็ไม่มีใครนะ มีแต่อิทัปปัจจยตานะจิตรู้ความไม่มีใครแล้วว่างไปเลยอย่างนี้ มันเป็นผลที่จะได้ คำสอนชนิดนี้คงจะหาคนรับยากนะ นี่พุทธศาสนาตกหนักก็ต้องสอนในลักษณะที่มันไม่เข้ากับไอ้ความรู้สึกของสัญชาตญาณแห่งคนนะ คนเขาต้องการจะมีตัวตน ต้องสอนกันมากต้องฝนกันมากอย่างที่เรียกว่าฝนอิฐ ให้เป็นกระจกจึง จึงจะเข้าใจถึงไอ้ความไม่มีตัวตน พวกที่สอนว่ามีตัวตนก็ได้เปรียบ พูดกันคำสองคำก็มีสาวกแยะ เพราะฉะนั้น จึงมีมนุษย์ ประชาชนที่มีลัทธิว่าตัวตน ถือลัทธิว่าตัวตนเต็มไปหมด ตั้ง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ เข้าใจว่าอย่างนั้น พวกที่มองเห็นว่าไม่มีตัวตนนี้มันจะสัก ๕ เปอร์เซ็นต์กระมัง ฉะนั้น พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมานี่ คนเขาไม่มีตัวตนนี่ก็สัก ๕ เปอร์เซ็นต์ คนมีตัวตนตั้ง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ท่านก็อ่อนใจ อ่อนพระทัยว่าคงสอนกันไม่ได้แล้ว ไอ้เรื่องที่เรารู้นี่คงสอนใครไม่ได้ อยากจะงดสอนเสีย แต่คิดว่ามันก็คงจะมีผู้เข้าใจได้ก็คิดว่าสอน อย่างนี้ ฉะนั้น ลัทธิที่สอนว่ามีตัวตนนั้นได้เปรียบอย่างนี้ ทีนี้พวกนั้นเขาก็ถือโอกาสอันนี้ อธิบายคำว่า ตัวตน ตัวตนนี้ ให้มันแข่งขันกันได้ โต้กันได้กับพวกที่ว่าไม่มีตัวตน เพราะว่าไอ้ลัทธิว่ามีตัวตนมีอาตมันของอุปนิษัทนั้นก็ปฏิเสธตัวตน อ้า, ในระดับหนึ่งด้วยเหมือนกัน เมื่อเขาเห็นว่าไอ้ตัวตนมันจะแพ้นี่ จะพ่ายแพ้แก่ความคิดนี่ เขาก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้ คือประชาชนคนทั้งหลายจะต้องรู้จักตัวตนปลอมเหมือนอย่างที่ถือๆกันอยู่นี่ ว่าเป็นตัวตนปลอม แล้วก็ละตัวตนปลอมนี้เสียก็ไปเป็น ไปมีตัวตนจริง พอมีตัวตนจริงก็ไปรวมกับตัวตนใหญ่ อาตมันเฉพาะคนก็ไปรวมกับปรมาตมันสากล เพราะมีตัวตนที่มี อ้า, ความหมายพิเศษจากที่คนเขารู้จักกันอยู่นะ การที่จะมีอาตมัน หรือเปลื้องตัวตน เปลื้องอาตมันออกไปได้จากไอ้กิเลส ตัณหานี้ มันต้องมีวิธีปฏิบัติ ละไอ้ตัวตนที่เรียกว่าอหังการ มมังการนี้ด้วยเหมือนกันนะ ในพุทธศาสนาก็ให้ละอหังการ มมังการ มานานุสัย ฝ่ายอุปนิษัทเขาก็ละอหังการ มมังการ มานานุสัยเหมือนกัน แต่แล้วจิตนั้น มันยังเป็นตัวตนอีกต่อไป ไอ้เราละอหังการ มมังการ มานานุสัยแล้ว จิตนี้จะไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนอีกต่อไป เราจึงกลายเป็นมิใช่ตัวตน เป็นความว่างจากตัวตน เป็นนิพพานโดยความเป็นของว่างจากตัวตน ส่วยฝ่ายฮินดู ฝ่ายอุปนิษัท ก็ละตัวตนตัวกูของกูโง่ๆนี้แล้วก็จิตนั้นมันก็ไปเป็นตัวตนอันใหม่ อันวิเศษ อันสูงสุด ชนิดที่ไปรวมกับตัวตนใหญ่ได้ มันก็ต่างกัน นี่ก็เล่น เล่นกันคนละบทเลย จะเหมือนกันที่ตรงไหน เราพิสูจน์ไม่ได้ตอนนี้ ถ้ามันดับทุกข์ได้ล่ะก็ใช้ได้ ความคิดอย่างอุปนิษัทในที่สุด จิตไม่มีความทุกข์แล้วก็ใช้ได้ ความคิดอย่างพุทธศาสนาเราไม่มีตัวตน ก็ถึงได้รับผลแล้วไม่มีความทุกข์มันก็ใช้ได้ มันจะเป็นอันเดียวกันก็ตรงที่ว่าไม่มีความทุกข์ ทำให้ถึงจุดหมายปลายทางของศาสนา แล้วจะไปพบกันอีกทีหนึ่งคือความไม่มีทุกข์ที่เรียกว่าวิมุกติ หรือวิมุตติ หรือวิโมกข์ หรือนิพพาน พุทธศาสนานี้ อ้า, ใช้คำว่า ว่าง แล้วก็ดับ สุญญแปลว่าว่าง ว่างจากตัวตน นิโรธะแปลว่าดับ นิพพานะก็ยังแปลว่าดับ ดับตัวตน ส่วนฝ่ายตรงกันข้ามนั้นเขาไม่สุญญ คือเขามี มีตัวตน แล้วก็ไม่ดับ จะไม่ใช้คำว่าความดับ นิโรธะ หรือนิพพานะในความหมายว่าดับ เขาจะมีอยู่เป็นลักษณะที่ว่ามีอยู่ เป็นนิรันดร ถึงเขาปฏิเสธไอ้ของเที่ยงเล็กๆน้อยๆ ไอ้อย่างโง่ๆนี้เหมือนกัน แต่แล้วเขายอมรับไอ้ความเที่ยงอันใหญ่หลวง ความเที่ยงแท้อันใหญ่หลวง พระเป็นเจ้าหรือปรมาตมัน เที่ยง เช่น พรหมมานี้เที่ยง คำ อ้า, คำว่าพระเจ้าในฝ่ายอุปนิษัทใช้คำว่า พรหมมา สยัมภู นี้ก็คิดดูเอาเถิดว่า มันต้องมีอยู่นะ ไม่ไม่ใช่ดับหรือว่างไปนะ แล้วก็เที่ยงนะ แล้วก็สุขอยู่ในนั้นนะ มีความหมายอย่าง positive เต็มที่ เช่นพุทธศาสนานี้มีความหมายไปพาให้คนเข้าใจว่าเป็น negative แต่ความจริงก็มิได้เป็น negative เป็นอยู่ตรงกลางคือเป็นอิทัปปัจจยตา แต่โดยเหตุที่อิทัปปัจจยตานั้นเป็นตัวตนไม่ได้ ฉะนั้นพุทธศาสนาจึงถูกมองไปในแง่เป็น negative คนที่ไม่รู้พูดผิดๆเข้าใจผิดๆจัดพุทธศาสนาเป็น (นาทีที่ 39:55) คือเป็นนัตถิกทิฏฐินี้มันยิ่งผิดใหญ่ พุทธศาสนาไม่เป็นนัตถิกทิฏฐิ ไม่เป็นสัสสตทิฏฐิ ไม่เป็นอุจเฉททิฏฐิ เพราะว่ามีอิทัปปัจจยตา เมื่อถามว่ามีอะไรก็มีแต่อิทัปปัจจยตา แล้วถามฝ่ายโน้นว่ามีอะไร เขาว่ามีอาตมัน มนุษย์เดี๋ยวนี้แต่ละคนยังเรียกว่ามีอาตมันที่ยังซ่อนอยู่ยังหยิบจับออกมาไม่ได้ เพราะมันถูกอัตตา อัตตาโกง อัตตาหลอกลวง คือกิเลสนั้นหุ้มห่อเอาไว้ อาตมันแท้จริงนั้นถูกหุ้มห่อเอาไว้ด้วยกิเลส ดังนั้น จึงไม่โผล่หัวออกมาได้ มันยังไม่เป็นลูกไก่ที่ทำลายกระเปาะออกมาได้ นั่น อัตตานั้นยังอยู่ใน ในใต้เปลือกของกิเลส ฉะนั้น เราไปถามเขา เขามีอะไรอยู่เป็นพื้นฐานตลอดเวลา เขาว่ามีอาตมัน มีอัตตาอยู่ตลอดเวลา ส่วนว่าพุทธเราที่เป็นพุทธแท้ ถามว่ามีอะไรบอกว่าไม่มีอัตตา มีแต่ อิทัปปัจจยตา นี่เปรียบเทียบกันตรงนี้ก็จะพบความแตกต่างโดยพื้นฐาน เขามีอัตตา ปรมาตมันอยู่เป็นสองชั้น เดี๋ยวนี้มีอัตตาของกิเลส หุ้มอัตตาแท้อยู่ ต้องทำลายอัตตากิเลส แล้วอัตตาแท้ก็ออกมา แล้วในที่สุดก็ไปรวมอัตตาใหญ่ ถามเขา เขาต้องตอบว่ามีอัตตา ถามเรา เราว่าไม่มีอัตตา มีอะไร ก็มีแต่ไอ้สิ่งที่เรียกด้วยคำหลายๆคำว่า นับตั้งแต่ คำว่าอิทัปปัจจยตา มีสิ่งๆหนึ่งซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หรือจะเรียกให้มันเป็นวิทยาศาสตร์หน่อยก็เรียกว่า ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา ธัมมัฏฐิตตามันตั้งอยู่โดยธรรมชาติ ธรรมนิยามตา มีนิยามเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเก่งกว่านั้นก็จะต้องพูดว่ามีแต่ตถตา ตถตาแปลว่าความเป็นอย่างนั้น ความเป็นอย่างนั้นคือความเป็นไปอย่างเป็นอิทัปปัจจยตานะ คำว่าตถตานี้ พวกมหายานเขาใช้มาก พวกเถรวาทไม่ค่อยใช้ ที่จริงเต็มไปหมดในพระบาลี ฝ่ายเถรวาทก็มี แต่ไม่เอามาใช้เอง มีตถตา คือความเป็นอย่างนั้น ไม่ยอมเรียกว่าอัตตา อวิตถตา ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น อนัญญถตาไม่เป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น ชื่อมันหลายชื่อนะ ถ้าถามว่ามีอะไร ก็จะมีอันนี้ มีตถตา ความเป็นอย่างนั้น คือเป็นไปโดยกฎของอิทัปปัจจยตา เราจึงไม่เรียกชื่อว่าอัตตา อันเที่ยง หรืออันถาวร ตถตาเป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็จริงแต่มันเป็นอิทัปปัจจยตา เป็นเรื่องของอิทัปปัจจยตา เป็นกระแสแห่งอิทัปปัจจยตา เป็นตัวแท้แห่งอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้น ฉันไม่สามารถจะเรียกมันว่าอัตตา เราจึงปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าอัตตา เพราะมันมีแต่อิทัปปัจจยตาไม่ควรเรียกว่า อ้า, อัตตา ถ้าเรียกว่าอนัตตาก็ต้องระวังความหมายให้ดีว่า มันเป็นแต่เพียงว่าไม่ใช่อัตตาเท่านั้นนะ อย่าไปเข้าใจเตลิดเปิดเปิงโดยถึงกับไม่มีอะไรเสียเลย มันก็มี แต่มันมีอิทัปปัจจยตา นี่พุทธศาสนามีแต่อิทัปปัจจยตา ซึ่งมิใช่อัตตา ในเมื่อฝ่ายอุปนิษัทเขาก็มีอัตตา ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ มีอาตมันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ อาตมันถูกจำคุกอยู่ ด้วยกิเลสครอบงำ จงพยายามทำๆๆ จนให้กิเลสทลายลง แล้วอาตมันก็หลุดรอดนั่นแหละคือมุกติ วิมุตติของฝ่ายอุปนิษัท วิมุติแล้วก็ไปรวมกับปรมาตมัน ทีนี้เราไม่มีอัตตา มีแต่ อิทัปปัจจยตา อะไรเป็นตัวยืนโรง ก็จิต ก็คือสิ่งที่เรียกว่าจิตที่มี office อยู่ที่ร่างกาย ไอ้จิตนี้ มันถูกหุ้มห่อด้วยความโง่ของมันเอง กิเลสของมันเอง อวิชชาของมันเอง เหมือนกับกระเปาะฟองไข่แหละ จิตนี้จะต้องถูกอบรมได้รับการอบรมให้มีปัญญาพอที่จะทำลายฟองไข่ออกมา มันก็มารู้ มาสู่แสงสว่างเรียกว่าจิตนี้ก็หลุดพ้นอีกเหมือนกัน ใช้คำๆเดียวกันอีกว่าหลุดพ้น รอดพ้น เช่นเดียวกับฝ่ายโน้น เขาใช้ว่ารอดพ้นเราก็ใช้คำว่ารอดพ้นคือหลุดออกมาได้ ถ้าพูดให้ละเอียดไปกว่านี้ ก็หมายความว่าเราอบรมจิต จนอวิชชาเกิดขึ้นอีกไม่ได้ กิเลสเกิดขึ้นอีกไม่ได้ ก็รอดพ้นไปจากการที่กิเลสมันจะเกิดขึ้นมาอีก เราสามารถทำให้การเกิดอีกของกิเลสไม่อาจจะเกิดได้ เรารอดพ้นจากอำนาจอันนี้ ก็เรียกว่าวิมุตติ วิโมกข์ หลุดพ้น ในความหลุดพ้นมันก็มีความหมายที่คล้ายกันมาก หลุดพ้นจากกิเลสด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งไรหลุดพ้น คำว่าอัตตาหลุดพ้นไป เราว่าเป็นธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งเรียกว่าจิตซึ่งเป็นเพียงอิทัปปัจจยตาเท่านั้นไม่เป็นตัวตน ของมันอะไรได้ การเวียนวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารก็คือจิตที่โง่แล้วโง่อีก โง่แล้วโง่อีก เวียนว่ายอยู่ในกองทุกข์ แต่เขา ฝ่ายโน้นจะต้องพูดว่ามีอัตตา เวียนว่ายตายเกิด เวียนว่ายตายเกิด เกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีกกว่าจะหลุดพ้นออกไปจากการว่ายเวียน ฉะนั้น คำว่าวัฏสงสารนี้ใช้รวมกัน เขาก็เรียกอาการนี้ว่าวัฏสงสาร เราก็เรียกวัฏสงสาร รอดหลุดออกไปได้จากวัฏสงสารนั่นแหละ คือจุดหมายปลายทาง ที่อาตมาว่าทุกศาสนามันเหมือนกันก็คือว่ามันต้องการรอดเหมือนกัน ถ้าเป็นรอดจริงๆกันแล้ว มันก็อันเดียวกันไม่ผิดแปลกแตกต่างจากกัน เคยพูดไว้ในที่หลายแห่งแล้ว แต่ก็นานมาแล้ว ก็อยากจะทบทวนให้ท่านที่ยังไม่เคยฟัง หรือเคยฟังมาแล้วอีกว่า ไอ้ลัทธิศาสนา ไอ้ความรู้สึกว่าศาสนานี้ มันเพิ่งเกิดเมื่อมนุษย์รู้สึกในปัญหา ถ้ามนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นมาไอ้ศาสนาก็ไม่มีโอกาสจะเกิดขึ้นมา ธรรมะก็ไม่ปรากฏ เดี๋ยวนี้มนุษย์มันได้เกิดขึ้นมาในโลกโดยวิธีวิวัฒนาการหรือพระเจ้าสร้างก็สุดแท้ แต่เมื่อมนุษย์มีกันแล้วมันประสบกับปัญหา การที่จะหลุดพ้นจากปัญหานั้นนะ เป็นต้นกำเนิดของศาสนา ตั้งอยู่บนรากฐานของสัญชาตญาณคือต้องการจะรอด ทีนี้เราย้อนไปเรียนหลักวิทยาศาสตร์ทางวัตถุ biology กันเสียใหม่อีกที เพื่อศึกษากันเป็นพิเศษตรงที่ว่า สัญชาตญาณของสัตว์นั้นคือความดิ้นรนต่อสู้เพื่อรอด จะรอดชีวิตรอดตายนี่ก็ได้ แล้วรอดจากอะไรที่มันเห็นว่าเป็นเครื่องผูกพันอีกก็ได้ เพื่อ survive ตัวเองไว้ นี่เป็นสัญชาตญาณไม่ต้องมีใครมาสอน สิ่งที่มีชีวิตจะต้องมีสัญชาตญาณแห่งการรอดชีวิต มันก็ต้องการรอด ทีนี้ถ้าอะไรมาทรมาน มาบีบคั้น มันก็ยังต้องการรอดอีกครั้งหนึ่ง เราจึงเห็นสัตว์เดรัจฉานทั่วไปมันก็ดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ชีวิตรอด แล้วมันก็ดิ้นรนต่อไปเพื่อพ้นจากการบีบคั้นของสิ่งที่มันไม่ต้องการ นี่สัญชาตญาณแท้ๆ สัญชาตญาณของสัตว์เดรัจฉานนั่นนะ คือมูลกำเนิด ของสิ่งที่เรียกว่าศาสนา มันยังมีชีวิตอยู่เพียงใดมันก็มีสัญชาตญาณต้องการรอดอยู่เพียงนั้น นี่สมมุติว่าคนป่ามันเกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ เมื่อ ๒๐๐,๐๐ ปีโน้น ยังเป็นคนป่า มันก็ดิ้นรนเพื่อรอดชีวิต มันก็หาอาหารกิน ต่อมา ไม่ ไม่ตายหรืออยู่กันมาได้ มาพบไอ้การบีบคั้นของความยากลำบากต่างๆ ก็ดิ้นรนจนรอดออกมาได้ แล้วสูงขึ้น สูงขึ้น ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา มันพบไอ้ความบีบคั้นในทางจิตใจ คนจึงออกไปอยู่ป่าเป็นฤษีเป็นมุนีนี่ ไปค้นหาทางรอดจากความบีบคั้นทางจิตใจ ก็พบ เป็นจุดตั้งต้นของศาสนา ฉะนั้น เราจึงเรียกพวกฤษีนั้นว่าเป็นพวกตั้งต้นแห่งศาสนาได้ พระพุทธเจ้าเองท่านก็ตรัสเรียกพระองค์เองว่าฤษี เราเติมให้ว่าเป็นมหาฤษี อิติ อิติในภาษาบาลี หรือฤษิในภาษาสันสกฤตนะ คือคนที่ออกไปหาทางรอดจากการบีบบังคับทางจิตใจ คำว่าอิติ หรือคำว่าฤษีนี้นะ ศัพท์นี้แปลว่าแสวงหา root รากของศัพท์นั้นแปลว่าแสวงหา ดังนั้น รู้จักฤษีเสียบ้างไม่ใช่บ้าๆบอๆ อย่างที่เราดูในหนังตะลุงนะ อิติก็มีมาก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเกิดมาก็ไม่พ้นจากความเป็นอิติ ต่อไปท่านแสวงหาทางรอดจากความบีบคั้นทางจิตใจ ทางจิตใจ เพราะว่าเดี๋ยวนี้มนุษย์มีวิวัฒนาการสูงขึ้นมา จนมีปัญหาทางจิตใจ ปรากฏออกมาและมากขึ้น ปัญหาทางร่างกายนั้นมันถูกกำจัด บีบคั้นทางร่างกายถูกกำจัดหมดไปก่อนหน้านั้นแล้ว รอดชีวิตอยู่ได้แล้ว มีเสื้อผ้าแล้ว มีบ้านอยู่แล้ว มีหยูกยาแล้ว มีศีลธรรมสำหรับจะอยู่กันอย่างปกติแล้ว ไม่ขโมยกันแล้ว อย่างนี้เป็นต้น แต่ยังไม่พ้นจากปัญหาทางจิตใจ จึงหนักอึ้งอยู่ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกลัว ความวิตกกังวลอะไรต่างๆ จึงต้องออกไปค้นหา แล้วก็พบ ก็รอดจากไอ้การบีบบังคับของสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น จึงยึดเอาคำว่ารอด รอดนี่มาเป็นหลัก มาเป็นคำใช้ เป็นผล อ้า, ของศาสนา เป็นผลของการปฏิบัติศาสนา ตัวศาสนาคือตัวการปฏิบัติ ตัวผลของมันก็คือความรอด ทุกศาสนาต้องมีจุดสุดท้ายคือความรอด จึงถือว่าเหมือนกันทุกศาสนา พระพุทธศาสนาขจัดไอ้ความทุกข์ร้อนจากโลภะ โทสะ โมหะได้ โดยที่พูดว่าสุญญตาว่างหรืออนัตตาไม่มีตัวตนมันก็ได้สิ คือพวกฝ่ายอุปนิษัทเขาพูดว่า เขากำจัดไอ้ความทุกข์ร้อนของโลภะ โทสะ โมหะได้ จิตชนิดนั้นหลุดออกไปแล้วเป็นตัวตน ก็ตามใจเขาสิ แต่เรายอมรับไม่ได้ เราจะไม่ยอมรับว่านั้นเป็นตัวตน จิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจะไป ไปเรียกว่าตัวตนอีกไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเพียง เพราะเรามองเห็นเป็นเพียงธรรมชาติ เป็นอิทัปปัจจยตา ไปตามกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา จิตนั้นจึงไปรอดหรือรอดออกไปได้อย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราไม่ยอมเรียกว่าตัวตน ถ้าตัวตนมันต้องเฉียบขาดเหมือนกับพระเจ้าสิ เดี๋ยวนี้จิตนั้นไม่ได้เฉียบขาดเหมือนกับพระเจ้า ยังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ต้องอาศัยการปฏิบัติ ปรับปรุงจิตนั้นนะให้หลุดพ้นออกไปได้ ดังนั้น เราจะไม่เรียกว่าตัวตัน คือเราไม่ให้เกียรติมันมาก ถึงกับว่ามันเป็นตัวตนของมันเองได้ มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่อยู่ใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ใต้กฎเกณฑ์ของกฎของธรรมชาติ นี่เป็นหลักที่พุทธศาสนาไม่ยอมเรียกจิตที่หลุดพ้นแล้วว่าเป็นตัวตน แต่ก็มีพุทธบริษัทบางพวกเขาชอบอธิบายอย่างนั้นนะ เถียงกันอยู่แม้ในวงพุทธบริษัทเหมือนกันนะ คือพุทธบริษัทพวกหนึ่งมีตัวตนนะ เอาจิตที่หลุดพ้นแล้วเป็นตัวตนบ้าง หรือเอาอะไรไม่รู้นะว่าเป็นตัวตนอยู่ เอาขันธ์ห้าเป็นเพียงอาการแห่งตัวตน เขา เขามีทางออกของเขาเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่าขันธ์ห้าไม่ใช่ตัวตน เขาว่าถูกแล้วขันธ์ห้าเป็นเพียงอาการของตัวตน เขามีตัวตนอีก อีกอันหนึ่งต่างหาก พวกนี้เลยได้รับสมัญญาใหม่ว่าพวกขันธ์หก ใครเคยได้ยินบ้าง พวกขันธ์หก ถ้าขันธ์หกเขาต้องมีตัวตนยืนโรง อย่างที่เรียกฮินดู หรืออุปนิษัทเขาว่ามีอาตมันนั่นแหละยืนโรง เป็นตัวตนอยู่ แล้วก็ไอ้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นสมบัติเป็นอาการของไอ้ตัวตนนั้น ที่เรียกกันว่าพวกขันธ์หก แต่ก็ยังมีคนถืออย่างนั้น แม้ในประเทศไทย ทีนี้ตัวตน เอ้อ, มีหรือไม่มีก็แล้วแต่ถือลัทธิไหน เมื่อลัทธิอุปนิษัทเขาถือว่าไอ้จิตที่หลุดพ้นจากกิเลสแล้วเขาไม่ใช้คำว่าจิตหรอกที่จริงนะ จิตเขาใช้เป็นชื่อของอะไรเล็กๆน้อยๆ เขาใช้คำว่าอาตมันเสมอ จะใช้คำว่าวิญญาณ เจตภูต ชีโว อะไรก็ได้ ที่มีความหมายเท่ากับคำว่าอาตมันก็ได้ เขามีอันนั้นนะ เป็นตัวตนอยู่ แล้วปฏิบัติไปเถิด กว่าตัวตนนั้นจะหลุดออกมาได้ เดี๋ยวนี้มัน มันถูกหุ้มไว้ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลสตัณหาเหมือนกับว่าฟองไข่เปลือกฟองไข่หุ้มลูกไก่ พอเจาะออกมาได้ พอเจาะออกมาได้นี้แหละ ตัวตนหลุดออกมาได้แล้ว เป็นตัวตนจริง แล้วก็ไปรวมกับตัวตนใหญ่คือปรมาตมัน บางทีเขาก็เรียกปรมาตมันว่าพรหมา คำว่าพระเจ้า คำว่าอะไรต่างๆตามแบบของเขา ฉะนั้น คำว่าพระเจ้าในฝ่ายอุปนิษัทก็คือตัวตนใหญ่ คำว่าพรหมหรือพรหมานี้ มีปัญหามาก ใน ในบาลี พุทธศาสนานี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าตถาคตนี่เป็นพรหมภูโต เป็นพรหมกาโย เป็นธมมภูโต เป็นธมมกาโย คำว่าพรหมภูโตคือผู้ที่เป็นพรหมนั้นนะ เป็นชื่อของตถาคต จะใช้ความหมายไหนภาษาไหนก็ไม่ทราบแต่ในพระบาลีมีอย่างนั้น ตรัสเรียกพระองค์เองว่าพรหมภูโต เป็นพรหมแล้ว พรหมกาโยเป็นกายของพรหมด้วย ทีนี้บาลี เอ้อ, กระท่อนกระแท่น บาลีที่ ที่เรียกว่าตามหลักของชาวบ้านนะ คือภาษาชาวบ้านที่พลัดเข้ามาอยู่ในบาลีนี้ คำว่าพรหมเป็นชื่อของเทวดาชั้นสุด สูงสุดเรียกว่าพรหม เป็นเทพชุดหนึ่งมีอยู่หลายๆระดับ หลายๆเกรด เรียกว่าพรหม ทำไมเรียกว่า พรหม ก็คือว่าเขาประเสริฐกว่าใคร ทำไมจึงเกิดรู้สึกตัวว่าเราประเสริฐกว่าใคร ในเรื่องนั้นมีเล่าว่า ไอ้พรหมคนนั้นนะ มันเกิดเกิดก่อนคนอื่นเมื่อใครๆยังไม่เกิด แล้วมันก็มีความคิดว่า เอ๊ะนี่เราอยู่คนเดียวนี่ มันควรจะมีใครมา มาเพิ่มจำนวน แล้วต่อมาก็มีคนเพิ่มจำนวนขึ้นมาจริงๆ ไอ้พรหมนั้นก็คิดว่า อ้าวไอ้นี่เราสร้างมันขึ้นมานี่ ความคิดว่าพรหมเป็นผู้สร้างผู้อื่นนี่ก็เกิดขึ้น ทีนี้พรหมมันมากเข้า มากเข้า จนเป็นพลเมืองธรรมดาไป คำว่าพรหมมีความหมายที่กำกวมอย่างนี้ แต่ภาษาฝ่ายคัมภีร์อุปนิษัทเขาหมายถึงปรมาตมัน เป็นตัวใหญ่ อัตตาใหญ่แล้วก็เป็นที่ออกมาของไอ้อัตตาทั้งหลายเหมือนกับพระเจ้านะ รอดก็ไปอยู่กับพรหม พุทธศาสนารอดก็ไปอยู่กับความว่าง ไม่ใช่ในความหมายสำหรับความล้อเลียน รอดคือออกไปจากความผูกพันของกิเลสของไอ้ตัณหาอุปาทานทั้งหลาย แล้วก็เข้าสู่ความดับสนิทไม่มีความเหลือแห่งตัวตน เรียกว่าเป็นความดับสนิท ก่อนนี้ดับไม่ลง เพราะมีไอ้กิเลส ตัณหา อุปาทานหรือความรู้สึกว่าตัวตนนี้ค้ำไว้ ดับไม่ลง ดับไม่ได้ ทีนี้ก็พอหมดอันนี้มันก็ดับลงหรือดับได้ ฉะนั้น จุดหมายปลายทางจึงเรียกว่าความดับไม่มีเหลือ นิพพานหรือปรินิพพาน แล้วดับหรือเข้าถึงความดับนี้ได้โดยที่ร่างกายไม่ต้องตายนะ ร่างกายยังไม่ต้องตายนะ จิตนี้ก็เข้าถึงความดับนี้ได้คือปรินิพพานนั่นเอง เรียกว่าดับเย็นสนิทแห่งตัวตน แต่ร่างกายยังไม่ต้องตาย มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่งรองรับไอ้จิตใจเท่านั้น พระบาลีที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนที่เป็นพุทธบริษัทควรจะถือไว้เป็นหลัก คือพระบาลีว่า ปรินิพพุโตโสภควา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นปรินิพพานแล้ว ปรินิพพานายะธัมมังเทเสติ ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน คือพระองค์ปรินิพพานแล้วแสดงธรรมเพื่อสอนคนอื่นให้ปรินิพพานด้วย ท่านไม่ได้ตายด้วยการปรินิพพาน ฉะนั้น จิตที่ชนะกิเลส ตัณหา อุปาทานโดยประการทั้งปวงแล้วเรียกว่าปรินิพพาน ดับเย็นสนิทไร้ความหมายแห่งตัวตน แล้วร่างกายยังอยู่ก็แสดงธรรมเรื่องปรินิพพานไป พอมาถึงตอนนี้ก็เป็นเรื่องดับของร่างกายแล้ว ไม่ใช่ของจิตแล้ว ไม่ใช่ของบุคคลตัวตนอะไรแล้ว เมื่อมันแก่หง่อมเข้าร่างกายมันก็ดับไปตามแบบของร่างกาย ส่วนที่เป็นร่างกาย หรือว่าจิตส่วนที่เป็นซาก จิตอยู่กับร่างกาย แต่จะถือว่าจิตดับเย็นสนิทแล้วตั้งแต่เมื่อกิเลสหมด นี่คือปรินิพพานได้โดยที่ร่างกายไม่ต้องตาย กิเลสดับหมดเรียกว่าเป็น อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ กิเลสดับบางอย่างเหลืออยู่บ้างนี้เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าบรรลุอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ตั้งแต่วันตรัสรู้ พอมาถึงวันปรินิพพานนี้ ร่างกายของท่านดับแต่ว่าดับด้วยอำนาจหรือในลักษณะของอนุปาทิเสสปรินิพพานธาตุ เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้นั่นเอง มันต่างกันอย่างนี้ คนธรรมดาดับด้วยความโง่ด้วยอวิชชา พระพุทธเจ้าที่สมบูรณ์ท่านก็ดับด้วย อนุปาทิเสสปรินิพพานธาตุ ท่านบรรลุตั้งแต่วันตรัสรู้ ไม่ใช่มาบรรลุเมื่อ เมื่อร่างกายแตกดับ เรามักจะเข้าใจกันว่าพระพุทธเจ้าเข้า เข้านิพพานเมื่อร่างกายแตกดับ แล้วอาการนั้นเรียกว่าปรินิพพาน นี้มันเป็นคำสมมุติภาษาคน ภาษาแท้ ภาษาถูกต้องนั้น ท่านปรินิพพานแล้วตั้งแต่เมื่อตรัสรู้ คือ ดับเย็นหมดแห่งกิเลสหรือตัวตน นั่นแหละข้อความแตกต่างมันอยู่ตรงนั้น เราต้องการจะดับตัวตน ในเมื่ออุปนิษัทเขาต้องการจะมีตัวตนที่ไม่รู้จักดับ แต่มุ่งผลอย่างเดียวกันคือรอดจากความทุกข์ ใครจะรอดจากความทุกข์ได้อย่างไร ตามใจ ถ้ารอดจากความทุกข์ได้แล้วก็จะต้องถือว่าเหมือนกันนะ ศาสนาที่ใช้ความเชื่อเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ปัญญาเป็นหลัก เขาก็มีวิธีดับทุกข์ของเขาโดยอำนาจของความเชื่อ เชื่อพระเจ้า เชื่ออะไรก็แล้วแต่จะเอามาเป็นที่ตั้งของความเชื่อ ถ้ามันดับทุกข์ได้ละก็ใช้ได้ ฉะนั้น ขอให้ถือเสียเถิดว่าเราเหมือนกันตรงที่ว่าดับทุกข์ได้ วิธีดับต่างกัน แต่เราก็ดับทุกข์ได้ มีน้ำยาดับไฟหลายๆอย่าง แล้วก็ดับไฟได้ด้วยกันทั้งนั้น หรือบางทีเอาทรายกลบมันก็ยังดับได้ ดังนั้น เราจะไม่ถือว่าแตกต่างกัน แล้วยิ่งอธิบายโดยภาษาธรรมแล้ว ก็จะไม่มีข้อขัดแย้ง ตัวตนนี้มันเป็นเรื่องสมมุติ มันเป็นเรื่องรู้สึกโดยสมมุติ รู้สึกตามที่สัญชาตญาณกำหนดให้นี่เรียกว่าสมมุติ พอรู้จริงขึ้นมาก็ไม่ต้องเรียกว่าตัวตน ฉะนั้น ขอให้สนใจศึกษาธรรมะ ๔ ความหมาย ซึ่งมันจะครอบคลุมไปหมดทุกศาสนา ว่าธรรมชาติมีอยู่อย่างไร กฎของธรรมชาติมีอยู่อย่างไร หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้นมีอยู่อย่างไร นั่นแหละคือตัวศาสนาละ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วมีผลสุดท้ายก็คือดับทุกข์ได้ ผลจากหน้าที่คือดับทุกข์ได้ แล้วเขารู้สึกว่าไม่มีความทุกข์เหลือแล้วก็ต้องให้ถือว่าใช้ได้ นี่อาตมาพูดอย่างนี้คล้ายๆกับว่า ลำเอียงหรือเอาเปรียบ หรือช่วยแก้ให้ศาสนาอื่น บอกให้รู้เสียได้เลยว่าอาตมานี้ถูกด่ามางอมแงมแล้ว ว่ามีจิตใจเข้าข้างศาสนาอื่น เป็นกบฏต่อพุทธศาสนาไปยกย่องศาสนาอื่น นี้มันถูกด่ามางอมแงมแล้ว แล้วก็ยินดีที่จะเป็นอย่างนั้นแหละ เพราะมายืนยันว่าดับทุกข์ได้ก็แล้วกัน คุณดับทุกข์ได้ก็แล้วกัน เราจะเป็นศาสนาเดียวกันตรงที่ดับทุกข์ได้ เพราะว่าศาสนานี้มาจากสัญชาตญาณแห่งความกลัว แห่งความต้องการจะรอดพ้น เมื่อเรารอดพ้นจากสิ่งที่เรากลัวได้ ก็ควรจะพอใจ เราโง่นี่จะทำอย่างไรได้ เรากลัวน้อยนี่ เราก็ดับ ดับหมดก็แล้วกัน คนอื่นมันฉลาด มันกลัวมากมันก็มีปัญหาต้องดับมากมันก็ดับให้หมดก็แล้วกัน ฉะนั้น ขอให้ทุกๆคนดับไอ้สิ่งที่เป็นปัญหา ที่เป็นที่ตั้งแห่งความกลัวหรือความทุกข์ให้หมดไปก็ใช้ได้ ทุกคนมีจิตใจเกลี้ยงเกลาจากความกลัว จากความทุกข์ จากปัญหาใดๆ คนหนึ่งเขาไม่เป็นทุกข์ไม่กลัวเพราะว่าเขาถือว่าพระเจ้าต้องการอย่างนั้นนี่เขาจึงยินดี เขาจึงยินดีจะตายถ้าว่าการตายนี้เป็นการเรียกร้องของพระเจ้า เขาจะกลัวอะไรกับความตาย ก็เป็นวิธีของเขา เราไม่ควรจะถือว่าผิด เมื่อเขาไม่มีความทุกข์ก็ใช้ได้ เมื่อเรายังมีความกลัวอยู่ ก็พยายามแก้ปัญหาเรื่องสิ่งที่มันกลัวอยู่หรือมันเป็นทุกข์อยู่ แต่ถ้าเราไม่เชื่อพระเจ้าเราก็ต้องหาทางออกอย่างอื่นแหละ จนดับความกลัวหรือความทุกข์ได้ ผลสุดท้ายเหมือนกันแหละคือไป ไปมีจิตใจชนิดที่ไม่มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น จะทำ ทำโดยวิธีไหน ก็ขอให้มันมีผลอย่างเดียวเท่านั้นแหละคือว่ามีจิตใจที่เกลี้ยงเกลาจากความทุกข์ แล้วคนเรานี้มัน มัน มันมีความทุกข์ไปตามทิฏฐินะ ทิฎฐินี่เป็นศรัทธา เป็นความเชื่อเป็นอะไรเสร็จ แล้วทิฎฐินี้มาจากผัสสะ ฉะนั้น คนเรามา มามีผัสสะต่างกัน ทิฏฐิก็ต่างกัน ศรัทธาก็ต่างกัน ปัญญาก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น คนจึงมีปัญหาไม่เท่ากัน แต่ว่าดับปัญหาได้หมดแล้วก็ควรจะถือว่าเขาได้รับผลสูงสุดเหมือนกัน เขาไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ในใจเลย ได้ยิน ก็ได้อ่านพบไอ้คำบางคำที่ไม่ ไม่เชื่อว่าเป็นพุทธภาษิต แต่ก็มีอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนาว่า พระพุทธเจ้าบางพวก พระพุทธเจ้านะไม่ใช่คนธรรมดานะ พระพุทธเจ้าบางพวกเป็นศรัทธาธิกะ พระพุทธเจ้าบางพวกเป็นวิริยาธิกะ พระพุทธเจ้าบางพวกเป็นปัญญาธิกะ พระพุทธเจ้าบางพวกนั้นระบบศาสนาของท่านใช้ศรัทธาเป็นหลัก เป็นประธาน เป็นเบื้องต้นแต่ต้นจนปลาย ท่านใช้ระบบศรัทธาขจัดปัญหา พระพุทธเจ้าบางพวกใช้วิริยะคือความเพียร พากเพียร การบังคับจิตควบคุมจิตอยู่ในอำนาจนี้เป็นระบบศาสนา พระพุทธเจ้าบางพวกใช้ปัญญาเป็นระบบตัวศาสนา พุทธศาสนาปัจจุบันนี้ ถือว่าพระพุทธเจ้าองค์นี้ใช้ระบบปัญญา ระบบปัญญานี้ก็หมายความว่า ใช้ปัญญาเป็นตัวระบบ ไอ้ศรัทธาหรือความเพียรนั้นเป็นตัวประกอบ มีอยู่ในฐานะเป็นตัวประกอบ แต่ถ้าพระพุทธเจ้าใช้ระบบศรัทธา เอาตัวศรัทธาเป็นเบื้องหน้า มีความเชื่อจนไม่ต้องตัวตายจนไม่ต้องเป็นทุกข์จนไม่ต้องอะไรไปเหมือนกัน ทีนี้มันก็ยังมีการกล่าวอย่างนี้ ก็บอกแล้วว่า ไม่ใช่พุทธภาษิตที่พบในพระพุทธโอษฐ์ แต่มันก็มีการกล่าวอย่างนี้อยู่ในคัมภีร์ ซึ่งเขาถือว่า เขาสรุปหรือถอดออกมาจาก เอ้อ, พระคัมภีร์ในพุทธศาสนาเหมือนกัน หรือบางทีจะเอามาจากเหตุผลตามธรรมชาติก็ได้ เพราะว่าไอ้ความทุกข์นะมันอยู่แค่ความรู้สึกของจิต ถ้าทำลายความรู้สึกนั้นได้มันก็หมดทุกข์แหละ จะทำลายด้วยศรัทธาก็ได้ จะทำลายด้วยกำลังจิตก็ได้ จะทำลายด้วยกำลังปัญญาก็ได้ มันมีอยู่ถึง ๓ กำลัง กำลังศรัทธา กำลังจิตและกำลังปัญญา เอามาใช้ เพื่อจะขจัดปัญหาของมนุษย์ คือความทุกข์ ทีนี้ทำไมต้องผ่อนผันกันอย่างนี้เล่า พูดเอาเปรียบหรือ ไม่ใช่เอาเปรียบ เพราะว่ามันเป็นอย่างอื่นไม่ได้นี่ เพราะว่ามนุษย์ที่มีอยู่ในโลกกี่พันล้านนี่ มันไม่เหมือนกันนี่ บางพวกมันมีจิตใจระบบนี้บางพวกมีระบบโน้นมันเหมือนกันไม่ได้ ฉะนั้น เขาไม่อาจจะรับระบบเดียวกันทั้ง ทั้งหมดได้ พวกที่มีจิตใจเหมาะสำหรับระบบศรัทธา ก็ระบบ ใช้ระบบศรัทธากำจัดความทุกข์ พวกที่มีจิตใจเหมาะที่จะใช้อำนาจจิต กำลังจิต ก็ใช้การปฏิบัติเพื่อใช้กำลังจิต ส่วนพวกที่สามารถจะใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญา แต่เดี๋ยวนี้ดูว่ามันจะเหลวไหลกันเสียหมด มันไม่มีจริงๆสักระบบหนึ่งเสียแล้วนะ มันจะมีแต่ปากพูดกันเสียทั้งนั้น ศรัทธาก็ไม่จริง วิริยะหรือกำลังจิตก็ไม่จริง ปัญญาก็ไม่จริง พุทธบริษัทนี่ชักจะเหลวไหลเหลือแต่ปากพูด แล้วมันก็ไม่ได้เปรียบอะไรกับพวกที่ต้องใช้ศรัทธา พวกที่ใช้ศรัทธามีมากกว่า อาจจะจริงกว่า อาจจะเร็วกว่า ไม่มีใครจะทำให้มนุษย์ในโลกทุกคนเหมือนกันแล้วใช้ระบบเดียวกันได้ ขอให้เห็นใจ ฉะนั้น จงยกเว้นไว้ให้ ว่าพวกหนึ่งใช้ระบบศรัทธาไปเถิด พวกหนึ่งใช้ระบบกำลังจิตไปเถิด พวกหนึ่งใช้ระบบปัญญาไปเถิด แล้วคนทั้งโลกก็จะรอดด้วยกัน ถ้ามีแต่เพียงระบบเดียวจะเหลืออยู่สองพวกรอดไม่ได้ เดี๋ยวนี้มีสามระบบให้เลือกให้เหมาะสมแล้วก็รอดกันหมดทั้งโลกเลย เรามาทำความเข้าใจกันอย่างนี้ไม่ดีกว่าที่จะมาทะเลาะเบาะแว้งว่าไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน แกมีอัตตา ฉันไม่มีอัตตา แกว่าง ฉันไม่ว่าง แกมีพระเจ้า ฉันไม่มีพระเจ้า เสียเวลาเปล่าๆ เรามองดูในแง่ว่าในที่สุดมนุษย์ควรจะรอดจากปัญหา คือความทุกข์หรือบีบคั้นต่างๆ พอ ฉะนั้นศาสนามีเพียงศาสนาเดียวคือศาสนาแห่งความรอด มีแต่ศาสนาเดียวในโลกนี้ ศาสนาแห่งความรอด ทำจนรอด ใช้ได้ตั้งแต่มด แมลง นก หนู ปู ปลา ถึงวัว ควาย ช้าง ม้า ถึงคน ถึงเทวดา ทั้งหมดนั้นถือศาสนาแห่งความรอด ปูก็วิ่งลงรูก็แล้วกัน มันก็รอด นก หนูก็หนีเข้ากรงเข้ารังมันก็รอด มันถือกันมาตั้งแต่ไอ้นก หนู ปู ปลาเลย ศาสนานี่ มันต้องเอาตัวรอด มันต้องรอดได้ วิธีการแห่งความรอดนั้นนะคือศาสนา เขาจึงว่าชีวิตทั้งหลายมีศาสนาแห่งความรอด ถือมาตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียวแล้วนะ สัตว์สองเซลล์ดีกว่าจะมาเป็นไอ้สัตว์เหล่านี้ จะเป็นมด แมลง นก หนู ปู ปลาถือศาสนา วิ่งหนีเอาตัวรอดก็เป็นศาสนา วิ่งลงรูก็เป็นศาสนา วิ่งเข้ากรงก็เป็นศาสนา ทำอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมันรอดอยู่ได้ก็เป็นศาสนา เดี๋ยวนี้อันตรายมันสูงขึ้นมาถึงเรื่องกิเลสในทางจิตใจ นี่มนุษย์นะมีหน้าที่ที่จะต้องรอดในชั้นนี้ ทุกศาสนาเป็นศาสนาเดียวกันหมดคือศาสนาแห่งความรอด แม้วิธีทำให้รอดจะต่างกันในที่สุดมันรอดก็แล้วกัน เมื่อระดับมันต่างกันก็มันต้องทำต่างกันเป็นธรรมดา จะให้คนถือศาสนาเช่นเดียวกับนก หนู มันก็ไม่ได้ แต่แม้ในคนด้วยกันนี่ จะถือศาสนาเดียวกันก็ไม่ได้ เพราะคนหนึ่งหัวกะโหลกมันสมองของมันสร้างมาสำหรับใช้ศรัทธาเป็น เป็นประโยชน์ พวกหนึ่งมันใช้ มีสมองสำหรับจะใช้กำลังจิตให้เป็นประโยชน์ พวกหนึ่งมันมีสมองที่จะใช้ปัญญาให้เป็นประโยชน์ เราก็ให้อภัยแก่กันและกัน ขอให้ใช้ตามความเหมาะสมแห่งตน แห่งตน พอรอดแล้วเราก็มาพบกันเป็นคนคนเดียวกัน นี่ศาสนาแห่งความรอด เรามีแต่ศาสนาเดียว นับตั้งแต่มด แมลง นก หนู ปู ปลา ขึ้นมาถึงคน เรามีศาสนาเดียวเท่านั้นแหละคือศาสนาแห่งความรอด ทีนี้เดี๋ยวนี้คนมันไปบ้า แยกให้แปลกให้แตกต่างบัญญัติหลักปรัชญาต่างๆอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างโน้น บัญญัติคำใหม่ๆขึ้นมา บัญญัติความหมายแห่งพระเจ้าแปลกๆ ออกไป โดยเฉพาะในอินเดียเท่านั้นนะ อินเดียแห่งเดียวเรียนไม่ไหว เราจะไปศึกษาปรัชญาทางศาสนา เฉพาะในอินเดียแห่งเดียวก็เรียนไม่ไหว ตายเสียก่อน หรือบางทีจะบ้าเสียก่อนก็ได้ เพราะมันมากและสับสน คัมภีร์พระเวทยุคแรกๆ คัมภีร์ปุราณะยุคต่อมา คัมภีร์อุปนิษัทยุคพุทธกาลนี่มัน โอ้ย, เหลือประมาณ ล้วนแต่เรื่องขยายออกไปอย่างไม่จำเป็น ทำให้คนยุ่งหัวมากขึ้น ฉะนั้น มามุ่งหมายเจาะจงกันที่ว่า ศึกษาเรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎของธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลจากหน้าที่ให้ถูกต้องและเพียงพอ แล้วเราก็มาศึกษาเอาด้วยตัวเอง ด้วยเรื่องของตัวเอง เหมือนที่อาตมาเคยบอก ขออภัยมันเป็นคำโสกโดก ว่าอาจารย์ของพระพุทธเจ้านั้นชื่อนายคลำ นายคลำเอามือคลำ คลำ คลำแล้วคลำเล่านะ นายคลำ อาจารย์ของพระพุทธเจ้าชื่อนายคลำ ท่านคลำจนพบ ไอ้เรานะมันไม่รู้จักคลำ ไม่อยากจะคลำ มันอวดดี มันขี้เกียจ มันไม่ขวนขวายที่จะคลำเหมือนพระพุทธเจ้า มันคลำก็คือคลำที่กิเลสนี้ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นในใจก็รู้สึกมันสิ นั่นนะคือคลำ กิเลสความทุกข์ร้อนเกิดขึ้นในใจก็คลำมันเสีย เอ๊ะ, นี่มาจากอะไร นี่มาจากอะไร ทีนี้คลำจนพบเหตุของความทุกข์ร้อนอยู่ในใจก็คลำต่อไปว่า เอ๊ะ, อันนี้มันมาจากอะไร มันมาจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู มันเกิดความชอบและความไม่ชอบ แล้วก็เผาให้ร้อน แล้วก็ตัดหนทางที่มันจะเกิดตัวกูของกูเสีย ระบบพุทธศาสนาพูดได้สั้นๆในสองสามนาที พูดสั้นจนเขาด่าว่า ไอ้คนนี้มันลบหลู่พระพุทธเจ้า โดยพูดว่าพุทธศาสนานี้เรียนรู้ได้ภายในสองสามนาที ขอให้นึกถึงพระบาลีที่ว่า วิเนยยโลเกอภิชฌาโทมนัสสัง เป็นคำสรุปความของมหาสติปัฏฐานสูตร วิเนยยโลเกอภิชฌาโทมนัสสัง จงนำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก อภิชฌานั้นคือชอบใจ ความชอบใจ เรียกว่าอภิชฌา อยาก หวังอะไรก็ตามรวมเรียกว่าชอบใจ ไอ้โทมนัสนั้นคือขัดใจ จงนำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก ในโลกนี้มีสองอย่างนะ มีเรื่องให้ชอบใจกับเรื่องให้ขัดใจ ทีนี้ปรับปรุงจิตใจเสีย อย่าให้ไปชอบใจอะไรเข้า อย่าให้ไปขัดใจอะไรเข้า มันยากเกินไปหรืออย่างไร ทุกคนที่นั่งนี่ลองคิดดู ควบคุมจิตไม่ให้ไปชอบใจอะไรเข้าหรือไปขัดใจอะไรเข้า จะเรียกว่ารัก หรือเกลียดก็ได้ ยินดียินร้ายก็ได้ คือไอ้ความรู้สึกไอ้ทางหนึ่งนะมันชอบมันจะเอา จะกอดรัดจะยึดถือ ทีนี้ไอ้ความรู้สึกในทางหนึ่ง มันไม่ชอบมันต้องการจะผลักดันออกไป มันจะทำลายเสีย พอไอ้อาการอย่างนี้หรือความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นรีบคลำ รีบคลำ คลำว่ามาจากอะไรมาจากอะไรเป็นชั้นๆลงไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา เดี๋ยวก็พบว่า โอ้ย, เรามันทำผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามันทำผิดไปอย่างโง่เขลาเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อกายได้สัมผัสผิวหนัง เมื่อจิตได้ความรู้สึก อย่าทำผิดในขณะนั้น ผิดอย่างไรมันสอนได้ไม่มากนักหรอก เดี๋ยวนี้รู้เค้าเงื่อนเกินที่ เกิน เกินที่จะต้องรู้ต้องเรียนกัน รู้เท่านี้นะ รู้ว่าอย่าทำผิด ทางอายตนะเมื่อมีการสัมผัส อย่าให้เกิดความโง่ ที่จะไปรักเข้าหรือไปเกลียดเข้า พอ ท่านสอนให้กระทำเพียงเท่านั้น ฉะนั้น เราก็รู้จักกลัวความทุกข์ ความทุกข์ร้อนเป็นไฟเกิดขึ้นก็กลัว รู้ว่าทำผิดเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบกับคู่ คู่กระทบของมัน ตรงนั้นก็ระวังอย่าให้เกิดความพลาดพลั้งให้มีสติสัมปชัญญะ มีเท่านี้เอง แล้วตัวกูของกูก็ไม่เกิด อัตตาก็ไม่เกิด อะไรก็ไม่เกิด กิเลสก็ไม่เกิด ก็ว่างอยู่ มีอยู่แต่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายที่ถูกต้อง ฝ่ายที่ถูกต้อง ช่วยจำไว้ ฝ่ายที่ถูกต้อง เกิดความทุกข์ไม่ได้ เรื่องมันก็จบกัน อย่าให้เกิดความยินดียินร้ายในโลกนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่ทำให้ยินดียินร้าย โลกนี้ไม่มีอะไร มีแต่เครื่องทำให้ยินดี ยินร้าย คืออภิชฌาและโทมนัส เจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อกำจัดไอ้สิ่งเหล่านี้โดยตรง รู้เรื่องกายหรือวัตถุโดยถูกต้อง รู้เรื่องเวทนาโดยถูกต้อง รู้เรื่องจิตโดยถูกต้อง รู้เรื่องธรรม ธรรมโดยถูกต้อง จนไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดความรัก หรือความไม่รัก คือไม่เกิดอภิชฌาและโทมนัสในสิ่งทั้ง ทั้งปวงอีกต่อไป ก็จบพระพุทธศาสนา ทีนี้ขอให้ศึกษา ด้วยสติ เฝ้า กำหนดอย่าให้มันเผลอ อย่าให้มันสับสน แล้วก็คลำ ให้ถึงต้นเหตุ แม้ว่าจะไม่ได้ศึกษามากนักก็ ก็ ก็จะรู้อะไรมากเหมือนกับที่พระพุทธเจ้า ท่านมีอาจารย์ชื่อว่านายคลำ เดี๋ยวนี้เราเรียนพระไตรปิฎกกันมากเกินไป จนแตกฉานในพระไตรปิฎก ก็ดับทุกข์ไม่ได้แม้แต่สักนิดเดียว บางทีบ้าพระไตรปิฎก บ้าความร่ำรวยที่เป็นผลของการรู้พระไตรปิฎกนี่ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ทำตนเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้ากันเสียใหม่ทุกๆคน คือว่าอาจารย์ของเราชื่อนายคลำ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไอ้ธรรมชาติมันสอนให้นั้นนะคือนายคลำ นึกดูว่าสุนัขและแมว มันเลือกหาที่นอนที่สบายจนพบแล้วมันก็ไปนอนมันคลำเรื่อยมันเปลี่ยนเรื่อย บนที่ ที่นั่งของอาตมาสุนัขตัวนี้ขึ้นไปนอน เป็นประจำพออาตมาไม่นั่ง มันคลำจนพบว่าที่ตรงนั้นมันสบาย นี่สุนัขตัวนี้เอง นี่มันคลำของมันได้ ไม่ต้องสอนไม่ต้องมีใครบอก ตรงนี้ไม่สบายมันก็ย้าย ตรงนั้นไม่สบายมันก็ย้าย ตรงนั้นไม่สบายมันก็ย้าย ย้ายๆหลายๆหนเข้ามันก็พบไอ้ที่เหมาะสม นี่มันเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าแท้จริงยิ่งกว่าเรา มีอาจารย์ชื่อนายคลำอย่างนี้ อาตมาคิดว่าการบรรยายว่าทุกศาสนาเป็นศาสนาเดียวกันไม่ใช่เหมือนกันนะ เป็นศาสนาเดียวกันนี่มันควรจะพอกันทีนะ ขอยุติการบรรยายวันนี้ไว้เพียงเท่านี้