แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นการตอบปัญหาวันอาทิตย์ ชดเชยเมื่อวาน มีปัญหาอะไรก็ว่าไป อย่างกับว่าเป็นวันอาทิตย์
ปัญหาข้อที่ ๑. การเกิดความวิตก หรือทุกข์ขึ้นมา ก็ชื่อว่าผู้นั้นไม่สำรวมในอายตนะ แต่ถ้าเกิดการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง หรือเพื่อความอยู่รอดของพุทธศาสนาจนถึงชีวิต จะถือว่าเป็นการไม่สำรวมด้วยหรือไม่
ดูจะไม่ค่อยเป็น เป็นปัญหา หรือเป็นข้อเท็จจริง อย่างการต่อสู้เพื่ออะไรอย่างหนึ่งจนเสียชีวิต นี้ก็เป็นเจตนา เมื่อมีเจตนา มันก็มีการสำรวมแบบหนึ่งแหละ คือรวมกำลัง รวม...อะไรทั้งหมดเพื่อจะต่อสู้ หรือเพื่อจะทำ แล้วก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังจนกระทั่งเสียชีวิต อย่างนี้มันก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำด้วยเจตนารวบรวมกำลัง มันก็เป็นการสำรวมอยู่แบบหนึ่ง
ส่วนการที่เผลอ ปล่อยให้จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลวิตก จนถึงกับว่าเกิดอุปาทานแล้วก็เป็นทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าไม่สำรวม จนกระทั่งเกิดผลของความไม่สำรวม แล้วก็เป็นทุกข์ ก็ต้องถือว่าเป็นความไม่สำรวม มันขาดเจตนาที่จะสำรวม อย่างแรกก็ไม่สำรวม อย่างหลังก็สำรวม สังเกตดูเอาเองก็จะเห็น เอ้า, มีอะไรต่อไป
ปัญหาข้อที่ ๒. จิตพิจารณากับจิตสงบ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
(ท่านพุธทาสหัวเราะ) ทำไมถามอย่างนี้ จิตพิจารณากับจิตสงบ มันมันก็ต้องเสาะ ต้องเสาะดู สืบดู หยั่งดู ไอ้ความหมายของคำ จิตพิจารณา ถ้าว่าทำอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่เกิดตัวตน ก็ได้ผล เป็นการทำงานที่ต้องการผล ที่มีผล
ส่วนจิตสงบนั้น ถ้าสงบแบบของสมาธิ ของฌาน ของสมาบัติ มันก็ไม่พิจารณา ไม่เป็นการพิจารณา แต่โดยทางปฏิบัตินั้น เขานิยมทำจิตให้สงบเสียก่อนแล้วจึงลงมือพิจารณา เปลี่ยนเป็นพิจารณาเพื่อจะใช้กำลังของความสงบชองจิตนั่นแหละทำการพิจารณาให้ได้ผลดี ดังนั้นเมื่อใครจะพิจารณาอะไร จงสำรวมหรือกระทำจิตใจให้สงบคือเป็นสมาธิ ก็จะเป็นจิตที่สามารถ หรือมันแหลมคม หรือมันเหมาะสมที่จะทำการพิจารณา
เมื่อถือเอาตรงๆ ตามตัวหนังสือ จิตสงบกับจิตพิจารณานั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ย่อมแตกต่างกัน อันหนึ่งมันหยุด อันหนึ่งมันทำงาน คือพิจารณา เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ปัญหาข้อที่ ๓. หลักของพระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ แหละวิธีการดับทุกข์ กระผมอยากทราบว่า มีทุกข์อะไรบ้างไหมที่พระพุทธเจ้าดับไม่ได้
ในตอนต้นนี้ควรจะจำกันไว้เป็นหลัก...ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นการยืนยันว่าเราจะบัญญัติขึ้น เผยแผ่สั่งสอนพูดจาแต่เรื่องทุกข์ กับความดับทุกข์เท่านั้น ท่านจะไม่พูดเรื่องตัวตนหรือมิใช่ตัวตน ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด หรืออะไรที่มันนอกเรื่องไป นี่เป็นหลักสำคัญอันหนึ่ง แล้วท่านจะพูดแต่เรื่องทุกข์กับเรื่องดับทุกข์เท่านั้น
ถ้าใครมาถามปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านก็ว่าไม่ต้องพูด ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพูด นี่มันเป็นหลักสำหรับทุกคนจะรู้ไว้ จะถือไว้ว่าถ้าเราจะพูดกันอย่างพุทธบริษัท เราจะต้องพูดแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ ทีนี้ปัญหานี้มันมีถามขึ้นมาว่า มีความทุกข์อะไรไหมที่พระพุทธเจ้า ไม่สามารถจะดับได้ ถ้าพูดถึงเป็นความทุกข์ชนิดที่ต้องดับแล้วก็ไม่มี เราถือเป็นหลักกันตายตัวเลยว่า พระพุทธเจ้าทรงทราบทุกอย่างในเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ และความดับทุกข์
แต่ทีนี้เนื่องจากคำว่า “ทุกข์” นี่มันมีคำพูดอยู่ ๒ ประเภท ประเภท ๑ มันเป็นเพียงลักษณะเท่านั้นแหละ คือทุกขลักษณะ นี่มันไม่เกี่ยวกับดับหรือไม่ดับ คือมันเป็นลักษณะของสังขารทั้งปวง คือสังขารทั้งปวงมีลักษณะไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงมีลักษณะเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงมีลักษณะเป็นอนัตตา สังขารมีลักษณะเป็นทุกข์ ความทุกข์อย่างนี้มันไม่เกี่ยวกับดับหรือไม่ดับ มันเป็นลักษณะของสังขาร
ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ชัดเจนว่า ตถาคตจะเกิดขึ้น หรือตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม สังขารก็ยังไม่เที่ยง สังขารก็เป็นทุกข์ มีลักษณะนะ มีลักษณะเป็นทุกข์ แล้วก็ธรรมทั้งปวงมีลักษณะเป็นอนัตตา อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับดับ เรายังไม่ได้พูดกันถึงการดับ มันมีลักษณะแห่งความทุกข์อยู่ที่สังขารนั้นๆ มันก็ยังคงมีลักษณะนั้นตลอดไป โดยหลักว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดหรือจะไม่เกิด สังขารทั้งหลายมันก็มีลักษณะแห่งความทุกข์ ถ้าคำว่าทุกข์อย่างนี้แล้วก็ เรียกว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้มาดับ ที่จะ...ที่จะบังคับให้สังขารไม่มีลักษณะแห่งความทุกข์นั้นไม่มี แต่ถ้าเป็นความทุกข์ที่ต้องดับ คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะคนไปยึดมั่นถือมั่นในสังขารเหล่าใด แล้วก็มีอุปาทาน แล้วก็เป็นทุกข์ อย่างนี้คำสั่งสอนของพระองค์สอนให้ดับและสามารถดับได้ ทุกอย่างทุกชนิด
อย่างเรามีหลักว่าไอ้ความทุกข์นี้จะเกิดได้ก็โดย ยึดมั่นในรูป ยึดมั่นในเวทนา ยึดมั่นในสัญญา ยึดมั่นในสังขาร ยึดมั่นในวิญญาณ ทีนี้การปฏิบัติในพุทธศาสนานี้ หยุดซะได้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ มันก็ดับหมด ถ้าเป็นทุกข์ที่จะต้องดับ แล้วธรรมะ หรือพุทธศาสนา หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ก็ตามอ่ะ ก็ดับทุกข์ได้ทุกชนิด ในบรรดาทุกข์ที่ต้องดับ
ส่วนทุกข์ที่เป็นเพียงลักษณะไม่ต้องดับ มันก็ไม่ดับ มันก็ไม่ต้องดับ หรือพระพุทธเจ้าจะมาบังคับว่า สังขารทั้งปวงจงมีลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์อย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะท่านยืนยันเสียแล้วว่า ตถาคตจะเกิดหรือไม่เกิด สังขารก็มีลักษณะไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงก็มีลักษณะเป็นอนัตตา แต่เนื่องจากคำพูดมันสั้นมันห้วนไป ว่าสังขารไม่เที่ยง สังขารเป็นทุกข์ สังขารเป็นอนัตตา ในเรื่องนี้ในกรณีนี้ ขอให้จำกันไว้ด้วยว่ามันมีคำว่า “ลักษณะ” อยู่ด้วยคำหนึ่ง ซ่อนอยู่ในนั้น
อนิจจังก็คือว่าลักษณะแห่งอนิจจัง ทุกขังคือลักษณะแห่งทุกขัง อนัตตาคือลักษณะแห่งอนัตตา ท่านจะเปลี่ยนลักษณะนี้ไม่ได้ ต้องเป็นธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ จัดเป็นพวกตถตา อิทัปปัจจยตา มันตายตัว แยกออกเป็น ๒ คำ คำว่าทุกข์ที่เป็นทุกข์ทรมานต้องดับ นี่เป็นอันว่าดับได้ทุกชนิด ดับได้หมด แต่ถ้าคำว่า “ทุกข์” เป็นเพียงลักษณะแล้วไม่เกี่ยวกับดับ ก็คือดับไม่ได้ แล้วไม่ต้องดับ เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ปัญหาข้อที่ ๔. กระผมฟัง “ภาษาคน ภาษาธรรม” ที่ท่านอาจารย์บรรยายออกอากาศ เรื่อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ไม่เข้าใจ อยากจะฟังจากท่าน บรรยายโดยพิสดารอีกครั้งหนึ่ง
ที่พูดไปออกอากาศนั้น มันพูดสั้นห้วนด้วยเวลาครึ่งนาทีเท่านั้นแหละ ก็พูดแต่ไอ้ข้อนี้ก็เลยพูดได้เท่านั้น ต้องการจะเห็นว่าไอ้ข้อธรรมะ หลักธรรมะ หรือศีลธรรมอะไรก็ตาม ทุกๆ เรื่อง ทุกทุกข้อ ทุกๆ ประเด็นย่อมมีความหมายเป็น ๒ ชั้นทั้งนั้น คือชั้นภาษาคน หรือชั้นภาษาธรรม
ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภาษาคนน่ะ ก็เล็งเอาที่ตัววัตถุ เช่นชาติคือแผ่นดิน ศาสนาคือโบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม พระเจ้า พระสงฆ์ มหากษัตริย์ก็เล็งที่ตัวบุคคล ที่ได้รับสมมติว่าเป็นกษัตริย์ ถ้าเล็งกันอย่างนี้ก็เรียกว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในภาษาคน
ถ้าเป็นภาษาธรรม หมายถึงนามธรรม คือคุณสมบัติชองชาติ ประโยชน์ของความมีชาติ ความจำเป็นที่จะต้องมีชาติ ซึ่งหมายถึงคุณค่าทางจิตใจของสิ่งที่เรียกว่า “ชาติ” และโดยเฉพาะก็คือชาติไทย มีลักษณะอย่างนี้ มีความเป็นอย่างนี้ นี่เราเรียกว่า “ชาติ” ในภาษาธรรม คือเล็งไปยังนามธรรม คุณค่า คุณลักษณะ ประโยชน์ หรือความจำเป็น และความหมายอันลึกซึ้ง ไม่ใช่อยู่ที่ตัวแผ่นดินประเทศไทย หรือชนชาติไทยก็ไม่ใช่ เขาเรียก “ความมีชาติ” หรือ “ความเป็นชาติ” น่ะ นี่ภาษาธรรม ตัวแผ่นดิน ตัวชนชาติไทยนี่มันเป็นวัตถุ เป็นรูปธรรม ก็เลยว่าเป็นชาติในภาษาคน
ทีนี้ศาสนาในภาษาคนก็คือโบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม พระเจ้า พระสงฆ์ ไอ้...การศึกษาเล่าเรียนอะไรต่างๆ ก็เหมือนกัน รวมอยู่ที่ว่ามันเป็นพวกรูปธรรม วัตถุธรรม ซึ่งคนธรรมดาก็พูดอย่างนั้นนี่เรียกว่าภาษาคน ถ้าภาษธรรมก็อย่างเดียวกันอีกแหละ คือความหมายของศาสนา คุณค่าของศาสนา ความจำเป็นที่จะต้องมีศาสนา ประโยชน์ของความมีศาสนา หรือความมีอยู่แห่งพุทธศาสนาชนิดที่จะช่วยเราได้ เรียกว่าศาสนาในภาษาธรรม
พระมหากษัตริย์ในภาษาคนก็หมายถึงบุคคลที่ได้รับสมมติเป็นพระมหากษัตริย์ แต่มหากษัตริย์ในภาษาธรรม ก็อย่างเดียวกันกับอย่างที่พูดใช้คำว่า คุณค่า คุณลักษณะ หรือความหมาย ประโยชน์ อานิสงส์ ความจำเป็น ของความมีกษัตริย์ ทั้งความมีกษัตริย์ที่สำเร็จประโยชน์อันนี้ เราเรียกว่าพระมหากษัตริย์ในภาษาธรรม
เราต้องมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในภาษาธรรมให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์ เป็นสถาบันที่ฝัง หรือตั้งอยู่ในจิตใจของประชาชน ส่วนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นั้นมันตั้งอยู่นอกจิตใจของประชาชน เช่นเป็นตัวแผ่นดิน เป็นตัววัดวาอาราม เป็นตัวบุคคล อย่างนี้เราเอาไปตั้งไว้ในใจไม่ได้ก็เลยเป็นภาษาคน ซึ่งเด็กๆ ก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงสิ่งนี้ แต่ถ้าภาษาธรรม มันเป็นนามธรรมอันลึก เราเอาไปตั้งไว้ในจิตใจได้เลย ตั้งมั่นอยู่ที่จิตใจ...ภายใน เราต้องมีไอ้ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในภาษาธรรมอย่างนี้แหละ จะรับประกันได้ว่า ทุกคนจะรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์โดยแท้จริง ถ้าเด็กๆ ได้รับคำสั่งสอนชี้แจงให้รู้จักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างนี้แล้วก็เป็นอันว่ารับประกันได้จนตลอดชีวิตว่าเขาจะไม่ทิ้งประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ออกไปเป็นผู้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์อยู่ในป่า อย่างนี้เป็นต้น
ชาติเปรียบเหมือนร่างกาย ศาสนาเปรียบเหมือนจิตใจ พระมหากษัตริย์คือระบบผูกพันร่างกายกับจิตใจให้เนื่องถึงกัน คือระบบประสาท ถ้าเราเล็งถึงตัวร่างกาย ตัวจิตใจ ตัวระบบประสาท มันก็เป็นภาษาคน แต่ถ้าเราเล็งถึงหน้าที่ หรือความหมายอันนี้มันก็เป็นภาษาธรรม
ฉะนั้นขอให้มีหลักอย่างที่พูดให้ฟังแล้วว่า ภาษาคนน่ะมันพูดไปตามที่ตาเนื้อเห็น ตาธรรมดาเห็น คนธรรมดาเห็น พูดจากันอยู่ตามธรรมดา ส่วนภาษาธรรมนั้นคือคำพูดที่พูดโดยคนที่เห็นด้วยปัญญาจักษุ ด้วยธรรมะจักษุ เห็นสิ่งอันลึกซึ้งละเอียด เห็นแล้วก็พูดกันได้แต่ในหมู่คนที่รู้ธปรรมะ คนที่ไม่รู้ธรรมะ ฟังไม่ถูกหรอก นี่เราเรียกว่าภาษาธรรม ภาษาคนคือคนไม่รู้ธรรมพูด ภาษาธรรมคนรู้ธรรมพูด คนรู้ธรรมในทีนี้ก็หมายถึง รู้เรื่องทางนามธรรมที่ลึกซึ้งมีเท่านี้ เรื่องนี้ ถ้าไม่เข้าใจก็ซักได้ ถ้าเข้าใจก็ถามปัญหาอื่นต่อไป
ปัญหาข้อที่ ๕. ในปัจจุบัน คนไทยนับถือพระพุทธศาสนากันแต่โดยชาติกำเนิด มิได้เข้าใจหลักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง จะมีหลักใหญ่ๆ อย่างไรที่ทำให้เขาเหล่านั้นกลับเข้ามาสนใจในพระพุทธศาสนา
นี่เป็นปัญหาทั่วไปทุกศาสนา ทุกศาสนาตกอยู่ในภาวะอย่างนี้ คือว่าเด็กๆ เค้าเกิดมาจากบิดามารดาที่เป็นผู้นับถือศาสนาไหนก็กลายเป็นผู้นับถือศาสนานั้นไป เรียกได้ตั้งแต่ในท้อง เพราะคลอดออกมาก็จดทะเบียนเป็นคนมีศาสนานั้นไปเลย ทีนี้ก็ไม่สนใจจะศึกษา ก็ปล่อยไปตามเรื่อง ตามบุญ ตามกรรม ตามประเพณี เลยไม่รู้พุทธศาสนา หรือศาสนาของตนๆ
ถ้าอยากจะให้เขารู้ก็จัดให้เขาศึกษา ไม่มีปัญหาอะไร จัดให้เขาได้ศึกษาอย่างถูกต้องในเรื่องของศาสนาของตนๆ เรื่อยไปๆ โตขึ้นทุกวันก็ศึกษามากขึ้น ก็คงจะศึกษารู้ได้แน่นอน แล้วมันก็อยู่ที่บิดามารดาเป็นข้อแรก เป็นคนแรกที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ แล้วคนในบ้านเรือนที่แวดล้อมอยู่ พอรู้พุทธศาสนาแล้วก็พูดจากันอยู่เสมอ เด็กๆ ก็จะรู้พุทธศาสนาเพิ่มขึ้น แล้วไปถึงโรงเรียนก็สอนมากขึ้นไปอีก มาบวชพระบวชเณรก็เรียนมากขึ้นไปอีก อย่าเหลวไหลทุกขั้นตอน ถ้าโรงเรียนก็ไม่ได้สอน บวชพระบวชเณรก็มาเหลวไหลกันอยู่ มันก็ไม่รู้ ต้องศึกษาให้รู้วิธีปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติ ได้ผลของการปฏิบัติก็เรียกว่ารู้...รู้เรื่องนั้นๆ ก็คือรู้เรื่องความทุกข์ แหละความดับทุกข์เท่านั้น
พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนเรื่องอื่น เรื่องความทุกข์มันก็...ลึกลับซับซ้อน หลายชั้นหลายตอน ก็ต้องศึกษากันอย่างดีที่สุด ทีนี้ความดับทุกข์ก็ยิ่งละเอียด ยิ่งประณีต ยิ่งลึกซึ้งไปกว่านั้น ที่ว่าจะต้องเรียน...จากผู้อื่นนั้นก็มีอยู่ส่วนหนึ่งแหละขอให้ทำกันให้เต็มที่ แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งต้องเรียนเอาเอง เรียนจากความรู้สึก ความเคยชิน ความผ่านไปของตัวเอง นี้ก็ต้องรู้วิธี รู้เรื่องราวมาบ้างก่อนจึงจะทำได้ คือมาเรียนด้วยตนเองได้ ก็ใช้วิธีธรรมชาติ เพราะเมื่อมันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา แล้วมันก็เป็นทุกข์ เราก็ไม่ๆๆๆ ไม่คิดอย่างนั้น ไม่พูดอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป รู้จักเข็ด รู้จักหลาบ เพราะเมื่อคิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้มันเป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ทำอีกต่อไป มันก็ค่อยๆ รู้เองมากขึ้นว่าไม่ควรคิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ แต่ทีนี้เขาไม่สังเกต เขาก็ไม่มีความรู้ เพราะฉะนั้นจึงโง่ ขนาดที่ไปทำไอ้ที่มันไม่ควรจะทำ คือว่าเขามันถูกหลอกโดยรสอร่อยของความชั่ว เขาก็ไปทำความชั่ว แล้วก็ไม่รู้สึกว่าชั่ว ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ มันก็ทำอยู่ในกองทุกข์ ทำอยู่ในความทุกข์เรื่อยไป อยากจะพูดว่า สู้สุนัขก็ไม่ได้ไอ้คนชนิดนี้ สุนัขนี่ คุณดูเถอะ เมื่อมันนอนตรงนี้ไม่สบายมันก็ขยับไปนอนตรงโน้น ไม่สบายก็ขยับไปนอนตรงโน้นจนพบที่สบาย แล้วมันไม่หลงเอาไอ้สิ่งที่เป็นทุกข์ หรือชั่ว หรือเสียหายมาเป็นเรื่องผูกพันกับมัน
ดังนั้นเรากินเหล้า หมาไม่กินเหล้า เราสูบบุหรี่ หมาไม่สูบบุหรี่ แล้วทำอะไรหลายหลายอย่างที่เป็นความทุกข์ แล้วเราก็ยังทำอยู่ แล้วสัตว์มันไม่ทำ นี่เพราะว่ามันเรียน มันสอน โดยสัญชาตญาณตามธรรมชาติ เราจะหัดให้สุนัขสูบบุหรี่ หรือกินเหล้านี่ทำไม่ได้อ่ะ มีกลิ่นเหล้า ไม่กินเลย
เพราะฉะนั้นจึงถือว่าโดยธรรมชาติแท้ๆ คนควรจะรู้ว่าอะไรควรทำ ควรกินหรือไม่ควรกิน เป็นต้น เหมือนกับที่สัตว์มันรู้ว่าอะไรควรกินไม่ควรกิน แล้วมันก็ไม่ไปกินสิ่งที่เป็นยาพิษ หรือทำให้ตาย หรือทำให้ลำบาก เพราะมันอาศัยหลักโดยธรรมชาติ เอาของบางอย่างให้สุนัขกิน มันยังไม่เคยกินเลย แต่มันก็รู้ว่าควรกินหรือไม่ควรกิน ที่ไม่มีประโยชน์ไม่ควรกิน มันไม่ยอมกินอ่ะ มันไม่ลองชิม มันรู้ได้ด้วยการดมตั้งแต่ทีแรก ส่วนคนเราทำไมไม่รู้อย่างนั้นบ้าง พอไปสัมผัสอะไรเข้าก็รู้ว่านี่ไม่มีประโยชน์ แล้วก็ไม่กิน เช่นจะต้องไปสูบบุหรี่ ต้องไปกินเหล้า ต้องไปสูบกัญชา ไปสูบเฮโรอีน อะไรๆ มากเข้าไปๆ นี่มันไม่มีสำหรับสัตว์เดรัจฉานไม่ตกลงไปในหล่มของสิ่งที่ไม่ควรจะทำเหมือนคน นี่คนมันเป็นเพราะเหตุไร ทำไมคนจึงไม่ใช้สติปัญญาอย่างคน รู้จักสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ
ดังนั้นเขาก็จะต้องมาคิด มาวางตนกันเสียใหม่ มาวางหลักเกณฑ์กันเสียใหม่ พอไม่มีประโยชน์แล้วก็ไม่ทำดีกว่า ถ้าถือหลักอย่างนี้ไม่เท่าไรก็จะมาพบพระพุทธศาสนา มาถึงจุดที่ตรงกัน ร่วมกันได้กับหลักในพระคัมภีร์ คำสอนของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นเรามาตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเกิดโลภขึ้นมานี่ มันสบายหรือไม่สบาย สนุกหรือไม่สนุก และเมื่อเกิดราคะกำหนัดขึ้นมานี่ มัน มันสบายหรือไม่สบาย มันสนุกหรือไม่สนุก มันร้อนหรือมันเย็น รู้จักสังเกตแยกแยะให้ดีก็พอจะรู้ได้ว่า มันไม่ไหวอ่ะ มันเป็นเรื่องร้อน เป็นเรื่องวุ่นวาย เป็นเรื่อง ระส่ำระสาย แล้วก็ไม่อยากจะให้รู้สึกที่เป็นความโลภ หรือเป็นความกำหนัด โทสะหรือความโกรธก็เหมือนกัน พอจะรู้ได้ว่ามันเป็นไฟ ทีนี้ความโง่ ความหลง ประมาท โมหะนี่ถ้ามีเข้าแล้วมันก็เดือดร้อนมาก ไม่สนุกด้วย คนก็จะรู้ รู้จักเกลียดโลภะ โทสะ โมหะมากขึ้นตามลำดับ ก็จะค่อยๆ ละได้เอง แล้วก็ลองคิดดูทีว่าพระพุทธเจ้าน่ะใครสอนท่านมา ท่านก็อาศัยข้อสังเกต อาศัยการสังเกต ที่เรียกว่ารู้มากขึ้น รู้มากขึ้น จนตรัสรู้ จน...รู้ถึงวิธีที่จะกำจัดไอ้สิ่งเหล่านี้ออกไป ท่านรู้ได้ด้วยไอ้ความสังเกต ศึกษาด้วยสติปัญญาลึกซึ้ง โลภะไม่ไหว โทสะไม่ไหว โมหะไม่ไหว ค่อยๆ ดูว่ามันเกิดอย่างไร ก็ระวังไม่ให้มันเกิด ไม่ให้โอกาสสำหรับมันจะเกิด
เดี๋ยวนี้เรานี่ได้เปรียบมาก คือได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างละเอียดลออที่เขามีไว้ บันทึกไว้ ให้ร่ำให้เรียน เราก็ยังไม่สนใจ ที่จะรู้จักโลภะ โทสะ โมหะ ที่จะรู้จักแดนเกิด สมุฏฐานการเกิด ของโลภะ โทสะ โมหะ เราควรจะใช้ทั้ง ๒ วิธีพร้อมๆ กันไป ศึกษาค้นคว้าปฏิบัติไปตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และอีกทางหนึ่ง ก็เรียนเอาจากความรู้สึกส่วนตัวตามธรรมชาติ ตามสัญชาตญาณ เดี๋ยวมันก็ไปพบกันเองแหละ พบกันในข้อที่ว่า ตรงกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ที่ว่า...โลภะ โทสะ โมหะนี้เป็นไฟ ร้อน แล้วก็เป็นทุกข์ แล้วคอยระวังเมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ คอยระวังที่ตรงนั้นอ่ะ แล้วมันก็ไม่เกิด ก็ตรงกันกับที่พระพุทธเจ้าสอน หรือว่าตรงกันกับที่เราสังเกตเห็นได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นขอให้เรียนจากคำสอนของพระพุทธเจ้าพร้อมกันไปกับที่เรียนจากความรู้สึกที่เราได้ผ่านไป ที่เขาเรียกกันว่า ไอ้ความเจนจัด experience ความเจนจัด ให้เป็นความเจนจัดทางฝ่ายนามธรรม ก็เรียกว่า spiritual experience เดี๋ยวนี้มัน...เรามัน experience กันแต่เรื่องทางวัตถุง่ายๆ แล้วก็จะโง่ไปหลงกับมัน รู้สึกอร่อย แล้วก็หลงเป็นธาตุมัน อย่างนี้มันไม่มีไอ้...ไอ้ความเจนจัดในทางวิญญาณ หรือทางสติปัญญา มันเจนจัดแต่เรื่องเนื้อหนัง เรื่องวัตถุ มันก็จะมีแต่จะตกเข้าไป ตกหล่ม จมติดอยู่ที่นั่น
ฉะนั้น ประสบการณ์ใดๆ ที่ได้มีมาแล้ว หรือกำลังมีอยู่ หรือจะมีต่อไปก็ตาม พยายามศึกษาให้ดี ควบคุมให้ดี ใช้เป็นประโยชน์ให้ได้ ก็จะรู้ธรรมะเกี่ยวกับกิเลส เกี่ยวกับเหตุให้เกิดกิเลสและผลของกิเลส คือความทุกข์ เหตุของกิเลสคือความโง่ อวิชชา ความไม่รู้ ทำให้มีตัวตน อย่าโง่ เห็นแก่ตัวตน อย่าโง่ มันก็เกิดโลภะ โทสะ โมหะ เกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้วมันก็มีผลเป็นความทุกข์ เราก็ทำลายเหตุของกิเลสคือความโง่ ความไม่รู้อะไรตามที่...ที่เป็นจริง ไม่เกิดตัวตน อย่าโง่เขลาคือมันไม่มีอยู่จริง ไม่เป็น ไม่เป็นอยู่จริง ก็เรียกว่าเป็นตัวตนที่หลอกลวง เป็นตัวตนที่โง่เขลา เป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือความดิ้นรน ต้องการของตัวตนนั่นเอง นี่มันพูดมากไปแล้วเห็นไหม คุณไปสรุปความเอาเอง ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ชีวิตของคนแต่ละคน ตั้งแต่เป็นเด็ก เป็น...ตั้งต้นเติบโตขึ้นมา แล้วเจริญงอกงามไปตามทางของแสงสว่างคือปัญญา ตามหลักของพระพุทธศาสนา เข้าใจวงกว้าง แล้วก็รวบรัดให้เหลือเป็นวงแคบ เป็นหลักแคบๆ ยึดถือปฏิบัติได้ง่าย ได้สะดวก เอาไปสำหรับช่วยกัน ทำให้เด็กๆ ก็ดี ให้ผู้ใหญ่ก็ดี เพื่อนฝูงก็ดี ใครก็ดีอ่ะ เขาให้ได้รู้วิธีที่จะเรียนรู้พระพุทธศาสนามาทุกวันๆๆ
นี่สรุปว่าเรียนจากพระคัมภีร์ก็ได้ เรียนจากสิ่งที่มันมากระทบกับจิต กับใจ กับกายอะไรโดยตรงก็ได้ ถ้าเรียนรู้แล้วมันก็ไป ไปพบกัน ไป ไปบรรจบกันเหมือนกัน เข้ารอยกัน ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์ เหตุให้เกิดความทุกข์ ความดับสนิทแห่งความทุกข์ หนทางให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์ ที่เราเรียกว่า อริยสัจ มีปัญหาอะไรอีก
ปัญหาข้อที่ ๖. สมัยหรือยุคของพระศรีอริยเมตไตรย จะเปรียบเทียบอย่างเดียวกับหลักการปกครองของคอมมูนหรือไม่ในปัจจุบัน
เรื่องนี้ผมพูดมากแล้ว ก็ไปเปรียบเอาเอง ศรีอริยเมตไตรย แปลว่าเนื่องด้วยความเป็นมิตรอย่างประเสริฐ สูงสุด มีสง่าราศี มีความเป็นมิตร ประเสริฐสูงสุดไม่มีเหลืออีกแล้ว ไม่มี...ไม่มีอะไรที่จะเหลือไว้อีกแล้ว นั่นน่ะคือคนในศาสนาพระศรีอริยเมตไตร มีความเป็นมิตรถึงขนาดนั้น มันมีความหวังดีต่อผู้อื่น รักผู้อื่น มันเลยไม่มีกระทบกระทั่งกัน มีความเป็นมิตร คือรักผู้อื่น รักผู้อื่นก็ฆ่าเขาไม่ได้ ขโมยเขาไม่ได้ ล่วงละเมิดของรักเขาไม่ได้ โกหกเขาไม่ได้ ไปดื่มน้ำเมาให้เขารำคาญ หรือว่าจะทำเรื่องให้เขารำคาญก็ไมได้ ไม่เห็นแก่ตัว สงเคราะห์กันจนเหลือประมาณ จนไม่มีใครขาดแคลน นั่นในคอมมูนที่คุณว่า มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ผมไม่ทราบ คุณไปเปรียบเทียบเอาเอง ถ้าเป็นได้อย่างที่ว่า มันก็เป็นลักษณะของพลเมืองในโลกพระศรีอริยเมตไตรยได้นะ เค้าๆ ว่าไว้...ไว้โดยอุปมาเหมือนกันอ่ะ เพราะว่าไอ้เรื่องจริงน่ะ มันเข้าใจลำบาก หรือว่าบรรยายกันลำบาก ก็เลยว่าไว้โดยอุปมาว่าคนรักกันจนไม่มีเบียดเบียนกัน แล้วก็ไม่มีอะไรขาดแคลน เพราะว่าคนมันรักกัน มันรักกันจนไม่ๆๆๆ ต่างกันอ่ะ ไอ้คนที่เป็นบุตร ภรรยา สามี รักกันอย่างไร ไอ้คนที่ไม่เป็นบุตร ภรรยา สามี มันก็รักกันอย่างนั้น ก็เลยพูดโดยอุปมาว่า พอลงจากบันไดเรือนไปในท้องถนนแล้วไม่มีใครจำกันได้ว่าใครเป็นใคร มันดีเหมือนกันไปหมด พอกลับมาที่บ้านแล้วจึงจะมารู้ อ้าว, นี่ลูกของเรา นี่ผัวของเรา นี่เมียของเรา นี่พ่อของเรา อย่างนี้เป็นต้น พอออกไปสู่สังคมแล้วมันดูไม่ออกว่าใครเป็นอะไรกับใคร คือมันเหมือนกันไปหมด เพราะความรัก จึงมีความเป็นมิตรชั้นเลิศ ชั้นประเสริฐ ชั้นสูงสุด
ศรี ก็แปลว่า อะไรอ่ะ ก็แปลว่า สง่าราศี สูงสุด อริยะ ก็แปลว่า ประเสริฐที่สุด เมตไตรยะ ก็แปลว่า เนื่องด้วยความเป็นมิตร ศรีอริยเมตไตรยคืออย่างนี้ ในคู..ในคอมมูนไหนมันรักกันอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ ก็ลองคิดดู มันจะไปเทียบกัน เข้าใจว่าคงไม่ได้ คงจะหาอย่างของพระศรีอริยเมตไตรยไม่ได้ในโลกปัจจุบันนี้
เรื่องคอมมูนนี้ผมไม่รู้จัก...อะไรนัก ได้ยินเขาเล่าๆ กันมา ก็ไม่ถึงขนาดนั้นน่ะ คงเผลอไม่ได้เหมือนกัน เพราะมันยังมีกิเลสที่เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว จะรักผู้อื่น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เหมือนพลเมืองของพระศรีอริยเมตไตรยนั้นคงยังไม่มี มีปัญหาอะไรอีก
ข้อที่ ๗.
เอ้าอีกข้อเร็วเร็ว
พระสงฆ์ที่อาศัยผ้าเหลืองหากิน ที่เห็นอยู่บ้างในปัจจุบันจะมีวิธีทางป้องกันอย่างไร
รับรองว่าไม่มีพระสงฆ์ที่อาศัยผ้าเหลืองหากิน ถ้าอาศัยผ้าเหลืองหากินไม่ใช่พระสงฆ์ เพราะฉะนั้นปัญหานี้ไม่มี ไม่ต้องตอบว่าทำอย่างไร
ฝนจะมา จะต้องเลิกหรือเปล่าดูน่ะ ดูให้ดีอ่ะ จะ จะตกหรือไม่ตก หา...อย่า อย่า เดี๋ยวมันหลอกเรา เราก็ละอายมันอีก
มันไม่มีพระสงฆ์ที่ทำอย่างนั้น ต้องไปบอกตำรวจไม่ใช่หน้าที่ของเรา เอ้า, มีปัญหา ก็คุณรีบๆ ว่ากัน ยังได้อีกสักข้อ ๒ ข้อ
ข้อ ๘. การสร้างโบสถ์วิหารราคาเป็นล้านๆ อันนี้จัดเป็นพวกค่านิยม หรือวัตถุนิยม หรือมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมพระศาสนา อันไหนมีความถูกต้องมากกว่ากัน
มันมีปัญหาที่จะต้องหาข้อเท็จจริง ถ้าเขาสร้างขึ้นด้วยความคิดอย่างไร ประสงค์อย่างไร แล้วเมื่อสร้างขึ้นแล้วได้ใช้ประโยชน์อย่างไร ถ้าทำด้วยเจตนาดี สร้างขึ้นแล้วได้ใช้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่ ก็เรียกว่าสร้างขึ้นเพื่อพระศาสนา เพื่อความเจริญของพระศาสนา แต่ถ้าสร้างขึ้นแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มกัน ก็ไปเป็นความกับยมบาลก็แล้วกัน ยมบาลเค้าจัดการเองอ่ะ คนที่ใช้เงินไม่คุ้มค่าของเงิน โดยเฉพาะเป็นพระเป็นสงฆ์ด้วย แล้วก็ใช้เงินประชาชนไม่คุ้มค่าของเงิน ก็ไป...เจรจากับยมบาล
ครั้งพุทธกาล เค้าไม่มีเรื่องอย่างนี้ เป็นปัญหาอย่างนี้ ประชุมสังฆกรรมกันที่พื้นดินอย่างนี้แหละ เช่นว่า ฝนตกต้องเลิกประชุม ฝนตกต้องเลิกสังฆกรรม พายุมาต้องเลิกสังฆกรรมอะไร เพราะเขาไม่ได้สร้างไอ้...ไอ้อาคารชนิดที่มันคุ้มครองได้ แต่นี่เขาคงมีเหตุผลสำหรับยกขึ้นมาอ้างว่าเขาสร้างขึ้นเพื่อให้สงฆ์ปฏิบัติหน้าที่ได้แม้จะฝนตกฟ้าร้องอะไร ส่วนที่มันแพงเกินไป อะไรเกินไป นั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง เราจงสร้างแต่ที่มันจะได้ผลคุ้มค่า ถ้ามันไม่ได้ผลคุ้มค่าก็เฉยๆ เสีย ทีนี้มันได้เกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว พูดไปมันก็...ทะเลาะวิวาทกันเปล่าๆ มันก็เป็นเรื่องข่มผู้อื่น ดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น ซึ่งจะทำให้มันทะเลาะวิวาทกัน ก็ไม่ค่อยอยากจะพูด มองในแง่เศรษฐกิจ มันก็มองได้ทั้งดีและทั้งร้ายแหละ ว่าเสียเงินของประเทศชาติไม่คุ้มค่า แต่เขาก็พูดได้เหมือนกันว่าเขาเอาเงินมาจ่ายให้เงินมันสะพัด ให้มันได้ใช้จ่ายแพร่หลายไปยังคนยากคนจน คนกรรมกร นายจ้าง ลูกจ้างอะไร มันก็เป็นประโยชน์ทางไอ้เศรษฐกิจได้เหมือนกัน เราไม่เถียงกัน เขาต้องการอย่างไรมันก็ทำได้ ในเมื่อมันไม่...ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ไม่ทำให้ใครลำบากเดือดร้อนก็เรียกว่าถูกต้องแหละ ไม่เบียดเบียนตนเองให้เดือดร้อน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน นี่คือความถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา ถ้ามันทำให้ตนเองก็เดือดร้อน หรือผู้อื่นก็เดือดร้อนนี่ไม่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนา
เอ้า, ถามปัญหาเรื่องอื่นดีกว่า เพราะคุณก็ไม่ได้คิดจะสร้างโบสถ์
ข้อ ๙. พระเจ้าสิบชาติในความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร ทั้งในแง่ภาษาทางโลก และภาษาทางธรรม
พระเจ้าสิบชาติ คือชาดก ๑๐ เรื่อง ตอนท้ายสุดของคัมภีร์ชาดก เป็นพระโพธิสัตว์ กำลังทำการบำเพ็ญบารมีให้สูงสุดไปตามลำดับของบารมี บำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมบารมี สัจจะบารมี ปัญญาบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ครบ ๑๐ บารมีถึงที่สุด ขีดสุด นั่นเขาเรียกว่าพระเจ้าสิบชาติ หรือทศชาติ ชาติสุดท้ายก็เป็นพระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมีสูงสุด เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า หรือบุคคลที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ต้องได้มีโอกาสบำเพ็ญบารมีเหล่านี้ให้ถึงที่สุด
มันมีปัญหาอะไรที่คุณว่า ข้อนี้อ่ะ มีปัญหาว่ายังไง มันมีพระเจ้าสิบชาติ แล้วมีปัญหาว่าอะไร
พระเจ้าสิบชาติในความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร ทั้งในแง่ของภาษาทางโลก แหละทางธรรม
ก็กล่าวตามพระคัมภีร์ พระโพธิสัตว์ อะไร องค์ภู...ภูริทัต องค์ องค์ที่ ๑ ผมก็จำชื่อไม่ค่อยได้หรอก ก็บอกอย่างว่านี่ล่ะ เขาเขียนว่าอย่างนั้น ว่าพระเจ้าสิบชาติ มีเรื่องบำเพ็ญบารมี น่าประหลาด น่าอัศจรรย์ เข้ามาเทศน์ แล้วก็ฟังกันเพลิดเพลินอย่างยิ่ง จูงใจคนให้บำเพ็ญบารมี แม้ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า ไม่เท่าพระพุทธเจ้า ก็พยายามทำอย่างนั้น ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา สัจจะ วิริยะ ขันติ อธิษฐาน เมตตา อุบเกขา ทั้ง ๑๐ ข้อนี้มีค่า จำเป็นสำหรับมนุษย์ ทางโลกมันก็ดี มีศีลธรรม ทางธรรมก็ดี คือได้...จะได้เข้มแข็ง จะได้รบชนะกิเลส บารมีเหล่านี้เหมือนกับเครื่องมืออาวุธสำหรับฆ่ากิเลส รบกิเลส
ตกไหมคุณมานะ (หัวะเราะ)
ไม่ตกครับ
เอ้า, ว่าต่อไป
ปัญหาข้อที่ ๑๐. เข้าใจยากหน่อย ทุกข์ที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน และเข้าใจยาก มีลักษณะเบาหวิว พอจะกำหนดมัน หยิบเอามันมาศึกษา เพื่อจะอาศัยเดินทางไปให้ไกล แต่มันกลับหายไป จึงไม่สามารถเดินต่อไปได้ จะทำอย่างไร
ว่าอีกที ฟังไม่ถูก
ทุกข์ที่ลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน และเข้าใจยาก มีลักษณะเบาหวิว พอจะกำหนดมัน หยิบเอามันมาศึกษา เพื่อจะอาศัยเกินทางไปให้ไกล แต่มันกลับหายไป จึงไม่สามารถเดินต่อไปได้ จะทำอย่างไร
นี่ใจความที่คุณถามก็มีว่า ทุกข์บางชนิดละเอียดจนกำหนดไม่ได้ เราก็เอามากำหนดไม่ได้ ก็คือละมันไม่ได้ เพราะเราจับตัวมันไม่ได้ ที่ว่าทุกข์มีลักษณะเบาหวิวน่ะเป็นไปไม่ได้ ถ้าทุกข์แล้วก็ต้องหนักทั้งนั้นไม่มีเบา แต่ว่าทุกข์ที่มันละเอียดอ่อน ไม่ ไม่ค่อยจะรู้สึกว่าเป็นทุกข์ บางทีเห็นเป็นสุขไปเสียอีกก็มี เราจะจัดการกับทุกข์ชนิดนี้อย่างไร ก็คือการศึกษา หรืออบรมจิตใจให้มันฉลาด ละเอียด สุขุม พอที่จะจับตัวไอ้ความทุกข์ที่ละเอียดอ่ะ ที่เข้าใจยากนี่ได้ หรือจะหมายถึงความมีตัวตนนี่เราไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ แล้วมันละเอียด จับมันยาก ถ้าอย่างนี้ก็ต้องรีบศึกษาให้รู้ ให้รู้ ให้เข้าใจ ไอ้เรื่องของตนตัวที่มันละเอียด เป็นเรื่องๆ ไปดีกว่า ตอบรวมๆ กันนี่คงจะตอบไม่ได้ ต้องระบุออกมาให้ชัดเลยว่าความทุกข์อย่างไร ชื่อไหน ชื่ออะไร ที่ว่าละเอียด จนแทบจะจับตัวมันไม่ได้อ่ะ ก็ว่ามา ก็จะ..พยายามจะจับตัวมันให้ได้ มันก็หมายถึงยึดถือในสิ่งที่น่ายึดถือ หรือควรจะยึดถือ เช่น ยึดถือในความดีนี่ ถ้ามันเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ที่ละเอียดอ่อนมาก ยากที่จะเข้าใจว่าเป็นทุกข์ เพราะยึดถือความดี ถ้าอย่างนี้ก็ต้องศึกษาให้รู้เรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “ความดี” ว่าเป็นสังขาร มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นของตน ก็เป็นทุกข์ แล้วจึงไม่ยึดถือ แม้บุญก็ไม่ยึดถือ กุศลก็ยังไม่ยึดถือ ถ้ากุศลเป็นกุศลจริงมันก็มีเพื่อทำลายความยึดถือ ถ้าบุญที่เป็นบุญจริง ไม่ใช่บุญงมงายน่ะ มันก็เป็นเครื่องล้างบาป คือล้างความยึดถือ ไอ้บุญงมงายมันก็ยิ่งยึดถือมากเข้าไป ยึดถือในบุญจนเมาบุญ จนได้หมดเปลืองเพราะบุญโดยไม่ได้รับประโยชน์อะไร อย่างนี้เรียกว่า ผิดแล้ว
กุศลรู้จักกันแต่ชื่อ แล้วก็ยึดถือกันมาก มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเป็นกุศลจริงมันก็ฉลาดพอที่จะรู้ว่าไอ้สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะยึดถือ ก็ใช้กุศลนั่นแหละทำลายความยึดถือ นี่ปัญหาที่ละเอียดอ่อนอยู่ที่นี่ ไอ้ความทุกข์ที่ละเอียดอ่อนก็อยู่ที่นี่ ก็ยึดถือในบุญในกุศล คือยึดถือพระนิพพานไว้ล่วงหน้าซะอีก ยึดถือพระนิพพานนี่มันน่ายึดถือ เพราะมันดับทุกข์ทั้งปวง แต่ถ้ายึดถือพระนิพพานแล้วก็ไม่มีวันพบกับพระนิพพาน เพราะว่าพระนิพพานนั้นคือว่าง ขาดจากความยึดถือทุกอย่างเลย ไม่ยึดถืออะไรโดยความเป็นตัวตน ไม่ยึดถือนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ไม่ยึดถือว่านิพพานของเรา นิพพานเป็นเรา เรามีในนิพพาน นิพพานมีในเรา อย่างนี้ไม่ยึดถือโดยประการทั้งปวง นี่จะเรียกว่า ไอ้ความทุกข์ที่ซ่อนเร้น ที่ละเอียดประณีตก็ได้ คือเรา เราอยาก เราก็ยึดถือในสิ่งที่เราอยาก มันก็เลยถอนไม่ออก เป็นความทุกข์ชนิดที่ละเอียดและถอนยาก สรุปความว่าไปศึกษา จนกว่าจะรู้จักไอ้ความทุกข์ชนิดที่ละเอียด เข้าใจยาก และถอนยาก เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ผมไม่แน่ใจนะฮะอันนี้ สัญชาตญาณเมื่ออบรมจนเป็น...ภา...ภาวิตจิตแล้ว จนตัวมันเองเป็นอจินไตยในที่สุดแล้ว อยากจะทราบว่าเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่
เรื่องสัญชาตญาณก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นความจริงตามธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งอ่ะ ทีนี้สัญชาตญาณที่เราปรับปรุงให้มันดีขึ้นๆๆ ชัดเจนขึ้น มากขึ้น แหลมคมขึ้น เรียกว่า ภาวิตญาณ ถ้าเรามองเห็น เราก็จะเห็นว่านี่ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เราจึงสามารถพัฒนาสัญชาตญาณ ให้ค่อยสูงขึ้นมาจนเป็นภาวิตญาณ ภาวิตญาณนี่ไม่ๆๆ มีในตำราที่เขาเรียนกัน ที่โรงเรียน ที่วิทยาลัย ผมเอามาจากบาลี มาตั้งขึ้นเองว่าไอ้สัญชาติญาณที่พัฒนาแล้ว ภาวิตะ ภาวิตะนี่ก็แปลว่า พัฒนาแล้ว เป็นภาวิตญาณ มันก็เก่งกล้าสามารถยิ่งกว่าสัญชาตญาณ ถ้าทำสำเร็จก็เป็นมาตามกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ แล้วเราก็สามารถจะใช้ไอ้ภาวิตญาณนี่ตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ตลอดไป ถ้าว่ามันทำถูกเรื่อง ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติโดยตรง ไม่ต้องทิ้งไว้อย่างสลัว ด้วยการคำนึงคำนวณงมงาม อย่ามีอย่างนั้น ถ้ามีอย่างนั้นไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นชัดแจ้งอยู่ตลอดไปนี่ก็เป็นวิทยาศาสตร์
เราใช้คำว่า “วิทยาศาสตร์” แค่เราหมายความถึงสิ่งที่ประจักษ์แก่ความรู้สึก ตั้งแต่ต้นจนตลอดสาย ไม่ใช่คำนวณ ประมาณหรือคำนวณอย่างปรัชญา ตามความรู้สึกของผม ปรัชญานั้นไม่ได้เอาตัวจริงของจริงมาเป็นวัตถุสำหรับศึกษา ค้นคว้า แยกแยะ ถ้าตั้งสมมติฐานเรื่องอะไรขึ้นมาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ ไม่ใช่มีตัวจริงมาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า แล้วก็หาเหตุผลมาคำนวณ มา...มาแวดล้อมด้วยการคำนึงคำนวณว่ามันต้องเป็นอย่างที่เราตั้งสมมติฐานขึ้นมา นี่มันใช้กับสิ่งที่เรายังไม่รู้ ยังไม่ประจักษ์ ใช้คำนวณหาความจริงของสิ่งที่ยังไม่ประจักษ์ ตามวิธีคำนวณก็เรียกว่าเป็นปรัชญา ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องเอาของจริง ตัวจริง ลงมาวางลงตรงนี้ แล้วก็ศึกษา พิสูจน์ ค้นคว้า แยกแยะ ทดลอง ลงมือของจริงนั้น ไม่มีวิธีคำนวณ หรือการคำนวณอย่างปรัชญา หรือแม้แต่ว่าอย่าง logic คืออย่างตรรกะ นี่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นไปได้ทั้งเรื่องวัตถุ และเป็นไปได้ทั้งเรื่องจิตใจ เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องดับทุกข์นี่มันเป็นวิทยาศาสตร์ในทางจิตใจ แต่เขาไม่ค่อยจะพูด หรือว่าจะศึกษากันในรูปแบบวิทยาศาสตร์ เขาเอาไปเป็นเรื่องปรัชญาเสียหมด คือสมมติว่าทุกข์มีจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แล้วก็หาเหตุผลมาวิพากษ์วิจารณ์ไปตามแบบของปรัชญา แล้วก็ยุติ แต่ถ้าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่อย่างนั้นน่ะ ต้องเอาความทุกข์ที่มีอยู่จริงๆ ในจิตในใจร้อนเว่าๆ วูๆ อยู่นี่ มาเป็นวัตถุสำรับศึกษา หามูลเหตุ หาวิธี หาอะไรต่างๆ จนดับมันได้จริงๆ ขอให้ยึดหลักวิถีทางวิทยาศาสตร์ตลอดสาย เพื่อศึกษาธรรมะตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ มันดับทุกข์ได้ ถ้าใช้วิถีทางปรัชญา ไม่มีดับทุกข์ มีแต่คาดคะเนเอาว่าดับได้ ดับทุกข์ได้ เป็นเพียงข้อตกลง ข้อสันนิษฐานอันสุดท้าย ทุกข์ก็ยังไม่ดับได้
เดี๋ยวนี้เราเรียนพุทธศาสนาในรูปแบบปรัชญากันเป็นส่วนมาก เป็นเรื่องจำ เป็นเรื่องคำนวณ เป็นเรื่องใช้เหตุผลอย่างคำนวณ ไม่ค่อย ไม่ค่อยดับทุกข์ได้ คือรับเอาคำสอนในพระคัมภีร์มาเลย มันก็เป็นสมมติฐาน เพราะว่าไม่ได้ประจักษ์กับใจของเรา ต้องมาศึกษาว่า เออ...มันจริงอย่างนั้น มันจริงอย่างนี้ มันจริงอย่างนั้น เป็นเรื่องคำนวณ ด้วยเหตุผลว่ามันจะต้องจริงอย่างนั้น ถ้าเป็นเรื่องธรรมะ เป็นเรื่องศีลธรรมโดยตรงแล้วก็อย่าใช้วิธีนั้น ต้องใช้วิธีวิทยาศาสตร์ แสดงเหตุผลโดยประจักษ์อยู่ตรงนั้นเอง คืออยู่ที่ตัวมันเองอ่ะ ไม่ต้องคำนวณ เรื่องญาณที่เกิดขึ้นตามลำดับๆ ๑๖ ญาณ ๒๐ ญาณ หลายสิบญาณก็ตาม ถ้ามันปรากฏแก่ใจจริงๆ มันก็เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นเรื่องว่าไปตามคัมภีร์ หรือว่าสันนิษฐานว่าคงจะเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องปรัชญา เอ้า, มีปัญหาอะไรอีก
ข้อความจากรหัสยลัทธิที่ว่า สูเจ้าคิดถึงเทวะด้วยหรือ หามิได้ ไม่แน่นัก เพราะความว่างเปล่า เพราะคัมภีร์ และพระตำนานหมายความว่าอย่างไร จากวรรณคดีพุทธศาสนาเรื่องกามนิต
หนังสือกามนิต มันก็เป็นเรื่องที่ว่าจะเป็นพุทธศาสนาก็ไม่เชิง เรียกว่าเป็นฮินดูก็ได้ เป็นเรื่องเอามาชนๆ กันเข้า ไอ้รหัสยลัทธิ มันแปลว่าลัทธิลึกลับนะ รหัสยะ แปลว่าลึกลับ เขาลึกลับว่าอะไร คุณลองอ่านใหม่ ลึกลับว่าอะไร
จากรหัสยลัทธิที่ว่า สูเจ้าคิดถึงเทวะด้วยหรือ หามิได้ ไม่แน่นัก เพราะความว่างเปล่า เพราะคัมภีร์ แหละพระตำนาน หมายความว่าอย่างไร
นี่ใครฟังถูกบ้าง ไอ้ข้อความนี้ มันยังฟังไม่ถูก สูเจ้าคิดถึงเทวะด้วยหรือ
สูเจ้าคิดถึงเทวะด้วยหรือ
เอ่อหมายความว่า แกยังคิดที่จะมีพระเจ้าอยู่หรือ คิดถึงเทวะในที่นี้ คำอย่างนี้ เทวะนี้หมายถึงพระเจ้า แล้วอะไรต่อไป
หามิได้ ไม่แน่นัก เพราะความว่างเปล่า เพราะคัมภีร์ และพระตำนาน หมายความว่าอย่างไร
ถามใคร ใครตอบใคร หามิได้ ไม่แน่นัก หมายความว่าคนนั้นมันตอบหรอ ไม่แน่นักว่าจะคิดถึงเทวะ คือไม่แน่นักว่าจะยึดพระเจ้าหรือไม่ยึด แล้วความว่างเปล่าคืออะไร ก็มาชนกันเข้า มาปนกันเข้า ความว่างเปล่าจากตัวตน ความว่างเปล่าคือความว่างเปล่าจากสิ่งที่จะเป็นตัวตน ถ้าเป็นเรื่องของพวกฮินดู เช่น ภควัทคีตานั่นน่ะ เขาว่ามีตัวตน ดังนั้นไม่ว่างเปล่า ไปตี ไปฆ่าเข้ามันก็เป็นบาป ทีนี้ถ้าเป็นลัทธินัตถิกทิฏฐิ ของครูทั้ง ๖ คนหนึ่งใน ในครั้งพุทธกาล มันไม่มีอะไร มันว่าง ว่างทั้งรูป ว่างทั้งนาม ว่างจนไม่มีอะไร ก็คือไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นมันก็ไม่บาป การที่ฟันคอคนขาดไม่มีความหมายอะไร เพราะมันว่างจากคน ว่างจากตัวตน มีดดาบเป็นเพียงธาตุ ว่างจากตัวตน แทรกไประหว่างปรมาณูที่เป็นเนื้อคน ซึ่งก็ว่างจากตัวตน เพราะฉะนั้นมันก็ว่างหมด เพราะฉะนั้นการฆ่าคนก็ไม่มี อย่างนี้เขาเรียกว่าว่าง
เป็นรหัสยลัทธิสำหรับพวกโจร ที่เค้าจะยุยงสั่งสอนลูกสมุนให้ฆ่าคนโดยไม่ต้องกลัวบาป มันจึงฆ่ากันได้โดยไม่ต้องไปประหม่า หรือไปกลัว หรือไปลังเลอยู่ว่าจะเป็นบาป พวกโจรคณะนั้นจึงฆ่าคนเก่งที่สุด มากที่สุด นี่เอามากะท่อนกะแท่น ฟังไม่ค่อยถูกก็ตอบยาก แต่ผมจับใจความได้ว่าอย่างนั้น คือหัวหน้าโจร หรืออาจารย์โจร มันก็จะ จะขู่พวกโจรว่า นี่ยังๆๆ นึกถึงพระเทวะ ถึงพระเจ้าอยู่อีกหรือ คือมันกลัวบาป ลังเลกลัวบาป ยังนึกถึงพระเจ้าอยู่ อย่าไปนึกถึงเลยมานึกถึงความว่างจากตัวตน ทั้งผู้ฆ่า และผู้ถูกฆ่า ไม่มีบาปหรอก แล้วก็ฆ่ามันไปเถอะ ฆ่ามันให้ถึงที่สุด
ฝนตกปอยๆ
เอ้า, ถ้าอย่างนั้นมันก็ต้องเชื่อฝน ไม่เคย ไม่เคยว่าจะเปียกฝน มันเริ่มมีเม็ดมาแล้ว