แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ให้โอวาทก่อนให้ศีลในวันหาบ หรือวันอาสาฬหบูชา ที่หินโค้ง วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และ ต่อด้วย อาสาฬหบูชา เทศนา กัณฑ์บ่าย ที่เรือลำใหม่ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
วันนี้วันหาบ พูดกันตามเคย อาสาฬหบูชามีในตอนบ่ายตอนเย็น ตอนเช้านี้เป็นเรื่องของวันหาบ ขอให้นึกถึงและทำ รักษาประเพณีไว้เรื่อย ๆ ไป เชื่อว่าทำกันมาแล้วหลายร้อยปี หรือตั้งพันปีก็ไม่แน่ เพราะวันนี้เป็นวันหาบ วันที่จะเข้าพรรษา รุ่งขึ้นแหละ วันนี้เป็นวันหาบ เด็ก ๆ ควรจะจดจำไว้ให้มั่นคง และช่วยกันรักษา สิ่งที่บิดามารดา ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ เขาได้เคยทำกันมา วันพระกลางเดือนของเดือนแปดที่จะเข้าพรรษานั้น ให้ทำเป็นพิธี ด้วยกันทุก ๆ วัด ทุก ๆ แห่ง เท่าที่จะทำได้ มันเป็นศีลธรรมที่มาอยู่ในรูปแบบหนึ่ง ในหลาย ๆ รูปแบบ นี้มันแบบหนึ่ง ซึ่งวันนี้จะต้องมาประชุมกัน ถวายทานแก่ภิกษุที่จะจำพรรษาวันพรุ่งนี้
การที่มีจิตใจผูกพันอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีที่งามนั้น มันทำให้คนเรามีจิตเป็นกุศลโดยเฉพาะเด็ก ๆ ถ้ามีจิตเป็นกุศลไปตั้งแต่เด็กแล้ว ก็นับว่ามีบุญมาก คือโตขึ้นมันก็จะเป็นบุคคลที่มีศีลธรรม จิตใจจะอ่อนโยน รักบุญ และกลัวบาป แล้วก็รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี ที่ช่วยให้รักบุญกลัวบาปนี้ไว้ วันหาบนี้ก็เป็นวันหนึ่งด้วย เป็นเรื่องหนึ่งด้วย ในในเรื่องที่จะช่วยให้ประชาชนมีศีลธรรม คือมีจิตใจอ่อนโยน รักบุญกลัวบาป มันก็ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ
เวลานี้มันเดือนร้อนกันไปทุกทั่วหัวระแหง เพราะมันไม่กลัวบาป มันไม่มีบาปไม่มีบุญ มันเอาแต่ประโยชน์ของตน เดือดร้อนกันไปทั้งโลก ถึงในประเทศไทยเราก็เหมือนกันแหละ แม้ความเป็นพุทธบริษัทนั้นมันก็กระทบกระเทือน เกิดเป็นอันธพาลกันเสียมาก มากขึ้น ๆ จนไม่เป็นสุข จะนอนหลับไม่เป็นสุข ต้องกลัวอันธพาล ต้องระแวงที่ว่าอันธพาลจะมาทำร้าย ศีลธรรมหมดไป อันธพาลก็มากขึ้น ศีลธรรมหมดไป อันธพาลก็มันมากขึ้น และจะเป็นอย่างไรในที่สุด ฉะนั้นช่วยกันรักษา สิ่งที่จะทำให้ศีลธรรมยังคงอยู่
วันนี้เป็นวันที่จะต้องระลึกนึกถึงการบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล เพื่อความตั้งอยู่ได้ของพระศาสนา พระศาสนามีและก็ศีลธรรมมันก็มี มันคู่กัน เพราะพระศาสนาก็มีการสั่งสอนเรื่องศีลธรรม ปฏิบัติเรื่องศีลธรรม มีความสุขอยู่ด้วยการมีศีลธรรม หนทางอื่นไม่มี ที่จะทำให้อันธพาลหมดไป ให้อบายมุขหมดไปนั้น หนหนทางอื่นมันไม่มี นอกจากความมีศีลธรรมกลับมา ศีลธรรมได้หายไป อบายมุข อันธพาลก็เข้ามาแทน ถ้าศีลธรรมกลับมา อบายมุข อันธพาลก็ควรจะหายไป
เราช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเป็นที่ยึดหน่วงของคนมีศีลธรรม จึงขอให้ประพฤติ กระทำกันอย่างที่เคยทำมาก็แล้วกัน ถึงจะว่าไม่ไม่ไม่ไม่รู้อะไร แต่มันก็มีจิตใจที่รักบุญกลัวบาปมากขึ้น คนที่มาทำบุญนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่รู้อะไรกลับไป มันก็จะต้องรักบุญกลัวบาปมากขึ้นแหละ ขอให้ขยันทำบุญมันจะรักบุญและกลัวบาปมากขึ้น
ถ้าเด็ก ๆ เป็นได้แบบนี้แล้วก็ดีแหละ ฉะนั้นควรจะพาเด็ก ๆ ไปในที่ทำบุญทุกคราวที่มีการทำบุญ พาเด็ก ๆ ไปด้วยให้มันได้ยึดถือคำว่าบุญ จะได้รักบุญ จะได้กลัวบาป เหมือนกับว่าอบรมดวงจิตดวงวิญญาณของไอ้ลูกเด็ก ๆ เล็ก ๆ นั้นให้มันถูกต้อง และต่อไปพ่อแม่จะไม่ต้องน้ำตาไหล ถ้าลูก ๆ เป็นอันธพาล พ่อแม่ก็น้ำตาไหล มันไม่มีทางที่จะช่วยแหละ
ฉะนั้นถ้ากลัวจะต้องน้ำตาไหลก็อบรมเด็ก ๆ อย่าให้เป็นอันธพาล ให้มันชอบบุญชอบกุศล รักบุญกลัวบาป กล้าบุญและกลัวบาป เป็นคนกล้าทำบุญ แล้วก็กลัวทำบาป กลัวบาป นี่ทุก ๆ คน ให้ถือหลักอันนี้ เราเองก็เหมือนกัน เด็ก ๆ ก็เหมือนกันแหละ มันต้องรักบุญและกลัวบาป ฉะนั้นช่วยไปสั่งสอนอบรม ให้เด็ก ๆ มีจิตใจอ่อนโยน แล้วก็กลัวบาป เมื่อรักบุญได้เองแหละ
ข้อสำคัญสำหรับเด็ก ๆ นั้นคือจะต้องทำให้รักแม่ แล้วรักพ่อ แล้วรักบ้านเรือน แล้วรักแผ่นดิน ประเทศชาติ ศาสนา มหากษัตริย์ ให้มาทีหลัง มันต้องรักแม่ก่อน ถ้าแม่มันก็ไม่รัก แล้วมันจะไปรักประเทศชาติ ศาสนา มันเป็นไปไม่ได้ มันพูดโง่ ๆ บ้า ๆ ไปอย่างนั้นแหละ ไปสอนให้เด็กรักชาติ ศาสนา มหากษัตริย์ โดยไม่ไม่ได้สอนให้รักแม่ การศึกษาหมาหางด้วนนั้นไม่ได้สอนให้เด็กรักแม่
คำแรกที่สุดต้องสอนให้รู้ว่าแม่นั้นคืออะไร แม่นั้นคืออะไร ครูบาอาจารย์ต้องช่วยสอนเด็ก ๆ ให้รู้ว่าแม่นั้นคืออะไร โรงเรียนอนุบาลก่อนวัยเรียนนะ ช่วยสอนให้เด็ก ๆ มันรู้ว่าแม่คืออะไรสักทีเถอะ มาเข้าโรงเรียนวันแรกก็ไม่ต้องเรียนเรื่องอื่นให้มันเกินเหตุเกินจำเป็นหรอก มาสอนให้ว่าแม่คืออะไร ครูจะต้องให้เด็กทุกคนนะ ตอบได้ว่าแม่คืออะไร เด็กคนนี้ตอบแบบนี้ เด็กคนโน้นตอบแบบโน้น เด็กคนโน้นตอบแบบโน้น หลาย ๆ คนมารวมเข้า มันก็พอแหละที่จะรู้ว่าแม่นั้นคืออะไร แล้วมันจะได้เกิดความรักแม่ โตขึ้นจะไม่ทำให้แม่น้ำตาไหล ไม่ทำให้พ่อแม่น้ำตาไหล
ทีนี้พ่อแม่ก็เหมือนกันแหละ ถ้ามีวิธีไหนที่จะทำให้ลูกรักแม่ได้แล้วทำเถอะ จงทำทุกอย่างทุกประการแหละ แล้วนี่เด็กมันว่าแม่ก็คือขวดนมแหละ ก็มันไม่ได้กินนมแม่นี่ แม่คือขวดนม คือกระป๋องนม หนัก ๆ ก็คือวัวนั่นแหละแม่ เพราะว่าเราไม่ได้ทำกับมันอย่างที่ว่าเป็นแม่เหมือนแต่ก่อนนั้น ลูกมันโตขึ้นมาในหัวอกแม่ แล้วมันรักแม่โดยธรรมชาติ แล้วมันก็เป็นหลักที่สำคัญแหละ ที่เมื่อเมื่อรักแม่แล้วมันไม่ทำอะไรให้ขัดใจแม่ มันก็ทำชั่วไม่ได้แหละ ไม่ทำชั่วทุก ๆ อย่างทุก ๆ ประการแหละ มันกลัวจะขัดใจแม่ แต่โบราณนั้นเขาสอนว่ากัน ถ้าทำแม่น้ำตาตกแล้ว มันตกนรกแหละ เด็กคนไหนทำให้แม่น้ำตาตก เด็กคนนั้นมันก็ต้องตกนรกแหละ เด็ก ๆ มันก็เลยระมัดระวัง ไม่ทำให้พ่อแม่ร้อนใจ
แต่กลัวว่าสมัยนี้ พ่อแม่นั้นเองจะไม่สนใจ ที่จะทำให้เด็กรู้จักรักพ่อแม่ แล้วก็ไม่รักพ่อแม่กันแหละทีนี้ แล้วพอชั้นหลานก็มันไม่รักพ่อแม่ ชั้นเหลนก็ไม่รักพ่อแม่ ไม่รู้จักคุณของพ่อแม่ ชั้นนี้แหละชั้นลูกก็ไม่มันไม่รักพ่อแม่ ชั้นหลานชั้นเหลนก็ไม่รัก มันก็ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่ในโลกนี้ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เพราะมันไม่รู้จักรัก
ฉะนั้นช่วยกันระวังให้ดี พ่อแม่ก็ต้อง นับถือเหมือนกับเทวดา เหมือนกับพระพรหม เหมือนกับพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ว่า ให้เด็กให้ลูกนั้นมันนับถือพ่อแม่เหมือนกับนับถือพระพรหม นับถือเทวดา นับถือพระอรหันต์ ให้เคารพสูงสุดในบิดามารดา คุณลองคิดดูเองที่ว่าถ้าเด็ก ๆ มันเคารพบิดามารดาเหมือนมันกับเทวดา เหมือนกับพรหม เหมือนพระอรหันต์ แล้วมันจะเป็นอย่างไร เด็กคนนี้จะเป็นอย่างไร ลูกครอบครัวนี้จะเป็นอย่างไร
เอากันแบบนี้ดีกว่า ในครอบครัวไหนเด็ก ๆ บูชาบิดามารดาเหมือนกับเป็นพระอรหันต์ประจำบ้านเรือน เป็นพระพรหมประจำบ้านเรือน เป็นเทวดาประจำบ้านเรือนแหละ ครอบครัวนั้นจะมีแต่สวัสดีมงคล ไม่มีใครต้องน้ำตาตก
ฉะนั้นขอให้ยึดหลักอันนี้แหละ ให้มันเด็ก ๆ มันเกาะ เหนียวอยู่กับบิดามารดา แล้วบิดามารดาต้องทำตัวให้เป็นเหมือนพระอรหันต์ เหมือนพระพรหม เหมือนเทวดาจริง ๆ อย่าสอนลูกให้เป็นโจร คือเมื่อลูกทำชั่ว ได้สิ่งของมาแล้วยินดี พอใจ ต้อนรับ นั่นแหละสอนลูกให้เป็นโจร ไม่เท่าไรก็เป็นโจรจนไปนอนอยู่ในคุกในตะรางแหละ แล้วพ่อแม่ก็ต้องน้ำตาไหล เพราะพ่อแม่นั้นมันแหละฆ่าลูกของมันเอง ไอ้พ่อไอ้แม่นั้นมันฆ่าลูกของมันเอง
คือมันอบรมนิสัยให้ลูกเป็นโจร เมื่อลูกทำชั่วมันยินดีมันส่งเสริม เพราะว่าได้ลาภได้ของอะไรบ้าง ว่าถ้าลูกไปลักอะไรเขามาพ่อแม่มันยินดีนี่ ไอ้ลูกมันก็เต็มใจไอ้การที่จะลักจะอะไรต่อไปอีก ไม่เท่าไรไปนอนตายอย่างหมูอย่างหมาแหละ หลายคนแล้วแหละ เข้าใจว่าทุก ๆ คนก็เคยเห็นเคยรู้ว่าเด็กคนไหนมันไปนอนตายอย่างหมูอย่างหมาบ้าง ถูกยิงตายถูกอะไรตาย เพราะมันเลวลงเลวลง แล้วพ่อแม่มันสนับสนุนให้เลวมาตั้งแต่เล็ก ๆ โน่น
นี่ถ้าอย่ามีเรื่องแบบนี้ แล้วมันก็ดีเท่านั้นแหละ มันอยู่กันเป็นสุขแหละ นี่มันเกิดมาเสียทีเกิดนี่ พ่อแม่มันก็เสียทีเกิด เพราะลูกมันเกิดมาเลว แล้วถูกยิงนอนตายอยู่เหมือนกับหมูกับหมานี่ ไอ้ลูกนั้นมันก็เสียทีเกิด เพราะเกิดมาแล้วไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ต้องไปนอนตายเหมือนกับหมูกับหมาในที่สุด คุณคิดดู
เพราะไม่ถือขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี ของปู่ย่าตายายที่ทำไว้ดี ให้ลูกมันกลัวบาปแต่กล้าบุญ ให้ลูกมันเกิดมาดี เกิดมาแล้วต้องได้ดี ต้องมีธรรมะ มีศีลธรรม
คำว่าศีลธรรมนี้มันอยู่ที่จิตใจอ่อนโยน จิตใจอ่อนโยนนี้อยู่ที่ว่าต้องรู้จักรักแม่มาตั้งแต่เกิด เรื่อย ๆ มาทีเดียวแหละ จนโตแล้วก็ยังรักแม่ นี่ทำให้พ่อแม่น้ำตาตก แต่งงานแยกบ้านแยกเรือนไปแล้ว ก็ยังทำให้พ่อแม่น้ำตาตก มันเป็นสัตว์นรก ช่วยเรียกมันว่าสัตว์นรก มันแต่งงานไปแล้วมันยังทำให้พ่อแม่น้ำตาตก มันเป็นสัตว์นรก คนชนิดนี้ไม่ถือธรรม ไม่ถือศีลธรรมมาตั้งแต่เกิด ไม่ได้รับการสั่งสอนให้รู้จักศีลธรรมมาตั้งแต่เกิด
อันคนโบราณนั้นเขาเห็นความจริงข้อนี้แล้ว เขาจึงตั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีที่ดีไว้หลาย ๆ อย่าง มากอย่าง เดือนนั้นทำนี้ เดือนโน้นทำโน้น เดือนนี้ทำนี้ ตลอดปีมีแต่ทำความดี เพื่ออบรมจิตใจประชาชนให้ดีโดยเฉพาะเด็ก ๆ แล้วมันก็ดีเรื่อย ๆ ขึ้นไปตลอดตลอดชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรที่เขาทำไว้ดี ขอให้ช่วยกันรักษา เดือนนี้มีหาบ ก็ขอให้มันมีหาบ เดือนอื่นมีอย่างอื่นก็ขอให้มันมีไอ้ตามที่เขากำหนดไว้ดีแล้ว
เรื่องศีลธรรมทำให้คนรักบุญกลัวบาป มาช่วยชี้แจงให้เด็ก ๆ เข้าใจแล้วรักบุญและกลัวบาป และมีเท่านั้นเองแหละมนุษย์นะ มีเท่านั้นแหละ เกิดมาไม่มีความทุกข์ ทำแต่ความดีเท่านั้นพอนี่ ไม่ต้องมีอะไรมาก เกิดมาแล้วอยู่โดยมีความสุขไม่ต้องมีความทุกข์ แล้วทำแต่ความดีมีประโยชน์แก่ทุกคน ทุกคนที่อยู่รอบ ๆ ข้างเรา มันมีเท่านั้นแหละ
นี่มันเกิดมา มันก็มีความทุกข์แล้วคน ๆ เพื่อนบ้านก็พลอยมีความทุกข์ เพราะมันเป็นอันธพาล มันเป็นอันธพาลทำให้เพื่อนบ้านมีความทุกข์ แล้วตัวมันเองก็เหมือนกับหัวอกไฟติดอยู่เสมอแหละ คนอันธพาลนะมันไม่มีความสุขได้
มันก็ตรงกันข้ามแหละ เราต้องเกิดมา จิตใจมีความสุข แล้วทำให้ผู้อื่นพลอยได้รับประโยชน์จากเราอยู่รอบด้านรอบตัว นี่ก็เรียกว่ามันมีความดี ให้มีประโยชน์แก่ผู้อื่น แล้วมันเท่านั้นพอนี่ ไม่ได้ต้องการมากกว่านั้นนี่
ขอให้สนใจ ไอ้ศาสนานั้นมันมันปฏิบัติเป็นพิเศษ มันลำบากกว่าขนบธรรมเนียมหรือประเพณีหรือวัฒนธรรม เวเวลานี้เราทำให้เป็นธรรมเนียมเป็นวัฒนธรรม คือทำกันพร้อม ๆ ทำกันมาก ๆ ทำกันได้โดยง่าย นี่หลาย ๆ อย่างเขาทำกันไว้ให้เป็นขนบธรรมเนียม ได้ทำกันง่าย ๆ แม้แต่ทำตาม ๆ ตาม ๆ กันก็ได้ ไม่งมงายนะ เพราะเขาตั้งไว้ดีแล้ว เมื่อทำแบบนี้แล้วจะไม่มีการงมงาย มีแต่ดี แล้วก็ทำกันได้มาก ๆ ทำกันได้เร็ว ๆ
ขนบธรรมเนียมประเพณีให้บวชให้เรียน ให้ให้ทานให้รักษาศีล ให้หยุดงานในวันพระ ในวันสำคัญมาทำจิตทำใจให้เป็นธรรมะนี้เขาทำไว้ดีแล้ว เราก็ช่วยกันทำตามและรักษานะ ในวันนี้ก็ขอแสดงความยินดี ที่ว่าหลายคนมาทำบุญตามประเพณีที่เรียกว่าหาบ วันหาบ เมื่อก่อนโน้นเขามาอย่างหาบมาจริง ๆ ต่อมากลายเป็นทูน ทูนหัวมา ต่อมาก็กลายเป็นหิ้ว แต่คำว่าหาบนี้รักษาไว้เถอะ เราจะรักษาคำว่าหาบไว้ได้นึกถึงคราวก่อน ๆ โน้น
มาวัดวันนี้แล้วก็หาบกันมาทั้งนั้นแหละ หาบมาหาบเลยแหละ ถึงแม้จะกลายเป็นทูน เป็นหิ้วไปแล้วก็ก็นึกถึงคำว่าหาบไว้เสมอแหละ เพราะว่าเพราะเห็นว่าพระศาสนาเป็นของสำคัญสูงสุด เสียสละกันขนาดหาบมาเต็มหาบเลย เพื่อบำรุงไว้ซึ่งพระศาสนานะ แล้วเรายังมีจิตใจชนิดนั้นนี่ก็แล้วกันแหละ ไอ้ข้าวนี่ก็ทำตามไปตามสมควรที่จะมีจะได้ ที่จริงคนละหิ้ว ก็พระฉันไม่หมดแล้ว ก็ใช้ได้แหละ แต่ว่าในจิตใจน่ะ ขอให้นึกว่า ทำเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีที่งามของบรรพบุรุษ ในการที่จะบำรุงรักษาพระศาสนาเอาไว้ ด้วยการช่วยเหลือให้พระได้เป็นอยู่ได้ เมื่อพระเณรเป็นอยู่ได้ ก็มีการเรียน มีการปฏิบัติ มีการสั่งสอนให้ปฏิบัติ แล้วก็ง่ายแหละที่คนจะมีธรรมะมีศีลธรรมมันก็ง่าย แล้วก็มีความสุขสงบกันได้โดยง่ายในบ้านในเมืองในโลก มันจะมีความสุขสงบกันได้โดยง่าย
นี่แหละเรียกว่าบำรุงศาสนาไว้เพื่อคนทั้งโลก บำรุงศาสนานี้ไม่ใช่เพื่อตัวเราคนเดียวหรือพวกเดียว ต้องบำรุงศาสนาไว้เพื่อคนทั้งโลก ถ้าศาสนายังมีในโลก คนทั้งโลกได้รับประโยชน์ เขาจะรู้จักเราหรือไม่รู้จักเราก็ไม่ไม่ไม่ไม่สำคัญ ไม่จำเป็น แต่ถ้าว่าศาสนายังมีในโลกและคนทุกคนในโลกจะได้รับประโยชน์ ไอ้โลกนี้มันไม่ล่มจม ไม่ลุกเป็นไฟ ไม่อะไร คนที่อยู่ในโลกทุกคนพลอยได้รับประโยชน์ ฉะนั้นทุกคนควรจะมีศาสนาของตนของตนแล้วแต่จะถือศาสนาอะไร และช่วยกันบำรุงศาสนาไว้เพื่อประโยชน์แก่คนทั้งโลก แล้วโลกก็จะมีความสงบสุข
เวลานี้คนมันเริ่มทอดทิ้งศาสนา ไม่เห็นว่าสำคัญ เห็นว่าประโยชน์ที่เป็นเงินเป็นทองนั้นสำคัญ สนใจกันเรื่องเงินเรื่องทอง กิเลสครอบงำและก็เห็นแก่ตัว และก็ทำอันตรายผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่น เกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลงง่ายที่สุดแหละ เมื่อมันเห็นแก่ประโยชน์เป็นเงินเป็นทองนะ ถ้ามันเห็นแก่บุญแก่กุศลแล้วมันเกิดความโลภยาก เกิดกิเลสยาก รักษาไอ้ความถูกต้องเอาไว้ได้ เรามันก็อยู่กันสบาย อยู่ด้วยศีลธรรม เช่นการที่มาทำบุญทำทานรักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญเมตตาภาวนานี่ก็ทำเพื่อให้จิตใจมันอยู่ในศีลในธรรม ให้บังคับกิเลสได้ ไม่ไปหลงในวัตถุประโยชน์นะ ที่เป็นกิเลส หรือส่งเสริมกิเลส
เอาล่ะ, เวลามันมีน้อย พูดเท่านี้ก็เจ็บคอแหละ ว่าดีที่สุดไอ้นี่ที่รักษาขนบธรรมเนียมวันหาบไว้ได้ แล้วมากันตามเคย แล้วก็มานึกถึงว่าจะบำรุงพระศาสนาเอาไว้เป็นประโยชน์แก่คนทุกคนในโลก คนแก่ ๆ ก็จะสนใจ ก็จะอบรมเด็ก ๆ ให้มีความรู้ถูกต้อง มีความเข้าใจถูกต้อง เด็ก ๆ ก็เหมือนกันอุตส่าห์เชื่อฟังเคารพบิดามารดาครูบาอาจารย์ และต้องรักแม่ที่สุด ถามตัวเองดูถ้าไม่มีแม่จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีแม่จะเป็นอย่างไร เด็กคนไหนจะโง่เท่าไร ก็มันคงจะตอบได้ว่าถ้ามีแม่ มันจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีแม่เป็นอย่างไร ถ้ามีแม่นั้นเป็นอย่างไร เราอยู่ได้โดยไม่ต้องมีแม่ ว่าเราเกิดมาเองได้โดยไม่ต้องมีแม่
แม่นี้เหมือนกับว่าธนาคาร ถ้าไม่ต้องฝากเงิน แล้วไปเบิกตะพึดเลย แม่นี้เหมือนกับธนาคารที่ไม่ต้องเอาเงินไปฝาก มันจะเบิกเงินได้เรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด แต่งงาน มีลูก มีผัว มีเมียไปแล้ว มันยังไปเบิกเงินที่ธนาคารแม่มัน โดยไม่ต้องเอาไปฝาก เป็นพิเศษขนาดไหนธนาคารที่ไม่ต้องฝาก แต่เบิกเงินได้เรื่อยนั้นมีที่ไหนนอกจากแม่ บางทีพ่อมันไม่อยากไม่ไม่จ่ายแต่แม่มันแอบจ่ายก็มี นี่เรียกว่าแม่มันรักลูกเหลือประมาณเหลือสิ่งใดนี้ เราจะต้อง
..................................................................
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาในพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเนื่องด้วยอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว โอกาสเช่นนี้เราได้มาประชุมกันทุกปี เพื่อจะทำการบูชาอย่างสุดความสามารถของเราในโอกาสนั้น ๆ เช่น มาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชาเช่นในวันนี้ เป็นต้น ทุกอย่างนี้ก็กระทำไปเพื่อให้เกิดศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส ความสว่างไสวแจ่มแจ้ง และความพากเพียรในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกปี
รวมความแล้วก็ว่า เราจะต้องมีความก้าวหน้าในทางธรรมะนี้ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกปี ไม่ยอมให้ย่ำเท้าอยู่ ในที่เดียว ท่านทั้งหลายจึงควรตั้งอกตั้งใจกระทำให้สำเร็จประโยชน์ในข้อที่ว่า ให้เจริญงอกงามก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกปี อาตมาก็จะได้แสดงธรรมเทศนาเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้น คือจะให้มีความรู้ความเข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา และเอาความพากเพียรให้เกิดความก้าวหน้านี้เป็นปฏิบัติบูชา เป็นเครื่องบูชาพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ตามพระพุทธประสงค์ ซึ่งพระองค์ต้องการให้เราบูชาด้วยปฏิบัติบูชา ดังที่ทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว
และการแสดงธรรมเทศนาก็ยังมุ่งหมายจะให้เป็นการเตรียมตัว คือเตรียมใจให้เหมาะสมแก่การที่จะกระทำอาสาฬหบูชานั้นด้วย คือท่านจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในความมุ่งหมายในการกระทำการบูชานี้ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ทุก ๆ ปีด้วยเหมือนกัน การทำพิธีบูชาจึงจะเป็นความก้าวหน้า คู่กันไปกับความรู้ความเข้าใจการประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจทำให้สำเร็จประโยชน์ตามนี้
ปีนี้ขึ้นไปทำอาสาฬหบูชาบนภูเขาไม่ได้ ก็ต้องทำจิตใจเหมือนกับว่าไปกระทำบนภูเขา ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ มีแห่งภาพแห่งต้นไม้ คือป่าเป็นเครื่องช่วยให้ระลึกนึกถึง เหตุการณ์ทั้งหลายในสมัยสมเด็จพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เดี๋ยวนี้ก็เรามาทำในอาคารสถานที่ ซึ่งสร้างขึ้นซึ่งมันส่งเสริมความรู้สึกคิดนึกต่าง ๆ กัน แต่ว่าในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท ก็ควรจะสามารถทำจิตของตน ให้ประสบผลอย่างกับว่า ไปกระทำในที่ที่เข้ารูปเข้ารอยกันกับการกระทำบูชาในวันนี้ ไม่ต้องคิดนึกฟุ้งซ่านไปในทางอื่น คือพยายามดำรงจิตใจไว้ ในลักษณะที่จะมีความแจ่มแจ้งในทางธรรม ให้ถือว่าธรรมะนี้ ถ้าบุคคล ประพฤติเป็นอย่างดีอบรบกระทำเป็นอย่างดี ย่อมจะปรากฏแจ่มแจ้งได้ในทุกสถานที่ หรือในทุกโอกาส
ในโอกาสนี้อาตมาต้องการจะแสดงถึงสิ่งที่เรียกกันว่า หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา ทุกคนก็พอใจที่จะมีหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา และก็มีตามที่ตนจะถือเอาได้อย่างไร หรือแล้วแต่ว่าจะได้รับคำแนะนำสั่งสอนอบรมมาอย่างไร ในชั้นแรกก็จะมีอย่างที่เรียกว่าเป็นไปอย่างสลัว ๆ และต่อมาก็คงจะเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ขอแต่อย่างขอแต่ว่าให้พยายามกระทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นทุกปี อย่าให้มีการซ้ำรอย
พระพุทธศาสนานั้น เมื่อบรรยายลงไปในรูปของอักษรถ้อยคำมันก็มีมาก ถึงกับว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สิ่งที่จะเป็นประโยชน์หรือสำเร็จประโยชน์นั้น ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ก็เหมือนกับเอาใบไม้กำมือเดียวไปเปรียบเทียบกับใบไม้ทั้งป่า เราอยากจะถือว่าทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้นเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า กำมือเดียวนี่เหมือนกับที่พระองค์ทรงนำมาสั่งสอน ในกำมือเดียวนั้นก็เหมือนกับหัวใจของทั้งหมด หรือว่าใบไม้กำมือเดียวของใบไม้ทั้งป่า เราก็ควรจะรู้ว่า ใบไม้กำมือเดียวนั้นคืออะไร แล้วก็จะรู้ว่านั่นแหละ คือหัวใจของพระพุทธศาสนา
ใบไม้กำมือเดียวที่เรารู้กันอยู่ก็คือ เรื่องอริยสัจจ์ทั้งสี่ ท่านทั้งหลายส่วนมากก็เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วว่าอริยสัจจ์ทั้งสี่นั้นคืออะไร เท่าที่รู้กันอยู่แล้วก็คือ เรื่องของความทุกข์ เรื่องของเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องของ ความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ และเรื่องของหนทางที่จะให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ พูดได้ก็เป็นสี่เรื่องด้วยกัน เป็นคำพูดยาว ๆ เพียงสี่คำ แต่ความหมายหรือคำอธิบายนั้น มันยังยาวออกไปอีกได้มาก ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท
บางคนก็เคยฟังมาแล้วและจำได้ บางคนก็ยังจำไม่ได้ เมื่ออริยสัจจ์ทั้งสี่ขยายความออกไปเต็มที่ก็กลายเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ความทุกข์นี้มันเกิดขึ้นโดยอาการที่ว่า มีอวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารให้เกิดวิญญาณ วิญญาณให้เกิดนามรูป นามรูปให้เกิดอายตนะ อายตนะให้เกิดผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา เวทนาให้เกิดตัณหา ตัณหาให้เกิดภพ ภพให้เกิด ตัณหาให้เกิดอุปปาทาน อุปปาทานให้เกิดภพ ภพให้เกิดชาติ เพราะมีชาติ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงจึงมีขึ้นมา นี่เป็นถ้อยคำตั้งสิบกว่าคำและก็เป็นคำแปลก ๆ แล้วคงจะจำยากสำหรับคนทั่วไป จะเรียกว่าหัวใจพระพุทธศาสนาก็ถูก แต่ว่ามันลำบากสำหรับการกำหนดจดจำ
บางทีถึงการที่จะดับทุกข์นั้น ก็แสดงว่า เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ วิญญาณดับนามรูปจึงดับ นามรูปดับอายตนะก็ดับ อายตนะดับผัสสะก็ดับ ผัสสะดับเวทนาก็ดับ เวทนาดับตัณหาก็ดับ ตัณหาดับอุปาทานก็ดับ อุปาทานดับภพก็ดับ ภพดับชาติก็ดับ เมื่อชาติดับ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดับ นี่เรื่องเกิดขึ้นแห่งทุกข์และดับลงแห่งทุกข์ มีรายละเอียดอย่างนี้
การที่จะให้เกิดความดับอย่างนี้ได้ ก็เพราะปฏิบัติในอัฏฐังคิกมรรค ๘ ประการ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบ สัมมาวาจา พูดจาชอบ สัมมากัมมันโต ทำการงานชอบ สัมมาอาชีโว ดำรงชีวิตชอบ สัมมาวายาโม พากเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ เป็นแปดอย่างด้วยกัน บางคนก็ชักจะท้อถอยแล้วว่ามันมาก เดี๋ยวนี้ เราก็จะทำให้มันสั้นหรือมันน้อย เท่าตามที่จะทำได้
เมื่อถือว่าอริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือทำให้ชอบให้ถูกต้องในแปดอย่างนั้น คือมีความคิดเห็นถูกต้อง มีความต้องการที่ถูกต้อง มีการพูดจาที่ถูกต้อง มีการทำการงานที่ถูกต้อง มีการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง มีความพากเพียรถูกต้อง มีการระลึกถูกต้อง มีสมาธิตั้งใจมั่นอย่างถูกต้อง ก็เอาแต่ใจความสำคัญว่าเราจะต้องมีความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้สั่งไว้ว่าถ้าเป็นอยู่กันอย่างถูกต้อง โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ถูกต้องแปดประการนั้น ก็พอจะทำความเข้าใจกันได้ ท่านทั้งหลายจงกำหนดจดจำให้ดี ๆ เพราะเป็นตัวพุทธศาสนาและเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ถึงกับว่าถ้าเป็นอยู่กันอย่างถูกต้องแล้ว โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ แปดอย่างนั้นควรจะนึกเอาตามสามัญสำนึก ที่คนที่มีสติปัญญาตามธรรมดาจะนึกได้ ท่านทั้งหลายก็ไม่ใช่คนโง่เง่าอะไรมาที่ไหน เป็นคนธรรมดาควรจะนึกได้ ควรจะกำหนดไว้ได้
ว่าคนเรานี่ ข้อแรกต้องมีความคิด ความเห็น มีความเชื่อ มีความเข้าใจ นี่ทุกคนนี่มันมีความคิด ความเห็น มีความเชื่อความเข้าใจ ทำความคิด ความเห็น ความเชื่อความเข้าใจนี้ให้ถูกต้อง อย่าให้มันผิด คือพยายามศึกษาจากภายนอก และพยายามศึกษาจากภายใน คือสังเกตจากภายใน ให้รู้ว่าทำอย่างไรมันเกิดอะไรขึ้นมา นี่จนจนจนรู้ว่าอย่างไร เรียกว่าเชื่อถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง คิดเห็นถูกต้อง เหมือนที่เรามี ๆ อยู่ นั้นมันยังมันยังไม่ถูกต้องหรือว่ามันถูกต้องดีแล้ว จงชำระความถูกต้องของความคิดเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจนี้เสียก่อน
ทีนี้เมื่อมีความถูกต้องในข้อนี้แล้ว ก็จะถูกต้องในข้อที่สอง คือความต้องการ คนทุกคนมีความต้องการอะไร ๆ อยู่หลาย ๆ อย่างตามธรรมชาติตามธรรมดา ที่ต้องระวังให้ความถูก ให้ความต้องการนั้นมันถูกต้อง อย่าไปต้องการในสิ่งที่ไม่ควรจะถูกต้อง มันเป็นความต้องการผิด แต่มันต่อเนื่องกันอยู่กับความรู้หรือความเข้าใจหรือความเชื่อที่มีอยู่แต่เดิม ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง มันก็คงจะมีความต้องการถูกต้อง ฉะนั้นเมื่อบุคคลจะต้องการอะไร ก็จงยับยั้งชั่งใจทบทวนดูให้ดี ว่าในเรื่องนี้มันมีความถูกต้องอย่างไร หรือจะถามขึ้นว่าพระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนไว้ในเรื่องนี้อย่างไร เมื่อจะต้องการอะไร ควรจะนึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน ว่าท่านได้สอนไว้อย่างไร ถ้าใครถือหลักอย่างนี้ในความต้องการของคนนั้นก็จะถูกต้อง
เมื่อมีความรู้ความเข้าใจ และมีความต้องการถูกต้องแล้ว การพูดจามันก็จะพูดจาไปตามนั้น คือไปตามความถูกต้องของความรู้ หรือของความต้องการ ไอ้วาจานั้นมันก็ถูกต้อง นี้การกระทำทางกายมันก็พลอยถูกถูกต้อง เพราะส่วนลึกของจิตใจหรือความต้องการนั้นมันถูกต้องอยู่แล้ว การพูดจาและการกระทำมันก็ถูกต้อง แต่ก็ต้องระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
ทีนี้ก็มีการดำรงชีวิตถูกต้อง ที่เรียกว่าอาชีโว ดำรงชีวิตชนิดที่ให้เป็นอยู่ได้นี่อย่างถูกต้อง การหามากิน การเก็บรักษาไว้ การบริโภคใช้จ่าย การแจกการปัน การคบหาสมาคมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เหล่านี้ เรียกว่าการดำรงชีวิต มันก็คงจะถูกต้อง เพราะว่าเรามีความถูกต้องของความรู้ ความคิด ความเห็นความเชื่อ และความต้องการ มาแล้วอย่างถูกต้อง
ทีนี้ก็มาถึงความพากเพียร เมื่อหลักเกณฑ์มันถูกต้องแล้วก็พากเพียรต่อไป ไอ้การพากเพียรนั้น มันก็เป็นความเพียรที่ถูกต้อง ทีนี้จะให้ความเพียรถูกต้อง ต้องระมัดระวังในส่วนที่เป็นสติ อย่าเป็นผู้ประมาท อย่าเป็นผู้เลินเล่อ อย่าเป็นผู้อวดดีเหมือนคนโดยมากซึ่งสะเพร่าและอวดดี ทำอะไรหวัด ๆ ไม่นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อนแล้วก็จะไม่มีความประมาท อวดดี สะเพร่า หรือหวัด ๆ เราก็เลยมีสติที่ถูกต้อง
ครั้นเมื่อมีสติถูกต้องแล้ว ก็มีสมาธิคือจิตใจที่ปักหลัก มั่นคง ก็ให้ถูกต้อง จิตที่จะวางลงไปในอะไร แน่วแน่ลงไปในสิ่งใด นั้นต้องถูกต้อง ให้มีอารมณ์ที่ถูกต้อง ให้มีการตั้งอยู่อย่างถูกต้อง หรือว่าหรือการประพฤติเป็นไปของจิตอย่างถูกต้อง มันก็ถูกต้องเป็นความเป็น มันก็มีความถูกต้องครบทั้งแปดประการ เป็นอัฏฐังคิกมรรคขึ้นมา
ท่านช่วยจดจำใส่ใจไว้ให้ดี ว่าหัวใจของพุทธศาสนา สำรับสำหรับจะเอาไปประพฤติปฏิบัตินั้น มันคือความถูกต้องแปดประการนี้ เป็นบาลีก็ว่า สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว สมฺมาวายาโม สมฺมาสติ สมฺมาสมาธิ นั่นมันภาษาบาลี จำได้ก็ดี จำไม่ได้ก็ไม่ต้องท้อใจ แต่ให้จำที่เป็นภาษาไทย ได้และเข้าใจได้ว่า มีความเห็น คิดเห็นเข้าใจ รู้หรือเชื่อนี่ อย่างถูกต้องเป็นข้อแรก และก็มีความปรารถนาใฝ่ฝันต้องการนี่ ถูกต้องเป็นข้อที่สอง แล้วก็มีการพูดจาถูกต้องเป็นข้อที่สาม มีการกระทำการงานถูกต้องเป็นข้อที่สี่ มีการดำรงชีวิตอย่างถูกต้องเป็นข้อที่ห้า มีความพากเพียรอย่างถูกต้องเป็นข้อที่หก มีสติรำลึกอยู่อย่างถูกต้องเป็นข้อที่เจ็ด มีสมาธิคือใจจิตใจตั้งมั่นอยู่อย่างถูกต้องเป็นข้อที่แปด
นี้มันก็เป็นหัวใจสำหรับการปฏิบัติ การปฏิบัติมีหัวใจอย่างนี้ ก็จะเป็นการปฏิบัติหมดทั้งสิ้นที่ควรจะปฏิบัติ คือจะเรียกได้ว่าเป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือเป็นหนทางที่จะทำสัตว์ ให้ถึงซึ่งความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ ก็เรียกกันสั้น ๆ ว่ามรรคมีองค์แปด จำไว้ว่า มรรคมีองค์แปด เป็นหลักธรรมะสำคัญสำหรับประพฤติปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ได้
สมมติว่าเราไม่รู้เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับสนิทแห่งความทุกข์โดยตรง แต่ถ้าว่าเราปฏิบัติอยู่ ในอริยมรรคมีองค์แปดประการนี้แล้ว ทุกข์ก็เกิดไม่ได้ หรือทุกข์ที่มีอยู่มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะการประพฤติกระทำนี้มันถูกต้อง เรียกว่ามีความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ชนิดที่โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์
ฉะนั้นขอให้จดจำไว้แม่นยำ นึกถึงอยู่เป็นประจำอย่างแจ่มแจ้ง ว่า มรรคมีองค์แปดก็เรียก มัชฌิมาปฏิปทาก็เรียก มันมีความสำคัญในขั้นที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ทรงนำมาตรัสไว้ในฐานะเป็นเรื่องที่สี่ของอริยสัจจ์ อริยสัจจ์เล็ก ๆ ที่พูดว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คำว่ามรรคก็ตรัส มรรคมีองค์แปดนี้ อริยสัจจ์ใหญ่ตรัสด้วยปฏิจจสมุปบาท ทั้งขึ้นทั้งลง ครั้นถึงมรรคครั้นถึงอริยสัจจ์ข้อที่สี่ ก็ตรัสด้วยมรรคมีองค์แปดนี้เหมือนกัน
ฉะนั้นจะว่าเป็นอริยสัจจ์โดยย่อก็ดี อริยสัจจ์โดยพิสดารก็ดี เรื่องที่สี่คือเป็นเรื่องของทางให้ถึงความดับทุกข์นั้นเหมือนกัน เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปด หรือจะเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา นี้จะถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาในขั้นพื้นฐาน มันจะยาวสักหน่อย ก็ทนศึกษาเล่าเรียนเอา แล้วในที่สุดมันก็จะสำเร็จประโยชน์
วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา เรามาประพฤติกระทำพิธีกรรมอันนี้เพื่อระลึกถึง เหตุการณ์อันสำคัญในวันอาสาฬหบูชา ทุกคนรู้ว่า วันนั้นทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นการประกาศสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ได้เคยได้ยินได้ฟังมาจากใครก่อน เมื่อตรัสรู้แล้ว ท้อถอยพระทัย ไม่ปรารถนาจะทรงแสดงธรรม โดยกลัวว่าจะเหนื่อยเปล่า ๆ ไม่มีใครเข้าใจ แต่แล้วมายั้งพระทัยคิดว่าคงจะมีคนบางคนอาจจะเข้าใจได้ ก็จงแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลพวกนี้เถิด จึงกลับพระทัยในการที่จะทรงแสดงธรรม แล้วก็เริ่มการแสดงธรรมเป็นครั้งแรก คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
เราจึงเห็นได้ว่าพระบาลีนี้ เป็นเรื่องแรกที่พระองค์จะต้องทรงประกาศ สิ่งที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ทรงได้ค้นพบเป็นพิเศษ เป็นแน่นอน หมายความว่ามันต้องไม่เหมือน ไม่เหมือนใครอื่น ไม่เหมือนลัทธิอื่น คือเป็นของใหม่จริง ๆ จึงได้ตรัสว่า ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน
ทีนี้เรื่องที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังแต่ก่อนเอามาสอนเป็นคำแรกนั้น ไม่ใช่เรื่องอริยสัจจ์สี่ คนมีตาดี ๆ ก็มาเปิดดูธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ก็จะพบว่า ตอนต้นที่สุดของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น คือเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา แสดงความถูกต้องแปดประการนี้อย่างที่ว่ามาแล้ว ว่ามันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คืออยู่ที่ตรงกลาง อย่าเอียงไปทางอ่อนแอ เปียกแฉะ คือกามสุขัลลิกานุโยค และอย่าเอียงไปทางแสบเผ็ดเผาไหม้แข็งกระด้างคือ อัตตกิลมถานุโยค คนที่สวดบาลีธัมมจักรได้ ย่อมเข้าใจได้ทันที แต่ว่าหนทางแปดนี้ ไม่ไปหากามสุขัลลิกานุโยค ไม่ไปหาอัตตกิลมถานุโยค
นี้คือเรื่องที่ประกาศเป็นเรื่องแรกหลังจากการตรัสรู้ มันต้องเป็นหัวใจของพุทธศาสนา และมันต้องเป็นเครื่องที่ยืนยันว่าไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนลัทธิอื่นใด ที่มีอยู่กันก่อน ปัญจวัคคีย์เข้าใจผิดต่อพระพุทธองค์ ทรงละทิ้งพระพุทธองค์เสีย เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ยังอุตส่าห์พยายามเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์นั้น และคำแรกที่โปรดปัญจวัคคีย์นั้นก็คือ เรื่องมัชฌิมาปฎิปทา เมื่อตนอยู่ในความถูกต้องแปดประการนี้แล้ว ไม่ไปข้องแวะกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยคแล้ว ก็จะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์
จึงทรงแสดงทุกข์โดยละเอียดว่าทุกข์นั้นเป็นอย่างนี้ ๆ เหตุให้เกิดทุกข์นั้นเป็นอย่างนี้ ๆ ความดับทุกข์เสียนั้นเป็นอย่างนี้ ๆ แล้วหนทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์นั้นเป็นอย่างไรเล่า แล้วทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทาหรืออริยอัฏฐังคิกมรรค ให้สังเกตดูให้ดี ๆ ว่าในพระบาลี ที่เรียกกันทีหลังว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มีการแสดงมัชฌิมาปฏิปทาถึงสองครั้งสองหน คือตอนต้นของพระสูตร เมื่อแสดงมัชฌิมาปฏิปทา ก็อย่าเข้าไปหาสุดโต่งสองสองอย่างนั้น และตอนท้ายก็จะทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา เพื่อให้บอกให้ทราบว่า ไอ้ความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์นั้น มันจะมีได้เพราะการปฏิบัติอย่างนี้ ๆ
ด้วยเหตุนี้อาตมาจึงอยากให้ท่านทั้งหลาย ถือเอามัชฌิมาปฏิปทา นี้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาในส่วนการปฏิบัติ ถ้าจะพูดในรูปแบบปริยัติ หรือที่เขาเรียกกันสมัยนี้ว่าปรัชญาก็ได้ นั้นก็เป็นการแสดงเรื่องอริยสัจจ์ทั้งสี่ แสดงว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างนี้ ดับแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ ทางให้ถึงความดับแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ นี้เรียกว่าเป็นเรื่องวิชา เป็นเรื่องทฤษฎีทั้งหมด พอมาถึงตัวการปฏิบัติ มันก็เหลือแต่มัชฌิมาปฏิปทา ให้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อมีการปฏิบัติชอบอยู่อย่างนี้ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ดังที่กล่าวแล้ว
ฉะนั้นเรามองเห็นได้ทันทีว่า เรื่องอริยสัจจ์เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวม แล้วหัวใจของพุทธศาสนาโดยหลักปฏิบัตินั้น คืออริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นเรื่องที่สี่ของเรื่องจตุราริยสัจจ์นั้นเอง เรื่องอริยสัจจ์สี่นี้ พูดสั้น ๆ ก็เรียกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ถ้าบรรยายโดยละเอียดแล้วก็กลายเป็นเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ทั้งขึ้นทั้งลงโดยสมบูรณ์ จะเรียกว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนาก็ถูก แต่มันไม่ไหวตรงที่มันมากเหลือเกิน
ทีนี้เราจะขวนขวายให้มันน้อยลง ก็จะเลื่อนเข้ามาหาเรื่องที่สั้นกว่านั้น คือเรื่องที่เรียกว่า คาถาพระอัสสชิ เมื่อพระอัสสชิ สาวกรุ่นแรกของพระพุทธเจ้าท่องเที่ยวไปเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีคนภายนอกศาสนามาถามว่าอะไรเป็นหัวใจคำสอนในพระพุทธศาสนา ขอให้แสดง พระอัสสชิก็แสดงคาถาว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุํ ตถาคโต ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น เตสญฺจ โย นิโรโธจ รวมทั้งแสดงความดับแห่งความอันมีเหตุทั้งหลายเหล่านั้น เอวํ วาที มหาสมโณ พระมหาสมณะของข้าพเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้
นี้หัวใจของพุทธศาสนาที่ย่อเข้ามาก็เหลือแต่ว่า ธรรมมีเหตุ เราควรจะรู้สิ่งที่เรียกว่าเหตุ และควรจะรู้ การดับ วิธีดับแห่งสิ่งที่เรียกว่าเหตุ ข้อนี้อธิบายว่า ที่ว่าธรรมทั้งปวงมีเหตุนี่ก็หมายความว่า ความทุกข์นั่นเอง สิ่งทั้งปวงคือทุกข์ สิ่งทั้งปวงที่มันรบ รบ รบรา รบ รบกวนเรา ทรมานเราอยู่นี่คือทุกข์ เรียกว่าเป็น ปัญหาทั้งหมด เป็นไอ้ เป็นความทุกข์ ความทุกข์นั้นมีเหตุ พระ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งความทุกข์ แล้วทรงแสดงวิธีดับ ซึ่งเหตุแห่งความทุกข์
นี่ทำให้ผู้ฟังรู้ว่า โอ้, ธรรม พระธรรมทั้งหลายทั้งปวงหรือสิ่งทั้งปวงนี้ไม่ได้เป็นตัวตนที่ถาวร เป็นสิ่งที่มีเหตุ มันรวนเรไปตามเหตุ ฉะนั้นเราจัดการกับที่ตรงเหตุ แล้วก็จะจัดการกับธรรมเหล่านั้นได้ หรือสิ่งเหล่านั้นได้ สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับเราคือความทุกข์ ความทุกข์นี้มีเหตุ เราก็จัดการดับเหตุแห่งความทุกข์นั้นเสีย ก็จะดับทุกข์ได้ นี้ก็เรียกว่าหัวใจพุทธศาสนาที่ย่นย่อสั้นเข้ามาอีก ว่ามันมีเหตุ และดับที่เหตุเสีย ก็ดับทุกข์ได้
ควรจะรู้ว่า เราย่นให้สั้นเข้ามาได้อย่างนี้สำหรับหัวใจของพุทธศาสนา ว่าความทุกข์นั้นมันมีเหตุ แล้วก็ดับเหตุนั้นเสีย ตัณหาอุปาทานเป็นเหตุ แล้วเราก็อยู่อย่างที่ตัณหาอุปาทานเกิดไม่ได้ ก็คืออยู่อย่างมี มัชฌิมาปฏิปทาหรืออัฏฐังคิกมรรคนั่นเอง เมื่อมีชีวิตอยู่ด้วยมัชฌิมาปฏิปทาแล้ว สิ่งที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ตั้งขึ้นไม่ได้ ความทุกข์จึงไม่มี นี่สรุปความว่า เป็นอยู่ชนิดที่เหตุแห่งความทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้
เหตุแห่งความทุกข์นั้น คือความไม่รู้เรื่องความทุกข์ แล้วก็หลงใหล อยาก ต้องการ ปรารถนาไปตามความไม่รู้นั้น นั้นเรียกว่าอวิชชา และเกิดตัณหา มีตัณหาคือความอยาก ความต้องการอย่างโง่เขลา ในสิ่งที่ไม่ควรจะอยาก ก็เลยเกิดทุกข์ จงเป็นอยู่ชนิดที่ตัณหา อวิชชาเกิดไม่ได้ เป็นอยู่ตามอัฏฐังคิกมรรคมีองค์แปดเถิด อวิชชา ตัณหา เกิดไม่ได้ หรืออวิชชาอย่างเดียวเกิดไม่ได้ก็พอแล้ว ถ้าอวิชชาอย่างเดียวเกิดไม่ได้ แล้วตัณหาเกิดไม่ได้ อุปาทานก็เกิดไม่ได้ อื่น ๆ ก็เกิดไม่ได้ ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้เพราะว่าอวิชชาไม่เกิด
ฉะนั้นการที่มีสัมมาทิฐิ ความรู้ความเห็นความเข้าใจความเชื่ออย่างถูกต้อง เป็นข้อแรกของมรรค นั่นแหละคือเครื่องกำจัดอวิชชาหรือเครื่องป้องกันเสียซึ่งอวิชชา ไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ อวิชชาไม่เกิดแล้ว ตัณหาไม่เกิด อุปาทานไม่เกิด ภพชาติไม่เกิด มันก็ไม่มีความทุกข์อย่างนี้
นี่เรียกว่าเรามาเอา แต่เพียงว่า เหตุ ของความทุกข์มีอยู่ คืออวิชชา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดตัณหาอุปาทานเป็นลำดับไป ก็ทำลายอวิชชานั้นเสีย ป้องกันอวิชชานั้นเสีย ก็หมดปัญหา นี้ก็เป็นหัวใจของพุทธศาสนา คือว่าอยู่ด้วยการทำลายอวิชชา ป้องกันไม่ให้อวิชชาเกิดขึ้นมา ก็เป็นหัวใจของการปฏิบัติ
ทีนี้รู้สึกว่า ยังมีเป็นคำพูดอยู่หลายคำ ถ้าตามภาษาบาลีมันยังมีถึงสี่บรรทัดสั้น ๆ ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ธรรมทั้งหลายเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด เตสํ เหตุํ ตถาคโต พระตถาคตแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น เตสญฺจ โย นิโรโธจ ทรงแสดงธรรมเป็นเครื่องดับสนิทแห่งเหตุ ของธรรมทั้งหลายเหล่านั้นด้วย เอวํ วาที มหาสมโณ พระมหาสมณะของข้าพเจ้ามีปกติกล่าวอย่างนี้ มันจำไม่ไหว แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันยังสั้นกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท แปลว่าเราย่นเข้ามาได้มากแล้ว
ทีนี้อาตมาอยากจะชักชวนท่านทั้งหลายให้ช่วยกันย่นให้มันสั้นเข้าไปอีก จะย่นด้วยพระ มาย่นเข้ามาโดยอาศัยพระพุทธภาษิตว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ประโยคสั้น ๆ ประโยคเดียว แปลว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ว่าของเรา ประโยคนี้ก็เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา พยายามฟังและจำไว้ให้ดีว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย เคยแนะให้เขียนไว้ที่กระจกเอาส่องหน้าประจำวันก็มีคนเคยเขียนเหมือนกัน
ประโยคสั้น ๆ นี้ ธรรมทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเรา หนังสือคือมันว่าอย่างนี้ แต่ใจความของมัน มีว่า ไอ้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งหมด ทั้งสิ้น ที่แวดล้อมเราอยู่ ภายนอกก็ดี ภายในก็ดีนี้ อย่าไปโง่ หลง ว่ามันเป็นสิ่งที่ควรยึดมั่นถือมั่น หลงรักหลงพอใจว่าเรา ว่าของเรา มันเป็นการเตือนอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งปวงนั้นอย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา
นี่คือสัมมาทิฏฐิอย่างยิ่ง เป็นองค์มรรคองค์ที่หนึ่งคือสัมมาทิฏฐิอย่างยิ่ง รู้ชัดว่าสิ่งทั้งปวงนี้ยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราไม่ได้ มันก็เป็นวิชชาอย่างยิ่ง กำจัดอวิชชาหมดสิ้น อวิชชาทำให้เกิดตัณหา ให้เกิดอุปาทาน เดี๋ยวนี้มันมีวิชชาเกิดขึ้นแล้ว ฆ่าอวิชชาหมดสิ้น ไม่มาเห็นว่า สิ่งใดมีอยู่ สำหรับจะยึดมั่นถือมั่น หรือควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา หัวใจพุทธศาสนาเหลือประโยคสั้น ๆ เพียงประโยคเดียว ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
อ้าว, ถ้าที่บางคนบอกมันยังยาวนัก อยากให้สั้นเข้ามาอีก มันจะมาถึงประโยคที่สั้นกว่านั้นอีกว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา สั้นเข้าไปอีก เป็นหัวใจของพุทธศาสนาบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งปวงคือธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาคือไม่ใช่อัตตา คือไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเข้าไปถือเอาว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา คือสิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ไม่ควรเข้าไปยึดถือเอาว่าเป็นตนหรือเป็นของตนก็เพราะว่ามันเป็นอนัตตา
ให้มีปัญญาเห็นชัดอยู่ว่า ไอ้ทุกสิ่งนั้นไม่ไม่มีตัวไม่มีตนที่จะเข้าไปยึดถือเอาได้ มันมันละเอียดมาก มันลึกมากจนไอ้คนธรรมดาไม่เข้าใจ เพราะเราเคยชินแต่จะยึดถือเอาเป็นตัวเป็นตนตั้งแต่เกิดมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก นั้นเมื่อเคยยึดถือโดยความเป็นตัวเป็นตนเรื่อยมา แต่นี่มาบอกอย่างตรงกันข้ามว่ามันไม่ใช่ตัวตน มันไม่ไม่ไม่ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะยึดถือ เอาว่าตัวตน ก็ยากหน่อย แต่มันก็เป็นหัวใจของพุทธศาสนา
ถึงแม้มันจะยากสักหน่อย ก็ควรจะพยายาม คือ ทำความสังเกต ตรง ๆ ง่าย ๆ ว่าพอไปยึดถืออะไรว่าตัวตนก็เท่านั้นแหละ มันก็จะเกิดความทุกข์ เป็นไฟขึ้นมาข้างในทีเดียว ยึดถือว่าตัวตนที่น่ารักก็รัก ก็เป็นไฟแห่งความรัก ยึดถือว่าตัวตนที่ไม่น่ารักมันก็เป็นไฟแห่งความโกรธ เดี๋ยวไฟแห่งความรัก เผาเดี๋ยวไฟแห่งความโกรธเผา ไม่บ้าตายมันจะอยู่อย่างไร ไม่เท่าไรมันก็ต้องเป็นโรคประสาท ไม่เท่าไรมันก็จะเป็นโรคจิต ไม่เท่าไรมันก็ต้องเป็นบ้าตาย ฉะนั้นให้มีหัวใจของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องคุ้มครองเรา ว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ที่ควรจะไปยึดมั่นถือมั่น
ยึดมั่นถือมั่นนี้อธิบายแล้วว่ามีอยู่สองสองทาง ยึดมั่นถือมั่นว่าน่ารักเอาเป็นของเราก็มีความรัก มีความโลภ มีความหึง มีความหวง มีความวิตกกังวลต่าง ๆ นานา นี่ถ้าไปยึดมั่น ไปยึดมั่นในทางตรงข้ามว่า ไม่น่ารักมันเกิดความ เกิดโทสะ เกิด เกิดทุกข์ร้าย เกิด ริษยา เกิดความคิดทางร้าย เกิดเวรเกิดไอ้ มันก็มีความทุกข์
ฉะนั้นถือคาถาว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นก็ได้ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาก็ได้ มันให้ผลเหมือนกันแหละ คือทำให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างยิ่ง เป็นองค์แรกของมรรคมีองค์แปด เมื่อองค์ที่หนึ่งถูกต้องแล้ว องค์ที่สองที่สามมันก็ถูก
ข้อนี้มองเห็นเสียด้วยว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า อริยมรรคมีแปดนั้นแหละ องค์แรกองค์ที่หนึ่งนั้นมันเป็นองค์นำแห่งองค์ทั้งปวง เหมือนกับอาทิตย์อุทัยไขแสงขึ้นมาเป็นเครื่องแสดงว่ามันจะมีวันกลางวันตามมาเป็นลำดับ ให้มีสัมมาทิฏฐิแล้ว ไอ้ที่เหลือก็จะตามมาเป็นลำดับ เราทำ เราทำให้สัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เต็มความหมาย เช่นว่าธรรมทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราว่าของเราก็ได้ หรือว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาก็ได้
ให้เลือกเอาประโยคใดประโยคหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ในฐานะเป็นความรู้ เป็นวิชา คือปริยัติก่อน ว่ามันยึดมั่นไม่ได้ ทีนี้มันก็กลายเป็นการปฏิบัติ คือมันไม่ยึดมั่นถือมั่น ระวังไว้ไม่ให้จิตไปหลงยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นตัวตนของตน นี้ประโยค พระบาลีเช่นนี้ แสดงความหมายทั้งปริยัติ และแสดงความหมายทั้งปฏิบัติ และแสดงความหมายเลยไปถึงปฏิเวธด้วยก็ได้
เมื่อเมื่อเมื่อไม่ยึดมั่นแล้วมันสบาย มันสบาย มันหลุดพ้น อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง ฉะนั้นจึงอยากจะให้เลื่อนขึ้นมาถึงประโยคที่สั้นเข้ามาอีกว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ว่าพระพุทธเจ้าท่านได้สรุปคำสอนทั้งหมดของท่านไว้ในประโยคสั้น ๆ ว่า ธรรมทั้งปวงอันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อมีใครมาขอร้องให้พระองค์ทรงย่นย่อใจความในพระพุทธศาสนาให้สั้นที่สุด พระพุทธองค์ก็สงเคราะห์เขาด้วยการย่นย่อว่าอย่างนี้แหละ ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ หัวใจของพุทธศาสนามาอยู่ในประโยคสั้น ๆ
นี่สั้นเข้ามาอีกหน่อยก็ สัพเพ ธัมมา นาลัง สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา นี้ก็ก็ก็ ก็มีมีค่าเท่ากัน ก็ถ้าเป็นอนัตตาก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ใครชอบประโยคไหน ก็เลือกเอาประโยคนั้น ไปเขียนไว้ในที่ ๆ จะเห็นได้ จะเตือนสติได้ คนที่ชอบส่องกระจกแต่งเนื้อแต่งตัวอยู่หน้ากระจก ก็เขียนไว้ที่บานกระจกนั่นแหละดี ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ก็ได้ ว่า สัพเพ ธัมมา อนันตา ก็ได้ มันกันลืม
แต่ขอร้องว่าอย่าไปเขียนไว้ในส้วม ไม่ไม่สมกัน ที่จริงมันก็ดีและมีประโยชน์มากที่จะไปเขียนไว้ในส้วม พอนั่งลงก็เห็น แต่ว่ามันไม่สบกัน ธรรมะนี้ศักดิ์สิทธิ์เกินไปที่จะไปเขียนไว้อย่างนั้น เรายังถือสูงถือต่ำถือศักดิ์สิทธิ์ ถืออะไรอยู่จะไม่เขียนไว้ในส้วม เขียนไว้ฝาผนังที่กระจกแต่งตัวหรือเขียนที่อย่างนั้นแหละดีกว่า
เอ้า, มันเหลือสั้นเต็มทีแล้วว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา หัวใจของพุทธศาสนา นี่อยากจะให้สั้นอีก อาตมาอยากให้สั้นอีก มันก็ยังทำได้ แล้วมันก็มีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ให้ อยู่ไว้ให้แล้วว่า สรุป ใจความทั้งหมดนี้แล้วมันก็เหลือเพียงสามพยางค์น่ะ ไม่ใช่ประโยคแล้วทีนี้ เหลือคำเดียวแล้ว เหลือคำเดียวว่า ตถตา ตถตา ตถาตาก็ได้ ตถตาก็ได้ นี้แปลว่าเช่นนั้นเอง ความเป็นเช่นนั้น ตถตา ความเป็นเช่นนั้น
หัวใจของพระพุทธศาสนาบอกว่า ตถตา มันเป็นเช่นนั้น เป็นเช่นนั้นก็คือว่าเป็นอนัตตาน่ะ เป็นเช่นนั้นก็คือว่า ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เป็นเช่นนั้นก็คือว่ามันมีเหตุ ดับเหตุของมันเสีย เป็นเช่นนั้นก็คือว่ามันมัน มันเป็นทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ มีความดับทุกข์ มีทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นเช่นนั้นก็คือ ปฏิจจสมุปบาท เมื่อมีอวิชชาก็มีสังขาร เมื่อมีสังขารก็มีวิญญาณ เมื่อมีวิญญาณก็มีนามรูป เมื่อมีนามรูปก็มีอายตนะ มีอายตนะก็มีผัสสะ มีผัสสะก็มีเวทนา มีเวทนาก็มีตัณหา มีตัณหาก็มีอุปาทาน มีอุปาทานก็มีภพ มีภพก็มีชาติ มีชาติก็มีทุกข์ นี้มันยาวนัก แต่ทั้งยาวเฟื้อยอย่างนี้ มันไปสรุปอยู่ในคำสั้น ๆ คำเดียวว่า ตถตา เช่นนั้นเอง
เช่นนั้นเองคือที่ว่ามาแล้วทุกอย่าง ปฏิจจสมุปบาทถึงยืดยาวนี้ก็มันสรุปว่า อ้าว, มันเช่นนั้นเอง อริยสัจจ์ อัฏฐังคิกมรรค มีถึงแปดนี่ก็เอาก็เช่นนั้นเอง มันตายตัวเช่นนั้นเอง อริยสัจจ์มีสี่ ก็เช่นนั้นเอง ถ้ามีเหตุดับเหตุเสียก็เช่นนั้นเอง ธรรมไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเราว่าของเรามันก็คือเช่นนั้นเอง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน ก็เช่นนั้นเอง มันมาเหลือพียงคำ ๆ เดียวว่าเช่นนั้นเอง
คนที่โง่สักหน่อยก็เข้าใจไม่ได้ว่าเช่นนั้นเองเป็นหัวใจของพุทธศาสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนั้น ตรัสปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียด แล้วก็บอกว่านี่คือความเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่าตถตาเป็นเช่นนั้นเอง อวิตถตา ไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น อนัญญถตา ไม่เป็นโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น ธัมมัฏฐิตตา มันตั้งอยู่ตามธรรมชาติโดยธรรมดา ธัมมนิยามตา มันเป็นกฎตายตัวของธรรมดา มันก็คือเช่นนั้นเอง
ถ้าพูดทีแรกคงฟังไม่ถูก คงเอาไปใช้เป็นประโยชน์ เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ไม่ได้ แต่ว่าถ้าเราพยายามสนใจ ทำความเข้าใจให้เข้าใจให้จนได้ว่าเช่นนั้นเองมันหมายความว่าอย่างไร แล้วต่อไปมันจะมีประโยชน์ มันจะมีประโยชน์ดับทุกข์ได้ด้วยคำเพียงคำเดียวว่า เช่นนั้นเอง
เดี๋ยวนี้เราไม่เห็นว่าเช่นนั้นเอง เพราะไปรักเอาบางอย่างเข้า ไม่เห็นว่าเช่นนั้นเองเพราะไปโกรธเอาบางอย่างเข้า ไม่เห็นเช่นนั้นเองก็ไปเสียใจในบางอย่างเข้า มันนั่งร้องไห้อยู่ ไม่เห็นว่าเช่นนั้นเอง เราวิตกกังวลนอนไม่หลับ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่เห็นว่าเช่นนั้นเอง
ฉะนั้นสิ่งสูงสุด หัวใจของพระพุทธศาสนานั้นมันเหลือแต่ว่าเช่นนั้นเอง ใครเอาไปใช้ได้ก็จะปลอดภัย เหมือนกับยาวิเศษ ยาวิเศษสูงสุดแหละ แก้ทุกโรค แก้ความทุกข์ทุกชนิด ถ้าเช่นนั้นเองได้แล้วไม่มีความทุกข์ เดี๋ยวนี้มันเช่นนั้นเองไม่ได้มันก็ต้องรักบ้าง โกรธบ้าง เกลียดบ้าง กลัวบ้าง อิจฉาริษยาบ้าง อยากดีอยากเด่น อยากจะดีกว่าเพื่อนบ้าง ซึ่งมีอยู่มากเป็นโรคกัน เป็นโรคนี้กันทุกคนนะ อาตมาอยากจะพูดว่าเป็นโรคอยากดีกว่าคนอื่นมีอยู่ทุกคนนะ กินยาไอ้เช่นนั้นเองกันเสียบ้าง ว่ามันเช่นนั้นเอง มันจะอยากดีอยากเด่นอยู่เหนือคนทุกคนไปทำไมเล่า
ในที่สุดก็มาเหลือว่าเช่นนั้นเอง จำง่ายแล้วไหม มันจะจำง่ายที่สุดกว่าคำไหนหมดแล้ว หัวใจพุทธศาสนาที่แท้จริงเหลือเพียงว่าเช่นนั้นเองนี่ ถ้าจำไม่ได้ก็ก็ไม่ไม่มีเรื่องจะพูดกันแล้ว พยายามจำได้แล้ว จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ มันมีทีหนึ่ง ถ้าเข้าใจมันก็จะเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้ จะหยุดความโลภได้ หยุดความโกรธได้ หยุดความโง่ได้ หยุดความโศกเศร้าเสียใจได้ หยุดความวิตกกังวลได้ อะไร ๆ ที่กำลังเป็นความทุกข์ ทรมานจิตใจของท่านทั้งหลายอยู่แหละ
หัวใจพระพุทธศาสนาคำเดียวนี้ หยุดเสียได้ หยุดได้ และใช้ได้ ใช้ได้อย่างที่เรียกว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นเลย สารพัดนึกเลย ยาขนานนี้ลูกเด็ก ๆ ลูกแดง ๆ ก็กินได้ คนหนุ่มคนสาวคนแก่คนเฒ่ากินได้ ใครไม่กินมันก็โง่เท่านั้นเอง มันก็ไม่เช่นนั้นเอง ไม่เช่นนั้นเองมันก็มาร้องไห้อยู่ เหมือนเด็ก ๆ ของเล่นมันตกแตก มันก็ร้องไห้อยู่ เพราะมันไม่มีความรู้เรื่องเช่นนั้นเอง
ความรู้เรื่องเช่นนั้นเองมันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา มันเป็นยอดสุด เป็นความรู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เด็ก ๆ ไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ ว่าเด็ก ๆ หรือมันไม่มีความรู้ เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ คือมันไม่รู้เรื่องเช่นนั้นเอง มันพออร่อยมันก็รัก มันก็หวง พอไม่อร่อยมันก็โกรธ มันก็ตึงตังขึ้นมา พอไม่ได้อย่างใจมันก็ร้องไห้ นี่เด็ก ๆ มันไม่มีความรู้เรื่องเช่นนั้นเอง
ทีนี้มันก็ควรจะรู้มากขึ้น แต่นี้มันดูมันไม่เป็นอย่างนั้นนี่ ยิ่งหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา ยิ่งไม่รู้เรื่องเช่นนั้นเองโง่ไปกว่าเด็ก ๆ ไปอีก ก็เลยเรื่องที่ต้องโกรธต้องเจ็บต้องกลัว ต้องเศร้าต้องโศกเสียใจนี่มันก็มากขึ้น นี้เป็นพ่อบ้านแม่เรือนบางคนก็ยิ่งมากไปอีก คนแก่มันหนังเหนียว และมันก็ยิ่งมีไอ้ความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นไปอีก จนกระทั่งแก่เฒ่าเข้าโลงไป มันก็เช่นนั้นเองไม่เป็น
เดี๋ยวนี้มันมากลัวอยู่ กลัวนั่นกลัวนี่กลัวผีกลัวเสือ กลัวเทวดาให้โทษ กลัว มันล้วนแต่ความไม่รู้จักว่าเช่นนั้นเอง ไอ้ที่น่ากลัวคือไอ้ความไม่รู้เช่นนั้นเองนี่มันกลับไม่กลัว มันไปฝ่าฝืนพระพุทธเจ้า ฝืนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันจะเอาให้ได้ตามที่กูต้องการ มันต้องได้ตามที่กูต้องการ กูไม่ยอม กูไม่ยอมให้เช่นนั้นเอง นี่จึงมีความทุกข์ ทุกคนมีความทุกข์ เพราะไม่รู้จักว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง
ฉะนั้นขอให้ทุกคนรู้จักหัวใจอันเข้มข้นที่สุดของพระพุทธศาสนา เอามากินมาใช้ มาอาบมารด อยู่ที่ร่างกาย ที่จิตใจ หรือว่าจะเอามาปฏิบัติเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิสูงสุดเหลือว่าเช่นนั้นเอง ความเห็นถูกต้อง ความรู้ถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องความเชื่อถูกต้องว่าเช่นนั้นเอง
นี้อยากจะให้ใช้เช่นนั้นเองในทุกกรณี เพราะว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อะไรโผล่ขึ้นมาให้ น่ารัก มันก็ว่าเช่นนั้นเองโว้ย อะไรโผล่ขึ้นมาให้น่าโกรธ มันก็เช่นนั้นเองโว้ย กูไม่โกรธโว้ย โผล่ขึ้นมาให้เกลียดกูก็ไม่เกลียดโว้ย มันเช่นนั้นเองโว้ย แล้วแต่ว่ามันจะโผล่ขึ้นมาให้รู้สึกอย่างไร เราไม่รู้สึกอย่างนั้น เราปกติอยู่ตามเดิม ปกติอยู่ตามเดิม ไม่ต้องการอะไรมากกว่านั้น เช่นนั้นเอง แล้วก็ปกติอยู่ตามเดิม
เมื่อใจมันปกติแล้ว ก็มันก็ทำทุกอย่างถูกต้อง ที่เราทำอะไรผิดพลาดนั้นเพราะจิตมันไม่ปกติเสียแล้วจิตมันโง่เสียแล้ว จิตมันโลภเสียแล้ว จิตมันโกรธมันอะไรเสียแล้วมันก็ทำอะไรไม่ถูกต้อง ถ้าใจยังคงปกติอยู่ก็ทำอะไรถูกต้อง ไอ้สิ่งที่จะทำให้จิตปกติอยู่คือหัวใจของพระพุทธศาสนาที่ว่า เช่นนั้นเองโว้ย ภาษาบาลีว่า ตถตา เอ้า, พวกจีนในประเทศจีนเอาไปใช้บ้าง เรียกว่ายู่สี และมีคนเขียนคำอธิบายเรื่องยู่สีนี้ไว้มากมายละเอียดพิสดาร พวกฝรั่งเลยชอบใจ พวกฝรั่งเลยสรรเสริญพวกจีนว่ามีธรรมะลึก
เรื่องยู่สีที่จริงมันเป็นของพระพุทธเจ้ามันไม่ใช่ของพวกจีน เป็นของพวกจีนที่รู้พุทธศาสนาถึงคำว่า ตถตา ในเมืองจีนสมัยหนึ่ง เขาสนใจพระธรรมในชั้นสูง ชั้นลึก ชั้นอนัตตา ชั้นสุญญาตา ชั้นตถตานี้กันมากกว่าเมืองไทย เพราะว่าเมืองจีนมันคนมันมาก ไอ้คนที่ปัญญาเฉลียวฉลาดมันก็พอจะมี ศึกษาเรื่องนี้มันก็เข้าใจ แล้วมันก็เขียนไว้เป็นตำหรับตำรา กลายเป็นมรดกของคนจีนไปเสีย ที่จริงมันเป็นของพระพุทธเจ้า
นี่บอกเรื่องตถตาให้รู้ว่ามันมีประโยชน์อย่างยิ่ง และมีคนเอาไปใช้ได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จนกระทั่งคนไม่รู้ก็พลอยเคารพนับถือคนนั้นว่าเป็นคนคิดได้ในเรื่องนี้ ที่จริงเรื่องตถตานี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ใครจะไปพูดก็ได้ และเมื่อเขารู้เขาเข้าใจใช้ให้เป็นประโยชน์แล้ว ก็ ก็ ก็มีประโยชน์แหละ ก็เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรดได้
ทีนี้อยากจะบอก สังเกตดูอีกสักนิดหนึ่งว่า ขอให้ย้อนไปถึงเรื่องเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วใหม่ ๆ นี่ ท่านระอา ท่านท้อพระทัย ว่าไม่สอนแล้วโว้ย ไม่มีใครเข้าใจดอก เหนื่อยเปล่า ๆ แหละ ท่านคิดว่าดังนี้ทีแรก มันก็เรื่องนี้เอง คือมันเรื่องตถตานี้เอง แล้วต่อมาท่านคิดว่า บางคนมันคงจะเข้าใจได้ อย่าให้มันเสียทีเลยมันคงจะมีคนเข้าใจได้ ก็เลยสอนเรื่องตถตา เรื่องไม่มีตัวตน เรื่องเป็นเช่นนั้นเอง ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน นี่เรื่องลึกซึ้งที่สุดในพระพุทธศานา ไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือของตน
พระพุทธเจ้าท่านทรงขยักไว้นะ ว่ามีคนบางพวกนะที่อาจจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้นฉันจะสอน ไอ้พวกที่มันไม่อาจจะเข้าใจได้ก็ช่างมัน มันก็สอนไม่ได้ ก็เลิกกัน แล้วพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ มันอยู่ในพวกไหน มันอยู่ในพวกที่จะพอเข้าใจได้ หรือพวกที่ว่าทำอย่างไร ๆ ก็เข้าใจไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ตั้งใจจะสอนคนจำพวกหนึ่ง ซึ่งพอจะเข้าใจได้ ท่านประสงค์จะเป่าปี่ให้พวกนี้แหละฟัง
พระพุทธเจ้าท่านไม่ประสงค์จะเป่าปี่ให้แรดฟังนะ พระพุทธเจ้าทรงประสงค์จะเป่าปี่ให้คนพวกที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยนี่ฟัง อปฺปรชกฺขชาติกา มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยนี่แหละ เป็นเหมือนฝั่งผุผุ นี้เราละทุกคนแหละ เหล่านี้อยู่ในพวกไหน อยู่ในพวกที่ฟังไม่ถูกเสียเลย หรืออยู่ในพวกที่ดวงตามีธุลีแต่เล็กน้อยพอจะมองเห็น พอจะเข้าใจได้ อาตมาหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะอยู่ในพวกนี้ คือพวกที่จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา จะได้ฟังปี่ของพระพุทธเจ้าออก มีเสียงว่า ตถตา ตถตา ตถตา เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง
นี่หัวใจของพุทธศาสนา ย่อมาสั้นที่สุดว่า ตถตา ขยายไปอีกนิดหนึ่งว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ขยายออกไปนิดว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ขยายออกไปอีกเป็น สัพ เย ธัมมา เหตุปับภวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญจะ โย นิโรโธจะ เอวัง วาที มหาสมโณ ขยายไปอีกมันก็เป็นเรื่องอริยสัจจ์สี่อย่างที่สวด ขยายให้กว้างไปอีกก็เป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างที่สวดอีกเหมือนกัน มันยาวออกไปทุกที ยาวออกไปทุกที
ฉะนั้นเราจะเอาหัวใจของพุทธศาสนามาสรุปเหลือสั้น ๆ เล็ก ๆ เหมือนกับพระเครื่องที่แขวนไว้ได้ที่คอนี้ อาตมาแนะว่า ตถตา คำเดียวเท่านั้น ตถตา เป็นเช่นนั้นเอง เกิดอะไรขึ้นมา ขอให้พลั้งปาก ว่า ตถตา มันเช่นนั้นเอง อย่าพลั้งปากเหมือนชาวบ้านเขาพลั้งปากเรื่องไม่มีประโยชน์ แล้วไม่จริงโกหกอย่างยิ่ง เอามาพลั้งปาก น่าเกลียดน่าชัง ถ้าใครจะพลั้งปากก็พลั้งปากว่า ตถตา มันจะช่วยได้ มันเช่นนั้นเอง แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์
นี่เราจะใช้หัวใจของพระพุทธศาสนาในฐานะที่อยู่กับเนื้อกับตัวทุกเวลา ตกใจอะไรก็ตถตา ได้อะไรอย่างดีใจพอใจก็ตถตา มันมาให้รักก็ไม่รัก เพราะเห็นว่าตถตา มันมาให้โกรธก็ไม่โกรธ เพราะเห็นว่าตถตา มันจะมาทำให้เสียใจโศกเศร้าก็ไม่โศกเศร้า เพราะเห็นว่ามันตถตา มันจะมาทำให้ร้องไห้ก็ไม่ต้องร้องไห้ มันจะมาทำให้หัวเราะก็ไม่หัวเราะ กูรู้เท่ามึงอัตตเช่นตถตา จะมาหลอกให้หัวเราะก็ไม่หัวเราะ จะมาหลอกให้ร้องไห้ก็ไม่ร้องไห้ นี่หัวใจของพระพุทธศาสนา ย่อมคุ้มครองได้อย่างนี้
นี่ อาตมาหมายความว่า เราควรจะเลื่อนชั้นทุก ๆ อย่างให้มันเลื่อนชั้นให้มันดีขึ้นมา ให้มันสูงขึ้นมา กว่าที่แล้ว ๆ มา ให้ปีนี้มันดีกว่าปีกลาย ถ้ายังไม่ตายก็ให้ปีหน้าโน้นมันดีกว่าปีนี้ มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกปี และขอให้ช่วยกันทำให้ได้อย่างนี้ให้มันเป็นการเลื่อนชั้นของพุทธบริษัททุกปี
เอาละ, เป็นอันว่าวันนี้ เราได้ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา ให้เป็นที่เข้าใจกันให้ดีที่สุด เพราะว่าในวัน ที่เรียกว่า อาสาฬหปุรณมี คือตรงกับวันนี้นั้น เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้แสดง พระธรรม พระศาสนาของพระองค์เป็นวันแรก และแสดงหัวใจของพุทธศาสนาด้วยลัทธิของพระองค์ว่า มัชฌิมาปฏิปทา แล้วขยายออกไปเป็นอริยสัจจ์ ขยายออกไปเป็นปฏิจจสมุปปาท ถ้าย่นเข้ามาก็มาเป็นธรรมทั้งหลายมีเหตุก็จัดการที่เหตุ ถ้าย่นเข้ามาก็ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แล้วว่า ตถตา อะไร ๆ ก็มีความเป็น ตถตา อะไร ๆ ที่มีอยู่คงอยู่ ปรากฏอยู่นี้ล้วนแต่เป็น ตถตา รูปธรรมทั้งหลายก็เป็น ตถตา นามธรรมทั้งหลายก็เป็น ตถตา ความสุขความทุกข์ ชีวิต ทุกอย่างมันเป็นตถตา คือมันเป็นเช่นนั้นเอง สัมมาทิฏฐิอย่างนี้เกิดแล้ว อริยมรรคทั้งแปดก็จะสมบูรณ์สูงสุด และโลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
เป็นอันว่า การแสดงธรรมเทศนา เรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนี้ แก่ ปัญจวัคคีย์ทั้งห้านั้น มันมีใจความอย่างนี้ เราก็ได้วินิจฉัยพิจารณากันพอสมควรแก่เวลาแล้ว เพื่อจะได้มีความเข้าใจในหัวใจของพระพุทธศาสนาแจ่มแจ้งอยู่ในใจ และก็จะได้ประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ตามที่เราเคยกระทำ เมื่อกำลังประกอบพิธีอาสาฬหบูชาอยู่ ในหัวใจนี้จงเต็มไปด้วย หัวใจของพระพุทธศาสนา ให้หัวใจของเราเต็มไปด้วยหัวใจของพระพุทธศาสนา แล้วพระพุทธเจ้าก็จะอยู่กับเรา พระธรรมก็จะอยู่กับเรา พระสงฆ์ก็จะอยู่กับเรา มันก็เป็นการได้ที่ดี ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่านี้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน กระทำในใจแยบคาย ให้สำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายดังกล่าวนี้ทุกประการ
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เป็นการเตรียมจิตใจของท่านทั้งหลายให้เหมาะแก่พิธีอาสาฬหบูชาแล้ว อาตมาขอยุติไว้ เพื่อจะได้ดำเนินการเกี่ยวกับ พิธีบูชาสืบต่อไป เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้