แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อบรมพระนวกะ ที่หินโค้ง ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๒
ท่านพุทธทาส “ไม่ติด ๒ ตัวเลย”
ลูกศิษย์ “มันไม่ใช่วันอาทิตย์”
ท่านพุทธทาส “นึกว่าจะชดเชยวันอาทิตย์”
มีเรื่องที่จะพูดวะนานิวันนี้ ไม่มีอะไรมากหรอก แต่มันก็มีอะไรบางอย่างที่มันซ่อนเร้นอยู่ คือเท่าที่ผมสังเกตดูและเห็น ก็มีแต่เรียน อุตส่าห์เรียน อุตส่าห์ค้นคว้า อุตส่าห์จำ กระทั่งอุตส่าห์ทำความเข้าใจ แต่แล้วมันยังขาดอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำมันก็คือการปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ น่ะที่เราศึกษาเล่าเรียนจดจำ อยากจะให้เข้าใจกันมาเสียตั้งแต่ต้นเงื่อนทีเดียว คือว่าธรรมะทั้งหลายน่ะ หลักธรรมะที่เราเรียกกันว่าความรู้ทางธรรมะพระธรรมนี่ มันเกิดขึ้นได้จากการสังเกตของมนุษย์เรา ในรูปแบบเหมือนกับวิทยาศาสตร์อย่างนั้นแหล่ะ คือต้องมองเห็นสิ่งนั้นๆ ไม่เกี่ยวกับการคำนวณ ถ้าคำนวณ มันก็เป็นเรื่องของปรัชญา หรือตรรกะ หรืออะไรไปเสีย มันต้องเป็นสิ่งที่เรากระทบกันเข้าแล้วรู้สึก แล้วก็รู้ได้เอง ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ลบหลู่พระคุณของพระพุทธเจ้า หรือพระศาสดาแต่กาลก่อน ซึ่งเราได้อาศัยความรู้ของท่าน ที่จริงความรู้ที่เรียกว่า ธรรมะนี่ มนุษย์อาจจะรู้ได้ด้วยตนเอง ธรรมชาติมีไว้ให้เพียงพอที่มนุษย์จะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่แล้วมนุษย์ก็เหลวไหลเสียเอง คือไม่ ไม่ไม่ ไม่หยิบขึ้นมาสนใจในส่วนที่เป็นเรื่องทางจิตใจ คงทำกันไปแต่ในเรื่องทางวัตถุ มันก็เลยก้าวหน้า เจริญ ก้าวหน้าจนเลยเถิด ไอ้เรื่องทางจิตใจมันก็ชะงักอยู่ หรือยังคงมืดมัวอยู่ ที่ว่ามันจะรู้ได้โดยธรรมชาตินั้น ก็ตั้งต้นมองดูตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ ทางวัตถุ ถ้าคนป่า ไอ้นี่ต้องมีขาดที่ไหนนะ อย่างคนป่ามันเปียกฝนมันก็มุดเข้าไปในถ้ำหรือในโพรงไม้หรืออะไรก็แล้วแต่ มันมันนึกได้เองมันสังเกตได้เอง ต่อมามันนึกถึงที่ว่าจะทำเพิงอยู่มันทำกระท่อมอยู่ มันก็เป็นเรื่องที่นึกค่อย ๆ นึกขึ้นมาได้เอง เพราะว่าก่อนนั้นมันไม่มีตัวอย่าง จะว่าใครสอนมันก็ไม่มี มันค่อย ๆ นึกขึ้นมาได้เอง สำหรับคนแรกมันก็ทำขึ้นค่อย ๆ ทำขึ้นคนทีหลังก็เอาอย่าง นี่เรียกว่าตามธรรมชาติแล้วมันมีพอที่ว่าเราจะรู้สึกคิดนึกได้เอง แล้วก็ทำขึ้นมาก็ทำเป็นแบบฉบับมา แล้วก็ก้าวหน้าเรื่อย นี่มันเป็นเสียแต่เรื่องทางวัตถุ ไอ้เรื่องทางจิตใจไม่ค่อยคิด ไม่ค่อยนึก เพราะว่ามันไม่ค่อยจะมีปัญหาเดือดร้อนรุนแรงเหมือนกับเรื่องทางวัตถุสำหรับคนเหล่านี้ในระดับนี้
ต่อมาเมื่อคนมันฉลาดขึ้นจึงค่อยมองเห็นเรื่องทางจิตใจ ไอ้เรื่องทางจิตใจมันมาทีหลัง นี่ก็มีเรื่องระหว่างวัตถุกับจิตใจ เช่นว่า การอยู่ด้วยกันโดยไม่สามัคคีการเบียดเบียนกันอย่างนี้มนุษย์ค่อยสังเกตเห็นได้เอง แล้วก็พยายามอยู่อย่างสามัคคีกันไม่เบียดเบียนกันมีศีลธรรมเกิดขึ้น เป็นเรื่องทางกาย หรือภายนอกอยู่มาก ยังไม่ใช่เรื่องทางจิตใจ จนกว่าจะมีคนฉลาดต่อไปอีก สังเกตเห็นในความรู้สึกทางจิตใจ ที่มันเกิดขึ้นแล้วมันร้อนหรือเป็นทุกข์มากเหลือเกิน คนเริ่มสังเกตเห็นไอ้ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยานี่ที่เรียกกันว่ากิเลส มันก็เลยพบไปเองว่า ว่าเราอย่าไปคิดอย่างนั้น หรือเราบังคับความคิดไว้อย่าไปคิดอย่างนั้นน่ะ หรืออย่าให้รู้สึกอย่างนั้นน่ะ ไอ้เรื่องทางจิตใจมันก็เกิดขึ้น ซึ่งคนทุกคนควรจะรู้จักคิดรู้จักสังเกตแล้วก็คิด จนรู้เรื่องของตัวว่าไอ้ความคิดอย่างนี้ไม่ไหวไม่อยากคิดไอ้ความคิดอย่างตรงกันข้ามดีกว่า หรือรู้จักไอ้เรื่องฟุ้งซ่านกระวนกระวายของจิตใจ รู้จักบังคับจิตให้สงบลงที่เรียกว่าสมาธินี่มันก็พบขึ้นมาตามลำดับ เหมือนพูดได้ว่ามันไม่มีใครสอนน่ะทีแรก เพราะมันว่ายังไม่มีใครรู้ แต่เหตุการณ์มันบังคับให้คนบางคนคิด ค้น แล้วก็พบ ทำได้ เพื่อนเอาอย่าง หรือค่อยสอนกันมาทีหลัง ที่พูดอย่างนี้หมายความว่า ในธรรมชาติน่ะมันมีให้เราสำหรับจะคิด จะค้น จะรู้ได้โดยธรรมชาติ โดยที่คนหนึ่ง ๆ ก็อาจจะรู้ได้ แล้วเขาก็พบอะไรมากขึ้น ๆ จนเรื่องสมาธิสูงสุดถึงขนาดเป็นสมาบัตินี่ เขาก็พบกันแล้วก่อนพุทธกาลกระมัง จนกว่าจะมาพบเส้นทางสติปัญญาทางวิปัสสนาเพิ่มขึ้น
นี่เราในยุคนี้มันจะโง่มากหรือว่าอะไรไปหรือว่าเกินโง่ที่ไม่มีอะไรที่สังเกตได้ด้วยตนเองเลย แล้วก็หวังแต่จะเรียน แล้วก็เรียนอย่างท่องจำ มันก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั่นแหล่ะ ท่านลองย้อนกลับไปเป็นมนุษย์สมัยโน้นกันดูบ้าง ๒,๐๐๐ ปี ๓,๐๐๐ ปี มันก็ยังได้ ๔,๐๐๐ ปีก็คงจะถึงผมคิดว่า คำนวณดูแล้วว่า ๔,๐๐๐ ปีมาแล้วมนุษย์รู้เรื่องทางจิตใจพอสมควร ไอ้ ๒,๕๐๐ ปีนี่เรียกว่าสูงสุดคือพระพุทธเจ้า ทำไมเราไม่เป็นคนอย่างนั้นกันบ้างล่ะ คือไม่เป็นคนเมื่อสามสี่พันปีมาแล้วนี่ มาเป็นคนเดี๋ยวนี้มันก็จะยิ่งเป็นเสียกว่าชุบมือเปิบกระมัง อะไร ๆ ก็จะมาเรียนเอา เรียนเอา เรียนเอา เรียนเอา ยิ่งเรียนยิ่งโง่เพราะมันไม่เข้ารูปกันกับไอ้เรื่องของธรรมชาติ ที่มันต้องเกิดเป็นปัญหาขึ้นในจิตใจของเราก่อน แล้วเราก็แก้ปัญหาโดยธรรมชาติตามธรรมชาติตามความรู้สึกคิดนึก ตามธรรมชาติหรือที่ขึ้นอยู่กับไอ้ไอ้สัญชาตญาณน่ะเป็นส่วนมาก ลองมีหลักว่าเราจะเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาเองบ้าง ไอ้ความคิดอย่างนี้ เกิดขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์แล้วทำไมเราไม่คิดหาวิธีที่จะกำจัดความคิดอย่างนี้เล่า นี่มันจะรู้เร็วขึ้นจะรู้ตรงกับที่เขาเคยรู้กันมาก่อนแล้วก็รู้จริงไม่ใช่รู้จำ เดี๋ยวนี้ดูจะเป็นรู้จำไปเสียหมด จดหรือจำ จำ จำ จำ แล้วกลับไปบ้าน แล้วก็ไปเก็บ ๆ ไว้อย่างนั้นแหล่ะไม่ได้เอาออกใช้ หรือไม่ได้ทำให้มันเป็นเรื่องจริงขึ้นมา นี่กลัวว่าจะได้ประโยชน์น้อย และในการบวชนี่จะได้ประโยชน์น้อย จะต้องกระทำให้มันได้ประโยชน์มาก คือทำเสมือนหนึ่งเป็นเรื่องที่เราคิดค้นเองขึ้นมาเอง แล้วมันก็จะไปตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ แน่นอนน่ะถ้ามันถูกแล้วมันไปตรงกันเอง ถ้ามันยังไม่ถูกมันก็ไม่ตรง ถ้าเราคิดได้เอง มองเอง อะไรเองขึ้นมาอย่างนี่ มันรู้มากกว่า รู้ลึกกว่า รู้ชัดกว่า รู้จริงกว่า ที่หวังว่ามาจดเอาไปจากโรงเรียน จากไอ้หนังสือหนังหา นั่นมันเป็นความจำ ไม่ได้รู้จักสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ นี่คือไม่รู้ธรรมะชนิดที่เรียกว่าเป็นธรรมะ ไอ้ธรรมะจริง ๆ ต้องเป็นสันทิฏฐิโกเป็นบุคคลพึงเห็นเองนั่นน่ะ หรือปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ คนมีปัญญาแต่เห็นได้เฉพาะตน พระพุทธเจ้าท่านก็เห็นเฉพาะท่านเราก็เห็นเฉพาะเรานี่ แม้ว่าเราจะรับคำสั่งสอนมาจากพระพุทธเจ้ามันก็ยังเป็นไอ้ไอ้รู้จำอยู่น่ะ ก็ต้องมาทำจนให้มันเป็นเรื่องจริง แล้วก็รู้จักรู้จริงเหมือนพระพุทธเจ้าท่านรู้นี่จึงจะเป็นสันทิฏฐิโก คือเห็นเองหรือปัจจัตตัง เวทิตัพโพ รู้เฉพาะตน เฉพาะตน เฉพาะตน
นี้คำว่า อกาลิโก อยู่บทหนึ่ง คือไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดยุค ไม่จำกัดสมัย ความจริงของธรรมชาติไม่จำกัดยุค ไม่จำกัดสมัย กี่พันปี กี่หมื่นปี ไอ้ความทุกข์มันก็ยังอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์มันก็อย่างนี้ ทางดับทุกข์ ความดับทุกข์มันก็เป็นอย่างนี้ งั้นเราควรจะหยิบขึ้นมาหรือค้นให้พบ แล้วมันก็เหมือนกัน เหมือนกับที่ผู้อื่นพบ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ อย่าเข้าใจว่าเราเรียน อย่างที่เรียน ที่อ่าน ที่เขียน ที่อะไรกันแล้วมันจะจะรู้ มันยังไม่รู้ มันเพียงแต่จำได้ หรือเข้าใจ ยังไม่ประจักษ์ เข้าใจมันไปตามเหตุผล หรือคิดไปตามเหตุผล ตรึกไปตามอาการ มันก็เข้าใจได้อย่างสามัญสำนึกก็มี อย่างปัญญาคำนวณด้วยตรรกะ ด้วยอะไรก็มี มันก็เข้าใจได้ แต่ยังไม่รู้จริง ไม่รู้แจ้งโดยประจักษ์อย่างที่เรียกกันว่า ตรัสรู้ ยังจะต้องทำต่อไป ที่ว่าทำหรือปฏิบัตินี่มันไม่ไม่ใช่ทำของนี่มันไม่ใช่ทำสิ่งของ มันเป็นเรื่องประพฤติด้วยกาย วาจา ใจ แล้วเกิดผลขึ้นมา เรารู้สึก เรารู้จักผลอันนั้น เมื่อนั้นน่ะจึงจะเรียกว่ารู้ธรรมะ มันต้องเอาไปปฏิบัติน่ะใช้คำอื่นก็ไม่เหมาะไม่มีคำอะไร เอาไปปฏิบัติ เอาไปทำให้มันเป็นการกระทำคือปฏิบัติทางศาสนา ไอ้การกระทำกรรมกระทำอะไรอย่างนั้นมันก็มันอีกอีกคำหนึ่ง มันก็กระทำเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เป็นการปฏิบัติทางธรรม ทางศาสนา หรือเขาเรียกกันว่าไอ้ Commitment แทนที่จะเรียกว่า Conduct อะไรทำนองนี้เลย คือมันมันเป็นการปฏิบัติตามหลักของพระศาสนา ที่นี้เราจะต้องปฏิบัติตามที่ได้รู้มา ได้เรียนมา เรื่องปฏิบัตินั้นก็ตามหลักที่เรียนไปแล้วน่ะเช่นอย่างว่า สัมมัปปธาน ๔ พยา พยา พยายามไม่ให้บาปเกิดขึ้น พยามละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว พยามทำให้กุศลเกิดขึ้น และรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้อยู่ตลอดไป อย่างนี้มันยังไม่ค่อยได้ทำ หรือบางทีก็กล่าวเป็นหลักกลาง ๆ ไว้ว่า ไอ้เรื่องที่เราจะต้องคอยระวังก็ต้องคอยระวังกันจริง ๆ ไอ้เรื่องที่คอยจะต้องที่จะต้องเว้นก็เว้นกันจริง ๆ ที่จะต้องคอยบรรเทา บรรเทา บรรเทา เพราะเรื่องบางเรื่องมันมีได้แต่เพียงบรรเทา บรรเทา บรรเทา ก็ต้องบรรเทากันจริง ๆ อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าฟังมาพอสมควรแล้วก็จะรู้ได้เองน่ะว่าอะไรที่จะต้องเว้น หรือเว้น เว้นขาด เช่น เว้นปาณาติบาต อทินนาทานเป็นต้น นี่ก็เว้น ไอ้เรื่องระวังไม่ให้เข้ามาก็เป็นเรื่องอันตรายอะไรก็ได้ หรือความคิดนึกที่มันจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้ก็ก็ต้องรู้สึกตัวและระวัง มันจึงต่างกับที่ว่าบางเรื่องบางชนิดมันเว้นขาดได้ บางเรื่องยิ้มได้แต่คอยระวังไว้ระวังไว้ไม่ให้มันเกิดขึ้น จนมันจะไม่เกิดขึ้นได้เป็นนิสัย และคอยบรรเทานั้นน่ะหมายถึงว่าบางเรื่องบางชนิดอีก มันจะเว้นขาดก็ไม่ได้มันมีลักษณะให้คอยบรรเทา เช่น อกุศลวิตกอย่างนี้ ความคิดที่เป็นอกุศล ก็เป็นเรื่องที่คอยบรรเทา บรรเทา หรือเรื่องอนุสัย ความเคยชินของกิเลส ที่จะเกิดกิเลสนั้นก็ใช้คำว่าบรรเทาเหมือนกัน บรรเทาอนุสัย ถ้าเราไม่ทำกิเลสไม่ทำให้เกิดกิเลสครั้งหนึ่ง อนุสัยภายในที่เป็นความเคยชินของกิเลสก็บรรเทาลงนิดหนึ่ง หน่วยหนึ่งว่างั้น ถ้าเราไปทำเป็นเรื่องกิเลสเข้าหน่วยหนึ่งมันก็เพิ่มขึ้นมาหน่วยหนึ่ง ถ้าเราเว้นได้มันก็เลยลดลงไปหน่วยหนึ่ง นี่เรียกว่าบรรเทา บรรเทาเรื่อยไป การไม่ทำความชั่วครั้งหนึ่ง จะบรรเทานิสัยแห่งความชั่วลงไปหน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ทุกทีไปที่ไม่ทำความชั่ว นั้นเอาไปจับกันดูให้ดีเองว่า เราจะต้องเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ชัดเหมือนกับที่คนสมัยโน้นน่ะ คนสมัยแรกที่เขาได้พบเรื่องนี้บัญญัติเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างนั้นน่ะ เราก็ทำทำอย่างนั้นเหมือนกันจะได้ผลเต็มที่ คนแรกที่จะรู้จักบาป รู้จักความชั่ว ถ้าเขาเอาจริงขึ้นมานี่ที่จะละ จะเว้น จะบรรเทา จะสำรวม จะระวัง ที่เราเรียนกันเดี๋ยวนี้ ก็เรียกว่ามาก จะจะเกินไปแล้ว มากเกิน ถ้าไม่เอาไปทำให้เป็นการปฏิบัติ ในอนาคต เขาก็จะจะได้ผลน้อยมาก หรือจะเตรียมปฏิบัติเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็ได้ ในอนาคตมันก็จะได้มีการปฏิบัติให้มันตรงจุดตรงเรื่องมากขึ้น นี่พูดสำหรับคนที่จะลาสิกขาไป มันต้องเตรียมสำหรับที่จะจัดการเล่นงานกับกิเลส หรือว่าความชั่ว หรืออกุศล หรืออะไรก็แล้วแต่จะเรียกให้มันจริงๆ จังๆ ขึ้น เสมือนว่าเป็นเรื่องที่เราค้นพบเอง
อย่างพบความจริงทางวิทยาศาสตร์น่ะ เช่น ความโลภมันเกิดขึ้นมาอย่างไรนี่ อย่าเอาตามในหนังสือเลย เอาตามความรู้สึกของเรา มันเกิดขึ้นมาอย่างไร คืออะไร ลักษณะอย่างไร รสของมันอย่างไร มันกระทำฤทธิ์ทำเดชอย่างไรนี่ ให้มันรู้จักชัดลงไปอย่างนั้น เรียกว่าเรียนใหม่ ซึ่งอาจจะพบได้ดี ได้ชัด ได้มากกว่าที่เรียนจากหนังสือเสียอีก ความรักก็เหมือนกัน มันก็เรียนให้ถูกเรื่องของมันว่ามันคืออะไร มันบ้าหรือดี มันฟุ้งซ่านหรือมันสงบ ไปเรียนจากของจริงอย่างนี้ นั้นชื่อของกิเลสทุกชื่ออุตส่าห์จดจำไว้แม่นยำ ไปค้นหาตัวจริงของมันให้ได้ ไอ้บัญชีที่ดีประหมวดอุปกิเลส ๑๖ นะ อภิชฌาวิสมโลภะ โทสะ โกธะเรื่อยไปจนถึง ๑๖ น่ะ แต่ละเรื่อง ละเรื่อง ละชื่อ ละชื่อไป จับตัวมันให้ได้ เผชิญกับมันจริงๆ แล้วก็ข่มขี่เอาด้วยความรู้ของเรานี่ เหมือนกับว่าเรามันรู้จักศัตรู รู้จักสิ่งที่เป็นอันตราย แล้วเราก็จัดการกับมัน ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร ที่มันจะนอนอยู่แต่ในหนังสือในสมุดน่ะ ไม่เอาไปทำให้เป็นประโยชน์อะไรได้ ที่เราพูดกันโดยตัวหนังสือนี่มัน มันมากนะ มันมากจนเรียกว่าเกินเกินความจำเป็นแล้ว ที่นี้ก็เอาไปทำให้มันมีผลขึ้นมา คือ ไม่เป็นหมัน ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นหมัน นั้นเริ่มเอามาพิจารณากันได้แล้ว ได้ฟังอะไรไปแล้ว ได้จดจำอะไรไปแล้ว มันเป็นเรื่องอะไร ยังไง ทำตัวเหมือนกับว่าเราจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เสียเอง ค้นเอง พบเอง จัดการเอง ดำเนินการเอง นั้นไม่ใช่ลบลู่พระคุณของผู้ที่ได้ตรัสรู้ และสอนไว้ให้ อันนั้นเราก็ได้บัญชีมายังไง ได้รายชื่อได้บัญชีได้อะไรมา แล้วเราก็จะทำอย่างท่านบ้าง คือ รู้จักสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ แล้วจัดการลงไปกับสิ่งเหล่านั้นจริง ๆ
แม้แต่เรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง ๓ ข้อนี้ มันก็พอที่จะบุก บุกเข้าไป ทำลาย ตามแบบวิธีต่าง ๆ ที่เราได้ยินได้ฟังมา แต่ว่าบางอย่างเราต้องระวังป้องกัน บางอย่างก็เผชิญกันซึ่งหน้า ละมันเสีย บางอย่างก็ทำลับหลังบรรเทาด้วยการตัดอาหารของมันเสีย อะไรเป็นเครื่องอาหาร เป็นอาหาร เป็นเครื่องปรุงแต่ง เครื่องหล่อเลี้ยงมันน่ะก็ตัดทำลายสิ่งเหล่านั้นเสีย นี่เป็นวิธีการมีอยู่หลายๆ รูปแบบ เมื่อทำไปแล้วมันก็สำเร็จประโยชน์ในการที่จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลงไอ้ตัวประธาน แล้วแต่ว่าเราจะชอบวิธีการอย่างไร หลักอย่างไร คิดเอาได้เฉพาะตน มองเห็นได้เฉพาะตน ไม่ไม่ไม่ต้องเหมือนกันไปทุกคน แต่มันเหมือนกันทุกคนตรงที่ว่า ทำลายสิ่งเหล่านี้โดยวิธีการที่เราถนัดต่าง ๆ กัน เดี๋ยวนี้ก็พอจะมองเห็นได้กระมังว่า ถ้าเป็นเรื่องทางวัตถุ เขาก็ศึกษา ค้นคว้า และปฏิบัติกัน สุดเหวี่ยง จนกระทั่งไปโลกพระจันทร์ได้ไปอะไรได้อย่างนั้น เรื่องมันมันไม่น่าจะเป็นได้ มันก็เป็นไปได้ มันเป็นเรื่องทางวัตถุ มันมองเห็นชัด พอใจกันนักก็ทำกันไปจนได้ถึงขนาดนั้น แต่เรื่องทางจิตใจนี้ไม่มีใครจะมองเห็นหรือจะสนใจก็ไม่ค่อยได้ทำ จนกระทั่งไม่อยากทำเอาเวลาไปทำในเรื่องทางวัตถุกันเสียหมด เราก็ขาดไปในทางจิตใจ จนเดี๋ยวนี้คุณก็จะเห็นทั้งโลกนี้มันทำให้รักกันไม่ได้ ทั้งโลกนี่ไม่มีความรักในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์กันอย่างนี้มันก็ไม่มี มันมีแต่ความเห็นแก่ตัว จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งกำลังทำลายโลกอยู่ ก็ไม่เห็น ก็ยังทำไปตามเดิมน่ะ คือเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวกันไปหมด
ไอ้เห็นแก่ตัวนี่มันทำชั่วได้ทุกอย่างไม่ว่าอะไร ความเห็นแก่ตัวทำชั่วได้ทุกอย่าง นับตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ จนถึงเรื่องใหญ่โตที่สุด มันเป็นเรื่องส่งเสริมกิเลส จนให้เกิดกิเลส ส่งเสริมกิเลส เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น แล้วเมื่อไม่สนใจ มันก็ ก็ไม่มีน่ะ คือไม่มี ศีลธรรมไม่มีในโลก เพราะว่าคนไม่สนใจไอ้สิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม เขาไม่คิดว่ามันจะช่วยโลกหรือมีประโยชน์แก่โลก ก็คิดแต่ว่าความก้าวหน้าทางวัตถุจะช่วยตัวเขาหรือว่าจะทำให้โลกมันเจริญ ส่วนเรื่องศีลธรรมนี่เขาไม่มองเห็นประโยชน์ จะรักผู้อื่นไปทำไมก็ไม่มองเห็นประโยชน์ ก็ไม่รักกัน แล้วก็เอาเปรียบกัน เบียดเบียนกัน แข่งขันกันอะไร ทำลายล้างกันมากขึ้น นี่มันมันมาถึงบัดนี้แล้วก็เรียกว่าเป็น ๒,๐๐๐ ปี ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว แต่เรื่องทางวัตถุมันก้าวหน้าเรื่อย ก้าวหน้าเรื่อย จนเกิดไอ้สิ่งต่าง ๆ ขึ้นในโลก ก้าวหน้าถึงกับว่าเป็นเรื่องอวกาศเรื่องปรมาณู เรื่องอิเลคโทรนิคอะไรต่าง ๆ จนมันก้าวหน้าเหลือประมาณเลย แต่พอมาดูในทางจิตใจมันไม่ได้ก้าวหน้า แล้วมันถอยหลังคือลดลงไปเสียอีก สมัยก่อนนั้นเขารักกันมากกว่านี้ เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายกันมากกว่านี้ สมัยก่อนโน้นโบราณโน้นรู้จักทำจิตเป็นสมาธิให้เยือกเย็น สบาย มีความสุขทางจิตใจมากกว่านี้ เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้เพราะว่าไม่ค่อยสนใจไม่มีใครสนใจไม่ทำจนแบบฉบับสูญหายไป นี่เรียกว่าไม่ก้าวหน้าแล้วยังถอยหลังจนหมดหมดไปเสียอีก วัฒนธรรมหรือทางจิตน่ะมันถอยหลัง แต่วัฒนธรรม ทิฐิ อารยธรรมมากกว่าทางวัตถุมันก้าวหน้า อารยธรรมก้าวหน้าแล้วก็ทำลายวัฒนธรรมในทางจิต วัฒนธรรมแม้จะเนื่องกับวัตถุ มันก็มีความหมายในทางจิต เล็งถึงทางจิต เล็งถึงสติปัญญา ส่วนอารยธรรมนั้นเป็นเนื้อหนัง เป็นเรื่องวัตถุเอร็ดอร่อยทางเนื้อทางหนังทางวัตถุ อันนี้น่ะมีฤทธิ์มากครอบงำมนุษย์ทั้งโลกหมุนไปตามนั้นหมด
เดี๋ยวนี้เราเจริญด้วยอารยธรรมซึ่งเป็นเรื่องเนื้อหนัง แต่ตัวหนังสือคำนี้มันก็ มันก็ตลกหรือหลอก หลอกลวงสิ้นดี คำว่าอารยธรรมนั้นมันคือวินาศธรรมมากกว่า แต่เขาไปเอาคำว่า อารยะ มาใช้เข้าแล้ว แล้วก็ใช้ต่อๆๆ กันมาจนบัดนี้เรียกว่าอารยธรรม เป็นเรื่องก้าวหน้าทางวัตถุส่งเสริมกิเลสทั้งนั้น แต่คำว่าอารยะนั้นมันแปลว่าประเสริฐสูงสุดในทางจิตใจนะ ไม่ใช่ไม่ใช่เรื่องทางวัตถุ แต่มันก็โทษใครไม่ได้เพราะภาษาบัญญัติกันขึ้นมาใช้ในภาษาไทยเรา จนทำให้เราลำบากแต่ว่าอารยธรรมตัวหนังสือมันจะสูงไปกว่าวัฒนธรรมเสียอีก แต่แล้วมันก็เป็นเรื่องอันตราย เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาก็เริ่มพูด เริ่มรู้สึกกันแล้วที่ว่าเขาเขามีแต่ civilization เขาสูญเสีย a culture culture ไปทุกที ทุกที ถ้าพูดเป็นไทยก็ว่า เจริญด้วยอารยธรรม แล้วก็สูญเสียวัฒนธรรม หรือภูมิธรรม หรือคุณธรรม อะไรก็ไม่ทราบน่ะ ภาภาษามันยุ่งหมดแล้ว จะเป็นเรื่องทางฝ่ายจิตใจ ความสูงทางจิตใจที่บริสุทธิ์ ที่สะอาด ที่จะไปสู่ความสงบสุขน่ะ มันมันลดไป มันสูญไป แล้วไอ้ civilization ทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนังนี่ หนาขึ้น หนาขึ้น หนาขึ้น โลกก็เลยมีแต่เรื่องก้าวหน้าทางวัตถุ ไม่มีความก้าวหน้าทางจิตใจ แล้วมันก็พอดีกันน่ะ ไอ้เรื่อง ไอ้ civilization นั้นน่ะ ยิ่งมากเท่าไร คนก็ยิ่งเห็นแก่ตัวมากเท่านั้น มันจึงยากที่มันจะกลับไปมีไอ้วัฒนธรรมรักผู้อื่น อย่างนี้ก็อย่าให้ต้องใครมาช่วยสอนเลยมองเห็นเอง เป็นสันทิฏฐิโกเองดีกว่าจะได้คิดแก้ไขได้ถูกต้อง ในเราหรือว่าในครอบครัวของเรา ผู้ที่มีครอบครัว ไปดู พิจารณาดูให้ดี อย่าให้ไอ้ civilization มันท่วมทับไอ้ culture มันจะลำบากครอบครัวนั้นจะลำบาก นั้นถ้าหัวหน้าครอบครัวมันไม่รู้เรื่องนี้มันก็นำไปตามที่กิเลสตัณหาจะพาไป มันต้องยุ่งแน่ธรรมะไหน ๆ ก็ช่วยไม่ได้ ช่วยป้องกันไม่ได้ ถ้าเราทำผิดในส่วนนี้
ไอ้เรื่องทาง culture ผู้มีธรรมทางจิตนี่มันเกือบจะอวดได้ว่าฝ่ายตะวันออก คือ ฝ่ายเอเซียนี่ มันนำหน้าและมันสูงกว่าฝ่ายตะวันตกมาก ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว แต่ว่าฝ่ายตะวันตกก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย มันก็มีอยู่ในบางระดับ บางลักษณะ ไปค้นคว้าศึกษาดูโดยประวัติศาสตร์นั่นน่ะว่าใครเคยมี culture ภูมิธรรมทางจิตใจไปไกลถึงไหนน่ะ พระศาสดาพระพุทธเจ้าระดับพระศาสดานี่ก็อยู่ทางข้างฝ่ายตะวันออกนี่ทั้งนั้น พระเยซู พระมูฮัมหมัด โซโรสเตอร์ ทั้งหลายมันมาอยู่ในซีกตะวันออกนี่ทั้งนั้น ไอ้ตรงนั้นปันแดนกันก็ได้ แต่มันเอียงมาฝ่ายตะวันออก กระทั่งมามีในอินเดียมากมาย ไม่รู้กี่พระศาสดานี่ ขงจื้อ เลาจื้ออะไรก็ล้วนแต่ตะวันออก ความรู้ด้านจิตใจมันหนาแน่นอยู่ที่ฝ่ายตะวันออก ฝ่ายตะวันตกเขากลัวขึ้นมา เขาก็ก้าวหน้าทางฝ่าย civilization นี่เราก็ไปลงกับเขาด้วยสมัครเป็นสุนัขรับใช้ เป็นผู้ตามหลัง ไปหลงใหลในเรื่องวัตถุเขาด้วย ก็สูญเสียไอ้เรื่องทางจิตใจที่เคยสูง วัฒนธรรมไทยถูกทำลายไปด้วยอารยธรรมฝรั่งที่เพิ่งเข้ามา นั้นจึงมีอะไรที่เลวทรามมากทางศีลธรรม เรื่องพ่อข่มขืนลูกสาวตัวเองนี่ดูมันหนาขึ้นหนาบ่อยขึ้น ในหน้าหนังสือพิมพ์ นี่มันอะไรมันยั่วยุ หรือมันย้อมจิตใจให้ทำอย่างนั้นได้ มันเป็นเรื่องของไอ้เรื่องเนื้อหนังกรรมเกิด เห่อทะเยอทะยานทางวัตถุทางเนื้อหนัง เอร็ดอร่อยทางวัตถุทางเนื้อหนัง ก่อนนี้เขาถือเป็นเรื่องเลวทรามที่สุด บาปกรรมที่สุด อะไรที่สุดมันเป็นวัฒนธรรมเป็นขนมธรรมเนียมประเพณีที่ทำไม่ได้ มากมายไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ นั้นก็มีจิตใจสูงมีภูมิธรรมเพราะจิตใจสูง ชนชาติไทยเคยเป็นอย่างนั้น นี่ก็ชนชาติไทยจะไปตามก้นฝรั่ง เทิดทูนไอ้เรื่องวัตถุความเจริญทางวัตถุก้าวหน้าทางวัตถุ เรื่องทางจิตใจมันก็หมดไป ไอ้คอร์รัปชันมันก็เข้ามาแทนที่ เหมือนสมัยที่ยังกลัวบาปอยู่ไม่ต้องมีใครมาคุมมันก็ไม่ทำคอร์รัปชัน เดี๋ยวนี้มันทำคอร์รัปชันกันทั้งที่คุมกันอยู่รอบด้าน มันก็รวมหัวกันคอร์รัปชันได้ นี่เรียกว่าไอ้โลกมันจะวินาศ มันจะเกลียดชังกันยิ่งขึ้น ไม่รู้จักรักผู้อื่น ไม่รู้จักเห็นแก่ผู้อื่น สักวันหนึ่งมันก็ถึงขีดสุดที่จะทนได้ มันก็ลุกขึ้นฆ่ากัน วันนี้ผมก็อยากจะพูดนิดเดียวน่ะ ที่บอกแล้วว่าไม่มีเรื่องอะไรมากล่ะว่าเรื่องนิดเดียว คือพูดเรื่องสันทิฏฐิโก คุณพยามเข้าใจคำว่า สันทิฏฐิโก มันมีความหมายมาก มองเห็นได้เอง ระลึกได้เอง ทำได้เอง ก้าวหน้าได้เอง อะไรได้เอง อย่างที่พูดเมื่อตะกี้ว่า ไอ้คนป่ามันเปียกฝน มันก็เห็นได้เอง รู้สึกได้เอง คิดได้เอง เข้าไปอยู่ในโพรงไม้เข้าไปอยู่ในถ้ำ แล้วก็มีสันทิฏฐิโกของมันต่อไปอีก จนทำกระท่อมอยู่ก็ทำบ้านเรือนอยู่ แล้วก็วิวัฒนาการมาจนเดี๋ยวนี้มาเป็นตึกร้อยชั้น หลายร้อยชั้น มันก็ตั้งต้นมาตั้งแต่คนป่า มีสันทิฏฐิโก รู้จักมุดเข้าไปในถ้ำ แล้วทำกระท่อม แล้วทำบ้านเรือน แล้วก็ทำตึก ไอ้ลูกหลานเดี๋ยวนี้ ของคนป่านั่นเอง ก็รู้จักทำตึกร้อยชั้น สองร้อยชั้น มันอาจจะมีถึงสามร้อยชั้นก็ได้ต่อไป นั้นด้วยเหตุสันทิฏฐิโก ด้วยอำนาจสันทิฏฐิโก ถ้าไม่สันทิฏฐิโก มันจะไม่จริงแล้วมันจะปฏิบัติไม่ได้ มันจะทำไม่ได้ นั้นอะไรที่จะเป็นไปได้มันต้องมีอาการเป็นสันทิฏฐิโก ประจักษ์แก่ใจ แล้วก็ทำไป ทำไป ทำไป ทำไป แต่มันน่าเสียดายที่มันเป็นไปแต่ในทางวัตถุ มันไม่มาเป็นไปในทางธรรมะคือทางจิตใจ ไอ้เรื่องวิทยาศาสตร์ทั้งหลายน่ะมันคือความหมายของคำว่า สันทิฏฐิโก ค้นคว้า ทดลอง พิสูจน์ให้จนเห็นประจักษ์มันจึงทำอะไรได้ ก้าวหน้าได้อะไรได้ นี่สันทิฏฐิโกทางวัตถุไปไกลขนาดนี้ สันทิฏฐิโกทางธรรมะตายด้านและถอยหลัง ถอยหลัง ไม่ได้สักเสี้ยวหนึ่งของครั้งพุทธกาล นี่ผมคิดว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าคุณคิดว่าไม่มีประโยชน์นั้นก็ตามใจล่ะ คิดว่ามีประโยชน์ที่จะต้องรู้เรื่องนี้จะต้องหยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา สำหรับจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อ ๆ ไปในอนาคต บางองค์ที่จะอยู่เป็นพระต่อไปก็ดี บางองค์จะสึกไปอยู่บ้านก็ดี มันมีเรื่องนี้ มีเรื่องที่จะต้องรู้อย่างนี้ จะต้องเอาความรู้น่ะ ที่จำน่ะ เพียงแต่จำได้แล้วทำให้เป็นสันทิฏฐิโก แล้วก็มีการปฏิบัติถูกต้องแน่นอน ถ้ามันเป็นสันทิฏฐิโกแล้วจะประสบผลของการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นไปในทางฝ่ายวัตถุ หรือจะเป็นไปในทางฝ่ายจิตใจ แต่เดี๋ยวนี้ปัญหาของโลกมันอยู่ที่เรื่องจิตใจมันยังขาดแคลน ในเรื่องของวัตถุนั้นเรียกว่ามันเฟ้อแล้วก็ได้ เฟ้อจนลำบาก จนยุ่งยาก จนว่าไอ้วัตถุอุปกรณ์มันจะหมดไปจากโลก เช่น น้ำมันที่กำลังจะหมดไปจากโลกอย่างนี้ เพราะมันเฟ้อในเรื่องนี้ แล้วมันยังจะยุ่งยาก ลำบากมากขึ้น คือว่า อะไรก็จะหมดตามๆๆๆ กันไปอีก และอยู่กันด้วยความเห็นแก่ตัว มันก็คือความเบียดเบียน
นี่เราเห็นอยู่ทางหนึ่งว่าถ้าธรรมะกลับมาคนก็จะรักกัน ความฟุ่มเฟือยทางวัตถุก็จะลดลง ไม่สู้จะเปลืองทรัพยากรธรรมชาตินัก เราเคย ๆ อยู่กันอย่างธรรมชาตินั่นแหล่ะ มันก็อยู่มาได้ ไม่ตาย ๆ เขาไม่มีห้องเย็น ไม่มีห้องแอร์ ไม่มีอะไรกินเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ได้ตาย เขาก็อยู่กันมาจน เราเป็นลูกหลานของเขาออกมาจากคนเหล่านั้น เรามีความสงบสุขน้อยกว่าคนเหล่านั้นอีก เดี๋ยวนี้คล้าย ๆ กับว่ามันได้เป็นอะไร เป็นเทวดาเป็นอะไรกันหมด ผมก็เคยเขียนนั่งเขียนหนังสือเหงื่อไหลที่คางนี้ที่คอนี้ มันไม่มีห้องแอร์ห้องอะไรกับเขา ถึงคราวถึงเวลาต้องเขียนมันก็ต้องเขียน ร้อนมันก็ต้องเขียน มันก็เหงื่อไหลเรื่อยมาตามคางตามคอนี่มันก็เขียน มันก็ทำได้ ไม่มีพัดลม ไม่มีห้องแอร์ ไม่มีอะไร เดี๋ยวนี้เขาเห็นเป็นว่าไม่มีอันนี้ก็ทำไม่ได้ คือว่ามันสมองไม่ดีต้องให้ห้องแอร์ช่วย ผมไม่เชื่อ ไม่เชื่อเด็ดขาด ไม่เห็นว่าไอ้ห้องแอร์ที่สบายนักน่ะ มันกลับทำให้หัวไม่ดี ให้หัวอ่อนแอ หัวสมองมันโงนเงนหลงใหลแต่ในทางอื่น สู้ความเข้มแข็งตามธรรมชาติเหนือธรรมชาติไม่ได้
ในวันนี้พูดคำเดียวว่าสันทิฏฐิโกคือสิ่งที่พวกเรายังขาดอยู่ ขออภัยที่จะพูดว่า พูดว่าพวกคุณนั่นแหละยังขาดอยู่ มันขาดไอ้ความหมายของคำว่าสันทิฏฐิโก ไม่ค่อยเห็นเองโดยประจักษ์ทั้งในด้านวัตถุธรรมและด้านนามธรรม เรื่องนี้ก็พูดเท่านี้ ขอเตือนเท่านี้ว่าตั้งต้นทำทุกเรื่องที่มันยังไม่เป็นสันทิฏฐิโกให้มันเป็นสันทิฏฐิโกกันเสียที เรื่องอะไรที่ได้เล่าเรียนมาแล้วตลอดเวลาเป็นปี ๆ นี่ยังไม่เป็นสันทิฏฐิโก เป็นความจำเท่านั้นยังไม่เป็นความประจักษ์โดยจิตใจ เป็นเพียงความจำเท่านั้น เป็นเพียงความเข้าใจตามการใช้เหตุผลเท่านั้น ยังไม่ประจักษ์แก่ความรู้สึก มันไปทำให้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แก่ความรู้สึกแล้วก็เป็นสันทิฏฐิโก นับตั้งแต่ว่าบวชนี่ เมื่อคุณยังไม่ได้บวชคุณก็คิดว่าบวชเข้าแล้วจะรู้จักการบวชแต่ผมว่ายังไม่แน่ บวชเข้ามาแล้วนี่ยังไม่รู้จักการบวช การบวชยังไม่เป็นสันทิฏฐิโกแก่คุณหรือว่ามันยังจะเป็นได้อีกมากนะ ไอ้การบวชแท้จริงคืออะไร รสชาติของมันอย่างไร สัมผัสด้วยจิตใจให้มันชัดเจนนี่มันยังมีอีกมากก็คือธรรมะนั่นแหล่ะ นี้คือก็ก็ยกตัวอย่างแต่เพียงว่าการบวช เมื่อยังไม่บวชก็ได้แต่คาดคะเนว่าการบวชคงจะเป็นอย่างนั้น บวชเข้ามาแล้วก็จะรู้รสของการบวช ก็จริงน่ะมันก็รู้รสของการบวชบ้างแต่ไม่ถึงขนาดคือไม่ทั้งหมด ที่เรียกว่ายังไม่สันทิฏฐิโกต่อการบวช นี่บวชแล้วยังไม่สันทิฏฐิโกก็ทำต่อไปสิ บางทีอาจจะเป็นสันทิฏฐิโกตอนสึกก็ได้ถ้ามีสติปัญญาที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้เรื่อย ๆ ไป วิชาความรู้ถ้ายังไม่เป็นสันทิฏฐิโกก็ยังไม่ถึงขนาดสูงสุดของมันของความรู้แขนงนั้น ๆ แม้ความรู้ทางอาชีพ ทางวัตถุ ทางไอ้อาชีพข้างนอกโน้นก็เหมือนกันนะ ถ้ามันเป็นสันทิฏฐิโกจริง ๆ มันก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ เอ้าผู้ชำนาญจริง ๆ เดี๋ยวนี้เราก็ยังหาผู้เชี่ยวชาญถึงที่สุดจริง ๆ นั้นยังยาก ยังทำงานผิดพลาดเพราะว่ามีแต่ดีกรีมา ดีกรีที่เรียนสำเร็จมันก็มีมากแต่มันไม่ใช่สันทิฏฐิโกไอ้ดีกรีเหล่านั้น ต้องทำให้ความรู้เหล่านั้นมันประจักษ์ชัด ประจักษ์เชี่ยวชาญชัดเจนสมบูรณ์เป็นสันทิฏฐิโกนั่นทางวัตถุนะ ทางธรรมะทางจิตใจก็ขอให้เป็นอย่างนั้นด้วย เรียนแล้วเป็นนักธรรม, เป็นเปรียญ, เป็นอะไรก็ไม่รู้ มันก็ไม่สันทิฏฐิโกเสียที มันต้องขวนขวายกันอีกมากจึงจะค่อย ๆ เป็นสันทิฏฐิโกขึ้นมา ๆๆ
คำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสที่เราไม่ค่อยเข้าใจก็มีอยู่อีกคำหนึ่งว่า “ให้พูดไปตามความรู้สึกของแก อย่ามาพูดตามที่ฉันพูด” ถ้ามันถูกจริงแล้วมันก็เหมือนกันแหล่ะ มันก็ตรงเหมือนกัน คือว่าเรารู้เรื่องกิเลส, เรื่องความทุกข์, เรื่องอะไรอย่างไรเราพูดไปตามที่เรารู้เถอะ แล้วมันก็จะไปตรงเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสน่ะ เดี๋ยวนี้เราไปท่องจำของท่านมาพูด มันก็เป็นเรื่องนกแก้วนกขุนทองนั่นแหล่ะ มันเหมือนกับมันมันมัน มันได้แต่พูดน่ะไอ้เรื่องความรู้ ความรู้สึกมันไม่เหมือนมันไม่ไม่เท่ากัน พระสาวกชั้นเลิศอย่างพระสารีบุตร พระอัครสาวกกันอย่างนี้ท่านหรือพระอานนท์ก็เคยมี ผม, ถ้าจำไม่ผิดนะ ท่านว่าเดี๋ยวพูดตามความ “เดี๋ยวนี้ข้าพระองค์พูดตามความรู้สึกของข้าพระองค์ ไม่ใช่พูดตามพระองค์ ไม่ใช่พูดจำอย่างของพระองค์มาพูด” พระพุทธเจ้าท่านยังสาธุว่า “ดี ทำอย่างนั้นน่ะถูกแล้วน่ะดีแล้ว” แล้วเรื่องมันก็ไปตรงกัน เพราะว่าท่านเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ท่านละกิเลสได้เหมือนกัน พูดไปตามความรู้สึกนั้นมันก็ไปตรงกันหมดทุก ๆ องค์พระอรหันต์ ไม่ต้องพูดตามกันนะ ไม่ต้องพูดตาม ๆ กัน นี่เรื่องของสันทิฏฐิโกมันเป็นเอามากอย่างนี้ นั้นอย่า อย่าทำเล่น ๆ แก่ไอ้เรื่องนี้ไอ้เรื่องสันทิฏฐิโก รู้จริงในทางธรรมในทางภาษาธรรมนี่เป็นสันทิฏฐิโกกว่า ที่เรามีระบบพูดภาษาคน - ภาษาธรรมขึ้นมาก็เพื่อจะใช้ประโยชน์ของสันทิฏฐิโกให้มาก ถ้าพูดอย่างภาษาธรรมแล้วจะต้องพูดด้วยสันทิฏฐิโกทั้งนั้น ถ้าพูดอย่างภาษาคนก็พูดตามที่ชาวบ้านเขาพูดที่เราได้ยิน ได้ฟัง ได้เล่า ได้เรียนมา อย่างเขาพูดว่านรกสวรรค์เป็นอย่างไร พูดกันมาก่อนพระพุทธเจ้าเสียอีก เรื่องนรกสวรรค์นี้มีคนเขาพูด เขารู้ เขาพูดกันมาก่อนพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น อย่างนั้น เช่นว่านรกอยู่ใต้ดินลึกลงไปเป็นชั้น ๆ ร้อนลึกลงไปจนกระทั่งร้อนที่สุด สวรรค์ก็อยู่ข้างบนสูงขึ้นไป สูงขึ้นไปเป็นชั้น ๆ เขาพูดตาม ๆ กันมาอย่างนี้แล้วก็เป็นภาษาคนพูด แต่ถ้าว่าพูดอย่างภาษาสันทิฏฐิโกแล้วมันก็นรกคืออยู่ในใจของคน สวรรค์ก็อยู่ในใจของคน ลักษณะที่ทนทรมานกระวนกระวายนั้นมันเป็นนรก ลักษณะที่เยือกเย็นพอใจได้นี้มันเป็นสวรรค์ นี่นรกสวรรค์ที่เป็นสันทิฏฐิโกจะพูดกันอย่างนี้ ไอ้นรกใต้ดิน, สวรรค์บนฟ้าไม่มีทางที่จะเป็นสันทิฏฐิโกได้ก็ได้แต่พูดตาม ๆ กันไป
นั้นรู้อะไร เข้าใจอะไรก็ขอให้มันไปจนถึงระดับที่ ๆๆ ที่เรียกได้ว่าสันทิฏฐิโกดีกว่าจึงจะสำเร็จประโยชน์ ที่ว่า “ดีกว่า” นี่คือจะสำเร็จประโยชน์ ถ้าไม่อย่างนั้นยังไม่สำเร็จประโยชน์ ไอ้ทุกเรื่องที่ทำ ที่เราทำได้ดีไม่ว่าอะไรมันเป็นสันทิฏฐิโกมาแล้วโดยที่เราไม่ต้องรู้สึกทั้งนั้นน่ะ มันประจักษ์แก่จิตอย่างถึงที่สุดมาแล้วเราจึงทำได้ดี แม้เรื่องเรื่องการเรื่องงานเรื่องไม่ไม่ใช่ธรรมะนี่ ไอ้ที่เราทำได้ดีที่สุดน่ะก็เรื่องนั้นมันเป็นสันทิฏฐิโกมาก่อนแล้วโดยที่เราไม่ต้องรู้สึกตัวก็ได้ บางอย่างมันก็เป็นไปได้ตามขนบธรรมเนียมประเพณีก็มี นี้ถ้าเรามีสันทิฏฐิโกเป็นก็เป็นเป็นสันทิฏฐิโก ในเรื่องของชีวิตความเป็นมนุษย์ของเราให้มากจะดีที่สุด รู้เรื่องความที่เราเป็นมนุษย์เป็นทำไม เป็นอย่างไร ควรจะได้อะไร ๆ ให้มันสันทิฏฐิโกในเรื่องชีวิตมันก็พอหรือเรียกว่ามันจบได้ มันเป็นเรื่องที่จบได้ ถ้าไม่รู้จักแม้แต่ตัวเอง ไม่รู้จักแม้แต่ชีวิต สิ่งที่เรียกว่าชีวิตหรือความเป็นมนุษย์เขาไม่รู้จักนี่มันมันก็คือคนละเมอ ๆ เดินละเมอ ๆ ไป ผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เลยเชื่อโชคเชื่อลางเชื่อฤกษ์เชื่อยามอะไรต่อไปทางโน้นเพราะมันไม่เข้าใจ
วันนี้พูดเรื่องสันทิฏฐิโกให้จำคำนี้ไว้ แล้วเอาเข้าไปจับกับทุกเรื่องให้ได้ เรื่องเล่าเรื่องเรียน, เรื่องการเรื่องงาน, เรื่องมีชีวิตจิตใจหรือว่ามีความเป็นอยู่ในโลก เป็นมนุษย์ในโลก ขอให้รู้สิ่งเหล่านี้ทุกสิ่งในลักษณะที่เป็นสันทิฏฐิโก คุณบทของ พระธรรมหรือที่เราเรียกกันว่า พระธรรมคุณ ที่สวดอยู่ทุกวันนั้นน่ะไปคิดดูให้ดี ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านั้นทั้ง ๖ คำแล้ววิเศษประเสริฐที่สุด
สวากขาโต เป็นของถูกต้อง ไม่ผิดได้
สันทิฏฐิโก เห็นเอง
อกาลิโก ไม่ขึ้นกับเวลา
เอหิปัสสิโก เรียกเพื่อนมาดูได้ เรียกผู้อื่นมาดูได้
โอปนยิโก เห็นชัดว่าปฏิบัติได้ ทำได้ ก็น้อมเข้ามาใส่ตนได้ไม่เหลือวิสัยอะไร
ปัจจัตตังเวทิตัพโพ คนฉลาดก็รู้ได้เฉพาะตน ๆๆ
เราสอนกันได้แล้วพยายามจะสอนกันได้แต่มันไม่เหมือนกับที่ว่า รู้เห็นเฉพาะตน มัน ๆ ชัดกว่า มันมากกว่า คือมันเป็นสันทิฏฐิโก ขอร้องให้สนใจธรรมคุณ ๖ บทกันให้มากกว่าที่แล้วมาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป สวากขาโต สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ หรือจะถือเป็นหลักประจำไว้เลยก็ได้ว่าถ้าเรารู้อะไรก็ขอให้รู้ครบหมดนี้ หมด ๖ บทนี้ เรื่องที่เราจะต้องรู้, จะต้องเรียน, จะต้องปฏิบัติ, จะต้องเกี่ยวข้องนี้ ขอให้เรารู้มันให้ครบ ๖ บทนี้
สวากขาโต กล่าวไว้อย่างถูกต้อง กล่าวได้อย่างถูกต้อง และคำกล่าวนั้นมันถูกต้องมันไม่มีทางจะผิด แล้วมันก็มีสันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ เข้ามาประกอบประกับ (กำกับ) อะไรกันอยู่ ใช้เป็นหลักสำหรับตัดสินอะไรได้ดีควรจะจำไว้ ไม่ไปพูดจาโต้เถียงอะไรกันบ้างก็ขอให้มันมีหลักอย่างนี้ เอาล่ะวันนี้ผมพูดนิดเดียวคือคำเดียวว่า สันทิฏฐิโก พอแล้วสำหรับการพูด ใครมีอะไรสงสัยก็ถาม ไม่มีไมโครโฟนก็ได้ ถามมาดัง ๆ ก็ได้ยิน ถ้าสงสัยอะไรก็ถามได้ (นาทีที่ 66:01 – 66:48 เงียบ เนื่องจากท่านพุทธทาสรอให้พระนวกะถามคำถาม) เดี๋ยวนี้มันสะดวก ไอ้ความรู้ที่เป็นหนังสือเยอะแยะไปหมดมากมายก่ายกองจนเหลือเฟือ ยังเหลืออยู่แต่ว่าเอาไปทำให้เป็นสันทิฏฐิโก มันเหมือนกับวัตถุดิบเอาไปทำให้มันสุก ให้มันกินได้ ให้มันใช้ประโยชน์ได้ หนังสือหนังหาอะไรนี้มันเป็นวัตถุดิบ มีอะไรถาม
พระนวกะ ๑ : (นาทีที่ 67:20 - 67:33 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน) พระคุณเจ้าครับ ผมสงสัยข้อที่ว่าปัจจัตตังหรือผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตนนั้น ทีนี้ปัญญาเราไม่เท่ากัน เรารู้แล้วแต่เราไปบอกเขาไม่ได้ครับ เราควรจะชี้แนะเขาได้อย่างไรครับ
พุทธทาส : เราก็บอกชี้แนะเท่าที่เราบอกได้นะ แต่นั้นเขาสรุปรวบยอดน่ะไอ้ความรู้มันในที่สุดบทสุดท้าย ปัจจัตตังเวทิตัพโพ
ไม่ใช่ว่าเราจะพูดไม่ได้ บอกผู้อื่นไม่ได้ เราก็บอกได้เท่าที่เราจะบอกได้ แต่มันไม่อาจจะเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ ขึ้นมาแก่บุคคลนั้น เขาต้องไปย่อยไปอะไรต่อไปอีก แต่ว่าอาการอันนี้มันมีอยู่ ๒ อย่าง คือว่าเขาอาจจะรู้ทันควันตรงนั้นก็ได้แต่มันมีน้อย เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนโต้ตอบกับคนบางคนเพียง ๒-๓ คำ คนนั้นเป็นพระอรหันต์ที่นั่นตรงนั้น นี่หมายความว่าคนนั้นมันเป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ ของเขาเสร็จแล้วที่ตรงนั้นอย่างนี้ก็มี แต่ว่าส่วนมากนี่มันไม่ ๆ เป็นอย่างนั้น มันเป็นเรื่องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป พวกนิกายเซน (Zen) เขาชอบวิถีนั้น ชอบให้ตรงนั้นเลยให้ ปัจจัตตัง หรือ สันทิฏฐิโก ทะลุรวดเดียวไปที่ตรงนั้นเลย เขามุ่งหมายอย่างนั้น เขาจะทำได้เต็มตามนั้นหรือไม่เราก็ไม่รู้เขา แต่วิธีการเขามุ่งหมายอย่างนั้น (ดัง) นั้นต้องฉลาดมากผู้ที่จะทำให้ผู้อื่นรู้ที่ตรงนั้นต้องฉลาดมาก, เหนือกว่าทุกอย่าง, เชี่ยวชาญชำนาญมาแล้ว อย่างพระพุทธเจ้าตรัสให้องคุลิมาลรู้แจ้งเป็นพระอรหันต์กันที่ตรงนั้นด้วยคำพูดเพียง ๒-๓ คำ อย่างนี้เราก็ถือว่าองคุลิมาลนั้นเป็นสันทิฏฐิโก, เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพต่อธรรมะนั้นแล้ว แต่มันมีน้อยมากน้อยคนมาก มีเหมือนกันในตำราในคัมภีร์ที่เขาอ่านประวัติของคนที่รู้กันที่ตรงนั้นก็มี ๆ แต่มันน้อยมาก มันน้อยกว่ามาก
นี้, ก็บอกว่าลักษณะของธรรมะที่รู้จริงถึงที่สุดนี้เป็นของเฉพาะคนอย่างนี้ ผมคิดว่าแม้ไอ้ความรู้อย่างโลก ๆ ก็เถอะมันก็ ถ้ามันเป็นชั้นสูงสุดกันจริง ๆ มันก็มี ปัจจัตตัง เหมือนกัน ที่ลำบากที่จะถ่ายทอดมันก็ต้องมีเหมือนกัน ไปเรียนมาเหมือน ๆ กัน ปริญญาเหมือน ๆ กันนี้มันก็รู้ไม่เท่ากัน ไอ้บางคนมันมีอะไรลึกกว่า ถ่ายทอดเท่ากันไม่ได้ก็มี เราพยายามให้มันรู้จริง รู้จริง สันทิฏฐิโกจริง ๆ ความเป็นปัจจัตตังมันก็มีขึ้นมาเอง แต่ถ้าไปพูดถึงผลของความรู้ ผลของการปฏิบัติอย่างนี้แล้วมันยิ่งปัจจัตตังหนักขึ้นไปอีก มันอีกความหมายหนึ่ง มันไปอยู่เป็นบทสุดท้ายนะ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ดูคล้าย ๆ กับว่าจะเล็งถึงผลมากกว่า ผลของความรู้, ผลของการปฏิบัติมันยิ่งปัจจัตตังมากขึ้นไปอีก เช่นดับทุกข์ได้นี่เฉพาะตน เดี๋ยวนี้เราเล็งกันถึงความรู้มันก็ยังเฉพาะตนนะ “รู้อะไรรู้ให้จริง” คนโบราณเขาก็พูด รู้อะไรรู้ให้จริง คือ รู้ให้ว่ามันเป็นถึงสันทิฏฐิโก หรือ ปัจจัตตัง มีปัญหาอะไรนึกได้ว่ามา
พระนวกะ ๒ : (นาทีที่ 73:13 - 73:22 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน) อาจารย์ครับ คือถ้อยคำที่ว่า อยากรู้ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่มีตัวตน เป็นอย่างไร ที่บอกว่าอย่าถือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่มีตัวตน
พุทธทาส : อย่าถือว่าไม่มีตัวตนนั้นมันก็ธรรมดา ถ้าถือว่ามีตัวตนสิมันจะน่าอัศจรรย์ขึ้นมานี้พูดตามแบบฉบับ ถ้าพูดอย่างนั้นล่ะก็อย่า ๆๆ ยกให้เป็นของพวกเซน (Zen) พวกเดียวเลย พวกไม่เซน พวกเถรวาท พวกมหายาน พวกไหนเขาก็พยายามที่จะเห็นว่าทุก ๆ สิ่งนั้นมันไม่ ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน เป็นของว่างจากตัวตนของมันเอง มันต้องเป็นไปตามสิ่งแวดล้อมปรุงแต่งคือเหตุปัจจัย ถ้ามีสันทิฏฐิโกในเรื่องนี้ก็จะเห็นแม้ว่าอะไรที่มันจะเป็นตัวตนของมันเองได้ มันมีแต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ปรุงขึ้นเป็นชั้น ๆๆๆๆ เรื่อยไป เหลืออยู่อย่างเดียวก็คือพระนิพพานหรืออสังขตะที่ไม่เป็นอย่างนั้น ซึ่งควรจะถือว่าเป็นตัวตน ท่านก็เลยห้ามเสียอีกว่าอย่าไปคิดว่ามันเป็นตัวตน พอไปยึดถือว่าเป็นตัวตนมันก็จะกลับหนักขึ้นมาอีก จะเป็นของหนักขึ้นมาอีก จึงให้ถือว่าสังขารก็ตาม, วิสังขารเช่นนิพพานนี้ก็ตาม ไม่ควรถือว่าเป็นตัวตน
ไอ้สังขารน่ะมันถือไม่ได้อยู่แล้วเพราะมันไม่ใช่ตัวตนชัดอยู่แล้ว เอาออกไปเป็นไม่ใช่ตัวตน แต่นิพพานตรงกันข้ามควรจะถือว่าเป็นตัวตนโดยหลัก Logic ก็ให้มองเห็นชัดว่าถือเอาเป็นตัวตนไม่ได้ มันเป็นของธรรมชาติ อย่าเป็นตัวตนของใครเลย ใครไปเอาพระนิพพานเป็นตัวตนเป็นของตนเข้า มันก็ไม่เป็นนิพพานเท่านั้นแหละ มันจะกลายเป็นของหนัก เป็นภาระหนักขึ้นมาอีก “ตัวตน” นี้เขาเป็นคำพูดเก่าแก่มากตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักคำนี้ก่อนพุทธกาลแล้ว นั้นตามความ ๆ รู้สึกเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณว่าเป็นตัวเรา, ตัวฉัน, ตัวกู นี้มันมี นี่, เขาเอาอันนั้นน่ะเป็นตัวตนโดยคิดว่ามันแน่นอน, มันตายตัว, มันเที่ยงแท้, มันเป็นตัวตลอดไป เขาเชื่ออย่างนั้นถือกันอย่างนั้นมา จนถึงยุคพระพุทธเจ้าถึงค่อยบอก, ถึงค่อยเห็นแล้วค่อยรู้ค่อยบอกว่าไม่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน ทั้งหมดก็ไม่ควรถือว่าเป็นตัวตน แยกออกเป็นส่วน ๆๆ ก็ไม่มีส่วนไหนที่ควรถือว่าเป็นตัวตน เซน (Zen) มันก็ไม่ผิดไปจากหลักพุทธศาสนาเรื่องไม่มีตัวตน บางทีจะพูดกันมากละเอียดลออน่าฟังทันสมัยมากกว่าพวกเราเสียอีก ถือว่าเป็นหลักของพุทธศาสนาทั้งที่เป็นเซนและมิใช่เซนคือทุกพวก ถ้าถูกต้องแล้วก็ต้องสอนเรื่องไม่ไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้น ๆ มิใช่ตัวตน มิใช่ว่ามันจะไม่มีอะไรเสียเลย มันมี ๆ สิ่งนั้น ๆ ตามลักษณะนั้นน่ะ แต่ทั้งหมดนั้นไม่ควรถือว่าเป็นตัวตน มีโดยการเปลี่ยนแปลงเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ยิ่งไม่ใช่ตัวตน มีชนิดที่ไม่ใช่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงเช่นมีอย่างนิพพานนี้นี่ก็ไม่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน คืออย่าให้จิตใจไปผูกพันอะไรว่าตัวตน จิตใจนั้นจึงจะหลุดพ้นจากความผูกพันและความทุกข์ ถ้าเอานิพพานเป็นตัวตน นิพพานนั้นจะไม่ใช่นิพพานสำหรับคนนั้น เรื่องละเอียดที่สุดเข้าใจยากที่สุดของพุทธศาสนาก็คือตรงนี้ตรงที่นิพพานมิใช่ตัวตน ไอ้ของของอย่างอื่นก็ไม่ใช่ตัวตนก็พอจะเข้าใจได้ คือมันไปตามเหตุตามปัจจัยเปลี่ยนแปลงเรื่อย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเรื่อย แต่นิพพานไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมจึงไม่จึงไม่บัญญัติให้มันตรงกันข้ามเสียเล่าว่ามันเป็นตัวตน แต่มันก็มีนะพวกที่เขาถือว่านิพพานเป็นตัวตนก็มีเหมือนกัน นี้เรามาศึกษา, มารู้, มาเข้าใจ, มามองเห็นว่าไม่ควรจะมีความหมายแห่งตัวตนเหลืออยู่ในจิตใจ ที่เรียกว่าเห็นแจ้ง, เห็นจริงหรือหลุดพ้นแล้ว เพราะคำว่า หลุดพ้น นั้นหมายถึงหลุดพ้นจากความมีตัวตน ใครมีปัญหาอะไรอีก
พระนวกะ ๓ : (นาทีที่ 79:55 - 80:01 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน) เมื่อกี้เขาถามว่าอย่าถือ ทำไมถึงสอนว่าอย่าถือเอาโดยความไม่ใช่ตัวตน
พุทธทาส : ไหนว่าใหม่สิ หนังสือนั้นว่าอย่างไร
พระนวกะ ๓ : (นาทีที่ 80:09 - 80:13 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน) อย่าถือว่าจิตใจนั้นไม่มีตัวตน
พุทธทาส : อื้ม, คือให้ถือว่ามีตัวตนนั้นแหละ
พระนวกะ ๓ : ครับ
พุทธทาส : เอ้า, ผมอธิบายไม่ได้ ต้องไปถามคนเขียนหนังสือเล่มนั้น
พระนวกะ ๓ : (นาทีที่ 80:30 - 80:58 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟนและมีเสียงแทรกตลอด) ถามว่ามีตัวตนในสิ่งที่ศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธถ้าเกิดมีคนรู้จักหลาย ๆ ศาสนา...แล้วปกติศึกษากับท่านอาจารย์กวงว่าทุกศาสนามาจากพระพุทธเจ้า อยากทราบว่าพระพุทธเจ้า... (ไม่สามารถถอดเสียงได้)
พุทธทาส : เอาล่ะทำไมคุณไม่ถามว่าอาจารย์กวงล่ะ แล้วผมจะตอบได้เหรอ ไอ้เรารู้หลาย ๆ ศาสนาที่มันจะเข้ากันได้ มันก็เกี่ยวเห็นไอ้ความจริงอย่างถูกต้องของหลักข้อนั้น, ข้อนั้น เป็นข้อ ๆ ไปเหมือนกันจึงเข้ากันได้ ขอให้มันเห็นจริง ๆ เห็นเป็นสันทิฏฐิโกเฉพาะข้อนั้น ๆ เถอะแล้วมันไปปรับได้ไปใช้เป็นประโยชน์ได้ ไม่ ๆ เป็นไปเพื่อทะเลาะวิวาทกันเพราะว่าหลักของศาสนาทุกข้อทุกแง่มันออกมาจากไอ้ความจริงของธรรมชาติทั้งนั้น คุณมีหนังสือเซนที่ใครเขียนนะ
พระนวกะ ๓ : (นาทีที่ 82:07 - 82:13 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน ไม่สามารถถอดเสียงได้) มันเป็นหลักครับแบบว่ามันไม่ใช่หลักของคุณครูครับ...
พุทธทาส : เอ้าแล้ว ๆ ใครเขียนเล่า คน ๆๆ เขียนหนังสือเล่มนั้นน่ะ
พระนวกะ ๓ : ผมจำไม่ได้ครับ
พุทธทาส : บางทีมันเป็นวิธีพูดเท่านั้นเอง เป็นวิธีพูดที่เขามีวิธีพูดให้มันเป็นวาทศิลป์นี้มีได้
พระนวกะ ๓ : (นาทีที่ 82:31 - 82:36 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน ไม่สามารถถอดเสียงได้) เขาเขียนเป็นข้อ ๆ ครับ...
พุทธทาส : คือมันผิดหลักส่วนใหญ่ของพุทธศาสนา เว้นแต่จะพูดแบบยกเว้นเป็นภาษาคนให้มีตัวตน เราก็มีพูดกันเหมือนกัน มีตนเป็นที่รักแห่งตน ตนเป็นที่พึ่งของตน อะไรทำนองนี้ก็มีพูดเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เรียกว่าพูดภาษาคนสำหรับพวกคนที่มีตัวตน ไม่ใช่ภาษาความจริงของธรรมชาติซึ่งจะพูดกันตามหลักของธรรมชาติ ภาษาคนมีตัวตน ภาษาธรรมไม่มีตัวตน
พระนวกะ ๔ : (นาทีที่ 83:35 - 83:55 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน ไม่สามารถถอดเสียงได้ครบถ้วน) สันทิฏฐิโกน่ะครับ ถ้าเรารู้จักสันทิฏฐิโกคือความโกรธได้ จะทำให้เราไม่แสดงความโกรธเลย...สำหรับคนสังคมภายนอกนั้น มันจะไม่ได้กลายเป็นคนอ่อนแอหรือว่าเป็นคนแปลกประหลาด...
พุทธทาส : ไม่ใช่ สันทิฏฐิโกสำหรับความโกรธก็คือรู้จักความโกรธดี จนถึงกับควบคุมความโกรธได้หรือว่าทำลายความโกรธได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นสันทิฏฐิโกเกี่ยวกับความโกรธ ความโลภ, ความหลงก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักดี รู้จักจริง รู้จักเสียแล้วต้องกำจัดสิ่งนั้นได้ แก้ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งนั้นได้ เดี๋ยวนี้เราไม่รู้พอ รู้ไม่พอไม่เป็นสันทิฏฐิโกเราจึงกำจัดความโกรธของเราเองก็ไม่ได้ ควบคุมมันก็ไม่ได้ มีคนถามมากเรื่องนี้ผมก็ตอบไม่ถูก ว่าเขามีปัญหาเรื่องโกรธไม่มีความสุขเลย ทำอย่างไรจะไม่โกรธ ฆ่าความโกรธ
พระนวกะ ๔ : (นาทีที่ 85:01 - 85:08 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน ไม่สามารถถอดเสียงได้ครบถ้วน) กระผมหมายถึงว่าถ้าเลิกโกรธได้แล้วจะไม่กลายเป็นคนอ่อนแอ ไม่สามารถปกครองคนได้หรือครับ
พุทธทาส : อ๋อ, คือว่าไม่ ๆ ดุดัน นั่นไม่ๆๆ เป็นไรนะ ไม่เป็นไร เรามีปัญญามีอะไรอย่างอื่นที่จะควบคุมลูกน้องได้ ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องใช้อาวุธคือความโกรธ
พระนวกะ ๔ : (นาทีที่ 85:27 - 85:29 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน ไม่สามารถถอดเสียงได้) ไม่ต้องโกรธเลยเหรอครับ
พุทธทาส : ก็ไม่ต้อง มัน ๆ ก็คงจะทำไม่ได้ เดี๋ยวมันก็แดงขึ้นมาอีก เราใช้สติปัญญาแสดงความถูกต้องแน่ชัดแข็งขันอะไรได้ คุณไปสังเกตดูหน่อยไม่ค่อยมีใครกลัวโดยแท้จริงหรอกไอ้คนขี้โกรธ คนเสียงดังโกรธคน ตวาดคน ไม่มีใครกลัวเกรงโดยแท้จริง แล้วมันจะเกลียดเอาด้วย คนที่ดำรงตัวไว้ดีน่าเกรงขามก็มี ไม่ ๆๆ ต้องใช้ไอ้อาละวาดไอ้ความโกรธ คนยังเชื่อฟัง ก็ต้องยกตัวอย่างพระพุทธเจ้านี้ พระสาวกเชื่อฟังเกรงขามโดยไม่ต้องมีอาการแห่งความโกรธ ยิ่งสมัยประชาธิปไตยด้วยยิ่งไม่ค่อยได้คล้าย ๆ กับมันอยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยอะไรอย่างนี้
พระนวกะ ๔ : (นาทีที่ 87:23 - 87:29 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน ไม่สามารถถอดเสียงได้ครบถ้วน) คนที่ไปเจอคนไม่ดีเลย เราไม่โกรธเลยนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร
พุทธทาส : เราจะไปโกรธให้เหนื่อยทำไมล่ะ เราจะช่วยเขาอย่างไรก็ช่วยไป แก้ไขไป ถ้าเราไปโกรธเราก็เหนื่อย อยู่แล้ว เรา ๆ แย่ ๆ ก่อนแล้ว คนอื่นเขายังไม่แย่ เราแย่แล้ว
พระนวกะ ๔ : (นาทีที่ 87:47 - 87:53 เสียงเบามากฟังไม่ชัดเนื่องจากไม่ได้พูดผ่านไมโครโฟน ไม่สามารถถอดเสียงได้) ผมหมายถึงว่าอาจจะแกล้งโกรธ
พุทธทาส : แกล้งโกรธให้เขากลัว เด็ก ๆ นี่ได้ ไอ้โต ๆ พอ ๆ กันมันก็ไม่ค่อย คงได้ผลบ้าง คงได้ผลบ้างในบางกรณี สู้ดีจริงโดยไม่ต้องโกรธไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้เขาก็ยังใช้กันได้ผลอยู่นะ เพราะว่าคนนั้นมันมีอำนาจ มันมีอำนาจที่จะบันดาลอะไรได้ คนก็กลัวเขาคนนั้นจะโกรธ แต่ไม่ใช่ ไม่ใช่นโยบายที่ดี ควรจะหันไปหาไอ้ที่ดีที่จริงกว่านั้น แกล้งโกรธนี้ทำได้ ยังทำได้นะ มันเหมือนกับเล่นละคร เอ้า, ใครมีปัญหาอะไรอีก นี่ตี ๙ เลยแล้ว (ฉะ)นั้นถ้าไม่มีปัญหาก็ปิด ปิดประชุม ปิดประชุม